โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ลาวส่งตัว "หน่อคำ" ให้ทางการจีนแล้ว

Posted: 10 May 2012 11:11 AM PDT

ทางการลาวส่งมอบตัว "หน่อคำ" ผู้ต้องสงสัยฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพในน้ำโขง ให้แก่ทางการจีนเพื่อไปพิจารณาดำเนินคดีแล้ว

CCTV ภาคภาษาอังกฤษรายงานข่าวการจับหน่อคำ
โดยในวิดีโอคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนประกาศการจับกุมเป็น 2 ภาษา คือภาษาจีนและภาษาไทลื้อ

เมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (10 พ.ค. 55) สถานีโทรทัศน์จีน CCTV รายงานว่า ทางการลาวได้ส่งมอบตัว นายหน่อคำ อายุ 44 ปี อดีตสมุนขุนส่า ผู้ต้องหาค้ายาเสพติดรายใหญ่และเป็นผู้ต้องสงสัยคดีสังหารลูกเรือจีน 13 ศพในแม่น้ำโขงเมื่อ 5 ต.ค. 54 ให้แก่ทางการจีนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยทางการลาวได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการส่งตัวหน่อคำให้ประเทศจีน และเมื่อพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเสร็จสิ้น ประเทศลาวได้ส่งตัวหน่อคำขึ้นเครื่องบินเดินทางจากกรุงเวียงจันทร์ ไปพิจารณาคดีในประเทศจีนทันที

โดยหลังจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงสองฝ่ายในการส่งมอบตัว นายหน่อคำ แล้วเสร็จ ทางเจ้าหน้าลาวได้นำตัว นายหน่อคำ ออกจากห้องคุมขังมานั่งตรงหน้าโต๊ะแถลงข่าวเพื่อยืนยันการจับกุมและการส่งมอบตัว ขณะที่นายหน่อคำ มีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด โดยตรงข้อมือและเท้าของเขาได้ถูกล็อคด้วยกุญแจมือและโซ่ด้วย

ทั้งนี้ นายหน่อคำ หรือ จายหน่อคำ ถูกทางการลาวจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยการจับกุมนายหน่อคำ เกิดขึ้นหลังเกิดการสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ ในแม่น้ำโขง ตอนเหนือของสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งเชื่อกันว่าหน่อคำ อยู่เบื้องหลัง และการจับกุมเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังทางการโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศพส.) แถลงข่าว “ประกาศจับนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ” (Most Wanted)จำนวน 25 ราย ตั้งรางวัลนำจับ 12 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีชื่อนายหน่อคำ รวมอยู่ด้วย โดยถูกตั้งค่าหัวไว้ 2 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลของนายหน่อคำ ที่สำนักข่าวฉาน SHAN ได้รับล่าสุดทราบว่า นายหน่อคำ เป็นคนเชื้อสายไทใหญ่ เกิดเมื่อปีค.ศ. 1969 ที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ (ปัจจุบันอายุ 43 ปี) นายหน่อคำ เป็นเชื้อสายเจ้าฟ้าเมืองไหย๋ โดยบิดาเป็นอำมาตย์ประจำเจ้าฟ้าเมืองไหย๋ ทั้งนี้ นายหน่อคำ ได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติกอบกู้รัฐฉาน ในกองทัพเมืองไตย MTA ภายใต้การนำของขุนส่า แต่หลังขุึนส่าวางอาวุธให้แก่ทางการพม่าในปี 2539 หน่อคำ ได้รับอนุญาตจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครและประกอบธุรกิจลับอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก

กระทั่งเมื่อปี 2549 นายหน่อคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปปส. พม่าเข้าตรวจค้นบ้านพักในหมู่บ้านตอก้อ ฝั่งท่าขี้เหล็ก โดยเจ้าหน้าที่ปปส.พม่าซึ่งได้รับข้อมูลจากทั้งจีนและไทย สามารถตรวจยึดยาบ้านับล้านเม็ด แต่นายหน่อคำ ได้หลบหนีเข้าไทยและเข้าไปกบดานอยู่ในฝั่งลาว จนกระทั่งข่าวคราวเงียบลงจึงกลับเข้าไปเคลื่อนอยู่ในฝั่งพม่า

ทั้งนี้ กลุ่มของนายหน่อคำ มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัดเก็บค่าคุ้มครองเรือลำเลียงสินค้าในแม่น้ำโขงและจับเรียกค่าไถ่ลูกเรือบ่อยครั้ง โดยทางกลุ่มอ้างว่าเป็นการเก็บค่าคุ้มครองผ่านในพื้นที่ นอกนั้นยังคอยจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่คุ้มครองแถบสามเหลี่ยมทองคำ

อย่างไรก็ตาม คดีสังหารลูกจีน 13 ศพ เมื่อ 5 ต.ค. 54 ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า นายหน่อคำ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังจริงหรือไม่ โดยหลังเกิดเหตุไม่กี่วันเขาได้ออกมาปฏิเสธโดยพูดกับคนสนิทของเขาว่า "เขาไม่ได้ทำ เขาไม่มีส่วนรู้เห็น" แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่อคำได้ถูกจับกุมและส่งตัวไปยังจีนซึ่งไม่ทราบว่าท้ายที่สุด นายหน่อคำ จะถูกตัดสินโทษเช่นใด และจะสามารถหาทนายความไปแก้ต่างยันยืนความบริสุทธิ์ได้หรือไม่ ขณะที่ในส่วนของจีนถือเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดทางกฎหมายและมักตัดสินโทษผู้ต้องหาคดีร้ายแรงด้วยโทษประหารชีวิต

 
ชมคลิป การส่งมอบตัวหน่อคำ ได้ที่   http://www.khonkhurtai.org
 



"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวดพระอภิธรรมศพ ‘อากง’ วันแรก ‘ธิดา’ ลั่นต้องยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม

Posted: 10 May 2012 11:09 AM PDT

 

10 พ.ค. 55 เวลา 19.00 น. บริเวณศาลามิตรอุดม-แพทย์ปรีชา วัดด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ มีการสวดพระอภิธรรมศพนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ “อากง sms” เป็นวันที่สอง หลังจากนำศพเดินทางมาจากหน้าศาลอาญาซึ่งใช้เป็นที่สวดอภิธรรมศพในวันแรก มีประชาชนทั้งคนเสื้อแดงและผู้รู้ข่าวการเสียชีวิตของอากงเดินทางมาร่วมพิธีราว 500 คน

งานสวดพระอภิธรรมในวันนี้มีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นเจ้าภาพในงาน โดยมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานนปช.มาเป็นประธาน ร่วมด้วยแกนนำกลุ่มนปช. และส.ส.ของพรรคเพื่อไทย เช่น นพ.เหวง โตจิราการ, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายสุนัย จุลพงศธร, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นายวรชัย เหมะ เป็นต้น โดยหลังการสวดพระอภิธรรมมีการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้การเสียชีวิตของอากงเป็นเวลา 1 นาที

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ กล่าวหลังการสวดพระอภิธรรมว่า เราในที่นี้ทั้งหมดจะไม่มีวันลืมเรื่องราวของคุณอำพล ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ท่านได้สั่นสะเทือนระบบตุลาการศาลยุติธรรม และระบอบอำมาตยาธิปไตยในประเทศไทย ทำให้เห็นว่าความยุติธรรมไร้มาตรฐานสำหรับคนไทย คุณอำพลเป็นประชาชนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่นักการเมือง ผู้มีอำนาจ ท่านจึงเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะโลกนี้มีคนธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ เรื่องราวของคนธรรมดาจึงยิ่งใหญ่ พวกเราจึงจะต้องสืบสานทำให้การตายของคุณอำพลไม่เสียเปล่า เราจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่แต่เพียงปัญหากฎหมาย หรือมาตรา 112 เพียงเท่านั้น แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ทั่วหน้า มีความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย และมีนิติรัฐ-นิติธรรมให้ได้

นางธิดากล่าวต่อถึงภารกิจสองเรื่องที่ต้องต่อสู้ คือผู้ถูกคุมขังทางการเมืองต้องได้รับการปล่อยตัว อย่างน้อยก็ประกันตัวทุกคน และทั้งกรมราชทัณฑ์ กระบวนการยุติธรรม ต้องมีระบบดูแลผู้ถูกคุมขังด้านสุขภาพ ไม่ว่าในคดีใดๆ นางธิดาสรุปในตอนท้ายว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าเกินไป ก็คือความอยุติธรรม

 

พิธีกรในงานได้แจ้งข่าวว่านายสุนัย จุลพงศธร จะนำเรื่องการเสียชีวิตของอากงเข้าไปทำการอภิปรายที่คณะกรรมาธิการต่างประเทศ ของสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 16 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. โดยจะมีการเรียกตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานเกี่ยวกับศาลยุติธรรมเข้ามาชี้แจงปัญหาการเสียชีวิตของอากง เพื่อไม่ต้องการให้นักโทษการเมืองทุกคนเสียชีวิตเหมือนอากงในวันนี้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพิธีสวดพระอภิธรรมศพของนายอำพลจะมีไปจนถึงวันพุธที่ 16 พฤษภาคม ที่วัดด่านสำโรงแห่งนี้ โดยในวันที่ 11 พ.ค. 55 จะมีเจ้าภาพร่วมในการสวดพระอภิธรรมศพนายอำพล ได้แก่ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และคณะนิติราษฎร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ความยุติธรรมที่ล่าช้าฆ่า 'อากง'

Posted: 10 May 2012 10:41 AM PDT

          “อากง” นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตายด้วยโรคมะเร็ง  บางท่านที่เชื่อเขาทำผิดจริง อาจสมน้ำหน้าด้วยซ้ำ  ผู้เขียนก็รักในหลวง ไม่เอาด้วยกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใด ๆ  แต่ผู้เชียนเชื่อว่าเขาไม่ได้กระทำผิด  แต่หากเขาผิดจริง กรณีนี้ก็ยังอาจสร้างความเสื่อมเสียแก่ประเทศชาติได้

          คดีประหลาดนี้เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องว่า “อากง” ส่งข้อความส่งโทรศัพท์มือถือ 4 ครั้งที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปที่เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อกลางปี 2553 และศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ให้จำคุก 20 ปี (ส่งข้อความ 4 ข้อความ ๆ ละ 5 ปี)  ทั้งที่เขาไม่เคยรู้จักกับเลขานุการคนดังกล่าว

          ศาลตัดสินเช่นนี้เพราะ “เห็นว่าการที่จำเลยอ้างว่านำโทรศัพท์ไปซ่อมนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปยังห้างดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยอ้างว่าจำชื่อร้านไม่ได้ ทั้งที่จำเลยต้องไปที่ร้านซ่อมโทรศัพท์อย่างน้อย 2 ครั้งในวันที่ส่งซ่อม และในวันที่ไปรับโทรศัพท์คืน  ส่วนที่จำเลยอ้างว่าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไม่เป็น และไม่ทราบว่า หมายเลขผู้รับข้อความเป็นของเลขานุการอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวอ้างพยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ . . .” {1}

          ต่อมา “อากง” ซึ่งป่วยมานานแล้ว ก็มีอาการหนักขึ้นจนเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2555 ก็ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลกลาง ซึ่งไม่ได้เจาะเลือดหรือตรวจอะไรเป็นพิเศษเพราะหมดเวลา และยังติดเสาร์-อาทิตย์ พอถึงจันทร์จึงได้เจาะเลือด แต่ยังไม่ได้รักษาคงเพราะเป็นวันหยุดชดเชย  รุ่งเช้าวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555 เขาก็ตายเพราะทนความเจ็บปวดต่อไปไม่ไหว {2}

          กรณีนี้นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้แจงว่า “จำเลยได้ยื่นประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยยื่นขอประกันตัวต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววันที่15 มีนาคม 2555” {3}  กรณีนี้ถ้าจำเลยต่อสู้ถึงสามศาลโดยไม่ได้รับการประกันตัวออกมารักษาตามปกติ ก็คงกินเวลานานมากจนตายในคุกแน่นอน  ทนายจำเลยจึงได้ขอถอนอุทธรณ์คดีไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 เพื่อจะใช้สิทธิ์ยื่นถวายฎีกาเพราะการถวายฎีกาจะยื่นได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด  แต่การรอผลฎีกาก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร

          ก่อนหน้านี้ทนายของ “อากง” ก็พยายาม “ยื่นประกันตัว 6 ครั้งในขั้นศาลชั้นต้น และ 2 ครั้งสุดท้าย เป็นการยื่นต่อศาลอุทธรณ์ และยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยยื่นไปยังศาลฎีกา” {4}  แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เพราะ “โดยศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุเชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยชั่วคราว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วย ไม่ปรากฏถึงขนาดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งราชทัณฑ์ก็มีโรงพยาบาลที่จะให้การรักษาจำเลยได้ทันทีอยู่แล้ว” {5}

          ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ในการขอประกันตัว ได้ใช้ “เงินสด 1 ล้านบาท พร้อมเงินประจำตำแหน่งนักวิชาการ และผู้ค้ำประกัน อีก 7 คน รวมประเมินราคา 2.2 ล้านบาทเศษ” {6} แต่ศาลก็ไม่อนุญาต  และด้วยมาตรฐานที่ต่ำกว่าในการรักษาพยาบาลของเรือนจำโดยเฉพาะกรณีโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น  ‘อากง’ จึงต้องตายอย่างทุกข์ทรมานเช่นนี้  ความตายของ ‘อากง’ จึงสอดคล้องกับภาษิตกฎหมายว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” (Justice delayed is justice denied) {7}

          ในสายตาของประชาคมโลก ย่อมมองว่า ‘อากง’ เป็น ‘นักโทษการเมือง’ ที่หมิ่นประมุขของประเทศ  แต่กระบวนการตัดสินที่กินเวลานาน การลงโทษถึง 20 ปี และการที่เขาต้องตายโดยไม่มีโอกาสออกไปรักษาตามสมควร  เป็นสิ่งที่นานาชาติยอมรับได้ยาก และกลับจะเป็นการสั่นคลอนและสร้างความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิและภาพลักษณ์ของประเทศ บุคคล และกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

 

อ้างอิง

{1} พลิก! คำพิพากษา"คดีอากง" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336476741&grpid=&catid=02&subcatid=0202

{2} "อากง" เสียชีวิต หลังปวดท้องหนักตั้งแต่วันศุกร์ ภรรยาบอก "กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336449341&grpid=00&catid&subcatid

{3} อธิบดีศาลอาญาเตือนกลุ่มชุมนุมอากงอยู่ในความสงบ http://www.suthichaiyoon.com/detail/28939

{4} "อานนท์ นำภา" แจงยื่นประกัน "อากงSMS" 8 ครั้ง ก่อนตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เผยจำเลยยืนยันไม่ได้ทำผิด http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336571392&grpid=00&catid=&subcatid=

{5} 'อากง' หมิ่นสถาบันนอนคุกต่อ! ศาลไม่ให้ประกัน http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000024919

{6} “อากง” หมิ่นเบื้องสูงคอตกนอนคุก ศาลอุทธรณ์ชี้พฤติการณ์คดีร้ายแรง http://www.dailynews.co.th/crime/14145
{7} ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม (Justice delayed is justice denied) http://en.wikipedia.org/wiki/Justice_delayed_is_justice_denied

{1} พลิก! คำพิพากษา"คดีอากง" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336476741&grpid=&catid=02&subcatid=0202

{2} "อากง" เสียชีวิต หลังปวดท้องหนักตั้งแต่วันศุกร์ ภรรยาบอก "กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336449341&grpid=00&catid&subcatid

{3} อธิบดีศาลอาญาเตือนกลุ่มชุมนุมอากงอยู่ในความสงบ http://www.suthichaiyoon.com/detail/28939

{4} "อานนท์ นำภา" แจงยื่นประกัน "อากงSMS" 8 ครั้ง ก่อนตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เผยจำเลยยืนยันไม่ได้ทำผิด http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336571392&grpid=00&catid=&subcatid=

{5} 'อากง' หมิ่นสถาบันนอนคุกต่อ! ศาลไม่ให้ประกัน http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000024919

{6} “อากง” หมิ่นเบื้องสูงคอตกนอนคุก ศาลอุทธรณ์ชี้พฤติการณ์คดีร้ายแรง http://www.dailynews.co.th/crime/14145
{7} ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม (Justice delayed is justice denied) http://en.wikipedia.org/wiki/Justice_delayed_is_justice_denied

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: อากง is dead, long live อากง (?)

Posted: 10 May 2012 10:37 AM PDT

‘อากง’ ที่ตายแล้ว คือ ‘นายอำพล’ แต่ ‘อากง’ ที่ยังไม่ตาย คือ ‘เหยื่ออยุติธรรม’ อีกหลายราย ในสังคมไทย

คำถามที่ต้องไม่ลืม คือ เมื่อ ‘อากง’ ตายแล้ว ‘อากง’ อื่นจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ?

ผู้เขียนขอชักชวนทุกฝ่าย ทั้งที่ เป็นทุกข์ เป็นสุข ปล่อยวาง หรือ ไร้ความรู้สึก ต่อทั้ง ‘อากง’ ที่ตายแล้ว และทั้ง ‘อากง’ ที่อาจกำลังจะตาย  ให้ช่วยกันคิดถึงประเด็นต่อไปนี้ร่วมกัน

* * *

1. ภาพ ‘อากง’ ไม่ได้แบนราบ และไม่ได้ฉาบด้วยสีเดียว
การที่ผู้ใด ‘เศร้าใจ’ หรือ ‘ไม่พอใจ’ กับความตายของ ‘อากง’ นั้น มิได้ต้องแปลว่า ผู้นั้นต้องการให้ยกเลิก มาตรา 112 ไปเลย หรือให้ไปบัญญัติใหม่เหมือนที่ใครเสนอ

ในทางตรงกันข้าม ผู้นั้น อาจเพียงอาจไม่พอใจกับ ‘ความอยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้น ซึ่งความอยุติธรรมนั้น อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 เลยก็เป็นได้

บางคน อาจไม่ได้รู้สึกอะไรมากไปกว่า ‘สงสาร’ หรือ ‘เห็นใจ’ ชาวไทยคนหนึ่งที่เจ็บป่วยและชรา แล้วต้องมาตายในคุกในขณะสู้คดี และสังเวชกับชะตากรรมของคนไทย ที่แม้จะอยู่ในประเทศที่มีโรงพยาบาลและสปาที่หรูหราขึ้นชื่อมากที่สุดของโลก แต่คนไทยหลายคนเมื่อชราเจ็บป่วย กลับไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ไม่ว่าจะในคุก หรือนอกคุก

บางคน อาจไม่ติดใจอะไรเลยกับ มาตรา 112 (อาจสนับสนุนการคงมาตรา 112 ไว้เสียด้วยซ้ำ) แต่ที่เศร้า ก็เพราะเศร้ากับปัญหาการตีความ ‘สิทธิการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (7) ว่าหลักประกันขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญของประชาชน ได้ถูกลดค่าให้เป็นเพียงข้อยกเว้นในกฎหมายลำดับรองที่ครอบครองโดยดุลพินิจตุลาการหรือไม่ ?  

ยิ่งไปกว่านั้น บางคนอาจอาลัย ‘อากง’ เพราะเศร้าเสียดายจังหวะจุดเปลี่ยนของสังคม โดยรอลุ้นว่าหากคดีอากงไปถึงศาลฎีกา บรรดาผู้พิพากษาจะใช้โอกาสนี้ตีความ มาตรา 112 ให้หลักแหลม ลึกซึ้ง แยบยล และสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนำความยุติธรรมกลับคืนมาสู่สังคม และบรรเทาความลำบากพระราชหฤทัยที่บรรดาตุลาการล้วนทราบชัดแจ้งตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2548 เป็นต้นมา โดยไม่ต้องไปแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 เลยได้หรือไม่ ?

(ผู้เขียนเองเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางการยกเลิกแก้ไข มาตรา 112 ที่นิติราษฎร์ คิด และ ครก. 112 ดำเนินการว่า ถูกต้องและรอบคอบดีแล้วหรือไม่ พร้อมเสนอแนวคิดทางเลือกให้ ‘สถาบันตุลาการ’ ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของสังคมโดยการวางหลักการตีความ มาตรา 112 เสียใหม่ให้สมเจตนารมณ์ รายละเอียดโปรดดูที่ http://on.fb.me/ISKAWY)

ดังนั้น เมื่อความเศร้าต่อ ‘อากง’ คือ ความสลดต่อความอยุติธรรม และเมื่อความอยุติธรรม ไม่ได้แบนราบ และไม่ได้ฉาบด้วยสีเดียว เราจึงต้องคิดกันให้หนักว่า จะทำอย่างไร ไม่ให้ใครหลงคิดไปว่า ผู้ที่เศร้าต่อ ‘อากง’  คือผู้ผูกขาดร่างทรงของความดีงามหรือความชั่วร้ายของ มาตรา 112 หรือเรื่องอื่นเรื่องใดเพียงเรื่องเดียวเสมอไป

2. ผู้ที่ห่วงใย ‘อากง’ ต้องมองให้ไกลไปกว่า ครก. 112 หรือ มาตรา 112
แม้ผู้เขียนอาจมีมุมมองเรื่อง มาตรา 112 ที่ต่างไป แต่ก็ชื่นชมความดีของ ครก. 112  ในฐานะผู้ที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่เมื่อบัดนี้ระยะเวลา 112 วัน ของการรวบรวมรายชื่อเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 ได้ผ่านไปแล้ว และยังไม่ชัดเจนว่าการดำเนินการจะสิ้นสุดลงอย่างไร จึงน่าคิดว่า ยังมีกระบวนการอื่นใดหรือไม่ ที่ประชาชนโดยทั่วไปอาจร่วมผลักดันเพื่อฝากความหวังเรื่อง ‘อากง’ ไว้ได้ ?

ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวซ้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาล พรรคการเมือง และผู้พิพากษาอีก แต่จะขอชักชวนให้เราช่วยกันคิดถึงหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อกรณี ‘อากง’ ไม่น้อย แต่อาจถูกกล่าวถึงน้อยไปหน่อย ซึ่งก็คือ ‘คู่แฝดที่ยังไม่ทันเกิด’ ของ ‘คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย’  ที่มีชื่อว่า  ‘คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ’

คณะกรรมการดังกล่าว เป็นกลไกสำคัญที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 (4) ซึ่งมาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐบาลของคุณสมัครผู้ล่วงลับต้องตั้งให้มาปฎิรูป ‘กระบวนการยุติธรรม’ ไปตั้งแต่หลายปีที่แล้ว แต่เสียดายคุณสมัครกลับถูก ‘กระบวนการยุติธรรม’ พลิกพจนานุกรมปฏิรูปไปเสียก่อน และรัฐบาลชุดต่อมา ก็ยังตั้งไม่สำเร็จ

‘คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ’ ที่ว่า หากตั้งสำเร็จแล้ว ย่อมมีบทบาทสำคัญในการเสนอแผนการเพื่อตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง ‘อากง’ อาทิ การพิสูจน์พยานหลักฐานในศาลไทยเป็นธรรมหรือไม่ เหตุใดจำเลยหลายรายจึงไม่ได้รับการประกันตัวไปรักษาอาการเจ็บป่วย และรัฐจะดำเนินการช่วยเหลือ ‘อากง’  คนอื่นๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร เป็นต้น

สิ่งที่น่าคิดก็คือ ขณะนี้การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ค้างอยู่ในสภา (โปรดดู http://bit.ly/KNZmew) จึงน่าคิดต่อว่า ที่มา โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และวิธีการทำงานของคณะกรรมการที่ว่านั้น จะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ห่วงใยหรือเศร้าใจต่อกรณี ‘อากง’ ได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือคณะกรรมการที่ว่าจะเป็นเพียงท่านผู้ใหญ่กลุ่มเดิมที่เคยได้แต่มอง ‘อากง’ มา แล้วก็ไป ? 

3. โปรดอย่าลืมนึกถึง ‘อากง’ ในวันเลือกตั้ง
อีกไม่นานเกินลืม เรา ประชาชน คงได้มีโอกาสไปเข้าคูหาหย่อนบัตรเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ซึ่งเราและสื่อมวลชน ต้องช่วยกันทวงถามผู้สมัครที่ขอคะแนนเสียงของเรา ให้ช่วยตอบให้ชัดถ้อยชัดคำว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ใส่ใจกับ ‘อากง’ ในสังคมไทยอย่างไร ?

เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญจะเพิ่มบทบัญญัติที่คุ้มครองพวกเราว่า บุคคลไม่อาจถูกจำคุกได้ด้วยเหตุที่ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลที่ใช้อำนาจสาธารณะในเรื่องการใช้อำนาจที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าในกรณีใด?

(เลิกเสียเถิด นักการเมือง หรือ แม้แต่ตุลาการ ที่ฟ้องคดีแล้วใช้โทษอาญามาบีบบังคับให้ผู้อื่นลงโฆษณาขอขมาต่อตน ทั้งที่เรื่องที่ตนถูกกล่าวหาก็เป็นเรื่องที่สังคมควรได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่ และตนกลับไม่เคยคิดจะแถลงชี้แจงหรือตอบคำถามให้ชัดเจน)

เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญจะมีมาตรการกำหนดให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ต้องนำกฎหมายทั้งหมดที่ตราขึ้นโดยผู้กระทำรัฐประหารในอดีตมาทบทวน ยกเลิก หรือแก้ไขอย่างเป็นระบบ ?

เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญจะมีมาตรการกำหนดให้ฝ่ายตุลาการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูประบบยุติธรรม ต้องร่วมสำรวจปัญหา และร่วมเสนอแนวทางแก้ไข มิใช่ก้มมองกรรมการปฏิรูปแต่ละชุดแล้วเปล่งร้องความเป็นอิสระจากหอคอยที่นับวันประชาชนปีนถึงยากขึ้นเรื่อยๆ ?

* * *

หากกระแสความเศร้าใจต่อ ‘อากง’ ในวันนี้ ถูกนำเสนออย่างแบนราบไปในโทนเดียว ว่าเป็นเรื่องของคนที่ทุกข์อยู่กลุ่มเดียว ในวาระเดียว และก็ถูกตอบโต้ไปมาเช่นนี้ต่อไป น่ากังวลเหลือเกินว่า ‘อากง’ ทั้งหลายที่ยังไม่ตาย ก็คงจะต้องตายตาม ‘อากง’ ไปในเร็ววัน

อากง is dead, long live อากง (?)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: นิรโทษกรรมเหมาเข่งคือจุดจบพรรคเพื่อไทย

Posted: 10 May 2012 10:23 AM PDT

แม้การรดน้ำดำหัว พล อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผลสะเทือนทางลบในหมู่มวลชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทยและต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่จางหาย

สิ่งที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.บางคน อาจจะยังไม่เข้าใจชัดคือ มวลชนคนเสื้อแดงหลายล้านคนทั่วประเทศไม่ใช่คนในสังกัดของพวกเขา คนเสื้อแดง ณ วันนี้คือ เสรีชนคนรักเสรีภาพและความเป็นธรรม มีความคิดตกผลึกทางประชาธิปไตยที่แจ่มชัดจากประสบการณ์ต่อสู้ทางตรงของพวกเขาเอง จนมองทะลุม่านหมอกมายา เข้าไปเห็นถึงแก่นในเนื้อแท้ของรูปการปกครองปัจจุบัน

การที่พวกเขาพากันไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เพราะพวกเขาเชื่อวาทกรรม “ปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเพราะเห็นว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่เข้าไปต่อสู้กับพวกเผด็จการในเวทีรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แม้พรรคเพื่อไทยจะชูนโยบาย “ปรองดอง” มาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน อีกทั้งภารกิจหลักเฉพาะหน้าในขณะนั้นคือ เข้ายึดเวทีสภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งคณะรัฐบาล ประเด็น “ปรองดอง” จึงเป็นเรื่องรองที่เอาไว้สะสางในอนาคต

นับแต่ปลายปี 2554 ก็เป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกทีว่า นโยบาย “ปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า “การหย่าศึกให้กับทุกฝ่าย” ให้เลิกแล้วต่อกันทั้งหมด โดยเชื่อว่า นี่คือการยุติความขัดแย้งที่แท้จริง

นับตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็ได้ใช้วิธีการ “ส่งสัญญาณสารพัด” ให้ฝ่ายอำนาจรัฐรู้ว่า จะไม่มีการรุกไล่ ไม่มีการแตกหัก ไม่มีการเผชิญหน้าอีกต่อไป “ขีดเส้นแบ่งพื้นที่การเมืองคนละส่วน” ขอเพียงอีกฝ่ายนิ่งสงบอยู่ในที่ตั้งของตน และยอมให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างจำกัดขอบเขต ด้วยคำสัญญาว่า จะไม่มีการลิดรอนอำนาจที่แท้จริงใด ๆ ของพวกเขา ทั้งพรบ.กลาโหม งบประมาณทหาร การแต่งตั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ จนกระทั่ง การไปรดน้ำ พล อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นสัญญาณ “ขอหย่าศึก” ครั้งล่าสุด นี่อาจเป็นยุทธวิธีที่จำเป็นในภาวะปัจจุบันที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่มีอำนาจรัฐที่แท้จริงในมือ

ในส่วนมวลชนคนเสื้อแดงที่เป็นพื้นฐานของพรรค แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ “หย่าศึก” ด้วยการ “เยียวยาเป็นเงินแสนเงินล้าน” ให้กับผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต และเพื่อให้มีแรงต่อต้านน้อยที่สุด จึงเป็นการ “เยียวยามวลชนทุกฝ่าย” โดยเชื่อว่า การแจกเงินเยียวยาก็น่าจะทำให้มวลชนเสื้อแดงที่บาดเจ็บล้มตายพอใจและคลายความเคียดแค้นลง

ในส่วนแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ก่ออาชญากรรมทับถมไว้มากมาย รวมทั้งแกนนำรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และนายทหารที่รับคำสั่งให้ฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 พรรคเพื่อไทยก็จะ “หย่าศึก” ด้วยการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้ทั้งหมด โดยมีอานิสงส์เป็นการนิรโทษกรรมมวลชนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขังไปพร้อมกันด้วย

จากทั้งหมดนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยหวังว่า ฝ่ายเผด็จการจะพอใจและยอมให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่บริหารประเทศต่อไป และที่สำคัญคือ จะยอมยกเลิกคดีความทั้งหมดเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะได้กลับสู่ประเทศไทย “อย่างสมเกียรติ” โดยเร็ว ประกอบกับการแก้รัฐธรรมนูญในกรอบฉบับปี 2540 สำเร็จ ก็เท่ากับว่า ได้ทำให้การเมืองไทยหวนกลับไปสู่สภาพการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั่นเอง!

แผนการ “หย่าศึก” ที่ว่านี้ นับเป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่อ่อนหัด เพ้อฝัน และไร้เดียงสาทางการเมืองของแกนนำพรรคเพื่อไทย และในท้ายสุดแล้ว อาจเป็น “การฆ่าตัวตายทางการเมือง” ที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย

ฝ่ายจารีตนิยมไม่มีวันหย่าศึกกับฝ่ายประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยในทุกประเทศทั่วโลกตลอดสองร้อยปีมานี้คือข้อพิสูจน์ ชะตากรรมของคณะราษฎรหลังปี 2490 คืออุทธาหรณ์เตือนใจ ในหลายสิบปีมานี้ เราเคยเห็นพวกเขาประนีประนอม “ยอม” ให้ใครบ้างแม้สักหน? และที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ประสบการณ์ส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองตลอดหกปีมานี้ ทั้งหมดนี้ยังไม่พออีกหรือ?

แต่ “จุดชี้เป็นชี้ตาย” ของพรรคเพื่อไทยคือ การมุ่งออก พรบ.นิรโทษกรรม ล้างความผิดให้กับ “ทุกคนทุกฝ่าย” โดยไม่เลือกหน้า โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ ไม่เอาโทษคนที่สั่งฆ่าประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553

ในชั่วชีวิตของคนไทยปัจจุบันก่อนปี 2552 เราได้เห็นเหตุการณ์ที่อำนาจรัฐใช้กำลังทหารเข่นฆ่าหมู่ประชาชนบนถนนกลางกรุงมาแล้วถึงสามครั้ง แล้วตามมาด้วยการนิรโทษกรรม “ให้กับทุกฝ่าย” แบบเหมาเข่งทุกครั้ง ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนในแต่ละครั้ง ในขณะที่ประชาชนที่ถูกทำร้ายและถูกฆ่านั้นไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วพวกเขาจะเอาการนิรโทษกรรมไปทำไม!

การนิรโทษกรรมสามครั้งในอดีตจึงเป็นตราบาปและความอยุติธรรมที่โจ่งแจ้งที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน

แผนการ “ปรองดอง” ของแกนนำพรรคเพื่อไทยกำลังจะทำให้การเข่นฆ่าประชาชนกลางเมืองเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นฆาตกรรมครั้งที่สี่ที่ฆาตรกรหนีลอยนวลไปได้! นี่จะเป็นความอยุติธรรมอย่างยิ่งต่อประชาชนที่สูญเสียชีวิต บาดเจ็บพิการและติดคุกจากเหตุการณ์นั้น และจะเป็นตัวอย่างให้เกิดครั้งต่อ ๆ ไปอีก

ส่วนข้ออ้างที่ว่า นิรโทษกรรมเป็นการทั่วไปก็เพื่อให้ประชาชนที่มีคดีและติดคุกได้พ้นโทษด้วยนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะประชาชนที่มาชุมนุมในวันนั้นกำลังใช้สิทธิทางการเมืองอันชอบธรรมของพวกเขา เรียกร้องอย่างสันติให้ยุบสภา พวกเขาจึงไม่ได้กระทำผิดใด ๆ แต่พวกเขาต่างหากที่ถูกละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานด้วยประกาศและคำสั่งต่าง ๆ จากกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายภาวะฉุกเฉินในขณะนั้น กระทั่งท้ายสุด ถูกละเมิดสิทธิ์ในชีวิตด้วยการถูกทำร้าย ฆ่า และจับกุมคุมขัง

แนวทางที่ถูกต้องจึงควรเป็นไปตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอในประกาศฉบับที่ 34 คือ ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ให้นิรโทษกรรมโดยทันทีต่อประชาชนที่ละเมิดกฎหมายความมั่นคงและกฎหมายฉุกเฉินทั้งหมด การกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีเพียงลหุโทษ ก็ให้พ้นความผิดโดยสิ้นเชิง และส่วนที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือที่ไม่ใช่ลหุโทษ ก็ให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง” ขึ้นโดยมีอำนาจในการพิจารณาดำเนินการเป็นราย ๆ ไป

แกนนำพรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ก้าวล่วงไปในกับดักนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จะต้องเดินหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับมวลชนของตนไปแสวงหาความยุติธรรมและประชาธิปไตยจนถึงปลายทางที่สุด ความยากลำบากอันตรายและความล่าช้าทั้งปวงเป็นสิ่งที่มวลชนเข้าใจและเห็นใจพรรคเพื่อไทยอยู่เสมอ

ข้อเตือนใจคือ วันใดที่พรรคเพื่อไทยออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง คือวันที่มวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศจะละทิ้งพรรค คือวันที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและผู้นำเข้าถึง “ความเสื่อม” อย่างถึงที่สุด และวันนั้น ขบวนประชาธิปไตยจะไม่มีพรรคเพื่อไทยเป็นเพื่อนร่วมทางอีกต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุณยายคาลิฟอร์เนีย: ถ้ารัฐบาลไม่ผ่อนปรนบรรยากาศแห่งความกลัว ผลอาจเลวร้ายยิ่ง

Posted: 10 May 2012 10:21 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: คุณยายคาลิฟอร์เนีย: ถ้ารัฐบาลไม่พยายามที่จะผ่อนปรนบรรยากาศแห่งความกลัว ผลที่จะตามมาอาจจะเลวร้ายยิ่ง

ที่มา: ไทยอีนิวส์

10 พฤษภาคม 2555
โดยคุณยายเสื้อแดงแห่งคาลิฟอร์เนีย
แปลไทย โดยไทยอีนิวส์
 

"กลับบ้านเราเถอะนะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว" ที่คุณรสมาลินพูดกับศพอากง ทำเอายายน้ำตาไหล  ยายร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดเมื่ออ่านข่าวเกี่ยวกับการตายของเขา ไม่ใช่เพียงเพื่ออากง แต่ร้องไห้ให้กับคนไทยทุกคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เมฆหมอกแห่งความ กลัว  โดยไม่รู้ว่าจะถึงตาตัวเองเมื่อไร การพูดผิดคำเดียว เดินผิดครั้งเดียว อาจจะส่งคุณเข้าคุกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้

" Ar Gong, they let you go, you can come home now", those words from Rosmalin ,Ar Gong's wife, brought tears into my eyes. I cried my heart out when I read about his death,not only for Ar Gong but for all Thai citizen who still live under the cloud of fear,never know when it will be their turn, one wrong word, one wrong move could send you to jail for Lese-majesty.

คุณไว้ใจใครไม่ได้ ไม่ว่าเพื่อน ญาติหรือเพื่อนบ้าน ต่างก็สามารถรายงานคุณให้ตำรวจได้ทุกเวลาที่ต้องการ โดยไม่ต้องมีเหตุผล เพียงเพื่อตำแหน่งและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  มันเศร้าเหลือเกินที่เห็นประเทศที่รักของยายกลายเป็นดินแดนแห่งความกลัวเช่นนี้

 You cannot even trust your friends, relatives or your neighbours who could report you to the authority any time they want for no reasons but for their own gain in their career or position. It is sad to see my beloved country has turned into the land of fear.

เจ้าหน้าที่รัฐดูเหมือนจะไม่เข้าใจเลยว่า คำว่า รักและความเคารพ จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาเองจากใจ ไม่ใช่ด้วยกฎหมายที่หมายข่มและด้วยการจองจำ 

The authority don't seem to understand that .love and respect. have to come freely from the hearts not by harsh laws and imprisonment.

ความตายของอากงได้ปลุกให้คนไทยหลายล้านคนทั่วประเทศได้ตื่นรู้ถึงอำนาจแห่งมนตรา 112 ที่สามารถทำลายชีวิตพวกเขาได้อย่างง่ายดาย 

The death of Ar Gong has raised the awareness of millions of Thais throughout the country of the power of Mattra 112 that could easily ruin their lives.

คุณยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐบาลของเธอควรจะรู้ว่าความรู้สึกของประชาชนที่อยู่บนความไม่ไว้วาง ใจและในความหวาดกลัวสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความขมขื่นและคับแค้น ... ถ้ารัฐบาลไม่พยายามที่จะผ่อนปรนบรรยากาศแห่งความกลัว ผลที่จะตามมาอาจจะเลวร้ายยิ่ง

Kun Yingluck and her government should be aware of the people's feeling of distrust and fear that could turn into bitterness and resentment...if the government  do not try to  calm their fear, the result could be devastated.

ตัวคุณยายเองได้อาศัยอยู่ในประเทศที่เสรีภาพและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ ปลอดภัย  ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ยายก็มีอิสระที่จะเลือกว่าจะลงคะแนนให้ใครระหว่างโอบามา กับ มิทท์ รอมเนย์ ลูกชายของยายก็สามารถจะเลือกใครได้ได้ที่เขาอยากจะเลือก  ยายหวังว่าในเวลาในไม่ช้านาน คนไทยจะมีเสรีภาพเช่นเดียวกันนี้ และมีสิทธิพิเศษต่างๆ เช่นที่ยายมีในสหรัฐอเมริกา

I myself live in a free country and in secured environments. In the coming election, I am free to vote for Obama or Mitt Romney, my sons can vote  for  anybody they want . I hope that one of these days Thai people will have the same freedom and privilege as I have in USA.

ขอให้ทุกคนโชคดี

คุณยาย

Goodluck to you all,
Kun Yai ka.

 

  

คุณยายศรีลัดดา ขณะนี้อายุ 89 ปี อยู่อาศัยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

สมัยยังสาวๆเคยทำงานด้านการบินที่กรุงเทพฯเป็นเวลา 21 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ในสหรัฐฯในปีพ.ศ.2515 จนปัจจุบันร่วมๆ 39 ปีแล้ว

สมัย อยู่เมืองไทยครอบครัวของคุณยายศรีลัดดาเป็นชาวพรรคประชาธิปัตย์ ถึงขนาดสมาชิกในครอบครัวเคยลงสมัครส.ส.ของพรรคเก่าแก่นี้ ในช่วงที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเป็นผู้นำพรรคอยู่ แต่เวลานี้คุณยายบอกว่าน่าเศร้าใจและผิดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ ช่างน่าละอายใจกับพรรคที่เคยมีเกียรติคุณชื่อเสียงกลับมามีพฤติกรรมฉ้อฉลใน ตอนนี้

ปัจจุบันนี้คุณยายอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมกับแมวตัวหนึ่งชื่อ จัสมิน(ชื่อ ไทยๆว่า"ดอกมะลิ") และไม่รู้สึกเหงาเลย เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนได้หัดใช้อินเตอร์เน็ต แล้วก็ใช้อินเตอร์เน็ตติดตามข้อมูลข่าวสารทางเมืองไทยได้คล่อง ตอนนี้คุณยายดีใจมากเลยที่ได้ใช้อินเตอร์เน็ตท่องโลก

ตอนนี้ อินเตอร์เน็ตก็ทำให้คุณยายสามารถคุยกับลูกสาวและลูกเขยที่พำนักอาศัย อยู่ในฝรั่งเศส รวมทั้งหลานๆในเยอรมนี และเพื่อนๆในอเมริกาได้อย่างสบาย

แน่นอนว่ารวมถึงข้อมูลข่าวสารทางเมืองไทยด้วย 

 

ทักทายคุณยายได้ที่เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/profile.php?id=100003144528684

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์แสงสำนึก 'เมื่อชายคนหนึ่งต้องตายในคุก'

Posted: 10 May 2012 10:16 AM PDT

 

แถลงการณ์แสงสำนึก 
ฉบับที่ ๑

วันที่  ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 

สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดของมนุษย์คือการเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นการกระทำชั่วเป็นการผดุงความยุติธรรม เพราะหลงคิดว่าตนดีงามกว่าผู้อื่น

ชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท โดยไม่ต้องมีหลักฐานพยานชี้ชัด เขาถูกตัดสินด้วยการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำผิด เขาถูกลงโทษด้วยบัญญัติที่ตราขึ้นโดยคณะรัฐประหารปี ๒๕๑๙  จำคุกสามถึงสิบห้าปีกับการกระทำผิดโดยวาจา มากกว่าการพยามฆ่าหรืออนาจารเด็ก

แปดครั้งที่ศาลปฏิเสธคำขอประกันตัว ทั้งอุทธรณ์และฎีกา ทั้งที่เขากำลังป่วย อ้างว่าโทษร้ายแรง ทั้งที่เป็นคดีหมิ่นประมาท ราวกับการให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ประเทศไทยต้องแตกสลายลงในพลันที่ชายคนนี้ถูกปล่อย

นี่คือดุลยพินิจของกระบวนการยุติธรรมที่แอบอิงอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

ครั้งแล้วครั้งเล่ากับความไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีจากกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒  อย่าว่าแต่ความยุติธรรม ความเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม ความเคารพในสิทธิ เสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตย...

แม้แต่ความเมตตาของระบอบที่ป่าเถื่อนก็ยังไม่มี

รัฐธรรมนูญมาตรา ๔ บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๓๐ วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

และวรรคสามบัญญัติว่า ก่อนจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

มาตรา ๔๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง

และวรรค ๗ บัญญัติว่า  ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

หรือบทบัญญัติเหล่านี้มีไว้ลวงหลอกผู้คนว่าประเทศนี้มีความเจริญ?

ทำไมศาลไทยจึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้พิพากษาเหล่านี้สมควรเป็นผู้พิพากษาในประเทศนี้ต่อไปไหม?

บัดนี้ ผู้ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต่างรู้สึกละอายใจในฐานะสมาชิกของประเทศที่ปล่อยให้ความอยุติธรรมล่อนจ้อนอุดจาดอยู่ต่อหน้า

เมื่อชายคนหนึ่งต้องตายในคุกโดยไม่ได้รับสิทธิที่เขาควรจะได้รับ ไม่ใช่แม้สิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่สิทธิที่จะถูกนับว่าเป็น “คน” ก็ยังมีไม่พอ

แม้ว่าการตายของเขาจะไม่สามารถปลุกความเป็นคนให้เพื่อร่วมชาติสัตว์ร่วมแผ่นดินจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงหลับหูหลับตา แต่คณะนักเขียนแสงสำนึกจะมุ่งมั่นผลักดันการแก้ไขกฎหมายนี้และสิ่งที่เกี่ยวข้อง ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

หากแม้นว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่รับพิจารณาด้วยเหตุใดก็ดี เราจะหาหนทางเพื่อรณรงค์เรื่องนี้เป็นการถาวรต่อไป

จนกว่าวันหนึ่ง เมื่อประเทศมีสภาผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง ความกล้าหาญของผู้แทนปวงชนจะตื่นจากความตาย 

คณะนักเขียนแสงสำนึก
ประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาต 2 โรงงานมาบตาพุด

Posted: 10 May 2012 10:08 AM PDT

วันนี้ เวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน จ.ระยอง 43 ราย ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาเพื่อคำสั่งชี้ขาดใหม่เกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในคดีที่ สมาคม และชาวบ้านมาบตาพุดรวม 43 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, รมว.กระทรวงพลังงาน, รมว.กระทรวงคมนาคม, รมว.กระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1-8 เรื่อง เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จากการที่ร่วมกันเห็นชอบหรืออนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไปดำเนินการก่อสร้างหรือขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียง ซึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่าง ๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง

โดยคำร้องดังกล่าว ระบุว่า คดีนี้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาวันที่ 2 ก.ย.53 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะที่ระหว่างนั้นได้มีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในชั้นพิจารณาของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งวันที่ 2 ธ.ค.52 ยืนตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง แต่ให้มีการยกเว้นใน 11 ประเภทโครงการจาก 76 โครงการ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่น่าจะเข้าข่ายโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง แต่เมื่อขณะนี้ปรากฏตามข่าวสื่อมวลชนเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้สารทูโลอีน ของโรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัทซินธิติกส์ จำกัด ที่เป็นประเภทอุตสาหกรรมที่ 39 ใน 76 โครงการที่มีการฟ้องคดี ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.55 ทำให้มีการรั่วไหลของสารพิษและควันดำสู่บรรยากาศแพร่กระจายจนมีคนงานเสียชีวิตกว่า 11 ราย และบาดเจ็บกว่า 142 ราย ซึ่งเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการที่มีการจ้างเหมาบริษัทรับจ้างซ่อมบำรุงจากภายนอกที่ขาดมาตรฐานความปลอดภัยมาปฏิบัติงาน ซึ่งเหตุที่เกิดก็ไม่ใช่ครั้งแรกของบริษัท เพราะเมื่อวันที่ 5-6 มี.ค.52 โรงงานดังกล่าวเคยมีสารเคมีรั่วไหลขณะขนถ่ายสารเคมีขึ้นจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

โดยขณะนี้บริษัทดังกล่าวได้จัดทำโครงการขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเพื่อการผลิตเพิ่ม และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA และ กนอ.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. ท้วงติงความไม่สมบูรณ์หลายประการ และอีกกรณีที่โรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์(ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตะวันออก (มาบตาพุด) จ.ระยอง เกิดมีก๊าซคลอรีนรั่วไหล จากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการในการเปิดวาล์วสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารฟอกขาวส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใต้ลมในแคมป์คนงานและชุมชนบริเวณใกล้เคียงกว่า 140 รายที่สูดดม ซึ่งมีกว่า 12 รายที่แพทย์สั่งให้นอนสังเกตอาการผิดปกติในโรงพยาบาล โดยโรงงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุทำนองนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.53 เกิดเหตุถังบรรจุสารเคมีล้มและระเบิดจนมีคนงานและชาวบ้านถูกส่งเข้าโรงพยาบาลกว่า 200 ราย

แต่เนื่องจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.52 อนุญาตให้โครงการของบริษัท อดิตยา ฯ ผู้ก่อเหตุการณนี้ สามารถประกอบกิจการได้ ดังนั้นผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใหม่ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 66 โดยให้ศาลสั่งทั้ง 2 บริษัทหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว หรือถาวรต่อไป และให้เพิกถอนใบอนุญาตและรายงาน EHIA ของโครงการบริษัททั้งสอง รวมทั้งให้ศาลรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และ กนอ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3- 8 ร่วมกันจัดทำ ปรับปรุงแผนสื่อสารความเสี่ยงภัย แผนรายงานฉุกเฉิน แผนอพยพหนีภัย แผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

โดยให้ทุกแผนต้องเชื่อมโยงกับทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ที่มี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมดหมราชตะวันออก ( ระยอง) นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ พร้อมจัดตั้งศูนย์อพยพถาวรขึ้นภายใน 30 วันนับแต่ที่ศาลมีคำสั่ง และให้มีการซักซ้อมแผนร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางทุก 3 เดือนที่ให้ผู้ฟ้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนทุกครั้ง และให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องทั้งแปด ยุติการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ สำหรับโครงการหรือกิจกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ทั้งหมดนับแต่ศาลมีคำสั่ง นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัครพงษ์ ค่ำคูณ: ปรีดี พนมยงค์ ตายไปแล้ว

Posted: 10 May 2012 10:05 AM PDT

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อ 11 พฤษภาคม 2443 และตายไปเมื่อ 2 พฤษภาคม 2526 ปัจจุบันชื่อเสียงของท่านเป็นที่รับรู้ในการเมืองและสังคมไทยหลากหลายมิติ แน่นอนว่า ท่านกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยยูเนสโก บางคนรู้จักในฐานะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นสมาชิกคณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นเลขาธิการรัฐสภาคนแรก เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศนี้จึงไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และเป็นผู้พยายามก่อรัฐประหารไปสู่ประชาธิปไตยแต่ล้มเหลว และท้ายที่สุดได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสของประเทศนี้

ผมจึงตั้งคำถามเพื่อนำเสนอประเด็นต่อไปนี้ ให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณา ในโอกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดปีที่ 112 ของ ปรีดี พนมยงค์ วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2555

ประเด็นแรก โดยทั่วไป เมื่อมีการกล่าวยกย่องบุคคล ในสังคมไทยมักอ้างถึงบรรดาตำแหน่งหน้าที่การงานในระบบราชการ ซึ่งมีลำดับชั้นความสำเร็จขึ้นอยู่กับอำนาจ วาสนา และบารมี ดังนั้น ข้าพเจ้าขอยกย่อง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนักปรัชญาทางการเมืองที่เสนอแนวคิดเรื่อง สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะไม่ว่าแนวความคิดนี้จะมีสถานะเช่นไรในปัจจุบัน มันก็ไม่ได้ถูกนำมาขยายผลมากไปกว่าหน้ากระดาษหนังสือในห้องสมุด

บางตอนจากคำสัมภาษณ์ที่ ปรีดี พนมยงค์ ตอบนายแอนโทนี่ พอล ผู้สื่อข่าวเอเชียวีค ประจำกรุงปารีส เกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองของท่านว่า “ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติ ตามหลักห้าประการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ, เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน” (จาก “Pridi Through a looking glass” ใน Asiaweek. 28 Dec.1979 – 4 Jan. 1980, อ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.pridi-phoonsuk.org/wp-content/uploads/2010/01/111.pdf)

ประเด็นที่สอง จากประสบการณ์ของผมที่ทั้งศึกษาและทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอาเข้าจริงความเป็น “ปรีดี พนมยงค์” ดูเหมือนจะได้รับการกล่าวถึงมากมายมหาศาล ปรากฏอยู่ตามบรรดาอาคารสถานที่ และส่วนจัดแสดงนิทรรศการเพื่ออวดอ้างเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยที่เขาเป็นผู้ให้กำเนิด ด้วยความสัตย์จริงแล้ว ผมรู้จัก ปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งแรกในฐานะชื่อของ “ลานคอนกรีตหน้าตึกโดมริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบระหว่างรุ่นพี่กับเพื่อนใหม่ และหลังจากนั้นชื่อของ  ปรีดี พนมยงค์ ในความรับรู้ของผมจึงค่อยๆ เข้าสู่ความคุ้นชินในฐานะอะไรต่อมิอะไรมากมายมหาศาลภายในกรอบรั้วธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้มีการจัดงานวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจะเป็นวาระที่บรรดาผู้คนในสังคมที่ยังนับถือและระลึกถึงท่าน มีโอกาสมาวางพานพุ่มเพื่อสักการะอนุสาวรีย์ของท่านที่ “ลานคอนกรีตหน้าตึกโดมริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ผมเองมาร่วมงานนี้ทุกปี ตั้งแต่เดินทางจากบ้านนอกเข้ามาชุบตัวในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2544

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดในปีนี้ คือ บทบาทของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ที่ต้องคอยยกย่อง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การ เห็นได้จากครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งถึงกับกล่าวในที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยว่า “งานปรีดีนี้ถือเป็นงานรูทีน (Routine) ช่วยกันทำๆ ไปก็แล้วกัน”

ประเด็นสุดท้าย ผมขอบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทางประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า เมื่อผมติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ในประเทศนี้ (เมษายน พ.ศ.2555) เพื่อขอเชิญตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิด วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ในฐานะที่เป็นสถาบันไม่กี่แห่งในประเทศนี้ที่มีชื่อของปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ นอกจากสถาบันและมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แล้ว

คำรับปากของผู้ใหญ่ที่ผมติดต่อไปนั้น ให้ความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรี ทราบเรื่องและรับปากแล้ว ทำให้ผู้ประสานงานการจัดงานในพิธีดังกล่าวต้องปะทะกับต้นสังกัดและผู้บริหารบางคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเชิญนายกรัฐมนตรีท่านนี้มาเป็นประธาน และเกิดคำถามประเภทว่า “ทำไมเชิญแค่ระดับนายกรัฐมนตรี ในเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ เคยเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ...”

ผมฟังแล้วก็อึ้งไปเลย ตกลงประเทศนี้มีการปกครองระบอบอะไรกันหรือ ในเมื่อสิ่งที่ ปรีดี พนมยงค์ กล่าวเสมอว่า ระบอบการปกครองที่ท่านหมายถึงคือ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันท่อนท้ายไม่ได้มีความหมายอีกต่อไป ในเมื่อตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ปรีดี พนมยงค์ เคยเป็นนั้น ถูกผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษาเข้าใจว่า “เล็กกว่า” ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ท้ายที่สุด ก่อนวันงาน 1 วัน ก็มีคำตอบจากหน้าห้องนายกรัฐมนตรีว่า “นายกรัฐมนตรีจะไม่มาร่วมงาน เพราะติดภารกิจอื่น” ส่วนตัวผมเองก็ไม่ประหลาดใจ เพราะมีใครหลายท่านทำนายไว้แล้วว่า “ในบรรยากาศของความปรองดองเช่นนี้ การมาร่วมงานพิธีเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีกับตัวนายกรัฐมนตรี” 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวถึงตัวบุคคล แต่กรณีนี้ทำให้ผมเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ปรีดี พนมยงค์ ตายไปแล้วอย่างสมบูรณ์จากการเมืองและสังคมไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เร่งสร้างโมเดิร์นเอสเอ็มอีเพิ่มทางรอด ประชานิยม “ค่าจ้าง”

Posted: 10 May 2012 09:56 AM PDT

ดร.สมชัย จิตสุชน  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเดินหน้านโยบายประชานิยมค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 15,000บาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งมีผลปรับไปแล้วบางส่วน ถือเป็นนโยบายที่เป็นยาแรงปรับโฉมโครงสร้างค่าจ้างของประเทศ  ช็อกนายจ้างภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวขนานใหญ่ และรู้ว่าจะเกิดผลกระทบวงกว้างไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ แต่นโยบายนี้ก็สามารถทำให้ออกมาดีได้  ซึ่งขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาผลกระทบดังกล่าว

ชัดเจนว่านโยบายนี้เป็นนโยบายประชานิยมที่มาจากการหาเสียงของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ที่แข่งขันกัน  พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ มีความต่างกันคือ พรรคเพื่อไทยเสนอปรับ 300 บาทเท่ากันทันทีทั่วประเทศ  พรรคประชาธิปัตย์เสนอปรับ 25% ใน 2 ปี โดยทั้งสองแนวทางนี้ปรับขึ้นเหมือนกันแต่ผลกระทบต่างกันเนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีเวลาในการปรับตัวไม่เท่ากัน ผลกระทบที่สำคัญคือผลต่อโครงสร้างค่าจ้าง การปรับตัวภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพ              

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น  เชื่อว่าการปรับค่าจ้าง 300 บาทในรอบแรกเฉพาะ 7 จังหวัดนี้จะไม่มีผลกระทบมากนักในเรื่องการตกงานหรือ GDP ลดลงอย่างที่หลายคนกลัว  เพราะเป็นการปรับขึ้นในจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานสูง และสถานประกอบการส่วนใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายหรือจ่ายเกินกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่อาจมีผลระยะสั้นต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะเมื่อมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นก็ย่อมจับจ่ายมากขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้นเป็นการช่วยให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ตรงกับที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้  สิ่งที่รัฐบาลพูดนั้นจึงฟังได้  อย่างไรก็ตามการปรับรอบหลังคือ มกราคม 2556 น่าจะเกิดผลกระทบทางลบมากกว่ารอบแรกโดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีในพื้นที่ห่างไกล ที่ปรับตัวไม่ได้ และแบกรับต้นทุนประกอบการรวมถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ เพราะหลายพื้นที่ไม่มีศักยภาพการลงทุนและมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมต่ำกว่า 300 บาทมาก การปรับอย่างแรงจึงอาจมีผลต่อความอยู่รอดของกิจการ หรืออาจต้องย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่น โดยอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิต(เชื่อว่าบางส่วนย้ายไปแล้ว) เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอปลายน้ำ ซึ่งมีการใช้แรงงานจำนวนมาก โดยอาจย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่ค่าแรงยังถูกกว่าเช่น กัมพูชา พม่า โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายแรงงานต่างด้าวและความเข้มงวดในการบังคับใช้ด้วยว่าเป็นอย่างไร

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นนั้นต้องระมัดระวัง เพราะโดยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคก็มีแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่แล้ว  การเพิ่มค่าแรงจึงไปเพิ่มเชื้อไฟ โดยคาดว่าในช่วงปลายปีถึงต้นปีที่ผ่านมาราคาอาหารในไทยเพิ่มสูงเร็วกว่าในตลาดโลกนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากเรื่องน้ำท่วม แต่คิดว่าเกิดจากการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) จากนโยบายค่าแรงด้วย  การบริหารจัดการของรัฐบาลในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นหากไม่ต้องการให้ เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นระลอก ๆ ตามการประกาศขึ้นค่าแรงอีก 1-2 ครั้งจนเกินกว่าจะควบคุมได้

ดร.สมชัย กล่าวว่า สำหรับผลระยะยาวนั้น นโยบายนี้สามารถทำให้ออกมาดีได้เหมือนกัน  เพราะเป็นการบีบให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว (ฉับพลัน)  ไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น บริหารจัดการดีขึ้น และอาจทำให้ไทยหลุดพ้นจากวังวนการใช้แรงงานราคาถูกไปได้ ดังนั้นในระหว่างนี้ รัฐบาลควรจะส่งเสริมการปรับตัวให้ถูกทิศทาง เร่งสร้างโมเดิร์นเอสเอ็มอี ที่สามารถปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้มาปรับปรุงกิจการและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เมื่อถึงวันที่ค่าแรง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ  เอสเอ็มอีเหล่านี้ก็จะสามารถจ่ายได้ไม่เป็นปัญหา  ส่งผลให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู  มีระดับการพัฒนาจะสูงขึ้น   เพียงแต่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องทำให้แน่ใจว่าเอสเอ็มอีบริหารจัดการได้ดีและอยู่รอดได้  และต้องเร่งทำเพื่อให้ทันการเพิ่มค่าแรงในต้นปีหน้าได้

ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อรัฐบาลผลักดันนโยบายนี้ออกมาใช้แล้ว ก็ควรมีการตั้งหน่วยติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และควรมีการสรุปผลเป็นระยะ ๆ เช่นหลังจากนโยบายนี้ใช้ไปแล้ว 3-4 เดือน และแจ้งผลให้สาธารณชนรับทราบผลการประเมินร่วมกัน โดยอาจทำแบบสำรวจผลกระทบของการขึ้นค่าจ้าง และมาตรการปรับตัวของธุรกิจเล็ก-กลาง-ใหญ่  และแนวทางปรับปรุงแก้ไข  ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลได้มอบหมายหรือมีหน่วยงานใดดำเนินการ

และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ายังมีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างแต่รับผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบไม่ได้เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น แต่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเงินเฟ้อ ของแพง ค่าครองชีพสูง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มากกว่าลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปดูแล และยังไม่เห็นว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรรองรับคนกลุ่มนี้เลย เป็นเรื่องน่าห่วงมากเพราะแรงงานกลุ่มนี้มักเป็นแรงงานปลายแถวที่ยากจนและด้อยโอกาส อีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือแรงงานจบใหม่ที่จะหางานทำได้ยากขึ้น เพราะนายจ้างคงชะลอการจ้างแรงงานใหม่ไปก่อน.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุเกิดที่ภาคใต้–วันร้อนคืนร้ายของคนอยู่กับป่าบนเทือกเขาบรรทัด

Posted: 10 May 2012 09:48 AM PDT

“ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ปรารภว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องที่ทำกินของชาวบ้าน แต่กรณีโฉนดชุมชนมีการดำเนินการผิดพลาด โดยพบว่ามีการนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยน เอาไปทำโครงการขนาดใหญ่ พบมากแถบจังหวัดภาคใต้ที่มีการเอาไปทำสวนยาง”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในตอนเที่ยงค่อนบ่ายของวันที่ 20 มีนาคม 2555 ที่อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

ทั้งนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ย้ำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการที่ดินเชิงระบบ ให้ไปดูรายละเอียดโฉนดชุดชนว่า มีการนำไปใช้อย่างถูกต้อง หรือเล่นแร่แปรธาตุกันอย่างไร หากพบว่ามีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ จะต้องรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบ

ก่อนหน้านั้น พาดหัวข่าว “กรมอุทยานฯ เตรียมฟันสวนยางภาคใต้หลายแสนไร่” แผ่หราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2555 มีใจความสำคัญว่า นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ผู้บริหารและหน่วยงานภาคสนาม เช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่า หน่วยงานโครงการในพระราชดำริ หน่วยจัดการต้นน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรไปจนถึงจังหวัดสงขลาให้เร่งสำรวจพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า แต่ละพื้นที่มีการบุกรุกเพื่อปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันพื้นที่ละเท่าไหร่ โดยให้เร่งสำรวจจัดทำพิกัดแผนที่รายงานไปที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งมาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ และพันธุ์พืชโดยด่วน

“กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเร่งจับกุมผู้ที่บุกรุกป่าอนุรักษ์ในภาคใต้ เพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในลักษณะเดียวกับการจับกุมผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี  โดยจะระดมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศเข้าไปดำเนินการ โดยไม่ปล่อยให้เจ้าที่ในพื้นที่โดดเดี่ยว”

นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของนายนายดำรงค์ พิเดช ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว นับเป็นปฐมบทของการเตรียมการปราบปรามพวกรุกป่าในภาคใต้

แล้วเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ก็เริ่มดำเนินการตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

วันที่ 25 มีนาคม 2555 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดได้จับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 2 ราย ขณะนำหมากแห้งออกไปขาย โดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจหนองเอื้อง อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน

วันรุ่งขึ้น มีบันทึกข้อความของสำนักอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เลขที่ ทส 0910503/5211 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2555 ลงนามโดยนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งถึงรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1–16 ผู้อำนวยการกองทุกกอง ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการ หรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วม

“กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอส่งสำเนาคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 562/2555 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2555 เรื่องให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการติดตามและเร่งรัดการสำรวจ จัดตั้ง ขยายเขต หรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การบังคับใช้กฏหมายในอุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ และติดตามโครงการหรือแผนงานเพื่อพัฒนาการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างมีส่วนร่วมมาเพื่อทราบ และให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1–16 แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และให้ความร่วมมือตามสมควร สำหรับสำนักอุทยานแห่งชาติให้แจ้งผู้มีรายชื่อในคำสั่งทราบและปฏิบัติต่อไป” บันทึกข้อความดังกล่าว ระบุ

หลังจากนั้นเพียง 5 วัน ประมาณบ่ายสองโมงครึ่งของวันที่ 30 มีนาคม 2555 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า พร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย ได้เข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราของชาวบ้านทับเขือ–ปลักหมู รอยต่อระหว่างตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง กับตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

พื้นที่ที่ถูกทำลายทั้งหมด 15 ไร่ อยู่ในเขตเสนอขอโฉนดชุมชนจำนวน 8 ไร่ เป็นสวนยางพาราอายุ 3 ปีและปลูกไม้ผลผสมผสานของนายณรงค์ รอดรักษ์ 3.2 ไร่ สวนยางพาราอายุ 3 ปี ปลูกไม้ผลผสมผสานของนายเรวัตร รักษ์ทองจันทร์ประมาณ 3.8 ไร่ และสวนยางอายุ 2 ปี ของนางอารี ชุ่มเชื้อ ประมาณ 1 ไร่

ต่อมา เวลา 09.30 น. วันที่ 6 เมษายน 2555 นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า นำกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ตำรวจตระเวนชายแดนประมาณ 35 นาย พร้อมอาวุธปืน และเลื่อยยนต์ 2 เครื่อง เข้ารื้อถอนสะพานเข้าหมู่บ้านหาดสูง รอยต่อระหว่างตำบลเขาปูน อำเภอห้วยยอด กับตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 2 สะพาน ขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 13 เมตร

ในการรื้อถอนสะพาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ได้นำนายเจิม เส้งเอียด หรือ “ไข่หมูก” อดีตจอมโจรชื่อดังภาคใต้ ร่วมคณะไปด้วย

นางอำนวย สังข์แก้ว ชาวบ้านบ้านหาดสูง ได้นำหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ในพื้นที่ที่กำลังดำเนินการขอโฉนดชุมชน มาแสดงกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า

พร้อมกับก้มกราบเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า และ “จอมโจรไข่หมูก” นายเจิม เส้งเอียด อ้อนวอนไม่ให้ทำลายสะพาน

ทว่า ไร้ผล สะพานทั้ง 2 แห่ง ถูกทำลายย่อยยับ

สำหรับหนังสือที่นางอำนวยนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า เป็นหนังสือจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร 0118/1699 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2555 เรื่องขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ถึงนายวิลาส สังข์ช่วย ประธานกรรมการชุมชนบ้านหาดสูง ลงนามโดยนายจำรัส ศักดิ์จิรพาพงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ระบุถึงกรณีชุมชนบ้านหาดสูงยื่นคำขอดำเนินงานโฉนดชุมชนและขอให้ชะลอการทำลายหรือรื้อถอนสะพานข้ามคลอง และพืชผลอาสินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานโฉนดชุมชน ได้ตรวจสอบคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอในเบื้องต้นแล้ว เห็นสมควรขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ตามประกาศคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.เอกสารหลักฐานการเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ใช้บังคับ

2.เอกสารแผนที่ที่มีขอบเขตชัดเจน โดยแสดงค่าพิกัดระวางแผนที่ด้วย

3.แนวทางการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.เอกสารรับรองคุณสมบัติของคณะกรรมการชุมชน พร้อมให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมดังกล่าว ให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 10 เมษายน 2555

“ส่วนกรณีขอให้ชะลอการทำลาย หรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่–เขาย่า อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ และตามนัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ต่อไปแล้ว” หนังสือดังกล่าว ระบุ

แล้วนายดำรงค์ พิเดช ก็ออกมาให้ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2555 ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในภาคใต้สำรวจว่า พื้นที่ใดมีการบุกรุกป่าเข้าไปปลูกปาล์มและทำสวนยางพาราบ้าง โดยให้ทำพิกัดพื้นที่อย่างละเอียด รวมทั้งพิสูจน์สิทธิกรณีพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 ด้วย

ก่อนหน้านี้ นายดำรงค์ พิเดช บอกว่าเคยเดินทางไปพบกับชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อทำสวนยางและยื่นข้อเสนอ 3 ข้อคือ 1.อุทยานจะขอรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แล้วให้ออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไป 2.ให้ทำสวนยางต่อไปจนกระทั่งสวนยางหมดอายุแล้วให้ออกจากพื้นที่ และ 3.อุทยานจะหาพื้นที่อื่นที่สามารถปลูกยางได้เหมือนกันให้ และให้ออกจากพื้นที่ไป

“ปรากฏว่าไม่มีใครยอมรับข้อเสนอแม้แต่รายเดียว ผมจึงให้เจ้าหน้าที่เร่งพิสูจน์สิทธิทำกินว่า แต่ละรายมีใครอยู่ในพื้นที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี มิถุนายน 2541 ส่วนนี้ให้ทำกินต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่เข้าข่ายต้องออกจากพื้นที่ทันที ทางอุทยานแห่งชาติ จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด” เป็นคำขาดจากปากของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

วันที่ 16 เมษายน 2555 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้จับกุมชาวบ้านบ้านตระ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ที่เข้าไปหาหน่อไม้ เห็ดแครง และหอยในลำห้วยอีกครั้ง แต่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองเอื้อง ยังคงไม่รับแจ้งความเช่นเดิม

นายดำรงค์ พิเดช ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2555 ว่า หากพื้นที่ไหนตรวจสอบพิกัดและพิสูจน์สิทธิเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการบุกรุกอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะทยอยจับพร้อมกับผลักดันให้ออกนอกพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูเป็นป่าอนุรักษ์เหมือนเดิม เช่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง เจ้าหน้าที่จับไปแล้วประมาณ 200 ราย พื้นที่รวม 4,000 ไร่ เพราะพบว่าเป็นการรุกป่าใหม่ทั้งสิ้น แล้วมาอ้างว่าเป็นโฉนดชุมชน ซึ่งตามกฎหมายแล้วโฉนดชุมชนจะเกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนพื้นที่ที่มีเอกสารการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ยังอนุญาตให้ทำกินต่อไปได้

“ส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จับไปแล้ว 200 ราย พื้นที่รวม 4,000 ไร่ ผมทำหนังสือของบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อเป็นเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ ที่ลงไปปฏิบัติงานยึดพื้นที่สวนยางรุกป่าอนุรักษ์กลับคืนใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และจังหวัดพัทลุง โดยระดมเจ้าหน้าที่จากภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 2,000 นายเข้าไปร่วมปฏิบัติการ ที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะมีการบุกรุกในวงกว้างและหลายพื้นที่ ถ้ามีกำลังเจ้าหน้าที่น้อยจะถูกชาวบ้านปิดล้อมด้วยจำนวนคนที่มากกว่า ทำให้ทำงานได้ยาก พื้นที่ที่เป็นปัญหามากที่สุดยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้คือ จังหวัดชุมพรก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่เคยถูกชาวบ้านปิดล้อมมาแล้ว จากการยุยงของกลุ่มผู้มีอิทธิพล” นายดำรงค์ พิเดช กล่าว

นอกจากจังหวัดชุมพรแล้ว นายดำรงค์ พิเดช ยังบอกอีกว่า บริเวณเทือกเขาบรรทัดมีปัญหาลักษณะนี้บ่อย กินบริเวณไปทั่ว เนื่องจากชุมชนในเขตป่าเติบโตมากขึ้น จากเดิมมี 40–50 ครอบครัว แต่ตอนนี้ขยายเป็น 1,000 ครอบครัว ไม่เพียงแต่เทือกเขาบรรทัดที่มีปัญหา พื้นที่สวนยางในภาคใต้หลายที่ก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ปัญหารุกป่ามีตั้งแต่ต้องการที่ดินอยู่อาศัยบ้าง นำไปทำประโยชน์อื่นๆ บ้าง พอเจ้าหน้าที่เข้าไปจับ ก็หาตัวเจ้าของที่ดินไม่ได้ไม่มีใครยอมรับ

ส่วนจะให้ทางจังหวัดดำเนินการก็ค่อนข้างติดปัญหา เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้ายุ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แม้จะมีอำนาจตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ก็พบปัญหาจับมาแล้ว ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นเจ้าของที่ดินและผลอาสินในเขตป่าอนุรักษ์ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่ยอมออกจากพื้นที่ด้วย

“ที่ผมกังวลและไม่เห็นด้วยมาตลอดคือ เรื่องป่าชุมชนที่จะให้ชาวบ้านดูแลป่า ผมว่าไม่ถูกต้อง ป่ากับคนต้องแยกจากกัน ไม่เช่นนั้นสัตว์ป่าก็อยู่ยาก เราต้องยอมรับความจริงว่า พื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ขยายเติบโตเรื่อยๆ ตรงนี้ควบคุมยาก ขณะเดียวกันการจับกลุ่มผู้บุกรุกป่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหาอย่างที่ทราบ จับกุมใครไม่ได้เพราะไม่มีใครยอมรับ แต่พอจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น กรณีวาตภัย หรืออื่นๆ กลับออกมารับความช่วยเหลือ แบบนี้ถ้าผมพบผมจับกุมทันที ที่ผ่านมาเราพบประมาณ 100 ราย" นายดำรงค์ พิเดช กล่าว

ล่าสุดเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล  หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด นำกำลัง 50 นาย ปิดทางเข้าหมู่บ้านท่าเขา ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และรื้อถอนสะพานทางเข้าหมู่บ้าน และเตรียมจะรื้อถอนขนำ 2 หลัง 1 ใน 2 หลังเป็นทับของซาไก

นี่คือ ความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่เว้นกระทั่งชาวซาไก ที่อาศัยและทำกินอยู่ในป่าภาคใต้มาเนิ่นนาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ความคิด' ของดารา กับ พระ ต่อ 'ชะตากรรมอากง'

Posted: 10 May 2012 09:32 AM PDT

ปรากฏการณ์ “ตำนานแห่งชะตากรรมอากง” นักโทษคดี 112 ที่เจ็บป่วยจน “ตายในคุก” เนื่องจากถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี โดยไม่ให้ประกันตัวทั้งที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และทนายขอยื่นประกันตัวถึง 8 ครั้ง

 
เมื่อดูปฏิกิริยาที่สะท้อนต่อ “ชะตากรรม” ดังกล่าว ถ้าเป็นปฏิกิริยาที่ออกมาจากชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ทราบเรื่องราวของ “อากง” พอสมควร เราย่อมเห็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมชาติง่ายๆ คือพวกเขาต่างแสดงความเศร้าโศก หดหู่ บางคนถึงกับ “ปล่อยโฮ” ออกมา ร้องไห้ครั้งแล้วครั้งเล่ากับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่เรารู้สึกได้อย่างชัดแจ้งว่า เขาไม่ได้รับ “ความยุติธรรม”
 
แต่เราคาดเดาไม่ออกเลยว่า บรรดา “คนในเครือข่ายอำมาตย์” เขา “รู้สึก” กันอย่างไร เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรู้ได้ ทว่ามีความรู้สึกของ “ดารา” บางคน และ “พระ” บางรูปที่แสดงออกมา จนกลายเป็น “วิวาทะ” ในโลกของเฟซบุ๊ก (จริงๆ ผมตระหนักดีว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่เหลื่อมซ้อนระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ และผมก็เคารพในความเป็นส่วนตัว แต่ผมเห็นว่าข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่เกี่ยวกับ “ประเด็นสาธารณะ” ซึ่งสำคัญมาก) ที่ผมคิดว่ามี “ประเด็น” ที่อยากนำเสนอให้ช่วยกันคิดต่อ
 
ปฏิกิริยาของ “ดารา” ตั๊ก บงกช คงมาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และมีการแชร์ต่อๆ จนกลายเป็น “วิวาทะร้อน” ในโลก fb ขณะนี้ เธอโพสต์ข้อความ (ซึ่งผมขอจัดเรียงใหม่แต่คงเนื้อหา คำพิมพ์ถูก-ผิดทางภาษาไว้เหมือนเดิม) ว่า
 
เวรกรรมอากง แต่อากงไม่อยู่ก็ดีนะคะ แผ่นดินจะได้ดีขึ้น จริงๆ แผ่นดินก็ดีอยู่แล้ว จะได้ดียิ่งขึ้นเน้อออ ถึงฉันจะเปิดนม เปิดอะไร หรือมีชื่อเสียงไม่ดี หรืออะไรก็ตามที่คุณสันหามาด่า แต่ฉันก็ไม่โง่ แล้วทำไมคุณกล้าสู้เพื่ออากง แล้วเมื่อไรคุณจะตายคะ จะได้ไปช่วยอากงในนรก เพราะอากงคุณตกนรกแน่ จากกรรมที่หมิ่นพ่อของฉัน คุณรักอากง ฉันก็รักครอบครัวพ่อของฉัน ทำไมเหรอ
 
ผมมีข้อสังเกตว่า ในสังคมเรามักอ้างเรื่อง “เวรกรรม” หรือ “กรรม” มาใช้กับปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งที่เกิดกับชีวิตของตนเอง คนอื่นๆ กระทั่งใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมือง ภัยธรรมชาติ แต่ดูเหมือน “เวรกรรม” หรือ “กรรม” ที่อ้างๆ กันจะมีลักษณะเป็น “ยากล่อมประสาท” หนักเข้าไปทุกที
 
คือ นอกจากมันจะทำให้ผู้อ้างเรื่องนี้ขาดการใช้สติปัญญาที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจข้อเท็จจริง เหตุผลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ แล้ว เขายังนำความเชื่อนี้มาอ้างเพื่อเหยียดหยาม ลดทอน “ความเป็นมนุษย์” ของผู้อื่นด้วย ซึ่งหมายความว่า เขาได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองลงไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว
 
พฤติกรรมเช่นนี้ที่เห็นๆ กันมากในสังคมเวลานี้ เราจะมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นพฤติกรรมทางศีลธรรมของคน “เมายากล่อมประสาท” ซึ่งเป็นผลของการถูกปลูกฝังกันมาอย่างผิดๆ
 
หากมองในแง่ “เวรกรรม” กันจริงๆ เราจะมองเพียงว่าอากงเป็นผู้ก่อเวรกรมแต่ฝ่ายเดียวหาได้ไม่ เพราะข้อความที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งนั้น เป็นข้อความที่พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองและการสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่ผ่านมา คนที่ก่อเวรกรรมในเรื่องนี้จริงๆ คือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นทำรัฐประหาร สลายการชุมนุม เป็นต้น ที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเบื้องหน้าเบื้องหลังให้สังคมทราบ ไม่เช่นนั้นอากงหรือ “คนอย่างอากง” ก็ต้องกลายเป็น “แพะบูชายัญญ์” แก่ระบบเครือข่ายอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่ตลอดไป  
 
ส่วนเรื่อง “ความรักพ่อ” ที่ปลูกฝังกันอย่าง “เกินพอเพียง” นั้น จำเป็นต้อง “ทบทวน” ว่า ทำไมในนามของ “ความรักพ่อ” จึงแสดงออกด้วยการดูหมิ่น เหยียดหยาม ประณามคนอื่นๆ ที่เขาไม่รัก หรือคิดต่าง เห็นต่าง ทำไมจึงต้องแสดงความรักด้วยความเกลียดชังหรือความรุนแรง และในนามของความรักต้องทำได้ทุกอย่างหรือ แม้กระทั่งละเมิดหลักการประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เรียกร้อง และทำรัฐประหาร
 
ผมเองไม่อยากโทษ “ดารา” คนนั้นหรือใครๆ ที่แสดงออกแบบนั้น แต่อยากชวนให้ตั้งคำถามต่อระบบการปลูกฝังอบรมใดๆ ที่มอมเมาผู้คนด้วย “ยากล่อมประสาท” จนเขาสูญเสียความสามารถที่จะใช้เหตุผล ขาดมโนสำนึกเคารพ “ความเป็นคน” ของคนอื่น และตนเอง
 
ปฏิกิริยาของ “พระ” เป็นเรื่อง “วิวาทะ” จากที่พระกิติศักดิ์ กิตติโสภโณ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว (จัดเรียงใหม่คงเนื้อหาตามเดิม) ว่า
 
รื่องของ “ความรัก” กับ “ความไม่รัก” ปรากฏในข่าววันนี้ “ชายวัน 61” คนหนึ่ง “ถูกเชื่อ” ว่า “บริสุทธิ์” แม้จะ “ไม่มีพยานหลักฐาน” ยืนยันได้ว่าบริสุทธิ์ ด้วยเหตุที่ “เชื่อกันว่า”กฎหมายบางมาตรา “ไม่เป็นธรรม”
 
พร้อมๆ กับความเชื่อข้างต้น ก็ “เชื่อ” กันด้วยว่า เหตุการณ์ที่ทำให้ “ชายวัย 61” ถูก “คุมขัง” นั้นมี “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ซึ่งจะต้อง “รับผิดชอบ” ต่อ “การกระทำ” ดังกล่าว...    
 
ความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด “เสียงแห่งความไม่พึงใจ” เกิดขึ้นมากมาย เป็นน้ำเสียงแห่งความเสียใจ เจ็บแค้นและก่นด่าประณามตาม “ความเชื่อของตน” ต่อ “ผู้ที่เห็นต่าง” และต่อ “ผู้ที่ตนเชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง” ไม่ว่าจะ “มี” หรือ “ไม่มี” พยานหลักฐานใดๆ เลยก็ตาม
 
คน “รัก” และ “เชื่อมั่น” ใน “ชายวัย 61 ปี” ผู้จากไป ก่นด่าประณาม “ชายที่สูงวัยกว่านั้น” ด้วยความที่ตน “ไม่รัก” และ “ไม่เชื่อมั่น”
 
“ความรัก” และ “ความเชื่อมั่น” ข้างต้นนี้ปรากฏในข่าว เป็นกระแสของ “ความรู้สึก” ที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน เป็นกระแสอารมณ์ที่ถูกปลุกขึ้น และขยายตัวต่อๆ กันไป ประสาสังคมที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า “ความเชื่อ” และ “ความไม่เชื่อ” “ความชอบ” และ “ความไม่ชอบ” มี “ผู้รู้สึก” มากกว่า “ผู้รู้” และมี “ความรู้สึก” มากกว่า “ความรู้”
 
ที่ผมอยากแลกเปลี่ยนคือ เรื่องอากง “บริสุทธิ์” หรือไม่นั้น ผู้ที่ติดตามปัญหานี้ย่อมทราบกันดีว่า คำตัดสินของศาลชั้นต้นไม่ได้อ้างอิง “ประจักษ์พยานที่ชี้ชัดว่าอากงเป็นผู้ส่งข้อความ” แต่อ้างอิง “พยานกรณีเหตุแวดล้อม” ที่ทราบได้เพียงว่าข้อความ 4 ข้อความนั้นถูกส่งมาจากโทรศัพท์มือถือของอากง และศาลกล่าวว่าจำเลยพยามปกปิดว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด จึงตัดสินว่า “อากงคือผู้ส่งข้อความ”
 
ฉะนั้น ในการตัดสินคดีอาญาที่มีโทษจำคุกถึง 20 ปี ย่อมควรตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า การตัดสินจำคุกจำเลยโดยไม่มีประจักษ์พยานที่เป็นเหตุให้สิ้นสงสัย เป็นการตัดสินที่ชอบธรรมหรือไม่
 
ที่บอกว่า ด้วยเหตุที่ “เชื่อกันว่า” กฎหมายบางมาตรา “ไม่เป็นธรรม” นั้น ถ้า “พระ” มีความรู้เรื่อง “ความยุติธรรม” ก็จะเข้าใจได้ว่า กฎหมายที่ยุติธรรมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ต้องตราขึ้นบน “หลักความยุติธรรม” คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค
 
ถามว่า ม.112 ให้สิทธิ เสรีภาพของจำเลยที่จะพิสูจน์ว่า ข้อความที่ตนพูดออกไปเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะเหมือนการหมิ่นประมาทบุคคลธารณะอื่นๆ หรือไม่ ถ้าให้ก็แสดงว่า ม.112 มี “ความเป็นธรรม” (fairness) และอัตราโทษที่กำหนดมีสัดส่วนที่สะท้อนสถานะความเสมอภาคในความเป็นคนหรือไม่เมื่อเทียบกับอัตราโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ถ้าสะท้อนหรือไม่ขัดต่อ “หลักความเสมอภาค” ก็เป็นกฎหมายที่ยุติธรรม
 
เรื่องไม่มีหลักฐานพยานเกี่ยวกับ “เบื้องหลัง” อะไรต่างๆ ที่ “พระ” ว่ามานั้น คงจะหมายถึงว่าไม่เห็นมีใครเปิดเผยความจริงโดยนำพยานหลักฐานมาเปิดเผยจะจะผ่านสื่อสาธารณะ และ/หรือผ่านการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม แต่ “พระ” ก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 และ ม.112 ไม่มีใครสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อสาธารณะได้
 
หากเห็นว่า การแสดงพยานหลักฐาน หรือการรู้ความจริงจะเกิดประโยชน์แก่สังคมมากกว่า สำคัญกว่า “ความเชื่อ” พระ (หรือคนที่พูดเช่นนี้) ก็ต้องออกมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพื่อให้มีการแสดงพยานหลักฐาน หรือพูดความจริงกันอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่ใช่ไปตัดสินว่า คนทั้งหลายเขาไม่มีพยานหลักฐาน แค่ “เชื่อ” กันไปเอง “รู้สึก” กันไปเอง
 
เห็น “พระ” ย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ชายวัย 61” คงตั้งใจพูดให้ตรง “ข้อเท็จจริง” อย่างเต็มที่กระมัง (เนื่องจากคงคิดว่า ที่เขาเรียกอากงว่า “ชายชรา” “คนแก่” นั้น เป็นแค่ “ความเชื่อ”?) แต่ “พระ” ไม่รู้จริงๆ หรือว่า “ชายวัย 61” คนนี้เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ในฐานะที่เขาเป็น “คน” เขาควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานที่มนุษย์พึงได้รับ และได้รับสิทธิประกันตัวเหมือนคนอื่นๆ (เช่น สนธิ ทักษิณ วัฒนา กำนันเป๊าะ หมอที่ใช้ไม้ก๊อปตีเมียตัวเองตาย ฯลฯ)
 
แล้วที่สรุปว่า การแสดงออกของผู้คนนั้นเป็นเพียงเรื่องของ “รัก” หรือ “ไม่รัก” และ “เชื่อมั่น” หรือ “ไม่เชื่อมั่น” ใน “ชายวัย 61” หรือ “ชายที่สูงวัยกว่านั้น” ถามว่า พระใช้พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง หรือ “ความรู้” อะไรมาตัดสินการแสดงออก และข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนจำนวนมาก
 
พูดตรงๆ คือ ผู้ที่เขียนข้อความเช่นนี้ออกมาได้ ถ้าเขาไม่ใช่ “ผู้รู้” เขาก็เขียนไปตาม “ความเชื่อส่วนตัว” ของเขาเท่านั้นเอง
 
แต่ถ้าเขาเป็น “ผู้รู้” เขาใช้ “ความรู้อะไร” มาตัดสินว่า เรื่องราวทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นในกรณีอากงดังที่เขาเขียนมานั้นเป็นเพียงเรื่องของ “ความเชื่อ” และ “ความรู้สึก” ของผู้คนจำนวนมากที่ปราศจากพยานหลักฐานใดๆ
 
หากเขาซื่อสัตย์ต่อ “ทฤษฎี” ของตนเอง เขาต้องยอมรับว่าตนเองก็เขียนไปตาม “ความเชื่อส่วนตัว” เท่านั้นแหละ เพราะโดยความเป็นจริงแล้วภายใต้ ม.8 และ ม.112 การแสดงพยานหลักฐานอย่างเป็นสาธารณะเป็นไม่ได้ และตัวเขาเองก็ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่า ที่กล่าวหาว่า “คนอื่นๆ ไม่มีพยานหลักฐาน” นั้น จริงหรือไม่
 
แต่หากคนที่เขียนข้อความเช่นนี้ออกมาได้ แล้วยืนยันว่าเป็น “สัจธรรม” ก็แสดงว่าเขาคงเป็น “สัพพัญญู” หรือไม่ก็เป็น “พระเจ้า” ที่หยั่งรู้ความจริงทุกรายละเอียดแต่เพียงผู้เดียว หยั่งรู้แม้กระทั่ง “ความรู้สึกทั้งหมด” ภายในจิตใจของผู้คน
 
คนที่มีสามัญสำนึกปกติต่างเสียใจกับ “ชะตากรรม” ของคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ดิ้นสุดชีวิตในการต่อสู้ขอ “ความเป็นธรรม” หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือ “ขอชีวิต” ต่อ “อำนาจมหึมา”
 
ทว่าเรากลับ “เจ็บปวด” ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อต้องมารับรู้ความจริงว่า ในเหตุการณ์วิกฤตแต่ละครั้งใน “สังคมพุทธ” แห่งนี้ พระสงฆ์ซึ่งมีสถานะเป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คนกลับออกมาแสดง “ความคิด” ที่ไม่เคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของเพื่อนร่วมสังคมเลย! 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: บทสรุปเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012 (ตอนที่ 1)

Posted: 10 May 2012 09:06 AM PDT

Sarkozy !! C’est fini !! Sarkozy !! C’est fini
ซาโกซี มันจบแล้ว ซาโกซีมันจบแล้ว

ณ ลานบาสติลอันเป็นสถานที่สัญลักษณ์สำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศสและเป็นสถานที่รณรงค์ใหญ่ของพรรคสังคมนิยม ทันทีที่การประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเวลาท้องถิ่นประมาณ ๒๐ นาฬิกา ของวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๐๑๒ ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยมต่างโห่ร้องอย่างดีใจทั่วลานบาสติล เพื่อแสดงถึงชัยชนะของ François Hollande จากพรรคสังคมนิยมที่เหนือกว่า Nicolas Sarkozy จากพรรคฝ่ายขวา UMP ด้วยคะแนนเฉียดฉิว 51.7% และ 48.3% นับเป็นครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐที่ห้าที่ ประธานาธิบดีคนเก่าพ่ายแพ้การเลือกตั้งและไม่ได้เป็นประธานาธิบดีติดต่อกันสองวาระ และเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่พรรคฝ่ายขวาประสบความปราชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายนอันเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกของฝรั่งเศส มีผู้มาลงคะแนนเสียงทั้งสิ้นประมาณ 80% ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี2002ซึ่งมีผู้มาลงคะแนนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง86% ผลการเลือกตั้งผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นสองอันดับแรกปรากฏว่าไม่ผลิกโผแต่อย่างใด Hollande นำมาด้วยคะแนนเสียง 28.29% และ Sarkozy 27.02% ชัยชนะของผู้สมัครสองคนถูกกลบความเด่นไปสิ้นเชิงเมื่อสปอรต์ไลท์หันมาจับที่ Marine Le Pen ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายขวาจัดเข้าป้ายอันดับสามด้วยคะแนนเสียงสูงเป็นประวัติการณ์ 18.48%คะแนนที่เธอได้สูงกว่า Jean Marie Le Pen ผู้พ่อซึ่งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ Chirac เมื่อปี 2002 ปรากฏการณ์นี้สร้างความประหลาดใจให้วงการข่าวฝรั่งเศสตลอดจนต่างประเทศเช่นกัน เพราะเมื่อตอนเริ่มต้นรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งนั้น มารีน เลอ แปง ถูกปรามาสว่าจะได้คะแนนน้อยกว่าผู้พ่อ และถูกบารมีผู้พ่อกดดันเบียดบังการหาเสียงในครั้งนี้ เลอแปงเริ่มไปหาเสียง และปาฐกถาที่นิวยอร์คและถูกพิธีกรข่าวตลกฝรั่งเศสนำมาล้อเลียน และเมื่อมีการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของคนทั่วไปที่มีต่อเธอก็มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของพ่อเสมอ และตอนช่วงรณรงค์หาเสียงที่ Réunion และ martinique ซึ่งเป็นหมู่เกาะในแปซิฟิคที่อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส เลอแปงไม่ด้รับการตอบรับที่ดีจากคนท้องที่เลย ทันใดที่เธอลงมาจากเครื่องบิน ชาวพื้นเมืองต่างต้อนรับด้วยป้ายที่เขียนว่าออกไป ปรากฏการณ์ที่ฝ่ายขวาจัดได้คะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้เกิดคำถามว่า ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและยุโรป เหตุการณ์ก่อการร้ายจากมุสลิมหัวรุนแรงในฝรั่งเศสเป็นตัวกระตุ้นให้แนวความคิดชาตินิยมขวาจัดกลับมาอีกครั้งหรือไม่ หรือที่แท้ประเทศฝรั่งเศสเองมีคนจำนวนมากมีความคิด ricisme อยู่แล้ว

เมื่อได้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากสุดสองคนแล้ว การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเข้าสู่การเลือกตั้งรอบที่สองในวันที่ 6 พฤษภาคม ระหว่าง Hollande กับ Sarkozy ภายในเวลาสองสัปดาห์ที่เหลืออยู่นี้ทั้งสองฝ่ายจึงต้องชิงไหวชิงพริบกันเพื่อดึงคะแนนโหวตจากพรรคอื่นให้เป็นของพรรคตนเอง ทันทีที่ผลเลือกตั้งรอบแรกออก Jean Luc Mélenchon จากพรรคฝ่ายซ้ายผู้ได้คะแนนเสียงอันดับสี่ 10.8% และ Eva Joly จากพรรคกรีนด้วยคะแนนเสียง 2.1% ประกาศเรียกร้องให้ผู้ลงคะแนนเสียงให้พวกเขาไปโหวตให้ Hollande ในการเลือกตั้งรอบที่สอง ในขณะที่ Le Pen และ François Bayrou จากพรรคฝ่ายกลางด้วยคะแนนเสียง 8.9% ทั้งสองต่างสงวนท่าทีไว้

ดังนั้นปัจจัยที่ส่งผลให้ได้ชัยชนะคือ Hollande หรือ Sarkozy ใครจะโน้มน้าวคะแนนเสียงของ Le Pen และ Bayrou ได้มากกว่ากัน ผู้ที่ไม่ได้ติดตามการเมืองในฝรั่งเศสอาจเข้าใจว่าประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคขวาจัดอย่าง Marine Le Pen จะต้องโหวตให้ Sarkozy โดยอัตโนมัติในการเลือกตั้งรอบที่สอง อย่างไรก็ตามมันไม่แน่เสนอไป The Economist [1] วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจว่า คนที่เลือก Le Pen จำนวนหนึ่งอาจไม่ได้เลือกเพราะว่ามีความคิดชาตินิยมก็ได้ แต่เพราะในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ พวกเขาต้องการต่อต้านระบบการเมืองที่เป็นอยู่ ต้องการแสดงความผิดหวังต่อซาร์โกซี ต้องการให้ฝรั่งเศสออกจาก อียู ต้องการแสดงความโกรธต่อความไร้สามารถของฝรั่งเศส

หนังสือพิมพ์ Le Figaro [2] ได้รายงานข่าวผลสำรวจประชากรที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรอบแรกซึ่งจัดทำโดย TNS/Sofres และ Ifopโดยโทรศัพท์ถามคนออกเสียง1500 คนและทางอินเตอร์เนตอีก3509คน ในทันทีที่เลือกตั้ง ผลที่ออกมาน่าสนใจเช่นกัน ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีเลือก Hollande 28%, Sarkozy 21%, Le Pen 20% แต่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65% กลับเลือก Sarkozy 43%, Hollande 23%, Le Pen 11%

ในขณะที่ซาร์โกซีมีเสน่ห์ดึดงดูดคะแนนเสียงผู้หญิงมากกว่า ด้วยคะแนน 31%, Hollande 28% แต่ผู้ลงคะแนนเสียงเพศชายลงคะแนนให้ Hollande เหนือกว่า Sarkozy ด้วยคะแนน 28% ต่อ 23%

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ผลการสอบถามปรากฏว่าคนงานกรรมกรจะตัดสินใจโหวตให้ Le Pen สูงที่สุด 29% นำหน้า Hollande ที่ได้ 28%, Sarkozy 18% และที่น่าผิดหวังที่สุดคือคนงานกรรมกรจะตัดสินใจเลือก Jean Luc Mélenchon จากพรรคฝ่ายซ้ายจัดที่มีนโยบายช่วยเหลือสังคมมากกว่า เพียงแค่ 11% ในขณะที่ประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมดีกลับตัดสินใจเลือก ซาโกซีถึง 33% ซึ่งสูงกว่า Le Pen

ฃึ่งปรากฏการณ์ที่กรรมกรส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกฝ่ายขวาจัดนั้นเป็นที่เข้าใจว่า วิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานมากขึ้น ในขณะที่แรงงานต่างชาติไร้ฝีมือจากเอเชีย แอฟริกา และ ยุโรปตะวันออก ต่างทะลักเข้ามาในประเทศและแย่งงานจากกรรมกรไร้ฝีมือชาวฝรั่งเศส นโยบายของฝ่ายซ้ายไม่ว่าจะเป็นของ Hollande หรือ Mélenchon ถึงแม้จะมีนโยบายช่วยเหลือสวัสดิการกรรมกรมากกว่า แต่ต่างไม่มีนโยบายกีดกันแรงงานต่างชาติหรือ ผลักดันกลับประเทศ ในขณะที่นโยบายของ Le Pen เป็นที่ชัดเจนว่าจะคุ้มครองแรงงานฝรั่งเศสก่อนด้วยการจะจัดหางานให้ชาวฝรั่งเศสก่อนชาวต่างชาติ หรือ การกำหนดให้ระบุสัญชาติในใบสมัครงานก็ตาม ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนส่งผลให้นโยบายของเธอถูกใจกรรมกรฝรั่งเศสมากกว่า (ต้องไม่ลืมด้วยว่า กรรมกรชาวต่างชาติไม่มีสิทธิเลือกตั้งในฝรั่งเศส เขาสงวนไว้ให้ผู้มีสัญชาติฝรั่งเศสเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง)

เพื่อดึงคะแนนเสียงจาก Le Pen, Hollande แสดงท่าทีต่อผู้โหวตคะแนนเสียงให้ Le Pen ได้ดีกว่าที่ Sarkozy ทำ Hollande กล่าวอย่างเข้าใจความโกรธแค้นของผู้ออกคะแนนเสียงว่า “ มีคนงานจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน คนเกษียณอายุจำนวนมากที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกต่อไป มีเกษตรกรจำนวนมากที่หวาดกลัวว่าฟาร์มของเขาจะไปไม่รอด เด็กๆจำนวนมากต่างไม่รู้ว่าอนาคตเขาเป็นอย่างไร”

ในขณะที่ Sarkozy ซึ่งกลัวว่า Le Pen จะมีอิทธิพลต่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกเธอในการเลือกตั้ครั้งที่สอง ซาร์โกซีกล่าวแต่เพียงว่า “ เราต้องเคารพคะแนนเสียงโหวตของพวกเขา มันเป็นการโหวตที่อยู่ในช่วงวิกฤติ”

อย่างไรก็ตามในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง Marine Le Pen ในที่สุดก็ออกมาพูดว่า เธอจะโหวตไม่ออกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งรอบที่สอง และพูดสำทับว่า ซาร์โกซีรู้ตัวดีว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้

อ้างอิง:

  1. http://www.economist.com/blogs/elysee/2012/04/marine-le-pen-0?fsrc=scn/fb/wl/bl/are18offrenchpeopleracist
  2. http://elections.lefigaro.fr/presidentielle-2012/2012/04/23/01039-20120423ARTFIG00522-les-jeunes-preferent-hollande-les-femmes-sarkozy.php
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธันย์ฐวุฒิ

Posted: 10 May 2012 07:02 AM PDT

คนตายไปแล้วเพิ่งมาเสียใจกัน ที่ผ่านมาเขาเคยมาเยี่ยมไหม ดีแต่ตีกันมาตรา 112 ออกไป บอกว่าไม่ใช่นักโทษการเมือง คดี 112 ไม่ใช่การเมืองตรงไหน เป็นเรื่องความคิดทางการเมืองล้วนๆ อันที่จริง พวกผมเป็นผลพวงจากแกนนำทั้งนั้น เราอาจจะโง่ที่เลือกเดินทางนี้

ธันย์ฐวุฒิ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังเนื่องจากข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, 10 พ.ค. 55

สรุป 19 ปีไฟไหม้เคเดอร์ ยังไม่มีอะไรดีขึ้น คนงานยังไม่ได้รับการดูแล-ชดเชยโรคจากการทำงาน

Posted: 10 May 2012 06:47 AM PDT

(10 พ.ค.55) ในโอกาสครบ 19 ปีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 ซึ่งมีการกำหนดให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนงานในแต่ละพื้นที่ว่า ปัจจุบัน ในระยอง ชลบุรี ส่วนมากเป็นอันตรายจากการทำงาน หรือเสียชีวิตจากอุตสาหกรรมหนัก โดยมีผู้นำแรงงานช่วยเจรจาต่อรองให้คนงานได้สิทธินอกเหนือจาก พ.ร.บ.เงินทดแทน 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายขั้นต่ำและเก่าแก่17-18 ปีแล้ว หากเจรจาไม่ได้ ก็จะใช้วิธีฟ้องศาล ซึ่งขณะนี้มีหลายคดี 

ขณะที่ในนครปฐม คนงานจำนวนมากเป็นโรคฝุ่นฝ้าย ฝุ่นจากใยสงเคราะห์ โรคซิลิโคสิส (โรคปอดฝุ่นหินทราย) จากเซรามิก โดยคนงานไม่ได้รับการส่งต่อไปคลินิกโรคจากการทำงาน และส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิประกันสังคม ทำให้ถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นโรคจากการทำงาน ทำให้คนงานเสียสิทธิ ส่วนที่อยุธยา อ่างทอง โรคสูงสุดที่เป็นคือโรคเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูก กระดูกทับเส้น
 

กองทุนเงินทดแทน มาจากการสมทบของนายจ้าง เพื่อคุ้มครองการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ขณะที่กองทุน ประกันสังคม มาจากการสมทบ 3 ฝ่ายได้แก่ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อคุ้มครองการประสบอันตรายไม่เนื่องจากการทำงาน โดยลูกจ้างสามารถใช้สิทธิได้ตามความจริงเพียงกองทุนใดกองทุนหนึ่งเท่านั้น   (อ้างอิง: เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม)

สมบุญ ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งในโคราชว่า คนงานผ่าตัดไปแล้ว 4 ครั้งโดยใช้สิทธิประกันสังคม เมื่อทราบว่า สามารถขอสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนได้ จึงอยากใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน แต่เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนกลับบอกว่าถ้าจะใช้สิทธิตรงนี้ ต้องเอาค่าผ่าตัดมาคืนกองทุนประกันสังคม ซึ่งสมบุญมองว่า ทำเช่นนี้ไม่ถูก เพราะกองทุนทั้งสองอยู่ในกรมกองเดียวกันน่าจะถ่ายเทกันได้ ทั้งนี้ หากคนงานไม่ได้สิทธิกองทุนเงินทดแทนจะทำให้ไม่ได้ค่าสูญเสียอวัยวะ 10 ปี ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ขาดความรู้ กรณีแบบนี้นายจ้างจะไม่ปฏิบัติ เธอก็ไม่ว่าอะไร แต่หน่วยงานของรัฐน่าจะเฉลียวใจและคุ้มครองคนมากกว่านี้ 

สมบุญกล่าวถึงปัญหาการกรอกเอกสารยื่นต่อคณะกรรมการแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า นายจ้างมักนำเอกสารไปเขียนแทน โดยที่ลูกจ้างก็ไม่ทราบรายละเอียดว่าต้องเขียนอย่างไร ก็เซ็นชื่อยอมรับไป สุดท้าย คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าไม่ใช่โรคจากการทำงาน ซึ่งเมื่อคนงานนำเรื่องกลับมาร้องต่อสภาเครือข่ายฯ พบว่าปัญหาเกิดจากการกรอกข้อเท็จจริงที่ต้องการรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการผลิต สารเคมีที่ใช้ 

สำหรับข้อเสนอ สมบุญ กล่าวว่า ได้คุยกับเลขาธิการกองทุนประสังคมว่าน่าจะมีหลักสูตรให้คนงานเข้าถึงสิทธิ ให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมฝ่ายกองทุนเงินทดแทนในพื้นที่ทุกคน เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความรู้ ไม่สามารถสอบประวัติคนไข้ได้ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการเข้าในไปโรงงานเลย เพราะฉะนั้น 19 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรดีขึ้น กองทุนฯ เอาเงินไปให้กระทรวงสาธารณสุข ปีละ1-2 แสนบาท ซึ่งส่วนตัวมองว่า นโยบายการเมืองน่าจะลงมาทีเดียวเลย มีงบประมาณ มีสาขาอาชีวเวชศาสตร์ลงมาอย่างจริงจัง โดยหวังว่า เมื่อมีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จะผลิตคน ผลิตพยาบาล สร้างมาตรฐาน มีศูนย์รับรื่องราวร้องทุกข์ แก้ปัญหาต้นเหตุ ทำงานวิจัยเชิงลึกได้

"ในปัจจุบัน แพทย์ที่เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ถึง 30 คน แถมกระจุกตัวในกรุงเทพฯ อีก 75 จังหวัดไม่มีเลย ตรงนี้เป็นปัญหาว่า ถ้าคนงานได้รับการส่งไปคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ประจำในเขตนั้น แล้วแพทย์ไม่รู้ วินิจฉัยว่าไม่เนื่อง[จากการทำงาน] เท่ากับคนงานถูกตัดสิทธิ" สมบุญกล่าวและว่า จริงๆ แล้ว คนงานอาจยื่นเรื่องเข้ากองทุนเงินทดแทน เพื่อให้คณะกรรมการแพทย์วินิจฉัยได้ แต่คนงานไม่รู้ พอรู้ว่าไม่เนื่องจากการทำงาน ก็ไม่ได้ยื่นเรื่องต่อ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ระบุว่า กระทรวงแรงงานต้องตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ภายใน 1 ปีคือวันที่ 14 ก.ค.นี้ สมบุญกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มั่นใจว่าจะเกิดสถาบันได้ทัน โดยก่อนหน้านี้ ได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นวิทยากรบนเวทีเสวนาที่อ้อมน้อย บอกกับเธอว่าไม่ทัน ซึ่งเธอตั้งคำถามว่า ทำไมจึงติดปัญหามากมาย ต้องส่งเวียนแต่ละกระทรวง ทั้งที่ข้อเรียกร้องเหล่านี้เกิดจากการที่คนงานและภาคประชาชนจัดเวทีและเรียกร้องกันมา 19 ปี  น่าจะยอมรับได้แล้ว แต่ก็น่าเสียใจที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เข้ามาเซ็นผ่านร่างของราชการไปแล้ว ทั้งที่ผู้ใช้แรงงานมีความหวังกับรัฐบาลชุดนี้

นอกจากปัญหาเรื่องการรักษาและชดเชยแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบสถานประกอบการด้วย โดยสมบุญกล่าวว่า คนที่มาทำงานกระทรวงแรงงาน ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงมหาดไทย จบกฎหมาย จบปริญญาตรี ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่สามารถตรวจสอบโรงงานได้ อีกทั้งตำแหน่งประจำในกระทรวงแรงงานยังไม่เพียงพอ มองว่าควรเพิ่มตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านอาชีวอนามัยและแพทย์ พยาบาล โดยชี้ว่าที่ผ่านมา โรงงาน 107,000 โรง ปีหนึ่งกลับตรวจได้เพียง 1,000 โรง โดยที่เหลือ เป็นการตรวจโดยให้กรอกแบบฟอร์มส่งมาเท่านั้น ซึ่งไม่ปลอดภัย
 

10 พ.ค.2536 เกิดเหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม ไฟไหม้และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย จากนั้นจึงมีการผลักดันให้วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โดยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.40 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน และมีการผลักดันจนเกิด พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น