โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา

Posted: 06 Sep 2018 10:43 AM PDT

กรณีกองทัพพม่ากวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2560 จนเป็นเหตุให้มีอพยพมากกว่าเจ็ดแสนคน ล่าสุดศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ลงความเห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในเขตอำนาจศาล ICC ซึ่งแม้พม่าจะไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ศาล ICC มีอำนาจพิจารณาคดี "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นมีลักษณะข้ามพรมแดนและขยายไปสู่บังกลาเทศที่เป็นสมาชิกของ ICC

ภาพจากดาวเทียมในปี 2018 แสดงส่วนหนึ่งของค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ Kutupalong เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ใกล้ชายแดนรัฐยะไข่ของพม่า (ที่มา: Googlep Maps)

ผู้พิพากษาที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตัดสินให้ทาง ICC มีอำนาจพิจารณาสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องที่กองทัพพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาจนส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาหลายแสนคนถูกบีบให้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเกิดตัวเอง

ICC ระบุในแถลงการณ์ว่าหัวหน้าอัยการจะต้องนำคำตัดสินพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศไปใช้ประกอบกับคดีด้วย ในขณะที่เธอยังคงดำเนินการสืบพยานหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับอาชญากรรมที่มีการกล่าวหาว่ากระทำต่อชาวโรฮิงญา

ICC ระบุอีกว่าการสืบพยานหลักฐานเบื้องต้นดังกล่าวเป็นไปเพื่อพิสูจน์ว่ามีหลักฐานมากพอที่จะทำการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีข้อสรุปภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล

สื่อเอบีซีระบุว่าพม่าไม่ได้เป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะที่บังกลาเทศเป็นสมาชิก ทาง ICC ให้เหตุผลที่พวกเขามีอำนาจพิจารณาคดีในข้อกล่าวหา "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ของพม่าได้เพราะว่าเหตุที่เกิดขึ้นมีลักษณะข้ามพรมแดนและขยายไปสู่รัฐที่เป็นสมาชิกของ ICC อย่างบังกลาเทศ

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 3 ก.ย. 2561

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา, 29 ส.ค. 2561

แอมเนสตี้เปิดชื่อนายทหารพม่าเอี่ยวโจมตีชาวโรฮิงญา-เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, 29 มิ.ย. 2561

"400 ลายนิ้วมือ" ประจักษ์พยานหญิงโรฮิงญาฟ้องศาลโลกเปิดโปงความโหดเหี้ยมกองทัพพม่า, 5 มิ.ย. 2561

ก่อนหน้านี้เมื่อ 27 ส.ค. องค์การสหประชาชาติออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากรายงานของคณะทำงานอิสระค้นหาความจริงกรณีพม่าขององค์การสหประชาชาติ (IIFFMM) เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำของกองทัพพม่าขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในความผิด 3 ข้อหา ได้แก่อาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายงานของ IIFFMM ได้กล่าวหาบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นผู้ก่อการนำโดย พล.อ.อาวุโส มิ่น อ่อง หล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า และผู้บัญชาการหน่วยที่ลดหลั่นลงมาในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรง โดยรายนามผู้ถูกกล่าวหาฉบับเต็มจะถูกส่งไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นอกจากนี้ในรายงานยังได้กล่าวถึงรัฐบาลพลเรือนพม่าว่าแม้จะมีอำนาจควบคุมกิจการกองทัพอยู่น้อย แต่ก็ไม่เห็นว่าอองซานซูจี ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลในทางปฏิบัติ จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และอำนาจที่เธอมีในทางศีลธรรมในการควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่พลเรือนยังทำหน้าที่แพร่กระจายข้อมูลเท็จ ช่วยกองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และยังช่วยดูแลการทำลายหลักฐานอีกด้วย รัฐบาลพลเรือนจึงถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เรียบเรียงจาก

Judges rule ICC has jurisdiction over Rohingya deportations, ABC News, 06-09-2018

ICC Pre-Trial Chamber I rules that the Court may exercise jurisdiction over the alleged deportation of the Rohingya people from Myanmar to Bangladesh, ICC, 06-09-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จีนเดินหน้าปล่อยกู้แอฟริกา 6 หมื่น ล. ดอลลาร์ เมินเสียงวิจารณ์กรณีก่อภาวะหนี้สิน

Posted: 06 Sep 2018 09:50 AM PDT

ทางการจีนลั่น ลงทุนในแอฟริกาอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังประชุมสุดยอดผู้นำ จีน-ภูมิภาคแอฟริกาที่จัดขึ้นแบบไม่แคร์เสียงวิจารณ์ว่าโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ของจีนกำลังทำให้แอฟริกาจมลงไปในกองหนี้สิน เสียเปรียบการแข่งขันของธุรกิจในประเทศเมื่อเจอนายทุนจากแดนมังกร

ภาพงานประชุมสุดยอดผู้นำจีน-ประเทศในทวีปแอฟริกา (ที่มา: focac.org)

6 ก.ย. 2561 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำจากกลุ่มประเทศในแอฟริกาเข้าร่วมประชุมท่ามกลางข้อกังขาที่ว่าโครงการ 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road - OBOR)' ที่จีนเข้าไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกานั้นยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สินของประเทศแอฟริกาบางประเทศย่ำแย่ลงกว่าเดิมหรือไม่

การประชุมซัมมิทในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยเจ้าหน้าที่ทางการจีนและแอฟริกาต่างก็ไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และทางการจีนยังจะปล่อยเงินช่วยเหลือแอฟริกาเพิ่มในวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ในการประชุมเมื่อปี 2558 ก็เคยให้เงินช่วยเหลือในวงเงินเดียวกัน

แมคกี ซัลล์ ผู้นำประเทศเซเนกัลบอกว่าข้อตกลงกับจีน "อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสมบูรณ์แบบ" โดยไม่สนใจเสียงวิจารณ์ ส่วน ไซริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้กล่าวว่าพวกเขาสามารถทำข้อตกลงกับจีนได้ในการพยายามทำให้ "เกิดการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสู่จีน" และบอกว่าการประชุมนี้เป็น "การเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา"

นอกจากให้สัญญาเรื่องวงเงินช่วยเหลือประเทศแอฟริกา 60,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 3 ปีถัดจากนี้แล้ว สีจิ้นผิงยังบอกว่าจะยกเลิกหนี้สินให้กับประเทศที่ยากจนที่สุดในแอฟริกาด้วย โดยในวงเงินดังกล่าวจะประกอบด้วยทั้งเงินให้เปล่า 15,000 ล้านดอลลาร์ เงินกู้ระบบต่างๆ 20,000 ดอลลาร์ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การจัดสรรเงินทุนพัฒนา" 10,000 ล้านดอลลาร์ และเงินที่ใช้ซื้อของนำเข้าจากแอฟริกา 5,000 ดอลลาร์ และจะมีการส่งเสริมให้บริษัทจีนเข้าไปลงทุนในประเทศแอฟริกาในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ฉู่จิงหู ผู้แทนพิเศษของจีนในกิจการแอฟริกากล่าวว่าทางการจีนได้พยายามอย่างมากในการสร้างความร่วมมือกับแอฟริกา และมีการค้นคว้าอย่างละเอียดแล้วก่อนเลือกทำโครงการ ทั้งยังบอกกับสื่อว่าจีนไม่ได้กำลังเพิ่มหนี้ให้กับแอฟริกา

สื่ออัลจาซีราระบุว่าในขณะที่สีจิ้นผิงชื่นชมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ให้เงินกู้ยืมเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และอื่นๆ แต่ก็มีนักวิจารณ์มองว่าโครงการอุปถัมภ์เหล่านี้กำลังทำให้ประเทศบางประเทศจมอยู่ภายใต้ภาระหนี้สินมหาศาล

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์เคยเปิดเผยข้อมูลว่าจีนให้เงินกู้ยืมประเทศแอฟริกันรวมแล้ว 125,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างปี 2543-2559 ขณะที่งานวิจัยของศูนย์เพื่อการพัฒนาโลกจากสหรัฐฯ ระบุว่าโครงการเช่นนี้ของจีนทำให้เกิดความ "น่าเป็นห่วงอย่างมาก" เกี่ยวกับเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในแถบเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาที่รับทุนจากจีน

สะพานข้ามแม่น้ำบริษัทจีนสร้างในเคนยาถล่ม เจ็บ 28 ราย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่คนในประเทศที่รับทุนจากจีนทักท้วงคือการที่จีนมักส่งแรงงานประเทศตัวเองเข้าไปทำงานก่อสร้าง รวมถึงมองโครงการให้เงินกู้ยืมของจีนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัทของชาวจีนเองเท่านั้น ความกังวลเหล่านี้อาจจะเพิ่มมากขึ้นในประเทศอื่นๆ ของโลกที่ตั้งคำถามว่า "การช่วยเหลือ" ของจีนมีราคาที่ต้องจ่ายสูงเกินไปหรือไม่

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดลีเนชัน ก็เขียนวิจารณ์เรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) ว่าถึงเวลาแล้วที่เหล่าผู้นำประเทศแอฟริกาเหล่านี้จะพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องความสัมพันธ์กับจีน บท บ.ก. ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าทุนจีนไม่เพียงแต่จะสร้างเรื่องน่าเจ็บปวดทางการเงินให้แอฟริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งอิทธิพลเข้ามาในระดับสังคมแอฟริกัน ไม่ว่าจะเป็นการแย่งงานคนในพื้นที่ หรือการส่งผู้จัดทัวร์จีนเข้ามาแย่งพื้นที่ของไกด์ทัวร์ภายในประเทศเคนยาเอง

ทั้งนี้ เคยมีกรณีที่อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด นาชีด ของมัลดีฟส์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปัจจุบันของประเทศตัวเองที่ทำให้ประเทศติดค้างหนี้สินจีน สร้างความเสียเปรียบในการต่อรองถ้าหากจีนจะอ้างยึดครองพื้นที่มัลดีฟส์ นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำกับจีนเป็นโครงการจำพวกที่ทำในเชิง "อวดเบ่ง" ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง

อดีตผู้นำมัลดีฟส์เตือนประเทศอาจถูกจีนยึด เหตุหนี้สินมหาศาลในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

เรียบเรียงจาก

At China-Africa summit, officials dismiss debt criticism, Aljazeera, Sep. 5, 2018

Africa should weigh China ties for gains, Daily Nation, Sep. 3, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อันวาร์ อิบราฮิม จวก จนท. ใช้กฎอิสลามโบยผู้หญิงข้อหาเลสเบียน ชี้ ตีความคับแคบ

Posted: 06 Sep 2018 09:13 AM PDT

อันวาร์ อิบราฮิม นักการเมืองมาเลเซียชื่อดังวิจารณ์กรณีเจ้าหน้าที่ศาสนาอิสลามนำกฎหมายชะรีอะฮ์มาตัดสินโบยผู้หญิงด้วยข้อหาพยายามมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน โดยอันวาร์กล่าวว่าเป็นการตีความกฎหมายที่บิดเบือน ไม่ผ่านกระบวนการตามกฎหมาย

อันวาร์ อิบราฮิม (ที่มา: wikipedia)

โปรย - จากกรณีหญิง 2 คนในมาเลเซียถูกลงโทษโบยตีเพราะถูกกล่าวหาว่าพยายามมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ แม้แต่นักการเมืองอิสลาม อันวาร์ อิบราฮิม ก็วิจารณ์การลงโทษในครั้งนี้ว่ามาจากการตัดสินที่ปราศจากขั้นตอนตามกฎหมายและมาจากการตีความกฎหมายชะรีอะฮ์แบบคับแคบ-บิดเบือน

อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคยุติธรรมประชาชน (พีเคอาร์) วิจารณ์กรณีที่เจ้าหน้าที่ศาสนาอิสลามสั่งโบยผู้หญิง 2 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน โดยบอกว่าเป็นการตัดสินที่ปราศจากกระบวนการทางกฎหมาย

อันวาร์ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวขณะไปเยือนงานประชุมในฟิลิปปินส์ว่า ถึงแม้เขาจะเป็นชาวมุสลิมแต่ก็ไม่ได้ตีความในลักษณะเดียวกับที่ทำให้เกิดการลงโทษผู้หญิง 2 คนนั้น ซึ่งเป็นการลงโทษต่อหน้าสาธารณชนโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายและขาดความเข้าใจ

อันวาร์ยังกล่าวว่า การลงโทษที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่แม้แต่รัฐบาลของพรรคแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน ในปัจจุบันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาของสังคมมาเลเซียที่นำกฎหมายอิสลามมาใช้พิจารณาความของรัฐ เขายังได้วิจารณ์ว่าการลงโทษหญิงสองคนนี้เป็นการนำกฎศาสนามาตีความแบบที่คับแคบและบิดเบือน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่่ผ่านมาศาลสูงชะรีอะฮ์ในเมืองกัวลาตรังกานูตัดสินโบยหญิง 2 คนอายุ 22 ปี และ 32 ปี ซึ่งพวกเธอถูกกล่าวหาว่าพยายามมีเพศสัมพันธ์กัน ศาลโทษด้วยการโบยพวกเธอ 6 ครั้ง ต่อหน้าฝูงชนราว 100 คน ทั้งนี้ มีกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการจับกุมและลงโทษดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ทางการมาเลเซียยอมรับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศน้อยลง

อันวาร์เปิดเผยอีกว่าคนที่วิจารณ์เรื่องนี้ต้องคอยระวังว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ "ต่อต้านอิสลาม" หรือเป็นพวก "สายโลกวิสัย" ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดการต่อสู้กันภายในสังคมมุสลิมกันเอง ตัวเขาเองไม่ได้ต่อต้านกฎหมายชะรีอะฮ์ แต่ในฐานะที่อยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะเน้นวัตถุประสงค์ในขั้นสูงกว่าของชะรีอะฮ์ นั่นคือการทำให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง ความยุติธรรม การอดกลั้นต่อความแตกต่าง การศึกษา และความเข้าใจ แต่ในตอนนี้ชะรีอะฮ์ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับวัตถุประสงค์ในขั้นสูงกว่าเช่นนี้ ทำให้อันวาร์เสนอให้มีการอภิปรายหารือกันเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม

"เราควรจะอภิปรายหารือกันดีกว่า แล้วก็ไม่เอาแต่ยืนกรานว่าการตีความของคุณเป็นฝ่ายถูก ถึงแม้ว่ามันจะใช่ แต่นั่นคือสิ่งสำคัญที่มาอันดับแรกล่ะหรือ? สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่ควรจะกลายเป็นคำถามขับเคลื่อนภายในสังคมมุสลิมก่อนที่พวกคุณจะตัดสินใจนำกฎหมายชะรีอะฮ์มาใช้" อิบราฮิมกล่าว

เรียบเรียงจาก

I'm a practising Muslim and I disagree with Terengganu caning, says Anwar, Free Malaysia Today, Sep. 5, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทหารรวบตัวผู้หญิง 2 คน เหตุสวมเสื้อยืดต้องห้าม

Posted: 06 Sep 2018 07:37 AM PDT

ศูนย์ทนายความฯ แจ้งว่า ทหารในเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เข้าควบคุมตัวหญิง 2 ราย จากเหตุที่มีเสื้อยืดสีดำติดโลโก้ลายขาวสลับแดง ส่งตัวกลับบ้านแล้ว 1 สั่งห้ามซื้อเสื้อเพิ่มและห้ามใส่อีก ส่วนอีกรายยังไม่ทราบที่คุมตัว

6 ก.ย. 2561ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ได้รับการติดต่อจากหลานสาวของ สุรางคณาง (นามสมมติเธอขอไม่เปิดเผยตัว) ประกอบอาชีพช่างเสริมสวย โดยระบุว่าวันนี้ช่วงเวลาประมาณ 7.00 น. น้าของเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมตัวไปจากบ้านย่านเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร หลังกลับจากจ่ายตลาดพร้อมกับลูกสาว อายุ 11 ปี โดยมีทหารในเครื่องแบบ 4 นาย ชายในชุดสีดำประมาณ 5-6 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหญิงสวมเสื้อสีดำติดตราเครื่องหมาย แต่เธอไม่ทราบสังกัด เดินทางมาด้วยรถตู้สีเทาหนึ่งคัน และรอสุรางคณางอยู่ที่หน้าบ้าน

หลานสาวระบุต่อว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับ สุรางคณางว่าขอพูดคุยด้วยเรื่องเสื้อยืดของเธอที่มีโลโก้ลายขาวสลับแดง และขอดูเสื้อดังกล่าว โดยไม่ได้มีหมายค้นใดๆ เธอจึงนำเจ้าหน้าที่หญิงกับทหารชายหนึ่งนายขึ้นไปตรวจดูเสื้อดังกล่าวที่ชั้นสองของบ้าน ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารจะได้ยึดเสื้อที่เธอมีอยู่ 1 ตัวไป ยึดโทรศัพท์ของ สุรางคณาง ค้นข้าวของบางส่วนในห้อง และได้มีการยึดโทรศัพท์ในห้องไปด้วย ขณะนั้นลูกสาวของ สุรางคณางยังนั่งรับประทานอาหารรอไปโรงเรียนอยู่ ทหารได้รอจนลูกสาวเธอรับประทานอาหารเสร็จ ระหว่างนี้ได้ยึดโทรศัพท์ที่ลูกสาวเล่นอยู่ไปด้วย จากนั้นจึงนำตัวลูกสาวขึ้นรถตู้ไปพร้อมกับ สุรางคณาง เพื่อไปส่งลูกสาวที่โรงเรียน ก่อนคุมตัว สุรางคณางไป และแจ้งกับลูกสาวว่าจะนำตัวแม่ไปในเมือง โดยจะนำมาตัวกลับมาส่งที่บ้านตอนบ่าย 3 โมง

ต่อมา เวลาประมาณ 9.00 น. สุรางคณางได้โทรศัพท์ติดต่อมาที่หลานสาว ก่อนแจ้งว่า ไม่รู้ว่าอยู่ไหน เพราะถูกปิดตาขณะมาในรถ แต่ยังปลอดภัยอยู่

หลานสาวของสุรางคณางยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประมาณ 2-3 เดือนที่แล้ว สุรางคณางได้สั่งซื้อเสื้อยืดสีดำที่มีลายลักษณะดังกล่าวมาทางอินเตอร์เน็ท จากนั้นเมื่อ 1 เดือนก่อน ได้ใส่เสื้อดังกล่าว แล้วมีบุคคลคล้ายทหาร 2 นาย แต่งชุดดำเข้ามาขอคุยด้วยที่ร้านเสริมสวยของสุรางคณาง แต่เธอได้ปฏิเสธการคุยเพราะมีลูกค้าอยู่ ชายทั้งสองคนจึงเดินทางกลับไป

ปัจจุบันศูนย์ทนายความฯ สามารถติดต่อ สุรางคณางได้แล้ว เธอบอกว่ากลับถึงบ้านแล้วในเวลา 20.30 น. เธอเล่าเพิ่มเติมว่าเธอถูกนำตัวไป มทบ.11 และถูกเจ้าหน้าที่ทหารสอบถามเกี่ยวกับเสื้อดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ยังห้ามเธอใส่และห้ามซื้อเสื้อเพิ่มอีก อีกทั้งทหารยังบอกว่าทหารได้คุมตัวคนขายแล้วและได้มีการซัดทอดถึงผู้ผลิตแล้ว

สุรางคณาเล่าว่าเครื่องมื่อสื่อสารที่ถูกยึดไปเจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูเนื้อหาการคุยและประวัติการใช้งานโทรศัพท์ แต่ตอนปล่อยตัวเธอได้รับคืนมาหมดแล้ว และเจ้าหน้าที่ได้ให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองและการควบคุมตัวเป็นไปโดยไม่มีการทำร้ายขู่เข็ญ

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากแม่ของ วรรณภา (สงวนนามสกุล) ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปจากบ้านพักย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ไป โดยขณะนี้ยังไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว

รายละเอียดจากแม่ของวรรณภาเล่าว่า ประมาณ 07.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 7-8 คน  ได้ใช้รถตู้สองคัน มาควบคุมตัววรรณา ซอยด่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่ได้บอกว่าจะเอาตัวไปไหนและยังยึดเสื้อดังกล่าวไปด้วยอีกหลายตัว ทั้งนี้ขณะเกิดเหตุมีลูกชายอายุ 12 ปี อยู่ด้วย

ทั้งนี้ในเวลาประมาณ 17.45 น. ลูกชายของวรรณภาโทรศัพท์มาแจ้งศูนย์ทนายความฯ ว่ามีทหารมาหาที่ห้องพัก และเอาเงินมาให้ บอกว่านางวรรณภาฝากให้เอาเงินมาให้ 400 บาท แล้วบอกว่าพาไปปรับทัศนคติ แต่ไม่บอกว่าจะปล่อยตัวเมื่อไหร่

แม่ของวรรณภาสำทับด้วยว่าทุกคนเป็นห่วงความปลอดภัยของคนที่หายตัวไป อยากให้ศูนย์ฯช่วยประสานงานหาทางติดต่อและขอให้ช่วยติดตามตัว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

“แล้วแต่นโยบาย”: อนาคตผู้ลี้ภัย 181 ชีวิตที่กลับบ้านเกิดก็ไม่ได้ อยู่ประเทศไทยก็โดนขัง

Posted: 06 Sep 2018 03:56 AM PDT

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเผย ผู้ลี้ภัยยังไม่ถูกส่งตัวกลับ ต้องรอพิจารณาความพร้อม ยกเคสโรฮิงญา หากกลับไปเผชิญอันตรายก็ "ดูแล" กันต่อไป ชี้บัตร UNHCR ไม่ให้การคุ้มครองเพราะไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ วอนสังคมเข้าใจต้องปฏิบัติตามหน้าที่

ผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุม ณ บ้านพักแห่งหนึ่งในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 (ภาพจากทวิตเตอร์ Jonathan Head)

การจับกุมผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวมอนตานญาดเผ่าจไรจากประเทศเวียดนามและกัมพูชา 181 คน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไทย เริ่มตั้งแต่การที่ผู้ถูกจับกุมถือบัตรสถานะผู้ลี้ภัยของสำนักงานใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ต่อมาด้วยการส่งตัวชาวกัมพูชาบางส่วนไปกักตัวเพื่อรอการส่งตัวกลับที่สำนักงานตรวจของเข้าเมือง (ตม.) ซอยสวนพลู ในขณะที่ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.บางใหญ่ ไปจนถึงการจับกุมเด็กมากกว่า 50 คน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายละเว้นการควบคุมตัวเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ประชาไทได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการท่านหนึ่ง ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ โดยระบุว่าในตอนนี้มีประมาน 20 คนถูกส่งตัวมาที่ ตม.สวนพลูเพื่อรอการส่งตัวกลับ เป็นชาวกัมพูชาทั้งหมด ส่วนที่เหลือหากขั้นตอนการดำเนินคดีแล้วเสร็จ ก็จะค่อยๆ ทยอยส่งมาที่ตม.สวนพลูเพื่อรอการส่งกลับเช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมชาวกัมพูชาจึงมาถึงก่อน เพราะเป็นคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ระบุว่าสามารถส่งตัวคนกัมพูชาที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายกลับประเทศได้เลยโดยที่ไม่ต้องดำเนินคดี 

แต่ก็ใช่ว่าทั้ง 181 คนจะถูกส่งตัวกลับโดยทันที แหล่งข่าวกล่าวว่า จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความพร้อมในการส่งตัวกลับ ซึ่งจะประเมินในทุกมิติตั้งแต่สุขภาพ ศาสนา เชื้อชาติ และปัญหาในประเทศบ้านเกิด ซึ่ง ตม.จะประสานกับหน่วยงานอื่นๆให้เข้ามาช่วยประเมินความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) NGO รวมไปถึงล่าม 

หากพบว่ายังไม่มีความพร้อม ก็จะชะลอการส่งตัวออกไปแต่ก็จะถูกกักตัวอยู่ที่ ตม.สวนพลูต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือมาโดยตลอด แต่ถามว่าแนวโน้มในการส่งตัวกลับของเคสนี้จะเป็นอย่างไร หรือจะใช้ระเวลาพิจารณานานเท่าไหร่ แหล่งข่าวระบุว่าเขาตอบไม่ได้ เพราะต้อง "แล้วแต่นโยบาย" แต่ยืนยันว่าจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเร็วภายในอาทิตย์นี้ อย่างช้าภายในอาทิตย์หน้า

"ถามว่าจะถูกส่งตัวกลับไหม อันนี้ก็แล้วแต่นโยบาย นโยบายของใครก็ตอบไม่ได้ นโยบายอาจจะมีหลายที่ ก็แล้วแต่นโยบายว่าจะจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร แต่คนที่ถูกจับตัวแล้วส่งมาที่นี่เราก็ดำเนินการตามกฎหมาย ทุกคนทำตามหน้าที่หมด ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้"

ในประเด็นที่ผู้ถูกจับกุมถือบัตรสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR อยู่นั้น แหล่งข่าวระบุว่าทาง UNHCR เองก็รู้ดีว่าบัตรดังกล่าวไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะผู้ลี้ภัย ต่อให้มีบัตรดังกล่าว แต่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจเพราะเป็นปัญหาระดับโลก

"ผมก็มั่นใจในกระบวนการของ UNHCR ว่า คนที่ได้รับการคุ้มครองหรือที่เขาออกเอกสารคุ้มครองให้ก็คงจะเป็นคนที่เดือดร้อนจริงๆ แต่ปัญหาคือไอ้การคุ้มครองที่ว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ พอไม่มีกฎหมายรองรับ เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จะให้เจ้าหน้าที่จาก UNHCR มาขอความร่วมมือ ให้เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มันทำไม่ได้ แต่เราก็ควรจะให้ความสำคัญแหละ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้"

อีกหนึ่งข้อกังวลของฝ่าย NGO คือเรื่องของเด็กมากกว่า 50 ชีวิตที่ถูกจับกุม เพราะการกักขังเด็กถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งไทยลงนามไว้ในปี 2535 ที่ระบุว่า "การจับกุม คุมขัง หรือจำคุกเด็กจะต้องกระทำตามกรอบของฎหมายและจะต้องถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายโดยใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด"

แหล่งข่าวกล่าวว่าทาง ตม. มีการประสานไปยัง กรมกิจการเด็กและเยาวชน ของ พม. ให้มารับตัวเด็กไปดูแล แต่ติดปัญหาคือส่วนใหญ่มักไม่มีหน่วยงานใดอยากรับคนกลุ่มนี้ไป ซึ่งอาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดทางงบประมาน หรือทางกฎหมาย เพราะหากเด็กจะถูกย้ายไป พ่อแม่ก็ต้องตามไปด้วย เพราะไม่มีพ่อแม่คนใดอยากถูกแยกจากลูก การที่เด็กถูกกักร่วมกับพ่อแม่จึงเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็กในทางปฏิบัติ 

"เราไม่อยากขังเด็กหรอกครับ แต่ใครจะรับไป ในเมื่อพ่อแม่เขาก็อยู่ในนี้ ทุกวันนี้เราพยายามทุกอย่างมีทุกมาตรการ แต่ไม่มีใครที่ประสงค์อยากจะรับไป เราติดต่อสถานทูตไปให้มารับคนของเขาไปดูแล เราติดต่อพม. ไป และแน่นอนเด็กก็ต้องไปกับพ่อแม่ เพราะเป็นความสมัครใจของเขา พอเราถามเขาว่าจะให้ส่งลูกไปอยู่ที่อื่นไหมเขาก็ไม่ยอม"

แหล่งข่าวเสริมว่าสังคมในขณะนี้อาจจะกำลังมอง ตม. เป็นตัวร้ายที่ไปกักตัวผู้ลี้ภัยและเด็ก แต่อยากให้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย และเน้นย้ำว่า ตม. ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล หากไม่มีความพร้อมในการส่งกลับ หรือต้องกลับไปเผชิญอันตราย ก็จะไม่ได้รับการส่งกลับแน่นอน และ ตม. ก็จะดูแลคนกลุ่มนี้ต่อไปอย่างเต็มศักยภาพตราบใดที่ยังคงเป็นผู้ต้องกักอยู่ เขายังเน้นย้ำด้วยว่าตราบใดที่ยังอยู่ในอธิปไตยของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย

"ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า ตม.มีหน้าที่กักเพื่อรอการส่งกลับ มาทางไหนนก็กลับทางนั้น ถ้าเขาจะกลับไปเผชิญอันตรายเราก็ไม่ส่ง เราก็ถือปฏิบัติมาโดยตลอด อย่างโรฮิงญาเราก็ไม่ส่ง ก็เห็นๆ กันอยู่ การรับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว อยากให้ทุกคนมีวิจารณญาณฟังว่าเรามีหน้าที่อย่างไร เราคือประเทศไทย เราไม่ใช่ประเทศกัมพูชา เราไม่ใช่ประเทศอื่น เราก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของเรา" 

NGO ชี้ ไทยพยายามไม่กักเด็ก แต่ยังไม่ปฏิบัติ

 

เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 Global NextGen Index ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กได้เผยแพร่ผลการประเมินมาตรการกักขังเด็กของประเทศไทย และชี้ให้เห็นว่าแม้ไทยจะลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ออกคำสั่ง และมีมติคณะรัฐมนตรีหลายฉบับที่เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเด็ก แต่ก็ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังง 

ความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดมีดังนี้

  1. ด้านอนุสัญญาระหว่างประเทศ: ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาและพิธีสารสามในหกฉบับที่สนับสนุนการคุ้มครองเด็กในบริบทการอพยพเข้าเมือง

    ข้อเสนอแนะ: รัฐไทยควรจะให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย 2494 รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เพิ่มเติมด้วย

  2. ด้านกฎหมายภายในประเทศ: ประเทศไทยไม่มีกฎหมายห้ามการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ละเว้นแค่เด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปีเท่านั้น โดยอนุญาติให้เด็กอาศัยอยู่ร่วมกับแม่ของตนได้ มาตรา 22 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดว่าการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใดให้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญและห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 

    ข้อเสนอแนะ: รัฐไทยควรขยายการคุ้มครองเยาวชนจาก 15 ปีเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและพันธกรณีระหว่างประเทศ 

  3. กระบวนการคัดกรอง: ประเทศไทยมีกระบวนการคัดกรองและขั้นตอนการจำแนกประโยชน์สูงสุดของตัวเด็กอยู่ระดับหนึ่ง แต่ใช้กับผู้ลี้ภัยเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีการออกเอกสารให้กับเด็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาสถานะคนเข้าเมือง และมีการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและด้านการแปลอย่างจำกัด

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรดำเนินการตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ยึดถือเด็กเป็นศูนย์กลางโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กเดินทางมาเพียงลำพังโดยไม่มีผู้อุปการะ รัฐบาลควรจัดทำขั้นตอนการอุปการะเด็กเหล่านั้นโดยเร็วที่สุด

  4. สิทธิในการอยู่กับชุมชน: มีการออกคำสั่งใหม่ซึ่งอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและครอบครัวได้รับการยกเว้นจากการถูกควบคุมตัว อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ ก่อนหน้านี้ประเทศไทยอนุญาตให้มีการประกันตัวเด็กและครอบครัวให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่นโยบายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วนเพื่อรับประกันอิสรภาพของเด็กและครอบครัว นอกจากนั้นรัฐบาลควรมีความจริงจังในการใช้ประโยชน์จากทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การควบคุมตัว

  5. สิทธิ: รัฐให้ความช่วยเหลือด้านสังคมและที่อยู่อาศัยกับเด็กผู้เข้าเมืองและครอบครัวอย่างจำกัด เด็กผู้เข้าเมืองมีสิทธิ์ได้รับการศึกษา แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของรัฐที่มีความจำเป็นต่อชีวิตพวกเขา

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลต้องให้สิทธิทางการศึกษากับเด็กผู้เข้าเมือง รวมถึงที่อยู่อาศัย ความช่วยเหลือทางสังคม และบริการด้านสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ ควรมีมาตรการเพื่อรับประกันว่าคนเหล่านี้จะเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมอย่างทั่วถึง

  6. การกำกับดูแล: ในการพิจารณาคดีความเกี่ยวกับคนเข้าเมือง ศาลมักพิจารณาว่าคนกลุ่มนี้เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และควรได้รับโทษอย่างไรเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะพิจารณาพยานหลักฐานอื่นๆ ในการตัดสินว่าบุคคลลควรถูกควบคุมตัวหรือไม่ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือรายงานผลการควบคุมตัวผู้เข้าเมือง อีกทั้งไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้เข้าเมืองอย่างเป็นระบบ

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรปรับปรุงข้อมูลเชิงสถิติ จัดให้มีการจำแนกตัวแปรของข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้เข้าเมือง รวมทั้งจัดทำกลไกป้องกันระดับชาติเพื่อการตรวจสอบควบคุม

  7. คะแนนติดลบ: มีการคาดการณ์ว่ามีเด็กผู้อพยพมากกว่า 200 คน ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยในปี 2017 ซึ่งรวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ควรได้รับการยกเว้นภายใต้คำสั่งของรัฐบาลไทย การควบคุมตัวอาจกินเวลานานกว่าหนึ่งเดือน และต้องมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลไทยควรอย่างยิ่งที่จะยกเลิกการควบคุมตัวเด็กทุกคน ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกคุมขังเป็นเวลานาน

  8. เพิ่มเติม: มติคณรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ได้มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย" ให้รับผิดชอบจัดทำนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการคัดกรองผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสาร รัฐบาลไทยยังมีคำสั่งให้ยกเว้นการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและแม่ของตนได้  แต่การดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจนนัก

    ข้อเสนอแนะ: รัฐบาลควรปฏิบัติตามพันธสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็ก เคารพสิทธิของเด็กที่จะอยู่กับครอบครัว และร่วมมือกับภาคประชาสังคมให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ออกหมายจับ อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เบี้ยวฟังคำพิพากษาฎีกาคดีฆ่าตัดตอน ช่วงสงครามยาเสพติด

Posted: 06 Sep 2018 03:43 AM PDT

ศาลฎีกาออกหมายจับ อดีตผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เบี้ยวนัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีฆาตกรรมอำพราง เกียรติศักดื์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี เด็กนักเรียน ช่วงสงครามยาเสพติด และสั่งปรับนายประกัน 1 ล้านนัดอ่านฎีกาอีกครั้ง 11 ต.ค.นี้ 

6 ก.ย.2561 จากกรณี ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฆาตกรรมอำพราง เกียรติศักดื์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี เด็กนักเรียน จ.กาฬสินธุ์ ช่วงสงครามยาเสพติด คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 นั้น

วันนี้ เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่า พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 ที่ได้รับการประกันตัว และนายประกันไม่มาศาล ศาลได้สอบถามทนายความแล้ว ทราบว่า ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยที่ 5 ได้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับ ปรับนายประกันเต็มตา มจำนวน 1 ล้านบาท และนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้งวันที่ 11 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ และมีบิดาผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ร่วม โดยมีทนายความจากสภาทนายความและสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนให้การช่วยเหลือ โจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย ในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ 

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1-6 ประกอบด้วย ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54 ปี ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 49 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 57ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีต รอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดมียศและตำแหน่งขณะนั้น) 

สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คดีนี้ถือว่าเป็นคดีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นคดีส่วนน้อยที่สามารถนำผู้กระทำซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่การนำผู้กระทำมาดำเนินคดีนี้ก็ไม่ใช่เรืองง่าย ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีของการดำเนินคดี ญาติของผู้เสียหายต้องเดินทางร้องเรียนหลายหน่วยงาน มีการคุกคามญาติและพยานอย่างต่อเนื่อง พยานสำคัญกหาย บางรายตายอย่างมีเงื่อนงำ

คดีนี้สืบเนื่องจากกรณี เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี เด็กนักเรียน จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตด้วยการถูกฆ่าแขวนคอที่กระท่อมกลางทุ่งนาใน จ.ร้อยเอ็ด หลังจากได้รับการปล่อยตัวจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2547 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามกับยาเสพติด 

ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ และจำเลยที่ 6 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ศาลยกฟ้อง

ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. 2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 2 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และพิพากษากลับลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ที่มา : เพจ Human Rights Lawyers Association และผู้จัดการออนไลน์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ ชี้ รพ.เอกชนเพิ่มส่งผลต่อกำลังคนสาธารณสุขแน่นอน

Posted: 06 Sep 2018 03:13 AM PDT

คุยกับ 'นพ.ฑิณกร โนรี' นักวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ กับคำถามที่ว่า "หมอไทยขาดแคลนหรือไม่?" ระบุคำตอบของคำถามนี้สลับซับซ้อนกว่าแค่พอหรือไม่พอ แต่การบูมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะส่งผลกระทบต่อกำลังคนในระบบสาธารณสุขแน่นอน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีทิศทางว่าเราต้องการระบบสาธารณสุขแบบใด

ประเทศไทยสามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอต่อความต้องการ แต่สัดส่วนแพทย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับชนบทยังมีความเหลื่อมล้ำ สัดส่วนแพทย์ทั่วไปกับแพทย์เฉพาะทางไม่สมดุล ขณะที่อุตสาหกรรมความงามกำลังปั่นป่วนระบบกำลังคนสาธารณสุข

การเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนจะทำให้เกิดการแย่งตัวแพทย์และผลักดันให้ค่ารักษาพยาบาลของระบบโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยควรมี National Health Policy Board ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อกำหนดทิศทางระบบสุขภาพ

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับกระแสการใส่ใจสุขภาพที่ยังคงเป็นกระแสต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลุ่มทุนต่างๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลกันอย่างคับคั่ง นำมาสู่คำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับระบบสุขภาพ

เรื่องแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นการขาดแคลนแพทย์ ซึ่งมักถูกหยิบเป็นประเด็นเสมอเวลาเกิดปรากฏการณ์ลักษณะนี้ นี่อาจเป็นความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง

ต้องบอกว่าในเชิงจำนวนแล้ว ประเทศไทยมีแพทย์เพียงพอและจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ก่อนที่จะด่วนสรุปไปไกล ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่การสื่อว่า การผุดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนจะไม่กระทบต่อกำลังบุคลากรสาธารณสุข การขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยมีอยู่ แต่มีความสลับซับซ้อนกว่าแค่การขาดแคลนเชิงจำนวนแบบพื้นๆ ทั่วไป

นพ.ฑิณกร โนรี (ที่มาภาพ เว็บไซต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัยกำลังคนด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จะอธิบายให้เห็นความสลับซับซ้อนด้านกำลังคนสาธารณสุขที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

หมอไทยไม่ขาดแคลน แต่...

นพ.ฑิณกร ตั้งต้นจากอธิบายถึงระบบสุขภาพของไทยที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายส่วน ประกอบด้วยผู้ให้บริการที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าใหญ่ ขณะที่เอกชนก็เข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้น ส่วนต่อมาคือผู้ผลิต หมายถึงโรงเรียนแพทย์และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และส่วนที่ 3 คือสภาวิชาชีพ ข้ออ่อนก็คือที่ผ่านมาทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ค่อยทำงานร่วมกัน

"ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาผู้ผลิตผลิตแพทย์ตามความต้องการตลาดหรือไม่ ตอบว่าไม่ แต่ผลิตตามศักยภาพในการผลิตของตน การจะผลิตแพทย์ 1 คน แพทยสภาจะกำหนดคุณสมบัติของสถาบันการผลิต สมมติว่าถ้าคุณมีอาจารย์ 1 คน รับนักเรียนได้ 4 คน ก็ขึ้นกับว่าโรงเรียนแพทย์มีอาจารย์กี่คน วิธีนี้เรียกว่า Supply Driven โดยไม่สนใจว่าประเทศต้องการคนแบบไหน"

ประเทศไทยในอดีตประมาณ 30-40 ปีก่อน ประสบความขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุขในทุกวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขจึงนโยบายผลิตคนเพิ่มตลอด จากเมื่อ 20 ปีก่อนผลิตแพทย์ได้ปีละ 800 คน ปัจจุบันสามารถผลิตแพททย์ได้ปีละ 3,000 คน โดยเกณฑ์ที่ควรจะเป็นของสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรคือแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,500 คน ซึ่งปัจจุบัน แพทย์ 1 คนดูแลประชากรประมาณ 1,300 คน ถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้แล้ว เมื่อมองในมิตินี้ ประเทศไทยจึงไม่ได้ขาดแคลนแพทย์ ยิ่งไปกว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนแพทย์จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ขณะที่ประชากรไทยจะหายไป 2 ล้านคน เท่ากับแพทย์ 1 คนจะดูแลประชากรเพียง 700 คน ถือเป็นสัดส่วนที่เท่ากับประเทศอังกฤษในปัจจุบันนี้

"แต่สิ่งที่ประเทศไทยเจอคือปัญหาเรื่องการกระจาย"

การกระจายตัวของแพทย์คือปัญหา

ตัวเลขจากแพทยสภาระบุว่า แพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับทางแพทยสภามีจำนวน 60,000 คน ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนอีกครั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นพ.ฑิณกร กล่าวว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น่าแปลกใจและต้องถือว่าดีกว่าในอดีตมา

นพ.ฑิณกร เล่าว่า ในอดีตคนที่เข้าเรียนแพทย์ได้ส่วนใหญ่จะเป็นท็อปของประเทศ ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี การศึกษาในอดีตพบว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่เอ็นทรานซ์ติดแพทย์เป็นเด็กกรุงเทพฯ จึงคาดได้ว่าเมื่อเรียนจบและทำงานใช้ทุนต่างจังหวัดแล้ว แพทย์เหล่านี้ก็ต้องกลับบ้าน

เหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มโครงการแพทย์ชนบท ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทเมื่อ 20 ปีก่อน ด้ยการจัดสรรโควตาให้เด็กนักเรียนในแต่ละจังหวัด ถ้าจังหวัดใดขาดแคลนแพทย์มากก็จะได้รับโควตามาก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัย เงื่อนไขคือเมื่อเรียนจบต้องไปทำงานที่บ้านเกิด

"ระบบนี้ทำมา 20 กว่าปี ทำให้สัดส่วนดีขึ้นอย่างที่เห็น ไม่อย่างนั้นสัดส่วนจะแย่กว่านี้มาก เราพบว่าเด็กกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 80 ยังอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิด แต่สัดส่วนนี้ถือว่าโอเคแล้วหรือยัง ก็ไม่ค่อยดีครับ เพราะเรามีตัวเลขว่าแพทย์ในกรุงเทพฯ 1 คน ดูแลคนประมาณ 800-900 คน แต่แพทย์ในภาคอีสานดูแลประชากรประมาณ 4,000 คน

"กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ลง เช่น ทำตัวเลขแพทย์ต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ กับภาคอีสานให้แคบลง แต่จะไปบอกให้แพทย์กรุงเทพฯ ออกไปต่างจังหวัด มันเป็นไปไม่ได้ วิธีการคือใช้โครงการแบบนี้ ค่อยๆ ทำให้สัดส่วนดีขึ้น"

ความขาดแคลนที่ซ้อนอยู่ภายในจังหวัด

การกระจายตัวของแพทย์ทำให้เกิดสภาพความไม่พอเพียงระหว่างจังหวัด ทว่า ความไม่เพียงพอในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นความไม่พอเพียงภายในจังหวัด นั่นคือการขาดแคลนแพทย์ทั่วไปหรือจีพี (General Practitioner) ที่ไม่ได้สัดส่วนกันกับแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากค่านิยมในวงการแพทย์ไทย แพทย์ทั่วไปเกินร้อยละ 90 จะเรียนต่อเฉพาะทาง ส่งผลให้เกิดการกระจายที่ไม่เหมาะสม เช่น ใน 1 จังหวัดจะมีโรงพยาบาลเล็กๆ ที่เรียกว่าโรงพยาบาลระดับชุมชน ตำบล หรืออำเภอกับโรงพยาบาลจังหวัด โดยพบว่ามีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดมาก แต่แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนมีน้อย

"เพราะว่าในโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์จบใหม่ที่ไปใช้ทุน เป็นแพทย์จีพี พอใช้ทุนครบก็ไปเรียนต่อ เมื่อเรียนจบก็ขยับไปอยู่โรงพยาบาลจังหวัด เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลอำเภอจะขาดแพทย์ตลอดเวลา เติมไม่เต็ม ถ้าจังหวัดนั้นมีโรงพยาบาลเอกชน เขาก็จะขยับจากโรงพยาบาลจังหวัดมาโรงพยาบาลเอกชนภายในจังหวัด ถ้าดูในแต่ระดับ เราจะเห็นความแตกต่างของจำนวนบุคลากรต่อประชากร" นพ.ฑิณกร กล่าว

เมื่อถามว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นระหว่างแพทย์ทั่วไปกับเฉพาะทางคือเท่าไหร่ คำตอบที่ได้จาก นพ.ฑิณกร คือประเทศไทยไม่มีการกำหนด ซึ่งถือเป็นปัญหา

"ในอังกฤษกำหนดที่ 50:50 แต่ของเราที่เป็นอยู่คือแพทย์เฉพาะทาง 80 ต่อแพทย์ทั่วไป 20 แต่ของเราควรมีสัดส่วนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับระบบสุขภาพของประเทศนั้น ทำไมในอังกฤษกำหนด 50:50 เพราะเขาเป็นระบบการดูแลแบบปฐมภูมิ เป็นระบบที่แพทย์จีพีมีที่อยู่ที่ยืนในสังคม คนไข้ในอังกฤษอยู่ๆ ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลใหญ่ได้ ถ้าไปต้องเสียเงิน เขาต้องผ่านแพทย์จีพีก่อน ประเทศไทยพยายามนำมาใช้ แต่ระบบเรายังไปได้ไม่สุดทาง"

กล่าวคือระบบของอังกฤษ แพทย์ทั่วไปเป็นแพทย์หน้าด่านที่คอยคัดกรองทุกโรค จึงต้องการแพทย์ประเภทนี้จำนวนมาก ขณะที่ไทยใช้ระบบเหมือนสหรัฐฯ แพทย์สามารถเรียนได้ตามความต้องการ ถูกขับเคลื่อนด้วยตลาด แพทย์ทุกคนวิ่งไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

"ถ้าบ้านเรารัฐธรรมนูญบอกให้มีนโยบายหมอครอบครัว มี Primary Care Cluster คือการทำระบบปฐมภูมิให้เข้มแข็ง ถ้าเราเอาทางนี้จริงและไปให้สุดทาง บอกว่าสัดส่วนจีพีต้องมาก สัดส่วนเฉพาะทางน้อย ก็กำหนดทุนได้ แต่ผู้ผลิตกับผู้ใช้ไม่ได้สนใจกัน ผู้ผลิตก็อยากผลิตแพทย์เฉพาะทางไปเรื่อยๆ ตามจำนวนอาจารย์ที่มี แล้วไม่มีนโยบายใดๆ ไปบล็อก โดยที่ไม่รู้ว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยต้องการแบบไหน แต่ระบบสุขภาพของประเทศไทยอยากจะเป็นแบบไหนก็ไม่มีหน่วยงานไหนพูดชัดๆ เนื่องจากมีความซับซ้อนมาก"

ศัลยกรรมกำลังปั่นป่วนระบบกำลังคน

ในกลุ่มแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็มีความขาดแคลนซ้อนอยู่อีกเช่นกัน นพ.ฑิณกร กล่าวว่าแพทย์เฉพาะทางของไทยมี 70 กว่าสาขา ในกลุ่มเฉพาะทางบางสาขาก็ขาดแคลน เช่น แพทย์ผ่าตัดสมอง สมัยก่อนทั้งภาคมีแพทย์ผ่าตัดสมองเพียงคนเดียว แม้ปัจจุบันมีมากขึ้นจากการผลิตเพิ่ม แต่ก็ยังขาดอยู่ ขณะที่แพทย์เฉพาะทางที่ตอนนี้คนไปเรียนน้อยมากคือสูตินรีแพทย์ อันเนื่องจากปัญหาการฟ้องร้องที่มีมากจนแพทย์ไม่ไปเรียน นอกจากนี้ยังแพทย์อายุรกรรมทั่วไปและแพทย์ศัลยกรรมทั่วไปหรือแพทย์ผ่าตัดที่คนไม่อยากเรียน

การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในประเทศไทยสามารถฝึกอบรมได้ประมาณปีละ 1,500 คน โดยกระจายไปตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ตามสัดส่วนอาจารย์แพทย์ต่อนักเรียนแพทย์ ซึ่งเป็นกติกาที่กำหนดโดยแพทยสภา

"แม้ว่าแพทย์ 90 เปอร์เซ็นต์อยากจะเรียนต่อเฉพาะทาง แต่ก็ไม่ได้เต็มทั้ง 1,500 คน มีบางสาขาที่คนไม่ไปเรียนเลย แต่เด็กจะไปแย่งกันอยู่บางสาขา เป็นสาขาที่งานเบา เงินดี อย่างแพทย์ผิวหนังที่มีโควตาในการเรียนน้อยมาก นี่คือกลไกตลาดล้วนๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีสถาบันฝึกอบรมเปิดโดยไม่สนใจแพทยสภา เป็นการฝึกอบรมที่ได้ประกาศนียบัตรย่อยๆ เต็มไปหมด บางคลินิกยังเปิดอบรมเอง แล้วแพทย์ก็ไปเรียน พูดได้ว่าศัลยกรรมความงามเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ระบบปั่นป่วนอยู่ในเวลานี้"

รพ.เอกชนดูดแพทย์ ผลักค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

ความไม่เพียงพอในมิติต่างๆ เหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ นพ.ฑิณกร ตอบว่า "การเพิ่มขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนจะส่งผลต่อกำลังคนสาธารณสุขแน่นอนครับ เพราะบุคลากรมีจำกัด บุคลากรสาธารณสุข 80 เปอร์เซ็นต์ผลิตโดยภาครัฐ หมายถึงรัฐบาลใช้งบประมาณประเทศเพื่อผลิต เอกชนก็มาชุบมือเปิบทรัพยากรเหล่านี้ไป ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชนมีมาตลอด"

นพ.ฑิณกร อธิบายว่า เวลาที่เอกชนเปิดโรงพยาบาลมักเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางและรองรับคนไข้ภายในประเทศ แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางจะอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดและโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น จะเกิดการดึงแพทย์จาก 2 แหล่งนี้

"เวลาดึงแพทย์ก็จะดึงแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นแพทย์จีพี เขาไม่สนใจดึงแพทย์จีพีไปโรงพยาบาลเอกชน แต่เขาจะดึงแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลจังหวัด ผลโดยตรงต่อโรงพยาบาลชุมชนจะน้อย แต่โรงพยาบาลจังหวัดโดนแน่

"อีกส่วนคือกระทบกับโรงเรียนแพทย์ ถ้ามีแพทย์มือดี แพงเท่าไหร่เอกชนก็ซื้อ ดังนั้น คนไข้ไม่มีทางเลือกก็ต้องมาโรงพยาบาลเขา แล้วเขาจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ เป้าหมายของโรงพยาบาลเอกชนก็จะเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ แพทย์เฉพาะทางเก่งๆ ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ"

การดึงตัวแพทย์ก็คือการดึงด้วยรายได้ที่สูงกว่า หากโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงเรียนแพทย์จะรั้งตัวแพทย์กลุ่มนี้ไว้ย่อมต้องใช้รายได้เข้าสู้ ผลลูกโซ่คือจะผลักให้ค่ารักษาพยาบาลโดยรวมของระบบเพิ่มสูงขึ้น

"เมื่อค่าแรงเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเพิ่ม ภาระถูกผลักไปให้ประชาชน มันจะกระทบกับโรงพยาบาลรัฐหรือไม่ มันจะกระทบโดยอ้อม ถามว่าทำไมศิริราชจึงเปิดปิยมหาราชการุณย์ ทำไมรามาฯ จึงเปิดเซ็กชั่นพิเศษ ทำไมจุฬาจึงเปิดตึกพิเศษ เพราะเขาต้องการสู้กับเอกชนเพื่อรักษาบุคลากรกลุ่มนี้ไว้ เช่น ถ้าเอกชนจ้างแพทย์ด้วยเงินเดือน 1 แสนบาท โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ภายใต้ 30 บาท แพทย์ก็จะไหลออก

"กระทรวงสาธารณสุขต้องหาทางเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อสู้ มันดึงกันด้วยเงิน กระทรวงสาธารณสุขปรับตัวมาตลอดเรื่องค่าตอบแทนแพทย์ ปัจจุบันแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขค่าตัวแพงนะครับ เราเคยเสนอกระทรวงสาธารณสุขว่าอย่าสู้กันด้วยเงิน เพราะยังไงเราก็แพ้ เวลาจะออกระเบียบค่าตอบแทนใหม่ 1 ฉบับ ต้องใช้เวลาประชุมเป็นปี พอออกมา พรุ่งนี้เอกชนปรับทันที เราต้องสู้ด้วยเรื่องอื่น ด้วยเรื่องความเป็นอยู่ ภาระงาน ทัศนคติและจิตสำนึก"

สร้างซุปเปอร์บอร์ดที่ทุกฝ่ายยอมรับกำหนดทิศทางระบบสุขภาพ

ภายใต้สถานการณ์นี้จะแนวทางรับมืออย่างไร นพ.ฑิณกร กล่าวว่าขอตอบในฐานะนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องกำลังคน เขาอธิบายว่า 40 ปีก่อน โรงพยาบาลส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนมีน้อยมาก ถ้าสามารถจัดการภายในกระทรวงสาธารณสุขได้ก็เท่ากับจัดการโรงพยาบาลทั้งระบบได้ แต่เมื่อโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขแทบไม่มีอำนาจเพียงพอในการจัดการดูแลโรงพยาบาลเอกชน แม้แต่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยก็คุมไม่ได้ เพราะขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบสุขภาพของไทยมีลักษณะแยกเป็นส่วนๆ

นพ.ฑิณกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ระบบสุขภาพของประเทศไทยไม่มีทิศทางที่ก้าวไป ไม่มีหน่วยงานที่จะมองภาพรวมหรือบอกว่าระบบสุขภาพควรเป็นแบบใด เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก

"ที่ผ่านมามีแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความคิดว่าน่าจะต้องวางเป้าหมาย ทีนี้การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมานั่งคุยกันเฉยๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจในการเคาะ จึงมีแนวคิดว่าควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเป็นซุปเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพหรือ National Health Policy Board ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อกำหนดทิศทาง แล้วทุกคนนั่งบนโต๊ะร่วมกัน เห็นพ้องกับทิศทางนี้ แล้วแยกกันไปทำ แต่ชุดนี้ตั้งไม่ง่าย เพราะต้องดึงอำนาจที่แต่ละคนมีอยู่ในมือออกมา"

นั่นเป็นเรื่องในระยะยาว ส่วนระยะสั้นและระยะกลาง นพ.ฑิณกร อ้างอิงจากการศึกษางานพลวัตรระบบ ด้วยการมองอนาคตว่าระบบควรเป็นแบบไหน โดยการใส่ตัวแปรสำคัญที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันแล้วพยากรณ์อนาคตข้างหน้า ข้อค้นพบที่น่าสนใจประการแรกคือการเพิ่มโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ อีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่ทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นและยังทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากขึ้น

"เราต้องทำให้คนเจ็บป่วยน้อยลง ตัดวงจรการเจ็บป่วยให้ได้ การขยายโรงพยาบาลดูแลคนป่วยมากอย่างเดียว ถ้าคุณไม่สนใจคนป่วยน้อย คนไม่ป่วย หรือการสร้างเสริมสุขภาพ ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดว่าต้องลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาพ ข้อค้นพบคือถ้ากระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะลงทุน ต้องลงทุนด้านนี้ นโยบายปฐมภูมิเป็นนโยบายที่ดี ถ้าเลือกทิศทางนี้ให้ชัด สุขภาพประชาชนจะดีขึ้น เพราะจะตัดวงจรการเจ็บป่วยได้"

ข้อค้นพบประการที่ 2 คือกระทรวงสาธารณสุขไม่มีความสามารถดูแลสุขภาพประชาชนในอนาคตอีกต่อไป เนื่องจากมีทรัพยากรไม่พอ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องเปิดโอกาสให้เอกชนและท้องถิ่นเข้ามาร่วมให้บริการ

"แต่ถ้ามาร่วมบริการก็ต้องมีกลไกการจ่ายเงินที่ดึงดูดพอ รัฐบาลอาจต้องลงทุนเพิ่มขึ้น 30 บาทต้องเพิ่มเงินขึ้น ถ้ามีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพดี

"เรื่องของระบบสุขภาพไม่มีนโยบายเดียวแล้วใช้ได้ทุกอย่าง เพราะระบบมันซับซ้อนมากและพันกัน เวลาออกมาตรการต้องทำเป็นชุดนโยบาย เช่น จะแก้เรื่องนี้ต้องออกนโยบาย 4 เรื่องประกอบกัน ต้องทำตรงนี้นิด ตรงนี้หน่อย เพื่อทำให้ระบบหมุนได้ แล้วเดี๋ยวมันจะไปเอง"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คนทำงาน สิงหาคม 2561

Posted: 06 Sep 2018 02:27 AM PDT

'ปลัดแรงงาน' แจง บอร์ดประกันสังคม 'ยังไม่' อนุมัติเก็บเงินสมทบเพิ่ม 

Posted: 06 Sep 2018 02:23 AM PDT

ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจง คณะกรรมการประกันสังคมยังไม่ได้อนุมัติเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่ม เป็นเพียงข้อเสนอของบอร์ดประกันสังคมเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ยันขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังศึกษาผลกระทบและรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน

6 ก.ย.2561 จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสำนักงานประกันสังคมจะเก็บเงินสมทบรายเดือนกับผู้ประกันตนเพิ่ม จาก 750 บาทเป็น 1,000 บาท ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในขณะนี้นั้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้ดำเนินการใด ๆ แต่เป็นเพียงข้อเสนอของคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา (สิงหาคม 2559) ซึ่งเป็นการเพิ่มฐานการเก็บจากเดิม เก็บผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 5 % เดือนละ 750 บาท ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 20 ปี ตั้งแต่ปี 2538 โดยขณะนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 111 บาท แต่ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 310 บาท

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการประกันสังคมยังไม่ได้อนุมัติ และได้ให้สำนักงานประกันสังคมไปศึกษาผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในขณะนี้ ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 1506

ก่อนหน้านี้ (3 ก.ย.61) ข่าวสดออนไลน์ รายงานไว้ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคม และได้ตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวที่ถามถึงความคืบหน้านโยบายเพิ่มเพดานเงินเดือนจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาทสำหรับเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่มจากเดิมเพดานสูงสุดที่ 750 บาท เป็นสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน นั้น พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว จริงๆ ก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะจะดีในแง่ของผู้สมทบเพิ่มก็จะได้เพิ่มในส่วนของเงินบำนาญ และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆอีก แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ที่การสร้างความเข้าใจเป็นหลักก่อน โดยขณะนี้สปส.อยู่ระหว่างสร้างความเข้าใจในทุกฝ่าย หากยังมีกลุ่มเห็นต่างก็ต้องสร้างความเข้าใจก่อน

เมื่อถามถึงการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มีการกำหนดชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องมีการเลือกตั้ง แต่ต้องดูความเหมาะสมและความคุ้มค่าด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการ ซึ่งจะใช้วิธีการใดยังตอบไม่ได้ และผู้แทนลูกจ้าง นายจ้างต้องให้ความเห็นด้วย แต่จะพยายามเร่งให้เร็วที่สุด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: คนรุ่นใหม่จะสร้างประเทศแบบไหน

Posted: 05 Sep 2018 08:33 PM PDT

 

" นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องมายเซ็ทให้คนไทย

ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวหน้า

จึงอยากให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างประเทศไปด้วยกัน "

ท็อป จรณ โสรัตน์
ที่มา https://www.khaosod.co.th/politics/news_1528960

 

วาทกรรม "มาร่วมกันสร้างประเทศไทยไปด้วยกัน" ชวนให้ตั้งคำถามว่า "ประเทศไทยแบบไหน" ที่จะสร้าง และที่ว่า "ร่วมสร้างไปด้วยกัน" นั้น เป็นการร่วมสร้างภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม หรือกติกาที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้จริงอย่างเท่าเทียมหรือไม่ หรือเป็นเพียงร่วมกันเชื่อฟังและทำตามกรอบที่รัฐบาลทหารกำหนดให้ต้องทำ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกกีดกันออกไป หรือถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

หากดูจากประวัติศาสตร์การสร้างประเทศหรือ "รัฐประชาชาติ" ในโลกสมัยใหม่ ที่เริ่มจากยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย การสร้างประเทศย่อมไม่อาจแยกขาดจากการสร้างประชาธิปไตย

จุดเริ่มต้นของการสร้างประเทศหรือรัฐประชาชาติจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือการประกาศ "อุดมการณ์" ของประชาชาติ เช่นการปฏิวัติอเมริกัน (1775-1782) ได้สถาปนาอุดมการณ์ของประชาชาติผ่านคำประกาศอิสรภาพ (United States Declaration of Independence) ที่ถือเป็น "สัญญาประชาคม" ว่า ชาวอเมริกันทุกคนจะยึดถือหลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจของประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด รัฐบาลใดก็ตามที่เป็นอุปสรรคต่อหลักการนี้ ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้นได้

ส่วนการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1799) ก็มีคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง (The Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) สาระสำคัญคือ มนุษย์ทุกคนเกิดมามีเสรีภาพและความเสมอภาคในสิทธิทั้งหลาย ได้แก่ สิทธิในอิสรภาพ (liberty), ทรัพย์สิน (property), ความปลอดภัย (security) และการต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบ อิสรภาพ หมายถึง การมีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำสิ่งใดๆ ก็ได้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น ส่วนอะไรที่จะถือได้ว่าเป็น "กฎหมาย" (law) ต้องเป็นสิ่งแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปของประชาชน และการสื่อสารความคิดหรือทัศนะต่างๆ อย่างเสรี ย่อมเป็นสิทธิสำคัญสูงสุดอย่างหนึ่งในบรรดาสิทธิทั้งหลาย

 

หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคที่เป็นแรงบันดาลใจในการปฏิวัติอเมริกันและฝรั่งเศส คือแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ซึ่งเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่รุ่งเรืองในยุครู้แจ้ง (Enlightenment) อย่างไรก็ตาม ทั้งนักปรัชญาเสรีนิยมและบรรดาผู้สมาทานปรัชญาเสรีนิยมทำการปฏิวัติ ก็ไม่ได้พูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของทาสและผู้หญิง (ยกเว้น จอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ยืนยันสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง แต่เขาก็เห็นว่า คนรวยที่มีการศึกษาและจ่ายภาษี มีสิทธิเหนือกว่าคนจนที่ไร้การศึกษาและไม่สามารถจ่ายภาษี) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ต่อให้พวกเขามีความคิดก้าวหน้าล้ำยุค แต่บางเรื่องพวกเขาก็ยังติดในกรอบหรือบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในยุคสมัยของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง "เสรีนิยมคลาสสิก" (classical liberalism) ย่อมต่างจาก "เสรีนิยมใหม่" (neo-liberalism) ขณะที่เสรีนิยมใหม่เน้นเรื่องตลาดเสรี ซึ่งสร้างปัญหา "ความไม่เสรีจริง" เพราะนำไปสู่การผูกขาดโดยอำนาจทุนขนาดใหญ่ แต่เสรีนิยมคลาสสิกเน้น "คุณค่าเชิงศีลธรรม" (moral value) นั่นคือ ถือว่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นคุณค่าหรืออุดมการณ์สูงสุด แม้นักปรัชญาเสรีนิยมจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของทาส ผู้หญิง คนจน คนด้อยการศึกษาตั้งแต่แรก แต่การที่พวกเขาเสนอว่า "ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปไม่ได้เหมือนกัน" ได้ทำให้หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่พวกเขาเสนอกลายเป็นอุดมการณ์อ้างอิงในการต่อสู้เพื่อเลิกระบบทาส เลิกการแบ่งแยกชาติพันธุ์ สีผิว การเหยียดเพศ และความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ในเวลาต่อมา และคุณค่าแบบเสรีนิยมคลาสสิกก็ได้เป็นกลายรากฐานให้เกิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล และการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีดังที่เรารับรู้ในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญคือ ประวัติศาสตร์การสร้างประเทศหรือชาติของสังคมที่เจริญแล้ว เขาเริ่มจากการนำหลักสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคตามแนวคิดเสรีนิยมมาเป็น "อุดมการณ์" ของประชาชาติ ควบคู่กับ "ระบอบประชาธิปไตย" จึงเป็นระบอบ "เสรีประชาธิปไตย" (liberal democracy) เพราะเชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะสามารถให้หลักประกันที่มั่นคงแก่การมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคด้านต่างๆ ของประชาชนได้จริง และด้วยหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่านั้นที่ประชาชนจะสามารถใช้อ้างอิงตรวจสอบรัฐบาลไม่ให้หันกลับมากดขี่หรือฉ้อฉลอำนาจของประชาชน และผลประโยชน์ส่วนรวมได้จริง

ในบ้านเรา ประวัติศาสตร์การสร้างประเทศในความหมายนี้ เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 86 ปีมานี้ จากการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) ประเทศหรือรัฐประชาชาติที่สร้างขึ้นใหม่นี้อยู่ภายใต้การปกครอง "ระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ซึ่งหมายถึง อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและสถานะ อำนาจ บทบาทของกษัตริย์ถูกจำกัดให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยกำหนดไว้ โดยอุดมการณ์ของประชาชาติก็คืออุดมการณ์เสรีนิยม ได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ปรากฏในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ว่า "จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ…" ซึ่งสรุปออกมาเป็น "หลัก 6 ประการ" ของคณะราษฎร์ คือ "หลักเอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา" ดังที่ราบกัน

 

แต่ปัญหาคือ ทำไมเราจึงไม่สามารถสร้างประเทศขึ้นบนอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและเป็นประชาธิปไตยได้ คำตอบก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศที่เจริญแล้ว นั่นคือ การปฏิวัติไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในตัวมันเอง แต่มันส่งผลตามมาเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ลักษณะพิเศษของบ้านเราคือ ทหารหรือกองทัพเป็นฝ่ายมีอำนาจจริงในการสถาปนาอุดมการณ์ในการสร้างชาติผ่าน "รัฐประหาร" ซ้ำซาก ดังนั้น อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมจึง "ถูกเน้น" ให้มีความสำคัญสูงสุดเหนือกว่าอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้น

ทว่าอุดมการณ์สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่ "ฆ่าไม่ตาย" เหตุการณ์นักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ในประวัติศาสตร์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 และพฤษภา 53 เป็นต้น ย่อมยืนยันชัดแจ้งว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย

ฉะนั้น ความอีหลักอีเหลื่อของการสร้างประเทศภายใต้อำนาจเผด็จการไทยๆ ในระยะหลังๆ คือ ต่อให้ทำรัฐประหารล้มหลักการประชาธิปไตยแล้วเน้นอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมากขึ้นในการสร้างประเทศ พวกเขาก็จำเป็นต้องอ้างเรื่อง "การปฏิรูปประชาธิปไตย" และให้สัญญากับประชาชนว่า จะกลับไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสมอไป เพราะพวกเขาไม่สามารถเป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ตลอดไป

ภายใต้สภาวะอีหลักอีเหลื่อเช่นนี้ พวกเขาพยายามนำดารา นักแสดง นักร้องที่เชื่อว่าเป็น "ตัวแทนคนรุ่นใหม่" มาโฆษณาชวนเชื่อให้กับผลงานของตัวเอง เพื่อดึงดูความนิยมจากคนรุ่นใหม่ แต่ความต้องการ "ความนิยม" จากประชาชนของพวกเขามันผิดหลัก เพราะการพิสูจน์ความนิยมจากประชาชนได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ผ่านกติกาที่เสรีและเป็นธรรมเท่านั้น ขณะเดียวกันพวกเขาอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของ "คนรุ่นใหม่" เพราะนิยาม "คนรุ่นใหม่" ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของอายุ หรือเป็นคนมีชื่อเสียง รสนิยม ไลฟ์สไตล์ทันสมัยเท่านั้น แต่หมายถึงการเป็นคนมีความคิด มีจินตนาการ มีความใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมประเทศชาติมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ บนความยุติธรรมตามอุดมการณ์แห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยด้วยโดยนัยสำคัญ

เห็นได้จากสังคมเจริญแล้วเช่นสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป เขาให้การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองแก่ประชาชน หรือคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าของประเทศ โดยเน้นเรื่องจิตสำนึกรักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หลักนิติรัฐ เน้นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การมีใจเปิดกว้าง ความอดกลั้น ความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น การปกป้องสิทธิของตนเอง และยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น เคารพกฎหมายที่ยุติธรรมหรือกฎหมายที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นหน้าที่อันชอบธรรมที่จะคัดค้านกฎหมายที่อยุติธรรม เป็นต้น

เขาไม่เน้นการสอนให้พลเมืองท่องคำว่า "รักชาติๆๆๆ" วันละ 3 เวลา หลังอาหาร แต่ยิ่งอ้างว่ารักชาติมาก ยิ่งขาดสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย

ดังนั้น ความเป็นคนรุ่นใหม่จึงแสดงออกผ่านจิตสำนึกปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่ที่รู้ความหมายของ "การสร้างประเทศ" อย่างถูกต้อง เขาย่อมกระตือรือร้นที่จะสร้างประเทศของเขาให้มีความก้าวหน้าในด้านสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย ไม่ใช่สร้างประเทศหรือชาติที่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น