โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

66 ปีวันชาติรัฐฉาน "เจ้ายอดศึก" ระบุสร้างสันติภาพไม่ได้ หากพม่าหยุดยิงอีกกลุ่ม-แต่ยังรบอีกกลุ่ม

Posted: 08 Feb 2013 12:14 PM PST

กองทัพรัฐฉาน SSA จัดงานวันชาติรัฐฉานปีที่ 66 พล.ท.เจ้ายอดศึก เผยนับตั้งแต่เจรจาหยุดยิง มีข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าที่ยังไม่คืบหน้ารวมทั้งเรื่องเขตปกครองพิเศษ อย่างไรก็ตามจะยึดวิธีเจรจาต่อไป พร้อมระบุว่าไม่เห็นด้วยที่พม่าโจมตีกองทัพคะฉิ่น ถ้ารัฐบาลพม่าต้องการปรองดองจริงต้องหยุดยิงกับทุกกลุ่ม ยึดหลักยุติธรรมและใช้การเจรจาต่อกัน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นี้ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State - RCSS) และกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) ได้จัดงานวันชาติรัฐฉานครบรอบปีที่ 66 ที่ดอยไตแลง ฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน ที่รัฐฉานตอนใต้ ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยในพิธี มีการสวนสนามของทหารกองทัพรัฐฉาน SSA และการปราศรัยจากผู้แทนประชาชน และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉาน

ประชาชนเข้าร่วมงานพิธีวันชาติรัฐฉานปีที่ 66 ซึงจัดที่ดอยไตแลง ฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน SSA ในรัฐฉาน ตรงข้ามกับ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา

ผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉาน และพม่า ร่วมงานวันชาติรัฐฉานปีที่ 66
ซึ่งจัดที่ดอยไตแลง ฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน SSA เมื่อ 7 ก.พ. 2556

พล.ท. เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS กล่าวสุนทรพจน์ในวันชาติรัฐฉาน 7 ก.พ. 2556

ทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างการสวนสนาม เนื่องในวันชาติรัฐฉานปีที่ 66 วันที่ 7 ก.พ. 2556

ทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างการสวนสนาม เนื่องในวันชาติรัฐฉานปีที่ 66 วันที่ 7 ก.พ. 2556

 

"เจ้ายอดศึก" ระบุวันชาติรัฐฉาน เป็นวันของทุกชาติพันธุ์ในรัฐ

โดย พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน (SSA) กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็น "วันเชื้อชาติจึ่งไต" หรือวันชาติรัฐฉานครบรอบปีที่ 66 บางคนในรัฐฉานเข้าใจว่าวันนี้เป็น "วันเครือไต" อยากกล่าวว่าวันนี้ไม่ใช่ "วันเครือไต" เพราะเชื้อชาติที่ว่านั้นเป็นของประชาชนทุกเครือชนชาติที่อยู่ในรัฐฉาน เพราะเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ผู้แทนประชาชนในรัฐฉานจากทุกชนชาติได้มาร่วมกันประชุมที่เมืองปางโหลง วันชาติรัฐฉานจึงถือเป็นวันชาติของทุกเชื้อชาติในรัฐฉาน

ในโอกาสครบรอบปีที่ 66 วันชาติรัฐฉาน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ขอฝากไปยังประชาชนในรัฐฉานและประชาชนในสหภาพพม่าทุกชนชาติว่า สหภาพพม่านั้น ถ้าไม่มีการประชุมในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นวันชาติรัฐฉานนั้น วันเอกราชของสหภาพพม่าก็จะไม่มี ทั้งนี้สัญญาปางโหลงในปี ค.ศ. 1947 ถือเป็นรากฐานของการเมืองสหภาพพม่า ข้าพเจ้าซึ่งเข้าไปเจรจาการเมืองไม่เคยลืมที่จะยึดหลักการของสัญญาปางโหลงดังกล่าว 

ขณะที่นายพลออง ซาน กลายเป็นผู้มีความสำคัญ ก็เป็นเพราะได้ผู้แทนจากรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมาร่วมกันลงนามในสัญญาปางโหลงด้วย จึงขออย่าได้หลงลืมประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตามสหภาพพม่าที่ได้ร่วมกันตั้งมานั้น ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ก็มีการรัฐประหารโดยนายพลเนวิน ทำให้ทั้งสหภาพพม่าตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมือง ทำให้ประชาชนประสบความทุกข์ยากลำบาก

สุดท้าย ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน ได้เรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานอย่าให้ใครมาเอาเปรียบใคร ขอให้ทุกชนชาติอยู่กันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ให้ร่วมกันสร้างความร่มเย็น อีกประการหนึ่งขอฝากว่าการสร้างความสามัคคีและสันติภาพนั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่งได้บอกว่าจะร่วมมือกับทุกๆ กลุ่ม ซึ่งที่กล่าวมานั้นก็น่านับถืออยู่ อย่างไรก็ตามกระบวนการสร้างสันติภาพถาวรแท้จริงยังไม่เห็นผล เช่น ขณะนี้ยังมีการทำสงครามอยู่ที่รัฐคะฉิ่นนั้น แบบนี้ก็ไม่ใช่แนวทางสร้างสันติภาพ การหยุดยิงกับกลุ่มชนชาติหนึ่ง แต่ไปยิงกับอีกชนชาติหนึ่ง ไม่อาจเป็นแนวทางการสร้างสันติภาพถาวรได้

ขณะที่สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ได้หยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามาได้ปีกว่านั้น อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่ไม่คืบหน้า เช่น ที่สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานเสนอขอปกครองพื้นที่เมืองเต๊าะ (หัวเมือง) และเมืองทา ฝ่ายรัฐบาลพม่าก็ยังไม่ตกลง เรื่องที่จะร่วมมือกันปราบยาเสพติด ฝ่ายพม่าก็ยังไม่ดำเนินการอะไร ทั้งนี้ไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

โดย พล.ท.เจ้ายอดศึก ฝากถึงประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน ความสามัคคีที่คนในรัฐฉานปรารถนาอยู่ทุกเมื่อนั้น เป็นสิ่งที่ "พูดง่าย ทำยาก" จริงๆ ถ้าพูดว่าต้องการความสามัคคี ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้ความสามัคคี เหมือนพูดว่าอยากถึงนิพพาน แล้วพูดบ่อยๆ ว่าอยากนิพพาน แต่ไม่ทำบุญ ไม่บำเพ็ญภาวนา ก็ไปไม่ถึงนิพพาน ดังนั้นการที่จะให้มีความสามัคคี จะต้องมีความเมตตา สัจจะ มีน้ำใจเชื่อถือกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอามานะ โทสะ และโลภะมาใช้ต่อกัน และขอฝากถึงประชาชนทุกชนชาติในรัฐฉาน ขอให้รักษาวัฒนธรรมประเพณี อย่าให้เชื้อชาติเราหาย อนาคตของรัฐฉานจะเจริญรุ่งเรืองได้ ก็อยู่ในกำมือของประชาชนทุกคน

นอกจากนี้มีการกล่าวปราศรัยโดย จายสามทิพย์เสือ ผู้แทนประชาชนจากเมืองเชียงตุง โดยกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนในรัฐฉานมีความสามัคคีต่อกัน นอกจากนี้มีผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉานกล่าวปราศรัยได้แก่ ผู้แทนจากพรรคก้าวหน้าแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State Progrssive Party - SSPP) ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน-เหนือ ผู้แทนกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ผู้แทนจากองค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Liberation Organization - PNLO) ผู้แทนจากสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) ผู้แทนจากองค์กรแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Organization - PNO) ผู้แทนจากรัฐอาระกัน และผู้แทนจากรัฐมอญ เป็นต้น

 

ระบุมีการหารือกับผู้แทนชาติพันธุ์ในรัฐฉาน-พม่า เรื่องการปรองดอง

ทั้งนี้มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานและกองทัพรัฐฉาน ได้จัดเลี้ยงอาหารให้กับผู้แทนจากกลุ่มทางการเมืองและกองกำลังของชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉานและในพม่า และตัวแทนประชาชนจากรัฐฉานกว่า 50 เมือง ที่มาร่วมงานวันชาติ โดยที่น่าสนใจก็คือมีการเชิญผู้แทนจากองค์กรแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) มาร่วมงานเลี้ยงด้วย โดยองค์กรคะฉิ่น KIO ดังกล่าว ต้องทำสงครามกับกองทัพรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่กลางปี 2554 และทั้งรัฐบาลพม่าและองค์กรคะฉิ่น KIO มีการหารือกันเพื่อหยุดยิงหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้

โดยหลังงานพิธีวันชาติรัฐฉาน พล.ท.เจ้ายอดศึก ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวระบุว่า ในการพบปะกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉานและในพม่านั้น มีการหารือกันในเรื่องการสร้างความสามัคคีและการปรองดองในสหภาพพม่า แต่ไม่ได้มีมติอะไรออกมา ส่วนเรื่องคะฉิ่นนั้นมีการพูดคุยกัน โดยเห็นว่าการที่รัฐบาลพม่าสร้างการปรองดองกับกลุ่มหนึ่ง แล้วยิงกับอีกกลุ่มหนึ่งเราไม่เห็นด้วย ถ้าอยากสร้างการปรองดองต้องหยุดยิงทุกกลุ่ม ปัญหาทุกอย่างต้องใช้วิธีการเจรจา อยากให้สันติภาพเกิดขึ้น ที่ผ่านมาหลังการเจรจากับรัฐบาลพม่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2554 พม่าระบุว่าจะมอบเขตปกครองพิเศษให้ มีการลงนามแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มอบให้ ซึ่งฝ่ายสภากอบกู้รัฐฉานจะใช้วิธีเจรจาต่อไป

เมื่อถามว่าประชาชนในรัฐฉาน ทราบข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบที่เมืองไลซา ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มคะฉิ่นหรือไม่นั้น พล.ท.เจ้ายอดศึกตอบว่า ทราบข่าว และรู้สึกไม่ดี โดยเห็นว่าถ้าสร้างการปรองดองแล้ว ต้องหยุดยิงทุกกลุ่ม ยึดความยุติธรรมและใช้การเจรจา หากใช้กองทัพแล้วมารบกัน จะแก้ปัญหาไม่ได้

 

ผลจากการหยุดยิง และวันชาติในปีที่ 66

สำหรับวันชาติรัฐฉาน เป็นการรำลึกถึงระหว่างการประชุมของบรรดาเจ้าฟ้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนในรัฐฉานที่เมืองปางโหลง ภาคใต้ของรัฐฉาน เมื่อวันที่ 3 - 12 ก.พ. 2490 โดยในวันที่ 7 ก.พ. ที่ประชุมร่วมกันออกแถลงการณ์จัดตั้งสภาสหพันธรัฐ และขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าชาวปะหล่อง ซึ่งปกครองเมืองน้ำสั่น ทางภาคเหนือรัฐฉาน และเป็นประธานสภาสหพันธรัฐฉานขณะนั้นได้กำหนดให้ผืนธงสีเหลือง เขียว แดง และวงกลมสีขาว พร้อมด้วยเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของชาวรัฐฉานทั้งมวล และชนชาติในรัฐฉานได้ถือเอาวันที่ 7 ก.พ. เป็นวันชาติรัฐฉานพร้อมจัดงานฉลองทุกปี

ขณะที่หลังจากมีการตั้งสหภาพพม่าในปี 2491 ในรัฐฉานก็มีความพยายามทั้งในทางการเมืองและการทหารขอแยกตัวออกจากสหภาพพม่ามาอย่างยาวนาน โดยในวันที่ 21 พ.ค. ปี 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ได้ตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าในนามกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" ขึ้นที่อำเภอเมืองหาง เขตเมืองโต๋น ในรัฐฉานตอนใต้ ด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน

โดยกองทัพรัฐฉาน หรือ SSA ที่นำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึก นั้น เกิดขึ้นหลังจากนำทหารจำนวนหนึ่งแยกตัวออกจากขุนส่า ภายหลังจากที่ขุนส่านำกองทัพเมิงไต หรือ MTA (Mong Tai Army) วางอาวุธแก่รัฐบาลพม่าในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2539 และต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลพม่า กระทั่งต่อมาหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเมื่อ 7 พ.ย. ปี 2553 และเต็ง เส่ง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีพม่าเมื่อ 31 มี.ค. ปี 2554 นั้น รัฐบาลของเต็ง เส่ง ได้มีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังของกลุ่มชนชาติในพม่าหลายกลุ่ม รวมทั้งกองทัพรัฐฉานด้วย

โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ปี 2554 มีการเจรจาครั้งแรกระหว่างฝ่ายสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA และรัฐบาลพม่า ที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.เชียงราย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิง และหลังจากนั้นมีการเจรจากันอีกหลายครั้ง โดยกองทัพรัฐฉานเสนอขอพื้นที่ปกครองตนเอง 2 แห่ง คือเมืองเต๊าะ (หัวเมือง) และเมืองทา อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคืบหน้าจากฝ่ายรัฐบาลพม่า ขณะเดียวกันยังคงมีการรายงานการปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐฉาน และกองทัพพม่าอยู่ประปราย โดยฝ่ายกองทัพรัฐฉานมักจะระบุว่าเป็นเพราะทหารพม่าเคลื่อนกำลังเข้ามาในพื้นที่ซึ่งกองทัพรัฐฉานดูแล

ขณะที่ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปี 2555 ที่ผ่านมา มีการประชุมระหว่างรัฐบาลพม่า กับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน และสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด หรือ UNODC ที่เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในประเด็นเรื่องการร่วมกันขจัดปัญหายาเสพติดในรัฐฉาน โดยตกลงร่วมกันสำรวจพื้นที่เพื่อทำโครงการนำร่องปลูกพืชทดแทนฝิ่น เพื่อนำไปสู่การขจัดยาเสพติดในรัฐฉาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา สรุปบทเรียนแรงงานต่างด้าว

Posted: 08 Feb 2013 10:47 AM PST

ตัวแทนแรงงานแฉ ลูกจ้างหลุดจากระบบเหตุนายจ้างยึดเอกสาร เผยแรงงานส่วนใหญ่ใช้ระบบนายหน้าเพราะการจัดจ้างแบบเอ็มโอยูล่าช้า นักวิชาการชี้กระบวนการนายหน้าทำให้เกิดการเร่ขายแรงงานแบบเหมาช่วง แนะ ก.แรงงานฟ้องนายหน้าหาผลประโยชน์เกินจริง เสนอเปิดช่องทางพิเศษเพื่อขอเอกสารสำหรับผู้ติดตาม เชื่อ 120 วัน พิสูจน์สัญชาติไม่ทัน!

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ ห้องบอลรูม วิภาวดี โรงแรมปริ๊นส์ตั้น  กรมการจัดหางาน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)  ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประสบการณ์/บทเรียนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมา และแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน" เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการปรับสถานะให้แรงงานต่างชาติมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษออกไปอีก เป็นเวลา 120 วัน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กล่าวถึงสาเหตุที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษนั้น เพราะจากการสำรวจยังพบว่ายังมีตัวเลขแรงงานข้ามชาติตกค้างและไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการถูกกฎหมายได้ทันตามกำหนดค่อนข้างมาก โดยแบ่งเป็นสัญชาติพม่าประมาณ  2 หมื่นคน สัญชาติกัมพูชา 1.6 แสนคน และสัญชาติลาว 9.9 หมื่นคน สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้น เราจะยึดนายจ้างเป็นฐานหลัก ซึ่งคือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ ให้มาขอขึ้นทะเบียน โดยนายจ้าง จะต้องยื่นขอโควตากับกรมการจัดหางาน โดยส่งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) และหนังสือแสดงความต้องการจ้างแรงงาน (Demand Letter) รวมไปถึงสัญญาจ้างแรงงานต่างด้าวแนบมาพร้อมกัน และยื่นต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 16 มีนาคม จากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการของประเทศต้นทาง ที่จะดำเนินการรับรองสถานะและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้แรงงานต่างด้าวมายังศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งได้มีการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 12 แห่ง คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปทุมธานี ระยอง กาญจนบุรี ขอนแก่น เชียงใม่ เชียงราย ตาก และ ระนอง และเมื่อผ่านการดำเนินการในจุดนี้แล้วทางการไทยจะทำการตรวจลงตรา ประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร  และออกใบอนุญาตทำงานแบบถูกกฎหมาย  หรือ work permit ซึ่งกระบวนการครั้งนี้ได้แก้ไขให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมการจัดหางานก็ได้เร่งประชาสัมพันธ์และส่งจดหมายไปยังนายจ้างเพื่อให้รับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วย ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าการขยายเวลาเพียง 120 วันอาจไม่เพียงพอนั้น คงจะต้องมีการประเมินอีกครั้งหลังจากที่ทราบตัวเลขคำขอพิสูจน์สัญชาติภายหลังวันที่  16 มีนาคมนี้ โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวต่อไปจะมีการนำเข้าโดยระบบเอ็มโอยูเท่านั้น  ซึ่งการทำงานของแรงงานจะสามารถอยู่ในประเทศได้ 2 ปี และได้รับอนุญาตทำงานเป็นรายปี โดยต้องมารายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน  จากนั้นจะต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง 1 เดือน เพื่อป้องกันการตั้งถิ่นฐานถึงจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ใหม่  ทั้งนี้แรงงานขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะมไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ นอกจาก 4 กรณีที่เป็นเหตุแห่งการให้เปลี่ยนนายจ้างได้ คือ นายจ้างเสียชีวิต นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างไม่ปฏิบัติตามพรบ.คุ้มครองแรงงานต่างด้าว และนายจ้างทารุณกรรม อย่างไรก็ตามรัฐบาลคาดว่าหากสามารถดำเนินการและการจัดการประเด็นเรื่องแรงงานต่างด้าวได้สำเร็จ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับจาก Tier 2 watch list หรือ ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็น Tier 1 watch list ได้ และจะส่งผลให้การค้าการส่งออกของประเทศไทยดีขึ้น

ด้านนายภาคภูมิ แสวงคำ เจ้าหน้าที่วิชาการมูลนิธิรักษ์ไทย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีการผ่อนผัน คือจะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเป็นการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลของแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมาย และจะนำไปสู่สิทธิด้านต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งใน 10 ประเทศภูมิภาคอาเซียน เราอยู่ใน Tier 2 watch list  พร้อมกับ มาเลเซีย และพม่า ซึ่งเดิมพม่าเคยอยู่ในอันดับที่ 3 คือเพิกเฉยหรือส่งเสริมให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ ส่วนสิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา อยู่ในอันดับที่ดีกว่าเรา ทั้งนี้เราจะต้องแก้ปัญหาให้ประเทศไทยเข้าไปสู่อันดับที่ 1 ให้ได้

ทั้งนี้การเข้ามาทำงานในประเทศไทยของคนพม่าจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท แต่ถ้าหลบหนีเข้ามาจะเสียมากถึง 18,000-20,000 บาท โดยตนได้เคยลงไปเก็บข้อมูลยังฝั่งเมียวดีและได้สัมภาษณ์แรงงานที่เคยเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยและไม่กลับเข้ามาทำงานอีกแล้ว ให้ข้อมูลว่าหากเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผ่านกระบวนการนายหน้าจะได้ทำงานทันที และนายหน้าจะมารับถึงบ้าน แต่อาจจะเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนที่มากหน่อย แต่หากเข้ามาทำงานตามกระบวนการของเอ็มโอยูจะต้องรอนานถึง 4 เดือน ถึงจะได้ทำงาน หรือบางครั้งก็ไม่มีหนังสือเรียกให้ทำงานเลย แรงงานส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพราะได้ทำงานแน่นอน นอกจากนี้สิ่งที่เป็นปัญหาอีกเรื่องสำหรับการผ่อนผันการพิสูจน์สัญชาติรอบใหม่ คือกระบวนการในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งแรงงานที่ทำงานในเมืองอย่างจ.สมุทรสาคร อาจเข้าถึงข้อมูล แต่แรงงานภาคการเกษตร ภาคการประมง จะไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนรอบใหม่เลย ดังนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง เช่น ประสานการประชาสัมพันธ์ผ่านสมาคมประมง หรือ นายจ้างภาคการเกษตร ด้วยภาษาที่แรงงานสามารถเข้าใจและสื่อสารได้

นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเด็นปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ คือเรื่องจำนวนค่าแรงที่แรงงานไม่ได้ตามที่ตกลงไว้ โดยปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ถูกจ้างแบบเหมาช่วง อาทิ การรับจ้างแกะเปลือกกุ้งที่จ้างงาน 15 วัน แต่ได้ทำงานแค่ 3 วัน เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบ และได้ค่าแรงเหมาเพียง 300 บาทจึงทำให้ไม่มีเงินไปดำเนินการในเรื่องพิสูจน์สัญชาติ และเป็นช่องทางให้ไปหางานทำในรูปแบบอื่นๆ และทำให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์มากขึ้น จนทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับ Tier 2 watch list และปฏิเสธสินค้าอาหารทะเลจากไทย นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในประเด็นของนายหน้าที่รับจ้างเป็นนายจ้างให้กับแรงงาน และไปขอโควต้าแรงงาน เพื่อที่จะมาหากินกับแรงงานโดยเก็บค่าใช้จ่ายที่เกินจริง และไม่ยอมดำเนินการให้แรงงานทุกกระบวนการ รวมทั้งถูกหลอกให้เสียเงินฟรีและได้รับเพียงแค่ใบขึ้นทะเบียนแรงงานเท่านั้น แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน

ด้านนางเอมา โฉ่  ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และตัวแทนแรงงานสัญชาติพม่า  กล่าวว่า  ปัญหาที่แรงงานพบเจอคือการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อย หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนายจ้างบางคนถึงขั้นยึดเอกสารลูกจ้างไว้เพราะไม่ต้องการให้เปลี่ยนงาน ทั้งที่ค่าจ้างต่ำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่เอาผิดกับนายจ้างด้วย เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกระบุในรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ในไทย จนทำให้ไทยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 2 watch list

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่อาวุโส-ด้านนโยบายและวิจัยอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี (IRC) กล่าวว่า ปัญหาของการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ คือการเข้าถึงข้อมูล เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและไม่รู้จำนวนค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทนายหน้า เพราะถ้าไม่ผ่านกระบวนการของนายหน้า การยื่นเรื่องเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติก็จะล่าช้า และไม่คืบหน้า บริษัทเอกชนต่างๆ จึงจำเป็นต้องไปใช้บริการของนายหน้า และเมื่อจำนวนของแรงงานยิ่งเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนที่ดำเนินการโดยนายหน้ายิ่งเพิ่มเป็นเท่าตัว แรงงานจึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาที่ตัวของนายจ้างเอง ที่เป็นฝ่ายไม่ยอมพาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติ เพราะไม่เชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการ จึงทำให้มีแรงงานจำนวนมากยังตกหล่นในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้การที่แรงงานจะต้องพึ่งพาระบบนายหน้าจึงมีผลทำให้แรงงานบางส่วนจะต้องเข้าสู่ระบบรับเหมาช่วง โดยบริษัทเอกชนที่พาลูกจ้างไปดำเนินการจัดทำเอกสารหนังสือเดินทางและขออนุญาตทำงานจะเป็นอีกบริษัทหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะส่งอีกบริษัทหนึ่ง ทำให้เกิดการส่งต่อแรงงานไปเรื่อยๆ กลายเป็นระบบรับเหมาช่วง และกลายเป็นการหาประโยชน์จากแรงงานรูปแบบใหม่ ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากแม้จะดำเนินเรื่องทุกอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็มักจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะผลประโยชน์จากสวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้จากประกันสังคมก็จะเข้าถึงได้ยากขึ้น

นายอดิศร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ข้อจำกัดของมติครม.ที่กำหนดช่วงเวลาการพิสูจน์สัญชาติเพียง 120 วัน นับจากวันที่สิ้นสุดการผ่อนผันคือวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงเท่ากับว่ามติครม.นี้มีผลย้อนหลังไป 1 เดือน ทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการเสียไปแล้ว 30 วัน และไม่มีประโยชน์กับแรงงานมากนัก ขณะเดียวกันก็ให้เวลาในการเตรียมการออกระเบียบตามมติคณะรัฐมนตรีอีก 30 วัน ทำให้เหลือเวลาดำเนินการจริงเพียง 60 วันเท่านั้น และจากการคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัวเลขของแรงงานที่อยู่นอกระบบ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เพราะฉะนั้นระยะเวลาเพียงเท่านี้กับการพิสูจน์สัญชาติคนกว่า 1 ล้านจึงไม่น่าจะเพียงพอ และจะเป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้แรงงานหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงการดำเนินการตามมติครม.ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ อีกทั้งตนเองเชื่อว่านายจ้างและแรงงานส่วนใหญ่จะยังไม่รีบดำเนินการยื่นเอกสารในช่วงแรก แต่จะมาในช่วงระยะเวลาใกล้หมดเขต ก็จะดำเนินการไม่ทัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ติดตามที่มติครม.ได้เปิดโอกาสให้แรงงานสามารถยื่นเอกสารเกี่ยวกับผู้ติดตามได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำเอกสารให้กับเด็ก จะต้องมีการเปิดช่องให้มีการยื่นเอกสารสำหรับเด็กเนื่องจากเป็นไปได้ว่า นายจ้างบางส่วนจะไม่ดำเนินการยื่นเอกสารให้ลูกของแรงงานด้วย ทั้งนี้เพราะในมติครม. พูดถึงกรณีนี้ไม่ชัดเจน จึงไม่ทรแน่ใจว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเข้าถึงการจัดทำเอกสารได้อย่างไร ในช่วงเวลาอันจำกัด  โดยจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ตัวนายจ้างและลูกจ้างได้รับทราบโดยเร็ว ที่สำคัญต้องทำให้มีการสร้างความเข้าใจด้วยภาษาของแรงงานเอง ขณะเดียวกันรัฐต้องเข้าไปควบคุมกระบวนการนายหน้าไม่ให้มีค่าใช้จ่ายที่เกินจริงไปมากนัก และจะต้องกำหนดพื้นที่ว่าแรงงานที่ทำงานในพื้นที่ไหน ควรเข้าไปใช้บริการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตนเองทำงาน ไม่ใช่ให้ระบบนายหน้าพาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติตามศูนย์ที่นายหน้าที่ความสัมพันธ์ รวมทั้งกระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการในการเอาโทษต่อบริษัทนายหน้าที่เอารัดเอาเปรียบหรือเรียกค่าบริการที่เกินกว่าเหตุ เพื่อให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ไขของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งต้องมีมาตรการลงโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ยังใช้วิธีการเรียกรับเงินกับแรงงานที่มีสถานะถูกกฎหมายแล้ว เพราะหากจัดการในส่วนนี้ไม่ได้ ก็จะทำให้แรงงานรู้สึกว่าแม้มีเอกสารถูกกฎหมายก็จะไม่ต่างอะไรกับการที่อยู่อย่างผิดกฎหมายเหมือนเดิม ซึ่งหากรัฐไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งทำให้เกิดความไม่เข้าใจ เพิ่มอคติและกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้

นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติครม.ดังกล่าวนั้นเป็นแนวทางการดำเนินการที่ดี แต่จำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่เสร็จก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตนคิดว่าระยะเวลาอาจจะไม่เพียงพอ และจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักมาก ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ควรจัดการระบบที่ยุ่งยากซับซ้อน และขั้นตอนที่มากมาย เพราะจะทำให้ขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติยิ่งล่าช้าออกไปอีก และจะทำให้กระบวนการนายหน้าเข้ามาหากินกับแรงงานได้ตามกระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้ นอกจากนี้มติครม.ดังกล่าวไม่ได้มีการคุ้มครองแรงงานที่จะเข้ามาทำงานใหม่ แต่เป็นการครอบคลุมเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้ว ดังนั้นในกระบวนการขอพิสูจน์สัญชาติจึงไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการเพื่อขอโควต้าใหม่ เพราะนายจ้างมีจำนวนแรงงานที่ชัดเจนอยู่แล้วว่ามากน้อยเพียงใด ดังนั้นกระบวนการขั้นตอนจึงควรลดความยุ่งยากลง อีกทั้งกระบวนการในการกรอกเอกสารก็มีความไม่สะดวกต่อผู้กรอกในหลายส่วน เพราะจะต้องกรอกภาษาทั้งของประเทศต้นทางของแรงงาน และภาษาอังกฤษ จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบยิ่งสับสน ดังนั้นรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลภาษาเดียว จะได้ลดความยุ่งยากในการตรวจรับเอกสาร

 

   

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติราษฎร์ปฏิเสธไม่เคยเข้าร่วมประชุม กม.นิรโทษกรรม ตามที่รองประธานสภาฯกล่าวอ้าง

Posted: 08 Feb 2013 10:02 AM PST

ปิยบุตร แสงกนกกุล ปฏิเสธไม่เคยได้รับการติดต่อจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหารือเรื่อง กม.นิรโทษกรรมแต่อย่างใด ระบุ ข้อเสนอและรายละเอียดทั้งหมดได้เผยแพร่

<--break->
8 กุมภาพันธ์ 2556 มติชนออนไลน์ได้รายงานข่าวว่า นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทางสภาผู้แทนราษฎรติดต่อได้เชิญนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่มนิติราษฎร์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย เข้าหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น
 
ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติราษฎร ได้กล่าวว่าจากกรณีที่ข่าวได้เผยแพร่ไปว่ามีชื่อของกลุ่มนิติราษฎร์อยู่ในวงเจรจาที่นายเจริญอ้างถึงนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตัวแทนจากกลุ่มนิติราษฎร์ยืนยันว่ากลุ่มของตนไม่เคยได้รับการติดต่อจากนายเจริญ และหากมีการเชิญในลักษณะนี้ ทางคณะนิติราษฎร์ก็คงจะไม่ไป เพราะเราได้แถลงข่าว อธิบายข้อเสนอ ออกรายการโทรทัศน์ไปแล้วหลายครั้ง 
 
"เราได้นำเสนอข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรมไปเมื่อวันที่ 7 มค และแถลงข่าวอธิบายรายละเอียดในวันที่ 13 มค สมาชิกในกลุ่มก็สลับกันไปชี้แจงในหลายรายการ รายละเอียดต่างๆจึงอยู่ในนั้นทั้งหมดแล้ว" ปิยบุตรกล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทวี ประจวบลาภ

Posted: 08 Feb 2013 09:00 AM PST

"คดีการเมืองหลาย ๆ คดี ผมยังคิดในใจถ้าเป็นได้นิรโทษกรรมไปให้หมด ๆ ก็ดี เป็นประโยชน์เข้าล๊อคเกิดความสมานฉันท์ แต่จะเกิดความสมานฉันท์หรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังดีที่มีการคิดแนวนิรโทษกรรมที่ให้มีโทษเฉพาะผู้สั่งการไว้ ตามร่างของนายอุกฤษ มงคลนาวิน อย่างไรก็ตามการนิรโทษกรรมตามหลักการนี้คงทำได้ยาก"

7 ก.พ.56, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวการพิจารณาของผู้พิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับการเมืองในแถลงผลงานของศาลอาญาประจำปี 55

อธิบดีศาลอาญาหนุนนิรโทษกรรมคดีการเมือง ชี้วิจารณ์ได้แต่อย่าอคติ

Posted: 08 Feb 2013 08:54 AM PST

ศาลยุติธรรมแถลงผลงานประจำปี 2555 อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้วิพากษ์วิจารณ์ศาลได้แต่อย่าอคติ วอนคนไทยอย่าชักศึกเข้าบ้าน หนุนคดีการเมืองนิรโทษกรรมไปให้หมด ๆ ก็ดี เข้าล๊อคสมานฉันท์ โฆษกศาลฯเผยนโยบายให้ผู้พิพากษาตรงเวลา คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  

7 ก.พ.56 ที่ห้องประชุมชั้น 10 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  นายทวี  ประจวบลาภ  อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายสิทธิศักดิ์  วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ได้ร่วมกันแถลงผลงานของศาลอาญาประจำปี 2555 ตามโครงการศาลอาญาพบสื่อมวลชน

สำนักข่าวไทย รายงานว่า  นายทวี ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลว่า คดียาเสพติดเข้าสู่การพิจารณาของศาลถึงร้อยละ 58 และคดีอาชญากรรมทั่วไปร้อยละ 42  รวมพิจารณาคดีทั้ง 2 ประเภท คิดเป็นร้อยละ 83.56 ซึ่งบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับเกณฑ์ชี้วัดพิพากษาคดี แผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม  2553-2556 ที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้วางแผนไว้  ขณะเดียวกัน ศาลอาญาตั้งโครงการสมานฉันท์และสันติวิธี เพื่อไกล่เกลี่ยคดีโดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วเสร็จไปกว่า 600 คดี  ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีคดีสำคัญ ๆ  อยู่หลายคดีและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

"ศาลยืนยันว่าพิจารณาตามพยานหลักฐานและเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  จึงอยากให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่าใช้อคติ อย่าใช้ถ้อยคำเสียดสีทิ่มแทงศาล โดยเฉพาะผู้ที่นำชาวต่างชาติมาวิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยปราศจากข้อมูลอันสมบูรณ์  ผมทนไม่ได้ที่นำคนเหล่านี้เข้ามากดดันศาล ซึ่งถือเป็นการกดดันประเทศไทย  เราจึงอธิบายคนไทยให้เข้าใจ  แต่ต้องยอมรับคดีการเมืองพาดพิงไปถึงกลุ่มที่คิดต่าง  แม้จะพูดอธิบายอย่างไรก็คงไม่เข้าใจ  ถ้าไม่ได้เป็นไปตามที่เขาเห็น  คดีการเมืองหลาย ๆ  คดี  ผมยังคิดในใจถ้าเป็นได้นิรโทษกรรมไปให้หมด ๆ ก็ดี  เป็นประโยชน์  แต่จะเกิดความสมานฉันท์หรือเปล่า ผมไม่ทราบ  แต่ก็ยังดีที่มีการคิดแนวนิรโทษกรรมที่ให้มีโทษเฉพาะผู้สั่งการไว้ ตามร่างของ นายอุกฤษ  มงคลนาวิน อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมตามหลักการนี้คงทำได้ยาก" นายทวี กล่าว

เดลินิวส์ เว็บ รายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะคดีฆ่าแขวนคออำพรางศพเด็กชายวัยรุ่นอายุ  17 ปี ที่มีจำเลยเป็นตำรวจสภ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต 3 นาย และจำคุกตลอดชีวิต 1 นาย แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวซึ่งไม่มีเหตุผลประกอบนั้น นายจุมพล  ชูวงษ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตอบว่า ตามกฎหมายหากศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจะไม่มีการชี้แจงเหตุผล แต่ถ้าไม่อนุญาตจะชี้แจงเหตุผลตามหลักสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจมีข้อสงสัยในหลายคดี สำหรับคดีดังกล่าวศาลเห็นว่าจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม รวมทั้งมีผู้บังคับบัญชาให้การรับรองว่าจะไม่หลบหนี พร้อมทั้งศาลมีเงื่อนไขว่าห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ศาลจะอนุญาต  ทั้งนี้การอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว และหากโจทก์ไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านได้

นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม  แถลงด้วยว่า ในปี 2556 ประธานศาลฎีกามีนโยบายสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ ความตรงต่อเวลาของผู้พิพากษา อย่าให้ความล่าช้าของคดีเกิดจากความล่าช้าของบุคลากรของศาล 2. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นการประกันตัวขอให้ใช้เหตุและผล รวมถึงการพิจารณาออกหมายจับ หมายค้นด้วย การไต่สวนมูลฟ้องขอให้ผู้พิพากษาพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะรับเป็นคดี เพราะอาจทำให้ผู้ถูกฟ้องเสียชื่อเสียงไปแล้ว

นายสิทธิศักดิ์กล่าวด้วยว่า ศาลยุคใหม่ต้องเป็นมิตรกับประชาชน   โดยศาลยุติธรรมมีโครงการสาวเสื้อฟ้าให้คำแนะนำประชาชนที่มาติดต่อศาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ศาลกับสื่อมวลชนต้องทำงานร่วมกันโดยสื่อมวลชนเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ของศาลด้วยวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตามการถ่ายรูปจำเลยในขณะควบคุมตัวมาศาลด้วยโซ่ตรวนนั้นเมื่อปรากฎเป็นข่าวหรือแพร่ภาพออกไป อาจถูกสื่อไปว่าประเทศไทยโหดร้าย ป่าเถื่อน และญาติไม่พอใจที่จะให้ภาพดังกล่าวออกเผยแพร่ไป ซึ่งหลายประเทศไม่ยอมเปิดเผยภาพเหล่านี้ตามหลักที่จำเลยยังบริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะได้รับการพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญาได้คุมครองสิทธิเสรีภาพบุคคลเหล่านี้ไว้ ทั้งนี้ปัจจุบันศาลไทยมีอิสระในการพิจารณาคดี สร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศและส่งผลถึงการลงทุนในไทยด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพ GM เริ่มใช้สิทธิ์หยุดงาน ประท้วงบริษัทเพิ่มวันทำงาน

Posted: 08 Feb 2013 07:50 AM PST

 

สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ เริ่มใช้สิทธิ์หยุดงานตั้งแต่วันนี้ เพื่อประท้วงที่บริษัทต้องการเปลี่ยนสัญญาจ้างจากกำหนดวันทำงานปกติ 5 วันเป็น 6 วัน โดยที่จะเปลี่ยนให้วันเสาร์เป็นวันบังคับทำงานปกติ ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ได้สั่งปิดงานในส่วนของสมาชิกสหภาพ ในวันนี้ (8 ก.พ.) เป็นวันหยุดการผลิตและจะดูสถานการณ์อีกครั้งในวันจันทร์ (11 ก.พ)

 
 
8 ก.พ. 56 - สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์แจ้งข่าวว่าสหภาพแรงงานฯ ได้เริ่มใช้สิทธิ์หยุดงานตั้งแต่วันนี้ เพื่อประท้วงที่บริษัทต้องการเปลี่ยนสัญญาจ้างจากกำหนดวันทำงานปกติ 5 วันเป็น 6 วัน โดยที่จะเปลี่ยนให้วันเสาร์เป็นวันบังคับทำงานปกติ ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ได้สั่งปิดงานในส่วนของสมาชิกสหภาพ ในวันนี้ (8 ก.พ.) เป็นวันหยุดการผลิตและจะดูสถานการณ์อีกครั้งในวันจันทร์ (11 ก.พ)
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานในวันเดียวกัน (8 ก.พ.) ว่าสหภาพแรงงานบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และพนักงานจำนวน 5,000 คน ออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจบริษัท เนื่องจากประกาศใช้ระเบียบปฏิบัติใหม่ ให้พนักงานทุกคนมาทำงานวันเสาร์ โดยถือว่าเป็นวันทำงานตามปกติ และจะไม่ได้ค่าแรงค่าโอที 2 แรง ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะมีข้อเสนอในเรื่องของการจ่ายเงินโบนัส ค่าปลอบขวัญและสวัสดิการต่างๆ ชดเชย แต่พนักงานคิดว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนที่ผ่านมา โดยมีนายสมนึก นามตระกูลชล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยจำนวน 30 คน คอยสังเกตการณ์อยู่รอบโรงงาน
 
ตัวแทนสหภาพระบุว่าสาเหตุที่พนักงานจำนวน 5,000 คน ออกมาประท้วงเรียกร้องให้บริษัทใช้ระเบียบปฏิบัติเหมือนเดิม เพราะในปัจจุบันพนักงานส่วนมากใช้วันหยุดเสาร์อาทิตย์ไปสมัครเรียนต่อ และเป็นการเรียนเทียบโอน เพื่อนำวุฒิไปปรับวิทยฐานะในตำแหน่งหน้าที่การงาน สร้างสมประสบการณ์ และที่สำคัญในเรื่องของครอบครัวที่มีความสำคัญมาก ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนสูงเพียงใด แต่คุณภาพชีวิตเกิดความแตกแยก ครอบครัวขาดความอบอุ่น ไม่มีเวลาดูแลลูกและพ่อแม่ ครอบครัวจะดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความสุข พนักงานจึงต้องการให้บริษัทใช้ระเบียบปฏิบัติเหมือนเดิม จ่ายค่าแรง มีค่าโอที เหมือนเดิม อย่าบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจากคุณภาพชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนไม่มีภาระอะไรก็ทำโอทีได้ บางคนมีภารกิจ ก็ไม่ต้องทำ ถือว่ายุติธรรมแล้วและไม่จำเป็นต้องนำระเบียบใหม่มาบังคับใช้อีก

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: Les Misérables บทเพลงแห่งประชาชน

Posted: 08 Feb 2013 02:27 AM PST

<--break->

<--break->

ชื่อบทความนี้มาจากชื่อเพลง Do you hear the people sing ซึ่งเป็นเพลงหลักเพลงหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง เล มิเซราบป์ ที่ฉายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคุณต่อพงษ์ ได้แปลไว้เมื่อ 2009 ว่า

"ได้ยินเสียงประชาชนร้องเพลงๆ นี้ไหม...

บทเพลงแห่งความโกรธของผู้คน

บทเพลงของผองชนที่ไม่ยอมเป็นทาสอีกต่อไป

เสียงการเต้นของหัวใจสะท้อนเสียงกลองรบ

กลองที่เป็นสัญลักษณ์ว่า ชีวิตใหม่จะเริ่มต้นเมื่อพรุ่งนี้มาถึง"

ที่ขึ้นมาเช่นนี้ เพราะอยากจะขอชักชวนกันให้ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สร้างมาจากวรรณกรรมเอกของโลก ชื่อ Les Misérables ของวิกตอร์ วิกตอร์-มารี อูโก และวรรณกรรมนี้ภาษาไทยใช้ชื่อเรื่องว่า "เหยื่ออธรรม" ฉบับที่สมบูรณ์ แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ ซึ่งยังพอหาซื้อได้เช่นกัน

วิกตอร์ อูโก (ค.ศ.1802-1885) เป็นชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ในช่วงแห่งการปฏิวัติสมัยหลังของฝรั่งเศส ที่เริ่มจากการปฏิวัติ ค.ศ.1830 การปฏิวัติ ค.ศ.1848และ การปฏิวัติ ค.ศ.1871 ถือกันว่า เขาเป็นกวีและนักเขียนโรแมนติกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ในวัยเด็ก เขาได้รับอิทธิพลคาธอลิกจากมารดา จึงมีแนวโน้มในทางศาสนาและมีแนวคิดนิยมกษัตริย์ แต่ต่อมาเมื่อเขาเติบโดขึ้น ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ และอุดมการณ์เสรีนิยม จากนั้น ก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยม นำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนชนชั้นล่าง เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนนวนิยายเรื่อง คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (Notre-Dame de Paris) พิมพ์ ค.ศ.1831 เขาเริ่มเขียนเรื่อง Les Misérables ตั้งแต่ ค.ศ.1845 แต่ยังไม่ทันเสร็จ ก็เกิดการปฏิวัติ ค.ศ.1848 ซึ่งเขามีส่วนร่วมกับฝ่ายสาธารณรัฐ แต่ต่อมา ใน ค.ศ.1851 สาธารณรัฐล่มสลาย เพราะหลุยส์ นโปเลียนยึดอำนาจ ตั้งตนเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 วิกตอร์ อูโก คัดค้าน จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศถึง 19 ปี ในระหว่างนี้เอง เขาได้รื้อฟื้นเรื่อง Les Misérables มาเขียนใหม่ จนเสร็จและตีพิมพ์ครบชุดใน ค.ศ.1862 และกลายเป็นหนังสือที่โด่งดังทั่วยุโรปไปทันที

สำหรับเรื่อง Les Misérables ฉบับภาษาไทย จูเลียตได้แปลเรื่องนี้ และพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ.2504 และตั้งชื่อเรื่องว่า เหยื่ออธรรม แต่เป็นการแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และแปลไม่จบ ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2555 ก็มีการแปลฉบับย่อออกเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ตรวนชีวิต ซึ่งก็ไม่สมบูรณ์เช่นกัน จนถึงฉบับใหม่ที่ วิภาดา ดิตติโกวิท แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส จึงได้มีฉบับสมบูรณ์ที่สุดในโลกภาษาไทยขณะนี้

ในฉบับที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ นำมาจากฉบับที่เอามาทำเป็นละครเพลง ที่ดัดแปลงโดย อะลัง บูบฺลิล (Alain Boublil) และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เฮอร์เบิร์ต เครทเมอร์ (Herbert Kretzmer) ละครเพลงเรื่องนี้ เปิดแสดงที่กรุงลอนดอน พ.ศ.2528  และกลายเป็นละครที่โด่งดังในทันที ละครเรื่องนี้ยังเปิดแสดงในลอนดอนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เรื่องเหยื่ออธรรมมีเนื้อหาสะท้อนถึงความอยุติธรรมในสังคม โดยเล่าถึงชีวิตของ ฌอง วัลฌอง ซึ่งมีความผิดฐานขโมยขนมปังก้อนหนึ่งไปให้กับหลานที่หิวโหย แต่ถูกจับกุมและฟ้องต่อศาล ในที่สุดศาลตัดสินจำคุก 5 ปี วัลฌองไม่คิดว่า ตนเองถูกสมควรลงโทษเช่นนั้น จึงพยายามหนีคุกแต่ไม่สำเร็จ จึงถูกจำคุกเพิ่ม สุดท้ายวัลฌองถูกจำคุกถึง 19 ปี แต่เมื่อออกมาจากคุก เมื่อ ค.ศ.1815 เขาได้รับการช่วยเหลือและปลดปล่อยวิญญาณโดยพระชื่อเมอรสิเยอร์มีเรียล จึงทำให้วัลฌองตัดสินใจที่จะรักษาความดีตลอดชีวิต แต่นายตำรวจผู้เคร่งต่อหน้าที่ชื่อ เปอร์ตีต์ แฌเวส์ ไม่เชื่อและพยายามตามหาตัววัลฌองมาลงโทษเสมอ สำหรับวัลฌองได้ช่วยเหลือโกแซตต์ ลูกสาวของฟองตีน กรรมกรหญิงที่เสียชิวิตด้วยความยากไร้ เขาได้เลี้ยงโกแซตต์จนเติบโต ในขณะที่หนีการตามจับของแฌแวร์ไปด้วย

จนถึง ค.ศ.1832 วัลฌองและโกแซตต์หนีมาลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส ในขณะที่การปฏิวัติของกลุ่มนักศึกษากำลังจะเริ่มขึ้น มาริอุส นักศึกษาฝ่ายปฏิวัติคนหนึ่งได้มาหลงรักกับโกแซตต์ การลุกขึ้นสู้กำลังดำเนินไป โดยกลุ่มนักศึกษาได้ตั้งป้อมค่ายปฏิวัติกลางกรุงปารีส วัลฌองได้ลอบเข้าไปในป้อมค่าย แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยช่วยชีวิตช่วยชีวิตแฌแวร์ จากนั้น ก็ได้ช่วยนำตัวมาริอุสออกมาทางท่อน้ำ ในขณะที่การลุกขึ้นสู้ประสบความพ่ายแพ้จากการปราบปรามอย่างนองเลือด สุดท้าย มาริอุสได้แต่งงานกับโกแซตต์ ในขณะที่วัลฌองเลือกที่จะจากไป

ข้อเด่นในเรื่องราวของเหยื่ออธรรมสะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนซี่งไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความดีงามในจิตใจของมนุษย์ ที่อยากจะสร้างโลกและชีวิตให้งดงามด้วยความดี ความจริงแล้วอูโกต้องการที่จะสะท้อนถึงความดีงามตามอุดมการณ์ของศาลนา แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องที่เป็นอัตถนิยม ทำให้เห็นได้ถึงปัญหาของสังคมในลักษณะอื่นด้วย โดยเฉพาะการเล่าเรื่องอุดมการณ์ในการปฏิวัติและการสร้างสังคมใหม่ของฝ่ายนักศึกษา กลายเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งของเรื่อง  และในภาพยนตร์ ก็มีเพลงที่สะท้อนอุดมการณ์ฝ่ายปฏิวัติ เช่น Do you hear the people sing และ เพลง red and black จากนั้น เมื่อการปฏิวัติล้มเหลวลง เพลงเด่นที่สดุดีเพื่อนที่เสียสละ คือ Empty chairs at empty tables ก็ลึกซึ้งกินใจมาก

เมื่อศึกษาเรื่อง Les Misérables แล้วมาย้อนมองสังคมไทย ก็จะเห็นได้เช่นกันว่า เหยื่ออธรรมยังมีอยู่มากมาย แม้ว่าอาจจะกล่าวโดยรวมได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยปัจจุบันน่าจะยังดีกว่าที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เรื่องอื่นที่คล้ายกันก็อาจจะเป็นเรื่อง ปัญหาความยุติธรรมจากศาลและตำรวจ ที่ทำให้ประชาชนต้องได้รับความยากลำบาก กรณีที่ฌอง วัลฌองต้องอยู่ในคุกนาน 19 ปี เพราะความผิดเพียงโขมยขนมปัง คงไม่ต่างจากคดีส่งเอสเอ็มเอส ที่ศาลไทยตัดสินจำคุก 20 ปีแล้วจำเลยถูกทิ้งให้ตายในคุก คดีเผยแพร่บทความคนอื่น ที่ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี ซึ่งเป็นที่วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ หรือคดีคนเสื้อแดงที่ถูกข้อหาละเมิดภาวะฉุกเฉินและเผาบ้านเผาเมือง ที่ก่อให้เกิดนักโทษการเมืองจำนวนมาก และยังเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน ส่วนเรื่อง การต่อสู้ของประชาชนอันนำมาสู่การถูกกวาดล้างเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด คนไทยก็ได้เห็นมาแล้วจากการต่อสู้เทื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา อันนำมาซึ่งการเสียชีวิตนับร้อยคนและบาดเจ็บอีกนับพันคน

เมื่อชมฉากแห่งการต่อสู้ปฏิวัติในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสร้างได้ดีมาก ก็ได้หวนนึกถึงเพื่อนที่ล่วงลับในการต่อสู้เมื่อ พ.ศ.2553 เช่นกัน บทเพลง Empty chairs at empty tatles ที่ เกษียร เตชะพีระ เคยแปลในชื่อว่า เก้าอี้ว่างโต๊ะร้างน้ำตาริน เพื่อสดุดีเพื่อนที่เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จึงอยากจะนำเสนอในที่นี้ ด้วยใจความคือ

"โอ้เพื่อนรักโปรดให้อภัยข้า                              ที่ยังมีชีวิตมาแต่เพื่อนหาย

   ด้วยวิโยคโศกศัลย์เกินบรรยาย                         ด้วยเจ็บปวดเหลือร้ายมิรู้พอ..."

"โอ้เพื่อนรักโปรดเถิดหนาอย่าถามไถ่               เพื่อนพลีชีพเพื่ออะไรคาที่มั่น

   เก้าอี้ว่างโต๊ะร้างช่างเงียบงัน                              เพราะเสียงเพลงเพื่อนนั้นไม่มีแล้ว"

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 398  วันที่ 9กุมภาพันธ์ 2556

ที่มาภาพ: Pantip 10 บทเพลงประทับใจจากเหยื่ออธรรม Les Miserables 2012

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น