ประชาไท | Prachatai3.info |
- ทหารรบพิเศษบนราง BTS เบิกความคดี 6 ศพวัดปทุม 2 ผู้ถูกยิงเบิกคดีพลทหารฯ 28 เม.ย.
- วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วย 'โดรน'
- ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยเหตุคนหายช่วงสงครามยาเสพติดในเม็กซิโกเป็นฝีมือรัฐ
- เปิดหน้าคุย ‘แท็กซี่-คนไร้บ้าน’ คน ‘ก(ล)างเมือง’
- รายงาน: ONET และอื่นๆ แนวทางปฏิรูปข้อสอบไทยในยุค‘ทักษะแห่งศตวรรษ21’
- เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรอินทรีย์กับระบบอาหารโลก
- ‘นิธิ’ วิเคราะห์ชนชั้นนำ-ทักษิณ-คนชั้นกลางระดับล่าง เสนอเสื้อแดงจัดองค์กรเอง
- ข้อเสนอผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กับว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
- วิวาทะ วีรพัฒน์-สมศักดิ์ กรณีนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง
- เริ่มมอบทุนการศึกษาจากศึกชกมวย 'หนมโก๋' - 'KEAKZA' แล้ว
- บัตรเลือกตั้งอเมริกัน: การลงทุนประชาธิปไตย (ใบเดียว) ที่คุ้มค่า
- กฎหมายสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของประเทศอังกฤษ
- เลือก นพ.อนุชา นั่งเลขาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
- กฏหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตคนหลากหลายทางเพศสำคัญอย่างไร?
- เอไอเผยรัฐบาล 'อาเบะ' ของญี่ปุ่น 'ไร้เมตตา' แขวนคอนักโทษ 3 คน
ทหารรบพิเศษบนราง BTS เบิกความคดี 6 ศพวัดปทุม 2 ผู้ถูกยิงเบิกคดีพลทหารฯ 28 เม.ย. Posted: 21 Feb 2013 01:21 PM PST ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม ทหารรบพิเศษบนรางรถไฟฟ้าเบิกขณะปฏิบัติการในที่เกิดเหตุไม่พบภัยคุกคาม ศาลนัดไต่สวนต่อ 28 ก.พ.นี้ ขณะที่คดีการตาย "พลทหารฯ ณรงค์ฤทธิ์" พยานผู้ถูกยิงในเหตุการณ์ 28 เม.ย.53 เบิกความมั่นใจทหารเป็นผู้ยิงตนเอง 20 ก.พ.56 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในวันนี้มี ส.อ. ภัทรนนท์ มีแสง อายุ 42 ปี ส.อ.สุนทร จันทร์งาม อายุ 40 ปี ซึ่งเป็น ทหารจาก กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ในฐานะทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุม วันเกิดเหตุ เข้าเบิกความ ส.อ. ภัทรนนท์ มีแสง เบิกความว่า ในวันที่ 8 เม.ย.53 ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ที่ราบ 11 หลังจากนั้นวันที่ 10 เม.ษ.53 ได้ย้ายมาที่สถานีดาวเทียมไทยคม และในวันที่ 28 เม.ย. 53 พยานได้มาปฏิบัติหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง หลังจากนั้นวันที่ 18 พ.ค. 53 ได้รับคำสั่งให้มารักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 2 รอ.) ที่ประจำอยู่บริเวณแยกปทุมวัน โดยย้ายจากราบ 11 มาที่ กระทรวงพลังงานก่อน หลังจากนั้นวันที่ 19 พ.ค. เวลา 01.00 น. จึง ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำที่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ จน 15.00 น. จึงได้รับคำสั่งให้ไปคุ้มครอง ร.31 พัน 2 รอ. เนื่องจากขณะนั้นเกิดเพลิงไหม้ที่โรงหนังสยาม เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาทางแยกเฉลิมเผ่าได้เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมและมีผู้ชุมนุมที่มีอาวุธอยู่บริเวณนั้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงต้องเข้าทางแยกปทุมวัน เมื่อพยานเคลื่อนไปถึงบริเวณสยามสแควร์ จึงได้ยินเสียงปืน 2 ชุดมาทางแยกเฉลิมเผ่า โดยขณะนั้นทหารอยู่บริเวณสยามสแควร์เท่านั้น หลังจากนั้น จ่าสิบเอกสมยศ ร่มจำปา ได้สั่งให้พยานถอนกำลังกลับไปสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ส.อ. ภัทรนนท์ เบิกความว่าขณะนั้นมีอาวุธประจำกายเป็นปืน M16 A2 เหตุที่ใช้ปืนจริงเนื่องจากรับหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ เวลา 17.30 ได้รับคำสั่งให้ระวังป้องกัน ร.31 พัน 2 อีกครั้ง เพื่อนำ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเดินทางเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ สยามพารากอน ชุดของพยานจึงเคลื่อนที่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 1 ขณะเคลื่อนก่อนถึงสถานีสยาม 5 เมตร พบแนวบังเกอร์ มียางรถยนต์และตาข่ายสีเขียวปิดกั้นอยู่ จึงเข้าไปเคลียร์พื้นที่ ตรวจพบร่องรอยการมีคนเคยอยู่อาศัย โดยมีกล่องข้าว ขวดน้ำ ขวดระเบิดเพลิง ซึ่งขณะนั้น เวลา 18.00 น. เนื่องจากมีเสียงเพลงชาติ ส.อ.ภัทรนนท์ เบิกความต่อว่าเมื่อเข้าถึงสถานีสยามสักพักได้ยินเสียงปืนมาจากด้านล่าง ของสถานี พยานจึงชะโงกหน้าลงไปดูด้านข้าง พบ ร.31 พัน 2 ร้องตะโกนให้คุ้มกัน จ่าสิบเอกสมยศ จึงได้จัดกำลังไประวังป้องกันด้านขวาของรางรถไฟฟ้าสยาม 3 นาย ส่วนคนอื่นยังอยู่ตัวสถานี โดยชุดดังกล่าวได้ปะทะกับกลุ่มคนติดอาวุธที่ตอม่อบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ซึ่งพยานทราบทีหลังจากการที่จ่าสิบเอกสมยศ แจ้งว่าพบกลุ่มดังกล่าวได้ยิงขึ้นมาบนสถานี หลังจากปะทะได้สักพักจ่าสิบเอกสมยศ ได้สั่งจัดกำลังใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ชุด ประจำยังฝั่งซ้ายของรางรถไฟฟ้า ชุดหน้ามี 3 นาย ชุดหลัง 4 นาย และเคลื่อนที่ไปด้านหน้า โดยพยานขณะนั้นอยู่ชุดหลัง พยานเห็นจ่าสิบเอกสมยศยิงปืน หลังจากยิงไปกำแพงวัดแล้ว จ่าสิบเอกสมยศบอกกับพยานว่าตรวจพบชายเสื้อขาวกางเกงขาสั้นและสวมโม่ง ทำการเล็งปืนมายังจุดที่ พยานอยู่ โดยชายดังกล่าวอยู่บริเวณกุฏิวัด จากนั้นพยานจึงสลับตำแหน่งในชุด ขณะนั้นอยู่กับที่ ส.อ.เดชาธร มาขุนทด และเขาแจ้งพยานว่ามีชายวิ่งมาที่กำแพงวัดด้านในและถือระเบิดเพลิงทำท่าจะปา เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ด้านล่าง พยานจึงยิงเตือนไปยังกำแพงวัด 1 นัด ชายดังกล่าวก็ก้มหลบ โดยไม่ทราบว่าวิ่งหลบไปทางใด สักพัก จ่าสิบเอกสมยศได้สั่งถอนตัวไปยังสถานีรถไฟฟ้าสยาม และประจำอยู่ที่นั้นจนถึงวันที่ 22 พ.ค.แล้วจึงถออกำลัง ส.อ. ภัทรนนท์ เบิกว่าไม่ทราบง่าในชุดของพยานจะมีการยิงที่อื่นอีกหรือไม่ แต่ได้ยินเสียงปืน ซึ่งไม่ทราบว่าใครยิง เนืองจาก ชุดของพยานอยู่ห้างจากชุดส่วนหน้า ส่วนตัวพยานนั้นตั้งแต่มาปฏิบัติหน้าที่ ยิงปืนไปเพียง 1 นัด และที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นไม่มีใครยิงปืนมายังพยาน โดย ส.อ. ภัทรนนท์ ว่าตนเองทราบกฎการใช้กำลังและอาวุธของกองทัพไทย โดยเริ่มจากหนึ่งแจ้งเตือนด้วยวาจา หากไม่หยุดยังมีภัยคุกคามต่อจะยิงเตือน หากไม่หยุด จะยิงในจุดที่ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต และจะใช้กับคนที่มีอาวุธเท่านั้น สำหรับชุดที่อยู่ส่วนหน้านั้น ส.อ. ภัทรนนท์ เบิกความว่ามองเห็นลักษณะท่าทางการยืนและเท่าที่มองเห็นไม่พบใครเอาปืนวางพาดไปที่ขอบรางรถไฟฟ้า รวมทั้งตัวพยานก็ไม่ได้นำปืนวางพาดที่ขอบรางรถไฟฟ้า หลังจากนั้นทนายญาติผู้ตายได้นำภาพ ชายแต่กายคล้ายทหาร ที่มีการนำปืนพาดราง ให้ ส.อ. ภัทรนนท์ ดูและเบิกความกับศาลว่าไม่เห็นใครในรูปทำการพาดปืนไว้กับรางรถไฟฟ้า ส.อ. ภัทรนนท์ เบิกด้วยว่าการยิงขึ้นฟ้านั้นทำให้ไม่รู้จุดสิ้นสุดของกระสุน ซึ่งไม่ทราบว่าจะไปตกที่ไหน อันตรายกว่าการยิงไปยังกำแพงอย่างที่ตนเองทำเพราะทราบว่ากระสุนไปกระทบและสิ้นสุดที่ใด ภาพที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช.เย็นวันที่ 19 พ.ค.53 ที่ทนายนำมาให้พยานดูลักษณะการวางปืนบนรางรถไฟฟ้า(ดูภาพขนาดใหญ่) ส.อ.สุนทร จันทร์งาม เบิกความว่าเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.53 โดยมาประจำการอยู่ที่ที่ราบ 11 หลังจากนั้น วันที่ 18 พ.ค.ได้รับคำสั่งให้ประจำที่ กระทรวงพลังงาน โดยขณะนั้น จ่าสิบเอกสมยศ เป็นผู้บังคับบัญชา ในวันที่ 19 พ.ค. 01.00 น. พยานเคลื่อนไปที่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาฯ และหลังจากนั้น 15.00 ได้รับคำสั่งให้เคลียร์กองยางที่อยู่แยกปทุมวัน เพื่อคุ้มกันทหารและรถดับเพลิงเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงหนังสยาม ขณะเคลียร์พบกองยาง น้ำมัน และระเบิดเพลิง เข้าไป 10 เมตร แต่ไม่ถึงแยกเฉลิมเผ่า จึงได้ยินเสียงปืนดังมาจากแยกเฉลิมเผ่า หลังจากนั้นจ่าสิบเอกสมยศได้ถอนกำลังไปที่ สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬา หลังจากนั้นมีการปรับกำลังให้คุ้มกัน ร.31 พัน 3 ในเวลา 17.00 น โดยพยานได้ขึ้นไปอยู่รางรถไฟฟ้าชั้นล่าง ขณะเคลื่อนตัว 17.30 เคลื่อนตัวถึงบริเวณที่ห่างจากสถานีสยามประมาณ 5 เมตร พบกองยางและสแลน จึงทำการเคลียร์ เข้าไปถึงในสถานีรถไฟฟ้าสยาม พบระเบิดเพลิง กล่องข้าว ขวดน้ำ เข้าไปถึงตอน 18.00 เนื่องจากได้ยินเสียงเพลงชาติ ส.อ.สุนทร เบิกความว่าขณะปฏิบัติหน้าที่นั้นอาวุธประจำกาย เป็นปืน M16 A2 ซึ่งมีกระสุนปืน 140 นัด พยานเบิกความถึงเหตุจำเป็นของการที่พยานใช้อาวุธจริง เนื่องจากเป็นไปตามตำแหน่งหน้าที่ เพราะ พยานเป็นหน่วยรบพิเศษ นอกจากนี้ขณะเข้าไปสถานีรถไฟฟ้าสยาม ได้ยินเสียงปืน ดังจากด้านล่างพื้นถนน และทหารจา ร.31 พัน 2 ได้ตะโกนมาให้หน่วยของพยานช่วยคุ้มกันให้ด้วย หลังจากนั้น จ่าสิบเอกสมยศสั่งให้หน่วยของพยานระวังป่องกัน ในการเคลื่อนไปตามรางรถไฟฟ้าพยานมีการจัดเป็นชุด 2 ชุดโดยด้านหน้า 1 ชุด ตัวพยานนั้นอยู่ชุดหลัง หลังจากจัดกำลัง มีการยิงไปที่ขอบกำแพงด้านนอกโดยทราบว่าจ่าสมยศเป็นผู้ยิงปืน ขณะนั้นได้ยินเพียงเสียง หลังจากนั้นไม่ทราบว่ามีการยิงมาอีก หรือทหาร 3 นายทีอยู่ด้านหน้าจะยิงปืนหรือไม่ พยานไม่ทราบ และ พยานไม่ได้มีการยิงปืน ประมาณ 18.15 จ่าสมยศได้สั่งให้ถอนกำลังไปที่ สถานีรถไฟฟ้าสยาม และประจำที่นั่นจนกระทั้งวันที่ 22 พ.ค. ส.อ.สุนทร วันปฏิบัติหน้าที่ ได้รับการจ่ายกระสุนมา 140 นัด ได้รับซองบรรจุกระสุน 4 ซอง ซองกระสุนทุนทุกซองมี 30 นัด การบรรจุกระสุนมีลักษณะเตรียมพร้อมในการใช้งาน ระหว่าง พยานปฏิบัติหน้าที่ ไม่เคยพบภัยคุกคาม ดังนั้นพยานจึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงเลย ซึ่งเย็นวันที่ 19 พ.ค. ที่ตรวจการไปยังวัดปทุมนั้นพยานไม่พบภัยคุกคามใดๆ จึงไม่มีการใช้อาวุธเลย พยานไม่ทราบว่าคนที่อยู่ในวัดเป็นใครและไม่ทราบว่าเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ แต่เห็นนั่งอยู่เฉยๆ ไม่เห็นใครถืออาวุธปืน นอกจากนี้ ส.อ.สุนทร ยังได้เบิกความด้วยว่าได้ยินเสียงปืนจากชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านหน้าพยาน แต่เนื่องจากเสียงดังก้องจึงไม่ทราบว่ายิงไปทางทิศทางใด ศาลนัดไต่สวนอีกในวันที่ 28 ก.พ.53 เวลา 9.00 น.
2 ผู้บาดเจ็บเบิกความเหตุการณ์ยิงพลทหารฯ 28 เม.ย. ในวันเดียวกัน ที่ ห้อง 811 ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ อช.4/2555 ซึ่งอัยการร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ (ได้รับเลื่อนยศเป็น ร้อยตรี หลังเสียชีวิต) ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ-ทหารกับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 วิโรจน์ โกสถา ให้การว่า พยานเป็นชาว อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 พยานเข้าร่วมชุมนุม นปช. ที่สี่แยกราชประสงค์ โดยช่วงเช้ามีประกาศจากแกนนํา นปช. ให้ไปรับผู้ชุมนุมจากตลาดไทมาเข้าร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เนื่องจากมีทหารขัดขวางอยู่จึงไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ พยานขึ้นรถกระบะของผู้ชุมนุมไป ถ.วิภาวดีรังสิต ขาออก เมื่อรถกระบะเดินทางมาถึงปั้มแก๊สใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พยานเห็นทหารตั้งด่านขัดขวางถนนไว้ เป็นแถวหน้ากระดานห่างจากพยานประมาณ 200 เมตร รถกระบะที่พยานนั่งมาจึงจอดอยู่ใกล้กับทางขึ้นทางยกระดับดอนเมือง ต่อมาแกนนํา นปช. เจรจากับทหารเพื่อขอเปิดทางให้ผู้ชุมนุมผ่านด่านเพื่อไปตลาดไท โดยพยานติดตามแกนนํา นปช. ไปด้วย แต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ประมาณ 3 นาทีต่อมามีเสียงปืนดังขึ้นเป็นชุดนานประมาณ 3 นาที ขณะนั้นพยานเห็นทหารกว่า 10 คนถือปืน M16 ประทับบ่าเล็งยิงมาทางผู้ชุมนุม พยานเคยเป็นทหารนาวิกโยธินมาก่อนจึงรู้ว่า อาวุธดังกล่าวคือ ปืน M16 เวลานั้นเป็นเวลากลางวัน ฟ้าครึ้ม มีฝนปรอยๆ แต่พยานมองเห็นเหตุการณ์ชัดเจน หลังเสียงปืนดังขึ้นพยานและผู้ชุมนุมหมอบลงและคลานหาที่กำบัง พยานยังเห็นทหารจำนวนหนึ่งถือปืน M16 ประทับบ่าเตรียมยิงอยู่บนทางยกระดับดอนเมืองอีกด้วย ต่อมาพยานเห็น ไพโรจน์ ไม่ทราบนามสกุล ถูกยิงที่เกาะกลางถนนฝั่งขาเข้าจนทรุดลงกับพื้น ห่างจากพยานประมาณ 30 เมตร และเห็นชายชื่อเล่นเจโดนยิงกระสุนฝังที่คอด้านซ้ายที่กลางฟุตบาทระหว่างถนนขาเข้า-ออก ห่างจากพยานประมาณ 15-20 เมตร พยานพยายามวิ่งเข้าไปเพื่อช่วยเหลือชายชื่อเล่นเจ โดยการลากเขาออกมาส่งต่อให้กับผู้อื่น ระหว่างนั้นพยานถูกยิงทะลุต้นขาขวาซึ่งเป็นช่วงพยานกำลังเอียงตัวส่งชายชื่อเล่นเจให้กับผู้อื่น ขณะนั้นพยานเห็นทหารยืนอยู่ฝั่งซ้ายของพยาน พยานพยายามวิ่งหลบกระสุนปืน แต่เดินได้เพียง 2 ก้าวก็ล้มลงตรงตอหม้อของทางยกระดับดอนเมือง หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยเหลือนำส่ง รพ.ภูมิพล โดยที่ตนเองไม่ทราบเป็นรถอะไร และรับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 6 วัน เขากล่าวด้วยว่า เชื่อมั่นว่าถูกทหารยิง เพราะเห็นทหารหลายคนถือปืนประทับบ่ายิงสาด แม้จะไม่เห็นใบหน้าของทหารที่ยิงก็ตาม และเชื่อว่า กระสุนปืนที่ยิงทะลุต้นขาขวาน่าจะเป็นกระสุนจากปืน M16 ทุกวันนี้ยังรู้สึกเสียวที่บาดแผลจนไม่สามารถทำงานหนักได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบเวลาที่พลทหารณรงฤทธิ์ สาละ ถูกยิง และเพิ่งทราบข่าวการเสียชีวิตจากข่าวโทรทัศน์ในภายหลัง พยานยืนยันว่า ในขณะนั้นพยานและผู้ชุมนุมไม่มีใครพกอาวุธ, ขว้างปาสิ่งของ หรือโต้เถียงกับทหารแต่อย่างใด มีแต่หลบกระสุนจากฝ่ายทหารเท่านั้น หลายวันต่อมาพยานเข้าแจ้งความที่ สน.ดอนเมือง ที่ผ่านมาเคยได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท และจากสำนักพระราชวังอีก 2,000 บาท หากได้รับการชดเชยค่าสินไหมจากผู้กระทำ ก็จะไม่เอาความ คมกฤต นันทน์ธนโชติ ให้การว่า พยานเป็นชาว อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 เวลาประมาณ 8.00 น. พยานและภรรยาขับรถกระบะ Ford Ranger ทะเบียน ศบ.4165 กรุงเทพมหานคร ออกจากบ้านพักแถวตลาดไท เพื่อไปปล่อยปลาที่คลองประปาใกล้ห้างเซียร์รังสิต หลังจากปล่อยปลาเสร็จพยานและภรรยาเดินทางไปปากคลองตลาดซื้อบายศรี เพื่อไปสักการะที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้จึงขับรถกระบะย้อนกลับมาที่ตลาดไท โดยขับมาทาง ถ.วิภาวดีรังสิต ขาออก เมื่อขับรถกระบะมาอยู่ในเลนกลางใกล้กับปั้มแก๊ส เห็นผู้ชุมนุม นปช. จำนวนมากยืนกระจายตามถนน จึงพยายามขับรถกระบะหลบเข้าไปใน บ.อึ้งประภากร ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายน้ำมัน แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เนื่องจากมีรถตู้จอดขวางไว้ จึงเปลี่ยนใจขับรถกระบะขึ้นทางยกระดับดอนเมือง ช่วงนั้นได้ยินเสียงปืนเป็นช่วงๆ แต่ไม่ทราบดังมาจากทางไหน ระหว่างขับรถกระบะเบี่ยงขวาเพื่อขึ้นทางยกระดับ เห็นทหารพร้อมอาวุธปืนยาวจำนวนมาก สวมชุดลายพรางสีเขียว พันผ้าพันคอสีฟ้า ยืนอยู่หน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และ ถ.วิภาวดีรังสิต ขาเข้า ระหว่างนั้นมีกระสุน 1 นัดยิงทะลุกระจกด้านคนขับเข้ามาโดนต้นแขนด้านขวาของพยาน เมื่อหันไปมองเห็นทหาร 3 คนเล็งปืนมาที่พยาน ต่อมากระสุนนัดที่ 2 ยิงทะลุเข้ามาฝังอยู่ในหลังคารถกระบะใกล้มือจับด้านบนคนขับ ส่งผลให้กระจกด้านคนขับแตกกระจาย เศษกระจกและกระสุนกระเด็นเข้ามาโดนที่แก้มด้านขวา บางส่วนยังทะลุใบหูด้านขวา ดวงตาด้านขวา และฝังอยู่ในศีรษะด้านขวาของพยาน พยานแข็งใจขับรถขึ้นไปบนทางยกระดับดอนเมืองจนถึงที่ปลอดภัยจึงหยุดรถ พยานลงจากรถกระบะและยกมือขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยใช้กระดาษทิชชู่ในรถกระบะห้ามเลือดบนศีรษะของพยาน ต่อมานักข่าวเข้ามาถามพยานว่า พยานโดนอะไรจึงมีเลือดไหล พยานจึงบอกกับนักข่าวว่า พยานโดนยิง นักข่าวจึงถ่ายรูปพยานไว้ และนำไปลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเวลาต่อมา พยานแข็งใจเดินข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามเพื่อไปโรงพยาบาล และพบกับ สห. สห. พาพยานไปพบกับทหาร ทหาร 3 คนรับตัวพยานข้ามถนนไป ถ.วิภาวดีรังสิต ขาเข้า ต่อมามีรถตำรวจมารับพยานไปส่ง รพ.วิภาวดี รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วัน แพทย์ก็แจ้งว่าค่ารักษาเกินกว่า 100,000 บาทแล้ว พยานกลัวไม่มีเงินจ่ายจึงรีบออกจากโรงพยาบาล แต่ต่อมาพรรคเพื่อไทยนำเงินมาจ่ายค่ารักษาทั้งหมด และยังมอบซองเงินค่าปลอบขวัญอีกจำนวนหนึ่งด้วย ส่วนภรรยาของพยานไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่สำหรับพยานแพทย์ลงความเห็นว่า ไม่สามารถผ่าตัดเอาเศษกระสุนออกจากศีรษะได้ เนื่องจากใกล้เส้นประสาท ต่อมาพยานงัดเอากระสุนที่ฝังอยู่ในหลังคารถกระบะใกล้มือจับด้านบนคนขับพบว่าเป็นกระสุนตะกั่วขนาดปลายนิ้วก้อยจึงนำกระสุนดังกล่าวไปแจ้งความกับ สน.ดอนเมือง นอกจากนี้จากการตรวจสอบจากกองพิสูจน์หลักฐานพบว่ารถถูกกระสุนยิงรวมแล้ว 9 นัด เดือน ต.ค. 53 DSI เรียกตัวพยานไปสอบสวนถึงกรณีการถูกยิง ซึ่งคำให้การเรื่องพยานกลับรถที่ยูเทริน์หลักสี่นั้นเป็นเพียงคำให้การของภรรยา ไม่ใช่ของพยานเอง นอกจากนี้ปี 54 พยานยังเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงการคลัง โดยฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล และค่าซ่อมแซมรถกระบะ ซึ่งศาลแพ่งจะนัดฟังคำพิพากษา 12 มี.ค. 56 เขากล่าวต่อว่า ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 60,000 บาท และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมายังได้รับเงินเพิ่มเติมอีก 675,000 บาท หากผู้กระทำยอมรับความจริงก็พร้อมที่จะให้อภัย ส่วนการเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ นั้นไม่ได้เห็นในที่เกิดเหตุและเพิ่งมาทราบภายหลังจากสื่อมวลชน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วย 'โดรน' Posted: 21 Feb 2013 12:56 PM PST วุฒิสมาชิกพรรครีพับรีกัน ลินเซย์ เกรแฮม เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้คนบังคับหรือ 'โดรน' 4,700 ราย ซึ่งมีทั้งสมาชิกระดับสูงของอัล เคด้า และพลเรือนจำนวนหนึ่ง เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับของสำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษ 21 ก.พ. 2013 - เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากทางการของสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยตัวเลขผู้ที่ถูกสังหารจากการจู่โจมด้วยเครื่องบินไร้คนบังคับหรือ 'โดรน' ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวประณามโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่าเป็นการสังหารที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ลินเซย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกพรรครีพับรีกันผู้สนับสนุนปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการ 4,700 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนที่องค์กรอื่นๆ ประเมินไว้ เกรแฮมได้กล่าวถึงเรื่องนี้ขณะอยู่ในงานของสโมสรที่บ้านเกิดในเมืองอีสลีย์ รัฐเซาท์แคโรไลนา โดยได้เปิดเผยอีกว่าในจำนวน 4,700 รายนั้น มีทั้งสมาชิกระดับสูงของกลุ่มอัล-เคด้า แต่ก็มีพลเรือนทั่วไปรวมอยู่ด้วย "บางครั้งเราก็โจมตีโดนประชาชนผู้บริสุทธิ์ และผมก็ไม่ชอบให้เป็นแบบนั้น แต่เราอยู่ในสงคราม และเรายังสามารถกำจัดสมาชิกระดับสูงของอัล เคด้า ได้ด้วย" เกรแฮมกล่าว อย่างไรก็ตามทางแม้ทางสำนักงานของเกรแฮมจะไม่โต้แย้งเรื่องจำนวนตัวเลขแต่ก็บอกว่าเกรแฮมไม่ได้นำตัวเลขมาจากทางการแต่อ้างอิงจำนวนจากรายงานที่เผยแพร่ในข่าวโทรทัศน์ โดยทางเกรแฮมก็ออกมายืนยันตรงกันว่าเขาอ้างอิงจากสื่อไม่ได้มาจากหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เขามีความผิดฐานเปิดเผยความลับของทางการ ที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯ ไม่เคยกล่าวถึงยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่ใช้ปฏิบัติการโดรนตั้งแต่ปี 2004 หลายองค์กรพยายามประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการแต่ตัวเลขก็ต่างกันมาก โดยสำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษเปิดเผยว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนในปากีสถาน, เยเมน และโซมาเลีย อยู่ที่ราว 3,072 ถึง 4,756 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่เกรแฮมอ้างที่สุด ขณะที่มูลนิธินิวอเมริกาเปิดเผยว่ามีปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ 350 ครั้งตั้งแต่ปี 2004 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,963 ถึง 3,293 ราย เป็นพลเรือนราว 261 ถึง 305 ราย แต่ทางหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ กลับบอกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนมีอยู่เพียงไม่เกินหลักหน่วย ทางด้านสื่ออิหร่านเปิดเผยว่าแม้สหรัฐฯ จะอ้างว่าได้ใช้หุ่นยนต์โดรนในการสังหาร 'ผู้ก่อการร้าย' ในหลายประเทศ แต่ผู้เห็นเหตุการณ์กลับบอกว่าการจู่โจมทำให้เกิดความสูญเสียต่อพลเรือนมากกว่า ทางด้านประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ได้กล่าวตอบข้อซักถามในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมาโดยให้คำมั่นว่าเขาจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องปฏิบัติการโดรนมากกว่านี้
เรียบเรียงจาก US senator says drones death toll is 4700, The Telegraph, 21-02-2013 Graham: No secret drone data revealed, Mike Mount, CNN Blog, 20-02-2013 Drones have killed 4,700: US senator, PressTV, 20-02-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยเหตุคนหายช่วงสงครามยาเสพติดในเม็กซิโกเป็นฝีมือรัฐ Posted: 21 Feb 2013 12:40 PM PST องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวในรายงานว่าผู้สูญหาย 149 รายในช่วงสงครามยาเสพติดเมื่อ 6 ปี ที่ผ่านมาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมโดยไม่มีหมายจับและวิจารณ์อดีตปธน. ฟิลิปเป คาลเดรอน ละเลยปัญหา
ทางฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาหายสาบสูญจากการกระทำของคนที่เป็นวิกฤติร้ายแรงที่สุดของละติกอเมริกาช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้วิจารณ์อดีตประธานาธิบดี ฟิลิปเป คาลเดรอน ด้วยว่าเป็นผู้ละเลยปัญหานี้ อัลจาซีร่าเปิดเผยว่ารายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นด้านมืดของสงครามยาเสพติดในเม็กซิโกซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 70,000 คน ในช่วงตลอด 6 ปีที่คาลเดรอนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่เอนริค เปนา นิเอโต ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเม็กซิโกเคยให้สัญญาว่าจะอาศัยวิธีการที่ต่างออกไปในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมุ่งเน้นการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมและการข่มขู่ แทนการโจมตีกลุ่มผู้ค้ายาโดยตรง โดยเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลเม็กซิกันได้นำเสนอกฏหมายตามหาตัวเหยื่อในสงครามยาเสพติดและชดเชยให้แก่ครอบครัว รัฐบาลกล่าวอีกว่าพวกเขามีแผนสร้างฐานข้อมูลติดตามเหยื่อโดยอาศัยหลักฐานทางพันธุกรรมด้วย โดยลีอา ลีมอน รองเลขาธิการด้านสิทธิมนุษยชนประจำกระทรวงมหาดไทยของเม็กซิโกกล่าวว่าในเชิงทฤษฏีแล้ว มีฐานข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลอยู่มากกว่า 27,000 คน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยังมีการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลอยู่มาก จากการไต่สวนคดีอาชญากรผู้กระทำผิดกว่า 5,000 คดีโดยกองทัพ พบว่ามีเพียง 38 คดีเท่านั้นที่มีการตัดสิน ก่อนหน้านี้ในปี 2012 เคยมีกลุ่มสิทธิพลเมืองของเม็กซิโก 'Propuesta Civica' ได้รวบรวมข้อมูลผู้สูญหายจากสำนักงานกรมอัยการในสมัยของคาลเดรอน ทำให้ได้ข้อมูลผู้สูญหายมากกว่า 20,000 คน โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ผู้ใช้แรงงาน, แม่บ้าน, ทนายความ, นักเรียน, นักธุรกิจ และมากกว่า 1,200 รายเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 11 ปี โดยทาง Propuesta Civica ได้ทำการเผยแพร่ฐานข้อมูลที่มีการระบุชื่อ, อายุ, เพศ รวมถึงวันที่และสถานที่ที่บุคคลหายตัวไป ทางฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้เปิดเผยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยทหารของทางการเม็กซิโกได้กักขังประชาชนไว้ 20 คน ที่รัฐทางตอนเหนือสามรัฐในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. 2011 แม้ว่าฝ่ายทหารจะปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ลักพาตัวเหยื่อ แต่ก็ยอมรับว่าพวกเขาได้ติดต่อกับเหยื่อก่อนที่จะหายตัวไป
Rights group faults Mexico over abductions, Aljazeera, 21-02-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เปิดหน้าคุย ‘แท็กซี่-คนไร้บ้าน’ คน ‘ก(ล)างเมือง’ Posted: 21 Feb 2013 12:22 PM PST
"เราอยู่ เพื่ออยู่รอดเท่านั้นเอง" คำบอกเล่าที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ของ ชัยยา โชเฟอร์แท็กซี่ ผู้เปิดตัวผ่านสื่อในหนังสารคดี 'รับนะ 24 ชั่วโมง' ทางรายการ 'ก(ล)างเมือง' จากศุกร์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเวทีให้ 'คนในหนัง' และ 'คนทำหนัง' ได้มาถ่ายทอดความคิดเบื้องหลังการทำงานร่วมกับ ภายในงานเทศกาลหนังก(ล)างเมือง ครั้งที่ 1 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถือเป็นโอกาสอันดีที่ 'คนในหนัง' ได้ลุกขึ้นพูดถึงเรื่องราวของพวกเขา ซึ่งมากไปกว่าที่หนังเชิงสารคดีสะท้อนวิถีชีวิตได้นำเสนอ ขณะที่ 'คนทำหนัง' ได้มาบอกเล่าถึงคำถามเบื้องต้นของพวกเขาต่อผู้คนในสังคมเมือง พร้อมกิจกรรมฉายหนังสารคดี 6 เรื่อง สะท้อน 2 ประเด็นใหญ่ 'ใครอยู่ในเมือง?' และ 'นโยบายสาธารณะของเมือง'ซึ่งเกี่ยวพันกับชีวิตที่หลากหลายในกรุงเทพฯ แบ่งฉายสัปดาห์ละ 3 เรื่อง โดยอีก 3 เรื่องจะฉายในวันศุกร์ที่ 22 ก.พ.นี้ 'รับนะ 24 ชั่วโมง' มากกว่าการบริการ คือชีวิตคนทำงานhttp://www.youtube.com/watch?v=yq1k7_xksBA ชัยยา ขึ้นเวทีร่วมพูดคุยถึงหนังสารคดี 'รับนะ 24 ชั่วโมง' ว่าเป็นสารคดีที่สื่อสารไปถึงผู้ใช้บริการที่ยังไม่เข้าใจแท็กซี่อย่างพวกเขา ซึ่งเป็นคนส่วนหนึ่งที่อยู่ในสังคมเมืองอันหลากหลาย ถือเป็นเรื่องราวในเชิงบวก เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ชีวิตแท็กซี่ก็ต้องเผชิญกับความเอารัดเอาเปรียบด้วยเช่นกัน ทั้งจากผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมัชชาแท็กซี่เพื่อเป็นที่พึ่งของคนทำงานบริการ "เราพยายามทำหน้าที่นี้ให้ดีในสังคม" โชเฟอร์แท็กซี่กล่าว จากการบทสนทนาในหนังสารคดี อาทิ "ทำไมจึงมาขับแท็กซี่?" "มองอนาคตของตัวเองอย่างไร" "คิดอย่างไรกับการที่แท็กซี่จึงปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร?" ฯลฯ ภาณุ แสง-ชูโต บัณฑิตด้านภาพยนตร์ นักสร้างสรรค์สารคดีมือรางวัล ผู้กำกับหนังสารคดี 'รับนะ 24 ชั่วโมง' กล่าวว่า เขาต้องการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทัศนคติที่หลากหลาย จึงให้วิธีคัดเลือกแบบสุ่มในการถ่ายทำ โดยเลือกพื้นที่แล้วโบกแท็กซี่ที่ผ่านมาในเส้นทาง กระโดดขึ้นรถแล้วบันทึกภาพกันแบบสดๆ เพื่อให้ได้ภาพชีวิตจริงๆ และความจริงที่พวกเขาต้องการระบาย ภาณุ บอกเล่าแนวความคิดของเขาว่า คนขับแท็กซี่คือคนแปลกหน้าที่ร่วมเดินทางไปกับเราในเมืองใหญ่ แม้บางครั้งผู้โดยสารอาจรู้สึกหวาดกลัว แต่คนในทุกอาชีพล้วนมีเบื้องหลัง เขาจึงต้องการสื่อสารมันออกมา นอกเหนือไปจากคำตอบที่ได้รับจากหนังสารคดีเรื่องนี้ ในช่วงเวลาแห่งการรับฟังความเห็นจากด้านล่างเวที โชเฟอร์แท็กซี่หลายคนได้สลับกันลุกขึ้นมาบอกเล่าถึงความอึดอัดใจของพวกเขา ทั้งความรู้สึกที่ว่าโดนกดขี่จากทั้งกฎหมายและผู้โดยสาร การถูกละเลยจากหน่วยงานรัฐทั้งที่พวกเขาคือส่วนหนึ่งในโครงข่ายการคมนาคมในเมืองหลวงแห่งนี้ ฯลฯ ในกรณีแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ผู้โดยสารมีช่องทางในการร้องเรียนแท็กซี่ผ่านทางกรมการขนส่งทางบก แต่หากผู้โดยสารไม่จ่ายเงิน แท็กซี่จะไปเรียกร้องเอาได้จากใคร นี่ยังไม่นับกรณีถูกทำร้ายจนบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต ส่วนเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากโชเฟอร์แท็กซี่ เมื่อรวมกันแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่พวกเขาไม่เคยรู้ และได้แต่ตั้งคำถามว่าเงินตรงนี้จะนำไปตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือแท็กซี่บ้างได้หรือไม่ "คนในสังคมที่คุณตั้งว่าลืมคิดถึง คนที่หายไป คนคนนั้นคือพวกผมเอง" โชเฟอร์แท็กซี่รายหนึ่งกล่าว นอกจากนั้นยังมีกรณีที่แท็กซี่รวมตัวกันยื่นเรื่องขอขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากต้นทุนและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่คนในรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน กลับบอกให้วิ่งสู้ฟัดกันไปก่อน ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาต้องวิ่งกันไปถึงไหน เมื่อไหร่ และอย่างไรดี 'บ้านไม่มีเลขที่' ในวันที่ไม่มีบ้านหลังนั้นอีกต่อไปhttp://www.youtube.com/watch?v=fOLnurHzTnE อภิชน รัตนาภายน ช่างภาพ นักถ่ายทอดสารคดีเจ้าของผลงาน 'บ้านไม่มีเลขที่' บอกเล่าถึงการทำงานของหนังสารคดีเรื่องนี้ว่า เริ่มต้นจากการไปนั่งสำรวจชีวิตของกลุ่มคนทำดำรงชีวิตอยู่ใต้เชิงสะพานปิ่นเกล้า ด้วยคำถามตั้งต้นคือ "ทำไมพวกเขาจึงไปอยู่ตรงนั้น?" ก่อนแบกกล้องลงไปถ่ายทำจริง อภิชน กล่าวว่า เขาไปด้วยความว่างเปล่า เข้าไปพูดคุย รับฟังเรื่องราวเสมือนเป็นเพื่อนปรับทุก และสิ่งที่เขาได้สัมผัสคือการดำรงอยู่ของคนกลุ่มหนึ่งในเมืองใหญ่ ในลักษณะคล้ายกับสังคมชนบทย่อส่วนที่มีการดูแลจัดการ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พ่อแม่คนให้ออกไปทำงานก็สามารถฝากลูกให้คนที่อาศัยอยู่บนสื่อผืนข้างๆ ช่วยกันดูแลได้ ขณะที่ศรียุทธ หนึ่งในคนใน 'บ้านไม่มีเลขที่' ซึ่งพาครอบครัวมาร่วมงาน กล่าวถึงสถานการณ์หลังจากหนังสารคดีได้แพร่ภาพว่า ในด้านดีก็คือมีหน่วยงานและองกรเอกชนต่างๆ เข้ามายื่นมือให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนใต้สะพาน นอกเหนือจากที่ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิอิสระชนอยู่เดิม ส่วนสิ่งที่แย่ คือขณะนี้ไม่มี 'บ้านไม่มีเลขที่' อีกต่อไปแล้ว ศรียุทธ เล่าว่า เมื่อผู้อำนายการเขตพระนครคนใหม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ ได้เริ่มต้นไล่รื้อชุมชน โดยให้เทศกิจเข้ามาล้างทำความสะอาดพื้นที่ใต้สะพาน ซึ่งคนในชุมชนก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีการทำความสะอาด แต่ต่อมาก็มีการนำรั้วมากันเพื่อไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัย จากนั้นก็มีการเอาแผงเหล็กมาเชื่อมปิดกันไม่ให้เข้าพื้นที่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนในชุมชนต้องกระจายตัวไปหาที่อยู่ใหม่ บ้างก็ไปอยู่บ้านมิตรไมตรี บ้านอุ่นใจ (บ้านพักคนไร้บ้าน ของสำนักพัฒนาสังคม) บ้างก็เดินทางกลับบ้าน บ้างก็ต้องรอนแรมไปหาที่พักพิงแห่งใหม่ ส่วนครองครัวของศรียุทธต้องไปหาห้องเช่าในบริเวณที่ใกล้โรงเรียนของลูกๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยไปอยู่ที่บ้านพักคนไร้บ้านแล้ว แต่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำงานและส่งลูกๆ ไปโรงเรียน "คนเรามันก็ต้องยอมรับความจริงกันให้ได้" ศรียุทธกล่าว การพูดคุยในงานเทศกาลหนังก(ล)างเมืองวันแรก ปิดท้ายด้วยหนังสารคดีเรื่องสุดท้าย 'บ้านของคนสร้างบ้าน' โดยวชร กัณหา ช่างภาพ ผู้กำกับหนังสั้น ที่เล่าถึงชีวิตของผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาแสวงหางาน หาชีวิตที่ดีกว่า ด้วยการเข้ามาเป็นคนงานก่อสร้างผู้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมือง หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจ ศุกร์ที่ 22 ก.พ.56 สามารถร่วมรับชมและรับฟังทรรศนะของคนในหนัง คนทำหนัง และเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งศึกษาเรื่องนโยบายพลังงานมายาวนาน ในประเด็น "นโยบายสาธารณะของเมือง" และพบกับหนังสารคดีอีก 3 เรื่อง คือ "เดิน" โดย ธัญ เปลวเทียนยิ่งทวี และ ณัฐฏา หอมทรัพย์ "ชุมชนกระดาษ" โดย ธีรยุทธ์ วีระคำ และ "แถวนี้แม่งเขื่อน" โดย ศิริพร คงมา และพัชร เอี่ยมตระกูล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: ONET และอื่นๆ แนวทางปฏิรูปข้อสอบไทยในยุค‘ทักษะแห่งศตวรรษ21’ Posted: 21 Feb 2013 09:48 AM PST
เรามักได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอว่า "ระบบการศึกษาของไทยสอนให้เด็กท่องจำ" หรือ "ระบบการศึกษาของไทยทำให้เด็กคิดไม่เป็น" แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่า "คิดเป็น" และเราจะหลุดพ้นจากการเรียนการสอนที่เรียกว่า "ท่องจำ" ได้อย่างไร ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักการศึกษาจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นักการศึกษาสมัยใหม่ เป็นอีกคนหนึ่งพยายามจะหาคำตอบในเรื่องนี้
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ภูมิศรัณย์ จบปริญญาเอกทางด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์แล้ว เขายังทำวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของการศึกษาในหลายมิติ โดยเขาเน้นในส่วนของระบบข้อสอบ สิ่งที่นักเรียนทุกคนในยุคนี้ต้องเผชิญปีละหลายครั้ง และที่โด่งดังมากคงหนีไม่พ้น O-NET O-NET เป็นข้อสอบวัดผล "การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ของระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 มีทั้งหมด 8 วิชาคือ 1.ภาษาไทย 2.สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 3.ภาษาอังกฤษ 4.คณิตศาสตร์ 5.วิทยาศาสตร์ 6.สุขศึกษาและพลศึกษา 7.การงานอาชีพและเทคโนโลยี 8.ศิลปะ และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คะแนนสอบ O-NET ต้องใช้ยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาผ่านระบบ Admission ด้วย ซึ่งระบบนี้จะนำคะแนนจากส่วนต่างๆ คือ เกรด (GPA) + คะแนนสอบ O-NET + คะแนน Gat, Pat มารวมกันเป็นคะแนนเต็ม 30,000 คะแนน โดยแบ่งสัดส่วนถึง 30% หรือ 9,000 คะแนนให้กับ O-NET นอกจากระบบ Admission แล้วยังมีระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ โดยต้องสอบวิชาสามัญ 7 วิชา คือ 1.วิชาภาษาไทย 2.วิชาสังคมศึกษา 3.วิชาภาษาอังกฤษ 4.วิชาคณิตศาสตร์ 5.วิชาฟิสิกส์ 6.วิชาเคมี 7.วิชาชีววิทยา เพื่อใช้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อตามเงื่อนไขของคณะ และสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมระบบเคลียริ่งเฮาส์อีกต่างหาก ในการพูดคุยกับภูมิศรัณย์ เขาเริ่มต้นเท้าความว่า ข้อสอบนั้นเป็นปลายทางส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างเยาวชนแบบที่สังคมต้องการ ซึ่งในยุคปัจจุบัน "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" เป็นแนวคิดของนักการศึกษาในระดับสากลที่ได้รับการยอมรับกันแล้วว่าเป็นทักษะสำคัญสำหรับเยาวชน การประเมินความสามารถในการทำข้อสอบหรือความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวเหมือนในอดีตไม่เพียงพออีกต่อไป แต่เด็กต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ที่เรียกว่า Critical Thinking และต้องมี Non-Cognitive Skills อื่นๆ ด้วย มี EQ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงมีความรู้ทั่วไปที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่อง Financial Literacy (ความสามารถในการเข้าใจความรู้พื้นฐานในเรื่องการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน - เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์) เรื่องทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ข้อสรุปของเขาคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องพัฒนาการเรียนในห้องเรียนเพื่อนำไปสู่ "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" และหากเราต้องการให้การเรียนการสอนเป็นไปในแนวทาง "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" เราต้องออกแบบข้อสอบให้มันสอดคล้อง ทำให้ครูไม่ใช้วิธีการสอนให้ท่องจำเหมือนเดิม แนวคิดนี้อาจยังดูห่างไกลนักเมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า อย่างข้อสอบ O-NET ที่เป็นประเด็นโด่งดังแทบทุกปี เช่นเดียวกันกับปีนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อสอบ
จาก : แก๊งค์เด็กแอดฯ : Admission Fanclub
"เหตุผลของการปรับเปลี่ยนข้อสอบ เพื่อให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น ลดการเดาข้อสอบ แต่ สทศ. มีคำอธิบายไหมว่า ข้อสอบที่ออกมาใช้หลักอะไรในการคิดวิเคราะห์ แล้วการคิดวิเคราะห์นี้ตายตัวจนสามารถออกมาเป็นข้อสอบแบบช้อยส์ได้เลยหรือ ยกตัวอย่างที่ว่าปลูกฝังความเป็นไทยควรดูละครเรื่องใด? คนหนึ่งคนอาจตีความหมายของคำว่าความเป็นไทยต่างกัน มีกรอบความคิดและจินตนาการของคำว่า "ความเป็นไทย" ต่างกัน เมื่อมีกรอบความคิดที่ต่างกันหรือทัศนะที่แตกต่างกัน เหตุผลในการเลือกคำตอบนั้นๆ ย่อมแตกต่างกันไปด้วย บางคนอาจจะเลือกกี่เพ้าก็ได้ หากเขามองว่าความเป็นไทยของเขาคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม" ณัฎฐณิชา เหล็กกล้า นักเรียน ชั้น ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี แสดงความเห็นถึงตัวอย่างข้อสอบโอเน็ตอันเป็นที่โด่งดังใน social network
จาก : แก๊งค์เด็กแอดฯ : Admission Fanclub
สอดรับกับความเห็นของภูมิศรัณย์ว่า มาตรฐานข้อสอบที่ยังไม่ดีมากนักอาจเกิดจากข้อจำกัดด้านบุคลากร "จริงๆ การออกข้อสอบค่อนข้างเป็นศาสตร์ที่ต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง ถ้าจะให้ดีก็จะควรจบด้านนี้โดยตรง คือด้านการวัดและประเมินผลการศึกษา" ภูมิศรัณย์กล่าวว่า ข้อสอบที่ดีควรเป็นในลักษณะที่เรียกว่า Literacy-Based Test หรือ ข้อสอบที่เน้นวัดความเข้าใจ ซึ่งสามารถทำเป็นข้อสอบช้อยส์หรือข้อสอบแบบตอบบรรยายก็ได้ แต่การทำสอบจะต้องใช้ความเข้าใจในเนื้อหาและอาจต้องประยุกต์กับหลายๆ ศาสตร์ ไม่ใช่ข้อสอบแบบ Content-Based อีกต่อไป ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ หากเป็นข้อสอบแบบ Content-Based จะมีลักษณะที่ถามตรงตัว บทนี้สูตรเป็นอย่างไร ใส่ตัวแปรแล้วตอบ ตามสูตรเลย แต่ Literacy-Based ก็อาจจะประยุกต์เข้ากับเรื่องราวในสถานการณ์จริงเลย เช่น พิซซ่า 2 ชิ้น เส้นผ่านศูนย์กลางต่างกัน ราคาต่างกัน ซื้อชิ้นไหนถึงจะคุ้มกับเงินที่เสียไปมากที่สุด หรืออย่างข้อสอบวิทยาศาสตร์ก็อาจจะให้อ่านบทความวิทยาศาสตร์ มีการผสมผสานความรู้ในเรื่องต่างๆ แล้วให้นักเรียนทำความเข้าใจเพื่อตอบคำถาม ตัวอย่างข้อสอบแบบนี้ในระดับสากล คือ ข้อสอบ PISA ทำโดย OECD อ่านแล้วรู้สึกว่า ต้องใช้ทั้งความรู้และความคิด
ตัวเลขอื่นๆ บอกอะไรได้มากกว่า คะแนนสอบ ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวถึงภาพรวม "คะแนน" สอบด้วยว่า ตัวเลขคะแนนสอบเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้บอกอะไรมากนัก และไม่สามารถทำให้เกิดการวิเคราะห์เพื่อหาจุดอ่อนของแต่ละพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเก็บข้อมูลอื่นๆ ของนักเรียน ครู หรือโรงเรียนด้วย เพื่อที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการศึกษาของประเทศ เช่น อาจจะให้นักเรียนทำแบบสอบถามว่ามีพื้นเพมาอย่างไร ฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร ใช้เวลาอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง ที่บ้านมีหนังสือกี่เล่ม นอกจากนี้ก็อาจจะสำรวจว่าโรงเรียนมีสภาพอย่างไร มีห้องสมุดไหม เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว เราก็นำมาประเมินผลว่าเด็กทำคะแนนสอบได้เยอะเพราะปัจจัยใด แค่ไหน อย่างไร นำมาสู่ข้อสรุปว่า ควรจะจัดการศึกษาอย่างไร หรือควรจะให้โรงเรียนมีทรัพยากรอะไร เด็กควรอ่านหนังสือวันละกี่โมง เป็นต้น ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีระบบการเก็บข้อมูลตรงนี้เพื่อดูบริบทต่างๆ แต่ประเทศไทย จะเก็บผลลัพธ์เพียงแค่ว่านักเรียนของจังหวัดนี้ได้คะแนนสอบ O-NET เท่าไร แต่ละวิชานี้มีคะแนนเฉลี่ยเท่าไร ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่าไร หรือเรียงเป็นจังหวัดว่าจังหวัดไหนได้คะแนนเยอะสุด ภาคไหนได้คะแนนเยอะสุด ซึ่งตัวเลขเพียงเท่านี้ไม่ได้บอกอะไรนัก เพราะไม่ได้กล่าวถึงบริบทว่าเด็กที่คะแนนสูงเขามีลักษณะอย่างไร ที่บ้านเขาเป็นอย่างไร ฐานะเป็นอย่างไร ที่สำคัญ สาธารณชนก็เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก นักวิจัย ปัญญาชนทั่วไปที่เขาอยากจะศึกษาก็ลำบาก นอกจากนี้เวลารัฐจะวางแผนยุทธศาสตร์ก็วางตัวชี้วัดในลักษณะที่ว่า คะแนนเฉลี่ยปีที่แล้วเท่าไร ปีนี้ต้องได้คะแนนเท่าไร ต้องเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความจริงแทบจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าคะแนน O-NET แต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน ข้อสอบก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบในลักษณะนั้นได้ด้วยซ้ำ แต่ควรจะเอามาใช้ในแง่ของการดูความไม่เท่าเทียมกันมากกว่า เน้นดูค่าความเบี่ยงเบน เช่น ปีนี้คะแนนโรงเรียน A อยู่ห่างจากคะแนนเฉลี่ยของประเทศเท่านี้ ถ้าปีถัดมาเขาอยู่ห่างจากค่าเฉลี่ยของประเทศน้อยลง ก็แปลว่าเขามีพัฒนาการมากขึ้น แบบนี้จะมีสมเหตุสมผลมากกว่า นักการศึกษาแห่งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ยังยกตัวอย่างในต่างประเทศว่า จะเน้นการทำโครงงานโดยมีพื้นฐานจากความรู้ในสาขานั้นๆ มากกว่าเรื่องข้อสอบ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ก็อาจจะให้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ วิชาภาษาก็อาจจะมีให้ค้นคว้าทำรายงานและออกมานำเสนอ โดยระบบประเมินจะเป็นลักษณะ Portfolio คือ เวลาส่งการบ้านแต่ละครั้งหรือจะส่งโครงงานแต่ละชิ้น ครูก็จะต้องบันทึกว่าเป็นอย่างไร วิจารณ์ว่าควรแก้ไขในส่วนไหน แล้วครั้งต่อๆ ไปได้แก้ไขเพิ่มเติมอะไรบ้าง มีพัฒนาการมากน้อยเพียงไร ทุกอย่างถูกเก็บเป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ แต่สำหรับประเทศไทยระบบแบบนี้อาจทำได้เพียงบางโรงเรียนที่เป็นระดับแนวหน้า
ครูต้องเก่ง และครูต้องได้ดี หากเราดูการจัดอันดับการศึกษาในระดับสากล ซึ่งจัดทำโดย Pearson บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการศึกษา จะพบว่า ประเทศเกาหลีใต้ได้อันดับ 2 แม้ประเทศเกาหลีใต้จะไม่ได้มีแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับแนวคิด "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21" ยังเน้นการเรียนแบบท่องจำ มีชั่วโมงเรียนที่ยาวนาน แต่เกาหลีใต้มีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเหมือนหลายๆ ประเทศที่มีอันดับการศึกษาดี คือ วัฒนธรรมที่เชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและการทำให้ครูเป็นอาชีพที่มีสถานะสูงในสังคม จนสามารถดึงดูดคนเก่งมาเป็นครูได้
อันดับการศึกษาของแต่ละประเทศ : ในส่วนของ Cognitive Skill จะวัดจากคะแนนสอบ PISA, TIMSS, PIRLS ซึ่งเป็นข้อสอบแบบ Literacy-Based Test
ประเด็นเรื่องผลการเรียนจึงแยกกันไม่ออกกับเรื่องคุณภาพของครู ภูมิศรัณย์ย้ำถึงเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างกรณีประเทศฟินแลนด์ ซึ่งแม้จะไม่มีชั่วโมงเรียนอันยาวนานเท่าเกาหลีใต้ ไม่มีการสอบมาตรฐาน พูดอย่างง่ายคือไม่มีการสอบ O-NET เหมือนของประเทศไทย การบ้านไม่เยอะ แต่สิ่งที่โดดเด่นและเป็นจุดร่วมกับเกาหลีใต้คือ คุณภาพของครูที่โดดเด่น เน้นการ 'ช่วยเหลือ' ให้เด็กเข้าใจและสามารถประยุกต์บทเรียนได้ มีการแผนการฝึกฝนอบรมครู (Professional Development) ครูจะให้เวลากับเด็กในห้องเรียนมาก ครูพร้อมที่จะสอนและริเริ่มทำโครงการต่างๆ เด็กเรียนแบบมีความสุข ไม่ได้เรียนหนักมากเกินไป ผลลัพธ์คือคะแนนเด็กออกมาดี เขาเห็นว่า หากพิจารณาประเทศที่มีคะแนนสูงจะพบว่าครูของประเทศนั้นๆ จะเป็นคนระดับชั้นนำของประเทศ ยกตัวอย่างรูปธรรมเช่น การสอบเข้าวิทยาลัยครูของประเทศไต้หวันยากพอๆ กับการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ต้องเป็นระดับหัวกะทิของประเทศถึงจะเป็นครูได้ หรือกรณีครูมัธยมในสิงคโปร์ก็เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี จำนวนมากจบการศึกษาจาก Oxford Cambridge หรือ Harvard ในตอนท้าย เขายังให้ข้อสังเกตอีกว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนให้สวัสดิการครูดีมาก และภายในสังคมก็ถือว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก ไม่มีประเทศไหนที่นักเรียนได้คะแนนสูง แต่เงินเดือนครูต่ำ เช่น ครูไต้หวันได้เงินเดือนพอๆ กับวิศวกร สำหรับประเทศไทยจะดูเหมือนว่าเงินเดือนครูจะสูง แต่สิ่งที่เห็นนี้ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งจะปรับกันเมื่อไม่นานมานี้เอง อีกทั้งครูที่ได้รับเงินเดือนสูงก็เป็นคนที่อยู่ในวิชาชีพมาสักระยะหนึ่งแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลตอบแทนทั้งด้านการเงินและด้านสังคมของอาชีพครู ยังไม่น่าสนใจพอจะดึงดูดให้คนเก่งๆ แย่งกันเข้ามาในวิชาชีพครูได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรอินทรีย์กับระบบอาหารโลก Posted: 21 Feb 2013 09:05 AM PST เกษตรอินทรีย์ เป็นระบบการเกษตรที่ได้รับการรับรองว่า กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนของสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในสังคมไทย เกษตรอินทรีย์ถูกนำเสนอโดยองค์กรพัฒนาเอกชนเมื่อประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยถูกนำไปเชื่อมโยงกับแนวคิดความพอเพียง การพึ่งตนเอง และความยั่งยืน อีกทั้งถูกมองว่าเป็นการพัฒนาทางเลือกเพื่อหลีกหนีออกจากระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่สร้างปัญหาให้เกษตรกร ในเวลาต่อมา ในฐานะการพัฒนาทางเลือก เกษตรอินทรีย์ถูกยกระดับเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้/ต่อรองกับภัยที่มาจากการผลิตและการบริโภคอาหารในระบบอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอประเด็นรณรงค์ในเวลาต่อมา เช่น อธิปไตยทางอาหาร (Food sovereignty) ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) และการกินแบบละเมียดละไม (Slow food) ทว่าการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากสถานการณ์ผูกขาดอาหารในกำมือของบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจการเกษตร จะทำได้ง่ายๆ เพียงแค่การรณรงค์คำขวัญ หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเท่านั้นหรือ? อธิปไตยทางอาหาร? รายการสารคดีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์สื่อสาธารณะ เรียกคนเก็บผักที่ขึ้นอยู่ริมทางไปทำอาหารกิน และคนที่ปลูกผักกินเองว่า แสดงถึง "อธิปไตยทางอาหาร" ส่วนคนที่ซื้ออาหารกินจากแผงข้างถนน กินจานด่วนตามห้างสรรพสินค้าและอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตจากอุตสาหกรรมถูกเรียกว่า คนที่สูญเสียอธิปไตยทางอาหาร เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของ ปัจเจกบุคคล จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบอาหาร และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภคโดยง่าย "อธิปไตย" หมายถึงอำนาจในการปกครอง โดยทั่วไปคำนี้ใช้กับประเด็นปัญหาการปกครองของรัฐ แต่เมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้กับอาหาร น่าสงสัยว่าเรากำลังพูดถึงอำนาจ "อธิปไตย" แบบใด และในระดับไหน---อธิปไตยของโลก อธิปไตยของชาติ อธิปไตยของชุมชน หรืออธิปไตยของปัจเจกบุคคล? และอำนาจอธิปไตยทางอาหารเป็นอำนาจภายใต้ความสัมพันธ์กับใคร? ความจริงแล้ว การพูดถึงปัญหาในระบบอาหาร (Food regime) ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์เรื่องอาหารโดยตัวมันเอง แต่เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบการผลิตและการบริโภคอาหาร และเป็นการวิเคราะห์สัมพันธ์ในระบบทุนนิยม อาหารในฐานะสินค้าชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง ควรจะถูกวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ เช่น นิเวศวิทยา การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การวิเคราะห์ระบบอาหารในลักษณะนี้จะช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างระบบทุนนิยมภาคเกษตร ซึ่งแยกไม่ออกจากประเด็นการสะสมทุนและการผลิตซ้ำแรงงาน ในการศึกษาเรื่องระบบอาหาร ได้แบ่งช่วงประวัติศาสตร์ของระบบอาหารออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่หนึ่ง เน้นการผลิตอาหารราคาถูกและปริมาณมากเพื่อลดต้นทุนค่าแรง ระยะที่สอง เน้นใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมภาคเกษตร มุ่งผลิตอาหารที่มีราคาสูงขึ้น และเน้นโครงการช่วยเหลือด้านอาหารจากประเทศโลกที่หนึ่งสู่ประเทศโลกที่สาม เพื่อลดต้นทุนค่าแรงในยุคสงครามเย็น ปัจจุบันเราอยู่ในระยะที่สาม หรือระบบอาหารที่บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจนำ เน้นบทบาทของตลาดในการกำกับกติกาพื้นฐานในการผลิตและการบริโภคอาหาร โดยรัฐทำหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ทุน เน้นช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว ควบคู่ไปกับการเปิดเสรีทางการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา ระบบอาหารที่บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจนำเน้นการรวมตัวเป็นพันธมิตรของกลุ่มทุนธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งไปเร่งรัดกระบวนการเลิกเป็นชาวนาเร็วขึ้น และยังเร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนแปลงโลกที่สามเป็นกลายฟาร์มของโลกด้วย[i] ในระดับสากลมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่น่าสนใจ เช่น องค์กรชาวนาโลกหรือ La Via Campesina เริ่มรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหารราวคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป้าหมายของการรณรงค์เพื่อทวงสิทธิเหนือที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร และการเรียกร้องสิทธิที่จะมีอาหารที่ผลิตจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงพอสำหรับบริโภค รวมทั้งเพื่อตอบโต้ระบบอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ในระดับสากลจึงหมายถึงการมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหารได้ และการใช้ประโยชน์จากอาหารที่มีอยู่ ดังนั้นสาระสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในระดับสากล เน้นเรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงและกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรในสังคม[ii] ในสังคมไทย การรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารดูเหมือนจะวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างของระบบทุนนิยมภาคเกษตร เช่น การผูกขาดอำนาจของกลุ่มทุนในการควบคุมเมล็ดพันธุ์ และดูเหมือนจะต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องสิทธิการเข้าถึงและการควบคุมทรัพยากร แต่เรากลับพบว่าข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหากลับไปเน้นที่ปัจเจกบุคคล เช่น การเรียกร้องให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ใช้แรงงานตัวเองทำการเกษตร ปลูกพืชผักอินทรีย์เพื่อกินเอง เท่ากับว่าการรณรงค์เรื่องความมั่นคงทางอาหารในสังคมไทย เน้นเรียกร้องโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโดยอัตโนมัติ ในทำนองเดียวกัน การรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทย ดูเหมือนเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการครอบงำผู้บริโภคของธุรกิจการเกษตร แต่ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา กลับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล เช่น การรณรงค์ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน บนสมมติฐานที่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการกินแล้ว จะสามารถเปลี่ยนโลกได้จริงเพียงใด ด้วยเหตุที่การรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารในสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เน้นการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคล และยังเน้นบทบาทของปัจเจกที่ผูกโยงกับชุมชนท้องถิ่น ทำให้การรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารไปสอดรับกับกระแสชาตินิยมและท้องถิ่นนิยม เช่น เรียกร้องให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีการเกษตรและเทคโนโลยี เรียกร้องให้ผู้บริโภคหันไปกินอาหารท้องถิ่น และต่อต้านอาหารอุตสาหกรรม โดยละเลยข้อเท็จจริงว่า ระบบทุนนิยมสร้างเงื่อนไขบีบบังคับผู้บริโภคอย่างไร เพราะไม่แยกแยะว่าทำไมผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมีทางเลือกจำกัดในการบริโภค บ่อยครั้งการรณรงค์เรื่องอธิปไตยทางอาหารจึงเสนอทางเลือกที่ดูเป็นไปได้ยากสำหรับผู้บริโภค เช่น การเรียกร้องให้คนหันไปบริโภคอาหารอินทรีย์ที่มีราคาแพงและหายาก หรือไม่ก็ต้องเสี่ยงเป็นมะเร็งตาย
ผู้คร่ำหวอดในวงการเกษตรอินทรีย์กล่าวว่า "มีแนวโน้มที่ทั้งอุปสงค์ของผู้บริโภคและอุปสงค์ของผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องการผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคเพื่อจะได้ราคาสูง" คำกล่าวนี้ชวนให้เคลิบเคลิ้มว่า เกษตรอินทรีย์สร้างสถานการณ์ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างก็ได้ประโยชน์ ไม่เพียงแค่นั้น เรายังถูกทำให้เชื่อว่าการแสวงผลกำไรจากสินค้าอินทรีย์ สามารถไปกันได้อย่างไม่ขัดแย้งกับการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมทำได้ง่ายๆ แค่เราเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ภายใต้คำขวัญที่สวยงาม ยังมีคำถามที่ไร้คำตอบ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจะทำให้เปลี่ยนแปลงโลกได้จริงหรือไม่? ผู้บริโภคหวังอะไรจากการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์? ผู้บริโภคแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารอินทรีย์ที่ตนเองบริโภคไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เอาเปรียบแรงงาน? เราอาจเริ่มต้นหาคำตอบจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง และอาจพบกับความจริงที่แตกต่างออกไป การสำรวจทัศนคติผู้บริโภคชาวไทย 884 คน เกี่ยวกับเหตุผลในการซื้อสินค้าผักอินทรีย์ในกรุงเทพฯ พบว่า แม้ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีรายได้และการศึกษาสูง จบปริญญาตรีขึ้นไปและมีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท มีอายุมากกว่า 40 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมีบุตรที่อยู่ในความดูแล แต่ผู้บริโภคซื้อผักอินทรีย์เพื่อลดความกังวลในเรื่องสารพิษตกค้าง มากกว่าห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคบอกไม่ได้ว่าสินค้าที่ติดฉลาก "Hygienic" "Safe" และ "Organic" แตกต่างกันอย่างไร ในขณะที่ฉลากของสินค้าเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับระบบการผลิตที่แตกต่างกันของสินค้า ในจำนวนผู้บริโภค 40% ที่ซื้อสินค้าอินทรีย์บอกว่ารู้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเพียงเล็กน้อย มีเพียง 5% เท่านั้นที่บอกว่ารู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์มาก การศึกษานี้ทำให้เราเข้าใจว่าผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์ที่ตนบริโภคน้อยมาก แต่ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อความสบายใจว่าตนได้บริโภคอาหารที่เชื่อว่าปลอดภัย มีผู้บริโภคน้อยมากที่คาดหวังว่าการบริโภคสินค้าอินทรีย์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สิ่งแวดล้อม[iii] ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่สำรวจความเห็นของผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์ในไต้หวัน พบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพมาก่อนความห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม[iv] ในหลายประเทศแถบยุโรป การเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เกิดจากเหตุผลอื่นๆ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจตคติของบริโภค เช่น ในเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงสุดในโลก พบว่าการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เกิดจากผู้บริโภคมีจิตสำนึกด้านสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์และให้คำแนะนำเรื่องเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นอกจากนั้นห้างสรรพสินค้ายังลดราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ลง 15-20% พร้อมเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้สะดวกและส่งเสริมการตลาดมากขึ้น มีการปรับปรุงระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าและติดฉลากสินค้าให้น่าเชื่อถือ องค์ประกอบเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคชาวเดนมาร์กหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น[v] ส่วนการที่ธุรกิจการเกษตรทั้งหลายหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาจเป็นเพียงกลยุทธ์เพื่อปรับตัวอยู่รอดทางธุรกิจ มากกว่าจะเป็นเพราะห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม[vi] นอกจากนี้ยังมีข้อวิตกกังวลว่า หากการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังคงทำผ่านช่องทางการค้ากระแสหลักอย่างที่เป็นอยู่ เช่น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต การบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะไม่ส่งเสริมตลาดทางเลือกอย่างที่คาดหวัง[vii] ที่แย่ไปกว่านั้น การเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์อาจสร้างผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจได้ เช่น ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อบรรษัทธุรกิจการเกษตรหันมาสนใจลงทุนผลิตปลูกผักปลอดสารพิษขายกันมากขึ้น เกษตรกรรายย่อยกลับต้องสูญเสียที่ดิน เพราะจ่ายค่าเช่าที่ดินแพงขึ้น ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่าเกษตรอินทรีย์ยังคงเป็นทางเลือกของเกษตรกรรายย่อยหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขที่เกษตรอินทรีย์กำลังพัฒนาไปสู่ระบบการผลิตเพื่อการค้าและเพื่อป้อนตลาดโลกมากขึ้น[viii] และเกษตรอินทรีย์จะมีความยั่งยืนหรือไม่ในระยะยาว[ix]
กินเปลี่ยน โลกเปลี่ยน? A new perspective can change everything---สโลแกนในเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่ขายสินค้าติดโลโก้การค้ายุติธรรม (Fair trade) บอกผู้บริโภคว่า มุมมองใหม่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง รายการสารคดีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ทางสื่อสาธารณะ[x] บอกว่า วัฒนธรรมการกินอย่างละเมียดละไม (slow food) สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เช่น กินอาหารปรุงจากพืชผักพื้นบ้าน เก็บตามฤดูกาล ปลอดสารเคมี ปรุงอย่างประณีต ผู้ปรุงมีความรู้ มีเวลาและกินร่วมกันเป็นครอบครัวหรือชุมชนยิ่งดี ความดีงามของการกินอาหาร slow food ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเป็นธรรมชาติ และความเป็นไทยท้องถิ่น เพื่อสื่อความหมายถึงการหวนรำลึกถึงอดีตและการเสพความเป็นท้องถิ่นดั้งเดิม ทำให้ภัตตาคารและร้านค้าที่อาหารขายในวัฒนธรรมแบบ slow food กลายเป็น "ทางเลือก" สำหรับผู้มีรสนิยมในการกิน ตรงข้ามกับอาหารที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม (fast food) ที่ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย เจือปนสารพิษ ปรุงอย่างรวดเร็ว เมนูอาหารซ้ำซาก เน้นความสะดวกในการกิน และไม่คำนึงถึงคุณค่าอาหาร การกินอาหาร slow food เป็นทางเลือกสำหรับใคร? สโลแกนของการรณรงค์ slow food ยึดหลักการเดียวกับขบวนการ slow food movement ในประเทศตะวันตก คือกินอาหารทีดี สะอาด และราคายุติธรรม ผู้ที่กินอาหารแบบ slow food ต้องดำเนินชีวิตแบบไม่รีบเร่งแข่งกับเวลา ถ้าไม่ใช่คนมีฐานะดี ที่ไม่ต้องรีบไปทำงาน ก็ต้องมีคนจัดหาอาหารดีๆ ให้กิน หรือไม่ก็เป็นคนบางกลุ่มที่อยู่ในชนบท ซึ่งไม่ถูกควบคุมด้วยเวลาของระบบทุนนิยม ดังนั้นเงื่อนไขของการกินเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก จึงต้องมีความพร้อม พร้อมทั้งในแง่ทุนทรัพย์ เวลา ความรู้และศักยภาพในการเข้าถึงอาหารที่ดีและหลากหลาย ดังนั้นการกินแบบ slow food จึงไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้จะอยากเลือกเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเลือกกินแบบนี้ได้ หากเงื่อนไขเชิงโครงสร้างยังไม่เปลี่ยน แม้จะถูกนำไปเชื่อมโยงกับการกินอาหารไทยท้องถิ่น แต่วัฒนธรรมการกินแบบ slow food กลับมีที่มาจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนอื่น ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสชิมอาหารแปลกๆ ในหลากหลายวัฒนธรรม จนเกิดความคุ้นเคย และเปิดรับรสนิยมการกินที่มีความแตกต่าง โดยเนื้อแท้แล้วการกินแบบ slow food จึงเป็นผลผลิตของโลกาภิวัฒน์ เพราะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการเดินทางไกล และการไปเรียนรู้วัฒนธรรมอื่น ตลาดทางเลือกที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการกินแบบ slow food ภัตตาคารที่ขายอาหารท้องถิ่น การจัดเทศกาลอาหารท้องถิ่น ตลอดจนการเกิดขึ้นของย่านขายอาหารท้องถิ่นตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนเป็นการนำวัฒนธรรมการกินแบบท้องถิ่น มาทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลก พูดอีกอย่างหนึ่ง การกินแบบ slow food ไม่อาจแยกออกจากกระแสโลกาภิวัตน์และบริโภคนิยม แตกต่างตรงที่ชนิดของอาหารที่เลือกเสพและวิธีการเสพเท่านั้น หากผู้บริโภคเชื่อว่าตนเองสามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบ ด้วยวิธีการง่ายๆ แค่เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ผู้บริโภคย่อมไม่คิดว่าการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งๆ ที่สถาบันระดับโลกอันหลากหลาย ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐและผู้กระทำการที่ไม่ใช่รัฐ ล้วนเป็นผู้กุมทางเลือกและกำกับความเป็นไปได้ที่จะเลือกของผู้บริโภคแต่ละชนชั้น หากการรณรงค์เรื่องเกษตรอินทรีย์ในสังคมไทย ไม่ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบอาหาร แต่กลับเน้นการประกาศคำขวัญที่มุ่งแสวงหาทางออกเฉพาะตัวให้กับปัจเจกชน การกินอาหารอินทรีย์ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างที่หลายคนคาดหวัง [i] McMichael, Philip. 2009. "A Food Regime Analysis of the World Food Crisis," Agriculture and Human Value, Vol. 26, pp. 281-295. Boyer, Jefferson. 2010. "Food security, Food sovereignty, and Local Challenges for Transnational Agrarian Movements: The Honduras Case," Journal of Peasant Studies, Vol.37, No.2, pp. 319-351. [iii] Schobesberger et. all. 2008. "Consumer Perceptions of Organic Foods in Bangkok, Thailand," Food Policy, Vol. 33, pp.112-121. [iv] Mei-Fiang Chen, "Attitude Toward Organic Foods among Taiwanese as Related to Health Consciousness, Environmental Attitudes, and the Mediating Effects of a Healthy Lifestyle" www.emeraldinsight.com/0007-070X.htm. [v] Risgaard et. all. "Socio-cultural processes behind the differential distribution of organic farming in Denmark: a case study," Agriculture and Human Values, DOI 10.1007/s10460-007-9092-y. [vi] Jansen, Kees, and Vellema, Sietze et.all. 2004. "Agribusiness and Environmentalism: The Politics of Technology Innovation and Regulation," ", in Kees Jansen, and Vellema, Sietze (ed.) Agribusiness and Society: Corporate Responses to Environmentalism, Market Opportunities and Public Regulation (pp.1-22). London and New York: Zed Books. [vii] Guthman, Julie. 2004."The Trouble with 'Organic Lite' in California: A Rejoinder to th 'Coventionalisation' Debate", Sociologia Ruralis, Vol. 44, No.3, pp. 308-316. [viii] Guthman, Julie. 2004. Agrarian Dreams: The Paradox of Organic Farming in California. Berkely, California: University of California Press. [ix] Allen, and Kovach, 2000, The Capitalist Composition of Organic: the Potential of Markets in Fulfilling the Promise of Organic Agriculture. Agriculture and Human Values, Vol.17, pp.221-232. [x] รายการสารคดีข้าวปลาอาหาร เป็นซีรี่ส์ ออกอากาศทางสถานีทีวีไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘นิธิ’ วิเคราะห์ชนชั้นนำ-ทักษิณ-คนชั้นกลางระดับล่าง เสนอเสื้อแดงจัดองค์กรเอง Posted: 21 Feb 2013 08:42 AM PST
21 ก.พ.56 ที่สถาบันปรีดี ในงาน "นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ" ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันแรก นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปาฐกถาในหัวข้อ "เสรีภาพ ประชาธิปไตยกับสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน" ประชาไทเก็บความนำเสนอ
หลัง 2475 เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากกลุ่มเจ้าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการแบ่งหรือกระจายอำนาจในกลุ่มราชการโดยที่ประชาชนแทบไม่ได้มาเกี่ยวข้องด้วย 1)กองทัพ และราชการ นอกจากนี้ ยังร่วมกันทางวัฒนธรรม โดยคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาระดับหนึ่ง ไม่ว่าเจ้าสัวเจ้าของธนาคาร ที่เรียนภาษาจีน ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา หรือคนไทยที่มีการศึกษา เทคโนแครตที่ไปเรียนต่อต่างประเทศก็รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา คนเหล่านี้มีการร่วมวัฒนธรรมสูง นับถือชื่นชมในระบบค่านิยมเดียวกับข้าราชการและทหาร สี่ ระบบราชการไม่ชอบเพราะเมื่อเทียบกับชวน หลีกภัย ที่เป็น "ปลัดประเทศ" ทักษิณเป็นนายกฯ ที่กำกับระบบราชการ ข้อเสนอสู่การเปลี่ยนผ่าน หนึ่ง ชนชั้นกลางระดับล่างต้องสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งกว่านี้ โดยดึงคอปกขาว ซึ่งเป็นกลุ่มคนมีการศึกษา ที่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งก็ไปกันได้กับความต้องการสิทธิจากการเลือกตั้งของคนชั้นกลางระดับล่าง คนคอปกขาวไม่ได้อะไรจากระบบเดิมมากนัก แต่มีเครื่องมือดีคือสื่อในการต่อรอง แต่วันนี้พบว่าสื่อเครื่องมือเฮงซวยในการต่อรอง และคอปกขาวก็ก้าวสู่ธุรกิจ SME ซึ่งผลประโยชน์ใกล้กันมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องดึงศิลปิน นักเขียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดอิสระและนักวิชาการที่มีความคิดโน้มเอียงอยากให้สังคมเปลี่ยนผ่านให้ได้มาเข้าร่วม ดังนั้น ต้องจัดองค์กร เพื่อให้ข้อเรียกร้องได้รับการรับฟัง ไม่ใช่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดเวลา เช่น ขอไม่แตะมาตรา 112 จังหวะก้าวทางการเมืองเป็นเรื่องต้องตกลงกัน ไม่ใช่คิดเองฝ่ายเดียว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ข้อเสนอผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กับว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร Posted: 21 Feb 2013 08:28 AM PST คำถามคือ จะมีว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเข้าใจและนำเสนแนวทางการบรรเทาปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ในปี 2555 ที่ผ่านมา จากการทำงานในพื้นที่เขตพระนครโดยเจาะลึกเฉพาะเจาะจงในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(คนข้างถนน) เสียชีวิตสะสมตลอดทั้งปี 49 คน โดยที่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถแจ้งตายในฐานะพลเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์ ผ่านปี 2556 มาเพียง 34 วัน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ (คนข้างถนน) ที่อยู่ในบริเวณ สนามหลวงและคลองหลอด เสียชีวิตแล้ว 6 คน โดยที่ทั้งหมดเสียงชีวิตในสภาพที่อยู่ข้างถนน ภาพที่เกิดขึ้นจนไม่อยากจะเรียกว่า "ชิน" คือ เมื่อใดก็ตามที่ เขตพระนคร เปลี่ยนผู้อำนวยการเขตคนใหม่ มักจะแสดงแสนยานุภาพด้วยการไล่รื้อคนที่ไร้ที่ไปในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ของเขตพระนคร โดยใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ได้แก่ เพื่อความสวยงาม การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งแอบอ้างเบื้องสูงว่า เป็นเขตพระราชฐาน ทั้งที่ ข้ออ้างต่าง ๆ ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครมีไม่เกิน 3,000 คน แต่หากรวมกลุ่มที่เป็นขอทานทั้งขอทานไทยและขอทานต่างด้าวเข้าไปด้วยแล้วคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน คนเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลในกรณีที่เป็นคนไทยที่ขาดรายได้และไร้ที่พึ่ง ในกรณีที่เป็นคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประสานงานช่วยเหลือหรือส่งกลับอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบมนุษยธรรม และภายใต้เงื่อนไขของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 คำถามคือ จะมีว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเข้าใจและนำเสนแนวทางการบรรเทาปัญหานี้อย่างเป็นระบบ แม้ว่า เขาเหล่านี้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่ผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ แต่เขาก็ถือได้ว่า เป็นพลเมืองของประเทศไทยที่ต้องได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างเสมอภาคไม่แตกต่างจากพลเมืองคนอื่น ๆ หรือแม้ว่าเขาจะไม่ใช่พลเมืองชาวไทย แต่เขาก็คือ พลเมืออาเซียน ที่ประชาคมอาเซียนต้องดูแลเช่นกัน ข้อเสนอรูปแบบการทำงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา อิสรชน ได้ทดลองและริเริ่มรูปแบบกิจกรรมเพื่อค้นหารากเหง้าของปัญหาร่วมกับคนสนามหลวงอย่างหลากหลายวิธี ที่พอจะสรุปได้ ได้แก่ การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล การลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง พบว่า ปัญหาพื้นที่ ที่คนสนามหลวงต้องการเป็นการเร่งด่วน คือ การยืนยันสถานภาพบุคคลทางทะเบียนราษฎร เพื่อยืนยันความเป็นพลเมืองไทย และ นำไปสู่การได้รับสิทธิอื่น ๆ ที่พลเมืองไทยพึงได้จากรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจในการหางานทำเพื่อพัฒนาตนเองในโอกาสต่อไป รูปแบบการให้บริการเชิงรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อิสรชน มีแผนการดำเนินการเปิดสถานพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(บ้านปั้นปูน) เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการด้านการสงเคราะห์เบื้องต้น แก่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยเปิดโอกาสให้สามารถอยู่ได้ในรูปแบบของครอบครัว โดยจะมีนักสังคมสงเคราะห์ ,นักพัฒนาคุณภาพชีวิต ประจำอยู่ในบ้านดังกล่าว เพื่อคอยให้คำแนะนำและประสานงานหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ หรือ ภูมิลำเนาของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กรณีมีความต้องการจะกลับภูมิลำเนา และ จัดให้มีการฝึกอาชีพเบื้องต้นในรูปแบบของการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อเสริมศักยภาพของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก่อนจะดำเนินการส่งต่อ หรือ ส่งกลับภูมิลำเนา โดยพยายามบริหารกรอบเวลาให้สามารถทำงานได้อย่างครอบคลุมปัญหาให้มากที่สุด การระดมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหา ในส่วนของภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนองค์กรภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม ที่แสดงความจำนงจะเข้ามาช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหานี้ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนากลไกเดิมที่มีอยู่ในสอดรับสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่องค์กรภาคธุรกิจให้ออกมาร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เข้าทำงาน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อันจะนำไปสู่การยุติการใช้ชีวิตในที่สาธารณะอย่างถาวรในอนาคต ข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ การมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามนอกเวลาราชการ เพื่อเป็นหน่วยเดินเท้าลงไปสร้างความคุ้นเคยชักชวนให้ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเต็มใจเข้ารับบริการในหน่วยคัดกรอง เพื่อประสานงานส่งต่อในการรับสวัสดิการด้านอื่น ๆ ต่อไป จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ ในการส่งต่อไปยังหน่วยงานบริการด้านสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ รวมถึงการส่งกลับครอบครัว จัดให้มีการประชุมสรุปบทเรียน ระหว่างการดำเนินการ หน่วยคัดกรองดังกล่าว ควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการให้บริการ ด้วยการกำหนดเวลา หรือวันในการให้บริการของแต่ละหน่วยบริการ ตลอดจนจัดให้มีการประชุมสรุปบทเรียนเป็นระยะ ๆ เพื่อค้นหารูปแบบการทำงานที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วิวาทะ วีรพัฒน์-สมศักดิ์ กรณีนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง Posted: 21 Feb 2013 07:36 AM PST จากกรณีวิวาทะในแวดวงปัญญาชนเริ่มจากข้อเสนอ 'แนวทางการบรรเทาความขัดแย้งและนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง' ของ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ จนนำสู่การโต้เถียงประเด็นต่างๆอย่างยากจะหาข้อยุติทั้งในพื้นที่สือออนไลน์และบนพื้นที่ โซเชียลเน็ตเวอร์ค ประชาไทได้เลือกข้อถกเถียงในประเด็นที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นจุดต้นเรื่องและยังมีความสำคัญต่อเสรีภาพของผู้ต้องขังการเมืองในปัจจุบันมาเผยแพร่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผมดูที่คุณ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ออกรายการ "มองรัฐสภา" แล้วนะ ก็ยืนยันเหมือนเดิมคือ คุณวีรพัฒน์ "เสนอ แบบไม่ได้เสนอ" คือจริงๆที่พูดๆๆทั้งหมดน่ะ ถ้าไม่dazzled(ตาลาย)ไปกับการพูดฉะฉานแบบ"ยิงเป็นไฟ" ของคุณวีรพัฒน์ ไม่มีอะไรเลยจริงๆ Nothing, absolutely nothing คือสรุปได้เพียงว่า คุณวีรพัฒน์ บอกว่าตอนนี้มันมีการทะเลาะกัน (แหม ใครบ้างทีไม่รู้ มันทะเลาะกันมาทุกเรื่อง มาหลายปีแล้วสมัย คอป. ออกรายงาน ก็ทะเลาะ สมัย พรบ.ปรองดอง ก็ทะเลาะ แก้ รธน. ก็๋ทะเลาะ) แล้วคุณวีรพัฒน์เลยเสนอว่า "ถ้างั้น มาคุยกัน" ..... แหม ถ้าแค่ "คุยกัน" แล้วแก้ปัญหาได้ มันคงแก้ไปเป็นชาติแล้วมั้งครับ ประเด็นจริงๆ ของคนที่เขาเสนอให้นิรโทษกรรมคือ ให้รัฐบาล (และสภาฯที รบ.เป็นเสียงข้างมาก) ใช้อำนาจในเชิงบริหารจัดให้มี กม.นี้ ไม่ว่าจะมีคนคัดค้านหรือไม่ คือ ถ้ามีไม่มากก็ดี แต่ต่อให้มีคนคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ก็ให้ทำไป เพราะนี่ก็เหมือนนโยบายอื่น เช่น จำนำข้าว รถคันแรก แจกแท็บเล็ต ฯลฯ ซึ่งทุกเรืองนี้ล้วนมีคนไม่เห็นด้วย เห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะกันทังนั้น เรามิต้องเสนอให้ "เปิดพื้นที" คุยทุกเรืองพวกนี้หรือ? เป็นเรื่องของการ "บริหารประเทศ" ครับ ดังนั้นการเสนอแบบคุณวีรพัฒน์ (นี่ผมสรุป) ว่า "ตอนนี้มันมีความเห็นขัดแย้งไม่ลงลอยกันมากมาย ดังนั้นเราต้องมา "เปิดพื้นที คุยกัน" ก็คือเท่ากับศูนย์ คือไม่ได้เสนออะไรนันแหละ เพราะ (ก) มันทะเลาะกันมานานแล้วทุกเรือง และ (ข) ถ้าแค่บอกว่า "คุยกัน" สามารถแก้ปัญหาได้มันแก้ไปนานแล้ว (นี่ไม่ได้ปฏิเสธว่า รบ. ต้องพยายามทำความเข้าใจ หรือต้องพยายาม "หาเสียงสนับสนุน" รวมทังจากฝ่ายค้านด้วย ถ้าทำได้ แต่"หัวใจ"จริงๆ ของการเสนอ"นิรโทษกรรม" กันตอนนี้ (ไม่ว่าร่างไหนใน 3 ร่าง ทีเขาเสนอกันมา ก่อนทีคุณวีรพัฒน์ จะ "กระโดด" เข้ามา ขอ"เอาด้วยคน" ) คือให้รัฐบาล ริเริ่มใชอำนาจในการบริหาร เหมือนเรืองอืนๆนั่นแหละ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อาจารย์พูดถูกครับ ที่บอกว่า แหม ถ้าแค่ "คุยกัน" แล้วแก้ปัญหาได้ มันคงแก้ไปเป็นชาติแล้วมังครับ แต่ผมเห็นต่างกับอาจารย์ ตรงที่ผมมองว่า แท้จริงแล้ว เรายังไม่มีบรรยายกาศและเทคนิคในการ "คุยกัน" อย่างแท้จริง อาจารย์เชื่อไหมครับ ขนาดรองประธานสภา จะคุยกับหัวหน้าฝ่ายค้านแบบไม่ผูกมัดอะไร ยังต้องส่งสารไปต่อกันหลายทอด และตลกมากคือ กว่าจะรู้ ใช้เวลาเป็นวันๆ นะครับ ห้องอยู่ห่างกัน 10 ก้าว คือวันนี้ วิธีการสื่อสารคุยกันตอนนี้ มันมีปัญหาจริงๆ และอาจารย์คงไม่ปฏิเสธ backlash ของการให้รัฐบาล (และสภาที รบ.เป็นเสียงข้างมาก) ใช้อำนาจในเชิงบริหาร จัดให้มี กม.นี้ ในเรื่องนี้ในบรรยากาศแบบนี้นะครับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือสรุปแล้ว คุณ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นอกจากไม่ได้เสนออะไรแล้ว ถ้าพูดแบบโหดๆอาจจะบอกว่า "แกล้งโง่" คือ แกล้งไม่รู้ว่า ทีเขาเสนอๆกันน่ะ ไมใช่ เขาไม่รู้ว่า มีการทะเลาะ มีการไม่เห็นด้วย มีการคัดค้าน ... รู้ .. แต่เสนอ นี่หมายความว่า ให้รัฐบาลทำ ไม่ว่าจะม่ีเสียงคัดค้านหรือไม่ (เพราะมีอยู่แล้ว) ดังนั้นไอ้ที่เสนอ "เปิดพื้นที" ก็เหมือนกลับบอกว่า "เออๆๆ อย่าเพิ่งเสนอๆ (นิรโทษ) มาคุยกันก่อน ปัดโธ่ มันคนละเรื่องเลยครับ (คุณวีรพัฒน์ พูด "มีส่วนถูก" อยู่นิด ในรายการนั้น คือ ที่พูดว่าข้อเสนอตัวเองเป็น "การต่อเนือง" ของ คอป. จริงๆผมว่าไมใช่ การต่อเนืองหรอกครับ คือการเสนอตั้ง คอป.ใหม่ เสนอตั้ง กมธ.ปรองดอง แบบสนธิ (บัง) ใหม่นันแหละ เพราะข้อเสนอไม่มีอะไรมากกว่านั้น นั่นจริงๆ คือ เท่ากับให้ตั้ง คอป ให้ตั้ง กมธ.ปรองดองใหม่นั่นแหละ (ปล. แน่นอนผม aware หรือ ตระหนักว่า "พรบ. ฉบับแรก" ทีคุณเสนอมีส่วนที "ใหม่" กว่า คอป. หรือ กมธ. ชุด สนธิ (บัง) อยู่ และดังนั้นจะว่าเป็นการ repeat หรือเริ่มใหม่ทั้งหมดก็ไม่เชิง แต่่มันน้อยมากๆ และ argument ส่วนใหญ๋ ของคุณ ก็เน้น ไปที่ ประเด็น "เปิดพื้นที่" หรือ ตัว กม.ฉบับทีสอง ทีให้ตั้ง กก. สรุปคือ .. เป็นการ ให้ตั้ง คอป. หรือ กมธ. ใหม่นันแหละ ไม่มีอะไรจริงๆ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผมก็ถามอาจารย์ง่ายๆแบบนี้ละกัน ถ้าสมมติ ผมไม่เคยเสนอแนวคิดนี้มาเลย และสุดท้าย ไม่มีการเสนอร่างใดๆ เข้าสภาเลย อาจารย์จะทำอย่างไร ? คนที่มากด like อ. สมศักดิ์ ข้างบน เช่น ……. ……. ……. ……. ถ้าท่านมีความเห็น เชิญช่วยมาตอบคำถามด้วยนะครับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่เข้าใจว่า "สุดท้าย ไม่มีการเสนอร่างใดๆ" นี่หมายถึงอะไรนะครับ? หมายถึงว่า รบ. อาจจะ "ปอด" ไม่ยอมทำสักข้อ ใน 3 optionsที่มีการเสนอ (นปช. , อุกฤษณ์ ,กลุ่ม 29 มกราฯ) ใช่ไหมครับ? คำตอบคือ เขาก็หาทางผลักดันต่อไปสิครับ ประเด็นคือ "เสนอทีไม่ได้เสนออะไร"แบบคุณ คือ เสนอให้กลับไปตั้ง คอป. หรือ กมธ. สนธิ (บัง)ใหม่ มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอกครับ แล้วถ้าใครไม่ "ตาลาย" ไปกับการพูดของคุณนะ ฟังดีๆจะเห็นว่าทีคุณ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ พูดเยอะแยะๆ เริ่องคนเห็นต่างๆกัน ทะเลาะกันแล้วไม่มีการมาคุยกัน บลา บลา บลา แหมมันก็เหมือน ไอเดีย ตอนให้มีการตั้ง คอป. และโดยเฉพาะตอนให้มีการตั้ง กมธ.สนธิ(บัง) และนำรายงานของ สนธิ (บัง )เข้าสภา นันแหละ คงจำได้ ตอนรายงาน สนธิ (บัง) เข้าสภา ก็เถียงกันหลายวัน ตั้ง กก. ตามที่คุณเสนอ ก็มาเถียงกันใหม่ ก็เท่านั้นเอง อย่างทีผมบอกว่ามันคนละประเด็นกับที่คนเขาเสนอๆ "นิรโทษ" ตอนนี้เลยครับ คุณวีรพัฒน์ "ดึง" การดีเบต หรือ ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจ ดึง "สป็อตไลท์" ไปทีตัวคุณวีรพัฒน์ โดยไม่มีอะไรใหม่เลย ถอยหลังไปเป็นปีด้วยซ้ำ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือทีคุณ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ พูดเยอะแยะๆๆ ฟังดู เหมือนจะ "แหม ดีนะ พูดดี" แต่โทษที อะไรคือข้อเสนอว่า ถ้ามานั่ง "คุยกัน" แล้วจะ เลิกทะเลาะกัน หรือข้อสรุปร่วมกันได้ครับ? คอป. กมธ. ก็เป็นแบบนี้มาแล้ว (และคุณเอง ก็พูดในรายการเอง แต่ที่ "ตลก" คือ หลังจาก acknowledge เรืองนี้ ของ กก. ชุดต่างๆ ในอดีตแล้ว คุณไม่ได้เสนอเลยว่า ทีให้ตั้งใหม่ น่ะ จะต่างออกไปได้ยังไง ย้ำว่า ที่คนเขาเสนอ นิรโทษ น่ะ มันมาจาก คนละจุดเริ่มต้นเลยครับ เขามาจากที่ เขารู้ครับ ไม่ใช่ ไม่รู้วา มีความเห็นต่างๆ แต่ทีเสนอคือให้รัฐบาลทำครับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ให้ รบ. ใช้อำนาจบริหารเหมือนทีใช้ในกรณี จำนำข้าว รถคันแรก แจกแท็บเล็ต นั่นแหละ คือ ผลักดัน กม.นิรโทษกรรม ออกมาครับ มีคนไม่เห็นด้วย (เหมือน 3 กรณีตัวอย่างนั้น) ก็พยายามทำความเข้าใจ พยายาม "คุย" ในช่องทางต่างๆ แต่ถึงทีสุด ให้ใช้อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ ที รบ. ควบคุมอยู โดยชอบธรรม ลงมือทำไป เหมือน 3 เรืองนันแหละครับ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผมมองแบบนี้ครับ คอป คือ เบื้องต้นมากๆ ไปพยายามหาข้อเท็จจริง ซึ่งหาได้แต่ในเชิงโครงส้ราง เรื่องเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับคนในคุกมันก็ไม่ชัด ไม่เจาะเป็นกรณีบุคคล คอป ไม่ได้บอกว่าใครโดยเจาะจง ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม และที่สำคัญคือ คอป ตั้งมาโดยคุณอภิสิทธิ์ mandate มีจำกัด กมธ สนธิ นี่ยิ่งธรรมดาใหญ่ เพราะอาศัยอำนาจการตรวจสอบทั่วไปของกรรมาธิการ เอารายงานมาเพื่อแปะหน้า พรบ ปรองดอง ซึ่งเราก็วิพากษ์กันไปแล้ว ความจริง คณะกรรมการตามฉบับที่ 2 ก็ทำคล้ายๆ กับ คณะที่นิติราษฎร์เสนอ แต่อาจเจรจาให้ทำได้กว้างกว่า คืออาจมีการพิจารณาข้อเท็จจริงรายบุคคล ในแง่ความสำนึก การให้อภัย การยอมรับความผิดพลาด ส่วนจะไปโยงกับศาลอย่างไร อันนี้ก็เเถียงกันได้ ถ้าทำได้จริง มันจะเป็น TRC แบบใหม่พอสมควรนะครับ ผมจึงคิดว่ามันง่ายเกินไป ที่จะบอกว่า พรบ ฉบับที่ สอง ซ้ำกับสองชุดนั้น วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่ อ. สมศักดิ์กำลังวิจารณ์นั้น เป็นประโยชน์มาก ถ้ามาคุยกันแบบนี้ตั้งแต่วันแรกๆ ก็คงดีไม่น้อย ดังนั้น ใครจะไปดราม่าเรื่องอื่นอะไร ลองเอา อ. สมศักดิ์เป็นแบบอย่างหน่อยนะครับ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อนึ่ง ขอให้ clear ประเด็นนึงนะครับ ผมเสนอ alternativeนะครับ ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่กล้าหรือไม่ควรเสนอร่าง อีก 3 ร่าง อันนั้นผมไม่แน่ใจ ถ้าเขาเสนอผมก็จะรอลุ้นดูต่อ แต่ถ้าเขาไม่เสนออย่างน้อย ตอนนี้มันก็มี alternative ในการเจรจาครับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อันนี้มันโยงเข้ากับประเด็นทีหลายคน เขามีปัญหารู้สึกว่า คุณ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ "อยากดัง" น่ะ คือมันไม่ใช่ว่า เขาไม่พอใจ เพียงแค่่วา คุณวีรพัฒน์ ออกมาพูดโน่น พูดนี่ หรือ เสนอโน่นเสนอนี่ หรอกครับ คนอื่น ทำแบบนี้ ผมไม่เห็นคนเขารู้สึก แต่ทีเขารู้สึก ก็เพราะ "พูดโน่น พูดนี่ เสนอโน่น เสนอนี่" แต่ไมมีอะไร นันแหละครับ คือ ถ้า "มีอะไร" จริงๆ ผมว่า ความรู้สึกนี้มันไม่เกิด แต่นี่ความจริงคือ พอเรื่อง "นิรโทษกรรม" มัน "ดัง" เป็น "กระแส" ออกมา คุณวีรพัฒน์ ก็ "มาแล้ว" ออกสือ ออกหน้ามา .. ซึง ผมว่า มันโอเค .. ถ้า คุณมีอะไรทีเป็น "เนื้อเป็นหนัง" (SUBSTANTIAL) ในการเสนอจริงๆ แต่ความจริงคือ คุณไม่มี ความจริงคือข้อเสนอคุณ ถ้าไม่"หลง"ไปกับวาทะศิลป์ ในการพูดฉะฉาน ยิงเป็นไฟแล้ว มันแค่เท่ากับเสนอให้ไปตั้ง คอป หรือ กมธ. ปรองดอง ใหม่เท่านั้นเอง มันแค่บอกว่ามีคนไม่เห็นด้วยกันในเรืองนี้ มีหลากหลายความเห็น (แหม พ่อคุณ มีใครไม่รู้ประเด็นนี้บ้าง?) แต่สุดท้าย ถ้าตั้ง "กรรมการ" หรือ "เปิดพืนทีคุยกัน" (ใหม่) แบบทีคุณเสนอแล้ว จะแก้ปัญหาทีขัดแย้งกันอย่างไร? มีข้อเสนอไหม? .... แต่น แต๊น... ไม่มีครับผม ไม่มีเลยจริงๆ ดังน้ัน เมือมองโดยรวม คนเขาก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นเรือง "อยากดัง" คือ "พยายามแย่ง spot light" "แย่งซีน" สิ่งทีคนอืนๆ กลุ่มอืนๆเขาเสนอแบบมีเนื้อมีหนัง เท่าน้นเอง วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ คำว่ามีหรือไม่มีก็ขึ้นอยู่ที่คนมอง สมมติคนมองว่ามันมีแปลว่าผมไม่อยากดัง ถ้าไม่มีถึงแปลว่าผมอยากดัง แต่สมมติเราเอาเรื่อง อยากดังออกไปนะครับ ถ้ามันไม่มีอะไรจริงๆ มันก็แค่ข้อเสนอที่ไม่มีอะไร นักการเมืองก็คงไม่สนใจถึงขั้นนำเสนอกันในระดับแกนนำ สื่อก็คงไม่ลง คนก็คงไม่วิจารณ์ สุดท้ายมันก็ไม่ดัง เพราะในเมื่อมันไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไรจะให้ดัง เพราะฉะนั้น สมมติฐานของคนที่คิดว่าผมอยากดัง มันจึงผิดด้วยตรรกะและไม่สามารถยืนอยู่ได้ ผมก็ขออย่างเดียว ถ้ามันไม่มีสาระอะไรก็อย่าพูดถึงมันเลยครับ พูดจากใจจริงๆนะ ผมอยากให้ข้อเสนอนี้มันไม่เกี่ยวอะไรกับชื่อผมเลย เล่าความจริงเบื้องหลังให้ฟังนะครับ วันแรกที่ประชุมกันกับคุณก่อแก้ว วรชัย ปานเทพ ทุกคนเดินออกจากห้อง มีนักข่าวรออยู่ ผมรีบเดินหลบเข้าห้องเลย เพราะผมไม่อยากคุยกับนักข่าว ผมอยากให้ข่าวมันออกมาทำนองว่า เสื้อเหลืองเสื้อแดงเขาคุยกันได้เอง ดังนั้น วันแรก ในข่าวจีงไม่มีชื่อผมอยู่ในที่ประชุมด้วย คนให้ข่าวมีแต่ คุณก่อแก้ว วรชัย ปานเทพ ไปดู facebook wall ผม ผมไม่ได้ประกาศอะไรเลยนะครับ ปรากฏคุณปานเทพเอาข้อเสนอผมไปเล่าเองใน ASTV สื่อก็เริ่มรายงาน และเมื่อเริ่มมีคำถาม เล่ากันสั้นๆและตรงบ้างไม่ตรงบ้าง รองประธานฯก็ขอให้ผมช่วยชี้แจงเพราะท่านไม่อยากชี้แจงเอง และเมื่อมีการเริ่มพูดคุยเป็นรูปเป็นร่างแต่ข้อมูลไม่ชัด ผมก็ตัดสินใจช่วยชี้แจง เอาแบบชัด ไปลองถามนักข่าวที่ประจำกระทรวงมหาดไทยนะครับ วันที่คุณเจริญกับผมไปพบหัวหนัาพรรคเพื่อไทย ตอนออกมาจากห้อง รมต. นักข่าวรุมดักที่ประตู คนอื่นเขาก็ยืนข้างๆคุณเจริญที่ให้สัมภาษณ์ แต่ผมหลบอยู่หลังประตูครับ ไปถามนักข่าว หรือ เลขาห้อง มท 1 ได้ เพราะผมไม่ได้อยากให้ตัวเองเป็นข่าว แต่ผมอยากให้ความคิดที่ผมเสนอเป็นข่าว เรื่องนี้ เป็นเรื่องของความคิด ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล แต่มีคนเพ่งเล็งมาที่ตัวผมเหลือเกิน วันนี้หาว่าผมอยากดัง พอผมดังแล้วก็คงหาว่าผมรับเงินทักษิณหรือไม่ล้มเจ้า และก็จะหาอะไรมาไปเรื่อยๆ มันก็ไปแบบนี้ เรื่อยๆ มีเรื่องให้คนได้เม้าท์ไปวันๆ ผมก็รู้ว่ามันคงห้ามไม่ได้ แต่สำหรับปัญญาชน เช่น อ. สมศักดิ์ และหลายๆท่าน ผมว่าเลิกพูดได้แล้วครับว่าผมอยากดังหรือไม่อะไร ใครจะพูดก็พูดไป แต่มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระของข้อเสนอผมเลย ถ้าข้อเสนอมันไม่มีอะไร มันก็ไม่มีอะไร และสุดท้าย ก็ไม่มีอะไรจะไปพูดถึงมัน แต่ถ้ายังมี สื่อ มีนักการเมือง มีประชาชนพูดถึงข้อเสนอ ก็ขอให้พยายามลบชื่อผมออกไปนะครับ ผมไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น ผมมีความสุขมาก เวลาแต่งตัวเชยๆ ผมฟูๆ ออกไปห้างแถวๆบ้าน เพื่อตัดผม แล้วแวะไปซื้ออาหารสุนัข ไม่มีใครทัก ไม่มีใครรู้จัก ถ้าผมไม่ได้สำคัญอะไร ก็พูดถึง 'ตัวผม' น้อยๆหน่อยก็แล้วกัน :) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรือง"อยากดัง" นี่ ผมเคยบอกไปแล้วว่า ผมไม่มีปัญหาในตัวมันเอง ผมเห็นด้วย กับทีคุณ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ พูดวันก่อนด้วยซ้ำว่า อยากให้ "ความคิด" "ดัง" อะไรแบบนั้น ไมใช่เรืองเสียหาย เพียงแต่ต้องการอธิบายว่า ทำไม คนจำนวนไม่น้อยเขารู้สึกอย่างนี้ เพราะ เขาเห็นจริงๆว่า ข้อเสนอมันไม่มีอะไร อาจจะเรียกวา่ "ผิดประเด็น" "เบียงประเด็น" หรือ "ย้อนประเด็น" กับทีเขาพูดๆกันเรือง นิรโทษ ด้วยซ้ำ เพราะอย่างทีบอก่วา ทีเขาพูดเรื่อง "นิรโทษ" น่ะ ไมใช่เขาไม่รู้ว่า "มีความเห็นแตกต่าง" อย่างที่คุณวีรพัฒน์ พูดและเขาก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า ถ้าสามารถ "คุยกัน" ลดคนไม่เห็นด้วย ให้น้อยลง อะไรแบบนั้นก็ดี แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ เขาต้องการเสนอว่าให้ รบ.(และ รัฐสภา ที รบ.คุมเสียงข้างมาก) ทำไป ในฐานะการ "บริหารประเทศ" (แบบ แจกแท็บเล็ต จำนำข้าว รถคันแรก นันแรก คนคัดค้าน "เห็นไม่ตรงกัน" เต็มไปหมดเหมือนกัน) ผมว่าคุณวีรพัฒน์เองก็"ยอมรับ"โดย"ปริยาย" ว่า ทีตัวเองเสนอ "ไมมีอะไร" ด้วยการ บอกว่า มันเหมือนการ "ต่อเนืองจาก คอป (และดังทีผมว่า ควรใส่เพิ่ม "กมธ ของสนธิ บัง" ด้วย) แต่อะไรคือ "ต่อเนือง"?? มีข้อเสนออะไรใหม่ ที่จะทำให้มีการ "คุย" กันมากขึ้น? ถ้าเท่าทีเสนอมา จริงๆก็คือ แค่ "ตั้งใหม่" คอป และ กมธ เทานั้นเอง โดยให้ฝ่ายต่างๆมาเป็น และนี่มันคนละเรือง คนละประเด็นเลย กับทีคนเขาเรียกร้อง นิรโทษ คนทีเขาเสนอนิรโทษไมใช่และไม่เกียวเลยกับการที่ "มีความเห็นขัดแย้งกันอยู่" ใครๆก็รู้เห็นเรืองนี้ แต่เขาเสนอให้ทำครับ เพราะไอ้การตั้งกรรมการแบบ คอป แบบ กมธ. มันทำมาแล้ว จะไปทำซ้ำทำไม คนอยู่ในคุกเดือดร้อนทุกวัน หมายเหตุ: ประชาไทได้ทำการคัดข้อมูลการถกเถียงเฉพาะจากนักวิชาการทั้งสองท่าน โดยไม่ได้นำเสนอความคิดเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านอื่นที่ร่วมสนทนา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อถกเถียง หากผู้อ่านต้องการที่จะรับทราบข้อมูลในการพูดคุยทั้งหมดสามารถติดตามได้ที่ หรือที่ เฟซบุ๊ก วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เริ่มมอบทุนการศึกษาจากศึกชกมวย 'หนมโก๋' - 'KEAKZA' แล้ว Posted: 21 Feb 2013 05:02 AM PST หลังการชกมวยระหว่าง 'หนมโก๋ฯ' - 'KEAKZA' นั้น ล่าสุด 'หนมโก๋ฯ' ประเดิมมอบทุนการศึกษาแล้วที่โรงเรียน บ้านทุ่งกู่ด้าย จ.ลำปาง โรงเรียนแห่งแรกที่เขาเริ่มต้นชีวิตการเป็นครู และเตรียมมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน จ .สุโขทัย และ จ.กำแพงเพชร ด้าน 'ลุงจุก' โปรโมเตอร์จำเป็นเตรียมมอบทุนการศึกษาที่คลองสาม จ.ปทุมธานี ศุกร์นี้ ตามที่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ประชาไท นำเสนอข่าว การชกมวยสากลสมัครเล่นระหว่างผู้ใช้นามว่า "KEAKZA" และ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ที่สนามมวยของ อบต .คลองสาม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยการชกมวยดังกล่าว เกิดจากกรณีที่ "KEAKZA" ได้โพสต์แสดงความเห็นใน กระดานข่าวสนทนาพันทิพ ทำนองว่าถ้าเจอกรณีไม่ยืนเคารพเพลง สรรเสริญพระบารมีดังกล่าวจะเข้าไปกระโดดถีบ ทำให้ผู้ใช้นาม "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" เข้ามาเสนอขอชกมวยด้วยดังกล่าว โดยหลังการชกมวยทั้งคู่ได้จับมือกันและ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ได้ประกาศว่าจะนำเงินที่ได้จาก การสมทบทุนค่าเดินทางมาชกมวยจำนวน 1.45 แสนบาท ไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนใน จ.ปทุมธานี จ.ลำปาง จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย ขณะที่ "KEAKZA" ได้สมทบทุนให้อีก 2,000 บาทสำหรับทุนการศึกษาดังกล่าวด้วยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) การมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน 27 ทุน ที่โรงเรียนบ้านทุ่งกู่ด้าย อ.เมือง จ.ลำปาง (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจากคุณหนมโก๋กินแล้วคอแห้ง/facebook.com/p.sridej) ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ (18 ก.พ.) ที่ผ่านมา ผู้ใช้นาม "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอน ในโรงเรียน แห่งหนึ่งที่ จ.ลำปาง ได้โพสต์ภาพการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งกู่ด้าย ต.ปงแสนทอง อ .เมือง จ.ลำปาง โดยโพสต์ในสเตตัสว่า "วันนี้ไปมอบทุนโรงเรียนบ้านทุ่งกู่ด้าย ลำปางเป็นโรงเรียนแรก (โรงเรียนนี้ผมบรรจุที่นี่ครั้งแรกครับ) ทั้งโรงเรียนมีนักเรียน 27 คนจนทุกคนเลยให้ไปคนละ 1000 บาทหมดไป 27000 บาทครับ ^^" นอกจากนี้ผู้ใช้นาม "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่าเตรียมมอบทุนการศึกษา ให้กับนักเรียนที่ จ.สุโขทัย และ จ.กำแพงเพชรด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ใช้นามว่า "ลุงจุก" ซึ่งรับเป็นโปรโมเตอร์จำเป็นจากคู่มวยดังกล่าว ก็มีกำหนดมอบทุนการศึกษาให้ นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยา ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในเช้าวันศุกร์ที่ 22 ก.พ. ด้วย ทั้งนี้หลังการออกอากาศเรื่องการชกมวยดังกล่าวในรายการ Wake Up Thailand เมื่อ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในเฟซบุคส่วนตัว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. โดยระบุว่าที่ไปชกกับผู้ใช้นาม "KEAKZA" เพราะอีกฝ่ายกล่าวว่าในทำนองว่ามีเงินจ่ายค่าปรับ หากได้วิวาท กับคนที่ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ด้วย โดยประเด็นที่ชกกันไม่ใช่เรื่องยืนหรือไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ เดี๋ยวจะกลาย เป็นว่าผมไม่ยืนไม่จงรักภักดีแล้วไปชกกับเขา โดยสเตตัสของ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ยังยืนยันด้วยว่า "ส่วนตัวผมยืนตรงเคารพธงชาติทั้งเช้าเย็นและวันพฤหัสต้องเปิดปิดกองลูกเสืออีกก็ยืนตรงอีก ซึ่งถ้าจะเอาเรื่องนี้มาแข่งกันว่าใครรักในหลวงมากกว่าใครผมว่ามันไม่ใช่ครับ" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บัตรเลือกตั้งอเมริกัน: การลงทุนประชาธิปไตย (ใบเดียว) ที่คุ้มค่า Posted: 21 Feb 2013 04:44 AM PST ผมเห็นว่าสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในระบบการโหวตแบบอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นการโหวต (หรือการลงคะแนน) ในการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและการเลือกตั้งในระดับชาติก็ตาม นั่นคือ การใช้บัตรเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์สูงสุด ตามกติกาสัญญาประชาคม หรือกติกาประชาธิไตยที่อาศัยเสียงข้างมากเป็นปทัฏฐานการเมืองการปกครอง "บัตรเลือกตั้ง" ที่หมายถึง Ballot ของกกต.อเมริกัน (Federal Election Commission -FEC) หรือก็คือบัตรเลือกตั้งสำหรับลงคะแนน (voting) ของคนอเมริกัน มี 2 รูปแบบ คือ บัตรเลือกตั้งประเภทแรก สำหรับการลงคะแนนล่วงหน้า ที่ถูกส่งออกไปล่วงหน้าให้คนที่อยู่ต่างถิ่นหรือต่างประเทศได้มีโอกาสใช้ สิทธิเลือกตั้ง (absentee ballot) โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องส่ง (ไปรษณีย์) บัตรที่ลงคะแนนแล้วกลับคืนสู่หน่วยงานการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละเขต (county) ก่อนวันเลือกตั้ง กับบัตรเลือกตั้งประเภทที่สอง สำหรับลงคะแนนในวันเลือกตั้ง เช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา (6 พ.ย. 2555) ซึ่งเป็นวันที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิลงคะแนน ความพิเศษของบัตรเลือกตั้งแบบอเมริกันมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.บัตรเลือกตั้งใบเดียว สามารถใช้เพื่อการเลือกตั้งในระดับและประเภทต่างๆ ทีเดียวพร้อมกัน ดังกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่ผ่านมา ในบัตรเลือกประธานาธิบดี (ซึ่งถูกจัดลำดับให้ประชาชนอเมริกันเลือกในข้อที่ 1) นั้น มีการเลือกตั้งประเภทอื่นๆ ได้แก่ การเลือกตั้งผู้แทนฯ(สส.-house of representative) และวุฒิสมาชิก (สว.- senator) ทั้งในระดับท้องถิ่น (รัฐ) และระดับชาติ รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ อย่างเช่น ผู้พิพากษา เป็นต้น รวมอยู่ด้วย ซึ่งความพิเศษที่ว่านี้ นอกจากจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่การจัดการเลือกตั้งไม่เกิดความซ้ำซ้อนหลายครั้ง เหมือนบางประเทศแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการวางระบบการเลือกตั้งและนโยบายพรรคการเมืองให้เป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งในส่วนกลางและในส่วนท้องถิ่น, หมายถึงว่า ประชาชนมีโอกาสในการพิจารณาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ หรือลงในนามอิสระ (independent) ได้ทีเดียวพร้อมกันไป อย่างสอดคล้องกันในครั้งเดียว 2. ในบัตรเลือกตั้ง มีการตั้งประเด็น (เรื่อง) สำคัญๆ ที่ต้องการทำประชามติเอาไว้ด้วย เป็นทั้งประเด็นในระดับชาติและประเด็นในระดับท้องถิ่น ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้โอกาสเดียวกันนี้โหวตแสดงความเห็นในประเด็นเหล่านี้ เท่ากับทำให้กลไกประชาธิปไตยมีโอกาสขยับขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ โดยที่รัฐหรือหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไม่เสียโอกาส หรือใช้โอกาสในการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อแสวงหาประชามติในเรื่องต่างๆ เพื่อนำเอามติดังกล่าวไปใช้ในการออกกฎหมายหรือระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ, สามารถหักล้างกระแสที่ว่า รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกันเองโดยปราศจากการหารือกับประชาชน หรือปราศจากการอิงมติมหาชน (ไม่เหมือนกับในบางประเทศ ที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักอ้างมติมหาชนอยู่เสมอ โดยปราศจากการใช้เครื่องมือหรือกลไกด้านประชาธิปไตยที่สำคัญ คือ การทำประชามติ) ขณะเดียวกัน วิธีการที่ว่านี้สามารถประหยัดงบประมาณในการทำประชาพิจารณ์ในประเด็นต่างๆได้อย่างมหาศาล ผู้บริหารภาครัฐ หรือภาคนิติบัญญัติ(รัฐสภา) ไม่สามารถมีข้ออ้างด้วยการพูดลอยๆได้อีกต่อไปว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตนเองพรรคของตัวเองมากน้อยเพียงใด เพราะมีหลักฐานที่เป็นตัวเลขการลงประชามติที่แน่นอนและชัดเจนยืนยันอยู่แล้ว 3.การออกแบบบัตรเลือกตั้ง เพื่อใช้สำหรับเครื่องอิเลคทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการตรวจผลการเลือกตั้งโดยเครื่องอิเลคทรอนิกส์เป็นการป้องกันการทุจริตหรือโกงการเลือกตั้งได้อีกส่วนหนึ่ง โดยที่ระบบการตรวจสอบผลการเลือกตั้งเชื่อมจากระบบของท้องถิ่น ไปถึงระบบในระดับรัฐ และท้ายที่สุด คือระดับส่วนกลาง(ประเทศ) ทำให้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาน่าเชื่อถือว่า เป็นไปโดยสุจริต มากกว่าการตรวจนับคะแนนโดย (มือ) คน ซึ่งโอกาสในการทุจริตมีมากกว่าการตรวจนับด้วยเครื่องอิเลคทรอนิกส์ อเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่โหวตล่วงหน้า กับกลุ่มที่โหวตในวันเลือกตั้งใหญ่ จึงได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิทางการเมืองเลือกตัวแทนหรือ เลือกผู้นำ และใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการออกกฎกติกา (กฎหมาย) ต่างๆ ที่สำคัญต่อคนอเมริกันในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ นอกเหนือไปจากการที่เรื่องที่ว่านี้แล้ว ยังส่งผลไปถึงการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ขององค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเมืองและงานด้านสิทธิต่างๆ เช่น การทำงานของศูนย์กฎหมายเอเซียนแปซิฟิกอเมริกัน(Asian Pacific American Legal Center – APALC) สมาชิกของ The Asian American Center for Advancing Justice ที่ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai Community Development Center – Thai CDC) และองค์กรท้องถิ่นจากชุมชนต่างๆ จัดทำโครงการ "Your Vote Matters! 2012" โดย โครงการดังกล่าวถูกจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนอเมริกันเชื้อสายเอเซีย คนพื้นเมืองฮาวาย และชาวหมู่เกาะแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในลอสแองเจลิส(แอล.เอ.) ใด้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้การสนับสนุน "Proposition 30" "Prop 30" เป็น ร่างกฎหมายที่จะเพิ่มจำนวนงบประมาณสำหรับการศึกษาเพื่อป้องกันมิให้มีการตัด งบประมาณโรงเรียนและงบรัฐบาล หรือเพิ่มค่าเทอมสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ กระตุ้นให้พลเมืองออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพร้อมเพรียงกันในวันเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้ โครงการ "Your Vote Matters! 2012" เกิด ขึ้นได้โดยองค์กรท้องถิ่น 13 องค์กรจากชุมชนต่างๆ และองค์กรเยาวชนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ที่เป็นตัวแทนคนอเมริกันเชื้อสายเอเซียทั้งหมด 9 กลุ่ม ได้แก่ เขมร จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี คนพื้นเมืองฮาวายและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก เอเซียนตอนใต้ ไทย และเวียดนาม Stewart Kwoh ผู้อำนวยการศูนย์ APALC เห็นว่า จากผลการสำรวจประชากร (Census) ปี 2010 ชุมชนเอเชียนเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตเร็วมากที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 แต่แม้ว่าคนเอเซียน-อเมริกันมีจำนวนมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในรัฐแคลิฟอร์เนีย และใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากขึ้นกว่าที่เคย แต่เสียงของเอเชียน-อเมริกันก็ยังคงไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควรในคูหาเลือกตั้ง ความพยายามของ APALC ในขณะนี้ คือทำการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนของ ออก มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อที่ประชาชนจะได้รับทราบว่าตนเองกำลังลงคะแนนเสียง เพื่ออะไร และจะมีผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และสังคมอย่างไร APALC ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 ให้บริการมากประชาชนกว่า 15,000 คนในทุกๆปี โดยผ่านช่วยเหลือโดยตรง การฟ้องร้องที่มีผลกระทบกับส่วนรวม การเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การพัฒนาความเป็นผู้นำและการสร้างประสิทธิภาพ โดย APALC มุ่งเน้นไปยังสมาชิกผู้ด้อยโอกาสของกลุ่มชุมชนเอเชี่ยนอเมริกัน (AA) ชาวพื้นเมืองฮาวายและชาวเกาะแปซิฟิก (NHPI) ขณะเดียวกันก็สร้างให้เสียงของชนกลุ่มน้อยในอเมริกามีความเข้มแข็งตามสิทธิพลเมืองและความยุติธรรมในสังคม และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยในอเมริกา !
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กฎหมายสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของประเทศอังกฤษ Posted: 21 Feb 2013 04:31 AM PST [1] ความนำ อนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือคมนาคมในพื้นที่ชุมชนเมืองประเภทใดก็แล้วแต่ รัฐ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่น ควรมีหน้าที่ที่สำคัญในการจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่อาศัยในชุมชนเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ให้ครอบคลุมหรือรองรับการใช้งานทุกยานพาหนะ เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิในการเดินทาง (freedom of movement)[1] สำหรับประชาชน รวมไปถึงสิทธิของประชาชนในการที่จะเลือกใช้พาหนะประเภทต่างๆที่ตนพึ่งพอใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสิทธิในการเดินทางและสิทธิในการเลือกใช้พาหนะประเภทต่างๆในการสัญจรในชุมชนเมือง รัฐ หน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น จำต้องจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อตอบสนองต่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านคมนาคมในชุมชนเมืองและสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมภายในชุมชนเมืองหรือการเดินทางด้วยวิธีการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน การเดินทางด้วยจักรยานในประเทศอังกฤษถือเป็นทางเลือกของการเดินทางของผู้คนในชุมชนเมืองอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ต้องการเดินทางใกล้ๆ ซึ่งนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการเดินทางด้วยจักรยานประเภทต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ผนวกเข้ากับวิถึชีวิตของผู้คนในชุมชนเมืองไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมืองขนาดเล็กหรือชุมชนเมืองขนาดใหญ่ รวมไปถึงองค์ความรู้หรือศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับจักรยานได้เปลี่ยนผ่านมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น ผู้ที่เดินทางโดยอาศัยจักรยานในประเทศอังกฤษมักต้องเจอกับประสบการณ์เกี่ยวกับการปั่นจักรยานเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ (diverse cycling experience)[2] โดยอาจเกี่ยวพันหรือสัมพันธ์กับเรื่องราวต่างๆ หลายๆ เรื่องบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ข้างทาง ระบบจราจรในชุมชนเมือง สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนถึงโรงพยายาลเมื่อได้รับอาการบาดเจ็บจากการขี่จักรยาน รูปที่ 1 วัฒนธรรมการขี่จักรยานในเมืองอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ [2] ประโยชน์โดยรวมของวัฒนธรรมการขี่จักรยาน อย่างไรก็ดี การใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในสังคมอังกฤษก็ยังคงมีอยู่ตราบจนปัจจุบัน ด้วยว่าการขี่จักรยานในชีวิตประจำวันอาจให้ประโยชน์หลายประการสำหรับผู้ขับขี่หรือผู้ถีบจักรยาน ที่ไม่นับรวมในเรื่องการสัญจร ได้แก่[4] รัฐหรือท้องถิ่นสามารถเพิ่มการใช้พื้นที่ผังเมืองด้านคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (efficient use of space) โดยการใช้งานจักรยานสามารถทำให้ท้องถนนมีที่ว่างในการใช้ประโยชน์มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ เช่นรถยนต์ การใช้งานจักรยานย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (good for the environment) เพราะจักรยานขับเคลื่อนไปโดยกำลังของกล้ามเนื้อมนุษย์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม การขับขี่รถยนต์ย่อมมีไอเสียจากการเผาไหม้ของน้ำมันจนทำให้เกิดไอเสียที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดังเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2) นอกจากนี้ การขี่จักรยังส่งผลดีต่อสุขภาพ (good for the body) เพราะการถีบจักรยานเท่ากับเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ทำงาน อย่างไรก็ดี การขี่จักรยานอาจต้องระวังถึงความเสี่ยงบางประการที่อาจเกิดขึ้นก่อนขี่จักรยาน ระหว่างขี่จักรยานและภายหลักจากการขี่จักรยานเพื่อการเดินทางหรือการนันทนาการ ตัวอย่างเช่น การขี่จักรยานอาจไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศ (weather) ในสภาพที่มีฝนตกหนักหรือมีหิมะตกอย่างหนัก จักรยานอาจถูกขโมยได้เช่นเดียวกับยานพาหนะอื่นๆ (cycle theft) และผู้ขี่จักรยานบางคนอาจได้รับการต่อต้านจากผู้ที่มีพื้นวัฒนธรรม ทัศนะคติและความเชื่อในแง่ลบต่อการขี่จักรยานหรือการขี่จักรยานไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับชุมชนบางชุมชน (culture, attitudes and credibility) เป็นต้น[5]
รูปที่ 2 จุดจอดจักรยานสาธารณะที่ท้องถิ่นของประเทศอังกฤษจัดไว้ให้สำหรับผู้ขี่จักรยานในชุมชนเมือง [3] คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองของประเทศอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษได้จัดให้มีคำแถลงนโยบายด้านผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน อย่างไรก็ดี คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองไม่มีสภาพบังคับให้บุคคลทั่วไปกระทำตามเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองเป็นเพียงแค่การกำหนดแนวทางให้ส่วนงานด้านผังเมืองของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ของอังกฤษปฏิบัติตามเท่านั้น นอกจากนี้ แม้คำแถลงนโยบายด้านผังเมืองจะกำหนดภาพรวมอย่างกว้างๆ ในเรื่องของการส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยาน แต่ก็ไม่ได้กำหนดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน รวมไปถึงการจัดระเบียบอื่นๆ อันเนื่องมากจากวัฒนธรรมการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง [4] หลักของการจัดผังเมืองและออกแบบที่เป็นมิตรต่อการขี่จักรยาน นอกจากนี้ การออกแบบสาธารณูปโภคสำหรับสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองนั้น รัฐควรต้องออกแบบให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองในระยะยาวโดยคำนึงถึงหลักการออกแบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภคที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน (convenience) การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานโดยง่าย (accessibility) ความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง (safety) ความสบายในการใช้งานจักรยานของผู้ขับขี่ในชุมชนเมือง (comfort) และความดึงดูใจให้บุคคลทุกเพศทุกวัยหันมาใช้งานจักรยานเพื่อทดแทนยานพาหนะอื่นหรือเพื่อการประกอบกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ (attractiveness) สำหรับเหตุที่จะต้องมีหลักการต่างๆเหล่านี้ก็เพื่อให้จักรยานกลายเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง[9] ทำให้สามารถเลือกใช้จักรยานได้ตามความต้องการของตนเองในการเดินทาง รวมไปถึงเป็นการวางบรรทัดฐานให้รัฐต้องจัดบริการสาธารณะด้านคมนาคมให้ตอบสนองต่อความสาธารณชนที่ต้องการใช้จักรยานด้วย
รูปที่ 3 ลักษณะของฝาท่อระบายน้ำที่เป็นมิตรต่อการขี่จักรยานในชุมชนเมือง [5] กฎหมายสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานของประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหามาตรการทางกฎหมายจักรยาน (cycling law) ที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานให้ผู้ขับขี่จักรยานสามารถใช้จักรยานเป็นยานพาหนะได้อย่างปลอดภัยและสนับสนุนการจัดการบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งของท้องถิ่น ให้มีความเป็นระเบียบและสอดคล้องกับระบบจราจรที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดให้มีขึ้น แม้ว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศคอมมอนลอว์หรือประเทศที่อาศัยระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐหรือท้องถิ่นอาจใช้อำนาจตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร (statutory powers) เพื่อกำหนดความรับผิด (liability)[11] ในกรณีต่างๆของของผู้ขี่จักรยานที่ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎจราจรหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง[12] [5.1] กฎหมายจราจรที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน กฎหมายดังกล่าวยังได้ห้ามผู้ขี่จักรยานไม่ให้ขี่จักรยานบนทางเท้าหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งผู้ขี่จักรยานไม่มีสิทธิที่จะขี่จักรยานบนทางเท้านั้นเอง (no right to cycle on footpaths) เหตุที่กฎหมายได้บัญญัติไว้มีรายละเอียดดังนี้ ก็เพราะประสงค์ที่จะจัดระเบียบทางจราจรเพื่อไม่ให้ผู้สัญจรบนทางเท้าได้รับความเดือดร้อนหรืออันตรายจากยานพาหนะอื่นๆ ในขณะเดียวกัน รัฐได้จัดทางจักรยานไว้เฉพาะสำหรับผู้ขี่จักรยานแล้ว ผู้ขี่จักรยานจึงไม่ควรมารบกวนการใช้ทางของคนเดินเท้าบนบาทวิถีหรือทางเท้าอื่นๆ อีก ซึ่งหากฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ในทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ ก็จะมาจอดหรือกระทำการอื่นๆ กีดขวางการจราจรบนทางจักรยานไม่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่สนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานที่ดี กล่าวคือ รัฐได้สร้างบทบัญญัติอื่นๆให้สอดคล้องกับวิถีหรือวัฒนธรรมการใช้จักรยานที่ดีในสังคมและสอดคล้องกับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายจราจรโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น ประมวล Highway Code ที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่สำหรับผู้ขับขี่จักรยานสำหรับผู้ขับขี่จักรยานทั้งในเวลากลางวันและในเวลากลางคืน เช่น ผู้ขี่จักรยานควรใส่เสื้อสะท้อนแสงในเวลากลางคืน (light-coloured or fluorescent clothing) และผู้ขับขี่จักรยานต้องติดตั้งไฟสีขาวด้านหน้ารถและไฟสีแดงด้านท้ายรถจักรยาน (white front and red rear lights lit) หรืออาจเลือกที่จะติดเป็นแผ่นสะท้อนแสงสีแดงในด้านท้ายจักรยานแทนก็ได้ (red rear reflector) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่[15] เป็นต้น อนึ่ง แม้ประเทศอังกฤษจะมีหลายมาตรการที่สนับสนุนในเรื่องของความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่จักรยาน แต่ประเทศอังกฤษเองก็ยังไม่ได้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับวัฒนธรรมการขี่จักรยานไว้หลายประการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องสวมหมวกนิรภัยในขณะที่ขับขี่จักรยาน รวมไฟถึงการที่รัฐไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานอื่นๆ เพื่อสอดรับกับการใช้หมวกนิรภัยของผู้ขับขี่จักรยาน[16]
รูปที่ 4 ทางจักรยานแบบปันส่วน (Share Bikeway) ในพื้นที่ชุมชนเมือง [5.2] กฎหมายกำหนดมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์ของจักรยานถีบเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับสุขภาพและชีวิตของผู้ขับขี่จักรยาน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงได้บัญญัติกฎหมาย Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010 ขึ้น[17] เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจักรยานต้องมีความระมัดระวังต่อผู้ซื้อจักรยาน โดยทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจักรยานต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (safe product) อันเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดการค้าจักรยานอันเป็นหลักประกันประการหนึ่งต่อประชาชนที่ต้องการใช้งานจักรยานว่าประชาชนจะได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ซื้อมาจากร้านค้า นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดให้ผู้ผลิตจักรยานต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่จักรยานมาจากโรงงาน ทำให้ผู้ซื้อจักรยานในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสามารถใช้งานจักรยานได้เลยนับตั้งแต่ซื้อจักรยานมาจากผู้ขาย ได้แก่ เบรกมือหรืออุปกรณ์ห้ามล้อจักรยาน (hand-operated brakes) กระดิ่งจักรยาน (bell) แผ่นสะท้อนแสงบริเวณล้อจักรยาน (reflectors on both sides of each wheel) แผ่นสะท้อนแสงหรือดวงไฟหน้ารถจักรยานสีขาว (white wide-angle front reflector, or a front lamp) แผ่นสะท้อนแสงสีแดงท้ายรถจักรยาน (red wide-angle rear reflector) และแผ่นสะท้อนแสงสีเหลืองบริเวณด้านหน้าและด้านหลังเท้าถีบ (yellow reflectors front and rear on each pedal) [5.3] กฎหมายผังเมืองที่สนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 ยังได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยอื่นๆ สำหรับผู้ขับขี่จักรยาน ตัวอย่างเช่น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต้องมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย และระหว่างมีการซ่อมบำรุงทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนนั้น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจำต้องหาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับอันตรายระหว่างมีการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดในเรื่องของค่าสินไหมทดแทน (Compensation) สำหรับบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการจงใจหรือประมาทเล่นเล่อของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานของท้องถิ่น ที่เป็นเหตุให้ผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับความเสียหายจากการสัญจร โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐที่จงใจหรือประมาทเล่นเล่อดังกล่าว ก็เพื่อมุ่งในการเยียวยา (recovery) ความเสียหายของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพยสิน ได้รับการเยียวยาให้กลับเป็นปกติ[18]
รูปที่ 5 แผนที่เชื่อมโยงเส้นทางสาธารณะต่างๆ รวมไปถึงเส้นทางจักรยาน รวมไปถึงการแสดงจุดจอดจักรยานบนแผนที่ [5.4] กฎหมายภาษีเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยาน อนึ่ง มาตรการนี้ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จูงใจให้นายจ้างสนับสนุนการขับขี่จักรยานของลูกจ้าง ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน (cycle to work scheme) รวมไปถึงใช้จักรยานเพื่อติดต่อธุรกิจของนายจ้าง [6] สรุป ด้วยเหตุนี้ การกำหนดบทบัญญัติกฎหมายเพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการขี่จักรยานจึงถือเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการสร้างระเบียบแบบแผนให้ประชาชนที่เป็นผู้ขับขี่จักรยานในประเทศ ได้ตระหนักถึงระเบียบและปฏิบัติตามระเบียบเพื่อให้การใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นไปอย่างมีระเบียบ ปลอดภัยและอาจได้ประโยชน์อื่นๆ จากการขี่จักรยานหรือสนับสนุนให้มีการขี่จักรยานด้วย เช่น สุขภาพร่างกายแข็งแรงและการลดหน่อยภาษีของผู้สนับสนุน เป็นต้น [1] International Transport Forum. (2012). Cycling Safety: Key Messages International Transport Forum Working Group on Cycling Safety. Copenhagen: Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD), p1. [2] Cycling Cultures Project. (2010). Cycling Cultures in Hackney. London: Cycling Cultures Project, p 4. [3] Horton, D., (2011). Don't ride, won't ride?. Cycle Culture Transport. Retrieved February 14, 2013, from http://www.uel-smg.org.uk/buildingcyclingcultures/Building%20Cycling%20Culture%20-%20Dave%20Horton.pdf [4] Cambridge Cycling Campaign. (2008). A Vision for 2020 from Cambridge Cycling Campaign. Cambridge: Cambridge Cycling Campaign, p 2. [5] Cycling England. (2009). Norwich City Council Cycling Action Plan. Norwich: Cycling England, p 5. [6] Office of the Deputy Prime Minister. (2004). Planning Policy Statement 7: Sustainable Development in Rural Areas. London: Her Majesty's Stationery Office, p 7. [7] Office of the Deputy Prime Minister. (2005). Planning Policy Statement 6: Planning for Town Centres. London: Her Majesty's Stationery Office, p 17. [8] Cycling Embassy of Great Britain. (2013). Response to All Party Parliamentary Cycling Group Inquiry, 'Get Britain Cycling'. Cambridge: Cycling Embassy of Great Britain, p 15. [9] Chartered Institute of Logistics and Transport. (2013). All Party Parliamentary Cycling Group Inquiry: 'Get Britain Cycling'. - How We Can Get Britain Cycling. Corby: Chartered Institute of Logistics and Transport, p. 2. [10] National Cycling Charity. (2010). Cyclists' behaviour and the law. Surrey: National Cycling Charity, p 1. [11] อย่างไรก็ดี ทั้งกลไกของระบบจารีตประเพณีที่อาศัยคำพิพากษาก่อนๆ มาเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณีความประมาทเลินเล่อ (negligence) และกลไกของระบบสารบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร (statutory law) ในประเทศอังกฤษ ก็ย่อมปกป้องและคุ้มครองวัฒนธรรมการขี่จักรยาน [12] National Cycling Charity. (2006). CTC Advice Sheet June 2006. Version 3.0 Law and liability for cycling activities and events. Surrey: National Cycling Charity, p 3. [13] UK Legislation. (2013). Highways Act 1980. Retrieved February 14, 2013, from http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1980/66/contents [14] โปรดดูคดี Thomas v Warwickshire County Council [2011] EWHC 772 (QB) [15] Government Digital Service. (2013). The Highway Code - Guide Rules for cyclists (59 to 82). Retrieved February 14, 2013, from https://www.gov.uk/rules-for-cyclists-59-to-82/overview-59-to-71 [16] โปรดดูข่าวเพิ่มเติมใน BBC News. (2013). Bradley Wiggins calls for bike helmet law. Retrieved February 14, 2013, from http://www.bbc.co.uk/news/uk-19098578 [17] กฎหมายฉบับนี้ได้ตราขึ้นให้สอดรับกับกฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไปหรือ General Product Safety Regulations 2005 ที่ได้รับอนุวัตรการมาจากข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทั่วไป หรือ General Product Safety Directive 2001/95/EC โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Department for Business, Innovation & Skills. (2010). Explanatory Memorandum to the Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010. London: Department for Business, Innovation & Skills, p 1. [18] ปีดิเทพ อยู่ยืนยง. (2556). กฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่สนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง. Retrieved February 14, 2013, from http://prachatai.com/journal/2013/01/44929 [19] HM Revenue & Customs. (2003). EIM21664 - Particular benefits: exemption for bicycles Section 244 ITEPA 2003. Retrieved February 14, 2013, from http://www.hmrc.gov.uk/manuals/eimanual/eim21664.htm
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เลือก นพ.อนุชา นั่งเลขาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน Posted: 21 Feb 2013 04:08 AM PST 21 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุม 602 อาคารสถาบั นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ได้รับเลือกเป็นเลขาธิ สำหรับประวัติ ของ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร จบการศึกษาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กฏหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตคนหลากหลายทางเพศสำคัญอย่างไร? Posted: 21 Feb 2013 03:53 AM PST รู้หรือไม่ ทำไมกะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักได้หลายเพศ คนข้ามเพศ จึงต้องการกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต?
ผู้เขียนได้ลองเรียบเรียงเพื่อให้อ่านง่ายๆ ทำความเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับผู้คนทั่วไป โดยยกตัวอย่างมาจากจำนวนมากมายหลายข้อดังนี้ -เพราะเมื่อเราต้องจ่ายภาษีให้รัฐฯ ในขณะคู่สมรสชาย-หญิง เมื่อแต่งงานจดทะเบียนแล้ว กฎหมายถือเป็น เหตุให้ลด หย่อนภาษีได้ เพราะถือว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต้องดูแลคนอีกหนึ่งคน แต่คู่หลากหลายทางเพศ แม้จะอยู่ด้วยกันมานานเป็นสิบ ยี่สิบปี เสียภาษีให้รัฐมาโดยตลอด และมีภาระต้องเลี้ยงดูกัน แต่ก็ไม่สามารถขอ ลดหย่อนภาษีได้ -เพราะเมื่อเราได้สร้างทรัพย์สินร่วมกัน ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น ตามกฎหมายให้ถือว่าคู่สมรสเป็นทายาท โดยธรรมลำดับแรก หากฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิรับมรดกก่อน ทายาทลำดับอื่น แต่คู่หลากหลายทางเพศ จะไม่มีสิทธิใดๆ เลย แม้จะเป็นทรัพย์สิน ที่ร่วมสร้าง ด้วยกันมา แต่ในชื่อของผู้ที่เสียชีวิต ทรัพย์สินต้องเป็นของญาติ ของผู้ตายทั้งหมด คู่ชีวิตจะไม่ได้ส่วนแบ่งเลย -เพราะเมื่อเราต้องกู้เงินซื้อบ้านและ อยากทำประกันชีวิต ในการทำสัญญาประกันชีวิต ค้ำประกัน กู้เงินร่วมกัน ฯลฯ แม้กฎหมายไม่ได้เขียน ไว้โดยตรงว่า การทำสัญญาเหล่านี้ต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย แต่ทางปฏิบัติ บริษัทประกันชีวิต ก็จะสามารถยอมรับทำการประกันให้ได้ ทั้งนี้อาจจะดูรายชื่อในทะเบียนบ้านร่วมกันได้ แต่คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะกฎหมาย เกี่ยวกับการรับทำประกัน จะไม่ยอมให้ทำประกันโดย ยกทรัพย์สินให้คนอื่น ที่ไม่ใช่ญาติ ส่วนธนาคารก็เชื่อถือการค้ำประกันการกู้เงิน หรือการกู้เงิน ร่วมกันของคนที่เป็นญาติกันมากกว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ตามกฎหมาย คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศจึงไม่สามารถทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ เพราะคู่สัญญา อีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ -เพราะเมื่อเราป่วยต้องการรับสวัสดิการการรักษาพยาบาล ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับราชการ คู่สมรสก็จะ มีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วย รวมถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ก็สามารถเบิกให้คู่สมรสของตัวเองได้ แต่คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือสิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมให้คู่ของตนได้เลย และนั่นก็รวมไปถึง สวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัยหรือค่าเช่าบ้านของครอบครัวของลูกจ้าง เงินทุนเพื่อการศึกษา สิทธิการลาติดตามคู่สมรส สิทธิการติดตามคู่สมรส ไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ สิทธิเหล่านี้คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถเข้าถึงได้ -เพราะเมื่ออีกฝ่ายป่วย ได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น หากฝ่ายหนึ่งป่วยหนักไม่ได้สติ แพทย์ย่อมต้องขอความเห็นจากญาติสนิท เพื่อตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยา หรือการหยุดรักษา แต่คู่หลากหลายทางเพศไม่อาจมีสิทธิตัดสินใจแทนได้ แพทย์ต้องฟังความเห็นจากญาติคนอื่นซึ่งอาจสนิทน้อยกว่า รวมถึงในกรณีเร่งด่วนที่บางครั้งการตัดสินใจอย่างรวดเร็วอาจมีผลกับความเป็นความตาย แพทย์ก็ไม่อาจฟังความเห็นจากคู่ชีวิตที่ไม่มีทะเบียนหลักฐาน -เพราะเมื่ออีกคนตายและต้องจัดการศพ ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น อีกฝ่ายจะมีสิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณะบัตร เป็นต้น แต่คู่หลากหลายทางเพศ ซึ่งมีฐานะเป็นแค่ "เพื่อน" จะไม่มีสิทธินี้ ต้องให้ญาติที่อาจสนิทน้อยกว่าเป็นผู้จัดการแทน -เพราะเราไม่สามารถแจ้งความแทนกันได้ ในคู่สมรสชาย-หญิงที่จดทะเบียนนั้น กรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บ จนไม่สามารถมาแจ้งความเองได้ จะสามารถให้คู่สมรสแจ้งความแทนได้ แต่คู่หลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี กับคนที่มาทำร้ายคู่ของตนได้ หากคนตายไม่มีญาติสนิทอื่นก็จะไม่มีใคร มีอำนาจแจ้ง ความแทนเลย กรณีนี้ยังรวมถึงการแจ้งความว่าคนหายไปครบ 48 ชั่วโมงด้วย และยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง ฯลฯ ที่ทำให้ กะเทย ทอมดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักได้หลายเพศ คนข้ามเพศ จึงต้องการกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต? แต่ความยุติธรรม-เท่าเทียมอยู่ที่ไหน?? สิทธิพิเศษอยู่ที่ใคร??
อ้างอิงจากบทความ สิทธิตามกฎหมายที่คู่รักเกย์ เลสเบี้ยนเข้าไม่ถึง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เอไอเผยรัฐบาล 'อาเบะ' ของญี่ปุ่น 'ไร้เมตตา' แขวนคอนักโทษ 3 คน Posted: 21 Feb 2013 03:40 AM PST 21 ก.พ.55 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ต่อต้านโทษประหารชีวิตที่เกิดขึ้นล่าสุดในญี่ปุ่น โดยมีรายละเอียด และท่าทีตามแถลงการณื ดังนี้ 0 0 0 ญี่ปุ่นแขวนคอนักโทษสามคน |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น