โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ว่าด้วยไฮเปอร์เท็กซ์ อำนาจของผู้ประพันธ์ และปลายทางของการอ่านยุคดิจิตอล

Posted: 05 May 2012 11:48 AM PDT

(5 พ.ค.55) ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ "การอ่านในยุคดิจิตอล" ในค่ายเขียนงานสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร จัดโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ Bookmoby   เนื้อหาการบรรยาย มีดังนี้

0000

วัฒนธรรมการอ่านหนังสือกำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะการอ่านไม่ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถอ่านได้ แต่ยังมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถอ่านได้เช่นกัน การอ่านในโลกคอมพิวเตอร์ก็จะเห็นได้จากแปล เช่น ใช้กูเกิลทำการแปล หรือ ชีวิตของ Hal คอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถอ่านปากของมนุษย์ผู้เป็นศัตรูตัวฉกาจที่คิดจะฆ่าคอมพิวเตอร์ Hal ในนิยายวิทยาศาสตร์ 2001 Space Odyssey (1968) ผลงานประพันธ์ของ Arthur C.Clarke จินตนาการอยู่ไม่ไกลไปจากความเป็นจริง พัฒนาการของโลกดิจิตอลคอมพิวเตอร์ทำให้ยากที่จะแยกได้ว่าเครื่องจักรกำลังจะกลายเป็นมนุษย์หรือมนุษย์กำลังจะกลายเป็นเครื่องจักร

สภาวะของความเป็น Cyborg ที่ร่างกายกับเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามารวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อทดแทนอะไรบางอย่างโดยมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ดังจะเห็นได้จากการมีขาไทเทเนียม กระดูกไทเทเนียม วงการทหาร การแพทย์ อุตสาหกรรม ฯลฯ จนสภาวะของการเป็น cyborg เป็นสภาวะปกติของมนุษย์ เพราะ cyborg เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือเพิ่มความรวดเร็วและราคาถูกลง การเชื่อมต่อของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจนทำให้สามารถที่จะกล่าวได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นรูปขั้นต่ำของการเป็น cyborg ชีวิตในเมืองจึงเป็นชีวิตของ cyborg ได้เสมอ สำหรับคอมพิวเตอร์ มนุษย์และเครื่องจักร ได้ประสานกันในพื้นที่ของฐานข้อมูล (database) ความหวาดกลัวต่อการขึ้นมามีอำนาจของเครื่องจักรไปจนถึงหุ่นยนต์ปรากฏให้เห็นได้จากภาพยนตร์อย่าง Metropolis (1927) หรืออย่างใน The Terminator (1984) มาจนถึง The Matrix (1999) เป็นต้น

ในขณะที่สื่อกระดาษที่เป็นรูปแบบหนึ่งของข้อมูลและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและอักษรในฐานะเทคโนโลยีแบบหนึ่งด้วยนั้น ก็กำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบของการอ่านก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณการอ่านหนังสือผ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบด้านความเร็วของการอ่านหนังสือบนจอกับหนังสือกระดาษแล้ว การอ่านจากบนจอช้ากว่าการอ่านผ่านกระดาษ 20-30% แต่ในมิติของการเรียนรู้ พบว่า สื่อดิจิตอลจะดึงดูดความสนใจสำหรับเด็กมากกว่า จนทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ดี ผู้อ่านในพื้นที่คอมพิวเตอร์ก็มักจะต้องเผชิญกับการถูกรบกวนสมาธิจากอะไรอื่นๆ บนจอที่ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในใจกลางของสายตา แต่อะไรที่อยู่ชายขอบจอก็ยังทรงพลังมากพอที่จะทำให้ผู้อ่านเบี่ยงเบนความสนใจไปได้ โดยนี่ยังไม่ต้องคำนึงถึงเสียงอะไรอื่นๆ ที่คอมพิวเตอร์สามารถจะส่งเสียงเตือนขึ้นมาได้อีก ทั้งหมดนี้ก็ทำให้นักประพันธ์ชาวอเมริกันคนดังอย่าง Philip Roth ทำนายว่าอีก 25 ปีข้างหน้านวนิยายนั้นคงจะเข้าข่ายเกือบจะสูญพันธุ์ จำนวนคนอ่านนวนิยายที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษก็คงจำมีจำนวนลดน้อยลงมาก จนทำให้มนุษย์ที่อ่านหนังสือกระดาษกลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์พิเศษ ทั้งนี้ก็เพราะวัฒนธรรมการอ่านนวนิยายต้องการสมาธิสูง ในขณะที่วัฒนธรรมจอ ไม่ว่าจะเป็นจอภาพยนตร์ จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องการความเข้มข้นขนาดนั้น โดย Roth กล่าวว่า ถ้าใครอ่านนิยายเกินสองอาทิตย์ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้ว ส่วนตัว Roth เองก็ยืนยันว่า เขาเลิกอ่านนวนิยายไปแล้วด้วยซ้ำ

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2009 นักเขียนอเมริกันคนดัง Paul Auster กลับตอบโต้ว่า สิ่งที่ Roth เสนอนั้นก็เป็นเรื่องปกติของเขาที่พูดมาเป็นสิบปีแล้ว สำหรับ Auster มนุษย์ต้องการฟังเรื่องราว (story) อันเป็นสิ่งที่หาได้ทุกที่จากโทรทัศน์ไปจนถึงวิทยุ เด็กๆ ก็ต้องการฟังเรื่องเล่าเฉกเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ จริงอยู่ที่คนปัจจุบันอ่านนวนิยายน้อยลง แต่นวนิยายก็ยังคงมีอยู่และผลิตออกมามหาศาล นวนิยายเป็นอะไรที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เราจะทำอะไรมันก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ นวนิยายจึงประดิษฐ์ตัวตนซ้ำขึ้นมาใหม่ ได้เหมือนกับสังคมที่สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เสมอๆ ในประวัติศาสตร์แต่ละช่วงของมนุษย์ก็ต้องการประดิษฐ์ตัวตนซ้ำขึ้นใหม่

อย่างไรก็ดี คนอย่าง Auster ซึ่งดูราวกับว่าเป็นพวก Neo-Luddite ที่ได้ประกาศตัวเขาเองว่า เขาไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ อนาคตของนวนิยายจะเป็นอย่างไร Auster ก็เห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับหนังสือ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญในความเห็น Auster ก็คือ การอ่าน แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ความหวัง เพราะใช่ว่าทุกๆ คนนิยมที่จะอ่านหนังสือ อย่างน้อยก็คงไม่มีใครทำให้ผู้ทรงอิทธิพลและเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่าง Rupert Murdoch หันมาอ่านหนังสือได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มหาเศรษฐีสื่อและสิ่งพิมพ์อย่าง Murdoch ไม่นิยมทำ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจหนังสือพิมพ์ของเมืองใหญ่ๆ ก็กำลังประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

โลกของคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการอ่านและการนำเสนอวิถีชีวิตแบบใหม่หรือวัฒนธรรมการสื่อสารแบบดิจิตอล การอ่านหนังสือผ่านโลกดิจิตอลก็ยังทำให้วัฒนธรรมวัตถุ (material culture) เพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น หรือถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ภูมิปัญญานั้นยากที่จะต่อต้านกับเทคโนโลยีได้อีกต่อไป ในขณะที่วัตถุและเทคโนโลยีนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพอยู่ตลอดเวลา การอ่านก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะอ่านไม่ได้ การอ่านจึงเป็นการอ่านเพื่อวิ่งตามกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ดังนั้น โลกแห่งวัตถุจึงได้กลายเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เหมือนทีวีตู้เย็นที่จำเป็นต้องใช้ นี่ไม่ใช่ความสุขเล็กน้อยอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นอะไรที่ขาดไปเสียไม่ได้ในชีวิตอีกแล้ว

ความสุขที่ได้จากการเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ที่กลายเป็นเพื่อนๆ กันในโลกของความจริงลวงที่เสมือนจริงแบบในเฟซบุ๊ก ก็ทำให้การสร้างสายสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนทำเงินให้กับใครบางคนจนเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก ความบันเทิงจากการอ่านข้อความและการนำเสนอของอีกหลายๆ คนจึงทำให้คนอีกหลายๆคนมีความสุขจากเงินที่ได้มาจากความบันเทิงของคนอีกหลายต่อหลายคน แต่การสร้างสายสัมพันธ์ผ่านโลกดิจิตอลก็ใช่จะมีแต่สร้างมิตรภาพเท่านี้น การทำลายมิตรภาพและสร้างศัตรูก็พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา การเป็นมิตรและศัตรู แสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัดและมีความเป็นสาธารณะ ราวกับว่าสานสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนและศัครูจะต้องกระทำแบบรัฐที่ต้องประกาศและลงนามความสัมพันธ์หรือไม่ก็ประกาศสงครามต่อกัน เส้นทางของสายสัมพันธ์ในโลกการสื่อสารดิจิตอลจึงดำเนินไปสู่เส้นทางแบบกึ่งกฎหมายหรือกึ่งเป็นทางการ

ความสุขที่เกิดขึ้นจากการได้อ่านข้อความและการอ่านทุกชนิดที่ปรากฏอยู่บนจอทำให้โลกดิจิตอลหรือคอมพิวเตอร์ไม่ได้แบ่งแยกงานออกจากความบันเทิง ทุกอย่างอยู่ในที่เดียวกันจนทำให้โลกดิจิตอลเป็นอะไรที่มากยิ่งกว่า "บ้านที่ทำงาน" เพียงแต่การอ่านในโลกแห่งนี้นั้นไม่ได้อ่านผ่านวัสดุที่เป็นกระดาษอีกต่อไป หนังสือกระดาษกำลังจะหมดบทบาทลงไปเรื่อยๆ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพราะแม้กระทั่งห้องสมุดหลายต่อหลายแห่ง (แม้กระทั่งในโลกตะวันตก) ที่หลังจากได้ทำสิ่งพิมพ์จากอดีตให้มาอยู่ในพื้นที่ดิจิตอลแล้ว ก็มีความต้องการที่จะทำลายสิ่งพิมพ์เก่าๆ เช่น หนังสือพิมพ์ที่ทำเป็นไมโครฟิล์มแล้วก็ต้องทำลายหนังสือพิมพ์เก่าทิ้ง เพราะเปลืองพื้นที่และค่าเก็บรักษา เป็นต้น

ตอนธรรมศาสตร์ รังสิต น้ำท่วม บรรณารักษ์ต้องเก็บหนังสือใหม่ขึ้น และปล่อยให้หนังสือเก่าน้ำท่วมไป ... นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในวิธีคิด คุณลองไปถามนักเศรษฐศาสตร์ว่ามีใครบ้างที่อ่านอดัม สมิธ ไม่มีแล้ว อ่านไปก็ไม่ได้รางวัลโนเบล เสียเวลาเปล่าๆ เป็นของที่อยู่ในกรุ คลังหนังสือ ระหว่างหนังสือใหม่เล่มละ 4,000-5,000 บาทกับหนังสือเก่า ที่ซื้อจากเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนสโตร์ วังบูรพา เล่มละ 90 บาท คนก็ต้องเก็บเล่มละ 4,000 ผมคิดว่ามันเป็นวิธีคิดปกติสำหรับสังคมแบบนี้ และไม่คิดว่าในโลกตะวันตกก็จะไม่คิดแบบนี้ พูดแบบนี้ ไม่ได้จะมาดีเฟนด์รัฐไทย แต่คิดว่ามันมีอะไรบางอย่างใน mentality แบบนี้

กาลอวสานของหนังสือและสิ่งพิมพ์กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา แต่ชะตากรรมภายใต้การโหยหาอดีต ความอนุรักษ์นิยม การยึดติดอยู่กับคุณค่าของหนังสือที่แสดงสถานะที่คงทนถาวรกว่า มีอายุยืนยาวกว่า ฯลฯ ก็ย่อมทำให้หนังสือนั้นยังไม่ตายไปจากวิถีชีวิตได้อย่างง่ายๆ

แต่อย่างไรก็ดี ความตายของสิ่งหนึ่งย่อมนำมาซึ่งอะไรใหม่ๆ เฉกเดียวกันกับการเกิดของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความตาย แม้ว่าคงจะไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นความตายแบบเสียสละเพื่ออนาคตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะความตายของหนังสือไม่ได้เป็นอะไรที่วัฒนธรรมวัตถุ/หนังสือ เลือกได้ด้วยตนเอง หนังสือกระดาษกำลังจะกลายเป็นเพียงโทรเลขที่ใครๆ ก็คิดด้วยตัวเลขแล้วว่าเป็นการสื่อสารในแบบที่ไม่คุ้มค่า ความตายของหนังสือทำให้ความฝันเรื่องสังคมไร้กระดาษใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น การไม่ต้องตัดต้นไม้ การทำลายสิ่งแวดล้อมกำลังจะหมดไป นี่เป็นความหวังอีกประการหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 เฉกเช่นเดียวกันกับความหวังที่ต้องการให้โลกเย็นขึ้นด้วยการไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนไปจนถึงการเดินทางไกลโดยไม่ต้องใช้เครื่องบิน แต่ในขณะเดียวกัน แร่ที่มีธาตุโลหะหายาก (Rare Earth Elements--REE) ก็กลับเป็นสิ่งที่โลกดิจิตอลเสาะแสวงหา

สำหรับการอ่านด้วยสื่อที่แตกต่างกันมีผลต่อการรับรู้ในสมองที่แตกต่างกันหรือไม่ การอ่านบนจอคอมพิวเตอร์และโลกดิจิตอลกับกระดาษ สถานะและสภาวะของโลกคอมพิวเตอร์และกระดาษย่อมเป็นอะไรที่มีความแตกต่างกัน วัตถุและวัสดุก็เป็นคนละชนิด วิธีการนำเสนอก็แตกต่างกันออกไป เพราะอย่างน้อยๆ สิ่งทีนำเสนอบนจอก็มีอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน การอ่านบนจอคอมพิวเตอร์เปรียบได้เหมือนกับการดูหนังแผ่นอยู่ที่บ้าน ผู้ดูสามารถจะสูบบุหรี่ รีดผ้า ผัดกับข้าว ฯลฯ ได้พร้อมๆ กันไป การอ่านบนจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีแค่การอ่านที่มีความต่อเนื่องแบบที่เกิดขึ้นกับหนังสือกระดาษ


ภาพประกอบโดย Mykl Roventine (CC BY 2.0)
 

สำหรับการอ่านผ่านโลกยุคดิจิตอลในแบบที่ hypertext (การคลิกลิงก์ไปยังข้อความต่างๆ) ที่พร้อมเสมอที่จะทำให้เกิดการย้ายตัวบทไปสู่ตัวบทใหม่ๆ โดยการย้ายข้ามตัวบทใหม่ๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องในการอ่าน แต่ก็กลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกับตัวบท (text) ที่มีการข้ามตัวบทจากตัวบทหนึ่งไปสู่อีกตัวบทหนึ่ง สถานะของ hypertext จึงไม่มีขั้นตอนว่าอะไรอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าที่จะจำเป็นต้องเข้าถึงก่อนหรือเป็นส่วนสรุปสุดท้าย หรือถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ hypertext ไม่มีลำดับชั้น เมื่อไม่ลำดับขั้นก่อนหลังและสูงต่ำ เส้นทางของความเป็นเสรีประชาธิปไตยในการอ่านก็มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ส่วนการอ่านใน hypertext ก็ทำให้การอ่านอยู่ในโลกของความเป็นอนันต์ (infinity) เพราะอาณาเขตของตัวบทเป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก แต่ละประโยคมีช่องทางออกเสมอ ช่องทางที่จะนำพาผู้อ่านไปสู่โลกใหม่ๆ ที่ไม่มีอาณาเขตของความรู้ ไม่มีการแยกกันระหว่างสาขาต่างๆ เพราะทุกอย่างถูกเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ตราบใดก็ตามที่ต้องการจะเชื่อมโยง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดการบูรณาการของความรู้ได้ เมื่อทุกอย่างดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้ทุกอย่างไม่มีจุดเริ่มและไม่มีจุดจบ ทุกๆ ที่เป็นจุดเริ่มและจุดจบได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นอะไรที่ไม่มีที่สิ้นสุดก็ทำให้ยากจะรู้ว่าสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อใดที่คิดถึงสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ก็กลับทำให้วิตกกังวลกับอะไรที่ไม่รู้ถึงจุดที่สิ้นสุด ราวกับว่าไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้

พื้นที่ของ hypertext เป็นพื้นที่ทำให้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ จากศาสนาไปสู่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย พื้นที่ของการอ่านในโลก Hypertext จึงเป็นอะไรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างและทุกอย่างเป็นไปได้หมด การอ่านในโลก Hypertext จึงเป็นการอ่านที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกอย่างเป็นไปได้ เมื่อทุกอย่างเป็นไปได้ก็ทำให้การอ่านในพื้นที่ของ Hypertext เปรียบประดุจการอ่านนิยาย/วรรณกรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ สามารถอุบัติขึ้นได้พร้อมกับความตื่นตาตื่นใจที่มีเรื่องราวและความแปลกใหม่ต่างๆ พื้นที่นี้ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีข้อห้าม ความฝันของโลกเสรีประชาธิปไตยปรากฏขึ้นในโลกของ Hypertext ที่โลกแห่งความจริงและความฝันเกือบจะไม่ได้แยกออกจากกัน

อย่างไรก็ดี การอ่าน Hypertext ทำให้การอ่านข้อความหรือเรื่องราวต่างๆ นั้นเคลื่อนตัวไปสู่พื้นที่ของความเป็นนวนิยาย/วรรณกรรมนั้นก็แสดงว่า คนอานพร้อมที่จะผสมปนเปภาษาและประโยคที่ใช้กันในภาษาของวรรณกรรมกับชีวิตประจำวัน เพราะโลกของชีวิตประจำวันก็คงจะไม่มี "โยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา" ถึงแม้ว่า โยคีและรุ้งจะเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง แต่ "โยคีขี่รุ้ง" นั้นก็คงจะหาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ภาษานวนิยาย/วรรณกรรมจึงรังแต่จะสร้างความฉงนงงงวย เพราะชีวิตจริงนอกจอคอมพิวเตอร์กลับไม่มี แต่ก็พร้อมที่จะมีได้ เมื่อเคลื่อนไปสู่พื้นที่ใหม่ เช่น คำว่า cyberspace ที่มาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ โดย William Gibson ดังเรื่อง Neuromancer (1984) ก็ได้กลายมาเป็นคำที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย คำที่ถูกใช้ในนวนิยายได้กลายมาเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวัน พื้นที่นวนิยายและชีวิตประจำวันได้ถูกผสมผสานเข้า ด้วยกัน พลังของนวนิยายประโลมโลกจึงอาจจะทรงพลังเหมือนกับที่พวกเหล่าอนุรักษ์นิยมในอดีตได้มีความหวาดกลัวต่อการอ่านนวนิยายประโลมโลกว่าจะทำให้คนอ่านเสียผู้เสียคน

ดังนั้นการเข้าใจภาษาปกติธรรมดาๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและภาษานวนิยาย/วรรณกรรม ตลอดจนภาษาที่ใช้เป็นอุปมาอุปไมย ฯลฯ ก็อาจจะเป็นอะไรที่แยกออกจากกันได้ยากในสังคมที่มีโครงสร้างและระบบวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ไม่ได้มีการแยกโลกที่จับต้องได้กับโลกที่อยู่เหนือปรสาทสัมผัสทั้งห้า ภาษาของชีวิตประจำวันกับภาษาในตำนานเองก็ยังแยกออกจากกันได้ยาก ความแตกต่างของโครงสร้างความคิดและระบบความคิดของสังคมใดสังคมหนึ่งก็จะทำให้การรับรู้เรื่องราวในลักษณะที่แตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่งๆ ดังนั้นคนอ่านจำนวนหนึ่งในกรอบความคิดแบบหนึ่งก็สามารถที่จะแยกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงและอะไรเป็นเรื่องที่ไม่มีวันที่จะเป็นจริง เช่น ถ้าเอา Hamlet หรือ Macbeth ของ Shakespeare ไปอ่านให้เหล่าชนเผ่าพื้นเมืองในดินแดนต่างๆ ฟัง ก็จะได้ความเข้าใจในอีกรูปแบบ เป็นต้น

นิยายมัน reinvent ตัวเองเมื่อคุณฟัง เพราะคุณรับรู้นิยายภายใต้โครงสร้างชุดความรู้หรือความเข้าใจของคุณ เช่น ถ้าคุณไปบอกป๋าเปรมว่า พระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่สี่สร้างขึ้นมา คงเข้าใจไม่ได้ มันไม่เมคเซ้นส์สำหรับแก ลองนึกภาพว่าเข้าไทม์แมชชีนไปหาสมเด็จพระนเรศวรแล้วถามว่ารู้จักพระสยามเทวาธิราชไหม แกคงถามว่ามึงพูดอะไรของมึง

กรอบความคิดที่เชื่อในภาษาตามธรรมชาติและภาษาวรรณกรรมหรือภาษาในตำนานนั้น เมื่อผนวกเข้ากับระบบความคิดและความเข้าใจทางวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกก็คือการเพิ่มปริมาณของความหลากหลาย ครั้นเมื่อผนวกกับความหลากหลายของตัวบทอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังเปิดโอกาสให้กับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้ ก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายให้มีมากขึ้นไปอีก สำหรับในโลกของหนังสือแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมิติของการเขียนหรือจะเป็นการอ่าน ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้จากคนนอก เป็นความรู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขได้แบบที่เกิดขึ้นกับวิกิพีเดียแต่ความรู้แบบนี้ก็สามารถที่จะหาผู้ประพันธ์ได้อย่างแท้จริง เพราะทุกๆ คนสามารถที่จะเข้าไปแก้ไข ตัดทอน เพิ่มเติม จนกลายเป็นผู้ประพันธ์ร่วมไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีใครที่ได้ “คะแนน” หรือ “เงิน” จากการประพันธ์ลักษณะนี้ไป เพราะทุกๆ คนเป็นผู้ประพันธ์นิรนาม
 

พื้นที่ของตัวบทแบบวิกิพีเดียจึงเป็นโลกในอุดมคติของศาสนาที่ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกๆ คนก็เป็นเจ้าของ นี่เป็นอุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกดิจิตอล ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองให้กับสถาบันการศึกษาที่นับวันค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาก็มีแต่สูงขึ้น เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของก็ทำให้สถานะของการไม่มีเจ้าของเป็นหมายเลขหนึ่ง เลขที่จะต้องปรากฏออกมาเมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแสวงหาอะไรบางอย่าง เพียงแต่เลขหนึ่งนี้ไม่ได้ถูกกำกับด้วยกรอบความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวอีกต่อไป

พื้นที่ความรู้แบบวิกิพีเดียนั้น สภาวะของการเป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อไม่มีความเป็นของส่วนตัว ไม่มีใครเป็นผู้แสดง “อำนาจ” ของผู้ประพันธ์ ก็ทำให้ผลงานชิ้นนั้นหาคนรับผิดชอบไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบรวมหมู่” ที่เกิดขึ้นจากการไม่มีใครลงนาม ตัวบทแบบนี้มีความยืดหยุ่นไม่มีลักษณะที่ตายตัวแบบตัวบทสิ่งพิมพ์กระดาษ เนื้อหาจึงพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปได้ในทุกๆ วินาที จนไม่มีอะไรเพียงพอที่จะจับต้องได้ว่าเป็นฝีมือใคร ตัวบทแบบนี้จึงไม่เหลือร่องรอยแห่งการแห่งอัตลักษณ์ของผู้เขียนเอาไว้ ความหวาดกลัวต่อการสูญหายของอัตลักษณ์แห่งปัจเจกชนดูจะไม่แตกต่างไปจากความหวาดวิตกของ เพลโต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียนเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว การเกิดขึ้นของตัวอีกษรทำให้การใช้ความทรงจำจาการเรียนรู้ผ่านมุขปาถะหรือภาษาพูดหมดความสำคัญลงในสังคมกรีกโบราณ

พื้นที่ของการอ่านและความรู้ที่เกิดขึ้นจาก “คอมมิวนิตส์ดิจิตอล” จนทำให้อัตตาและความเป็นปัจเจกชนสลายหายไปนั้นถือได้ว่าเป็นภัยอันตรายสำหรับสำนึกแบบปัจเจกชนเป็นใหญ่ ความหวาดวิตกนี้ทำให้หนึ่งในเจ้ายุทธจักรแห่งโลกดิจิตอล Jaron Lanier ในปี ค.ศ.2006 เรียกว่า “ลัทธิดิจิตอลเหมา” (Digital Maoism) ที่ทุกอย่างตกเป็นของส่วนรวมและอยู่ภาตใต้ “อภิ” (meta) ภายใต้นามของ Google หรือวิกิพีเดียมากกว่าจะเป็นของปัจเจกชนคนหนึ่งๆ ผู้สร้างสรรค์งานขึ้นมา สภาวะของความเป็น “อภิ” นั้นเป็นอะไรที่ดูจะขัดแย้งและสร้างความวิตกจริตให้กับสำนึกอุดมคติแบบอเมริกันที่พร้อมจะเห็นการกระทำของส่วนรวมในลักษณะที่ไม่ปรากฏอัตลักษณ์ ว่าคือรูปการแสดงออกของเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) และองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง

โดย Lanier เห็นว่า เหมือนกับอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลที่ไม่รู้ว่าใครเขียน สภาวะของพระคัมภีร์ก็ทำให้ทุกอย่างเป็นเพียงการบงการของพระผู้เป็นเจ้าที่ทำให้มนุษย์เป็นพียงผู้แบกรับภาระให้กับพระองค์ แต่มนุษย์ก็จะไม่ได้ชื่อเสียงหรือการยอมรับใดๆ แตในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเห็นตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า การเขียนเป็นการเขียนแบบ “มือที่มองไม่เห็น”ของ Adam Smith แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การทำงานของ “มือที่มองไม่เห็น”มักจะล้มเหลวเสมอๆ เช่นที่ปรากฏให้เห็นในอาณาเขตของเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่ามือผู้ประพันธ์ที่มองไม่เห็นนั้นดำรงอยู่เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้ดำรงอยู่

พื้นที่ของการอ่านในโลกคอมพิวเตอร์หรือ “ความจริงที่เสมือนจริง” ยังเป็น Hypermedia ที่เชื่อมต่อโลกของภาพ เสียง ดัชนี สัญลักษณ์ และภาษาเข้าด้วยกัน ไปจนถึงสภาวะของการตอบโต้กัน (interactivity) พื้นที่ของ Hypermedia จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องต่อสู้แข่งขันกัน ประสาทสัมผัสจึงต้องทำงานด้วยกันหมดทุกส่วนการอ่านแบบเงียบๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไปในโลกของ Hypermedia การอ่านจึงไม่ได้ต้องการความนิ่ง แต่ต้องการพลวัตร การเปลี่ยนสถานะไหลลื่นไปตามที่ต่างๆ โดยการเดินทางก็ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นแต่ละลำดับแต่ละขั้น โดยที่พัฒนาการของการเล่าเรื่องก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ประหนึ่งกับการประกอบสร้างโครงสร้างปิรามิดที่ทุกอย่างต้องไปรวมศูนย์อยู่ที่จุดยอดหรือรวมศูนย์อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าตามกรอบคิดของเอกเทวนิยม (monotheism) พัฒนาการแบบเส้นตรง (unilinear) กำลังจะกลายเป็นอดีต แต่ถึงกระนั้นก็ดี สิ่งที่แปลกใหม่บนโลกดิจิตอลก็ยังคงนำเสนออะไรบางอย่างที่คุ้นเคย เช่น การพลิกหน้า เป็นต้น เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีเสียงคลิกไปจนถึงเสียงการพลิกจากมือผ่านโลกดิจิตอล

หนังสือดิจิตอลไม่ได้เป็นภาพที่เคลื่อนไหวแบบสื่ออื่นๆ เพราะยังไม่ได้พัฒนาจนมีหนังสือแบบที่เป็นหนังสือในจินตนาการแบบ Harry Potter แม้ว่ากระบวนการ Automation นั้นจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกถ่ายทอดลงไปในโลกดิจิตอลเพื่อความสะดวกมากกว่าที่จะสร้างความสัมมพันธ์สองทางระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้อ่าน เพราะสภาวะของการตอบโต้กันยังคงเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หนังสือที่มีผู้ประพันธ์ยากที่จะเกิดสภาวะของสหกิริยา (interactive) ขึ้นมาได้ ยกตัวอย่าง หากมีหนังสือเล่มหนึ่ง ปราบดา หยุ่นเขียน แล้วทุกคนเข้าไปแก้หมด แบบวิกิพีเดีย ตกลงแล้วใครเป็นคนเขียน ยังจินตนาการไม่ออก ตอนนี้มีนักเขียนอเมริกันหลายคนพยายามที่จะทำในลักษณะนี้ แต่ส่วนตัวยังไม่เคยอ่าน

สถานะของผู้ประพันธ์ของดินแดนแห่งสำนึกเรื่อง “ทรัพย์สินส่วนตัว” (private property) ซึ่งก็เป็นประเทศอังกฤษนี่เองที่ทำให้คำว่า “copyright” ได้สำแดงอานุภาพออกมาในปี ค.ศ.1710 และเมื่อเป็นทรัพย์สินส่วนตัวอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติตามกรอบคิดของ John Locke ก็หมายความว่าหนังสือเป็นอะไรที่ละเมิดไม่ได้ สิ่งที่ละเมิดมิได้นั้นคือความคิดริเริ่ม (originality) อันเป็นความคิดของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ แต่กลายมาเป็นความคิดกระแสหลักในศตวรรษที่สิปแปด เพื่อแสดงลักษณะของความเป็นปัจเจกชน จนทำให้ผลงานวรรณกรรมกลายเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตนแต่มีเจ้ารของที่ครอบครองอะไรที่ไม่มีความเป็นวัตถุเหล่านี้

ภายใต้กฎหมายและสำนึกของผู้อ่านก็ไม่สามารถที่จะเป็นได้ทั้งผู้ประพันธ์และผู้อ่านในเวลาเดียวกัน โลกทุนนิยมหนังสือยังไม่มีพื้นที่ของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างผู้ประพันธ์และคนอ่าน สิ่งที่ผู้อ่านอาจจะเป็นไปได้ก็คือ เป็นผู้อ่านที่มีจิตสำนึกและมีความคิดเป็นของตัวเองในการประเมินสิ่งที่ผู้อ่านอ่านมากกว่าที่ผู้ที่มี “สิทธิอำนาจ” ในเรื่องราวของบทประพันธ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกของ Hypertext นั้นเป็นเพียงว่า หนังสือถูกถ่ายทอดลงไปสู่โลกดิจิตอล หนังสือเล่มหนึ่งภายใต้ความเป็นเจ้าของที่เป็นของมนุษย์นั้นไม่สามารถเกิดภาพ Hypertext ได้เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนๆ หนึ่งจะประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ขึ้นได้ทั้งหมดเพียงคนเดียวในโลก Hypertext เพราะโลกของ Hypertext เองก็วางอยู่บนฐานความคิดในเรื่องของการเชื่อมต่อของตัวบทที่แต่ละชิ้นต่างก็มีเจ้าของ จนทำให้กรอบความคิดของ Roland Barthes เรื่อง “ความตายของผู้ประพันธ์” (the Death of the Author) เกิดขึ้นไม่ได้อย่างน้อยๆ ก็ในความเข้าใจของกฎหมาย แต่ในโลกวรรณกรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรอบความคิดเรื่อง “ผู้ประพันธ์ตายแล้ว” ที่ไม่ใช่ผู้ประพันธ์ที่มีชีวิตเลือดเนื้อละมีความเป็นเจ้าของนั้น เป็นกรอบความคิดที่วางอยู่บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับ “ความคิด” ในฐานนะที่เป็นนามธรรมที่แสดงรูปลักษณ์ออกมาเป็นรูปธรรม สภาวะของการเป็นเจ้าของที่มี “อำนาจเหนือสิ่งนั้นๆ ” ได้แสดงพลังแห่งอำนาจของบุคคลผู้นั้นในการสร้างและประดิษฐ์คิดค้น สภาวะที่เป็นรากฐานให้กับมนุษยนิยมและมนุษย์ศาสตร์เพียงแต่การแสดงอำนาจเหล่านี้ก็ต้องดำเนินไปตามกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง อย่างไรก็ดี ตัวบทเป็นอะไรที่หลากหลาย และอย่างน้อยๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ปรากฏในความคิดของ Roland Barthes ผู้เสนอความคิดเรื่อง "ความตายของผู้ประพันธ์"

สำหรับ Barthes แล้ว ตัวบทที่ไม่ใช่หนังสือนั้นก็มีลักษณะของความเป็นพหุ (plural) ไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียว เพราะตัวบท “ระเบิด” “กระจาย” ไปในที่ต่างๆ ตัวบทไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็น “เครือข่าย” นอกจากนั้นมันก็เป็นอะไรที่ “นับไม่ได้” เพราะตัวบทต่างๆ เหล่านี้ถูกนำไปผลิตซ้ำๆ ไม่ได้แตกต่างไปจากการสร้างไฟล์หรือการคัดลอกไฟล์ในโลกคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ในโลกดิจิตอลสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในโลกของภาพและจอประมวลผล โลกที่แตกต่างไปจากโลกของภาษา ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการอธิบายภาพผ่านหลักการและการทำงานของภาษาจนทำให้ภาพ (image) และประติมาน (icon) ถูกลดทอนให้เหลือเพียงภาษาก็ตามที

ครั้นถ้าพิจารณาจากตัวบทกลับไปสู่สภาวะของการเป็นหนังสือก็เป็นสภาวะที่หลากหลายด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยหนังสือนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ประพันธ์ เพราะยังต้องมีสำนักพิมพ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ คนจัดหน้า จัดรูปแบบของตัวอักษร คนออกแบบรูปร่าง ขนาด และปกหนังสิอ ไล่เรียงไปจนถึงบรรณาธิการที่ดูแลตั้งแต่เรื่องของภาษาไปจนถึงการจัดพิมพ์ หนังสือไม่ได้มีเพียงแค่นักเขียน แต่ต้องการอะไรอื่นๆ อีกมากมายจนกระทั่งถึงกระบวนการที่กลายเป็นหนังสือ สำหรับก่อนที่หนังสือจะมีสถานะของการมี ‘เจ้าของคนเดียว’ นั้น หนังสือในฐานะกระบวนการเรียนรู้เป็น “ของขวัญที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน” ให้กับมนุษย์ ดังนั้นเมื่อเป็น “ของขวัญ” จากพระผู้เป็นเจ้า ก็ย่อมไม่มีใครหรือผู้ใดที่ได้ครอบครองเป็นของส่วนตัว แต่ต้องเป็นของส่วนรวม เมื่อเป็นของส่วนรวมก็ไม่สามารถที่จะใช้ไปเพื่อหวังผลกำไรได้


ภาพโดย Ozyman (CC BY-NC-SA 2.0)

สถานะของหนังสือเป็นกระบวนการสร้างวัตถุที่มีวัฒนธรรมของการผลิต หนังสือที่แต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็มีวิธีการนำเสนอหรือการทำที่แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัตถุสำหรับการอ่านจากเป็นม้วน (scroll) มาสู่การเย็บเล่ม เปลี่ยนจากการอ่านจากบนลงล่างมาสู่การพลิกหน้า การจัดย่อหน้า การจัดประโยคให้อยู่ในรูปแบบของการเล่าเรื่องที่มีย่อหน้าไปสู่การจัดประโยคให้อยู่ในรูปของประโยคๆ เดียว ประโยคที่ปรากฏในรูปแบบของบทกวี ประโยคที่ไม่ได้ถูกกั้นด้วยช่องไฟหรือจุด ประโยคหัวกระสุน (Bullet Point) ในรูปแบบที่นำเสนอกันในลักษณะของ Power Point ที่ไม่มีความเป็นบทกวี แต่เป็นคำสั้นๆ เป็นจุดๆ และไม่ได้มีอะไรเชื่อมต่อกันก็ได้ ไม่ต้องการคำสันธาน คำบุพบท ประธาน หรือกรรม เป็นต้น ประโยคหัวกระสุนแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่ถูกย่อยและตัดถอนแตกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อให้เหลือเพียงหัวกระสุนเพียงหัวเดียว หัวกระสุนที่แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็ว สั้นและกระชับเสียยิ่งกว่าบันทึกช่วยจำ (memo) ซึ่งทั้งหมดก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของสภาวะสมัยใหม่

ความเร็วและความต้องการจะมีอะไรพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน มากกว่าที่จะพุ่งเป้าไปที่ๆ เดียวทำให้การอ่านในโลกคอมพิวเตอร์เต็มไปด้วยความหลากหลาย การอ่านไม่ได้เป็นเพียงแค่การอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการอ่านใน “วัตถุแบบอื่น” หรือ “สื่อ” อื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น การอ่านอีเมล เป็นต้น ผู้อ่านเองก็พร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนไปสู่การอ่านอะไรแบบอื่นๆ เพียงในระยะเวลาไม่กี่นาที ถึงแม้ว่าการอ่านตัวบทในโลกดิจิตอลจะทำให้ผู้อ่านไม่ได้ติดตรึงอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยผู้อ่านสามารถที่จะเคลื่อนตัวไปในพื้นที่ต่างๆ ของตัวบทต่างๆ ได้อย่างเสรี การอ่านในโลกดิจิตอลจึงเป็นการอ่านที่มีเสรีภาพ แม้ว่าเสรีภาพที่กล่าวถึงนั้นจะหมายความถึงความไม่อดทนต่อการอ่านอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระบะเวลายาวนานก็ตาม ถ้าจะกล่าวในเชิงศีลธรรมนั่นก็คือ ผู้อ่านทุกๆ คนพร้อมที่จะถูกล่อลวงไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ดี หนังสือไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ซี่งไม่ใช่ตัวบทก็ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ถูกตรอกตรึงไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือชื่อของผู้ประพันธ์ยังอยู่เหมือนเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงถูกติดตรึงไว้อย่างแน่นหนาให้เห็นถึงการไม่เปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ผู้ประพันธ์นำเสนอ แต่ในพื้นที่ของโลกดิจิตอลที่ทุกอย่างกลายเป็นเพียงแค่การแทนที่ข้อความหรือใส่อะไรบางอย่างใหม่ลงไปในพื้นที่อันเดิม ในขณะที่หนังสือกระดาษต้องการพื้นที่ในลักษณะแบบเดียวกันกับรัฐสมัยใหม่ตลอดจนปัจเจกชนซึ่งต่างก็ต้องการดินแดนที่แน่นอนตายตัว แถมยังถูกกำกับด้วยกรอบความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน สำหรับในโลกดิจิตอลทุกอย่างนั้นก็สามารถเล็ดรอดออกไปได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของโลกดิจิตอลก็คือการเชื่อมต่อกับอะไรอื่นๆ จนทำให้ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าอยู่ข้างนอกหรืออยู่ข้างใน แต่เป้าหมายของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะเชื่อมต่อกับหนังสือเล่มอื่นๆ เพราะหนังสือแต่ละเล่มถูกกำหนดให้มีขอบเขตด้วยกฎหมาย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ได้ใช้กรอบความคิดเช่นดียวกับการทำวีซ่าครั้งเดียวแล้วเข้าได้หลายๆ ประเทศ

ในขณะที่พื้นที่ของดิจิตอลเป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อ การแบ่งปัน ร่วมกันใช้พื้นที่ที่เดียวกัน ผลัดหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป หรือถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ การกำหนดแบ่งหรือแยกพื้นที่ถูกทำลาย นอกจากนั้น ในโลกของ Hypertext ทุกอย่างไม่ได้พุ่งเป้าไปสู่จุดสุดยอดหรือมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว สถานะของผู้ประพันธ์จึงไม่ได้มีอำนาจ (authority) ในฐานะที่เป็น “ผู้ประพันธ์” (author) ได้ง่ายๆ แบบเดิมอีกต่อไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า Hypertext ที่ผู้อ่านสามารถจะเริ่มต้นเรื่องราวเรื่องหนึ่งแล้วก็เดินทางแยกไปตามแต่ความต้องการของผู้อ่านว่าจะสนใจและต้องการทำความเข้าใจประเด็นที่ตนเองสนใจก่อนหรือหลังอย่างไร ความต้องการของผู้อ่านนั้นมาก่อนเสมอ จนยากที่จะมีใครบังคับได้ ในขณะเดียวกัน การอ่านที่แยกออกไปจากความต้องการอ่านตัวบทเดิมก็สามารถที่จะหันกลับมาบรรจบกับเส้นทางของการอ่านอันแรกก็ได้ การแสวงหาความเป็นเอกภาพร่วมกันจาการอ่านจึงเป็นอะไรที่ยากมากยิ่งขึ้นไปกว่าการอ่านที่นำไปสู่การตีความที่ไม่เหมือนกัน

เส้นทางของการอ่านจึงไม่ได้มีการบังคับตายตัวแบบหนังสืออันเป็นการอ่านที่ดำเนินไปแบบเส้นตรงหรือใช้ตรรกะนิรนัย (deductive) จนไม่สามารถทำให้ผู้อ่านออกนอกลู่นอกทางไปได้ ถึงแม้ว่าผู้อ่านจะไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์ แต่ผู้อ่านก็เป็นผู้แสดงที่สามารถจะแหวกจารีตของการอ่านเพื่อไม่ต้องถึงจุดสุดยอดเหนือเป้าหมายที่ผู้เขียนตั้งเป้าเอาไว้ จนทำให้การอ่านเหลือเพียงแค่การได้แสดงหรือเล่นกับการอ่านที่กระทำด้วยการบังคับทิศทางที่ผู้อ่านพึงปรารถนา แรงปรารถนาที่ไม่สามารถจะคาดได้ว่าผู้อ่านจะเลือกไปในเส้นทางใด ผลลัพธ์จึงเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้

แล้วแต่คุณจะอ่าน ผมอ่านเรื่องซีเรียอาจจะจบลงที่ปัญหาความขัดแย้งของอังกฤษกับอาร์เจนตินาก็ได้ เหมือนทุกวันนี้ เหมือนว่า ที่เราคิดว่ากระทรวงไอซีทีอยากปิดก็ปิดไป ยังไงก็อ่านได้อยู่แล้ว ทุกคนเล็ดรอดออกไปได้ ถ้าพูดแบบอนุรักษนิยม โอกาสที่สังคมจะไม่ปรองดองจะมีสูงขึ้นในระยะยาว เพราะไม่สามารถบังคับให้คนอ่านในสิ่งที่ต้องการได้อีกแล้ว

การคาดเดาไม่ได้ของผู้อ่านสร้างเส้นทางแห่งการเป็นองค์อธิปัตย์ (sovereign) ที่กำหนดเส้นทางการอ่านของตนเอง เส้นทางที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัตวิสัยที่สามารถยกระดับไปสู่ของการหลงใหลในตนเองเพราะสิ่งที่ตัวตนรับรู้หรือบริโภคข้อมูลข่าวสารก็คือการแสดงออกของความเป็นองค์อธิปัตย์ เพราะไม่เพียงแต่ได้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเติมความเป็นอัตวิสัยออกไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะในโลกของสหกิริยาย่อมเป็นพื้นที่ที่ใครต่อใครก็สามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้ ตัวตนที่แสดงออกมามีตั้งแต่การจัดรูปแบบของตัวหนังสือ สีที่จะใช้ เป็นต้น การเขียนด้วยคอมพิวเตอร์จึงแตกต่างไปจากพิมพ์ดีด เพราะตัวอักษรของพิมพ์ดีดเป็นอะไรที่เลือกไม่ได้ รูปแบบของตัวอักษรมีลักษณะที่ตายตัว สำหรับการใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือเขียนด้วยลายมือนั้นก็ยังทำให้เห็นร่องรอยของต้นฉบับที่มีการขีดเขียน ระโยงระยางของการแก้ไขคำ เปลี่ยนคำใหม่ ตัดคำ เพิ่มคำ ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นอะไรที่หลงเหลือไว้แต่ในห้องสมุดและเป็นเพียงแค่ร่องรอยในประวัติศาสตร์

ในโลกของ Hypertext ทุกอย่างมีอะไรที่จะต้องอยู่ “เบื้องหลัง” ที่ทุกๆ อณูสามารถที่จะสืบหาได้ต่อเรื่อยๆ ดังราวกับว่าทุกๆ ประโยคต้องมีการอ้างอิงและยังเป็นการอ้างอิงต่อไปได้เรื่อยๆ จนราวกับว่าการเขียนหรือการเล่าเรื่องใน Hypertext เป็นการเขียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด การเขียนที่ไม่มีจุดจบในอนาคต ไม่เพียงแต่เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกเรื่องยังสามารถที่จะผลิตซ้ำได้เรื่อยๆ การเขียนในโลกของ Hypertext จึงเป็นโลกของหลุมดำที่ดูดทุกสิ่งทุกอย่างนำมาหลอมรวมเข้าไว้ในพื้นที่เสมือนจริงที่ดูจะเป็นจริงเสียยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นจริงที่ผ่านประสบการณ์การอ่านของโลกสองมิติ ไม่มีอะไรอยู่ในตัวหนังสือบนระนาบแบนๆ ของตัวอักษรที่เรียงรายกันขึ้นมาเป็นประโยค ตัวอักษรบนหนังสือสิ่งพิมพ์กระดาษเป็นอะไรที่ตายตัวไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการของ “ตัวเลขที่ตรงกันข้ามกัน” (binary digit) อันเป็นสิ่งที่ไม่มีมองเห็น

โลกดิจิตอลเป็นทั้งภาษาและรหัส แต่ก็ไม่ได้มีใครสนใจรหัสว่าเป็นอะไรและทำงานอย่างไร เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ผู้ใช้มีหน้าที่ใช้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันมีการทำงานอย่างไร หนังสือในโลกของดิจิตอลเป็นโลกของการทำงานที่ใช้ทั้งเวลาและสถานที่ ในขณะที่หนังสือกระดาษไม่มีมิติของการเดินทางของเวลาในการทำให้ตัวอักษรปรากฏ หนังสือกระดาษไม่มีการผสมกันของรหัสต่างๆ ด้วยรหัสที่ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันตั้งแต่เริ่มแรกก็สามารถจับนำมารวมและเรียงลำดับตำแหน่งกันใหม่ รหัสของคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นอะไรที่สำคัญสำหรับชีวิตบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เห็นบนจอคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เนื้อแท้ภายใน แต่ก็ไม่มีใครสนใจว่าเนื้อแท้จริงๆ นั้นเป็นอะไร เพราะสิ่งที่มีเสน่ห์และให้ใคร่ครวญโหยหาก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งที่อยู่ภายนอกจึงเป็นอะไรที่สำคัญกว่าสิ่งที่อยู่ภายใน

ภาพภาษาบนจอคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้เป็นภาษา แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางรหัสคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตัวเลขแปลงออกมาเป็นภาพมากว่าที่จะเป็นภาษา ในแง่นี้ ภาพของตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์จึงเป็นเพียงภาพที่ให้ความหมายของคำพูดมากกว่าที่จะเป็นตัวอักษรล้วนๆ ในการที่จะเห็นภาพที่เป็นตัวอีกษรก็ต้องผ่านกระบวนการของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น Mouse ที่ย่อมไม่ใช่สัตว์ที่เรียกว่าหนู และเครื่องหมายที่ต้องการใช้เป็นคำสั่ง เป็นต้น ในขณะที่หนังสือเมื่อเห็นอยู่ตรงหน้าก็รู้แล้วว่าคือตัวหนังสือ เปิดหน้าแรกก็เห็นเรื่องราวและตัวอักษรได้ทันที เบื้องหลังของหนังสือกระดาษก็ไม่ได้มีอะไรลึกลับที่ผู้อ่านเข้าไม่ถึง

ส่วนตัวอักษรและการเล่าเรื่องในตัวบทคอมพิวเตอร์เป็นเพียงเสมือนจริงที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่จริงอันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากกรอบความคิดของวัฒนธรรมวัตถุหนังสือ วัฒนธรรมที่เป็นเพียงสองมิติ วัฒนธรรมหนังสือจึงมีความชัดเจน ไม่ได้ซ่อนอะไรที่ลึกลับมองไม่เห็น ไม่มีวันหนังสือจะหายไปแบบม้วนเทปคำสั่งเช่นในภาพยนตร์โทรทัศน์ Mission Impossible แต่โลกหนังสือดิจิตอลก็พร้อมเสมอที่จะสลายหายไปจากโลกเสมือนจริง (virtual reality) เมื่อผู้ใช้ออกคำสั่งทำลาย โลกที่ไม่มีใครมองเห็นและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมองให้เห็น ความชัดเขนแบบความต้องการเจาะลึกของโลก Hypertext จึงไม่มีและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี

โดยสรุป ในโลก hypertext ในโลกของการเขียนแบบนี้ มันไม่สามารถจะทำให้ "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" อีกแล้ว มันไม่สามารถทำให้คุณมีโฟกัสร่วมกันอีกได้ง่ายๆ แบบเดิม คุณกำหนดไม่ได้เลยว่าคนอ่านจะอ่านอะไร เพราะถึงแม้ว่ากูเกิลจะขึ้นให้คุณ 10 ที่ แต่มันก็สามารถจะพาคุณไปไหนต่อไหนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดแบบง่ายๆ ในนัยยะทางการเมือง คือ คุณเลิกคิดได้แล้วว่าทุกคนจะคิดในแบบเดิม เพราะไม่ต้องพูดถึงเนื้อหา คุณจะบอกว่ารักชาติศาสน์กษัตริย์แบบที่คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พูด อ่านใน text นี้ แต่มันพาคุณไปไหนก็ไม่รู้ อาจจะไปลงท้ายที่สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ก็ได้ คุณคุมมันไม่ได้ เหมือนกับที่เราบอกว่าอินเทอร์เน็ตคุณคุมมันไม่ได้ มันล็อคอยู่ในโครงสร้าง มันไม่เหมือนเขียนหนังสือที่ฟอร์มของหนังสือมันตายตัว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 เม.ย. - 5 พ.ค. 2555

Posted: 05 May 2012 11:46 AM PDT

นายจ้าง บ.อีดะ เซอิมิทสึ ยื่นขอลดสวัสดิการหลังนโยบายปรับค่าจ้าง 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 เมษายน สหภาพแรงงานอีดะ เซอิมิทสึ (ประเทศไทย) ได้รวมตัวกันที่หน้าบริษัทอีดะ เซอิมิทสึ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เลขที่ 700/191 ม.1 ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี นายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อนายชิเงะโยชิ เซเกจิม่า พนักงานทั้งหมดจำนวน 220 คน ผลิตเกี่ยวกับชิ้นส่วนโลหะ และโลหะทุกชนิด ผลิตเลนส์,ตัวซูม ให้กับ บริษัท Nikon  ซึ่งเป็นลูกค้า 95% และผลิตลอกให้บริษัท Daiwa ในวันที่ 30 มีนาคม สหภาพแรงงานอีดะ เซอิมิทสึ (ประเทศไทย) ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในการทำงาน มีการเจรจา 2 ครั้ง 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน บริษัทอีดะ เซอิมิทสึ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนขอลดสวัสดิการที่ต่อคนงานที่เป็นตัวเงินทั้งหมด คือ 1. ขอลดสวัสดิการค่ารถเดือนละ 1,040 บาท เหลือวันละ 20 บาท 2. ขอลดเงินเบี้ยขยันเฉพาะคนที่มาทำงาน ไม่ขาดงาน ไม่ลางาน ไม่มาทำงานสายเดือนละ 300 หากมาทำงานตามระเบียบตั้งแต่เดือนแรกถึง 6 เดือน ได้รับเบี้ยขยันเพิ่มเป็น 800 บาท นายจ้างลดเหลือเดือนละ 150-400 บาท ตามระยะเวลาที่กำหนด 3. ค่าอาหารอาหารสำหรับเข้ากะดึกวันละ 25 บาทนายจ้างให้คงเดิม แต่ขอลดเงินค่า(ง่วงนอน)เข้าทำงานกะดึกวันละ 90 บาท เหลือวันละ 45 บาท 4. ขอลดเงินค่ารักษาพยาบาลประจำปี 5,000 บาท เหลือปีละ 2,500 บาท พร้อมขอใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯทั้งหมด 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 เมษายน 2555 นายจ้างและลูกจ้างได้มีการเจรจาอีกครั้งที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ผลการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ นายจ้างยืนยันยึดประกาศฉบับที่ 2/2555 เพื่อขอสวัสดิการที่เป็นตัวเงินทั้งหมดคืน ทั้งนี้ ได้มีการนัดเจรจาอีกครั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานและสวัสดิการจังหวัดชลบุรี 

อนึ่ง ค่าจ้างคนงานจังหวัดชลบุรีปัจจุบัน 273 ต่อวัน นายจ้างได้มีการรับพนักงานใหม่ เมื่อต้นเดือนเมษายน ได้รับเงินเดือนแรกเข้า 9,000 บาท  ในส่วนคนงานเก่าได้รับการปรับค่าจ้างส่วนต่างค่าจ้างตามอายุงานดังนี้ ทำงานมา 1 ปี รับ 9,000 บาท ปรับเป็นทำงาน 1-2ปี รับเงินเดือน 9,045 บาท เรียงตามอายุงานจะต่างกันเพียง 45 บาทต่อปี 

อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวภาคตะวันออก ชลบุรี –ระยอง รายงาน (voicelabour, 27-4-2555)

 
แรงงานอยุธยาคาด 2 เดือนนี้รับกลับแรงงาน 4 หมื่นคน 

นางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประสบอุทกภัย ล่าสุด มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 60 เริ่มเปิดกิจการ และนอกนิคมอุตสาหกรรมมากกว่าร้อยละ 90 ดังนั้น จึงทำให้มีผู้ใช้แรงงานทยอยกลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานภายในเดือนกุมภาพันธ์ถึง เดือนมีนาคม มีเกือบ 4 หมื่นคน ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ใช้แรงงานหายไปในช่วงประสบอุทกภัยเดือนกันยายนถึงเดือน ตุลาคมเกือบ 5 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า จากนี้ไปจะมีผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

“เมื่อผู้ประกอบการหันมาเปิดกิจการทำให้พนักงานกลับมาสู่ตลาดแรงงาน หลังจากเดือนกันยายายและตุลาคมหายไปเกือบ 5 หมื่นคน และล่าสุดใน ช่วง 2 เดือน มีแรงงานกลับเข้ามา ในเดือนกุมภาพันธ์ 20,000 คน เดือนมีนาคม 18,000 คน จึงเป็นที่น่ายินดีที่ผู้ประกอบการมีกำลังคนเข้ามาสู่ภาคการผลิต พร้อมยอมรับว่าผู้ประกอบการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และจากการดูตัวเลขก็เบาใจในเรื่องของพนักงาน เพราะตัวเลขเลิกจ้างมีน้อยมาก” 

นางปราณี กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ประกอบกับ มีผู้ใช้แรงงานกลับเข้ามาทำงานอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงได้เพิ่มอัตราค่าจ้าง จึงอยากให้ผู้ใช้แรงงานช่วยกันเพิ่มผลผลิต หรือเพิ่มศักยภาพในฝีมือของตนเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์ร่วมกัน 

(กรุงเทพธุรกิจ, 29-4-2555)

 
สหภาพฯขสมก.จี้คมนาคมซื้อรถใหม่ ฉะเอกชนฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าตั๋ว 

นายวีระพงศ์ วงแหวน เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบุว่า วันที่ 11 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการของสหภาพแรงงานเพื่อหาข้อสรุป หลังจากนั้นจะมีการขอเข้าพบ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เพื่อทวงถามเรื่องการซื้อรถใหม่ว่าจะเอาอย่างไร เพราะทางสหภาพฯเองมีความต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการอย่างจริงจังซะที 

"เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางสหภาพฯ ได้พยายามติดตามมาแล้วถึง 3-4 รัฐบาล ปรากฏว่าทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ทั้งที่รถใหม่นี้มันควรจะมีเข้ามาตั้งแต่ปี 2546-47 นั่นแล้ว กระทั่งมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็รับปากว่าจะซื้อเพิ่มเข้ามาให้ ขสมก. กว่า 3,000 คัน แต่สุดท้ายเรื่องก็ไปไม่ถึงไหน ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างที่รับปากไว้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการเร่งด่วน เพราะจำเป็นต่อประชาชนอย่างมาก หากว่ายังไม่มาความคืบหน้า หรือความชัดเจน ทางสหภาพฯ ก็จะมีมาตรการเคลื่อนไหวต่อไปแน่นอน"นายวีระพงษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยติดตามความคืบหน้าพบว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ที่สภาพัฒน์ เพื่อทำแผนฟื้นฟู ซึ่งในความเป็นจริง หากรถเก่าหมดอายุการใช้งาน ก็ต้องดำเนินการจัดหารถใหม่เข้ามาทดแทนอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องของแผนฟื้นฟู กับเรื่องการจัดซื้อรถใหม่จึงเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ หากทาง ขสมก. ยังไม่มีรถใหม่ ภายใน 2-3 ปี องค์การฯ คงไม่มีรถบริการพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน 

ส่วนสาเหตุที่ทางสหภาพแรงงานจำเป็นต้องออกมาทวงถามรัฐบาลเรื่องการจัดหา ซื้อรถโดยสาร ขสมก.ใหม่นั้น เนื่องจากว่า รถ ขสมก. ทุกวันนี้แต่ละคันมีอายุการใช้งานเกินกว่าเกณฑ์คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ กำหนดไว้ว่า รถของรัฐ ที่วิ่งให้บริการต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี ในขณะที่รถ ขสมก. ปัจจุบันมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บางคันใช้งานมานานเกือบ 20 ปี ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องของรถเสียเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 400 คัน จนไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ บางครั้งเสียระหว่างให้บริการบนทางด่วนบ้าง ตามเส้นทางต่างๆ บ้าง ทำให้ประชาชนเสียเวลา โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงทางการเมือง รถ ขสมก. เสียหายไปจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 31 คัน ซึ่งก็ยังไม่มีรถใหม่มาแทนให้แต่อย่างใด 

"ผมไม่อยากให้พูดว่าจะนำรถมาให้บริการ ในขณะที่รถไม่สามารถให้บริการได้อีกแล้ว ซ้ำร้ายตอนนี้ก็มีรถเอกชนเข้ามาวิ่งให้บริการเยอะมาก ที่วิ่งทับเส้นทาง ขสมก.ก็มี ที่สำคัญสิ่งที่สหภาพฯ พยายามคัดค้านมาตลอดทุกยุค ทุกสมัย คือนโยบายเรื่องการแปรรูป สหภาพฯไม่อยากให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะจะเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองของภาคเอกชนมีมากขึ้น อย่างล่าสุดก็จะปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาท ซึ่งบางคันก็เปลี่ยนไปใช้เอ็นจีวีนานแล้ว พอช่วงนี้น้ำมันขึ้นก็มาอ้างว่าจะต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร อ้างว่ายังไม่ได้ใช้เอ็นจีวี แต่พอเอ็นจีวีขึ้น ก็บอกตอนนี้เขาใช้เอ็นจีวีเลยจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าโดยสาร นี่คือการบริหารแบบนายทุนที่ไม่ได้มองถึงเรื่องการให้บริการประชาชนอย่างแท้ จริง คิดเพียงว่าทำอย่างไรจึงจะได้ผลกำไรเยอะๆเท่านั้นเอง" 

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ก็จำเป็นต้องมีอยู่ต่อไป เพื่อให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ส่วนกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ในวันที่ 1 พ.ค.นี้จะมีความเคลื่อนไหวลักษณะขบวนรถ ขสมก. สะท้อนปัญหาต่างๆ โดยหัวขบวนจะเริ่มตั้งแต่หน้ารัฐสภา 

(ไทยรัฐ, 29-4-2555)

 
ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่งระบุความเป็นอยู่ในปีนี้แย่กว่าปีก่อน 

30 เม.ย. 55 - สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้แรงงานไทยตามจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ  จำนวน 1,440 คน   ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2555  พบว่าร้อยละ 44.45 ระบุชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานไทยในปีนี้ แย่กว่าปีที่ผ่านมาเพราได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ต้องนำเงินไปซ่อมแซมบ้าน ,ค่าครองชีพสูงขึ้น ฯลฯร้อยละ 31.94 ระบุเหมือนเดิม ร้อยละ 23.61 เห็นว่า ปีนี้ดีกว่าที่ปีผ่านมาเพราะ เงินเดือนขึ้น ค่าจ้างเพิ่ม ได้เลื่อนตำแหน่ง ภาระครอบครัวลดลง ลูกเรียนจบมีงานทำ ฯลฯ ส่วนความหนักใจของผู้ใช้แรงงานไทย อันดับ 1 คือสินค้าราคาแพง ค่าครองชีพต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ เงินไม่พอใช้ เงินเดือน ค่าจ้างที่ได้ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน    ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการดำรงชีวิตประจำวัน สวัสดิการ การคุ้มครองดูแลต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล  ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น 

สำหรับความเห็นผู้ใช้แรงงานควรทำอย่างไรชีวิตความเป็นอยู่จึงจะดีขึ้น อันดับ 1ระบุว่า ต้องประหยัด อดออม มีการวางแผนในการใช้จ่าย อยู่อย่างพอเพียง รองลงมาคือ ขยัน ทำงานเยอะ ๆ ไม่เลือกงาน ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้และมีฝีมือ ตัดในเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน นอกจากนี้  รัฐบาลควรทำอย่างไรชีวิตความเป็นอยู่แรงงานไทยจึงจะดีขึ้นอันดับ 1 เห็นว่าต้องขึ้นเงินเดือน ค่าจ้าง และดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ให้ รองลงมาคือควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาของแพง จัดงานธงฟ้า /ลดค่าสาธารณูปโภค ควบคุมดูแลนายจ้างหรือผู้ประกอบการไม่ให้เอาเปรียบแรงงานไทย  การจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย  จัดฝึกอบรมแรงงาน  ส่งเสริมอาชีพ  จัดหางานให้แก่ผู้ว่างงานหรือตกงาน 

(สำนักข่าวไทย, 30-4-2555)

 
แรงงานแดนใต้ขาดคนไทยหนีทำงานมาเลย์ 

30 เม.ย. 55 - นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า  จากการหารือผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ธุรกิจส่วนใหญ่ขอให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหาด้านแรงงานขาดแคลนโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมหนักที่ขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยในพื้นที่จะข้ามไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียถึง 1 แสนคน เพราะค่าตอบแทนสูงกว่า ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานกว่า 5,000 คน ก็เป็นแรงงานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นอย่าง รวดเร็ว 
  
“ผู้ประกอบการบอกว่าตอนนี้หาคนมาทำงานยาก แม้ว่ารวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานก็ไม่ค่อยได้รับการอนุมัติให้ขึ้น ทะเบียนจึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางพิจารณาขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ส่วนคนไทยที่ไปทำงานในมาเลเซียแม้ว่าจะมีค่าธรรมเนียมที่จะไปทำงานสูงแต่ก็ ยังข้ามไปทำดีกว่าทำงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาของคนในพื้นที่ไม่มีความสอดคล้องกับ อาชีพ จึงอยากให้กลับไปดูเรื่องการศึกษาด้วยว่าให้จัดคนตรงกับงานด้วย” นายกิตติรัตน์ กล่าว. 

(เดลินิวส์, 30-4-2555)

 
คนงานบริดจสโตน บุกสำนักงานใหญ่ประท้วง 

30 เม.ย. 55 - พ.ต.ท.นิพนธ์ กุลชฤทธิ์ สารวัตรจราจร สถานีตำรวจครบาลทุ่งมหาเมฆ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มพนักงาน บริษัท บริดสโตน จำกัด ประมาณ 200 คน รวมตัวชุมนุมอยู่บริเวณลานภายในอาคารอับดุลราฮิม เพลส ถนนพระราม 4 โดยใช้รถยนต์ต่อเครื่องขยายเสียง จำนวน 1 คัน เรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงจากผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ของอาคารดังกล่าว เข้ามาเจรจา เพื่อขอรับหนังสือ แต่ทางตัวแทนผู้ชุมนุม ยังไม่ยินยอม เพราะต้องการให้ผู้บริหารชาวญี่ปุ่น มารับหนังสือด้วยตนเอง เนื่องจาก เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ และล่วงเลยมากว่า 1 เดือนแล้ว สำหรับ การจราจรในพื้นที่นั้น ไม่เป็นปัญหา เนื่องจาก ผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่บนพื้นผิวการจราจร อย่างไรก็ตาม คาดว่า การชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ 

(ไอเอ็นเอ็น, 30-4-2555)

 
ผู้ใช้แรงงานหลายจังหวัดร้องรัฐช่วยปัญหาค่าครองชีพ 

1 พ.ค.- กิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติหลายจังหวัดคึกคัก กลุ่มผู้ใช้แรงงานภูเก็ตเรียกร้องรัฐบาลช่วยปัญหาค่าครองชีพสูง ที่ภูเก็ตยื่น 6 ข้อเรียกร้อง พร้อมให้รัฐทำงานเชิงรุกรับมือแผ่นดินไหว-สึนามิ 

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (1 พ.ค.) นายวิจิตร ดาสันทัน ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต  ในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงานและลูกจ้างจังหวัดภูเก็ต พร้อมกลุ่มผู้ใช้แรงงานเดินทางมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัด เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านไปถึงรัฐบาลเร่งดำเนินการ 6 ข้อเรียกร้อง คือ ให้รัฐควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไม่ให้ปรับราคา สูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง  2. เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม กัน 3.เร่งเสริมทักษะความสามารถในการทำงาน และส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศแก่ลูกจ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดแรงงานเสรีอีก 3 ปีข้างหน้า  4.จัดระเบียบแรงงานข้ามชาติตามข้อกฎหมายอย่างเข้มงวด  5.ให้รัฐเร่งทำงานเชิงรุกแผนรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิ  6. ให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญา  ILO หรือ International Labour Organization ฉบับที่ 87 และ 98 คือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 

ที่ จ.ลำพูน กลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างกว่า 1,200 คน ร่วมกิจกรรม  "แรงงานสามัคคี วิถีลำพูน" ที่โรงเรียนจักรคำคณาทร ลำพูน  ต.ในเมือง อ.เมือง ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจัดขึ้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งสร้างสามัคคีและสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งจังหวัดลำพูนมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ มีการขยายตัวของธุรกิจเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีลูกจ้างขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคมในจังหวัดลำพูน 85,448 คน 

เช่นเดียวกันกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม ในกิจกรรมงานวันแรงงานแห่งชาติบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยได้ทำบุญและฟังธรรมก่อนเดินรณรงค์ไปยังสถานที่จัดงานสนามกีฬาเทศบาลนคร เชียงใหม่ ซึ่งปีนี้มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน มีนิทรรศการมากมาย โดยปีนี้ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลปัญหาค่าครองชีพสูงและ มาตการรองรับผู้ใช้แรงงานจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 

(สำนักข่าวไทย, 1-5-2555)

 
ก.แรงงาน ยันขึ้นค่าจ้าง 300 บาท 70 จังหวัด ปีหน้า 

บรรยากาศการจัดงานที่ท้องสนามหลวงเนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ในวันนี้ ผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันหน้าเวทีเพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่จะมากล่าวตอบข้อ เรียกร้อง 9 ข้อที่จะยื่นในวันนี้ ส่วนที่ซุ้มกระทรวงแรงงาน ผู้ใช้แรงงานมาร้องเรียน สอบถามปัญหาเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมและระเบียบการจ้างงาน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ของขวัญที่รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทให้กับแรงงานในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี ขอแนะนำให้ผู้ใช้แรงงานใช้จ่ายอย่างประหยัดและพัฒนาฝีมือให้สูงขึ้น ยืนยันราคาสินค้าจำเป็นทั้งไข่ไก่ เนื้อหมู น้ำมันพืช เป็นไปตามกลไกตลาดไม่ได้เพิ่มมากนัก ส่วนข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ทำได้ทันทีคือ การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิการรวมตัวให้ผู้ใช้แรงงานขององค์การแรงงาน ระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 

ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) คณะกรรมการค่าจ้างเตรียมประชุมพิจารณาสาเหตุค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดยดูตัว เลขกระทรวงพาณิชย์ แต่ยังไม่ทบทวนหรือชะลอการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในอีก 70 จังหวัดในปีหน้า เพราะมีเวลาให้นายจ้างเตรียมตัว 

ด้านกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาใน พ.ร.บ.ประกันสังคม ส่วนค่าครองชีพที่สูงขึ้นให้เข้ามาคุ้มครองแรงงานด้วย เนื่องจากการสำรวจพบว่าผู้ใช้แรงงานต้องใช้จ่ายเฉลี่ย 348 บาท เกินกว่าค่าจ้างที่เพิ่มให้ 300 บาท 

(ไอเอ็นเอ็น, 1-5-2555)

 
ม็อบแรงงาน"ชินเอไฮเทค" ยื่นผู้บริหาร5ข้อ หยุดเกมล้มสหภาพฯ 

เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม ที่สนามหน้าศาลางกลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พนักงานบริษัท ชินเอไฮเทค จำกัด เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ตั้งอยู่ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 500 คน นำโดยนายเอกลักษณ์ พรหมพันธ์ใจ ประธานสหภาพแรงงานชินเอไฮเทค รวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้ทางบริษัทหยุดกระบวนล้มสหภาพแรงงาน 
  
นายเอกลักษณ์ เปิดเผยว่า บริษัทส่อเจตนาจะล้มล้างสหภาพแรงงานชินเอไฮเทค จึงขอยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพ 5 ข้อ 1. ขอให้ทางบริษัท เลิกจ้างทีมงานที่จะมาล้มล้างสหภาพแรงงานทันที 2. ให้บริษัทสนับสนุนการทำงานของสหภาพเช่นเดิม 3. ให้ทางบริษัทยกเลิกคำสั่งทุกอย่างที่ทางทีมงานชุดดังกล่าวได้ดำเนินการมา ที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้างงานของพนักงาน 4. จะต้องไม่ลงโทษใดๆกับพนักงานทุกคนที่มาร่วมชุมนุม และ5. ให้ทางประธานบริษัทกลับมาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยในเรื่องการเรียกร้องสวัสดิ ภาพของพนักงานโดยตรงเช่นที่เคยผ่านมา 
  
นายเอกลักษณ์กล่าวว่า หากบริษัทเพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการใดๆตามข้อเรียกร้อง สหภาพแรงงานชินเอไฮเทคจะนัดหยุดงานพร้อมกันโดยไม่มีกำหนด และหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆอีกจะยกระดับการชุมนุมขึ้นอีกจนกว่าจะได้ ทุกอย่างตามข้อเรียกร้อง 

(มติชนออนไลน์, 1-5-2555)

 
คนงานลำพูนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ชี้ยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา 

1 พ.ค. 55 – ที่โรงเรียนจักรคำคณาทร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน ได้มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 โดยมีนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในการจัดงาน 

นายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดลำพูน ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเล่นกีฬาร่วมกัน พร้อมทั้งให้พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ได้แสดงพลังความสามัคคี และตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่กลไกลในการขับเคลื่อนพัฒนา เศรษฐกิจ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้ใช้ชื่อว่าแรงงานไทย ร่วมใจสดุดี ราชวงศ์จักรี รักสามัคคีเพื่อแผ่นดินในปีนี้มีผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานทั้งจากภายใน และภายนอกการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(กนอ.)หมู่ 4 ต.บ้านกลาง และ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ หมู่ 15 ต.ป่าสัก อ.เมือง รวม 30 แห่ง ประมาณ 1 พันคนมาร่วมกิจกรรมร่วมกันในวันนี้ 

ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดนั้นบรรดาสถานประกอบการได้มีการเดินรณรงค์ ไปตามถนนสายต่างๆ ก่อนเข้ามาสู่โรงเรียนจักรคำคณาทร ซึ่งภายในขบวนได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้รักสามัคคี และต้านยาเสพติด โดยเฉพาะในสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว วันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 ที่จัดให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคคล 

องค์กรแรงงานออกแถลงการณ์ หนุนนโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท 

ทั้งนี้องค์กรแรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์, สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์, กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ, สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ .. 

แถลงการณ์วันกรรมกรสากล 

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ”วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมใน สังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า 

ในปี พ.ศ.2555 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้ 

1. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการ และนโยบาย ผลักดันให้ บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด รับพนักงานเข้าทำงานตามเดิม จำนวน 153 คน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวไม่ยินยอมเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัทฯ และกำลังเป็นความฟ้องร้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเลิกจ้างและการเลือก ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม 

2. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย มิให้บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบ ประชาธิปไตย 

3. เราขอสนับสนุน นโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท ทั่วประเทศในต้นปี 2556 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แม้ว่าสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯและองค์กรของนายทุนต่างๆ ที่เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะคัดค้านนโยบายนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องยืนยันนโยบายนี้ ตามที่หาเสียงไว้ ควรฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก 

4. ขอให้รัฐบาล พิจารณาและควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้คงที่ ไม่มีการขยับราคาขึ้นเกินความเป็นจริง 

5. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย ให้สำนักงานประกันสังคม ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ให้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน 

6. ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ 

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ตลอดทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้ใช้แรงงาน คือ ขอเสนอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ ตามสภาพเงื่อนไขการดำรงชีวิตที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงาน 

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียวเสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม 

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับ 

ผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ 

สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ 

กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ 

สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน 

เผยคนงานลำพูนยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา 

ด้านนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สหภาพแรงงานโฮย่า) นิคม อุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของแรงงานยังไม่ดีขึ้น แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ยังเสี่ยงต่อการถูก เลิกจ้างตลอดเวลา ขณะที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเลิกจ้างสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวไม่ใช้ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ต้องการดูแลแรงงานให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นเรื่องของนายจ้างที่ต้องการลด ภาระค่าใช้จ่าย โดยเลือกเลิกจ้างกลุ่มแรงงานที่มีอายุมาก หรือมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เพราะฐานค่าจ้างและเงินเดือนสูงอยู่แล้ว หากปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาลก็จะทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงแก่แรง งานสูงขึ้นตามไปด้วย 

ส่วนปัญหาหาการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นกับพนักงานของบริษัท โฮย่า กลาสดิสค์ ประเทศไทย จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน กว่า 1,000 คน ล่าสุดเหลือพนักงานเพียง 153 คนเท่านั้นที่ไม่ยินยอมเซ็นเอกสารตามข้อเสนอของบริษัทฯ คือนอกจากเงินชดเชยตามอายุงาน ยังเพิ่มเติมให้อีก 2 เดือน ขณะที่ตัวแทนพนักงานและสหภาพฯได้เดินทางไปพบกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้ แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯมีมติให้บริษัท โฮย่า รับแรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานภายใน 1 เดือน แต่ล่าสุดบริษัทฯกลับปฎิเสธทำตามและไม่ยอมเจรจา 

นอกจากนี้ตนเองยังถูกบริษัทฯเลิกจ้างเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า สร้างความเสื่อมเสียให้แก่บริษัทฯ ตนเองและพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมทั้ง 153 คน จึงต้องเดินหน้าฟ้องร้องบริษัทฯเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยและให้รับกลับเข้าทำ งาน 

"สาเหตุที่บริษัทฯเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ได้ให้เหตุผลว่าประสบปัญหาขาดทุนเพราะโรงงานถูกน้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบงบดุลบริษัทฯมีผลกำไรมาโดยตลอด ไม่ได้ประสบปัญหาเหมือนโรงงานอื่นๆที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งสาเหตุที่เลิกจ้างเพราะ เดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ บริษัทฯมีการเปลี่ยนสายการผลิตใหม่จึงมีการปรับปรุงโรงงานและเปลี่ยนเครื่อง จักรใหม่ทั้งหมด ทำให้ บริษัทฯวางแผนเลิกจ้างพนักงานโดยเลือกพนักงานที่มีอายุงานมาก และกลุ่มที่มีอายุสูงวัย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และปลายเดือนพฤษภาคมเมื่อโรงงานแล้วเสร็จจะเปิดรับพนักงานใหม่ทั้งหมด" 

ทั้งนี้นายอัครเดช ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนให้ช่วยลงมาแก้ไข ปัญหาที่แรงงานเผชิญอยู่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ .. 

ที่ สออส.และสหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ 

วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 

เรื่อง ข้อเรียกร้องในโอกาสวันกรรมกรสากล 

เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน 

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ”วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมใน สังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า 

ในปี พ.ศ.2555 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้ 

1. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการ และนโยบาย ผลักดันให้ บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด รับพนักงานเข้าทำงานตามเดิม จำนวน 153 คน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวไม่ยินยอมเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัทฯ และกำลังเป็นความฟ้องร้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเลิกจ้างและการเลือก ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม 

2. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย มิให้บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบ ประชาธิปไตย 

3. เราขอสนับสนุน นโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท ทั่วประเทศในต้นปี 2556 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แม้ว่าสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯและองค์กรของนายทุนต่างๆ ที่เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะคัดค้านนโยบายนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องยืนยันนโยบายนี้ ตามที่หาเสียงไว้ ควรฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก 

4. ขอให้รัฐบาล พิจารณาและควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้คงที่ ไม่มีการขยับราคาขึ้นเกินความเป็นจริง 

5. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย ให้สำนักงานประกันสังคม ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ให้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน 

6. ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ 

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ตลอดทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้ใช้แรงงาน คือ ขอเสนอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ ตามสภาพเงื่อนไขการดำรงชีวติที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงาน 

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียวเสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม 

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับ 

ผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร 

ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ 

นายอัครเดช ชอบดี 

ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ 

(ประชาไท, 1-5-2555)

 
ผู้ใช้แรงงานภูเก็ตยื่น 6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (1 พ.ค.55) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรม และบริการภูเก็ต และคณะ ในนามผู้แทนของสหภาพแรงงาน และลูกจ้างจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ถึงรัฐบาลผ่านทางนางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายนพดล พลอยอยู่ดี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ จัดหางานจังหวัดภูเก็ต และนายสุทธิพงศ์ สายสาคเรศ แรงงานจังหวัดภูเก็ต ร่วมรับมอบ 

สำหรับข้อเรียกร้อง 6 ข้อดังกล่าว ประกอบด้วย ให้รัฐควบคุมราคาสินค้า อุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในครัวเรือน และในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงาน ไม่ให้มีการปรับราคาสูงขึ้น เกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง  ให้รัฐเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน ให้รัฐเร่งเสริมทักษะขีดความสามารถในการทำงาน และส่งเสริมให้มีการสอนภาษาต่างประเทศให้กับลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป อาทิเช่น ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย พม่า เป็นต้น โดยให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ให้เปิดสอนนอกสถานที่ เพื่อให้ง่ายต่อผู้เข้าเรียน อาทิเช่น โรงเรียน ในวัด ในเทศบาล ของเขตพื้นที่นั้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปิดแรงงานเสรีอีก 3 ปี ข้างหน้า   ให้รัฐจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ โดยการเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายให้ได้รับค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ และสิทธิในการรักษาพยาบาล ตามที่กฎหมายไทยกำหนดอย่างทั่วถึง และเสมอภาค ให้เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทำงานให้ตรงกับประเภทของใบอนุญาต ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่เลือกสัญชาติ ให้เร่งผลักดันแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ออกนอกประเทศ หรือให้รับเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้รัฐเร่งทำงานในเชิงรุก แผนรับมือแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ สึนามิ ที่กระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว  โดยการซ้อมแผนอพยพให้บ่อยขึ้น และเป็นระบบมากขึ้น ติดตั้งป้ายชี้เส้นทางอพยพขึ้นที่สูง ตามตรอก ตามซอย ให้ชัดเจนและมีจำนวนมากขึ้น  รวมถึงให้มีการจัดตั้งศูนย์รับผู้อพยพไว้บนที่สูง ในเขตพื้นที่นั้นๆ โดยจัดให้มีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ของกินและย้ำดื่มไว้เพื่อประทังชีวิต  และให้รัฐบาลเร่งรับรอง อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ILO:International Labour Organization ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 

(phuketindex.com, 1-5-2555)

 
วันแรงงานแห่งชาติ แรงงานไทยแตก 3 ขบวน 

เมื่อ วันที่ 1 พ.ค. 55 ซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ มีการจัดกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์ โดยมีผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วมหลายพันคน  ทางด้านกลุ่มองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งเข้าร่วม และกระทรวงแรงงานสนับสนุนงบประมาณ 5.1 ล้านบาท เดินขบวนไปยังท้องสนามหลวง โดยมีการนำช้างซึ่งระบุว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติจำนวน 9 เชือกมานำขบวนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษา84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

 
ส่วนกลุ่มซึ่งนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) มีจุดหมายอยู่ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว โดยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ได้แก่ 1.รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน 2.รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์อุทกภัยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 3.รัฐและรัฐสภาต้องสนับสนุนการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และเพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 4.รัฐต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2550 มาตรา 9(5) กลับไปใช้บทบัญญัติเดิม เนื่องจากลิดรอนสิทธิของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและเป็นการเลือกปฎิบัติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
กลุ่ม สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย เดินขบวนเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยมีจุดมุ่งหมายคือบริเวณหน้าศาลฎีกา ซึ่งผู้ใช้แรงงานที่มาร่วมเดินขบวนส่วนใหญ่ติดสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความสีแดง ว่า Free Somyot เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีมาตรา 112
 
ทั้ง นี้ กลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้ 1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยเลือกตั้งประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการโดยตรง 2) ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 3) กระบวนยุติธรรมกับผู้ต้องหา ให้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว และนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ 4) นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง และ 5) จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หลักประกันที่ดินทำกิน หลักประกันที่อยู่อาศัย เรียนฟรีทุกระดับ รพ.พยาบาลประกันสังคม รักษาฟรีทุกโรค และระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม
 
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2555 โดยกล่าวขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อ เศรษฐกิจและสังคมของชาติตลอดมา พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกำลังแรงงานทุกสาขาอาชีพทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกเพศทุกวัยให้มีสวัสดิการที่เหมาะ สม ทำงานอย่างปลอดภัย มีอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี อาทิ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการแล้ว 7 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดในปี 2556
 
ใน ส่วนของผู้ประกอบกิจการ จัดให้มีโครงการโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมสีขาวเพื่อป้องกันยาเสพติด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย พร้อมส่งเสริมและพัฒนางานด้านสวัสดิการแรงงานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมาย
ส่วน แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ รัฐบาลก็ได้ให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ได้รับตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งดูแลการจัดส่งไปทำงาน และติดตามดูแลช่วยเหลือกรณีประสบปัญหา
 
ทั้ง นี้ ยิ่งลักษณ์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลจะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและทักษะด้านภาษาของแรงงานเพื่อเตรียมความ พร้อมแรงงานไทยที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคง ภูมิคุ้มกันและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้แรงงานสืบต่อไป 
 
(ประชาไท, 1-5-2555)
 
สั่งระงับแรงงานไทย 98 คน เตรียมลักลอบไปทำงานต่างประเทศ 

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า จากสถิติแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศจำนวน 10,390 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานที่ถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางาน กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ได้ระงับการเดินทางจำนวน 98 คน เนื่องจากพบว่าแรงงานดังกล่าวมีพฤติกรรมจะลักลอบเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยแรงงานทั้งหมดรับสารภาพว่า ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการเดินทาง ซึ่งได้รับคำแนะนำจากนายหน้าหรือบริษัทจัดหางานเถื่อน ให้ลักลอบเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย และอ้างกับเจ้าหน้าที่ว่าจะเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งการระงับการเดินทางดังกล่าวกระทำไปเพื่อป้องกันมิให้คนงานถูกหลอกลวง หรือถูกนายจ้างต่างชาติเอารัดเอาเปรียบ บางรายอาจโชคร้ายถูกปล่อยลอยแพจนต้องไปตกระกำลำบากในต่างแดน 

ทั้งนี้ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่คนงานลักลอบไปทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อิหร่าน และอินโดนีเซีย 

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 2-5-2555)

 
สธ. เผยวัยแรงงานยังคงฆ่าตัวตายสูง แนะ ลดเครียด เพิ่มสุขในการทำงาน 

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สธ. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเครียดสูง ซึ่งพบว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้น มากกว่า 50% จากปี 2553 จำนวน 102,645 ราย เป็น 193,315 ราย ในปี 2554 ปัญหา ที่ขอปรึกษา ได้แก่ ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคทางจิต ปัญหาทางเพศ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาสารเสพติด ปัญหาการทำงาน ปัญหาการฆ่าตัวตาย/ทำร้ายตนเอง ซึ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเครียดและความกดดันในชีวิตที่เป็นผลจากการ เปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุของความเครียดส่วนใหญ่ยังคงมาจากปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน นอกจากนี้ จากรายงานการฆ่าตัวตายของประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นับแต่ปี 2540-2553 พบว่า วัยแรงงานยังคงเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย โดย ช่วงอายุ 20-29 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 15,994 ราย รองลงมา คือ ช่วงอายุ 30-39 ปี และ 40-49 ปี ซึ่งมีจำนวนการฆ่าตัวตายเท่ากัน คือ 14,822 ราย ขณะที่ ปี 2553 ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 

รมช.สธ. กล่าวต่อว่า จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมที่จะทำงาน 38.80 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.4 ของประชากร ซึ่งในที่นี้เป็นผู้มีงานทำ 38.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.1 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เป็นชาย 21.13 ล้านคน หญิง 17.67 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม 13.45 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม อาทิ การผลิต การก่อสร้าง การขายส่ง-ขายปลีก การขนส่ง โรงแรมและบริการ จำนวน 24.61 ล้านคน ขณะที่มีผู้ว่างงาน 2.56 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.7 เป็นชาย 1.59 แสนคน หญิง 0.97 แสนคน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า หากแรงงานไทยเกิดความเครียดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม แล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากที่อาจส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ 

รมช.สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่ทราบว่าขณะนั้นตัวเองเครียด จึงพาลให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง จนถึงทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งส่งผลให้ ไม่มีความสุขในการทำงาน และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ ความเครียดเป็นสิ่งที่รู้ตัวได้ยาก บางครั้ง คนเราไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะเครียด หากต้องการทราบสภาวะจิตใจตนเองก็สามารถทำได้โดยใช้แบบประเมินความเครียด ของกรมสุขภาพจิต ซึ่งสามารถหาได้จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th เพื่อทราบถึงระดับความเครียดที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจต้องทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เพราะบางครั้งความเครียดที่สะสมอาจก่อตัวจนเกิดการป่วยทางใจ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ แนวทางการสังเกตว่าตนเองเครียดหรือไม่ อาจพิจารณาได้จากอาการทางกาย เช่น ใจสั่น ใจเต้นแรง เจ็บหน้าอก ความดันขึ้น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดไหล่ ปวดหลัง ไมเกรน มีปัญหากับการนอน อาการทางใจ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย หลงลืม ฉุนเฉียว ซึ่งหลายคนต้องเข้าออกโรงพยาบาลโดยหาสาเหตุการเจ็บป่วยไม่พบ เนื่องจากความเครียดที่เรื้อรังไม่ได้รับการดูแลจนส่งผลไปถึงระบบทางกาย 

เมื่อเครียดควรหาวิธีคลายเครียด สิ่งแรก คือ ไม่ควรคลายเครียดด้วยการใช้แอลกอฮอล์ ควรหากิจกรรมผ่อนคลายทำ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เลือกตามความถนัด ทำแล้วเกิดความสุข อาทิ การออกกำลัง ซึ่งหากออกแรงมากขึ้นก็จะลดทั้งความเครียดและเพิ่มความแจ่มใส หรือการพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เพราะบางครั้งแค่มีคนรับฟังก็สบายใจแล้ว หรือการควบคุมลมหายใจ การหายใจเข้า-ออก ลึกๆ การทำสมาธิ ทำจิตให้นิ่ง ปล่อยวางปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่มาจุกจิกกวนใจ เพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและใจ รวมทั้ง อาจทำให้เรามองข้ามความสำคัญของปัญหาอื่นไปแทน หรืออาจไปทำบุญ ทำทาน ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเมื่อช่วยเหลือคนอื่นที่มีความทุกข์จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น นอกจากนี้ ควรทำใจให้เป็นกลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสติ ซึ่งจะช่วยลดความผิดหวังได้ส่วนหนึ่ง ตลอดจนเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่นรวมถึงตัวเอง เพราะไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์ อีกทั้งรู้จักฝึกแก้ปัญหาและรู้จักบริหารเวลา ที่สำคัญ คือ การคิดบวก หากคอยจ้องแต่จับผิดกันก็จะทำให้จิตใจเป็นทุกข์ และการมองทุกอย่างในแง่ลบก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เครียดลึกๆ อยู่ในใจ เป็นผลทำให้ไม่มีความสุข ดังนั้น ควรมองสิ่งดีที่ยังมีเป็นต้นทุน สร้างพลังใจ พลังความคิด และนึกถึงครอบครัวให้มากที่สุด เพราะครอบครัวคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยประคับประคองดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ให้สามารถฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปได้ หากทำแล้วไม่ได้ผล ยังเกิดความเครียดหรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะความเครียดถือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่อาจสร้างผลกระทบให้เกิด ขึ้นมากมาย รมช.สธ. กล่าว 

(กรมสุขภาพจิต, 2-5-2555)

 
"โรงงานอยุธยา" ช็อกแรงงานหนีซบ "ชลบุรี-ระยอง" รับ 300 บ. 

นางปราณี ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัดนำร่องทำให้แรงงานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีอยู่ในระบบผู้ ประกันตนกว่า 300,000 คน เริ่มทยอยลาออกจากงาน เพราะค่าแรงงานขั้นต่ำของอยุธยาอยู่ที่ 265 บาท/วัน และจากการสำรวจพบว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ถึงเมษายนที่ผ่านมามีแรงงานออกจากระบบผู้ประกันตนกว่า 31,000 คน ส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานในจังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมในอยุธยาได้เริ่มปรับตัวโดยการจ่ายค่า แรงให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจแรงงานไม่ให้ไหลไปใน 7 จังหวัดนำร่อง โดยโรงงานบางแห่งจ่ายค่าแรงสูงถึง 365 บาท/วัน 

"สิ่งที่กังวลคือ แรงงานจากธุรกิจเอสเอ็มอีจะไหลไปสู่โรงงานขนาดใหญ่มากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 1-2 ปี แรงงานจะขาดแคลนแน่นอน" 

สอดคล้องกับ ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายกสมาคมเครื่องหนังที่กล่าวว่า ปัจจุบัน สมาคมมีสมาชิกประมาณ 180 บริษัท ตอนนี้แรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง อาทิ อุตสาหกรรมกระเป๋า รองเท้า ฯลฯ มีการขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมีปัจจัยจากเรื่องค่าแรง 300 บาทมาเพิ่ม ยิ่งทำให้ขาดแคลนหนักเข้าไปอีก ขณะเดียวกัน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำ ประกัน 

ด้านนายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรีกล่าวว่า มีแรงงานย้ายเข้ามาทำงานในจังหวัดชลบุรีและมาขึ้นทะเบียนกับจัดหางานจังหวัด ประมาณ 5% แต่เชื่อว่ามีแรงงานเคลื่อนย้ายมามากกว่านี้ที่ไม่ขึ้นทะเบียนแต่ไปสมัครงาน ด้วยตนเอง เนื่องจากโรงงานขนาดใหญ่บางแห่งใช้มาตรการจูงใจจ่ายค่าจ้างมากกว่า 300 บาท หากรวมค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ค่าจ้างจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/วัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชลบุรียังขาดแคลนแรงงานอีก 20,000 ตำแหน่ง 

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้เกิดการเลิกจ้างในระดับที่แตกต่างกัน ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีค่าใกล้เคียงกับค่าแรงเฉลี่ยของประเทศ ผลด้านการเลิกจ้างจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้ค่าแรงใหม่เป็น 75% ของค่าเฉลี่ยของประเทศ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา แต่อาจส่งผลให้มีเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการประมาณ 10-15% หรือประมาณ 8 หมื่น-1.2 แสนราย ใน 18 เดือนข้างหน้า 

นอกจากนี้จากการสำรวจแนวทางปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 8 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้ประกอบการมีแผนเลิกจ้างพนักงานในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี สูงถึง 38.9% พร้อมกับจะเข้มงวดกับประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 76.6% ควบคุมต้นทุนในส่วนอื่น 61.3% ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรมาแทนพนักงาน 45.1% เพิ่มชั่วโมงการทำงานต่อวัน 36.1% และผู้ประกอบการ 63.4% จะลดการฝึกอบรมหรือการจ่ายงานเป็นชิ้นให้กับพนักงานโดยการวิจัยครั้งนี้ทำ การสำรวจระหว่างวันที่ 23-27 เมษายน 2555 มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 536 ราย ใน 7 จังหวัดนำร่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต 

ขณะที่ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ แสดงความเป็นห่วงต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากับ 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรอบที่ 2 จะเกิดการช็อกเหมือนเจอแผ่นดินไหวอีกครั้งและจะใหญ่กว่า เนื่องจากจะเป็นการปรับขึ้นในอีก 70 จังหวัดที่มีค่าจ้างห่างจาก 300 บาทมาก ขณะที่ 7 จังหวัดที่ปรับไปก่อน หากไม่มีการปรับเพิ่มด้วยค่าครองชีพก็จะทำให้อำนาจซื้อลดลงไป 

จากการศึกษาจึงเสนอให้นำผลการคาดการณ์ภาวะค่าครองชีพ หรือ CPI ของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งทำทุกปีในแต่ละจังหวัดมาใช้เป็นฐานในการพิจารณา แต่หากยืนตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ปี 2556 ทุกจังหวัดมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกับให้ค่าจ้างคงที่จนถึงปี 2558 อาจทำให้อำนาจซื้อจากเงิน 300 บาทลดลงไปพอ ๆ กับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 299 บาท โดย 7 จังหวัดแรกที่ได้ขึ้นค่าจ้างไปก่อนจะเสียเปรียบกว่า โดยกรุงเทพฯมีค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเหลืออยู่ 293 บาท นครปฐมเหลือ 290 บาท ปทุมธานีเหลือ 292 บาท นนทบุรี สมุทรปราการและภูเก็ตเหลือ 289 บาท สุดท้ายสมุทรสาครเหลือ 287 บาท 

พร้อมกันนี้ทีดีอาร์ไอยังเสนอ 3 แนวทางเลือกเพื่อให้ลูกจ้างไม่จนลง นายจ้างมีเวลาปรับตัว คือ 1) ปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 2 งวด โดยปี 2556 ขึ้นค่าจ้าง 27-55 บาท เพิ่มอีก 18 จังหวัด แล้วในปี 2557 ขึ้นค่าจ้าง 56-78 บาท ให้กับอีก 52 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ในปี 2557 มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ 2) ให้ขึ้นค่าจ้างครั้งเดียว 40% และทุกปีปรับค่าจ้าง 

ขั้นต่ำตามดัชนีค่าครองชีพ แต่วิธีนี้จะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาท และ 3) ทำตามข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรรมฯที่ขอเลื่อนการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้น ต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเป็นมกราคม 2558 และต้องปรับค่าครองชีพ (CPI) ให้กับแต่ละจังหวัดโดยอัตโนมัติ 

(ประชาชาติธุรกิจ, 3-5-2555)

 
ออสเตรเลียทาบทามขอแรงงานไทยไปทำงานก่อสร้างกว่า 2 หมื่นอัตรา 

นางสาวส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะผู้แทนจากมลรัฐนอร์ทเทิร์นเทริทอรี ออสเตรเลีย โดยมีนายเกรก วอลลิส อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย และผู้แทนกระทรวงธุรกิจและการจ้างงานของดินแดนนอร์ทเทิร์นเทริทอรี เครือรัฐออสเตรเลีย ได้เข้าพบ เพื่อหารือลู่ทางการจัดส่งแรงงานฝีมือไปทำงานด้านก่อสร้างที่จะเริ่มโครงการ ในปีหน้า ผ่านระบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี จำนวนกว่า 20,000 อัตรา โดยระบุต้องมีประสบการณ์และทักษะด้านภาษาอังกฤษที่เป็นที่ยอมรับของนายจ้าง เพื่อการสื่อสารด้านป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ และเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน โดยที่กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอนุญาตและการจัดส่งแรง งานไทยไปทำงานต่างประเทศ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีหน้าที่ฝึกอบรมแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความ ประสงค์ของนายจ้าง 

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้จะต้องหารือในรายละเอียดให้ชัดเจนและรอบด้าน ก่อน เพื่อที่แรงงานจะสามารถไปทำงานได้อย่างถูกต้องกระบวนการจัดส่ง รวมทั้งวิธีการคัดเลือกแรงงาน การทดสอบฝีมือว่าจะมีวิธีใด ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการ 

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 3-5-2555)

 
เผย 80% ปรับค่าแรงเพิ่ม สมานฉันท์แนะรัฐบาลช่วย 2 พัน 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องปัญหาสินค้าราคาแพง แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ข้อมูลที่เก็บจากข้อเท็จจริงกับความรู้สึกของประชาชน ที่ประชาชนรู้สึกว่าแพงนั้นอาจจะเป็นผลพวงจากเหตุน้ำท่วมจึงเห็นว่าราคา สินค้าขยับตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง แต่จากข้อมูลแล้วราคาสินค้ามีการปรับตัวลดลง แต่ยังไม่ลดลงในจุดที่ประชาชนรู้สึกพอใจ บวกกับขณะนี้เป็นเดือนที่อากาศร้อน ทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก หลายคนที่บุตรหลานต้องไปเรียนหนังสือ เมื่อ 2 มุมนี้มาประกอบกันเลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าสินค้ามีราคาแพง 

"แต่รัฐบาลยืนยันจะทำทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือประชาชน แต่อาจเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และผู้ที่มีรายได้น้อย" นายกฯกล่าวและว่า การผลิตสินค้าต่างๆ ยังไม่เต็มที่ จะเต็มที่ในครึ่งปีหลัง สินค้าต่างๆ จะเข้าตลาดอย่างเต็มที่ ต้องขอความกรุณาผู้ที่ขายสินค้าอยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะต้องช่วยกันดูราคาขายในราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค และย้ำกับกระทรวงพาณิชย์ต้องตรวจสอบไม่ให้สินค้าต่างๆ เอาเปรียบผู้บริโภค 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวผ่านรายการ "ฟ้าวันใหม่" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล ว่า การที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโจมตีกรุงเทพโพลล์ที่ระบุว่า นักวิชาการให้รัฐบาลสอบตกในการแก้ปัญหาของแพงนั้นถือเป็นการเบี่ยงเบน ประเด็น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ยอมรับความจริงในเรื่องของแพง อยากให้เจ้าของโพลออกมาชี้แจงเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสนในหลักการทำโพ ลของแต่ละสำนัก 

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่รัฐสภาว่า อยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ให้ชัดเจน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากราคาพลังงานและนโยบายของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม ที่ผ่านมารัฐมนตรีหลายคนลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าด้วยตัวเอง และพบว่าราคาสินค้าที่เห็นว่าสูงขึ้นนั้นเป็นของจริง จึงอยากให้นายกฯยอมรับปัญหาแล้วนำไปสู่การแก้ไข 

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รัฐมนตรีพาณิชย์เงา พรรค ปชป. กล่าวว่า ทีมงานไปตรวจสอบใน 10 จังหวัดทั่วประเทศช่วงเดือนเมษายน พบว่าราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะพืชผัก เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักชีและพริก เฉลี่ยปรับขึ้นจากกิโลกรัม (กก.) ละ 30-35 บาท เป็น 45-50 บาท ส่วนเนื้อหมูปรับขึ้นจาก กก.ละ 110-115 บาท เป็น 125-130 บาท แต่บางพื้นที่สูงถึง กก.ละ 140 บาท 

นายอภิรักษ์กล่าวว่า ที่กระทรวงพาณิชย์นำดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2555 เปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2554 แล้วพบว่าสูงขึ้นเพียง 2.47% แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้พูดถึงราคาสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2555 ที่สูงขึ้นกว่าเดือนมกราคม-มีนาคม 2554 ถึง 7-11% เช่น อาหารบริโภคในบ้านเพิ่มขึ้น 11.07% อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 8.59% ค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มขึ้น 8.58% ผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 7.30% และเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 6.71% ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ด้วยการทบทวนนโยบายปรับขึ้นราคาพลังงานเชื้อเพลิง ที่เป็นต้นทุนสินค้าส่วนใหญ่ และขอให้ทบทวนการลดหน่วยการใช้ไฟฟ้าฟรี จากเดิมไม่เกิน 90 หน่วย เหลือไม่เกิน 50 หน่วย 

ผู้สื่อข่าวสำรวจราคาสินค้าอาหารสดที่ตลาดท่าน้ำนนท์ ที่กรมการค้าภายในและสำนักงานดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำรวจเพื่อประกอบการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) พบว่า พ่อค้าแม่ค้าแจ้งราคาผักสดและอาหารปรุงสำเร็จราคาสูงขึ้น เพราะอากาศร้อน ทำให้ผลผลิตลดลง ราคาส่วนใหญ่ปรับขึ้นจากปลายเดือนเมษายน อาทิ คะน้า จาก กก.ละ 50 บาท เป็น 70 บาท ถั่วฝักยาว จาก กก.ละ 50 บาท เป็น กก.ละ 70 บาท พริกขี้หนูจินดา จากขีดละ 3-4 บาท เป็นขีดละ 6 บาท แตงกวา จาก กก.ละ 25 บาท เป็น กก.ละ 35 บาท ผักชี จาก กก.ละ 70 บาท เป็น กก.ละ 130 บาท 

ขณะที่หมูเนื้อแดงทุกส่วนเพิ่ม กก.ละ 10 บาท โดยเนื้อหมูสะโพกราคา กก.ละ 130 บาท ไหล่ กก.ละ 120 บาท สันใน กก.ละ 140 บาท สันนอก กก.ละ 130 บาท ส่วนเนื้อไก่ ปรับเพิ่ม กก.ละ 5 บาท ไก่สดทั้งตัวไม่รวมเครื่องในอยู่ที่ 65 บาท/กก. ไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน 60 บาท/กก. ไก่ชิ้น 70 บาท/กก. ไข่ไก่เพิ่มฟองละ 20 สตางค์ ไข่ไก่เบอร์ 3 อยู่ที่ฟองละ 2.70 บาท ไข่ไก่เบอร์ 2 อยู่ที่ฟองละ 2.90 บาท โดยอ้างพ่อค้าขายส่งปรับเพิ่มราคาโดยบวกต้นทุนขนส่งและค่าแรงงาน แต่ยอมรับว่าราคาของที่แพงขึ้นทำให้ยอดขายลดลง 20-30% 

นอกจากนี้ ราคาอาหารสำเร็จรูปก็เปลี่ยนป้ายราคาขายอีกจานละ 5-10 บาท จาก 30-35 บาท เป็น 35-40 บาท ส่วนอาหารพิเศษ เช่น เพิ่มอาหารทะเล ราคาจะสูงอีก 5-10 บาท ไข่ดาวและไข่เจียวยังขายฟองละราคา 7-10 บาท โดยพ่อค้าแม่ค้าอ้างเรื่องค่าแรงงานและวัตถุดิบ ค่าเช่า แพงขึ้น 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในจัดเตรียมเอกสารรายละเอียดโครงสร้างราคาอาหาร สำเร็จรูปที่กระทรวงพาณิชย์ออกราคาแนะนำ 25-35 บาท และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่กำกับดูแล เพื่อให้นายกฯใช้ประกอบการ "ออกรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ในวันที่ 5 พฤษภาคม โดยจะยืนยันว่าราคาอาหารสำเร็จรูปที่กำหนดนั้นเหมาะสมกับวัตถุดิบและค่าแรง งานที่ปรับเพิ่มขึ้น พร้อมกำชับให้ใช้มาตรการที่เข้มงวดกับการขายเกินราคาแนะนำ และเอาผิดตามกฎหมาย 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ราคาขายจานละ 25-30 บาท เป็นราคาที่มีกำไร เช่น ข้าวกะเพราหมู มีต้นทุนข้าว 3.63 บาท เนื้อสัตว์ 8.33 บาท ผัก 0.76 บาท น้ำมันพืช 0.21 บาท เครื่องปรุงรส 0.77 บาท ขณะที่ต้นทุนค่าแรงงาน ค่าเช่าพื้นที่อีก 6.83 บาท ต้นทุนรวม 20.53 บาท หากขายจานละ 25 บาท ได้กำไร 4.47 บาท ต่อไปหากพบร้านค้าใดขายเกินราคาจะให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบรายได้และเก็บ ภาษีย้อนหลัง 

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าว "มติชน" ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าต่างๆ ที่ตลาดสดบางกะปิพบ โดยนายวันชัย อรุณศิริวัฒนา เจ้าของแผงขายเครื่องเทศและเครื่องปรุง กล่าวว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่มีขึ้นลงเป็นปกติ แต่ช่วงนี้ราคาค่อนข้างคงที่ไม่ได้แพงขึ้นมากมาย สินค้าบางชนิดมีราคาถูกลงด้วยซ้ำ ส่วนราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีราคาสูงน่าจะมีสาเหตุมาจากผักสดที่ราคาค่อนข้าง แผง แต่เนื้อสัตว์และเครื่องปรุงเครื่องเทศ อย่างหอมแดง กระเทียม พริกแห้ง ยังไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด 

ด้านนางนก เจ้าของแผงไก่สด กล่าวตรงกันว่า ราคาสินค้าหลายอย่างไม่ได้ปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ แหล่งขายส่งที่รับมาขายก็ไม่ได้ปรับราคาขึ้น ลูกค้าก็ไม่ได้บ่นว่าไก่แพง แต่จะมีบ้างที่บอกว่าผักสดราคาแพง ช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมรายจ่ายค่อนข้างมาก ทำให้ลูกค้าซื้อของได้น้อยลง ใกล้เปิดเทอมทีไรขายของได้น้อยทุกที 

น.ส.เล็ก แม่ค้าเขียงหมู กล่าวว่า ราคาสินค้ายังคงเดิม อาจมีขึ้นราคาบ้างสำหรับสินค้าบางอย่างที่ขาดตลาด อย่างเนื้อหมูสดก็ปรับขึ้นบ้างแต่ไม่มาก 

ด้านพ่อค้าแผงผักขนาดใหญ่ กล่าวว่า ผักต่างๆ ไม่ได้แพงมาก เป็นไปตามกลไกตลาดมีขึ้นลงเป็นปกติ ต้องทำใจยอมรับ เพราะเมื่อผลผลิตขาดแคลน ราคาก็จะสูงขึ้น ถ้าของมีมากจนล้นตลาดราคาก็ปรับลง สินค้าบางอย่างราคาลดลงกว่าครึ่ง เช่น กระเทียมจากกิโลกรัมละ 140 บาท เหลือกิโลกรัมละ 70 บาท ก็ยังขายไม่ได้ 

"ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางช่วงที่สินค้าขาดตลาด มีการปรับขึ้นราคา ลูกค้าบางคนก็บ่นว่าแพง เราก็พยายามทำความเข้าใจกับเขาว่า สถานการณ์ในตอนนั้นสินค้ามันขาดแคลน จากเคยซื้อ 10 บาท จะมาซื้อ 10 บาทเหมือนเดิมได้อย่างไร ในเมื่อสถานการณ์มันต่างกัน เราต้องยอมรับมันให้ได้" พ่อค้าแผงผักกล่าว 

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวสำรวจตามโรงรับจำนำย่านลาดพร้าว บางกะปิ และรามคำแหง พบว่ามีผู้ปกครอง และประชาชนเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมากเพราะใกล้เปิดเทอม 

น.ส.อัจจิมา อินทจันทร์ เจ้าหน้าที่โรงรับจำนำปากซอยรามคำแหง 43 กล่าวว่า ลูกค้ามีหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา และจะนำทองรูปพรรณมาจำนำ เพราะทางร้านไม่ค่อยรับสินค้าอย่างอื่น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะราคาของจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อหลุดจำนำก็จะขายไม่ได้ราคา 

เจ้าหน้าที่โรงจำนำเฮงล้ง หน้าซอยลาดพร้าว 150 กล่าวว่า ปกติช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีผู้เข้าใช้บริการมากที่สุดเพราะใกล้เปิดเทอม แต่จะรับจำนำทองรูปพรรณเป็นส่วนใหญ่ ไม่รับจำนำโทรศัพท์มือถือเด็ดขาด เพราะมีโอกาสพังหรือเสียหายง่าย และเมื่อหลุดจำนำแล้วขายออกยาก 

ด้านเจ้าหน้าที่โรงรับจำนำลิบกี่ บริเวณสามแยกบางกะปิ กล่าวว่า มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านทั่วไปและแม่ค้าบริเวณใกล้เคียง 

นางนาตยา แม่บ้าน อาศัยอยู่แถวรามคำแหง กล่าวว่า ใช้บริการโรงรับจำนำปากซอยรามคำแหง 43 เป็นประจำ ส่วนใหญ่สิ่งของที่นำมาจำนำจะเป็นทองรูปพรรณ เงินที่ได้ก็เอาไปใช้จ่ายค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียนลูก 

ป้าถนอมศรี พัววิมล อายุ 83 ปี อาศัยอยู่แถวร่มเกล้า ที่ใช้บริการโรงรับจำนำย่านสามแยกบางกะปิ กล่าวว่า สาเหตุที่มาจำนำเนื่องจากเงินไม่พอค่าใช้จ่าย ต้องเอาของมาจำนำเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย 

นางปราณิสา ไชยันโต อาชีพค้าขาย กล่าวว่า นำแหวนทองมาจำนำเพื่อจะไปส่งค่าบ้าน และใช้เป็นค่าใช้จ่ายรายวัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายช่วงนี้สูงขึ้น 

นายสนั่น จำปาแถบ ผู้จัดการสถานธนานุบาล 2 เทศบาลเมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ เผยว่า ใกล้เปิดเทอมส่งผลให้มีลูกค้ามาใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 400 ราย วงเงินที่รับจำนำวันละกว่า 1 ล้านบาท เทศบาลเมืองสุรินทร์สำรองเงินสดให้สถานธนานุบาลทั้ง 2 แห่ง ไว้บริการประชาชน 90 ล้านบาท สำหรับสิ่งของที่ประชาชนนำมาจำนำร้อยละ 80 เป็นทองรูปพรรณ รองมาคือเครื่องใช้ไฟฟ้า และผ้าไหม และช่วงนี้ลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 1.75 บาทต่อเดือน เหลือเพียงร้อยละ 1 บาทต่อเดือน เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองช่วงเปิดเทอม 

วันเดียวกัน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงเรื่องผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด และปรับค่าจ้างร้อยละ 40 ใน 70 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าโดยภาพรวมยังไม่มีปัญหาการเลิกจ้าง และร้อยละ 80 นายจ้างไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนอีกร้อยละ 20 นายจ้างยังมีปัญหาในทางปฏิบัติเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องการนำค่าสวัสดิการต่างๆ มารวมกับค่าจ้าง ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานเก่าได้ค่าจ้างเกินวันละ 300 บาท เรียกร้องให้ปรับค่าจ้างเพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำ เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือให้นายจ้างกลุ่มนี้ใช้หลักตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ในการเจรจากับลูกจ้าง เพื่อลดข้อพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง 

นายอาทิตย์กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากจังหวัดที่ค่าแรงต่ำกว่าวัน ละ 300 บาท ไปจังหวัดที่ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท เนื่องจากการย้ายงานเพื่อไปสมัครงานใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างไรก็ตามกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายที่เห็นชัดเจนคือ แรงงานรับเหมาช่วง (sub contact) จะมีความคล่องตัวและสะดวกในการย้ายงาน ส่วนผลกระทบต่อราคาสินค้าในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากสินค้าบางชนิดมีราคาขึ้นลงตามภาวะตลาด แต่อาหารตามสั่งมีราคาสูงขึ้น แต่ในโรงงานก็มีการควบคุมราคา โดย กสร.ส่งเสริมให้ตั้งสหกรณ์ขายสินค้าราคาถูกในโรงงาน และปลูกผักสวนครัวในโรงงาน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับแรงงาน โดยมีกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีงบประมาณ 250 ล้านบาท 

นายอาทิตย์กล่าวว่า เก็บข้อมูลทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ ซึ่งถือเป็นเฟสแรก เพื่อนำมาสรุปก่อนออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างในเฟส 2 ที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน อีก 70 จังหวัดที่เหลือ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 หากได้รับข้อมูลและเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเฟสที่ 2 จะทำให้กระทรวงแรงงานทำงานได้ง่ายขึ้น ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 8 เดือน จะเร่งเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด โดยในวันที่ 25 พฤษภาคม จะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกสาขา เพื่อรับฟังปัญหาเพราะเแต่ละกลุ่มจะมีปัญหาแตกต่างกัน 

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนค่าจ้างกรณีค่าจ้างไม่เป็นธรรมทั้ง 9 แห่ง ได้รับร้องเรียน 69 ราย ส่วนใหญ่เป็นกรณียังไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามอัตราใหม่ นายจ้างนำสวัสดิการ เช่น ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้าง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลกระทบภาพรวมได้ชัดเจน ต้องใช้อีกเวลา 2 เดือนจึงจะเห็นภาพรวมทั้งหมด 

นายชาลีกล่าวว่า เชื่อว่ายังมีลูกจ้างหลายกลุ่มโดยเฉพาะธุรกิจบริการ เช่น แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) รวมถึงแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดเล็กและไม่มีสหภาพแรงงานยังไม่ได้ รับการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่คนเหล่านี้ไม่กล้าร้องเรียนกับศูนย์เพราะกลัวถูกเลิกจ้าง จึงขอให้กระทรวงแรงงานเข้าไปตรวจสอบที่แรงงานไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ตามอัตราใหม่ และให้รัฐบาลบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่แรงงานจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจัดสรรเงินพิเศษในลักษณะค่าครองชีพชั่วคราวรายละ 2,000 บาท ให้แก่แรงงานทุกคนโดยตรงเป็นเวลา 1-2 เดือน และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย 
  
(มติชนออนไลน์, 4-5-2555)

 
โซนี่ย้ายรง.ผลิตกล้องไปชลบุรี ลั่นพร้อมกลับอยุธยาเมื่อมั่นใจ ˜ทำตลาดเต็มสูบหลังพลาดเป้า 

นายโทรุ ชิมิซึ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโซนี่ ไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่โซนี่ได้เผชิญกับสถานการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น และน้ำท่วมในประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจของโซนี่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ สถานการณ์การผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รวมทั้งซัพพลายเชน โดยได้ย้ายการผลิตสินค้าของโรงงานผลิตกล้องในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปผลิตในโรงงานจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวิทยุสำหรับติดรถยนต์แทน เพื่อให้มีสินค้าป้อนตลาดสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่วนโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น หากมั่นใจในสถานการณ์น้ำท่วมก็จะกลับมาผลิตสินค้าตามปกติ รวมทั้งจะย้ายโรงงานผลิตเซ็นเซอร์สำหรับกล้องจากบางกะดีมาผลิตที่นี่ด้วย 

"เรื่องภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก ตอนนี้จึงใช้โรงงานที่ชลบุรีผลิตสินค้าเพื่อให้มีสินค้าป้อนตลาด โดยการถอดชิ้นส่วนจากโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปประกอบที่โรงงาน ชลบุรี และได้ย้ายพนักงานจากพระนครศรีอยุธยามาทำงานที่นี่ ส่วนโรงานที่พระนครศรีอยุธยายังอยู่ และจะกลับไปผลิตอีกครั้งเมื่อพร้อม เพราะกล้องเป็นธุรกิจที่ทำกำไร และโรงงานที่พระนครศรีอยุธยาก็ผลิตสินค้าป้อนทั่วโลกด้วย" 

นายชิมิซึกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 11,500 ล้านบาท โตเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 5% แต่ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่ 10% เพราะเผชิญกับน้ำท่วมในช่วงปลายปีและไม่ได้ขายสินค้า 3 เดือน ทั้งนี้ ในปีนี้วางเป้าการเติบโตไว้ที่ 10% ภายใต้กลยุทธ์หลัก one sony ที่ผนึกความร่วมมือทางการตลาดร่วมกันทั้งในส่วนโรงงานผลิต โซนี่ พิคเจอร์โซนี่ มิวสิค เอนเตอร์เทนเมนท์ รวมทั้งโซนี่ ไทย ที่จะเริ่มเข้ามาดูแลธุรกิจโทรศัพท์มือถือโซนี่ โมบายล์ คอมมูนิเคชั่นส์ หรือเดิมคือ บริษัท โซนี่ อิริคสัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดรูปแบบใหม่ร่วมกันผ่านผลิตภัณฑ์ทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือเพื่อผลักดันให้รายได้เติบโตได้ตามเป้าหมายต่อไป 

นายภิญโญ สงวนเศรษฐกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายขายและการตลาดผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มของกล้องดิจิตอลที่เปลี่ยนเลนส์ได้ ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว มั่นใจว่าสถานการณ์โดยรวมปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากการที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง 

(มติชน, 4-5-2555)

 
เกิดเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ในนิคมฯมาบตาพุด จนท.เร่งอพยพคนงาน พร้อมระดมรถน้ำเข้าดับเพลิง 

5 ม.ค. 55 - เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า  เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งนี้ภายหลังเกิดระเบิดเสียงดัง  และได้มีควันดำพวยพุ่งขึ้นมา โดยควันไฟฟุ้งกระจายปกคลุมไปรอบบริเวณ  นอกจากนี้ในที่เกิดเหตุมีลมแรงทำให้มีกลิ่นก๊าซแอมโมเนียและกลิ่นสารเคมี กระจายออกมา เจ้าหน้าที่จึงเร่งอพยพคนงานและกันผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ให้เข้าไปภายใน นิคมฯ  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นคาดว่า เหตุระเบิดและเพลิงไหม้เกิดจากถังเคมีขนาดใหญ่จำนวนหลายถังของโรงงานบีเอสที ได้เกิดระเบิดขึ้น คาดว่ามีผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ได้ระดมรถดับเพลิงภายในนิคมอุตสาหกรรมหลาย 10 คัน พร้อมรถกู้ภัยภายในรนิคมเข้าไปดับเพลิง และอพยพคนงานทั้งหมดออกจากนิคมฯ  ทำให้การจราจรติดขัดเป็นทางยาว เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปภายใน เพื่อเปิดทางให้รถน้ำเข้าไปดับเพลิง อีกทั้ง ยังคุมเพลิงไม่ได้ บาดเจ็บแล้ว 15 ราย  

ล่าสุด 16.29 ผู้ว่าระยอง สั่งอพยพคนงาน ออกจากพื้นที่แล้ว หลังกลิ่นสารเคมีกระจาย และลมพัดแรง จนไปถึงตลาดสดมาบตาพุด พร้อมประกาศใช้แผนฉุกเฉิน ระดับโรงงาน อพยะคนงานทั้งหมดออกจากมาบตาพุด ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ 

16.30 พนง.ใกล้รง.สารเคมีระเบิด มาบตาพุบ บอกสารเคมีรั่วไหลมากมีควันดำบ.ข้างเคียงเสียหายมาก 

16.34 นายวุฒิพงษ์ พนง.ในนิคมมาบตาพุด เล่าถึงวินาทีเกิดเหตุว่า ขณะที่ รง.ซินธิติกส์ระเบิด พนง.เร่งอพยพ ได้ยินเสียงระเบิด 5-6 ครั้ง 

16.45 น.มีรายงานยอดผู้บาดเจ็บโรงงาน บีเอสที มาบตาพุด ระเบิด พุ่งกว่า 80 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต”

  
(เว็บไซต์คมชัดลึก, 5-5-2555)

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปรองดองทุน: ถลุงแร่โปแตชอีสาน

Posted: 05 May 2012 10:05 AM PDT

ภายหลังการเดินทางมาชุมนุมเรียกร้องที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อทวงถามความคืบหน้าการไต่สวนพื้นที่คัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี  

เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  จำนวนกว่า 5,800 รายชื่อ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตามมาตรา 49 แห่งพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2510 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน ที่คำถามจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ไม่มีคำตอบจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง กพร. จนกระทั่งต้องรวมตัวเดินทางมาชุมนุมเรียกร้องหน้า กพร.อีกครั้ง ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ระหว่าง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  โดยหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้คือ   เพื่อเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องการไต่สวนพื้นที่ รายละเอียดต่างๆ ของแผนที่ประกอบคำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547  ของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี)  ซึ่งได้ปิดประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน  2554 

รวมทั้งการหารือประเด็นข้อกฎหมายในการดำเนินงานตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินตามมาตรา 88/9  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2545 ให้ได้ข้อยุติ  หากเรื่องข้างต้นยังไม่ได้ข้อยุติทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน ให้ชะลอการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 88/10  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 และในการขอความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตร   

ทั้งนี้ยังไม่มีการระบุกรอบระยะเวลาชัดเจน ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้  ขณะเดียวกันก็ไม่แปลกทีท่าทีของ กพร. ขมีขมัน “เอาใจ” ชาวบ้าน ในการรีบแต่งตั้งคณะกรรมการสองฝ่าย   นอกจากเพื่อ”ยืดเวลา”  หายใจ  ในฐานะที่ต้องเป็นหน้าด่าน “กันชน” ระหว่าง กลุ่มทุนใหญ่ กับ ชาวบ้านในพื้นที่ ที่เร่งเร้าเข้ามาทุกทาง โดยเฉพาะ ” สมเกียรติ ภู่ธงฤทธิ์”  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทีต้องจับตา กับภารกิจ “ทิ้งทวน”   ก่อนเกษียณอายุในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ในขณะที่คู่กรณีของชาวบ้านอย่างบริษัทเอพีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอิตาเลี่ยนไทย ดิวิลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)    ล่าสุดประธานกรรมการบริหารใหญ่อย่าง เปรมชัย กรรณสูตร  ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานประจำปี 2554 ถึงโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี จ.อุดรธานี ว่า “ คาดว่าการดำเนินงานตามขั้นตอนการขอประทานบัตรจะเสร็จครบทุกขั้นตอนและได้รับประทานบัตรภายในปีนี้” ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นทีอีกครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่กับชาวบ้านมาร่วมสิบปี

ทางหนึ่งอิตาเลี่ยนไทยในนามเอพีพีซี  ยังมีแผนเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า  ที่ได้รับสัมปทานนานถึง 60 ปี  ถือเป็นการดำเนินการเปิดพื้นทีอุตสาหกรรม “ครบวงจร” ทั้งโรงงานเหล็ก แยกก๊าซ กลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตปุ๋ย  รวมทั้งการเปิดพื้นที่คมนาคม  ซึ่งนั้นหมายถึง การวางแผน “รองรับ” การเกิดโครงการเหมืองแร่โปแตชบริเวณพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในอนาคตอันใกล้ในภาคอีสาน

เป็นความมั่นใจของ “ เปรมชัย” ซีอีโออิตาเลี่ยนไทย ใน “คอนเนคชั่น”เส้นทางธุรกิจอันแน่นแฟ้น กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งแต่สมัยได้รับสัมปทานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงครั้งนี้กับการได้รับสัมปทานท่าเรือน้ำลึกทวาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”  สนับสนุนเต็มที่ในการดันทวายโปรเจคให้เกิดขึ้น ในการไปเยือนพม่า

ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันก็รีบเดินหน้า “ทอดสะพาน” ต่อจิ๊กซอร์ทุนใหญ่ในเอเชียอย่างมหาอำนาจจีน ภายใต้การลงนามความตกลงและเอกสาร 7 ฉบับ อาทิ  "โครงการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์" และ "แผนการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระยะ 5 ปี " โดยนาย เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน  เอ่ยปากขออย่างไม่ “อ้อมค้อม” ในการให้ไทยอำนวยความสะดวกกลุ่มทุนจีน เข้ามาดำเนินอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน  ภายหลังการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น้องสาวทักษิณ อีกเช่นกัน   

โดยล่าสุดในพื้นที่จังหวัดสกลนครกับจังหวัดนครพนม บริษัทแม่โขง ไมนิ่ง  และ บริษัทไทยโปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแล้ว  

ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่า ขณะนี้มีบริษัทจีน 5 บริษัท  หนึ่งในนั้นคือบริษัท ไชน่า หมิงต๋า และทุนจีนกลุ่มอื่นๆ อีก 4  บริษัท ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษรวมกันแล้วเป็นจำนวน 11 แปลง มีจำนวนพื้นที่ 620,000ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาล เปิดไฟเขียวด่านแรกให้กลุ่มทุนจีนทั้ง 5 บริษัทนี้ เข้ามาดำเนินการสำรวจแร่ ในพื้นที่ภาคอีสานตามคำขออย่างชัดเจน

ขณะที่ในพื้นที่ หน่วยงานรัฐกลับถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องจากชาวบ้าน ทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง    เพราะที่ผ่านมาหน้าที่สำคัญของ กพร.คือ การปรองดอง “แนบแน่น” กับกลุ่มทุนเป็นหลัก  และรับลูกฝ่ายการเมืองไปวันๆ

สิ่งที่ กพร.เร่งรีบคือ การส่งเรื่องไปยังกระทรวงทรัพยากรฯ  ตะบี้ตะบันเร่งปลดล๊อคเปิดพื้นที่”คุ้มครอง” 6 ทวิ ในยุคที่มี  เจ้ากระทรวงทรัพยฯ ตัวจริงอย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กำกับดูแล

ผนวกกับการปรับ ครม.ในอนาคตอันใกล้ เพื่อต้อนรับการกลับมาของบ้านเลขที่ 111ที่เตรียมปรับรัฐมนตรียกเก้าอี้ให้ “ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”  คุมกระทรวงอุตสาหกรรม

นั้นหมายถึงการนับถอยหลังความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่ระหว่างกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง    โดยเฉพาะหน่วยงานสำคัญอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่พ้น ”ใบสั่ง” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ภายใต้ทุนชักใย ทั้งจีน และ อิตาเลี่ยนไทย เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ “ซ้อนทับ”  ชินวัตรในทุกทาง

มิพักเอ่ยถึง” มือไม้”อำนวยความสะดวกให้จีน คนสำคัญอย่าง “พินิจ จารุสมบัติ”   แม้ช่วงหลังจะถูกลดบทบาทลง เนื่องจากทำงานไม่เข้าตานายทักษิณจนผันตัวเองไปเป็น “นายหัว”สวนยาง แถวจังหวัดบึงกาฬมาพักใหญ่แต่ “พินิจ” มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน กับ”ทุนจีน” ทั้งในฐานะนายกฯ สมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทยจีน การเอ่ยปาก อย่างเป็นทางการของนักธุรกิจจีน รวมถึงน้ำใจอย่างอื่น หากมีการร้องขอปูทางในพื้นที่ที่เขา”ปักหลักที่มั่นอยู่”ในโซน “แอ่งแร่สกลนคร”  คงยากจะปฎิเสธ

อนาคตใกล้ๆนี้ คงแยกกันไม่ออก ระหว่าง สุวัจน์- พินิจ-  จีน –อิตาเลี่ยนไทย –ชินวัตร

“รัฐบาลเขาจะปรองดองอะไรก็ปล่อยเขาไป แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯอุดร ไม่ยอมปรองดองกับทุนแน่นอน”  เป็น คำตอบ ที่สู้จริง- ทำจริง ปกป้องพื้นที่ไม่ให้ทุนรุกคืบเข้ามากว่า 11 ปี แล้ว  ของแม่มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ท่ามกลางฤดูกาลปรองดองของนักการเมืองไทย ที่ร้อนแรงสูสีกันกับอากาศในเมืองหลวง.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุนัย จุลพงศธร: เวียดนามกับสยาม..ยุคเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ

Posted: 05 May 2012 07:36 AM PDT

 

เวียดนาม หรือ รัฐอันนัมกับรัฐสยามคือ 2 รัฐจักรวรรดิในอินโดจีนแห่งอดีตที่แข่งขันบารมีของผู้ปกครองรัฐในการเป็นมหาอำนาจแห่งภูมิภาคก่อนที่รัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกจะเข้าครอบครองอินโดจีน แต่นับจากเวียดนามต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสการแข่งขันของ 2 รัฐดั้งเดิมในเชิงสงครามทางทหารก็เริ่มลดบทบาทลง จนกระทั่งโลกก้าวเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์เวียดนามกับไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันยุคใหม่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ “การแข่งขันบนพื้นฐานความสามัคคีแห่งอาเซียน” คือทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันทางการพัฒนาและจากสภาพขนาดของรัฐและขนาดจำนวนประชากรที่มีขนาดใกล้เคียงกันในอาเซียนทำให้ไทยและเวียดนามกลายเป็นประเทศที่ถูกจับนำมาเปรียบเทียบกันจากสังคมโลกในด้านความมั่นคงทางการเมืองและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าไทยหรือเวียดนามประเทศไหนจะเหมาะสมต่อการลงทุนมากกว่ากัน และยิ่งอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจเสรีอาเซียนที่ส่งผลให้การลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศก็สามารถส่งออกไปยังประเทศภายในกลุ่มอาเซียนได้เสรีเหมือนกัน ดังนั้นเรื่องสำคัญที่จะถูกนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยหลัก คือ เสถียรภาพทางการเมือง ที่หมายถึงระบบการเมืองซึ่งแยกไม่ออกจากเสถียรภาพของรัฐบาลและยิ่งสยามยามนี้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่คนไทยทั้งประเทศมีงานใหญ่คอยอยู่ข้างหน้า คือการสร้างกติกากลางหรือรัฐธรรมนูญเพื่อจัดระบบแบบแผนทางสังคมให้เกิดความมั่นคงในกลไกของระบบรัฐประชาธิปไตยด้วยแล้วก็จะยิ่งเกิดคลื่นลมต่อสยามนาวามาก ดังนั้น เราก็ยิ่งจะต้องให้ความสนใจต่อการเจริญเติบโตก้าวหน้าของเวียดนามในฐานะรัฐที่เคยมีประวัติศาสตร์แข่งขันกันมาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่ต้องศึกษาเพื่อเก็บรับบทเรียนที่จะนำพาสยามนาวาผ่านคลื่นลมให้ได้

การเมืองเวียดนามมั่นคงอย่างน่าอิจฉา

แม้ประเทศเวียดนามต้องตกระกำลำบากต่อภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดในระยะกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงสงครามเวียดนามที่ผู้คนในประเทศแตกแยกกันอย่างรุนแรง แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ภาวะแห่งเอกภาพทางการเมืองการปกครองของเวียดนามก็ได้ฉายแสงแห่งอรุณรุ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และแม้ระหว่างเส้นทางการพัฒนารัฐในระยะต้นจะต้องประสบกับภาวะวิกฤติการพังทลายของรัสเซียผู้นำค่ายสังคมนิยมในปี ค.ศ.1991 เวียดนามก็สามารถนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติได้ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ “โด่ยเหมย” (Doi Moi) จนถึงวันนี้ภาวะความมั่นคงทางการเมืองและการมีเสถียรภาพของรัฐบาลเวียดนามจึงเป็นภาวะที่น่าอิจฉาในสายตาของคนไทยเพราะในขณะที่เวียดนามยุติความขัดแย้งทางการเมืองและก้าวรุดหน้า แต่ไทยกลับต้องประสบกับความขัดแย้งภายในของโครงสร้างที่แอบแฝงอยู่ในระบบการเมืองไทยมายาวนานจากการรัฐประหารที่มีต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนรวมตลอดทั้งกระบวนการรัฐประหารเงียบโดยอาศัยการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทำการปรับเปลี่ยนอำนาจศาลอำนาจศาลและองค์กรอิสระใหม่โดยเพิ่มอำนาจให้มีอำนาจอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จนเกิดภาวะไร้เสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งกำลังแสดงบทบาทบ่อนทำลายรัฐที่รุนแรงที่สุดในขณะนี้ ซึ่งภายใต้การนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่พยายามจะนำรัฐไทยก้าวผ่านวิกฤติการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของปัญหาซึ่งจะเป็นบทท้าทายที่จะพิสูจน์ว่าคนไทยส่วนใหญ่พร้อมที่จะปรองดองก้าวไปข้างหน้าหรือว่าจะต้องตกลงสู่ห้วงมหรรณพของความขัดแย้งเช่นที่เวียดนามเคยผ่านมา

จากภาวะความมั่นคงทางการเมืองของเวียดนามเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองระดับสูงได้อย่างไร้คลื่นลมซึ่งแตกต่างกับการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทางการเมืองของไทยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนทุกรัฐบาลต่างดำรงอยู่อย่างไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น ระบบการเมืองของเวียดนามในวันนี้ในสายตาคนไทยจึงอยู่ในภาวะที่น่าอิจฉายิ่ง ดังจะเห็นได้จากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 11 เมื่อมกราคม ที่ผ่านมาและการประชุมสภาแห่งชาติสมัยที่ 13 ครั้งที่ 1 ในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงผู้นำซึ่งเวียดนามก็ได้ผู้นำพรรคสูงสุดคนใหม่อย่างราบรื่น คือนายเหวียน ฝู จ่อง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นอดีตประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ,ได้นายเหวียน เติ๊น สุง เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 และได้นายเจือง เติ๊น ซาง เป็นประธานาธิบดี , นายเหวียน ซิง หุ่ง เป็นประธานศาลแห่งชาติ ,นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

คณะรัฐมนตรีของเวียดนามมีความมั่นคงและมีเอกภาพอย่างยิ่งในทิศทางเศรษฐกิจใหม่เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนในวัยหนุ่มอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี และส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่อยู่ในองค์กรนำสูงสุดคือมาจากกรมการเมือง อีกทั้งมีความเชื่อมต่อกันทางนโยบายและการบริหารรัฐเนื่องจากบุคคลในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้มีคนมาจากคณะรัฐมนตรีชุดเก่ารวม 9 คน

ภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเวียดนามในระดับหนึ่งทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2554 มีพัฒนาการต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามวางไว้ อีกทั้ง ปัญหาภายในของเวียดนามที่สะสมมาคือปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินการคลังได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นในปี 2554 จึงส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายคือเติบโตร้อยละ 5.89 (ต่ำกว่าปี 2553 ที่เติบโตร้อยละ 6.78 ) ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.58 ด้านการค้าระหว่างประเทศ เวียดนามขาดดุลการค้าน้อยลงเหลือ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จาก 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เนื่องจากการบังคับใช้นโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลที่เริ่มเห็นผล โดยมีมูลค่าการส่งออก 96.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3) มูลค่าการนำเข้า 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7) ในปี 2554 โครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้รับการอนุมัติมีมูลค่ารวม 11.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 35 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต(ร้อยละ 47) และอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 24 ) ประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) เกาหลีใต้ (239 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และญี่ปุ่น (236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) ส่วนไทยมีมูลค่าการลงทุนในเวียดนาม 5.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 11

ข้อน่าสังเกตของนโยบายเศรษฐกิจเวียดนามนั้นมีทิศทางชัดเจนไม่ขัดแย้งโต้เถียงกันระหว่างนโยบายทุนนิยมกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเช่นในประเทศไทย

ในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.27 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 2.88 ในปี 2553 และสำหรับปี 2555 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าจะสร้างงานให้ได้ 1.6 ล้านตำแหน่ง และมีเป้าหมายจะลดจำนวนครัวเรือนยากจนลงร้อยละ 7.5 ประกันความมั่นคงทางสังคมและปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน โดยในปี 2554 ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุข โภชนาการ การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพแก่ประชาชนที่อาศัยในชนบทห่างไกล

ภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเวียดนามในระดับหนึ่งทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2554 มีพัฒนาการต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามวางไว้ อีกทั้ง ปัญหาภายในของเวียดนามที่สะสมมาคือปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินการคลังได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นในปี 2554 จึงส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายคือเติบโตร้อยละ 5.89 (ต่ำกว่าปี 2553 ที่เติบโตร้อยละ 6.78 ) ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.58 ด้านการค้าระหว่างประเทศ เวียดนามขาดดุลการค้าน้อยลงเหลือ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จาก 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เนื่องจากการบังคับใช้นโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลที่เริ่มเห็นผล โดยมีมูลค่าการส่งออก 96.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3) มูลค่าการนำเข้า 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7) ในปี 2554 โครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้รับการอนุมัติมีมูลค่ารวม 11.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 35 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต(ร้อยละ 47) และอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 24 ) ประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) เกาหลีใต้ (239 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และญี่ปุ่น (236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) ส่วนไทยมีมูลค่าการลงทุนในเวียดนาม 5.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 11

ข้อน่าสังเกตของนโยบายเศรษฐกิจเวียดนามนั้นมีทิศทางชัดเจนไม่ขัดแย้งโต้เถียงกันระหว่างนโยบายทุนนิยมกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเช่นในประเทศไทย

ในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.27 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 2.88 ในปี 2553 และสำหรับปี 2555 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าจะสร้างงานให้ได้ 1.6 ล้านตำแหน่ง และมีเป้าหมายจะลดจำนวนครัวเรือนยากจนลงร้อยละ 7.5 ประกันความมั่นคงทางสังคมและปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน โดยในปี 2554 ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุข โภชนาการ การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพแก่ประชาชนที่อาศัยในชนบทห่างไกล

ในด้านการปกป้องผลประโยชน์ชาติ

ปัญหาความขัดแย้งจากการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ยังเป็นประเด็นหลักของเวียดนามที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้นโยบายต่างประเทศปกป้องผลประโยชน์ของชาติ กล่าวคือ หลังจากเหตุการณ์ตึงเครียดในช่วงกลางปี 2554 ที่มีการปะทะกันระหว่างเรือของจีนกับเรือสำรวจพลังงานของบริษัท Petro Vietnam เวียดนามได้ใช้ความพยายามเพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในทางสันติเพื่อให้นานาประเทศให้ความสนใจและได้ใช้ช่องทางทางการทูตกับประเทศต่างๆที่แนบแน่นเพื่อขอรับการสนับสนุนต่อจุดยืนของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับจีนเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ก็ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีด้วยนโยบายต่างประเทศ กล่าวคือ ในช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับทะเล (Agreement on basic principles guiding the settlement of sea-related issues) ในระหว่างการเยือนจีนของนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม 

ในประเด็นปัญหานี้เมื่อเปรียบเทียบการแก้ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร ที่ผ่านมาในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แล้วจะเห็นว่านโยบายต่างประเทศของไทยในอดีตทาบไม่ติดกับเวียดนามเลย ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านกัมพูชากลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากมากขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของไทยที่เคยดีงามในอดีตกลายเป็นภาพลักษณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจของอาเซียนไปอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม เป็นเช่นไร?

ในช่วงรอยต่อนโยบายจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เราควรจะได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ ไทย-เวียดนาม ในแต่ละด้านเพื่อให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนอันจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นยิ่งขึ้นและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเชิงประวัติศาสตร์ ดังนี้

1.ด้านการเมืองและความมั่นคง

(1.1) ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในด้านการเมืองและความมั่นคงยังดำเนินไปอย่างราบรื่นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จุดเด่นของความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในปี 2554 คือการครบรอบ 35 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันโดยมีการจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว

(1.2) ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ ระดับรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ การเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแนะนำตัวเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยหยิบยกประเด็นความร่วมมือในด้านต่างๆขึ้นหารือกับนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ สองฝ่ายยังได้เห็นพ้องให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ครั้งที่ 2 ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้

(1.3) ในรอบปีที่ผ่านมา กลไกความร่วมมือที่ไทย-เวียดนามได้จัดทำไว้ได้ดำเนินไปด้วยดี ทั้งในด้านความมั่นคง สาธารณสุข การทหาร อาทิ การประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ครั้งที่ 4 ที่กรุงฮานอย , การประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างกองทัพเรือไทย-เวียดนามว่าด้วยการจัดระเบียบทางทะเล ครั้งที่ 14 ที่เมืองไฮฟอง

2.ด้านเศรษฐกิจและสังคม

(2.1) ในปี 2554 การค้าไทย-เวียดนามมีมูลค่า 9.086 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(ขยายตัวร้อยละ 25.47 จากปี 2553) ไทยส่งออกไปเวียดนาม 7.059 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้าจากเวียดนาม 2.027 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับเวียดนาม 5.032 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.11 ) สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ด้ายและเส้นใย น้ำมันดิบ กาแฟ ชา เครื่องเทศ เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน และเครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์

(2.2) ไทยมีโครงการลงทุนในเวียดนามแล้ว 266 โครงการ รวมมูลค่า 5.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 11 โดยในปี 2554 ไทยลงทุนในเวียดนาม 27 โครงการ มูลค่า 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการลงทุนที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร เคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก อาหารสัตว์ และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

(2.3) กิจกรรมที่สำคัญระดับประชาชนระหว่างไทยกับเวียดนามในรอบปี 2554 ได้แก่ กิจกรรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 35 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นทั้งในไทยและเวียดนาม และกิจกรรมในกรอบของสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม อาทิ การเข้าร่วมงาน Thailand Trade Exhibition ในเวียดนาม การประชุมร่วมระหว่างสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม กับสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทย พิธีเปิดแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ณ จังหวัดอุดรธานี และการเข้าร่วมงานอัญเชิญผ้ากฐินพระราชทานประจำปี 2554 ไปยังวัดเหวี่ยนคง จังหวัดเถื่อเทียนเว้ ในช่วงเดือนตุลาคม

(2.4) ในปี 2554 ไทยและเวียดนามต่างประสบอุทกภัยครั้งรุนแรง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้บริจาคเงินช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงมิตรไมตรีและความปรารถนาดีระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยมอบเงินช่วยเหลือแก่เวียดนามจำนวน 3 ล้านบาท ในขณะที่เวียดนามได้มอบเงินช่วยเหลือให้ไทย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสภากาชาดเวียดนามได้มอบความช่วยเหลือ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนและประชาชนของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

3.ทิศทางความสัมพันธ์แห่งอนาคต

(3.1) ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในปี 2555 น่าจะดำเนินไปโดยราบรื่นและมีความก้าวหน้า ประกอบกับช่วงปีที่ผ่านมาทั้งไทยและเวียดนามต่างมีรัฐบาลชุดใหม่จึงเป็นช่วงของการสานสัมพันธ์ไมตรีให้แน่นแฟ้นใกล้ชิดยิ่งขึ้นไป การประชุมทวิภาคีที่สำคัญ อาทิ การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 (Joint Cabinet Retreat : JCR) และการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC ) น่าจะลุล่วงไปได้ดี ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ความร่วมมือในด้านต่างๆมีความคืบหน้า

(3.2) เวียดนามน่าจะดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อเสริมบทบาทของตนในเวทีโลกโดยเฉพาะในกรอบอาเซียน ซึ่งเวียดนามประสงค์จะมีบทบาทที่สำคัญในขณะที่รักษาความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ใกล้ชิดกับลาวและกัมพูชา ในขณะเดียวกันเวียดนามประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยและขยายความร่วมมือในด้านต่างๆที่มีศักยภาพ เช่น การลงทุน การศึกษา พลังงาน และการเกษตร เป็นต้น 

บทสรุป

การก้าวรุดหน้าของเวียดนามในทุกด้านที่เป็นผลมาจากความเข็มแข็งทางการเมืองภายในประเทศ เป็นบทศึกษาที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องเก็บรับบทเรียนประสบการณ์ความเจ็บปวดของเวียดนามจากความขัดแย้งภายในประเทศที่ยาวนาน เพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทย เพื่อมิให้จมปลักกับหล่มโคนของความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่านมติของรัฐสภาไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเสียงให้แก้ไขชนะอย่างท่วมท้นต่อการคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยคะแนนเสียง 399 : 199 นี้ มีนัยยะสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้งจำนวนข้างมากดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นเสียงที่สะท้อนการเรียกร้องความต้องการของประชาชนด้วยเสียงข้างมากที่มองเห็นชัดถึงปัญหาวิกฤตการเมืองของไทยภายในประเทศที่มาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการ ที่สถาบันการเมืองไทยในภาคต่างๆ ทุกส่วน อาทิ ศาล กองทัพ และสถาบันทางการศึกษาจะต้องรับฟังและให้ความเคารพต่อมติเสียงข้างมากของรัฐสภา หากละเลยหลักการสำคัญนี้ก็น่าเชื่อได้ว่าไทยคงจะหมดโอกาสอีกยาวนานที่จะก้าวไปในทิศทางการพัฒนาคู่กับเวียดนามได้ ยิ่งเห็นการประชุมแกนนำสายพรรคประชาธิปัตย์ 14 จังหวัดภาคใต้ (เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555) ซึ่งเคยมีบทบาทสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรก่อจลาจลล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายในอดีตโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างปฏิญญาหาดใหญ่ที่ชี้ชัดว่าเพื่อต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญนอกสภาหลังแพ้มติในสภาแล้วยิ่งทำให้ไทยอยู่ในภาวะที่น่าวิตกของตลาดทุนอย่างยิ่ง

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: ชนชั้นปกครองไทยเป็นคณะ ไม่ใช่บุคคลคนเดียว

Posted: 05 May 2012 06:48 AM PDT

เนื่องจากมนุษย์ดำรงอยู่ในสังคมชนชั้นมาตั้งแต่สมัยเกษตร คนธรรมดาจะถูกปกครองโดยกลุ่มคนหรือคณะ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง แต่ไม่เคยมีกรณีใดในประวัติศาสตร์โลกที่บุคคลคนเดียวถืออำนาจผูกขาดอยู่ในมือ ถ้าเข้าสู่ระบบทุนนิยมก็ยิ่งแล้วใหญ่ ดังนั้นในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่ผูกขาดอำนาจและสามารถสั่งการทุกอย่างได้ แต่มีหมู่คณะ คือชนชั้นปกครองไทยที่ต้องการให้เราหลงเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น และเสื้อแดงและคนอื่นๆ อีกมากมายก็หลงเชื่อความคิดที่ผิดหลัก ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อันนี้

“ประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ที่ผ่านมาคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น” นี่คือประโยคที่มีชื่อเสียงที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เขียนในหนังสือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” และถ้าเราไม่เข้าใจความสำคัญของ “ชนชั้น” ในสังคมมนุษย์ เราจะไม่มีวันเข้าใจลักษณะแท้ของสังคมไทยและชนชั้นปกครองไทยได้

เราดำรงอยู่ในสังคมชนชั้น ซึ่งแปลว่ามี “กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ควบคุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ” กลุ่มนี้เรียกว่า “ชนชั้นปกครอง” และเราต้องเข้าใจว่า “ชนชั้น” ไม่ใช่การตราหัวคนนั้นคนนี้ ว่าอยู่ชนชั้นใด มันเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” ทางอำนาจเศรษฐกิจการเมือง ที่กลุ่มคนนี้มีกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง พูดง่ายๆ เมื่อมีชนชั้นปกครองก็ต้องมีชนชั้นอื่นที่ถูกปกครอง

ในระบบทุนนิยมชนชั้นปกครองคือชนชั้นนายทุน “ชนชั้นนายทุน” ประกอบไปด้วยนายทุนใหญ่แน่นอน แต่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนอีกมากมายที่แบ่งงานกันทำเพื่อควบคุมระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เช่นเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาล ที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เรียกว่า “คณะกรรมการเพื่อบริหารผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนายทุน” นอกจากนี้มีนายพลระดับสูง ผู้บัญชาการตำรวจ และผู้พิพากษาระดับสูง เพื่อใช้ความรุนแรงในการควบคุมประชาชนในกรณีที่จำเป็น และมีเจ้าของสื่อ กับนักการเมืองอวุโส ฯลฯ เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนเชื่อฟังชนชั้นปกครองโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง มีลัทธิต่างๆ ของชนชั้นปกครองที่ช่วยตรงนี้ เช่นลัทธิการเคารพธงชาติ ลัทธิศาสนา และลัทธิกษัตริย์ในประเทศที่มีสถาบันนี้

ในหลายๆ ประเทศ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ต้องรวมไปถึงกษัตริย์และราชวงศ์ที่มีหน้าที่ในด้านการเป็นสัญญลักษณ์ของชาติที่นายทุนควบคุม และของลัทธินายทุนด้วย คือเป็นสถาบันที่ย้ำว่าการแบ่งระดับชั้นเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่ “มีมานาน” เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมชนชั้นปกครองไทยมองว่ากฏหมาย 112 มีไว้ปกป้อง “ความมั่นคง” ในการปกครองของชนชั้นเขา

ก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติทุนนิยม ซึ่งในไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ เรามีชนชั้นปกครองในระบบศักดินา ในระบบนี้กษัตริย์อ่อนแอมากพอสมควร เพราะต้องแบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมกับขุนนาง และพ่อค้า ในระบบฟิวเดิลของยุโรปก็เช่นกัน และไม่ว่าจะมีกษัตริย์หรือจักรพรรดิ์ที่เข้มแข็งแค่ไหน เขาไม่เคยสามารถผูกขาดอำนาจอยู่ในมือได้หมด ต้องพึ่งพ่อค้า นายธนาคาร นายพล ขุนนาง พระทางศาสนา เจ้าของที่ดิน และองค์มนตรี ต่างๆ เสมอ และมักจะมีคู่แข่งที่รอแย่งชิงอำนาจตลอด พูดง่ายๆ ชนชั้นปกครองในอดีตประกอบไปด้วยหมู่คณะที่เป็นคู่แข่งกันและร่วมมือกันในเวลาเดียวกัน แต่แน่นอนในหมู่คณะนี้จะมีบุคคลบางคนที่มีอำนาจมากและในเวลาหนึ่งสามารถครอบงำคนอื่นได้ในระยะสั้น แต่การครอบงำไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด มันมาจากการสร้างแนวร่วมด้วย ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสิน เราจะเห็นภาพนี้ตลอด แม้สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ระบบทุนนิยม ของรัชกาลที่๕ ก็ต้องสร้างแนวร่วมเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและหมู่คณะ ไม่ใช่นั่งสั่งอยู่คนเดียว นอกจากนี้คู่แข่งที่เป็นหมู่คณะในชนชั้นปกครองเดียวกันก็มี ประวัติศาสตร์ยุโรปก็เช่นกัน แต่นั้นไม่ได้แปลว่ากษัตริย์ในอดีตทั่วโลกจะไม่อวดอ้างว่าตนเป็น “เจ้าเหนือฟ้าเหนือหัว” เสมอ ซึ่งคำอวดกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

กษัตริย์เฮนรี่ที่๘ ของอังกฤษ มีอำนาจรวมศูนย์พอสมควร แต่ต้องแบ่งอำนาจให้หัวหน้าสถาบันศาสนาและรัฐมนตรี จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นถูกรื้อฟื้นโดยชนชั้นซัมมูไรในการปฏิวัติเมจี่ ในสงครามโลกครั้งที่สองพวกทหารคลั่งชาติอาจอ้างว่าตนพร้อมจะตายเพื่อจักรพรรดิ์ แต่ชนชั้นปกครองญี่ปุ่นตอนนั้นประกอบไปด้วยนายทุนอุตสาหกรรมและนายทหาร ในระบบเผด็จการนาซี ฮิตเลอร์อาจเป็นผู้นำสูงสุด แต่มีโครงสร้างเครือข่ายพรรคนาซีซึ่งลงมาสู่ทุกระดับของสังคม มีแกนนำพรรคที่มีอำนาจ ยิ่งกว่านั้นพรรคนาซีไม่สามารถขึ้นมามีอำนาจได้ถ้านายทุนใหญ่ของเยอรมันไม่หนุนหลัง ระบบเผด็จการสตาลินก็เหมือนกัน ปกครองโดยหมู่คณะ ฐานอำนาจคือพวกข้าราชการแดง และเมื่อสตาลินตายระบบนั้นก็ยังดำรงอยู่ต่อไปจนถึงปี 1989 ในกรณีเผด็จการฮิตเลอร์กับสตาลิน การบังคับข่มขู่ต่างๆ และการสั่งการ กระทำอย่างชัดเจน ทุกคนรู้ว่าใครสั่งและแกนนำที่มีอำนาจเป็นใคร ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นจะทำไม่ได้ เพราะประชาชนจะไม่เกรงกลัวหรือเชื่อฟัง และนอกจากนี้สตาลินกับฮิตเลอร์เป็นผู้นำที่มีนิสัยใจคอคึกคักแข็งแกร่ง ไม่ได้เป็นคนขี้อายที่พูดกำกวม และไม่ได้เป็นคนที่ไม่เคยกล้าฟันธงเรื่องจุดยืนในที่สาธารณะ

ในระบบเผด็จการที่ปกครองโดยพวกพระในยุคแรกๆ ของสังคมชนชั้น หลังยุคบุพกาล พวกพระจะคุมระบบเกษตร แต่เนื่องจากมนุษย์ยังนับถือธรรมชาติและไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์พอ พวกพระสามารถอ้างได้ว่าตน “รับคำสั่งมาจากเทวดา” ได้ โดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์กัน แต่ระบบแบบนี้หมดจากโลกนานแล้ว

นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายทุนสมัยนี้มักอ้างเสมอว่าไม่มีชนชั้นในสังคม แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรากฏว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องรับแบกภาระในขณะที่ชนชั้นนายทุนเสพสุขท่ามกลางการล้มละลายของระบบธนาคารและการตกงาน และพรรคการเมืองต่างๆ หรือรัฐบาลต่างๆ ที่สนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ก็จะใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่นำไปสู่การโอนมูลค่าไปสู่ชนชั้นนายทุนเสมอ

นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายทุนสมัยนี้มักอ้างอีก ว่าทุนนิยมนำไปสู่เสรีภาพและกำเนิดของ “เสรีนิยม” แต่มันเป็นเพียงเสรีภาพของนายทุนเท่านั้น อย่างไรก็ตามในระบบทุนนิยมอำนาจทางเศรษฐกิจไม่เคยอยู่ในมือบุคคลคนเดียวได้ แต่จะอยู่ในมือผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มทุนใหญ่ที่แข่งกันเอง ในขณะเดียวกันนายทุนเหล่านี้ต้องพึ่งโครงสร้างรัฐ เพื่อให้มีเสถียรภาพและความมั่นคง ทั้งภายในประเทศและในการเมืองระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีต้องแบ่งอำนาจกับนักการเมืองอื่นๆ กับผู้พิพากษา กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ และโดยเฉพาะกับนายทุนใหญ่

ถ้าพิจารณากรณีประเทศไทยภายใต้กรอบวิเคราะห์ทางชนชั้นอันนี้ จะเห็นชัดว่าชนชั้นปกครองไทยเป็นหมู่คณะที่ประกอบไปด้วย นายพล นายทุนนักธุกิจใหญ่ นักการเมืองระดับสูง ผู้พิพากษาระดับหัวๆ อธิบดีกรมต่างๆ องค์มนตรี และมีประมุขเป็นกษัตริย์ และหมู่คณะนี้แบ่งอำนาจหน้าที่กัน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้เลย ....แต่นิยายภาพลวงตาที่ชนชั้นปกครองไทยอยากสร้างขึ้น เพื่อปกปิดหรือให้ความชอบธรรมกับการกระทำของตนเองคืออีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเข้าใจตรงนี้จะเข้าใจว่าทำไมสมาชิกบางส่วนของชนชั้นปกครองที่เคยทะเลาะกัน ตอนนี้อยากจับมือปรองดองกัน และจะเข้าใจว่าทำไมทักษิณ ไทยรักไทย ยิ่งลักษณ์ หรือเพื่อไทย เชิดชูสถาบันกษัตริย์มาตลอด พอๆ กับนายทหาร นายทุนอื่นๆ และข้าราชการระดับสูง

ในอดีตมีช่วงเวลาหนึ่งที่นายทหารบางคนและสมาชิกอื่นๆ ของชนชั้นปกครองไทย ไม่ได้มีจุดยืนที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ท่ามกลางกระแสสงครามเย็น คู่แข่งของจอมพลป. เช่นสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพรรคพวก หันมาเชิดชูสถาบัน และกลุ่มอื่นๆก็คล้อยตามหรือเห็นชอบอยู่แล้ว สาเหตุสำคัญอันหนึ่งคือสถาบันกษัตริย์และลัทธิ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นสิ่งที่ใช้ต่อต้าน “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ได้ และถ้าพรรคคอมมิวนิสต์ชนะในไทย ชนชั้นปกครองไทยในรูปแบบที่เป็นอยู่ตอนนั้นจะเสียอำนาจไปหมด ไม่ใช่ว่าหลัง ๑๔ ตุลา สถาบันกษัตริย์ยึดอำนาจสูงสุดมาได้แต่อย่างใด อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ

แน่นอนการถืออาวุธในมือ ทำให้นายพลไทยมีอำนาจสูงในการทำรัฐประหาร แต่เขาทำไม่ได้ถ้าไม่ปรึกษาหารือและได้รับการสนับสนุนจากนายทุนใหญ่ ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี หรือมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหว อย่างเช่นพวกพันธมิตรฯ เป็นต้น

บุคคลที่ควรถูกนำมาขึ้นศาลในกรณีการก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา คือคณะทหารเผด็จการ นำโดย สนธิ บุญยรัตกลิน บุคคลที่ควรถูกนำมาขึ้นศาลในกรณีการสั่งฆ่าประชาชนเสื้อแดงในปี ๒๕๕๓ คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุพงษ์ เผ่าจินดา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ และคนที่ควรถูกนำมาขึ้นศาลในกรณีตากใบคือผู้บัญชาการทหาร แม่ทัพภาคที่ ๔ พิศาล วัฒนวงศ์คีรี กับ ทักษิณ ชินวัตร

ไม่มีใครอื่นที่แอบสั่งคนเหล่านี้ให้เข่นฆ่าประชาชนหรือทำรัฐประหาร แต่มีสมาชิกอื่นๆ อีกมากมายในหมู่คณะของชนชั้นปกครองไทยที่ปิดหูปิดตา ยุยง หรือให้ความชอบธรรมกับสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ ซึ่งแปลว่าคนดังกล่าว ทั้งหมู่คณะ ไม่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งสาธารณะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจต่อไป

การปรองดอง หรือการวนเวียนของธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะของชนชั้นปกครองไทยแต่อย่างใด การเปลี่ยนแปลงมาจากการรณรงค์เคลื่อนไหวของมวลชนต่างหาก

ถ้าเราจะเริ่มสร้างประชาธิปไตยในไทย เราต้องลบผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยา และยกเลิกกฏหมาย 112 แต่แค่นั้นไม่พอ ในระยะยาวเราจะต้องสร้างสังคมใหม่ที่อำนาจการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ในมือของประชาชนผู้ทำงานทั้งปวง ไม่ใช่จำกัดอยู่ในมือของไม่กี่คนในชนชั้นปกครอง มันแปลว่าเราต้องล้มเผด็จการของทุนนิยม และสร้างสังคมนิยม เพื่อยกเลิกระบบชนชั้นให้หมดสิ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'เสื้อแดงอุดรฯ' เรียกร้อง 'เพื่อไทย' ร่วมคัดคนลง อบจ. ที่เชียงรายเพื่อไทยแพ้อีก

Posted: 05 May 2012 06:33 AM PDT

คนเสื้อแดงฯ ไม่พอใจ ส.ส.อุดรธานี งุบงิบคัดเลือกผู้สมัครนายก อบจ.นัดชุมนุมหน้าศาลากลาง ตั้งประเด็นคำถาม 7 ข้อให้ ส.ส.เพื่อไทยตอบข้อสงสัย ส่วนการเลือกนายกเทศมนตรีที่เชียงราย ตัวแทนพรรคเพื่อไทยแพ้
 
5 พ.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าตัวแทนเสื้อแดงภาคประชาชนผู้รักษ์ประชาธิปไตยจากอำเภอโนนสะอาด อ.เมือง อ.ศรีธาตุ อ.กุมภวาปี ประมาณ 200 คนได้เดินทางมาร่วมชุมนุม ที่ศาลาพิธี สนามทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุดรธานี  เพื่อเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี
 
ต่อมานายเกรียงศักดิ์ ศรีโบราณ หนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องจาก อำเภอกุมภวาปี ได้อ่านแถลงการณ์ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส.อุดรธานี ได้รับเลือกตั้งยกทีมทั้งจังหวัดเป็นเพราะประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้ร่วมกันสนับสนุนรณรงค์ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง บางเขตเลือกตั้งประชาชนต้องทนกล้ำกลืนฝืนใจเลือก ส.ส.คนเดิมที่ไม่ยอมลงพื้นที่พบปะประชาชน หรือแม้แต่ช่วยเหลือประชาชน
       
แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองบังคับจึงจำเป็นต้องเลือกเพื่อให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือก และเมื่อมาถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานี ส.ส.อุดรธานีทั้ง 8 คน รวมทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คน ได้อ้างมติพรรคเพื่อไทย ให้จัดตั้งบุคคลเพื่อเป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งในฐานะตัวแทนภาคประชาชนผู้รักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดอุดรธานี รู้สึกไม่สบายใจ และอึดอัด จึงได้มารวมตัวกันแสดงพลังไม่เห็นด้วย
       
ทั้งนี้ เสื้อแดงภาคประชาชนผู้รักษ์ประชาธิปไตย ได้ตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามจำนวน 7 ข้อว่า 1.การที่ ส.ส.ทั้ง 8 คน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คน อ้างมติพรรคเพื่อไทยในเรื่องดังกล่าว ถามว่าพรรคได้มีมติจริงหรือไม่ อย่างไร ที่ไหน และเมื่อไร ซึ่งถ้าเป็นเรื่องไม่จริงพรรคจะมีมาตรการอย่างไรต่อกรณีดังกล่าวนี้
       
2.ประโยคหนึ่งที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวเสมอว่า พรรคการเมืองและ ส.ส.ต้องฟังเสียง และความต้องการประชาชน การกระทำตรงข้ามกับคำพูดดังกล่าว ท่าน ส.ส.มีเหตุผลและเจตนาอย่างไรกับการกระทำดังกล่าว
       
3.เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าบุคคลที่ ส.ส.สนับสนุน ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 9 คน จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หรือจะให้ภาคประชาชนผู้รักษ์ประชาธิปไตยเป็นผู้กำหนดมาตรการเองหรือไม่
       
4.ภาคประชาชนฯได้ร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย มีคนตายถึง 91 คน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ส.ส.กลุ่มดังกล่าวมีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ การครอบงำด้วยการใช้อำนาจของบุคคลเพียงกลุ่มเดียว ชี้นำ กำหนดให้ผู้รักประชาธิปไตยอุดรธานีต้องกระทำและปฏิบัติตามห้ามโต้แย้งแข็งขันปิดปาก ห้ามพูด ห้ามแสดงความคิดเห็น ยิ่งกว่าเผด็จการทรราชย์ นี่หรือคือผลลัพธ์ ผลตอบแทน ที่มอบให้กับภาคประชาชน พวกท่านได้ขึ้นสู่ตำแหน่งแต่ไม่ซึมซับในเรื่องประชาธิปไตยแม้แต่น้อย เพราะผลประโยชน์อันใดหรือไม่ ถึงได้อ้างสิทธิแทนประชาชนเช่นนี้
       
5. ส.ส.ควรแสดงจุดยืนกับการเมืองในระดับท้องถิ่นว่า ควรแสดงบทบาทอยู่ในระดับใด มิใช้เข้ามาก้าวก่ายทุกระดับ โดยไม่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด และถ้าเป็นเช่นนั้น ต่อไปการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ก็กำหนดดำเนินการเองหมดทุกอย่างไปเสียใช่หรือไม่
      
6.การเมืองระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องของประชาชน เพราะประชาชนได้รับผลประโยชน์และได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบาย กฎหมาย ข้อบัญญํติต่างๆ ที่กำหนดขึ้นจากตัวแทนของประชาชน ดังนั้น ผู้เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น หรือ ระดับชาติ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เป็นผู้กำหนด เพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตย อำนาจที่ยิ่งใหญ่คืออำนาจประชาชน
       
7.ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ได้กล่าวอ้างพรรคเพื่อไทย และนำเครื่องหมายพรรคเพื่อไทย มาใช้เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง จะเกิดผลเสียหรือไม่ ดังนั้น พรรคต้องดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของมวลชนคนรักประชาธิปไตย ซึ่งอาจทำให้ภาพลักษณ์ของอดีตนายกทักษิณและพรรคเพื่อไทย เสียหายได้
       
นายเกรียงศักดิ์ เปิดเผยถึงการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนครั้งนี้ว่า ไม่ได้มีผู้ใดหรือ บุคคลใดอยู่เบื้องหลัง และไม่ได้มีเบื้องหลังอะไรทั้งสิ้นการออกมาครั้งนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกของประชาชนล้วนๆ และเพื่อต้องการที่จะให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ เช่นการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องที่ ส.ส.ตัดสินใจกันเอง 
       
เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า น.ส.โอปอ หัตถสงเคราะห์ บุตรสาวของนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.หนองบัวลำภู รมช.กระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมาร่วมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งน.ส.โอปอ นั้นเคยเปิดตัวประกาศที่จะลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีเช่นกันแต่เมื่อถึงวันรับสมัครทางพรรคไม่เลือก
 
"วันชัย จงสุทธานามณี" ชนะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเชียงราย คะแนนทิ้งคู่แข่ง "สมพงษ์ กูลวงศ์" ที่พรรคเพื่อไทย สนับสนุน ขาดลอย
 
ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (5 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.เชียงราย รายงานผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงราย อย่างไม่เป็นทางการมา ว่า ตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันนี้ ที่เริ่มเปิดหีบบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 4 หมื่นคน หย่อนบัตรเลือกนายกเทศมนตรีนครเชียงรายคนใหม่ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4 คน จนถึงเวลาปิดหีบบัตรเมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน หลังจากนั้นจึงเปิดหีบตรวจนับคะแนนภายในหน่วยจนนับคะแนนเสร็จสิ้น  กรรมการประจำหน่วยจึงขนหีบบัตรทั้งหมด 81 หน่วย  นำส่งที่สำนักเทศบาลนครเชียงราย เพื่อตรวจนับคะแนนทั้งหมด  ผลปรากฎว่า หมายเลข 1 นายวันชัย จงสุทธานามณี อดีตนายกเทศมนตรีหลายสมัย ได้คะแนน 14,837 คะแนน เฉือนชนะหมายเลข 3 นายสมพงษ์ กูลวงศ์ นายกเทศมนตรีสมัยที่ผ่านมา ได้คะแนน 11,033 คะแนน หมายเลข 2 นายวิทยา ตันติภูวนารถ แกนนำคนเสื้อแดง ได้ 2,339 คะแนน และ หมายเลข 4 ชาตรี อินทยศ ผู้สมัครอิสระ ได้ 734 คะแนน  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีครั้งนี้คิดเป็น ร้อยละ 60
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.เชียงราย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งอีก 6 ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย จ.เชียงราย ร่วมกันประกาศให้การสนับสนุน นายสมพงษ์ ลงต่อสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อ นายวันชัย ผู้ได้รับการสนับสนุนจากเสียงของประชาชนเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ จ.ปทุมธานี ที่คนของพรรคเพื่อไทย ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง นายก อบจ. ต่อคนของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อไม่นานมานี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: สำรวจแล้ว . . . ราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้น

Posted: 05 May 2012 06:11 AM PDT

5 พ.ค. 55 - นักข่าวพลเมืองกิตติมศักดิ์ “ดร.โสภณ พรโชคชัย” เปิดเผยผลการลงสำรวจ “สีลม” กับประเด็นที่สื่อหลักประโคมว่าข้าวของแพงขึ้นจริงหรือ? ชี้ควรส่งเสริมการรณรงค์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองด้วยข้อมูลที่เป็นจริง แทนที่จะใช้ความรู้สึก โดยได้รายละเดียดดังต่อไปนี้ ...

ผู้สำรวจเห็นข่าวนักการเมืองหลายท่านของพรรคหนึ่งออกมาแถลงว่าราคาอาหารแพงขึ้นมาก แต่จากข้อมูลที่ผู้สำรวจสัมผัสอยู่ทุกวัน ผู้สำรวจไม่รู้สึกเช่นนั้น ผู้สำรวจจึงออกสำรวจง่าย ๆ เพื่อยืนยันข้อมูลว่าราคาอาหารไม่ได้แพงขึ้นแต่อย่างใด

การนำเสนอผลการสำรวจนี้อาจจะส่งผลบวกและลบต่อพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้สำรวจขอเรียน (หรือสาบานก็ได้) ว่าผู้สำรวจไม่ได้เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองใด ไม่ได้ทำเพราะได้รับผลประโยชน์จากพรรคการเมืองใด แต่ที่นำเสนอนี้ก็เพียงเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ประชาชนจะได้ไม่ตื่นตกใจ และทำให้ผู้ค้าไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาอาหารจากการโหมโฆษณาดังกล่าว

ผู้สำรวจสำรวจในพื้นที่สีลมซึ่งเป็นศูนย์ธุรกิจอันดับหนึ่งของประเทศไทยและตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยเดินเท้าสำรวจในวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 เวลา 11:40-13:00 ซึ่งในวันดังกล่าวยังมีบริษัทห้างร้านหลายแห่งเปิดดำเนินการ ผู้สำรวจได้ถ่ายภาพร้านอาหารพร้อมตัวเลขราคาอาหารมาประกอบไว้ด้วย ร้านเหล่านี้เป็นร้านที่ประชาชนทั่วไปใช้รับประทานอาหารเที่ยง ซึ่งอาจเป็นร้านข้างถนน ร้านที่ตั้งอยู่ในศูนย์อาหาร ร้านที่ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์ หรือร้านที่ตั้งอยู่เป็นเอกเทศ ยกเว้นร้านอาหารปรับอากาศ ร้านกาแฟ หรือภัตตาคาร

ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า

1. ราคาอาหารไม่ได้แตกต่างจากพื้นที่อื่นทั้งที่เป็นที่ตั้งศูนย์ธุรกิจของประเทศ และผู้ทำงานน่าจะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนทั่วไป กล่าวคือในกรณีข้าวแกง ยังมีขายในราคา 25 บาท (กับข้าวอย่างเดียว – รูปที่ 2, 17 และ 21) อย่างไรก็ตามราคาอาหารทั่วไปเริ่มต้นที่ราคา 30 บาท จากการสังเกตปริมาณอาหารที่มีผู้รับประทานอยู่ในร้าน ก็มีปริมาณปกติเช่นเดิมหรือเช่นร้านอาหารทั่วไป ไม่ใช่ว่าขายในราคาเดิม แต่ปริมาณลดลงแต่อย่างใด สำหรับคุณภาพของอาหารเท่าที่สังเกต ก็น่าจะใกล้เคียงกัน แต่ผู้สำรวจไม่สามารถที่จะตรวจสอบในกรณีนี้ไ
ด้
 
2. ราคาอาหารที่สูงกว่านั้น เช่น ราคา 40-45 บาท จะเป็นขนาดพิเศษ โดยมีปริมาณมากเป็นพิเศษ หรือใส่วัตถุดิบที่มีคุณภาพหรือขนาดใหญ่กว่าปกติ เช่น เกี๊ยวกุ้ง (รูปที่ 18) เป็นต้น
 
3. จากการสัมภาษณ์ผู้ขายในศูนย์อาหารในซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์ – รูปที่ 4) พบว่า ราคาขั้นต่ำขายอยู่ที่ 30 บาท แต่หากเป็นสาขาอื่น ราคาจะเริ่มต้นที่ 25 บาท ทั้งนี้ราคาอาหารขึ้นอยู่กับค่าเช่าที่ขายอาหาร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ เพราะวัตถุดิบไม่ได้ขึ้นราคาแต่อย่างใด
 
4. ในระหว่างเดินสำรวจ พบภาพที่น่าประทับใจ เช่น มีร้านหนึ่งติดป้ายเป็นภาษาต่างประเทศให้รู้ว่าขายราคาเดียวกับคนไทย (รูปที่ 19) อีกร้านหนึ่งก็ให้ดื่มน้ำโดยไม่คิดเงิน ไม่ต้องสั่งอาหาร (รูปที่ 20) ร้านที่ดูค่อนข้างหรู คือ เชียงการีลาคิทเช่น (สาขารถไฟฟ้าช่องนนทรี – รูปที่ 23) ยังมีขายโจ๊ก 30 บาท เกาหลาเลือดหมู และข้าวต้มกุ้งราคาเพียง 40 บาท นอกจากนี้ร้านในอาคารพาณิชย์ที่ต้นทุนค่าพื้นที่ขายสูงกว่า ก็ยังขายได้ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท (รูปที่ 9-11)
 
ข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากการเดินสำรวจนี้ก็คือ สิ่งที่ควรจะมีในประเทศไทยก็คือการส่งเสริมการรณรงค์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองด้วยข้อมูลที่เป็นจริง แทนที่จะใช้ความรู้สึก หรือความเห็นต่างทางการเมือง นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งผู้ค้าก็คือ การจัดสถานที่ที่มีค่าเช่าย่อมเยาในการขายอาหาร ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถยืนหยัดขายอาหารในราคาที่ถูกได้
 
โปรดดูรูปต่าง ๆ จากการสำรวจดังนี้
 
 

 
รูปที่ 1: ที่ที่ตั้งของร้านอาหารลำดับตามภาพที่สำรวจ ณ ย่านสีลม ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร 11:40 – 13:00 เสาร์ 5 พฤษภาคม 2555


รูปที่ 2: ราคาต่ำสุดข้าวราดแกงอย่างเดียว 25 บาทเท่านั้น ณ สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี


รูปที่ 3: บะหมี่เกี๊ยว 30 และ 35 บาท (พิเศษ) ณ ซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์)


รูปที่ 4: ป้ายราคาร้านอาหารที่เริ่มต้น 30 บาทในศูนย์อาหาร ณ ซอยสีลม 5 (ละลายทรัพย์)


รูปที่ 5: ก๋วยเตี๋ยวแคะก็ราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท ณ ซอยสีลม 3


รูปที่ 6: ข้าวมันไก่ตอนจานใหญ่ ราคา 40 บาทครับ พร้อมน้ำซุบ ณ ซอยคอนแวนต์


รูปที่ 7: ก๋วยเตี๋ยวทะเลซีฟูด และอื่น ๆ ราคา 35-45 บาท ณ ซอยคอนแวนต์


รูปที่ 8: ก๋วยเตี๋ยวน่องไก่ตุ๋นยาจีน ก็เริ่มต้นที่ 30 บาท ณ ซอยคอนแวนต์


รูปที่ 9: ขนาดร้านในอาคารพาณิชย์ใกล้สีลมคอมเพล็กซ์ ติดถนนสีลม ก็ขายเริ่มต้นที่ราคา 35 บาท


รูปที่ 10: ร้านเจ๊เอ็งชวนเสวย เจ้าเก่าติดถนนสีลมในอาคารพาณิชย์ ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท


รูปที่ 11: อีกร้านติดถนนสีลม มุมปากซอยศาลาแดง ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท (ป้ายเล็ก ๆ อยู่ด้านในร้าน)


รูปที่ 12: ในซอยศาลาแดง อาหารทุกอย่างก็เริ่มต้นที่ 30 บาทเป็นส่วนใหญ่


รูปที่ 13: แต่ร้านนี้ในซอยศาลาแดงเช่นกัน เป็นข้าวมันไก่และเกาเหลาอย่างดี โปรดสังเกตปริมาณมาก ก็เริ่มต้นที่ 35 บาท 


รูปที่ 14: ข้าวขาหมู ก็ขายราคา 30 บาทเป็นหลัก ณ ถนนพระรามที่ 4 ใกล้ ๆ อาคารชาญอิสระ 


รูปที่ 15: ร้านนี้รายการอาหารละเอียด ก็ 30-40 บาท ใกล้ ๆ อาคารชาญอิสระทาวเวอร์ ณ ถนนพระรามที่ 4


รูปที่ 16: ร้านนี้อยู่เป็นสัดส่วนในอาคาพาณิชย์ ก็ยังขายราคาเดียว 30 บาท ณ ถนนพระรามที่ 4


รูปที่ 17: ข้าวแกงมีให้เลือกนับสิบอย่างข้างตึกชาญอิสระทาวเวอร์ ฝั่งสุรวงศ์ ก็เริ่มต้นที่ 25 บาทเท่านั้น


รูปที่ 18: ร้านนี้แพงที่สุด! 40-70 บาท แต่ดูขนาดของเกี๊ยวกุ้งเสียก่อน ในซอยข้างตึกชาญอิสระทาวเวอร์


รูปที่ 19: โอ่อ่าเปิดเผย ขายราคาเดียวกันทั้งไทยและเทศ 40 บาทขึ้นไป ณ ถนนสุรวงศ์ ตรงข้ามโรงแรมมณเฑียร


รูปที่ 20: ใจดีจริง ๆ ร้านนี้ให้ดื่มน้ำฟรี แม้ไม่ได้ซื้อข้าวแกงที่เริ่มต้นราคาที่ 30 บาท ณ ถนนสุรวงศ์ ใกล้พัฒน์พงศ์


รูปที่ 21: ราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท (ข้าวแกงอย่างเดียว) แต่ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 30 บาท ณ สีลมสแควร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์


รูปที่ 22: อาหารตามสั่งก็เริ่มต้นที่ 30 บาทเช่นกัน ณ สีลมสแควร์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์


รูปที่ 23: เชียงการีลาคิทเช่น (สาขารถไฟฟ้าช่องนนทรี) ยังมีขายโจ๊ก 30 บาท เกาหลาเลือดหมู และข้าวต้มกุ้งราคาเพียง 40 บาท
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกฯ มาเลย์อัด "Bersih 3.0" ต้องการโค่นรัฐบาลเลียน "อียิปต์"

Posted: 05 May 2012 04:59 AM PDT

เพราะต้องการชุมนุมที่จัตุรัสเมอเดก้า เหมือนชุมนุมที่จัตุรัสทะฮีร์ ที่กรุงไคโร พร้อมประณามเป็นความจงใจทางการเมือง และต้องการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัก ของมาเลเซียกล่าวเมื่อวานนี้่ (4 พ.ค.) ว่าการชุมนุมเบอร์เซะ 3.0 (Bersih 3.0) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นความพยายามในการโค่นล้มรัฐบาล ในขณะที่เขาได้พยายามบริหารงานโดยการปฏิรูปการเลือกตั้ง

ทั้งนี้นายนาจิปกล่าวระหว่างการปราศรัยที่กลันตัน โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย โดยเขากล่าวว่าผู้ประท้วงเบอร์เซะต้องการมากกว่าการชุมนุมที่จัตุรัสเมอร์เดก้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง

"พวกเขาต้องการยึดจัตุรัสเป็นเวลาหลายวัน นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมผู้จัดการชุมนุมเบอร์เซะ 3.0 จึงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้จัดการชุมนุมในสถานที่อื่น อย่างสนามกีฬาเมอร์เดก้า เป็นความจงใจทางการเมืองของพวกเขาอย่างแท้จริง เป็นความพยายามที่จะล้มรัฐบาลที่ปุตราจายา

"พวกเขาต้องการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ตีพิมพ์คำกล่าวของเขา

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวกับผู้สนับสนุนว่า ผู้ประท้วงเบอร์เซะต้องการ "ยึด" จัตุรัสเมอร์เดก้าเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เหมือนกับที่เกิดขึ้นที่จัตุรัสทะฮีร์ ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ทั้งนี้การประท้วงที่อียิปต์เมื่อปีก่อนได้ทำให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคต้องลงจากตำแหน่ง

ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัค ได้ประณามผู้จัดการชุมนุมเบอร์เซะ 3.0 ด้วยว่าสร้างความรุนแรง โดยกล่าวว่าถ้ากลุ่มเบอร์เซะเห็นด้วยที่จะชุมนุมที่สนามกีฬา "สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น" เขากล่าว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวด้วยว่า ถ้ามีการจัดชุมนุมที่สนามกีฬา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะสามารถอำนวยความสะดวกได้

อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมเบอร์เซะเมื่อ 9 ก.ค. ปีที่ผ่านมา ทางการไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้สนามกีฬาเมอร์เดก้าในการจัดชุมนุม จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Bersih rally was an attempt to overthrow the govt: Najib, Todayonline, May 05, 2012, 04:45 AM

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "รำลึก 5 พฤษภา"

Posted: 05 May 2012 04:25 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "รำลึก 5 พฤษภา"

สมาคมต้านโลกร้อนต้านเคหะขายแก้มลิง

Posted: 05 May 2012 04:08 AM PDT

 
5 พ.ค. 55 - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนแถลงการณ์คัดค้านการเคหะแห่งชาติขายแก้มลิงพื้นที่ชุ่มน้ำแนวป้องกันน้ำท่วม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

เรื่อง คัดค้านการเคหะแห่งชาติขายแก้มลิงพื้นที่ชุ่มน้ำแนวป้องกันน้ำท่วม
 
ตามที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ประกาศขายที่ดินบริเวณที่เป็นบึงรับน้ำหรือแก้มลิงตามธรรมชาติบริเวณข้างโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น ริมถนนเสรีไทย บริเวณสี่แยกนิด้า ในเนื้อที่ประมาณ 22-1-12.7 ไร่ให้กับเอกชนหรือผู้ที่สนใจนำไปพัฒนาแสวงหากำไรและผลประโยชน์ส่วนตัวในทางธุรกิจได้นั้น
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ไม่อาจทนเห็นพฤติกรรมของหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้ และขอคัดค้านการกระทำดังกล่าวมา ณ ที่นี้ เหตุเพราะการเคหะแห่งชาติ อันเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนและสภาพแวดล้อมเป็นที่ตั้ง แต่กลับมีพฤติการณ์แสวงหากำไรและผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน อันผิดต่อหลักการของการก่อตั้งการเคหะแห่งชาติขึ้นมา อีกทั้งผิดต่อนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและการฟื้นฟูคูคลองแหล่งน้ำตามธรรมชาติ, ผิดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ที่กำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งน้ำจืดเป็นพื้นที่สีเขียวและมิให้ส่วนราชการเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อสงวนไว้เป็นแหล่งรองรับน้ำและกักเก็บน้ำต่อไป,  ผิดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยปี 2549 ว่าด้วยการควบคุมการใช้พื้นที่ทะเลสาบของกรุงเทพมหานคร และผิดต่อนโยบายการกำกับดูแลที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของการเคหะแห่งชาติที่ลงทุนโฆษณาสร้างภาพมาอย่างต่อเนื่อง  การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเบียดบังพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาแล้วโดยกรุงเทพมหานคร เป็นการทำลายแหล่งรองรับน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ยังผลอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่รองรับน้ำของชุมชนกว่า 300,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเดียวกันกับพื้นที่รองรับน้ำโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริบึงลำพังพวย อันเป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับการดักรับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางกะปิ และเขตบึงกุ่มของกรุงเทพมหานครด้วย
 
การที่การเคหะแห่งชาติได้กำหนดให้ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่จัดประโยชน์เพื่อหารายได้โดยการเช่าหรือขาย ตามแผนการบริหารสินทรัพย์ของการเคหะแห่งชาตินั้น ถือว่าเป็นแผนการใช้ที่ดินที่สังคมต้องประณาม เพราะเป็นการเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวขององค์กร โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และไม่มองเห็นถึงผลกระทบที่จะตามมามหาศาล อันจักสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อชาวบ้านโดยรอบพื้นที่ดังกล่าวและชาวบ้านโดยทั่วไปโดยชัดแจ้ง
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอประกาศต่อสาธารณชนมา ณ ที่นี้ว่าจะไม่ยอมให้หน่วยงานรัฐดังกล่าว กระทำการโดยใช้อำนาจโดยอำเภอใจ ยังผลให้ต้องสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่แก้มลิงแหล่งรองรับน้ำในเมืองหลวง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ และหากการเคหะแห่งชาติยังคงเดินหน้าที่จะเปิดประมูลการขายพื้นที่แก้มลิงดังกล่าวให้จงได้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2555 นี้ สมาคมฯก็จะร่วมกับชาวบางกะปิ ชาวบึงกุ่ม และชาวกรุงเทพมหานครทั้งปวง ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพิกถอนการกระทำดังกล่าวตามสิทธิต่อไป
 
ประกาศมา ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2555
 
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
 
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สันติประชาธรรมเสวนา: นักวิชาการตั้งคำถามถึงนักสันติวิธี ความเป็นกลางมีจริงหรือไม่

Posted: 05 May 2012 03:58 AM PDT

 ‘สุรพศ’ ตั้งคำถาม “สันติวิธี ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ที่เรามักพูดถึงในที่สุดแล้วมันสนับสนุนเสรีภาพและความเป็นธรรมจริงหรือไม่  ความเป็นกลางมีจริงหรือไม่”

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมสันติประชาธรรมเสวนา หัวข้อ “สันติวิธี ความเป็นกลาง ธรรมะ และความเป็นธรรม: บทบาทของพุทธศาสนาท่ามกลางวิกฤตทางสังคมและการเมือง ควรเป็นอย่างไร” ที่สวนเงินมีมา โดยพระไพศาล วิสาโล, สุรพศ ทวีศักดิ์ และวิจักขณ์ พานิช เป็นวิทยากร งานเสวนานี้ตั้งคำถามถึงความหมายของ “สันติวิธี” “ความเป็นกลาง” “ธรรมะ” และ “ความเป็นธรรม” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่พุทธศาสนิกชนมักนำมายึดเป็นทางออกในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง แต่บริบทความขัดแย้งที่ยากจะระบุว่าความเป็นกลางอยู่ที่ใด ทำให้คำเหล่านี้ถูกใช้และตีความอย่างสับสนในความหมายที่แท้จริง รวมทั้งสับสนกับบทบาทของพระพุทธศาสนาต่อสังคมว่าควรเป็นไปในทิศทางใด

เสรีภาพคือแก่นของพระพุทธศาสนา

สุรพศ ทวีศักดิ์ เริ่มการอภิปรายโดยวิเคราะห์พระพุทธศาสนา ว่าเป็นศาสนาที่มีนัยยะให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพ “วิมุติ” ซึ่งเป็นแก่นของหลักธรรมนั้นหมายถึงความหลุดพ้น หรือแปลได้ว่าเสรีภาพ ส่วน “ธรรมะ” เป็นคำที่มีมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปีและผ่านการตีความมาอย่างหลากหลายจนถึงปัจจุบัน หากมองตามพุทธประวัติแล้ว ธรรมะ คือ สัจจะ เสรีภาพ และเสมอภาค การแสวงหาสัจจะหรือความจริงนั้นคือทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งการแสวงหาสัจจะจำเป็นต้องเป็นอิสระจากการครอบงำทางสังคม เช่น เจ้าชายสิทธัตถะมีเสรีภาพจากอิทธิพลของพ่อที่ประสงค์จะให้ครองราชย์ มีเสรีภาพจากอิทธิพลของอาจารย์ ความเชื่อ และลัทธิต่างๆ ขณะที่ไปศึกษาในหลายๆสำนัก จนค้นพบทางของตัวเอง พบอริยสัจ 4 และเป็นเสรีภาพจากกิเลส ส่วนความเสมอภาคในพระพุทธศาสนา หมายถึง ทุกคนมีเสรีภาพที่จะหลุดพ้นและเลือกทางเดินชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

ตามหลักอริยสัจ 4 แล้ว การจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องรู้ความจริงของปัญหาก่อน ในสภาพสังคมไม่มีเสรีภาพในการหาความจริงของปัญหา เช่นไม่สามารถพูดถึงความจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ หลักธรรมก็จะไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาสังคมได้ถึงแม้จะสอนธรรมะมาดีแค่ไหนก็ตาม

 “สันติวิธี” “ความเป็นกลาง” “ความเป็นธรรม” ต้องไม่ขัดแย้งหลักเสรีภาพ เสมอภาค

สุรพศกล่าวว่าถ้า “เสรีภาพ” และ “สัจจะ” ในพระพุทธศาสนามีนัยยะสนับสนุนเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย “สันติวิธี” “ความเป็นกลาง” “ความเป็นธรรม” ที่พูดกันในสังคมก็จำเป็นต้องยึดโยงกับหลักเสรีภาพ ไม่เช่นนั้นคำเหล่านี้ก็ควรถูกตั้งคำถาม ยกตัวอย่างเรื่องการแสดงความเป็นกลางล่าสุด รายงานของสถาบันพระปกเกล้าที่มีทางเลือกให้ทักษิณถูกเอาผิดหรือไม่ก็ได้ แต่กลับปิดทางเลือกไม่ให้เอาผิดอำมาตย์ เช่นการระบุว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดคณะรัฐประหาร และไม่ควรแตะต้องมาตรา 112 หากเป็นกลางจริงๆต้องพูดถึงทุกฝ่ายได้อย่างเช่นที่นิติราษฎร์เสนอให้ทั้งทักษิณและคณะรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่าเทียมกัน แล้วนักสันติวิธีได้ต่อสู้ให้สามารถพูดความจริงได้หรือไม่

สุรพศตั้งข้อสังเกตว่าความรุนแรงที่นักสันติวิธีพูดถึงมักจะเพ่งเล็งไปที่การชุมนุมของคนเสื้อแดง ขณะที่มองข้ามความรุนแรงในระดับอื่น เช่นการนำปืนนำรถถังออกมาก่อรัฐประหารเมื่อปี 49 นักสันติวิธียังดูจะคล้อยตามวาทกรรมกระชับพื้นที่ คืนความสุขให้คนกรุงเทพของรัฐบาล โดยไม่ตั้งคำถามว่าเป็นวาทกรรมที่แยกคนชนบทออกจากคนกรุงเทพฯหรือไม่ นอกจากนั้นยังมองคนเสื้อแดงโดยผนวกเรื่อง M79 ชายชุดดำ ก่อการร้าย ล้มเจ้า โดยไม่จำแนกแยกแยะในการจัดการ ทำให้คนเสื้อแดงเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม

“ถามว่าสันติวิธี ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ที่เรามักพูดถึงในที่สุดแล้วมันสนับสนุนเสรีภาพและความเป็นธรรมจริงหรือไม่  ความเป็นกลางมีจริงหรือไม่ ถ้าบอกว่าความเป็นกลางคือต้องวิจารณ์ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม แล้ววิพากษ์วิจารณ์อำมาตย์ได้ไหม พูดความจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ไหม ถ้าสันติวิธียึดหลักการประชาธิปไตย ถามว่าคุณไม่ต้องต่อสู้กับอำมาตย์หรือ ไม่ต้องต่อสู้ให้แก้ไขมาตรา 112 หรือ ไม่ต้อง ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริงหรือ”

สังคมไทยขาด “สติ” ไม่กล้าเคลียร์ประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน

วิจักขณ์ พานิช วิจารณ์ช่วงวิกฤตการเมืองที่มักมีการชูคำว่า “สติ” (ระลึกได้ รู้ตัว) ออกมาเดินรณรงค์ตามรถไฟฟ้าหรือแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำว่า “สัมปชัญญะ” ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างออกไปรับรู้ ทำความเข้าใจ และตั้งคำถามกับสังคม กลับใช้แต่คำว่าสติมาปิดกั้นให้คนหลบอยู่กับตัวเอง “สติ” เป็นคำที่มักให้ยึดกับจุดอ้างอิงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ร่างกายตัวเอง ลมหายใจตัวเอง ขณะที่สัจธรรมคือความโกลาหลที่ไม่มีจุดอ้างอิง เวลานำคำว่าสติมาใช้ในมิติทางสังคมจึงมักจะเป็นการเน้นย้ำจุดอ้างอิงเดิมของสังคม คือยึดให้กลับมาเป็นสังคมแบบเดิม ความสงบ ปราศจากความขัดแย้ง แต่ไม่ได้พูดถึงโครงสร้างทางสังคมหรือปัญหาที่ทำให้คนออกมาชุมนุมซึ่งจะนำมาสู่ความตื่นรู้หรือสัมปชัญญะของเรา เช่นการที่สถาบันต่างๆที่มีอำนาจไม่ได้สนใจความทุกข์ของประชาชน

การใส่เสื้อคำว่า “สติ” ออกมาเตือนคนที่กำลังจะมาฆ่ากันนั้น วิจักขณ์มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มีพลังน้อยมากและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เป็น “สติ” ที่แท้จริงของสังคม คือการหาสาเหตุของปัญหาและกลับไปแก้ที่ต้นเหตุดังที่นิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารและตั้งหลักใหม่ สังคมที่ล้มกระดานซ้ำแล้วซ้ำอีกจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นคือการไม่ได้สติ สติคือการย้อนกลับไปหาจุดที่ดีที่สุดในการเริ่มต้น รวมทั้งกลับไปหาข้อเท็จจริงและเรียนรู้จากอดีตว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น

วิจักขณ์ยกตัวอย่างกรณีการปราบผู้ชุมนุมชาวไอร์แลนด์โดยทหารอังกฤษซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 คนเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ต้องผ่านช่วงที่รัฐบาลพยายามปกปิดข้อเท็จจริง แต่สุดท้ายแล้วนายกฯอังกฤษก็ออกมาขอโทษเมื่อปีที่แล้ว และมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะพวกเขาตระหนักว่าถ้าไม่ก้าวผ่านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ความรุนแรงเช่นนี้จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้นชาวพุทธในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ต้องดึง “สติ” ตรงนี้กลับมา และไม่ยอมให้มีการปกปิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีก

“ถ้าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่ไม่ยอมพูดถึงประวัติศาสตร์การฆ่ากัน ไม่ยอมค้นหาความจริงว่าใครสั่งฆ่าในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา หรือแม้แต่กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่ไม่มีทางได้สติ จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นกี่ครั้งก็มาใส่เสื้อ “สติ” กัน มากอดกัน มาจุดเทียนหน้าหอศิลป์ เหมือนกับ play ไปวันๆ การปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือการไม่ได้สติเหมือนเดิม”

ทางสายกลางแบบมหายาน ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลาง

วิจักขณ์ กล่าวว่าคำสอนพระพุทธศาสนาในไทยมักถูกตีความอย่างคับแคบ คือต้องคิดแบบเดียวเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ทั้งที่พระพุทธศาสนาเน้นย้ำว่าเสรีภาพในการตีความคำสอนและลองผิดลองถูกมีอยู่ในทุกๆคน พระหรือผู้รู้เพียงแต่เป็นผู้ชี้ทาง ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบ้านเราที่เป็นปมใหญ่ๆมี 2 ประเด็น

ประเด็นหนึ่งคือ พระพุทธศาสนาในอินเดียล่มสลายเพราะการรุกคืบของกองทัพมุสลิม แต่ตำราตะวันตกมีสมมติฐานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับมากคือ ต้นเหตุมาจากการล่มสลายของสถาบันพระพุทธศาสนาในอินเดียเอง สาเหตุสำคัญคือการหลงตัวเอง และปิดกั้นการตีความที่หลากหลาย ซึ่งสะท้อนพระพุทธศาสนาไทยตอนนี้ สถาบันพระพุทธศาสนาไทยมักหวาดระแวงภัยคุกคามจากภายนอก เช่น องค์กรมุสลิม แผนนารีพิฆาต เพราะเรามีปัญหากับประวัติศาสตร์ตรงนี้ มองไม่เห็นว่าแท้จริงแล้วความผิดพลาดอาจมาจากตนเองก็ได้

ประเด็นที่สองคือการแตกแยกของนิกาย เรามักหวาดระแวงการแตกนิกายว่าคือการนอกรีต กลัวคนจะตีความคำสอนผิดเพี้ยนบิดเบือน แต่ไม่มองว่าเรากำลังปิดกั้นศักยภาพการเรียนรู้ทางศาสนา ไม่เปิดโอกาสให้สังคมช่วยกันตีความคำสอนอย่างหลากหลาย จุดนี้มีผลโดยตรงกับการที่การสอนพระพุทธศาสนาในสังคมไทยมีแนวโน้มจะปิดกั้นความหลากหลายทางความคิด ผูกขาดความเป็นเจ้าของศาสนา การที่ชาวพุทธมักจะถูกหล่อหลอมมาเช่นนี้จะสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

วิจักขณ์ยกตัวอย่างการใช้คำสอนเรื่อง “ทางสายกลาง” ของสันติวิธีในบ้านเราจะมีนัยยะที่แคบมากว่าต้องหาจุดตรงกลางที่แน่นอนในแต่ละสถานการณ์ ไม่อยู่ตรงกลางคือผิด สันติวิธีในบ้านเราจึงกลายเป็น “สันติวิธีแบบพระ” ซึ่งทำอะไรได้น้อยมากเพราะกลัวว่าจะไม่เหมาะสม แต่ “ทางสายกลาง” ตามหลักปรัชญามาธยมิกของมหายานนั้น ไม่มีข้อจำกัดทางความคิดว่าทำสิ่งได้หรือไม่ได้ เราจะไปอยู่ในฝ่ายใดก็ได้ถ้ามั่นใจว่าตนไม่มีอคติ เช่นตั้งสมมติฐานว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากทักษิณคนเดียว ถ้าพบว่าไม่ใช่ก็คิดใหม่ว่าปัญหาเกิดจากอำมาตย์ฝ่ายเดียว หากไม่ใช่อีกก็ลองคิดว่าไม่มีใครที่สร้างปัญหาเลย ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีก เมื่อลองคิดทุกแง่มุมอย่างอิสระ สุดท้ายเราจะเห็นว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุและปัจจัยร่วมกัน และเราเลือกได้ว่าจะมีส่วนร่วมอยู่ที่ใดในความขัดแย้ง แนวคิดนี้ทำให้จินตนาการถึงสันติวิธีแบบใหม่ ว่าคุณจะเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนก็ได้ หรืออยู่ตรงไหนของความขัดแย้งก็ได้ แต่ขอให้ฝึกลดอคติของตัวเอง ฟังคนอื่นบ้าง และเรียนรู้ร่วมกันในความขัดแย้ง เรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน

เสรีภาพ VS ความเป็นธรรม

พระไพศาล วิสาโล เห็นว่าเสรีภาพและความเป็นธรรมบางครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน สังคมที่เน้นเสรีภาพและประชาธิปไตยหลายสังคมก็มีความเหลื่อมล้ำ เช่น อเมริกา อังกฤษ ที่ขึ้นชื่อว่าความเลื่อมล้ำระหว่างคนในสังคมกำลังกว้างขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บางสังคมอาจมีความเหลื่อมล้ำน้อยแต่เสรีภาพไม่มาก ในเยอรมันและฮอลแลนด์ ร้านค้าไม่มีเสรีภาพที่จะเปิดร้านวันอาทิตย์ ยิ่งถ้าจะเป็นบริษัทชื่อดังจะถูกจำกัดเสรีภาพมาก เพราะต้องการเปิดโอกาสให้ร้านเล็กๆ บางทีก็ต้องเลือกระหว่างเสรีภาพและความเท่าเทียม ว่าจะเอาคุณค่าอะไร

เสรีภาพ สันติวิธี และความเป็นธรรม โดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน การใช้สันติวิธีแก้ปัญหาจะเป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายมีโอกาสใช้เสรีภาพต่อสู้เพื่อจุดยืนของตนเองเท่าเทียมกัน สามารถมาแสดงความคิดเห็นและโต้เถียงกัน การใช้ความรุนแรงเป็นการจำกัดเสรีภาพ มีคำกล่าวว่าเมื่อเกิดความรุนแรงหรือสงคราม เหยื่ออันดับแรกคือความจริง เหยื่ออันดับที่สองคือความเป็นธรรม การจับกุมและใช้กฎหมายปิดปากก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เมื่อใช้ความรุนแรง คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกจับ ถูกฆ่า ทรัพย์สินถูกทำลาย คู่ขัดแย้งไม่สามารถพูดได้อย่างเท่าเทียมกัน คนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันซึ่งคือความไม่เป็นธรรม กรณี 10 เมษา 19 พฤษภา คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตายไปหลายคน หรือแม้เป็นผู้เกี่ยวข้องในความขัดแย้งก็ควรเอาขึ้นศาล ไม่มีสิทธิไปฆ่า

สันติวิธีที่ปิดกั้นเสรีภาพ

พระไพศาลกล่าวถึงการใช้สันติวิธีในรูปแบบเพื่อปิดกั้นเสรีภาพ เช่นการใช้เฟสบุ๊คล่าแม่มดกระทั่งเขาไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวถูกด่า การบอยคอตคนยิวสมัยนาซีจนไม่มีเสรีภาพในการเปิดร้าน อาจารย์ชาวยิวถูกไล่ออก การสูญเสียเสรีภาพโดยแรงกดดันทางสังคมเป็นสันติวิธีที่เสริมสร้างความไม่เป็นธรรมหรือบั่นทอนเสรีภาพ แต่ยังเลวน้อยกว่าการใช้ความรุนแรง อย่างเช่นเอาระเบิดไปปาใส่ร้านชาวยิว สังคมประชาธิปไตยนั้นอนุญาตให้มีเสรีภาพในการกดดันที่ไม่เป็นธรรม เช่นการบอยคอตชาวยิว บอยคอตชาวมุสลิมในอเมริกาหลังเหตุวินาศกรรมเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ คนมักมองว่าสันติวิธีคือวิธีที่ต้องถูกกฎหมาย ที่จริงสันติวิธียังรวมไปถึงการทำสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วย เช่น ไม่ทำลายข้าวของ ยกเว้นทำลายข้าวของในเชิงสัญลักษณ์ และพร้อมยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นหากยึดทำเนียบแล้วถูกจับ เราก็ต้องยอมให้เขาจับ ไม่ต่อสู้ สันติวิธียังรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่หลากหลายถกเถียงแลกเปลี่ยน ต่อสู้ตามจุดยืนของตน

เป้าหมายกับวิธีการต้องไปด้วยกัน

พระไพศาลแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐประหารปี 49 ว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่ารัฐประหารจะเป็นการยุติความรุนแรงดังที่หลายคนในเวลานั้นมอง รัฐประหารแม้จะไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อแต่ก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งเพราะมีการใช้อาวุธ ใช้รถถัง และเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า 5 ปีที่ผ่านมา การรัฐประหารไม่ได้ยุติความรุนแรง เพียงแต่ทำให้ความรุนแรงที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดหรือไม่ชะลอลง แต่ในที่สุดก็กลับเกิดความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าเดิม ถ้าไม่มีรัฐประหารก็คงจะไม่มีเหตุการณ์แบบพฤษภา 53 และมีความสูญเสียน้อยกว่านี้ รัฐประหารทำให้ความแตกแยกบานปลายขึ้น วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน ถ้าเราจะทำเพื่อประชาธิปไตย เราต้องใช้วิธีที่เป็นประชาธิปไตย การใช้วิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วมันกลับส่งเสริมเผด็จการได้ พระไพศาลกล่าวว่าตนได้ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นที่มีรัฐประหารแล้วว่าตนไม่เชื่อว่ารัฐประหารจะช่วยแก้ปัญหา แต่อาจทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ในที่สุดก็นำไปสู่การปะทะกันเกิดเป็นเหตุการณ์พฤษภา 53

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกิดเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ในนิคมมาบตาพุด (อัพเดท)

Posted: 05 May 2012 03:06 AM PDT

 เกิดเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ในนิคมฯมาบตาพุด จนท.เร่งอพยพคนงาน พร้อมระดมรถน้ำเข้าดับเพลิง ด้านมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ ตั้งคำถามสารพิษอะไรบ้างจากเหตุระเบิดโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุด

เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า  เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ โรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งนี้ภายหลังเกิดระเบิดเสียงดัง  และได้มีควันดำพวยพุ่งขึ้นมา โดยควันไฟฟุ้งกระจายปกคลุมไปรอบบริเวณ  นอกจากนี้ในที่เกิดเหตุมีลมแรงทำให้มีกลิ่นก๊าซแอมโมเนียและกลิ่นสารเคมีกระจายออกมา เจ้าหน้าที่จึงเร่งอพยพคนงานและกันผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ให้เข้าไปภายในนิคมฯ  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นคาดว่า เหตุระเบิดและเพลิงไหม้เกิดจากถังเคมีขนาดใหญ่จำนวนหลายถังของโรงงานบีเอสที ได้เกิดระเบิดขึ้น คาดว่ามีผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ได้ระดมรถดับเพลิงภายในนิคมอุตสาหกรรมหลาย 10 คัน พร้อมรถกู้ภัยภายในรนิคมเข้าไปดับเพลิง และอพยพคนงานทั้งหมดออกจากนิคมฯ  ทำให้การจราจรติดขัดเป็นทางยาว เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปภายใน เพื่อเปิดทางให้รถน้ำเข้าไปดับเพลิง อีกทั้ง ยังคุมเพลิงไม่ได้ บาดเจ็บแล้ว 15 ราย  

ล่าสุด 16.29 ผู้ว่าระยอง สั่งอพยพคนงาน ออกจากพื้นที่แล้ว หลังกลิ่นสารเคมีกระจาย และลมพัดแรง จนไปถึงตลาดสดมาบตาพุด พร้อมประกาศใช้แผนฉุกเฉิน ระดับโรงงาน อพยะคนงานทั้งหมดออกจากมาบตาพุด ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่

16.30 พนง.ใกล้รง.สารเคมีระเบิด มาบตาพุบ บอกสารเคมีรั่วไหลมากมีควันดำบ.ข้างเคียงเสียหายมาก

16.34 นายวุฒิพงษ์ พนง.ในนิคมมาบตาพุด เล่าถึงวินาทีเกิดเหตุว่า ขณะที่ รง.ซินธิติกส์ระเบิด พนง.เร่งอพยพ ได้ยินเสียงระเบิด 5-6 ครั้ง 

16.45 น.มีรายงานยอดผู้บาดเจ็บโรงงาน บีเอสที มาบตาพุด ระเบิด พุ่งกว่า 80 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต”

มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ ตั้งคำถามสารพิษอะไรบ้างจากเหตุระเบิดโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ที่มาบตาพุด

19.00 น. มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ เปิดเผยว่าจากเหตุโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ ของบ. กรุงเทพซินธิติกส์ ระเบิดที่มาบตาพุด ตั้งแต่ช่วงเวลา 15.30 น. ที่ผ่านมาและเพิ่งจะควบคุมเพลิงได้ประมาณเวลา 18.00 น. ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 47 ราย สาหัส 6 ราย โดย 2 ราย (ตามรายงาน รมช.สาธารณสุข) และมีคำสั่งอพยพ 18 ชุมชนรอบและทิศใต้ลมของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

3 ชั่วโมงผ่านไป จนถึงขณะนี้ (18.30 น.) แม้ผู้ว่าฯจะประกาศควบคุมเพลิงได้แล้วและประกาศให้รอบนิคมเป็นเขตภัยพิบัติ แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างชัดเจนว่าสารพิษที่รั่วไหลและฟุ้งกระจายไปกับกลุ่มควันและการระเบิดครั้งนี้เป็นสารอะไรบ้าง (บ้างก็ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง บ้างก็ว่าเป็นสารทพให้ระคายเคืองผิว) เหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าทั้งภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังบกพร่องในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเรื่องสารพิษจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีการผลิตและการใช้หรือปลดปล่อยสารพิษจำนวนมากเช่นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ตลอดเวลาและโดยง่าย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเหตุโรงงานระเบิดครั้งนี้ได้

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสารพิษซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอันตรายระยะยาว ที่อาจมีการใช้หรือเกิดในกระบวนการผลิตของโรงงานบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ที่มาบตาพุดได้แก่ เช่น BTEX (Benzene เบนซีน, Toluene โทลูอีน, ethylbenzene เอธิลเบนซีน, Xylene ไซลีน), Hexane เฮกเซน รวมถึงอาจมีการใช้ 1,2-Dichloroethane และ 1,3-Butadiene ซึ่งเป็นสารที่อันตรายทั้งเฉียบพลันและระยะยาวในกระบวรการผลิตด้วย ส่วนการเผาไหม้ของยางรถยนตร์สามารถทำให้เกิด PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งสารในกลุ่มนี้หลายตัวจัดเป็นสารก่อมะเร็งด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับอันตราย ความเป็นพิษ และความปลอดภัย ของสารเคมีที่กล่าวถึง

Benzene ดูได้จาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=00289&CAS=&Name=

1,2 Dichloroethane ดูได้จาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=00709&CAS=&Name=1,2-Dichloroethane

1,3-Butadiene http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=28

Toluene ดูจาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=48

http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=02040

Hexane ดูจาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=01030

Xylene ดูจาก http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=02141

เกี่ยวกับโรงงานทีีเกิดเหตุ

บจก.กรุงเทพ ซินธิติกส์ หรือ Bangkok Synthetics Co., Ltd. (http://www.bst.co.th/)

ผลิต Mix C4 รายแรกของไทยและส่งออกรายใหญ่ที่สุดใจภูมิภาค และโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ S-SBR (Solution Polymerization Styrene-Butadiene Rubber) แห่งแรกในประเทศไทย ร่วมทุนกับ JSR ของญี่ปุ่น (ทำสัญญาเมื่อ มีนาคม 2554) และอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานผลิต NB Latex ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตถุงมือทางการแพทย์ (ที่มา http://www.newswit.com/prop/2011-03-07/4d70660d9e328f7284e30c6395b9eef4/)

ทะเบียนโรงงาน น.42 (1)-15/2537-ญนพ. ระบุว่าผลิต Mixed C4 (MTBE,BUTANE-1,BUTADIEN) เป็นโรงงานประเภท 4201 (การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี) (ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าโรงที่ผลิตยางรถยนตร์และ Latex สังเคราะห์ จดทะเบียนเดียวกันหรือจดทะเบียนแยก)

ผังกระบวนการผลิตแผนกผลิตยางสังเคราะห์ที่คาดว่าเป็นต้นตอปัญหา

http://www.bst.co.th/product.aspx?cate=2

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แด่วันนักเขียน (ย้อน)ไปดูบทพูดคุยเรื่อง ‘ความบ้าและความโง่’ กับ ‘บัณฑิต อานียา’

Posted: 05 May 2012 02:39 AM PDT

 ‘5 พ.ค.’ วันนักเขียน อ่านบทสัมภาษณ์ ‘บัณฑิต อานียา’ (ถึงจะเก่าแต่ยังไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน) นักเขียนอาวุโส ผู้ได้รับความสนใจขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน (อาจจะโดยไม่ตั้งใจ) หลังวิกฤตการเมืองไทยยุครถไฟขบวน 112 วันนี้เราลองมาคุยถึงเรื่องตัวตนและงานของนักเขียนที่ได้รับการยกย่องว่า ‘กึ่งบ้า-กึ่งอัจฉริยะ’ และมุมมองต่อ 'ความโง่' ในสังคมไทย

ย้อนไปต้นเดือนตุลาคมในขณะที่ในเมืองกรุงยังคงไร้ความกังวลเรื่องมวลน้ำ พวกเราได้นัดพูดคุยกับลุง ‘บัณฑิต อานียา’  นักเขียน ‘เสียดสี’ รุ่นเดอะที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทนแรง ‘เสียดทาน’ จนแทบกระอัก มาอย่างยาวนานคนหนึ่ง  

อารมเสียดสีและการท้าทายสังคมผ่านงานเขียนของลุงบัณฑิตนั้นหลายครั้งก็ทำให้ขำไม่ออก เมื่อเจ้าตัวต้องไประเห็จไปอยู่ในเรือนจำ รวมถึงเกือบถูกช๊อตไฟฟ้าในโรงพยาบาลจิตเวช ในข้อหา ‘คนบ้า’ และอาจจะเป็นนักเขียนเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ผ่านโรงพยาบาลบ้ามาถึง 3 สถาบัน

นี่เป็นอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ กับนักเขียนที่อาจจะ ‘บ้า’ เกินไปสำหรับสังคมไทย ‘ไทย’ …

0 0 0

“ผมก็ดีขึ้น 50% และผมอยากจะหายให้หมด ถ้ามีคนซื้อหนังสือผม ผมก็อาจจะหายบ้าได้”

ได้ข่าวว่าเป็นคนบ้า?

คือไม่ใช่ข่าวครับ มันเป็นความจริงเลยครับ

ก็คือผมผ่านโรงพยาบาลโรคจิตมาสามสถาบัน จิตแพทย์สามคนลงความเห็นว่าผมเป็นโรคจิต

แต่ผมเคยอ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ เมื่อหลายสิบปีก่อนอาจารย์ท่านหนึ่งได้กล่าวว่าถ้าจิตแพทย์กับคนไข้โรคจิตได้พบกัน จิตแพทย์จะยังไม่รักษา แต่จิตแพทย์มีหน้าที่พูดให้คนไข้โรคจิตรู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคจิตและก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคจิต ถ้าคนไข้คนไข้รู้ตัวและยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคจิต อาการโรคจิตก็จะหายไป 50% ส่วนอีก 50% อยู่ที่การรักษาพยาบาล

ในทำนองเดียวกันนี้เมื่อจิตแพทย์สามคนบอกว่าผมเป็นโรคจิตและผมก็ยอมรับว่าผมเป็นโรคจิต อาการโรคจิตของผมก็หายไปแล้ว 50% อีก 50% จะหายก็ต่อเมื่อมีคนซื้อหนังสือผม

เพราะฉะนั้นคุณต้องซื้อผมถึงจะหายเป็นโรคจิต

เมื่อยอมรับแล้วเป็นยังไงต่อ?

ผมก็ดีขึ้น 50% และผมอยากจะหายให้หมด ถ้ามีคนซื้อหนังสือผม ผมก็อาจจะหายบ้าได้

แล้วคนอื่นจะเป็นบ้าไหม ถ้าอ่านหนังสือลุงบัณฑิต?

ถ้าคนอื่นเป็นบ้าผมได้ยิ่งดีเลย แผ่นดินนี้จะได้น่าอยู่ขึ้น ระบบการปกครองจะได้ดีขึ้น

ทำไมถึงมีความพยายามที่จะดิ้นรนขายหนังสือของตัวเองขนาดนั้น?

ก็เรามีความคิดที่จะเผยแพร่ความคิดที่ดีงามและถูกต้องให้สังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เลว ต้องเอาหนังสือผมไปเผยแพร่ แล้วจะรู้ว่ามันดียังไง และผมอธิบายได้ ว่าสิ่งที่ผมเสนอในหนังสือเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินไทย ต่อคนไทยทั้งแผ่นดิน และผมก็สู้มาตลอด

สังคมไทยเป็นสังคมที่เลวเพราะระบอบปกครองมันเลว รัฐธรรมนูญมันก็เลว กฎหมายมันก็เลว กระบวนการยุติธรรมมันก็เลว สื่อมวลชนมันก็เลว นักวิชาการมันก็เลว

แล้วพวกคุณเป็นสื่อมวลชนหรือเปล่า คุณเป็นคนดีหรือคนเลว

ระบบการปกครองมันเลวยังไงบ้าง?

ระบอบการปกครองมันทำให้พวกที่มีอำนาจมีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งทำให้ประชาชนกลายเป็นสัตว์หรือต่ำยิ่งกว่าสัตว์ และระบอบการปกครองแบบนี้มันผูกขาดด้วย

ถ้ามันเลวจริงแล้วทำไมคนถึงยอมเป็นสัตว์?

ก็เพราะว่าคนโดนปลูกฝัง ถูกใส่ข้อมูลว่าระบบการปกครองนี้ดีที่สุด และผู้คนส่วนใหญ่ก็โง่ ส่วนน้อยฉลาดแต่ส่วนน้อยที่ฉลาดมันก็เอาตัวรอดไม่กล้าพูด

แต่ตอนนี้ส่วนน้อยที่ฉลาดมันเริ่มมากขึ้นแล้ว และมีความกล้าหาญมากขึ้น ดังนั้นการปกครองที่เลวจะต้องสิ้นสุดลง... ในไม่ช้า

"It better to die in Moscow than to stay in Thailand"

ย้อนไปเรื่องที่ผ่านโรงพยาบาลบ้ามาสามสถาบัน เรื่องราวเป็นยังไงบ้าง?

ผมมีความฝันว่าอยากจะไปอยู่ที่ประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2508 ผมจึงเอามุ้งไปกางนอนหน้าสถานทูตรัสเซีย และเขียนข้อความไว้หน้าสถานทูตว่า "It better to die in Moscow than to stay in Thailand" ตำรวจมาจับผมส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นครั้งแรก

ครั้งที่สองปี พ.ศ. 2518 ผมเขียนหนังสือชื่อดาวแดง มีข้อความที่หน้าปกว่า “จักรพรรดิปิศาจสามแสนล้าน เสวยเพชรพลอยและทองคำเป็นอาหาร ส่วนประชาชนต้องกินน้ำเลือดน้ำหนองของแผ่นดิน” โดยจักรพรรดิที่กล่าวนี่ผมหมายถึงจักรพรรดิของเอธิโอเปีย มันปกครองประชาชนชาวเอธิโอเปีย มันรวยสามแสนล้าน แต่ประชาชนชาวเอธิโอเปียกลับยากจน ผมเลยเขียนว่าอย่างนี้ เสร็จแล้วข้างในเล่มผมยังเขียนต่อไปว่าไอ้จักรพรรดิคนนี้มันหวงมงกุฎของมันมาก แต่ผมเขียนบอกว่ารองเท้าของผมที่ซื้อหลังกระทรวงยังมีค่ามากกว่ามงกุฎของมัน จากนั้นพอมีคนอ่านหนังสือเล่มนี้ที่เป็นฝ่ายขวาก็ไปฟ้องอธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้นว่าหนังสือดาวแดงมีข้อความหมิ่นสถาบันกษัตริย์ทั้งเล่ม เขาก็จับผมส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และหมอก็ลงความเห็นว่าผมเป็นโรคจิต ครั้งนั้นเขายังไม่เอาผมเข้าคุก พอลงความเห็นว่าผมเป็นโรคจิตก็ปล่อยผมไป

ครั้งที่สามปี พ.ศ. 2547 ผมได้ไปพูดในงานสัมมนาของ กกต. และก็เอาหนังสือที่เขียนไปขายด้วย ที่โรงแรมโซลทวิน ทาวน์เวอร์ ต่อมาผมก็โดนจับในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 จากนั้นปี พ.ศ. 2548 ผมถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลโรคจิตสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

ถ้าปีไหนลงท้ายด้วยเลข 8 ผมมักจะมีเรื่องเสมอครับ

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีของบัณฑิต: LM watch: กรณีบัณฑิต อานียา (จือเซ็ง แซ่โค้ว) ,LM watch, 12 พ.ค. 2552)

ยังเชื่อว่าคนไทยนี่โง่อยู่?

ส่วนหนึ่งโง่อยู่

โง่ยังไง?

ก็ส่วนหนึ่งยังอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดอยู่ ก็แปลว่าโง่อยู่ แต่ถ้าเราจะพูดเอาใจคนไทยว่าคนไทยนี่อ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดแปลว่าเขารู้ดีหมดแล้ว ไม่ต้องอ่านมากอ่านปีละ 8 บรรทัดก็พอ ถ้าจะพูดแบบประจบสอพลอเอาใจก็ได้ จะพูดในสองด้านก็ได้

แล้วอ่านหนังสือทำให้คนฉลาดยังไง บางคนอ่านหนังสือบางเล่มยังโง่อยู่?

ก็ไปอ่านหนังสือที่คนเขียนโง่ไง

หนังสือประเภทไหนที่อ่านแล้วโง่?

หนังสือที่เขียนประจบสอพลอระบบการปกครองเลวๆ หรือหนังสือเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมให้คนสวามิภักดิ์ต่อผู้มีอำนาจ ผู้มีเงิน โดยไม่คำนึงถึงว่ามันจะมีอำนาจและมีเงินมาด้วยวิธีใด หนังสือแบบนี้ยิ่งอ่านยิ่งทำให้โง่ขึ้น

เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างพูดถึงนักเขียนที่ผมชอบแปลอย่าง B.Traven เค้าเคยพูดถึงศาสนาของเขา เขาบอกว่า "โบสถ์นั้นไม่มีอะไรดีเลย มีแต่ทำให้พวกเราชาวอินเดียนโง่แล้วโง่มากขึ้น" ประโยคนี้มีอยู่ในหนังสือที่ผมแปลของ B.Traven

งั้นต้องอ่านหนังสือของลุงบัณฑิตอย่างเดียวเลยหรือ?

ไม่ๆ ต้องอ่านอย่างอื่นด้วย.

 

 

 

อนึ่ง ปัจจุบันสมอลล์ บัณฑิต อานียา ยังคงผลิตผลงานเขียนของเขาอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัญหาด้านสุขภาพรวมถึงการขาดทุนทรัพย์ในการนำผลงานต้นฉบับมาตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ เขาจึงมีความประสงค์ที่จะขายหนังสือ ‘7 ชั่วโมงแห่งความสุขกับประธานาธิบดี บิลล์ คลินตันแห่งสหรัฐฯ’ และหนังสือแปล ‘นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น’ ในจำนวนตั้งแต่ 50 – 100 เล่ม ในราคาพิเศษ รวมถึงหนังสือเล่มอื่นๆ สนใจติดต่อบัณฑิต อานียา 083-0619237

 ผลงานตีพิมพ์ของบัณฑิต อานียา ต่างๆ อาทิเช่น …

 1.ภาพนี้มีความหมาย (ใช้นามปากกา)               

2.ชายแก่คนหนึ่งเป็นบ้าแก้ผ้าวิ่งรอบสนามหลวง

3.หล่อนถูกโกงล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 (ชื่อเดิม)       

4.ผู้มาเยือนยามวิกาล เรื่องแปล

5.จิตวิทยาศาสนา (ความเชื่อและความจริง)       

6.แม้แต่หนอนยังพลิกตัว

7.ของจริงและของปลอม                                    

8.คนหมายเลขศูนย์ เรื่องแปล

9.The Dream Under the Sun                        

10.พวงมาลัยดอกมะลิสด (นามปากกา  ชัง พัชรินทร์)

11.สันติภาพกลางอากาศ                                

12.เบอร์ลินรันทด เรื่องแปลและเรื่องเขียน

13.จานบินจากนอกโลก                                    

14.นายพลนักล้วง เรื่องแปล (นามปากกา)

15.ทหารนิรนาม เรื่องแปล (นามปากกา)          

16.มาคาริโอ  เรื่องแปล

17.ท่านบึกคึกฯ สารพัดฯ                                 

18.อาคันตุกะยามรัตติกาล เรื่องแปล

19.อยู่อย่างมีสุข  (ใช้ชื่อ เสรี บุญเสริมสร้าง)      

20.รวมเรื่องสั้นเล่มแรก (ใช้ชื่อบัณฑิต นามสกุลอื่น)

21.โบสถ์สกปรก                                              

22.สี่สิบห้าวันในวันที่คุมขังสัตว์มนุษย์

23.นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น                                     

24.ทักษิณ  ชินวัตร

25.ขจัดความเจ็บปวดเมื่อตกงาน  เรื่องแปล      

26.จดหมายถึงทักษิณ

27.บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า                    

28.เด็กหญิงมยุรากับหมาไม่มีปลอกคอตัวหนึ่ง

29.เด็กหญิงนภาไปซื้อความยุติธรรมที่ตลาดมืด

30.I MARRY WITH A LADY DOG

31.แด่บิลล์ และโมนิกา ด้วยความรัก                

32.หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์

33.ทักษิณสู้เพื่อชาติ                                       

34.ภิกษุณีผู้ทรงศีล

35.ชีวิตลับพระเยซู  เรื่องแปล                          

36.ผ่างบกองทัพ

37.ลุงนวมทองสู้จอมเผด็จการ (ใช้นามปากกา)  

38.วรจนะเพื่อชาติ

39.สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย                        

40.บทภาพยนตร์ เรื่อง คณะประชาชนปฏิวัติ

41.ดวงใจแม่ เรื่องแปล                                     

42.เด็กหญิงแมวเป็นนายกรัฐมนตรี       

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: จิตร ภูมิศักดิ์

Posted: 05 May 2012 02:23 AM PDT


ผมคิดถึงจะเข้ตัวนั้น
ตัวที่ดีดเสียดสั่นแผ่นดินสยาม
แง้มโลกทรรศน์รับอรุณทุกทุ่งทาม
ตั้งคำถามพุ่งตรงถึงศักดินา

ผมคิดถึงจะเข้ตัวนั้น
ทุกทำนองก้องสนั่นและแหบพร่า
ส่งคลื่นเสียงแหลมคมกรีดมายา
พังผ่าจารีตประเพณี

ผมคิดถึงจะเข้ตัวนั้น
บดปาดบั่นคุณค่าเก่า
สูงศักดิ์ศรีสร้างฟ้าใหม่
ให้ปวงชนเป่าผงคลีแสงอุษา รวีสาดวิถีไท

ผมคิดถึงจะเข้ตัวนั้น
กลั่นขับเคี่ยวผ่านแท่งนิ้วแข็งด้านไหม้
สีเนื้อหนังสร้างมหาคีตาลัย
ปัญญาชนผู้รับใช้ประชาชน

ผมคิดถึงจะเข้ตัวนั้น
ปลุกเร้าขวัญผู้กล้ากลางถนน
ให้ลุกตื่นยืนยันความเป็นคน
อภิชนผวาหวาดปิศาจเพลง

จระเข้หัวก้าวหน้า
เขี้ยวฟันคมขบเคี้ยวฟ้าบ่มดินสุกประกายเปล่ง
จิตสำนึกชนชั้นตื่นรื่นบรรเลง
กร้าวกล่อมหูราษฎร กู่เพลงชัย !


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธเนศ วงศ์ยานนาวา ชี้การอ่านในโลกดิจิตอลเหนือการควบคุมของรัฐชาติ

Posted: 05 May 2012 02:14 AM PDT

 

 

(5 พ.ค.55) ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ "การอ่านในยุคดิจิตอล" ในค่ายเขียนงานสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร จัดโดย Bookmoby ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า สื่อกระดาษที่เป็นรูปแบบหนึ่งของข้อมูลและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและอักษรในฐานะเทคโนโลยีแบบหนึ่ง กำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้รูปแบบการอ่านเปลี่ยนไป ปริมาณการอ่านหนังสือผ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งที่เมื่อเทียบกันแล้วการอ่านจากบนจอช้ากว่าการอ่านผ่านกระดาษ 20-30% แต่ในมิติของการเรียนรู้ พบว่า สื่อดิจิตอลจะดึงดูดความสนใจสำหรับเด็กมากกว่า จนทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

เขากล่าวว่า การอ่านผ่านโลกยุคดิจิตอลในแบบที่ hypertext (การคลิกลิงก์ไปยังข้อความต่างๆ) ที่พร้อมที่จะทำให้เกิดการย้ายตัวบทไปสู่ตัวบทใหม่ๆ เสมอ แสดงให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องในการอ่าน แต่ก็กลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกับตัวบทที่มีการข้ามตัวบทจากตัวบทหนึ่งไปสู่อีกตัวบทหนึ่ง สถานะของ hypertext จึงไม่มีขั้นตอนว่าอะไรอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าที่จะจำเป็นต้องเข้าถึงก่อนหรือเป็นส่วนสรุปสุดท้าย ซึ่งหมายถึง hypertext ไม่มีลำดับชั้น เมื่อไม่ลำดับขั้นก่อนหลังและสูงต่ำ เส้นทางของความเป็นเสรีประชาธิปไตยในการอ่านก็มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้การอ่านใน hypertext ก็ทำให้การอ่านอยู่ในโลกของความเป็นอนันต์ (infinity) เพราะอาณาเขตของตัวบทเป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก แต่ละประโยคมีช่องทางออกเสมอ ช่องทางที่จะนำพาผู้อ่านไปสู่โลกใหม่ๆ ที่ไม่มีอาณาเขตของความรู้ ไม่มีการแยกกันระหว่างสาขาต่างๆ เพราะทุกอย่างถูกเชื่อมโยงถึงกันได้หมด แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดการบูรณาการของความรู้ได้ เมื่อทุกอย่างดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้ทุกอย่างไม่มีจุดเริ่มและไม่มีจุดจบ ทุกๆ ที่เป็นจุดเริ่มและจุดจบได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นอะไรที่ไม่มีที่สิ้นสุดก็ทำให้ยากจะรู้ว่าสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร รวมถึงกลับทำให้วิตกกังวลกับอะไรที่ไม่รู้ถึงจุดที่สิ้นสุด ราวกับว่าไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้

นอกจากนี้ เมื่อบวกกับความหลากหลายของตัวบทอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้ ก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายขึ้นอีก โดยยกตัวอย่างกรณีวิกิพีเดีย ที่ไม่สามารถหาผู้ประพันธ์ได้อย่างแท้จริง เพราะทุกๆ คนเข้าไปแก้ไขได้ แต่ก็ไม่มีใครที่ได้คะแนนหรือเงินจากการประพันธ์ในลักษณะนี้ เพราะทุกคนเป็นผู้ประพันธ์นิรนาม

"พื้นที่ของตัวบทแบบวิกิพีเดียจึงเป็นโลกในอุดมคติของศาสนาที่ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกๆ คนก็เป็นเจ้าของ นี่เป็นอุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกดิจิตอล ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองให้กับสถาบันการศึกษาที่นับวันค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาก็มีแต่สูงขึ้น"

ทั้งนี้ การอ่านในโลกคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การอ่านหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการอ่านวัตถุแบบอื่นหรือสื่ออื่นไปพร้อมกันด้วย เช่น การอ่านอีเมล เป็นต้น ผู้อ่านเองพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนไปสู่การอ่านแบบอื่นๆ เพียงเวลาไม่กี่นาที การอ่านในโลกดิจิตอลจึงเป็นการอ่านที่มีเสรีภาพ แม้ว่าเสรีภาพดังกล่าวจะหมายถึงความไม่อดทนต่อการอ่านอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานก็ตาม

นอกจากนี้ในโลกของ hypertext ที่ทุกอย่างไม่ได้พุ่งเป้าไปสู่จุดสุดยอดหรือมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว สถานะของผู้ประพันธ์จึงไม่ได้มีอำนาจแบบเดิมอีก เพราะผู้อ่านสามารถเริ่มต้นเรื่องราวเรื่องหนึ่งแล้วเดินแยกไปตามแต่ความต้องการของผู้อ่านว่าจะสนใจและต้องการทำความเข้าใจประเด็นใดก่อนหรือหลังได้ด้วย

ธเนศ กล่าวว่า ในโลก hypertext ในโลกของการเขียนแบบนี้ มันไม่สามารถจะทำให้ "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" อีกแล้ว มันไม่สามารถทำให้คุณมีโฟกัสร่วมกันอีกได้ง่ายๆ แบบเดิม คุณกำหนดไม่ได้เลยว่าคนอ่านจะอ่านอะไร เพราะถึงแม้ว่ากูเกิลจะขึ้นให้คุณ 10 ที่ แต่มันก็สามารถจะพาคุณไปไหนต่อไหนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดแบบง่ายๆ ในนัยยะทางการเมือง คือ คุณเลิกคิดได้แล้วว่าทุกคนจะคิดในแบบเดิม เพราะไม่ต้องพูดถึงเนื้อหา คุณจะบอกว่ารักชาติศาสน์กษัตริย์แบบที่คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พูด อ่านใน text นี้ แต่มันพาคุณไปไหนก็ไม่รู้ อาจจะไปลงท้ายที่สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ก็ได้ คุณคุมมันไม่ได้ เหมือนกับที่เราบอกว่าอินเทอร์เน็ตคุณคุมมันไม่ได้ มันล็อคอยู่ในโครงสร้าง มันไม่เหมือนเขียนหนังสือที่ฟอร์มของหนังสือมันตายตัว

 

 

 

หมายเหตุ: พบกับฉบับเต็มเร็วๆ นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น