โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

May Day 2012: เดินรณรงค์หลากประเด็นวันกรรมกรสากล

Posted: 01 May 2012 01:19 PM PDT

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 55 ซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ มีการจัดกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์ โดยมีผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วมหลายพันคน  ทางด้านกลุ่มองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งเข้าร่วม และกระทรวงแรงงานสนับสนุนงบประมาณ 5.1 ล้านบาท เดินขบวนไปยังท้องสนามหลวง โดยมีการนำช้างซึ่งระบุว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติจำนวน 9 เชือกมานำขบวนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษา84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

 
ส่วนกลุ่มซึ่งนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) มีจุดหมายอยู่ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว โดยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ได้แก่ 1.รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน 2.รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์อุทกภัยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 3.รัฐและรัฐสภาต้องสนับสนุนการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และเพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 4.รัฐต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2550 มาตรา 9(5) กลับไปใช้บทบัญญัติเดิม เนื่องจากลิดรอนสิทธิของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและเป็นการเลือกปฎิบัติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย เดินขบวนเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยมีจุดมุ่งหมายคือบริเวณหน้าศาลฎีกา ซึ่งผู้ใช้แรงงานที่มาร่วมเดินขบวนส่วนใหญ่ติดสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความสีแดงว่า Free Somyot เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีมาตรา 112

ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้ 1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยเลือกตั้งประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการโดยตรง 2) ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 3) กระบวนยุติธรรมกับผู้ต้องหา ให้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว และนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ 4) นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง และ 5) จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หลักประกันที่ดินทำกิน หลักประกันที่อยู่อาศัย เรียนฟรีทุกระดับ รพ.พยาบาลประกันสังคม รักษาฟรีทุกโรค และระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม

นายกฯ เตรียมยกระดับคนงาน รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2555 โดยกล่าวขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติตลอดมา พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกำลังแรงงานทุกสาขาอาชีพทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกเพศทุกวัยให้มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำงานอย่างปลอดภัย มีอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี อาทิ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการแล้ว 7 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดในปี 2556

ในส่วนของผู้ประกอบกิจการ จัดให้มีโครงการโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมสีขาวเพื่อป้องกันยาเสพติด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย พร้อมส่งเสริมและพัฒนางานด้านสวัสดิการแรงงานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ส่วนแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ รัฐบาลก็ได้ให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ได้รับตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งดูแลการจัดส่งไปทำงาน และติดตามดูแลช่วยเหลือกรณีประสบปัญหา

ทั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลจะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและทักษะด้านภาษาของแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานไทยที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคง ภูมิคุ้มกันและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้แรงงานสืบต่อไป
 

 

หมายเหตุ: ภาพโดย พิสิษฐ์ ดิษะธนะสิทธิ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(4)

Posted: 01 May 2012 09:59 AM PDT

จากตอนที่แล้วแนวความคิดของดวอร์กินช่วยพัฒนาทฤษฎีความยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่งโดยยกมิติความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลขึ้นมาพิจารณาด้วย ซึ่งรอว์ลและเซนไม่ได้พูดถึง ความยุติธรรมของดวอร์กินจากการกระจายอย่างเท่าเทียมกันของทรัพยากรเริ่มต้นเพื่อให้ปัจเจกชนทุกคนเข้าไปสู่ระบบตลาดเสรีและเกิดการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันจนกระทั่งระบบถึงสมดุลย์คือ ทุกคนไม่มีความอิจฉาริษยาต่อกัน ซึ่งนอกจากการกระจายทรัพยากรเริ่มต้นเท่ากันแล้วทั้งนี้สังคมต้องรับผิดชอบการกระจายความสามารถและโชคส่วนบุคคลเช่นกัน

สำหรับดวอร์กินแล้วรัฐต้องทำหน้าที่ในการกระจายทรัพยากรเริ่มต้นให้กับคนเท่าๆกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบว่าแต่ละคนจะไปถึงยังจุดที่ต้องการหรือไม่ ไม่จำเป็นที่ว่าทุกคนจะต้องมีผลลัพธ์จากการใช้ทรัพยากรเท่าๆกัน ชีวิตก็เหมือนการพนัน เมื่อคนตัดสินใจด้วยตนเองแล้วว่าอยากเป็นอะไรก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะสำเร็จหรือสมหวัง ในง่นี้ดวอร์กินจึงมองว่าการเลือกวิถีชีวิตและเป้าหมายของคนจึงเป็น option luck (โชคที่ทราบความเสี่ยงในการเล่นและผลตอบแทนที่ได้ชัดเจน) ที่ทุกคนเข้ามาเดิมพัน และรัฐจึงไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบ

กรณีความสามารถดวอร์กินมองว่าเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งซึ่งต้องทำการกระจายอย่างเท่าเทียมกันเฉกเช่นทรัพยากรภายนอกที่จำเป็นต่อการผลิต ยกตัวอย่างเช่น มีคนสองคนที่มีรสนิยมการใช้ชีวิตเหมือนกันคือ อยากเป็นชาวนา แต่ว่าคนแรกมีความสามารถในการทำนามากกว่าและส่งผลให้ผลผลิตของคนแรกมากกว่าคนที่สอง ดังนั้นสังคมจึงต้องกระจายผลผลิตให้เท่าๆกันเพื่อให้เกิดการโอนถ่ายความสามารถจากคนที่เก่งกว่าไปสู่คนที่ด้อยกว่า แต่ถ้าเป็นกรณีเช่น สองคนนั้นเป็นฝาแฝดที่มีความสามารถเหมือนกันทุกอย่าง แต่คนแรกมีพื้นที่นาที่เพาะปลูกดีกว่าคนที่สอง ส่งผลให้ฝาแฝดคนแรกมีผลผลิตที่มากกว่า ดังนั้นรัฐต้องทำการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกันโดยเช่น การกระจายพื้นที่นาที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน หรือกรณีที่ทำไม่ได้ก็ให้มีการชดเชยโดยใช้ผลผลิต

อย่างไรก็ตามแนวความคิดของดวอร์กินก็ถูกวิพากษ์จาก John Roemer -โรเมอร์วิพากษ์เรื่องต้องอาศัยระบบประกันในฝันของดวอร์กินที่เปลี่ยน brut luck (โชคที่ไม่ทราบความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจน เช่นการเกิดอุบัติเหตุ) เป็น optional luck เพื่อให้สังคมรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่เป็น brut luck เท่านั้น โดยระบบประกันหรือการโอนถ่ายภาษีทำหน้าที่โอนถ่ายทรัพยากรจากผู้ไม่ประสบภัยชดเชยให้กับผู้ประสบภัย โรเมอร์ยกตัวอย่างเช่น กรณีเกิดมหันตภัยขึ้น เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คาดไม่ได้ว่าจะเกิด เราไม่จำเป็นต้องซื้อระบบประกันภัยก็ได้แต่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเช่น การเลือกพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย แล้วกรณีเช่นนี้ควรจะถือว่าเป็น brut luck หรือ optional luck ถ้ามีคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วประสบอุบัติเหตุแล้วควรจะมีการโอนถ่ายทรัพยากรจากผู้ไม่ประสบภัยให้ผู้ประสบภัยในกรณีนี้หรือไม่ การเกิดเหตุครั้งนี้มีสาเหตุบางส่วนมาจากการตัดสินใจส่วนบุคคลหรือไม่ สำหรับโรเมอร์แล้วเขาเน้นว่าต้องแยกให้ออกชัดเจนว่าสิ่งใดควรจะเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนรับผิดชอบและสิ่งใดที่ปัจเจกชนไม่ต้องรับผิดชอบ

กรณีที่สองโรเมอร์แย้งดวอร์กินในเรื่องการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกัน สำหรับดวอร์กินแล้วเขาคิดว่าถ้าปัจเจกชนใดมีความชอบ รสนิยม ต่างๆเหมือนกันแล้วต้องได้รับทรัพยากรที่เท่ากัน แต่ในกรณีของโรเมอร์คิดว่ากรณีที่ปัจเจกชนมีปัจจัยที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบเหมือนกันเช่นมีรสนิยมต่างๆเหมือนกัน และเลือกตัดสินใจทำในสิ่งเดียวกันแล้วต้องได้รับผลลัพธ์ที่เท่ากัน (equality responsibility, equality of outcome) เช่น กรณีคนสองคนที่มีความชอบเหมือนกันได้ซื้แประกันสุขภาพเหมือนกัน แต่คนแรกปลอดภัยดีส่วนคนที่สองประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นสำหรับดวอร์กินแล้วจะต้องมีการกระจายทรัพยากรจากคนแรกไปให้คนที่สองเพื่อชดเชยแต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์สวัสดิภาพโดยรวมยังคงไม่เท่ากัน ในขณะที่สำหรับโรเมอร์แล้วต้องมีการกระขายทรัพยากรเพื่อให้ทั้งสองคนมีสวัสดิภาพที่เท่ากัน เช่นถ้ากรณีแรกแล้วมีแต่การให้เงินแก่ผู้พิการแต่ไม่มีสิ่งอื่นๆมาอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่มีการสร้างลิฟท์ให้ขึ้นลงในเมโทร ไปไหนมาไหนไม่ได้ สวัสดิภาพของผู้พิการย่อมไม่เท่ากับคนปกติเป็นต้น

สำหรับโรเมอร์ผลลัพธ์ต่างๆมาจากตัวแปรสองชนิดคือ circumstance variables ซึ่งเป็นตัวแปรที่สังคมต้องรับผิดชอบ กับ effort variables คือตัวแปรที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(4)

ความไม่เท่าเทียมกันของผลลัพธ์เนื่องมาจากสาเหตุ circumstance variables เป็นความไม่เท่าเทียมกันที่ไม่ชอบธรรมและต้องได้รับการแก้ไข ส่วนความไม่เท่าเทียมกันของผลลัพธ์เนื่องมาจากสาเหตุ effort variables เป็นความไม่เท่าเทียมที่ชอบธรรมและยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น สุขภาพเป็นผลลัพธ์สวัสดิภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของสุขภาพมีหลายสาเหตุเช่น การเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่ากันระหว่างคนรวยกับคนจน หรือขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การชอบออกกำลังกายหรือรักษาสุขภาพ ซึ่งถ้าสังคมมองว่าความไม่เท่าเทียมกันจากสาเหตุความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษาระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นเป็นการรับไม่ได้ การเข้าถึงการรักษาจึงเป็น circumstance variables ผลลัพธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนสองกลุ่มจึงต้องถูกแก้ไขโดยคนรวยต้องชดเชย(compensate) ให้คนจน ส่วนกรณีที่ความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพเป็นสาเหตุมาจากนิสัยชอบการออกกำลังกายที่ไม่เท่ากันโดยคนที่มีสุขภาพดีกว่าคือคนชอบออกกำลังกาย ปัจจัยด้านนิสัยหรือความชอบส่วนตัวเป็นสิ่งที่ปัจจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบเองและในสังคมเสรีประชิปไตยหลากหลายวัฒนธรรมมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่รับได้และไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง หรือนิสัยการออกกำลังกายนี้เป็น effort variables ดังนั้นการที่ผลลัพธ์สุขภาพที่ไม่เท่ากันระหว่างคนสองกลุ่มจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ คนที่มีสุขภาพดีกว่าจากการออกกำลังมากกว่าเสมือนว่าเป็นผลตอบแทน(reward) จากความพยายามของเขาเอง

สำหรับสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ หรือ effort variables นั้น โรเมอร์เห็นต่างจาก รอว์และดวอร์กินที่ว่า ความชอบส่วนบุคคล(preference)เป็นสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ โรเมอร์แย้งว่า ความชอบส่วนบุคคลนั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดลอมที่เป็น circumstance variables ยกตัวอย่างเช่น การที่เด็กเอเชียมีความขยันเรียนหนังสือมากกว่าเพราะมีสภาพแวดล้อมที่กดดันให้เขาต้องเรียนหนังสือเช่นจากการบังคับของพ่อแม่ โดยที่ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจอย่างอิสระของตัวเด็ก สำหรับโรเมอร์แล้ว ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์ต่างๆที่มาจากการตัดสินใจโดยปัจเจกชนอย่างอิสระแท้จริงโดยปราศจากอิทธิพลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ และสังคมมีหน้าที่กระจายให้ทุกคนมีโอกาสตัดสินใจเลือกได้เท่าๆกัน (equality of choice)

เชิงอรรถ

  • DWORKIN R., « What is Equality ? Part 2: Equality of Resources », Philosophy and Public Affairs, 10, 1981.
  • FLEURBAEY M., SCHOKKAERT E., « Equity in Health and Health Care », ECORE Discussion Paper, 2011.
  • ROEMER J.E., Theories of Distributive Justice, Harvard University Press, 1998.
  • ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

Posted: 01 May 2012 09:09 AM PDT

ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว

1 พ.ค.55 ศาลอาญา

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 1 ปีอธรรม คุมขังสมยศ

Posted: 01 May 2012 09:03 AM PDT

เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2554 ขณะที่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการนำเที่ยวกัมพูชา กำลังดำเนินการตามขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมือง ที่อรัญประเทศ  เพื่อที่จะนำคณะท่องเที่ยวไปยังกัมพูชา ก็ได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า คุณสนยศถูกออกหมายจับโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากนั้น ทนายความของคุณสมยศก็ได้ยื่นขอประกันตัว แต่ในที่สุดศาลไม่พิจารณาให้ประกันตัว คุณสมยศจึงต้องอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การจับกุมคุณสมยศในขณะนั้น เป็นการดำเนินการภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เห็นคุณสมยศเป็นศัตรูทางการเมืองของตน และนี้เป็นการจับกุมคณสมยศครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้จับกุมครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ในข้อหาละเมิดภาวะฉุกเฉิน แล้วคุมขังอยู่ 21 วัน ดูเหมือนว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามใบสั่ง เพราะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอธิบายว่า ส่วนสืบสวนสะกดรอย ของดีเอสไอ เข้าจับกุมคุณสมยศ ที่ได้กระทำผิดในคดีต่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะการกระทำผิดเป็นเครือข่ายโดยใช้เครื่องมือสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต แต่เอาเข้าจริง ในระยะต่อมา ทางการดีเอสไอ.ไม่ได้ฟ้องในเรื่องอินเตอร์เนตเลย แต่ฟ้องในฐานะที่คุณสมยศเป็นบรรณาธิการหนังสือวอยส์ออฟทักษิณ ในฉบับที่ 15 มีบทความเรื่อง“แผนนองเลือด” ในคอลัมน์ คมความคิด ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝง “จิตร พลจันทร์”ที่ถูกตีความว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การจับกุมคุณสมยศดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นการตั้งใจใช้อำนาจในการคุกคามสื่อมวลชนฝ่ายค้าน ด้วยการใช้ข้อหาตามมาตรา 112 เป็นเครื่องมือ แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ก็คือการริดรอนสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ถือว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด จนกระทั่งศาลได้ตัดสินว่ามีความผิดแล้ว ซึ่งหลักการนี้ ก็ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ มาตรา 22 ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาควรที่จะต้องมีสิทธิประกันตัวมาสู้คดี และในปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการยื่นขอประกันตัวคุณสมยศถึง 8 ครั้ง แต่ศาลก็ยืนกรานที่ไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างอย่างเดียวว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ถ้าให้ประกันตัวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ในที่สุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของคุณสมยศ ก็ได้อดอาหารประท้วงที่หน้าศาลอาญา 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของบิดา  แต่ศาลก็ยังคงเมินเฉยอยู่นั่นเอง

กรณีจับกุมคุณสมยศด้วยข้อหา 112 ในทางระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขัดหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ จึงเกิดการเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรกรรมการนานาชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศอย่างไม่มีเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554 สหภาพแรงงานประเทศเนปาล ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทยให้ปล่อยตัวคุณสมยศโดยทันที และล่าสุด ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2555 นี้ สหภาพแรงงานกลางของเกาหลีใต้ และ สหภาพแรงงานรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกาไทย ให้ปล่อยตัวสมยศโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า คุณสมยศถูกถูกจับกุมดำเนินคดี ในข้อหาที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำ แต่ถูกจับให้เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ ที่น่าสนใจก็คือ ในระหว่างการดำเนินคดี คุณสมยศถูกกลั่นแกล้ง โดยให้เดินทางไปสืบพยานต่างจังหวัด เช่น จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2555 และ ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ต่อมา จึงเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯ การย้ายที่คุมขังและสืบพยานลักษณะนี้ สร้างความลำบากอย่างมากแก่ผู้ต้องขัง เพราะเดินทางไปในรถที่ไม่สะดวก และต้องไปปรับการใช้ชีวิตใหม่ในเรือนจำต่างจังหวัด การดำเนินการเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิของคุณสมยศ ซึ่งการตระเวนส่งตัวไปสืบพยานยังหลายจังหวัดเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในการพิจารณาคดีในประเทศไทย

การคุมขังคุณสมยศด้วยความผิดตามมาตรา 112 นี้ เป็นการสะท้อนถึงความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกลายเป็นเรื่องปกติ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า มีประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และขณะนี้ยังในคุก ตัวอย่างเช่น

คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 จนถึงขณะนี้ ถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 4 ปี

คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ขณะนี้ติดคุกมาแล้ว 14 เดือน โดยคุณสุรชัยถูกฟ้องคดี 112 ทั้งหมด 7 คดี คุณสุรชัยจึงขอต่อศาลให้รวมคดีเข้าด้วยกัน เพื่อจะได้สารภาพแล้งจบคดีโดยเร็ว

คุณเลอพงษ์ วิชัยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน ชาวอเมริกันสัญชาติไทย ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลหนังสือ King never smile จากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย ลงในคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ลดลงเหลือ 2 ปีครึ่ง

คุณอำพน ตั้งนพคุณ หรือ อากง ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เป็นข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

ฯลฯ

ปัญหาร่วมจากความไม่เป็นธรรมของผู้ต้องคดีก็คือ การไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในแทบทุกกรณี และการที่ศาลมีแนวโน้มจะตัดสินให้ผู้ต้องหามีความผิดทั้งที่หลักฐานอ่อน เช่น กรณีของคุณอำพน หลักฐานอ่อนมาก และโจทย์ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยซ้ำว่า คุณอำพนเป็นคนส่งข้อความ ทั้งยังมีเหตุที่อธิบายได้ว่า คุณอำพนอาจจะใช้เอสเอ็มเอสไม่เป็นเลย แต่ศาลก็อ้างว่า กรณีนี้โจทย์ไม่ต้องพิสูจน์เพราะ “ผู้ที่กระทำความผิดลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้” กรณีโจ กอร์ดอนซึ่งอยู่ต่างประเทศมานาน และใช้พิมพ์ดีดไทยไม่เป็น คีบอร์ดคอมพิวเตอร์ที่จับมาได้ ก็ไม่มีอักษรภาษาไทย การจะแปลหนังสือลงอินเตอร์เนตคงเป็นเรื่องยาก และยิ่งกว่านั้น หนังสือเรื่อง King never smile ก็เป็นหนังสือวิชาการที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล และวางขายอย่างเปิดเผยในต่างประเทศ แต่ศาลก็อ้างให้เป็นไปตามคำฟ้อง แล้วก็ตัดสินไปตามที่จำเลยสารภาพ

ปัญหาความไม่เป็นธรรมของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่จะต้องติดคุกทันทีเมื่อถูกกล่าวหา และมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ในคุกนาน จึงทำให้เกิดความสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ผู้ต้องหาหลายคน ตัดสินใจรับสารภาพ ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อที่จะไม่สู้คดีแล้วให้การพิจารณาคดีจบ แล้วรอคอยความหวังจากการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข จึงแสดงท่าทีต่อกรณีนี้ว่า จะไม่รับสารภาพและขอพระราชทานอภัยโทษ  เนื่องจากตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ หากรับสารภาพก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ คุณสมยศกล่าวว่า “คนที่เขารับสารภาพเพราะเขาไม่เชื่อมั่น สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว แค่สิทธิในการประกันตัวก็ยังไม่มี ฝ่ายผู้เสียหายก็ยังไม่เคยปรากฏตัวในชั้นศาลซักครั้ง ที่เราสู้ เพราะอยากรู้ด้วยตัวเองว่า ความยุติธรรมสำหรับคดี 112 ยังหลงเหลืออยู่ไหม” คุณสมยศย้ำว่า ผลการแพ้ชนะคดีสำหรับเขาแล้วมีค่าเท่ากัน เพราะหากได้ออกจากเรือนจำก็ยังเจอกรงขังที่ใหญ่กว่า ที่ผ่านมาถือว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศแล้ว มีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่พลเมืองที่ดีควรจะเป็น

ดังนั้น ในโอกาส 1 ปีในคุกของคุณสมยศ จึงขอสดุดีจิตใจของนักต่อสู้ของคุณสมยศอย่างจริงจัง และฝากใจไปถึงเหยื่อของกรณี 112 ทั้งหมดด้วย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โสภณ พรโชคชัย: ศาสนาไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวในการปราบปรามการทุจริต

Posted: 01 May 2012 08:55 AM PDT

        ประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนากลับมีดัชนีความโปร่งใสต่ำ แต่หลายประเทศที่ประชากรจำนวนมากระบุว่า “ไม่มีศาสนา” กลับมีความโปร่งใสสูง  ศาสนาจึงไม่ใช่เครื่องมือที่จะสามารถใช้เพื่อการปราบทุจริตและประพฤติมิชอบ  กระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนต่างหากที่เป็นหลักประกันความโปร่งใส

        ผมได้เดินทางไปทัศนศึกษายังประเทศอินเดียในฐานะนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส) รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการ ปปช  ผมสังเกตว่าประชาชนที่นั่นส่วนใหญ่ต่างยึดถือศาสนาอย่างเหนียวแน่น  แต่กลับมีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย ดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perception Indexs (CPI) ก็ค่อนข้างต่ำ คือได้คะแนนเพียง 3.1 เต็ม 10 

        ผมได้เรียนถามท่านวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช.  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่นำคณะทัศนศึกษาในครั้งนี้  ท่านให้ความกระจ่างว่า ศาสนานั้นน่าจะมีส่วนในแง่ของการป้องกัน  แต่เรื่องปราบปรามแล้วใช้ศาสนาอย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอ ต้องมีปัจจัยอื่นเสริมความเข้มแข็งด้วย

        ผมได้นำข้อมูลดัชนีความโปร่งใสประจำปี 2554 <1> มาพิจารณาร่วมกับอัตราของผู้ไม่มีศาสนาในแต่ละประเทศ <2> พบว่าประเทศที่มีการทุจริต ขาดความโปร่งใสที่สุด 20 ประเทศแรก (ยกเว้นเกาหลีเหนือ) ประชากรเกือบทั้งหมด (99.4%) ต่างนับถือศาสนา มีเพียง 0.6% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีศาสนา  แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีความโปร่งใสที่สุด 20 ประเทศแรก (ยกเว้นนอร์เวย์และเดนมาร์ก) ปรากฏว่ามีประชากรถึง 30% ที่ไม่ได้นับถือศาสนาใด

        เมื่อพิจารณาในรายละเอียด เช่นในกรณีศาสนาพุทธที่ไทยคุ้นเคย จะพบว่าประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ล้วนเป็นประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธเช่นประเทศไทย แต่ก็มีดัชนีความโปร่งใสต่ำมาก  ประเทศที่เหนียวแน่วในศาสนาฮินดู เช่น เนปาล และอินเดีย ก็มีปัญหาการทุจริตมากมายเช่นกัน  แต่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ระบุว่า ‘ไม่นับถือศาสนา’ กลับมีดัชนีความโปร่งใสสูงอยู่ระดับต้น ๆ ของโลก ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น เชค เอสโทเนีย เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้  นอกจากนี้ ประเทศที่มีประชากรเกินหนึ่งในสามจนถึงเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่มีศาสนา แต่ประเทศโปร่งใสมากประกอบด้วย ฝรั่งเศส มาเก๊า เบลเยียม เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร

        ประเทศที่ในอดีตขึ้นชื่อด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น เกาหลีใต้ และโดยเฉพาะฮ่องกง <3> ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. ถึงกับเชิญมาแสดงปาฐกถาเมื่อปี 2553 นั้น ไม่ได้ใช้ศาสนามากล่อมเกลาให้หยุดการทุจริต  เพราะประชาชนส่วนใหญ่ระบุชัดว่าไม่ได้นับถือศาสนาไหน  ความสำเร็จของการปราบปรามการทุจริตเกิดจากการที่หน่วยงานปรามปรามการทุจริตเร่งดำเนินการอย่างจริงจังโดยมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด ทำให้โอกาสการทุจริตมีน้อยลงและค่อย ๆ ลดลงไปในที่สุด

        กลับกันมาดูประเทศที่อุดมด้วยศาสนา ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว พม่า เขมร เนปาล อินเดีย  ศาสนสถานก็มีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน  มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่องเคร่งครัด  แต่การที่ประชากรในประเทศเหล่านี้ระบุว่าตนเป็นศาสนิกชนก็ใช่ว่าจะปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีที่ไม่กระทำการทุจริต  บางครั้งศาสนิกชนที่ดีบางส่วนก็อาจถือว่า ‘ธุระไม่ใช่’ จึงไม่ขัดขวางการทุจริตหรือไม่ร่วมกับสังคมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  การทุจริตจึงเกิดขึ้นดาดดื่นในประเทศเหล่านี้เสมือนหนึ่งเป็นประเทศที่ไร้ศีลธรรมจรรยา

        ในอีกนัยหนึ่ง ศาสนาอาจเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองประเทศ ดูอย่างในประเทศอินเดีย ความเชื่อทางศาสนาสามารถใช้ควบคุมประชาชนให้อยู่ในกรอบ  แม้ประชาชนผู้อยู่ในวรรณะระดับล่างสุดก็ยังยึดถือในคำสอนของศาสนาโดยเคร่งครัดโดยไม่กล้ากบฏหรือปฏิวัติความคิดของตนเอง  การยึดมั่นในชนชั้นวรรณะตามหลักศาสนากลับเป็นการช่วยชนชั้นผู้ได้เปรียบได้มีโอกาสอยู่ในสถานะนี้นาน ๆ มากกว่าจะเพื่ออำนวยประโยชน์ทางโลกแก่ประชาชนส่วนใหญ่

        อย่างไรก็ตามบางท่านอาจโต้แย้งว่า คนที่ระบุตนว่าเป็นศาสนิกชนนั้น อาจเป็นเฉพาะในนามเท่านั้น แต่ไม่ปฏิบัติธรรม จึงไม่ได้นำคำสอนที่ดีงามต่าง ๆ ตามหลักศาสนาของตนมาใช้  แต่ก็น่าแปลกที่บุคคลที่ระบุว่าตนว่าไม่นับถือศาสนาใด กลับดูประหนึ่งมีธรรมในหัวใจ ปฏิบัติตนตามทำนองคลองธรรมได้อย่างไร 

        การรณรงค์กล่อมเกลาคนด้วยศาสนานั้น คงได้ผลกับเยาวชนเป็นหลัก  ถือเป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี เป็นมาตรการป้องกันในระยะยาว แต่ในท่ามกลางการทำสงครามกับการปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการที่ประเทศชาติต้องเอาชนะให้ได้โดยเร็วก่อนจะสายเกินแก้นั้น  การปราบปรามมีความสำคัญที่สุด และเครื่องมือในการปราบปรามรวมทั้งการป้องกันก็คือ การมีระบบตรวจสอบการทุจริตที่มีประสิทธิภาพสูง ทันการและเที่ยงธรรม

        ยิ่งกว่านั้น ท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ ยังได้ให้ข้อคิดสำคัญว่านอกจากการตรวจสอบแล้วก็ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เพียงพอแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการคุ้มครองพยาน และการไม่มีอายุความในคดีทุจริต เป็นต้น

        ประเทศไทยต้องเร่งรณรงค์ปราบปรามการทุจริตให้เข้มแข็ง ต้อง ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ คอยตรวจสอบ ตรวจจับการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง-เกาะติด เผยแพร่ความรู้และเร่งสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนต่อการร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  การจุดไฟให้สว่าง สร้างความโปร่งใสให้ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ความมืดก็จะหมดไป

        ผีย่อมกลัวแสงสว่าง!

 

 

หมายเหตุ

<1> ดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ซึ่งดำเนินการทุกปีโดย the Transparency International โดยผลการสำรวจปีล่าสุด ปรากฏที่ http://cpi.transparency.org/cpi2011/results/#CountryResults

<2> Wikipedia. Religions by Country. http://en.wikipedia.org/wiki/Religions_by_country

<3> Change Fusion. แนวทางต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : ฮ่องกง & เกาหลีใต้ ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ http://www.spt-th.com/attachments/2403_8_%20Change%20Fusion.pdf

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท MAY DAY 2012: หยาดเหงื่อเราถูกปล้น

Posted: 01 May 2012 08:42 AM PDT

 

 

 

หยาดเหงื่อเราถูกปล้น
เก็บไว้บนตึกตระกานฟ้า
ขูดรีดแรงงานด้วยเงินตรา
ผูกค่าความเป็นคนบนเงินเดือ



ปากท้องเราถูกปล้น
แขวนวันอดหวังวันอิ่มบนหลักเลื่
อน
ชักหน้าไม่ถึงหลังหวังทั้งเดือน
โศกสะเทือนสุขสงัดกลัดกล้ำกลืน



แรงงานเราถูกปล้น
บนกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกแผ่นผื
ทุนนิยมปนศักดินาฟื้นคืน
หน้าระรื่นดูดชีวิตด้วยกฏรั



เคียวฆ้อนเราถูกปล้น
การต่อสู้ฝังบนความสงัด
ไรเสียงโห่สรรเสริญจากภาครั
เป็นเพียงวันหยุดที่ถูกยัดบนปฏิ
ทิน


.....

วาดดาว

วันแรงงานสากล ปี ๕๕

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีวันแรงงานในกรีซ-ฝรั่งเศส กลายเป็นการขับเคี่ยวทางการเมือง

Posted: 01 May 2012 08:37 AM PDT

การชุมนุมวันแรงงานสากลในกรีซ ผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายรัดเข้มขัดของรัฐบาลปัจจุบัน ด้านฝรั่งเศสผู้ลงสมัครเลือกตั้งสามพรรคใช้เวทีวันแรงงานปราศรัยทางการเมือง ทั้งสองประเทศจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ค. นี้

 
1 พ.ค. 2012 - เหล่าแรงงานจากหลายพื้นที่ทั้วโลกได้มาชุมนุมกันในวันแรงงานสากล ซึ่งสำนักข่าว BBC รายงานข่าววันแรงงานโดยเน้นถึงการชุมนุมในประเทศแถบยุโรปที่กำลังเริ่มมีการลุกฮือมากขึ้นในหลายประเทศ และมีเบื้องหลังความไม่พอใจจากนโยบายลดงบประมาณ
 
BBC รายงานว่า ในสเปนและโปรตุเกส จะมีผู้ชุมนุมหลายพันคนเดินขบวนเรียกร้องในเรื่องการดิ้นรนเพื่อชดใช้หนี้สิน ด้านแรงงานในประเทศอาเซียนก็ออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสถาะการทำงานที่ดีขึ้น
 
ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ววันแรงงานสากลถือเป็นวันหยุดประจำชาติ และในบางประเทศก็มีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการ
 
 
ประท้วงต้านนโยบายรัดเข็มขัดในกรีซ
คนงาน ลูกจ้าง และนักศึกษาชาวกรีซหลายพันคน ต่างก็เดินขบวนอย่างสงบไปยังรัฐสภาในกรุงเอเธนส์ ถือป้ายว่า "ปฏิวัติ ณ บัดนี้" และ "เพิ่มภาษีคนรวย"
 
ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของกรีซรวมตัวกันในเขตอุตสาหกรรมอัสโปรปิกอส เพื่อให้กำลังใจคนงานโรงงานเหล็กที่หยุดงานประท้วงมาหลายเดือนแล้ว
 
ผู้ชุมนุมต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดก็ออกมาร่วมชุมนุมหยุดงานทั่วประเทศกรีซ
มาร์ค โลเวน ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากกรุงเอเธนสืว่า การชุมนุมประท้วงในวันที่ 1 พ.ค. ของที่นี่ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว เนื่องจากคนงานทั้งในภาคส่วนของรัฐและเอกชนต่างพากันนัดหยุดงาน
 
ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวว่า การชุมนุมในครั้งนี้ดูมีความรุนแรงน้อยกว่าการชุมนุมโดยทั่วไปในกรีซ เนื่องจากจิตใจของผู้ชุมนุมอยู่ที่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ที่ชาวกรีกจำนวนมากจะได้ระบายความไม่พอใจต่อมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
เวทีขับเคี่ยวทางการเมืองในฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศสเองก็เน้นถึงการเลือกตั้งในวันที่ 6 นี้เช่นกัน โดยนาง เลอ ป็อง จะนำขบวนผู้ชุมนุมในกรุงปารีสไปยังอนุสาวรีย์โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีของฝรั่งเศส
 
เลอ ป็อง ได้รับคะแนนเสียงเป้นลำดับที่สามในการเลือกตั้งรอบแรก เธอกล่าวปราศรัยว่าสนับสนุนพรรคชาตินิยมควรเลือกตั้งอย่างมีสำนึก ด้านผู้นำพรรคอีกสองพรรคคือประธานาธิบดี นิโกลา ซาร์โคซี่ กับผู้สมัครพรรคสังคมนิยม ฟรานซัวส์ ออลลองค์ กลายเป็นผู้ที่ขับเคี่ยวกันในการเลือกตั้งรอบแรก
 
เลอ ป็อง กล่าวโจมตีการทำงานตลอดวาระ 5 ปีของซาร์โคซี่ และบอกว่าตัวเธอเองจะโหวต 'ไม่ลงคะแนนเสียง'
 
ด้าน ซาร์โคซี่ วางแผนจะร่วมการชุมนุมที่จัตุรัสโทรคาเดโร ขณะที่สหภาพแรงงานฝรั่งเศสจะเดินขบวนไปที่คุกบาสติล ซาร์โกซี่กล่าวถึงการเดินขบวนของตนว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึง "การทำงานอย่างแม้จริง"
 
ส่วนนาย ออลลองค์ จากพรรคสังคมนิยมได้ปราศรัยในเมืองเนเวอร์ส ในที่ชุมนุมของนักสหภาพแรงงาน โดยกล่าวว่า "เมื่อคุณเป็นแรงงาน คุณก็เป้นนักสหภาพแรงงานด้วย คุณรู้ดีว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นความเลวร้านที่กัดเซาะคุณอยู่"
 
พื้นที่อื่นๆ
BBC รายงานอีกว่ากลุ่ม Occupy เรียกร้องให้ทั่วโลกประท้วงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ โดยออกแถลงการณ์ว่า "กลุ่ม Occupy เรียกร้องให้วันที่ 1 พ.ค. 2012 เป็นวันที่คน 99 เปอร์เซนต์อย่างพวกเราหายไป (A Day Without the 99%)" ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มคนร่ำรวยเพียง 1 เปอร์เซนต์ ที่คอยปกครองกลุ่มคนไม่มีอำนาจ 99 เปอร์เซนต์อยู่
 
ในฮ่องกง มีคนงานราว 5,000 คนเดินขบวนเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในอินโดนีเซีย มีคนงาน 9,000 คน เดินขบวนเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างและการคุ้มครองแรงงานที่ดีกว่า ขณะที่ในฟิลิปปินส์คนงาน 8,000 คนก็ออกมาเรียกร้องขึ้นค่าแรงเช่นกัน
 
 
 
ที่มา
Europe focus of global May Day labour protests, 01-05-2012, BBC
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: คนงานลำพูนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ชี้ยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา

Posted: 01 May 2012 06:54 AM PDT

คนงานลำพูนร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติ หนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ชี้ยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา ยื่นหนังสือถึงนายกผ่านผู้ว่าฯ ให้ช่วยแก้ปัญหา

 

นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนให้ช่วยลงมาแก้ไขปัญหาที่แรงงานลำพูนเผชิญอยู่

1 พ.ค. 55 – ที่โรงเรียนจักรคำคณาทร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน ได้มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 โดยมีนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในการจัดงาน

นายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดลำพูน ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเล่นกีฬาร่วมกัน พร้อมทั้งให้พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ได้แสดงพลังความสามัคคี และตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่กลไกลในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้ใช้ชื่อว่าแรงงานไทย ร่วมใจสดุดี ราชวงศ์จักรี รักสามัคคีเพื่อแผ่นดินในปีนี้มีผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานทั้งจากภายในและภายนอกการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(กนอ.)หมู่ 4 ต.บ้านกลาง และ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ หมู่ 15 ต.ป่าสัก อ.เมือง รวม 30 แห่ง ประมาณ 1 พันคนมาร่วมกิจกรรมร่วมกันในวันนี้

ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดนั้นบรรดาสถานประกอบการได้มีการเดินรณรงค์ ไปตามถนนสายต่างๆ ก่อนเข้ามาสู่โรงเรียนจักรคำคณาทร ซึ่งภายในขบวนได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้รักสามัคคี และต้านยาเสพติด โดยเฉพาะในสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว วันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 ที่จัดให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคคล 

องค์กรแรงงานออกแถลงการณ์ หนุนนโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท

ทั้งนี้องค์กรแรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์, สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์, กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ, สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..

แถลงการณ์วันกรรมกรสากล

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ”วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า

ในปี พ.ศ.2555 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการ และนโยบาย ผลักดันให้ บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด รับพนักงานเข้าทำงานตามเดิม จำนวน 153 คน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวไม่ยินยอมเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัทฯ และกำลังเป็นความฟ้องร้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเลิกจ้างและการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม

2. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย มิให้บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบประชาธิปไตย 

3. เราขอสนับสนุน นโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท ทั่วประเทศในต้นปี 2556 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แม้ว่าสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯและองค์กรของนายทุนต่างๆ ที่เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะคัดค้านนโยบายนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องยืนยันนโยบายนี้ ตามที่หาเสียงไว้ ควรฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก

4. ขอให้รัฐบาล พิจารณาและควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้คงที่ ไม่มีการขยับราคาขึ้นเกินความเป็นจริง

5. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย ให้สำนักงานประกันสังคม ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ให้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน

6. ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ตลอดทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้ใช้แรงงาน คือ ขอเสนอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ ตามสภาพเงื่อนไขการดำรงชีวิตที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงาน

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียวเสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับ

ผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์

กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ

สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน

เผยคนงานลำพูนยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา

ด้านนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สหภาพแรงงานโฮย่า) นิคม อุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของแรงงานยังไม่ดีขึ้น แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ยังเสี่ยงต่อการถูก เลิกจ้างตลอดเวลา ขณะที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเลิกจ้างสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวไม่ใช้ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ต้องการดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นเรื่องของนายจ้างที่ต้องการลด ภาระค่าใช้จ่าย โดยเลือกเลิกจ้างกลุ่มแรงงานที่มีอายุมาก หรือมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เพราะฐานค่าจ้างและเงินเดือนสูงอยู่แล้ว หากปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาลก็จะทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงแก่แรงงานสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนปัญหาหาการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นกับพนักงานของบริษัท โฮย่า กลาสดิสค์ ประเทศไทย จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน กว่า 1,000 คน ล่าสุดเหลือพนักงานเพียง 153 คนเท่านั้นที่ไม่ยินยอมเซ็นเอกสารตามข้อเสนอของบริษัทฯ คือนอกจากเงินชดเชยตามอายุงาน ยังเพิ่มเติมให้อีก 2 เดือน ขณะที่ตัวแทนพนักงานและสหภาพฯได้เดินทางไปพบกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้ แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯมีมติให้บริษัท โฮย่า รับแรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานภายใน 1 เดือน แต่ล่าสุดบริษัทฯกลับปฎิเสธทำตามและไม่ยอมเจรจา

นอกจากนี้ตนเองยังถูกบริษัทฯเลิกจ้างเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า สร้างความเสื่อมเสียให้แก่บริษัทฯ ตนเองและพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมทั้ง 153 คน จึงต้องเดินหน้าฟ้องร้องบริษัทฯเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยและให้รับกลับเข้าทำงาน

"สาเหตุที่บริษัทฯเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ได้ให้เหตุผลว่าประสบปัญหาขาดทุนเพราะโรงงานถูกน้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบงบดุลบริษัทฯมีผลกำไรมาโดยตลอด ไม่ได้ประสบปัญหาเหมือนโรงงานอื่นๆที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งสาเหตุที่เลิกจ้างเพราะ เดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ บริษัทฯมีการเปลี่ยนสายการผลิตใหม่จึงมีการปรับปรุงโรงงานและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทั้งหมด ทำให้ บริษัทฯวางแผนเลิกจ้างพนักงานโดยเลือกพนักงานที่มีอายุงานมาก และกลุ่มที่มีอายุสูงวัย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และปลายเดือนพฤษภาคมเมื่อโรงงานแล้วเสร็จจะเปิดรับพนักงานใหม่ทั้งหมด"

ทั้งนี้นายอัครเดช ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนให้ช่วยลงมาแก้ไขปัญหาที่แรงงานเผชิญอยู่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ..

ที่ สออส.และสหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

วันที่ 1 พฤษภาคม 2555

เรื่อง ข้อเรียกร้องในโอกาสวันกรรมกรสากล 

เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ”วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า

ในปี พ.ศ.2555 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการ และนโยบาย ผลักดันให้ บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด รับพนักงานเข้าทำงานตามเดิม จำนวน 153 คน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวไม่ยินยอมเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัทฯ และกำลังเป็นความฟ้องร้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเลิกจ้างและการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม

2. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย มิให้บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบประชาธิปไตย 

3. เราขอสนับสนุน นโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท ทั่วประเทศในต้นปี 2556 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แม้ว่าสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯและองค์กรของนายทุนต่างๆ ที่เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะคัดค้านนโยบายนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องยืนยันนโยบายนี้ ตามที่หาเสียงไว้ ควรฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก

4. ขอให้รัฐบาล พิจารณาและควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้คงที่ ไม่มีการขยับราคาขึ้นเกินความเป็นจริง

5. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย ให้สำนักงานประกันสังคม ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ให้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน

6. ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ตลอดทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้ใช้แรงงาน คือ ขอเสนอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ ตามสภาพเงื่อนไขการดำรงชีวติที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงาน 

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียวเสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับ

ผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร

ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

นายอัครเดช ชอบดี

ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก: เนชั่นทันข่าว

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถิติและเซ็กส์ กับคุณครูภาวนา

Posted: 01 May 2012 05:36 AM PDT

 

ในห้องเรียนสถิติบ่ายวันหนึ่งที่อากาศอบอ้าว ท่ามกลางนักเรียนที่ง่วงหงาวหาวนอน เพราะตัวเลขสถิติเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นค่ามัธยฐาน ค่ากลาง ค่าเฉลี่ย ค่าแปรปรวน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระดับความเชื่อมั่น นัยสำคัญ และอื่นๆ อีกมากมาย นักเรียนแปลความหมายถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง ไม่รู้แปลว่าอะไรบ้าง

คุณครูภาวนา เห็นว่า ถ้าจะสอนต่อ คงไม่รู้เรื่อง และนักเรียนคงหลับแน่ๆ คุณครูภาวนาก็เลยเอาเรื่อง 10 Surprising Sex Statistics หรือ 10 สถิติเกี่ยวกับเซ็กส์ที่น่าประหลาดใจ ที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อวาน มาเล่าให้นักเรียนฟัง

ครั้งที่แล้ว คุณครูภาวนาสอนเรื่องค่าเฉลี่ย โดยยกตัวอย่าง ขนาดจู๋ของคนไทยเฉลี่ย 10.1 เซนติเมตร ใหญ่กว่าจู๋สัญชาติเกาหลีใต้ และเล็กกว่าจู๋ญี่ปุ่นนั้น เด็กๆ สงสัยว่า แปลว่าอะไร จู๋คนไทยทุกคนยาว 10.1 เซนติเมตรหมดเลยหรือเปล่า

คุณครูภาวนา อธิบายโดยใช้หลักการสถิติว่า เป็นค่าเฉลี่ย ณ ช่วงเวลาที่วัด นั่นคือ เอาขนาดความยาวของจู๋ของทุกคนที่ถูกถามในวันนั้นมาบวกกัน แล้วก็หารด้วยจำนวนจู๋ทั้งหมด ซึ่งการวัดขนาดความยาวอาจจะคลาดเคลื่อนได้ บางคนก็วัดตอนจู๋ไม่แข็ง บางคนวัดตอนแข็ง ซึ่งก็อาจจะมีตั้งแต่ 5 เซนติเมตร ถึง 15 เซนติเมตร ก็ได้ แต่ข้อมูลที่บอก บอกเพียงขนาดเฉลี่ย ไม่ได้บอกว่าจากกลุ่มตัวอย่างกี่คน อายุเท่าไหร่

หรือวัยรุ่นหญิงไทยคลอดลูกเฉลี่ยวันละ 336 คน ก็เป็นค่าเฉลี่ยที่นับได้จากโรงพยาบาลที่เก็บตัวเลข ณ ปี 2553 ซึ่งข้อมูลจริงๆ อาจจะมากกว่า 336 ก็ได้

สถิติเกี่ยวกับเซ็กส์ที่คุณครูภาวนา เอามาสอนเด็กวันนี้ มาจากเว็บไซต์ http://www.livescience.com/11387-10-surprising-sex-statistics.html

เรามาลองดูว่า 10 เรื่องเซ็กส์ที่เกี่ยวข้องกับสถิติมีเรื่องอะไรบ้าง และเรารู้มากน้อยแค่ไหน


HPV

50% หรือครึ่งหนึ่งของทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงที่จะติดเชื้อนี้อย่างที่เข้าใจ

HPV มาจากคำเต็มๆ ว่า Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยที่ 90 % ของการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อนี้ออกไปในเวลา 2 ปี ส่วนอีก 10 % กำจัดไม่ได้ ถ้าเราเจอไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ไม่อันตรายก็จะเป็นแค่โรคธรรมดา เช่น หูดที่อวัยวะเพศ แต่ถ้าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายก็จะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือ มะเร็งอื่นๆ (ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา)

คุณครูภาวนาเสริมว่า ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถฉีดเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว โดยฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 2 และ 3 ห่างจากเข็มแรก 2 และ 4 เดือนตามลำดับ องค์การอาหารและยาของอเมริกาแนะนำว่า ให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ปีก็ได้ เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวยังไม่มีการติดเชื้อ HPV และช่วงดังกล่าวเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่

แต่วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะสร้างภูมิต่อเชื้อ HPV ชนิด 6 11 16 และ 18 ดังนั้นถ้าใครยังไม่ได้รับเชื้อ 4 ตัวนี้ก็จะได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน และใครที่ชอบเปลี่ยนคู่นอน จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อไปแล้ว และอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้


ลาคลอดลูก

2 ใน 3 หรือ 67% ของผู้หญิงที่คลอดลูกระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึง 2546 ท้องไปด้วย ทำงานไปด้วย และมากไปกว่านั้น 80% ของหญิงสาวรักงานเหล่านี้ กลับไปทำงานหลังจากคลอดลูกภายใน 1 เดือนหรือน้อยกว่า

เรามาดูกันว่า ย้อนหลังไป 40 ปี คือปี พ.ศ. 2504 ถึง 2508 มีเพียง 44 % ของผู้หญิงที่ทำงานระหว่างท้อง และ 35% กลับไปทำงานหลังจากคลอดลูกภายใน 1 เดือนหรือน้อยกว่า (ข้อมูลจากสำมะโนประชากร สหรัฐอเมริกา)

คุณครูภาวนา ถามนักเรียนว่า เราจะแปลตัวเลขนี้อย่างไร แปลว่า ผู้หญิงปี 2544-2546 แข็งแรงกว่าผู้หญิงปี 2504-2508 ขยันทำงานกว่า ชอบทำงานมากกว่าเลี้ยงลูก หรือความจำเป็นบังคับ หรือมีคนเลี้ยงลูก

หรือสามีใช้สิทธิลาช่วยเลี้ยงลูกแทน หรือ...

เรามีเซ็กส์กับใคร กี่คน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสาธารณสุขแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ที่สำรวจชายและหญิงอายุระหว่าง 20 – 59 ปี พบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีเซ็กส์กับคน 4 คน ขณะที่ผู้ชายมีกับ 7 คน ณ นับถึงเวลาที่ถามคำถามนี้

คุณครูภาวนาได้ทีเสริมว่า ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเซ็กส์นะคะ จะได้ไม่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้อง ส่วนตัวเลขสถิติของนักเรียนคือเลขอะไร ไม่ต้องบอกครูก็ได้ แต่ทางที่ดี ไม่ต้องทำแต้มแข่งกัน จะดีกว่านะคะ

เซ็กส์กับเพื่อน

2 ใน 3 ของนักเรียนระดับวิทยาลัยในอเมริกามีเซ็กส์กับเพื่อน

มากกว่า 50% ของคนที่มีเซ็กส์กับเพื่อนบอกว่า มีเซ็กส์ได้ทุกรูปแบบ

22.7 % บอกว่า มีเฉพาะการสอดใส่

8 % ทำทุกอย่างยกเว้นการสอดใส่ (ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัย Wayne State และ มหาวิทยาลัย Michigan State)

คุณครูภาวนาย้ำอีกครั้งว่า ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเซ็กส์นะคะ ไม่ว่าจะกับใคร จะได้ไม่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้อง เราไว้ใจใครไม่ได้เลยนะคะในเรื่องนี้ ต่อให้เป็นเพื่อนก็เถอะ

ถึงจุดสุดยอดทุกครั้งไหม

75 % ของผู้ชายถึงจุดสุดยอดระหว่างที่มีเซ็กส์ ขณะที่ผู้หญิงมีเพียง 29 %

ผู้หญิงส่วนมากจะไม่ถึงจุดสุดยอดในการมีเซ็กส์แบบสอดใส่ แต่เป็นการถึงจุดสุดยอดโดยการกระตุ้นคลิตอริส (ข้อมูลจาก การสำรวจชีวิตทางสังคมและสุขภาพแห่งชาติ)

นักเรียนสงสัย ทำไม และเพราะอะไร เก็บไปคุยกันต่อในห้องเรียนเพศศึกษาดีกว่า

นอนกันยังไง

1 ใน 10 ของคู่แต่งงานบอกว่า โดยปกตินอนคนเดียว (ข้อมูล สมาคมการนอนหลับแห่งชาติ)

นักเรียน : สงสัยว่านอนกรนเลยต้องแยกกันนอน ส่วนอีก 9 คน ต่างคนต่างนอนกรนก็เลยนอนด้วยกันได้ เพราะไม่รู้ว่าใครกรน


ครั้งแรก...เมื่อไหร่

โดยเฉลี่ย ผู้ชายจะมีเซ็กส์ครั้งแรก เมื่ออายุ 16.9 ปี ผู้หญิงแก่กว่าเมื่อ 17.4 ปี

การศึกษาใหม่ๆ พบว่า ยีนอาจจะเป็นตัวที่ทำให้คน อยาก หรือ ไม่อยาก หรือ อยากมาก หรืออยากน้อย ที่จะมีเซ็กส์ในช่วงอายุน้อยๆ (ข้อมูล Kinsey Institute, California State University)

นักเรียน : จริงเปล่านี่ จะไปลองถาม คุณครูสอนชีวะ ดู

ต้องการ “ผู้ช่วย”

ราวๆ 5 % ของผู้ชายอายุ 40 ปี และ 15-25 % ของชายอายุ 65 ปี เคยมีประสบการณ์หย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ข้อมูลจาก National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases)

นักเรียน : รุ่นพ่อกับปู่เลยนะนั่น ไปถามพ่อกับปู่จะอธิบายให้ฟังไหมนี่ ลองดูว่า "เรื่องเพศ คุยกันได้" จริงหรือเปล่า

ขนาด สำคัญไฉน

จู๋ของอเมริกันชน ตอนแข็งตัวโดยเฉลี่ยยาว 5 – 7 นิ้ว และขนาดรอบจู๋ 4 - 6 นิ้ว (ข้อมูลจาก Kinsey Institute)

นักเรียน : มันยาวกว่าไทยหรือเปล่าหว่า ต้องแปลงนิ้วเป็นเซ็น หรือ เซ็นเป็นนิ้ว แล้วเทียบดู ว่าแต่ 1 นิ้ว มีกี่เซ็น

คุณครูภาวนา : 1 นิ้ว เท่ากับ 2.54 เซ็น

นักเรียน : จู๋ของคนอเมริกัน ขนาด 12.7 - 17.8 เซ็น ใหญ่นะนี่

ทำไมพวกเขาถึงทำกันขนาดนี้

ศตวรรษที่ 18 หญิงชาวรัสเซียสร้างสถิติโลก โดยการคลอดลูก 69 คนจากการตั้งท้อง 27 ครั้ง เป็นแฝดสอง 16 คู่ แฝดสาม 7 คู่ และแฝดสี่ 4 คู่ แต่สถิตินี้ก็ยังน้อยกว่ากษัตริย์โมร็อคโค ในปี 1721 ที่มีลูกสาว 342 คน และลูกชาย 700 คน ข้อมูลจาก "Why Evolution Is True" (Viking, 2009)

นักเรียน : คนสมัยก่อนสงสัยว่าง ถ้าอยู่ในประเทศไทยต้องไปเตะบอลจนเหนื่อยเลยนะนี่ ;)

จากที่ง่วงๆ นักเรียนตาสว่าง และสนุกกับตัวเลขเหล่านี้ เมื่อหมดชั่วโมงสถิติที่ไม่น่าเบื่อ นักเรียนบอกคุณครูภาวนาว่า คราวหน้า ขอเรียนแบบนี้อีกนะครับ / ค่ะ

 


ที่มา: โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ http://www.teenpath.net/content.asp?ID=15035#.T5-8SmbcnM5

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีเรีย: เกิดระเบิดใกล้กองบัญชาการทหารในเมืองอิดลิบ

Posted: 01 May 2012 03:30 AM PDT

มีรายงานเหตุระเบิดในซีเรีย ทางช่องโทรทัศน์รัฐบาลรายงานว่าเป็นระเบิดพลีชีพใกล้กับกองบัญชาการจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่หลายราย แม้คณะผู้ตรวจการจากยูเอ็นจะลงตรวจสอบการหยุดยิงในพื้นที่ของซีเรียแล้ว

30 เม.ย. 2012 - ทั้งนักกิจกรรมและสถานีโทรทัศน์ซีเรียรายงานว่ามีเหตุระเบิดในเมืองอิดลิบทางตอนเหนือของซีเรีย ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเสียชีวิต

ทางสถานีโทรทัศน์รายงานว่าเหตุระเบิดพลีชีพ 2 ครั้งเป็นเหตุทำให้ประชาชน 8 รายเสียชีวิต ขณะที่องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนของซีเรียบอกว่ามีประชาชนเสียชีวิต 20 รายจากการโจมตีมุ่งเป้าไปยังทหารรักษาความปลอดภัย

ด้านสหประชาชาติกำลังวางแผนส่งคณะผู้ตรวจการการหยุดยิงไปเพิ่มอีก 30 ราย และทางยูเอ็นยังบอกอีกว่า พวกเขาต้องการคนตรวจสอบมากกว่านี้อีก

ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนในซีเรียกล่าวว่าเหตุระเบิดเกิดขึ้นในอิดลิบใกล้กับกองบัญชาการหน่วยข่าวกรองกองทัพอากาศ และหน่วยข่าวกรองกองทัพบก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนของหน่วยรักษาความสงบ

โทรทัศน์รัฐบาลซีเรียรายงานว่า การระเบิดพลีชีพของผู้ก่อการร้ายสองรายในอิดลิบ สังหารประชาชนไป 8 ราย และทำให้อีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บทั้งพลเรือนและทหาร

โทรทัศน์รัฐบาลยังได้แพร่ภาพความเสียหายโดยมีภาพสิ่งก่อสร้างบางส่วนพังลงมา ท้องถนนเต็มไปด้วยเศษอิฐเศษปูน ซากยานพาหนะ และกองเลือด แรงระเบิดทำให้เศษซากกระจายออกไปหลายร้อยเมตร

นักกิจกรรมรายหนึ่งบอกว่าแหล่งระเบิดทั้งสองแห่งอยู่ห่างกันหลายร้อยเมตร และระยะเวลาระเบิดห่างกัน 5 นาที 

ก่อนที่ต่อมากลุ่มนักสิทธิฯ จะเปิดเผยเพิ่มเติมว่ามีการระเบิดครั้งที่ 3 ในอิดลิบใกล้กับมหาวิทยาลัย ทำให้หลายคนได้รับบาดเจ็บ พวกเขาบอกอีกว่ามีรายงานเหตุระเบิดในกรุงดามัสกัสจนทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย แต่ยังไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้

ทางสถานีโทรทัศน์ของซีเรียเปิดเผยว่ามีเหตุชายสามคนใช้เครื่องยิงจรวดโจมตีใส่ธนาคารกลางของซีเรียชั่วข้ามคืนที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีแหล่งข่าวยืนยันอย่างชัดเจนได้ในกรณีนี้อีกเช่นกัน

จิม เมอร์ ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่า เมืองอิดลิบเป็นเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างที่รู้กันดี แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาค่อนข้างสงบสุขเนื่องจากมีคณะผู้ตรวจการของยูเอ็นประจำอยู่ที่นี่สองคน

นักกิจกรรมเปิดเผยว่า แหล่งระเบิดจุดหนึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมที่คณะผู้ตรวจการพำนักอยู่เพียง 200 เมตรเท่านั้น ขณะที่สำนักข่าวซานาของรัฐบาลรายงานว่าคณะผู้ตรวจการได้ไปเยือนสถานที่ที่ถูกระเบิดในเวลาต่อมา

 

ที่มา

Syria unrest: Deadly blasts rock Idlib, BBC, 30-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-17892505 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กะเหรี่ยงแก่งกระจานเดินหน้าฟ้องอุทยานฯ เหตุเผาไล่ที่

Posted: 01 May 2012 03:28 AM PDT

หน่อแอะ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ถูกอุทยานเผาไล่ที เดินหน้าฟ้องแพ่งอุทยานแห่งชาติ และกระทรวงทรัพย์ฯ ฐานละเมิด โดยสภาทนายจัดหาทนายความให้ เผยชาวกะเหรี่ยงเตรียมร้องศาลปกครองอีกคดี

วันที่ 1 พ.ค. 2555 นายหน่อเอะ มีมิ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยบน และได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทยพม่าเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่ผ่านมา เดินทางมายังศาลแพ่ง เพื่อยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,622,500 โดยมีนายธนู เอกโชติ ทนายความจากสภาทนายความเป็นผู้ว่าความให้

กระเหรี่ยงแก่งกระจานเดินหน้าฟ้องอุทยานฯ เหตุเผาไล่ที่

โดยคำบรรยายฟ้องระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 5-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้มีการปฏิบัติการตามแผนโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทยพม่า ได้กระทำผิดกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยตอนบน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนไดรับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน เสื่อมเสียชื่อเสียง อันเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการบุกรุก รื้อทำลาย และเผาบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เมื่อกระทำการดังกล่าวแล้วยังให้ข่าวกับนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักว่า โจทก์และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU) เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อนบ้าน ได้บุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้ผู้ที่ได้รับชมข่าว ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือผู้อื่นซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงเกลียดชังและเชื่อว่าชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดังกล่าวบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และยังมีการเอาข้าวเปลือก เสื้อผ้า เงินทองของโจทก์และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงไป

กระเหรี่ยงแก่งกระจานเดินหน้าฟ้องอุทยานฯ เหตุเผาไล่ที่

เมื่อโจทก์และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงได้มาร้องขอคววามช่วยเหลือทางกฎหมายต่อสภาพทนายความฯ จึงได้มีคำสั่งที่ 11/2554 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยคณะทำงานได้แบ่งการพิจารณาออกเป็นคดีอาญา ปกครองและแพ่ง และเห็นว่า การกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง วันนี้จึงได้มอบหมายให้ นายธนู เอกโชติ นำคำฟ้องมาฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้จำเลยได้ร้องขอให้ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียม และได้ร้องขอภายหลังจากที่ยื่นคำฟ้องและคำร้องแล้ว ศาลได้เปิดไต่สวนคำร้องทันที โดยทนายเผยว่า ศาลได้ย้ำต่อโจทก์ว่า ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นายหน่อแอะต้องรู้และเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเอง โดยทนายได้อธิบายต่อศาลว่านายหน่อแอะนั้นมีความตั้งใจที่จะดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านภาษาก็ตาม

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การดำเนินการฟ้องแพ่งในวันนี้ เป็นการทำงานต่อเนื่องหลังจากที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นคำร้องมายังสภาทนายความ จากนั้นสภาทนายความจึงได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติละเมิดกฎหมายและสร้างความเสียหายแก่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยจริง จึงทำความเข้าใจและสื่อสารกับผู้ได้รับผลกระทบให้เข้าใจถึงสิทธิและข้อกฎหมาย โดยหลังจากนี้จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

เหตุการณ์เผาไล่ที่ชาวบ้านที่หมู่บ้านบางกลอยบน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีปฏิบัติการผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทยพม่าอย่างต่อเนื่อง และมีการร้องขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพบก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ฮ.ตกที่แก่งกระจาน มีนายทหารเสียชีวิต 17 ราย เป็นข่าวใหญ่ในปีที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: นักสิทธิฯ อยู่ไหน.. ตะลึง!!! คนงานเขียนคำร้องกว่า 500 คดีต่อปี

Posted: 01 May 2012 03:16 AM PDT

ปัญหาด้านกฎหมายกับคนงาน ‘นักสิทธิ-สภาทนายความ’ ยังไม่ให้ความสนใจ เมื่อไม่มีใครช่วยคนงานก็ต้องช่วยกัน ‘บุญยืน สุขใหม่’ คนงานที่เขียนคำร้องให้กับเพื่อนคนงานมากกว่า 500 คดี


 บุญยืน สุขใหม่

1 พ.ค. 55 – ชื่อ ‘บุญยืน สุขใหม่’ อาจจะไม่คุ้นหูในวงกว้างมากนักทั้งตามหน้าสื่อ ทั้งในกระแสหรือทวนกระแส แต่สำหรับคนงาน นักสหภาพ นักกิจกรรม ในแวดวงแรงงาน จะรู้จักชื่อนี้ดี โดยเฉพาะคนงานในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ถึงกับมีการขนานนามเขาว่าเป็น ‘อาจารย์’ ของกลุ่มคนงาน

รวมถึงนักวิจัย เอ็นจีโอ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่หากต้องทำเรื่องเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ชื่อของ ‘บุญยืน’ จะเป็นชื่อแรกๆ ที่คนเหล่านี้จะนึกถึง เพราะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับประเด็นแรงงาน เนื่องจากบุญยืนอาจจะเป็นเพียงนักสหภาพเพียงไม่กี่คนที่เก็บรวบรวมข้อมูลปัญหาต่างๆ ของคนงานไว้มากที่สุด

การเป็นนักสหภาพที่แข็งขันของบุญยืนในพื้นที่ภาคตะวันออก เริ่มจากปี 2535 บุญยืนได้ย้ายมาทำงานที่ จ.ระยอง ซึ่งในสมัยนั้นในภาคตะวันออกมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียงแห่งเดียว ได้เห็นสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทั้งจากนายจ้างและผู้บังคับบัญชา คนงานจึงได้ร่วมกับเพื่อนหารือกันในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในปี 2536 ได้ตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดระยองขึ้น  

ในปี 2536-2538 บุญยืนได้เข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายจัดตั้งและคุ้มครองแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และก้าวเดินไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ตามเส้นทางของนักสหภาพ ไม่ว่าจะเป็น รองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก (ระหว่าง ปี 2548 ถึง 2550), เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก (ระหว่าง ปี 2550 ถึง 2552), เลขาธิการคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ (ระหว่าง ปี 2548 ถึง 2550), ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ (ระหว่าง ปี 2550 ถึง 2552), รองประธาน(ฝ่ายวิชาการ) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ ปี 2553 ถึง2554) และผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ตั้งแต่ (ปี 2552 ถึงปัจจุบัน)

ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 บุญยืนซึ่งมีทัศนะคติที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงได้แยกตัวออกมาจากกลุ่มองค์กรแรงงานที่มีแนวทางโน้มเอียงไปทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาตั้งกลุ่มกับเพื่อนคนงาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานในพื้นที่โดยเคารพระบบประชาธิปไตยแบบสหภาพแรงงาน อย่างกลุ่ม ‘พัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก’ อันเป็นกลุ่มฐานรากก่อนที่จะมีการก่อตั้งสภาแรงงานสภาล่าสุดอย่าง ‘สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย’

“เราทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นพันธมิตรกัน เห็นเหมือนกันเรื่องไม่ต้องการรัฐบาลทักษิณ เพราะเป็นรัฐบาลนายทุน เราไม่เคยได้อะไรจากรัฐบาลทักษิณ พยายามยื่นข้อเรียกร้องไม่รู้กี่ครั้ง หน้าทำเนียบก็ไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้อย่างที่คาดหวัง ที่เห็นต่างคือเรื่องคืนพระราชอำนาจ และเรียกให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร ” -- บุญยืน สุขใหม่ 

“ปกติช่วงสิงหาถึงพฤศจิกาเป็นฤดูยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แต่เมื่อเกิดรัฐประหารเราได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ไปที่ไหน ชุมนุมที่ไหนเจอแต่กระบอกปืน พูดไม่ได้เลย โดยเฉพาะครั้งที่ฟอร์ดและมาสด้านัดหยุดงาน แกนนำโดนล็อคตลอด ใช้เวลา 10 กว่าชั่วโมงกว่าจะถึงหน้ากระทรวง โดนทั้งตำรวจและทหารสกัด ที่หน้ากระทรวงเขาก็ใช้ทหารเกเร ขี้เมาเข้ามาหาเรื่อง ในพื้นที่ก็เอาทหารมาป้วนเปี้ยนหน้าบ้านตลอด ไปนอนที่หน้าศูนย์ราชการ จ.ระยอง ก็เอาทหารถือเอ็ม 16 ไปล้อมตลอดเหมือนเราเป็นนักโทษ เราทำอะไรไม่ได้เลย  แม้กระทั่งจัดชุมนุมไฮปาร์คธรรมดาให้กำลังใจกันเมื่อบางสหภาพแรงงานมีปัญหาหนักๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ให้สิทธิเต็มที่ แต่พอรัฐประหาร แรกๆ ก็โดนยึดเวที ยึดเครื่องเสียง  แกนนำโดน มทบ.14 ที่ดูแลภาคตะวันออกเรียกไปคุย” -- บุญยืน สุขใหม่

ปัจจุบัน บุญยืน ยังเป็นคนงานเต็มเวลาของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง แต่หลังจากเลิกงานประมาณ 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม เขาจะไปประจำอยู่ที่บ้านที่ (อันเป็นศูนย์กลางการจัดตั้งสหภาพแรงงานของกลุ่ม) หรือไม่ก็ตระเวนไปยังที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาคนงานที่ประสบปัญหาได้รับค่าแรงต่ำ ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง ให้คำปรึกษาในเรื่องการบริหารงานสหภาพแรงงาน ทำสำนวนฟ้อง คำร้อง คัดค้าน รวมทั้งลงไปร่วมกิจกรรมกับคนงานในพื้นที่ที่มีปัญหา 

จากข้อมูลที่บุญยืนได้รวบรวม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – วันที่ 20 มี.ค. 2555 พบว่าบุญยืนได้เขียนคำแนะนำและคำร้องให้แก่ลูกจ้างแล้วกว่า 1,650 คดี เมื่อถามว่าเคยติดต่อให้สภาทนายความมาช่วยเหลือหรือไม่ บุญยืนตอบว่าเคยขอไปที่สภาทนายความจังหวัด แต่กลับได้รับการตอบมาว่าไม่มีคน และบุญยืนกล่าวว่าเรื่องกฎหมายนั้นคนงานจะไม่สนใจไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เพราะถึงเราไม่ใช้นายจ้างก็จะใช้ช่องว่างทางกฎหมายเล่นงานคนงานอยู่ดี

คดีที่ที่บุญยืนให้คำแนะนำลูกจ้างยื่น ในกรณีที่นายจ้างละเมิดกฎหมาย (4 ปีล่าสุด)



พ.ศ. 2552


พ.ศ. 2553


พ.ศ. 2554


พ.ศ. 2555 (20 มี.ค.)


554 คดี


470 คดี


579 คดี


47 คดี

โดยปัญหาแรงงานนั้นในสายตานักสิทธิมนุษยชนอาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจ (ถ้าหากไม่นับปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ดูสลดหดหู่ชัดเจน)

แต่ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปแล้ว มีคนหนุ่มสาวมุ่งตรงสู่โรงงานหลายล้านคน และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง … ในสถานการณ์เช่นนี้เอ็นจีโอกับนักสิทธิมนุษยชนเพียงจะมุ่งตรงไปหาคนชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ตามป่าตามเขา เท่านั้นหรือ?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมยศเบิกความ ชี้ “จักรภพ เพ็ญแข” ตัวจริงเขียนบทความ อ่านแล้วตีความแค่ “อำมาตย์”

Posted: 01 May 2012 02:56 AM PDT

สมยศเบิกความระบุ “จิตร พลจันทร์” นามแฝงของ “จักรภพ เพ็ญแข” เขียนบทความที่ถูกฟ้อง เขียนมาก่อนเขาเป็นบก. พร้อมแจงอ่านบทความคร่าวๆ เห็นว่าหมายถึง “อำมาตย์” ไม่อาจโยงถึงกษัตริย์ได้ ด้านทนายชี้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับใหม่ บก.ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเนื้อหา ดีเอสไอจับคนเขียนไม่ได้ จึงโยงจับสมยศ

 

1 พ.ค.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่นายสมยศเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Voice of Taksin ที่มีการตีพิมพ์บทความ 2 เรื่องที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ในปี 2552 เป็นเพียงผู้เขียนคนหนึ่งใน นิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาเมื่อถึงฉบับที่ 9 จึงมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ต่อจากนายประแสง มงคลสิริ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ-ประชาไท) โดยได้ค่าจ้าง 25,000 บาท นิตยสารเล่มนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด เนื่องจากร่วมกันหลายหุ้นและช่วยๆ กันทำ ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาด มีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งถูกสั่งปิดซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะมีเนื้อหาวิพากษ์การโยกย้ายนายพลในช่วงเวลานั้นอย่างหนัก  

สำหรับบทความที่ตีพิมพ์นั้น แบ่งเป็นบทความประจำที่ลงต่อเนื่อง และบทความใหม่ๆ ที่ต้องทำเพิ่มให้ทันสถานการณ์ ในส่วนบทความประจำจะมีทั้งผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝง โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมจะได้รับการลงพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการตัดทอนบทความแต่อย่างใด โดยปกติตนมีหน้าที่อ่านเพียงคร่าวๆ เนื่องจากมีบทความต้องพิจารณามาก และต้องเร่งให้ทันการปิดเล่ม

เมื่อถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บก.บห. โดยผู้ประสานงานติดต่อให้จักรภพมาเป็นคอลัมนิสต์คือ นายประแสง

เมื่ออัยการถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความในขั้นสุดท้าย สมยศขอดูรายชื่อกรรมการในนิตยสารอีกครั้งพร้อมระบุว่า ไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จากนั้นอัยการได้ซักถามเพิ่มเติมจนสุดท้ายสมยศตอบว่า ผู้มีสิทธิตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงบทความ ก็คือตัวนักเขียนเอง ตนมีหน้าที่นำไปส่งโรงพิมพ์

ในด้านเนื้อหาของบทความ นายสมยศตอบทนายว่า เมื่ออ่านบทความของจิตรฯ แล้วคิดว่าสื่อถึง “อำมาตย์” ไม่คิดว่าจะสื่อความถึงสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภาพประกอบบทความก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ไม่น่าจะทำให้ผู้อ่านโน้มเอียงไปในทางนั้นได้ ในส่วนที่พยานอื่นระบุว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เขาไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงท่อนจันทร์ แต่กล่าวถึงถุงแดงซึ่งเขาไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร การกล่าวถึงผู้อยู่ชั้นบนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็ไม่เกี่ยวข้องกษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด ส่วนการกล่าวถึงตัวละคร “หลวงนฤบาล” ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตำแหน่งหลวงนั้นต่ำกว่า อีกทั้งบทความยังระบุว่าหลวงนฤบาลสอพลอทหารใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงนายทหารที่ยศต่ำกว่าจอมพลฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเชื่อว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน  

นอกจากนี้ยังมีการเบิกความเกี่ยวกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสมยศเบิกความว่า เนื่องจากเป็นสื่อมวลชน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง โดยรู้ว่าตาม พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ 2484  บก.ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของหนังสือที่จัดพิมพ์ แต่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ได้ระบุว่าให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ

สุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการสืบพยานว่า กฎหมายใหม่ไม่ได้ระบุว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย หากบทความเข้าข่ายความผิดผู้เขียนต้องรับผิดชอบ การที่เจ้าหน้าที่จับตัวผู้เขียนไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา หรือต่อให้ยืนยันว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตีพิมพ์ก็ยังไม่ใช่นายสมยศอยู่ดี เพราะมีบรรณาธิการอีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือ แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี เพราะดีเอสไออ้างว่านายสมยศแสดงตนเสมือนเป็นบรรณาธิการ

สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา สมยศเบิกความต่อศาลว่า เคยทำสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์และหนังสืออื่นๆ มาก่อนจะมาทำนิตยสาร Voice of Taksin หลังจากโดนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งปิด ก็มาเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Red Power ต่อในเดือน ก.ค.53

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สมยศและสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ จากนั้นทั้งสองก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร โดยสุธาชัยถูกควบคุมตัว 7 วัน สมยศถูกควบคุมตัว 21 วัน โดยไม่มีการสั่งฟ้องคดีใดๆ ระหว่างนั้น Voice of Taksin ถูกปิด ทีมงานเดิมจึงเปิด Red Power ขึ้นมาใหม่โดยตีพิมพ์ได้ 5 เล่ม ก็ถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ จึงได้ไปจ้างพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชาแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทย พร้อมๆ กับการจัดทัวร์ท่องเที่ยวกัมพูชาด้วย

สมยศ ระบุว่า เขาเชื่อว่าการจับกุมเขามีที่มาจากผังล้มเจ้า ซึ่งระบุถึงหนังสือ Voice of Taksin และผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงสุธาชัยด้วย ซึ่งภายหลังสุธาชัยได้ฟ้องหมิ่นประมาท พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ผู้ประกาศผังล้มเจ้า จนสุดท้าย พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่าผังไม่มีมูล จึงได้มียอมความกันไป

ในทัศนะของสมยศ เขาคิดว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ซึ่งย้อนไปในอดีตจะพบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหาร โดยมีข้ออ้างว่ารัฐบาลทักษิณไม่จงรักภักดี และยังแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านและถูกจับกุมด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีจำนวนมาก ทั้งที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าพระมหากษัตริย์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอความจริง กระนั้นตนก็ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเหมือนประชาชนทั่วไป เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 และเห็นว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายอื่น อีกทั้งโทษ 3-15 ปีก็สูงเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักนิติรัฐ ส่วนพฤติกรรมที่ผ่านมา เคยแถลงข่าวถึงปัญหาเรื่องนี้และเสนอการรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา112 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ถูกจับกุมคุมขังในสัปดาห์ถัดมา

“ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว” สมยศให้สัมภาษณ์ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้า

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ “จิตร พลจันทร์” ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ โดยตีพิมพ์ในฉบับที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชื่อ “แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น”  และในฉบับที่ 16 เดือนมีนาคม 2553 ชื่อ เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 ซึ่งตามคำฟ้องระบุความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 112 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4

หลังจากถูกจับกุมเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการยื่นขอประกันถึง 9 ครั้ง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯและจะสืบพยานจำเลยในวันที่ 1-3 พ.ค.55 โดยในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้านายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ จะขึ้นให้การเป็นพยาน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อคาเดมิคสปริง: วงวิชาการต้านสำนักพิมพ์ขูดรีด

Posted: 30 Apr 2012 08:27 PM PDT

ปัญหาว่าความรู้ควรจะเป็นของซื้อของขายหรือไม่นั้นอยู่มาคู่กับภูมิปัญญาตะวันตกมาอย่างต่ำๆ ก็ตั้งแต่ที่ต้นตำรับนักปรัชญาอย่างโสเครติสถกเถียงกับเหล่าพ่อค้าความรู้อย่างพวกโซฟิสต์ในสมัยกรีกโบราณแล้ว ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการขายความรู้นี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่องประปรายเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดีภายหลังการปฏิวัติการพิมพ์ ทุนนิยมก็ค่อยๆ ทำให้ความรู้กลายมาเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ที่มีขายทั่วไปในตลาดอย่างช้าๆ และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ขึ้นครองอำนาจในโลกของการเผยแพร่ความรู้อย่างแทบจะไร้ข้อกังขาในโลกที่วัฒนธรรมการอ่าน/เขียนได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้หลักแทนการถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาถะของโลกดั้งเดิม และอำนาจการควบคุมการเผยแพร่ความรู้นี่เองที่เป็นพื้นฐานเป็นกระบวนการที่ขูดรีดในระดับที่นายทุนสุดขูดรีดที่ไหนในโลกเห็นแล้วควรจะอาย

กระบวนการขูดรีดดังกล่าวอยู่ในกระบวนการผลิตบทความวิชาการในยุคบัจจุบันนี่เอง กระบวนการพื้นฐานในการสร้างบทความวิชาการในปัจจุบันเริ่มจากการที่นักวิชาการเสนอโครงร่างงานวิจัยให้แหล่งทุนซึ่งมักจะเป็นของรัฐ ถ้าโครงร่างผ่านก็เขาก็จะรับเงินจากแหล่งทุนมาทำการวิจัย หลังจากทำการวิจัยเสร็จ เงื่อนไขความก้าวหน้าของวิชาชีพและเงื่อนไขการประเมินผลจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็บีบให้เขาต้องมีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารทางวิชาการ นี่เป็นจุดที่สำนักพิมพ์วิชาการเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ กระบวนการตีพิมพ์งานวิชาการพื้นฐานก็คือการส่งบทความ (ที่มักจะเป็นบทสรุปของงานวิจัยชิ้นใหญ่) ไปที่วารสารทางวิชาการหนึ่งๆ ที่อยู่ภายใต้สำนักพิมพ์ แล้วสำนักพิมพ์ก็จะส่งไปให้ฝ่ายบรรณาธิการพิจารณา ถ้าฝ่ายบรรณาธิการพบว่าบทความมีความน่าสนใจ พวกเขาก็จะส่งให้นักวิชาการคนอื่นอ่านเพื่อทำการวิจารณ์ หลังจากนั้นผู้เขียนก็รับบทความพร้อมคำวิจารณ์กลับมาแก้ไข ก่อนที่จะส่งไปตีพิมพ์พร้อมมอบลิขสิทธิ์บทความให้สำนักพิมพ์ในขั้นสุดท้าย

นี่ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลยถ้าสำนักพิมพ์วิชาการให้บางสิ่งกลับไปแก้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการบ้าง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่ทั้งนักวิชาการที่เป็นผู้เขียน นักวิชาการที่เป็นผู้วิจารณ์ และนักวิชาการที่เป็นที่ทำงานบรรณาธิการจะให้บริการเขียนบทความ วิจารณ์บทความ และทำงานบรรณาธิการบทความฟรีๆ แก่สำนักพิมพ์วิชาการ การที่สำนักพิมพ์วิชาการจะไม่จ่ายเงินให้กับนักวิชาการในกระบวนการอันได้มาซึ่งต้นฉบับงานวิชาการพร้อมตีพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในโลกตะวันตก นี่ทำให้สำนักพิมพ์วิชาการได้ทั้งต้นฉบับและลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐซึ่งผ่านกระบวนการขัดเกลาบทความแบบอาสาสมัครของเหล่านักวิชาการมาฟรีๆ ก่อนที่จะนำมาขายเอากำไรในท้องตลาด ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสำนักพิมพ์วิชาการก็คงจะหนีไม่พ้นห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักนอกจากจะต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเพื่อรับวารสารทางวิชาการทั้งหมดของสำนักพิมพ์เหล่านี้ซึ่งมักจะขายแบบพ่วง งบประมาณของห้องสมุดในอังกฤษราวๆ 65% หมดไปกับการลงทะเบียนกับวารสารวิชาการเหล่านี้ [1] นี่เป็นงบประมาณมหาศาล อย่างไรก็ดีห้องสมุดก็ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะถ้าห้องสมุดไม่รับวารสารเหล่านี้ทางนักวิชาการของมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถที่จะติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อไปได้ ซึ่งในที่สุดงานวิจัยใหม่ๆ มันก็จะผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สำนักพิมพ์วิชาการได้ต้นฉบับมาตีพิมพ์อย่างฟรีๆ อีกครั้ง ...นี่คือแหล่งที่มาสำคัญของอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมการตีพิมพ์งานวิชาการในโลกตะวันตกที่สูงถึง 35% [2]

การหากินแบบกึ่งผูกขาดของสำนักพิมพ์วิชาการก็ไม่ได้รับเม็ดเงินหล่อเลี้ยงมาจากที่ไหนนอกจากเงินของรัฐที่อุดหนุนงานวิจัยและห้องสมุด [3] นี่เป็นการเกาะกินเงินของรัฐอย่างเลวร้ายที่หลายๆ ฝ่ายไม่ตั้งคำถามมานมนานว่าการที่สุดท้ายงานวิจัยที่รัฐสนับสนุนเองต้องกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปฟรีๆ แถมสถาบันของรัฐอย่างห้องสมุดก็ต้องจ่ายเงินซื้อมันกลับมาจากเอกชนอีกทีเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแค่ไหน ซึ่งนี่ก็ยังไม่รวมปัญหาที่ว่าเงินทั้งหมดก็เกิดจากภาษีประชาชนแต่ประชาชนก็กลับไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระด้วยซ้ำ ทั้งที่บทความวิชาการมีผู้จ่ายเงินสนับสนุนและผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ไม่สอดคล้องเช่นนี้ แต่ในสหรัฐอเมริกาต้นปี 2012 ที่ผ่านมาก็ได้มีการพยายามออกกฎหมายใหม่นาม Research Works Act ขึ้นเพื่อควบคุมการเผยแพร่งานวิจัย และในกฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อบัญญัติหนึ่งที่ห้ามไม่ได้งานวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ที่ผู้คนเข้าถึงได้โดยเสรี หรือที่เรียกว่า Open Access [4] แม้กฎหมายตัวนี้สร้างคำวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่วงวิชาการอเมริกันมากในความคับแคบของมัน แต่บรรดาสำนักพิมพ์วิชาการก็ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กันอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่างสำนักพิมพ์ Elsevier จะเกี่ยวข้องกับการลุกฮือครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

จุดเริ่มของการลุกฮือไม่ได้เกิดจากนักสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่ไหน แต่มันเริ่มจากนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cambridge ที่ได้รางวัลระดับเดียวกับโนเบลของสาขาคณิตศาสตร์นามศาสตราจารย์ Timothy Grover การลุกฮือเริ่มจากที่ Grover ออกมาประกาศจะบอยคอตต์สำนักพิมพ์ Elsevier ในบล็อกส่วนตัวของเขา ด้วยสามเหตุผลคือ 1. Elsevier คิดราคาผลิตภัณฑ์แพงเกินไป 2. Elsevier มักจะทำการขายวารสารพ่วงเป็นชุดใหญ่ที่ทำให้ห้องสมุดต้องจ่ายเงินซื้อวารสารที่ตนไม่ต้องการด้วย 3. Elsevier สนับสนุน Research Works Act ที่เป็นกฏหมายซึ่งกีดกันไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงงานวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐอย่างชัดเจน [5]  มีนักวิชาการมากมายเห็นด้วยกับเขาและไม่กี่วันต่อมาเว็บไซต์ http://thecostofknowledge.com/ ก็ถือกำเนิดขึ้นให้นักวิชาการจากทั่วโลกได้มาลงชื่อเพื่อแสดงเจตจำนงที่จะไม่ตีพิมพ์บทความ ไม่ช่วยงานอ่านและวิจารณ์บทความ และไม่ช่วยงานบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์ Elsevier ในตอนนี้นักวิชาการจากทั่วโลกก็ลงชื่อไปกว่า 10,000 คนแล้ว [6] และกระแสคลื่นการต่อต้านสำนักพิมพ์วิชาการอันเริ่มจากอังกฤษนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า อคาเดมิคสปริง (Academic Spring) อันเป็นการตั้งชื่อล้อกับการลุกฮือทางการเมืองในโลกอาหารที่ถูกขนานนามว่าอาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งก็ล้อกับปรากสปริง (Prague Spring) อีกที

การริเริ่มของ Grover ดูจะทำให้เกิดผลที่ใหญ่โตมาก มีบทความจำนวนนับไม่ถ้วนออกมาทั้งโจมตีและแฉการขูดรีดของบรรดาสำนักพิมพ์วิชาการอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีจะหยุดลง ในที่สุด Elsevier ก็ยกเลิกการสนับสนุน Research Works Act หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่จากวงวิชาการที่ดำเนินอยู่นี้ อย่างไรก็ดีนี่ก็ยังไม่ดีพอสำหรับโลกวิชาการ เพราะค่าลงทะเบียนวารสารอันสูงลิบก็ไม่ได้ลดลง เรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ ฝ่ายพร้อมๆ กันก็คือ การที่ในที่สุดห้องสมุดที่งบประมาณสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย Harvard ก็ประกาศออกมาแล้วว่าห้องสมุดไม่สามารถจะแบกรับค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนวารสารวิชาการของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ได้อีกต่อไปแล้ว เหตุผลที่ห้องสมุดให้ไว้ก็ใกล้เคียงกับ Grover มาก ห้องสมุดเน้นว่าปัญหาเกิดจากการการขายที่สำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ๆ ขายวารสารวิชาการหลายฉบับพ่วงเข้าด้วยกันและคิดค่าลงทะเบียนวารสารวิชาการสูงลิบ นอกจากนี้ทางห้องสมุดของ Harvard ก็เน้นด้วยว่าค่าลงทะเบียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเร็วกว่าอัตราการขึ้นดัชนีราคาผู้บริโภค หรือกระทั่งดัชนีราคาการศึกษาขั้นสูงและห้องสมุดด้วยซ้ำ [7] หรือพูดง่ายๆ ก็คือค่าลงทะเบียนวารสารเหล่านี้ขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทาง Robert Darnton นักประวัติศาสตร์หนังสือชื่อดังซึ่งนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการห้องสมุดได้ออกมากล่าวว่า

"ผมหวังว่ามหาวิทยาลัยอื่นจะทำแบบนี้เช่นกัน เราก็เจอความย้อนแย้งนี้กันหมด อาจารย์ทำวิจัย เขียนเปเปอร์ ให้นักวิจัยคนอื่นตรวจงานให้เรา ทุกอย่างทำฟรีๆ หมด ...และเราก็ซื้อผลผลิตของแรงงานของเรากลับมาในราคาอันบ้าคลั่งจากพวกสำนักพิมพ์วิชาการ

ระบบมันน่าขันสิ้นดี และมันก็ทำร้ายห้องสมุดอย่างมาก การจดทะเบียนรับ The Journal of Comparative Neurology เป็นเวลาหนึ่งปีมันราคาพอๆ กับซื้อหนังสือสัก 300 เล่มได้ เราไม่สามารถจะจ่ายค่าลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว ในระยะยาว ทางออกของเราคือการทำให้การตีพิมพ์วารสารวิชาการสามารถเข้าถึงได้โดยเสรีโดยทุกคน แต่เราต้องพยายามเพื่อจะไปถึงตรงนั้นให้ได้" [8]

ทางออกของวงจรอุบาทว์อันขูดรีดนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การตีพิมพ์งานในบรรดาวารสารวิชาการออนไลน์เสรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็ไม่ได้ปราศจากปัญหา มีการโต้เถียงเรื่องคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้อยู่มากว่า มันไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจารณ์โดยนักวิจารณ์คนอื่นๆ ก่อนตีพิมพ์ออกมาและก็มีคำวิจารณ์ว่าวารสารเหล่านี้บังคับให้ผู้เขียนจ่ายแทนที่จะบังคับให้ผู้บริโภคจ่ายเช่นกัน ข้อเท็จจริงคือคุณภาพและนโยบายของวารสารเหล่านี้ก็มีคละเคล้ากันไป วารสารออนไลน์เสรีที่มีกระบวนการวิจารณ์หรือกระบวนการคัดกรองเพื่อบทความคุณภาพก็มีอยู่แน่ๆ และวารสารที่ไม่เก็บค่าตีพิมพ์กับผู้ตีพิมพ์ก็มีเช่นกัน ดังนั้นนี่ไม่ใช่ปัญหาของวารสารออนไลน์เสรีโดยตัวมันเองแต่มันเป็นปัญหาของวารสารบางฉบับมากกว่า

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดของวารสารออนไลน์เสรีคือ มันจะเป็นการลดต้นทุนการเผยแพร่งานวิชาการโดยรวมๆ ลงจากที่บรรดาสำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ๆ ใช้มาก ซึ่งงบประมาณที่ลดลงก็อาจถึงแปดเท่าทีเดียว [9] นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรกับโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ต้นทุนของการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารควรจะต่ำลง ไม่ใช่สูงขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือกระแสวารสารออนไลน์เสรีทั้งหมดก็เปิดโอกาสให้มีการใช้โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ในการเผยแพร่งานวิชาการทางอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่างานสำนักพิมพ์วิชาการก็จะไม่ชอบมันแน่ๆ ซึ่งไม่ต่างจากปฏิกิริยาโต้ตอบของบรรดาค่ายเพลงเมื่อมันต้องเผชิญหน้ากับการเผยแพร่งานดนตรีทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด

ทั้งนี้สำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ในโลกมี 3 สำนักพิมพ์คือ Elsevier, Springer และ Wiley ซึ่งทั้งสามบริษัทถือครองลิขสิทธิ์บทความวิชาการ 42% ที่ได้รับการตีพิมพ์กันออกมาในวารสารวิชาการทั้งหมด [10] บริษัทสิ่งพิมพ์เหล่านี้พร้อมทั้งบริษัทอื่นๆ ต้องดิ้นรนที่จะดำรงอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่การเผยแพร่ออนไลน์กำลังจะทำลายรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และเราก็คาดหวังได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้ จะดิ้นรนอย่างถึงที่สุดเพื่อเอาตัวรอดในธุรกิจที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไป ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามของสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Wiley จะริเริ่มดำเนินการฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการดาวน์โหลดหนังสือ อันเป็นการฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการดาวน์โหลดครั้งแรกของอุตสาหกรรมหนังสือ และการฟ้องนี่ล่าสุดก็ไม่ใช่ฟ้องกันแค่คนเดียวแต่ฟ้องเป็นร้อยๆ คน ตรงนี้เราก็ไม่ลืมเช่นกันว่าคงไม่มีใครคิดว่าการฟ้อง “คนโหลดเพลง” รอบแรกของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกาในปี 2003 จากจำนวนหลักร้อยคนจะทวีจำนวนขึ้นมาเป็นหมื่นคดีไปแล้ว ในปัจจุบัน การฟ้องที่มีมาเหล่านี้ของอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าเป็นการฟ้องทางแพ่งเพื่อรีดเงินค่ายอมความ ที่เป็นรายได้เสริมชั้นดีในยุคที่การทำมาค้าขายของลิขสิทธิ์ในแบบเดิมยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล ในแง่นี้การฟ้องคนโหลดหนังสือของสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Wiley ก็ยิ่งจะดูเป็นการตอกย้ำภาพของนายทุกขูดรีดที่ผูกขาดแสวงกำไรกับแรงงานอาสาสมัครของนักวิชาการและเงินของรัฐอันเป็นหนทางแสวงรายได้หลักของสำนักพิมพ์ขึ้นไปอีก

...สำนักพิมพ์ Wiley ที่ว่าเริ่มฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์แบบดิจิตัลเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในอเมริกา ก็คือ Wiley เดียวกับที่ฟ้องนักศึกษาไทยที่เอาตำราจากสิงคโปร์ไปขายในอเมริกานี่แหละครับ ซึ่งเราก็เดาไม่ยากเลยว่าอีกต่อไป Wiley จะมีบทบาทมากในการสู้เพื่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ใส่ใจทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิผู้บริโภคใดๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นที่อุตสาหกรรมบันทึกเสียงและอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันได้เป็นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์รีดค่ายอมความกับผู้โหลดหนังสือ หรือการขึ้นราคาค่าลงทะเบียนวารสารวิชาการ มันก็เป็นกลยุทธโดยรวมในการอยู่รอดในยุคนี้ของอุตสาหกรรมอันขูดรีดนี่เท่านั้นเอง

อ้างอิง:

  1. ดู http://www.economist.com/node/18744177
  2. ซึ่งเป็นอัตรากำไรที่สูงมากๆ ดู http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2011/aug/29/academic-publishers-murdoch-socialist
  3. อีกส่วนหนึ่งคือค่าเทอมของนักศึกษาที่ส่วนหนึ่งจะเป็นค่าบำรุงห้องสมุด
  4. นี่ตรงข้ามกับอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกันที่รัฐพยายามจะมีแนวนโยบาย Innovation and Research Strategy for Growth ที่จะบังคับให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับเงินสนับสนุนทั้งหมดจากรัฐต้องตีพิมพ์ในวารสารที่ผู้คนเข้าถึงได้อย่างสาธารณะ
  5. แต่ที่คนมักจะไม่รู้กันก็คือ Elsevier สนับสนุนกฎหมายกีดกันอินเทอร์เน็ตอันฉาวโฉ่ที่ตกไปแล้วอย่าง SOPA และ PIPA ด้วย
  6. ข้อมูลวันที่ 27-04-2012
  7. ดู http://isites.harvard.edu/icb/icb.do?keyword=k77982&tabgroupid=icb.tabgroup143448
  8. ดู http://www.guardian.co.uk/science/2012/apr/24/harvard-university-journal-publishers-prices
  9. http://www.guardian.co.uk/science/blog/2012/apr/17/persistent-myths-open-access-scientific-publishing
  10. ดู http://www.guardian.co.uk/science/2012/apr/09/frustrated-blogpost-boycott-scientific-journals
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น