โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผลเบื้องต้นชี้พรรคสังคมนิยมชนะเลือกตั้งปธน.ฝรั่งเศส

Posted: 06 May 2012 01:15 PM PDT

ผลการเลือกตั้งเบื้องต้น ชี้ “ฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์” ผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยมเป็นปธน.ฝรั่งเศสคนใหม่ โดยได้คะแนนนำในการเลือกตั้ง 52% ในขณะที่ "นิโคลาส ซาร์โกซี" จากพรรคขวากลางได้คะแนน 48%

7 พ.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของศึกชิงชัยประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste) “ฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์” ได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่ โดยได้คะแนนเสียงราวร้อยละ 52 ในขณะที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน "นิโคลาส ซาร์โกซี" จากพรรคสหภาพเพื่อการเคลื่อนไหวของปวงชน หรือ อูแอมเป (Union pour un mouvement populaire - UMP) ได้คะแนนร้อยละ 48
 
ชัยชนะครั้งนี้ ทำให้ฮอลลองด์เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่มาจากพรรคสังคมนิยมคนแรกในรอบ 17 ปี หรือตั้งแต่ปี 1995 
 
นักวิเคราะห์มองว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมานี้จะมีนัยสำคัญต่อยูโรโซน โดยก่อนหน้านี้นายฮอลลองก์ได้ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้ัรัฐบาลในหลายประเทศสมาชิก
 
สื่อฝรั่งเศสได้ประมาณการณ์ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากที่หีบนับคะแนนปิดลงราว 20 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่นในฝรั่งเศส
 
ผู้สนับสนุนนายฮอลลองด์จำนวนมากได้รวมตัวกันบริเวณจตุรัสบาสติลล์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ประจำในการชุมนุมกันของฝ่ายซ้าย
 
สื่อต่างประเทศมองว่า ชัยชนะของฮอลลองด์ได้ตอกย้ำความสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจในฝรั่งเศสและความนิยมของซาร์โกซีที่ลดลง โดยตัวแทนจากพรรคสังคมนิยมได้สัญญาในการหาเสียงว่า จะเพิ่มการเก็บภาษีบรรษัทขนาดใหญ่และบุคคลที่ได้รายได้สูงกว่า 1 ล้านยูโรต่อปี
 
นอกจากนี้ ฮอลลองด์ยังต้องการใช้นโยบายที่เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มการจ้างงานครูอีก 6 หมื่นคนและลดการเกษียณอายุจาก 62 ปี ให้เหลือ 60 ปีสำหรับบางวิชาชีพด้วย
 
ในขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ระหว่างซาร์โกซีกล่าวสุนทรพจน์ยอมรับความพ่ายแพ้ เขากระตุ้นให้พรรคอูแอมแปยังคงความสามัคคีไว้เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งส.ส.ที่จะมาถึงในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าตนจะไม่นำการหาเสียงดังกล่าว
 
การพ่ายแพ้การเลือกตั้งของซาร์โกซี ผู้เป็นประธานาธิบดีจากพรรคขวากลางตั้งแต่ปี 2007  นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐที่ 5  ของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1958 ที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันไม่ได้รับเลือกตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง
 
สำหรับประวัติของนายฮอลลองด์นั้น เขาได้ทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ต่อมาเข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสในปี 1979 และได้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีมิตเตอรองด์
 
ในปี 1988 ฮอลลองด์ได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในเขตกอร์เรซ์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และกลายมาเป็นประธานพรรคสังคมนิยมในปี 1997 ก่อนจะลงจากตำแหน่งในปี 2008 เนื่องจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีหนึ่งปีก่อนหน้าให้แก่ซาร์โกซี จนเมื่อปีที่แล้ว ฮอลลองก์กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจากพรรคสังคมนิยมในการชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ หลังจากที่โดมินิค สเตราส์ คาห์น สมาชิกพรรคเดียวกัน ถูกจับกุมในข้อหาพยายามข่มขืน แต่ถูกยกฟ้องในภายหลัง 
 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Socialist Francois Hollande 'wins French presidency'. BBC, 6/05/55
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-17975660
 
Profile: Francois Hollande. BBC, 6/05/55
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-15311645
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รองประธานาธิบดีพม่า "สายแข็ง" ยื่นใบลาออกแล้ว เชื่อ "สัญญาณดี" ต่อการปฏิรูป

Posted: 06 May 2012 12:16 PM PDT

"ทิน อ่อง มินต์ อู" อดีตที่ปรึกษา พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 1 แล้ว โดยให้เหตุผลด้านสุขภาพ โดยก่อนลาออก ไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนหลายวัน และไม่ไปส่งประธานาธิบดี "เต็ง เส่ง" ขึ้นเครื่องบินไปญี่ปุ่น

รองประธานาธิบดีพม่า ทิน อ่อง มินต์ อู ได้ลาออกแล้ว หลังจากไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลาหลายวัน ทั้งนี้สื่อมวลชนในพม่าให้ข้อมูลด้วยว่า ทิน อ่อง มินต์ อู ยังไม่ปรากฏตัวในช่วงที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เดินทางไปที่สนามบินเนปิดอว์ เพื่อเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการด้วย และประชาชนต่างรู้สึกสับสนกับการที่จู่ๆ รองประธานาธิบดีก็ไม่ยอมปรากฏตัวต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เขาได้ยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ หลังจากที่เขาเพิ่งกลับมาจากการรักษาตัวที่สิงคโปร์ ทั้งนี้ทิน อ่อง มินต์ อู ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นที่ทราบว่าเขาเป็นหนึ่งใน "สายฮาร์ดคอร์" ในรัฐบาลเต็งเส่ง ทั้งนี้เขาถือเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้นางออง ซาน ซูจี ขึ้นมามีอำนาจและเข้มแข็งบนเวทีการเมืองพม่า

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเมื่อปี 2010 เขาชนะการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ Pyithuhluttaw และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 เมื่อ 30 มี.ค. ปี 54 พร้อมด้วย นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่ 2 โดยทิน อ่อง มินต์ อู ถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคณะรัฐบาลเผด็จการทหาร สมัยสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ด้วย และยังเคยเป็นที่ปรึกษาด้านการทหารให้กับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตประธาน SPDC โดยนักวิเคราะห์ทางการเมืองเชื่อว่าการลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีของเขา จะส่งสัญญาณที่ดีต่อการปฏิรูปในพม่า

ทั้งนี้ ข่าวการลาออกของนายทิน อ่อง มิ้นต์ อู เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 พ.ค.) ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่านางออง ซาน ซูจี เข้าทำงานในสภาเป็นวันแรกและทำพิธีสาบานตน พร้อมด้วยสมาชิกสภาคนอื่นๆ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

 

ทีมา: Myanmar Vice President Tin Aung Myint Oo resigns after disappearing for a few days, by Thin09, Groundreport, May 06, 2012

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ความมั่นคงของพุทธศาสนาที่ (อาจ )ไม่ใส่ใจ ‘สัจจะ’ และ ‘เสรีภาพ’

Posted: 06 May 2012 10:43 AM PDT

เวลาเราพูดถึง “ความมั่นคงของพุทธศาสนา” คำถามที่ตามมาคือ พุทธศาสนาที่เราต้องการให้มีความมั่นคงนั้น คือพุทธศาสนาในความหมายใดกันแน่?

คือพุทธศาสนาในความหมายของเนื้อหาสาระ วิถีชีวิต หรือพุทธศาสนาในความหมายของพิธีกรรม สถาบัน หรืองค์กรสงฆ์?

หากเป็นพุทธศาสนาในความหมายของเนื้อหาสาระ วิถีชีวิต ที่พุทธะค้นพบและนำมาเผยแผ่ ก็ได้แก่ “สัจจะ” และ “เสรีภาพ” สัจจะคืออริยสัจสี่ที่เป็นความจริงของทุกข์และความดับทุกข์ ส่วนเสรีภาพนั้นเป็นทั้ง “วิถี” (means) และ “เป้าหมาย” (end) อยู่ในตัวเอง

เป็น “วิถี” หมายความว่า เราต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาสัจจะ จึงจะค้นพบสัจจะหรือความจริงได้ และเป็น “เป้าหมาย” หมายความว่า ความจริงที่ค้นพบทำให้เรามีเสรีภาพ (วิมุติ-freedom) จากกิเลสและความทุกข์ได้ เช่น สิทธัตถะต้องมีความกล้าหาญในการสลัดพันธนาการต่างๆ เพื่อใช้เสรีภาพแสวงหาความจริง และเมื่อค้นพบความจริงแล้วจึงมีเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นความจริงเกี่ยวกับปัญหาทางสังคม เช่น ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร เป็นต้น ผู้คนในสังคมก็ต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาความจริงดังกล่าว จึงจะค้นพบความจริงนั้นได้ และความจริงที่ค้นพบนั้นก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคมนั้นๆ ได้

ฉะนั้น “เสรีภาพ” กับ “สัจจะ” จึงมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเงื่อนไขแก่กัน คือเราจะค้นพบความจริงไม่ได้ถ้าปราศจากเสรีภาพ ในขณะเดียวกันเมื่อเราใช้เสรีภาพแสวงหาความจริงที่จำเป็นแก่การดับทุกข์ทางจิตวิญญาณ ความจริงที่ค้นพบนั้นก็ทำให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์ และเมื่อเราใช้เสรีภาพแสวงหาความจริงที่จำเป็นแก่การแก้ปัญหาหรือทุกข์ทางสังคม ก็จะช่วยให้สังคมนั้นมีเสรีภาพจากปัญหาหรือความทุกข์ที่กดทับอยู่ เช่น ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำของอำนาจต่อรองทางการเมือง เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า ความมั่นคงของพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระก็คือ ความมั่นคงของ “สัจจะ” และ “เสรีภาพ” ที่แสดงให้เห็นผ่านวิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรมของชาวพุทธที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสวงหาสสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมนั่นเอง

แต่ดูเหมือนว่า พุทธศาสนาในความหมายของการใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมจะไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเท่าที่ควรจะเป็น พุทธศาสนาที่กลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพุทธปัจจุบันคือ พุทธศาสนาเชิงพิธีกรรมและเชิงสถาบัน

จริงๆแล้ว พุทธศาสนาเชิงพิธีกรรมและเชิงสถาบันมีความจำเป็นในแง่ว่าเป็น “รูปแบบ” หรือระบบรองรับการแสดงออกของพุทธศาสนาเชิงเนื้อหาสาระ

เช่น พุทธะก่อตั้งสังฆะขึ้นเพื่อให้เป็นชุมชนฝึกฝนตนเองตามแนวทาง “ไตรสิกขา” หรือมรรคมีองค์ 8 เพื่อค้นพบสัจจะและเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์ ฉะนั้น สังฆะจึงเป็นชุมชนที่สละพันธนาการแบบโลกย์ๆ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เบาสบาย เพื่อให้มีเสรีภาพมากที่สุดในการแสวงหาสัจจะ สังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้นจึงไม่มีระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ (วรรณะ 4) พุทธะสละฐานันดรศักดิ์ และทุกคนที่เข้ามาบวชไม่ว่าจะมาจากชนชั้นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือจัณฑาล เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของสังฆะสถานะทางชนชั้นถือว่าสิ้นสุดลง คงมีอยู่เพียงสถานะของพระภิกษุ หรือสมณะที่มีความเสมอภาคกันภายใต้ธรรมวินัยอันเป็นธรรมนูญหรือ “ธรรมาธิปไตย” ของสังฆะที่ต้องยึดถือร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกว้างออกไป ความมั่นคงของพุทธศาสนา (ธรรมวินัย) ย่อมขึ้นอยู่กับพุทธบริษัท 4 คือ กลุ่มชาวพุทธ 4 ฝ่าย ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่เอาใจใส่ในการศึกษาปฏิบัติ บรรลุผล (ปฏิเวธ) และการเผยแผ่ธรรมวินัย

พูดง่ายๆ คือ ชาวพุทธทุกฝ่ายมีความสามารถที่จะดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแห่งการใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมนั่นเอง

คำถามคือ เวลานี้เมื่อเราพูดถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาในเชิงพิธีกรรมและในเชิงสถาบัน เรากำลังพูดกันในความหมายของความมั่นคงที่รองรับการแสดงตัวของวิถีชีวิตที่ใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในชีวิตของปัจเจก และทุกข์ทางสังคมหรือไม่?

หรือพูดอีกอย่างว่า ความมั่นคงของพุทธศาสนาเชิงพิธีกรรมและสถาบันสงฆ์ในแบบปัจจุบัน เป็นความมั่นคงที่สนับสนุนส่งเสริมวิถีชีวิต และ/หรือวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อที่มุ่งใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะเพื่อความดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมหรือไม่?

เพราะในขณะที่สังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้น เป็นสังฆะที่สละฐานันดรศักดิ์ แต่สังฆะปัจจุบันมีฐานันดรศักดิ์ สังฆะในอดีตเป็นสังฆะที่เน้นความเรียบง่าย ปล่อยวาง มีทรัพย์สินส่วนตัวเพียงไตรจีวร หรืออัฐบริขารที่จำเป็นแก่การดำรงชีพเพื่อแสวงหาสัจจะเท่านั้น แต่สังฆะในปัจจุบันมีทั้งทรัพย์สินของวัด มีที่ดินวัดให้เช่า มีผลประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นรายได้ของวัด บางวัดมีทรัพย์สินหลายพันล้าน บางวัดก่อสร้างใหญ่โตเสมือนเป็นอาณาจักรทางศาสนามีเงินกว่าแสนล้าน ขณะที่พระบางรูปมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็นหลักล้าน หรือหลายสิบล้าน

ทั้งๆ ที่ข้อหนึ่งในวินัย 227 ข้อของพระนั้น “ห้ามภิกษุรับเงินและทอง” แต่สังฆะปัจจุบันก็อ้างความจำเป็นว่า โลกยุคนี้ต้องใช้เงินในทุกๆ เรื่อง ทว่าพระและวัดครอบครองเงิน “ตามความจำเป็น” จริงๆ หรือ? เหตุใดคณะสงฆ์ปัจจุบันจึงไม่มีระบบบริหารจัดการที่กระจายรายได้ระหว่างวัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกันและกันตามความจำเป็น ทำไมบางวัดจึงใหญ่โต ร่ำรวยมหาศาล ขณะที่บางวัดขาดแคลนไปเสียทุกด้าน

ทำไมสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันที่รักษาธรรมวินัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมวินัยมากกว่าฆราวาส และต่างโปรโมทอยู่ตลอดเวลาว่า “ธรรมะแก้ปัญหาทุกอย่างได้” แต่ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และผลประโยชน์ของวัด หรือการจะจัดการให้วัดทั่วประเทศอยู่อย่างมั่นคงภายใต้ความเมตตาเอื้ออาทรสนับสนุนช่วยเหลือกันและกันกลับใช้ธรรมะมาแก้ไม่ได้

พูดตรงๆ คือถ้าธรรมะแก้ปัญหาทุกอย่างได้จริง ทำไมสังฆะปัจจุบันไม่ใช้ธรรมะแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ การเติบโตอย่างผิดรูปของบางวัด ความไม่สมดุลในด้านต่างๆของวัดโดยรวมๆ เป็นต้นเองก่อน หากธรรมะแก้ปัญหาของสังฆะเองยังไม่ได้ สังฆะจะนำธรรมะมาแก้ปัญหาของสังคมโลกที่ซับซ้อนยิ่งกว่าได้อย่างไร

ปัจจุบันทราบว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท และยังต้องการงบประมาณเพิ่มอีกมากในการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่อุปถัมภ์คุ้งครองพุทธศาสนาด้วยการจัดงบสนับสนุนวัดต่างๆ

ถามว่า 4,000 ล้านบาท ที่เอาไปสนับสนุนวัดทั่วประเทศ (ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรรวมทั้งสิ้นประมาณ 250,000 รูป และมีแนวโน้มลดลงทุกปี) ในการศึกษาปฏิบัติธรรมนั้น ก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อการปกป้องพุทธศาสนาในเชิงเนื้อหาสาระที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ที่เราเห็นๆ กันอยู่ มีเพียงความมั่นคงของพุทธศาสนาเชิงพิธีกรรม เชิงสถาบัน ที่เน้นเรื่องการหารายได้ ผลประโยชน์ ฐานันดรศักดิ์ของพระ มากกว่าที่จะเป็นความมั่นคงของพุทธศาสนาเชิงเนื้อหาสาระที่สนับสนุนส่งเสริมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคม ดังที่พุทธะเคยทำเป็นแบบอย่าง!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประสบการณ์(เลือด) ของนักข่าวในเหตุชุมนุม Bersih 3.0

Posted: 06 May 2012 10:17 AM PDT

เสรีภาพสื่อ? - สภาพของนักข่าวที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและถูกทำร้ายร่างกายในเหตุการณ์ชุมนุม Bersih 3.0 ณ จัตุรัสเมอร์เดก้า กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (ที่มา: Freemalaysiatoday)


..........................................................................................................................
“เจ้าหน้าที่เทศบาลกัวลาลัมเปอร์
ก็ไม่เว้นที่จะปฏิบัติหน้าที่เสมือนตำรวจที่พยายามทำร้ายฉัน”
...........................................................................................................................

 

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(28 มีนาคม 2555) เกิดเหตุการณ์ชุมนุม BERSIH 3.0 (ครั้งที่3) โดยที่มีผู้ชุมนุมมาจากทั่วสารทิศของประเทศมาเลเซียและเป็นที่ทราบกันมาก่อนล่วงหน้าว่าจะมีการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้น

การชุมนุมครั้งนี้นำโดยซามัด ซาอิด และอัมพิกา สะรีนาวาซัน ที่เคยนำการชุมนุม BERSIH 2.0 (ครั้งที่ 2.0) เป็นครั้งแรกที่ผมได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานเขียนปกติแล้วผมจะเป็นคนทำสื่อวีดีโอ ผมต้องขออภัยหากงานเขียนชิ้นนี้มันแย่และหวังว่าผู้อ่านจะสละเวลาเพื่ออ่านบทความชิ้นนี้จนจบ

ผมรู้สึกเหมือนถูกเรียกร้องให้เขียนงานชิ้นนี้ แต่ไม่ได้เพื่อเข้าข้างฝ่ายใด จะเป็นฝ่ายตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุม Bersih3.0 หรือ DBKL (พนักงานเทศบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์) ผมหวังว่าผู้อ่านคงเข้าใจในสถานะของผมที่ทำหน้าที่สื่อวีดีโอคนหนึ่ง ผมพยายามเขียนให้มันเป็นกลางมากที่สุด

เมื่อเวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผมไปถึงหน้ามัสยิดจาเม็ก โดยนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนนักข่าวชาวต่างชาติ เมื่อไปถึงที่หมายสิ่งที่ผมเห็นคือเต็มไปด้วยกลุ่มเยาวชนจากหลายเชื้อสายกำลังทยอยเข้าประตูของจัตุรัสเมอร์เดก้า ผมเห็นทั้งกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงวัยนั่งพักอยู่ตามไหล่ทางและริมฟุตบาทของธนาคาร OCBC

ผมใช้เวลา 20 นาทีนั่งอัพโหลดวีดีโอแรกเพื่อให้แฟนฟรีมาเลเซียทูเดย์ (FTM) และชาวยูทูบทั่วโลกได้ชมและติดตามความเคลื่อนไหวการเมืองในประเทศมาเลเซีย หลังจากวีดีโอชิ้นแรกได้ยูทูบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมได้ย้ายการถ่ายทำจากมัสยิดจาเม็ก ไปยังจัตุรัสเมอร์เดก้าโดยหวังว่าจะได้ภาพและข่าวที่สนใจมากขึ้น

พูดจากใจจริง ผมและเพื่อนนักข่าวทุกบางคนรู้สึกเครียด เพราะปกติการชุมนุมทุกครั้งเราต้องเดินตามขบวนผู้ชุมนุมตลอดทาง แต่ครั้งนี้มันแตกต่างผู้ชุมนุมแค่นั่ง ถ้าผู้อ่านที่มาร่วมกับการชุมนุมครั้งนี้จะสังเกตเห็นว่าช่างภาพทั้งภาพนิ่งและวีดีโอแต่ละคนพยายามหามุมเพื่อให้ได้ภาพที่ดีและน่าสนใจ

หลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำ ถึงเวลาที่ต้องอัพโหลดวีดีโอล่าสุดในเวลา 13.00 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ขณะที่ผมกำลังนั่งตัดต่อวีดีโอ ได้โอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ทุกนายอัธยาศัยดีและเป็นมิตร บางนายยังบ่นเลยว่าพวกเขาดูหนัง "The Avengers Assemble" ไม่ทันจบถูกเรียกมาปฏิบัติหน้าที่ซะก่อน

ขณะกำลังอัพโหลดไฟล์วีดีโอขึ้นยูทูบ ทันใดนั้นเห็นตำรวจที่กำลังทานข้าวและพักผ่อนอยู่ต่างรีบวิ่งกรูไปยังถนนตุนเปรัค และมีหน่วยปราบจลาจล (Federal Reserve Unit หรือ FRU) เข้าประจำที่และพร้อมปฏิบัติการ ผมจำเป็นต้องระงับการอัพโหลดไว้และมุ่งตรงเข้าไปประจำที่ตรงหน้าแถวของตำรวจ

สถานการณ์ในเวลานั้นก็อยู่ในภาวะตึงเครียดและแดดก็ร้อนจัด ผมและเพื่อนนักข่าวเลยตัดสินใจไปเก็บภาพในจัตุรัสเมอร์เดก้าดีกว่า

หลังจากที่พวกเราเข้าไปอยู่เข้าในแล้ว ต่างก็แยกย้ายเพื่อหามุมของตนเอง เวลาขณะนั้นใกล้เข้า 3 โมงเย็น เพื่อไม่ให้เสียเวลาผมลองอัพโหลดวีดีโออีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเหมือนเดิมเมื่อได้ยินเสียงจากผู้ชุมนุมกำลังโห่ร้องใส่ตำรวจและกำลังฝ่าลวดหนามที่ทาง DBKL และตำรวจกั้นไว้ นักข่าวที่กำลังทำหน้าที่อยู่แถวนั้นก็รีบคว้าอุปกรณ์และรีบหนีเพื่อความปลอดภัย ตำรวจที่ประจำการแถวหน้าต่างก็วิ่งกระเจิง

 

ตำรวจปราบจลาจลปฏิบัติการ

จากเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นอย่างวันนี้ ทางหน่วย FRU เริ่มปฏิบัติการฉีดน้ำและปล่อยแก๊สน้ำตาอย่างไม่ยั้ง และมีบางกลุ่มที่เป็นผู้ชายใส่เสื้อเหลืองก็ตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหินมายังทางตำรวจ โดยฐานะคนที่ทำหน้าเป็นสื่อก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและต้องบันทึกทุกเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เวลาก็ย่างเข้า 4 โมงเย็นแล้ว ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้แล้วบางส่วน

แต่น่าเสียดายทุกครั้งที่มีการจับกุมเราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการบันทึกภาพ และตอนที่ผมกำลังวิ่งไล่เพื่อตามตำรวจที่กำลังลากผู้ชุมนุมคนหนึ่งที่ใบหน้าเขาเต็มไปด้วยเลือดและผมก็ไม่เลิกที่จะบันทึกเหตุการณ์นั้นตลอดทาง ทันใดนั้นผมโดนตำรวจนายหนึ่งเข้าจู่โจมและบังคับให้ผมยุติการบันทึก ยังไม่พอแค่นั้นมีนายตำรวจอีกคนเข้ามาแล้วเอาน้ำมาราดใส่กล้อง

ผมเริ่มรู้สึกแปลกๆ แปลกใจมากเพราะในช่วงเจ็ดปีที่ทำหน้าที่เป็นสื่อที่ไม่เคยได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนี้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัธยาศัยที่ดี ความเป็นมิตรที่เคยมีให้เมื่อตอนกลางในมันหายไปไหนหมด?

ไม่ต้องคิดไกลอะไรมาก ผมจึงตัดสินใจย้ายจากจุดนั้นไปยังที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด ผมเข้าไปหานักข่าวคนอื่นๆ และเล่าว่าผมเจออะไรมาบ้าง  และทุกคนก็พูดเสียงเดียวกันว่าก็ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ไม่แพ้ผม ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่ผู้หน้าที่สื่อเป็นภัยคุกคามต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกันหรือ?

ทางพนักงานของเทศบาลกัวลาลัมเปอร์ ก็ไม่เว้นที่จะปฏิบัติตัวเสมือนตำรวจและพยายามทำร้ายผม เข้าตะคอกใส่ผมอย่างแรง “มึงยังไม่ย้ายไปจากที่นี่ กูจับแน่! ” แล้วก็ตบกระเป๋าเป้ของผม

ชัดเจนว่ามันเป็นข่มขู่สื่อที่กำลังทำหน้าที่ ผมกำลังสงสัยว่าพนักงานเทศบาลกัวลาลัมเปอร์มันมีอำนาจในการควบคุมตัวด้วยเหรอ? ถ้าเขามีอำนาจควบคุมตัว จับแล้วจะพาไปที่ไหน? ในห้องเก็บอุปกรณ์จัดสวนของเทศบาลกัวลาลัมเปอร์ เหรอ?

ผมไม่ได้สงสัยในหน้าที่ของตำรวจและพนักงานเทศบาลกัวลาลัมเปอร์ แต่อย่างใด แต่ทำไมพวกเขาต้องมาคุกคามสื่อที่กำลังทำหน้าที่? เราเองก็กำลังทำหน้าเหมือนคุณ หรือว่าทางพนักงานเทศบาลกัวลาลัมเปอร์ เคยสอบเพื่อเป็นตำรวจแต่ไม่ผ่าน เลยมีความฝันที่จะทำหน้าเสมือนตำรวจ? มันช่างอับอาย!

เมื่อตอนกลางของวันนี้, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฮิสมามุดดิน ตุน ฮุซเซน ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่มีการยึดกล้องถ่ายภาพนิ่งหรือวีดีโอและเมโมรีการ์ด มันเป็นนโยบายหรือระเบียบปฏิบัติ (Standard Operation Procedure หรือ SOP) อย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่ เมื่อไรกัน?

ด้วยเหตุผลอะไรที่จำเป็นต้องยึดมัน? มันมีในยะอะไรที่ซ้อนเร้น? ขาตั้งกล้องของพวกเราก็โดนยึดไปด้วย ขาตั้งมันไม่สามารถใช้บันทึกภาพได้นิ ผมไม่เคยคิดหรอกว่า ตำรวจจะโง่ขนาดขั้นจำเป็นต้องยึดขาตั้งของเราไป

พวกเราในฐานะคนทำสื่ออยากให้ทุกฝ่ายให้ความเคารพ ว่าเราก็กำลังปฏิบัติหน้าที่ และเราก็เคารพว่าท่านก็กำลังปฏิบัติหน้าที่ของท่านอยู่เหมือนกัน ทำไมต้องทำเกินกว่าเหตุ ทำให้นักข่าวบางคนต้องได้รับบาดเจ็บ? ทำไมต้องทุบตีทำร้ายทั้งที่พวกเขากำลังทำหน้าที่? เป็นการกระทำที่ทำให้เสียภาพพจน์ของตำรวจ จากที่เคยเป็นมิตรมีความสัมพันธไมตรีที่ดี แต่ท้ายสุดไม่แตกต่างจากลิงนิสัยก้าวร้าวที่บุกรุกเข้าไปสวนชาวบ้าน, มันน่าอับอาย!

ความรุนแรงที่เกิดจากกระทำของตำรวจและพนักงานเทศบาลกัวลาลัมเปอร์ ยังไม่พอ ต้องมาซ้ำเติมด้วยความรุนแรงจากการกระทำของผู้ชุมนุมที่ไปทำร้ายช่างภาพในพื้นที่จนได้รับบาดเจ็บสาหัส (หัวแตก) ตามที่สื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์รายงานว่า ผู้ชุมนุมได้เข้าไปทำร้ายช่างภาพอย่างไร้เหตุผล

ใช่มันถูกต้อง! ถ้าคนทำสื่อที่เอาตัวไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แสดงว่านักข่าวก็ได้ล้ำเส้นในการเป็นสื่อ แต่ถึงอย่างไรก็ตามทางผู้ชุมนุมก็ควรจะมองในหลักมนุษยธรรม ไม่ได้หรือย่างไร? นักข่าวที่โดนทำร้าย โดนยึดกล้อง ขาตั้งกล้องและเมโมรีการ์ดในวันนั้น ทุกคนจะมีบัตรนักข่าวที่ออกโดยกระทรวงการประชาสัมพันธ์ฯ คล้องไว้ที่คอแสดงอย่างชัดเจน ไม่ใช่บัตรที่ซื้อจากร้านเครื่องเขียน! มันเป็นบ้าอะไรกันนี่?

ท้ายนี้ แด่เพื่อนนักข่าวทุกท่านที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมขออวยพรให้ทุกท่านหายไวๆ และกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม และหวังว่าเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้ทำให้ทุกคนต้องสิ้นหวังที่จะทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ทุกคนได้รับรู้

และผมหวังอย่างยิ่งต่อผู้ที่รับชอบกับการกระทำครั้งนี้สามารถให้คำตอบหรือคำอธิบายที่ยังคาราคาซังในสมองพวกเรา “คำขอโทษ” อย่างเดียวมันยังไม่เพียงพอ, อยากให้รู้ว่า “นกแก้วก็ยังสามารถสอนให้พูดคำว่า ขอโทษ”

 

30 เมษายน 2012, กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

 

...............................................................
ผู้เขียนบทความนี้เป็นนักข่าวของ Freemalaysiatoday.com
ที่มา : แปลจาก  Pengalaman seorang wartawan dalam perhimpunan Bersih 3.0, Freemalaysiatoday, 30 เม.ย. 55

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดกำหนดการผู้แทนโอไอซีเยือนชายแดนใต้

Posted: 06 May 2012 10:04 AM PDT

เลขาธิการโอไอซีเดินทางเยือนไทย 7-12 พฤษภานี้ ชมกิจกรรมของรัฐ พบปะชาวบ้าน เยี่ยมเหยื่อและคนเจ็บจากความไม่สงบ

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 รายงานข่าวแจ้งว่า คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของผู้แทนโอไอซี หรือ องค์การการประชุมชาติอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) นำโดย Sayed Kassem El Masry Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของนายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลูเลขาธิการโอไอซี ที่จะเดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 7-12 พฤษภาคม 2555 นี้

โดยมีกำหนดเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤษภาคม 2555 โดย วันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 20.00 น. จุฬาราชมนตรีและเทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ จากนั้นเข้าที่พักโรงแรมโนโวเทลเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

จากนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ออกเดินทางไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) พบหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. และประชุมรับฟังการบรรยายสรุปและการซักถาม ณ ห้องประชุมใหญ่ ศอ.บต. ช่วงบ่ายเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิด และเยี่ยมชมศูนย์มัรกัส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

จากนั้นไปเยี่ยมชมศูนย์อำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชนระดับตำบลตาลีอายร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมอาชีพสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และเข้าพักที่ โรงแรมซีเอส ปัตตานี

วันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์จากค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ไปยังค่ายสิริธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยมีพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.กอ.รมน ภาค 4) ให้การต้อนรับ

จากนั้นออกเดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เยี่ยมชมโครงการรอตันบาตู (หมู่บ้านแม่หม้าย) เยี่ยมชมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 จากนั้นออกเดินทางไปยังค่ายเสนาณรงค์อำเภอหาดใหญ่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเดินทางต่อไปยังที่ร้านซามี คิทเซ่น เพื่อรับประทานอาหารเที่ยง โดยแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร

หลังจากนั้น เยี่ยมชมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังบรรยายสรุป พบปะเยาวชนภาคที่เข้าค่ายฤดูร้อนและเยี่ยมชมมัสยิดกลางจังหวัดสงขลา จากนั้นไปเยี่ยมชมมัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เข้าพักที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช รีสอร์ต  อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตายกี่ศพสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯถึงจะเกิด

Posted: 06 May 2012 09:57 AM PDT

อีก 5 วันจะครบรอบจัดงาน 19 ปี เคเดอร์ แต่ก็เกิดเรื่องสลดใจจากเหตุระเบิดในโรงงานกรุงเทพซินเนติก BST เมื่อวานขึ้นอีก และเป็นโศกนาฎกรรมที่มีคนตายทันที 5 ศพ สาหัส 2 ประสบอันตรายเจ็บกระทันหันเข้า รพ. 92 ราย อพยพคนในชุมชนออก 12 ชุมชน นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะไม่เพียงแต่ชุมชน เจ้าหน้าที่ หรือสื่อมวลชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง คนเหล่าจะได้รับสารเคมีเข้าไปด้วย เพราะกลิ่นก๊าซพิษลอยคละคลุ้งไปหลายกิโลเมตร ซึ่งไม้รู้ว่า ระยะอีก 10ปีต่อจากนี้ พวกเขาจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ไมสามารถเรียกร้องเอาค่าเสียหายรักษาพยาบาลเอากับใครได้ เพราะหลักฐานมันหายไปกับกาลเวลาที่ล่วงเลยไป รัฐไม่มีระบบติดตามตรวจสอบผลกระทบระยะยาว เพราะขาดบุคลากร แค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็แทบรับมือไม่ไหวแล้ว จะเข้าไปดูก็ทนสูดอากาศพิษไม่ไหว ขนาดไม่ได้ระเบิด แต่แค่สารเคมีรั่วไหลเมื่อครั้งก่อนๆ ก็ยังส่งผลให้คนในชุมชนต้องล้มป่วย แล้วนี่ระเบิดขนาดนี้ ย่อมกระทบผู้คนจำนวนหลายพันคน 

นิคมอุตสาหกรรมเกือบทุกที่ จะปลอดเรื่องการดูแลควบคุมจากภาครัฐ ปลอดกฎหมาย ปล่อยให้นิคมขูดรีดคนงานอย่างสุดๆ รัฐจะอ้างปัดความรับผิดชอบเสมอว่า ในนิคมขนาดใหญ่นั้นเรื่องความปลอดภัยได้มาตรฐาน ไม่มีปัญหา แต่แท้จริงแล้วรัฐจะเปิดโอกาสให้พวกนายทุนรู้สึกว่า มาลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมกันมากๆ เถอะ รัฐพยายามเปิดทางลดช่องว่างทุกอย่างเพืื่อชวนเชื่อ โดยไม่คำนึงถึงคนงานที่เป็นลูกหลานคนไทยต้องเสี่ยงภัยกับการสูญเสียสุขภาพเพียงใด ขนาดไหน มองดูชีวิตลูกหลานคนงานไทยแล้ว ช่างดูด้อยค่าเสียจริงๆ เพียงค่าแรงไม่กี่บาทที่ต้องยอมทำงานอย่างหักโหมถึงวันละ 16 ชั้วโมงเพื่อแรกกับรายได้ที่จะเอาไปจุนเจือครอบครัว

สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการด้านแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯ ต้องออกแรงและลงทุนด้วยนำพักน้ำแรงติดตามเพื่อจะเป็นกลไกช่วยเหลือกลุ่มคนป่วย และผลักดันอย่างจริงจังต่อเนื่องมายาวนานย่างเข้า 19 ปีจนใกล้จะคลอดได้แล้ว หรือศูนย์ข้อมูลรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้เข้ากับวัตถุประสงค์สถาบันฯ ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในสถานประกอบการ เพื่อทำการป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานไปยังต้นตอของปัญหาแบบสดๆ เท่าทันข้อมูลครบถ้วน มีการสรรหากรรมการที่มีจิตใจทัศนคติต่อเรื่องความปลอดภัยเข้าไปบริหารสถาบันฯนี้ กระนั้นการร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯฉบับนี้ รัฐก็ยังปฎิเสธเนื้อหาสำคัญที่เป็นข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน นักวิชาการแรงงาน  สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ก็คงเป็นเสมือนแค่รถคันหนึ่งที่ขาดตัวเครื่องกลที่จะขับเคลื่อนบริหารจัดการนโยบายสำคัญของสถาบันฯ ขาดสมองที่บัญชาการงานด้านความปลอดภัยได้

จากการศึกษาข้อมูลของกองทุนปี 2553 คนงานภายใต้การคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทน 8,177,618 รายที่ทุพลลภาพเข้าใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทนได้ 146,511 ราย คิดเป็นอัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1,000 คนประสบอันตราย 17.92 ราย รัฐสูญเสียค่าทดแทนไปกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งไม่นับคนงานที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนอีกไม่รู้เทาไหร่ ในจำนวนนั้น พวกเขากำลังเจ็บป่วย ถูกเลิกจ้าง ปลดออกจากการทำงานอย่างไร้ความชอบธรรม กำลังอยุ่ระหว่างอุทธรณ์คำวินิจฉัยของกองทุน ต่อสู้คดี และกำลังฟ้องนายจ้างเพื่อให้นายทุนรับผิดชอบต่อความบกพร่องละเลยของสถานประกอบการ ซึ่งคนงานเหล่านั้นใจจริงเขาไม่ได้อยากมีคดีหรือมีปัญหาถึงโรงถึงศาลอะไร เขาก็คือคนงานที่อยากเอาเวลามาประกอบอาชีพแบบปกติ แต่เมื่อต้องสูญเสียสุขภาพอวัยวะประกอบอาชีพไม่ได้ ทั้งยังต้องรักษาตัวต่อเนื่อง จึงทำให้พวกเจาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฏหมายเท่านั้นเอง

ในวาระจะครบรอบ 19 ปี โศกนาฎกรรมโณงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ที่ทำให้คนงานวัยหนุ่มสาวต้องสังเวยชีวิตไปแบบไม่ทันต้องตัวถึง 188 ศพ ต้องบาดเจ็บสูญเสียสุขภาพอวัยวะ 469 ราย และล่าสุดพี่น้องที่เพิ่งเสียชีวิตที่โรงงานกรุงเทพซินเนติก ฯ หรือจากพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆทั่วประเทศ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ต้องขอคาราวะดวงวิญญานของพี่น้องคนงานเหล่านั้นที่ต้องล้มตายและเสียชีวิต ด้วยการประสบอันตรายและเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน รวมทั้งครอบครัว ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่องค์กรผู้ถูกผลกระทบได้ทำไปตลอดระยะเวลา 19 ปี ยังผลให้ดวงวิญญาณพี่น้องแรงงานทั้งหลายที่กำลังทุกข์อยู่ ได้มีความสุขยิ่งๆขึ้นไป

และขอบุญกุศลที่องค์กรผู้ป่วยฯได้อุทิศในการทำประโยชน์ในการช่วยพี่น้องให้ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายและทุ่มเททำงานผลักดันนโยบายเพื่อคุ้มครองสุขภาพพี่น้องคนงานเหล่านีี้ จงบังเกิดให้สิ่งที่มุ่งหวังให้รัฐจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้คลอดออกมาอย่างสมบูรณ์ตามที่เครือข่ายแรงงานต้องการโดยเร็วพลัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการทำงานปกป้องคุ้มครองพัฒนาส่งเสริมด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใช้แรงงานในอนาคตต่อไป

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ข้อสังเกตอาหารแพง อะไรแพง

Posted: 06 May 2012 09:32 AM PDT

 

ผมถ่ายป้ายราคาสินค้าในห้องอาหารที่ รพ.พระมงกุฎ และ รพ.ศิริราช เมื่อสองเดือนก่อน

ขอบอกว่า ราคาตามหน่วยราชการและสถานศึกษาถูกและเป็นเช่นนี้มานาน  ราคาอาหารทีบ่นกัน เพราะไปอ้างอิงราคาตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ ซึ่งคิดค่าเช่าหรือเปอร์เซนต์การขายสินค้าแพงมาก ราคาตามริมถนน ก็เสียค่าเช่าที่ลดหลั่นกันไป และจะเดินตามราคาในห้างใหญ่
 
คุณจะเห็นว่ากาแฟร้อนแก้วละ หกบาท เย็น-สิบบาท ถ้าคุณไปกินในห้างก็ห้าสิบถึงแปดสิบบาท ริมถนนก็สามสิบบาท
 
ต้นทุนวัตถุดิบในอาหารไม่ได้แพง แต่ต้นทุนค่าเช่าและเปอร์เซนต์การค้าสูงมาก
 
รัฐควรเข้าไปดูค่าเช่าที่ และขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าในการคิดค่าเช่าหรือเปอร์เซนต์ขายจากศูนย์อาหารในห้าง ขณะเดียวกัน ควรขอความร่วมมือจากสถานทีราชการหรือสถานศีกษาในการขายอาหารหรือสินค้าราคาถูก สถานที่ราชการเหล่านี้ เขาทำกันเองมานานโดยไม่ต้องมีโครงการธงฟ้า
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เม้าท์มอย : ค่าแรง 300 แพงไหม และคุณภาพการศึกษาไทยทำไมต่ำจัง

Posted: 06 May 2012 08:35 AM PDT

เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ คุยกันเรื่องเบาๆ สบายๆ เกี่ยวกับค่าแรง 300 บาทต่อวันว่าแพงเกินไปหรือไม่สำหรับประเทศไทย และโยงไปถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาว่า เด็กจบ ม.6 ทำอะไรเป็นบ้าง และมีที่ไหนรับเข้าทำงานบ้าง และข้อสงสัยที่ว่าค่านิยมส่งเสียลูกหลานให้เรียนถึงปริญญาตรี แต่ทำไมเด็กจบออกมากลับทำงานไม่เป็นและหางานทำไม่ค่อยได้ ต่างจากเด็กจากสายอาชีวะศึกษา แม้ไม่ค่อยได้รับการนับหน้าถือตาในสังคมไทย แต่กลับทำงานเก่งกว่า อึดกว่า และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า และมาถกปัญหาเรื่องการศึกษาว่าทำไมคนนิยมเรียน ใครควรจะเป็นผู้ลงทุน รัฐหรือว่าเอกชน

 

mouth moy

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น