ประชาไท | Prachatai3.info |
- 19 พ.ค. “วันนี้มีใครตาย”
- TDRI: ผลกระทบสังคมสูงอายุในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
- ชวนทวีตย้อนความทรงจำ 19 พ.ค. ติดแท็ก #ที่นี่มีคนตาย
- ลือ ติ่น อ่อง มิ้น อู อดีตรองประธานาธิบดีพม่าบวชเป็นพระในย่างกุ้ง
- ดีเอสไอสรุปคดี 89 ศพ มี จนท.รัฐเกี่ยว 22 ศพ จาก นปช.12 ศพ
- ศาล รธน.มีมติ 7 ต่อ 1 ให้ “จตุพร” พ้น ส.ส. "ประชาธิปัตย์" เล็งยื่นยุบ "เพื่อไทย"
- ศปช.สับรัฐบาล นปช.อย่าปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ เสนอ นิรโทษกรรมให้มวลชนทุกฝ่าย
- 7 ปีที่มีประชาไท : ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล
Posted: 18 May 2012 12:27 PM PDT นางประจวบ เจริญทิม นายปรัชญา แซ่โค้ว น.ส. วาสินี เทพปาน นายถวิล คำมูล นายธนโชติ ชุ่มเย็น นายนรินทร์ ศรีชมภู MR.Polenchi Fabio (นักข่าวชาวอิตาลี)
วัดปทุมวนาราม นายอัฐชัย ชุมจันทร์ นายมงคล เข็มทอง นายสุวัน ศรีรักษา นายรพ สุขสถิตย์
นายกิตติพงษ์ สมสุข
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) หมายเหตุ มายเหตุ – ประชาไทนำเสนอซีรี่ “วันนี้มีใครตาย” นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2553 (หลังเหตุการณ์ 10 เมษา) โดยจะทยอยนำเสนอความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อเป็นการรำลึกและย้ำเตือนถึงบาดแผลความรุนแรงที่อีกสองปีให้หลังสังคม ไทยก็ยังไม่มีทางออกว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
TDRI: ผลกระทบสังคมสูงอายุในภาคอุตสาหกรรมการผลิต Posted: 18 May 2012 08:45 AM PDT
ความไม่สอดคล้องของกำลังแรงงานและคุณภาพการศึกษากับความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นปัญหาใหญ่ที่ปรากฏชัดจนนำมาสู่การปฎิรูปการศึกษาอีกครั้งในปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างประชากร อายุ การศึกษา เพศ และภูมิลำเนาและการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่างๆ ดังกล่าวก็มีผลอย่างสำคัญต่อกำหนดนโยบายหรือการวางแผนการใช้กำลังคนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ทีดีอาร์ไอได้วิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรกับประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานภาคอุตสาหกรรมพบว่าลักษณะทางประชากรของแรงงานมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตอย่างมาก ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสและคณะ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ทำการศึกษาดังกล่าวให้กับโครงการ การจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานกำลังคนเพื่อรองรับการวางแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรม หรือโครงการ LEED-X+ ซึ่งสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำ นำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์และพฤติกรรมของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ย้อนหลัง 20 ปี (2543-2553) พบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร (อายุ เพศ การศึกษา ฯลฯ) โดยในปี 2553 มีจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 38.1 ล้านคน เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมราว 7.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตจริงๆ ราว 5.4 ล้านคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาต่างๆ ได้แก่ การไฟฟ้า ก๊าซและการประปา, การก่อสร้าง, การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน การจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอดีตใช้แรงงานที่มีอายุฐานนิยม (อายุแรงงานส่วนใหญ่) ต่ำกว่าแรงงานในภาคเกษตรหรือภาคบริการ ในแง่ของเพศอุตสาหกรรมบางชนิดจะใช้แรงงานชายหญิงในสัดส่วนไม่เท่ากัน ในขณะที่อุตสาหกรรมแต่ละชนิดใช้กำลังคนในการศึกษาระดับต่างๆ กัน เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่มจะใช้แรงงานระดับล่าง (มีการศึกษาน้อย) ในสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ดร.สราวุธ กล่าวว่า โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมเป็นแรงงานวัยหนุ่มสาว แต่ในระยะหลัง อายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศไทยที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (จากข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา(2534-2553) มีสัดส่วนของแรงงานผู้เยาว์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณร้อยละ 55 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 20.7 ในปี 2553 ในขณะที่แรงงานผู้สูงอายุ เพิ่มจากประมาณร้อยละ 12 เป็นประมาณร้อยละ 20 หรือเกือบเท่าตัว สาเหตุมาจากอัตราเกิดลดลงและการขยายการศึกษาทำให้ประชากรวัยรุ่นเข้าสู่ตลาดลดลงโดยทั่วไป (มิใช่แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น) ทำให้สัดส่วนของแรงงานผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ข้อมูลผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร พบว่าระหว่างปี 2547 และ ปี 2553 อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 27 ปี เป็น ประมาณ 32 ปี) จากการทดสอบทางสถิติพบว่าสัดส่วนของแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทางลบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยเฉลี่ย ดังนั้นการเพิ่มอัตราการใช้แรงงานที่สูงอายุขึ้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาแรงงานดังกล่าวมากขึ้นด้วย ด้านการศึกษา โครงสร้างการศึกษาของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตดีกว่าโครงสร้างการศึกษาของแรงงานทั้งประเทศ โดยโครงสร้างของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำแนกตามการศึกษามีสัดส่วนแรงงานที่มีการศึกษาปานกลางและระดับสูงเพิ่มขึ้น สัดส่วนแรงงานการศึกษาน้อยหรือระดับล่าง (มัธยมต้นหรือต่ำกว่า) ลดลงจากประมาณร้อยละ 86 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 68 ในปี 2553 แรงงานระดับกลาง (มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า) เพิ่มจากประมาณร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 17.4 และแรงงานระดับสูง (ตั้งแต่อนุปริญญาขึ้นไป) เพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 14 ขณะเดียวกันกำลังแรงงานระดับล่างซึ่งจะมีผู้สำเร็จการศึกษาที่จะเข้ามาเติมปีละไม่ถึงแสนคนก็ยังไม่เพียงพอเพราะมีอัตราการเรียนต่อสูง และในแต่ละปีตลาดแรงงานจะสูญเสียกำลังแรงงานไปด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งการเสียชีวิตและเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ในขณะที่มีการผลิตแรงงานระดับปริญญาตรีออกมามากมายแต่มีปัญหาด้านคุณภาพไม่ได้รับคัดเลือกจากนายจ้าง จึงทำให้มีปัญหาว่างงานและขาดแคลนแรงงานไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามผลการทดสอบทางสถิติระหว่างความสัมพันธ์ของระดับการศึกษาของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกับประสิทธิภาพการผลิตยังไม่ชัดเจน ปัจจัยเรื่องเพศ ประเทศไทยมีประชากรหญิงมากกว่าชาย โดยมีจำนวนประชากรหญิง 34.3 ล้านคนต่อประชากรชาย 33.1 ล้านคน แต่ถ้าดูที่แรงงาน กลับมีแรงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชายเนื่องจากอัตราการเข้าร่วมแรงงาน (จำนวนแรงงาน/ประชากรในวัยแรงงาน) ของหญิงน้อยกว่าชาย คือประมาณ ร้อยละ 63.5 เทียบกับ 80.3 (เนื่องจากสตรีจำนวนไม่น้อยทำหน้าที่แม่บ้านโดยไม่ได้ออกหางานทำ) ทำให้สัดส่วนแรงงานหญิงต่อแรงงานชายประมาณ ร้อยละ 45.5 ต่อ 54.5 อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 ในขณะที่โดยทั่วไปสัดส่วนแรงงานหญิงน้อยกว่าชาย แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกลับมีการจ้างงานแรงงานหญิงในสัดส่วนสูงกว่าชายเล็กน้อย (ร้อยละ 52 ต่อ ร้อยละ 48) ซึ่งในระยะยาวตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนเพศของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างคงที่ โดยสัดส่วนแรงงานหญิงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2545 เป็นต้นมา และลดลงเล็กน้อยช่วงปี 2552-2553 ทั้งนี้มีอุตสาหกรรมที่นิยมใช้แรงงานหญิง เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จากการทดสอบทางสถิติสัดส่วนของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมการผลิตมีผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน สำหรับภูมิลำเนาของแรงงาน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเกินครึ่ง (ร้อยละ 62.8) อยู่ในชนบท (นอกเขตเทศบาล) แสดงว่าอุตสาหกรรมการผลิตมิได้กระจุกอยู่ในตัวเมือง และอุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะอยู่ในนอกเขตเทศบาล โดยแนวโน้มในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในชนบทเพิ่มจากประมาณร้อยละ 44.0 ในปี 2534 เป็น ร้อยละ 62.8 ในปี 2553 จากการทดสอบทางสถิติพบว่าสัดส่วนของแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่นอกเขตเทศบาลจะมีผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างทางประชากรของแรงงานมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตดังนั้นการเลือกใช้แรงงานในอายุ เพศ ระดับการศึกษาหรือภูมิลำเนาต่างๆ จึงควรเป็นไปอย่างมีแบบแผน มิฉะนั้นจะมีผลเสียต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้จึงเป็นความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชวนทวีตย้อนความทรงจำ 19 พ.ค. ติดแท็ก #ที่นี่มีคนตาย Posted: 18 May 2012 08:07 AM PDT
(18 พ.ค.55) www.go6tv.com เว็บบล็อกโกซิกส์ทีวี เว็บบล็อกข่าวการเมือง เขียนประชาสัมพันธ์ชวนบอกเล่าเรื่องราวเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ราชประสงค์ ผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ พร้อมติดแฮชแท็ก "#ที่นี่มีคนตาย" โดยขณะนี้เริ่มมีการแสดงความเห็นโดยติดแฮชแท็กแล้ว ทั้งจากผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับการชุมนุมดังกล่าว ดูได้ที่นี่ สำหรับวลี "ที่นี่มีคนตาย" เริ่มใช้โดยกลุ่มนักกิจกรรมเสื้อแดง เพื่อสื่อสารกับผู้คนว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ลือ ติ่น อ่อง มิ้น อู อดีตรองประธานาธิบดีพม่าบวชเป็นพระในย่างกุ้ง Posted: 18 May 2012 04:56 AM PDT ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ทางการในย่างกุ้งเปิดเผยว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู ซึ่งลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อเร็วๆนี้ ขณะนี้พบว่าได้บวชเป็นพระที่วัดในเมืองมอว์บี เขตย่างกุ้งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ยืนยันใดๆจากทางการพม่า ขณะที่เกิดข่าวลือที่กรุงเนปีดอว์ว่า สาเหตุการลาออกจากตำแหน่งของติ่น อ่อง มิ้น อู เป็นเพราะเขาป่วยเป็นมะเร็งในลำคอ อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู นั้นก้าวลงจากอำนาจในทางการเมืองแล้ว ผู้สื่อข่าวในกรุงย่างกุ้งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดีว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู นั้นไม่มีความสนใจที่จะกลับเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทางการพม่าเองก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ขณะนี้ อดีตรองประธานาธิบดีผู้นี้ได้ตัดสินใจบวชเป็นพระแล้ว และไม่สามารถระบุได้ว่า ติ่น อ่อง มิ้น อูนั้นจะบวชเป็นพระเป็นระยะเวลานานแค่ไหน อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีการยืนยันชัดเจนว่า รองประธานาธิบดีผู้นี้ได้ตัดสินใจลาออกในช่วงต้นเดือนนี้ แต่ก็มีรายงานว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมนัดสำคัญต่างๆเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวรายงานว่า ภรรยาของนายติ่น อ่อง มิ้น อู ได้เข้ามาเก็บข้าวของและแฟ้มงานที่โต๊ะทำงานของเขากลับไปหมดแล้ว อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนรู้สึกผิดหวังที่นายติ่น อ่อง มิ้น อู ได้หายออกไปจากตำแหน่งอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์มองว่า การลาออกของติ่น อ่อง มิ้น อู อาจเป็นการเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้มีการปฏิรูปภายในคณะรัฐบาลมากขึ้น และทำให้นโยบายปฏิรูปประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่งดูมีผลขึ้น ทั้งนี้ ติ่น อ่อง มิ้น อูนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดานายพลพม่าที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และเป็นที่รู้จักในฐานะนายพลหัวอนุรักษ์นิยมและเป็นลูกน้องคนสนิทของตานฉ่วย ขณะที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งกลับเป็นที่รู้จักและเคารพในฐานะนายพลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตน้อยที่สุดในบรรดาอดีตนายพม่า ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวว่า “ในระหว่างที่ประเทศกำลังก้าวไปสู่เส้นทางการเปลี่ยนแปลง กลุ่มคนที่เป็นหัวอนุรักษษ์นิยมที่ไม่ได้มีความคิดที่จะปฏิรูปจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy 18 พฤษภาคม 55 รัฐบาลพม่าอนุญาตให้จัดงานวันเกย์เป็นครั้งแรกในพม่า รัฐบาลพม่าอนุญาตให้กลุ่มคนรักร่วมเพศในประเทศสามารถจัดงานฉลองวันยุติการรังเกียจคนรักร่วมเพศ และคนข้ามเพศสากลเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) โดยมีการจัดงานใน 4 เมืองใหญ่ๆเช่นในกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เป็นต้น ขณะที่การจัดงานในกรุงย่างมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 400 คน “เราตื่นเต้นมากที่สามารถจัดงานซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนรักร่วมเพศนี้ได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถเดินออกไปตามท้องถนนเหมือนประเทศอื่นๆก็ตาม ” อ่องเมียวมิน จากสถาบันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า (Human Rights Education Institute of Burma) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกล่าว โดยอ่องเมียวมินเปิดเผยว่า การจัดงานจะเน้นไปที่การจัดคอนเสิร์ตและเปิดเวทีหารือเรื่องสิทธิคนรักร่วมเพศ แต่จะไม่มีการเดินขบวนไปตามท้องถนน พร้อมระบุอีกว่า ขณะนี้คนรักร่วมเพศในพม่ามีความกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อ่องเมียวมินเปิดเผยว่า ในอดีตไม่มีการอนุญาตให้จัดงานในลักษณะนี้ เพราะการรวมตัวของผู้คนเป็นจำนวนมาก มักเข้าข่ายการเดินประท้วงต่อต้านรัฐบาล อ่องเมียวมินยังยอมรับ ผู้คนทั่วไปและกฎหมายพม่ายังคงเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อต้านคนรักร่วมเพศ “แม้หลายคนจะเปิดเผยตัวตนมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เราจะไม่ถูกต่อต้านด้วยการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชนบทที่ประชาชนยังขาดความรู้ การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป” เขากล่าว ทั้งนี้ กฎหมายพม่าได้ระบุว่า บุคคลใดที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศอาจถูกลงโทษจำคุกนานถึง 10 ปี โดยอ่องเมียวมินมองว่ากฎหมายนี้ควรที่จะถูกยกเลิกไป เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย โดยเปรียบเทียบว่า แม้แต่ประเทศอินเดียที่เป็นประเทศเคร่งครัดก็ยังยกเลิกกฎหมายในลักษณะนี้ไปแล้ว อีกด้านหนึ่ง เมียตโน ผู้จัดงานในครั้งนี้แสดงความคิดเห็นว่า การจัดงานของกลุ่มคนรักร่วมเพศมักถูกมองในด้านลบ เช่นการจัดงานในครั้งนี้ “ผู้คนทั่วไปเชื่อว่า กลุ่มคนรักร่วมเพศทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการจัดกิจกรรมก็เพื่อขอโอกาสและเรียกร้องความสนใจจากสังคม ” แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มคนรักร่วมเพศพม่าเห็นตรงกันก็คือ พวกเขากล้าที่จะพูดออกมาเพื่อให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น หลังจากที่มีการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ แปลและเรียบเรียง Irrawadd /AFP 18 พฤษภาคม 55 ชาวบ้านในรัฐอาระกันไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องเงินชดเชยจากโครงการฉ่วยก๊าซ อูจ่อ ลวิน ส.ส.จากรัฐอาระกันเปิดเผยว่า การจัดการที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่ เกี่ยวการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินให้กับโครงการฉ่วยก๊าซ(Shwe Gas) กำลังทำให้เกิดปัญหาด้านสังคม และความแตกแยกในหมู่ชาวบ้านในเมืองเคาก์พรู รัฐอาระกัน “เกิดปัญหาในหมู่บ้านที่ท่อส่งก๊าซพาดผ่าน โดยเฉพาะในหมู่บ้านกะเป่งเชา เคาก์กาหม่อง และหมู่บ้านราตานา ตอนนี้เราได้รับจดหมายร้องเรียนเป็นจำนวนมากจากชาวบ้าน ซึ่งการร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ให้กับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินไปให้กับโครงการท่อส่งก๊าซ ” อูจ่อ ลวินเปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ว่าเจ้าของที่ดินตัวจริงไม่ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากถูกบุคคลอื่นสวมสิทธิ์แทนหรือไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในหมู่บ้านกะเป่งเชา ที่มีชาวบ้านจำนวน 160 คน ที่ต้องได้รับเงินชดเชยจากการถูกยึดที่ดิน แต่มีชาวบ้านเพียง 57 คนเท่านั้นที่ได้รับเงินชดเชย สร้างความไม่พอให้กับชาวบ้านที่เหลือและสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวบ้านที่ได้รับเงินชดเชยและไม่ได้เงินชดเชย ส่วนสาเหต อูจ่อ ลวินกล่าวว่า มาจากการจัดการที่ไม่ดีและการทุตจริตของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยเขาได้ส่งเรื่องนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ โครงการท่อส่งก๊าซฉ่วยก๊าซเป็นความร่วมมือระหว่างบรรษัทการปิโตรเลียมแห่งชาติของจีน (CNPC) บริษัทแดวูของเกาหลีใต้ บริษัทเมียนมาร์ออยล์แอนด์ก๊าซ เอ็นเตอร์ไพรซ์ (MOGE) ของพม่า บริษัท โอเอ็นจีซี วิเทศ และบริษัทก๊าซ ออร์ธอริตี้ ออฟ อินเดีย (GAIL) ของอินเดีย โครงการฉ่วยก๊าซถือเป็นโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพม่า โดยจะมีการสร้างท่อส่งก๊าซระบบท่อคู่จากแหล่งก๊าซฉ่วยในอ่าวเบงกอลพาดผ่านไปยังรัฐอาระกันไปจนถึงทางตอนบนของรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และผ่านไปยังมณฑลยูนานของจีนรวมระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการคาดกันว่ารัฐบาลพม่าจะมีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่จีนเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 30 ปี อย่างไรก็ตาม โครงการนี้กำลังสร้างปัญหาทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรัฐชนกลุ่มน้อย ที่มา สำนักข่าวอาระกัน www.narinjara.com 16 พฤษภาคม 55 ทหารพม่าและทหารคะฉิ่น KIA ปะทะกันใกล้โครงการเขื่อนมิตซง เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารพม่าและทหารกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA (Kachin Independence Army) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาใกล้กับบริเวณเขตโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซง เป็นเหตุให้แรงงานในเขตก่อสร้างเขื่อนและแรงงานในเหมืองแร่ทองซึ่งอยู่ใกล้จุดปะทะต้องอพยพออกจากพื้นที่ ขณะที่มีรายงานทหารพม่าเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า เหตุปะทะเกิดขึ้นในเขตรอบนอกหมู่บ้านตางปรี ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่น เหตุปะทะกันได้ทำให้แรงงานในเขตก่อสร้างเขื่อนมิตซงต้องหนีตายกันวุ่น ขณะที่คาดมีแรงงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนราว 200 คน ซึ่งโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซงเป็นโครงการภายใต้บริษัทพลังงานของจีน (China Power Investment – CPI) อีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทหาร KIA สามารถยึดฐานที่มั่นสำคัญของทหารพม่าในหมู่บ้านคา การาน ยัง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนที่เชื่อมต่อไปเมืองปูเตา โอ่ ทางภาคเหนือของรัฐคะฉิ่น นอกจากนี้ ทหารคะฉิ่น KIA ได้สร้างฐานที่มั่นใหม่ใกล้กับเมืองปางวา ซึ่ง KIA สามารถยึดได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเมืองปางวาเคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของกองกำลังประชาธิปไตยแนวใหม่คะฉิ่น (New Democratic Army-Kachin) ซึ่งกองกำลังนี้ได้แปรสภาพไปเป็นกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่าไปแล้วเมื่อปี 2552 แปลและเรียบเรียงจาก สำนักข่าวคะฉิ่น KNG 16 พฤษภาคม 55 แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ดีเอสไอสรุปคดี 89 ศพ มี จนท.รัฐเกี่ยว 22 ศพ จาก นปช.12 ศพ Posted: 18 May 2012 04:26 AM PDT อธิบดีดีเอสไอเผยคืบหน้าคดีการเสียชีวิต 89 ศพ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พบเกิดจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ 22 ศพ จาก นปช. 12 ศพ อีก 55 ศพ ยังไม่ทราบฝ่ายใด ระบุการเสียชีวิตของ “พล.อ.ร่มเกล้า” อยู่ในกลุ่มการกระทำของ นปช. ส่วน “เสธ.แดง” ยังไม่ทราบฝ่ายใด 18 พ.ค. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวถึงผลการสอบสวนคดีที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า หลังการสอบสวนผ่านมา 2 ปี พบมีคดีที่เกี่ยวข้องกับ นปช. จำนวน 266 คดี แบ่งเป็น การก่อการร้าย 150 คดี การขู่บังคับใช้รัฐบาลกระทำการใดๆ 22 คดี การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 73 คดี และการกระทำต่ออาวุธ ยุทธภัณฑ์ของราชการ 21 คดี ในจำนวนนี้สอบสวนแล้วเสร็จ 174 คดี ส่วนคดีการเสียชีวิต 89 ศพ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มี 16 ศพ ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ชันสูตร อย่างไรตาม บช.น.ได้ประสานขอรับสำนวนเพิ่มเติมอีก 6 ศพ รวมเป็นสำนวนคดีที่เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐขณะนี้ 22 ศพ โดยบางคดีศาลได้ไต่สวนไปแล้ว หลังศาลไต่สวนจะส่งสำนวนกลับมาให้ บช.น.เพื่อส่งกลับมาให้ดีเอสไอนำไปประกอบการสอบสวนในสำนวนหลัก ส่วนกลุ่มที่พบว่าเกิดจากการกระทำของ นปช. มีทั้งสิ้น 12 ศพ และอีก 55 ศพ ยังไม่พบว่าเสียชีวิตจากการกระทำของฝ่ายใด นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ขณะนี้การสอบสวนจัดไว้ในกลุ่มเสียชีวิตโดยการกระทำของ นปช. ส่วน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด แต่เบื้องต้นสามารถระบุได้ว่าวิถีกระสุนมาจากจุดใด โดยใช้การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์พบว่าวิถีกระสุนมาได้จาก 2 ตึกเท่านั้น แต่ยังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงจลาจลพยานหลักฐานส่วนใหญ่ถูกทำลาย หากเป็นคดีปกติเมื่อครบ 2 ปีแล้วยังไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน พนักงานสอบสวนต้องเสนองดการสอบสวน แต่ถ้าคดีดังกล่าวมีความสำคัญ ดีเอสไอจึงยังเดินหน้าการสอบสวนต่อ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาล รธน.มีมติ 7 ต่อ 1 ให้ “จตุพร” พ้น ส.ส. "ประชาธิปัตย์" เล็งยื่นยุบ "เพื่อไทย" Posted: 18 May 2012 04:20 AM PDT เพื่อไทยเคารพมติศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ “จตุพร” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. แม้จะไม่เห็นด้วย ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง พร้อมระบุ “สรรพภัญญู” จะเลื่อนขึ้นเป็น ส.ส. แทน ด้านประชาธิปัตย์เกาะติดคดีรอดูคำวินิจฉัยก่อนยื่นยุบพรรคเพื่อไทย 18 พ.ค. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 ให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช. สิ้นสุดลง เนื่องจากขณะเลือกตั้งถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นข้อบัญญัติว่า เป็นคุณสมบัติต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้ขาดสมาชิกภาพของพรรคเพื่อไทย และส่งผลต่อสมาชิกภาพ ส.ส. ด้วย ว่า พรรคเพื่อไทยเคารพมติศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วย ทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับถัดไป ที่จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน นายจตุพร คือ ผู้สมัครในลำดับที่ 70 นายสรรพภัญญู ศิริไปล์ ซึ่งขั้นตอนต่อไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯ วันจันทร์ที่ 21 พ.ค. เพื่อให้ นายสรรพภัญญู ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่อสภาฯ สำหรับคำวินิจฉัยครั้งนี้ จะส่งผลให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผู้ร้องหรือไม่ แต่พรรคมั่นใจว่าสามารถที่จะชี้แจงได้ เพราะเราเชื่อโดยสุจริตว่า นายจตุพร มีคุณสมบัติครบถ้วน และสังคมก็คงเห็นเช่นเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังรับรองคุณสมบัติความเป็นผู้สมัคร ส.ส.ให้กับ นายจตุพร และยังประกาศรับรองความเป็น ส.ส.ของ นายจตุพร อีกด้วย แสดงให้เห็นว่า พรรคไม่ได้มีเจตนา ที่จะส่งผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แต่อย่างใด “ส่วนการพ้นสภาพความเป็น ส.ส. ของ นายจตุพร จะมีผลต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ว่าจะปรับ ครม. หรือไม่ และเมื่อไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า หากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามหลักความรู้ความสามารถ และเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก” ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว ปชป.เกาะติดคดี “จตุพร” รอดูคำวินิจฉัย ก่อนยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ด้านเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ให้พ้นสมาชิกภาพว่า การที่นายจตุพรถูกคำวินิจฉัยของศาลให้พ้นสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) และ 101 (3) ซึ่งนายจตุพร ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่ต้นแล้ว ขณะเดียวกัน นายจตุพรลงสมัครรับเลือกตั้งโดยมติของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งขัดกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ตามมาตรา 34 และ 139 ซึ่งมีผลต่อนายจตุพร ที่ระบุว่าผู้ใดรู้และรู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม มิให้สมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง โดยฝ่าฝืนมาตรา 34 และมาตรา 35 หรือมาตรา 38 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1- 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นายเทพไท กล่าวว่า ส่วนข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองโดยเฉพาะมาตรา 94 ของกฎหมายพรรคการเมือง ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ อาจจะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งในมาตรา 94(2) ระบุว่าการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีผลทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ดังนั้นต้องดูว่าการที่พรรคเพื่อไทยมีมติส่งนายจตุพรลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติ แล้วยังมีมติส่งลงเลือกตั้งอีก ก็ต้องพิจารณาดูว่าขัดมาตรา 94 หรือไม่ เชื่อว่าหลังจากนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์จะนำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3) และ 101 (3) และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. มาตรา 34 และ 139 และกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 94 (2) และมาตรา 98 หรือไม่ เพราะเชื่อว่าหากขัดจะมีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน เพราะหากขัดก็จะถึงขั้นยุบพรรคตามมาตรา 94 วรรคสอง นายเทพไท กล่าวว่า จากนี้ไป กกต.จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองนายจตุพร 10 ปีหรือไม่ และจะต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดกรณีที่จะมีการยุบพรรคเพื่อไทยด้วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเพิ่ม แต่หาก กกต.ไม่ดำเนินการ กกต.ก็อาจถูกดำเนินการเองก็ได้ ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้รับรองว่านายจตุพร เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย จึงถือว่าเป็นการรับรองเท็จ เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา นายยงยุทธเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์เพราะนายจตุพรได้เป็น ส.ส. ดังนั้นเมื่อศาลวินิจฉัยเป็นอย่างนี้ พรรคเพื่อไทยก็อาจถูกยุบพรรคได้ เพราะให้การรับรองที่เป็นเท็จ ซึ่งทีมกฎหมายกำลังดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นจะยื่นต่อ กกต.เพื่อยุบพรรคเพื่อไทยเป็นครั้งที่ 3 ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศปช.สับรัฐบาล นปช.อย่าปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ เสนอ นิรโทษกรรมให้มวลชนทุกฝ่าย Posted: 17 May 2012 10:02 PM PDT
แถลงการณ์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม( ศปช.) เนื่องในโอกาสครบรอบสองปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ระบุรัฐบาลไร้มนุษยธรรมร ชี้ ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง แสดงความรับผิดชอบ นิรโทษกรรมให้กับมวลชนผู้เข้าร่วม ชี้กรรมการสิทธิล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติหน้าที่ :::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::: แถลงการณ์ “สองปีของการสลายการชุมนุม ยังไม่มีความยุติธรรมให้กับเหยื่อ” 19 พฤษภาคม 2555 การสลายการชุมนุมของประชาชน เม.ย.-พ.ค. 2553 ได้ผ่านเข้าสู่ปีที่สอง แต่การคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่า ศปช.จะชื่นชมความกล้าหาญที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อนุมัติเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบแล้วก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความยุติธรรมที่เหยื่อพึงได้รับ แต่ความยุติธรรมที่แท้จริงยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจนบัดนี้ ยังไม่มีการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่รายเดียว ซ้ำร้ายยังมีแนวโน้มว่าจะมีการนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอีกด้วย ความถดถอยที่เกิดขึ้น ทำให้ ศปช.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคเพื่อไทย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดังนี้ 1.ต่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และนปช. การนิรโทษกรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการเปิดเผยความจริงและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน นี่เป็นเงื่อนไขต่ำสุดของการนิรโทษกรรม เป็นเงื่อนไขต่ำสุดที่จะทำให้เกิดเยียวยาเหยื่อและการปรองดองได้จริง 2.ต่อคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
จึงเรียนมาด้วยความสลดใจต่อความอยุติธรรมที่ปกคลุมสังคมไทย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
7 ปีที่มีประชาไท : ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล Posted: 17 May 2012 07:15 PM PDT
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น