โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ประวัติศาสตร์คำพูดในเครื่องหมาย “อัญประกาศ” ก่อนความตายด้วย ม. 17 ของครอง จันดาวงศ์

Posted: 22 Sep 2018 09:38 AM PDT

"อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2504 จึงให้กรมตำรวจจัดการประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธ์ สุทธิมาศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์สืบไป ให้กรมตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งนี้ โดยเร็วที่สุด สั่ง ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2504 จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี"

คำสั่ง ให้ประหารชีวิตนายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธ์ สุทธิมาศ ด้วยมาตรา 17 ถูกอ่านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพลตำรวจโทนายหนึ่ง ณ บริเวณสนามหลังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสถานที่ประหารชีวิต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ณ เวลาประมาณเที่ยงตรง

นายครอง จันดาวงศ์ หรือครูครอง นับเป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ความสนใจในฐานะวีรบุรุษประชาธิปไตยที่ต้องสิ้นชีวิตลงด้วยคำสั่งมาตรา 17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีงานศึกษาเส้นทางชีวิต บทบาทและอุดมการณ์ทางการเมืองของนายครองในฐานะนักการเมืองและนักต่อสู้ทั้งในเชิงหนังสือและบทความต่างๆ และยังมีภาพประวัติศาสตร์สำคัญของนายครองก็คือ ภาพการเดินเข้าสู่ลานประหารอย่างไม่เกรงกลัวพร้อมด้วยท่าทางยกมือเหมือนพูดอะไรบางอย่าง แต่ทว่ารูปถ่ายย่อมไม่มีเสียง คำพูดของนายครองจึงมีอยู่เพียงในเครื่องหมายคำพูดหรือเครื่องหมายอัญประกาศจากหลักฐานชิ้นต่างๆ ที่เล่าเรื่องราว

แต่ทว่าเมื่อสำรวจหลักฐานที่กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนนายครองจะถูกประหาร หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า "ยิงเป้า" น่าสนใจว่า คำพูดของนายครองในเครื่องหมายอัญประกาศกลับมีความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงสนใจศึกษาหลักฐานที่ปรากฏการบันทึก เล่าเรื่อง หรือใส่คำพูดของนายครอง ที่ปรากฏในระหว่างช่องว่างของเครื่องหมายอัญประกาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประวัติศาสตร์คำพูดของนายครอง จันดาวงศ์ ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผู้เขียนเลือกแบ่งหลักฐานออกเป็น 2 ลักษณะ คือ หนึ่งหลักฐานร่วมสมัยจากหนังสือพิมพ์ และสองหลักฐานจากหนังสือและบทความซึ่งถูกเขียนขึ้นภายหลัง เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างของคำพูดจากหลักฐานทั้งสองแบบ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์หลังนายครองถูกจับ และถูกส่งตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ

ประวัติศาสตร์คำพูดในหลักฐานร่วมสมัยจากหนังสือพิมพ์

ในหนังสือพิมพ์สารเสรีรายงานข่าวว่าเมื่อผู้ต้องหาทั้ง 5 คน (ประกอบไปด้วย นายครอง จันดาวงศ์, นายวิทิต จันดาวงศ์, นายทองพันธ์ สุทธิมาศ, นายภักดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และนายบุญมา พงษ์บู่) ได้ถูกส่งตัวมาถึงสนามบินดอนเมือง เจ้าหน้าที่ให้ยืนเรียงหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ช่างภาพจับภาพ ผู้แทนหนังสือพิมพ์สารเสรี (หนังสือพิมพ์ที่จอมพลสฤษดิ์เป็นเจ้าของทุน) ได้ถือโอกาสสัมภาษณ์นายครอง โดยสอบถามว่า มีความรู้สึกอย่างไรต่อการที่ถูกจับกุมในข้อหาขบถ และถูกนำตัวมาที่กรุงเทพฯ คราวนี้คิดว่าเพราะปัญหาเรื่องมาตรา 17 หรือไม่ และหากคิดมีความรู้สึกอย่างไร

ในช่วงแรก เมื่อหนังสือพิมพ์สารเสรีเล่าคำพูดของนายครองนั้นไม่มีการใส่เครื่องหมายอัญประกาศ หากแต่เขียนเล่าคำพูดของนายครองต่ออีกที โดยเล่าว่า

นายครองอัดบุหรี่อย่างแรงแล้วตอบผู้แทน 'สารเสรี' ว่าไม่รู้สึกหวาดวิตกอะไร ที่ต้องถูกจับกุม เพราะตนไม่ได้ทำผิด สำหรับเรื่องมาตรา 17 ก็เหมือนกัน แม้จะหมายถึงการถูกยิงเป้าแต่ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัวเลยผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้ถามนายครองว่า ถ้าได้พบท่านนายกรัฐมนตรีจะพูดหรือขอร้องอะไรท่านบ้าง นายครองตอบว่าไม่คิดจะพูดอะไรกับท่านเกี่ยวกับการถูกจับกุม เพราะตนยังคิดว่าไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ามีโอกาสพบเมื่อไหร่ก็อยากจะเรียนถามท่านนายกฯ ว่าเมื่อไหร่จะมีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรสักที นายครองกล่าวต่อไปว่าตนเคยเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านย่อมทำอะไรที่อาจทำให้คนอื่นเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลบ้าง การถูกจับกุมคราวนี้จึงรู้สึกเฉยๆ เพราะเคยชินต่อเรื่องนี้เสียแล้ว

อย่างไรก็ดี ต่อมานายครองได้เข้าพบรองอธิบดีกรมตำรวจ หนังสือพิมพ์สารเสรีก็ได้ถามนายครองอีกครั้งว่าได้พูดอะไรกับท่านรองอธิบดี ถึงตรงนี้เริ่มปรากฏการใส่เครื่องหมายคำพูดนายครองมากขึ้น กล่าวคือ

นายครองตอบว่า ไม่พอใจที่รัฐบาลไม่ปล่อยอิสรภาพและเสรีภาพให้แก่ราษฎรโดยไม่ยอมมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร คนข่าวของเราได้ถามเพียงแค่นี้หรือจึงเป็นเหตุให้คุณคิดแบ่งแยกแผ่นดินตามที่เจ้าหน้าที่ได้กล่าวหา นายครองตักข้าวยัดใส่ปากด้วยมือสั่นเทา และตอบว่า "ผมไม่รู้เรื่อง" และย้อนว่า "ใครเป็นผู้แบ่งแยก ผมไม่ได้แบ่ง" คนข่าวของเราถามว่า ในการถูกจับครั้งนี้ หากมีการยิงเป้าคุณโดยใช้มาตรา 17 คุณคิดว่ายังไง รู้สึกอย่างไร นายครองหยุดยิ่งสักครู่แล้วตอบว่า "ยิงก็ยิง ผมไม่รู้สึกอะไร เพราะผมไม่มีอะไรจะยิงกันก็เอา"[1]

นอกจากหนังสือพิมพ์สารเสรีแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ที่รายงานเหตุการณ์นี้ โดยเขียนคำพูดของนายครองว่า "ผมอยากจะเรียนถามท่านนายกฯ ว่า เมื่อไหร่ท่านจะให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศและมีสภา"[2] ในขณะที่หนังสือพิมพ์ชาวไทยเขียนคำพูดของนายครองว่า "ผมนึกดีใจตั้งแต่ทราบข่าวแล้วครับ ผมอยากพบท่าน และจะได้มีโอกาสกราบเรียนความจริงต่างๆ ให้ท่านทราบทั้งหมด และผมจะบอกท่านด้วยว่า ขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเร็วๆ"[3]

การดำเนินการสอบสวนดำเนินการมาจนถึงปลายเดือน จนท้ายที่สุดบทสรุปของเหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ รายงานว่า "นายกตัดสินใจใช้ ม.17" ซึ่งก็นำมาสู่การประหารชีวิตนายครองและนายทองพันธ์ ถึงตรงนี้หนังสือพิมสยามนิกร รายงานย้อนหลังเล็กน้อยว่า เมื่อมีการให้นำตัวนายครองและนายทองพันธ์ส่งกลับตัวไปยังจังหวัดสกลนคร นายครองได้ฝืนยิ้มหันไปร่ำลากับผู้ต้องหาที่ขังร่วมในห้องขังว่า "ขอลาทุกๆ คนไปก่อน"[4]

หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับต่างรายงานการประหารชีวิตหรือยิงเป้านายครองกับนายสุทธิพันธ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพสารเสรีและไทรายวัน ที่นักข่าวได้เข้าไปเก็บภาพสถานการณ์ถึงในลานประหาร สารเสรีฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2504  ได้พาดหัวข่าวว่าถึงนายครองว่า " 'ครอง' ไม่สะทกสท้านขอเข้าส้วมก่อนเอาไปยิงเป้า" และเมื่ออ่านข้อความที่มีคำพูดของนายครองในเครื่องหมายอัญประกาศทั้งหมดพบเพียง 2 แห่ง ที่แรกคือเนื้อความของหัวรองข่าว (sub headline) ที่ว่า "เดินเข้าสู่ที่ประหารอย่างทรนง"

เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฏว่าเดินไปอย่างทรนงไม่หวาดหวั่นแต่อย่างไร โดยเฉพาะนายครองนั้นยังยิ้มอยู่ และเมื่อช่างภาพของเรายกกล้องขึ้นมาถ่ายนั้นร้องบอกว่า "อย่าถ่ายให้มากนักซี"

และคำพูดที่สองในหัวรองข่าวว่า "ครองเร่งให้ยิงเป้าเร็วๆ"

ก่อนจะถึงเวลา 12.13 น. ตามคำสั่งนั้น พล.ต.ประเสริฐ อยู่ประเสริฐ นายแพทย์กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 ได้ไปจับชีพจรทั้งสองคนดู ปรากฏว่านายทองพันธ์อ่อนลงไปเล็กน้อย ส่วนนายครองนั้นยังปกติ "ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ" เขากล่าวอย่างโอหัง[5]

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ไทรายวัน (ซึ่งก็เป็นหนังสิอพิมพ์ในเครือเดียวกับหนังสือพิมพ์สารเสรี) ได้ลงรูปนายครองขณะเดินเข้าสู่ลานประหารโดยมีโซ่กุญแจมือคล้องไว้ที่มือด้านซ้าย ขณะที่มือด้านขวายกขึ้นเหนือศรีษะประหนึ่งเหมือนเป็นท่าทีบอกอะไรบางอย่าง โดยภายใต้รูปดังกล่าวหนังสือพิมพ์ไทรายวันเขียนว่า

(ขวา) นายครองโบกมือบอกกับนักข่าวของเราขณะที่เจ้าหน้าที่นำเอาทั้งสองคนไปสู่ที่ประหารว่า "อย่าถ่ายให้มากนัก"[6]

สำหรับหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยขณะนั้น สองเป็นคำพูดของนายครองที่ว่า "อย่าถ่ายให้มากนัก" กับ "ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ" น่าจะเป็นสองคำพูดสุดท้ายของนายครองที่ปรากฏในเครื่องหมายอัญประกาศ

ประวัติศาสตร์คำพูดในหลักฐานหนังสือและบทความ

อุดมการณ์และการต่อสู้ทางการเมืองของนายครองเป็นที่สนใจของงานศึกษาประวัตศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะการให้ภาพของนักต่อสู้ทางการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่ามีงานศึกษาหรืองานที่กล่าวถึงชีวิตและการต่อสู้ของนายครองอย่างน้อย 2 ชิ้น ที่กลายเป็นแม่แบบความเข้าใจต่อบทบาทของนายครองทั่วไป โดยเฉพาะการฉายภาพหรือกล่าวถึงเหตุการณ์การประหารชีวิต หลักฐานชิ้นที่หนึ่งคือ หนังสือชื่อ "ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร?" ของ คมสรรค์ มาตุคาม ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2521 หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายเหตุการณ์ตอนประหารชีวิตนายครองได้อย่างค่อนข้างตรงตามหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย อย่างไรก็ดีมีบทพูดของนายครองที่ปรากฏในเครื่องหมายอัญประกาศประโยคหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา คือหลังจากนายครองกล่าวต่อนักหนังสือพิมพ์ที่บันทึกภาพว่า "อย่าถ่ายมากนักซี" งานของคมสรรค์ เล่าต่อว่า

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำผู้ต้องประหารทั้งสองคนเข้าสู่หลักประหาร ทั้งคู่ฝืนยิ้มออกมาก่อนที่จะถูกมัดตรึงเข้ากับไม้กางเขน เมื่อเจ้าหน้าที่เอาผ้าผูกปาก ตา หู นายครองร้องขึ้นว่า "อย่าให้ปิดจมูก ให้หายใจได้บ้าง" ส่วนนายทองพันธ์คงสงบนิ่งอยู่ มิได้พูดอะไร[7]

หลักฐานจากหนังสือชิ้นที่สองคือ "ครูครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้" ตามข้อมูลหนังสือกล่าวว่า พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ในงานฌาปนกิจศพ นายครอง จันดาวงศ์ และนายทองพันธ์ สุทธิมาศ ในหนังสือเล่มนี้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ประหารชีวิตนายครองโดยตรงอยู่ 2 บทความ บทความแรกชื่อ " 34 ปีแห่งการถูกประหาร" เขียนโดย เปลว สัจจาภา บทความนี้ ปรากฏคำพูดของนายครองในเครื่องหมายอัญประกาศ หลายแห่ง เช่น ตอนที่นายครองกับนายทองพันธ์ ลาผู้ที่ถูกคุมขังด้วยกันก่อนถูกส่งไปที่จังหวัดสกลนครว่า

ท่านทั้งสองจึงตะโกนลาเพื่อนๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ห้องข้างเคียงเป็นภาษาอีส่านว่า "ขอลาไปตายก่อนเด้อ พิน้องเอ้ย ผู้ได๋ยังอยู่ก็ขอให้สู้ต่อไป เผด็จการนี่มันไปบ่ได้ท่อได๋ดอก ประชาชนจะต้องชนะในที่สุดอย่างแน่นอน"

บทความนี้ ยังมีเนื้อหากล่าวถึงการพบเจอกันระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับนายครองและนายทองพันธ์ ก่อนถูกนำส่งตัวไปประหารด้วย หนึ่งในบทสนทนาของบทความนี้เขียนว่า

ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ได้ฟังดังนั้น แทนที่จะสำนึกผิดกลับมีอาการโกรธจัด จึงพูดเป็นเชิงข่มขู่ว่า "พวกมึงรู้หรือเปล่า กูมี ม.17 ซึ่งพร้อมที่จะประหารพวกมีงได้ทุกเวลา?"

"ทราบครับ" คุณครองตอบอย่างสุภาพ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า "แต่อย่าคิดว่าผมกลัว ม.17 ของท่านนะ ท่านอาจสั่งประหารผมและผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้อย่างตามใจชอบ แต่ท่านไม่อาจประหารผู้รักชาติทั้งหมดทั่วประเทศได้ เมื่อคนหนึ่งล้มลง ก็จะต้องมีบุคคลอื่นๆ ลุกขึ้นมาสืบทอดแทนเป็นหมื่นเป็นแสน ท่านฆ่าพวกเขาไม่หมดหรอก ในที่สุดประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายชนะพวกอธรรม พวกเผด็จการจะต้องพินาศ ผมขอภาวนาว่าเมื่อวันนั้นมาถึงขอให้ท่านยังอยู่และอย่าได้หนีทัน..."

และเมื่อเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนประหาร ก็ปรากฏข้อความคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศว่า

ก่อนนำเข้าสู้หลักประหาร พนักงานเตรียมการประหารได้ส่งคนมาวัดชีพจรและการเต้นของหัวใจของบุคคลทั้งสอง ปรากฏว่ามีอาการปกติ บุคคลทั้งสองได้เดินเข้าสู้หลักประหารด้วยอาการที่ไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อย เมื่อพนักงานเตรียมการประหารมัดบุคคลทั้งสองเข้ากับหลักประหารพร้อมกับใช้ผ้ามัดตาเป็นที่เรียบร้อย บุคคลทั้งสองได้เปล่งคำขวัญขึ้นพร้อมกันราวกับเป็นการนัดหมายว่า "เผด็จการจงพินาศ! ประชาธิปไตยของประชาชนจงเจริญ"[8]

บทความที่ 2 ในหนังสือเล่มนี้ที่ปรากฏคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศคือบทความ "พัฒนาการทางความคิดและชีวิตการเมือง" โดยผู้ขียนนาม เกียรติ ก้องไพร ซึ่งเป็นคำพูดเดียวกับบทความของเปลว สัจจาภา ดังที่เขียนว่า ขณะที่ถูกนำเข้าหลักประหาร บุคคลทั้งสองไม่มีอาการสะทกสะท้านแม้แต่น้อย และได้เปล่งคำขวัญขึ้นพร้อมกันว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยของประชาชนจงเจริญ"[9]

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกบทความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เขียนโดย ไขแสง สุกใส หากแต่ไขแสงอ้างว่ามีผู้มาเล่าให้เขาฟังอีกทีหนึ่ง ว่าก่อนที่จะครูครองจะถูกประหารนั้น คนที่เล่าให้ฟังเขาเล่าว่า "กูไม่ผิด กูไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ กูเป็นชาวพุทธ กูสักคาถาและรูปพระพุทธองค์ไว้ทั้งตัวเพราะกูเป็นชาวพุทธ ไอ้คนโกงชาติโกงบ้านเมืองโกงประชาชนและสั่งฆ่ากูวันนี้ มันจะต้องฉิบหาย ต้องรับกรรมที่ทำกับกูและคนไทยอื่นๆ ขอให้มันฉิบหาย ฉิบหายทั้งโคตร ฟ้าดินเป็นพยานกูด้วย"[10]

ประวัติศาสตร์คำพูดในเครื่องหมาย "อัญประกาศ" ของครอง จันดาวงศ์

จากหลักฐานสองแบบที่ผู้เขียนกล่าวมา มิได้ต้องการสรุปหาความจริงของคำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศ เพราะหลักฐานแต่ละแบบก็ล้วนมีเงื่อนไขของตนเองในการนำเสนอความจริง หากแต่ต้องการแสดงให้เห็นอีกมิติของความหลากหลาย การเปลี่ยนแปลง และความขาดหายไปของคำพูดในอัญประกาศจากการต่อสู้ทางการเมืองของครอง จันดาวงศ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วนายครองน่าจะพูดอีกหลายถ้อยคำก่อนการถูกประหาร แต่คำพูดเหล่านั้นยังไม่ถูกบรรจุลงในช่องว่างของเครื่องหมายอัญประกาศ ขณะที่อีกทางหนึ่ง บางคำพูดที่เคยถูกบรรจุอยู่ในช่วงว่างเครื่องหมายอัญประกาศก็ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก ขณะที่บางคำพูดในช่องว่างอัญประกาศก็ได้กลายเป็นคำขวัญที่ถูกฉายภาพซ้ำจนกลายภาพแทนของการต่อสู้ทางการเมืองของนายครองอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดี ควรบันทึกส่งท้ายว่า ในหลักฐานหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยได้ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่การจับกุม สอบสวนและน่าจะรวมถึงพิธีการประหารนายครองกับนายทองพันธ์ กรมตำรวจได้มีการบันทึกภาพวิดีโอไว้ด้วย กระนั้น ผู้เขียนก็ไม่เห็นและไม่ทราบว่ามีอยู่จริงๆ หรือไม่ แต่ก็หมายความว่า หากมีอยู่จริงและถูกค้นพบในวันหนึ่งข้างหน้า ในแง่การศึกษาการต่อสู้ของนายครองก็จะมีหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องหมายอัญประกาศอีกต่อไป และถึงวันนั้นบทความนี้ก็กลายเป็นอดีตที่ไร้เสียง เป็นแค่เพียงประวัติศาสตร์คำพูดในเครื่องหมายอัญประกาศของนายครอง จันดาวงศ์ เท่านั้น.

 

หมายเหตุ: บทความนี้เกิดขึ้นจากการตั้งข้อสังเกต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนะนำเอกสารต่างๆ โดยคุณปรัชญากรณ์ ลครพล ผู้เขียนขอขอบพระคุณปรัชญากรณ์ ลครพล (พี่แอ๊ด) เป็นอย่างสูง ณ ที่นี้ อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดและตื้นเขินทางสติปัญญาในบทความนี้ทั้งหมดย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว.

เชิงอรรถ

 

 [1] หนังสือพิมพ์สารเสรี วันที่ 17 พฤษภาคม 2504

 [2] หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย 17 พฤษภาคม 2504

[3] หนังสือพิมพ์ ชาวไทย 18 พฤษภาคม 2504

[4] หนังสือพิมพ์ สยามนิกร 1 มิถุนายน 2504

[5] หนังสือพิมพ์ สารเสรี 1 มิถุนายน 2504

[6] หนัวงสือพิมพ์ ไทรายวัน 2 มิถุนายน 2504

8] เปลว สัจจาภา และคนอื่นๆ, ครอง จันดาวงศ์: ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539), 12-15

[9] เพิ่งอ้าง, 62-63

[10] เพิ่งอ้าง, 118.

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: เถรวาทไทยในอเมริกากับพลังเก็บกด

Posted: 22 Sep 2018 09:08 AM PDT

อดีตสันติกโรภิกขุ หรือ Robert David Larson ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) พูดถึงความเป็นไปในวงการพุทธศาสนาของไทยได้บางตอนเด็ดๆ อย่างเช่น "เพราะไปให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์เกินไป โดยที่คนมาบวชส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ด้วย ผม (สันติกโร) มั่นใจว่า พระ(ไทย) 95% ถ้าแต่งงานได้ก็ไม่ปฏิเสธ" นี่เขาพูดไว้อย่างนี้ ถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงมากในห้วงเวลานั้น แค่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และผมก็คิดว่าประเด็นดังกล่าว มันยังคงร้อนแรงมาแม้จนกระทั่งถึงตอนนี้ ด้วยเหตุที่สถานการณ์ทางด้านพระศาสนาอยู่ในขั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในไทยและนอกประเทศ

โดยเฉพาะเมื่อกระแสความสนใจในหมู่ชาวตะวันตก อย่างชาวอเมริกันเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทุกวันนี้ ตามร้านหนังสือในอเมริกา มีหนังสือแนวพุทธออกมาวางจำหน่ายมากมาย ศาสตร์ตะวันออกแขนงพุทธ กำลังได้รับความสนใจ จากคนอเมริกันหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นพุทธสายมหายานและสายตันตระยาน ซึ่งสายหลังนี้ คนอเมริกันได้รับอิทธิพลจากองค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางการเมืองของทิเบตที่เดินทางมายังอเมริกา ค่อนข้างบ่อย

ดาไลลามะ เข้าพบนักการเมืองและบุคคลสำคัญของอเมริกันหลายครั้งหลายครา ถึงกระทั่งมีสถาบันทางวิชาการศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาโรปะเกิดขึ้นเพื่อสอนให้ความรู้เกี่ยวกับนิกายพุทธตันตระมานานหลายปี

สะท้อนถึงการเปิดเสรีทางการศึกษา เชิงวิชาการที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ ตราบเท่าที่ผู้ที่ต้องการเปิด ดำเนินกิจการสถาบันการศึกษา ก็สามารถจัดตั้งสถาบันการศึกษา ตามกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวบทกฎหมายการจัดตั้งสถาบันการศึกษาได้  

กรณีของสถาบันการศึกษาสายทิเบตอย่าง "นาโรปะ" นั้น นับว่าควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างของเถรวาทนิกายในแง่ของการให้การศึกษากับผู้ ที่สนใจด้านการศาสนาและทิเบตศึกษา โดยที่สายเถรวาทของเรา (ซึ่งมีหลายประเทศเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา เช่น ไทย ศรีลังกา พม่า ลาว เขมร) ยังไม่จัดการงานเผยแผ่พระศาสนาในเชิงลึก หากมุ่งเอาวิธีการแบบฉาบฉวยด้วยการแข่งกันสร้างวัด สร้างวัตถุธรรม แต่เพียงอย่างเดียว 

ส่วนพระสงฆ์ที่อยู่ประจำ จะมีคุณภาพกันเพียงใด ย่อมไม่เป็นที่สนใจของชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเท่าใดนัก หากปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม กลุ่มใคร กลุ่มมัน เอาแบบแผนวิธีคิดเสรีแบบไทยๆ สีข้างเข้าถู ขณะที่มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทยเอง กลับก้าวไปไม่ถึงไหน ทั้งๆ ที่มีการขนพระ ขนคน ขนทายก ขนทายิกา อ้างว่า มาดูงานที่อเมริกาทุกปี 

ผมเองไม่ทราบขอบเขตการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พ.ศ. ว่ามีมากน้อยเพียงใด ต่องานเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างแดน อย่างน้อย พ.ศ.เอง น่าจะศึกษาความเปลี่ยนแปลงว่าด้วยบริบททางศาสนาของคนอเมริกันเอาไว้บ้าง เพราะเวลานี้พุทธศาสนาค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมาก คือมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากคนอเมริกัน มากขึ้นในอนาคตอันใกล้

แทนที่จะมุ่งเน้นงานเผยแผ่ด้วยการสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานเพียงอย่างเดียว แต่หันมาสร้างสถาบัน เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของสังคมอเมริกันน่าจะจะดีกว่าหรือไม่?

ความสนใจของอเมริกันต่อศาสนาพุทธนั้น จาการสังเกต พวกเขาต้องการแก้ปัญหา (บำบัด) ชีวิตของตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ หมายถึงปัญหาทางด้านจิตใจของพวกเขา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องทางด้านวัตถุได้ด้วยการประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และกำลังเป็นไปอยู่นี้ ก็เป็นเหตุให้คนอเมริกันกันหาทางออกให้กับชีวิตมากขึ้นเช่นกัน น่าเสียดายที่เราไม่มีกลไกบริหารจัดการด้านพุทธศาสนาในต่างแดนที่มีประสิทธิภาพพอ หากแต่มุ่งไปในทางการสร้างวัตถุมากกว่า 

เพราะแม้กระทั่งการสนับสนุนการศึกษา หรือการสร้างสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น ทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาสก็ยังละเลยโอกาสนี้ เช่นเดียวกันกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องโครงสร้างระบบเศรษฐกิจอาเซียน( ASEAN) ที่เราเองต่อจิ๊กซอว์ ในเรื่องของศาสนาไม่ได้ ว่าควรจะเดินหน้าไปอย่างไร หากแต่กลับปล่อยให้ต่างคนต่างทำกันไป เหมือนๆ ที่ผ่านมา

อย่างที่บอกความสนใจทางด้านศาสนาของคนอเมริกันส่วนหนึ่งมาจากความเดือดร้อน ทางจิตและพวกเขาพยายามหาทางออกจากทางตัน ความสนใจนี้จึงมีผลต่อการจัดการหรือวางสถานภาพของตัวเอง(น่าจะส่วนใหญ่) ในฐานของการเป็นคนธรรมดา หรือเป็นฆราวาส หาใช่ในสถานะของนักบวชไม่ 

นี่คือ ความเป็นไปหรือกระแส ซึ่งแม้แต่ในเมืองไทยก็กลับมีกระแสที่ว่านี้นี้ด้วยซ้ำ คนหันมาสนใจทางพุทธศาสนากันมากขึ้น ขณะที่จำนวนนักบวช โดยเฉพาะจำนวนพระสงฆ์ลดลงเรื่อยๆ (ในเมืองไทยมีปัญหาเรื่องสถานภาพของนักบวชหญิง ทั้งภิกษุณีและแม่ชี ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่จนถึงเวลานี้ โดยหากนักบวชหญิงเหล่านี้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อเรียกร้องรับรองสถานภาพทางด้านข้อกฎหมาย เชื่อว่า นักบวชหญิงในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขดีเลิศเพียงใดก็ตาม จำนวนนักบวชชายไทยก็มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าใจหาย) 

ในเรื่องหน่วยงานด้านบริการในด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาของสถาบันสงฆ์นั้น พ.ศ.น่าจะลองทำการสำรวจ วิจัยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดูว่า เหตุใดการเผยแผ่พระศาสนาในต่างแดนจึงได้ผลน้อย ยกเว้นในกรณีที่คนต่างแดนสนใจ พระพุทธศาสนาอยู่แล้ว พร้อมกับศึกษาว่า ควรแก้ที่จุดไหน อย่างไร เพื่อให้การจัดวางสถานภาพนักบวชประเภทต่างๆ โดยเฉพาะพระภิกษุ เหมาะสมกับความเป็นไปในยุคร่วมสมัย โดยที่ปฏิเสธ ไม่ได้ว่ากฎหมายคณะสงฆ์เองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการชำระเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมปัจจุบัน

ความใส่ใจในศาสนธรรมเชิงพุทธ จึงหมายถึง ความสามารถในการศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยใช้ชีวิตตามปกติวิสัย ทำงานตามปกติ ใช้ชีวิตประจำวันหรือครองเรือน ตามปกติ ปฏิบัติธรรมที่เป็นไปเชิงการเกื้อกูลต่อตนเองและสังคมที่คนเหล่านั้นอาศัยอยู่

ซึ่งหากจะศึกษากันให้ดี ในเวลานี้ในอเมริกา มีชุมชนพุทธอเมริกันอยู่จำนวนไม่น้อย และมีผู้สนใจใฝ่รู้พระพุทธธรรมจำนวนมาก ปัญหาคือ เราในฐานะประเทศต้นแบบพระพุทธศาสนาประเทศหนึ่งจะต้องทำอย่างไร เพื่อสอดใส่พุทธธรรมให้กับคนเหล่านี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งในส่วนบุคคลและในระดับสถาบัน องค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เรื่องนี้ อาจอยู่เหนือบริบททางการทูตในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในแง่งานกงสุล ย่อมจะต้องคาบเกี่ยวกับงานด้านพระศาสนาอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากบุคคลที่เป็นกงสุลเหล่านี้ ไม่คร่ำเคร่งแต่เรื่อง เอาอกเอาใจ บรรดา "ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง" ทั้งหลาย ที่ทยอยมาลิ้มลองท่องเที่ยวอเมริกากันจนหัวกระไดสำนักงานกงสุลไม่แห้ง หรืออาจถึงขั้นหัวกระไดลื่นเอาด้วยซ้ำ

เราทุ่มเถียงกันมากพอแล้ว ในเรื่องการส่งพระธรรมทูตมาอเมริกาแล้วหาย สิกขาลาเพศไปจำนวนมาก หลังจากได้ใบเขียว หน่วยงานคณะสงฆ์และ พ.ศ.น่าจะต้องใคร่ครวญให้ดีๆ ถึงการแก้ไขปัญหาข้อนี้

ไม่ใช่พลังบางอย่างที่เก็บกดไว้อย่างเดียวตามที่อดีตพระสันติกโรว่าไว้ หากแต่ยังมีสาเหตุอย่างอื่นหรือไม่ที่ทำให้การเผยแผ่สัทธรรมในอเมริกาเป็นไปแบบ เชื่องช้า ไม่ทันการณ์ ออกนอกเส้นทาง คลำไม่เจอเป้าเสียทีจนถึงทุกวันนี้
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตำรวจปิดงานดนตรีพังก์ 4 ปีได้แ-กแต่คุกกี้เสี่ยงทาย

Posted: 22 Sep 2018 09:01 AM PDT


ที่มาภาพ: Facebook Banrasdr Photp

21 กันยายน 2561 เวลาประมาณ 18.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บวรมงคล จำนวนเกือบ 20 นาย ได้เข้าไปพบคณะผู้จัดงานดนตรีพ้งก์ "BNK44 สี่ปีได้แดกแต่คุกกี้เสี่ยงทาย" และเจ้าของร้าน THE OVERSTAY ย่านจรัลสนิทวงศ์ 40 โดยแจ้งว่าไม่อนุญาตให้มีการจัดงานดนตรีดังกล่าว

จนท.แจ้งว่า การจัดดนตรีของกลุ่มฯ เป็นกิจกรรมทางการเมือง มีการร้องเพลง กล่าวปราศรัยและมีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองซึ่ง ทางร้านไม่ได้ขอใบอนุญาตต่อทางเจ้าหน้าที่ ขณะที่ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้พยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้มีการจัดงานโดยรับรองว่าจะไม่มีการกล่าวปราศรัยหรือการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองบนเวที แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมและยังได้มีการเรียกดูใบอนุญาตประกอบการของเจ้าของสถานที่อย่างละเอียด มีการถ่ายภาพและเรียกตรวจบัตรประชาชนของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รวมถึงการถ่ายภาพและบัตรประชาชนของผู้สื่อข่าวด้วย สุดท้ายทางผู้จัดกิจกรรมจึงได้ประกาศยุติกิจกรรมเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.

'นิรนาม' หนึ่งในคณะผู้จัด  กล่าวว่า "เจ้าหน้าที่มาบอกให้เรายุติการจัดกิจกรรมทั้งๆ ทีเรายังไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ที่เราต้องยกเลิกจัดงานเพราะเราไม่ต้องการเห็นคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอย่างเจ้าของสถานที่ๆ ให้เราใช้พื้นที่จัดงานต้องเดือดร้อน เราเป็นแค่เด็กพังก์ที่ไปขอสถานที่เขาแสดงดนตรีเท่านั้น"

ตร. เชิญตัววงพั้งก์ไป สน. ขอตรวจฉี่หลังร้องเพลงด่า และเผารูปประยุทธ์
'จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์' งานดนตรีเด็กพังก์หัวขบถ เมื่อเราต่างเป็นผลิตผลของการเมือง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พรรคอนาคตใหม่จัดคาราวาน 6 สาขาใหญ่ 5-7 ต.ค. 2561 นี้

Posted: 22 Sep 2018 02:34 AM PDT

พรรคอนาคตใหม่ ยืนยันพร้อมรับสมัครสมาชิกพรรค เตรียมจัดคาราวานเดินทางไปสาขาพรรค 5-7 ต.ค. 2561 นี้ ด้าน 'ธนาธร' ย้ำการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยก้าวหน้า 'เพื่อไทย' โวย กกต.รับจดทะเบียนพรรค 'เพื่อนไทย' หวั่นสับสน ชื่อ-โลโก้ คล้ายกัน 'สุรบถ หลีกภัย' ยืนยันว่าจะไปสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทันทีที่พรรคเปิดรับสมัครสมาชิก


นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (แฟ้มภาพ)

22 ก.ย. 2561 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่มีความพร้อมในการรับสมัครสมาชิกพรรคทุกช่องทาง ทั้งการสมัครทางออนไลน์ การเดินเข้ามาสมัครได้ที่สาขาพรรคทั่วประเทศ พร้อมจะจัดคาราวานเดินทางไปใน 6 สาขาใหญ่ของพรรค ในวันที่ 5-7 ต.ค. นี้ เพื่อแวะรับสมัครสมาชิกพรรคตลอดเส้นทาง

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า สำหรับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 ไม่ได้เป็นคุณต่อพรรคการเมืองใดๆ และเป็นการสร้างโซ่ตรวนอันใหม่มาล็อกเพิ่ม อีกทั้งจำกัดพื้นที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะประเด็นการห้ามหาเสียงทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทุกพรรคการเมือง สามารถทำได้ เพราะเป็นวิธีที่ทำง่ายที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด และสามารถเข้าถึงคนได้กว้างไกลที่สุดในปริมาณมากที่สุดด้วย ที่สำคัญยังก่อให้เกิดความสงบแก่บ้านเมือง ไม่ต้องมีการออกไปรวมตัวชุมนุมกันตามที่ต่างๆ

"กฎหมายนี้ จึงเป็นเหมือนกฎหมายที่ไม่สมประกอบ เพราะมองไม่เห็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้เลยว่าจะจำกัดสิทธิเสรีภาพการหาเสียงออนไลน์ไปเพื่ออะไร การที่เราจะมุ่งไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกประกาศคำสั่งทั้งหมดที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แต่กฎกติกาต่างๆ ดูเหมือนยุ่งยากซับซ้อน ลิดรอนสิทธิ และขาดความเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่พร้อมลั่นกลองรบในการสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้" นายปิยบุตร กล่าว

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ว่าที่โฆษกพรรค ได้พบกับนายคริส ลาแลนด์ ตัวแทนจากพรรคลิเบอรัล ของนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา และนายรอน แมคคินนอน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา พรรคลิเบอรัล และกรรมาธิการรัฐสภาด้านยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประชาธิปไตยในไทยและการทำพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าในไทย ในระหว่างการเดินทางไปโชว์วิสัยทัศน์ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ว่าการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยก้าวหน้าเป็นหลัก หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อชนะการเลือกตั้งเท่านั้น พรรคอนาคตใหม่จึงให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคให้เป็นสถาบัน ไม่มีนายทุนผูกขาด ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของพรรค แต่ให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากที่สุด ระดมทุนจากประชาชนทั่วไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่ต้องการใช้เงินในการหาเสียงน้อยที่สุด และใช้อย่างประหยัด แต่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ในประเทศไทย ไม่ต้องใช้เงินหาเสียงนับพันล้าน ซึ่งมักตามมาด้วยการเข้ามาถอนทุนคืนเมื่อได้เป็นรัฐบาล

ขณะที่นายแมคคินนอน กล่าวถึงความพยายามในการปฏิรูประบบเลือกตั้งในแคนาดาให้สะท้อนความต้องการของประชาชนมากขึ้น และแสดงความกังวลต่อระบบการเลือกตั้งในไทยที่อาจไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง 

ส่วนนายลาแลนด์ กล่าวว่าการสร้างพรรคฝ่ายก้าวหน้าที่เข้มแข็งและประชาชนมีส่วนร่วม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาธิปไตยในทุกประเทศ รวมถึงในไทย สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งในแคนาดานั้นใช้เงินน้อยมาก เพราะการหาเสียงส่วนใหญ่ใช้อาสาสมัคร เดินเคาะประตูตามบ้านเพื่อชี้แจงนโยบายของพรรคและจุดยืนต่างๆ ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับรู้

'เพื่อไทย' โวย กกต.รับจดทะเบียนพรรค 'เพื่อนไทย' หวั่นสับสน ชื่อ-โลโก้ คล้ายกัน

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง โดยจดทะเบียนชื่อพรรคว่า "พรรคเพื่อนไทย" โดยไม่ทราบว่า กกต รับจดทะเบียนชื่อพรรคนี้ได้อย่างไร

เพราะเห็นได้ชัดว่าพรรคนี้ ตั้งใจใช้คำคล้ายกับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ประชาชนสำคัญผิด คิดว่าเป็นพรรคเดียวกับพรรคเพื่อไทย จนลงคะแนนให้ อีกทั้งโลโก้พรรคก็คล้ายกัน ต่างกันแค่คนละสีเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ในสัปดาห์หน้า ตนจะให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง กกต.เพื่อสอบถามรายละเอียดเรื่องนี้

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ กกต.รับจดทะเบียนพรรคเพื่อนไทย มีเหตุผลอะไร เพราะอาจทำให้ประชาชน มาลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยสับสนได้ ทาง กกต. ต้อง ออกมาชี้แจงให้กระจ่างด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อนไทย ได้จดชื่อพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ต่อ กกต. เป็นลำดับที่ 107/2561 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย. 2561 โดยมีนายสิระ พิมพ์กลาง อดีตแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสานเป็นผู้จดจองชื่อพรรค

'สุรบถ หลีกภัย' ยืนยันว่าจะไปสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทันทีที่พรรคเปิดรับสมัครสมาชิก

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายสุรบถ หลีกภัย บุตรชายนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะไปสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทันทีที่พรรคเปิดรับสมัครสมาชิก โดยงานที่จะเข้าไปช่วยขึ้นอยู่กับพรรคเล็งเห็นถึงความสามารถของตนในส่วนไหน 

ส่วนจะลงสมัคร ส.ส.ในระบบแบ่งเขต หรือระบบปาร์ตี้ลิสต์นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ คงต้องรอคุยกับพรรคก่อนว่าจะให้ลงสมัครส.ส.แบบใด ซึ่งคิดว่าอยู่จุดไหนก็ได้ ที่พรรคเห็นว่าตนมีประสิทธิภาพให้ช่วยในจุดนั้น 

ทั้งนี้ เมื่อเข้ามาจะมีทีมที่ถนัดแต่ละด้านเข้ามาทำงานด้วย  โดยทีมของตนเป็นลูกหลานของนักการเมืองจากหลายพรรคมาร่วมกัน และรู้ว่าจะเสนออะไร สื่อสารอะไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจโดยการสื่อสารด้วยภาษาที่ง่าย อย่างไรก็ตาม ความถนัดของตนที่จะเข้าไปช่วยพรรคทำงานเป็นเรื่องการสื่อสารกับคนยุคใหม่ๆ วัยรุ่น เพราะเราทำงานด้านนี้มานาน จึงมีความเข้าใจในการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

นายสุรบถ กล่าวว่า เรื่องสมัครเป็สมาชิกได้คุยกับพ่อแล้ว ซึ่งท่านสนับสนุนดี แต่ได้คุยกันในส่วนว่าจะช่วยทางพรรคและอยากเข้าไปทำอะไรหลายๆอย่าง เพราะรู้สึกว่าน่าจะมาสื่อสารกับคนยุคใหม่ได้ อีกทั้งคิดว่าเป็นยุคที่ต้องคุยกันเยอะๆ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ยังไม่ได้คุยอย่างเป็นทางการ เพราะอยากเข้าไปสมัครสมาชิกแบบปกติตามที่เขาประกาศ

"มองว่าหมดยุคที่เราเอาเรื่องเเก่า ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจมาทะเลาะกัน รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ควรหมดไปได้แล้ว และคนรุ่นผมไม่มีรูปแบบความขัดแย้งเก่าๆในรูปแบบนั้น เพราะคุยกันได้มาก อย่างผมมีเพื่อนที่อยู่ต่างฝ่ายต่างพรรคกันมากๆ แต่ไม่ใช่นำเรื่องผู้ใหญ่ หรือเรื่องยุคพ่อยุคแม่มาทะเลาะกัน คิดว่าควรหยุดได้แล้ว เพราะคือเรื่องพื้นฐานที่สุด กว่าเราจะก้าวไปสู่อนาคตได้ อย่างน้อยที่สุดต้องหยุดการบาดหมาง เชื่อว่าสังคมมีความแตกต่างทางความคิด ไม่มีใครชอบสีเหมือนกับเรา แต่ต้องไม่แตกแยกทะเลาะกัน ผมรู้สึกว่ายุคพวกผมเราเลือกเข้ามาคุยกันด้วยเหตุผลได้ ผมเชื่อว่าการเมืองในอนาคตจะเหมือนการทำธุรกิจในยุคนี้ คือสามารถร่วมงานกันได้  ที่จะไม่ใช่เรื่องต้องแบ่งฝ่ายชัดเจน เชื่อว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือให้ประเทศชาติและประชาชนดีขึ้น สำหรับผมการเมืองจะไม่ใช่การแบ่งแยกเหมือนในอดีต รู้สึกว่าเป็นยุคเก่าและน้ำเน่ามาก ซึ่งไม่มีประโยชน์กับใครเลย เป็นแค่การทะเลาะของคนกลุ่มหนึ่งเล็กๆ ที่บาดหมางเรื่องอะไรไม่ทราบ แต่สุดท้ายทำให้คนกลุ่มมากเกิดความแตกแยก ดังนั้น การเมืองในอนาคตควรจะร่วมมือกันได้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน คือมีจุดร่วมกัน หาคนเก่งที่สุดในทุกๆด้าน  แล้วไปทำสิ่งนั้นๆให้เหมาะสมที่สุด จึงเชื่ออนาคตการเมืองจะเป็นแบบนั้น" นายสุรบถ กล่าว

เมื่อถามถึงมุมมองบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งขณะนี้มีการแข่งขันกันอยู่นั้น นายสุรบถ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ บอกได้เพียงว่าคนรุ่นตนจะทำอะไรได้บ้าง แต่ไม่ได้แปลว่าคนยุคก่อนทำอะไรไม่ดี ไม่ใช่ แต่เป็นยุคที่บุกเบิกให้สิ่งต่างๆไว้ให้คนรุ่นหลัง เขาอาจทำสิ่งที่ดีและผิดพลาด แต่คือบทเรียนของเรา ต่อให้คนทั่วไปอาจมองคนนั้นดี ไม่ดี อย่างไร เชื่อว่าทุกคนทุกรัฐบาล ผู้ใหญ่ที่ทำงานเพื่อประเทศมีจุดยืนเดียวกัน คืออยากให้ประเทศดีขึ้น จึงอยากให้การเมืองยุคหลังมองอนาคต ไม่เหลียวมองเรื่องเก่าๆ มองไปข้างหน้าด้วยกัน  ลดความแตกแยกที่เป็นเบสิคที่สุด เหมือนเรือกลางทะเล ถ้าลูกเรือเอาแต่ทะเลากัน เรือก็ไม่เดินไปไหน 

ถามย้ำว่าสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคต่อหรือไม่ นายสุรบถ ตอบว่า ท่านเป็นคนดีมีความสามารถ และเคารพท่านจากใจจริง

นายสุรบถ กล่าวต่อว่านักการเมืองในอนาคตจะอยู่ในตำแแหน่งคล้ายโปรดิวเซอร์ คือเลือกของดีที่สุดในแต่ละแขนงมาร่วมกัน ไม่ใช่เอาพวกพ้องที่สนิทกัน

ถามว่ากลัวถูกเปรียบเทียบกับพ่อหรือไม่ เพราะนายชวนประสบความสำเร็จทางการเมือง นายสุรบถ ชี้แจงว่า ไม่กลัวถูกเปรียบเทียบ พ่อก็คือพ่อ ตนก็คือตน นับถือที่พ่อเป็นคนดี ซึ่งพ่อได้ปลูกฝังสิ่งต่างๆในใจ ทำให้ตนมีวันนี้ได้ แต่หากถามว่าต้องทำงานการเมืองหรือจุดยืนแบบพ่อหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่ เพราะตนมีสไตล์ของตัวเอง มีสิ่งที่อยากทำและทำในสิ่งที่ถนัด เพราะฉะนั้น จึงต้องเรียกพ่อว่าเป็นคนดีที่ยิ่งใหญ่สำหรับตน และจะอยู่ในทุกๆจุดของการตัดสินใจที่ดีงาม เชื่อว่าการตัดสินใจของพ่อยืนอยู่บนความดีและความถูกต้อง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตั้งพรรคสามัญชน-ลั่นปลดอาวุธ คสช. ด้วยมือเปล่า

Posted: 22 Sep 2018 02:03 AM PDT

ถึงเวลาสามัญชน... ประชุมจัดตั้ง 'พรรคสามัญชน' กลางพื้นที่ปัญหาความขัดแย้ง 'รัฐ-ทุน-ปชช.' วังสะพุง จ.เลย มติจาก 294 ผู้ร่วมก่อตั้งฯ ให้ 'เลิศศักดิ์' นั่งหัวหน้า 'กิตติชัย' นั่งเลขาธิการฯ ชูอุดมการณ์ 'ประชาธิปไตยจากฐานราก-สิทธิมนุษยชน-เท่าเทียมเป็นธรรม' ลั่นปลดอาวุธ คสช. ด้วยมือเปล่า ขณะที่ทหารเข้าเตือนและสังเกตการณ์ตั้งแต่เช้า

22 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ว่า วันนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้ามีการประชุมจัดตั้งพรรคสามัญชน จนล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. ได้แถลงข่าวการประชุมจัดตั้งพรรคสามัญชน พร้อมเปิดตัวคณะกรรมการบริหารพรรค จากการคัดเลือกและรับรองของสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 294 คน

โดยมี เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค กิตติชัย งามชัยพิสิฐ เป็นเลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย ชาติชาย ธัมโม สรุพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง และเอกชัย อิสระทะ ขณะที่รองเลขาธิการ คือ ชุทิมา ชื่นหัวใจ ลลิตา เพ็ชรพวง และพักตร์วิไล สหุนาฬุ เหรัญหญิก คือ จินตนา ศรีนุเดช นายทะเบียนพรรค คือ ศิววงศ์ สุขทวี โฆษก คือ ปกรณ์ อารีกุล

ส่วนประธานภาคแต่ละภาคประกอบด้วย  สมชาย กระจ่างแสง (กลาง) วรวุธ ตามี่ (เหนือ) ณัฐพร อาจหาญ (อีสาน) และ ว่าที่ ร.ต. พร้อมศักดิ์ จิตจำ (ใต้)

"คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเพียงผู้รับนโยบาย รับเจตนารมณ์จากพี่น้องสามัญชนที่เป็นสมาชิก เพื่อที่จะทำการหลัการของพรรคทั้ง 3 ข้อ คือประชาธิปไตยจากรากฐาน เราจะยืนหยัดเพื่อให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่มาจากฐานรากจริงๆ เราจะยืนหยัดเพื่อให้เกิดเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มาจาก 1 คน 1 เสียง เป็นประชาธิปไตยที่มาจากเบื้องล่าง เป็นประชาธิปไตยที่มีสามัญชนเป็นผู้สร้างรากฐานมันขึ้นมา เราจะยืนหยัดเพื่อพิทักษ์รักษาการเคารพศักดิศรีความเป็นมนุษย์ เราจะยืนหยัดสิทธิมนุษยชน เราจะยืนหยัดให้มีการปกป้องมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจะยืนหยัดให้ทุกคนได้มีสิทธิโอกาสที่จะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในสังคมไทย เราจะยืนหยัดเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ความเจริญก้าวหน้าใดๆ จะต้องยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่ว่าเผ่าพันธุ์ใด อัตลักษณ์แบบใด ความคิดความเชื่อแบบใด แม้แต่คนรุ่นต่อไป และความเป็นธรรมต่อทางนิเวศน์ เราจะยืนหยัดด้วย 3 หลักการนี้ภายใต้หลักการสันติวิธี" กิตติชัย กล่าว

ขณะที่ เลิศศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้ไปจะรวบรวมรายชื่อพร้อมทั้งบันทึกผลการประชุมเพื่อจดจัดตั้งพรรคกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ตามกระบวนการกฎหมาย เพื่อเตรียมเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้งที่ถูกทำให้หายไปมานาน นับจากนี้จะเดินหน้าทำคาราวานสามัญชนกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้พื้นที่ต่างๆ ได้สะท้อนเสียงถึงความต้องการและความความปรารถนาของเขาเหล่านั้นเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายให้ได้

"เราจะร่วมกันปลดอาวุธ คสช. ด้วยมือเปล่า" เลิศศักดิ์ กล่าว พร้อมอธิบายด้วยว่า จะขับเคลื่อนเพื่อยกเลิกคำสั่ง คสช. หลายๆ ฉบับที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อทำให้ คสช. กลับไปอยู่ในที่ตั้งที่สมควรอยู่และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งของประชาชนอีกต่อไป เป็นภารกิจที่จะทำในช่วงเวลาอันใกล้นี้

ทหารเข้าเตือนและสังเกตการณ์ตั้งแต่เช้า

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า เวลาประมาณ 08.20 น. พ.ต.อุไร เปอร์ดี พร้อมด้วยนายทหารอีก 2 นาย ได้เข้ามาสังเกตการณ์ การประชุมจดจัดตั้งพรรคสามัญชน ที่วัดโนนสว่าง ซึ่งทางสามัญชนได้แจ้งต่อ กกต. ตามระเบียบแล้ว และวันนี้ได้มีตัวแทน กกต. เข้าสังเกตการณ์ประชุมด้วย

พ.ต.อุไร กล่าวกับ ปธานิน กล่อมเอี้ยง กองเลขาธิการชั่วคราวสามัญชน ว่า วันนี้เข้ามาเพียงสังเกตการณ์การประชุมฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา พร้อมเตือนด้วยว่าอย่าพูดอะไรที่หมิ่นเหม่ต่อระเบียบของ กกต. เพื่อจะไม่ได้เป็นปัญหาต่อการจดจัดตั้งพรรค และหวังว่า การประชุมในวันนี้จะผ่านไปด้วยดี

ทั้งนี้ ปกรณ์ อารีกุล โฆษกชั่วคราวสามัญชน ขณะนั้นกล่าวชี้แจงต่อ ผู้เข้าร่วมประชุมจดจัดตั้งพรรคว่า วันนี้จะมีการพิจารณา และรับรองชื่อพรรค ชื่อย่อ เครื่องหมายพรรค พิจารณาและรับรองอุดมการณ์ของพรรค นโยบายของพรรค ข้อบังคับของพรรค

ปกรณ์ กล่าวด้วยว่า จะมีการพิจารณารับรองคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เมื่อได้ผลการรับรองทั้งหมดแล้วจะมีการไลฟ์เฟสบุ๊กไลฟ์แถลงข่าวที่เพจสามัญชนในเวลาประมาณ 13.00 น. ต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ในวันนี้มีทั้งกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มโกงกาง มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มนักกิจกรรมภาคเหนือ กลุ่มเพื่อนนักกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาเอกชนหลากหลายประเด็นอาทิ ประเด็นเหมืองแร่ทองคำ หิน โปแตช ปิโตรเลียมภาคอีสาน สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น รวมทั้งมีชาวบ้านจากพื้นที่ผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด พื้นที่ผลกระทบจากการจุดเจาะปิโตรเลียมขอนแก่น กลุ่มอนุรักษ์บ้านนามูล-ดูนสาด พื้นที่ผลกระทบจากโรงงานแป้งมัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำอูน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส เครือข่ายสิทธิชุชนเขาคูหา จ.ชุมพร

'พรรคสามัญชน' ชู 'ประชาธิปไตยฐานราก-สิทธิมนุษยชน-ความเป็นธรรม' หวังแก้รธน.จนถึงร่างใหม่, 4 มี.ค. 2561

พรรคสามัญชนคือใคร และทำไมต้องไปจัดประชุมใหญ่ที่ 'บ้านนาหนองบง' จ.เลย, 17 ก.ย. 2561

ภาพบรรยากาศช่วงเช้า : 

พ.ต.อุไร เปอร์ดี พร้อมนายทหารอีก 2 นาย เข้าสังเกตการณ์การประชุมจดจัดตั้งพรรคสามัญชน

พ.ต.อุไร เปอร์ดีเข้าพูดคุยกับ ปธานิน กล่อมเอี้ยง กองเลขาธิการชั่วคราวสามัญชน ขออย่าพูดอะไรที่หมิ่นเหม่ต่อระเบียบ กกต.

เวทีแถลงข่าวพรรคสามัญชน ใช้ผ้าขาวม้าตกแต่งโต๊ะประชุม

นิติกร ค้ำชู สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน กำลังยืนคุยกับ สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต. เขาหลวง

"หมุน" ศิลปินภาพวาด และช่างสักจากเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมจดจัดตั้งพรรคสามัญชน และกำลังวาดภาพกำปั้นที่ชูตราชั่งตั้งตรงขึ้น

ทีมทะเบียนพรรคสามัญชน

บรรยากาศช่วงลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน ว่าที่หัวหน้าพรรค และกิติมา ขุนทอง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร นั่งรอประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า

สัญลักษณ์ที่มอบให้ผู้เข้าร่วมประชุมจดจัดตั้งในฐานะสมาชิกพรรค เป็นตราประทับน้ำหมึกสีแดงพิมพ์ลงบนภาพดิบ และตัดด้วยเข็มกลัดอีกทีหนึ่ง

ศิริพร ฉายเพชร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม พูดคุยกับแม่รส ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับการยกย่องโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทนายประเวศ ประภานุกูล ร่วมสังเกตการณ์ประชุม

ด้านหน้าที่ประชุมจดจัดตั้งพรรคสามัญชน

ปรกรณ์ อารีกุล โฆษกชั่วคราวสามัญชน กล่าวชี้แจงกำหนดการของการประชุมจดจัดตั้งพรรคสามัญชน

ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือพื้นที่การจัดประชุมที่หลายพรรคมักใช้พื้นที่ศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ หรือโรงแรมในการประชุมจัดตั้ง แต่พรรคนี้เลือก วัดโน่นสว่าง หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย นั้น เลิศศักดิ์ เคยเปิดเผยเปิดกับประชาไทว่า เหตุที่เลือกสถานที่ประชุมพรรคที่หมู่บ้านนาหนองบงนั้น เพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของสามัญชน เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านคนธรรมดา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคต และชีวิตของตัวเอง ในกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และเชื่อว่าการใช้พื้นที่ดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นในสิ่งที่สมาชิกพรรคยึดถือร่วมกันคือ ประชาธิปไตยฐานราก

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เตรียมหารือ มท. พม. สภาความมั่นคงฯ เปิดลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิ ให้เข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ

Posted: 22 Sep 2018 01:58 AM PDT

นักวิจัยเผยคณะทำงานแก้ปัญหา "คนไทยไร้สิทธิ" เตรียมหารือ มท. พม. และสภาความมั่นคงฯ "เปิดลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิ" ทั่วประเทศ สู่การแก้ปัญหาเชิงระบบ เพิ่มความมั่นคงประเทศ หลังผลสำรวจเบื้องต้น 26 จังหวัด พบคนไทยมีปัญหาสิทธิสถานะจำนวนมาก ฐานะยากจน เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการผลักดัน "คนไทยไร้สิทธิ" ให้เข้าถึงสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งเพื่อเข้าถึงสิทธิสวัสดิการภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิทธิสำคัญในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน โดยเริ่มแรกได้ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในประเด็นคนไร้บ้านมาก่อน พร้อมทำการสำรวจข้อมูล ซึ่งคนไร้บ้านเหล่านี้มีทั้งที่อาศัยอยู่ใน กทม.และเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ และปัญหาหนึ่งที่พบคือ การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนทั้งที่เป็นคนไทย เกิดและอยู่ในประเทศไทยด้วยสาเหตุต่างๆ ส่งผลให้คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการภาครัฐตามไปด้วย รวมถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลายเป็นคนไทยไร้สิทธิ

ทางภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมพูดคุยและหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะแก้ปัญหานี้ร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบัน สปสช.มีการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากการหารือจึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่วางแนวทางและร่วมผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มไทยไร้สิทธิ

นายอนรรฆ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ สปสช. จึงเห็นว่าควรจะมีการจัดทำข้อมูลคนไทยไร้สิทธิเพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาชัดเจนของกลุ่มคนเหล่านี้ นำมาสู่การสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สิทธิเบื้องต้น โดยความร่วมมือ สสส.และ สปสช. ดำเนินการผ่านกลไกเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ตามมาตรา 50 (5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้จากผลการสำรวจเบื้องต้นใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร พบบุคคลที่เป็นคนไทยไร้สิทธิจำนวน 693 คน กระจายอยู่ตามชุมชนในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในเขตเมือง สะท้อนข้อเท็จจริงว่า แต่เดิมเรามักเข้าใจว่าว่าคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ตามชายขอบ ตามแนวชายแดนของประเทศ แต่ความเป็นจริงแล้วมีจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ทั้งยังอยู่กลางใจเมืองของประเทศ เป็นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่เป็นคนไทย     

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ตกอยู่ในสถานะคนไทยไร้สิทธินั้น จากข้อมูลที่รวบรวมได้แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุด้วยกัน คือ 1.ถูกทอดทิ้งแต่กำเนิด 2.พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด เนื่องจากในอดีตการขึ้นทะเบียนประชาชนไม่มีความสำคัญมาก เพราะไม่ได้มาพร้อมสวัสดิการภาครัฐ แตกต่างจากปัจจุบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และ 3.การถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากบางคนไปทำงานต่างจังหวัดและไม่ได้ติดต่อทางบ้านเป็นเวลานานทำให้ครอบครัวและญาติพี่น้องคิดว่าเสียชีวิตหรือสูญหายไป

นายอนรรฆ กล่าวว่า ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนไทยไร้สิทธินั้น ที่ผ่านมาทางเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการช่วยเหลือ โดยมีการพาคนเหล่านี้ไปยืนยันตัวตน ขึ้นทะเบียนคนไทยและขอทำบัตรประชาชน แม้ว่าจะมีจำนวนหนึ่งที่สามารถดำเนินการสำเร็จ แต่มองว่าเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหารายบุคคล ทั้งมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ดังนั้นจึงมีความเห็นร่วมกันว่า เรื่องนี้น่าจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ

"เบื้องต้นเราเห็นว่าน่าจะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียนคนไทยไร้สิทธิ ที่เป็นการสำรวจคนไทยที่ตกหล่น ไม่มีบัตรประชาชน เพราะการลงพื้นที่ไปสำรวจเก็บข้อมูลทั้งประเทศเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ หากไม่มีความเจ็บป่วย ต้องการความช่วยเหลือ หรือความจำเป็นต้องรับบริการสวัสดิการภาครัฐก็จะไม่เปิดเผยตัว เราคงต้องประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลจำนวนและสถานการณ์คนไทยไร้สิทธิที่ชัดเจน นำไปสู่การผลักดันแก้ไขปัญหาเชิงระบบต่อไป โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าว

เมื่อถามถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการดูแลและช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธินี้ นายอนรรฆ กล่าวต่อว่า มีความจำเป็นใน 2 ประเด็น คือ ผู้มีสถานะคนไทยไร้สิทธิส่วนใหญ่เป็นคนยากจน การช่วยให้เข้าถึงสิทธิ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เขามีสวัสดิการพื้นฐาน ช่วยยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง และเป็นการช่วยลดภาระหน่วยบริการ เนื่องจากในหลายพื้นที่ เมื่อคนเหล่านี้เจ็บป่วยและเข้ารับการรักษา หน่วยบริการจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งการที่คนเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจะทำให้มีงบประมาณส่วนหนึ่งลงไปยังหน่วยบริการ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการลงได้ นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับภาพรวมสุขภาพทั้งประเทศ ทั้งในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค    

ต่อข้อซักถามว่า มองความเป็นไปได้ในการผลักดันและการตอบรับจากภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิอย่างไร นายอนรรฆ กล่าวว่า คงต้องลองคุยดู แต่จากที่ฟังเสียงจากที่ได้ประสานงานร่วมกัน ทั้งจากกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารในระดับนโยบายต่างเห็นความสำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยไร้สิทธิเหล่านี้ เพราะวันนี้มิติความมั่นคงของประเทศเปลี่ยนไป โดยเน้นที่การสร้างความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งการปล่อยให้คนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ในสถานะคนไทยไร้สิทธิ เท่ากับเป็นหนึ่งในปัญหาความไม่มั่นคงของประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง จึงต้องมีการแก้ปัญหาโดยเร็ว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: 12 ปีย้อนรอยแม้ว

Posted: 22 Sep 2018 12:38 AM PDT

12 ปีรัฐประหาร 19 กันยา นึกว่าไม่มีอะไรแล้วเชียว ที่ไหนได้ กลายเป็นวันแห่งอารมณ์ขัน ทวีตทักษิณสวนป้อม #เกาะโต๊ะ กลายเป็นไวรัล แทบทุกเพจดังทำมีมครื้นเครง เรียกเสียงหัวเราะสนั่นโลกออนไลน์ได้ทั้งวัน

นี่ขนาดสื่อใหญ่พากันหลบเลี่ยง ด้วยความเกรงใจ ก็ยังปิดกั้นพลังโซเชี่ยลไม่ได้

แถมเพจศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ก็ไม่รู้จะเอาฮาไปถึงไหน ชูผู้นำตู่ "4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง" ชาวบ้านขากรรไกรค้าง ไหนว่าเผาทำลายของก๊อบไร้เกรดหมดแล้วไง

ว่าที่จริงก็น่าเห็นใจพี่ใหญ่อยู่เหมือนกัน นอกจากทำหน้าแป๊ะยิ้ม ก็ไม่รู้จะสวนยังไง เรื่องเกาะโต๊ะหรือไม่ได้เกาะ ก็ไม่มีใครรู้จริง นอกจากรู้กัน 2 คน ชาวบ้านรู้แต่ว่าพี่ป้อมมารุ่งเรืองสมัยทักษิณนั่นเอง สนิทสนมกันกระทั่งมีข่าวก๊อสซิป คุณหญิงพจมานจะจับคู่ให้ 13-14 ปีผ่านไปจึงไม่วายมีคนระแวง ว่าแม้ว-ป้อมจะเกี้ยเซี้ยกัน (คราวนี้วางใจได้แล้วมั้ง)

แล้วอันที่จริง คนที่เคยล้อมโต๊ะทักษิณ ก็ไม่ได้มีแต่พี่ป้อม สมคิดและพวกพ้องนั่นไง ทีมเนติบริกร วิษณุ บวรศักดิ์ นี่ตัวสำคัญ แม้แต่สนธิ ลิ้ม และอีกหลายๆ คน ก็ร่วมสร้าง "ระบอบทักษิณ" มาทั้งนั้น

สังคมไทยไม่ยักถาม ทำไมทักษิณเลวคนเดียว ไม่ว่าใครเคยทำอะไร เคยรับใช้สุดจิตสุดใจ เคยได้ประโยชน์โภชผลกับ ทักกี้ ขอแค่โดดเรือหนีมาเชียร์รัฐประหาร ก็เป็นคนดี พวกวิพากษ์ทักษิณมา 4-5 ปี พอไม่เห็นด้วยรัฐประหาร ยืนหยัดหลักการประชาธิปไตย กลายเป็นไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

ครบ 19 กันยาทีไร พันธมิตรแมลงสาบก็เถียงคอเป็นเอ็น ว่ารัฐประหารเกิดเพราะทักษิณเลว ไม่ยักย้อนไทม์ไลน์ว่าตอนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลือกตั้ง 2 เมษาโมฆะ วุฒิสภาเลือก กกต.ชุดใหม่ จะเลือกตั้งใหม่กันอยู่แล้ว สถานการณ์ช่วงนั้น แม้คะแนนนิยมทักษิณยังมาก พรรคไทยรักไทยคงชนะ แต่น่าจะได้ส.ส.น้อยลง กระแสต้านก็แรง มีแนวโน้มว่าทักษิณจะถูกกดดันให้ต้อง "เว้นวรรค"

แต่จู่ๆ ไม่มีอะไรในกอไผ่ พันธมิตรก็นัดชุมนุมใหญ่ ไม่รู้ใครปล่อยข่าวจะมีม็อบชนม็อบ แล้วปุบปับ บิ๊กบังก็รัฐประหาร นำประเทศดิ่งเหวตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อย่างไม่สามารถหวนกลับอีกเลย

รัฐประหารมุ่งจัดการทักษิณ เห็นทักษิณได้อำนาจจาก เลือกตั้ง ได้คะแนนจากประชานิยม แทนที่จะช่วงชิงความนิยม ก็ฆ่าตัดตอนอำนาจประชาชน ตั้งตุลาการยุบพรรค เขียนรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ง่ายๆ ล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกได้ง่ายๆ ใช้ตุลาการภิวัฒน์จัดการความนิยมทางการเมือง จนลากกระบวนการยุติธรรมมาเสียความเชื่อถือ ขณะเดียวกัน รัฐประหาร พันธมิตร กองเชียร์ ล้วนเป็นคนดี ใครไม่เห็นด้วยเป็นคนเลว เป็นพวกทักษิณ ซตพ. ก็ผลักหลักการและพลังประชาธิปไตยไปให้ทักษิณ

12 ปีรัฐประหาร จึงไม่ได้ทำลายแค่ทักษิณ แต่ทำลายประชาธิปไตยของประชาชน พร้อมกันนั้นก็ทำลายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ล่มจมลงกับการทำลายประชาธิปไตย ตั้งแต่ NGO ภาคประชาชน ที่ออกบัตรเชิญรัฐประหาร สถาบันสื่อ นักวิชาการ ไปจนองค์กรต่างๆ ที่สังคมเคยเชื่อถือศรัทธา แต่มาช่วยกันตะแบง

ถามดูสิ พรรคการเมืองที่ตั้งหน้าตั้งตาทำลายระบอบทักษิณ จนไม่เหลือประชาธิปไตย วันนี้เสื่อมลงแค่ไหน

4 ปีที่ผ่านมา บนซากของความล่มสลาย ประเทศจึงต้องตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของ คสช. ย้อนกลับไปอยู่ใต้อำนาจดิบๆ อำนาจเดียว ที่ออกคำสั่งให้คนทำตามได้ เพราะมีกำลังมีอาวุธ ถึงจะสร้าง gimmick มีรัฐบาลมีสภา มีกระทั่งรัฐธรรมนูญ แต่ความเป็นจริงก็คือระบอบ ม.44 นั่นเอง

ระบอบนี้มองอย่างไร ก็ไม่เห็นทางกลับสู่ประชาธิปไตยปกติ เพียงแต่จำเป็นต้องมีเลือกตั้ง เพราะหุ้นมันขึ้น ก็มุ่งหวังว่าด้วยกลไกอำนาจ กลไกรัฐธรรมนูญ จะสืบทอดอำนาจได้อีก 4-5 ปี ในระบอบที่มีเลือกตั้งแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพื่อคุมประเทศคุมประชาชนต่อไป

สโลแกน "4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง" จึงไม่ผิด แค่ลืมคิดว่าเป็นของก๊อบ เพราะอันที่จริงก็มีส่วนคล้ายกัน แต่ที่มาคนละอย่าง

4 ปี คสช.สร้างรัฐเข้มแข็ง อำนาจนิยม เอาความมั่นคงเป็นใหญ่ บังคับประชาชนให้ร่วมมือ แล้วจะนำประเทศก้าวกระโดด ไทยแลนด์ 4.0 พ้นกับดักรายได้ปานกลาง พูดอีกอย่างคือใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนำเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ใช้โมเดลจีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะมีประชารัฐแจกบัตรคนจน

สมคิดโดมิกส์ ก็คือทักษิโณมิกส์ แต่คิดว่าจะทำได้โดยให้ประชาชนลืมประชาธิปไตย ลืมอดีต 12 ปี เลิกทวงความยุติธรรม เลิกทวงอำนาจ แล้วปากท้องจะอิ่ม

ทำได้จริงหรือ แล้วคิดได้ไงว่าประชาชนจะลืม 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: นสพ.ข่าวสด www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1596149

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: จันทร์เจ้า (สำนวนใหม่)

Posted: 22 Sep 2018 12:23 AM PDT

จันทร์เอ๋ยจันทร์อันแสนโอชา
ขอยางพาราได้ราคาแพงแพง
ขอกะทะทองแดง ให้พี่ป้อมของข้า
ขอนาฬิกาให้ข้าบ้างซี
ขอตำแหน่งรัฐมนตรีให้น้องข้าบ้าง
ขอรถถังให้น้องข้านอน
ขอนิติบริกรให้น้องข้าดู
ขอตราชูเอียงข้างข้าเถิด
ขอเงินเดือนล้ำเลิศเลี้ยงตัวข้าเอง.

.........................................................

จันทร์เอ๋ยจันทร์ไม่โอชา
ใครขอเวลาอีกไม่นาน
ยื้อเลือกตั้งจนเสียงานเสียการ
จันทร์จะโอชาให้เราก็เปล่าเลย
หวังจมูกท่านช่วยเราไม่เข้าท่า
ถ้าโหยหาประชาธิปไตยจงขวนขวาย
เชื่อลมปากคอสอชอก็รอแต่จะวอดวาย
มัวหมายหวังจันทร์จะโอชา น้ำตาจะนองหน้าเอย.

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

องค์กรแรงงานไทย-นานาชาติ เรียกร้องรัฐไทยให้สัตยาบัน ILO 188

Posted: 22 Sep 2018 12:09 AM PDT

องค์กรแรงงานไทยและระดับประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ C188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง

เว็บไซต์ Voice Labour รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมง (FRN) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) สหพันธ์แรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (AFL-CIO) ด้วยความเคารพจากพวกเราทุกองค์กร พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันและปฏิบัติตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ C 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง

แรงงานประมงข้ามชาติ จากประเทศกัมพูชา และเมียนมาที่ทำงานในกิจการประมงในประเทศไทยนั้นยังคงต้องประสบกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนอยู่ ในหลายๆครั้งพวกเขายังถูกบังคับให้ทำงานโดยเจ้าของเรือและไต๋ก๋งที่ยังประกอบธุรกิจประมงอย่างผิดกฎหมายหรือยังคงทำกิจการแบบ IUU อยู่ และในหลายๆครั้งในทุกวันนี้เรายังพบเห็นแรงงานประมงถูกปฏิเสธการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเนื่องจากสถานะการเข้าเมืองของพวกเขา การให้สัตยาบันกับอนุสัญญาฉบับที่ C188 จะช่วยให้เราส่งข้อความไปยังผู้ประกอบการที่ยังคงทำการประมงแบบผิดกฎหมาย กลุ่มเจ้าของเรือที่ไร้ยางอายที่ยังคงแสวงหาผลประโยชน์ การประกอบกิจการประมงที่ไม่สร้างความยังยืนและผิดกฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับ สิทธิแรงงานสำหรับคนงานประมงจะต้องได้รับการความคุ้มครองโดยต้องไม่คำนึงถึงสัญชาติแต่อย่างใด

การรับรองอนุสัญญา ฉบับที่ C188 จะถือเป็นการส่งข้อความไปยังสหภาพยุโรปและประชาคมนานาชาติว่าประเทศไทยนั้นได้ทำการปฏิรูปและยกระดับไปสู่ใบเหลืองเพื่อให้หลุดจากข้อจำกัดทางการค้าต่างๆในประเภทอาหารที่มีต่อสหภาพยุโรป

นอกจากนี้รัฐบาลไทยควรจะก้าวไปอีกระดับหนึ่งคือการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม แรงงานทุกคนไม่ว่าจะมาจากที่ใด หรือมีสถานะการข้าเมืองเช่นไร พวกเขาจะต้องได้รับเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและมีสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานจะช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่มีคุณค่าในสถานประกอบการและในกิจการประมง

ทั้งนี้บริษัทเอกขนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งรวมถึง Thai Union มีแนวคิดที่จะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงไปยังบริษัทคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของเขาแล้วโดยการสร้างความเข้าใจต่อบทบัญญัติของอนุสัญญาฉบับที่ C188 เพราะเนื่องจากผู้บริโภค และความต้องการในตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสูงต่อประเด็นด้านแรงงานและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพต่อบทบัญญัติของ อนุสัญญาฉบับที่ C 188 จะทำให้ประชาคมนานาชาติ ผู้ซื้ออาหารทะเลและตลาดอาหารทะเลที่ซื้อสินค้าจากประเทศไทยจะช่วยยืนยันถึงจรรยาบันและมาตรฐานแรงงานต่างๆว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล

ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกในสหราชอาณาจักรได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนกฎหมายแรงงานไทย (เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงานได้) และควรที่จะปฏิบัติใช้พิธีสารปี 2014 แรงงานงานบังคับ ฉบับ P 29 อย่างเข้มงวด เพื่อให้พวกเขาทำธุรกิจกับคู่ค้าในประเทศไทยต่อไปได้ รัฐบาลไทยควรได้รับการยกย่องจากความพยายามที่ผ่านมาในการผ่านพระราชบัญญัติบังคับใช้แรงงานและการกำจัดอุตสาหกรรมแสวงหาประโยชน์จากคนงาน และเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อไป

นอกจากนี้การให้สัตยาบันและการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับที่ C 188 นั้นรัฐบาลไทยควรจะปฏิบัติดังนี้

- การกำจัดแรงงานขัดหนี้ ซึ่งร่วมไปถึงค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทาง บัตรสีชมพู ใบอนุญาตทำงานจากตัวแทนและนายหน้า
- การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 12,000 บาท (375 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือน
- แรงงานประมงทุกคนต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน พร้อมทั้งมีสิทธิถือสมุดบัญชีธนาคาร บัตร ATM และรหัสกดในครอบครอง (ไม่ได้เก็บไว้โดยเจ้าของเรือหรือไต๋ก๋ง)
- แรงงานประมงทุกคนต้องได้รับสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาของตนเอง
- แรงงานประมงทุกคนจะต้องได้รับการฝึกอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้นและสามารถเข้าถึงชุดปฐมพยาบาลที่จัดไว้บนเรือแต่ละลำ
- เรือทุกลำต้องมีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติในกรณีการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน
- การจัดให้มีจรรยาบรรณในการเดินเรือบนเรือทุกลำที่ทำประมงในน่านน้ำไทย
- การแก้ไขกฎหมายแรงงานไทยเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งและมีส่วนร่วมในสหภาพของพวกเขา

สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เป็นองค์กรแรงงานในระดับสากลที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 670 แห่ง จาก 140 ประเทศ และมีสมาชิกที่เป็นแรงงานกว่า 19.7 ล้านคน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานประมง (FRN) เป็นสหภาพแรงงานประมงอิสระแห่งเดียวในประเทศไทยและอยู่ภายใต้โครงการของ ITF ประจำภูมิภาคเอเชียแลแปซิฟิก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) องค์กรสมาชิกสมาพันธ์แรงงานสากล (ITUC) ที่มีสหภาพแรงงาน 47 แห่งจากในภาครัฐวิสาหกิจและเอกชน มีสมาชิกกว่า 180,000 คนทั่วประเทศไทย  คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เครือข่ายองค์กรแรงงาน ที่มีสหภาพแรงงานในภาครัฐวิสาหกิจ และเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการด้านแรงงาน สหพันธ์แรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (AFL-CIO) สหพันธ์แรงงานประชาธิปไตยโดยอิสระ ที่มีสมาชิกเป็นสหภาพแรงงานในระดับชาติและสากลกว่า 55 แห่ง และมีสมาชิกชายและหญิงกว่า 12.5 ล้านคน สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) เป็นองค์กรแรงงานที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานทั่วโลกมีสมาชิกกว่า 207 ล้านคนจาก 163 ประเทศ และมีองค์กรสมาชิกที่เป็นสภาแรงงานระดับชาติกว่า 331 แห่ง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สตช. แก้ระเบียบไม่เปิดเผยประวัติอาญชากรรมของเด็ก เอื้อกลับคืนเป็นคนดีของสังคม

Posted: 21 Sep 2018 10:59 PM PDT

กสม. ร่วม กรมพินิจฯ จัดสัมมนาคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ชื่นชม สตช. แก้ระเบียบไม่เปิดเผยประวัติอาญชากรรมของเด็ก เอื้อเด็กและเยาวชนก้าวพลาดกลับคืนเป็นคนดีของสังคม ที่มาภาพประกอบ: Surian Soosay (CC BY 2.0)

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 คณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนาโครงการจัดทำข้อเสนอแนะและมาตรการการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน เรื่อง "สิทธิเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา" โดยมีการเสวนาหัวข้อ "เด็กที่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ : โอกาส...สิทธิ..ที่ยังคงเหลือ" ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพ ถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร

นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวว่าจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดต่างๆ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาของเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้อาจก้าวพลาดไปด้วยความอ่อนด้อยของประสบการณ์ วุฒิภาวะ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ช่วงหนึ่งของชีวิตต้องถูกควบคุมตัว อันส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน อย่างไรก็ดีแม้เด็กเหล่านี้จะได้รับการฟื้นฟูเป็นอย่างดีโดยกรมพินิจฯ และพร้อมกลับคืนสู่สังคม แต่ปัญหาการสืบค้นและเปิดเผยประวัติกระทำความผิดทางอาญาของเด็ก ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพวกเขาในอนาคตและทำให้ความพยายามของเด็กที่จะกลับคืนสู่สังคมด้วยการเป็นคนดีไม่เป็นผล โดยที่หลายคนต้องหวนไปกระทำความผิดซ้ำ

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 กสม. ได้ออกรายงานข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชน โดยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557  ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการคัดแยกประวัติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนและบัญชีทะเบียนประวัติของเด็กและเยาวชน โดยแยกจากของบุคคลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง  และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 24 รวมทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและชื่นชมว่า สตช. ได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวโดยออกระเบียบว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2561 โดยระบุห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลประวัติอาชญากรที่คัดแยกออกจากสารบบไปแล้วตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกพื้นที่จะได้นำระเบียบนี้ไปปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้กลับมามีที่ยืนในสังคมและประกอบอาชีพที่สุจริตต่อไปได้

นายเชวง ไทยยิ่ง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่าวันนี้สังคมต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถ้าไม่จำเป็น ดังที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ระบุหลักการสำคัญไว้ว่าการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นกระบวนการสุดท้ายที่เลือกใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้อำนาจรัฐไปกำหนดโทษทางอาญาไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเด็ก เช่น เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่งไม่ได้หยุดสร้างความเดือดร้อนจากการถูกตำรวจจับ แต่กลับยิ่งออกมาสร้างปัญหาเพื่อท้าทาย ขณะที่บางคนก็ติดอยู่กับตราบาปหรือประวัติอาชญากรที่ถูกเปิดเผยโดยไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยที่การใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการปัญหาเด็กยังได้ทำลายระบบบ้าน ครอบครัว และชุมชนไปโดยสิ้นเชิง จึงขอเสนอให้รัฐหันมาใช้กระบวนการจัดการปัญหาโดยชุมชนหรือส่วนท้องถิ่นที่มีความเข้าใจปัญหาและพฤติกรรมของเด็กในพื้นที่ให้มากขึ้น

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่าจากการเก็บข้อมูลคดีเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนระหว่างปี 2558 - 2561 พบว่า เด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ร้อยละ 63 มาจากครอบครัวแยกกันอยู่ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และกว่าครึ่งมีฐานความผิดในคดียาเสพติด โดยมีงานวิจัยรับรองว่ายิ่งคนถูกควบคุมในสถานที่ควบคุมนานเท่าไหร่ โอกาสที่กระทำผิดซ้ำยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และการนำผู้กระทำความผิดเล็กน้อยไปควบคุมตัวปะปนกับผู้กระทำความผิดซับซ้อนรุนแรง แนวโน้มที่ผู้กระทำความผิดเล็กน้อยจะเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้กระทำความผิดซับซ้อนรุนแรงย่อมมีมากขึ้น กรมพินิจฯ จึงให้ความสำคัญกับการคัดกรองและจำแนกเด็กตั้งแต่แรกรับตัวเข้ามาเพื่อทำแผนฟื้นฟูรายบุคคลโดยทีมสหวิชาชีพ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาร่วมกับชุมชนเพื่อมิให้เยาวชนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย

ด้านนางสุนันทา เตียสุวรรณ์ ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ทำให้เด็กต้องก้าวสู่การกระทำความผิด เนื่องจากพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำไม่มีเวลาดูแลบุตรและให้การศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวแรงงานอพยพ อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการศาลของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจะมุ่งเน้นการบำบัด แก้ไข และฟื้นฟูเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นหลัก โดยไม่เน้นการลงโทษ ซึ่งที่ผ่านมาศาลได้มีการส่งเด็กไปฝึกอาชีพในสถานที่ที่ห่างไกลจากพื้นที่ปัญหาโดยประสานความร่วมมือกับบริษัทให้ปกปิดประวัติของเด็ก หากเด็กสามารถทำงานได้และมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ศาลจะพิจารณาลดโทษ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายท้ายที่สุดคือการส่งคืนเด็กดีกลับสู่สังคม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น