โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

24 มิ.ย. ทัศนะปฏิวัติกับ 'พุทธินาถ พหลโยธิน' ผมยอมรับครั้งเดียว ครั้งที่พ่อผมกับคณะราษฎร์ร่วมกันทำ

Posted: 16 Jun 2013 11:57 AM PDT

รายงานพิเศษชุดนี้คือการกลับไปทบทวนเรื่องราวและรับฟังมุมมองจากทายาท 'คณะราษฎร' ผู้ก่อการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ในโอกาสการเวียนมาถึงอีกปีของวันแห่งการเปลี่ยนแปลง ยิ่งสำหรับ 'รัฐสภาไทย' เองแล้ว เหตุการณ์นี้ก็คือการนำไปสู่การเริ่มต้นในเวลาต่อมา

 

"ยี่สิบสี่มิถุนายน มหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย 
เริ่มระบอบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี 
 ……."

 

 

เสียงเพลง 'วันชาติ 24 มิถุนา' ดังคลอเบาๆขณะที่เรากำลังพูดคุยกับ 'พุทธินาถ พหลโยธิน' หรือ ลุงแมว บุตรชายของ 'พระยาพหลพลพยุหเสนา' (พจน์ พหลโยธิน ) ในโอกาสการเวียนมาถึงอีกครั้งของวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเมื่อครั้ง พ.ศ. 2475 และสำหรับ 'รัฐสภาไทย' แล้ว เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเริ่มต้นในเวลาต่อมา

สำหรับรายงานพิเศษชุดนี้ สิ่งที่เราอยากรู้คือ การกลับไปทบทวนเรื่องราวและรับฟังมุมมองจากทายาท 'คณะราษฎร' ผู้ก่อการอภิวัฒน์ในวันนั้นมานำเสนอ ถึงแม้ว่าปัจจุบันบุคคลเหล่านี้หลายท่านจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางทางการเมืองแล้ว แต่พวกเขาคือคนที่เฝ้าดูปัจจุบันผ่านสายตาของผู้รับรู้อดีตจากบคนรุ่นก่อนอย่างใกล้ชิด ความทรงจำและแนวคิดเหล่านี้นี้จะเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ส่องทางให้คนรุ่นเราและรุ่นหลังจากเราต่อไป ในวันที่เรากำลังคุยกับลุงแมว ลุงกำลังเขียนบันทึก – หนังสือ รวมไปถึงรวบรวมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยทั้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราเชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน

 

'พุทธินาถ พหลโยธิน' หรือ ลุงแมว บุตรชายของ 'พระยาพหลพลพยุหเสนา' (พจน์ พหลโยธิน)

ก่อนการพูดคุยในเรื่องเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ลุงแมวออกตัวกับเราอย่างชัดเจนว่า เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร' โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนเพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่การต่อรองด้านความมั่นคงทางอาหารและแรงงานกับกลุ่มประเทศอื่นๆในโลก ไปจนถึงการพัฒนาสกุลเงินเอเชียบอนด์ และเมื่อเข้าสู่การสนทนา ลุงเปรียบเทียบดังตัวละครปัจจุบันกับประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าคิด

"ทักษิณก็เหมือนจอมพล ป .(พิบูลสงคราม)" ลุงแมวกล่าว

"โดนเหมือนจอมพล ป. และผู้กำกับก็เป็นคนคนเดียวกัน"

ถ้อยคำเชิงสัญญะไม่ได้เปิดเผยเป็นที่เข้าใจกันในช่วงเวลาที่ฝุ่นความขัดแย้งยังตลบและอะไรก็ไม่แน่นอนแบบนี้ เราจึงถามเพียงว่า ผู้กำกับการเมืองไทยที่กล่าวถึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ตอนจบอันแสนหวาน 'ประชาธิปไตย' จะเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นแค่ละครฉากหนึ่งที่ฉายวนๆ เป็นฉากเดิมๆที่ไม่มีวันจบ

ชายวัยเจ็ดสิบกว่าๆไม่ได้ตอบเพียงแต่พรั่งพรูถ้อยความหลัง ลุงแมวข้ามไปเล่าถึงความอัดอั้นตันใจที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยบิดาที่เป็นหัวหน้าผู้ก่อการ แม้สถานการณ์ของฝ่ายคณะราษฎร์จะเปลี่ยนแปลงไปในทศวรรษต่อมา ทั้งความขัดแย้งภายในบรรดาผู้ก่อการรวมถึงแรงบั่นทอนจากภายนอกที่สุดท้ายอำนาจนำกลับไปสู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ลุงแมวบอกว่ายังคงเลือกเดินบนเส้นทางการทหารเหมือนบิดา แม้จะถูกดูถูกในฝีมือจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนและผู้บังคับบัญชาว่า "ลื้อจะมาเป็นทหารทำไมวะ เป็นไม่ได้หรอก ลาออกไปเถอะ"

ลุงแมวฝึกฝนอย่างจริงจังถึงขนาดไปกินไปนอนอยู่ในรถถังจนมั่นใจอย่างที่สุดขนาดเอ่ยว่าเข้าใจจิตวิญญาณของรถถัง อารมณ์ขันของลุงคือ ถ้าใครจะขึ้นต้องถอดรองเท้าเพราะรักมาก

"ขัดส่วนที่เป็นทองเหลืองทุกจุด" ลุงบอก รถถังคันใหญ่ขนาดไหน ต้องขัดต้องถูอย่างปราณีตใช้แรงและเวลาเท่าไหร่ลองคิดดูกันเอง

แต่รถถังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร สิ่งที่พอรู้ๆกันคือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกำลังและอำนาจ และปกติมักเป็นผู้ได้ชัย ลุงแมวเชื่อมโยงเรื่องราวโดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงทำลายรถถังที่ทหารนำออกมาใช้เพื่อเป็นการตอบโต้และแสดงชัยชนะ สิ่งนั้นคงเป็นเรื่องที่ควรเฉลิมฉลองสำหรับผู้นิยมทักษิณทั่วไป แต่ลุงแมวให้ความเห็นที่ต่างออกไป เพราะรถถังเป็นเพียงวัตถุ ถ้าเข้าใจกลไกเราก็จัดการมันได้ แต่หลักสำคัญของรถถังคือ 'คนขับ'

"จริงๆ แล้วประชาชนไม่ควรทำลายรถถังทิ้ง เพราะอย่างไรเสียมันก็เป็นเงินภาษีของประชาชนเอง ตัวรถถังเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน คนเสียเงินซื้อถ้าเผื่อไปทำลายมัน จบเหตุการณ์เมื่อไรต้องไปซื้าอมาใช้คืนให้แผ่นดิน ลุงแมวเป็นอาจารย์รถถัง ตั้งแต่ตัวเล็กๆจนมาเป็นอาจารย์ บอกได้เลยมันไม่ยากหรอกรถถังแค่สีสเปย์อย่างเดียวมันก็หยุดนิ่งแล้ว พ่นให้หมด ตาบอด มองไม่เห็นแล้ว

"เราก็ค่อยเคาะๆออกเรียกทหารข้างในออกมาแล้วพูดกับเขาว่า นี่พี่น้องพ่อแม่แกทั้งนั้น แกฆ่าเขาได้หรอ แกก็เป็นคนไทยเหมือนฉัน แล้วก็เขกหัวทีเตะตูดที ปล่อยกลับบ้าน ทรัพย์สินแผ่นดินไม่เสียหาย รถถังมันไม่ใช่อาวุธที่ใช้ในเมือง แต่ก่อนคนไทยเรี่ยไรเงินให้ทหารไปซื้ออาวุธ เอาไปรบกับข้าศึก มันจะปั้มตราติดกับอาวุธว่า ประชาชนจังหวัดนี้ๆ เป็นคนซื้อมอบให้ทหารกองนี้ๆ ประชาชนมีบุญคุณกับทหารมาก"

หากเปลี่ยนสำนึกภายในของทหารไม่ได้ อะไรก็คงไม่เปลี่ยน ลุงแมวคงอยากสื่อกับเราประมาณนี้ เราตัดไปที่คำถามถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน คำตอบของลุงนอกจากหนักแน่น ชัดเจน ทั้งยังรวดเร็วอย่างไม่ต้องนิ่งคิด ภาพของสังคมไทยถูกอธิบายอย่างกระชับด้วยสายตาของผู้เจนชีวิต

"มนุษย์ทุกคนมีกิเลสตัณหา มันมีมาก ตามที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ทุกคนมีหมด ทั้งพืช สัตว์ และคน แต่มีคนพวกหนึ่งที่มันมีล้น อะไรๆก็อ้างประชาธิปไตย แต่อำนาจของกูใครมายุ่งไม่ได้มาแตะไม่ได้ และคนไทยมึงต้องโง่เข้าไว้ ลุงเห็นด้วยกับคุณทักษิณที่ว่า โลกทุกวันนี้มันไม่ได้รบกันด้วยอาวุธ มันรบกันด้วยปัญญา เวลานี้เป็นเวลาที่แต่ละประเทศมันเอาเปรียบกันด้วยปัญญา และประเทศไทยนี้ คนตระกูลเดียวฉลาด คนทั้งประเทศโง่หมด มันจะไปสู้ใครเขาได้ โดนเขาเอาเปรียบตาย ประเทศที่มีกษัตริย์ แต่กษัตริย์ของเขาเคยมาแสดงออกอะไรเหนือรัฐบาลหรืออะไรๆก็รู้ไปหมดหรือ"

ลุงแมวยังชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาประชาธิปไตยของเราอีกว่า เป็นปัญหาตั้งแต่ในระดับจิตสำนึก ประสบการณ์จากเมื่อครั้งรับจ้างไปรบที่เวียดนามเป็นความทรงจำที่สะท้อนมาถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ลุงจึงเล่าให้ฟัง

"แต่ก่อนลุงเป็นทหาร เวลาไปรบที่เวียดนาม ตอนนั้นเมืองไทยมันไม่มีที่ให้รบ ลุงเห็นคนเวียดนามเวลาเขาสู้ เขาเอาชีวิตเข้าแลก จะเอาแผ่นดินเขาคืน แต่คนไทยทุกวันนี้ดีแต่เห่าหอนไม่ใช่ออกมาจากจิต คนไทยเห็นธงชาติเหมือนเห็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง เคยระลึกไหมว่านี่คือชาติ คือความภูมิใจ มีไหม เกาหลีเท่หน่อยก็ไป ญี่ปุ่นเท่หน่อยก็ไป เคยมีอะไรให้เขาเอาอย่างบ้าง เคยภูมิใจในความเป็นคนไทยจริงด้วยจิตรและวิญญาณไหม"

ความร้อนแรงของผู้เป็นทายาทของหัวหน้าคณะราษฎร์ยังคงลุกโชนแม้จะผ่านช่วงวัยหนุ่มสาวมานานโข เราเสียอีกที่ออกจะมึนชาไปบ้าง

"ไม่ใช่ลุงไม่รักชาตินะ แต่เวลาเพลงชาติขึ้น ลุงแมวยืนไหม..ไม่ยืน เพราะเคารพต่อธงชาติมามากแล้ว เป็นหนี้แผ่นดินแล้วก็ใช้หนี้แผ่นดินหมดแล้ว วันหนึ่งเขาบอกมึงไม่ต้องใช้หนี้แล้ว ลุงก็ลาออก"

สิ่งที่ต้องเผชิญในฐานะลูกชายของคณะราษฎร์ไม่ง่าย การลาออกของลุงแมว ตอนแรกเราคิดว่าน่ามาจากความเหนื่อยล้าตรากตรำต่อสนามรบ ความยากลำบากที่ต้องเผชิญในที่ต่างๆ แต่ไม่ใช่ ลุงว่า

"เขาให้ลุงออกเพราะข้อหาซ่องสุมกำลังปฏิวัติ"

"ลุงถามเขาว่า ทำไมถึงเชื่อว่าผมทำอย่างนั้น เขาว่าก็แกเป็นลูกคุณพ่อ พระยาพหลฯ และเป็นลูกน้องมนูญ รูปขจร ลุงถามเขาว่า ที่บอกทั้งสองประการนี้ ผมต้องปฏิวัติใช่ไหม พันเอกมนูญใน ยศตอนนั้น เขาจบมาจากไหน ผมจบมาจากไหน เขานักเรียนนายร้อย ผมโรงเรียนนายสิบ เขายศพันเอก ลุงแมวยศพันตรี เขายังทำไม่สำเร็จ ลุงแมวจะซ่องสุมกำลังอย่าว่าแต่จะชวนคนไปปฏิวัติเลย ชวนหมาไปปฏิวัติหมามันก็ไม่เอากับผม

"แล้วเขาก็ถามว่า ลุงเชื่อหรอว่าประเทศไทยปฏิวัติแล้วจะเจริญ" ลุงตอบว่า

"ผมยอมรับครั้งเดียวครั้งที่พ่อผมกับคณะราษฎร์ร่วมกันทำ ครั้งนั้นถ้าไม่สำเร็จก็จะไม่มีผม เพราะโทษประหารเจ็ดชั่วโคตร เป็นกบฏนะ เขามุ่งมั่นเอาชีวิตเขาเข้าแลกเอาประชาธิปไตยมามอบให้คนไทย แต่ครั้งต่อๆมามันไม่ใช่ มันแค่เปลี่ยนฝูงเหลือบเพื่อสูบเลือดเนื้อประเทศชาติ โดยอ้างสามประ ประตัวแรกคือประเทศชาติมันย่ำแย่แล้วเลยต้องปฏิวัติ ประตัวที่สองประชาชนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าแล้วเลยต้องปฏิวัติ ประตัวที่สามคือ ประชาธิปไตยมันไม่มั่นคงสักทีเลยต้องปฏิวัติ แต่ไอ้ประสามตัวเคยได้ประโยชน์จากการรัฐประหารไหม มีแต่คนกลุ่มที่ทำร่ำรวยมีเงินมีทองขึ้นมา"

บทสนทนาที่เข้มข้นขึ้น เราย้อนกลับไปถามถึงข้อกล่าวหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นและอาจจะรวมถึงในสมัยนี้ในข้อที่กล่าวว่าคณะราษฎร์  'ชิงสุกก่อนห่าม' ลุงแมวว่า

"ที่ว่าคณะราษฎร์ชิงสุขก่อนห่าม มันจะชิงสุกก่อนห่ามได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่ได้ใส่ความรู้ประชาธิปไตยให้ประชาชน เขาเป็นราชาธิปไตยแล้วเขาจะให้ประชาธิปไตยหรือ ไม่มีทาง มันขัดกับความเป็นจริง เพราะฉะนั้นโกหก เป็นไปไม่ได้ที่ราชาธิปไตยจะมอบประชาธิปไตยให้ แล้วก็ไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชนกับราษฎร 2475 จะไม่เกิดขึ้นเลยหากคุณพ่อไม่เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 7 ทรงไม่อยู่ในธรรมและเอาปัญหามาลงที่ประชาชน ปลดข้าราชการออก

"เรื่องสะสมมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 6 ใช้เงินไปจนไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ จนต้องโละออก เพราะกษัตริย์ถือว่ามีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ประชาชนไม่มีความรู้ คณะราษฎร์เขาเตรียมไว้แล้ว เตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ อันนั้นของปลอม…." ซึ่งลุงแมวเน้นว่า นี่คือหนึ่งในหกหลักตามประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 ที่เรียกว่า 'หลักการศึกษา' และหากยึดหลักนี้ ประชาธิปไตยจะไม่ใช่เรื่องชิงสุกก่อนห่ามตามที่ 'เขา' ว่ามา

เมื่อถึงเวลาอันสมควรในคำถามสุดท้าย เราไม่ลืมถามถึงความเชื่อมั่นในระบบผู้แทนแบบรัฐสภาและภาพลักษณ์ในปัจจุบัน

"ถ้าเผื่อมันเป็นประชาธิปไตยจริงเมื่อไรมันก็จะพัฒนาไปเมื่อนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่เป็น" ลุงแมวยืนยัน เราสงสัยเล็กน้อยเพราะเป็นรัฐบาลของน้องสาวของคนที่ลุงแมวเองก็เอ่ยแสดงความเห็นด้วยหลายครั้ง หลายประเด็น

"แม้ว่ารัฐบาลนี้จะมาจากการเลือกตั้ง มันชื่อว่าประชาธิปไตยแต่มันไม่ใช่ พูดกันนี้ รู้ไหมว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเขาสร้างมามีความหมายอะไร" ลุงแมวทิ้งคำถามสั้นๆนี้เอาไว้ ส่วนคำตอบคงเป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะคิด

ตอนเราลากลับลุงแมวขอตัวไปซ้อมเพลง 'วันชาติ24 มิถุนา' เพื่อร่วมร้องอีกครั้งในงานเฉลิมฉลองวันชาติที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งจะร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2556 นี้ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

ด้วยจิตวิญญาณของลูกผู้นำคณะราษฎร์ที่ยังพร้อมขับเคลื่อนทางความคิด บรรยากาศค่ำคืนเมื่อ พ.ศ. 2475 กำลังหวนกลับมาอีกครั้ง...

วันรุ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่หลายคนวาดหวังอาจเจิดจ้าดุจตะวันฉาย. 

เพลงวันชาติ ๒๔ มิถุนา

24 มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์ 
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย 
เริ่มระบอบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี 
สำราญ สำเริง รื่นเริง เต็มที่ 
เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย
ถ้าแม้ว่าชีวิตมลายร่างกายก็เป็นปฏิกูล 
พวกเราต้องร่วมรักพิทักษ์ไทยไพบูลย์
อีกรัฐธรรมนูญคู่ประเทศไทย 
เสียกายเสียชนม์ยอมทนเสียได้
เสียชาติประเทศไทยอย่ายอมให้เสียเลย 
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

 

หมายเหตุ : เพลงวันชาติ 24 มิถุนา แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2483 โดย มนตรี ตราโมท เพื่อใช้เป็นเพลงวันชาติ 24 มิถุนา ในยุคของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ใช้มาเพียง 21 ปี ก็ถูกยกเลิกในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยได้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 เรื่องวันชาติ และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริ­ย์ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ซึ่งเป็นผลให้จะต้อ­งยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ไปเสีย ต่อมาเพลงนี้จึงเป็นเพลงที่นักประชาธิปไตยใช้รำลึกวันที่ได้รัฐธรรมนูญในทุก­ๆ วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลดราคาจำนำข้าว “เราคิดผิดหรือเปล่าที่เลือกพรรคเพื่อไทย?”

Posted: 16 Jun 2013 09:54 AM PDT

บทความชิ้นที่ 5 ของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

 

กระแสข่าววิพากษ์โครงการจำนำข้าวและอาการเคลียร์ตัวเลขขาดทุนไม่แจ้งจนเป็นที่น่าพอใจของ รมว.พาณิชย์ จนมีผลทำให้เกิดการโยนหินถามทางอีกครั้งว่าอาจปรับราคาข้าวที่รับซื้อจากชาวนาเหลือเพียงตันละ 1.3 หมื่นบาทเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา  สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับชาวนาในทุ่งหนองบอน ต.จักราช อ.ผักไห่  ที่ก่อนหน้านี้เผชิญปัญหาภัยแล้ง  น้ำแห้งคลองและฝนล่า จนต้องลงทุนเร่งสูบน้ำหลายทอดเพื่อเริ่มทำนาปรังเพื่อปลูกข้าวอายุ 110 วันให้ทันได้เกี่ยวก่อนน้ำจะมาในหน้าน้ำช่วงเดือนกันยายน  แต่ในก็กลับมาตกชุกหนักในช่วงต้นเดือนมิถุนายน   ข้าวอายุกว่า 30 วันซึ่งกำลังแตกก่องามถูกน้ำท่วมขังจนมีแต่น้ำขาวไปหลายสิบไร่ และอีกหลายแปลงกำลังรอความหวังว่ากรมชลประทานจะลดบานประตูลงเพื่อลดระดับน้ำที่ปล่อยเข้านาเพื่อรักษาแปลงนาที่ยังเหลืออยู่  

"คิดผิดหรือเปล่าไม่รู้ที่เลือกทำนาหรือเลือกพรรคเพื่อไทย  เราก็สงสัยว่าทำไมไม่บริหารเหมือนรุ่นทักษิณ รุ่นนั้นราคาข้าวดี แล้วทำไมไม่เดินตามรอยที่เขาทำไว้ดี รุ่นนั้นทำไมไม่มีปัญหาเลย ข้าวตันละ  12,000 – 13,000 บาท  หลายคนก็พูดเหมือนเราว่าคิดผิดหรือเปล่าถ้าโดนลดราคาข้าว  ลดราคาลงมา ชาวนาแย่ทันทีเลย  รัฐบาลนี้จำนำข้าว 15,000 บาท เรายังโดนตัดความชื้นเหลือ 12,000 บาท  ถ้าจำนำเหลือ 10,000 บาท เราไม่เหลือแค่ 7,000 – 8,000 บาทเหรอ?  ถ้าอย่างนั้นเราร่วงทันทีเลย  เพราะตอนนี้ค่าแรงก็ขึ้นแล้ว  ค่าเช่าก็ขึ้นแล้ว  รัฐบาลประกาศจะทำอะไรก็ทำได้ แต่พอมันขึ้นมาแล้ว มันลงยาก ลดราคาข้าวแล้ว ค่าแรง ค่าปุ๋ย ลดหรือเปล่า?  ต้องลดค่าแรงลงด้วยสิจะได้ยุติธรรม  รักษาหน่อยสิคำพูด จะดีมากเลยถ้ารักษาได้"  รังสรรค์  และวราพร  กำลังแพทย์  ระบายให้ฟังอย่างอึดอัดใจ

เลือกเพื่อไทยเพราะโครงการรับจำนำข้าว

บ้านของรังสรรค์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับบ้านจรูญ น้าสาวที่คอยเอาแรงและเป็นที่ปรึกษาในการทำนา  จรูญซึ่งเปิดบ้านเป็นร้านขายของชำเล็กๆ ในหมู่บ้าน  และกลายเป็นที่พบปะพูดคุยสังสรรค์กันของชาวบ้านในหมู่ยามเย็นค่ำ     รังสรรค์ บอกว่า ชาวนาที่นี่เทคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยจนล้มแชมป์เก่าเจ้าประจำจากพรรคชาติไทยพัฒนาลงได้  และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเขาก็ยังจะคอยเชียร์ให้เป็นรัฐบาลจนครบ 4 ปี 

"35 เสียงที่พรรคเพื่อไทยชนะพรรคชาติไทยพัฒนาที่หน่วยเลือกตั้งนี้เพราะนโยบายจำนำข้าวนี่แหละ  บ้านนี้ มี 3 เสียง ผม เมีย และปู่  ให้ทั้ง 3 เสียงเลย  ลำพังหัวคะแนนไม่ค่อยเท่าไหร่หรอกช่วงหาเสียง แต่ช่วงนี้เข้ามาบ่อยขึ้นอย่างช่วงนี้หน้าแล้ง ชาวนาในหมู่นี้ กับอีกหมู่นึงก็มาคุยกันก่อนจะไปทำประชาคม  ว่าจะให้เขามาขุดคลองแก้น้ำแล้ง ลำพังงบประมาณของพื้นที่มันไม่พอ ก็ต้องให้ สส.เขามาช่วย" [2]

 

ความหวังจากโครงการรับจำนำข้าว

รังสรรค์ (44 ปี) และ ภรรยา (วราพร วัย 36 ปี)  เพิ่งหันกลับมาเมื่อปี 52  ก่อนหน้าเคยทำนามานานหลายปีแล้วไม่ประสบความสำเร็จจนคิดเปลี่ยนอาชีพไปซื้อที่ 20 ไร่ ทำสวนส้ม และน้อยหน่า ไกลถึง แม่สอด แต่ก็ต้องคว้าน้ำเหลวอีกครั้งเมื่อระยะทางระหว่างบ้าน สวน และแหล่งจำหน่ายห่างไกลจนทำให้ผลกำไรจากผลผลิตต่ำกว่าค่าน้ำมันและการจัดการ  จนต้องขายสวนทิ้งเพื่อตัดหนี้เมื่อปี 2549  แล้วหวนกลับมาทำนาทั้งนาปีข้าวฟางลอย และนาปรัง อีกหนพร้อมๆ กับเป็นพ่อค้าขายน้ำปลาขวดที่รับจากแหล่งกระจายรายใหญ่แถวบ้านบรรทุกปิ๊กอัพเร่ขายไปไกลถึงสุพรรณบุรี และนครปฐม มีกำไรประมาณวันละ 500 บาท  ตลอดช่วง 4 เดือนที่เว้นว่างจากการทำนา

ปีที่แล้ว (ปี55) ทั้งคู่เริ่มได้รับผลกำไรจากการทำนาปรังเป็นกอบเป็นกำ  จากการเช่านาทำ 38 ไร่ ซึ่งมีสัญญาเช่า 6 ปี ค่าเช่าไร่ละ 1,000 บาท คงเดิมมาตั้งแต่เริ่มทำปี52   จนคิดขยายพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มขึ้น โดยลงทุนเช่านาของน้องสาววราพร 20 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตาบอดไม่มีทางเดินและร่องน้ำ จนต้องควักเงินลงทุนปรับแปลงนานั้นไป 150,000 บาท และซื้อทางเข้านาจากนาต้นทางอีก 30,000 บาท เพื่อให้ผ่านทางได้ตลอดไปโดยทำสัญญาตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วและเริ่มปรับที่นาไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา   เพื่อที่ว่าจะได้เริ่มต้นทำนาปรังได้ใหม่ในพฤษภาคม รับโครงการจำนำข้าวรอบ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์   รังสรรค์เชื่อว่าหากเขาทำนาขายข้าวในโครงการรับจำนำได้ 2 เที่ยว เขาก็จะสามารถใช้หนี้คืนทุนได้หมดและหลังจากนั้นก็จะเหลือเป็นผลกำไรในระยะยาว   ขำ – วราพร เล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเบิกนาเช่าใหม่ว่า 

"ถ้าไม่มีจำนำข้าวก็ต้องทำทางขุดเข้าไปอยู่ดี  เพราะว่าทำนาปีมันไม่ได้อะไร ทำนาปรังดีกว่า   จำนำนี่เราทำแค่ 2 เที่ยวมันก็ได้แล้วไง  ที่เหลือต่อจากนั้นก็เป็นกำไรในระยะยาว   ทำนาทุน 5,500 – 6,500 บาท/ไร่ รวมค่าเช่านาแล้ว ประหยัดค่าแรงเพราะทำนากันเอง  จ้างเขาทำขึ้นราคาค่าแรงแล้วทำไม่ได้อย่างที่เราต้องการ พอประหยัดได้ 2,000 บาท มันก็พอได้   ทีนี้เรากะเหตุการณ์ข้างหน้าไม่ได้  ข้าวเป็นเพลี้ยบ้าง เป็นโรคบ้าง  หนอนลง ฉีดยาหลายเที่ยว ต้นทุนก็เพิ่ม  เราก็ได้น้อยลงอีก"   

พฤษภาคม ฝนมาช้า จนเกรงว่าจะไม่ได้ปลูกข้าว 110 วัน

ช่วงก่อนที่จะมีการชี้แจงงบประมาณประจำปี และอภิปรายถึงโครงการรับจำนำข้าวในรัฐสภาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม  ก่อนหน้านั้นราวต้นเดือนเดียวกันนี้  เป็นช่วงที่ชาวนาในเขตที่ลุ่ม อ.ผักไห่ หลายแห่ง ต่างวิตกกังวลกับฝนที่ไม่ตกลงมา ในขณะที่น้ำในแม่น้ำลำคลองและลำรางแห้งขอด  จนชาวนาหลายคนต้องตัดสินใจลงทุนเพิ่มเพื่อวิดน้ำเข้านา  เพราะหากทำนาปลูกข้าว 110 วันตามเกณฑ์กำหนดของโครงการรับจำนำ  พวกเขาต้องหว่านข้าวก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า น้ำที่จะมาในช่วงหน้าน้ำของทุกปีราว 10 – 15 กันยายน นั้น จะไม่ท่วมข้าวที่กำลังได้อายุเก็บเกี่ยวของพวกเขาเสียก่อน 

"ปีที่แล้วนาตั้งเยอะ ได้ข้าวแค่ 16 ตัน  กข.51  มันเป็นข้าวเบา  เที่ยวนี้เลยเอาข้าวหนักดีกว่า ได้น้ำหนักกว่า แต่ก็ว่าเสี่ยง  เราถึงต้องรีบ ก็นับวันอายุข้าวแล้ว น่าจะได้เกี่ยวทันก่อนน้ำมา"  ขำเล่า

 

ทั้งคู่เล่าว่า  ช่วงที่ชาวนาต้องการน้ำเพื่อเริ่มตีเทือก แต่ไม่มีน้ำใช้นั้น มีคนรับจ้างสูบน้ำเข้านา โดยสูบจากคลองไปเข้าลำราง  ชม.ละ 100 – 120 – 140 บาท  จากนั้นคนทำนาต้องสูบน้ำจากลำรางเข้านาเอง  ส่วนของครอบครัวกำลังแพทย์ นั้นไม่ได้จ้าง ใช้เครื่องสูบน้ำเก่าที่ใช้มาตั้งแต่รุ่นพ่อสูบน้ำ  1 ตัว ยืมน้าจรูญ ซึ่งมีกำลัง 2 แรงม้ามาใช้อีก 1 ตัว   และต้องซื้อเครื่องสูบน้ำมือสองเพิ่มอีก 1 ตัว ราคา 26,000 บาท    นาปรังที่เช่าทำเที่ยวนี้ 60 ไร่ ในที่นา 5 แห่ง ในทุ่งลาดชะโดและทุ่งจักราช  ลงทุนเพื่อตีเทือก หว่านข้าวให้ได้  เฉพาะค่าสูบน้ำถึง 14 วัน คิดเป็นค่าน้ำมันดีเซลวันละ 2,000 บาท  รวมเป็นเงิน 28,000 บาทนั้น   ยังไม่รวมค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างปั่นนา ตีเทือก ยาคุมหญ้า และปุ๋ยซึ่งใช้เครดิตจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ซื้อมาแบบปลอดดอกเบี้ยเป็นเงิน 220,000 บาท สำหรับการลงทุนรอบแรกของการทำนาเที่ยวนี้

เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ 2 ตัวไม่พอใช้ ส่วนเครื่องสูบน้ำ 2 กำลังแรงม้าของน้า ก็มีคิวขอยืมใช้จากเพื่อนที่ทำนาด้วยกันยาวเหยียด  รังสรรค์อยากได้เครื่องสูบน้ำเพิ่มเพื่อให้พอใช้งาน แต่ต้องระงับไว้ก่อนเพราะนาทเยวนี้ลงทุนไปเยอะมากแล้ว

 

ฝนชุก นาล่ม กลางเดือนมิถุนายน

15 มิถุนายน 56   นาเช่าของทั้งคู่ในทุ่งหนองบอน ขนาด 28 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็น 6 กระทง  ที่หว่านข้าวชัยนาท และข้าว กข. 47 ซึ่งมีอายุ  110 วัน ไปเมื่อ 11 พฤษคม ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ราวปลายสิงหาคม ต้นกันยายนนั้น  กลับถูกน้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา  จนทำให้น้ำท่วมข้าวในกระทงนาที่ลุ่มที่สุดจมน้ำท่วมขาวไปก่อน  และนาอีก 2 กระทงกำลังจะท่วมมิดใบข้าว  ซึ่งหากน้ำท่วมนานถึง 1 สัปดาห์ ข้าวก็จะเน่าเสีย และไม่สามารถฟื้นตัวได้เลย

"ข้าวอายุ 35 วัน เพิ่งหว่านปุ๋ยครั้งแรกไป  ไร่ละ 3 ถัง ปุ๋ย 18-8-8 กระสอบหนึ่ง 50 กก. ก็ 780 บาท แล้ว  ค่าเทือกไร่ละ 220 ปั่นอีก 220 บาท นี่ซื้อปุ๋ยเตรียมหว่านรอบ 2 ไว้ด้วย  ข้าวกำลังงามแตกกอเลย" 

เสียงเครื่องสูบที่ได้ยินแว่วๆ ไปทั่วทุ่งหนองบอนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น    เป็นเสียงที่สูบน้ำออก   กลับกันกับเมื่อเดือนพฤษภาคม   รังสรรค์บอกว่า ชาวนาทำนาพร้อมๆ กัน ตอนที่ต้องการน้ำแต่ไม่มี ก็แย่งน้ำกัน    แต่ช่วงนี้เราไม่ต้องการน้ำ  ฝนตกหนักในคืนวันที่ 12 มิถุนยายนที่ผ่านมา พอ 2 วันถัดมา น้ำก็ไหลเข้ามาในทุ่งได้ทุกทิศทางเพราะฝนตกใต้เขื่อน และต่างคนต่างก็ไม่เอาน้ำ   เขาต้องป้องนากันน้ำโดยใช้วิธีดำน้ำลงไปในลำรางเพื่องัดดินข้างใต้ขึ้นมาถมคันคูตลอดวันแทนการสูบน้ำออก  เพราะน้ำในลำรางเต็มปริบ และไม่รู้จะสูบออกไปทางไหนได้ 

น้ำมีอยู่ล้อมรอบเต็มไปหมด แต่ดอกผลจากต้นข้าวในนากำลังละลายหายไป  ขำเล่าว่า  ปีที่แล้วเธอลงทุนทำนา 200,000 บาท  ขายข้าวได้ 480,000 บาท  เหลือครึ่งหนึ่ง จ่ายค่าเช่านาเกือบ 70,000 บาท เหลือเงินประมาณ 200,000 บาท  ก็นำบางส่วนไปใช้หนี้   เธอเป็นหนี้ที่กู้ยืมคนในหมู่บ้าน 300,000 บาท มาใช้จ่ายในครอบครัวและส่งลูกเรียน  และ ตอนเริ่มทำนาปีแรก กู้หนี้สหกรณ์เพิ่มอีก 550,000 บาท   ดอกเบี้ยร้อยละ 9บาท/ปี  มีสัญญากำหนดใชหนี้ให้หมดภายใน 5 ปี โดยผ่อนชำระปีละ 110,000 บาท  ไม่รวมดอกเบี้ยที่ตัดส่งในแต่ละงวด  ตอนนี้เธอเหลือหนี้สหกรณ์อยู่ 330,000 บาท  กับภาระที่จะต้องเลี้ยงดูและส่งเสียลูก 3 คน ซึ่งกำลังเรียนในระดับมัธยมปลายและชั้นประถม โดยคนโตอายุ 16 ปี ชั้นม.6  คนกลาง 14 ปี ชั้น ม.4  และคนเล็ก 7 ปี ชั้น ป.1

"ทำนา 3 – 4 เดือนจะได้เงิน  เราต้องกินต้องใช้ทุกวัน ขั้นต่ำเดือนเดือน 15,000 บาท เราต้องเร่ขายของช่วงที่ไม่ได้ทำนา  เราจะไปหาที่ไหน   เคยคำนวณว่า ถ้าลงทุนทำนาอย่างนี้ 3 ปี ก็หมดหนี้ ถอนทุนได้  ครบวาระ 4 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์พอดี"  

ในขณะที่เพื่อนชาวนา 1 คันรถปิ๊คอัพกำลังวิ่งไปดูบานประตูน้ำที่อยู่ทางดอนขึ้นไปจากทุ่งนาของพวกเขา เพื่อร้องขอให้ชลประทานลดบานประตูน้ำลง ชะลอไม่ให้น้ำท่วมนาข้าวที่เหลือ    รังสรรค์ และวราพร ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันดีกับผู้นำชาวนานักสู้อย่างลุงวิเชียร พวงลำเจียก  ตอนไปขอคำปรึกษาเรื่องเงินค่าชดเชยนาถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2553 – 54  ยังเสนอทางลงของโครงการรับจำนำข้าวเพื่อให้ชาวนาและรัฐบาลอยู่รอดครบวาระอย่างที่พวกเขาซึ่งได้ลงคะแนนเสียงเทให้เพราะนโยบายนี้ไว้ด้วยว่า  ถ้ารัฐบาลยังราคารับจำนำข้าวไว้ที่ตันละ 15,000 บาท และจำกัดโควตาให้ครอบครัวละ 500,000 บาท หรือ ไม่เกิน 25 ตัน  น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในภาวะทีทั้งคู่และชาวนาในทุ่งหนองบอน ต.จักราชกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว  

จ๊อด – สำอาง กล่อมฤกษ์  (44 ปี) เพื่อนชาวนาของวราพรและรังสรรค์ ในทุ่งหนองบอน  มีนากระทงหนึ่ง ขนาด 7 ไร่ เคียงกันกับนาของขำ ถูกน้ำท่วมจนมิดต้นข้าว เห็นแต่น้ำขาว    รอบฤดูปลูกนี้เขาทำนาในทุ่งนี้ เกือบ 100 ไร่  เป็นนาตัวเอง 30 กว่าไร่  นอกนั้นเช่า  ลงทุนไปแล้ว 200,000 กว่าบาท  แต่ตอนนี้นากว่า 70 ไร่ ถูกน้ำท่วมไปแล้วนานราว 1 สัปดาห์ เพราะที่นาลุ่มกว่าคนอื่น  ยังเหลือลุ้นว่าน้ำจะไม่ปล่อยเข้ามาจนท่วมข้าวอยู่อีก 20 กว่าไร่

"เครียดจนไม่รู้จะทำยังไง  ปีหน้าเจ้าของนาจะขึ้นค่าเช่าจาก 1,000 บาทเป็น 1,500 บาท  ปีหน้า ถ้าราคาข้าวอยู่เกณฑ์เดียวเหมือนปีนี้ก็ยังพออยู่ได้  แต่ถ้าราคาข้าวต่ำกว่านี้ อยู่กันไม่ได้แน่  ต้นทุน/ไร่ ก็ 5,000 กว่าบาทแล้ว ได้ข้าว 80 ถัง  ขายได้ตันละ 13,000 – 14,000 บาท กำไลครึ่งๆ   ต้นทุนปีนี้พอๆกับปีที่แล้ว จะมีแต่ค่าน้ำมันวิดน้ำเข้า หมดค่าวิดน้ำไปแสนกว่าบาท ปลูกข้าว กข.41 อายุ 110 วัน น้ำมาท่วมเสียก่อนตอนนี้  ถ้าข้าวไม่รอดหมื่นพออยู่ได้ ต่ำกว่าหมื่นตายอย่างเดียว เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นดีกว่า"

 

นาแล้ง วิกฤติแลโอกาส ของชาวนาในทุ่งผักไห่

หลังเกี่ยวข้าวนาปรังหนแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ทางการประกาศไม่ให้ทำนา  ให้หยุดทำนาไป 8 เดือน  ชาวนาในทุ่งผักไห่  ชาวนาหลายคนตัดสินใจสูบน้ำเข้านาทำนาปรังรอบ 2 กันต่อ  บางก็ขอแจ้งติดมิเตอร์กับสำนักงานการไฟฟ้า   มีเพียงส่วนน้อยที่ถอดใจไม่ทำนา และรอดูน้ำอีกทีเดือนกันยายน เพราะเป็นที่ดอนและเห็นว่าต้องลงทุนเพิ่มมากเกินกำลังจะจ่าย   นอกจากนี้ยังมีชาวนา 8 ราย ผืนนารวมกัน 140 ไร่  ลงขันกันสูบน้ำจากนาเข้าคลอง

ตุ่น – ลำไย พูลเพิ่ม หนุ่มฉกรรจ์วัย 47 ปี อดีตชาวนาที่ผันตัวเองมาทำบ่อปลาและรับจ้างสูบน้ำเข้านาในทุ่งผักไห่ หลังจากเคยทำนาล่มเพราะพายุอีร่าและถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายนาเช่าเสียหายอีกรอบ จนขาดทุนและเลิกทำนาที่อ.เดิมบาง จ.สุพรรณ เมื่อปี  33  ระบาด เล่าว่า  เขาใช้รถซาเล้งบรรทุกมีท่อสูบและเครื่องสูบไปประจำจุดต่างๆ ของผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นคนทำนาในทุ่งผักไห่ราว 10 กว่ารายรวม 1,000 กว่าไร่  ค่าจ้างมีตั้งแต่ 200 – 500 บาท/ครั้ง ขึ้นกับขนาดที่นา  และจะวนกลับมาสูบน้ำให้นาแปลงนั้นอีกทีใน 5 - 7 วันถัดมา จนกระทั่งหยุดสูบก่อนเกี่ยวข้าวราว 10 วัน   ซึ่งเขาว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจ และ  "ดีกว่าทำนาเองเสียอีก"  แม้บางครั้งต้องออกไปเฝ้าเครื่องสูบน้ำในนายามค่ำคืนค่อนคืนก็ตาม  นอกจากคาจ้างวิดน้ำแล้ว   หลังเกี่ยวข้าวขาย  ชาวนาที่ว่าจ้างก็มักให้เงินแก่ตุ่นเพิ่ม  2,000 – 3,000 บาท  

ประภาส แย้มอุทัย  (50 ปี) ชาวนา 1 ใน 8 รายที่ร่วมลงหุ้นกับเพื่อน ครั้งนี้บอกว่า   จึงร่วมหุ้นกับติดมอเตอร์ขนาด 7 แรงม้าเพื่อใช้สูบน้ำจากในคลองเขาราง    โดยเครื่องสูบน้ำเป็นของกลุ่มซึ่งเคยซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อคราวฤดูแล้งปี53  สมาชิกใหม่ 6 คน ที่ลงหุ้นจ่ายเงินซื้อแค่ท่อพญานาค 10,000 บาท   และขอสำนักงานไฟฟ้าติดตั้งมิเตอร์เกษตร อีกต่างหาก  ส่วนค่าไฟ แบ่งจ่ายโดยหารค่าไฟกับขนาดของนาของแต่ละรายที่ลงขัน  หลังจากวิดน้ำจากคลองเข้าลำรางแล้ว  แต่ละคนต้องตั้งเครื่องสูบน้ำเข้านาของตัวเอง  ประภาสเล่าว่า พวกเขา  เคยเสนอโครงการให้เทศบาลทำคลองส่งน้ำเป็นคลองปูนผ่าเข้าไปตามแนวคลองส่งน้ำเดิมที่มีอยู่ในทุ่ง ตรงคลองตาเข่ง ซึ่งใช้งบหลายแสน  และเสนอไป 3 ปีแล้ว  แต่เขายังไม่ทำ   ขุดลอกให้แต่คลองลำรางบางแห่ง  ส่วนลำรางในนาต้องขุดกันเอง  เขายอมรับว่าทำนาปีนี้ลงทุนซื้อน้ำไปมากทีเดียว

 "เช่านาเขา 18 ไร่  ข้างนอกทุ่งนี้อีก  10 ไร่  ถ้าไม่ทำก็ต้องจ่ายค่าเช่าฟรี ก็ต้องเสี่ยงทำ   ปกติทำนาต้องสูบน้ำทุก 7 วัน แต่ช่วงต้นพฤษภาคมแดดแรง สูบมาแล้วน้ำแห้งไว  ปกติสูบแล้วปล่อยทิ้งไว้ 10 วันค่อยสูบใหม่ จนกว่าข้าวจะใกล้ได้เกี่ยวจึงหยุดสูบ     แต่ดีหน่อยที่ว่าทำเลที่นาของเขามันเป็นที่ดอน  หากน้ำหากมาก่อนช่วงหน้าน้ำ น้ำจะไปลงทางบางปลาม้า  นาคู จักราช  หนองน้ำใหญ่  ต้นเดือนกันยายนปี 54 ที่ชาวนาสุพรรณ กับที่ จักราช หนองน้ำใหญ่มาประท้วงไม่ให้น้ำปล่อยเขานาเพราะนากำลังจะได้เกี่ยวนั่นน่ะ ถึงเขาปล่อยเข้า ก็อีกหลายวันกว่าน้ำจะมาถึงที่นานี่   ผมมัวแต่วิ่งหารถเกี่ยวข้าว  เลยไม่ได้ไปประท้วงปิดถนนกับเขาไง"

"ช่วงนี้เขาเร่งรีบกันทำนาเพราะราคาข้าวมันดี  เขาว่ากันอีกว่าหมดจาก "ชินวัตร" แล้ว  ราคาข้าวไม่ได้อย่างนี้หรอก  แต่อย่างว่า ถ้ายิ่งลักษณ์ลงเลือกตั้งอีกสมัยหน้า  ก็คงได้เลือกกันเข้ามาอีก"  ประภาสให้ความเห็นเมื่อ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก่อนที่จะกระแสข่าวลดราคาข้าวในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่สั่นกระเพื่อมอย่างรุนแรงอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์เคยส่งสัญญาณลดราคาข้าวรับจำนำเหลือตันละ 1.3 หมื่นบาทเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้

 ไม่แน่ว่า   หากราคาข้าวรับจำนำปีหน้าลดราคาจาก 15,000 บาท แล้วเขาขายข้าวได้ไม่ถึงหมื่นบาท  ชาวนาเสื้อแดงที่เทคะแนนเชียรพรรคเพื่อไทยเพราะติดใจนโยบายเด็ดๆ มาตั้งแต่สมัยทักษิณ อย่างประภาส  ก็อาจจะต้องออกมาร่วมขบวนประท้วงตัวเองร่วมกับพรรคพวกเพื่อนพ้องในทุ่งจักรราชที่กำลังตกที่นั่งเดียวกันนี้ได้เหมือนกัน




[1] บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  "โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว"  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] จำนวนชาวนาในหมู่บ้านของรังสรรค์ที่ขึ้นทะเบียนชาวนาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 มีทั้งสิ้น 56 ราย คิดเป็น 47% ของจำนวนครัวเรือน อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านมีอาชีพค้าขาย ทำงานโรงงาน และลูกจ้างบริษัท  ตามลำดับ    ในขณะที่การเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ในหมู่บ้านนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 353 คน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนทนาปาตานี ถิ่นอีสาน แตกความคิด พื้นที่ต่าง

Posted: 16 Jun 2013 09:36 AM PDT

สนทนาปาตานี ถิ่นอีสาน แตกความคิด พื้นที่ต่าง การเสวนาครั้งนี้มีประเด็นพื้นที่สำหรับผู้ที่คิดต่าง เป็นเรื่องหลักของการเสวนาครั้งนี้ ในสังคมไทยมีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย รากเหง้าของปัญหานั้นคืออะไร โดยการเสวนาครั้งนี้จะเป็นเวทีที่เรามานั่งพูดคุย ถกเถียงกัน และมีพื้นที่กรณีศึกษาทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่อีสาน ในส่วนของความคิดต่างนั้น ในสังคมประชาธิปไตย ความคิดเห็นที่แตกต่างถือเป็นเรื่องที่สวยงาม แต่ทำไมในทุกวันนี้ ความคิดเห็นแตกต่าง มันมีพื้นที่ให้มากน้อยเพียงใด และทำไมพื้นที่เหล่านี้ได้ถูกตั้งคำถามมากมาย ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจกัน
 
การเสวนาในครั้งนี้มีวิทยากรเข้าร่วมการพูดคุยคือ คุณกรชนก แสนประเสริฐ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายมนุษยชนเพื่อสังคม  คุณฮาดีย์ หะมีดง คุณดอน ปาทาน และอาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการเสวนาโดยปรัชญา โต๊ะอีแต  
 
 
การเสวนาในครั้งนี้ได้เริ่มต้นที่คุณฮาดีย์ โดยส่วนตัวคิดว่า การคิดต่างมีหลายระดับ ในพื้นที่สามจังหวัดมีผู้ที่คิดต่างมากมายเช่น อาจจะคิดต่างกับสิ่งที่ใครซักคนหนึ่งได้กระทำ หรือแม้กระทั่งว่าต้องหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้ โดยกลุ่มคนคิดต่างเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในระลอกล่าสุดเมื่อการปล้นปืนในปี 47 เมื่อมีคนคิดต่างกระทั่งต้องถืออาวุธมาลุกขึ้นสู้  ประเด็นเรื่องของความคิดต่างระหว่างสังคมไทยกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากอะไร จะดูได้จากความเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของสังคมไทย ช่วงก่อนทศวรรษ 2500 ซึ่งจะทำให้คนมีการปฏิบัติที่คล้ายกัน มีแนวความคิดที่คล้าย แต่ในบางพื้นที่ เช่นในชายแดนใต้นั้นยากที่จะหาอะไรมาร่วมกับสังคมใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา อัตลักษณ์ การนับถือศาสนา เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่รู้สึกว่า เรื่องดังกล่าวนี้มีความแรงอยู่ มันมีความรู้สึกที่จะต้องต่อต้าน หลังทศวรรษ 2500 ก็มีความรู้สึกที่จะต่อต้าน และทำให้เกิดฮีโร่ ตัวอย่างเช่นกรณีของหะยีสุหลง ซึ่งไม่ได้ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่สู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนในพื้นที่ กลายเป็นว่าหะยีสุหลงกลับหายสาบสูญ ดังกล่าวนี้ทำให้ความคิดต่างได้แพร่ขยายสู่ผู้คนมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้เหตุการณ์สำคัญจากประวัติศาสตร์ที่ทำให้ความคิดต่างกระจายไปสู่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มยิ่งขึ้น จากกรณีของเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่จังหวัดปัตตานี มูลเหตุจากการสังหารชาวปัตตานี และมีเด็กหนีรอดออกมาได้ และนำเรื่องราวดังกล่าวมาเล่าสู่ภายนอก โดยการออกมาประท้วงตอนนั้นเสมือนกับการแสดงถึงว่า ชาวปัตตานีได้ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างผู้ที่คิดต่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีหลัง ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
 
 
ต่อมาคุณดอน ปาทานได้กล่าวเสริมในประเด็นของตากใบไว้ว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือไม่ก็หาดใหญ่ สังคมไทยจะเกิดความรู้สึกอย่างไร ซึ่งในเหตุการณ์ตากใบ แม้ว่าจะมีคนสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และมีผู้คนที่สมน้ำหน้าต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย
 
ทางด้านคุณกรชนก แสนประเสริฐ ได้กล่าวถึงประเด็นของการคิดต่างไว้ว่า ปัญหาของความคิดต่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่มีความต่างกันเลย กล่าวคือ การไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของผู้มีอำนาจในสังคม ในสังคมไทยมีความแตกต่างหลากหลายเป็นจำนวนมาก แต่ผู้มีอำนาจไม่เคยที่จะยอมรับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผู้มีอำนาจได้ใช้กฎหมายในการกดทับความคิดต่าง เพื่อที่จะการันตีความมั่นคงในอำนาจของตนเอง ความรุนแรงทางกฎหมายมีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดในการบีบบังคับให้คนคิดต่างไม่ได้แสดงออก
 
 
อาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง ได้ให้มุมมองในประเด็นของความคิดต่างที่ว่า ความแตกต่างถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินี้ การพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นได้เริ่มต้นมาจากความคิดที่แตกต่าง ความคิดต่างเริ่มที่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อ เรามาตกลงกันร่วมกันสร้างรูปแบบทางสังคมที่เรียกกันว่า รัฐหรือ รัฐ-ชาติ รัฐ-ชาติเริ่มที่จะมีการอ้างพื้นที่ อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ และมีการสร้างแนวความคิดที่ว่า การที่เราคิดต่างนั้น มันจะส่งผลอันตรายต่อพื้นที่อันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การปราศจากความแตกต่างหลากหลายก็จะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐได้เช่นเดียวกัน
 
คุณดอนได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นของ รัฐ-ชาติ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า เดิมทีคนมลายูปัตตานีไม่ได้ท้าทายอธิปไตยของประเทศไทย มีการจับอาวุธขึ้นมาในหลังยุคของจอมพลสฤษดิ์ หากจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องย้อนไปดูที่ว่าเมื่อ 50 ปีแรกอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ค่อนข้างลงตัว หรืออาจจะไปดูตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ การต่อรองทางชาติพันธ์ระหว่างคนจีนกับคนมลายู ซึ่งเพลงชาติของสิงคโปร์ เป็นภาษามลายู เป็นต้น
 
คุณฮาดีย์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ วันนี้เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐเริ่มที่จะดำเนินการเจรจา อย่างไรก็ตามโจทย์ใหญ่สำหรับความคิดต่างในสังคมไทยนั่นก็คือ ความมั่นคงมันคืออะไร ซึ่งความมั่นคงอาจจะหมายถึง การที่ไม่ยอมเสียดินแดน การที่ไม่ยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตย แต่ทุกวันนี้ความมั่นคงควรที่จะกลับมานิยามใหม่ เช่นนิยามว่า ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน การให้ทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงนโยบายของรัฐ และผลประโยชน์ของรัฐ ความมั่นคงของรัฐที่ถูกมองจากมุมเดิมๆ โดยที่ในเวทีการเจรจาได้มีคำถามที่ว่า ทำไมขบวนการจึงก่อความรุนแรง คำตอบที่ออกมาจากกลุ่มขบวนการนั่นก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องก่อความรุนแรง ความไม่เป็นธรรมในอดีตใช่หรือไม่ เป็นต้น นิยามความมั่นคงของรัฐ มันแคบไปหรือไม่ นิยามความเป็นไทยของรัฐ มันแคบไปหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถที่จะรวมคนมลายูเข้าไปได้
 
 
 
จากนั้นคุณกรชนก ได้กล่าวถึง การนิยามของคำว่า ความมั่นคงว่า สังคมไทยนิยามความมั่นคงว่า ความมั่นคงจากความกลัว ความกลัวของรัฐทำให้รัฐหยิบยกความมั่นคงขึ้นมาใช้ กลัวว่าจะควบคุมอำนาจไม่ได้ กลัวว่าจะสูญเสียอำนาจไป กลัวว่าจะ
 
สูญเสียดินแดนไป จึงมีการหยิบยกคำว่า ความมั่นคงขึ้นมาใช้ เช่นเดียวกันในกรณีของชาวบ้านที่มีความกลัว ก็จะหยิบยกคำว่า ความมั่นคงมาใช้ เพราะฉะนั้นความมั่นคงจึงกลายมาเป็นเครื่องมือของทั้งสองฝ่ายที่มีความกลัวซึ่งกันและกัน ในเมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะหยิบยกคำว่า ความมั่นคงมาใช้ได้ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่า ฝ่ายใดจะหยิบมาใช้แล้วเกิดความชอบธรรมมากกว่ากัน แน่นอนว่าจะเป็นของรัฐ
 
ต่อมาคุณกรชนก ได้เพิ่มเติมถึง เรื่องมุมมองจากคนนอกพื้นที่ ที่มีต่อคนใต้ ซึ่งคนนอกอาจจะมีความกลัวคนใต้อยู่บ้าง ครั้งหนึ่งเคยถามความเห็นกับคนนอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้ 3 ประเด็นก็คือ เขตการปกครองพิเศษ แบ่งแยกดินแดน หรืออยู่ตามเดิม ในสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ แต่คนตอบที่ได้รับก็คือ แบ่งแยกดินแดนไม่เอา เขตการปกครองพิเศษไม่เข้าใจ และดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการใช้กำลังต่อขบวนการให้หมด ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้ไม่แปลกในสังคมไทย อันเนื่องมาจากว่า การทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก ก็โน้มน้าวไปสู่สิ่งดังกล่าวนี้
 
คำถามที่อยากจะชวนถามต่อเหตุการณ์ข้างต้นว่า ทำไมถึงกลัวคนใต้ อาจจะได้รับคำตอบที่ว่า คนใต้พูดคนละภาษา เป็นคนละเชื้อชาติ หากได้รับคำตอบเช่นนี้ โดยส่วนตัวแล้วจะถามกลับไปต่อว่า ณ ที่นี้มีคนไทย ที่เป็นไทยจริงกี่คน หากมีการย้อนดูศึกษาประวัติศาสตร์ จะพบว่าคนไทยมีน้อยมาก ซึ่งในประเทศไทยนี้มีทั้งคนลาว คนเขมร ไทยลื้อ เป็นต้น คนไทยจริงๆ อาจจะเป็นเพียงแค่ชนกลุ่มน้อยของรัฐไทยในความเป็นจริง แต่หากว่าถูกทำให้ลืม อีกทั้งคนในสังคมชอบลืมเสียด้วย มันจึงทำให้เกิดทัศนคติแย่ๆ ต่อคนในสังคม โดยเฉพาะผู้คนในสามจังหวัด
 
ต่อมาคุณดอน ได้กล่าวถึงประเด็นของการเจรจาสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รัฐไทยได้มีการพูดคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก การพูดคุยระหว่างรัฐกับขบวนการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ยุคสมัย 80-90 ก็มีการพูดคุยกัน แต่เป็นงานของทางด้านทหาร แต่ไม่มีผลต่อนโยบายของรัฐ โดยในการพูดคุยอย่างเปิดเผยครั้งนี้ มีคำถามว่า รัฐไทยได้พูดคุยกับกลุ่มตัวจริงหรือไม่ จากข้อสังเกตในความรุนแรงของสถานการณ์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ได้มีตัวปลอม แต่ในสถานการณ์ภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีตัวจริงค่อนข้างเยอะ แต่หัวใจสำคัญนั่นก็คือว่า ในบรรดาตัวจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ใครสามารถที่จะมีอิทธิพลควบคุมให้สถานการณ์เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นได้ ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ได้รับพบว่า ผู้นำรุ่นเก่าในขบวนการไม่มีเอกภาพ หากไม่มีเอกภาพพวกที่อยู่ระดับล่างลงมาก็ไม่มีทางออก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรบต่อ
 
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ สนทนาปาตานี ถิ่นอีสาน แตกความคิด พื้นที่ต่าง ทั้งเรื่องราวของปาตานีออกสู่พื้นที่อื่น รวมทั้งมุมมอง ความเป็นไปของปาตานี ที่มีอยู่ต่อคนนอก ที่อยู่ภายใต้พื้นที่เดียวกัน นั่นก็คือ พื้นที่ของผู้ที่คิดต่าง

 

ที่มา : PATANI  FORUM

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: เกมบนซากศพวีรชน

Posted: 16 Jun 2013 09:24 AM PDT

อย่าพึ่งออกมาฉลองการที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งคดีของอภิสิทธิ์และสุเทพให้อัยการในฐานะที่มีส่วนในการสั่งฆ่าเสื้อแดง เพราะในประการแรกมันไม่มีหลักประกันอะไรว่าอัยการจะสั่งฟ้อง ในประการที่สองถ้าสองนักการเมืองมือเปื้อนเลือดเหล่านี้ขึ้นศาล ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าเขาจะถูกจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษอันสมควรสำหรับพวกนี้ แต่ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการที่สำคัญที่สุดคือ ธาริต ไม่ยอมกล่าวหาทหารแต่อย่างใด ซึ่งแปลว่านายทหารระดับนายพล ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการฆ่าประชาชน จะลอยนวลตามเคย และสืบทอดวัฒนธรรมป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทย
 
ถ้าเกิดอภิสิทธิ์และสุเทพถูกจำคุก ซึ่งไม่เกิดแน่ภายใต้ชนชั้นปกครองไทยและสถานการณ์ปัจจุบัน ทักษิณก็ควรจะถูกฟ้องในฐานะที่มีส่วนในการฆ่าประชาชนที่ตากใบ และในสงครามยาเสพติดด้วย นั้นคืออีกสาเหตุที่ฝ่ายชนชั้นปกครองคงไม่เอาจริงกับนักการเมืองประชาธิปัตย์ และสังคมไทยก็จะยังคงขาดมาตรฐานและหลักสิทธิมนุษย์ชนพื้นฐาน
 
กลับมาเรื่องทหาร อย่าลืมว่าทหารเป็นผู้ที่ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง แต่แรก และทั้งอนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหาร ต่อมาหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารจัดให้มีการเลือกตั้ง และพรรคพลังประชาชนชนะ ฝ่ายทหารก็จับมือกับศาลเตี้ยในการล้มรัฐบาลอีก และในที่สุดก็ "จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร" ถ้าไม่มีทหารอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกไม่ได้ เขาเป็นหุ่นเชิดของทหาร
 
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามการประท้วงของเสื้อแดง ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย เราคงจำได้ว่า ศอฉ. นี้ตั้งขึ้นและทำงานในค่ายทหารราบที่11 โดยที่ อนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทสำคัญร่วมกับทหารคนอื่น แน่นอนอภิสิทธิ์และสุเทพก็มีบทบาทด้วย และสุเทพถือตำแหน่งผู้อำนาวยการ แต่ตำแหน่งทางการกับอำนาจแท้ในการสั่งการไม่เหมือนกัน นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์สองคนนี้ไม่มีวันที่จะมีอำนาจสั่งการปฏิบัติการของทหารได้ สั่งเจ้านายตนเองได้อย่างไร? เขาได้แต่เห็นชอบและให้ความชอบธรรมกับการฆ่าเสื้อแดงเท่านั้น ดังนั้นคนที่มือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดงคือทั้งสี่คน อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ
 
ทำไมทหารจึงลอยนวล?
 
ก่อนอื่นขอปัดทิ้งข้อแก้ตัวแทนรัฐบาลของเสื้อแดงบางคนที่มองว่าคำสั่งฆ่ามาจาก "เบื้องบน" เพราะบุคคลที่เขากล่าวถึงไม่เคยมีอำนาจที่จะสั่งการอะไร เพียงแต่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทหารและนักการเมืองต่างหาก ดังนั้นศูนย์กลางอำนาจสั่งฆ่าเสื้อแดงอยู่ที่กองทัพ ไม่ต่างจากพฤษภาคม 35, 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา
 
ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ และทักษิณได้ทำข้อตกลงกับทหาร ทักษิณเองเคยพูดเมื่อต้นปี 2555 ที่เขมร ว่าเขาไม่มีข้อขัดแย้งกับทหาร เพราะ "คู่ขัดแย้งคือพรรคประชาธิปัตย์" ในข้อตกลงกับทหาร ฝ่ายทหารยอมให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่จริงๆ แล้วมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทหาร เพราะถ้าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอีกครั้งจะมีการเคลื่อนไหวมากมาย แถมพรรคเพื่อไทยคุมและค่อยๆ สลายเสื้อแดงได้ ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการตอบแทนทหารรัฐบาลเพื่อไทยไม่แตะทหาร ผูกมิตรและเชิดชูด้วยซ้ำ และเพิ่มงบประมาณให้ด้วย นอกจากนี้มีการประกาศว่าจะไม่แตะเรื่อง 112 และมีความหวังว่าในอนาคตทักษิณจะกลับบ้านได้ แต่นักโทษ 112 คงกลับไม่ได้
 
การที่ธาริตส่งคดีอภิสิทธิ์กับสุเทพให้อัยการเป็นการสร้างภาพปลอม เพื่อปลอบใจเสื้อแดงว่ารัฐบาลจะสร้างความยุติธรรมให้วีรชนที่สละชีพ ทั้งนี้เพื่อไทยทราบดีว่าต้องพึ่งคะแนนเสียงของเสื้อแดง และแน่นอนผลของคดีอภิสิทธิ์กับสุเทพ ถ้ามีคดีจริง ก็คงเกิดหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน ในระบบอยุติธรรมของไทยมันลากคดีไปเรื่อยๆ ได้
 
การที่อภิสิทธิ์และสุเทพมีคดีลอยอยู่เหนือหัว เป็นเครื่องมือในการต่อรอง เพื่อให้ทักษิณกลับบ้านได้ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเพื่อไทยได้อีกด้วย และเครื่องมือต่อรองนี้จะไม่ทำให้ทหารโกรธแต่อย่างใด เพราะทหารมองว่าประชาธิปัตย์ "ใช้แล้วทิ้งได้" ไอ้ละครตลก "หน้ากากขาว" ของชนชั้นกลางไร้ปัญญาก็เป็นเพียงละครต่อรองเช่นกัน
 
ส่วนเรื่องการนำทหารและนักการเมืองที่สั่งฆ่าเสื้อแดงขึ้นศาลจริงๆ หรือการยกเลิก 112 หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอคณะนิติราษฏร์นั้น ต้องรอให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง ซึ่งขบวนการดังกล่าวอาจวิวัฒนาการออกมาจากเสื้อแดงที่ก้าวหน้าที่สุด ที่ปฏิเสธพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธแกนนำ นปช. และปฏิเสธยุทธวิธีล้าหลังของกลุ่มเสื้อแดง 51 ที่อ้างว่ารักเชียงใหม่ แต่ถ้าไม่มีขบวนการดังกล่าว ไม่ต้องไปหวังว่าคนอื่น โดยเฉพาะพวกชนชั้นปกครอง จะทำให้ไทยมีประชาธิปไตยได้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Facebook และ Microsoft เปิดเผยข้อมูลจำนวนคำขอจากรัฐบาลได้บางส่วน

Posted: 16 Jun 2013 09:13 AM PDT

หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกเปิดโปงเรื่องโครงการสอดแนมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่โลกอินเตอร์เน็ต ทางบริษัทต่างๆ ก็ขออนุญาตทางการให้ตนเปิดเผยข้อมูลคำขอจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งทาง Facebook และ Microsoft ก็สามารถเปิดเผยตัวเลขได้บางส่วนแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลอาชญากรรมทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลด้านความมั่นคงซึ่งยังถูกสั่งห้าม

15 มิ.ย. 2013 - ทาง Facebook และบริษัท Microsoft ได้ตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขจำนวนคำขอที่พวกเขาได้รับจากรัฐบาลในการสอดแนมข้อมูล หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกเปิดโปงเรื่องโครงการสอดแนม PRISM เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
 
โดยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา Facebook เป็นรายแรกที่เปิดเผยข้อมูลจำนวนคำขอของรัฐบาล โดยระบุว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งคำขอข้อมูลของผู้ใช้จำนวนระหว่าง 9,000 ถึง 10,000 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2012 โดยมีจำนวนผู้ใช้ที่ถูกขอข้อมูลจำนวนระหว่าง 18,000 ถึง 19,000 ราย จากผู้ใช้ทั้งหมด 1,100 ล้านรายทั่วโลก
 
คนใกล้ชิดกับบริษัท Facebook บอกว่าคำขอส่วนใหญ่เป็นกระบวนการสืบสวนลงบันทุกประจำวันของตำรวจ แต่จากการสัญญาตกลงกันกับกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ทำให้ Facebook ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีคำขอลับที่มาจากคำสั่งภายใต้กฏหมายตรวจตราข่าวกรองต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Act หรือ FISA) ซึ่งในตอนนี้คำสั่งทั้งหมดภายใต้ FISA ยังถือเป็นความลับ
 
ทางด้าน Microsoft กล่าวว่าพวกเขาได้รับคำขอข้อมูลทุกประเภทจากบัญชีผู้ใช้ 31,000 ราย ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2012 โดยก่อนหน้านี้ Microsoft ก็ได้เผยแพร่รายงานความโปร่งใสโดยที่ไม่มีการนำเสนอเรื่องความมั่นคงของสหรัฐฯ  ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าว Microsoft ระบุว่าทั้งปี 2012 มีคำขอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาชญากรรมรวม 24,565 บัญชีรายชื่อ
 
ซึ่งหากประเมินว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนในรายงานความโปร่งใสเป็นคำขอในช่วงที่สองของปี (คือราว 12,282 บัญชี) นั่นหมายความว่าคำขอจากฝ่ายข่าวกรองมีมากกว่าคำขอของฝ่ายเจ้าหน้าที่สอบสวนของรัฐ ซึ่ง Microsoft ไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้
 
ขณะที่บริษัท Google กล่าวในช่วงวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขากำลังเจรจากับรัฐบาลแต่ถูกสั่งว่าพวกเขาสามารถเผยแพร่ข้อมูลคำขอโดยรวมทุกประเภทได้เท่านั้น ซึ่ง Google บอกว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง เนื่องจากพวกเขาเคยนำเสนอจำนวนคำขอแยกกันระหว่างคำขอด้านอาชญากรรมและจดหมายจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นคำขอด้านงานข่าวกรองประเภทหนึ่
 
โดยก่อนหน้านี้ทั้งสามบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ อนุญาตให้พวกเขาเปิดเผยจำนวนคำขอด้านการสอดแนม หลังจากที่มีการเปิดโปงเอกสารของหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเรื่องโครงการ PRISM ที่ให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง ทำให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้ และมีการตั้งคำถามว่าการรวบรวมข้อมูลด้วยการสอดแนมมีการจำกัดวงแค่ไหน
 
Facebook กล่าวในเว็บไซต์ว่า "พวกเราหวังว่าข้อมูลตัวเลขที่นำเสนอนี้จะช่วยให้สื่อบางแห่งที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ผิดและอย่างเกินจริงได้ทราบว่าคำขอต่างๆ ที่พวกเราได้รับมีการจำกัดวงและมีจำนวนมากเท่าใด"
 
Facebook กล่าวอีกว่าพวกเขาจะเรียกร้องให้สามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้มากกว่านี้ โดยที่บุคคลใกล้ชิดกับบริษัทเปิดเผยว่าทาง Facebook ปฏิบัติตามคำขอของทางการสหรัฐฯ เพียงบางส่วนอย่างน้อยร้อยละ 79 จากคำขอทั้งหมด และพวกเขาก็ไม่ได้ส่งเนื้อหาหรือข้อความที่บุคคลนั้นๆ โพสท์ แต่ส่งแค่อีเมลล์ หมายเลขไอพี และชื่อของผู้ใช้ที่ถูกร้องขอให้แทน
 
โดยที่ Facebook เชื่อว่าตามกฏหมาย FISA น่าจะเรียกร้องข้อมูลมากกว่า แต่พวกเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าคำสั่งภายใต้กฏหมาย FISA จะกินความกว้างแค่ไหน
 
นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับ "การลดทอน" กระบวนการที่ได้รับการรับการรับรองจากศาล ซึ่งจำกัดการใช้ข้อมูลจากพลเมืองสหรัฐฯ และสภาความมั่งคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ก็ถูกห้ามไม่ให้ตั้งเป้ากับกับพลเมืองในประเทศตนเอง
 
เควิน แบงค์สตัน ทนายความจากศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี กล่าวว่า "ภ้าหากพวกเขาได้รับข้อมูลจำนวนมากแต่ไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้เข้าดูข้อมูลนั้นได้ คำถามคือมีกระบวนการใดที่บ่งชี้ว่าพวกเขาสามารถดูข้อมูลได้ หรือว่าพวกเขาแค่นำข้อมูลแช่ไว้เช่นนั้นจนกว่าในอนาคตพวกเขาจะมีคำสั่งให้ตรวจดูข้อมูลได้"
 
นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายบางคนเปิดเผยว่า กฏหมายของสหรัฐฯ อนุญาตให้มีการเก็บข้อมูลเพียงเพื่อเป้าหมายด้านนโยบายการต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการค้นหาตัวผู้ก่อการร้ายหรือสายลับเลยก็ได้
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เว็บไซต์วุฒิสภาเจอแฮก 'แก้ไขเว็บไซต์หรือจะให้ฉันกลับมา'

Posted: 16 Jun 2013 06:06 AM PDT

แฮกเกอร์นาม 'R4ym0nd' เจาะระบบเว็บวุฒิสภาช่วงค่ำ 15 มิ.ย.โพสต์รูปหัวกะโหลกเยาะเย้ย ก่อนเจ้าหน้าที่แก้ไขจนใช้งานได้งานปกติ



เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของวุฒิสภา www.senate.go.th ได้ถูกแฮกเข้าในระบบโดยกลุ่มแฮกเกอร์ที่อ้างชื่อว่า R4ym0nd พร้อมขึ้นรูปหัวกะโหลกสีขาวสลับแดงและมีปีกอยู่ด้านหลังโดยมีข้อความว่า "patch your site,or I'll be back" (แก้ไขเว็บไซต์หรือจะให้ฉันกลับมา) ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าชมหรือดูข้อมูลต่างๆภายในเว็บไซต์ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา หรือ ระเบียบการประชุมของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แก้ไขเป็นการเร่งด่วนแล้วจนกระทั่งระบบสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้วในวันนี้

สำหรับกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะกับการเข้าชมเว็บไซต์ผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน็ตบบุ๊กเท่านั้น แต่ยังคงสามารถเข้าไปดูข้อมูลภายในต่างๆได้ผ่านการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต

ทั้งนี้ ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์แฮกเว็บไซต์สำคัญของหน่วยงานราชการหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเกิดขึ้นกับเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีด้วยการโพสต์ข้อความพาดพิงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นภาษาอังกฤษด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือกตั้งซ่อมดอนเมือง 'อี้ แทนคุณ' ชนะ 'แซม ยุรนันท์'

Posted: 16 Jun 2013 03:47 AM PDT

ผลนับคะแนนเลือกตั้งซ่อมดอนเมือง 'แทนคุณ จิตต์อิสระ' ชนะเลือกตั้ง ได้ 3.27 หมื่นคะแนน ส่วน 'ยุรนันท์ ภมรมนตรี' ได้ 3.06 หมื่นคะแนน โดยแทนคุณแถลงว่าจะตั้งใจทำงาน รวมทั้งจะร่วมงานกับ กทม. อย่างไร้รอยต่อ พร้อมขอร้องนายกรัฐมนตรีอย่ารีบยุบสภา

ตามที่ในวันนี้ (16 มิ.ย.) จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 12 ดอนเมือง ระหว่างนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยนั้น

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่านายภูมิพัฒน์ ดำรงเกียรติศักดิ์ ผอ.สำนักงานเขตดอนเมือง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เพราะประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวกับการเลือกตั้ง ประกอบกับในช่วงการลงคะแนนเลือกตั้งสภาพอากาศแจ่มใสไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาลงคะแนนของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

ทั้งนี้ หลังปิดหีบเลือกตั้ง และเริ่มนับคะแนนเลือกตั้งแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยได้นำผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมทั้งหีบและบัตรเลือกตั้ง ส่งมายังสำนักงานเขตดอนเมือง ซึ่งหน่วยเลือกตั้งแรกที่ส่งมายังสำนักงานเขตดอนเมือง คือ หน่วยเลือกตั้งที่ 9 แขวงดอนเมือง โดยคาดว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ในเวลา 19.00 น. และวันพรุ่งนี้ (17 มิ.ย.) กรรมการการเลือกตั้ง จะแถลงภาพรวมการจัดการเลือกตั้ง หากไม่มีเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านการเลือกตั้ง กกต. จะสามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ภายใน 7 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการนั้น นายแทนคุณ  จิตต์อิสระ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 32,710 คะแนน  ขณะที่นายยุรนันท์  ภมรมนตรี  จากพรรคเพื่อไทย ได้ 30,624 คะแนน

ทั้งนี้หลังมีผลคะแนนเลือกตั้ง ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายแทนคุณ ได้แถลงข่าว โดยยืนยันจะตั้งใจทำงาน ตอบแทนชาวดอนเมือง ขอขอบคุณนายยุรนันท์ และพรรคเพื่อไทย ที่ให้บทเรียนต่อตนทุกอย่าง ชัยชนะครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องให้นักการเมืองต้องตระหนักในการหาเสียง ซึ่งยืนยันว่าจะทำงานแก้ไขปัญหาปากท้อง รวมทั้งเรื่องโครงสร้างพลังงาน กองทุนบำนาญ และการทำงานร่วมกับ กทม. อย่างไร้รอยต่อ และพร้อมรับข้อเสนอดีๆ จากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้สมัครคู่แข่ง หากเป็นประโยชน์ต่อคนดอนเมืองโดยนายแทนคุณกล่าวขอร้องนายกรัฐมนตรีด้วยว่าอย่าเพิ่งรีบยุบสภา

ด้านวอยซ์ทีวี รายงานข่าวนายยุรนันท์ แถลงขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ให้ความไว้วางใจ และแสดงความยินดีกับนายแทนคุณ โดยยืนยันว่าจะทำงานรับใช้ประชาชนต่อไปแม้ไม่มีตำแหน่ง พร้อมระบุว่าปัจจัยหลักที่ทำให้แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่มีเวลาหาเสียงพบปะพูดคุยกับประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ที่มาของภาพประกอบ: https://www.facebook.com/eetankhun

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำไทใหญ่หลายฝ่ายหารือกันที่ย่างกุ้ง

Posted: 16 Jun 2013 03:10 AM PDT

ผู้นำกองทัพรัฐฉานเดินสายทั่วพม่า ล่าสุดหารือกับขุนทุนอู ผู้นำพรรค SNLD ที่ย่างกุ้ง ทั้งเรื่องการเจรจาสันติภาพกับพม่า หารือเรื่องให้ชาวไทใหญ่เกือบล้านคนกลับไปรัฐฉาน และทำบัตรประชาชน ในช่วงที่พม่าจะทำสำมะโนประชากรในปี 2557 และเรื่องปล่อยนักโทษการเมือง

พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA หารือกับเจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ที่บ้านพัก บนถนนแปร นครย่างกุ้ง เมื่อ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในช่วงนี้ พล.ท.เจ้ายอดศึก อยู่ระหว่างเดินทางไปยังหลายเมืองในพม่าและในรัฐฉานเพื่อหารือทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และผู้นำฝ่ายค้านอย่างนางออง ซาน ซูจีด้วย (ที่มา: สำนักข่าวฉาน)

เจ้าหาญหยองห้วย ลูกของเจ้าส่วยแต็ก เจ้าฟ้าหยองห้วย และประธานาธิบดีคนแรกของพม่า, จายอ้ายเปา ผู้นำพรรค SNDP, เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA, เจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรค SNLD และเจ้าเสือแท่น ผู้นำกองทัพรัฐฉานเหนือและพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน SSPP/SSA พบปะสนทนาและรับประทานอาหารร่วมกัน ที่ Chatrium Hotel นครย่างกุ้ง หลังจากที่ เจ้ายอดศึกกับคณะ ได้ไปพบเจ้าขุนทุนอู ที่สำนักงานพรรคหัวเสือ SNLD (ที่มา: RFA/Khurtai Maisoong

 

สำนักข่าวฉาน รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น 16.00 น. พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS/SSA ได้พบหารือกับเจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรคหัวเสือ หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy -SNLD) ยังบ้านพัก บนถนนพเย (ถนนแปร) ในนครย่างกุ้ง โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน รวมไปถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐฉาน โดยหลังเสร็จสิ้นการหารือ ผู้นำได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชน

ระหว่างการหารือของผู้นำทั้งสองฝ่าย มีประเด็นหลัก 3 ข้อ ที่ถูกหยิบยกมาหารือ นั่นคือ 1.ประเด็นเรื่องกรอบการเจรจาทางการเมือง 2.ทางเลือกการแก้ไขปัญหาแรงงานชาวไทใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทย 3.การเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด 

เกี่ยวกับประเด็นข้อที่ 1 นั้น ได้มีการหารือกันว่า ทางพรรคหัวเสือและ RCSS/SSA จะเข้าร่วมในการบวนการสันติภาพที่ประธานาธิบเต็งเส่งได้ปูทางไว้อย่างไร นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มต่างๆ ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทางพรรคหัวเสือและRCSS/SSA รวมไปถึงกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มการเมืองและทหารในรัฐฉานและรัฐอื่นๆ จะเข้าร่วมได้อย่างไร

เกี่ยวกับประเด็นที่ 2 สืบเนื่องจากจำนวนชาวไทใหญ่ที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้นมีเป็นจำนวนมาก ตามข้อมูลระบุว่า มีชาวไทใหญ่อยู่ในประเทศไทยราว 5 แสนคน ขณะคาดการณ์กันว่า หากนับรวมกับจำนวนที่ตกสำรวจอาจมีชาวไทใหญ่อยู่ในประเทศไทยมากถึง 8 แสน -1 ล้านคน ส่วนสาเหตุที่มีชาวไทใหญ่อพยพมาอยู่ในไทยมากมายเช่นนี้ มาจากนโยบายตัด 4 ของรัฐบาลทหารพม่าชุดเก่าในช่วงปี 2539 ทำให้ชาวบ้านหนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้ทางเจ้ายอดศึกและทางเจ้าขุนทุนอูได้หารือกันว่า จะทำอย่างไรให้คนไทใหญ่กลับไปรัฐฉาน และทำบัตรประชาชน โดยเฉพาะในปี 2557 ที่จะถึงนี้ ที่จะมีการสำรวจประชากรครั้งใหญ่ในพม่า และจะร่วมมือทำงานกับทางรัฐบาลเต็งเส่งอย่างไร เพื่อที่จะหาที่อยู่ที่ทำกินให้กับชาวไทใหญ่ที่เดินทางกลับจากประเทศไทย 

ส่วนประเด็นนที่ 3 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษที่ต้องคดีการเมือง รวมไปถึงทหารจากกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ได้ลงนามทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว อีกทั้งชาวบ้านที่ต้องโทษคดีตามมาตรา 17/1 ที่ยังคงถูกกุมขัง 

มีรายงานบรรยากาศการหารือระหว่างผู้นำทั้งสอง ทางเจ้าขุนทุนอูได้ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง โดยมีการหารือกันเกือบ 1 ชั่วโมงกว่า ในวันเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นการหารือกับเจ้าขุนทุนอู มีรายงานว่า ทางเจ้าอ้ายเปา ผู้นำพรรคเสือเผือก หรือ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (Shan Nationalities Democratic Party - SNDP)  และเจ้าหาญ ยองห้วย จากกลุ่ม Euro-Burma Office ได้เชิญเจ้ายอดศึกร่วมรับประทานอาหารค่ำ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้ายอดศึก ได้นำคณะ RCSS/SSA เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่กรุงเนปีดอว์ จากนั้นได้เดินทางเยี่ยมเยือนเมืองต่างๆ ได้พบกับกลุ่มองค์กรภาคสังคมและพรรคการเมืองในพม่าหลายกลุ่ม รวมถึงได้พบหารือกับอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า อีกทั้งได้พบหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม UNODC ประจำกรุงย่างกุ้งด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น