โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

กลุ่มคนไทยรักสันติบุกร้อง ผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี สอบ นศ.ที่ต้านกฎอัยการศึกที่หนองจิก

Posted: 24 Sep 2018 09:47 AM PDT

กลุ่มคนไทยรักสันติ บุกเข้ายื่นหนังสือถึงรองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี เรียกร้องตรวจสอบนักศึกษา "PerMAS" ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่หนองจิก หวั่นเป็นการสร้างความคิดต่อต้านรัฐ

ที่มาภาพจากเฟสบุ๊ก Noi Thamsathien 

24 ก.ย.2561 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่หน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พงษ์พันธ์ จันเล็ก แกนนำกลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ พร้อมด้วยกลุ่มชาวไทยพุทธและมุสลิมกว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันพร้อมเดินขบวนนำพวงหรีดที่มีข้อความระบุว่า "อาลัยยิ่งแด่สถาบันการศึกษา" และถือป้ายต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ และไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมของกลุ่มนักเคลื่อนไหว และได้นำหนังสือแถลงการณ์เตรียมยื่นต่อรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่หน้าตึกอธิการบดี 

โดยมาจากกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคล และกลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "PerMAS" สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปัตตานีและ คปส. เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ที่ได้ออกแถลงการณ์ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 โดยมีสาระต่อต้านการออกประกาศการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์คนร้ายซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ขณะลาดตระเวนเส้นทาง เป็นเหตุให้เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

พงษ์พันธ์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ออกติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "PerMAS"  ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมในพื้นที่สร้างความคิดต่อต้านรัฐ สร้างเงื่อนไขขัดขวางการสร้างสันติสุขในพื้นที่ วันนี้จึงเดินทางมาแสดงจำนงยื่นหนังสือ และขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตรวจสอบ และกวดขันไม่ให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ออกไปสร้างความเสียหายในชุมชน ในพื้นที่ที่ต้องการสร้างความสันติสุข แถลงการณ์กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ จึงยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้

1. เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎอัยการศึก จนได้ตัวผู้กระทำความผิด
2. สถาบันไม่ควรอนุมัติให้ นศ.จัดกิจกรรมอันจะก่อให้เกิดความแตกแยก จากคำว่าประชาชนไทย และประชาชนปัตตานี
3. ไม่กระทำตนตามกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมายการแสดงออกนี้ถือเป็นกบฏ
4. การใช้อำนาจใช้กฎหมายนี้ถูกต้อง เพราะเป็นประเทศไทย ไม่ใช่แผ่นดินปัตตานี
5. เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายในเหตุการณ์เฉพาะ และให้คลายสถานการณ์เมื่อสำเร็จแล้ว เห็นด้วยกับการใช้ในแต่ละสถานการณ์ และขอสนับสนุนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ให้เกิดสันติสุขกลับมาโดยเร็ว และขอกำลังใจให้เสนอความจริงกับทุกกลุ่มฝ่ายที่ร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดในพื้นที่

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติได้ยื่นหนังสือให้แก่ ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย ผศ.ดร.มนทิรา กล่าวยืนยันจุดยืนว่า มหาวิทยาลัยยืนอยู่ข้างความถูกต้องและเคารพกฎหมาย ยินดีรับเรื่องให้คณะผู้บริหารได้ประชุมหารือ และแก้ไขปัญหาไปสู่การหาทางออกเรื่องนี้ต่อไป

ส่วนแถลงการณ์ที่ถือว่าเป็นต้นตอของการออกมาแสดงพลังคัดค้านของกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติหนนี้ วอยส์ออนไลน์ คาดว่าเป็นแถลงการณ์ของกลุ่มเปอร์มาสที่ออกเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ออกเนื่องในวันสันติภาพสากล ใจความท่อนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า "สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนปาตานีมีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ด้วยสภาพความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีนั้น ประชาชนชาวปาตานีตกอยู่ภายใต้สภาพความหวาดกลัวจากปฏิบัติการทางอาวุธของทั้งสองฝ่าย ตราบใดที่แนวนโยบายการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนี้เป็นไปตามแนวคิดความมั่นคงและนำโดยนโยบายการทหาร...." แถลงการณ์ฉบับนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ขอให้พรรคการเมืองผลักดันให้การเจรจาสันติภาพปาตานีเป็นวาระแห่งชาติ 

เปอร์มาส และ คปส. เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมในพื้นที่เรื่อยมา ล่าสุดกลุ่มเปอร์มาสได้จัดเสวนาในหัวข้อ ปาตานี: สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองเพื่อสันติภาพ นอกจากนั้นยังได้จัดเสวนาที่นำตัวแทนพรรคการเมืองไปร่วมกันพูดคุยเรื่อง "สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทยต่ออนาคตสันติภาพปาตานี" เมื่อ 15 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กลุ่มมักจัดกิจกรรมรณรงค์ในหลายประเด็นที่สวนทางกับมาตรการของเจ้าหน้าที่ เช่นเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ได้นำสมาชิกกลุ่มจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังตำบลบางเขาซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมเต็มขั้นตามกฎอัยการศึกและพูดคุยกับชาวบ้านพร้อมทั้งละหมาดเพื่อขอความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ 

สำหรับมาตรการดังกล่าว วอยส์ออนไลน์ ระบุว่า ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนที่แสดงความเป็นห่วงว่าจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็สร้างความวิตกจนกระทบต่อวิถีการทำมาหากิน นักวิชาการบางรายถึงกับเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเปิดเผย กลุ่มมาราปาตานีก็ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกเช่นเดียวกัน 

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ จัดแถลงข่าว ณ มณฑลทหารบกที่ 46 ประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฉบับที่ 86/2561 ให้ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำซำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และกำหนดให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวนำอาวุธปืน และเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภทมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 17-23  ก.ย. 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี ภายหลังเกิดเหตุการณ์ซุ่มยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นายขณะที่ทั้งหมดกำลังเดินกลับฐานใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลสั่งจำคุก 3 จำเลย คดีปล้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ปี แม้สู้ถูกซ้อมให้รับสารภาพในชั้น ตร.

Posted: 24 Sep 2018 08:56 AM PDT

ศาลจังหวัดหัวหินลงโทษจำคุกจำเลย คดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเกิดจากการซ้อมทรมาน ห้ามไม่ให้รับฟัง จ่ออุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป 'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ชี้แนวโน้มการพิพากษาคดีของศาลในหลายคดีให้น้ำหนักและรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อลงโทษจำเลยมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ คดีที่เป็นที่สนใจของสังคม และคดีความมั่นคง

24 ก.ย.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ผ่านมา ศาลจังหวัดหัวหินมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ทอ.2/2560 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดหัวหิน โจทก์ ณัฐวัตร หรือเจมส์ หรือเจมส์หรอ หรือเจมส์หลอ ธนัฏฐิกาญจนา หรือธนัฎฐิกาญจนา ที่ 1 กับพวกรวมสามคน จำเลย โดยพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 18 ปี ปรับคนละ 900 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษจำเลยที่ 1 คงจำคุก 12 ปี ปรับ 600 บาท

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 นักท่องเที่ยวชาวอิตาลี และชาวโมรอคโคได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าในวันดังกล่าว เวลาประมาณตีสามครึ่งถึงตีสี่ ทั้งสองได้ถูกคนร้ายซึ่งใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายแล้วปล้นทรัพย์ ณ บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด หมู่ที่ 1 ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาตำรวจชุดจับกุมได้จับกุมจำเลยที่ 1 โดยให้การรับสารภาพและซัดทอดจำเลยอื่น เจ้าหน้าที่จึงจับกุม จำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดและได้กลับคำให้การโดยร้องเรียนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนในชุดจับกุมซ้อมทรมานให้รับสารภาพ และเพื่อนสาวที่อยู่กับตนในขณะถูกจับกุมก็ถูกชายคนหนึ่งที่ทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลวนลามทางเพศ มูลนิธิฯ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบกรณีร้องเรียนดังกล่าว และพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพจริง และพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำมากล่าวหาจำเลยทั้งสามมีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ จึงได้ร่วมกับ Innocence Project ให้ความช่วยเหลือจัดหาทนายความให้แก่จำเลยในคดีนี้

ในการพิจารณาคดี ทางนำสืบของโจทก์ไม่พบทรัพย์ของกลางที่ได้จากการปล้นทรัพย์ มีเพียงคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และคำให้การของผู้เสียหายที่ 2 ในชั้นสอบสวนและชั้นสืบพยานก่อนฟ้อง ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว ทนายความมูลนิธิฯ และ innocence Project ที่ให้ความช่วยเหลือยังไม่ได้เข้าไปในคดี โดยคำให้การพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยอยู่หลายประการ เช่นคำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความในชั้นศาลของผู้เสียหายที่ 2 ขัดแย้งกันเอง พยานโจทก์ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุ ก็เบิกความต่อศาลว่าผู้เสียหายทั้งสองมีอาการเมาสุรา   

ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบโดยอ้างฐานที่อยู่ โดยมีพยานพยานบุคคลและหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิดของโรงแรมซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 พักอาศัยอยู่กับพยานซึ่งเป็นหญิงสาวอีก 2 คน ในคืนเกิดเหตุตั้งแต่เวลาก่อนเที่ยงคืนจนกระทั่งถึงเวลา 10 นาฬิกาเศษของวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีภาพปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ออกไปจากโรงแรมดังกล่าวแต่อย่างใด และพนักงานโรงแรมยังเบิกความยืนยันต่อศาลว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 พักอาศัยอยู่ที่โรงแรมก่อนเที่ยงคืนจนกระทั่งช่วงสายของวันรุ่งขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2 มีพยานซึ่งเป็นคนในครอบครัวเบิกความยืนยันฐานที่อยู่

ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม โดยรับฟังคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การปฏิเสธมาแต่แรก โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่โรงแรมนั้นไม่น่าเชื่อถือ

สำหรับคดีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ทางมูลนิธิฯ และโครงการ Innocent Project ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อจำเลยที่1และจำเลยที่ 2 นอกจากเนื่องด้วยทั้งสองมีฐานะยากจนแล้ว เราพบว่าคำให้การของจำเลยที่1  ที่ซัดทอดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เกิดจากการทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ  แม้จะไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ตรวจร่องรอยบาดแผลเพราะมีการตรวจร่างกายภายหลังเหตุการณ์ระยะหนึ่ง การทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้สารภาพบ่อยครั้งไม่ปรากฏบาดแผลภายนอกจึงต้องการการตรวจพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวชที่เชี่ยวชาญไม่ใช่แพทย์อายุรกรรมและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพยาบาลของทางราชทัณฑ์ตามที่ในคำพิพากษาได้อ้างว่า ๆ ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการทรมาน  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า หากศาลกลับระบุในคำพิพากษาว่าการซัดทอดบุคคลหรือคำรับสารภาพที่ถูกทำร้ายร่างกายอยู่ไม่อาจกระทำโดยการโกหกได้นั้นเป็นการกล่าวอ้างที่ขาดหลักการทางนิติจิตเวชศาสตร์โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลแต่อย่างไร คำพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงคนเดียวจาก 18 ปี เป็น 12 ปี โดยอ้างคำสารภาพประกอบการซัดทอดจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีจึงเป็นการอ้างที่ขัดกับคำให้การปรากฏในชั้นศาลว่า จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์และการซัดทอดเกิดขึ้นเพราะทนความบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในชั้นจับกุมไม่ไหว โดยมีพยานจำเลยรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวมาให้การยืนยันสิ่งที่เห็นและได้ยินว่าจำเลยที่ 1 ร้องโอดโอยเพราะได้รับบาดเจ็บในขณะถูกจับกุม จำเลยทั้งสามเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป

จำเลยทั้งสามเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป

ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกและปรับจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสามโดยกำหนดวงเงินปล่อยชั่วคราวเป็นเงิน 800,000 บาท เพิ่มจากเดิมที่ศาลชั้นต้นกำหนดวงเงินปล่อยชั่วคราวไว้ 300,000 บาท โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด เหตุผล หรือความจำเป็นในการกำหนดวงเงินที่เพิ่มขึ้นสูงมากดังกล่าว ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 6 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน หากศาลเห็นว่าสมควรกำหนดวงเงินประกันให้สูงขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ ก็ให้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง" ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ วงเงินปล่อยชั่วคราวตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาจึงไม่ควรเกิน 450,000 บาท โดยอาจกำหนดต่ำกว่าหรือสูงกว่าจำนวนดังกล่าวได้ แต่พึงอยู่ภายใต้หลักการในข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 4 วรรคสาม ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่จำต้องเรียกหลักประกัน ก็ให้พิจารณาว่าหลักประกันนั้นคุ้มกับวงเงินประกันที่กำหนดหรือไม่ โดยให้คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ขอประกัน หลักประกัน และฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยประกอบด้วย" การกำหนดจำนวนเงินประกันสูงทำให้ หลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 เคยยื่นไว้ต่อศาลมีมูลค่าไม่เพียงพอ จึงจำต้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แต่การติดกำไล EM ที่เท้า อาจทำให้จำเลยที่ 2 ที่ประกอบอาชีพทำประมงประสบอุบัติเหตุแหอวนพันติดกำไล EM ได้  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการพิพากษาคดีของศาลในหลายคดี ที่ให้น้ำหนักและรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อลงโทษจำเลยมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ คดีที่เป็นที่สนใจของสังคม และคดีความมั่นคงที่ศาลรับฟังกระทั่งบันทึกการสอบปากคำผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกและผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งๆที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด คำรับสารภาพดังกล่าวในหลายคดี เกิดจากการถูกทรมาน ข่มขู่ หรือชักจูงโดยเจ้าหน้าที่ ตกอยู่ในภาวะจำยอม  มีปัญหาเรื่องไม่เข้าใจภาษาหรือขาดความเข้าใจกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่มีทนายความหรือทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดให้ขาดความรับผิดชอบหรือขาดประสบการณ์ เกรงใจเจ้าหน้าที่ ทำให้คนจน คนด้อยการศีกษา ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคดีนโยบาย คดีความมั่นคง หรือแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนมาก ต้องติดคุกทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือความผิดที่ตนกระทำไม่ได้ร้ายแรงดังที่ถูกตั้งข้อหา  การที่พนักงานอัยการและศาล รับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลย ที่น่าสงสัยว่ามิได้กระทำด้วยความสมัครใจ หรือได้มาโดยมิชอบ ขัดต่อหลักการรับฟังพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุอีกว่า เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพหรือเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศก์ ยังเกิดขึ้นเป็นประจำ ทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาคดีอาญาและในคดีความมั่นคง ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคดีการเมืองในที่อื่นๆ แต่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมักไม่ถูกลงโทษ ลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ทั้งในทางวินัยและทางอาญา ทั้งๆที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานมาตั้งแต่ปี 2550 แต่จนบัดนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ทำให้การสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่ได้ผล

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

25 เก้าอี้ ส.ส. เขต หายไปจากตรงไหนเทียบเลือกตั้งปี 54

Posted: 24 Sep 2018 07:54 AM PDT

เทียบจำนวนเขตเลือกตั้ง 62 VS 54 พบตัดกำลังเพื่อไทย 8 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ชาติไทยพัฒนา 1 ส่วนที่เหลืออีก 13 ที่นั่งเป็นพื้นที่จังหวัดที่มี ส.ส. จากหลายพรรค ที่นั่งที่จะหายไปยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนจะกระทบกับพรรคใด ต้องรอการประกาศเขตเลือกตั้งใหม่ก่อน อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการนำกฎใหม่มาวางทาบในพฤติกรรมการเลือกตั้งแบบเก่า แปลว่ามีหลายอย่างเปลี่ยนแปลง แน่ละเมื่อการเลือกตั้งหายไปจากสังคมไทยนานถึง 7 ปี

ความแตกต่างอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นี้คือ การออกแบบโครงสร้างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่(ส.ส) จากเดิมที่กำหนดให้ที่มา ส.ส ว่ามาจากระบบแบ่งเขต 375 คน และมาจากระบบบัญชีรายชื่ออีก 125 คน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดให้มี ส.ส. ได้มาจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 350 คน และมาจากระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน

ไม่เพียงเท่านั้นยังได้มีเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดด้วย จากเดิมที่เคยได้บัตรเลือกตั้งมา 2 ใบ เพื่อกาให้คนที่รัก แล้วก็กาให้พรรคที่ชอบ หลังจากเลือกตั้งเสร็จ กกต. จะนับคะแนนบัตรสองประเภทนี้แยกกัน คนที่ได้คะแนนกว่าในระบบแบ่งเขตก็ถือว่าเป็นผู้ชนะไป ส่วนคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อจะนำมารวมกันทั้งประเทศและคิดเป็นสัดส่วนออกว่ามาแต่ละพรรคการเมืองจะได้ที่นั่งเพิ่มอีกเท่าไหร่ แต่มารอบนี้บัตรเลือกตั้งจะเหลือเพียงบัตรเดียว และกาได้ช่องเดียวเท่านั้น คือเลือกทั้งคนทั้งพรรคไปพร้อมๆ กัน และมีวิธีนับคะแนนที่แตกต่างออกไป

สำหรับการแบ่งเขตการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของแต่ละจังหวัด โดยการคำนวนเขตเลือกตั้ง ตั้งต้นจากการหาค่าเฉลี่ยจำนวนประชากร ต่อ ส.ส. 1 คน โดยใช้จำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 มีนำนวนประชากรทั้งสิ้น 66,188,503 คน เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส. แบ่งเขตได้ 350 คน นั่นเท่ากับว่า ส.ส. 1 คนจะเป็นตัวแทนของประชากรเฉลี่ย 189,110 คน (ขณะที่ในปี 2554 ส.ส. 1 คน จะเป็นตัวแทนของประชาการเฉลี่ย 170,000 คน)

จากนั้นจึงได้มีการคำนวนจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมี จากจำนวนประชากรที่มีอยู่ในทะเบียนราษฎร์ของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับจำนวนเขตเลือกตั้ง และจำนวน ส.ส. ในปี 2554 จะต้องพบอยู่แล้วว่าจะมี ส.ส. หายไป 25 คน มี 23 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. ลดลง โดยกรุงลงมาสุดถึง 3 ที่นั่ง หาคิดเป็นรายภาคพบว่า ภาคอีสานมีจำนวนลดลงมากที่สุดคือ 10 ที่นั่ง รองลงมาคือภาคกลาง(นับรวม กทม.) คือ 9 ที่นั่ง ภาคใต้และภาคเหนือพื้นที่ละ 3 ที่นั่ง ส่วนภาคตะวันตกและภาคตะวันออกมีที่นั่งคงเดิม

เมื่อลองค้นข้อมูลดูว่าในจำนวน 23 จังหวัดที่จะต้องเสียที่นั่ง ส.ส. ไปมีจังหวัดใดบ้างที่มีผู้แทนฯ จากพรรคการเมืองพรรคเดียวชนะยกจังหวัด พบว่า นักการเมืองพรรคเพื่อไทยชนะยก 8 จังหวัดคือ เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร และอุดรธานี พรรคประชาธิปัตย์ชนะยก 3 จังหวัดคือ กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาชนะยก 1 จังหวัดคืออ่างทอง ซึ่งนั่นเท่ากับว่าจำนวน ส.ส. ในจังหวัดที่ชนะยกจังหวัดซึ่งเคยการันตีว่าจะได้ที่นั่งแน่นอนจะหายไป จังหวัดละ 1 ที่นั่ง รวม 12 ที่นั่ง ส่วนอีก 13 ที่นั่งที่เหลือยังต้องรอดูว่าจะมีการยุบเขตรวมเขตเลือกตั้งอย่างไรและจะกระทบต่อพื้นที่ของพรรคการเมืองใดบ้าง

แต่สามารถระบุได้ว่า 13 ที่นั่งที่จะหายไปนั้นมาหายไปจาก 12 จังหวัดคือ ชัยภูมิเดิมมี ส.ส. จากเพื่อไทย 6 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง นครราชสีมาเดิมมี ส.ส. จากเพื่อไทย 8 ที่นั่ง ชาติพัฒนา 4 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 4 ที่นั่ง บุรีรัมย์เดิมมี ส.ส. จากภูมิใจไทย 7 ที่นั่ง เพื่อไทย 2 ที่นั่ง สุรินทร์เดิมมี ส.ส. จากเพื่อไทย 7 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง อุบลราชธานีเดิมมี ส.ส. จากเพื่อไทย 7 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง

เพชรบุรีเดิมมี ส.ส. จาก เพื่อไทย 5 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง สระบุรีเดิมมี ส.ส. จากเพื่อไทย 2 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง  สุโขทัยเดิมมี ส.ส. จากภูมิใจไทย 4 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง สุพรรณบุรีเดิมมี ส.ส. จากชาติไทยพัฒนา 4 ที่นั่ง เพื่อไทย 1 ที่นั่ง ซึ่งในทุกจังหวัดนี้จะถูกตัด ส.ส. ออกไปหนึ่งที่นั่ง แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการแบ่งเขตใหม่อย่างไร และพื้นที่ฐานเสียงของพรรคใดจะถูกควบรวมบ้าง

ส่วนกรุงเทพมหานครจากเดิมมี ส.ส. ประชาธิปัตย์ 23 ที่นั่ง เพื่อไทย 10 ที่นั่ง ก็จะถูกลดจำนวน ส.ส. ลด 3 ที่นั่ง และยังไม่ทราบว่าจะมีการลากเสียงแบ่งใหม่อย่างไร

โดยขั้นตอนแล้วหากนับตั้งแต่วันที่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีฯ ผู้อำนวยการการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อย่างน้อย 3 รูปแบบ ภายในเวลา 14 วัน (วันสุดท้ายคือวันที่ 3 ต.ค.) หลังจากนั้นก็จะปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตอย่างน้อย 3 รูปแบบที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วันนับแต่ปิดประกาศ หลังจากนั้นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดส่งต่อไปยัง กกต. ให้พิจารณาภายใน 20 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อประกาศการแบ่งเขตในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการแบ่งเขตและกำหนดจำนวน ส.ส. ภายใน 60 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินการจัดหาผู้สมัครลงเลือกตั้งต่อไป 

ทั้งนี้วิธีนับคะแนนการเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวจะนับในสองระดับคือ 1.นับว่าในระบบแบ่งเขตใครได้คะแนนเสียงมากสุดถือเป็นผู้ชนะ และจะมีการนับรวมคะแนนในระดับประเทศโดยจะนำคะแนนมาคิดเป็นสัดส่วนรวมทั้งหมดว่า แต่ละพรรคการเมืองจะได้ ส.ส. พรรคละกี่ที่นั่ง จากนั้นให้นำจำนวนที่นั่งที่แต่ละพรรคควรจะได้ มาลบบวกกับจำนวน ส.ส.เขตที่ได้รับการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งโมเดลการเลือกตั้งในลักษณะนี้ออกแบบมาเพื่อทำให้พรรคที่ได้ที่นั่งจำนวนมากในระบบการเลือกแบบเดิมได้รับที่นั่งลดลง ขนาดที่พรรคขนาดกลางจะได้จำนวนที่นั่งเพิ่มมากขึ้น

ภาค/จังหวัด

จำนวนเขตเลือกตั้ง/ส.ส. 54

จำนวนเขตเลือกตั้ง/ส.ส. 62

สัดส่วนพรรคการเมืองในแต่ละพื้นที่ (เลือกตั้ง 54)

ภาคเหนือ

36 เขต/คน

33 เขต/คน

พท 35 ปชป 1

เชียงราย

7

7

พท

เชียงใหม่

10

9*

พท

แพร่

3

2*

พท

น่าน

3

3

พท

พะเยา

3

3

พท

แม่ฮองสอน

1

1

ปชป

ลำปาง

4

4

พท

ลำพูน

2

2

พท

อุตรดิตถ์

3

2*

พท

ภาคอีสาน

126 เขต/คน

116 เขต/คน

พท 104  ภท 14 ชพ 4 ปชป 4 ชทพ 1

กาฬสินธุ์

6

5*

พท

ขอนแก่น

10

10

พท

ชัยภูมิ

7

6*

พท 6 / ภท 1

นครพนม

4

4

พท

นครราชสีมา

15

14*

พท 8 /  ชพ 4 / ภท 4

บึงกาฬ

2

2

พท

บุรีรัมย์

9

8*

ภท 7 / พท 2

มหาสารคาม

5

5

พท

มุกดาหาร

2

2

พท

ยโสธร

3

3

พท

ร้อยเอ็ด

8

7*

พท

เลย

4

3*

พท

ศรีสะเกษ

8

8

พท 7 / ภท 1

สกลนคร

7

6*

พท

สุรินทร์

8

7*

พท 7 / ภท 1

หนองคาย

3

3

พท

หนองบัวลำภู

3

3

พท

อำนาจเจริญ

2

2

พท / ปชป

อุดรธานี

7

8*

พท

อุบลราชธานี

9

10*

พท 7 / ปชป 3 / ชทพ 1

ภาคกลาง

115 เขต/คน

106 เขต/คน

พท 65 / ปชป 36 / ภท 9  ชพท 9 / ชพ 1

กรุงเทพฯ

33

30*

ปชป 23 / พท 10

กำแพงเพชร

4

4

พท 3 / 1

ชัยนาท

2

2

ภท 2

นครนายก

1

1

ภท 1

นครสวรรค์

6

6

พท 4 / ปชป 1 / ชพ 1

นนทบุรี

6

6

พท

นครปฐม

5

5

พท 5 / ชทพ 1

ปทุมธานี

6

6

พท 6 / ปชป 1

พระนครศรีอยุธยา

5

4*

พท 4 / ชพท 1

พิจิตร

3

3

ชพท 2 / ปชป 1

พิษณุโลก

5

5

ปชป 3 / พท 1

เพชรบูรณ์

6

5*

พท 5 / ปชป 1

ลพบุรี

4

4

พท 3 / ปชป 1

สมุทรปราการ

7

7

พท 6 / ภท 1

สมุทรสงคราม

1

1

ปชป

สมุทรสาคร

3

3

ปชป 2 / พท 1

สระบุรี

4

3*

ปชป 2 / พท 2

สุโขทัย

4

3*

ปชป 2 / ภท 4

สิงห์บุรี

1

1

 พท

สุพรรณบุรี

5

4*

ชทพ 4 / พท 1

อ่างทอง

2

1*

ชทพ 2

อุทัยธานี

2

2

ปชป 1 / ชทพ 1

ภาคตะวันตก

19 เขต/คน

19 เขต/คน

ปชป 16 / พท 2 / ชทพ 1

ตาก

3

3

ปชป 3

กาญจนบุรี

5

5

ปชป 3 / พท 2

ราชบุรี

5

5

ปชป 4 / ชทพ 1

เพชรบุรี

3

3

ปชป 3

ประจวบคีรีขันธ์

3

3

ปชป 3

ภาคตะวันออก

26 เขต/คน

26 เขต/คน

ปชป 11 / พช 6 / พท 6 /ชทพ 1

ตราด

1

1

ปชป 1

จันทบุรี

3

3

ปชป 3

ชลบุรี

8

8

พช 6 / พท 1 / ปชป 1

ระยอง

4

4

ปชป 4

ฉะเชิงเทรา

4

4

ปชป 2 / พท 2

ปราจีนบุรี

3

3

ภท 2 / ชพท 1

สระแก้ว

3

3

พท 3

ภาคใต้

53 เขต/คน

50 เขต/คน

ปชป 50 อื่นๆ 3

กระบี่

3

2*

ปชป 3

ชุมพร

3

3

ปชป 3

ตรัง

4

3*

ปชป 4

นครศรีธรรมราช

9

8*

ปชป 9

นราธิวาส

4

4

ปชป 4

ปัตตานี

4

4

ปชป 2 / มาตุภมิ 1 / ภท 1

พังงา

1

1

ปชป 1

พัทลุง

3

3

ปชป 3

ภูเก็ต

2

2

ปชป 2

ยะลา

3

3

ปชป 3

ระนอง

1

1

ปชป 1

สงขลา

8

8

ปชป 8

สตูล

2

2

ปชป 1 / ชทพ 1

สุราษฎร์ธานี

6

6

ปชป 6

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หอศิลป์กรุงเทพฯ ไร้งบจาก กทม. 2 ปีติด ผู้บริหารยันไม่ปิด รัดเข็มขัด ลดกิจกรรม

Posted: 24 Sep 2018 06:22 AM PDT

นัดแต่งชุดดำ 26 ก.ย.นี้ ผู้บริหารหอศิลป์จัดงานแถลงนโยบายรัดเข็มขัด จากเหตุสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวไม่ให้งบหอศิลป์กรุงเทพฯ ปี 61-62 โดยปี 61 กทม. ไม่อนุมัติงบ 40 ล้านทั้งที่ระบุในสัญญา ขณะที่ค่าใช้จ่ายปี 54-60 รวม 426 ล้านบาท และก่อนหน้านี้มีข่าว กทม.จะเข้าบริหารหอศิลป์เอง แต่โดนต้านจึงล้มเลิก

ภาพบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2558

24 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟสบุ๊ก 'Thida Plitpholkarnpim' ของ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope ซึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับหอศิลป์ กทม. ระบุว่า ดังที่เราเคยได้ยินข่าวเมื่อหลายเดือนก่อนว่า มีความพยายามของกทม.ที่จะยึดหอศิลป์ไปบริหารเอง แม้การต่อต้านของหลายๆ ฝ่ายจะทำให้ความพยายามนั่นเงียบไป แต่ตอนนี้ท่าทางบานปลายกว่าที่คิด เพราะข่าวล่าสุด ไม่มีงบจาก กทม. 2 ปีติด หอศิลป์วิกฤติหนัก แต่ผู้บริหารยันไม่ปิด ต่อลมหายใจด้วยมาตรการรัดเข็มขัด ตัดนิทรรศการ ลดกิจกรรม ลดเวลาทำการ งานระดับชาติบางกอกเบียนนาเล่ เทศกาลละคร ร้านค้า ผู้ใช้บริการเดือดร้อนถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 26 ก.ย.นี้ มีการนัดหมายว่า ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของหอศิลป์ฯ ศิลปิน จะพร้อมใจกันกันแต่งชุดดำ พร้อมเชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยแต่งชุดดำเข้าร่วมงาน เวลา 13.30 น. ชั้น 1 ห้องเอนกประสงค์ เพื่อแถลงนโนบายรัดเข็มขัด กรณีที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวไม่ให้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมในปี 2561 และ 2562 รวมทั้งศิลปินและผู้สนับสนุนหอศิลป์ฯ ยังนัดกันแสดงออกด้วยการแต่งกายชุดดำที่หอศิลป์ในวันเดียวกัน ขณะที่บนโซเชียลมีเดีย ข้อความจำนวนมากถูกส่งต่อผ่านแฮชแท็ก saveYOURbacc หรือ "รักษาหอศิลป์ฯ ของคุณ" ตั้งแต่เมื่อวานนี้

'อัศวิน' เคยโดนต้านหนัก หลังมีข่าว กทม. จะเข้าบริหารหอศิลป์ฯ เอง

โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ระบุว่า มีแนวคิดที่ กทม.จะเข้ามาบริหารหอศิลป์ กรุงเทพฯ และต้องการพัฒนาพื้นที่ในหอศิลป์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนผ่านรูปแบบโคเวิร์คกิ้งสเปซ (co-working space)

ทำให้บุคคลที่ทำงานในวงการสร้างสรรค์ ผ่านโซเชียลมีเดีย และการรวบรวมรายชื่อผ่านแคมเปญรณรงค์ คัดค้านกรุงเทพมหานครเข้ามาบริหารจัดการหอศิลป์ กรุงเทพฯ ผ่าน เว็บไซต์ change.org ที่ปัจจุบันมีผู้สนับสนุน 20,636 คน แล้ว หลังจากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯ อัศวิน" วันที่ 14 พ.ค. โดยยอมถอยแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่เคยคิด และไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเรา เพียงแต่ต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด แต่ติดที่ระเบียบและกฎหมายที่มอบกิจการให้กับมูลนิธิ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าว

ปี 61 กทม. ไม่อนุมัติงบ 40 ล้าน ทั้งที่ระบุในสัญญา ขณะที่ค่าใช้จ่ายปี 54-60 รวม 426 ล้าน

ขณะเดียวกัน ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้เคยระบุไว้กับไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า กลางปีที่แล้วสภา กทม.ไม่อนุมัติงบที่ขอไปเพื่อใช้ปีนี้ 40 ล้านบาท ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.2560 โดยสภากทม.เสนอว่าหากจะขอใช้งบให้อยู่ในการพิจารณาของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. โดยทางมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ต้องเสนอโครงการเพื่ออนุมัติทีละโครงการ และที่ผ่านมาก็เสนอโครงการไปแล้ว บางโครงการใช้งบ 5 แสนบาท แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติใดๆ ดังนั้นค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนต.ค. 60 จึงเป็นรายได้ที่เหลืออยู่จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา และงบรายได้ที่มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้เช่าพื้นที่ และจากเอกชนผู้สนับสนุน

"ที่ผ่านมาได้งบประมาณกทม.ปีละประมาณ 40-60 ล้านบาท รวม 7 ปีประมาณ 322 ล้านบาท และมาจากมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ บริหารพื้นที่ต่างๆ และผู้สนับสนุน ประมาณ 144 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่าย 7 ปี ประมาณ 426 ล้านบาท โดยรวมจึงยังเหลืองบอีกประมาณ 40 ล้านบาท

"ในปีล่าสุด คือปี 2560 ได้งบจากกทม. 45 ล้านบาท มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ หารายได้เอง 37 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 75 ล้านบาท ส่วนจำนวนประชาชนที่เข้ามาที่หอศิลป์ฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 มี 1.1 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 1.2 ล้านคน และปี 2560 มี 1.7 ล้านคน มูลนิธิบริหารพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ช่วง 3 ปีแรกยังไม่มีสัญญาโอนสิทธิ์ มูลนิธิจึงหารายได้จากการบริหารพื้นที่ไม่ได้ แต่นับตั้งแต่ปี 2554 ได้ทำสัญญาการโอนสิทธิ์ มีอายุสัญญา 10 ปีสิ้นสุดปี 2564 โดยตามสัญญา กทม. ต้องจัดสรรงบส่วนหนึ่งเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ด้วย" ปวิตร กล่าว

หอศิลป์ พื้นที่ชุมนุมทางการเมือง แม้ตอนนี้จะทำไม่ได้เพราะขัด พ.ร.บ. ชุมนุมฯ

ทั้งนี้หอศิลป์กรุงเทพฯ ยังเคยเป็นพื้นที่ทางการเมืองในจัดเสวนาและจัดการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นจุดที่ค่อนข้างสะดวกต่อการเดินทาง แม้จะมีกิจกรรมบางส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัด เช่น ในปี 55 งาน 'แขวนเสรีภาพ' ซึ่งมีทั้งการฉายภาพยนตร์ ปาฐกถา และการบรรยายทางวิชาการ หรือภายหลังไม่ได้เป็นการบอกโดยตรง แต่มีป้ายเขียนที่ลานหน้าหอศิลป์ว่า "อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่" และบางครั้งก็เกิดจากเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาหาหอศิลป์ว่างานนั้นเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 จนหอศิลป์ต้องยกเลิกการจัดงานนั้น เช่น ปี 59 งานเสวนา 'รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?' และในปีเดียวกัน กิจกรรม PetchaKucah 20x20 หัวข้อ "รัฐธรรมนูญ"

ภาพบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2558 ซึ่งมีการล้อมรั้วและติดป้าย "อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอยู่ด้านใน (ที่มาภาพ freedom.ilaw.or.th)

นอกจากนี้ที่ผ่านมาลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็ใช้เป็นจัดกิจกรรมชุมนุมตั้งแต่ การชุมนุมประท้วงสร้างเขื่อนแม่วงก์ปี 2556 ชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหาร ปี 2557-2558 แต่ภายจากมี พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หอศิลป์กรุงเทพฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากวังสระปทุมตามมาตรา 7 ที่บัญญัติว่า "การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมหาราชวัง พระราชวัง วังของรัชทายาทหรือพระบรมวศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ควรลดขนาดกองทัพลง

Posted: 24 Sep 2018 05:00 AM PDT

แม้ว่าประเทศตะวันตกมีกองทัพประจำการมานาน แต่กองทัพประจำการของโลกตะวันตกมีขนาดเล็กกว่าภารกิจที่ต้องทำในยามสงครามอย่างมาก เหตุดังนั้นก่อนเกิดสงครามหรือในยามที่ทำสงครามอยู่ จึงต้องระดมพลเสริมเข้ามาอีกจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่ทหารกองหนุนเท่านั้น แม้ผู้ชายที่ไม่เคยเป็นทหารเลย ก็ต้องถูกระดมเข้ามารับการฝึกอย่างรวดเร็ว และรวบรัด เพี่อส่งออกแนวหน้า

กองทัพสหรัฐมีกำลังพลที่ประจำการอยู่เกือบหรือเกินล้าน (ใน 2018 มีประจำการอยู่หนึ่งล้านสองแสนกว่าคน) แต่เพื่อทำสงครามเวียดนาม แม้เป็นสงครามที่ไม่ประกาศ ก็ต้องใช้กำลังพลถึง 5 แสนในช่วงสูงสุดของการศึก และสหรัฐต้องระดมกำลังคนหนุ่มทั่วประเทศมาเสริม เพราะกองทัพสหรัฐมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติแม้ในยามสงบ จนเกินกว่าจะถอนกำลังมาใช้ในเวียดนามได้ครบ

สหรัฐเป็นมหาอำนาจ และกำหนดบทบาทให้ตนเองต้องเข้าไปกำกับควบคุมการเมืองทั้งโลก จึงต้องรักษาทหารประจำการไว้จำนวนมาก แม้กระนั้นทหารประจำการสหรัฐก็มีเพียง 0.392% ของประชากรอเมริกัน

ก่อนที่สหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองโลก กองทัพประจำการของสหรัฐยิ่งมีขนาดเล็กลงไปกว่านี้อีก สงครามกับอินเดียนแดงเพื่อขยายที่ทำกินออกมาทางตะวันตกทั้งหมด ในช่วงแรกใช้กองกำลังที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ ในช่วงหลังแม้ว่าใช้ทหารประจำการเป็นแกนกลาง แต่ก็ต้องระดม "อาสาสมัคร" ซึ่งที่จริงคือทหารรับจ้างที่ไม่ได้ "รับจ้าง" อย่างออกหน้า แต่เข้าร่วมรบเพื่อหารายได้เป็นหลัก

จนสงครามกลางเมือง, สงครามกับสเปน หรือแม้แต่ใช้กำลังปราบปรามความไม่สงบภายในก็ยังคงทำอย่างเดียวกัน คือมีทหารประจำการเป็นแกน และระดม (ส่วนใหญ่คืออาสาสมัคร-รับจ้าง) กำลังพลเรือนเข้าเป็นทหารชั่วคราว หากวิเคราะห์กำลังทหารสหรัฐที่ทำสงครามเวียดนาม ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือมีทหารประจำการเป็นแกนกลาง แล้วระดมคนหนุ่มเข้ามาเป็นทหารระดับล่างๆ ทั้งหมด ทั้งในส่วนที่เป็นช่างเทคนิคและกำลังรบ

ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์สงครามของยุโรปก็เป็นอย่างเดียวกัน คือรักษากำลังทหารประจำการจำนวนน้อยเอาไว้ แล้วระดมกำลังขนานใหญ่เมื่อเกิดสงคราม (หรือกำลังจะเกิดสงคราม) คนที่เรียนประวัติศาสตร์ยุโรปคงจำได้ว่า จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 การที่มหาอำนาจใดเรียกระดมพล ก็เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านทันที เพราะเพื่อความไม่ประมาท เพื่อนบ้านก็มักระดมพลเพื่อตอบโต้ทันทีเหมือนกัน ทั้งนี้ เพราะกองทัพประจำการขนาดใหญ่นั้นไม่จำเป็น นอกจากจะทำสงคราม

และในการระดมพลเพื่อการสงครามนั้น แม้แต่เรียกกองกำลังสำรองหรือทหารกองหนุนเข้าประจำการก็ยังไม่พอ ต้องเรียกเกณฑ์หรือรับ "อาสาสมัคร-รับจ้าง" เพิ่มเข้ามาอีกมาก

แม้ในเมืองไทยเองก็เคยปฏิบัติมาอย่างเดียวกัน สงครามกับฝรั่งเศสและการเข้าตีเชียงตุงในระหว่างสงครามโลก ใช้กำลังพลส่วนใหญ่จาก "อาสาสมัคร-รับจ้าง" ทั้งสิ้น โดยมีกองทัพประจำการเป็นแกนกลางในการนำ เมื่อเสร็จศึกจึงต้องปลดประจำการทหารออกไปจำนวนมาก

แต่การปลดประจำการหรือ demobilization นี้มีปัญหาในตัวเองอยู่สองอย่าง จู่ๆ ก็ปลดคนหนุ่มที่มีประสบการณ์การรบออกไปจำนวนมาก จำเป็นต้องมีงานรองรับคนเหล่านี้ มิฉะนั้นก็จะมีคนตกงานและความเดือดร้อนของคนหนุ่มกลุ่มก้อนใหญ่ ที่เคยชินกับการจัดองค์กรเสียด้วย จึงอาจเกิดความปั่นป่วนทางสังคมและการเมืองขึ้นได้ และอย่างที่สองก็คือ ทหารในกองทัพประจำการ โดยเฉพาะตัวนายๆ รู้สึกว้าเหว่จากอำนาจที่เคยมีระหว่างสงคราม เพราะกำลังพลในบังคับบัญชาหายไปเกือบหมด จะต่อรองอะไรกับคนกลุ่มอื่น ก็ไม่มีพลังต่อรองสักเท่าไร

แน่นอนประเทศไทยสมัยก่อน ซึ่งยังผูกกำลังแรงงานเกือบทั้งหมดไว้กับการเกษตร ย่อมดูดซับทหารปลดประจำการได้ไม่ยาก จึงไม่มีปัญหาอย่างที่หนึ่งมากนัก เหลือแต่ปัญหาอย่างที่สอง

เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ กองทัพประจำการของประเทศต่างๆ มักมีสัดส่วนของเปอร์เซ็นต์น้อย (เมื่อเทียบกับประชากร) ยกเว้นแต่ในประเทศมีภารกิจทางทหารที่ยังต้องปฏิบัติอยู่ เช่น สหรัฐ แม้กระนั้นทหารประจำการของสหรัฐก็ยังเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรที่น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก (ของไทยคือ 0.49 หรือเกือบ 0.5 ของประชากร ขณะที่สหรัฐมีเพียง 0.39 หรือเกือบ 0.4 เท่านั้น) ทั้งนี้ เพราะทหารประจำการนั้นหากมองในทางเศรษฐกิจแล้ว สิ้นเปลืองอย่างมาก เพราะทหารประจำการไม่ได้ "ผลิต" อะไรในทางเศรษฐกิจเลย การมีทหารประจำการจำนวนมาก จึงเท่ากับบั่นรอนกำลังทางเศรษฐกิจของประเทศลง

ยิ่งในประเทศที่การเกิดลดลงอย่างมากเช่นประเทศไทย และกำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุ การมีทหารในกองทัพประจำการมาก ก็ยิ่งบั่นรอนกำลังทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีก เพราะแย่งชิงเอากำลังแรงงานที่ขาดแคลนจากตลาดไปโดยไม่ได้ "ผลิต" อะไรเลย

น่าสังเกตว่า หากไม่นับสิงคโปร์และพม่าแล้ว ไทยมีทหารประจำการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรมากที่สุด สิงคโปร์มีทหารประจำการถึง 1.2% ของประชากร แต่สิงคโปร์อาจเป็นข้อยกเว้นเพราะมีประชากรน้อยคือเพียง 5.8 ล้านเท่านั้น ดังนั้น กองทัพที่เล็กที่สุดในอาเซียนคือมีทหารประจำการเพียง 72,000 คน ก็ต้องใช้ประชากรไปถึง 1.2% เข้าไปแล้ว

ส่วนพม่านั้น จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมาก เพื่อรักษาสถานะทางการเมืองของกองทัพไว้ ทั้งจากการแข็งข้อของประชาชนชาวพม่า และชนส่วนน้อย ฉะนั้นทหารประจำการพม่าจึงมีถึง 0.73% ของประชากร หรือกว่าสี่แสนคน เวียดนามซึ่งมีประชากรกว่า 96 ล้านคน มีทหารในกองทัพประจำการมากกว่าไทยไม่ถึงแสนคน แต่มีกำลังสำรองหรือทหารกองหนุนกว่า 5 ล้านคน ทั้งนี้ เพราะเวียดนามรู้สึกว่าประเทศที่อาจใช้กำลังทหารรุกรานตนได้ในอนาคตคือจีน จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีกำลังทหารทั้งประจำการและสำรองจำนวนมากเช่นนั้น อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรกว่า 260 ล้านคน แต่มีกำลังในกองทัพประจำการมากกว่าไทยประมาณ 1 แสนคน คิดเป็นเพียง 0.16% ของประชากรเท่านั้น

ฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชากรกว่า 104 ล้านคน มีทหารในกองทัพประจำการน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง หรือ 0.16% ของประชากรเท่าอินโดนีเซีย

ประเทศไทยปราศจากภัยคุกคามจากภายนอกมาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนการคุกคามภายในก็สิ้นสุดลงเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยล่มสลายในต้นทศวรรษ 2520 ถึงไทยอาจมีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้านบ้าง ก็ไม่มีข้อพิพาทกับใครที่ใหญ่ถึงกับคุ้มที่จะทำสงครามเพื่อให้ได้มาตามความต้องการ

เหตุใดไทยจึงยังรักษากำลังพลในกองทัพไว้มากถึงเพียงนั้น สัดส่วนทหารประจำการของไทยที่ 4.9% ของประชากรนั้น มากกว่ามาเลเซีย, เวียดนาม, รวมทั้งมากกว่าสหรัฐและจีนด้วย ยิ่งกว่านั้นไทยยังเกณฑ์ทหารมากกว่า 1 แสนคนทุกปี

คำตอบมาเห็นได้ชัดในการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้ เพื่อรักษาอำนาจที่ได้มาโดยผิดกฎหมายไว้ กองทัพต้องใช้กำลังพลสูงมากในการปราบปรามและระงับยับยั้งมิให้เกิดการต่อต้านล้มล้างอำนาจจากฝ่ายประชาชน ไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตเมืองใหญ่อย่างในสมัยก่อนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยกำลังทหารไปทุกหย่อมหญ้า เฉพาะการ "เยี่ยม" ประชาชนซึ่งเป็นที่ระแวงสงสัยเพียงอย่างเดียว ก็ต้องใช้กำลังคนเข้าปฏิบัติการหลายร้อยหลายพันต่อวัน

รัฐประหารของกองทัพที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ก็คงต้องทำอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอำนาจที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย แต่เพราะประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว รัฐประหารไม่ใช่คำตอบทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปอย่างที่ผ่านมา ในสภาพเช่นนี้ วิธีเดียวที่จะรักษาอำนาจไว้ได้ กองทัพจำเป็นต้องใช้กำลังพลในการ "ตรึง" ประชาชนไว้อย่างไม่มีวันผ่อนมือลงได้เลย

หากสักวันหนึ่ง การปฏิรูปกองทัพสามารถทำได้จริง สิ่งที่เว้นไม่ได้เลยคือลดจำนวนทหารประจำการของกองทัพไทยลง (เช่น ไม่น่าจะเกิน 0.2% ของประชากร) กองทัพควรกลับมาเหมือนอย่างที่เคยเป็นก่อนจะเข้าสู่สงครามเย็น คือมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยแกนกลางที่เป็นทหารอาชีพเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือกำลังสำรองที่พร้อมจะถูกระดมได้ในยามสงคราม กองทัพจะมีสมรรถภาพทางการทหารเพิ่มขึ้น (อินโดนีเซียและเวียดนามซึ่งมีทหารประจำการเป็นสัดส่วนต่อประชากรต่ำกว่าไทยมาก ถูกองค์กร Global Firepower ประเมินสมรรถนะทางทหารไว้สูงกว่าไทยพอสมควรทีเดียว) เพราะสมรรถภาพทางทหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของกำลังพลเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ทหารอาจทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะไม่มีสมรรถภาพที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยของชาติไปพร้อมกันด้วย

 

ที่มา: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1142579

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ยาพิษร้าย!

Posted: 24 Sep 2018 04:51 AM PDT

"สารพิษ" รู้ดีแต่กูจะขาย
มือซ้ายชาวนามือขวานายทุนใหญ่
ลำบากใจจะเลือกขวาซ้ายบรรลัย
ช่างหัวปะไรเอาเงินก่อนตะบี้ตะบัน

"พาราควอต คลอไฟริฟอส ไกลโฟแซต"
สามฝาแฝดยาพิษร้ายตายด้วยกัน
คนกิน คนใช้ หญ้า แมลง ผ่อนส่งทุกวัน
สานความฝันคนขี้เกียจไม่เข้าใจ

ธรรมชาติอยู่ร่วมจัดการกันเอง
แค่ร้องเพลงบริหารจัดการเข้าใจไหม
ตัวห้ำตัวเบียนเรียนทำไม
สมุนไพรมากมายปัญญามี

รัฐอนุมัติพ่อค้าขายคนกินคนใช้ตาย
วงจรร้ายแสนอุบาทว์ในยุคผี
รัฐโง่ไร้ปัญญาพ่อค้าระริกระรี้
คนใช้นี่ก็โลภมากดักดานสันหลังยาว.

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

16 ปี แรงงานตุรกีเสียชีวิตเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน 21,800 คน

Posted: 24 Sep 2018 03:19 AM PDT


ที่มาภาพประกอบ: Stockholm Center for Freedom (SCF)

24 ก.ย. 2561 จากรายงานของพรรค CHP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านของตุรกี ระบุว่านับตั้งแต่พรรค AKP เป็นรัฐบาลมาได้ 16 ปี มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานถึง 21,800 คน จากสถิตินี้ทำให้ตุรกีเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตเกี่ยวเนื่องจากการทำงานมากที่สุดในยุโรป เฉลี่ยแล้วเสียชีวิตเกือบวันละ 4 ราย

รายงานยังระบุว่าจำนวนแรงงานหญิงที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงานเพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำงานมีจำนวน 722 คน ตั้งแต่ปี 2556 ถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ร้อยละ 90 ของแรงงานหญิงไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ร้อยละ 75 ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ (ไม่ใช่แรงงานประจำ-ไม่ได้รับสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน) และในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีแรงงานเด็ก 319 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการทำงาน

รายงานยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนทำงานที่ฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับงาน แรงงาน 25 คน ได้ฆ่าตัวตายในปี 2557, 59 คน ในปี 2558, 90 คน ในปี 2559 และ 89 คน ในปี 2560 ในรายงานระบุว่าทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เลวร้าย ความกดดันจากนายจ้าง เงินเดือนต่ำ และการทำงานที่ไม่ได้ค่าจ้าง รวมทั้งความเครียดจากการไม่มีงานทำ เป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ภาคการก่อสร้างเกษตรกรรมและเหมืองแร่เกิดอุบัติเหตุในการทำงานมากที่สุด อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคธุรกิจนี้ การแข่งขันอย่างรุนแรงทำให้ขาดการควบคุมสภาพการทำงานให้ปลอดภัยแก่คนทำงาน

เจ้าหน้าที่ตุรกีเข้าสลายการชุมนุมประท้วงของแรงงานก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 3 ในกรุงอิสตันบูล (ที่มาภาพ: BWI)

ทั้งนี้เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 3 ในกรุงอิสตันบูลซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติชาวเนปาลได้ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานและการดำรงชีพของพวกเขาให้ดีขึ้น หลังจากที่แรงงานก่อสร้างสนามบินแห่งนี้เสียชีวิตไปถึง 42 คนแล้ว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
21,800 people killed in work-related accidents during AKP rule in Turkey (Stockholm Center for Freedom, 22/9/2018)
Turkey: ITUC Condemns Mass Arrest of Workers on Strike (ITUC, 18/9/2018)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นัดสืบคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' ธ.ค. นี้ ชาญวิทย์หวังศาลไม่บ้าจี้คดีการเมือง

Posted: 24 Sep 2018 02:01 AM PDT

คืบหน้าคดีกรณีป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในเวทีไทยวิชาการไทยศึกษา ศาลแขวงเชียงใหม่นัดตรวจพยานหลักฐาน นัดสืบพยานโจทก์ 6-7 ธ.ค. สืบจำเลย 12-14 ธ.ค. 2561 ชาญวิทย์ เกษตรศิรินำดอกบัวมาให้กำลังใจจำเลย ขอให้พ้นภัยมาร ชี้ เป็นคดีการเมืองทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ หวังว่าศาลจะไม่บ้าจี้เล่นตาม

จำเลย ทีมทนายความและชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่หน้าศาลแขวงเชียงใหม่ (ที่มา: Facebook/ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

24 ก.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าคดีป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว โดยวันนี้ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ได้นัดตรวจพยานหลักฐานจำเลยทั้งห้า ได้แก่ ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน  มช. ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ความผิดตามฟ้องคือการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย โดยนัดคดีวันนี้มีนักวิชาการ ผู้สังเกตการณ์คดี เดินทางมาที่ศาลราว 10 คน รวมถึง ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำดอกบัวมามอบเป็นกำลังใจให้กับจำเลย และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสังเกตการณ์และบันทึกภาพอยู่นอกศาลด้วย

การตรวจพยานในวันนี้เกิดขึ้นหลังคู่ความนำพยานหลักฐานแต่ละฝ่ายเข้ามาในสำนวน ระหว่างการตรวจพยาน ชยันต์ ผู้เป็นจำเลยที่หนึ่ง แถลงต่อศาลว่าการดูเอกสารของฝ่ายโจทก์ที่ใช้ในการกล่าวหาตนเองแล้ว ตนมีบทบาทแตกต่างไปจากจำเลยคนอื่นๆ คือมีฐานะเป็นประธานฝ่ายวิชาการของงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งดังกล่าวซึ่งไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในเอกสารของฝ่ายโจทก์ ตนถูกเรียกให้ไปดูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายแต่อย่างใด

เมื่อชยันต์แถลงเสร็จ ศาลเจ้าของสำนวนระบุว่า ที่จำเลยที่หนึ่งกล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายจำเลยต้องนำสืบเข้ามา แต่เบื้องต้นได้มีการสืบสวน ทำความเห็น กล่าวหาและสั่งฟ้องเข้ามา ทางจำเลยสามารถนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างและแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลได้อยู่แล้ว ข้อเท็จจริงส่วนนี้ศาลยังไม่สามารถนำเข้ามาในสำนวนได้ ส่วนที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีนั้น ศาลก็เข้าใจว่าก่อให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของระบบงานยุติธรรม ของทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ในส่วนข้อเท็จจริงของจำเลยก็สามารถนำเข้ามาให้ครบถ้วนในขั้นตอนการสืบพยานได้ต่อไป

คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ตกลงวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาล โดยวันนัดสืบพยานโจทก์คือวันที่ 6-7 ธ.ค. 2561 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12-14 ธ.ค. 2561 ในเวลา 9.00 น. ของแต่ละวันเป็นต้นไป

ชาญวิทย์กล่าวกับประชาไทว่าที่เอาดอกบัวมาให้จำเลยนั้นเพื่อให้เกิดสิริมงคล ส่วนตัวรู้จักชยันต์และเคยทำงานวิชาการร่วมกันมาหลายสิบปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีวิชาการไทยศึกษาที่นำมาสู่การฟ้องร้องนี้นั้นตนก็เห็น และในวันงานก็มีทหารในเครื่องแบบมาเดินในงานสัมมนาเป็นที่เห็นกัน และการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ถือเป็นคดีการเมืองซึ่งหวังว่าจะศาลจะไม่บ้าจี้ตามการเมือง

"โดยมากเวลาเราใช้ดอกบัวก็เป็นสิริมงคลนะผมว่า เหมือนเราก็อยากให้เขารอดพ้นจากบ่วงมาร ผจญกับมารก็ขอให้พ้นจากความโชคร้าย เคราะห์ร้ายทั้งหลายทั้งปวง" ชาญวิทย์กล่าว

"ฝ่ายทหารส่งคนเข้ามาในลักษณะที่ไม่เป็นการเข้าร่วมสัมมนาตามปกติ มันมีลักษณะที่ไม่น่าดู... ไม่ได้มาในลักษณะสนใจวิชาการหรือสุภาพชนนะ"

"คดีนี้ขึ้นศาลแขวง ไม่ได้ขึ้นศาลทหาร มันมีลักษณะของคดีมโนสาเร่ คือคดีเล็กๆ น้อยๆ มันก็เป็นเรื่องที่ผมว่าคนที่เป็นจำเลยคงรำคาญใจ เสียเวลา เห็นเขาบอกว่าต้องกลับไปกลับมาจากศาลเป็นเวลานาน ความผิดก็ไม่ได้ร้ายแรง ไม่ใช่เป็นความผิดใหญ่โตแบบทำลายความมั่นคงของชาติ มันเป็นคดีที่เล็กและไม่สมควรจะเกิด"

"คดีนี้เป็นคดีการเมืองใช่ไหมครับ มันเป็นความพยายามของฝ่ายรัฐประหารที่จะปิดปากนักวิชาการ ฉะนั้น มันจะออกอย่างไร จะตัดสินยังไงมันก็ขึ้นอยู่กับการเมือง แต่ผมก็ยังหวังว่าศาลไม่น่าจะบ้าจี้ไปตามการเมือง" อดีตอธิการบดี มธ. ยังกล่าวว่าเสรีภาพทางวิชาการถูกคุกคามตั้งแต่มีการตั้งข้อหาแล้ว ยิ่งมีการดำเนินคดีก็ยิ่งทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่

ส่วนกรณีที่ชาญวิทย์ถูกดำเนินคดีในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งมีข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ  ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) และ (5) ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินห้าปี จากการแชร์และวิจารณ์กระเป๋าถือของนราพร จันทร์โอชา ภริยาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 ปอท. เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแก่ชาญวิทย์นั้น เจ้าตัวระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่มีการฟ้องร้อง ที่ผ่านมามีการสอบสวนไปแล้วหนึ่งครั้ง

ชาญวิทย์เข้าพบ ปอท. ยันสิทธิในการแสดงความเห็น หวั่นฟ้องปิดปากคนวิจารณ์

"ทีแรกก็กังวลนะ แต่พอผ่านไปก็มีความรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องของการเมือง มันไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมอะไร มันเป็นเรื่องการเมืองมันก็ขึ้นอยู่กับการเมือง" ชาญวิทย์ทิ้งท้าย

ย้อนไทม์ไลน์เวทีไทยศึกษา เมื่อเขียนป้ายและชูสามนิ้วเป็นคดี (อีกแล้ว)

มูลเหตุของคดีในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปราวหนึ่งปีกว่าๆ เมื่อช่วงวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ที่มีการจัดการประชุมวิชาการไทยศึกษา ซึ่งเป็นเวทีวิชาการนานาชาติที่มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมนำเสนอและรับฟังการเสนอผลงานทางวิชาการด้านไทยศึกษา งานจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จ.เชียงใหม่

18 ก.ค. 2560 มีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างที่ป้ายดังกล่าวติดอยู่และมีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย โดยจำเลยทั้งห้าก็ได้ถ่ายภาพในท่าชูสามนิ้ว ซึ่งทั้งการติดป้ายและการชูสามนิ้วกลายเป็นเหตุที่นำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาในอนาคต

ศาลเชียงใหม่รับฟ้องคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' นัดต่อไป 14 ส.ค.นี้

176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศเรียกร้อง คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ-คืนอำนาจอธิปไตย

ทหารจ่อเรียกนักวิชาการเข้าพบ หลังชูป้าย 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร'

นักวิชาการโต้แถลงการณ์ กกล.รส.เชียงใหม่ ไม่พูดถึงบทบาททหารสอดแนม-แทรกแซงประชุมไทยศึกษา

ต่อมา ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เมื่อ 15 ส.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ที่ปัจจุบันกลายสภาพเป็นจำเลยไปแล้ว ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษา

เมื่อ 21 ส.ค. 2560  พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ทั้งยังแจ้งว่าหากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน แต่ผู้ต้องหาทั้งห้าให้การปฏิเสธข้อหา และยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 1 ก.ย. ปีเดียวกัน

11 ก.ย. 2560 สืบเนื่องจากมติที่ประชุมของจังหวัดเชียงใหม่ (8 ก.ย.) กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่แจ้งความผู้ต้องหาทั้งห้า และได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งผู้ต้องหาก็ไปตามนัด จากนั้นอัยการศาลแขวงเชียงใหม่ก็เลื่อนฟังคำสั่งคดีจนต่อมาศาลรับฟ้องในวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา

คำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมการเมืองโดยแสดงแผ่นป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" และปิดแผ่นป้ายนั้นไว้บริเวณห้องประชุมสัมมนาในงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค. 2560 พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว  (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง)  อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น และถ่ายภาพกับป้ายข้อความซึ่งปิดไว้ที่บริเวณหน้าห้องประชุมสัมมนา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาล และทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล เป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล

ที่ผ่านมา คดีนี้เป็นที่จับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ประชาสังคมและนักวิชาการจำนวนมาก มีแถลงการณ์หลายฉบับที่ออกมาเพื่อเรียกร้องให้ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งห้าคน

กป.อพช.ภาคเหนือ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

28 ประชาสังคม ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

3 องค์กรสิทธิร้องยุติคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58

คณะสังคมศาสตร์ มช. ร้องอธิการฯ เสนอข้อเท็จจริง จนท.ยุติคดี 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร'

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฝ่ายค้านมัลดีฟส์พลิกชนะเลือกตั้ง-แม้เพิ่งถูกตำรวจบุกค้นที่ทำการพรรค

Posted: 24 Sep 2018 01:19 AM PDT

กระทรวงต่างประเทศมัลดีฟส์แถลงยอมรับ "อิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์" ผู้นำฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง นับเป็นการพลิกชนะประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ทั้งที่รัฐบาลคุมเลือกตั้งหนัก แถมฝ่ายค้านเพิ่งถูกตำรวจบุกสำนักงาน โดยการเลือกตั้งรอบนี้ยังเป็นการชี้วัดยุทธศาสตร์จีนในมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากที่ผ่านมาประธานาธิบดีมัลดีฟส์พึ่งพาแหล่งสินเชื่อจากจีนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านมัลดีฟส์เดินรณรงค์ก่อนการเลือกตั้ง โดยผลการเลือกตั้งอิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์ ผู้นำฝ่ายค้านพลิกเอาชนะประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้ (ที่มา: Facebook/Ibrahim Mohamed Solih - Ibu)

อิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์ ผู้นำฝ่ายค้านมัลดีฟส์ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง โดยเขาโพสต์ภาพในวันนี้ (24 ก.ย.) "Come on now, fly high with me. #JazeeraRaajje" หลังทราบผลการเลือกตั้ง (ที่มา: Facebook/Ibrahim Mohamed Solih - Ibu)

กระทรวงการต่างประเทศมัลดีฟส์แถลงยอมรับว่า อิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายค้านเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งมัลดีฟส์ โดยเขาได้คะแนน 134,616 คะแนนอย่างเหนือความคาดหมาย เอาชนะประธานาธิบดีอับดุลลา ยามีน อับดุล กายุม ที่ได้คะแนน 96,132 คะแนน ทั้งนี้ยามีนซึ่งถูกกล่าวหาว่าปราบปรามฝ่ายค้านก่อนเลือกตั้ง จนถึงขณะที่รายงานข่าวอยู่นี้ ยังไม่ออกมายอมรับความพ่ายแพ้

ด้านสหรัฐอเมริกาและอินเดียต่างแถลงแสดงความยินดีกับผลการเลือกตั้ง

ในรายงานของบีบีซี ระบุว่า ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะประกาศในวันที่ 30 ก.ย. ขณะที่ผู้สนับสนุนของโซลีห์ออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนแล้ว ด้านโซลีห์เรียกร้องให้ประธานาธิบดียามีน "ยอมรับเจตจำนงของประชาชน"

"เสียงของประชาชนดังและชัดเจน ประชาชนมัลดีฟส์ต้องการความเปลี่ยนแปลง, สันติภาพ และความยุติธรรม" โซลีห์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงมาเล เมืองหลวงของมัลดีฟ์ส์

ตำรวจบุกค้นสำนักงานพรรคฝ่ายค้านก่อนเลือกตั้ง 1 วัน

ก่อนหน้านี้มีรายงานในอัลจาซีรา เมื่อ 23 ก.ย ว่าตำรวจมัลดีฟส์บุกค้นสำนักงานของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน โดยอ้างว่าเพื่อสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหา "การติดสินบนและใช้อิทธิพลชักจูงการลงคะแนน"

ฮิซาน ฮุสเซน ทนายความของพรรคฝ่ายค้านเปิดเผยว่ามีตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษบุกที่ทำการพรรคของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่บนอาคาร 7 ชั้นในมาเล เมืองหลวงของประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ โดยที่ฮุสเซนบอกว่าการบุกสำนักงานในครั้งนี้เป็นความพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายในการขัดขวางการเลือกตั้งที่มีขึ้นในวันที่ 23 ก.ย. 2561

ทางฝ่ายตำรวจโพสต์ลงโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไป "ยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย" ในที่แห่งนั้น โดยที่มีหมายศาลออกคำสั่งให้ตำรวจทำการตรวจค้นเป็นเวลา 14 ชั่วโมงเพื่อสืบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินซื้อเสียงและส่งอิทธิพลชักจูงการลงคะแนน

สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรประณามการบุกค้นของตำรวจในครั้งนี้ โดยที่ โรเบิร์ต ฮิลตัน ทูตสหรัฐฯ กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลมัลดีฟส์ยึดมั่นต่อพันธกรณีในเรื่องการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม

ก่อนหน้านี้เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ "อันเฟรล" (ANFREL) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าบรรยากาศทางการเมืองของมัลดีฟส์ทำให้เกิดการเอนเอียงไปในทางพรรครัฐบาล จากการที่สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกทำให้เงียบเสียง ฝ่ายค้านถูกตัดสินจำคุกหรือถูกบีบให้ออกจากประเทศด้วยข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งยังเป็นพันธมิตรคนสำคัญของยามีนที่ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบการนับคะแนน นอกจากนี้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศรวมถึงนักข่าวก็ถูกปฏิเสธไม่ให้วีซาเข้าประเทศ

ทางด้าน แพทริเซีย กอสส์แมน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ก็วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลเช่นกัน โดยวิจารณ์เรื่องการจับกุมคนวิจารณ์ ปิดปากสื่อ และใช้อำนาจผ่าน กกต.ปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านอย่างไม่เหมาะสมเพื่อให้ฝ่ายตัวเองชนะ

บททดสอบประชาธิปไตยมัลดีฟส์
ชี้วัดอิทธิพลจีนในมหาสมุทรอินเดีย

ประเทศมัลดีฟส์เป็นประเทศหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดีย ที่ประกอบขึ้นจากเครือข่ายเกาะปะการัง 26 เกาะ และเกาะเล็กเกาะน้อย 1,192 เกาะ มีพื้นที่ 298 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 4 แสนคน โดยการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ (23 ก.ย.) นับเป็นบททดสอบประชาธิปไตยครั้งสำคัญของมัลดีฟส์ท่ามกลางความหวาดกลัวก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลจะล็อคผลการเลือกตั้ง หลังจากที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มัลดีฟส์อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี อับดุลลา ยามีน อับดุล กายุม ผู้ถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้การเลือกตั้งของมัลดีฟส์ยังเป็นท่ามกลางการปราบปรามกลุ่มพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดย อิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์ โดยผู้นำฝ่ายค้านเหล่านี้ถ้าไม่ถูกจับกุมก็มักจะต้องออกนอกประเทศ

มัลดีฟส์เป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียอยู่ห่างออกไปทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเรื่องทะเลสวยและมีรีสอร์ทหรูๆ เป็นประเทศที่มีกลุ่มประชากรหลักๆ เป็นชาวมุสลิม ซึ่งยามีนก็อ้างเรื่องความเป็นศาสนาอื่นนอกจากอิสลามของพรรคฝ่ายค้านมาโจมตี

ขณะเดียวกันก็มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งบอกว่าพวกเขาชื่นชมยามีนตรงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาทางวัตถุในประเทศ แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาเหล่านี้ก็เป็นเพราะจีนเข้ามามีอิทธิพลและให้เงินกู้ยืมสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ โดยมีนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการทำไปเพื่อปิดล้อมอินเดีย และจีนก็กลัวว่าถ้าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาฝ่ายค้านชนะพวกเขาก็จะเสียความสัมพันธ์ที่เคยมีไว้กับยามีน

ทั้งนี้โซลีห์ ผู้นำฝ่ายค้านยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่กลุ่มของยามีนพยายามปิดปากคนที่พูดต่อต้านด้วยการจับเข้าคุก และเขายังปราศรัยกับฝูงชนว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็น "โอกาสสุดท้าย" ที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในมัลดีฟส์ได้

โซลีห์ยังกล่าวอีกว่าชาวมัลดีฟส์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้และเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลจะทำการล็อกผลการเลือกตั้ง ในเรื่องนี้กลุ่มพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านเปิดเผยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งในมัลดีฟส์ทำงานให้ยามีนและไม่ยอมให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปตรวจสอบการเลือกตั้งจึงอาจจะมี "การโกงการนับคะแนนครั้งใหญ่" ได้

อย่างไรก็ตามผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคฝ่ายค้านก็เอาชนะประธานาธิบดียามีนได้ในที่สุด

เรียบเรียงจาก
Maldives police raid opposition headquarters on eve of election,
Aljazeera, 23-09-2018
Maldives election: Voting ends in controversial poll,
BBC, 24-09-2018

Maldives election: Opposition defeats China-backed Abdulla Yameen, BBC, 24-09-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ประยุทธ์' รับสนใจงานการเมือง แต่ไม่ลาออกจากหัวหน้า คสช.

Posted: 23 Sep 2018 11:04 PM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดอนาคตการเมือง รับสนใจงานการเมือง ส่วนจะสนับสนุนใครจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง แต่ถามว่าจะออกจากหัวหน้า คสช.ไหมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขอตอบว่า "ไม่ออก"

24 ก.ย.2561 จากการณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่าจะประกาศการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตนเองในเดือน ก.ย.นี้ แต่เมื่อถึงกำหนดสื่อมวลชน พยายามสอบถามถึงประเด็นดังกล่าวกลับถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปฎิเสธที่ตอบ โดยที่ระหว่างลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เรื่องอะไรผมจะออกมาให้โดนด่าตั้งแต่วันนี้เล่า"

ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ย.61) BBC ไทย รายนงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาบอกใบ้ถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเองเป็นครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังมอบโอวาทให้แก่คณะนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 3 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้สนใจงานการเมืองเพราะสนใจในสิ่งที่ได้ทำลงไปว่าไปถึงไหนอย่างไร และในวันข้างหน้าจะได้รับการสืบสานต่อหรือไม่ ก็ได้ติดตามฟังจากบรรดากลุ่มการเมือง นักการเมือง หรือพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ดำเนินการในเวลานี้

"ผมคงตอบได้ในขณะนี้ว่าสนใจงานการเมือง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรหรือสนับสนุนใคร ก็ตามเป็นเรื่องอีกระยะหนึ่งโดยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

"ผมใช้คำแรกได้ว่าผมสนใจงานการเมือง เพราะผมรักประเทศชาติของผม เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ ที่ทุกคนก็รักประเทศไทยของเรา แต่ก็สุดแล้วแต่ประชาชนจะว่าอย่างไรในอนาคต" พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า "ไม่ออก"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังรัฐประหาร โดย คสช. ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวต่อสาธารณะว่าตนไม่ใช่นักการเมือง จำนวนหลายครั้ง จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ปีนี้ (2561) พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า วันนี้เป็นวันแห่งความสุข และเป็นวันแห่งรอยยิ้ม ก็ยิ้มเยอะ ๆ แต่ก่อนยิ้มแล้วหุบเร็ว เพราะเป็นคนไม่ค่อยยิ้มเท่าไหร่ หน้าเป็นอย่างนี้

"วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดคือประชาชน และไม่ใช่ประชาชนของผม แต่เป็นประชาชนของประเทศไทย และไม่ใช่ของพรรคไหน ทุกคนเป็นพลเมืองไทย..." พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ในครั้งนั้น

ต่อมา 19 เม.ย.61 โพสต์ทูเดย์ รายนงานว่า  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่สังคมและนักการเมืองมองว่านายกฯเตรียมเล่นการเมืองว่า "ปล่อยเขาๆ ผมไม่ได้เล่นการเมือง เล่นการเมืองผมก็ไปเลือกตั้ง เป็น ส.ส.ดิ จะเป็นไปได้ไหมเล่า ไม่ได้เป็น"

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อยากเล่นการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุในครั้งนั้นว่า ไม่อยาก ส่วนจะมีความจำเป็นอะไรหรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต และประชาชนเป็นผู้กำหนด ซึ่งส่วนตัวไม่เคยมองว่าเก่งหรือสำคัญกว่าใคร และขอให้รอหลัง มิ.ย.ไปแล้ว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น