ประชาไท | Prachatai3.info |
- ปืนใหญ่พญาตานีคืนถิ่น พระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองวางหน้ามัสยิดกรือเซะ
- การปฏิรูปมาตรการป้องกันการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของฟีฟ่า 2013
- เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรอินทรีย์ ดี แต่ทำไมไม่ทำ?
- กวีประชาไท: สารจากห้องขังปาตานี
- ไม่เคารพสิทธิ สันติภาพก็ไม่เกิด’ AI เรียกร้องไทย-BRNเห็นใจประชาชน
- 'หน้ากากกายฟอว์กส์' พรึบหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฮือไล่ ระบอบทักษิณ'
- รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์
ปืนใหญ่พญาตานีคืนถิ่น พระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองวางหน้ามัสยิดกรือเซะ Posted: 02 Jun 2013 10:28 AM PDT ชาวปัตตานีร่วมต้อนรับ ปืนใหญ่พญาตานีคืนถิ่น พระบรมราชานุญาตให้กรมศิลป์หล่อจำลองวางหน้ามัสยิดกรือเซะ หลังจากคนในพื้นที่ร้องขอกลับคืนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ควบคู่มัสยิดโบราณในประวัติศาสตร์ปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 2 มิถุนายน 2556 นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมประชาชนชาวปัตตานีจำวนมากได้ร่วมต้อนรับขบวนปืนใหญ่พญาตานี ที่เดินทางมาถึงบริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นมัสยิดโบราณ โดยเป็นปืนใหญ่พญาตานีจำลองขนาดเท่าของจริงที่ตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังจากสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากรได้ทำการหล่อเสร็จได้ส่งมอบปืนพญาตานีกลับมาติดตั้งยังแท่นฐานรองรับปืนที่ลานอเนกประสงค์ด้านหน้ามัสยิดกรือเซะ ส่วนบรรยากาศของการต้อนรับการเดินทางของปืนใหญ่พญาตานีในครั้งนี้ ได้มีการจัดริ้วขบวนรถโบราณ รถจี๊ป รถจักรยานยนต์บิ๊กไบด์ รถจักรยานยนต์โบราณ ร่วมขบวนแห่ด้วยท่ามกล่างประชาชนร่วมชมจำนวนมาก ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ต.ตันหยงลุโล๊ะ ระบุว่า ในปี 2546 ประชาชนชาวจังหวัดปัตตานีได้ขออนุเคราะห์ไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรผลักดันให้มีการนำปืนใหญ่พญาตานีกลับมาไว้ที่จังหวัดปัตตานีอีกครั้ง คณะกรรมาธิการจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตหล่อจำลองปืนพญาตานีขนาดเท่าจริง โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้หล่อจำลองได้ ทั้งนี้เนื่องจากปืนใหญ่พญาตานี มีฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประเภททรัพย์สินส่วนสาธารณะของแผ่นดินที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากระทรวงกลาโหม ต่อมาในปี 2553 จังหวัดปัตตานี โดนสำนักงานการท่องเที่ยวและการกีฬาจังหวัดปัตตานี ร่วมกับเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี ได้จัดทำโครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี (เพื่อบรรจุในแผนคำของบประมาณตามแผนพัฒนาปฏิบัติราชการจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2555) ทั้งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเปรียบเสมือน Landmark หรือ "สัญลักษณ์" ประจำจังหวัดปัตตานีแห่งใหม่ และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดปัตตานี โดยใช้อาคารอเนกประสงค์โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ และลานอเนกประสงค์ด้านหน้ามัสยิดกรือเซะ เป็นสถานที่ดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย อาคารศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ปืนใหญ่พญาตานี อาคารจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ OTOP โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอกอาคารศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่โดยรอบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
การปฏิรูปมาตรการป้องกันการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของฟีฟ่า 2013 Posted: 02 Jun 2013 10:12 AM PDT
การแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นเกมกีฬาอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยการแข่งขันมากมายหลายระดับและมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ อาทิเช่น นักกีฬาฟุตบอล ผู้ชมกีฬาฟุตบอล ผู้จัดการทีมฟุตบอลและเจ้าหน้าที่กำกับการแข่งขันกีฬาฟตุบอล ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีที่มาแตกต่างกันเหล่านี้นอกจากจะมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหรือหน้าที่ของตนในเกมกีฬาฟุตบอลที่แตกต่างกันแล้ว บุคคลเหล่านี้ยังมีที่มาจากความหลากหลาย (diversity) ทางด้านเชื้อชาติ สีผิว ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพในยุคปัจจุบันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนหรือก่อให้เกิดความหลากหลากทางด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมภายในสโมสรกีฬาฟุตบอลหรือการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ ที่มากขึ้น จากการเปิดโอกาสให้สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถรับโอนผู้เล่นหรือนักกีฬาฟุตบอล (transfer of players) ที่มีความสามารถกับศักยภาพเข้ามาสังกัดในทีมของตนภายใต้หลักเกณฑ์และวีธีการว่าด้วยการโอนผู้เล่นและกำหนดสถานะของผู้เล่น (Regulations on the Status and Transfer of Players) ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลหรือสมาพันธ์กีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ได้กำหนดเอาไว้ เพื่อให้การแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับนานาชาติมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับโอนหรือการให้โอนตัวผู้เล่นกีฬาฟุตบอลอันมีมาตรฐานเดียวกัน อนึ่ง สโมสรกีฬาฟุตบอลหลายแห่งได้พยายามเฟ้นหาตัวผู้ที่มีความสามารถด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล เพื่อจ้างให้มาปฏิบัติงานในสโมสรของตนภายใต้สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของในตำแหน่งต่างๆ กัน เช่น ผู้จัดการทีม ผู้ฝึกสอน นักกายภาพบำบัดและนักเศรษฐศาสตร์กีฬา เป็นต้น ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ที่หลากหลายภายใต้สัญญาจ้างระดับต่างๆ ของสโมสรกีฬาฟุตบอล อาจมีเชื้อชาติ สีผิว ภาษาและวัฒนธรรมอันมีที่มาต่างกันด้วย การรวบรวมผู้เล่นกับผู้เกี่ยวข้องกีฬาฟุตบอลที่มีความสามารถของสโมสรกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ จะสามารถส่งเสริมศักยภาพหรือประสิทธิภาพสำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและธุรกิจกีฬาฟุตบอลตามทิศทางที่สโมสรได้กำหนดก็ตาม แต่ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมของผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลที่แตกต่างกัน ย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั้งหรือข้อขัดแย้งระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอลที่มาจากสโมสรกีฬาฟุตบอลเดียวกันหรือต่างสโมสรกัน จนก่อให้เกิดปัญหาการเหยียดผิว (racism) ในเกมกีฬาฟุตบอลทั้งในระดับสมัครเล่นและในระดับอาชีพ ในปัจจุบันสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า (Fédération Internationale de Football Association - FIFA) ได้กำหนดประมวลวินัย (FIFA Disciplinary Code - FDC) ในส่วนสารบัญญัติ มาตรา 58 ว่าด้วยเรื่องการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล ที่กำหนดมาตรการที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่แสดงออกด้วยการกีดกันหรือแสดงพฤติกรรมอันเป็นการเหยียดผิวต่อสาธารณชนหรือต่อบุคคล โดยอาศัยเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว หรือชาติพันธุ์ ต้องได้รับโทษปรับ (fine) เป็นจำนวนเงินตามที่ประมวลวินัยมาตรานี้ได้กำหนดเอาไว้ และห้ามเข้าอัฒจรรย์ (stadium ban) ภายในระยะเวลาขั้นต่ำตามที่ประมวลดังกล่าวได้กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ หากผู้ชมกีฬาฟุตบอลคนใดได้แสดงป้ายอันมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวหรือแสดงออกซึ่งความดูแคลนในการแข่งขัน สมาคมกีฬาฟุตบอลหรือสหพันธ์กีฬาฟุตบอลที่จัดการแข่งขันหรือกำกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในขณะนั้น สามารถกำหนดโทษปรับแก่ผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ชมกีฬาฟุตบอลสังกัดสโมสรกีฬาฟุตบอลที่กระทำการดังกล่าวได้และมีอำนาจห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มีสังกัดดังกล่าวเข้าไปเชียร์การแข่งขันในรอบต่อไป แต่หากพิสูจน์ได้ว่าผู้ชมกีฬาฟุตบอลไม่ได้สังกัดสโมสรกีฬาฟุตบอลนั้นๆ สโมสรกีฬาฟุตบอลเจ้าบ้านมีอำนาจดำเนินการปรับหรือห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลผู้กระทำการดังกล่าวเข้ามาชมการแข่งขันในรอบต่อไปได้ แม้ว่าสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่าในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับกิจการกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ (international football governing body) จะมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ทางกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศเกี่ยวกับกรณีเหยียดผิวเพื่อวางบรรทัดฐานให้สมาคมกีฬาฟุตบอลหรือสหพันธ์กีฬาฟุตบอลปฏิบัติตาม ภายใต้หลักความเป็นอิสระในการกำกับดูแลกีฬา (legal autonomy for governance of sport) หรือหลัก lex sportiva ในทางตรงกันข้าม ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพระดับประเทศและระดับภูมิภาคหลายการแข่งขันได้ประสบกับปัญหาการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอล ตัวอย่างเช่น กรณีที่หลุยส์ ซัวเรซเหยียดผิวปาทริซ เอฟรา และกรณีจอห์น เทอร์รี่เหยียดผิวอันตน เฟอร์ดินาน ในปี 2011 เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง ในการประชุมเป็นทางการของฟีฟ่าครั้งที่ 63 ที่สาธารณรัฐเมาริตุส (Mauritius) ระหว่างวันที่ 30 ถึง 31 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ฟีฟ่าได้กำหนดวาระการประชุมที่สำคัญหลายประการเพื่อให้การแข่งกีฬาฟุตบอลในระดับสากลมีความเป็นธรรมภายใต้หลักธรรมาภิบาลกีฬา รวมไปถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ ด้วยเหตุนี้ การเลือกปฏิบัติหรือเหยียดผิวจึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาอภิปรายในการประชุมเป็นทางการในครั้งนี้ด้วย ฟีฟ่าได้จัดทำเอกสารที่สำคัญเกี่ยวกับความตั้งใจของฟีฟ่าในการต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวในวงการกีฬาฟุตบอล 2013 โดยเอกสารฉบับนี้มีเนื้อความสนับสนุนให้ฟีฟ่ากระทำการปฏิรูปกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการขจัดการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มีส่วนร่วมกับเกมกีฬาฟุตบอล เพราะปัญหาการเลือกปฏิบัติในวงการกีฬาฟุตบอลและการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลก็ถือเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาสังคมประการหนึ่งด้วย อนึ่ง แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาฟีฟ่าได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลมาหลายครั้งแล้ว เช่น การยอมรับหลักเกณฑ์อันเป็นแนวทางต่อต้านการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของฟีฟ่า (principles of the FIFA Resolution Against Racism) ในการประชุมเป็นทางการของฟีฟ่า ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ค.ศ. 2001 แต่ปัญหาของการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอลไม่ได้หมดไปจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในทุกระดับชั้นแต่ประการใด ฟีฟ่ามีความพยายามในการเรียกร้องให้สมาคมกีฬาฟุตบอลและสมาพันธ์กีฬาฟุตบอลที่จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ มีความผูกพัน (obligation) ในการปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของฟีฟ่าว่าด้วยการต่อต้านการเหยียดผิว รวมไปถึงความรับผิดของ (responsibility) ในการรณรงค์และกำจัดปัญหาการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลให้หมดไปในเกมกีฬาฟุตบอลที่ตนกำกับดูแลอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง ฟีฟ่าได้กำหนดแนวทางที่สำคัญสามประการในการต่อสู้กับปัญหาการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลสามประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก การให้การศึกษา (education) ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติให้องค์กรจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลได้จัดทำแผนต่อต้านการเหยียดผิวทุกรูปแบบในเกมหรือการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่สอง การป้องกัน (prevention) โดยข้อบังคับในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลทุกระดับชั้น ต้องกำหนดให้มีมาตรการเฉพาะในการต่อต้านการกีดกันหรือการเหยียดผิว โดยผู้จัดการแข่งขันต้องจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ต่อต้านการกีดกันหรือการเหยียดผิวในสนามกีฬาฟุตบอลเอาไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อตรวจสอบหรือระบุการกระทำอันถือเป็นการกีดกันหรือการเหยียดผิวในสนามกีฬาฟุตบอลหรืออัฒจรรย์ฟุตบอล โดยการป้องกันดังกล่าวย่อมถือเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรรมการผู้ตัดสินและเจ้าหน้าที่วินัยในสนามฟุตบอลให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกกับอำนวยความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่ในการแข่งขันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ตำรวจทางการยุติธรรม) ให้สามารถแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนข้อเท็จจริงในสมาคมกีฬาฟุตบอลและการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ง่ายขึ้น ประการที่สาม การลงโทษ (sanction) ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในประมวลวินัยกีฬาฟุตบอลต้องผูกพันสมาคมหรือสมาพันธ์กีฬาฟุตบอลในทุกระดับชั้น โดยองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการที่มีอำนาจวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเหยียดผิว (judicial bodies) อาจนำเอาหลักเกณฑ์ในข้อบังคับดังกล่าวหรือดุลพินิจของคณะกรรมการวินัยของสมาคมกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ มาพิจารณาควบคู่กับกฎหมายในเขตอำนาจศาลของตนได้ อย่างไรก็ดี ในอนาคตอาจมีการปฏิรูปมาตรการป้องกันการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลเพิ่มเติมอีกสองกรณีด้วยกัน ได้แก่ กรณีการกระทำอันเป็นลหุโทษ (minor offence) ที่เกี่ยวกับการความผิดฐานเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล ที่อาจจะกำหนดเพียงโทษปรับหรือตักเตือนเล็กน้อยกับกรณีการกระทำความผิดซ้ำ (reoffenders) และการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง (serious incidents) อาจกำหนดบทลงโทษด้วยการตัดแต้มการแข่งขัน การไล่ออกจากการแข่งขันหรือการลดลำดับในตารางการแข่งขัน ความตั้งใจของฟีฟ่าและแนวทางในการปฏิรูปข้อบังคับของฟีฟ่าในอนาคต จะส่งผลให้เกิดการป้องกันการเหยียดผิวกับการกีดกันจากเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว หรือชาติพันธุ์ มากน้อยเพียงใดในอนาคต ประเด็นนี้จึงถือเป็นความท้าทายทางด้านกฎหมายกีฬาและธรรมาภิบาลกีฬาฟุตบอลที่รอการพิสูจน์ว่าการปฏิรูปข้อบังคับของฟีฟ่าและบังคับใช้ข้อบังคับที่ได้รับการปฏิรูปจะมีประสิทธิภาพมากสักเพียงใด โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติม: [1] ประมวลวินัย (FIFA Disciplinary Code - FDC) ใน http://www.fifa.com/mm/document/affederation/administration/fifa_dc_en_34118.pdf [2] เอกสารความตั้งใจของฟีฟ่าในการต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวในวงการกีฬาฟุตบอล 2013 (Resolution on the fight against racism and discrimination 2013) ใน http://www.fifa.com/mm/document/afsocial/anti-racism/02/08/56/92/fifa-paper-against-racism-en-def_neutral.pdf
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรอินทรีย์ ดี แต่ทำไมไม่ทำ? Posted: 02 Jun 2013 08:56 AM PDT
ในบทความนี้ ผู้เขียนตั้งคำถามว่า---ทำไมเกษตรกรจำนวนมากจึงไม่ทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็พูดว่า เกษตรอินทรีย์ดี ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ดีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม? เรามักได้ยินคำสรรเสริญความดีงามของเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรามักได้ยินเสียงประณามเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมี บ่อยครั้งที่เสียงเรียกร้องให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ มักจะไม่ใส่ใจเหตุผลของเกษตรกรที่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นสังคมจึงไม่เข้าใจว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ใครๆ ก็ว่าดี ทำไมจึงไม่สามารถขยายผล เกษตรกรไม่ทำเพิ่ม พื้นที่ผลิตไม่เพิ่ม หรือเกษตรกรทำแล้ว เลิกไปในที่สุด? มีคำถามที่ท้าทาย แต่เราแทบไม่เคยถาม เช่น จริงหรือไม่ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์ เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมี จริงหรือที่เกษตรกรไม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพ จริงหรือที่เกษตรกรขาดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม จริงหรือที่พวกเขาคิดถึงแต่เงินเพียงอย่างเดียว? ภาพสร้างเกี่ยวกับ "เกษตรอินทรีย์" เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการชื่อดัง James C. Scott ได้อธิบายการสร้างความทันสมัยในภาคเกษตรกรรมในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับองคาพยพ เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านพร้อมกัน เช่น การความหมายของเวลา เปลี่ยนเป้าหมายของการใช้พื้นที่ทางกายภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าทางจริยธรรมให้แก่การทำงานขึ้นมาใหม่ โดยนัยดังกล่าว การสร้างความทันสมัยจึงเป็นโครงการที่มุ่งเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เพื่อสร้างอรรถประโยชน์ และผลิตผลสูงสุด การสร้างความทันสมัยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อจัดจำแนกประเภทให้แก่สิ่งต่างๆ และเน้นการสร้างความเหมือนกันของธรรมชาติ เพื่อให้ง่ายต่อการแจงนับและควบคุม เช่น การแยกประเภท "พืชที่มีมูลค่า" กับ "พืชที่ไม่มีมูลค่า" และการแจงนับมูลค่าของพืชที่มีมูลค่าเท่านั้น เพื่อให้สามารถคำนวณผลกำไรที่เกิดจากการดัดแปลงธรรมชาติ[i] จากข้อเสนอของ Scott หากพิจารณาการจำแนกเกษตรเคมี/เกษตรอินทรีย์ จะพบว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ถูกสร้างขึ้นผ่านการจำแนกประเภทเกษตรอินทรีย์/เกษตรเคมี และการสร้างความหมายในเชิงขั้วตรงข้าม ในขณะที่เกษตรอินทรีย์ถูกสร้างความเข้าใจว่าเป็นระบบเกษตรกรรมในอุดมคติ เป็นระบบเกษตรปลอดภัย ช่วยให้เกษตรกรพึ่งตนเอง ฯลฯ เกษตรเคมีถูกสร้างความหมายเท่ากับระบบเกษตรที่เลวร้าย เป็นอันตราย เป็นสาเหตุของความล่มสลายของเศรษฐกิจครัวเรือนชาวนา ฯลฯ การจำแนกความแตกต่างระหว่างระบบเกษตรเคมีและเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว นำไปสู่การให้คุณค่าและมูลค่าให้แก่ระบบเกษตรอินทรีย์ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ คือเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีถูกตีตราว่าเป็น "คนที่ขาดความรู้" "ขาดจิตสำนึก" "ไม่รักธรรมชาติ" "ไม่รับผิดชอบต่อสังคม" เป็น "ฆาตกร" ที่ฆ่าผู้บริโภคให้ตายผ่อน เพียงเพราะพวกเขาไม่ทำเกษตรกรรมตามอุดมคติที่สังคมคาดหวัง กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… การรณรงค์ผ่านสื่อจำนวนมากสร้างความเชื่อว่า เกษตรกรไทยเสพติดปุ๋ยเคมี มีพฤติกรรมเสพติดยา (ฆ่าแมลง) ใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ มีความโลภ อยากรวยเร็ว ชอบทำนาแบบมักง่าย เน้นทำเกษตรแบบรวดเร็ว ปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตระยะสั้น เพราะอยากได้ผลผลิตมาก จึงเร่งปุ๋ยเร่งยา โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับคนหรือธรรมชาติ ฯลฯ ทำให้ข้อเรียกร้องต่อการเปลี่ยนแปลง พุ่งเป้าไปที่ตัวเกษตรกร ให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำเกษตร โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่บีบบังคับให้เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตรต่อไป ทั้งๆ ที่การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นผลของการส่งเสริมระบบเกษตรสมัยใหม่ที่ทำกันมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษในสังคมไทย และเป็นกระบวนการที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างสลับซับซ้อน แต่การวิเคราะห์ผลกระทบของเกษตรแผนใหม่ กลับลดทอนความซับซ้อนของปรากฏการณ์ โดยเลือกที่จะหยิบยกปัจจัยบางด้านมาอธิบาย เช่น การกล่าวว่าการปลูกข้าวพันธุ์ผสม ซึ่งตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อม และทำให้ผลผลิตลดลงในระยะยาว ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สิน และการล่มสลายของครัวเรือนชาวนา ซึ่งแม้จะมีส่วนจริง แต่ก็เป็นเพียงเงื่อนไขบางประการของการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรม ในขณะที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่มีอิทธิพลไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น พลังผลักดันของระบบตลาด ที่ทำให้เกิดการปลูกพืชพันธุ์สมัยใหม่อย่างแพร่หลาย เพื่อส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่สามารถจัดการได้ง่ายด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่กลับใช้แร่ธาตุต่างๆ ในดินจนเสียสมดุล ศักยภาพในการใช้ปุ๋ยเคมีในหมู่เกษตรกรที่มีฐานะแตกต่างกัน ตลอดจนการพัฒนาระบบชลประทานที่ไม่มีความเท่าเทียมกันในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตแตกต่างกัน ฯลฯ เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ถูกนำมาพิจารณาอย่างรอบด้าน ว่าเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิวัติเขียวในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า การตัดสินใจของเกษตรกรในการทำเกษตรกรรม เป็นผลมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศอย่างสลับซับซ้อน ครั้งหนึ่งผู้เขียนถามชาวนาอีสานว่า ทำไมไม่ปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิม ทำไมจึงเปลี่ยนมาปลูกข้าวพันธ์ใหม่ ชาวนาตอบว่า เพราะข้าวพันธุ์ดั้งเดิมแข็งหลายชนิดผลผลิตไม่ดี รสชาติไม่อร่อย และขายไม่ได้ราคา ในขณะที่ข้าวพันธุ์ใหม่หลายชนิดให้ผลผลิตสูง เมล็ดข้าวนิ่มเมื่อหุงสุกแล้ว รสชาติดีกว่า จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดี แม้ชาวนาในจังหวัดอุบลราชธานีจะพูดถึงข้อดีของข้าวพันธุ์ใหม่ กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนกลับพบว่าชาวนาจำนวนมากยังคงปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ แม้ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อส่งออกที่สำคัญ ชาวนาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงใช้ที่ดินส่วนหนึ่งปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน เพื่อใช้ทำแป้งสำหรับทำขนม เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเชิงจารีตประเพณี ฯลฯ การตัดสินใจเลือกพันธุ์ข้าวของชาวนา ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า การตัดสินใจของชาวนาในการทำเกษตรมีเหตุผลสลับซับซ้อน แต่คนภายนอกอาจละเลยการนำมุมมองของเกษตรกรมาใช้ในการวิเคราะห์ น่าประหลาดใจว่า เสียงเรียกร้องให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร พากันเหล่านั้นหลงลืมไปอย่างไม่น่าเชื่อว่า เมื่อ 50 ปีเศษนี้เอง ชาวนาไทยไม่รู้จักสารเคมีทางการเกษตร แต่เป็นเพราะหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนได้พากันส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ แนะนำให้ชาวนารู้จักปุ๋ยเคมีและใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลายตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกรในปัจจุบัน เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมระบบเกษตรแผนใหม่ ซึ่งมีกลุ่มคนหลายฝ่ายร่วมกันสร้างและควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ก่อนการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 หรือก่อนปี 2500 นักวิชาการทางการเกษตรบันทึกว่า เป็นเรื่องยากลำบากที่ทำให้ชาวนาไทยยอมรับระบบเกษตรสมัยใหม่ เพราะชาวนาไทยเคยชินกับการทำนาแบบธรรมชาติ ไม่ยอมใช้ปัจจัยนำเข้า เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เพื่อเพิ่มผลผลิต ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศระบุว่า ปัญหาการส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ เกิดจากการไม่สามารถโน้มน้าวใจชาวนาไทยให้ลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตอื่นๆ มาใส่นา ทีมนักวิจัยจากต่างประเทศถึงกับบินมาทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมชาวนาไทยจึงไม่ยอมใช้ปุ๋ยเคมี แม้จะมีการแจกให้ใช้ฟรีๆ หรือขายในราคาถูก ก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรในเวลานั้น ผลการวิจัยพบว่า ชาวนาภาคกลางมีแนวโน้มยอมรับปุ๋ยเคมี มากกว่าชาวนาภูมิภาคอื่นๆ เพราะชาวนาภาคกลางเห็นว่าการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคกลางสามารถสร้างผลผลิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวนาภาคกลางเข้าถึงระบบชลประทานได้ดีกว่า ส่วนชาวนาภาคอีสานกลับมองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม แต่ผลผลิตกลับไม่เพิ่มมากมาย ชาวนาอีสานขึ้นชื่อว่าไม่ยอมรับปุ๋ยเคมี เพราะเห็นว่าการซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่นา ได้ข้าวไม่คุ้มค่าราคาปุ๋ย ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของทีมผู้เชี่ยวชาญที่พบว่า ปริมาณเฉลี่ยของปุ๋ยเคมีที่ใช้ไปในภาคอีสาน สร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นแค่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนนี้ ไม่เพียงพอที่จะชักจูงใจให้ชาวนามองเห็นผลกำไรจากการซื้อปุ๋ยเคมี จึงไม่สามารถกระตุ้นชาวนาที่ทำนาเพียงแค่พอมีข้าวพอกินให้หันมาปลูกข้าวเพื่อขาย ส่วนกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อขายอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มยอมรับการใช้ปุ๋ยเคมีมากกว่า นักวิจัยจึงมีข้อสรุปว่า หากการใช้ปุ๋ยเคมีไม่สร้างผลผลิตเพิ่มชัดเจน ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า ชาวนาก็ไม่ยอมรับปุ๋ยเคมีมากขึ้น นอกจากนั้น นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีของชาวนาไทยให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ชาวนาไทยใช้เหตุผลในการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่ปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ทัศนคติ คุณสมบัติส่วนบุคคล และมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจใช้สารเคมีทางการเกษตรของชาวนาไทย ถ้าผลตอบแทนจากการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรยังไม่ปรากฏชัดเจน ชาวนาจะไม่ยอมลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่นา จากผลการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หากต้องการให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการใช้ปุ๋ยเคมีต้องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นักส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่ต้องทำให้ชาวนาประจักษ์ด้วยตนเองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งหมายความว่าราคาปุ๋ยเคมีต้องไม่สูงเกินไป และพันธุ์ข้าวต้องตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี รวมถึงมีการกำหนดนโยบายจัดการน้ำที่เหมาะสมด้วย [ii] น่าสนใจว่า เหตุใดข้อเท็จจริงที่สำคัญเช่นนี้ กลับถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการพูดถึงปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรณรงค์ผ่านสื่อโดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี กลับไม่เคยพูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้าม เรากลับได้ยินการตอกย้ำมายาคติว่า เกษตรกรไทยชื่นชอบและเสพติดสารเคมีทางการเกษตรแบบถอนตัวไม่ขึ้น น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่มีการประณามเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีทางการเกษตร เรากลับได้ยินการยกย่องบิดาแห่งเกษตรสมัยใหม่ ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรม "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง" ของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อย่างสม่ำเสมอ หม่อมเจ้าสิทธิพรเป็นชนชั้นสูงที่สนใจการเกษตรสมัยใหม่ และเป็นผู้ผลักดันเกษตรสมัยใหม่ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ผ่านการทำหนังสือพิมพ์กสิกร และการทำฟาร์ม "บางเบิด" ของพระองค์ท่านที่จังหวัดประขวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นแปลงศึกษาดูงาน และเป็นตัวอย่างของการจัดการฟาร์มแบบเกษตรสมัยใหม่[iii] ความย้อนแย้งเห็นได้จากการที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรณรงค์การผลิตอาหารปลอดภัยยกย่องบิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ แต่กลับมีทัศนคติเชิงลบต่อชาวนาที่เดินตามรอยบิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? สิ่งที่เราควรให้ความสนใจมากขึ้น คือการพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาภาคเกษตรจากมุมมองของเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง เช่น เหตุผลเรื่องการใช้สารเคมีทางการเกษตร การรับรู้ความความเสี่ยงของสารเคมีทางการเกษตรจากมุมมองของเกษตรกร และเงื่อนไขของการเลือกใช้สารเคมีทางการเกษตรในพืชแต่ละประเภทที่เกษตรกรปลูก หรือในแต่ละช่วงเวลาของการผลิต ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในชนบท ซึ่งมุมมองของเกษตรกรอาจแตกต่างจากความเข้าใจของคนนอก แต่ก็ถือว่าสำคัญต่อการทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ที่บีบบังคับเกษตรกรอยู่ในปัจจุบัน ทว่าความเป็นจริงกลับหาได้เป็นเช่นนั้น ในขณะที่สังคมตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตร และผู้บริโภคชนชั้นกลางตื่นตัวเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น ความตื่นตัวดังกล่าวในหลายกรณี กลับกลายเป็นแรงกดดันสำหรับเกษตรกรที่ยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่วนเกษตรกรที่ตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรและหันมาทำเกษตรอินทรีย์ พวกเขากลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ และไม่ได้รับเงินชดเชย สำหรับต้นทุนที่ต้องจ่ายไป หรือผลผลิตที่ลดลงในช่วงของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ เท่ากับว่าเกษตรกรต้องแบกรับภาระความคาดหวังของสังคมโดยลำพัง ความทุกข์ที่ไม่มีใครฟัง ข้อมูลจากการจัดประชุมกลุ่มเกษตรกรในหลายโอกาสที่ผู้เขียนเข้าร่วมพบว่า เกษตรกรที่มีฐานะยากจนระบุว่าพวกเขาไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งๆ ที่มีความสนใจ เพราะมีอุปสรรคมากมาย เช่น การมีที่ดินน้อย ทำนาได้ผลผลิตน้อย ขายข้าวได้เงินไม่พอกิน ทำให้ครัวเรือนชาวนาเห็นว่าการทำงานรับจ้างมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของครัวเรือน ด้วยเหตุผลดังกล่าว การรีบทำนาให้เสร็จ เพื่อเอาเวลาไปทำงานรับจ้าง จึงเป็นกลยุทธ์การดำรงชีพที่สำคัญสำหรับครัวเรือนชาวนาในยุคของที่สังคมชนบทถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทุนนิยม และชนบทพึ่งพิงรายได้จากภาคเมืองมากขึ้น ดังนั้นในมุมมองของชาวนายากจนจำนวนไม่น้อยจึงเห็นว่า การทำนาหว่าน และใส่ปุ๋ยเคมี สอดคล้องกับเงื่อนไขการดำรงชีพที่มีข้อจำกัดมากกว่าการทำนาอินทรีย์ นอกจากนั้น เงื่อนไขด้านแรงงานก็เป็นข้อจำกัดของชาวนาในการทำนาอินทรีย์ด้วย ชาวนาระบุว่า พวกเขาไม่มีแรงงานในครัวเรือนเพียงพอในการทำนา และไม่มีเวลาในการดูแลไร่นามากนัก ชาวนาบางคนให้ข้อมูลว่า ปัญหาค่าแรงสูง ทำให้ชาวนาไม่มีเงินที่จะจ้างแรงงานในการผลิต แต่การทำนาอินทรีย์ต้องใช้แรงงานสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำปุ๋ยหมัก การปักดำ การกำจัดวัชพืช และการเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น บางโครงการเรียกร้องให้เกษตรกรนั่งคัดสิ่งเจือปนและพันธุ์ข้าวปนที่ติดมาด้วยมือก็มี ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานจึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของครัวเรือนชาวนาที่ต้องการทำนาอินทรีย์ ยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดปัญหาโรคร้อน ความแห้งแล้งยาวนา ฝนทิ้งช่วง น้ำไม่เพียงพอทำนา ผลผลิตไม่ดี หญ้าและวัชพืชระบาด แย่งอาหารจากต้นข้าว การทำนาอินทรีย์ยิ่งต้องการแรงงานในการดูแลไร่นามาก และเป็นการใช้แรงงานในการจัดการไร่นาต่อเนื่องตลอดทั้งปี เงื่อนไขนี้กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับครัวเรือนชาวนาที่ยากจนและมีแรงงานในการทำนาไม่เพียงพอ ชาวนาบางคนระบุว่า การระบาดของแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตเสียหาย แต่ชาวนาอินทรีย์ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงต้องยอมรับความสูญเสีย ส่วนการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน แม้จะช่วยป้องกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด เพราะชาวนาทำการเกษตรในระบบเปิด จึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และมีความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรูพืชจากแปลงเกษตรข้างเคียง เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างจากราคาข้าวเคมีมากนัก การทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง จึงทำให้ชาวนาไม่มีแรงจูงใจที่จะทำนาอินทรีย์ นอกจากนั้น ชาวนาบางคนเห็นว่าการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านๆ มา เป็นการทำตามนโยบาย เมื่อหมดโครงการ หรืองบประมาณ ก็หยุดการส่งเสริม การขาดความจริงจังต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ขาดความเชื่อมั่น และเมื่อมีปัญหาในการผลิต ก็ขาดผู้ให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหา ผู้เขียนตระหนักว่า เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ในระบบที่แตกต่าง ย่อมมีเงื่อนไขการผลิตแตกต่างกัน มีรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบการผลิตแตกต่างกัน เกษตรกรย่อมมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน และเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิตหรือไม่ มีทุนเพียงพอหรือไม่ มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตหรือไม่ เกษตรกรถูกควบคุมกระบวนการผลิตอย่างไร มีตลาดรับซื้อผลผลิตหรือไม่ ตลาดรับซื้อผลผลิตราคาเท่าไร รวมถึงมีเงื่อนไขการหักเงินรายได้ ในกรณีที่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ ประเด็นที่ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังมากขึ้น คือเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใด เนื่องจากผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะโดยการส่งเสริมของบริษัทธุรกิจการเกษตร หรือองค์กรพัฒนาเอกชน มักเป็นการผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญามีผลดีและผลเสียอย่างไรยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ผลิต พื้นที่แหล่งผลิต เงื่อนไขการผลิต เงื่อนไขการรับซื้อ แต่การศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรพันธะสัญญาในระบบเกษตรอินทรีย์ยังมีไม่มากพอ ในขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญากับธุรกิจเอกชน มักจะมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการสนับสนุนในด้านความรู้หรือเทคโนโลยีการผลิต งบประมาณ และปัจจัยการผลิตค่อนข้างดี มีตลาดรับซื้อค่อนข้างแน่นอน ราคารับซื้อผลผลิตค่อนข้างแน่นอน แต่ระบบนี้มีการควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด และมีการบังคับใช้แรงงานอย่างเข้มข้น รวมถึงมีเงื่อนไขการหักเปอร์เซ็นต์เงินรายได้ หรืออาจปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ทำให้เกษตรกรที่ผลิตภายใต้มีความกดดันและมีความเสี่ยงสูง สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน เป็นระบบการผลิตที่มีการสนับสนุนด้านความรู้หรือเทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างดี แต่การสนับสนุนเงินทุนและปัจจัยการผลิตยังจำกัด และมักจะไม่มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และขาดการส่งเสริมด้านการตลาด ทำให้การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ทำแบบไม่ครบวงจร เกษตรกรขาดความเชื่อมั่นว่าจะขายผลผลิตได้กำไร อย่างไรก็ดี ในระยะหลังการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยองค์กรพัฒนาเอกชนบางองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบตลาดมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า รวมถึงมีการพัฒนานวตกรรมใหม่ ที่เชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เช่น ระบบ Community Support Agriculture (CSA) ซึ่งมีการทำข้อตกลงว่า ผู้บริโภคและผู้ผลิตคือหุ้นส่วนผู้สนับสนุนความอยู่รอดของกันและกัน โดยผู้บริโภคต้องจ่ายเงินก่อนล่วงหน้า เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการผลิต และยอมซื้อผลผลิตในราคาสูงกว่าปกติ เพื่อช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ แลกเปลี่ยนกับการที่เกษตรกรจะผลิตอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าสำหรับการบริโภค ชีวิตไม่เป็นดังเช่นในนิทาน จะเห็นได้ว่า เกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมี อาจไม่ประสบปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่างของชาวนาอินทรีย์ในภาคอีสานบางคน เพื่อสะท้อนภาพชีวิตชาวนาที่กำลังประสบปัญหาอยู่จริง และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม และการพยายามทำความเข้าใจถึงเงื่อนไข ข้อจำกัด ปัญหาและแรงกดดันของชาวนาอินทรีย์ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับภาพความเข้าใจเชิงอุดมคติที่หลายคนคุ้นชิน กรณีแรก: นางสมสุข วังงาม (นามสมมติ) นางสมสุข วังงาม เป็นชาวนายากจน จากจังหวัดอุบลราชธานี เธอมีฐานะยากจน จัดอยู่ในกลุ่มคนชายขอบ เพราะเธอมีที่นาเพียงแค่ 10 ไร่ และมีรายได้ต่ำมาก สามีของเธอเสียชีวิตไปตั้งแต่เธอคลอดลูกคนที่สาม นางสมสุขไม่มีเงินซื้อรถไถและเครื่องจักรช่วยทำนา ดังนั้นเธอจึงใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัว ร่วมกับแรงควาย เพื่อไถนา ยิ่งไปกว่านั้น นางสมสุขยังมีฐานะเป็นแม่ม่าย เธอมีภาระเลี้ยงดูลูกถึง 3 คน เมื่อลูกๆ เติบโตขึ้นสู่วัยแรงงาน ลูกสาวสองคนที่อยู่ในวัยรุ่นได้อพยพไปทำงานต่างถิ่น เหลือลูกชายเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นแรงงานช่วยนางสมสุขทำนา ครอบครัวนางสมสุขใช้แรงงานของครอบครัวทำนา เพราะไม่มีเงินจ้างแรงงานมาช่วยทำนาเหมือนครัวเรือนอื่นๆ นางสมสุขไม่มีเวลาไปทำงานรับจ้าง เธอจึงไม่มีรายได้จากทางอื่น เนื่องจากนางสมสุขมีที่ดินน้อย เธอได้ข้าวแค่พอกิน เหลือขายเพียงเล็กน้อย นางสมสุขได้เงินจากการขายข้าวเพียงปีละ 4,000-5,000 บาท เท่านั้น แต่รายได้ก้อนนี้ก็ต้องใช้ในการใช้หนี้สิน และลงทุนทำนาในปีต่อไป ซึ่งหมายความว่าเธอแทบไม่มีกำไรจากการทำนาเลย นางสมสุขก็เหมือนเพื่อนบ้านของเธอที่ยังคงทำนาเคมี เธอเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หลายหมื่นบาท นอกจากนี้เธอยังเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านและอื่นๆ จำนวนไม่มากนัก หนี้สินเหล่านี้เกิดจากการกู้เงินมาลงทุนทำนาในอดีต ใช้สร้างบ้าน และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พูดตามความจริงแล้ว ความอยู่รอดของครอบครัวนางสมสุขไม่ได้มาจากการขายข้าวอินทรีย์ แต่มาจากเงินที่ได้จากการทำงานรับจ้างของลูกๆ ทั้งสามคน จำนวนเงินส่งกลับของลูกสาวสองคนที่ออกไปทำงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมกรุงเทพ นับเป็นรายได้หลักของครอบครัว ส่วนลูกชายที่ช่วยนางสมสุขทำนาก็อพยพไปทำงานในโรงงานหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว นางสมสุข เป็นชาวนารุ่นแรกที่สมัครเข้าร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์โดยองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง เธอเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์จะทำให้ทั้งชาวนาและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี และทำให้ดินฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ผู้เขียนตระหนักว่า นางสมสุขมีความศรัทธาในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมาก เห็นได้จากการที่เธอทำนาอินทรีย์มานานกว่า 7 ปี เธอเลี้ยงวัวควายเพื่อเอามูลสัตว์มาทำปุ๋ยคอก เธอทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง และเธอทำหมักปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวนาเกษตรอินทรีย์บางคนไม่ทำ อย่างไรก็ดี เพียง 2-3 ปีหลังจากปรับเปลี่ยนแปลงนามาเป็นเกษตรอินทรีย์ นางสมสุขก็ถูกให้ออกจากโครงการ ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงว่า เธอแอบใส่ปุ๋ยเคมีในนา เมื่อผู้เขียนพบเธอครั้งแรกในงานประเพณีของหมู่บ้าน นางสมสุขยอมรับว่า เธอถูกให้ออกจากโครงการจริง เธอไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ในครั้งแรกที่เราพบกัน แต่เมื่อผู้เขียนฉุกคิดว่า แม้จะออกจากโครงการมาหลายปีแล้ว เหตุใดนางสมสุขจึงยังคงทำนาอินทรีย์มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนสนใจใคร่รู้เหตุผลที่ทำให้เธอถูกให้ออกจากโครงการ เมื่อเราสานสัมพันธ์จนสนิทสนมคุ้นเคยกัน วันหนึ่งนางสมสุขก็เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เธอถูกให้ออกจากโครงการฯ เพราะลูกสาวของเธอที่ทำงานในโรงงานที่กรุงเทพใส่ปุ๋ยเคมีลงในแปลงนาอินทรีย์ของเธอ เมื่อผู้เขียนถามว่า ทำไมลูกสาวของเธอจึงทำเช่นนั้น นางสมสุขเล่าว่า: "วันนั้นฉันกลับมาจากถอนกล้า หลังจากทำงานกลางแดดร้อนมาทั้งวัน ฉันเหนื่อยและหิวมาก ฉันเดินเข้าไปในครัว แล้วก็รู้สึกหน้ามืด และล้มลงสลบไปบนพื้นครัว น้องสาวของฉันที่อยู่บ้านใกล้กันมาเห็นเข้า จึงโทรศัพท์ตามลูกสาวของฉันที่ทำงานอยู่กรุงเทพ เมื่อลูกสาวของฉันกลับมา เธอโกรธมากที่ฉันทนทรมานทำนาอินทรีย์ เธอไม่พอใจที่การทำนาอินทรีย์ทำให้ฉันต้องเหนื่อยมาก เธอจึงออกไปซื้อปุ๋ยเคมีจากร้านค้าในหมู่บ้าน แล้วกลับเอามาหว่านใส่แปลงนา เพื่อแกล้งให้ฉันถูกไล่ออก เมื่อผู้ตรวจแปลงนามาเห็นเข้า ฉันก็ถูกไล่ออก สมใจลูกสาวของฉัน" คำถามผุดขึ้นในใจของผู้เขียน---ทำไมลูกสาวนางสมสุขจึงอยากให้แม่ของเธอเลิกทำนาอินทรีย์? นางสมสุขเล่าว่า ลูกสาวของเธอมองว่า การทำนาอินทรีย์ทำให้เธอต้องทำงานหนัก แต่กลับให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า แต่เมื่อนางสมสุขยืนยันว่าจะทำนาอินทรีย์ต่อไป ทั้งที่ข้าวอินทรีย์ที่ขายแต่ละปีได้เงินไม่พอเลี้ยงชีพ ลูกสาวของเธอก็ไม่อาจขัดขวางความต้องการของแม่ ปัจจุบันนางสมสุขจึงยังคงทำนาอินทรีย์อยู่เรื่อยมา การที่นางสมสุขแน่วแน่ในการทำนาอินทรีย์ ทำให้เพื่อนบ้านเรียกเธออย่างชื่นชมแกมล้อเลียนว่า "ชาวนาอินทรีย์ตัวจริง แต่ไม่มีใบปริญญา" นางสมสุขนับเป็นภาพสะท้อนของชาวนาที่มีความมุ่งมั่นศรัทธาต่อเกษตรอินทรีย์ แต่เงื่อนไขทางสังคม และแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ทำให้เธอไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ ดังนั้นผลผลิตข้าวที่เธอปลูก จึงไม่สามารถขายในราคาข้าวอินทรีย์ แม้ว่าต่อมาเธอจะสมัครเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ภายใต้การส่งเสริมขององค์กรพัฒนาเอกชนอีกแห่งหนึ่ง แต่รายได้จากการขายข้าวก็ไม่ได้ทำให้เธออยู่รอดได้ เพราะเธอต้องกู้เงินโครงการมาปรับที่นา และปลูกข้าวเหลือผลผลิตขายไม่มาก และยังถูกกดราคาข้าวต่ำมากด้วย ชาวนารายย่อย มีที่ดินน้อย และมีฐานะยากจน อย่างเช่นนางสมสุข เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง เพราะชาวนารายย่อยมักจะปลูกพืชคู่ขนาน เช่น การทำนาหลายระบบ หรือทำนาเคมีคู่ขนานกับทำนาอินทรีย์ และชาวนารายย่อยจำนวนไม่น้อยมักจะเช่านาคนอื่นทำกินด้วย ที่ชาวนารายย่อยทำการผลิตพืชคู่ขนาน ก็ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะการทำนาหลายแปลง ช่วยกระจายความเสี่ยง และช่วยเพิ่มแหล่งรายได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชคู่ขนานกลับทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกตัดสินว่าทำผิดกฎการทำนาอินทรีย์และถูกให้ออกจากโครงการฯ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีกฎว่าชาวนาต้องทำเกษตรอินทรีย์ในทุกแปลงเกษตรที่ตนเป็นผู้จัดการดูแล นั่นเท่ากับว่าชาวนาถูกบีบให้เลิกทำการผลิตหลายระบบ เพื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่ชาวนารายย่อยกลับไม่มีความมั่นใจว่า การทำนาอินทรีย์ในที่ดินขนาดเล็ก เพียงอย่างเดียว จะทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นการคาดหวังให้ชาวนายากจนพึ่งตนเองได้จากการทำนาอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยเจตนาดี แต่กลับทำให้ชาวนายากจนมีความเปราะบางมากขึ้น และมีทางเลือกในการดำรงชีวิตที่แคบลง[iv] กรณีที่สอง: นายคำ พานทอง (นามสมมติ) นายคำ พานทอง ชาวนาฐานะปานกลาง จากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยทำนาอินทรีย์นานถึง 10 ปี ที่นาของเขาได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเป็นเกษตรอินทรีย์มานานกว่า 7 ปี แต่ในปีที่ฉันพบเขา ไม่นานเขาก็ลาออกจากโครงการ นายคำเล่าว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์มีปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ค่าแรงงานรับจ้างเพิ่ม แต่กลับไม่มีตลาดอินทรีย์รับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ถูกกดราคาข้าวจากผู้รับซื้อที่ผูกขาด เท่าที่ฉันได้พบและรู้จากปากคำของเพื่อนบ้าน นายคำเป็นชาวนาที่ขยันมาก เห็นได้จากการทำนาหลายแปลง ทั้งยังไปทำงานรับจ้างก่อสร้างนอกฤดูทำนาอีกด้วย ยามว่างเขายังทำโรงสีข้าวขนาดเล็กในหมู่บ้านด้วย แต่นายคำบอกว่า การที่ขายข้าวอินทรีย์ได้ราคาไม่แตกต่างจากข้าวเคมีมากนัก แต่กลับมีการหักเงินสะสมจากราคาขายข้าว ถึงกิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อสมทบเข้ากลุ่มผู้ผลิตฯ แม้โครงการจะบอกว่า เงินหักสะสมดังกล่าวเป็นเงินออมเพื่อช่วยเหลือชาวนา แต่ในมุมมองของชาวนาเช่นนายคำ การหักเงินดังกล่าว ทำให้ชาวนาได้เงินสุทธิจากการขายข้าวน้อยลง ในมุมมองของชาวนาจึงมองว่า การหักเงินสะสม เปรียบเสมือนการยึดเงินของชาวนาไปเป็นตัวประกัน เพื่อบีบบังคับให้ชาวนาปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการทำนาอินทรีย์ หากโครงการตรวจสอบพบว่าชาวนาทำผิดกฎการทำนาอินทรีย์โดยจงใจ ชาวนาคนที่ทำผิดก็จะถูกริบเงินสะสมทั้งหมดที่ออมไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กฎระเบียบของการทำนาอินทรีย์ และเงื่อนไขการปรับด้วยการหักเงินสะสม จึงกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งไม่อยากทำนาอินทรีย์[v] จากข้อเท็จจริงและกรณีศึกษาที่นำเสนอมาข้างต้น ทำให้เข้าใจว่าการที่เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์เป็นผลสำเร็จ ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาขาดความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมี หรือไม่ใส่ใจปัญหาสุขภาพ อีกทั้งไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาขาดจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาคิดถึงแต่เงินเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเพราะมีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและนิเวศเข้ามากำกับทิศทางการทำเกษตรของไทย ตลอดจนมีแรงกดดันมากมาย ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจต้องการทำเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นหากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อรณรงค์เรื่องการผลิตอาหารปลอดภัยต้องการบรรลุผลสำเร็จ สิ่งที่ควรตระหนัก คือการช่วยลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ที่จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าสู่ระบบการผลิตอาหารปลอดภัย และสร้างเงื่อนไขเชิงสนับสนุนที่จะช่วยให้เกษตรกรทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น [i] Scott, James C. 1998. Seeing Like a State: How Certain Schemes to Improve the Human Condition Have Failed. New Haven and London: Yale University Press. [ii] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Kolshis, Halvar J. (1972). Modernization of Paddy Rice Farming in Northeast Thailand with Special Reference to Use of Fertilizer. Unpublished Ph.D. Dissertation of Agricultural Economics, The University of Kentucky. [iii] ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมใน อนุสรณ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร: บทความและเกี่ยวกับ ม.จ.สิทธิพร. 2514. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. [iv] สัมภาษณ์นางสมสุข นาสวรรค์ ชาวนาอินทรีย์บ้านนาสวรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 13 เมษายน 2551. [v] สัมภาษณ์นายคำ พานทอง ชาวนาอินทรีย์บ้านนาสวรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน 2551.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กวีประชาไท: สารจากห้องขังปาตานี Posted: 02 Jun 2013 08:01 AM PDT ต่างเผ่า ต่างคน ต่างวัฒนะ ล้วนต่างความคิด ฉันไม่ยอมรับว่า ความคิดของฉันถูกหมด ฉันยอมรับความคิดฉัน มีข้อผิดพลาด ในเมืองที่ชนส่วนน้อย เป็นชนส่วนมาก ฉันยังไม่มีพื้นที่ อนูเซลล์เล็กๆ ให้คิดเห็นต่าง ฉันยังต้องเดินทาง ตามหาอิสรภาพ เสรีภาพ ฉันยังต้องตามหา อิสรภาพที่ถูกพรากจากปาตานี ฉันยังต้องตามหา ปาตานีที่อยู่พร้อมหน้ากับเสรีภาพ ฉันยังคงเดินทาง เก็บเมอลายูปาตานีในกระเป๋าเสื้ออกซ้าย เมอลายูปาตานี จะทนรอฉันอยู่นอกรั้วหนามกำแพงสูงได้ไหม เจ้ากับข้า ใครจะได้พบปะกับอิสรภาพ เสรีภาพก่อนกัน หากเจ้าปาตานี เจอเสรีภาพก่อนฉัน ดึงฉันออกจากผนังกรงกำแพงอิฐสูงนี้ด้วย หากข้าได้เจออิสรภาพก่อนเจ้า ข้าจะทะลวงหาวิธีที่สันติ พาเจ้าไปพบเสรีภาพ พร้อมข้า
อธิบายภาพ: รอมือละ แซเยะ ภรรยาของนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ่านบทกวีของนายมูฮาหมัดอัณวัร ที่เขียนขึ้นในเรือนจำกลางปัตตานี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ไม่เคารพสิทธิ สันติภาพก็ไม่เกิด’ AI เรียกร้องไทย-BRNเห็นใจประชาชน Posted: 02 Jun 2013 07:54 AM PDT แอมเนสตี้ยื่นรายงานสถานการณ์สิทธิในชายแดนใต้ปี 56 ต่อรัฐบาล จี้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ แจ้งเหตุบุคคลสูญหาย กลุ่มด้วยใจชี้ 9 ปีความรุนแรง มีเด็กตาย62 บาดเจ็บ 363 เรียกร้องทุกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงคำนึงเด็กและสตรีให้มาก เมียอันวาร์ร่ายกลอนจากเรือนจำ ฝากพิจารณาสามีเป็นนักโทษการเมืองหรือไม่ เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ทีห้องประชุมศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ประเทศไทย (AI Thailand) จัดแถลงข่าวรายงานของอิมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2556 (สัญจรภาคใต้) แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก มีสมาชิกทั่วโลก 3,000,000 คน จาก 159 ประเทศ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังการแถลงข่าวมีการเสวนาเรื่อง "ผลกกระทบต่อเด็กและผู้หญิงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" มีนักศึกษา นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 60 คน นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงว่า พลเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตกเป็นเป้าโจมตีอยู่เรื่อย ทำให้มีพลเมืองได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก ร่วมถึงครูและโรงเรียนของรัฐยังคงตกเป็นเป้าหมายการโจมตี นางสาวปริญญา แถลงอีกว่า ในรายงานฉบับนี้มีข้อเรียกร้องให้รัฐยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เนื่องจากเป็นกฎหมายพิเศษที่ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับโทษจากการละเมิดสิทธิประชาชนในพื้นที่ "นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐยุติการซ้อมทรมานต่อประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ต้องชี้แจ้งถึงประชาชนที่สูญหายจากเหตุไม่สงบที่ผ่านมาด้วย" นางสาวปริญญา นางสาวปริญญา เปิดเผยว่า แอมเนสตี้จะยื่นรายงานฉบับนี้ต่อนางสาวยิ่งลักลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายซาลิล เซ็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้จะเป็นผู้ยื่น นางสาวปริญญา เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ได้ยื่นรายงานฉบับนี้ต่อตัวแทนพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าวที่กรุงมหานคร เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของทั้ง 2 พรรค นำข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ มาปฏิบัติเชิงนโยบาย "แอมเนสตี้ฯ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นที่กำลังอยู่ดำเนินการพูดคุยสันติภาพในขณะนี้ว่าขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะแอมเนสตี้ฯมองว่า สันติภาพในพื้นที่จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมต่อประชาชนในพื้นที่" นางสาวปริญญา กล่าว นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ กล่าวในการเสวนา"ผลกกระทบต่อเด็กและผู้หญิงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ว่า จากการที่กลุ่มด้วยใจเก็บข้อมูลผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำปัตตานีและเรือนจำกลางสงขลา พบว่า ร้อยละ 80 เคยถูกซ้อมทรมานหรือถูกละเมิดสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะการถูกทุบตีตามร่างกาย ซึ่งผู้ต้องขังมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรามองว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้กลุ่มด้วยพบว่ามีเยาวชนถูกละเมิดสิทธิด้วย 3 คน นางสาวอัญชนา กล่าวอีกว่า กลุ่มด้วยใจร่วมกับสำนักพิมพ์โพรงกระต่าย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เก็บสถิติเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึง 26 พฤษภาคม 2556 พบว่า เสียชีวิต 62 ราย บาดเจ็บ 363 รวมทั้งหมด 425 ราย "ในจำนวนนี้ มีเด็กบางคนที่ได้รับบาดเจ็บจนต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา หากวันใดขาดเครื่องช่วยหายใจ เด็กคนนี้ต้องเสียชีวิตทันที ดังนั้นกลุ่มด้วยใจ ขอเรียกร้องต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงทั้งหลาย ให้คำถึงเด็กและสตรีให้มากที่สุดด้วย" นางสาวอัญชนา กล่าว ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ แสดงความเห็นว่า จากการทำงานในพื้นที่ 2-3 ปี ที่ผ่านมา พบว่า มีการละเมิดสิทธิจำนวนมาก แต่การเปล่งเสียงบอกสังคมใหญ่ให้รับรู้เรื่องนี้ยังไม่ดังพอ จึงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิประชาชนอยู่เรื่อยๆ จากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ "จึงเป็นภารกิจร่วมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประสังคมในพื้นที่ ต้องเปล่งเสียงดังๆออกมาให้สังคมใหญ่รับรู้ว่า กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่ละเมิดสิทธิต่อประชาชนอย่างไร"ผศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว นางรอมือละ แซเยะ ภรรยาของนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในพื้นที่ กล่าวว่า ฝากแอมเนสตี้ฯ ไปพิจารณาว่า กรณีของนายมูฮาหมัดอัณวัรเป็นนักโทษคดีการเมืองหรือไม่อย่างไร ก่อนเสวนานา นางรอมือละได้การอ่านบทกวีของนายมูฮาหมัดอัณวัร ที่เขียนขึ้นในเรือนจำกลางปัตตานี ดังนี้
ฉันไม่ยอมรับว่า ความคิดของฉันถูกหมด ฉันยอมรับความคิดฉัน มีข้อผิดพลาด ในเมืองที่ชนส่วนน้อย เป็นชนส่วนมาก ฉันยังไม่มีพื้นที่ อนูเซลล์เล็กๆ ให้คิดเห็นต่าง ฉันยังต้องเดินทาง ตามหาอิสรภาพ เสรีภาพ ฉันยังต้องตามหา อิสรภาพที่ถูกพรากจากปาตานี ฉันยังต้องตามหา ปาตานีที่อยู่พร้อมหน้ากับเสรีภาพ ฉันยังคงเดินทาง เก็บเมอลายูปาตานีในกระเป๋าเสื้ออกซ้าย เมอลายูปาตานี จะทนรอฉันอยู่นอกรั้วหนามกำแพงสูงได้ไหม เจ้ากับข้า ใครจะได้พบปะกับอิสรภาพ เสรีภาพก่อนกัน หากเจ้าปาตานี เจอเสรีภาพก่อนฉัน ดึงฉันออกจากผนังกรงกำแพงอิฐสูงนี้ด้วย หากข้าได้เจออิสรภาพก่อนเจ้า ข้าจะทลวงหาวิธีที่สันติ พาเจ้าไปพบเสรีภาพ พร้อมข้า สารจากห้องขังปาตานี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
'หน้ากากกายฟอว์กส์' พรึบหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฮือไล่ ระบอบทักษิณ' Posted: 02 Jun 2013 03:42 AM PDT นัดแฟลชม็อบสวมหน้ากาก "กายฟอว์กส์" หน้าเซ็นทรัลเวิลด์วันนี้ แอดมิน "V For Thailand" ผู้จัดกิจกรรมระบุ ขอประกาศให้โลกรู้ประเทศไทยถูก "อำนาจเลือกตั้ง" ครอบงำ - จวกใช้ประชาธิปไตยบังหน้า แต่ทรยศประชาชนทั้งประเทศ กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋านักเลือกตั้งและพวกพ้องเพียงกลุ่มเดียว ที่มาของภาพ: เพจ V For Thailand หน้ากากกายฟอว์กส์นัดชุมนุมหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตามที่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ได้เปลี่ยนรูปโพรไฟล์เป็นรูปหน้ากากกายฟอว์กส์ จากภาพยนตร์เรื่องวี ฟอร์ เวนเดตตา (V For Vendetta) และโพสต์ข้อความว่า "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย" ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 พ.ค. แนวร่วมคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์เป็นแกนนำ ซึ่งชุมนุมอยู่ที่สนามหลวง ก็ได้เริ่มสวมหน้ากากกายฟอว์กส์เช่นกัน (ชมภาพ) และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 พ.ค.) และผู้สนับสนุนจากกลุ่มอื่นๆ ได้สวมหน้ากากกายฟอว์กส์ เดินรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลไปตาม ถ.สีลมนั้น ต่อมาเพจ V for Thailand ได้นัดหมายจัดกิจกรรม "ยุทธการ ประกาศศักดา รวมพลใหญ่ คนหน้ากาก" นัดหมายจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ พร้อมสวมหน้ากากกายฟอว์กส์ เวลา 13.00 น. ที่ลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยระบุว่ามีเป้าหมาย 3 ข้อได้แก่ "1 รวมพลังล้มล้างระบอบทักษิณ 2 สลายสี สร้างความสามัคคี ให้เกิดในสังคม 3 เปิดโปงหน้ากากขบวนการเผด็จการที่ใช้ประชาธิปไตยบังหน้า"
ขอกู่ก้องให้โลกรู้ว่าประเทศไทยถูก "อำนาจจากการเลือกตั้ง" ครอบงำ โดยเช้าวันนี้ (2 มิ.ย.) แอดมินเพจได้กล่าวก่อนเริ่มกิจกรรมว่า "วันนี้ผมและคุณจะออกไปเป็นประกายไฟแรกที่ลามลุกให้เกิดแสงสว่างแห่งความถูกต้อง ความดีงาม และความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ขอให้ออกมา ออกมา และก็ออกมา ออกมากู่ก้องให้โลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยของเราได้ถูกครอบงำโดย" อำนาจจากการเลือกตั้ง"และอำนาจนี้กำลังเอาอาศัยคำว่าประชาธิปไตยบังหน้า ทำการทรยศประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของนักเลือกตั้งและพวกพ้องเพียงกลุ่มเดียว ถึงเวลาแล้ว ที่ภารกิจของ วี (we)จะต้องกวาดล้าง "ปลิง"เหล่านี้ออกจากประเทศไทย พบกันวันนี้ 13.00 น. ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งหน้า เซ็น (ตรงบริเวณน้ำพุ)" สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในเวลา 13.00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณสองร้อยคนได้รวมตัวกันที่ลานน้ำพุของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนเดินไปทางด้านสยามสแควร์ โดยการชุมนุมครั้งนี้ถูกรายงานโดยสื่อมวลชนหลายสำนัก โดยไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งรายงานข่าวดังกล่าว ให้ข้อสังเกตด้วยว่า "การชุมนุมดังกล่าวไม่มีแกนนำออกมาแสดงตัวแต่อย่างใด ขณะที่การชุมนุมยังเป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดเกิดขึ้น" ทั้งนี้หลังสิ้นสุดกิจกรรม แอดมินเพจได้โพสต์สเตตัสขอบคุณผู้มาร่วมกิจกรรมว่า "V For Thailand แม้จะเริ่มต้นกิจกรรมมาหลายครั้ง แต่เราจะไม่ขอรับเครดิตใด ๆ เพราะว่า V = We คือ พวกเรา นั่นแหล่ะครับ "ประชาชน" เครดิตครั้งนี้ คือ ประชาชน ... ไม่ต้องมีแกนนำ เพราะว่า ความคิดภายใต้หน้ากาก V หน้ากากประชาชนเนี่ยแหล่ะครับ คือ แกนนำ ... ประชาชน คือ แกนนำที่จะนำพาประเทศชาติให้เดินหน้า ขอบคุณทุกดวงใจแห่งมหาชนชาวสยามจำไว้นะครับ "เครดิตนี้ของประชาชน" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 02 Jun 2013 02:21 AM PDT "พวกเรา ผู้สร้างภาพยนตร์ควรต้องรวมพลังกันหน่อยไหม อาจจะรวมพลังต้องการที่จะพูดหรือแสดงออก ซึ่งมันจะไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลายท่านบอกว่า ผมพูดมาซ้ำๆ ซากๆ ก็ไม่เห็นเกิดผล แต่สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นที่จะต้องพูดกันไป" 1 มิ.ย. 56, ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวในเสวนา "สิทธิหนังไทย: ฐานะสื่อและการกำกับดูแล" |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น