ประชาไท | Prachatai3.info |
- จวก ‘อ.อ.ป.’ 2 มาตรฐาน ขวางพัฒนาไฟฟ้า ‘ชุมชนบ่อแก้ว’ ปล่อยตั้ง ‘ศูนย์ธรรมรัศมี’ ในเขตป่า
- กวีประชาไท: อาชญากร
- ‘เอ็นจีโออีสาน’ โต้แผนการจัดการน้ำเอื้อ ‘เมกะโปรเจกต์’ เตรียมตั้งคณะทำงานติดตาม
- ประชาไทบันเทิง: เพลงชาติกับซูเปอร์โบวล์
- สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของไทย ร่วมประณามคำตัดสินกรณี 'สมยศ'
- นายกฯ ตูนีเซียประกาศยุบสภาหลังมีผู้ประท้วงเหตุสังหารผู้นำฝ่ายค้าน
- บันทึกถึงสิ่งที่ขาดไป : รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต
จวก ‘อ.อ.ป.’ 2 มาตรฐาน ขวางพัฒนาไฟฟ้า ‘ชุมชนบ่อแก้ว’ ปล่อยตั้ง ‘ศูนย์ธรรมรัศมี’ ในเขตป่า Posted: 07 Feb 2013 12:55 PM PST 'ชาวชุมชนบ่อแก้ว' ร้องนายอำเภอคอนสาร เหตุ อ.อ.ป.สั่งรื้อถอนไฟฟ้าในชุมชน ทั้งแจ้งความต่อโรงพัก-ส่งหนังสือสั่งไปยังการไฟฟ้าให้เข้ามาตัดไฟ ด้านปลัดอาวุโสรับเรื่องแทน แจงพร้อมประสานนัดเจรจา ออป.-ชาวบ้าน-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจันทร์นี้ วันที่ 7 ก.พ.56 ประมาณ 13.00 น. ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชุมนุมขอเข้าพบนายอำเภอคอนสารถึงความไม่เป็นธรรม จากกรณีที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) บุกเข้าไปในชุมชน แล้วสั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนระบบไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคอนสารได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งในชุมชน ชาวบ้านระบุข้อเรียกร้องให้นายอำเภอคอนสารประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคอนสาร ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคอนสาร กำนันตำบลทุ่งพระ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลทุ่งพระ เพื่อขอให้มีการชะลอและยุติการดำเนินการยกเลิกรื้อถอนระบบไฟฟ้าจากชุมชน นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จำนวน 5 คน ลักลอบเข้ามาด้านหลังชุมชนบ่อแก้ว และสั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนไฟฟ้าออกไปให้หมด พร้อมทั้งข่มขู่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไปทันที โดยอ้างว่าพื้นที่นี้เป็นของเขตสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และชาวบ้านต่างก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ชาวบ้านไม่ยอม พยายามชี้แจงถึงสิทธิที่จะอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ทำกินเดิม เพราะ อ.อ.ป.ได้เข้ามายึดพื้นที่ไปลูกป่ายูคาฯ นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ทำกินมากกว่า 30 ปี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำการพัฒนาระบบน้ำ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แท้งค์น้ำที่ชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค.56 ชาวบ้านจึงได้มีการยื่นขอไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน และนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากลำห้วยโปร่งแห้งที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนนำมาใช้ในการเกษตร "พวกเราต้องการความยั่งยืนในผืนดิน และต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว และเมื่อชุมชนจะมีการพัฒนาต่อไปด้วยการติดตั้งไฟฟ้า เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร ทำไม อ.อ.ป.ต้องเข้ามาขับไล่ให้พวกเราทำการรื้อถอน" ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้วตั้งคำถาม นายนิด กล่าวด้วยว่า เมื่อไม่สามารถทำอะไรชาวบ้านได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จึงได้ทำหนังสือไปถึงผู้จัดการการไฟฟ้าสาขาย่อยคอนสาร และขอให้การไฟฟ้าทำการยกเลิกและรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชนบ่อแก้ว รวมทั้งยังได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรคอนสาร เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 เพื่อกดดัน ข่มขวัญให้ชาวบ้านหวาดกลัว "ไม่ว่าอย่างไร พวกเราจะไม่ยอมให้ อ.อ.ป.มาดำเนินการหรือพยายามใช้ทุกวิธีทางเพื่อให้ชาวบ้านยอมออกจากพื้นที่ของพวกเราได้ต่อไปอีก เพราะพวกเรามีสิทธิในพื้นที่ทำดิน อ.อ.ป.ต่างหากที่ต้องออกไป" นายนิด กล่าว และเรียกร้องว่า ควรมีการยกเลิกสวนป่าคอนสารและคืนพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ตามที่ได้มีคณะกรรมการต่างๆ ลงมาสำรวจพื้นที่แล้วมีมติว่า สวนป่าคอนสารทับที่ทำกินชาวบ้านจริง นายนิด ยังกล่าวด้วยว่า การกระทำของ อ.อ.ป.ไม่ยุติธรรม มี 2 มาตรฐาน จากกรณีที่มีการสร้างศูนย์ธรรมรัศมี (ก่อสร้างปีพ.ศ.2541) จะเห็นว่า กว่า 15 ปีผ่านมา ศูนย์ธรรมรัศมีเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามนั้นผิดเงื่อนไขทุกประการ มีการทำลายต้นไม้ธรรมชาติและสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ อีกทั้งหากนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับระเบียบในการขอใช้ประโยชน์เพื่อก่อสร้างวัดหรือที่พักสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ระบุให้สามารถขอใช้ประโยชน์ได้ไม่เกิน 15 ไร่ ระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 30 ปี รวมทั้ง ข้อตกลงในการทำไร่ในเขตสวนป่าของ อ.อ.ป. ที่กำหนดเงื่อนไขไว้จำนวน 11 ข้อ เช่น ต้องปลูกพืชไร่ ต้องไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างถาวร เป็นต้น "สิ่งที่ศูนย์ธรรมรัศมีดำเนินการตลอดช่วงที่ผ่านมา กลับเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม และไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ ซึ่งต่างกับชาวบ้านจะนำไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเกษตร กับถูกสั่งให้รื้อถอน พร้อมกับข่มขู่ให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว อย่างนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่" นายนิดกล่าว สำหรับการเจรจา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. นายธนะโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร เดินทางจากที่ประชุมเทศบาลคอนสารเพื่อมารับเรื่องจากชาวบ้านแทนนายอำเภอซึ่งติดภารกิจที่เชียงใหม่ พร้อมระบุว่าจะดำเนินการนัดหมายกับนายอำเภอคอนสารให้มีการร่วมเจรจา พร้อมกับร่างหนังสือประสานไปยังหน่วยงานตามที่ชาวบ้านร้องขอ "ตนเองในตำแหน่งปลัดอาวุโสฝ่ายบริหารปกครองรักษาการแทนนายอำเภอ พร้อมจะรับเรื่อง และจะเรียนต่อนายอำเภอ ให้มีการร่วมเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" นายธนะโชติกล่าว ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 11 ก.พ. 56 ณ หอประชุมอำเภอคอนสาร เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติ และเป็นธรรมต่อไป จากนั้นชาวบ้านต่างพอใจและแยกย้ายเดินทางกลับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 07 Feb 2013 11:34 AM PST
ชนสิทธิ์ประชิดซ่าน__สืบสานประชุมสรร ปวงข้าประชาครัน__จักเดินประเชิญดุล รุกราษฎร์ประลาดเร้น__ข่มเข่นประลัยขุน คุกโหมประโลมหุ่น__หริเกประเล่ห์กล
ปิดหูกระทู้หา__ปิดตากระทำต้อย คุคืบกระทืบคอย__เขื่องคุ้งกระทุ้งคน ปากเอื้อนกระเทือนอิศร__อย่าคิดกระทบขน ร้อยเล่ห์กระเท่ลน -__ลานส่งกระทงทราม
เชิญท่านสำราญเถิด__ทาสเทิดสำรวมแท้ รักหลอกสำรอกแล__สุขเถลิงสำเริงลาม แซ่เสียงสำเนียงสุด__อย่ายุทธ์สำนวนหยาม ผนึกสำนึกนาม__หน่ายรักสำนักลวง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘เอ็นจีโออีสาน’ โต้แผนการจัดการน้ำเอื้อ ‘เมกะโปรเจกต์’ เตรียมตั้งคณะทำงานติดตาม Posted: 07 Feb 2013 11:02 AM PST หวั่น ครม.เห็นชอบโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เอื้อประโยชน์โครงการใหญ่ เผยสายสัมพันธ์เหมืองแร่โปแตช-บริษัทใหญ่ เกี่ยวผันน้ำที่หนองหานกุมภวาปี จี้รัฐฯ จัดการน้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ ชุมชนร่วมตัดสินใจ หลังจากที่ ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (ฉบับ2) พร้อมกันนี้นายปลอดประสพ ยังได้แถลงผลการพิจารณาบริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยมี 6 กลุ่มบริษัทที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที และ 6.กลุ่มบริษัทร่วมค้าล็อกซเล่ย์ สำหรับกลุ่มบริษัทที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 6 กลุ่ม คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (กบนอ.) ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มโครงการ (Module) ละ 3 ราย ซึ่งมี Module ที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 10 Module แบ่งไปตามแผน และลักษณะการก่อสร้าง เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และการปรับปรุงระบบคลังข้อมูล เป็นต้น ด้านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ได้ออกมาโต้ว่า โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยใช้เงินกู้ในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะจัดการน้ำทั้งระบบโดยเสนอให้มีการรวมหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำ แล้วจัดตั้งกระทรวงน้ำ และนำไปสู่การออกกฎหมายน้ำขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ "ในกฎหมายน้ำ เราจะเห็นว่าน้ำเป็นของรัฐ ผู้ที่จะใช้น้ำหรือเข้าถึงน้ำได้ก่อนก็คือ กลุ่มทุนและโครงการขนาดใหญ่ สถานบริการ เกษตรกรก็เป็นลักษณะ Contract farming ที่มีเงินซื้อ ดูกรณีมาบตาพุดที่ทุนได้น้ำไปใช้ก่อนเรา" นายสุวิทย์ กล่าว นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามโครงการพัฒนาในภาคอีสานโดยร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มากว่า 10 ปี พบว่ามีแผนการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่นโครงการเหมืองแร่โปแตช จำนวน 10 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้น้ำอย่างมหาศาลของกลุ่มทุน และจะส่งผลกระทบต่อการแย่งน้ำในชุมชนเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ เพื่อจัดหาน้ำให้กับเมกะโปรเจกต์ "1 ใน 6 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท คือ บริษัท ITD-POWERCHINA JV อยู่ในกลุ่มอิตาเลี่ยนไทย และเหมืองแร่โปแตชที่อุดรฯ บริษัทอิตาเลี่ยนไทยก็กำลังยื่นขอประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการ โดยมีแผนการใช้น้ำจากโครงการผันน้ำที่หนองหานกุมภวาปี ซึ่งย่อมมีการเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างชัดเจน" เลขาธิการ กป.อพช. อีสาน ยังได้สะท้อนถึงปัญหาการจัดการน้ำของรัฐ ที่ล้มเหลวในอดีต ดังเช่น โครงการ โขง ชี มูล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านถูกทำลาย จนนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ทั้งนี้ เขามีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรมีแนวทางการจัดการน้ำให้สอดคล้อง ตามความเหมาะสมแก่สภาพพื้นที่โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจ "รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมของคนในชุมชนก่อนนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของเอ็นจีโอ และชาวบ้านได้ปรึกษากันว่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" เลขาธิการ กป.อพช. อีสาน กล่าวทิ้งท้าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประชาไทบันเทิง: เพลงชาติกับซูเปอร์โบวล์ Posted: 07 Feb 2013 10:24 AM PST เป็นประเพณีสำคัญสำหรับการขับกล่อมเพลงชาติอเมริกา The Star-Spangled Banner ก่อนที่ศึกชิงชนะเลิศอเมริกันฟุตบอล หรือที่เรียกกันว่า "ซูเปอร์โบวล์" จะเริ่มขึ้น ซึ่งการขับร้องเพลงชาติอเมริกานี้ ถือเป็นเรื่องทรงเกียรติและการันตีถึงความสามารถและความโด่ดังของนักร้องคนนั้นได้เป็นอย่างดี พอๆ กันกับคอนเสิร์ตช่วงพักครึ่ง หรือที่เรียกว่า Half Time ที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่พอๆ กัน ซึ่งการแสดงช่วงพักครึ่งนี้เริ่มครั้งแรกในปี 1993 โดยได้ไมเคิล แจ๊กสัน ราชาเพลงป๊อปขึ้นแสดง ที่ยังถือว่าการแสดงของเขาในครั้งนั้นยังเป็นที่ติดตราตรึงใจ และเป็นที่พูดถึง นำมาเปรียบเทียบกับการแสดงพักครึ่งในทุกๆ ปี ส่วนการร้องเพลงชาติ The Star-Spangled Banner นั้น ก็เริ่มต้นมาพร้อมกับการแข่งขันซูเปอร์โบวล์เลยแหละ แรกๆ ก็ใช้แค่เสียงดนตรี จากวงโยธวาทิต หรือวงการร้องประสานเสียงจากวงคอรัสต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและมีความหมาย โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี 1967 ที่มีการแข่งขันซูเปอร์โบลว์ครั้งแรก นักร้องคนแรกที่ได้ร้องเพลงชาติอเมริกา ในงานซูเปอร์โบวล์ก็คือ Anita Bryant ก่อนจะเริ่มใช้นักร้องดังๆ เรื่อยมา ทั้ง ไดอาน่า รอส ในปี 1982 หรือเวอร์ชั่นที่หลายลงความเห็นว่าเริ่ดที่สุด เป๊ะที่สุด ก็คือเวอร์ชั่นของวิทนีย์ ฮูสตันในปี 1991 และด้วยความที่งานนี้ทั้งยิ่งใหญ่ ทรงเกียรติ และศักดิ์สิทธิ์ นักร้องที่ได้รับเลือกให้มาร้องเพลงชาติในงานซูเปอร์โบลว์จึงทั้งดีใจและประหม่ากลัวในเวลาเดียวกัน เพราะนี่คือการร้องสดต่อหน้าทั้งแสตนด์ปเนหมื่นเป็นแสนคนและผู้คนที่ดูการถ่ายทอดสดทั่วประเทศรวมถึงทั่วโลก ที่รายการนี้ขึ้นชื่อว่าเรตติ้งดีที่สุด มีคนดูการถ่ายทอดสดหลายสิบล้านคน เพราะฉะนั้นใช่ว่าจะไม่เกิดเหตุผิดพลาดขึ้นเลย สองปีก่อน นักร้องสาวเสียงลูกคอเก้าชั้นคริสติน่า อากีเลร่า ก็เคยร้องเพลงชาติผิดมาแล้ว! สร้างความอับอายขายขี้หน้า แถมยังโดนถล่มยับตามโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า ร้องเพลงชาติผิดได้อย่างไร !!! มาในปีนี้ผู้ที่ได้รับเกียรติให้ร้องเพลงชาติในงานซูเปอร์โบลว์ก็คือ นักร้องสาวผิวสีเสียงดีเล่นเปียโนเก่ง อลิเซีย คียส์ เจ้าของเพลงฮิต If I Ain't Got You หรือ No One เธอสร้างความแปลกใหม่ด้วยการนั่งร้องพร้อมเล่นเปียโนด้วยตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่ที่มาของดราม่าเต็มโซเชียลเน็ตเวิร์กและยูทูบ เพราะหลังจากเธอร้องจบไม่ทันไร ก็มีกระแสวิพากษฺวิจารณ์ตามมาทันทีว่า เวอร์ชั่นเพลงชาติของอลิเซีย คียส์ นั้น เป็นเวอร์ชั่นที่ "รับไม่ได้" เนื่องจากเธอร้องเพลงชาติ ด้วยท่วงทำนองและสไตล์ในแบบเพลงอาร์แอนด์บีของตัวเอง ไม่ใช่ท่วงทองที่เพลงชาติควรจะเป็นและถูกร้องกันมาในแบบก่อนหน้านี้ ซึ่งหลายๆ คนให้ความเห็นว่า เมื่อมันเป็น "เพลงชาติ" ก็ควรจะ "เคารพ" โดยการร้องด้วยท่วงทำนองตามประเพณีที่เคยเป็นมา ไม่ใช่ร้องเป็น "เพลงของตัวเอง" ในสไตล์ของตัวเอง (นอจากนี้ยังมีคอมเมนต์ขำๆ ว่าเวอร์ชั่นของอลิเซีย คีย์ส ร้องตามไม่ได้ หลายคนเลยหัวเสีย!) ข่าวนี้ทำให้ย้อนนึกถึงหลายปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยพยายามจะมีการเปลี่ยนแปลงท่วงทำนองเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งที่เปิดในโทรทัศน์และในโรงหนัง ที่ได้รับการต่อต้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เห็นไหมว่า เมื่อมาสู่ประเด็นชาตินิยม ไม่ว่าชาติเสรีประชาธิปไตย หรือชาติที่มีคำว่าประชาธิปไตยแบบขาดๆ แหว่งๆ อย่างเราก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ เพลงชาติเวอร์ชั่น วิทนีย์ ฮูสตัน ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ เพลงชาติเวอร์ชั่นล่าสุดของอลิเซีย คีย์ส ในงานซูเปอร์โบวล์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของไทย ร่วมประณามคำตัดสินกรณี 'สมยศ' Posted: 07 Feb 2013 08:05 AM PST แจงไม่ใช่มติเอกฉันท์ แต่มองม. 112 และพรบ. คอมพ์ฯ เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่ 'แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล' จี้ให้นักข่าวต่างชาติที่รายงานเรื่องไทยออก "คำประกาศเตือน" แสดงให้เห็นข้อจำกัดที่ต้องเซ็นเซอร์ตนเองในการรายงานข่าว 7 ก.พ. 56 - สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondent Club of Thailand -FCCT) ได้ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผ่านทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "คณะกรรมการได้ถูกกดดันให้ประณามคำตัดสินกรณีสมยศ และในขณะที่มติดังกล่าวมิได้เป็นเอกฉันท์ แต่เราก็เห็นว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก" เนื่องจากทำให้สื่อทั้งในและต่างประเทศไม่สามารถตีพิมพ์เนื้อหาที่เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ แถลงการณ์ดังกล่าวได้เผยแพร่หลังจากแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ และผู้เขียนหนังสือเรื่อง #Thaistory ได้เขียนบล็อกใน www.zenjournalist.org วิพากษ์วิจารณ์สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่องถึงท่าทีที่เหมาะสมต่อกรณีสมยศ โดยกล่าวถึงนิรมล โฆษ ประธานสมาคมฯ และผู้สื่อข่าวนสพ. เสตรทไทมส์ ของสิงคโปร์ ที่ก่อนหน้าที่ได้ชี้แจงสาเหตุที่ไม่ออกแถลงการณ์กรณีสมยศว่า สมาคมฯ อยู่ในสถานะ "Club" (ชมรม) มากกว่า "Association" (สมาคม) จึงไม่เหมาะสมที่จะออกแถลงการณ์ในเรื่องที่มีความอ่อนไหว โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย กรณีของสมยศ และนัยสำคัญ" โดยมีสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของนายสมยศ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เครือข่ายพิทักษ์สถาบัน และเดวิด เสตร็กฟัสส์ และก่อนที่วงเสวนาดังกล่าวจะเริ่ม นิรมล โฆษ ในฐานะประธานสมาคมฯ ได้กล่าวชี้แจงถึงสาเหตุที่สมาคมฯ ไม่ได้ออกแถลงการณ์กรณีนามสมยศ โดยระบุว่าต้องการให้ FCCT เป็นพื้นที่ตรงกลางให้เกิดการถกเถียงและพูดคุยในประเด็นเหล่านี้อย่างอิสระ พื้นที่ตรงกลาง vs หลักการเสรีภาพสื่อ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล ย้ำจุดประสงค์การก่อตั้งของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยจากในเว็บไซต์ของสมาคมว่า เพื่อส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของนักข่าวในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชีย และยังเป็นสมาคมที่มีบทบาทรณรงค์เรื่องเสรีภาพสื่อ ในฐานะเสาหลักของภาคประชาสังคมในประเทศที่ประชาธิปไตยกำลังเติบโต ในฐานะที่สมาคมฯ เคยออกแถลงการณ์เรื่องการเสียชีวิตของนักข่าวต่างชาติในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 คือ ฮิโร มูราโมโต ช่างภาพรอยเตอร์ และฟาบิโอ โปเลญกี ช่างภาพอิสระ มาร์แชลชี้ว่า ในคดีของสมยศ ก็ควรจะต้องได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกเสียจากว่าทางสมาคมฯ จะสามารถพูดอะไรได้เมื่อมีนักข่าวเสียชีวิต หรือไม่ก็สนใจแต่เฉพาะชาวต่างชาติด้วยกันเท่านั้น เขาชี้ว่า การไม่ออกแถลงการณ์ในกรณีสมยศ และการไม่ท้าทายกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อรักษา "พื้นที่ตรงกลาง" นั้น ไม่มีประโยชน์อะไรกับการรายงานข่าวเกี่ยวกับ "ความจริง" ในการเมืองไทย ซึ่งอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์มีผลต่อประวัติศาสตร์และการเมืองไทยอยู่อย่างแน่นแฟ้น "ไม่มีประเทศอื่นไหนในโลกนี้อีกแล้ว ที่สื่อต่างประเทศพร้อมใจกันหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงบางอย่างในการรายงานข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเองก็แน่ใจว่าเป็นจริง แม้แต่พี่เบิ้มอย่างจีนหรือเกาหลีเหนือที่ว่าโหดในการปิดกั้นการรายงานข่าวและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ก็ยังเทียบไม่ได้กับความสามารถของชนชั้นนำไทยในการจูงใจนักข่าวต่างชาติให้เซ็นเซอร์ตัวเอง" เขาระบุ เสนอออก "คำประกาศเตือน" หากรายงานข่าวที่ต้องเซ็นเซอร์ตนเอง ในบล็อกดังกล่าว ได้เสนอข้อเสนอว่า FCCT ควรทำงานร่วมกับองค์กรสื่อใหญ่ๆ เพื่อร่างเป็น "คำประกาศเตือน" ประกอบการรายข่าวเกี่ยวกับเมืองไทย เพื่อให้การรายงานนั้นมีจริยธรรม และลดความเสี่ยงในการเผชิญม. 112 โดยอาจจะออกเป็นคำเตือนในลักษณะว่า "การรายงานข่าวนี้ รวบรวมภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ซึ่งทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เปิดเผยเป็นอาชญากรรม" แนวปฏิบัติดังกล่าว ถือว่าเป็นมาตรฐานสำหรับองค์กรสื่อบางแห่งที่รายงานจากซีเรียหรือเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะในยุคข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ที่ผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสในการรายงานข่าวอย่างเต็มที่ และเป็นการประกาศถึงผลกระทบจากการเซ็นเซอร์ของรัฐ มาร์แชลระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกฯ ตูนีเซียประกาศยุบสภาหลังมีผู้ประท้วงเหตุสังหารผู้นำฝ่ายค้าน Posted: 07 Feb 2013 07:48 AM PST ฮามาดี จาบารี นายกรัฐมนตรีตูนีเซียประกาศยุบสภาและหมายแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวจนกว่าจะเลือกตั้งใหม่หลังเกิดเหตุลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้านซึ่งมาจากพรรคฆราวาสนิยมจนทำให้ประชาชนไม่พอใจออกมาประท้วงทั่วกรุงตูนิส
จาบารี ประกาศว่า หลังจากการหารือไกล่เกลี่ยเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีล้มเหลวเขาจึงตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักวิชาการชนชั้นนำจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งแหล่งข่าวทางการตูนีเซียเปิดเผยว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจส่วนตัวของจาบารีซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ หลังจากเบลาอิดถูกสังหารก็เกิดเหตุการประท้วงขึ้นทั่วกรุงตูนิส โดยที่ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า อาห์เม็ด จานาบี รายงานว่ามีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจที่ถนนฮะบิบบอร์กุยบา โดยที่ตำรวจได้ใช้แก็สน้ำตาและไม้กระบองในการสลายการชุมนุมรวมถึงมีการจับกุมผู้ประท้วงได้หลายคน กลุ่มผู้ประท้วงได้มีการรวมตัวกันที่หน้าอาคารกระทรวงหมาดไทยกว่าหลายพันคน และตะโกนขับไล่รัฐบาลพรรคเอนนาห์ดา โดยพวกเขาได้ตะโกนว่า "โชกรีตายแล้ว ช่างน่าอดสู" "รัฐบาลไปอยู่ไหนแล้ว" "รัฐบาลจงพินาศ" โดยที่โอมาร์ บิน อาลี สมาชิกสหภาพแรงงานตูนีเซียที่เข้าร่วมประท้วงบอกว่ากลุ่มศาสนามีส่วนต่อการเสียชีวิตของเบลาอิด และเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่การสังหารจะมาจากภายนอกประเทศ อาลีก็บอกว่าตูนีเซียเป็นมิตรกับประเทศอื่นๆ ทั้งหมด จึงมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเป็นฝีมือคนนอกประเทศ โชกรี เบลาอิด เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองของตูนีเซียมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับพรรคเอนนาห์ดา ซึ่งเป็นกลุ่มพรรคการเมืองอิสลามที่มีเสียงข้างมาก เบลาอิดเคยวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ที่มักจะตั้งเป้าไปที่สุสาน, นิทรรศการศิลปะ และสิ่งอื่นๆ ที่ดูไม่ตรงกับการตีความทางศาสนาอย่างเคร่งครัดของพวกเขา ทางด้านมอนเซฟ มาร์ซูวคี ประธานาธิบดีตูนีเซียกล่าวหลังการเสียชีวิตของเบลาอิดว่าเขาพร้อมจะต่อสู้กับใครก็ตามที่ต่อต้านการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศ "เราจะต่อสู้กับศัตรูของการปฏิวัติต่อไป"
อย่างไรก็ตามในวันที่ 7 ก.พ. ทางพรรคเอนนาห์ดาปฏิเสธแผนการยุบสภาของนายกฯ โดยรองประธานาธิบดี อับเดลฮามิด เจลาสซี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ปรึกษาเรื่องดังกล่าวกับพรรค อีกทั้งยังยืนยันว่าตูนีเซียมีความจำเป็นต้องมีรัฐบาลจากพรรคการเมืองในตอนนี้และจะมีการหารือกับพรรคการเมืองอื่นในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลผสมต่อไป พรรคเอนนาห์ดา เป็นพรรคการเมืองซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือน ต.ค. 2011 โดยมีที่นั่งในสภาร้อยละ 42 จากนั้นจึงได้จัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองสายฆราวาสนิยมอีกสองพรรคคือพรรคคองเกรสฟอร์เดอะรีพับลิกของปธน.มาร์ซูวคี และพรรคเอตตาคาตอล โดยก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงรัฐบาลนี้หลายครั้งในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ
เรียบเรียงจาก Tunisia PM to form new government, Aljazeera, 07-02-2013 Tunisia's Ennahda rejects dissolving cabinet, 07-02-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บันทึกถึงสิ่งที่ขาดไป : รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต Posted: 07 Feb 2013 01:33 AM PST ท่านประธาน นปช. กรุณาเขียนชี้แนะหลักในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ผู้ทำบันทึกเห็นว่าเป็นหลักที่ดีในการจัดการกับปัญหาบนจุดยืนระหว่างมิตร,มิใช่ศัตรู นำเสนอได้ถูกต้องกับเวลา แต่ยังมีที่ขาดตกบกพร่องไป ข้อชี้แนะของท่าน เรียกร้องให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ นปช. ควรใช้ท่าทีที่ถูกต้อง อันเป็นการวิจารณ์ผู้วิจารณ์ ยังไม่ได้กล่าวถึงผู้ถูกวิจารณ์ พูดง่ายๆก็คือ ด้านเดียว ผู้ทำบันทึกขอข้าม เรื่อง" แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ไป เพราะเห็นว่าได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ หลักข้อนี้กันมามากแล้ว แต่ขอบันทึกข้อสังเกตุว่า หลักนี้ใช้กับความสัมพันธ์ประเภทที่เรียกกันว่า " แนวร่วม " ซึ่งความสัมพันธ์ชนิดนี้ บางเวลา คู่ความขัดแย้งที่เป็นศัตรูกัน ก็สามารถมาร่วมมือกันได้ชั่วระยะเวลาในการจัดการกับความขัดแย้งที่ใหญ่กว่า หลักในการกำหนดวิธีการไปแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประชาชน อันมีหลักอยู่ 3 ประการนั้น นำเสนอเพื่อแก้ไขวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดความขัดแย้งในพรรคปฏิวัติ มาตราฐานการเรียกร้องจึงสูงโดยเฉพาะการเรียกร้องให้" เข้มงวดต่อตนเอง ผ่อนปรนต่อผู้อื่น " ส่วนที่เห็นว่ายังขาดไปนั้น อยู่ที่ ประการที่ 3 ซึ่งอาจกล่าวได้ดังนี้ 1.สามัคคี – วิจารณ์ – สามัคคี ข้อนี้จัดเป็นท่วงทำนองทั่วไป ที่เน้นความสามัคคีเป็นหลัก วิจารณ์ข้อบกพร่อง ก็เพื่อยกระดับให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน บรรลุถึงความสามัคคีกันในขั้นใหม่ ขจัดข้อบกพร่อง ยกระดับไปสามัคคีขั้นที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก เช่นนี้ไปไม่สิ้นสุดอันเป็นวิภาษวิธีนั่นเอง 2.รักษาโรคเพื่อช่วยคน ข้อนี้เน้นที่การวิจารณ์ใดๆในหมู่มิตรสหายร่วมแนวรบเดียวกันนั้น อย่าไปโจมตีเหมือนเขาเป็นศัตรู ต้องเริ่มต้นจากจุดยืนที่เขาและเราก็ต่อสู้อยู่ในแนวรบเดียวกัน มีศัตรูตัวเดียวกัน เขาก็รักความเป็นธรรมเหมือนเรา เสียสละเหมือนเรา ฉะนั้น ถ้าเห็นว่ามีข้อบกพร่องใดๆ เราก็เริ่มต้นจากความพยายามที่จะช่วยเขาขจัดข้อบกพร่องนั้น เพื่อยกระดับเขาขึ้นมา ไม่ใช่ใช้ท่าทีไปทำลายเขาเหมือนที่ใช้ทำลายศัตรู วิธีการในข้อนี้จะเห็นว่าใช้เรียกร้องกับผู้ที่วิจารณ์ 3.รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต ข้อนี้เน้นที่ผู้ถูกวิจารณ์ เมื่อมีผู้วิจารณ์(หรือโจมตี)เรา ก็ต้องพิจารณาสิ่งที่เขาวิจารณ์(หรือโจมตี)นั้นที่เนื้อหาที่เขาวิจารณ์ ไม่ใช่ตัดสินที่ท่วงทำนองที่เขาใช้กับเรา ถ้าเห็นว่าเขาใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการวิจารณ์ ก็ไปทำความเข้าใจเรื่องท่วงทำนองกับผู้วิจารณ์ได้ ให้การศึกษาเขาได้ แต่จะไม่สนใจเนื้อหาที่เขาวิจารณ์เพียงเพราะใช้ท่วงทำนองไม่ถูกต้องนั้นยิ่งไม่ได้ใหญ่ ถ้าเขาวิจารณ์ในเนื้อหาผิด ก็ค่อยๆไปทำความเข้าใจกับเขา ถ้าเนื้อหาที่เขาวิจารณ์มาถูกต้อง เราก็ต้องรีบมาพิจารณาข้อบกพร่องนั้น วิจารณ์ตนเองอย่างมีสำนึก แล้วรีบหาทางแก้ไขอย่าให้เสียหายต่อขบวนการ ข้อนี้จะเน้นให้สรุป รับบทเรียนในอดีต เพื่อระมัดระวังในอนาคต นั้น นอกจากเสนอให้แก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อก้าวเดินต่อไปแล้ว ในกรณีที่เป็นองค์กรนำ แม้จะไม่ผิดตามที่วิจารณ์ ก็ต้องเรียกร้องตนเอง โดยถือว่า " ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพึงสังวรณ์ " เริ่มต้นด้วยท่าทีทีเป็นมิตรและรับฟังอย่างน้อมใจ อันเป็นท่าทีที่ " สามัคคี " แล้วจึงค่อยๆไป " วิจารณ์ " เขา ทำความเข้าใจกับเขา ยกระดับเขา แล้วสามารถ " สามัคคี " กับเขาได้ ก้าวต่อไป ความเป็นองค์กรนำนั้น โดยธรรมชาติมักขยายความขัดแย้งไปโดยไม่รู้ตัว ในอดีต พรรคปฏิวัติเก่า เคยทำความผิดพลาดข้อนี้มา เมื่อการปฏิวัติเกิดความชะงักงัน ไม่สามารถขยายตัวจากเขตป่าเขาลงสู่ที่ราบได้ ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากได้เสนอให้วิจารณ์ข้อบกพร่องในการทำงาน พยายามค้นคว้าหาทางแก้ไขสภาพที่ชะงักงันนั้น แน่นอน ย่อมมีการวิจารณ์ท่วงทำนองและวิธีคิดของฝ่ายนำด้วย เมื่อปัญหานี้ขยายตัวไป แทนที่จะค้นคว้าข้อผิดพลาดที่ตัวทำมา ฝ่ายนำกลับทำผิดซ้ำหนักเข้าไปอีกโดยขยายความขัดแย้งไปโดยไม่รู้ตัว เริ่มต้นจาก โจมตีผู้วิจารณ์เป็นนายทุนน้อยมีความเคยชินที่ไม่ดีของสังคมเก่าติดเกรอะกรัง, ผู้วิจารณ์ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง,ไปจนถึงผู้วิจารณ์จะช่วงชิงการนำ, เป็นอันตรายต่อความคิดชนชั้นกรรมาชีพ, เป็นอันตรายต่อการปฏิวัติ แม้จะใช้ท่าทีที่ดูดุเดือดก้าวร้าว แต่ผู้วิจารณ์ก็เริ่มต้นแค่ปัญหาการบริหารจัดการของการทำงานอันเป็นปัญหารายวันที่เกิดขึ้นทุกๆองค์กรเท่านั้น แต่ฝ่ายนำกลับขยายมันไปเป็นปัญหาจุดยืนทางชนชั้น สุดท้ายพรรคปฏิวัติเก่านั้นก็หกคะเมนล้มคว่ำไป ทั้งท่านประธาน นปช.,และ คนอื่นรวมทั้งผู้ทำบันทึก ก็อยู่ในเหตุการณ์นั้น และรับเป็นบทเรียนกันมาแล้ว สมควรที่จะระมัดระวังกันต่อไป ข้อเรียกร้องต่อฝ่ายนำนั้นย่อมสูงกว่า นอกเหนือไปจากการค้นคว้าชี้นำทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างกระตือรือร้นแล้ว ยังเรียกร้องให้หนักแน่นมากกว่าผู้ปฏิบัติงาน(หรือมวลชน)ด้วย เมื่อเกิดการวิจารณ์(หรือโจมตี)ขึ้น จะโต้ตอบก็ต้องกระทำอย่างผ่อนปรนและอย่างมีการจำแนก แต่จะต้องไม่ขยายความขัดแย้งโดยเด็ดขาด ท่าทีแบบ " มาไม้ไหน ไปไม้นั้น" ใช้กับศัตรูเท่านั้น สำหรับมิตรร่วมแนวแล้ว ต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็น " สามัคคี – ประจาน – แตกสามัคคี " ไป เมื่อมีผู้วิจารณ์(หรือโจมตี)มา ก็ถือเป็นโอกาสสำรวจสิ่งที่ทำมาเสียเลยว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่, ยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่, ก้าวล้ำหน้ามวลชนไปหรือไม่ หรือว่าล้าหลังมวลชน เหล่านี้เป็นภาระที่ฝ่ายนำต้องสำรวจและค้นคว้าอยู่ตลอด ผู้ทำบันทึกขอขอบคุณท่านประธาน นปช. ในโอกาสที่ได้ฟื้นฟูหลักคำสอนเกี่ยวกับการจัดการกับความขัดแย้งมาในครั้งนี้ และขออภัยท่านผู้อ่านที่บันทึกนี้แคบและมีลักษณะเฉพาะ แต่หลักการจัดการความขัดแย้งที่กล่าวมานั้นกว้างและมีลักษณะทั่วไป ไม่เพียงแต่เคยใช้ในพรรคปฏิวัติเท่านั้น ยังใช้กับองค์กรแนวร่วมและองค์กรที่มีลักษณะเดียวกันไปบรรลุความเข้มแข็งขององค์กรได้เช่นกัน. ------------------------------------------------- ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น