โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

การก่อการร้ายต่อเด็กจังหวัดชายแดนใต้ของผู้ใหญ่ กรณีศึกษาผลการสอบ O-NET

Posted: 01 Feb 2013 08:21 AM PST

ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาและสงเคราะห์สังคม (EDS) 

 
เดือนกุมภาพันธ์ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ และ10-11 กุมภาพันธ์ 2556 จะมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติหรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่าO-NET ที่ย่อมาจาก Ordinary National Education Test เป็นการสอบที่ถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมาย
 
สำหรับนักเรียนชายแดนใต้ ซึ่งในอดีตก่อนปี 2554 ผลการสอบ O-NET ทุกวิชาและทุกระดับชั้นของโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คะแนนจะอยู่ในอันดับสุดท้ายของประเทศ คือ อันดับที่ 75-77 ตลอดมา
 
แต่ปี 2554 ปีที่ผ่านมา จากการติดตามและวิเคราะห์ผลการสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2554 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่าคะแนนดังกล่าวสูงขึ้นผิดปกติโดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ ทั้งๆที่สภาพความเป็นจริง การจัดการศึกษาท่ามกลางความรุนแรงประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนปิดบ่อย  การหยุดเรียน เลิกเรียนก่อนเวลา เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้าน   ผู้เรียนไม่มาเรียนสม่ำเสมอ(ขาดเรียนบ่อย) แต่มีหลายวิชาที่ผลการสอบ O-NET ได้คะแนนสูงขึ้น ระดับประเทศเช่น วิชาภาษาอังกฤษ จังหวัดยะลาได้คะแนนดีที่สุดใน 3 จังหวัด โดยมีคะแนนเฉลี่ย 38.96 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ นักเรียนในจังหวัดยะลาได้คะแนน เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ อีก 50 จังหวัด เช่น ราชบุรี สมุทรปราการ สงขลา และนครศรีธรรมราช และสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 38.37 ถึงร้อยละ 0.59 ตามด้วยจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้คะแนนร้อยละ 37.48 อยู่ในอันดับที่ 35 และจังหวัดปัตตานีได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 34.88 อยู่ในอันดับที่ 51 ของประเทศ ซึ่งยังสูงกว่าจังหวัดกาญจนบุรี พัทลุง ตรัง และสตูล
 
วิชาภาษาไทย จังหวัดยะลาได้คะแนนร้อยละ 42.69 ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 52 ของประเทศ ตามด้วยจังหวัดปัตตานีอันดับที่ 57 จังหวัดนราธิวาสอันดับที่ 74 สูงกว่าจังหวัดที่ได้อันดับสุดท้ายของประเทศ คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน พังงา และสตูล 

หากเราดูตัวเลขดังกล่าวอย่างผิวเผินเราน่าจะดีใจว่าคุณภาพการศึกษาชายแดนใต้ต้องดีแน่และพัฒนาขึ้นเพราะการสอบ O-NET เป็นเครื่องการันตีของคุณภาพการศึกษาดังที่เว็ปไซด์ ของ  สำนักงานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ(สทศ) ประกาศไว้ว่าเพราะผลการสอบหรือคะแนนของผู้เรียนแสดงให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งสะท้อนได้ทั้งระดับสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และในภาพรวมระดับประเทศ ผลจากการทดสอบสามารถชี้จุดเด่น จุดควรพัฒาผู้เรียนในทุกระดับ และสามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้
 
จากการที่ผู้เขียนและคณะจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาและสงเคราะห์สังคม (EDS)  ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษา( สมศ.) เข้าประเมินสถานศึกษาในยี่สิบกว่าโรงของโรงเรียนรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า  คะแนน O-NET  ระดับประถมศึกษาปีที่6 สูงกว่าหลายจังหวัดในประเทศไทย มีโรงเรียนหนึ่งคะแนนภาษาอังกฤษผ่าน ทุกคนแต่เมื่อไปสัมภาษณ์นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่1 (นักเรียนอยู่ในระดับปีที่ 6 ปีที่ผ่านมาและผ่านการสอบ O-NET )  ดังกล่าวพบว่าอ่านภาษาอังกฤษหรือแม้กระทั่งภาษาไทยยังไม่คล่องและในตัวบ่งชี้ที่สี่เรื่องการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนทุกโรงเรียนยังอยู่แค่ระดับพอใช้
 
ทีมงานเราจึงเจาะไปต่อพบว่า  การสอบในแต่ละโรงเรียนที่เข้าประเมินมีความไม่โปร่งใสในการสอบ
 
ความไม่โปร่งใสดังกล่าวไม่ใช่มีโรงเดียวแต่มีหลายโรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และทำเป็นขบวนการจากผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา หรืออาจจะมีไฟเขียวจากผู้ใหญ่ที่สูงกว่านั้น เพื่อยกผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอันจะส่งผลดีต่อตำแหน่งการงาน เพราะผล O-NET   จะวัดถึงความสามารถของผู้บริหาร
 
หากนักเรียนยังอ่านหนังสือไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษยังไม่คล่องจะทำข้อสอบวิเคราะห์ระดับชาติได้อย่างไร
 
หากพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริงและดำเนินอีกในการสอบ O-NET ปีนี้  ก็จะเป็นการก่อการร้ายอย่างร้ายแรงต่อเด็ก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้ใหญ่ได้หน้า  แต่เด็กคุณภาพการศึกษาของเด็กที่แท้จริงยังต่ำอยู่   
 
หมายเหตุ  บทความนี้อยากจะให้ผู้อ่านอ่านเปรียบเทียบกับบทความ
ของดร . รุ่ง   แก้วแดง  ใน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350347716&grpid=03&catid=03
 
และบทความของครูประสิทธิ  หนูกุ้ง
http://www.gotoknow.org/posts/362981
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ธงทอง' วิเคราะห์ในเวทีอียู ม.112 vs เสรีภาพในการแสดงความเห็น

Posted: 01 Feb 2013 07:51 AM PST


ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  บรรยายในการเสวนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเครื่องมือนำไปสู่การปรองดอง ภายใต้การสัมมนาเรื่องการปรองดองและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย  ซึ่งจัดโดยสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 31 ม.ค. โดยเริ่มกล่าวชี้แจงว่าไม่ได้รับมอบหมายให้มาแทนรัฐบาล โดยความเห็นที่มีมาจากข้อสังเกตส่วนตัว

เขากล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า แต่ละประเทศมีวิวัฒนาการหรืออัตราเร่งในการเข้าใจเรื่องนี้เหลื่อมล้ำกัน เช่น ในตะวันตก แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนามาก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าสังคมตะวันออกหรือประเทศใดประเทศหนึ่งจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เราต้องก้าวเดินไปบนวิถีความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายในประเทศโลกตะวันออก และโดยเฉพาะเจาะจง คือ ประเทศไทยของเรา

ธงทองระบุว่า ถ้าหากว่าเราพูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือประเด็นในเรื่องความรับผิดทางกฎหมายอาญา จากการที่อยู่ในประเทศไทยเกือบ 60 ปี มองว่าเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลายๆ เรื่อง แต่หลายๆ เรื่องก็ช้าเกินกว่าความคาดหมายที่อยากจะให้มีอยากจะเป็น

เขากล่าวต่อว่า ในภาพรวมเรื่องของการแสดงความคิดเห็นในเมืองไทย จากการที่เกิดในยุคที่มีรัฐบาลทหาร ผู้ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการทหารเป็นจอมพลต่อเนื่องกัน 3 คน เป็นเวลาหลาย 10 ปี มองว่าทุกวันนี้ เสรีภาพของการแสดงความเห็นในเมืองไทยดีขึ้น แต่จะให้เดินในอัตราเร่งที่เสมอกันกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอียู คงเป็นการยากที่จะคาดหวังให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาข้ามคืนหรือเดือนสองเดือน ต้องใช้เวลา

ธงทอง กล่าวว่า แต่สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ปัญหาเฉพาะของประเทศไทย ในช่วงเวลาประมาณ 5-6 ปี หรือ 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งนั้นสูงขึ้นมากทางการเมือง จนกระทั่งสุดท้ายแล้วเกิดสถานกาณ์ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในโลกนี้ว่าเรามีเสื้อเหลือง เสื้อแดง มีความเห็นแตกต่างกันค่อนข้างจะสุดขั้ว และหลายวาระโอกาสที่ผ่านมา ดูเหมือนมีปรากฏการณ์ที่จะเห็นได้ว่าการที่จะยอมรับความเห็นซึ่งกันและกัน อดทนฟังความคิดเห็นน้อยลงไปทุกที่ สิ่งเหล่านี้มันผสมรวมกันเข้า ทำให้สภาวการณ์ในประเด็นของการแสดงความคิดเห็น พันไปถึงเรื่องบทบัญญัติของมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ยิ่งมีความยุ่งยาก มีความซับซ้อนยุ่งเหยิง ทั้งที่ปัจจัยในทางบวกก็มี เรื่องของการที่สังคมรับข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างมากขึ้น การที่เราอยู่ร่วมในประชาคมโลก อยู่ในฐานะที่จะต้องไปมีบทบาทอยู่ในเวทีโลก ก็เป็นปัจจัยเชิงบวก แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยเชิงลบในประเทศก็ยังดำรงอยู่

ธงทองกล่าวว่า เมื่อพูดถึงมาตรา 112 มีคำถามในเชิงปรัชญากฎหมายว่า การที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทใครคนใดคนหนึ่งกับผู้มีตำแหน่งแห่งหนหรือตำแหน่งหน้าที่ ควรจะรับโทษหนักขึ้นหรือไม่อย่างไร คิดว่าเป็นข้ออภิปรายทางกฎหมายได้อย่างยาวมาก ซึ่งจะพบว่าถ้าตรวจสอบในกฎหมายอาญาของเรา เราได้คุ้มครองหรือเพิ่มความคุ้มครองพิเศษ โดยเฉพาะมาตรา 112 คุ้มครอง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือแม้เจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ก็ได้รับโทษหนักขึ้นเหมือนกัน แม้กระทั่งผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ก็มีบทบัญญัติพิเศษคุ้มครอง จะต้องรับโทษมากกว่ากรณีปกติ

ธงทองระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญ มีประวัติยาวนานในประวัติศาสตร์ แต่มองว่าในความเป็นสถาบันนั่นเองก็มีพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งกับที่  รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของเรามาเป็นเวลากว่า 60 ปี มองว่า บทบาท ความคาดหวัง บริบทของการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อต้นรัชกาลกับสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ แตกต่างสิ้นเชิง ความรู้สึก ความคาดหวัง ความสัมพันธ์ กับประชาชนในมิติต่างๆ ก็ไม่เหมือนกันกับเมื่อ 60 ปีที่แล้ว และสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็จะไม่ดำรงอยู่ เสถียรอยู่ตลอดไป ในวันข้างหน้าอีก 10 ปี 50 ปี ข้างหน้า คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปกติวิสัยของโลก คือมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สำคัญคือว่าการดำรงอยู่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยจะเป็นไปในทิศทางใด

ธงทองกล่าวว่า สำหรับบทบัญญัติ มาตรา 112 เถียงกันได้มาก ในเรื่องของการที่จะดำรงอยู่ หรือควรที่จะมีความผิดฐานนี้หรือไม่ โดยข้ออภิปรายอาจจะบอกว่า เราควรจะมีกฎหมายมาตรฐานเดียวสำหรับการที่จะลงโทษหรือกำหนดความผิดสำหรับผู้กระทำความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ ธงทอง ระบุว่า มีข้อสังเกตสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ หนึ่ง ระวางโทษของมาตรา 112 ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มอัตราโทษขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เป็นอัตราโทษที่รุนแรง เป็นระวางโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ  ย้อนกลับไปศึกษาดูกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2451 แล้วก็ใช้มานานกว่า 50 ปีแล้วก็ยกเลิกมาใช้กฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน ขณะนั้นระวางโทษที่กำหนดสำหรับคนที่กระทำความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็มีระวางโทษที่ต่ำกว่ากฎหมายที่มีในปัจจุบันนี้ ในมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ระวางโทษสูงสุดนั้น จำคุกไม่เกิน 7 ปี ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่กำลังพูดถึงนี้ คือระวางโทษในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการปกครอง และกฎหมายที่ว่านี้มัน 100 กว่าปีมาแล้ว น่าสงสัยว่า ผ่านไปร้อยกว่าปี เหตุใดจึงกลายเป็น 3-15 ปีขึ้นมาได้

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ กระบวนการการบังคับใช้กฎหมาย คิดว่ามีรูรั่วอยู่มากในการบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ถ้าปฏิเสธความจริงไม่ได้ เราคงต้องลองถามดูว่า บ่อยครั้งที่มาตรา 112 นั้น ได้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ด้วยเจตนาที่ไม่สุจริตของผู้ยกประเด็นขึ้นกล่าวในสาธารณะ กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีเรื่องของการที่จะมีความชัดเจนว่าน้ำหนักเบาหรืออย่างไร แค่ไหน

"คำหลายคำที่ใช้ในภาษาไทยไม่ตรงกันกับความหมายในตัวกฎหมายแท้ เช่น พูดกันโดยทั่วไปเป็นภาษาปากว่า เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ความจริง มาตรา 112 ใช้คำว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งมีความหมายเฉพาะเจาะจง เคร่งครัดมากในกฎหมายอาญา แต่พอมาใช้ภาษาปาก ถ้อยคำของเราว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาจจะหมายความถึงทุกสิ่งเลยที่เราเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ความไม่เหมาะสมกับความผิดกฎหมายอาญามันเป็นคนละเรื่องกัน เวลานี้อาจจะรู้สึกว่าความเข้าใจของสังคมไทยเกี่ยวกับสาระที่แท้ของมาตรา 112 ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการกล่าวหากันอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นว่าใครเป็นผู้รับผิดตามมาตรา 112 นั้นดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง" ธงทองกล่าว

ธงทองกล่าวว่า ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คงไม่อาจกล่าวได้ว่าคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ แต่อาจจะสังเกตเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ตำรวจจับกุม การจับกุม การสั่งสำนวนของพนักงานอัยการก็ดี การพิจารณาของศาลยุติธรรมก็ดี ทุกคนทำหน้าที่เหมือนสายพานในโรงงานการผลิตเพื่อตัวเองจะได้พ้นจากความรับผิดจากการถูกวิจารณ์ว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะเป็นคำกล่าวหาที่มีน้ำหนักรุนแรงในสังคมไทยของเรา เพราะฉะนั้นตำรวจก็อาจหย่อนดุลยพินิจในหลายๆ ครั้ง เพื่อที่จะทำให้เรื่องนี้พ้นจากการความรับผิดชอบของตัวเอง พนักงานอัยการก็ยินดีที่จะรีบส่งฟ้องไปที่ศาล เพื่อตนเองจะได้ปลอดภัยจากคำครหา แล้วศาลซึ่งอยู่ปลายทางก็อาจจะมีหลายเรื่องที่ตัดสินใจที่จะตัดสินพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด เพื่อเรื่องจะได้พ้นจากความกังวลว่าจะอยู่ในฐานะที่จะถูกกล่าวหา  พลอยติดร่างแหไปกับจำเลย สิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งในฐานะคนไทยคนหนึ่งเกิดมาบนแผ่นดินไทย ปู่ย่าตายายเขากราบไหว้พระเจ้าแผ่นดินมาไม่รู้กี่ชั่วคน ในฐานะที่ผมคนเรียนกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ถ้าเราต้องเลือกระหว่างรูปแบบประมุขของรัฐที่มีอยู่ในโลกนี้ ประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ สำหรับเมืองไทย สำหรับคนไทยนั้น รูปแบบพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นรูปแบบที่คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังรักและเทิดทูน บูชา และอยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่กับคนไทยเหมือนกับที่อยู่มาชั่วนานปีแล้ว แต่การปฏิบัติในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 นั้น ผมกลับคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูด้วยความรอบคอบ ผู้ปฏิบัติอาจจะมีเจตนาที่ดีที่จะดูแลการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ที่ท่านเห็นว่าฝืนต่อมาตรา 112 ด้วยความคิด ด้วยความเชื่อว่าเป็นการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

"แต่ด้วยความเคารพ ผมคิดว่าเรื่องนี้กลับจะเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว และคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ว่านี้ โปรดย้อนกลับไปดู มาตรา 112 จำกัด ครัดเคร่งเฉพาะ พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ปัจจุบันนี้คำว่า ราชสำนัก ก็แทบจะพูดไม่ได้แล้ว ใครที่นามสกุล ณ อยุธยา พูดน่าฟังกว่าคนที่นามสกุลใหม่ๆ ยาวๆ" ธงทองกล่าว

เขากล่าวต่อว่า หากถามว่าแล้วรัฐบาลคิดอย่างไร ตนเองไม่ได้มาในฐานะรัฐบาล แต่คิดว่ารัฐบาลย่อมตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ได้เรียนมาแล้ว อย่างไรก็ดีปัญหาที่รัฐบาลที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ มีมากมายหลายประการด้วยกัน การให้ข้อมูลข่าวสาร การที่ทำให้เกิดเวทีสาธารณะ การที่มีการพูดกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง และมีการพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความมีเมตตาจิตต่อกัน ในช่วงเวลาปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วตั้งแต่เสด็จออกมาสมาคมเมื่อวันเฉลิมพระพระชนมพรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม จนกระทั่งพระราชดำรัชในวันขึ้นปีใหม่ หรือกระทั่งบัตร ส.ค.ส. สำหรับคนไทยทั้งหลาย ถ้าท่านย้อนกลับไปดู จะมีคำ 2-3 คำซ้ำๆ อยู่ในพระราชดำรัส คือ คำว่าเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่หรือเป็นพระราชดำรัสที่ชัดเจนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาที่จะเห็นความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เห็นคนเป็นเพื่อนมนุษย์เสมอกัน และทรงขมวดในพระราชดำรัสในวันที่ 5 ธันวาคม ว่า ความเมตตาและปรารถนาดีต่อกันนี้จะเป็นหนทางที่ทำให้เกิดความสามัคคี เกิดความร่มเย็นขึ้นในบ้านเมือง

 

อนึ่ง ธงทอง จันทรางศุ เป็นผู้ที่ถูกเชิญเป็นพยานโจทก์ในคดีฐานความผิดตามมาตรา 112 กฎหมายอาญา หลายคดี โดยคดีล่าสุด คือ คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 10 ปี จากการตีพิมพ์บทความที่เข้าข่ายผิดตามมาตรา 112 จำนวน 2 บท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิคตอเรีย นูแลนด์

Posted: 01 Feb 2013 07:14 AM PST

"แน่นอนว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ และเราได้กระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ, ทั้งในทางส่วนตัวและสาธารณะ, ให้ทางการไทยรับรองว่าการแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม และพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธะกรณีของไทยในทางสากล"

30 ม.ค.56, โฆษกรัฐบาลสหรัฐกล่าวถึงกรณีการตัดสินของสมยศ พฤกษาเกษมสุข

ทำอย่างไรให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ไปสู่การส่งเสริมการเจรจาต่อรองร่วม : กรณีบริษัทอิเลคโทรลักซ์

Posted: 01 Feb 2013 03:06 AM PST

บริษัทอิเลคโทรลักซ์ต้องรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยทันที และให้กลับไปเจรจาต่อรองกันตามปกติตามข้อเสนอของสหภาพแรงงาน เคารพตัวแทนเจรจา ยอมรับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ช่วยทำกำไรให้บริษัทเสมอมา เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานสากล เยี่ยงประเทศที่พัฒนาแล้ว
 
 

 

บทความชิ้นนี้ขอนำเสนอปัญหาการเลิกจ้างพนักงานบริษัทอิเลคโทรลักซ์จำนวน 129 คนและขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ให้บริษัทรับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยทันที  ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่จะกล่าวต่อไป
 
ทันทีที่นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทถูกบังคับใช้ให้เป็นผลทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2556 สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ และคณะกรรมการสวัสดิการโรงงานเริ่มตั้งต้นขอเจรจากับผู้บริหารทั้งคนไทยและคนต่างชาติในช่วงเดือนธันวาคม 2555  ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งปรับเงินขึ้นประจำปี โบนัสตามฐานเงินเดือนใหม่และปรับสถานะของลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นลูกจ้างประจำ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และบริษัทใช้วิธีเลิกจ้างพนักงานในช่วงเจรจาต่อรองแทนการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานและยกระดับมาตรฐานการจ้างงานในประเทศไทย  ผู้เขียนได้สัมภาษณ์สมาชิกสหภาพแรงงาน และติดตามสถานการณ์  จึงขอนำเสนอผลที่เกิดจากนโยบายดังกล่าว ในหัวข้อต่อไปนี้
 
1.     ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 กับการยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน
2.     ปัญหาการเจรจาต่อรองร่วมกับการเลิกจ้างพนักงาน
3.     ความไม่ครอบคลุมของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
4.     รัฐกับการส่งเสริมสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมของลูกจ้าง
 
 
 
 
 
1.    ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 กับการยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน
 
ที่ผ่านมา รัฐบาล ฝ่ายนายจ้างและสื่อมวลชนขาดการนำเสนอเรื่องการยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน เนื่องจากนำเสนอเฉพาะประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้กับลูกจ้างที่เพิ่งเข้ามาทำงานและผลกระทบต่อภาคเอกชน แต่ไม่ได้กล่าวถึงการปรับฐานค่าจ้าง 300 บาทนี้ให้แก่ลูกจ้างเดิมตามสัดส่วน โดยเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่เช่นกรณีบริษัทอิเลคโทรลักซ์ จ.ระยองที่ตั้งมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีและสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากหลักร้อยล้านเป็นพันล้าน
 
ด้วยระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นของบริษัทอิเลคโทรลักซ์ ที่มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 900 คน สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย มองว่า พนักงานยังไม่ได้รับประโยชน์ที่เพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนัก เมื่อเทียบกับการเติบโตของบริษัท จึงมองถึงการปรับมาตรฐานการจ้างงานให้ดีขึ้น และออกมาเป็นข้อเสนอสำหรับเจรจากับผู้บริหาร ดังนี้
 
1.1 ขอปรับฐานค่าจ้างและปรับเงินขึ้นอีกตามอายุงานให้แก่พนักงานรายเดือน   ได้แก่
คนงาน อายุงาน 2 ปี          ควรได้รับการปรับเงินเดือนเป็น 9,000+300 บาท
คนงาน อายุงาน 3 ปี          ควรเป็น 9,000+600 บาท
คนงาน อายุงาน 4 ปี          ควรเป็น 9,000+900 บาท
คนงาน อายุงาน 5 ปี-สูงสุด ควรเป็น 9,000+1,200 บาท
 
การปรับเงินเดือนของสหภาพแรงงานนั้นเริ่มจากการปรับฐานค่าจ้างให้พนักงานได้รับเงินเดือนๆ ละ 9,000 บาทเท่ากัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว พนักงานที่ทำงานมาก่อนยังมีเงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท   แล้วบวกเพิ่มขึ้นอีกตามอายุงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนงานที่มีอายุงานมากกว่าและเป็นอัตราก้าวหน้า  รวมแล้วบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มอีกเดือนละ 50,000 บาทสำหรับพนักงานฝ่ายผลิตทุกคน หากเปรียบเทียบกับกำไรที่บริษัทสามารถทำได้ สหภาพแรงงานมองว่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง[1]
 
ทว่า ผู้บริหารไม่ตกลง และออกประกาศปรับเงินเดือนพนักงาน โดยไม่คำนึงถึงอายุงาน ดังนี้
พนักงานที่มีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 8,000-8,099 บาท            ปรับเพิ่มให้ 1,000 บาท  (12.3%-12.5%)
พนักงานที่มีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 8,100-10,000 บาท           ปรับเพิ่มให้ 900 บาท (9%-11%)
พนักงานที่มีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท         ปรับเพิ่มให้ 800 บาท (5.3%-8%)
 
สิ่งที่แตกต่างกันคือ คนงานอายุงานมากกว่าจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่ต่ำกว่าคนงานที่เพิ่งเข้าทำงาน และทำให้เงินเดือนของคนงานโดยรวมทั้งหมดอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน  เนื่องจากพนักงานที่มีเงินเดือนระหว่าง 8,000-10,000 บาทมีอายุงานระหว่าง 1-5 ปี  ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทจะปรับเงินขึ้นเพียงคนละ 900-1,000 บาทในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
           
1.2 นอกจากนี้ สหภาพแรงงานต้องการให้บริษัทปรับตำแหน่งพนักงานเหมาค่าแรง (sub-contract workers) ที่ผ่านการทดลองงาน 6 เดือนแล้ว และที่ทำงานให้แก่บริษัทมาได้ 1-2 ปี ให้เป็นพนักงานรายเดือนเพื่อให้มีรายได้และสวัสดิการเทียบเท่า และมีงานที่มั่นคงขึ้น เนื่องจากระบบการจ้างงานของบริษัทส่วนใหญ่จ้างงานแบบยืดหยุ่นมาตั้งแต่ก่อตั้ง  กล่าวคือ พนักงานฝ่ายผลิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภทจากทั้งหมดประมาณ 800 คน แบ่งเป็นพนักงานรายเดือนจำนวน 380 คน ที่เหลือเป็นพนักงานเหมาค่าแรง  ซึ่งมีสภาพการจ้างงานไม่มั่นคง คือมีการต่อสัญญาเป็นระยะๆ 3 เดือนครั้งบ้าง 4 เดือนครั้งบ้าง หรือเดือนละครั้งบ้าง ฉะนั้นหากพนักงานได้รับการปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้มั่นคงขึ้น ได้รับโบนัส 2 เดือนตามฐานค่าจ้างใหม่เหมือนกัน ก็จะช่วยให้พนักงานมีกำลังใจทำงานมากขึ้น
 
2.    ปัญหาการเจรจาต่อรองร่วมกับการเลิกจ้างพนักงาน
 
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจา คือ ตัวแทนเจรจาคือ ประธานสหภาพแรงงานถูกไล่ออกไปให้พ้นนอกเขตโรงงาน กระบวนการเจรจาต่อรองถูกตัดตอน และการกล่าวหาว่าพนักงานที่มารอฟังเจรจา ผละงาน และท้ายสุดถูกเลิกจ้างในเย็นวันที่ 11 ม.ค. 56
 
จากจดหมายตอบกลับของรองประธานอาวุโสของบริษัท สำนักงานใหญ่ประเทศสวีเดน จะเห็นว่า บริษัทไม่ยอมรับการเจรจาในครั้งนี้ เพราะตามข้อตกลงสภาพการจ้างงานได้กำหนดกันสองฝ่ายว่าจะมีการเจรจาร่วมกันในเดือนพฤศจิกายน ปลายปีนี้ ฉะนั้นการขอเจรจาในครั้งจึงไม่เป็นไปตามข้อตกลง และมองว่าพนักงานจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมผละงาน ที่ยอมรับไม่ได้[2]
 
อย่างไรก็ตาม พนักงานดังกล่าวต้องการมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองร่วมในฐานะสมาชิกของสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ และการเจรจาเป็นไปตามกลไกการปรึกษาหารือสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง สหภาพแรงงาน และคณะกรรมการสวัสดิการที่นายจ้างแต่งตั้ง ซึ่งเป็นกลไกปกติ ทุกเดือนจะมีการปรึกษาหารือกันอยู่แล้ว[3]   นอกจากนี้ พนักงานได้ชี้แจงว่า การที่ยังไม่กลับเข้าไปทำงานเพราะผู้บริหารสั่งไล่ตัวแทนเจรจาออกไปอย่างผิดปกติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ จึงต้องเรียกร้องให้ผู้บริหารนำตัวแทนกลับมาทันที  อีกทั้งคนงานได้ชี้แจงว่า ถูกรปภ.และตำรวจปิดล้อมคนงานไม่ให้ออกจากบริเวณ ไม่ให้ออกไปห้องน้ำและรับประทานอาหาร เป็นเวลาหลายชั่วโมง จนเจ้าหน้าที่จะสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองเข้ามาต่อรองให้ผู้บริหารนำตัวแทนเจรจากลับเข้ามา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ กระทั่งเวลาเย็น ผู้บริหารออกมาประกาศเลิกจ้างพนักงานด้วยวาจา[4] และแจ้งสิทธิต่างๆ ที่จะได้รับ
 
3.    ความไม่ครอบคลุมของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
 
ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามกรอบนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและยังห่างไกลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีมาตรฐานการจ้างงานดีกว่า ประชาชนมีรายได้สูงและได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า  ดังนั้นนโยบายนี้จึงจำต้องถกเถียงเพื่อยกระดับ และเพื่อให้ทุนปรับตัวมากขึ้น ในประเด็นดังต่อไปนี้
 
3.1  ความไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของครอบครัวแรงงาน เนื่องจากยังอยู่ในสภาพที่ดิ้นรน คือผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมต้องทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมง มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท แต่คุณภาพชีวิตยังห่างไกลจากคนชั้นกลาง ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น เจ้าของกิจการ ที่มีรายได้สูงกว่า 60 เท่าขึ้นไปจนถึงกว่า 100 เท่า  ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีและยังขึ้นอีกในรัฐบาลชุดนี้  และค่าจ้างขั้นต่ำนี้ยังอยู่ในกรอบของนโยบายค่าจ้างราคาถูก (cheap labor) ที่มาพร้อมกับระบบการจ้างงานยืดหยุ่น ไม่มั่นคง (labor flexibility) เช่น การเป็นลูกจ้างรายวัน เหมาช่วง รายชิ้น ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน/นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการลดต้นทุนการผลิต  โครงสร้างการจ้างงานยืดหยุ่นนี้ทำให้คนงานต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ต้องทำล่วงเวลาในปกติและวันหยุดเพื่อหารายได้เพิ่ม จนไม่มีเวลาพักผ่อน ศึกษาและดูแลครอบครัว
 
3.2  การขาดการเชื่อมโยงถึงการปรับค่าจ้างตามอายุงานหรือตามอัตราก้าวหน้า ที่ผ่านมารัฐบาลพูดเพียงค่าจ้างขั้นต่ำหรือเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงาน  แต่ปล่อยให้เรื่องการปรับแบบขั้นบันไดสำหรับพนักงานที่มีอายุงานมากกว่าจากฐานคิด 300 บาทเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารกับพนักงานที่จะเจรจากันเอง  โดยไม่มีมาตรการรองรับ  นอกจากนี้ รัฐบาลขาดการพูดถึงค่าจ้างยังชีพได้ที่มาจากความต้องการที่แท้จริงของลูกจ้าง และจากข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ได้นำเสนอทางสาธารณะ  และละเลยการพูดถึงค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากลที่จะต้องสามารถเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวได้อีก 2 คน
 
3.3  การขาดการเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดอื่นที่บ่งชี้ถึงมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ได้แก่ ระบบสวัสดิการครบถ้วน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ชั่วโมงการทำงานลดลง สภาพการทำงานปลอดภัย ระบบการจ้างงานประจำ และการประกันสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงาน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของนายจ้าง
 
จากข้างต้น ทำให้มาตรฐานการจ้างงานในประเทศไทยยังคงต่ำ ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทั้งปล่อยให้กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างยืดหยุ่นเพื่อประโยชน์ของนายจ้างมากกว่าแรงงาน
 
4.    รัฐกับการส่งเสริมสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมของลูกจ้าง
 
ที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อยและรายกลางมากกว่าเพราะได้จัดหามาตรการรองรับผู้ประกอบการในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล ลดค่าใช้จ่าย ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน สินเชื่อ  ส่วนมาตรการจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นคนละประเด็น ในทางกลับกัน รัฐบาลขาดการพูดถึงการรองรับปัญหาการเลิกจ้างคนงานที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ อำนาจการต่อรอง สวัสดิการและความมั่นคงในการทำงาน  ดังกรณีปัญหาของคนงานบริษัทอิเลคโทรลักซ์ถูกเลิกจ้างทันทีเมื่อขอต่อรองการปรับฐานเงินเดือนตามอายุงานของพนักงานและปรับสถานะการจ้างงานที่มั่นคงขึ้นจากพนักงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานรายเดือน เพราะบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากอันมาจากระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นนี้
 
นี่คือปัญหาของรัฐบาลในการพัฒนานโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไม่เป็นระบบ เน้นประเด็นเดียว ไม่ครอบคลุมพนักงานทั้งหมด ภายใต้กรอบคิดทุนนิยมที่เอาใจนักลงทุน ผู้ประกอบการที่แข่งขันกันหากำไรมากขึ้นๆ  ขาดวิสัยทัศน์เรื่องมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ขาดการพัฒนาระบบสวัสดิการ และขาดการสรรหานโยบายที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เป็นผลจากการเอาใจนักลงทุนมากเกินไป
 
ดังนั้น ผู้เขียนเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ด้วยการยอมรับการการปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ให้ครอบคลุมคนงานที่มีอายุงานตั้งแต่แรกเข้าไปจนถึงคนงานที่มีอายุงานมากที่สุดในลักษณะอัตราก้าวหน้า  ยกระดับมาตรฐานการจ้างงานให้เป็นสากลขึ้น บังคับให้นายจ้างอิเลคโทรลักซ์ยอมรับกลไกการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงาน เคารพศักดิ์ศรีคนงาน และยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน
 
และในเฉพาะหน้านี้ บริษัทอิเลคโทรลักซ์ต้องรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยทันที และให้กลับไปเจรจาต่อรองกันตามปกติตามข้อเสนอของสหภาพแรงงาน เคารพตัวแทนเจรจา ยอมรับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ช่วยทำกำไรให้บริษัทเสมอมา เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานสากล เยี่ยงประเทศที่พัฒนาแล้ว
 

[1] สัมภาษณ์นายไพรวรรณ์ เมทา ประธานสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย โดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. 27 ม.ค. 56 ณ ที่ชุมนุมเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ.
[2] ข่างประชาไท. ผู้บริหารอีเลคโทรลักซ์แจง ไม่ได้ละเมิดสิทธิคนงานที่ระยอง. 29 ม.ค.56.  แหล่งที่มา : http://www.prachatai3.info/journal/2013/01/44987
[3] สัมภาษณ์นายไพรวรรณ์ เมทา ประธานสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ทางโทรศัพท์โดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. 1 ก.พ. 56.
[4] สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย.  เอกสารลำดับเหตุการณ์ข้อเท็จจริง. 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ลูกนกถูกหวย

Posted: 01 Feb 2013 03:01 AM PST



ความหวังดั่งสลากกินแบ่งอาญา
เบิกบานเต็มราชอาณาจักร
มันโอบอุ้มวิทยุทรานซิสเตอร์
รอเวลาหรือเวลารอ

นั่นเสียงเจ้าพนักงานใช่ไหม
ไหนล่ะ ลูกบอลกลิ้งไปกลิ้งมา
มีแต่ความหวังกลิ้งไปกลิ้งมา
มีแต่โซ่ตรวนลากไปลากมา

นั่นเสียงเจ้าพนักงานใช่ไหม
คำวินิจฉัยยาวเหยียด
ปลายกระดาษแอบตบกระบาลข้า
พิพากษาเป็นความหวัง

โอ้ ดั่งลูกนก
จะบีบคอตัวเองให้ส่งเสียง
โอ้ ความหวัง
ดั่งลูกนกจะบีบคอตัวเองให้ส่งเสียง
 

 

สถิติ ทูลขำ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกรัฐบาลสหรัฐชี้ไทยควรพิทักษ์เสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล

Posted: 01 Feb 2013 02:30 AM PST

วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐกล่าวถึงกรณีการตัดสินของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ชี้ไม่ควรมีใครถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็น ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิแจงยังอยู่ระหว่างการหารือกรณีดังกล่าว

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐได้ตอบคำถามจากสื่อในระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนประจำวันในทำเนียบขาว ณ กรุงวอชิงตันในประเด็นการจำคุกของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin เป็นเวลา 10 ปีว่า สหรัฐอเมริกามีความเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินคดีดังกล่าว และกระตุ้นให้ทางการไทยพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีระหว่างประเทศ 

"แน่นอนว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ และเราได้กระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ, ทั้งในทางส่วนตัวและสาธารณะ, ให้ทางการไทยรับรองว่าการแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม และพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธะกรณีของไทยในทางสากล" นูแลนด์กล่าว 

 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวเรื่องแรงงาน เป็นเวลา 10 ปี จากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสาร Voice of Taksin โดยมีผู้เขียนใช้นามปากกาว่า จิต พลจันทร์ ทำให้องค์การระหว่างประเทศเช่น ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิระหว่างประเทศเช่น ฮิวแมนไรท์ วอทช์, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, คณะกรรมการสากลเพื่อปกป้องนักข่าว และสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ 
 
ด้านชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอบคำถามในระหว่างการสัมมนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่สหภาพยุโรปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า สมาคมยังสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกนั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนการตัดสินคดีเรื่องมาตรา 112 จะเป็นธรรมหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
 
"เรื่องที่ว่าทำไมไม่ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องนี้ไม่ได้หยิบยกมา เพราะยังมีความสับสนว่าอะไรเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ ยังถกเถียงกันภายในสมาคมอยู่ แต่ได้คุยเบื้องต้นว่า สิ่งที่เราต้องพิทักษ์คือสื่อที่นำเสนอรอบด้าน แต่ถ้าสื่อใดจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมือง เราก็ไม่สามารถคุ้มครองได้" ชวรงค์กล่าว
 
ในงานเดียวกัน นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ในขณะนี้ กสม. กำลังอยู่ในระหว่างการหารือภายในเรื่องการออกแถลงการณ์ หลังจากที่ได้รับจดหมายสอบถามจากสมาคมนักข่าวเรื่องท่าทีต่อกรณีสมยศ เขากล่าวว่า ในฐานะส่วนตัว ตนได้ช่วยเป็นนายประกันและพยานในกรณีการไต่สวนของนายสมยศ และได้ติดตามเข้าเยี่ยมในเรือนจำ แต่ในฐานะองค์กรสามารถทำได้เพียงเท่านี้  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาสังคม กับบทบาททางการเมืองมาเลเซีย

Posted: 01 Feb 2013 01:04 AM PST

 

มาเลเซียเพื่อนบ้านอันใกล้ชิดทั้งในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และยังคงมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญคือ การเลือกตั้งในปี 2013 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งกำหนดการ ณ วันนี้ยังคงไม่มีความแน่นอน บ้างก็มีกระแสว่ารัฐบาล UMNO จะยุบสภาภายในกลางเดือนหน้า (กุมภาพันธ์) หรือกลางเดือนถัดไป หรืออาจจะลากยาวไปถึงให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นการชิงความได้เปรียบกันทั้งรัฐบาล UMNO และฝ่ายค้านที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮีม แมวเก้าชีวิตของการเมืองมาเลเซีย ที่รัฐบาลตามเก็บเท่าไหร่ ก็ยังคงรอดพ้นมาท้าทายรัฐบาลในสนามการเมืองได้กระทั่งปัจจุบัน

การเลือกตั้งในปีนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย เพราะดูเหมือนว่า รัฐบาล UMNO หรือแนวร่วมแห่งชาติที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานนั้นเริ่มมาถึงทางตัน และเกิดความอ่อนแอ ในขณะเดียวกันฝากฝ่ายค้านก็เกิดการผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นทั้งพรรคของอันวาร์ (Parti Keadilan Rakyat-PKR) พรรคนิยมอิสลามอย่างพรรค PAS และพรรคชาวจีนอีก 1 พรรคนั้นก็คือ DAP (Democratic Action Party)

โดยที่ความเข้มแข็งของพรรคฝ่ายค้านที่ทำให้รัฐบาลเริ่มอ่อนตัวลง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อท้าท้ายอำนาจ และเปลี่ยนแปลงมวลชนให้เริ่มตั้งคำถามกับทางรัฐบาลเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากจะย้อนมองดูพัฒนาการในการก่อตัวของประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล ในช่วงเวลาที่เด่นชัดมากที่สุดก็คือ ในเหตุการณ์ที่มาเลเซียได้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปลายปี 1998 กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ มูหัมมัด กับรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮีม และมหาธีร์ตัดสินใจขับอันวาร์ ออกจากพรรค พร้อมกับการตั้งข้อหาที่ถูกมองว่าไม่ธรรม ส่งผลทำให้อนาคตทางการเมืองของอันวาร์ ต้องยุติลงชั่วขณะ

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น อันวาร์เข้าสู่เส้นทางการเมืองรอบใหม่ โดยแสดงตนเป็นฝั่งตรงข้ามกับแนวร่วมแห่งชาติ ทั้งวิธีการนักกิจกรรมทางการเมือง กระทั่งได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้นำฝ่ายค้าน ในช่วงแรกอันวาร์ได้สร้างสายสัมพันธ์กับกิจกรรมสิทธิมนุษยชน พรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น และหลังจากนั้นเขาได้สร้างพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ชื่อว่าพรรคยุติธรรม ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยภรรยาของเขา ในขณะที่อันวาร์ถูกคุมขังอยู่ในคุก พรรคของอันวาร์ ได้รับการสนับสนุนของชนกลุ่มน้อย

จากนั้นได้นำไปสู่ความสำเร็จในการร่วมกันก่อตั้ง Pakatan Rakyat ซึ่ง Pakatan Rakyat ได้เป็นกลุ่มองค์กรทางการเมืองที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล

Pakatan Rakyat  ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2008 ก่อตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านสำคัญในมาเลเซียคือ พรรคยุติธรรมประชาชน พรรคกิจประชาธิปไตย พรรคอิสลามมาเลเซีย นโยบายของ Pakatan Rakyat จะส่งเสริมสิทธิและผลประโยชน์ของชาวมาเลเซียทั้งหมด ส่งเสริมประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเป็นของแท้ เน้นระบบการเลือกตั้งสะอาดและยุติธรรม แต่ละพรรคการเมืองในกลุ่มพันธมิตรประชาชนมีอุดมการณ์ของตัวเอง โดยแต่ละพรรคย่อมที่จะมีนโยบายที่ต่างกันออกไป เช่น พรรคยุติธรรมประชาชน ส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและรูปแบบการต่อต้านการทุจริต  พรรคอิสลามมีจุดประสงค์ที่จะจัดตั้งประเทศมาเลเซียเป็นประเทศบนพื้นฐานทางกฎหมายอิสลามและพรรคกิจประชาธิปไตย เน้นการเป็นรัฐฆราวาสของหลายเชื้อชาติ อุดมการณ์สังคมประชาธิปไตย รัฐที่ Pakatan Rakyat  มีอำนาจในการบริหารคือ รัฐกลันตัน เคดาห์  ปีนังและสลังงอ

ทางด้านการเรียกร้องทางการเมืองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนั่นก็คือ การเดินประชาธิปไตย หรือที่เรียกกันว่า Bersih เป็นการจัดตั้งพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งสะอาดและยุติธรรม (ภาษาอังกฤษ The Coalition for Clean and Fair Elections ภาษามาเลเซีย Gabungan Pilihanraya Bersih dan Adil) สำหรับการเดินประชาธิปไตย Bersih การรวมตัวกันของพันธมิตรทางการเมืองขององค์กรพัฒนาเอกชน และ 5 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม ซึ่งการชุมนุมใช้ชื่อว่า Bersih โดยความหมายแล้วมีความหมายว่า สะอาด อย่างไรก็ตาม Bersih ในบริบทนี้หมายถึง ความสะอาดและความยุติธรรมในการเลือกตั้ง โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2006 (อ่านเพิ่มเติมใน http://www.pataniforum.com/news_detail.php?news_id=70)   

ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้เกิดการประท้วงของประชาชนเชื้อชาติอินเดีย หรือที่เรียกกันว่า ฮินดราฟ (Hindu Rights Action Force-กองกำลังปฏิบัติการเรียกร้องสิทธิชาวอินเดีย) ได้มีการชุมนุมในช่วงเวลาปี 2007 โดยที่ข้อเรียกร้องจากการชุมนุมนั้นเหตุการณ์นั่นก็คือ การปกครองอย่างเป็นธรรมระหว่างเชื้อชาติ ข้อสังเกตการประท้วงครั้งนี้ได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย รวมถึงมหาตมะ คานธี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ ที่มีการเชื่อมโยงสู่ประเทศเดิมของบรรพบุรุษตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสำนึกในการเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แม้นว่าจะอาศัยอยู่นอกพื้นที่ประเทศของตนเองก็ตาม

การเชื่อมต่อกันระหว่างองค์กรเอกชน ภาคประชาสังคมในบริบทมาเลเซียโลกไซเบอร์องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) องค์กรนิยมอิสลาม องค์กรเยาวชน สหภาพการค้าและการเกิดขึ้นของสื่อทางเลือก (เช่นบล็อก โดยบล็อกต่างๆ ในมาเลเซียจะถือเป็นความนิยมอย่างมากสำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และในหน้าเพจบล็อกของตัวเองจะมีการทำลิงค์เพื่อที่จะเชื่อมต่อไปยังบล็อกเพื่อนบ้าน ทำให้ความคิดทางการเมืองในส่วนของการต่อต้านรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว) ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นมิติใหม่ในสนามการเมืองมาเลเซีย ที่อินเตอร์เน็ตได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนชาวมาเลเซีย ผลจากการเลือกตั้งในปี 2008 ซึ่งกล่าวขานว่าเป็น "สึนามิทางการเมือง" สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งในปี 2008 โดยเฉพาะการวิพากษ์รัฐบาลผ่านสื่อ แม้ว่าทางรัฐบาลสามารถที่จะควบคุมสื่อกระแสหลัก แต่รัฐบาล "แพ้สงครามทางอินเทอร์เน็ต" 

 

 

ที่มา: PATANI FORUM

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาวใช้ ฮ.กู้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์กลางน้ำโขง

Posted: 01 Feb 2013 12:44 AM PST

ลาวปฎิบัติภารกิจกู้ต้นมณีโคตร ต้นไม้ศักดิสิทธิ์แห่งคอนพะเพ็ง แขวงจำปาศัก โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ยกขึ้นจากกลางน้ำเชี่ยวสำเร็จแล้ว

ความหวังเป็นจริงแล้วสำหรับภารกิจลงกอบกู้ต้นไม้มะนีโคด(มณีโคตร) ขึ้นจากพื้นน้ำที่คอนพะเพ็ง หลังคณะรับผิดชอบทำงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามถึง 2 วัน เพื่อนำต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวขึ้นมาสำเร็จ ท่ามกลางกำลังใจของประชาชนที่เข้าร่วมทั้งจากที่ว่าการแขวง องค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งภายในและภายนอกแขวงจำปาสักกว่าหนึ่งหมื่นคน

ภารกิจกอบกู้ต้นไม้มะนีโคดขึ้นจากพื้นน้ำคอนพะเพ็งครั้งที่สอง ซึ่งตามแผนเดิมนั้นจะกระทำในวันที่ 11 มกราคม แต่เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันพระแรม 14 ค่ำของเดือนเจียง คณะกู้ต้นไม้จึงต้องเลื่อนการปฏิบัติงานไปเป็นวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ KA32 ลำเก่า ของกองพันใหญ่ 703 กระทรวงการป้องกันประเทศ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรวม 8 นายในการบิน และลงสู่พื้นที่ดอนกลางน้ำ 4 นาย เวลาประมาณ 8.30 น. เฮลิคอปเตอร์ได้บินลงสู่เป้าหมายเพื่อหย่อนเจ้าหน้าที่นำรอกไปเกี่ยวกับ ต้นไม้เพื่อนำขึ้นจากผืนน้ำ และประเมินน้ำหนักของไม้ทั้งหมด ก่อนที่จะใช้รอกเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อยกขึ้น ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พบอุปสรรคการปฏิบัติงานพอสมควร จนทำให้การกอบกู้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในครั้งแรกประสบความล้มเหลว เนื่องจากกระแสน้ำพัดแรงจนไม่สามารถดึงไม้ขึ้นจากน้ำได้ตามความคาดหมาย และในครั้งนี้ก็ยังประสบปัญหาเดิมเช่นกัน คือสามารถดึงไม้พ้นผิวน้ำประมาณ 2 เมตรเท่านั้นในช่วงเช้า ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พร้อมคณะกรรมการลงกู้ต้นไม้มะนีโคดครั้งนี้ ยังไม่ย่อท้อหรือละความพยายาม และส่งเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานต่อในช่วงบ่ายจนถึงค่ำ ตั้งแต่บ่ายโมงครึ่งถึงบ่ายสี่โมง ซึ่งก็ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม ที่ได้ดอกาสจากสภาพอากาศท้องฟ้าและลมที่นิ่งสงบ ใช้เวลาจาก 8 นาฬิกาไม่ถึงสองชั่วโมง ก็สามารถยกต้นไม้มะนีโคดขึ้นจากพื้นน้ำคอนพะเพ็งขึ้นสู่ดอนกลางน้ำได้ตามแผน การ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีขจองประชาชนที่มาคอยให้กำลังใจ

จากนั้นในช่วงบ่าย เฮลิคอปเตอร์ KA32 ได้ลากดึงไม้มะนีโคดเข้าสู่ฝั่ง แต่เนื่องจากต้นไม้มีขนาดใหญ่และยาวกว่ากำลังของเฮลิคอปเตอร์จะสามารถลาก ทั้งหมดได้ภายในครั้งเดียว จึงจำเป็นต้องตัดออกเป็น 3 ท่อนเพื่อให้สะดวกต่อการยก สำหรับต้นไม้มะนีโคดที่กู้ขึ้นมาจากพื้นน้ำนี้ มีความยาว 14.56 เมตร หน้าตัด 46.6 แมตร และน้ำหนักทั้งหมด 2,800 กิโลกรัม ซึ่งทางการลาวมีแผนจะนำขึ้นไปตั้งแสดงไว้ที่หอพิพิธภัณฑ์ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ในบริเวณคอนพะเพ็ง เพื่อทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และจัดให้ประชาชนชาวลาวได้ไหว้สักการะบูชา

อนึ่ง ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์มะนีโคด (มณีโคตร) นี้ เป็นต้นไม้ใหญ่ต้นเดี่ยวที่มีรูปร่างประหลาย คือปลายกิ่งมีลักษณะคล้ายรากไม้ที่ยืนต้นกลางดอนแม่น้ำของแก่งคอนพะเพ็งที่ เชี่ยวกรากเป็นเวลายาวนาน อยู่ระหว่างต้นโพธิ์สองต้น มีตำนานเล่าว่าเป็นต้นไม้วิเศษที่ "กกชี้ตาย ปลายชี้เป็น" คือนำเอาส่วนโคนชี้ไปทางไหนคนก็จะตาย หากเอาส่วนปลายชี้ไปที่คนตายก็จะกลับฟื้น ส่วนปลายที่มีสามแฉกชี้ไปทางสามประเทศ คือ ไทย ลาว และกัมพูชา เล่าว่าหากได้กินหมากผลของต้นมณีโคตรก็จะมีผลวิเศษเป็นยาอายุวัฒนะ แก่เฒ่ากลับคืนเป็นหนุ่ม ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติที่มาเที่ยวคอนพะเพ็ง ก็ต้องชี้ให้กันชมต้นมะนีโคดอยู่ไกลๆ

ต้นมะนีโคดนี้โค่นลงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 ภายหลังพายุและฝนตกหนักติดต่อกันสามวัน ทางการลาวได้พยายามกู้ต้นมะนีโคดแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากกระแสน้ำพัดแรง จึงได้มีการวางแผนใหม่ในฤดูแล้งจนกระทั่งสำเร็จเมื่อวันอ่าทิตย์ที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา

เศษซากจากกิ่งต้นมะนีโคดที่โค่นล้ม ถูกนำไปประมูลขายเป็นวัตถุมงคลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ราคาแพง และมีมิจฉาชีพกล่าวอ้างนำกิ่งไม้ไปหลอกลวงขายว่าเป็นต้นมะนีโคดทั่วไปในแขวง จำปาสัก

 

 

ภาพและเรียบเรียงจาก

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 เด็กไทย วิจัย “สาหร่าย” บนเที่ยวบินไร้น้ำหนัก

Posted: 31 Jan 2013 07:09 PM PST

"ถ้าสาหร่ายสามารถวิ่งเข้าหาแสงในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้ ก็มีโอกาสเลี้ยงส่าหร่ายในอวกาศ  เพื่อใช้เป็นอาหารและผลิตเชื้อเพลิงในสถานีอวกาศได้" สมมติฐานสุดเจ๋งของ 4 เยาวชนไทย ที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) คัดเลือกให้ขึ้นไปร่วมทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก บนเครื่องบินที่บินแบบพาราโบลา ในโครงการ "The Student Zero-gravity Flight Experiment Contest" ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น และที่พิเศษสุดครั้งนี้เด็กๆ ยังได้รับโอกาสให้เข้าเยี่ยมชม TSUKUBA SPACE CENTER ของหน่วยงาน JAXA ด้วย และดาวเทียม UNIFORM ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เมื่อไม่นานมานี้

 

น้องน้ำตาลกับชุดนักบินอวกาศที่ TSUKUBA SPACE CENTER ของ JAXA
น้องน้ำตาลกับชุดนักบินอวกาศที่ TSUKUBA SPACE CENTER ของ JAXA

ภาพเยาวชนและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่ JAXA หน้าเครื่องบินชนิดพิเศษสำหรับการบินพาราโบลิก
ภาพเยาวชนและเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่ JAXA หน้าเครื่องบินชนิดพิเศษสำหรับการบินพาราโบลิก

 

ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการการวิจัย สวทช. กล่าวว่า โครงการ "The Student Zero-gravity Flight Experiment Contest" จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น โดยโครงการวิจัยที่ได้รับเลือกในครั้งนี้ คือ "การศึกษาการเคลื่อนที่ของสาหร่ายเข้าหาแสง ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง" ผลงานของนายอุเทศ อาชาทองสุข นางสาววรรณิดา แซ่ตั้ง นายนรินธเดช เจริญสมบัติ และนายนพพล ทวีสุข         

"ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องออกแบบและสร้างชุดการทดลองเพื่อนำขึ้นทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาราโบลา คือ โค้งขึ้นและลงเป็นรูปคลื่น ทำให้เกิดสภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 20 วินาที ในแต่ละรอบ จำนวน 10 รอบต่อวัน เป็นจำนวน 2 วัน  และใช้กล้องวิดีโอบันทึกผลการทดลองที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการทดลองที่เกิดขึ้นบนผิวโลก ซึ่งแน่นอนว่านอกจากผลการทดลองอาจเป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดวิจัยบนสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว การได้คิดค้นงานวิจัยทางด้านอวกาศยังช่วยเพิ่มพูนศักยภาพของเยาวชนไทย โดยท้ายที่สุดทาง สวทช.และ JAXA ต่างหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยให้เด็กไทยหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับงานด้านเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น"

นางสาววรรณิดา  แซ่ตั้ง หรือ น้ำตาล  นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงโครงการวิจัยว่า การทดลองเราต้องการดูการเคลื่อนที่เข้าหาแสงของสาหร่าย Chlamydomonas reinhardtii   โดยในสภาวะปกติบนพื้นโลกสาหร่ายชนิดนี้จะเคลื่อนที่เข้าหาแสง เพราะต้องสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ซึ่งเราอยากรู้ว่าในสภาวะไร้น้ำหนักนั้น สาหร่ายยังคงเคลื่อนที่เข้าหาแสงได้หรือไม่ ถ้าเคลื่อนที่จะเร็วหรือช้ากว่าบนพื้นโลก

"การทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักผ่านไปด้วยดี ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงวิเคราะห์ผลว่ามีความเหมือนหรือต่างจากบนพื้นโลกอย่างไร แต่เบื้องต้นจากการสังเกตด้วยตาเปล่า พบว่าสาหร่ายเคลื่อนที่เข้าหาแสงเช่นกัน ทั้งนี้หากผลวิเคราะห์พบว่า สาหร่ายยังมีชีวิตรอด เคลื่อนที่เข้าหาแสงและสังเคราะห์แสงได้ในสภาวะไร้น้ำหนักจริง ก็ย่อมมีโอกาสนำสาหร่ายไปทดลองเลี้ยงเป็นอาหารและใช้ผลิตไฮโดรเจนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงบนสถานีอวกาศในอนาคต"

ด้านการออกแบบชุดทดลอง นายนพพล  ทวีสุข หรือ อั้ม นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยากและท้าทายมาก เพราะสภาวะไร้น้ำหนักมีเวลา 20 วินาทีต่อครั้งเท่านั้น จึงต้องออกแบบอุปกรณ์ทดลองที่ง่ายและมีขั้นตอนการทำงานน้อยที่สุด

"ชุดการทดลองของเราทำงานภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยวิธีดูการเคลื่อนที่เข้าหาแสงของสาหร่าย เราออกแบบให้สีพื้นของแผ่นสไลด์ที่ใส่สาหร่ายเป็นสีแดงจากแสงแอลอีดี มีความยาวคลื่นประมาณ 600 นาโนเมตร ซึ่งเป็นสีที่สาหร่ายไม่ชอบ จากนั้นใช้แสงจากเลเซอร์สีน้ำเงินส่องลงไปเป็นจุดวงกลมบนสไลด์เพื่อเป็นตัวดึงดูดให้สาหร่ายเคลื่อนที่เข้ามาหา ส่วนสาเหตุที่ใช้สีน้ำเงิน เพราะแสงสีน้ำเงินเป็นสีที่สาหร่ายชอบ เนื่องจากมีความยาวคลื่นประมาณ 450 นาโนเมตร ตรงกับช่วงคลื่นที่สาหร่ายใช้ในการสังเคราะห์แสงพอดี สำหรับการติดตั้งเลเซอร์เราใช้วิธีวางบนแท่นด้านล่างใกล้ๆ กล้องจุลทรรศน์ แสงเลเซอร์จะถูกยิงไปที่กระจกใต้กล้องจุลทรรศน์ และสะท้อนขึ้นไปยังแท่นวางสไลด์ของสาหร่าย ขั้นตอนการติดตั้งค่อนข้างยาก ทุกคนต้องทุ่มเทอย่างหนัก แต่ผลที่ออกมาก็คุ้มค่ามากครับ และที่พิเศษสุดจากการได้ร่วมโครงการนี้ คือการได้ทำงานกับเจ้าหน้าที่ JAXA ได้เข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ทำงานของเขา เราได้เห็นหน้าจอทีวีที่ใช้ติดต่อกับนักบินอวกาศซึ่งตื่นตาตื่นใจมาก เป็นโอกาสที่หาได้ยากจริงๆ ครับ"

ส่วน นายอุเทศ  อาชาทองสุข  หรือ ยีนส์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การคิดอย่างเป็นระบบ รอบคอบ และรู้จักประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ปกติกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ทดลองสภาวะไร้น้ำหนักต้องสั่งทำพิเศษ แต่เราก็ประยุกต์กล้องจุลทรรศน์ธรรมดาให้มีคุณสมบัติพิเศษแทน เช่น การปรับโฟกัสกล้อง คือ บนเที่ยวบินพาราโบลา ต้องเจอทั้งสภาวะไร้น้ำหนัก และสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงเป็นเท่าตัว ทำให้ตัวปรับโฟกัสที่ปรับไว้ให้เห็นสาหร่ายชัดที่สุดเลื่อนตลอดเวลา ก็ต้องหาอุปกรณ์เสริมเพื่อให้การหมุนฝืดลง หรือ เลเซอร์ที่ใช้มีปัญหาว่า หัวเลเซอร์มีขนาดของลำแสงเลเซอร์ใหญ่ไป ก็แก้ด้วยการนำฝาปิดเลเซอร์มาใช้เข็มหมุดเจาะรูเพื่อให้ได้แสงขนาดเล็กตามที่เราต้องการ ซึ่งก็สนุก ตื่นเต้น ฝึกให้คิดตลอดเวลา และยังได้ความรู้ใหม่ๆ จากอาจารย์สวัสดิ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ JAXA ที่คอยให้คำแนะนำตลอดการทำงาน เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้ประสบการณ์มากเลยครับ"

ขณะที่ นายนรินธเดช เจริญสมบัติ หรือ น้องท้อป  นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การได้สัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักนั้นพิเศษมาก ถ้าปลดเข็มขัดจะลอยขึ้นมาเลย  เข้าใจความหมายของสภาวะไร้น้ำหนักจริงๆ รู้สึกเลยว่าการไหลเวียนเลือดมันเปลี่ยนไป ขนลุกเลยครับ ตื่นเต้นมาก นอกจากนั้นเรายังได้ไปเยี่ยมชม ดาวเทียม UNIFORM ของมหาวิทยาลัยโตเกียว  ตื่นตาตื่นใจ ได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าทึ่ง คือ เขานำกระป๋องน้ำอัดลมมาสร้างเป็นดาวเทียมได้ ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย และเป็นความคิดของเด็กมัธยมเท่านั้น ทำให้เราได้แรงบันดาลใจในการคิดค้นงานใหม่ๆ มากขึ้น และที่ประทับใจมากคือได้ไปเยี่ยมชม TSUKUBA SPACE CENTER ของ JAXA เราได้เห็นห้องต้นแบบและจำลองสภาพห้องให้เหมือนกับบน KIBO ห้องฝึกนักบินอวกาศ ทั้งยังได้เห็นอุปกรณ์และงานวิจัยที่นำไปติดตั้งบน KIBO ช่วยเปิดโลกทัศน์งานวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศให้เรามากจริงๆ ครับ พวกเราดีใจที่ได้โอกาสไปเรียนรู้ และภูมิใจที่ได้ไปในฐานะตัวแทนของประเทศไทยครับ

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจการคิดค้นงานวิจัยด้านอวกาศ อยากรู้ว่าประสบการณ์บนเที่ยวบินไร้น้ำหนักของเยาวชนไทยทั้ง 4 คน น่าตื่นเต้นและสนุกขนาดไหน สาหร่ายจะเคลื่อนที่เข้าหาแสงในสภาวะไร้น้ำหนักได้หรือไม่ ติดตามชมได้ในสารคดีพิเศษ "JAXA ภารกิจวิจัยสุดขอบฟ้า" ซึ่งจะมีการออกอากาศทาง NSTDA Channel (www.nstdachannel.tv) ในเดือนเมษายนนี้

ภาพเด็กๆ กำลังติดตั้งอุปกรณ์การทดลองบนเครื่องบิน
ภาพเด็กๆ กำลังติดตั้งอุปกรณ์การทดลองบนเครื่องบิน

ภาพน้องอั้มกับชุดการทดลอง
ภาพน้องอั้มกับชุดการทดลอง "การเคลื่อนที่ของสาหร่ายเข้าหาแสง ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง"

ภาพการประชุมกับเจ้าหน้าที่ JAXA เพื่อวางแผนก่อนการบิน
ภาพการประชุมกับเจ้าหน้าที่ JAXA เพื่อวางแผนก่อนการบิน

ตัวแทนเยาวชนไทยทั้ง 4 คน กับ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี
ตัวแทนเยาวชนไทยทั้ง 4 คน กับ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี

ดาวเทียม CANSAT
ดาวเทียม CANSAT

ห้องฝึกนักบินอวกาศ
ห้องฝึกนักบินอวกาศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: โง่จนเจ็บ

Posted: 31 Jan 2013 03:53 PM PST

ผมเป็นแฟนรายการคิดเล่นเห็นต่างของคุณแขกและคุณอรรถครับ เมื่อเสาร์ที่ผ่านมาทางรายการพูดถึงเรื่องนิทานเรื่อง โง่จนเจ็บ ที่วนเวียนอยู่ในสังคมไทยมานานกว่าสี่สิบปีในสังคมไทยและการเมืองไทย เอาเข้าจริงแล้วนิทานเรื่องนี้กลายเป็นความคิดฝังหัวและเป็นวิธีคิดอัตโนมัติที่เอาไปตอบปัญหาครอบจักรวาลทุกปัญหาในประเทศไทย ไม่ว่าอะไร ๆ ก็ โง่จนเจ็บ โดยไม่ลงไปในรายละเอียดแต่ละปัญหา การมองแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นการมองปัญหาแบบโครงสร้าง แต่ที่จริงแล้วเป็นการมองสาเหตุปัญหาในมุมปัจเจกชนมากกว่า เช่น การเมืองที่เลวร้าย(ที่เขาว่า)มีสาเหตุมาจากการซื้อเสียง และขายเสียงของคนชนบท เราก็แค่โทษว่าการเมืองมันแย่เพราะ นักการเมืองมันเลว คนชนบทมันโง่ ซึ่งเป็นการละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆไม่ว่าโครงสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างอื่นๆ เช่น ผลวิจัย 10 ปัจจัยหลุดพ้นโง่จนเจ็บ[1]โดย ดร สมพงษ์ จิตระดับ ที่เสนอวิธีทั้งสิบในการหลุดวงจรโง่จนเจ็บ แต่วิธีทั้งสิบนี้ต่างเป็นการแก้ที่ตัวปัจเจกทั้งนั้น เช่น ให้คนจนคิดหลุดพ้นกรอบความคิดเดิมๆที่สังคมยัดเยียดให้จะสามารถหลุดความยากจน  (แต่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถูกขึ้นแต่ค่าครองชีพกับขึ้นเอาๆ)

โง่จนเจ็บ กับ โง่เจ็บจน

นิทาน โง่จนเจ็บ ไม่ใช่แพร่หลายเฉพาะในวงการการเมืองไทยเท่านั้น วงการสุขภาพหรือสาธารณสุขไทยก็มีนิทานเรื่องนี้เช่นกัน ผมไม่ทราบว่ามันแพร่หลายได้อย่างไร และเริ่มต้นเมื่อไร อย่างไรก็ตามนิทานโง่จนเจ็บในวงการสุขภาพไทยยังคงดีกว่านิทานโง่จนเจ็บในการเมือง เพราะนักสาธารณสุขยังมีการมองปัญหาในเชิงโครงสร้างมากกว่า และต้องมีการแก้ทั้งทางโครงสร้างและระดับปัจเจกพร้อมๆกัน[2][3]

องค์กรอนามัยโลก(WHO) ก็มีการเสนอวัฏจักรทำนองนี้เช่นกันชื่อวัฏจักรสุขภาพและความยากจน (cycle of health and poverty) แต่วัฏจักรนี้ไม่ใช่ โง่จนเจ็บ แต่เป็น โง่เจ็บจน และเป็นการมองปัญหาในเชิงโครงสร้าง

วงจรนี้เริ่มตรงที่ว่าคนจนมักจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาดและเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่าย ความจนทำให้ไม่สามารถไปใช้บริการรักษาพยาบาลได้ นอกจากนี้การไม่ได้ศึกษาสูงทำให้ไม่รู้ว่าต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างไร (โง่) และด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้คนจนมีสุขภาพแย่ลงๆ (เจ็บ) เมื่อสุขภาพแย่ลงแล้วทำให้คนเหล่านี้ต้องเสียเวลาการทำงานเพื่อไปใช้การรักษา และเสียเงินเพื่อค่ารักษาพยาบาลทำให้คนเหล่านี้ที่จนอยู่แล้วจนยิ่งขึ้นไปอีก(จน) และกลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบวัฏจักรโง่เจ็บจนสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขที่คนจนมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงการรักษาที่ดีและไม่สร้างภาระการเงินให้กับคนยากจนเมื่อใดก็ตามที่เขาป่วย และความไม่เท่าเทียมกันในการสร้างสิ่งแวดล้อมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีให้กับคนยากจน

ในขณะที่โง่จนเจ็บ มีความแตกต่างกัน ตรงที่ว่าคนที่มีการศึกษาน้อย (โง่) มีโอกาสที่ได้รับรายได้น้อยกว่าคนมีการศึกษาสูง (จน) และเมื่อจนแล้วก็จะมีโอกาสป่วยมากกว่า จากการไม่มีเงินเข้ารับการรักษา และจากลักษณะอาชีพของคนจนที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการมีสุขภาพแย่ (เจ็บ) การที่ประเทศไทยมองวัฏจักรโง่จนเจ็บมันสะท้อนว่าเมืองไทยมันแย่ทั้งระบบโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจไม่มีความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ระหว่างคนที่มีการศึกษาสูงและคนที่มีการศึกษาต่ำ รวมถึงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีสุขภาพแย่ก็โยนไปให้คนจนทำงานหมด เหลืองานไม่อันตรายรายได้ดีให้กับคนมีการศึกษาสูง และเมื่อคนจนเจ็บป่วยก็ไม่มีความเท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขอีกเมื่อ ระบบกีดกันให้เฉพาะคนรวยได้รับการรักษาแต่คนจนถูกละเลย คนจนเมื่อเจ็บป่วยก็ปล่อยตามยถากรรมให้เจ็บป่วยไปเรื่อยๆ

โง่จนเจ็บ กับ จนเครียดกินเหล้า

ตามความทรงจำของผมในสมัยเด็กๆ ผมเริ่มเห็นโฆษณาประเภท จนเครียดกินเหล้า มาสิบยี่สิบปีมาแล้ว ผมไม่ทราบว่ากระบวนการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากมองเป็นระบบกลายเป็นจนเครียดกินเหล้าเริ่มต้นมาอย่างไร แน่นอนว่าการที่คนเราตัดสินใจกินเหล้าหรือไม่กินเหล้าเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลตัดสินใจเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าปัญหาความยากจนกับสุขภาพก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การที่ลดปัญหาเชิงโครงสร้างให้กลายเป็นเรื่องของปัจเจกชน เช่น จนเครียดกินเหล้า ย่อมเป็นการผลักภาระให้คนจนกลายเป็นคนผิดไปโดยปริยาย แทนที่จะเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของสังคม การกินเหล้ากลายเป็นปัญหาเชิงศีลธรรมของประเทศไทย ไม่ว่ากินเหล้า=แช่ง หรือ งดกินเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งวิธีลดทอนเป็นระดับปัจเจกไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนจนถึงจนซึ่งคนจนอาจจนมาจากสาเหตุค่าแรงขั้นต่ำมันน้อยไป ไม่ใช่เพราะเขาไม่ขยัน ทำไมคนจนถึงเครียดซึ่งคนจนอาจเครียดมาจากสิ่งบันเทิงใจมีราคาแพงที่ต้องจ่าย รัฐไม่เคยอำนวยให้คนจนเข้าไปชมศิลปะวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์แบบไม่เสียตังค์ หรือทำไมคนจนจึงกินเหล้า แล้วยิ่งบวกปัญหาเชิงศีลธรรมเข้าไปอีกก็กลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับจนว่า คนจนเป็นคนกินเหล้า ไม่เจียมตัวใช้จ่ายสิ้นเปลืองหมดไปกับเหล้า และเป็นคนเลวซึ่งสาสมแล้วที่พวกเขาจะมีสภาพที่ยากลำบากสุขภาพแย่ และยากจนต่อไปเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้ามคนดีเป็นพวกไม่กินเหล้า ร่างกายแข็งแรง มีปัญญา ใช้จ่ายพอเพียงมีเงินในกระเป๋าและ เป็นวีรบุรุษสร้างความเจริญให้ชาติ ดังตัวอย่างยูทูปข้างล่างทั้งสอง

 

 


[1] http://www.thaipost.net/node/9186

[2] http://www.thainhf.org/document/article/article_397.pdf

[3] http://www.hiso.or.th/hiso/brochure/b6_1.php?color=1&title=1&lesson=6

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอดี้การ์ดลูกชายกัดดาฟีถูกตั้งข้อหา 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ'

Posted: 31 Jan 2013 03:41 PM PST

คณะกรรมการผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของแคนาดาได้สั่งให้มีการส่งตัวแกรี่ ปีเตอร์ ออกนอกประเทศ หลังพบว่าเขาเคยทำงานอารักขาลูกชาย 'เพลย์บอย' ของอดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย และเชื่อว่ามีส่วนพัวพันในการปรบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลิเบียในช่วงที่มีการลุกฮือหนักในปี 2011

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2013 สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษรายงานว่า แกรี่ ปีเตอร์ อดีตบอดี้การ์ดของบุตรชายของมุมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งหลบหนีไปยังแคนาดาถูกทางการแคนาดาสั่งให้ส่งตัวออกจากประเทศหลังพบว่าเขามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในช่วงที่กัดดาฟียังปกครองประเทศลิเบีย

แกรี่ ปีเตอร์ มีพื้นเพเป็นชาวออสเตรเลีย เขาทำงานเป็นบอดี้การ์ดผู้ให้การคุ้มกันลูกชายคนที่สามของกัดดาฟีผู้มีฉายาว่า 'เพลย์บอย' หรือ 'หนุ่มเจ้าสำราญ' ก่อนที่จะหลบหนีมาแคนาดาในปี 2011 ซึ่งมีการลุกฮือของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในลิเบียจนเป็นเหตุให้ผู้นำเผด็จการกัดดาฟีถูกโค่นล้ม

คณะกรรมการด้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของแคนาดาได้สั่งให้แก่รี่ออกจากประเทศหลังพบว่าแกรี่ได้กระทำความผิดในช่วงก่อนกัดดาฟีถูกโค่นล้มไม่นาน และยังฝ่าฝืนกฏหมายนานาชาติจากการช่วยให้ อัล-ซาดี ลูกชายของกัดดาฟีผู้ที่เขาทำงานเป็นผู้อารักขาหลบหนีไปยังประเทศไนเจอร์

อลิเซีย ไซเฟิร์ต ประธานกรรมการองค์ผู้ลี้ภัยกล่าวว่า จากการที่แกรี่เป็นผู้อารักขาของ อัล-ซาดี ทำให้เขากลายเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของรัฐบาลลิเบียซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มกบฏ อลิเซียกล่าวอีกว่าขณะที่แกรี่ได้รับเงินหลายหมื่นดอลลาร์ในการอารักขาผู้จ้างวาน รัฐบาลลิเบียก็กระทำการสังหารและทรมานผู้คนเพื่อรักษาอำนาจ

ด้านแกรี่ ปีเตอร์ ปฏิเสธว่าเขาไม่เคยทราบถึงเรื่องการกระทำของรัฐบาลลิเบีย ขณะเดียวกันก็ให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร Vice ต่อเรื่องมิตรภาพระหว่างเขากับ อัล-ซาดี ผู้ที่ล้มเหลวในการเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ เขายอมรับว่าเขาได้รับค่าตอบแทนดี แต่ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่มากกว่าเรื่องเงินเพราะ อัล-ซาดี เป็นคนตลกครึ้นเครง ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก

แกรี่มีเวลาอีกสองสัปดาห์ในการอุทธรณ์ก่อที่คำสั่งการเนรเทศจะมีผล

จากบันทึกคำให้การของตำรวจระบุว่า ปีเตอร์ได้รับจดหมายจาก อัล-ซาดี เมื่อเดือน ก.พ. 2011 ขอร้องให้ช่วยเหลือขณะที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ใกล้ถึงบทสรุป ข้อความมีอยู่ว่า "แกรี่ ผมต้องการคุณ ...ผมกำลังมีปัญหา (ลงชื่อ) S" มีรายงานอีกว่าปีเตอร์ได้เดินทางไปกลับลิเบียหลายครั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือ และเมื่อฝ่ายรัฐบาลลิเบียเริ่มพ่ายแพ้เขาก็เป็นคนช่วยให้ อัล-ซาดี หลบหนีไปยังไนเจอร์ ที่อัล-ซาดี ยังคงพักอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แกรี่ยังถูกยิงจากการที่เขาไปช่วยเหลือดังกล่าว และจากคำให้การของแกรี่เองเขาบอกว่าเขายังไม่ได้รับค่าจ้างจากปฏิบัติการในครั้งนั้นเลย

แกรี่ ปีเตอร์ เป็นชายอายุ 49 ปี เขามีบริษัทเป็นของตัวเองชื่อ Can/Aust บริษัทสืบสวนสอบสวนและรักษาความปลอดภัย ในออนตาริโอ ซึ่งแกรี่เชื่อว่าทุกอย่างที่มีอยู่ในบริษัทเขาไม่มีอะไรเลยที่ผิดกฏหมาย เขาเชื่อว่าเขาถูกตั้งเป้าเพียงเพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับ อัล-ซาดี กัดดาฟี "มันเป็นข้ออ้างห่วยๆ ในการหาเรื่องขับใครบางคนออกจากประเทศ" แกรี่กล่าว

แกรี่ บอกอีกว่ามันไม่เป็นความจริงที่อัล-ซาดีเป็นผู้ออกคำสั่งยิงผู้ประท้วงขณะที่เขากล่าวปราศรัยแทนพ่อของเขาให้แก่ผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลในเบงกาซี โดยแกรี่ยืนยันว่าผู้ที่ออกคำสั่งจริงๆ คือหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกองทัพลิเบีย

 

เรียบเรียงจาก

Canadian 'guilty of crimes against humanity in Libya', The Independent, 30-01-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น