โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พยาน 3 ปากเบิกความคดีแท็กซี่เสื้อแดงโดนทหารยิง 15 พ.ค.53

Posted: 11 May 2012 09:43 AM PDT

11 พ.ค. 55 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่ห้อง 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (11 พ.ค.) ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต คดีหมายเลขดำที่ อช.2/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ขอให้ศาลชันสูตรพลิกศพนายพัน คำกอง ชาวยโสธร อาชีพคนรถแท็กซี่  กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิต หน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ลิงค์ บริเวณราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่ราชประสงค์ ซึ่งอัยการผู้ร้องขอศาลให้ทำการไต่สวนและทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150
 
โดยนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของ นายพัน ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรก ระบุว่าวันที่ 14 พ.ค.53 นายพัน ได้ไปที่อู่แท็กซี่ ย่านวัดสระเกศ เพื่อนำรถแท็กซี่มาประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากช่วงนั้นรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ โดยเวลา 20.00 น. สามีโทรศัพท์แจ้งบุตรสาวว่ายังเดินทางกลับมาไม่ได้เพราะมีการกระชับพื้นที่ของทหาร และได้มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดแห่งหนึ่งแถวราชปรารภ ซึ่งเป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเวลาเที่ยงคืน นายอเนก ไม่ทราบนามสกุล รปภ.ดูแลงานก่อสร้างคอนโดดังกล่าว ได้โทรศัพท์มาแจ้งบุตรชายตนว่าสามีถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ต่อมาศพของสามีจึงถูกนำไปชันสูตรที่ รพ.รามาธิบดี ระหว่างรอแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพ ได้สังเกตเห็นศพของสามี มีรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา ซึ่งการชันสูตรศพนั้นแพทย์ให้พยานเข้าไปร่วมสังเกตด้วย แต่พยานปฏิเสธเพราะไม่กล้าเข้าไปดู หลังจากนั้น 3 วันพยานได้เข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุก็พบรอยเลือดอยู่ และทราบว่าขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีแต่กองกำลังทหารเท่านั้น
 
ภายหลังนางหนูชิต เบิกความเสร็จ น.ส.ศิริพร เมืองศรีนุ่น ทนายความ ได้ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากที่สอง ระบุว่า พยานเป็นทนายความอาสาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม และได้รับมอบอำนาจ จากภรรยาของนายพัน ผู้เสียชีวิตให้ร่วมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน. พญาไท ให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศอฉ.ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินและได้มีหนังสือคำสั่ง ให้มีการปฏิบัติการสลายชุมนุมในพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยมีกองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย.53 แกนนำ นปช. ได้ยื่นฟ้องศาลให้มีคำสั่งคุ้มครองในการขอพื้นที่คืน และศาลมีคำสั่งว่าการขอคืนพื้นที่ให้ดำเนินตามหลักสากล ที่มี 3ขั้นตอนหลัก 1.การเตือน 2.การใช้โล่และกระบองผลักดัน 3.การใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดควัน แต่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล โดยใช้กำลังทหารเป็นหลักและในพื้นที่มีป้ายเขียนประกาศไว้ว่า เป็นพื้นที่การใช้กระสุนจริง รวมถึงอาวุธในพื้นที่ก็เป็นอาวุธสงครามความเร็วสูงที่มีใช้เฉพาะราชการทหาร ซึ่งพยานรับรู้ว่ามีการเบิกอาวุธสงครามกระสุนจริง และเชื่อว่าที่นายพันโดนยิงเสียชีวิตนั้นอาจ
สืบเนื่องมาจากกรณีที่นาย สมร ไหมทอง ขับรถตู้เข้าไปในพื้นที่ควบคุมแนวของทหารทำให้มีการระดมยิงรถตู้จนเป็นรูพรุนซึ่งนายสมรก็ได้รับบาดเจ็บ และกระสุนอาจไปโดนนายพัน โดยบริเวณใกล้เคียงก็ยังพบศพ ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ ที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย
 
ขณะที่นายอเนก ชาติกลด อายุ 47 ปี รปภ. เบิกความเป็นพยานปากที่สาม ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 20.00 น. ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ นายพันได้เดินเข้ามาขอหลบพักเพราะทหารประกาศห้ามเดินผ่านและมีป้ายเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งขณะนั้นมีการประกาศห้ามประชาชนออกจากบ้านหลังเวลา 19.00 น. จึงได้สอบถามนายพันว่าไปไหนมา นายพันบอกว่าไปเอารถแท็กซี่ที่ซ่อมไว้แต่ยังซ่อมไม่เสร็จ จากนั้นก็ได้นั่งเล่นหมากฮอสกับนายพันจนเวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงทหารประกาศมาจากรถทหาร สั่งให้รถตู้ที่วิ่งมาบนถนนหยุดวิ่ง ไม่เช่นนั้นจะทำการยิงจากเบาไปหาหนัก พยานจึงวิ่งไปหลบส่วนนายพันวิ่งออกไปดู กระทั่งได้ยินเสียงปืนดัง ปัง ปัง ปัง ที่เป็นการยิงที่ละนัดจากหลายกระบอก กว่า 20 นัด แต่รถตู้ยังไม่หยุด ก็ได้ยินเสียงยิงปืนเอ็ม 16 รัวเป็นชุดนานประมาณ 1 นาที นายพันก็วิ่งเข้ามาบอกช่วยโทรศัพท์บอกที่บ้านที่ว่าถูกยิง พยานเห็นนายพันมีเลือดไหลเอามืออุดแผลใต้ราวนมแล้วล้มไป พยานจึงนำโทรศัพท์มือถือนายพันโทรไปมีเสียงเด็กผู้ชายรับสาย พยานจึงบอกว่าพ่อถูกยิงที่ย่านราชปรารภ และได้แจ้งศูนย์นเรนทร มารับศพ หลังจากนั้นมีทหาร นักข่าว และหน่วยกู้ภัยมารับศพนายพันออกไปที่โรงพยาบาล โดยตั้งแต่เกิดเหตุจนหน่วยกู้ภัยมารับศพไปใช้เวลานาน 20 นาที และที่เกิดเหตุไม่พบบุคคลอื่นนอกจากทหาร
 
ภายหลังศาลไต่สวนพยานวันนี้เสร็จสิ้นแล้ว ได้นัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดิ อิโคโนมิสต์: ความตายอย่างยากลำบาก

Posted: 11 May 2012 09:34 AM PDT

อากงและมาตรา เรื่องน่าเศร้าของกฎหมายที่เลวร้าย คำพิพากษาที่ไร้เหตุผล และความสะดวกทางการเมือง

อาชญากรรมเพียงอย่างเดียวตามที่เขาถูกกล่าวหา คือ การส่งข้อความจำนวนสี่ข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังเจ้าหน้าที่รัฐบาล เนื้อหาในข้อความเหล่านี้มีการอ้างถึงราชวงศ์ไทย ศาลไทยมีความเห็นว่าข้อความเหล่านั้นเป็นการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหาษัตริย์ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีความเคร่งครัดและรุนแรง ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายอำพล ตั้งนพกุลถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี คดีนี้โดยเฉพาะการพิพากษาที่ไม่มีความเหมาะสมจุดประกายกระแสการประท้วงจากทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล นายอำพล ลุงแก่อายุ 61 ปีที่ไร้ประวัติการก่ออาชญกรรมและไม่มีคุณสมบัติในการเป็นนักปฏิวัติฯ จึงถูกขนานนามว่าอากงเอสเอ็มเอส นายอำพลปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาพร้อมกับอ้างว่าเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการส่งข้อความในมือถือทำอย่างไร

ในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมานายอำพลเสียชีวิตในโรงพยาบาลประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาได้ป่วยเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเสียชีวิต เหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นข้อกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ และพรบ. ว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่มีความรุนแรงมากขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นักกิจกรรมเสื้อแดงซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารในปี 2549 โดยกลุ่มนายพลฝ่ายนิยมเจ้า ได้จัดการชุมนุมประท้วงและจัดส่งพวงหลีดไปที่โรงพยาบาล

ในขณะเดียวกันคนเสื้อแดงบางกลุ่มเริ่มแสดงความไม่พอใจต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ โดยรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของทักษิณ คนเสื้อแดงได้ช่วยให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเคยคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ รวมถึงการเคยคาดหวังไปไกลถึงว่ารัฐบาลชุดนี้จะยกเลิกกฎหมายนี้

คนเสื้อแดงเห็นว่าในอดีตกฎหมายหมิ่นฯ และพรบ.คอมฯ ได้ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลักเพื่อลดแรงต่อต้านการรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลทักษิณ ซึ่งการวิเคราะห์เช่นนี้เป็นการมองสถานการณ์ที่ถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายหมิ่นฯ ได้ถูกใช้อย่างจำกัดก่อนการรัฐประหารในปี 2549 หลังจากนั้นจำนวนคดีหมิ่นฯ ที่ถูกพิพากษาลงโทษได้เพิ่มขึ้นมากมายและการลงโทษก็มีความรุนแรงมากกว่าเดิม นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีความล้าหลังไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วยังถูกใช้ในทางที่เป็นโทษ กฎหมายหมิ่นฯ มีเป้าหมายในการป้องกันการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในปัจจุบันกฎหมายนี้ได้ถูกนำไปเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่อำมาตยาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

แม้จะเพียงใดก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ได้แสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายนี้น้อยมาก ดูเหมือนเธอต้องการที่จะเอาใจกลุ่มอำมาตยาธิปไตยซึ่งมีพลเอกเปรม ติลสูยานนท์ ประธานองคมนตรีเป็นแกนกลาง เพื่อที่จะทำให้การเดินทางกลับเมืองไทยของพี่ชายเธอภายในปีนี้มีความราบรื่นมากที่สุด ในปัจจุบันนี้นายทักษิณได้อาศัยอยู่นอกประเทศเพื่อที่จะหลบหนีการถูกดำเนินคดีจากการคอรั่ปชั่น ในขณะที่นายอำพลได้เสียชีวิตอย่างโดดเดียวในโรงพยาบาลประจำเรือนจำ พร้อมๆ กับการที่ชื่อเสียงของประเทศไทยถูกทำลาย

แปลและเรียบเรียงจากบทความ An inconvenient death ในเว็ปไซต์ The Economist วันที่ 12 พฤษภาคม, http://www.economist.com/node/21554585
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรทส์วอทช์ชี้กรณี 'อากง' ทำไทยเสื่อมถอยในสายตานานาชาติ

Posted: 11 May 2012 09:31 AM PDT

ประธานสิทธิมนุษยชนภาคพื้นแปซิฟิกพบ กมธ.ต่างประเทศแสดงความเสียใจกรณี 'องกง' ตาย หยันไทยเสื่อมถอยในสายตานานาชาติ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
 
11 พ.ค. 55 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายแบรด อดัมส์ ประธานองค์การสิทธิมนุษยชนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ฮิวแมนไรทส์วอทช์) ได้เดินทางเข้าพบนายสุนัย จุลพงศธร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามถึงการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว 
 
โดยนายแบรด กล่าวว่า ตนรู้สึกไม่ดีที่ประเด็นนี้ยังไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ตนได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีอะไรที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการให้การประกันตัว 
                
“สถานะของไทยขณะนี้เสื่อมถอยไปมาก ในสายตานานาชาติ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากอัตราโทษที่รุนแรง และจำคุกเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนมากมาจากคดีหมิ่นสถาบัน เป็นเรื่องที่ชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้ อาทิ กรณีคดีอากง บทลงโทษรุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด เมื่อเทียบกันแล้วไม่สมเหตุสมผลผมมองว่ารัฐบาลและศาลยุติธรรมควรปฎิรูปกฎหมาย เพื่อลดอัตราการลงโทษในคดีหมิ่นสถาบัน เพราะที่ผ่านมาการตัดสินในคดีหมิ่นสถาบันมีการดึงเอาเหตุทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการตัดสินของศาลต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ อดีตไทยเคยมีเสรีภาพทางสื่อออนไลน์มากที่สุด แต่ระยะหลังมีการปิดกั้น ซึ่งกติการะหว่างประเทศกำหนดให้สังคมประชาธิปไตย ควรมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้น้อยที่สุด แต่ไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม" นายแบรด กล่าว
 
ด้านนายสุนัย กล่าวว่า เป็นปรากฎการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมในประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญ และในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ทางกรรมาธิการฯ จะนำเรื่องนี้หารือกัน รวมถึงกรณีที่นักโทษทางการเมืองยังไม่ได้รับการประกันตัว อาทิ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายสุรชัย (แซ่ด่าน) ด่านวัฒนานุสรณ์ และคนเสื้อแดง 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แบน 'เชคสเปียร์ต้องตาย' ทีมผู้สร้างอัดรัฐไร้เสรีภาพ-เล็งฟ้องศาลปกครอง

Posted: 11 May 2012 09:20 AM PDT

บอร์ดภาพยนตร์มติ 18 : 4 ไม่อนุญาตให้ 'เชคสเปียร์ต้องตาย' ฉายในประเทศ ขณะที่ “อภินันท์ โปษยานนท์” เสียดายคนไทยไม่ได้ดู เผยเสียดายความงดงามของหนัง พร้อมเสนอให้แก้กฎหมายภาพยนตร์ ขณะที่ ผู้สร้างเล็งอัดรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพการนำเสนอ ฟ้องศาลปกครอง และอาจดื้อแพ่งฉายแล้วรอให้ตำรวจมาจับ

11 พ.ค. 55 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้มีการพิจารณากรณีภาพยนตร์ เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ของนายมานิต ศรีวินิชภูมิ ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์ ภายหลังบอร์ดภาพยนตร์ฯ คณะที่ 3 มีมติไม่อนุญาตให้ฉาย โดยนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มีมติยืนยันตามมติคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ฉายในประเทศ โดยลงมติไม่ให้ฉาย 18 : 4 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปทางผู้จัดสร้างภาพยนตร์มีสิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมาย โดยสามารถร้องศาลปกครองภายใน 90 วัน

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดวธ.ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการแปลบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเนื้อเรื่องของบทประพันธ์เชคสเปียร์ เมื่อ 400 ปีที่แล้วมาเป็นภาษาไทยมีอรรถรส วาทะที่นำเสนองดงาม มีการสอดแทรกสิ่งที่แสดงถึงศิลปะร่วมสมัยของไทย มีความยาว 173 นาที โดยทางคณะกรรมการภาพยนตร์ ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ และลงมติ ไม่อนุญาตให้ฉาย เพราะคณะกรรมการฯ ได้แจ้งผู้สร้างปรับแก้ในฉากแล้ว แต่ผู้สร้างได้ยืนยันจะไม่มีการตัดทอนใด ทางคณะกรรมการฯ จึงได้ยืนตามมติดังกล่าว 

“ก็ต้องถามต่อว่า เราจะมีเรตติ้งไว้ทำไม รอกันมาหลายทศวรรษแล้ว พอมีเรตแล้วก็ต้องพิจารณาไปตามเรต สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ทั้ง 7 เรตติ้งของกระทรวงวัฒนธรรม ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข กรณีของการห้ามฉายนั้น เมื่อคณะกรรมการฯเสนอมาอย่างนั้น ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอน ผมได้ชมภาพยนตร์ 2 รอบแล้ว แต่ผมอยากจะเรียนว่า กรรมการหลายท่านได้พูดถึงความงดงามของหนังเรื่องนี้ บางคนที่ไม่ได้ดูก็มีความอยากดู มีการพูดกันต่อว่า ฉากนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีการคิดต่อเติมกันไปด้วย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยและชาวต่างชาติไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้” รองปลัดวธ.กล่าว

ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ นั้น การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึง แต่เราจะมีคณะอนุกรรมการเรื่องปรับปรุง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ อยู่แล้ว ซึ่งมีตนเป็นประธาน ยืนยันว่า จะต้องนำเรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์มาพิจารณาด้วย เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สามารถใช้การ พ.ร.บ.ได้ ก็ควรมีการปรับปรุง แก้ไข ก็ต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะมีเรตติ้งไว้เพื่ออะไร กรณีเรตอายุ 20 ปีขึ้นไป บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีนี้เมื่อมีวุฒิภาวะที่จะดูแล้ว ตนคิดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็งน่าจะสามารถพินิจพิเคราะห์ได้ว่า อะไรที่ถูกอะไรที่ไม่ถูก จริงๆ แล้ว เราอยู่ในโลกหลังการตายของสตีฟ จ็อบส์ โลกเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน เราไปขวางกันหรือห้ามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันเป็นการบ่งบอกอะไรบางอย่างในฐานะของตนที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ รู้สึกอึดอัดพอสมควร เพราะยังไงก็ตามต้องเคารพมติของบอร์ด

ด้านนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้สร้างภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย กล่าวว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างหนึ่งปัญหาของสังคมไทย ในเรื่องของประชาธิปไตย เราไม่สามารถที่จะทำหนังที่มีคุณภาพ หรือสะท้อนสังคมไทยได้ เมื่อทำแล้วเราจะประสบชะตากรรมอย่างนี้ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้หนังไทยมีคุณภาพ พอมีคุณภาพเราก็ไม่ให้พื้นที่แสดงออก การแบนสะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่ก้าวพ้น การดูหมิ่นผู้ชม ดูหมิ่นประชาชน ยังเป็นสังคมที่ล้าหลัง ซึ่งน่าเสียดายที่ วธ.เลือกที่จะทำแบบนี้ แทนที่จะส่งเสริม แทนที่จะสนับสนุน ที่สำคัญกรมหนึ่งส่งเสริม อีกกรมหนึ่งฉุดรั้ง ขัดแย้งกันเองในกรม ตนคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องไปพิจารณาตัวเอง ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยของท่านคืออะไร เมื่อท่านเรียกร้องให้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่ไม่ให้ประชาธิปไตยคนอื่น เมื่อตนเองมีประชาธิปไตยมีอำนาจ ก็ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า

นายมานิต เปิดเผยด้วยว่าเตรียมฟ้องศาลปกครองและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้รอรับเรื่องนี้อยู่ สุดท้ายอาจจะเป็นการประท้วง การจัดฉาย เพื่อให้มีการถูกจับกุม เพื่อให้เป็นประเด็น ประจานนานาชาติ ว่า ประเทศไทยไม่มีเสรีภาพเช่นเดียวกับประเทศจีน ที่จีนจับประชาชนตัวเองขังคุก ผมต้องการประกาศให้คนทั่วโลกรู้ว่า รัฐบาลนี้เป็นแบบนี้ รัฐบาลที่อ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่

“ผมคิดว่าการใช้เหตุใช้ผลในคณะกรรมการฯ แห่งชาติ เราไม่สามารถใช้เหตุใช้ผลได้ อันนี้พิสูจน์แล้ว การที่ขอให้ตัดฉากนั้นฉากนี้ ผมขอคณะกรรมการฯโน้มน้าวเหตุผลให้ตัดฉากนั้น แต่คณะกรรมการ ไม่ได้โน้มน้าวให้ผมเปลี่ยนใจ ผมคิดว่าคณะกรรมการมีเหตุมีผล ผมฟังอยู่แล้ว แต่กรรมการให้ตัดฉากที่ไม่มีเหตุผล ทำให้หนังมันดูแย่ ล้มเหลว และผมไม่สามารถปล่อยหนังที่ล้มเหลวออกไปได้ เพียงเพราะว่าเอาใจคณะกรรมการ เพื่อให้หนังออกมาสู่ประชาชน ผมไม่สามารถทำลายผลงานศิลปะของตัวเองที่ทำมาอย่างดีได้” นายมานิตกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาดพิสูจน์สัญชาติไม่ทันกำหนดในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ เตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลา

Posted: 11 May 2012 06:37 AM PDT

อธิบดีกรมการจัดหางาน คาดการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวไม่ทันกำหนดในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลา

11 พ.ค. 55 - นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประกอบด้วย พม่า กัมพูชาและลาว ว่า ขณะนี้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติครบแล้วทั้ง 8 ศูนย์ ในส่วนของแรงงานพม่า ที่ 3 ศูนย์เดิม คือ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ เกาะสอง จ. ระนอง สามารถพิสูจน์สัญชาติได้เฉลี่ยวันละ 3,000 – 4,000 คน ส่วนอีก 5 ศูนย์ ที่เปิดใหม่ ใน จ.สุราษฎร์ธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ดำเนินการวันละ 300 – 500 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังใหม่ ขณะเดียวกัน การเปิดศูนย์ทั้ง 5 แห่ง ล่าช้ากว่า 80 วัน ในกระบวนการอนุญาตต่างๆ จึงส่งผลให้ยอดการพิสูจน์สัญชาติไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เหลือแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติกว่า 7 แสนคน เป็นแรงงานพม่ากว่า 5 แสนคน และแรงงานกัมพูชา 2 แสนคน คาดว่าในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ จะไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าได้ทันกำหนด

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 – 17 พฤษภาคมนี้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ เตรียมเดินทางไปยังประเทศพม่า เพื่อหารือถึงความสามารถในการพิสูจน์สัญชาติเฉลี่ยต่อวัน ก่อนสรุปผลว่าจะคงเหลือแรงงานต่างด้าวจำนวนเท่าใดที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.)ก่อนเสนอขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีอนุมัติการขยายเวลาต่อไป โดยคาดว่าจะขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ส่วนแรงงานกัมพูชาคาดว่าจะสามารถพิสูจน์สัญชาติได้ทันเวลา 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หัวหน้าอุทยานแก่งกระจานฟ้อง 'หมอนิรันดร์-ทนายสุรพงษ์' หมิ่นเบื้องสูง

Posted: 11 May 2012 06:10 AM PDT

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นำทีมพนักงาน พร้อมชาวบ้านกว่า 100 คน บุกโรงพัก สภ.แก่งกระจาน ยื่นหนังสือจี้ตำรวจดำเนินคดีนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ และคณะ ฐานหมิ่นเบื้องสูง
 
11 พ.ค. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าหลังจากที่สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหนังสือถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามคำร้องที่ 729/2553 สิทธิชุมชน กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการตัดเถาวัลย์ และโครงการปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ บริเวณเขาปะการัง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำการตรวจสอบและมีมติให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีคำสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทบทวนโครงการวิจัยศึกษาผลกระทบของการรุกรานของเถาวัลย์ปกคลุมป่าธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยในการศึกษาให้คำนึงถึงผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศดั้งเดิมของป่า แทนที่จะศึกษาโดยมีสมมติฐานด้านเดียวว่าเถาวัลย์เป็นพืชรุกรานพื้นที่ป่าและให้อาศัยความรู้ภูมิปัญญาชุมชนเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการและให้มีการยกเลิกโครงการปลูกพืชอาหารช้าง สร้างอาหารสัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ โดยให้มีการทบทวนโครงการผนวกพื้นที่อุทยานอื่นเข้ากับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเตรียมประกาศเป็นมรดกโลก และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อคุ้มครองประชาชนในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
       
ต่อมา เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (11 พ.ค.) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อสนองงานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และชาวบ้านกว่า 100 คนเดิมทางมายัง สภ.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อนำหนังสือเอกสารยื่นแจ้งความเพื่อต้องการดำเนินคดีต่อนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุรพงษ์ กองจันทึก คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ และคณะ รวมทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหาด้วยกัน ประกอบด้วย
       
1.เป็นตัวการหรือให้ผู้สนับสนุนการบุกรุกแผ้วถางตัดไม้ทำลายป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 11, 48, 54 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16(1), (13) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ในพื้นที่บางกลายบนห้วยสามแพร่งชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์ ท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอแก่งกระจาน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำแม่ประจัน พื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจำนวน 427 ไร่ คิดเป็นค่าความเสียหายไร่ละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 64,050,000 บาท และความเสียหายทางความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปคำนวณเป็นตัวเลขค่าความเสียหายได้
       
2.ละเมิดสิทธิข้าราชการประจำ ประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 64 มาตรา 78 (4), (5)มาตรา 85(1) และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางรวมทั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ ส่วนรวมของชาติและประชาชน (มาตรา 9) และเป็นการบั่นทอนการใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้และต่างสำนึกการเป็นผู้ปฏิบัติราชการที่ดีเพื่อสนองตามแนวพระราชดำริพระราชเสาวนีย์ เสมอมา เป็นผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสมบัติของธรรมชาติสาธารณะของประเทศไทย อาเซียนและของโลก
       
และ 3.หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ โดยไม่ให้การเคารพน้อมนำพระราชดำริพระราชกระแส และพระราชเสาวนีย์ โดยมีการมีมติยกเลิกโครงการปลูกพืชอาหารช้างเพื่อเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของช้าง แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำรัสที่ทรงเน้นย้ำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีเพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้วก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น โดยมี พ.ต.ท.ไพบูลย์ แพรสีนวล ผกก.(สส.) สภ.แก่งกระจาน เป็นผู้รับหนังสือเอกสารดังกล่าวซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพื่อที่จะยื่นเรื่องดำเนินการต่อไป
       
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเปิดเผยว่าทนต่อสภาพที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ไหวที่เอาเรื่องเท็จมาถ่ายทอดออกผ่านสื่อโดยข้อเท็จจริงเราได้เล็งเห็นความเห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงประเทศชาติโดยข้อกล่าวหาตามข้อปรากฏตามเอกสารมีการกล่าวหาว่าทางอุทยานมีการบุกรุกแผ้วถางป่า ละเมิดสิทธิข้าราชการประจำประชาชนที่ปกป้องผืนป่าปฏิบัติไม่ได้ และที่รับไม่ได้คือองค์กรอิสระแห่งนี้สั่งให้เรายกเลิกโครงการพระราชดำริโครงการปลูกพืชสร้างอาหารให้ช้าง
       
โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่สมเด็จฯ และคนทั้งชาติให้ความเห็นด้วยแต่องค์กรและกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สั่งให้เรายกเลิก โดยเรื่องนี้อยากให้สังคมรับรู้โดยเฉพาะป่า ซึ่งวันที่ 5-7 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการบินขึ้นสำรวจและพบว่ามีการบุกรุกแผ้วถางป่ากว่า 400 ไร่ ตามแนวตะเข็บชายแดน มูลค่าความเสียหายตอนนี้ประเมินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
       
“ผมถามว่าใครรับผิดชอบก็กรรมการสิทธิคุ้มครองชนกลุ่มน้อยมีบัตรหรือไม่มีบัตรผมไม่รู้เพราะผมต้องการให้คณะกรรมการสิทธิ์แสดงตัวออกมาทำไร่เขาอ้างว่าทำไร่หมุนเวียน แล้วต้นไม้ที่อายุเป็นร้อยๆ ปี ถามว่าเป็นไม้หมุนเวียนหรือไม่ รัฐเสียหายเท่าไหร่ประชาชนได้รับผลกระทบเท่าไหร่ มีป่าต้นน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้พระราชดำริไว้เมื่อปี 2522 ให้เจ้าหน้าที่ ข้าราชการพนักงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้เฝ้าระวังและรักษาป่าอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งพวกเราน้อมนำพระราชดำริ แต่กรรมการสิทธิ์กลับปกป้องคนกลุ่มนี้ทำให้ผืนป่าถูกทำลายอย่างต่อเนื่องและสุดท้ายประเทศชาติจะอยู่อย่างไรในเมื่อองค์กรสิทธิมนุษยชนคุ้มครองคนที่ผิดกฎหมายดังนั้นพวกเราข้าราชการ และชาวบ้านรับสภาพไม่ไหวจึงดำเนินการขอแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามข้อกล่าวหาที่แจ้งให้ทราบแล้วเบื้องต้นดังกล่าว”
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำต่อคำ: ผู้แทนพิเศษโอไอซี

Posted: 11 May 2012 05:46 AM PDT

Sayed Kassem El-Masry ผู้แทนพิเศษและที่ปรึกษาของเลขาธิการขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation หรือโอไอซี) กล่าวในการเยือนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2555  โดยได้กล่าวเป็นภาษาอาหรับและแปลสดโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ

ขอขอบคุณเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และผู้มีเกียรติทุกท่าน ยุวชนบัณฑิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการและให้การต้อนรับคณะโอไอซีในวันนี้ทุกท่าน ผม รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่ในวันนี้ สำหรับผมแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มาเยือนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผมได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยมาแล้ว 3 ครั้ง ปี 2548 ส่วน 2550 ไม่ได้ลงพื้นที่ และครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ได้มีโอกาสลงมา ประเด็น สำคัญที่ดีใจคือ เนื่องจากว่าเยาวชนในวันนี้ คืออนาคตของชาติในวันหน้า หากเยาวชนในวันนี้สามารถเข้าใจและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนสำคัญหรือบทบาทสำคัญที่จะมามีส่วนส่งเสริมในการสร้างหรือนำสันติ สุขกลับคืนสู่พื้นที่
 
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเป็นแห่งหนึ่งที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นโดย ตลอด จากนั้นมาทางโอไอซี ให้ความสนใจที่จะได้เข้ามาแสวงหาลู่ทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างโอไอซี กับรัฐบาลไทยจนกระทั่ง พ.ศ. 2550 ท่านเลขาธิการโอไอซี Ekmeleddin Ihsanoglu กับรัฐบาลไทยได้มีการลงนามร่วมหรือที่เรียกว่า Joint Press Statement จาก การลงนามครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของบรรทัดฐานในการให้ความมือระหว่างองค์กรโอไอซีกับรัฐบาลไทยบน พื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกันและไม่ได้เข้าแทรกแซงกิจการภายใน โอไอซีให้ความสนใจต่อไทย แต่ไม่ได้เป็นประเด็นเนื่องจากว่าประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับคนมุสลิม แต่ที่ดีใจกลับมาในวันนี้ เห็นว่าเหตุการณ์รุนแรง การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าเทียบกับอดีตที่ผ่าน วันนี้ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายิ่งดี ซึ่งผมจะได้นำเรียนท่านเลขาธิการโอไอซีทันทีหลังจากการเดินทางกลับจากการ เยือนประเทศไทยในครั้งนี้
 
สิ่งที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย คือ ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ อิสลามไม่ได้มีส่วน และที่สำคัญสิ่งที่เรามีท่าทีร่วมกันครั้งนี้คือ สาเหตุสำคัญมาจากเรื่อง ความต่างในเรื่องของอัตลักษณ์ ความต่างในเรื่องของชาติพันธุ์ ความต่างในเรื่องศาสนา ความต่างในเรื่องประเพณี ซึ่งอาจจะมีส่วนเล็กน้อยที่เข้ามาเสริม อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่มีกลุ่มชนน้อยทั่วไปในโลกนี้
 
เพราะฉะนั้นแนวทางที่เห็นในวันนี้คือ ความรุนแรง การใช้กำลัง ไม่ได้เป็นแนวทางในการที่จะแก้ปัญหา แต่การแสวงหาแนวทางที่เป็นสันติ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การยอมรับในเรื่องสำคัญเหล่านี้ เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง
 
หลังจากได้มีโอกาสพบปะกับหน่วยงานราชการและผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลเมื่อวาน นี้ มีความประทับใจในพัฒนาการที่เป็นไปทางบวก จึงอยากจะขอให้เรียนให้ทราบก็คือ รู้สึกดีใจที่เห็นว่ารัฐบาลได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาถิ่น คือการใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นมิตรหมายที่ดี และผมได้ทราบว่าเป็นโครงการนำร่องเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ได้มีการขยายและมีร้อยๆ โรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นการรักษาซึ่งวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้ความสำคัญ
 
ถัดมา ได้ทราบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องของการพูดคุยกับ ทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มที่อาจจะมีความเห็นที่ต่างจากฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งเห็นว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะไปสู่ความเข้าอกเข้าใจในอนาคต 
 
ประเด็นที่อยากจะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบอีกประเด็นหนึ่งคือ ได้มี การพูดถึงพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้ในพื้นที่ซึ่งผมและคณะได้มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับหน่วย งานเกี่ยวข้อง ก็ดีใจที่ได้ทราบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องมีการพิจารณายกเลิกในอนาคต และขึ้นอยู่ว่าหากสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ต่างๆ ดีขึ้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะต้องพิจารณายกเลิกไปและอาจจะต้องใช้กฎหมายปกติเข้ามาแทนที่ ซึ่งโอไอซีเห็นว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อาจจะมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นทางโอไอซีมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน
 
ที่สำคัญท่าที่ที่ชัดเจนของโอไอซี คือ โอไอซีประณามเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะก่อ ให้เกิดขึ้นมาจากกลุ่มใดหรือฝ่ายใด
 
โอไอซีขอประณามการเข่นฆ่าชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยไม่ได้เลือกว่าเขาจะเป็นคนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม เพราะหลักการของอิสลามชัดเจน อัล-กุรอานบอกว่าผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งชีวิต เหมือนกับว่าเขาฆ่ามนุษย์ทั้งโลก อัลกุรอานไม่ได้บอกว่า ชีวิตตรงนี้หมายถึงพุทธหรือมุสลิม ทุกชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความสิทธิเท่าเทียมกัน
 
สิ่ง ที่ทางโอไอซีได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการคือส่งเสริมและสนับสนุนให้ รัฐบาลใช้แนวทางแก้ปัญหานี้ด้วยสันติวิธี โอไอซี มีท่าที่ที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดนหรือแยกดินแดนส่วนนี้ ออกจากประเทศไทย 
 

 


     

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สสส. หนุนชุมชนระดมความคิดพัฒนาบางหลวง

Posted: 11 May 2012 05:32 AM PDT

ผู้จัดการแผนงานฯ ชี้บางหลวงมีศิลปวัฒนธรรมโดดเด่น เก่าแก่กว่าร้อยปี เพื่อปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกรัก หวงแหน สืบสานและสืบทอด เผยการระดมความคิดจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชิ้นงาน เกิดเป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแกนนำชุมชนผลักดันให้เป็นที่รู้จัก เกิดเป็นเวทีสาธารณะเกิดเป็นความยั่งยืนได้
 
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับ ชุมชนบางหลวง สมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดของคนบางหลวงเพื่อคนบางหลวง ด้วยการดึงคนทุกภาคส่วนมาร่วมมือ ร่วมใจ พัฒนาบางหลวง เพื่อลูกหลานคนบางหลวงขึ้นที่ตลาดบางหลวง รศ. ๑๒๒ จ.นครปฐม
 
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.  กล่าวว่า ชุมชนบางหลวงเป็นชุมชนที่มีศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่กว่าร้อยปี ซึ่งมีการรวบรวมประวัติของชุมชนผ่านเครื่องอุปโภคเอาไว้มากมายที่ "บ้านเก่า เหล่าเต๊งไม้" โดยสิ่งของทุกชิ้นนั้นจะมีประวัติศาสตร์บอกไว้ อาทิ เครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า, แตรเรือเก่า, เรือเก่าแก่แบบต่างๆ, เสื้อคลุมทหารญี่ปุ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2, เก้าอี้ตัดผม, ตะเกียงโบราณ, จักรยานเก่า และอื่นๆ อีกมาก ทั้งยังมี บ้านตีเหล็ก ซึ่งปัจจุบันยังมีสาธิตการตีเหล็กแบบสูบลมซึ่งหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้ ตามมาด้วย บ้านสอนดนตรีจีน ที่มีการสอนดนตรีจีนที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานเพราะตัวโน๊ตที่มีอายุเก่าแก่กว่า 4 พันปี โรงหนังเก่า ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 โดยปัจจุบันมีอายุถึง 72 ปี และยังมีฉายหนังไทยขนาด 16 ม.ม.ด้วยเครื่องฉายหนังที่มีอายุกว่า 60 ปีด้วย ที่ร้านกาแฟ เป็นร้านกาแฟที่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนที่มานั่งจิบกาแฟ พร้อมพูดปะพูดคุยกัน ทั้งยังมีของฝากที่เป็นโปสการ์ดเก่า ภาพเก่าให้ชมและซื้อกลับไปเป็นของฝากได้ ส่วนร้านทำฟัน และ ร้านทอง ก็ยังมีอุปกรณ์ที่เก่าแก่ที่เคยเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนให้ชมและดูการสาธิตการทำทองได้ ด้านอาหารก็มี ข้าวเกรียบปากหม้อไส้ผักต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของบางหลวง หากมาแล้วไม่ได้ชิมจะถือว่ายังมาไม่ถึงบางหลวง  
 
“เมื่อบางหลวงเป็นชุมชนที่มีศิลปวัฒนธรรมและรากเหง้าของวัฒนธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจจำนวนมาก เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชน คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมชุมชน รู้จักรัก หวงแหน สืบสาน และสืบทอด เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของชุมชนในระดับต่างๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชิ้นงานที่เป็นต้นแบบเหล่านี้จนเกิดเป็นแหล่งศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเกิดเป็นเวทีสาธารณะในชุมชน และมีแกนนำชุมชนลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับผู้ที่เคลื่อนไหวทางสังคม หรือผู้ที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีให้เกิดขึ้นกับชุมชน ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่นำมาสู่การระดมความคิดของคนบางหลวงทุกภาคส่วน อาทิ ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน แกนนำเยาวชน ชาวบ้าน ครู และอื่นๆ มาระดมสมองร่วมกัน ว่าอยากเห็นบางหลวงเป็นอย่างไร จากนั้นจะมีการร่วมมือ ร่วมใจ พัฒนาบางหลวงเพื่อลูกหลานคนบางหลวง เกิดเป็นค่านิยมใหม่ นโยบายเกี่ยวกับชุมชนที่จะเน้นในการพึ่งพาตนเอง จัดการตนเอง และสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด และนำไปสู่การพัฒนาแกนนำ มาสืบสาน และสื่อสารกับชุมชนอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นเข้ามาเรียนรู้ หรือเป็นกรณีศึกษาให้ชุมชนอื่นลุกขึ้นมาทำบ้าง” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
 
และก้าวต่อไป ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.กล่าวว่า เพื่อหนุนเสริมความยั่งยืนให้กิจกรรมต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อนจนเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จะร่วมกับเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญทางกฎหมาย ให้เกิดเป็นกองทุนสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงพื้นที่ชุมชนต้นแบบต่างๆ ให้มีการดำเนินงานด้านวิชาการแล้วเกิดการจัดเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
ด้านอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ประธานสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม กล่าวว่า การระดมความคิดเพื่อพัฒนาบางหลวง ซึ่งมติที่ประชุมพบว่า ชาวบางหลวงอยากให้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนเอาไว้ให้ทายาทรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ, มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบางหลวงและประทับใจในความเป็นบางหลวง, ต้องการให้ดนตรีจีนของบางหลวงมีคนสนใจ และต้องการศึกษาเรียนรู้เพื่อสืบสานเอาไว้ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย, คนในชุมชนมีงานทำคนรุ่นใหม่และวัยทำงานกลับบ้านและมาทำงานในพื้นที่มากขึ้น, ต้องการพัฒนาตลาดริมน้ำให้สะอาด น่ามอง และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากกลับมาเยือนบางหลวงอีกครั้ง ฯลฯ เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดมาแล้วทางสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม สสส. และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ก็จะนำกิจกรรม ศิลปินต่างๆ ที่อยู่ในสมาพันธ์ลงมาในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมและร่วมพัฒนาตามมติที่ได้ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการดำเนินการต่างๆ ได้ที่ www.artculture4health.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ยิ่งลักษณ์" ยันไม่มีนโยบายแก้ ม.112

Posted: 11 May 2012 05:13 AM PDT

ภาระเร่งด่วนของรัฐบาลคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ส่วน "ธิดา" เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาคดีการเมืองต้องได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี

ต่อกรณีการเสียชีวิตของนายอำพล (สงวนนามสกุล) หรือ "อากง SMS" ผู้ต้องขังเนื่องจากข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการส่งข้อความสั้นไปยังเลขานุการส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ล่าสุดเมื่อวันนี้ (11 พ.ค.) นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แถลงข่าวประจำสัปดาห์ตอนหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ต้องทบทวนและแก้ปัญาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เหตุการณ์จะเสียหายมากไปกว่านี้ ในระบบยุติธรรมของไทยการตั้งข้อกล่าวหารุนแรงแล้วไม่ให้ประกันตัว จนเกิดกรณีของอากงนั้นได้ฟ้องกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ดังนั้นรัฐและองค์กรยุติธรรมที่เกี่ยวข้องขอให้ทบทวนและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมดก่อนที่จะเสียหายมากไปกว่านี้ และเรียกร้องให้ผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองได้รับการประกันตัว เพื่อออกมาต่อสู้คดี

ขณะเดียวกันสำนักข่าวแห่งชาติ รายงานคำให้สัมภาษณ์วันนี้ (11 พ.ค.) ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแถลงข่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการ ระดับปลัดกระทรวง ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และการประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ โดยตอนหนึ่งผู้สื่อข่าวถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์เรื่องการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่าไม่มีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ขณะที่ภาระเร่งของรัฐบาลคือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครก.112 แถลงการณ์ไว้อาลัยอากง-เตรียมจัดงานสรุปการรณรงค์แก้112 27 พ.ค.นี้

Posted: 11 May 2012 04:32 AM PDT

(11 พ.ค.55) คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา112 (ครก.112) ออกแถลงการณ์ไว้อาลัยต่อการจากไปของนายอำพล หรือ "อากง" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา

"เราไม่ได้คาดหวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมของครอบครัวนาย อำพลทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จะสำนึกผิดในกรรมที่ตนได้กระทำไว้ แต่เราหวังว่าประชาชนที่ได้ติดตามคดีของนายอำพลอย่างต่อเนื่อง  และตระหนักถึงปัญหาของมาตรา 112 จะช่วยกันทำให้กฎหมายที่อยุติธรรมนี้ยุติการทำร้ายประชาชนเสียที แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม" ครก.112 ระบุ

ทั้งนี้ ครก.112 ชี้แจงด้วยว่า การรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอ “ร่างแก้ไขประมวลอาญา มาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์” ได้ครบกำหนด 112 วัน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะนี้ ทาง ครก.112  ได้รับรายชื่อมากกว่าหนึ่งหมื่นแล้ว อันเป็นจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยจะแจ้งจำนวนที่แน่ชัดอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เนื่องจากยังมีเอกสารจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตรวจนับ และประชาชนยังทยอยส่งรายชื่อเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ โดย ครก.112 กำหนดให้มีการจัดงาน “บันทึก 112 วัน แก้ไข ม.112” ในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อสรุปและปิดการรณรงค์การรวบรายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112


(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

 

///////////////////////////

ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของนายอำพล หรืออากง เหยื่อมาตรา 112
คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112
10 พฤษภาคม 2555

 
การเสียชีวิตของนายอำพล (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หรืออากง ในทัณฑสถานอย่างฉับพลันเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้สร้างความเศร้าสลดให้แก่ครอบครัวของนายอำพลอย่างยิ่ง พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้ร่ำลาก่อนที่นายอำพลจะจากโลกนี้ไป  คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา112 (ครก.112) จึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของนายอำพล ที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอันเจ็บปวดครั้งนี้  เป็นโศกนาฏกรรมที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องหาความยุติธรรมได้จากใคร

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า นายอำพลยืนยันตลอดมาว่าตนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เคยพาหลานๆ ไป รพ. ศิริราช เพื่อร่วมถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเคยไปร่วมชุมนุมกับทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่นายอำพลก็ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดง ภาระหน้าที่หลักของชายชราคนนี้คือ ดูแลหลาน 7 คน แต่เมื่อตกเป็นเหยื่อของกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงทำให้เขากลายมาเป็น“นักโทษการเมือง” ในทันที ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของนายอำพลและครอบครัว กล่าวคือ

  • คำตัดสินจำคุกนายอำพลถึง 20 ปีเพราะส่ง sms 4 ครั้ง แม้ว่าจะมี “ข้อกังขามากมาย” ต่อหลักฐานของฝ่ายอัยการก็ตาม  ชี้ว่าสังคมไทยในปัจจุบัน นักโทษการเมืองคดี 112 คือผู้ที่ต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่สุด และเป็นการลงโทษที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม หรือเมตตาธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
  • ด้วยเหตุอันเดียวกันนี้ “นักโทษการเมืองคดี 112” จึงมักถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน แม้ว่านายอำพลจะมีอายุมาก สุขภาพทรุดโทรม เคยป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก ไม่เคยทำร้ายใคร ยากจน การศึกษาน้อย ไม่มีญาติพี่น้องในต่างประเทศ ศาลก็ปฏิเสธไม่ให้ประกันตนถึง 8 ครั้ง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นคดีร้ายแรง กลัวจะหลบหนี

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับนักโทษการเมืองคดี 112 คนอื่นๆ เช่นกัน มันจึงชี้ว่านักโทษการเมืองคดี 112 ได้ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานมากเสียยิ่งกว่านักโทษคดีอาญาทั่วไป

เหตุผลที่นักโทษการเมืองคดี 112 มักถูกลงโทษอย่างรุนแรงนั้น ปรากฏชัดเจนในบทความ “อากงปลงไม่ตก' เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดีโดยโฆษกศาล” ของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม (14 ธ.ค. 2554) ที่ว่า  “สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น”

คงไม่ผิดนักที่จะชี้ว่า ทัศนคติดังกล่าวได้ครอบงำกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานรัฐ นักการเมือง สื่อมวลชนและวัฒนธรรมการเมืองไทยกระแสหลัก  ทัศนคติและการปฏิบัติข้างต้นจึงนำไปสู่ความตายของนายอำพลในที่สุด

เฉพาะส่วนที่นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า “ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้” เป็นคำกล่าวที่ไร้สาระ คำว่า “อาจตกเป็นเหยื่อ” คืออะไร? หมายถึงอาจถูก “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท” หรือ? หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องปรกติของการอยู่ร่วมกันในสังคมซึ่งสามารถดำเนินการตามกฎหมายปรกติ ประชาชนชาวไทยอยู่กันมาได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายรุนแรงเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย เพราะไม่ใช่ภัยร้ายแรงแต่อย่างใด แม้แต่คำกล่าวของโฆษกศาลฯ ที่ยกมานี้ ก็ถือได้ว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาทนายอำพลโดยแท้ ถ้าโฆษกศาลฯ ยังสามารถแสดงพฤติกรรมหมิ่นประมาทผู้อื่นได้โดยไม่มีความผิด การไม่ยอมปล่อยตัวนายอำพลชั่วคราวซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญยิ่งไม่มีข้อแก้ตัวในทางสังคม

ในทางตรงกันข้าม เราควรเปลี่ยนคำบางคำของโฆษกศาลเสียใหม่ว่า “ไม่มีใครอยากให้กฎหมายอยุติธรรมนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้ อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้”

เราไม่ได้คาดหวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมของครอบครัวนายอำพลทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จะสำนึกผิดในกรรมที่ตนได้กระทำไว้ แต่เราหวังว่าประชาชนที่ได้ติดตามคดีของนายอำพลอย่างต่อเนื่อง  และตระหนักถึงปัญหาของมาตรา 112 จะช่วยกันทำให้กฎหมายที่อยุติธรรมนี้ยุติการทำร้ายประชาชนเสียที แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม
 

/////////////////////////////////////////
                อนึ่ง การเสียชีวิตของนายอำพล ทำให้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากได้สอบถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ ครก.112  เราจึงเห็นควรแถลงข่าวก่อนเวลาที่กำหนดไว้ดังนี้

  1. การรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอ “ร่างแก้ไขประมวลอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์” ได้ครบกำหนด 112 วัน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะนี้ ทาง ครก.112  ได้รับรายชื่อมากกว่าหนึ่งหมื่นแล้ว อันเป็นจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด เราจะแจ้งจำนวนที่แน่ชัดอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เนื่องจากยังมีเอกสารจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตรวจนับ และประชาชนยังทยอยส่งรายชื่อเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
  2. ครก.112 กำหนดให้มีการจัดงาน “บันทึก 112 วัน แก้ไข ม.112” ในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อสรุปและปิดการรณรงค์การรวบรายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ดังรายละเอียดที่ด้านล่างนี้

 

//////////////////////////////////////////////////////////////////
งาน “บันทึก 112 วัน แก้ไข ม.112”
วันที่ 27 พ.ค. 55 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 
13.00-13.15 น.   “ครก. แถลง” โดย
-วาด รวี  กลุ่มแสงสำนึก
- ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
 
13.15-13.45 น.    “เสียงจากเหยื่อ 112”
 
13.45-14.00 น.   บทกวี โดย ไม้หนึ่ง ก. กุนที, กฤช เหลือลมัย, คาล รีอัล
 
14.00-15.00 น.  เล่าประสบการณ์ “อ้อมกอดและกำปั้น 112 วัน ของการรณรงค์”
               -วาด รวี                 กลุ่มแสงสำนึก
- สุดา รังกุพันธุ์   อักษรศาสตร์ จุฬาฯ
- ปิยบุตร แสงกนกกุล     คณะนิติราษฎร์
- เวียงรัฐ เนติโพธิ์              รัฐศาสตร์ จุฬาฯ   ดำเนินรายการ
 
15.00-15.15 น.   แสดงดนตรีโดย วง  the Middle Finger
 
15.15-17.00 น.   เสวนา “ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์”
                                - ชาญวิทย์ เกษตรศิริ          นักวิชาการอิสระ
                                - นิธิ เอียวศรีวงศ์                 นักวิชาการอิสระ
                                - วรเจตน์ ภาคีรัตน์             คณะนิติราษฎร์
                                - พวงทอง ภวัครพันธุ์        ดำเนินรายการ
 
พิธีกรตลอดรายการ             วันรัก สุวรรณวัฒนา  คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กานดา นาคน้อย: ลิเกสยาม

Posted: 11 May 2012 02:20 AM PDT

“อากงSMS”คือตัวอย่างล่าสุดของสองมาตรฐานในระบบยุติธรรมไทย ในขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลได้ประกันตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่อากงไม่ได้ประกันตัวในคดีเดียวกันจนเสียชีวิตในคุก เมื่อเทียบกับผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมที่ร่ำรวยอย่าง“กำนันเป๊าะ”ซึ่งหลบหนีหลังได้รับประกันตัว ก็ยิ่งชัดเจนว่าคุกไทยมีไว้ขังคนจน

 

คณะกรรมการนอนหลับทับสิทธิมนุษยชน

ความล้าหลังของระบบยุติธรรมไทยโด่งดังในต่างประเทศทั้งจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างชาติและจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดมานานแล้ว อาทิ ข่าวคดีเพชรซาอุ ข่าวอาชญากรข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทย ข่าวคดีนายราเกซ สักเสนา ภาพยนตร์ที่นำเสนอว่าผู้ต้องหาโดนหลอกให้รับสารภาพผิด[1] กรณีอากงเสียชีวิตในคุกด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นที่สนใจของหนังสือพิมพ์ต่างชาติแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างไฟแนนเชียลไทม์ โดยรวมแล้วระบบยุติธรรมไทยวิวัฒนาการช้ากว่าบริการรถไฟของรฟท.หลายร้อยปี แม้ว่ารถไฟของรฟท.หวานเย็นเชื่องช้าแต่รถไฟชั้น 1 และชั้น 3 ก็ถึงปลายทางพร้อมกัน ส่วนระบบยุติธรรมไทยยังล้าหลังเท่ายุคกาลิเลโอเมื่อ 380 ปีที่แล้ว ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติแถลงการณ์เรียกร้องความยุติธรรมให้อากง แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยนอนหลับทับสิทธิอยู่ที่ไหนไม่ปรากฎ

โครงสร้างคณะกรรมการสิทธิฯเองก็มีปัญหา คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิฯมีจำนวน 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวน 1 คน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิฯจำนวน 7 คน ด้วยมติที่มีการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แล้วเสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้น ต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากโดยวิธีลงคะแนนลับ [2]

กระบวนการสรรหาดังกล่าวแสดงว่าคณะกรรมการสิทธิฯอยู่ภายใต้อำนาจศาล ทั้งๆที่ตามหลักการประชาธิปไตยแล้วคณะกรรมการสิทธิฯต้องคานอำนาจศาลเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้ระบบยุติธรรม ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯจึงเหมือนหน่วยราชการที่ซ้ำซ้อนกับศาล สถานะองค์กรอิสระของสำนักงานดังกล่าวเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกหรือเรียกได้ว่าเป็นองค์กรอิสระแบบไทยๆ โครงสร้างคณะกรรมการสิทธิฯคล้ายคลึงกับคณะลิเกที่มีพล็อตสะท้อนสังคมเจ้าขุนมูลนายในอดีต คณะกรรมการสิทธิฯเปรียบได้ดั่งฉากหนึ่งใน“ลิเกสยาม”

จริยธรรมในลิเกสยาม

องค์ประกอบสำคัญของ“ลิเกสยาม”คือการอ้างอิงจริยธรรม รัฐบาลสุรยุทธ์ปรับโครงสร้างคณะกรรมการสิทธิฯและบัญญัติประมวลจริยธรรมกรรมการสิทธิฯและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯเพื่อให้ดูเหมือนว่าคณะกรรมการสิทธิฯมีประมวลจริยธรรมทัดเทียมกับองค์กรอิสระในประเทศที่พัฒนาแล้ว[3] แต่สาระสำคัญทีสุดของประมวลจริยธรรมคือความศักดิ์สิทธิ์ของประมวลจริยธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของประมวลจริยธรรมเหมือนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายตรงที่ว่ามาจากการบังคับใช้ การอ้างอิงจริยธรรมโดยไม่บังคับใช้ไม่สามารถทำให้ประมวลจริยธรรมศักดิ์สิทธิ์ ความเงียบของคณะกรรมการสิทธิฯต่อความเลือดเย็นในคดีอากงและคดีอื่นๆอีกมากมายทำให้ประมวลจริยธรรมเป็นเพียงสคริปต์ลิเกสยาม

ส่วนบทความ“อากงปลงไม่ตก”ของโฆษกศาลยุติธรรมอ้างอิงจริยธรรมอย่างลึกซึ้งกว่าประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการสิทธิฯ[4] ถ้ากระบวนการยุติธรรมใช้การ"ปลง”เป็นบรรทัดฐานแทนการ“พิสูจน์”หลักฐาน ก็จะแปลว่าผู้พิพากษาคือนักบวชในชุดครุย และจะแปลว่าระบบยุติธรรมไทยในปัจจุบันคล้ายคลึงกับระบบยุติธรรมของคริสตจักรเมื่อ 380 ปีที่แล้วที่ปฏิเสธการพิสูจน์หลักฐานและพิพากษาให้กาลิเลโอโดนกักบริเวณจนตาย

ในความเป็นจริงไทยไม่ใช่รัฐศาสนา แม้ไทยมีการถ่ายทอดพิธีกรรมทางศาสนา(เช่น พิธีกรรมวันพืชมงคล พีธีกรรมวันมาฆบูชา)ด้วยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเหมือนซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นรัฐศาสนาที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่รัฐธรรมนูญไทยไม่กำหนดให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติและพลเมืองไทยนับถือหลายศาสนา ดังนั้นการอ้างอิงหลักปฎิบัติของศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้เป็นบรรทัดฐานของระบบยุติธรรมราวกับว่าไทยเป็นรัฐศาสนาแบบซาอุดิอาระเบียจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับสถานะของประเทศในปัจจุบัน

สายลมปฎิรูป

ข่าวอากงเสียชีวิตในคุกทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบยุติธรรม กล่าวคือ การปฎิรูปม.112 การปฎิรูปด้านสิทธิผู้ต้องหาและนักโทษซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิในการรับบริการสาธารณสุข ดิฉันเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งหมด ขอเสนอเพิ่มเติมว่าน่าจะลดอำนาจศาลในการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ และน่าจะช่วยกันตามหาคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่รู้ว่าป่านนี้คณะกรรมการสิทธิฯดำดินหายสาบสูญไปจากศตวรรษที่ 21 แล้วหรือยัง?

ดิฉันหวังว่าสายลมปฎิรูปจะไม่แผ่วเบาจนไปไม่พ้นลิเกสยาม

หมายเหตุ

[1] Brokedown Palace: http://www.imdb.com/title/tt0120620/
[2] ความเป็นมาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดปัจจุบัน) http://www.nhrc.or.th/kcontent.php?doc_id=Historysecond
[3] ประมวลจริยธรรมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ http://www.nhrc.or.th/content_files/pdf/jariyatham.pdf
[4] 'อากงปลงไม่ตก'เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดีโดยโฆษกศาล
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ประเมิน 9 เดือนรัฐบาล ไม่ตอบโจทย์ประเทศไทย

Posted: 11 May 2012 01:25 AM PDT

ชี้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนไม่ได้เอาจริงเอาจังเหมือนกับเรื่องของทักษิณ ข้องใจรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ปรองดอง-รักเคารพสถาบันกษัตริย์ แต่กลับมีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง และมีรัฐมนตรีไปปราศรัย ปัดให้คะแนนรัฐบาล แต่ขอให้ติดตามชมการอภิปรายงบประมาณ 21 พ.ค.นี้

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า วันนี้ (11 พ.ค. 55) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel ได้แสดงความเห็นถึงการบริหารประเทศเป็นเวลา  9 เดือนของรัฐบาลว่า

การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลยังไม่ได้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ส่วนเรื่องการเมืองนั้น ตอนไปหาเสียงได้พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย และการปรองดอง แต่ที่เห็นรัฐบาลมีความมุ่งมั่นชัดเจน และทำอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ลดละความพยายามเลยก็คือ การหาทางช่วย พ.ต.ทักษิณ

“ผมคิดว่าคงคิดกันไม่ค่อยต่างกัน ผมว่าเราดูภาพใหญ่ก่อนตอนที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องใหญ่ที่แข่งขันกัน ก็คือ 1. เรื่องเศรษฐกิจ กับ 2. คือเรื่องการเมือง

เรื่องเศรษฐกิจก่อน ชัดเจนครับ ตอนนั้นผมถูกโจมตีมากเรื่องของแพง คงนึกออกเพราะช่วงประมาณตอนยุบสภา ประมาณช่วงนี้ปีที่แล้ว ก็บังเอิญเป็นช่วงซึ่งมีปัญหาที่ราคาน้ำมัน เริ่มจะปรับขึ้น แล้วก็สินค้าบางตัว เช่นไข่ เช่นหมู มีราคาแพง ซึ่งผมไม่เคยปฏิเสธข้อเท็จจริง ก็ยอมรับว่า สินค้าบางตัวแพง แล้วก็พยายามเร่งแก้ไข จนกระทั่งบางเรื่องเช่นเรื่องไข่ ความจริงก็อานิสงส์ก็ตกมาถึงรัฐบาลชุดนี้ที่ทำให้ราคาไข่ถูกลง

แต่ว่าสาระสำคัญที่เขาบอกว่าพรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนในการเลือกตั้งนั้น ก็พูดกันง่าย ๆ ก็บอกว่า จะเพิ่มรายได้ให้แล้วก็จะลดรายจ่าย ก็จึงเป็นที่มาของนโยบาย ผมก็ไม่ได้นับนะครับว่า 30 นโยบายรึเปล่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นเรื่อง 300 บาท 15,000 แล้วก็เกษตรกรก็พูดถึงเรื่องนโยบายจำนำ 15,000 บาททุกเม็ด แล้วก็ทางด้านรายจ่ายก็ที่ทราบกันดีครับ จะมีการ กระชากค่าครองชีพลงมา แล้วก็จะเริ่มต้นจากเรื่องของน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บอกจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน

ถ้ามองในภาพใหญ่ตรงนี้ 9 เดือนผ่านมา ผมว่า ไม่ต้องดูโพลล์ครับ เอาคำพูดของท่านนายกฯ เมื่อ 2 – 3 วัน จะเป็นคำตอบ เพราะว่าท่านนายกฯ พอถูกถามว่า ตอนแรกที่พูดเรื่องของแพง แล้วก็ท่านพูดหรือไม่พูดว่าเป็นความรู้สึก คิดไปเองอะไรนั้น จนกระทั่งท่านบอกว่า ไม่ใช่แล้วท่านก็พยายามจะอธิบายบอกว่า ที่คนรู้สึกว่าของแพงนั้น เพราะเงินในกระเป๋าลดลง

ผมก็ถามว่า ถ้าได้ดำเนินการตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้นั้น เงินในกระเป๋ามันจะลดลงได้อย่างไร เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นคนยืนยันว่าจะเพิ่มรายได้ให้ และจะลดรายจ่ายให้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า ปฏิเสธได้ยากว่าในภาพรวมภาพใหญ่ตรงนี้เป็นปัญหา

แน่นอนถ้าไปไล่เรียงตามนโยบายแต่ละด้าน แต่ละเรื่องก็จะเห็นเช่นเดียวกันว่าความไม่สำเร็จนั้นยังมีอยู่มากพอสมควร ค่าแรง 300 บาท ที่หาเสียงนั้น แข่งขันกับผมที่พูดว่า 25% ใน 2 ปี ทุกคนก็เข้าใจว่า 300 บาททันที ทุกแห่งทั่วประเทศ มาถึงวันนี้เป็น 300 บาทที่เกิดขึ้นใน 7 จังหวัด

15,000 ที่บอกว่าเป็นเงินเดือนปริญญาตรี สุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการไปเพิ่มเงินช่วงในเรื่องค่าครองชีพสำหรับข้าราชการ แล้วก็ลูกจ้างของภาคราชการเท่านั้น และให้เฉพาะคนที่จบปริญญา ความจริงเวลาเขาช่วยกันเรื่องค่าครองชีพนั้น เขาจะต้องช่วยเท่า ๆ กันทุกคนนะครับ

เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องยอมรับครับว่า ยังไม่ได้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ขณะเดียวกัน มาตรการที่มารองรับผลกระทบอีกด้านจากนโยบายแบบนี้ซึ่งเราก็เตือนไว้ ที่จะมีต่อผู้ประกอบการ ก็เห็นได้ชัดว่าไม่มีคำตอบให้เขา จึงเป็นที่มาของเสียงของการสะท้อนจากนักเศรษฐศาสตร์บ้าง จากทางหอการค้าบ้าง ใครต่อใครบ้าง

ส่วนเกษตรกร เราก็ย้ำกันแล้ว ย้ำกันอีกครับว่า สุดท้ายแล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าเดินทางมากี่จังหวัดแล้ว มีเกษตรกรคนไหนบ้างครับที่ไปจำนำข้าวแล้วได้ราคา 15,000 บาท ก็แทบไม่มีนะครับ แล้วก็รวมทั้งบางคนเข้าโครงการไม่ได้เลย แล้วก็ชาวมันสำปะหลังนั้นเดือดร้อนที่สุด

เพราะฉะนั้นความล้มเหลวตรงนี้ก็ยังตีถึง ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของการทรุดลงของการส่งออก เพราะฉะนั้นในแง่ของเศรษฐกิจจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ นายกฯ ก็ยอมรับว่าเงินในกระเป๋าลดลง แล้วก็ทางนักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ก็มองด้วยความกังวลว่า เศรษฐกิจขณะนี้เจอทั้งภาวะเงินเฟ้อ แล้วก็ดูเหมือนกับว่า จะเจอลักษณะความฝืดเคืองพร้อม ๆ กันไปด้วย ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในเรื่องของการที่จะรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ตั้งแต่เรื่องการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทยมาจนถึงเรื่องของการกู้เงิน แล้วก็นโยบายประชานิยมที่ไม่มีคำตอบในเรื่องของรายได้เลย ด้านเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นพ้องต้องกัน แล้วก็การที่ขอนแก่น ที่ไปทำโพลล์ เฉพาะพี่น้องชาวอีสานก็ยิ่งเป็นคำตอบที่ชัดว่า ในขณะที่อาจจะยังสนับสนุนทางพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า สอบไม่ผ่านในเรื่องของเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องการเมืองนั้น ที่จริงแล้วการหาเสียงก็ไปในทางที่พูดถึงประชาธิปไตย กับปรองดอง แต่ที่เราเห็นมุ่งมั่นชัดเจน แล้วก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดละความพยายามเลยก็คือ หาทางในการที่จะช่วยคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ผมก็ยืนยันว่าขณะนี้ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกในสังคมเป็นว่าความขัดแย้งกำลังลดลงหรือเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีแต่ความวิตกกังวลกันว่า วิธีการที่พยายามผลักดันในสิ่งเหล่านี้กำลังนำไปสู่ปมความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม

เพราะฉะนั้น 9 เดือนตรงนี้ จึงเป็น 9 เดือนที่ผมคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามแนวทางของการหาเสียง ที่เป็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชน

ส่วนในระหว่าง 9 เดือน ก็มีเหตุน้ำท่วมใหญ่ เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้มองเห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย ตรงนี้แน่นอนว่าไม่ได้พูดเอาไว้ในช่วงหาเสียงนะครับ แต่ก็ในช่วงสมัยประชุมปีที่แล้ว ที่เราได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมก็คิดว่าเราก็ได้เห็นชัดเจนนะครับว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาล การบริหารจัดการ การวางแผน รวมไปถึงการใช้อำนาจทางการเมือง หรือการปลดบทบาททางการเมืองของตั้งแต่ ส.ส. ไปจนถึงตัวรัฐมนตรี และตัวนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีจุดที่จะต้องปรับปรุงอีกเยอะ

เพราะฉะนั้นผมก็เรียนยืนยันนะครับว่า 9 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับประเทศ เหมือนที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยให้ความหวังไว้ แล้วก็หลายเรื่องนั้นสวนทางจากเดิมที่บอกว่า ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ตอนนี้ไล่เก็บเงินประชาชนเข้ากองทุนน้ำมันอย่างเดียว แล้วก็ความพยายามในการขึ้นค่าก๊าซ ค่าไฟ ก็ยังมีต่อเนื่อง แม้ว่าในขณะนี้จะมีการพยายามมาบอกว่า ช่วงเดือน พฤษภา หรืออะไรจะพยายามตรึงอยู่ก็ตาม

นายอภิสิทธิ์แสดงความเห็นต่อสภาพการส่งออกในรอบ 9 เดือนว่า ตอนนี้ที่ทำให้ภาพพื้นฐานไม่ชัดเจนเป็นเพราะมีปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา แต่ต้องจับตาอยู่อย่างใกล้ชิดถึงผลที่จะต่อเนื่องต่อไป

“ส่วนหนึ่งตอนนี้ที่ผมคิดว่าจะทำให้ภาพพื้นฐานยังไม่ชัด ก็เพราะว่ามันมีปัญหาน้ำท่วมเข้ามา ซึ่งก็อาจจะทำให้เป็นสาเหตุที่ตัวเลขหลายอย่างอาจจะมีความผิดปกติอยู่ แต่ก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะว่าการขาดดุล การลดลงของการส่งออก การเพิ่มขึ้นของการนำเข้านั้น ก็ต้องดูว่าเป็นผลที่จะต่อเนื่องไป แม้ว่าตัวเลขของโรงงานที่กลับมาประกอบการได้เหมือนเดิมหลังจากน้ำท่วมนั้น พอกลับมาได้ 8 – 9 – 10% แล้วยังขาดดุล ยังมีปัญหาเรื่องการส่งออก เรื่องการนำเข้าอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ก็แสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องจับตาดู

แต่บางตัวนั้นก็ชัดเจนนะครับ อย่างการส่งออกข้าว มันไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมหรอกครับ มันเป็นเรื่องนโยบายจำนำ ทั่วโลกเขาก็พูดกันอย่างนั้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นปัญหา เป็นความล้มเหลวแน่นอน ที่จะต้องมีการแก้ไข

ส่วนในแง่ของตัวเลขอื่น ๆ นั้น ผมก็มีตัวเลขที่น่าสนใจแต่ว่ากำลังตรวจสอบอยู่นะครับ เหมือนกับเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการแถลงว่าการเปิดโรงงานใหม่ การเปิดการประกอบการกิจการใหม่ในเดือนที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี อันนี้สัญญาณไม่ดีแน่นอนครับ เพราะว่าเท่ากับเป็นการบอกว่าความสามารถของประเทศไทยในการที่จะดึงดูดให้เกิดการประกอบการการลงทุนนั้นมีปัญหา แล้วก็จากการที่ผมเองนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนกับบรรดากลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ตามแนวทางที่เราทำงานอยู่ในขณะนี้ ปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเหตุผล หรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีปัญหาในเรื่องนี้แน่นอน ต้นทุนที่ว่าก็คือเรื่องพลังงาน ต้นทุนเรื่องค่าแรง แล้วก็ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ เช่นเรื่องประกันภัย และเรื่องอื่น ๆ”

“มีวาทกรรมหลายเรื่องซึ่งไม่ได้ดูข้อเท็จจริง ถ้าไปถามว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพราะฝ่ายค้านไปขัดขวางอะไรทำให้นโยบายไม่สำเร็จนั้น ผมยืนยันว่าคงจะไม่มีนะครับ ผมก็ยืนยันอีกครั้งนะครับ ในช่วงน้ำท่วมไม่มียุคไหนหรอกครับ อย่าว่าแต่ฝ่ายค้านเลยครับ ประชาชนที่เคยมีความขัดแย้งกัน ก็มีแต่จะช่วยกันว่าจะให้พ้นจากวิกฤติได้อย่างไร แต่จะเห็นว่าคนขนาดระดับรัฐมนตรีออกมาพูดว่าประชาธิปัตย์ค้านทุกเรื่อง วันก่อนผมก็ยังขำนิด ๆ นะครับ เพราะว่าคุณประชา ประสพดีมาหาเรื่องผมว่า ไม่ได้กดบัตร ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแล้วก็ต้องไปอ้าง สถิติการลงมติ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตหยิบประเด็นนี้ขึ้นมานะครับ นั่นเป็นตัวอย่างเลยครับว่า กฎหมายเรื่องขนส่งเรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วยนั้น พรรคประชาธิปัตย์ลงคะแนนให้นะครับ

แล้วก็ผมกล้าพูดได้ว่ากฎหมายส่วนใหญ่ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ได้กดบัตร หรือลงมติสนับสนุนด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดเลยนะครับ ในช่วงที่ฝ่ายประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นคำพูดที่บอกว่า ยุคนี้ ฝ่ายค้านขัดขวางนั้นคงไม่จริง ถามว่าขัดขวางเรื่องอะไรบ้าง ขัดขวางเรื่องความพยายามที่จะล้างผิดให้กับคนโกงเท่านั้น หรือการที่จะรวบอำนาจ หรือทำอะไรที่ไม่เป็นทำนองคลองธรรมที่ควรจะเป็น ไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย อันนั้นขัดขวางครับ อย่างเช่นเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเราเห็นว่ามีจุดอ่อนมากมายที่จะเป็นการเปิดทางนำไปสู่ระบบการเมืองที่มีการผูกขาด ขาดการตรวจสอบ อย่างนี้เรายอมรับครับ เราคัดค้านเต็มที่

แต่ถ้าเป็นเรื่องนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน นอกจากจะสนับสนุนกฎหมายหลายฉบับแล้ว ยังเสนอแนะไปตั้งหลายเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินเลยในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน”

สำหรับงานในเชิงสังคม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเสริมสร้างบรรยากาศการปรองดอง การส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนรักเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายอภิสิทธิ์มองว่ารัฐบาลมีจุดยืนที่ไม่ชัดเจน ในขณะที่มีคนในรัฐบาลออกมาแสดงทิศทางอย่างที่มันควรจะเป็น แต่กลับมีคนในแวดวงเดียวกันออกมาเดินไปในอีกทิศทาง

“คือมีปัญหาพื้นฐานในขณะนี้ว่ารัฐบาลมีจุดยืนอย่างไรแน่ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการจุดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อย่างเช่นเรื่องมาตรา 112 ก็ดี หรือเรื่องการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงก็ดี จะเห็นได้ว่าในทางสาธารณะก็จะต้องมีคนในรัฐบาลมาแสดงออกในทิศทางที่มันควรจะเป็น แต่ในทางปฏิบัติก็ปล่อยปละให้กับคนที่อยู่ในแวดวง หรือคุ้นเคยกับตนเองเดินไปอีกคนละแนวเลย

ในที่สุดแล้วจากเดิมซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยยอมรับว่าเหตุด้วยว่าการไปขยายเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม วันนี้กลับกลายเป็นว่ากลไกราชการกำลังไปรองรับการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงในหลายพื้นที่อย่างที่เราเห็น คนเป็นรัฐมนตรีหรือคนที่กำลังอยากจะเป็นรัฐมนตรีก็ไปปราศรัยเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงกันอย่างไม่จบไม่สิ้น แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งมีความละเอียดอ่อนเรื่องความขัดแย้งอยู่แล้วเช่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“9 เดือนนะครับ ผมคิดว่ามันก็ถ้าบอกว่าอายุรัฐบาล 4 ปีนั้น ก็ยังไม่ถึง 1 ใน 4 ผมว่าก็เป็นโอกาสดี รัฐบาลก็ไปทบทวนตนเอง ปรับปรุงแก้ไขเสียครับ”

มีนโยบายอย่างน้อย 2 นโยบายที่มีการขีดเส้นชัดเจน คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปภายใน 12 เดือน และ นโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน 4 ปีนั้น นายอภิสิทธิ์มองว่า เรื่องการแก้ปัญหาเรื่องความยากจนนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะตัวนายกฯ เอง ก็ระบุว่าขณะนี้เงินในกระเป๋าลดลง ส่วนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น น่าสนใจว่าเหตุใดยิ่งจับกุม ยิ่งพบว่ามีการกระทำผิดเพิ่มขึ้น และเห็นว่าลำพังการปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องทำด้านป้องกันควบคู่ไปด้วย

“เรื่องความยากจนไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลตัวนายกฯ บอกเงินในกระเป๋าก็ลดลงนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าการแก้ปัญหาความยากจนมันประสบความสำเร็จ ส่วนยาเสพติดนั้น ผมยอมรับว่าข่าวเรื่องยาเสพติดในการจับกุมอะไรเยอะเหลือเกิน ซึ่งก็ผมก็ต้องเห็นความเอาจริง เอาจัง แต่ว่าตอนแรก ๆ พอเห็นข่าวการจับกุมอะไรต่าง ๆ คนก็มีความหวังขึ้นมา สงสัยมันจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย แต่ว่าตอนนี้ทำไปทำมา คนกลับมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมยิ่งจับ มันยิ่งจับได้เพิ่ม หรืออะไรอย่างนั้น ก็น่าสนใจครับว่า ในที่สุดแล้วแนวทางนี้มันจะไปได้แค่ไหน เพราะว่าผมก็ยืนยันมาตลอดนะครับว่า การปราบปรามจำเป็นแต่ว่าไม่เพียงพอ ถ้าจะปราบปรามยาเสพติดหรือว่าถ้าจะขจัดยาเสพติดแล้ว ลำพังการปราบปรามอย่างเดียวมันไม่สามารถเป็นคำตอบสุดท้ายที่ยั่งยืนได้ งานทางด้านป้องกัน งานทางด้านอื่น ๆ จำเป็นจำต้องทำมากขึ้น แล้วก็มันก็จะควบคู่แล้วโยงมาถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดี โอกาสที่คนจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมองในแง่ของผู้ค้าหรือผู้เสพ”

เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีบางนโยบายยังไม่ได้เริ่มหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าตนไม่ทราบ และตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลทุ่มเท สติปัญหา กำลัง และเวลาทำแต่นโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเหมือนกับช่วยแก้ปัญหาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว คงจะเห็นประเทศมีความก้าวหน้าชัดเจนกว่านี้

“ไม่ทราบได้นะครับ  ผมก็ตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ว่าอย่างที่ผมย้ำครับว่า ถ้ารัฐบาลจะทุ่มเทความคิด กำลัง ทุกเรื่อง สติปัญญา กำลัง เวลา ทำในนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เหมือนกับที่กำลังทำที่กำลังทำที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับคุณทักษิณ ก็คงจะเห็นความก้าวหน้าชัดเจน แต่วันนี้กลับไม่ใช่ เรื่องที่เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั้นไม่ได้เอาจริงเอาจัง ไม่ได้เคลื่อนอย่างเป็นระบบ เหมือนกับเรื่องของคุณทักษิณ”

ส่วนคำถามที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ทำแล้วประสบความสำเร็จ และพอจะอ้างเป็นผลงานได้นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล บางเรื่องที่ดำเนินการไปนั้นเป็นเพียงการลงมือทำเพียงบางส่วน และยังไม่เป็นไปตามสัญญา เช่นการปรับค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัด แต่ตนอยากตำหนิรัฐบาลคือว่า แม้จะเป็นการเริ่มต้นนโยบาย แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง และมีมาตรการรองรับ สุดท้ายแทนที่จะทำให้เกิดการปรับค่าแรงเป็น 300 บาท กลับจะทำให้เกิดการตกงานเพิ่มขึ้น

“ผมคิดว่าเพื่อความเป็นธรรม บางเรื่องก็ได้ดำเนินไปแต่เพียงว่ามันบางส่วน มันไม่ได้เป็นไปตามสัญญา การขยับค่าแรงขึ้นใน 7 จังหวัดอย่างน้อยก็เป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ประกาศไว้ แม้ว่าจะไม่เหมือนกับตอนที่ประกาศ ทุกคนเข้าใจว่าทันทีทุกแห่ง แต่ว่ามาช้า และมาไม่ทั่วถึง แต่ก็อย่างน้อยก็เป็นการขยับไป เพียงแต่ที่ผมตำหนิก็คือว่า คนที่ได้รับผลกระทบในทางลบแล้วก็ถ้าไม่ระมัดระวังทำแบบไม่มีมาตรการรองรับ สุดท้ายก็จะมีการปลดคนออกจากงาน คนที่เคยได้ 200 กว่าบาท แทนที่จะได้ 300 บาท ก็เลยไม่มีอาชีพเสียอีก มันก็ไม่ได้ผล แต่ว่าเรื่องนี้ก็อย่างน้อยก็มีการดำเนินการไป”

“ผมว่าขณะนี้ก็คือทิศทางการบริหารเศรษฐกิจ เพราะว่าแม้แต่ที่เป็นความสำเร็จเช่นการที่บางคนได้รับค่าแรง 300 หรือค่าแรงเพิ่มขึ้นไป แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจอยู่ภายใต้ความเสี่ยง ความไม่แน่นอนจากความผิดพลาดในการบริหารนโยบายอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตข้างหน้า หรือในระยะยาวความเป็นอยู่จะดีขึ้น”

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์จะให้คะแนนการทำงานของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนเท่าไหร่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอให้ติดตามชมการอภิปรายงบประมาณในวันที่ 21 พ.ค.นี้

“ผมไม่ค่อยอยากให้เป็นคะแนนหรอกครับ เอาอย่างนี้ดีกว่า วันอภิปรายงบประมาณ วันที่ 21 พ.ค. ผมก็จะได้อภิปรายโดยอิงกับนโยบายของรัฐบาล ก็จะประเมินให้เห็นเลยครับว่าเรื่องไหนผ่าน เรื่องไหนตก เรื่องไหนทำ เรื่องไหนไม่ได้ทำ เสร็จแล้วเดือนสิงหาคม เปิดสมัยประชุมสามัญ รัฐบาลจะต้องแถลงการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญครบรอบ 1 ปี แล้วก็คงจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ก็รอฟังตอนนั้นดีกว่าครับ”

ส่วนการประเมินบทบาทของตนเองในฐานะฝ่ายค้านนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยืนยันว่าฝ่ายค้านทำเต็มที่ และยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังปรับปรุงได้อีก และยังต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะมีปัญหามากขึ้น และมีเรื่องราวสลับซับซ้อนมากขึ้น

“ผมก็ยืนยันว่าทำเต็มที่นะครับ แล้วก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่า แม้จะทำเต็มที่หลายเรื่องก็ยังปรับปรุงได้ แล้วก็ยังจะต้องทำงานกันหนักมากขึ้น เพราะว่าปัญหาก็มีมากขึ้น ความสลับซับซ้อนของเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราเองก็จะต้องมีการปรับปรุงการทำงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าก็ต้องบอกครับว่ายุคนี้ก็เหมือนกับยุคเวลาคุณทักษิณเป็นนายกฯ คนเป็นฝ่ายค้านก็ทำงานไม่ง่ายนัก เพราะว่าถูกปิดกั้น หรือว่าถูกสกัดหลายช่องทางเหมือนกัน”

“ต้องเกาะติดหลาย ๆ เรื่องมากกว่านี้ เพราะว่าต้องยอมรับว่าหลายเรื่องนั้น เราได้มีการพูดทักท้วงในเชิงหลักการแต่ว่าพอมันมีการดำเนินการต่อไปในรายละเอียดในทางปฏิบัติแล้วมันมีผลกระทบ บางครั้งก็ยังควรจะติดตามให้ละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งก็จะมีการปรับปรุงในเรื่องนี้ครับ เช่นเราจะติดตามเรื่องความล้มเหลวที่มาจากเรื่องของนโยบายจำนำพืชผล ก็คงต้องเอาข้อมูลที่ลึกกว่านี้ออกมา อย่างนี้เป็นต้น” 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น