โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นายใน/รอยัล อิเม “จิ้น” คอมมิวนิตี้

Posted: 22 Jun 2013 10:25 AM PDT

อาจกล่าวได้ว่า หนังสือ นายใน ของชานันท์ ยอดหงษ์นั้นเป็นที่ได้รับความนิยมไม่น้อย หากเพียงวัดจากการแชร์ในสังคมออนไลน์ การที่ถูกกล่าวขานถึงทั้งในแง่บวกและลบในหน้าเว็บไซต์ รวมไปถึงยอดขายที่ถูกกล่าวถึงอยู่เนืองๆ ส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นเพราะ นัยของหัวข้อดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจต่อสาธารณะ ในฐานะของสิ่งที่กึ่งปิดลับ กึ่งเปิดกว้าง เป็นความรู้และไม่รู้ และเลือกที่จะรับรู้และปฏิเสธของสังคมไทยอันปรากฏอยู่ทั่วไปในปริมณฑลของสิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย กับภาวะความคลุมเครือในพื้นที่ส่วนตัว

นายใน เป็นหนังสือที่มีการดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ที่ชื่อ "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่นี้จึงสนใจที่จะกล่าวถึง นายใน 2 สถานะ นั่นคือ สถานะของความเป็นวรรณกรรมและสถานะความเป็นวิชาการ

 

ความเป็นวรรณกรรมและตลาดของหนังสือ

งานเขียนชิ้นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง โครงกระดูกในตู้ ที่เขียนโดย คึกฤทธิ์ ปราโมช นับเป็นงานเขียนที่ตีแผ่ประวัติของตระกูลโคตรเหง้าของตนเองที่มีนัยของการเล่าปากต่อปากเป็น ประวัติศาสตร์เชิงบอกเล่า (oral history) ซึ่งมิได้เป็นการเล่าตามขนบหนังสืองานศพที่เป็นการเล่าย้อนหลังถึงผู้ตายที่มุ่งเน้นการสรรเสริญเยินยอ แน่นอนว่าเป็นเทคนิคการเขียนที่คึกฤทธิ์นำมาจากไอเดีย Skeleton in the cupboard ที่ถือกันว่า เรื่องที่ไม่น่าฟังของครอบครัวไม่พึงเอามาเล่าสู่กันฟัง แต่ที่คึกฤทธิ์ทำก็คือนำเอาเรื่องราวไม่พึงเปิดเผยของวงศ์ตระกูลมาเล่าสู่กันฟังในที่สาธารณะ ซึ่งตรงกันข้ามกันเขียนในแนว อภินิหารบรรพบุรุษอย่างใน กฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้ แต่เป็นการนำชีวิตของตระกูลเจ้านายที่โลดโผนโจนทะยานเป็นการนำเรื่องที่ลับมาไขในที่แจ้ง และไม่ใช่เป็นการเล่าบนพื้นฐานของการกระซิบกระซาบกันภายในพื้นที่ส่วนตัวอีกต่อไป เพราะมันสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ เมื่อมันปรากฏในฐานะสินค้าในตลาดหนังสือ เทคนิคเช่นนี้ก็เป็นวิธีการที่ฉลาดกว่าการที่เล่าเรื่องวงศ์ตระกูลแบบหนังสืองานศพที่เอออวยสรรเสริญอยู่ข้างเดียว การกล่าววิจารณ์เจ้าอย่างมีชั้นเชิงเช่นนี้ ก็คือ แบรนด์หนึ่งของคึกฤทธิ์

ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมป๊อบในประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์อีกต่อไปอย่างเกาหลีใต้แล้ว เราจะเห็นการเล่าเรื่องและตีความบทบาทของตัวละครในราชสำนักอย่างถึงพริกถึงขิงทั้งในละครและในภาพยนตร์ การกล่าวถึงกษัตริย์และชีวิตคนในอดีตเกี่ยวกับสิ่งที่คนปัจจุบันเรียกว่า "รักร่วมเพศ" นั้น ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมภาพยนตร์และละคร เช่น The King and the Clown (2005), A Frozen Flower (2008), The King an I (คิมชูซอน ละครเกี่ยวกับขันที ปี 2007-2008) การทำให้เรื่องราชวงศ์เป็นเรื่องขายได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดก็สร้างภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ในหลายยุคสมัยให้อยู่ในกระแส pop culture กันอยู่แล้ว

ปรากฏการณ์ของ นายใน ได้สะท้อนอะไรๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหนังสือที่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคน โดยเฉพาะในบริบทที่สังคมเกิดปรากฏการณ์ "ตาสว่าง" เริ่มตั้งคำถามกับตัวบุคคลในระบบ และสถาบันอนุรักษ์นิยมต่างๆมากยิ่งขึ้น กระนั้นภายใต้กฎหมายและสังคมลักปิดลักเปิด การดำรงอยู่ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงทำให้การกล่าวถึง นายใน ในหลายกรณีและหลายสถานที่ก็ไม่สามารถพูดได้ หรือพูดได้ไม่สุดขอบเขตของการแสวงหาความรู้ การลบกระทู้วิพากษ์วิจารณ์ในเว็บบอร์ดต่างๆ จึงปรากฏขึ้นอย่างไม่ผิดความคาดหมายนัก

ที่น่าสนใจก็คือ ไม่ใช่ว่า นายใน จะทำหน้าที่ยืนโรงเป็นผู้ออกหมัดลอกเปลือกเพศภาวะในราชสำนักได้เพียงฝั่งเดียว ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับงานเขียนนี้ไม่ว่าจะโปร หรือไม่โปรเจ้า ก็มีจุดยืนที่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวบท การวางโครงเรื่องและอคติที่อยู่เบื้องหลังของงานเขียนนี้ด้วยเช่นกัน

ความขัดแย้งของความเห็นในหนังสือ นั่นคือ จุดคานงัดของยอดขายเช่นกัน นายใน กลายเป็นหนังสือขายดี และถูกกล่าวถึงไปทั่วทั้งในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกระแสการตลาดที่พุ่งสูงขึ้น ช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  วันที่ 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2556 ในช่วงงานดังกล่าว สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดเสวนา เรื่อง "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6  ในวันที่ 30 มีนาคม โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ผู้เขียนคำนำเสนอ และชานันท์ ยอดหงส์ ผู้เขียนนายใน และยังมีการกล่าวถึง นายในในโทรทัศน์อย่างรายการศิลป์สโมสร ช่องไทยพีบีเอสตอน "ส่องสังคมสยามผ่านนายใน" (ออกอากาศวันที่ 3 เมษายน 2556) หรือกระทั่ง การวิพากษ์วิจารณ์ในเพจของ Nume Marut ผู้เป็น Senior Writer ของนิตยสาร Attitude [1] ยังไม่นับการกล่าวขวัญในเว็บบอร์ดต่างๆ ที่ปัจจุบันน่าจะถูกลบไปแล้วอย่างเช่น เว็บบอร์ด T-pageant (เว็บบอร์ดนางงามไทย) ยังไม่มีหลักฐานชัดว่าเว็บบอร์ดอันเป็นที่กล่าวขวัญของชาวสีม่วงอย่าง Palm-plaza มีการตั้งกระทู้เกี่ยวกับหนังสือฉบับนี้หรือไม่

นอกจากนั้นหากจะนับ Box office ที่นำมาจากเพจ นายใน  จะเห็นได้ว่า เคยขึ้นไปครองอันดับ 1 ของร้านแพร่พิทยา สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวเมื่อปลายเดือนเมษายน 2556 และเคยขึ้นอันดับ 2 ประจำสัปดาห์ (20 พฤษภาคม 2556) ร้านบุ๊คโมบี้

ภาพลักษณ์ของเพศที่สามในสังคมไทย แม้จะไม่ได้ถูกปิดกั้นหรือกีดกันอย่างร้ายแรง แต่เราจะเห็นได้ว่า กรณีที่ความเป็นเพศที่สามถูกนำมาโจมตีทางการเมืองนั้น ยังเป็นที่หวังผลได้เสมอในฐานะความผิดปกติทางเพศอันส่งผลต่อการขึ้นมาเป็นผู้นำของประชาชน ดังที่เราอาจเคยเห็นการดิสเครดิตว่าผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เคยถ่ายรูปนู้ด ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นเกย์ นั่นคือ อี้ แทนคุณ จิตอิสระ หรือ กระทั่งแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ในอีกฟากฝั่งหนึ่งก็ตาม หรือกระทั่งล่าสุดที่ผู้เขียนเปิดไปเจอโดยบังเอิญก็คือ ภาพของเสื้อแดงคนหนึ่งที่ถูกนำมาประจานผ่าน FB ฝ่ายปฏิปักษ์ที่มีการนำภาพในการชุมนุมมาวางคู่กับ ภาพของชายอีกคนหนึ่งที่หน้าคล้ายกันกำลังประกอบโอษฐกามให้ชายอีกนายหนึ่ง

ดังนั้น นายใน ภายใต้กระแสป๊อบจึงผสมผสานไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น นัยของการกระซิบกระซาบ การดูถูกดูแคลนไปในตัว ดังนั้น นายใน ในฐานะวรรณกรรม การตลาดและหมุดหมายของประวัติศาสตร์สังคมแล้วก็นับว่าดำรงตนได้อย่างมีสีสันในยุคที่สภาพสังคมการเมืองกำลังเปลี่ยนผ่าน เนื้อหา และยอดขายเป็นปรอทวัดอุณหภูมิสังคมได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้าที่ชานันท์จะออกหนังสือเล่มนี้ เขายังได้เคยครุ่นคิดและสนทนากับหนังสือชื่อดังอีกเล่มนั่นคือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (พิมพ์ครั้งแรก ปี 2545?)ที่คาดว่าพิมพ์อย่างต่ำมา 5 ครั้งแล้ว หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นการกล่าวถึงราชวงศ์ด้วยพยานวงใน จากฝีมือการตลาดของค่ายศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชน ก็ได้ทำให้เรื่องราวดังกล่าวเป็นที่น่าสอดรู้สอดเห็นของคนทั่วไป หากจำไม่ผิดในช่วงดังกล่าวมีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องปูพรมมาก่อนแล้วในกรณีของคดีพญาระกา อันเป็นเรื่องฉาวๆทางเพศ หลังม่านของชนชั้นสูง ในช่วงก่อนรัชกาลที่ 6 การตลาดที่เล่นอยู่บนเส้นลวดแห่งความเสี่ยงและความอยากรู้อยากเห็นและมิติทางประวัติศาสตร์ถือเป็นฐานสำคัญของสำนักพิมพ์นี้ ดังนั้น นายใน อาจนับได้ว่าเป็นการตลาดภาคต่อเนื่องของมติชนได้ด้วย

หรืออาจกล่าวให้สุดขั้วไปก็อาจกล่าวได้ว่า หนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 โดย ราม วชิราวุธ เป็นข้อความที่เขียนเล่าเชิงพงศาวดารกระซิบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในพระราชวงศ์ ที่อาจนับว่าเป็นต้นแบบการเขียน โครงกระดูกในตู้ ของคึกฤทธิ์เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า งานเขียนดังกล่าวโดยบริบทที่มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดสิ่งพิมพ์ที่มีเงื่อนไขเช่น โครงกระดูกในตู้ แต่เป็นบันทึกที่รัชกาลที่ 6 ต้องการจะสื่อสารกับคนในมากกว่าจะเป็นหนังสือที่เขียนเพื่อส่งสารต่อสาธารณะอย่างจริงจัง ดังที่กล่าวไว้ในคำนำว่า เขียนไว้ให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) และยังหวังว่าหากพระองค์มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ให้นำเรื่องราวที่เล่าให้ฟังถ่ายทอด "สั่งสอนให้รู้เรื่องบ้าง เผื่อจะเปนประโยชน์ต่อไปในเมื่อน่า" เอกสารดังกล่าวเขียนขึ้นในปี 2467 ก่อนรัชกาลที่ 6 จะสวรรคตเพียงปีเดียวเท่านั้น

ในทางกลับกัน นายใน กลายเป็นงานเขียนที่ยอกย้อนมาสู่รัชกาลที่ 6 ทำคล้ายกับสิ่งที่รัชกาลที่ 6 ทำ คือ ลอกเปลือกสภาพสังคม ความสัมพันธ์และความขัดแย้งของบุคคลในที่ส่วนตัวและในที่สาธารณะ โดยมีรัชกาลที่ 6 เป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องเช่นกัน เพียงแต่ว่างานเขียนนี้อยู่ในสถานะงานเขียนทางวิชาการและงานเขียนเพื่อการตลาดในเวลาต่อมา

 

จากวิทยานิพนธ์สู่พ็อกเก็ตบุ๊ค

นายใน เป็นหนังสือที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ "นายใน"  : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีโจทย์ของการศึกษาและจุดประสงค์ทางการศึกษาดังนี้

 

โจทย์ของการศึกษา

ปรากฏการณ์ที่พระราชสำนักฝ่ายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผู้ชายเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้น ดำรงอยู่และมีลักษณะอย่างไร นอกจากนี้พระราชสำนักฝ่ายในชายของพระองค์ได้ให้คุณค่าความหมายของ "ความเป็นชาย" (Masculinity – ผู้วิจารณ์อย่างไรและส่งผลต่อเพศภาวะ (Gender – ผู้วิจารณ์และความเป็นชาย (Masculinity – ผู้วิจารณ์) ของสมาชิกอย่างไรบ้าง

 

จุดประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อศึกษาปรากฏการณ์พระราชสำนักฝ่ายในชายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ก่อตัวขึ้นและเข้ามาแทนที่นางในและพระราชสำนักฝ่ายในของรัชกาลที่ผ่านมา

2. เพื่อศึกษาลักษณะและการให้คุณค่าความหมายของ "ความเป็นชาย" (Masculinity – ผู้วิจารณ์) ของพระราชสำนักฝ่ายในชายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะชุมชนชายล้วน และเพศภาวะ (Gender – ผู้วิจารณ์) ชายของสมาชิกภายในพระราชสำนัก

 

การตีพิมพ์ นายใน นั้นเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์ในหน้ากระดาษเอสี่ ที่มีจำนวนกว่า 300 หน้า ให้เหลือเพียงหน้ากระดาษเอห้า เหลือเกือบ 300 หน้า นอกจากการตัดเนื้อหาออกไปแล้ว โครงสร้างของวิทยานิพนธ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาจเปรียบเทียบได้จากสารบัญดังนี้

 

ตารางเปรียบเทียบ

บทที่  

วิทยานิพนธ์ (2555) 346 หน้า เอสี่

พ็อกเก็ตบุ๊ค (2556) 294 หน้า เอห้า

1

บทนำ

บทนำ

2

นางใน : ข้าราชสำนักในพระราชสำนักฝ่ายในของพระมหากษัตริย์

"นายใน" กับ พระราชสำนักรัชกาลที่ 6

3

นายใน : ข้าราชสำนักฝ่ายในชายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายในทรงโปรดในรัชกาลที่ 6

4

นายใน : ผลผลิต "ความเป็นชาย" ในชุมชนชายล้วน

กิจกรรมภายในพระราชสำนักฝ่ายในชาย

5

"นายใน" : ชุมชนชายล้วนกับบริบทสังคมการเมือง

เพศภาวะของชาย และ "ความเป็นชาย"

6

บทสรุป

เพศภาวะของ "นายใน"

7

-

"นายใน" และพระราชสำนักฝ่ายในชายในบริบทสังคมการเมือง

8

-

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า ในวิทยานิพนธ์จะมีโครงเรื่องที่เน้นการมองในกรอบวิชาการทางด้านเพศสภาวะ/ความเป็นชาย และความสัมพันธ์กับบริบทสังคมการเมืองชัดเจนกว่าเล่มพ็อคเก็ตบุ๊คที่เน้นพุ่งเป้าไปสู่พื้นที่พิเศษและความคลุมเครือ อันเป็นวิธีการทางการตลาดที่จะแปรงานวิชาการที่ต้องปีนบันไดอ่าน มาสู่งานเขียนที่อ่านง่ายและมีประเด็นชวนติดตามมากกว่า

ลักษณะงานเขียนดังกล่าวจึงคล้ายกับสารคดีประวัติศาสตร์ที่สนองความอยากรู้อยากเห็นโดยเฉพาะบทที่ 3 อันกล่าวถึง "นายในทรงโปรดในรัชกาลที่ 6" ยิ่งทำให้เรื่องราวถูกผูกมัดกับตัวตนบุคคลผู้กระทำนั่นคือ รัชกาลที่ 6 เป็นองค์ประธานและรายล้อมด้วยคนพิเศษ

คำโปรยหน้าปกยิ่งชวนสงสัยและหลอกล่อให้ผู้อ่านติดตามว่า "เมื่อราชสำนักฝ่ายใน ไม่ต้องการสตรี จึงไม่มี "นางใน" แล้วใครแทน?"

การอ่านตัวบทจากงาน 2 ชิ้นนี้ จึงค่อนข้างมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในเล่มพ็อกเก็ตบุ๊ค การมีฉลากนักวิชาการทางเพศชื่อดัง 2 ท่านมาเปิดหัวนั่นคือ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และธเนศ วงศ์ยานนาวา ย่อมการันตี ความน่าเชื่อถือทางวิชาการมากขึ้นไปอีก สำหรับชลิดาภรณ์นั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายในอาจอ่านได้หลายแบบ หลายแง่มุมและเปี่ยมไปด้วยน้ำเสียงความชื่นชม และความพึงพอใจในแง่ของการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือไปจากการกล่าวถึงในแง่ของกรอบคิดทางเพศ ในขณะที่ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวถึงบริบทประวัติศาสตร์ความคิดเรื่องความเป็นชายเป็นหญิงตั้งแต่หลังศตวรรษที่ 19 ยุโรปที่มีพื้นหลังคือ ศาสนาคริสต์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ และในบทความนี้ก็มีข้อถกเถียงในเชิงมานุษยวิทยาเกี่ยวกับความหลากหลายของความเป็นชายเป็นหญิงที่ต่างจากสังคมตะวันตกฝรั่งผิวขาว ไม่ว่าจะเป็นทางเอเชีย หรือแอฟริกา และแน่นอนว่า ในความหลากหลายของพื้นที่หลังนี้คือ ดินแดนเป้าหมายของเจ้าอาณานิคมตะวันตกที่มาพร้อมกับศาสนาคริสต์และความทันสมัย (modernization) แต่นั้นมาโลกทางเพศจึงนำไปสู่การปะทะกันในหลายมิติ  ดังนั้นนัยของนายในจึงมีนัยสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกระแสลมตะวันตกนี้ด้วย

 

ปัญหาในมิติประวัติศาสตร์นิพนธ์

นาวิน วรรณเวช [2] ได้วิจารณ์ นายใน ว่า "ตีความเกินตัวบท" และ "ลากเข้าความ" เพื่อจะเหมารวมการตีความบนฐาน Homo-erotic ตามธงที่ชานันท์ได้วางไว้

ในอีกด้านหนึ่งก็คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งนับเป็นเอกสารชั้นรอง ที่บันทึกหลังเหตุการณ์มาเป็นเวลานาน โดยหลักการแล้วมีสิทธิที่จะคลาดเคลื่อนได้ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้บันทึกที่ขาดจากบริบทช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ทำให้การใช้หลักฐานดังกล่าวจึงมีปัญหาไม่แพ้ไปกับการ "ตีความเกินตัวบท" แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่นำเอาหลักฐานประเภทหนังสืองานศพมาใช้จำนวนมาก แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นการศึกษาเรื่อง mentality ของนายใน หรือผู้เกี่ยวข้องกับนายในยุคหลังรัชกาลที่ 6 สวรรคต จะทำให้หลักฐานชั้นรองนี้กลายเป็นหลักฐานชั้นต้นที่จะสนับสนุนได้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น

อีกประเด็นก็คือ ความต่อเนื่องและบริบทของเวลาในงานเขียน นับได้ว่าเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากการอ้างอิงเอกสารชั้นรอง จึงปรากฏข้อเขียนที่ด่วนสรุปจากตัวบทอย่างคำว่า "ตลอดมา" "ทั้งหมด" "ทุกครั้ง" "ตลอดเวลา" "เสมอ" ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสรุปจากข้อมูลในเชิงสถิติ

 

ตัวอย่างเช่น

'พระยานรรัตนราชมานิตจึง "ไม่เคยค้างที่บ้านเลยค้างวังตลอดมา" มีโอกาสกลับบ้านก็ช่วงมื้อเย็นเท่านั้น' [3] [อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระภิกษุ ธมฺมวิตกฺโก มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) (พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม), 2515, น.18]

 

"...เจ้าพระยารามราฆพยังสามารถอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมจากจดหมาย เนื่องจากล่วงรู้ความในพระราชหฤทัยทั้งหมด" [4] [หญิงอันเป็นที่รักของพระเจ้าแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : สมาคมศิษย์เก่าอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2538]

 

"พระยาอนิรุทธเทวาจึงใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 6 อย่างมากแทบตลอดเวลาแม้แต่ยามสรง" [5] [เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอกเจ้าพระยารามราฆพ (..เฟื้อ พึ่งบุญ) (พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทเจริญชัย), 2493, น.48-53]

 

"ทว่าพระองค์ก็ทรงใช้สอยพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมืองอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน จนแทบจะไม่มีเวลานอนเรือนหอของตนเอง ต้องคอยรับใช้พระองค์เกือบตลอดเวลา" [6] [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2512, น.9]

 

นางใน/นายใน กับ ชาย/หญิง  กับ ปัญหาคู่ตรงข้าม

จากความที่เป็นวิทยานิพนธ์ของวิชาเกี่ยวกับสตรีศึกษา โดยชื่อเรื่อง, จุดประสงค์และโจทย์แล้ว จะเป็นการเน้นไปที่ เพศภาวะ (Gender) มากกว่า เพศวิถี (Sexuality) นั่นหมายถึงการสื่อไปที่การมองสิ่งที่เรียกว่า  "นายใน" บนกรอบของการแบ่งความเป็นชาย เป็นหญิงที่ยังมี "ความเป็นชาย" เป็นศูนย์กลาง

สงสัยว่า กรอบนี้จะทำให้มีปัญหาการมองแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) หรือไม่ แบบที่ธเนศได้กล่าวไว้ว่า การมองเช่นนี้อาจทำให้ไปสู่ปัญหาที่มากับวิธีคิดแบบคริสต์และความทันสมัยหรือไม่ กรณีที่กังขากันก็คือ การสร้างตัวแบบขึ้นมาเพื่อศึกษาในสิ่งที่เรียกว่า "นายใน" ที่ผู้เขียนออกตัวตั้งแต่ต้นแล้วว่า ใช้เป็นตัวแบบเพื่อเปรียบเทียบกับ "นางใน" ในวิทยานิพนธ์ถึงกับยกเรื่อง "นางใน" ขึ้นมาเป็นบทหนึ่งเลย

ทั้งที่บทบาทของ "นายใน" นั้นนอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับ "นางใน" แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงไม่น้อยก็คือ ตำแหน่งที่เรียกว่า "มหาดเล็ก" ว่ากันว่า ตำแหน่งมหาดเล็กนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็นอย่างช้า และไม่ได้มีศักดินาใหญ่โตอะไรนัก ประมาณนา 600-800 [7] และมหาดเล็กได้ถูก modernized ในช่วงรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทำการจัดระเบียบพร้อมกับโครงสร้างการบริหารราชการสมัยใหม่ โดยจัดให้มหาดเล็กอยู่ในความควบคุมดูแลใกล้ชิดของกษัตริย์เพื่อดูแลพื้นที่ส่วนตัว ถึงกับมีการตรา พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก ขึ้นมาในร.ศ.112 (พ.ศ.2436) [8] ต่อมาได้รับการยกระดับไปสู่การตั้งเป็นกองทหาร ที่เรียกว่า "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" อย่างไรก็ตามหลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริว่า "ควรจะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลป์ปาวศานต์" จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกรมทหารนี้ว่า "กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ ให้มีเครื่องหมายเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ติดที่อินธนูทหารในกรมนี้ทั่วไป [9]

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการจัดการปรับบุคลากรรายรอบพระองค์ และพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาใหม่ มหาดเล็กจึงเกิดขึ้นใหม่ในบริบทของกองกำลังส่วนพระองค์ด้วย ขณะที่บุคลากรมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 ได้แยกความเป็น "ทหาร" ออกมาในลักษณะที่เป็นกึ่งพลเรือน-กึ่งทหารมากกว่า โดยเลี่ยงยศแบบทหาร แต่มียศและลำดับชั้นของตนเองที่ล้อไปกับทหาร แปลงข้อมูลมาเป็นตารางได้ดังนี้ [10]

 

ตารางแสดงการเปรียบเทียบยศทหาร กับ ยศมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6

ยศทหาร

ยศมหาดเล็ก

นายพล

มหาอำมาตย์

นายพล

เสวก (ใช้สำหรับกระทรวงวัง)

นายพล

จางวาง

นายพันเอก

หัวหมื่น

นายพันโท

รองหัวหมื่น

นายพันตรี

จ่า

นายร้อยเอก

หุ้มแพร

นายร้อยโท

รองหุ้มแพร

นายร้อยตรี

มหาดเล็กพิเศษ

ว่าที่ร้อยตรี

มหาดเล็กสำรอง

พลทหาร?

ราชบุรุษ (ลำดับชั้นต่ำสุด)

 

นั่นจึงไม่แปลกอันใดที่รัชกาลที่ 6 จะผสมผสานความเป็นมหาดเล็ก กับ การ import ไอเดียลูกเสือจากอังกฤษมาสร้างคณะเสือป่า แม้จะถูกมองว่าเป็นของเล่น แต่การตั้งกองกำลังดังกล่าวสอดคล้องกับไอเดียมหาดเล็กรักษาพระองค์อยู่ด้วย

อีกกรณีหนึ่งก็คือ ความเป็นชายที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่วังหลวง อย่าง "ขันที" "นักเทษ" ที่มีบทบาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บทบาทของนักเทษและขันทีในราชสำนักสยามนั้นว่ากันว่า ถูกจำกัดเป็นเพียงแค่ผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวง โดยศัพท์แล้ว ยังบอกเป็นนัยว่า เป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน อนึ่ง คาดว่า "ขันที" "นักเทษ" เหล่านี้พึ่งจะหายไปในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง [11]

ดังนั้น ความลื่นไหลทางเพศของบุรุษในราชสำนักจึงไม่อาจกล่าวเพื่อเทียบกับ "นางใน" แต่เพียงมิติเดียว นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียกว่า "นายใน" กับ "นางใน" ในพื้นที่ราชสำนักนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาลำดับห้วงเวลาตั้งแต่ สมัย "มหาดเล็กพระบรมฯ" เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 ยังเป็นสมเด็จพระยุพราชฯ  การขึ้นครองราชย์ มหาดเล็กที่ใกล้ชิดจัดการความสัมพันธ์กับนางในแต่เดิมอย่างไร

นอกเหนือไปจากนั้น หากไม่นับพระราชชนนีแล้ว อดีตสนมของอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 5 ที่มีบริวารจำนวนมากและคุมพื้นที่สำคัญในวังไม่ว่าจะเป็นห้องเครื่อง ฯลฯ นั้นมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร

 

ชุมชนชาติ และชุมชนส่วนพระองค์

ปัญหาของการมองชุมชนชายล้วนนั้น กล่าวได้ว่า มีการพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์น้อยเกินไป แม้งานนี้จะทำให้เห็นว่า รัชกาลที่ 6 สร้างชุมชน (community) ขึ้นมาเพื่อต่อกรและต่อรองกับอำนาจของฝ่ายปฏิปักษ์ที่มีอยู่หลายเฉด ตั้งแต่พระญาติ ไปจนถึง ทหารที่นำไปสู่กบฏ รศ.130 ก็ตาม แต่น้ำหนักของงานนี้ได้พุ่งเป้าไปที่เหตุและผลที่จำกัดอยู่ที่ actor และพื้นผิวทางเพศรอบพระองค์เพียงอย่างเดียว ภาพของรัชกาลที่ 6 ที่ปรากฏจึงมีลักษณะเหมือนกับ "คนนอก" ของสถาบันกษัตริย์ทั้งที่ตัวเองนั่งบัลลังก์อยู่

ที่ตลกร้ายก็คือ รัชกาลที่ 6 กลับกลายเป็นรูปปฏิมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามนิยมเป็นอย่างยิ่ง

หากถอยออกมามองดูบริบทแล้ว จากงานวิจัยของ สายชล สัตยานุรักษ์ ได้สรุปปัญหาทางการเมืองที่รัชกาลที่ 6 ต้องเผชิญอันมีผลต่อการนิยาม "ชาติไทย" "ความเป็นไทย" ไว้ดังนี้ [12]

1) ความกดดันที่ต้องครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 5 ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
2) การทำให้ประชาชนยอมรับการนำของกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุด และยอมรับพันธกิจที่ประชาชนต้องมีต่อรัฐในสังคมที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างมาก
3) ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ เจ้านายและข้าราชการ
4) การแข่งขันกับ "ชาตินิยม" ที่ถูกเสนอโดยข้าราชการคนจีน, ลูกจีนหรือจีนสยาม
5) การเลือกรับวัฒนธรรมตะวันตกในขณะที่ต้องการจะรักษาความเป็นไทย

 

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงทำให้รัชกาลที่ 6 โฟกัสไปที่การสร้างชุมชนชาติขึ้นมา เป็นชุมชาติในอุดมคติที่พระองค์คิดว่าจะสามารถควบคุมได้ดังใจนึกตามขนบของกษัตริย์ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุคนี้จึงประกอบไปด้วยรูปแบบ (form) ของการจัดระเบียบความคิด และกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แกนหลักที่พระองค์สถาปนาก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, "คณชน", การจัดรูปแบบเวลาใหม่, การออกกฎหมาย

 

ชุมชนชาติและเวลาแบบใหม่

อาจกล่าวได้ว่า การประกาศใช้พุทธศักราช ในปี พ.ศ.2455 ที่แสดงเวลาแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเวลาแบบจารีตที่อิงศาสนากับ เวลาเชิงประจักษ์ที่มากับสำนึกผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ที่เกิดขึ้นราวรัชกาลที่ 4 [13] ก่อนหน้านั้นมีการ set เวลาด้วยการสร้างศักราชที่เป็นอัตลักษณ์ของ royal family คือ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ดังที่รู้จักกันดีจากเหตุการณ์ ร.ศ.112

เหตุผลหนึ่งของ รัชกาลที่ 6 ประกาศใช้พุทธศักราชก็คือ เป็นเครื่องมือในการอธิบายเวลาในอดีตที่ย้อนหลังไปไกลกว่า ร.ศ. 1 (พ.ศ.2325) [14] นั่นหมายถึงสำนึกทางประวัติศาสตร์ อันเป็นสำนึกใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับความคิดเกี่ยวกับเวลาชุดใหม่ที่มองเวลาเป็นเส้นตรง ไม่ใช่เป็นวัฏฏะแบบเวลาจารีตโบราณ

ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคนี้ก็อาจนับเป็นยุคแห่งความเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ที่มีทั้งหนังสือพิมพ์ที่ออกเองโดยรัชกาลที่ 6, หนังสือพิมพ์ในประเทศที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เป็นระยะ นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการตอบโต้แล้ว หนังสือพิมพ์ยังสร้างชุดของเหตุการณ์ที่แตกต่างหลากหลายจัดระเบียบให้มาอยู่ในหน้ากระดาษเดียวกัน ซึ่งก็เป็นการสร้างชุมชนในจินตนาการร่วมกันแบบหนึ่งด้วย [15]

 

ชุมชนชาติและเพศ

ชุมชนชาติของรัชกาลที่ 6 ถือได้ว่า เริ่มมีการแบบแบ่งแยกเพศชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโดยตรงของพระองค์หรือไม่ แต่รูปแบบกฎหมายนี้ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ความเป็นชาย-ความเป็นหญิงในสังคมไทย และจัดระเบียบความสัมพันธ์ในครอบครัวขึ้นมาใหม่ด้วยอิทธิพลแบบตะวันตก และสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "วิคตอเรียท้องถิ่น" หากนับดูก็เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น  พระราชบัญญัตินามสกุล พ..2456 ที่ให้ความสำคัญแก่การสืบสายเลือดทางลูกชายจากเดิมที่สืบสายเลือดได้ทั้งลูกชายและลูกสาว [16] หรือ พระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามสตรี พระพุทธศักราช 2460 [17]

 

รอยัล อิเม "จิ้น" คอมมิวนิตี้

ชุมชนส่วนพระองค์

เราจะเห็นการสร้างชุมชนส่วนพระองค์ ในหลายรูปแบบตั้งแต่ การสร้างโรงโขน โรงละคร กรมมหรศพ ต้องกล่าวไว้ก่อนว่า การละครนั้นเป็นที่นิยมมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว โรงละครจึงมิได้เป็นแหล่งพบปะกันของชายรักชายแบบที่ นายใน อ้างถึงในงานเขียนตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นได้ (ที่เป็นเรื่องใหญ่เป็นโตมาก่อนก็คือ บทละคร พญาระกา)

แม้การสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้สร้างเป็นโรงเรียนกินนอนแบบ public school ของอังกฤษ [18] และยังเป็นการสร้างบุคลากรเพื่อรับใช้พระองค์เองมากกว่า ต่างจากโรงเรียนมหาดเล็กที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ฝึกข้าราชการกระจายไปรับใช้ในกรมต่างๆ [19]

ขณะที่สโมสรเสือป่า ที่ได้เยี่ยงอย่างมาจาก scout จากอังกฤษเช่นกัน ก็เป็นฐานกำลังในเชิงสัญลักษณ์ในวันที่พระองค์ไม่มีฐานกองทัพสนับสนุนในทางปฏิบัติ

ชุมชนดุสิตธานี ที่ปัจจุบันถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำมาเชิดว่าเป็น การทดลองชุมชนประชาธิปไตยแห่งแรก ก็ถูกคนในยุคสมัยนั้นหยันว่าเป็น บ้านตุ๊กตา เสียมากกว่า

 

พื้นที่ส่วนพระองค์

หนังสือนี้ เน้นการกล่าวถึง ลักษณะทางกายภาพของ Body การกล่าวถึงแผลจากการผ่าตัด ไปจนถึงสาเหตุและการสวรรคตรวมไปถึงการสัมผัส body และสอดส่องเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน ผ่านบันทึกต่างๆ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปอธิบายถึงพื้นที่รโหฐาน และชี้นัยทางเพศ ในส่วนนี้มีโอกาสที่จะตีความเกินตัวบทได้มากดังที่มีหลายคนวิจารณ์ไว้แล้ว

 

พื้นที่ของมหาดเล็กใกล้ชิด

มหาดเล็กที่อยู่ใกล้ชิดกษัตริย์ พบว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว จนทำให้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและความมั่งคั่งในนามบุคคล ไม่ใช่ในนามความดีความชอบแผ่นดิน ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับ ภาระค่าใช้จ่ายและระบบการคลังของรัฐ ที่กำลังมีปัญหาอย่างหนัก ในกรณีที่น่าสนใจก็คือ การสร้างพื้นที่เชิงเกียรติยศให้แก่มหาดเล็กผู้ใกล้ชิดด้วยการสร้างอาคารสถานที่พระราชทานอย่าง บ้านนรสิงห์-เรือนทับขวัญ (เจ้าพระยารามราฆพ), บ้านบรรทมสินธุ์-เรือนทับแก้ว (พระยาอนุรุทธเทวา), และพระราชทานที่ดินเพื่อการจัดเก็บรายได้-ค่าเช่า [20]

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ การแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนพระองค์ และผลประโยชน์สาธารณะในนามของกระเป๋าเงินที่ต้องแยกกัน ดังที่เราจะเห็นใน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่ามี การกล่าวถึง กรณีเงินทั้งสองส่วนที่ต้องรักษาผลประโยชน์กันทั้งฝ่ายพระองค์และฝ่ายสมบัติแผ่นดิน ดังที่ทรงเขียนไว้ว่า "เช่นนั้นฉันคงมิได้ยอมตกลงตามคำขอของ...ว่าให้แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเป็นคนละแพนก" [21] นั่นทำให้การขัดกันของฝ่ายต่างๆ ที่ตรงข้ามพระองค์จึงมิได้อยู่ที่ความรังเกียจ "นายใน" ด้วยตัวของ "นายใน" เอง

แน่นอนว่า ชุมชนเหล่านี้ไม่เพียงเยียวยาพระองค์ แต่เป็นการสร้างป้อมค่ายความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อิงตัวกษัตริย์ ขณะที่คู่ขัดแย้งของพระองค์ในราชวงศ์ก็ยืนระยะห่างออกไป และในทางตรงกันข้ามอย่างสุดกู่ ชนชั้นกลางที่เติบโตจากระบบราชการสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน ก็เริ่มสร้างคำอธิบายกับสิ่งที่เรียกว่า "ชาติ" ในอีกรูปแบบที่สัมพันธ์กับสามัญชน-ราษฎรมากยิ่งขึ้น หากนับถึงปัจจุบัน ความสำเร็จของรัชกาลที่ 6 นั้นถือว่ายังดำรงอยู่ เป็นอย่างดีการสืบเนื่องของสถาบันลูกเสือ กระแสชาตินิยมชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มรดกวรรณคดี ฯลฯ ขณะที่ปฏิปักษ์ของพระองค์อย่างกบฏ ร.ศ.130 ได้ถูกทำให้กลายภาพเป็นผู้ทรยศ หรือไม่ก็ถูกทิ้งไว้ให้ปิศาจแห่งกาลเวลากัดกินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุดที่ ณัฐพล ใจจริงได้รื้อฟื้นการต่อสู้ทางความคิดของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง

การที่รัชกาลที่ 6 ไม่ได้สร้างชุมชนนางในที่สัมพันธ์กับเครือข่ายทางการเมืองตามอย่างขนบที่ผ่านมา นอกจากเป็นประเด็นของบุคลิกส่วนตัวแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางการเมืองเชิงพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย การดองกันด้วยความสัมพันธ์การแต่งงานแบบจารีตด้วยระบบเอกกษัตริย์กับมเหสีและสนมจำนวนมหาศาลแบบราชาธิราชแทบจะไม่ความสำคัญอีกต่อไปแล้ว เมื่อรัฐสยามสามารถผนวกเอาล้านนาและหัวเมืองทางใต้มาอยู่ในอาณัติ นั่นย่อมแสดงให้เห็นการก้าวสู่พื้นที่การเมืองสมัยใหม่ในอีกมิติหนึ่ง

 

Body of Kingdom สู่  Body of King

เราพบว่า มหาดเล็กในสมัยก่อนรัชกาลที่ 6 โดยมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกส่งออกไปนอกพื้นที่ส่วนตัว เพื่อไปสังเกตและเป็นหูเป็นตา แทนกษัตริย์ ขณะที่มหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 กลับอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว [22]

หรืออาจกล่าวได้ว่า สมัยรัชกาลที่ 5 มหาดเล็กถูกส่งไปดูแล Body of Kingdom ในนามของรัฐสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากรัฐแบบจารีต ที่มีการจัดการพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เนื่องจากเรียกร้องการดูแล และเข้าถึงพระราชอาณาเขต ประชากรและทรัพยากรที่ชั่งตวงวัดได้ ในทางปฏิบัติแล้วถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการที่รัฐพยายามจะยื่นมือลงไปจัดการกับพื้นที่ต่างๆ โดยตรง ไม่ผ่านกลุ่มการเมืองท้องถิ่นอีกต่อไป

ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 6 บุคคลในตำแหน่งมหาดเล็กนั้นมีหน้าที่ดูแล Body of King มากกว่า ขณะที่การจัดการพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่ได้หยุด แต่เป็นกลไกของระบบราชการสมัยใหม่ที่ดำเนินการไป แต่ดังที่กล่าวมาแล้ว รัชกาลที่ 6 ไม่ได้บริหารราชการโดยราบรื่น แต่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง มีคู่ขัดแย้งอยู่รายรอบตั้งแต่ชั้นพระญาติวงศ์ จนถึง ทหารที่ควรจะเป็นกองทัพสมัยใหม่ที่รับใช้กษัตริย์ แม้กระทั่งพลเมืองใหม่ชาวจีนที่พระองค์ตั้งแง่รังเกียจในฐานะที่เป็น ยิวแห่งบูรพาทิศ

ในด้านหนึ่งแล้ว ยังมีความพยายามที่จะ centralized พระองค์เข้ากับ "ชาติ" อีกด้วย มิติของ Body of King จึงมิใช่ Body ที่เน้นการผัสสะ หรือเพศรสเท่านั้น แต่เป็นการที่หา postion ของพระองค์ให้ทัดเทียมกับความเป็น King ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบที่รัชกาลที่ 5 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในด้านพระคลังที่กำลังร่อยหรอ ความไม่พอใจของกลุ่มคนหลากหลายสาขาที่เริ่มปะทุ พื้นที่ที่ชานันท์เรียกว่า "นายใน" อาจเป็น safety zone เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่พระองค์ใช้เป็น war room เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นได้

ดังนั้น การเขียนและเรียบเรียง นายใน เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากงานเขียน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ที่ทำให้โฟกัสอยู่กับ ความคิดคำนึงของรัชกาลที่ 6 ในช่วงท้ายพระชนม์ชีพ ที่จดจ่ออยู่ในระดับบุคคล จึงหลีกเลี่ยงการอธิบายประวัติศาสตร์ผ่านความรู้สึกไม่ได้ ยังมิพักว่า หนังสือเล่มนี้ที่มีบทบาทประดุจสารตั้งต้นของ นายใน เป็นหนังสือค่อนข้างส่วนตัวที่มอบหมายให้บุคคลสู่บุคคล อันจะนำไปสู่ข้อถกเถียงกันต่อไปในเรื่องของ การปกป้องพื้นที่ส่วนตัว กับ การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

 

อ้างอิง

[1] นาวิน วรรณเวช. "นายใน กับปัญหา "ความจริงในเรื่องเล่า" และ ร่างทรงของอดีต" ใน สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 19 : 2 (มีนาคม-เมษายน 2556) : 248

[2] นาวิน วรรณเวช. "นายใน กับปัญหา "ความจริงในเรื่องเล่า" และ ร่างทรงของอดีต" ใน สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 19 : 2 (มีนาคม-เมษายน 2556) : 252

[3] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.43

[4] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.70-71

[5] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.74

[6] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.86

[7] วิกิพีเดีย. "มหาดเล็ก".  http://th.wikipedia.org/wiki/มหาดเล็ก (12 พฤษภาคม 2556) อ้างถึง จำนงค์ ทองประเสริฐ. สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 22 (พิมพ์ครั้งที่ 1, มปท., 2533), หน้า 14928,

[8] "พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก" ใน ราชกิจจานุเบกษา, ร.ศ.112, เล่ม 10, น.201-205

[9] วิกิพีเดีย. "กรมทหารราบที่_1_มหาดเล็กรักษาพระองค์".  http://th.wikipedia.org/wiki/กรมทหารราบที่_1_มหาดเล็กรักษาพระองค์ อ้างถึง ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา) หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (กรุงเทพฯ: กรีนแมคพาย), 2547 และ สมุดภาพเครื่องแบบทหารบก กรมกำลังพลทหารบก พ.ศ. 2541

[10] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.50

[11] วินัย พงศ์ศรีเพียร. "กะเทย / บั๊ณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ" ใน สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย 31. ชายคาภาษาไทย (10) http://www.gotoknow.org/posts/151017

[12] สายชล สัตยานุรักษ์. ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550, น.63-86

[13] ดูใน อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2475 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2538

[14] "ประกาศวิธีนับวันเดือนปี" คัดจากพระราชบัญญัติรัชกาลที่ 6 ใน ราชกิจจานุเบกษา, พ.ศ.2455, น.264 อ้างถึงใน วินัย พงศ์ศรีเพียร. วันวาร การเวลา นานาศักราช (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์), 2552, ภาคผนวก 9.2

[15] แอนเดอร์สัน, เบน. ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2552

[16] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.170

[17] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.171

[18] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.112

[19] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.115

[20] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.80 และ 88

[21] ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน), 2555, น.180
[22] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ : มติชน), 2556, น.28

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีเศรษฐกิจโลกเสนอ การจัดการร่วมของภาครัฐ-ภาคเอกชน ในองค์กรระดับยูเอ็น

Posted: 22 Jun 2013 08:49 AM PDT

คณะทำงานศูนย์ความนั่งยืนและองค์กรปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ชี้บรรษัท หรือกลุ่มประชาสังคม ควรมีระบบการจัดการร่วมกันกับกลุ่มของรัฐและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 
 
แฮริส เกล็คแมน คณะทำงานอาวุโสในองค์กรศูนย์เพื่อการจัดการและความยั่งยืน (Center on Governance and Sustainability) มหาวิทยาลัยแมซซาชูเสท-บอสตัน และผู้อำนวยการองค์กรที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เขียนบทความกล่าวถึงการที่องค์กรเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) เสนอให้มีระบบการจัดการร่วมกันจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงกับองค์กรอย่างสหประชาชาติ
 
จากบทความในเว็บไซต์ Policyinnovations.org เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2013 กล่าวถึงการที่เวทีเศรษฐกิจโลก เสนอความคิดว่าควรมีการเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการระบบโลกแบบใหม่ แทนที่ระบบแบบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นระบบที่เข้ากับความจริงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น
 
ข้อเสนอนี้มีขึ้นหลังจากในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 ทางองค์การสหประชาชาติเห็นชอบกับการสั่งยุบคณะกรรมการการพัฒนาที่ยั่งยืน (Commission on Sustainable Development)  โดยแทนที่ด้วยกลุ่มนักการเมืองระดับสูง อีกทั้งยังมีการสั่งปรับเปลี่ยนองค์กรคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) และมีการวางกระบวนปรับแผนงานการจัดการ
 
แต่ว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะช่วยให้ทางสหประชาชาติทำงานจัดการด้านต่างๆ เช่น การรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือการควบคุมบรรษัทนานาชาติที่ขัดต่อหลักการสันติภาพ ความมั่นคง หรือการพัฒนา โดยมีการยกตัวอย่างถึงกรณีวิกฤติการเงินปี 2008 ที่ทำให้เหล่าชนชั้นนำ (elite) เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพของตลาดโลก โดยที่กลไกของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาฟองสบู่แตกด้านอสังหาริมทรัพย์ได้ และมีชนชั้นนำบางกลุ่มที่เล็งเห็นว่าระบบแบบในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงิน และหนึ่งในกลุ่มชนชั้นนำนั้นคือกลุ่มเวทีเศรษฐกิจโลก
 
โดยจากรายงานล่าสุดของกลุ่มผู้ริเริ่มออกแบบโลกใหม่ หรือ Global Redesign Initiative (GRI) มีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า กลุ่มผู้ปฏิบัติการทางการเมืองของโลกนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วและควรจะมีการรับรู้ทั้งกลุ่มบรรษัท, รัฐชาติ (รวมถึงองค์กรอย่างยูเอ็น) และกลุ่มองค์กรประชาสังคมบางส่วน ควรจะร่วมมือกันในการจัดการโลกยุคหลังโลกาภิวัตน์เช่นนี้
 
ทาง WEF มองว่าทั้งรัฐบาล, กลุ่มประชาสังคม และบรรษัท ต่างก็พัฒนาพื้นที่การดูแลจัดการอิสระขึ้นมาในระดับนานาชาติ โดยพื้นที่การดูแลจัดการด้านเศรษฐกิจเป็นของบรรษัท พื้นที่ด้านกิจการระหว่างรัฐเป็นของรัฐบาลโดยมียูเอ็นเน้นเรื่องส่วนรวมแบบกว้างๆ ขระที่พื้นที่ของประชาสังคมจากมุมมองของ WEF คือการกำหนดประเด็นใหม่ รวมถึงเป็นผู้ส่งสารและแนวคิดในการพัฒนาประเทศหรือชุมชน
 
รายงานของ GRI เสนอว่าควรมีการเชื่อมโยงพื้นที่เหล่านั้นจากผู้แทนของหลายฝ่าย เช่น ตัวแทนรัฐบาล, ผู้บริหาร, ผู้นำประชาสังคม และอาจรวมถึงตัวแทนจากสถาบันต่างๆ โดยแยกแยะตามความเหมาะสมของประเด็นนั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความตึงเครียดของระบบที่มีผลกระทบต่อตลาดโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันระบบความร่วมมือเช่นนี้ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายสำหรับยูเอ็นและองค์กรเฉพาะทางของพวกเขา
 
จากรายงานของ GRI ยังได้ยกตัวอย่างว่าระบบการดูแลจัดการเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มบรรษัทจะถูกหลอมรวมอยู่ภายใต้ระบบของยูเอ็นได้อย่างไร และการทำเช่นนี้จะทำให้โลกาภิวัตน์เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากถ้าหากองค์กรหรือกลุ่มประชาชนร่วมมือกับนโยบายการพัฒนาของยูเอ็นแล้ว จะทำให้พวกเขาเล็งเห็นประโยชน์ของความร่วมมือ ทำให้พวกเขาซึ่งเคยอยู่นอกระบบของการจัดการในเชิงรัฐ ได้เข้าร่วมจัดการอย่างเท่าเทียมหรือเป็นเสมือนหุ้นส่วนของรัฐบาลในระบบใหม่ของยูเอ็น
 
องค์กร WEF มองว่า หากกลุ่มประเทศ G20 อาศัยหลักการความร่วมมือเช่นนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มประเทศ G20 จะขยายฐานความเป็นผู้นำไปยังภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
 
ข้อเสนออย่างที่สองในรายงาน GRI คืออยากให้องค์กรเฉพาะทางของยูเอ็นมีระบบจัดการที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและที่ไม่ใช่ภาครัฐ โดย GRI ชี้ให้เห็นว่าเมื่อองค์กรนานาชาติมีการตัดสินใจที่กระทบกับโลกาภิวัตน์พวกเขาไม่มีการปฏิบัติทีทำให้เห็นผลได้เว้นแต่จะมีภาคส่วนบรรษัทสนใจปฏิบัติตามกระบวนการขององค์กรนานาชาติ ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นช่องว่างที่ WEF พยายามละเชื่อมเข้าหากัน
 
รายงานใน GRI เสนอว่าเมื่อมีการประชุมองค์กรนานาชาติ เช่น WHO, UNESCO และ FAO กลุ่มที่ไม่ใช่องค์กรภาครัฐควรมีการประชุมคู่ขนาน หรือมีการจัดโครงสร้างทางเลือกในกำหนดการขององค์กรนานาชาติ ซึ่ง WEF มองว่าการประชุมคู่ขนานจะช่วยให้กลุ่มที่ไม่ใช่ภาครัฐมีความจริงจังกับนโยบายที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคส่วนของบรรษัท
 
ข้อเสนอนโยบายอย่างที่สามของกลุ่มองค์กรเวทีเศรษฐกิจโลก คือการนำประเด็นต่างๆ ที่เคยอยู่แต่ในระบบของยูเอ็นมาอยู่ภายใต้ระบบของกลุ่มผู้ถือผลประโยชน์หลากหลายกลุ่ม เพราะระบบแบบหลังนี้ทำให้รัฐชาติในระดับเล็กและระดับกลางมีโอกาสได้รับรู้ว่าพลเมืองของประเทศตนกำลังสนใจปัญหาระดับโลกในเรื่องใด
 
WEF ได้ยกตัวอย่างเรื่องกระบวนการของคิมเบอลีย์ (Kimberley Process) ที่มีการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มเหมืองแร่ บริษีทผู้ค้า กลุ่มประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น "เพชรสีเลือด" (Blood Diamond) และรัฐบาลแอฟริกันที่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยมีกระบวนการให้การรับรองอย่างสมัครใจที่จะไม่ให้มีการซื้อขายเพชรนี้ในระดับนานาชาติอันจะทำให้เกิดความขัดแย้ง กล่าวคือให้ประโยชน์กับกลุ่มกบฏหรือกลุ่มที่คิดจะโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็น โดยจำกัดแม้กระทั่งการซื้อขายกับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมด้วย
 
รายงานของ GRI ได้เสนอบทบาทหน้าที่ใหม่แก่กลุ่มคณะทำงานของสหประชาชาติในด้านความร่วมมือกับภาคส่วนบรรษัท โดยการให้เลขาธิการสหประชาชาติควรจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมงานที่มีตัวแทนผลประโยชน์จากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วม และให้มีสำนักงานความร่วมมือที่คอยรวบรวมกลุ่มบรรษัท, นักวิชาการ และกลุ่มองค์กรประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านต่างๆ
 
บทบาทอย่างที่สองคือการที่กลุ่มต่างๆ มีอำนาจในการเลือกว่าจะให้เลขาธิการยูเอ็นเข้าร่วมการประชุมด้านการจัดการของกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์ด้วยหรือไม่ คณะทำงานของยูเอ็นจะเป้นเสมือนผู้เชี่ยวชาญและผู้ประสานงานกับรัฐบาลและองค์กรยูเอ็นที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
 
นอกจากนี้ทาง WEF ยังเล็งเห็นว่าในสภาพการทางเศรษฐกิจปัจจุบันการที่ยูเอ้นจะหาเงินทุนในการดำเนินการตามเป้าหมายเป็นไปได้ยาก แต่ขณะเดียวกันเงินในคลังของเหล่าบรรษัทก็อาจจะกลายเป็นแหล่งทุนใหม่ของยูเอ็นได้ โดยที่ผู้บริหารจะมีแรงจูงใจในการให้เงินทุนบางโครงการหากพวกเขารู้สึกว่ามันจะให้ผลประโยชน์ต่อพวกเขาในระยะยาว
 
จากการมีส่วนร่วมของตัวแทนผลประโยชน์หลายแหล่งและการที่บรรษัทจะให้ทุนในโครงการเฉพาะด้าน จะทำให้โครงสร้างของยูเอ็นเปลี่ยนไปจากเดิม WEF ได้เพิ่มข้อความในกฏบัตรของยูเอ็นเรื่องบทบาทขององค์กรเอ็นจีโอในประเด็นการต่างประเทศ ในกฏบัตรระบุว่าเอ็นจีโอสามารถเข้าร่วมกับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ได้ในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งในข้อเสนอของ WEF ระบุว่าฝ่ายตัวแทนผู้ไม่ได้มาจากรัฐที่ได้รับการคัดเลือกจะมีอำนาจในการตัดสินใจระดับเดียวกันหรือมากกว่าตัวแทนจากรัฐบาล และการตัดเลือกจะมาจากสมาชิกรายอื่นๆ ของกลุ่มตัวแทนผลประโยชน์หลายกลุ่ม
 
จากมุมมองของ WEF การถ่วงดุลระหว่างระบบการดูแลจัดหารโดยรัฐและระบบการดูแลจัดการโดยบริษัทหรือกลุ่มผลประโยชน์จะทำให้ระบบทั้งสองแบบทำงานได้ดีขึ้น
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
WEF Proposes a Public-Private United "Nations", Policy Innovations, 18-06-2013
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาเลื่อนถก 'แก้รธน.-นิรโทษกรรม' ไปปลาย ส.ค.

Posted: 22 Jun 2013 06:54 AM PDT

รองประธานสภาเผยปฏิทินประชุมสภาเลื่อนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ- นิรโทษฯ เหตุพิจารณางบฯ ภายใน 105 วัน

 
22 มิ.ย. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายเจริญ จรรย์โกมลย์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวถึงปฏิทินการเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไปวันที่ 1 ส.ค.ว่า สัปดาห์แรกจะเป็นวาระการพิจารณากระทู้ถาม ส่วนสัปดาห์ที่ 2 และ 3  เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน 
 
ขณะที่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. จึงจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งจะหยิบฉบับแก้ไขที่มา ส.ว. เข้ามาพิจารณาก่อนเป็นเรื่องแรก ซึ่งคงพิจารณาไปเรื่อยๆ เน้นให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ โดยคาดว่าจะทันใช้สำหรับการเลือกตั้งส.ว.ในปี 2557 หลังจากนั้นในเดือน ก.ย. ก็น่าจะเป็นวาระการแถลงผลงานของรัฐบาล 
 
นอกจากนี้อาจมีการนำ พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประสานมาประกอบกับต้องดูสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นด้วย
 
"การประชุมใน 3 สัปดาห์แรกถูกบังคับด้วยข้อกฎหมายการพิจารณางบประมาณภายใน 105 วัน ซึ่งฝ่ายค้านคงไม่ขัดข้อง" นายเจริญกล่าว
 
เมื่อถามว่า แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่า เรื่องของมาตรา 68 ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา การประชุมสภาก็สามารถดำเนินไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าถามฝ่ายค้านในเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่ายุบสภาอยู่แล้ว แต่คิดว่าปัญหาเรื่องนี้น่าจะชี้แจงให้เข้าใจได้ ขณะเดียวกันการที่กลุ่มหน้ากากขาวพยายามล้มล้างรัฐบาล หากรัฐบาลมีความชอบธรรม สามารถบริหารประเทศได้ก็ไม่น่ามีปัญหา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

Posted: 22 Jun 2013 05:13 AM PDT

"ถ้าการช่วงชิงกลับมาคือการบอกเล่าเรื่องจริง เราก็คิดว่าการบอกความจริงคือสิ่งที่ต้องทำ เป็นสิ่งที่ควรจะทำ.."

22 มิ.ย.56, ผู้ก่อการจัดงาน 'เฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนา' กล่าวถึงความสำคัญของการช่วงชิงวันชาติกลับมาเป็นวันที่ 24 มิ.ย.

ผู้ตรวจราชการแผ่นดินให้ยุติรื้อถอนไฟฟ้าชุมชนบ่อแก้ว-รับสอบตั้งสำนักสงฆ์ในพื้นที่สวนป่า

Posted: 22 Jun 2013 03:11 AM PDT

ผู้ตรวจราชการแผ่นดินส่งหนังสือแสดงความเห็นชอบให้ชะลอ-ยุติการดำเนินการยกเลิกรื้อถอนไฟฟ้าในชุมชนบ่อแก้ว พร้อมรับตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีสวนป่าคอนสารทับที่ทำกิน รวมทั้งการอนุญาตตั้งสำนักสงฆ์ธรรมรัศมีใช้พื้นที่สวนป่า

 
วันที่ 22 มิ.ย.56 นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แจ้งว่า ช่วงเช้าวานนี้ได้รับหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ผผ 09/776 จากสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน กรณีข้อร้องเรียน ที่ชุมชนบ่อแก้วขอทำการติดตั้งไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเกษตร ระบุความเห็นชอบให้ชะลอ หรือยุติการตัดไฟจากชาวบ้าน ด้านข้อร้องเรียนต่อกรณีสวนป่าคอนสารทับที่ทำกินราษฎร รวมทั้งการที่มีการอนุญาตให้สำนักสงฆ์ธรรมรัศมีใช้พื้นที่สวนป่าคอนสาร ผู้ตรวจราชการแผ่นดินรับเรื่องไว้พิจารณา พร้อมจะตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ตามข้อร้องเรียน
 
จากกรณีที่การไฟฟ้าสาขาย่อยอำเภอคอนสาร ได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ตามคำร้องขอใช้ไฟฟ้า แล้วทำการเดินสายไฟให้เมื่อวันที่ 18 ม.ค.56 กระทั่งวันที่ 3 ก.พ.56 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้เข้ามาในชุมชน และสั่งให้ชาวบ้านรื้อถอนมิเตอร์ไฟฟ้า โดยอ้างว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ทั้งยังขุมขู่ ไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ภายหลังให้ทำการรื้อถอนไฟฟ้าด้วย
 
นายนิด กล่าวว่า ภายหลังเรื่องดังกล่าว ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ได้มาชุมนุมกันหน้าที่ว่าการหน้าอำเภอคอนสาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ก.พ.56 โดยระหว่างการชุมชนได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ตรวจการราชการแผ่นดินถึงความไม่เป็นธรรม กระทั่งนายไพศาล ศิลปะวัฒนานันท์ นายอำเภอคอนสาร ลงมาพบรับหนังสือ ต่อมาการชุมนุมของชาวบ้านยุติลงในวันที่ 14 ก.พ.56 หลังหน่วยงานราชการให้ผ่อนผันการใช้ไฟฟ้าในชุมชนต่อไป
 
ประธานโฉนดชุมชน กล่าวว่า ถือเป็นสิ่งที่ดี และให้ประโยชน์ต่อชาวชุมชนอย่างมาก ที่ทางผู้ตรวจราชการแผ่นดินมีหนังสือแจ้งมา เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีให้รื้อถอนไฟฟ้านั้น อ.อ.ป.พยายามหาเรื่องมาดำเนินคดีกับชาวบ้าน และบีบให้ออกจากพื้นที่มาโดยตลอด
 
นายนิด กล่าว่า การที่ ออป.ยึดพื้นที่ชาวบ้านไปปลูกสวนป่ายูคาฯ แล้วไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย จำนวนกว่า 4,400 ไร่ ไปเมื่อปี 2521 กระทั่งผู้เดือดร้อนกว่า 200 ครอบครัว ได้กลับเข้ามายึดคืนเมื่อ 17 ก.ค.52 แม้ชาวบ้าน 31 คน จะถูกดำเนินคดีแต่ชาวชุมชนบ่อแก้วยังคงปักหลักบนผืนแผ่นดินเดิมเรื่อยมา กระทั่งปี 2555 วันครบรอบ 3 ปีบ่อแก้วได้ประกาศพื้นที่ชุมชนเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์ และพัฒนาแผนการปฏิรูปที่ดินและภาคเกษตรแบบครบวงจร
 
"ที่จริงแล้ว อ.อ.ป.ต้องสนับสนุนกระบวนการทำงานของชาวบ้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของชุมชนและการเร่งยกเลิกสวนป่าคอนสารตามมติคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งถือว่ามีความล่าช้ามาก และ อ.อ.ป.ต้องตรวจสอบด้วยว่า ศูนย์ธรรมรัศมีซึ่งอยู่ตรงข้ามชุมชนบ่อแก้วทำไมมีสิทธิ์ใช้พื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา แต่ชาวชุมชนที่สูญเสียที่ทำกินของตัวเองไป เมื่อกลับเข้ามาเพื่อทวงสิทธิคืนและนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ขับไล่ ในข้อกล่าวหาบุกรุก ทั้งที่เป็นผืนดินที่ได้ทำประโยชน์มาก่อนจะมีการประกาศเขตป่า" นายนิด กล่าวทิ้งท้าย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหารื้อถอนไฟฟ้าในชุมชนบ่อแก้วดังกล่าว อ.อ.ป.ได้เคยชี้แจงต่อที่ประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การดำเนินการดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งถือว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ดินของรัฐ ในขณะที่ชาวบ้านแย้งว่าการเข้าถึงบริการของรัฐเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำแนกว่าอยู่ในพื้นที่ประเภทใด และต้องแยกออกจากปัญหาข้อพิพาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับผู้ก่อการจัดงาน ‘เฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนา’

Posted: 22 Jun 2013 03:07 AM PDT

24 มิ.ย. ที่จะถึงนี้จะเป็นวันครบ 81 ปี การที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง และหลายปีที่ผ่านมานี้มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่จัดกิจกรรมรำลึกในเวลาย่ำรุ่งของเช้าวันดังกล่าว บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า เช่นการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 การวางดอกไม้ การจุดเทียนและการแสดงละครเป็นต้น เช่นเดียวกันปีนี้ก็มีกิจกรรมแต่เปลี่ยนจากการรำลึกเป็นการ "เฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนา" และ เปิดด้วยการทำคลิปเชิญชวนในยูทูบโดยชายสวมแว่นดำแต่งกายคล้ายทหาร ออกมาประกาศเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรมที่จะเริ่มตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย.ไปจนเช้าวันที่ 24 มิ.ย.  โอกาสนี้ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ "กอล์ฟ" หรือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ผู้ก่อตั้งกลุ่มประกายไฟการละครและหนึ่งในผู้ริเริมจัดกิจกรรมนี้ เพื่อดูถึงที่มาที่ไป ความคิดมุมมองของเธอถึงสาเหตุว่าทำไมต้องมาจัดกิจกรรมนี้

คลิปเชิญชวนร่วมกิจกรรม 'เฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนา'

ประชาไท : ที่มาของ คณะจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนา เป็นใครบ้าง?

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง : ก็เริ่มจากเรา(ภรณ์ทิพย์)อยากจัดงานวันชาติในแบบที่ไม่เหมือนทุกๆปี เรารู้สึกว่างานรำลึกมันบอกอะไรได้น้อยกว่า เราเลยไปชวนพี่ๆ กลุ่ม 24 มิถุนา มาร่วมกันจัดงาน จริงๆบอกเค้าว่าพี่เราอยากจัดงานแบบงานวัดแบบงานฉลองสมัยก่อน พี่เค้าก็ตกลง จากนั้นก็เลยรวบรวมเพื่อนที่เคยเล่นละครด้วยกัน แล้วก็ไปชวนกลุ่มอื่นๆ มาร่วมกัน ตอนนี้ก็มีกลุ่มประกายไฟการละครรวมการเฉพาะิกิจแห่งประเทศไทย, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรม, กลุ่มกวีราษฎร์, เสื้อแดงธนบุรี 15 เขต, ไทยแลนด์ มิเรอร์ และคณะราษฎร 2555 เหมือนจะเยอะนะ แต่คนทำงานนิดเดียว (หัวเราะ) เป็นปกติของงานกิจกรรมแบบนี้แหละ งานปีนี้เราก็พยายามจะรวบรวมงานในแต่ละที่ที่จัดมาใส่ไว้ในกำหนดการที่จะแจกให้กับคนที่มาเข้าร่วมงานกับเรานะ  เพื่อจะได้เป็นทางเลือกให้คนได้มีพื้นที่เรียนรู้เรื่องนี้เยอะๆ เค้าจะเลือกไปที่ไหนก็ได้ ไม่ได้แค่ให้มางานเราอย่างเดียว งานเราไม่มีข้อมูลความรู้มากเท่างานวิชาการที่หลายที่จัดขึ้นแต่ถ้าคนที่ชอบงานรื่นเริงแล้วอยากไปเรียนรู้เพิ่มเราก็แค่บอกเค้าว่ามีที่ไหนให้ไปบ้าง

"กอล์ฟ" ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

ทำไมต้องการให้วันที่ 24 มิ.ย.เป็น 'วันชาติ' ?

ภรณ์ทิพย์ :  จริงๆ แล้วคิดว่าทุกคนที่อ่านประวัติศาสตร์หรือพอจะเข้าใจการเมืองบ้างก็น่าจะเข้าใจอยู่ เพราะมันเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร พ.ศ 2475    ซึ่งชาติในที่นี้มันได้ถูกเปลี่ยนเป็นความหมายว่าเป็นประชาชน  ดังนั้นถ้าวันนี้เรายังยืนยันว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว วันนี้จึงเป็นวันชาติที่แท้จริง

และทำไมต้องออกมาเฉลิมฉลองกัน?

ภรณ์ทิพย์ :  เนื่องจากวันนี้จอมพล ป. ได้ประกาศให้เป็นวันที่เฉลิมฉลองวันชาติ ในปี พ.ศ. 2482 และ ชาติในที่นี้หมายความถึงชาติที่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว เค้าก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองกันให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของประชาธิปไตย อย่างในต่างประเทศเขาก็จะนับเอาวันที่ปฏิวัติหรือวันที่ได้รับเอกราชเป็นวันชาติ  แต่ก่อนหน้านี้มันได้หายไปโดยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งมันคือการแทนที่ชาติของประชาชนเป็นชาติที่ครอบครองโดยพระมหากษัตริย์   ทำให้ความเข้าใจเรื่องวันชาติหรือการให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยถูกทำให้เลอะเลือนไป 

ดังนั้นในวิกฤตการณ์ทางสังคม  ณ ตอนนี้ที่หลายฝ่ายหลายๆคนมักอ้างถึงประชาธิปไตยอยู่เสมอแต่ด้วยการแสดงออกกลับไม่ได้เป็นในทิศทางของการส่งเสริมประชาธิปไตย  นี้ไม่ได้พูดถึงสีใดสีหนึ่งแต่หมายถึงคนสองสี หรือคนที่ชอบบอกว่าตัวเองเป็นกลางด้วย เอาเข้าจริงแล้วพวกเราเข้าใจประชาธิปไตยมากแค่ไหนกันเชียว ทุกวันนี้วัฒนธรรมของประเทศเราไม่ได้ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยเลยพวกเราที่เติบโตมาจึงพูดถึงประชาธิปไตยแค่เปลือก นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าใจมากกว่าคนอื่น แต่เราอยากให้ทบทวนว่าเราเข้าใจกันแล้วจริงๆ ใช่ไหม ทีนี้  เราก็เลยอยากจะจัดงานมาในลักษณะของงานวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อย้อนให้คนเห็นถึงยุคสมัยที่ทุกคนเฉลิมฉลองวันชาติที่เป็นวันชาติที่เฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฟื้นงานเฉลิมฉลองวันชาติของประชาชนขึ้นมาอีกครั้ง

ภาพโปสเตอร์ประกอบละคร

กิจกรรมที่เตรียมไว้มีอะไรบ้าง  ทำไมต้องมีกิจกรรมเหล่านั้นเอาเงินเอาแรงที่ไหนมาจัด?

ภรณ์ทิพย์ :  กิจกรรมก็มีหลายอย่าง มีแต่งกายย้อนยุค ก็อยากให้ทุกคนใส่ มีร้องเพลงร่วมกับทายาทคณะราษฎร ซึ่งเราก็ได้รับความร่วมมือจากลุงแมว ทายาทพระยาพหล แต่เราก็ติดต่อไปหลายคนมากนะคะส่วนใหญ่ก็อายุเยอะกันแล้ว อย่างป้าจีรวัสส์ลูกสาวของจอมพล ป. ซึ่งก็อยากมาแต่ก็มาไม่ได้เพราะสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว ส่วนคนอื่นๆ ก็อย่าไปพูดถึงเลยคะ แต่น่าแปลกที่หลายคนก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะให้มีการเอาวันชาติ 24 มิถุนากลับมา หรือแม้แต่จะส่งทายาทอีกรุ่นหนึ่งมาก็ยังลำบาก

มีละครเรื่อง 9 แผ่นดิน ซึ่งก็เป็นเรื่องสุดท้ายที่ประกายไฟเคยประกาศไว้คราวนี้มารวมกันเฉพาะกิจ แล้วก็มีรำวงย้อนยุคกับวงไฟเย็น มีซุ้มกิจกรรม มีอาหารแจกฟรี มีผัดไทยด้วย ผัดไทยนี่เป็นอาหารในยุคชาตินิยมจริงๆ แล้วกิจกรรมสุดท้ายก็คือการอ่านสุนทรพจน์ของจอมพล ป. โดยอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ซึ่งเป็นสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสวันเฉลิมฉลองวันชาติ

ส่วนงบประมาณเราก็ระดมกันมาตอนแรกก็ไปเปิดหมวกในที่ชุมนุม หรือตามสะพานลอยแต่เอาเข้าจริงได้น้อยมากๆ  ทางคณะกรรมการ 40 ปี 14 ตุลาฯ ก็เลยช่วยสนับสนุนมาเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ได้จากกลุ่มโดมรวมใจด้วย

สำหรับแรงที่ทำงานนี้ก็ใกล้จะหมดแล้ว สำหรับพวกเรานะ เพราะจัดงานแบบนี้แต่คนให้การสนับสนุนน้อย อาจจะเป็นเพราะมันเป็นงานวัฒนธรรมด้วย แล้วคนก็คงมองว่าพวกเราเป็นเด็กๆ อะไรแบบนี้แต่ก็อดทน ยังไงก็จะจัด ต่อให้ตอนนี้ได้เงินแค่สองหมื่นก็จะเล่นกันกลางถนนนั่นหละ (หัวเราะ)

กำหนดการกิจกรรม :

ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า

วันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย.56

17.00 – 17.20 น. :วงกำปั้น เปิดงาน
17.50 – 18.00 น. :ร้องเพลงชาติ 24 มิถุนา ร่วมกับ ทายาทคณะราษฎร
18.00 – 18.30 น. :ทายาทคณะราษฎรกล่าวความรู้สึก
18.30 – 18.45 น. :บทกวีโดย เพียงคำ ประดับความ
18.45 – 18.55 น. :การแสดงจากกลุ่ม 24 มิถุนา
19.10 –19 .20 น. :บทกวีจากกวีราษฎร์
19.20 – 19.30 น. :การแสดงจากแดงธนบุรี
19.40 – 19.50 น. :บทกวีจากกวีราษฎร์
20.10 – 20.25 น. :จินตลีลา ชุด บัลลังเมฆ จากตัวแทนนักเรียน
20.25 – 22.00 น. :ละครเรื่อง 9 แผ่นดิน โดยประกายไฟการละครเฉพาะกิจ
22.15 – 23.30 น. :รำวงกับวงไฟเย็น
23.45 – 24.00 น. :สุนทรพจน์ จอมพล ป โดย อ.ณัฐพล ใจจริง
00.30 – 05.00 น. :ฉายหนังกลางแปลง

วันจันทร์ ที่ 24 มิ.ย.56
06.00 น. :รำลึกบริเวณหมุดคณะราษฎร

ซุ้มกิจกรรมพร้อมของรางวัล ปาเป้า + ปาโป่ง + โยนห่วง + ฉายหนังกลางแปลง และนิทรรศการบริเวณหมุดคณะราษฎร

จะเห็นว่าทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์นี้  ปีที่แล้วก็มีคณะราษฎรที่ 2  มันจะกลายเป็นเพียงงานประจำปี และจัดกันเฉพาะคนที่สนใจเป็นเหมือนงานแซยิดหรือไม่  จัดกันเองดูกันเองหรือเปล่า?

ภรณ์ทิพย์ : ก็คงต้องเป็นแบบนั้น และก็คงจะเป็นแบบนั้นต่อไปเพราะว่าไม่ว่ายังไงมันก็ยังเป็นแบบนั้นเราเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไม่ได้เพียงแค่ในเวลานี้  แต่ถ้าเราจะทำให้ได้จริงเราต้องผลักดันให้มันเป็นนโยบายรัฐ ให้รัฐเป็นผู้ริเริ่มมากกว่านี้ แต่เราจะหวังอะไรได้ ในเมื่อ ส.ส. หรือ ส.ว. ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ว่าสิ่งที่เราทำได้คือไม่ให้มันหายไป อย่างน้อยก็ยังรวบรวมคนที่สนใจไว้ด้วยกัน เท่านั้นเอง ส่วนจะมีคนสนใจเพิ่มมากขึ้นไหม มันก็เป็นแค่ความคาดหวัง

ผลลัพธ์สุดท้ายที่คิดว่าจะได้จากงานนี้คืออะไร?

ภรณ์ทิพย์ :  ก็คงจะเป็นการรวบรวมคนที่สนใจมารวมกันประจำปีซึ่งเราคิดว่าการจัดงานในลักษณะงานวัฒนธรรมที่ทำให้คนอื่นเขาเข้ามามากขึ้น

 

"ถ้าการช่วงชิงกลับมาคือการบอกเล่าเรื่องจริง

เราก็คิดว่าการบอกความจริงคือสิ่งที่ต้องทำ เป็นสิ่งที่ควรจะทำ.."

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง กล่าวถึงความสำคัญของการช่วงชิงวันชาติ

ทำไมคิดว่า "วันชาติ"  จึงมีความสำคัญที่จะต้องช่วงชิงกลับมา  และมองว่าสุดท้ายใครจะได้ประโยชน์จากมัน?

ภรณ์ทิพย์ :  ถ้าการช่วงชิงกลับมาคือการบอกเล่าเรื่องจริง เราก็คิดว่าการบอกความจริงคือสิ่งที่ต้องทำ เป็นสิ่งที่ควรจะทำ  คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือคนที่ยังสนใจมันเป็นแค่การหล่อเลี้ยงคนกลุ่มหนึ่งที่อยากบอกเล่าความจริงในทางประวัติศาสตร์  มันอาจจะทำให้เขามีแรงที่เขาจะบอกเล่าเรื่องต่อไปจนกว่าจะถึงวันที่ทุกคนตื่นเต้นและเห็นความสำคัญของมันในสักวันหนึ่ง หรือแม้แต่ลูกหลานคณะราษฎรเองก็ยังไม่ได้เห็นความสำคัญในการที่เอาวันนั้นกลับมาเป็นวันชาติ เพราะฉะนั้นจะมาคาดหวังให้คนทั้งประเทศตื่นตัวและเห็นความสำคัญของวันชาติ 24 มิถุนา ในระยะเวลาอันสั้นก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็ได้ หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของคนทำงาน และคนที่อยากบอกเล่าความจริงเอาไว้  ซึ่งรัฐบาล รัฐสภา ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันนี้เลย  เพราะฉะนั้นคนทำงานหรือคนที่มีความเชื่อเรื่องนี้ก็จะไม่ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลหรือคนในสังคม เราจึงต้องดูแลกันเองให้ความรู้ และการจัดงานนี้ก็อาจจะช่วยขยายข้อมูลข้อเท็จจริงซึ่งก็คือความจริงทีมันเคยเกิดขึ้นไปสู่คนที่มาร่วมงานได้บ้าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกกำชับดูแลความปลอดภัยหน้ากากขาว วอนชุมนุมตามกติกา

Posted: 22 Jun 2013 02:53 AM PDT

เผยนายกรับทราบกลุ่มหน้ากากขาวนัดชุมนุมที่ราชประสงค์พรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และไม่ห้ามหากเป็นการแสดงออกในกรอบกติกา 'ปชป.' อัดเสื้อแดงแสดงพฤติกรรมสร้างความรุนแรง ด้านรองโฆษก พท. ปูดข่าวมีการลงขันจ้างหน้ากากขาวล้มรัฐบาล ระบุระวังมือที่ 3 เตือนเลี่ยงการชุมนุม

 
 
(แฟ้มภาพจาก: www.facebook.com/V.For.Thailand)
 
22 มิ.ย. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว บริเวณราชประสงค์ในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) ว่า  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และก่อนหน้านี้ได้กำชับตลอดเวลาว่าต้องการให้การชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งเป็นการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ห้ามผู้ใดมาชุมนุม และขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุมและผู้สัญจรไปมาไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
 
เมื่อถามว่ารัฐบาลห่วงมือที่สามเข้ามาก่อเหตุความวุ่นวายหรือไม่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องติดตามสถานการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่
 
"รัฐบาลก็มอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ มาตลอด เป็นการแสดงออกของประชาชน คงไม่มีปัญหาอะไร และก็คงห้ามไม่ได้ แต่ในส่วนเจ้าหน้าที่ก็ดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและอยู่ในกติกา" นายธีรัตถ์ กล่าว
 
'ปชป.' จี้ 'ปู'ดูแล 'หน้ากากขาว'
 
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่จะมีการนัดชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว ในวันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย.นี้ว่า ในการชุมนุมครั้งนี้มีความพยายามปล่อยข่าวของคนในรัฐบาลว่า จะเป็นการชุมนุมที่นำไปสู่ความรุนแรง จากการกระทำของมือที่สาม ดังนั้น หากรัฐบาลมีข้อมูล ก็ถือเป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลในการดูแลความสงบของบ้านเมือง และผู้ชุมนุม แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์กังวลคือ พฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ไปก่อกวน รังควานการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มอื่นๆ อยู่เป็นประจำ โดยมักใช้พฤติกรรมเถื่อน ก่อให้เกิดความรุนแรง ทั้งในเวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ และการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว
 
"ขอเรียกร้องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูงหากอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ตามที่นายกฯ ต้องการในงานอวยพรวันเกิด ก็ควรสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการป้องกันดูและไม่ให้เกิดความรุนแรง รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เตือนภัย แต่ควรช่วยกันให้การชุมนุมของประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ และต้องพยายามทำให้ทุกคนที่อยู่ใต้กฎหมายไทย อย่าปล่อยให้ใครละเมิดกฎหมาย ด้วยการใช้ความรุนแรง" นายองอาจ กล่าว
 
รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ปูดข่าว มีการลงขันจ้างหน้ากากขาวชุมนุมล้มรัฐบาล ระบุ ระวังมือที่ 3 เตือน เลี่ยงการชุมนุม
 
ด้านไอเอ็นเอ็นรายงานว่า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาวว่า จากการข่าวของหน่วยงานความมั่นคง พบว่า ขณะนี้มีการขยายตัวในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ โดยเชื่อว่าน่าจะมีการลงขันของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ แต่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อล้มรัฐบาล สำหรับข่าวที่ให้ผู้ชุมนุมระวังมือที่ 3 ไว้นั้น ไม่ใช่เป็นการข่มขู่ พร้อมขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุมดังกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เซ็นทรัลแถลงจุดยืนห้ามใช้พื้นที่ชุมนุมการเมือง ยันเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร

Posted: 22 Jun 2013 02:30 AM PDT

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าเพื่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้การชุมนุมทางการเมืองจะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม

 
 
22 มิ.ย. 56 - บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ได้ส่งแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชน กรณีที่จะไม่อนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าเพื่อการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้การชุมนุมทางการเมืองจะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าวมีดังนี้
 
จากกรณีที่มีการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณศูนย์การค้าในเครือของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ผ่านมา   บริษัทฯ ตระหนักดีว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ บริษัทฯ จึงใคร่ขอเรียนชี้แจงจุดยืนและนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อกรุณาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังนี้
 
1.บริษัทฯ ขอยืนยันการดำเนินธุรกิจแบบมืออาชีพและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด โดยไม่สนับสนุนหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยตรงหรือโดยอ้อม
 
2.บริษัทฯ ไม่มีนโยบายคัดค้านการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่สนับสนุนให้กลุ่มใดๆ มาใช้พื้นที่ในการชุมนุม หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกรูปแบบ
 
บริษัทฯ ประสงค์ให้ศูนย์การค้าฯ ทุกแห่งของบริษัทฯ เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการที่สุจริตชนจะมาใช้ชีวิตพักผ่อนหย่อนใจอย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และให้ผู้ประกอบการสามารถมาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ดำเนินกิจการค้าขาย รวมถึงเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้และเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน โดยบริษัทฯ เป็นผู้ดูแลพื้นที่ ผู้ประกอบการ และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ
 
ดังนั้น บริษัทฯ จึงขออภัยที่ไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ใดใช้พื้นที่ของศูนย์การค้าฯ เพื่อการชุมนุมทางการเมือง หรือผิดไปจากจุดยืนดังกล่าวได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผยคะแนนนิยม 'ยิ่งลักษณ์' ลดลง คนหนุนปรับ ครม.

Posted: 22 Jun 2013 02:21 AM PDT

กรุงเทพโพลล์สำรวจคะแนนนิยมหลังเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ดอนเมือง และผลงานรับจำนำข้าวขาดทุนพบคะแนนนิยม 'ยิ่งลักษณ์' ลดลง 10.8% ส่วนพรรคเพื่อไทย ลดลง 7.8% และประชาชน 45.4% หนุนให้มีการปรับ ครม.

 

ที่มาภาพ: www.facebook.com/Y.Shinawatra
 
22 มิ.ย. 56 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,234 คน ในหัวข้อ "คะแนนนิยมเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง และผลงานรับจำนำข้าวขาดทุน" พบว่า
 
คะแนนนิยมนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 10.8 (จากเดิมร้อยละ 51.2) ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน มีคะแนนนิยมอยู่ที่ ร้อยละ 31.7  ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ร้อยละ 1.4
 
ด้านคะแนนนิยมพรรคการเมือง พบว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเท่ากับร้อยละ 41.0 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาร้อยละ 7.8 (จากเดิม ร้อยละ 48.8) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมร้อยละ 32.4 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ร้อยละ 2.4 
 
เมื่อถามว่า "ณ วันนี้  ท่านคาดว่ารัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะทำงานครบวาระหรือไม่" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 55.4 คาดว่ารัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะทำงานครบวาระ 4 ปี  รองลงมา ร้อยละ 13.9 คาดว่าจะทำงานได้มากกว่า 3 ปีแต่ไม่ครบ 4 ปี และร้อยละ 10.6 คาดว่าจะทำงานได้มากกว่า 2 ปีแต่ไม่ถึง 3 ปี  
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าเวลานี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรมีการปรับครม. หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 45.4 มีความเห็นว่า ควรปรับ ขณะที่ร้อยละ 22.0  เห็นว่าไม่ควรปรับ ที่เหลือร้อยละ 32.6 ไม่แน่ใจ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ละครสันติภาพ’ ข้อเรียกร้องบนโต๊ะเจรจาในเรือนจำคดีความมั่นคง

Posted: 22 Jun 2013 02:00 AM PDT

จำลองโต๊ะเจรจา 'ละครสันติภาพ' ในเรือนจำคดีความมั่นคง สร้างบทบาทสุมมุติ 4 ฝ่าย ไทย-บีอาร์เอ็น-อาเซียน-โอไอซี สะท้อนความรู้ ความคิดและความต้องการจากผู้ต้องขังคดีไฟ

ก่อนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเงื่อนไข 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะเกือบทุกข้อเป็นประเด็นอ่อนไหวในสายตาสังคมไทยเอามากๆ

ไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำอย่างในเรือนจำกลางสงขลา ที่เป็นที่จองจำผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับคดีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการถกเถียงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้ง 5 ข้อที่ว่า คือ

1.ให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา

2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็น

3.ให้มีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน จากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (OIC) และจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ (NGO)

4.ต้องปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงและยกเลิกหมายจับทั้งหมด และ

5.ต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ที่ผ่านมา กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ใช้โอกาสนี้ ในการจำลองการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพให้กับผู้ต้องขัง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นโอกาสให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นการรับเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขังกลุ่มนี้ในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั่นเอง

ก่อนละครเปิดฉาก มีการคัดเลือกตัวแทนผู้ขัง 32 คน จากทั้งหมดเกือบ 100 คนที่มาร่วมกิจกรรม จากนั้นได้แบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ฝ่าย 8 คน ซึ่งผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่ถูกจองจำอยู่ที่นี่ เป็นผู้ต้องขังที่มีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต มีทั้งที่คดียังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกาและที่คดีถึงที่สุดแล้ว

การแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ก็เพื่อให้แสดงบทบาทสมมุติเป็นฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพ ได้แก่

ฝ่ายตัวแทนรัฐบาลไทย

ฝ่ายตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น

ฝ่ายตัวแทนโอไอซี และ

ฝ่ายตัวแทนประชาคมอาเซียน

ที่เหลือเป็นผู้ชม

 

ละครเปิดฉาก – ตัวแทนเจรจาฝ่ายไทย

ละครเริ่มด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยประชุมกันเองก่อน เกี่ยวกับประเด็นที่ขบวนการบีอาร์เอ็นไม่ให้เรียกว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นผู้ปลดปล่อยปาตานี และประเด็นการปล่อยตัวนักโทษ ซึ่งเรียกเป็นนักโทษการเมือง

ในประเด็นแรก ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า จะยอมรับว่าขบวนการบีอาร์เอ็นไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นผู้ปลอดปล่อยปัตตานี แต่คนที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายทหารไม่เห็นด้วย เนื่องจากอาจเป็นการยกระดับขบวนการ BRN

ส่วนประเด็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองนั้น ทั้งหมดเห็นด้วย เพราะผู้ที่ถูกคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู่ของขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นนักโทษการเมือง หากมีการคุมขังหรือจับตัวมาลงโทษจำนวนมากๆ อาจจะนำความเสื่อมเสียให้ประเทศชาติได้ เพราะทำให้ชาวต่างชาติมองว่า ประเทศนี้ไม่มีความสงบสุข

 

ตัวแทนเจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็น

จากนั้นเป็นฉากที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ประชุมกันเองเช่นกัน มีข้อสรุปว่า หลังจากที่ขบวนการบีอาร์เอ็นได้เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อผ่านเว็บไซต์ยูทูป ปรากฏว่าฝ่ายรัฐไทยยังไม่ยอมรับ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไทยระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวไม่สามารถแบ่งแยกได้

ตัวแทนคนหนึ่งจึงพูดในที่ประชุมว่า ถามว่ารัฐธรรมนูญไทยที่บอกว่าแบ่งแยกไม่ได้นั้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากปาตานีตกเป็นของไทย ถ้ารัฐไทยไม่ยอมรับข้อนี้ การเจรจาก็ควรต้องยุติลง

 

ฉากเจรจาไทย-บีอาร์เอ็น

จากนั้น เข้าสู่ฉากการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเริ่มต้นด้วยฝ่ายไทย แจ้งข้อสรุป 2 ข้อ คือ 1.เราจะปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่งคง และ 2.เราจะถือว่าคุณไม่ใช่กบฏ แต่คุณคือผู้ปลดปล่อยปัตตานี

หลังจากแจ้งข้อสรุปแล้ว ฝ่ายไทยจึงมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย 2 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้ลดการใช้ความรุนแรงลง และ 2.เมื่อเกิดเหตุรุนแรงที่ไหนแล้วก็ขอให้ออกมายอมรับว่าบีอาร์เอ็นคือผู้กระทำ เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีใครออกมายอมรับเป็นผู้ก่อเหตุ

ฝ่ายไทย ถามต่อไปว่า คลิปวีดีโอที่ออกมาเรียกร้อง 5 ข้อผ่านยูทูปนั้น เป็นของบีอาร์เอ็นจริงหรือไหม พร้อมกับบอกด้วยว่า ถ้ายังมีเหตุรุนแรงอยู่อีก ฝ่ายไทยก็จะส่งกำลังทหารลงมาอีก

จากนั้นฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้เริ่มพูดบ้างโดยกล่าวว่า การเจรจาเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว หากฝ่ายไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อดังกล่าว เราคิดว่าเจรจาควรจะยุติลง ส่วนคลิปวีดีโอดังกล่าว เป็นของบีอาร์เอ็นจริง และเราขอยืนยันว่า การออกคลิปดังกล่าวไม่มีเบื้องหลังใดๆ เพราะฝ่ายไทยมักคิดว่า มีคนเบื้องหลังสนับสนุน

 

ตัวแทนประชาคมอาเซียน

จากนั้น เป็นฉากการประชุมของตัวแทนประชาคมอาเซียน ที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันกำลังจะมีการเปิดเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีเสรีภาพทางการค้าขายมากขึ้น และไทยก็เป็นสมาชิกอาเซียนด้วย แต่ปัญหาความมั่งคงในประเทศยังไม่คลี่คลาย ดังนั้นควรรีบแก้ให้ได้ก่อนที่เป็นอาเซียน เพราะหากถึงเวลานั้นแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ประเทศไทยก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกเข้ามาลงทุน

ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ ประชาคมอาเซียนต้องให้ความสนใจและต้องเข้าไปจัดการแก้ปัญหาด้วย

 

ตัวแทนโอไอซี

ผลการประชุมของฝ่าย 0IC ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพให้มากที่สุด โดยกำหนดแผนการเจรจาที่เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายบีอาร์เอ็นมีแผนการสำหรับการเจรจาอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าฝ่ายไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "หยวนนะคะ"

Posted: 22 Jun 2013 01:52 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "หยวนนะคะ"

เอดวาร์ด สโนว์เดนผู้ฝ่าสมรภูมิสงครามเย็นครั้งใหม่

Posted: 22 Jun 2013 01:52 AM PDT

การที่นายเอดวาร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างของซีไอเอได้ออกมาแฉความลับขั้นสุดยอดของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ฯ (National Security Agency) ว่าแอบสืบความลับจากพลเมืองอเมริกันโดยผ่านเว็บไซด์ชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าเฟซบุค  กูเกิลหรือบริษัทไมโครซอฟต์ รวมไปถึงการดักฟังโทรศัพท์มือถือมาเนิ่นนานภายใต้โครงการลับที่ชื่อ PRISM  อันสร้างความเสื่อมเสียให้กับรัฐบาลอเมริกานั้นได้ทำให้เขากลายเป็นคนขายชาติไปโดยปริยายผ่านการประนามของบุคคลสำคัญหลายคนไม่ว่านาย ดิก เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดี หรือ นายจอห์น เบียห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งแน่นอนว่าหากนายสโนว์เดนถูกจับดำเนินคดีได้ เขาคงไม่พ้นการถูกตัดสินประหารชีวิตหรือต้องจำคุกตลอดชีวิต  ชะตากรรมเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ "นักเป่านกหวีด" (Whistleblower) หรือนักเปิดโปงคนแรกคือนายจูเลี่ยน อัสซานจ์ผู้ก่อตั้งเวบไซต์        วิกิลีคหวาดกลัวเช่นเดียวกัน เขาจึงลี้ภัยไปอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนเพราะคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะถูกส่งตัวไปยังสวีเดนด้วยคดีล่วงละเมิดทางทางเพศและส่งตัวต่อไปนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าที่สหรัฐฯ ด้วยข้อหาเปิดเผยความลับของทางราชการในที่สุด

สำหรับนายสโนว์เดน ได้หนีจากเกาะฮาวายก่อนที่ทางการสหรัฐฯ จะทราบว่าเขาทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ PRISM ให้กับสำนักพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่อาจทราบได้ จุดหมายของเขาคือเกาะฮ่องกงซึ่งมีกฏหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสหรัฐฯ  แทนที่จะเป็นประเทศที่ปลอดจากอิทธิพลของสหรัฐฯ กว่าเช่นจีนแผ่นดินใหญ่ รัสเซีย หรือประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบไอซ์แลนด์ซึ่งยกย่องเชิดชูสิทธิและเสรีภาพ  นายสโนว์เดนอ้างสาเหตุที่เขาเลือกเกาะที่มีพลเมืองกว่า  7 ล้านคนนี้ว่าเพราะมีความเชื่อมั่นต่อระบบกฏหมายของฮ่องกงรวมไปถึงประชาชนชาวฮ่องกงนั้นดูไม่สมเหตุสมผลเพราะจีนแผ่นดินใหญ่มีความสามารถในการคัดค้านหรือยกเลิกคำตัดสินของศาลเกาะฮ่องกงได้ในฐานะที่เป็นรัฐบาลกลางที่มีอำนาจเหนือส่วนเกาะฮ่องกงในฐานะเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region) นอกจากนี้เกาะฮ่องกงมีขนาดเล็กและทางหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ สามารถสืบค้นหาเขาได้อย่างง่ายดาย  การตัดสินใจของนายสโนว์เดนจึงเหมือนกับการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น       

อย่างไรก็ตามหากมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นก็พอจะเดาได้ว่าสโนว์เดนมีความตั้งใจใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจคือจีน (กับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง) และสหรัฐฯ รวมไปถึงรัสเซียในช่วงสงครามเย็นครั้งใหม่ (New Cold War) โดยจะวิเคราะห์ตามบริบทและรูปแบบทางการเมืองของรัฐบาลประเทศมหาอำนาจดังต่อไปนี้


รัฐบาลจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะที่ละเอียดอ่อนและเปราะบางเป็นยิ่งนัก สำหรับการประชุมระดับสูงยอดระหว่างนายโอบามาและนายสี จิ้น ผิงที่แคลิฟอร์เนียเมื่ออาทิตย์ก่อน ประเด็นสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาคือเรื่องที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนได้ใช้แฮกเกอร์โจมตีและจารกรรมข้อมูลความลับของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าจะทำให้บรรยากาศดูดีขึ้นบ้างเมื่อนายสีรับว่าจะไปนำกรณีเช่นนี้ไปตรวจสอบ แต่เมื่อกรณีของนายสโนว์เดนถูกบุคคลสำคัญของสหรัฐฯโจมตีว่าเขาแอบร่วมมือกับรัฐบาลจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกิดความอึมครึม  ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่าจีนจะส่งตัวสโนว์เดนไปยังสหรัฐฯเพื่อคงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ แต่จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่าที่คิดดังต่อไปนี้

1.เกาะฮ่องกงนั้นถูกปกครองตามแบบหนึ่งประเทศสองระบบซึ่งจีนมีอำนาจเข้าควบคุมเกาะฮ่องกงอย่างจำกัดโดยเฉพาะทางกฏหมายเช่นเขตทางด้านเหนือของฮ่องกงซึ่งติดอยู่กับเมืองเซินเจิ้น เป็นเขตปลอดอำนาจของจีนที่ปรปักษ์ทางการเมืองของจีนเช่นนักต่อสู้ทางการเมืองและสาวกลัทธิฟาหลุนกงสามารถอาศัยอยู่ได้โดยไม่ถูกส่งตัวไปให้กรุงปักกิ่ง  หากนายสโนว์เดนถูกจับได้ในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ตัดสินใจการส่งตัวนาย สโนว์เดนไปยังสหรัฐ ฯ คือศาลของเกาะฮ่องกง แต่ศาลฮ่องกงเห็นว่าสหรัฐฯนั้นได้ลงโทษผู้เปิดโปงข้อมูลของรัฐบาลอย่างไร้ความปราณีอย่างกรณีพลทหารแบรดเลย์ แมนนิ่ง จึงอาจตัดสินไม่ส่งตัวนายสโนว์เดนให้กับสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยชน  ซึ่งนายสโนว์เดนก็อาจคาดเดาตั้งแต่ต้นว่าแรงกดดันจากทัศนคติของชาวฮ่องกงจะมีผลต่อการตัดสินของศาลด้วย แต่ในอนาคตหากฮ่องกงถูกสหรัฐฯกดดันมากขึ้นทุกอย่างก็เกิดความไม่แน่นอน

2.ถ้าเกิดเคราะห์ร้าย นายสโนว์เดนเกิดถูกจับตัวได้ในเขตพื้นที่ซึ่งจีนมีอำนาจเหนือศาลของฮ่องกง ชะตากรรมของนายสโนว์เดนจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนเป็นหลัก หากนายสโนว์เดนถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ  จีนอาจเสียหน้าในเวทีโลกเพราะถูกมองว่ายอมตามแรงกดดันของสหรัฐฯ  แต่ถ้าจีนไม่ใส่ใจในเรื่องนี้เท่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ   ก็อาจทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาในทั้งเกาะฮ่องกงและประเทศตัวเอง เพราะเรื่องราวของนายสโนว์เดนโด่งดังมาก แม้ว่าจะมีผู้ออกมาเดินขบวนประท้วงไม่กี่ร้อยคนเพื่อไม่ให้ส่งตัวนาย สโนว์เดนไปให้สหรัฐ ฯ  แต่ชาวฮ่องกงจำนวนมากส่งเสียงสนับสนุนเขา มีการสำรวจพบว่าเกือบ    50 % เห็นว่าไม่ควรส่งนายสโนว์เดนไปเข้าตะแลงแกงเป็นอันขาด เรื่องความรู้สึกของคนฮ่องกงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนวิตกกังวลมานาน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเกาะฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่รอวันระเบิดขึ้นมานับตั้งแต่ปี 1997 ที่อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน ชาวฮ่องกงทั้งหลายก็ระแวงว่าจีนจะเข้ามาครอบงำและทำลายวิถีชีวิตที่อิงอยู่กับประชาธิปไตยเสรีนิยมของตน จึงมีการเดินขบวนประท้วงกันหลายต่อหลายครั้งเพราะความไม่พอใจในกรณีการทุจริตของหัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนล่าสุด หรือกรณีที่ชาวฮ่องกงเห็นว่าจีนพยายามกำหนดแบบเรียนในโรงเรียนเพื่อครอบงำความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่  นอกจากนี้เกาะฮ่องกงยังเป็นพื้นที่สำหรับการจัดงานไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในการปราบปรามประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ของทุกปี การที่รัฐบาลจีนปล่อยนายสโนว์เดนไปให้สหรัฐฯ ทำให้คนฮ่องกงยิ่งมองคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง (ในฐานะหุ่นเชิดของรัฐบาลจีน)และรัฐบาลจีนในด้านร้ายขึ้น อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง นายสโนว์เดนอาจคาดหวังให้ความตื่นตัวทางการเมืองของชาวฮ่องกงเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ฮ่องกงส่งตัวต่อไปยังที่ใดที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเขา อย่างไรก็ตามการประท้วงของชาวฮ่องกงอาจกลายเป็นไฟไหม้ฟางเพราะคนออกมาประท้วงไม่มากหรือรัฐบาลสามารถควบคุมทุกอย่างได้ในที่สุด สิ่งนี้ก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคต

3.ถ้าจีนสามารถนำตัวของนายสโนว์เดนจากเกาะฮ่องกงมาอยู่ใต้การควบคุม จีนอาจได้ประโยชน์จากความรู้ด้านข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯและความมั่นคงของประเทศจากนายสโนว์เดนจนเกินคุ้ม (ถ้าบังเอิญว่าแฮกเกอร์ของจีนยังกวาดข้อมูลจากสหรัฐฯไปไม่หมด) รวมไปถึงเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯ ยอมให้ปรปักษ์ของรัฐบาลจีนหลายคนสามารถลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐฯและนำเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโจมตีรัฐบาลจีนอยู่เรื่อยๆ  แต่นอกจากจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับสหรัฐฯ  พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้รัฐบาลจีนดูเป็นพวกมือถือสากปากถือศีลและอาจมีปัญหากับประชาชนตัวเอง

แม้ว่าจะมีผู้เห็นว่าชาวจีนไม่กระตือรือร้นนักในเรื่องนายสโนว์เดนเพราะชาชินกับความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่สามารถนิ่งนอนใจได้เพราะปัจจุบันคนจีนมีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูงขึ้นเช่นคนจีนชนชั้นกลางนิยมในการโจมตีรัฐบาลหรือแฉพฤติกรรมที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐบาลผ่านเว็บเวยโป๋ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนกระเด็นออกจากตำแหน่งมาแล้ว และคนเหล่านั้นยังได้สนับสนุนนายสโนว์เดนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว  ทั้งนี้ไม่นับชาวจีนระดับรากหญ้าตามพื้นที่ชนบทที่ได้ร่วมกันประท้วงนายทุนซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์มานับเป็นแสนๆ ครั้งเมื่อปีที่แล้ว การเก็บนายสโนว์เดนไว้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่จีนไม่ชื่นชอบนักเพราะภาพลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นเผด็จการและกดขี่เสรีภาพในการแสดงออก (ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าจีนก็ต้องมีโครงการ PRISM ที่เลวร้ายไม่แพ้กับสหรัฐฯ)   นายสโนว์เดนอาจถูกชาวจีนใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลในอนาคตและอาจส่งผลต่อระบบหน่วยข่าวกรองหรือความมั่นคงของจีนเอง โดยทางรัฐบาลจะทราบได้อย่างไรว่าจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของตนเลียนแบบพฤติกรรมของนายสโนว์เดนโดยการแอบหนีไปสหรัฐฯ บ้าง 


รัฐบาลสหรัฐฯ

การเปิดโปงของนายสโนว์เดนนอกจากจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลอเมริกันนั้นถึงแม้ผู้บริหารจะได้รับการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมาดังเช่นประธานาธิบดี (ซึ่งก็ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบทางตรงเหมือนประเทศอื่นในระบอบประธานาธิบดีเพราะไปให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าคะแนนของประชาชน) แต่โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลยโดยเฉพาะในพื้นที่ทางอำนาจอันมีนามว่าระบบราชการ (Bureaucracy)  ซ้ำร้ายนายบารัก โอบามายังให้การปกป้องการทำงานของสภาความมั่งคงแห่งชาติว่าช่วยป้องกันความปลอดภัยให้กับประเทศโดยเฉพาะผู้ก่อการร้าย ทำให้สหรัฐฯมีภาพพจน์ติดลบในสายตาของชาวโลก สหรัฐฯ ในปัจจุบันมีทางเลือกดังต่อไปนี้

1.ติดตาม จับกุมนายสโนว์เดนมาลงโทษให้จงได้เป็นแนวโน้มซึ่งสหรัฐฯ จะใช้ในการแก้ไขปัญหามากที่สุดเพราะกลัวว่าข้อมูลสำคัญจะตกอยู่กับชาติอื่น (แต่นั้นก็อาจจะสายไปแล้ว) แม้การกระทำเช่นนี้จะทำให้ภาพพจน์ของสหรัฐฯ ติดลบลงไปอีกในสายตาชาวโลกแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ดูจะใส่ใจกับความรู้สึกของคนในประเทศตัวเองเช่นคะแนนความนิยมของโอบามามากกว่า สำหรับคนอเมริกันนั้นล้วนเคยชินกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขัดแย้งกันเองคือชอบอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประเทศอื่น แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับหรือความมั่นคงของประเทศตัวเองก็จะลงโทษผู้กระทำความผิดแบบไร้ความเมตตาโดยเฉพาะช่วงสงครามเย็นจนมาถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้นหากจับกุมตัวนายสโนว์เดนมาลงโทษอย่างหนัก โอกาสที่อดีตลูกจ้าง ซีไอเอคนนี้จะกลายเป็นผู้พลีชีพ (Martyr) ที่จุดประกายคนอเมริกันให้เกิดการประท้วงเป็นวงกว้างคงเป็นไปได้ยากเพราะโพลล์สำรวจความคิดของคนอเมริกันครั้งล่าสุดพบกว่าคนอเมริกันมีความกังวลในเรื่องความมั่นคงกับเสรีภาพเท่ากันโดยเฉพาะเรื่องภัยจากการก่อการร้ายรวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้คนอเมริกันยังรู้ระแคะระคายมานานนับตั้งแต่รัฐบัญญัติความรักปิตุภูมิ (PATRIOT ACT) ที่ออกโดยนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2001  ที่ถูกโจมตีว่าบั่นทอนสิทธิส่วนบุคคลของคนอเมริกันรวมไปถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องได้ถูกนำเสนอเช่นนี้มานานแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าคนอเมริกันจะไม่ใส่ใจในเรื่องการลงโทษนายสโนว์เดนนัก

นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในภายหลังที่จะควบคุมสื่อให้จูงใจให้คนอเมริกันมองรัฐบาลของตนไม่เลวร้ายนักผสมกับลัทธิบูชาบุคคลของโอบามาที่ดูเป็นคนดีศรีสังคมก็พอจะช่วยกลบเกลื่อนเรื่องอื้อฉาวนี้ได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องกังวลกับพฤติกรรมแบบลอกเลียนแบบของเจ้าหน้าที่คนอื่นในสภาความมั่นคงซึ่งอาจส่งผลการเมืองอย่างรุนแรงในระดับเดียวกับคดีวอเตอร์เกตได้  รัฐบาลจึงต้องจับกุมและลงโทษนายสโนว์เดนให้เร็วและในสถานหนักแรงที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างให้คนอื่นกระทำตาม  ทว่าหากนายสโนว์เดนยังติดอยู่ในฮ่องกง สหรัฐฯ ก็ต้องพบกับปัญหาความสัมพันธ์กับจีนซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาแบบล็อคตัวเองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2.หากสหรัฐฯ ไม่สามารถกดดันฮ่องกงหรือจีนโดยการทำเป็นเฉยหรือผ่อนคลายท่าทีลงก็สามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับจีนซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อประเด็นความสัมพันธ์อื่นๆ ระหว่าง 2 ประเทศเช่นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีเหนือหรือการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน  แต่การกระทำเช่นนี้เป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติเอง  เช่นนายสโนว์เดนอาจขายความลับให้ทางจีนหรือประเทศอื่น  และอาจเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างหรือบุคคลที่ทำงานเกี่ยวความมั่นคงของรัฐออกมาเป็นผู้เป่านกหวีดเช่นเดียวกับนายสโนว์เดนอีกก็ได้  ที่สำคัญทำให้ฝ่ายเหยี่ยวในรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งจำนวนมากเป็นสมาชิกพรรคริพับลิกันโจมตีโอบามา กลายเป็นเกมการเมืองในประเทศที่ทำให้พรรคเดโมแครตอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ

รัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีวิธีแบบศาลเตี้ยเสียเองเช่นใช้หน่วยพิเศษนำนายสโนว์เดนออกจากเกาะฮ่องกงไปดำเนินคดีที่สหรัฐ ฯ แต่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสนใจมากกว่าส่งหน่วยพิเศษไปลอบสังหารบิน ลาเดนโดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางการปากีสถาน เพราะจะทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจและนำไปสู่ความขัดแย้งกับจีนในที่สุด  หรือจะจ้างให้กลุ่มมาเฟีย "อุ้ม" เขาให้หายไปตลอดกาล 

แต่คนอย่างนายสโนว์เดนเองก็คงจะรู้เรื่องนี้ไม่น้อยเขาอาจจะใช้กลไกเพื่อป้องกันตัวเองเช่นให้บุคคลอื่นเตรียมแฉข้อมูลความลับมากกว่านี้หากเขาต้องหายตัวไปอย่างลึกลับ ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายสโนว์เดนที่ว่า สหรัฐฯ ไม่มีทางที่จะปิดปากเขาได้แม้จะลอบสังหารเขาก็ตาม  ดังนั้นการเจรจาให้นาย  สโนว์เดนหายตัวไปเองก่อนจะกลบเกลื่อนให้เรื่องเงียบหายไปน่าจะเป็นทางเลือกอื่นสำหรับสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่กำลังจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกันใหม่  แต่ก็อาจทำให้มีการมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อ่อนแอไม่สามารถจัดการกับ "ผู้ทรยศชาติ" ได้และอาจเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นต่อไป     

หากนายสโนว์เดนประสบความสำเร็จลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเช่นไอซ์แลนด์ (แต่มีกฏหมายว่านาย สโนว์เดนต้องไปเดินทางไปยังประเทศนั้นเสียก่อนจึงจะทำเรื่องขอลี้ภัยได้) และประเทศโลกที่ 3 เช่นในละตินอเมริกาดังที่นายจูเลี่ยน อัสซานจ์แนะนำประเทศเหล่านั้นอาจถูกสหรัฐฯ กดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อให้ปล่อยตัวนายสโนว์เดนมาเหมือนกับอาชญากรคนอื่นๆ อีกหลายคน ดังนั้นทางเลือกอื่นที่น่าสนใจที่สุดคือรัสเซีย


รัฐบาลรัสเซีย

การประกาศเปิดอ้อมแขนรับนายสโนว์เดนของรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ไม่น่าจะเพิ่มคะแนนความนิยมแก่ประธานาธิบดีวลาดิเมีย ปูตินทั้งในและนอกประเทศแต่สามารถสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความไม่จริงใจต่อกันในช่วงสงครามเย็นครั้งใหม่ได้ แม้ว่าไม่เข้มข้นเหมือนสหรัฐฯ กับจีนซึ่งมีทวีปเอเชียเป็นเครื่องเดิมพัน แต่รัสเซียต้องการกลับมามีอำนาจเหมือนเมื่อครั้งเป็นสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรี  นายสโนว์เดนอาจเป็นเครื่องมือของนายปูตินให้เป็นสัญลักษณ์ว่ารัสเซียจะไม่ยอมอยู่ใต้แรงกดดันของสหรัฐฯ (เช่นเดียวกับกรณีที่ช่วยเหลือการส่งอาวุธให้กับรัฐบาลซีเรีย  สิ่งนี้ส่งผลต่อการประชุมจีแปดที่ผ่านมา) นอกจากนี้ยังทำให้รัสเซียจะได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากนายสโนว์เดนมาเปิดโปงให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐ ฯ ซึ่งเป็นการแก้แค้นต่อข้อกล่าวหาที่สหรัฐฯ โจมตีตนและจีน

กระนั้นนายปูตินอาจไม่วิตกว่าการเก็บนาย สโนว์เดนไว้จะเป็นดาบสองคมคือกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลของประชาชนรัสเซียเท่ากับจีน  แม้ว่าประชาชนรัสเซียจะเคยประท้วงขับไล่นายปูติน อย่างหนักเมื่อปีสองปีก่อน แต่ดูเหมือนรัฐบาลรัสเซียจะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาสังคมได้อย่างดีเลิศและไม่อื้อฉาวเท่ารัฐบาลจีน  สำหรับชาวรัสเซีย ถ้าพวกเขามองว่านายสโนว์เดนเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างชาติซึ่งแปรพักตร์เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวและสร้างประโยชน์แก่เครมลิน ก็ไม่น่าจะเกิดผลกระทบอะไรเป็นวงกว้าง แต่นายปูตินก็ไม่สามารถมองข้ามคลื่นใต้น้ำของชาวรัสเซียที่อาจก่อตัวขึ้นอีกก็ได้เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือสภาพของรัสเซียที่ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถิติการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง อันเกิดจากการเป็นเผด็จการอำนาจนิยมของนายปูตินผสมกับระบบการเมือง ตุลาการและธุรกิจที่เน่าเฟะเต็มไปด้วยความฉ้อฉล นักการเมืองและข้าราชการมีความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรนอกกฏหมาย จนมีคนมักโจมตีว่ารัสเซียเป็น รัฐมาเฟีย (Mafia State)

ดังมีข่าวในรัสเซียบ่อยครั้งว่าผู้นำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลมักถูกถูกศาลตัดสินจำคุกโดยการยัดเหยียดข้อหาต่างๆ นาๆ   นักเปิดโปงเช่นเดียวกับนายสโนว์เดนคือนายเซอร์ไก แมกนิตสกี ทนายความซึ่งเปิดโปงโครงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ถูกจับกุมและเสียชีวิตในห้องขังโดยมีลักษณะร่างกายถูกทำร้ายและทรมานในปี  2009   จึงแสดงถึงความเป็นมือถือสากปากถือศีลของรัฐบาลรัสเซีย เช่นเดียวกับรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ หรือรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ช่วยเหลือนายอัสซานจ์ให้ลี้ภัยแต่ไม่สนใจสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตัวเอง

จากปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทำให้ผู้เขียนเดาว่าพฤติกรรมเช่นนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจการลี้ภัยของนายสโนว์เดน ถ้านายสโนว์เดนลี้ภัยไปยังรัสเซีย หรือแม้แต่จีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีภาพลักษณ์คล้ายๆ กัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะฉวยโอกาสนี้ในการกล่าวหาว่าเขาต้องการขายความลับให้กับต่างชาติที่แสนชั่วร้ายมากว่าเป็นผู้เชิดชูเสรีภาพที่ต้องการเปิดโปงความทุจริตของรัฐบาลสหรัฐฯ  นอกจากนี้นายสโนว์เดนอาจจะพอรู้อยู่บ้างว่าหากเขาหมดประโยชน์ รัฐบาลของจีนหรือรัสเซียอาจส่งเขากลับไปสหรัฐฯ เพื่อแลกกับผลประโยชน์อื่นๆ  ที่สำคัญกว่า  อย่างไรก็ตามถ้านายสโนว์เดนหมดหนทางจริงๆ ก็อาจจะเลือกหลายประเทศดังกล่าวในการลี้ภัยก็ได้ สิ่งนี้ต้องติดตามกันต่อไป

ตามความคิดของผู้เขียน การเลือกที่จะแอบซ่อนตัวอยู่ในฮ่องกงจึงเป็นแผนที่ถูกวางมาค่อนข้างดีของนายสโนว์เดน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ต้องรอดูต่อไป

 

 

หมายเหตุ

ในบทความนี้ผู้เขียนมักจะใช้คำว่า "อาจจะ" หรือ "ถ้า" อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการบอกว่าทั้งหมดเป็นการคาดคะเนเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ส่วนตัวละครสำคัญๆ  อย่างเช่นนายเอดเวิร์ด สโนว์เดนและรัฐบาลแต่ละประเทศมีการตัดสินใจและการดำเนินการที่ลึกลับซับซ้อนอาจจะเกินปัญญาของผู้เขียนบทความที่มีขีดจำกัดทางข้อมูลและเวลาเป็นอย่างมาก หากบทความนำเสนอข้อมูลและมีการทำนายผิด จึงขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระหรือเซลล์แมนขายสินค้าพุทธศาสนา (?)

Posted: 22 Jun 2013 01:31 AM PDT

 

เรื่องที่ "หลวงพี่น้ำฝน" นำรถโบราณราคาแพงที่มีผู้บริจาคให้มาจอดโชว์ที่วัดโดยอ้างว่าเพื่อเป็น "กุสโลบายละความโลภ" และเรื่องหลวงปู่เณรคำนั่งเครื่องบินเจ็ท ใช้กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างแพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ตและสื่อหลัก จนสื่อนอกทำภาพตลกล้อเลียนการใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อหรูหราของพระไทย
 
ต่อมาสื่อทีวีได้นำเสนอภาพบ้านหลังใหญ่โตในพื้นที่ราว 3 ไร่  ที่หลวงปู่เณรคำสร้างให้โยมพ่อ แม่ และญาติๆ จนเกิดคำถามตามมาว่า "เงินที่สร้างบ้านหลังใหญ่โตอลังการเช่นนั้น ท่านได้แต่ใดมา?"
 
ที่จริงแล้ว เรื่องราวเช่นนี้คือเรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกี่ยวกับพระชื่อดัง หรือพระที่ถูกโปรโมทว่าเป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ มี "คุณวิเศษ" หยั่งรู้สิ่งต่างๆเหนือมนุษย์สามัญจนผู้คนศรัทธาเลื่อมใสจำนวนมาก โดยที่พระดังเหล่านั้นมักสอนให้ผู้คนละโลภ โกรธ หลง ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ทว่าเมื่อถูกขุดคุ้ยเปิดโปงกลับกลายเป็นว่าท่านเหล่านั้นมักเดินสวนทางกับสิ่งที่ตนเองสอนคนอื่นเสมอ
 
คำอธิบายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากพระสงฆ์และองค์กรรับผิดชอบงานทางพุทธศาสนาก็มักจะออกมาแบบเดิมๆ ทำนองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียง "โลกวัชชะ" หรือเป็นเรื่องที่ชาวโลกเขาติเตียนว่าไม่เหมาะสม ไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยโดยตรง คณะสงฆ์ทำได้เพียงว่ากล่าวตักเตือน ในขณะที่ก็มีคำร้องขอความเข้าใจทำนองว่า เรื่องที่สื่อนำเสนอเป็นเพียงปัญหาเล็กน้อย พระชื่อดังเหล่านี้ท่านทำประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคมมามาก
 
เช่น หลวงพี่น้ำฝนก็อ้างว่าตัวท่านเองบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลสร้างสาธารณประโยชน์กว่า 400 ล้านบาท ลูกศิษย์หลวงปู่เณรคำก็ว่า หลวงปู่ถวายรถยนต์ให้พระผู้ใหญ่และมหาวิทยาลัยสงฆ์หลายสิบคัน บริจาคเงินช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
 
จะเห็นว่าพระชื่อดัง พระอริยะสมัยนี้นิยมทำประโยชน์ทางวัตถุ ด้วยการสร้างศาสนวัตถุใหญ่โตอลังการ และบริจาคเงิน วัตถุสิ่งของช่วยเหลือสังคม
 
ถ้าวัดจากมาตรฐานเช่นนี้ พุทธะเองก็คงไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย เพราะตลอดระยะเวลา 45 ปี ที่ใช้ชีวิตแบบคุรุทางธรรม ท่านมีสมบัติเพียงจีวรสามผืน (ไตรจีวร) กับอัฐบริขารที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ท่านไม่เคยสร้างศาสนวัตถุใหญ่โต ไม่เคยประจบเจ้า ประจบทุน ไม่เคยขอเรี่ยไร หรือรับบริจาคเงินทอง สิ่งของเพื่อสาธารณประโยชน์ใดๆ ดังที่พระสมัยนี้นิยมทำกัน และทำอย่างไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้เงินที่รับบริจาคมาจากผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธา
 
พูดตรงๆ คือ การเผยแผ่ธรรมของพุทธะนั้นคือการให้เปล่า เป็นการเข้าไปเรียนรู้ สนทนา แลกเปลี่ยนกับผู้คนที่หลากหลายทางความคิด หรือผู้สนใจปัญหาเรื่องคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ สังฆะที่ท่านก่อตั้งขึ้นมาก็เพื่อเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ศึกษา และปรับใช้ธรรมะเพื่อปรับปรุงการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมให้รู้จักใช้ปัญญา และเมตตาธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเป็นคนของกันและกันมากขึ้น พร้อมๆ กับส่งเสริมการมีอิสรภาพด้านในของกันและกัน
 
แต่พระสงฆ์ทุกวันนี้ได้ทำให้ศาสนาของพุทธะกลายเป็น "สินค้า" พระสงฆ์ไม่ใช่ผู้เผยแผ่ธรรมะแบบให้เปล่าโดยอาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้านเพียงเพื่อยังชีพเท่านั้น หากแต่พระสงฆ์กลายเป็น "เซลล์แมน" ขายพุทธศาสนาจนร่ำรวย ในขณะที่ยังมีสิทธิพิเศษทางวัฒนธรรมกินฟรี อยู่ฟรี อาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้าน ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็รับค่าบริการทุกอย่าง เช่น สวดมนต์ฉันเช้า-เพลก็มีค่าบริการ สวดศพมีค่าบริการ ปลุกเสก เจิมรถ เจิมบ้าน บริษัท สำนักงาน ดูหมอ ใบ้หวย ฯลฯ ล้วนแต่มีค่าบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายธรรม แสดงธรรมที่บอกว่าเป็น "การเผยแผ่พุทธธรรม" ก็มีค่าบริการเสมอ
 
นอกจากพระสงฆ์จะมีสิทธิพิเศษทางวัฒนธรรมอยู่ฟรี กินฟรี มีผู้คนเคารพกราบไหว้ถวายเงินทอง รถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้มีสิทธิใช้ตาม "อัธยาศัย" แล้ว พระสงฆ์ยังรับเงินภาษีอุปถัมภ์พุทธศาสนาจากรัฐปีละกว่า 4,000 ล้านบาทอีกด้วย แล้วถามว่ามีอะไรที่พระสงฆ์ให้ฟรีแก่สังคมบ้าง? การที่พระสงฆ์รับเงินบริจาคมาแล้วบริจาคต่อให้กับกิจการสาธารณกุศลต่างๆ นั้น นั่นคือบุญคุณที่ต้องยกขึ้นมาทวงเมื่อเกิดเรื่องฉาวโฉ่เช่นนั้นหรือ?
 
ที่จริงแล้วสังคมควรตั้งคำถามว่า การเป็นตัวกลางรับเงินบริจาคที่อ้างว่าเพื่อสาธารณกุศลของพระสงฆ์นั้นต้องถูกตรวจสอบความโปร่งใสจากสังคม ทำไมคนรอบข้าง ลูกศิษย์ใกล้ชิด พ่อ แม่ อดีตเมีย ลูก เป็นต้น ของพระสงฆ์ชื่อดังมีบารมีมากจึงมีบ้านหลังใหญ่โตอลังการ ร่ำรวยสุขสบาย เป็นเพราะพระชื่อดังเหล่านั้นแผ่บุญบารมีให้พวกเขาร่ำรวยเช่นนั้นหรือ
 
พุทธศาสนาได้เดินทางมาไกลจนหลุดจากรากเหง้าของตนเองไปนานแล้ว เพราะขณะที่พุทธะสละฐานันดรศักดิ์ สละชีวิตสุขสบายหรูหราไปเป็นสามัญชนที่มีชีวิตเรียบง่าย และเผยแผ่ธรรมแบบให้เปล่าแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น ไม่อาศัยอำนาจรัฐบังคับยัดเยียดให้ผู้คนต้องเรียนรู้พุทธศาสนา แต่ปัจจุบันพระสงฆ์ซึ่งมาจากลูกหลานของชนชั้นล่าง กลับไต่เต้าไปสู่ความมีฐานันดรศักดิ์ พระมียศถาบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จ มีรถประจำตำแหน่ง มีบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองเป็นหลักล้าน จนร้อยล้าน พันล้านหรือมากกว่า (อดีตพระมโน เมตตานันโท เคยพูดออกทีวีว่าเมื่อปี 2532 เจ้าอาวาสวัดใหญ่แห่งหนึ่งมีบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองกว่า 40,000 ล้านบาท) ขณะที่รัฐต้องอุปถัมภ์พุทธศาสนา และมีการบังคับให้ต้องเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน
 
พุทธศาสนาถูกทำให้เป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค ชาวพุทธต้องซื้อบริการทางพิธีกรรมเช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน เจิมป้าย ฯลฯ ไปจนถึงเมื่อตายก็ต้องจ่ายบริการสวดศพ สถานศึกษา หน่วยงานราชการจัดนักเรียน นักศึกษา บุคลากรเข้าคอสร์ปฏิบัติธรรม ก็ต้องซื้อบริการจากพระสงฆ์ผู้มีสิทธิพิเศษกินฟรีอยู่ฟรีอยู่แล้วโดยใช้งบประมาณของรัฐบ้าง ของตัวเองบ้าง
 
แน่นอนว่า โลกปัจจุบันเงินคือปัจจัยหลักในการดำรงชีพและการทำกิจกรรมแทบทุกอย่าง พระสงฆ์ก็จำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องต่างๆ อันนี้ผมไม่เถียง แต่ปัญหาคือคณะสงฆ์ก็ไม่มีมีระบบที่ชัดเจนเกี่ยวกับว่าพระแต่ละรูปควรครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวได้เท่าไร เกินไปจากนั้นควรเป็นของสงฆ์หรือของส่วนรวมที่มีการจัดการอย่างโปร่งใส ฉะนั้น พระทุกวันนี้จึงมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้ไม่จำกัด ใช้สินค้าแบรนด์เนมหรือมีวัตุถุเฟอร์นิเจอร์อวดรวยอย่างไร้หิริโอตตัปปะได้สบายมาก
 
ที่อ้างกันว่า เรื่องพวกนี้เป็นแค่ "โลกวัชชะ" โลกติเตียน ไม่ผิดวินัยสงฆ์นั้น เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ก็ในเมื่อวินัยสงฆ์ ห้ามพระรับเงินและทอง คือรับเงินทองก็ไม่ได้ แล้วมีรถหรูราคาแพง อวดบารมีกันทางวัตถุยิ่งกว่าชาวโลกนั้นจะแถว่าไม่ผิดได้อย่างไร
 
จริงๆ แล้วผิดหลักการของวิถีชีวิตพระซึ่งเป็นอนาคาริก ผู้ไม่ครองเรือน ผู้ใช้ชีวิตเพื่อละกิเลส ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ตั้งแต่ที่สร้างระบบให้พระมีสมณศักดิ์แล้ว คือผิดตั้งแต่ระบบปกครองสงฆ์ที่ขัดกับหลักการพระธรรมวินัยโดยพื้นฐานแล้ว ระบบที่พระมีฐานันดร มีอำนาจ มีความเป็นอยู่ในวัดวาที่หรูหราอลังการรองลงมาจากวังนั้น เป็นระบบของพุทธศาสนาแห่งรัฐในยุคศักดินาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
 
ระบบที่ตกทอดมานั้น เมื่อมาอยู่ในโลกปัจจุบันที่อำนาจนำทางสังคมยังเป็นอำนาจทางวัฒนธรรมแบบระบบเก่า และอำนาจทุนนิยมกำลังทรงอิทธิพลมากขึ้น พระสงฆ์ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองสงฆ์ปัจจุบันที่ตกทอดมาจากระบบเก่าจึงประจบทั้งเจ้าและประจบทุน ข่าวฉาวของพระชื่อดังที่เกิดอย่างซ้ำซาก คือปัญหาที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของระบบสงฆ์ สะท้อนความเหลวไหลของการใช้พุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครอง และการทำให้พุทธศาสนากลายเป็นสินค้าที่ต้องบิโภคในตลาดทุน ผ่านการโปรโมท การโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงอย่างไร้การดูแลตรวจสอบ
 
สุดท้ายแล้ว ระบบปกครองสงฆ์ที่เป็นอยู่ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ ข่าวฉาวของพระดังที่เกิดอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ยิ่งสะท้อนว่าระบบการปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐแบบที่เป็นมานั่นเองคือต้นตอของปัญหา
 
ทางแก้ที่ถูกจึงต้องแก้ที่ต้นตอ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตราที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ จะเท่ากับทำให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ เท่ากับยกเลิกระบบการปกครองสงฆ์แบบมหาเถรสมาคม เท่ากับยกเลิกระบบสมศักดิ์ เท่ากับยกเลิกการปกครองสงฆ์โดยกฎหมายของรัฐ
 
ผลก็คือทำให้พระสงฆ์มีอิสระที่จะปกครองกันเองตามพระธรรมวินัย พระสงฆ์แต่ละวัดแต่ละสำนักปกครองตนเองตามพระธรรมวินัยภายใต้การตรวจสอบของชาวบ้าน หรือชุมชนที่เป็นเจ้าของวัด เจ้าของสำนักปฏิบัติธรรมร่วมกัน จะเกิดการตีความพุทธศาสนาให้ตอบสนองต่อบริบทปัญหาของชีวิต ชุมชน สังคมในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติหรือโลก การตีความและประยุกต์ใช้พุทธศาสนาจะมีความหลากหลายตามสภาพความหลากหลายและซับซ้อนของโลกสมัยใหม่มากขึ้น พุทธศาสนาไม่ใช่ของรัฐ ไม่รับใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจชนชั้นบนอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นของประชาชน เป็นเรื่องที่ประชาชนมีอำนาจดูแลรักษากันเอง และทำให้พุทธศาสนามีความหมายในทางสร้างสรรค์ต่อชีวิตของพวกเขาได้อย่างแท้จริง
 
และที่สำคัญรัฐไทย ก็จะก้าวไปสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มีความเป็นกลางทางศาสนาอย่างแท้จริง หรือเป็น "รัฐฆราวาส" อย่างอารยประเทศ ไม่ใช่เป็นรัฐที่ติดหล่มอยู่ในยุคกลางที่อ้างอิงสถานะของ "บุคคลที่สูงส่งกว่า" ทั้งทางจิตวิญญาณและศีลธรรมให้เป็นแหล่งที่มาของการมีศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยที่สถานะ อำนาจ บทบาทของบรรดาบุคคลที่สูงส่งกว่านั้น มักเป็นไปในทางมอมเมา เอาเปรียบ กดขี่เสรีชน และขัดขวางทำลายศีลธรรมสากลที่เคารพเสรีภาพและความเสมอภาคตลอดมา
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น