โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เหตุแบนภาพยนตร์ 'วิศวรูปภัม' ในรัฐทมิฬ กับความขัดแย้งเรื่องเสรีภาพในวงการบันเทิงอินเดีย

Posted: 03 Feb 2013 09:28 AM PST

 

ผู้กำกับโอดครวญเมื่อภาพยนตร์เรื่อง 'วิศวรูปภัม' ถูกสั่งห้ามฉายในรัฐทมิฬหลังมีองค์กรมุสลิมประท้วงเพราะในเนื้อหามีตัวละครผู้ก่อการร้ายอัลเคด้า ขณะที่นักวิจารณ์ทั้งหลายมองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนเรื่องของพรรคการเมืองกลัวคะแนนเสียงตกต่ำ ทำให้ข้ออ้างเรื่อง 'การสร้างความขุ่นเคือง' ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือได้ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของศาสนา

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เว็บไซต์อัลจาซีร่าได้นำเสนอกรณีภาพยนตร์เรื่อง "วิศวรูปภัม" (Vishwaroopam) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอกชั่น-ทริลเลอร์ ของทมิฬ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกประท้วงและถูกสั่งห้ามฉายในรัฐตนเองด้วยเหตุผลเรื่องเนื้อหา จนทำให้ผู้กำกับเรียกร้องให้ยกเลิกแบนภาพยนตร์เรื่องนี้

วิศวรูปภัม เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย กามาล ฮาซัน กล่าวถึงแผนการของกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้าจากอัฟกานิสถานพยายามวางแผนก่อการร้ายในนิวยอร์ก ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พระเอกนางเอกของเรื่องต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เงินทุนสร้างพันล้านรูปีอินเดีย (ราวห้าร้อยล้านบาท) และเดิมทีมีแผนออกฉายทั่วประเทศอินเดียในภาษาทมิฬ, ภาษาเตลูกู และภาษาฮินดี ในวันที่ 25 ม.ค.

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกองค์กรมุสลิมออกมาประท้วงทำให้รัฐบาลของรัฐทมิฬนาฑูสั่งห้ามฉายโดยอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ "ทำร้ายจิตใจ" ชาวมุสลิมและมี "ผู้ก่อการร้าย" ในเรื่องเป็นชาวมุสลิม เอ็ม.เอช. จาวาฮิรูลาห์ จากองค์กรมุสลิมและผู้ดำรงตำแหน่งสนช.ในรัฐทมิฬกล่าวว่า "การฉายภาพยนตร์เรื่องนี้จะกระทบต่อความสงบสุขในสังคม"

 

กามาล ฮาซัน

กามาล ฮาซัน ผู้กำกับและนักแสดงนำของเรื่องโอดครวญว่าความทะเยอทะยานทางศิลปะของเขาถูกกีดกันและถูกทำลายไปแล้ว ตัวเขาร้องอุทธรณ์ต่อศาลขอให้ยกเลิกการแบน และหวังว่าผลการตัดสินของศาลในวันที่ 6 ก.พ. จะออกมาตรงตามที่เขาคาด

เจ. ชยาลาฤทธา มุขมนตรีแห่งรัฐทมิฬนาฑู ให้เหตุผลกรณีที่รัฐสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้กำลังตำรวจของรัฐออกไปวางกำลังตามโรงภาพยนตร์ 500 แห่งเพื่อคุ้มกันขณะฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยอ้างว่าความรับผิดชอบเรื่องกฏระเบียบต้องมาก่อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายกล่าววิจารณ์ว่า หน้าที่การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและกฏระเบียบเป็นของรัฐบาล แต่การสั่งห้ามฉายภาพยนตร์โดยสิ้นเชิงไม่ใช่คำตอบ

มุขมนตรีแห่งทมิฬนาฑูกล่าวอีกว่าเธอไม่ได้มีความแค้นเคืองใดๆ ต่อผู้กำกับกามาล ฮาซัน และอยากให้เขาจัดการปัญหากับกลุ่มมุสลิมที่รู้สึกแย่กับภาพยนตร์ของเขาด้วยตนเอง


เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าศาสนา?

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเรื่องการแบนภาพยนตร์ในครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องศาสนา

ซามานธ์ สุบรามาเนียน นักเขียนและนักวิจารณ์กล่าวว่า "ตัวร้ายหลักๆ ในเรื่องนี้คือรัฐ ซึ่งเอนเอียงถอยหลังลงคลองตามกลุ่มที่รู้สึกขุ่นเคือง และสั่งห้ามตามที่กลุ่มนั้นต้องการด้วยเหตุผลเพราะต้องการปกป้องฐานคะแนนเสียงของตัวเอง"

ทางด้าน คณะกรรมการกลางตรวจสอบรับรองภาพยนตร์ของอินเดีย ซึ่งเป็นหน่วยงานท้ายสุดที่คอยกรองภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนปล่อยออกสู่โรงภาพยนตร์เปิดเผยว่าเรื่อง "วิศวรูปภัม" เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะกับผู้ชมทุกคน

ลีลา แซมซัน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่าการที่รัฐทมิฬนาฑูสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเป็นการขับไล่ศิลปินผู้เป็นตัวแทนที่มีชื่อเสียงของทมิฬนาฑู

ขณะเดียวกันภาพยนตร์ฉบับภาษาฮินดีในชื่อ "วิศวรูป" ก็ได้ออกฉายในอินเดียเหนือ แต่ก็มีชาวมุสลิมบางคนบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการหยามน้ำใจชาวมุสลิม นักวิชาการมุสลิมหลายคนเช่น เมาลานา คาลิด ราชีด มาเฮลี จากรัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดียก็เรียกร้องให้มีการแบนภาพยนตร์เรื่องนี้

ราฮูล โบส นักแสดงผู้รับบทเป็นโอมาร์ "ผู้ก่อการร้าย" ในภาพยนตร์กล่าวต่อผู้ชมทางโทรทัศน์ว่าตัวละครที่เขาแสดงไม่ได้มีส่วนคล้ายคลึงกับ มูลาห์ โอมาร์ ผู้นำตอลีบานในอัฟกานิสถาน

นักวิจารณ์หลายคนมองว่าการสั่งห้ามในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสอันไม่น่าพึงประสงค์ในเรื่องการกีดกั้นความคิดสร้างสรรค์ และกล่าวหาพรรคการเมืองพยายามประจบสอพลอกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ


ชีวิตของกามาล ฮาซัน ผู้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยมีศาสนาเป็นข้ออ้าง

กามาล ฮาซัน ปัจจุบันอายุ 58 ปี เป็นนักแสดงที่ได้รับรางวัลมากมาย เขาเคยได้รับรางวัลระดับชาติของอินเดียด้านการแสดงและการสร้างภาพยนตร์มาแล้วมากกว่า 4 ครั้ง ฮาซันมีผลงานการแสดงในภาพยนตร์มากกว่า 200 เรื่อง ในหลายภาษาของประเทศอินเดีย อีกทั้งยังเป้นผู้กำกับ นักร้อง นักแต่งเพลง และกวี

ฮาซัน เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ที่ออกมากล่าวต่อต้านความรุนแรงที่มาจากแรงจูงใจทางความเชื่อศาสนา ก่อนหน้านี้เขาเคยทำภาพยนตร์ชื่อ "เฮ ราม" ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มชาวฮินดูเคร่งศาสนา และภาพยนตร์เรื่อง "อันเป ศิวาม" ที่สื่อว่าความเมตตากรุณาเป็นสิ่งจำเป็น

หลังจากเหตุการณ์บุกทำลายมัสยิดบาบุรีในปี 1992 ฮาซันก็ช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทน "พี่น้องมุสลิม"  อย่างไรก็ตามฮาซันสนับสนุนผู้นำที่เป็นฆราวาสนิยมอย่าง เอช.เอช. โมฮัมเม็ด อับดุล อาลี เจ้าชายแห่งอารคอตในเมืองเจนไน ผู้ก่อตั้ง 'ฮาร์โมนี อินเดีย' ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องสันติภาพและความกลมเกลียวระหว่างกลุ่มความเชื่อหลายกลุ่ม

กามาลเกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายพระวิษณุ แต่ตัวเขาเองประกาศตัวว่าเป็นผู้ไม่มีศาสนา เป็นศิลปินเอียงซ้ายที่ปฏิเสธการแบ่งชนชั้นวรรณะและศาสนา เน้นวิธีการทางเหตุผลและวิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจโลก

ฮาซันกล่าวปกป้องภาพยนตร์เรื่องวิศวรูปภัมไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เขาต้องการวิจารณ์การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการกระทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเท่านั้น


อ้างเรื่อง 'การสร้างความขุ่นเคือง' เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ฮาซันไม่ใช่คนแรกที่มีเรื่องบาดหมางกับผู้นำทางการเมืองและทางศาสนาในยุคปัจจุบัน รูเชีย โจฉิ นักเขียนและนักวิจารณ์จากเดอะ เทเลกราฟ และอินเดียทูเดย์ กล่าวว่า "เริ่มมีผู้นำในระดับต่างๆ ไม่ว่าระดับเล็ก กลาง ใหญ่ นำข้ออ้างการสร้างความขุ่นเคือง ไม่ว่าจะเป็นทางศาสนาหรือทางการชาติพันธุ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนอำนาจของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเหตุซูเปอร์สตาร์บอลลิวูด ชารุค ข่าน เขียนบทความลงในนิตยสาร Outlook แล้วถูกตีความว่าเขามีความยากลำบากในการพยายามใช้ชีวิตเป็นชาวมุสลิมในอินเดีย จนกระทั่ง รมต.ปากีสถานถึงขั้นเขิญข่านไปใช้ชีวิตในปากีสถานหากเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งข่านได้ออกมาปฏิเสธว่าจริงๆแล้วบทความของเขาต้องการสื่อให้เห็นถึงการที่ตนไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจากฝ่ายใด และยืนยันในแนวคิดแบบฆราวาสนิยม ซึ่งทำให้เกิดเสียงฮือฮาแสดงความไม่พอใจตามมา

 

ซูเปอร์สตาร์บอลลิวูด ชารุค ข่าน

"ทุกคนถูกกระตุ้นให้รู้สึกขุ่นเคืองใจได้ง่ายเกินไป และต้องหัดทำใจให้สงบกันบ้าง" สุบรามาเนียนกล่าว

ผู้กำกับ คาราน โจฮาร์ ขาใหญ่ของวงการบอลลิวูดออกมาปกป้องข่าน บอกว่าความเห็นของข่านถูกบิดเบือนออกนอกบริบทโดยผู้ที่ต้องการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง


กรณีของซัลมาล รัชดี

นอกจากวงการภาพยนตร์แล้ว ในวงการวรรณกรรมก็มีเรื่องราวการสั่งห้ามและความกลัวการสร้างความขุ่นเคืองอยู่ เช่นเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา นักเขียนซัลมาน รัชดี ก็ถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมงานเทศกาลหนังสือ 'โกลกาตา บุ๊คแฟร์' หลังจากที่มีภาพยนตร์เรื่อง "ทารกเที่ยงคืน" (Midnight Children) ที่สร้างจากนิยายของเขาออกฉายเมื่อปีที่แล้ว โดยที่รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกถูกกล่าวหาว่าพวกเขาสั่งห้ามรัชดีเพราะเกรงว่ารัชดีจะกล่าวสิ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมขุ่นเคือง

 

"สิ่งที่น่าเศร้าคือ พรรคการเมืองทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นพรรคเหมาอิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (CPM) ไปจนถึงพรรคการเมืองท้องถิ่นและพรรคฝ่ายขวา แทบทุกพรรคต่างก็ใช้สิ่งนี้ (การอ้างเรื่องการสร้างความขุ่นเคือง) เป็นเครื่องมือ หรือไม่ก็กลัวว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้มันเป็นเครื่องมือ" โจฉิกล่าว

โจฉิหวังว่าวัฒนธรรม 'ถอยหลังลงคลอง' ที่มาจากการสร้างความขัดแย้งโดยกลุ่มทางการเมืองหรือทางศาสนาเช่นนี้จะหมดไปเมื่อประชาชนมองเห็นความเสื่อมทรามและการหลอกใช้ศาสนาหรือประเพณีเป็นเครื่องมือโดยพรรคการเมือง

จนกว่าจะถึงวันนั้น กามาล ฮาซัน และศิลปินรายอื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเขา ก็ต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นกันต่อไป

เรียบเรียงจาก

Artists condemn Indian state for banning film, Sudha G Tilak, Aljazeera, 01-02-2013
ฐานข้อมูลภาพยนตร์ 'วิศวรูปภัม'


ข้อมูลเพิ่มเติม

http://en.wikipedia.org/wiki/Vishwaroopam

http://en.wikipedia.org/wiki/Kamal_Haasan

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: เมื่อฝรั่งเศสจะลบคำว่าเชิ้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญ

Posted: 03 Feb 2013 08:01 AM PST

 

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ฟรองซัวส์ ออลลองด์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสได้หาเสียงไว้ว่า "มันไม่มีพื้นที่ในประเทศฝรั่งเศสให้กับคำว่าเชื้อชาติ (race) และนี้เป็นสาเหตุที่เมื่อผมได้เป็นประธานาธิบดีแล้วผมจะเรียกร้องต่อรัฐสภาให้ลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญ"[1] ซึ่งสถานการณ์การเหยียดผิวและเชื้อชาติในฝรั่งเศสเป็นภัยเงียบในปัจจุบันที่เริ่มขยายวงกว้าง ถึงแม้ฝรั่งเศสจะมีคติประจำชาติ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาคก็ตาม ในสังคมก็สามารถพบเห็นความไม่เท่าเทียมกันอันเนื่องจากความแตกต่างของเชื้อชาติได้เป็นปกติ การเหยียดผิวแสดงออกมาทั้งอย่างโจ่งแจ้งและแอบซ่อน

และดังที่ทราบ ออลลองด์ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี โชคดีที่ประเทศฝรั่งเศสนักการเมืองเมื่อได้ตำแหน่งแล้วยังจำคำพูดตนเองสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้บ้างและเคารพทุกคะแนนเสียงที่ช่วยให้เขามีโอกาสได้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุด เมื่อวันพฤหัสที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศสได้ประกาศว่าก่อนหน้าร้อนปีนี้เขาจะผลักดันให้สภาผ่านการแก้รัฐธรรมนูญโดยจะลบคำว่าเชื้อชาติ (race) ออกจากรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส[2]ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

"ประเทศฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐอันแบ่งแยกไม่ได้ เป็นรัฐฆราวาส ประชาธิปไตยและสังคมนิยม ประเทศฝรั่งเศสรับประกันความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายให้กับประชาชนทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติด้านต้นกำเนิด เชื้อชาติ หรือ ศาสนา ประเทศฝรั่งเศสเคารพในความเชื่อของทุกคน"

อย่างไรก็ตามความคิดเรื่องการลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญนั้น ออลลองด์มิได้เป็นผู้ริเริ่มคิดคนแรก จุดเริ่มต้นเกิดมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในปี 1992ได้มีการจัดสัมมนา ณ Palais du Luxembourg และ Sorbonne โดยมหาวิทยาลัยปารีส 12 ภายใต้หัวข้อว่า "คำว่าเชื้อชาติมันมากเกินไปหรือเปล่าในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส"[3] ในการสัมมนาได้มีการผลิตบทความและการโต้วาทีตามมา ซึ่งบทความของ ศาสตราจารย์ Simone Bonnafous ชื่อ "การพูดคำว่าเชื้อชาติโดยสันนิษฐานว่ามันมีจริงๆใช่ไหม" (Est-ce que dire la race en présuppose l'existance)[4] มีผลกระทบต่อความคิดมาก เนื้อหาสำคัญของบทความคือ ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสคณะปฏิวัติได้อนุญาตให้ระบบกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคือเกิดการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งรวมถึงการต่อสู้ทางด้านภาษาด้วย ได้มีการต่อสู้เพื่อลบภาษาที่เป็นมรดกของระบอบเก่า เช่น คำว่า เจ้าชาย ระบอบสมบูรณาญา แล้วแทนด้วยคำใหม่ เช่น ประชาชน พลเมือง สินค้าสาธารณะ การเมืองเรื่องภาษาจึงเริ่มเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์ทางการเมือง อย่างไรก็ตามคำว่าเชื้อชาติกับการกดขี่เรื่องเชื้อชาติก็ไม่เป็นประเด็นจวบจน หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และมีการยกย่องชาติอารยันเพื่อกดขี่ชาติพันธุ์อื่นๆ ประเด็นเชื้อชาติและการกดขี่จึงเป็นปัญหาสำคัญ และคำว่าเชื้อชาติ(race)เริ่มมีประเด็นเชิงลบ สหประชาชาติและสมาชิกเริ่มมีการประกาศห้ามการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และพัฒนาเป็นกฎหมายในรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็มีประเด็นการเมืองทางภาษามาพิจารณา ซึ่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสบัญญัติว่า ปราศจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (sans discrimination de race ; without discrimination of race) โดยการบัญญัติแบบนี้แสดงว่า เรายอมรับว่ามีเชื้อชาติอยู่จริง (race) และมีการห้ามการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ ปัญหาที่ตามมาคือถ้าเรายอมรับว่ามีคำว่า เชื้อชาติ (race) อยู่ในโลกนี้แล้ว คำว่าrace มีความหมายกำกวมและขัดแย้งกันเองในพจนานุกรม race มีความหมายทั้งในเชิงชีววิทยา หมายถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติและควรรักษาไว้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และ ในเชิงสังคมวิทยาที่เป็นเชิงลบเช่นอาจหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันและการเหยียดผิว แต่เมื่อตรากฎหมายไปแล้วเราไม่สามารถบังคับให้ผู้รับสารเลือกที่จะใช้ความหมายทางใดทางหนึ่งตามที่เราต้องการ ผู้รับสารอาจพิจารณาเลือกความหมายคำว่าเชื้อชาติในความหมายเชิงสังคมที่เป็นเชิงลบก็ได้ จากประโยคที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมีการใช้คำปฏิเสธซ้อนปฏิเสธคือ without และ discrimination ซึ่งส่งผลต่อการตีความทางกฎหมายว่า ประโยค sans discrimination de race ต้องตีความทางกฎหมายได้อย่างเดียวว่า มีเชื้อชาติดำรงอยู่จริงๆ อยู่ นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญใส่คำว่า ปราศจากการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ ศาสนา และต้นกำเนิด (sans discrimination de race, origine et religion) ร่วมไปด้วยซึ่งทำให้การตีความรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเองสูง คำว่า ต้นกำเนิด (origine) กับ ศาสนา (Religion) มีความหมายไม่กำกวมต่อการตีความทางกฎหมายหรือความหมายเชิงลบ เช่น origine อาจแบ่งตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมันมีอยู่จริงและมีเขตแดน ประเทศ เป็นต้น และไม่ได้มีความหมายลบจนเอ่ยไม่ได้ ผิดกับคำว่า Race ซึ่งมีความหมายเชิงลบจนอยากจะลบออกในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ Race กินความรวมถึง Origine และ Religion ด้วย เมื่อเขียนสามคำนี้รวมกันแล้วก็เป็นการซ้ำความหมายโดยไม่จำเป็น และ สามารถตัดคำว่า Race ออกจากประโยคข้างต้นในรัฐธรรมนูฐได้ กล่าวโดยสรุปในมุมมองของนักภาษาศาสตร์แล้ว การปรากฏคำว่า เชื้อชาติในรัฐธรรมนูญเป็นการยอมรับว่ามีเชื้อชาติอยู่ในสังคมซึ่งเป็นความหมายเชิงลบและฟุ่มเฟือยและควรตัดออกไปได้

อย่างไรก็ตามความพยายามของออลลองด์ครั้งนี้ก็มิได้มีผู้เห็นพ้องด้วยทุกคน หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาเช่น Figaro ได้ให้ความเห็นว่า การลบคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญก็ไม่ช่วยให้ปฏิเสธได้ว่ามีเชื้อชาติอยู่จริงทางด้านมนุษยวิทยา ไม่ได้ช่วยให้เกิดการลดพวกเหยียดเชื้อชาติไปได้[5] Patrick Lozès ผู้ก่อตั้งสมาคมตัวแทนให้คำปรึกษาคนผิวดำกลับเห็นว่าการปรากฏคำว่าเชื้อชาติในรัฐธรรมนูญไม่มีความกำกวมใดๆ[6] นอกจากนี้ความเห็นอื่นๆทางกฎหมายเห็นว่าการตัดคำว่าเชื้อชาติออกจะส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสหภาพยุโรป และสหภาพยุโรปที่สมาชิกอื่นๆต่างมีคำว่าชาติพันธุ์อยู่ในรัฐธรรมนูญ และมีการเคลื่อนย้ายเสรีของประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ในสหภาพยุโรป[7]




[1] http://www.lemonde.fr/election-presidentielle-2012/article/2012/03/11/hollande-propose-de-supprimer-le-mot-race-dans-la-constitution_1656110_1471069.html

[2] http://www.lexpress.fr/actualite/politique/le-mot-race-supprime-de-la-constitution-avant-l-ete_1215398.html

[3] http://www.ciepfc.fr/spip.php?article279

[4] http://www.persee.fr/web/revues/home/prescript/article/mots_0243-6450_1992_num_33_1_1734

[5] http://blog.lefigaro.fr/rioufol/2012/03/francois-hollande-a-trouve-la.html

[6] http://www.agoravox.fr/actualites/politique/article/polemique-sur-la-suppression-du-113368

[7] http://www.ciepfc.fr/spip.php?article279

 

นิรโทษกรรม

Posted: 03 Feb 2013 07:20 AM PST

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

Posted: 03 Feb 2013 05:23 AM PST

"ฝ่ายปฏิวัติที่เข้มขรึมจนไม่รู้จักอารมณ์ขัน มักพ่ายแพ้ ฝ่ายปฏิวัติที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ก็ไม่แน่ว่าจะชนะ ความขันไม่มีฝักฝ่าย"

3 ก.พ.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก

ฟุตบอลประเพณีกับบทเพลงของผู้ทุกข์ทน

Posted: 02 Feb 2013 11:51 PM PST

"the highest form of ignorance is you reject something you don't know anything about"

Wayne Dyer

 

วลีนี้อาจเป็นข้อสรุปของปฏิกิริยาคนส่วนหนึ่งที่เห็นสิ่งที่เราทำนอกเหนือจากคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ทราบจริงๆ

วันนี้มีอะไรมากมายเกิดขึ้นกับผมและทุกคนที่มีส่วนทำกิจกรรมนี้จนจบลง เป็นวันหนึ่งที่จะจดจำกับใครหลายคนแม้มีหลายคนพยายามลบจากใจพวกเรา รวมถึงลบการมีอยู่ของพวกเราที่ได้สิ่งนี้ในวันนี้ หากเราจำกันได้ หลังจากคำพิพากษาของชายผู้หนึ่งคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ต้องโทษถึง 11 ปีจากสิ่งที่เขาไม่ได้ทำเลยนั้น กลายเป็นความเงียบงันในหมู่คนส่วนใหญ่จากนั้นไม่นาน แต่มีคนทำให้ความเงียบงันมีเสียงออกมา นิติม่อนได้ทำสำเร็จอย่างงดงามที่เชียงใหม่ ถึงคราวของเราแล้วที่จะพยายามส่งเสียงไปถึงคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ๆเรื่องที่เราพยายามส่งเสียง ถูกกีดกัน ถูกบิดเบือน ถูกใส่ร้ายโดยไม่มีโอกาสให้คำพูดเรายืนอยู่ได้ แม้ต้องเกิดขึ้น เราจะทำและไม่มีอะไรต้องกลัวอีก

ผมลืมตาตื่นเช้ามา รีบพุ่งเปิดคอมพ์แล้วอาบน้ำระหว่างรอคอมพ์บู๊ตจนเสร็จ หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ผมรีบเสิร์จหาเพลงที่จะใช้กิจกรรมคือ one day more และ Do you hear the people sing? แต่เพลงที่สองมันโดนใจผมจนเรียนรู้เพลงนี้อย่างรวดเร็ว จนจำทำนอง การเปล่งคำในแต่ละท่วงทำนองได้ และทำการเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนในเพลงให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะทำอีกด้วย

ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องความเป็นธรรมของคุณสมยศ ในหัวข้อ "เสียดายที่คุณสมยศไม่ได้ไปงานบอลฯ" หลังจากเสร็จธุระ โดยสารเข้าเมือง ระหว่างทางก็เปิดเพลงฝึกจับจังหวะทำนองไปด้วย ผมยังเอาขนมที่เป็นธุรกิจครอบครัวไปสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเฉพาะกิจนี้ด้วย ซึ่งเกือบทุกคนผมรู้จักมาก่อน พวกเราคือผลิตผลด้านกลับจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตที่ไม่ยอมทนกับการเข่นฆ่าเพื่อรักษาอำนาจและความสามัคคีได้อีก จนผมมาถึงจุฬาฯตอนแปดโมงครึ่ง

มีบางส่วนที่มาถึงก่อนผมแล้ว หนึ่งในนั้นคือน้องไท ลูกชายของลุงสมยศและรุ่นน้องโรงเรียนมัธยมที่เดียวกับผม หลายคนทึ่งกับเพลงที่จะใช้ร้องระหว่างเดินรณรงค์ เราหวังอย่างดีว่า จะได้ร้องระหว่างเดินไม่ให้ดูเงียบเกินไป เวลาผ่านไป เพื่อนร่วมงานทยอยมาจนเกือบครบทีม เป็นทีมเสี่ยงตายเลยก็ว่าได้ เพราะเราเลือกเดินรณรงค์กับกิจกรรมที่ได้กลายเป็นอำนาจประเพณีสถาปนาที่มองว่ายิ่งใหญ่ แต่หลังๆผมและน้องๆหัวก้าวหน้าหลายคนมองมันราวกับเป็นของที่ค่อยๆหมดราคาลงเรื่อยๆ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 69 และเราอยู่ในดงฝ่ายขวาจัดรุ่นใหม่ที่เป็นผลิตผลของระบบการศึกษาแบบจารีตนิยม ถึงอย่างนั้นก็เถอะในท่ามกลางขวาจัดที่เป็นส่วนใหญ่ ยังมีหัวก้าวหน้าอย่างเพื่อนๆจุฬาฯของเรา กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน ร่วมงานในฐานะกลุ่มพันธมิตรเฉพาะกิจกับเรากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมาร่วมงานกันครั้งนี้ด้วย แม้รู้ว่าจะต้องเจออะไร แต่เรายังหัวเราะได้ ถกเถียง เสียดสีเรื่องการเมืองในประเด็นที่คนส่วนใหญ่ไม่พูดกันอย่างไม่กลัวอะไร จนเวลาใกล้เข้ามา

ตามแผนของเรา กิจกรรมรอบเช้าคือร่วมเดินไปกับขบวนพาเหรดทางจุฬาฯ และเรายืนอยู่หน้าตึกคณะสถาปัตย์ฯ เรามองพวกเขาที่กำลังเดิน ขณะที่พวกเขาฟังคำพูดของน้องดิน ที่กำลังแผดเสียงบอกสิ่งที่เราทำในวันนี้ และมองที่พวกเรา มองป้ายที่เราเขียน ที่เต็มไปด้วยคำถาม คำเสียดสีต่อประเด็นกฎหมายมาตรา 112 นักโทษการเมือง คดีลุงสมยศ จากนั้นเราเดิน รวมความกล้าความใจเด็ด เดินร่วมกับขบวนพาเหรดจุฬาฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น บอกได้ว่าเหนือกว่าที่เราประเมินไว้ คือเราประเมินแล้วว่าต้องเกิด แต่มากกว่าที่เราวัดไว้ กลุ่มสต๊าฟคุมพาเหรดที่ขึงเชือกฟางล้อมขบวนพาเหรด ตลกนะ เดินพาเหรดที่ไหนเอาเชือกฟางมาล้อมด้วย ประสาท! แต่เราก็เดินแทรกเข้าไปในกลุ่ม แต่ก็ถูกกลุ่มสต๊าฟกันเราออกจากพาเหรด แต่เราไม่แคร์ เราไม่ได้หมายก่อกวน แต่เราต้องการส่งเสียงบอกถึงสิ่งที่คนอื่นไม่เคยรู้ หรือรู้แบบผิดๆนั้นได้รู้จากเรา ที่หลายคนเป็นสักขีพยานในห้องพิจารณาคดีวันนั้น และผมก็อยู่ที่นั้นด้วย

เราดันกับสต๊าฟ แม้เราไม่สามารถเดินร่วมกับขบวนพาเหรดได้ เราก็เดินบนฟุตบาทขนาบข้างไปกับพวกเขา ปฏิกิริยาของพวกเขาที่ผมเห็น มีทั้งงุนงง สงสัย รวมถึงแอบไม่พอใจลึกๆ หรือไม่พอใจ จะอ้างว่าไม่ได้ไม่พอใจก็ไม่อาจพูดได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น จะกีดกันพวกเราตั้งแต่ประตูหลักจุฬาฯจนถึงหน้าทางเข้าสนามกีฬาฯทำไมล่ะ? แต่ในกลุ่มขบวนพาเหรดที่เดิน เราก็ทราบความคิดของบางคนในนั้น ต้องขอบคุณฝ้ายที่ช่วยทำให้เราได้ยินความคิดของพวกเขา มีบางคนทราบเรื่องลุงสมยศ แต่ไม่ทราบรายละเอียดอะไร ฝ้ายนอกจากทำข่าวพวกเราแล้วยังได้รวมความคิดของคนในขบวนพาเหรด สำหรับกลุ่มสต๊าฟคุมพาเหรด แม้มีหลายคนพยายามกีดกันเรา แต่ในหมู่พวกเขา มีบางคนกลับช่วยเราเวลาเราต้องไปงัดข้อกับ รปภ.และตำรวจ ผมบอกได้ว่า เราไม่อาจรู้อย่างลึกซึ้งจากสิ่งที่ได้ยินหรือได้เห็นไกลๆเท่ากับการเห็น ได้ยินและทำอย่างใกล้ชิดจนได้รับผลของมันเอง ในภาวะกดดัน ดินและไท เป็นสองคนที่ออกแรงมากที่สุด ผมสารภาพว่า แม้อายุมากกว่าพวกเขา แต่ใจไม่อาจสู้เท่าสองคนนั้นได้เลย เรียกว่าใจเด็ดกว่าผมอีก น่าอิจฉาจริงๆ

จนมาถึงหน้าประตูสนามกีฬาฯด้านหลัง เราส่งเสียงบอกผู้คน แต่มีเสียงของกองเชียร์เดวิลจุฬาฯส่งเสียงแทรกกลบเสียงพวกเรา หนำซ้ำยังร้องเพลงทำนองจิกกัดพวกเราว่าเกรงใจกันหน่อย ให้ตาย ถ้าพวกเขารับรู้เรื่องราวเท่าพวกเรา พวกเขาก็คงไม่ทำแบบนั้นหรอก

จากนั้นพวกเราหลบจนขบวนเข้าเขตสนามกีฬาฯไปหมดแล้ว ถือว่าผ่านไปด้วยดีโดยไม่มีการกระทบกระทั่งถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่สงครามจิตวิทยาระหว่างเรากับเขา ดุเดือดตลอดเส้นทาง

พวกเราสรุปงานกันที่มาบุญครอง ซึ่งเป็นไปตามที่ผมเขียน เราดีใจและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ระหว่างนั้นผมขอแยกตัวจากน้องๆไปทำธุระที่พญาไทก่อนที่จะกลับมาที่สยามอีกครั้ง และไปพบกับพวกเขาตอนบ่าย มีอะไรหลากอารมณ์เยอะ

ผมตัดมาช่วงบ่ายที่สนามศุภชลาศัยเลยดีกว่า พวกเราแบ่งออกเป็นสองทีม ผมกับน้องส่วนหนึ่งจัดการผ้าใบสีดำขนาดใหญ่ ต้องขอบคุณพี่ๆ จาก Try arm สำหรับผ้าใบและกลุ่ม 24 มิถุนาฯสำหรับเสื้อกิจกรรมที่เราใส่ อีกกลุ่มหนึ่ง เดินถือป้ายรณรงค์รอบภายนอกสนามกีฬาฯ จนใกล้ช่วงพาเหรดเข้าสนาม เราทุกคนมาประจำที่สแตนด์บริเวณตรงกลางที่อัฒจันทร์ในร่มเห็น แต่ติดที่กองสันฯมธ.มาทับซ้อนพื้นที่กิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกไม่ได้อยู่แล้ว เราจะใช้คนที่นั่งอัฒจันทร์ช่วยถือผ้าใบให้สั้นๆ จนผ่านขบวนการล้อการเมืองมธ.สุดแสนเบาบาง จนไม่น่าเรียกว่าล้อการเมืองเลย จนได้เวลา ไทและกั๊กร้องขอกับกองสันฯประกาศสิ่งที่จะทำคือการคลี่ผ้าใบ อย่างที่เห็นในภาพข่าวไปแล้วน่ะครับ เราคลี่ผ้าใบเป็นเวลา 1 นาที มันยาวนานสำหรับผมมาก


เรากางจนกระทั่งมีชายสูงวัยท่านหนึ่งรี่เดินเข้ามา พร้อมกับดึงผ้าเพื่อปลดจากมือน้องในมุมผ้าอีกด้าน น้องที่ช่วยผมถือพูดถึงขนาดว่า นี่แหละที่ผมกลัวพี่ ความคลั่งที่ทำโดยปราศจากการคุยด้วยเหตุผล แบบนี้อยู่กันยากเกินกว่าจะเป็นไปได้แล้ว เมื่อเห็นว่ามีคนพยายามขัดขวางและเสียงที่ไม่สนใจใยดีจากผู้ประกาศฝั่งอัฒจันทร์ในร่ม พวกเรารีบเก็บ ขอบคุณและขอโทษทั้งกองสันฯและผู้ชมในสแตนด์ด้านที่เรายืน กิจกรรมภาคบ่ายผ่านไปได้ และภาพข่าววันนี้กลายเป็นแรงสะเทือนที่จะเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ฟุตบอลประเพณี แน่นอนว่าคงมีหลายคนจะไม่พูดถึง ผมบอกได้เลยว่า ไม่มีทางหรอก!! เราสรุปงานและดูผลตอบรับจากภาพข่าวนี้ด้วย มีทั้งบวกและทั้งลบ และด่าสาปแช่ง ด้วยประโยคสุดล้าหลังที่ไม่คิดสรรหาคำที่ก้าวหน้ากว่านี้พูดบ้างเลยเหรอไง

เป็นกิจกรรมที่เราทำได้ และเราต้องทำให้ได้ดีมากยิ่งขึ้น มันเพิ่งเริ่มต้น สังคมไทยอันคับแคบเอย เราเห็นความพยายามของคนที่ไม่ต้องการให้ใครเห็น คนที่ไม่รู้แล้วได้เห็น คนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นยังไง พวกเราทำเพราะเรามีเจตจำนงร่วมกันไงล่ะ ขอบคุณตัวเอง และน้องๆผองเพื่อนกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชมและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยที่ตัดสินใจอย่างหาญกล้าฝ่าฟันจนผ่านวันนี้ไปได้

ร่วมกันสู่ชัยชนะ!!

 



 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: นักกิจกรรมจุฬา-ธรรมศาสตร์ สวมหน้ากาก "สมยศ" โผล่พาเหรดร่วมงานบอลประเพณี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ความอยุติธรรมคดีสมยศ

Posted: 02 Feb 2013 11:05 PM PST

<--break->การตัดสินของศาลในคดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างยิ่งต่อความยุติธรรมของศาลไทย

ทั้งนี้ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖ นี้ ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาในคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ ซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ ในที่สุด ศาลพิพากษาให้สมยศมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ๑๐ ปี จากความผิด ๒ กรรม บวกกับโทษเดิมเมื่อปี ๒๕๕๒ คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๑๑ ปี

ในคำอธิบายของคำพิพากษาได้อ้างอิงถึงบทความ ๒ บทความในนิตยสารเสียงทักษิณฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ๒๕๕๓ ชื่อว่า 'แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น' และ '๖ ตุลาแห่งพ.ศ.๒๕๕๓' ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า 'จิตร พลจันทร์'ว่า เป็นบทความที่ตีความได้ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่า ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียน แต่ความผิดในกรณีมาตรา ๑๑๒ ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ศาลจึงวินิจฉัยว่า แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้เขียนบทความก็ถูกลงโทษได้

หลังจากการอ่านคำพิพากษา องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มต่างประเทศหลายกลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินโดยระบุว่า คำตัดสินวันนี้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทยและจะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต และตัวแทนสหภาพยุโรปได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษครั้งนี้ โดยระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง และกระทบต่อภาพลักษณ์สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพของประเทศไทย

คุณสมยศถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ และถูกขังคุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะศาลไม่ยอมให้ประกันตัว แม้ว่าต่อมา ทนายจะขอประกันตัวถึง ๑๐ ครั้ง แต่ศาลก็ไม่ยอมอนุมัติโดยอ้างเพียงแต่ว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง กลัวผู้ต้องหาหลบหนี การสืบพยานคดีของสมยศสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ แต่ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษามาจนถึงเดือนมกราคมนี้

เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม หลังจากการตัดสินคดี นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีที่แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ว่า การพิจารณาคดีของศาลอาญา มีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วโลก คือพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ การละเมิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย การที่นายสมยศนำบทความดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแม้จะเป็นบทความของคนอื่นมาลง ก็เข้าข่ายเป็นความผิด เพราะบทความที่เผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ แต่เป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำให้สถาบันได้รับความเสียหาย

ก่อนอื่นคงจะต้องขอเห็นแย้งกับคุณทวี ประจวบลาภ เพราะการตัดสินของศาลไทยกรณีของคุณสมยศครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแบบมาตรฐานสากล จะขอเริ่มอธิบายตั้งแต่การตัดสินเรื่องคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง ก็ไม่ถูกต้อง เพราะ พล.อ.สพรั่งขณะนั้นเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนายทหารที่ร่วมก่อการรัฐประหาร และยังมีบทบาทเป็นผู้นำระดับสูงในกองทัพ การวิจารณ์บทบาทในทางสาธารณะย่อมเป็นสิ่งทำได้ การตัดสินลงโทษถึงขั้นติดคุกในคดีหมิ่นประมาทลักษณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว

ต่อมา การตัดสินให้คนติดคุกถึง ๑๐ ปี โดยบทความที่เขาไม่ได้เขียน จะอธิบายด้วยมาตรฐานอะไร ในต่างประเทศ การเขียนบทความใดก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเขาก็เขียนบทความมาตอบโต้ ให้ประชาชนพิจารณา ไม่มีใครเขาเอาคนเขียนบทความที่ตนไม่เห็นด้วยไปติดคุกเช่นในประเทศไทย แต่ปัญหาที่ยิ่งกว่านั้นคือ คนติดคุกไม่ได้เขียน และตามกฎหมายการพิมพ์ บรรณาธิการก็ไม่ต้องรับผิดชอบ การที่ศาลอธิบายว่า แม้จะไม่ผิดกฎหมายการพิมพ์แต่ยังผิดตามาตรา ๑๑๒ นั้น ศาลได้ทำการเขียนกฎหมายขึ้นเอง เพราะถ้าหากกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เป็นข้อยกเว้น ตามหลักการทางด้านนิติศาสตร์ เขาต้องระบุข้อยกเว้นไว้ในกฎหมายการพิมพ์ด้วย เมื่อไม่มีระบุข้อยกเว้นเช่นนี้ โดยทั่วไปต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ บทความที่ศาลอ้างทั้ง  ๒ บท ไม่ได้เข้าข่ายการหมิ่นตามมาตรา ๑๑๒ เพราะตามกฎหมายมาตรานี้ ได้ระบุการคุ้มครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แต่บทความทั้งสองที่อ้าง ล้วนเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ และไม่มีข้อความหมิ่นบุคคลคนใดตามมาตรา ๑๑๒ เลย ไม่ได้เอ่ยถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเลยเสียด้วยซ้ำ เช่น ในส่วนที่ศาลตัดสินจากข้อความจากบทความที่อ้างถึง"โคตรตระกูล"ว่า "พอได้ดีก็โค่นนายตัวเอง จับนายไปจองจำ ชัดว่าสติไม่ดี ดูแลบ้านเมืองไม่ได้ แล้วก็จับลงถุงแดง ฆ่าทิ้งอย่างทารุณ" อธิบายไม่ได้เลยว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะอ้างตามนัยคำตัดสินของศาล คือ ตีความว่า เป็นเรื่องสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กรณีนี้ก็มีปัญหาในการตีความ เพราะจิตร พลจันทร์ อธิบายว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น"ตั้งสองร้อยกว่าปีมาแล้ว" บทความนี้ เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ สองร้อยปี คือ ปี พ.ศ.๒๓๕๓ ล่วงพ้นจากสมัยรัชกาลที่ ๑ มาแล้วเป็นต้นรัชกาลที่ ๒ จึงอาจจะตีความได้ด้วยซ้ำว่า ไม่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ยิ่งกว่านั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ ผู้ที่ถูก"จับลงถุงแดง"จึงไม่น่าจะหมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กระนั้น สมมตว่า เรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีจริง มาตรา ๑๑๒ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแต่อย่างใด การอ้างเอาความผิดแก่คุณสมยศจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

กรณีต่อมา การกล่าวถึงหลวงนฤบาลแห่งโรงแรมผี ที่ออกกฎหมายตั้งทรัพย์สินส่วนตัว พ.ศ.๒๔๙๑ หนุนอำนาจเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นรัฐบาลถนอม-ประภาส และอยู่เบื้องหลังการสังหารฝ่ายซ้าย การมีส่วนในการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นต้น ก็ไม่สามารถตีความตามที่คำพิพากษาของศาลได้เลยว่า หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างน้อยที่สุด การเอ่ยถึงการออกกฎหมาย พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น เรื่องหลวงนฤบาลจึงเป็นการตีความโดยความไม่รู้ข้อมูลประวัติศาสตร์ของศาลเอง อาจจะพิจารณาได้ด้วยซ้ำว่า คำพิพากษาของศาลที่ตีความเช่นนี้ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่กรณีจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการมุ่งตีความเพื่อหาเรื่องเอาผิดแก่คุณสมยศให้จงได้

สรุปแล้ว การดำเนินการของศาล เช่น การห้ามประกันตัว และการตัดสินคดีในลักษณะตีความเอาเองเช่นนี้ มีแต่จะสร้างความเสื่อมเสียในเชิงภาพลักษณ์ของศาลเอง และยังเป็นการชี้ให้เห็นด้วยว่า กฎหมายมาตรา ๑๑๒ นั้น ขัดกับหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม ทั้งยังเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับเสรีภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเสรีภาพในด้านความคิด ที่มุ่งจะบังคับให้คนคิดและเชื่อในแบบเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๓๙๗  วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เสถียร’ ถูกปล่อยตัว หลังจำคุกเกือบ 2 ปี มาตรา 112

Posted: 02 Feb 2013 08:19 PM PST

 

คนขายซีดีที่ถูกจับจากมาตรา 112 เมื่อปี 2554 เนื่องจากขายซีดีเข้าข่ายหมิ่น ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการต้อนรับจากคนเสื้อแดงราว 20 คน

 

2 ก.พ. 56 เวลา 9.40 น. เสถียร หนึ่งในผู้ต้องขังคดี ม.112 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมีญาติและคนเสื้อแดงประมาณ 20 คนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น หลายคนได้มอบเงินขวัญถุงให้กับเขาและญาติเพื่อเป็นกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไป

เสถียรกล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ โทษจำคุกของตนเองจะถึงกำหนดในต้นเดือน เม.ย. นี้ แต่เนื่องจากตนเองได้รับโทษมา 2 ใน 3 จึงได้ยื่นคำร้องขอพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ และได้รับการลดโทษ ซึ่งตนเองยังคงต้องไปรายงานตัวกับกรมราชทัณฑ์ในอีก 3 วันข้างหน้าที่ จ.สระแก้ว บ้านของตนเอง รวมเวลาที่ถูกจำคุกเกือบ 1 ปี 11 เดือน

เสถียรถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 54 ที่หน้าศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถ.ราชดำเนิน และถูกกล่าวหาว่า จำหน่ายวีซีดีอันมีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 20 แผ่น ต่อมา 4 ก.ค. 54 ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี และปรับ 100,000 บาท แต่เขาให้การรับสารภาพมีเหตุให้บรรเทาโทษเหลือโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเขาได้ดำเนินการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาของเขาไม่ผ่าน อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2554 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2555 จนทำให้โทษของเขาลดลงจนสามารถขอพักโทษได้และได้รับการปล่อยตัว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรากฏการณ์แรงงาน 2555

Posted: 02 Feb 2013 07:15 PM PST


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น