โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พนง.สอบสวนเบิกความ ชี้ “ลุงคิม” เยื่อกระสุน พ.ค.53 เสียชีวิตจากทหาร

Posted: 06 Feb 2013 12:52 PM PST

ไต่สวนการตาย "ลุงคิม ฐานุทัศน์" เหยื่อกระสุน 14 พ.ค.53 หัวหน้าพนักงานสืบสอบสวน ชี้จาก หัวกระสุน ทิศทางกระสุน เชื่อว่าผู้ตาย เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ นัดต่อไป 9.00 น. 7 ก.พ.56

6 ก.พ.56 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 504 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีเลขที่ ช.12/2555  ในคดีที่พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 55 ปี ที่ถูกยิงเข้าที่หลังด้านซ้าย กระสุนทะลุไขสันหลังและปอดขวา กระสุนไปฝังที่สะบักขวา บาดเจ็บสาหัสและเป็นอัมพาต เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 12.00 - 13.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.ถ3 บริเวณหน้าโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากนั้นนายฐานุทัศน์ ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อ 23 ก.พ. 55 เวลา 22.35 น. ที่ รพ.มเหสักข์

โดยในวันนี้ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุสุระ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ได้เบิกความมีความเห็นโดยเชื่อว่าผู้ตายคือ นายฐานุทัศน์ เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของ เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เบิกความด้วยว่า จากการสอบสวนพยานหลักฐาน 18 ปาก มีพยานใกล้ชิดเห็นเหตุการณ์ ยืนยันเห็นเหตุการณ์ขณะที่ทหารขอคืนพื้นที่ใช้อาวุธปืนมาทางผู้ชุมนุม มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้นำมาประกอบไว้ในสำนวนด้วย และจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ตรวจพบร่องรอยกระสุนและทิศทางที่มีการยิง ถนนพระราม 4  จากทางแยกวิทยุไปทางบ่อนไก่และทางด่วนทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 61 รอย ซึ่งใน 61 รอย เป็นรอยของกระสุน .223 นิ้ว หรือ 5.56 มม. ที่ให้กับ ปืนเล็กยาวประจำกาย M 653 และรอยกระสุนปืนลูกซอง ซึ่งมีทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณนั้นใช้อยู่ รวมทั้งมีรอยที่ไม่ทราบขนาดด้วย

นอกจากนี้ยังพบรอยกระสุนที่มีทิศทางจากทางด่วนทางพิเศษเฉลิมมหานคร มาทางแยกวิทยุ จำนวน 2 รอย แต่ไม่ทราบขนาดกระสุน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจเฉพาะบริเวณที่ผู้ตายถูกยิงยังพบรอยกระสุน. 223 จำนวน 15 รอย ซึ่งมีทิศทางจาก ถนนพระราม 4 แยกวิทยุ มายังทางด่วนทางพิเศษเฉลิมมหานคร สอดคล้องกับขณะที่ผู้ตายถูกยิงด้านหลังในขณะที่หันหลังให้กับแนวทหารที่ตั้งแนวอยู่ที่สะพานไทย – เบลเยียม ดังนั้นจากเหตุผลทั้งหมด ทำให้ พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและมีความเห็นเชื่อว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของ เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เบิกความว่าจากการสอบสวน ได้ความว่าระหว่างวันที่ 12 มี.ค. ถึง 19 พ.ค.53 ได้มีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่ใช้.ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชา หรือ นปช. โดยเริ่มชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่ยินยอม ผู้ชุมนุมจึงมีการชุมนุมต่อเนื่องและขยายมาที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์

และเมื่อขยายการชุมนุม มาที่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียง มีผู้ชุมนุมมาจำนวนมากขึ้น รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่าน่าจะก่อความวุ่นวานในบ้านเมือง ดังนั้นวันที่ 7 เม.ย.53 นายกรัฐมนตรี คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ประกาศสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ใน พื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง และนายกได้ออกคำสั่งพิเศษที่ 1/2553 ตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ขึ้น และแต่งตั้งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และนายกได้มีคำสั่งพิเศษที่ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ รับผิดชอบดูแลสถานการณ์ โดยให้ พนักงานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ

จากนั้นวันที่ 13 พ.ค.53 ได้มีประกาศของ ศอฉ. ห้ามการชุมนุมและก่อความวุ่นวาย ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีการห้ามใช้รถยนต์ ตัดสาธารณูปโภค ฯลฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ โดยก่อนถึงวันเกิดเหตุมีอนุญาตให้ เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธและกระสุนจริงเพื่อป้องกันตัวเองและผู้บริสุทธิ์ ได้ด้วย

จนกระทั้งวันเกิดเหตุวันที่ 14 พ.ค. 53  เวลา 12.00 น เศษ ผู้ตาย พร้อมภรรยาคือนางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง และลูก ออกจากบ้านมาที่ ซอยบ่อนไก่ และยืนรอรถประจำทางที่ป้ายรถโดยสานประจำทาง บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น ติดกับโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ขณะนั้นได้มีเสียงคลายระเบิด นางวรานิษฐ์ ภรรยาผู้ตาย เห็นทหารพร้อมอาวุธปืนยาวตั้งแนวอยู่ที่ บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม และมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ผู้ตายจึงได้ให้ภรรยาและลูกหลบเข้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น แต่ภรรยาผู้ตายได้ตัดสินใจกลับบ้าน

อย่างไรก็ตามผู้ตายก็ยังยืนดูในที่เกิดเหตุต่อ ขณะนั้นทหารที่ประจำการอยู่บริเวณสะพานไทย-เบลเยี่ยม เป็นกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองคฯสระบุรี จำนวน 2 กองร้อย 300 นาย มีอาวุธประจำกายปืนเล็กยาว M 653 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีลักษณะคลายกับ M 16 รวมทั้งมีอาวุธปืนลูกซองด้วย จากการสอบปากคำทหารขณะนั้นใช้กระสุนยางและกระสุนซ้อมรบเท่านั้น

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่ากองกำลังทหารดังกล่าวได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตามคำสั่งของ ศอฉ. ให้กระชับพทื้นที่จากแยกวิทยุไปทางบ่อนไก่ และทางด่วนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ขณะนั้นผู้ชุมนุมมีหนังสติ๊กและพลุตะไลใช้สำหรับยิงโต้ตอบกับทหาร ซึ้งทหารก็พยายามผลักดันโดยมีการใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ผู้ชุมนุมโดยเล็งมายังกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนพระราม 4 บ่อนไก่ ขณะผู้ตายหันหลังจะเดินกลับเข้าบ้านก็ถูกยิงเข้าที่หลังด้านซ้ายล้มคว่ำหน้ากระแทกพื้น โดยมีนายเอกสิทธิ์ วงศ์คำมา พยานใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เห็นและได้เข้าไปช่วยพยุงผู้ตายพาไปขึ้นรถตู้ ส่ง รพ.กล้วยน้ำไท ขณะนั้น รพ.ได้แจ้งให้นางวรานิษฐ์ ภรรยาผู้ตายทราบ จึงได้เดินทางมาที่ รพ. และได้รักษาที่ รพ.นี้ จนกระทั่ง 4 มิ.ย. 53 ได้มีการย้ายไปที่ รพ มเหสักข์

โดยผลจากการถูกยิงเป็นเหตุให้อัมพาตที่ขาทั้ง 2 ข้าง ระหว่างรักษาตัวที่ รพ มเหสักข์ มีการรักษาตัว ได้มีการเข้าออกระหว่างโรงพยาบาลกับบ้านโดยตลอด แต่ได้เสียชีวิต 23 ก.พ. 55 เวลา 22.35 น. ที่ รพ มเหสักข์  ได้มีการตรวจศพ แพทย์ตรวจศพ ยืนยันพบแผลกดทับทำให้ติดเชื้อได้ สันนิฐานเหตุการณ์ตายจากติดเชื้อในกระแสเลือดและมะเร็งระยะรุกราม รวมทั้งพบหัวกระสุนปืน

พนักงานสิบสวนได้มีการสอบสวนแพทย์รักษาผู้ตายและใบชันสูตรบาดแผล ยืนยันว่าบาดแผลเกิดจากกระสุนที่ยิงเข้าบริเวณหลัง ทะลุไขสันหลังและปอดขวา ไปฝังที่สะบักขวา แพทย์ลงความเห็นทำให้ผู้ตายเป็นอัมพาต จากบาดแผลดังกล่าวทำให้เกิดแผลกดทับและเกิดภาวะติดเชื่อทำให้เสียชีวิต

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เบิกความว่าคำสั่ง วิทยุของ ศอฉ. ในกระดานเขียนข่าว ตั้งแต่ 15 เม.ย.53 เป็นต้นมา มีการอนุญาตให้ เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงได้ตามความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตราย ทั้งตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นในวันเกิดเหตุก็สามารถใช้กระสุนจริงได้หากมีความจำเป็น

รวมทั้งตามรายงานชันสูตร กระสุนปืนที่พบเป็นตะกั่วหุ้มทองแดง 1 ชิ้น และได้ส่งไปที่กองพิสูจน์หลักฐาน ผลการตรวจยืนยันว่าเป็นหัวกระสุนปืน. 223 นิ้ว

ไต่สวนนัดต่อไป 9.00 น. 7 ก.พ.56 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจพบภาวะขาดแคลนแรงงานทั่วโลก ชี้ในอนาคตปัญหาจะรุนแรงขึ้นอีก

Posted: 06 Feb 2013 11:02 AM PST

(6 ก.พ.56) ผลการสำรวจล่าสุดจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) นำเสนอว่า 4 ใน 10 (39%) ของธุรกิจทั่วโลกต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ทั้งนี้ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะทางเทคนิคนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด (64%) และสร้างความวิตกกังวลว่าจะกระทบความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

IBR เป็นการสำรวจทัศนคติของนักธุรกิจในบริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับผลสำรวจในหัวข้อนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารจำนวน 6,400 รายทั่วโลกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ปี 2555 ที่ผ่านมา ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส

ทอม โซเรนเซน พาร์ทเนอร์และหัวหน้าสายงานการจัดจ้างบุคลากรระดับผู้บริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วยังมีอัตราการว่างงานในระดับสูง ดังนั้น ผลการสำรวจที่ว่านักบริหารธุรกิจกำลังกังวลกับการขาดแคลนแรงงานมีทักษะนั้นจึงบังเอิญเป็นเหมือนการเสียดสีข้อเท็จจริง ทั้งนี้ มองว่าในระยะสั้น นักบริหารธุรกิจจำเป็นต้องถ่ายทอดทักษะให้กับแรงงานภายนอกองค์กรเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ความสามารถให้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในระยะยาว นักบริหารธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนกับโครงการอบรมให้ความรู้ภายในองค์กรเพื่อหล่อหลอมบุคลากรและจะเสริมสร้างให้พวกเขาสามารถทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เกิดการพัฒนา และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป

ทอม โซเรนเซน กล่าวเสริมว่า แม้แต่สหประชาชาติยังรายงานไว้เมื่อหลายปีก่อนว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีจำนวนลดลงอย่างรุนแรงทั่วโลก ซึ่งประเทศจีนและสิงคโปร์กำลังประสบกับภาวะขาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะดังกล่าวในช่วง พ.ศ. 2563-2568 ดังนั้น หากคิดว่าตอนนี้แรงงานหาได้ยากอยู่แล้ว ในความเป็นจริง ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นอีกหลายเท่า

ทั้งนี้ กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเชิงเทคนิค โดย 61% ของธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC และ 65% ของธุรกิจในกลุ่มประเทศ G7 ระบุถึงปัญหาดังกล่าว โดยการขาดประสบการณ์ในการทำงาน (56%) และการขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม (54%) ก็เป็นปัญหาที่ได้รับการกล่าวถึงเช่นกัน นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของผู้บริหารธุรกิจ (21%) กล่าวว่ากฎระเบียบเพื่อตรวจสอบคนเข้าเมืองยังเป็นปัญหาอีกด้วย

ผลกระทบจากปัญหาเรื่องแรงงานต่อคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจนั้นมีหลักฐานสนับสนุนอันชัดเจน กล่าวคือ รายงาน IBR เปิดเผยว่ากว่า 1 ใน 4 ของธุรกิจ (28%) คาดว่าแผนการขยายธุรกิจในปี 2013 จะต้องประสบกับปัญหาเนื่องจากขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ส่วนกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ก็มีการรายงานในลักษณะเดียวกันหากทว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงกว่า โดยอยู่ที่กว่า 1 ใน 3 (36%) ซึ่งผลการสำรวจนี้ลดลงจาก 35% ทั่วโลกในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งสมัยนั้นอัตราการจ้างงานนั้นสูงกว่าในปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว

โซเรนเซน กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเจรจาระหว่างสถาบันการศึกษา รัฐบาล และผู้บริหารธุรกิจอยู่แล้ว แต่รายงานฉบับนี้น่าจะส่งผลให้มีแรงผลักดันในเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เพราะยังคงมีความไม่เชื่อมโยงกันในสถานการณ์ที่ว่าผู้บริหารธุรกิจนั้นมีความต้องการว่าจ้างแรงงานมีทักษะอย่างมาก ส่วนผู้ที่ว่างงานจำนวนมากก็ยังคงกำลังหางานทำ

"สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความสูญเปล่าทางด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อธุรกิจและผู้ที่ว่างงาน ในที่สุดแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบ โดยธุรกิจจะมีข้อจำกัดในการขยายตัว และบุคคลที่ว่างงานก็ไม่มีรายรับเพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดวงจรอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้น ผมขอเสนอแนะว่าการพัฒนาทักษะของบุคลากรควรจะได้รับการยกระดับความสำคัญ และบรรจุอยู่ในนโยบายสาธารณะ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาพลเมืองกับประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

Posted: 06 Feb 2013 10:33 AM PST


แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ จะยังไม่ได้มีผลออกมาบังคับใช้เพราะยังอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อสภาฯ แต่สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของเชียงใหม่มหานครในร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้มีการทดลองนำมาปฏิบัติแล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคพลเมืองเชียงใหม่


สภาพลเมืองคืออะไร
สภาพลเมือง (Civil Juries หรือ Citizen Juries) เป็นรูปแบบที่ใช้ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 70s โดยมีการคัดเลือกลูกขุนมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณากิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลามากน้อยแล้วแต่ภารกิจ โดยสภาพลเมืองนี้จะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ (Interest Groups) โดยคณะลูกขุน (ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครฯใช้คำว่า "สภาพลเมือง"แทนเพื่อมิให้สับสนกับคำว่าลูกขุนในระบบศาล) จะทำหน้าที่ฟังการอภิปรายหรือการชี้แจงของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งซักถามและฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย โดยเรื่องราวต่างๆ ที่จะเข้าสู่สภาพลเมืองนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่จะต้องร่วมกันตัดสินใจโดยใช้หลักของการมีฉันทามติร่วมกัน (consencus) แทนการโหวตเพื่อเอาแพ้เอาชนะ

สภาพลเมืองในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ บัญญัติไว้เพื่อคอยถ่วงดุล ตรวจสอบ ฝ่ายบริหารหรือผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร และฝ่ายออกข้อบัญญัติหรือสภาเชียงใหม่มหานคร พร้อมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์ของเชียงใหม่มหานคร ตลอดจนปัญหาที่เกิดหรือจะเกิดขึ้นของนโยบายสาธารณะ โดยมีศักดิ์ศรีเท่ากับอีก 2 ฝ่าย คือผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร และสภาเชียงใหม่มหานคร แต่มีที่มาแตกต่างจาก 2 ฝ่ายนั้นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่สภาพลเมืองมาจากการคัดเลือกหรือเลือกตั้งจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งแล้วแต่กลุ่มต่างๆ จะมีวิธีการได้มาอย่างไร ในลักษณะของการทำงานด้วย "จิตอาสา" ที่สำคัญก็คือจะมาตอบโจทย์สำหรับคนที่เบื่อหน่ายประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) โดยใช้วิธีที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative democracy) (สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1515)
 

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคืออะไร
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative democracy) มีชื่อเรียกในภาษาไทยหลากหลาย  เช่น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือแบบมีวิจารณญาณ, ประชาวิจารณญาณ, ประชาธิปไตยแบบใคร่ครวญ, ประชาธิปไตยแบบถกแถลง, ประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง, ประชาธิปไตยแบบสานเสวนาหาทางออก ฯลฯ แต่ผมชอบใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเพราะมีความหมายค่อนข้างตรงตัวและกระชับ

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นพัฒนาการของประชาธิปไตยที่จะปิดช่องว่างหรือจุดอ่อนของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ประชาชนมีส่วนร่วมเฉพาะเพียงขั้นตอนการลงคะแนนเสียงเท่านั้นโดยหลังจากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนที่ตนเลือกเข้าไปโดยไร้อำนาจการต่อรองหรือบทบาททางการเมืองอื่นใดและมีปัญหาในเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างมากมายในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในรูปแบบของการประชุม New England town meeting โดยมีการใช้รูปแบบของการปรึกษาหารือ (Deliberative Practices) มาใช้ในการจัดเวทีพูดคุย (Club and Forum Series) แต่ก็ต้องหยุดชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันได้หวนกลับมาใหม่โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วมในการพูดคุยสนทนาและปรึกษาหารือ (Dialogue and Deliberation)

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคือการสนทนาหรือแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางเลือก มิใช่การโต้แย้งเพื่อเอาชนะ โดยการทำให้การตัดสินใจในเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ของสาธารณะทุกระดับผ่านกระบวนการไตร่ตรองบนทางเลือกที่รอบด้านของผู้มีส่วนได้เสีย และคนที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอทางเลือกหรือทางออกนั้นเกิดจากพื้นฐานของข้อมูล ความรู้และข้อเท็จจริง มิใช่เป็นเพียงความเห็นลอยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ (Credible Results) และต้องเป็นการกระทำที่เปิดเผยและเป็นสาธารณะ (Public Act)

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นการมาคิดร่วมกัน ทำให้ต้องฟังว่าผู้มาร่วมสนทนานั้นคิดอย่างไร เพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ๆ ทั้งด้านความคิด มุมมอง เพื่อหาจุดที่จะมีความคิดเห็นร่วมกัน แม้ในบางครั้งอาจจะยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เกิดความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
 

สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานคร
สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครได้ทดลองเปิดประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ในหัวข้อที่เกี่ยวกับวาระขนส่งสาธารณะ ซึ่งก็ได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์และสามารถนำไปปฏิบัติได้ และจะมีการเปิดประชุมอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16.00 น.ที่อาคารพุทธสถานเชียงใหม่ ในหัวข้อ "จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่อะไร" ซึ่งจะเป็นร่วมกันหาทางออกในประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและยังมีข้อโต้แย้งมากมายจากการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้รื้อถอนอดีตเรือนจำเชียงใหม่ที่สร้างทับเวียงแก้วที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชวังเดิมของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ว่าควรจะมีทิศทางไปในแนวทางใด เพราะบ้างก็อยากให้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ บ้างก็อยากให้สร้างเป็นพุทธอุทยานคล้ายๆ พุทธมณฑล บ้างก็อยากให้สร้างเป็นสวนสาธารณะ บ้างก็อยากให้ทำเป็นข่วง(ลาน)เอนกประสงค์ ฯลฯ หาข้อยุติไม่ได้

ฉะนั้น จึงจะได้มีการเปิดประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครในประเด็นดังกล่าวนี้ โดยจะได้เชิญผู้ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ มาให้ความรู้ก่อนสั้นๆประกอบการนำเสนอญัตติที่จะเสนอโดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น แล้วจึงเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันคนละไม่เกิน 3 นาที หากมีประเด็นที่จะต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิอธิบายก็จะมีการแทรกเป็นระยะๆ ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นการเปิดห้องเรียนประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือจะสามารถนำฉันทามติจากประชุมไปเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ประชาธิปไตยระดับระดับชาติเข้มแข็งโดยประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นยังไม่เข้มแข็งหรอกครับ

การ "คืนอำนาจ"ให้กับท้องถิ่นเพื่อจัดการตนเองที่ชาวเชียงใหม่พยายามจัดทำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ซึ่งประกอบไปด้วยสภาพลเมืองนี้ แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ แต่นับได้ว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการบริหารราชการแผ่นดินไทยนับแต่การปฏิรูปฯ พ.ศ.2435 เลยทีเดียว

 


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมบัด สมพร: จาก ‘อุ้มหาย’ สู่การยกระดับ ‘สิทธิมนุษยชน’ อาเซียน

Posted: 06 Feb 2013 10:23 AM PST

 
 
53 วันผ่านไป สำหรับการหายตัวไปของ 'สมบัด สมพอน' นักกิจกรรมอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ผู้มีชื่อเสียงจากการทำงานส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน กลางกรุงเวียงจันทน์
 
การนับวันแต่ละวันที่ผ่านไป ดูจะกลายเป็นสิ่งเดียวที่ทำได้ สำหรับการติดตามข้อมูลของผู้ห่วงใย แต่ก็ยังไร้ซึ่งวี่แววของข่าวคราวใดๆ
 
นอกเหนือไปภาพเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.55 ที่บันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิดของตำรวจจราจร
 
หลังจากสมบัดขับรถออกจากสำนักงานเวลาประมาณ 17.30 น.ตำรวจที่ด่านท่าเดื่อ อ.ศรีสัตตนาค กรุงเวียงจันทน์ ได้เรียกตรวจรถยนต์ของเขาตอน 18.00 น.
 
จากภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เขาเดินออกจากรถเพื่อพูดคุยกับตำรวจ จากนั้นมีคนขี่มอเตอร์ไซด์มาแล้วเข้าไปในรถ และขับรถของเขาออกไป ทิ้งมอเตอร์ไซด์ที่ขี่มาเอาไว้ จากนั้นมีรถกระบะเปิดไฟกระพริบขับมาถึง และมีคนนำตัวเขาใส่รถกระบะและขับหนีออกไป
 
ครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าชายที่อยู่ในภาพทีวีวงจรปิดคือสมบัด
 
ขณะที่ทางการลาวปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุมนักกิจกรรมอาวุโสและไม่มีส่วนรู้เห็นกับการหายตัวไปของเขา
 
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.55 รัฐบาลลาวออกแถลงการณ์ระบุ ทางการมีความกังวลต่อกรณีดังกล่าวและกำลังสอบสวนอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
 
นั่นคือการบอกอย่างชัดเจนว่า 'ต้องรอคอยความหวังอย่างมืดมนกันต่อไป'
 
ยิ่งเมื่อวันเวลาผ่าน ความหวังที่จะ 'สมบัด' ในสถานะบุคคลที่ยังคงมีลมหายใจก็ยิ่งเลือนราง...
 
ใครหลายคนคงไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วการแสดงออกเพื่อแสดงถึงซุ่มเสียงบางอย่างจึงเริ่มขึ้น
 
 
 
ดนตรี-สันติภาพ-ความหวังของคนหนุ่มสาว
 
เมื่อยามเย็นย่ำถึงตะวันคล้อย เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 งานดนตรีเพื่อสันติภาพและเสวนาคนหนุ่มสาว "มองไปไกลกว่ากรณี สมบัด สมพอน ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขง-ผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว" ถูกจัดขึ้น ณ ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริมลำน้ำเจ้าพระยา
 
โดยความร่วมมือของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation-JPF) โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
 
"สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับคนในลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน ไม่เฉพาะในลาว แล้วคนหนุ่มสาวจะทำอะไรได้บ้าง" จารุวรรณ สุพนไร่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายภูมิภาค มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ในลุ่มน้ำโขง กล่าว
 
เจ้าหน้าที่ฝ่ายภูมิภาค มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เล่าด้วยว่า งานดนตรีเพื่อสันติภาพและเสวนาคนหนุ่มสาวครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเวทีพูดคุยของกลุ่มนักกิจกรรมไทยและความร่วมมือของเยาวชนลุ่มน้ำโขง ที่ต้องการร่วมแสดงความรู้สึกนึกคิดโดยใช้ความสามารถในทางดนตรีที่มีอยู่
 
ไม่ใช่เพียงต่อกรณีการหายตัวไปของ 'สมบัด' แต่ยังรวมถึงเรื่องสันติภาพ และความเป็นเครือญาติของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
 
จากความเชื่อที่ว่า ดนตรีคือสื่อสาธารณะที่มีความเป็นสากล และในขณะเดียวกันก็จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
 
"อย่างน้อยนี่เป็นการส่งเสียงสัญญาณต่อสิ่งที่เกิดขึ้น" จารุวรรณกล่าว
 
 
นอกจากการแสดงดนตรี ในพื้นที่จัดงานยังมีกิจกรรมให้ผู้สนใจได้เข้าร่วม เช่น การเขียนป้ายผ้า และร่วมลงชื่อในจดหมาย ส่งถึงนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เพื่อการนำ 'สมบัด สมพอน' กลับมาอย่างปลอดภัย ในซุ้มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
 
ข้อเรียกร้องในฐานะพลเมืองของประเทศในภูมิภาคแม่น้าโขงและอาเซียน และสมาชิกของสังคมโลก ต่อทางการลาว มีดังนี้
 
1.ตระหนักว่า การลักพาตัว 'สมบัด' คืออาชญากรรมต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคแม่น้าโขงและอาเซียน เป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาของภูมิภาคนี้ อีกทั้งละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ขั้นรุนแรงที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยความสมานฉันท์ของทั้งภูมิภาคและในระดับระหว่างประเทศ
 
2.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินอย่างเร่งด่วนและโปร่งใสในการสืบสวนการถูกลักพาตัวไปของ 'สมบัด' ตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
3.เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าในการสืบสวนอย่างครบถ้วนแก่ครอบครัวของ 'สมบัด' และบุคคลอื่นๆ ที่ควรได้รับ
 
4.ให้การรับรองว่าจะค้นหา 'สมบัด' อย่างถึงที่สุดด้วยมาตรการทั้งหมดที่มี เพื่อทำการช่วยเหลือ และนำเขากลับสู่ครอบครัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รณรงค์ให้ส่งจดหมายดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และสำเนาจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง รัฐมนตรีต่างประเทศของลาว รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการช่วยเหลือและนำตัว  'สมบัด' กลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็ว
 
 
 
สารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง จากภรรยาผู้สูญหาย
 
"ในวันนี้ งานแสดงดนตรีและงานเสวนาของพวกเธอในประเด็นเรื่องความยุติธรรม ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานของลุงบัดและความศรัทธาในเยาวชนของเขาไม่ได้สูญเปล่า พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่า พวกเธอเข้าใจความสำคัญของสันติภาพ และความสำคัญของความรัก ความห่วงใย และความยุติธรรม พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอมี 'หัวใจ' ลุงบัดจะต้องภูมิใจในตัวเธออย่างแน่นอน และฉันก็ภูมิใจในตัวพวกเธอเช่นกัน
 
ลุงบัดจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอและคนหนุ่มสาวอีกนับล้านคนเฉกเช่นพวกเธอนี้ ที่จะนำพาหนทางที่จะทำให้ครอบครัวของเธอ ชุมชนของเธอ สังคมของเธอ และโลกของเธอดีขึ้น เพื่อตัวเธอเองและเพื่อลูกหลานในอนาคตของเธอด้วย" ใจความบางส่วนจาก สารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง จาก เง็ก ชุย เมง ภรรยาของสมบัด ถูกนำมาอ่านภายในงานก่อนเริ่มกิจกรรมการเสวนา
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนในครอบครัวของ 'สมบัด' อย่าง 'เง็ก ชุย เมง' คงไม่มีใครสามารถรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่ของเธอต่อสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้
 
 
ต้องลุกขึ้นสู่เพื่อกอบกู้ความเป็นมนุษย์ สรุปบทเรียนของผู้สูญเสีย
 
 
"การทำให้คนสูญหายไม่เพียงละเมิดสิทธิ์ของคนที่หายตัวไป แต่ยังละเมิดสิทธิของคนในครอบครัวของเขาด้วย" ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวของ 'สมชาย นีละไพจิตร' ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้สูญหาย กล่าวในการเสวนา 'มองไปไกลกว่ากรณีสมบัด สมพอน: ความรุนแรงในลุ่มน้ำโขง-ผลกระทบต่อคนหนุ่มสาว'
 
นับเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปีแล้วที่ทนายสมชายหายตัวไป ในฐานะของ 'เหยื่อ' ผู้ต้องสูญเสียคนในครอบครัว ประทับจิต กล่าวว่า เธอเชื่อว่าพ่อของเธอทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเธอจึงต้องการสานต่อการทำงานของเขา นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะกอบกู้ความเป็นมนุษย์กลับให้คืนมาได้
 
"เขาไม่น่าถูกทำให้สูญหาย แม้จะไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นกระแสหลัก" ประทับจิตแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ประทับจิต กล่าวด้วยว่า บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายนั้นสิ่งที่ถูกละเมิดไม่ใช่แค่สิทธิ แต่มันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังระบุด้วยว่าการทำให้บุคคลหนึ่งหายไปจากโลกนั้นมีกระบวนการ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีการติดตาม มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ได้กระทำโดยบังเอิญ และกระบวนการดังกล่าวนั้นสามารถป้องกันได้
 
ขณะนี้ ประทับจิตทำงานเป็นหนึ่งในคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับ อังคณา นีละไพจิตร แม่ของเธอเพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีของผู้ที่ 'ถูกทำให้หายไป' จากจุดเริ่มต้นในกรณีทนายสมชาย ขยายไปยังกรณีอื่นๆ ทั่วประเทศ
 
ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเรื่องการถูกบังคับสูญหายในไทย ได้ผลเป็นรูปธรรมเมื่อรัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาการระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลทุกคนถูกบังคับให้สูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2555 
 
 
อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า มาตรการที่จำเป็นสำหรับการถูกบังคับสูญหาย ข้อแรกคือการปรับแก้กฎหมายภายในให้การบังคับสูญหายมีความผิดทางอาญา และสามารถเอาผิดได้โดยเฉพาะเมื่อเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
การแก้กฎหมายนี้จะรวมไปถึงการนิยามคำว่า 'เหยื่อ' ซึ่งจะหมายถึงผู้ถูกกระทำละเมิดสิทธิ์ รวมไปถึงครอบครัวผู้เกี่ยวข้อง และพยานผู้ให้ข้อมูลด้วย
 
ข้อต่อมา คือการมีคณะกรรมการไต่สวนอิสระที่เป็นกลาง ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการสืบสวนสอบสวนสำหรับปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งมีการคุ้มครองพยานที่มีประสิทธิภาพ เพราะท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัว ย่อมไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาพูด
 
อังคณา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของอาเซียนไม่ควรมองการลงทุน หรือการแลกเปลี่ยนเฉพาะวัตถุ แต่การรวมเป็นอาเซียนความมองว่าจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างไร เมื่อใครสักคนในประเทศหนึ่งถูกกระทำ เราจะช่วยเหลือกันอย่างไร ให้เป็นจิตวิญญาณอาเซียน ที่ร่วมความเป็นมนุษย์ของคนในอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน 
 
"อาเซียนควรมีกลไกลด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระ แต่วันนี้กลับติดอยู่ที่ว่าจะไม่แทรกแซงกัน จึงไปไม่ถึงไหนเสียที" อังคณาแสดงความเห็น
 
 
 
ยกระดับสิทธิมนุษยชนใน 'อาเซียน' ความหวัง เพื่อวันข้างหน้า
 
สำหรับภาคประชาสังคมไทย ถือว่ามีความตื่นตัวต่อ กรณีของ 'สมบัด สมพอน' มาตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์ ทั้งการออกแถลงการณ์แสดงท่าทีและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด
 
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการร่วมโครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวถึงเหตุผลที่สังคมไทยต้องรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ รวมทั้งมีนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และกลุ่มเยาวชนที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อน หลังจากที่ได้ผ่านประสบการณ์ของการละเมิดสิทธิและเสรีภาพมาแล้ว
 
ในประเด็นสิทธิมนุษยชน คิดว่าเริ่มได้จากการที่คนไทยช่วยกันพูดในเรื่องนี้ ด้วยความหวังดี แต่การพูดนี้ไม่ได้พูดแทนคนลาว ไม่ได้พูดในสิ่งที่ไม่ได้รู้จริงๆ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลาว ความเดือดร้อนหรือปัญหาเขาต้องพูดด้วยตัวของเขาเอง
 
นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเด็นข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่เข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในลาวมีความเกี่ยวข้องกัน คนลุ่มน้ำโขงก็ออกมาร่วมเคลื่อนไหว
  
ส่วนก้าวต่อไป เปรมฤดี กล่าวว่า เรื่องของ 'สมบัด' และการถูกบังคับให้สูญหานี้ต้องถูกหยิบยกขึ้นไปพูดในเวทีอาเซียน โดยไทยเองควรรวมกลุ่มของเยาวชนและนักกิจกรรมร่วมผลักดัน เพื่อยกระดับกรอบสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำ
 
"ขนาดนักพัฒนาที่มีชื่อเสียงยังถูกละเมิดสิทธิ แล้วประชาชนธรรมดา ชาวบ้านตาสีตาสาจะเป็นอย่างไร" อิทธิพล คำสุข เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน ซึ่งทำการเคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่บนลำน้ำโขง กล่าว
 
ชาวบ้านจากลุ่มน้ำโขง แสดงความเห็นด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงมีอยู่ในภูมิภาคนี้ และการแก้ปัญหาควรต้องใช้ปฏิญญาระหว่างประเทศ เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แทนที่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรหันมาดูเรื่องสิทธิมนุษยชน
 
"ขอวิงวอนต่อประเทศในประชาคมอาเซียน ให้กรณีสมบัดถูกบังคับให้สูญหาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ ขอให้เป็นคนสุดท้าย" อิทธิพลกล่าว  
 
ภาพสัญลักษณ์สันติภาพ ที่มา: aseanyouthmovement.org
 
 
 
สารแด่กลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง
จาก
เง็ก ชุย เมง
ภรรยาของ สมบัด สมพอน
 
 
เยาวชนลุ่มแม่น้ำโขงที่รักทุกคน –
 
ฉันรู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง ต่อการแสดงความรักและความสมานฉันท์ของพวกเธอ เพื่อลุงบัดที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา และจนกระทั่งวันนี้ เรายังไม่รู้ข่าวคราวว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ฉันมั่นใจว่าจิตใจของเขาจะอยู่กับพวกเธอ ณ ขณะนี้
 
ฉันอยากให้ทุกท่านทั้งหมดในที่นี้ ค้อมศีรษะลงและสงบนิ่งสักครู่เพื่อส่งความระลึกถึงให้สมบัดยังคงแข็งแรง ด้วยอารมณ์และจิตใจที่เข้มแข็ง และที่สำคัญไปกว่านั้น เพื่อส่งความปรารถนาไปยัง ผู้ที่ขังตัวลุงบัดไว้ในขณะนี้ ให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและเมตตา และปล่อยลุงบัดกลับมาอย่างปลอดภัย (กรุณาอยู่ในความสงบนิ่งเป็นเวลา 2 นาที) ขอบคุณ
 
ลุงบัดเป็นบุคคลแห่งสันติภาพ เขาเติบโตมาในหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง เขามีใจรักแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง รวมทั้งรักประเทศชาติของเขาและประชาชนลาว และมีความเคารพเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาล สปป.ลาว สมบัดทำงานอย่างหนักร่วมกับผู้คนทั้งในรัฐบาลและกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี เพื่อทำให้ประเทศลาวเป็นประเทศชาติที่ดีขึ้นสำหรับทุกๆ คน
 
ลุงบัดเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะยากจนหรือมั่งมี ได้รับการศึกษาสูงหรือไม่ พวกเราต่างเหมือนกัน และพวกเราควรที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อทำให้ครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา สังคมของเรา โลกของเราดีขึ้นเพื่อตัวเราเองและคนอื่นๆ รวมทั้งเพื่อคนรุ่นหลังที่จะเดินทางมาถึง
 
เขาหมายถึงอะไร? ครอบครัวที่ดีขึ้น ชุมชนที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น โลกที่ดีขึ้นสำหรับพวกเราและคนอื่นๆ หรือ? สำหรับลุงบัด มันเป็นความหมายที่ค่อนข้างเรียบง่าย มันแค่หมายถึง ไม่ว่าพวกเราจะกระทำอะไรก็ตาม พวกเราควรกระทำด้วยความเป็นธรรมและด้วยความยุติธรรม อีกทั้งพวกเราควรทำงานเพื่อมุ่งให้โอกาสทุกๆ คน โดยเฉพาะคนยากคนจน ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเพื่อให้ลูกหลานของพวกเขาสามารถได้รับการศึกษาที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี และเพื่อจะสามารถให้การเลี้ยงดูพวกเขาในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ยั่งยืน และสงบสุข
 
สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำไมลุงบัดจึงอุทิศชีวิตของเขาเพื่อทำงานอยู่เคียงข้างกับชุมชนคนยากจน เพื่อพัฒนาชีวิตของผู้คนเหล่านั้น โดยการส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยการทำให้เห็นวิธีการในการมีสุขอนามัยที่ดี ลักษณะการรับประทานอาหารที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมการรวบรวมภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่งทำให้วัฒนธรรมและธรรมชาติดำรงอยู่ได้เข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนเพื่อคนรุ่นหลัง สนับสนุนให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการสอนศีลธรรมในโรงเรียนและแก่ชุมชน โดยใช้วิธีการศึกษาแบบแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน (peer-to-peer education) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด การติดสุราเรื้อรัง และการติดเชื้อเอชไอวี
 
ทั้งหมดที่กล่าวมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ลุงบัดเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีสามารถเกิดขึ้นได้ หากเยาวชนอย่างพวกเธอได้รับการปรึกษาหารือและได้เข้ามามีส่วนร่วม นั่นเป็นเพราะเขาเชื่อว่า คนหนุ่มสาวมีอุดมการณ์ มีพลัง และมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อจะผลักดันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องการเพื่อตัวเขาเองและสำหรับลูกหลานในอนาคตของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เขายังกังวลว่า คนหนุ่มสาวอาจจะถูกยั่วยุจากสื่อซึ่งมีเนื้อหาหลักเพื่อสนับสนุนการบริโภค วัตถุนิยม ความละโมบ และชักนำเยาวชนให้เชื่อว่า "มากกว่า คือดีกว่า" "ใหญ่กว่า คือดีกว่า" "สวยได้ เพียงแค่สวยภายนอก" และ "ตัวฉัน" และ "ฉัน"เท่านั้นที่มีความหมายที่สุด ลุงบัดยังมีความกังวลเสมอเกี่ยวกับอิทธิพลของสิ่งที่เป็น "คุณค่าจอมปลอม" ที่อยู่ในความคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน เขามักกล่าวเสมอว่า เราจะสามารถช่วยเหลือคนหนุ่มสาวให้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง "คุณค่าจอมปลอม" และ "คุณค่าที่แท้จริง" ได้อย่างไร
 
ลุงบัดเชื่อว่า มีเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยเด็กๆ และคนหนุ่มสาวให้เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงได้ นั่นคือการพัฒนาผ่านทาง"การศึกษา" สำหรับลุงบัดนั้น "การศึกษา" เป็นมากกว่าการไปโรงเรียนหรือไปมหาวิทยาลัย หรือการสอบผ่านและได้รับใบประกาศนียบัตร เขามองว่า การศึกษาคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจริง และเขาหวังให้ทางโรงเรียนและครูผู้สอนให้เวลาแก่เด็กมากขึ้นในการเรียนรู้จากชุมชน เรียนรู้จากธรรมชาติ และเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติมากกว่าการเรียนจากหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว เขาหวังให้ทางโรงเรียนและครูผู้สอนสนับสนุนเด็กให้รู้จักคิดเองได้และตั้งคำถามเป็น ไม่เพียงแค่ฟังหรือท่องจำ ที่สำคัญมากไปกว่านั้นเขาหวังให้โรงเรียน ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และพระสงฆ์ มุ่งเน้นให้การศึกษาทางด้าน "จิตใจ" มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้หมายถึงการให้การศึกษาเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา และการบ่มเพาะความสงบจากภายใน ลุงบัดเชื่อว่านั่นเป็นเพียงหนทางเดียวที่เด็กๆ และคนหนุ่มสาวจะเข้าใจอย่างมีสติ ว่าอะไรคือ "คุณค่าที่แท้จริง" และอะไรคือ "คุณค่าที่จอมปลอม" เพราะการดำเนินชีวิตด้วยคุณค่าที่แท้จริงนั้น ผู้คนจะสามารถตัดสินใจในการดำเนินชีวิตของพวกเขาได้อย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถูกวิธี สำหรับลุงบัดนั้น "การศึกษาทางด้านจิตใจ คือหัวใจของการศึกษา"
 
ในวันนี้ งานแสดงดนตรีและงานเสวนาของพวกเธอในประเด็นเรื่องความยุติธรรม ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานของลุงบัดและความศรัทธาในเยาวชนของเขาไม่ได้สูญเปล่า พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่า พวกเธอเข้าใจความสำคัญของสันติภาพ และความสำคัญของความรัก ความห่วงใย และความยุติธรรม พวกเธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอมี "หัวใจ" ลุงบัดจะต้องภูมิใจในตัวเธออย่างแน่นอน และฉันก็ภูมิใจในตัวพวกเธอเช่นกัน ลุงบัดจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เขาจะร่วมเฉลิมฉลองกับพวกเธอและคนหนุ่มสาวอีกนับล้านคนเฉกเช่นพวกเธอนี้ ที่จะนำพาหนทางที่จะทำให้ครอบครัวของเธอ ชุมชนของเธอ สังคมของเธอ และโลกของเธอดีขึ้น เพื่อตัวเธอเองและเพื่อลูกหลานในอนาคตของเธอด้วย
 
ขอขอบคุณ และฉันขอให้พวกเธอทุกคนประสบกับความสุขและความสำเร็จ
 
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาญวิทย์-เกษียร : เกี้ยเซียะหรือกลียุค อ่านวิกฤติการณ์สยามประเทศ ยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน

Posted: 06 Feb 2013 03:58 AM PST

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 56 ที่ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ชมรมโดมรวมใจจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค: อ่านวิกฤตการณ์สยามประเทศ ยามเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" โดยมีวิทยากรคือ ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ดำเนินรายการ โดย คำ ผกา  ซึ่งการเสวนานี้ระบุด้วยว่ารายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่าย ชมรมโดมรวมใจจะนำไปสมทบทุนสร้างอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ ที่จังหวัดสกลนคร

0000

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

"..โดยย่อเราน่าจะมีเวลาหายใจได้คล่องขึ้น แล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดีกับเวลาเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง

การต่อรองช่วงชิงระหว่างอำนาจเดิมบารมีเดิมกับอำนาจใหม่บารมีใหม่

โดยมีคนใหม่ๆ ตัวแทนใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรนั้นจ้องมองดูและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมคิดว่าฝ่ายใดอึดฝ่ายใดทนฝ่ายนั้นชนะ เวลาของการเปลี่ยนผ่านกำลังจะมาถึง

สายธารของประวัติศาสตร์จะเป็นผู้บอกกับเรา

กาลเวลา ความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง จะเป็นตัวตอบปัญหาทั้งหมด"

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : TIMES THEY ARE A-CHANGIN'

พระบิดาของประวัติศาสตร์ไทย คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวเอาไว้เมื่อปี 2470 ก่อนหน้าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านบอกว่า คนไทยมีคุณลักษณะพิเศษอยู่ 3 ประการ และท่านก็ให้เป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่า

1. คือ "Love of national independence" หรือ ความรักในเอกราช

2. คือ "Toleration" แปลเป็นบาลีว่า "วิหิงสา"

3. คือ "Power of Assimilation" แปลว่าประสานประโยชน์

อันนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษของชนชาติสยาม อันนี้เป็นตัวตั้งในการที่จะคุยเรื่อง "เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค" อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะครบ 40 ปี 14 ตุลา 2516 อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะครบ 37 ปี หลัง 6 ตุลา 2519 ฯลฯ ด้วยคำถามเก่าๆ กับทางออกที่ดูจะเลือนราง และก็ยังอยู่กับเราราวกับว่าบ้านเมืองของเราจะเปลี่ยนไม่ผ่าน และก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังตกเป็นเหยื่ออธรรมอยู่

ตอบคำถามว่าจะเกี้ยเซียะ หรือ กลียุค ขอฟันธงว่า "เกี้ยเซียะ" เพราะตรงกับวัตรปฏิบัติของชนชั้นนำไทยชาวกรุง หรือผู้ที่ได้มาชุบตัวเป็นชาวกรุง "เกี้ยเซียะ" ก็คือ

"การจัดการปัญหาทางการเมืองด้วยการไกล่เกลี่ยประณีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคม เพื่อรักษาอภิสิทธิ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อประโยชน์อันใดต่อประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย"

อันนี้เป็นคำนิยามศัพท์จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย" ซึ่งน่าสนใจมาก ในพจนานุกรมฯ ยังบอกด้วยว่า

"นี้คือวิธีการยอดนิยมในการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน. ใช้ในความหมายนี้ครั้งแรกโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอาเจ๊ข้างมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์"

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย"

สรุปนี่เป็นวิธีการแบบไทยๆ เชื้อสายจีน บวกกับความเป็นพุทธแบบเถรวาท แบบไทยๆ

ส่วน "กลียุค" นั้นไม่น่าจะเป็นกลียุคอย่างที่หวั่นวิตกกัน หลายคนมักเอาเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยามาอ่านอยู่เรื่อยที่ว่า

"...จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ. คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน. มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร...จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน กรุงประเทศราชธานี จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์ จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ.."

ฟังดูแล้วก็น่ากลัวมากถ้าเราดูจากคำพยากรณ์เพลงยาวของกรุงศรีอยุธยา แต่ตนคิดว่าวิธีอธิบายของอยุธยาว่ามันเป็น "กลียุค" ที่เป็นลักษณะฮินดูหรือพราหมณ์ เป็นภาพสะท้อนที่เราจะเห็นได้จากปราสาทขอม ที่ปราสาทเขาพระวิหารหรือพนมรุ้งมากกว่าที่จะเห็นตามวัดแบบไทยๆ และเถรวาทแบบไทย แต่สังคมไทยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวิกฤต ที่เราจะฝ่าข้ามไปโดยไม่เสียเลือดเนื้อนั้น คือว่าไม่ใช่ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าการต่อรองอำนาจจะจำกัดอยู่แค่ชนชั้นนำที่เป็นการต่อรองระหว่างอำนาจเดิม บารมีเดิม กับอำนาจใหม่ บารมีใหม่ ซึ่งไม่ใช่แล้วในตอนนี้ ถ้าเรามองไปรอบๆ มองไป นอกกรุงเทพ จะเห็นว่าตอนนี้มีกลุ่มคนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นมา จะเป็นชาวกรุงก็ไม่ใช่ จะเป็นชาวบ้านก็ไม่เชิง กลุ่มนี้เป็นลูกผสมระหว่างเมืองกับชนบทบางคนอาจบอกว่าเป็น "ru-ban" อาจจะใช้ "ชาวบ้านกรุง" หรือ "ชาวกรุงบ้าน" กลุ่มนี้ที่เข้ามาต่อรองกับชนชั้นนำเดิมๆ และชนชั้นนำใหม่ๆ ของสยามประเทศไทย

เพราะฉะนั้นวิกฤตทางการเมือง ในแบบเรียนของกระทรวงก็มักจะมองว่าเราไม่ค่อยจะมีปัญหา แต่ว่าถ้าเราจะดูลึกๆ เราจะเห็นมาตั้งแต่กบฏประชาธิปไตย รศ.130 เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อ 80 ปืที่ผ่านมาในการปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 มาจนกระทั่งผ่านรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงอาชญากรรมของรัฐครั้งใหญ่ๆ 4 ครั้ง คือ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 พฤษภาเลือด 2535 และล่าสุดคือ เมษา-พฤษภาอำมหิต 2553

คิดว่าเราได้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ใน 100 ปีที่ผ่านมานั้นมีมหันตภัยและมันก็ยังไม่หมดไป และเราก็ได้เรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์ไทยของเราที่มีไว้ให้เรียนกันนั้น ให้ลืมมากกว่าให้จำ มีไว้ให้ไม่เรียนรู้มากกว่าให้เรียนรู้ ผมอยากจะเชื่อว่ามันจะต้องซ้ำรอยอีกหลายต่อหลายครั้ง กว่าเราจะข้ามไปได้

รัฐประหารยังเป็นสิ่งที่ไม่หมดได้ในเมืองไทยของเรา แม้ว่าการรัฐประหารโดยกำลังทหารจะเป็นไปได้ยากในช่วงสมัยปัจจุบันหรือรัชสมัยปัจจุบันก็ตาม คิดว่ารัฐประหารในรูปแบบอื่นๆ ที่เรารู้จัก ในแง่ของการใช้ศาลหรือตุลาการภิวัฒน์เป็นสิ่งที่ยังมีความเป็นไปได้ต่อตอนนี้ สถานการณ์การเมืองไทยภายในได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเลือกตั้งมาหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่มากๆ การเมืองของอาเซียก็เปลี่ยนไปเยอะทีเดียว โดยเฉพาะกรณีของพม่า และที่สำคัญการเมืองระดับโลก ซึ่งไม่น่าจะเอื้ออำนวยให้กับวิธีการเก่าๆ ที่ใช้กันมา

โดยย่อเราน่าจะมีเวลาหายใจได้คล่องขึ้น และก็เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดีกับเวลาเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง การต่อรองช่วงชิงระหว่างอำนาจเดิมบารมีเดิมกับอำนาจใหม่บารมีใหม่โดยมีคนใหม่ๆ ตัวแทนใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรนั้นจ้องมองดูและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมคิดว่าฝ่ายใดอึดฝ่ายใดทนฝ่ายนั้นชนะ เวลาของการเปลี่ยนผ่านกำลังจะมาถึง สายธารของประวัติศาสตร์จะเป็นผู้บอกกับเรา กาลเวลา ความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง จะเป็นตัวตอบปัญหาทั้งหมด

ขอจบด้วยชื่อเพลงของบ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) ที่บอกว่า "The Times They Are a-Changin"

คลิปวิดีโอ ช่วงชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว โดย Prainn Rakthai

เกษียร เตชะพีระ


"..ในช่วงที่เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบนไปเป็นรายได้สูงนั้น กระแสมวลชนขึ้น

ต้องการเสรีภาพมากขึ้น ต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น คุณจะเอาทุนนิยมมากขึ้น

มันเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

เพราะถ้าประชาธิปไตยน้อยลงมันจะทำซ้ำอย่างที่สฤษดิ์ทำคือ หาร

กล่าวคือพัฒนาเสร็จความเหลื่อมล้ำยิ่งมาก

สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบดีขึ้นมาหน่อยแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ บทเรียนที่เราน่าจะสรุปได้จากการกระโดดใหญ่ 2 ครั้ง

คือ จะพัฒนาทุนนิยมจะต้องมีประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อประกันให้การกระจายรายได้เกิดด้วย

ให้การกระจายโอกาสเกิดจริงด้วย ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีช่องทางให้คนข้างล่างได้ร้อง

การเติบโตทางเศรษฐกิจมันจะถูกรวมศูนย์ผลประโยชน์รายได้ไปอยู่ที่คนข้างบนหมด

และมันก็จะสอดรับกับการเกี้ยเซียะของอีลิท

ดังนั้นมันสำคัญในเรื่องการผลักให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง"

 

เกษียร เตชะพีระ: พัฒนาทุนนิยมต้องมีประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อประกันให้เกิดกระจายรายได้

ผมอยากเอา "เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค" ไปวางอยู่บนการเปลี่ยนผ่าน 2 อัน ด้านหนึ่งในทางการเมือง อีกด้านหนึ่งในทางเศรษฐกิจ

ในทางการเมือง คือการเปลี่ยนผ่านที่เกี่ยวกับกระบวนการที่คนจำนวนมากในชนบทเลิกเป็นชาวนา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก และจะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ไม่ว่าชนชั้นนำจะเกี้ยเซียะกันหรือไม่ก็ตาม

ในแง่ของเศรษฐกิจ จากยุทธศาสตร์ใหญ่ที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์อยากจะทำคือ กระบวนการที่พยายามที่จะผลักเศรษฐกิจของไทยให้พ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง คือเราเลิกเป็นประเทศรายได้จนมาพักใหญ่แล้ว ตอนนี้เราถูกจัดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง แล้วก็เป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลยิ่งลักษณที่จะผลักให้เราเดินไปเป็นประเทศรายได้สูง "แหม่! ฟังแล้วมันปลาบปลื้ม" ภายในเวลาไม่เกิน 5-10 ปีนี้ ผมคิดว่านี่เป็นการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

ส่วนกรอบใหญ่ที่ล้อมการเกี้ยเซียะ หรือ กลียุค คือ 3 แนวโน้มสำคัญในกระบวนการประวัติศาสตร์ใหญ่ๆ 3 กระบวน ซึ่ง 3 แนวโน้มใหญ่ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาการเมืองมีการเปลี่ยน 3 เรื่องใหญ่

1. อำนาจย้ายที่ มันยังย้ายไม่สุดแต่เริ่มย้ายแล้ว และไม่คิดว่ามันจะถอยหลังกลับได้ แม้จะมีความพยายามจะดึงจะถ่วงไว้ก็ตาม คือ อำนาจรัฐเริ่มย้ายจากชนชั้นนำแบบเก่าที่เราเรียกหรือใช้ภาษาการเมืองว่า "อำมาตย์" ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไปสู่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ซึ่งเป็น "นักธุรกิจการเมือง" และมาจากการเลือกตั้ง

2. หน้าตาการเมืองเปลี่ยน สาเหตุที่สำคัญจากชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกำลังแย่งอำนาจกัน ค้นพบว่า "กูโค่นมึงไม่ลง" ต่างฝ่ายต่างค้นพบว่าลำพังตัวเองไม่สามารถเอาอีกฝ่ายลงหรือหยุดได้ ทั้ง 2 ฝ่ายจึงไปเอามวลชนมาเข้าร่วม ฝ่ายอำมาตย์ก็สร้างกระบวนการหรืออุดหนุนขบวนการเสื้อเหลือง ฝ่ายคุณทักษิณก็สนับสนุนและเข้าไปร่วมกับขบวนการมวลชนเสื้อแดง ผลของมันไม่ได้แปลว่าชนชั้นนำทั้ง 2 ฝ่ายคุมขบวนของตนได้หมด จะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ดีเขามีข้อเรียกร้องต้องการความมุ่งหวังทางการเมืองของเขาที่ต่างหากจากรัฐบาลหรือฝ่ายอำมาตย์อยู่ แต่ไม่ว่าจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม การเมืองแบบนั่งอยู่ในหมู่ชนชั้นนำจบแล้ว ไม่ว่าฝั่งไหนจะชนะหรือแพ้ การเมืองเดินไปในรูปแบบการต่อสู้ที่มวลชนอยู่ตรงนั้นแน่ๆ เรียกว่า Mass politics คุณไล่คนเหล่านี้ออกไปไม่ได้ แม้ว่าคุณจะเกลียดชังเขาปานใดก็ตาม

3. นโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยน หลายสิบปีตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ พ.ศ.2504 เรื่องหลักสำคัญคือนโยบายการเติบโต การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทุ่มเททรัพย์สิน ทรัพยากร แรงงานทั้งหมดที่เรามีเพื่อผลักให้เศรษฐกิจโตเร็วมาก สิ่งที่เราหายไปในระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือผลได้มันกระจุก มันไม่ได้กระจายไปให้คนอย่างทั่วถึง ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสมัยรัฐบาลทักษิณก็คือ เริ่มกระบวนการกระจายดอกผลทางเศรษฐกิจไปให้คนที่ไม่เคยได้มาก่อน นั่นก็คือบรรดาคนชั้นล่างทั้งหลาย เพราะฉะนั้นอันที่ 3 ที่เกิดก็คือกิดการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รายได้ทางเศรษฐกิจลงไปสู่ชนชั้นล่างมากขึ้น นโยบายเศรษฐกิจแบบเทคโนแครตกำหนด เอะอะอะไรก็แล้วแต่ผู้เชียวชาญ เอะอะอะไรก็แล้วแต่สภาพัฒน์ ได้กลายเป็นนโยบายที่เขาด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง  "นโยบายประชานิยม" นับวันวิธีการวางนโยบายเศรษฐกิจแบบเทคโนแครตพูดฝ่ายเดียวมันจะเป็นไปไม่ได้และจะมีน้อยลงเรื่อยๆ นโยบายทิศทางหลักก็คือต้องคิดถึงคนข้างล่างได้อะไรบ้างและพยายามผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่กระจายความมั่งคั่งลงไปข้างล่างมากขึ้น

ทั้ง 3 อย่างนี้มันเกิดขึ้นในกรอบการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ กระบวนการใหญ่ๆ 3 กระบวนการ ซึ่งมันไม่ใช่เกิดขึ้นแบบปีเดียวหรือไม่กี่ปีเห็นผล แต่ 3 อย่างที่ล้อมและทำให้แนวโน้มทั้ง 3 อันข้างต้นมันคลีคลายไปในแบบที่เราเห็น โดย 3 กระบวนการใหญ่ ประกอบด้วย

1. กระบวนการที่คนชนบทเลิกเป็นชาวนา เริ่มต้น พ.ศ.2530 มาถึงปัจจุบัน ประมาณ 25 ปี

2. กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลา 16 ถ้าถือสูตรของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ถ้าถือสูตรของเพื่อนรักผมคือคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกก็จะบอกว่าเริ่มจริงประมาณ 2535 แต่ไม่ว่าจะเริ่มตอนไหน กระบวนการประชาธิปไตย ทั้งในระดับโลกที่สงครามเย็นจบแล้ว ทุกประเทศยอมรับประชาธิปไตย กระแสประชาธิปไตยพัดในระดับโลก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระบอบเผด็จการอีกต่อไป จึงเป็นกระแสที่คลี่คลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

3. การเกิดขึ้นของพระราชอำนาจนำ คือการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เอาตามอาจารย์ธงชัย(วินิจจะกูล) หลัง 14 ตุลา 16 ถ้าเอาตามอาจารย์สมศักดิ์(เจียมธีรสกุล)ก็เริ่มต้นตั้งแต่ 2535 กลายเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมการเมืองและรัฐไทย กลุ่มพลังที่อาจจะคุกคามสถาบันกษัตริย์ได้ถ้าเราดูตัวอย่างอย่างประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ในเขมรที่โค่นกษัตริย์นั้นคือ ลอน นอล ซึ่งเป็นทหาร นอกจากทหารแล้วใครที่โค่นล้มสถาบันกษัตริย์ คือพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นในลาวหรือย้อนหลังกลับไปในรัสเซีย หรือไม่ก็คือกลุ่มนายทุนชนชั้นกลาง อย่างจีนในกรณี ซุน ยัตเซ็น สถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่และดูจากประเทศที่ล้อมเราภัยคุกคามมาจากพลัง 3 กลุ่มนี้ ทั้ง 3 พลังนี้ในรอบ 20 กว่าปีในเมืองไทยจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เลิกกิจการไปแล้ว ทหารก็เปลี่ยนจากทหารของชาติเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนชนชั้นกลางก็เป็นสลิ่ม รัก ม.112

พระราชอำนาจนำ กล่าวคือในหลวงเป็นประมุขไม่ทรงมีอำนาจบริหารทางการเมือง แต่ทรงนำทั้งสังคมและรัฐ ข้อคิด พระราชดำริ ของพระองค์สามารถโน้มน้าวจูงใจให้สังคมการเมืองและรัฐเดินตามได้โดยไม่ต้องบังคับ

3 อันนี้มาร้อยเข้ากัน คือ การเลิกเป็นชาวนาที่เป็นคนชนบท สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นลูกค้าหน้าใหม่และต้องการส่วนแบ่งอำนาจการเมือง สัดส่วนประชากรภาคชนบทกับสัดส่วนแรงงานภาคเกษตร ตั้งแต่ปี 1987-2009 คนชนบทนั้นจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ปี 1987 คนชนบทเป็นคนจำนวน 70% ของจำนวนคนไทยทั้งประเทศ ปี 1997 เหลือ 69% ปี 2007 เหลือ 67% ปี 2009 เหลือ 66% สัดส่วนของคนที่อยู่ในภาคเกษตรเป็นชาวนาชาวไร่ ในปี 1987 ขณะที่คนชนบทมีอยู่ 70% ของคนไทยทั้งหมด คนไทยทั้งหมดที่ทำงานเกษตรมีเพียงแค่ 64% ปี 1997 ขณะที่คนไทยเป็นคนชนบท 69% คนไทยที่ทำงานภาคเกษตรเหลือแค่ 50% และปี 2007 ขณะที่คนไทยอยู่ในชนบท 67% คนไทยที่ทำงานภาคเกษตรเหลือแค่ 41% ความต่างระหว่าง 2 ตัวเลขนี้คือคนที่อยู่ชนบทแล้วเลิกเป็นชาวนา นี่คือกลุ่มลูกค้าสำคัญทางการเมือง คือฐานเสียงที่อยู่ในชนบทของพรรคเพื่อไทย ของพรรคไทยรักไทย ของพรรคพลังประชาชน ของคุณทักษิณ

คนกลุ่มนี้จะนิยามโดยยืมคำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกคนเหล่านี้ว่า คือคนที่อาจารย์ชาญวิทย์เรียกว่า "ru-ban" อาจารย์นิธิ เรียกว่า คือคนชั้นกลางระดับล่างสุด กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชนบทไทย ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานจ้างและธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่ทำนาทำไร่อีกต่อไป แม้มีรายได้มากกว่าคนจน แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แปลว่าคนเหล่านี้แคร์แล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายจำนำข้าว แคร์แล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายสวัสดิการ เงินที่จะมาถึงหมู่บ้านอย่างไร แคร์แล้วว่ารัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงอย่างไร เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงให้แก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เขาคือคนของ "Mass politics"

คนกลุ่มนี้ชอบประชาธิปไตยพอดีเลย คล้องเข้ากับการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยพอดีเลย แล้วคนอย่างคุณทักษิณและไทยรักไทยก็เห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงที่เป็นไปได้ก็ออกนโยบายที่ไปเกาะเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ดังนั้นการเลิกเป็นชาวนามันบรรจบกับกระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ลูกค้าเจอกับคนขายของพอดี การบรรจบครั้งนี้มันก่อปัญหา เพราะมีกลุ่มที่เคยได้ประโยชน์จากการไม่เปลี่ยนทางนโยบายดังกล่าว กลุ่มชนชั้นนำเก่า กลุ่มชนชั้นกลางระดับกลางและบนเก่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่แฮปปี้กับการเปลี่ยนนโยบายเหล่านี้ ไม่แฮปปี้กับการเป็นประชานิยม คนกลุ่มนี้ไม่รู้จะอ้างเอาอะไรมาค้านเสียงข้างมากจึงอ้างความจงรักภักดี คือไปบรรจบกับกรอบใหญ่ที่ 3 คือพระราชอำนาจนำ เพราะฉะนั้นการเมืองของคนกลุ่มนี้ก็จะวิ่งไปสู่ข้อถกเถียงสมัยที่เคยเจอตอน 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 คือความคิดเกี่ยวกับเรื่องราชาชาตินิยม ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเป็นหลักชัย และขยายมาใช้ทางการเมืองเพื่อต้านพวกที่เลิกเป็นชาวนา เพื่อต้านการที่คนกลุ่มนี้จับมือกับทักษิณ แล้วกลายเป็นใช้หรือยึดเอาเวทีประชาธิปไตยไป

ถ้าเราเอาคำถาม "เกี้ยเซียะ หรือ กลียุค" มาวางไว้นี้ คิดว่า "กลียุค" คือแบบ 4-5 ปีที่ผ่านมา คือมีอนาธิปไตยในท้องถนน มีอำนาจนิยมในรัฐบาล เมื่อเจออนาธิปไตยในท้องถนนรัฐบาลปกครองไม่ได้จึงมีแนวโน้มเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินแทบจะตลอดเวลา เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ตลอด 4-5 ปี จึงเกิดอาการคือ "หักศึก" กูเข็ดแล้ว ไม่ไหวแล้วจะอ้วกแตกแล้ว ดังนั้นคำว่า "เกี้ยเซียะ" จึงเกิดขึ้น คือปรากฏการณ์ที่ชนชั้นนำรู้รักสามัคคี ถ้าเรานิยามแบบนี้เกี้ยเซียะแน่ เพราะกระแสรักสงบ หักศึก ไม่ได้แปลว่าเขาเลิกเป็นเหลือง ไม่ได้แปลว่าเขาเลิกเป็นแดง แต่จะให้ไปยึดทำเนียบและยึดสนามบินต่อไม่ไหว หรือจะให้มายึดราชประสงค์ต่อมันไม่ไหวแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนสีแปรธาตุ แต่ว่าวิธีการสู้แบบ 365 วันต่อปีนี่ไม่ไหวแล้ว ดังนั้นเกิดกระแสรักสงบในสังคม

ขณะเดียวกันหมู่มิตรมหาอำนาจต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโอบามา อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น EU เห็นพ้องต้องกันว่าพี่ไทยเบาๆ หน่อย เพราะทั้ง 4 มหาอำนาจนี้ต้องการให้ไทยเป็นหุ้นส่วนเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียนในกรอบการเมืองประชาธิปไตย เพราะพวกเขาป่วยกันหมดแล้วในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเขาหวังพึ่งและพม่าเปิดประเทศพอดี เพราะฉะนั้นเกี้ยเซียะแน่

คำถามคือ "ใครเป็นคนกำหนดเงื่อนไขการเกี้ยเซียะ?" เท่าที่ดูแนวโน้มที่ผ่านมาจากกระบวนการนี้ คล้ายๆ กับเงื่อนไขการเกี้ยเซียะนั้น พลังเก่าเป็นฝ่ายรับทางการเมือง คือมีการขีดเส้นว่านี่คือเขตที่ตั้งรับแล้วห้ามเข้า เป็นเขตที่นักการเมืองจากการเลือกตั้ง รัฐบาลเสียงข้างมากห้ามเข้า เขตนี้ประกอบไปด้วย รัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามแก้ กฎหมายอาญามาตรา 112 ความพร้อมรับผิดของกองทัพ สุดท้ายกรณีหรือกิจการทั้งหลายอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่เปิดให้มวลชนและนักการเมือง คิดว่านี่คือข้อตกลงของฝ่ายพลังเก่าว่านี่คือเขตห้ามเข้า

พลังใหม่มีกระบวนท่าที่รุกในแง่บริหารเศรษฐกิจ น่าสนใจว่าพอน้ำท่วมเกิดมีคณะกรรมการจัดการน้ำท่วมวางแผนเศรษฐกิจประเทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพิ่งเสนอยุทธศาสตร์ประเทศ จะสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 สาย เพื่อผลักให้ประเทศไทยพ้นภาวะที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง รวมทั้งการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เอาเข้าจริงโดนด่าแหลกเลย ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือ นโยบายจำนำข้าว น่าสนใจที่อันนี้ไม่ถอย จึงคิดว่านโยบายทางด้านเศรษฐกิจกลุ่มพลังใหม่เป็นฝ่ายรุก ขณะที่ด้านการเมืองไม่กล้าเข้าไปในเขตหวงห้ามเหล่านั้น

อะไรที่เป็นตัวกำกับการดีดลูกคิดดีลหรือข้อตกลงว่าจะรับจะรุกอันนั้นอันนี้ คิดว่าเป็นเรื่องเวลา 2 เวลา คือเวลาของระบอบเลือกตั้งกับเวลาของเครือข่ายอำมาตย์ มันมีนาฬิกา 2 เรือนที่คนหันไปดูแล้วตัดสินใจว่าจะดีลอย่างไร นาฬิกาของระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยมันยาว คือมันเดินหน้าของมันเรื่อยๆ มันมั่นคง แต่กับระบอบเครือข่ายอำมาตย์นี่ดูนาฬิกาแล้วไม่แน่ใจ มันมีเงื่อนไขทั้งด้านชีววิทยา เงื่อนไขของการแพทย์ต่างๆ

แต่คิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจคือในขณะที่ระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยเป็นระบอบทางการมีกฎหมายรองรับ เครือข่ายอำมาตย์เป็นสิ่งที่ไม่เป็นทางการ ทุกอย่างดำเนินการไปแบบแอบแฝงไม่เป็นทางการตลอด ดังนั้นการคงอยู่ที่แน่นหนาถาวรของเครือข่ายอำมาตย์ในแง่เวลาจึงไม่อยู่ในระดับเดียวกับความยืนยันในแง่เวลาของระบอบประชาธิปไตย

ฟังดูเหมือนราบรื่น แต่คิดว่าไม่ราบรื่น ต่อให้เกี้ยเซียะกันได้ คุณก็ไม่ได้แก้โจทย์ เพราะโจทย์ที่สำคัญคือมันมีคนที่เลิกเป็นชาวนากองมหาศาลอยู่ชนบท คนเหล่านี้ต้องการมีอำนาจทางการเมืองเพราะนโยบายรัฐบาลสำคัญกับเขาแล้ว คุณจะเอาเขาไว้ตรงไหน ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้อาจจะเปลี่ยนไม่ผ่านถ้าไม่แก้เรื่องนี้ คือการเมืองของการเลิกเป็นชาวนา การเมืองของการที่จะจัดการคนที่หลุดจากชนบทมา คือเขากำลังจะเปลี่ยนตัวเองจากชาวนากลายเป็นพลเมืองที่เอาการเอางานทางการเมือง คือไม่ใช่ตาสีตาสาอยู่บ้านนอกเจ้านายจะว่าอะไรก็ยกมือไหว้ อันนั้นจบไปแล้ว มันกลายเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว รู้สิทธิของตัว พร้อมที่จะท้าทายอำนาจ พร้อมที่จะเรียกร้อง พร้อมที่จะก่อม๊อบ พร้อมที่จะปิดถนน จะแก้ปัญหาของคนมหาศาลนี้อย่างไร ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยไปเกี่ยวก้อยหรือร้องเพลงกัน มันจะแก้ได้คุณต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองประเทศให้เขามีที่ คุณไม่อยากให้เขาม๊อบคุณต้องทำให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการต่อรองทางการเมืองโดยไม่ต้องก่อม็อบ คือมีที่ในระบบให้เขา มีที่ในรัฐธรรมนูญให้เขา มีที่ในสภาให้เขา

ถ้าไม่แก้ไขโครงสร้างระบบการเมือง ช่วงเปลี่ยนนี้ไม่ผ่าน และไม่ว่าใครเกี้ยเซียะกันจบ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมาพบคุณแล้วจะปิดถนนเสมอ เหมือนวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ถ้าจะต้องการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ต้องกอดรัดเอาคนที่เลิกเป็นชาวนามหาศาลในชนบท เข้ามาสู่การเมืองในระบบ

3 เรื่องที่ต้องทำในการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

1. ต้องยืนยันความเสมอภาคทางการเมือง ในแง่สิทธิและอำนาจ ในเมื่อเขาเท่ากับคุณ จำนวนเขามากกว่า ประทานโทษที เขาต้องชนะ ถ้าเราไม่เริ่มจากอันนี้ การตกลงทางการเมืองใดๆ ไม่มีความหมายเลย คุณไม่เป็นความเป็นคนเท่าคุณแล้วจะเริ่มตกลงกันได้อย่างไร

2. ต้องกระจายอำนาจ ไม่ใช่กระจุกรวมศูนย์อยู่ในเมืองอยู่ในกรุง อยู่ในศูนย์กลางตลอด ต้องให้พื้นที่ต่างๆ ในชนบทสามารถตัดสินใจกำกับเหนือตัวเองมากขึ้น โดยกระบวนการแบบนี้พวกเขาสามารถเข้าถึงประชาธิปไตย ใช้อำนาจโดยตรงในพื้นที่ๆ เขาอยู่

3. ต้องทำให้การรักษาสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับการรักษาความยุติธรรม การรักษาประชาธิปไตยและการรักษาสิทธิมนุษยชน ถ้าอันนี้ทำได้เปลี่ยนผ่านได้ พูดง่ายๆ ทั้งสถาบันกษัตริย์ ความยุติธรรม ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ยืนข้างเดียวกัน ถ้าทำอันนี้ได้สถาบันกษัตริย์มั่นคงที่สุด ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาปัญหาเกิดเพราะมีคนดึงเอาประชาธิปไตยไปอยู่ตรงข้ามกับสถาบันกษัตริย์โดยการทำรัฐประหารในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ มีการอ้างว่าต้องละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ และเราก็เห็นตัวอย่างของการใช้กรณี ม.112 ซึ่งมันยากมากที่คนอื่นในโลกจะเข้าใจว่ามันมีความยุติธรรมอย่างไร คุณก็ได้แต่บอกว่าคุณไม่ใช่คนไทยคุณไม่เข้าใจ ผมฟังอันนี้แล้วก็อึ้งเพราะผมเป็นคนไทยผมก็ยังไม่เข้าใจเลย นับวันคุณไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นที่เข้าใจของคนไทยเองเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คุณจะแก้อย่างไร ทำให้ทั้งโลกคิดเหมือนคนไทย? หรือปรับให้คนไทยคิดเหมือนคนทั้งโลก บนฐานของความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ซึ่งยืนอยู่ที่เดียวกันกับสถาบันกษัตริย์

การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ขอยกคำกล่าวของนายกยิ่งลักษณ์ ที่ออกรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า

"ยุทธศาสตร์แรก จากที่เราถูกปรับระดับจากประเทศรายได้น้อยมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สิ่งที่เราทำต่อคือการที่มีรายได้ปานกลางจะให้อยู่อย่างยั่งยืนหรือมีรายได้ที่ดีขึ้น คือต้องปรับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะเราต้องปรับวิถีชีวิตที่ดี แทนที่จะขายของปริมาณมากๆ ต้องปรับคุณภาพให้สูงขึ้น เมื่อรายได้มากขึ้นและอาเซียนจะเข้ามา ประเทศต่างๆ ในอาเซียน เราจะทำอะไรให้เราขายของได้ และจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นจุดเด่นน่าลงทุนสำหรับนานาชาติด้วย"

นี่คือการประกาศอย่างเป็นทางการในการยกระดับประเทศไทยจากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้สูง เป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลชุดนี้

การยกระดับประเทศหนึ่งๆ จากประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้สูงยากมาก ทำไมถึงยาก การแบ่งประเทศรายได้ระดับปานกลาง มันมีหลายสูตร ถ้าเอาสูตรของ Michael Spence ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 2001 นั้นว่าประเทศรายได้ระดับปานกลางคือประเทศที่ประชากรในประเทศนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 5,000 – 10,000 ดอลลาร์ต่อปี เงินเดือนประมาณ 15,000 – 25,000 บาทต่อเดือน ส่วนของธนาคารโลกนั้นเกณฑ์ต่างกันนิดหน่อย ประเทศรายได้ระดับปานกลางคือประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 1,021 – 12,475 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไทยตอนนี้รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 4,000 – 5,000 ดอลลาร์ต่อปี

อันสุดท้ายของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย มาจากรายงานที่นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งทำให้ เขาคำนวณตัวเลขในปี 2010 คือเขารู้ว่าข้าวแกงในไทยถูกแต่ไปกินที่นิวยอร์กแพง ดังนั้นเวลาเขาเทียบรายได้เขาเอา อำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) มาเทียบกันด้วย ไม่ได้คิดเพียงตัวเงินดิบๆ เขาเสนอว่าประเทศรายได้ต่ำนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อปี ในปี 2010 ทั้งโลกมี 40 ประเทศ ประเทศรายได้ปานกลาง มีปานกลางระดับต่ำ กับปานกลางระดับสูง ประเทศปานกลางระดับต่ำอยู่ที่ 2,000 – 7,250 ดอลลาร์ต่อปี ในปี 2010 มี 38 ประเทศ ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง อยู่ที่ 7,250 – 11,750 ดอลลาร์ต่อปี มีอยู่ 14 ประเทศ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศนั้น ถ้าเป็นประเทศรายได้สูง รายได้ต้องสูงกว่าหัวละ 11,750 ดอลลาร์ต่อปี ในปี 2010 ทั้งโลกมีอยู่ 32 ประเทศ ประเทศไทยนั้นรายได้เฉลี่ยต่อหัวเมื่อเอาอำนาจซื้อมาเทียบ เราอยู่ที่ 9,143 ดอลลาร์ต่อปี เหลืออีกประมาณพันถึงสองพันดอลลาร์ต่อปี เราจะขยับไปสู่ประเทศรายได้สูง

การออกจากประเทศรายได้ปานกลางไม่ง่าย ถ้าออกสำเร็จเราก็เปลี่ยนผ่าน ถ้าไม่สำเร็จก็เปลี่ยนไม่ผ่าน ถ้าเปลี่ยนไม่ผ่านเขาเรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง คือติดกับ ดังนั้นจะเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงอย่างไร โดยที่ไม่ติดกับดัก ไม่ให้หมดแรง เขาเสนออย่างนี้ว่าถ้าคุณเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ คุณต้องทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นปีละ 4.7 % และต้องเลื่อนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในเวลาไม่เกิน 28 ปี ถ้าไม่เลื่อนก็ติดกับดัก แต่ถ้าสำหรับประเทศรายได้ปานกลางระดับบนอย่างไทย เราต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวปีละ 3.5 % เพื่อที่จะกลายเป็นประเทศรายได้ระดับสูงในเวลาไม่เกิน 14 ปี ไม่เช่นนั้นก็จะติดกับดัก

เรากลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ปี 2519 และเราอยู่ที่ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ 28 ปี คือพ้นในปี 2547 เดาว่าที่เราหลุดจากประเทศรายได้ระดับต่ำไปได้เพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสฤษดิ์ ที่เริ่มแผนเมื่อปี 2504 หลังจากนั้นเราน่าจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำเร็วก่อนนั้น แต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเสียก่อน ที่เราขยับจากรายได้ปานกลางระดับต่ำไปปานกลางระดับบนได้คิดว่าเป็นเพราะอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นเพราะนโยบายโชติช่วงชัชวาลสมัยพลเอกเปรม และน่าจะขยับได้เร็วกว่านี้หากไม่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมา ใน 28 ปีที่เราอยู่รายได้ปานกลางระดับต่ำเศรษฐกิจเราโตปีละ 4.7%

รอบนี้เราอยู่ที่ราได้ปานกลางระดับบนอยู่ 7 ปี หากนับถึงปี 2010 เรามีเวลาอีก 7 ปีที่จะเลื่อนชั้น ถ้าเลื่อนไม่สำเร็จเราติดกับดัก และถ้าความฝันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือทั้งหมดจะเกิดก่อนครบ 7 ปี และทั้งหมดจะเกิดด้วยยุทธศาสตร์ประเทศของแก โดยรถไฟความเร็วสูง ส่วนประเทศที่อยู่ในสภาวะแบบเดียวกับเรามี จีน บัลแกเรีย ฮังการี โปแลนด์ ตุรกี คอสตาริกา เม็กซิโกและโอมาน เป็นกลุ่มที่ยังไม่ติดกับ ยกเว้นจีนกับไทยแล้ว ประเทศที่เหลือล้วนเคยติดกับดักรายได้ปานกลางระดับต่ำมาก่อนร่วม 50 ปี ในบรรดา 9 ประเทศมีประเทศที่เสี่ยงที่จะติดกับดักคือ คอสตาริกา ฮังการี เม็กซิโก โอมานและตุรกี ส่วนอีก 4 ประเทศน่าจะหลุดถ้ารักษาการเติบโตของรายได้ประชากรที่ประมาณ 3.5-3.6% ถ้ารักษาไว้ได้โปแลนด์จะเข้าสู่ประเทศรายได้ระดับสูงในปี 2013 จีน ปี 2015 ส่วนบัลแกเรียกับไทยจะเข้าในปี 2018

เพื่อสิ่งนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงทำโครงการเชื่อมโยงกับอาเซียน เชื่อมโยงกันกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มันจะนำมาซึ่งการสร้างถนนไฮเวย์ตัดไปมาในประเทศเราหลายสายมาก ที่เฉพาะหน้าคือรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะมีอยู่ 3 สายหลัก สายที่ 1 คือ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สายที่ 2 กรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ – คุนหมิง และสายที่ 3 เชื่อมโยงจากประเทศไทยไปทางใต้ ไปสิงคโปร์

ยุทธศาสตร์ประเทศนี้ความหวังของเขาก็คือกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต แต่โตแบบมี 3 ลักษณะ โตแล้วแข่งขันกับต่างประเทศได้ดี โตแล้วเขียวคือหวังว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อม อันที่ 3 คือ ให้คนทั้งหลายได้โตไปด้วยกัน คือ "inclusive growth" เขาไม่ได้บอกให้คนจนคนรวยเสมอภาคกันยิ่งขึ้น คือเขาบอกว่าในกระบวนการที่จะทำให้เศรษฐกิจโตโดยยุทธศาสตร์นี้ เขาจะรวมท่านทั้งหลาย คนที่ไม่เคยได้ประโยชน์จากการโตนี่ให้เข้ามาได้ประโยชน์ด้วยโตไปด้วย แต่เขาไม่ได้บอกว่าคนที่รวยมหาศาลจะลดการโตลงมาอยู่ในระดับเดียวกับท่านทั้งหลาย คือเราจะนั่งรถไปขบวนเดียวกันแต่ท่านก็จะได้ประโยชน์จากการโตบ้าง แต่ไม่ได้จะรั้งคนที่อยู่ข้างบนลงมาด้วย อันนี้เป็นวิธีการชวนคนให้เข้าร่วมขบวนรถไฟ ความเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่ทำให้เศรษฐีรู้สึกไม่สบายใจ

ทางรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักอันนี้ ชัดเจนที่คำพูดของรัฐมนตรีจะก่อสร้างตรงจุดที่ GDP (Gross Domestic Product – ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) สูงก่อน แปลว่าเขาเลือกในพื้นที่ๆ เศรษฐกิจเติบโตดีก่อน หวังจะให้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเหมือนกระดูกสันหลักหรือเส้นเลือดใหญ่ แล้วใช้มันกระจายความเจริญ กระจายการจ้างงาน เขาหมายถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าถ้าทำอันนี้ขึ้นมาจะมีงานตำแหน่งใหม่ๆ เกิดขึ้นปีละ 5 แสนตำแหน่งทุกปี สร้างโอกาส

เมื่อมีเส้นเลือดใหญ่มีกระดูกสันหลังอันนี้แล้ว ภาครัฐและเอกชนระดับจังหวัดต้องขานรับ ถ้าคุณอยู่ที่จังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงผ่านคุณเงยหน้ามองดูเส้นทางรถไฟแล้วปรับทิศทางการพัฒนาจังหวัด ปรับธุรกิจคุณให้ขานรับกับเส้นทางนี้ หน่วยราชการจะต้องตามไปบริการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน การแพทย์ต้องตามไป เขาเชื่อว่ามันจะส่งผลสะเทือนเชิงบวก ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ค่าขนส่งจะถูกลง พลังงานจะถูกลง เราจะลดการใช้ตรงนี้ มันจะกระตุ้นราคาที่ดิน เหมือนตอนสมัยสฤษดิ์ที่มีการตัดถนนยุทธศาสตร์ เศรษฐีที่ดินเกิดมากมายและชาวนาไร้ที่ดินก็เพิ่มขึ้น เพราะคนที่รู้แกว กำนัน ผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไปซื้อที่ดินจากชาวนาเพราะรู้ว่าเส้นทางจะมาทางนี้ ดังนั้นอะไรทำนองเดียวกันกำลังจะเกิดอีก กระตุ้นธรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

สรุปเขาเชื่อว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 1% ซึ่งสำคัญ เพราะประมาณ 5 ปีก็จะขยับเป็นประเทศรายได้สูงง่าย พอพูดทั้งหมดเสร็จก็มีการแปรนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นทุนทางการเมือง ดังนั้นเมื่อขายฝันเรียบร้อยให้เรารู้สึกเคลิ้มๆ นายกยิ่งลักษณ์ก็สำทับว่า

"แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมือง ถ้าสถานการณ์การเมืองมั่นคงแล้วก็สงบ ก็ทำให้บรรยากาศต่างๆ น่าลงทุน คนก็จะมา วันนี้เราต้องช่วยกันในการที่จะรักษาบรรยากาศของการเมืองให้มีความสงบ แล้วเศรษฐกิจก็จะตามมา ต้องเรียกว่าสถานการณ์ในประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความแข็งแรงของเศรษฐกิจของประเทศ"

คือกำลังเอาโปรเจ็คท์ทั้งหมดมาบีบมาเป็นแรงกดดันว่าอย่างพึ่งเคลื่อนทางการเมือง ไม่เพียงเท่านั้น ยังเอามาหาเสียงผู้ว่า กทม.ด้วย คุณภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ผอ.ศูนย์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีการแปลงยุทธศาสตร์ประเทศเป็นทุนเลือกตั้งผู้ว่า กทม.  โดยคุณภูมิธรรมกล่าวว่า

"เพื่อไทยจะต้องเป็นผู้ว่าฯ กทม.ให้ได้เพราะสำคัญมาก เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลคิดที่จะทำในอีก 4-5 ปีข้างหน้ามี 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.จัดการระบบน้ำทั้งระบบ 2.โลจิสติกส์ ถ้า กทม.กับรัฐบาลไม่มีเอกภาพจะทำให้การทำงานของรัฐบาลเหนื่อยมาก เพราะระบบการจัดการน้ำเป็นโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณจำนวน 2 แสนล้านบาท การแก้ปัญหาน้ำต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดย กทม.จะต้องเชื่อมโยงกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเป็นเนื้อเดียวกับ กทม.ก็ทำให้งานของรัฐบาลบรรลุผล โดยเฉพาะใน 6 ปีข้างหน้านี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (hi-speed train) โดย 6 ปีข้างหน้าจะเห็นรถไฟความเร็วสูง 3 สาย คือ 1.กรุงเทพฯ-หัวหิน 2.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และ 3.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จากนั้นอีก 6 ปีรัฐบาลจะสร้างส่วนต่อรถไฟความเร็วสูงอีก จากพิษณุโลก-เชียงใหม่ จากโคราช-อุดรธานี จากหัวหิน-หาดใหญ่ โดยจะสร้างรถไฟด้วยการเจาะภูเขาใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า ความยาว 600 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ โดยมีสถานีรถไฟหัวลำโพง รัฐบาลจะทำให้เป็นบูติคสเตชั่น ขณะที่สถานีรถไฟบางซื่อก็จะเป็นแลนด์มาร์ก ทำให้การท่องเที่ยวจนไปถึงการแก้ปัญหาจราจรทั้งระบบในกรุงเทพฯ"

คือขายพงศพัศ ด้วยรถไฟความเร็วสูง นี่คือโครงการในการจะเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ 

"ไร้รอยต่อ" กับรัฐบาลสโลแกนหาเสียงของ "พงศพัศ"

ข้อสังเกต ทุนนิยมมันเป็นอารยธรรมพรมแดนหาเงิน คือทุนนิยมมันจะมีการก้าวกระโดดเติบโตขนานใหญ่มันต้องเปิดบริสุทธิ์ทรัพยากร มันต้องไปถึงพรมแดนความเจริญแล้วเปิดบริสุทธิ์เข้าไป เปิดพรหมจรรย์เข้าไป ตอนนี้พรมแดนนั้นอยู่ที่พม่า ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะทำมันเท่ากับเตรียมสิ่งนั้น ในเมืองไทยเรามีก้าวกระโดดใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งแรกคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ซึ่งตอนนั้นทำไปโดยระบอบเผด็จการทหาร ก้าวกระโดใหญ่ครั้งที่ 2 ทศวรรษ 2520 คืออีสเทิร์นซีบอร์ด ทำไปภายใต้ระบอบเผด็จการครึ่งใบ มารอบนี้ก้าวกระโดดใหญ่ครั้งที่ 3 โดยทำร่วมกันอาเซียนเป็น AEC คำถามคือคุณจะทำภายใต้ระบอบการเมืองอะไร? ประชาธิปไตยเต็มใบหรือไม่? ไม่รู้

อาจารย์ญี่ปุ่นผมที่เป็นที่ปรึกษารัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับญี่ปุ่นอาเซียนมี 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศใหญ่ กับไทย เพราะไทยทำเลที่ตั้งดี เป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ สิ่งที่จะเกิดเป็นการชวนคอนติเนนตัลอาเซียน คืออาเซี่ยนส่วนภาคพื้นทวีป ลืมอินโดนีเซีย ลืมฟิลิปปินส์ ลืมพวกเกาะ ซึ่งก็คือไทย ลาว เขมร พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ตั้งยุทธศาสตร์เป็นประตูเข้าไปเปิดพรหมจรรย์พม่า ใครจะเข้าไปทำอะไรในพม่าจะต้องผ่านไทยเพราะสะดวก เหมือนสงครามโลกที่ญี่ปุ่นจะไปพม่าต้องเดินทัพผ่านไทย ครั้งนี้ก็เช่นกันญี่ปุ่นเดินทัพทุนผ่านไทย โดยอาศัยไทยเป็นประตูและเป็นสี่แยก

แปลว่าการกระโดดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางของเราหนนี้ไม่ใช่การกระโดดคนเดียว คนเดียวโดดไม่ได้ ต้องโตด้วยกันเป็นขบวนทั้งภูมิภาคยกขึ้นเป็นแผง โดยเราเป็นจ่าฝูง เป็นฝูงห่านน้อยบินที่มีประเทศไทยเป็นจ่าฝูง โดยเราปรับเส้นทางคมนาคม ปรับลอจิสติกส์ แล้วผลัดใบอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแบบที่เราเคยทำมาแล้วไม่มีอนาคตก็คือโลว์เทค ค่าแรงต่ำ เทคโนโลยีต่ำ ใช้แรงงานเข้มข้น สิ่งทอเสื้อผ้าไม่มีอนาคต ตลาดส่งออกก็แย่ เราทำอย่างไรก็มีการส่งไปลาว เขมร พม่า หลังจากส่งออกไปแล้ว 300 บาทจึงเข้ามาตรงนี้ มันเป็นกระบวนการผลัดใบทางอุตสาหกรรม แล้วเราจะแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมที่เน้นทุนเข้มข้น ทุนมนุษย์เข้มข้น ความรู้เข้มข้น ก็คืออุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น แล้วเน้นตลาดภายในประเทศและตลาดภูมิภาค นี่คือกระบวนการผลัดใบที่กำลังเกิดขึ้น

ปัญหามันอยู่คือการเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศขนานใหญ่ มันต้องปฏิรูปการเมืองไปในทางเสรีนิยมและประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นด้วย มันไม่มีประเทศไหนที่พ้นประเทศระดับปานกลางไปโดยไม่ถูกกดดันให้ปฏิรูปการเมืองไปในทางนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ บราซิล ในช่วงที่เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบนไปเป็นรายได้สูงนั้น กระแสมวลชนขึ้น ต้องการเสรีภาพมากขึ้น ต้องการประชาธิปไตยมากขึ้น คุณจะเอาทุนนิยมมากขึ้น มันเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง เพราะถ้าประชาธิปไตยน้อยลงมันจะทำซ้ำอย่างที่สฤษดิ์ทำคือ หาร กล่าวคือพัฒนาเสร็จความเหลื่อมล้ำยิ่งมาก สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบดีขึ้นมาหน่อยแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่

บทเรียนที่เราน่าจะสรุปได้จากการกระโดดใหญ่ 2 ครั้ง คือ จะพัฒนาทุนนิยมจะต้องมีประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อประกันให้การกระจายรายได้เกิดด้วย ให้การกระจายโอกาสเกิดจริงด้วย ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีช่องทางให้คนข้างล่างได้ร้อง การเติบโตทางเศรษฐกิจมันจะถูกรวมศูนย์ ผลประโยชน์รายได้ไปอยู่ที่คนข้างบนหมด และมันก็จะสอดรับกับการเกี้ยเซียะของอีลิท ดังนั้นมันสำคัญในเรื่องการผลักให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 10 ปี “จ่าตำรวจ” ครอบครอง M79 ช่วงชุมนุมเสื้อแดง 53

Posted: 06 Feb 2013 03:00 AM PST

 

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1121/2554 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ปริญญา มณีโคตม์ ในข้อหามีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย พิพากษาจำคุก 10 ปี

โดยศาลอ่านคำพิพากษาระบุว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 ซึ่งผู้ชุมนุม นปช. มีการเคลื่อนขบวนผ่าน ถ.วิภาวดี ตำรวจจึงได้ตั้งด่านเพื่อตรวจค้นรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกในบริเวณดังกล่าว ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. มีรถมอเตอร์ไซด์คันหนึ่งซึ่งมีคนขับเป็นชายสวมหมวกกันน็อกสีแดง ตะกร้าด้านหน้ารถมอเตอร์ไซด์มีถุงสีดำ 1 ใบวางอยู่ และด้านท้ายรถมอเตอร์ไซด์บรรทุกกล่องซึ่งห่อหุ้มด้วยถุงสีดำเข้ามาในพื้นที่ ตำรวจจึงเรียกให้คนขับมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวหยุดเพื่อขอตรวจค้น คนขับยอมหยุดรถแต่ไม่ดับเครื่อง เมื่อตำรวจ 2 คนเข้าไปเรียกรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวจอดชิดริมขอบฟุตบาท แต่จังหวะที่ตำรวจเผลอ คนขับได้เร่งเครื่องเพื่อหลบหนี ตำรวจขับรถมอเตอร์ไซด์ติดตาม แต่ติดตามไม่ทันจึงเรียกให้ทหารที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุขับรถมอเตอร์ไซด์ติดตามรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าว

คนขับรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวขับหนีเข้าไปทาง ถ.วิภาวดี และทำถุงสีดำซึ่งวางอยู่ตะกร้าด้านหน้ารถมอเตอร์ไซด์ตกพื้น ทหารจึงได้ยึดถุงสีดำดังกล่าวไว้ และติดตามรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวไปอีก เมื่อรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวหลบเข้าไปในซอยๆ หนึ่ง ทหารได้ติดตามไป แต่ปรากฏว่า คนขับได้ทิ้งรถมอเตอร์ไซด์จอดพิงกำแพงไว้ และทิ้งกล่องที่หุ้มด้วยถุงดำ, หมวกกันน็อก, เสื้อคลุม, ถุงมือ และวัตถุพยานอื่นๆ ไว้ ทหารจึงเรียกหน่วยเก็บกู้ระเบิดเข้ามาตรวจสอบ ปรากฏว่า พบกระเป๋าเงินอยู่ภายในถุงสีดำซึ่งอยู่ในตะกร้าด้านหน้าของมอเตอร์ไซด์ ภายในกระเป๋าเงินพบบัตรประจำตัวข้าราชการ, บัตรประชาชน และบัตรสมาชิกชมรมกีฬา ซึ่งปรากฏชื่อของจำเลยอยู่ และยังตรวจพบวัตถุระเบิดจำนวนมากอยู่ในกล่องที่หุ้มด้วยถุงดำอีกด้วย ทหารจึงได้แจ้งความต่อตำรวจ

ตำรวจได้ส่งของกลางที่ยึดได้ให้กับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจเพื่อทำการตรวจสอบ ปรากฏว่า ระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิด M79 ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้ และยังตรวจพบ DNA ซึ่งตรงกับของจำเลยอยู่บนหมวกกันน็อกสีแดงอีกด้วย ตำรวจให้การยืนยันว่า เห็นใบหน้าของชายคนขับรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าว แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น และมีฝนตกปรอยๆ ก็ตาม เนื่องจากเป็นเวลากลางวัน และยังได้ไปชี้ตัวจำเลยในเรือนจำธัญบุรีได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

ศาลเห็นว่า คำให้การของตำรวจสอดคล้องกัน ยากที่จะเป็นการแต่งเรื่องขึ้น นอกจากนี้ DNA ที่ตรวจพบจากหมวกกันน็อกสีแดงเป็นสิ่งที่ยากที่จะปลอมแปลง คำเบิกความของตำรวจจึงรับฟังได้ ส่วนคำให้การของจำเลยที่ว่า วันดังกล่าวจำเลยได้รับการมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้แฝงตังเข้าไปในผู้ชุมนุม นปช. โดยไม่ได้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ และคำให้การที่ว่า การตรวจพบ DNA บนหมวกกันน็อกสีแดงเกิดจากจำเลยถูกตำรวจหลอกให้สวมหมวกกันน็อกจนทำให้หมวกกันน็อกดังกล่าวติด DNA ของจำเลยนั้น ศาลเห็นว่า หากหมวกกันน็อกดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยย่อมต้องไม่พบ DNA ของจำเลย อีกทั้งการกล่าวอ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น

อัยการร้องขอให้ศาลนับโทษในคดีนี้ ต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 3446/2553 และ 3447/2553 ของศาลธัญบุรีด้วยนั้น ศาลเห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ 3446/2553 ของศาลธัญบุรี ศาลธัญบุรีได้พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 54 และวันที่ 25 ก.ย. 55 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ดังนั้นจึงไม่มีโทษใดที่ต้องให้นับโทษต่อ ส่วน คดีหมายเลขดำที่ 3447/2553 ของศาลธัญบุรีนั้น ศาลธัญบุรีได้พิพากษาจำคุกจำเลย 10 เดือนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 54 ซึ่งจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนครบกำหนดโทษแล้ว และศาลได้ออกหมายปล่อยในคดีนี้แล้ว ดังนั้นศาลจึงให้ยกคำขอให้นับโทษของจำเลยต่อจากคดีเหล่านี้ ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี

นายสาคร ศิริชัย ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองและจำเลยนอบรับคำพิพากษาของศาล และยืนยันที่จะอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นที่น่าสงสัยอยู่อีกหลายประเด็น เช่น DNA ที่ถูกตรวจพบบนหมวกกันน็อกตรงกับของจำเลยนั้น แต่ในบรรดาวัตถุพยานที่ถูกตรวจพิสูจน์นั้นมีมากถึง 42 รายการ แต่มีเพียง 1 รายการเท่านั้นที่มี DNA ตรงกับของจำเลย นอกจากนี้ยังไม่ตรวจพบลายนิ้วมือของจำเลยอยู่ในวัตถุพยานใดๆ แม้แต่ชิ้นเดียว

นอกจากนี้ตำรวจที่อ้างว่า เห็นใบหน้าของคนขับรถมอเตอร์ไซด์อย่างชัดเจนนั้น ตนเองเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างที่ตำรวจเรียกให้มอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวหยุด และรถมอเตอร์ไซด์คันดังกล่าวขับหนีออกไปนั้นเป็นช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ไม่กี่วินาที ตำรวจที่ให้การไม่น่าจะจดจำใบหน้าของคบขับมอเตอร์ไซด์ได้ อีกทั้งระยะเวลาที่ตำรวจไปชี้ตัวจำเลยในเรือนจำก็เป็นช่วงระยะเวลาที่ทิ้งห่างจากวันที่เกิดเหตุกว่า 2 เดือน แต่ภาพของจำเลยนั้นปรากฏตามสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากภายหลังจากที่จำเลยถูกจำกุม ตำรวจจึงน่าจดจำใบหน้าของคนขับรถมอเตอร์ไซด์สลับกับภาพของจำเลยตามสื่อมวลชนมากกว่า

ทั้งนี้ จากปากคำของจำเลย ระบุว่า เขาเกิดปี 2514 เป็นชาว อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จบการศึกษานักเรียนพลตำรวจ รับราชการตำรวจที่ สภ.คูคต (ปทุมธานี) เป็นเวลา 17 ปี

ปี 2548-2551 พธม. ชุมนุมกดดันรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกเรียกตัวไปดูแลตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการชุมนุมของ พธม.

เดือน ส.ค. 51 ผู้ชุมนุม พธม. บุกยึดทำเนียบรัฐบาล เขาถูกเรียกตัวไปดูแลทำเนียบรัฐบาล และบางครั้งก็ไปดูแลสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ขณะนั้นตำรวจมีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พกปืนแต่อย่างใด

7 ต.ค. 51 ช่วงเช้าเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม พธม. กับตำรวจ เขาต้องหลบหนีออกมาอย่างจ้าละหวั่น ผู้ชุมนุมยึดโล่และกระบองจากตำรวจเป็นจำนวนมาก เขาระบุว่า ตำรวจคนหนึ่งถูกด้ามร่มแทงทะลุอกจนเป็นบาดแผลฉกรรจ์ และต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควรจึงถูกส่งตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ สร้างความรู้สึกน้อยใจให้กับเขาและตำรวจที่ดูแลพื้นที่ ช่วงสาย ตชด. เข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุม พธม. ด้วยแก๊สน้ำตา เขาต้องหลบออกจากพื้นที่ การสลายการชุมนุมยุติลงผู้ชุมนุม, ตำรวจ และ ตชด. ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

2 ธ.ค. 51 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน และพรรคที่เกี่ยวข้องส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันรุ่งขึ้น (3 ธ.ค. 51) พธม. ประกาศยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงสลายตัว เขาจึงยุติหน้าที่ดูแลทำเนียบรัฐบาล และกลับ สภ.คูคต

มี.ค.-เม.ย. 53 นปช. จัดการชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ เขาจึงถูกเรียกตัวให้ไปดูแลสถานที่ทั้ง 2 แห่ง  แต่ด้วยความชื่นชอบทำให้บ่อยครั้งเขายังคงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อในเวลานอกราชการ ต่อมารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เขาจึงต้องออกจากพื้นที่ภายในไปอยู่พื้นที่รอบนอก และทหารถูกเรียกตัวเข้าไปพื้นที่ภายในแทน

28 เม.ย. 53 เขาถูกเรียกตัวให้ไปดูแล ถ.วิภาวดี

29 เม.ย. 53 ขณะที่เขากำลังขับรถกระบะจะไปเข้าเวรที่ สภ.คูคต ผ่าน ถ.ลำลูกกา รถของเขาติดสัญญาณไฟแดงที่สี่แยกใกล้คลอง 7 กลุ่มผู้ชายกว่า 10 คนเดินตรงมาล้อมรถและควบคุมตัวเขาไปยัง สภ.ลำลูกกา โดยระบุว่าเขาต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย สนับสนุนอาวุธให้ นปช.  

เขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และถูกนำตัวเข้าห้องสอบสวนซึ่งมีทหารและตำรวจอยู่ในห้องหลายคน เขาถูกมัดมือไพล่หลังติดกับเก้าอี้ และมีเจ้าหน้าที่ 2 คนยืนซักถามเขา ตำรวจนำปืน M16 และเงินสดหลายแสนบาทมาให้เขาดู โดยอ้างว่า สิ่งเหล่านี้ถูกค้นพบในรถของเขา เขาให้การว่าเขาเคยเข้าร่วมชุมนุม แต่ไม่รู้จักแกนนำ การสอบสวนดำเนินไปอย่างเข้มข้นกว่า 1 ชั่วโมง เขาถูกสอบสวนกรณีการยิงระเบิด RPG ถล่มคลังน้ำมันของ ปตท. อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (21 เม.ย. 53), การยิงระเบิด M79 หลายจุดในกรุงเทพ และความเกี่ยวข้องกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เขาระบุด้วยว่าทุกครั้งที่เขาตอบคำถามไม่เป็นที่ พอใจ เขาจะถูกเจ้าหน้าที่ตบหรือเตะเขา แต่เขายังยืนยันที่จะปฏิเสธ ตำรวจจึงแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธ และก่อการร้าย

เขาถูกนำไป สภ.คูคต ที่ทำงานของเขาเพื่อแถลงข่าว เมื่อถึง สภ.คูคต ตำรวจระบุเพิ่มเติมว่า พบระเบิด M79, ปืนอาก้า, M16 และอาวุธอีกหลายอย่างในรถยนต์สีแดงของเขาอีกคัน เขาและเพื่อนตำรวจยืนยันว่า รถคันนี้ถูกทิ้งไว้ที่นี่กว่า 2 ปี โดยไม่เคยมีใครเข้าไปแตะต้อง และปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจจึงแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธเพิ่มเติม จากนั้นเขาถูกนำตัวมาแถลงข่าว สื่อมวลชนฝ่ายตรงข้ามพยายามกล่าวหาว่า เขาเป็น "เขี้ยวเล็บ" ของ นปช.

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จาก DSI มารับตัวเขาไปที่ DSI เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิด M79 จำนวน 62 ลูกที่คนร้ายทิ้งไว้ใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (ถ.วิภาวดี) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 53 เขาปฏิเสธเช่นเดียวกัน เขาถูกคุมตัวอยู่ในห้องขังของ DSI ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม  (จำเลยอีกคนหนึ่งที่ถูกข้อหาก่อการร้ายและยิง RPG ใส่กระทรวงกลาโหม จำคุก 38 ปี) ถูกควบคุมตัวเข้ามาอยู่ในห้องขังเดียวกับเขา เขาถูกคุมขังที่ DSI เป็นเวลา 14 วัน ก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำธัญบุรี

หลายวันต่อมาเขาถูกส่งตัวมาที่ศาลธัญบุรี DSI ส่งฟ้องเขาในคดีครอบครองอาวุธ (รถเก๋งสีแดง) และวันรุ่งขึ้นเขาก็ถูกส่งฟ้องในคดีครอบครองอาวุธ และรับจ้างก่อการร้าย (รถกระบะ) แทนที่จะส่งฟ้องพร้อมกันในวันเดียว ส่งผลให้คดีที่ สภ.คูคต และ สภ.ลำลูกกา ต้องแยกออกเป็น 2 คดี  เดือน ก.พ. 54 เขาถูกส่งฟ้องศาลรัชดาในคดีครอบครองอาวุธ (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ) ส่งผลให้คดีของเขาแบ่งออกเป็น 3 คดี 2 ศาล

เขาระบุด้วยว่าระหว่างที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขาถูกเพื่อนนักโทษทำร้าย เพราะเข้าใจว่า เขาเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง จนต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ

14 ก.ค. 54 ศาลธัญบุรีพิพากษายกฟ้องในคดีครอบครองอาวุธ และรับจ้างก่อการร้าย (รถเก๋งแดง) ซึ่งต่อมาอัยการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 55

22 ธ.ค. 54 ศาลธัญบุรีพิพากษายกฟ้องในข้อหาครอบครองอาวุธ แต่ลงโทษจำคุก 4 เดือนข้อหาปลอมแปลงทะเบียนรถกระบะ และลงโทษจำคุกอีก 6 เดือนข้อหาพกพาอาวุธในที่สาธารณะ รวม 10 เดือน

31 ม.ค. 56 ศาลอาญา (ถ.รัชดาภิเษก) พิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปีจากข้อหาครอบครองอาวุธ M79 จำนวน 62 ลูก
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มโนทัศน์ไทยในสังคมเสมือนปิดกับภาวะเสมือนเปิดในศตวรรษที่ 21

Posted: 06 Feb 2013 02:14 AM PST

<--break->

เกริ่นนำ

ควรเริ่ม ด้วยการทำความเข้าใจประโยคพื้นฐานว่า "สังคมเสมือนปิด" ไม่เหมือนกับ "สังคมปิด" เช่นเดียวกัน เราจะไม่กล่าวว่า "ภาวะเสมือนเปิด" มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการกับ "ภาวะเปิด" ด้วย และเหตุที่เราจำเป็นต้องเพิ่มคำว่า "เสมือน" มาใช้ในรูปประโยคนั้น ก็เพราะว่า โลกสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ มีการถูกผลิตซ้ำอย่างกว้างขวางอันเนื่องมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งบ่อยครั้ง การผลิตซ้ำดังกล่าวได้ สถาปนาบางสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่จริงให้น่าเชื่อว่ามีอยู่จริง มากไปกว่านั้น ยังบังคับให้เราเชื่อว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆด้วย แน่นอนที่สุด ตามประวัติศาสตร์ไทยก็จะมีแต่ชนชั้นปกครองเท่านั้นที่ได้รับสิทธิแห่งการผลิตซ้ำนี้ เป็นต้น การเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ การบิดเบือนข้อเท็จจริงทางสังคมของประเทศ หรือแม้กระทั่ง การไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีเหตุมีผล

ขณะเดียวกัน สังคมโลกกลับค่อยๆคลี่คลายความเครียดเค้นอันเนื่องมาจากยุคกลางลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่า สังคมโลกหรือนักคิดที่ทรงอิทธิพลต่อโลกจะยังหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมระหว่างมนุษย์ไม่ได้ก็ตาม  แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะพอยืนยันได้เมื่อเทียบกับบริบททางประวัติศาสตร์ คือ สังคมโลกลู่เข้าสู่ภาวะเสมือนเปิด แม้ว่าจะเป็นการเปิดที่ไม่สมบูรณ์อย่างที่ชวนเชื่อนัก แต่อย่างน้อยที่สุด เสรีภาพบางประการบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ก็ได้รับความคุ้มครองภายใต้ข้อตกลงร่วมของสังคมโลก เป็นต้น เรื่องเจตนารมณ์แห่งการไม่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นสัตว์สังคม

สมมติว่า มโนทัศน์ของชนชั้นปกครองไทยน่าเชื่อว่ามีลักษณะเสมือนปิด โดยอ้างหลักฐานที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นสัตว์สังคมต่างกรรมต่างวาระตลอดประวัติศาสตร์ของรัฐไทยเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนั้นก็ยังคงปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 21 จึงกลายเป็นว่า มโนทัศน์แบบเก่าซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมราชการหรือของชนชั้นกลางไปแล้วกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เรียกร้องให้มีการเปิดเผยและตรวจสอบที่มาที่ไปของมโนทัศน์เหล่านั้น จุดนี้เองที่พรมแดนแห่งการปะทะกันทางความคิดระหว่างมโนทัศน์แบบเดิมกับมโนทัศน์แบบใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น เพราะมโนทัศน์แบบใหม่บังอาจตั้งข้อสงสัยว่า มโนทัศน์แบบเก่าไม่ชอบมาพากล และอาจจะถึงขั้นลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นสัตว์สังคมทีเดียว นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง


เนื้อหา

การปะทะกันทางความคิดของสองมโนทัศน์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในศตวรรษที่ 21 แม้ความถี่จะบ่งบอกอะไรเชิงปริมาณได้ดีในสิ่งที่ประชาชนรู้สึกต่อความไม่ชอบมาพากลของรัฐในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง แต่คุณภาพนั้นสำคัญกว่า  เพราะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการอภิวัฒน์ภายใต้การขับเคลื่อนของมโนทัศน์แบบใหม่ นั่นเอง เป็นจุดที่ทำให้มโนทัศน์แบบเสมือนเปิดพลาดเพราะเสมือนว่าจะเปิดเท่านั้นมิได้เปิดอย่างแท้จริง?

เพราะการเปิดกว้างอย่างแท้อาจไม่มีอยู่จริง แน่นอน การอภิปรายในประเด็นนี้อาจกลายเป็นปัญหาทางปรัชญาเชิงญาณวิทยาว่าด้วย อะไรคือเสรีภาพ? อะไรคือความเสมอภาค? อะไรคือสิทธิ? ซึ่งไม่อาจหาข้อยุติได้ แต่ความไม่ชัดเจนชองนิยาม หรือความไม่สม่ำเสมอของตรรกะที่ใช้ตีความ กลับไม่มีปัญหามากเท่าไรนักหากพิจารณาแค่แนวโน้มของการให้ความหมาย นั่นคือ การพิจารณาแนวโน้ม (Trend) ที่มโนทัศน์แบบใหม่แต่ละชุดมีร่วมกัน ซึ่งคุณสมบัติที่ร่วมกัน (intersection) ของแต่ละมโนทัศน์ดังกล่าว อาจทำให้พอจัดจำแนก กระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือบริบททางความคิดได้

ชุดของมโนทัศน์แบบเก่าของไทย มีแนวโน้มร่วมกันเกี่ยวกับ "ความเป็นจารีต" หรือ "ระเบียบวิธีซึ่งเป็นขั้นตอน" และนั่นอาจจะตีความครอบคลุมไปถึง "ความรู้สึกเรื่องชนชั้นที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง" เช่น ถ้าเป็นชนชั้นทาสแล้วอย่างไรเสีย เพราะสะสมวาสนามาเพียงเท่านี้ และแม้ว่าในทางนิตินัยการห้ามไม่ให้มีระบบทาสจะช่วยปลดปล่อยทาสให้ได้รับอิสระ(เป็นไท) แล้วก็ตาม แต่วาทกรรมที่อิงรากฐานการตีความพุทธศาสนาแบบจารีตช่วยทำให้ "ชนชั้นวรรณะ" เป็นสิ่งที่ต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความ ในแง่ของการให้น้ำหนักต่อความหมายของคำที่น่าเชื่อว่าขัดต่อวัตถุประสงค์หลักของแหล่งกำเนิดวาทกรรม เช่น พุทธศาสนาเป็นที่ทราบกันว่าไม่สนใจเรื่องชนชั้นวรรณะ แม้ว่า ศาสดา คือ เจ้าชายสิทธัตถะ จะยอมรับอยู่บ้างว่า วิธีการฝึกฝนเพื่อบรรลุถึงสภาวะนิพพานของตนมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นขั้นตอนอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ คือ "เสรีภาพ" ไม่ใช่ "ชนชั้นที่สถาบันสงฆ์เป็นผู้สร้าง"

และเพื่อให้วาทกรรมนั้นรับใช้อำนาจและทำให้ตัวมันเองเป็นอำนาจโดยสมบูรณ์  ก็ปรากฎว่าชุดของมโนทัศน์แบบเก่าของไทยยังแอบอิง "ความเป็นเทวะ" (Divinity) ซึ่งเป็นมโนทัศน์ (อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์โบราณ) ที่พัฒนาตนเองอย่างซับซ้อนในสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้คุณค่าและน้ำหนักกับเรื่อง "ชนชั้นของใครบางคน" มากกว่า "เสรีภาพของทุกคน" และสมมติว่าเรายืนอยู่บนมโนทัศน์ลักษณะนี้ เราจะรู้สึก (มโน) ว่า "เสรีภาพของชนชั้นที่สูงกว่า จะนำมาซึ่งความหวังว่าจะปลดปล่อยชนชั้นล่าง" เพราะฉะนั้น ชนชั้นสูง (Elite) ย่อมทำอะไรตามอำเภอใจ (แม้กระทั่งผิดศีลธรรม) แต่อย่างไรๆ การกระทำนั้นจะช่วยให้ชนชั้นล่างลืมตาอ้าปากได้ เช่น ปัญหาหญิงงามเมืองที่พัฒนาจากมุมมืดเรื่อยมาจนเป็นภาพลักษณ์โดยปริยายของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21

และสิ่งที่ทำให้มโนทัศน์แบบเก่าซึ่งถูกผลิตและผลิตซ้ำโดยชนชั้นปกครองมีความมั่นคงจนถึงที่สุด ในฐานะอำนาจ (Power, Authority)ก็คือ "ความเป็นกฎหมาย" และนั่นเป็นหลักประกันเดียวที่จะทำให้มโนทัศน์แบบนี้ปลอดภัยอยู่ภายใต้โลกของตัวเอง ซึ่งที่จริง "การทำให้เป็นกฎหมาย" เป็นเนื้อเรื่องที่ธรรมดามากในประวัติศาสตร์การปกครองของทั่วโลก แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ ความไม่ยอมรับรู้ว่าโลกได้เคลื่อนตัวเองอย่างหยุดยั้งไม่ได้สู่ศตวรรษที่ 21 นั่นคือ มโนทัศน์เชิงเทวะ เชิงจารีต หรือมโนทัศน์ที่ฝังแน่นอยู่กับการอ้างกฎหมายแบบเข้มข้น ล้วนถูกตั้งคำถามในสังคมโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายไปในทางเสรีมากกว่า อย่างน้อยที่สุด ก็มีอะไรที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมกำหนดหรือส่งตัวแทนเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของรัฐได้ (แม้จะต้องยอมรับว่า ในบางประเทศสิ่งนี้อาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนร่างไปของชนชั้นสูงเป็นชนชั้นปกครอง จากเทวะเป็นนายทุนก็ตาม)

จากมโนทัศน์ข้างต้น "ความเป็นจารีต เทวสิทธิ์ และกฎหมาย" จึงเป็นปัจจัยสำคัญให้สังคมมีภาวะเสมือนปิด และแน่นอน ผ่านประวัติศาสตร์หลายชั่วอายุคน ความเสมือนปิดนี้มีผลโดยตรงต่อมโนทัศน์ของประชาชนบางกลุ่ม เป็นต้น ชนชั้นพ่อค้าหรือขุนนางที่ตักตวงและกอบโกยผลประโยชน์จาก "ความเป็นจารีต เทวสิทธิ์ และกฎหมาย" นี้ แต่ปัญหาสำหรับคนกลุ่มนี้มีว่า สิ่งนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับมโนทัศน์ที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงศตวรรษที่ 21 เป็นต้น ปัญหาของการตัดสินทางจริยศาสตร์ที่หยั่งรากอยู่บนปรัชญากลุ่มค้านท์ (Kantian Ethics) ซึ่งแน่นอนว่า ขัดแย้งไม่มากก็น้อยกับการตัดสินทางจริยศาสตร์ที่หยั่งรากอยู่บนแนวคิดอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) และนั่นเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามและดำเนินการไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อยในสังคมโลก แน่นอน แนวคิดอัตถิภาวะนิยมยังไม่ได้รับการสถาปนาให้มีความสำคัญในสังคมไทย สันนิษฐานว่า "การรับรองว่ามนุษย์มีเสรีภาพราวกับถูกสาป" เป็นความหวาดกลัวประการหนึ่งที่ชนชั้นปกครองรู้สึกต่อพลังแห่งการปลดปล่อยของปวงประชา แง่หนึ่งเป็นเพราะมีตัวอย่างการอภิวัฒน์ดังกล่าวมากมาย เช่น ในประเทศฝรั่งเศส (1789-1889) ฉะนั้น ความยึดติดฝังแน่นและการกระทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นปกครองเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ไม่เฉพาะแต่ชนชั้นสูง อาจรวมพ่อค้าและขุนนางด้วย

โชคดีที่ประเทศไทยมีเพียง "ลักษณะเสมือนปิด" ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็อุปมาเหมือนกับ มีช่องระบายความกดดันที่ "ความเป็นจารีต เทวสิทธิ์ และกฎหมาย" กดทับอยู่ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ในประวัติศาสตร์ช่องระบายความกดดันที่ว่า เป็นศิลปะที่มโนทัศน์แบบเก่าใช้อย่างชาญฉลาดมาโดยตลอด แต่ปัญหาแบบตลกร้ายก็เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 อีก เนื่องจากประชาชนบางส่วน เป็นต้น ชนชั้นกลาง ที่มิได้เป็นทั้งพ่อค้าและขุนนาง ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากวาทกรรมของมโนทัศน์แบบเก่า ไม่เข้าใจรายละเอียดของศิลปะแห่งการประคับประคองอำนาจลักษณะนี้ จึงกลายเป็นว่า ผลผลิตจากวาทกรรมที่มโนทัศน์แบบเก่าได้สร้างกลับเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะปิดกั้นช่องระบายความกดดันดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดความกดดันระดับสูงที่มากพอจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อย

แม้ "ความเป็นจารีต เทวสิทธิ์ และกฎหมาย" จะทำลายตัวเองในระยะเวลาอันสั้นเพื่อเผชิญหน้าอย่างลนลานกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ การทิ้งมโนทัศน์แบบเดิมและหันมาสวมใส่มโนทัศน์แบบใหม่ของนักวิชาการ ซึ่งถือได้ว่า เป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลไม่มากก็น้อยกับสังคมไทย เพราะในรอยต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของประวัติศาสตร์ ก็ปรากฏความลักลั่นย้อนแย้งของพฤติกรรมชนิดที่เรียกว่า "ลักปิดลักเปิดทางมโนทัศน์" นั่นคือ ความสับสนในมโนทัศน์ของตนเองเพราะเกิดการคร่อมกันไปมาระหว่างมโนทัศน์แบบเก่ากับแบบใหม่ ฉะนั้น มองในแง่ดี อาจเป็นว่า นี่เป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งยังดำเนินการไม่เสร็จของนักวิชาการไทยในระดับปัจเจกบุคคล ภายใต้สังคมโลกที่ให้เสรีภาพว่า ไม่แปลกอะไรที่คุณจะชงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมโนทัศน์แบบเก่าและแบบใหม่ในสูตรเฉพาะของตนเองและแบ่งปันให้เพื่อนของคุณชิม และไม่แปลกอีกถ้าคุณจะชงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมโนทัศน์แบบเก่าแต่เพียงอย่างเดียว แล้วชวนให้เพื่อนชิมโดยหว่านล้อมว่านี่เป็นรสชาติที่กลมกล่อมที่สุด ฉะนั้น เสรีภาพนี้เป็นภาพลักษณ์หนึ่งของสังคมโลกที่ขับเคลื่อนโดยมโนทัศน์แบบใหม่ ซึ่งเรียกร้องให้ปัจเจกบุคคลไตร่ตรองตนเองอย่างลึกซึ้งและชัดเจนกับเป้าหมาย


สรุป

ถ้าเราไม่หลอกตัวเองมากพอ เราย่อมเห็นการปะทะกันลักษณะนี้ในสังคมไทยอย่างแน่นอน เราย่อมเห็นใครคนหนึ่งที่เป็นภาพตัวแทนของระบบเสมือนปิด (คือ เปิดเฉพาะที่ตัวเองต้องการ) ซึ่งเป็นตัวแทนมโนทัศน์แบบเก่า และเราย่อมเห็นใครคนหนึ่งที่เป็นภาพตัวแทนของระบบเสมือนเปิด (คือ ปิดเฉพาะที่ตัวเองต้องการ) ซึ่งเป็นตัวแทนมโนทัศน์แบบใหม่ และสิ่งที่ทั้งสองต้องยอมรับร่วมกัน คือ การปะทะกันแบบนี้แบบเรื่องใหม่ของทั้งคู่ภายใต้บริบทของเวลาในศตวรรษที่ 21 และภายใต้บริบทเฉพาะของประเทศนี้  และถ้าทั้งสองมีเป้าหมายร่วมกัน คือ พยายามที่จะผลักดันสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นสัตว์สังคมให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ "ความเปลี่ยนแปลง" เว้นเสียแต่ หนึ่งในสองคนที่ว่ากำลังหลอกอีกฝ่ายว่า ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลง เพราะว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นสัตว์สังคมยังถูกลิดรอนอยู่?

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้สภา ออก กม.ตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตาม รธน.มาตรา61

Posted: 06 Feb 2013 01:07 AM PST



6 ก.พ. 2556 "เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" ซึ่งแต่งกายด้วยเสื้อสีเขียว ประมาณ 200 คน ร่วมกิจกรรม "ปั่นจักรยานทวงคืนสิทธิด้วยมาตรา 61" จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปหน้ารัฐสภา โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็น "องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ" ตามมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ



สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เราเห็นผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกหลอก ทุกวัน และเราก็มีหน่วยงานของรัฐมา 30 กว่าปี อย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีตั้งแต่ปี 2522 ปัญหาผู้บริโภคก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคก็อยากมีองค์กรที่เป็นของตัวเองที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

สารี อธิบายว่า มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เราสามารถจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมาจากพวกเรากันเอง แต่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ จึงได้มีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ให้เป็นองค์การของผู้บริโภค ที่ประกอบด้วยตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ อิสระจากทุน และบัญญัติเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐไว้ในกฎหมายที่ชัดเจน คืออย่างน้อยจะมีเงินขั้นต่ำให้องค์กรนี้สามารถที่จะทำงานได้

สารี กล่าวว่า ถ้ามีองค์การขึ้นมา ต่อไปคุณจะออกกติกาอะไรก็ตาม แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง คุณก็ต้องมาถามว่าองค์การนี้คิดอย่างไร ขั้นตอนมันก็จะดีกว่าการที่คุณจะคิดค่าธรรมเนียม คุณก็เชิญแค่สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยมาอย่างเดียว ซึ่งอาจได้พวกเจ้าของธนาคารไปคิดค่าธรรมเนียมให้ผู้บริโภค ผู้บริโภคก็รับภาระไป ไม่ได้รับค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม และก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างมากก็ไปฟ้องคดี

สารี กล่าวต่อว่า เราคิดว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเรากระจัดกระจาย เพราะฉะนั้นยากที่จะทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นจะไปร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง เราอยากเห็นองค์การเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้ คล้ายๆ เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะที่เรียกว่าเป็น One Stop Service สำหรับผู้บริโภค เป็นหน่วยงานที่เป็นเพื่อนกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง และจะเป็นหน่วยงานที่จะมาช่วยทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันมากขึ้น ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น อย่างในอดีตเราก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่า อะไรที่เขามีกติกาแล้วบ้าง เช่น ระบบการใช้โทรศัพท์ที่เป็นระบบชำระเงินล่วงหน้า ซึ่งกฎหมายบอกว่า ห้ามเร่งรัดการใช้งาน ห้ามกำหนดวันหมดอายุ ถ้าจะกำหนดวันหมดอายุต้องขออนุญาตก่อน กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แต่คนไม่ค่อยรู้ เงินที่ผู้บริโภคถูกยึดไปทั้งหมด เท่าที่รู้ก็เกือบ 2 แสนล้าน

เมื่อถามว่าองค์การนี้จะแตกต่างกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อย่างไร สารี กล่าวว่า สคบ. ก็ยังเรียกปรับบริษัทที่โฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริงอยู่เหมือนเดิม แต่องค์การนี้ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ แต่เป็นหน่วยงานนี้ที่อาจจะให้คำแนะนำกับ สคบ. ว่า ควรเรียกปรับเท่าไหร่ เหมาะสมหรือไม่ อย่างคุณโฆษณาขายของในทีวี คุณปรับ 5 พันมันไม่ได้รู้สึกอะไร ทั้งที่คนเห็นเป็นล้านคน และก็ต้องบอกเลยว่า คนขายของ คนทำโฆษณา ก็ต้องมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่าสินค้านี้ไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา หรืออาจเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง หรือเป็นเท็จ รายการคุณก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าเตือนแล้วคุณยังไม่ทำอะไร คุณก็ต้องสั่งปิดรายการ หรือพอรายการนั้นหายไป แต่โฆษณาอาจจะใหญ่กว่า ก็ไปอยู่รายการอื่นเรื่อยๆ คุณก็ต้องปิดสถานี อะไรทำนองนี้ เราคิดว่าแบบนี้มันจะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งถือเป็นองค์การที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอีกชั้นหนึ่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนและหลักการแก้ปัญหา”

Posted: 06 Feb 2013 12:21 AM PST

ผู้เขียนใช้คำว่า "ในหมู่ประชาชน" เพื่อแสดงว่าความขัดแย้งและความเข้าใจไม่ตรงกัน  ที่เกิดขึ้นในหมู่คนเสื้อแดงขณะนี้คือเป็นเรื่องราวในหมู่ประชาชน  ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและปฏิปักษ์ประชาชน  การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจาก
 
1.   สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี
 
2.   การรักษาโรคเพื่อช่วยคน
 
3.   แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่างในหมู่แนวร่วม
 
ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นหลักการของฝ่ายประชาชนในอดีตที่ถูกนำมาใช้เมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน  คือเริ่มต้นจากสามัคคี  วิจารณ์  เพื่อนำไปสู่ความสามัคคี  แต่ก็มีฝ่ายประชาชนบางส่วนจะใช้วิธีโจมตีศูนย์การนำเพื่อสถาปนาการนำใหม่  หรือโจมตีเพราะขัดแย้งผลประโยชน์
 
ดังนั้นเราจะพบเห็นท่วงทำนองทั้งสองแบบในหมู่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน
 
ท่วงทำนองแบบแรกคือ  สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี  จะเริ่มจากความคิดที่ถือว่านี่เป็นความขัดแย้งในหมู่ประชาชน  ไม่ใช่ปฏิปักษ์ประชาชน  จึงต้องเริ่มด้วยความปรารถนาจะรักษาสัมพันธภาพอันดีและความเข้มแข็งในฝ่ายประชาชนโดยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์  ไม่อนุญาตให้กล่าวร้าย  บิดเบือนความจริง  เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชน  ไม่เชื่อถือการนำ  แกนนำที่ขัดแย้งกันออกสู่สาธารณะ  หลักการรักษาโรคเพื่อช่วยคนก็จะใช้เมื่อมีการทำความผิดเช่น  ผิดวินัย  ผิดหลักการ  ก็จะให้โอกาสแก้ไข  การใช้สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี  แต่ถ้าพยายามเต็มที่แล้วยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็ต้องใช้หลักการ "แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง"  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายประชาชนอิสระหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นคนละกลุ่มกันโดยรักษาฐานะแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ไว้  คือยังเป็นฝ่ายประชาชนด้วยกัน  ที่มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหญ่ร่วมกัน  ดังเช่นถือระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นอุปสรรคขัดขวางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย  และต่อต้านรัฐประหารทุกรูปแบบ  ต้องการยกเลิกผลพวงการรัฐประหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2550  แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและองค์กรอิสระที่มีที่มาจากคณะรัฐประหาร  เช่นนี้ก็ถือเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ใหญ่ร่วมกัน
 
แต่ท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนอีกแบบคือ  "พุ่งเป้าโจมตีศูนย์การนำของประชาชน"  เพื่อสถาปนาศูนย์การนำใหม่  อันเนื่องจาก
 
1.   เพื่อเปลี่ยนตัวบุคคล  และ/หรือ
 
2.   เปลี่ยนชุดความคิด  แนวทาง  และหนทางการต่อสู้
 
สรุปคือต้องการสถาปนาการนำใหม่ด้วยคนกลุ่มใหม่  ชุดความคิดแนวทางใหม่เช่นนี้ก็จะเลือกใช้วิธีการโจมตีการนำ  การปฏิบัติการ  ออกข่าวโจมตีผู้นำในที่สาธารณะ  และใช้การโจมตีรุนแรงในระดับที่ต้องการฉุดกระชากจากฐานะนำ  ถ้าเป็นการแสดงออกลักษณะนี้  พูดง่าย ๆ ตามทฤษฎีคือ "การช่วงชิงการนำ" นั่นเอง  ซึ่งความถูกผิดจะแจ่มชัดในเวลาหลังจากนั้น  เรื่องนี้อาจเกิดภายในองค์กรเดียวกันหรือคนละองค์กรก็ได้เช่นกัน
 
ดังนั้น  ท่าทีท่วงทำนองที่กระทำต่อกันในฝ่ายประชาชนด้วยกันจึงบ่งชี้ถึงรากเหง้าความคิดและจุดมุ่งหมายของผู้กระทำ
 
และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ  เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้ท่วงทำนองโจมตี  รุนแรง  ที่สำคัญถ้าไม่ได้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง  ไม่ได้ใช้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  ใช้อารมณ์แทนเหตุผล  กลายเป็นทำลาย-วิจารณ์-ทำลาย  ก็จะนำไปสู่การแตกแยกและกลายเป็นปฏิปักษ์กันได้  เพราะจะถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรงจากอีกข้างหนึ่งเช่นกัน
 
นี่พูดในมิติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่แอบแฝงมากับการโจมตี
 
อีกอย่างหนึ่ง  การโจมตีรุนแรงระหว่างแกนนำต่อแกนนำ  องค์กรต่อองค์กร  หรือมวลชนต่อมวลชน  อันเนื่องมาจากขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น ปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่น  การคัดสรรผู้นำหรือตัวแทนอันก่อให้เกิดการได้เสียผลประโยชน์  อำนาจ  บทบาทการต่อรอง  นี่ก็ทำให้เกิดการแตกแยกระส่ำระสายได้เช่นกันในองค์กรจัดตั้งทุกระดับ
 
ทางแก้ไขจึงต้องปรับความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง  และใช้วิธีการถูกต้องในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนตั้งแต่เนิ่น ๆ  ถ้าเป็นคนละกลุ่มก็จำเป็นต้องแสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง  ไม่จำเป็นต้องไปทำลายด้วยการใส่ร้ายป้ายสี  ถ้าจำเป็นต้องแสดงความเห็นก็ยังต้องใช้  สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี นั่นเอง
 
แต่เท่าที่สังเกตความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยกันมีทั้งความขัดแย้งโจมตีภายในองค์กรเดียวกัน  และความขัดแย้งของคนต่างองค์กรโจมตีองค์กรอื่นที่มิใช่องค์กรของตนเอง
 
มองในแง่ดีก็แสดงว่าที่โจมตีกันเพราะถือว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บทบาทการนำของประชาชนอยู่ในฐานะที่มีเอกภาพและค่อนข้างมีพลังสูงในหมู่ประชาชน  จึงต้องการให้มีลักษณะอนาธิปไตยเพื่อลดทอนภาวะการนำที่มีเอกภาพสูง และให้มีการวิพากษ์ตามทัศนะของตน  ของกลุ่ม  และขององค์กรตน  เพื่อเล็งเห็นผลการปฏิบัติ  ทำลายความน่าเชื่อถือผู้นำ   นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาวะการนำให้มีภาวะการนำหลายกลุ่ม
 
เนื่องจากฝ่ายประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้มีจำนวนประชาชนนับสิบล้านคน  มีความแตกต่างหลากหลายทางชนชั้น  ทางผลประโยชน์  วิธีคิด  วิธีทำงาน  องค์ความรู้  และข้อมูล  มิได้เป็นเอกภาพ  แม้จะมีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อความยุติธรรมเหมือนกัน  แต่มีรายละเอียดการปฏิบัติและเป้าหมายเฉพาะหน้าแตกต่างกันมาก  การรวมกลุ่มผลประโยชน์ เช่น สถานีวิทยุชุมชน  กลุ่มเลือกตั้งทั่วไป  เลือกตั้งท้องถิ่น  หรือกลุ่มแสวงหาฐานมวลชนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง  แสวงหาผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินเงินทอง  แม้แต่การขายเฟรนไชส์หรือทำการหาสมาชิกเพื่อขายตรง  หรือทำในรูปสหกรณ์เป็นเครือข่ายร้านค้าก็มีทุกรูปแบบ  แม้แต่กลุ่มนักวิชาการ  ปัญญาชน  และแดงอิสระ  ชนชั้นกลาง  เหลานี้จัดเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในฟากฝ่ายประชาชนทั้งสิ้น  โดยมีการใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน  เรียกตัวเองว่าเป็นเสื้อแดงและถือว่าเป็นแดงอิสระ  แต่จัดเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ใหญ่  คือต่อสู้ระบอบอำมาตย์เหมือนกัน  และต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเหมือนกัน  แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน  และจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเฉพาะหน้าต่างกัน เช่น บางส่วนเอากรณี 112 ก่อน ขณะที่ นปช.เป้าหมายยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าคือรัฐธรรมนูญ 2550  และล่าสุดเป้าหมายเฉพาะหน้าของนปช.ที่เป็นข้อเรียกร้องตั้งแต่ปลายปี 2555 คือ
 
1.ให้รัฐสภาโหวดผ่านวาระ 3 เพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อเป็นข้อยุติ  อันจะนำความหายนะของการต่อสู้ของประชาชน
 
2.ให้รัฐบาลประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีการปราบปรามประชาชนในวันที่ 10 เมษายน – พฤษภาคม 2553  เพื่อเป็นช่องทางอีกช่องทางสำคัญในการทำความจริงให้ปรากฏโดยฝ่ายอัยการของ ICC สามารถเข้ามาหาข้อมูลเพื่อนำไปฟ้องร้องในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่เป็นไปตาม นิติรัฐ  นิติธรรม  ซึ่งจะเป็นผลดีในการเอาคนผิดร่วมกันกระทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน  จะได้รับการลงโทษเพื่อทำให้การฆ่าประชาชนกลางถนนแบบในอดีตจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกต่อไป  และคนผิดต้องถูกลงโทษ  มิใช่นิรโทษกรรมฝ่ายรัฐประหารและเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่าย  แบบไม่มีความจริงปรากฏในสังคม
 
3.การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนในคดีอาญาทั้งหลาย  อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกสีเสื้อ  ยกเว้นแกนนำผู้มีอำนาจในการสั่งการเคลื่อนไหวทุกสีเสื้อ  นปช.นั้นเสนอเป็นพระราชกำหนด  โดยใช้อำนาจบริหารในเบื้องแรกเพื่อความรวดเร็วในการนำประเทศออกจากวิกฤติ  จากนั้นจึงเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ   ที่นำเสนอวิธีนี้หลังจากได้เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ฉบับประชาชนที่ประชาชนร่วม 2 แสนคนลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และผ่านการตรวจสอบโดยรับรองชื่อประชาชนกว่าเจ็ดหมื่นคน  เป็นร่างประชาชนร่างเดียวที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ  บัดนี้ก็ยังค้างเติ่งอยู่ในรัฐสภา  สำหรับร่างที่สองคือพระราชบัญญัติปรองดองฉบับแกนนำเสื้อแดงที่เสนอประกบกับร่างพระราชบัญญัติปรองดองของ พล.อ.สนธิ  บุญยรัตกลิน  ก็มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรม  ยกเว้นผู้ถูกข้อหาก่อการร้าย (ทุกสีเสื้อ)  และผู้ทำการประทุษร้ายผู้อื่นถึงชีวิตก็คล้ายกัน  คือยกเว้นแกนนำที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและยกเว้นผู้ทำการเข่นฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้น  เฉพาะหน้าการขอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมจึงเป็นเรื่องด่วน  เพื่อหาทางออกของประเทศในภาวะวิกฤต  เพราะทางอื่น ๆ ถูกขัดขวางจากฝ่ายเครือข่ายระบอบอำมาตย์จนค้างเติ่งแขวนไว้ที่รัฐสภาทั้งสิ้น  ไม่กล้าเดินหน้าต่อไป
 
ข้อเรียกร้อง 3 ประการนี้ นปช.ประกาศมาหลายเดือนแล้ว  ในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการและในที่ชุมนุมใหญ่ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ที่เรียกกันว่า "ปฏิญญาเขาใหญ่"  ดังมีคำแถลงเป็นทางการทั้งด้วยวาจาต่อหน้าผู้ชุมนุมนับแสนคนและเป็นลายลักษณ์อักษร  เมื่อวันที่ 14 มกราคม นปช.ก็ออกแถลงการณ์และเสนอร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชนยกเว้นแกนนำทุกสีเสื้อ ณ. เรือนจำหลักสี่
 
นี่จึงมิใช่เป็นดังคำพูดที่นักวิชาการบางท่านโจมตีว่า นปช.มิได้ทำอะไร  แต่มาเขียนพรก.เสนอตัดหน้ากลุ่ม 29 มกรา  หรือนักวิชาการบางท่านไปพูดในรายการ Wake Up Thailand ที่ Voice TV ว่า นปช.รอให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสร็จก่อน  นี่จึงเป็นเรื่องจงใจบิดเบือนความจริง
 
ยังมีปัญหารูปธรรมที่กลุ่มต่าง ๆ บางท่านตั้งข้อสงสัยเชิงกล่าวร้ายต่อ นปช.เช่น  ปัญหาประกันตัวทำไมแกนนำได้ประกันตัวและยังเหลือมวลชนอยู่ในห้องขัง (ประมาณ 20 คน)  ปัญหากล่าวหาว่าแกนนำนปช.กระทำการกีดกันขัดขวางแกนนำของกลุ่มอื่น ๆ ไม่ให้นำมวลชนและขัดขวางในวันที่ 29 มกราคม หรือทำไมแกนนำนปช.ไม่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล, ศาล ฯลฯ  เหล่านี้จะได้ชี้แจงเพื่อความเข้าใจต่อไป  เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ในเชิงความรู้ความเข้าใจ   ไม่ใช่เพื่อทำลายบดขยี้กลุ่มใด ๆ ทั้งสิ้น  เพราะเป้าหมายสำคัญยิ่งคือชัยชนะของฝ่ายประชาชนที่ยั่งยืน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมืองที่มี 'มหาวิทยาลัย' เป็นศูนย์กลาง

Posted: 05 Feb 2013 11:38 PM PST

หลังจากที่ผมเตะโด่งมาศึกษาต่อ ณ สหราชอาณาจักร สิ่งหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำ คือ การเดินสำรวจเมืองเพื่อหาขอบเขตและสถานที่สำคัญต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยในช่วงแรกที่มาถึงลอนดอน ผมลองค้นหามหาวิทยาลัยดังของลอนดอน ไม่ว่าจะเป็น LSE, UCL, King's College, Queens Mary และที่ชอบมากที่สุดคือ Birkbeck ผมพบว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้แทรกตัวอยู่ในหมู่อาคารบ้านเรือน และอาคารพาณิชย์ (ห้องแถวทรงโมเดิร์น) ซึ่งมีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้จะขยายพื้นที่ด้วยการไล่ซื้ออาคารอื่นๆ ออกไปเรื่อยๆ เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของอุตสาหกรรมศึกษาที่เป็นจุดดึงดูดรายได้สำคัญเข้าสู่ประเทศอังกฤษ

เมื่อมาถึงเมืองลีดส์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือซึ่งเป็นกลุ่มเมืองอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร ร่วมกับ แมนเชสเตอร์ และลิเวอร์พูลเมืองท่าสำคัญ ผมกลับพบร่องรอยของความเป็นเมืองอุตสาหกรรม "เก่า" หลงเหลืออยู่ในคราบเขม่าดำที่เกาะอยู่ตามผนังตึกเก่าด้านนอกโบสถ์ วิหาร ที่กระจัดกระจายไปตามจุดๆ ต่างๆ แต่โบสถ์วิหารเหล่านั้นได้กลายสภาพเป็นอาคารพาณิชย์ สำนักงาน หรือแม้กระทั่งร้านอาหารและผับ บาร์ ไปแล้ว สิ่งที่หาไม่เจอ คือ โรงงานใหญ่

หากจะสำรวจว่าเมืองนั้นขับเคลื่อนไปด้วยอะไร สถานที่ใดคือศูนย์กลางของเมืองอาจจะเป็นคำถามแรกที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ โดยการสำรวจเริ่มจากศูนย์กลางทางธุรกิจ สถานที่สำคัญทางราชการ และสถานีขนส่งที่เชื่อมโยงกับเมืองอื่น และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองนี้ วันราชการ (เวลาทำงาน) และวันหยุด (เวลาว่าง) เป็นตัวช่วยอย่างดีในการหาคำตอบ ผมได้สำรวจเปรียบเทียบทั้งสองช่วงเวลา

เมื่อสำรวจพื้นที่บริเวณศูนย์กลางเมืองอันเริ่มต้นที่หอพักมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่ไปซื้ออาคารซึ่งเคยเป็นหอพักคนงาน และคนที่เคยทำงานอยู่ในเมืองมาทำเป็นหอพักนักศึกษาและเก็บค่าเช่าราคาแพง เมื่อเทียบกับที่พักรอบนอกและชานเมือง สิ่งที่ใกล้เคียงกับเมืองไทย คือ เจ้าของที่ในเมืองขายที่หรือปล่อยเช่าช่วงแล้วย้ายออกไปอยู่ชานเมือง หรือชาวบ้านที่ขายของต่างๆ เปลี่ยนกลุ่มลูกค้ามาเป็นนักศึกษาแทน แต่ก็มีไม่มากแล้ว เนื่องจากร้านค้ากลายเป็นร้านสาขายี่ห้อดังระดับชาติ หรือระดับโลกแทน

มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่บริเวณเนินและยอดเขาที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ซึ่งเป็นที่แน่ชัดด้วยสถานที่ตั้ง คือ ได้แปลงเอาวิหาร โบสถ์ หรือปราสาทสำคัญต่างๆ ในอดีตมาเป็นมหาวิทยาลัย และรูปแบบตัวอาคารต่างๆ ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของเมืองนี้ไปแล้ว เมื่อดูประชากรนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เฉียด 20,000 คนก็เห็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในเชิงการบริโภคและการผลิตที่จะพูดต่อไป

การสร้างข้อสรุปหนักแน่นต้องมีการตรวจสอบโดยพยายามออกไปนอกเขตมหาวิทยาลัยและหอพักต่างๆ ที่อยู่รายล้อม ทั้งในแถบชานเมืองที่ใกล้ธรรมชาติ และแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนคนท้องถิ่น สิ่งที่พบอย่างชัดเจน คือ หน่วยทางเศรษฐกิจหลักๆ คือ ธุรกิจร้านค้า และการให้บริการในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคทั่วไป ไม่เห็นโรงงาน และไม่เห็นไร่นา และโรงปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ข้อสรุปหลัก คือ เมืองลีดส์ไม่มีฐานในการผลิตเชิงเกษตรและอุตสาหกรรม

เมื่อผนวกกับข้อมูลที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรที่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก คือ กว่า 30% ของจีดีพี สิ่งที่เป็นการผลิตในประเทศจึงเป็นการขนส่ง การบริการที่เกี่ยวเนื่อง แต่สินค้าผลิตนอกประเทศ ข้อสรุป ณ จุดนี้ คือ สหราชอาณาจักรมิได้พึ่งพาเศรษฐกิจการผลิตเชิงอุตสาหกรรมอีกต่อไป คำถามคือ เศรษฐกิจและจุดแข็งของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ใด สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากถ้อยแถลงของพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคแรงงาน ที่ล้วนมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เน้นการบริการ การสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้สหราชอาณาจักรเป็น "แบรนด์" ที่คนทั้งโลกเชื่อถือและปรารถนา

สิ่งที่สหราชอาณาจักรทำได้สำเร็จอย่างชัดเจน คือ ดึงดูดคนจากทั่วโลกให้มาศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่มีอะไรน่าดึงดูดในเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่ไม่ได้สวยงามมากนัก หรือภูมิอากาศที่เลวร้ายอย่างที่ทราบกันดี

อะไรคือจุดแข็งของสหราชอาณาจักร สิ่งนั้นน่าจะเป็น การปรับตัวเนื่องจากเห็นโลกกว้างและมีประสบการณ์ในการท่องโลกของอารยธรรมอังกฤษ โดยปรับตัวเองให้เป็นผู้ขาย "ความรู้" ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งรวมไว้ในสถาบันที่พร้อมขายบริการการศึกษา ซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือที่สุดที่ตนมีอยู่ในมือ (เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างสถาบันจัดอันดับสถาบันการศึกษา และกำหนดเกณฑ์ชี้วัดมหาวิทยาลัยให้ทั่วโลกเดินตาม)

ลีดส์ เป็นเมืองที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดในสหราชอาณาจักร กว่า 5,000 คน ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยลีดส์ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การกำหนดทิศทางพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นพลังหลักในการดึงคนและ "รั้ง" คนให้ต้อง "ทน" ใช้ชีวิตอยู่กับเมืองนี้ไปอย่างน้อยๆ หนึ่งปีในระดับปริญญาโท (หลักสูตรที่เต็มไปด้วยนักศึกษาต่างชาติ) และเกือบครึ่งทศวรรษสำหรับปริญญาเอกและปริญญาตรี

พื้นที่ระหว่างมหาวิทยาลัย (ยอดเนิน) กับสถานีขนส่ง (ที่ราบใกล้แม่น้ำ) เป็นบริเวณซึ่งออกแบบให้จัดวางศูนย์การค้า ร้านรวง และสถานที่บริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตวางอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดินได้รอบในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง แบรนด์ดังต่างๆ ได้จับจองพื้นที่ใกล้ทางเดินหลักเอาไว้เกือบหมด (ที่อังกฤษจะเป็นห้างแบบอาเขตที่มีการให้เช่าช่วงพื้นที่ มิได้เป็นร้านภายใต้ยี่ห้อห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) ส่วนร้านดั้งเดิมหรือทุนท้องถิ่นจะกระจายไปตามตรอกซอกซอยอื่นๆ รวมถึงร้านอาหารและสินค้าไทย ที่อยู่นอกศูนย์การค้า

ตลาดสดของเมืองลีดส์มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านล่างที่ใกล้สถานีขนส่ง คาดว่าจะสะดวกในการนำสินค้าอุปโภค บริโภค และเกษตรมาขายได้ง่าย สิ่งที่น่าสังเกต คือ ร้านค้าของคนบริติชดั้งเดิมมีน้อยกว่าที่คิด คนหน้าเอเชีย กลับเป็นเจ้าของร้านค้าและบริการที่ไม่ใช่ร้านแบรนด์ดังเสียมาก เช่น ร้านขายของชำคนอินเดีย ซูเปอร์มาร์เก็ตคนจีน ร้านอาหารไทย ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าคนอาหรับ ฯลฯ แล้วชาวบริติชไปไหน

คำตอบอยู่ในนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองหลักของอังกฤษ คือ การพยายามทำข้อตกลงกับคนอังกฤษรุ่นใหม่ว่า ต่อไปเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ห้องพักสวัสดิการทันที แต่ต้องทำสัญญาว่าจะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา อาจจะใช้เงินของรัฐหรือกู้ยืม เมื่อจบและเริ่มทำงานจึงจะได้ห้องพักและมีสวัสดิการสังคมรองรับ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น คือ วัยรุ่นและคนวัยทำงานที่ว่างงาน มีปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ หรืออยู่บ้านใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ต และสินค้าบันเทิงรูปแบบต่างๆ

จากนโยบายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการสร้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ไม่ว่าจะเรียนจนจบปริญญาขั้นสูงเพื่อเข้าสู่ภาคการศึกษาวิจัยและหล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยให้มีผลงานวิชาการสร้างอันดับสูงๆ และดึงดูดคนเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่อง แม้คุณภาพในห้องเรียนอาจจะไม่ได้เหนือกว่าห้องเรียนในประเทศไทยเลย แต่แบรนด์สร้างจากการจัดอันดับ และผลงานวิจัย ตำรา ที่เผยแพร่อยู่ในโลกภาษาอังกฤษซึ่งแพร่สะพัดไปทั่วโลกและเข้มข้นขึ้นในอินเทอร์เน็ต

หากไม่เข้าสู่วงวิชาการ การทำงานวิชาชีพอื่นๆ ก็ยังเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญระดับอุดมศึกษาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่บริหาร คนวางระบบ ผู้ควบคุมระบบ และผู้ให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ รวมถึงพนักงานและผู้บริหารในร้านรวงต่างๆ ที่เป็นแบรนด์ดัง เนื่องจากเศรษฐกิจหลัก คือ การให้บริการซึ่งต้องอาศัยการขัดเกลาทางวัฒนธรรมด้วยเพราะต้องให้บริการคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น การเหยียดรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่อาจไม่มีวันได้เจอในเมืองอีกต่อไป เว้นแต่การเดินสวนกับกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มคนเมาที่พบน้อยมากในเขตศูนย์กลางเมือง

แรงงานที่ไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะและร้านต้องการกดค่าแรงให้ต่ำไว้นั้น อาศัยกำลังแรงงานของนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นคนบริติชอาจจะท้องถิ่นหรือมาจากเมืองอื่นที่ต้องหาเงินเรียน และไม่น้อยเป็นนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการหาเงินเพื่อเดินทางท่องเที่ยว หาประสบการณ์ หรือซื้อของต่างๆ ที่มีราคาแพง และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่มีสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น

หลายท่านอาจสงสัยว่า คนบริติชที่ไม่มีงานทำใช้อะไรประทังชีวิต คำตอบคือ สวัสดิการสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่ได้จากเงินภาษี ซึ่งการบริโภคและการผลิตทางเศรษฐกิจนั้นเองที่เป็นแหล่งที่มาของภาษีที่เจือจุนชีวิตของคนชาติ ดังนั้นสภาพในปัจจุบันจึงมีลักษณะการดึงดูดเงินนักศึกษาต่างชาติผ่านค่าเทอม และการจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงรายได้ที่เกิดจากแรงงานของนักศึกษาต่างชาติไม่น้อย

ความสัมพันธ์ในเชิงการผลิตและบริโภคที่กล่าวไว้ทั้งหมดได้แสดงให้เห็นความสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการดึงดูดคนให้เข้ามาใช้ชีวิตเพื่อการเรียนให้ได้วุฒิ และจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค แต่ผลพวงที่เกิดนั้นได้กระจายไปยังคนในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในท้องถิ่นหรือธุรกิจระดับชาติที่เข้ามาลงทุน ก็จะเห็นว่าการวางยุทธศาสตร์ของสหราชอาณาจักรที่มีมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางเป็นการออกแบบเพื่อความอยู่รอดของคนทั้งเกาะ ในยุคที่ไม่อาจล่องเรือข้ามมหาสมุทรไปยึดครองและดูดทรัพยากรในรัฐอื่นได้อีกต่อไป

รัฐไทยจะมีนโยบายใดในการพัฒนาเมืองและประเทศท่ามกลางโอกาสที่กำลังจะมาถึง ก็ควรปรับคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยให้พร้อม โดยการผลิตผลงานวิชาการเพื่อสร้างแบรนด์และการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเข้าหากลุ่มเป้าหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น