โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดตัว "หน่วยรบไซเบอร์" โพสต์รัวๆ 1.69 ล้านข้อความเทิดทูนฯ ภายใน 4 เดือน

Posted: 06 Jun 2013 02:49 PM PDT

ฉก.ทหารพรานที่ 45 โพสต์คลิปสรุปผลงาน "เทินทูนสถาบัน" ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบุเป็นการสนองนโยบาย "เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทบ." ทำหน้าที่สอดส่อง-โพสต์ตอบโต้เว็บหมิ่น ระบุ 4 เดือนโพสต์เทิดทูนสถาบันฯ แล้ว 1.69 ล้านข้อความ ปัญหาที่พบคือเมื่อโพสต์ไปนานๆ จะโพสต์ไม่ติด และถูกบล็อก ขณะที่ยังพบหลายหน่วยงานกองทัพทำหน้าที่คล้ายกัน

ภาพจากเว็บไซต์ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) แสดงคลิป "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" โดยคลิปดังกล่าวซึ่งมีความยาวประมาณ 6 นาที ระบุว่าเป็นการบรรยายผลการปฏิบัติงาน "การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค" ของหน่วยขึ้นตรง (นขต.) ของกรมทหารพรานที่ 45 (ทพ.45)

คลิป "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45)

ภาพจากคลิป "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) แสดงผลการดำเนินงาน "การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค" โดยในคลิประบุด้วยว่าภายในระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างมิถุนายน ถึง กันยายน 2555 สามารถโพสต์ข้อความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแล้ว 1.69 ล้านข้อความ

กกกก

ตัวอย่างการโพสต์ข้อความข้อนามแฝง "ฉก.ทพ.45" ในเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมาในกระดานสนทนา BKK.in.th

การโพสต์ข้อความในลักษณะคล้ายกัน โดยหน่วยงานกองทัพอื่นๆ เช่นกระดานข่าวของ "กรมทหารพรานที่ 48: ร่วมตอบโต้การหมิ่นสถาบัน" โดยมีการตั้งกระทู้เพื่อโพสต์ข้อความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และตอบโต้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56)

การแบ่งหมวดหมู่ของเว็บบอร์ด http://webboard.sanook.com/ ในส่วนของหมวด "ชุมชนสนุก!" ซึ่งมีห้องย่อย "ร่วมเทิดไท้องค์ราชันย์" เป็นหนึ่งในห้องย่อย โดยปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56) มีจำนวนกระทู้ทั้งสิ้น 3,492 กระทู้ มีข้อความทั้งสิ้น 279,860 ข้อความ เมื่อเปิดเข้าไปดูจะมีข้อความถวายพระพร พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท โดยผู้โพสต์หากไม่ใช้นามแฝง ก็จะใช้ชื่อย่อของหน่วยงานทางทหาร โดยห้องย่อยดังกล่าวมีข้อความมากรองจากห้องย่อย "สนุก!ซุบซิบ ซึ่งมี 1,057,527 ความคิดเห็น และ "ผู้ใหญ่วัยทำงาน" ที่มีข้อความ 487,673 ข้อความ

 

(7 มิ.ย. 56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเว็บไซต์ของ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพภาคที่ 4 มีที่ตั้งหน่วยอยู่ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้มีการโพสต์วิดีโอคลิปหัวข้อ "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" ซึ่งเป็นคลิปที่อัพโหลดไว้ในเว็บไซต์ YouTube มีผู้ใช้นามว่า aekfocuslansaka ซึ่งโพสต์เอาไว้ตั้งแต่ตุลาคมปี 2555 ใต้คลิปเขียนคำบรรยายว่า "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบันโดยกรมทหารพรานที่ ๔๕"

โดยคลิปดังกล่าวซึ่งมีความยาวประมาณ 6 นาที เป็นการบรรยายผลการปฏิบัติงาน "การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค" ของหน่วยขึ้นตรง (นขต.) ของกรมทหารพรานที่ 45 (ทพ.45) โดยมีเสียงบรรยายว่า

"ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ เพื่อจะเป็นข้าราชการที่ดีของพระองค์ท่าน จึงนำมาซึ่งการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยการโพสต์ข้อความและตอบโต้ข้อความ รวมถึงเว็บไซต์ที่ดูหมิ่นสถาบัน ตามที่ ผบ.ทบ. ได้กรุณาอนุมัติให้จัดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทบ. เพื่อส่งเสริมและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เฝ้าตรวจสอบเว็บไซต์และกระดานสนทนาที่มีเนื้อหาพาดพิง หมิ่นเหม่สถาบัน และเข้าแสดงการเทิดทูนสถาบัน ตลอดจนตอบโต้ และด้อยค่ากลุ่มต่อต้าน"

ในคลิปดังกล่าวระบุโครงสร้างการดำเนินงานว่า มี พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผบ.กรมทหารพรานที่ 45 เป็นผู้มอบนโยบายและสั่งการ ขณะที่มีฝ่ายยุทธการของก ทพ.45 เป็นผู้สนับสนุนในการจัดเตรียมข้อมูล กำหนดเป้าหมายยอดการโพสต์ กระตุ้นการปฏิบัติ ค้นหาเว็บไซต์เทิดทูนสถาบัน และเว็บไซต์ที่หมิ่นเหม่ พาดพิงสถาบัน ขณะที่ส่วนปฏิบัติการ ประกอบด้วยกองร้อยหน่วยขึ้นตรง (นขต.) ของกรมทหารพรานที่ 45 และกองร้อยทหารพรานหญิงในหน่วย โดยกำหนดให้ผู้ปฏิบัติการ "โพสต์ให้ได้ตามเป้าที่กำหนดหรือมากกว่า" และเมื่อมีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ

ทั้งนี้ในคลิปดังกล่าวระบุว่าหน่วยได้เริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่พฤษภาคม 2553 และในระหว่างเดือนมิถุนายน 2555 - กันยายน 2555 ได้โพสต์ข้อความรวมทั้งสิ้น 1,699,038 ข้อความ หรือวันละ 13,927 ข้อความต่อวัน ผู้บรรยายในคลิปยังอ้างด้วยว่าได้ทำให้กองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพภาคที่โพสต์ข้อความแสดงความจงรักภักดีมากที่สุดเมื่อเทียบกับกองทัพภาคอื่นๆ

ผู้บรรยายในคลิปกล่าวด้วยว่า ที่หน่วย ทพ.45 ประสบความสำเร็จเนื่องจากมี Unit School หรือการอบรมความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กำลังพล มีการกำหนดเป้าหมายยอดการโพสต์ นอกจากนี้สนับสนุนข้อมูล จัดทำข้อความ จัดหาข้อความสำหรับโพสต์โดยฝ่ายอำนาจการ ที่สำคัญมีการมอบรางวัลให้กำลังพลที่ปฏิบัติงานดีเด่น โดยมีการพากำลังพลไปทัศนศึกษาที่ประเทศมาเลเซียด้วย

ในท้ายคลิป มีการสรุปอุปสรรคที่เกิดขึ้นจาก "การปฏิบัติ" ซึ่งพบว่า "เว็บไซต์ที่เปิดให้มีการโพสต์ข้อความถวายพระพร เมื่อมีการโพสต์ข้อความในแต่ละวันของหลายๆ หน่วย พร้อมกัน เป็นจำนวนมาก เป็นระยะติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน จะพบปัญหา" โดยในคลิประบุไว้ 3 เรื่อง โดยบรรยายว่า"1. โพสต์ข้อความไม่เข้า หรือที่เรียกว่า Error 2. มีการปิดกั้นไม่ให้โพสต์ข้อความ หรือที่เรียกว่าถูกบล็อก 3. ข้อความเต็มความจุ ทำให้ผู้ให้บริการระงับการใช้ชั่วคราว หรือที่เรียกว่า เว็บแตก"

ในคลิประบุวิธีแก้ปัญหาของหน่วยว่า จะใช้วิธีนำเว็บไซต์สำรอง หรือจัดหาเว็บไซต์ตามช่องทางต่างๆ ให้กับหน่วยขึ้นตรงไปโพสต์แทนเว็บเดิม และจัดทำเว็บไซต์สำหรับโพสต์ข้อความเองได้แก่ เว็บไซต์ของกองร้อยทหารพรานที่ 4503 และ 4513

"ด้วยความจงรักภักดีที่แน่วแน่ของพวกเราชาวกองทัพภาคที่ 4 โดยกรมทหารพรานที่ 45 ขอเป็นส่วนหนึ่งของการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนองปณิธานของท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ว่า ผมจะนำพากองทัพภาคที่ 4 ให้ไปยืนอยู่ในแนวหน้าของกองทัพบกสืบไป" คำบรรยายท้ายคลิประบุ

นอกจากคลิปบรรยายผลการปฏิบัติงานของ ฉก.ทพ.45 ดังกล่าวแล้ว ยังพบการโพสต์ข้อความในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยใช้ชื่อผู้โพสต์เป็นชื่อหน่วยงานในกองทัพหน่วยอื่น เช่นกระดานข่าวในเว็บบอร์ด BKK1.in.th มีการตั้งกระทู้ "กรมทหารพรานที่ 48: ร่วมตอบโต้การหมิ่นสถาบัน"  เพื่อโพสต์ข้อความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และตอบโต้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 และมีการโพสต์ข้อความทุกวัน จนถึงปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56)

นอกจากนี้ใน YouTube ยังมีคลิปที่โพสต์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชื่อคลิปว่า "สอนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์" เป็นการสอนกำลังพลให้โพสต์ภาพเทิดทูนสถาบันลงในโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง facebook พร้อม Tag ผู้ใช้ facebook ด้วย โดยหลังการโพสต์แล้ว ในคลิปตั้งแต่นาทีที่ 6 จะมีการสอนให้ทำการคัดลอก URL ข้อความ พร้อมพิมพ์ชื่อผู้โพสต์ และจำนวนที่ถูกแท็ก เพื่อรายงานส่ง "ศูนย์กรรมวิธีข้อมูล" โดยในคลิปดังกล่าวบรรยายว่าเพื่อเป็นการ "ส่งยอด" ไปยังจังหวัดทหารบก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อสำรวจในเว็บไซต์ที่มีกระดานสนทนาสำหรับแสดงความคิดเห็นจะพบว่า เว็บไซต์หลายแห่งจะสร้างหมวดหมู่ย่อย เพื่อรวบรวมข้อความเทินทูนสถาบันที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แยกออกมาจากหมวดหมู่อื่นๆ อย่างเช่น เว็บไซต์ Sanook.com ซึ่ง truehits.net ระบุว่ามีผู้เข้าชมวันละ 9.35 แสน IP นั้น ในเว็บบอร์ดหมวด "ชุมชนสนุก!" ได้สร้างห้องย่อย "ร่วมเทิดไท้องค์ราชันย์" แยกออกมาจากประเด็นสนทนาของห้องย่อยอื่นๆ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ข้อความในทำนองนี้โดยเฉพาะ

โดยปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56) ห้องย่อยดังกล่าว มีจำนวนกระทู้ทั้งสิ้น 3,492 กระทู้ มีข้อความทั้งสิ้น 279,860 ข้อความ เมื่อเปิดเข้าไปดูจะมีข้อความถวายพระพร พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท โดยผู้โพสต์หากไม่ใช้นามแฝง ก็จะใช้ชื่อย่อของหน่วยงานทางทหาร โดยห้องย่อยดังกล่าวมีจำนวนข้อความมากรองจากห้องย่อยอื่นๆ "สนุก!ซุบซิบ ซึ่งมี 1,057,527 ความคิดเห็น และ "ผู้ใหญ่วัยทำงาน" ที่มีข้อความ 487,673 ข้อความ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สตช.ยันไม่ได้สั่งห้ามขายหน้ากากขาว ด้านกลุ่มหน้ากากเคลื่อนจี้รัฐปลด ‘ปลอดประสพ’

Posted: 06 Jun 2013 01:59 PM PDT

สตช. เตือนอย่าหลงเชื่อ มีขบวนการบิดเบือนข่าวในโลกออนไลน์ ชี้ มีความผิดอาญา - พ.ร.บ.คอมฯ ด้านกลุ่มหน้ากากขาว ใช้เพจเฟซบุ๊ก V For Thiland นัดหมายชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ชื่อ 'ยุทธการดอกไม้จะบานทั่วประเทศไทย'

สตช.ยันไม่ได้สั่งห้ามขายหน้ากากขาว
 
6 มิ.ย.56 - INN รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยถึง กรณีที่มีประชาชนไปโพสต์ข้อความในสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่า สตช.สั่งห้ามขายหน้ากากขาว หรือ หน้ากากกาย ฟอว์กส์ (Guy Fawkes) โดยหากมีการซื้อขายจะถูกจับดำเนินคดีนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง สตช.ไม่เคยมีคำสั่งเช่นนี้ออกมา ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของบุคคล เพียงแต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
 
ขณะเดียวกัน โฆษก สตช.ยังฝากเตือนไปยังประชาชนบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมนำข้อมูลของ สตช.ไปบิดเบือนความจริง และเผยแพร่ออกทางสังคมออนไลน์ให้ประชาชนรับทราบอย่างไม่ถูกต้อง ให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะไม่เพียงแต่จะมีความผิดกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย โดยขณะนี้ สตช. ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมาย และ ปอท.ลงไปตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้ สตช.และเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ พร้อมกันนี้ ฝากเตือนไปยังประชาชน ให้ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนที่จะหลงเชื่อ
 
 
หน้ากากขาวบุกทำเนียบ จี้รัฐบาลปลด 'ปลอดประสพ'
 
6 มิ.ย.56 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. กลุ่มผู้สวมใส่หน้ากากขาวซึ่งได้มีการนัดหมายกันผ่านเพจเฟซบุ๊ก V For Thiland เริ่มทยอยมาชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปลดนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง และขอให้ปลดทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่ให้เกียรติประชาชนจากกรณีปราศรัยใช้คำรุนแรงกับภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชน
 
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยังระบุคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันด้วย
 
ทั้งนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก V For Thiland ได้มีการนัดหมายกิจกรรมชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ชื่อ "ยุทธการดอกไม้จะบานทั่วประเทศไทย" อย่างต่อเนื่อง
 
ภาพจาก: V For Thiland
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กะเหรี่ยง-อุทยาน ประชุมร่วมแก้ปัญหาคนกับป่า วันสิ่งแวดล้อมโลก

Posted: 06 Jun 2013 12:56 PM PDT

ปมขัดแย้งกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิงกับอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ 'สุรพงษ์' เสนอตั้งกรรมการร่วมอุทยานแห่งชาติ-ฝ่ายปกครอง-ท้องถิ่น-นักวิชาการ พิสูจน์พื้นที่พิพาทพร้อมกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดิน ด้านนายอำเภอรับเป็นตัวกลางถกทางออก

 
วันที่ 7 มิ.ย.56 - ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตากกว่า 500 คน ร่วมกันปลูกป่าเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.56 และจัดประชุมร่วมกับอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ โดยมีนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม และนายนรภัทร ปลอดทอง นายอำเภอแม่ระมาด เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิงกับอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ
 
สืบเนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ ได้จับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิงหลายครั้ง จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จนชาวบ้านกะเหรี่ยงหวาดระวงไม่กล้าออกนอกพื้นที่ไปทำกิน หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ และชาวบ้านห้วยกระทิงจัดประชุมเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐมีแนวนโยบาย และหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.53 ซึ่งส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่ร่วมกับป่าเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่พิพาทที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแข้งในเชิงสร้างสรรค์
 
ดังนั้น จึงเสนอให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติ อำเภอแม่ระมาด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักวิชาการ เพื่อพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นที่ทำกินดั้งเดิมหรือหรือพื้นที่บุกรุกใหม่ ตลอดจนร่วมกันกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินโดยไม่มุ่งเน้นการทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ส่งเสริมเกษตรพอเพียงหรือเกษตรทางเลือก ที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงตลอดจนการสนับสนุนการทำ ไร่หมุนเวียนที่รักษาป่า
 
ด้านนายนรภัทร กล่าวว่า ทางอำเภอยินดีเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่มีมาตกลงกันในรายละเอียดใน วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ทำการกำนัน ต.พระธาตุ จ.ตาก ซึ่งทางอำเภอมีโครงการที่จะสนับสนุนอาชีพที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ เช่นการทำไม้กวาดดอกหญ้า หรือปลูกพืชที่กลมกลืนกับผืนป่าต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 เหตุผล ปลด ‘ประดิษฐ’ พ้น รมว.สธ.- ปธ.แพทย์ชนบทชี้อยู่ที่ดุลพินิจนายกฯ

Posted: 06 Jun 2013 12:27 PM PDT

ส่วนวงเจรจาร่วมรัฐบาล ผลตั้ง 'ดร.คณิต แสงสุพรรณ' เป็นประธานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่ ชมรมแพทย์ชนบทรอดูท่าทีเคลื่อนไหว จากมติ ครม.อังคารหน้า ขณะที่เรื่องปลด รมว.สธ.อยู่ที่ดุลพินิจของนายกฯ

 
วันที่ 6 มิ.ย.56 ชมรมแพทย์ชนบทเผยแพร่เอกสาร 'เหตุผลที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพขอให้นายกรัฐมนตรี ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข' ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จากปัญหาความขัดแย้งประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) โดยมีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางในการเจรจาหาทางออก วันนี้ (6 มิ.ย.56) 
 
เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
เหตุผลที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพขอให้นายกรัฐมนตรี
ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
1.ไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารภาครัฐ บริหารกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ตนเองดูแลเป็นบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมากมาย ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการบริหารตามอำเภอใจก็เช่น การมีนโยบายสั่งการบังคับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำ P4P และลดและเลิกระบบแรงจูงใจเดิมในการทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานในชนบทอย่างเช่นมาตรการเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย คิดว่าข้าราชการเป็นเหมือนพนักงานบริษัท บังคับให้ทำก็ต้องทำ ทำให้เกิดแรงต้านอย่างกว้างขวาง
 
2.กรณีของนโยบาย P4P นั้น เป็นการนำแนวทาง P4P มาใช้อย่างผิดๆ ไม่มีความเข้าใจต่อเรื่อง P4P อย่างแท้จริง ไม่มีการเตรียมการและไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างถ่องแท้แล้วจึงมาดำเนินการ เมื่อนำมาดำเนินการแล้วเกิดแรงต้านคัดค้านกว้างขวางทั่วประเทศก็ยังดันทุรังเดินหน้า ไม่คิดจะทบทวนยอมรับผิด แนวคิด P4P ที่สำคัญคือต้อง win win win กล่าวคือ ผู้ป่วยได้ วิชาชีพสุขภาพได้ และองค์กรก็ได้ประโยชน์ แต่กรณีกลับตรงกันข้าม ไม่มีใครได้ มีผลเสียมากกว่าผลดี และที่สำคัญ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดันนั้นไม่ใช่ P4P แต่เป็น workpoint ซึ่งไม่สามารถนำมาทดแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ คนละหลักการกัน แต่กระทรวงนำมาปะปนกันจนเลอะเทอะ และหากมีการนำ P4P มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในชนบทจะรุนแรงขึ้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับความเสียหาย เป็นการทำลายระบบสุขภาพที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในเขตชนบท
 
3.เมื่อเกิดแรงค้าน อารยะขัดขืนจากโรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แทนที่ รมต.ประดิษฐจะตรวจสอบนโยบายตนเอง ตรวจสอบแนวปฏิบัติในนโยบายที่มีปัญหามากมาย ทำหน้าที่หาทางออก สร้างการมีส่วนร่วม ชวนผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยอย่างเป็นมิตรอย่างพี่อย่างน้อง (ไม่ใช่อย่างเจ้านายลูกน้อง) รมต.ประดิษฐ กลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามคือ สั่งการให้มีการจัดเวทีชี้แจง P4P ทั่วประเทศแบบชี้แจงฝ่ายเดียว เสี้ยมหรือส่งสัญญาณให้เกิดการชนกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มาก ทั้งๆที่ชมรมแพทย์ชนบทก็พูดไว้ชัดเจนแล้วว่า ข้อเสนอคือหนึ่งกระทรวงสองระบบ รพศ./รพท.ก็ทำ P4P ไป ส่วน รพช.ขอกลับไปใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่ รมต.ประดิษฐ ปลัดณรงค์ และรองปลัดสุพรรณ กลับจงใจเจตนาทำให้เกิดการเข้าใจผิดและผิดใจกันระหว่าง รพศ./รพท.กับ โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เดิมเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมีปัญหาและความแตกแยกมากขึ้น ผู้ป่วยคือคนที่รับเคราะห์กรรม
 
4.กรณีองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ในปี 2550 ที่คุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล เข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้นมียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้านจนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี การที่บอร์ดสั่งปลดคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล ซึ่งเป็นคนดี มีประสิทธิภาพนั้นสะท้อนชัดเจนว่าองค์กรเภสัชกรรมกำลังโดนแทรกแซง เพราะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคือคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นคนเก่งบริหารที่ซื่อตรงและไม่สยบยอมต่อคนคด ปฏิบัติการจึงเริ่มด้วยการที่รัฐมนตรีประดิษฐสั่งตรงให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข แจ้งความส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนสร้างล่าช้าและวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อดิสเครดิตคุณหมอวิทิต และหาเหตุปลดให้ได้ การปลดคุณหมอวิทิตอย่างไม่เป็นธรรม คือฟางเส้นท้ายๆที่สะท้อนความไม่มีธรรมาภิบาลของ รมต.ประดิษฐ
 
5.กรณี สปสช. ได้ถูกแทรกแซง โดย รมต.ประดิษฐมีการบังคับให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นผู้ขอตั้งรองเลขาธิการเพิ่มเองอีก 2 ตำแหน่ง เพื่อเอาคนขอตนเข้าไปเสียบ เพราะเดิมรองเลขาธิการที่มีอยู่แล้วทั้ง 3 ตำแหน่งนั้นการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ เมื่อบีบจนหมอวินัยหน้าเขียวจนยอมทำตามที่การเมืองขอ รมต.ประดิษฐก็ส่งคนของตนเข้ามา เป็นรองเลขาธิการ 2 คน แต่งตัวคอยท่า รอเวลาขึ้นตำแหน่งเลขาธิการในอนาคต รองเลขาธิการใหม่หนึ่งในสองคนชื่อ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต สส.พรรคไทยรักไทยนั่นเอง ที่แต่งตัวรอท่าจะได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนต่อไป
 
6.การจัดซื้อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดกว่า 80,000 เครื่อง แจก อสม.เพื่อให้ไปคัดกรองเบาหวานนั้น ก็มีกลิ่นผิดปกติ ส่อทุจริตหลายประการ ทั้งในเรื่องของการจัดซื้อเครื่องซึ่งมีราคาแพง แทนที่จะจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทำโดยทั่วไปและได้แถบในราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งจำนวนเครื่องที่มีเป้าหมายจัดซื้อ 80,000 เครื่องก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก ทั้งๆที่ความจริงอาจจัดซื้อเพิ่มเพียง 8,000 เครื่องก็อาจจะเพียงพอต่อการคัดกรองตามโครงการและตามหลักวิชาการ
 
รัฐมนตรีประดิษฐเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ความแตกแยกในกระทรวงจะเพิ่มขึ้นหาก รมต.ประดิษฐยังอยู่ ความไร้ประสิทธิภาพจากการสั่งการบังคับบัญชาไม่ได้จะเกิดขึ้นต่อไปจากวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำองค์กร วันนี้น่าจะสามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่า "30 บาทรักษาทุกโรค ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย" ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการเดินต่อไปข้างหน้าได้ของระบบสุขภาพไทย
 
 
สงบศึกชั่วคราว ให้เยียวยา รพ.กระทบจาก P4P
 
ในวันเดียวกัน ไทยโพสต์ รายงานผลการการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ชนบท หลังจากเคยมีการเจรจารอบแรกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ในวันนี้ (6 มิ.ย.56) จึงมีการเจาจาอีกครั้งว่า ในช่วงเช้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ จนนายสุรนันท์ต้องสั่งหยุดพักการเจรจา ให้แต่ละฝ่ายรับประทานอาหารกลางวันพร้อมพูดคุยในวงเล็ก ก่อนจะมาแถลงข้อสรุปในเวลา 14.00 น. รวมใช้เวลาพูดคุยกว่า 4 ชั่วโมง
 
นายสุรนันทน์แถลงว่า ดีใจที่มีการคุยกัน ซึ่งคงไม่จบในวันเดียว เพราะไม่ได้แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีอยู่ด้วย ส่วนรายละเอียดอื่นขอให้ไปคุยนอกรอบ เวทีนี้ยังเปิดอยู่หากจำเป็นก็ยินดีเปิดเวทีให้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ นพ.ประดิษฐต้องไปทำงานต่อโดยคณะทำงานหรือคณะกรรมการแล้วมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาคุยกันด้วยบรรยากาศแบบนี้ และมีการกำหนดระยะเวลา ซึ่งนายกฯ ไม่อยากให้ใช้เวลานาน ซึ่งอะไรที่เยียวยา ชดเชย ทาง รมว.สธ.จะไปดำเนินและมีการรายงานให้ ครม.รับทราบในการประชุมสัปดาห์หน้า
 
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ข้อสรุปจากการเจรจาในวันนี้จะมีการเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งทุกเห็นฝ่ายด้วยกับความสำคัญในการดึงบุคลากรให้อยู่ในชนบท ผ่านมาตรการสำคัญคือด้านการเงิน เพื่อลดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำรายได้บุคลากรทางการแพทย์ โดยในการทำ P4P เป็นเรื่องที่ต้องมีบริบทการทำงานของแต่ในละพื้นที่ ในระดับสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน
 
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ได้พูดแต่ต้นแล้วว่าการทำ P4P ต้องมีกติกากลางเพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำร่วมกันได้ จึงมีข้อตกลงกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยแพทย์จาก รพ.ทุกระดับ สัดส่วนแพทย์ชนบทอาจมากหน่อย มาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และระหว่างให้มีการเยียวยา หน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการและที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ P4P หวังว่าต่อจากนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลพัฒนา P4P ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีทิฐิ
 
 
เผยตั้ง ดร.คณิต แสงสุพรรณ เป็นประธานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่
 
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นหลักคือเรื่องแรงจูงใจให้แพทย์ยังทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โดยยึดหลักการในระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 และใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2556 ให้มีการเยียวยาความเสียหายย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่จะสามารถออกระเบียบฉบับใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.2556 ตามที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน โดยมี ดร.คณิต แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการการเงินการคลัง สปสช. เป็นประธานคณะ ทั้งนี้ ในส่วนของรายระเบียบการจ่ายเงินที่จะออกใหม่นั้นต้องเหมือนกับฉบับที่ 4 และ 6
 
"เรื่องระเบียบ P4P นั้น ทาง สธ.เข้าใจว่าเกิดจากความไม่พร้อมของโรงพยาบาล จึงได้สั่งให้ชะลอการบังคับใช้ ส่วนจะนำการจะนำกลับมาใช้ได้นั้นก็อยู่ที่ว่า สธ.จะมีวิธีการทำให้โรงพยาบาลชุมชนใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ได้อย่างไร ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อหรือไม่นั้นขอดูมติ ครม.ในวันอังคารหน้าก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ถ้า ดร.คณิตมีความจริงใจ รัฐบาลไม่หักหลังเรา ก็จะยุติการเคลื่อนไหว" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
 
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่าใน ส่วนข้อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่งนั้นได้ยื่นข้อเสนอให้กับนายกฯ ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ดุลพินิจของนายกฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเจรจาสิ้นสุดลงพร้อมกับแถลงมติการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทั้งฝ่ายเครือข่ายผู้บริหาร สธ. และฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ต่างล้อมวงของตัวเองเพื่อปรึกษาหารือกันต่อ โดยในฝั่งของเครือข่ายฯ เกิดความไม่เข้าใจในมติที่ออกมา ซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า เป็นการคุยกันเนื่องจากยังมีความไม่เข้าใจในบางคำพูดเท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยื่น ‘กสทช.-อย.’ ฟันสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ-ความงาม ผิด กม.

Posted: 06 Jun 2013 11:19 AM PDT

มีเดียมอนิเตอร์-กพย.สุ่มศึกษาสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม พบ 96% ผิด กม. ผู้บริโภคเสี่ยง 'เสียรู้-เสียทรัพย์-เสียสุขภาพ-เสียชีวิต' เสนอ อย. กสทช. สตช. ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจัง ฉับพลัน เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน

 
 
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.56 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสนอผลการศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ พร้อมข้อเสนอแนะต่อ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
 
จากการศึกษาพบว่าปี 2555-2556 จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นสปอตวิทยุ การใช้ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย แบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ คือ โฆษณายา 26 ชิ้นสปอต จาก 18 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมดที่ส่งให้ตรวจสอบนั้นไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 
 
ในส่วนของเนื้อหาการโฆษณามีข้อความที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาดทั้งหมด 12 ชิ้นสปอต จาก 7 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างข้อความ เช่น ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ คืนความสวยตัวช่วยดีๆ ไม่มีอันตราย สมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิดเกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล
 
รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง พบ 11 ชิ้นสปอต จาก 9 ผลิตภัณฑ์ เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก ช่วยวัยสาวกลับคืนมา ไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ
 
ด้านการโฆษณาอาหาร 41 ชิ้นสปอต จาก 30 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นอาหารทั้งหมด ซึ่งตรวจพบว่าไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณาจำนวน 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 และมีการอวดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด เช่น อ้างว่าช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไต ฯลฯ
 
ส่วนที่เหลือเป็นการโฆษณาเครื่องสำอางจำนวน 4 ชิ้นสปอต จาก 4 ผลิตภัณฑ์ แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา
 
 
ทั้งนี้ทางมีเดียมอนิเตอร์และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยามีข้อเสนอแนะ ดังนี้ คือ
 
1. กสทช. ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง ในระดับภูมิภาค เช่น กสทช.เขต และควรร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการเพื่อให้มีการระงับการเผยแพร่อย่างทันเหตุการณ์ เร่งให้มีมาตรการหรือหลักเกณฑ์ ในทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกำกับดูแลกันเอง
 
2. การบังคับใช้กฎหมาย ต้องดำเนินคดีในประเด็นโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เนื่องจากมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก ต้องพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ควรมีฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาและฐานข้อมูลความผิดของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง อย.กับกสทช. เช่น การขอหลักฐานบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยให้ กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งหลักฐานให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกอากาศแล้วพบโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 
 
3. ผู้ประกอบการหากพบว่ามีผู้แอบอ้างโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนโดยผิดกฎหมาย ควรดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างนั้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณานั้นแต่อย่างใด
 
4. ประชาชน ควรงดการฟังวิทยุ และการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น รู้เท่าทันการโฆษณา ร่วมกันเฝ้าระวัง เป็นนักร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200
 
5. ด้านการปรับปรุงกฎหมาย ควรเร่งให้เกิดมาตรการการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้มีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในลักษณะโอ้อวดเกินจริง ซึ่งสามารถใช้สื่อสารในการโฆษณาได้ และไม่ให้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาได้ ควรปรับปรุงบทลงโทษในส่วนของการโฆษณาให้มีโทษหนักขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบทลงโทษโดยเฉพาะค่าปรับต่ำมาก มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการกระทำผิดกฎหมาย ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง
 
 
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า จะนำเรื่องร้องเรียนเสนอเข้าคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อนำเสนอต่อ กสท.ในเร็วๆ นี้ และในทางปฏิบัติจะรวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
 
ด้าน ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาระบุ จะนำข้อมูลจากผลการศึกษานี้ไปตรวจสอบและดำเนินตามกฎหมายต่อไป ในขณะเดียวกัน อย.อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการด้านวิทยุชุมชน และสร้างวิทยุชุมชนสีขาวที่เป็นแบบอย่างในการนำเสนอข้อมูลอาหารและยาที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองว่าด้วย ‘พลังงานไทย’ (6): ความจริงเกี่ยวกับก๊าซแอลพีจี

Posted: 06 Jun 2013 10:07 AM PDT

 
พันธมิตรเสื้อเหลืองที่สวมเสื้อคลุม "กลุ่มทวงคืนพลังงาน" และ "กลุ่มทวงคืน ปตท." ยังมีประเด็นโจมตีรัฐบาลที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ นโยบายก๊าซแอลพีจี
 
ก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจาก 3 แหล่งคือ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง (ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น) ได้จากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซของ ปตท. และได้จากการนำเข้าจากต่างประเทศ สาเหตุหนึ่งของราคาน้ำมันแพงในประเทศไทยคือ การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้อุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี
 
เช่น ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 น้ำมันเบนซินมีราคาขายปลีกลิตรละ 45.15 บาท เป็นเงินสมทบกองทุนฯ ถึง 9.70 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซลต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ ลิตรละ 3.40 บาท แก๊ซโซฮอล 95 E10 สมทบลิตรละ 3.50 บาท
 
ประมาณตัวเลขในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 มีเงินเข้าสมทบกองทุนฯ ทั้งสิ้น 254.58 ล้านบาท โดยได้จากน้ำมันดีเซลมากที่สุดคือ 192.20 ล้านบาท จากน้ำมันเบนซิน 18.62 ล้านบาท น้ำมันก๊าซโซฮอล 95 E10 จำนวน 30.42 ล้านบาท และน้ำมันก๊าซโซฮอล 91 E10 จำนวน 12.74 ล้านบาท รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนฯสูงมากเพราะเหตุใด?
 
ข้อมูลแสดงว่า ในวันเดียวกัน กองทุนมีรายจ่ายรวม 57.86 ล้านบาท รายการใหญ่ที่สุดคือ อุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี สูงถึง 52.28 ล้านบาท นอกนั้น เป็นการอุดหนุนราคาก๊าซโซฮอล 95 E20 และก๊าซโซฮอล 95 E85 รวมกันประมาณ 5 ล้านบาท แต่ทำไมถึงต้องอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี?
 
ราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจะกำหนดตามราคาตลาดโลก (เช่นเดียวกับ ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่กลั่นได้) ซึ่งใกล้เคียงกับราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้า ปัจจุบัน ราคาตลาดโลกแกว่งตัวในช่วง 750-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือประมาณ กก.ละ 20-30 บาท ส่วนต้นทุนก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซอยู่ที่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ กก.ละ 16.92 บาท
 
แต่ปัจจุบัน รัฐบาลกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นไว้ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับ กก.ละ 9.72 บาท ซึ่งต่ำกว่าทั้งราคาตลาดโลกและต้นทุนที่โรงแยกก๊าซ รัฐบาลจึงต้องชดเชยส่วนต่างให้กับโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และผู้นำเข้า ในปี 2555 กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนถึง 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาขายปลีกเพียง กก.ละ 18.13 บาท และภาคขนส่งเพียง กก.ละ 21.38 บาท ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกับเวียดนาม (59 บาท) ลาว (49 บาท) กัมพูชา (45 บาท) พม่า (34 บาท) อินโดนีเซีย (23 บาท) และมาเลเซีย (20 บาท)
 
นโยบายอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่การเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมันเมื่อปี 2534 โดยรัฐบาลเวลานั้นได้ใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นเพิ่ม แต่กลับตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไว้ และกลายเป็นมาตรการที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันในขณะที่ราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นโดยตลอด
 
การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่สะท้อนความหาได้ยากที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก เป็นผลให้ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และเกิดการบิดเบือนการใช้พลังงาน โดยในภาคขนส่ง ได้มีการดัดแปลงยานพาหนะเบนซินมาใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนมาก (ปี 2555 เพียงปีเดียว เพิ่มถึง 2 แสนคัน รวมเป็นทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านคัน) ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เลิกใช้น้ำมันเตา หันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทน จนประเทศไทยกลั่นได้น้ำมันเตาเหลือใช้ ต้องส่งออกจำนวนมากทุกปี
 
ผลก็คือ ประเทศไทยจากที่เคยผลิตก๊าซแอลพีจีเหลือใช้และส่งออกได้ถึงวันละ 3 หมื่นบาร์เรล กลายเป็นติดลบ ผลิตไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2551 โดยในปี 2555 ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึงวันละ 55,000 บาร์เรล เป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงขั้นติดลบ
 
รัฐบาลที่ผ่านมาจึงพยายามที่จะลดการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี แต่ก็ถูกต่อต้านจากพันธมิตรเสื้อเหลือง "กลุ่มทวงคืนพลังงาน" มาโดยตลอด ในทางตรงข้าม คนพวกนี้กลับโยงประเด็นราคาก๊าซแอลพีจี ไปโจมตีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบอีก โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลขึ้นราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีเพื่อไปอุดหนุนกำไรของ ปตท.และให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อก๊าซแอลพีจีในราคาต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลุ่มโอเลฟินส์ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกประเภท PP ได้รับการส่งเสริมในช่วงปลายยุค 2520 โดยใช้วัตถุดิบก๊าซจากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซของ ปตท.โดยตรง ขณะที่ครัวเรือนในยุค 2530 ได้รับก๊าซหุงต้มจากโรงกลั่นเป็นหลัก แต่การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีก็ทำให้การใช้ก๊าซในภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรมขยายตัวมากจนผลผลิตจากโรงกลั่นไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ปตท.ก็ต้องแบ่งก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซมาให้ด้วยเช่นกัน
 
ราคาก๊าซแอลพีจีที่ ปตท.ขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีนั้น ถูกกำหนดให้แปรผันขึ้นลงตามราคาเม็ดพลาสติก PP ในตลาดโลก โดยมีช่วงราคาระหว่างต้นทุนที่โรงแยกก๊าซ 16.92 บาทต่อ กก.แต่ไม่เกินราคานำเข้าหรือราคาตลาดโลก (ประมาณ 30 บาท ต่อกก.) ฉะนั้น ราคาก๊าซแอลพีจีที่อุตสาหกรรรมปิโตรเคมีซื้อไปนั้นจึงมีราคาขึ้นลง บางช่วงอาจสูงถึงราคาตลาดโลก
 
"กลุ่มทวงคืนพลังงาน" อ้างว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายเงินสมทบกองทุนน้ำมันในอัตราเพียง กก.ละ 1 บาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายสมทบถึง กก.ละ 10.87 บาท ทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมมีราคาขายปลีกสูงถึง กก.ละ 28.07 บาท ซึ่งก็เป็นจริงบางส่วน แต่เบื้องหลังคือ ก๊าซแอลพีจีที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับนั้นมีจุดเริ่มต้นที่หน้าโรงกลั่นในราคาเพียง กก.ละ 9.72 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลได้ใช้เงินกองทุนไปอุดหนุนตั้งแต่ต้นน้ำเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายลดการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มแรก ฉะนั้น เมื่อถึงราคาขายปลีก รัฐบาลจึงได้จัดเก็บเงินสมทบกองทุนจากก๊าซแอลพีจีเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ให้ราคาขายปลีกเข้าใกล้ราคาตลาดโลก
 
นัยหนึ่ง รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนจากราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมก็เพื่อ "เอาคืน" เงินอุดหนุนราคาหน้าโรงกลั่นที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับไปก่อนหน้านั้นนั่นเอง
 
แน่นอนว่า เราอาจเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนน้ำมันจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอัตราสูงกว่า 1 บาท ต่อ กก. ได้โดยอ้าง "ความเป็นธรรม" แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีข้อแตกต่างสำคัญจากผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีภาคอื่นๆ คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ซื้อวัตถุดิบก๊าซแอลพีจีในราคาที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุน หากแต่ซื้อในราคาที่เคลื่อนไหวตามราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลก การจัดเก็บเงินกองทุนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงเป็นเสมือนการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นผลผลิตไปด้วย
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเม็ดพลาสติกมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างกว้างขวาง เม็ดพลาสติก PP เป็นพลาสติกหลัก (นอกเหนือไปจาก PVC) ที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมไทยแทบทุกสาขา ตั้งแต่รถยนต์ อิเล็กโทรนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเด็กเล่น ไปจนถึงภาชนะในครัว เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตครัวเรือนไทยทุกด้าน ยิ่งกว่านั้น เม็ดพลาสติก PP ยังเป็นสินค้าส่งออกในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมไทยอีกด้วย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นหลายแสนล้านบาทต่อปี การจัดเก็บเงินสมทบกองทุนในอัตราสูงจะมีผลกระทบลูกโซ่ถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำของไทยทั้งหมด ต่อสินค้าอุปโภคของครัวเรือนไทย และต่อการแข่งขันส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย แน่นอนว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบในการกำหนดนโยบาย
 
ถึงกระนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะจัดเก็บเงินสมทบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสักเท่าไร ก็ไม่มีผลให้ราคาก๊าซแอลพีจีที่ประชาชนใช้มีราคาถูกลง เพราะข้อเท็จจริงคือ ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งยังต่ำกว่าความเป็นจริงในตลาดโลก จนเกิดการใช้เกินตัวและใช้ผิดประเภท เป็นภาระแก่ผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ อยู่ดี และหนทางแก้ไขคือ ต้องลดเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งหมดด้วยมาตรการที่เหมาะสมและเป็นขั้นตอน
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน 'โลกวันนี้วันสุข' ฉบับวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครงการจำนำข้าว: วิกฤตหรือโอกาสของคนทำนาเช่า ?

Posted: 06 Jun 2013 08:59 AM PDT


บทความชิ้นที่สามของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

 

จากตอนที่แล้ว  จะเห็นแม้แรงจูงใจจากราคาขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำ จึงได้การกระจายที่นาจากผู้ถือครองที่ดินมายังผู้ทำนาเช่า  แต่หากมองในภาพรวมเมื่อราคาข้าวที่ขายได้เพิ่มขึ้น ราคาค่าเช่าก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย   คนเช่าและการเช่านาจึงมีรายละเอียดที่น่าสนใจ  ทั้งสภาพปัญหาของชาวนาเช่า  การปรับตัวและการรับมือของในรูปแบบต่างๆ

 

ใครบ้างที่ทำนา(เช่า) ?

สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้เช่านาที่มีมากกว่าผู้ที่ทำนาของตัวเอง  ชี้ให้เห็นถึงความนิยมต่อโครงการจำนำข้าว ปี 2554  และสะท้อนให้เห็นการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินไปพร้อมๆ กัน    ในขณะที่พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524  จะมีข้อกำหนดที่ว่าด้วยสัญญาเช่า และ ระยะเวลาการเช่านา ในมาตรา 26  [2]  แต่ในสภาพความเป็นจริงการบังคับใช้นั้นไม่เคร่งครัด แต่มีความยืดหยุ่น เช่นเดียวกันกับการกำหนดค่าเช่านาที่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกัน  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ให้เช่ามักมีอำนาจเหนือกว่าผู้เช่า  

ที่นาในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่ นั้น  มีที่นาหลายแปลงที่พ่อแม่เก็บที่นาไว้ให้ลูกหลาน   หรือในทางกลับกันคือลูกหลานชาวนาที่ไปประกอบอาชีพอื่นแล้วมีเงินทุนก็กลับมาสะสมทุนแทนโดยหาซื้อที่ดินในทุ่งเก็บไว้    หลายแปลงเป็นที่นาของครูหลายคนซึ่งเกษียนอายุราชการแล้วกลับมาทำ      หลายรายทำนาเป็นอาชีพเสริมแต่ให้รายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าอาชีพหลัก อย่าง ครู ทหาร  พ่อค้า  เจ้าหน้าที่ อ.บ.ต.  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย  ฯลฯ       โครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56  ที่ผ่านมา มีครู 1 รายที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ ก็เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นชาวนามือใหม่  เขาเรียกนาขนาด 21 ไร่ คืนจากผู้เช่าที่เช่าทำนามากว่า 10 ปี มาทดลองทำนาปรังและเพิ่งเกี่ยวไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา     

ชาวนาหน้าใหม่ อย่าง ธงชัย  นัยเนตร   (29 ปี) เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ม. 5 ต.ลาดชิด มาได้เพียง 1 ปี   เล่าว่า  ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ในอำเภอผักไห่ทำนากันทั้งนั้น  มาก-น้อย แตกต่างกันไป   ส่วนเขาเองเพิ่งทำนาได้ 2 ปี ควบคู่กับการทำบ่อปลา   ก่อนนั้น ธงชัยทำงานขับรถให้กับบริษัทลอจิสติกส์ และรถร่วมบริการที่กรุงเทพฯ อยู่ 2 ปี  เขาก็อยากกลับบ้าน  เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี  ไม่ค่อยมีงาน อีกทั้งราคาน้ำมันแพง  แต่รายจ่ายมีมากกว่ารายได้   

เมื่อ ต้นปี 2555  ธงชัยเรียกที่นาราว 60 ไร่ ที่เคยให้ชาวนารายอื่นเช่าคืน     แล้วบุกเบิกนาฟางลอยบางส่วน ราว 20 ไร่ ให้กลายเป็นนาปรัง ลงทุนราว 100,000 บาท    และเช่าที่นาเพิ่มอีกหลายแปลงรวมเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ค่าเช่านามีตั้งแต่ 1,000 – 1,500 บาท ซึ่งแปลงนาที่อยู่ติดริมคลองและถนนมักจะแพงกว่า  รวมพื้นที่นาปรังที่ทำ ณ ปัจจุบัน 80 – 90 ไร่   ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาสวาย 1 บ่อ ขนาด 4 ไร่  ชาวนาหน้าใหม่อย่างเขาบอกอีกว่า

"เราคิดว่า เราใช้ที่เราให้เป็นประโยชน์ เศรษฐกิจพอเพียงน่ะดีมากเลย  ผมก็อยากจะทำ   มีเนื้อที่ที่บ้าน 4 ไร่   อยากเปลี่ยนแปลงเป็นผสมผสาน  แต่ไม่มีเวลาจัดการ  เรามีค่าใช้จ่ายเยอะก็ต้องหาให้เยอะ  ทำนาก็ได้เงินเป็นก้อน    สมมติถ้าได้เงินเดือน 3 หมื่น ถ้าเกี่ยวข้าวได้กำไรหนึ่งแสน เฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นเหมือนกัน แต่หนึ่งแสนเราได้มาทีเดียว ถ้าเราได้มาทีละเดือน  เดือนละ 3 หมื่น เราจะเก็บให้ได้ถึงแสนไหม?   นี่เราได้ทีเดียวมาตูมนึงหนึ่งแสนเราเก็บเข้าธนาคารเลย เราไม่ได้ใช้ทีเดียวหมด แต่ถ้า 3 หมื่นเดือนหนึ่ง เดี๋ยวค่ากินค่าอะไรก็หมด"

ที่นากว่า 90 ไร่ มีเรื่องให้ผู้ใหญ่ชัยจัดการไม่น้อย  แต่ก็เขาก็สามารถจัดการนาได้โดยสะดวก ผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์คุยกับคนรับจ้างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย ฉีดยา รถปั่นนา และรถเกี่ยวข้าวซึ่งส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับรถ 6 ล้อสำหรับขนข้าวไปส่งโรงสี  ชาวนาที่มีทุนในกระเป๋ามากพออย่างเขายังเลือกใช้พันธุ์ข้าวในระดับเกรดA แทนการเก็บพันธุ์เอง เพราะคิดว่าให้ผลผลิตสูงและแน่นอนกว่าการเก็บพันธุ์เอง  และเลือกได้ว่าจะซื้อปุ๋ยและสารเคมีจากร้านค้าหรือสั่งตรงจากเซลล์ที่มาขายถึงบ้านพร้อมกับแผนโปรโมชั่นชนิดต่างๆ   เขายังเล่าถึงปัญหาการเรื่องความขัดแย้งในผลประโยชน์การใช้ที่นาไว้ด้วยว่า

"มียิงกันตาย  ชาวนาเดี๋ยวนี้ดุ เรื่องเช่านาบ้าง เรื่องทางน้ำบ้าง  เรื่องทางขึ้นลง  บีบกัน นาบางแปลงโดนล้อม  นาที่อยูข้างในจะเข้าไปทำต้องผ่านนาที่อยู่ริมถนน ริมคลอง  ต้องผ่านแผ่นดินของเขา  ถ้าเขาไม่ให้ผ่าน  ที่ไม่ให้ผ่านเพราะต้องทำถนนของคนที่อยู่ต้นน้ำ  ถ้าเจ้าของที่ต้นถนนไม่ให้ทำ คนข้างหลังก็ทำไม่ได้  กลายเป็นว่าเช่าริมถนนนาล้อมนาข้างอีก 100 – 200 ไร่ ไม่ได้ทำ ถ้าข้างหน้าไม่ให้ผ่าน  พอข้างในไม่ได้ทำ เจ้าของนาข้างในก็ให้คนริมคลองเช่าทำ  บังคับเอา   บางคนทำถนนเข้าไปแล้ว มีถนนแล้วแต่ทำไม่ได้  เพราะเจ้าของถนนเรียกค่าเข้า มีคลองแล้วสูบน้ำไม่ได้   ก็กลายเป็นทะเลาะกัน"

นั่นเป็นเพียงบางส่วน  ชาวนาที่นาตาบอดบางรายอาจยอมทำข้อตกลงจ่ายค่าผ่านทางกับเจ้าของที่นาที่อยู่ต้นทาง  เพื่อทำถนนและลำรางส่งน้ำเข้าไปใช้ในนาตัวเอง  ซึ่งมีทั้งซื้อที่ขายขาด หรือจ่ายเป็นค่าเช่าทางในแต่ละฤดูปลูก ตามแต่จะตกลงกัน

ชาวนาข้าราชการครู อย่าง สำราญ  ม่วงศรีทอง  (58 ปี) ซึ่งทำนาควบคู่ไปกับข้าราชการครูที่สอนวิชาเกษตรในโรงเรียนขยายโอกาส เป็นคนหนึ่งที่ทำนามาตั้งแต่เด็กมาจนถึงปัจจุบัน   พ่อของเขาเคยมีที่นา 40 ไร่ ในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่  อ.ผักไห่  แต่ต้องขายที่นาทั้งหมดเพื่อใช้เงินส่วนหนึ่งส่งลูกชาย 2 คน เรียนหนังสือจนถึงขั้นจบอุดมศึกษา ส่วนลูกสาวคนโตถูกพาไปเมืองกาญจนบุรีด้วยกันเพื่อบุกเบิกที่ดินแห่งใหม่เพื่อทำไร่ได้ไม่กี่ไร่ ทำอยู่ไม่นานก็กลับมาเลี้ยงวัว 40 ตัวในทุ่งนาน 10 ปี  ก็ต้องเลิกขายเพราะทุ่งและตัวอำเภอถูกพัฒนาจนหาหญ้าเลี้ยงวัวยากขึ้น   ราวปี 2527 สำราญเพิ่งเรียนจบราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เขาต้องกลับมาทำนาเช่าอีกครั้งควบคู่ไปกับการอาชีพครูที่โรงเรียนในอำเภอเสนาซึ่งไม่ไกลจากบ้านเกิดนัก  และทำนามาจนปัจจุบัน

ปัจจุบัน สำราญยังคงเช่านาผืนเดิมของพ่อจากเจ้าของนาคนใหม่ 2 คน จำนวน 3 แปลงรวมพื้นที่  32 ไร่  ดีที่ว่าเจ้าของที่นาคนใหม่นั้นไม่ต้องคิดค่าเช่าและให้สำราญทำนาเสมือนผู้ดูแลที่ดิน   ส่วนนาแปลงขนาด 9.5 ไร่ ซึ่งเจ้าของนาคนละคนกันนั้น  เขาก็จ่ายค่าเช่าถูกกว่าผู้เช่ารายอื่น คือแค่ ปีละ 10,000 บาท เท่านั้น  

เขาทำนาโดยใช้แรงงานตัวเองอย่างเข้มข้นเพื่อประหยัดต้นทุน และต้องจ้างงานญาติอีก 1 คน มาช่วย    เขายังเลือกรูปแบบการทำนาโดยเน้นการประหยัดต้นทุนการทำนา  เช่น  ดูปริมาณการแพร่ระบาดของแมลงมากน้อยจึงค่อยตัดสินใจฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    นาปรังครั้งที่ 1 ปี 2556 ที่ปลูกระหว่าง ธันาคม – มีนาคม ที่ผ่านมา  นาขนาด 9 ไร่ 1 แปลงเขาฉีดพ่นแค่เพียง 3 หนเท่านั้นเพราะแมลงศัตรูข้าวไม่แพร่ระบาดมาก   เขาไม่เลือกใช้ปุ๋ยชีวภาพเพราะเห็นว่า ปุ๋ยเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์ที่เสริมธาตุอาหารรองให้ผลผลิตได้มากกว่าและคุ้มค่ากว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวซึ่งมีราคาแพงมาก   อีกทั้งสหกรณ์ครูที่เขาเป็นสมาชิกก็มีปุ๋ยเคมีอินทรีย์ที่เขาต้องการใช้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด  นอกจากนี้เขายังเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธาตุอาหารเสริมแบบสารละลายที่ภรรยาของเขาเป็นสมาชิกขายตรงเพื่อให้รวงข้าวมีน้ำหนักดีอีกด้วย   

"ถ้าทำอาชีพอื่นด้วย   คนหนึ่งทำเต็มที่ได้ดีแค่ 20 – 30 ไร่  ดูแลได้ทั่วถึง  ทำให้ดี ดีกว่ารายได้จากที่เป็นครู เพราะว่าได้เงินเป็นกอบเป็นกำ  เหนื่อยมันก็คุ้มค่าเหนื่อย  ทำนาต้นทุนเฉลี่ยประมาณกว่า 4,000 บาท/ไร่  ถ้าข้าวราคาตันละกว่าหมื่นบาท ชาวนาจะได้กำไร 6,000 – 7000 บาท/ไร่   อยู่ที่ราคาด้วย  สมัยทักษิณดี  สมัยอภิสิทธิ์ไม่ดี   พอสมัยยิ่งลักษณ์ดี  สมัยอภิสิทธิ์ ได้ตันละ 6,500 – 8,500 บาท  บวกค่าชดเชยแล้วอย่างมากที่สุดก็ตันละ 10,000 บาท  สมัยทักษิณได้ตันละ 14,000 บาท   ยิ่งลักษณ์ได้ตันละกว่า 12,000 – 14,000 บาท  มันก็ดี ชาวนาตอนนี้ลืมตาอ้าปากได้   สมัยนี้ทำ 2 ปี 30 ไร่กว่า ชาวนาเดี๋ยวนี้มีรถกันทุกคนแล้ว  ดูรู้เลย"

สมชาย ม่วงศรี (64 ปี)  ชาวนาในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่ อีกราย ซึ่งแต่เดิมเป็นคนรับจ้างทำนาในทุ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งได้แต่งงานกับลูกสาวชาวนาซึ่งมีที่นาอยู่ 13 ไร่  เขาเป็นคนแรกในทุ่งที่บุกเบิกนาฟางลอยมาเป็นนาปรังเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อทำนาปรังได้ผลดีก็ค่อยๆ เช่าที่นาเพิ่มขึ้น   เขาเห็นว่าแนวโน้มราคาเช่านาเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดตามราคาข้าว จากแต่เดิมเคยจ่ายค่าเช่าเป็น ปีต่อปี เมื่อถึงยุค นายกสมัคร สุนทรเวช ซึ่งราคาข้าวดี ก็หันมาจ่ายค่าเช่าเป็น ฤดูปลูกต่อฤดูปลูก   ปัจจุบันเขาทำนาตัวเองและเช่า รวม 34 ไร่ ค่าเช่าที่นาของเขายังคงไร่ละ 1,000 บาท เท่ากับยุคประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะทำสัญญาเช่ากับเจ้าของนาซึ่งมีอายุสัญญา 5 ปี และ 6 ปี  และแม้เขาจะอยากเช่าที่นาเพิ่มอีก แต่ก็หาที่นาทำได้ยาก เพราะคนเช่านาแข่งกันเช่าและสู้ราคาไม่ไหว 

"ปรับทำนาปรังก่อนสมัครเป็นนายกไม่กี่ปี ตอนนั้นค่าน้ำมันถูกกว่าสมัยนี้ ค่าปรับเลยไม่แพง เริ่มทำ 13 ไร่ก่อน ครั้งแรกเจ๊ง ครั้งที่ 2 ถึงได้ทุนคืน  พอถึงสมัครเป็นนายกก็ได้กำไร แต่โดนโรงสีโกง จ่ายให้แค่ 60 % ของราคาข้าวเต็ม 140,000 บาท [3]   โครงการจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ดี เที่ยวนี้ข้าวดีด[4]  เยอะหน่อยก็ยังได้ไม่มาก  รุ่นอภิสิทธิ์แย่หน่อย ได้ตันละ 5,000 – 6,000 ส่วนต่างนิดหน่อย  บ้านนอกอย่างเราก็ต้องเลือกพรรคที่ให้ผลตอบแทนเราดี แบบนี้พอเหลือมั่ง ลืมตาอ้าปากได้  ของประชาธิปัตย์ได้น้อยมากแต่ไม่ขาดทุน"

 

ความหวังปลดหนี้และได้เป็นเจ้าของที่นาของ สมดี    

นายสมดี ตันติโน (49 ปี)  หนุ่มมหาสารคาม เคยมีอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่ ทำงานก่อสร้าง และเป็นลูกจ้างอยู่ในเรือประมงอยู่ 7 – 8 ปี  จนเมื่ออายุ 30 ปีเขากลับมาอยู่ ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่ บ้านเกิดของ บุญนาค -ภรรยา  จึงเริ่มอาชีพปั่นไอศครีมกะทิเร่ขายปลักอยู่ราว 2 ปี ควบคู่ไปกับการทำนา 30 ไร่  แล้วค่อยๆ หาที่นาเช่าเพิ่มขึ้นกว่า 100 ไร่ ได้จึงเลิกขายไอศครีมไปในที่สุด 

สมดีเล่าว่า นาแถบนี้มักมีนายทุนมากว้านซื้อทีเดียวเป็นแปลงติดต่อกัน  ในทุ่งหน้าโคกที่เขาเช่านาทำนั้น ก็มีบ่อดูดทรายอยู่หลายแห่ง และมีแนวโน้ว่าธุรกิจบ่อทรายจะต้องการทรายเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง      ชาวนาบางรายซึ่งขายที่นาที่เป็นแหล่งขุดทรายมักขายนาได้ราคาดีก็จะไปหาซื้อที่นาแห่งใหม่ที่ราคาถูกกว่าทำนา หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น 

"ตอนนี้มีนายทุนมากว้านซื้อไร่ละ  120,000 บาท  ปีนี้ (2556) ค่าที่มันเพิ่งจะมาขึ้น    มาซื้อ 1,000 กว่าไร่ ในทุ่งหน้าโคกไปยันอมฤต  แต่ก่อน 10 ปีมาแล้วไร่ละ 80,000 บาท ยังขายไม่ได้เลย ไม่มีใครเอา   ตรงที่เช่าทำนายังไม่ได้ขาย แต่เจ้าของเขาก็อยากได้เงิน  เขาก็บอกว่าขาย  ถ้าเขาขาย เจ้าของใหม่เขาไม่ให้ทำเลย  แต่คนเช่าเขารั้นทำกัน ก็ซื้อของเตรียมไว้หมดแล้ว" 

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2552  หลังชาวนาขายข้าวได้ราคาข้าวแพงจากรัฐบาลสมัคร  สุนทรเวช ไม่นาน  เจ้าของนาคนเดิมขายที่สมดีเคยเช่าทำนาขายที่นาให้คนชาวกรุงเทพฯ และห้ามไม่ให้เขาทำนานั้นอีก ทั้งที่มีสัญญาเช่า 6 ปี     ทำให้เขาขาดที่นาทำกินไปหลายสิบไร่  เขาตัดสินใจขอยืมเงินจากน้องสาวซึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศมาซื้อที่นา 38 ไร่ ในทุ่งลาดชะโด ม.11 ด้วยมูลค่า 3 ล้านบาทโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย   แล้วลงทุนปรับที่เป็นนาปรังและเช่าที่นาเพิ่ม    แต่ปีต่อมา การทำนากว่า 140 ไร่ ของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จ    เพราะนาปรังครั้งที่ 1 ปี 2553 นั้นเขามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่แพร่ระบาดรุนแรง  ส่วนนาปรังครั้งที่ 2 ปีเดียวกันเจอภัยแล้งต้นฤดูจนต้องทอยน้ำจากแม่น้ำใหญ่เข้านาถึง 4 ทอด แต่ในช่วงก่อนเกี่ยวข้าวกลับมีน้ำเหนือไหลบ่าจนคลองชลประทานต้องระบายเข้าทุ่งนาปกติกว่า 10 วัน  จนต้องเกี่ยวเขียวแต่ขายข้าวไม่ได้  เขาขาดทุนกว่า 500,000 บาท และเป็นหนี้ปัจจัยการผลิตที่ร้านให้เครดิตในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/เดือน ซึ่งโดยปกติลูกหนี้มักต้องชำระกันหนี้หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะนำปัจจัยการผลิตงวดใหม่มาใช้ในรอบถัดไป 

เมื่อประกอบกับความไม่พอใจกับแหล่งรับซื้อข้าวของโครงการรับจำนำที่มีเพียงแห่งเดียวในอำเภอผักไห่  ซึ่งเขาเห็นว่าโรงสีที่สุพรรณบุรีมักซื้อข้าวในราคาที่ให้ชาวนาดีกว่าที่ผักไห่ แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าขนข้าวให้กับรถรับจ้างด้วย เพราะโรงสีจ่ายส่วนนี้แทน    ส่วนโรงสีที่ผักไห่มักกดราคาโดยอ้างความชื้นข้าวและทำให้เขาขายข้าวได้ราคาแค่เพียงตันละ  10,700 – 11,000 บาท ในฤดูนาปรังครั้งที่2 ปี 2555 ที่ผ่านมา และยังได้รับเงินสดช้ากว่ากำหนด  อีกทั้งกระบวนการขั้นตอนในโครงการจำนำข้าวมีความยุ่งยาก  ทำให้เขาเห็นว่า โครงการประกันรายได้ตอบสนองกับเขามากกว่าโครงการรับจำนำข้าว  แม้การขายข้าวและได้รับค่าชดเชยส่วนต่างอัตราประกันราคาข้าวไม่เคยถึงตันละ 10,000 บาท  แต่ก็ยังทำให้เขาได้รับเงินสดทันทีที่นำข้าวไปขายเพื่อนำเงินสดนั้นมาลงทุนรอบใหม่ และหากผลผลิตต้องประสบภัยหายนะจากแมลงระบาดและน้ำท่วม เขาก็ยังได้ค่าชดเชยส่วนต่างจากราคาขายข้าวด้วย แม้จะได้ตามโควต้าครอบครัวละ 25 ตัน/ครอบครัวก็ตาม 

 

สมดีปรับเทคนิคการผลิตเตรียมรับเปิดเสรี AEC

เมื่อมีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์   สมดียังจ่ายค่าเช่านาเท่าเดิม  ค่าปุ๋ยค่ายาไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก เช่นเดียวกับค่าจ้างฉีดพ่นสารเคมี  ค่าเกี่ยวข้าว และค่าขนข้าว  ส่วนการตีเทือกและปั่นนานั้นเขาลงแรงเอง   เขาหาวิธีประหยัดต้นทุนโดยการเช่ายืมรถปั่นนาจากญาติที่ทำนาอยู่ด้วยกัน คิดค่าเช่าเป็นเงินไร่ละ 100 บาท และต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง ซึ่งเนื้อที่นา 1 ไร่ใช้น้ำมันประมาณ 2 ลิตร   ในขณะที่หากญาติผู้นั้นต้องการปั่นนา 40 กว่าไร่นั้น ก็ต้องจ้างเขาขับรถปั่นในอัตราจ้างไร่ละ  20 บาท  ส่วนค่าจ้างปั่นนาทั่วไปมีราคาไร่ละ  200 – 300 บาท  

เขายังติดตามฟังข่าวและรายการความรู้ทางการเกษตรเป็นประจำจากรายการ "สีสันชีวิตไทย  วิทยุเพื่อการเกษตรและอาชีพเสริม" ทางคลื่นวิทยุกองพล ปตอ.   และนำความรู้การทำน้ำหมักสมุนไพรแบบต่างๆ มาปรับใช้รวมทั้งยังบริโภคปัจจัยการผลิตบางชนิดที่โฆษณาในรายการนี้ด้วย    

"มีเวลาอีก 2 ปี  คนจัดรายการเป็นทหาร รายการนี้ดังมาก  เขาบอกให้เราลดต้นทุน   จะลดต้นทุนจริงๆ ก็ตอนเปิดอาเซียนนี่แหละ  เขาว่าเปิดเสรีข้าวก็จะเอาของนอกเข้ามาได้  อย่างเรารัฐบาลเคยช่วยเหลือเกวียนละหมื่นกว่าก็สู้กับเขาสิ  ถ้าสู้ไม่ได้ก็ต้องลดราคาต่ำกว่า  อย่างของเขา 6,000 บาท คุณก็ต้องขาย 6,000 บาท   ที่เขาเอาข้าวเวียดนามมาขาย  ถังละ 30 – 40 บาท ทำไมถูกอย่างนั้น    ตอนนี้ก็ลดต้นทุนอยู่  ลดปุ๋ยไปเยอะแล้วนะ  ทุกทีใช้ 5 ตัน นี่แค่ตันเดียว  ยาเราก็เอาจำเป็นที่ฉีด"  

นอกจากจะใช้น้ำหมักสมุนไพรแล้ว เขายังใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดแมลง ฮอรโมน  โดยนำอุปกรณ์เครื่องฉีดพ่นแบบลากสายมาใช้เพื่อประหยัดค่าจ้างแรงงานที่ฉีดแบบเครื่องฉีดพ่นสะพายหลังได้ถึงไร่ละ  25 – 30 บาท  และการใช้เครื่องหว่านปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตราส่วน 2 : 1  ทำให้การหว่านปุ๋ยกระจายตัวได้มากขึ้น  ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ลดลจากไร่ละ 50 – 70 กก. เป็น ไร่ละ 25 - 30 กก.  ซึ่งทำให้เขาได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจคือไม่ต่ำกว่าไร่ละ  85 ถัง   เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าปุ๋ยอินทรีย์ดีต่อต้นข้าวก็จริง แต่หากใส่มากเกินไปจะทำให้ดินนุ่มและทำให้รถเกี่ยวข้าวตกหล่มได้ง่าย

สิ้นปีการเพาะปลูก 2555/56  เขาทำนาได้กำไรเพิ่มขึ้น และเพิ่งล้างหนี้เก่าเมื่อปี 2553  จากการทำนา  120 ไร่  โดยแบ่งส่วนที่ดินในการขึ้นทะเบียนชาวนา ให้กับตัวเอง   ลูกเขยคนโตซึ่งทำงานเป็นขับรถรับ-ส่ง คนงานในโรงงาน กับ ลูกเขยคนเล็กที่เพิ่งปลดประจำการทหารเกณฑ์เมื่อไม่นาน   และลูกชายคนเล็ก คนละ 40 ไร่     และเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2556 นี้  ครอบครัวของสมดีทยอยเกี่ยวข้าวไปเกือบหมดแล้ว   ด้วยสภาพแล้งจัดตอนเกี่ยวทำให้ปีนี้ขายข้าวได้ตันละ  12,500 – 13,000 บาท  เขาคิดว่าราคานี้น่าพอใจ   และทำให้เหลือกำไรจากขายข้าวอยู่ราว 500,000 บาท  ค่าเช่านาปีนี้ยังจ่ายอยู่ที่ไร่ละ 13 ถัง  ส่วนปีหน้าเจ้าของนาเช่าขอขึ้นค่าเช่าเป็น 15 ถัง โดยเก็บค่าเช่า ณ วันที่ขายตามราคาใบเสร็จจากโรงสี     อย่างไรก็ตามเขายังกังวลว่าเขาต้องรอเงินสดจาก ธกส. นาน  และในเดือนพฤษภาคมอาจจะไม่ได้ทำนาปรังครั้งที่ 2 ถ้าไม่มีน้ำปล่อยมา   แต่หากยังพอมีน้ำในลำรางเหลืออยู่บ้าง เขาอาจจะต้องปรับตัวไปปลูกพืชผักอายุสั้นที่ทนแล้ง ตามหัวคันนาแทน

 

การปรับตัวของชาวนาเช่าที่ถูกเรียกนาคืน

ประทุม มหาชน (62 ปี) ชาวนา ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่ ไม่โชคดีจากการเช่านาอย่าง สำราญ และสมชาย และไม่มีกำลังทุนสะสมมากพอที่จะจับจองที่นาเป็นของตัวเองได้อย่างสมดี

ประทุม เป็นชาวนาในทุ่งลาดชะโดอีกรายที่ถูกเรียกนาคืน    ปี 2555  เจ้าของนาเรียกคืนนาเช่า 18 ไร่ ล่วงหน้าก่อน 1 ปี  ทำให้เธอได้ขายข้าวนาปรังเข้าโครงการได้ 2 เที่ยว ปัจจุบันเธอทำแค่ที่นาตัวเองขนาด 11 ไร่ ในทุ่งนาคูที่อยู่ห่างออกไปจากทุ่งลาดชะโดราว 6 กิโลเมตร  นาของเธอได้ผลผลิตดีไม่เคยต่ำกว่า 90 ถัง/ไร่  และแม้อยากจะทำนาอีกแต่ก็ไม่มีที่นาให้เช่าทำ และไม่คิดลงทุนเช่าที่นาฟางลอยเพื่อบุกเบิกดินที่เป็นนาปรังอีก    อย่างไรก็ตาม เสน่ห์  สามีวัย 64 ปีของประทุม เปิดร้านเหล็กดัดในหมู่บ้านมาหลายปีแล้ว  โดยมีลูกชายคนโต วัย 39 ปี ช่วยงานทั้งในนาและในร้านเหล็กดัดและทำไร่ที่นครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ดินของภรรยา   ส่วนลูกสาวอีก 2 คน นั้นเป็นนางพยาบาลและทำงานโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา   

ประเสริฐ พุ่มพวง (46 ปี)   หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 และเคยทำงานทั้งในโรงงานเย็บหนัง เป็นช่างในบริษัท และวิ่งขายกุ้งอยู่ 6 ปี แม้จะมีเงินสดผ่านเข้าออกมือของเขาจำนวนมาก แต่ประเสริฐเริ่มเหนื่อยหน่ายกับงานแล้วหันกลับมาทำนา  ด้วยความคิดว่า ทำนาอิสระกว่าทำงานในโรงงาน  และโอกาสถูกโกงจากการทำนาน้อยกว่าการเป็นช่างรับเหมาของบริษัท 

เขาต้องการเช่าที่นาประมาณ 30 ไร่/ฤดูปลูก  นอกจากเขาจะเช่าแปลงนาหลังบ้านขนาด 10 ไร่ ซึ่งเป็นของพี่สาวแล้ว เขายังต้องหานาเพิ่มอีกหลายแปลง  ทั้งในทุ่งลาดชะโดม.9 และที่ทุ่งลำตะเคียน ต.ลำตะเคียน  ซึ่งห่างจากบ้านเขาไปราว 10 กม.     

นาเช่าที่ลำตะเคียนขนาด 6 ไร่ ซึ่งประเสริฐเช่ามากว่า 10 ปี นั้นเจ้าของนาคนเดิมเพิ่งขายให้กับเจ้าของใหม่เมื่อ 6 – 7 ปีก่อน  ดีที่เขายังตกลงของเช่าต่อจากเจ้าของนาใหม่ได้  และทำสัญญาปีต่อปีมาโดยตลอด   เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2555  ค่าเช่านายังคงค่าเช่าที่ไร่ละ 1,000 บาท   ส่วนแปลงนาอีกแปลงที่ประเสริฐเช่าในทุ่งลาดชะโด ม. 9 ขนาด 6 ไร่ ซึ่งเช่าทำนามานานกว่า 10 ปีนั้น เขาทำสัญญาเช่า ฤดูปลูกต่อฤดูปลูก โดยมีเงื่อนไขเหมือนกันทุกปีว่า ในช่วงฤดูนาปรังครั้งที่ 2    ประเสริฐต้องงดทำนาเพื่อให้เจ้าของนาเรียกนากลับไปทำนาฟางลอยเอง   เมื่อเริ่มเข้าสู่การทำนาปรังครั้งที่ 1 ต้นปี 2555 นั้น จุกต้องจ่ายค่าเช่านาปรังแปลงนี้เพิ่มจากไร่ละ  1,000 บาท เป็น 1,400 บาท  โดยที่เจ้าของนาให้เหตุผลว่าราคาข้าวที่ขายได้เพิ่มขึ้น

ทำนาลดต้นทุนของประเสริฐ

เมื่อต้นทุนค่าเช่านาเพิ่มขึ้น ประเสริฐจึงหันมาลดต้นทุนการผลิตในด้านอื่นแทน   เขาเคยดูรายการโทรทัศน์เพื่อฟังเช็คข่าวการเกษตรอยู่เป็นประจำในช่วงเช้ามืด และหันมาสนใจทดลอง บิเวอเรีย [5] สมุนไพร และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อควบคุมศัตรูพืชแทนสารเคมีกำจัดแมลง   แต่จะต้องรักษา ผลผลิต/ไร่ ให้ไม่ต่ำกว่า 80 ถัง   เขาจึงใช้วิธีหว่านพันธุ์ข้าวหนาไร่ละ 3  ถัง  โดยเลือกซื้อพันธุ์ข้าวจากนาที่เขาเห็นว่าสวยดีแล้วนำมาตากแห้งเองเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช     

การทำนาปรังลดต้นทุนนาในฤดูปลูกครั้งแรก ปี 2555 นั้นเขายังใช้ปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  และเมื่อผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ  เขาจึงขยายการทดลองเพิ่มในแปลงนาปรังครั้งที่ 2 ที่เขาทำทั้ งหมด แต่งดการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป และฮอร์โมนไข่ ทดแทน    ซึ่งผลผลิตน่าพอใจคือไร่ละ 90 – 100 ถัง เขายังบอกด้วยว่าที่ทุ่งลำตะเคียน เริ่มมีคนทดลองนาลดต้นทุนอย่างเขาราว 100 ไร่แล้ว  เขายังหวังว่าผลกำไรที่ได้จากการทำนา จะมีมากพอเพื่อสะสมทุนไว้ซื้อที่นาเป็นของตัวเอง   และการเป็นสมาชิก ธกส. จะช่วยให้เขาสามารถนำโฉนดเข้าไปฝากธนาคารเพื่อให้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ได้    

เมื่อเปรียบเทียบ ต้นทุน – กำไร จากการทำนาในโฉนดเช่าระบุขนาด 10 ไร่ ซึ่งพื้นที่ใช้ทำนาจริง 7 ไร่  ประเสริฐเสียค่าเช่านาในราคาเต็มตามโฉนดและได้ค่าชดเชยส่วนต่างราคาประกันในโครงการประกันรายได้ เมื่อปี 2554 ตรงตามที่นำโฉนดไปขึ้นทะเบียน  คือไร่ละ 78 ถัง จากอัตราชดเชยตันละ 2,818 บาท ณ วันที่เกี่ยวข้าวขายตามที่ขึ้นทะเบียนไว้  ปีนี้มีเพลี้ยระบาดพอสมควร เขาผลิตข้าวได้ 6.69 ตัน และขายได้ในราคาตันละ 6,800 บาท เมื่อเทียบ ต้นทุน-กำไร ที่เขาขายข้าวในโครงการรับจำนำปี 2555 ในราคา 11,000 บาท ซึ่งได้ใช้วิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุน   ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยคือ 7 ตัน  และใช้ตัวเลขของการผลิตปี 2555 เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของผลกำไร ระหว่างการเช่านาในระบบปกติ กับระบบที่โฆษณาปุ๋ยอินทรีย์ที่ระบุว่าจะบริษัทดังกล่าวมีที่นาอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งให้ชาวนาที่อยากทำนาอินทรีย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากการทำนาอินทรีย์  และหากขายข้าวได้กำไรบริษัทต้องการเพียงผลกำไรครึ่งหนึ่งเท่านั้น

จะเห็นชัดเจนว่า  ระบบการผลิตแบบลดต้นทุนของประเสริฐในปี 2555  ลดต้นทุน/ไร่  และต้นทุน/ตัน  จากปี 2554 ได้ ถึง 18 และ 23 %     ข้าวที่ขายเข้าโครงการจำนำมีผล กำไร/ไร่ และกำไร/ตัน สูงสุด ที่ 5,741 บาท  รองลงมาคือ  ปี 2554 ที่ขายในโครงการประกันราคา คือ 4,450 และ  4,660 บาท   ส่วนการผลิตในระบบโฆษณา ประเสริฐได้ประโยชน์น้อยที่สุด คือเพียง  3,174  บาทเท่านั้น  (ดูตารางข้างล่างประกอบ)ที่น่าสนใจก็คือ ในระบบโฆษณาดังกล่าว หากประเสริฐยิ่งขวนขวายหาวิธีลดต้นทุนมากเท่าไหร่ ผลกำไรที่ได้เพิ่มขึ้นของประเสริฐก็จะถูกหักครึ่งหนึ่งเสียก่อนทุกครั้งเสมอ  จึงเป็นที่น่าดีใจว่า นี่เป็นเพียงภาพจำลองที่ประเสริฐยังไม่ได้เข้าไปใช้ที่ดินของบริษัทปุ๋ยอินทรีย์นี้เพื่อทำการผลิตของบริษัทดังกล่าว  

นอกจากการทำนาแล้ว ประเสริฐยังรับจ้างหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ทั้งในทุ่งลาดชะโดและลำตะเคียน  เขามีลูกค้าประจำกว่า 40 ราย    เมื่อมีการขยายที่นาปรังในทุ่งลาดชะโดเพิ่มขึ้น   เขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำนาลดต้นทุนแต่เสียโอกาสในการออกรับจ้างฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    และเขายังคงหารายได้เสริมจากการรับจ้างหว่านปุ๋ย    ตีเทือก และรับเหมาทาสีบ้านแทน    

"ตอนที่รับจ้างออกฉีดยาหว่านปุ๋ยก็เยอะทุกวัน    ถ้ารับทุกวันก็มีทุกวัน  ใน 1 ฤดูปลูก ถ้ารับจ้างฉีดยาหว่านปุ๋ยหว่านข้าวประมาณ 30 วัน ค่าจ้างไร่ละ 50 บาท  เฉลี่ยวันละ 400 บาท  ประมาณวันละ 10 ไร่  แต่เราไม่ได้รับ   เพราะห่วงทำของตัวเองมากกว่า  จังหวะชนกัน    ตอนนี้หันมารับจ้างย่ำนา (ตีขลุบหรือตีเทือก) ได้ไร่ละ 200 บาท  ปีนี้รับไป 2 แปลง  10 กว่าไร่  แต่รุ่นเปิดใหม่ไม่แน่ เพราะมีหลายเจ้า  ปีนี้เปิดเยอะ ทุ่งนี้ตอนนี้วิ่งไปเปิดหมดแล้ว  เมื่อก่อนเป็นนาปีหมดเดี๋ยวนี้ไปดูใหม่เป็นนาปรังหมดแล้ว"

เขายังหวังว่าผลกำไรที่ได้จากการทำนา จะมีมากพอให้เขาสะสมทุนไว้ซื้อที่นาเป็นของตัวเอง   ซึ่งมีจ่ายค่าใช้จ่ายประจำวัน วันละ 300 บาท  และมีค่าใช้จ่าย 2,000 บาท/สัปดาห์ จากการที่เขาต้องพาภรรยาที่ป่วยจากที่เคยทำงานในโรงงานอุตสากรรมไปล้างไตที่โรงพยาบาลในตัวเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งห่างจากบ้านราว 25 ก ม. แม้เธอจะมีบัตรทอง 30 บาทยุคใหม่ก็ตาม    

จะเห็นว่า ทุกกรณีศึกษาที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น  ชาวนาได้เข้าสู่ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ  แต่ละรายต่างพยายามหาช่องทางเข้าถึงปัจจัยการผลิตสำคัญอย่าง ที่ดิน และน้ำ และทำนาในขนาดที่มากพอจะให้เกิดความประหยัดจากการเพิ่มขนาดการผลิต (economic of scale) ควบคู่ไปกับการแสวงหาความรู้ และนำมาปรับใช้เทคนิคการผลิตเพื่อลดต้นทุนในแบบต่างๆ      ส่วนชาวนารายย่อยที่ขาดแคลนทุนจะปรับตัวเป็นแรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลางอย่างไร  โปรดติดตามตอนหน้า




[1]  บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  "โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว"  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] ดูเพิ่มเติมที่  http://www.reic.or.th/law/lawfile/law030826120223.pdf

[3] ดูเพิ่มเติมที่   "ชาวนาร้อง"ดีเอสไอ"ถูกโกงค่าข้าว"  มติชน 23-03-2551  และ  " 'ดีเอสไอ' ช่วยเคลียร์โรงสีเบี้ยวชาวนา" มติชน 24 ส.ค. 51  

[4] ข้าวดีด เป็น วัชพืชที่ขึ้นปนในนาข้าว มีลักษณะคล้ายต้นข้าวมาก เมื่อปลูกข้าว ข้าวดีดจะโตไปพร้อมกับข้าว สังเกตแยกแยะได้ยาก จนกระทั่งข้าวดีดออกรวง ต้นจะสูงกว่าและออกรวงไวกว่าข้าว ช่วงนี้ชาวนาในเขตผักไห่และสุพรรณบุรีมักจะใช้วิธีกำจัดข้าวดีดด้วยวิธีการตัด(เฉาะข้าวดีดทิ้ง) เพราะปล่อยให้ข้าวดีดแก่และเมล็ดร่วงหล่นจะทำให้ผลผลิตนาข้าวเสียหาย 10 – 100 %

[5]ชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna )  จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง  สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด  กลไกการเข้าทำลายคือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลงในสภาพความชื้นที่เหมาะสม  จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน ในข้าว ใช้กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว และหนอนห่อใบ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีม็อบเสธ.อ้าย ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง

Posted: 06 Jun 2013 01:32 AM PDT

อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีผู้ชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ออกไปเป็นวันที่ 25 ก.ค.นี้ เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ

(6 มิ.ย.56) สำนักข่าวไทย รายงานว่า อัยการนัดฟังการสั่งคดีที่นายธเนศ หอมทวนลม ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) กับพวกรวม 127 คน ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กรณีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.55 พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนกองปราบปรามส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55 โดยสรุปความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 127 คน ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยแยกดำเนินคดี 3 สำนวน ประกอบด้วย สำนวนที่ 1 นายธเนศ หอมทวนลม กับพวกรวม 97 คน ที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ในวันที่ 24 พ.ย.55 สำนวนที่ 2 นายยี่ไทย ปิตะวนิค กับพวกรวม 16 คน ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวัน ในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย.55 และสำนวนที่ 3 น.ส.พิชญ์สินี พิพลัชภามล กับพวกรวม 14 คน ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวัน ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 พ.ย.55 อย่างไรก็ตาม อัยการมีคำสั่งเลื่อนฟังการสั่งคดีครั้งที่ 2 ออกไป เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ โดยนัดฟังการสั่งคดีอีกครั้ง วันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.55 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ในเขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาวันที่ 24 พ.ย.55 กลุ่มผู้ต้องหาได้ฝ่าฝืน โดยเข้าไปในพื้นที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งนายสมสมัย นิทาจิ๊ ผู้ต้องหาที่ 30 ได้ขับรถบรรทุก 6 ล้อ พุ่งชนแนวเจ้าหน้าที่ ซึ่งยืนควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ อันเป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนประกาศของเจ้าพนักงานที่ห้ามบุคคลเข้า-ออกในพื้นที่ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ขณะที่ผู้ต้องหาบางรายมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 139 อีกด้วย ส่วนคดีที่นายสิงห์ทอง บัวชุม แจ้งความกับพนักงานสอบสวนนครบาล กล่าวหา พล.อ.บุญเลิศ หรือ เสธ.อ้าย ประธาน อพส. กับพวก ซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุมรวม 11 คนนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ของพนักงานสอบสวน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯ สมช.รับศึกษาความเป็นไปได้ จัดการปกครอง 3 จว.ชายแดนใต้

Posted: 06 Jun 2013 01:24 AM PDT

เลขาฯ สมช. รับอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอนายกฯ มาเลเซีย ที่ให้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเขตปกครองพิเศษ ชี้ไม่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน ด้าน ยิ่งลักษณ์ สั่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน


(6 มิ.ย.56) เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เวลา 11.30 น. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการไปปรับแผนเพื่อให้การปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมงบประมาณบ้าง โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ส่วนเรื่องการคมนาคมก็ให้มีการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่เป็นจุดล่อแหลมต่างๆ ส่วนจะต้องเพิ่มงบประมาณลงไปเท่าไหร่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยให้สำนักงบประมาณ ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด กอ.รมน. และศอ.บต.โดยตรง เพราะทิศทางมีชัดเจนแล้ว เพียงแต่ให้ไปลงรายละเอียด และเสนอกลับมายัง สมช.เพื่อจะได้นำเข้า ศปก.กปต. ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกำหนดการลงพื้นที่ภาคใต้ของนายกรัฐมนตรีนั้น ตอนนี้ยังไม่มีแผนงานแต่อย่างใด

เมื่อถามถึงกรณีที่นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย เสนอให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใช้รูปแบบการปกครองอิสระ คล้ายเขตปกครองพิเศษ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่กระทบ เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย คือไม่มีการพูดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องการปกครองท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ที่เหมาะสม เมื่อถามว่าแสดงว่าเห็นด้วยกับแนวทางที่นายนาจิบเสนอ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เราก็มีแนวทางของเราอยู่ แต่นัยที่นายนาจิบพูด ไม่ได้เป็นการมาแทรกแซงกิจการภายในของเรา เป็นกรอบที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปกครองตนเอง พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ตอนนี้มีกระบวนการพูดคุย และมีกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ในพื้นที่แล้ว ซึ่งมี 4-5 รูปแบบ แต่ยังไม่สามารถได้ข้อยุติว่าความเหมาะสมจะอยู่ตรงจุดไหน ต้องมีพัฒนาการต่อไป

"รูปแบบจะเป็นลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรามีตัวแบบอยู่แล้ว เหมือน กทม. พัทยา นครแม่สอดในอนาคตหรือแม้แต่ในปัจจุบันที่เป็นรูปแบบ ศอ.บต.ก็ถือเป็นรูปแบบการบริหารจัดการปกครองในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่กำลังจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง" พล.ท.ภราดร กล่าว

เมื่อถามว่าคิดว่ารูปแบบการปกครองดังกล่าวจะช่วยทำให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายลงไปได้หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวยอมรับว่า เป้าหมายของปัญหาที่แท้จริง สุดท้ายจะไปจบที่เรื่องการปกครองที่เหมาะสมในพื้นที่ สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิ.ย.นั้น ตอนนี้มีกรอบที่จะไปพูดคุยชัดเจนแล้ว เพียงแต่รอให้คณะทำงานสรุป จากนั้นจะนำเรียน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก่อนนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ที่เริ่มกระทำกับข้าราชการระดับสูงในพื้นที่นั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ความจริงเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบคือฝ่ายข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แต่อยู่ที่จังหวะที่เขาจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่  ดังนั้นต้องมีการระมัดระวังความปลอดภัยมากขึ้น สำหรับเหตุระเบิดที่เทศบาลเมือง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คนร้ายไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่ป่วนให้เกิดสถานการณ์ในพื้นที่เท่านั้น
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ รับน้องต้องเคารพสิทธิมนุษยชน

Posted: 05 Jun 2013 11:17 PM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ห่วงกิจกรรมรับน้อง แนะสถาบันการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการทำกิจกรรม ชี้หากมีการละเมิดสิทธิ-ทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด


(6 มิ.ย.56) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรื่อง การรับน้องต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ระบุ สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของนักศึกษาในสถาบัน โดยจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมกับสโมสรนักศึกษาและนักศึกษารุ่นพี่ เพื่อให้ทราบถึงข้อควรปฏิบัติหรือข้อที่ไม่ควรปฏิบัติในการจัดกิจกรรม พิจารณารายละเอียดกิจกรรมก่อนการอนุญาตให้จัด โดยแต่ละกิจกรรมควรมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด  และสถาบันการศึกษาควรมีการตรวจสอบและติดตามการทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาที่เข้าร่วม หากปรากฏมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษา หรือการกระทำผิดกฎหมาย สถาบันการศึกษาต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป

-------------


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง การรับน้องต้องเคารพสิทธิมนุษยชน

ด้วยในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของสถาบันการศึกษาหลายสถาบันว่า กิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์มีผลกระทบต่อสภาพร่างกาย และจิตใจ ของนักศึกษาน้องใหม่  แม้กิจกรรมดังกล่าวจะไม่ได้มีการบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม โดยนักศึกษาต้องสมัครใจในการเข้าร่วม แต่นักศึกษาใหม่ส่วนใหญ่เกรงว่าตัวเองจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือเป็นแกะดำในคณะหรือในรุ่น จึงยอมเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้องทั้งที่ตนไม่เต็มใจ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องในลักษณะนี้เป็นระยะๆ และได้เคยเชิญผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ถูกร้องเรียนเข้าประชุมเพื่อปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว  และมีความเห็นร่วมกันว่าสถาบันการศึกษา ควรให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของนักศึกษาในสถาบัน จำเป็นต้องจัดให้มีการประชุม ซักซ้อมความเข้าใจกับสโมสรนักศึกษาและนักศึกษารุ่นพี่ เพื่อให้ทราบถึงข้อควรปฏิบัติหรือข้อที่ไม่ควรปฏิบัติในการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ พร้อมทั้งชี้แจงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถาบันการศึกษาและตัวนักศึกษาเอง  ในการพิจารณาอนุญาตให้จัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ สถาบันควรพิจารณาในรายละเอียดของกิจกรรมว่าเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่สถาบันการศึกษาต้องการจริงหรือไม่ และในการจัดกิจกรรมทุกครั้งต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิดและสามารถตัดสินใจในเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดหรือไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น และสถาบันการศึกษาควรมีการตรวจสอบและติดตามการทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการรับน้อง หากปรากฏมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษา หรือการกระทำผิดกฎหมาย สถาบันการศึกษาต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
6 มิถุนายน 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อลงกรณ์ พลบุตร

Posted: 05 Jun 2013 06:38 PM PDT

"เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมงบประมาณมีเพื่อนๆ ทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยพูดสรุปตรงกันว่า คุณทักษิณกลัวการปฏิรูปของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้แข่งด้วยยากมาก แต่ว่าคนประชาธิปัตย์บางส่วนกลับกลัวการปฏิรูปมากกว่าคุณทักษิณ"

5 มิ.ย.56, รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนำเสนออร่าง "พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค" ในวง "กาแฟปฏิรูป" กับ บก.ลายจุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น