โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ศาลกัมพูชาให้ประกันตัวผู้นำฝ่ายค้าน ‘กึม สุขขา’ แต่ต้องถูกกักบริเวณ

Posted: 10 Sep 2018 06:57 AM PDT

ผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาได้รับการประกันตัวหลังถูกคุมขัง-ดำเนินคดีในข้อหาทรยศชาติมาตั้งแต่ปีก่อน แต่ศาลยังตั้งเงื่อนไขให้กักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก ด้านลูกสาวชี้ กึม สุขขามีปัญหาสุขภาพ น้ำตาลในเลือดสูงแถมต้องรับการผ่าตัด สื่อต่างประเทศมองเป็นความพยายามของฮุนเซ็นในการลดแรงกดดันจากต่างชาติ

กึม สุขขา ถ่ายรูปที่บ้านพักหลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อคืนวันที่ 9 ก.ย. 2561 (ที่มา: พนมเปญโพสต์)

วันที่ 10 กันยายน 2561 มีรายงานของพนมเปญโพสต์ระบุว่า กึม สุขขา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา วัย 65 ปี ได้รับการประกันตัวหลังถูกคุมขังในข้อหา "ทรยศชาติ" มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เขาถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิด สุขขาอาจะถูกโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี

"เขาได้รับการประกันตัวแล้ว แต่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของศาล" เพย สีพัน โฆษกรัฐบาลกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์

กึม มโนวิทยา ลูกสาวของสุขขายืนยันว่าพ่อของเธอได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ยังถูกควบคุมตัวให้อยู่ภายในที่พักเท่านั้น โดยปัญหาด้านสุขภาพเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กึม สุขขาได้รับการปล่อยตัวซึ่งเธอระบุว่า "เขามีน้ำตาลในเลือดสูง และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดที่ไหล่ข้างซ้าย"

ทั้งนี้ในรายงานของพนมเปญโพสต์ระบุว่า คาย ฤทธี ผู้พิพากษาที่ทำการสืบสวนคดีของกึม สุขขา มีคำสั่งมายังเรือนจำอนุมัติการประกันตัวเขา แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ภายในบ้านพักเท่านั้น

โดยหลังการปล่อยตัว ได้มีผู้สนับสนุนและสื่อมวลชนหลายร้อยคนไปรวมตัวกันที่บ้านของกึม สุขขาในกรุงพนมเปญ แต่ทนายของเขาได้ออกมาเปิดเผยว่า กึม สุขขายังไม่สามารถพบกับพวกเขาได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้

"ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เราอยากให้ผู้สนับสนุนทุกคนโปรดเข้าใจว่าเขา (กึม สุขขา) ยังไม่สามารถพบพวกคุณได้" ชันเชน ทนายของสุขขากล่าวกับสื่อมวลชนที่มารอพบ

กึม สุขขาเป็นอดีตผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party หรือ CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุดของกัมพูชา ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 พรรค CNRP สามารถได้ที่นั่งในสภามากถึง 55 ที่ ซึ่งเพิ่มขึ้น 26 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ในขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซ็น ได้ไป 68 ที่นั่ง ซึ่งลดลง 22 ที่นั่ง พรรค CNRP จึงถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่เข้ามายุติระบอบฮุนเซ็นที่ปกครองกัมพูชามานานกว่า 30 ปี

กึม สุขขาเมื่อครั้งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 (ที่มา: พนมเปญโพสต์)

อย่างไรก็ตาม กึม สุขขาถูกจับกุม ณ บ้านพักของเขาในช่วงกลางดึกของวันที่ 3 กันยายน 2560 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ศาลสูงสุดกัมพูชามีคำสั่งยุบพรรค CNRP และตัดสิทธิทางการเมืองของสมาชิกพรรคจำนวน 118 คนเป็นเวลา 5 ปี ทำให้พรรคของฮุนเซ็นปราศจากคู่แข่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา และกวาดที่นั่งในสภาไปทั้งหมด 125 ที่นั่ง

หลังการเลือกตั้ง องค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาลชาติตะวันตกหลายประเทศได้ออกมาประนามการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นว่าไม่มีความชอบธรรมเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของพรรคฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือ ตัวแทนของสหภาพยุโรปเคยออกมากล่าวว่ากำลังจะพิจารณามาตรกาคว่ำบาตรทางการค้าต่อประเทศกัมพูชา ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชามีท่าทีที่เป็นมิตรต่อฝ่ายต่อต้านมากขึ้น โดยรอยเตอร์ระบุว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมามีการปล่อยตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 14 คน ซึ่งอาจเป็นความพยายามของฮุนเซ็นในการลดแรงกดดันจากนานาชาติ

หลังการปล่อยตัวกึม สุขขา สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights หรือ APHR) ได้ออกแถลงการณ์ว่าการปล่อยตัวดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะ "สร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่ไม่ชอบธรรม" ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมานั่นเอง

"การปล่อยตัวเกิดขึ้นหลังจากที่นายกฮุนเซ็นได้ควบคุมประเทศและเสียงในสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วผ่านการเลือกตั้งจอมปลอม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังจะสร้างความชอบธรรมให้ความไม่ชอบธรรม" ชาลส์ ซานติอาโก้ ประธาน APHR ระบุในแถลงการณ์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'หญิงชายก้าวไกล-สสส.-พม.' เดินหน้าชุมชนไร้รุนแรงต่อเด็ก สตรี ครอบครัว หลังสถิติพุ่งเกือบ 3 พันราย

Posted: 10 Sep 2018 06:54 AM PDT

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ สสส.พม.เดินหน้าสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ครอบครัว นำร่อง 10 ชุมชน หลังสถานการณ์ผู้ถูกกระทำความรุนแรงสูงลิ่วเกือบ 3 พันรายผลสำรวจชุมชนพบ ร้อยละ 58 ไม่รู้จัก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว

10 ก.ย. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ ในเวทีเสวนา "พื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว" จัดโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2559 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 55 ราย และปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นวันละ58ราย และจากรายงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.พบว่า ปี 2560 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง2,870 ราย เป็นความรุนแรงในครอบครัว 1,850 ราย หรือร้อยละ 64.46 และความรุนแรงนอกครอบครัว 1,020 ราย หรือร้อยละ35.4ซึ่งผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก สาเหตุที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรง คือ การมีความคิดว่า ตนเองเหนือกว่า ใช้อำนาจกับผู้ที่ด้อยหรืออ่อนแอกว่าได้ ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรุนแรง ได้แก่ จากสัมพันธภาพที่ไม่ดีในครอบครัว สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย การใช้สารเสพติด มีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต หรือครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การว่างงาน ความยากจน ทำให้เกิดความเครียด 

"ที่ผ่านมากรมกิจการสตรีฯ มีโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรี และในครอบครัว มี6ชุมชนนำร่อง 6 เขต คือ 1.ชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย 2.ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ 3.ชุมชนริมคลองบางซื่อรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง 4.ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร 5.ชุมชนหลังโรงกรองน้ำภาษีเจริญ เขตบางกอกใหญ่และ 6.ชุมชนหน้าวัดโคนอน เขตภาษีเจริญ และในพื้นที่ต่างจังหวัดสนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) จัดกิจกรรมส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว รวมทั้งเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งยังส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบ ให้ชุมชนมีกลไกเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือ ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในเบื้องต้น รวมทั้งผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในครอบครัว และพื้นที่สาธารณะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" เลิศปัญญา กล่าว

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จัดทำโครงการพัฒนาและเสริมศักยภาพระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวโดยชุมชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว สู่ปีที่ 4เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่คุ้มครองทางสังคมหรือ พื้นที่ปลอดภัยทางสังคม เน้นฐานการทำงานคือ มองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนรวมของทุกคน เกิดศูนย์ประสานและแกนนำชุมชนคอยช่วยเหลือเด็ก สตรีและครอบครัว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ ขยายชุมชนเครือข่ายใกล้เคียงและทีมสหวิชาชีพให้ปฏิบัติงานได้จริง ต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินงานในโครงการฯ ของแกนนำชุมชนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ4พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ชุมชนบ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ชุมชนซอยพระเจน เขตปทุมวัน กทม. ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม.

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวต่อว่า มูลนิธิฯ อยากเห็นทุกชุมชนมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สตรีและครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้วิถีชีวิตของคนในครอบครัวและชุมชนปลอดภัย โดยเฉพาะประเด็นการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และจากการทำงานในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า เกิดการช่วยเหลือผู้มีปัญหาความรุนแรง หรือมีการส่งต่อหน่วยงานสหวิชาชีพ รวมถึงขยายเครือข่ายพื้นที่ปฏิบัติการหรือชุมชนให้กว้างมากขึ้น ทั้งเชื่อมกลไกการระดับพื้นที่ มีการปฏิบัติจริงทั้งชุมชนนำร่อง เครือข่ายชุมชนขยาย และภาคีเครือข่ายสหวิชาชีพ ซึ่งมีการเฝ้าระวัง สอดส่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยการพัฒนากลไกในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข(อสส.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และการขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมระหว่างเครือข่ายชุมชนนำร่อง ชุมชนขยายและทีมสหวิชาชีพในพื้นที่เกิดเป็นคณะทำงานปฏิบัติงานได้จริง เช่น พื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญเกิดการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการป้องกันการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว(โนนหนามแท่งโมเดล)

อำนาจ แป้นประเสริฐ แกนนำเครือข่ายชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 61 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 20-60ปี จำนวน2,762 ราย ใน 40ชุมชน เขตบางกอกน้อย พบว่า ผู้หญิงร้อยละ79.4 มีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว เช่น การตบตี ชกต่อย เตะ กัด บีบคอ กระชาก แต่ที่น่าห่วงคือผู้หญิงร้อยละ 41.5ยังมองปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ไม่ควรบอกใคร ส่งผลให้เมื่อประสบเหตุไม่มีใครกล้าช่วยเหลือ ส่วนผู้ประสบเหตุไม่กล้าบอกใครเพราะอาย ขณะที่เหตุการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือ ร้อยละ 80ใช้คำพูดหยาบคาย ดุด่า ร้อยละ 77.8 ติดเหล้า พนัน ยาเสพติด อันดับสาม ร้อยละ 77.5 สามีเจ้าชู้ คบหลายคน นอกใจ และไม่รับผิดชอบครอบครัว ทำลายข้าวของในบ้าน ที่น่าห่วงคือ ร้อยละ 70.7 ถูกทุบตี กระชากแขน ดึงผม ตบหน้า นอกจากนี้ยังทำให้เสียชื่อเสียง เช่น ประจาน ทำให้อับอาย หรือกักขัง ไม่ให้ออกไปไหน 

"สาเหตุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่อดทนต่อความรุนแรง มาจาก ทนเพราะมีลูก ทนเพราะรัก ทนเพราะอับอาย ซึ่งเป็นระบบวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องอดทน และมองว่าปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กล้าให้คนภายนอกรับรู้ สำหรับวิธีแก้ปัญหา เมื่อเกิดความรุนแรง คือ เลือกปรึกษาเพื่อน ปรึกษาคนในครอบครัว ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ27.7ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าในเขตบางกอกน้อยมีหน่วยงานชุมชนให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ และเกินครึ่ง ร้อยละ58 ไม่ทราบว่ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550 ที่น่าห่วงมากคือ หากเก็บเงียบ เก็บอารมณ์ จะนำไปสู่การโต้กลับที่รุนแรงและปัญหาการฆ่าตัวตาย ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงาน จึงเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้ประสบปัญหา ภาครัฐต้องอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิ จัดกิจกรรมเน้นสร้างความสามัคคีในชุมชน มีเจ้าหน้าที่ เช่น นักจิตวิทยา ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา" อำนาจ กล่าว 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อนาคตใหม่ชี้ SOTUS เป็นแนวคิดเผด็จการ ขณะที่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ชี้ปัญหาคือการนำมาใช้

Posted: 10 Sep 2018 06:53 AM PDT

วิดีโอจากเวทีอภิปรายสาธารณะ "โซตัสกับการพัฒนาสังคมไทย สร้างชาติหรือถ่วงความเจริญ?" โดยตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ จากหลากหลายพรรคการเมือง ประกอบด้วย   นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ หรือหมอเอ้ก ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ และ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ดำเนินรายการโดย ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย อดีตประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ผู้ผลักดันปฏิรูปการรับน้อง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมใหญ่ประจำปี 2561 เครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ANTI SOTUS) วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยตอนหนึ่งผู้ร่วมฟังการเสวนาได้ตั้งคำถามว่า ตัวแทนพรรคการเมืองบางคนตั้งต้นด้วยความคิดว่า ระบบ SOTUS เป็นคุณค่าที่ดี แต่การประยุกต์ใช้ที่ผ่านมาอ้างจะเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเกินเลยไป จึงต้องการถามว่า เราจะทำอย่างไรที่จะการันตีว่าผลที่เกิดจากระบบ SOTUS จะไม่กลายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่น

สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ อดีต ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ระบบ SOTUS โดยหลักการแล้วเป็นสิ่งที่ดีแต่การประยุกต์ใช้จะดีหรือไม่ และจะสามารถการันตีได้อย่างไรนั้นเห็นว่า นักศึกษาควรมีการดำเนินการจัดการพูดคุยกันเองในคณะ ยังไม่ต้องไปคิดถึงขั้นของการออกกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่ และไม่จำเป็นที่จะต้องไปถึงขั้นนั้น แต่นักศึกษาสามารถจัดการกันเองได้ เพราะเป็นปัญญาชนแล้ว

"คุยกันในคณะ รุ่นพี่ กับรุ่นน้อง พูดถึงกันก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่บางเรื่องมันผิด มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วจะปรับเปลี่ยนการรับน้องอย่างไรเพื่อให้มีประโยชน์ขึ้น กิจกรรมมันต้องมีอยู่ ในมหา'ลัยมันต้องมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันให้สนุกสนาน คือจะไปยกเลิกเลย มาเรียนเสร็จกลับบ้านมันไม่ใช่ มหา'ลัยมันมีสิ่งให้เรียนรู้เยอะแยะ ผมเนี่ยเป็นเด็กต่างจังหวัด พอเข้ามหา'ลัยเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก เกรดปีหนึ่งนี่ร่วงระนาว" สาธิต กล่าว

สาธิต กล่าวต่อว่าการมีกิจกรรมรับน้อง หรือกิจกรรมอื่นๆ ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เขายกตัวอย่างว่าการจะทำกิจกรรมรับน้องขึ้นมาได้รุ่นพี่ก็จะต้องทำกิจกรรมระดมทุน ขายสมุด ขายเสื้อ เพื่อเก็บเงินมาทำกิจกรรม นัยหนึ่งมันเป็นการสอนเรื่องการหาทุนให้กับนักศึกษา แต่เรื่องใดที่เป็นการละเมิดสิทธิก็ต้องมีการพูดคุยกันภายในว่าจะวางกรอบของกิจกรรมอย่างไร

ด้าน นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ การรับน้อง หรือกิจกรรมในมหาวิทยาลัยสามารถทำให้ดีได้โดยยอมรับเงื่อนไขทั้ง 3 อย่างคือ 1.ผู้เข้าร่วมเข้าร่วมโดยความสมัครใจ 2.ต้องไม่มีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการทำร้ายร่างกาย ต้องไม่เกิดความสูญเสียไม่ว่าจะด้านร่างกาย หรือจิตใจก็ตาม และ 3.การไม่ตีตราคนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม

"รุ่นพี่บางมหาวิทยาลัย หรือคนที่ออกแบบกิจกรรมอย่างห้องเชียร์ ถ้าเกิดเจอว่ามีคนไม่เข้า คนที่เข้าต้องทำเพิ่มเข้าแทนคนที่ไม่อยู่ คนอยู่ก็ต้องมาคิดว่า ทำไมไอ้คนนั้นไม่มาว่ะ เห็นแก่ตัวฉิบหาย นี่คือการตีตราอย่างที่ผมบอก นักศึกษาต้องคิดใหม่ แม่งไอ้รุ่นพี่เนี่ยทำไมมันคิดอย่างนี้ว่ะ คนที่ไม่เข้ามันเป็นสิทธิของเขาที่ไม่อยากจะเข้า ทำไมคุณมาสั่งให้พวกผมทำเพิ่มได้อย่างไร คุณต้องสร้างวิธีคิดแบบนี้ให้เกิดขึ้น" นพ.คณวัฒน์ กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ระบบ SOTUS เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการเอาไปใช้ ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปเปลี่ยนคุณค่าของ SOTUS เพราะเป็นเรื่องที่แยกออกจากการรับน้อง สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นการละเมิดสิทธิคือการแอบอ้างเอา SOTUS มาใช้แล้วนำไปใช้ในทางที่ผิดเท่านั้น

ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ เห็นต่างออกไปโดยเธอชี้ให้เห็นว่า SOTUS ไม่คอนเซปที่ดี หรือเป็นคอนเซปที่เป็นกลาง แต่เป็นคอนเซปของระบอบเผด็จการ และตราบใดที่งาช้างไม่งอกออกจากปากสุนัข ประชาธิปไตยไม่งอกออกจากปลายกระบอกปืน ก็ไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยงอกออกมาจากระบบ SOTUS ได้ และระบบ SOTUS กับการรับน้องเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เราจะบอกว่ามันเป็นคอนเซปที่สร้างสรรค์ไม่ได้ เพียงแค่คำว่า รับน้อง มันก็แสดงให้เห็นว่ามีวัฒนธรรมของการแบ่งชั้น ความสูง ความต่ำอยู่

ด้านตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนพรคเพื่อไทย เห็นว่า การจะการันตีได้ว่าระบบ SOTUS จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยจะต้องออกประกาศว่าการรับน้องจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ส่วนการเรียนที่โรงเรียนมัธยมก็ควรจะมีการปลูกฝังเรื่องสิทธิ และประชาธิปไตย เพื่อที่จะทำให้เมื่อได้เป็นนักศึกษาจะรู้ว่าภายใต้กิจกรรมรับน้อง เขาสามารถที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรม หรือเดินออกไปได้

นอกจากนี้เขายังเห็นว่าระบบ SOTUS ที่มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นไม่ใช่เครื่องมือที่จะสร้างคนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการสอนให้คนทำตามคำสั่ง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ SOTUS ให้เป็นไปตามยุคสมัย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลไทยรับฟ้องชาวกัมพูชา กรณีกล่าวหา 'มิตรผล' แย่งที่ดิน ป่าชุมชนไปทำเป็นไร่อ้อย

Posted: 10 Sep 2018 04:13 AM PDT

ศาลไทยรับฟ้องโจทก์ชาวกัมพูชากว่า 700 คนที่กล่าวหาว่าบริษัทลูกของกลุ่มมิตรผล อุตสาหกรรมน้ำตาลสัญชาติไทยเข้ายึดที่ดินของพวกเขา ทนายตัวแทนโจทก์ระบุ ถือเป็นความก้าวหน้าของศาลที่รับคดีการละเมิดของทุนไทยในต่างแดน แต่ยังมีรายละเอียดทางกฎหมายที่อาจเป็นปัญหา

ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย

เมื่อ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลไทยได้รับฟ้องคดีความกรณีเกษตรกรชาวกัมพูชาราว 700 คนฟ้องร้องบริษัทน้ำตาลมิตรผล โดยกล่าวหาว่ามิตรผลได้แย่งเอาที่ดินของพวกเขาไปทำเป็นไร่อ้อย และทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา

เส้นทางของคดีความเริ่มต้นเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เมื่อชาวกัมพูชาได้มาแจ้งความที่ฝั่งไทยว่ามิตรผลได้บีบให้ครอบครัวในพื้นที่ชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาที่ จ.ออดดาร์ เมียนเจยต้องไร้ที่อยู่ในช่วงปี 2551-2552 เพื่อแปลงสภาพที่ดินเป็นไร่อ้อยขนาดใหญ่ที่จะส่งให้กับโรงงาน บริษัทลูกของมิตรผลรวมถึงบริษัทน้ำตาลอังกอร์ได้ใช้ที่ดินจำนวน 9,430 เฮคตาร์ (58,937.5 ไร่)ในจำนวนนั้นมีผืนป่าชุมชนที่ชาวบ้าน 26 หมู่บ้านบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งในท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทลูกของมิตรผลปิดตัวลง แต่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งประเทศไทย (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน และต่อมารายงานว่ามิตรผลมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และมีข้อเสนอแนะให้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค. 2560

"มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ร้องเรียนว่า บริษัท น. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย ได้รับสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ เพื่อดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลในพื้นที่อำเภอสำโรงและอำเภอจงกัลป์ จังหวัดโอดอร์เมียนเจย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา โดยการได้สัมปทานดังกล่าวได้มีการเข้าไปยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย ทำให้ชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคามและถูกจับกุม นำมาซึ่งการขาดความมั่นคงทางอาหารและเกิดภาวะยากจนอย่างรุนแรงต่อประชาชนกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบ"

(ประเด็นคำร้องที่ถูกระบุไว้ในเอกสารของ กสม.)

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา บีบีซีรายงานคำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่าโครงการลงทุนของมิตรผลในกัมพูชาเป็นการลงทุนโดยหนึ่งบริษัท ร่วมกับบริษัทอื่นอีกสองบริษัท และได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ การลงทุนในกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน โดยมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ

ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลได้แนะนำให้นำพื้นที่นั้นคืนให้แก่ชุมชน แต่ทนายของชาวบ้านบอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินคืนจากรัฐบาล

คดีความครั้งนี้ถือเป็นคดีหมุดหมาย (Landmark Case) เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการฟ้องร้องต่อศาลไทย โดยโจทก์ต่างชาติกรณีการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นโดยบริษัทไทยในต่างแดน โดยผู้พิพากษาได้ขอให้มีการประนีประนอมกัน แต่ถ้าการประนีประนอมไม่เป็นที่ยอมรับก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี

มิตรผลเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเนสต์เล โคคา-โคล่า (โค้ก) เป๊บซี่ และมาร์ส อุตสาหกรรมผลิตขนมหวาน ทั้งสี่บริษัทชื่อดังระดับโลกและมิตรผลต่างก็เป็นสมาชิกของบอนซูโคร องค์กรสากลที่รับประกันคุณภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาล โค้กและเป๊บซี่เคยประกาศนโยบายไม่อดทนต่อการเกิดการแย่งที่ดินในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม หลังมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เนสต์เลและมาร์สต่างแสดงความกังวลและคาดหวังว่าจะมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่โค้กยังคงไม่มีท่าทีอะไร แม้องค์กรพัฒนาถ้วนหน้านานาชาติ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนโจทก์ได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้โค้กใช้นโยบายที่กล่าวไว้ข้างต้นกับมิตรผลถึง 4 ฉบับ แต่ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ก็ยังไม่มีการตอบสนองต่อจดหมายแต่อย่างใด

ทางฝ่ายโจทก์เองก็ได้เรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ซื้อน้ำตาลจากมิตรผลให้ใช้แต้มต่อในฐานะผู้ซื้อเพื่อทำให้มิตรผลแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และภัยอันตรายต่างๆ ที่ได้ทำลงไป สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของหลักแนวทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และแนวทางของบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD

"สิบปีที่แล้ว มิตรผลทำลายบ้านของฉันและเอาพื้นที่ทำการเกษตรไป" หนึ่งในโจทก์ที่ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกล่าว "หลังจากถูกเมินเฉยมาหลายปี ในที่สุดฉันจะได้นั่งร่วมโต๊ะกับมิตรผลและทำให้เขาได้ยินข้อเรียกร้องของฉัน ฉันเรียกร้องให้เนสต์เล โคคา-โคล่า เป๊บซี่และมาร์สใช้อำนาจของเขาทำทุกอย่างให้มิตรผลมีการดำเนินการที่จริงจัง"

"มิตรผลทำกำไรจากน้ำตาของชุมชนและความทุกข์ทนของพวกเรา" ชาวบ้านอีกคนที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นกล่าวอย่างไม่ประสงค์ออกนาม "บริษัทจะต้องให้การชดเชยสำหรับคุณภาพชีวิตที่พวกเขาได้ทำลายลง"

ทนายความที่เป็นตัวแทนของโจทก์คือสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม และ ส.รัตนามณี พลกล้า ผู้ประสานงานจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

ส.รัตนามณี พลกล้า

ส. กล่าวกับประชาไทว่า กระบวนการปัจจุบันอยู่ในระหว่างการนัดเพื่อไต่สวนคำร้องขอเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม คือการให้ผู้ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันที่มีหลายคนสามารถนำคดีมาฟ้องเป็นกลุ่มได้ โดยให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลทำหน้าที่เสมือนตัวแทนเพื่อทำการฟ้องร้อง และหากศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม แล้วมีคำพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลการพิพากษานั้นจะมีผลครอบคลุมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ โดยที่คนอื่นไม่ต้องมาฟ้อง ทั้งนี้ หากศาลไม่รับเป็นคดีกลุ่ม คดีนี้จะเป็นคดีความปกติ ก็คือผู้เสียหายทั้งหลายก็ต้องฟ้องร้องเองแบบไม่ผ่านตัวแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนไต่สวนให้ศาลรับคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม นัดต่อไปคือศาลได้นัดพร้อมคู่ความมากำหนดวันนัดอีกครั้งใน 26 พ.ย.

ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ต้องมาฟ้องที่ศาลไทยเพราะว่าบริษัทลูกของมิตรผลในกัมพูชาได้ปิดตัวลงแล้ว และสาเหตุอีกประการก็คือโจทก์เชื่อมั่นว่าจะได้รับความยุติธรรมมากกว่าถ้าฟ้องที่ศาลไทย เธอยังมองว่าการที่ศาลรับคดีนี้สะท้อนถึงความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องรายละเอียดของกระบวนการทางกฎหมายที่ควรได้รับการพิจารณา

"ถ้าคดีนี้ได้รับการพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มันจะเป็นความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรมไทยที่มองเรือ่งการคุ้มครองสิทธิที่ไม่ได้ดูหรือคุ้มครองแค่คนของประเทศตัวเอง แต่มองว่าจะต้องควบคุมคนของประทเศตัวเองไม่ให้ไปคุกคามหรือละเมิดสิทธิในประเทศอื่น ที่ผ่านมาเขาควบคุมเฉพาะคนของเราที่ทำผิดกฎหมายในประเทศเรา แต่นี่เป็นความก้าวหน้าเพราะเราไม่พร้อมที่จะส่งเสริมให้คนของประเทศเราไปละเมิดสิทธิคนอื่น เราจึงใช้กฎหมายเราคุ้มครองเหยื่อที่อยู่ในประเทศอื่นถ้าเขาอยากได้รับความเป็นธรรมจากประเทศไทย"

"ปัญหาของบ้านเราก็คืออายุความในการฟ้องคดีละเมิด เรียกค่าเสียหายที่ฟ้องได้ไม่เกินหนึ่งปีหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่เรามองว่าถ้าเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อายุความก็ไม่ควรจำกัดแค่หนึ่งปี ปัญหาก็คือถ้ามีการลงทุนข้ามพรมแดน หรือการลงทุนในต่างประเทศในแต่ลประเทศก็จะมีกฎหมายไม่เหมือนกัน แล้วจะใช้กฎหมายไหนในการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด"

"ถ้ามองประเทศไทยที่กำลังอยู่ในการพัฒนา ส่งเสริมให้มีการออกไปลงทุนต่างประเทศ ไทยควรมีมาตรการคุ้มครอง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการไปลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการคิดเรื่องปัญหา อุปสรรคในการเข้าถึงการเยียวยา ในการกำหนดอายุความ การกำหนดเรื่องความเป็นนิติบุคคลของประเทศไทยที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคอยู่"

"ถ้ามองประเทศไทยที่กำลังอยู่ในการพัฒนา ส่งเสริมให้มีการออกไปลงทุนต่างประเทศ ไทยควรมีมาตรการคุ้มครอง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการไปลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการคิดเรื่องปัญหา อุปสรรคในการเข้าถึงการเยียวยา ในการกำหนดอายุความ การกำหนดเรื่องความเป็นนิติบุคคลของประเทศไทยที่ยังเป็นปัญหา อุปสรรคอยู่" ส. กล่าว

แปลและเรียบเรียงจาก

Thai Court Accepts Cambodian Land Grabbing Case, Orders Mediation , Inclusive Development International, Sep. 5, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สปสช. ยันไม่มีแนวคิดร่วมจ่ายหลังป่วย 'นิมิตร์' อัด ยุค คสช.แนวคิดนี้ไม่เคยจางหาย เหตุมองเป็นภาระ

Posted: 10 Sep 2018 12:46 AM PDT

หมอศักดิ์ชัย ระบุข้อเสนอ 'ร่วมจ่ายหลังป่วย. ไม่ใช่แนวคิด สปสช. และยังไม่เข้ากับปรัชญาหลักของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ด้านอดีตบอร์ด สปสช. เผย ยุค คสช.ร่วมจ่ายบัตรทองไม่เคยจางหาย มองเป็นภาระประเทศ พร้อมชี้เหตุ สปสช.ต้องดิ้นรนบริหารกองทุนบัตรทอง เพราะรัฐบาลทุกยุคจ่ายเป็นงบปลายปิด ขณะที่ต้องดูแลผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการ แนะทางออกงบประมาณให้เพียงพอ ประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีก่อนป่วย

ซ้าย : นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ขวา :  นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

9 ก.ย.2561 จากกรณีที่มีรายงานข่าว กระทรวงการคลังมีแนวคิดลดสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยให้ประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 1 แสนบาทต่อปี จะต้องร่วมจ่ายร้อยละ 10-20 ของค่ารักษาพยาบาล นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวคิดการร่วมจ่ายในระบบบัตรทองเคยมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการทั้งใน สปสช.และนอก สปสช.เป็นระยะ การที่ต้องให้ร่วมจ่ายมีทั้งเหตุผลจากงบประมาณไม่พอ การปรับพฤติกรรมสุขภาพประชาชน เหล่านี้ยังไม่ตกผลึกหรือมีข้อมูลประจักษ์ชัดเจน ซึ่ง สปสช.มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนมาตลอด เช่นรูปแบบการร่วมจ่ายก่อนป่วยหรือหลังป่วย เป็นต้น แต่ทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้  

อย่างไรก็ตามแนวคิดการร่วมจ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมจ่ายหลังป่วยไม่ใช่แนวคิด สปสช. ทั้งยังไม่เข้ากับปรัชญาหลักของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน โดยเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาตลอด

เมื่อพูดถึงความยั่งยืนของงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ปัจจุบันงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศไทยไม่ได้สูงหรือต่ำเกินไป อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของจีดีพี และร้อยละ 15 ของงบประมาณค่าใช้จ่ายประเทศ โดยรวมกองทุนสุขภาพภาครัฐทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ มีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก อย่างไรก็ตามหากถามว่าแล้วงบประมาณที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ เนื่องจากมักมีข่าวปรากฎต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการพิสูจน์โดยการปรับการบริหารจัดการและรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ทำให้สถานการณ์ภาพรวมต่างๆ ดีขึ้น

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอการร่วมจ่ายไม่เคยจางหายไปในรัฐบาลชุดนี้ มีการพูดมาตลอด ตั้งแต่ในช่วง 3 เดือนแรกที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพต้องขึ้นมาทักท้วงจนรัฐบาลออกมาชี้แจงว่าไม่มีเรื่องนี้ ขณะที่ในสภาปฎิรูปประเทศเอง หลายคนมีการคิดเรื่องนี้เช่นกัน มองว่าระบบบัตรทองที่เป็นสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนเป็นภาระ หากจะทำใหระบบยั่งยืนประชาชนต้องร่วมจ่าย

ในการบริหารระบบบัตรทอง วันนี้ที่อยู่ได้เพราะมีกลไกและกติกากำกับการใช้งบบัตรทองที่ชัดเจน สามารถบริหารงบประมาณให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพได้ เพราะเมื่อดูงบประมาณที่ได้รับ 1.4 แสนล้านบาท ในการดูแลประชาชน 49 ล้านคนถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่ใช้เงินงบประมาณสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ในการดูแลข้าราชการ 4 ล้านคน ดังนั้นการที่บอกว่าบัตรทองเป็นภาระงบประมาณคงต้องคิดใหม่ นอกจากนี้ยังต้องมองเรื่องนี้เป็นการลงทุน เพราะมีส่วนแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่ต้องรับแบกรับภาระค่ารักษา ทั้งโรคเรื้อรังและโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งในอดีตมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องขายเครื่องมือทำกินเพื่อจ่ายเป็นค่ารักษา ขณะเดียวกันยังทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจประเทศได้ ไม่ต้องคอยกังวลค่ารักษา รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนนี้ 

"ในระบบบัตรทองมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 3 แสนคน ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง นอกจากค่ายาแล้วยังมีค่าตรวจอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ในระบบประมาณ 7 ล้านคน ด้วยรายได้ที่จำกัด หากต้องจ่ายค่ารักษาต่อเนื่องก็จะมีผลกระทบ เช่นเดียวกับโรคค่าใช้จ่ายสูง อย่างโรคหัวใจ ในอดีตคนทั่วไปอย่าคิดได้ทำสายสวนหัวใจ ขณะนั้นมีค่าใช้จ่าย 2 แสนบาทต่อเส้น แต่จากการมีระบบบัตรทอง และการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพของ สปสช. ที่มีการใช้วิธีต่อรองราคา ทำให้ราคาสายสวนหัวใจลดลงมาอยู่ที่ 40,000 บาทต่อเส้น ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย ทำให้เข้าถึงการรักษาได้" อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า ในการบริหารงบประมาณของ สปสช. ไม่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณมาแล้วนำไปจ่ายต่อ แต่ต้องบริหารงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการได้ ซึ่งการที่ สปสช.ต้องดิ้นรน มีการใช้วิธีบริหารงบประมาณที่หลากหลายรูปแบบเพราะถูกรัฐบาลรังแก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุคใด เพราะระบบบัตรทองเป็นการรับงบประมาณปลายปิดที่ สปสช.ต้องใช้ให้พอ หากเงินไม่พอก็เป็นเรื่องของ สปสช. ทั้งการของบกลางเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องที่ยาก ต่างจากงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นงบปลายเปิด หากไม่เพียงพอสามารถขอเพิ่มเติมได้

วันนี้หากถามว่าจะทำให้ระบบบัตรทองยั่งยืนได้อย่างไร นิมิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ระบบมีความยั่งยืนอยู่แล้วถ้าไม่มีใครล้ม เพราะกำหนดเป็นกฎหมาย และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องได้รับการดูแลจากรัฐในการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่หากจะทำให้ระบบดีกว่านี้ เท่าที่ดูงบประมาณขณะนี้ได้มีการรีดประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว ขณะที่คนทำงานในระบบ ทั้งหมอและบุคลากรทางการแพทย์ต่างบอกตรงกันว่างบที่ได้รับนั้นต่ำเกินไป ไม่สะท้อนต้นทุนการบริหารของโรงพยาบาล ทางออกแทนที่จะเก็บเงินเพิ่มจากคนไข้ ควรมานั่งพูดคุยและเคาะตัวเลขงบประมาณที่ทำให้ระบบเดินไปได้เพื่อต่อรองกับรัฐบาลในการจัดสรรงบเพิ่มเติม

"ถึงเวลาที่ต้องหยุดเรียกร้องประชาชนร่วมจ่ายเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยั่งยืน แต่ควรหันนมาบอกกับรัฐบาลให้จัดสรรงบประมาณลงกองทุนอย่างเป็นธรรมและมองสุขภาพประชาชนเป็นการลงทุนไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่ายประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ทุกคนร่วมจ่ายโดยผ่านภาษีที่จัดเก็บอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลต้องนำทุกคนมาอยู่ในระบบภาษี เชื่อว่าตลอด 16 ปี คนไทยต่างรู้จักระบบบัตรทองดี รู้ว่ามาจากภาษีที่เขาจ่าย เพียงแต่รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจนว่า ภาษีที่จ่ายมีสัดส่วนเท่าไหร่ที่มาใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ และต้องให้เพียงพอ ดีกว่ามานั่งเก็บตอนป่วย ซึ่งอาจได้เพียงเงิน 8,000-9,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณที่ใช้จ่ายสุขภาพอยู่ที่หลักแสนล้านบาท" อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขต้องคุยกับรัฐบาลในส่วนของงบประมาณบุคลากรและปรับปรุงโรงพยาบาลที่เป็นปัญหา แต่เดิม สธ.เคยได้รับ แต่หลังจากมีระบบบัตรทองกลับถูกตัดไปทั้งที่เป็นคนละส่วนจนก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้น รวมถึงการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ประชากรน้อย ที่ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง และชี้ว่าบัตรทองเป็นต้นเหตุทำโรงพยาบาลขาดทุน และควรปรับในส่วนที่เป็นปัญหา เช่น กรณีที่ สปสช.จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมระดับประเทศ แต่กลับถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตีความว่าเป็นการทำไม่ถูกกฎหมาย เพราะไม่มีอำนาจจ่ายยา ภายหลังได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อแทน แต่ด้วยขาดประสบการณ์และมีกระบวนการหลายขั้นตอน ก่อให้เกิดปัญหายาขาดช่วงจนผู้ป่วยได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายระบบบัตรทองเช่นกัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พิจารณาคดีนัดแรก ประธานสหภาพฯ ฟ้องสภาการพยาบาล นัดพิพากษา 2 ต.ค.

Posted: 10 Sep 2018 12:18 AM PDT

เหตุสืบเนื่องจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยเห็นควรว่าต้องแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาล พ.ศ.2528 ให้ทันสมัย มีหลายเรื่องที่กฎหมายไม่คุ้มครองพยาบาล แต่สภาการพยาบาลเห็นว่าไม่ต้องแก้ไข ประธานสหภาพพร้อมสมาชิกจึงทำหนังสือเรียกร้อง แต่ไม่เป็นผล ท้ายสุดฟ้องศาลปกครองว่าสภาการพยาบาลละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หลังตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นจะมีการนัดพิพากษาคดี 2 ต.ค. 2561

นางสาวมัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองมีการพิจารณาคดีนัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ 1198/2559 ระหว่าง นางสาวมัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กับพวกรวม 3 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการสภาพยาบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยกระบวนการในวันนี้องค์คณะได้สรุปข้อเท็จจริงของคดี มีตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีนี้ ซึ่งเป็นระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในศาลปกครอง การวินิจฉัยของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ผูกพันองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน โดยองค์คณะได้นัดพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 2 ต.ค. 2561 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีและพวกเห็นควรว่าต้องแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ให้ทันสมัย เพราะมีหลายเรื่องที่กฎหมายไม่คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่จริงของพยาบาล แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลเห็นว่าไม่ต้องแก้ไข ผู้ฟ้องคดีพร้อมสมาชิกสามัญของสภาการพยาบาลจึงทำหนังสือเรียกร้องให้ดำเนินการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย แต่ไม่เป็นผล ท้ายที่สุด จึงมีการฟ้องศาลปกครองว่า สภาการพยาบาลละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการพิจารณาและแจ้งผลต่อผู้ฟ้องคดีและพวก ตามที่พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลกำหนดไว้ในมาตรา 12(2) หรือไม่

ศาลปกครองนัดพิจารณาคดีประธานสหภาพพยาบาลฟ้อง คกก.สภาพยาบาล 5 ก.ย. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่ตุลาการผู้แถลงคดีจะอ่านความเห็น ผู้ฟ้องคดีได้แถลงด้วยวาจาว่าเหตุที่พยาบาลจำนวนมากต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ เนื่องจากพยาบาลปฏิบัติงานอยู่ที่ รพ.ชุมชน ถูกร้องเรียนมากว่าทำเกินขอบเขตหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น การลงพื้นที่ไปเจาะเลือด ส่งตรวจ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ทำเฉพาะในโรงพยาบาล ในกรณีเช่นนี้กฎหมายถึงไม่สอดคล้องกับบทบาทและการปฏิบัติงานจริงของพยาบาลซึ่งดำเนินการเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน

ส่วนตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงของคดีนี้ สรุปความได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ส่งหนังสือเรียกร้อง 3 ประการต่อสภาการพยาบาล แต่ไม่การพิจารณาและชี้แจงกลับ จากนั้นได้ส่งหนังสือทวงถามพร้อมแนบรายชื่อสมาชิกสามัญไปอีก 89 คน ทางสภาการพยาบาลเห็นว่าเป็นการเสนอเรื่องโดยสมาชิกสภาการพยาบาล 50 คนขึ้นไปตามที่ พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ มาตรา 12(2) กำหนด จึงได้นำข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาล  ที่ประชุมมีมติว่า

คำให้การเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงในคดีนี้ สรุปความได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2558 มีผู้แทนของสภาการพยาบาลเข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อถึงวาระทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ผู้แทนสภาการพยาบาลเสนอต่อที่ประชุมว่าไม่ประสงค์จะให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่าทำให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ก.พ. 2559 เรียกร้องให้สภาการพยาบาลเปิดประชุมใหญ่วิสามัญทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอของสมาชิกสภาการพยาบาล ฯ รวมถึงกำหนดวิธีการจัดการเลือกตั้งตัวแทนสมาชิกที่จะเป็นกรรมการสภาการพยาบาลต้องได้เสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีหรือสภาการพยาบาลเห็นว่า ตามกฎหมายแล้วการเสนอเรื่องให้สภาการพยาบาลพิจารณาต้องเสนอโดยกลุ่มบุคคลหรือองค์กรกลุ่มที่เป็นสมาชิกร่วมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป แต่หนังสือเสนอแนะต่อผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธานสภาพการพยาบาลแห่งประเทศไทย ลงชื่อเพียงคนเดียว ต่อมามีหนังสือทวงถามความคืบหน้า ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 พร้อมส่งรายชื่อสภาการพยาบาลวิชาชีพผู้เป็นสมาชิกสภาการพยาบาลจำนวน 89 รายชื่อแนบไปด้วย สภาการพยาบาลเห็นว่าครบองค์ประกอบตามกฎหมายจึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2559

ที่ประชุมสภาการพยาบาลพิจารณาแล้วมีมติ คือ  1.ข้อเรียกร้องขอให้มีการเปิดประชุมใหญ่เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอของสมาชิกนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ มิได้มีบทบัญญัติให้สภาการพยาบาลต้องทำ  2.ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาการพยาบาลประเภทสมาชิกจะต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่าไม่ต้องแก้ไขตามนั้น เพราะระบบการเลือกที่ใช้อยู่เป็นระบบคัดเลือกที่เปิดโอกาสให้คัดเลือกบุคคลโดยมีสัดส่วนสมาชิกสามัญการพยาบาลซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาการพยาบาล จึงเหมาะสมกับสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแล้ว 3. ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ตามที่ผู้ฟ้องคดีและพวกเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็นต่อองค์คณะ สรุปความได้ว่าการที่จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือปฏิบัติล่าช้าตามมาตรา 12(2) พ.ร.บ.การพยาบาลฯ ที่บัญญัติให้กรณีที่สมาชิกสามัญร่วมกันแถลง 50 คนขึ้นไปเสนอให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลพิจารณาเรื่องใดเกี่ยวกับสภาการพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการจะต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาแก่ผู้เสนอทราบโดยไม่ชักช้านั้น จะต้องปรากฏขึ้นก่อนว่า มีสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาล 50 คนครบถ้วนก่อน หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีคือสภาการพยาบาลจึงจะพิจารณาและแจ้งผลตามกฎหมายกำหนด ปัญหาคือ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาใดจึงจะพิจารณาได้ว่าชักช้า ดังนั้น การจะพิจารณาว่าการกระทำของสภาการพยาบาลชักช้าหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากพฤติการณ์และระยะเวลาในการดำเนินการนั่นก็คือการประชุมของคณะกรรมการ กล่าวคือ หากนับจากระยะเวลาที่ได้รับหนังสือการแสดงความเห็นของสมาชิกสามัญ 50 คนขึ้นไปแล้ว คณะกรรมการสภาการพยาบาลก็ควรมีการนัดประชุมในครั้งถัดไป  จึงจะถือว่าเป็นการพิจารณาโดยไม่ชักช้า

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวต่อว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบัญชีรายชื่อที่ผู้ฟ้องอ้างไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าจะใช้สิทธิแสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจการของสภาการพยาบาลตามมาตรา 12(2) กำหนดไว้ เพราะบัญชีรายชื่อที่แนบหนังสือระบุเพียงว่า รายชื่อพยาบาลวิชาชีพผู้เสนอให้ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รมว.สาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการคุ้มครองวิชาชีพพยาบาลเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงในชีวิตของประชาชนไท กรณีจึงไม่อาจถือว่า เป็นกรณีที่มีสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาล 50 คนขึ้นไปร่วมกันลงชื่อเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้พิจารณาการจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นข้อเท็จจริงก็ปรากฏต่อมาภายหลังจากที่ได้พิจารณาหนังสือติดตามทางถามแล้วปรากฏว่าสมาชิกที่ลงลายมือชื่อทวงถามมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกสามัญแห่งสภาการพยาบาล 89 คน ถือว่าเกิน 50 คนตามกฎหมายกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีก็นำเข้าประชุมในครั้งถัดไปซึ่งเป็นเดือนเดียวกันกับที่มีหนังสือทวงถามแล้วก็แจ้งผลให้ทราบ กรณีจึงถือว่าเป็นการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกทราบโดยไม่ชักช้าเห็นควรพิพากษายกฟ้อง

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชีวิตยามเกษียณ (3): ‘ชีวิตดี’ เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในชาตินี้

Posted: 09 Sep 2018 11:55 PM PDT

"รัฐสวัสดิการ" คำที่ได้ยินบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายงานชิ้นนี้จะพาไปดูจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการของไทย หาคำตอบว่าอุปสรรคอะไรที่ทำให้ไทยยังไม่อาจเป็นรัฐสวัสดิการได้ เมื่อปฏิรูปภาษียังไม่เกิด ประเทศรายได้ปานกลางจะเป็นรัฐสวัสดิการได้หรือไม่ หรือปัญหาคอร์รัปชั่นมีส่วนจริงรึเปล่า รวมทั้งข้อเสนอใช้งบ 4-6 แสนล้านสร้างรัฐสวัสดิการ และรัฐสวัสดิการต่างจากประชานิยมอย่างไร

นิยามรัฐสวัสดิการ

 

"รัฐสวัสดิการ" คือ รัฐที่มีการจัดระบบสวัสดิการให้กับสังคมโดยประกันความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนในการดำรงชีวิตและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นและลดภาระของสังคม การใช้ชีวิตในเรื่องพื้นฐานตั้งแต่เกิด เรียน ทำงาน เจ็บป่วย แก่และตาย จะถูกรับประกันโดยรัฐบาล เป็นที่มาของสวัสดิค่าเลี้ยงดูบุตร การเรียนฟรี ประกันสังคม ประกันการว่างงาน การรักษาพยาบาลฟรี บำนาญ ฯลฯ

สำหรับรัฐไทยด้วยข้อจำกัดหลายอย่างจึงยังไม่สามารถดูแลประชาชนได้เต็มรูปแบบถึงเพียงนั้น แต่ก็มีระบบสวัสดิการในเรื่องสำคัญๆ ที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การมีระบบประกันสังคม มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือว่าเป็น 'สิทธิ' ของประชาชน ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ 'สงเคราะห์' ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน

สวัสดิการดังที่กล่าวมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชน เพราะปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน มีงานวิจัยพบว่ามีแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน  เกินครึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท และไม่มีประกันสังคมหรือประกันเอกชน เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐในด้านต่างๆ ดังนั้นทำอย่างไรเราจึงจะสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุม มีคุณภาพ รองรับประชาชนทุกคนได้

เค้าร่างลางๆ รัฐสวัสดิการไทย จากปรีดีถึงป๋วย

 

 

ย้อนไปตั้งแต่สมัยการปฏิรูป 2475 คณะราษฎรซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในฝรั่งเศสและยุโรปซึมซับแนวคิดแบบสังคมนิยมและพยายามเปลี่ยนแปลงระบบสังคมโดยการให้สิทธิเสรีภาพและหลักประกันคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนตามหลัก 6 ประการ

ปรีดี พนมยงค์เขียนหนังสือ "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ส่วนหนึ่งมี "ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" มีสาระสำคัญคือ ให้ประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับเงินเดือนโดยรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดหรือเป็นเช็คของธนาคารแห่งชาติ ทั้งนี้ให้จัดแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้นอายุ ตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี ถัดจากนั้นเป็นช่วงชั้นละ 5 ปี จนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเกษียณที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่กว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ก็ล่วงมาถึงปี 2526 หลังจากปรีดีเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส

ปี 2516 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เสนอบทความเรื่อง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" เพื่อฉายภาพว่าประชาชนไทยมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิของทุกคนที่สมควรได้รับเสมอหน้ากัน ไม่แยกแยะว่าเป็นคนรวยหรือคนจน หรือเป็นใครก็ตามในประเทศไทย

กล่าวโดยสรุปหลังปี 2475 แนวคิดแบบรัฐสวัสดิการได้กำเนิดขึ้นในสังคมไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านรายจ่ายอย่างชัดเจน การใช้จ่ายด้านการศึกษาและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ส่วนกองทัพมีบางปีที่งบประมาณลดและเพิ่มบ้างสัมพันธ์กับการรัฐประหารแต่ก็ยังไม่เท่ากับก่อนหน้า ปี 2475[1]

กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชนมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง เช่น กฎหมายประกันสังคมผ่านในปี 2533 สมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อันเป็นหมุดหมายสำคัญจากการที่ขบวนการแรงงานไทยเรียกร้องการประกันสังคมมากว่า 40 ปี และหลังจากนั้นแนวคิดเรื่องการประกันสังคมก็ลงหลักปักฐานในสังคมไทย

ปี 2545 เรามี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือสวัสดิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการก่อนเกิดที่แม่ทุกคนสามารถฝากครรภ์ได้ฟรี ปี 2546 เริ่มนโยบายเรียนฟรี 12 ปี ก่อนจะขยายเป็น 15 ปี ต่อมาปี 2552 เริ่มโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน ก่อนปัจจุบันจะปรับตามขั้นอายุโดยขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่ถึงเส้นความยากจนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อเดือน (อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดสวัสดิการไม่ถ้วนหน้า โดยให้เฉพาะกลุ่มคนจน คนรายได้น้อย จัดให้ในระยะเวลาจำกัด เช่น 1.) เงินอุดหนุนเพื่อดูแลเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาทจำนวน 3 ปี ให้เฉพาะครอบครัวมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท โดยต้องไปลงทะเบียนกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโดยการใช้วิธีการให้ อาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) เป็นคนเสนอรายชื่อคนที่ยากจนสมควรได้รับค่าเลี้ยงดู 2.) สวัสดิการช่วยเหลือตามอาชีพ เช่น การช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ สวนยาง หรือการช่วยเหลือชาวนาในหลายนโยบายรับจำนำหลายแบบ ให้เงินช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติไร่ละ 1000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อคน 3.) การช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้ 5.4 ล้านคน ให้เงิน 1,500 ถึง 3,000 บาท ให้ครั้งเดียว ใช้งบ 1.2 หมื่นล้านบาท  ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2559-31 ม.ค. 2560 ซึ่งการจัดสวัสดิการเช่นนี้ ไม่ได้ช่วยลดความยากจน และไม่ได้เพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายได้เลย เพราะทุกปีก็จะต้องย้อนกลับมาดำเนินนโยบายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหาร

ดังนั้นแม้เราจะพอมีสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ใช่ "รัฐสวัสดิการ" และไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าสวัสดิการที่มีอยู่นั้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ จากตอนที่1 และตอนที่2 ซึ่งพูดถึงไปก่อนหน้านี้ เราอาจเห็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ แต่แท้จริงแล้วต้นตอปัญหาอาจอยู่ที่แนวคิดของรัฐที่มีต่อคำว่ารัฐสวัสดิการ

ปฏิรูประบบภาษี หัวใจการหารายได้ที่รัฐไทยยังทำไม่ได้

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยผู้มีผลงานตีพิมพ์ในระดับสากลให้ความเห็นว่า ไทยจะมีระบบรัฐสวัสดิการได้หรือไม่นั้น อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศมีเงินพอหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะให้สิทธิพลเมืองในเรื่องนี้จริงจังเพียงใดมากกว่า ซึ่งความมุ่งมั่นทางการเมืองหมายถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสวัสดิการของสาธารณชน แม้ว่าอาจจะสำเร็จยากหรืออาจจะมีแรงต้านจากกลุ่มที่ทรงอำนาจบางส่วนของสังคม ารเมืองามปราถนาและความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทwere-heading-foroligarchiy/361200/?u

ผาสุกชี้ว่า แหล่งที่มาของเงินเพื่อใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมนี้ส่วนใหญ่แล้วได้มาจากรายรับภาษีของรัฐบาล ดังนั้นความสามารถในการจัดเก็บภาษีให้ได้ในระดับที่จะนำมาใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการสังคมจึงสำคัญมาก

จากงานวิจัยที่ผาสุกทำร่วมกับนักวิจัยหลายสถาบันรวมทั้งกระทรวงการคลังเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเพิ่มรายได้รัฐบาลไทยจากการเก็บภาษีพบว่า เฉพาะระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากรายได้ประเภทเงินเดือนได้ดี คือครอบคลุมผู้มีรายได้จากค่าจ้างเงินได้ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด แต่รายได้ประเภทอื่น ได้แก่ กำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า (เรียกรวมว่ารายได้จากการลงทุนหรือรายได้จากทุน) อันเป็นรายได้หลักของคนร่ำรวย  รัฐกลับเก็บภาษีได้น้อยมาก ทั้งที่คนรวยมีความสามารถจ่ายภาษีได้มาก

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ การแบ่งเก็บภาษีเงินได้แบบแยกส่วน ซึ่งกำหนดอัตราภาษีตามแหล่งที่มาของรายได้ในอัตราต่างๆ กัน เช่น รายได้จากการทำงานมีอัตราภาษี 0-35% (ในที่นี้หมายถึงสำหรับปี 2555) รายได้จากดอกเบี้ยมีอัตราภาษี 15% และรายได้จากเงินปันผลมีอัตราภาษี 10% เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่ารายได้จากการทำงานมีอัตราภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 35 แต่รายได้จากการลงทุนในทรัพย์สินมีอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 15 จึงเป็นการลดทอนหลักความเท่าเทียมกันในการเก็บภาษี และทำให้มีการแทรกแซงทางการเมืองได้

ขณะที่ประเทศที่เก็บภาษีเงินได้จากทุนได้เม็ดเต็มหน่วยจะใช้ระบบเดียวกันเรียกว่า "ระบบภาษีแบบบูรณาการ" รวมเงินได้ทุกประเภททั้งเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วและที่ยังไม่ได้หัก ณ ที่จ่าย มารายงานในแบบภาษีเพื่อคำนวณภาษี ในอัตราเดียวกันตามขั้นเงินได้สุทธิ ทำให้เก็บได้ง่าย เป็นธรรม และลดการแทรกแซงทางการเมือง และเก็บภาษีได้มากกว่า

ผาสุกยกตัวอย่างประเทศตุรกีซึ่งได้ปฏิรูประบบภาษีทั้งหมดให้เป็นระบบบูรณาการเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เก็บภาษีได้สูงขึ้นมากคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีจนใกล้ค่าเฉลี่ยของโออีซีดีที่ร้อยละ 34 แต่ขณะที่ของไทยเก็บได้ที่ร้อยละ 18 ของจีดีพี

สำหรับไทยการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นอยู่ให้เป็นแบบบูรณาการและยกเลิกการลดหย่อนการยกเว้นที่ไม่จำเป็น จะทำให้สามารถเพิ่มรายได้จากภาษีทั้งระบบได้อีกถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี

เลิกยกเว้นภาษี LTF เพิ่มภาษีความมั่งคั่ง

 

จากข้อมูลวิจัยพบว่าสัดส่วนผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อน LTF (ภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว) อยู่ในกลุ่มคนรวยสุด คือรายได้มากกว่า 20 ล้านบาทสูงถึง 82% และนโยบายนี้ไม่เป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อย คือรายได้ต่ำกว่า 5 แสนบาท ซึ่งกลุ่มนี้ใช้สิทธินี้แค่ 2% เท่านั้น ที่ผ่านมารัฐต้องเสียรายได้จากการลดหย่อน LTF เกือบ 9,000 ล้านบาท

ผาสุกชี้ว่า ปัจจุบันสวัสดิการต่างๆที่รัฐบาลไทยจัดให้ประชาชนรวมทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษา แต่ไม่รวมบัตรคนจนคิดเป็นประมาณร้อยละ 10  ของจีดีพี แต่ขณะที่กลุ่มประเทศโออีซีดี รัฐใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 22 ของจีดีพีโดยเฉลี่ยในปี 2557

นอกจากนั้นผาสุกยังเสนอว่า หากริเริ่มให้มีภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) รวมทั้งภาษีที่ดินในอัตราที่ไม่สูงมากนัก ถือว่าเป็นการร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนความต้องการที่จะเป็นสังคมเดียวกันทั้งคนรวยคนจนก็จะเพิ่มรายได้จากภาษีได้อีก และหากปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% รัฐบาลจะได้รายได้จากภาษีนี้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.2 % ของจีดีพี  ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นของไทยเก็บที่ 7%  ยังต่ำหากเทียบกับ 10% ที่ออสเตรเลียและอัฟกานิสถาน 18% ที่ตุรกี 20%ที่อังกฤษ และ 25%ที่นอร์เวย์

ผาสุกสรุปว่า ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายสวัสดิการไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะจัดให้มีระบบสวัสดิการหรือไม่มากกว่า และในประเทศที่เป็นระบบอำนาจนิยมในระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่โดยไม่มีการใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่สัมฤทธิ์ผลซึ่งจะเป็นอุปสรรคกับระบบรัฐสวัสดิการแน่นอน

อุปสรรคของรัฐสวัสดิการ

 

"ไทยเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้ เพราะมีปัญหาการคอร์รัปชัน"

นี่เป็นข้อโต้แย้งที่เรามักได้ยินลอยๆ เสมอมา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนประเด็นรัฐสวัสดิการมองว่า หากเกิดรัฐสวัสดิการจะช่วยให้คอร์รัปชั่นเกิดน้อยลง เนื่องจากรัฐสวัสดิการจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มั่นคง เช่น ค่าแรงสูง การรักษาพยาบาลดี การศึกษาดี มีเงินบำนาญ เมื่อชีวิตเกิดความมั่นคงระบบอุปถัมภ์ก็จะหายไป

เขากล่าวต่อว่า เป็นความจริงที่สังคมไทยเป็นรัฐราชการและเป็นรัฐอุปถัมภ์มาก แต่ที่เป็นแบบนี้เพราะสังคมไทยไม่มีสวัสดิการที่ก้าวหน้า  เกิดระบบอุปถัมภ์ เกิดหน่วยราชการที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพิสูจน์สิทธิคนจน แล้วก็เกิดการโกงเงินคนจน เงินผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่รัฐไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ แต่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจบอกว่าใครควรจะได้และไม่ควรได้ พอเป็นแบบนี้มันจึงเป็นช่องทางของการคอร์รัปชั่น ถ้าสิ่งพวกนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสิทธิทั้งหมด จะทำให้อำนาจของข้าราชการน้อยลง คนตรวจสอบได้มากขึ้น ทำให้การกระจายอำนาจมีความหมาย การประชาคมต่างๆ คนก็จะแอคทีฟเพราะคนว่างที่จะมาทำ

"การคอร์รัปชั่่นของไทย 90% เกิดจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกันนอกกลไกปกติ ถ้าคนได้สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ ถ้าเราสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ โดยที่เราไม่ต้องหาเส้นสายคนใหญ่คนโตที่เรารู้จัก ก็จะทำให้การคอร์รัปชั่นน้อยลง ระบบอุปถัมภ์ก็จะไม่ฝังราก ดังนั้นโดยหลักการรัฐสวัสดิการกับคอร์รัปชั่นจะสวนทางกัน ถ้าคนมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น พอมีอำนาจทางการเมืองก็จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น" ษัษฐรัมย์กล่าว

เริ่มต้นรัฐสวัสดิการด้วย 4D

 

ษัษฐรัมย์อธิบายว่า กรณีของไทย สิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นแรกคือเริ่มต้นคุยเรื่องสวัสดิการ จากแนวคิด 4D ได้แก่

1. Decommodification หรือการลดความเป็นสินค้า พยายามทำให้สวัสดิการเป็นสิทธิให้มากที่สุด มีการพิสูจน์น้อยที่สุด

2. Decrease Dependency คือลดการพึ่งพิง ลดระบบอุปถัมภ์ ลดการพึ่งพิงชุมชน ครอบครัว

3. Direct Comprehensive คือเป็นสวัสดิการที่จ่ายตรงผ่านระบบราชการที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด ทำให้สะดวกที่สุด ซึ่งสำคัญมากในบริบทไทย

4. Data Democratization คือการทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสวัสดิการได้เต็มที่ 100% โดยการจัดการข้อมูลให้มีความทันสมัย  

Direct comprehensive และ Data Democratization จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ลดข้อกังขาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ดังนั้นต้องมีการกระจายอำนาจออกไป ท้องถิ่นก็ต้องมีอำนาจในการกำหนดแนวทางการบริหารของตัวเอง ในการที่สวัสดิการจะมาสนองตอบพวกเขาได้ ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการท้องถิ่นเข้มแข็ง คอร์รัปชั่นน้อยลง

ส่วนข้อกังวลว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดการอุปถัมภ์ในท้องถิ่นหรือไม่ ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างงานที่ศึกษาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจหลายชิ้นซึ่งมีตั้งแต่ปี 2540 เขามองว่า ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเป็นมายคติของนักวิชาการเพียงกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากเมื่อกระจายอำนาจจะทำให้การแข่งขันทางการเมืองในระดับท้องถิ่นสูงขึ้น พอการแข่งขันสูงขึ้นการอุปถัมภ์ก็น้อยลง นักการเมืองระดับท้องถิ่นแข่งขันกันจากการนโยบายต่างๆ ไม่ได้เป็นการผูกขาดอำนาจในระดับท้องถิ่น

นอกจากนี้ษัษฐรัมย์ชี้ว่า ชนชั้นกลางเองก็ได้ประโยชน์และจะมีชนชั้นกลางหรือคนที่ปลอดภัยในระบบเพิ่มมากขึ้น

"คุณจะรู้สึกว่าคุณไม่ต้องไปหวาดกลัวในชีวิตข้างหน้า ชนชั้นกลางส่วนมากยังใช้ชีวิตด้วยความกลัว กลัวโดนไล่ออก กลัวพ่อป่วยเป็นมะเร็ง ไม่แปลกที่โฆษณาประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตเล่นกับความกลัวของชนชั้นกลาง ทำให้รู้สึกว่าเรามีทางออกทางเดียวคือการซื้อประกัน การศึกษาก็ต้องโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ แต่รัฐสวัสดิการจะทำให้ชนชั้นกลางเป็นอิสระจากความกลัว และชนชั้นกลางได้ใช้ชีวิตจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินจนเกษียณเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะคุณมีรายได้เฉลี่ยที่สูงพอ และสามารถไปได้ในวันหยุดพักร้อนที่มีปีละ 20 วันแบบประเทศรัฐสวัสดิการ ไม่ต้องกลัวว่าจะรับค่ารักษาไม่ไหวถ้าพ่อแม่ป่วยเป็นมะเร็ง เพราะพ่อแม่ของคุณก็ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนกับคุณ และสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ เพราะคือสิ่งที่เราคิดมาจากฐานเงินขั้นต่ำตามเส้นความยากจน เงินเท่านี้ไม่ได้ทำให้คนงอมืองอเท้าได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นคุณก็ต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น มันมีกลไกแบบนี้ที่ทำให้คนขยัน ไม่มีประเทศไหนที่มีรัฐสวัสดิการแล้วคนขี้เกียจ นอนอยู่กับบ้าน"

เป็นประโยชน์สำหรับชนชั้นสูง สังคมน่ากลัวน้อยลง

 

"ชนชั้นนำจะไม่ยอมให้มีการลดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ"

แน่นอนว่าการเกิดรัฐสวัสดิการจะเป็นการลดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นนำอย่างชัดเจน ในระยะยาวต้องมีการขยายฐานภาษี พวกเขาจะยอมรับหรือ

ษัษฐรัมย์เห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น เพราะรัฐสวัสดิการไม่ใช่การโค่นล้มระบบทุนนิยม แต่คือระบบทุนนิยมที่เป็นมิตรมากขึ้นและชนชั้นสูงเองก็จะได้ประโยชน์ เพราะรัฐสวัสดิการจะทำให้พื้นที่ข้างล่างน่ากลัวน้อยลง ชนชั้นนำสามารถอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับคนทั่วไปได้ ลูกของเขาสามารถไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลได้ สามารถนั่งรถเมล์ได้ เขาไม่ต้องอยู่ในสังคมตึงเครียด ไม่ต้องกลัวว่าชนชั้นล่างจะลุกขึ้นมาปิดถนน ก่อม็อบด้วยความโกรธแค้น ทำให้ลูกเขาเติบโตขึ้นมาในสังคมจริงๆ ไม่ใช่สังคมประดิษฐ์แบบโรงเรียนอินเตอร์ที่มีแต่คนรวยเรียน หรือโรงเรียนที่มีแต่ลูกทหารข้าราชการเรียน

"ผมเห็นว่ามันมีหลายอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงได้ มองย้อนไปเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนมี พ.ร.บ. ประกันสังคม ก่อนหน้านั้นคนก็มองไม่ออกว่าคนไม่เป็นข้าราชการจะมีสวัสดิการได้อย่างไร พอปี 2544 เรามีบัตรทอง ทุกคนมีสิทธิรักษาโรคมะเร็งได้ฟรี  ก่อนหน้านี้เราก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ ผมเลยคิดว่าตอนนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เราแค่ขยับขึ้นมาอีกนิดนึง 2475 ลำบากกว่า 14 ตุลาลำบากกว่า ประกันสังคมลำบากกว่า หลักประกันสุขภาพลำบากกว่า" ษัษฐรัมย์กล่าว

ข้อเสนอตั้งต้น ใช้งบ 4-6 แสนล้านสร้างรัฐสวัสดิการ

 

ษัษฐรัมย์ กล่าวถึงการคำนวณอย่างคร่าวเพื่อให้ไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการโดยใช้เงินจำนวน 4-6 แสนล้านบาท จัดสวัสดิการโดยอิงกับเส้นความยากจน 80-120%  (หรือบวกลบไม่เกิน 20%) อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อเดือน โดยคำนวณจากบริบทสังคมไทยปัจจุบัน สำหรับให้คนไม่มีหนี้สิน ไม่มีภาระ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่ก็ต้องมีระบบจูงใจเพื่อให้คนพัฒนาตัวเองและได้ผลประโยชน์มากขึ้นไป

ษัษฐรัมย์อธิบายว่า เริ่มต้นตั้งแต่สวัสดิการเด็กในครรภ์ พอเด็กเกิดก็มีสวัสดิการในการเลี้ยงดูเด็กจนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นเยาวชน ปัจจุบันไทยให้ที่ 600 บาทเฉพาะคนยากจน ซึ่งไม่พอและเป็นเหมือนการสงเคราะห์ อาจจะเพิ่มเป็นไม่เกินเส้นความยากจนอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อเดือน หากเราจัดสวัสดิการเพิ่มในส่วนนี้ให้กับทุกคน จะทำให้คนไม่เป็นหนี้จากการเลี้ยงดูบุตร ปัจจุบันอัตราการเกิด 5-7 แสนคนต่อปี เมื่อคำนวณจะใช้เกือบ 2 แสนล้านต่อปี

สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นคือการขยายค่าเหมาจ่ายรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 3,000 เป็นประมาณ 8,000 ต่อคนต่อปี ใกล้เคียงกับระบบราชการ และจะเป็นการรวมระบบทุกอย่างเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพเดียวกัน

หรือในรายละเอียด เช่น การเดินทางมาหาหมอแล้วไม่เจอหมอ เราอาจจะใช้ระบบคล้ายกับที่อังกฤษ ซึ่งมีการชดเชยค่าเดินทางให้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินค่ากลางที่ สปสช. กำหนดขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ถ้าหมอให้แอดมิดก็ต้องมีการชดเชยรายได้ อาจจะวันละ 300 บาทเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือถ้ามีใบรับรองแพทย์ให้พักฟื้นที่บ้านก็ต้องมีเงินชดเชยในส่วนนี้เช่นกัน จริงๆ มีอยู่แล้วในประกันสังคมมาตรา 40 แต่เราจะพยายามทำให้ส่วนนี้อยู่ในประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ครอบคลุมทุกคน

นอกจากนี้ษัษฐรัมย์กล่าวถึงการขยายเพดานประกันสังคมให้สูงมากขึัน เพื่อให้สิทธิประโยชน์สูงขึ้น เช่น บำนาญ ปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 8,000 บาทต่อคนต่อเดือน ขยายไปสูงสุดที่ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องสมทบเพิ่มเติมในประกันสังคม

อีกส่วนที่สำคัญคือ พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ โดยมีเส้นความยากจนเป็นตัวยืนพื้น ไม่ใช่เพียงแค่ 600 บาท รวมแล้วจะทำให้คนไทยมีเงินบำนาญสูงสุด 17,000-18,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเท่ากับที่แบงค์ชาติคำนวณว่าถ้าจะเกษียณอย่างมีคุณภาพคุณต้องมีเงินเก็บประมาณ 3-4 ล้านบาท หรือเงินใช้เดือนละ 16,000 บาท ซึ่งถ้าปรับเรื่องบำนาญได้ภายในปี 2565 จะมีคนไทยหลัก 10 ล้านคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการจะมีเงินบำนาญขยับไปที่ 15,000 บาทต่อเดือนได้

ษัษฐรัมย์เสริมว่า อีกประการคือการปฏิรูปการศึกษาฟรีมีคุณภาพ ลดการแข่งขัน กำหนดเพดานค่าเทอมการศึกษานอกเหนือจากภาคบังคับ ระบบค้ากำไรแบบไม่กำหนดเพดานในปัจจุบันของระบบการศึกษาต้องพยายามกำจัดออกไป โดยทั้งหมดนี้คำนวณแล้วใช้งบประมาณ 4-6 แสนล้านบาท

งบประมาณจำนวนนี้คือตัวเลขที่สูงขึ้น 3-4 เท่าของงบประมาณเรื่องสวัสดิการปัจจุบัน ษัษฐรัมย์ชี้แจงว่า การเกิดรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ เมื่อเกิดรัฐสวัสดิการแล้วก็สามารถลดค่าใช้จ่ายบางกระทรวงลงได้ คือค่าใช้จ่ายด้านการปกครองและการปราบปราม หรือก็คือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม สองกระทรวงนี้ถ้าเราสามารถกระจายอำนาจออกไปเต็มที่ให้ท้องถิ่นจัดการเอง ค่าใช้จ่ายของมหาดไทยและกลาโหมจะลดลงประมาณ 50% เท่ากับ 2 แสนล้านบาท

รวมทั้งหากมีการเก็บภาษี Capital Gains Tax (กำไรในตลาดหุ้น) 30% ต่อปี ซึ่งมีกำไรประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี จะได้ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้หากยกเลิกการยกเว้นภาษี BOI ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีการลงทุนให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็จะเพิ่มรายได้ภาษีอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท รวมทั้งยกเลิกการลดหย่อนภาษี LTF RMF ทำให้ได้เงินอีก 1 แสนล้านบาท

สุดท้ายคือการเก็บภาษีที่ดิน, มรดกอัตราก้าวหน้า ช่วงแรกอาจได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งอาจไม่ได้มากแต่สำคัญคือจะลดอำนาจกลุ่มทุนลง ลดอำนาจทางการเมืองได้ ซึ่งเขาอาจจะโยกเงินไปอยู่ในกองทุนพันธบัตรรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีเงินในส่วนนี้เพิ่มได้ และการถือครองพันธบัตรกับที่ดินก็มีอำนาจต่อรองที่ต่างกัน

รูปแบบการเก็บภาษีในต่างประเทศ

 

จากรายงาน "กระบวนการประยุกต์ใช้ตัวแบบสวัสดิการแบบนอร์ดิกในประเทศรายได้ต่ำโดยสัมพัทธ์: กรณีศึกษาการปรับใช้รัฐสวัสดิการตัวแบบนอร์ดิกในประเทศไทย" ซึ่งเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปภาษีของไทยตามแบบกลุ่มประเทศนอร์ดิกของษัษฐรัมย์ พบว่าในนอร์ดิกภาษีส่วนมากเป็นการกระจายอำนาจโดยให้ท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคเป็นคนจัดเก็บในอัตราประมาณ 31% ของรายได้ ยกเว้นคนที่มีรายได้สูงพิเศษจะถูกเก็บเพิ่มโดยรัฐบาลกลางอีกประมาณ 20-25%

โดยฐานภาษีของนอร์ดิก เช่น ฐานภาษีเงินได้ จะเป็นอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับไทย ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าภาษีอัตราก้าวหน้าไม่มีผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกลับมีผลทางตรงต่อความเสมอภาคในสังคมวัดด้วยดัชนี Gini ซึ่งส่งผลต่อการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม

นอกจากนี้ยังมีระบบเสียภาษีแบบ Negative Income Tax ยกตัวอย่างเช่น หากยื่นภาษีโดยที่รายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี รัฐบาลจะให้เงินคุณ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีข้อมูลของคุณอยู่ในระบบ หากคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นคุณก็จะต้องเสียภาษีเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต่างจากบัตรคนจนที่ถึงแม้จะให้เงินแก่ผู้มีรายได้น้อยเหมือนกัน แต่ในไทยเป็นกลไกเฉพาะกลุ่มที่ต้องพิสูจน์ความจน และวิธีการแบบนี้เป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนลง

ถัดมาที่ประกันสังคมของนอร์ดิก ลูกจ้างสมทบในอัตรา 30% ของรายได้ ทำให้กองทุนในการจัดสวัสดิการอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง แต่เงินสมทบนั้นนายจ้างเป็นคนจ่าย ยกตัวอย่างเช่น เราถูกจ้างด้วยเงินเดือน 100,000 บาท นายจ้างต้องเตรียมเงิน 30,000 บาทส่งให้ประกันสังคม ดังนั้นเป็นที่รู้กันว่าฐานเงินเดือนจริงของเราคือ 130,000 บาท แต่ได้เงินเดือน 100,000 บาท ขณะที่ในไทยคือการสมทบจากทั้งนายจ้างลูกจ้าง

เมื่อกลับไปดูที่แนวคิดตั้งต้น นอร์ดิกนั้นมีฐานความคิดว่าถ้านายจ้างจ้างลูกจ้างหนึ่งคน เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องเตรียมเงินส่วนนี้ให้ประกันสังคมและลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเอง และคนที่เป็นแรงงานนอกระบบก็สามารถสมทบเองได้ เช่น ถ้ามีเงินเดือน 100,000 บาท ก็สมทบ 30,000 บาท เพื่อได้สวัสดิการแบบเดียวกับแรงงานในระบบ เช่น เงินประกันการว่างงาน เงินเกษียณอายุ สิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตร

ส่วนค่าการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล เงินบำนาญ ก็จะแยกออกมาต่างหากและรัฐบาลเป็นผู้จัดไม่เกี่ยวกับประกันสังคม ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามจัดโดยยืนพื้นที่ปัจจัยสี่ ส่วนประกันสังคมเป็นส่วนที่เพิ่มเพื่อตอบแทนคนที่ทำงาน คนที่เสียภาษี

โดยเส้นความยากจนของกลุ่มประเทศนอร์ดิกเมื่อคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท ซึ่งสวัสดิการรัฐก็คำนึงถึงการจูงใจในการทำงานด้วย หากทำงานมีการส่งสมทบประกันสังคมต่อเนื่อง พอเกษียณก็จะได้บำนาญที่ประมาณ 100,000-120,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยอาจจะได้เงินบำนาญที่ประมาณ 30,000 ต่อเดือนเท่ากับเส้นความยากจน คือพออยู่ได้เท่านั้น

ภาษีที่สำคัญอีกอย่างซึ่งประเทศไทยไม่มีคือ Capital Gains Tax กำไรจากหุ้นหรือกระทั่งกำไรจากการถือครองที่ดิน โดยเฉลี่ยกลุ่มประเทศนอร์ดิกอยู่ที่ 26-28% แต่ถ้าเป็นที่ดินที่ไม่ได้ทำกำไรก็ต้องภาษีทรัพย์สิน ซึ่งจ่ายกับท้องถิ่นโดยตรง ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้

ส่วนภาษีมรดก ษัษฐรัมย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพอเก็บภาษีมาหลายปี ปัจจุบันจึงไม่ใช่แหล่งรายได้ของรัฐสวัสดิการแล้ว เพราะคนจะไม่มีวัฒนธรรมการส่งมอบมรดกให้กัน เนื่องจากรัฐสวัสดิการนั้นสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบใหม่ พ่อแม่จะรู้สึกว่าถ้าตัวเองตายลูกก็ยังได้เรียนหนังสือฟรี มีบ้านอยู่ มีงานการที่ดีได้ การส่งต่อมรดกจึงน้อยลง แม้กระทั่งมรดกตำแหน่งหน้าที่ ทายาททางธุรกิจก็น้อยลง คนมีอิสระในการกำหนดชีวิตของตัวเอง ความแตกต่างระหว่างรายได้ของอาชีพก็จะไม่มาก คนมีมากก็เอามาใช้มาก เพราะถึงเก็บไปส่งต่อให้ลูกหลานก็จะถูกเก็บภาษีในปริมาณสูงอยู่ดี ถ้าไทยเอามาใช้ก็จะมีประโยชน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การที่คนไม่ส่งต่อมรดกก็ทำให้อำนาจทางการเมืองไม่ถูกส่งต่อไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ษัษฐรัมย์ยังกล่าวถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น สวัสดิการเพื่อจูงใจการศึกษานอกเหนือจากภาคบังคับเพื่อให้คนสามารถพัฒนาตัวเองได้ หรือหากทำงานแล้วอยากพัฒนาตัวเองเพิ่มหรือเปลี่ยนสายงาน รัฐบาลก็จ่ายเงินอุดหนุนให้ออกมาพัฒนาทักษะโดยการอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่การฝึกอาชีพในบ้านเรามีทางเลือกไม่กี่อย่าง เช่น เย็บเสื้อ ตัดผม ทำอาหาร แต่ในเดนมาร์กการฝึกอาชีพมีความหลากหลายมาก การฝึกเรื่องเทคโนโลยี ภาษา ศิลปะ รัฐบาลก็จ่ายเงินอุดหนุนเอกชนในการจัดคอร์สสอนเรื่องเหล่านี้ ทำให้คนพัฒนา การเปลี่ยนสายงานก็ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ การบูรณาการข้ามศาสตร์

ดังนั้นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการการลดหย่อนภาษีจึงไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนในรูปของสวัสดิการ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2559 ประเทศสวีเดนนำเงินได้จากภาษีรัฐมาจัดสวัสดิการประมาณ 42% ด้านการศึกษาและด้านสุขอนามัยประมาณ 27%

รัฐสวัสดิการเหมือนหรือต่างกับประชานิยม

 

มีคำถามว่า รัฐสวัสดิการ ต่างอย่างไรกับประชานิยม

ษัษฐรัมย์ให้ความเห็นว่า ไม่อยากจะแยกว่าเป็นคนละประเภทหรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน ประชานิยมนั้นถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่เพื่อจะโจมตีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา ที่มีนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เป็นที่นิยมมากพยายามชูนโยบายที่ประชาชนได้รับประโยชน์ ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าประชานิยมทำให้ประเทศล้มละลาย ทำให้ไม่มีความสมดุลทางการคลัง ไม่มีวินัยทางการคลัง มันจึงเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับเสรีนิยมใหม่

ปัจจุบันหากไปดูรายงานวิชาการของนักวิชาการเสรีนิยมใหม่ จะพบการศึกษาที่เป็นมิตรกับประชานิยมมากขึ้น และตอนนี้ก็เกิดประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรปมากขึ้น ประชานิยมที่เอากลไกตลาดเสรี ประชานิยมที่ต่อต้านแรงงานอพยพ

ดังนั้นรัฐสวัสดิการกับประชานิยมจึงไม่ควรถูกจัดเป็นสิ่งที่ต่างกันขนาดนั้น แต่รัฐสวัสดิการต้องมาพร้อมกับประชาธิปไตยแบบเต็มขั้น ครบวงจร ผ่านระบบพรรคการเมืองแบบพรรคมวลชนที่อิงกับผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง ถึงเกิดเป็นรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ ซึ่งรัฐสวัสดิการก็ต้องอาศัยประชาธิปไตยและความนิยมของประชาชนในการที่จะผลักดันให้มันก้าวหน้ามากขึ้นๆ และถ้าจะอธิบายอย่างเคร่งครัดในทางรัฐศาสตร์การเมือง แนวคิดรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิซึ่งทุกคนในประเทศในสังคมต้องได้ ไม่ใช่สวัสดิการนี้จำเพาะต่อใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ประชานิยมอาจมีนัยว่าเพื่อกลุ่ม voter ทางการเมืองกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์

 

[1] เว็บไซต์ the101 สัมภาษณ์ผาสุก พงษไพจิตร เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561

 

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กสม. จับมือ 8 สถาบันศึกษา-หน่วยงานยุติธรรม หวังสร้างวัฒนธรรมสิทธิฯ เป็นรากฐานวิถีคิดสังคมไทย

Posted: 09 Sep 2018 10:21 PM PDT

สำนักงาน กสม. ลงนามเอ็มโอยูกับ 8 สถาบันการศึกษา-หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หวังสร้างสรรค์วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เติบโตงอกงามเป็นรากฐานในวิถีคิดและวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

10 ก.ย.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) รายงานว่า วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศ "วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนใน 2 ปี (พ.ศ.2561 – 2562) โดยเร่งให้หน่วยงานพัฒนาหลักสูตรและโครงสร้างทางการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและบริบทของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเอื้อต่อสิทธิทางการศึกษาของคนกลุ่มเฉพาะ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างการยอมรับในอัตลักษณ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและตระหนักในสิทธิของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้านในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)

วัส กล่าวว่า กสม. เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อเร่งสร้างเสริมความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "สิทธิมนุษยชนศึกษากับวาระแห่งความร่วมมือระดับชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ขึ้นในวันนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาจากบุคลากรหลากหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น กสม. ผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ผู้บริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม และสถาบันการศึกษา รวมทั้งสื่อมวลชน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุภัทร  จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา มาปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สิทธิมนุษยชนศึกษากับวาระแห่งความร่วมมือระดับชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"

ประธาน กสม. กล่าวว่า งานในวันนี้ยังเป็นพื้นที่ในการประสานความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงาน กสม. กับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมราชทัณฑ์ โดย กสม. มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ร่วมมือกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เติบโตงอกงามเป็นรากฐานในวิถีคิดและวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นำมาซึ่งความผาสุกของสังคมและประเทศชาติ ตลอดทั้งนำพาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติต่อไป

"แผนงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งสอดรับกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทยที่มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติงานโดยยึดหลักนิติธรรม การใช้หลักธรรมาภิบาลในทุกหน่วยงานและทุกระดับ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายและจริยธรรมที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม นิติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จนนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก" นายวัส ระบุ

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กสม. และประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประสานเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ การจัดการเรียนการสอนหรือหลักสูตรหรือกิจกรรมด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล สามารถส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนแล้ว กสม. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมพัฒนาทักษะของบุคลากรในการนำหลักการสิทธิมนุษยชนไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสถาบันการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในหลักการและวิธีการปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล 

"งานในวันนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและใช้ความพยายามในการถ่ายทอดความรู้หลักการสิทธิมนุษยชนเพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดแก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชนให้เข้าไปอยู่ในวิถีปฏิบัติประจำวันทั้งในการใช้ชีวิตและการทำงาน และที่สำคัญ ผู้บริหารและฝ่ายนโยบายจะต้องมีทัศนคติที่ดีและมีสำนึกในเรื่องสิทธิมนุษยชน ปลูกฝังค่านิยมให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลในองค์กร และ กสม. มีความยินดีที่จะเปิดรับพันธมิตรสิทธิมนุษยชนจากทุกภาคส่วน เพราะความร่วมมือจากทุกฝ่าย เปรียบเสมือนการเรียงร้อยภาพเล็ก ๆ ที่หลากหลายให้เกิดเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์" ประกายรัตน์ กล่าวในท้ายที่สุด

สำนักงาน กสม. ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสม. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในแต่ละภาค ทั้งนี้ กสม. ยังมีแผนงานที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักศึกษาจีนในชั้นเรียนที่สหรัฐฯ ขู่ฟ้องนักศึกษาอุยกูร์ต่อสถานทูตจีน

Posted: 09 Sep 2018 08:48 PM PDT

ในชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาอุยกูร์แนะนำตัวเองว่ามาจาก "เตอร์กิสถานตะวันออก" ซึ่งปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทำให้เขาถูกเพื่อนร่วมชั้นเรียนชาวจีนกล่าวหาว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน และขู่ว่าจะรายงานสถานทูตจีน นักศึกษาอุยกูร์จึงตอบกลับว่า "ถ้าคุณรายงานผมต่อเจ้าหน้าที่ทางการจีน ผมก็จะรายงานคุณต่อรัฐบาลอเมริกัน แล้วเราจะได้รู้กันว่าใครจะชนะ"

(แฟ้มภาพ) ชาวอุยกูร์ที่ Yarkand ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน (ที่มา: travelingmipo/flickr/CC BY SA 2.0)

สถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) รายงานเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสะท้อนถึงกรณีที่จีนพยายามควบคุมวาทกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา เมื่อนักศึกษาชาวอุยกูร์รายหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมชั้นชาวจีนฮั่น ซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ในจีน ชาวฮั่นคนนี้ข่มขู่เพื่อนร่วมชั้นของตัวเองว่าจะรายงานเขาต่อสถานกงสุลจีนเพราะเขาแสดงความคิดเห็นในเชิง "แบ่งแยกดินแดน"

แต่อาจารย์ภาษาอังกฤษของนักศึกษาเหล่านี้ก็อยู่ข้างเดียวกับนักศึกษาชาวอุยกูร์โดยเตือนชั้นเรียนให้เคารพในกันและกัน รวมถึงถกเถียงอภิปรายความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสันติ

เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงที่ชั้นเรียนให้มีการแนะนำตัวเอง มีนักศึกษาชาวอุยกูร์จากมณฑลซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนแนะนำตัวเองโดยบอกว่าเขามาจาก "เตอร์กิสถานตะวันออก" ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวอุยกูร์จำนวนมากชอบใช้เรียกชื่อรัฐของตัวเองในอดีตโดยที่ในตอนนี้เป็นพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยจีน

นักศึกษาชาวอุยกูร์คนดังกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ RFA ว่าหลังจากที่เขาแนะนำตัวเองเช่นนี้แล้วผู้คนก็มองเขาด้วยความฉงนสนเท่ห์ ทันใดนั้นก็มีนักศึกษาจีนหลายคนลุกขึ้นกล่าวหาว่าเขาเป็นพวก "แบ่งแยกดินแดน" แต่นักศึกษาชาวอุยกูร์ก็ยังคงยืนยันให้นักศึกษาจีนเหล่านี้กลับไปทบทวนประวัติศาสตร์การแย่งชิงพื้นที่ในเขตนั้นให้ดีๆ

นักศึกษาอุยกูร์ที่ไม่ประสงค์ออกนามเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในจีนบอกกับสื่อว่าดินแดนดังกล่าวเป็นประเทศอิสระก่อนที่จีนจะรุกรานและอยู่ใต้การยึดครองของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตั้งแต่ปี 2492

นักศึกษาจีนได้ยินคำยืนกรานแล้วไม่พอใจจนตะโกนใส่เพื่อนร่วมชั้นว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้ "พูดต่อต้านจีน" ในชั้นเรียนนั้น และขู่ว่าจะรายงานนักศึกษาอุยกูร์ต่อสถานทูตจีน แต่นักศึกษาอุยกูร์ก็ตอบกลับไปว่า "ถ้าคุณรายงานผมต่อเจ้าหน้าที่ทางการจีน ผมก็จะรายงานคุณต่อรัฐบาลอเมริกัน แล้วเราจะได้รู้กันว่าใครจะชนะ"

อัลชัต ฮัสซัน ประธานสมาคมอุยกูร์อเมริกันเปิดเผยว่าเขาทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมองว่านักศึกษาอุยกูร์มีสิทธิที่จะรายงานนักศึกษาจีนกลุ่มนี้ต่อเจ้าหน้าที่

ฮัสซันเล่าต่อไปว่าอาจารย์ในชั้นเรียนเตือนกลุ่มนักศึกษาจีนว่าถ้าพวกเขายังทำตัวระรานนักศึกษาชาวอุยกูร์ต่อไป นักศึกษาชาวอุยกูร์ก็อาจจะร้องเรียนต่อเอฟบีไอและพวกเขาถูกนำตัวไปสอบปากคำได้ หลังจากนั้นก็ทำให้นักศึกษาจีนรู้สึกกังวลที่ได้ยินเรื่องนี้จนขอร้องว่าอย่าทำให้เรื่องเลยเถิดไปและขอให้ยุติเพียงเท่านี้

แต่เรื่องแบบนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ใช่การโต้แย้งในชั้นเรียนเพียงเท่านั้น มีนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ แสดงความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าทางการจีนกำลังแทรกซึมเข้ามาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ คริสโตเฟอร์ เวรย์ เคยกล่าวต่อที่ประชุมสภาคองเกรสว่าทางการจีนวางสายสืบแทรกซึมเข้ามาในหลายสถานศึกษา ขณะที่วุฒิสมาชิกฟลอริดาก็เตือนว่าทางการจีนพยายามที่จะปิดกั้นการถกเถียงอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพวกเขา

มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 100 แห่งในสหรัฐฯ ที่ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการจัดตั้ง "สถาบันขงจื้อ" เพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษาจีนและการปลูกฝังมุมมองประวัติศาสตร์ในแบบที่เข้าข้างจีน

มาร์โก รูบิโอ ส.ว. รัฐฟลอริดากล่าว่าศูนย์เหล่านี้เป็น "เครื่องมือแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองของจีน" และเคยส่งจดหมายขอร้องให้สถานศึกษาเหล่านั้นตัดคามสัมพันธ์กับกลุ่มของจีน รูบิโอกล่าวอีกว่ามีการเซนเซอร์ตัวเองเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในสถานศึกษาที่มีกลุ่มสถาบันขงจื้อเข้าไปมีอิทธิพล โดยมีการพยายามจำกัดการถกเถียงอธิปรายในเรื่องที่อ่อนไหวทางการเมืองต่อจีนอย่างเรื่องไต้หวัน, ทิเบต, การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532 และเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนสากล

เรียบเรียงจาก
Uyghur Student in US Faces Down Chinese Threats to 'Turn Him In', Radio Free Asia, 27-02-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น