โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"เจ้ายอดศึก" ไปย่างกุ้งเพื่อเจรจากับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

Posted: 09 Jun 2013 01:37 PM PDT

ผู้นำกองทัพรัฐฉานเดินทางย่างกุ้งเพื่อเจรจากับ "เต็ง เส่ง" รวมทั้งเตรียมหารือกับนักการเมืองในพม่า รวมทั้งองค์กรประชาสังคมด้วย โดยก่อนเดินทางได้เขียนจดหมายถึงประชาชนรัฐฉาน ระบุหากไม่เข้าร่วมการเจรจา สิ่งที่ต้องการก็ไม่อาจถึงเป้าหมาย และจะยิ่งทำให้ประชาชนได้รับความลำบาก

สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) รายงานว่า พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน (S.S.A.) ได้เดินทางไปยังย่างกุ้ง เพื่อเตรียมพบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ทั้งนี้ผู้นำกองทัพรัฐฉานยังมีกำหนดพบกับนักการเมือง รวมทั้งผู้นำทางการเมืองอย่างออง ซาน ซูจี และองค์กรประชาสังคมในย่างกุ้งด้วย นอกจากนี้มีรายงานว่าผู้นำรัฐฉานมีแผนที่จะเยือนมัณฑะเลย์ และตองยี เมืองหลวงของรัฐฉานด้วย

โดยก่อนหน้านี้ มีข้อตกลง 4 ข้อที่คณะทำงานด้านสันติภาพของรัฐบาลพม่า (UPWC) ทำไว้กับกองทัพรัฐฉาน  และข้อตกลงเบื้องต้น 8 ข้อที่ทำไว้ที่ตองยี ในเดือนธันวาคมปี 2554 และมีการทำข้อตกลง 11 ข้อ เมื่อวันที่ 16 มกราคมปี 2555 ในการประชุมระดับรัฐบาลสหภาพ และในวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 มีการประชุมระดับสหภาพเป็นครั้งที่ 2 ที่เชียงตุงโดยมีข้อตกลง 12 ข้อ และมีการหารืออีกครั้งในวันที่ 27 และ 28 ที่เชียงตุง โดยมีข้อตกลง 9 ข้อเพื่อการแก้ปัญหายาเสพติด โดยในการพบกันครั้งสุดท้ายมีผู้แทนจากสหประชาชาติสังเกตการณ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกองทัพรัฐฉานระบุว่า จากข้อตกลงกว่า 40 เรื่องที่ทำไว้กับรัฐบาลพม่า มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่ได้รับการปฏิบัติ

นอกจากนี้มีการเผยแพร่จดหมายของ พล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งเขียนถึงประชาชนในรัฐฉาน ก่อนเดินทางไปยังพม่า โดยตอนหนึ่งระบุว่า "ภารกิจที่ข้าพเจ้าออกเดินทางไปในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน การเสริมสร้างให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็นในภายภาคหน้า ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่ได้ด้วยความสงบร่มเย็น และทำมาหากินเลี้ยงชีพ ได้ด้วยสิทธิอันชอบธรรมและความรู้สึกของประชาชนที่เบื่อหน่ายต่อศึกสงครามนั้น ข้าพเจ้าก็เข้าใจและเห็นว่าการจะอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความสงบร่มเย็นนั้นจำต้องริเริ่มจากการสร้างความเชื่อใจต่อกันเป็นสำคัญ หากขาดความเชื่อใจต่อกันการจะร่วมมือกันในการเสริมสร้างให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้านั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนี้แล้วการที่ทุกฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากันนั้นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากมีความหวาดระแวงต่อกันมากเกินไปก็มีแต่จะก่อศัตรูเพิ่ม แต่หากไม่ระมัดระวังตัวเลย ภารกิจก็อาจจะล้มเหลว ด้วยเหตุนี้ ต้องนำความรู้ มาใช้ให้เท่าทันสถานการณ์ ลดทิฐิหันหน้าเข้าหากัน จึงจะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพเดียวกันได้"

"สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ สหภาพพม่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเมืองภายในที่เกิดที่เกิดความวุ่นวายจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลาอันยาวนานนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ก็เปิดทางให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ตลอดจนเปิดให้มีการเจรจาร่วมกัน หากเราไม่เข้าร่วมการเจรจา สิ่งที่เราอยากได้หรือต้องการ ก็ไม่อาจยื่นมือถึงเป้าหมาย ในทางกลับกันยิ่งจะส่งผลให้บ้านเมืองและประชาชนต้องได้รับความลำบากทุกข์ยากไปยิ่งกว่าเก่า" ตอนหนึ่งของจดหมายระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจาะโครงการ PRISM บิ๊กบราเธอร์นักสอดแนมตัวใหม่ของสหรัฐฯ

Posted: 09 Jun 2013 11:58 AM PDT

มีการเปิดเผยเอกสารลับเรื่องโครงการสอดแนมอินเตอร์เน็ตของสหรัฐ ผ่านบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Facebook หรือ Google ซึ่งทางการสหรัฐฯ ออกมายอมรับ แต่บริษัทไอทีปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ในขณะที่หน่วยงานสอดแนมของอังกฤษถูกเปิดโปงอีกราย เรื่องใช้โครงการสอดแนมของสหรัฐฯ มาใช้กับคนในบ้านตัวเอง

 
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2013 สำนักข่าวจากประเทศอังกฤษรายงานว่ารัฐมนตรีของอังกฤษกำลังถูกกดดัน หลังจากถูกเปิดเผยกรณีที่พวกเขามีคำสังให้สำนักงานการสื่อสารของรัฐบาล (GCHQ) ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรองของอังกฤษ ลักลอบเก็บข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างลับๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ๋โลกผ่านโครงการ 'ปริซึม' (PRISM Programme) ของสหรัฐฯ
 
โครงการ PRISM เป็นโครงการของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ที่ทำงานร่วมกับบริษัท Verizon ในการสอดแนมข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายล้านคน เรื่องดังกล่าวนี้ถูกเปิดเผยในสื่อเดอะ การ์เดียนของอังกฤษ และสำนักข่าววอชิงตันโพสท์ของสหรัฐฯ โดยอ้างอิงจากข้อมูลลับของรัฐบาลที่รั่วไหลออกมาเป็นข้อมูลโปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ 41 หน้าเกี่ยวกับเรื่องโครงการ PRISM และบริษัทด้านเทคโนโลยนีที่เข้าร่วมโครงการ
 
รายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมโครงการถูกบันทึกเอาไว้ตั้งแต่ปี 2007 โดยมีไมโครซอฟท์เข้าร่วมเป็นบริษัทแรก ตามมาด้วย Yahoo ในปี 2008 Google ในปี 2009 ตามมาด้วย AOL, Apple, Facebook, PalTalk, Skype และ Youtube เมื่อเดือนตุลาคมปี 2012 
 
แต่บางบริษัทเช่น Google, Facebook และ Yahoo ก็กล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการ พวกเขาต่างบอกว่าไม่ได้อนุญาตให้รัฐบาล "เข้าถึงข้อมูลโดนตรง" ในระบบของพวกเขา และไม่เคยได้ยินเรื่องโครงการ PRISM มาก่อน
 
โดย แลร์รี่ เพจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ได้เขียนถึงเรื่องนี้ในเว็บล็อกของตัวเอง โดยบอกว่าทาง Google จะส่งข้อมูลของผู้ใช้ให้แก่รัฐบาลโดยมีกระบวนการตามกฏหมายเท่านั้น ทีมที่ปรึกษาด้านกฏหมายของพวกเขาจะคอยทำหน้าที่พิจารณาคำร้อง และส่วนใหญ่จะปฏิเสธไปเพราะคำร้องกล่าวอย่างกว้างๆ มากเกินไปหรือไม่ก็ไม่เป็นไปตามกระบวนการ
 
ขณะที่มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Facebook แสดงความไม่พอใจที่สื่อนำเสนอว่า facebook มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการตรวจตราอินเทอร์เน็ตของรัฐบาล โดยปฏิเสธว่า Facebook ไม่เคยมีส่วนใดๆ กับโครงการ ไม่เคยได้รับคำร้องจากรัฐบาลหรือคำสั่งศาล ในแง่การเข้าถึงข้อมูลโดยตรง และถ้าหากมีคำสั่งเช่นนี้พวกเขาก็จะต่อสู้ขัดขืน นอกจากนี้ซักเกอร์เบิร์ก ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศมีความโปร่งใสในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการสอดส่องเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพื่อสร้างสังคมที่มีเสรีภาพในระยะยาว
 
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเสรีภาพอิเล็กโทรนิกส์ (Electronics Frontier Foundation) แสดงความเห็นต่อคำอธิบายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีว่า พวกเขาแค่กำลังพูดเล่นคำ "ถ้าหากคุณอ่านข้อความปฏิเสธของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ดูดีๆ แล้ว คุณจะเห็นว่าพวกเขาใช้คำอย่างระมัดระวัง และไม่ได้แสดงการปฏิเสธ" เนท คาร์โดโซ ทนายความประจำ EFF กล่าว
 
"พวกเขาต่างก็บอกว่า พวกเขาไม่ได้ให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ได้ 'โดยตรง' แต่สิ่งที่พวกเขาทำอาจจะเป็นการให้ข้อมูลผ่าน API (Application Programming Interface คือ ช่องทางเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของเว็บไซต์) ซึ่งเป็นการเข้าถึงข้อมูลได้ 'ทางอ้อม' " เนท อธิบาย
 
เว็บไซต์ Pcworld.com เปิดเผยว่าข้อมูลที่ NSA สามารถเข้าถึงได้ ประกอบด้วย ข้อมูลอีเมลล์, วีดิโอ, การแช็ทผ่านระบบเสียงหรือผ่านวีดิโอ, การแช็ทด้วยเสียงผ่านไอพี (เช่น Skype) , การส่งไฟล์, ข้อมูลรายละเอียดโซเชียลเน็ตเวิร์ก และอื่นๆ โดยถ้าหากการรายงานข่าวเรื่อง Prism เป็นจริง ก็เป็นไปได้ว่า NSA อาจจะลักลอบเข้าสู่ข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์โดยที่ผู้ให้บริการเองไม่รู้ตัว
 
Pcworld กล่าวอีกว่า โครงการ PRISM อาจจะมาจากกฏหมายข้อกำหนดว่าด้วยการสอดแนมข้อมูลต่างชาติ (FISA Amendments Act of 2008) ที่มีการปรับปรุงใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2012 ซึ่ง NSA อ้างว่าเป็นการใช้ติดตามตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายชาวต่างชาติ โดยข้อกำหนดนี้มีการให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสอดแนมข้อมูลการสื่อสารในต่างประเทศ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่ากฏหมายนี้ยังใช้ในการสืบค้นข้อมูลของประชาชนสหรัฐฯ เองได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น
 
ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า ได้ออกมายอมรับในเรื่องโครงการ PRISM ขณะเดียวกันก็กล่าวปกป้องมาตรการตรวจตราของรัฐบาลโดยบอกว่าการรายงานข่าวในเรื่องโครงการ PRISM ก่อนหน้านี้มีการกล่าวเกินจริง
 
แม้ว่าก่อนหน้านี้โอบาม่าจะต้องรับมือกับกรณีอื้อฉาวเรื่องการดักฟังโทรศัพท์ของผู้สื่อข่าวความมั่นคงรายหนึ่ง แต่ในกรณีนี้โอบาม่ากล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ทำการดักฟังโทรศัพท์แต่อย่างใด โดยปธน.สหรัฐฯ ยังได้บอกอีกว่าเขาพร้อมจะให้มีการอภิปรายในเรื่องความพยายามถ่วงดุลกันระหว่างเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวกับเรื่องความปลอดภัยของประขาชนชาวอเมริกัน เนื่องจากทั้งสองเรื่องนี้หากอยากได้สิ่งหนึ่งต้องยอมแลกกับอีกสิ่งหนึ่ง
 
"คุณไม่สามารถมีความปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซนต์ไปพร้อมกับการมีความเป็นส่วนตัวร้อยเปอร์เซนต์ โดยไม่มีความยุ่งยากใดๆ เลย" โอบาม่ากล่าว
 
ขณะที่เจมส์ แคลปเปอร์ ประธาน NSA ซึ่งแม้จะออกมายืนยันเรื่องการมีอยู่จริงของโครงการ PRISM แต่ก็กล่าวว่าการรายงานข่าวเรื่อง PRISM มีหลายเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยแคลปเปอร์อ้างว่าการสอดแนมของโครงการ PRISM จะไม่รวมไปถึงพลเมืองสหรัฐฯ ชาวสหรัฐฯ รายอื่นๆ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และการเก็บข้อมูลในโครงการนี้สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ
 
"ข้อมูลที่ถูกรวบรวมภายใต้โครงการนี้เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญมากที่พวกเราได้รวบรวมไว้ และใช้มันในการปกป้องประเทศชาติเราจากภัยหลายๆ ประเภท" เจมส์ แคลปเปอร์กล่าว
 
โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าโครงการ PRISM อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศาลว่าด้วยการสอดแนมข้อมูลต่างชาติ ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ และรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งกระบวนการต้องมีการรับรองจากศาลโดยเป็นไปเพื่อไม่ให้มีการสอดแนมข้อมูลของพลเมืองสหรัฐฯ
 
ทางด้านวุฒิสมาชิก แรนด์ พอล จากกลุ่มทีปาร์ตี้และเป็นฝ่ายเสรีนิยมของพรรครีพับลิกันกล่าวว่า การเข้าถึงข้อมูลของโทรศัพท์ Verizon เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศอย่างร้ายแรง
 
ถ้าหากคำกล่าวอ้างของโอบาม่าและหน่วยงานความมั่นคงเป็นจริง หมายความว่า PRISM มีเป้าหมายในการใช้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล อีเมลล์ และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในการติดตามสอดส่องข้อมูลของบุคคลในต่างประเทศซึ่งเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ เพื่อตรวจตราภัยความมั่นคง ซึ่งล่าสุดก็ดูเหมือนว่ามีประเทศอังกฤษกลายเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการของโครงการ PRISM นี้แล้ว
 
 
โครงการ PRISM กับองค์กรสอดแนมของอังกฤษ
 
หลังจากที่สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน เปิดเผยเรื่ององค์กรด้านความมั่นคงที่คอยสอดส่องข้อมูลของประชาชนอย่าง GCHQ ได้อาศัยข้อมูลจากโครงการ PRISM ทั้ง ส.ส. นักวิชาการ และนักกิจกรรมในอังกฤษต่างก็พากันท้าทายรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้ โดยที่ อีเวทท์ คูปเปอร์ รัฐมนตรีเงากระทรวงมหาดไทยของอังกฤษได้เรียกร้องให้คณะกรรมการด้านข่าวกรองและความมั่นคง (ISC) ของรัฐสภาอังกฤษ มีการตรวจสอบการสอดแนมข้อมูลด้วยวิธีการดังกล่าว
 
ข้อมูลเรื่องความเกี่ยวข้องของอังกฤษกับโครงการดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย เดอะ การ์เดียน ระบุว่าโครงการ PRISM จะช่วยให้หน่วยงาน GCHQ ลัดขั้นตอนทางกฏหมายในการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวเช่น อีเมลล์, รูปภาพ และวีดิโอ จากบริษัทอินเทอร์เน็ตภายนอกประเทศอังกฤษ
 
เอกสารที่รั่วไหลออกมาเปิดเผยว่าองค์กร GCHQ ของรัฐบาลอังกฤษ ได้รับรายงานข้อมูล 197 ชิ้น จากระบบ PRISM ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2011 - พ.ค. 2012 ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นร้อยละ 137 จากปีก่อนหน้านี้ 
 
ซึ่งเซอร์ มัลคอล์ม รีฟไคนด์ ประธานของ ISC กล่าวว่าพวกเขาจะได้รับรายงานเรื่องการที่ GCHQ ใช้โครงการ PRISM ในการลักลอบสอดแนมข้อมูลในเร็วๆ นี้
 
"ทาง ISC ตระหนักว่ามีคำครหาเรื่องการที่ GCHQ ได้รับข้อมูลจากโครงการ PRISM ของสหรัฐฯ" เซอร์มัลคอล์มกล่าว "ทาง ISC จะได้รับรายงานฉบับเต็มจาก GCHA ในเร็วๆ นี้ และจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรหลังจากที่เราได้ข้อมูลแล้ว"
 
ทางด้านนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน และ รมต.มหาดไทยของอังกฤษ เทเรซา เมย์ ก็ถูกเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดความเกี่ยวข้องระหว่างศูนย์ GCHQ และ PRISM โดยที่คีธ วาซ ประธานคณะกรรมการมหาดไทยจากการคัดเลือกโดยสภา ได้เขียนจดหมายเรียกร้องคำอธิบายจากเทเรซา เมย์
 
"ผมรู้สึกประหลาดใจมากจากการเปิดเผยเรื่องในครั้งนี้ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลของชาวอังกฤษเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนที่น่าหวาดผวาที่สุดคือการที่ประชาชนชาวอเมริกันและชาวอังกฤษโดยทั่วไปอาจไม่รู้ตัวเลยว่าโทรศัพท์ของพวกเขาและการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ของพวกเขาอาจถูกจับตาดูอยู่ ซึ่งนี้เหมือนเป็น 'ใบอนุญาตนักสอดแนม'  (snooper's charter) ที่ลับลอบกระทำ" คีธกล่าว ใบอนุญาตสอดแนมที่เขากล่าวถึงเป็นฉายาของกฏหมายสอดแนมข้อมูลอินเทอร์เน็ต ที่เทเรซา เมย์ อ้างว่าจะนำมาใช้ตรวจตรากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอินเทอร์เน็ตหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีในวูลวิช
 
พูดถึงความน่าหวาดผวา นิค พิคเคิลจากกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมือง บิ๊ก บราเธอร์ วอทช์ (Big Brother Watch) บอกว่าเราควรตั้งคำถามอย่างหนักที่สุดว่าประชาชนชาวอังกฤษถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวโดยที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฏหมาย หรือไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำใดๆ หรือไม่
 
ทางด้านโฆษกของ GCHQ ยืนยันว่า การทำงานของพวกเขาเป็นไปตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด และการปฏิบัติการต่างๆ เป็นไปโดยมีการกำกับดูแล จากทั้งรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการสืบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการด้านข่าวกรองและความมั่นคง ขณะที่โฆษกของรัฐบาลกล่าวว่ายังไม่มีการยอมรับหรือปฏิเสธในกรณีของ GCHQ แต่ปฏิเสธจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้มีปรึกษาเรื่องนี้กับทางการสหรัฐฯ หรือไม่
 
เรื่องการอาศัยโครงการสอดส่องแบบข้ามทวีปเช่นนี้ ไม่เพียงสร้างความรู้สึกตื่นตระหนกเพราะถูกลอบสอดแนมข้อมูลส่วนตัว แต่ยังมีข้อถกเถียงกันด้านกฏหมายของทั้งสองประเทศ โดยที่โฆษกของสำนักงานกรรมธิการสารสนเทศของอังกฤษซึ่งเป็นองค์กรอิสระกล่าวว่า การขยายความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในอังกฤษหรืออาจรวมถึงประเทศยุโรปอื่นๆ อาจมีอยู่ในกฏหมายของสหรัฐฯ ที่บัญญัติให้บริษัทต้องมอบข้อมูลให้รัฐบาล แต่การกระทำเช่นนี้ขัดกับหลักกฏหมายคุ้มครองข้อมูลของยุโรป (European data protection law) รวมถึงกฏหมายคุ้มครองข้อมูลของประเทศอังกฤษเองด้วย
 
ถึงแม้ว่าในช่วงไม่ถึงปีที่ผ่านมาทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษได้เผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญเช่นเหตุการณ์ระเบิดในการแข่งมาราธอนที่บอสตัน หรือเหตุการณ์มือมีดวูลวิช ที่อาจทำให้ทางการของพวกเขาได้โอกาสหยิบยกเรื่องการสอดส่องก่อการร้ายมาเป็นประเด็นอีกครั้ง แต่การเปิดโปงเรื่องของโครงการ PRISM และการที่องค์กรความมั่นคงนอกประเทศสหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้สอดส่องพลเมืองในประเทศตัวเอง ก็ชวนให้รู้สึกน่าเป็นห่วงเช่นกัน
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับอดีตกองกำลังกบฏในลิเบีย

Posted: 09 Jun 2013 11:10 AM PDT

กลุ่มประชาชนชาวลิเบียประท้วงเรียกร้องให้มีการยุบกองกำลังติดอาวุธที่เคยเป็นอดีตกลุ่มกบฏโค่นล้มกัดดาฟี  ที่กองบัญชาการ จนเกิดเหตุปะทะหลังมีคนขว้างก้อนหินใส่กำแพง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28 ราย
 
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีชาวลิเบียอย่างน้อย 28 รายเสียชีวิตและอีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุผู้ประท้วงบางส่วนโจมตีกองบัญชาการของอดีตกลุ่มกบฏที่เคยต่อสู้โค่นล้มอดีตผู้นำมุมมาร์ กัดดาฟี
 
สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยว่า การต่อสู้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ประท้วงหลายสิบคน ซึ่งมีบางคนที่มีอาวุธ ทำการประท้วงขับไล่กลุ่มกองกำลังโล่แห่งลิเบีย (Shield of Libya หรือ Libya Shield) จากกองบัญชาการทหารในกรุงเบงกาซี ผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมสถานที่และเรียกร้องให้กองกำลังทหารรักษาความปลอดภัยเข้ามาทำงานแทน
 
กองกำลังโล่แห่งลิเบียจัดตั้งขึ้นจากอดีตนักรบกลุ่มกบฏ ที่อ้างว่าพวกเขาทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมของลิเบีย
 
อาเดล ตาร์ฮูนี โฆษกของกองกำลังโล่แห่งลิเบีย กล่าวถึงเหตุการณ์ว่าในตอนแรกการประท้วงเป็นไปอย่างสงบจนกระทั่งมีกลุ่มติดอาวุธแทรกซึมเข้ามาในกลุ่มผู้ประท้วง โดยกลุ่มติดอาวุธได้เปิดฉากยิงเข้าใส่อาคารกองบัญชาการและโจมตีด้วยการขว้างระเบิดทำมือ ตาร์ฮูนีกล่าวอีกว่าการปะทะดังกล่าวทำให้สมาขิกกองกำลังโล่เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บราว 7 คน
 
ผู้อาศัยในพื้นที่กล่าวว่ากลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้มีการยุบกองกำลังที่มาจากฝ่ายกบฏ และสร้างกองทัพทหารขึ้นมาใหม่ และเมื่อผู้ประท้วงเริ่มขว้างปาก้อนหิน อีกฝ่ายหนึ่งก็ยิงโต้ตอบกลับมา
 
อาห์เม็ด เบลาซาฮร์ นักกิจกรรมในลิเบียกล่าวว่า การที่ประชาชนออกมาประท้วงเพราะพวกเขาเชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธทำให้ลิเบียขาดเสถียรภาพ ซึ่งเสถียรภาพจะเกิดขึ้นได้หากมีกองกำลังทหารหรือตำรวจที่เป็นทางการเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตามโฆษกของกองกำลังโล่ได้กล่าวปกป้องความชอบธรรมของกองกำลังโดยบอกว่าพวกเขาทำงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม
 
ผู้นำลิเบียยุคปัจจุบันต่อสู้กับปัญหากลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่ฉวยโอกาสยึดกฏหมายไว้ในกำมือตัวเอง โดยเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในลิเบีย ก็ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจต่อกลุ่มติดอาวุธ
 
ฝ่ายรัฐบาลลิเบียก็มีการดำเนินการสองทาง ทางหนึ่งคือการสั่งยุบกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการโดยไม่มีหมายอนุญาตจากรัฐบาล อีกทางหนึ่งก็มีการหนุนหลังกลุ่มติดอาวุธที่มีอำนาจหลายกลุ่มที่มีใบอนุญาตจากทางการ
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Protest at ex-Libya rebel base turns deadly, Aljazeera, 09-06-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงผู้หญิงพุทธ-มุสลิม ต.ตะโละ “เราร่วมทำงานเพื่อสันติภาพได้”

Posted: 09 Jun 2013 09:38 AM PDT

เสียงสะท้อนจากหญิงพุทธ-มุสลิม ผ่านเวทีเสวนาที่ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พบ 6 ประเด็นปัญหา ชาวบ้านทั้งสองฝั่งยังหวาดระแวง คนพุทธชี้ว่าหลังเข้ากระบวนการร่วมกัน ทำให้ต่างเข้าใจอีกฝ่าย ยันสามารถร่วมทำงานเพื่อสันติภาพต่อไปได้

พุทธ-มุสลิมตะโละ - ภาพบรรยากาศหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเสวนาของกลุ่มผู้หญิงทั้งพุทธและมุสลิมในต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่มีการสอบกอดกัน รวมทั้งมีการพูดคุยถามทุกข์สุขระหว่างกันของหญิงชราที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน แต่กลับไม่ได้เจอกันมานาน อันเนื่องมาจากความหวาดระแรงของคนในชุมชน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ร่วมกับมูลนิธิเอเชียจัดเสวนาหัวข้อ "ผู้หญิงสานสัมพันธ์เพื่อสันติภาพในชุมชน" ที่อาคารศาลาโรงเรียนลุวง ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีตัวแทนกลุ่มผู้หญิงไทยพุทธและมุสลิม จาก 5 หมู่บ้าน จำนวน 60 คนเข้าร่วม โดยคณะทำงานวิทยุเสียงผู้หญิง คณะทำงานรายการรอมฎอนไนท์ และตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ร่วมสังเกตการณ์

นางสาวอัสรา รัฐการัณย์ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ผู้ดำเนินการเสวนา เปิดเผยว่า "การจัดเสวนาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยรวมตัวแทนกลุ่มผู้หญิงไทยพุทธและมุสลิม ซึ่งการจัดเสวนาครั้งแรก ทำกับกลุ่มผู้หญิงไทยพุทธอย่างเดียว และครั้งที่สองทำกับกลุ่มผู้หญิงมุสลิมอย่างเดียว

วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาเพื่อสะท้อนถึงปัญหาของคนในพื้นที่ ต.ตะโละ ตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะแก่คนในชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจ การรับรู้ความรู้สึกของแต่ละฝ่าย อีกทั้งแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

นางเรืองรวี พิทักษ์ชัยกุล ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย เปิดเผยว่า มูลนิธิเอเชีย สนับสนุนงบประมาณในการจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อให้คนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ และสร้างชุมชนนี้ให้เป็นชุมชนต้นแบบในการสร้างสันติภาพ

นางเรืองรวี เปิดเผยอีกว่า เหตุที่เลือกชุมชนในต.ตะโละ เนื่องจากมีชาวพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเป็นหมู่บ้านชาวพุทธ 2 หมู่บ้านและมุสลิม 3 หมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบกันทั้งสองฝ่าย จนทำให้มีปัญหาความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ที่น่าสนใจก็คือ ชุมชนชาวพุทธเป็นชุมชนเข้มแข็งกว่าชุมชนมุสลิม

 

6 ปัญหาต.ตะโละ พุทธ-มุสลิมระแวง

สำหรับผลการเสวนาพบว่า ทั้งกลุ่มผู้หญิงพุทธและมุสลิมได้ร่วมสะท้อนถึงปัญหาและสิ่งที่ต้องการออกมา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาแก้ไข โดยมี 6 ประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาความหวาดระแวงของคนในพื้นที่ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับมุสลิม ปัญหาบทบาทการเป็นผู้นำของสตรี ปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาดอยู่ในหมู่บ้าน และปัญหาการประกอบอาชีพในชุมชน

สำหรับบรรยากาศก่อนการเสวนาพบว่า กลุ่มผู้หญิงพุทธและมุสลิมต่างแยกกันนั่งคนละฝั่ง แต่หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้มานั่งรวมกันและมีการจับมือทักทายอย่างเป็นกันเอง มีการสอบถามสารทุกข์สุขดิบ จนกระทั่งมีการกอดกันก่อนจะเลิกเสวนา

เมื่อทำกิจกรรมร่วมกันก็รู้และเข้าใจอีกฝ่าย

ตัวแทนหญิงชาวพุทธคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชุมแบบนี้ จึงทำให้ได้เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็จะเกิดความเข้าใจกัน จึงอยากให้มีการประชุมแบบนี้อีก ถึงแม้ว่าครั้งต่อไปทางเครือข่ายอาจจะไม่จัดเสวนาเหมือนอย่างครั้งนี้

"คิดว่ากลุ่มผู้หญิงในชุมชนตำบลตะโละสามารถทำงานร่วมกันได้ และสามารถร่วมทำงานเพื่อสันติภาพต่อไปได้ นี่คือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น" ตัวแทนหญิงชาวพุทธคนนี้ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยยอดพนันบั้งไฟภาคอีสานกว่า 5 หมื่นล้าน

Posted: 09 Jun 2013 03:05 AM PDT

ตะลึงยอดพนันบั้งไฟภาคอีสานกว่าห้าหมื่นล้าน เผยสถิติผู้หญิงชอบเล่นหวยใต้ดินมากกว่าผู้ชาย ขณะที่เครือข่ายเยาชนลดพนันพบร้านบัคคาร่าหน้าม.อุบลมากสุด ขณะที่นักวิชาการแนะแก้กฎหมายที่ล้าสมัย พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่เด็ก 

 
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ที่ อาคารปฏิบัติการโรงแรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปะศาตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "แนวทางการขับเคลื่อน เรื่อง การพนันในสังคมอีสานและชายแดนอีสาน"โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน นักศึกษาเข้าร่วมกว่า 200 คน  
 
โดย รศ.ดร นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ระบุว่า จากโครงการวิจัยสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสำรวจข้อมูลในช่วงเดือน ธันวาคม 2553 - กุมภาพันธ์ 2554 โดยสุ่มเลือกจังหวัด 16 จังหวัดจากทั่วทุกภาค จำนวนรวม 5,042 ตัวอย่าง พบว่า ยอดเงินจากการซื้อสลากกินแบ่งมีจำนวน 76,770 ล้านบาท หวยใต้ดิน 102,058 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเพศหญิง ชอบเล่นหวยใต้ดิน มากกว่าเพศชาย แต่เพศชายชอบเล่นพนันฟุตบอล และการพนันในบ่อน มากกว่าเพศหญิง โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเล่นพนันประกอบด้วย ยังคงเหมือนเดิม 88.7% รวยขึ้น2.6% จนลง8.7% และพบว่า ร้อยละ 93.6 ของผู้เล่นการพนันไม่เคยถูกลงโทษ 
 
ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.บูรพา ผู้ทำวิจัย "บ่อนการพนันตามแนวชายแดน" กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายของไทยมีความล้าหลังมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ช่องโหว่ที่ล้าหลังของกฎหมาย เรียกรับผลประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการไม่อยากแก้กฎหมาย ซึ่งการพนันเป็นเรื่องที่ปราบอย่างไรก็ไม่หมด เพราะการพนันบางอย่างเราเข้าใจว่าเป็นเรื่องถูกกฎหมายเช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งขายเกินราคาแต่แก้ไขไม่ได้ เพราะกองสลากเป็นฐานผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยแต่ละงวดมีการพิมพ์สลากถึง 72 ล้านฉบับ 
 
"การรณรงค์สร้างจิตสำนึก และก็จัดระเบียบใหม่ ต้องกมีการกำกับดูแลในรูปคณะกรรมการ ถ้าไม่แก้กฎหมายการพนันปัญหาก็ไม่หมด และที่สำคัญเราต้องทำให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง โดยการให้ความรู้ และตระหนักถึงพิษภัยของการพนัน และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ในชุมชนต่อไป นี่คือทางออกของปัญหา"
 
ด้านนายสมพร เหลาคม เครือข่ายครอบครัว จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า การพนันเป็นวัฒนธรรมของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณจึงยากที่จะแก้ปัญหา ตนเองทำงานรณรงค์เพื่อลดการเล่นการพนันต้องเจออุปสรรคปัญหาทั้งกับผู้นำชุมชน นักพนันในท้องถิ่น ซึ่งการแก้ปัญหาต้องเริ่มที่ตัวเอง ครอบครัว
 
"มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตนเองเจอกับครูคนหนึ่งที่ด่านช่องจอม ถามเขาว่าเขาจะเข้าไปอะไรในบ่อนช่องจอม ครูคนนั้นตอบว่าอยากหาอะไรทำที่ร่ำรวย แต่ยิ่งเล่นยิ่งจน จนกระทั้งทราบว่าเขาเอารถเก๋งของเขาจำนำเพื่อใช้หนี้พนัน"
 
รศ.ดร.ไชยยันต์ รัชชกูล คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า การพนันบางเรื่องคนที่เล่นไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการพนัน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย จึงไม่การยากที่จะไปห้ามให้เขาเลิกเล่น แต่ควรจำกัดพื้นที่ ขอบเขต เวลา และต้องทำให้การพนันเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าถึง หรือไม่สะดวกในการเล่น การกำหนดช่วงเวลารายการโทรทัศน์ที่กระตุ้นให้มีการเล่นการพนัน เช่น การถ่ายทอดสดการชกมวย เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนดูได้อย่างสะดวก
 
ขณะที่นายภูมิรัฐ เวียงสมุทร ตัวแทนเครือข่ายเยาชนลดพนัน นักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ พบว่า มีร้านพนันออนไลน์ที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและสถานศึกษาใกล้เคียงมากที่สุดเมื่อเทียบกับ 4 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเครือข่ายคือ ม.เกษตรศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ร.ร.พาณิชย์เชียงราย ทั้งที่สถานีตำรวจอยู่ไม่ห่างจากร้านพนันดังกล่าว ตนเองต่างก็สงสัยว่าทำไมไม่มีการปราบปราม 
 
"ผมยอมรับว่าติดการพนันออนไลน์หรือบัคคาร่า จากการชักชวนของเพื่อนและก็อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อน โดยเริ่มจากเงินที่แม่ส่งมาให้เป็นค่ากิน ค่าที่พัก แต่ยิ่งเล่นยิ่งเสีย จึงอยากได้เงินกลับคืนมาจึงเพิ่มจำนวนเงินมากขึ้น โดยเอาเงินจากค่าเทอมที่แม่ส่งมาให้นั่นเอง ซึ่งยิ่งเพิ่มจำนวนเงินที่เสียไปกับการพนันมากขึ้น เมื่อไม่มีเงินค่าเทอม ผมเองทุกข์ใจมากและตั้งใจจะไม่เรียนต่อและจะไปบอกแม่ว่าจะไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงแม่ และได้บอกความจริงกับแม่ทั้งหมด แม่บอกว่ามีลูกคนเดียวยังไงต้องส่งให้เรียนจนจบ ผมน้ำตาไหลและขอโทษแม่ และสัญญากับแม่ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพนันอีก"
 
อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยของสดใส สร่างโศรก ผู้วิจัยโครงการวิจัยการพนันบั้งไฟ เก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่อีสานใต้อันเป็นพื้นที่เริ่มต้นการจัดบั้งไฟ โดยมีศูนย์กลางของการศึกษาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า การแข่งขันบั้งไฟไม่มีในกฎหมาย ในทางปฏิบัติหมู่บ้านที่จัดงานบุญบั้งไฟ และเป็นสนามแข่งขันบั้งไฟต้องทำประชาคมหมู่บ้านก่อน และมีการเปิดให้เล่นได้ตลอดทั้งปี เกณฑ์การแข่งขัยทำกันได้ง่าย เพียงแค่ตัดสินกันที่ระยะเวลาที่อยู่ในอากาศ ซึ่งนักพนันที่ชนะจะได้เงินจากผู้จัดไป ส่วนการพนันบั้งไฟใหญ่ ไม่มีการเปิดราคาหน้าฐาน แต่คู่พนันจะตกลงกันเอง เป็นการเปิดโอกาสให้นักพนันมีความหลากหลายมากขึ้นทำให้ทั่วทั้งภาคอีสานมีวงเงินเดิมพันสูงกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดงภาคเหนือเผชิญหน้าเวทีเดินหน้าผ่าความจริงลำพูน ปชป.จ่อดำเนินคดี

Posted: 09 Jun 2013 02:54 AM PDT

เสื้อแดงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้เคลื่อนขบวนเผชิญหน้าเวทีเดินหน้าผ่าความจริงพรรคประชาธิปัตย์ที่ จ.ลำพูน จับผู้ต้องสงสัย คนยิงลูกแก้ว ลูกหิน น็อต ได้ 4 คน  รักเชียงใหม่ 51 เผยมีการจ้างแดงเทียมมาป่วน ด้าน ปชป.จ่อดำเนินคดี ประชุมทีมกฎหมายพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.)

 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้เคลื่อนขบวนเผชิญหน้าเวทีเดินหน้าผ่าความจริงพรรคประชาธิปัตย์ ณ ร้านอาหารสวนไผ่ ถนนสาย 106 ลำพูน-ป่าซาง หมู่ที่ 5 ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน โดยมีชุดกองร้อยควบคุมฝูงชน ชุดป้องกันปราบปราม ชุดสืบสวนในและนอกเครื่องแบบ คอยรักษาความปลอดภัยและควบคุมสถานการณ์ โดยตามกำหนดการณ์เวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการปราศรัยถึงการทำงานของทางรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญอีกหลายคน ทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่จะเดินทางมาเปิดงานในครั้งนี้
 
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น. กลุ่มมวลชนเสื้อแดงจากพื้นที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 500 คน เดินทางปิดล้อมสวนอาหารครัวสวนไผ่ โดยกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง ได้มีการเขียนป้ายโจมตีนายอภิสิทธิ์ พร้อมทั้งเคลื่อนกำลังมายังสะพานฝั่งของสวนอาหารครัวสวนไผ่ ซึ่งเป็นจุดตั้งเวทีผ่าความจริง ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุมฝูงชน กว่า 100 นาย ในการสกัดกั้น และมีการนำแผงเหล็กมากั้นโดยรอบ ซึ่งทางกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงประชิดเข้าใกล้แผงเหล็กมากขึ้น เพื่อขัดขวางไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์เปิดเวทีผ่าความจริงได้ นอกจากนี้ทางเจ้าที่ยังได้มีการนำรถห้องขังมาปิดกั้นตรงสะพาน เพื่อป้องกันกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงอีกชั้นหนึ่ง
 
นอกจากนี้ทางกลุ่มคนเสื้อแดงลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง ได้ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อว่า นายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ ว่าสั่งฆ่าประชาชน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ นายสุพจน์ ยะทิมา และนายเบิ้ม บ้านบูชา อยู่ ต.บ้านแป้น อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงเสียชีวิต ขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงได้ใช้หนังสติ๊กยิงใส่กลุ่มผู้มาร่วมกิจกรรมกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย
 
เวลา 19.00 น.นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศบนเวทีผ่าความจริง จ.ลำพูน ว่า ขอปิดการปราศรัยก่อนปิดเวทีในเวลา 21.00 น. ซึ่งตามกำหนดเดิม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิธัตย์ และแกนนำอย่าง นายชวน หลีกภัย และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะต้องขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยแต่จากการประเมินสถานการณ์ หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงจึงขอไม่ให้ทั้ง 3 คน ขึ้นปราศรัย และยุติเวทีก่อนเวลา
 
โดยทางทางแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ระบุว่ามีการจับผู้ต้องสงสัย คนยิงลูกแก้ว ลูกหิน น็อต ได้ 4 คน เป็นเยาวชน ชาวไทยใหญ่
 
"กลุ่มรักเชียงใหม่ 51" อ้างไม่ได้ส่งคนไปก่อกวนเวทีผ่าความจริง
              
เว็บไซต์คมชัดลึกยังรายงานอีกว่านายกฤษณะ พรมบึงรำ แกนนำรักเชียงใหม่ 51 เปิดเผยว่า กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงที่เดินทางไปป่วนการเปิดเวทีผ่าความจริง ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ร้านอาหารสวนไผ่ ไม่ใช่เป็นกลุ่มมวลชนคนเสื้อรักเชียงใหม่ 51 อย่างแน่นอน เนื่องจากทางกลุ่มมีแผนการชุมนุม คือ จะไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการจัดเวทีของปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ และเชื่อว่ากลุ่มมวลชนดังกล่าวมีการเดินทางมาหลายกลุ่มด้วยกัน จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นกลุ่มของใคร และจะดำเนินอย่างไร
 
"เบื้องต้นทางกลุ่มได้รับทราบข้อมูลมาว่า ได้มีการจ้างประชาชนกว่า 300 คน ให้สวมเสื้อสีแดง และทำการก่อกวนการเปิดเวทีผ่าความจริง เพื่อหวังทำลายภาพพจน์ของกลุ่มคนเสื้องแดงและเป็นการสร้างสถานการณ์ให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น" นายกฤษณะ กล่าว
 
นายกฤษณะ กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จะมีการจัดตั้งเวทีคู่ขนาน อยู่ที่บริเวณตลาดจัตุจักร ซึ่งอยู่ห่างจากเวทีของพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อชี้แจงนโยบายของรัฐบาล และยืนยันว่าจะไม่เข้าไปก่อกวนการปราศรัยของทางพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน ขณะที่ทางกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่เดินทางมาร่วมเวทีคู่ขนานเดินทางมาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คน และเชื่อว่ากลุ่มที่เดินทางไปก่อกวนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช้กลุ่มแดงแท้อย่างแน่นอน
 
 
ปชป.จ่อดำเนินคดีเสื้อแดงคุกคามเวทีลำพูน
 
วันนี้ (9 มิ.ย. 56) เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดง คุกคามการจัดเวทีประชาชนเดินหน้าผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดลำพูนว่าเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงว่า กลุ่มคนเสื้อแดง ที่มาจากนอกพื้นที่ถูกปลุกปั่นจากวิทยุชุมชนมาล้อมเวทีปราศรัย ปิดกั้นทุกทางเข้า-ออกและจุดประทัด ยิงลูกแก้ว แหวนน็อต เข้ามาที่เวที จำนวนมาก ดังนั้นพรรคจึงจำเป็นต้องปิดเวทีก่อนกำหนด นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่ามีการจับบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยใช้ท่อน้ำอัดดินปืนใส่หัวกระสุนหัวเหล็กคล้ายกับการใช้อาวุธปืนในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
 
จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะมีการปล่อยให้มวลชนเสื้อแดงคุกคามพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คุกคามทำร้ายประชาชนซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีไม่ทำเท่ากับให้ท้ายคนเสื้อแดง และเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมมวลชนของตนเองทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ และภาคประชาชนที่ถูกทำร้าย จะนำหลักฐานที่มีเอาผิดทุกฝ่ายที่คุกคามครั้งนี้โดยฝ่ายกฎหมายจะประชุมวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) พิจารณาดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้กับใครอีก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมช.รับโรดแมพสันติภาพ นักศึกษา Dream South รับข้อเดียวให้มาเลย์เป็นตัวกลาง

Posted: 09 Jun 2013 01:11 AM PDT

เลขา สมช.ยันมีแผนโรดแมพพูดคุยกับBRN ภาคประชาสังคมระดมสมองทำแผนนำสู่สันติภาพเริ่มจากพูดคุยสู่การเจรจาจนถึงการจัดทำข้อตกลง ทำโพลสำรวจความเห็นเงื่อนไข5ข้อBRB-2ข้อฝ่ายไทย นักศึกษารับได้ข้อเดียวแค่ให้มาเลเซียเป็นตัวกลาง

เลขาฯสมช.ยันมีแผนโร้ดแมพพูดคุยเพื่อสันติภาพ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดยะลาจัดเสวนาหัวข้อ "รู้การพูดคุยอย่างเสรี สู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน" โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.นิพัทธิ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมเสวนา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. เปิดเผยก่อนเข้าร่วมเสวนาว่า วัตถุประสงค์ของวันนี้เพื่อให้คณะพูดคุยมาทำความเข้าใจกับส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคมบางส่วน ให้เข้าใจถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะพูดคุยว่ามีความก้าวหน้า และวัตถุประสงค์อย่างไร รวมทั้งมารับฟังข้อเสนอแนะเพื่อที่จะนำข้อมูลไปดำเนินการ

"การพูดคุยกับฝ่ายตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ น้ำหนักของการพูดคุยหลักๆ คงจะเป็นเรื่องเดิม คือลดเหตุความรุนแรง แต่เนื้อหาก็คงจะต้องกระจายออกไปในความเกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย" พล.ท.ภราดร กล่าว

"ส่วนข้อมูลของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น เชื่อว่าฝ่ายเขาคงยืนยันข้อเสนอ 5 ข้อตามที่เป็นข่าว เพียงแต่น้ำหนักของการพูดคุยก็จะขึ้นอยู่กับบรรยากาศในการพูดคุยวันนั้น ในวันนี้ทางคณะพูดคุยได้จัดทำโรดแมพ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสถาบันการศึกษาและสันติวิธี และฝ่ายภาคประชาสังคมได้ทำโร้ดแมพมาแล้วมาให้คณะพูดคุย ซึ่งทางคณะพูดคุยได้นำมาปรับให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน และรับไปดำเนินการอยู่แล้ว" พล.ท.ภราดร กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในเวทีนี้เข้าใจว่าเป็นเวทีให้บรรดาผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาชน และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ ให้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเตรียมไปสู่การพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายนนี้

 

ทำโพลสำรวจความเห็น5ข้อBRB-2ข้อฝ่ายไทย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา CSCD ได้ทำการสำรวจความเห็นหรือโพลต่อการพูดคุยในรอบที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพ ทาง CSCD จึงอยากจะตรวจสอบอีกครั้ง จึงได้จัดทำโพลอีกครั้งในขณะนี้ โดยมีประเด็นหลักๆ คือทัศนคติต่างๆหลังจากการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งให้ประชาชนตอบคำถามต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น รวมทั้งข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล 2 ข้อ ในเรื่องความเชื่อมั่นไว้วางใจ และการลดความรุนแรง รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่นๆที่มีการเสนอมาในพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

 

ทำโรดแมพเริ่มจากพูดคุยสู่เจรจาถึงข้อตกลง

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานีจะมีการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่เพื่อสร้างโรดแมพสันติภาพที่จะหาทางออกในข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นเสนอ และจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า โรดแมพดังกล่าว จะเป็นข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่จะเป็นโรดแมพการแก้ปัญหาในระยะยาวที่เกิดจากกระบวนการพูดคุย ไปสู่กระบวนการเจรจาและนำไปสู่กรอบข้อตกลงต่างๆ ที่เราพยายามให้ถึงจุดนั้น

 

นักศึกษาถก 5 ข้อBRN รับได้แค่ให้มาเลเซียเป็นตัวกลาง

ต่อมาเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี พล.ท.ภราดร พร้อมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ พ.ต.อ.ทวี และพล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวแทนนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ในนามกลุ่มดรีมเซาท์ (Dream South) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ทั้งนี้นักศึกษากลุ่มนี้ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือถึงข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการBRN ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ก่อนที่จะมีการสรุปและนำเสนอต่อพล.ท.ภราดรและคณะ ซึ่งเป้นคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น

นายดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาขึ้นอ่านสรุปผลการประชุม พร้อมเสนอ 5 ประเด็น สะท้อนความเห็น และมุมมองของการเจรจาในด้านต่างๆ ต่อคณะตัวแทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทย

นายดันย้าล เปิดเผยหลังการประชุมว่า สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.รับได้ที่จะให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นคนกลาง เนื่องจากมาเลเซียไม่มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศไทยที่รุนแรง มาเลเซียเคยมีบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพมาแล้ว เช่น เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มต่อสู้ทางภาคใต้ของประเทศ ส่วนในเวทีระดับโลกมาเลเซียเป็นประเทศที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ตึงเกินไป

2.ในประเด็นความเป็นตัวแทนคนในพื้นที่นั้น ยังไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ได้ เพราะนักศึกษาเห็นว่ายังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่ และไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนใคร จึงต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนมลายูในพื้นที่

3.ประเด็นบทบาทขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ประชาคมอาเซียนหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นั้น ยังมีความหมายที่ไม่ตกผลึก เพราะมีการแปลความหมายของคำว่า "Saksi" ที่BRN ใช้ใน 2 ความหมาย คือผู้สังเกตการณ์ และสักขีพยาน จึงยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้

4.ประเด็นการปล่อยนักทางการเมือง ยอมรับในบางส่วนคือ สำหรับผู้ที่ทำผิดจริงๆ ก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิดจริง อันเนื่องจากความไม่เป็นธรรม ตามกระบวนการยุติธรรม สามารถปลดปล่อยได้ และได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม

5.ส่วนประเด็นที่ให้เรียกว่าผู้ปลดแอก ไม่ใช่ผู้แบ่งแยกนั้น เรารู้ว่าธงที่แท้จริงของขบวนการ BRN คืออะไร แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ และความว่าปลดแอกนั้นเป็นคำที่มีนัยยะในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องการปกครอง ดังนั้นต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คำว่าองค์การปลดแอกและแบ่งแยกดินแดนนั้น แต่ละคำมีความหมายอย่างไร

"เราอยากรู้ว่า ขบวนการ BRN มีรูปแบบการปกครองพื้นที่อย่างไร ถ้ามีก็ขอให้เปิดเผยออกมา เราก็จะได้พูดคุยกันได้ชัดเจนว่า เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่เมื่อไม่ชัดเจนเราก็ไม่มีข้อสรุปอะไร"

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อรับข้อเสนอจากเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และจะนำข้อเสนอนี้มาพิจารณาในการพูดคุยหารือในวันที่ 13 มิถุนายนนี้กับกลุ่มขบวนการต่อไป

"ฝ่ายขบวนการบอกว่ารับฟังมาจากประชาชน เราก็จะได้บอกว่าข้อเสนอมาจากการรับฟังจากประชาชนเช่นกัน และจะนำมาปรับเพื่อพัฒนากันต่อไป" พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ข้อพิจารณาต่างๆ จะต้องได้รับการกลั่นกรองอย่างเป็นขั้นตอนผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาที่ตกลงกันไว้ จึงจะออกไปได้ เราจะไม่คิดเองทำเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมช.รับโรดแมพสันติภาพ นักศึกษารับข้อเดียวให้มาเลย์เป็นตัวกลาง

Posted: 09 Jun 2013 01:11 AM PDT

เลขา สมช.ยันมีแผนโรดแมพพูดคุยกับBRN ภาคประชาสังคมระดมสมองทำแผนนำสู่สันติภาพเริ่มจากพูดคุยสู่การเจรจาจนถึงการจัดทำข้อตกลง ทำโพลสำรวจความเห็นเงื่อนไข5ข้อBRB-2ข้อฝ่ายไทย นักศึกษารับได้ข้อเดียวแค่ให้มาเลเซียเป็นตัวกลาง

เลขาฯสมช.ยันมีแผนโร้ดแมพพูดคุยเพื่อสันติภาพ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับจังหวัดยะลาจัดเสวนาหัวข้อ "รู้การพูดคุยอย่างเสรี สู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน" โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.นิพัทธิ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมเสวนา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. เปิดเผยก่อนเข้าร่วมเสวนาว่า วัตถุประสงค์ของวันนี้เพื่อให้คณะพูดคุยมาทำความเข้าใจกับส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคมบางส่วน ให้เข้าใจถึงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะพูดคุยว่ามีความก้าวหน้า และวัตถุประสงค์อย่างไร รวมทั้งมารับฟังข้อเสนอแนะเพื่อที่จะนำข้อมูลไปดำเนินการ

"การพูดคุยกับฝ่ายตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ น้ำหนักของการพูดคุยหลักๆ คงจะเป็นเรื่องเดิม คือลดเหตุความรุนแรง แต่เนื้อหาก็คงจะต้องกระจายออกไปในความเกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย" พล.ท.ภราดร กล่าว

"ส่วนข้อมูลของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น เชื่อว่าฝ่ายเขาคงยืนยันข้อเสนอ 5 ข้อตามที่เป็นข่าว เพียงแต่น้ำหนักของการพูดคุยก็จะขึ้นอยู่กับบรรยากาศในการพูดคุยวันนั้น ในวันนี้ทางคณะพูดคุยได้จัดทำโรดแมพ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสถาบันการศึกษาและสันติวิธี และฝ่ายภาคประชาสังคมได้ทำโร้ดแมพมาแล้วมาให้คณะพูดคุย ซึ่งทางคณะพูดคุยได้นำมาปรับให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน และรับไปดำเนินการอยู่แล้ว" พล.ท.ภราดร กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในเวทีนี้เข้าใจว่าเป็นเวทีให้บรรดาผู้นำท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาชน และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ ให้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะเตรียมไปสู่การพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายนนี้

 

ทำโพลสำรวจความเห็น5ข้อBRB-2ข้อฝ่ายไทย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา CSCD ได้ทำการสำรวจความเห็นหรือโพลต่อการพูดคุยในรอบที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพ ทาง CSCD จึงอยากจะตรวจสอบอีกครั้ง จึงได้จัดทำโพลอีกครั้งในขณะนี้ โดยมีประเด็นหลักๆ คือทัศนคติต่างๆหลังจากการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งให้ประชาชนตอบคำถามต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น รวมทั้งข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล 2 ข้อ ในเรื่องความเชื่อมั่นไว้วางใจ และการลดความรุนแรง รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่นๆที่มีการเสนอมาในพื้นที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่

 

ทำโรดแมพเริ่มจากพูดคุยสู่เจรจาถึงข้อตกลง

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ที่ห้องมะเดื่อ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานีจะมีการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่เพื่อสร้างโรดแมพสันติภาพที่จะหาทางออกในข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นเสนอ และจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า โรดแมพดังกล่าว จะเป็นข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่จะเป็นโรดแมพการแก้ปัญหาในระยะยาวที่เกิดจากกระบวนการพูดคุย ไปสู่กระบวนการเจรจาและนำไปสู่กรอบข้อตกลงต่างๆ ที่เราพยายามให้ถึงจุดนั้น

 

นักศึกษาถก 5 ข้อBRN รับได้แค่ให้มาเลเซียเป็นตัวกลาง

 

ต่อมาเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี พล.ท.ภราดร พร้อมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ พ.ต.อ.ทวี และพล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะของกลุ่มตัวแทนนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ในนามกลุ่มดรีมเซาท์ (Dream South) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ทั้งนี้นักศึกษากลุ่มนี้ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือถึงข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการBRN ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ก่อนที่จะมีการสรุปและนำเสนอต่อพล.ท.ภราดรและคณะ ซึ่งเป้นคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น

นายดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาขึ้นอ่านสรุปผลการประชุม พร้อมเสนอ 5 ประเด็น สะท้อนความเห็น และมุมมองของการเจรจาในด้านต่างๆ ต่อคณะตัวแทนเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทย

นายดันย้าล เปิดเผยหลังการประชุมว่า สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย

1.รับได้ที่จะให้มาเลเซียมีบทบาทเป็นคนกลาง เนื่องจากมาเลเซียไม่มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศไทยที่รุนแรง มาเลเซียเคยมีบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพมาแล้ว เช่น เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มต่อสู้ทางภาคใต้ของประเทศ ส่วนในเวทีระดับโลกมาเลเซียเป็นประเทศที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ตึงเกินไป

2.ในประเด็นความเป็นตัวแทนคนในพื้นที่นั้น ยังไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ได้ เพราะนักศึกษาเห็นว่ายังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่ และไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนใคร จึงต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนมลายูในพื้นที่

3.ประเด็นบทบาทขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ประชาคมอาเซียนหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นั้น ยังมีความหมายที่ไม่ตกผลึก เพราะมีการแปลความหมายของคำว่า "Saksi" ที่BRN ใช้ใน 2 ความหมาย คือผู้สังเกตการณ์ และสักขีพยาน จึงยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นนี้

4.ประเด็นการปล่อยนักทางการเมือง ยอมรับในบางส่วนคือ สำหรับผู้ที่ทำผิดจริงๆ ก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิดจริง อันเนื่องจากความไม่เป็นธรรม ตามกระบวนการยุติธรรม สามารถปลดปล่อยได้ และได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม

5.ส่วนประเด็นที่ให้เรียกว่าผู้ปลดแอก ไม่ใช่ผู้แบ่งแยกนั้น เรารู้ว่าธงที่แท้จริงของขบวนการ BRN คืออะไร แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ และความว่าปลดแอกนั้นเป็นคำที่มีนัยยะในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องการปกครอง ดังนั้นต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คำว่าองค์การปลดแอกและแบ่งแยกดินแดนนั้น แต่ละคำมีความหมายอย่างไร

"เราอยากรู้ว่า ขบวนการ BRN มีรูปแบบการปกครองพื้นที่อย่างไร ถ้ามีก็ขอให้เปิดเผยออกมา เราก็จะได้พูดคุยกันได้ชัดเจนว่า เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่เมื่อไม่ชัดเจนเราก็ไม่มีข้อสรุปอะไร"

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อรับข้อเสนอจากเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และจะนำข้อเสนอนี้มาพิจารณาในการพูดคุยหารือในวันที่ 13 มิถุนายนนี้กับกลุ่มขบวนการต่อไป

"ฝ่ายขบวนการบอกว่ารับฟังมาจากประชาชน เราก็จะได้บอกว่าข้อเสนอมาจากการรับฟังจากประชาชนเช่นกัน และจะนำมาปรับเพื่อพัฒนากันต่อไป" พล.ท.ภราดร กล่าว

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ข้อพิจารณาต่างๆ จะต้องได้รับการกลั่นกรองอย่างเป็นขั้นตอนผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาที่ตกลงกันไว้ จึงจะออกไปได้ เราจะไม่คิดเองทำเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น