โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รายงาน: ตอบทุกประเด็น “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” ทำไมไทยไม่เป็นภาคี?

Posted: 14 May 2012 12:52 PM PDT

 

 

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC) ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ” มีวิทยากรรวม 5 คน ได้แก่ วารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนายการกองกฎหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ, พนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.และนักกฎหมาย,  ปิยบุตร แสงกนกนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

สุนัย จุลพงศธร สส.และประธานการกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในช่วงเม.ย.- พ.ค. 53 ว่ามีการฆ่าประชาชนในที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการเมืองของไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว ดังนั้นจึงต้องหากติกามาคุ้มครองชีวิตคนไทย แต่กติกาในประเทศมีความซับซ้อนมาก จึงต้องหันมองต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเข้ามาศึกษาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้นายแพทย์เหวง โตจิราการ ก็ได้ล่ารายชื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 55 เพื่อขอให้พิจารณาธรรมนูญแห่งกรุงโรม มาตรา12 (3) ที่ใช้มติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการในคดีใดคดีหนึ่ง โดยไม่ได้มีเจตนาเอาผิดกับใคร แต่เพื่อลดทอนความรุนแรงลง เพราะแน่นอนว่าญาติผู้เสียชีวิตซึ่งมีจำนวนมาก ย่อมรู้สึกโกรธ ดังนั้นจึงต้องลดความรุนแรงทางจิตใจลง
           

ประเด็นการสัมมนามี 5 ข้อ ได้แก่
           
1. ศาลICCคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
           
2. บทบาทอำนาจหน้าที่ ฐานความผิดกว้างขวางเพียงใด
           
3. เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาลมีอะไรบ้าง
            4. ผู้ที่เสียหายคือใคร และมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร การร้องทุกข์กล่าวโทษ  กระบวนการสืบสวน การพิจารณา การพิพากษา การอุทรหรือทบทวนคำพิพากษา ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างภาคีสมาชิกต้องทำอย่างไร
            5. การให้สัตยาบรรณของไทยมีผลดีหรือผลเสียในภาพรวมด้านใดบ้าง

 

1. ศาลอาญาระหว่างประเทศ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
วารุณีกล่าวว่าธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court: ICC) เป็นสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นจากการประชุม ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อจัดตั้งศาลที่มีลักษณะถาวรสำหรับพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดาที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงสูงสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีในลักษณะนี้เป็นเพียงศาลเฉพาะ ธรรมนูญกรุงโรม ได้รับการรับรองเมื่อปี2541 โดยสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ160 ประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่1 ก.ค. 2545 ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมและได้ลงนามเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2543

การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดถูกปล่อยไปโดยไม่ได้รับการลงโทษ เป็นการยับยั้งการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่อาจจะเกิดในอนาคต ส่งเสริมความยุติธรรมในระดับสากลและเสริมความยุติธรรมของรัฐภาคี

ปิยบุตรขยายความ ความหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ ว่าไม่ใช่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก การดำเนินคดีมุ่งไปที่ตัวคน ไม่ใช่รัฐกับรัฐ มีลักษณะพิเศษคือเป็นศาลถาวร ไม่เฉพาะเจาะจงกับคดีใดคดีหนึ่ง เป็นศาลเสริมอำนาจศาลภายในคือ ต้องให้มีกระบวนการยุติธรรมในประเทศก่อน และศาลอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะความสมัครใจของแต่ละรัฐเอง แม้ว่าจะลงนามแล้วแต่ก็ต้องให้สัตยาบรรณด้วยจึงจะมีผลใช้บังคับ ปัจจุบันมี 121 ประเทศ ที่ลงนามแล้ว และให้สัตยาบรรณแล้ว และมี 32 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ประเทศที่ลงแล้วถอนก็มีเช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ไม่ลง เช่น จีน อินเดีย

2. บทบาทอำนาจหน้าที่ ฐานความผิดกว้างขวางเพียงใด
วารุณีให้ข้อมูลว่า ความผิดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจพิจารณาคดี ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่มีเขตอำนาจเหนืออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด4ประเภท คือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน 

สำหรับอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน  มีการประชุมทบทวนเพื่อกำหนดคำนิยาม องค์ประกอบความผิดและเงื่อนไขที่ให้ศาลใช้เขตอำนาจในภายหลัง คือเมื่อ 31พ.ค.- 11 มิ.ย. 2553 ที่ประเทศอูกันดา ซึ่งตามกำหนดต้องแก้ไขทบทวนธรรมนูญเมื่อครบ 7 ปีหลังจากที่ธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ผลการประชุม สามารถกำหนดคำนิยามและองค์ประกอบความผิดที่ค้างอยู่ได้ กำหนดเงื่อนไขที่ให้ศาลใช้เขตอำนาจ เพิ่มฐานความผิดย่อยเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามจากเดิมที่ได้กำหนดไว้แล้ว และเลื่อนเวลาสำหรับเขตอำนาจศาล

พนัสกล่าวว่านอกจากกรณีการฆ่าสังหาร การเอาคนไปลงโทษจำคุกก็เข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เพราะการดำเนินคดีไม่ได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทำให้คนติดคุกจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผิดต่อมนุษยชาติซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นระบบ  ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ก็เข้าข่ายด้วย ถ้ามีการรับดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้มีความผิดแน่นอน

3. เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาลมีอะไรบ้าง
วารุณีกล่าวถึงการใช้เขตอำนาจศาลว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คือวันที่1 ก.ค. 2545 ดังนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันดังกล่าว  ส่วนรัฐที่เข้าเป็นภาคีภายหลังที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจใช้อำนาจได้เฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในประเทศที่เข้าเป็นภาคีนั้น

สำหรับเงื่อนไขการใช้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ การที่รัฐใดรัฐหนึ่งเข้าเป็นภาคีธรรมนูญถือเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในอาชญากรรม 4 ประเภท ที่กล่าวมา ศาลฯ อาจใช้เขตอำนาจ ตามกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

(1)เมื่อรัฐภาคีเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่อาชญากรรมถูกกระทำขึ้น หรือเป็นรัฐที่จดทะเบียนเรือหรืออากาศยานในกรณีที่อาชญากรรมกระทำขึ้นบนเรือหรืออากาศยาน

(2)รัฐภาคีนั้นเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม

(3)สำหรับรัฐที่ไม่ใช่ภาคี รัฐนั้นๆ อาจตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะกรณีได้ เมื่ออาชญากรรมกระทำขึ้นในดินแดนของตน บนเรือ หรืออากาศยานของตนหรือโดยคนชาติของตน ด้วยการส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียน และรัฐดังกล่าวต้องให้ความร่วมมือแก่ศาลโดยไม่ชักช้าและโดยไม่มีข้อยกเว้นใด

อย่างไรก็ตามศาลอาญาระหว่างประเทศมีฐานะเสริมอำนาจศาลภายในของรัฐภาคีเท่านั้น ดังนั้นก่อนอื่นเป็นหน้าที่ของรัฐภาคีที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับอาชญากรรมมากที่สุดจะต้องใช้อำนาจศาลภายในก่อน แต่เมื่อศาลภายในไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจพิจารณาคดี ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเข้ามาใช้เขตอำนาจเหนือคดีนั้นได้

วารุณีขยายความของคำว่าไม่สามารถและไม่สมัครใจว่า ไม่สามารถ(unable)  หมายถึงรัฐไม่สามารถดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถใช้อำนาจตุลาการได้ เช่นในประเทศที่มีการสู้รบอย่างรุนแรง หรือเกิดอาชญากรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง รัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่สมัครใจ(unwilling) หมายถึงรัฐมีความมุ่งประสงค์ที่จะปกป้องผู้กระทำความผิด ทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า ไม่เป็นอิสระหรือไม่เป็นกลาง แต่ศาลฯจะไม่รับพิจารณาในกรณีที่ ศาลในประเทศรับพิจารณาคดีอยู่ หรือคดีไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ด้านปิยบุตร กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของธรรมนูญนี้ว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสนธิสัญญามีว่า รัฐใดแม้ลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ก็ห้ามกระทำการที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญ  เช่น หากประเทศไทยจะเขียนรัฐธรรมนูญว่า จะไม่ให้สัตยาบรรณกับธรรมนูญ ถือว่าทำไม่ได้ นั่นคือธรรมนูญยังไม่ผูกมัด แต่ก็ห้ามเขียนกฎหมายภายในต่อต้าน หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับธรรมนูญนี้

เงื่อนไขของการรับคำร้อง แบ่งตามเขตอำนาจดังนี้

1. เขตอำนาจในทางเวลา
สำหรับรัฐที่ลงนามและให้สัตยาบรรณแล้ว ธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่
1 ก.ค. 45 ไม่มีการย้อนหลัง และสำหรับรัฐที่ให้สัตยาบรรณหลังจากนั้น ธรรมนูญก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่หลังให้สัตยาบรรณ 60 วัน ดังนั้นสมติว่าประเทศไทยให้สัตยาบรรณวันนี้ ก็ไม่สามารถนำความผิดที่เกิดก่อนหน้านี้มาเข้าสู่ศาลฯได้ 

ในประเด็นนี้ปิยบุตรได้เสนอช่องทางการเอาผิดต่อผู้กระทำอาชญากรรมโดยที่ไม่ต้องให้สัตยาบรรณว่า รัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี สามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวเพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีได้ ซึ่งมีประเทศที่ทำสำเร็จมาแล้ว คือ อูกันดา และไอวอรีโคสต์ ในกรณีไอวอรีโคสต์ไม่ได้ให้สัตยาบรรณ ก็ได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลในวันที่ 18 เม.ย. 46 แต่ขอยอมรับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 45 เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศจัดการกับความผิดที่เกิดก่อนหน้าการประกาศ หมายความว่าสามามารถถอยหลังกลับไปได้ แต่ถอยได้ไม่เกินวันที่ 1 ก.ค. 45 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามกับธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว

ทั้งนี้การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลก็ไม่ได้หมายความว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาจัดการกับคดีได้ทันที แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก กระนั้นก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 คือ คณะรัฐมนตรีไม่ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่นายกรัฐมนตรีสามารถลงนามได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ พนัสเห็นว่า น่าจะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่าต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ เพราะการกระทำต่างๆ ต้องเข้าสู่สภา จึงต้องมีการทบทวนกันให้ถ่องแท้ว่าทำกันได้มากน้อยเพียงใด ส่วนการให้สัตยาบรรณก็น่าจะผ่านสภาไปได้ยากมาก

2. เขตอำนาจในทางเนื้อหา คือความผิด 4 ประเภทที่กล่าวมา

3. เขตอำนาจในทางพื้นที่ คือความผิดเกิดในดินแดนของรัฐภาคี

4. เขตอำนาจในทางบุคคล คือ ผู้ที่ถูกกล่าวหามีสัญชาติของรัฐภาคี

แต่เงื่อนไขสุดท้ายคือต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศทำหน้าที่ก่อน เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตย และที่สำคัญต้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงเพียงพอ ซึ่งสามารถดูได้จากเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเสียหาย และดูผู้เสียหายว่าได้รับความทุกข์ทรมานมากเพียงใด และสุดท้ายผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องไม่ถูกศาลพิพากษาซ้ำในการกระทำเดียวกัน

ในกรณีของซูดาน ประชาชนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม และจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งก็หมายความว่ารัฐไม่สมัครใจ(unwilling)ที่จะดำเนินคดี ฉะนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเข้ามาได้

เช่นเดียวกับพ.ร.บ.ปรองดอง ของไทยซึ่งจะมีการนิรโทษกรรมก็มีความชัดเจนว่า จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาดำเนินการกับนายอภิสิทธิ์ได้ ส่วนที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ก็อาจอาศัยช่องทางที่นายอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศภาคีให้จัดการได้ แต่เมื่อดูที่ตัวเลขของการร้องเรียน มีคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศมากกว่า 3000 คำร้อง แต่มีคดีอยู่ในศาลเพียงแค่ 15 คดี และมีเพียง 7 คดี ที่มีการสืบสวนสอบสวนอย่

างเป็นทางการแล้ว และมีเพียง 1 คดีที่ตัดสินไปแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากและการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานาน

พนัสได้เสนอ ว่า ในกรณีการประกาศรับรองเขตอำนาจศาล น่าจะศึกษากรณีฮอนดูรัส ซึ่งมีการรัฐประหารและมีการประกาศภาวะฉุกเฉินคล้ายกับไทย คนที่ฝ่าฝืนการประกาศถูกจับไปเป็นพันคน แต่ส่วนใหญ่ถูกขังในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 12ชั่วโมง มีการกระทำทารุณกรรมเกิดขึ้นไม่มาก การรัฐประหารมีความรุนแรงทำให้คนเสียชีวิตไป 20 คน ที่เจตนาฆ่าจริงๆ  มีเพียง 8 คน นอกนั้นเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าการสลายการชุมนุมของไทยรุนแรงกว่า

นอกจากนี้ปิยบุตรยังเสนอช่องทางในการร้องเรียน การถูกกระทำจากรัฐอีกช่องทางหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR)  ที่ประเทศไทยลงนามไว้แล้ว มีการรับรองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ถ้าเอกชนเห็นว่ารัฐละเมิดสิทธิตัวเองก็จะร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติ แล้วจะมีการดำเนินการต่อไป หากเห็นว่ารัฐกระทำการขัดกับหลักสิทธิตามที่ระบุไว้ ก็จะมีการออกมาตรการ เช่น ให้แก้กฎหมายภายใน หรือชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการถูกดำเนินคดีตามาตรา112 ก็สามารถไปร้องเรียนได้ แต่ทุกกรณีจะร้องเรียนได้ต่อเมื่อรัฐได้ลงนามพิธีสารอีกฉบับหนึ่งที่เสริมขึ้นมา แต่ไทยยังไม่ได้ลง แต่ประชาชนสามารถกดดันให้รัฐบาลไปลงได้

           
4. ผู้ที่เสียหายคือใคร และมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร การร้องทุกข์กล่าวโทษ  กระบวนการสืบสวน การพิจารณา การพิพากษา การอุทธรณ์หรือทบทวนคำพิพากษา ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างภาคีสมาชิกต้องทำอย่างไร
ในส่วนของการริเริ่มคดี วารุณีกล่าวว่ากำหนดให้ รัฐภาคี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เสนอต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศหรืออัยการเป็นผู้ริเริ่มคดีเองก็ได้ หลังจากนั้นก็จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศต่อไป  โดยที่
            - รัฐภาคี ต้องเสนอข้อมูลต่ออัยการ ให้เอกสารสนับสนุน มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
            - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เช่นตัวอย่างการสังหารประชาชนโดยรัฐบาลในเขตดาฟู เพราะมองว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลระหว่างปีค.ศ.
2003-2008 กรณีนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เสนอเรื่องต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ หลังจากตรวจสอบพยานหลักฐานสืบพยานผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 ปาก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีค.ศ.2005
            - อัยการเป็นผู้ริเริ่มคดีเอง โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรัฐ องค์กรสหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาลหรือองค์การที่ไม่ใช่รัฐบาลหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆที่น่าเชื่อถือ

เมื่ออัยการพิจารณาแล้วลงความเห็นว่ามีหลักฐานสมเหตุผลที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป หรือผู้เสียหายอาจยื่นคำให้การต่อองคณะพิจารณาคดีเบื้องต้นได้  เมื่อองค์คณะตุลาการพิจารณาคดีเบื้องต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลเหตุที่สมเหตุผลที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อและกรณีดังกล่าวดูเหมือนว่าจะอยู่ภายในเขตอำนาจศาล จึงจะอนุญาตให้อัยการเริ่มการสืบสวนสอบสวนได้ หากองค์คณะฯ ปฏิเสธคำร้องขอของอัยการที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ อัยการก็มีสิทธิ์ยื่นคำร้องในภายหลังได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่

เมื่ออัยการยื่นสืบสวนสอบสวนข้อมูลด้วยตัวเองและวิเคราะห์ความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับแล้วเห็นว่าข้อมูลนั้นไม่มีพื้นฐานที่สมเหตุผลสำหรับการสืบสวนสอบสวน อัยการจะต้องแจ้งแก่ผู้ให้ข้อมูลได้ทราบ แต่ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิ์อัยการในการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม

สุดสงวน  กล่าวถึงบุคคลที่สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ ได้แก่ ผู้เสียหายหรือเหยื่อเอง องค์กรเอ็นจีโอ เช่น Human right watch และAmnesty  หลังจากนั้นอัยการจะพิจารณาว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจหรือไม่ ต่อมาอัยการจะจะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงพอหรือไม่ เช่นในกรณีของประเทศไทย 90 กว่าศพมากพอหรือไม่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องมีการตายเยอะๆ การสั่งฆ่าประชาชนเพียงคนเดียวก็ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว ต่อมาอัยการจะสืบสวนสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจะยื่นหลักฐานทั้งหมดที่ควรจะดำเนินคดีไปที่หน่วยการพิจารณาคดีเบื้องต้น แล้วผู้พิพากษาจะพิจารณาสิ่งที่อัยการทำขึ้นมา ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะรับหรือปฏิเสธคดีก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจ โดยส่วนตัว สุดสงวนเชื่อว่าผู้พิพากษามีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสียกับประเทศไทย และหากผู้พิพากษารับแล้วก็จะมีหมายจับไปยังบุคคลที่ต้องถูกดำเนินคดี ในระหว่างการสอบสวน ไม่สามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ และจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมประเทศเนเธอแลนด์ จนกระทั่งการพิจารณาคดีจนเสร็จ ในขั้นตอนก่อนการตัดสิน จะมีผู้พิพากษา 3 คนที่จะฟังกรณีและตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด   หากผิดจะถูกจำคุกตามคำสั่งผู้พิพากษาซึ่งอาจมากถึง 30 ปีหรือตลอดชีวิต แต่ไม่มีโทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตาม ICC ไม่มีคุกเป็นของตัวเอง ดังนั้นจะส่งนักโทษกลับไปยังประเทศสัญชาติ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของ ICC หากจำเลยถูกตัดสินว่าไม่ผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดจบลง แต่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องได้อีก ซึ่งเมื่อถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกออกหมายจับแล้ว จำเลยยังอยู่ที่ประเทศสัญชาติของตน ICC ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมตัว เว้นแต่บุคคลนั้นจะเดินทางออกนอกประเทศ แต่พนัสกล่าวว่าต้องไปดูในธรรมนูญภาค10 การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในข้อ103 ศาลจะต้องตั้งรับ ว่ารัฐใดซึ่งเป็นภาคสมาชิกจะสมัครรับเอานักโทษไป ส่วนเรื่องการจับกุม รัฐภาคีที่มีตัวผู้กระทำผิดอยู่ในพื้นที่ก็ต้องให้ความร่วมมือ ถ้าพบตัวผู้กระทำความผิดในรัฐใด รัฐก็ต้องส่งตัวให้กับศาล ไม่ว่ารัฐนั้นจะให้สัตยาบรรณแล้วหรือไม่ก็ตาม

พนัสให้ข้อมูลว่าโครงสร้างของศาลประกอบด้วยอัยการ 1 คน ผู้ช่วย 1 คน และผู้พิพากษาหรือตุลาการ รวม 18 คน โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาคดี ฝ่ายพิจารณาคดี และฝ่ายรับเรื่องอุทธรณ์ ซึ่งอัยการเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะกลั่นกรองว่าคดีมีมูลหรือไม่ ตรงนี้แตกต่างกับอัยการของไทย เพราะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและฟ้องคดีอยู่ในตัว ขั้นตอนที่ว่าจึงเป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างอัยการกับศาล ต่อเมื่ออัยการเห็นว่าคดีมีมูลจึงขอให้ฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาสอบสวนคดีนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่อัยการส่งมามีหลักฐานเพียงพอที่จะสอบสวน ศาลก็จะอนุมัติให้อัยการทำการสอบสวนได้ เมื่ออัยการสอบสวนแล้ว ก็จะได้ข้อสรุปว่าต้องเอาผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าสมควรก็ขอให้ศาลออกหมายเรียก โดยที่ศาลก็มีดุลพินิจคานกันอยู่ จะไม่ถูกผูกพันโดยการตัดสินหรือวินิจฉัยของขั้นตอนก่อนหน้า นี่คือระบบที่แตกต่างกับศาลไทย ดังนั้นการพิจารณาคดีแต่ละขั้นจึงมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะข้อพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่
           

5. การให้สัตยาบรรณของไทยมีผลดีหรือผลเสียในภาพรวมด้านใดบ้าง
วารุณีชี้ว่าประเทศไทยลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2  ต.ค.2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ จึงยังไม่ได้เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม คณะกรรมการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดการประชุมแล้ว สรุปว่าหากประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรม ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้กำหนดฐานความผิด ครอบคลุมความผิดที่เป็นอาชญากรรม 4 ประเภทที่ระบุในธรรมนูญกรุงโรม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษ จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติส่งผู้ร่ายข้ามแดน พ.ศ.2542 ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 เป็นต้น

“ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่เข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาลนี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นี่เป็นข้อติดขัดประการหนึ่ง ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี ก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกรณีตามข้อ27  ซึ่งไทยจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษในบริบททางสังคม การเมืองและกฎหมายของไทย จะต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา”

แต่ในกรณีนี้ปิยบุตรเสนอว่า  ธรรมนูญกรุงโรม ในมาตรา27เขียนไว้ว่า เอกสิทธิ์ความคุ้มกันต่างๆ ที่ให้กับประมุขของรัฐทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ให้เอามาใช้กับธรรมนูญกรุงโรม ประเทศไทยน่าจะกังวลเรื่องนี้ และน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ไม่ยอมให้สัตยาบรรณ แต่ใน 121 ประเทศที่ให้สัตยาบรรณไปมีหลายประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ และมีตัวบทเหมือนมาตรา 8 ของไทย คือองค์พระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้ แต่หมายถึงว่า องค์พระมหากษัตริย์จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าในทางใดๆ ทั้งวินัย แพ่งหรืออาญา ซึ่งไม่รวมถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ กระนั้นประเทศเหล่านี้ก็สามารถให้สัตยาบรรณได้ ไม่ว่าจะเป็น สเปน สวีเดน อังกฤษ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น แต่ของไทยกลับยังเป็นปัญหา ทั้งที่ในความจริงแล้ว มาตรา 8 จะบังคับใช้ไม่ได้ในทันที แต่ต้องเข้าเงื่อนไขว่าพระมหากษัตริย์จะไม่กระทำการใดๆ ตามลำพัง คนที่กระทำและรับผิดชอบผลของการกระทำคือผู้รับสนองพระบรมราชองโองการ จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าพระมหากษัตริย์จะถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะคนที่รับผิดชอบคือผู้ลงนามรับสนองฯ

ก่อนเข้าสู่การซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วารุณีกล่าวว่าในเร็วๆ นี้กระทรวงการต่างประเทศจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาตัวธรรมนูญกรุงโรมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาการเข้าเป็นภาคี โดยที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย มิใช่ของกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเดียว ต้องผ่านครม. รัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา190 โดยคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมนูญนี้และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่งบัตรเชิญร่วมงานศพอากงให้ ‘อมรา’ -ภรรยาสุรชัยนำทีมยื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ พรุ่งนี้

Posted: 14 May 2012 09:06 AM PDT

 

 

14 พ.ค.55 ที่สำนักงานคณะกรรมกาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลุ่มเสรีราษฏร นำโดยนายนิธิวัต วรรณศิริ ได้นำบัตรเชิญร่วมสวดอภิธรรมศพนายอำพล หรืออากง มามอบให้แก่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมกาสิทธิฯ โดยนายนิธิวัตกล่าวว่าที่เดินทางมามอบบัตรเชิญในวันนี้เพื่อทวงถามบทบาทของคณะกรรมการสิทธิ์ ซึ่งเงียบมาตลอด  481 วันที่อากงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และเสียชีวิตมา 7 วันแล้ว ทั้งที่เขาเป็นเพียงแค่ผู้ถูกกล่าวหาจึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ที่สำคัญเป็นการเสียชีวิตในเรือนจำ

อมรา กล่าวว่า กรรมการสิทธิจะเร่งตวรจสอบเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาลในเรือนจำอย่างแน่นอน ก่อนหน้านั้นก็มีเรื่องนี้อยู่ในใจ แต่ไม่มีเหตุให้ลุกขึ้นเร่งทำ แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าต้องเร่งตรวจสอบ

นายนิธิวัตยังสอบถามถึงการใช้มาตรา 112 ว่ากรรมการสิทธิจะมีบทบาทอย่างไร เพราะเป็นกลไกหลักที่น่าจะผลักดันอย่างน้อยในเรื่องสิทธิการประกันตัวได้

“วันหนึ่งอาจเป็นหมอนิรันดร์ที่ถูกขัง วันหนึ่งอาจเป็นหมอนิรันดร์ที่ไม่ได้ประกันตัว วันหนึ่งอาจเป็นหมอนิรันดร์ที่ป่วยในเรือนจำ”  นายนิธิวัตกล่าว ขณะที่นางอมราตอบว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับหมอนิรันดร์” พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาเรื่อง 112 นั้นถูกนำไปผูกโยงกับการเมือง ทำให้เคลื่อนไหวอะไรได้ยากลำบาก การก้าวแต่ละก้าวจึงช้าเพราะต้องรอบคอบ

นิธิวัตถามต่อว่า ทำไมกรรมการสิทธิฯ จึงคิดว่ามาตรา 112ไม่เกี่ยวกับการเมือง กรณีหมอนิรันดร์โดนฟ้องข้อหา 112 จากการเข้าไปตรวจการละเมิดสิทธิถือว่าเป็นการเมืองไหม อมราตอบว่า ต้องไปถามคนที่ฟ้อง ก่อนจะเดินออกไปจากห้อง เพื่อให้อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธานได้ประชุมต่อในเรื่องการตายของนายอำพล โดยในวันนี้ได้เชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้าให้ข้อมูล โดยก่อนประชุมได้เชิญผู้สื่อข่าวออกไปนอกห้อง เพื่อสะดวกแก่การซักถามผู้ที่เข้าให้ข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนออกจากห้องนิธิวัตยังตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เหตุใดกรรมการสิทธิฯ จึงต้องกลัวว่าตัวเองจะไปเกี่ยวพันกับการเมือง ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระไม่เกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว หากเห็นว่าเป็นการเมือง ถึงแม้จะเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิก็จะไม่แตะต้องอย่างนั้นหรือ  นพ.นิรันดร์ตอบคำถามว่า อันที่จริงอนุฯ ได้ติดตามเรื่องเกี่ยวกับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 มาโดยตลอด แต่ไม่ได้เป็นข่าว ไม่ว่ากรณีสุรชัย  แซ่ด่าน สมยศ  พฤกษาเกษมสุข หรือคนอื่นๆ รวมทั้งอากงด้วย โดยเคยเข้าเยี่ยมคนเหล่านี้แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครย้ำประเด็นเรื่องอาการเจ็บป่วยของอากงจึงทำให้ไม่ทราบ มุ่งแต่อาการเจ็บป่วยของสุรชัย นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะทำงานฯ ติดตามคดีมาตรา 112 เป็นการเฉพาะด้วย ส่วนเรื่องมาตรา 112 ได้กล่าวย้ำต่อสาธารณะเสมอว่าผู้ถูกกล่าวหาควรได้รับสิทธิในการประกันตัว  แต่ทั้งหมดก็เป็นดุลยพินิจของศาล ตนก็ทำได้เพียงแค่พูดเสนอแนะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะทำงานติดตามคดีหมิ่นฯ ของอนุกรรมการชุดนี้ได้ข้อสรุปอะไรบ้างหรือไม่ และกรรมการสิทธิจะทำอะไรได้บ้างจากกรณีอากง นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า คณะทำงานนั้นได้ประชุมกันหลายครั้งเพื่อรวบรวมและทบทวนข้อมูลต่างๆ กว่า 10 คดีที่เกิดขึ้นจากมาตรา 112ว่ามีลักษณะการละเมิดอย่างไร จากนั้นจะจัดการประชุมกลุ่มเฉพาะ หรือ Focus Group เชิญฝ่ายต่างๆ มารับฟังข้อสรุปและให้ข้อคิดเห็น ก่อนสรุปแนวทางเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล

ขณะที่นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) แจ้งว่าในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) จะนำคณะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. โดยมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน(รวมนักโทษ 112), ให้รัฐบาลทบทวนการแก้ไขมาตรา 112, ให้ดูแลสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษ สิ่งแวดล้อม อาหาร การรักษาพยาบาล อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป่วนเจ้าหน้าที่คุ้มกันงานกาชาดปัตตานี-นรา เจ็บ 24

Posted: 14 May 2012 07:22 AM PDT

 

ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ ส่วนหน้ารายงานว่าเมื่อเวลา 21.35 น. วันที่ 13 พฤษภาคม  2555 คนร้าย 2 คนใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะขว้างระเบิดเข้าใส่จุดตรวจร่วม 3 ฝ่ายที่บริเวณแยกหอนาฬิกา ในอ.เมือง จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7ราย เป็นตำรวจหนึ่งนาย อส. หนึ่งนายและชาวบ้านอีก 5 คน ในจำนวนนี้มีเด็กหญิงอายุ  12 ปีด้วยคนหนึ่ง

ต่อมาในเวลา 00.15  น. วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 คนร้ายได้ลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยงานกาชาด กรมทหารพรานที่ 43 ขณะเดินทางกลับไปยังที่ตั้งในค่ายอิงคยุทธบริหารหลังเสร็จภารกิจโดยใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ รถกระบะและรถเก๋งเป็นพาหนะ เมื่อมาถึงสามแยกดอนรัก ได้มีรถจักรยานยนต์ขับรถตัดหน้ารถบรรทุก 6 ล้อ ทำให้ต้องชะลอความเร็ว จากนั้นคนร้ายที่ซุ่มอยู่บริเวณพงหญ้าข้างโชว์รูมขายรถบรรทุกห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตรได้จุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่แขวนอยู่ที่บริเวณป้ายจราจร พร้อมทั้งยิงใส่ขบวนยานพาหนะ 4 – 5นัด โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยิงตอบโต้ เพราะที่เกิดเหตุอยู่ใกล้บ้านเรือนราษฎร  เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย  เป็นอาสาสมัครทหารพรานหญิง  9 คน อาสาสมัครทหารพรานชาย 5 นาย  ตำรวจ  1 นาย อส.  1 นาย และราษฎร 1 คน โดยกอ.รมน.สรุปเบื้องต้นวาเหตุการณ์ทัี้งสองเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทกวีสมยศ พฤกษาเกษมสุข: 'อากง'

Posted: 14 May 2012 07:14 AM PDT


เป็นแค่ชายชราหน้าตาเหี่ยว

เหลือเศษเสี้ยวชีวิตที่ปลิดปลง

ถูกจับยัดห้องขังยังงวยงง

เป็นอากงส่งข้อความหยามกษัตริย์

 

โรครุมเร้าหมดสิทธิ์เพราะติดคุก

ต้องทนทุกข์สุขหายกายวิบัติ

ขอแค่สิทธิ์เสรีศาลข้องขัด

ไม่อนุมัติประกันตัวกลัวหลบหนี

 

ยุติแล้วความเป็นธรรมย้ำเตือน

กฎป่าเถื่อน 112 จ้องต่อยตี

ศาลของใคร เพื่อใครกันในวันนี้

คนดี๊ดีกลายเป็นเหยื่อแล่เนื้อหนัง

 

เป็นไพร่ฟ้าตายห่าคาขื่อคา

อนาถาพสกนิกรนอนห้องขัง

มีแต่จงรักภักดีเป็นจีรัง

จึงเอวังกลายเป็นผีฉะนี้แล

 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
10 พฤษภาคม 2555

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

PR รัฐบาลอย่างไร จึงจะ 'เอาอยู่'

Posted: 14 May 2012 07:02 AM PDT

          ต้องยอมรับว่า การบริหารงานของรัฐบาลวันนี้ มีทั้งงานนโยบายที่ต้องเดินหน้า ขณะเดียวกันก็มีปัญหารุมเร้า เรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความทุกข์ยากเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชน

          สถานการณ์สินค้าราคาแพงในขณะนี้ เป็นอีกเรื่องที่ส่งผลกระทบวงกว้างและทั่วถึง เนื่องเพราะปากท้องเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับทุกๆคน ต้องกินต้องใช้ เพื่อดำรงชีพ

          เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะกำหนดนโยบาย มาตรการ โครงการช่วยเหลือต่างๆออกมา รวมถึงตรวจสอบ ติดตามผล เพื่อแก้ไขปัญหา อย่างน้อยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้บริโภคมากที่สุด

          แพงจริง หรือรู้สึกไปเอง วันนี้คงได้คำตอบ

          เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางพร้อมคณะ สำรวจราคาสินค้าที่ตลาดสดพิชัย ย่านปากเกร็ด นนทบุรี ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีเอแบคโพลล์เผยผลสำรวจระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 3 คน 

          นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ต้องเห็นใจรัฐมนตรีทุกคน บางคนทำงานแต่ไม่เป็นข่าว” (มติชน, 9 พฤษภาคม 2555)      

          เป็นการปกป้อง ห่วงใยของท่านนายกฯ ที่นุ่มนวล เป็นเหตุเป็นผล ขณะที่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การไม่เป็นข่าวนั้น มีผล

          ทำให้รัฐบาล มิเพียงกระทรวงพาณิชย์ ถูกวิพากษ์ โจมตีจากหลายฝ่าย  

          พ้องกับอีกหลายๆเรื่อง ของกระทรวงอื่นๆ เมื่อมีปัญหา ก็อดมองไปที่ฝ่ายข่าว ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (PR)ไม่ได้ สื่อสารอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ประชาชนทราบหรือไม่ว่า รัฐบาล กระทรวง ทำอะไรไปแล้วบ้างในเรื่องนั้นๆ อยู่ระหว่างทำอะไร และจะทำอะไรต่อไป

          การไม่เป็นข่าว มีข่าวออกน้อย หรือที่เรียกกันว่า อ่อนการประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้รัฐบาลตั้งรับ ยิ่งปัญหารุมเร้า ยิ่งต้องชี้แจง ทำความเข้าใจ 

          ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่สนใจ PR ขอโอกาสนี้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์ด้วยมองว่า มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่น่าพิจารณา ซึ่งจากข้อห่วงใยของท่านนายกฯ ที่ว่า รัฐมนตรีบางคนทำงานแต่ไม่เป็นข่าวนั้น สามารถมองได้ ดังนี้

          1 มีผลงานแต่สื่อสารไม่เป็น จึงไม่เป็นข่าว โดยรัฐมนตรีอาจพูดน้อยไป ไม่ชอบให้ข่าว ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ แต่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการเป็นผู้นำโดยเฉพาะในยุคใหม่นี้ ทำงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องสื่อสาร ต้องอธิบาย ชี้แจง เนื่องจากสังคมซับซ้อนขึ้น กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆมากขึ้น รวมถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย โดยเฉพาะปัญหา ถ้าชี้แจงน้อยไป อาจเกิดความไม่เข้าใจ สับสน กระทั่งไม่พอใจ ประท้วง ชุมนุม ปิดถนน ส่งผลกระทบต่อการบริหารนโยบาย และการแก้ไขปัญหา

          2 มีผลงานแต่สื่อไม่นำเสนอ จึงไม่เป็นข่าว สื่อมีอิสระที่จะเสนอ หรือไม่เสนอข่าวใดก็ได้ สื่อมีเหตุผล มุมมองของสื่อ ในฐานะเป็นตัวแทนมวลชน ประชาชน มิใช่ตัวแทนรัฐบาล แต่ที่แน่ๆ สื่อย่อมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตด้วยข่าวสารคุณภาพ เพราะสื่อต้องแข่งคุณภาพข่าวสาร  “คุณภาพผลงาน คือคุณภาพข่าวสาร”

          3 มีผลงานแต่ขาดตัวช่วย จึงไม่เป็นข่าว ซึ่งก็คือ โฆษกกระทรวง ประชาสัมพันธ์กระทรวง กระทั่งโฆษกรัฐบาลที่จะช่วยรัฐมนตรีออกข่าว เพื่อเผยแพร่ผลงานกระทรวง รัฐบาลไปสู่สังคม ต้องช่วยรัฐมนตรีคิดประเด็น จังหวะเวลาไหน ควรออกข่าวเรื่องอะไร ต้องอ่านเกม ประเมินสถานการณ์แต่ละวัน เขียนเป็นข่าวสำเร็จรูปชงเรื่องขึ้นไปเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่งสื่อ ประชาชนได้ กระทรวงได้  

          4  มีผลงานแต่ตัวช่วยไม่เก่ง หรือพลิ้วพอ จึงไม่เป็นข่าว เช่น ไม่รู้ที่จะฉวยใช้สถานการณ์ ให้เป็นโอกาส หรือสร้างคะแนนนิยมต่อกระทรวงได้อย่างไร ซึ่งน่าเสียดาย พีอาร์เชิงรูทีนหรือแบบงานประจำ เป็นขีดจำกัด แทนที่จะได้เป็นข่าว ก็ไม่ได้ ต้องพีอาร์สร้างสรรค์ เชิงกลยุทธ์ สร้างข่าวไม่เป็น เป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้

          5  มีผลงาน แต่นาทีนั้น กระทรวงอื่นมีประเด็นเด็ดกว่า มีเหตุการณ์อื่นน่าสนใจกว่า จึงแย่งพื้นที่สื่อไป แทนที่จะลงข่าวเรา ก็ลงให้กระทรวงอื่น ทำให้เราไม่เป็นข่าว ทำอย่างไรจึงจะเบียดพื้นที่สื่อให้ได้ด้วยการสร้างผลงานให้น่าสนใจ

          6  อาจเป็นเพราะรัฐมนตรีไม่มีผลงานอะไรใหม่ๆ หรือความคืบหน้าใหม่ๆ จึงไม่เป็นข่าว สื่อไม่รู้จะเผยแพร่อะไร หรือเล่นประเด็นอย่างไร หากต้องการเป็นข่าว ต้องผลักดันงานใหม่ๆ ความสำเร็จใหม่ๆให้ประชาชน

          ผู้เขียนอยากเป็นกำลังใจในการทำงาน การถูกวิพากษ์โจมตีนั้น เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครทำอะไรให้ถูกใจใครได้ทั้งหมด เพียงแต่หากเลือกได้ ก็ไม่อยากให้ถูกวิพากษ์ แต่หากคิดว่า เราแก้ปัญหาได้ดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัวเช่นกัน 

          แต่ทั้งหลายทั้งปวง สถานการณ์สินค้าราคาแพง มิเพียงเป็นเรื่องของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เอาเข้าจริงหนีไม่พ้นรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบสูงสุด โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับควบคุมการทำงานของทุกกระทรวงเป็นภาพรวม

          เมื่อนายกรัฐมนตรีหนีไม่พ้น โฆษก PR รัฐบาลก็หนีไม่พ้น ในฐานะผู้กำกับ แนะนำการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของทุกกระทรวงเป็นภาพรวม

          เป็นอื่นไปไม่ได้ ถึงเวลาประเมินว่า จะ PR รัฐบาลอย่างไร ถึงจะ “เอาอยู่” ท่ามกลางการขับเคลื่อนงานนโยบายที่ต้องเดินหน้า ปัญหารุมเร้า มิให้เป็นที่ถูกวิพากษ์ โจมตีรัฐบาล กระทรวงหรืออยู่ในสภาพตั้งรับ

          หากเอาไม่อยู่  ก็จะเป็นวงจรปัญหารัฐบาลไปเรื่อยๆ วันนี้กระทรวงนี้ วันหน้ากระทรวงนั้น  หรือหลายๆกระทรวง ประสบปัญหาPRตั้งรับอยู่ร่ำไป

          ท่ามกลางการผลักดันภารกิจPRสู่ความสำเร็จ ที่ท้าทายทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งรับและรุก แนวทางหนึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลควรที่จะหนุนบทบาทโฆษกรัฐบาล เพื่อเป้าหมายผลงานข่าวทันปัญหา ความต้องการของรัฐบาล กระทรวง

          โดยตั้งโฆษกด้านการเมือง 1 ท่าน โฆษกด้านเศรษฐกิจ 1 ท่าน โฆษกด้านสังคม  1 ท่าน รวม 3 ด้าน แต่ละด้าน เน้นทีมงานเป็น PRเชิงรุก 1 ทีม และPRเชิงตั้งรับ 1 ทีม เกาะติดภารกิจรัฐบาล กระทรวง ทุ่มทำ PRเชิงรุก ทุ่มทำ PR ตั้งรับ เชื่อว่า “เอาอยู่”

          รัฐบาลต้องเดินหน้า พีอาร์ต้องหน้าเดิน!!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพคนขับรถเมล์ในลอนดอน เตรียมลงมตินัดหยุดงานช่วงโอลิมปิกหรือไม่ อาทิตย์หน้า

Posted: 14 May 2012 06:03 AM PDT

พนักงานขับรถโดยสารในลอนดอน เตรียมโหวต นัดหยุดงานช่วงโอลิมปิกหรือไม่ อาทิตย์หน้านี้ หลังข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงช่วงโอลิมปิกยังไม่ได้รับการตอบสนอง


ภาพจาก Son of Groucho (CC BY 2.0)
 

 

สมาชิกสหภาพพนักงานขับรถโดยสารในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กว่า 21,000 รายจากผู้ให้บริการ 21 แห่ง เตรียมลงมติสัปดาห์หน้าว่าจะนัดหยุดงานในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกที่จะถึงนี้หรือไม่ หลังข้อเรียกร้องให้จ่ายค่าจ้างอีก 500 ปอนด์ (ประมาณ 25,093 บาท) ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

สหภาพฯ ยื่นข้อเรียกร้องตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ให้มีการจ่ายค่าจ้างอีก 500 ปอนด์ เพื่อตอบแทนภาระงานที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก ระหว่างวันที่ 27 ก.ค.-12 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งสหภาพฯ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 800,000 คน

สหภาพฯ ระบุด้วยว่า จำนวนเงิน 500 ปอนด์นี้อยู่ในอัตราเดียวกับที่พนักงานการขนส่งลอนดอนประเภทต่างๆ จะได้รับในช่วงโอลิมปิก

แถลงการณ์ของสหภาพเรียกร้องให้บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กดดันผู้ประกอบการรถโดยสารในกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ความล้มเหลวของบอริส จอห์นสันในการเข้าแทรกแซง และการที่ผู้ประกอบการปฏิเสธจะพบกับสหภาพฯ หมายความว่า อาจมีการนัดหยุดงานในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก หากไม่มีทางออกในเรื่องนี้

"บอริส จอห์นสันไม่ยอมทำอะไรเลยมาเกือบปีแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการรถโดยสารปฏิเสธที่จะพูดคุยกับสหภาพเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนคนงานในช่วงโอลิมปิก" ปีเตอร์ คาวานาฟ เลขาธิการสหภาพประจำภูมิภาค ลอนดอน กล่าวและว่า พนักงานขับรถโดยสารพร้อมเสมอที่จะทำให้การจัดโอลิมปิกเกมส์ประสบความสำเร็จ พวกเขาเป็นคนงานขนส่งลอนดอนเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนสำหรับงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงโอลิมปิก สิ่งที่นายกเทศมนตรีฯ สองสมัยควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ การเรียกร้องต่อผู้ประกอบการให้ยอมมอบสิ่งตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับคนงานของพวกเขา

"รถเมล์สีแดงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองนี้ พนักงานขับรถควรได้รับการเห็นคุณค่าสำหรับการช่วยเหลือผู้โดยสารเรือนแสนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงโอลิมปิก และยังต้องรับมือกับความแออัดอย่างสูงบนถนนในลอนดอน" เลขาธิการสหภาพประจำภูมิภาค ลอนดอน กล่าว

ด้าน ลีออน ดาเนียล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการขนส่งทางบก การขนส่งลอนดอน (Transport for London: TfL) กล่าวว่า พนักงานขับรถโดยสารลอนดอนเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน ค่าตอบแทนและเงื่อนไขต่างๆ ถูกกำหนดโดยบริษัทของพวกเขาอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากพนักงานขับรถถูกให้เพิ่มชั่วโมงการทำงาน พวกเขาก็มักจะได้รับค่าทำงานล่วงเวลา


ภาพจาก pittaya (CC BY 2.0)

 

แปลและเรียบเรียงจาก
http://union-news.co.uk/2012/05/unite-urges-boris-to-intervene-in-olympic-bus-strike-row/

http://www.guardian.co.uk/politics/2012/may/10/bus-drivers-strike-olympics-unite
http://www.bbc.co.uk/news/uk-england-london-18019486
http://www.bbc.co.uk/news/uk-england-london-16202653

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวั่นวิกฤติซีเรียลามถึงประเทศเพื่อนบ้านเลบานอน

Posted: 14 May 2012 03:53 AM PDT

กลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดของซีเรียหันไปปะทะกันในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เมืองทรีโปลี ประเทศเลบานอน ซึ่งกลายเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านของซีเรีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย มีความกังวลว่าความขัดแย้งอาจลุกลามไปสู่เลบานอน

13 พ.ค. 2012 - ผู้เห็นเหตุการณ์และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบรายงานว่า มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรีย กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียปะทุขึ้นชั่วข้ามคืนที่เมืองทรีโปลี ประเทศเลบานอน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 รายและบาดเจ็บ 24 ราย

การต่อสู้เกิดขึ้นในเขตของนิกายอลาวียะห์ซึ่งอยู่ในย่านที่รายล้อมด้วยกลุ่มนิกายซุนนี ในเมืองทรีโปลี ห่างออกไป 70 กม. ทางตอนเหนือของกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน มีการใช้อาวุธปินไรเฟิลอัตโนมัติและจรวดระเบิดยิงโต้ตอบกัน

"การปะทะกันถึงจุดรุนแรงที่สุดในช่วงรุ่งเช้า ยังคงมีเสียงปืนสะท้อนก้องไปทั่วเมือง" เจ้าหน้าที่รักษาความสงบของเลบานอนกล่าว

ซีนา โคดร์ นักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุงเบรุตรายงานว่า เมืองที่มีการสู้รบดังกล่าวอยู่ในความสงบแต่ก็ยังไม่น่าไว้ใจ และเหตุดังกล่าวนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรียอย่างแน่นอน

ทหารตกเป็นเป้า

สำนักข่าวแห่งชาติเลบานอนรายงานว่ามีสไนเปอร์ยิงทหารเลบานอนเสียชีวิตขณะอยู่ในรถเมืองเช้าวันอาทิตย์ (13 พ.ค.) ในเมืองทรีโปลี นักข่าวอัลจาซีร่าบอกว่า ถือเป็นเรื่องอันตรายที่กองทัพเลบานอนถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิกฤติของซีเรียด้วย

"การที่ทหารเลบานอนถูกเป็นเป้าโจมตีถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะว่ากองทัพเลบานอนถูกมองว่าเป็นสถาบันที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในประเทศนี้ และเป็นศูนย์รวมของชาวเลบานอน"

การปะทะกันดำเนินมาตั้งแต่ช่วงคินวันเสาร์ (12 พ.ค.) ระหว่างกลุ่มยุวชนอิสลามที่ชุมนุมกันในทรีโปลีเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมข้อหาก่อการร้าย

เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นเมื่อกลุ่มยุวชนและผู้อยู่ฝ่ายเดียวกับการปฏิวัติซีเรียพยายามเข้าไปในที่ทำการของพรรคชาตินิยมสังคมนิยมซีเรีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอัสซาด

มีชายฝ่ายยุวชนอิสลามราว 100 คนปิดกั้นถนนทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเมืองทรีโปลี และตั้งแคมป์กันทางเข้าเมืองทางใต้

มีธงสีดำเขียนด้วยคำว่า "พระเจ้าทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่" วางปักอยู่ตามรายทางแซมไปกับธงอิสรภาพซีเรีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการลุกฮือขณะอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน

"พวกเราจะไม่ออกไปจนว่าพี่ของเราจะได้รับการปล่อยตัว" นีซาร์ อัล-มาวลาวี กล่าว พี่ชายอายุ 27 ปีของเขา ชาดี ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของเลบานอน

จากคำแถลงของเจ้าหน้าที่ ชาดี ถูกจับเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนหาการเชื่อมโยงกับองค์กรก่อการร้าย

หวั่นความขัดแย้งลุกลามสู้เพื่อนบ้าน

การปะทะในครั้งนี้ชี้ให้เห็นปัญหาความตึงเครียดในซีเรียที่ส่งผลกระทบลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเลบานอน มักจะมีการปะทะกันระหว่างนิกายซุนนีกับนิกายอลาวียะห์ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับของประธานาธิบดีอัสซาด

รัฐบาลซีเรียกล่าวหาว่ามีการขนส่งอาวุธและนักรบจากเลบานอนมาช่วยเหลือกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มอัสซาด

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่าบอกว่าเมืองทรีโปลีกลายเป็นแหล่งรวมตัวกันของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียตั้งแต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าพวกเขาตั้งฐานที่มั่นและมีนักกิจกรรมที่ทำงานที่นั่น และมีการกล่าวหาว่ามีการขนส่งอาวุธเถื่อนจากทรีโปลีเข้ามาสู่ซีเรีย

ผู้สื่อข่าวบอกอีกว่ามีความกังวลว่าหากซีเรียตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง เมืองทรีโปลีก็จะกระทบไปด้วย

"มีความกังวลในเรื่องนี้ เลบานอนมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง การแบ่งแยกทางการเมือง การแบ่งแยกกันทางนิกาย และการแบ่งแยกนี้ก็เลวร้ายลงไปอีกจากผลของความขัดแย้งข้ามพรมแดนจากซีเรีย"

ชาวเลบานอนมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่ม 14 มี.ค. ซึ่งหนุนหลังโดยสหรัฐฯ และซาอุดิอารเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลของซีเรีย กับอีกกลุ่มคือกลุ่ม 8 มี.ค. ที่มีอิทธิพลครอบงำรัฐบาลและได้รับการสนับสนุนจากซีเรียและอิหร่าน

 

ที่มา

Several dead in clashes in Lebanon's Tripoli, Aljazeera, 13-05-2012

http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/05/201251383952809563.html 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยชี้คนโสมแดงเข้าถึงสื่อนอกประเทศได้มากขึ้น

Posted: 14 May 2012 03:08 AM PDT

งานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐชี้ประชาชนเกาหลีเหนือสามารถเข้าถึงวิทยุ โทรทัศน์ และดีวีดีจากต่างประเทศได้มากขึ้น และ "ซีรีย์เกาหลีใต้" ก็เป็นที่นิยม แม้ต้องดูอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ส่งผลให้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมข่าวสารได้เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยที่สั่งจัดทำโดยรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ สามารถเข้าถึงสื่อชนิดต่างๆ จากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อจากเกาหลีใต้และและจีน ด้วยตัวกลางชนิดต่างๆ เช่น ดีวีดี โทรทัศน์และวิทยุ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกมากขึ้น 

ตารางจากรายงานวิจัย A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment แสดงแหล่งข้อมูลของสื่อที่ชาวเกาหลีเหนือเข้าถึง โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยและนักเดินทางชาวเกาหลีเหนือในปี 2553 โดยกว่าร้อยละ 79 มาจากการบอกปากต่อปาก รองลงมาคือดีวีดี โทรทัศน์ในประเทศ วิทยุเกาหลีใต้ วิทยุจากต่างประเทศที่ออกอากาศเป็นภาษาเกาหลี

ตารางจากรายงานวิจัย A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment แสดงอุปกรณ์ในการรับข่าวสารของชาวเกาหลีเหนือ โดยชาวเกาหลีเหนือเข้าถึงทีวีกว่าร้อยละ 74 เครื่องเล่นดีวีดีร้อยละ 46 นอกจากนี้มีผู้เข้าถึงคอมพิวเตอร์ร้อยละ 16 โทรศัพท์มือถือร้อยละ 14 เครื่องเล่นเอ็มพี 3 หรือเอ็มพี 4 ร้อยละ 8 ขณะที่ในการสำรวจยังไม่มีผู้เข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต และทีวีดาวเทียม

ตารางจากรายงานวิจัย A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment แสดงปีที่อุปกรณ์รับสื่อชนิดต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในเกาหลีเหนือ โดยในช่วงปีที่เกาหลีเหนือประสบความอดอยากในปี 2540 วิทยุก็เป็นสิ่งที่มีทั่วไปแล้ว และต่อมาโทรทัศน์ก็เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในปี 2543 ต่อมาแผ่นดีวีดีและโทรศัพท์มือถือก็พบได้ทั่วไปในปี 2547 คอมพิวเตอร์แลบท็อปพบได้ทั่วไปในปี 2551 ขณะที่หน่วยเก็บความจำขนาดเล็กอย่างยูเอสบี พบได้ทั่วไปในปี 2554

 

รายงานที่ชื่อ A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านสื่อ Intermedia โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ พบว่า ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา การเสพสื่อต่างประเทศในชาวเกาหลีเหนือนั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ เกิดการเปรียบเทียบชีวิตภายในประเทศและภายนอก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ และเริ่มทำให้ชาวโสมแดงมองผู้ปกครองตนเองด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น

รายงานระบุว่า การรับชมดีวีดีจากต่างประเทศเป็นไปเพิ่มสูงขึ้นมากในหมู่ชาวเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะละครจากเกาหลีใต้ ซึ่งถูกลักลอบผ่านมาทางประเทศจีน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดบทลงโทษไว้อย่างรุนแรงก็ตาม

"เมื่อคุณได้รับชมละครเกาหลีใต้ที่ผลิตอย่างดีและบันเทิงใจ มันป็นอะไรที่มีพลังมากทีเดียว มันเป็นภาพที่คุณรู้สึกสนใจมาตลอดชีวิตเพราะว่าคุณได้รับรู้เกี่ยวกับมันมากจากโฆษณาชวนเชื่อในเกาหลีเหนือ" แนต เกรทชัน หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว

"ฉันคิดว่าละครเกาหลีใต้ค่อนข้างเหมือนจริงมาก เกาหลีเหนือนั้นโชว์แต่ภาพที่สวยงาม แต่ในละครเกาหลีใต้ มันมีการทะเลาะต่อยตีกัน ซึ่งฉันว่ามันเหมือนความจริง นอกจากนี้มันก็มีความยากจนให้เห็น ต่างจากในเกาหลีเหนือที่เขาแสดงแต่สิ่งที่ดีๆ ให้ดูเท่านั้น มันจึงไม่เหมือนจริงเลย" ผู้ถูกสำรวจหญิงชาวเกาหลีเหนือวัย 26 กล่าว 

 

ชี้โสมแดงรับสื่อต่างชาติทางดีวีดีมากสุด 

รายงานนี้ได้ทำการสำรวจชาวเกาหลีเหนือจำนวน 250 คน โดยการสัมภาษณ์ในระยะเวลาสองปี พบว่า กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจเคยชมดีวีดีจากต่างประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ ใช้วิธีรับรู้ข่าวสารอย่างไม่เป็นทางการด้วยการบอกต่อกันมากที่สุด 

ทั้งนี้ รายงานของฟรีดอมเฮาส์และผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุดในโลก โดยรัฐบาลมีกฎหมายที่กำหนดให้การใช้สื่อทุกชนิดต้องมีการจดทะเบียน และหากพบว่ามีการใช้สื่อที่ไม่มีการจดทะเบียน การเข้าถึงสื่อจากประเทศเกาหลีใต้ การเผยเเพร่ข้อมูลที่กระทบกระเทือนต่อระเบียบสังคม จะต้องถูกลงโทษโดยการถูกส่งไปยังค่ายกักกันแรงงานระหว่างสามเดือนจนถึงสองปีหรือมากกว่า 

นอกจากดีวีดีและวิธีการบอกต่อ การสำรวจพบว่า ยังมีการชมโทรทัศน์จากจีนและเกาหลีใต้จำนวนมากโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนของสองประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ การฟังวิทยุก็เป็นสื่อที่สำคัญเช่นกันในการรับข่าวสารจากโลกภายนอก โดยเฉพาะข่าวสารทันเวลาและอ่อนไหว

ส่วนกลุ่มชนชั้นนำในประเทศ ซึ่งมีอิทธิพลและความสามารถด้านการเงินมากกว่า จะสามารถเข้าถึงข่าวสารได้มากกว่าคนทั่วไป รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นคอมพิวเตอร์ ยูเอสบีไดรฟ์ และโทรศัพท์ผิดกฎหมายจากจีน

 

คนกลัวรัฐน้อยลงในการเสพข้อมูลจากภายนอก

งานวิจัยยังชี้ว่า ถึงแม้ว่าคนเกาหลีเหนือส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถเข้าถึงสื่อจากต่างประเทศได้โดยตรง แต่กลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงได้นั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเกรงกลัวในการแชร์ช้อมูลน้อยลงอีกด้วย

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภายนอก จะทำให้ชาวเกาหลีเหนือมองรัฐบาลตนเองด้วยสายตาที่แยบคายมากขึ้น รายงานดังกล่าวระบุ

"ในขณะที่แรงกดดันระยะสั้นที่มาจากด้านล่างต่อระบอบอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ประชาชนหลายคนในเกาหลีเหนือ ก็เริ่มที่จะมองโครงสร้างและนโยบายทางการเมืองเบื้องต้นของประเทศตนเองด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้น"  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เม้าท์มอย : อำลา “อากง” และ 2 ปี 19 พฤษภา 53

Posted: 14 May 2012 01:26 AM PDT

เม้าท์มอยสัปดาห์นี้มาที่แยกราชประสงค์ คุยกันถึงเรื่องหนักอึ้งของเดือนพฤษภาคม คือการเสียชีวิตของอากง sms ซึ่งถูกลงโทษจำคุก 20 ปีจากข้อหาส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูงในโทรศัพท์มือถือ 4 ข้อความ อากงซึ่งมีฐานะยากจนและป่วยด้วยโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย ถูกศาลปฏิเสธการขอประกันตัวถึง 7 ครั้ง การเสียชีวิตของอากงทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาในคดี 112 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดดังๆ อีกครั้งถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย เรื่องหนักๆ เรื่องที่ 2 ว่าด้วยการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งจะครบ 2 ปีในวันที่ 19 พ.ค. ทบทวนว่าผ่านไป 2 ปี ยังหลงเหลือความทรงจำอะไรบ้างในสังคมไทย และมาฟังว่าหลิ่มหลีและชามดองคิดอย่างไรกับกระแสการปรองดองของพรรคเพื่อไทย การพบ พล.อ.เปรม ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สุรชัย แซ่ด่าน’ สุขภาพแย่ ทำพินัยกรรม ถ้าตายรอเผาเมื่อแก้/ยกเลิก 112 สำเร็จ

Posted: 14 May 2012 01:14 AM PDT

 

 

 วันนี้ (14 พ.ค.55) รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้เขียนพินัยกรรมระบุว่าในเร็วๆ นี้จะเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก และขณะนี้อาการไขมันอุดตันในเส้นเลือดเริ่มมีอาการ หลังผ่าตัดทำบายพาสหัวใจมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จึงอาจตายในคุกต่อจากอากง เพราะอายุ 70 ปีแล้ว

นายสุรชัยจึงทำพินัยกรรมเอาไว้ว่า ถ้าตายไปใครอย่าเผา ใครเผาขอสาปแข่ง ให้แห่ศพไปสวดทุกๆ ที่ที่มีคนเป็นเจ้าภาพ เพื่อรณรงค์ให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรา 112 สำเร็จเมื่อไหร่ค่อยเผาศพ
 
 
พินัยกรรมซึ่งภรรยาคัดลอกจากปากคำที่ได้เข้าเยี่ย
 
 
ทั้งนี้ คดีของนายสุรชัย คดี อ.1177/2555 อัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 เม.ย.55 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 -  6  ก.พ. 54  เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยบังอาจกล่าวปราศรัยบนเวทีชั่วคราวด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี  และองค์รัชทายาท เหตุเกิดบนเวทีปราศรัยชั่วคราวลานวัดสามัคคีธรรม ซ.ลาดพร้าว 64  แขวง - เขตวังทองหลาง ซึ่งศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้วสอบถาม ซึ่งจำเลยแถลงให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี
 
จากนั้น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.55 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยและมีคำพิพากษาระบุ ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  พิพากษาให้จำคุก 5 ปี  ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยให้นับโทษจำเลยต่อในคดีหมิ่นเบื้องสูงของศาลอาญาอีก 3 สำนวน คดีแดง อ.503/2555, 504/2555 และ 505/ 2555 ที่ศาลอาญา พิพากษาให้จำคุก 7 ปี 6 เดือนด้วย เมื่อรวมโทษจำเลยทั้งหมดแล้ว จึงจำคุกสิ้น 10 ปี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาไทบันเทิง: Scooby Doo, Where are you? หนึ่งในต้นรอยขนบของ The Cabin in the Woods

Posted: 14 May 2012 12:53 AM PDT

 

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง)

กระแสหนังสยองขวัญในตลาดฮอลลีวูดลดความนิยมไปลงมาเรื่อย ๆ ทุกปี ๆ ใครที่ตามดูหนังสไตล์นี้คงพบกับภาวะที่เดาเนื้อหาและตอนจบได้ เมื่อหนังมันไม่สามารถทำให้เกินไปกว่าที่คาดไว้ได้คนดูก็ไม่ค่อยประทับใจกันเสียเท่าไหร่

ความนิยมที่ลดลงของหนังสยองขวัญมิใช่พึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะช่วงต้นทศวรรษที่ 20 กระแสหนังสยองขวัญก็เกิดอาการอิ่มตัว ไม่สามารถทำรายได้และคว้าคำวิจารณ์ในแง่บวกได้มากนัก จนกระทั่งเวส คราเวนทำภาพยนตร์เรื่อง Scream ที่ได้ต่อยอดขนบของหนังแนวนี้ ทำให้ความนิยมหนังแนวฆาตกรรมวิ่งไล่ฆ่ากลับมาฮิตอีกครั้งจนมีซีรีย์และภาคต่อตามมาหลายเรื่อง

ท่ามกลางกระแสหนังฮีโร่อย่าง The Avengers ครองเมือง หนังสยองขวัญที่พาดคำโฆษณาอย่างไม่หวั่นเกรงเสียงวิจารณ์ว่าเบื่อหรือไม่กับการเดาตอนจบได้อย่าง The Cabin in the Woods ก็เข้าฉาย หนังได้รับคำชมในแง่บวกแง่ความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดเสียจนไม่ใช่หนังสยองขวัญเดิม ๆ อย่างที่เราเข้าใจ

The Cabin in the Woods เริ่มต้นแบบขนบของหนังสยองขวัญทั่วไป ดำเนินเรื่องด้วยกลุ่มวัยรุ่น 4-5 คน โดยแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์บุคลิกนิสัยเฉพาะตัวอย่างชัดเจน ทั้งหนุ่มผิวขาวหน้าตาดี หญิงสาวร่านเซ็กซ์ เนิร์ดสุดเพี้ยน ฯลฯ พวกเขากำลังเดินทางไปสู่สถานที่ลึกลับไม่คุ้นเคย แล้วก็เริ่มถูกฆ่า

ทว่าหนังเรื่องนี้ไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ กลายเป็นว่าเรื่องทั้งหมดถูกปั้นแต่งสร้างขึ้นด้วยองค์กรวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่ต้องฆ่าบุคคลที่มีบุคลิกต่าง ๆ เซ่นบูชายัญแด่เทพใต้พิภพมิให้ต้องพิโรธลุกฟื้นขึ้นมาทำลายล้างโลก ดังนั้นสิ่งที่ตัวละครประสบล้วนแล้วแต่มีการวางแผนไว้ทั้งสิ้น แถมมีตัวเลือกให้เลือกมากมายว่าชะตากรรมของตัวละครจะดำเนินไปทางไหน คล้ายคลึงกับเรื่อง The Hunger Game เพียงแต่เรื่องนี้เป็นผีจริง

ณ จุดนี้แทบจะแยกไม่ออกเสียทีเดียวว่าความจริงในเรื่องคือชุดไหนอะไรอย่างไรกันแน่ เพราะความจริงถูกทับซ้อนกลายเป็นมีความจริงที่ซ้อนขึ้นมาเป็นความจริง มีสถานะที่เรียกกันในเชิงวิชาการด้านหลังสมัยใหม่ว่า Hyperreality ที่สำคัญเราบรรดาหนุ่ม ๆ สาว ๆ ในเรื่องแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรคือความจริงกันแน่

และตั้งแต่เรื่องเปิดเผยให้รู้ว่ามีสิ่งซ่อนอยู่ภายใต้กลไกบ้านหลังนี้ ก็ถึงเวลาที่บอกกับตัวเองว่าทุกอย่างคงเกินไปจากที่เราคาดหวังไว้ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว ผมเองสนุกมากกับการทะลุทะลวงของพลอตเรื่องที่เราคาดเดาอะไรไม่ได้เลย พอยิ่งดู The Hunger Game มาก่อนหน้านี้แทบกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้ได้บำบัดอาการซาดิสม์และแก้แค้นแทนชะตากรรมที่เหล่านักสู้ The Hunger Games ได้รับ (ก็เอาไปโยงกันได้นะครับ)

แต่ว่ากันตามจริงหนังเรื่อง The Cabin in the Woods ได้หยิบยืมเอาองค์ประกอบของหนังสยองขวัญยุคก่อนหน้านี้มาใช้มากมาย ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณอธิป คอลัมนิสต์อีกท่านของประชาไท เราเห็นตรงกันว่าหนังเรื่องนี้อุดมไปด้วย reference มากมาย ยิ่งใครดูหนังสยองขวัญมามากคงจะยิ่งรู้ว่าตอนนั้นนี้หรือสิ่งนั้นนี้ที่ปรากฎในหนังเชื่อมโยงมาจากเรื่องไหน และเมื่อดูจบก็คงสุขสมอารมณ์หมายมากกว่าคนธรรมดาปกติที่ไม่ได้เป็นแฟนเหนียวแน่นหนังทำนองนี้ คือลำพังเราสองคนที่ไม่ได้ติดตามหนังสยองขวัญมากก็ยัง ‘ฟิน’ พอสมควร

คุณอธิปเสนอว่าลักษณะตัวละครใน The Cabin in the Woods แทบจะก๊อปปี้การ์ตูนซีรีย์ The Scooby-Doo มาทั้งกระบิ จะไม่มีก็แค่เพียงหมาและตัวละครวัยรุ่นที่เป็นคนดำ ในซีรีย์สกูบี้ดูนี้จะประกอบด้วยสมาชิก 4 คน (ซึ่งล้วนเป็นคนขาวทั้งสิ้น) กับ 1 ตัว โดยสมาชิกจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจนที่ในหนังแทบจะก๊อปคาแรคเตอร์กันมาเลย เพียงแต่ในการ์ตูนไม่มีฉากยั่วสวาทเท่านั้น

ท้องเรื่องแทบจะทุกตอนของสกูบี้ดู ชาวแก๊งนักสืบจะเดินทางไปทั่วแว่นแคว้นเพื่อค้นหาเรื่องลึกลับ เขาและเธอได้เจอเรื่องลึกลับทั้งผี ปีศาจมากมาย และเอกลักษณ์เด่นที่มีทุกตอนคือการวิ่งหนีผี ก่อนที่สุดท้ายจะเฉลยว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดจากฝีมือคนที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องบ้าง คนดำบ้าง อินเดียแดงบ้าง เสียมาก

เมื่อเฉลยคนร้ายก็ต้องมีการเฉลยทริคสร้างผีและเหตุการณ์ลึกลับต่าง ๆ (โดยมากไม่ได้มีความสมจริงแม้แต่น้อย) กลายเป็นว่าเรื่องที่เราดูมาทั้งหมดล้วนถูกควบคุมโดยน้ำมือของมนุษย์ ไม่ต่างอะไรจากใน The Cabin in the Woods ที่ทุกรายละเอียดล้วนถูกบงการภายใต้ปลายนิ้ว

จะเห็นว่าไอเดียเรื่องหนังสยองขวัญที่ถูกมนุษย์ชักใยสร้างเรื่องขึ้นมามิใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าซีรีย์สกูบี้ดูนั้นเป็นการ์ตูนที่เรื่องเหนือจริงทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลความเป็นจริงในทุกกรณีย่อมทำให้คนไม่ตกตะลึงมากเท่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน The Cabin in the Woods

นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มจากเบื้องหลังการชม เอาเป็นว่าใครดู The Cabin in the Woods จบแล้วคิดถึงหนังสยองขวัญเรื่องไหนก่อนหน้านี้ว่าหนังได้หยิบยืมหรือล้อกับขนบหนังอย่างไรบ้างก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น