โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

Asean Weekly : แผนพิชิตเอเชียของโปรตุเกสและสเปน

Posted: 05 Feb 2013 10:25 AM PST

ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสที่เพิ่งครบ 500 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้วอาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีอย่างที่เราเข้าใจ โปรตุเกสเคยมีแผนการที่จะพิชิตเอเชีย แต่ทำไม่สำเร็จ กระนั้นก็ได้กรุยทางให้แก่เจ้าอาณานิคมอย่าง อังกฤษ และฝรั่งเศสในระยะต่อมา ให้สามารถเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าเอเชียได้

มาฟัง รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บรรยายถึงความทะเยอทะยานและความล้มเหลวของพ่อค้าและนักบวชชาวโปรตุเกสและสเปนที่ต้องการจะพิชิตเอเชียในคริสตวรรษที่ 16-17 เช่นเดียวกับที่เคยพิชิตบราซิลและละตินอเมริกา ซึ่งการบรรยายนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.55 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

 

 

โปรตุเกสเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่มะละกา ในปี ค.ศ.1511 (พ.ศ.2054) และส่งทูตเข้ามาติดต่อกับสยาม

ในระยะแรกโปรตุเกสมีความสนใจสยามเพียงสั้นๆ แค่ 10 ปี ก่อนจะมุ่งความสนใจไปที่มะละกา ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และโมลุกกะ เกาะซึ่งอุดมไปด้วยเครื่องเทศ ส่วนอยุธยาซึ่งมีที่ตั้งเข้ามาตอนในของแผ่นดินและไม่ได้อยู่ในเส้นทางการค้า โปรตุเกสจึงไม่ให้ความสนใจกับสยามในช่วงเวลานั้น

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นหลัง ค.ศ.1550 (พ.ศ.2093) เมื่อนักบวชเยซูอิตเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาโดยมีเป้าหมายคือชาวพื้นเมืองเอเชีย ส่งผลให้มีชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาในเอเชียเพิ่มมากขึ้น และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในมะละกา ในช่วงเวลานั้น ทหารโปรตุเกสบางส่วนที่ประจำการอยู่ที่มะละกา หนีทัพมารับใช้กษัตริย์พื้นเมืองเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยาม

หมู่บ้านโปรตุเกสที่อยุธยา ความจริงแล้วเป็นหมู่บ้านแบบไม่เป็นทางการ เนื่องจากราชสำนักโปรตุเกสไม่เคยรับรองฐานะ หมู่บ้านโปรตุเกสจึงเป็นที่อยู่ของชาวโปรตุเกสที่หลบหนีเจ้านาย กล่าวโดยสรุปคือ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับเอเชีย สร้างขึ้นจากพวกไพร่ชาวโปรตุเกสที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ต่อมา สเปนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในมะนิลาในปี ค.ศ.1565 (พ.ศ.2108) ในระยะแรกได้ส่งผลให้เริ่มเกิดการแข่งขันทางการค้ากับโปรตุเกสพอสมควร อย่างไรก็ดี การค้าในเอเชียส่วนใหญ่ขณะนั้นยังคงอยู่ใต้อิทธิพลของโปรตุเกส

สิ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ พ่อค้าและบาทหลวงโปรตุเกสเคยเสนอแผนการอย่างจริงจังหลายครั้ง ที่จะชวนราชสำนักสเปนและโปรตุเกสให้ขยายอำนาจในเอเชีย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ค.ศ.1524 (พ.ศ.2067) เป็นช่วงที่จีนปิดเมืองท่ากว้างตุ้ง ไม่ทำการค้าขายกับโปรตุเกส จีนสามารถขับไล่เรือรบโปรตุเกสซึ่งติดปืนใหญ่ให้ออกจากเมืองท่าได้ เนื่องจากเรือสำเภาจีนมีขนาดใหญ่กว่าเรือรบของโปรตุเกสมาก และเทคโนโลยีปืนใหญ่ของโปรตุเกสขณะนั้น บรรจุกระสุนทางปากกระบอกและยิงได้ทีละนัด ไม่สามารถสู้กับพลเกาทัณฑ์จำนวนมากของจีนได้ โปรตุเกสจึงพ่ายแพ้

ปี ค.ศ.1554 (พ.ศ.2097) มีลูกเรือโปรตุเกสถูกจับกุมตัวในจีน และได้เขียนจดหมายเล่าว่า จีนนั้นอ่อนแอมาก คนจีนนิสัยขี้ขลาด ไม่มีลักษณะของนักรบ หากโปรตุเกสจะพิชิตจีนคงทำได้โดยง่าย แต่ราชสำนักโปรตุเกสไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากการเดินทางจากโปรตุเกสมาจีนต้องอาศัยแรงลมตามฤดูกาลและใช้เวลานาน การเดินทางจากเมืองลิสบอนมาถึงมาเก๊าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี และต้องเผชิญพายุ การขาดแคลนอาหาร และโรคภัยจากเขตร้อน

ในด้านของสเปน ฟรานซิสโก เดอ ซานเด (Francisco de Sande) ผู้ว่าการมะนิลาของสเปน ก็เคยเสนอให้ราชสำนักสเปนใช้กองทัพเรือโจมตีจีน ด้วยเหตุผลว่าราชวงศ์หมิงนั้นอ่อนแอ แต่ราชสำนักพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ของสเปนตอบว่าควรรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนไว้ และไม่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนพวกโจรสลัดที่ต่อต้านจีน

ต่อมาเกิดมีกระแสใหม่เกิดขึ้น และนำไปสู่การเสนอแผนโจมตีเอเชียอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ.1580 (พ.ศ.2123) เมื่อราชบัลลังก์ของโปรตุเกสว่างลง พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ของสเปนจึงผนวกราชบัลลังก์โปรตุเกสรวมเข้าไว้กับราชบัลลังก์สเปนภายใต้กษัตริย์องค์เดียว พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการประจำที่โปรตุเกส และเริ่มแนวคิดพิชิตเอเชียอีกครั้ง เนื่องจากขณะนั้นสเปนและโปรตุเกสเห็นว่าอาณาจักรของตนยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ฝ่ายทหารของอาณาจักรสเปนและโปรตุเกสประเมินว่าตนมีแสนยานุภาพมากพอที่จะพิชิตโลกได้

ต่อมา จึงเกิดโครงการอันทะเยอทะยานที่จะขยายอำนาจในนามของกษัตริย์และพระเจ้า เพื่อขยายแสนยานุภาพของกษัตริย์ฟิลิป และนำคนเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้ามากขึ้น ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าดินแดนสเปนและโปรตุเกส ซึ่งเป็นคาทอลิกนั้นเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ความฝันที่จะดำเนินการตามแบบตำนานพิชิตเม็กซิโกและเปรูของเฮอร์นาน คอร์เตส (Hernán Cortés) และฟรานซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) ซึ่งส่งผลให้อำนาจของสเปนแผ่ขยายไปทั่วอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยการใช้กองกำลังขนาดเล็กพิชิตอาณาจักรพื้นเมืองขนาดใหญ่อย่าง อินคา หรือแอซเทค นั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ในการพิชิตจีน สยาม พม่า และกัมพูชา

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอโครงการในลักษณะดังกล่าว คือ บาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู (João Ribeiro Gaio) ราชาคณะแห่งมะละกา ซึ่งมาประจำที่มะละการาว 20 ปี (ค.ศ.1581-1601) เขาได้ยื่นข้อเสนอต่อราชสำนักมาดริดของสเปนในปี ค.ศ.1584 (พ.ศ.2127) ว่าควรส่งกองทัพ 4,000 คนจากเมืองกัวมาพิชิตอาเจห์ จากนั้นก็เข้ายึดยะโฮร์และแตร์เน็ตทันที และเดินหน้าพิชิตสุมาตรา มลายา สยาม กัมพูชา อันนัม พม่า และโจมตีกวางตุ้งของจีน ซึ่งเขาเสนอว่า หากทำได้ สเปนจะเป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวยมหาศาล และเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พระเจ้าฟิลิปจะเป็นจักรพรรดิสูงสุดของดินแดนทั้งหมดจากอินเดียถึงญี่ปุ่น เป็นดินแดนที่มีอัญมณีมาก มีของป่าและเครื่องเทศ โดยบาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู เสนอว่าโครงการนี้บรรลุได้โดยใช้ทหารเพียง 6,000 คน

บาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู ให้เหตุผลว่า สยามในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชามีสภาพอ่อนแอมาก ทหารสยามยิงปืนไม่เป็น เมื่อเทียบกันแล้วปัตตานียังมีการป้องกันที่ดีกว่า คนสยามตัวเล็ก อ่อนแอ จิตใจขลาดเขลา ส่วนบ้านเรือนและกำแพงทำจากไม้ ดิน และอิฐ ไม่สามารถทานการบุกของสเปนและโปรตุเกสได้ แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีร่องน้ำลึกพอที่กองทัพเรือจะเข้ามาโจมตีโดยฉับพลัน และสามารถยึดสยามได้อย่างแน่นอน

ปีต่อมาใน ค.ศ.1585 (พ.ศ.2128) ลิเซนติเอท เบลชอร์ เดวาลอส (Licentiate Melchor Davalos) หัวหน้าผู้พิพากษาแห่งมะนิลา เสนอให้พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ใช้ปฏิบัติการทางทหารขับไล่ชาวมุสลิมออกจากชวา อาเจห์ บอร์เนียว มินดาเนา โมลุกกะ สยาม พะโค ปัตตานี และดินแดนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่พระองค์เคยขับไล่มุสลิมในสเปนมาแล้ว

ในปีเดียวกัน มีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Hystoria dos cercos de Malaca (ประวัติศาสตร์มะละกา) ของจอเก ดี เลมุส (Jorge de Lemos) เสนอให้พิชิตอาเจห์ ถ้าทำสำเร็จจะทำให้ราชสำนักสเปนมีทรัพยากรมากพอที่จะฟื้นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล รวมทั้งยึดคืนเยรูซาเล็ม และจะเป็นก้าวแรกในการทำลายจักรวรรดิออตโตมาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมุสลิมลงได้

ปีต่อมาคือ ค.ศ.1586 (พ.ศ.2129) บาทหลวงอะลองโซ ซานเชส (Alonso Sánchez) หัวหน้าเยซูอิตประจำมะนิลาได้ทำการรณรงค์ให้สเปนเข้าพิชิตจีน โดยเสนอให้ใช้ทหาร 10,000 คนจากอเมริกาและอีก 10,000 คนจากยุโรป ก็จะสามารถบุกเข้าพิชิตจีนได้โดยง่าย และสามารถเปลี่ยนคนนอกศาสนาอย่างชาวจีนให้มาเป็นคริสเตียนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าการ ศาสนจักร และขุนนางที่มะนิลา และยังได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาบริหารมะนิลา แต่แผนการนี้ก็ไม่สำเร็จ

ค.ศ.1588 (พ.ศ.2131) บาทหลวงซานเชส มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าฟิลิปที่มาดริด และเสนอแผนการโดยตรงต่อพระองค์ แต่พระเจ้าฟิลิปไม่รับแผนการดังกล่าว แต่ตั้งซานเชสเป็นข้าหลวงต่างพระกรรณใน ค.ศ.1591 และซานเชสเสียชีวิตในปี ค.ศ.1593

ค.ศ.1593 (พ.ศ.2136) หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส (Luis Pérez Dasmariñas) รักษาการผู้ว่าราชการมะนิลา มีความสนใจอย่างมากที่จะพิชิตสยามและปัตตานี ได้เชิญบาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู มาจัดทำแผนการพิชิตสยามอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเป็นข้ออ้าง คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสยามจากการที่พระนเรศวรประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากพม่าในปี ค.ศ.1585 (พ.ศ.2128) และรบชนะพม่าอย่างเด็ดขาดในปี ค.ศ.1592 ในสงครามกับพระมหาอุปราช สยามได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นมหาอำนาจในภาคพื้นทวีป และกลับมาเป็นศูนย์กลางอำนาจทางบกอันเกรียงไกรอีกครั้งหนึ่ง


ชัยชนะของพระนเรศวรต่อพม่า ทำให้ภาพของชาวสยามในสายตาบาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู ที่เคยมองว่าสยามอ่อนแอได้เปลี่ยนไป เขามองว่าพระนเรศวรเป็นพวกต่อต้านพระเจ้า เป็นศัตรูสำคัญของชาวคริสต์ เนื่องจากพระนเรศวรสร้างกองทัพที่เข้มแข็ง ก้าวร้าว และเหี้ยมโหด จึงเป็นหน้าที่ของพระเจ้าและกษัตริย์สเปนในการทำลายกองทัพพระนเรศวรให้ได้ เขายอมรับว่าการพิชิตสยามไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป กองทัพจากเมืองกัวไม่เพียงพอจะพิชิตเอเชีย จึงเสนอให้รวบรวมกำลังจากมะนิลา และร่วมมือกับพม่าและกัมพูชา เพื่อช่วยกันรบกับสยาม ซึ่งพม่ากับกัมพูชาต้องยินดีอย่างแน่นอนในการรบกับศัตรูของพระเจ้า ยิ่งไปกว่านั้น ชาวสยามเองก็เกลียดกลัวกษัตริย์ทรราช ดังนั้นเมื่อสเปนและโปรตุเกสจะมาปลดปล่อย ชาวสยามก็ย่อมร่วมมือ เพราะบาทหลวงจาว ประเมินว่าชาวสยามพร้อมจะรับใครก็ได้ที่ไม่ใช่พระนเรศวร เพราะฉะนั้น สเปนจะได้รับความร่วมมือจากทั้งชาวสยาม พม่า กัมพูชา ในการกำจัดพระนเรศวร และได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ สันติภายใต้พระเจ้า ซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาของทุกคน

หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส สนับสนุนความคิดของบาทหลวงจาว และได้เตรียมการรวบรวมเงินทุนและกำลังพลที่มะนิลา เขาคิดว่าถ้ามีชาวสเปนที่กล้าหาญเป็นแกนกลางราว 1,000 คน และใช้กองกำลังคนพื้นเมืองฟิลิปปินส์เข้าช่วยเหลือ ก็เพียงพอจะปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องอาศัยทหารจากสเปนหรือเม็กซิโก

ในช่วงเวลานั้น เกิดกรณีใหญ่ของเอเชีย คือ กรณีของบลาส รูส (Blas Ruiz) และคิอูกุ เวลูซุ (Diogo Veloso) ในปี ค.ศ.1596 (พ.ศ.2139) ดัสมาริยาส ส่งกำลังเรือรบ 3 ลำให้ไปช่วยยึดกัมพูชา แต่เหลือเรือรบเพียง 1 ลำที่ไปถึง อีก 2 ลำ ลำหนึ่งหายไปในทะเล ส่วนอีกลำหนึ่งไปปรากฏตัวอยู่ที่มะนิลา ปฏิบัติการครั้งนี้จึงล้มเหลว

กรณีของบลาส รูส ซึ่งเป็นชาวสเปน และเวลูซุ ชาวโปรตุเกส ทั้งสองเป็นทหารรับจ้างรับราชการกับพระสัตถา กษัตริย์ของกัมพูชา ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่พระสัตถาของกัมพูชาและพระนเรศวรของสยามกำลังจะทำสงครามกัน บลาส รูส และเวลูซุ จึงอาสาพระสัตถาไปนำกำลังทหารจากมะนิลา เมื่อกลับมาถึงกัมพูชาปรากฏว่าอยู่ระหว่างพระนเรศวรกำลังตีเมืองละแวก บลาส รูส และเวลูซุ จึงถูกจับตัว แต่ก็หนีรอดมาได้ในที่สุด และติดตามพระสัตถาหนีไปเวียงจันทน์ ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าพระสัตถาหรือพระยาละแวกถูกจับตัดศีรษะเอาเลือดล้างเท้าพระนเรศวรอย่างที่ว่ากัน

บลาส รูส และเวลูซุ มีบทบาทสำคัญมากในการนำและผลักดันพระโอรสของพระสัตถากลับมาเป็นกษัตริย์ของกัมพูชา ชื่อว่าพระบรมราชาที่ 2 ครองเมืองละแวกในปี ค.ศ.1597 (พ.ศ.2140) บลาส รูส และเวลูซุ จึงมีอิทธิพลในราชสำนักกัมพูชาถึง 2 ปีโดยอาศัยอำนาจของบาทหลวงและทหารรับจ้างของโปรตุเกสเสปน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในสมัยนั้น

หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส หมดวาระผู้ว่าการมะนิลาในปี ค.ศ.1596 แต่ยังพยายามเสนอโครงการพิชิตกัมพูชา จามปา สยาม กวางตุ้ง และจีนต่อไป โดยคาดหวังหากทำสำเร็จ จะได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าดินแดนดังกล่าว และเสนอว่าสเปนจะต้องยึดไต้หวัน เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของโตโยโตมิ ฮิเตโยชิ ผู้บัญชาการญี่ปุ่น และเพื่อใช้เป็นฐานในการพิชิตจีน

ในช่วง ค.ศ.1590 กว่าๆ นั้น เรื่องของฮิเตโยชิเป็นเรื่องใหญ่มาก ขณะนั้นดำรงตำแหน่งไดเมียวที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ฮิเตโยชิสร้างกองทัพเรือทำให้สเปนที่มะนิลาตกใจมาก และมีข่าวอยู่เสมอว่าฮิเตโยชิจะยกทัพมาตีมะนิลา ดัสมาริยาสจึงเสนอให้สเปนยึดไต้หวัน เพื่อป้องกันการรุกของฮิเตโยชิ และจะใช้ไต้หวันเป็นฐานในการพิชิตจีน

ในปี ค.ศ.1598 (พ.ศ.2141) ดัสมาริยาส และบาทหลวงดิอาโก อาดู อาร์เต ใช้เงินทุนของตนเองส่งเรือรบไปกัมพูชา เพื่อช่วยบลาส รูส และเวลูซุยึดกัมพูชาให้สำเร็จ โดยวางแผนว่าจะใช้กัมพูชาตีจามปา ปรากฏว่าเรือโดนพายุพัดไปกวางตุ้ง จนต้องสูญเสียเรือและทรัพย์สินไปจนหมด ฟรานซิสโก เทโย (Francisco Tello) ผู้ว่าการมะนิลา สั่งให้ดัสมาริยาสเดินทางกลับจากกวางตุ้ง โดยไม่พูดถึงความช่วยเหลือใดๆ

ขณะนั้น ที่กัมพูชาในปี ค.ศ.1599 ขุนนางพื้นเมืองได้อาศัยกำลังอาสาจามเข้าปราบปรามบลาส รูส และเวลูซุ บาทหลวงและทหารรับจ้างสเปนและโปรตุเกสถูกสังหารในที่สู้รบเป็นจำนวนมาก และสมเด็จพระบรมราชาก็ถูกปลงพระชนม์ด้วย สรุปว่าในปี ค.ศ.1599 แผนการยึดกัมพูชาล้มลง โดยขุนนางพื้นเมืองของกัมพูชาเป็นคนจัดการ

ต่อมา ค.ศ.1603 (พ.ศ.2146) หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส นำกำลังจำนวนหนึ่งไปจีน โดยคิดว่ากองทัพจีนขี้ขลาด รบสู้เขาไม่ได้ ในที่สุด เขาก็เสียชีวิตขณะเข้าโจมตีเรือสำเภาจีนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือของเขามาก เป็นการจบชีวิตของผู้ผลักดันโครงการพิชิตเอเชียคนสำคัญคนหนึ่ง

โครงการที่จะพิชิตเอเชียยังไม่ยุติลง ในปี ค.ศ.1601 พระฟรานซิสกัน ชื่อมาร์เซโล เดอ ริบา เดเนียรา (Marcelo de Ribadeneira) พิมพ์หนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์สเปนเอเชีย (Historia del Archipiélago y otros reynos) เขียนถึงนครวัดว่ากัมพูชาจะเป็นที่อีกแห่งหนึ่งในการเผยแพร่พระคริสต์นอกฟิลิปปินส์ได้ ความใฝ่ฝันจะรื้อฟื้นจักรวรรดิในกัมพูชายังคงอยู่ และมีต่อมาเรื่อยๆ ในภายหลัง

เหตุผลที่โครงการทั้งหมดล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากราชสำนักพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ซึ่งพระองค์มีภาระในสงครามยุโรปจำนวนมาก ทั้งสงครามกับอังกฤษ การปฏิวัติของพวกเนเธอร์แลนด์ ความขัดแย้งที่มีกับกษัตริย์ฝรั่งเศส พระองค์จึงไม่พร้อมจะคิดเรื่องเอเชีย

ในสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 3 เป็นสมัยที่ดัชท์ทวีอำนาจทางทะเลมากขึ้น ราชสำนักสเปนและโปรตุเกสมีความวิตกมากเกี่ยวกับอำนาจทางทะเลของดัชท์ในเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งยังมีข้อมูลจากฝ่ายอื่นว่าการพิชิตกัมพูชาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพระนเรศวรแผ่อำนาจมาครอบงำกัมพูชา มาถึงตอนนี้คงเป็นที่ตระหนักพอสมควรว่าการทำสงครามเพื่อปราบพระนเรศวรไม่น่าจะง่าย

มีข้อมูลจากนักบวชเยซูอิตที่กลับมาจากการเผยแพร่ศาสนาในเอเชียยืนยันว่า การเปลี่ยนใจชาวพื้นเมืองในเอเชียให้มานับถือพระเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในกัมพูชา มิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาอยู่ 25 ปี แต่แทบไม่ประสบผลใดๆ เลย เช่นเดียวกับสยาม อาระกัน และจีน ก็ได้ผลน้อยมาก แทบไม่มีใครเข้ารีตเลย

ในที่สุด เปโดรบราโว เดอ อะคูญา (Pedro Bravo de Acuña) ผู้ว่าการมะนิลาในปี ค.ศ.1602 (พ.ศ.2145) ก็ไม่เห็นด้วยกับแผนการทั้งหมด และเสนอว่าการรักษาความมั่นคงของมะนิลาก็ยากลำบากอยู่แล้ว การขยายตัวจะยิ่งก่อปัญหายากลำบากมากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้คัดค้านโครงการขยายดินแดนในเอเชียเป็นจำนวนมาก

ผู้คัดค้านโครงการคนสำคัญ คือ อันโตนิโอ เดอ มอร์กา (Antonio de Morga) ผู้ช่วยผู้ว่าการมะนิลา ปี ค.ศ.1595 ได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญชื่อ Sucesos de las Islas Filipinas ซึ่งเขียนอธิบายถึงเอเชียในช่วงเวลานั้น เขามองว่าโครงการเช่นนี้ไม่ฉลาด และสุ่มเสี่ยงเกินไปที่นำทหารออกไปจากมะนิลาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการที่มะนิลาจะถูกโจมตี เขาเห็นว่าควรเอาทหารจำนวนมากรักษามะนิลาดีกว่าเอาไปตีเมืองต่างๆ

ในฝ่ายของโปรตุเกส ก็มีเซบาสติอาว ดีซาว เปดรู (Sebastião de São Pedro) บาทหลวงหัวหน้าสำนักออกัสติเนียน ซึ่งอยู่ในเอเชียมานาน 29 ปี ยื่นหนังสือค้านโครงการของเคาน์แห่งไบเลน เขายืนยันว่าการโจมตีสยาม กัมพูชา จีน ล้วนแต่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น และการเผยแพร่ศาสนาก็ยากมาก โครงการเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะบรรลุได้เลย การที่สเปนกับโปรตุเกสจะผนึกกำลังกันโจมตีเอเชียนั้นเป็นเรื่องยาก

ยิ่งกว่านั้น สภาพปัญหาของมะละกายังยืนยันความยากในการเข้าพิชิตเอเชีย เมื่อโปรตุเกสยึดมะละกาไว้ได้แล้ว ในบรรดาสถานีการค้าในเอเชียของโปรตุเกส มะละกาเป็นสถานีการค้าที่ไม่มั่นคงมากที่สุด เนื่องจากถูกยะโฮร์และอาเจห์โจมตีอยู่เสมอ ทำให้โปรตุเกสต้องส่งกำลังมาเสริมอยู่เสมอเช่นกัน แต่โดยมากโปรตุเกสมีกองกำลังไม่ถึง 500 คน เพราะอัตราการเจ็บป่วยล้มตายสูงมาก และอัตราการหนีทัพก็สูงมาก ลำพังมะละกาจะป้องกันตัวเองยังลำบาก อย่าว่าจะเอากำลังไปตีที่นั่นที่นี่เลย ดังนั้นการเกณฑ์กำลังของโปรตุเกสจากมะละกาไปรบที่อื่นของเอเชียจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนที่มะนิลา มีทหารสเปนมาประจำการอยู่ไม่ถึง 1,000 คน มีการสำรวจในปี ค.ศ.1584 มีกำลังทหารจากสเปนและเม็กซิโกประจำอยู่ในฟิลิปปินส์ทั้งหมด 713 คน และมีอาวุธใช้ไม่ครบทุกคน มักมีจดหมายร้องเรียนจากผู้ว่าการมะนิลาเสมอว่า กำลังที่มาจากเม็กซิโกเป็นเยาวชนที่ไม่ได้เรื่อง อ่อนแอ ไม่มีวินัย รบไม่เป็น ชอบขโมย และหนีทัพ รายงานของผู้ว่ามะนิลายังบอกด้วยว่า ให้ส่งนักรบที่แข็งแรงมาประจำที่ฟิลิปปินส์ ไม่ควรใช้เป็นสถานที่ลงโทษผู้กระทำผิด และเป็นที่เนรเทศของพวกเหลือ

เหตุผลประการต่อมาคือ สเปนให้ความสำคัญกับอเมริกาใต้มากกว่าเอเชียเสมอมาตั้งแต่ต้น ส่วนโปรตุเกสแต่เดิมให้ความสำคัญกับเอเชีย แต่ต่อมากลับให้ความสำคัญกับบราซิลมากขึ้น เพราะบราซิลเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ และมีการขยายตัวของการผลิตน้ำตาล

โปรตุเกสนำแรงงานทาสจากแอฟริกามาทำงานในบราซิลมากขึ้น เนื่องจากพบว่าแรงงานอินเดียนแดงทำงานไม่ทน ในปี ค.ศ.1600 (พ.ศ.2143) มีชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานในบราซิลราว 30,000 คน แต่มีทาสจำนวน 120,000 คน

การขยายดินแดนในบราซิลและอเมริกาใต้ ไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องทำสงครามกับเจ้าพื้นเมืองที่เข้มแข็ง และระยะทางไปบราซิลใกล้กว่ามาก การค้าจึงเพิ่มทวีมากกว่าทางเอเชีย ราชสำนักโปรตุเกสและสเปนจึงตัดสินใจค่อยๆ ทิ้งเอเชีย และต่อมาจึงเปิดทางให้ดัชท์เข้ามาในเอเชีย

ที่น่าแปลกคือกรณีของญี่ปุ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนพิชิตเอเชียของโปรตุเกสและสเปนมักไม่นับรวมญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วย บาทหลวงมาร์ติน เดอ อะกิเร (Martin de Aguirre) เคยเสนอให้สเปนบุกยึดญี่ปุ่นอย่างที่เคยบุกยึดเม็กซิโก อะเล็กซานโดร บาลิยาโน (Alessandro Valignano) พระเยซูอิตที่เคยอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลานาน ยืนยันในปี ค.ศ.1579 ว่าการพิชิตญี่ปุ่นด้วยกำลังนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องจากซามูไรญี่ปุ่นมีความกล้าหาญในการรบเหนือกว่าชาวพื้นเมืองในฟิลิปปินส์หรือชาวอินคาอย่างมาก อีกทั้งผู้ปกครองญี่ปุ่นยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายในได้ ดังนั้นหากยึดได้ก็อาจปกครองไม่ได้ ที่สำคัญคือญี่ปุ่นยากจนมาก ไม่มีทรัพยากร

สรุปว่าพอจะเห็นภาพว่า สเปนและโปรตุเกสมีความใฝ่ฝันมากมายที่จะยึดเอเชียแต่ก็ไม่สำเร็จ ถ้าจะอธิบายแผนการทั้งหมด ก็ไม่เชิงว่าจะเป็นความเพ้อฝันของนักจักรวรรดินิยมเสียทีเดียว ยังมีเหตุผลอื่นรองรับอยู่พอสมควร คือความบริสุทธิ์ใจทางศาสนา

ชาวสเปนและโปรตุเกสที่เคยรายรอบด้วยชาวคาทอลิก เมื่อมาอยู่ท่ามกลางคนนอกศาสนาจำนวนมาก ถ้าสามารถเปลี่ยนคนเหล่านี้ให้มาเป็นคนของพระเจ้า จะได้บุญมากขนาดไหน การนำมนุษย์จำนวนมากมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง วิธีการคือต้องยึดอำนาจรัฐ เมื่อมีอำนาจรัฐก็สามารถเปลี่ยนคนจำนวนมากมานับถือศาสนาได้ เพราะฉะนั้น ความใฝ่ฝันนี้มีรากเหง้าจากความบริสุทธิ์ทางศาสนาอยู่ในแง่ที่ว่าอยากเปลี่ยนคนเหล่านี้เป็นศาสนาคริสต์ อยากสร้างจักรวรรดิคริสต์ที่ยิ่งใหญ่

นอกจากนี้ คือมีความเป็นนักผจญภัย ชาวโปรตุเกสและสเปนที่มาถึงเอเชียส่วนใหญ่เป็นคนจน โอกาสที่จะสร้างความร่ำรวยจากการผจญภัยในเอเชียมีมาก เนื่องจากเอเชียมีเครื่องเทศ อัญมณี ข้าว ของป่า

แผนการทั้งหมดล้มเหลวลงง่ายๆ เพราะการประเมินที่ผิดพลาด เพราะแสนยานุภาพของยุโรปในสมัยนั้นไม่ได้สูง การใช้เรือปืนมีข้อจำกัด ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องเข้าใจว่าชาวโปรตุเกสและสเปนที่เดินทางมามีความชำนาญในการเดินเรือ แต่การรบทางบกหากเจอพระเจ้าบุเรงนองหรือพระนเรศวรก็ไม่มีทางจะสู้กับกองทัพที่มีศักยภาพของเอเชียได้

 

 


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ‘ชาวกัมพูชา’ เผา ธ.กรุงเทพ วันสลายชุมนุม

Posted: 05 Feb 2013 10:25 AM PST

 

 

5 ก.พ. 56 เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุทธรณ์หมายเลขดำที่ 558/2555 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง เพชร แสงมณี (ชาวกัมพูชา) เป็นจำเลย กรณีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาก่อการร้าย แต่ลงโทษความผิดฐานอื่นรวมแล้วเป็นโทษจำคุก 6 ปี 6 เดือน และในวันนี้ (5 ก.พ.) ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

สำหรับรายละเอียดนั้นคดีนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชากับพวกซึ่งกำลังหลบหนีร่วมกัน ชุมนุม หรือมั่วสุมกันประมาณ 300 คนที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาพระโขนง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 16.00 น. และร่วมกันยุยงให้มีการทำลาย และวางเพลิงทรัพย์สินของธนาคารดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธทุบทำลายกระจกของอาคาร, ตู้ ATM และทรัพย์สินอื่นของธนาคารดังกล่าว และร่วมกันวางเพลิงธนาคารดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารได้รับความเสียหายเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญบังคับให้รัฐบาลประกาศยุบสภา อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยังสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอีกด้วย ตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมไฟแช็กก๊าซ, ผ้าชุบน้ำมัน, หน้ากากอนามัย และสติ๊กเกอร์ จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดลง ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาก่อการร้าย แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ปี, ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเวลา 4 เดือน และฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดเป็นเวลา 4 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 เดือน รวมโทษจำคุก 6 ปี 6 เดือน

อัยการอุทธรณ์เฉพาะข้อหาก่อการร้าย จำเลยค้านคำอุทธรณ์ แต่ไม่อุทธรณ์ข้อหาอื่น ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยคดีเฉพาะข้อหาก่อการร้าย

ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานก่อการร้ายหรือไม่  โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยกับพวกวางเพลิง ธ.กรุงเทพ สาขาพระโขนง เพื่อกดดันรัฐบาล โดยมีเจตนาเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชน อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โจทก์ระบุว่า 19 พ.ค. 53 เวลา 16.00 น. ตำรวจกำลังรักษาความปลอดภัยที่หน้า ธ.กรุงเทพ สาขากล้วยน้ำไท พบกลุ่มคนประมาณ 200 คนขับรถจักรยานยนต์ผ่านไป หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที ตำรวจได้รับแจ้งว่า มีคนร้ายวางเพลิงเผา ธ.กรุงเทพ สาขาพระโขนง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตำรวจจึงเดินทางไปที่เกิดเหตุพบคนร้าย 3-4 คน วิ่งออกมาจากธนาคารดังกล่าว จึงติดตามจับกุมจำเลยซึ่งอยู่ห่างจาก ที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร และพบไฟแช็กก๊าซ, ผ้าชุบน้ำมัน, หน้ากากอนามัย และสติ๊กเกอร์อยู่ในตัวของจำเลย ต่อมา DSI มีมติให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ โดย DSI เห็นว่า การกระทำนี้เป็นความผิดฐานก่อการร้าย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การวางเพลิงและทำลายทรัพย์สินของธนาคารจะเป็นความผิดฐานก่อการร้ายหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของธนาคารแล้ว ยังต้องก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และยังจะต้องกระทำโดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญให้รัฐบาลกระทำ หรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอีกด้วย

แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นอกจากนี้บริเวณใกล้กับธนาคารดังกล่าวยังมีธนาคารอื่นตั้งอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยไม่ได้ทำลายธนาคารเหล่านั้นแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า จำเลยมุ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารดังกล่าวเท่านั้น แม้ธนาคารดังกล่าวจะเป็นสถาบันการเงิน แต่ก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก จึงไม่อาจอนุมานได้ว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

แม้ในขณะเกิดเหตุจะมีผู้ชุมนุม นปช. เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพื่อขู่เข็ญให้รัฐบาลประกาศยุบสภา หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย และไม่ปรากฏหลักฐานว่า กลุ่มคนที่ร่วมทำลาย และวางเพลิงธนาคารดังกล่าวเกี่ยวพันกับผู้ชุมนุม นปช. แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยร่วมอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย

แม้จะมีพยานยืนยันว่า เห็นจำเลยพูดคุยกับกลุ่มคนดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้นำตัวพยานคนดังกล่าวมาให้การแต่อย่างใด พยานดังกล่าวจึงเป็นพยานบอกเล่าเท่านั้น ส่วนสติ๊กเกอร์ในตัวของจำเลยซึ่งมีข้อความว่า "สันติ อหิงสา หยุดฆ่าประชาชน" นั้น ก็ไม่ปรากฏว่า สติ๊กเกอร์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ นปช. และกลุ่มคนดังกล่าว อีกทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่มีความหมายอันบ่งชี้มุ่งหมายที่จะขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลแต่อย่างใด

ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในข้อหาก่อการร้ายนั้น ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ยุทรการ โสภัณนา ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกพอใจกับคำพิพากษาในวันนี้ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่อยากร้องขอให้อัยการไม่ฎีกาในคดีนี้ เนื่องจากตนเองเชื่อว่า ในเร็วๆ นี้รัฐบาลจะมีการนิรโทษกรรมผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทั้งหมด โดยเว้นไว้เฉพาะแกนนำของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมถึงอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตรองนายกฯ  สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำอันตรายต่อชีวิต หากอัยการฎีกาในข้อหาก่อการร้ายต่อไปจะทำให้จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการนิรโทษกรรมในครั้งนี้

ศิริพันธ์ บุญนาจเสวี ทนายความตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากสถานทูตฯให้เข้ามาดูแลคดีนี้ ทั้งนี้ตนเองและสถานทูตฯอยากให้คดีนี้สิ้นสุดโดยเร็ว เพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิในการแลกเปลี่ยนนักโทษ เพื่อไปรับโทษต่อในเรือนจำของกัมพูชา เช่นเดียวกับกรณีของ วีระ สมความคิด ที่กำลังจะได้รับสิทธิในการแลกเปลี่ยนนักโทษในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขการถูกจำคุก 1 ใน 3 แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจำเลยว่า ประสงค์ที่จะเดินทางไปรับโทษต่อที่กัมพูชาหรือไม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลจีนสั่งตัดสินเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผิดฐานกักขังประชาชนใน 'คุกมืด'

Posted: 05 Feb 2013 09:31 AM PST

สื่อจีนรายงานเรื่องการตัดสินลงโทษหวัง เกาเหว่ย และพรรคพวกอีก 9 คน ในข้อหานำตัวผู้เดินทางมาร้องทุกข์ไปกักขังอย่างผิดกฏหมายหลังจากที่พวกเขาเดินทางมาเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกไล่ที่


เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2013 สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่าศาลทางการจีนได้สั่งตัดสินจำคุกบุคคล 10 คน จากเหตุการณ์กักขังผู้ร้องทุกข์ 11 คนอย่างผิดกฏหมายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทางสำนักข่าวอัลจาซีร่าบอกว่าเป็นการที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณการควบคุมเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย. 2012 มีผู้ร้องทุกข์ 11 คนจากมณฑลเหอหนานเดินทางมาร้องทุกข์ที่เขตชาวหยาง กรุงปักกิ่ง แต่ถูกบุคคลประกอบด้วยหวัง เกาเหว่ย และพรรคพวกอีก 9 คน จับตัวไปกักขังอย่างผิดกฏหมายในวันที่ 2 พ.ค.

ศาลได้แถลงคำตัดสินเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.พ. ให้หวังและพรรคพวกที่ร่วมกระทำการมีความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฏหมาย โดยให้ลงโทษจำคุก 6-10 เดือน และมีการจ่ายเงินชดเชยแก่โจทก์เป็นวงเงิน 1,300 ถึง 2,400 หยวน (ราว 6,200 ถึง 11,000 บาท)

ผู้ร้องเรียนทั้ง 11 ราย ได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นในเหอหนานจ่ายค่าชดเชยหลังถูกบังคับให้รื้อถอนที่พักอาศัย โดยประชาชนจีนที่ไม่พอใจต่อรัฐบาลท้องถิ่นบางครั้งก็จะนำเรื่องไปร้องเรียนต่อรัฐบาลในระดับสูงกว่าที่ปักกิ่ง ซึ่งระบบการร้องทุกข์เช่นนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่จักรพรรดิ์ของจีนมีหน้าที่รับฟังคำร้องจากสามัญชน และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดหลายอย่างของเจ้าหน้าที่ในส่วนท้องถิ่น


'คุกมืด' ในจีน

รายงานข่าวของอัลจาซีร่ากล่าวว่าการกักขังอย่างผิดกฏหมายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในจีน ผู้ร้องทุกข์มักจะถูกเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นสกัดกั้นและนำตัวไปขังไว้ในห้องพักที่เรียกว่า 'คุกมืด' นอกจากนี้แล้วในอดีตยังมีการใช้ 'คุกมืด' กักขังผู้ต่อต้านทางการเมืองและกลุ่มเรียกร้องทางศาสนาอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่าประจำมาร์กา ออร์ติกัส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางการจีนไม่เคยประกาศเรื่องการตัดสินคดีแบบนี้ต่อสาธารณะ และการประกาศผ่านสื่อจีนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกลางของจีนเริ่มส่งสัญญาณหรืออย่างน้อยก็เล็งเห็นการมีอยู่จริงของ 'คุกมืด' และจะไม่มีการทนต่อการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกต่อไป


เรียบเรียงจาก

China 'jails 10 for detaining petitioners', Aljazeera, 05-02-2013


10 jailed over false imprisonment of petitioners, Xinhua, 05-02-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน

Posted: 05 Feb 2013 09:05 AM PST

Thailand Mirror เก็บความจากงานฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม เมื่อ ไอดา อรุณวงศ์ สนพ.อ่าน และ ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์ พูดถึงชีวิตวรรณกรรมของ คำสิงห์ ศรีนอก เจ้าของนามปากกา ลาว คำหอม เจ้าของวรรณกรรมเรื่อง ฟ้าบ่กั้น ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล

งานฟ้าแดงที่ไร่ธารเกษม เมื่อวันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2555 เริ่มต้นด้วยการเสวนาหัวข้อ "ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน" โดย อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้เขียนคำวิจารณ์หนังสือฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม และไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อ่าน ผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้นเล่มล่าสุด

 

ไอดา อรุณวงศ์  เริ่มต้นการเสวนาด้วยการแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานวันครบรอบวันเกิดลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก โดยจะพูดในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้น และในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน

"สำนักพิมพ์อ่านโชคดีที่ได้รับมอบต้นฉบับด้วยความเต็มใจจาก ลุงคำสิงห์ ตอนที่ได้มาก็ตื่นเต้น ก็ตื้นตันเหมือนกัน ที่อยู่ดีๆ สำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ แต่ได้รับเกียรตินี้ โดยลุงคำสิงห์บอกว่าอยากให้ อยู่ในมือของสำนักพิมพ์อ่าน และบอกเพิ่มเติมว่าให้นำบทวิจารณ์ของ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่เคยตีพิมพ์ ในวารสารอ่านมาตีพิมพ์รวมไปด้วย มันมีความสำคัญในแง่ที่ว่าไม่เคยเห็นนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนที่เป็นรุ่นใหญ่ ที่มีฝีมือขนาดนี้ ที่บอกว่ายินดีที่จะให้ผลงานตัวเองได้รับการตีพิมพ์ควบคู่ไปกับคำวิจารณ์ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นสปิริต ที่หาได้ยาก และก็ได้เขียนไว้ในคำนำว่าย่อมมีแต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไม่เพียงไม่ปิดกั้น แต่ยังให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนต่อคำวิจารณ์เช่นนี้

เพราะฉะนั้นการไว้วางใจให้สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือฟ้าบ่กั้นในรูปแบบที่นำคำวิจารณ์ มารวมไว้ด้วย ไม่ได้สะท้อนความยิ่งใหญ่ของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งนี้ เท่ากับสะท้อนความยิ่งใหญ่ในใจของผู้ใหญ่ ที่ใหญ่จริง ในท่ามกลางสังคมนี้ที่ถูกปลูกฝังให้เข้าใจผิดตลอดมาว่าการปกปักความยิ่งใหญ่คือการไม่ยอมให้ถูก วิจารณ์ และบังคับให้ประจบสอพลอ หรือไม่แล้วก็ให้อยู่ในความเงียบงัน ให้สำเหนียกในความต่างและห่างไกล เช่นนั้น เฉกเช่นมีแผ่นฟ้ากางกั้น เฉกเช่นนั้นตลอดมา นั่นก็คือที่เล่าไว้ในคำนำสำนักพิมพ์"

ไอดา อรุณวงศ์ ได้เล่าเกร็ดเพิ่มเติมจากการที่ได้เดินทางมาไร่ธารเกษมเพื่อมอบหนังสือฟ้าบ่กั้นให้กับ ลาว คำหอม หลังจากที่พิมพ์เสร็จแล้ว รู้สึกประทับใจที่ได้ฟังหลายอย่างที่ลุงคำสิงห์ เล่าด้วยภาษาและความทรงจำที่แจ่มชัด และทำให้ปะติดปะต่อเรื่องราวที่ลุงคำสิงห์เล่าว่าสะท้อนอะไรบ้างผ่านมุมมองของตัวเอง

 "หลักๆ ที่ฟังลุงคำสิงห์เล่าจะรู้สึกเหมือนได้เห็นภาพคู่ขนานของสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนุ่มอินถา ในเรื่องไพร่ฟ้า นั่นคือภาพของคนหนุ่มผู้ที่กำลังมีความรักอันแรงกล้า ที่สด มีพลัง และก็น่าจะได้มีการพัฒนาต่อ เป็นความรักที่มั่นคงต่อเนื่องอย่างยาวนาน อย่างที่เขาได้วาดฝันไว้ แต่กลับถูกอำนาจล้นฟ้าอันไร้สาระอย่างหาที่สุด มิได้ มาทำให้พลังสร้างสรรค์แห่งความรักนั้นถูกกดทับให้จมหาย ลุงคำสิงห์ในวัยหนุ่มที่ยังอยู่ขอบ ๆ ของโลก วรรณกรรม ก็มีอาการเหมือนหนุ่มน้อยที่เพิ่งจะเริ่มจีบสาว คือกลัวๆ กล้าๆ กระมิดกระเมี้ยนเขินอาย  แต่ก็อยาก จะยืนยันให้สาวได้เห็นถึงความรักนั้น"

"วันหนึ่งเมื่อลุงคำสิงห์กับเพื่อน คือคุณดำเนินการเด่นไปหาคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ จากที่ได้อ่าน เรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก จบแล้ว ก็ไปถามว่าควรจะอ่านเล่มไหนต่อไป ลุงคำสิงห์ บรรยายฉากของการไปหา ครั้งนั้นให้ฟังว่า ผมก็คิดว่าช่างกล้า เรานี้ยืนตัวลีบ คือเป็นภาพที่ชวนเอ็นดูมาก ลองนึกว่าทุกวันนี้เราเห็นแต่ลุงคำสิงห์ ที่เป็น ลาว คำหอม นักเขียนที่เป็นตำนานของยุคนี้ แต่ในตอนนั้นลุงคำสิงห์ คือเด็กหนุ่มที่เดินตัวลีบเข้าไปหานักเขียน ที่เป็นตำนานของยุคนั้นอย่างคุณกุหลาบ ลุงคำสิงห์เล่าว่าคุณกุหลาบก็มีเมตตามาก หันไปบอกภรรยาคือคุณชนิด สายประดิษฐ์ ว่า นิดช่วยจัดหนังสือให้เราชุดหนึ่งให้มิตรของเราด้วย ลุงคำสิงห์ จำรายละเอียดของวันประวัติศาสตร์ วันนั้นได้ ถึงขั้นที่บอกว่าเขานัดให้ไปรับหนังสือตอนสิบโมง ในเวลานั้นคุณชนิด หรือนามปากกาจูเลียต กำลังแปลนิยายเรื่องเหยื่ออธรรม ขณะที่คุณดำเนินการเด่นเพื่อนของลุงคำสิงห์ก็เป็นฝรั่งที่ฝึกภาษาไทย และต่อมา ก็แปลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ"

"จากที่ลุงคำสิงห์เล่า เห็นภาพลุงคำสิงห์กับคุณดำเนินการเด่น ในช่วงนั้นเหมือนกับเป็นคนหนุ่ม ที่กำลังหัวหกก้นขวิดอยู่ด้วยกัน ลุงคำสิงห์เล่าว่าตอนนั้นกำลังเขียนเรื่องสั้นชื่อคนพันธุ์ โดยใช้พิมพ์ดีดของ คุณดำเนินการเด่น แล้วคุณดำเนินการเด่น ก็ถือวิสาสะเอาเรื่องที่ค้างอยู่ในพิมพ์ดีดนั้นไปให้ป้าชนิด แล้วป้าชนิด ก็เอาไปให้คุณกุหลาบ ซึ่งตอนนั้นกำลังทำนิตยสารปิยมิตรอยู่ สิ่งที่ลุงคำสิงห์รับรู้ต่อมาก็คือคุณดำเนินการเด่น ส่งโทรเลขไปตามตัวลุงคำสิงห์ ซึ่งตอนนั้นกำลังตระเวนอยู่ที่ขอนแก่นบอกว่าอาทิตย์หน้าให้มากรุงเทพฯ หากอยากเห็นเรื่องของตัวเองได้ตีพิมพ์ และนี่ก็คือที่มาของเรื่องสั้นเรื่องแรกของลุงคำสิงห์คือ คนพันธุ์ ที่ได้รับ การตีพิมพ์ในนิตยสารปิยมิตรเมื่อปี 2501 หนังสือปิยมิตรออกทุกวันพุธ และในปีนั้นลุงคำสิงห์ก็มีกำลังใจ ขยันเขียน ทุกเดือนอย่างตั้งใจ ซึ่งถ้าดูจากประวัติการตีพิมพ์ก็จะเห็นว่าปี 2501 ปีเดียว ลาว คำหอม สามารถมีเรื่องสั้นที่ชั้นเลิศ สมบูรณ์แบบออกมาได้ถึง 8 เรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง ไพร่ฟ้า ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ"

"ลุงคำสิงห์แทรกเพิ่มก็คือ คุณชนิดแปลเรื่องเหยื่ออธรรมเสร็จแล้ว ก็เร่งแปลเรื่องกำแพงเงินต่อ  เพื่อจะลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ และจะรีบตามไปอยู่กับคุณกุหลาบที่เมืองจีน คุณชนิดหรือที่ลุงคำสิงห์เรียกว่า ป้าชนิด ก็ได้มอบหมายให้ลุงคำสิงห์เป็นคนไปตามเก็บผลงาน ในขณะที่คุณชนิดแอบนำเอางานของลุงคำสิงห์ ไปตีรวม เป็นเล่ม โดยร่วมมือกับคุณดำเนินการเด่น และคุณชุมพล สุรินทราบูรณ์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาปี 2 เป็นคนทำปก และก็ร่วมกันรวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นได้ปรากฏโฉมขึ้นมาครั้งแรกในปี 2501 ในนามสำนักพิมพ์เกวียนทอง ของลุงคำสิงห์และคุณดำเนินการเด่น"

"กลับมาที่จุดพลิกผันก็คือ ลุงคำสิงห์เล่าว่า ช่วงนั้นเร่ร่อนอยู่ขอนแก่น ชอบไปนอนศาลาวัด แอบไปฟังชาวบ้านคุยกัน เขาเล่านิทาน ตรงนี้ลุงคำสิงห์เล่าเพิ่มเติมว่า อาจจะเพราะเคยทำงานเป็นผู้ช่วย นักมานุษยวิทยา ก็เลยมีความสนใจแบบนี้ และบอกอีกว่าติดใจรสชาติของนิทาน ผมกลัวว่าละครวิทยุ ละครทีวี จะทำให้นิทานมันหายไป ตอนนั้นมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งมีศูนย์วิจัยอยู่ที่บางชัน เพิ่งจะปิดศูนย์และย้ายไปที่ อินโดนีเซีย ซึ่งจากที่เคยอ่านประวัติลุงคำสิงห์เคยเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับนักวิชาการที่ศูนย์วิจัยของคอร์แนลมาก่อน ลุงคำสิงห์บอกว่าตอนที่ทำอยู่ที่คอร์แนล เห็นว่าคอร์แนลมีเครื่องอัดเสียง ผมซึ่งอยากไปฟังนิทานก็อยากมีเครื่อง อัดเสียงก็กลับไปถามที่ศูนย์ ศูนย์ก็บอกว่ายกให้สยามสมาคมไปแล้วพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ผมก็ไปคุยกับสยามสมาคม สยามสมาคมบอกว่าจะจัดอุปกรณ์ให้และจะเป็นสปอนเซอร์ให้ไปเก็บนิทาน ผมเสนอว่าจะไปเก็บที่อีสาน เพราะคอร์แนลเก็บแต่เฉพาะภาคกลาง สยามสมาคมก็ตกลงและให้เงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท แต่ให้แบ่ง copy ให้กับสมาคมด้วย"

ไอดา อรุณวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่าความรักในเรื่องเล่า และการนำเรื่องเล่ามาเล่าใหม่ น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของ
การเขียนของลุงคำสิงห์ การตระเวนไปนอนฟังชาวบ้ายคุยกันเป็นวัตถุดิบชั้นดี คือปากคำของผู้ที่มีชีวิตอยู่จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่ค่อยจะได้มีปากเสียงอย่างเช่นภาคอีสาน

"สำหรับจุดพลิกผันเริ่มมาจากมีกรรมการคนหนึ่งของสยามสมาคมทักท้วงว่าลุงคำสิงห์ มีคุณสมบัติ เหมาะสมกับงานนี้จริงหรือ ลุงคำสิงห์ทำยังไง ตอนนั้นรวมหนังสือฟ้าบ่กั้นออกมาพอดี ลุงคำสิงห์เล่าว่า ผมยกหนังสือ ไปให้ดูด้วยความกร่างว่าฉันก็มีหนังสือของฉันเองนะ" ฝรั่งฟังแล้วก็ว่าดีบอกว่าปีหน้าจะเพิ่มเงินเดือนให้  ทีนี้พอลุงคำสิงห์ กลับไปที่สมาคมอีกครั้งเพื่อเอาเครื่องเสียงเจอแต่เก้าอี้ว่าง กลับมาอีกทีเขาบอกว่าเกิดเรื่องใหญ่แล้ว กรรมการสมาคมเอาหนังสือฟ้าบ่กั้นไปให้สันติบาล พอลุงคำสิงห์กลับไปที่สมาคม ทุกคนหลบหนี กลัว คอมมิวนิสต์ มาแล้ว พอกลับไปที่ขอนแก่นคนก็แตกตื่น บอกว่าตำรวจมาตามหาลุงคำสิงห์"

"เรื่องก็กลายเป็นเรื่องตลกแบบขันขื่นว่า อะไรหรือในฟ้าบ่กั้นที่ทำให้ทุกคนกลัวจนเสียสติขนาดนั้น เรื่องเล่าที่มาจากประสบการณ์ในการเล่านิทานและปากคำของชาวบ้านธรรมดานี้ จะว่าเป็นเรื่องผีเรื่องสยองขวัญ ก็ไม่ใช่  แค่มันเป็นเพราะเรื่องของสามัญชนคนยากในภาคอีสาน เรื่องของชาวนา หรือเรื่องของขมุหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไปหลงรักหญิงสาวและสูญเสียความรักนั้นไปเพราะหม่อมราชวงศ์คนหนึ่งอย่างนั้นหรือ ดิฉันฟังลุงคำสิงห์เล่าแล้ว ก็นึกถึงอาการประสาทอย่างที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ คือ ไม่ว่าใครจะเขียนอะไรหรือพูดอะไรในบริบทหนึ่งก็จะถูก อาการโรคจิตหวาดระแวงที่กำลังเป็นกันทั้งสังคมอันเป็นผล มาจากการโหมประโคมความรักที่อ้างว่ายิ่งใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วดูจะใจเสาะและขาดความมั่นคงทางจิตใจถึงขนาด หวาดระแวงไปทั่วว่าใครไม่รักจะประหาร เสียให้สิ้น และก็เอาอาการประสาทเสียนั้นมาตีความงานเขียนให้กลายเป็นอัปลักษณ์ ทั้งที่ถ้ามันจะอัปลักษณ์ มันก็อัปลักษณ์เพราะมันเป็นภาพสะท้อนอย่างซื่อ ๆ ของความเป็นจริงอันอัปลักษณ์ ที่คนสติดีที่ไหนก็พอจะมองเห็น ได้ตำตาอยู่แล้ว กรณีฟ้าบ่กั้นก็วุ่นวายแบบนั้น คนที่สติยังดีอยู่ ก็มีแต่ต้องงงว่ามันเกิดอะไรขึ้น"

"ลุงคำสิงห์เล่าถึง คุณรสสุคนธ์ อันนี้เป็นนามปากกาซึ่งเป็นเพื่อนคุณกุหลาบ ที่เคยมาช่วย ปรู๊ฟหนังสือฟ้าบ่กั้นให้ตอนที่คุณชนิด ต้องการจะตีพิมพ์ แล้วคุณรสสุคนธ์ก็บอกว่าชอบมาก ยกย่องว่าเทียบชั้นหลู่ซิ่น และอยากจะเขียนคำนำให้ แต่พอเกิดเรื่องที่สยามสมาคมข่าวก็แพร่ไปว่าคำสิงห์ เป็นคอมมิวนิสต์ พอคุณรสสุคนธ์ รู้เรื่องก็ไม่สบายใจ ก็ไปหาคุณมาลัย ชูพินิจ ที่อยู่บ้านตรงข้าม บอกว่าเด็กถูกรังแก คุณมาลัยที่ลุงคำสิงห์เล่าว่า ตอนนั้นถูกลากไปเป็น ส.ส.สภานิติบัญญัติ ขอเอามาอ่าน พออ่านแล้วก็บอกว่า "เฮ้ย ถ้าเป็นผม ผมอัดหนักกว่านี้ อีกนะ คำสิงห์ถอยเข้ามุมไปหน่อย ตอนผมเขียนชั่วฟ้าดินสลาย ผมเต็มที่เลย" หรืออะไรทำนองนี้ ดิฉันไม่แน่ใจว่า คำว่า "อัดหนัก" ของคุณมาลัยหมายถึงอะไร แต่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของลีลา ความเข้มข้นทางอารมณ์ หรือปมความขัดแย้งของตัวละครที่คุณมาลัยนึกว่าถ้าเป็นเขาอาจจะผลักไปมากกว่านี้ แต่คงไม่ใช่เรื่องอัดเจ้าอัดฟ้า ที่ไหน เพราะคุณมาลัยซึ่งเป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ก็คงอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างคนที่สติดี เขาอ่านกันทั่วไปว่ามันเป็นงาน สร้างสรรค์ชิ้นหนึ่ง ถ้าจะมีความคิดเห็นต่างไปบ้างก็เป็นเทคนิควิธีการของการสร้าง งานเท่านั้น แต่สัจธรรมก็มีอยู่ว่า คนที่มีอำนาจบาตรใหญ่มักจะเป็นคนที่ขวัญอ่อนและเสียสติได้ง่ายกว่า และก็พาให้สังคมเข้าสู่บรรยากาศของ ความกลัวถึงขั้นเสียสติไปด้วย หนังสือเล่มนี้จึงถูกตีตราพอ ๆ กับที่คนเขียนก็ถูกไล่ล่า เพื่อจะปิดปาก"

"เกร็ดขำขื่นอันหนึ่งที่ลุงคำสิงห์เล่าก็คือว่าสันติบาลสมัยนั้นมีการศึกษาจบอักษรศาสตร์ เมื่อเจ้านาย สั่งให้จัดการกับการอ่านหนังสือเล่มนี้แต่พอเขาได้อ่านแล้วเขาชอบ ก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ก็ไปหาผู้รู้ให้มาช่วย เลยไปหา เจ้าคุณอนุมานราชธน ลุงคำสิงห์เล่าว่าถ้าจะมีใครเป็นเหมือนศาลฎีกาในวงวรรณกรรมก็เจ้าคุณนี่แหละ ตำรวจ สันติบาลขีดเส้นใต้ตรงบทสนทนาช่วงหนึ่งในเรื่องไพร่ฟ้าแล้วขอให้พระยาอนุมานวินิจฉัยว่า ตรงนี้ชักจูงให้เกลียดเจ้า หรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจว่าบทสนทนาที่ถูกขีดเส้นใต้นั้นคือตรงไหนแน่ ดิฉันอยากจะอ่านบทสนทนาช่วงหนึ่งของเรื่องสั้น เรื่องนั้นให้ทุกท่านที่ยังมีสติดีในที่นี้ได้ลองวินิจฉัย แต่ดิฉันคิดว่าหลายคนคงได้อ่านแล้ว แต่ขออ่านให้ชัดๆ แบบไม่ต้อง กระมิดกระเมี้ยนให้สมศักดิ์ศรีสักนิด เรื่องสั้นเรื่องไพร่ฟ้าเป็นบทสนทนาระหว่างตัวเอกที่เล่าเรื่องกับขมุที่ชื่ออินถา ตัวเอกซึ่งใช้คำแทนตัวแทนว่าข้าพเจ้า บอกว่า"

                        "ท่านเป็นเจ้าเราจะเรียนท่านอย่างคนสามัญไม่ได้" ข้าพเจ้าพยายามตอบช้า ๆ
                        "เจ้าจะใด" เสียงแหบแห้งชวนให้สมเพช
                        ข้าพเจ้านิ่งคิดอึดอัดใจ ความจริงนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้ามีความรู้พอจะตอบคำถามได้ไม่ยากนัก แต่ก็อดจะรู้สึกอึดอัดใจไม่ได้ เพราะตระหนักสิ่งที่อินถาได้ถามนั้นมันอยู่ห่างจากความคิดของเขามากเหลือเกิน ข้าพเจ้าอยู่กับอินถามานานและทราบว่าเขาซาบซึ้งและศรัทธาต่อเจ้าอย่างสุดหัวใจ แต่เจ้าที่เขารู้จักนั้นเป็นเจ้าป่า เจ้าเขา ผีสางนางไม้ แต่ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพูดกับเขาด้วยเรื่องเจ้าที่เป็นคนเขาจะเข้าใจหรือ แม้เช่นนั้นข้าพเจ้าก็ พยายามอธิบายอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเขาก็อธิบายว่า
                        "เขาเป็นเชื้อเจ้า เป็นญาติห่างๆ กับเจ้าชีวิตของเรา คือเจ้าแผ่นดินของอินถา" เขาเงียบด้วยความ ครุ่นคิด แต่แล้วกลับโคลงศีรษะไปมาในความมืด
                        "นาย ผมบ่ฮู้ แผ่นดินตี้ไหน"
                        "ทั่วทั้งหมดแหละอินถา"
                        "นี่แม่นก่ นั่นแม่ก่" เขาชี้ไปข้างหน้าและเทือกเขาข้าง ๆ
                        "ใช่ เราสมมติว่าเป็นของท่าน แต่ความจริงก็ไม่ใช่ทีเดียว แต่เพราะท่านเป็นคนมีบุญญาบารมีมาก เราจึงเทิดทูนให้ท่านเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้คนธรรมดาสามัญอย่างฉัน อย่างอินถา ก็เหมือนเป็นสมบัติ ของท่าน เรียกว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน"
                        "ฟ้านี้กะนาย" อินถาเงยหน้าขึ้นมองความเวิ้งว้างเหนือศีรษะ
                        "ใช่ อินถา ฟ้านี้แหละ แต่ความจริงท่านขึ้นไปอยู่จริงๆ ไม่ได้หรอก แต่เพราะท่านเป็นคนมีบุญ เราจึงสมมติให้ท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน"
                        หม่องที่นั่งกลางเขาซักถามด้วยเสียงหวาดหวั่น
                        "เปล่าหรอก หม่อมท่านนั้นเป็นเพียงญาติ คือพี่น้องลูกหลานห่าง ๆ แต่เราก็นับว่าเป็นเจ้าด้วย องค์หนึ่ง"
                        และอินถาก็บอกว่า "เอ นายนี่ อู้สะปะ เจ้าตี้ไหน คนแต๊ๆ ผมเห็นกินข้าวหยับๆ ตึงวัน"

"คือจะเป็นย่อหน้านี้หรือเปล่าที่สันติบาลชี้ ดิฉันก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ พระยาอนุมานผู้มีเมตตา ก็ตัดสินใจตอบว่าขอไม่ยุ่งด้วยแล้วกัน ขอไม่วินิจฉัย แต่มันก็มีเกร็ดเล่าต่อมาอีกว่า ตอนนั้นลุงคำสิงห์เป็นเพื่อน ที่สนิทสนมกับลูกศิษย์ 2 คน ของพระยาอนุมาน ที่เคยช่วยกันทำงานวิจัยที่ศูนย์บางชันมาด้วยกัน พระยาอนุมาน ซึ่งเป็นกรรมการของสยามสมาคมด้วยก็คงเป็นห่วงลูกศิษย์เพราะเห็นว่าสนิทกัน เห็นมารับไปดูหนัง ไปไหนต่อไหน พระยาอนุมานก็เรียกสองสาวไปหา ตอนนั้นที่จุฬา ก็กำลังร้อนมากเพราะว่าจิตร ภูมิศักดิ์ เพิ่งโดนโยนบก เจ้าคุณจึงเตือนลูกศิษย์ว่า นายคำสิงห์ที่เธอเดินตามไปกันนั่นน่ะ เขาเป็นแดงนะ แต่ฉันเป็นครูบาอาจารย์ เธออย่าเอาไปพูดนะ แต่สองคนนั้นก็ตาเขียวตาแดงมาหาลุงคำสิงห์ถามว่า เป็นแดงเหรอ ลุงคำสิงห์จบท้ายเกร็ดเล่า สั้น ๆ นี้ให้ดิฉันฟังว่า และแล้วโลกก็กำลังจะแตกอีกครั้งหนึ่ง"

"ดิฉันไม่อยากไปละลาบละล้วงถามว่าในช่วงเวลาในมรสุมนั้น ลึกๆ ในหัวใจแล้วลุงคำสิงห์รู้สึก อย่างไร แต่จากเรื่องราวต่อจากนั้นที่ลุงคำสิงห์เล่าให้ฟังก็สรุปเป็นภาพเดียวกันได้ว่าในตอนนั้นไม่ว่าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะไปหาใคร คนก็หวาดกลัว หลบเลี่ยง เขาก็ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ลุงคำสิงห์เคยยอมรับอย่างกล้าหาญกับดิฉันว่า ผมเป็นคนอ่อนแอเกินไป พอถูกขู่อะไรผมก็หยุด การที่ฉันอยากจะคิดว่าการถูกโบยตี ป้ายสี รังเกียจเดียดฉันท์ ไล่ล่า ด้วยข้อหาไร้สติต่าง ๆ นานา จากการงานที่ลงแรงด้วยความรักอันบริสุทธิ์นั้น มันมีหรือที่จะไม่ทำให้ไฟแห่งการ สร้างสรรค์ของศิลปินต้องอ่อนแรงล้า ประเทศนี้จะสามารถเป็นเนื้อดินชั้นดีสำหรับงานสร้างสรรค์ได้อย่างไร หากว่ามี ฟ้ามากางกั้นต่อความรักในงานสร้างสรรค์นั้น ในบทความของ อ.ชูศักดิ์ ที่ได้นำมาตีพิมพ์ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ อ.ชูศักดิ์ ยกข้อความจากบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของลุงคำสิงห์มาทิ้งท้ายไว้ว่า ลุงคำสิงห์บอกว่าผมไม่ใช่นักวรรณกรรม บริสุทธิ์ที่จรรโลงโลกหรือสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อเพิ่มพูนมรดกทางวรรณกรรม แต่ผมรู้สึกว่าผมกำลังทำงาน ทางสังคมชนิดหนึ่ง แต่ตอนนี้ที่ตัวเองไม่รู้สึกอาลัย หมดความไยดี เหมือนรักผู้หญิงคนหนึ่ง เขียนจดหมายถึงกันบ่อยๆ  แต่ตอนนี้ไม่รักกันแล้ว มันไม่อยากเขียนจดหมายถึงเขา"

"อันที่จริงเมื่อคิดอีกแง่หนึ่งถึงการดำรงอยู่ของภาวะแบบนี้คืออาการวิปริตทางสังคมแบบนี้ไม่ใช่หรือ ที่อีกทางหนึ่งก็คือเงื่อนไขอันกดดันที่อาจส่งเสริมให้เกิดวรรณกรรมชั้นดีขึ้นได้ แล้วมันก็ได้ทำให้ฟ้าบ่กั้นกลายเป็น ตำนานทรงพลังที่คอยหลอกหลอนสังคมไทยไปแล้ว แน่นอนว่าในช่วงเวลาหลายปีหลังจากนั้นที่แม้ว่าจะได้รับการ ตีพิมพ์ซ้ำมาหลายครั้ง แต่มันก็ถูกลดทอนให้เป็นตำนานของวรรณกรรมสร้างสรรค์ในความหมายที่กว้างและ คลุมเครือ ที่ไม่มีใครกล้าไปสะกิดถึงคำสาปที่อยู่ในนั้น แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่มีการจัดพิมพ์ครั้งไหนที่จะช่วยยืนยัน ความจริงของคำสาปอันเป็นตำนานนี้ได้เท่าครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าสำนักพิมพ์อ่านทำได้ดีกว่าสำนักพิมพ์อื่น แต่เป็น เพราะว่าผู้อ่านเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ฟ้าไม่อาจกั้นความจริงได้อีกต่อไปแล้ว การนำมา พิมพ์ใหม่ในที่นี้โดยสำนักพิมพ์อ่านใน พ.ศ.นี้ เป็นการยืนยันพื้นที่ของมัน ว่ามันเป็นตำนานที่มีโครงมาจากเรื่องจริง จากความจริงของสังคมไทยและต้องการให้เราพิมพ์ในรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Critical Edition ในครั้งนี้ คือรวมเอา บทวิจารณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เข้ามาไว้ด้วย ก็คือการยืนยันฐานะของมันที่เป็นมากกว่านิยายที่ไร้ พิษสงสำหรับการอ่านนอกเวลา แต่มันคือการได้บอกว่ามันได้หยั่งรากลึกและมีสถานะที่เอื้อต่อการผลักดันขอบฟ้า ของการวิจารณ์ในสังคมไทย ขอบฟ้าที่ไม่ควรมีใครมีสิทธิ์มาปิดกั้น"

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เริ่มบทเสวนาต่อจากไอดา อรุณวงศ์ ในมุมมองของผู้อ่านฟ้าบ่กั้นมาตั้งแต่เด็ก กับความรู้สึก ที่เปลี่ยนไปทุกครั้งที่ได้อ่าน และมองว่าฟ้าบ่กั้นทำหน้าที่อ่านคนที่กำลังอ่านมันอยู่

"รวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นโดยประสบการณ์ของการอ่านหนังสือเล่มนี้ของผมมันเริ่มมาตั้งแต่สมัยเด็ก มัธยมต้น อายุประมาณ 13 ปี พี่ชายเป็นคนซื้อ เป็นฉบับก่อนที่จะมีสำนักพิมพ์อ่านก็ถือว่าเป็นฉบับที่คลาสสิคมาก ขนาดนักเลงหนังสือด้วยกันคือที่ ส.ศิวรักษ์ สนับสนุนให้ตีพิมพ์และมี อ.เทพศิริ เป็นผู้วาดภาพประกอบ ขนาดก็แตกต่างจากพ็อกเก็ต บุ๊ค ช่วงนั้น และพิมพ์ด้วยกระดาษดีมาก ผมก็อ่านคู่กับปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะขณะนั้นอายุแค่ 13 ปี บางทีผมก็อ่านหนังสือ แต่บางทีหนังสือมันก็อ่านผม แต่ก็จำได้แม่นว่าเรื่องเขียดขาคำ จะติดในความรู้สึกของตัวเองเพราะไม่รู้จักโลกแบบนั้น นั่นเป็นประสบการณ์ การอ่าน"

"หลังจากนั้นก็ได้อ่านอีกหลายครั้ง เคยเอาเรื่องสั้นบางเรื่องของพี่คำสิงห์ไปตีพิมพ์ในวารสาร ของโรงเรียน วารสารใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง ก็แล้วแต่ โดยไม่ได้ขออนุญาตลุงคำสิงห์ หลัง 6 ตุลา มาได้อ่านอีกครั้ง ก็มีการมารวมพิมพ์ใหม่ประมาณปี 2524-2525 ผมได้เขียนบทวิจารณ์ไว้ชิ้นหนึ่งประมาณปี 2530 ความเงียบ ในฟ้าบ่กั้น และก็มาอ่านใหม่อีกเมื่อไม่นานมานี้เขียนลงในวารสารอ่าน เล่าประสบการณ์ส่วนตัว เพราะเป็นประเด็น ที่อยากจะชวนให้ขบคิดเกี่ยวกับเรื่องการอ่านวรรณกรรม บางครั้งวรรณกรรมเป็นฝ่ายอ่านเรา เราไม่ได้เป็นฝ่ายอ่าน อย่างเดียว หนังสืออย่างฟ้าบ่กั้นคนอ่านเยอะมาก บางครั้งคิดว่าคนอ่านถูกหนังสือเล่มนี้อ่านอย่างไรบ้าง"

"คำนำที่ค่อนข้างจะเจียมตนของลุงคำสิงห์ที่พูดในหนังสือฟ้าบ่กั้นที่เป็นภาษาสวีเดน ที่ว่า "ถ้าจะมีความพยายามจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้ก็จะมีฐานะที่เป็นได้เพียงวรรณกรรม แห่งฤดูกาลความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทย"

ชูศักดิ์ กล่าวว่าประทับใจคำนิยามหนังสือของลาว คำหอม ที่บอกว่าเป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาล และได้นำไปขบคิดในหลายแง่มุม รวมทั้งมุมมองของตนเองที่ว่าคำนำของลาว คำหอม เป็นคำนำที่เจียมตน และยังบอกว่าวรรณกรรมฟ้าบ่กั้นไม่น่าจะมีอายุยาวนาน และไม่ใช่วรรณกรรมอมตะ

"ถ้าเรียกให้เข้ากับคำนิยามที่ลุงคำสิงห์ก็น่าจะเรียกว่าวรรณกรรมสามฤดู วรรณกรรมทุกฤดู ก็เหมือนเป็นวรรณกรรมที่สูงส่งมีค่าอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย แต่ลุงคำสิงห์กลับมองฟ้าบ่กั้นในฐานะที่เป็นวรรณกรรม แห่งฤดูกาล ก็คือมีหน้าที่เฉพาะในช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง สังคมหนึ่ง การที่จะทำหน้าที่เป็นตัวบอกของสังคมนั้น โดยหวังว่าเมื่อสังคมนั้น สภาพนั้น หมดสิ้นไป วรรณกรรมนี้ก็จะต้องหมดความหมาย หมดสถานะไป เป็นการเจียมตัว ที่ไม่น่าเชื่อว่านักเขียนคนหนึ่งจะพูดไม่เพียงเฉพาะว่างานของตัวเองมีความหมายแค่เฉพาะกิจ แต่นึกให้ดี ตัววรรณกรรมนั้นมีหน้าที่ที่จะทำลายตัวมันเอง เพราะวรรณกรรมนั้นต้องการจะพูดถึงสังคมนั้นโดยหวังว่าสังคมนั้น จะหมดไป คือพูดถึงความยากไร้ของชาวบ้านโดยหวังว่าตัวหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ความยากไร้นั้นหมดสิ้นไป ซึ่งก็เท่ากับว่าหนังสือเล่มนี้ก็ต้องหมดสถานะไปด้วย ถ้าเราเทียบกับนักเขียนบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะเจียมตน ขนาดนี้ มันจะมีลักษณะอหังการของกวีประเภทไหลหลั่งกวีไว้ชั่วฟ้าดินสมัย คือหวังว่าเขียนงานชิ้นหนึ่ง มันจะอยู่ไปชั่วฟ้าดินสลาย คือหวังว่าเมื่องานของตัวเองตายไปก็หวังว่าชื่อบทกวีก็จะเป็นหลักฐานหรือประจานตนเอง หรือเชิดชูตนเองต่อไป แต่ลุงคำสิงห์มาอีกสำนักหนึ่ง มาจากสำนักที่เจียมตัวมากถึงขนาดหวังว่าวรรณกรรมของ ตัวเองมันจะทำลายชื่อเสียงของตนเองในแง่ที่ว่า ขอให้สังคมเปลี่ยนไปและก็ให้หนังสือมันหมดไปจากสังคมนั้น ไปด้วย ซึ่งมันเหลือเชื่อว่าจะมีคนที่จะถ่อมตัวได้ขนาดนี้ ผมยังทำไม่ได้เลย แล้วกวีเราทุกวันนี้มันตรงข้ามกับ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง"

"ผมอยากจะคิดต่อไปว่าความเป็นอมตะของวรรณกรรม มันอยู่ที่มันเป็นวรรณกรรมแห่งฤดูกาล เวลาเราพูดถึงงานอมตะ งานชิ้นเอก มันพูดถึงความจริงชุดหนึ่งที่สามารถจะเป็นสัจธรรมที่จะอยู่ไปกับมนุษยชาติ ทุกยุคทุกสมัย สำหรับผมวรรณกรรมอมตะคือวรรณกรรมที่จะสามารถอ่านได้ทุกยุคทุกสมัย คนในแต่ละยุคสมัย มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่สามารถมองเห็นคุณค่าและเข้าถึงความสำคัญบางอย่างของวรรณกรรมชิ้นนั้นได้ มันไม่ได้ ประกาศสัจธรรมที่พ้นยุคพ้นสมัยแต่ตัวมันเองต่างหากที่สามารถจะบอกหรือทำให้คนแต่ละยุคสมัยที่ไม่เหมือนกันเข้าใจได้ สามารถอ่านและเอาไปเทียบกับยุคสมัยของเขาเองได้ว่ามันกำลังพูดกับตัวเขา นี่แหละคือวรรณกรรม แห่งฤดูกาล อ่านแล้วกระตุ้น ลากโยง ให้เราเปรียบเทียบกับยุคสมัย ทำให้เข้าใจสังคมในแต่ละยุคที่ต่างกันเพราะ หนังสือเล่มนี้ ที่ช่วยให้มองสังคมแต่ละยุคสมัยด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป"

"ความหมายของหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกต่อไปว่ามันบอกอะไรหลาย ๆ อย่าง อ่านตอน 14 ตุลา 16 ทำให้รู้สึกเข้าใจคนยากคนจนในภาคอีสาน และรู้สึกว่าตัวเองเป็นอภิสิทธิ์ชน ทำให้รู้สึกเห็นใจ คนในยุคสมัยนั้นก็น่า จะอ่านด้วยความรู้สึกแบบนั้น รู้สึกว่ามันเป็นคำร้องทุกข์ของคนยากจนในภาคอีสาน แต่พอผมกลับมาอ่านอีกครั้ง ก่อนเหตุการณ์พฤษภา 35 หนังสือฟ้าบ่กั้นบอกผมต่างไปจากเดิม มันไม่ได้บอกแค่ทำให้ผมรู้สึกเห็นใจ แต่ทำให้เกิด ความคิดความรู้สึก วัฒนธรรมของตัวละครในเรื่อง ซึ่งกำลังต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจที่มาจากส่วนกลาง และทำให้คิดว่า นี่แหละคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้มีลักษณะพิเศษในสายตาผมคือมันไม่ได้มีไว้ให้เราอ่านอย่างเดียว แต่มันกำลังอ่านสังคม และกำลังอ่านคนที่อ่านมันด้วย

ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา คนอ่านฟ้าบ่กั้นเขาอ่านอะไร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าคนที่อ่านหนังสือนี้ถูกหนังสือ อ่านอย่างไร คำนำเชิงวิจารณ์ของ วิทยากร เชียงกูล ปี 2517 บอกว่า งานของลาว คำหอม มีลักษณะเด่นร่วมกัน อย่างหนึ่งคือ สะท้อนภาพชาวบ้านที่ยากไร้ ขมขื่น งมงาย อย่างตรงไปตรงมา และมีอารมณ์ขัน ภาพพจน์ของ  ลาว คำหอม ที่มองชาวชนบทนั้นไม่ใช่แบบชาวเมืองมองชาวชนบท หากแต่เป็นภาพพจน์แบบเห็นอกเห็นใจ เย้ยหยัน ตนเอง"

"นักวิชาการท่านหนึ่งพูดว่า ลาว คำหอม นำเสนอภาพชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยระบบความเชื่อ แบบชาวบ้าน มีความเชื่อถือ ศรัทธา ในผี เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บาป บุญ นรก สวรรค์ ชาตินี้ ชาติหน้า ชาวชนบท จึงยอมจำนนต่อปัญหาชีวิต ไม่ท้าทาย ไม่ทบทวน ตนเอง เพราะมีคำตอบอยู่แล้วในทุกเหตุการณ์"

"นักมานุษยวิทยา และเป็นนักวรรณคดี ค่ายเทวาลัย พูดในทำนองเดียวกันว่าหนังสือเล่มนี้สื่อสภาพ ชนบทให้คนเมืองวิพากษ์วิจารณ์สะท้อนกลับไปให้คนในชนบทได้เห็นความเป็นตัวของตัวเองว่าทำไมเราถึงเป็น อย่างนี้ ทำไมถึงช่วยตัวเองไม่ได้"

"ที่ผมเขียนไว้ในบทวิจารณ์ของผมคือ ปฏิกิริยาในการอ่านแบบนี้มาได้ยังไง ทำไมหนังสือเล่มหนึ่ง ทำให้คนอ่านแล้วมองภาพอย่างนี้ออกมา เรามักจะเชื่อว่าวรรณคดี หนังสือ หรือวรรณกรรม เราอ่านหนังสือก็เพื่อ เปิดขอบฟ้า เปิดโลกทัศน์ ให้กว้างขึ้น เราอ่านเรื่องนู้นเรื่องนี้ทำให้เรารู้จักโลกมากขึ้น บ่อยครั้งที่การอ่านหนังสือ ไม่ได้มีหน้าที่มาเปิดขอบฟ้าหรือเปิดใจให้กว้างขึ้น เราอ่านหนังสือเพื่อยืนยันความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วมากกว่า และเราก็มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ต่างไปจากความเชื่อที่เรามีอยู่ การอ่านทำให้เรามองเห็นโลกได้กว้างขึ้น แต่บ่อยครั้ง เป็นการอ่านเพื่อจะยืนยันความเชื่อเดิมเรามากกว่า ซึ่งวิธีอ่านแบบนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น มันเป็น วิธีการอ่านที่เลือกจะอ่านหรือเลือกที่จะเข้าใจในบางเรื่องที่เราเชื่ออยู่แล้ว และคิดว่าการที่อ่านฟ้าบ่กั้น ในฐานะที่ วาดภาพว่าคนอีสานเป็นคนโง่ จน เจ็บ มันไม่ใช่เพราะตัวหนังสือมันบอกอย่างนั้น แต่เป็นเพราะผู้อ่านต่างหาก ที่เชื่อว่าคนอีสานเป็นเช่นนั้น  คนจำนวนมากยังอยู่ที่เดิมกับการอ่านหนังสือเล่มนี้"

"ผมกลับมาอ่านอีกครั้งปี 2550 คิดต่างไปจากเดิม ถ้าละวางความเชื่อที่ได้จากการอ่านหนังสือ เล่มนี้ว่า คนอีสานโง่ จน เจ็บ ที่ถูกกล่อมหู กล่อมประสาทอยู่ทุกวัน ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ใหม่ด้วยสายตาแบบชาวบ้าน ที่พยายามมองผ่านสายตาตัวละครชาวบ้านในเรื่อง เราจะเห็นมุมที่น่าสนใจมากและเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่ชวนให้ ขบคิดว่าวิธีอ่านที่เราอ่านมา เผลอ ๆ มันเกิดจากอคติของเรามากกว่า และหนังสือเล่มนี้จะเป็นตัวที่มาช่วยตรวจสอบ ตรวจทานอคติของเราเองว่าคนชาวบ้านอย่างนี้มาจากอะไร ซึ่งผมคิดว่าตัวหนังสือได้ทำหน้าที่อ่านเรา เราไม่ได้อ่าน หนังสืออย่างเดียว ถ้าเราถามตัวเองทุกครั้งว่า เอ๊ะ! ทำไมเราได้ข้อสรุปแบบนี้ ทำไมคนอย่างวิทยากร เชียงกูล นักวิชาการจำนวนมาก ถึงได้ข้อสรุปว่าหนังสือเล่มนี้มันพูดถึงคนอีสานที่โง่งมงาย น่าหัวร่อ ถึงแม้จะมีลักษณะ ประชดประชัน ล้อตัวเอง ถ้าไปอ่านใหม่เราจะเห็นมุมที่ตรงกันข้าม ถ้าเราตั้งสติและพยายามอ่านหนังสือ และโดยที่ ให้หนังสือมันอ่าน และระแวดระวังว่าหนังสือกำลังอ่านเราอยู่ด้วย ถ้าทำตัวโง่หน่อยหนังสือมันก็จะบอกมาเองว่า ความโง่คุณอยู่ตรงไหน ปกติเราจะเห็นมุมที่แปลกใหม่ไม่เยอะมาก ท้ายที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้มันเป็นวรรณกรรม แห่งฤดูกาลในความหมายที่อยากให้ใหม่และสามารถอ่านได้ใหม่เรื่อย ๆ และหวังไว้อีกว่า10-20 ปี ผ่านไป คนรุ่นหลัง มาอ่านใหม่ก็จะอ่านหนังสือเล่มนี้ในความหมายที่ต่างออกไปอีก และก็อ่านมันให้ไปสอดคล้องกับสังคมและยุคสมัย ของเขา ซึ่งผมคิดว่าถึงเวลานั้นประเด็นเรื่อง เจ้า ฟ้า ก็คงจะหมดไปแล้ว

 

มุมมองของผู้เสวนาทั้งสองข้างต้นได้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่แห่งคุณค่างานวรรณกรรม ผ่านงานเขียนที่มีความ อ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยหวังให้ผลงานของตนเป็นเพียงวรรณกรรมแห่งฤดูกาล ฤดูกาลแห่งความยากไร้และคับแค้น มีหน้าที่เป็นเพียงตัวบอกสังคมนั้น ๆ เฉพาะช่วงหนึ่ง ยุคหนึ่ง และเมื่อสังคมนั้น สภาพนั้น หมดสิ้นไป วรรณกรรมนั้น ก็จะต้องหมดความหมาย หมดสถานะไปด้วยเช่นกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชายแดนใต้ตายวันละคน เฉลี่ย 3 เหตุต่อวัน ยิงครูชาวนา-พ่อค้า-นายอำเภอ

Posted: 05 Feb 2013 07:39 AM PST

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปสถิติความไม่สงบ เผยในรอบ 5 วันมี 7 เหตุ ตาย 11 เจ็บ 11 ล่าสุดคนร้ายบุกจับมัดมือจ่อยิงพ่อค้าผลไม้ชาวระยองที่กรงปินัง  ดับ 4 ศพ

ในรอบ 5 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากถึง 2 เหตุการณ์ โดยศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4สน.) ระบุว่าในช่วงดงกล่าวมีทั้งหมด 7 เหตุการณ์ รวมผู้เสียชีวิตถึง 11 คน บาดเจ็บ 11 คน

โดยรายล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง เมื่อคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนสงครามและอาวุธปืนพก ยิงพ่อค้ารับซื้อผลไม้เสียชีวิต 4 ราย เหตุเกิดที่สามแยกทางเข้าอำเภอกรงปินัง หมู่ที่ 7 ต.กรงปินังอ.กรงปินังจ.ยะลา

ผู้เสียชีวิต ได้แก่ 1.นายถาวร สุวรรณโชติ อายุ 35 ปี 2.นายสุทัศน์ สมรูป อายุ 38 ปี 3.นายน้องไม่ทราบนามสกุล อายุ 37 ปี 4.นางปุ้ย ไม่ทราบนามสกุล อายุ 25 ปี ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ระยอง เข้ามารับซื้อผลไม้ในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มาตั้งแต่รุ่นบิดา

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี ระบุว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียชีวิตทั้งหมดกำลังนอนพักผ่อนภายในเพิงพัก ซึ่งเป็นที่รับซื้อผลไม้ จากนั้นมีคนร้ายเข้ามาจี้บังคับมัดมือไขว้หลังผู้เสียชีวิตทั้งหมด จากนั้นคนร้ายได้ถามที่เก็บเงิน นายถาวรจึงบอกที่เก็บเงิน แก่คนร้าย ซึ่งก่อนเกิดเหตุนายถาวรเพิ่งเบิกเงินสดจากธนาคารมา 100,000 บาท

"ส่วนลูกจ้างบางส่วนที่เป็นคนในพื้นที่ คนร้ายสั่งให้ให้นอนคว่ำหน้าโดยไม่ทำร้าย จากนั้นคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนพก , ปืน M-16 และ AK-47 ยิงผู้เสียชีวิตดังกล่าว" กอ.รมน.ระบุ

ก่อนหน้านั้นเมื่อเวลา 17.00 น.ของวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 คนร้าย 4-6 คน ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ ตอนครึ่ง สีบรอนซ์เงิน ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่รถยนต์กระบะของนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จ.ปัตตานี ขณะเดินทางไปยัง อ.ยะรัง ทำให้รถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย แต่นายพิศาล พร้อมกับเจ้าหน้าที่ อส.ที่นั่งมาด้วยกันอีก 3 คน ไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากเป็นรถกันกระสุน

นอกจากนี้ กระสุนของคนร้ายยังพลาดไปถูก น.ส.ดารุณี บาเอะ อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 4 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เฉี่ยวบริเวณเข่าซ้าย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เหตุเกิดบนถนนสาย 4061 บ้านจาแบปะ หมู่ที่ 4 ต.ระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

ส่วนกรณีคนร้ายกราดยิงครูชาวนาจากจังหวัดสุพรรณบุรี และสิงห์บุรี เกิดเหตุถนนในหมู่บ้านโต๊ะตีแต หมู่ที่ 2 ต.บาโลย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 11 คน นั้น ขณะนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 ราย โดยอยู่ในห้องไอซียู 2 ราย และถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย คือนายถนอม ขำเกื้อ อายุ 25 ปี เนื่องจากบาดเจ็บสาหัส ร่างกายท่อนล่างยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากกระดูกสันหลังแตกจากการถูกกระสุนปืน

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันดังกล่าว โดยคนร้าย 4 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียน 2 คันใช้อาวุธปืน M-16 และอาวุธปืนพก ขนาด 9 มม. กราดยิง โดยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเดินทางในพื้นที่ตามโครงการเพิ่มศักยภาพนาร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีเป็นผู้รับผิดชอบนำครูฝึกชุดดังกล่าวมาติดตามมาเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านใน อ.ยะหริ่งไปศึกษาดูงานการทำเกษตรกรรมที่ จ.สุพรรณบุรี โดยขณะเกิดเหตุครูชาวนาชุดนี้ จำนวน 13 ราย กำลังเดินทางกลับจากการไถนาในพื้นที่ ด้วยรถยนต์กระบะ 2 คัน เพื่อกลับที่พัก ณ วัดปิยาราม ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง

โดยผู้เสียชีวิต ได้แก่ นายเสน่ห์ ขุนเณร อายุ 55 ปี ชาวต.โพทะเล อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี และนายเอกรินทร์ หอมเชย อายุ 22 ปี ชาว ต.บ้านเจ้า อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี ส่วนผู้บาดเจ็บ ได้แก่ นายสุริยา ปลีแย้ม อายุ 25 ปี นายณรงค์ ปลีแย้ม อายุ 26 ปี นายจรัล กันภัย อายุ 27 ปี นายนิรุต กันภัย อายุ 26 ปี ชาว ต.โพทะเล อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี นายกำพล ขุนเณร อายุ 32 ปี ชาวจ.สิงห์บุรีนายจักรกฤษ อ่าจีน อายุ 23 ปี นายประเสริฐ์ วงษ์สนอง อายุ 29 ปี ชาว ต.วังลึก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี นายถนอม ขำเครือ อายุ 27 ปี ชาว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นายสุภการ ไชยจูมภา อายุ 15 ปี นางยุพิน คงเดิน อายุ 30 ปี ชาว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

จับมือวางระเบิดโรงแรมลีการ์เดนส์ หาดใหญ่
ช่วงบ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ตำรวจสามารถจับกุมนายเจะหมะ วานิ หรือมาค่อม หรือไคโร ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีลอบวางระเบิดโรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ได้ในพื้นที่ หมู่ที่5 บ้านป่ากอ ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา โดยนายเจะหมะ เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่รับผิดชอบก่อเหตุในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนสงขลา และมีหมายจับติดตัว 9 คดี ซึ่งคดีนี้มีผู้ถูกออกหมายจับ 3 คน คือ นายเจะหมะ วานิ นายรุสลัน ใบมะ และนายเสรี แวมามุ

เหตุรุนแรงเดือนมกราฯเฉลี่ยวันละ 3 ครั้ง
ด้านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ.2556 พบว่า เดือนนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นค่อนข้างสูงถึง 117 ครั้ง เฉลี่ยวันละกว่า 3 ครั้ง โดยเป็นการวางเพลิงมากที่สุดถึง 58 ครั้ง ยิง 35 ครั้ง และวางระเบิด 10 ครั้ง ในเดือนนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 32 ราย เป็นราษฎรมากที่สุด 16 คน และเป็นมุสลิมถึง 19 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 47 ราย เป็นทหารมากที่สุด 27 ราย

 

สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม พ.ศ.2556
โดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
(Deep South Watch)
ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 เวลา 12.00 น.

สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำแนกตามศาสนา

เสียชีวิต 32

บาดเจ็บ 47

พุทธ

มุสลิม

พุทธ

มุสลิม

13

19

31

16

 

ข้อมูลสถิติจำแนกตามประเภทเหตุการณ์

ประเภทเหตุการณ์

จำนวนเหตุการณ์

ก่อกวน

1

ก่อกวนสร้างสถานการณ์

2

จักรยานยนต์บอมบ์

1

โจมตี

1

โจมตีฐาน

3

ซุ่มยิง

1

ปิดล้อมและปะทะ

1

พบวัตถุระเบิด

2

พบศพ

1

ยิง

35

ลักทรัพย์

1

วางเพลิง

58

วางระเบิด

10

รวม

117

 

ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำแนกตามภูมิหลัง

ภูมิหลัง

เสียชีวิต

บาดเจ็บ

รวม

ราษฎร

16

13

29

ตำรวจ/ตชด./นปพ.

2

0

2

ทหาร

4

27

31

ครู/บุคลากรทางการศึกษา

1

0

1

อบต/อบจ

1

2

3

กำนัน/ผญบ/ผชบ

2

1

3

ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

1

0

1

ลูกจ้างของรัฐ

3

2

5

เยาวชนไม่เกิด 15 ปี

1

2

3

คนร้าย

1

0

1

รวม

32

47

79

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เทศกาลโบกธงพรรค’ รับเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย ครั้งที่ 13 (PRU 13)

Posted: 05 Feb 2013 07:26 AM PST

เริ่ม 'เทศกาลโบกธงพรรค' รับเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย ครั้งที่ 13 (PRU 13) เปิดขุมพลัง 2 กลุ่มคู่ต่อสู่ทางการเมือง ระหว่าง "แนวร่วมแห่งชาติหรือ Barisan National (BN)" กับ "Pakatan Rakyat (PKR) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชน"

ในช่วงนี้หลายคนที่มีโอกาสได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียคงรูสึกตื่นตาตื่นใจกับภาพธงหลากหลายสีสันที่ถูกประดับประดาตามท้องถนนเกือบทุกหนแห่ง รวมทั้งตึกรามบ้านช่องและคงอดสงสัยไม่ได้เลยว่า มันคือธงอะไรกันน่ะ แล้วช่วงนี้มาเลเซียเขามีเทศกาลอะไรกันหรือ?

ธงที่ถูกประดับประดาตามท้องถนนนั้น มันคือสัญญาณบ่งบอกว่า การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว ทุกพรรคการเมืองจะแข่งกันติดธงของพรรคเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งให้ดูคึกคัก และยังช่วยโปรโมทพรรคของตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย และนี่ยังเป็นตัวชี้วัดองศาความร้อนแรงทางเมืองในประเทศมาเลเซียได้อย่างดี

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 13 แล้ว มีชื่อย่อสั้นๆว่า PRU 13 ซึ่งย่อมาจาก Pilihan Raya Umum Ke13 (การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13) ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายในกลางปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เพราะ ตามกฎหมายของมาเลเซียกำหนดว่า จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในทุกๆ 5 ปี หรือไม่ก็รัฐบาลประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ และหลังจากนั้นภายใน 60 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น

นั่นหมายความว่า วันที่ 8 มีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นวันครบรอบ 5 ปีของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของมาเลเซีย คือครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2551 นั่นเท่ากับว่าอย่างช้าที่สุด การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียก็จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศมาเลเซีย

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ที่จะถึงนี้ มีกลุ่มพรรคการเมือง 2 กลุ่มใหญ่ที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คือ

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ หรือ Barisan National (BN)
กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติหรือ Barisan National (BN) ประกอบด้วย พรรค United Malays National Organization (UMNO) หรือพรรคอัมโน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ

พรรคอัมโนก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1946 ถือเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย และเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอด ปัจจุบันพรรคนี้มี ดาโต๊ะซือรี นาจิบ ตุนราซัค (Datuk Seri Najib Tun Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน เป็นหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ยังมีพรรค Malaysian Chinese Association (MCA) หรือพรรคเอ็มซีเอ ก่อตั้งเมื่อ ปี ค.ศ.1949 สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ปัจจุบันมี ดาโต๊ะซือรี ดร.ชัว ซอย เล๊ก (Dato' Seri Dr.Chua Soi Lek) เป็นหัวหน้าพรรค พรรคเอ็มซีเอ ถือเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญต่อกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ รองลงมาจากพรรคอัมโน

พรรค Malaysian Indian Congress (MIC) หรือพรรคเอ็มไอซี ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1946 สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย ปัจจุบันมี ดาโต๊ะซือรี จี พารานีเวล (Datuk Seri G. Palanivel) เป็นหัวหน้าพรรค พรรคเอ็มไอซี ถือว่าเป็นอีกพรรคหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ ยังมีพรรคขนาดรองลงมาที่เป็นสมาชิกของกลุ่มอีกหลายพรรค ได้แก่ พรรค Malaysian People's Movement Party (GERAKAN) พรรค People's Progressive Party (PPP) พรรค United Bumiputera Heritage Party (PBB) พรรค Sarawak United People's Party (SUPP) พรรค Sabah United Party  (PBS) พรรค Liberal Democratic Party (LDP) พรรค United Sabah People's Party (PBRS) พรรค United Pasokmomogun Kadazandusun Murut Organisation (UPKO) พรรค Sarawak Progressive Democratic Party (SPDP) และพรรค Sarawak People's Party (PRS)

กลุ่ม Pakatan Rakyat (PKR) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชน
กลุ่ม Pakatan Rakyat (PKR) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชน เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่จะลงท้าชิงตำแหน่งรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ กลุ่มพีเคอาร์ประกอบด้วย 3 พรรคการเมือง ดังนี้

พรรค Keadilan Rakyat (KEADILAN) หรือพรรคกืออาดีลัน เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1990 สมาชิกในพรรคกืออาดีลันส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายมลายู รองลงมาคือชาวมาเลย์เชื้อสายจีน โดยมี ดาโต๊ะ ซือรีอันวาร์ อิบราฮิม (Dato' Seri Anwar Ibrahim) ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หากกลุ่มพีเคอาร์ได้รับชัยชนะ นายอันวาร์ อิบราฮิม อาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อไป

พรรค Democratic Action Party (DAP) หรือ พรรดดีเอพี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1966 สมาชิกพรรคดีเอพี ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายจีนและอินเดีย โดยรัฐปีนังถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคดีเอพี ปัจจุบันพรรคดีเอพีมี นายการ์ปาล ซิงห์ (Karpal Singh) เป็นหัวหน้าพรรค

พรรค Parti Islam Semalaysia (PAS) หรือพรรคปาส ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1956 เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดจัดตั้งมาเลเซียให้เป็นรัฐอิสลาม ใช้กฎหมายชารีอะฮฺหรือหลักนิติศาสตร์อิสลามเป็นรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ สมาชิกพรรคปาสทั้งหมดจึงเป็นชาวมุสลิม และแกนนำพรรคส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นำศาสนาหรือไม่ก็ครูสอนศาสนาอิสลาม

รัฐกลันตันถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สุดของพรรคปาส รองลงมาคือรัฐเคดาห์ พรรคปาสมี ดาโต๊ะซือรี ตวนฆูรู ฮัจยีอับดุลฮาดี อาวัง (DATO' SERI TUAN GURU HAJI ABDUL HADI AWANG) เป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันและมีต่วนฆูรูดาโต๊ะ ฮัจยีนิคอาซิส นิคมัต (Tuan Guru Dato' Bentara Setia Haji Nik Abdul Aziz Bin Nik Mat) เป็นผู้นำจิตวิญญานสูงสุด 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสื้อแดง จี้อธิบดีศาลฯ ขอโทษ-ลาออก หลังขู่เอาผิดผู้วิจารณ์คำตัดสิน “สมยศ”

Posted: 05 Feb 2013 03:21 AM PST

แนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชนและแดงอิสระ 26 จังหวัด ยื่น จม.เปิดผนึก จี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขอโทษ-ลาออก กรณีขู่เอาผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผู้วิจารณ์ผลการตัดสินคดี "สมยศ" ชี้เป็นการคุกคามต่อเสรีภาพทางความคิดในการตรวจสอบฝ่ายตุลาการ ยันประชาชนทุกคนต้องวิจารณ์ศาลได้ เสนอปฏิรูปศาลเป็นระบบลูกขุน

ภาพผู้ชุมนุมชูป้ายบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

4 ก.พ.56 เวลา 11.00 น. เสื้อแดงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน(นปป.)และเสื้อแดงอิสระ 26 จังหวัด ประมาณ 150 คน จัดกิจกรรมในชื่อ "ยุทธการ  ยกพลเข้าเมืองหลวง ทวงคืนอำนาจอธิปไตย(ทางศาล)"  รวมตัวกันที่หน้าห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว  ริมถนนพหลโยธิน จากนั้นเวลา 13.10 น. ได้เดินทางมาที่หน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเรียกร้องให้ออกมาแถลงขอโทษหรือลาออกจากการที่ออกมาโต้และขู่เอาผิดฐานละเมิดอำนาจศาลผู้ที่วิจารณ์ผลการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกลุ่มดังกล่าวชี้ว่าพฤติกรรมของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพทางความคิดในการตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายตุลาการ

หลังจากยื่นจดหมายกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแล้ว กลุ่มดังกล่าวได้เคลื่อนมาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และยุติการชุมนุมในเวลา 16.10 น.

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ตัวแทนแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน(นปป)

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ตัวแทนแนวร่วมประชาธิปไตยภาคประชาชน(นปป.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้อธิบดีศาลอาญาขอโทษต่อประชาชนหรือไม่ก็ลาออก กรณีจากบทคำสัมภาษณ์ของท่านที่กล่าวต่อสื่อมวลชน ถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการวิจารณ์การทำงานของฝ่ายตุลาการ เช่น ที่ออกมากล่าวว่าคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้นั้นต้องไม่มีอคติ นั่นหมายความว่าจะยอมรับการวิจารณ์ในทางที่เห็นด้วยอย่างเดียว เท่ากับปิดปากประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

"คำที่ท่านอ้างว่าถ้าแสดงความเห็นในทางวิชาการจะไม่เอาความนี้ ก็เท่ากับว่าการใช้เสรีภาพนั้นไม่เท่าเทียม ประชาชนทั่วไปย่อมจะมีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ และการใช้อำนาจในศาลนั้นก็ล่วงแล้ว หมายความว่ามีผลการพิจารณ์คดีออกมาสิ้นสุดแล้ว ดังนั้นการใช้เสรีภาพเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ท่านออกมาพูดว่าคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์จะต้องเป็นนักวิชาการเท่านั้น  เท่ากับไปปิดปากชาวบ้าน คนไม่รู้หนังสือ หรือคนที่มีการศึกษาที่แตกต่างออกไป จึงไม่มีสิทธิจะมาพูดถึงศาล เรื่องนี้ผมว่ามันขัดต่อหลักอธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล ได้กล่าวปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุมและผู้ที่สัญจรผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯ ด้วยว่า "ถ้าประชาชนไม่ออกมายันการรุกคืบของการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการ ประชาชนเราก็จะเสียพื้นที่ไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมายันกับอำนาจตุลาการนี้"

ภาพผู้ชุมนุมชูป้ายบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

นายนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องนำวงไฟเย็น ผู้ร่วมกิจกรรมกล่าวปราศรัยด้วยว่า จากคำพิพากษา สมยศ พฤกษาเกษมสุข มันบ่งบอกอะไรบางอย่างได้ชัดเจน มันไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ขังคนคิดต่างเป็นสิบๆ ปี คดีค้ายา คดีฉ้อโกง  ได้ประกันทันที แต่ สมยศ เป็นบรรณาธิการ เอาบทความมาลง โดนตัดสินจำคุก 11 ปี องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต่างประณามคำพิพากษานี้ แต่ฟรีทีวีสื่อไทยไม่มีออก มีพี่น้องคนไหนได้เห็นข่าว

นายนิธิวัต ได้เสนอการปฏิรูประบบศาลให้เป็นแบบระบบลูกขุน โดยเขามองว่า อำนาจของตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งระบบลูกขุนมันเป็นการที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้ทำหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมออกความคิดเห็นและก็เรื่องหลักกฎหมาย ประชาชนมีโอกาสเลือกก็ดีกว่าประชาชนไม่มีโอกาสเลือก

"โดยทั่วไปสังคมจะไปตีความว่าเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ แต่ว่าโดยหลักเริ่มต้นที่การมีพระราชอำนาจ คือการใช้พระราชอำนาจแทนประชาชนทั้งประเทศ แต่ในเมื่อปัจจุบันประชาชนเริ่มออกมา เริ่มรู้สึกว่า ศาลทำหน้าที่แปลกไป หรือไม่อย่างไร หรือว่าไม่ยึดโยงในหลักการ ที่นี้เราก็ตั้งคำถามว่า ควรจะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นไหม คือในเมื่ออำนาจมาจากประชาชน ก็ให้ประชาชนมีสิทธิได้ร่วมใช้อำนาจอธิปไตยนี้โดยตรงดีกว่าคือเอาอะไรมาบอกว่าจากการที่เราไม่มีโอกาสได้เลือก ดีกว่า ประชาชนมีโอกาสได้เลือก" นายนิธิวัต กล่าว

สำหรับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ออกมาแสดงว่าเห็นกรณีมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย และคณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในวงกว้างในเว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับผลการตัดสินคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลย อดีต บก.นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ คดีหมิ่นเบื้องสูง โดยนายทวี  ได้กล่าวว่า "การจะวิจารณ์องค์กรตุลาการของไทยสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริต อย่ามีอคติ และเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็น ธรรมศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวนเพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏทางเว็บไซต์ ซึ่งการที่ศาลตัดสินลงโทษนายสมยศ กระทงละ 5 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้วอยู่ระหว่างอัตราโทษต่ำสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 ปี และสูงสุดคือ 15 ปี"

จดหมายเปิดผนึกถึงนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา :

ภาพบรรยากาศกิจกรรม :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกคำบอกเล่าจำเลย: 'พินิจ จันทร์ณรงค์' จากแรงงานต่างประเทศ สู่ นักโทษคดีเผา CTW

Posted: 05 Feb 2013 12:46 AM PST

 

พินิจ จันทร์ณรงค์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (Central World – CTW) เหตุเกิดเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เขาถูกจับกุมตัวที่ลานจอดรถของห้าง ทุกวันนี้เขาอยู่ที่เรือนจำพิเศษหลักสี่ร่วมกับผู้ต้องขังเสื้อแดงในคดีเกี่ยวเนื่องทางการเมืองคดีอื่นๆ

คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์นี้มีผู้ต้องหาร่วมกันอีกคนหนึ่งคือ สายชล แพบัว รวมถึงเยาวชนอีก 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวและต่อมาศาลเยาวชนได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 12 ธันวาคม 2555  (อ่านที่ศาลยกฟ้อง 2 เยาวชน จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าตัววอนเยียวยา "เรียนและงาน") เยาวชนทั้งสองยังโดนข้อหาปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ด้วย แต่ภายหลังศาลก็สั่งยกฟ้องเช่นกัน (อ่านที่ยกฟ้อง 2 เยาวชน คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 53-ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอกำหนดโทษ 1 ปี) ขณะที่คดีปล้น จำเลยที่เป็นผู้ใหญ่อีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 คนถูกขังยาว 1 ปีครึ่งก่อนศาลจะพิพากษายกฟ้อง (อ่านที่ยกฟ้อง! เสื้อแดงปล้น CTW ฝ่าฝืนพ.ร.ก.สั่งจำคุกครึ่งปี หลังถูกขังปีครึ่ง)

วันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้คดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้น ก่อนนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น.

เราคุยกับสายชลผู้ต้องหาร่วมในคดีนี้ไปแล้ว (อ่านที่ บันทึกคำบอกเล่าจำเลย: สายชล แพบัว ) และครั้งนี้เป็นการพูดคุยกับพินิจ ทั้งหมดเป็นเพียงคำบอกเล่าของเขา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้พูดกับสังคม ส่วนที่เหลือนั้นคงขึ้นกับวิจารณญาณผู้อ่าน

 

พินิจ จันทร์ณรงค์ เป็นชาว อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2527 ฐานะทางบ้านแม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ยากจน เขาชอบที่จะทำงานหารายได้มากกว่าเรียนหนังสือ หลังจากที่เขาจบการศึกษาชั้น ม.3 จาก ร.ร.หนองบัวแดงวิทยาคม เขาจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพโดยอาศัยอยู่กับน้าและทำงานเป็นพนักงานในโรงงานขนาดเล็กผลิตภาชนะพลาสติกแห่งหนึ่งแถวหนองแขม ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำงานของน้าโดยมีได้รายได้เพียงวันละ160 บาท

1 ปีผ่านไปรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายเขาจึงลาออก และกลับไปเรียนต่อปวช.สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิจนสำเร็จการศึกษาเขาเดินทางไป จ.อยุธยาเพื่อทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งใน อ.วังน้อยโดยทำหน้าที่ Quality Assurance (QA) เขาเช่าห้องอยู่คนเดียวโดยมีได้รายได้เพียงวันละ180 บาท

8 เดือนผ่านไปรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายเขาจึงลาออกอีกครั้ง ครั้งนี้บิดาของเขาแนะนำให้เขาเรียนเรียนวิชาชีพช่างไม้เพื่อที่จะได้ไปขุดทองที่ต่างประเทศ เขาจึงเรียนวิชาชีพช่างไม้ในโรงเรียนฝึกอาชีพแห่งหนึ่งแถวดอนเมือง แม้จะใช้เวลาเรียนเพียง3 เดือนแต่ค่าเล่าเรียนสูงถึง 100,000 บาททางบ้านยอมกู้เงินเพื่อให้เขาเรียนเพราะหวังให้เขาไปขุดทองที่ต่างประเทศ(โรงเรียนแห่งนี้รับรองผลผู้ที่จบการศึกษาจะได้ไปทำงานต่างประเทศ)

หลังจบการศึกษาเขาเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อทำงานในโรงงานผลิตท่อสแตนเลสสำหรับใช้ในโรงกลั่นน้ำมันโดยทำสัญญาการจ้างงานเป็นเวลา1 ปี เขามีรายได้วันละ 35 ดอลล่าสิงคโปร์(ประมาณกว่า800 บาท) และได้ค่าล่วงเวลา(OT) อีกชั่วโมงละ 5 ดอลล่าสิงคโปร์ (ประมาณกว่า100 บาท) ระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่นี่เขาอาศัยอยู่ในย่านชุมชนชาวไทยในสิงคโปร์ทุกเดือนเขาจะส่งเงินกลับบ้านประมาณ 10,000 บาท

ที่แห่งนี้แม้จะมีรายได้สูงกว่าประเทศไทยมากแต่เขาก็ทนคิดถึงบ้านไม่ไหว หลังครบสัญญา 1 ปีแม้โรงงานจะให้เขาต่อสัญญาอีกแต่เขาก็ปฏิเสธ และเลือกที่จะกลับประเทศไทย แต่ก่อนที่จะกลับประเทศไทยเขาได้จดรายละเอียดการรับสมัครงานของบริษัทหลายแห่งของที่นี่ (ป้ายรับสมัครงานคนไทยมีติดตามร้านค้าย่านชุมชนชาวไทยในสิงคโปร์) เผื่อว่าในอนาคตเขาจะกลับมาทำงานที่นี่อีกครั้งเขากลับประเทศไทยพร้อมกับเงินเก็บกว่า 100,000 บาท

หลังจากที่เขากลับมาอยู่จ.ชัยภูมิเขาทำงานที่ Index Living Mall ในอ.เมืองโดยมีได้รายได้เพียงวันละ 200 บาทระยะทางที่ห่างไกลเขาจึงต้องอาศัยอยู่ในอ.เมือง โดยเช่าห้องอยู่คนเดียวหลายเดือนผ่านไป เขาคิดที่จะกลับไปทำงานที่สิงคโปร์อีกครั้งการสมัครงานครั้งนี้ง่ายกว่าครั้งก่อน เพราะไม่ต้องเสียค่านายหน้าเขาเขียนจดหมายสมัครงานโดยตรงกับบริษัทที่รับสมัครงานในสิงคโปร์

เดือนเม.ย. 53 มีการชุมนุมที่หน้าศาลากลาง จ.ชัยภูมิเป็นการชุมนุมหลังการสลายการชุมนุม10 เม.ย. 53 เขารู้สึกไม่พอใจที่ทหารใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมดังนั้นเขาและพี่ชายจึงเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมด้วยหลายวันโดยร่วมชุมนุมหลังจากเลิกงานมีแกนนำท้องถิ่นหลายคนระดมคนเข้าไปในกรุงเทพ เขาและพี่ชายจึงเดินทางเข้ากรุงเทพด้วยโดยเสียค่าเดินทาง 400 บาท พวกเขาต้องเช่ารถแท็กซี่เพราะขึ้นรถที่แกนนำฯจัดไว้ไม่ทัน

เมื่อเดินทางมาถึงสี่แยกราชประสงค์เขาและพี่ชายอาศัยอยู่กับเต็นท์ของจ.ชัยภูมิ เขาและพี่ชายชอบเดินไปทั่วบริเวณทั้งใน-นอกสี่แยกราชประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนุม เขาและพี่ชายปักหลักอยู่ที่นี่ตลอดจนถึงวันที่19 พ.ค. 53 แม้รัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่พวกเขาก็ไม่ยอมออก เขาและพี่ชายอยู่ร่วมในเหตุการณ์โดยตลอดและยืนยันว่าเหตุการณ์การยิงเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 53 แล้ว

ในวันที่19 พ.ค. 53 หลัง ศอฉ. สลายการชุมนุมและแกนนำ นปช. มอบตัวแล้วตอนนั้นเขาอยู่ที่ศาลาแดง (ถ.สีลม) ส่วนพี่ชายของเขาอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ หลังจากที่เขาทราบข่าวแกนนำนปช. มอบตัวจากเครื่องกระจายเสียงเขาก็รีบเดินทางกลับมาที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อตามหาพี่ชายที่วัดปทุมวนาราม เพราะตอนนั้นแกนนำ นปช. ประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าไปหลบในวัดปทุมวนาราม

เขาเดินเท้ามาถึงวัดปทุมวนารามเวลาประมาณ 12.00 น. เขาพยายามตามหาพี่ชายในวัดปทุมวนารามเป็นเวลากว่า1 ชม. แต่ก็ไม่พบเขาพยายามโทรศัพท์หาพี่ชายหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีสัญญาณเขาได้ยินเสียงปืนตลอดเวลาบริเวณถนนด้านหน้าวัดปทุมวนาราม

ผู้ชุมนุมทยอยเข้ามาในวัดปทุมวนารามมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายในวัดแน่นขนัด ผู้ชุมนุมบางคนบอกกับเขาว่าผู้ชุมนุมหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวไป รพ.ตำรวจ (ฝั่งตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์) เขาจึงตัดสินใจที่จะเข้าไปในรพ.ตำรวจเพื่อตามหาพี่ชายตอนนั้นเสียงปืนดังลั่นไปทั่วผู้ชุมนุมจำนวนมากพยายามหลบเข้าไปในรพ.ตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ รพ.ตำรวจปิดประตู เขาพยายามปีนรั้วเข้าไปแต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ลงมา

เสียงปืนยังคงดังสนั่น เขาก้มหมอบลงกับพื้นและคลานไปหลบหลังเสาของรถไฟฟ้าBTS ด้วยความกลัวเขาจึงพยายามหาที่หลบภัยแห่งใหม่ที่ปลอดภัยกว่า จึงคลานเลาะมาทางเซ็นทรัลเวิลด์ (ด้านทางออกจากลานจอดรถข้างวัดปทุมวนาราม) ตอนนั้นเขาคิดจะกลับเข้าวัดปทุมวนารามอีกครั้ง แต่เห็นคนเสื้อแดงหลายคนตะโกนบอกว่าไม่ต้องเข้ามา ดังนั้นเขาจึงต้องเดินเข้าไปหลบในช่องที่รถออกจากลานจอดรถของเซ็นทรัลเวิลด์ เขายืนยันว่าเวลานั้นเซ็นทรัลเวิลด์ยังไม่เกิดเพลิงไหม้

เมื่อเดินเข้าไปในลานจอดรถชั้นใต้ดินของเซ็นทรัลเวิลด์ เขาก็ต้องรู้สึกแปลกใจเพราะไม่เห็นใครอยู่ในนี้เลยแม้แต่คนเดียว ทางเดินมืดมาก เขาเดินเข้าไปที่บันไดด้านข้าง ทันใดนั้นมีตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเขา

ตำรวจถามว่าเขามาทำอะไรที่นี่เขาตอบว่า "มาซ่อนตัว" ตำรวจสั่งให้เขาหมอบลงกับพื้นเขาปฏิบัติตาม หลังจากนั้นตำรวจค้นตัวของเขาโดยละเอียดแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด จากนั้นตำรวจบอกว่าให้ตามมาเพราะเดี๋ยวจะมีรถมารอรับที่ชั้น 3

เขาเดินตามตำรวจขึ้นบันไดลานจอดรถเมื่อถึงชั้น 3 ตำรวจหันหน้ามาบอกกับเขาว่า"เดี๋ยวรัดสายข้อมือนะ"

ตำรวจเอาสายรัดข้อมือพลาสติกมารัดข้อมือทั้งสองข้างของเขาไพล่หลังตำรวจพาเขาเดินลึกเข้าไปด้านในของลานจอดรถเขาเห็น รปภ.เซ็นทรัลเวิลด์กว่า300 คนอยู่ด้านในเมื่อเขาเดินผ่านกลุ่ม รปภ. เหล่านั้นรปภ. หลายคนถ่ายรูปของเขาไว้

 

พินิจ (เสื้อเขียว)ขณะถูกจับกุม (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

 

ตำรวจพาเขาเดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง เป็นห้องขนาดเล็กมีประตูกระจก เขาเห็นตำรวจ 4-5 คนกำลังยืนรออยู่ตำรวจที่พาเขามาเดินจากไปส่วนตำรวจที่รออยู่สั่งให้เขาหมอบลงกับพื้น แต่ครั้งนี้เขารู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลจึงไม่ยอมหมอบ ตำรวจจึงแตะขาพับของเขาจนเขาต้องทรุดเข่าลง แต่ยังไม่หมอบลงกับพื้น ตำรวจคนหนึ่งจึงเหยียบที่หลังของเขาจนเขาต้องหมอบลงกับพื้นตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าเงินของเขา

ตำรวจสั่งให้เขาถอดเสื้อออกแต่เขาถอดไม่ได้ เพราะมือถูกมัดอยู่ตำรวจคนหนึ่งใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าช็อตที่เอวด้านซ้ายของเขา 1 ทีเขารู้สึกชาไปทั้งตัวจนไม่สามารถขยับตัวได้ หลังจากนั้นตำรวจคนดังกล่าวหยิบมีดคัทเตอร์ออกมาแล้วใช้มีดคัทเตอร์กรีดเสื้อยืดของเขาที่ตรงกลางเสื้อด้านหลังเสื้อจากหลังคอลงไปถึงเอว เขาไม่สามารถถอดเสื้อได้เพราะติดมือที่ถูกสายรัดอยู่เสื้อจึงต้องห้อยอยู่อย่างนั้น รปภ. คนหนึ่งเทน้ำจากขวดน้ำดื่มรดตั้งแต่หัวของเขาลงไปถึงเอว

 

พินิจ ขณะถูกจับและมีดคัทเตอร์กรีดเสื้อยืด (ภาพจาก ศปช.)

 

ตำรวจสั่งให้ลุกขึ้นแต่เขาลุกไม่ไหว เนื่องจากยังชาจากการถูกช็อตไฟฟ้า รปภ. ช่วยพยุงเขาลุกขึ้นมาและพาออกจากห้องเพื่อไปรวมกับกลุ่มคน 4-5 คนที่นั่งรออยู่ด้านนอกทั้งหมดถูกหมัดมือไพล่หลังเช่นเดียวกับเขาโดยผู้ชาย3 คนไม่สวมเสื้ออีก2 คนแต่งกายเป็นผู้หญิงจึงไม่ได้ถอดเสื้อ(เขามาทราบภายหลังว่าผู้ชาย3 คนที่ไม่สวมเสื้อคือคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม, พรชัย โลหิตดีและ ยุทธชัย สีน้อย ส่วน 2 คนที่แต่งกายเป็นหญิงคือเจียมทองมา และ อาทิตย์ เบ้าสุวรรณ) เขาเป็นเพียงคนเดียวที่สวมเสื้อที่ขาดด้านหลังเขาสังเกตเห็นตำรวจถือกระสุนปืน1 พวงด้วย

 

ตำรวจถือกระสุนปืน 1 พวง (ภาพจาก ศปช.)

 

ระหว่างนั้นมีผู้ชายอีก3 คนถูกมัดมือไพล่หลังไม่สวมเสื้อทยอยเข้ามา(เขามาทราบภายหลังว่าผู้ชาย3 คนคือวิศิษฐ์ แก้วหล้า, ภาสกร ไชยสีทา และ อัตพล วรรณโต) พวกเขานั่งรออยู่ไม่นานมีรถปิคอัพมารับพวกเขาทั้งหมดออกจากลานจอดรถ เขาสังเกตเห็นคราบเลือดแห้งกรังอยู่บนพื้นของรถปิคอัพคันนั้น

ทั้ง 9 คนถูกพาตัวออกมาจากเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อไปยังทางรถออกจากลานจอดรถของห้างสยามพารากอนรถจอดอยู่ที่ข้างน้ำตกพวกเขาถูกนำตัวลงจากรถเพื่อไปนั่งอยู่ใกล้ๆกับกลุ่มผู้ชาย 4-5 คนที่นั่งรออยู่ก่อนหน้านี้ พวกเขาถูกมัดมือไพล่เช่นเดียวกันเขาสังเกตเห็นทหารจำนวนมากยืนอยู่เต็มพื้นที่เขายืนยันว่าเวลานั้นเซ็นทรัลเวิลด์ยังไม่เกิดเพลิงไหม้

ตำรวจสอบถามรายชื่อของพวกเขาทุกคนรวมทั้งผู้ถูกจับกุมที่นั่งรออยู่ริมน้ำตกห้างสยามพารากอนเพื่อทำประวัติ หลังจากนั้นเขาและผู้ถูกจับกุมทั้งหมดประมาณ 13-14 คนถูกพาขึ้นรถคุมขังของตำรวจรถคุมขังของตำรวจขับผ่านด่านทหารที่กำลังดูแลพื้นที่ทหารตรวจสอบใบผ่านทางอย่างละเอียด ก่อนที่จะปล่อยให้รถคุมขังของตำรวจผ่านไปรถคุมขังของตำรวจนำพวกเขาทั้งหมดไปสน.ปทุมวัน

เมื่อถึงสน.ปทุมวันพวกเขาลงจากรถ และถูกแยกสอบสวนเป็น2 ห้อง(ห้องแรกคือเขาและผู้ถูกจับกุมที่ลานจอดรถเซ็นทรัลเวิลด์รวม9 คนห้องที่2 คือกลุ่มผู้ถูกจับกุม4-5 คนที่นั่งรออยู่ริมน้ำตกห้างสยามพารากอน) ตำรวจสน.ปทุมวันตัดสายรัดข้อมือของพวกเขา คืนโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าเงินให้กับพวกเขา หลังจากสอบสวน และทำประวัติเสร็จตำรวจคืนเสื้อผ้าที่ยึดไปจากพวกเขาก่อนหน้านี้ให้กับพวกเขา

ตำรวจหาเสื้อตัวหนึ่งมาให้เขาเปลี่ยนเขาได้ยินตำรวจคุยกันว่าจะแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับพวกเขาทั้งหมดหลังจากนั้นพวกเขาถูกพาตัวไปถ่ายรูปและพิมพ์ลายนิ้วมือเมื่อผ่านไปถึงคนที่7 ตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามา

"คุมตัวพวกเขาไว้ก่อน"

"ทำไม"

"รองไก่สั่งมา"

ตำรวจที่กำลังทำประวัติเดินออกไปประชุมกับตำรวจที่เพิ่งเข้ามาในห้องข้างๆ ทิ้งให้พวกเขาทั้งหมดรออยู่ในห้อง หลังจากนั้นไม่นานมีตำรวจคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมถือกระสุนปืน 1 พวงที่เขาเห็นที่ลานจอดรถเซ็นทรัลเวิลด์ก่อนหน้านี้เข้ามาในห้องสอบสวนแล้วถามว่า"ของใครวะ"

พวกเขาทั้งหมดเงียบกริบไม่มีใครรับ

"งั้นก็รับหมดทั้ง 9 คนก็แล้วกัน" ตำรวจว่า

ตำรวจเดินออกไปจากห้องสอบสวนพร้อมกระสุนปืน สักพักตำรวจอีกคนเดินเข้ามาพร้อมกระสุนปืนพวงเดิมและถามหาเจ้าของอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีใครรับเหมือนเดิม ตำรวจรายเดิมบอกว่าดูหน้าผู้ต้องหาแล้วไม่น่ามีใครมีปืน แต่เขาก็ยังคงแจ้งข้อกล่าวหา "งั้นตามเวรตามกรรมแล้วกัน มีแค่กระสุนปืนจะทำอะไรได้ เป็นไพร่ก็แบบนี้แหละ"

ตำรวจแนะนำให้พวกเขาไม่ต้องพูดอะไรรอให้การในศาลเท่านั้น และให้พวกเขาลงลายมือชื่อปฏิเสธ พวกเขาทั้งหมดนั่งรออยู่ในห้องสอบสวนเขาโทรศัพท์หาพี่ชายอีกครั้ง ครั้งนี้พี่ชายเขารับสายและบอกว่ายังติดค้างอยู่ที่วัดปทุมวนารามซึ่งยังมีเสียงปืนไม่หยุดหย่อน ขณะที่เขาแจ้งพี่ชายไปว่าเขาอยู่โรงพักจากนั้นเขายื่นโทรศัพท์มือถือให้กับตำรวจตำรวจแนะนำให้พี่ชายของเขาหาที่หลบกระสุนในวัดปทุมวนาราม

เวลาเกือบ 1 ทุ่มพวกเขาถูกส่งตัวเข้าห้องขังในห้องขังมีผู้ถูกคุมขังกว่า 20 คนรวมทั้งผู้ถูกจับกุม 4-5 คนที่เขาเห็นที่น้ำตกห้างสยามพารากอนหลังจากนั้นก็มีผู้ถูกจับกุมทยอยเข้าห้องมาเรื่อยๆ คืนนั้นมีผู้ถูกคุมขังอยู่ในห้องกว่า 40 คนระหว่างนั้นตำรวจเรียกผู้ถูกคุมขังออกมาจากห้องทีละคนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เขาและผู้ถูกจับกุมที่ลานจอดรถเซ็นทรัลเวิลด์ถูกแจ้งของข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ, ขัดขวางเจ้าหน้าที่และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เช้าวันรุ่งขึ้นมีผู้หญิงคนหนึ่งมาเยี่ยมที่ห้องขัง เธอบอกกับพวกเขาว่าจะช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวทั้งหมดกว่า 40 คน หลังจากนั้นพวกเขาทั้งหมดถูกส่งฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลาง

หลังจากที่เขาอยู่ในแดน 6 ประมาณ 1 เดือน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีคนหนึ่งมาเยี่ยมเขาที่เรือนจำ ตำรวจคนนี้บอกว่า มาช่วยราชการที่ สน.ปทุมวันตำรวจนำรูปถ่ายของคน 9 คนมาให้เขาดูและถามเขาว่ารู้จักใครหรือไม่แต่เขาปฏิเสธ

ตำรวจนำรูปถ่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการวางเพลิงที่ตำรวจยึดได้จากเซ็นทรัลเวิลด์มาให้เขาดูและถามว่า ใช่ของเขาหรือไม่เขาก็ปฏิเสธเช่นเดิมหลังจากนั้นตำรวจจึงให้เขาลงลายมือชื่อในเอกสารเพื่อปฏิเสธ

ผ่านไปประมาณ 3 เดือนเจ้าหน้าที่จาก DSI มาพบเขาที่เรือนจำเขาเดินออกมาแดน 6 เพื่อไปยังห้องสอบสวนซึ่งอยู่ด้านข้างห้องเยี่ยมผู้ต้องหาวันนั้นเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นหน้าของสายชล แพบัว ซึ่งอยู่แดน 4 เจ้าหน้าที่จากDSI แจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์เพิ่มเติมกับเขา เขาและพินิจจึงต้องกลายเป็นผู้ต้องหาวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ร่วมกับเยาวชนอีก 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้

ต่อมาเมื่อถึงวันนัดพร้อมครั้งที่ 1 (คดีร่วมกันปล้นทรัพย์) พวกเขาทั้ง 7 คน (2 เยาวชนถูกแยะตัวไปพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง) ถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลถามพวกเขา

"จะรับสารภาพหรือปฏิเสธ"

พวกเขาปรึกษาหารือกันและปฏิเสธ เมื่อศาลถามว่ามีทนายหรือยัง พวกเขาก็ตอบว่ายังไม่มี อย่างไรก็ตาม ศาลนัดพร้อมครั้งที่ 2 ในอีกประมาณ 1 เดือนถัดไป

1 เดือนผ่านไปพวกเขาทั้ง 7 คนถูกนำตัวมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อีกครั้ง ครั้งนี้เจ้าหน้าที่พาพวกเขาเข้าไปในห้องสมานฉันท์ในห้องมีผู้พิพากษานั่งอยู่

"รับสารภาพเถอะโทษหนักจะได้เป็นเบา"

พวกเขาปรึกษาหารือกันและตอบปฏิเสธ แต่ศาลแนะนำให้พวกเขารับสารภาพในส่วนของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พวกเขาปรึกษาหารืออีกครั้งและยอมลงลายมือชื่อรับสารภาพเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังจากลงลายมือชื่อเสร็จพวกเขาถูกนำตัวไปยังห้องพิจารณาคดี ในห้องมี อาคม ศิริพจนารถ ทนายความเสื้อแดงนั่งรออยู่ นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้พบทนายความ พวกเขาเล่าให้อาคมทราบว่าพวกเขาเพิ่งลงลายมือชื่อรับสารภาพเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้อาคมไม่พอใจอย่างมาก อาคมบอกให้พวกเขาทำคำร้องใหม่ปฏิเสธการรับสารภาพก่อนหน้านี้ศาลจึงนัดพร้อมครั้งที่ 3

เมื่อถึงนัดพร้อมครั้งที่ 3 อาคมยังคงยืนยันปฏิเสธการรับสารภาพ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนหน้านี้ อาคมโต้เถียงกับศาลนานหลายนาทีแต่สุดท้ายก็ยอมอ่อนข้อยอมรับการรับสารภาพเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

1 ธ.ค. 54 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา"ยกฟ้อง" คดีร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและขัดขวางเจ้าหน้าที่แต่ให้ลงโทษจำคุก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเวลา 6 เดือนยกเว้น คมสันต์ สุดจันทร์ฮามซึ่งศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานลักทรัพย์รวมโทษจำคุกเป็น 3 ปี6 เดือนจำเลยทั้ง 5 จึงได้รับการปล่อยตัวในวันนั้นเนื่องจากพวกเขาถูกจำคุกมากว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว

พวกเขากลับมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางพวกเขาดีใจที่จะได้ออกจากเรือนจำ ยกเว้นเขาและคมสันต์ที่รู้ชะตากรรมของตนเองว่าจะยังคงต้องอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ต่อไป

วันรุ่งขึ้นแกนนำ นปช. หลายคนและทนายความจากสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเดินทางมาเยี่ยมนักโทษการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ นพ.เหวง โตจิราการ รับปากที่จะช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวให้กับเขาและคมสันต์ หลายวันต่อมาทนายความยื่นขอประกันตัวเขาก่อนคมสันต์แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวเฉพาะคมสันต์เท่านั้น

ต่อมาเขาและผู้ต้องหาทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 ถูกย้ายไปอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ที่แห่งนี้เขาอยู่อย่างสุขสบายกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีคนเสื้อแดงมาเยี่ยมเขามากกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่เขาก็ยังอยากได้รับการประกันตัว

เขาบอกว่าเขาไม่มั่นใจในคดีนี้เพราะเชื่อว่ายังไงคดีนี้จะต้องมี "แพะ" เช่นเดียวกับคดีร่วมกันปล้นทรัพย์ที่คมสันต์ต้องรับโทษจำคุก3 ปี 6 เดือน เขาจึงคาดหวังจากการนิรโทษกรรมโดยเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของใครก็ตาม แต่หากคดีนี้ศาลยกฟ้องเขาเขาก็จะกลับบ้านที่ จ.ชัยภูมิ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

Posted: 05 Feb 2013 12:33 AM PST

"..ผมอยากได้ทางจักรยาน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางจากการจราจรอันติดขัด ไม่ใช่ขี่ไปเที่ยวโชว์ตัวเหมือนผู้สมัครผู้ว่าทุกคน ผมอยากบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของรถยนต์เท่านั้น รถจักรยานก็มีสิทธิ์ใช้ถนนด้วย.."

3 ก.พ.56, โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก

อวัตถุศึกษากับอธิป: เมื่อมหาลัยลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการ ตัดเน็ต-ไล่ออก

Posted: 04 Feb 2013 11:40 PM PST

สัปดาห์นี้ติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ที่ออกรายงานความโปร่งใส, รายได้ของเฟซบุ๊กที่สูงเกินคาด, ยูทูปเปิดช่องให้บริการแบบเสียเงินเป็นครั้งแรก และห้องสมุดฝรั่งเศสที่ให้เอกชนแปลงไฟล์เป็นทรัพย์สินดิจิตอลสาธารณะ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

30-01-2013

มหาวิทยาลัยลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักศึกษาด้วยการ "ตัดเน็ต" และของบุคลากรด้วยการเชิญให้ออก

ทางมหาวิทยาลัยมีบทลงโทษการละเมิดลิขสิทธิ์ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยของนักศึกษาด้วยการตัดเน็ตชั่วคราวและเรียกมาอบรมตักเตือน แต่ถ้าหากถูกเตือนครบ 3 ครั้งทางมหาวิทยาลัยจะตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจองนักศึกษาผู้นั้นอย่างถาวร ทั้งนี้ก็มีบุคคลากรผู้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยถูกเชิญให้ออกเช่นกัน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเดียวที่มีนโยบายแบบนี้ รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้บรรดาสถาบันอุดมศึกษาระงับยับยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2010 แล้ว และสถาบันที่ไม่ทำตามก็ต้องเสี่ยงกับการโดนตัดงบประมาณจากรัฐ

News Source: http://torrentfreak.com/university-of-illinois-disconnects-pirating-students-staffer-asked-to-leave-130129/

 

ผู้จัดการวง Metallica บอกว่าถ้ามีผู้ลงทะเบียนจ่ายค่าใช้บริการฟังเพลงออนไลน์ครบ 20 ล้านคนทั่วโลก บริการเหล่านี้จะให้ค่าตอบแทนกับนักดนตรีได้ดีกว่าการขายเพลงออนไลน์

ทั้งนี้ยอดผู้ลงทะเบียนบริการฟังเพลงออนไลน์ต่างๆ ทั่วโลกขณะนี้เกิน 10 ล้านคนไปแล้วและกำลังเข้าใกล้ 15 ล้านคนไปเรื่อยๆ

News Source:  http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130129metallica    

 

Twitter ออกรายงานความโปร่งใสแล้ว รายงานชี้ว่ารัฐบาลทั่วโลกเรียกร้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับ Google

นอกจากนี้รัฐบาลหลายยังเรียกร้องให้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาจำนวนหนึ่งอีกด้วย ซึ่งทาง Twitter ก็มีนโยบายว่าจะทำการเซ็นเซอร์เมื่อมีหมายศาลเท่านั้น และจะโพสต์เนื้อหาที่ถูกเซ็นเซอร์ลงในเว็บ www.chillingeffects.org ด้วยเพื่อให้สาธารณะชนรับรู้ถึงการเซ็นเซอร์

News Source:  https://www.eff.org/deeplinks/2013/01/google-twitters-new-transparency-report-shows-increase-government-demands-sheds

 

YouTube จะเริ่มมีบริการช่องพิเศษแบบเก็บค่าสมาชิกแล้ว

ทั้งนี้ YouTube มีแผนที่จะเปิดช่อง "เสียเงิน" 25 ช่องก่อน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเก็บค่าบริการเป็นการดูต่อครั้งหรือจะเก็บค่าบริการเป็นก้อนใหญ่ๆ แบบเหมาจ่าย

News Source:  http://paidcontent.org/2013/01/29/report-youtube-will-start-charging-for-premium-content/

 

Washington Post รับทุนจาก Knight Foundation มาสร้างโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำปราศรัยทางการเมืองแบบทันทีที่พูด

ทั้งนี้โปรแกรมนี้ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนคำพูดเป็นตัวอักษร และขณะนี้ยังเป็นแค่ตัวต้นแบบเท่านั้น

News Source:  http://paidcontent.org/2013/01/29/can-you-automate-political-fact-checking-in-real-time-truth-teller-is-going-to-try/

 

ยอดขายอีบุ๊คของ Amazon เพิ่มขึ้นราว 70% จากปี 2011 ในปี 2012

ทั้งนี้อเมซอนก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขของยอดขาย Kindle แต่กล่าวเพียงว่า Kindle Fire HD เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดของบริษัท

News Source:  http://gigaom.com/2013/01/29/amazon-reports-increased-profits-and-ebook-sales-up-70-in-2012/

 

คดี "แชร์ไฟล์" คดีแรกของนิวซีแลนด์จบลงแล้วที่การตัดสินของศาลลิขสิทธิ์ให้จำเลยจ่ายกว่า 15,000 บาท สำหรับการดาวน์โหลดและแชร์เพลง 3 เพลง

รายละเอียดของสิ่งที่จำเลยต้องจ่ายคือ

1.ราคาขายของ 3 เพลงที่ดาวน์โหลดไปคือ 6.57 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

2.ค่าส่งหมายแจ้งเตือนการละเมิด 50 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

3.ค่าการดำเนินคดีของโจทก์ 200 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

4.ค่าความเสียหายของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อตลาด 360 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (120 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ต่อเพลง)

รวมแล้วต้องเสีย 616.57 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 15,414.25 บาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่านิวซีแลนด์ต่อ 25 บาท)

แน่นอนว่านี่เป็นเงินที่ต้องจ่ายน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับอเมริกาที่การละเมิดเพลงหนึ่งเพลงนั้นอาจทำให้จำเลยต้องเสียเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,500,000 บาทอันเป็นค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้

News Source:  http://torrentfreak.com/first-kiwi-file-sharer-guilty-but-lack-of-evidence-kills-large-fines-130130/, http://www.techdirt.com/articles/20130130/01323721822/nz-copyright-tribunal-accusations-are-presumed-infringement-despite-denials.shtml

 

31-01-2013

Facebook ทำรายได้ได้เกินเป้านักวิเคราะห์ในไตรมาสที่ 4

ทางเว็บทำรายได้ได้สูงถึง 1,580 ล้านดอลลาร์ซึ่งเหนือกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินไว้ที่ 1,530 ล้านดอลลาร์ และรายได้ในปี 2012 รวมก็อยู่ที่ 5,090 ล้านซึ่งสูงกว่าปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 3,710 พันล้าน

ทั้งนี้รายได้จากโฆษณาทางมือถือก็เพิ่มขึ้นมามาก และระบบ Graph Search ใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ก็เป็นสิ่งที่น่าจะนำมาซึ่งรายได้ของ Facebook ต่อไป

News Source:  http://gigaom.com/2013/01/30/facebook-beats-analyst-expectations-reports-1-58-billion-in-q4-revenue/

 

01-02-2013

หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสให้บริษัทเอกชนแปลงงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะเป็นแบบดิจิทัลครั้งใหญ่

โดยสิ่งที่ถูกแปลงมีหนังสือเก่ากว่า 70,000 เล่มและงานบันทึกเสียงเก่ากว่า 200,000 ชิ้น ซึ่งทางบริษัทเอกชนก็ได้อภิสิทธิ์ในการผูกขาดในการแสดงกำไรกับงานทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะนี้ในรูปแบบดิจิทัล 10 ปีก่อนงานดิจิทัลเหล่านี้จะกลายเป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะร่วมกับบรรดาเอกสารต้นฉบับ

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130130/07141521824/french-national-library-privatizes-public-domain-materials.shtml

 

กระทรวงวัฒนธรรมรัสเซียออกร่างแก้กฎหมายลิขสิทธิ์บังคับให้ทั้งเว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ลงจากระบบภายใน 24 ชม. หลังมีการแจ้งเตือน

โทษของการไม่ปฏิบัติตามคือการปรับ 3,000 รูเบิล (ประมาณ 3,000 บาท) สำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคล และปรับ 500,000 รูเบิล (ประมาณ 500,000 บาท) สำหรับผู้กระทำเป็นที่เป็นบริษัท และอาจถูกระงับธุรกิจ 90 วันหรือกระทั่งยึดเซิร์ฟเวอร์ด้วย

ทั้งนี้คาดว่าการเคลื่อนไหวแก้กฎหมายลิขสิทธิ์นี้เกิดจากความพยายามจะเข้าร่วม WTO ของรัสเซียนั่นเอง

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130129/07442821814/russian-ministry-culture-publishes-draft-anti-piracy-law-requires-takedowns-within-24-hours.shtml, http://torrentfreak.com/russia-wants-to-fine-websites-for-poor-copyright-takedowns-130131/

 

02-02-2013

จีนพิจารณาจะเลิกแบน "เครื่องเกม" แล้ว

ทั้งนี้ จีนได้ทำการแบนห้ามขายและนำเข้า "เครื่องเกม" มาเป็นสิบปีแล้ว แต่สิ่งที่มีอยู่เต็มตลาดคือเครื่องเกมเถื่อนไปจนถึงสินค้าถูกกฎหมายที่เล่นเกมได้แต่ไม่ได้เรียกว่า "เครื่องเกม" ซึ่งการยกเลิกการแบนเครื่องเกมนี้ก็ว่ากันว่าจะเปิดโอกาสทางธุรกิจใหญ่ของอุตสาหกรรมเกมทีเดียว

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130128/06500121808/report-suggests-china-may-lift-console-gaming-ban.shtml

 

Kim Dotcom ท้าให้ปลดการเข้ารหัสของเว็บ MEGA ได้ โดยมีเงินรางวัล 10,000 ยูโรให้สำหรับผู้ทำสำเร็จ

News Source:  http://arstechnica.com/security/2013/02/kim-dotcom-promises-13600-to-anyone-who-breaks-mega-encryption/  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เทศกาลวรรณกรรมอิระวดี ครั้งแรกของเทศกาลวรรณกรรมในพม่า

Posted: 04 Feb 2013 10:43 PM PST

ในประเทศพม่ามีการจัดงานเทศกาลวรรณกรรมอิระวดีโดยมีอองซานซูจีเป็นผู้อุปถัมภ์ มีการเสวนาและเวิร์กช็อป อ่านบทกวี ฉายภาพยนตร์ รวมถึงการประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้น เป็นครั้งแรกสำหรับงานเทศกาลวรรณกรรมในพม่า แม้ว่านักเขียนยังคงกลัวว่าการเซนเซอร์ของรัฐบาลจะยังคงอยู่

เมื่อวันที่ 1-3 ก.พ. ที่ผ่านมา ประเทศพม่าได้มีการจัดงานเทศกาลวรรณกรรมอิระวดี ขึ้นที่โรงแรมอินยาเลค โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากมายทั้งนักเขียน, กวี, อดีตนักโทษการเมือง ทั้งจากในพม่าและจากต่างประเทศ โดยมีอองซานซูจีเป็นผู้อุปถัมภ์งานในครั้งนี้

งานเทศกาลวรรณกรรมในพม่าสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ในงานมีการจัดเป็นทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพม่า มีทั้งการเวิร์กช็อปฝึกปฏิบัติเรื่องการเป็นช่างภาพข่าว การเสวนาเรื่องการเซนเซอร์และการใช้ความรุนแรง ไปจนถึงการอ่านบทกวีและการฉายภาพยนตร์

สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่ามีเทศกาลวรรณกรรม ผู้ร่วมงานชาวพม่าหลายคนไม่รู้จักผู้มีชื่อเสียงที่มีรายชื่ออยู่ในงาน และมีนักเขียนบางคนที่ยังแสดงความกังวลเรื่องการเซนเซอร์งานของพวกเขา

มีผู้เข้าร่วมหลายคนลุกขึ้นเล่าเรื่องราวการตกเป็นนักโทษการเมืองภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารตลอด 50 ปีที่ผ่านมา บ้างก็ถามว่าจะทำอย่างไรให้วรรณกรรมส่งอิทธิพลต่อประเทศ ในงานยังมีการวางเต็นท์ขายหนังสือมือสองอยู่รอบๆ ลานจัดงานและมีกวีกับนักเขียนรวมกลุ่มกันอยู่ที่โต๊ะปิคนิคเสวนากันเรื่องศิลปะและวรรณกรรม

ในการเสวนามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวมถึงอองซานซูจีผู้อุปถัมภ์ของงานนี้เข้าร่วมเสวนาด้วย โดยซูจีกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากว่าหนังสือเป็นเครื่องคลายเหงาในเวลาที่เธอถูกสั่งกักขังในบ้านของตัวเองเกือบ 20 ปี ซูจียังได้กล่าวติดตลกอีกว่าแม้ว่าจะมีคนมองว่าเธอกล้าหาญเช่นใดก็ตาม เธอก็ไม่กล้าหาญมากพอจะทำแบบแฮรี่ พอตเตอร์

"การอ่านทำให้คุณเข้าใจว่าคนอื่นๆ คิดอย่างไรและพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง" ซูจีกล่าว "นอกจากนี้มันยังช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาในชีวิตคุณเองได้ด้วย"

เดอะ การ์เดียน กล่าวว่าสำหรับชาวพม่าแล้ว การจัดงานเทศกาลในครั้งนี้เป็นเหมือนเรื่องเหนือจริง (surreal) ที่เปิดหนทางให้พวกเขาได้พบวิถีชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดหลายสิบปีในประเทศของพวกเขา

ชเวกู เม ฮิน นักเขียนเรื่องการเมืองในพม่าซึ่งเคยติดคุกในช่วงต้น 1990s กล่าวว่าเทศกาลนี้เป็นงานที่ดีสำหรับพวกเขา พวกเขาได้พบกับนักเขียนจากต่างประเทศ ได้พูดแสดงความรู้สึกและแลกเปลี่ยนความรู้

แต่นักเขียนจากต่างประเทศก็มีหลายคนที่ชาวพม่าไม่รู้จักเนื่องจากประเทศพม่าถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก โดยที่วรรณกรรมคลาสสิกยิ่งใหญ่หลายเรื่องจะถูกเซนเซอร์ก่อนที่จะถูกนำเข้ามาในโรงเรียน

เจน เฮียน ผู้อำนวยการจัดงานเทศการและภรรยาเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่ากล่าวว่า ประเทศพม่าชื่นชอบวรรณกรรมมาก แต่พม่าก็ขาดการเข้าถึงวรรณกรรมมาก่อน

นอกจากนี้แล้วในงานนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ชาวต่างชาติมีโอกาสได้อ่านหรือได้ฟังวรรณกรรมและบทกวีของพม่าอีกด้วย


รางวัลวรรณกรรม ของเด็ก 17 ที่เขียนเรื่องสงคราม

ผู้ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นอันดับหนึ่งในเทศกาลนี้คือนักเรียนอายุ 17 ปี ชื่อ อองซินเปียวเทียน ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการค้าประเวณี, การติดสุรา อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และได้สะท้อนมุมมองสงครามชนกลุ่มน้อยในคะฉิ่น

อองซินกล่าวว่าเขาได้เห็นเรื่องราวความโหดร้ายต่างๆ จากข่าวรายวัน "ปกติแล้วเวลาพวกเราได้ยินเรื่องสงคราม พวกเรามักจะนึกถึงอิรักหรืออัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้มันใกล้ตัวพวกเรามาก มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วฉันก็ก็หันมาสนใจเรื่องนี้เพราะในสงครามจะมีสองฝ่ายสู้กันแต่บุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้องจะตาย"


ความหวังทางวรรณกรรมต่อคนหนุ่มสาว

เดอะ การ์เดียน กล่าวว่าในขณะที่พม่าค่อยๆ เปิดประเทศอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป โลกภายนอกก็ค่อยๆ รับรู้เรื่องราวของประเทศนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยล่าสุดมีการรวบรวมบทกวีร่วมสมัยของพม่าในชื่อ 'Bones Will Crow' ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ขณะที่ทางการม่าก็ปิดตัวกองเซนเซอร์ไปเมื่อปีที่แล้ว (2012) และยอมผ่อนผันการควบคุมเนื้อหาซึ่งเคยทำให้นักเขียนหลายคนถูกจับเข้าคุกมาแล้ว

แต่นักเขียนหลายคนก็ยังกลัวรัฐบาล และเกรงว่าเสรีภาพที่เพิ่งได้รับมาใหม่นี้จะถูกช่วงชิงเอาไปเมื่อใดก็ได้

ซาว ไว กวีพม่ากล่าวว่าเขาไม่กลัวที่จะเขียนสิ่งที่เขาอยากเขียน แต่บรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ยังคงกลัวไม่ยอมพิมพ์บทกวีของเขา โดยก่อนหน้านี้ในปี 2008 ซาว ไว เคยถูกรัฐบาลจับกุมกลังเขียนบทหวีวันวาเลนไทน์ที่ซ่อนรหัสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเอาไว้

"ประธานาธิบดีบอกเราว่าพวกเราควรจะมีสิทธิในการแสดงความเห็น แต่การนำมาปฏิบัติจริงยังคงอ่อนอยู่ พูดตามตรงเลยคือผมยังคงรู้สึกว่าเรื่องราวในอดีตยังคงหลอกหลอน" ซาว ไว กล่าว

ดังนั้นความหวังจึงไปตกอยู่กับเยาวชนหนุ่มสาวของพม่า ผู้ที่ได้รับผลจากการปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน

อองซิน กล่าวว่า เขาเป็นคนแกที่ชนะรางวัลวรรณกรรมเทศกาลอิระวดี และต้องการให้สิ่งนี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวรายอื่นๆ หันมาเขียนหนังสือ

"ลงมือเขียนเลย อย่าได้กลัว" อองซินกล่าว


เรียบเรียงจาก

Burma literary festival flourishes under patron Aung San Suu Kyi, The Guardian, 03-02-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาลาลา ยูซาฟไซ เผยความฝันอยากให้เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือ

Posted: 04 Feb 2013 10:35 PM PST

มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่ถูกกลุ่มตอลิบานยิงและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในอังกฤษ ได้ออกมากล่าวให้สัมภาษณ์ว่าเธอต้องการให้เด็กทุกคนในโลกได้เรียนหนังสือ และมีองค์กรนานาชาติตั้งองค์กรมาลาลาขึ้นตามแนวคิดของเธอ

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารโดยกลุ่มตอลิบานมีอาการดีขึ้นจากการเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่

มาลาลา ถูกยิงเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2012 บนรถโรงเรียนหลังจากการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่อังกฤษ โดยล่าสุดมาลาลาได้เข้ารับการผ่าตัดส่วนกระโหลกศรีษะและหู ซึ่งแพทย์เปิดเผยว่าการผ่าตัดครั้งล่าสุดประสบความสำเร็จด้วยดีและมาลาลากำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว

มาลาลาได้กล่าวให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าการผ่าตัดครั้งล่าสุดว่า เธอต้องการทำงานช่วยเหลือผู้คน โดยมีการตั้งกองทุนมาลาลาเพื่อช่วยเหลือให้เด็กทั่วโลกได้รับการศึกษา

"คุณเห็นแล้วว่าในวันนี้ฉันยังมีชีวิตอยู่ ฉันพูดได้ ฉันเห็นคุณ ฉันเห็นทุกคน และฉันก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ" มาลาลากล่าว

"และเป็นเพราะทุกคนที่สวดภาวนาให้กับฉัน พระเจ้าได้ให้ชีวิตใหม่ ชีวิตที่สองกับฉัน และฉันต้องการช่วยเหลือผู้คน ฉันอยากให้เด็กผู้หญิงรวมถึงเด็กทุกคนได้รับการศึกษา และด้วยเหตุผลนี้พวกเราถึงจัดตั้งกองทุนมาลาลาขึ้น" มาลาลากล่าว

กองทุนมาลาลาถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์กร Vital Voices ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ช่วยเหลือให้สตรีมีสิทธิมีเสียงในการส่งเสริมสันติภาพและความอุดมสมบูรณ์ในชุมชน ทางองค์กรเปิดเผยว่าพวกเขาจัดตั้งกองทุนมาลาลาขึ้นในนามของมาลาลาและครอบครัวเธอ เนื่องจากเล็งเห็นเรื่องที่มาลาลาต้องการให้เด็กผู้หญิงทุกคนได้รับการศึกษา

โดยเงินทุนก้อนแรกของกองทุนมาลาลาจะมอบให้กับองค์กรในสวัต วาเลย์ พื้นที่บ้านเกิดของมาลาลา เพื่อส่งเสริมให้เด็กหญิงไปโรงเรียนแทนที่จะถูกใช้ไปทำงาน


เรียบเรียงจาก

Malala Yousafzai fund 'to boost education', BBC, 04-02-2013
Malala Yousufzai says she's 'getting better day by day' in recorded message, The Independent, 04-02-2013


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น