โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสื้อแดงร้องรัฐบาลออก กม.นิรโทษกรรมผู้ต้องขัง ม.112 จุดเทียนดำไว้อาลัยกับความยุติธรรม

Posted: 23 May 2012 06:35 AM PDT

ภาพจุดเทียนดำไว้อาลัยกับความยุติธรรม

19.20 น. วานนี้ (22 พ.ค.55) ที่หน้าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน เสื้อแดงกลุ่มสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ประมาณ 100 คน ได้จุดเทียนดำไว้อาลัยกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับการไม่ให้สิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะการเสียชีวิตในราชทัณฑ์สถานของนายอำพล(สงวนนามสกุล)หรืออากง SMS ผู้ต้องขังตาม ม.112 ทั้งนี้นอกจากการจุดเทียนดังกล่าวยังมีกิจกรรมอื่นเช่นการเล่นดนตรีและปราศรัยเรียกร้อง อธิบายวัตถุประสงค์และเหตุผลที่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ประสบภัยคุกคามจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยในช่วงสายของวันเดียวกันนี้ทางกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ ม.112

โดยในหนังสือดังกล่าวได้อ้างว่าทางกลุ่มสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพได้ติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อกรณีการใช้อำนาจของ ม.112 กับผู้กกล่าวหาดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและถูกริดรอนสิทธิในการประกันตัว แม้ผู้ต้องหาบางรายชราภาพและเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์เฉพาะทางภายนอก แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการประกันตัวจึงไม่สามารถออกมารับการรักษาได้ โดยหนังสือดังกล่าวได้มีการอ้างถึงกรณีการเสียชีวิตของ อากง SMS ในราชทัณฑ์สถาน ด้วยเหตุที่มิได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปตรวจรักษาจากแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่แรก

หนังสือจากสหพันธ์ฯนี้ ได้ระบุถึงเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.54 ที่ผ่านมาว่าทางสหพันธ์ฯ ได้เคยเดินทางไปยื่น จม.เรียกร้องไปยังประธานศาลฎีกาให้ปล่อยตัวหรืออนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีนี้ทุกคน แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการตามคำร้องขอ ทางสหพันธ์ฯ จึงสนับสนุนนายกฯ ได้ออก กม.นิรโทษกรรมผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องโทษ ตาม ม.112 ทุกคนอย่างเร่งด่วน ภายในวันที่ 12 มิ.ย.55 นี้ เพื่อหยุดยั้งความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีอากง SMS

ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้มี พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ เลขาธิการออกมารับเรื่องแทนนายกรัฐมนตรี โดยตัวแทนกลุ่ม คือ นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ได้กล่าวถึงการออกมารับหนังสือนี้ว่า “พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ มารับเรื่องก็ชี้แจงว่าจะนำเรื่องดังกล่าวส่งให้กับท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาตามลำดับขั้น แต่ก็ไม่ได้ยืนยันต่อข้อเรียกร้องในลักษณะที่เป็นไปได้เป็นรูปธรรม แต่ก็ได้แสดงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันต่อข้อเรียกร้องของเราโดยรวม”

<iframe width="420" height="315" src="http://www.youtube.com/embed/DlWV7D5YGh0" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

VDO Clip สัมภาษณ์ อนุสรณ์ สมิทธ์กุล เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “การจัดเวทีอภิปรายในวันนี้เพื่อชี้แจงเจตนาในการจัดกิจกรรม และเพื่อเป็นโอกาสที่จะเปิดให้กับพี่น้องมวลชนแนวร่วมที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้เป็นพื้นที่ที่มีความรู้สึกร่วมกันในเรื่องของการสูญเสียของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่ต้องเสียชีวิตอย่างทรมานอันเนื่องมาจากการถูกลิดรอนสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของหลักมนุษยชนสากล”

เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของทางสหพันธ์ว่า “เดิมทีก็เป็นแนวร่วมของน้องผู้นำนักศึกษา กับพี่น้องมวลชนในกลุ่มต่างจังหวัดที่มีจิตสำนึกและลุกขึ้นมารณรงค์เรื่องประชาธิปไตย และส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมวลชนที่ผมได้ลงพื้นที่ไปสัมผัส จนกระทั้งเกิดสถานการณ์ที่มีการใช้มาตรา 112 ไปคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณสุรชัย แซ่ด่าน และอีกหลายๆท่านด้วยมาตรา 112 ดังนั้นพวกเราที่เคยมีทัศนะต่อประชาธิปไตยเสรี ก็ได้รวบรวมกันเป็นแนวร่วม แล้วก็เดิมทีเมื่อปีที่แล้วเราได้จัดตั้งเป็นองค์กรสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ แล้วก็ดำเนินกิจกรรมในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชนในแนวทางการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และยึดในหลักสันติวิธี”

“หลังจากเราเคลื่อนไหวปีที่แล้ว เราก็จับตาในประเด็นของเรื่องสิทธิการประกันตัวก่อน หลังจากนั้นปรากฏว่าสิ่งที่เราทำกิจกรรมไปนั้นไม่ได้เกิดผลตอบรับจากฝ่ายที่มีอำนาจ เราก็เลยปรึกษากัน จนกระทั้งมีเหตุอันเศร้าสลด คือการเสียชีวิตของนายอำพล หรือว่าอากง ก็ทำให้เราได้ปรึกษากันแล้ว่าการเคลื่อนไหวกิจกรรมในรูปแบบเดิมๆ การเคลื่อนไหวที่เพียงของให้ได้แสดงออกเริ่มไม่สามารถที่จะได้ผลต่อไปแล้ว ก็เลยได้ปรึกษากันแล้วก็มีกลุ่มแนวร่วมเข้ามามากมาย ก็เลยยกระดับจากองค์กรสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ ขึ้นเป็นสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ เพื่อที่จะดำเนินการต่อสู้ภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม แล้วก็มีคุณค่าของเสียงที่ฝ่ายมีอำนาจต้องรับฟัง” อนุสรณ์ สมิทธ์กุล กล่าว

เลขาธิการสหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ เปิดเผยถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปว่า “เรามองสานการณ์ในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤติต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้นการที่เราเคลื่อนไหวกิจกรรมเราก็ได้ประกาศเป็นยุทธการการลุกขึ้นสู้ ยุทธการ 100 วันการเสียชีวิตของอากงคือวันที่เราจะไปเปิดประตูสู่อิสรภาพของพี่น้องผู้บริสุทธิ์ที่ถูกภัยคุกคามจากมาตรา 112 ดังนั้นเรามีมาตรการในการยกระดับ เราอุทิศเวลาอุทิศแรงกายเพื่อที่จะปลดปล่อยความทุกทรมานของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทรมานเช่นเดียวกับอากง”

หนังสือที่ทางสหพันธ์ฯยื่นเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรีให้ออก กม.นิรโทษกรรมฯ :

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟ เผย 1 ใน 4 ของการตายของเด็กเล็กในหลายพื้นที่ของเอเชียเกิดจากการจมน้ำ

Posted: 23 May 2012 06:28 AM PDT

ฟลอเรนซ์-เจนีวา-กรุงเทพฯ-เดลีฯ 23 พฤษภาคม 2555 – วันนี้องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ออกรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับการจมน้ำของเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของเด็กในหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชีย โดยระบุว่าการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนมากและมีประสิทธิภาพสูงในการลดการตายของเด็ก แต่กลับไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควร 

รายงานการจมน้ำตายของเด็ก หรือ Child Drowning : Evidence for a newly recognized cause of child mortality in low and middle income countries in Asia ทำการสำรวจใน 4 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ กัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทย รวมถึงสองจังหวัดในประเทศจีน คือ ปักกิ่งและมณฑลเจียงซี 

รายงานการวิจัยฉบับนี้จัดทำขึ้นโดย องค์กรพันธมิตรเพื่อความปลอดภัยในเด็ก (The Alliance for Safe Children: TASC) โดยความร่วมมือกับแผนกวิจัยของยูนิเซฟ พบว่าหนึ่งในสี่ของการตายของเด็กอายุระหว่าง 1-4 ขวบในประเทศเหล่านี้เกิดจากการจมน้ำ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าการตายเพราะโรคหัด โปลิโอ ไอกรน บาดทะยัก คอตีบและวัณโรครวมกัน นอกจากนี้รายงานยังชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันไม่ให้เกิดการจมน้ำนั้น มิได้ สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านั้นแต่อย่างใด

“การจมน้ำเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตเด็กมานานแล้วแต่มักถูกลืม” นายกอร์ดอน อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการแผนกวิจัยของยูนิเซฟกล่าว “ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมาประเทศต่างๆ มีความก้าวหน้ามากในการลดอัตราการเกิดโรคติดต่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการจัดการกับการจมน้ำอย่างได้ผล ซึ่งทำให้การจมน้ำกำลังกลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของเด็กวัยหลังหนึ่งขวบในประเทศเหล่านี้ แต่กระนั้นก็ตาม การจมน้ำก็ยังไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง”

รายงานระบุด้วยว่าการตายเพราะการจมน้ำส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ และมักเกิดภายในบริเวณ 20 เมตรจากบ้าน โดยสาเหตุก็คือ การปล่อยให้เด็กเล่นตามลำพังอยู่โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล 

รายงานระบุถึงการป้องกันการจมน้ำในประเทศบังคลาเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า: 
• อัตราการจมน้ำตายของเด็กที่ไปสถานดูแลเด็กประจำหมู่บ้าน ลดลงกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากมีผู้ดูแลอย่างเหมาะสม
• อัตราการจมน้ำตายของเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไปที่เข้าร่วมโครงการ SwimSafe (การฝึกหัดว่ายน้ำและอบรมการช่วยชีวิตอย่างปลอดภัย) ลดลงมากกว่าร้อยละ 90

รายงานวิจัยฉบับนี้ยังชี้ว่า การจมน้ำไม่ใช่สิ่งใหม่ที่คร่าชีวิตของเด็กๆ แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากรายงานตัวเลขการตายของเด็กจากการจมน้ำมักต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งมักอ้างอิงจากรายงานของโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วพบว่าเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่ไม่เคยถูกส่งไปสถานพยาบาลเพราะหลายสาเหตุ เช่น การตายของพวกเขาเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน 

หรือสถานพยาบาลอาจตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน หรือเพราะผู้พบเห็นการจมน้ำตายของเด็กอาจกลัวว่าจะต้องรับผิดชอบไปด้วย ด้วยเหตุนี้ รายงานฉบับนี้จึงระบุว่า รายงานตัวเลขของเด็กที่จมน้ำตายมีจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริงมาก (ตัวอย่างเช่น ในบังคลาเทศ ตัวเลขที่เก็บสำรวจจากรายงานฉบับนี้ซึ่งนับจำนวนเด็กที่จมน้ำตายโดยตรงจากการสัมภาษณ์พ่อแม่ แตกต่างจากตัวเลขประมาณการณ์จากรายงาน Global Burden of Diseases 2004 ถึงร้อยละ 300) 

นายอเล็กซานเดอร์กล่าวเสริมว่า รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานด้านการพัฒนาต่างๆ หันมาจัดการป้องกันการจมน้ำในเด็กอย่างจริงจัง โดยผ่านการพัฒนาด้านทักษะและการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับโครงการต่างๆ ด้านสาธารณสุข การศึกษา และการป้องกันภัยพิบัติ ตลอดจนการจัดทำข้อมูลที่สะท้อนสถานการณ์จริงของการจมน้ำในเด็ก

“รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จนถึงปัจจุบันการจมน้ำตายของเด็กยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงซึ่งถูกมองข้ามในประเทศที่ทำการสำรวจ รายงานนี้ยังเสนอแนวทางการป้องกันที่ไม่ต้องลงทุนสูงแต่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้นับแสนๆ คน เราจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต้องสำรวจต่อไปเพื่อดูว่ายังมีที่ใดอีกบ้างที่มีปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้” 

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม (เฉพาะภาษาอังกฤษ) “Child Drowning: Evidence for a newly recognized cause of child mortality in low and middle income countries in Asia” ดาวน์โหลดได้ที่ www.unicef-irc.org

ชมวิดีทัศน์ได้ที่: 
http://www.youtube.com/watch?v=2hyyHXdd4ok
http://www.youtube.com/watch?v=QpE22mKZCds
http://youtu.be/rcihQ0Qxru0

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาพเขียนล้อเลียน ปธน. แอฟริกาใต้ ถูกเพนท์สีทับ

Posted: 23 May 2012 06:20 AM PDT

22 พ.ด. 2012 - ผู้สื่อข่าว BBC แอนดรูว ฮาร์ดดิง รายงานจากแกลอรี่ศิลปะในเมือง โจฮานเนสเบอร์ก ของแอฟริกาใต้ว่า มีชายสองคนใช้สีดำ และสีแดงเพนท์ทับผลงานศิลปะซึ่งเป็นรูปล้อเลียนประธานาธิบดี จาคอบ ซูมา ที่มีอวัยวะเพศยื่นออกมา เป็นศิลปะล้อเลียนที่เป็นที่ถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสม

ภาพนี้ชื่อ "นามว่าคมหอก" (Called The Spear) วาดโดยศิลปินเบรค เมอร์เรย์ ที่มีคนรู้จักในฐานะศิลปินผู้ผลิตงานเชิงการเมืองและงานท้าทางสังคม เป็นภาพที่มีราคา 14,000 ดอลลาร์ สูง 1.85 เมตร
 
เหตุเกิดในช่วงเดียวกับที่ พรรค ANC พรรครัฐบาลของแอฟริกาใต้ เรียกร้องให้ศาลสูงสั่งให้มีการนำพากนี้ออกจาก กู๊ดแมน แกลอรี่
 
ภาพจากโทรทัศน์ในแอฟริกาใต้แสดงให้เห็นชายในชุดสูทเพนท์รูปกากบาทสีแดงลงบนส่วนที่เป็นอวัยวะเพศบนรูปประธานาธิบดีและส่วนหน้าจอง ปธน. นอกจากนี้ยังมีอีกคนหนึ่งที่ใส่ชุดคลุมหัวเพทน์สีดำทับหน้าและเพนท์สีลงมาเรื่อยๆ ตามรูป
 
"มีชายวันกลางคนผิวขาวคนหนึ่งเป็นผู้เริ่มทำ จากนั้นจึงมีคนหนุ่มผิวสีมาทำต่อ" แลนซ์ คลาเซน ผู้สื่อข่าววิทยุเอฟเอ็มที่เห็นเหตุการณ์เล่า
 
ผู้สื่อข่าว BBC บอกว่าเขาเห็นชายคนหนึ่งเดินถือผู้กันอยู่ เขาถูกยามสกัดตัวและเอาหัวโขกใส่
 
"ผมทำเช่นนี้ เพราะภาพนี้ไม่เคารพต่อประธานาธิบดีซูมา" ชายผู้นั้นกล่าว
 
พรรคสมาแอฟริกันแห่งชาติ (ANC) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกล่าวถึงงานศิลปะชิ้นนี้ว่า เป็นงานที่หยาบคาย, ดิบเถื่อน และเสื่อมเสีย
 
ก่อนหน้านี้กลุ่มคนผู้สนับสนุนพรรค ANC ได้มารวมตัวกันหน้าศาลในโจฮานเนสเบอร์ก ที่กำลังมีการพิจารณาคดีที่ทางพรรคเรียกร้องให้มีการบังคับนำภาพวาดออกไป ซึงทางเจ้าหน้าที่ศาลสูงจะรับฟังคำร้องของคดีนี้ในวันที่ 24 พ.ค.
 
ผู้พิพากษาแคธรี เซทิลโลแอน กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับสิ่งสำคัญของประเทศชาติ
 
ภาพเขียน  "นามว่าคมหอก" ได้รับจัดแสดงในกู้ดแมน แกลอรี่ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาและมีกำหนดจะแสดงถึงวันที่ 16 มิ.ย.
 
นอกจากนี้ ทางพรรค ANC ยังได้เรียกร้องให้หนังสือพิมพ์ซิตี้เพรสนำภาพข่าวของภาพเขียนนี้ออกจากเว็บไซต์ด้วย
 
ประธานาธิบดีซูมา รู้สึกช็อกเมื่อได้ทราบเรื่องภาพเขียนชิ้นนี้ เขาบอกว่าภาพเขียนนี้ทำให้เขาดูเหมือนเป็น นักรัก, เสือผู้หญิง และคนที่ดูไม่น่านับถือ เป็นการแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของเขาในทางเสื่อมเสีย ทำให้เกิดความสงสัยต่อตัวเขาในสายตาประชาชน ครอบครัว และเด็กๆ
 
ประธานาธิบดีซูมา มีภรรยา 4 คน เคยฟ้องสื่อในข้อหาหมิ่นประมาทไปแล้ว 11 ครั้ง บางรายถูกยกฟ้องไป แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ระหว่างดำเนินคดี
 
คดีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือคดีที่เขาฟ้องศิลปินชื่อดัง ซาปิโร ในปี 2008 หลังจากที่เขาวาดภาพซูมากำลังจะข่มขืนร่างผู้หญิงซึ่งเป็นตัวแทนของความยุติธรรม คดีนี้จะมีการพิจารณาในเดือนตุลาคมปีนี้
 
เขาเคยพ้นจากคดีข่มขืนเพื่อนของญาติเขาในปี 2006
 
กรณีคล้ายๆ กันนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับภาพของรัฐบุรุษอย่างเนลสัน แมนดาลา เมื่อพรรค ANC ได้กล่าวประนามรูปภาพร่างกายของเนลสันกำลังถูกขันสูตรศพ ซึ่งจัดแสดงในศูนย์การค้าโจฮานเนสเบอร์ก บอกว่าภาพนี้ได้ล่วงละเมิดเกียรติ์ยศของบุรุศผู้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดผิว
 
 
 
ที่มา
Jacob Zuma painting vandalised in South Africa gallery, BBC, 22-05-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชี้ชายแดนใต้ยาเสพติดชุก ผลักอัตราเสี่ยงเอดส์สูง

Posted: 23 May 2012 06:11 AM PDT

ศูนย์ประสานประชาคมเอดส์ จังหวัดสงขลาได้จัดเวทีกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานด้านเอดส์ จังหวัดสงขลาขึ้น ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช สงขลา ในเวลา 09.00-16.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นเพื่อการตอบสนองอย่างยั่งยืนต่อปัญหาและการจัดการด้านเอดส์

นายแพทย์นพดล ไพบูรณ์สิน รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลากล่าวในที่ประชุมว่าพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากการเสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าในภาคอื่นของประเทศ  จากสถิติพบว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ติดยาเสพติดประมาณร้อยละ 14 – 15 ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้เสพยาทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4 - 5  ในจำนวนนี้ มีผู้เสพยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 30 ที่ติดเชื้อเอชไอวี

การประชุมเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวางยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2555 - 2559 โดยมีเป้าหมายคือ  “Getting to Zero” หรือ “สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์” โดยมีหน่วยงานที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเอดส์โดยตรงในจังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์เข้าร่วมประชุมวางแผน

นายแพทย์นพดล กล่าวว่าปัญหาการจัดการเรื่องเอดส์ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา การรณรงค์เรื่องการถูกตีตราจากสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่กล้าเข้ารับการรักษา ช่วงปี พ.ศ.2538 - 2541 เป็นช่วงที่สถิติผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์พุ่งสูงที่สุดในประเทศไทย และดูเหมือนปัญหานี้จะบรรเทาลงไประยะหนึ่ง และได้กลับมาระบาดมากขึ้นอีกในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา  ในปัจจุบันทุกพื้นที่มีความเสี่ยงเท่าๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดจะมีความหนาแน่นของประชากรมากกว่า  และการระบาดจะมีค่อนข้างสูงในเมืองท่องเที่ยวและพื้นที่ที่มีการใช้ยาเสพติดสูง

นายแพทย์นพดลเปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เชื้อเอชไอวี/เอดส์ระบาดมากขึ้นเพราะว่าปัจจุบันการรณรงค์ในเรื่องนี้ลดลง  ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ามียาที่สามารถบรรเทาอาการของผู้ติดเชื้อจึงทำให้ประชาชนไม่ตระหนักในเรื่องการป้องกัน ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้เยาวชนไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะสื่อที่เสพ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ในขณะอายุน้อย

นายแพทย์นพดลได้กล่าวว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การแพร่เชื้อเอชไอวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากขึ้นเพราะว่าผู้ติดเชื้อไม่ยอมรับการรักษา สังคมมุสลิมไม่ค่อยยอมรับผู้ติดเชื้อเอดส์เพราะมีทัศนคติว่าผู้ที่ติดเชื้อเป็นผู้ที่ส่ำส่อนทางเพศหรือผิดประเวณีซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ผู้หญิงหลายคนที่ตรวจพบเชื้อในช่วงการฝากครรภ์ไม่กลับมารักษา ผู้หญิงเหล่านี้หายไปจากระบบการติดตามของโรงพยาบาลและเชื่อว่าขาดรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่การดูแลของแพทย์จะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อติดสู่ลูกในครรภ์ได้         

ส่วนแนวทางป้องกันนั้น นายแพทย์นพดลแนะนำว่า ผู้ที่กำลังจะแต่งงานหรือกำลังจะมีบุตรให้พาคู่ครองไปตรวจเลือดให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งการตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาได้ดีกว่ากว่า 

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชี้ชายแดนใต้ยาเสพติดชุก ผลักอัตราเสี่ยงเอดส์สูง

Posted: 23 May 2012 06:10 AM PDT

ศูนย์ประสานประชาคมเอดส์ จังหวัดสงขลาได้จัดเวทีกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานด้านเอดส์ จังหวัดสงขลาขึ้น ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช สงขลา ในเวลา 09.00-16.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นเพื่อการตอบสนองอย่างยั่งยืนต่อปัญหาและการจัดการด้านเอดส์

นายแพทย์นพดล ไพบูรณ์สิน รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลากล่าวในที่ประชุมว่าพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากการเสพยาเสพติดโดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าในภาคอื่นของประเทศ  จากสถิติพบว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ติดยาเสพติดประมาณร้อยละ 14 – 15 ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้เสพยาทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4 - 5  ในจำนวนนี้ มีผู้เสพยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 30 ที่ติดเชื้อเอชไอวี

การประชุมเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวางยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2555 - 2559 โดยมีเป้าหมายคือ  “Getting to Zero” หรือ “สู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์” โดยมีหน่วยงานที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเอดส์โดยตรงในจังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์เข้าร่วมประชุมวางแผน

นายแพทย์นพดล กล่าวว่าปัญหาการจัดการเรื่องเอดส์ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา การรณรงค์เรื่องการถูกตีตราจากสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่กล้าเข้ารับการรักษา ช่วงปี พ.ศ.2538 - 2541 เป็นช่วงที่สถิติผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์พุ่งสูงที่สุดในประเทศไทย และดูเหมือนปัญหานี้จะบรรเทาลงไประยะหนึ่ง และได้กลับมาระบาดมากขึ้นอีกในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา  ในปัจจุบันทุกพื้นที่มีความเสี่ยงเท่าๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ใดจะมีความหนาแน่นของประชากรมากกว่า  และการระบาดจะมีค่อนข้างสูงในเมืองท่องเที่ยวและพื้นที่ที่มีการใช้ยาเสพติดสูง

นายแพทย์นพดลเปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เชื้อเอชไอวี/เอดส์ระบาดมากขึ้นเพราะว่าปัจจุบันการรณรงค์ในเรื่องนี้ลดลง  ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ามียาที่สามารถบรรเทาอาการของผู้ติดเชื้อจึงทำให้ประชาชนไม่ตระหนักในเรื่องการป้องกัน ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้เยาวชนไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะสื่อที่เสพ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ในขณะอายุน้อย

นายแพทย์นพดลได้กล่าวว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การแพร่เชื้อเอชไอวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากขึ้นเพราะว่าผู้ติดเชื้อไม่ยอมรับการรักษา สังคมมุสลิมไม่ค่อยยอมรับผู้ติดเชื้อเอดส์เพราะมีทัศนคติว่าผู้ที่ติดเชื้อเป็นผู้ที่ส่ำส่อนทางเพศหรือผิดประเวณีซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ผู้หญิงหลายคนที่ตรวจพบเชื้อในช่วงการฝากครรภ์ไม่กลับมารักษา ผู้หญิงเหล่านี้หายไปจากระบบการติดตามของโรงพยาบาลและเชื่อว่าขาดรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่การดูแลของแพทย์จะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อติดสู่ลูกในครรภ์ได้         

ส่วนแนวทางป้องกันนั้น นายแพทย์นพดลแนะนำว่า ผู้ที่กำลังจะแต่งงานหรือกำลังจะมีบุตรให้พาคู่ครองไปตรวจเลือดให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งการตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาได้ดีกว่ากว่า 

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สมัชชาคนจน" เตรียมถกนอกรอบ "รมต.สำนักนายก" หวังสางปัญหาคั่งค้างพรุ่งนี้

Posted: 23 May 2012 06:04 AM PDT

สมัชชาคนจนกว่า 400 คน ชุมนุมต่อเนื่องวันที่ 4 หน้าทำเนียบเรียกร้องการแก้ปัญหาที่คั่งค้างมายาวนานกว่า 20 ปี หวังรัฐบาลจริงใจในแก้ไขปัญหาคนจน เผยถ้ายังหารือแล้วไม่เป็นผลก็จะกำหนดมาตรการใหม่ต่อไป
 
 
 
วันนี้ (23 พ.ค.53) สมัชชาคนจนกว่า 400 คน ชุมนุมต่อเนื่องหน้าทำเนียบเป็นวันที่ 4 เรียกร้องให้มีการเจรจาแก้ปัญหาที่คั่งค้างมายาวนานกว่า 20 ปี ของสมัชชาคนจนทั้ง 6 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายเขื่อน เครือข่ายป่า เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน โดยขณะนี้มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลเดินทางมาสมทบเพิ่มอีก 100 คน
 
สมัชชาคนจน ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเจรจาแก้ปัญหาที่การดำเนินการยังไม่ลุล่วงต่อจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ พร้อมออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.55 เวลา 15.00 น. นายจรัญ ดิษฐาพิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายชอน บุญประคอง โฆษก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายโชคชัย หาญนิมิตกุล เลนานุการรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพรศาล) ได้เดินทางมาพบกับตัวแทนสมัชชาคนจน
 
อีกทั้งมีการนัดหมายเพื่อที่จะวางกรอบแนวทางในการเจรจาเบื้องต้น โดยได้มีข้อตกลงร่วมกันถึงการหารือนอกรอบครั้งที่ 2 ระหว่างตัวแทนสมัชชาคนจนและรัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี ในวันที่ 24 พ.ค.55 เวลา 11.00น.ที่ทำเนียบรัฐบาล
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนสมัชชาคนจนได้มีการยื่นหนังสือถึงกระทรวงต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมัชชาคนจนยังคงชุมนุมอย่างสงบ เพื่อคอยการเจรจาดังกล่าว โดยขอให้รัฐบาลทำหน้าที่ให้สมกับที่คนรากหญ้าไว้วางใจ และหวังว่ารัฐบาลจะจริงใจในการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนทันที โดยให้มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในที่ประชุม
 
นายพุฒ บุญเต็ม ตัวแทนเครือข่ายเขื่อน กล่าวว่า ชาวบ้านไม่มีความต้องการเดินทางมายังทำเทียบรัฐบาลแต่สถานการณ์บีบบังคับเพราะเรามานานแล้ว เพราะการเดินทางลงชุมนุมแต่ครั้งชาวบ้านต้องสิ้นเปลื้องงบประมาณส่วนตัวครั้งมากพอสมควร เช่นกรณีชาวบ้านราษีไศล ต้องขอรับบริจาคเงินจากสมาชิกเครือข่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครั้งนี้ จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ไม่ได้รับการแก้ไขและเยียวยาจากรัฐบาลอย่างจริงจังและจริงใจ
 
“พวกเราจะชุมนุมรอจนกว่ารัฐบาลจะเปิดการเจรจากับสมัชชาคนจน เราถอยกลับไม่ได้แล้ว ปัญหาคนจนต้องได้รับการแก้ไขและเยียวยา” นายพุฒกล่าว
 
ด้านนายวิโรจน์ เชื้อกล่อม แกนนำชาวบ้านจาก อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กล่าวว่า ถ้ายังหารือแล้วไม่เป็นผลก็จะกำหนดมาตรการใหม่ต่อไป
 
 
 
แถลงการณ์ ฉบับที่ ๓
 
สมัชชาคนจนเป็นชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันเพราะได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐที่มีข้าราชการนักการเมืองและลุ่มทุนธุรกิจที่อยู่เบื้องหลัง เป็นที่ปรากฏชัดและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล
 
จากการชุมนุมติดตามงานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เราได้ยื่นข้อเสนอของสมัชชาคนจนต่อรัฐบาลให้เปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีการดำเนินการยังไม่ลุล่วงต่อจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ หลังจากรอมานานอย่างไรก็ตาม เรามีความเห็นใจรัฐบาลแต่ปัญหาของคนจนก็ต้องได้รับการแก้ไขเนื่องจากรอคอยกันมานานเป็นเวลาเกือบ 10 เดือนแล้วและยื่นหนังสือขอนัดหมายเจรจาอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555
 
เรารอคอยคำตอบมาแล้ว 4 วัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เราสมัชชาคนจนได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลได้กำหนดวันนัดหมายพร้อมกับให้รัฐบาลประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเจรจา และเมื่อเวลา 15.00 น. ได้มีตัวแทนจากฝ่ายการเมืองโดยนายจรัญ ดิษฐาพิชัย นายชอน บุญประคอง นายโชคชัย หาญนิมิตกุล เลขาฯ รัฐมนตรี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพรศาล รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี ได้มีการนัดหมายพูดคุยกับตัวแทนสมัชชาคนจนแล้วมีการนัดหมายเพื่อที่จะวางกรอบแนวทางในการเจรจาเบื้องต้น และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าการหารือนอกรอบครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2555เวลา 11.00น.ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีตัวแทนสมัชชาคนจนและนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพรศาล รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี
 
เรา, สมัชชาคนจนได้ร่วมกันชุมนุมอย่างสงบที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อคอยการเจรจาที่จะถึงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐในนามสมัชชาคนจน ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ทำหน้าที่ให้สมกับที่คนรากหญ้าไว้วางใจ และเราหวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหารายกรณีของสมัชชาคนจนทันที โดยให้มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม
 
ประชาธิปไตยต้องกินได้ การเมืองต้องเห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน
23 พฤษภาคม 2555 เวลา 11.00น
ณ ทำเนียบรัฐบาล
 
 
 
AttachmentSize
ข้อเรียกร้องสมัชชาคนจน พ.ค.55356.5 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

รำลึก ‘สมบูรณ์ วรพงษ์’ กับ ‘รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี’

Posted: 23 May 2012 05:48 AM PDT

สมบูรณ์ วรพงษ์

"รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี" ผลงานของสมบูรณ์ วรพงษ์

เมื่อเวลา 18.18 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘สมบูรณ์ วรพงษ์’ อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโส นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และเจ้าของผลงานสารนิยายอันโดดเด่น ‘รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี’ ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่แล้ว ด้วยวัย 84 ปี 

สมบูรณ์ วรพงษ์ หรือที่แวดวงนักเขียนเรียกขานกันว่า ‘คุณลุงสมบูรณ์’ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนปรินซ์รอแยลและยุพราชวิทยาลัย เริ่มชีวิตการงานด้วยการเป็นครูที่รัฐฉานในพม่า ได้พบเห็นเรื่องราวหลากหลาย จนกลับมาเรียนวิชาครู จนได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) จากนั้นไปเรียนประกาศนียบัตรหนังสือพิมพ์ภาคค่ำที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์จาก มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ผ่านการฝึกอบรม จากสถาบันหนังสือพิมพ์นานาชาติ ( International Press Institute) ได้รับทุนดูงานหนังสือพิมพ์ ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เริ่มเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ‘พิมพ์ไทย’ พ.ศ. 2496 ตั้งแต่นั้นอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ มาตลอด อาทิ เดลิเมล์, บางกอกเดลิเมล์, หลักเมืองชีวิตใหม่และเสียงอ่างทอง จนกระทั่ง ประจำตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งแต่พ.ศ. 2517-2519 

นอกจากนั้น เขายังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์, กรรมการสมาคมนักข่าว, กรรมการสมาพันธ์หนังสือพิมพ์อาเซียน, เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ

ทั้งนี้ สมบูรณ์ วรพงษ์ เคยได้รับรางวัลผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จากสมาคมนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2536  นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลผู้พัฒนาอาชีพดีเด่น ของสโมสรโรตารี่พระนคร พ.ศ. 2539 รางวัลนักเขียนเกียรติยศ "ช่อการะเกด" พ.ศ. 2540 และได้รับรางวัลศรีบูรพา เป็นคนที่ 17 เมื่อ พ.ศ. 2547

เมื่อพูดผลงานรวมเล่มหนังสือของเขา นั้นมีจำนวนมากมายหลายเล่ม โดยใช้ทั้งนามจริงและนามปากกา ‘คนข่าวอิสระ′ ผลงานรวมเล่มที่รู้จักกันดี อาทิ รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี , บนเส้นทางหนังสือพิมพ์ , คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี , ชุนเทียนที่ปักกิ่ง ,ครูดี เด่นดวง ,ไพร่หนีนาย ,จากลุ่มเจ้าพระยา ,จดหมายเหตุจากปักกิ่ง เป็นต้น

แต่ที่โดดเด่นและได้รับการเล่าขานกันมากเล่มหนึ่ง นั่นคือ ‘รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี’

วารุ วิชญรัฐ ได้บันทึกเอาไว้ว่า รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี เป็นการบอกเล่าเรื่องราวในพม่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุที่การเมืองในพม่าหลังการได้รับเอกราชจากอังกฤษนั้นไร้เสถียรภาพ เพราะไม่อาจจัดการบริหารชนกลุ่มน้อยต่างๆ และด้วยความขัดแย้งจนเกิดการสู้รบของชนกลุ่มน้อยอันเป็นผลมาจากรัฐบาลกลางพม่าฉีก "สัญญาปางโหลง" อันเป็นสนธิสัญญาประนีประนอมระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเพื่อรวมกันต่อสู้กับอังกฤษและหากได้ชัยชนะแล้ว รัฐบาลกลางของพม่าก็จะยอมให้ชนกลุ่มน้อยปกครองตนเอง สนธิสัญญานี้ร่างขึ้นโดยมีนายพลอองซานเป็นแกนนำ หากต่อมาฝ่ายต่อต้านการให้ชนกลุ่มน้อยปกครองตนเองก็จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าซึ่งเป็นผู้นำของชนกลุ่มน้อยมาสังหารทั้งหมด รวมทั้งลอบสังหารนายพลอองซานในที่สุด เป็นที่มาของบทเพลง "ลีกห่มหมายป๋างโหลง" ของ จายสายเมา นักร้องชาวไทยใหญ่ นับจากนั้น ความปั่นป่วนวุ่นวายก็เกิดขึ้น และถือว่าเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองพม่าต้องระส่ำระสายอย่างมากช่วงหนึ่ง 

ห้วงชีวิตหนึ่งของสมบูรณ์ วรพงษ์ ก็ได้เดินทางไกลเข้าไปในรัฐฉานของพม่าในห้วงเวลาอันสับสนนั้น ประหนึ่งเป็นการ ‘ผจญภัย’ ไปไกลถึงเมืองปั่น เมืองยองห้วย น้ำคำ ตองยี ลางเคือ ได้พบเห็นความเสื่อมโทรม การสู้รบและการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ได้เห็นการมีมนุษยธรรมที่กว้างไกลไร้พรมแดนของหมอและพยาบาลชาวพม่าและไทยใหญ่ที่เยียวยาทั้งโรคภัยไข้เจ็บของผู้คนเป็นผลจากคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่และภัยคุกคามจากการสู้รบ จนพยาบาลบางคนอาจต้องอุทิศชีวิตเพราะสงครามนั้นย่อมไม่มีข้อยกเว้น

กระทั่งใครบางคนไม่อาจอดทนต่อความทุกข์เข็ญจากโครงสร้างบ้านเมืองที่กำลังเสื่อมโทรม ทั้งจากคอร์รัปชั่น การพนันที่ระบาดไปทั่ว ผู้คนอดอยากเจ็บไข้ล้มตายกันเป็นเบือ จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิถีทางที่เสมือนตาต่อตาฟันต่อฟัน หากในที่สุดด้วยวิธีเช่นนี้ ก็ก่อผลร้ายเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้ จนกระทั่งต้องสูญชีวิตกันไปทั้งสองฝ่าย

กระทั่งเหตุการณ์ระอุเมื่อกองกำลังกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยเข้ายึดเมืองต่างๆ เช่นตองยีหรือตองกี่ในรัฐฉาน จนสมบูรณ์ต้องหนีระหกระเหินกลับเข้ามาในประเทศไทย เรื่องราวอันระทึกและสะเทือนใจในคราวนั้น ถูกกลั่นกรองกลายเป็น "รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี" อันเป็นบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความเสื่อมโทรมของบ้านเมืองอันเกิดจากความแตกแยกในพม่าและสาระของความดีงามที่ไม่ยอมแพ้แก่ความโฉดเขลา

ที่สำคัญ สารนิยายเรื่อง"รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี"นี้ยังบันทึกเรื่องราวเล็กๆ หากสำคัญยิ่งสำหรับนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของไทย นั่นคือสมบูรณ์ได้พบปะกับ พ.ท. พโยม จุลานนท์ บิดาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เมืองหาง ในรัฐฉาน อันเป็นที่พำนักในช่วงหนึ่งของ ‘สหายคำตัน’ ก่อนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในฐานะเสนาธิการของ พคท. 

รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี พิมพ์ครั้งแรกลงเป็นตอนๆ ที่สยามสมัย เมื่อปี พ.ศ.2493 ได้รับความนิยมมากพอสมควรและนับเป็นการจุดประกายการเขียนหนังสือให้กับสมบูรณ์ วรพงษ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาเรื่องนี้ได้รับการพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ 

ล่าสุด สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มเติมภาคจบ เป็น"รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี ฉบับสมบูรณ์" โดยในภาคแรก เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ สมบูรณ์ วรพงษ์ นักเดินทางจากเมืองไทยเข้าไปท่องเที่ยวพม่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในเมืองตองยีซึ่งมีทั้งความขัดแย้งทางเชื้อชาติและความเสื่อมโทรมของผู้คนและบ้านเมือง สมบูรณ์พบกับชิตสุ นักเรียนพยาบาลผู้มีจิตใจเสียสละและได้เป็นมิตรกัน จนกระทั่งการจากพรากเพื่อไปทำหน้าที่ของตนเองในรถเที่ยวสุดท้าย

ภาคสอง เป็นบันทึกของชายผู้ต่อสู้ด้วยความรุนแรงแบบใต้ดินเพื่อกำจัดคนชั่วในแผ่นดิน แต่ในที่สุดก็เป็นเหตุให้มิตรและหญิงสาวคนรักต้องตายไป

และภาคสาม บวร รัตนสิน นักข่าวจากเมืองไทยไปทำข่าวที่พม่า ได้พบกับ สมบูรณ์ พรพงษ์ในวัยชราที่มาระลึกอดีตที่ตองยี และได้รับรู้การแบ่งแยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ผ่านปากคำของอดีตนักศึกษาประวัติศาสตร์ที่ต้องกลายมาเป็นนักดีดพิณ
ในช่วงสุดท้ายวัยบั้นปลายของชีวิต สมบูรณ์ วรพงษ์ ได้กลับมาพำนักอยู่เงียบๆ ในบ้านที่ จ.เชียงใหม่ แต่นั่นหาทำให้เขาหมดไฟในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่สมบูรณ์ มีความพยายามมุ่งมั่นอยากฝันเห็นนั่นคือ การรวมกลุ่มของนักคิดนักเขียนในเชียงใหม่อย่างเป็นรูปเป็นร่าง

หลายต่อหลายครั้ง ที่เขาคอยโทรศัพท์ติดต่อประสานกับเหล่านักคิดนักเขียนรุ่นลูกรุ่นหลานได้มานั่งล้อมวงคุยกันถึงเรื่องนี้
กระทั่งเมื่อต้นปี 2555 สโมสรนักเขียนเชียงใหม่ (Chiangmai Writer Club) จึงเกิดขึ้น

อัคนี มูลเมฆ นักข่าว/นักเขียน/นักแปล ซึ่งปัจจุบันได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ได้บอกเล่าถึงที่มาของสโมสรนักเขียนเชียงใหม่ ว่า เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ คุณลุงสมบูรณ์ วรพงษ์ ท่านเป็นคนเชียงใหม่ หลังเกษียณท่านก็มาอยู่เชียงใหม่ และอยากเห็นการรวมกลุ่มของนักเขียนในเชียงใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าจะเป็นสโมสรหรือเป็นอะไรอย่างอื่น แต่อยากเห็นการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกัน

“ตอนนั้นท่านก็เรียกพวกเราหลายคนในเชียงใหม่ไปพูดจากัน แต่หลังจากดำริแล้ว คุยกันแล้วก็ยังไม่สำเร็จ คือยังทำไม่ได้ในขณะนั้น ด้วยปัญหาหลายๆ ประการ เมื่อเวลาผ่านไป ต่อมา คุณลุงสมบูรณ์ก็ป่วย นอนอยู่กับบ้าน แต่ผมก็ได้ฝากข่าวไปแล้ว บอกว่าเรากำลังก่อตั้งสโมสรนักเขียนเชียงใหม่ขึ้นมาตามที่ท่านดำริ”

สโมสรนักเขียนเชียงใหม่ จึงเป็นการสานต่อความฝันให้กับคุณลุงสมบูรณ์ วรพงษ์ และยังกลายเป็นพื้นที่ของเหล่านักเขียนที่พำนักอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ได้มีกิจกรรมรวมตัวกันสร้างสรรค์งานร่วมกันต่อไป

“อีกอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อนๆ เราหลายคนในเชียงใหม่ก็ได้สะท้อนออกมาว่า นักเขียนในเชียงใหม่ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง จริงๆ แล้วในเชียงใหม่มีนักเขียนจำนวนมาก ถ้ารวมทั้งภาคเหนือก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก แต่คนเหล่านี้ไม่มีสเปซ ไม่มีที่สำหรับแสดงออก ไม่มีที่สำหรับการทำกิจกรรม ก็เลยคิดว่าถ้าเราได้รวมตัวกัน จัดทำออกมาในรูปสโมสรน่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งกับตัวนักเขียน ผู้อ่าน และสังคมโดยรวม ก็เลยชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักเขียน 2-3 คน มาคุยกัน ทุกคนเห็นว่าควรจะทำ หลังจากนั้นก็นำความคิดนี้ไปพูดคุยกับเพื่อนนักเขียนอีกหลายคน ทุกคนก็เห็นพ้องกันว่าเราควรจะมีสโมสรนักเขียนเชียงใหม่”
จึงกล่าวได้ว่า ‘สโมสรนักเขียนเชียงใหม่’ ได้ก่อเกิดขึ้นตามความฝันสุดท้ายของคุณลุงสมบูรณ์ วรพงษ์ ก่อนที่เขาจะจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 84 ปี

ทั้งนี้ จะมีพิธีสวดอภิธรรมศพตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ ทำการฌาปนกิจศพในวันที่ 29 พ.ค.นี้

ข้อมูลประกอบ

วงการสื่ออาลัย สิ้นคนข่าวอาวุโส "สมบูรณ์ วรพงษ์",ประชาชาติธุรกิจ 23 พ.ค.2555 http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1337692390&grpid=03&catid=&subcatid=

รายา ผกามาศ,อัคนี มูลเมฆ สโมสรนักเขียนเชียงใหม่,จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พ.ค.2555

กองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ  http://www.krusala.com/history_044.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปอป.แจกเงินเยียวยาขัดแย้งการเมือง ล็อตแรก 522 ราย 577 ล้าน พรุ่งนี้

Posted: 23 May 2012 03:08 AM PDT

23 พ.ค. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) แถลงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ความขัดแย้งในทางการเมือง

นายธงทองกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบชีวิตและร่างกาย มีผู้แจ้งความจำนงขอรับการช่วยเหลือจำนวน 4,871 ราย ทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ติดตามเอกสารหลักฐานการแพทย์ การรักษาพยาบาลผู้ที่มีสิทธิ โดยในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ พล.ต.อ.ประชาจะเป็นประธานมอบเงินเยียวยาในรอบแรก 522 ราย เป็นเงิน 577 ล้านบาท จากกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บสาหัส บาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนจำนวนที่เหลือได้สอบถามทางอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ ซึ่งได้ชี้แจงว่า หากได้รับเอกสารครบก็จะรีบดำเนินการให้ทันที เพียงแต่ผู้ขอรับการเยียวยาต้องส่งเอกสารประกอบให้ครบเข้าหลักเกณฑ์ก็จะได้รับการพิจารณา ยืนยันว่าไม่มีการชักหัวคิวแน่นอน ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ เจ้าของอาคาร ร้านค้า ทาง ปคอป.ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่กำลังเร่งดำเนินการเยียวยาให้ต่อไป

"การช่วยเหลือเยียวยา 522 รายนั้น เราไม่ได้จำแนกว่าใครใส่เสื้อสีอะไร แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เราช่วยเหลือทุกคน ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่กี่รายที่ได้รับการเยียวยาครั้งนี้ ต้องให้กรมพัฒนาสังคมฯจัดทำข้อมูลแจกจ่ายต่อไป" นายธงทองระบุ

ขณะที่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอีก 55 ราย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะร่วมประชุมกับสภาทนายความเพื่อหาทางช่วยเหลือในการประกันตัว โดยมีข้อสรุปว่าจะมีการรวบรวมรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการยื่นคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลยุติธรรมในครั้งที่ 3 นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมได้รับการสนับสนุนเงินจากงบกลางเพื่อใช้เป็นหลักประกันชั่วคราว จำนวน 43,840,000 บาท

นอกจากนี้ การเยียวยาผู้ได้รับมีการดำเนินการกลั่นกรอง มีผู้มาลงทะเบียน 5 พันราย จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา โดยในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้จะมีการประชุมสรุปครั้งสุดท้ายเพื่อขอรับการเยียวยาและดำเนินการตามที่ ปคอป.กำหนดเพื่อจ่ายเงินอย่างรีบด่วนต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเหงาที่ไม่รู้ตัวของอดัม สมิท กับฤดูที่เปลี่ยนแปลง (Economics of Loneliness)

Posted: 23 May 2012 02:17 AM PDT


ภาพจาก ~aglayan-agac

ความเหงาไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของความเหงาพบว่าปี ค.ศ. 2010 ประชากรที่อายุมากกว่า 45 ปีมีอาการเหงาอย่างรุนแรงอยู่ถึงราว 35% ตัวเลขนี้สูงขึ้นจากปี 2000 ที่มีอยู่ราว 20% เท่านั้น (ดู Stephen Marche, 2012) [1] ความเหงากำลังเกาะกุมโลกใบนี้และก่อให้เกิดต้นทุนแก่สังคมมากมาย หลายประเทศต้องมีการลงทุนมหาศาลกับการรับมือความเหงา เช่น อเมริกาต้องมีการเพิ่มคลินิกนักจิตวิทยาจาก 2,500 แห่งและผู้ให้บริการจาก 30,000 คนทั่วประเทศช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 มาสู่คลินิก 77,000 แห่งและผู้ให้บริการที่ทั้งมีใบอนุญาตทางคลินิกและไม่มีรวมแล้วราว 600,000 คนในปี ค.ศ. 2010 เพื่อรองรับผู้ใช้บริการอันเนื่องมาจากความซึมเศร้าเงียบเหงาทางจิตใจที่เพิ่มขึ้น [2]

ในปี ค.ศ. 2009 EDWARD L. GLAESER ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ได้เขียนบทความเรื่อง เศรษฐศาสตร์ของความเหงา (Economics of Loneliness) ลง Economix คอลัมน์ดังของ The New York Times โดยเขาได้ชี้ชวนให้เห็นว่ามีนักหลายนักในโลกนี้ที่ให้เครดิตกับความเหงา ในฐานะเป็นบ่อเกิดของประโยชน์ทางสังคมจำนวนมาก เช่น การเกิดสัญญาประชาคมของฮอบส์นั้นก็มีประเด็นพื้นฐานมาจากการที่มนุษย์ไม่ต้องการอยู่แยกกันอย่างโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและรุนแรงถึงตายจึงมาทำสัญญาประชาคม ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้รัฐ ในทางกลับกัน เศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาที่ปฏิเสธความดีงามของความเหงา (virtue of loneliness) เพราะนักเศรษฐศาสตร์นับตั้งแต่บิดาอย่างอดัม สมิท เชื่อในการร่วมมือกันทำงาน

ข้อสังเกตก็คือ การร่วมมือกันทำงานโดยการแบ่งงานกันทำของสมิทซึ่งแรกเริ่มนั้นถูกมองในลักษณะ normative คือเป็นการมุ่งแนะนำว่าควรจะร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่ผลิตภาพทางการผลิตที่ดีขึ้น ได้ถูกส่งทอดต่อมาและในท้ายสุดได้กลายเป็นมุมมองแบบ positivism คือเกิดวิธีคิดที่มองไปว่า “มนุษยชาตินั้นมีธรรมชาติที่จะร่วมมือกัน - social nature of humanity” อยู่แล้ว การมองไม่เห็นว่าการร่วมมือกันทำงานตามที่สมิทได้กล่าวเอาไว้ใน The Wealth of Nations นั้นเป็นเรื่องที่ “ถูกสร้างขึ้น” แต่มองเป็นเรื่องธรรมชาตินี้ได้นำมาสู่วิธีคิดที่ปฏิเสธบทบาทของรัฐที่เป็นอำนาจสมบูรณ์แบบฮอบส์ (Hobbesian Absolutism) แต่หันไปมองรัฐในแบบเสรีนิยมแทน (เน้นรัฐเป็นเพียงคนสร้างและความคุมกติกาหลักๆ เช่น ความมั่นคงในทรัพย์เอกชน) โดย GLAESER ได้ให้ข้อสนับสนุนในบทความของเขาด้วยการอ้างงานของ John T. Cacioppo ที่ว่าการเกิดขึ้นของ “เมือง” ต่างๆ นั้นเองคือสัญลักษณ์ของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการจะอยู่ร่วมกัน

แต่ทว่า... ในความเห็นของ Mad Economist แล้วมุมมองแบบร่วมมือแบ่งงานกันทำ (collaborative specialization) อย่างที่สมิทเสนอสืบทอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำให้ความเปลี่ยวเหงาหายไป หากทำให้คนในสังคมนี้เหงามากยิ่งขึ้นและเป็น “ความเหงาท่ามกลางผู้คนมากมาย (lonesome among the crowd)” เพราะแม้เราจะถูกจับมาผูกโยงสัมพันธ์กันเป็นส่วนหนึ่งของระบบอันไพศาล หากเราไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยความสัมพันธ์ของคนต่อคน เราถูกเชื่อมร้อยกันด้วยความสัมพันธ์ทางการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ว่าได้ห่างไกลจากความสัมพันธ์ทางการผลิตในสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างมาก

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การร่วมมือกันทำงาน แบบแบ่งหน้าที่หรือการทำงานไม่ใช่เรื่องที่ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษยชาติ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติของยุคสมัย เช่น เทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้าทำให้ผลิตภาพทางการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องกินต้องใช้ยังต่ำ การดำนาคนเดียวอาจให้ผลผลิตไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูครอบครัวก็ต้องไปเกณฑ์แรงงาน จากคนในชุมชนมาช่วยกันทำ การหุงหาอาหารก็ไม่สามารถที่จะทำได้โดยอัตโนมัติแต่ต้องช่วยกันหุง น้ำเดือนพัดไฟตรวจความสุกเติมฟืน เหล่านี้ต้องทำพร้อมๆ กันเกินกว่าขีดความสามารถของคนเพียงคนเดียวจะทำให้บรรลุไปได้ ดังนั้นคนจึงต้องร่วมมือกัน (แต่ย้ำว่ามันอยู่บนเงื่อนไขของเทคโนโลยีแบบหนึ่งเท่านั้นซึ่งไม่สามารถตีความ presume ได้ว่าการร่วมมือเป็นธรรมชาติของมนุษยชาติแต่อย่างไร) กิจกรรมเหล่านี้แม้จะร่วมมือแต่ก็ไม่ได้แบ่งงานกันทำในแบบที่สมิทเสนอ

เมื่อสมิทเสนอว่าต้องแบ่งงานกันทำ การแบ่งงานแม้จะช่วยดึงเอาคนจำนวนมากซึ่งไม่เคยสัมพันธ์กันมาผูกสัมพันธ์กัน ในทางการผลิต ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้สร้างสายสัมพันธ์ (related without relationship) เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีคนอยู่ภายในนั้น-จะมีก็แต่ปัจจัยการผลิต (inputs) เป็นความสัมพันธ์ที่เน้นขอบเขตแน่นอน (discipline) อย่างมีวัยและอย่างต่อเนื่อง (discipline) ความสัมพันธ์เช่นนี้แม้จะทำงานอยู่ข้างเคียงกันก็ยังมีความห่างไกลกัน เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่เคยนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่จะใช้เวลาร่วมกัน หากเป็นความมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงผลิตภาพสูงสุดซึ่งเป็นความมุ่งหมายของ “ตลาด” นัยนี้ คนในระบบร่วมมือเพื่อแบ่งงานกันทำจึงใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นแต่ห่างไกลกันในทางความรู้สึกและสมควรที่จะเหงามากยิ่งขึ้นด้วย

น่าสงสัยว่าข้อสมมติฐานดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ จึงลองเข้าไปดูอันดับของดัชนีความเหงา (ไม่น่าจะรัดกุมนักแต่ไม่มีข้อมูลอื่นที่ดีมากกว่าในขณะนี้ครับ) ซึ่งวัดโดยการพิจารณาว่าคนในแต่ละเมืองค้นหาคำว่า “lonely” มากน้อยเพียงใดในระบบค้นหาของ google ผลพบว่าอันดับที่ได้คือเมืองใน ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, อินเดีย, แคนาดา, อังกฤษ และ อเมริกา เป็นเมือง (ในประเทศต่างๆ เหล่านี้) ที่มีการค้นหาความเหงามากที่สุดในโลก 10 อันดับแรกโดยทั้งหมดใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและมีการแบ่งงานกันทำอย่างเข้มข้น แน่นอนว่ามีข้อโต้แย้งได้มากมายจากการใช้ข้อมูลข้างต้นในการวินิจฉัย ดังนั้นผมก็ไม่ขอสรุปว่าข้อมูลข้างต้นจะให้คำตอบที่รัดกุม หากก็เป็นสัญญาที่บวกต่อข้อสันนิษฐานที่ว่าการแบ่งงานกันทำและระบบทุนนิยมมีผลต่อความเหงามากกว่ากว่าที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (ป.ล. อาจถกเถียงได้ว่าประเทศที่ไม่แบ่งงานกันทำและผลิตภาพต่ำ ทำให้ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากมายนัก ทำให้ไม่ติดอันดับ แต่เราจะอธิบายอย่างไรกับการที่ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มยุโรปหรือโลก อาหรับติดเข้ามาสู่รายการข้างต้นเลย?)

ผลพลอยได้จากการศึกษาเศรษฐศาสตร์ความเหงา ทำให้ผมสนใจต่อไปว่า การแพร่กระจายความเหงามีรูปแบบอย่างไร? มีการกล่าวกันมากว่าความเหงามีฤดูกาลของมัน โดยเฉพาะหน้าหนาวหรือฝนมักจะถูกจัดอยู่กลุ่ม “ฤดูเหงา” เป็นพิเศษ ดังนั้นเราควรจะตั้งต้นที่ว่า... หรือความเหงาความเหงาแพร่กระจายได้ในอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน??? ผลของดัชนีความเหงาที่จัดอันดับ 10 ประเทศซึ่งมีการค้นหาความเหงามากที่สุดในโลกนั้น ให้หลักฐาน (แบบ weak มากๆ) อีกชิ้นหนึ่งนั้นก็คือในบรรดาเมืองต่างๆ มีเพียง 1 เมืองเท่านั้นที่มาจากเขตเส้นศูนย์สูตรหรือเขตร้อน นั่นคือเมืองนิวเดลี ของอินเดีย นอกนั้นอยู่ในพื้นที่เขตหนาวทั้งสิ้น การกล่าวว่าความเหงามีฤดูกาลของมัน ไม่แน่ อาจจะจริงก็เป็นได้นะครับ

เพื่อคลายข้อข้องใจเพิ่มเติม การสำรวจงานวิจัยที่รัดกุมยิ่งขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ งานเรื่อง Cold and Lonely: Does Social Exclusion Literally Feel Cold? ของ Chen-Bo Zhong และ Geoffrey J. Leonardelli นั่นให้แง่มุมที่น่าสนใจทีเดียวครับ ทั้งสองชี้ว่า... แค่ได้อ่านคำเขียนที่พูดถึงการถูกทอดทิ้งการกีดกันออกไปก็นำมาสู่การรับรู้ อุณหภูมิที่เย็นลงกว่าปรกติแล้ว ดังนั้นไม่ได้แค่ความหนาวทำให้เหงา แต่งานชิ้นนี้ชี้ว่า ความเหงา(การถูกกันออกไปจากสังคม) ก็ก่อให้เกิดความหนาวได้เช่นเดียวกัน คนเหงาจึงหนาวง่ายและเมื่อหนาวก็ก่อกลับมาสร้างความเหงา กลายเป็นวัฏจักรสีหม่นๆ ที่นำไปสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย หรือการเฉื่อยชาต่อการทำงาน [3] ซึ่งอาจจะนำมาสู่การขายผลิตภาพการผลิตและทำให้ถูกเร่งรัดให้แบ่งงานกันทำ หรือทำงานมากขึ้นซึ่งก็จะกลับมาทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมและก่อให้เกิดความ เหงาที่มากขึ้น

นอกจากมิติทางอุณหภูมิแล้ว ความเหงายังเคลื่อนที่ผ่าน platform ของการสื่อสารเทคโนโลยีและสายสัมพันธ์ได้ด้วย งานเรื่อง Alone in the Crowd: The Structure and Spread of Loneliness in a Large Social Network ของ John T. Cacioppo และ James H. Fowler ชี้ว่า 1. ความเหงาเคลื่อนที่บนอินเทอร์เน็ตผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะอื่นๆ 2. ความเหงาแพร่ผ่านทางเพื่อนได้ง่ายกว่าครอบครัว และ 3. ความเหงากระจายตัวผ่านเพศหญิงได้ดีกว่าเพศชาย

ทั้งนี้ เพื่อการอ่านงานอย่างรัดกุม Mad Economist เสนอว่าต้องระมัดระวังในการตีความข้อสรุป เนื่องจากการที่ความเหงากระจายตัวผ่านเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย ไม่ได้หมายความว่าเพศหญิงมีความเหงามากกว่าเพศชาย ทั้งนี้เพราะฝ่ายชายซึ่งอยู่ในภาคการผลิตมากกว่าฝ่ายหญิงเผชิญกับการถูกทำให้แปลกแยกโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตมากกว่าฝ่ายหญิงอาจจะเหงามากกว่าแต่พฤติกรรมทางสังคมไม่เอื้ออำนวยให้เพศชายปรับทุกกันในเรื่องความเหงา ความเหงาของฝ่ายชายจึงหยุดนิ่ง เป็นความเหงาที่จะจมดิ่งลงไปในความรู้สึกของตนเองนั่นอาจเป็นสาเหตุของ รายงานมากมายที่ชี้ว่า โดยทั่วไปแล้วประเทศต่างๆ เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าฝ่ายหญิง [4] และการที่เพศหญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น “อาจ!!!” เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญ ในการทำให้เพศหญิงเริ่มมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับฝ่ายชายก็เป็นได้


เชิงอรรถเพิ่มเติม

[0] http://aglayan-agac.deviantart.com/art/timeless-loneliness-59879310
[1] Stephen Marche (2012). Is Facebook Making Us Lonely? The Atlantic.
[2] http://conservativehome.blogs.com/the-deep-end/2012/04/the-economic-cost-of-loneliness.html
[3] Louise C. Hawkley, Ronald A. Thisted, & John T. Cacioppo (ไม่ปรากฏปี). Loneliness predicts reduced physical activity: Cross-sectional & longitudinal analyses. National Institute of Aging Program
[4] KEITH HAWTON (2012). Sex and suicide Gender differences in suicidal behavior. BJPsych.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง:นศ.อุบลแถลงต้านระบบว๊ากในกิจกรรมรับน้อง

Posted: 23 May 2012 01:06 AM PDT

กลุ่มแสงเสรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกแถลงการณ์ “ค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลาประมาณ 15.00 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มแสงเสรี ได้ออกติดแถลงการณ์ “คัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก” ตามคณะต่างๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรับน้องด้วยระบบนี้ ระหว่างติดแถลงการณ์ ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีอาจารย์เข้ามาสอบถามด้วยความห่วงใย และในขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาบางกลุ่มมีท่าทีที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ เนื่องด้วยอยู่ในช่วงเวลาของการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการออกแถลงการณ์ ทางกลุ่มแสงเสรี จะขอเข้าพบ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อมอบแถลงการณ์นี้ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แถลงการณ์
“คัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้ากในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”

แถลงการณ์ฉบับนี้ ได้รับการร่างโดยกลุ่มแสงเสรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการก่อตั้งโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำนวนหนึ่ง ที่มีแนวความคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เชื่อว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มีความเท่าเทียมกัน อีกทั้งกลุ่มแสงเสรียังเป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นและยึดถือในหลักการแห่ง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นหัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ดังนั้น กลุ่มแสงเสรี จึงขอออกแถลงการณ์นี้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ในแนวทางสันติวิธี และได้ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวนี้ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ 7.2 โดยมีเหตุผลในการคัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ดังต่อไปนี้

  1. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อ 1, 2, 3 และ 4
  2. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 28, 29, 30, 32 และ 52
  3. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ7.1
  4. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นหัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
  5. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากไม่ได้จัดขึ้นหรือมีขึ้น เพื่อส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ในทางกลับกัน กลับส่งเสริมระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในหมู่นักศึกษา ซึ่งระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เป็นระบอบที่ไม่เชื่อว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มีความเท่าเทียมกัน อาทิเช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง ไม่เท่าเทียมกันกับรุ่นพี่ เป็นต้น
  6. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากส่งเสริมให้นักศึกษาคุ้นชินกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และคุ้นชินกับการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากผู้อื่น
  7. ความสามัคคีที่ได้มาจากการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก เป็นความสามัคคีที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 28, 29, 30, 32, และ 52 อีกทั้งยังขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ7.1

ในการนี้ กลุ่มแสงเสรี จึงขอออกแถลงการณ์นี้ เพื่อคัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โดยได้แนบรายละเอียด หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 ที่ได้อ้างอิงในแถลงการณ์ฉบับนี้ ไว้ในเอกสารแนบท้ายแถลงการณ์ด้วย

22 พฤษภาคม 2555
กลุ่มแสงเสรี

 

เอกสารแนบท้าย
แถลงการณ์ “คัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้ากในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

1.1 มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้

1.2 มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม

1.3 มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

1.4 มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้ การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามกฎหมายบัญญัติ การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้

เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับ

หรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้

1.5 มาตรา 52 เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เด็กและเยาวชน สตรีและบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ

2. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537

2.1 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ 7.1 นักศึกษาย่อมมีความเสมอภาคกันและอยู่ในความคุ้มครองแห่งข้อบังคับนี้เสมอกัน ขั้นหรือระดับการศึกษาไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์แต่อย่างใด

2.2 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ 7.2 นักศึกษาย่อมมีเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการชุมนุมเพื่อวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอันก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเปิดเผยภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

3. หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ข้อ1
มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ เสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง

ข้อ2
บุคคลชอบที่จะมี สิทธิและเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่าง โดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด

ข้อ3
บุคคลมีสิทธิในการดำเนินชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย

ข้อ4
บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใดๆมิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ

 

เอกสารอ้างอิง

  • หนังสือวิพากษ์ว้าก SOTUS โดย นายชาติสังคม
  • คู่มือการใช้ชีวิตนักศึกษา ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • http://arin-article.blogspot.com/2010/06/blog-post_7522.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น