โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ปฏิวัติเข้าคลอง : 2 ทศวรรษ “การเมืองภาคประชาชน” บนเส้นทางปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

Posted: 18 Sep 2018 09:27 AM PDT

 

วันที่ 19 กันยายน 2561 นี้ ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง "การสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม งานนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่เพียงสถาบันวิจัยสังคมเลือกจัดในวันครบรอบ 12 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น แต่เป็นการทบทวนบทบาท "ประชาสังคม" กับประชาธิปไตย ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีเหตุการณ์รัฐประหารเป็นหลักหมาย โดยผู้นำเสนอแม้จะเป็นนักวิชาการเสียส่วนใหญ่แต่ก็ถือว่าเป็น "คนใน" ประชาสังคมเอง

ถ้างานนี้ เนื้อหาเดียวกันนี้ จัดขึ้นในทศวรรษที่ 2540 ผู้จัดคงใช้คำ "การเมืองภาคประชาชน" มากกว่า "การเมืองภาคประชาสังคม" เพราะในช่วงนั้น คำแรก "ประชาชน" เป็นที่นิยมกว่า ดูก้าวหน้าราดิคาลกว่า "ประชาสังคม" ซึ่งมีความหมายแบบกลางๆ หรือกึ่งไปทางปฏิกิริยา ละเลยชนชั้น

ชื่อของงานในวันนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งความเสื่อมทรุดของ "การเมืองภาคประชาชน" ในอดีต

ล่วงเลยรัฐประหาร 19 กันยา ที่ "ภาคประชาสังคม" แทบทุกส่วน มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น มาถึง 12 ปี จึงจะมีเวทีวิชาการ-สาธารณะครั้งใหญ่เพื่อทบทวนเรื่องนี้ น่าเสียดายที่อยู่ชายขอบจนเกินไป จึงไม่มีโอกาสเข้าร่วมโดยตรง แต่เพื่อประโยชน์ในการถกเถียงหรืออื่นๆ จึงขอร่วมแลกเปลี่ยนผ่านบางส่วนของ "บทนำ : ปฏิวัติเข้าคลอง" ในหนังสือ การเมืองภาคประชาชน ของผู้เขียนที่ศึกษาสิ่งที่ผู้จัดเรียกว่า "ประชาสังคม" ผ่านความคิดและปฏิบัติของนักกิจกรรมทางการเมือง โดยมีคำถามว่า การเมืองภาคประชาชน ปรากฏขึ้นและกลายเป็นขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างไร

"บทนำ : ปฏิวัติเข้าคลอง" นี้ ถูกเขียนขึ้นปลายสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การเมืองภาคประชาชน" สรุปรวบยอดสิ่งที่เกิดขึ้น และเสนอบทเรียนบางประการสำหรับนักกิจกรรมในอนาคต เพื่อไม่ให้ "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" ดังนี้  

ความเป็นมาและบริบท

ผู้เขียนเริ่มเรียนรู้ "การเมืองภาคประชาชน" จากการชักชวนของนักศึกษารุ่นพี่มาร่วมให้กำลังใจสมัชชาคนจนที่ตั้งหมู่บ้านรายล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี 2540 การได้สัมผัสกับขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง มากกว่าขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา 6 ตุลาที่ได้รู้จักผ่านตัวอักษรในหนังสือ ในครั้งนั้นได้ "ดูด" ผู้เขียนเข้าสู่ "ขบวนการ" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นยุคทองของขบวนการประชาชนยุคใหม่ "การเมืองบนท้องถนน" เกิดการขยายตัวขององค์กรประชาชนอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการขยายบทบาทของนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ในปี 2540 ความสำเร็จของ "สมัชชาคนจน" ในฐานะตัวแทนของคนจนในสงครามยืดยื้อกลางเมืองหลวง การยกระดับจากขบวนการ "เพื่อตัวเอง" สู่ "เพื่อสังคม" ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ฯลฯ ผ่านการต่อสู้เพื่อปฏิรูปการเมือง ถูกจับจ้องอย่างตื่นตาตื่นใจทั้งจากภายนอกและผู้ที่ถือตัวว่าเป็นผู้ประกอบสร้างขบวนการนี้มาจำนวนไม่น้อย นำไปสู่จินตนาการทางการเมืองที่ไกลโพ้นออกไป

อาจเรียกได้ว่า ช่วงนี้เป็นจุดสูงสุดของการเมืองบนท้องถนน

การเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนต่างๆ เหล่านี้ นำไปสู่การเกิดคำและความคิด "การเมืองภาคประชาชน" โดยนักกิจกรรมทางการเมือง

ถ้าไม่นับช่วงสั้นๆ ปีแรกของรัฐบาลทักษิณ และถือว่าความสำเร็จขององค์กรชาวบ้านบางกรณีเป็นข้อยกเว้นแล้ว โดยภาพรวม ความถดถอยหรือความสามารถในการกดดันต่อรองเจรจากับรัฐบาลที่ลดลงเริ่มปรากฏร่องรอยให้เห็นตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัยแล้ว

หากมองอย่างเข้าใจ นี่เป็นสภาพปกติของขบวนการเคลื่อนไหว มีวัฏจักร ขึ้นมีลงตามกระแส สถานการณ์การเมือง โครงสร้างโอกาสทางเมืองที่เปิดและปิดที่สัมพันธ์กับความสามารถ/ศักยภาพในการพัฒนาวิธีการต่อสู้ของขบวนการเอง ความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวจึงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสามารถของรัฐหรือฝ่ายเผชิญหน้ากับขบวนการเคลื่อนไหว

และเป็นสภาพปกติของขบวนการเคลื่อนไหวและองค์กรชาวบ้านที่มีความจำกัดจำเขี่ยทั้งจำนวน ที่มาของการก่อเกิด และความคิดในการรวมตัว ดังนั้น จึงไม่มีเรื่องใดน่าผิดหวังต่อขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน/องค์กรประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิเพื่อเสียงของตนเอง

แต่จากที่เคยอยากเป็น "เอ็นจีโอ" นักกิจกรรมเต็มเวลา มีเงินเดือน ที่คิดว่าจะทำให้อุดมคติกับอาชีพเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อก้าวเข้ามาใหม่ กลายเป็นการตั้งคำถาม นี่ไม่ใช่ทัศนะที่มีต่อปัจเจกบุคคล หลายคนเป็นแบบอย่างของนักอุดมคติ น่ายกย่องทั้งโลกทัศน์และชีวทัศน์ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคตินัก ขาดความเป็นประชาธิปไตยและการตรวจสอบวิพากษ์ตนเอง กีดกันคับแคบจนไม่อาจจินตนาการถึงขอบฟ้าความคิดแห่งการเปลี่ยนแปลงอื่นใดที่กว้างไกลกว่าที่คุ้นชินและเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ ได้ โครงสร้างขององค์กรและเครือข่ายที่จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงคนจำนวนน้อย และทรัพยากรที่ต้องอาศัยแหล่งทุนสนับสนุนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้ต้องตอบสนองต่อแหล่งทุนจนลืมเป้าหมายแรกเริ่มไป และขาดอิสระในการทำงานในที่สุด

ทั้งข้อจำกัดของวัฒนธรรมและโครงสร้างองค์กร การคิดถึงขบวนการ การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตหรือการปฏิวัติ อย่างน้อยก็ในสภาวะเช่นนั้น ย่อมไม่อาจกลายเป็นความเป็นจริงได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว อุดมคตินั้นบางครั้งจึงเป็นเพียงคำโอ้อวดหรือปลอบประโลมตัวเองเท่านั้น

นี่คือคำถามที่ค่อยๆ ก่อขึ้นในช่วงชีวิตนักกิจกรรมนักศึกษาต่อนักกิจกรรมทางการเมืองและข้อจำกัดของขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวม

ช่วงปลายปี 2548 การเกิดขึ้นของ "ขบวนการสนธิ" และก่อตัวเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" สิ่งที่สั่งสมฟูมฟัก ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหน้าของนักอุดมคติ ผู้เสียสละและ "นักปฏิวัติ" ได้เผยตัวออกมา ด้วยแรงผลักดันของกระแสสูงทางการเมืองจากภายนอกและความขัดแย้งแตกต่างภายในที่หาฉันทามติร่วมกันไม่ได้ ย้ำ นี่ไม่ใช่ความแตกต่างในการประเมินสถานการณ์แต่เป็นความคิดที่อยู่เบื้องหลังของการทำงาน การไปสู่อุดมคติ และการจัดความสัมพันธ์กับคนอื่น

พูดอย่างตรงไปตรงมา หาก "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" การโค่นล้มทักษิณ การสนับสนุนรัฐประหาร และอะไรก็ตามที่ฉุดลากการเมืองไทยให้ถอยหลังมาไกลถึงวันนี้ เป็นด้านมืดหรือความเลวร้ายของ "การเมืองภาคประชาชน" นี่ไม่ใช่จุดเปลี่ยนหรือการละทิ้งหลักการของพวกเขา แต่เป็นการเผยตัวของบางสิ่งที่ซุ่มซ่อนมายาวนานแล้วปะทะกับสถานการณ์ใหม่ที่ท้าทายต่อหลักการสวยหรูที่ฉาบเคลือบไว้ นำมาสู่คำถามหลักว่า คนเหล่านี้กลายเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยอ้างหรือยึดถือเป็นอุดมคติได้อย่างไร

จากพันธมิตรฯ สู่ กปปส. 

รัฐบาลทักษิณไม่ได้เป็นรัฐบาลในอุดมคติและไม่จำเป็นต้องปกป้อง แต่การโค่นล้มเอาชนะในทุกวิถีทางแล้วฉุดลากประชาธิปไตยลงสู่หุบเหวก็เลวร้ายยิ่งกว่า ในรอบ 12 ปีมานี้ที่มีกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการฉุดลากสังคมการเมืองเข้าสู่ "วงจรอุบาทว์ใหม่" : การชุมประท้วง-รัฐประหาร-เลือกตั้ง/รัฐบาลใหม่-ชุมนุมประท้วง-รัฐประหาร  สองรอบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวี่แววว่าจะหาทางออกจากวงจรนี้ได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราได้เพิ่มขึ้นหรือดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้

สถาบันการเมือง เรามีการปฏิรูปการเมืองใหม่ รอบสอง รอบสาม รอบสี่ มีรัฐธรรมนูญใหม่สะท้อนหลักอำนาจอธิปไตย "เป็นของ" ประชาชนมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองและคุ้มครองมากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิบัติ เราอยู่กันอย่างสันติ เคารพความหลากหลาย ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ยุติการใช้กำลังบังคับและปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ยุติการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนจากความขัดแย้งทางการเมืองได้

อำนาจประชาชน องค์กรประชาชน นักพัฒนาเอกชน มีเสรีภาพในการรวมตัว รวมกลุ่ม ชุมนุมประท้วง กดดันต่อรองกับรัฐบาลและกลไกราชการได้มากขึ้น ปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านที่คั่งค้างมานานได้รับการแก้ไขเยียวยาลุล่วงสำเร็จไปด้วยดี

หากประเมินว่าทั้ง 3 ด้านดีขึ้น เป็นไปในทางบวก ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและอยากเห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่หากไม่แน่ใจหรือตรงกันข้ามและเลวร้ายมากขึ้น ไม่ว่าจะในหลักการที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

สิ่งเหล่านี้ เรา-ไม่เพียงภาคประชาชน แต่คือสังคมการเมืองไทย ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิ์มีส่วนอย่างเท่าเทียมกัน-แลกมากับสิ่งที่หวังจากการเข้าร่วมกับเครือข่ายสนธิโดยหวังผลเฉพาะหน้า เพียงเพื่อได้พูดขยายประเด็นปัญหาของตัวเองหรือ "ชาวบ้าน" ในการเคลื่อนไหวผ่านสื่อของสนธิ พร้อมกับหวังว่า "การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณ...จะส่งผลให้ปัญหาชาวบ้านได้รับการแก้ไข"

สำหรับนักพัฒนาเอกชนโดยทั่วไป ไม่มีใครถูกหลอกจากใคร พวกเขาเติบโต เป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์ ไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองจนไม่เห็นความเป็นไปได้ข้างหน้าที่จะออกนอกลู่นอกทาง แต่เป็นเส้นทางที่เลือกด้วยเหตุผล คิดคำนวณ ชั่งน้ำหนัก มีการวางแผนสนับสนุน ภายใต้ท่วงทำนองที่ดูเขินอายในช่วงแรก แต่เคลื่อนไหวสอดรับภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

สำหรับนักกิจกรรมทางการเมือง หากการเข้าร่วมเครือข่ายสนธิ คือการพยายามขยายฐานมวลชนให้กว้างขวางออกไปจากเดิมที่มีจำนวนจำกัดจำเขี่ย (ถูกวิจารณ์ว่า) หวังผลประโยชน์แค่เฉพาะหน้าและไม่ก้าวหน้า เพื่ออนาคตใหม่คือ การสร้างพรรคการเมืองภาคประชาชนและข้อเสนอทางการเมืองที่ "ก้าวหน้า" ถึงตอนนี้ภาคประชาชนที่ว่านั้นขยายกว้างขวางออกไปแค่ไหน พรรคการเมืองที่ "ก้าวหน้า" ไม่เพียงล้มพับไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม สังคมที่ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมรุ่งเรืองเฟื่องฟู กับโอกาสเกิดและเติบโตของพรรคการเมืองทางเลือกและการเสนอแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ ย่อมแปลผกผันกัน

ไม่มีบทเรียนสำหรับคนที่ไม่ตระหนักว่าการตัดสินของตนเองผิดพลาดและส่งผลต่อเนื่องถึงประชาธิปไตยไทยมาถึงวันนี้ และยังพัฒนาเหตุผลปกป้องอดีตของตนเองต่อไป

การหายไปของ "การเมืองภาคประชาชน" และบทเรียนสำหรับนักกิจกรรม

"การเมืองภาคประชาชน" ในฐานะความคิดและปฏิบัติการทางการเมือง เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตรุ่งเรืองของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบหนึ่ง ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นความฝันความหวังของผู้คนมากมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่วันนี้ "การเมืองภาคประชาชน" กลับหายไปจากพื้นที่ทางการเมือง หรือไม่ได้มีความหมายสลักสำคัญอีกต่อไป

การหายไปของ "การเมืองภาคประชาชน" ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับการหายไปของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "ประชาชน" เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายปีมานี้ นำไปสู่การเกิดขึ้นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติขนาดใหญ่สองฝั่งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันคือ พันธมิตรประชาชาเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ฝั่งหนึ่ง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อีกฝั่งหนึ่ง แต่ด้วยข้อเรียกร้องต่อสู้ที่แตกต่างออกไป ขณะที่การเคลื่อนไหวแบบเดิมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวบ้าน-องค์กรประชาชนต่างๆ ทำได้ยากหรือแทบไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เลย ทั้งเพราะกลไกการสร้างอำนาจให้กับตนเองถูกพรากไปโดยเผด็จการทหาร แม้กระทั่งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไร้เสถียรภาพและอายุสั้นเกินไป เสียงและปัญหาของพวกเขาถูกกลบด้วยการเมืองของความขัดแย้งในระดับชาติ

ไม่นับผลพวงอันเกิดจากการสวมบทเป็น "ตัวแทน" ของภาคประชาชนก่อนหน้านี้ และการมีบทบาทอย่างแข็งขันในขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยของนักกิจกรรมทางการเมืองที่นำไปสู่ความเสื่อมทรุดด้านความชอบธรรมต่อขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวม ทำให้การเคลื่อนไหวในเวลาต่อมา ทั้งจากองค์กรที่อาจเคยมีส่วนในขบวนการ "โค่นทักษิณ" มากบ้างน้อยบ้างต่างกัน หรือไม่เคยเลย มักถูกจับจ้องมองอย่างเคลือบแคลงสงสัยจากสาธารณะถึงเจตนาหรือเป้าหมายที่แท้จริงของการเคลื่อนไหว

หากการตัดสินใจครานั้นต้องการยกชู "การเมืองภาคประชาชน" ให้สูงเด่นเป็นสง่า บัดนี้ก็ย่อยยับลงกับมือ ขบวนการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนทั่วไปซึ่งมีส่วนในเรื่องนี้น้อยมาก พลอยตกที่นั่งลำบากไปด้วย

นี่คือที่มาของการหายไปของ "การเมืองภาคประชาชน" ในพื้นที่ทางการเมือง

มีเหตุผลพอที่จะเชื่อและเข้าใจเรื่องนี้บนสมมุติฐานว่า นักกิจกรรมการเมืองเหล่านั้นมีอุดมคติ หวังดีต่อประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า แค่อุดมคติไม่เพียงพอต่อการก้าวไปข้างหน้าเช่นนั้น

การยึดมั่นถือมั่นในความดี/ความถูกต้องสูงสุดของตัวเองและพวกพ้องกลับทำให้ถอยห่างจากเป้าหมายออกไปทุกวัน

ความพยายามที่ขาดจินตนาการ ความรอบรู้ที่กว้างขวาง การเปิดรับโลกใหม่ ทำให้ขาดสายตาที่แหลมคมพอจะมองเห็นความเป็นไปได้อื่น และเรียบแคบลงเรื่อยๆ

การไม่มีหลักการอะไรคอยกำกับควบคุมทิศทาง หรือพร้อมอ่อนงอทุกครั้งเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า/เป้าหมายเฉพาะหน้า ทำให้กลายเป็นนักฉวยโอกาส 

การขาดการวิพากษ์วิจารณ์  ควบคุมตรวจสอบกันเองทั้งจากภายในและภายนอก "ขบวนการ" ปิดตัวอยู่เฉพาะ "พวกพ้อง" ของตัวเอง ทำให้ขาดการเหนี่ยวรั้งถ่วงดุลและออกนอกลู่นอกทาง

การคิดถึงพร่ำเพ้อแต่การปฏิวัติ ถือตนเป็นนักปฏิวัติ เป็นผู้นำ "ขบวนการ" ตลอดเวลา ประเมินตัวเองสูงเกินไป ไม่ตระหนักถึงช่องว่างระหว่างสิ่งที่ได้ลงแรงกับสิ่งที่คิดฝัน ไม่ได้นำพาไปสู่อะไรนอกจากตัวตนของตัวเอง

การไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ ทำให้ระหว่างเส้นทางเดินได้ค่อยๆ ทำลายมันลงไป เมื่อถึงจุดนั้น ทุกอย่างจึงกลายเป็นความว่างเปล่า มีไม่เป้าหมายหลงเหลืออยู่ที่ปลายทาง 

ทั้งหมดนี้ ทำให้ภารกิจปฏิวัติของนักอุดมคติกลายเป็น "ปฏิวัติเข้าคลอง" 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ฉลาดซื้อ' คำนวณ 'อาคเนย์-เมืองไทย' ประกันชีวิตให้ผลประโยชน์สูงสุด 2 ลำดับแรก

Posted: 18 Sep 2018 09:23 AM PDT

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะ เลือกประกันชีวิต กับบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้ผลประโยชน์สูงสุด 2 ลำดับแรก พร้อมเผยการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต ท่านไม่อาจซื้อประกันสุขภาพอย่างเดียวได้ นอกจากนี้ การพิจารณาเลือกซื้อประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ควรพิจารณาจากอัตราค่าห้องพัก และค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ที่อยู่ในพื้นที่ที่ท่านพักอาศัยอยู่ประกอบด้วย ว่าเพียงพอกับค่าห้องพักของโรงพยาบาล และค่ารักษาในการเข้ารับการบริการต่อครั้งหรือไม่ 

18 ก.ย.2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สำรวจเรื่องประกันชีวิตเจ้าไหนให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน จากบริษัทประกันชีวิตรวม  11 บริษัท จากบริษัท 22 แห่ง โดยพิจารณาจากบริษัทที่มีสัดส่วนทางการตลาดสูงสุด 11 รายแรก โดยได้คัดเลือกจากแบบประกันชีวิตที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ในตลาด เช่น ประกันชีวิตเพื่อการออมทรัพย์ ประกันเพื่อการศึกษาบุตร ประกันเพื่อวัยเกษียณอายุ ประกันเพื่อการลงทุน และยังมีแบบอื่น ๆ อีกหลายประเภท แต่สำหรับการสำรวจเปรียบเทียบในครั้งนี้จะศึกษาเฉพาะประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพ เท่านั้น และทำการทดสอบโดยเปรียบเทียบจากใบเสนอราคาจากตัวแทนประกันชีวิต ช่วงเดือนมิถุนายน 2561

สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า วิธีการสำรวจเปรียบเทียบนั้น นิตยสารฉลาดซื้อตั้งโจทย์เป็นการยกตัวอย่างการซื้อประกันชีวิตของบุคคลเพศชาย (นามสมมติ "นายธรรมดา ฉลาดซื้อ") อายุ 35 ปี โสด ทำงานเป็นพนักงานในสำนักงานแห่งหนึ่ง ไม่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นความเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีความสนใจอยากเลือกซื้อประกันชีวิต แบบสะสมทรัพย์ ทุนประกันชีวิต (สัญญาหลัก) จำนวน 200,000 บาท มีระยะเวลาการคุ้มครองชีวิต 20 – 25 ปี และชำระเบี้ยประกันในช่วง 15 – 20 ปี พร้อมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน  และการชดเชยการขาดรายได้ที่พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล โดยใช้ข้อมูลอัตราค่าห้องพักประเภทเตียงเดี่ยวประมาณ 3,000 บาท / วัน มาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิต

สารี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าบริษัทประกันชีวิตแต่ละบริษัท มีข้อเสนอและเงื่อนไขหลักที่คล้ายคลึงกัน แต่มีเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องชำระแตกต่างกัน รวมถึงผลตอบแทน (เงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินปันผล) ที่แตกต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ในการพิจารณาว่าควรจะเลือกซื้อประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิตไหนนั้น ฉลาดซื้อ จะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ด้านการเงิน มาพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตโดยคิดผลตอบแทนที่ได้รับว่าประกันชีวิตของบริษัทไหนน่าสนใจมากที่สุด จากข้อมูล คือการใช้ค่า IRR (Internal Rate of Return) มาช่วยในการพิจารณา เพื่อให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ สรุปก็คือ IRR เป็นการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน ที่เปอร์เซ็นต์มีค่าเป็นบวกมากเท่าใด แสดงว่าแบบประกันชีวิตนั้นๆ ให้ผลตอบแทนดีกว่าแบบที่ให้ค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า ดังนั้น ค่า IRR ยิ่งมากยิ่งดี และไม่ควรติดลบ

จากการคำนวณค่า IRR ของแต่ละบริษัทประกันชีวิต แสดงให้เห็นตามตารางที่ 5

ตารางที่ 5 เปรียบเทียบผลตอบแทนในการเลือกประกันชีวิต (IRR) ของบริษัทประกันชีวิต

 

 

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการคำนวณที่แสดงไว้ในตารางที่ 5 กรณีของนายธรรมดา ฉลาดซื้อ จึงควรเลือกซื้อประกันชีวิตกับบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีค่า IRR สูงที่สุด และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีค่า IRR เป็นอันดับที่ 2 บนสมมติฐานว่านายธรรมดาจะมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาของกรมธรรม์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจต้องพิจารณาถึงเรื่องความสะดวกในการติดต่อสำนักงานสาขา และตัวแทนของบริษัทประกันชีวิต ที่ให้บริการหลังการขายประกอบด้วย  

ผศ.ประสาท กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีของนายธรรมดา ยังมีความประสงค์ที่จะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม จึงต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการเลือกซื้อประกันสุขภาพร่วมด้วย เพราะประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่มีเงื่อนไขบางประการที่ผูกกับประกันชีวิต (สัญญาหลัก) และการเลือกซื้อแผนค่าห้องพักรักษาพยาบาลว่าต้องการค่าห้องพักต่อวันเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับสัญญาประกันชีวิตหลัก ยิ่งถ้าต้องการอัตราค่าห้องพักต่อวันสูง ๆ ท่านอาจจะต้องซื้อเบี้ยประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 บาท ไม่อย่างนั้นท่านจะไม่สามารถซื้ออัตราค่าห้องพักในอัตราสูงกว่า 3,000 บาทได้ เป็นต้น นอกจากนี้ตามเงื่อนไขของนายธรรมดา ค่าห้องพักกรณีเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในประมาณ 3,000 บาทต่อวัน จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักในการรักษาอะไรบ้าง ได้แสดงเปรียบเทียบให้ดูตาม ตาราง การเปรียบเทียบข้อมูลประกันสุขภาพของแต่ละบริษัทประกันชีวิต พร้อมกันนี้ ได้เสนอค่าชดเชยการขาดรายได้กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มาให้พิจารณาเป็นทางเลือกเพิ่มเติมด้วย 

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ มพบ. กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับประกันชีวิตที่ถูกร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเป็นอันดับต้นๆ คือ เรื่องการถูกบอกเลิกสัญญาและการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้เฉพาะตามที่บริษัทประกันกำหนดเท่านั้น อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการเวนคืนประกันชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ซื้อชำระเบี้ยประกันได้ไม่ครบตามที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น ผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนไม่ถึง 1 ใน 5 ของเงินที่ชำระไป และทำให้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป 

สรุป การเลือกซื้อประกันสุขภาพนั้น ไม่สามารถแยกซื้อจากประกันชีวิต (สัญญาหลัก) ได้ กล่าวคือ ถ้าท่านเลือกซื้อประกันชีวิต จากบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ท่านก็ต้องเลือกซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทนั้นๆ ด้วย  และก็ไม่สามารถเลือกซื้อเฉพาะประกันสุขภาพอย่างเดียว โดยที่ไม่ซื้อประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักก่อนได้ อีกทั้งการเลือกซื้ออัตราค่าห้องพักของประกันสุขภาพ ยังผูกติดกับเงื่อนไขของประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักอีก กรณีอย่างนายธรรมดา ฉลาดซื้อ ที่เลือกซื้อประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลัก ทุนประกันชีวิต 200,000 บาท อาจจะไม่สามารถเลือกซื้อเบี้ยประกันสุขภาพที่มีอัตราค่าห้องพักต่อวันมากกว่า 3,000 บาท ในบริษัทประกันชีวิตบางแห่งได้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘เพื่อไทย’ ซัด คสช. ใช้งบรัฐสร้างคะแนนนิยม - ‘ประยุทธ์’ เดินสายสัญจร ย้ำ รบ.จะไม่ทิ้งประชาชน

Posted: 18 Sep 2018 09:05 AM PDT

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ซัด คสช. หลังห้ามแต่พรรคการเมืองหาเสียง ขณะที่พรรคฝ่ายหนุน คสช. เดินสายได้เต็มที่ แถมรัฐบาล คสช. ใช้งบประมาณรัฐสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง ร้องปลดล็อคการเมืองทันที ไม่ใช่เพียงคแค่คลายล็อค ด้าน ประยุทธ์ โปรยยาหอม ระหว่าง ครม.สัญจร รัฐบาลจะไม่ทิ้งประชาชน ยันยังไม่ปลดล็อคช่วงนี้ขอให้บ้านเมืองสงบก่อน ย้ำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วไม่ควรลบล้าง ความมั่นคงปลอดภัยทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์จะอยู่ตรงไหน ขณะที่ 'โฆษก คสช.'  ขู่หากใช้โซเซียลฯบิดเบือน ส่งผลต่อความเข้าใจของ ปชช.  และความสงบ อาจมีผลต่อการเลือกตั้งด้วย

ที่มาภาพ: ดัดแปลงจากเว็บไชต์รัฐบาลไทย

18 ก.ย. 2561 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์พรรค เรื่องขอให้ปลดล็อคเงื่อนไขทางการเมืองทั้งหมดทันที หลังจากที่รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่ง ได้ออกคำสั่งคลายล็อคพรรคการเมือง ตามคำสั่งหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การกระทำดังกล่าวได้อนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆ ดำเนินกิจกรรมได้เพียงแค่ด้านธุรการ แต่ยังห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองในการรับฟังและสื่อสารข้อมูลนโยบายกับประชาชนได้ อย่างไรก็ตามกลับพบว่าพรรคการเมืองฝ่ายที่สนับสนุน คสช. สามารถเดินสายพบปะประชาชนในลักษณะหาเสียงได้ รวมทั้ง คสช. เองก็ใช้งบประมาณของรัฐในการสร้างคะแนนนิยม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่าละอาย

อีกทั้งคำสั่งที่ให้สื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้นั้น ยังมีลักษณะจำกัดเพราะมีการกำหนดห้ามการกระทำที่มีลักษณะ 'หาเสียง' ซึ่งคำดังกล่าวไม่สามาถรถกำหนดขอบเขตได้ ขาดรูปธรรมที่จะทำความเข้าใจ และยังสามารถถูกนำไปตีความได้หลายด้าน การเขียนกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มีโอกาสที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองที่คิดต่าง และอาจถูกนำมาตีความเพื่อใช้กลั่นแกล้งคู่แข่งได้โดยง่าย ฉะนั้นการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงถือว่าเป็น การเลือกตั้งที่จำกัดสิทธิประชาชนในการรับรู้ รับฟัง และเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงในการตัดสินใจเลือกนโยบายที่พอใจ  นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่บั่นทอนพลังของจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างยิ่ง  

แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยยังระบุว่า รัฐบาลพยายาม "ประโคมข่าวและสร้างภาพ" ตนเองว่าเป็นรัฐบาลที่มีความทันสมัย และพยายามก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจะเร่งผลักดันประเทศไทยให้เป็น "ประเทศ 4.0" ที่เทียบเทียมและเท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ในโลกยุคใหม่ การติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารของคนในสังคมโลกที่มีความเจริญและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญเป็นเครื่องชี้วัด หลักประกัน เสรีภาพทางความคิด และการแสดงออกของผู้คน เรื่องที่ง่ายๆ เช่นนี้รัฐบาล ยังไม่เข้าใจแล้วจะนำพาสังคมไทยไปสู่ "สังคม 4.0" ได้อย่างไร นอกจากจะสะท้อนการขาดวิสัยทัศน์ของ "ผู้นำ" แล้วยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของประเทศอีกด้วย

"ขอเรียกร้องไปยัง คสช. และรัฐบาล  ให้ปลดล็อคเงื่อนไขทางการเมืองทั้งหมดทันที มิใช่การคลายล็อค อย่างที่กำลังมีนัยยะซ่อนเร้นให้ดำเนินการในปัจจุบัน เพื่อให้พรรคการเมืองทุกพรรคได้สามารถติดต่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดโอกาสและแนวทางการพัฒนาประเทศตามความต้องการของตน และสามารถร่วมกำหนดสร้างแนวนโยบายสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับชีวิตของตนต่อไป" พรรคเพื่อไทย ระบุ

ประยุทธ์บอกคลายล็อคแค่นี้เพียงพอแล้ว ขอให้บ้านเมืองสงบก่อน ถามความมั่นคง 'ชาติ ศาสน์ กษัตริย์' จะอยู่ตรงไหน

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด หากบ้านเมืองสงบเรียบร้อยมีการพัฒนาอย่างมีหลักการทางวิชาการ มีแผนแม่บท มียุทธศาสตร์เชื่อว่าคงไม่วุ่นวายขนาดนี้ ซึ่งรัฐบาลนี้กำลังแก้ปัญหา จึงขออย่าให้การเมืองเข้ามาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายในตอนนี้ ส่วนเรื่องของการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมนั้น ตนเองได้รับฟัง ข้อสังเกตุมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีก็มีการประชุมและได้รับข้อสังเกตุว่าติดล็อกตรงไหนบ้าง และมีมาตรการในการคลายล็อกในช่วงนี้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับพ.ร.ป.ส.ส. และพ.ร.ป.ส.ว. ที่ออกมา และกำหนดให้มีผลบังคับใช้อีก 90 วันข้างหน้า หากนับไปก็จะอยู่ในช่วงวันที่ 16 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้นจะต้องปลดล็อคให้มีการหาเสียง ดังนั้น ช่วงนี้ขอให้บ้านเมืองสงบก่อนได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน หากตนเองเป็นนักการเมือง คำสั่งที่ออกมานั้นเชื่อว่าตนเองจะสามารถทำได้ หากทุกคนมีเจตนาทำให้บ้านเมืองเป็นปกติสุข และหากต้องการเวลาที่จะหาเสียงมากขึ้น แต่ยังทะเลาะกันก็คงไม่ได้อะไร ส่วนเวลาที่มีหากทุกคนบอกว่ามีน้อย ทุกคนจะต้องแถลงนโยบายออกมาว่าจะทำอะไร สังคมยอมรับได้หรือไม่ และไปล้มล้างอะไรหรือไม่ สิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วหากจะไปเลิกแล้วประชาชนตอบรับสิ่งเหล่านั้นไปแล้วจะทำให้ประเทศชาติไปกันใหญ่ ความมั่นคงปลอดภัยทั้งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์จะอยู่ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการคลายล็อกในตอนนี้พอเพียงแล้ว หากใครไม่พอไว้เป็นรัฐบาลก็ไปทำเอาเอง ส่วนการพบกับนักเมืองต้องรอปลดล็อกก่อนแล้วค่อยว่ากัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นวันไหน ถึงเวลาตนเองจะพิจารณาเอง ส่วนความชัดเจนทางการเมืองของตนเองในอนาคตนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมาสนใจอะไรกับตนเอง เพราะได้ระบุแล้วว่า ต้องรอหลังพ.ร.ป.ส.ส. และพ.ร.ป.ส.ว. มีผลบังคับใช้แล้วหลังจากนี้ไปถึงปีหน้า ก็หลังทั้งหมด ตนเองจะพูดเมื่อใดก็เป็นเรื่องของตนเอง และจะตัดสินใจเอง เรื่องอะไรจะออกมาให้โดนด่าตั้งแต่วันนี้ สื่อก็หาเรื่องตนเองได้ทั้งวันแหละ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พบปะกับประชาชนภายในหอประชุมประกายเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ เพื่อมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนและ หนังสือคู่มือการจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนตามนโยบายรัฐบาล กว่า 434 คน โดยนายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ให้การต้อนรับที่ดี และระบุว่าตนเองจะตอบแทนความรักของทุกคนกลับไปเป็นร้อยเท่า ซึ่งตนเองก็อยากพบทุกคนเช่นกัน และทราบดีว่ามีหลายเรื่องอาจจะไม่ทันใจประชาชนแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา 3-4 ปี ก็เริ่มต้นอะไรได้หลายอย่าง

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า จากการชมนิทรรศการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้า พบว่ามีการวิจัยนำเมล็ดมะขามมาบดเป็นแป้ง เพื่อทำเป็นสารสกัดใช้ในเครื่องสำอางค์ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะ จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองมะขาม

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์  ยังแนะนำคณะรัฐมนตรีที่มาลงพื้นที่ให้กับประชาชนได้รู้จักพร้อมบอกว่า ขอให้มองรัฐมนตรีเหล่านี้ว่าเป็นผู้มาช่วยเหลือประชาชนไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นผู้ถือกฎหมาย หากไม่ใช้กฎหมายในการทำงานก็จะเป็นเรื่องที่ลำบากและอาจถูกฟ้องร้องภายหลังได้ แต่ยอมรับว่าปัจจุบันกฎหมายมีปัญหาทับซ้อนหลายประการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

บอกชาวบ้าน รบ.พลเรือนลงพื้นที่รับปัญหาไปแล้วก็หาย แต่ รบ.นี้จะดูแลประชาชนไม่ต้องว่าจะทิ้ง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้สอบถามประชาชนว่าเคยสงสัยหรือไม่ หลายคนที่มาจากการเมืองก็มีการลงพื้นที่และเคยรับปากประชาชน บอกว่าจะนำไปเสนอสู่รัฐบาลแต่กลับไม่มีเรื่องที่ผ่านการพิจารณา จึงขออย่ากลัวรัฐบาลชุดนี้ว่าจะไม่ดูแลประชาชนเพราะถึงแม้จะไม่มีแผนเสนอเข้ามาทางรัฐบาลก็มีแผนที่จะดูแลประชาชน ทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ซึ่งรัฐบาลหน้าต้องทำตามแบบนี้ด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการปลดล็อคในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องการปลดล็อคความคิดตนเองเพื่อไปสู่ส่วนรวม เพราะอยู่จังหวัดเดียวไม่ได้ และต้องเข้าใจการกระจายอำนาจ ที่หลายหน้าที่เป็นเรื่องของท้องถิ่นในการดำเนินการ และนำงบประมาณลงมาสู่พื้นที่ แต่การเก็บภาษีในท้องถิ่นกลับทำได้เพียง 100,000 ล้านบาท แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในพื้นที่ถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งในงบประมาณส่วนที่ขาดนี้คือภาษีของคนทั้งประเทศ ที่นำมาเติมให้ ขณะเดียวกัน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ลงมารีดไถ จึงขออย่าให้ใครมาบิดเบือน เพราะงบประมาณมาจากภาษี และแต่ละจังหวัดรายได้ไม่เหมือนกัน จึงต้องช่วยกัน อย่าทิ้งจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง

ขอประชาชนอย่าเกลียด หากรักอยู่แล้วก็ขอให้รักนานๆ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ระยะต่อไปหากมีการปลดล็อกทางด้านการเมืองอาจจะทำให้ประเทศมีความยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก ซึ่งตนเองจะไม่ยุ่งในเรื่องการเมือง และขออย่าให้การเมืองอย่ามายุ่งกับรัฐบาลที่ทำเพื่อประชาชน พร้อมกล่าวด้วยว่าว่าภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นก็ถูกถามเรื่องการปลดล็อก จึงอยากให้คนถามวันหน้ามาเป็น คสช. เอง

ส่วนการแต่งเพลงชื่อสะพานนั้น พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า เป็นการสื่อความหมายว่า เพราะคณะรัฐมนตรีคือสะพานให้กับทุกคนให้เหยียบข้ามความขัดแย้งไป ไม่ใช่เพื่อไปล็อคอำนาจใคร สะพานของตนเองมีทั้งการตอกเสาเข็มให้แล้วเหลือแต่ทำบ้านให้แข็งแรง ซึ่งทุกคนคือส่วนประกอบของบ้านจึงขออย่าทำลายหรือเหยียบย่ำ ซึ่งทุกคนเกลียดตนเองได้ แต่ก็ขออย่าเกลียด และหากรักก็ขอให้รักนั้นนาน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังเปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีการเสนอโครงการเข้ามาทั้งหมด 75 โครงการ โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบโครงการทั้งหมด ซึ่งรับไว้ในหลักการ โดย 50-60% อยู่ในแผนแม่บท อยู่แล้ว ดังนั้นต้องไปดูความเร่งด่วนของแต่ละโครงการ เพราะหากอนุมัติทั้งหมดจะใช้งบประมาณ กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งสำคัญที่สุดคือข้อเสนอโครงการระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาท – อินโดจีน เมาะลำไย หรือโครงการไลนแม็ค ( LIMEC) เพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ไทย และลาว จะต้องดูความพร้อมของแต่ละประเทศด้วย เพราะจะต้องไปเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีหลายกลุ่มที่จะสอดคล้องกัน รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ของไทย

ขู่หากใช้โซเซียลฯบิดเบือน ส่งผลต่อความเข้าใจของ ปชช.  และความสงบ อาจมีผลต่อการเลือกตั้งด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก  คสช. กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ในประเด็นห้ามใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง ว่า คำสั่งฯ ฉบับนี้ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามรายละเอียดที่ระบุในช่วง 90 วันที่อยู่ในระหว่างการรอให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นช่วงที่หลายภาคส่วนจะต้องเตรียมการเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองต้องเตรียมด้านงานธุรการ ประสานงานสำหรับดำเนินกิจกรรมภายในพรรค และการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง การจัดทำข้อบังคับ หรือนโยบายต่าง ๆ รวมถึงการคัดเลือกผู้บริหารและการรับสมาชิก เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ การจัดทำนโยบาย การเลือกตั้งผู้บริหารพรรคต่าง ๆ การจัดตั้งสาขาพรรค การรับสมาชิกพรรค การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค และการมีส่วนร่วมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยแค่การแจ้งบอกกล่าวทาง กกต. ในส่วนของ กกต. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกฎกติกาการเลือกตั้ง ก็ต้องเตรียมงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแบ่งเขตเลือกตั้ง  ประชาชนและสื่อสารมวลชนต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด            

"ดังนั้นในช่วงเวลา 90 วันนี้ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และเป็นการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลไปสู่การเลือกตั้ง คสช.หวังให้ทุกกระบวนการเดินไปได้ด้วยความราบรื่นที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งผ่านโซเชียลมีเดีย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากเกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูล หรือมีการบิดเบือน มีการสร้างข่าวเท็จในโซเชียลมีเดีย ก็จะยิ่งสร้างความสับสนให้กับสังคม ซึ่งอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อกลไกที่กำลังดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นได้ อยากให้ทุกพรรคที่จะเสนอตัวมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองและดูแลประชาชน ได้เตรียมตัวเองในเรื่องกายภาพ และแนวทางการดำเนินการทางการเมืองให้เรียบร้อย เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้เกิดภาพการใช้โซเชียลมีเดีย แล้วเกิดผลกระทบในทางลบต่อความเข้าใจของสังคม ต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงอาจส่งผลต่อกระบวนการสู่การเลือกตั้งที่ได้เตรียมไว้ก็เป็นได้" พ.อ.วินธัย กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รู้จักบิมสเทคผ่านการประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) ครั้งที่ 4

Posted: 18 Sep 2018 08:53 AM PDT


จากซ้ายไปขวา ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เชริง วังชุก หัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐบาลชั่วคราวของภูฎาน นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย วิน มินต์ ประธานาธิบดีพม่า ขัทคะ ปราสาท ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล ไมตรี พาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในพิธีปิดการประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) ครั้งที่ 4 ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
ที่มา: https://www.thedailystar.net/news/politics/bimstec-leaders-sign-kathmandu-declaration-4th-summit-concludes-nepal-1627141

เมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทค 7 ประเทศ หรือ "ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ" (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) ได้มีการประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ออก "ปฏิญญากาฐมาณฑุ" (Kathmandu Declaration) เพื่อทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมาและเป็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากเว้นระยะการประชุมระดับผู้นำเป็นเวลา 4 ปี โดยการประชุมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า การประชุมระดับผู้นำของบิมสเทคที่เนปาลที่ผ่านมา จึงมีประเด็นที่สำคัญที่อาจจะสะท้อนพัฒนาการความร่วมมือตลอดระยะเวลา 21 ปีของการก่อตั้งองค์กรนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997

ภูมิหลัง: จาก BIST-EC สู่ BIMSTEC และบทบาทของไทย

ประเทศไทยมีบทบาทและความสำคัญต่อบิมสเทคตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือ บิมสเทคก่อตั้งขึ้นจากการริเริ่มของไทยในยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแสภูมิภาคนิยมกำลังมาแรงและการกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเริ่มต้นจากในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (ค.ศ. 1992-1995) ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค และต้องการขยายบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือดังกล่าวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังภูมิภาคอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง ประกอบกับ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในภาคใต้ เหนือ และตะวันออกแล้ว แต่ยังขาดกรอบความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับประเทศที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก[1]  ซึ่งประเทศในอนุทวีปเอเชียใต้ในเวลานั้นอย่างอินเดียและศรีลังกาก็ได้เริ่มมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี[2] และมีแนวโน้มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีแหล่งวัตถุดิบและมีศักยภาพเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการค้าการลงทุนของไทยต่อไป โดยความร่วมมืออนุภูมิภาคนี้มีเป้าหมายครอบคลุมประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และพม่า ด้วยแนวความคิดดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1994 ซึ่งเสนอโดยรองนายกรัฐมนตรี ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ[3] อย่างไรก็ตาม แนวความคิดดังกล่าวไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภาจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นความไม่โปร่งใสในประเด็นการออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน ส.ป.ก. 4-01 และรัฐบาลต่อมาของนายบรรหาร ศิลปะอาชา (ค.ศ. 1995-1996) ก็ไม่ได้สานต่อแนวคิดนี้และอยู่ในตำแหน่งแค่เพียงปีเดียว หลังจากนั้น แนวคิดความร่วมมือข้างต้นก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ค.ศ. 1996-1997) ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดมองตะวันตกและประกาศให้เป็นหนึ่งส่วนของนโยบายต่างประเทศ นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้เดินทางไปเยือนศรีลังกา บังกลาเทศ และอินเดียเพื่อทาบทามเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจอนุภูมิภาค ส่วนพม่าในเบื้องต้นแสดงท่าทีว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วม[4] ในที่สุด 4 ประเทศข้างต้นรวมทั้งไทยก็ได้ลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพฯ" (Bangkok Declaration) ว่าด้วยการจัดตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างบังกลาเทศ-อินเดีย-ศรีลังกา-ไทย (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation-BIST-EC) ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1997 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ต่อมาเมื่อพม่าเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือฯในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็น BIMST-EC หรือ Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หลังจากนั้น เมื่อเนปาลและภูฎานเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี ค.ศ. 2004 จึงมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มอีกครั้งเป็น BIMSTEC หรือ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้จนถึงปัจจุบัน[5] โดยเริ่มแรก บิมสเทคมีความร่วมมือใน 6 สาขาหลักคือ สาขาการค้าและการลงทุน สาขาคมนาคมและสื่อสาร สาขาพลังงาน สาขาการท่องเที่ยว สาขาเทคโนโลยี และสาขาประมง ในปัจจุบันมีการขยายสาขาความร่วมมือครอบคลุมมากถึง 14 สาขา เช่น วัฒนธรรม เกษตร การลดความยากจน การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ  เป็นต้น โดยประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศเป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละสาขาความร่วมมือ[6] ขณะทีกลไกการทำงานของบิมสเทคมี 6 ระดับ[7] โดยระดับสูงสุดคือ การประชุมระดับผู้นำ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004

ภาพรวมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 1-3

การประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2004 โดยเป็นการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (Summit Retreat) ผู้นำทั้ง 7 ประเทศจึงได้มีโอกาสหารือกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำในการสร้างความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขาหลักข้างต้น ที่สำคัญ ที่ประชุมได้ให้การรับรองปฏิญญาการประชุมระดับผู้นำในกรอบบิมสเทค (BIMSTEC Summit Declaration) ซึ่งกำหนดชื่อความร่วมมือใหม่เป็น "ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ" หรือ บิมสเทค นอกจากนี้ ปฏิญญาฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคและการขยายความร่วมมือไปสู่สาขาใหม่ๆ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีบิมสเทค ซึ่งประเทศสมาชิกได้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือเรื่องนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน การร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งปัญหาข้ามพรมแดนอื่นๆ[8] ส่วนการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2008 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งที่ประชุมได้มีการรับรองปฏิญญาผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือ การยืนยันเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาความร่วมมือกันในสาขาความต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือต่างๆที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งศูนย์พลังงาน (BIMSTEC Energy Center) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและสภาพภูมิอากาศ (BIMSTEC Weather and Climate Center) ที่อินเดีย การบรรลุข้อตกลงบางประการเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรี เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆของโลก[9] หลังจากนั้น การประชุมระดับผู้นำก็ว่างเว้นถึง 6 ปี จนมีการจัดประชุมครั้งที่ 3 เมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยมีพม่าเป็นเจ้าภาพ ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ลงนามจัดตั้งสำนักเลขาธิการบิมสเทค (BIMSTEC Secretariat) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ โดยมีนาย Sumith Nakandala ชาวศรีลังกา เป็นเลขาธิการคนแรก ซึ่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรนับแต่ตั้งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1997  ขณะที่เลขาธิการบิมสเทคคนปัจจุบันคือ นาย M. Shahidul Islam เป็นชาวบังกลาเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมาใน 14 สาขาอีกด้วย[10]

สาระสำคัญในการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 4

การประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา โดยมีเนปาลทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพต่อจากพม่า ภายใต้หัวข้อ "Towards a Peaceful, Prosperous and Sustainable Bay of Bengal Region" ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้มีการรับรองปฏิญญากาฐมาณฑุ ซึ่งมีทั้งหมด 18 เรื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกัน ทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา และเป็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญหลายประการ กล่าวคือ ด้านการปรับโครงสร้างองค์กร (Institutional reform) เช่น การจัดตั้งคณะทำงานถาวรบิมสเทค (BIMSTEC Permanent Working Committee-BPWC) เพื่อดูแลเรื่องงานบริหารและงบประมาณ รวมถึงเรื่องอื่นๆของสำนักเลขาธิการและศูนย์บิมสเทค การหาลู่ทางความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาบิมสเทค (BIMSTEC Development Fund-BDF) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัย การจัดทำแผนงาน และกิจกรรมอื่นๆขององค์กร มอบหมายให้สำนักเลขาธิการฯเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมร่างกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC charter) โดยคาดว่าจะมีการรับรองในการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป เห็นควรในการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับสำนักเลขาธิการฯ ทั้งในเรื่องงบประมาณและบุคคล เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำการเร่งสร้างความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือหลักเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยไทยได้เสนอเอกสารเชิงหลักการว่าด้วยการจัดลำดับความสำคัญสาขาความร่วมมือของบิมสเทคอีกด้วย เป็นต้น ด้านความเชื่อมโยง (Connectivity) เช่น เน้นย้ำความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ และเร่งรัดให้มีการลงนามความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่งภายใต้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) และความตกลงยานยนต์ภายใต้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Motor Vehicle Agreement) ให้เร็วที่สุดเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า แสดงความพอใจในการจัดเตรียมร่างแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของบิมสเทค (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) และเห็นควรให้มีการเชื่อมต่อแผนดังกล่าวกับแผนการเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น ASEAN Master Plan on Connectivity 2025 (MPAC 2025), Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดถึงการเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment) ประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และเร่งรัดให้มีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Free Trade Area-FTA) รวมถึงข้อตกลงอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว อีกทั้งยังแสดงความพอใจในความก้าวหน้าการเจรจาความตกลงการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods) และความตกลงความร่วมมือด้านศุลกากร (Agreement on Customs Cooperation) ในด้านการต้อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (Counter Terrorism and Transnational Crime) ประเทศสมาชิกมีมุมมองและจุดยืนต่อต้านร่วมกันในประเด็นนี้ และหวังว่าจะมีการลงนามร่วมกันในอนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านอาญา (BIMSTEC Convention on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters) รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกที่เหลือให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ อาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะองค์กร และการลักลอบการค้ายาเสพติด (BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism, Transnational Organized Crime and Illicit Drug Trafficking) ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศได้ร่วมกันลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้กรอบบิมสเทค หรือ Memorandum of Understanding on BIMSTEC Grid Interconnection เพื่อกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน อีกทั้งที่ประชุมยังได้ตั้งเป้าหมายลดความยากจนจากภูมิภาคอ่าวเบงกอลให้ได้ภายใน ค.ศ. 2030 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติใน 2030 Agenda for Sustainable Development นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้พูดถึงความร่วมมือในสาขาอื่นๆ อีกด้วย เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี เกษตรกรรม การประมง สาธารณสุข การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น[11] ในวันสุดท้ายของการประชุมได้มีการส่งต่อตำแหน่งประธานบิมสเทคจากเนปาลให้กับศรีลังกาซึ่งจะทำหน้าที่ประธานฯและเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป

บทสรุป

ในปัจจุบัน บิมสเทคถือได้ว่าเป็นเวทีความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพียงเวทีเดียวที่เชื่อมโยงประเทศสมาชิกของ 2 ภูมิภาคเข้าด้วยกัน คือ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และเนปาลจากเอเชียใต้ พม่า และไทยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองภูมิภาคถือเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค ตามนโยบาย "Look West" ของไทย และนโยบาย "Look East" ของอินเดียและประเทศเอเชียใต้[12] บิมสเทคถือเป็นกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง มีประชากรรวมกันประมาณ 1,500 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (gross domestic product-GDP) รวมกันกว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[13] อย่างไรก็ตาม กลุ่มความร่วมมือนี้กลับไม่มีความก้าวหน้าอย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบบิมสเทคที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีการลงนามในกรอบความร่วมมือเรื่องนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 โดยมีอุปสรรคสำคัญ เช่น ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในระหว่างประเทศสมาชิก ส่งผลให้การค้าการลงทุนระหว่างกันอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ไทยมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด แต่สมาชิกบางประเทศยังคงตั้งกำแพงภาษีการค้าที่สูง รวมทั้งยังคงไว้ซึ่งอุปสรรคทางการค้าบางอย่างที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers-NTBs)  การขาดแคลนสาธารณูปโภคที่ทันสมัยที่สามารถเชื่อมโยงในการขนส่งสินค้าบริเวณชายแดน ประเทศอย่างเนปาลและภูฎานก็เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Landlocked Country) และมีขนาดสายการบินที่เล็ก ทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่ง นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกบางประเทศยังมีความขัดแย้งระหว่างกัน[14] และมีปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายใน ขณะที่การเกิดขึ้นของกรอบความร่วมมือนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผลมาจากการประสานกันของนโยบายมองตะวันตกของไทย และนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย ไทยและอินเดียจึงถือได้ว่าเป็นประเทศเสาหลักของกรอบความร่วมมือนี้ ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องแสดงบทบาทที่เข้มแข็งในการผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆในกรอบบิมสเทคให้ได้ผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ที่สำคัญ ความสำเร็จในเวทีนี้ในอนาคตอาจจะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) การประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไปที่ศรีลังกาคงมีความคืบหน้ามากขึ้นในประเด็นความร่วมมือต่างๆข้างต้น จะติดตามและนำมารายงานให้ทราบต่อไป

 

เชิงอรรถ

[1] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558), 327.

[2] อินเดียเริ่มการปฏิรูปเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่วนศรีลังกามีระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปิดตั้งแต่ได้รับเอกราช แต่ในช่วงปีค.ศ. 1960-1977 มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะ "inward-oriented" อย่างไรก็ตาม รัฐบาลศรีลังกายุคหลังสงครามเย็นก็ได้สานต่อนโยบายเปิดเสรีที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977

[3] หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศ. แฟ้ม 0703-429-706-402-38/01 เรื่อง โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุทวีป (ไทย-อินเดีย-ศรีลังการ-บังกลาเทศ-พม่า) เพื่อขยายตลาดและเพิ่มอำนาจต่อรองระหว่างประเทศ. 2538.  

[4] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21, 327.

[5] BIMSTEC Secretariat, "About BIMSTEC," BIMSTEC, https://bimstec.org/?page_id=189 (accessed September 3, 2018).

[6] ดูรายละเอียดใน BIMSTEC Secretariat, "Sectors," BIMSTEC, https://bimstec.org/?page_id=199 (accessed September 3, 2018).

[7] ดูรายละเอียดใน BIMSTEC Secretariat, "BIMSTEC Mechanism," BIMSTEC, https://bimstec.org/?page_id=1761 (accessed September 3, 2018).

[8] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21, 333.

[9] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี, "การประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 2 ณ กรุงนิวเดลี", Royal Thai Embassy, newdelhi.thaiembassy.org/th/2008/11/การประชุม-bimstec-summit-ครั้งที่-2-ณ-กร/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561).

[10] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21, 334.

[11] ดูรายละเอียดใน BIMSTEC Secretariat, "Fourth BIMSTEC Summit Declaration", BIMSTEC, https://drive.google.com/file/d/0Bw5iVdDDVNCRTko2ek02Y1F0T3hQemM1NTdjUy1icGZUOGMw/view (accessed September 3, 2018).

[12] กรุงเทพธุรกิจ, "ไทยเสนอ 5 ทิศทางผลักดัน BIMSTEC สู่อนุภูมิภาคแห่งความมั่นคง", กรุงเทพธุรกิจ, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/811742 (สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561).

[13] BIMSTEC Secretariat, "About BIMSTEC".

[14] ดูรายละเอียดใน Sampa Kundu, "BIMSTEC at 17: An Assessment of its Potential," India Quarterly 70, no. 3 (2014): 207-224.

เกี่ยวกับผู้เขียน: อาดีลัน อุสมา เป็นนักศึกษาปริญญาเอก Centre for Indo-Pacific Studies. School of International Studies. Jawaharlal Nehru University. New Delhi. India.

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

4 สภาวิชาชีพ ค้าน ม.48 ใน ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา แนะตัดคำว่า 'วิชาชีพ' ออก

Posted: 18 Sep 2018 08:40 AM PDT

สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาทนายความและสภาวิชาชีพบัญชี ร่วมแถลง คัดค้าน ม. 48 แห่ง ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ร้องขอตัดคำว่า 'วิชาชีพ' ออกจาก มาตราดังกล่าว ระบุเพื่อปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

18 ก.ย.2561 วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่สภาสถาปนิก 4 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก ทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความ และ ประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชี ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง "กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร"

โดย  สภาวิชาชีพทั้ง 4 คัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 แห่ง "ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ….."  โดยขอให้ตัดคำว่า "วิชาชีพ" ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงสภาทนายความ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพบัญชี  เรื่อง"กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร"

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... นั้น ในส่วนที่ 3 การบริการวิชาการแก่สังคม มาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้ "สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้"ซึ่งเป็นบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  กฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความและกฎหมายวิชาชีพบัญชี รวมถึงขัดแย้งกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ....ในหมวด๒ว่าด้วยหลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษามาตรา 8  ในหมวด5ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษามาตรา 37 (3) และมาตรา 48 ซึ่งผลของการบัญญัติให้ "สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้" จะส่งผลกระทบและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนส่วนรวม ดังนี้

1. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้ จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถออกไปรับจ้างประกอบธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า "รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน…"โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลมาประกอบวิชาชีพโดยใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่มีต้นทุน ต่างกับภาระต้นทุนของภาคเอกชนทำให้ได้เปรียบภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ไม่เกิดการว่าจ้างนิติบุคคลเอกชนหรือจ้างในอัตราที่ต่ำมาก กระทบต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาด้านวิชาชีพ ตลอดจนการจ้างงานบุคลากรวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพภาคเอกชนอย่างมากและอาจเป็นสาเหตุให้วิชาชีพเกิดความอ่อนแอในอนาคต

2. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความกฎหมายวิชาชีพบัญชี และกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ที่บังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว อันจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างสภาวิชาชีพกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบล่าช้าต่อการบริหารจัดการกิจการภาครัฐและส่งผลกระทบถึงสังคม ประชาชนในที่สุด

3. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้ส่งกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้อย่างอิสระในทุกสาขาวิชาชีพอย่างไม่จำกัดขอบเขตและไร้การกำกับดูแลจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งงานด้านวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเกิดจากการนำเอาพื้นฐานทางวิชาการมาฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์จนมีความสามารถและผ่านระบบการทดสอบจากสภาวิชาชีพเฉพาะด้านในเรื่องนั้น ๆ เช่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านออกแบบสะพาน ก็มาจากวิศวกรในวิชาชีพที่ได้ฝึกฝน เรียนรู้การออกแบบสะพานมาเป็นเวลานานจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสะพานดังกล่าว แต่สถาบันอุดมศึกษามิได้มีผ่านกระบวนการฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการ

4. ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาซึ่งเป็นงานในหน้าที่หลัก พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ควรมุ่งเน้นให้บุคลากรทำหน้าที่และอุทิศเวลา ในการดำเนินการทางด้านวิชาการ การเรียน การสอน และการวิจัยมากกว่าบริการวิชาชีพ

5. การให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้ ส่งผลให้การได้รับบริการวิชาชีพไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพควบคุมซึ่งเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลมีตั้งแต่ในชั้นของการออกแบบ การปฏิบัติตามสัญญา การรับประกันผลงาน อาจทำให้ไม่สามารถปกป้องความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และสังคม

ซึ่งแตกต่างจากนิติบุคคลมหาชนอื่นๆที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ หน้าที่ และภารกิจเฉพาะในขอบเขตงานของตนเองรับผิดชอบเท่านั้น อาทิเช่น การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจหน้าที่ในจัดให้ได้มา การจำหน่ายและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าซึ่งเข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวงจึงสามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้เพียงในงานวิศวกรรมไฟฟ้าเท่านั้น ไม่อาจดำเนินการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือวิชาชีพอื่น ๆ ได้

6. มาตรา 48 ทำให้ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในการประกอบวิชาชีพในส่วนของความรับผิดชอบต่อผลงาน เนื่องจากหากว่าจ้างนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพ หากปรากฏว่านิติบุคคลผู้นั้นกระทำผิด สภาวิชาชีพจะมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบและลงโทษบุคคลดังกล่าวได้ถึงขั้นไม่อนุญาตให้ประกอบวิชาชีพต่อไปได้ (เพิกถอนใบอนุญาต) การมีมาตรา 48 ทำให้ไม่สามารถควบคุมดูแลสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะดังกล่าวได้

7. ปัญหาเรื่องความโปร่งใสและธรรมมาภิบาล

7.1 การกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถบริการวิชาชีพได้ทำให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
ต้องมาเบียดบังเวลาราชการในการเรียนการสอนหนังสือเพื่อมาประกอบวิชาชีพควบคุม

7.2 มาตรา 48 ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐเปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมถึงมีการรับจ้างช่วง (sub) งานในนามของสถาบันอุดมศึกษาและส่งต่องานให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (หักหัวคิว)

7.3 ส่งผลกระทบต่อระบบภาษีของรัฐ เนื่องจากการว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาไม่ต้องเสียภาษีรายได้

7.4 เกิดความไม่เหมาะสมที่หน่วยงานของรัฐจะว่าจ้างหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ด้วยกันเองในการบริการวิชาชีพในอัตราค่าจ้างเท่ากับราคาค่าจ้างที่ดำเนินการโดยเอกชน

7.5 ส่งผลให้เกิดการทุจริตแบบบูรณาการ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เนื่องจากรายได้จากการประกอบวิชาชีพถือเป็นเงินนอกระบบงบประมาณ ทำให้หน่วยงานตรวจสอบของรัฐอื่นๆไม่สามารถตรวจสอบได้

7.6 เกิดความตกต่ำของมาตรฐานทางศีลธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพจะลดลง ทำให้ไม่อาจตอบสังคมได้ว่า การให้บริการทางวิชาชีพถือเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา หรือไม่

ดังนั้น สภาวิชาชีพทั้ง 4 จึงขอคัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 แห่ง "ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ….."  โดยขอให้ตัดคำว่า "วิชาชีพ" ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: เอาเลือกตั้งไม่เอา ปชต.

Posted: 18 Sep 2018 08:36 AM PDT

ไชโย คนไทยจะได้เลือกตั้งแล้ว ภายใน 240 วัน หลัง พ.ร.บ.เลือกตั้งประกาศราชกิจจานุเบกษา เพียงต้องรอกฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วัน รอ คสช.คลายล็อก ปลดล็อก แล้วพรรคการเมืองก็จะได้หาเสียงยาวนานที่สุด นับแต่ยุคพ่อขุนราม

เออนะ สำบัดสำนวนขนาดนี้ ไม่รู้ตกรอบซีไรต์ได้ไง น่าเสียดาย เนติบริกรไม่ยักบอกกินเนสบุ๊กบันทึกสถิติ ซึ่งมีอีกหลายอย่าง เช่นคนไทยไม่ได้เลือกตั้งมา 8 ปี ยาวนานที่สุดนับแต่ยุคสฤษดิ์ถนอม คสช.อยู่ทนที่สุด 5 ปี นับแต่ยุค 14 ตุลา แถมมีแนวโน้มจะลบประวัติศาสตร์ รสช. สืบทอดอำนาจอีกอย่างน้อย 5 ปี เพื่อประเทศแข็งแรง

งบเลือกตั้ง 5,800 ล้าน เผลอๆ จะเป็นแค่ค่าพิธีกรรม ให้สืบทอดอำนาจได้ตามที่ล็อกสเปกไว้ ไม่ต่างกับ 1,200 ล้าน สรรหา ส.ว.กันแทบตาย เพื่อส่ง 200 ชื่อ ให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน

จนวันนี้ก็ยังไม่มีใครมองภาพออก ว่าการเลือกตั้งใต้ ม.44 จะเป็นเลือกตั้งเสรีได้อย่างไร ที่แน่ๆ คงไม่ใช่การเลือกตั้งที่คนไทยคุ้นเคย อย่างน้อยก็จะได้ขำๆ ว่าพรรคเดียวกันทำไมต่างเขตต่างเบอร์ แต่คงไม่ขำ ถ้าจะเลือกพรรคนี้ แล้วผู้สมัครโดน กกต.ระงับสิทธิ หรือโดนยุบพรรคกลางคัน

นี่ท่านผู้นำก็จะให้อบรมประชาชน ทำความเข้าใจประชาธิปไตยเสียใหม่ ประชาธิปไตยต้องไม่ขัดแย้ง ไม่วุ่นวาย เมืองไทยจะเป็นมหาอำนาจ ถ้ายอมศิโรราบระเบียบอำนาจที่จัดไว้ แบบนั้นใช่ไหม

ยิ่งใกล้เลือกตั้ง การสืบทอดอำนาจ ยิ่งถูกทำให้เป็นเรื่องหน้าตาเฉย การดูด ส.ส. เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน สังคมไทยที่เคยต่อต้าน รสช. และพรรคสามัคคีธรรม เมื่อปี 2535 จนวีรชนตายเกลื่อน กลับเสียสัตย์เสียเอง เชียร์ให้สืบทอดอำนาจราวกับมีความชอบธรรม อ้าว ไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะกฎกติกา รัฐธรรมนูญปู่มีชัย (ปี 2534 ก็ร่าง) ไม่ได้ห้ามไว้ ผู้นำรัฐประหารใส่ชื่อ 1 ใน 3 ของพรรคการเมือง ก็ถือเป็นคนใน ไม่ใช่นายกฯ คนนอก รัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ก็ไม่ขัดกฎหมาย ไม่ต้องลาออก ไม่ถือว่าหน้าด้าน

คนดีๆ ทั้งนั้นที่ช่วยกันเชียร์ หรือคนไม่ดีก็กลายเป็นคนดี ถ้าช่วยกันเชียร์

มีบางคนพยายามอ้างว่าประชาธิปไตยตะวันตกเสื่อมแล้ว ตายแล้ว ประชาชนกาบัตรแค่ 2-3 วินาที แล้วได้เผด็จการรัฐสภา ซึ่งบางที เผด็จการทหารยังดีกว่าด้วยซ้ำ ตลกร้าย พวกที่อ้างอย่างนี้คือพวกขัดขวางเลือกตั้ง แล้วมาลงเลือกตั้ง บางคนก็ประกาศสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เพื่อขัดขวางนักการเมืองผีดิบ ทั้งที่ตัวเองเป็นผีสุก ประกาศเลิกเล่นการเมืองไปแล้วชัดๆ

ประชาธิปไตยตะวันตกมีปัญหาจริงไหม ก็จริงนะ เพราะอะไร เพราะเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่กลืนกินไปทั่วโลก จนเกิดวิกฤติทำลายตัวเอง เช่นวิกฤติซับไพรม์ คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนชั้นกลางล้มละลาย ทำให้เกิดความเกลียดชังระบบ anti-establishment ฟื้นกระแสสุดโต่ง เอาตัวรอด เลือกทรัมป์ ทำสงครามการค้า เกลียดคนอพยพ

ว่าที่จริง โลกกำลังสับสน และกำลังจะเปลี่ยน แต่เปลี่ยนแบบไหน เปลี่ยนไปเป็นระบอบที่ใช้อำนาจโดยไร้เหตุผลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเอง แบบทรัมป์ อย่างนั้นหรือ

น่าขำที่คนไทยจำนวนมากด่าทรัมป์ ทั้งที่ตัวเองก็สนับสนุนการใช้อำนาจโดยไร้เหตุผล แต่ขาดที่มาโดยชอบธรรม แย่กว่าทรัมป์เสียอีก น่าขำที่คนไทยจำนวนมากชอบด่าประชาธิปไตยตะวันตก แต่บอกไม่ถูกว่าตะวันออกคืออะไร นอกจากเผด็จการ น่าขำที่ชอบอ้างกันจัง "ธรรมาธิปไตย" แต่ไม่เคยเห็นว่าธรรมาธิปไตยมีรูปแบบการปกครองอย่างไร อ้างทีไรก็เผด็จการทุกที

ส่วนที่ว่าประชาธิปไตยตะวันตก ควบคุมเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ ต้องพึ่งเผด็จการไล่ทุนสามานย์ แล้วโวยวายกันทำไม ว่าสี่ปีผ่านไป คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง ขนาดไพศาล พืชมงคล ยังฝากพรรคการเมือง ให้ต่อต้านการผูกขาดของบรรดาเจ้าสัวยึดประเทศไทย

ไม่เอาประชาธิปไตย ขัดขวางการเลือกตั้ง ยื้อครบ 5 ปี จำใจต้องเลือกตั้ง แต่ยังไม่เอาประชาธิปไตย ทั้งที่พูดกันจัง ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง แต่ตอนนี้อยากให้มีเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม เพื่อต่ออายุความไม่เป็นประชาธิปไตย

ว่าที่จริง ไม่เอาประชาธิปไตยก็ได้นะ แต่ลองคิดระบอบอะไร ที่มีเหตุผลอ้างอิง เป็นระบอบที่ตรวจสอบอำนาจได้ ไม่ผูกขาดอำนาจ เป็นระบอบที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง

ไม่ใช่ไม่เอาประชาธิปไตยแล้วแถไปเรื่อย จะอุ้มการสืบทอดอำนาจ ก็กลับเหตุผลกลืนน้ำลาย เดี๋ยวอ้างประชาธิปไตย เดี๋ยวอ้างอำนาจโดยธรรม วันหนึ่งด่าคนต่อต้านให้เตรียมสู้คดี อีกวันเอาจำเลยล้มล้างประชาธิปไตยมาทำงานด้วย

แบบนี้คือระบอบประชาธิปไตยตายแล้ว ระบอบศรีธนญชัยเจริญ

 

                                                                  

                                                  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: หมดอำนาจคนจะรัก?

Posted: 18 Sep 2018 08:31 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดพ้อว่าวันนี้ทำแต่อะไรที่ถูกๆ จนคนไม่รัก เชื่อว่าวันหน้าประชาชนจะนึกได้ ว่าที่ทำไปวันนี้เป็นผลดีต่อวันหน้า ไม่ว่าการจัดระเบียบขายของริมถนน หรืออะไรต่างๆ

จริงเหรอะ งั้นทำไมไม่วางมือ หรือรีบลงจากอำนาจ จะได้พิสูจน์ทราบ ว่าเมื่อไม่มี ม.44 จับกุมอุ้มขัง แล้วจะมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนผ้าใบไหม

นี่แค่โดนวิจารณ์ยังไล่ "ไอ้ตู่" จตุพรไปเตรียมตัวสู้คดี "ไอ้คนไม่มีผม" ขู่ปรับทัศนคติ แล้วคนที่ไม่รักไม่ชอบใครจะกล้าเผยตัว

ก็เข้าใจนะ ท่านผู้นำตั้งความหวังว่า อีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ประชาชนจะยกย่องสดุดี ว่าท่านเป็นผู้เสียสละ เข้ามาทำรัฐประหาร รักษาความสงบของบ้านเมือง อุตส่าห์ยื้อคำสัญญาอยู่ 4 ปี เพื่อชาติมั่นคง วางโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟจีน อีอีซี เรือดำน้ำ ห้องน้ำตลาดประชารัฐ พร้อมกับวางยุทธศาสตร์ชาติ ส.ว.แต่งตั้ง องค์กรอิสระจากแม่น้ำ 5 สาย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการเมืองจะไม่กลับมาวุ่นวายอีก เพราะยังไงๆ ก็ไม่กลับไปเป็นประชาธิปไตยแน่นอน แค่มีเลือกตั้งให้ฝรั่งดู

นั่นคือภาพการเมืองใหญ่ ซึ่งความหวังของท่านจะบรรลุหรือไม่ ยังไม่มีใครทายออกเลย เพราะยังไม่ลงจากหลังเสือ ไม่รู้จะสืบทอดอำนาจสำเร็จ หรือกลาย รสช. ต่อให้สืบทอดได้ ก็ไม่รู้อีกว่า 4-5 ปีจะเป็นอย่างไร

แต่พูดให้อุ่นใจ ประวัติศาสตร์มี 2 ด้านเสมอ คนที่รักที่เชียร์ท่าน ก็จะเล่าขานกันไป เช่นเดียวกับคนที่เกลียดชัง ก็จะเล่าเรื่องตรงข้าม อยู่ที่คนรุ่นหลังจะเลือกเชื่อฉบับไหน

ในประเด็นแยกย่อย ท่านพูดถึงการจัดระเบียบต่างๆ เช่น บีแอนด์บี แผงลอยริมถนน และคงรวมถึงทวงคืนผืนป่า ไล่คนจากที่ทำกิน ทำนองว่าใช้กฎหมายสร้างความถูกต้องแล้วคนจะรักได้อย่างไร แต่วันหน้าจะนึกได้ ว่าทำให้เกิดการแข่งขันและปรับปรุงตนเอง

นอกจากนั้นท่านยังพูดถึงการกระจายอำนาจ ว่าทำมา 5 ปีแล้ว ถ้าถนนหมู่บ้านพังก็ให้โทษท้องถิ่น อย่ามาโทษท่าน เพราะชาวบ้านเลือก อบต. อบจ. เทศบาลมาเอง

อ้าว แล้วใครล่ะ ใช้ ม.44 ปลดคนที่ชาวบ้านเลือก บางคนปลดตั้งนานไม่พบการทุจริต แล้วทุกวันนี้ อบต. อบจ. เทศบาล มีอิสระจริงๆ หรือผู้ว่าฯ นายอำเภอ กรมปกครองท้องถิ่นเป็นใหญ่

ฟังไปฟังมา ก็นึกถึงที่เนวิน ชิดชอบ ให้สัมภาษณ์ "ปลุกลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจให้ประชาชน" หนุนแกร็บ อูเบอร์ แอพที่พัก "วันนี้มีกฎหมายเพื่ออะไร ใช้อำนาจรัฐเพื่อเศรษฐีเท่านั้นใช่ไหม" รัฐบาลไม่ต้องเอางบมาส่งเสริมอบรมอาชีพบ้าบอคอแตก แค่ปลดเรื่องเหล่านี้ให้ทำมาหากินได้

ปลดอะไร ก็ปลดอำนาจรวมศูนย์ อำนาจรัฐราชการ ที่อ้างกฎหมาย ไปจัดระเบียบชาวบ้าน โดยไม่ต้องคิดวิธีจัดการที่เหมาะสม เพราะมีอำนาจซะอย่าง แล้วบางเรื่องก็จัดระเบียบจริงไม่ได้ เช่น รถตู้ ลอตเตอรี่ 80 บาท ที่จับได้แค่พีท 90 ล้าน ว่าขายเกินราคา

ไม่ใช่แค่เนวินหรอก บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็พูดเรื่องปฏิรูปกฎหมาย กระจายอำนาจ ยกตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง คนตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง จะสร้างการค้าชายแดน คนพม่าข้ามมาซื้อไก่ฝั่งไทยก็ไม่ได้ ต้องขออนุญาตกรมปศุสัตว์ตามกฎหมายซากสัตว์

ใช้กฎหมายใช้อำนาจอย่างนี้ ชาวบ้านจะรักได้อย่างไร มีแต่จะเล่าขานกันไปว่า ยุครัฐราชการเป็นใหญ่ชาวบ้านเดือดร้อนแค่ไหน

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

น่าละอาย.. แล้วไงต่อ? ชวนดูความสำคัญ-อำนาจของรายงานยูเอ็นที่ไทยจะเฉยไม่ได้

Posted: 18 Sep 2018 07:46 AM PDT

คุยกับพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย ถึงเบื้องหลังการออกรายงานประจำปีเรื่องนักสิทธิฯ ถูกคุกคาม ที่เป็นกระแสให้ภาครัฐของไทยออกมาแก้เกี้ยวเรื่องการถูกตีตราว่า "น่าละอาย" ชี้ตัวรายงานแม้ไม่มีผลใดๆ แต่ท่าทีของไทยและจุดยืนของประชาสังคม - ประเทศอื่นจะทำให้มันมีคมเขี้ยว

ที่มาภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

18 ก.ย.2561 กลายเป็นกระแสยกใหญ่เมื่อรัฐบาลและผู้มีตำแหน่งออกมาตอบโต้กรณีที่ประเทศไทยไปโผล่ในรายงานประจำปีขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าเป็นหนึ่งใน 29 ประเทศ (หรือ 38 ประเทศถ้านับรวมกับของสองปีก่อนในภาคผนวก) ที่มีการกระทำในลักษณะเอาคืน (reprisal) กับผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดต่อ หรือทำงานร่วมกับกลไกสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ซึ่งในรายงานระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ 'น่าละอาย' เมื่อ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา

การถูกองค์กรโลกบาลอย่างยูเอ็นบอกว่าประเทศมีพฤติกรรมที่น่าละอายคงเปรียบเทียบได้กับการถูกปักป้ายประจานกลางตลาดสด การเผยแพร่รายงานเล่มดังกล่าวตามมาด้วยการตอบโต้ของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทหาร หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายหรือเจตนาคุกคาม ข่มขู่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และได้มีการบรรจุประเด็นนักสิทธิฯ เป็นประเด็นหลักในร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 - 2566 โดยสัปดาห์นี้ทูตไทยประจำยูเอ็นจะร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานชิ้นดังกล่าวและจะขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน (ที่มา:ไทยพีบีเอส)

ไทยติด 1 ใน 38 ประเทศ 'น่าละอาย' รายงาน UN กรณีคุกคามนักสิทธิฯ - ผู้เกี่ยวข้อง

ก.ต่างประเทศ เตรียมชี้แจงยูเอ็นกรณี 'ประเทศน่าละอาย' ที่เจนีวา 19 ก.ย.นี้

นอกจากนั้นยังมีการตอบโต้จาก ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่ารัฐบาลตระหนักถึงการคุ้มครองนักสิทธิฯ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงถูกละเมิด จัดทำคู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ไปจนถึงการติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางช่วยเหลือและการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกฯ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ส่วนกรณีของไมตรี จำเริญสุขสกุลและน.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ที่ปรากฏในรายงานนั้น ปิติกาญจน์กล่าวว่า กรณีทั้งสองอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ถ้ามีการขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่นการปรึกษาทางกฎหมาย การช่วยเหลือทางคดี การประกันตัว หรือหากถูกข่มขู่ คุกคาม ไม่ได้รับความปลอดภัยก็สามารถขอรับความคุ้มครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯพยานในคดีอาญา (ที่มา: โพสท์ทูเดย์)

ปรากฏการณ์ที่ภาครัฐออกมาโชว์ซูเปอร์เซฟลูกยิงของยูเอ็นเป็นพัลวันสะท้อนอิทธิพลขององค์กรโลกบาลที่ไม่มีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจติดตัวจนบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นเสือกระดาษ แล้วอะไรคืออำนาจ หรือความสำคัญเบื้องหลังของกระดาษ 52 หน้านี้

ประชาไทคุยกับ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia - Asian Forum for Human Rights and Development) ถึงเบื้องหลัง ความสำคัญของรายงาน รวมถึงสิ่งที่ไทยอาจต้องเจอเมื่อมีรายงานเช่นนี้

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

พิมพ์สิริ กล่าวว่า ประเด็นการเอาคืน คุกคามนักปกป้องสิทธิฯ หรือคนทำงานด้านสิทธิฯ ที่ทำงานกับกลไกยูเอ็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นที่กังวลของอันโตนิโอ กูเตร์เรซ เลขาธิการยูเอ็นคนปัจจุบันตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากแนวโน้มด้านสถิติการถูกคุกคามที่สูงขึ้น ทำให้นักสิทธิฯ หวาดกลัวที่จะทำงานกับกลไกของยูเอ็นและเป็นการทำลายชื่อเสียงยูเอ็นไปในตัว ซึ่งตัวอันโตนิโอเองมองว่าเป็นการโจมตียูเอ็น

ความกังวลนำไปสู่การปรึกษากับหลายๆ องค์กร ทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Human Rights Council; ย่อ: UNHRC) กลไกผู้ตรวจการพิเศษ และกลไกสนธิสัญญา ซึ่งสุดท้ายอันโตนิโอประกาศตั้งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลประเด็นนี้โดยเฉพาะ นำโดย แอนดรูว์ กิลมอร์ โดยตั้งใจว่าจะเป็นการสร้างระบบการป้องกันหรือพูดถึงการเอาคืน ข่มขู่คุกคามที่แต่เดิมกระจัดกระจายอยู่ตามกลไกต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น ถ้ามีกรณีเรื่องการเอาคืน ข่มขู่คุกคามเกิดขึ้น ทุกหน่วยงานของยูเอ็นจะต้องให้ความสนใจโดยมีแอนดรูว์เป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ พิมพ์สิริ ให้ข้อมูลว่ารายงานที่ออกมาเป็นการออกชื่อเพื่อทำให้อับอายเท่านั้น (Naming and Shaming) ซึ่งไม่มีผลในทางกฎหมาย และไทยไม่มีข้อบังคับที่ต้องทำตามหรือชี้แจงอะไร แต่การไม่สนใจรายงานอาจนำมาซึ่งการสูญเสียภาพลักษณ์ในเวทีโลก ซึ่งผลกระทบอาจลามทุ่งไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ

"จะมีการนำเรื่องนี้ (เรื่องของไทยในรายงาน) ไปประชุมในระดับสูงที่รวมถึงรัฐ ประชาสังคม สถานทูต หน่วยงานยูเอ็นต่างๆ แปลว่ารัฐไทยจะต้องตอบคำถามเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ คือจะไม่ตอบก็ได้เพราะกลไกกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้มีการบังคับใช้แบบบนลงล่างเหมือนกฎหมายภายใน แต่ปกติไทยจะตอบอย่างเป็นทางการ"

"ถ้าไม่ตอบมีผลในทางหน้าตา ซึ่งไทยไม่ค่อยยอมเสียหน้าในเวทีระหว่างประเทศ อีกอย่างที่เป็นรูปธรรมคือมันสามารถถูกนำมาใช้ในการรณรงค์กับภาคประชาสังคมได้ โดยเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจมีอิทธิพลกับไทยในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เช่น อียู (สหภาพยุโรป) ที่มีอาณัติเฉพาะที่จะต้องทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิไม่ว่าในประเทศไหน แล้วถ้าไทยออกมาแบบนี้ (ไม่ชี้แจงอย่างเป็นทางการ) ประชาสังคมก็สามารถนำไปรณรงค์ต่อได้"

"รายงานตัวนี้สามารถถูกนำไปอ้างอิงว่าคุณไม่ได้ทำตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับองค์กรระหว่างประเทศ และส่วนกลไกสนธิสัญญา โดยเฉพาะกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ไทยเพิ่งถูกทบทวนไปเมื่อปี 2560 ก็มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นเรื่องนี้" อดีตเจ้าหน้าที่ Forum-Asia กล่าว

ICCPR: ปูพื้นก่อนชมเวทีโลกล้อมไทย ชำแหละทุกปมละเมิดสิทธิบ่ายวันนี้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปากคำ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' พยานจำเลยคดี 'ไผ่ ดาวดิน' ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร

Posted: 18 Sep 2018 04:54 AM PDT

ไผ่ ดาวดินในชุดนักโทษซักถามความ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' ด้วยตัวเอง ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 58 โดยนิธิให้การต่อศาลว่า คณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้าน คสช. ของไผ่ ดาวดิน กระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ


จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ร่วมถ่ายรูปกับนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง รวมทั้งถ่ายรูปกับเพื่อนๆ และพ่อแม่ของเขา ทั้งนี้จตุภัทร์เดินทางมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อขึ้นศาลในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร เหตุเกิดเมื่อ 22 พ.ค. 2558 โดยวันนี้เป็นการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย

18 ก.ย. 2561 ที่ศาลทหาร ขอนแก่น บรรดาผู้สังเกตการณ์คดีจากกรุงเทพฯ ราว 20 คน มารอให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ตั้งแต่เช้าจนราว 11.20 น.จึงได้เข้าห้องพิจารณาคดี ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

วันนี้เป็นการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง โดยไผ่ที่ถูกนำตัวมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้ขอใช้สิทธิถามความด้วยตนเอง นับเป็นการถามความครั้งแรกของเขาหลังเรียนจบนิติศาสตร์เมื่อปีที่ผ่านมา

(แฟ้มภาพ) จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "คัดค้านรัฐประหาร" ร่วมกับเพื่อนกลุ่มดาวดินที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 นักศึกษากลุ่มดาวดินทำกิจกรรมชูป้ายต่อต้าน คสช.ในวาระครบ 1 ปีรัฐประหาร ไผ่โดนฟ้องในความผิดขัดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่กำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากนั้นเขายังถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีกเรื่อยๆ รวมทั้งสิ้น 5 คดี อย่างไรก็ตามคดีที่ทำให้เขาต้องอยู่ในเรือนจำอย่างยาวนานเกือบ 2 ปีมานี้คือคดีมาตรา 112 จาการแชร์ข่าวของบีบีซี ซึ่งเขาตัดสินใจรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

สำหรับการสืบพยานโดยสรุปมีดังนี้

ไผ่ถามพยานว่าการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งใดที่มีนัยสำคัญทางการเมือง นิธิเบิกความว่า ในบรรดาการรัฐประหาร 13 ครั้งนับตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน เขาคิดว่าที่สำคัญมีอยู่ 2 ครั้ง คือ การรัฐประหาร ปี 2476 และปี 2557

กรณี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศพระราชกฤษฎีกา "ปิดสภา" งดใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกหลายมาตรา ยกเว้นเพียงหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเพื่อกอบกู้รัฐธรรมนูญคืนมาใหม่ จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทหารมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ เป็นตัวอย่างที่ดีแต่ไม่เคยถูกทำตาม

กรณี 2557 คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญมาต่อเนื่องถึง 17 ปีนับตั้งแต่ปี 2540 แม้มีรัฐประหาร 2549 ก็ใช้เวลาเพียงปีเดียวแล้วมีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใกล้เคียงกับ 2540

"นี่เป็นโอกาสที่การปกครองแบบประชาธิปไตยจะดำรงต่อไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่การรัฐประหาร 2557 ได้ตัดโอกาสอนาคตของประเทศไทยไปเลย"

"ผลจาการรัฐประหารทำให้เกิดความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ...อีกประการคือ โอกาสที่จะเรียนรู้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจถูกบ้างผิดบ้างนั้นหายไปเลย"

ไผ่ถามพยานเกี่ยวกับข้ออ้างความชอบธรรมหรือเหตุแห่งการรัฐประหารว่าคืออะไรและเพียงพอไหม นิธิตอบว่า ปี 2557 มีการอ้างเรื่องทุจริตคอร์รัปชันและการแตกแยกของประชาชน ซึ่งปัญหาสองอย่างนี้สามารถแก้ไขได้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดไม่มีการโกงเลยหรือประชาชนไม่แตกแยกเลย

ไผ่ถามพยานเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษา เยาวชน ในอดีตที่คัดค้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย นิธิตอบว่า คนมีการศึกษามีบทบาทในทางการเมืองตั้งแต่อย่างน้อยสมัย ร.5 พระองค์ทรงแย่งอำนาจบริหารมาจากเหล่าขุนนางได้ก็ด้วยอาศัยคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาในราชสำนัก นิธิยังยกตัวอย่างบทบาทคนหนุ่มสาวในขบวนการเสรีไทย, 14 ตุลาคม 2516, พฤษภา 2535 มาจนปัจจุบันเช่นเดียวกับที่จำเลยและกลุ่มนักศึกษาทำ

"การเคลื่อไหวใหญ่ๆ ในโลกเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเล็กๆ เช่นนี้ คนเหล่านี้คือคนที่ไม่ต้องการเห็นประเทศถอยหลัง การปกป้องประชาธิปไตยถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่แม้รัฐธรรมนูญถูกฉีกไป แต่คนเหล่านี้ก็มีสำนึกตลอดมาว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ"

"การเคลื่อนไหวแบบนี้เกิดตลอดมาในทางประวัติศาสตร์ ในทุกสังคม และเกิดผลดีกับสังคม ตอนขบวนการเสรีไทยเคลื่อนไหวรัฐบาลสมัยนั้นก็ปราบ แต่สุดท้ายประเทศรอดเพราะคนที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏ"

ไผ่ถามว่า "หากมองในมุมประวัติศาสตร์สังคมศาสตร์ การกระทำของจำเลยสมควรได้รับโทษหรือไม่"

นิธิตอบคำถามไผ่ว่า "ผมเห็นว่าคณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้าน คสช.ของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ"

หลังคำตอบของนิธิ ศาลย้ำว่าแน่ใจหรือไม่ว่าว่าต้องการให้บันทึกเช่นนี้ ไผ่และนิธิตอบว่า "ใช่"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าวันนี้ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26,44 หรือไม่ สามารถฟ้องคดีจำเลยได้หรือไม่ และขอให้ศาลทหารเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปก่อนเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรับคำร้องไว้และสั่งให้เลื่อนการพิพากษาออกไป โดยในระหว่าง 30 วันนี้หากอัยการไม่ยื่นความเห็นถือว่าไม่คัดค้าน ศาลก็จะทำการนัดฟังคำสั่งต่อไปว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า นอกจากนี้ทนายความยังยื่นประกันตัวไผ่ในคดีนี้ และคดีการจัดเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคดีละ 10,000 บาท ในช่วงเย็นศาลทหารมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว แต่ไผ่ยังคงต้องถูกคุมขังจากโทษในคดี 112 ต่อไป อย่างไรก็ตามการได้รับอนุญาตประกันตัวในคดีอื่นที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีจะส่งผลให้จำเลยน่าจะสามารถยื่นขอพักโทษออกจากเรือนจำก่อนกำหนดได้หากถูกคุมขังครบตามหลักเกณฑ์กรมราชทัณฑ์

สตั้น 10 วิ ทหารเบิกความยันชูป้ายค้านรัฐประหาร = ทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษ, 23 ส.ค. 2561

สำหรับการสืบพยานโจทก์ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในวันเกิดเหตุเคยเบิกความตอนหนึ่งว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน ส่วนการกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย "คัดค้านรัฐประหาร" นั้นแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คุยกับผู้กำกับหนังรางวัลที่เวนิส 'กระเบนราหู' แด่โรฮิงญา ผู้ลี้ภัยที่ไม่อาจเอ่ยเสียง

Posted: 18 Sep 2018 03:54 AM PDT

คุยกับพุทธิพงษ์ อรุณเพ็งผู้กำกับ 'กระเบนราหู' หนังไทยเรื่องแรกคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 โดยเขาบอกว่า "จริงๆ ในหนังตอนขึ้นต้นจะมีคำว่า แด่ โรฮิงญา ถ้าเราลบคำนี้ไปมันจะไม่มีอะไรที่สามารถบอกได้เลยว่าหนังเกี่ยวกับผู้อพยพ แต่ที่ตัดสินใจเอาคำนี้ขึ้นมาอยู่ในหน้าหนัง อย่างน้อยทำให้ชื่อนี้ไม่หายไป"

ต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นข่าวดีของวงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง หลังจาก 'กระเบนราหู' หรือ 'Manta Ray' กลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75

กระเบนราหู เล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างชาวประมงผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมชายฝั่ง ได้ให้ความช่วยเหลือชายแปลกหน้าผู้ถูกน้ำทะเลซัดขึ้นฝั่งมาและไม่เคยพูดแม้สักคำ ต่อมาเมื่อชาวประมงหายตัวไป คนแปลกหน้าก็เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของบ้าน ทำอาชีพประมง และรวมถึงอาศัยอยู่กับอดีตภรรยาของชาวประมง

พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับหนังกล่าวผ่านแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า ตนขออุทิศโปรเจกต์นี้ให้แก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาผู้เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ที่เคยขึ้นในประเทศไทย โดยกล่าวถึง 2 เหตุการณ์ด้วยกัน คือเหตุการณ์ในปี 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารของไทยลากเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนอย่างน้อย 6 ลำออกไปจากฝั่งและทิ้งไว้กลางทะเล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และมีอีกกว่า 300 คนสูญหาย อีกเหตุการณ์หนึ่งคือปี 2558 เมื่อทางการไทยค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่พร้อมร่างของชาวโรฮิงญาหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว จ. สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังเหยื่อก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย

"ผมสามารถเข้าใจได้ถึงความไม่พอใจ ที่ชาวประมงมีต่อคนแปลกหน้าคนนี้ที่เขาเคยหยิบยื่นมิตรภาพให้ และผมก็สามารถเข้าใจได้ว่าคนแปลกหน้าไม่ได้ต้องการจะยึดครองชีวิตและข้าวของของเพื่อนของเขา แต่ผมไม่มีทางเข้าใจได้ว่าทำไมโศกนาฏกรรมนี้จึงเกิดขึ้น"

"ผมไม่ต้องการให้ตัวละครใดก็ตามถูกประณามหรือไต่สวนในศาล ผมแค่หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ท้ายที่สุด ผมแค่อยากจะทำหนังที่มีเจตนาที่ดีต่อมนุษย์ ซึ่งผมเดาว่านั่นเป็นเหตุผลหลักที่ผมอยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา" พุทธิพงษ์ ระบุในแถลงการณ์

ประชาไทสัมภาษณ์พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ถึงความสนใจของเขาที่มีต่อประเด็นผู้อพยพ ที่เริ่มต้นมาจากความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ สู่ประเด็นเรื่องโรฮิงญา ที่เขาเล่าว่า "นี่เป็นครั้งแรกที่เจอในชีวิตที่เพื่อนเราพร้อมที่จะทำร้ายคนโรฮิงญาได้โดยไม่เคยเจอหน้าพวกเขามาก่อน" สำหรับเขาเรื่องชาตินิยมอาจไม่ได้เป็นปัญหาเท่าทัศนคติที่เราพร้อมผลักคนที่ไม่ใช่แบบเดียวกับเราออกไป รวมถึงตอบคำถามที่มาว่าทำไมจะต้องตั้งชื่อหนังว่ากระเบนราหู

0000

พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

 

คุณเริ่มสนใจประเด็นผู้อพยพลี้ภัยตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมถึงต้องเป็นประเด็นนี้

 

โปรเจคนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2009 (พ.ศ. 2552) เราอยากทำหนังยาวเรื่องหนึ่ง ซึ่งรู้ว่ามันต้องใช้ระยะเวลาแน่นอน ก่อนหน้านั้นเราทำวิดีโอทดลองชุดหนึ่งในโปรเจค ที่จัดแสดงในมิวเซียมที่ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ กรุงเทพฯ แล้วในวิดีโอชุดนั้นจะเป็นคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของศิลปิน ผลงานของศิลปินน่าจะเกิดจากเจตนาที่ดี แต่ถ้ามีลอกเลียนแบบผลงานนั้น ศิลปินจะรู้สึกไม่พอใจ และบอกว่าผลงานนั้นเป็นสมบัติทางปัญญาของศิลปิน เราเลยตั้งคำถามเพื่ออยากจะเรียนรู้จากมัน ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดี ทำไมความดีถึงโดนก็อปปี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ถ้าความดีโดนก็อปปี้มันก็ต้องดีสิ

หลังจากที่ตัดสินใจจะทำหนังยาวเรื่องแรก ซึ่งยังตั้งใจให้เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ เราเลยอยากหาซับเจคที่เป็นมนุษย์มากกว่าเรื่องศิลปิน ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพเลย รู้แค่ว่าหนังเราจะถ่ายตรงชายแดน เพราะมันเป็น Landscape (ภาพรวมของพื้นที่) ที่มีการแบ่งที่ชัดเจน เราเลือกจะไปสำรวจ ชายแดนที่มีธรรมชาติกั้นขวาง เช่น แม่น้ำสาละวิน เมย ซึ่งกั้นไทย-พม่า หรืออันดามัน ซึ่งก็กั้นไทย-พม่าเหมือนกัน

พอหลังจากรู้ว่าหนังจะเริ่มถ่ายตรงนั้นแน่ๆ ก็เริ่มหาเรื่อง พอดีมีเพื่อนที่เป็นนักวิจัยอยู่แถวชายแดน เขาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหลายๆ กลุ่ม แล้วปี 2009 เรารู้เรื่องโศกนาฏกรรมอันหนึ่งซึ่งรู้สึกรุนแรงมาก เราไม่เคยเจอแบบนี้ คนไทยไม่ยอมให้เรือผู้อพยพโรฮิงญาเข้าฝั่ง แล้วผลักเรือออกไปทิ้งกลางทะเล จนสุดท้ายมีคนตาย 5 คน และอีก 300 คนหายสาบสูญ เราก็อินมากและพยายามจะทำหนังให้เป็นแบบนั้น

จนมีครั้งหนึ่งที่เริ่มรู้สึกไม่ใช่แล้ว เรากำลังหา identity เราไม่ได้จะกลายเป็นผู้อพยพ เราเลยถอยออกมา เราอยากจะยืนอยู่ตรงกลาง แล้วจะมองปัญหาทั้งสองฝั่งให้ได้ ซึ่งหนังของเราเป็นแบบนั้น ไม่ได้เน้นไปที่ชีวิตของผู้อพยพ เป็นแค่คนนอกที่มองเขา และตั้งคำถามกลับว่าเรามองเขายังไง

เรื่องโรฮิงญาที่เด่นชัดสำหรับเราคือมันหลายทัศนคติมาก ไทยมีผู้อพยพจากหลายที่มา เช่น ผู้อพยพจากซีเรีย ซึ่งคนไทยจะรู้สึกเห็นใจมาก ช่วงปี 2015 รูปที่ดังมากๆ คือรูปของอลัน เคอดี้ (alan kurdi) ซึ่งเป็นเด็กผู้อพยพชาวซีเรียที่จมน้ำ (เสียชีวิตพร้อมกับมารดาและพี่ชายในระหว่างการเดินทางซึ่งศพปรากฎบริเวณชายหาดของประเทศตุรกี) เราดูในบีบีซีไทย เห็นคอมเมนต์คนไทยส่วนใหญ่จะเห็นใจ ด้วยลักษณะรูปร่างที่ดูเป็นคนตะวันตก ด้วยความน่าสงสาร คนไทยก็สงสาร แต่กลับกันในช่วงเวลาเดียวกัน มีข่าวว่าพบศพโรฮิงญาหลายสิบศพที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในบีบีซีไทยเหมือนกัน แต่คนไทยด่าโรฮิงญา เราก็สงสัยทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น

โปรเจคมันถูกพัฒนามาจากการจะทำหนังที่เกี่ยวกับฝั่งผู้ลี้ภัย แต่พอปัญหาปี 2015 เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ควรทำปัญหาของเขาแล้ว ปัญหามันเกิดกับเรานี่แหละ มันคือทัศนคติที่เรามองเขา  ปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม

ตอนแรกเรามีทัศนคติลบต่อความเป็นชาตินิยมมาก แต่หลังจากทำหนังเรื่องนี้ เรียนรู้จากมันไป เรารู้สึกว่าความเป็นชาตินิยมมันไม่น่ากลัวหรอก ตอนนี้มันคือโลกาภิวัตน์ โลกพยายามจะรวมกัน แน่นอนทุกคนต้องพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองให้เด่นชัด ไม่งั้นจะโดนกลืนไปกับโลกาภิวัฒน์มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเราเข้าใจกับตรงนั้นแล้วมันไม่ใช่ปัญหาการเป็นชาตินิยมเลย แต่ปัญหาคือเราไปผลักคนที่ไม่ใช่แบบเดียวกับเราออกไป

ถ้าหนังเรื่องนี้สามารถทำให้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ ว่าเรากำลังพยายามสร้างภาพคนอื่นในด้านลบ เพื่อให้อัตลักษณ์ของเราเข้มข้นขึ้น ซึ่งอันนี้มันประหลาดแล้ว ถ้าหนังทำให้คนเริ่มมองคนอื่นและอยู่ร่วมกันได้ มันน่าจะเป็นอุดมคติ

เราชอบโควทของไอ้เหว่ยเหว่ยอันหนึ่งมาก ตอนที่เขาทำหนัง Human Flow เขาบอกว่า โลกนี้กำลังหดตัว เราต้องเรียนรู้ว่าเราจะอยู่ด้วยกันยังไง เราคิดว่าอันนี้แม่งโคตรสั้นเลย แล้วก็ชัดเจนดี เราก็อยากได้ Message (สาร) แบบนั้นเหมือนกัน แต่แค่เราทำคนละวิธีการ

ในหนัง เราจะตัดข้อมูลส่วนใหญ่ออก เพราะเรารู้สึกว่าจริงๆ ประวัติศาสตร์มันก็เป็นตัวหนังสือ เราไม่รู้เหมือนกันว่าจะเชื่อข้อมูลไหน แต่ข้อมูลหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันเกิดกับเราโดยตรงคือคนรอบตัวของเราเองมองปัญหานี้อย่างมีอคติมากๆ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เจอในชีวิตที่เพื่อนเราพร้อมที่จะทำร้ายคนโรฮิงญาได้โดยไม่เคยเจอหน้าพวกเขามาก่อน

 

ภาพจากหนัง 'กระเบนราหู'

 

พอทำหนังเกี่ยวกับโรฮิงญาแบบนี้แล้วกังวลว่าจะมีเพื่อนไม่เห็นด้วยไหม

 

วันแรกที่ทำหนังเรื่องนี้แล้วได้ฉายที่เวนิสก็มีเพื่อนถามมาว่า มึงจะไปทำหนังให้โรฮิงญาทำไมวะ เราก็บอกว่า เดี๋ยวมาฉายเมืองไทยแล้วลองมาดูก่อนแล้วกัน จะได้รู้ว่าทำไมถึงทำให้โรฮิงญา คือเราก็ไม่รู้จะตอบอะไร ตัวเราไม่ได้เป็นคนทำงานด้านสิทธิ เราอาจจะไม่ถนัดดีเบตกันในวง แต่การทำภาพยนตร์ของเรานี่แหละอาจจะบอกอะไรได้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็อาจจะเคืองกันบ้างแหละ

แล้วที่บอกว่าไม่รู้จะเชื่อข้อมูลไหน สุดท้ายเชื่อข้อมูลอะไร

 

เราเชื่อในความรู้สึกเกี่ยวกับคนโรฮิงญาที่คนรอบตัวส่งมาให้เรามากกว่า แต่นอกนั้นเราไม่รู้จะเชื่อข้อมูลไหน ตอนเราสัมภาษณ์เราเจอคนโรฮิงญาเกือบ 30 คน เราไม่ได้บอกว่าเราไม่เชื่อเขา แต่เราก็ไม่อาจเอาความเชื่อไปจับเขาได้มากขนาดนั้น แต่รับฟังเขาทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็ผ่านโศกนาฏกรรมอย่างที่รู้ คือโดนทหารเผาบ้าน โดนข่มขืน ต้องหนีข้ามฝั่ง โดนค้ามนุษย์ ต้องเอาเงินมาไถ่ตัวประกัน

สิ่งที่คุณสนใจคือเรื่องอัตลักษณ์ ผู้ลี้ภัย และชายแดน อยากให้ลองอธิบายความเชื่อมโยงของทั้งสามอย่างที่คุณพบในการทำหนังของคุณหน่อย

 

เรื่องนี้มันใหญ่มาก ตอนทำสำรวจวิจัยเราก็รู้ตัวว่าเราไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่องขนาดนั้น เราแค่โฟกัสในส่วนที่มันจะกลายเป็นหนัง มีอันหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังตั้งแต่ตอนแรก ระหว่างที่ไปสำรวจที่แม่น้ำเมยคือระหว่างแม่สอดกับพม่า เราพยายามไปตรงที่ไม่มีคนเพื่อถ่าย Landscape (ภาพรวมของพื้นที่) จังหวะที่ไม่มีคน เราเอากล้องลงไปถ่าย ถ่ายๆไป เราเจอเด็กคนหนึ่งโผล่มาจากฝั่งพม่า เดินข้ามแม่น้ำมาเพราะตอนนั้นแม่น้ำตื้น แล้วก็มีเด็กจากฝั่งไทยสองคนเดินข้ามแม่น้ำไป แล้วก็ไปเล่นกันตรงกลางแม่น้ำ เราก็คิดว่าขนาดว่าเราลงไปถ่ายรูปในน้ำ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันท้าทายความเป็นเขตแดน แต่สุดท้ายมันมีเด็กที่อยู่ตรงนั้น ที่ไม่ได้สนใจความเป็นชายแดนเลย ลงไปเล่นน้ำกัน แล้วเราก็แยกไม่ได้ด้วยว่าเด็กสามคนนั้นคือใคร ชาติอะไร

พม่าประกาศอิสรภาพปี 1948 พม่าเพิ่งเกิดเพิ่งรวมรัฐ หลังจากที่กฎหมายสัญชาติออกมา โรฮิงญาไม่ได้ถูกนับรวมไปด้วย  ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ แต่ปี 1962 ปฏิวัติทหาร หลังจากนั้นทุกอย่างเปลี่ยน พอปี 1982 พม่าก็ไม่นับโรฮิงญาอยู่ใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย พวกเขาเลยต้องหนีออกมา เพราะเขาไม่ได้สิทธิพื้นฐานในการใช้ชีวิต อันนี้สำหรับเราก็เป็นปัญหาอัตลักษณ์

 

 

ที่เขียนใน Director's Statement (แถลงการณ์ของผู้กำกับ) ว่าอยากให้หนังสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คนดูเข้าใจถึงประเด็นผู้อพยพมากขึ้นไหม

 

ฟังก์ชันของหนังเราคืออยากพาคนดูไปถึงชายแดน แล้วรู้ปัญหาแต่เพียงข้างหน้า ไม่ได้ขนาดกระโดดเข้าไปหาซับเจคนั้นแล้วเอากลับมาให้เขาดู เราเชื่อว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งเลียนแบบ สิ่งจำลอง เราไม่สามารถให้คนตระหนักได้จริงๆ แต่เราสามารถนำคนไปอยู่ตรงหน้าปัญหาได้ โดยที่บางคนอาจจะกระโดดเข้าไปหาปัญหา หรือถึงเราพยายามนำปัญหาออกมา เราก็ไม่เชื่อว่าทุกคนจะเข้าไปได้ มันเหมือนมีบางอย่างกั้นความรับรู้ของคนดูอยู่ แต่อย่างน้อยก็นำพาคนให้รู้จักกับปัญหานี้ แต่ตอนนี้เห็นบีบีซีไทยลงข่าวหนังเรื่องนี้ก็มีคนมาด่าแล้ว (หัวเราะ)

แค่คำว่าโรฮิงญาก็มีคนด่าแล้ว

 

เราไม่เข้าใจเลย แต่ก็ไม่กล้าไปโต้ตอบกับเขาหรอกนะ แต่ก็มีคอมเมนต์ที่ทางลบมากๆ เช่น ไม่รู้จักคุมกำเนิด ทำไมแพร่พันธุ์เยอะจัง แต่ข้อเท็จจริงคือโรฮิงญามีคนอยู่ล้านกว่าคน เมื่อเทียบกับประชากรโลกคือน้อยมาก หรือคิดว่ามีคนเยอะจนล้นพื้นที่ อยู่ไม่ได้ ต้องอพยพ ทั้งที่จริงๆ คือเขาหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มา หรือเรื่องไม่ทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วเพราะเขาไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะไม่มีอาชีพถูกกฎหมายอะไรมารองรับเขา เป็นสิ่งที่เจอทั้งในคอมเมนต์ และคนที่เรารู้จักด้วยก็พูดแบบนี้กับเรา เราอยากจะโต้แย้งแต่เราก็คิดว่าเราทำหนังดีกว่า

เราว่าอย่างแรกคือรูปลักษณ์และศาสนา ตอนนี้คนเมือง ขอเรียกว่าคนเมืองเพราะไม่รู้ว่าคนภาคอื่นเขาจะเกลียดโรฮิงญารึเปล่า แต่ถ้าเป็นคนเมือง คนเมืองกลัวปัตตานีทั้งที่ไม่เคยไป รู้แค่ว่าปัตตานีมีผู้ก่อการร้ายมุสลิม เป็นปัญหาทางศาสนา แล้วคราวนี้ยิ่งเป็นผู้อพยพมุสลิมจากพม่าบวกเข้าไปอีก บวกกับอองซาน ซูจีไม่เอาอีก ทำไมถึงไม่เอา จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการเมือง การเมืองสร้างภาพพวกนี้ขึ้นมาทั้งหมดเลย ทำให้คนรู้สึกเกลียดมนุษย์ด้วยกันเอง

เรารู้จักโรฮิงญาครั้งแรก 2009 ด้วยความที่ตามเรื่องนี้ตลอด ตั้งแต่ 2009-2015 ยังไม่ค่อยมีคนไทยที่ต่อว่าเรื่องนี้ นอกจากคนเฉพาะกลุ่ม เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหา คืออยู่ในพื้นที่ที่โรฮิงญาหนีออกมา แล้วเขาไม่สบายใจ อันนี้พอเข้าใจได้ เพราะคนในพื้นที่เขาเจอมากับตัว

เราไม่ได้ทำหนังแล้วยกย่องว่าโรฮิงญาเป็นชาติพันธุ์ที่ดี แต่พูดว่าถ้าเขาจะเกลียดบุคคล เขาเกลียดได้ ถ้าคนมันจะไม่รักกันมันทำได้ มันเป็นปกติของมนุษย์ แต่วันหนึ่งถ้าเราไม่เคยรู้จักคนนี้ซึ่งมีเชื้อสายโรฮิงญา แต่เราไปเหมาเขาว่าเขาไม่ดี  แบบนี้มันคือการเหมาโรฮิงญาทั้งหมดว่าไม่ดี ซึ่งมันเป็นปัญหาสำหรับเรา

ตั้งใจให้คนไทยได้ดูหนังเรื่องนี้ไหม

 

จริงๆ ปัญหานี้มันกระจายไปทั่วโลก หนังพูดแค่ว่ามีคนๆหนึ่งช่วยคนแปลกหน้าคนหนึ่งมาอยู่ในครอบครัว แล้ววันหนึ่งคนที่ช่วยหายตัวไป คนแปลกหน้าก็เข้ามาแทนที่เจ้าของบ้านที่หายไป อย่างอลัน เคอร์ดี ฝั่งยุโรปเองก็วิจารณ์ว่าภาพเขาถูกสร้างมาเพื่อรับใช้มาช่วยผู้อพยพ คนประเทศอื่นบางคนก็ชาตินิยม ไม่อยากให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศเขาเหมือนกัน ไม่ต่างจากเราเลย

 

ภาพจากหนัง 'กระเบนราหู'

 

พอฟังเรื่องย่อแล้วเหมือนทำให้ความกลัวของคนไทยที่ว่าคนโรฮิงญาจะมายึดบ้านเป็นเรื่องจริง

 

ในหนังจะมีดีเทลที่บอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะมายึดบ้าน เขาเป็นคนบาดเจ็บมาแล้วเราก็ช่วยเขา เพียงแต่พอเราไม่อยู่ เขาเลยมาใช้ชีวิตอยู่แทนเรา

ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยโรฮิงญา เราพยายามผลักเขาออกเพราะเรารู้สึกว่าประเทศเราจน ไม่มีเงินซับพอร์ตเขา เป็นปัญหาก้ำกึ่ง สุดท้ายแล้วมนุษย์เรามันต้องเอาความคิดระดับมหภาคแบบนี้เพื่อมาเกลียดคนอีกคนหนึ่งเหรอ ส่วนตัวเราโอเคที่พวกเขาจะมาอยู่ แล้วก็หาทางช่วยกันไป ไม่ใช่เกลียดแล้วพูดว่าจะทำร้ายกัน

มีคนโรฮิงญาได้ดูหนังเรื่องนี้ยัง

 

ประเด็นคือคนโรฮิงญามักจะไม่เปิดเผยตัวว่าเป็นคนโรฮิงญา มีครั้งหนึ่งจะไปสัมภาษณ์คนโรฮิงญา เรารู้จักกับผู้นำเขาบอกว่าเดี๋ยววันนี้จะนัดคนโรฮิงญามาเยอะๆ เลย เพราะเขาจะมาร่วมพิธีทางศาสนา เขามากันเกือบ 20 คน พอเราหยิบกล้องขึ้นมา ทุกคนกลับบ้านกันหมดเลย เพราะเราบอกจะอัดแค่เสียง พอหยิบกล้อง เขาเลยไม่ยอม

ตอนนี้ชีวิตเขาก็ไม่ได้สบายนะ บางคนเป็นคนที่ทำงานตัดกระดาษให้ร้านขายโรตีอีกที แต่เขาคิดว่าอันนั้นเขาสบายแล้ว เขาไม่ได้มีบัตรด้วย คือผิดกฎหมาย แต่เขายังคิดว่าเขาสบายอยู่ คือยังไม่โดนเจ้าหน้าที่จับ แต่ถ้าจะให้เขามาแสดงตัว เขาไม่มีทางทำแน่นอน เขาไม่มีทางจะเสี่ยงชีวิตอะไรอีกแล้ว แค่นี้สำหรับเขาคือสบายแล้ว

แล้วสุดท้ายได้สัมภาษณ์คนโรฮิงญายังไง

 

สุดท้ายได้เจอคนคนโรฮิงญาที่กล้ามาเจอเรา ที่เราอยากหาเพราะเราอยากจะสัมภาษณ์และบันทึกเสียง เพราะเราจะเอาเสียงเขามาอยู่ในหนังเรา ซึ่งหนังเรื่องนี้จะมีเสียงโรฮิงญาอยู่ท้ายเรื่องเต็มไปหมดเลย แต่เสียงเป็นแค่เสียง อือ ไม่มีความหมายอะไร แต่ประสานกันเป็นเพลงตอนจบ

ทำไมต้องเป็นกระเบนราหู

 

โปรเจคนี้ชื่อ 'Departure Day วันที่ออกเดินทาง' มาตลอดเลย แต่ตอนที่จะถ่าย อยู่ดีๆ คิดถึงเรื่องหนึ่ง คือเราชอบดำน้ำ แล้วเราจำความรู้สึกครั้งแรกที่เจอกระเบนราหูตัวยาว 4 เมตรว่ายเข้ามาใกล้ แล้วก็บินข้ามหัวไปได้ ตอนนั้นเรากลัว ถึงมันจะไม่มีอันตราย แต่ตอนนั้นเราไม่เคยรู้จักมันมาก่อน หลังจากนั้นเราก็เรียนรู้ว่า อ๋อ กระเบนราหูมันเป็นแบบนี้นี่เอง แต่หลังจากนั้นไปดำน้ำไม่เคยเจออีกเลย

ชอบความเป็นกระเบนของมันที่อยู่ในอันดามัน แล้วมันว่ายไปทุกที่แบบไม่มีขอบเขต มันเป็นสัตว์ที่กินแพลงตอน ไม่เคยหยุดว่าย จะว่ายไปเรื่อยๆก็เลยคิดว่ามันก็เหมาะกับหนังเราเหมือนกัน ตัวดำ น่ากลัว ว่ายน้ำไปเรื่อยๆ กินอาหารไปเรื่อยๆ ไม่มีบ้าน

วางแผนจะฉายในไทยเมื่อไหร่

 

ที่วางแผนน่าจะหลัง มีนาปีหน้า อาจจะมีการจำกัดโรง ขอทุนจัดฉาย เพราะแค่นี้ก็ลงทุนไปเยอะแล้ว ไม่ได้กลับมาเลย (หัวเราะ)

 

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น