โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสวนา: ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมมองผ่านคำพิพากษา

Posted: 26 Jun 2013 01:22 PM PDT

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ชี้การชุมนุม แม้สงบ-ปราศจากอาวุธ ก็อาจผิดกฎหมายอื่นๆ ตุลาการต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าของเสรีภาพตาม รธน.กับ กฎหมายระดับ พ.ร.บ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล แนะชุมนุมขัดแย้งระหว่างประชาชนต่างขั้วมีมากขึ้น ต้องอดทนฟังฝ่ายเห็นต่าง กิตติศักดิ์ ปรกติ รับมหาวิทยาลัยยังบกพร่อง ไม่สร้างองค์ความรู้ให้ศาล

(26 มิ.ย.56) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่อง "ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมมองผ่านคำพิพากษา" ณ ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ คำว่า "โดยสงบ" นั้น ต้องตีความอย่างกว้าง แม้จะมีการใช้เครื่องเสียง หรือก่อความเดือดร้อนให้ผู้อยู่อาศัย ถ้าสุจริตและได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ ก็ถือว่ายังเป็นการชุมนุมโดยสงบ พร้อมยกตัวอย่างคำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค.51 ที่ว่า ในการชุมนุมที่บริเวณรัฐสภา ซึ่งผู้ชุมนุมใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์กั้นทางเข้าไว้ ทำให้ ส.ส.กลัว ไม่กล้าเข้าสภา เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น จึงไม่ใช่่การชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ศาลระบุต่อว่า แม้การชุมนุมไม่สงบ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจสลายการชุมนุม เพื่อป้องกันเหตุอันตราย การสลายการชุมนุมนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนด้วย คือจากเบาไปสู่หนัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะใช้มาตรการใด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งคู่

กรณี "ปราศจากอาวุธ" นั้น อาวุธแบ่งเป็นสองชนิด คือ หนึ่ง อาวุธโดยสภาพ เช่น ปืน มีด  ในที่ชุมนุมทุกแห่ง โดยเฉพาะที่สาธารณะ มักพบอาวุธเสมอ  กรณีคดีคัดค้านท่อก๊าซ ศาลปกครองสงขลา ตุลาการผู้แถลงคดีนี้ ระบุว่า ผู้ชุมนุม มีปืน มีดสปาต้า หนังสติ๊กสามง่าม แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับปริมาณผู้ชุมนุม ถือว่า มีน้อย จึงเชื่อว่าเป็นเจตนาของบุคคลผู้พกพาอาวุธ ไม่ถือเป็นการกระทำร่วมของผู้ชุมนุม สอง อาวุธโดยการใช้ ซึ่งโดยตัวมันเอง ไม่ได้มีเพื่อทำอันตรายบุคคล เช่น ไม้คันธงเหลาปลายแหลม กรรไกร กรณีนี้ศาลปกครองสงขลา ให้ความเห็นว่า ไม่ถือเป็นอาวุธโดยสภาพ แต่เมื่อถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงหยิบฉวยเครื่องมือมาใช้ป้องกันตัวเอง ถือเป็นเจตนาแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ช่วงต้นการนัดแนะ ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนากำหนดให้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเป็นอาวุธ จึงไม่ถือเป็นเจตนามีอาวุธในการชุมนุม

จันทจิรา กล่าวต่อว่า แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่บางกรณี ก็ยังอาจผิดกฎหมายบางอย่างของบ้านเมืองบ้าง เช่น พ.ร.บ.จราจร กฎหมายอาญา เรื่องการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ หรือการบุกรุกสถานที่ราชการ เรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายพัฒนาการวุฒิภาวะของสังคมที่จะเรียนรู้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเสรีภาพการชุมนุม ซึ่งเป็นเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนที่ไม่มีความสามารถต่อรองกับผู้มีอำนาจ ดังนั้น ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือ องค์กรตุลาการ ต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกับคุณค่าที่กฎหมายระดับ พ.ร.บ. มุ่งคุ้มครอง และสร้างสมดุลว่า คุณค่าใดต้องรักษาไว้มากกว่ากัน

สำหรับการเข้าไปคัดค้าน ขัดขวางการตรากฎหมายของ สนช. จันทจิรา ระบุว่า องค์กรตุลาการต้องพิจารณาถึงบริบทการใช้เสรีภาพในการชุมนุมให้มาก โดยกรณีนี้ สนช. เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ทั้งรูปแบบและเนื้อหา จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยหลายประการ นอกจากนี้  จำเลยก็ได้แสดงวัตถุประสงค์ชัดเจนว่ามีมาตรการโต้แย้งการใช้อำนาจ สนช. ซึ่งไม่ชอบด้วยประชาธิปไตยและไม่ชอบธรรม เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้ง และกฎหมายที่จะออกจะกระทบเสรีภาพประชาชนในอนาคต แต่ทุกมาตรการไม่เป็นผล จึงเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมกระทำการเสี่ยงผิดกฎหมายอาญา


มองผ่านคำพิพากษา: ศาลให้น้ำหนักรูปแบบ-วิธีชุมนุม มากกว่าเหตุแห่งการชุมนุม
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า นิยามของการชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นพื้นที่เทาๆ  มองแง่ลบคือ ขึ้นกับทัศนคติหรือความเห็นของผู้พิพากษาแต่ละคนต่อการชุมนุม แต่มองแง่บวก คือ เปิดให้คนในสังคมเข้าไปสร้างความหมายได้ด้วย ผ่านการสู้คดี การให้เหตุผลของจำเลย

ทั้งนี้ การชุมนุมโดยสงบ มักขัดกับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งในการตีความเรื่องนี้ เขาเห็นว่ามีสองทาง คือ หนึ่ง ฝ่ายโปรรัฐ คือให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐเป็นหลัก และ สอง ฝ่ายโปร right ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ โดยแม้จะเห็นการตีความแบบแรกสูง แต่แบบที่สอง ก็เริ่มมีมากขึ้น

สมชาย แสดงความเห็นว่า  เสรีภาพในการชุมนุมนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ใช่เรื่องว่าทำอย่างไรให้การชุมนุมไม่มีผลกระทบ แต่คือเราจะจัดลำดับความสำคัญของเสรีภาพอย่างไร ซึ่งเขามองว่า จะต้องจัดลำดับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญให้เหนือกว่าอย่างอื่น 

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลไทยเท่าที่อ่าน คิดว่าศาลจะพิจารณาถึงรูปแบบและวิธีการของการชุมนุม แต่ไม่ให้ความสำคัญกับสาเหตุที่นำมาซึ่งการชุมนุมมากเท่าไหร่ ทั้งที่เมื่อดูคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่า คดีท่อก๊าซ คดีปีนสภา คดีจินตนา แก้วขาว ข้อพิพาทอื่นๆ ล้วนเกิดจากความไม่ชอบธรรมบางอย่างเป็นปัจจัยทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว มองว่าคำตอบสุดท้ายไม่ได้อยู่ที่ศาล โดยยกตัวอย่างกรณีศาลสูงอเมริกา ที่ช่วงหนึ่งมีคำพิพากษาซึ่งมีความป็นอนุรักษนิยมมาก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะการผลักดันและวิจารณ์ของสาธารณะ

สมชาย กล่าวเสริมว่า พลังของเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ใช่แค่จำนวนคนหรือจำนวนวันชุมนุม แต่อยู่ที่เหตุผลของการชุมนุมว่าชอบธรรมเพียงใด กรณีคดีปีนสภานั้น ในความเห็นของตัวเอง ต่อให้ครบองค์ประชุมก็ควรปีน เพราะมีความชอบธรรมที่อธิบายได้ นอกจากนี้ ควรมีการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาพรวม กรณีการปีนสภา เดินขบวนเรื่องท่อก๊าซ  หรือกรณีจินตนา  ไม่ใช่ความผิดฐานกบฏ ซึ่งต้องการเปลี่ยนรัฐบาล เพียงแต่ทำให้ความไม่ชอบธรรมบางอย่างถูกแก้ไข ในการสู้คดี หากชนะในชั้นศาล คือการสร้าง-ขยายเสรีภาพของการชุมนุมให้ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากแพ้ ก็ต้องยอมรับโทษนั้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้เกิดสำนึกแห่งความยุติธรรมขึ้นในสังคมได้

นอกจากนี้ สมชายกล่าวถึงอนาคตของเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทยว่า ปัจจุบันการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น หลายกรณีเป็นระหว่างประชาชนที่เห็นต่าง สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่างระหว่างประชาชน แม้ฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วย เพราะเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ได้มีไว้สำหรับพวกเดียวกัน แต่มีไว้สำหรับคนที่พูดไม่เหมือนกับเรา พร้อมย้ำว่า ขันติธรรมหรือความอดทนที่จะรับฟังฝ่ายที่เห็นต่างจากตนนั้นเป็นวัฒนธรรมการเมืองชนิดหนึ่งที่จำเป็น 


ชี้ 'มหาวิทยาลัย' บกพร่องหน้าที่ ไม่สร้างองค์ความรู้ให้ศาล
กิตติศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเสรีภาพในการชุมนุม ยังมีความสับสนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายตำรวจ ว่าจะใช้อำนาจรักษาความสงบอย่างไร เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจจำกัดการชุมนุมได้ โดยมีมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญให้สิทธิการชุมนุมไว้ หากจะทำได้ก็ด้วยกฎหมายเฉพาะเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคำพิพากษาที่ออกมา เช่น คดีสลายการชุมนุมชาวบ้านที่ต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่มีการปรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุม และคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ต.ค.51 ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถูกชี้มูลจาก ป.ป.ช.ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฝ่ายผู้ชุมนุมเอง ตราบใดยังไม่มีกฎหมายระบุ ก็ดูเหมือนจะคิดว่าจะชุมนุมที่ไหนก็ได้ ในมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนกฎหมาย องค์ความรู้เรื่องนี้ก็ยังคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกันหลายประการ

กิตติศักดิ์ ตั้งคำถามว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก เหตุใดจึงยังไม่มีคำอธิบายรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมเสียที แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เขียนตำราโดยละเอียดก็ยังไม่มี ถ้าเป็นแบบนี้ ศาลจะอ่านหนังสือที่ไหน จะสร้างสำนึกขึ้นจากที่ไหน ในวงการศาลมีแต่แนวคำพิพากษา และเมื่อถูกเร่งรัดคดี ก็ต้องอาศัยลอกแนวคำพิพากษาเก่าๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ถูกและคับแคบ ควรได้รับการวิจารณ์ แต่ก็ยอมรับว่าพวกตนเองในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็บกพร่องต่อหน้าที่ด้วย ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยได้ให้ความรู้ ตั้งคำถาม มีตัวอย่างเปรียบเทียบเพียงพอหรือไม่

กรณีคดีปีนสภา เพื่อยับยั้งการออกกฎหมายของ สนช. กิตติศักดิ์ เสนอว่า จำเลยอาจอ้างได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เพราะการออกกฎหมาย ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าขาดองค์ประชุม อาจถือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ขัดรัฐธรรมนูญ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายสื่อเด็กระดมความเห็น ก่อนประมูล ‘ทีวีดิจิตอลช่องเด็ก’

Posted: 26 Jun 2013 11:25 AM PDT

 

 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 56 สถาบัน สื่อเด็กและเยาวชน ร่วมกับเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จัดเวทีระดมความคิดเห็นข้อเสนอต่อการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว ณ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ อาคารศิโรจน์   ผลพันธิน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยเชิญนักวิชาการ ผู้ผลิตรายการเด็กเข้าร่วมระดมความเห็น ทั้งนี้ ผลการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ทางสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนและเครือข่ายครอบครัว เฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จะนำเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2556 เวลา 13.00–16.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 2 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล

นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงข้อสังเกตและความห่วงใยในฐานะผู้เชี่ยวชาญต่อสื่อสำหรับเด็ก เยาวชนว่า ในการประมูลช่องเด็กนั้นไม่ใช่เพียงทำให้เกิดช่องสำหรับเด็กเท่านั้น แต่คือการปฏิรูปสื่อ ซึ่งในแผนแม่บทของ กสทช.นั้นคือการปฏิรูปการเรียนรู้ของประชาชนควรมุ่งไปที่เจตนารมณ์ของ กฎหมาย

"ควร ปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวเป็นสำคัญ ต้องหาวิธีการ เครื่องมือ ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ของเด็ก ต้องทำให้เด็กกลุ่มต่างๆ ได้เข้าถึง รวมทั้งการผลิตเนื้อหารายการเด็กนั้น ต้องเสริมการเรียนรู้ในสิ่งที่สังคมขาด ควรจะกำหนดมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่แนวทางในการจัดผังรายการ หรือส่งเสริมให้เกิดรายการที่ดีในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันสื่อเองก็ต้องปกป้องเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน

อยากให้ กสทช.ออกแบบหลักเกณฑ์ กลไกต่างๆ ในการพัฒนาช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึง พัฒนาในหมวดอื่นๆด้วย และวางเป้าหมายของการมีช่องเด็ก เนื้อหา สัดส่วนรายการเด็กชัดเจน แล้ว  ในขณะเดียวกัน กสทช.และเจ้าของช่องหรือผู้ผลิตรายการ ก็ต้องเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ให้ตรงกันเช่นนิยามคำว่าทีวีเพื่อเด็ก มีการนำการ์ตูนจากต่างประเทศเข้ามาฉายในช่อง ก็เป็นรายการเด็กแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปสู่การจัดผังรายการ ช่วงเวลา และสัดส่วน การนำเสนอรายการว่าจะมากน้อยแค่ไหน" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์และกลไก ของช่องรายการเด็กด้วยว่าเจ้าของช่องเป็นใคร ควรจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือคนทั่วไปที่มีการรวมกลุ่มกันจะเป็นเจ้าของรายการได้หรือไม่ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการกำไร จะรับโฆษณาและโฆษณา 12 นาทีเหมือนช่องทั่วไปหรือไม่              

 "ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยว่าช่องจะรับโฆษณาแบบไหนได้ จะโฆษณาได้กี่นาที และนอกจากการโฆษณาแล้ว มีการให้ความรู้กับเด็กให้ประเด็นการโฆษณาให้ทันการบริโภคได้ไหม เช่นโฆษณาขนมก็ต้องให้ความรู้เรื่องขนมกับเด็กด้วยเช่นกัน" นางสาวเข็มพรกล่าว

ผศ.ดร.ธิตินันท์ บุญภาพ คอมมอน   คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวกถึงการประมูลช่องธุรกิจสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวนั้นก็คือ อยากให้มองคุณสมบัติทีวีดิจิตอลให้ชัดเจน

"ตอน นี้คนมองเรื่องทีวีดิจิตอลในเรื่องความคมชัด ที่จริงๆแล้วมันคือการสื่อสารโต้ตอบกันได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย ในการประมูลนั้นทั้งผู้ประมูลและ กสทช.ควรที่จะหยิบส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ เช่นการผลิตรายการสำหรับเด็กที่มีการโต้ตอบกันและใช้เป็นสื่อเรียนรู้ได้" ผศ.ดร.ธิตินันท์กล่าว

นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมการเข้าถึงเนื้อหาของกลุ่มผู้ชมที่หลายหลาย ยกตัวอย่างกลุ่มเด็ก ก็มีความหลากหลายทั้งเรื่องเพศ กลุ่ม การจัดสรรคลื่นความถี่ก็ควรคำนึงด้วย และจัดสรรให้เพียง 3 ช่องนั้นอาจจะน้อยเกินไป

นางอัญญาอร พานิชพึ่ง ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อให้ความเห็นต่อการประมูลครั้งนี้ว่า คนที่จะมาประมูลนั้น ไม่ใช่แค่มีเงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีความรู้

 "ต้อง มีทีมที่ปรึกษาที่จะมองภาพการบริหารคลื่นนี้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์และกลุ่ม เป้าหมายนั่นก็คือเด็กในแต่ล่ะวัย ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละวัยมีความสนใจ และอยากที่จะเรียนรู้อะไร ที่สำคัญคือต้องมีนักจิตวิทยาด้านพัฒนาการเด็กเป็นทีมที่ปรึกษา แต่ที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ประมูลคลื่นไปได้แล้วมีนโยบายดูแล สังคม พัฒนาเนื้อหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือมีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต รายการเด็ก หากเป็นไปได้น่าจะให้ผู้ประมูลทำให้เห็นว่ามีความพร้อมที่จะเข้ามาเป็นผู้ บริหารสถานีได้อย่างไร ไม่ใช่มีเงินเพียงอย่างเดียว" ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าว

นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชน ขบวนการตาสัปปะรด กล่าวถึงบทบาทของผู้ผลิตรายการเด็กในทีวีดิจิตอลว่าหลังจากนี้จะมีผู้ชมหลาก หลายมากยิ่งขึ้น ผู้ผลิตควรจะต้องยิ่งคำนึงให้มาก โดยเฉพาะช่วงอายุของผู้ชม

"ช่วงอายุผู้ชมจะหลากหลายขึ้น อาจจะต้องแบ่งออกมาเป็นช่วงวัย ผู้ผลิตต้องเข้าใจความแตกต่างนี้ด้วย ไม่ใช่แค่เพียงบอกให้เด็กได้จำ ได้คิด เพราะแต่ละวัยมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตต้องศึกษาและเข้าถึงและให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในรายการมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการผลิต การเสนอแนะและการเป็นเจ้าของ มันจะทำให้รายการสนุกและได้ประโยชน์ร่วมกัน"

เขากล่าวเสริมว่าหากเป็นไปได้ควรที่จะแบ่งช่องของเด็ก   ช่องของเยาวชน ช่องของครอบครัวให้ชัดเจน เพราะบางครั้งหารายการสำหรับเด็กเล็กไม่ได้ ซึ่งถ้ามีช่องของเด็กโดยเฉพาะครอบครัวก็จะไว้วางใจว่าเด็กสามารถเรียนรู้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ หากผู้ผลิตคิดได้อย่างนี้จะดีมาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชานันท์ ยอดหงษ์

Posted: 26 Jun 2013 09:03 AM PDT

"มันน่าเศร้ามากที่เราจะรักใครมาก แต่เราไม่ได้มองเขาเป็นมนุษย์เลย มองเขาเป็นเทพเจ้าหรือเป็นอะไรไป ทันทีที่เขาถูกอธิบายในฐานะมนุษย์ เรากลับรับไม่ได้ ทั้งที่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน การเทิดทูนอะไรแบบนี้มันค่อนข้างสร้างปัญหาให้ตัวบุคคล ทั้งบุคคลที่ตายไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ เรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป"

22 มิ.ย.56, ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "นายใน สมัยรัชกาลที่ 6"

เปิดโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ปรับใหญ่ กว่า 20 ตำแหน่ง ดึงบ้านเลขที่ 111 เสริมทัพ

Posted: 26 Jun 2013 08:47 AM PDT

ยิ่งลักษณ์นั่ง รมว.กลาโหมเอง ดึงบ้านเลขที่ 111 เสริมความแข็งแกร่ง ปรับยุทธศาสตร์สู่การเลือกตั้งใหม่ในอีก 2 ปี เปิดโผ ครม.ยิ่งลักษณ์ ปรับใหญ่ กว่า 20 ตำแหน่ง เตรียมศึกหนัก การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เปิดสภา 1 ส.ค.นี้

26 มิ.ย.56 เนชั่นแชลแนล รายงาน  โผการปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้เป็นการปรับใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล กับการบริหารประเทศ ในช่วงเวลา 2 ปีที่เหลือ โดยการดึงบ้านเลขที่ 111 ที่เพิ่งพ้นโทษแบน ทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล เข้าเสริมความแข็งแกร่ง และปรับยุทธศาสตร์สู่การเลือกตั้งใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า และมีการประเมินว่ารัฐบาลต้องเตรียมศึกหนัก การเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังเปิดสภาในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

สำหรับรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะถูกโยกย้ายสลับตำแหน่ง ปรากฏว่ามีชื่อ รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่คาดว่าจะไปเป็นรมว.พาณิชย์ /รมว.กลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต /รมว.พาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ /รมช.พาณิชย์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีที่คาดว่าจะถูกปรับออกตามสัญญาใจ ประกอบด้วย รมว.มหาดไทย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ / รมช.มหาดไทย พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก / รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก / รมว.แรงงาน เผดิมชัย สะสมทรัพย์ / รมว.ทรัพย์ฯ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข / รมว.พัฒนาสังคมฯ สันติ พร้อมพัฒน์ / รมช.คมนาคม ประเสริฐ จันทรรวงทอง / รมช.อุตสาหกรรม ฐานิสร์ เทียนทอง / รมว.วิทยาศาสตร์ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ศันสนีย์ นาคพงศ์ ซึ่งคาดว่าจะสลับนายณัฐวุฒิ มาเป็นรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯ แทน

มีรายงานว่า สำหรับโควตา รัฐมนตรีที่จะเข้ารับตำแหน่งใน ครม.ครั้งนี้ ปรากฏว่ามีรายชื่อของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (โควต้า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) / พล.ต.ท.ชิดชัย วรรณสถิตย์ (กลุ่มตำรวจเพื่อนทักษิณ สายจันทร์ส่องหล้า) / นายจาตุรนต์ ฉายแสง (อดีตบ้านเลขที่ 111) / นายไชยา พรหมา (แกนนำกลุ่มอีสาน) / นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ (กลุ่มอ้ายยงยุทธ) มีชื่อของแกนนำ นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ / นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ที่จะเข้ามาเป็น รมช.คมนาคม / นางสิริกรณ์ มณีรินทร์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ / นายสรวงศ์ เทียนทอง ลูกชายป๋าเหนาะ เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรค เข้ามาเป็นรมช.อุตสาหกรรม และที่น่าสนใจมีชื่อของ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อของแฟนสาว ของพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ / นายโภคิน พลกุล มือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และจะเข้ามาช่วยงานกฎหมายทั้งหมด โดยรายชื่อทั้งหมดได้เข้ากรอกประวัติ เรียบร้อยแล้ว

มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของโควตาพรรคร่วมรัฐบาล มีชื่อของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ขอเก้าอี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรม และมีชื่อของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา จากพรรคภูมิใจ หลังมีสัญญาใจกับ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในการเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อปรับครม.ครั้งล่าสุด ติดโผเข้ามาด้วย 

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่ามีรายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงดึก การจัดโผ ครม. "ปู 5" ลงตัวแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามและเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว ตำแหน่งที่มีการปรับเปลี่ยน อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งควบ รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมช.กลาโหม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมว.พาณิชย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็น รมว.ศึกษาธิการ นายชัยเกษม นิติศิริ อดีตอัยการสุงสุด เป็น รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.แรงงาน นางปวีณา หงสกุล เป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็น รมช.สาธารณสุข ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พ้นจาก รมว.ศึกษาธิการ คงเหลือรองนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเพื่อยุติโทษประหารชีวิตสากล

Posted: 26 Jun 2013 06:19 AM PDT

การประชุมสากลเพื่อการยุติโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5 ได้จบลงเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนราว 1,500 คน จากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก 

ทั้งนี้ 105 ประเทศทั่วโลกได้ยุติโทษประหารชีวิตแล้ว มี 36 ประเทศที่ถือว่ายกเลิกในทางปฏิบัติ คือมิได้ทำการประหารชีวิตในรอบ 10 ปี ในขณะที่อีก 57 ประเทศ ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ รวมถึงในไทย ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย และบางส่วนในแอฟริกา 
 
ที่ผ่านมา การประชุมสากลเช่นนี้ ซึ่งจัดโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรของฝรั่งเศสที่ชื่อ ภาคีเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต (Together Against the Death Penalty) ได้หมุนเวียนจัดไปตามประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนการประชุม ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และนอร์เวย์ ส่วนในปีนี้ รัฐบาลสเปนเป็นเจ้าภาพ จึงจัดขึ้นที่กรุงมาดริด ระหว่างวันที่ 12-15 มิ.ย. 56 
 
ประชาไทพูดคุยกับ ราฟาเอล เชนนุล ฮาซาน ผู้อำนวยการภาคีเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต (Ensemble contre la peine de mort) ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมครั้งนี้ เขากล่าวด้วยว่า ได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมของไทย รวมถึงจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) เข้าร่วมประชุมด้วย แต่มิได้มีตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด
 


บทสัมภาษณ์และภาพบรรยากาศการประชุมโลกเพื่อการยุติโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5
(คลิกที่ CC เพื่อเลือกซับไตเติ้ลภาษาไทย)

 
การประชุมนี้ได้จัดขึ้นมาหลายครั้ง ที่ผ่านมาก็ 13 ปีแล้ว คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตบ้าง 
 
ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกที่เมืองสตราสเบิร์ก ประเทศฝรั่งเศส ปี 2544 จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 13 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่มุ่งไปในทางการยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะนี้ 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดในโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วหรือยกเลิกในทางปฏิบัติ แต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดย 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดในโลกทำการประหารชีวิตประชาชนอยู่ 
 
นี่อาจจะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่ถือว่าประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ เช่น เสรีภาพสื่อ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราเผชิญกับข้อท้าทายหลายเรื่อง เพราะเรามีประเทศที่ยากขึ้นในการโน้มน้าวให้ยกเลิกโทษประหาร
 
ในประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้งหมดทั้งมวล ทำไมคุณถึงเลือกที่ทุ่มเทการทำงานกับประเด็นนี้โดยเฉพาะ
 
สิทธิมนุษยชนทุกด้านล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต ที่ผมพูดว่าทั้งหมด หมายถึงว่าสิทธิแรกที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ แม้แต่สำหรับอาชญากรหรือใครก็ตาม และสิทธิในชีวิตนั้นก็สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และถ้ารัฐสามารถพูดได้ว่า "ฉันมีสิทธิตามกฎหมายที่จะพรากชีวิตของบุคคลอื่น" เขาก็อาจจะพูดได้ว่า "ฉันมีสิทธิในการหยุดเสรีภาพสื่อ" เขาก็อาจจะพูดได้ด้วยว่า "ฉันมีสิทธิละเมิดสตรี หรือชนกลุ่มน้อย" หรืออะไรก็ได้ ฉะนั้นสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เป็นสิทธิที่สำคัญที่สุดในการปกป้อง นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงทุ่มเททั้งชีวิต เวลา และพลังงานในการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก 
 
จริงๆ คุณอาจพูดได้ว่า แต่มันยังมีการสังหารนอกระบบอยู่ รัฐสามารถสังหารโดยไม่ต้องใช้โทษประหารชีวิตก็ได้ โดยไม่ต้องมีกฎหมายใดๆ ผมก็เข้าใจว่าประเด็นนั้นสำคัญ ไม่ใช่ว่าคุณยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วมันจะไม่มีการฆ่ากัน แต่ประเด็นคือว่ามันจะไม่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายอีกต่อไป เหมือนกับการค้าทาส หรือการซ้อมทรมาน เมื่อคุณยกเลิกการค้าทาสหรือการทรมานในโลกได้แล้ว มันไม่ได้หมายความว่าการทรมานจะหมดไป แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกศีลธรรม 
 
ผู้นำประเทศหลายที่อ้างว่า โทษประหารชีวิตยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ และอ้างว่าหากยกเลิกแล้ว ประชาชนจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต เรื่องนี้คุณมองว่าอย่างไร 
 
ความรู้สึกเรื่องไม่ปลอดภัยมันก็คือความเป็นจริง แต่ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผู้คนรู้สึก คือหลายๆ คนคิดว่าโทษประหารชีวิตนั้นจะทำให้อาชญากรรมลดลง แต่งานวิจัยและสถิติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมได้ 
 
ในสหรัฐอเมริกานั้นจะเห็นชัดมาก เพราะมีรัฐในอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปนานแล้ว มีรัฐที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปห้าปี จากนั้นนำกลับมาใช้ใหม่ และในช่วงนั้น เราได้เก็บสถิติอาชญากรรมในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังยกเลิกโทษประหาร พบว่า ในช่วงที่ยกเลิกโทษประหาร กลับมีสถิติอาชญากรรมลดลง ทำไมน่ะหรือ? อาจอธิบายได้ว่า รูปแบบของความรุนแรงลดน้อยลงไป 
 
เราอาจเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า อาชญากรไม่คิดถึงเรื่องบทลงโทษ พวกเขาไม่คิดถึงผลที่ตามมา ไม่เคยคิดเลย ยกเว้นก็แต่อาชญากรรมประเภทก่อการร้าย ซึ่งประสงค์จะเสียชีวิตอยู่แล้ว หรือถ้าเขามีอาการทางจิตหรืออะไรอย่างนี้ พวกเขาไม่สนใจว่าจะถูกสังหารหรือไม่ อย่างอาชญากรที่ปล้นธนาคารและฆ่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มันเป็นการกระทำที่เขาจะไม่คิดว่า โอเค ฉันไม่ปล้นแล้วดีกว่าเพราะเดี๋ยวโดนโทษประหารชีวิต ถ้าเอาหลักเหตุผลมาใช้แล้ว ก็จะเข้าใจว่าโทษประหารชีวิตไม่ช่วยลดอาชญากรรม 
 
ฉะนั้น ความจริงเกี่ยวกับการสนับสนุนโทษประหารชีวิตก็คือว่า ผู้คนต้องการแก้แค้น พวกเขาอยากแก้แค้น เขาอาจจะไม่มีทางพูดออกมาว่า ต้องล้างเลือดด้วยเลือด หรือบอกว่า อยากจะเห็นมันตาย ถ้าไม่ใช่ญาติของเหยื่อที่ถูกกระทำ ถ้าคุณเป็นพลเมืองธรรมดา คุณอยากให้เขาตาย เพราะว่าคุณกลัวผู้ร้าย นั่นแหละที่สำคัญที่สุด มันเป็นความคิดความเชื่อส่วนตัวว่าคุณกลัวอะไรมากกว่า 
 
และความยุติธรรมก็มิใช่การแก้แค้น ระบบยุติธรรมไม่ใช่เรื่องการแก้แค้น ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นเรื่องความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก เพราะเราเป็นมนุษย์ และระบบกฎหมายของเราก็เป็นระบบมนุษย์ ซึ่งมักพบความผิดพลาดทุกๆ ที่ ในสหรัฐอเมริกาเอง หลายปีที่ผ่านมา เราพบอย่างนักโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 150 คนที่บริสุทธิ์ คุณลองนึกดู
 
ในโครงการที่ชื่อ Innocence Project ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในชิคาโก้ ทีมวิจัยได้ส่งนักข่าวและทนายความไปรื้อคดีความที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะคดีของคนที่มีชีวิตอยู่ เพราะเขาไม่มีเวลาไปทำคดีทั้งหมดได้ ปรากฎหลักฐานว่า รัฐได้ประหารประชาชนคนบริสุทธิ์ไปมากมาย และการประชุมโลกครั้งนี้ เราก็มีอดีตนักโทษที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต แต่พบที่หลังว่าบริสุทธิ์ เข้าร่วมด้วย บางคนก็พบว่าบริสุทธิ์หลังผ่านไป 6 ปี บางคนก็ 20 ปี บางคนก็ 30 ปี หลังถูกตัดสินประหารชีวิต 
 
นี่คือความเป็นจริง มีอยู่วันหนึ่งผมอยู่กับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของประเทศจอร์แดนในตะวันออกกลาง  ผมเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง และเขาก็ตอบว่า "ใช่ๆ ก็ถูกแล้ว แต่ระบบยุติธรรมของเราน่ะดีไม่มีข้อบกพร่อง ระบบยุติธรรมของสหรัฐไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ของเราน่ะ ดี"
 
จะเป็นเช่นนั้นหรือ? ผมคิดว่าไม่น่านะ
 
คาดหวังอะไรจากการประชุมครั้งนี้บ้าง
 
ความคาดหวังของผมคือการให้หลายๆ ประเทศตื่นขึ้นมา อยากจะปลุกประเทศไทย ทั้งรัฐบาล กระทรวงต่างๆ รวมถึงชนชั้นนำของไทย เช่นผู้พิพากษาและทนายความ และองค์กรสิทธิมนุษยชนกับสื่อมวลชนด้วยในฐานะส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม เราหวังให้เกิดการตื่นขึ้นแบบนี้จริงๆ และหวังว่าจะเกิดการสร้างเครือข่ายในภูมิภาค ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากหากองค์กรในอาเซียนสามารถร่วมกันทำงานได้ 
 
ผมทราบว่า อาเซียนเพิ่งก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) เราได้เชิญพวกเขามาร่วมด้วย แต่ไม่มีใครมาเลย เหตุใดจึงไม่มีคณะทำงานด้านโทษประหารอยู่ในคณะกรรมาธิการเพื่อให้เกิดการคุยกันระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ผมอยากให้เกิดเป็นกระบวนการคล้ายๆ กับแอฟริกา โดยสหภาพแอฟริกา (African Union) นั้นมีสภาแอฟริกาเพื่อสิทธิมนุษยชน และภายในก็มีคณะทำงานที่ทำเรื่องโทษประหารโดยเฉพาะ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องการปลุกองค์กรของเอเชียทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ตื่นขึ้นมา 
 
ความคาดหวังของผม สำหรับการประชุมโลกครั้งต่อไป คือให้มีรัฐมนตรียุติธรรม หรือต่างประเทศจากประเทศในเอเชียเข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ นี่คือความฝันของผม
 
ที่งาน ก็มีตัวแทนทูตจากประเทศต่างๆ ที่อยู่ในมาดริดเข้าร่วม มีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจากฟิลิปปินส์คนเดียวที่มา ฟิลิปปินส์และกัมพูชาเป็นเพียงสองประเทศในอาเซียนที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรฮิงญา: ชีวิตที่ห้องกัก 3 ตม.ระนอง

Posted: 26 Jun 2013 04:38 AM PDT

วันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2556

พ.ต.ท.สมชาย จิตสงบ รองผู้กำกับตม.ระนองให้ข้อมูลว่าที่ห้องกักตม.จ.ระนองรับตัวชาวโรฮิงญามาจากคุระบุรี จำนวน 22 คนเมื่อเช้าได้มีคนมาตัดผม และทำความสะอาดพื้นด้วยการราดคลอรีน และนำตัวผู้ต้องกัก 5  คน (อายุ 15 ปี 2 คน  อายุ 18-20 และ 36 ปี)

ยอมีน ฮูเซน

นายยอมีน ฮูเซน  อายุ 36 ปี เล่าว่าพวกเขามาจากเมืองมีบุง และเมืองปกจู้หรือปกโจ้ อาระกันหรือยะไข่  ตั้งแต่ออกมา 45 วัน อยู่ในเรือ 9 วัน เรือยอนต์ 25 แรงม้า ลงมาอยู่กัน 102 คน เหตุผลที่หนีออกมาเพราะ คนในครอบครัวล้วนถูกทุบตีทำร้ายจากคนของรัฐยะไข่ คนทั้งในและนอกหมู่บ้านต้องหนีขึ้นภูเขาเมื่อบ้านเรือถูกเผาไม่เหลือแม้แต่เสา วันที่ 23 ตุลาคม 2555 (10/10/2012) เวลาสิบโมงเช้าถูกล้อมไว้ทั้งหมู่บ้าน และฆ่าในตอนกลางคืน สู้กันตายไป 27 คน ถูกยิงด้วยธนูตาบอดอีก 13 คน ทั้งหมู่บ้านมีคน 3,900 – 4,000 คน UNHCR สร้างเตนท์ให้อยู่ ไม่มีอาหารให้กิน ทนไม่ไหว แอบไปจับปลาในคลอง พวกยะไข่กับตำรวจของยะไข่ก็คอยทำร้าย ฆ่า UNHCR ส่งเจ้าหน้าที่ดูช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นทหารและตำรวจเข้าไปแทน  ชาวโรฮิงญา 4,000 คนตายไปมาแล้ว เหลืออยู่ไม่เท่าใด ญาติพี่น้องตายเป็นร้อย เหลือรอดอยู่ 3 คน พ่อแม่แก่มากแล้วยังมีชีวิตอยู่

ตอนที่หนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา จนถึงทุกวันนี้ ยังมีทหารล้อมอยู่  ต้องคลานหนีออกมาตอนกลางคืน ได้หาเรือลำเล็กหนีออกไปส่งที่เมืองปกจู๊ก่อน  ตอนที่ลงเรือหนีออกมา พวกยะไข่ยังเอาเรือออกมาชนมีคนตกน้ำ ก็เอาเหล็กแหลมแทงจนตาย
พวกเราต้องการไปประแทศมาเลเซีย เพราะมีคนรู้จักอยู่ที่โน่นแล้ว  จะช่วยให้ออกไปทำงานหาเงินได้

หมายเหตุ
จนถึงขณะนี้ มีชาวโรฮิงญาที่ต้องกักอยู่ในด่านตม. 4 รายเสียชีวิต เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดในโรงพยาบาล ตามวันเวลา ดังนี้

1) วันที่ 19 มีนาคม 2556 มูฮัมหมัด ฮุนเซน อายุ 30 ปี เสียชีวิตที่รพ.หาดใหญ่
2) วันที่ 3 พค. 2556 มูฮัมหมัด แวแมราน อายุ 17 ปี เสียชีวิตที่รพ.หาดใหญ่
3) วันที่ 10 พค. 2556 ซากอรีม อายุ 25 ปี เสียชีวิตที่รพ.สะเดา
4) วันที่ 10 พค. 2556 นายรูปีฟิก อายุ 20 ปี เสียชีวิตที่รพ.พิบูลมังสาหาร

อนึ่ง การ "ระบาย" คนจากห้องกัก มี 2 ชั้น คือ 1. ระบายจากปาดัง -สะเดา -พังงา-ระนอง ซึ่งเป็นที่ที่ถูกจับจำนวนมาก ไปยังด่านที่มีห้องกัก(แต่มีคนไม่มาก) เช่น กาญจนบุรี ด่านสิงขร ตราด เชียงราย หนองคาย สักแห่งละ120 คน ถ้าด่านเหล่านี้รับไม่ไหว ก็ไปสู่กระบวนการต่อไป 2. "ระบายต่อ" ไปด่านเล็กๆแห่งละ 20 คน เช่น ระยอง อยุธยา ที่อุบล มุกดาหาร ก็มี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กับบทบาททีดีอาร์ไอในกระแสประชานิยม

Posted: 26 Jun 2013 04:27 AM PDT

"นโยบายประชานิยม" กลายเป็นกระแสใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย  ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาประชานิยมถูกนำมาใช้หาเสียงในการเมืองไทยอย่างแพร่หลายโดยหลายพรรคการเมืองท่ามกลางความคิดเห็นต่างขั้ว   ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายซึ่งพยายามท้วงติงจึงถูกแขวนป้ายผลักให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล   ไม่เว้นแม้การแสดงความเห็นทางวิชาการของสถาบันทางวิชาการต่าง ๆ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาสาธารณะ "เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้"(Economy of Tomorrow) เรื่อง "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง"  ซึ่งทีดีอาร์ไอร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้  โดยได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมและบทบาทของทีดีอาร์ไอในฐานะสถาบันทางวิชาการ

ดร.สมเกียรติ   กล่าวว่า ประชานิยมในทางเศรษฐกิจ เป็นนโยบายซึ่งหวังผลให้ได้การสนับสนุนทางการเมือง โดยเน้นการล้วงกระเป๋าคนกลุ่มหนึ่งไปให้คนอีกกลุ่ม หรือแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งโดยตัวมันเองไม่ใช่เรื่องผิดอะไร  ถ้าสามารถช่วยสร้างขีดความสามารถในระยะยาวของประชาชนและภาคธุรกิจปัญหาก็คือนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงหลัง นอกจากไม่ช่วยสร้างความเข้มแข็งของประชาชนหรือภาคธุรกิจแล้ว ยังสร้างภาระทางการคลังต่อประเทศมาก

หากเปรียบประชานิยมยุครัฐบาลทักษิณเป็นประชานิยมรุ่นแรก และยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรุ่นที่สอง นโยบายรุ่นแรกเช่น 30 บาทรักษาทุกโรคช่วยสร้างขีดความสามารถประชาชนอย่างมาก เพราะสุขภาพเป็นรากฐานของมนุษย์    นโยบายโอท็อปก็เป็นความพยายามสร้างความสามารถให้แก่ธุรกิจชุมชน แม้จะมีปัญหาหลายอย่างก็ตาม แต่นโยบายประชานิยมในรุ่นที่สองจำนวนมากไม่เข้าข่ายนี้เลยเช่น นโยบายรถคันแรก เกิดจากการล็อบบี้โดยนักลงทุนข้ามชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์ นโยบายนี้จึงออกมาเพื่อเอาใจนักลงทุนต่างประเทศแล้วผู้ซื้อรถคนไทยเป็นผลพลอยได้ ตอนนี้ก็เห็นชัดว่ามีคนไม่สามารถรับรถได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบางยี่ห้อสูงถึง 70-80%

นโยบายรถคันแรกเป็นตัวอย่างนโยบายประชานิยมในเชิง ลด-แลก-แจก-แถม ที่มีปัญหามาก  และสวนทางกับแนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็น ซึ่งควรทำให้คนทุกกลุ่มใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น   นโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดป้ายราคาบอกผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่ามีต้นทุนเท่าไร นโยบายประชานิยมในช่วงหลัง ๆ ยังเริ่มเข้าไปหากลุ่มเฉพาะมากขึ้น เช่น เรื่องรถ แรงงาน ข้าว แต่ละกลุ่มก็มีกลุ่มผลประโยชน์อยู่ในแต่ละเรื่องการกระจายผลประโยชน์ที่แคบลงทำให้นโยบายประชานิยมเหล่านี้มีคุณภาพที่ด้อยลงไปด้วย

ต่อข้อเสนอจากบางฝ่ายให้นักวิชาการรวมทั้งทีดีอาร์ไอมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านนั้น  ดร.สมเกียรติ   เห็นว่า การที่เรามีพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ค่อยเข้มแข็งไม่ควรจะเป็นเหตุให้สถาบันทางวิชาการต้องไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านแทน ทีดีอาร์ไอและนักวิชาการควรวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแต่ละเรื่องมากกว่าที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ตัวระบบการเมือง ซึ่งเลี่ยงได้ยากที่จะเข้าไปพัวพันกับการเมืองทั้งนี้ การวิจารณ์ต้องอยู่บนหลักวิชาการและข้อมูลว่านโยบายเหล่านั้นมีข้อดีและข้อเสียที่ควรปรับปรุงอย่างไรภาควิชาการควรเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคม ภาคประชาชน คนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคมมากกว่าที่จะเข้าไปต่อสู้ในเวทีทางการเมืองโดยตรง เพราะในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีกลไกตัดสินใจอยู่แล้ว

จากประสบการณ์ที่มีนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอเข้าไปร่วมในตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาลในอดีตและได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก   เราได้ทบทวนบทเรียนและได้ข้อสรุปว่า  ต่อไปเราไม่ควรจะเดินเส้นทางนั้นอีก  เราอยากเห็นการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น เป็นการเมืองที่นอกจากจะเป็นตัวแทนของเสียงข้างมากแล้ว ยังคุ้มครองเสียงข้างน้อยที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคม ไปจนถึงรุ่นลูกหลานที่ไม่สามารถออกเสียงเลือกตั้งในวันนี้ด้วย 

"ด้วยแนวคิดอย่างนี้เราจึงวิตกทุกข์ร้อนกับนโยบายประชานิยม ไม่ใช่ว่าเพราะเราเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีแนวคิดต่างจากนักวิจัยส่วนใหญ่ในทีดีอาร์ไอมาก แต่เพราะพวกเราเห็นว่าถ้าปล่อยให้ดำเนินนโยบายประชานิยมแบบนี้ต่อไป มันจะพาเราไปสู่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนที่รับภาระก็คือคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการเราอยากมีส่วนช่วยทำให้การเมืองในระบบรัฐสภามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น   งานหนึ่งที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันคือการร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณของรัฐสภา เพื่อช่วยให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น"

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า  นโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่อยากเห็น คือ นโยบายที่มีความรับผิดชอบทางการคลัง  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกติกาที่ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่แข่งขันกันจนทำลายตัวเอง หรือทำลายเศรษฐกิจจนเกิดวิกฤติกฎกติกาบางอย่างอาจต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องแก้ให้มีวินัยทางการคลังที่จำกัดการใช้เงิน ไม่ใช่ปล่อยให้ขาดดุลทางการคลังต่อเนื่องไปนานๆ

ตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ในปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยขาดดุลการคลังมาทุกปี ยกเว้นปี 2548 ปีเดียว และถ้าเกิดแข่งขันกันทางนโยบายแบบนี้ต่อไป ก็จะมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 44-45% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่ใช่ระดับที่สูง แต่ถ้าเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ มีแรงกระแทกจากภายนอกก็ทำให้หนี้สาธารณะสามารถกระโดดขึ้นได้ เช่นที่เคยเกิดหลังวิกฤติในปี 2540 ซึ่งหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 16%เป็น 61% ของจีดีพีในเวลาเพียง 2-3  ปีดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาท 

ประธานทีดีอาร์ไอ  เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันกำหนดกติกาให้การแข่งขันทางการเมืองไม่นำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยและระบอบเศรษฐกิจ  นั่นคือ  วินัยทางการคลัง  ซึ่งสังคมควรมาช่วยกันคิดส่วนตัวเห็นว่า รัฐธรรมนูญควรจะคุมเพดานการขาดดุลการคลังในช่วงภาวะเศรษฐกิจปรกติ  โดยไม่ต้องไปกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐในรายละเอียดเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550   แต่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งได้โดยอิสระภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียกร้องรัฐบาล ยุติลงโทษคุมขังผู้ใช้ยาเสพติด “ผู้ใช้ยาคือผู้ป่วย”

Posted: 26 Jun 2013 03:25 AM PDT

 

26 มิ.ย.56 เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12 D) และภาคีพันธมิตรรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนทิศทางนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด ยุติกระทำความรุนแรงกับผู้ใช้ยา

เครือข่ายระบุว่า กว่า 10 ปี แล้วที่ประเทศไทยนำโดยฝ่ายการเมืองและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศสงครามกับยาเสพติดโดยหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยจะปลอดจากยาเสพติด ซึ่งประเทศชาติต้องสูญเสียบุคลากร เวลา งบประมาณ จำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่ 10 ปีที่ผ่านมาผลปรากฏว่าจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากหลักหมื่นกลายเป็น 1.2 ล้านคน ยาเสพติดยังคงมีอยู่ ที่สำคัญมียาเสพติดชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้น ราคายาเสพติดมีราคาสูงขึ้นสร้างรายได้มหาศาลและเป็นสิ่งจูงใจให้กับเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด อีกทั้งยังมีบุคลากรของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอีกมากมาย กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

อรอุมา เกื้อทาน ตัวแทนผู้ใช้ยากล่าวว่า กว่า 10 ปีแล้วที่มีการใช้การลงโทษและการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะแก้ปัญหากับผู้เสพในหลายรูปแบบ เช่น การใช้มาตรการทางกฎหมายในการจับกุมและคุมขัง การบังคับบำบัดและการสร้างภาพให้เกิดการรังเกียจและตีตราอันเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการกระทำความรุนแรงทางเพศกับผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจในเรื่องนี้จะต้องทบทวนการบำบัดในปัจจุบัน โดยยกเลิกมาตรการบังคับบำบัด ยุติมาตรการที่ไร้ประสิทธิภาพและนำมาตรการใหม่ๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลมาใช้ในการแก้ปัญหา โดยการรณรงค์ สนับสนุนการไม่ลงโทษ และยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหากับผู้ใช้ยาภายใต้หลักการ ผู้ใช้ยาคือผู้ป่วย

สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ มูลนิธิพีเอสไอ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับทุนจากกองทุนโลกเพื่อดำเนินการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีด กล่าวว่า ปัจจุบันเราการทำงานในโครงการแชมเปี้ยน ทำให้เราเข้าถึงผู้ใช้ยาจำนวนมาก และเห็นว่าหากเขาได้รับการพัฒนาก็จะสามารถดูแลตัวเองและดูแลเพื่อนให้ปลอดภัยได้ จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีมาตรการด้านการลดอันตรายจากการใช้ยา สนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณในการดำเนินโครงการด้านการลดอันตรายจากการใช้ยาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้ใช้ยา เนื่องจากนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยา ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลสำเร็จ คุ้มค่าสำหรับดูแลแก้ไขปัญหากับผู้ใช้ยา

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุงนโยบายและปฏิรูปกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดขวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้ใช้ยา โดยระบุว่ารัฐบาลต้องยุติการเอาผิดทางอาญาและการลงโทษผู้ใช้ยา และต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเช่นในระหว่างรอตรวจพิสูจน์ ต้องไม่นำผู้ใช้ยาไปอยู่ในเรือนจำ ให้ยุติการคุมขังโดยอ้างว่าเป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่ง การบำบัดยาเสพติดต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ผ่านการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผล และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายผู้ใช้ยาซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยและวางแผนการดูแลแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้ใช้ยา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐฯ ชูหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกาศหนุนทุกประเทศ

Posted: 26 Jun 2013 02:57 AM PDT

 

รายงานข่าวจากที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 66 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อานวยการองค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างมากที่ผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมกันผลักดันประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่การหารือในสหประชาชาติ และในฐานะผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พร้อมสนับสนุนทุกประเทศ ในด้านวิชาการและการสร้างเวทีหารือต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในการทำให้ประชาชนทั่วโลกไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยและเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ

นางเคธรีน เซเบเลียส (Kathleen Sebelius) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวปาฐกถาว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดของระบบสุขภาพทั่วโลก โดยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ทุกคนต้องได้รับ โดยยกคำกล่าวของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่ว่า "สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพมิใช่เป็นเพียงสิทธิของคนบางคน แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน" เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย ลดความยากจนและสหรัฐพร้อมจะเป็นทั้งผู้นำและสนับสนุนให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะต้องร่วมกันกำจัดอุปสรรคของการเข้าถึงบริการในกลุ่มคนด้อยโอกาสและผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล

ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมในเวทีดังกล่าว ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหารือร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการผลักดันงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกลไก ASEAN + 3 ซึ่งทาง สปสช. มีแผนการดำเนินงานอยู่แล้ว ทั้งยังได้หารือร่วมกับประเทศต่างๆ ในประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ซูดาน บังคลาเทศ เป็นต้น ซึ่งประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในการเรียนรู้ระบบหลักประกันของประเทศไทย นอกจากนั้นในปัจจุบัน สปสช. ได้ให้การสนับสนุนการเป็นวิทยากร การเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับประเทศต่างๆที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเช่น เวียดนาม มัลดีฟส์ และอีกหลายประเทศจากทุกมุมโลก

"จากผลการประชุมครั้งนี้ พบว่าประเทศต่างๆ มีเป้าหมายในการทำให้ประชาชนในประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดิมไม่เคยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนก็ให้ความสนใจและพร้อมจะสนับสนุนทุกประเทศ ทาให้ขณะนี้มีประเทศต่างๆ ขอความร่วมมือประเทศไทย ในการศึกษาดูงานและขอคำแนะนำ ดังนั้น สปสช. จึงต้องเตรียมความพร้อมในการเป็นที่ศึกษาดูงานให้เข้มข้นขึ้น และเตรียมความพร้อมในการเป็นตัวกลางในการสนับสนุนให้คำแนะนำประเทศต่างๆในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป"เลขาธิการสปสช. กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 18-24 มิ.ย. 2556

Posted: 26 Jun 2013 02:22 AM PDT

กสร.เผยพิษค่าจ้าง 300 บาท 5 เดือนเลิกจ้าง 1.3 พันคน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายอาทิตย์ อิสโม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ว่า จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 มิถุนายน 2556 มีสถานประกอบการที่อยู่ในข่ายบังคับทั้งหมด 359,325 แห่ง ลูกจ้าง 7,744,882 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว จำนวน 24,237 แห่ง ลูกจ้าง 1,023,551 คน และมีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 508 แห่ง ลูกจ้าง 7,785 คน นอกจากนี้ มีลูกจ้างยื่นคำร้องเรียนนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่า จ้าง 67 คำร้อง อยู่ในสถานประกอบการ 62 แห่ง ลูกจ้าง 112 คน ดำเนินการไปแล้ว 54 คำร้อง ลูกจ้าง 82 คน ขณะเดียวกันการเลิกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีสถานประกอบการปิดกิจการ ทั้งหมด 69 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 4,136 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 4 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 336 คน เลิกจ้างบางส่วน 36 แห่ง ลูกจ้าง 1,049 คน

นายอาทิตย์กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบสถานประกอบการพบว่า การไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายมี 2 ลักษณะ คือ 1.ผู้ประกอบการเข้าใจผิดนำสวัสดิการไปรวมกับค่าจ้าง และ 2.ผู้ประกอบการจงใจไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานพบว่าเป็นความเข้าใจผิดก็จะให้คำแนะนำเพื่อให้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่หากเป็นการจงใจฝ่าฝืนก็จะออกเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายทันที ทั้งนี้หลังจากได้รับคำแนะนำหรือคำสั่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างปฏิบัติตาม ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"จากการประเมินการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน และการเลิกจ้างก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่ากังวลคือ ขณะนี้พบว่าลูกจ้างใหม่และลูกจ้างเก่ายังมีอัตราค่าจ้างที่เท่ากัน กสร.จึงแนะนำให้นายจ้างใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ในการดูแล เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้างเดิม หรือการเพิ่มสวัสดิการ เพื่อให้ลูกจ้างเดิมมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน" นายอาทิตย์กล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 18-6-2556)

 

เล็งลดแรงงานประสบอันตรายร้อยละ 2 ต่อพันคนต่อปี

18 มิ.ย. 56 - กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตรียมจัดสัปดาห์ความปลอดภัย 3-5 ก.ค.นี้ พร้อมตั้งเป้าลดสถิติอุบัติเหตุของแรงงานให้เหลือร้อยละ 2 ต่อพันคนต่อปี

นายอาทิตย์ อิสโม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดย กสร.จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจก้าวไกล แรงงานต้องปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี" ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคมนี้ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์และกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ เช่น การอภิปรายหัวข้อ "เศรษฐกิจก้าวไกล สู่ประชาคมอาเซียน" เสวนากฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย การแสดงนิทรรศการในโซนต่างๆ เช่น นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และนิทรรศการกลาง ซึ่งเกี่ยวกับกฎหมายด้านความปลอดภัย โดยในส่วนของการร่วมกิจกรรมสัมมนาวิชาการลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนนี้ โทรสายด่วน กสร.1546 , www.labour.go.th

หากเทียบทั้งหมดใน 10 ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (เอซี)ส่วนใหญ่มีสถิติลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานใกล้เคียงกันยกเว้น สิงคโปร์มีน้อยที่สุด ในส่วนประเทศไทยจำนวนลูกจ้าง 1,000 คน มีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อปีถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย นอกจากนี้ ผลการตรวจความคุ้มครองความปลอดภัยของ กสร.ในช่วงเดือนตุลาคม 2555 - พฤษภาคม 2556 มีสถานประกอบการผ่านการตรวจทั้งหมด 10,788 แห่งในจำนวนนี้ปฏิบัติถูกต้องถึงร้อยละ 94 มีเพียงร้อยละ 6 ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม กสร.ตั้งเป้าหมายจะลดสถิติลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจากร้อยละ 4.6 ต่อ 1,000 คนต่อปี จะลดลงให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี จนกระทั่งสถิติลดลงเหลือศูนย์ แต่คงต้องใช้เวลาดำเนินการ โดยจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัยของ กสร.ตรวจสอบความปลอดภัยในสถานประกอบการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี การก่อสร้างต่างๆ จะต้องตรวจสอบดูแลให้มากยิ่งขึ้น และรณรงค์ให้สถานประกอบการใช้สัญลักษณ์สากลเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้มีความ เข้าใจและมีความปลอดภัยในการทำงานด้วย

(สำนักข่าวไทย, 18-6-2556)

 

ก.แรงงานลุยตั้งศูนย์ฯ แก้ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าจากการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวัน ละ?300?บาท และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556?เป็นต้นมานั้น ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้น คือการขาดเงินทุน สภาพคล่องทางการเงินและขาดแรงงานมีฝีมือที่สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างใหม่ ด้วยเหตุนี้ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาขาดเงินทุนและขาดแรงงานมีฝีมือ

โดยผู้ประกอบ SMEs ทุกรายที่ประสบปัญหาสามารถมาขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้โดยไม่มีค่า ธรรมเนียม ที่ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแนะนำทางออกผ่านมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้นักธุรกิจ SMEs ทั้งหลายมาใช้บริการ ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการให้พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ตั้งแต่วันนี้ ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

(แนวหน้า, 19-6-2556)

 

"ยิ่งลักษณ์" เชื่อมั่นทักษะฝีมือแรงงานไทยสู้นานาชาติได้

(20 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ นำคณะผู้แทนประเทศไทย และคณะอาจารย์ ที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2556 เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า เยาวชนทุกคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เพราะการเรียนวิชาเหล่านี้ต้องใช้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่สามารถท่องจำได้ ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีรู้สึกภูมิใจที่เยาวชนไทยสามารถพิชิตเหรียญรางวัลได้ ถึง 97เหรียญ และเป็นที่ 1 ในสาขาชีวะ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ขอให้ภูมิใจในตัวเอง และขอให้นำความขยันและความเก่งที่ตัวเองมีกลับมาพัฒนาตนเองและช่วยเหลือ ประเทศชาติต่อไป

"รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการศึกษาของเยาวชน โดยขณะนี้กำลังพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการว่าจะทำอย่างไรที่จะปฏิรูปการ ศึกษาให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนการสอน การปรับหลักสูตร การเสริมทักษะของเด็กตั้งแต่เริ่มต้นจนจบหลักสูตร ซึ่งต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

จากนั้นเวลา 09.30 น. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน นำคณะผู้เข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 51 ที่จะเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศเยอรมัน และเจ้าหน้าที่ เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี การแข่งขันในเรื่องของสินค้าและอุตสาหกรรมมีสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องของฝีมือแรงงาน แต่ยังไม่เพียงพอ เราต้องมีการพัฒนาเพิ่มเพื่อต่อยอดฝีมือแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรม และในอนาคตก็อาจจะได้เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเหรียญทองในหลายสาขา อาทิ ช่างเครื่องกลึง ช่างเชื่อม ช่างออกแบบโมเดลต่าง ๆ  ดังนั้นขอให้ภาคภูมิใจในความเป็นประเทศไทย การเดินทางไปแข่งขันในครั้งนี้ ก็ขอให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะนำกลับมาพัฒนาตัวเองและพัฒนาประเทศต่อไป

(เดลินิวส์, 20-6-2556)

 

เผย ILO ยกนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของไทยสร้างสัมพันธ์ 3 ฝ่าย

20 มิ.ย. 56 - ไอแอลโอชมนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของไทย เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างที่ดี ขณะที่ไทยชูแผนระดับชาติเรื่องงานที่มีคุณค่าเพื่อแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และนโยบายการดูแลแรงงานนอกระบบ ในการประชุมใหญ่ไอแอลโอ ที่กรุงเจนีวา เมื่อเร็วๆ นี้

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 5-20 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยได้ดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผ่านระบบประกันสังคม และมีประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบให้มีความมั่นคงของชีวิต และมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ และหน่วยงานรัฐได้บูรณาการการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังได้จัดทำแผนระดับชาติเรื่องงานที่มีคุณค่า และยังเน้นการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกกล่าวหาในเรื่องการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ได้ขอให้ไอแอลโอช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ

การประชุมครั้งนี้ไอแอลโอได้ขอให้ประเทศสมาชิก 185 ประเทศ ปรับเปลี่ยนพันธสัญญาไตรภาคีของแต่ละประเทศ เพื่อก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ซึ่งในส่วนของไทยได้รับคำชมเชยเรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น วันละ 300 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเป็นความร่วมมือกันอย่างดีระหว่างฝ่ายภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ถือเป็นตัวอย่างที่ดี

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้หารือถึงระบบการพัฒนาฝีมือแรงงานและระบบคุ้ม ครองแรงงาน (Safety Net) เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ตกงาน หรือผู้ว่างงานให้ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมถึงได้รับการดูแลด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงที่ถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานทำ

(สำนักข่าวไทย, 20-6-2556)

 

มาเลย์ส่งกลับ 35 แรงงานไทยลอบทำงานผิด กม.

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา  พ.ต.อ.กานต์ ธรรมเกษม ผกก.ตม.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.ท. ชุมพล บัวชุม  สว.ตม.จว.สงขลา ประจำด่านพรมแดนสะเดา  รับมอบแรงงานไทยทั้งชายและหญิงจำนวน 35คน เป็นชาย6 คนหญิง29 คน ที่ถูกทางการมาเลเซียจับกุมหลังจากลักลอบเข้าไปทำงานในรัฐเคดาห์ในประเทศ มาเลเซียโดยผิดกฏหมายและถูกผลักดันกลับประเทศ

จากการตรวจสอบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอีสาน เข้าไปทำงานในร้านต้มยำกุ้ง สถานบริการนวดแผนโบราณ และร้านคาราโอเกะ โดยใช้พาสปอร์ตแฝงตัวเข้าไปในลักษณะของนักท่องเที่ยว

โดยทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ จ.สงขลา จะทำการตรวจสอบเพื่อคัดแยกแรงงานทั้งหมดว่าสมัครใจเข้าไปทำงานหรือมีรายใด บ้างที่ถูกหลอกและเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเพื่อดำเนินการช่วย เหลือและส่งกลับภูมิลำเนาต่อไป

(โพสต์ทูเดย์, 22-6-2556)

 

จับแรงงานพม่า 24 คน ในไร่อ้อยดอดเข้า กทม.

นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าหลายคนกำลังเดินอยู่ กลางไร่อ้อย หมู่ 2 บ้านเมืองทอง ตำบลแม่ปะ จึงสั่งการให้นายสมเดช ต๊ะทองคำ ผู้ใหญ่บ้านแม่ปะกลาง นำกำลังสมาชิกรักษาดินแดนกองร้อยอำเภอแม่สอด ที่ 3 ร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านแม่ปะกลาง เข้าไปตรวจสอบพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่า จำนวน 24 คน แบ่งเป็นชาย 17 คนหญิง 7 คน ซุมอยู่ในไร่อ้อย จึงได้เข้าปิดล้อมทำการจับกุม และควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวชาวพม่ามาทำการสอบสวน

จากการสอบสวนนายอาวิน อายุ 20 ปี ไม่มีนามสกุลสัญชาติพม่า ให้การว่า ตนเดินทางมาจากจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ได้รับการติดต่อจากขบวนการขนแรงงานต่างด้าวชาวพม่า เพื่อนำพาเดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ โดยตนได้จ่ายเงินให้แก่กลุ่มขบวนการดังกล่าวก่อนหน้าแล้ว เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท โดยมีชาวพม่าเป็นคนนำพาพวกตนไปหาผู้ประกอบการที่กรุงเทพฯ เพื่อจะไปทำงานเป็นแม่บ้าน และก่อสร้าง

(เนชั่นทันข่าว, 24-6-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดงเชียงใหม่คดียังไม่จบ ส่งฟ้องอดีตการ์ดกรณีปะทะเดือดปี 51 เพิ่มอีกคดี

Posted: 26 Jun 2013 02:03 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.56 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดพร้อมเพื่อกำหนดนัดวันสืบพยานคดีอาญาหมายเลข อ.2421/56 ซึ่งมีนายแดง  ปวนมูล อายุ 42 ปีอดีตการ์ดเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่า  จากกรณีเหตุปะทะเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551  ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านระมิงค์ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่  อันเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุวิหคเรดิโอ 89 MHz โดยเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 1 รายคือนายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนาบิดาของเทิดศักดิ์  เจียมกิจวัฒนาหรือโต้ง วิหค  แกนนำของกลุ่มทหารเสือพระราชา หรือพันธมิตรเชียงใหม่  (อ่านที่ รักเชียงใหม่ 51 ปะทะเดือดเจ็บ 2 ฝ่าย พ่อแกนนำทหารเสือพระราชาดับ)

นายแดงให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี  ศาลจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่กำหนดวันนัดสืบพยานโดยเลื่อนไปฟังคำสั่งวันที่ 19 ส.ค.56 เวลา 13.30 น. อีกครั้ง

นายแดงตกเป็นจำเลยรายที่ 6 ในข้อกล่าวหาจากเหตุการณ์นี้ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันที่มีนายนพรัตน์ แสงเพชร นายประยุทธ บุญวิจิตร นายบุญรัตน์ ไชยมโน นายสมศักดิ์ อ่อนไสว และนายพยอม ดวงแก้ว ทั้ง 5 คนเป็นจำเลยร่วมกันอยู่ก่อนหน้า (อ่านที่ ผู้ต้องขังเสื้อแดงเชียงใหม่ร่ำไห้วอนแกนนำช่วยประกันตัว) กรณีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 5 คนคนละ 20 ปี  ส่วนชั้นอุทธรณ์ศาลพิพากษาแก้โทษเป็นจำคุก 12 ปี  ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา  และจำเลยทั้งหมดเพิ่งได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ก.พ.55  หลังจากที่แต่ละรายถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบ 3 ปี  (อ่านที่ ศาลฎีกาสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยคดีเสื้อแดงเชียงใหม่ 5 ราย)

ทนายความกลุ่มยุติธรรมล้านนาซึ่งเข้ามาดูแลคดีในชั้นฎีกาของคดีดังกล่าวและช่วยเหลือคดีนายแดงด้วยระบุว่า  ได้ยื่นคำให้การปฏิเสธต่อศาลแล้ว  ศาลจึงส่งเรื่องไปยังศูนย์สมานฉันท์ตามระเบียบวิธีปฏิบัติ  เพื่อให้ญาติผู้ตายที่ยื่นคำร้องเข้ามามีเนื้อหาโดยสรุปว่าไม่ติดใจเรียกร้องเอาความทั้งทางแพ่งและอาญาได้เข้ามาให้การประกอบ

นายแดง ปวนมูล อยู่ระหว่างรับโทษจำคุก 5 ปี 6 เดือนที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่จากคดีอาวุธปืนและพยายามฆ่านางสาวอัจจิมา ศรีกัลยานิวาท อายุ 43 ปีการ์ดเสื้อเหลืองในเหตุการณ์ช่วงบ่ายวันเดียวกัน (26 พ.ย. 51)  ทำให้นางสาวอัจจิมาได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่ข้างขวา  คดีดังกล่าวนายแดงรับสารภาพในชั้นศาล  (อ่านที่ พิพากษาเสื้อแดงเชียงใหม่ จำคุก 5 ปี 6 เดือน จากเหตุปะทะกลุ่มพันธมิตรปี 51 ) โดยนายแดงเพิ่งจะทราบว่าตนตกเป็นจำเลยร่วมในกรณีนี้ขณะที่ดำเนินการขอพักโทษ  (อ่านกรณีนายแดง ปวนมูลขอพักโทษได้ท้ายข่าวนี้  http://prachatai.com/journal/2012/10/42951) ตามสิทธิของผู้ต้องขังที่รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาแล้ว 2 ใน 3 ประกอบกับมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับสุขภาพที่นายแดงเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์   แต่เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรม  นายแดงก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอายัดตัวนำมาเป็นจำเลยในคดีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางบัวจันทร์ ปวนมูล  มารดาของนายแดง  (อ่านที่ เรื่องของแม่คนหนึ่ง กับการฟื้นฟูเยียวยาที่ยังมาไม่ถึง ) ร่วมกับกลุ่มครอบครัวคดีเสื้อแดงเชียงใหม่  และมีนายนพรัตน์ แสงเพชร นายสมศักดิ์ อ่อนไสว และนายพยอม ดวงแก้ว จำเลยจากกรณีเดียวกัน  ได้มาร่วมให้กำลังใจนายแดงในวันนี้ด้วย  ทั้งนี้ไม่มีแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่กลุ่มอื่นๆ มาร่วมฟังการพิจารณาแต่อย่างใด

นางบัวจันทร์เล่าว่านายแดงเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากตนอายุมากแล้ว  ไปขายของข้างทางไม่ได้บ่อยนักเพราะมีปัญหาสุขภาพ  ขณะนี้มีความช่วยเหลือทางด้านการเงินอยู่บ้างจากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล  มีมวลชนที่ทราบข่าวเข้ามาช่วยเหลือเล็กน้อย  ดีใจที่ได้เจอกับนายแดงอย่างใกล้ชิด  ทางเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ได้เปลี่ยนระเบียบเข้าเยี่ยมนักโทษแต่ละแดนทำให้เข้าเยี่ยมนายแดงได้เพียงสัปดาห์ละครั้งคือเฉพาะวันอังคารเท่านั้น  และทุกครั้งก็จะเตรียมอาหารที่นายแดงชอบฝากเข้าเยี่ยมเสมอ.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.บราซิล เสนอทำประชามติปฏิรูปฯ หวังสนองข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม

Posted: 26 Jun 2013 01:36 AM PDT

ดิลมา รุสเซฟ ปธน.อดีตนักสู้ฝ่ายซ้าย เสนอทำประชามติปฏิรูปฯ และแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อสนองตอบข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม หลังมีการประท้วงอย่างหนักตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

25 มิ.ย. 2013 - ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ ของบราซิลก็เสนอให้มีการทำประชามติเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง และปรับปรุงโครงการขนส่งมวลชนด้วยงบประมาณ 5 หมื่นล้านเรียล (ราว 7 แสนล้านบาท) เพื่อต้องการให้การประท้วงสงบลง หลังจากที่มีการประท้วงใหญ่ในบราซิลเมื่อตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้แล้วรุสเซฟยังได้สัญญาว่าจะมีมาตรการด้านการสาธารณสุขและการสร้างงาน ข้อเสนอของประธานาธิบดีอดีตนักสู้ฝ่ายซ้ายของบราซิล มีขึ้นหลังจากที่เดินทางเยี่ยมนายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการเมืองต่างๆ ที่มีการประท้วงจนกระทั่งเกิดความรุนแรงและความไม่สงบ และก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน รุสเซฟก็ได้เข้าพบปะกับแกนนำของชุมนุม

การประท้วงในบราซิลเริ่มต้นจากความไม่พอใจเรื่องการขึ้นค่าโดยสารขนส่งมวลชน ต่อมาจึงถูกยกระดับกลายเป็นการประท้วงแสดงความไม่พอใจในหลายประเด็นนับตั้งแต่เรื่องการบริการสาธารณะที่ด้อยคุณภาพ ประเด็นการทุจริต เรื่องผู้มีอิทธิพล และการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

โดยรุสเซฟได้เรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบและสัญญาว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามในตอนนี้ทางการบราซิลยังไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องการปฏิรูปดังกล่าว

จากแถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีบราซิลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากล่าวว่า บราซิลจะต้องเดินหน้าต่อไป และสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ คือเพิ่มความเข้มงวดด้านการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ โดยรุสเซฟได้พูดถึงมาตรการดังกล่าวว่าคือการเพิ่มบทลงโทษและกฏหมายใหม่ที่ทำให้การทุจริตเป็นอาชญากรรมร้ายแรง

รุสเซฟกล่าวว่าจะมีการตั้งสภาการขนส่งมวลชนแห่งชาติขึ้นโดยมีงบประมาณ 5 หมื่นล้าน (ราว 7 แสนล้านบาท) ที่จะมีการประสานงานร่วมกับกลุ่มประชาสังคมเพื่อขยายและเสริมสร้างโครงการขนส่งมวลชนในเมือง

อย่างไรก็ตาม มายารา ลองโก วิเวียน หนึ่งในแกนนำกลุ่มขบวนการค่าโดยสารฟรี (Free Fare Movement) ที่ได้พบปะกับรุสเซฟกล่าวว่า ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มเขา และพวกเขาจะยังคงประท้วงต่อไป

ดิลมา รุสเซฟ เคยเป็นนักสู้สายมาร์กซิสท์ในช่วงที่บราซิลตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ เธอพยายามรอมชอมกับข้อเรียกร้องบางส่วนของผู้ชุมนุมมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยเริ่มจากการยับยั้งแผนการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถไฟของรัฐบาลท้องถิ่น และสัญญาว่าจะมีการนำเงินรายได้จากธุรกิจน้ำมันไปสร้างโครงการเพื่อการศึกษา

มีนักวิจารณ์จำนวนมากชี้ให้เห็นว่าท่าทีของรุสเซฟที่มีความเต็มใจตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุมบนท้องถนนดูแตกต่างจากท่าทีดื้อรั้นของผู้นำตุรกี ซึงมีการประท้วงใหญ่ภายในประเทศในช่วงไล่เลี่ยกัน

นักวิเคราะห์มองว่าขณะที่รุสเซฟมีพื้นเพเป็นผู้มีแนวคิดถอนรากถอนโคน (radical) แต่ก็มีที่ปรึกษาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นนักปฏิบัตินิยม (pragmatism) คอยวางแนวทางให้ และหลังจากฟุตบอลโลกปีหน้ารุสเซฟต้องเผชิญกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแม้ว่าเธอจะยังคงได้รับเสียงรับรองเกินร้อยละ 50 แต่ในช่วงไม่นานมานี้คะแนนนิยมของรุสเซฟก็ต่ำลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดี

การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าผู้ชุมนุมจะไม่มากเท่าเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ซึ่งมีการชุมนุมใน 80 เมือง รวมยอดผู้ชุมนุมจากเมืองต่างๆ แล้วประมาณ 1-2 ล้านคน

 

เรียบเรียงจาก

Dilma Rousseff proposes referendum on political reform, 25-06-2013, The Guardian
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การอวดอุตตริมนุสธรรมกับลัทธิบูชาตัวบุคคลในสังคมไทย

Posted: 26 Jun 2013 01:19 AM PDT

ดูรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" นำเสนอคลิปหลวงปู่เณรคำนิมิต (ฝัน) เห็นเทวดาแล้วมีคำถามทำนองว่า เข้าข่ายต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่สื่อหลัก สื่อรองจะนำเสนอปัญหา ตรวจสอบการกระทำของพระให้มากขึ้น เพราะพระก็คือบุคคลสาธารณะที่ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนบุคคลสาธารณะอื่นๆ
 
แต่ผมมีข้อสังเกตว่า หากเป็นเรื่องฉาวของพระเล็กพระน้อย หรือพระชื่อดังที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจคณะสงฆ์ หรืออำนาจจารีต สื่อก็จะนำเสนอข่าวอย่างเจาะลึกและต่อเนื่องมากเป็นพิเศษ ทั้งที่จริงๆแล้ว พฤติกรรมที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องอวดอุตตริมนุสสธรรมของพระชื่อดังเป็นปัญหามานานแล้ว แต่ก่อนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ประกาศตนว่า "บรรลุเป็นพระอรหันต์" ก็ไม่เคยเห็นสื่อหลักนำเสนอปัญหานี้ 
 
ปัญหาวัตถุมงคลพาณิชย์ เช่นการปลุกเสกวัตถุมงคลก็มีอยู่ทั่วไป แม้แต่วัดของสมเด็จพระสังฆราชเอง แต่วัดที่ห่างจากศูนย์กลางอำนาจเท่านั้นที่ถูกวิจารณ์
 
เรื่องที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการอวดอุตตริมนุนสธรรมในเชิงอ้าง "ญาณวิเศษ" หยั่งรู้อดีตชาติ และรู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน เช่นกรณีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หรือแม้แต่กรณีพระผู้ใหญ่ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมถูกอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องต้องอาบัติปาราชิก ก็ไม่เห็นสื่อหลักสนใจจะเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึกแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่อาจารย์สุลักษณ์ก็พูดปัญหานี้ต่อสาธารณะบ่อยมาก และตัวอาจารย์สุลักษณ์เองก็ไม่ใช่บุคคลลึกลับที่สื่อจะไปสัมภาษณ์สอบถามข้อเท็จจริงไม่ได้
 
 
การอวดอุตตริมนุสสธรรมคืออะไร
 
การอวดอุตตริมนุสสธรรมไม่ใช่ปัญหาเรื่องมุมมอง เรื่องของความคิดเห็น หรือเป็นเรื่องที่ "แล้วแต่ใครจะตีความ" แต่เป็นเรื่องที่พระภิกษุในนิกายเถรวาทต้องปฏิบัติตามวินัยสงฆ์นิกายเถรวาทที่บัญญัติไว้ในวินัยปิฎกอย่างชัดเจนว่า "ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องอาบัติปาราชิก" และ "ถ้าบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีในตนแก่อนุปสัมบัน (บุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุและภิกษุณี) ต้องอาบัติปาจิตตีย์" หมายความว่า การอวดอุตตริมนุสสธรรมแก่ฆราวาสนั้น "ผิดวินัยสงฆ์" อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ 
 
ถ้าสิ่งที่อวดนั้นไม่จริง เช่น บอกเล่า ประกาศ หรือแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้ผู้คนรู้ว่าตนเองบรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดนั้น หรือเพื่อให้รู้ว่าตนเองมีคุณวิเศษต่างๆ เช่นสามารถระลึกชาติได้ รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน ภาษาทางศาสนาคือการอวดว่าตนเองมีวิชชา 3 อภิญญา 6 สมาบัติ 8 เป็นต้น ซึ่งตนเองไม่ได้บรรลุหรือไม่ได้มีคุณวิเศษต่างๆเหล่านี้จริง ย่อมต้องอาบัติปาราชิก 
 
แต่ถึงแม้จะบรรลุจริง มีคุณสมบัติเหล่านั้นจริง หากบอกแก่ฆราวาส (รวมทั้งสามเณรด้วย เพราะสามเณรและฆราวาสคือ "อนุปสัมบัน") ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาราชิกมีโทษหนักคือขาดจากความเป็นพระ อาบัติปาจิตตีย์มีโทษอย่างกลาง ปลงอาบัติได้ด้วยการสารภาพผิดแก่พระภิกษุด้วยกันโดยให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก (หมายความว่าอาบัติต่ำกว่าปาราชิกลงมา พุทธะให้สังฆะใช้วัฒนธรรมการยอมรับ หรือสำนึกผิด การว่ากล่าวตักเตือนกันอย่างกัลยาณมิตรในการแก้ปัญหา แต่ถ้าต้องอาบัติปาราชิกก็ขาดจากความเป็นพระต้อง "สละสมณเพศ" ไปเป็นเพศฆราวาสก็ยังศึกษาปฏิบัติธรรมได้ แต่เป็นพระไม่ได้ แม้ต้องอาบัติปาราชิกแล้วไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมสึก ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติของพระไปแล้ว)
 
ปัญหามีว่า สำหรับผู้ที่ศรัทธาในพระชื่อดังรูปนั้นๆ เขาอาจเชื่อว่าพระรูปนั้นๆ มีญาณวิเศษจริง และหากเขาจะเชื่อจะทำบุญกับพระเช่นนั้นก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เป็นเสรีภาพของเขา ใช่ครับหากมองจากมุมของผู้ศรัทธาย่อมเป็นเสรีภาพ แต่ถ้ามองจากหลักการพุทธศาสนาคัมภีร์ก็อธิบายว่า "พระที่บรรลุโสดาบันขึ้นไปมีคุณสมบัติที่แน่นอนคือ มีศีลบริสุทธิ์ โดยธรรมชาติหรือปกติวิสัยของพระเช่นนี้จะไม่ละเมิดวินัยสงฆ์"
 
ฉะนั้น การที่พระที่เชื่อกันว่าเป็นพระอริยะเป็นพระอรหันต์อวดอุตตริมนุสสธรรมบ่อยๆ แสดงตนหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของบุคคลต่างๆอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องโดยไม่ฟังเสียงท้วงติงจากการอ้างอิงวินัยสงฆ์ตรวจสอบเลยนั้น ก็แสดงว่าพระที่อ้างว่าเป็นพระอริยะเป็นพระอรหันต์นั้นทำผิดวินัยสงฆ์เป็นอาจิณ ถ้าทำผิดวินัยเป็นอาจิณก็ไม่ใช่พระอริยะจริง ไม่ใช่พระอรหันต์จริง
 
 
เหตุผลที่ห้ามพระอวดอุตตริมนุสธรรม
 
ในวินัยปิฎกกล่าวถึงสาเหตุที่พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ห้ามภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมว่า เกิดจากกรณีภิกษุมากรูปที่จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ในวัชชีชนบท สมัยนั้นเกิดปัญหาทุพภิกขภัย พระภิกษุบิณฑบาตไม่พอฉัน พระเหล่านั้นจึงออกอุบายสรรเสริญคุณวิเศษของกันและกันให้ญาติโยมฟังว่า พระรูปนั้นรูปนี้บรรลุมรรคผลขั้นนั้นขั้นนี้ มีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ จนญาติโยมเลื่อมใสเลือกสรรอาหารที่ดีที่สุด แม้จะหามาได้ยากมาก แต่ก็ไม่ยอมบริโภคเอง พากันนำไปถวายพระที่ถูกยกย่องว่าเป็นพระอริยะ เป็นอรหันต์ มีคุณวิเศษต่างๆ 
 
ต่อมาเมื่อพุทธะทราบเรื่อง จึงสอบถามภิกษุเหล่านั้นว่ามีคุณวิเศษต่างๆ จริงตามที่อวดชาวบ้านหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่าไม่มี พุทธะจึงจึงตำหนิการกระทำของภิกษุเหล่านั้น และบัญญัติวินัยว่า "ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนต้องอาบัติปาราชิก" และหากบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีในตนแก่อนุปสัมบัน (สามเณรและฆราวาส ยกเว้นภิกษุกับภิกษุณี) ต้องอาบัติปาจิตตีย์
 
เหตุผลที่พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์ข้อนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ใช้วิธีการหลอกลวงหากินกับชาวบ้าน หรือมุ่งแสวงหาลาภสักการะ หรือผลประโยชน์จากชาวบ้าน พุทธะกล่าวเปรียบเทียบการอวดอุตตริมนุสสธรรมเพื่อทำการตลาดเรียกความศรัทธาเลื่อมใสจากชาวบ้านว่าเป็นการกระทำเยี่ยง "ยอดมหาโจร" 
 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง
นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ
พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว
แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย (วินัยปิฎก เล่ม 1 ข้อ 230)
 
(ภาษาคัมภีร์เป็นภาษาในบริบทวัฒนธรรมอินเดียโบราณที่เชื่ออยู่ก่อนว่ามีโลกต่างๆ หลายโลก แม้ในปัจจุบันคนอินเดียก็ยังเชื่อเช่นนั้น มีผู้ลองคำนวณว่าเทพเจ้าที่คนอินเดียนับถือมีประมาณสามแสนองค์ – ดู กฤษณมูรติ.ศาสนาแบ่งแยกมนุษย์, หน้า 7)
 
 
การอวดอุตตริมนุสสธรรมกับลัทธิบูชาตัวบุคคล
 
ที่จริงการอวดอุตตริมุสธรรม ถ้าพูดในภาษาปัจจุบันก็คือการโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริง หรือการโกหกหลอกลวงนั่นเอง พุทธะไม่ต้องการให้สาวกของท่านทำแบบนั้น เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่ง "ความเลื่อมใส" 
 
เป็นที่ตั้งแห่ง "ความเลื่อมใส" แต่เดิมนั้นหมายความว่า พระอริยะหรือพระอรหันต์มีสถานะเป็น "คุรุทางธรรม" มีชีวิตเรียบง่ายไม่เกี่ยวข้องกับลาภสักการะ หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนผู้ที่แสวงหาพระอริยะหรือพระอรหันต์นั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งการบริจาคทรัพย์ทำบุญกับพระอริยะหรือพระอรหันต์ แต่คือผู้ที่แสวงหากัลยาณมิตรทางปัญญาที่จะแลกเปลี่ยนสนทนา หรือให้คำอธิบายที่ทำให้เข้าใจความทุกข์และทางพ้นทุกข์ได้ เช่น การแสวงหาพระอรหันต์ของ อุปติสสะ (สารีบุตร) กับโกลิต (โมคคัลลานะ) ก็แสวงหาเพื่อจะได้ฟังธรรม พอฟังธรรมเสร็จก็บรรลุธรรมหรือรู้แจ้งธรรม หรือการแสวงหาพุทธะของพาหิยะเมื่อพบพุทธะกำลังเดนบิณฑบาตบนถนนก็เร่งเร้าให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง จนกลายมาเป็นเค้าเรื่องให้นักเขียนฝรั่งไปแต่งนิยาย "กามนิต-วาสิฏฐี" เป็นต้น
 
แม้พุทธะก็นิยามตัวท่านเองว่าเป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาของผู้คนเท่านั้น เป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้เป็น "อภิมนุษย์" หรือผู้วิเศษอะไร หลายๆ เรื่องพุทธะก็สอนสาวกของท่านไม่ได้ พระชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะขัดแย้งกัน แบ่งออกเป็นสองฝ่าย พุทธะไปเทศนาให้ปรองดองกันถึงสามวาระพระภิกษุเหล่านั้นก็ไม่เชื่อฟัง พระเทวทัตซึ่งเป็นญาติกันก็ไม่เชื่อฟังท่าน อดีตอำมาตย์คนสนิทที่มาบวชพระก็ไม่เชื่อฟังท่านเป็นต้น
 
ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล เมื่อพุทธศาสนาอยู่ในบริบทการแข่งขันช่วงชิงศาสนิกกับต่างศาสนามากขึ้น การโปรโมทความเป็นอภิมนุษย์ ความเป็นส้พพัญญูเชิงมีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ของพุทธะและพระอรหันต์จึงมีมากขึ้นในคัมภีร์ชั้นหลังๆ 
 
ในขณะเดียวกันก็มีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องอานิสงส์การทำบุญ (ซึ่งแต่เดิมหมายถึงทำเพื่อสละความเห็นแก่ตัว และให้เห็นแก่ส่วนรวม) อย่างวิจิตรพิสดารมากขึ้น เช่น สร้างโบสถ์วิหารแล้วตายไปจะเกิดเป็นเทพบุตรมีนางฟ้าห้าร้อยเป็นบริวาร หรืออย่างปัจจุบันโฆษณาชวนเชื่อว่าบริจาคมากรวยมาก ทำบุญแล้วเกิดมารวย สวย หล่อ ถวายกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ชาติหน้าจะมีกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ใช้อีก ฯลฯ
 
กล่าวโดยรวดรัด การอวดอุตตริหรืออวดคุณวิเศษเกินจริงได้กลายเป็น "วัฒนธรรม" ไปแล้วเมื่อพุทธศาสนารวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ หรือกลายเป็น "ศาสนาแห่งรัฐ" พุทธศาสนาเช่นนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสร้าง "ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ" ขึ้นมาที่ชัดเจน คือ
 
สร้างลัทธิบูชาชนชั้นปกครองให้เป็นพระโพธิสัตว์หรือแม้กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า เช่น เรียกกษัตริย์ว่า "พระพุทธเจ้าหลวง" เป็นต้น คำราชาศัพท์ที่ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" ก็แปล่า "ข้าของพระพุทธเจ้า (ที่เป็นกษัตริย์)"
 
สร้างลัทธิบูชาตัวบุคคลที่เป็นพระสงฆ์ด้วยการโปรโมทความเป็นพระอริยะ พระอรหันต์ โปรโมทความเป็น "เนื้อนาบุญ" ที่มีอานุภาพดลบันดาลความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจวาสนาทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้บริจาคทำบุญตั้งความปรารถนา 
 
ลัทธิบูชาตัวบุคคลดังกล่าวทำให้สถานะของบุคคลที่ถูกยกย่องอยู่เหนือหลักการที่ถูกต้อง เช่น ทำให้สถานะที่ตรวจสอบไม่ได้ของชนชั้นปกครองอยู่เหนือหลักการประชาธิปไตย และทำให้พระสงฆ์ที่ถูกโปรโมทว่าเป็นอริยะ อรหันต์ อยู่เหนือหลักการพระธรรมวินัย
 
เวลามีใครอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยเรียกร้องสิทธิตรวจสอบชนชั้นปกครอง ก็จะถูกต่อต้านโดยผู้คนจำนวนมากที่ถูกปลูกฝังกล่อมเกลาให้เชื่ออย่างฝังหัวในลัทธิบูชาชนชั้นปกครอง และเวลามีใครอ้างหลักการพระธรรมวินัยตรวจสอบพระชื่อดังที่อวดอุตตริมนุสสธรรม ก็จะมีบรรดาผู้ศรัทธาจำนวนมากออกมาคัดค้าน เพราะเชื่อในความดีของตัวบุคคลเหนือความเชื่อในหลักการ
 
ปัญหาปรากฏการณ์พระชื่อดังอวดอุตตริมนุสสธรรมที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีคำตอบว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาในระดับรากฐานของสังคมไทยคือ ปัญหาการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้าง "ลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ" เพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและพระสงฆ์เอง
 
อันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนานจนเป็นอุปสรรคที่ยากยิ่งต่อการสร้างวัฒนธรรมเคารพหลักการประชาธิปไตย และหลักการพระธรรมวินัยอย่างสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รากยัง

Posted: 26 Jun 2013 12:57 AM PDT

 

๐ เวลาศตวรรษคลุ้ง.........คราบฝัน
 
กาลผ่านมีใดผัน..............เรื่องพ้น
 
คงเวียนแต่ทางตัน...........จนตรอก
 
อธิปไตยพสกค้น.............คิดคว้าคือเหลว
 
 
๐ เปลวประกายปะทุเชื้อ....ชนยืน
 
ยุดสิทธิ์ปกครองขืน..........กี่ครั้ง
 
สำเร็จ ผงาด ครืน............ลงคว่ำ
 
มือมืดใดฉุดรั้ง................ชักเร้าบังเหียน
 
 
 
๐ เวียนหมุนสุมสาดซ้ำ......วิบัติสา
 
กบฏ ปฏิวัติ คณา............กระหน่ำกลุ้ม
 
เกยการณ์อยู่คงคา...........เขาครอบ
 
กรงกักคือกดคุ้ม.............ทาสคู้เคียงสถาน
 
 
 
๐ คณะคนคณะราษฎร์__หาญประกาศสิทธิชน
 
สั่นรื้อระบอบล้น__อำนาจล้ำที่กุมเกิน
 
 
๐ เพียงหวังจะยังสิทธิ์__ทุกชีวิต ณ ดินเดิน
 
เทียมบ่าประชาเชิญ__ดำรงข้าคือคนคืน
 
 
๐ ต้นไม้คณะราษฎร์__ชูผงาดลำต้นยืน
 
กิ่งใบอุดมดื่น__และดอกพร้อมจะผลิบาน
 
 
๐ งามนั้นสำคัญหนา__มหิทธาจึ่งรอนราน
 
ลิดใบและดอกก้าน__สกัดกั้นอย่าฝันไกล
 
 
๐ รากลึกผนึกดิน__มิสร่างสิ้นถวิลไชย
 
เสียดยอดชูไสว__เพื่อสานก่ออุดมการณ์
 
 
๐ ชนยังและยังชน__จะฝ่าด้นฮึดแรงหาญ
 
โหมสู้กรูรึคลาน__ก็กำซาบควรกราบใคร
 
 

*****************************************

 

หมายเหตุ: กวีบทนี้อ่านเมื่อย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนา ที่หมุดคณะราษฎร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: ความไม่เสมอภาคในการขอวีซ่า

Posted: 26 Jun 2013 12:45 AM PDT

โดยปกติแล้วการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการตรวจลงตราหนังสือเดินทางซึ่งเรียกง่ายๆว่าการขอวีซ่านั่นเอง ซึ่งไม่รวมผู้ที่เดินทางผ่านแดนชั่วคราวและผู้ที่เข้าออกประเทศโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ผู้ลักลอบเข้าเมือง เป็นต้น

การขอวีซ่านั้นมีทั้งขอไปจากประเทศต้นสังกัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่หรือไปขอเมื่อเดินทางไปถึงซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Visa on arrival นั่นเอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงหรือการเสนอให้แต่ฝ่ายเดียวของของประเทศปลายทางด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิ อยากได้เงินเขาจากการท่องเที่ยว หรือ ด้วยภาระจำยอมที่ถูกบังคับกลายๆด้วยเหตุที่เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเขาหรืออยู่ภายใต้อารักขาของเขา ฯลฯ

ในเรื่องของการขอวีซ่านั้นสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางการทูต หนังสือเดินทางราชการหรือผู้ที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีออมทรัพย์เป็นถังๆคงไม่ค่อยมีประสบการณ์อันยุ่งยากในการขอวีซ่าเท่าไหร่นัก เพราะหนังสือเดินทางบางประเภทเช่นหนังสือเดินทางการทูตหรือหนังสือเดินทางราชการมักจะได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษในหลายๆประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าจากต้นทาง และผู้ที่มีเงินเป็นถังๆในบัญชีออมทรัพย์เลขแปดหลักเก้าหลักก็มักจะผ่านฉลุย แต่ประชาขนคนไทยโดยทั่วไปแล้วการขอวีซ่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะต้องหาหลักทรัพย์หรือหลักฐานต่างๆไปยืนยันต่อสถานทูตแล้วยังต้องไปเผชิญกับการดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหน้าทีสถานทูตนั้นๆอีก ประหนึ่งว่าการไปขอวีซ่าประเทศนั้นจะขอไปตายในประเทศนั้นเสียนี่กระไร

การดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหน้าที่สถานทูตที่เป็นคนต่างด้าวนั้นก็แย่พอแล้ว แต่การดูถูกจากคนไทยกันนั้นแย่เสียยิ่งกว่าเพราะเป็นสิ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจใฟ้แก่คนไทยด้วยกันเสียยิ่งนัก แล้วที่สำคัญก็คือระยะเวลาของวีซ่าที่ได้(หากได้รับความเมตตาปราณี)ก็ช่างสั้นเสียกระไร

แต่เมื่อหันกลับไปดูกรณีของคนต่างชาติที่ได้รับปฏิบัติหรือสิทธิพิเศษจากไทยเราจะเห็นได้ว่ามีจำนวนมากกว่าสิทธิพิเศษที่เราได้รับมากมายนัก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไหนว่าแต่ละประเทศที่เป็นเอกราชมีอธิปไตยเหมือนกันแต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เสียแล้ว ผู้คนจากประเทศต่าง  เช่น ออสเตรเลีย/ออสเตรีย/บราซิล/บาห์เรน/บรูไน/แคนาดา/เดนมาร์ก/ฟินแลนด์/อินโดนีเซีย/ไอร์แลนด์/อิสราเอล/อิตาลี/คูเวต/ลักเซมเบิร์ก/เกาหลี/มาเลเซีย/โมนาโก/เนเธอร์แลนด์/นอร์เวย์/โอมาน/เปรู/ฟิลิปปินส์/โปรตุเกส/การ์ตา/สิงคโปร์/สเปน/แอฟริกาใต้/สวีเดน/สวิส/ตุรกี/สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์/สหราชอาณาจักร์บริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ/สหรัฐอเมริกา/เวียดนาม/เช็ก/ฮังการี/ญี่ปุ่น/ลิกเตนสไตน์/โปแลนด์/สโลวัก/สโลเวเนีย ฯลฯ นั้นได้รับสิทธิพิเศษที่สามารถขอวีซ่าเมื่อมาถึงประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอจากต้นทาง และบางส่วนก็กลายมาเป็นพวกซำเหมาหรือไม่ก็เป็นมาเฟียตามเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและสุจริตชนคนไทยทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนประเทศที่คนไทยสามารถเดินทางไปโดยไม่ต้องขอวีซ่าจากต้นทางคือประเทศไทยเรามีเพียง อาร์เจนตินา/บราซิล/ชิลี/เกาหลีใต้/เปรู/เอกวาดอร์/ฮ่องกง/อินโดนีเซีย/ลาว/มาเก๊า/มองโกเลีย/มาเลเซีย/มัลดีฟส์/รัสเซีย/สิงคโปร์/แอฟริกาใต้/เวียดนาม/เซเซลส์/ตุรกี(ตั้งแต่ปี2555)/ฟิลิปปินส์/บาห์เรน/บรูไน/กัมพูชา ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นประเทศในอาเซียนด้วยกันเองอยู่แล้ว

แต่เมื่อหันไปดูประเทศต่างๆเหล่านี้เมื่อพีไทยเราจะเดินทางไปบ้างกว่าจะได้วีซ่านั้นแสนสาหัส ที่ขึ้นชื่อในความยากก็ คือ

สหรัฐอเมริกา - ยากไม่ยากก็ขนาดโน๊ตอุดมเอาไปทำเป็นทอล์คโชว์ล้อเลียนขายดิบขายดีจนผลิตแทบไม่ทัน

สเปน - จะยุ่งยากมากหากไปเหยียบแผ่นดินสเปนเป็นประเทศแรก แต่หากเป็นวีซ่าเชงเกนลงประเทศอื่นก่อนเข้าสเปนก็แล้วไป แต่หากไปเริ่มขอที่สถานทูตสเปนนั้นบอกได้อย่างเดียวว่ายากเย็นแสนเข็ญ และกว่าจะได้ก็ก่อนเครื่องบินออกแทบจะทุกที ที่เจ็บปวดก็คือให้มาแล้วบางทียังผิดๆถูกๆไม่ครอบคลุมระยะเวลาเดินทางตามตั๋วเครื่องบินที่ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตสเปนขอไปดูแล้วดูอีกเสียอีก ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่วเพราะเหตุแห่งความไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่ หากสถานทูตสเปนต้องการข้อมูลผมก็ยินดีให้ เพราะผมประสบด้วยตนเองมาสดๆร้อนๆ แต่โชคดีที่ได้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในลิสบอน โปรตุเกส ที่ผมและคณะรวม 10 คนต้องเดินทางไปประชุมต่อได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งซึ่งผมและคณะขอขอบคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้

ญี่ปุ่น - ดีหน่อยที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะให้วีซ่าท่องเที่ยวแก่คนไทยเมื่อไปถึงได้แล้ว แต่เดิมนั้นต้องไปเข้าคิวกันตีสามตีสี่ เข้าใจว่าคงเป็นด้วยต้องการเงินจากพี่ไทยเราให้ไปช็อปปิงแข่งกับเกาหลีที่คนไทยไปช็อปกันกระจายมาแล้ว ฯลฯ

เรื่องดังกล่าวข้างต้นนี้ถูกปล่อยปะละเลยมานานเพราะผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขไม่ได้รับความเดือดร้อนเช่นที่ว่านี้เพราะเป็นผู้ได้รับความสะดวกสะบายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการออกกฎออกระเบียบต่างๆที่จะใช้บังคับแก่ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยหรือผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับสิทธิพิเศษจนไม่ได้รู้ถึงความทุกข์ยากของพี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย

จริงอยู่เราคงไม่สามารถไปบังคับให้ต่างประเทศเขาผ่อนคลายหรือยกเว้นกฎระเบียบที่จะใช้กับคนไทยเราเพราะเป็นเอกสิทธื์ของแต่ละประเทศเขา แต่ที่เราจะทำได้ก็คือเราต้องให้ประชาชนคนไทยได้มีความรู้สึกถึงความเท่าเทียมและมีเกียรติมีศักดิ์ศรีกับนานาอารยประเทศทั้งหลาย

ฉะนั้น ผมจึงเรียกร้องและผมเชื่อว่าหลายๆคนที่ประสบกับความขมขื่นในการปฏิบัติดังกล่าวนี้คงเห็นด้วยกันกับผมว่า เมื่อประเทศอื่นปฏิบัติกับคนไทยเราเช่นใดเราก็ควรที่จะปฏิบัติต่อคนชาตินั้นเช่นเดียวกับเรา ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะหดหาย เพียงแต่เราจัดระบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยให้ดีเขาก็จะมาเอง อาจจะลำบากขึ้นบ้าง ก็ประเทศของเอ็งปฏิบัติกับคนไทยเราไม่ดีเองก่อนนี่หว่า

ผมไม่ใช่คนที่คลั่งชาติหรือชาตินิยมจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น แต่อยากเห็นการปฏิบัติที่ทัดเทียมกันเท่านั้นเอง พรรคการเมืองไหนมีนโยบายเช่นนี้ช่วยบอกมาที ผมจะเลือกพรรคการเมืองนั้นครับ

--------
 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น