ประชาไท | Prachatai3.info |
- เมืองทางตะวันตกของซีเรีย สร้างข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสองฝ่ายสำเร็จ
- ไต่สวนการตาย “ลุงคิม” จนท.ตรวจสถานที่พบ 55 รอยกระสุน M16
- สสส.จี้เก็บภาษี 'น้ำอัดลม' แก้ปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น
- สุชาดา จักรพิสุทธิ์: ทางเลือกของสื่อทางเลือก
- แถลงการณ์ "เคอร์ฟิว" มิใช่คำตอบของโจทย์ไฟใต้
- แนะ กสทช. หนุนให้มีผู้ประกอบการหลายราย แข่งให้บริการ
- เสวนา: การสร้างประชาธิปไตยในความหลากหลายจากอินเดีย ศรีลังกา และพม่า
- ‘ชุมชนบ่อแก้ว’ ร้องสิทธิรับ ‘บริการขั้นพื้นฐาน’ จากรัฐ แม้อยู่ในพื้นที่ ‘สวนป่า’
- IndustriALL รณรงค์หนุนสหภาพแรงงานเม็กซิโก หลังถูกเลิกจ้าง
- ทีดีอาร์ไอ: ระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมของไทยในอนาคต
- สิทธิตามกฎหมายที่คู่รักเกย์ เลสเบี้ยน เข้าไม่ถึง
- นิธิ เอียวศรีวงศ์
- คปก.ชี้ร่างทรัพยากรทะเลและชายฝั่งฉบับ ครม. ขัดเจตนารมณ์ ชงร่างฯ ปปช.ประกบ
- แนวร่วมนิสิตฯ ยื่นหนังสือคัดค้านการนำม. เกษตร ออกนอกระบบ
- “เคอร์ฟิว' ไร้ผล คำยืนยันจากพื้นที่ แนะเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ
เมืองทางตะวันตกของซีเรีย สร้างข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสองฝ่ายสำเร็จ Posted: 12 Feb 2013 11:33 AM PST แม้การต่อสู้ระหว่างฝ่ายกบฏและกองกำลังรัฐบาลในซีเรียยังคงไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ในระดับประเทศ แต่ในเมืองทัลเกลักห์ ฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลได้สร้างข้อตกลงหยุดยิงร่วมกันได้ แม้จะเป็นการหยุดยิงที่ดูเปราะบาง และกองกำลังรัฐบาลจะยังคงล้อมเมืองนี้ไว้ 12 ก.พ. 2013 - สำนักข่าว CNN รายงานเรื่องเมืองทัลเกลักห์ในประเทศซีเรียที่กลุ่มกบฏและกองกำลังรัฐบาลสามารถสร้างข้อตกลงหยุดยิงกันได้ ขณะที่ใประเทศซีเรียยังคงมีการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายโดยยังเจรจาหาข้อยุติไม่ได้ CNN กล่าวว่า ทั้งฝ่ายกองกำลังรัฐบาลและกองกำลังฝ่ายกบฏสามารถยืนอยู่ห่างกันไปไม่กี่หลาโดยที่ไม่มีการยิงกันเลย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายในเมืองนี้มีข้อตกลงหยุดยิงร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นข้อตกลงหยุดยิงที่ดูเปราะบาง ก็อาจเป็นแบบพิมพ์เขียวที่ดีสำหรับการสร้างสันติในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งตกอยู่ในภาวะสงครามนองเลือดมากว่า 23 เดือนแล้ว ถ้าหากการหยุดยิงยังคงดำเนินต่อไปได้ มันจะกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายการยับยั้งความรุนแรงในระดับประเทศและระดับนานาชาติซึ่งประสบความล้มเหลวมาตลอด "พวกเราต้องการสันติ พวกเราไม่ต้องการสงคราม พวกเรายอมรับความสงบสุขร้อยเปอร์เซนต์" ผู้นำฝ่ายกบฏของเมืองที่ใช้ชื่อว่า อัล อับรัชกล่าว "แต่ถ้าหากพวกนั้นต้องการสงคราม พวกเราก็พร้อมรับมือ พวกเราไม่ได้ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงเพราะพวกเราอ่อนแอ พวกเราแค่ต้องการปกป้องเด็กและผู้หญิง" ทัลเกลักห์เป็นเมืองแถบชายแดนซีเรียที่อยู่ติดกับประเทศเลบานอน เป็นหนึ่งในเมืองแรกๆ ที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด และมีการต่อสู้หนักหน่วงมากหลังจากนั้น ประชาชนจำนวนมากต้องหนีตายจากการที่รัฐบาลและนักรบฝ่ายกบฏต่อสู้กันตามท้องถนนและตามอาคารบ้านเรือน พื้นที่เต็มไปด้วยร่องรอยของการยิงปืนใหญ่ บนกำแพงของอาคารใจกลางเมืองยังคงมีร่องรอยกราฟฟิตี้ขับไล่รัฐบาล การหยุดยิงในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของการไกล่เกลี่ยปรองดองนำโดยผู้นำศาสนา (ชีค) และส.ส.ของซีเรีย "ก่อนหน้าที่จะมีการตกลงกันได้ ที่นี่มีการต่อสู้หนักหน่วง ทั้งประชาชน กลุ่มติดอาวุธ และทหารต่างก็ถูกสังหารจำนวนมาก หลังจากที่ข้อตกลงประสบผลสำเร็จแล้วยังคงมีการละเมิดเป้นบางส่วนในระดับปัจเจกอย่างทหารเปิดฉากยิง แต่กรณีเหล่านี้ก็ได้รับการแก้ไขโดยทันที" ชีค ฮาบิบ อัล-ฟานดี กล่าว "เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตแล้ว นี่ถือเป็นช่วงที่สงบและมั่นคง" แต่ขณะเดียวกันเมืองทัลเกลักห์ก็ยังคงถูกทหารฝ่ายรัฐบาลล้อมไว้ มีประชาชนกลายสิบคนในเมืองกล่าวต่อผู้สื่อข่าวในพื้นที่ว่าพวกเขาถูกคุกคามโดยกลุ่มติดอาวุธ 'ชาบีฮา' ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ประชาชนอีกรายกล่าวว่าเขาไม่กล้าออกจากเมืองเพราะกลัวถูกรัฐบาลจับตัวไป ขณะที่อีกคนบอกว่าลูกชายของเขาสองคนเป็นหนึ่งในผู้อาศัยในเมืองทัลเกลักห์ 400 คนที่ถูกจับกุมตัวไปตั้งแต่ช่วงที่มีการลุกฮือ นอกจากนี้แล้วยังมีความจำเป็นต้องสร้างสุสานชั่วคราวใกล้กับย่านกลางเมืองเนื่องจากกองกำลังรัฐบาลปิดทางไม่ให้พวกเขาไปยังสุสานหลัก เมืองทัลเกลักห์ตั้งอยู่ในเขตปกครองฮอมทางฝั่งตะวันตกของประเทศ อาห์หมัด มูนีย์ โมฮ้มหมัด ผู้ว่าการของฮอมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมืองทัลเกลักห์เคยเป็นเมืองที่อันตรายมากและพร้อมปะทุอยู่ตลอดเวลา แต่ในตอนนี้เขาสามารถเดินทางเข้าไปและพบปะกับกลุ่มติดอาวุธได้ ทัลเกลักห์จึงถือเป็นเมืองทดลองการหยุดยิง "ถ้าหากสื่อและกองทัพที่สนับสนุนการก่อการร้ายหยุดลงได้ ...ผมเชื่อว่าฮอมจะกลับสู่สภาพเดิมภายใน 4 เดือน" อาห์หมัดกล่าว นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้เกิดขึ้นในเมืองนี้เช่นการพบปะกันระหว่างส.ส. กับกลุ่มกบฏ เช่น ส.ส. อิยาด สุไลมาน ผู้เป็นชาวนิกายอะลาวี ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับปธน.อัสซาด ได้รับการต้อนรับจากกองกำลังฝ่ายกบฏซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนิกายซุนนี โดยทั้งส.ส.และฝ่ายกบฏต่างก็มีความเห็นตรงกันหลายข้อ พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดการความขัดแย้งจากการแบ่งแยกนิกายในซีเรีย พวกเขาไม่ต้องการให้กลุ่มนักรบศาสนาจากต่างชาติเข้ามา และต้องการให้กลุ่มอันธพาลของรัฐบาลเลิกคุกคามประชาชนในพื้นที่ สุไลมานกล่าวว่าการหยุดยิงในพื้นที่ทัลเกลักห์อาจนำมาใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ถ้าหากไม่มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการหยุดยิงนี้ยังเปราะบางและความรุนแรงก็พร้อมจะกลับมาปะทุอีกครั้ง จากการที่ฝ่ายกบฏบอกว่ากองกำลังรัฐบาลยังคงทำการยั่วยุและฝ่ายกบฏจะยังไม่ละทิ้งเป้าหมายของพวกเขาคือการโค่นล้มรัฐบาล
เรียบเรียงจาก CNN exclusive: Fragile cease-fire holds in besieged town, CNN, 12-02-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ไต่สวนการตาย “ลุงคิม” จนท.ตรวจสถานที่พบ 55 รอยกระสุน M16 Posted: 12 Feb 2013 09:13 AM PST ไต่สวนการตายนายฐานุทัศน์ ชาวบ่อนไก่ เหยื่อกระสุนวันที่ 14 พ.ค.53 จนท.นิติวิทยาศาสตร์ระบุตรวจสถานที่พบรอยกระสุน .223 วิถีกระสุนจำนวนมากยิงจากแยกวิทยุมุ่งหน้าใต้ทางด่วน นัดครั้งต่อไป 13,14 ก.พ. ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 12 ก.พ.56 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 504 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีเลขที่ ช.12/2555 ในคดีที่พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง อายุ 55 ปี ที่ถูกยิงเข้าที่หลังด้านซ้าย กระสุนทะลุไขสันหลังและปอดขวา กระสุนไปฝังที่สะบักขวา บาดเจ็บสาหัสและเป็นอัมพาต เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 12.00 - 13.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 บริเวณหน้าโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากนั้นนายฐานุทัศน์ ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อ 23 ก.พ. 55 เวลา 22.35 น. ที่ รพ.มเหสักข์ โดยในวันนี้มีการสืบพยาน 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ นักนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจสถานที่เกิดเหตุและตรวจวิถีกระสุน ผอ.สำนักตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.ท.สุรพล ล้วนประเสริฐ อายุ 50 ปี พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาในพื้นที่ และ พ.ต.ท.ปรีชา หนูประสิทธิ์ อายุ 52 ปี พนักงานสอบสวนพิเศษชำนาญการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฐานุทัศน์ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6,7,8,12 และจะมีต่อไปถึงวันที่ 13, 14 ก่อนจะมีคำสั่งศาลในท้ายที่สุด สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ที่มีการไต่สวนการตายและศาลมีคำสั่งไปแล้วนั้นมีทั้งสิ้น 5 ราย พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เบิกความว่า ได้รับคำสั่งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2553 จึงไปตรวจสอบในเวลา 10.00 น. ของวันที่ได้รับคำสั่ง จากการตรวจสอบบริเวณแยกวิทยุจนถึงใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ถ.พระราม 4 ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก พบรอยกระสุนปืนที่เกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ซึ่งใช้กับอาวุธปืน M16 และ HK33 โดยบุคคลทั่วไปไม่สามารถมีไว้ครอบครองได้ นอกจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ นอกจากนี้ยังพบรอยกระสุนปืนลูกซอง และรอยกระสุนไม่ทราบชนิดและขนาด รวมทั้งสิ้น 55 รอย โดยมีวิถีกระสุนมาจากแยกวิทยุมุ่งหน้าไปบริเวณใต้ทางด่วน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เบิกความต่อว่า บริเวณป้ายรถเมล์ใกล้ ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้เสียชีวิตถูกยิงนั้น พบรอยกระสุน 15 รอย ตามอาคารและป้ายริมถนน แผงรอยก็มีรอยกระสุน ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ซึ่งเป็นกระสุนปืน M16 และ HK33 วิถีกระสุนมาจากแยกวิทยุมุ่งหน้าไปยังใต้ทางด่วน โดยกระสุนปืนชนิดนี้คนธรรมดาไม่สามารถมีไว้ครอบครองได้ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจครอบครอง หลังจากนั้นวันที่ 16 พ.ย.53 ได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุเพิ่มเติมมีการรื้อเสาเพื่อหากระสุนปืน พบเศษกระสุนบริเวณปากซอยงามดูพลีที่อยู่ในเสาและนำส่งให้พนักงานสอบสวนส่งตรวจพิสูจน์ต่อ สำหรับรอยกระสุนที่พบมีหลายระดับ ตั้งแต่ต่ำกว่า 1 เมตร จนถึง สูงกว่า 2 เมตร โดยถ้ามีบุคคลใดอยู่บริเวณแนววิถีกระสุนปืนก็จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งถูกกระสุนได้ ทั้งนี้กระสุนปืน .223 นี้มีระยะหวังผล 300 - 400 เมตร และสามารถไปได้ไกลถึง 1 กม.ได้ พ.ต.ท.สุรพล ล้วนประเสริฐ เบิกความว่า ได้รับแจ้งถึงการเสียชีวิตของนายฐานุทัศน์ ผู้ตายในคดีนี้ จากนางวรานิษฐ์ อัศวสิริมั่นคง ภรรยาของนายฐานุทัศน์ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.55 ในเวลา 14.50 น โดยแจ้งว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 นางวรานิษฐ์ นายฐานุทัศน์ พร้อมด้วยลูกสาวและลูกชาย ออกจากบ้านที่ชุมชนบ่อนไก่ เพื่อไปรอรถที่ป้ายรถเมล์บ่อนไก่ หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ถ.พระราม 4 โดยขณะที่ยืนรอรถโดยสารเห็นทหารแต่งเครื่องแบบอยู่บริเวณสะพานไทย – เบลเยียม ประมาณ 10-15 คน บางคนถืออาวุธปืนยาว บางคนสะพายปืน ต่อมาเห็นทหารตั้งแถวบนสะพานดังกล่าว หลังจากนั้นสักครู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากสะพานดังกล่าว ทั้งหมดจึงวิ่งหลบหนีกัน และนายฐานุทัศน์ได้บอกให้ภรรยาพาลูกชายและลูกสาวไปหลบในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แต่นางวรานิษฐ์ได้บอกให้ลูกชาย-ลูกสาวกลับเข้าบ้านเลย หลังจากกลับบ้านแล้วได้มีการโทรมาหานายฐานุทัศน์แต่กลับไม่ได้รับสายโทรศัพท์ หลังจากนั้นนางวรานิษฐ์ได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทว่านายฐานุทัศน์ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและจะต้องรับการผ่าตัดเนื่องจากเสียเลือดมาก ต่อมาได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลพบนายฐานุทัศน์ที่กำลังรับการรักษาอยู่ หลังจากนั้นได้มีการนำตัวนายฐานุทัศน์ไปรักษาที่ รพ.มเหสักข์ หลังจากนั้น 23 ก.พ.55 เวลา 22.35 น. นายฐานุทัศน์ได้เสียชีวิตที่ รพ.มเหสักข์ และนางวรานิษฐ์ ได้รับศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดหัวลำโพง ในวันต่อมาคือ 24 ก.พ. 55 หลังจากนั้นพยานจึงได้รับแจ้งการการตายจากนางวรานิษฐ์ และมีการแจ้งภายหลังด้วยว่าถูกยิง หลังจากนั้นได้มีการชันสูตรพลิกศพร่วมกัน 4 ฝ่ายโดยมีพนักงานสอบสวน นายแพทย์นักนิติเวช พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จากการผ่าศพพบกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดงบริเวณสะบักขวา หลังจากนั้นได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับการทราบ จึงมีการแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยแต่งตั้งพยานเป็นพนักงานสอบสวนร่วมด้วย พ.ต.ท.ปรีชา หนูประสิทธิ์ เบิกความเกี่ยวกับคดีนี้ว่า เนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้คดีที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 52 ถือว่าเป็นคดีพิเศษ พยานได้รับเรื่องคดีนี้จากการที่นางวรานิษฐ์ ได้มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ว่าสามีถูกยิงได้รับบาดเจ็บในวันที่ 14 พ.ค.53 เหตุเกิดหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ หลังจากนั้น สน.ลุมพินี ได้ส่งเรื่องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน โดยพยานได้ตรวจสอบพบว่ามีคำให้การของนางวรานิษฐ์ ภรรยาผู้ตายในฐานะผู้กล่าวหาและคำให้การของนายฐานุทัศน์ผู้บาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ได้ทำแผนที่สถานที่เกิดเหตุไว้และได้ทำหนังสือร้องขอรายงานผลการตรวจของแพทย์ของ รพ.กล้วยน้ำไท และ รพ.มเหสักข์ ซึ่งได้ผลชันสูตรเฉพาะได้ของ รพ.มเหสักข์ พ.ต.ท.ปรีชา เบิกความต่อถึงเรื่องการติดตามคนร้ายว่า ทางหัวหน้าชุดได้มีคำสั่งไปที่เจ้าหน้าสืบสวนเรื่องนี้ ให้ดำเนินการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด รวมทั้งพยานได้เสนอหนังสือไปที่ ผอ.ศูนย์สืบสวนสะกดรอย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งแจ้งผลมาว่าได้สืบสวนแล้วแต่ยังไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด พ.ต.ท.ปรีชา เบิกความถึงเหตุที่ไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากคำให้การของทั้งคู่ไม่ได้ระบุอ้างถึงประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ นอกจากบุตรอีก 2 คน จึงถือคำให้การชั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคำให้การในคดีพิเศษ และได้ประชุมกับหัวหน้าชุดคดีนี้จากการที่ไม่มีการอ้างถึงประจักษ์พยาน จึงเห็นควรให้นำพยานในคดีอื่นที่อยู่ในใกล้เคียงเหตุการณ์นี้มาประกอบ แต่จากการตรวจสอบก็ยังไม่พบ ต่อมาได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนจาก สน.บางรัก ว่าได้รับแจ้งจาก นางวรานิษฐ์ ว่า นายฐานุทัศน์ได้ถึงแก่ความตายแล้ว พนักงานสอบสวนจึงขอสำนวนจากพยานกลับไป วิดีโอคลิปขณะที่ผู้ตายถูกยิงบริเวณหน้าโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ แผนที่ขณะที่ผู้ตายถูกยิงบริเวณหน้าโรงรับจำนำน่ำเลี้ยง ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สสส.จี้เก็บภาษี 'น้ำอัดลม' แก้ปัญหาเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น Posted: 12 Feb 2013 08:49 AM PST เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปี 2556 สสส.จะเริ่มดำเนินการในเรื่องลดปัญหาเด็กอ้วนอย่างจริงจังตลอดทั้งปี โดยจะเริ่มจากการศึกษาข้อมูล เพื่อเสนอให้มีการเพิ่มอัตราภาษีของน้ำอัดลม ซึ่งพบว่าในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว และมีผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า มีส่วนช่วยให้แก้ปัญหาเด็กอ้วนได้ ในส่วนของไทยจะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ เพราะในปัจจุบันน้ำอัดลมเป็นสินค้าควบคุม ได้รับการยกเว้นภาษี เบื้องต้น สสส. ได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี พร้อมกันนี้ สสส. จะดำเนินการโครงการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 100% อย่างต่อเนื่องด้วย "หากนำเรื่องสุขภาพของเด็กเป็นตัวตั้งแล้ว เชื่อว่าการเก็บภาษีน้ำอัดลมมีโอกาสเป็นไปได้สูง ประกอบกับยังมีผลศึกษาในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ในการบริหารประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย" ดร.วิลาสินี กล่าว ดร.วิลาสินีกล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องเด็กอ้วนในประเทศไทย ขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะปัจจุบันมีตัวเลขของเด็กอ้วนมากกว่าเด็กผอมถึง 3 เท่า ซึ่งการที่เด็กมีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน จะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่เด็กมีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม และเรื่องพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะเรื่องการบริโภคอาหาร พบว่า อัตราการการรับประทานผักผลไม้ของเด็กไทยอยู่ที่วันละ 1.2 ทัพพี น้อยกว่าปริมาณมาตรฐานการรับประทานผัก ผลไม้ ที่จะอยู่ที่ประมาณ 4 ทัพพีต่อวัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สุชาดา จักรพิสุทธิ์: ทางเลือกของสื่อทางเลือก Posted: 12 Feb 2013 08:43 AM PST เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว คือช่วงปี 2543-2547 อันเป็นยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ สื่อออนไลน์ยังเพิ่งจะเริ่มต้นระดับ 1.0 ยิ่งไม่ต้องพูดถึง Social Media ดิฉันได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งที่เชียงใหม่ ในการพยายามกรุยทางแก่การสร้างพื้นที่ "สื่อทางเลือก" ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่มีภารกิจโดยตรงในงานด้านสื่อภาคประชาชน ที่ในเวลานั้นกล่าวได้ว่า ภาคประชาชนและเอ็นจีโอไม่สามารถจะส่งเสียงหรือสื่อสารปัญหาความทุกข์ยาก หรือผลกระทบอันเกิดจากนโยบายสาธารณะที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมได้เลย หรือไม่ หากเป็นข่าวก็มักเป็นเพียงข่าวปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนชาวบ้านหรือกลุ่มภาคประชาชนเป็นตัวปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนา เราเรียกกันว่า "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" เพราะสื่อกระแสหลักมีวิธีคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง พวกเขาคิดว่าลูกค้าของตนคือคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ กับปัจจัยการเซ็นเซอร์ตัวเอง เนื่องจากสื่อกระแสหลักต้องพึ่งพาโฆษณาและธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรม ก็มักเป็นจำเลยในการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในเวลานั้น สื่อทางเลือกที่ถือกำเนิดมาได้อย่างจริงจังและโดดเด่น ก็คือ "สำนักข่าวประชาธรรม" ที่ดิฉันเป็นบรรณาธิการอำนายการและเป็นกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่ปี 2543-2547 โดยได้จัดตั้งองค์กรไว้เป็นบริษัทจำกัด เพราะยุทธศาสตร์ที่วางไว้ว่า เราน่าจะหาทางทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลัก หรือเบียดแทรกข่าวที่ไม่เป็นข่าวเหล่านี้ไปสู่พื้นที่สื่อกระแสหลัก พูดง่ายๆ คือ เข้าถึง "ตลาดสื่อ" ให้ได้ ด้วยแนวทางการดำเนิน งานแบบธุรกิจเอกชนแต่ไม่แสวงหากำไร ดังนั้น ดิฉันจึงสร้างระบบสมาชิกการขายข่าวแก่สื่อกระแสหลัก อันได้แก่หนังสือพิมพ์ระดับชาติ (ขณะนั้นได้มา 4 ฉบับ ) และองค์กรธุรกิจระดับบริษัทมหาชนอีกบางบริษัท จากการทำงานหนัก ทั้งการบุกเบิกฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองหรือนักข่าวชาวบ้านไปทั่วทุกภาค กับทั้งความพยายามเดินสายสื่อสารความเข้าใจ ขายสมาชิกข่าวแก่องค์กรสื่ออาชีพและองค์กรธุรกิจ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ "สำนักข่าวประชาธรรม" ตั้งอยู่บนฐานของทีมงานและเครือข่ายแบบเอ็นจีโอ และนี่คือประเด็นความขัดแย้งขั้นพื้นฐานที่ทำให้ดิฉันทำงานไม่สำเร็จ ร้ายไปกว่านั้น มีความพยายามกำจัดดิฉันออกจากสำนักข่าวประชาธรรม ด้วยใบปลิวที่ปั้นเรื่องเท็จชนิดทำให้หัวใจสลาย และจนถึงบัดนี้ Les Miserables ยังไม่มีโอกาสได้ชำระประวัติศาสตร์แห่งความจริง เพราะตำนานการก่อตั้งสื่อทางเลือกที่ชื่อประชาธรรม ไม่เคยพูดถึงความจริงข้อนี้ นอกไปจากข้อความ 1 บรรทัดกว่า ที่ Quote คำพูดของดิฉันที่ว่า "สื่อส่วนกลางเปรียบเหมือนรถใหญ่ที่เข้าซอยไม่ได้ ขณะที่สำนักข่าวภาคประชาชนเป็นรถเล็กๆ ที่เข้าซอยได้" สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิชาการอิสระ เปรียบเทียบบทบาทภาระหน้าที่ของสำนักข่าวที่มีความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน นอกนั้น ส่วนมากเป็นการอ้างอิง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะประธานบริษัทในเวลานั้น ที่เขียนและพูดไว้ต่างกรรมต่างวาระ แต่การอ้างอิงทำให้ดูประหนึ่งเพิ่มราคาว่า ศ.ดร.นิธิ เป็นผู้มีบทบาทคลุกวงในมาแต่ต้น อย่างไรก็ดี ตำนานการก่อตั้งสำนักข่าวประชาธรรม ส่วนอื่นๆ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ทั้งเรื่องการระดมทุนโดยมีนักพัฒนาอาวุโสบางคนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง การลงหุ้นกันเองในหมู่เอ็นจีโอได้เงินตั้งต้นมา 30,000 บาท และมีนักกิจกรรมด้านการละครท่านหนึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อสำนักข่าวประชาธรรม ตลอดจนแนวคิดและเจตนารมณ์ในการยืนข้างประชาชน ถือเป็นส่วนที่น่าเคารพยกย่อง กลับมาที่บทเรียน จากความพยายามก่อตั้งสื่อทางเลือกที่ชื่อสำนักข่าวประชาธรรม ภายใต้บริบทของปัญหาเวลานั้น บทเรียนที่ว่าก็คือ 1. มายาคติว่าด้วยสื่อทางเลือกต้อง "เล็กๆและเป็นแนวราบ" นี่เป็นมายาคติข้อสำคัญที่เอ็นจีโอหรือภาคประชาชนมี คลับคล้ายความเชื่อใน small is beautiful ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร หากแต่เป็นคนละเรื่องกับความพยายามจัดตั้งสำนักข่าวเป็นบริษัทจำกัดเพื่อขายข่าวให้แก่ตลาดสื่อ วาทกรรม "เล็กและเป็นแนวราบ"ของเอ็นจีโอก็คือ การทำข่าวให้ภาคประชาชนอ่านกันเอง มีส่วนร่วมในการสื่อข่าวเอง ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความล้มเหลวของวิธีคิดที่ไม่อยู่กับความจริง และย้อนแย้งกับความต้องการให้ข่าวหรือประเด็นปัญหาของตน ถูกรับรู้ไปสู่สาธารณะวงกว้าง สื่อทางเลือกที่เกิดมาด้วยเจตนาจะส่งเสียงและสื่อสาร "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" (เช่นเดียวกับสำนักข่าวประชาธรรม) ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ที่ขยายตัวเติบใหญ่จนกลายเป็นสื่อกระแสรอง ที่เผลอๆ สื่อกระแสหลักต้องมาเอาข่าวไปใช้ ต่างมุ่งหมายจะต่อสู้ช่วงชิงวาระข่าวและพื้นที่การเข้าถึงผู้บริโภคสื่อออนไลน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนแม้แต่ต้องคอยนับตัวเลขผู้เข้าชมเว็บไซต์ กดไลค์กดแชร์กันทุกวัน 2. สื่อทางเลือกต้องไม่ง้อกระแสหลัก ไม่ง้อทั้งธุรกิจ โฆษณาและสื่อใหญ่ พูดกันเยอะว่า ทุนมันสามานย์ จะครอบงำสื่อ ดังนั้นสื่อทางเลือกต้องอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง ไม่หาโฆษณา แต่ในความเป็นจริงคือ ในยุคของดิฉันนั้น หาเงินจ่ายเงินเดือนคนทำงานมาได้หลายปี (ยกเว้นตัวเองเพราะได้รับเงินค่ายังชีพจากรางวัล Ashoka Fellow) เพราะรับจ้างทำหนังสือพิมพ์ "ข่าวชุมชน" ให้ พอช. หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนด้วย จนถึงวันนี้ที่สื่อทางเลือกจำนวนไม่น้อยต้องง้อ สสส. หรือแหล่งทุนระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ต้องเขียนโปรเจ็ค จัดกิจกรรมฝึกอบรมโน่นนี่นั่น ดูเผินๆ ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก ที่ต้องหันพึ่งรายได้จากการทำงานพิเศษจัดอีเว้นต์กันในทุกวันนี้ แต่พูดให้ถูกก็คือ สื่อทางเลือกนั้น "เล็ก" เกินกว่าที่โฆษณาสินค้าหรือธุรกิจอะไรจะอยากใช้เป็นช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งก็ไม่ใช่มนุษย์ประเภทเลือกเสพสื่อทางเลือกเสียอีกด้วย และจริงๆ เวลานี้ ไม่ว่าสื่อทางเลือกหรือประชาชนผู้เสพสื่อก็อาจไม่จำเป็นต้องง้อสื่อกระแสหลักแล้วจริงๆ 3. องค์กรภาคประชาชน คนทำงานต้องมีส่วนร่วมทุกเรื่อง เพราะประชาธิปไตยต้องสำคัญกว่าประสิทธิภาพ อย่าไปเป็นแบบองค์กรธุรกิจที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพมากจนย่อหย่อนประชาธิปไตย หัวหน้าองค์กรไปเจรจาความกับใครไม่ให้ทีมงานทั้งหมดรู้ เขาจะหาว่ากำลังพาองค์กรไป "หลงทิศผิดทาง" วางแผนทำอะไรสักอย่างต้องประชุมหารือ สร้างการมีส่วนร่วม ข่าวช้ากว่าคนอื่นจะเป็นไรไป ได้แต่หวังว่า ปัจจุบัน วัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ในองค์กรสื่อทางเลือกจะเปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่หมุนเร็วขึ้น 4. ข่าวของสื่อทางเลือก เป็นข่าวปรากฏการณ์อีกแบบหนึ่ง แม้ว่าเป็นข่าวเลือกข้างคนจนและผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่การรายงานเพียงตัวปรากฏการณ์หรืออุบัติการณ์ โดยไม่สามารถดึงเอาแง่มุมเกี่ยวข้องขึ้นมาให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหา ก็คือข่าวใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำไม อย่างไร อีกแบบหนึ่ง ยกตัวอย่าง ข่าวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงศ์ ประเด็นนี้เป็นข่าวเมื่อมีชาวบ้านรวมตัวคัดค้าน หรือตัวแทนเอ็นจีโอจัดแถลงการณ์ ความจริงแล้ว สื่อทางเลือกสามารถนำเสนอแง่มุมของการจัดการน้ำแบบอื่นๆ ที่มากกว่าการสร้างเขื่อน แล้วพาดพิงถึงผลกระทบเชิงลบของการสร้างเขื่อน ถามว่า หากนำเสนออย่างที่ว่านี้ คนอ่านจะคิดได้เองไหมว่า... เออ...ไม่เห็นต้องสร้างเขื่อนให้เป็นที่เดือดร้อนของชาวบ้านเลยนี่หว่า 5. มายาคติที่คิดว่าตัวเองมีอุดมการณ์และศีลธรรมมากกว่าใคร ในยุคสมัยที่สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นกระแสการสื่อสารที่มีพลังมากกว่าสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือกบางรายยังคงคิดว่า ตนเป็นสื่อที่ขาวสะอาด ไม่เลือกข้าง ถึงพร้อมด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชนมากกว่าสื่ออื่นใด แต่ความเป็นจริงคือ เวลานี้ภาคประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว ภาคประชาชนไม่ได้หมายเพียงเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนชายขอบ และภาคประชาชนก็ไม่ได้รอคอยให้เอ็นจีโอมาเป็นผู้นำการต่อสู้อีกต่อไป ภาคประชาชนอาจเป็นปัจเจกบุคคลที่ลุกมาทำสื่อเอง ด้วยแนวคิดเพื่อส่วนรวมและเพื่อความเป็นธรรม ปกป้องประโยชน์สาธารณะ หรือแม้แต่เพื่อถกเถียงนำเสนอความจริงชุดอื่นๆ ที่ต่างจากความจริงชุดของสื่อทางเลือกก็ได้ โดยนัยยะนี้ ปัจเจกบุคคลเหล่านี้ก็กำลังทำงานสื่อทางเลือกอยู่เหมือนกัน หากอยากให้สังคมไทยมี "ทางเลือก" จริงๆ ก็อาจต้องเริ่มต้นจากการเลิกผูกขาดทางเลือกเสียที ประสบการณ์ที่ดิฉันประสบมาเอง ก็คือการที่เอ็นจีโอที่ลงสนามสื่อ ไม่เคยมีภาพในหัวว่า นักวิชาการอิสระหรือคนที่มาจากภาคธุรกิจเอกชนอย่างดิฉัน จะมีจิตหนึ่งใจเดียวเพื่อประชาชน และเข้าใจปัญหาของประชาชนได้เท่ากับพวกเขาได้อย่างไร 6. สื่อทางเลือกไม่ได้เป็น "สื่ออิสระ" อย่างแท้จริง ประเด็นนี้หมายรวมทั้งสื่อทางเลือกที่เกิดจากเอ็นจีโอ และสื่อทางเลือกที่เกิดจากกลุ่มคนที่มีเป้าหมายทางการเมือง ไม่ว่าสีไหน และไม่ว่าเป็นการเมืองกระแสหลักหรือการเมืองภาคประชาชน เพราะความเป็นอิสระไม่ได้หมายถึงการไม่ต้องพึ่งพาโฆษณา แต่หันไปพึ่งพาการทำโปรเจ็คตามนโยบายของผู้ให้ทุน และความเป็นอิสระก็ไม่ได้หมายถึงการไม่สนใจกระแสหลักหรือความสนใจของสังคมส่วนใหญ่ หากแต่การเป็นสื่อเสรีหรือสื่ออิสระ มีความหมายที่แท้จริงที่ "การทำความจริงให้ปรากฏ" ไม่ว่าความจริงนั้นจะมีอำนาจเงิน หรืออำนาจการเมือง และแม้แต่อำนาจของขาใหญ่พวกเดียวกัน ครอบงำอยู่ ตราบเท่าที่ความจริงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนข้างมาก และตราบเท่าที่เจตนาในการนำ เสนอความจริงนั้น เกิดด้วยสำนึกของการเป็นตัวกลาง Medium – Media พูดให้ถึงที่สุดและพูดอย่างสุดขั้วคือ สื่อทางเลือกที่จะเป็นสื่ออิสระ ต้องเป็นอิสระจากมายาคติของความเป็นสื่อทางเลือกที่กล่าวมาข้างต้นด้วย เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ได้พบว่า สื่อทางเลือกเอง ก็เป็นเช่นเดียวกับสื่อกระแสหลัก ในอันที่จะเลือกพูดอะไรและไม่พูดอะไร เพียงเพราะมายาคติที่ตนไม่รู้ตัว หรือเพราะเป็นม้าลำปางมองเห็นแต่พื้นถนนที่ตนยืน ซึ่งก็อาจจะยังดีกว่า การที่สื่อทางเลือกไม่เคารพความจริงจนถึงขั้นบิดเบือนความจริง หากหมุนเวลากลับไปได้ ดิฉันจะไม่คิดและไม่ทำสื่อทางเลือกที่เป็นเช่นนั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แถลงการณ์ "เคอร์ฟิว" มิใช่คำตอบของโจทย์ไฟใต้ Posted: 12 Feb 2013 08:40 AM PST คณะทำงานปาตานี ฟอรั่ม (Patani Forum) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ร่อนแถลงการณ์ค้านประกาศเคอร์ฟิว ร้องรัฐบาลเปิดพื้นที่เจรจา รับฟังเสียงประชาชน ปฏิรูปกฎหมายความมั่นคง วอนสองคู่ขัดแย้งจำกัดความรุนแรงไม่ให้กระทบประชาชน แถลงการณ์ ตามกรอบแนวคิดเบื้องต้นของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) ที่จะประกาศเคอร์ฟิวในบางพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยจะมีการหารือและข้อสรุปวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นี้ ทางปาตานี ฟอรั่ม มีข้อเสนอต่อไปนี้ 1. ขอให้รัฐบาลรับฟังเสียงของชาวบ้าน ประชาชนในพื้นที่ ก่อนที่จะดำเนินแนวนโยบายที่เกียวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และระมัดระวังการเสนอความคิดสาธารณะของผู้รับผิดชอบ เพราะความอ่อนไหวและซับซ้อนของปัญหาปาตานี ต้องอาศัยความเยือกเย็นและการทำงานทางยุทธศาสตร์ 2. ขอให้รัฐบาลดำเนินการ เรื่อง "การพูดคุยสันติภาพ" โดยการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้เกิดบรรยากาศของเสรีภาพทางความคิดของประชาชนในพื้นที่ แม้กลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐไทยเองก็ตาม 3.เสนอให้มีการปฎิรูปกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ได้มีกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทับซ้อนกันหลายฉบับ เช่น พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ พรบ.ความมั่นคงฯ กฎอัยการศึก ฯลฯ ทั้งนี้ต้องมีการรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก 4. ขอให้หน่วยงานรัฐไทยและกลุ่มขบวนการ ที่จะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ครั้งนี้ โปรดระมัดระวังผลของความรุนแรงที่กระทบต่อชีวิตและผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วยพรและสันติ Patani Forum
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แนะ กสทช. หนุนให้มีผู้ประกอบการหลายราย แข่งให้บริการ Posted: 12 Feb 2013 08:00 AM PST
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ และแก้ปัญหาไม่ได้เสียที ปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้โดย กสทช. ต้องส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการหลายรายในตลาด ทั้งนี้ มาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการในการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อ (IC Charge) ที่สอดคล้องกับต้นทุน ปัจจุบัน มีการกำหนดราคาขายปลีกที่นาทีละไม่เกิน 0.99 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่นาทีละ 1 บาท ถือเป็นการปิดกั้นรายใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาด เพราะไม่มีใครคิดราคานี้ได้ยกเว้นจะเป็นเจ้าของโครงข่ายเอง ซึ่งก็มีเพียง 3 เจ้าเท่านั้น เดือนเด่น กล่าวว่า นอกจากนี้ มาตรการในการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อ (IC Charge) แล้ว กสทช.จะต้องออกประกาศเรื่องการทำโรมมิง (roaming) มาตรการในการส่งเสริมผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง MVNO และการเช่าใช้โครงข่าย (infrastructure sharing) ด้วย หากไม่มีประกาศ 3 ฉบับนี้ไม่มีทางที่จะมีผู้แข่งขันรายใหม่เข้ามาในตลาดไทย เพราะไม่มีอะไรรับรองว่าเขาจะใช้ หรือเช่าใช้โครงข่ายที่มีอยู่เดิมได้ ต้องลงทุนเองหมด "จนการประมูล 3G จบไปแล้ว จนจะประมูล 4G ประกาศ 3 ฉบับนี้ก็ยังไม่ออกมา สะท้อนอะไร สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ได้เปิด ไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะเอื้อให้รายใหม่เข้ามาเลย" เดือนเด่นกล่าว และย้ำว่า นโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต เรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่จะออกกฎระเบียบมากมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างที่ผูกขาด แต่หากแก้โครงสร้างที่ผูกขาดได้ ปัญหาเหล่านี้จะหายไปเอง เพราะที่ผ่านมา ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการมีเพียง 3 รายและไม่อยากจะแข่งขันกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เสวนา: การสร้างประชาธิปไตยในความหลากหลายจากอินเดีย ศรีลังกา และพม่า Posted: 12 Feb 2013 06:14 AM PST ศาสตราจารย์จากม. โคลัมเบีย บรรยายบทเรียนการสร้างปชต. ในสามประเทศ จากอินเดียที่สามารถรับมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬด้วยระบบสหพันธรัฐ การสังหารหมู่ในนามของการสร้างชาติในศรีลังกา และปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่ยังเป็นเบี้ยล่างในการเจรจากับรัฐบาล
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 56 เวลา 14.00 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนา "การสร้างประชาธิปไตยในการเมืองที่หลากหลายอย่างลึกซึ้ง: ประสบการณ์จากอินเดีย ศรีลังกาและพม่า" บรรยายโดยศาสตราจารย์อัลเฟรด สเตพาน ผู้อำนวยการศูนย์ประชาธิปไตย ความอดกลั้นและศาสนา แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา โดยเขาชี้ให้เห็นในแต่ละกรณีว่า ผู้คนสามารถมีหลายอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกันได้ ทั้งในทางการเมืองและทางความคิด หากว่าแต่ละอัตลักษณ์ให้ประโยชน์และถูกยอมรับโดยรัฐนั้นๆ สเตพานยกตัวอย่างเปรียบเทียบในกรณีของชาวทมิฬที่เป็นชนกลุ่มน้อยในศรีลังกาและอินเดียตอนใต้ ในกรณีของอินเดียตอนใต้ หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช มีปัญหาเรื่องการก่อกบฎของชาวทมิฬบ่อยครั้ง เพื่อต่อต้านการปกครองของชาวฮินดีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในอินเดีย ชาวทมิฬสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง การบริหารราชการ และด้านกฎหมาย โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ประกอบกับการออกพ.ร.บ. จัดการของรัฐในปี 1956 (State Reorganization Act) ทำให้เกิดระบอบสหพันธรัฐ ซึ่งแบ่งเขตการปกครองตามภาษาและชาติพันธ์ุ กลุ่มติดอาวุธเพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวทมิฬในอินเดีย จึงได้ค่อยๆ หดหายลงไปในที่สุด เพราะชาวทมิฬส่วนใหญ่มองว่า เมื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองได้แล้ว การจับอาวุธต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ ในช่วงปี 1923 ก่อนอินเดียได้รับเอกราช มหาตมะคานธีได้รณรงค์ให้รัฐยอมรับการใช้ภาษาที่หลากหลายทำให้รัฐสภายอมรับการใช้ภาษา 26 ภาษาให้เป็นภาษาทางการ โดยต้องมีล่ามทั้งหมด 26 เพื่อรองรับความหลากหลายชนชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความตึงเครียดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนลดลง เขาชี้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการสำรวจที่เคยสอบถามประชาชนในรัฐทมิฬ นาดู ซึ่งเป็นรัฐที่มีชาวทมิฬเป็นส่วนใหญ่ ว่าพอใจกับการปกครองของรัฐบาลอินเดียหรือไม่ ผลปรากฎว่า ราวร้อยละ 30 เชื่อใจรัฐบาลอินเดียมาก โดยตัวเลือกในผลสำรวจ ได้แก่ พอใจมาก ค่อนข้างมาก ปานกลาง และไม่พอใจ และในขณะเดียวกัน ก็พอใจกับการดำรงอัตลักษณ์ของตนเองด้วย "ผู้คนสามารถพึงพอใจหลายๆ อัตลักษณ์ในทางการเมืองและความคิดพร้อมกันได้ หากว่ามีเหตุผลที่ทำให้เขาได้ประโยชน์หรือพึงพอใจจากอัตลักษณ์นั้นๆ" เขากล่าว ในกรณีของชนกลุ่มน้อยในประเทศศรีลังกา ซึ่งมีชาวสิงหลเป็นคนส่วนใหญ่ สเตพานชี้ว่า ไม่เคยมีการกบฎจากชาวทมิฬมาก่อนเลยเป็นเวลาราวร้อยปี นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเอกราชสิงหล ก็ยังเป็นชาวทมิฬด้วย ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและการปกครองทางราชการ ก็ดูเหมือนว่าศรีลังกาไม่น่าจะต้องเผชิญกับปัญหาชนกลุ่มน้อย การสร้าง 'รัฐชาติ' ที่นำไปสู่การ 'สงครามกลางเมือง' ในศรีลังกา อย่างไรก็ตาม หลังศรีลังกาได้รับเอกราช รัฐบาลก็มีมาตรการสร้างรัฐชาติ โดยการขับไล่ชาวทมิฬซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในตอนกลางของประเทศออกไป ทำให้ประชากรชาวทมิฬกว่าครึ่งต้องอพยพออกจากศรีลังกา ประกอบกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี S. W. R. D. Bandaranaike ซึ่งรณรงค์หาเสียงด้วยนโยบาย "สิงหลเท่านั้น" เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ส่งผลมีการกำหนดให้ใช้ภาษาสิงหลเป็นภาษาทางการเท่านั้น และทำให้ชาวทมิฬรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ ต่อมาในปี 1973 จึงเกิดแนวร่วมปลดปล่อยชาวทมิฬ (Tamil United Liberation Front) ซึ่งเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นรัฐทมิฬอีแลม ทั้งด้วยการติดอาวุธ และผ่านทางการลงเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งต่อมาพรรคแนวร่วมปลดปล่อยชาวทมิฬ ได้กลายเป็นกลุ่มฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการกระจายอำนาจจากพรรคแนวร่วมฯ ก็ถูกรัฐบาลปัดตกไป จากนั้นไม่นาน ก็มีการออกกฎหมายบังคับให้ส.ส. ชาวทมิฬ และข้าราชการชาวทมิฬ ต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐศรีลังกาที่เป็นหนึ่งเดียว และห้ามรณรงค์เพื่อการแบ่งแยกรัฐอีก แม้ว่าจะด้วยวิธีที่สันติก็ตาม กฎหมายดังกล่าว ทำให้ส.ส. ทมิฬทั้งหมดถูกไล่ออกจากรัฐสภา เนื่องจากปฏิเสธที่จะสาบานตนเช่นนั้น นำมาสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธของกลุ่มทมิฬอีแลมอย่างเต็มที่ และกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อถึง 26 ปี โดยสิ้นสุดลงในปี 2009 เมื่อกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาสามารถปราบปรามกลุ่มติดอาวุธได้สำเร็จ ชาว 'มีโซ' ในอินเดีย ที่ต่อรองกับรัฐบาล ขอแยกเป็น 'รัฐ' ได้สำเร็จ สเตพาน ยกกรณีของชนกลุ่มน้อยมิโซ (Mizo) ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างทางด้านภาษาและศาสนา ต่างจากประชาชนส่วนใหญ่ของอินเดีย โดยขบวนการแนวหน้าปลดปล่อยมีโซได้เรียกร้องเอกราชของตนเองด้วยการติดอาวุธอย่างหนักหน่วงระหว่างปี 1966-1986 เมื่อรัฐบาลเห็นว่าการต่อสู้น่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน จึงตัดสินใจยอมเจรจาด้วย โดยให้อำนาจชาวมิโซปกครองตนเองในรัฐมิโซแรมที่แยกออกมาจากรัฐอัสสัมในอินเดีย ภายใต้หลักสหพันธรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังยอมให้รัฐมีโซแรมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ กำหนดให้ชาวมีโซเท่านั้นที่สามารถถือครองทรัพย์สินในรัฐได้ และกำหนดให้สิทธิการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐเป็นของแต่ชาวมิโซเท่านั้น ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่การเจรจาอำนาจยังไม่คืบหน้า ศาสตราจารย์ม. โคลัมเบียกล่าวว่า การเจรจาระหว่างรัฐพม่าและชนกลุ่มน้อยยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกองทัพพม่ายังมีอำนาจอยู่มาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2008 กำหนดให้ทหารมีนั่งทั้งในสภาสูง และสภาชนเผ่าอยู่อย่างน้อยร้อยละ 25 นอกจากนี้ ตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ ก็ยังมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ต่างจากรูปแบบของกรณีชาวมีโซหรือในทมิฬนาดู ทำให้การกระจายอำนาจยังไม่เป็นจริงเท่าทีควร เขากล่าวว่า ในการเจรจากับฝ่ายทหารและรัฐบาล ฝ่ายค้านจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อให้เป็นฝ่ายค้านที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ และมองว่านางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย ควรต้องคุยกับผู้นำกองกำลังของชนกลุ่มน้อย เพื่อร่วมมือกันเจรจาในฐานะฝ่ายค้าน เพราะในขณะนี้ ฝ่ายทหารยังไม่เชื่อว่าคนอื่นจะสามารถปกครองพม่าได้ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่การมีฝ่ายค้านที่มีเข้มแข็ง จะทำให้อำนาจและความเชื่อของฝ่ายทหารว่าตนต้องเป็นผู้ปกครองเพียงแต่คนเดียวนั้น ค่อยๆ ลดลงไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
‘ชุมชนบ่อแก้ว’ ร้องสิทธิรับ ‘บริการขั้นพื้นฐาน’ จากรัฐ แม้อยู่ในพื้นที่ ‘สวนป่า’ Posted: 12 Feb 2013 03:11 AM PST
ชาวชุมชนบ่อแก้ว ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 บริการขั้นพื้นฐานของรัฐ เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับ เรียกร้องขอใช้ไฟฟ้าในชุมชน พร้อมยืนยันให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารทั้ง 4,401 ไร่ วันนี้ (12 ก.พ.56) ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 บริการขั้นพื้นฐานของรัฐ เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับ หลังจากได้ร่วมชุมนุมเรียกร้องขอใช้ไฟฟ้าในชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งกรณีสวนป่าคอนสาร กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) อยู่ที่บริเวณหน้าที่ทำการอำเภอคอนสารมาตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จำนวน 5 คน ได้เข้าไปในชุมชนบ่อแก้ว และสั่งให้ชาวบ้านทำการรื้อถอนไฟฟ้าออกไปให้หมด พร้อมทั้งข่มขู่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไปทันที โดยอ้างว่าพื้นที่นี้เป็นของเขตสวนป่าคอนสาร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม และชาวบ้านต่างก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ชาวบ้านไม่ยอม พยายามชี้แจงถึงสิทธิที่จะอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ทำกินเดิม เพราะ อ.อ.ป.ได้เข้ามายึดพื้นที่ไปลูกป่ายูคาฯ นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ทำกินมากกว่า 30 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.พ.56 เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.จึงได้ทำหนังสือไปถึงผู้จัดการการไฟฟ้าสาขาย่อยคอนสาร และขอให้การไฟฟ้าทำการยกเลิกและรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชนบ่อแก้ว รวมทั้งยังได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรคอนสาร เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 เพื่อกดดันชาวบ้าน แถลงการณ์ดังกล่าวระบุรายละเอียดดังนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
IndustriALL รณรงค์หนุนสหภาพแรงงานเม็กซิโก หลังถูกเลิกจ้าง Posted: 12 Feb 2013 02:16 AM PST
12 ก.พ. 56 - IndustriALL ประกาศการรณรงค์หนุนช่วยคนงาน Auto Parts ในประเทศเม็กซิโกซึ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน Los Mineros หรือ สหภาพแรงงานแห่งชาติของคนงานเหล็กและเหมืองแร่ (National Union of Mine and MetalWorkers) แต่ถูกบริษัท PKC ซึ่งเป็นบริษัท Auto Parts Supplier จากประเทศฟินแลนด์ เลิกจ้างมากกว่า 100 คนรวมถึงคณะกรรมการสหภาำพแรงงานทั้งคณะ โดยบริษัท PKC ปฏิเสธการเจรจากับสหภาพแรงงาน Los Mineros และจัดตั้งสหภาพแรงงานปลอมขึ้นมา IndustriALL ขอให้สมาชิกร่วมการรณรงค์สนับสนุนคนงาน Auto Parts ที่เม็กซิโก เรียกร้องให้บริษัท PKC รับกลับคนงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะ และยอมรับสิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่คนงานเป็นผู้เลือก สนับสนุนการรณรงค์ได้ที่ http://www.labourstartcampaigns.net/show_campaign.cgi?c=1724 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ทีดีอาร์ไอ: ระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมของไทยในอนาคต Posted: 12 Feb 2013 01:52 AM PST ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ทำการศึกษาโครงการการพัฒนาแนวทางอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพ ำเสนอต่อสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพแม้จะมิได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยแต่ก็สามารถให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทุกคนได้ อย่างไรก็ดี คนไทย 65 ล้านคนยังได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ต่างกัน เนื่องจากระบบประกันสุขภาพไทยประกอบด้วยกองทุนสุขภาพที่หลากหลาย โดยมีสามกองทุนหลักได้แก่ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า [1] เนื่องจากทั้งสามกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ต่างกัน กล่าวคือ กองทุนประกันสังคม อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สังกัดกระทรวงแรงงาน กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมบัญชีกลาง สังกัดกระทรวงการคลัง และ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข การบริหารจัดการจึงมีลักษณะแยกส่วนทำให้การบริหารมีต้นทุนสูงที่เกินควรเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ซ้ำซ้อนและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยภายใต้แต่ละกองทุนแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ทั้งสามกองทุนต่างมีฐานข้อมูลผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต่างกัน มีการคำนวณต้นทุนในการรักษาพยาบาลที่ต่างกัน มีระบบการตรวจสอบการเบิกจ่าย หรือ การรับเรื่องร้องเรียนที่แยกส่วนกัน การดำเนินการของแต่ละกองทุนอย่างเป็นเอกเทศนอกจากจะทำให้มีต้นทุนในการบริหารสูงแล้วยังส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลอีกด้วย ตัวอย่างเช่น โรคเดียวกันอาจมีอัตราการเบิกจ่ายที่ต่างกันทำให้ผู้ป่วยที่เป็นสมาชิกกองทุนสุขภาพที่มีอัตราการเบิกจ่ายสูงกว่ามีโอกาสที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากกองทุนทั้งสามต่างเกิดขึ้นมาต่างกรรมต่างวาระกัน สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลจึงต่างกัน ตัวอย่างเช่น ข้าราชการและครอบครัวได้รับสิทธิในการเลือกใช้สถานพยาบาลที่ร่วมโครงการได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ในขณะที่สมาชิกประกันสังคม และ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถใช้บริการรักษาพยาบาลได้เฉพาะสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือ สมาชิกประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อที่จะได้มาซึ่งสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลคำนวณเป็นเดือนละประมาณ 200 ว่าบาทในขณะที่ผู้ที่ได้รับสิทธิภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้รับสิทธิฟรี อันเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องของลูกจ้างภาคเอกชนที่จะเลิกจ่ายเงินส่วนนี้เพราะเห็นว่าตนต้องจ่ายเงินสองต่อ คือ จ่ายภาษีรายได้ที่รัฐนำมาอุดหนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ จ่ายค่าเบี้ยประกันอีก นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่เข้ารับบริการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความรู้สึกว่า ตนได้รับมาตรฐานการรักษาและการให้บริการที่ด้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลภายใต้สองกองทุนแรกเป็นระบบ "เหมาจ่ายรายหัว (per capitation) " ทำให้สถานพยาบาลมีแรงจูงใจที่จะลดต้นทุนในการให้บริการรักษาพยาบาลเนื่องจากได้รับการจัดสรรค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่เหมาจ่ายรายปีมาแล้ว ในขณะที่ในกรณีหลังเป็นระบบ "จ่ายตามจริง (fee for service) " ทำให้สถานพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ให้แก่ข้าราชการและครอบครัวได้ทุกครั้งโดยไม่มีวงเงินที่จำกัด อนึ่ง ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวโดยมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมสำหรับโรคร้ายแรงหรือเรื้อรังให้กับโรงพยาบาลในโครงการของ สปส. และ สปสช. การศึกษาประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า การมีกองทุนประกันสุขภาพหลายกองทุนมิได้เป็นปัญหา หากการบริหารจัดการและการกำกับดูแลกองทุนเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดต้นทุนในการบริหารที่ซ้ำซ้อน และ หน่วยงานดังกล่าวสามารถกำหนด สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่ายา การคำนวณค่าเบี้ยประกัน คุณภาพในการรักษาพยาบาล ฯลฯ ที่เป็นมาตรฐานกลางขึ้นมา ซึ่งแต่ละกองทุนต้องปฏิบัติตามทำให้ไม่เกิดความลั่กลั่น คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า เพื่อที่จะลดต้นทุนในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการเข้าถึงและการได้รับการรักษาพยาบาลของประชาชน ประเทศไทยควรพิจารณาที่จะโอนย้ายภารกิจในการบริหารจัดการกองทุนทั้งสามให้อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวเพื่อที่จะให้การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศเป็นไปอย่างบูรณาการ การพิจารณาว่าควรเป็นกระทรวงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะพัฒนาระบบประกันสุขภาพแห่งชาติไปในทิศทางใด คณะผู้วิจัยเห็นว่า ระบบประกันสุขภาพของไทยในอนาคตควรอิงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเนื่องจากเป็นกองทุนที่มีสมาชิกมากที่สุด คือ 48 ล้านคน การขยายฐานสมาชิกอีก 17 ล้านคนน่าจะอยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการได้ การสร้างระบบประกันสุขภาพของประเทศโดยอิงกับระบบประกันสังคมอาจไม่เหมาะสมนักสำหรับประเทศไทยซึ่งยังคงมีธุรกิจและแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ปัจจุบันมีแรงงานที่เป็นสมาชิกประกันสังคมเพียง 10 ล้านคนจากทั้งหมด 40 ล้านคน หรือเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น แม้จะมีความพยายามที่จะกวาดต้อนธุรกิจทั้งหมดเข้ามาในระบบแล้วก็ตาม นอกจากนี้แล้วสิทธิในการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสังคมจำกัดเฉพาะตัวลูกจ้างเท่านั้น ไม่รวมครอบครัว และ ระยะเวลาการคุ้มครองก็จำกัดเฉพาะช่วงเวลาที่ยังไม่เกษียณจากงานเท่านั้น ทำให้ต้องมีกองทุนสุขภาพอื่นๆ เข้ามารองรับสำหรับผู้ที่เกษียณอายุการทำงาน รวมทั้ง เด็ก คนชรา และ ผู้ไม่มีอาชีพ สุดท้ายกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการและครอบครัวเพียง 5 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงมาก คือ ประมาณ 14,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปีในปี พ.ศ.2554 เมื่อเทียบกับกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี การขยายสิทธิประโยชน์ของข้าราชการให้กับประชาชนทุกคนในประเทศจะสร้างภาระการคลังให้แก่ประเทศอย่างมาก หากประเทศไทยจะเดินหน้าโดยใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็น "แกน"แล้ว ก็ควรมีแผนการโอนภารกิจในการบริหารจัดการและกำกับดูแลทั้งสามกองทุนมาที่กระทรวงสาธารณสุข แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจดังกล่าว ควรที่จะเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข ดังเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีสถานพยาบาลในสังกัดจำนวนมากทำให้มีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนในฐานะผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแลและผู้ให้บริการ นอกจากการปรับโครงสร้างในเชิงองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือการลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลระหว่างสมาชิกของทั้งสามกองทุน คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่าเพื่อที่จะสร้างระบบประกันสุขภาพของประเทศที่ใ ห้สิทธิประโยชน์และมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเดียวกัน ควรกำหนดให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพย าบาลภายใต้กองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย กองทุนสุขภาพอื่นๆ อาจให้สิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อยเพิ่มเติมได้ จากการเก็บเบี้ยประกันจากนายจ้างหรือลูกจ้างหรือทั้งสองฝ่าย เช่น ประกันสังคมอาจให้บริการตัดแว่น หรือ ให้เงินชดเชยการขาดรายได้ให้แก่ลูกจ้างในช่วงคลอดบุตรหรือเจ็บป่วย เป็นต้น แต่เบี้ยประกันที่จัดเก็บจะต้องคำนวณจากค่าใช้จ่ายของสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมเท่านั้นมิใช่สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกพึงได้รับภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อนึ่ง สิทธิประโยชน์ "เสริม" ดังกล่าวจะต้องไม่อยู่ในรูปแบบของ "สิทธิพิเศษ" ในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในระบบประกันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดีกว่าหรือรวดเร็วกว่าสมาชิกกองทุนอื่นๆ เช่น สิทธิในการลัดคิว เป็นต้น มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรในการให้การรักษาพยาบาลที่มีจำกัดของระบบประกันสุขภาพ สำหรับกองทุนสวัสดิการข้าราชการนั้น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลมิได้ต่างจากสิทธิประโยชน์ภายใต้อีกสองกองทุนเท่าใดนัก หากแต่ข้าราชการได้รับสิทธิ "โรมมิ่ง" คือสามารถใช้บริการจากสถานพยาบาลที่ร่วมโครงการได้ทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อที่จะรักษาสิทธิดังกล่าว กรมบัญชีกลางในฐานะผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายส่วนต่างของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแทนลูกจ้างคือข้าราชการและครอบครัว ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 10,000 บาทต่อหัวให้แก่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า ในระยะยาว รัฐบาลควรพิจารณาแนวทางที่จะยุบเลิกสิทธิประโยชน์ "เสริม" ที่มีลักษณะเป็น "สิทธิพิเศษ" ดังกล่าวโดยการให้ข้าราชการที่บรรจุใหม่เข้าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ เพิ่มอัตราเงินเดือนเพื่อเป็นการชดเชยการสูญเสียสิทธิดังกล่าวแทน สุดท้าย คณะผู้วิจัยขอชี้แจงว่า การปฏิรูประบบประกันสุขภาพตามที่เสนอมาแล้วนั้น สามารถดำเนินการได้ทันทีแม้ยังไม่มีการปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลระหว่างทั้งสามกองทุนได้ผ่านคณะกรรมการร่วมสามกองทุนซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้มีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานกลางในการรักษาพยาบาลบ้างแล้ว เช่น ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ในการได้รับการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น คณะกรรมการดังกล่าวสามารถผลักดันให้เกิดการรวมศูนย์ของ (1) ฐานข้อมูลผู้ป่วย และ ฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (2) การวิเคราะห์ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลเพื่อกำหนดอัตราการเบิกจ่ายที่เหมาะสม (case mix center) (3) การตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่าย ตลอดจน (4) การกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบมาตรฐานในการรักษาพยาบาล เป็นต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ก็สามารถผลักดันให้มีการเก็บค่าเบี้ยประกัน และ การกำหนดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลตามหลักการที่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นฐานตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอาจมีปัญหาอยู่บ้างเนื่องจากคณะกรรมการฯวไม่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับ แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากดำเนินการอย่างจริงจังก็สามารถบรรลุความสำเร็จได้เช่นกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สิทธิตามกฎหมายที่คู่รักเกย์ เลสเบี้ยน เข้าไม่ถึง Posted: 12 Feb 2013 01:38 AM PST รอบตัวเรามีคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่รักหญิงชาย คู่รักหญิงหญิง คู่รักชายชาย ฯลฯ ความแตกต่างอยู่ที่คู่รักหญิงชายมีทางเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบ "จด" ทะเบียนสมรส หรือ "ไม่จด" ทะเบียนสมรส ขณะที่คนรักเพศเดียวกันยังไม่มีโอกาสเลือก ซึ่งส่งผลให้คนรักเพศเดียวกันขาดสิทธิหลายอย่างที่พึงมีในฐานะคนครอบครัวเดียวกันเวลานี้ เป็นช่วงของการขับเคลื่อน "ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ...." ที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้คนรักเพศเดียวกันที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายเดิม สามารถจดทะเบียนเป็น "คู่ชีวิต" อันนำไปสู่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เรื่องนี้อาจสร้างคำถามขึ้นในใจหลายคนว่า คู่รักจำนวนไม่น้อยพึงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส แล้วมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเอาเข้าจริงสังคมไทยก็ยังมีอคติต่อคนรักเพศเดียวกันอยู่ลึกๆ เปรียบเทียบกันแล้ว หากคู่ชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันไปติดต่อหน่วยราชการหรือเอกชน บางครั้งเพียงแจ้งว่ามีสถานะเป็นสามีภรรยาของกันและกัน ก็อาจสามารถติดต่อทำกิจธุระต่างๆ ได้ หรือมีอุปสรรคแต่ก็ไม่มากนัก แต่สำหรับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน หากบอกว่าเป็นคู่ชีวิตเพื่อจะมาติดต่อธุระอาจถูกปฏิเสธเพราะอคติที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน ดังนั้น การจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงอาจเป็นทางออกหนึ่งเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานแสดงตัวสำหรับการทำกิจธุระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ลองมาดูตัวอย่างกันว่า มีความสัมพันธ์ทางกฎหมายเรื่องใดบ้าง ที่คู่ชีวิตทุกเพศควรมีสิทธิในฐานะคนรักที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน แต่คู่ชีวิตเพศเดียวกันกลับไม่สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือกติกาใดๆ ขวางทางอยู่ อันเป็นทำให้ต้องเรียกร้องหาการจดทะเบียนเพื่อแสดงตน ด้านกฎหมาย · สินสมรส คู่สมรสที่ได้ทรัพย์สินมาหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วจากการทำมาหากิน เรียกว่า "สินสมรส" ผลทางกฎหมายคือ สินสมรสทุกอย่างทั้งสองคนเป็นเจ้าของคนละครึ่ง เพราะถือว่าสองคน "ทำมาหาได้ร่วมกัน" หากภายหลังหย่ากัน ทรัพย์สินเหล่านั้นต้องแบ่งครึ่ง หากใครแอบเอาไว้คนเดียวสามารถฟ้องให้แบ่งครึ่งกันได้ แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถอ้างเรื่องสินสมรสเรียกให้แบ่งครึ่งได้ · สัญญาก่อนสมรส หากคู่สมรสไม่ต้องการแบ่งทรัพย์สินกันคนละครึ่งตามระบบสินสมรส แต่ต้องการให้เป็นของใครของมัน หรือแบ่งกันคนละกี่ส่วนก็สามารถตกลงกันได้ โดยการทำสัญญาก่อนสมรสเป็นหนังสือแล้วถือไปตอนจดทะเบียนสมรสด้วย แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่มีกฎหมายใดมารองรับสัญญารูปแบบนี้ · สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เนื่องจากทรัพย์สินที่หามานั้นเป็นเจ้าของกันคนละครึ่ง การจัดการทรัพย์สินที่สำคัญ เช่น การซื้อขายที่ดิน การปล่อยเงินกู้ กฎหมายจึงกำหนดว่าต้องได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย เพื่อคุ้มครองไม่ให้ฝ่ายหนึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์กับตัวเองฝ่ายเดียว แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนฝ่ายหนึ่งอาจแอบทำได้โดยลำพัง · สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู คู่สมรสมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน หากฝ่ายใดไม่เลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งจนได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถฟ้องหย่าได้ และฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่มีสิทธินี้ · การรับมรดก คู่สมรสถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับแรก หากฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น แต่คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในกองมรดกของอีกฝ่ายเลย ทรัพย์สินต้องเป็นของญาติของผู้ตายทั้งหมด คู่ชีวิตจะไม่ได้ส่วนแบ่งเลย · การเป็นผู้อนุบาล หรือ ผู้พิทักษ์ กรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งวิกลจริต หรือมีความบกพร่องบางอย่างทำให้จัดการทรัพย์สินไม่ได้ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์เพื่อจัดการทรัพย์สินแทนได้ และหากศาลเห็นความจำเป็นก็ต้องแต่งตั้งคู่สมรสนั้นให้เป็นผู้มีอำนาจ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนกันไม่มีสิทธินี้ และหากญาติคนอื่นเป็นคนร้องขอให้ ศาลก็อาจไม่เชื่อในความเป็นคู่ชีวิตและไม่แต่งตั้งให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทนก็ได้ · การทำสัญญาประกันชีวิต ค้ำประกัน กู้เงินร่วมกัน ฯลฯ จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้เขียนไว้โดยตรงว่าการทำสัญญาเหล่านี้ต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย แต่ทางปฏิบัติ บริษัทประกันชีวิตจะไม่ยอมให้ทำประกันโดยยกทรัพย์สินให้คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ธนาคารก็เชื่อถือการค้ำประกันการกู้เงิน หรือการกู้เงินร่วมกันของคนที่เป็นญาติกันมากกว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ตามกฎหมาย คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนจึงทำสัญญาเหล่านี้ไม่ได้ เพราะคู่สัญญาอีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ 2. สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ · สวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัยหรือค่าเช่าบ้านของครอบครัวของลูกจ้าง เงินทุนเพื่อการศึกษา สิทธิการลาติดตามคู่สมรส สิทธิการติดตามคู่สมรสไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ สิทธิเหล่านี้คู่ชีวิตที่ไม่จดทะเบียนไม่สามารถเข้าถึงได้ · สิทธิในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล กรณีคู่รักฝ่ายหนึ่งป่วยหนักไม่ได้สติ แพทย์ย่อมต้องขอความเห็นจากญาติสนิท ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยา หรือการหยุดรักษา ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่อาจมีสิทธิตัดสินใจแทนได้ แพทย์ต้องฟังความเห็นจากญาติคนอื่นซึ่งอาจสนิทน้อยกว่า รวมถึงในกรณีเร่งด่วนที่บางครั้งการตัดสินใจอย่างรวดเร็วอาจมีผลกับความเป็นความตาย แพทย์ก็ไม่อาจฟังความเห็นจากคู่ชีวิตที่ไม่มีทะเบียนหลักฐานอะไรได้ · สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา แพทย์ย่อมต้องปรึกษาหารือให้ญาติสนิทร่วมตัดสินใจ แต่หากเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนแพทย์อาจจะมองว่าเป็นเพื่อนและไม่ให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย หรือคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนอาจไม่สามารถขอทราบข้อมูลในรายละเอียดของอาการผู้ป่วยจากสถานพยาบาลได้ 3. สิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย · สิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับศพ คู่สมรสสามารถแสดงเจตนาแทนคู่สมรสที่ตาย ในเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลอื่น หรือบริจาคศพให้โรงพยาบาลนำไปศึกษาได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ แม้จะเป็นความตั้งใจที่คู่ชีวิตเคยตกลงร่วมกันไว้ก่อนตายก็ตาม 4. สิทธิในการดำเนินคดีอาญา · สิทธิดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทคนตาย หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายไปแล้ว แต่ถูกคนเอาไปว่ากล่าวจนเสียหาย คู่สมรสที่ยังอยู่ย่อมเป็นผู้เสียหายดำเนินคดีได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 327 แต่หากเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนแม้จะเสียหายต่อชื่อเสียงเพียงใด ก็ไม่อาจดำเนินคดีได้ · สิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คู่สมรสมีสิทธิต่างๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ดำเนินคดีแทนให้จบในกรณีที่ผู้เสียหายดำเนินคดีค้างไว้แล้วตายก่อนคดีจบ ได้รับแจ้งและเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพ ร้องขอให้ศาลทุเลาการจำคุกเพื่อสุขภาพของจำเลย ฯลฯ ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่อาจใช้สิทธิเหล่านี้ได้ · สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย กรณีนักโทษอยู่ในเรือนจำแล้วเจ็บป่วย ระเบียบของกรมราชทัณฑ์กำหนดให้คนที่เข้าเยี่ยมได้มีเฉพาะญาติสนิท และคู่สมรสเท่านั้น คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่อาจเข้าเยี่ยมได้ 5. สิทธิตามกฎหมาย และกติกาอื่นๆ · สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง การขอวีซ่าเดินทางไปในบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชีด้วย ซึ่งคู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียน แม้อีกฝ่ายจะมีเงินในบัญชีสูงแค่ไหนก็ไม่สามารถใช้ในการขอวีซ่าได้ · สิทธิในการเปลี่ยนนามสกุลตามคู่ชีวิต แม้คู่สมรสหลายคู่จะเรียกร้องว่าหญิงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนามสกุลตามสามี แต่อีกหลายคู่ก็ยังต้องการเปลี่ยนเพื่อแสดงออกถึงความเป็นครอบครัว แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่มีทางเลือกเหล่านี้ · สิทธิในการขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว หากคนในครอบครัวมีเรื่องบาดหมางกันทั้งทางทรัพย์สินและทางอาญา ต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งจะมีวิธีการพิจารณาคดีที่เน้นการไกล่เกลี่ย สร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อให้ครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้ ไม่ใช่การหักหาญเอาชนะกันเหมือนศาลทั่วไป แต่เรื่องบาดหมางของคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สามารถขึ้นศาลพิเศษนี้ได้ · สิทธิได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้ความหมายของครอบครัวไว้ว่า คู่สมรส คู่ที่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ยังมีปัญหาการตีความอยู่ว่าคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้หรือไม่ · สิทธิประโยชน์ต่างตามห้างร้านต่างๆ หลายครั้งบริษัทเอกชนห้างร้านต่างๆ ทำโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับคนในครอบครัว เช่น ส่วนลดค่าห้องพักโรงแรม การะสะสมไมล์ของสายการบิน ส่วนลดโปรแกรมเสริมความงาม ฯลฯ ซึ่งคู่สมรสแทบไม่ต้องแสดงหลักฐานอะไรด้วยซ้ำ แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนมักถูกปฏิเสธสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ด้านสังคม 2. ไม่อาจจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตซ้อนกันได้ คู่ชีวิตที่จดทะเบียนแล้วจะไม่สามารถจดทะเบียนกับคนอื่นได้อีกไม่ว่าเป็นเพศใด ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงไปอยู่กินกับคนอื่นทั้งที่ตัวเองมีคู่อยู่แล้วได้ เพราะเมื่อจดทะเบียนแล้วก็สามารถตรวจสอบสถานะทางทะเบียนได้ นอกจากนี้สำหรับคู่ที่จดทะเบียนแล้วแม้ครอบครัวไม่ยอมรับ ครอบครัวก็ไม่สามารถบังคับให้จดทะเบียนสมรสกับคนเพศตรงข้ามที่ครอบครัวต้องการได้อีก 3. สังคมสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ การจดทะเบียนนอกจากให้สิทธิกับคู่ชีวิตแล้ว ยังทำให้อยู่ในกรอบที่สังคมสามารถตรวจสอบได้ เพราะในปัจจุบันกฎหมายที่มุ่งตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นกำหนดให้คู่สมรสต้องเปิดเผยทรัพย์สินด้วย และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางอย่างได้ เช่น คู่สมรสของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ป้องการการเอื้อผลประโยชน์กัน ซึ่งคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ย่อมหลบเลี่ยงการตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ได้ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและทางสังคมที่คู่สมรสตามกฎหมายย่อมได้รับ แต่คนเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมี ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอีนมาจากความแตกต่างทางเพศ ซึ่งทำให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันไม่มีสถานะใดๆ และไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงเป็นกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาข้อบกพร่องในกฎหมายเดิมที่กระทบต่อสิทธิของคนกล่าหนึ่ง ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น สิ่งสำคัญหนึ่งที่น่าจะเห็นได้จากร่างนี้ คือ การทำลายอุปสรรคที่กฎหมายเดิมๆ ขัดขวางวัฒนธรรมของสังคมที่ออกแบบมาให้คนที่เป็นคู่ชีวิตกันต้องช่วยเหลือดูแลแบ่งปันทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ถ้ายังไม่มีกฎหมายใดมารับรองสถานะ ให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันทำกิจการต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคู่ชีวิตเพศตรงข้าม ก็เท่ากับกฎหมายที่มีอยู่นั้นขัดแย้งกันเอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิและเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกซึ่งความเอื้ออารีที่คู่ชีวิตจำนวนมากพึงจะมีให้กัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 12 Feb 2013 01:31 AM PST "เท่าที่ผมมองเห็นในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรของไทยก็คือ ตอกย้ำให้บัณฑิตใหม่ตระหนักถึงความเป็นช่วงชั้นของสังคม นอกจากตนเองได้ก้าวเข้าสู่ช่วงชั้นที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ยังสำนึกได้ดีว่า ในสังคมวงกว้างยังมีช่วงชั้นอื่นๆ ที่สูงกว่าตน นับตั้งแต่อาจารย์ที่สวมครุยหลากสีจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ...ตลอดขึ้นไปถึงองค์ประธานของพิธี ซึ่งคือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เป็นอย่างน้อยเสมอ" ในบทความ "พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร" | |
คปก.ชี้ร่างทรัพยากรทะเลและชายฝั่งฉบับ ครม. ขัดเจตนารมณ์ ชงร่างฯ ปปช.ประกบ Posted: 12 Feb 2013 01:13 AM PST 12 กุมภาพันธ์ 2556 - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็ ทั้งนี้ คปก. เห็นว่า กระบวนการพิจารณาของสภาผู้ คปก.ได้พิจารณาศึกษาร่ ทั้งนี้ยังเห็นว่า ควรกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุ ในแง่การมีส่วนร่ ขณะเดียวกันควรกำหนดให้องค์ นอกจากนี้ หากพิจารณาในมาตรการคุ้มครองทรั
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แนวร่วมนิสิตฯ ยื่นหนังสือคัดค้านการนำม. เกษตร ออกนอกระบบ Posted: 12 Feb 2013 12:28 AM PST แนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายนิพิฐพนธ์ คำยศ ผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือให้กับหัวหน้าศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งจะนำเข้าเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 โดยมีเนื้อความว่า เนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ซึ่งมีเนื้อหาในการแปรสภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของรัฐไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ออกนอกระบบราชการ) และคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการส่งร่างดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่จะถึงนี้ ทางกลุ่มแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ซึ่งได้ทำการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาโดยตลอด มีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีปัญหาในทุกกระบวนการ โดยมีเหตุผลในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... มีดังต่อไปนี้ 1. แม้ว่าในปัจจุบันมีการแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอยู่บ้างแล้ว แต่กลับไม่มีการสรุปบทเรียนเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ว่ามีผลกระทบ ข้อดี – ข้อเสีย อย่างไรต่อคุณภาพการศึกษาและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และยังคงเร่งรัดที่จะแปรสภาพมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป 2. กระบวนการ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าเป็นนิสิต คณาจารย์ พนักงานในมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป แต่กลับถูกจัดทำร่างขึ้นโดย กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ขาดความชอบธรรม เพราะตลอดกระบวนการร่างที่ผ่านมา ประชาคมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือประชาพิจารณ์ที่แท้จริง มีแต่บุคคลเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับทราบ และที่ผ่านมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยมักอ้างว่า ประชาคมมหาวิทยาลัยเห็นด้วยทุกคน ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาโดยตลอด 3. เนื้อหาภายในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ถูกร่างขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ เนื้อหาจึงมีปัญหา เช่น การให้อำนาจกับสภามหาวิทยาลัยมากเกินไป, ระบบการตรวจสอบการทุจริตที่กำหนดให้อธิการบดีเป็นประธานการตรวจสอบซึ่งหมายความว่าอธิการบดีเป็นผู้ตรวจสอบการบริหารงานของตน รวมทั้งข้อที่น่าสงสัยอีกเป็นจำนวนมาก การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น ไม่ใช่คำตอบของระบบการศึกษา ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาแต่อย่างใด กลับเป็นการซ้ำเติมปัญหา และสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ยิ่งห่างกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงมีขอเสนอต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้ 1. ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถอนร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ออกจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่มีกำหนด พร้อมทั้งส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกลับไปให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทบทวน และให้รัฐบาลทำหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ให้เป็นที่รับรู้ต่อนิสิตและประชาคมเกษตรศาสตร์อย่างเต็มที่และทั่วถึง 2. ให้รัฐบาลเป็นคนกลางในการจัดเวทีเพื่อถอดบทเรียนเรื่อง ม. นอกระบบ จากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ว่ามีผลกระทบ ข้อดี – ข้อเสีย อย่างไร พร้อมทั้งจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง และหาข้อสรุปเรื่องการแปรสภาพมหาวิทยาลัย โดยข้อเรียกร้องนี้ กลุ่มเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจะฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา ประชาชน และจะตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการศึกษา ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา สิทธิในการเข้าศึกษาในการเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่แบ่งแยกความรวย – ความยากจน โดยการไม่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพียงเพื่อต้องการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้กับผู้เรียน จึงอยากขอร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วนที่สุด ทั้งนี้ นายนิพิฐพนธ์ คำยศ ได้กล่าวว่า เหตุผลที่มายื่นหนังสือก็เพราะว่า การรับรู้เรื่องม.นอกระบบ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งอาจารย์ พนักงาน นิสิตแทบจะไม่มีข้อมูลเรื่อง ม.นอกระบบ เลย อีกทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่สนใจ ไม่จริงใจในการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น แต่บางเรื่องกลับประชาสัมพันธ์ รณรงค์อย่างมาก เช่นเรื่องทางด่วน อ้างนิสิต อ้างประชาชน อ้างลูกหลาน แต่ พอเป็นเรื่อง ม.นอกระบบ ผู้บริหารกลับ ไม่มองเราเป็น นิสิต ลูกหลานประชาชน เห็นชัดถึงความไม่จริงใจของผู้บริหาร ทำให้เกิดข้อกังขาต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย อีกทั้งการบวนการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ก็ไม่มีส่วนร่วมจากประชาคมอย่างแท้จริง อาทิ การทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ทั่วถึง บางวิทยาเขตก็ไม่ได้รับการทำประชาพิจารณ์ด้วย รวมถึงร่าง พ.ร.บ. ที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องของการให้อำนาจอธิการบดี, ผู้บริหาร, สภามหาวิทยาลัย ระบบการตรวจสอบทุจริตที่ให้อำนาจแก่อธิการบดีเป็นประธานการตรวจสอบ และใน พ.ร.บ. ไม่มีอะไรยืนยันว่านิสิตจะได้ประโยชน์อะไรจากการออกนอกระบบ เช่น ไม่มีการกำหนดเพดานค่าเทอมอย่างชัดเจน หรือเครื่องยืนยันคุณภาพทางการศึกษา มีแต่ผู้บริหารเท่านั้นที่ได้ประโยชน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
“เคอร์ฟิว' ไร้ผล คำยืนยันจากพื้นที่ แนะเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ Posted: 12 Feb 2013 12:11 AM PST ตลาดนัดกลางคืนกระทบ? - ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีตลาดนัดกลางคืนหลายแห่งโดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง อย่างตลาดนัดเปิดท้ายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีในภาพนี้ หากมีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินรวมทั้งทำให้ชาวบ้านจากที่ต่างๆไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้
ตามมาด้วย เหตุยิงถล่มรถกระบะที่มีนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีนั่งมาด้วย และและเหตุยิงพ่อค้ารับซื้อผลไม้เสียชีวิต 4 ราย ที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เมื่อกลางดึกของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่อาจอยู่นิ่งได้ โดยคิดถึงเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว หรือการห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กระทั่งล่าสุดเช้าวันที่ 10 กุมภาพันธุ์ 2556 เกิดเหตุลอบวางระเบิดทหารเสียชีวิต 5 นายในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอีกหลายเหตุการณ์ตามมาในวันและคืนเดียวกัน เสมือนยิ่งเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลต้องการใช้มาตรการนี้ในพื้นที่เร็วขึ้น ทว่าฝ่ายทหารเอง ซึ่งเป็นกำลังหลักที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาในพื้นที่เห็นว่า อย่างพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ ขณะที่ พล.ท ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า จะมีการหารือว่าควรประกาศเคอร์ฟิวอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อน ในขณะที่มุมองจากพื้นที่ ส่วนใหญ่เห็นว่า การประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่อันตรายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่ได้ผลต่อการแก้ปัญหาอย่างผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่งานการเมืองและการต่อสู้ทางความคิด งานยุทธการทางการทหารแม้จะสำคัญ แต่ต้องรองรับงานการเมืองหรืองานมวลชน "จากประสบการณ์ 9 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ฝ่ายทหารเองก็ได้สรุปบทเรียนว่าการจัดการความไม่สงบที่มีประสิทธิผลกว่าคือการใช้งานการเมืองไปสลายงานการทหารและการเมืองของฝ่ายขบวนการ โดยเฉพาะการหยุดยั้งการจัดตั้งและปลุกระดมมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า การลดความรุนแรงที่บางพื้นที่ซึ่งเคยมีการประกาศเคอร์ฟิวในอดีต เช่น ในพื้นที่อำเภอบันนังสตาหรืออำเภอยะหา จังหวัดยะลานั้น อยู่ที่การปฏิบัติการด้านอื่นๆ ของฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ในการหยุดยั้งการปฏิบัติการของฝ่ายตรงกันข้ามมากกว่า "มาตรการเคอร์ฟิวมีส่วนน้อยมากในการลดปัญหา แต่กลับจะไปเร่งปัญหาความไม่พอใจของประชาชนที่ต้องเดือดร้อนจากการไปละหมาดหรือขนส่งสินค้าเกษตรตอนกลางคืน จนในที่สุดทำให้ต้องยกเลิกเคอร์ฟิวไปในเวลาต่อมา" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า นอกจากนี้ คนโดยทั่วไปในเขตพื้นที่สีแดงก็รู้ตัวเอง พวกเขามักจะไม่ออกไปไหนไกลๆ ตอนกลางคืนอยู่แล้ว เว้นแต่ที่ไม่ระวังตัวจริงๆ หรือประมาทว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ต้องระมัดระวังตัวกันให้มากขึ้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลอีกด้านหนึ่งก็คือสถิติการเกิดเหตุที่ผ่านมา ร้อยละ70-80 มักจะเกิดตอนกลางวัน โดยเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็น การประกาศเคอร์ฟิวจึงไม่เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด หากทางการประกาศเคอร์ฟิวก็จะทำให้ฝ่ายที่ก่อเหตุความไม่สงบก็น่าจะได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้นไปอีก เพราะจะส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในขณะที่รัฐก็จะเสียความชอบธรรมลงไปอีก ภาพลักษณ์กับต่างประเทศก็จะเลวร้ายลงไปยิ่งขึ้น เพราะคำว่า "เคอร์ฟิว" ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับข่าวต่างประเทศ "หากพิจารณาดูแล้วการตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้จึงน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลได้อย่างมากมาย รัฐบาลควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจในเรื่องนี้" ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวทิ้งท้าย ส่วนนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แสดงความในทางที่สอดคล้องกันว่า การประกาศเคอร์ฟิวจะไม่มีผลอะไรต่อการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบเลย เนื่องจากมาตรการทำนองนี้ได้เคยลองทำมาแล้ว เช่น ระบบเซฟตี้โซน การตั้งด่านตรวจบนท้องถนน แม้แต่การตั้งด่านลอย "บางช่วงเวลาก็เคยประกาศเคอร์ฟิวมาแล้วในอดีต วันนี้เป็นอย่างไร ได้ผลหรือไม่ก็เห็นๆ กันอยู่ เกือบหนึ่งทศวรรษเข้าไปแล้ว เหตุรุนแรงก็ยังคงเกิดได้ทุกวัน" นายประสิทธิ์ เสนอว่า น่าจะเปลี่ยนวิธีคิดจากการต่อสู้กันทางยุทธวิธีในสนามรบ มาเป็นการร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพให้ก้าวหน้ามากกว่า เพราะเป็นแนวทางที่ยอมรับกันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ด้านนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรเสริมสังคมสันติสุขจังหวัดชายภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การใช้กฎหมายพิเศษที่พร่ำเพรื่อ ไม่ถือเป็นหลักประกันใดๆ เลยที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสที่รัฐจะเพลี่ยงพล้ำใช้อำนาจเกินขอบเขตจะมีมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และท้ายสุดจะเป็นเครื่องมือในการกระพือข่าวความรุนแรงในหมู่ประชาชน ให้ต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้น "รัฐต้องเร่งการหากระบวนการสันติภาพในแนวทางสันติวิธีโดยฉับพลัน ขณะเดียวกันต้องเปิดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาสังคม ตรวจสอบ สืบสวนเกี่ยวกับเหตุรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นในขณะนี้ให้เป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว ต้องสร้างความเข้าใจในแก่ประชาชนในทุกมิติของรัฐ โดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม" นายอัฮหมัดสมบูรณ์ ส่วนในมุมมองของชาวบ้าน อย่างนางฮาสนะห์ แวมะลี เจ้าของร้านขายรองเท้ามือสอง ในตัวเมืองปัตตานี ระบุว่า ไม่เห็นด้วยแน่นอนถ้ารัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ เพราะตนตระเวนขายของจามตลาดนัดหลายแห่งในพื้นที่ด้วย ซึ่งบางแห่งเป็นตลาดนัดกลางคืน "แต่ถ้าต้องการประกาศเคอร์ฟิวจริงๆ ก็อยากให้ประกาศในช่วงเวลาหลังจากสี่ทุ่มจนถึงตีห้าเท่านั้น เนื่องจากตนเปิกร้านขายของในย่านถนนสายหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีด้วย ซึ่งจะมีนักศึกษาหรือประชาชนพลุกพล่านในช่วงเวลาเย็นจนถึงประมาณสี่ทุ่ม" นางฮาสนะห์ ระบุด้วยว่า พ่อค้าแม่ค้าเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ตลอด เพราะสินค้าจะขายดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและสถานการณ์ เช่น กรณีมีข่าวข่มขู่ไม่ให้ขายของในวันศุกร์ ตนก็จะไม่เปิดร้านในวันศุกร์ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะแง้มดูร้านข้างๆ ก่อนว่าเปิดไหม ถ้าเปิดตนก็จะเปิดร้านด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น