โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แรงงานมอลลิเก้ร้องกระทรวง นายจ้างตัดสวัสดิการ อ้างเหตุขึ้นค่าแรง 300

Posted: 31 May 2012 11:25 AM PDT

 

30 พ.ค. 55 สหภาพแรงงานโรงงานมอลลิเกสหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลท์แคร์ มีการประชุมปรึกษาหารือ ในกรณีที่ผู้บริหารโรงงานออกมาตรการปรับเปลี่ยนสภาพการจัดจ้างหรือโบนัส ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนงานเป็นจำนวนมาก โดยได้ข้อสรุปว่า จะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้รัฐบาลรับทราบความเดือดร้อนในวันที่ 31 พ.ค. 55 เวลา 9.00 น.

ณัฐปภัสร์ แก้วทอง ประธานสหภาพแรงงาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในวันที่26 มี.ค. 55 บริษัทได้ออกประกาศขอปรับเปลี่ยนสภาพการจัดจ้างมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ทางสหภาพก็ได้เจรจาและขอให้ยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 55 ทว่าเมื่อถึงวันที่  2  พ.ค. 55 บริษัทก็ได้ออกประกาศใหม่อีกรอบหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลที่ให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นอีกถึง40%  เมื่อนำมาตรการมาใช้ก็มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งคนงาน ลดสวัสดิการ คนงานได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น เนื่องจากมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นแรงงานที่ทำงานมานาน เช่น บางคนได้ค่าแรงเกือบ 300 บาท เมื่อบริษัทขึ้นค่าแรงให้ถึง 300 บาทตามนโยบายรัฐ แต่กลับไปตัดโบนัสลงมากๆ เช่น เคยได้โบนัส 6000 บาท ถูกตัดเหลือ 1000 บาท ก็ถือว่าไม่ได้อะไรเพิ่ม แล้วยังเสียประโยชน์อีกด้วย แต่ทางด้านแรงงานที่เพิ่งเริ่มงาน และมีรายได้น้อยกว่าเมื่อได้ขึ้นค่าแรงถึง 300 บาท ก็จะได้ประโยชน์ กลายเป็นว่า แรงงานใหม่หรือเก่าก็ได้ค่าจ้างเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ณัฐปภัสร์เห็นว่านโยบายค่างแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจแล้ว ซึ่งทางบริษัทไม่ควรจะนำมาเป็นข้ออ้างในการตัดลดสวัสดิการคนงานด้านอื่นๆ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า คนงานไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นมาเลย

ณัฐปภัสร์กล่าวว่า การหารือของทางสภาพในระยะนี้ยังเป็นไปด้วยความลำบากพอสมควร เนื่องจากถูกแทรกแซงจากบริษัทโดยตลอด บริษัทใช้วิธีการเจรจาแบบรายบุคคล เรียกพนักงานไปพูดคุยเป็นการส่วนตัว มีการบังคับข่มขู่คนงาน บังคับให้เซ็นยอมรับเงื่อนไขที่ทางบริษัทเสนอ ถ้าไม่เซ็นก็จะโยกย้าย หรือพักงาน โดยไม่มีการบังคับให้ออก แต่ก็มีพนักงานหลายคนที่ทนไม่ไหวลาออกไปเอง  นอกจากนี้บริษัทยังยื่นข้อเสนอว่าให้ทางสหภาพยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมา เพราะไม่สามารถหามาตรการที่ดีกว่านี้  ดังนั้นทางสหภาพแรงงานจึงจะไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือไม่ให้บริษัทเปลี่ยนแปลงสภาพการจัดจ้าง เพราะก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือกับทางแรงงานจังหวัดแล้วก็ไม่มีความคืบหน้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ หนุนเคลื่อนไหวนอกสภาตามกฎหมาย รับยอมเสียภาพ หวังสกัดกั้นทำลายชาติ

Posted: 31 May 2012 08:15 AM PDT

"ขอขอบคุณประชาชน ที่รักความถูกต้องจำนวนมาก ที่ออกมาแสดงออกทางความคิดภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์อยากให้ประชาชนทุกคนที่รักความถูกต้องออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อแสดงให้เสียงข้างมากและรัฐบาลได้รับทราบว่า ประชาชน คนไทย และสังคมไทย ไม่ต้องการกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ"

31 พ.ค.  เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ภายหลังจากที่มีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 17.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ห้องอาหาร ชั้น 2  อาคารรัฐสภา 1 เพื่อกำหนดท่าทีหลังจากที่สภาฯ มีมติเรื่องร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นพิจารณา วาระ 1 ในวันที่ 1 มิ.ย. โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้แถลงผลการประชุมว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4ฉบับ ไม่ควรเป็นกฎหมายปรองดอง จะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะเนื้อหาของกฎหมายเป็นการล้มล้างอำนาจตุลาการ  ล้างให้คนโกง ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะเดินหน้าต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและคัดค้านในสภาฯ อย่างถึงที่สุด ขณะเดียวกันพร้อมให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวคัดค้านนอกสภา และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับพ.ร.บ.ดังกล่าวกับประชาชนอย่างเต็มที่

“ขอขอบคุณประชาชน ที่รักความถูกต้องจำนวนมาก ที่ออกมาแสดงออกทางความคิดภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์อยากให้ประชาชนทุกคนที่รักความถูกต้องออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อแสดงให้เสียงข้างมากและรัฐบาลได้รับทราบว่า ประชาชน คนไทย และสังคมไทย ไม่ต้องการกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ดังนั้นการเดินหน้าในการคัดค้านก็จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. ในขั้นตอนรับหลักการ ขณะเดียวกันเราพร้อมสนับสนุนเคลื่อนไหวต่อต้านที่ชอบด้วยกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับผ่าน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนทราบดีว่า 2 วันที่ผ่านมาอาจมีพฤติกรรมในสภาที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ แต่ขอบอกว่าถ้าภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียหาย แต่สามารถสกัดกั้นกฎหมายที่ทำลายชาติได้ เราก็ยอมรับที่จะเสียภาพลักษณ์ และต้องขอโทษประชาชนในขณะนี้ว่าเราไม่สามารถสกัดกั้นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบและผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ได้มุ่งล้มล้างรัฐบาล หรือให้กระทบต่อระบบรัฐสภา แต่มุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศ คัดค้านในกรอบของกฎหมาย ไม่มีประโยชน์แอบแฝงในเรื่องนี้ ตรงข้ามกับผู้ที่ผลักดันกฎหมาย ทั้งผู้มีส่วนร่วมในการก่อการจลาจล การก่อการร้าย การทำผิดกฎหมายต่างๆ การทุจริตจนถึงขั้นถูกยึดทรัพย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะคนที่ถูกยึดทรัพย์ แต่มีตั้งแต่คนในครอบครัว และหัวหน้ารัฐบาล ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับกฎหมายนี้ จึงเป็นเหตุให้รวบรัดไม่ให้เป็นกฎหมายการเงินเพื่อให้นายกฯ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต้องเข้ามาเซ็นรับรอง ที่ผ่านมาเสียงข้างมากพยายามเอาเรื่องเล็กมาบดบังเรื่องใหญ่ ทั้งที่ความจริงคนสุดท้ายที่ควรจะเรียกร้องเรื่องนี้คือพรรคเพื่อไทย เพราะสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องผลักดันกฎหมายนี้เนื่องจากได้กระทำผิดไว้มากมายทั้งแผ่นดิน จึงต้องขอนิรโทษกรรมให้กับตนเอง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของยื่นตีความพ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้นคงต้องรอให้กฎหมายผ่านสภาในวาระที่ 3เสียก่อน เรียกร้องให้นายกฯ เข้ามานั่งฟังการพิจารณากฎหมายนี้และขอให้ตอบว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มีนโยบายชูธงให้มีความปรองดองหมายความว่าอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาช่วง 2วันที่ผ่านมา ไม่ใช่ความรุนแรงแต่พฤติกรรมหลายอย่างเกิดจากบรรยากาศที่เกิดขึ้น หากประธานฯทำหน้าที่ตามปกติก็จะไม่เกิดปัญหาที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภา ส่วนใครจะรับผิดชอบในความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้น ตนคิดว่าคนที่ทำอะไรลงไปต้องรับผิดชอบ พรรคก็ระวังให้สมาชิกได้แสดงออกอย่างเหมาะสม ในการกระทำของตนเอง ใครที่เป็นต้นตอของปัญหาต้องรับผิดชอบ

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นกบฏ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากถามว่าพรรคเพื่อไทยอยากให้พวกตนออกไปยืนข้างนอกและตะโกนให้เผาบ้านเมืองเลยใช่หรือไม่ มาตรฐานของตนไม่ต่ำอย่างนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปิดกั้นทุกวิถีทาง เราจึงต้องปกป้องบ้านเมือง ซึ่งอาจจะมีอะไรที่กระทบกระทั่งเกินเลยไปบ้างแต่ไม่ถึงขั้นกบฏ เพราะไม่มีใครเผาบ้านเผาเมือง ตั้งกองกำลังติดอาวุธ พรรคเพื่อไทยน่าจะย้อนดูพฤติกรรมของตนเองมากกว่า ส่วนที่ระบุว่ามีการขัดขวางการทำหน้าที่ของประธานสภานั้น ไม่ทราบว่าขัดขวางอย่างไร เพราะขณะนี้เห็นอยู่ว่าสามารถเลื่อนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ได้แล้ว ส่วนกรณีการสนับสนุนมวลชนในการคัดค้านนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้สนับสนุนมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้ในการอภิปรายในวาระ 1 ส่วนใหญ่จะเน้นประเด็นในเรื่องของความไม่ชอบด้วยกฎหมาย การขัดรัฐธรรมนูญ การขัดหลักนิติรัฐ นิติธรรม การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยมิชอบ และพ.ร.บ.นี้มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และจะเปิดโอกาสให้ส.ส.ทุกคนในพรรคได้มีสิทธิในการอภิปรายอย่างเต็มที่  

 

...........................
ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101: ตอน 2 ...ในโลกที่มีโน้ต 12 ตัว แต่มีเพลง 39 ล้านเพลง

Posted: 31 May 2012 06:19 AM PDT

 

มีการกล่าวกันบ่อยๆ ทำนองว่า “โน้ตดนตรีมีแค่ 7 ตัว มันมีโอกาสใช้ซ้ำกันได้” การกล่าวเช่นนี้ดูจะเป็นข้ออ้างที่ง่ายไปและไม่ตรงกับความจริงเท่าใดนัก เพราะจริงๆ แล้วระบบโน้ตดนตรีตะวันตกมีโน้ตดนตรีอยู่ 12 ตัวด้วยกัน ไม่ใช่แค่ โด เร มี ฟา ซอล ลา และ ที หรือ C, D, E, F, G, A และ B เท่านั้น (หากจะเขียนตัวโน้ตพวกนี้ในระบบที่นิยมกันในโลกภาษาอังกฤษ) แต่จริงๆ แล้วตัวโน้ตในระบบตัวโน้ตตะวันตก นั้นมี C, C#, D, D#, E, F, F#, G, G#, A, A# และ B โน้ต 12 ตัวนี้เกิดจากการแบ่งเสียงคลื่นความถี่ต่างๆร ะหว่างคลื่นที่ความถี่ต่างกัน 2 เท่า เท่าๆ กัน เป็น 12 ช่วง ดังนั้น โน้ตทั้ง 12 ตัวจึงมีเสียงที่ห่างกันอย่างสมมาตรและนำมาสู่ความเป็นไปได้ของการประสานเสียงอย่างเป็นสัดเป็นส่วนของดนตรีตะวันตกซึ่งเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์

ผู้เขียนคงจะไม่บรรยายทฤษฎีดนตรีอย่างละเอียดยิบย่อยในที่นี้ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่าในเชิงความน่าจะเป็นแล้วหากจะลองคิดเล่นๆ เราจะพบว่าถ้ามีตัวโน้ต 12 ตัวอยู่ในสารบบดนตรีตะวันตก ความเป็นไปได้ของการที่ตัวโน้ตเรียงกัน 7 ตัวมันคือ 12 x 12 x 12 x12 x 12 x 12 x12 แบบ หรือ 2,985,984 แบบ หรือจะกล่าวอีกแบบก็คือความน่าจะเป็นที่จะเอาโน้ตดนตรี 7 ตัวมาเรียงให้ซ้ำกันหมดนั้นมีเพียง 1 ใน 2,985,984

อันที่จริงแล้วสุ้มเสียงดนตรีที่เราได้ยิน มันก็ไม่ได้เรียบง่ายแบบเอาโน้ตมาเรียงต่อๆ กัน 7 ตัวด้วยซ้ำ เพราะมันจะมีเรื่องของความสูงต่ำของโน้ตแต่ละตัว (หรือโน้ตตัวเดียวกันที่ความถี่ต่างกัน 1 เท่า หรือที่เรียกกันว่าความต่างเสียง 1 ออคเทฟ) ความสั้นยาวของโน้ตเพลงแต่ละตัว ความเงียบระหว่างโน้ตเพลงแต่ละตัวด้วย ซึ่งก็ยังไม่ต้องพูดถึงการประสานเสียง การใช้เทคนิคบนเครื่องดนตรีเพื่อให้ตัวโน้ตเดียวกันมีสุ้มเสียงที่ต่างกัน ไปจนถึงการใช้เอฟเฟคในการปรับแต่งเนื้อเสียงให้เปลี่ยนไปอีก ถ้าจะนับปัจจัยเหล่านี้ว่าจะทำให้โน้ตแต่ละตัวแตกต่างกันด้วยแล้ว โอกาสที่ชุดของโน้ต 7 ตัวจะเหมือนกันก็คงจะน้อยเสียยิ่งกว่ากว่า 1 ในร้อยล้านด้วยซ้ำ

จะเห็นได้ว่าในทางทฤษฎีนั้น โอกาสที่โน้ตดนตรีที่จะซ้ำกันเพียงแค่ 7 ตัว มันมีน้อยมากๆ อย่างไรก็ดี เราก็จะเห็นเช่นกันว่าท่วงทำนองเพลงสมัยนิยมนั้นส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันไปหมด เหตุผลของความคล้ายคลึงก็คือ มันมีโน้ตเพลงบางชุดเท่านั้นที่ผู้คนร่วมสมัยจะฟังแล้วระรื่นหู และไอ้โน้ตที่ว่านี่ก็คือ “โน้ตแค่ 7 ตัว” ที่ผู้คนชอบกล่าวถึงกัน นี่คือสิ่งที่เรียกในทฤษฎีตะวันตกว่า Diatonic Scale หรือสเกล 7 เสียง ซึ่งสเกลที่ผู้คนรู้จักดีในตระกูลนี้ก็คือ เมเจอร์สเกล (Major Scale) และไมเนอร์สเกล (Minor Scale) การประกอบท่วงทำนองตามชุดตัวโน้ตของสเกลเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างเสียงที่ระรื่นหูมากกว่าการประกอบท่วงทำนองจากตัวโน้ตทั้ง 12 อย่างไรก็ดีหากจะพิจารณาความเป็นไปได้แล้วโอกาสที่โน้ต 7 ตัวจะซ้ำกันมันก็ยังมีสูงถึง 1 ใน 823, 543 (ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของ 77) อยู่ดี

อย่างไรก็ดีการเอาโน้ตที่ซ้ำกัน 7 ตัวมาเรียงกันอย่างไม่มีกฎเกณฑ์มันไม่ได้จะทำให้เกิดท่วงทำนองที่ผู้ฟังฟังแล้วจะรู้สึกระรื่นหูแต่อย่างใด เงื่อนไขทั่วไปที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกระรื่นหูก็คือตัวโน้ตที่เป็นท่วงทำนองจะต้องมีความสอดคล้องกับคอร์ดที่เป็นตัววางพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของตัวโน้ตเสียงในเพลง เพื่อให้การคำนวณง่ายขึ้น โดยทั่วไปแล้ว คอร์ดที่ใช้ในบทเพลงทั่วไปจะเป็นคอร์ดที่มีแค่ 3 ตัวโน้ต หรือเป็นเพียงคอร์ดเมเจอร์หรือไมเนอร์ธรรมดาเท่านั้น ไม่มีการใส่โน้ตตัวอื่นๆ มาเพิ่มแบบดนตรีแจ๊ส ดังนั้นท่วงที่ประกอบทำนอง 7 ตัวโน้ตภายใต้ชุดคอร์ดเดียวกันที่ระรื่นหูจึงเป็นไปได้ 37 แบบ หรือ 2,187 แบบ ด้วยกัน

รูปแบบการเอาโน้ตเพลงมาเรียงกัน 7 ตัวจำนวน 2,187 แบบ ก็ยังดูเหมือนจะไม่ใช่รูปแบบการเรียงตัวโน้ตที่จะเกิดขึ้นได้ซ้ำง่ายๆ อยู่ดี อย่างไรก็ดีหากจะพิจารณาว่าทั้ง 2,187 รูปแบบนั้นเป็นรูปแบบตัวโน้ตที่เกิดขึ้นปกติในเพลงป๊อบที่มีการบันทึกเสียงกันมากว่าศตวรรษแล้ว [1] ซึ่งเพลงป๊อบเหล่านี้ก็เป็นประชากรส่วนใหญ่ของบทเพลงทั้งหมดในโลกที่เคยบันทึกเสียงกันมากว่า 97 ล้านเพลง [2] แล้ว เราก็จะพบว่าโอกาสที่ท่วงทำนองของบทเพลงหนึ่งๆ จะไปละม้ายคล้ายคลึงบทเพลงอื่นๆ ที่มีมาก่อนแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะแปลกประหลาดพิสดารอะไรเลย

แน่นอนว่าความเป็นไปได้ที่งานดนตรีจะมีความซ้ำซ้อนนี้เป็นสิ่งทีส่วนทางกับการคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ร่วมสมัยที่มุ่งจะคุ้มครองบทประพันธ์ทางดนตรีอันมี “เอกลักษณ์เฉพาะตัว” (originality) ความเป็นไปได้ของการซ้ำของท่วงทำนองนี้ ทำให้งานดนตรีชิ้นหนึ่งๆ มีแนวโน้มที่จะเป็นเป็นเพียงการสร้างผลงานตามจารีตทางดนตรีที่มีต่อกันมาแทนที่จะเป็นงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ฉีกออกมาจากงานชิ้นอื่นๆ (ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในบทความก่อนหน้านี้) อย่างไรก็ดีท่วงทำนองงานดนตรีจำนวนหนึ่งที่สถาปนาความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และ 20 ก็มักจะเป็นสิ่งที่มีลิขสิทธิ์ทั้งสิ้นโดยอัตโนมัติตามมาตรฐานกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการกลั่นกรองใดๆ ว่างานเหล่านั้นมี เอกลักษณ์จริงหรือไม่ (ซึ่งเป็นแนวทางคุ้มครองต่างจากสิทธิบัตรพอสมควร) นี่ทำให้จริงๆ แล้วเพลงที่เราไม่คิดว่ามีลิขสิทธ์ที่ถูกแต่งขึ้นมาในช่วงนี้ก็อาจมีลิขสิทธิ์อยู่ ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็น่าจะได้แก่เพลงภาษาอังกฤษที่รู้จักกันดีที่สุดอย่าง Happy Birthday To You ซึ่งทุกวันนี้ลิขสิทธิ์ก็ยังเป็นของ Warner อยู่ [3]

อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวมาแล้วว่าลำพังแค่ตั้งแต่ที่มนุษย์มีการบันทึกเสียงกันมา 100 กว่าปี มันก็มีบทเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงไว้ 90 กว่าล้านเพลงแล้ว มันมีความเป็นไปได้เสมอที่บทเพลงหนึ่งๆ ที่แต่งขึ้นมาใหม่จะไปซ้ำกับบทเพลงที่มีมาก่อน และหากการที่บทเพลงไปเหมือนกันโดยบังเอิญเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์วิถีการสร้างสรรค์งานดนตรีของผู้คนก็คงจะยากลำบากน่าดู เพราะต้องคอยมาพะวงตลอดเวลาว่าเพลงที่ตนแต่งมาจะไปซ้ำกับใครหรือไม่ และการไล่ฟังเพลงให้หมดโลกมันก็ดูจะไม่น่าเป็นไปได้ง่ายๆ

ลองคำนวณเล่นๆ ก็ได้ครับ สมมติว่าแต่ละวันฟังเพลงได้ 100 เพลงไม่ซ้ำกันเลย 1 ปีเราก็จะฟังได้ 36,500 เพลง ในอัตรานี้ ถ้าในโลกมีเพลงอยู่ 39 ล้านเพลง ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ เราก็จะใช้เวลาเพียง 1,068 ปีกว่าๆ เท่านั้นในการฟังเพลงที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกให้หมด

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่เกินขีดจำกัดของมนุษย์ในปัจจุบันจะทำได้ นี่เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ในการพิจารณาคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น การที่ตัวโน้ตในบทเพลงซ้ำกันยังก็ยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอกับการตัดสินว่าเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น แต่เงื่อนไขที่จำเป็นอีกประการก็คือ ผู้ต้องหาละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องเคยได้ยินได้ฟังบทเพลงที่เขาละเมิดมาแล้ว

หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาละเมิดลิขสิทธิ์เคยได้ยินได้ฟังบทเพลงที่เขาลอกมาโดยทั่ว เขาก็น่าจะถือว่าบริสุทธ์จากความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และการพยายามหาความเชื่อมโยงของความคล้ายคลึงกันของบทเพลงสองเพลงแบบลอยๆ มันก็ดูจะเป็นการกล่าวหาซึ่งไม่มีมูลเพียงพอด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ได้เป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการ “ลอกเพลง” ได้ตามใจชอบภายใต้ข้ออ้างว่า “ไม่เคยฟังมาก่อน” ในกรณีของบทเพลงที่มีความโด่งดัง (รวมถึงเพลงจำพวก “ดังอยู่เพลงเดียว” แล้วหายไปจากความทรงจำของผู้คนหรือ One Hit Wonder) การกล่าวอ้างแบบนี้ก็มีน้ำหนักน้อย เพราะถึงที่สุดศาลอเมริกันก็เคยตัดสินมาแล้วว่าคนอย่าง George Harrison ได้ลอกเพลงของ The Chiffons วงเกิร์ลกรุ๊ปผิวดำผ่านจิตใต้สำนึกของเขา เนื่องจากเจาเคยฟังบทเพลงนี้มาก่อนละมันก็อยู่ในจิตใต้สำนึกของเขา

เพลงของ George ที่โดนฟ้องคือเพลงดังอย่าง My Sweet Lord ซิงเกิลที่ขายดีที่สุดในอังกฤษในปี 1971 อันนี้ถูกฟ้องฐานมีท่วงทำนองคล้ายคลึงกับเพลง He's So Fine ของเกิร์ลกรุ๊ปผิวดำจากต้นทศวรรษที่ 1960 นาม The Chiffons [4] ในชั้นศาล George บอกว่าเขารู้จักเพลงดังจากต้นปี 1963 เพลงนี้ของ The Chiffons แต่เขาไม่ได้คิดถึงมันเลยตอนเขาแต่ง My Sweet Lord สุดท้ายภายหลังจากการพิจารณาคดีผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบเพลง ศาลก็ลงความเห็นว่า George ได้ลอก (plagiarize) เพลงนี้จริง เพราะถึงแม้เขาจะไม่ได้ตั้งใจจะลอกแต่เขาก็ทำมันในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious)

นี่ดูจะเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าเจตนาในการลอกเพลงดูจะเป็นประเด็นรองในการพิจารณาการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือว่าผู้ต้องหาเคยฟังเพลงที่ลอกมาหรือไม่ ซึ่งในกรณีของ George เขาก็ยอมรับชัดเจนว่าเคยฟังเพลงที่เขาถูกกล่าวหาว่าลอก ซึ่งก็น่าสนใจอยู่ว่าถ้าเขาปฏิเสธไปผลการตัดสินจะเป็นเช่นไร

ในอีกด้านหนึ่ง ในกรณีของการถูกกล่าวหาว่าลอกบทเพลงที่ตอนไม่ได้เป็นเจ้าของ การพิสูจน์ว่าเจ้าของบทเพลงก็ไม่ได้เป็นเจ้าของบทเพลงเช่นกันก็สามารถใช้ได้ ดังจะเห็นการสู้คดีแบบนี้ในกรณีการที่ John Fogerty ถูกฟ้องฐานลอกเพลงตัวเองที่เขาแต่งมากับมือสมัยอยู่กับวง Creedence Clearwater Revival [5] ซึ่งเขาก็พิสูจน์ในศาลว่าส่วนที่เขาถูกกล่าวหาว่าลอกนั้นจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เขามีอย่างเป็นเอกลักษณ์ด้วยซ้ำในงานต้นฉบับ เพราะทางโน้ตกีต้าร์แบบนี้พวกนักดนตรีบลูส์ก็ได้ใช้มานมนานแล้ว เขาชนะคดีในที่สุด และเหนือกว่านั้นก็คือเขาสามารถจะฟ้องเอาเงินค่าทนายได้ด้วย ซึ่งเป็นกรณีแรกที่จำเลยคดีละเมิดลิขสิทธิ์สามารถฟ้องเช่นนี้และได้ค่าทนายมาในที่สุด (ปกติมีแต่ฝ่ายโจทย์เท่านั้นที่จะทำได้สำเร็จ)

กรณี Fogerty ชี้ให้เห็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะในทางตรรกะแล้วเขากำลังอ้างว่าเขาทำตาม “จารีต” เพื่อจะอ้างว่าเขาไม่ได้ละเมิดงานของตัวเอง แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ถ้างานของเขาเป็นงานตามจารีต เขาจะอ้าง “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ที่เป็นเงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้อย่างไร? อย่างไรก็ดีไม่ว่ากฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะก้าวหน้าแค่ไหนการนำการละเมิด “ลิขสิทธิ์” ของสาธารณะชนด้วยการนำภูมิปัญญาสาธารณะมาแปรรูปเป็นทรัพย์สินทางปัญญาส่วนบุคคลก็ยังคงเป็นเรื่องปกติ ในแง่นี้ภูมิปัญญาของชนเผ่าในแอฟริกา หรือสาธารณะชนอเมริกันมันก็ล้วนไม่ได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ เพราะถึงที่สุด “ชุมชน” และ “สาธารณชน” ก็ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายที่จะสามารถฟ้องปัจเจกบุคคลที่มา “ละเมิด” ภูมิปัญญาร่วมของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นสูตรยาพื้นบ้านหรือจารีตของท่วงทำนองดนตรีบลูส์ และสุดท้ายบ่อแห่งจารีต (pool of tradition) ก็ดูจะไม่ใช่บ่อน้ำที่สรรพสัตว์ในบริเวณใกล้เคียงได้มาอาศัยใช้อย่างเท่าเทียม เพราะน้ำของมันถูกระบบทุนนิยมทำให้เป็นสินค้าเสียมากกว่า

นี่คือสถานะของบทเพลง 39 ล้านเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงมาในโลก ไม่ว่าโอกาสที่ท่วงทำนองจะซ้ำมันจะมีมากแค่ไหน ทั้ง 39 ล้านเพลงก็ดูจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทั้งสิ้นและจนทุกวันนี้งานบันทึกเสียงน้อยชิ้นนักที่จะไม่มีเจ้าของ [6] มันเป็นเรื่องชวนหัวที่บทเพลงเหล่านี้จำนวนมากก็มีความซ้ำซากด้านท่วงทำนอง แต่ในทางกฎหมายมันก็ถือว่าเป็นงานอันมีเอกเทศที่ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น สถานการณ์มันก็ดูจะคล้ายกับการสูบน้ำจากทะเลสาบที่ไม่เคยมีเจ้าของมาบรรจุขวดขาย นี่ทำให้ของที่เคยไร้มูลค่าอย่างน้ำกลายมาเป็นสินค้า การใช้น้ำในโลกทุนนิยมต่างจากการใช้น้ำในชุมชนดั้งเดิมเช่นใด สถานการณ์ที่นักดนตรีฮิปฮอปต้องเผชิญก็ต่างจากสถานการณ์ของนักดนตรีบลูส์เช่นนั้น และนี่คือเรื่องราวของตอนต่อไป

 

อ้างอิง

  1. เทคโนโลยีการบันทึกเสียงเกิดปลายศตวรรษที่ 19 แต่การบันทึกเสียงเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 20
  2. นี่เป็นการคำนวณง่ายๆ จากฐานข้อมูลงานบันทึกเสียงที่มีในโลกของทาง Grace note เท่านั้นเพื่อให้เห็นภาพ ดู http://www.digitalmusicnews.com/stories/100611supersaturation
  3. นี่ทำให้การนำบทเพลงนี้แสดงในที่สาธารณะอย่างซี้ซั้ว เช่นการร้องเพลงอวยพรวันเกิดในร้านอาหารก็อาจนำมาสู่การถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Happy_birthday_to_you
  4. ลองฟังทั้งสองเพลงเปรียบเทียบกันได้ที่ http://youtu.be/kfxx3scAKS8 (The Chiffons - He's So Fine) และ http://youtu.be/9qdKZBXMX5E (George Harrison - My Sweet Lord)
  5. หากจะกล่าวโดยสั้นๆ แล้ว โดยทั่วไปลิขสิทธิ์งานดนตรีของนักร้องนักดนตรีดังๆ ในโลกมักจะไม่ได้เป็นของเขา ในกรณีของ Fogerty เขาโดนฟ้องว่าลอกเพลง Run Through The Jungle ของ Creedence Clearwater Revival ในเพลง The Old Man Down The Road ในงานเดี่ยวของเขา ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูตลกในการ “ถูกฟ้องฐานลอกเพลงตัวเอง” เช่นนี้ แต่ในทางกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ใหม่ที่ไม่ใช่ผู้แต่งก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายทุกประการในการฟ้องผู้แต่งเพลงที่ไม่ได้เป็นเจ้าของงานตัวเองแล้ว ฟัง 2 เพลงเทียบกันได้ที่ http://youtu.be/EbI0cMyyw_M (Creedence Clearwater Revival - Run Through The Jungle) กับ http://youtu.be/JbSGMRZsN4Q (John Fogerty - The Old Man Down The Road) และอ่านข้อมูลเกี่ยวกับคดีได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Fogerty_v._Fantasy
  6. นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทางเหล่าหอจดหมายเหตุในสหรัฐก็เคยโวยวายมาแล้ว เพราะแม้แต่งานบันทึกเสียงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ แล้วก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายเหตุไม่ได้ เพราะมันยังไม่หมดลิขสิทธิ์ และการที่มันยังไม่หมดลิขสิทธิ์ก็เกิดจากแนวโน้มของกฏหมายลิขสิทธิ์อเมริกันที่ยืดอายุการคุ้มครองไปเรื่อยๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะมีอะไรมากกว่าที่คิด

Posted: 31 May 2012 05:48 AM PDT

เกร็ดเล็กน้อยเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกแน่นอนละว่าการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เป็นสิ่งดี แต่ไม่ใช่ว่าการทำดีสิ่งหนึ่งแล้วจะเป็นใบอนุญาตให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆได้

 

ในประเทศฝรั่งเศสที่มีความชุกของผู้สูบบุหรี่ในเพศชาย36.6% และเพศหญิง 26.7% [1] เป็นความพยายามมานานแล้วของสมาคมสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ (l’association Droits des non fumeurs) ที่ยื่นคำร้องให้ศาลตีความกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ปิดเช่นภายในตัวตึกนั้น ว่าให้รวมถึงลานกว้างที่มีที่กำบังด้วยเช่นกัน ซึ่งตามปกติแล้วในร้านอาหารหรือร้านคาเฟ่ บาร์ต่างๆจะมีลานกว้างภายนอกร้านเพื่ออนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ และบางร้านนั้นที่ลานกว้างก็มีกันสาดเพื่อปิดไม่ให้ฝนหรือแดดเข้ามาได้ ส่วนในที่สาธารณะที่เป็นที่เปิดเช่นในส่วนสาธารณะต่างๆนั้นไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ดังนั้นสภาพของลานกว้างที่มีกันสาดจึงเป็นเสมือนสภาพกึ่งปิดและกึ่งเปิดที่เปิดช่องให้สมาคมสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ยืนคำร้องได้

อย่างไรก็ตามวันที่ 11 พฤษภาคม 2012 ศาลอุทธรณ์ของฝรั่งเศสยืนยันคำตัดสินของศาลชั้นต้นให้มีคำพิพากษาไม่รับคำฟ้องของสมาคมสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ และยังคงถือว่าอนุญาตให้ประชาชนสามารถสูบบุหรี่ได้ในที่สาธารณะที่เป็นที่เปิดรวมถึงลานกว้างที่มีกันสาดด้วย ถึงแม้คำตัดสินไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ ทางสมาคมสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ก็ยังคงไม่ลดละความพยายามและจะยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาในภายภาคหน้า

หัวข้อข่าวนี้อาจเป็นหัวข้อที่ไม่น่าสนใจแต่ในประเทศฝรั่งเศสแล้วกลับปรากฏบนหนังสือพิมพ์หลายฉบับและในอินเตอร์เนต การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่มีอะไรมากกว่าที่คิด

ยาสูบเป็นพืชในตระกูล Nicotiana ใบของยาสูบไว้ใช้สำหรับบริโภคเช่น การเผาสูดสารระเหยหรือควัน มีการใช้ยาสูบกันมานานแล้วโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาและจีน ซึ่งบ้างใช้เป็นยารักษาโรค บ้างบริโภคในเทศกาลสำคัญงานฉลองต่างๆ ยาสูบเริ่มแพร่เข้ามาในทวีปยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เมื่อโคลัมบัสนำมาจากทวีปเมริกา การบริโภคยาสูบเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในฐานะสินค้าบริโภคอย่างหนึ่ง โดยไม่มีมาตรการทางกฎหมายห้ามปรามการบริโภค แต่เนื่องด้วยจากฤทธิ์ของยาสูบต่อสมองที่ส่งผลให้คนสูบมีอาการอยากมากขึ้นเรื่อยๆและขาดไม่ได้ รวมถึงการผลิตเป็นอุตสาหกรรมจำนวนมากๆ และการศึกษาที่พบว่ามีผลเสียต่อสุขภาพหลายๆประการ ทำให้ปัจจุบันทุกๆประเทศจึงมีกฏหมายและมาตรการการควบคุมการผลิต นำเข้า จำหน่าย และบริโภคยาสูบ

อย่างไรก็ตามมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมยาสูบเพิ่งจะริเริ่มในช่วงทศวรรษ 1960-1970 และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยเริ่มในประเทศทวีปยุโรป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการศึกษาค้นพบทางวิทยาศาสตร์ถึงผลเสียของยาสูบต่อสุขภาพ เช่นปัญหาเรื่องโรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่แพงหูฉี่ และส่งผลกระทบต่อภาครัฐในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล และจากการศึกษาถพบผลกระทบสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับมาจากควันบุหรี่ของคนรอบข้าง ทำให้มีการเข้มงวดการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและมีการแบ่งแยกกันมากขึ้น

สำหรับประเทศฝรั่งเศสได้มีกฎหมายที่ควบคุมยาสูบเมื่อปี 1976 โดยกฎหมาย loi Veil(1976) และบัญญัติเพิ่มเติม ในกฎหมาย loi Evin(1992) สาระสำคัญของกฎหมายคือ การห้ามการแจกจ่ายบุหรี่โดยให้เปล่า การห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การห้ามโฆษษาสินค้ายาสูบ การห้ามให้บริษัทยาสูบเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินการกุศลกับสมาคมต่างๆ และการกำหนดที่ห้ามสูบบุหรี่ โดยกำหนดให้สถานที่สาธารณะที่เป็นที่ปิด รวมถึงสถานที่ทำงาน สถานีรถ สถานที่ทำงาน ภายในร้านอาหารหรือคาเฟ่ โรงเรียน และในปี 2007 ได้มีการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นโดยกำหนดให้ทุกพื้นที่สาธารณะที่เป็นที่ปิด เช่น พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เป็นที่ห้ามสูบบุหรี่ แต่เฉพาะบางที่เท่านั้นที่ยังสามารถสูบบุหรี่ได้ เช่นคาสิโน สำหรับห้องที่สูบบุหรี่ต้องมีการกำหนดพื้นที่แยกชัดเจน โดยให้มีพื้นที่มากสุด 35 ตารางเมตร และมีช่องระบายอากาศ

เมื่อทุกคนทราบผลเสียของควันบุหรี่ทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพแล้ว หลายคนอาจเห็นด้วยและสนับสนุนมาตรการเชิงรุกเพื่อรณรงค์การไม่สูบบุหรี่เพื่อให้สังคมปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตามการเลือกใช้มาตรการโดยไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลอื่นที่ไม่คาดคิดตามมา โดยเฉพาะในระบบเสรีประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมและสิทธิมนุษยชน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2010 ทางสมาคมเพื่อสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ไม่ได้ระวังและได้ออกแผ่นป้ายรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ที่อื้อฉาวต่อสังคม แผ่นป้ายนี้ทำการปิดได้แค่เพียงหนึ่งวันและทนต่อกระแสต่อต้านทางสังคมไม่ไหว ต้องทำการเก็บทำลายหมด

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะมีอะไรมากกว่าที่คิด

คอนเซปต์ของแผ่นป้ายคือเพื่อรณรงค์ให้ลดจำนวนเด็กอายุน้อยที่สูบบุหรี่ โดยชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่เหมือนเป้นการยอมอยู่ใต้อำนาจอะไรบางอย่างเหมือนเด็กอยู่ใต้อำนาจของผู้ใหญ่ แต่ทว่าในแผ่นป้ายโฆษณากลับสื่อออกมาถึงการกดขี่ทางเพศมากกว่า เมื่อปรากฏรูปของเด็กชายและเด็กหญิงก้มลงต่อหน้าผู้ใหญ่ในขณะที่ภายในปากคาบบุหรี่อยู่ซึ่งตำแหน่งของบุหรี่ดันอยู่ตรงอวัยวะเพศชายพอดิบพอดี

และในปัจจุบันจากคำตัดสินของศาลอุททรณ์ที่กำหนดให้ลานกว้างที่มีกันสาดเป็นที่ที่สูบบุหรี่ได้ ก็สะท้อนถึงการสร้างความสมดุลย์ระหว่างพื้นที่ของผู้ที่สูบบุหรี่กับพื้นที่ของผู้ที่ไม่สบบุหรี่ ให้มีพื้นที่ยืนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน และรักษาการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในทางกลับกันการรณรงค์อย่างหรักหน่วงให้ลดเหลือการบริโภคบุหรี่ศูนย์เปอร์เซนต์ก็อาจเป็นการทำลายความหลากหลายวัฒนธรรมและเป็นการพยายามผลักดันให้ผู้ที่สูบบุหรี่กลายเป็นเผ่าพันธุ์อื่นที่น่ารังเกียจในสังคม

แน่นอนละว่าการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เป็นสิ่งดี แต่ไม่ใช่ว่าการทำดีสิ่งหนึ่งแล้วจะเป็นใบอนุญาตให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆได้

เมื่อพูดถึงการเหยียดชนเผ่าแล้ว มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแถมท้ายก่อนจบ ในเรื่องการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่นั้นถึงแม้เป็นที่นิยมในทศวรรษ 1960-1970ก็ตาม แต่ผู้ที่ริเริ่มการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่อย่างจริงจังคนแรกคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งฮิตเลอร์แต่ก่อนเป็นคนที่สูบบุหรี่จัดมากแต่วันหนึ่งพบว่าสุขภาพตัวเองแย่ลงเรื่อยๆเมื่อให้หมอตรวจพบว่าเป็นเพราะสาเหตุจากการสูบบุหรี่จัดและหมอให้ฮิตเลอร์งดบุหรี่ลง เมื่อท่านผู้นำมิดำริจะงดบุหรี่เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงแล้ว ก็อยากเผยแพร่ความคิดนี้ให้กับลูกหลานชาวอารยันทุกคน เพื่อจะได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า เพื่อให้ชาวอารยันมีสุขภาพร่างกายที่บริสุทธิ์ แต่ทว่าการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของฮิตเลอร์เต็มไปด้วยความโหดร้ายและเหยียดเชื้อชาติ ฮิตเลอร์เชื่อว่ายาสูบเป็นผลผลิตของคนแดง(อินเดียนแดง)เพื่อจะมาทำลายคนขาว และยังกล่าวหาว่าพวกยิวที่เป็นตัวชั่วร้ายนำยาสูบเข้ามาเผยแพร่ในยุโรป นอกจากนี้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ยังสัมพันธ์กับนโยบายเจริญพันธุ์ของชาวอารยันด้วย (reproductive policies) การสูบบุหรี่ส่งพิษร้ายระดับยีนที่จะทำให้เชื้อสายอารยันที่บริสุทธิ์ต้องมีอันแปดเปื้อน การสูบบุหรี่ของมารดาขณะตั้งครรภ์จะส่งผลให้เด็กในครรภ์มีปัญหาสุขภาพ ความชั่วร้ายของการสูบบุหรี่ร้ายแรงพอๆกับการเกิดมาแล้วพิการในสังคมเยอรมันสมัยนั้นทีเดียว

 

อ้างอิง:

  1. http://www.who.int/tobacco/mpower/mpower_report_prevalence_data_2008.pdf
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เวยปั๋ว" ไมโครบล็อกจีน ออกกฎหักแต้มผู้ใช้ คะแนนหมดลบแอคเคาท์

Posted: 31 May 2012 03:13 AM PDT

เวยปั๋ว เว็บไซต์ไมโครบล็อกของจีน ซึ่งมีลักษณะคล้ายทวิตเตอร์ เริ่มระบบหักคะแนนผู้ใช้หากมีการละเมิดกฎ โดยหากผู้ใช้ถูกหักคะแนนเหลือศูนย์ แอคเคาท์จะถูกลบทันที


weibo.com
 

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา เวยปั๋ว เว็บไซต์ไมโครบล็อกของจีน ซึ่งมีลักษณะคล้ายทวิตเตอร์ ได้เริ่มระบบให้คะแนนผู้ใช้ หลังทางการจีนวิจารณ์ว่า มีผู้โพสต์ข่าวลือที่ "ไม่มีมูล" ในเว็บดังกล่าว ทั้งนี้ ซินา คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ระบุว่า ขณะนี้ เวยปั๋วมีผู้ใช้มากกว่า 300 ล้านรายแล้ว

เริ่มต้น ผู้ใช้จะได้รับ 80 คะแนน และจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขาย แต่จะถูกหักคะแนนเมื่อละเมิดกฎใดๆ ที่ตั้งไว้ โดยหากคะแนนลดลงต่ำกว่า 60 คะแนน จะมีการแจ้งเตือน "low credit" บนหน้าของผู้ใช้ เพื่อชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกลบบัญชีผู้ใช้ (แอคเคาท์) หากคะแนนเหลือศูนย์ แต่หากผู้ใช้ยังปฏิบัติตามกฎได้ในสองเดือนต่อมา คะแนนจะกลับไปที่ 80

แครี่ บราวน์ หัวหน้าโครงการเอเชียของ Chatham House think tank กล่าวว่า นี่เป็นสัญญาณของทางการจีน ในการพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตในจีน แต่กลุ่มฮาร์ดคอร์ก็จะยังคงหาทางหลีกเลี่ยงการควบคุมนั้น

"มันเป็นเรื่องปกติของการวิจารณ์ทางอ้อม ที่ผู้คนจะกล่าวถึงประเด็นต่างๆ โดยใช้รหัสลับ ผมสงสัยมากว่ากฎเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงอะไร" บราวน์กล่าว

ข่าวเรื่องการเพิ่มกฎนี้ถูกรายงานในสื่อตะวันตกเป็นที่แรก โดย the Next Web อ้างอิงจากเวอร์ชั่นที่แปลโดยกลุ่มอาสาสมัครนิรนาม

"ข้อตกลงของชุมชน" ระบุว่า สมาชิกจะต้องไม่ใช่บริการของเว็บเพื่อปล่อยข่าวลือ เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ โจมตีผู้อื่นด้วยการดูหมิ่นในเรื่องส่วนตัวหรือแสดงความเห็นหมิ่นประมาท ต่อต้านหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญจีน เปิดเผยความลับของชาติ คุกคามเกียรติของจีน สนับสนุนลัทธิหรือความเชื่อผิดๆ หรือเรียกร้องให้เกิดการประท้วงที่ผิดกฎหมายหรือการรวมตัวของมวลชน นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า สมาชิกจะต้องไม่ใช้การแสดงออกทางอ้อม หรือวิธีอื่นใดเพื่อเลี่ยงกฎเหล่านี้

ที่ผ่านมา ในบางครั้ง มีการใช้ชื่อย่อหรือรหัสลับ เพื่อหลบเลี่ยงการถูกตรวจพบ

บทวิเคราะห์ใน The Tech in Asia เว็บข่าวเทคโนโลยีตั้งข้อสังเกตว่า ซินาไม่ได้ตั้งกฎนี้ขึ้นเอง

"กฎเหล่านี้เกิดจากการกดดันโดยตรงจากกฎหมายจีนและมีผลบังคับใช้กับเวยปั๋ว ไม่ว่าซินาจะระบุไว้ในข้อตกลงการใช้บริการหรือไม่ก็ตาม" อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า ระบบให้คะแนนของซินานี้ก็ถือเป็นนวัตกรรม

ซินา และคู่แข่งอย่าง ไป่ตู้ (Baidu) และเท็นเซ็นต์ (Tencent) ถูกสั่งให้ให้สมาชิกต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริงภายในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ต่อมา ซินาได้ยอมรับว่ายังไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ทั้งหมด

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางการจีนได้สั่งให้ซินาและเท็นเซ็นต์ระงับการโพสต์แสดงความเห็นของผู้ใช้เป็นเวลา 3 วันหลังมีการปล่อยให้ข่าวลือแพร่ออกไป โดยซินหัว สำนักข่าวของทางการจีนรายงานว่า เว็บไซต์เหล่านี้ "ให้คำมั่นว่าจะมีการจัดการที่เข้มงวดขึ้น"

ทางการจีนวิจารณ์การรายงานที่ผิดพลาดที่แพร่กระจายทั่วไมโครบล็อก อาทิ ข่าวการลอบสังหาร คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และเรื่องของการรัฐประหารโดยกองทัพ เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี หู จิ่นเทาของจีน

นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียของจีนยังถูกกดดันให้มีการกรองข้อความที่มีคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่โต้แย้งด้วย และเมื่อครั้งที่ ปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นครฉงชิ่งถูกปลดจากคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ เว็บไซต์จำนวนมากก็ไม่แสดงผลการค้นหาที่มีชื่อของเขา

 


ที่มา:

China's Weibo microblog introduces user contracts
http://www.bbc.com/news/technology-18208446


Sina Weibo’s User Contract is Not a Big Deal

http://www.techinasia.com/sina-weibos-user-contract-big-deal/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พธม.ขอส่งตัวแทน 200 คนเข้าสภา-ร่วมฟังการถก พ.ร.บ.ปรองดอง

Posted: 31 May 2012 12:34 AM PDT

โฆษกพันธมิตรขอตอบใน 1 ชม. ขู่ยกระดับชุมนุมไล่ "ยิ่งลักษณ์" หากไม่ได้คำตอบ ชี้หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจะเกิดเพราะรัฐบาลเป็นผู้กำหนดให้เกิด ด้านอภิสิทธิ์รับเหตุการณ์ในสภาส่งผลต่อภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่จำเป็นต้องขอโทษเพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แนะประธานรัฐสภาเปลี่ยนท่าทีจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

วอยซ์ทีวี [1][2] รายงานวันนี้ (31 พ.ค.) ว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โดยระบุว่า กลุ่มพันธมิตรฯ จะอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ที่บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการและหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 (2) และ 87 (3) ได้บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวขสอบการใช้อำนายรัฐทุกระดับ จึงจะขอส่งตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมสภาฯอาคารรัฐสภา จำนวน 200 คน

ทั้งนี้ จะให้เวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 1 ชั่วโมง และจะต้องแจ้งให้กลุ่มพันธมิตรฯทราบ แต่หากเลยจาก 1 ชั่วโมงไปแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ทางกลุ่มจะประกาศยกระดับการชุมนุมทันที และต่อจากนี้ไปหาก พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ ผ่านเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภา ซึ่งอาจจะมีการเลื่อนไปพิจารณาต่อในวันที่ 5-7 มิ.ย.นี้ และอาจจะเป็นการลงมติแบบ 3 วาระรวด ทางกลุ่มพันธมิตรฯ จะยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทันที

"เพราะถือว่าเป็นผู้ดูและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ตอนนี้กลับทำลายกระบวนการยุติธรรมจดหมดสิ้น และทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่านายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ส่วนจะเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือไม่นั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากลุ่มพันธมิตร แต่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลเป็นผู้กำหนดให้เกิด" นายปานเทพกล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวาย ระหว่างเสนอเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรองดอง 4 ฉบับ เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.)ว่า ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และภาพที่ปรากฏออกมาไม่เหมาะสม แต่ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ทำผิดกฏหมาย

ประกอบกับฝ่ายค้านต้องการให้ระงับการพิจารณาร่าง พรบ.ปรองดอง เพื่อความถูกต้อง จึงต้องการให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ โดยการถอนร่าง พรบ.ทั้ง 4 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรก่อน เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเงิน อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งในสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถหลีกหนีความรับผิดชอบได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง และการสร้างความปรองดอง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ดังนั้นยืนยันว่าฝ่ายค้านจะเดินหน้าคัดค้านให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าฝ่ายค้านสามารถทำงานร่วมกับประธานสภาผู้แทนได้ ในฐานะ ส.ส. แต่ประธานต้องเปลี่ยนท่าที ไม่ใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมอีก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ปรองดอง"

Posted: 30 May 2012 08:25 PM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ปรองดอง"

อองซาน-อภิสิทธิ์ ภาพที่ต้องให้คำแนะนำ

Posted: 30 May 2012 08:07 PM PDT

(ภาพจาก Facebook: Abhisit Vejjajiva)

 

คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับภาพที่เกิดขึ้น หญิงหนึ่งชายหนึ่งจับมือกันในห้องรับรอง  หากแต่ภาพดังกล่าวคือนาง อองซาน ซูจี กับผู้ชายนายหนึ่งที่มีนามว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อาทิตย์นี้คงเป็นบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนผู้รักและศรัทธาในประชาธิปไตยกับการที่นางอองซาน ซูจี ตอบรับเข้าร่วมการประชุมระดับโลกอย่าง World Economic Forum ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2012 การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทย เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเข้าร่วมการประชุมเวทีผู้นำระดับโลกธรรมดา แต่นี่เป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 24 ปี ของนางอองซาน ซูจี เลยทีเดียว เป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกจับตามอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ว่านางอองซาน ซูจี จะไปที่ไหนจะมีสื่อมวลชนมากมายตามไปทุกที่

เพียงย่างก้าวแรกที่เท้าเธอสัมผัสผื่นแผ่นดินไทย นางอองซาน ซูจี ก็ได้สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้กับคนไทยและผู้สื่อข่าวที่รอต้อนรับเธอที่สนามบินสุวรรณภูมิในทันทีด้วยรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ จริงใจ พร้อมกับการโบกมือทักทายอย่างเป็นกันเอง

ยิ่งกว่านั้น ภารกิจแรกที่เธอเลือกที่จะทำ คือ การไปพบปะแรงงานพม่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในเช้าวันรุ่งขึ้น จากข้อเท็จจริงคงจะมีผู้นำระดับโลกไม่น้อยที่ต้องการนัดพบปะเธอเป็นการส่วนตัว แต่เธอเลือกที่จะไปพบกับประชาชนผู้เป็นที่รัก ประชาชนชาวพม่าที่หลายคนเคยเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ปัจจุบันเป็นเพียงผู้พลัดถิ่น ด้อยเกียรติ ด้อยศักดิ์ศรี เป็นคนขายแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม แม้แต่คนไทยเองหลายต่อหลายคนยังเหยียดถึงความด้อยค่าความเป็นมนุษย์ต่อแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ดังนั้น ภารกิจแรกนอกประเทศครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความห่วงใยประชาชนชาวพม่าพลัดถิ่นในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่ายิ่งในสายตาของคนบางคนจนก่อให้เกิดกระแสในหมู่คนไทยเอง กระทั่งมีคำกล่าวว่า "ถ้าไม่ใช่ผู้นำที่คิดถึงแต่ประชาชนคงคิดไม่ได้เช่นนี้" 

อองซาน ซูจี บุตรีคนสุดท้องของนางดอว์ ขิ่นจี มารดา กับนายพลอู ออง ซาน บิดา ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นและปลดแอกอาณานิคมจากอังกฤษจนพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 1948 

ซูจีเกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่พม่าจวบจนบิดา นายพลออง ซาน ถูกสังหารในปี 1947 ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช หลังจากนั้นมารดาได้ย้ายไปทำงานที่อินเดียซึ่งซูจีก็สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่นั่น ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ที่เซนต์ฮิวจ์คอลเลจ  มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในช่วงเวลาดังกล่าวเธอได้พบกับนายไมเคิล อริส (Michael Aris) ซึ่งเป็นนักวิชาการชาวอังกฤษ ทั้งสองแต่งงานกันและมีบุตรชายด้วยกันสองคน

ในปี 1988 ด้วยวัย 43 ปี ซูจี เดินทางกลับพม่าเพื่อมาดูแลมารดาที่กำลังป่วยหนัก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พม่าตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของนายพลเนวิน ผู้นำประเทศในขณะนั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชนเรือนแสนเริ่มขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป และในวันที่ 26 สิงหาคม 1988 นี้เอง ซูจีได้กล่าวปราศัยครั้งแรกต่อหน้ามวลชนกว่า 5 แสนคน ประมาณหนึ่งเดือนต่อมา เธอได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD โดยพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายในปี 1989 

ในขณะที่ประชาชนเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับสั่งปราบปรามการชุมนุมโดยใช้กองกำลังติดอาวุธ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันคน

ในปี 1989 เผด็จการทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักตัวซูจีที่บ้านพักเป็นเวลา 3 ปี และภายหลังได้ขยายเป็น 5 ปี เนื่องจากซุจีปฏิเสธการออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกับสามีและบุตรที่ประเทศอังกฤษ เหตุสืบเนื่องมาจากการที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในปีดังกล่าว แต่รัฐบาลเผด็จการทหารปฏิเสธที่จะโอนถ่ายอำนาจให้ และต่อมายังเพิ่มโทษอีก 1 ปีโดยไม่มีข้อกล่าวหา หลังจากนั้นเธอยังถูกกักบริเวณและจำกัดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเรื่อยมา

การต่อสู้กับเผด็จการทหารเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยาวนาน แม้ช่วงชีวิตการต่อสู้ของเธอจะต้องพรากจากสามีและบุตรชายทั้งสอง กระทั่งเธอได้ทราบว่าสามีผู้เป็นที่รักป่วยด้วยโรคมะเร็งแต่เธอก็ไม่มีโอกาสดูแลจนนายไมเคิลสามีได้เสียชีวิตลงในปี 1999 แต่การต่อสู้ของเธอเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้จบลงไปพร้อมกับการเสียชีวิตของสามีเธอแต่อย่างใด

บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในพม่าและการคุมคามต่อผู้คัดค้านทั้งที่เสียชีวิตและถูกจับกุมคุมขัง แม้การข่มขู่เอาชีวิตทั้งต่อกลุ่มที่ร่วมขบวนการและต่อตัวเธอเอง แต่ใบหน้าที่มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงปรารถนาเพื่อประชาธิไตยกับการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารได้ปรากฎเด่นชัดอีกครั้ง ด้วยภาพถ่ายใบหน้าที่นิ่งไม่สะทกสะท้านต่อความกลัวและความเจ็บปวดที่รายล้อม ท่ายืนแผ่ฝ่ามือขวาพร้อมเขียนชื่อนักโทษการเมือง Soe Min Min (นักโทษการเมืองผู้ถูกจับกุมและคุมขังเป็นเวลา 8 ปี เนื่องจากการอฐิษฐานให้นางซูจีได้รับการปล่อยตัว) ในการเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารปล่อยตัวนักโทษการเมืองจนเป็นกระแสทั่วโลก ท่าเลียนพระพุทธรูปปางประทานอภัยหรือปางห้ามญาติ (Abhaya) เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายของการปกป้อง สินติสุข และการขับไล่ความกลัว เป็นลักษณะเดียวกันกับที่คนไทยนำมาใช้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอากงในคดีหมิ่นฯ

(ภาพจากเว็ปไซต์ http://thuctu.blogspot.com)

 

ซูจีถูกจองจำหลายต่อหลายครั้งจากการใช้อำนาจของเผด็จการทหาร ทั้งห้ามเธอปราศัย พบปะฝูงชน แต่เธอก็ยังต่อสู้ด้วยสันติวิธีด้วยการเขียนจดหมาย ภาพถ่าย และการบันทึกวีดีโอเพื่อสื่อสารต่อรัฐบาลทหารพม่าตามข้อเรียกร้องของเธอ แต่การกระทำทั้งปวงไม่ได้รับการตอบรับจากผู้นำทหารแต่อย่างใด ตลอดการถูกจองจำได้มีกระแสการเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอเป็นอิสระเป็นเวลานานกว่าสองทศวรรษ การเรียกร้อง แทรกแซง และการคว่ำบาตรจากผู้นำประเทศต่างๆ เช่น ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และการเข้าพบผู้นำทหารพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน 

ในปี 2010 เริ่มมีการผ่อนปรนมาตราการต่างๆ ตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลพม่า กระทั่งปลายปีเดียวกันนี้เองเธอได้รับการปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกับบรรยากาศใหม่ของการเปิดประเทศและการตอบรับต่อการปรับตัวต่อสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกจนนำมาสู่การเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีของเธอในวันนี้ 

อองซาน ซูจี กับพรรค NLD ผู้มีชัยเหนือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1989 และชัยชนะล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาในการเลือกตั้งซ่อม โดยพรรค NLD ของเธอได้ที่นั่งในสภาถึง 43 ที่นั้งจากที่มีการเลือกตั้งทั้งหมด 45 ที่นั่งซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมของเธอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของพม่าในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของพม่าอีกครั้ง

แม้การต่อสู้กับเผด็จการทหาร เธอจะต้องถูกข่มเหง ข่มขู่ จนบางครั้งถึงขั้นเสียงต่อการเสียชีวิต แต่เมื่อเธอได้รับอิสระภาพ เธอไม่เพียงไม่คิดที่จะแก้แค้นแต่เธอยังมุ่งทำหน้าที่ “เพื่อให้เกิดการปรองดอง” ของคนในชาติพม่าอย่างจริงใจ

อองซาน ซูจี สตรีผู้เปี่ยมไปด้วยเกียรติยศที่ล้วนมาจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าอย่างยาวนาน นักสู้ต่อผู้ต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารอย่างไม่เกรงกลัว เธอไม่เคยย่อท้อแม้จะถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลายาวนาน คำว่า สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย คือสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ยืนหยัดต่อสู่อย่างกล้าหาญ การเป็นตัวตนที่แท้จริงของเธอจนได้รับการเสนอชื่อให้้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1991 ซึ่งเธอจะเดินทางไปรับรางวัลดังกล่าวที่เมืองออสโล ประเทศนอรเวย์ ในวันที่ 16 มิถุนายนที่จะถึงนี้

สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชื่อนี้คงไม่ต้องบรรยายถึงสรรพคุณสำหรับบุคคลที่คร่ำหวอดในวงการการเมือง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย แม้ว่าทั้งสองคนจะสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน แต่เมื่อกล่าวถึงบทบาทของศิษย์เก่าสถาบันอันทรงเกียรตินี้ คงจะอดตั้งคำถามต่อจุดยืนของศิษย์เก่าสัญชาติไทย(?)คนนี้ไม่ได้

นับแต่เกิดการทำรัฐประหารโดยอำนาจทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 หรือ 19 กันยา 49 มีการกระทำและการออกกฎหมายแบบเผด็จการหลายต่อหลายฉบับ แต่นายอภิสิทธิ์คนนี้ไม่เคยออกมาตอบโต้การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและความไม่ชอบธรรมของเผด็จการทหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว ยิ่งกว่านั้น การจัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากความร่วมมือของฝ่ายตุลาการและการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของพรรคเล็กอันก่อคุณูปการใหญ่หลวงยิ่งต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคนนี้ให้ได้เป็นนายกฯ สมใจ ก็โดยการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารนั่นเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้แพ้การเลือกตั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ที่รักษาความเสมอต้นเสมอปลายในรูปแบบการขับเคลื่อนทางการเมืองมากว่า 66 ปี กับสไตล์การเล่นการเมืองที่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามในทุกรูปแบบ การกลับคำแบบไม่มีจุดยืนเป็นที่ประจักษ์ นี่ยังไม่รวมหลายต่อหลายกรณีที่ตนออกมาโจมตีพรรคฝ่ายตรงข้ามว่าใช้นโยบายประชานิยม ในขณะที่ตนเองเมื่อคราวได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลก็มีนโยบายอภิมหานิยมแจกแถมอย่างทั่วหน้า นี่ยังไม่รวมกรณี(เกือบจะ)ล่าสุดที่ลูกพรรคใช้ข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ดูหมิ่นเหยียดหยามต่อการเป็นสตรีเพศของ นายกฯนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกรณีที่ นายณัฎฐ์ บรรทัดฐาน ลูกพรรคอีกคนดูภาพโป้กลางสภาอันทรงเกียรติซึ่งเป็นการลดทอนเกียรติยศและศักดิ์ศรีของสตรีเพศในที่สาธารณะที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างน่าละอาย แต่นายอภิสิทธิ์ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำหรือหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด ล่าสุด(จริงๆ)จากกรณีการแสดงมารยาทคัดค้านการเลื่อนร่าง พรบ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาของสภาทำให้เกิดความวุ่นวายที่ได้รับการประณามว่าเป็นความ “ถ่อย” นี่ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือยัง

แม้ว่าปัจจุบันทั้งอภิสิทธิ์และซูจีจะมีจุดยืนทางการเมืองร่วมกันในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แต่สำหรับอนาคตนั้นคงเดาได้ไม่ยากว่าทั้งคู่จะยืนอยู่บนจุดที่แตกต่างกันเพียงไรบนเส้นทางการเมืองของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ ผู้เขียนคงไม่มีเจตตนาที่จะถากถางหรือดูหมิ่นเพื่อให้คุณอภิสิทธิ์หรือพรรคประชาธิปัตย์ต่ำต้อยด้อยค่าประการใด เพียงแต่อยากทวงถามถึงจุดยืนทางการเมืองในฐานะประชาชนคนหนึ่งว่า โดยมโนธรรมสำนึกของคุณอภิสิทธิ์ที่เล่นการเมืองนั้น มีจุดยืนเพื่อ สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ดังเช่นที่นางอองซาน ซูจี ยืนหยัดและพร้อมที่จะแลกมาด้วยชีวิตหรือไม่ หากคำตอบคือ “ไม่” ผู้เขียนจะขอยกย่องหากคุณอภิสิทธิ์จะยอมรับว่าคุณไม่สามารถทำหน้าที่เช่นนั้นได้และเลือกที่จะเดินออกจากเส้นทางอาชีพนักการเมืองเพื่อไปทำอาชีพอื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่า ไม่ใช่เอาตัวเองมาอยู่บนหน้าสื่อเคียงคู่กันบุคคลที่คนทั่วโลกยกย่องในความศรัทธาต่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเช่นนี้

การเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีไม่ใช่คนที่จะต้องสะอาดบริสุทธิ์ไร้มลทินอย่างที่คุณอภิสิทธิ์พยายามที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ผู้นำที่ดีคือบุคคลที่ถ่อมตัวลงยอมรับความผิดพลาดและเรียนรู้เพื่อที่จะแก้ไข และมุ่งทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างจริงใจ ผู้นำคือผู้ที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนอย่างกล้าหาญเพื่อความถูกต้องชอบธรรมในทุกๆ สถานการณ์ คำถามวันนี้ต่อคุณอภิสิทธิ์ คือ ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม การมีอำนาจแทรกแซงจากภายนอก กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่ยังไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย “อะไรคือจุดยืนทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์”

แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ทั้งสองคนได้พบกัน เพราะนายอภิสิทธิ์และคณะเคยบินไปพบกับนางอองซาน ซูจี ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง เช่นนี้ผู้เขียนก็แอบหวังลึกๆ ว่า ในโอกาสที่ดีที่คุณอภิสิทธิ์ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำระดับโลกอย่างนางอองซาน ซูจี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย (Democracy icon) อย่างที่ผู้นำระดับโลกหลายต่อหลายคนอยากมีโอกาสเช่นนี้บ้างแต่ไม่มีโอกาส ก็หวังว่าการพบปะถึงสองครั้งนี้คงจะทำให้คุณอภิสิทธิ์ได้เรียนรู้ ซึมซับถึงอุดมการณ์ ความกล้าหาญ จิตใจที่เด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง จิตสำนึกความรักต่อประชาธิปไตย และความรักที่มีต่อประชาชนของหญิงเหล็กผู้นี้บ้าง หรือว่าคุณอภิสิทธิ์อาจจะไม่รู้จริงๆ ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่

ก็ยังหวังอีกว่านี่คงไม่ใช่การเข้าพบเพื่อให้มีพื้นที่สื่อทั่วโลกเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองของนายอภิสิทธิ์แต่อย่างใด เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดคำถามที่ตอบลำบากสำหรับคนไทยหากถูกชาวต่างชาติถามว่า “Who is this guy?”

หากเป็นเช่นนั้น ภาพที่ปรากฏนี้อาจจะต้องเป็นภาพที่ผู้ปกครองของอนุชนรุ่นหลังจะต้องให้คำแนะนำและทำความเข้าใจในการชมภาพดังกล่าวอย่างระมัดระวังยิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสำคัญผิดในสาระสำคัญจากภาพที่จะให้มองอย่างไรก็ไม่เข้ากันในองค์ประกอบ ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง เพราะผู้นำทางการเมืองของไทยนั้นให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของประชาชนชาวสยาม โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยอย่างดียิ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้าน นักวิชาการ ถกปัญหา '15 ปี คดีที่ดินลำพูน อาชญากร และกระบวนการยุติธรรม'

Posted: 30 May 2012 07:42 PM PDT

 

เป็นที่รับรู้กันดีว่า คดีที่ดินลำพูน กลายเป็นปัญหาตัวอย่างระหว่างรัฐ กระบวนการยุติธรรม นายทุนและชาวบ้าน มาอย่างยาวนานหลายสิบปี และกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเป็นคดีพิพาทระหว่างเกษตรกรกับนายทุนและรัฐที่มีความขัดแย้งมายาวนาน จนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเกษตรที่ไร้ที่ดิน ซึ่งเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกทิ้งร้างเป็นจำนวน 125 คน ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ของ จ.ลำพูน ได้มีการฟ้องร้องและมีการดำเนินคดี ตัดสินจำคุกไปแล้วเป็นจำนวน 22 ราย ได้แก่ ชาวบ้านบ้านท่าหลุก ต.หนองล่อง กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูนจำนวน 20 ราย  ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย โดยเสียชีวิตในคุกจำนวน 1 ราย  และเสียชีวิตนอกคุก 1 ราย  และที่บ้านดงขี้เหล็ก ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูนจำนวน 2 ราย  ทั้งหมดได้รับการอภัยโทษเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553  

กระนั้น คดีที่ดินลำพูน ยังคงเป็นปัญหาไม่จบสิ้น โดยในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 นี้ จะมีการพิจารณาตัดสินคดีในชั้นศาลฎีกา โดยครั้งนี้เป็นกรณีของบ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน  จะมีการตัดสินทั้งสิ้น 3 คนคือ 1.นายประเวศน์ ปันป่า แกนนำชาวบ้าน ซึ่งศาลชั้นต้นลง 6 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามนั้น  2.นายรังสรรค์ แสนสองแคว แกนนำชาวบ้านในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินชุมชนโดยชุมชน ปัจจุบันเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด และ 3.นายสืบสกุล กิจนุกร เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) โดยกรณีของนายรังสรรค์ แสนสองแคว และนายสืบสกุล กิจนุกร นั้น ก่อนหน้า ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ต่อมา ศาลอุทธรณ์พลิกคดี ตัดสินลงโทษ 4 ปี

และในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 นี้ จะมีการพิจารณาตัดสินคดีทั้ง 3 คนในชั้นศาลฎีกา  

นั่นทำให้หลายฝ่ายหันกลับไปศึกษาวิเคราะห์ถึงกรณีพิพาทเรื่องที่ดินลำพูน ระหว่างรัฐ นายทุนกับชาวบ้าน ว่าทำไมถึงเกิดปัญหาความขัดแย้งกันมายานนาน ทำไมที่ดินจึงตกกลายเป็นของนายทุน ทำไมชาวบ้านถึงเข้าไปยึดครอง และทำการปฏิรูปที่ดินชุมชนโดยชุมชน และทำไมกระบวนการยุติธรรมจึงมักตัดสินลงโทษเอาผิดชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกลายเป็นที่มาของคำว่า คดีของคนจน คนจนล้นคุก แต่ทว่านายทุนกลับฮึกเหิมและรัฐกลับนิ่งเฉย?!

ล่าสุด ในบ่ายวันที่  31 พฤษภาคม 2555 นี้ ที่ ร้าน Book Re : public ริมคลองชลประทาน จะมีการจัดเวที Tea Talk  “15 ปี คดีที่ดินลำพูน อาชญากร  และกระบวนการยุติธรรม” ขึ้นโดยมีแกนนำชาวบ้านได้มาร่วมบอกเล่า ย้อนรอย 15 ปี  ที่ดินลำพูน : จุดเริ่มต้นการปฏิรูปที่ดินในปัจจุบัน โดย นายสุแก้ว ฟุงฟู นายรังสรรค์  แสนสองแคว และนายประยงค์  ดอกลำไย

หลังจากนั้น จะมี 4 นักวิชาการนำโดย อานันท์ กาญจนพันธ์  / ชยันต์ วรรธนะภูต/ฉลาดชาย รมิตานนนท์ และ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มาร่วมกันถกเสวนาเรื่อง “คดีที่ดินกับความเป็นอาชญากรในกระบวนการยุติธรรม”

ภายในงาน จะร่วมกันหารือเรื่องการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัวคดีที่ดิน เนื่องจากที่มาปัญหาคดีที่ดินนั้นกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวอย่างหนัก และการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือครั้งนี้  เป็นการนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือทั้งผู้ต้องขังและครอบครัว  ซึ่งคนเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยผลักดันนโยบายสาธารณะที่ดินและป่าไม้  ทั้งนี้เพื่อเป็นการประทังความเดือดร้อนของเกษตรกร แกนนำ และครอบครัว  ระหว่างที่การแก้ไขทางนโยบายยังดำเนินไป  โดยแผนการระดมทุนระยะเริ่มต้น จะนำเงินที่ได้ส่วนหนึ่งมาจัดทำสินค้าเพื่อการรณรงค์และเป็นการระดมทุนเพิ่ม เช่น เสื้อยืดรณรงค์ กระเป๋าผ้า หมวก และสินค้าที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้กำลังใจ รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนการต่อสู้  การผลักดันการแก้ไขปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินแก่เกษตรกรที่เป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า หากท่านใดอยากมีส่วนร่วมในการระดมทุนได้ โดยการโอนเงินสมทบกองทุนช่วยเหลือคดีที่ดิน ชื่อบัญชี ช่วยเหลือคดีที่ดิน เลขที่ 521-0-43383-8  ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนสุเทพ ประเภท ออมทรัพย์ หรือติดต่อที่ กป.อพช. ภาคเหนือ  เฉิดฉันท์ ศรีพานิช 086-9158704

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้เชียวชาญชาวเกาหลีเป็นห่วง ชะตากรรมอักษรญาวี (Jawi)

Posted: 30 May 2012 07:38 PM PDT

ผู้เชียวชาญทางด้านการเขียนตัวอักษรญาวีเชื้อสายเกาหลี เริ่มเป็นกังวลกับตัวเขียนญาวี ที่นับวันเริ่มจางหายไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่มาเลเซีย

 

Bernama - ผู้เชียวชาญทางด้านการเขียนตัวอักษรญาวีเชื้อสายเกาหลี เริ่มเป็นกังวลกับตัวเขียนญาวี ที่นับวันเริ่มจางหายไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่มาเลเซีย

ศาสตราจารย์ ดร.กัง กยอง โซก จากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองปูซาน ต่างประเทศศึกษา เริ่มศึกษาวิจัยตัวเขียนญาวีตั้งแต่ปี 1974 (พ.ศ.2517) ถือว่าเป็นจุดเด่นของมาเลเซีย

ปัจจุบันตัวเขียนญาวีถือได้ว่าอยู่ในขั้น “ป่วย” และหากว่ายังคงสภาพต่อไป ในอนาคตอาจสูญหายไปได้

“ผู้เชียวชาญหลายต่อหลายท่านที่ผมรู้จักอยู่ในวัยเกษียณแต่กลับไม่มีใครสามารถที่จะมาทดแทนได้ หากว่าผู้เชียวชาญเหล่านี้เสียไป ใครจะมาสามารถดูแลรักษาตัวเขียนญาวีนี้ได้?” เขากล่าวอย่างชัดเจนด้วยภาษาเมอลายู

เขายังเป็นผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัยการศึกษาสุลต่านอิดริส หวังต่อหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์โดยอักษรญาวี อย่าง Utusan melayu ที่สามารถต่อลมหายใจใหม่แก่ประชาชนที่สนใจในประเทศนี้ได้

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น สถาบันการแปลประเทศมาเลเซีย (Institut Terjemahan Negara Malaysia และ Dewan Bahasa dan Pustaka จำเป็นที่จะต้องมีบทบาทในการแปลหนังสือหลากหลายเล่มให้เป็นอักษรญาวี ศาสตราจารย์กล่าว

“ในประเทศเกาหลี เราทำการแปลหนังสือหลายเล่มเป็นภาษาเกาหลีเพื่อให้ประชาชนของเรามีความชำนาญมากกว่าภาษาอื่นๆ

ประชาชนชาวมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องเรียนการเขียนด้วยตัวอักษรญาวี เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีภาคภูมิใจในความเป็นมาเลเซียที่แท้จริง” กล่าวเมื่อตอนเดินทางมามาเลเซียเมื่อ เพื่อวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอักษรญาวี

หากกล่าวไปแล้วชาวมาเลเซียสมัยนี้มีความคุ้นชินกับการเขียนด้วยตัวอักษรรูมี(โรมัน) และนี่นับได้ว่าเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้การเขียนด้วยตัวอักษรญาวีถูกลืมไป

ศาสตราจารย์กยอง โซก กล่าวว่า ระบบการสะกดคำของญาวีปัจจุบันจำเป็นต้องนำกลับมาใช้ด้วยระบบการเขียนญาวีแบบซะบา (Sistem ejaan Jawi Za’ba) ที่สะดวกและง่ายต่อการเรียนการสอน

นี้เป็นพื้นฐานของระบบการเขียนญาวีแบบซะบา ที่มีพื้นฐานเดียวกันกับการเขียนญาวีโบราณ(Jawi Kuno) ที่มาจากตัวอักษรในอัล-กุรอาน

“ตัวเขียนญาวีปัจจุบันเป็นฐาน ส่วนตัวเขียนรูมีนั้น “วิ่ง” มาจากฐานเดิมที่เป็นญาวีโบราณ” เขากล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสงสัยหลังกรณีขับไล่เลดี้กาก้า หรืออินโดนีเซียยอมรับความต่างน้อยลง?

Posted: 30 May 2012 07:33 PM PDT

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการยอมรับความหลากหลาย แต่กรณีทีมงานของเลดี้กาก้าประกาศยกเลิกทัวร์ ก็ไม่ใช่กรณีเดียวเท่านั้นที่ทำให้คนกลัวว่า อินโดฯ จะเปลี่ยนไป

 
จากกรณีที่ผู้จัดทัวร์คอนเสิร์ทของเลดี้กาก้าสั่งยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ตในอินโดนีเซีย เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัย หลังจากที่มีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงขู่จะออกมาก่อความวุ่นวายหากเลดี้กาก้าเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย
 
ล่าสุดในเว็บไซต์ของสำนักข่าว BBC มีรายงานเรื่องนี้ในชื่อ "อินโดนีเซียเริ่มยอมรับต่อความต่างได้น้อยลงจริงหรือ?"
 
ปูตรี นูรายนี ผู้จัดการแผนกขายอายุ 28 ปีชาวอินโดนีเซีย หลังว่าการแสดงของเลดี้กาก้าจะจัดขึ้นในอินโดนีเซียตามแผน แต่เมื่อวันอาทิตย์ (27) ที่ผ่านมา ทางผู้จัดก็สั่งยกเลิกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหลังจากที่กลุ่มอิสลามสุดขั้วขู่จะก่อความวุ่นวาย
 
ปูตรี บอกว่าเธอไม่เข้าใจว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้ถึงต่อต้านเลดี้กาก้ามากนัก
 
"ฉันก็เป็นชาวมุสลิมคนหนึ่ง แต่ไม่เข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไร" ปูตรีกล่าวอย่างเผ็ดร้อน "มันไม่มีเหตุผลเลย เลดี้กาก้าได้ขึ้นไปทำรักบนเวทีเสียที่ไหน ไม่เลย เธอแค่มาแสดง มันน่าตลกจริงๆ"
 
แต่เอฟฟีและลูกชายอายุ 9 ชวบของเธอ อาเดดูจะไม่เห็นด้วยกับปูตรี
 
ในขบวนผู้ชุมนุมชาวมุสลิมอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านเลดี้กาก้า เจ้าหนูอาเดก็ยุ่งอยู่กับการถือป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวเขา ป้ายที่เขียนไว้ว่า "จงปฏิเสธปีศาจเลดี้กาก้า"
 
เอฟฟีเล่าว่า เธอพาลูกชายของเธอมาในการประท้วงเช่นนี้ตั้งแต่เขายังอยู่ในครรภ์แล้ว มันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับมุสลิมคนหนุ่มสาวที่จะลุกขึ้นปกป้องความเชื่อของตน
 
ผู้สื่อข่าว BBC ถามว่าเหตุใดเธอถึงไม่พอใจดารานักร้องผู้นี้นัก หากเธอไม่ชอบดนตรีก็แค่ไม่ต้องไปคอนเสิร์ทก็ได้ ทำไมถึงไม่ยอมให้ชาวอินโดนีเซียคนอื่นๆ ได้เข้าร่วมคอนเสิร์ท
 
"ทุกคนมักจะบอกว่าชาวมุสลิมในอินโดนีเซียเป็นคนที่อดทนต่อความต่างได้" เอฟฟีกล่าวอย่างหนักแน่น "พวกเราเป็นเช่นนั้นจริง แต่พวกเราก็ไม่ได้อยากถูกเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา พวกเราต้องลุกขึ้นเรียกร้องเพื่อศาสนาอิสลามแล้ว"
 
กรณีทำร้ายนักสตรีนิยม
กรณีของเลดี้กาก้าเป็นเพียงแค่หนึ่งในกรณีที่แสดงให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างมีน้อยลงในกลุ่มศาสนาของอินโดนีเซีย
 
อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นรัฐฆราวาสด้วย
 
อินโดนีเซียมีประวัติศาสตร์ยาวนานด้านการยอมรับต่อความต่างทางศาสนาที่มีระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และถูกทางชาติตะวันตกนำไปใช้เป็นพิมพ์เขียวแบบอย่างชาติมุสลิมที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อนำไปใช้กับชาติตะวันออกกลาง
 
แต่ในช่วงไม่นานมานี้กลุ่มมุสลิมฝ่ายสุดขั้วก็เริ่มออกมาเรียกร้องมากขึ้น มีความกังวลว่ารัฐบาลจะไม่ได้หาทางหยุดยั้งพวกเขา
 
มีความกลัวว่า อินโดนีเซียกำลังมีความอดทนอดกลั้นต่อความต่างน้อยลงเรื่อยๆ และพวกสุดขั้วจะเริ่มฉวยโอกาสได้เปรียบ
 
อรีชาด แมนจิ มุสลิมนักปฏิรูปนิยมและนักสตรีนิยมเชื่อเช่นนี้
 
เธอและทีมงานของเธอถูกกลุ่มมุสลิมสุดโต่งโจมตีขณะที่ออกงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของเธอชื่อ "องค์อัลเลาะห์ เสรีภาพ และความรัก" ในประเทศอินโดนีเซีย มีเพื่อนร่วมงานของเธอคนหนึ่งถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลจากการบาดเจ็บที่แขน
 
"พวกเขา (กลุ่มมุสลิมสุดโต่ง) เข้ามาพร้อมกับหมวกเหล็กและหน้ากากซ่อนหน้าตา ใช้ไม้เหล็กและไม้กระบองทุบตีคน" อรีชาดกล่าว "พวกเขาไม่เพียงแค่ทำลายทรัพย์สิน แต่ทำให้มีคนเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาลหลายคน มีเพื่อนของฉันรวมอยู่ด้วย"
 
"พวกเราไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากเจ้าหน้าที่เลย" เธอเล่าต่อ แสดงความขุ่นเคืองใจออกมาให้เห็น "มีชาวอินโดนีเซียจำนวนมากบอกฉันว่า พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถรายงานเรื่องการข่มขู่คุกคามและการใช้กำลังแบบอันธพาลได้ เพราะจะไม่มีคนระดับสูงคนไหนทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้"
 
"หากพวกเขารายงานเรื่องนี้ พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่ถูกกระทำรุนแรงในท้ายที่สุด หากพวกเขาไม่ ความรุนแรงก็ยังจะดำเนินต่อไป ดังนั้นพูดตรงๆ เลยคือ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับรัฐพหุนิยมนี้ กำลังเดินไปตามรอยทางของปากีสถาน แทนที่จะไปในทิศทางเดียวกับประชาธิปไตยที่แท้จริง"
 
กลัว 'การไม่ยอมรับความต่าง' กลายเป็นเรื่อง 'ตกสำรวจ' 
ผู้สังเกตการณ์การเมืองในอินโดนีเซียหลายคนเป็นห่วงในเรื่องนี้
 
"ในเดือน ส.ค. 2011 มีเหตุเผาโบสถ์ 3 แห่งในสุมาตรา" แอนเดรีย ฮาร์โซโน จากฮิวแมนไรท์วอทช์ เขียนไว้ในบทบรรณาธิการล่าสุดของนิวยอร์กไทม์
 
"ไม่มีใครถูกตั้งข้อหาเลยสำหรับกรณีนั้น... ต่อมาเกิดการจู่โจมที่โหดเหี้ยมที่สุดในเดือนก.พ. ชายชาวอาเมดิส 3 คนถูกสังหาร ศาลได้ดำเนินคดีกับกลถ่มติดอาวุธ 12 คนในกรณีนี้ แต่ก็ตัดสินคดีแบบโทษไม่หนักมากเพียงแค่จำคุก 4-6 เดือน"
 
นักสิทธิมนุษยชนกลัวว่า การไม่ยอมรับความต่างทางศาสนาในอินโดนีเซียกำลังกลายเป็นเรื่องที่ตกสำรวจ
 
"ในตอนนี้มีกรณีการไม่อดทนยอมรับความแตกต่างเกิดขึ้นในอินโดนีเซียเกือบทุกวัน" โบนาร์ ไนโปโปส นักวิจัยจากสถาบันเซทารากล่าว
 
"มีการเพิ่มขึ้นของกรณีแบบนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรกับมันเลยเพราะว่าพวกเขากลัวว่าจะเสียคะแนนเสียงของชาวมุสลิม แม้ว่าชาวมุสลิมส่วนมากในอินโดนีเซียจะเป็นสายกลาง เป็นพลังเงียบที่เป็นเสียงข้างมาก ถ้าหากพวกเราไม่แก้ไขตรงนี้ พวกเราอาจจะแปรสภาพจากประเทศสายกลางกลายเป็นประเทศที่ถูกควบคุมโดยพวกหัวรุนแรง"
 
แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ปฏิเสธคำวิจารณ์นี้
 
รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์ตี นาตาเลกาวา กล่าวปกป้องจุดยืนของรัฐบาลอย่างแข็งขัน
 
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหตุหนึ่งก็ถือว่ามากเกินไป" มาร์ตีกล่าว "แต่สถานการณ์มันไม่ได้ย่ำแย่หนักขาดที่คุณพูดถึง อินโดนีเซียในตอนนี้เป็นประชาธิปไตยและเป็นสังคมที่เปิดกว้างมาก... พวกเรามีพันธกิจในการส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างทางศาสนา"
 
"และในเหตุการณ์ที่อ้างพูดถึงนั้น ผมจะกล่าวอย่างชัดเจนและเด็ดขาดว่า การกระทำเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ให้กระทำแน่ พวกเราจะประณามมันอย่างเต็มที่ให้ถึงที่สุด"
 
แต่นักวิจารณฺ์ก็บอกว่า แค่การประณามไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นนัก
 
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สร้างตัวขึ้นมาจากปรัชญาของพหุนิยม คำขวัญประจำชาติของประเทศนี้คือ "มีเอกภาพในความหลากหลาย" (Unity in Diversity)
 
แต่การที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ทำให้ประเทศนี้ ซึ่งเคยเป็นประเทศแห่งการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในภูมิภาคนี้ เริ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียคุณค่าตรงจุดนี้ และขณะเดียวกันก็ได้ทำลายรากฐานที่ใช้สร้างประเทศนี้ขึ้นมา
 
 
 
 
ที่มา
Is Indonesia becoming less tolerant?, Karishma Vaswani, BBC, 29=05-2012
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประมวลภาพ: ออง ซาน ซูจี เยือนชุมชนชาวพม่าที่มหาชัย

Posted: 30 May 2012 04:17 PM PDT

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) ชาวพม่าที่ย่านมหาชัย ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร รวมตัวรอต้อนรับนางออง ซาน ซูจี ส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ที่มีกำหนดเดินทางไปยังย่านมหาชัยเพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำงานของแรงงานพม่าและครอบครัว

ทั้งนี้การเยือนมหาชัยนับเป็นภารกิจแรกสุดในเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ของนางออง ซาน ซูจี โดยนับตั้งแต่ที่นางออง ซาน ซูจี กลับเข้าไปในพม่าเมื่อปี 2531 ก็ไม่เคยเดินทางออกจากประเทศพม่าอีกเลย โดยระหว่างปี 2531 ถึงปี 2553 นางออง ซาน ซูจี ถูกรัฐบาลทหารพม่าสั่งกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักที่ย่างกุ้งหลายครั้งเป็นเวลากว่า 15 ปี และเพิ่งได้รับการปล่อยตัว ภายหลังที่รัฐบาลทหารได้จัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2553

ชาวพม่ารอต้อนรับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ที่ตลาดกุ้ง ย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร เมื่อ 30 พ.ค. โดยมหาชัยนับเป็นย่านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่สำคัญ โดยมีแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่าทำงานอยู่ราว 3 แสนคน (ที่มาของภาพ: ปาลิดา ประการะโพธิ์)

 

สำหรับพื้นที่แรกที่นางออง ซาน ซูจี เดินทางมาเยี่ยมชาวพม่า คือที่ตลาดกุ้ง ถ.พระราม 2 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับคณะของนางออง ซาน ซูจี ได้ใช้วิธีขับรถนำขบวนพาขบวนรถของนางออง ซาน ซูจี แล่นผ่านเข้าไปในซอกซอยของตลาดกุ้ง โดยไม่ได้ให้คณะนางออง ซาน ซูจี หยุดจอดเพื่อลงจากรถแต่อย่างใดเนื่องจากเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัย ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชาวพม่าที่มหาชัย ซึ่งมารอพบนางออง ซาน ซูจีตั้งแต่เช้าตรู่ อย่างไรก็ตามมีอยู่ช่วงหนึ่งที่รถของนางออง ซาน ซูจีได้หยุดจอด และนางออง ซาน ซูจีได้เปิดประตูออกมาโบกมือทักทายและจับมือกับผู้สนับสนุน

ออง ซาน ซูจี เปิดประตูรถออกมาทักทายและจับมือกับผู้สนับสนุน ระหว่างการเยือนตลาดกุ้ง ย่านมหาชัย เมื่อ 30 พ.ค. (ที่มาของภาพ: คัดลอกจากวิดีโอของประชาไท)

 

จากนั้นคณะของนางออง ซาน ซูจี ได้เดินทางมายัง ศูนย์เรียนรู้แรงงานข้ามชาติ ของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ MWRN ที่มหาชัยวิลล่า ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนแรงงานชาวพม่าเข้าพบและเสนอปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย จากนั้นได้ออกมาปราศรัยกับผู้ที่มาต้อนรับโดยแจ้งว่าได้รับทราบปัญหาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยแล้ว และจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวในชุมชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้รู้หน้าที่และปกป้องสิทธิของตนเอง โดยนางออง ซาน ซูจีจะคอยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง (คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดของการปราศรัย)

ออง ซาน ซูจี กล่าวปราศรัยจากระเบียงชั้น 3 ของสำนักงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ MWRN ที่มหาชัยวิลล่า ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ท่ามกลางผู้สนับสนุนนับพันคนที่มารอต้อนรับ เมื่อ 30 พ.ค. (ที่มาของภาพ: ปาลิดา ประการะโพธิ์)

ออง ซาน ซูจี กล่าวปราศรัยจากระเบียงชั้น 3 ของสำนักงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ MWRN ที่มหาชัยวิลล่า ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (ที่มาของภาพ:  K.THADCHAPONG PHOTOGRAPHY)

ออง ซาน ซูจี ภายหลังจากหารือกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่สำนักงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ หรือ MWRN ที่มหาชัยวิลล่า ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อ 30 พ.ค. (ที่มาของภาพ:  K.THADCHAPONG PHOTOGRAPHY)

 

ทั้งนี้ในเดือนหน้า นางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านวัย 66 ปี ของพม่า ยังมีแผนที่จะเดินทางเยือนยุโรป ซึ่งเธอจะเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เธอได้รับประจำปี 2534 ที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ และจะกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักร รวมทั้งเข้าร่วมประชุมทางด้านแรงงานที่จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น