ประชาไท | Prachatai3.info |
- ผู้นำกะเหรี่ยงพอใจผลเจรจา แต่หวังพม่าเป็นสหพันธรัฐแท้จริง ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเสียง
- ไม่ต้องมีจุดเริ่มต้น: ตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาพลัดถิ่นไท-ลาวคังในไทย
- ใบตองแห้ง
- ศาสวัต บุญศรี: เพลงชาติไทยพูดถึงอะไร ประชาชนไทยรู้หรือไม่?
- ใบตองแห้ง...ออนไลน์: เสรีที่จะฆ่าเสรีภาพ (อวยพรย้อนหลังแด่วันเสรีสื่อโลก)
- เปิดคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีที่ 2 “สมบัติ” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- รอบโลกแรงงานเมษายน 2555
- 'อภิสิทธิ์' ยันจุดยืนพระปกเกล้าฯ ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง
- เผยฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม เน้นเสนอภาพการช่วยเหลือระยะสั้น
- โพลล์เผยร้อยละ 68.8 ระบุว่าการนิรโทษกรรม ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้
ผู้นำกะเหรี่ยงพอใจผลเจรจา แต่หวังพม่าเป็นสหพันธรัฐแท้จริง ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเสียง Posted: 04 May 2012 10:54 AM PDT ด้านโฆษกคณะเจรจาสันติภาพกะเหรี่ยง หวังผลักดันพม่ายุติสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ย้ำนานาชาติต้องไม่ลืมพูดคุยกับผู้นำชนกลุ่มน้อย ชี้นานาชาติผ่อนปรนการคว่ำบาตรพม่าเร็วเกิน ทั้งที่ไม่อาจรับประกันได้ว่าการปฏิรูปพม่าจะไม่ไหลย้อนกลับ เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 พ.ค.) นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) พร้อมสมาชิกระดับสูงของทีมเจรจาสันติภาพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจากับรัฐบาลพม่าว่า ถึงแม้การเจรจาสันติภาพระหว่างสหภาพกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่ายังเป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็ยังย้ำว่า การปฏิรูปประเทศของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ก็มิใช่ว่าจะย้อนกลับไม่ได้ และย้ำด้วยว่า ต่างชาติเองควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยและพบปะผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสร้างสันติภาพเป็นไปได้อย่างครอบคลุม หลังจากที่ KNU เปิดการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงเป็นครั้งแรกกับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนมกราคม และล่าสุดในเดือนเมษายนที่่ผ่านมา นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพกะเหรี่ยง ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ย่านชิดลม เมื่อ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมองว่า รัฐบาลพม่าน่าจะมีความจริงใจในการเจรจาสงบศึก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องบรรลุให้ได้ เช่น การทำให้พม่าเป็นสหพันธรัฐที่แท้จริงซึ่งให้อำนาจปกครองตนเองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ การเจรจาครั้งล่าสุดระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่า มีขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังการสู้รบอย่างยาวนานในสงครามกลางเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยตัวแทนของ KNU ได้เข้าพบกับคณะเจรจาของฝ่ายรัฐบาลพม่าที่เมืองย่างกุ้งและ ประธานาธิบดีเต็งเส่งในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 6 และ 7 เม.ย.ตามลำดับ และมีข้อตกลงร่วมกัน 13 ข้อ เช่น ให้มีการตั้งคณะสังเกตการณ์หยุดยิงระดับท้องถิ่่น ให้คณะสังเกตการณ์นานาชาติเข้ามาในพื้นที่ การตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับผู้ลี้ภัย เป็นต้น นายเค ตู่ วิน หนึ่งในมาชิกทีมเจรจาสันติภาพ กล่าวถึงเงื่อนไขในอนาคตหลังการเจรจาสันติภาพของสหภาพกะเหรี่ยงว่ากองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army) ของ KNU อาจเข้าร่วมกับกองกำลังของสหภาพพม่า หากว่าการเจรจาทางการเมืองสัมฤทธิ์ผล และย้ำว่า กว่าจะถึงขั้นนั้น รัฐธรรมนูญของพม่าจำเป็นต้องถูกแก้ไขให้รองรับกับการกระจายอำนาจ เพื่อให้เป็นสหพันธรัฐหรือสหภาพที่ให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ชี้นานาชาติผ่อนปรนคว่ำบาตรเร็วเกิน - ไม่อาจรับประกันการปฏิรูปพม่าจะไม่ไหลย้อนกลับ ในขณะที่โฆษกคณะเจรจาสันติภาพของ KNU นางเมย์ อู มุตรอว์ ชี้ว่าการผ่อนคลายการคว่ำบาตรของนานาชาติเป็นไปเร็วเกินควร เนื่องจากมองว่า การปฏิรูปของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินมา ไม่ได้รับประกันว่าสิ่งต่างๆ จะย้อนกลับไปไม่ได้ เธอกล่าวว่า ทางสหภาพกะเหรี่ยงไม่ได้มีโอกาสพบกับเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ในการมาเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเสริมว่าไม่เห็นด้วยนักที่นายบัน คี มุนได้เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการคว่ำบาตรอย่างสิ้นเชิง เพราะมองว่าการปฏิรูปของรัฐบาลยังไม่ได้ไปถึงจุดที่น่าพอใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังมีการสู้รบกันอยู่ “หากพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลเคยกระทำกับเรา ก็จะเห็นว่ารัฐบาลสามารถที่จะโหดเหี้ยมได้มากแค่ไหน” เมย์ อู มุตรอว์กล่าว “ประชาคมนานาชาติดูจะตื่นเต้นกับการปฏิรูปในพม่ามากกว่าประชาชนชาวพม่าเองเสียอีก และก็ยังแสดงความตื่นเต้นเกินจะจินตนาการได้” เธอเสริมด้วยว่า นอกจากผู้นำระหว่างประเทศจะเข้าพบผู้นำฝ่ายค้านและรัฐบาลพม่าแล้ว ก็ควรต้องมาพบปะและพูดคุยกับผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่ และสามารถให้ความสนับสนุนได้ตามเหมาะสม ส่วนเรื่องการเจรจาสันติภาพร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ นั้น โฆษกทีมเจรจาสันติภาพ KNU ระบุว่า เนื่องจากแต่ละกลุ่มยังมีปัญหาของตนเองและข้อเรียกร้องต่างกันไป จึงยังเป็นการเจรจากับรัฐบาลพม่าในระดับปัจเจกอยู่ แต่หากในทางการเมือง ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ยังคงมุ่งเจรจาร่วมกันผ่านสภาชาติสหภาพ (United Nationalities Federal Council) ซึ่งเป็นสภาร่วมระหว่างชนกลุ่มน้อยในพม่า 12 กลุ่ม เช่น ไทใหญ่ กะเหรี่ยง และคะฉิ่น โดยยึดในหลักการที่จะนำมาซึ่ง “ผลในทางปฏิบัติที่มีความก้าวหน้า” (progressive realization) เพื่อสันติภาพทั่วประเทศต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ไม่ต้องมีจุดเริ่มต้น: ตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาพลัดถิ่นไท-ลาวคังในไทย Posted: 04 May 2012 10:05 AM PDT
บทคัดย่อ บทความต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันของบทความวิชาการก่อนหน้านี้สองบทความคือ “สืบค้นไท-ลาวภูคัง/ครัง/คลั่ง/ครั่งอีกครั้ง: ตำแหน่งแห่งที่, ประวัติศาสตร์ และ กระบวนวิธีวิทยา”ตีพิมพ์ในวารสารหน้าจั่วฉบับประวัติศาสตร์เล่ม8 และ บทความเรื่อง “ไท-ลาว ครั่ง-คัง: ชาติพันธุ์จินตกรรม” ในการประชุมวิชาการ “ศิลปากรวิจัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5: บูรณาการศาสตร์และศิลป์” โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรและเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ในเดือนมกราคมปีพ.ศ.2555 บทความถือเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง”การศึกษาแบบองค์รวมของการปรับตัวในบริบทใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวในลุ่มน้ำภาคกลางประเทศไทย” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนวิจัยศาสตราจารย์ดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2552 จากหน่วยงานทั้งสามคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัยและ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ ร่วมกันสนับสนุนทุนอุดหนุน สำหรับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์ แม้ว่าโครงการวิจัยนี้จะอยู่ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทว่าการทบทวนเอกสารอย่างรอบคอบได้พบว่า การที่จะได้เลือกใช้มโนทัศน์กลุ่มชาติพันธุ์(ethnic group)กลุ่มลาวครั่งเป็นฐานคติในการศึกษายังมีสภาพของความกำกวมไม่คงที่(inconsistency)และมีต้นเหตุที่ยังเป็นที่สงสัย(questionable cause) จนไม่อาจนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัยต่อได้ จึงมีความจำเป็นที่จะย้อนรอยศึกษาด้วยวิธีวิทยาเชิงประวัติศาสตร์จากหลักฐานชั้นต้นหรือข้อมูลปฐมภูมิ (primary sources) ที่เป็นต้นตอต้นเหตุ ได้แก่ จดหมายเหตุตัวเขียนโบราณรัตนโกสินทร์ได้แก่จดหมายเหตุในรัชกาลที่๒สองรายการและจดหมายเหตุในรัชกาลที่ ๓ อีกหนึ่งรายการ และเอกสารที่เกี่ยวเนื่องชั้นต่อมาได้แก่การศึกษาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ”ส่วยครั่ง”; การศึกษา “ทำเนียบหัวเมืองรศ.๑๑๘”;และ”วิถีชุมชนนครชัยศรี” เป็นต้น การศึกษาพบความบกพร่องของการตีความก่อนหน้านี้จึงลดความกำกวมทางประวัติศาตร์ลงได้ ทว่าการถูกนำไปใช้อ้างอิงในวงวิชาการของเอกสารการศึกษาทางประวัติศาสตร์ต้นทางก็มีส่วนด้านกลับกันในการสร้างตัวแบบชาติพันธุ์จินตกรรม “ลาวครั่ง” ขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นั้นเป็นพื้นฐานทางวิชาการสำหรับการวิจัยชาติพันธุ์วรรณามานุษยวิทยาชาติพันธุ์ และการวิจัยด้านชาติพันธุ์วรรณาหรือมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ก็จะเป็นพื้นฐานทางวิชาการที่สนใจวัตถุธรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาอีกต่อหนึ่ง การย้อนพลวัตศึกษานี้นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ทบทวนซึ่งกันและกันทั้งต่อประวัติศาสตร์มานุษยวิทยาชาติพันธุ์แล้วยังเป็นการเสริมความสามารถของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาที่จะเข้าถึงความหมายระดับสูงของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างจะเป็นโอกาสทางวิชาการของสาขาวิชานี้ที่ช่วยให้เข้าใจและแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในปัจจุบัน
โปรดดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
Posted: 04 May 2012 08:55 AM PDT | ||||
ศาสวัต บุญศรี: เพลงชาติไทยพูดถึงอะไร ประชาชนไทยรู้หรือไม่? Posted: 04 May 2012 08:45 AM PDT คงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีวิธีเด็ด ๆ เช็คว่าใครเป็นคนไทยหรือไม่ตามแนวชายแดนด้วยการให้ร้องเพลงชาติไทย ใครร้องได้ถูกต้องเป๊ะ ๆ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหมอนี่คนไทยแน่ แต่ถ้าร้องผิดเนื้อสลับ มั่วดำน้ำ ก็จัดการส่งกลับประเทศไปโทษฐานหลบหนีเข้าเมือง วิธีแบบนี้สร้างความเฮฮาในรายการคดีเด็ดหลายต่อหลายครั้ง พูดเรื่องนี้ทีไรเป็นได้ยินเสียงหัวเราะทุกที เอาเป็นว่าเกิดเป็นคนไทย เพลงแรก ๆ ในชีวิตที่ถูกสอนให้ร้องก็คงมีเพลงช้างและเพลงชาติ ร้องกันได้ตั้งแต่เด็กอนุบาล แต่มันน่าสงสัยนะครับว่าที่ร้อง ๆ กันนี่เคยคิดใคร่ครวญกันหรือเปล่าว่าเพลงชาติที่ร้อง ๆ กันเนื้อหามันคืออะไร ผมเองลองสำรวจคร่าว ๆ จากคนรู้จัก (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่สอน) คำตอบที่มักได้รับคือเพลงชาติไทยพูดเรื่องว่าคนไทยนั้นรักสงบแต่ก็รบไม่ขลาด ตอบแบบนี้เสียส่วนใหญ่แถมยังต้องใช้เวลานานมากกว่าจะคิดคำตอบได้ ว่าไปก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เพลงที่เราร้องกันทุกวันกลับแทบไม่มีใครสนใจว่าเนื้อหาของเพลงกำลังพูดถึงอะไรอยู่ ยิ่งเมื่อครั้งที่มีการผลิตภาพประกอบเพลงที่ออกอากาศทางฟรีทีวีช่วงแปดโมงเช้าและหกโมงเย็นขึ้นมาใหม่ ครานั้นเกิดการถกเถียงในเวบไซต์มากมายถึงความเหมาะสมของภาพ บ้างก็ว่าภาพไม่ค่อยเล่าเรื่องเท่าไหร่ บ้างก็ว่าใช้ภาพของพระราชวงศ์ประกอบเพลงน้อยจนเกินไป บ้างก็ถกเถียงกันในประเด็นว่าภาพตรงตามเนื้อเพลงหรือไม่อย่างไร ฯลฯ ผมเองมีโอกาสอ่านก็พบความน่าสนใจไม่น้อยว่าเอาเข้าจริง ท่าน ๆ เถียงอะไรกับครับนี่ เพลงชาติไทยพูดถึงอะไรกันแน่ เรื่องนี้ตอบไม่ยาก เพียงแต่ในการเรียนการสอนระบบปลูกฝังของชาวไทยไม่เคยสอนกันในระดับประถมมัธยม (อย่างน้อยที่สุดก็ในประสบการณ์ของผม) ว่าเพลงชาติไทยพูดถึงเรื่องอะไร เราจึงร้องกันไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองและคิดเอาเองว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาอย่างสมบูรณ์ดีแล้ว ดังนั้นเราจึงมักละเลยที่จะตั้งคำถามต่อเรื่องราวทั้งที่ปรากฎเด่นชัดอยู่ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ…” เป็นประโยคแก่นแท้ของเพลงชาติ แปลความตรงตามตัวอักษรได้ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นรัฐของประชาชน นี่คือแก่นแกนของเนื้อหา เนื่องจากเพลงนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้อุดมการณ์ของคณะราษฎร์ ในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อปี พ.ศ. 2482 (คณะราษฎร์สิ้นอำนาจจากการถูกรัฐประหารอันต่อเนื่องด้วยกรณีสวรรคต ปี พ.ศ.2490) ดังนั้นการเทิดทูนไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดอันมาจากอธิปไตยของปวงชนจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดแท้และเป็นการทำลายอำนาจอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจเต็มนั้นอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว เนื้อหาต่อจากประโยคแรกเป็นส่วนต่อขยายภายใต้บริบทการถูกคุมคามจากต่างประเทศ อันนำมาสู่การสร้างนโยบายความสามัคคีของคนในชาติ เนื้อหาในช่วงต่อมาจึงมุ่งเน้นสร้างวาทกรรมให้คนไทยนั้นสามัคคีและไม่รุกรานใครก่อน ทว่าหากใครรุกรานก็พร้อมจะต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยไว้ สรุปง่าย ๆ สั้น ๆ คือเพลงชาติไทยที่มีความยาวประมาณหนึ่งนาทีนี้ได้กล่าวถึงประเทศไทยที่เป็นประเทศของประชาชนผู้มีความสามัคคี รักสงบแต่ไม่ขลาดหากใครมารุกราน ดังนั้นการที่เราร้อง (หรือได้ยิน) เพลงชาติกันทุกวันตอนแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น คือตอกย้ำผลิตวาทกรรมอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ในช่วงเวลานั้น น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าแท้จริงการยืนตรงเคารพธงชาตินั้นควรเป็นไปเพื่อการเคารพสู่อำนาจอธิปไตยสูงสุดซึ่งเป็นของประชาชน เป็นการเคารพถึงความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ มิใช่เป็นกลุ่มคนใดโดยเฉพาะเหมือนในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คราวหน้าเรามาดูกันว่าในปัจจุบันนี้อุดมการณ์ที่คณะราษฎร์ทิ้งไว้นั้น เมื่อปรากฎผ่านสื่อทุกวันนี้ผ่าน “มิวสิควิดีโอเพลงชาติ” ถูกผลิตซ้ำหรือบิดเบือนผ่านภาพไปอย่างไรบ้าง สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
ใบตองแห้ง...ออนไลน์: เสรีที่จะฆ่าเสรีภาพ (อวยพรย้อนหลังแด่วันเสรีสื่อโลก) Posted: 04 May 2012 06:54 AM PDT
ในเสียงร้องก้องโลกปกป้องสื่อ บรรพสื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สื่อกลายเป็นอภิชนคนวิเศษ สังคมนี้ต้องพิรงพินอบสื่อ สื่อชี้ถูกชี้ผิดเสพย์ติดอำนาจ สื่อไม่ผิดที่ต่อต้านทุนผูกขาด สื่ออวดอ้างคุณธรรมคำพิทักษ์ แสวงการงานอำมาตย์ทาสความคิด เป็นเครื่องมือของอำนาจนอกระบบ ไหนว่าสื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ปลุกความเกลียดเดียดฉันท์สันดานไพร่ แค่สองปีสื่อพลิกลิ้นปลิ้นสองแฉก สันดานสื่อคือตั้งแง่แถไปเรื่อย สื่อคือชนชั้นนำหวงอำนาจ ประชาธิปไตยจะเดินไปถึงจุดหมาย ต้องปิดฉากยุคทองสื่อครองชาติ
ใบตองแห้ง
*ปัทมปาณี: พจนานุกรมเปลื้อง ณ นคร แปลว่า ผู้มีบัวในมือ คือพระพรหม, พระวิษณุ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เปิดคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีที่ 2 “สมบัติ” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน Posted: 04 May 2012 06:18 AM PDT
หลังรัฐประหาร 2549 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นเอ็นจีโอคนดังที่ออกตัวชัดเจนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารเป็นคนแรกๆ เขาถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีแล้ว ไล่ตั้งแต่คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร โฆษก จากการจัดกิจกรรม “ปาเป้า” ภาพล้อเลียนคณะรัฐประหาร รวมถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คดีนั้นเขาไม่ยื่นประกันตัวและถูกควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่ 31 ส.ค.-10 ก.ย.50 ก่อนจะตัดสินใจยื่นประกันตัวในภายหลังเพื่อออกไปรณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ท้ายที่สุด ศาลสั่งยกฟ้องในวันที่วันที่ 25 ก.ย.51 ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่านายสมบัติเป็นผู้จัดทำป้ายการ์ตูนล้อเลียนนั้น ส่วนการใช้โทรโข่งป่าวประกาศให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวปาเป้าบุคคลทั้งสอง ฝ่ายโจทย์ไม่มีพยานหลักฐานระบุได้ว่านายสมบัติพูดเชิญชวนอย่างไร และการปาเป้านั้นหมิ่นประมาทบุคคลทั้งสองให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังอย่างไร กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมภายหลังการนองเลือดครั้งใหญ่ เขายังคงเป็นผู้นำกลุ่มย่อยลุกขึ้นทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมผูกผ้าแดง จนในวันที่ 26 มิ.ย.53 เขาจึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 คลอง 5 ปทุมธานี นาน 14 วัน ภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อมาตำรวจดำเนินคดีเขาในความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญา มาตรา 83, 215 และ 216 จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองบริเวณใต้ทางด่วนลาดพร้าว 71 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 หลังการสลายการชุมนุม 1 วัน พร้อมทั้งระบุว่ามีการปลุกระดมโดยการปราศรัยให้เกิดการเผายาง มั่วสุมกันโดยไม่ชอบ ทำให้เกิดความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม นายสมบัติปฏิเสธที่จะรับสารภาพและยืนยันจะใช้สิทธิต่อสู้ทางกฎหมาย โดยในคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาลนั้นระบุว่าเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่เขาและประชาชนจำนวนหนึ่งทนไม่ได้ต่อการก่ออาชญากรรมของรัฐทำให้มีคนตายจำนวนมาก จึงออกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้ก่อความวุ่นวายใดๆ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ อีกทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีการประกาศใช้โดยไม่ชอบ ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาคดีนี้(คดีดำที่ 1189/2553) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.54 ให้ลงโทษจำเลย โดยระบุว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับในกรณีที่จำเลยขอให้มีการไต่สวนเรื่องความถูกต้องในกระบวนการที่รัฐใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 นั้นไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคดีนี้ ศาลจึงสั่งจำคุกนายสมบัติ เป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 6,000 บาท โดยโทษจำให้รอลงอาญา แต่คดีที่สองกลับสร้างความประหลาดใจให้ทุกฝ่าย รวมถึงตัวจำเลยเองด้วยเพราะศาลพิพากษา ยกฟ้อง คดีที่สองนี้ (คดีหมายเลขแดงที่ 557/2555) เกิดขึ้นจากกรณีที่เขาไปร่วมกล่าวปราศรัยและร่วมจัดกิจกรรมเปลือยเพื่อชีวิต เมื่อ 18 พ.ค.53 ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการสลายการชุมนุม ก่อนที่ทุกอย่างจะยุติในวันรุ่งขึ้น คำพิพากษาในคดีนี้ต่างจากคดีอื่นๆ ที่เกิดในลักษณะเดียวกันอย่างสำคัญ และน่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต หากว่าอัยการไม่มีการขอขยายเวลาอุทธรณ์ภายในวันที่ 10 พ.ค.55 นี้ ซึ่งเป็นผลให้คดีถึงที่สุด ‘ประชาไท’ คัดลอกเหตุผล การวินิจฉัยช่วงหนึ่งที่น่าสนใจของศาลแขวงพระนครเหนือมานำเสนอ ดังนี้
“นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นภายในประเทศหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ซึ่งควรจะเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลแย่งชิงและตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์จนเกิดการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำโดยกองทัพอันมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กับพวก ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งประชาชนได้ให้ฉันทามติในการบริหารประเทศแล้ว นับแต่นั้นความแตกแยกและขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศยิ่งขยายกว้างออกไป เมื่อคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกองทัพให้การหนุนหลัง รวมทั้งผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางส่วนสนับสนุนก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในบ้างเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลซึ่งประชาชนเลือกมาภายหลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนเปลี่ยนมาเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และก่อให้เกิดความเครียดแค้นชิงชังของประชาชน ผู้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยของตนถูกปล้นไปครั้งแล้วครั้งเล่า จำเลยซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและดำเนินกิจกรรมในฐานะองค์กรพัฒนาสังคมนอกเหนือจากการใช้อำนาจรัฐ และเป็นผู้ที่รังเกียจเดียดฉันท์การยึดอำนาจหรือรัฐประหารรัฐบาลซึ่งประชาชนมอบฉันทามติมาโดยแสดงออกจากการต่อต้านการยึดอำนาจจนกระทั่งถูกหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท จำเลยก็ยังคงเดินหน้าต่อสู้เกี่ยวกับความ อยุติธรรมของประชาชนผู้ด้อยโอกาสมาโดยตลอด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยได้ความจากนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยหาใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ต้น แต่เข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมจากการได้รับแต่งตั้งและมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยอำนาจของรัฐ เมื่อปรากฏว่าในระหว่างเกิดเหตุ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจของกองทัพส่งกำลังทหารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. อันเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จำเลยในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอันเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการหาข้อเท็จจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ย่อมมีเหตุสมควรที่จะเข้าไปในสถานที่ชุมนุมของผู้ชุมนุมดังกล่าว การที่จำเลยขึ้นกล่าวปราศรับกับประชาชนโดยชักชวนให้ประชาชนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใช้ชื่อว่า “เราไม่มีอาวุธ” ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 เพื่อแสดงให้รัฐบาลและกองทัพเห็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมปราศจากอาวุธที่จะทำอันตรายผู้มีอำนาจรัฐได้ การที่จำเลยกล่าวปราศรัยในทำนองไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลส่งทหารเข้าสลาลการชุมนุมและมีการใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนและผู้เข้าร่วมชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ.3 สอดคล้องกับพันตำรวจโทรณกร และร้อยตำรวจโทภาคิน พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานทั้งสองเห็นทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนจนเสียชีวิตและทหารได้ปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางมิให้ผู้เข้าไปในเขตที่ชุมนุมด้วย นางสาวขวัญระวี วังอุดม พยานจำเลยเบิกความว่า เป็นผู้ชักชวนให้จำเลยจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้รัฐบาลและทหารเห็นว่า ประชาชนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทั้งช่วยผ่อนคลายความโกธรของประชาชน จึงได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “เราไม่มีอาวุธ” ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมปราศรัยหรือปิดกั้นเส้นทางจราจร หรือจุดไฟเผายางรถยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องมาตั้งแต่ต้น ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ก็เข้าไปในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงโดยส่งกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ทั้งจำเลยกระทำไปในสถานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน ซ้ำยังอ้างการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นการเปิดช่องให้กองทัพส่งกำลังทหาร ซึ่งควรมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ เข้ามาสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน โดยรัฐบาลทราบดีอยู่แล้วหากใช้กองทัพซึ่งมิได้ถูกฝึกมาเพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง รัฐบาลย่อมเล็งเห็นได้ว่าเมื่อใดที่กองทัพใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังที่พันตำรวจโทรณกร พยานโจทก์ตอบคำถามค้านรับว่า ทหารได้ใช้ลวดหนามปิดกั้นเส้นทางจราจรและปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง และยิงผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต การที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงเป็นนักกิจกรรมเชิงสันติวิธี ย่อมใช้สิทธิพลเมืองของตนในการแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจรัฐยุติการกระทำเช่นที่ว่านั้นได้ อีกทั้งการกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมมีผลให้ประชาชนมีช่องทางระบายออกถึงความคับแค้นจากการใช้อำนาจรัฐ ให้รัฐบาลหันกลับมามองประชาชนแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับฟังข้อเรียกร้องและเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติได้ การที่จำเลยเพียงแต่กล่าวปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่ากฎหมายหรือกำลังใดๆ ก็หาอาจตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นได้ เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวหาก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความไม่สงบขึ้นมาในการบริหารประเทศแต่อย่างใด เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่า จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยในทำนองที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตาย จำเลยหาได้กระทำการใดๆอันเป็นการประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อกำลังทหารเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำการปิดกั้นขีดขวางการจราจรรวมถึงการใช้ความรุนแรงดังฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่ชอบโดยพื้นฐานและเป็นไปตามเจตจำนงของการปกครองในระบบประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
Posted: 04 May 2012 03:14 AM PDT กรีซประท้วงแรงหลังอดีตเภสัชฯ ยิงตัวดับ การชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น หลังอดีตเภสัชกรเพศชาย อายุ 77 ปี ซึ่งในรายงานข่าวมิได้ระบุชื่อ ยิงตัวตายบริเวณใต้ต้นไม้ในจัตุรัสซินแท็กมา กลางกรุงเอเธนส์ พร้อมทิ้งจดหมายลาตายประณามนักการเมืองกรีซว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤติการเงิน ผู้ชุมนุมราว 1,500 คน เดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเอเธนส์ของกรีซ เพื่อเรียกร้องให้นายลูคัส ปาปาเดมอส นายกรัฐมนตรีกรีซ ยกเลิกแผนประหยัดงบประมาณซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2553 และการชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น หลังอดีตเภสัชกรเพศชาย อายุ 77 ปี ซึ่งในรายงานข่าวมิได้ระบุชื่อ ยิงตัวตายบริเวณใต้ต้นไม้ในจัตุรัสซินแท็กมา กลางกรุงเอเธนส์ พร้อมทิ้งจดหมายลาตายประณามนักการเมืองกรีซว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤติการเงิน ทั้งยังระบุด้วยว่ารัฐบาลตัดเงินบำนาญลง ทั้งที่ตนทำงานหนักและจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินบำนาญมานานกว่า 35 ปี จึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ในภาวะคับแค้นเช่นนี้ต่อไปได้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมวัยรุ่นจำนวนหนึ่งยังได้พยายามขว้างปาก้อนหินและระเบิดขวดใส่ตำรวจ จนเกิดเหตุปะทะทำร้ายร่างกายกัน จึงมีคำสั่งยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ก่อกวนความสงบ ขณะที่ผู้ชุมนุมรายอื่นๆ นำดอกไม้ไปวางไว้ที่จุดเกิดเหตุฆ่าตัวตาย เพื่อไว้อาลัยแก่อดีตเภสัชกรผู้ล่วงลับ ทั้งยังมีผู้เขียนป้ายประท้วงติดไว้บนต้นไม้ว่า ความสูญเสียครั้งนี้มิใช่การฆ่าตัวตาย แต่เป็นการฆาตกรรมโดยรัฐ ขณะที่แผนประหยัดงบประมาณของกรีซ รวมถึงการลดเงินบำนาญผู้เกษียณอายุ การเก็บภาษีเพิ่มเติม และการตัดงบสนับสนุนสวัสดิการสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก. ไฟไหม้ตลาดกรุงมอสโก คลอกแรงงานอพยพดับ 17 คน 4 เม.ย. 55 - เจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 17 คน เป็นแรงงานสัญญาจ้างจากประเทศในอดีตสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง คือ จากทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน จากเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดคาชาลอฟสกี้เมื่อเช้าตรู่วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ในช่วงที่แรงงานนอนอยู่รวมกันและหนีออกมาจากเพิงพักไม่ทัน เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง กว่าจะดับเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้ และเตรียมสอบสวนสาเหตุเพลิงไหม้ แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ทั้งนี้ แรงงานหลายล้านคนจากทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน ต่างมุ่งมาหางานทำในกรุงมอสโกของรัสเซีย หลายคนทำงานก่อสร้างและตลาดค้าขายต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง สาวใช้อินโดฯในซาอุฯ รอถูกประหารเพียบ 6 เม.ย. 55 - หนังสือพิมพ์ อาหรับ นิวส์ รายวันฉบับภาษาอังกฤษ ของซาอุดิอาระเบีย รายงานในฉบับวันนี้ว่า แรงงานหญิงผู้ช่วยแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานอยู่ในซาอุดิอาระเบีย และต้องโทษในคดีต่างๆ กำลังรอการประหารชีวิต 25 ราย ได้รับการอภัยโทษและส่งตัวกลับประเทศแล้ว 22 ราย โดยในจำนวนนักโทษที่รอการถูกประหาร 19 คนอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตก 6 คนอยู่ในเขตจังหวัดริยาดห์ นายเฮนดราห์ ปรามุตโย โฆษกสถานทูตอินโดนีเซีย ประจำซาอุดิอาระเบีย เผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมส่งคณะเจ้าหน้าที่ 14 คน เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียในวันที่ 7 เม.ย. เพื่อเจรจากับทางการซาอุดิฯ และเพิ่มความพยายามร่วมกับสถานทูตอินโดฯ ในกรุงริยาดห์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตแรงงานหญิงผู้ช่วยแม่บ้านเหล่านี้ รวมทั้งช่วยเหลือแรงงานอินโดนีเซียในส่วนอื่นๆ ที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วซาอุดิอาระเบียรวม 1,700 คน. โซนี่เตรียมตัดลดพนักงานทั่วโลกนับหมื่นหลังปรับองค์กรเพื่อฟื้นกำไร 9 เม.ย. 55 - โซนี่ คอร์ป จะลดการจ้างงานลง 10,000 ตำแหน่ง หรือราว 6% ของแรงงานทั่วโลก ภายในสิ้นปีนี้ หนังสือพิมพ์นิกเกอิเผย ขณะที่ผู้บริหารคนใหม่ถูกกดดันอย่างหนักในการนำพาบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า และบันเทิงยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้ให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง หลังตัวเลขติดลบมานานถึง 4 ปี โซนี่ ซึ่งคาดการณ์ว่าการขาดทุนสุทธิ 220,000 ล้านเยนในปีงบประมาณนี้เพิ่งสิ้นสุดลง ประกาศในเดือนที่ผ่านมา คาซูโอะ ฮิราอิ จะเป็นผู้ดูแลธุรกิจโทรทัศน์ที่กำลังประสบปัญหา โดยตรงต่อไป ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรทางธุรกิจของบริษัท ฮิราอิ ผู้รับตำแหน่งประธานบริหาร หรือซีอีโออย่างเป็นทางการ ต่อจากโฮเวิร์ด สตริงเกอร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จะต้องรายงานสรุปแผนธุรกิจของบริษัทในวันพฤหัสบดี (12) นี้ หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า การลดจ้างงานครึ่งหนึ่งมาจากการควบรวมกิจการภาคเคมีภัณฑ์ และการผลิตจอแอลซีดีขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะลดตำแหน่งงานในญี่ปุ่น และต่างประเทศ จำนวนเท่าไรบ้าง นอกจากนี้ โซนี่อาจยังจะร้องขอให้ผู้บริหารระดับสูง 7 คน ที่ทำงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม โดยรวมถึงสตริงเกอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานในขณะนี้ด้วย คืนเงินโบนัสที่พวกเขาได้รับไป นิกเกอิรายงานเสริมโดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข่าว อย่างไรก็ตาม โซนี่ยังคงปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวนี้ สภาผู้แทนฯ อินโดนีเซียให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานอพยพ 12 เม.ย. 55 - สภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานอพยพ เป็นมาตรการใหม่ในการคุ้มครองแรงงานอินโดนีเซียหลายล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ ไมแกรนท์แคร์ องค์กรนอกภาครัฐที่ดูแลแรงงานอพยพระบุว่า การให้สัตยาบันของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศและเมื่อเดินทางกลับประเทศ เป็นก้าวที่สำคัญมากต่อแรงงานหนุ่มสาวที่เสียสละตนเองเพื่อครอบครัวแต่บางครั้งต้องตกเป็นเหยื่อถูกทำร้าย ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งแก้ไขกฎหมายบางฉบับให้สอดคล้องกับมาตรการคุ้มครองในอนุสัญญาแรงงานอพยพ รวมทั้งผนวกเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ในกระบวนการเข้าเมือง ปรับปรุงการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลเพื่อให้แรงงานอพยพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียประมาณว่า มีชาวอินโดนีเซียทำงานในต่างประเทศมากกว่า 3 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงจะสูงกว่านี้เพราะแรงงานจำนวนมากไปทำงานโดยไม่มีเอกสาร แรงงานอินโดนีเซียส่วนใหญ่ทำงานค่าแรงต่ำที่กฎหมายดูแลไม่ถึง เช่น งานบ้าน งานภาคเกษตร งานก่อสร้าง ในมาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย และคูเวต ญี่ปุ่น โซนี่ปรับลดพนักงานหมื่นตำแหน่ง 13 เม.ย. 55 - บริษัทโซนี่ คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่น ประกาศปรับลดพนักงานลง 1 หมื่นตำแหน่งของแรงงานทั่วโลกของบริษัท พร้อมประกาศเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรทัศน์ครั้งใหญ่ หลังเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก นายคาซูโอะ ฮิราอิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของโซนี่ แถลงกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อสื่อมวลชนในกรุงโตเกียวเมื่อวานนี้ โดยให้คำมั่นว่าจะรื้อฟื้นบริษัทโซนี่ขึ้นมาใหม่ การปรับลดตำแหน่งงานของโซนี่ มีขึ้นหลังโซนี่ออกมาประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิประจำปีสำหรับปีงบประมาณที่ผ่านมาจนถึงเดือนที่แล้วถึง 5.2 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ถึง 2 เท่า ถือเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่โซนี่ประสบภาวะขาดทุนและเป็นการขาดทุนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โซนี่ ซึ่งมีธุรกิจมากมายตั้งแต่กล้องดิจิตอล และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปจนถึงคอนโซลเกมเพลย์สเตชั่นและภาพยนตร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน จากทั้ง แอปเปิล อิงค์ และ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ป แผนใหม่เพื่อฟื้นกำไรของบริษัทโซนี่ จะมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้วยการเพิ่มการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี ในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เช่น กล้องดิจิตอล เกมส์ และสมาร์ทโฟน นอกจากนี้โซนี่ยังจะไปแสวงหาการเติบโตใหม่ๆ ในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ อย่างอินเดีย เม็กซิโก และขยายธุรกิจไปยังการผลิตอุปกรณ์การแพทย์อีกด้วย เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% เริ่ม “เมย์เดย์” 1 พ.ค. 15 เม.ย. 55 - รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีกาฉบับหนึ่งในสัปดาห์นี้ เพื่อขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากในปัจจุบันตั้งแต่ 830,000 ด่ง จนถึง 1,050,000 ด่ง (52.50 ดอลลาร์) ต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดถึง 25-29% แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กีบจังหวัด หรือโซนที่ตั้งของแหล่งจ้างงาน และนี่คือ อัตราค่าจ้างที่จะใช้เป็นพื้นฐานใหม่ในการคิดคำนวณค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันและค่าทำงานล่วงเวลา ที่ยังไม่นับรวมสวัสดิการอื่นๆ เข้าไปด้วย ค่าจ้างอัตราใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2555 เป็นต้นไปซึ่งเป็นวันแรงงานสากล อัตราใหม่นี้บังคับใช้กับบริษัทเวียดนามเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทลงทุนต่างชาติในโครงการลงทุนโดยตรงหรือ FDI (Foreign Direct Investment) ในเวียดนาม ซึ่งมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 เป็นระหว่าง 1.4-2 ล้านด่ง (70-100 ดอลลาร์) ตามกฤษฎีการที่ลงวันที่ 12 เม.ย.2555 อัตราค่าจ้างใหม่ ยังบังคับใช้สำหรับการคิดคำนวณเงินอัตราเงินเดือน เงินสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินค่าล่วงเวลา กับเงินชดเชยต่างๆ ของรัฐกร ตำรวจ ทหาร พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ รวมทั้งพนักงานกับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กับองค์กรทางการเมือง และทางสังคมต่างๆ อีกด้วย สื่อของทางการรายงาน ในทางปฏิบัติ บริษัทเอกชนต่างๆ ในเวียดนามจะจ่ายค่าจ้างให้แก่บรรดาลูกจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้มาก พร้อมจัดสวัสดิการให้ตามกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภท และชนิดของอุตสาหกรรม และแหล่งจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานประเภทที่มีฝีมือนั้น ค่าจ้างจะสูงกว่านี้หลายเท่าตัว เพื่อแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากทางการได้ปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.พ.2554 เป็นต้นมา ขณะที่สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า 3 เดือนต้นปีนี้ ดัชนีผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงเรื่อยๆ เวียดนามก็เช่นเดียวกันกับจีน ปัจจุบันกำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมกรรมสำคัญต่างๆ เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำมากทำให้ขาดแรงจูงใจ และแรงงานต่างจังหวัดได้หันหลังให้เมืองกลับสู่ชนบท เพื่อทำการผลิตในภาคการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการเข้าทำงานรับจ้าง ปัญหาขาดแคลนแรงงานซับซ้อนมากขึ้นอีกเมื่อหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีขึ้น ไม่สนใจที่จะทำงานเป็นลูกจ้าง หรือคนงานที่รับค่าจ้างต่ำๆ เช่น บิดาหรือมารดาของพวกเขาอีกต่อไป. หมอเปรูประท้วงขึ้นเงินเดือน หลังประธานาธิบดีเบี้ยวนโยบายตอนหาเสียง 21 เม.ย. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าหมอของกระทรวงสาธารณสุขเปรู 15,000 คนประท้วงผละงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเรียกร้องการขึ้นเงินเดือน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 เม.ย.) โดยผู้ประท้วงได้เดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้แก่รัฐบาล โดย Cesar Palomino ประธานสมาพันธ์การแพทย์แห่งเปรู ระบุว่าประธานาธิบดี Ollanta Humala ไม่ได้ทำตามนโยบายเมื่อครั้งการรณรงค์หาเลือกตั้งที่จะขึ้นเงินเดือนให้กับหมอที่เป็นลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้หมอที่ทำงานให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินเดือนเพียง 530 โซล (ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ) โดย Palomino เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้กลุ่มหมอ เหมือนกับที่ขึ้นให้ทหาร ผู้พิพากษาและครู ไปแล้ว ด้าน Manuel Larrea โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเปรู ระบุว่ายังมีหมออีก 95% จากทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้ประท้วงผละงาน การประท้วงครั้งนี้เป็นเพียงคนส่วนน้อย และหมอในเปรูยังให้บริการเป็นปกติ พนง.ขนส่งมวลชนอิตาลีหยุดงานประท้วง 21 เม.ย. 55 - พนักงานขนส่งมวลชนของอิตาลี หลายพันคนได้เดินขบวนประท้วงในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ที่พวกเขามองว่า มาตรการรัดเข็มขัดเป็นความจงใจที่จะอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการปลดพนักงานออกได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นางซูซานนา คามัสโซ ผู้นำในการประท้วงได้เรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ หากนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งพนักงานที่ร่วมเดินขบวนประท้วงไปยังย่านใจกลางของกรุงโรม ประกอบไปด้วยพนักงานที่ให้บริการรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลให้การจราจรในช่วงเช้าของอิตาลีต้องสะดุดลง นอกจากนี้ กลุ่มพนักงานขนส่งมวลชนในเมืองอื่นๆ ของอิตาลี ยังได้ร่วมหยุดงานประท้วงด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มพนักงานและนายจ้างต่างระบุว่า นายมอนติ ประสบความล้มเหลวในการสร้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจอิตาลี ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง อัตราว่างงานในอิตาลี พุ่งขึ้นแตะ 9.3% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2544 จากระดับ 9.1% ในเดือนม.ค. ขณะที่จำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547 ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลี อนุมัติมาตรการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรีมอนติ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยลดการว่างงานและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งประสบกับภาวะถดถอย ร่างกฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมถึงการเพิ่มสวัสดิการว่างงาน การลดสัญญาการทำงานชั่วคราว และเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการไล่พนักงานออก ซึ่งมาตรการสุดท้ายนี้ ถูกคัดค้านจากพรรคประชาธิปไตยกลาง-ซ้าย ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนหลักทางการเมืองของรัฐบาลนายมอนติ รวมถึง ซีจีไอแอล ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี เนื่องจากเกรงว่า จะทำให้การไล่พนักงานออกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น นายมอนติ กำลังดำเนินมาตรการลดรายจ่ายและขึ้นภาษี เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณในปีหน้า และลดหนี้สาธารณะ ซึ่งอยู่ในระดับสูงถึง 1.9 ล้านล้านยูโร แต่มาตรการเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัว 1.3% ในปีนี้ ฝ่ายค้านบังกลาเทศระดมผละงานประท้วงทั่วประเทศ 29 เม.ย. 55 - พรรคชาตินิยมบังกลาเทศแกนนำฝ่ายค้านเป็นผู้นำการประท้วงผละงานทั่วประเทศในวันนี้และวันพรุ่งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ทางการค้นหา นายเอลิอาส อาลี เลขาธิการพรรค ที่หายตัวไป ด้านตำรวจและพยาน เปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กปะทุอย่างน้อยแปดครั้งในกรุงธากา ระหว่างการประท้วงวันนี้ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายค้านบังกลาเทศจัดการประท้วงผละงานทั่วประเทศเป็นเวลาสามวัน เพื่อเรียกร้องการค้นหาตัว นายอาลี มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านกล่าวหาทางการและหน่วยงานความมั่นคงของบังกลาเทศว่าอยู่เบื้องหลังการหายไปของ นายอาลี แต่เจ้าหน้าที่ยืนกรานปฏิเสธ อีกด้านหนึ่งองค์กรพิทักษ์สิทธิเปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้หายตัวไปแล้วอย่างน้อย 22 คน และส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ไอแอลโอเตือนมาตรการรัดเข็มขัดทำคนตกงาน 202 ล้านคน 30 เม.ย. 55 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ออกรายงานสถานการณ์แรงงานทั่วโลกประจำปี 2555 ระบุว่ามาตรการลดรายจ่ายและปฏิรูปตลาดแรงงาน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการจ้างงานทั่วโลก แม้ส่วนใหญ่จะลดการขาดดุลงบประมาณไม่ได้ตามเป้าก็ตาม และเตือนว่ารัฐบาลชาติต่างๆจะเสี่ยงเผชิญกับเหตุการณ์ไม่สงบในสังคม หากไม่ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดควบคู่ไปกับการสร้างงาน รายงานระบุว่า แรงงานประมาณ 50 ล้านตำแหน่งหายไปจากตลาดนับจากวิกฤติการเงินในปี 2551 และคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานโลกในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 หรือคิดเป็นจำนวน 202 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 % หรือราว 6 ล้านคน จากตัวเลขว่างงานโดยประมาณ 196 ล้านคนในปีที่แล้ว ขณะเดียวกันยังคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 6.2 เพราะจะมีผู้ว่างงานเพิ่มอีก 5 ล้านคน รายงานระบุด้วยว่า ไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกในระยะสองปีข้างหน้า จะขยายตัวในอัตราที่เพียงพอสำหรับการเติมเต็มตำแหน่งงานในปัจจุบัน และจัดหาตำแหน่งงานให้กับคนอีกกว่า 80 ล้านที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และที่น่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ คื อยุโรป ภูมิภาคที่ประเทศเกือบสองในสาม เผชิญกับอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นทั้งสิ้นนับจากปี 2553 และตัวเลขการจ้างงานจะยังไม่ดีขึ้นเทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤติการเงินปี 2551 จนกว่าจะถึงสิ้นปี 2559 ขณะที่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาก็ชะงักงันเช่นกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
'อภิสิทธิ์' ยันจุดยืนพระปกเกล้าฯ ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง Posted: 04 May 2012 03:07 AM PDT “อภิสิทธิ์” ยันจุดยืนพระปกเกล้าฯ ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ชี้มติครม.จัดสานเสวนา 60 วันต้องผ่านมติสภาสถาบันฯ ห้ามอ้างอิงงานวิจัย 4 พ.ค. 55 - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวภายหลังการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าว่า ที่ประชุมได้ยืนยันถึงการทำงานวิจัยของสถาบันฯตามที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ร้องขอจบลงไปแล้ว และสิ่งที่ได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อ 3 เม.ย.ก็ยืนยันที่จะดำเนินการตามนั้น ส่วนกรณีที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ได้สอบถามในที่ประชุมว่าสถาบันฯจะดำเนินการอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่ายังไม่่มีการแจ้งหรือร้องขอมายังสถาบันฯอย่างเป็นทางการ ดังนั้นสภาสถาบันฯจึงยังไม่พิจารณาเรื่องนี้ แต่เห็นว่าถ้ามีการร้องขอมาทางฝ่ายบริหารจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาสถาบันฯ โดยจะไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด จนกว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาสถาบันฯ ซึ่งได้มีการหารือในหลักการว่าสถาบันฯไม่ประสงค์ที่จะไปเป็นปมความขัดแย้งหรือเครื่องมือทางการเมืองโดยก็จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่แถลงไว้ ส่วนการทำโครงการประชาเสวนาที่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60วัน ในส่วนนี้ผู้บริหารสถาบันยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการอะไรจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาสถาบันฯก่อน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวให้ความเห็นชัดเจนว่ากระบวนการประชาเสวนาที่รัฐบาลกำลังจะทำไม่ตรงกับสิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ เพราะที่เสนอไปเป็นเรื่องของการทำงานของสถาบันนิติบัญญัติ ในการสานต่องานวิจัยของสถาบัน แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารไปดำเนินการ และในมติของครม.ก็อ้างอิงรายงานกมธ.ปรองดอง ไม่สามารถอ้างอิงงานวิจัยของสถาบันฯได้ แม้ว่าในรายงานของกมธ.ปรองดองจะแนบรายงานวิจัยของสถาบันฯก็ตาม เพราะต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการก่อน และหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้จนกระทั่งมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมตามมา ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล และไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะอ้างว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เพราะจุดยืนมีการแถลงไปชัดเจนอยู่แล้ว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
เผยฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม เน้นเสนอภาพการช่วยเหลือระยะสั้น Posted: 04 May 2012 02:57 AM PDT เสวนาผลการศึกษาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม” พบฟรีทีวีเน้นการรายงานแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ได้จัดกิจกรรมนำเสนอและรับฟังความเห็นต่อ ผลการศึกษาเรื่อง “ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม” ที่ลานกิจกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชั้น 35 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ เริ่มด้วยการนำเสนอ โดย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งกล่าวว่า งานนี้เป็นการศึกษารายการข่าวและรายการพิเศษของฟรีทีวี 6 ช่อง ที่ออกอากาศระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2554 ในช่วงเวลา 20.00 – 24.00 น. โดยรายการที่ศึกษา คือ ข่าว 3 มิติ (ช่อง 3) จับประเด็นข่าวร้อน (ช่อง 5) ประเด็นเด็ด 7 สี (ช่อง 7) ข่าวข้นคนข่าว (ช่องโมเดิร์นไนน์) สถานีรวมใจช่วยภัยน้ำท่วม (ช่อง สทท.11) คุยแต่น้ำไม่เอาเนื้อ (ช่องสทท.11) ที่นี่ไทยพีบีเอส (ช่องไทยพีบีเอส) ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม ช่วง 1 และ 2 (ช่องไทยพีบีเอส) กับลุยกรุง (ช่องไทยพีบีเอส) ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเวลาที่ศึกษา คือ มีน้ำท่วมขังตั้งแต่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ที่น้ำเริ่มไหลออกทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ่าวไทย การศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 การวิเคราะห์เนื้อหารายการที่ศึกษา ใน 7 ประเด็น ซึ่งสรุปผลการศึกษาต่อแต่ละประเด็น ได้ดังนี้ การรายงานสถานการณ์น้ำ พบว่า ฟรีทีวีให้ความสำคัญกับการรายงานระดับน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยเฉพาะย่านที่อยู่อาศัยและเส้นทางสัญจรที่สำคัญโดยเฉพาะเขตดอนเมือง-รังสิต ห้าแยกลาดพร้าว พระราม 2 บางชัน ลาดกระบัง ทั้งที่ในช่วงเวลาเดียวกัน จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่กลับถูกนำเสนอไม่มากนัก การจัดการปัญหาน้ำท่วม พบการนำเสนอ 8 มิติ ได้แก่ การจัดการสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำ การเฝ้าระวังและป้องกันสถานการณ์น้ำ การจัดการปัญหาสภาพแวดล้อม การช่วยเหลือและชดเชยความเสียหาย การจัดการสวัสดิภาพชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการปัญหาความขัดแย้ง การจัดการด้านเศรษฐกิจ และการจัดการร่วมกับองค์กรต่างประเทศ จากการวิเคราะห์รายการที่ศึกษา พบว่าผู้ที่มีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหา คือ ภาครัฐ แต่พบช่องไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะของผู้จัดการปัญหา และมีการนำเสนอข่าวการจัดการเพื่อกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ประสบภัยที่ไม่ได้รับเงินชดเชย ผลกระทบจากสถานการณ์ พบ 4 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยในมิติเศรษฐกิจ พบว่า มักเน้นภาคเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ด้านสังคมให้ความสำคัญรอบด้านทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ราคาสินค้า และชีวิตความเป็นอยู่ เช่นเดียวกับมิติด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อมซึ่งมีทั้งเรื่องปัญหาระบบนิเวศน์ ปัญหามลพิษ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ในขณะที่มีการรายงานผลกระทบต่อโบราณสถานจากช่อง 7 เท่านั้น ความขัดแย้ง พบความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนจากการจัดการสถานการณ์ เช่น ปัญหาบิ๊กแบ๊ค การแก้ไขสถานการณ์น้ำซึ่งนำเสนอความผิดพลาดของรัฐ และความไม่พอใจของผู้ประสบภัยที่ลงเอยด้วยการรื้อบิ๊กแบ๊คและการฟ้องร้อง นอกจากนี้ยังพบความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองเรื่องการตรวจสอบทุจริตถุงยังชีพ การช่วยเหลือ พบว่าฟรีทีวีเน้นการรายงานแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การบริจาคของ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การให้บริการรถ เรือ และการบริการทางการแพทย์ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาระยาว เช่น การปรับปรุงระบบประกันภัยพิบัติ การพักชำระหนี้ และการสร้างถนนพบในช่องสทท.11 และ ไทยพีบีเอส เท่านั้น การเตือนภัย ในรายการที่ศึกษาพบว่า ฟรีทีวีรายงานข่าวการประกาศอพยพและการประกาศพื้นที่เฝ้าระวังเป็นภาษาไทย และไม่พบการสื่อสารเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน นอกจากนี้พบว่ามีเพียงช่อง 3 และช่องไทยพีบีเอสเท่านั้นที่มีการตรวจสอบการเตือนภัยของรัฐบาล เช่น การสำรวจสถานการณ์น้ำและปฏิกิริยาของประชาชนในพื้นที่ที่มีการเตือนภัย การฟื้นฟู จากรายการที่ศึกษา พบ 7 มิติ ได้แก่ พื้นที่ ทรัพย์สิน สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศาสนาวัฒนธรรม และอาชีพ แต่มิติที่ฟรีทีวีทุกช่องให้ความสำคัญ คือ มิติด้านพื้นที่โดยเฉพาะกิจกรรม Big Cleaning Day และกิจกรรมทำความสะอาดอื่นๆ ซึ่งจัดโดยภาครัฐ ในขณะที่ช่องไทยพีบีเอสเน้นการฟื้นฟู โดยการทำความสะอาดของภาคประชาชน ส่วนที่ 2 เป็นการวิเคราะห์ผลการศึกษาส่วนที่ 1 ด้วยแนวคิดเรื่อง สิทธิมนุษยชน และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับการรายงานข่าว สรุปผลการวิเคราะห์ได้ดังนี้ เรื่องของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลครองพื้นที่สื่อ - แม้ว่าฟรีทีวีให้พื้นที่กลุ่มคนที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ธุรกิจ อุตสาหกรรม แรงงานในระบบและนอกระบบ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะช่อง 3 ให้พื้นที่ผู้ประสบภัยหลากหลายกลุ่มทั้ง ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ คนเก็บของเก่า ชาวนา และสัตว์เลี้ยง ฯลฯ อย่างไรก็ตามฟรีทีวีเน้นนำเสนอบุคคลที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าผู้ที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐ สื่อ ธุรกิจสวมบทเด่น – แม้จากรายการที่ศึกษาจะพบว่ากลุ่มคนที่ปรากฏในสื่อถูกนำเสนอในบทบาทที่แตกต่างกันจนทำให้เกิดภาพลักษณ์เฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ดี พบว่า กลุ่มภาครัฐ กลุ่มสื่อ และกลุ่มธุรกิจถูกนำเสนอในบทบาทการควบคุมสถานการณ์ การแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การสั่งระบายน้ำ การกู้เส้นทางจราจร การบริจาคสิ่งของ ฯลฯ ในขณะที่ประชาชนทั่วไป กลุ่มคนพิเศษ เกษตรกร และ ผู้ใช้แรงงาน ถูกนำเสนอในบทบาทของผู้ประสบภัยที่ได้รับความทุกข์จากสถานการณ์น้ำท่วมและการจัดการของภาครัฐ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถคิดแก้ไขปัญหาได้เอง ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งพบบทบาทกลุ่มประชาชนที่รื้อบิ๊กแบ๊ค เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย มีการกระทำที่ใช้อารมณ์ อย่างไรก็ตามช่องไทยพีบีเอสนำเสนอบทบาทของประชาชนที่แตกต่างออกไป คือ เป็นกลุ่มประชาชนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองและชุมชนได้ เช่น การวางแผนสร้างทางเดินในชุมชน และการทำอาหารแจกคนในชุมชน รวมถึงการบอกเล่าและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล ในส่วนบทบาทนักการเมือง พบการจับผิดขั้วตรงข้ามทางการเมือง มากกว่าการช่วยเหลือประชาชน คนพิการ ชาวต่างชาติถูกมองข้าม – จากรายการที่ศึกษาพบว่าการสื่อสารของฟรีทีวีเป็นแบบ One fits for all หรือการนำเสนอข้อมูลชุดเดียวแก่คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญ เช่น การแจ้งพื้นที่เฝ้าระวังและการแจ้งอพยพที่ไม่มีการแปลภาษาหรือสื่อสารด้วยวิธีการพิเศษสำหรับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามพบว่าช่องไทยพีบีเอสนำเสนอแนวทางการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติผ่านการสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มแรงงานโดยใช้ภาษาของแรงงานกลุ่มดังกล่าว ข้อมูลเป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม – จากรายการที่ศึกษา พบว่า ฟรีทีวีรายงานสถานการณ์น้ำเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมและน้ำลด มากกว่าการรายงานภาพรวมเส้นทางน้ำ ปริมาณน้ำ หรืออัตราความเร็วน้ำเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และมีอำนาจควบคุมสถานการณ์ควบคู่ไปกับภาครัฐ ในส่วนของการแจ้งอพยพ พบว่าสื่อรายงานประกาศของภาครัฐโดยไม่มีข้อมูลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัย เช่น สถานที่พัก จุดบริการรถรับส่ง เส้นทางจราจร ฯลฯ โดยเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อการอพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สำหรับประเด็นการช่วยเหลือฟื้นฟู พบการนำเสนอหลายมิติ แต่ส่วนใหญ่เป็นแผนระยะสั้น เช่น การบริจาคของ การตั้งเครื่องสูบน้ำ การทำความสะอาด ฯลฯ ในขณะที่แผนระยะยาวมุ่งเน้นมิติเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการปล่อยสินเชื่อ หลังจากการนำเสนอผลการศึกษา เป็นการเสนอ/ความคิดเห็นจากคณะวิทยากร ดังนี้ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อการศึกษาว่ามีข้อจำกัดเพราะสุ่มเลือกช่วงเวลาหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง ในขณะที่ภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ถ้าทำการติดตามศึกษาโดยตลอด จะเห็นวิธีคิดของคนทำข่าว นอกจากจะเป็นการศึกษาในช่วงสั้นแล้ว ยังเลือกประเด็นความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ อาจารย์สุภาพร วิเคราะห์ลักษณะการทำงานของสื่อมวลชนที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ยึดติดกับมายาคติเก่าๆ คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับมหภาค หรือส่วนกลาง มักจะได้พื้นที่และความสำคัญ ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าตั้งคำถามกับสื่อมวลชน เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่เหมือนกรณีของสึนามิที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นวิกฤตที่ก่อตัวอย่างช้าๆ และมีเวลาให้จัดการ ดังนั้น วิกฤตน้ำท่วมจึงไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนการขาดความพร้อมของคนไทย และการที่สื่อไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึง “ข้อมูลสำคัญ” 2.โลกทัศน์ของสื่อมวลชน ที่มองว่า “ความคิดทางวิทยาศาสตร์” มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ที่จริงแล้วมีความคิดหลายสำนัก แต่ละสำนักคิดก็มีการให้เหตุผลกับกระบวนการ แตกต่างกัน ในกรณีวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ชี้ว่า การวางบิ๊กแบ็คทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่เหนือและใต้แนวกั้นน้ำ แต่ในเรื่องนี้ ก็มีแนวคิดต่างจากการใช้บิ๊กแบ็คกั้นน้ำ ที่เห็นว่าการกั้นน้ำเป็นการสะสมน้ำ ทำให้น้ำมีเวลารวมตัว ก่อให้ผลกระทบมากกว่าเดิม โจทย์นี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่อยู่บนความแตกต่าง หลากหลาย ซับซ้อน และเคลื่อนที่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มคน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน และมีตัวละครเกี่ยวข้องที่หลากหลาย เป็นความละเอียดอ่อนซึ่งท้าทายสื่อมวลชนยุคนี้ เช่น กรณีอำเภอบางบาล ที่ถูกเลือกให้เป็นแก้มลิง ขณะที่กรุงเทพฯ น้ำแห้งแต่คนบางบาลยังนอนอยู่ริมถนน เป็นพื้นที่ที่ท่วมก่อนแต่แห้งทีหลัง อันนี้เป็นความล่มสลายของชีวิต สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการล่มสลายของชีวิตผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมไม่พอ ทำให้มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำของปัญหานี้ สื่อต้องเชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำ สื่อต้องนำเสนอในมิติ Macro (มหภาค) และ Micro (จุลภาค) เช่นในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องมีเรื่องของชุมชนและผู้คนที่ถูกละเลยในพื้นที่สื่อ ซึ่งก็คือ ภาคส่วนที่ถูกลืมและละเลย การศึกษานี้ จึงไม่ใช่ศึกษาเฉพาะส่วนที่สื่อนำเสนอ แต่ต้องค้นหาส่วนที่ขาดหายไป และนั่นคือความเหลื่อมล้ำ 3.ขาดการตั้งคำถาม ในวิกฤตน้ำท่วมนี้รัฐบาลต้องมีการจัดการเพื่อการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน และมีเอกภาพ แต่สื่อมวลชนไม่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพนั้น สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้รับสารได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การประกาศแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น หรือ ในส่วนของวาทกรรม “ผู้เสียสละ” โดยการประกาศให้บางชุมชนเป็นผู้เสียสละ สื่อต้องให้ความสนใจว่า การที่ภาครัฐประกาศให้บางชุมชนเป็นผู้เสียสละ เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำหรือไม่ 4.ความอ่อนไหว สื่อมวลชนได้ร่วมกับภาครัฐในการสร้างวาทกรรม “ผู้เสียสละ” ซึ่งคนกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่อ่อนแอที่สุด แต่ต้องเสียสละเพื่อคนที่เข้มแข็งกว่า สื่อมวลชนควรสร้างความเช้าใจและเห็นอกเห็นใจ ท้ายที่สุด อาจารย์สุภาพรตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างคำนึงถึงการให้ความรู้ไปด้วย ทำอย่างไรให้การสื่อสารในวิกฤตแบบนี้ “ไม่มีใครถูกลืม” ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในมิติของนักรัฐศาสตร์ จากที่สื่อมวลชนมักมองคนบางกลุ่มเป็นกลุ่มพิเศษ เช่น เด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ ทั้งที่ควรมองในหลายมิติมากขึ้น และมองอย่างเท่าเทียมกัน โดยผศ.ดร.ประภาส ได้ให้มุมมองความเหลื่อมล้ำใน 3 มิติ ดังนี้ 1.มิติอำนาจทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำจากอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ มายาคติที่มองเห็นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าชนบท ดังนั้นคนในชนบทจึงต้องเสียสละรับน้ำไป ทั้งที่ในความเป็นจริงผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มคนดังกล่าว มีความรุนแรงและส่งผลยาวนานกว่ามาก จนอาจทำให้วิถีชีวิตบางอย่างหายไป เช่น ชาวไร่ชาวสวนในบางพื้นที่ต้องล้มสวนเกือบทั้งหมด ขาดรายได้ 6-7 เดือน และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน จนอาจเลิกปลูกไม้ยืนต้นในอนาคต ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้ จึงมีความซับซ้อนมากกว่าการแจกถุงยังชีพ 2.มิติอำนาจทางการเมือง สังคมมักมองผู้ออกมาเรียกร้อง ผู้ชุมนุม ว่าเป็นผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ต้องการพื้นที่สื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารความเดือดร้อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปถึงพื้นที่ทางการเมืองได้ 3.มิติอำนาจทางวัฒนธรรม จากผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ สื่อให้ความสำคัญกับมิติวัฒนธรรมเกี่ยวกับโบราณสถาน แต่วัฒนธรรมต้องหมายรวมถึงวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบด้วย นั่นคือ ผลกระทบไม่ได้มีต่อที่อยู่อาศัย หรือเศรษฐกิจเท่านั้น และอยากให้สื่อมองความไม่เท่าเทียมกันของกลุ่มคนที่ไม่ถูกพูดถึง เช่น แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่มีสถานะอะไรเลยในสังคม แต่ควรถูกเห็นคุณค่าความเป็นคนที่มีวิถีชีวิต มีอัตลักษณ์ มีตัวตน ดร.ประภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า “การสร้างระบบเป็นเรื่องสำคัญ หากระบบไม่มีก็รับมือไม่ได้ เช่น ในเรื่องค่าชดเชย กลุ่มใดรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองได้ ก็ได้เงินชดเชยสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ขาดพลังต่อรอง สื่อต้องตรวจสอบระบบ จึงจะเห็นความเหลื่อมล้ำ” ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึง ปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อมวลชนที่ทำการตลาด โดยนำดารามาร่วมทำข่าวนำเสนอความเป็นตัวตน แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำข่าว ซึ่งคนก็ดู เพราะบันเทิง และพบว่าสื่อโทรทัศน์ทุกช่องแข่งกันในการเป็นตัวกลางในการรับของบริจาคจากประชาชน ซึ่งในแง่ของการช่วยเหลือนี้ หากรัฐบาลจัดการเป็น ก็เชิญทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะ และแบ่งว่าใคร จะลงไปช่วยในพื้นที่ไหน หากพื้นที่ไหนลงไปลำบาก ภาครัฐก็เข้าไปเอง หากทำแบบนี้ก็จะได้เครือข่ายในการช่วยเหลือ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ประเด็นการสร้างลักษณะบุคคลในข่าว พิธีกรถูกสร้างให้เป็นฮีโร่เกือบทุกคน โดยเฉพาะช่อง 3 เน้นเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ และเมื่อช่องต่างๆ แย่งกันเป็นฮีโร่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อทุกช่องได้รับการร้องเรียน จะรีบลงพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนการจัดการที่ล้มเหลวของ ศปภ. แต่ไม่มีสื่อใดรายงานว่า ศปภ. มีการทำงานอย่างไรจึงเกิดความล้มเหลวขึ้น ในเรื่องวิธีการเลือกข่าว เนื่องจากสื่อไม่มีกำลังพอที่จะลงทำข่าวในทุกพื้นที่ สื่อจึงเลือกนำเสนอสิ่งที่มีผลกระทบมากที่สุด หรือในอีกแง่หนึ่งคือ ทำให้ได้คนดูมากที่สุด แม้แต่ไทยพีบีเอส ตอนทำนายเรื่องน้ำท่วม พื้นที่ที่ อ.เสรี ศุภราทิตย์ ให้ข้อมูลละเอียดที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร จะเห็นว่าแม้แต่ช่องที่เราคิดว่าดีที่สุด ก็ให้ความสำคัญกับกรุงเทพ เพราะรู้ว่าจะได้คนดูมาก การคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดของสื่อสารมวลชนระดับประเทศ และระดับโลกทั้งหมด ทางแก้คือ เราต้องสร้างสื่อชุมชนที่สามารถส่งต่อข้อมูลโดยที่สื่อหลักไม่ต้องส่งทีมลงไปเองทั้งหมด ส่วนภาพรวมของปัญหาน้ำท่วม คือ สื่อไม่มีการเจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ทั้งที่สำคัญมากกว่าการเถียงกันแต่เรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อน และไม่มีการพูดถึงเส้นทางน้ำว่าไหลมาอย่างไรเพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาน้ำท่วมของประเทศในครั้งนี้ สุดท้าย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ยอมรับว่า การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด โดยเฉพาะด้านข้อมูลของหน่วยการศึกษา ทั้งยังนำประเด็น”ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาเป็นโจทย์การศึกษาด้วยอย่างไรก็ดี โครงการถือว่าเป็นการศึกษาที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยนำวาระสำคัญของปี 2554 ทั้งในเรื่องวิกฤตน้ำท่วม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม มาประกอบกันเป็นโจทย์การศึกษา สิ่งที่น่าพอใจ คือ ผลการศึกษาครั้งนี้ ได้นำเสนอข้อมูล ที่ทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นที่น่าสนใจของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน คือ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
โพลล์เผยร้อยละ 68.8 ระบุว่าการนิรโทษกรรม ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ Posted: 04 May 2012 02:43 AM PDT กรุงเทพโพลล์เผย ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่าการนิรโทษกรรม ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ โดยแนะให้นักการเมืองเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภา 4 พ.ค. 55 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,180 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 37.7 ระบุว่ายังไม่เห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 28.5 ระบุว่าเริ่มเห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นแล้ว ส่วนร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่แน่ใจ ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความปรองดอง คือ นักการเมืองต้องเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ร้อยละ 26.7 รองลงมาคือ นักการเมืองต้องหันหน้าเข้าหากันเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภาฯ ร้อยละ 26.5 และคนไทยต้องเคารพและยึดกฎหมายของประเทศเป็นหลัก ร้อยละ 10.9 เมื่อถามถึงการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมืองว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่าไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ (โดยให้เหตุผลว่า เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา อคติยังคงมีอยู่ทุกฝ่าย แต่ละฝ่ายไม่ยอมกัน ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ และเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของคนในชาติ เป็นต้น) ในขณะที่ร้อยละ 31.2 ระบุว่า สามารถสร้างความปรองดองได้ (โดยให้เหตุผลว่า เป็นการให้อภัยกัน เรื่องคงจบ เป็นการเริ่มต้นใหม่โดยหันหน้ามาคุยกัน ให้โอกาสแก่ผู้ทำผิดได้กลับตัว เป็นต้น ) ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อการออก พรบ.ปรองดอง ว่ามีความจำเป็นต่อสังคมไทยเพียงใด พบว่า ประชาชนระบุว่าค่อนข้างจำเป็น ร้อยละ 35.4 และจำเป็นมาก ร้อยละ 24.9 ในขณะที่ระบุว่าไม่ค่อยจำเป็น ร้อยละ 19.3 และไม่จำเป็นเลย ร้อยละ 20.4 อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 51.5 ระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีการสร้างความเข้าใจและรายละเอียดให้ชัดเจนถึงเหตุผล ความจำเป็น และกระบวนการในการออก พรบ.ปรองดอง ร้อยละ 40.4 ระบุว่า เข้าใจแต่ยังไม่ชัดเจน มีเพียงร้อยละ 8.1 ที่ระบุว่าเข้าใจชัดเจนแล้ว สำหรับความกังวลที่มีต่อการออก พรบ. ความปรองดอง ว่าจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกนั้นประชาชนร้อยละ 42.1 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล และร้อยละ 17.4 กังวลมาก ในขณะที่ ร้อยละ 26.1 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 14.4 ระบุว่าไม่กังวลเลย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น