โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวบ้านโวย ‘โรงแป้งมันน้ำพอง’ ประชาคม-การอนุญาตใช้น้ำไม่ชอบ

Posted: 15 Feb 2013 12:45 PM PST

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ขอนแก่น เจรจาแก้ปัญหาโรงงานแป้งมัน ชี้กระบวนการประชาคมและการอนุญาตให้โรงงานใช้น้ำไม่ถูกกฎหมาย

 
 
วันที่ 15 ก.พ.56 เวลา 9.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กว่า 20 คน เดินทางเข้าร่วมเจรจาหาทางออกกรณีคัดค้านการสร้างโรงงานแป้งมันสำปะหลัง หลังจากที่ได้มาชุมนุมยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 10 ม.ค.56 ที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้ การเจรจาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.56 มีข้อสรุป ให้แต่งตั้งคณะกรรมการในการเจรจาชุดใหม่ โดยให้มีตัวแทนจากกรมชลประและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดใหม่ดังกล่าวด้วย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเริ่มขึ้นโดยนายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานคณะกรรมการ กล่าวเปิดการประชุมและชี้แจ้งความเป็นมา และวาระการประชุม ประกอบด้วย 1.เรื่องการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานแป้งมันสำปะหลัง บริษัท ขอนแก่นสตาร์ซ จำกัด
 
2.เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงการอนุญาตให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ
 
วาระการประชุมในเรื่องแรกเริ่มขึ้นโดยตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกระบวนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแป้งมันต่อที่ประชุมว่า กระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแป้งมันเป็นไปตามขั้นตอนและถูกต้องตามกฎหมายทุกกระบวนการ
 
ด้านนายบุญช่วย สีโสทา ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวชี้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กระบวนการออกใบอนุญาตโรงงานไม่ถูกต้องตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดกล่าวอ้าง เนื่องจากในกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ไม่ได้มีการชี้แจ้งให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด อีกทั้งยังได้มีการแจกสิ่งของเพื่อหลอกให้ชาวบ้านลงชื่อ และนำรายชื่อดังกล่าวไปเป็นเอกสารประกอบยืนยันว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้เห็นด้วยกับการที่จะมีโรงงานแป้งมันเกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนั้น กระบวนการประชาคมรับฟังความคิดเห็นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 
หลังจากนั้นได้มีการโต้แย้งข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายเป็นเวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ประธานในที่ประชุมจึงมีข้อสรุปว่า มีประเด็นที่คณะกรรมการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องประชาคมคือ กระบวนการประชาคมรับฟังความคิดเห็นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เพิ่มเติม
 
วาระการประชุมในเรื่องที่สองเริ่มขึ้นโดยตัวแทนจากกรมชลประทานชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การที่ชลประทานอนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้นเพื่อทำการผลิตนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบของกรมชลประทาน ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้น้ำดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
 
ด้านตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การอนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้ในในการทำการผลิตจากห้วยเสือเต้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เนื่องห้วยเสือเต้น ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศและต้องปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 พ.ย.52 เรื่องการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ส.ค.43 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
 
ดังนั้น การอนุญาตให้โรงงานแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังมีความกังวลด้วยว่าการอนุญาตของกรมชลประทานจะเป็นการทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาแย่งชิงการใช้ทรัพยากรน้ำของภาคเกษตรกรรม
 
การประชุมดำเนินไปอย่างตรึงเครียดและไม่มีทีท่าว่าจะได้ทางออกร่วมกันจากทั้งสองฝ่าย จนเวลา 12.00 น. นายวินัย ในฐานะประธานในที่ประชุมจึงสรุปวาระการประชุมที่สอง คือให้ตัวแทนจากกรมชลประทาน ทำรายงานชี้แจงเกี่ยวกฎหมาย และระเบียบ ที่ใช้ในการอนุญาตให้โรงแป้งมันใช้น้ำจากห้วยเสือเต้น เพื่อมารายงายต่อที่ประชุมในครั้งหน้า
 
นายกรชนก แสนประเสริฐ ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาวมีความเห็นว่า ประเด็นห้วยเสือเต้นนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ประเด็นแรก จากข้อเท็จจริงมันไม่น่าเชื่อว่ายังมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมอีก เช่น การเอาเสื้อมาแจก การเอาของมาแจก เพื่อหลอกเอาลายเซ็นของชาวบ้าน วิธีการแบบนี้มันน่าจะหมดไปจากสังคมไทยได้นานแล้ว
 
ประเด็นที่สอง เป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย วัฒนธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมายแม้เราจะมีสิทธิชุมชนตามมาตรา 66-67 ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการส่วนใหญ่มักไม่เคยคำนึงถึงหลักการสิทธิชุมชนนี้เลย มีแต่ยกกฎหมายเฉพาะของตัวเองที่ให้อำนาจกับตัวเองมาอ้างกับชาวบ้านเสมอ โดยเฉพาะกรมชลประทาน
 
"ทั้งๆ ที่ห้วยเสือเต้นถูกประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมานาน กลับไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกใบอนุญาตโรงงานแป้งมัน มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับสังคมไทย และถ้าหากยังเป็นอย่างนี้อีกต่อไป สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมีแต่จะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการไม่คำนึงถึงหลักการสิทธิชุมชนของหน่วยงานภาครัฐ" นายกรชนกกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนอน “แนวร่วม 29 มกราฯ” กับแกนนำนปช.

Posted: 15 Feb 2013 09:57 AM PST

การเคลื่อนไหวของ "แนวร่วม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง" ที่ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมผู้ต้องขังคดีการเมือง ได้สร้างผลสะเทือนที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงขนาดใหญ่ครั้งแรกที่ไม่ได้นำโดยแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ประสานงานโดยคณะแนวร่วมที่ประกอบด้วย "แกนนอน" จากกลุ่มย่อยหลายกลุ่มที่เป็นอิสระจาก นปช.
 
แกนนอนกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษสามประการคือ หลากหลาย กระจายศูนย์ และเป็นเสรีนิยมที่ก้าวหน้า

กลุ่ม "แกนนอน" เหล่านี้ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายมากกว่าแกนนำ นปช. มีทั้งนักศึกษา ปัญญาชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนที่ก้าวหน้า อดีตคนเดือนตุลาฯ ประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไปจนถึงแกนนอนจากหัวเมืองต่างจังหวัดอีกจำนวนหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระต่อกัน และที่สำคัญคือ เป็นอิสระจาก นปช.และพรรคเพื่อไทย แต่ละกลุ่มมีแนวทางและเป้าหมายเฉพาะตัว เช่น บางกลุ่มเน้นนักโทษการเมือง บางกลุ่มเน้นสิทธิเสรีภาพพลเมือง บางกลุ่มเน้นบทบาทสหภาพแรงงาน บางกลุ่มเน้นลัทธิสวัสดิการนิยม เป็นต้น แต่ทุกกลุ่มก็มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์เดียวกันคือ ต่อต้านระบอบจารีตนิยม ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง

การเกิดขึ้นและพัฒนาของกลุ่มแกนนอนเหล่านี้มีลักษณะ "กระจายศูนย์" คือเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มย่อยกระจัดกระจาย บางกลุ่มมีบทบาทต่อต้านรัฐประหารทันทีหลัง 19 กันยายน 2549 บางกลุ่มเกิดจากการรวมตัวเพื่อต่อต้านพวกอันธพาลเสื้อเหลืองที่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 บางกลุ่มเกิดจากการรณรงค์ให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมล้วน ๆ แก่มวลชนผู้ต้องขังคดีการเมือง แล้วภายหลังยกระดับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิจารณ์และท้าท้ายอำนาจตุลาการโดยตรง กลุ่ม "แกนนอน" เหล่านี้เริ่มต้นจากประเด็นอันหลากหลายที่มีสาเหตุร่วมกันคือ การกดขี่ของพวกจารีตนิยม ยกระดับจากการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจาย มาเป็นการร่วมมือเฉพาะกิจในประเด็นสำคัญ เวทีของพวกเขาจะเป็นห้องประชุมสัมนา การแถลงข่าว การปราศรัยย่อยนอกสถานที่ในวันสำคัญ และการจัด "เวทีคู่ขนาน" กับเวทีใหญ่เมื่อนปช.มีการชุมนุมใหญ่ทุกครั้ง
 
การที่พวกเขารวมตัวกันเป็น "แนวร่วม 29 มกราฯ" ในครั้งนี้จึงเป็นการตกผลึกของการเคลื่อนไหวร่วมกันมาอย่างยากลำบากและยาวนานหลายปี ยกระดับจากความร่วมมือเฉพาะกิจแต่ละครั้งขึ้นเป็นองค์กรแนวร่วมที่มีลักษณะของ "สภาประชาชน" รวมศูนย์ปรึกษาหารือ ระดมความคิดและการเคลื่อนไหวร่วมกัน แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งลักษณะพื้นฐานเดิมที่เป็นการกระจายศูนย์กลุ่มแกนนอนในการเคลื่อนไหวประเด็นเฉพาะของแต่ละกลุ่ม
 
ลักษณะสำคัญที่สุดของกลุ่ม "แกนนอน" เหล่านี้ก็คือ ลักษณะเสรีนิยมที่ก้าวหน้า โดยมีชุดความคิดชี้นำทั้งหมดสีบทอดโดยตรงมาจากกลุ่มนักวิชาการ ประกอบด้วยความคิดชี้นำหลักสามชุดคือ ประเมินสถาบันกษัตริย์ (รวมต่อต้านป.อาญา ม.112) วิพากษ์อำนาจตุลาการ และเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ โดยปัจจุบันได้ตกผลึกเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าคือ ผลักดันการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมด (รวมนักโทษคดี ป.อาญา ม.112)
 
ในช่วงปี 2552-53 ที่มีการเคลื่อนไหวมวลชนเสื้อแดงขนาดใหญ่ต่อเนื่องหลายระลอก แกนนอนกลุ่มนี้ก็เคลื่อนไหวจัดตั้ง "เวทีคู่ขนาน" ไปกับเวทีนปช. โดยมีลักษณะเด่นคือ การปราศรัยที่เน้นสร้างความเข้าใจทางการเมืองระดับสูงให้กับมวลชน และเนื่องจากไม่มีเพดานกั้นทางการเมืองดังเช่น นปช. พวกเขาจึงสามารถเผยแพร่แนวคิดวิเคราะห์ที่เจาะทะลุเปลือกมายาหลอกลวงของระบอบจารีตนิยมอย่างได้ผล สามารถสร้างฐานมวลชนขนาดย่อมของตนเองได้ และก็ได้กลายเป็นการชุมนุมเวทีเล็ก คู่ขนานกับการชุมนุมเวทีใหญ่ของนปช.ทุกครั้งนับแต่นั้นมา
 
การชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา แม้จำนวนคนจะไม่ล้นหลามเหมือนการชุมนุมของ นปช. แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาสามารถระดมมวลชนจำนวนมากถึงหลายพันคนทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เข้ามาเคลื่อนไหวด้วยยุทธศาสตร์ คำขวัญ และข้อเรียกร้องที่เป็นของตนเอง และเป็นครั้งแรกที่ความคิดชี้นำจากกลุ่มนักวิชาการได้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแท้จริงอีกด้วย
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มแกนนอนเหล่านี้พัฒนาเติบโตขึ้นได้ก็คือ "ช่องว่าง" อันเกิดจากแกนนำ นปช.เอง
 
ความเป็นจริงก็คือ แกนนำนปช.ที่เคยนำทางความคิดในหมู่มวลชนได้มาตั้งแต่ช่วงปี 2551 นั้น นับแต่หลังการชุมนุมใหญ่มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ก็ได้ค่อย ๆ สูญเสียการนำทางความคิดนั้นไป เกิดช่องว่างทางความคิดและความรับรู้ระหว่างมวลชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่กับแกนนำนปช. และช่องว่างดังกล่าวยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและแกนนำนปช.เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลและในสภา
 
ความคิดและความรับรู้ของมวลชนเหล่านี้ได้ยกระดับไปถึงขั้นทะลุเปลือกมายาของการเมืองไทยไปสู่แก่นแกนของอำนาจรัฐที่แท้จริง เข้าใจถึง "ประเด็นหลัก" ในปัญหาประชาธิปไตยของไทยว่า อยู่ที่ "สถาบันกษัตริย์ อำนาจตุลาการและรัฐธรรมนูญ" แต่แกนนำนปช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางคนที่พยายามวางตัวเป็น "ผู้นำทางทฤษฎี" กลับมีข้อจำกัดทางความคิด มีความรับรู้และประสบการณ์ที่พ้นสมัย ไม่สามารถเสนอคำตอบและทางออกแก่มวลชนอย่างเป็นรูปธรรมได้ กลุ่มแกนนอนข้างต้นนี้แหละที่เข้ามา "เติมเต็ม" ช่องว่างดังกล่าวด้วยความคิดชี้นำที่เป็นระบบและเป็นรูปธรรมจากคณะนักวิชาการ
 
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า แกนนำ นปช.บางคนกลับมีความคิดจิตใจคับแคบ มองกลุ่มแกนนอน "แนวร่วม 29 มกราฯ" เป็นคู่แข่งทางการเมือง ด่าทอพวกเขาอยู่เนือง ๆ ว่า "แย่งชิงมวลชน แย่งชิงการนำ ตกปลาในบ่อเพื่อน ฯลฯ" แม้ภายหลังการชุมนุมวันที่ 29 มกราคม แกนนำบางคนทำรายการทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือไปขึ้นเวทีปราศรัย ก็ยังใช้วาจาเสียดสีแดกดัน  กระทั่งกล่าวหาว่า มีท่าทีไม่เหมาะสมต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยของพวกตน
 
ท่าทีของนักประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องใจกว้าง เผื่อแผ่ และส่งเสริมสนับสนุนกันอย่างเต็มกำลัง โดยยึดเอาภารกิจประชาธิปไตยโดยรวมเป็นที่ตั้ง เมื่อเห็นกลุ่มแกนนอนอื่น ๆ เติบใหญ่ขึ้น ก็ควรจะเรียนรู้จากพวกเขา เห็นพวกเขาเป็นมิตรที่มาเติมเต็มความคิดและความรับรู้ของมวลชน ผลักดันภารกิจประชาธิปไตยที่ยึดถือร่วมกันให้คืบหน้า อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างและเสียงวิจารณ์ที่ดำรงอยู่
 
การใช้สื่อหรือเวทีสาธารณะเสียดสีโจมตีแกนนำ-แกนนอนกลุ่มอื่น ๆ นั้น มีแต่จะทำให้แกนนำนปช.คนนั้น "เสื่อม" ในสายตามวลชน เพราะมวลชนเห็นคนเสื้อแดงทุกคนเป็นดั่งพี่น้อง เห็นแกนนำและแกนนอนทุกคนเป็นดั่งญาติสนิท พวกเขาเกลียดชังเผด็จการจารีตนิยมอย่างที่สุด ถัดจากนั้นคือ พวกเขาเกลียดการทะเลาะเบาะแว้งกันเองอย่างเปิดเผยในหมู่แกนนำและแกนนอน
 
คนที่ทึกทักผูกขาดความเป็นเจ้าของมวลชน เห็นมวลชนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว สั่งซ้ายหันขวาหันได้ เห็นกลุ่มอื่นเป็นคู่แข่งที่ต้องกีดกัน ขับไล่ไสส่ง คนเช่นนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตย เป็นแค่นักเคลื่อนไหวที่อ้างประชาธิปไตยไปสร้างอาณาจักรส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเท่านั้น
 
 
 
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"
ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านปุโละปุโยฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองสงขลา

Posted: 15 Feb 2013 09:49 AM PST

15 ก.พ. 56 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารพรานใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บอีก 5 คน ที่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555  นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม  2556  ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้ง  5  คน  ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกองทัพบกที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 2 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539  ต่อศาลปกครองสงขลา  เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารพรานในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามพรบ.กฎอัยการศึก  เป็นเหตุให้ได้รับอันรายแก่ร่างกายและจิตใจอย่างสาหัส  โดยเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น กว่า  16  ล้านบาท   แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 เป็นเยาวชนและเป็นชาวบ้านมีรายได้น้อย  ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลได้  ผู้ฟ้องคดีทั้ง  5  จึงได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน  ทั้งนี้  ศาลปกครองสงขลาจะมีหนังสือแจ้งกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อไป
 
ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับเงินเยียวยาจากทาง ศอ.บต. แล้ว โดยครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินครอบครัวละ 7.5 ล้านบาท  ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับเงินคนละ 765,000 บาท  ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับเงินคนละ  500,000 บาท 
 
ข้อเท็จจริงกรณีนี้  เมื่อวันที่ 29  มกราคม 2555 เวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ใช้อาวุธปืนสงคราม ยิงเข้าใส่รถ ขณะที่ชาวบ้าน 9 คน  กำลังเดินเพื่อที่จะไปละหมาดศพ (ละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต  4  ราย  และบาดเจ็บ  5  ราย  การกระทำของเจ้าหน้าที่ ดังกล่าวอันเป็นการละเมิดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด แต่เนื่องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาจำนวน 7.5  ล้านบาท แล้ว  จึงไม่ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดอีก  แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 5  คน  มีความประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิด เพื่อขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมชุมชนจึงเป็นพระเอกของประชาธิปไตย

Posted: 15 Feb 2013 09:34 AM PST


เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากละเลยและล่าช้าในการวางแผนและควบคุมไม่ให้โรงงานแต่งแร่ ปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำสายที่ชาวบ้านบริเวณนั้นฝากชีวิตพึ่งพา นอกจากนี้ ในวันที่ 16 และ 17 มกราคม ศาลปกครองก็ได้อ่านคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และกรณีโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 หลังรอคอยกันมานานนับสิบปี

 
ข่าวเหล่านี้ทำให้ผมระลึกได้ว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา ข่าวทำนองนี้เลือนหายไปจากหน้าสื่อสาธารณะ ทั้งที่ก่อนหน้าวิกฤติการเมืองรอบปัจจุบัน กระแสการเมืองภาคประชาชนซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายพลังชุมชนประสานกับแนวร่วม NGO และข้อเสนอ 'ประชาธิปไตยกินได้' ที่เรียกร้องสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อต่อต้านรัฐและทุนที่ฮั้วกันพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ คือพลังที่ได้รับความเชื่อมั่นว่าจะสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
 
นอกจากเงียบแล้ว ในปัจจุบัน 'ชุมชน' ยังถูกวิพากษ์ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอำมาตย์เสียด้วยซ้ำ
 
เนื่องในวาระที่ภาคประชาชนได้รับชัยชนะติดๆ กัน ผมขออนุญาตลองทบทวนความเป็นมาเพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดในช่วงเวลาหนึ่งกระแสคิดที่เชื่อว่า 'คำตอบอยู่ที่ชุมชน' จึงได้รับการยกให้เป็นพระเอกของประชาธิปไตย แต่ทำไมต่อมา ชุมชนจึงกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้รักประชาธิปไตยเสียได้
 
 
ชุมชนคืออะไร? ชุมชนไม่ใช่หมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านจำนวนมาก เช่น หมู่บ้านจัดสรรในเมืองใหญ่ ก็ไม่ได้มีความเป็นชุมชน แต่หมายถึงกลุ่มความสัมพันธ์ที่ผู้คนร่วมกันถักทอขึ้นมาผ่านจุดร่วมบางประการ เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แบบแผนการผลิต ถิ่นที่อยู่สายเลือด หรือความคุ้นเคย โดยความสัมพันธ์เหล่านี้ถูกยึดเหนี่ยวไว้ด้วยพันธะความไว้วางใจและการดูแลซึ่งกันและกัน ฟังแล้วคล้ายระบบอุปถัมภ์ แต่ต่างตรงที่เขาดูแลกันในฐานะ 'เพื่อนร่วมชะตากรรม' ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน
 
ดังนั้น ไม่ว่าครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนที่รวมตัวเฉพาะประเด็น หรือแม้แต่ชาติ ถ้าเข้าเงื่อนไขข้างต้นล้วนถือเป็นชุมชนทั้งสิ้น
 
ทำไมชุมชนจึงเป็นพระเอก? เท่าที่ทบทวนปากคำของฝ่ายสนับสนุน ผมพอสรุปเหตุผลได้เป็นสองข้อ ข้อแรก เพราะชุมชนคือฟูกรองรับผู้คนที่ล้มหายตายจากหรือไม่พร้อมเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบไทยๆ ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้รัฐอำนาจนิยม การพัฒนาตามทิศทางดังกล่าวได้สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้คนที่ไม่มีเส้นสาย ไร้อำนาจรัฐ และขาดเงินทุนถูกกีดกันออกไป จึงต้องหันมาพึ่งพาชุมชนแบบร่วมด้วยช่วยกัน รวมถึงพึ่งพิงทรัพยากรท้องถิ่นในการดำรงชีวิต
 
ส่วนข้อที่สอง ชุมชนคือจุดยุทธศาสตร์แนวหน้าในสงครามการพัฒนา ระหว่างแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ กับผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับชุมชน กล่าวคือ การพัฒนาแบบทุนนิยมนั้น นายทุนจะเข้าครอบงำรัฐ แล้วออกนโยบายที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ ภายใต้ทิศทางดังกล่าว ชนบทและผู้คนในชนบทมีสถานะเป็นเพียงแหล่งทรัพยากรและแรงงานที่เอาไว้ขูดรีดป้อนเข้าสู่สายการผลิต ดังนั้น เมื่อกลุ่มทุนและรัฐพยายามเข้าขูดรีดจากชุมชนท้องถิ่น พวกเขาก็จะลุกขึ้นสู้ขาดใจ เพื่อปกป้องฐานที่มั่นของตนเองเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฐานที่มั่นนั้นเป็นผืนดินของบรรพบุรุษหรือเป็นฐานที่มั่นสุดท้าย
 
ยิ่งการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมเข้มข้น การต่อต้านก็ยิ่งเข้มข้นตาม
 
ในท้ายที่สุด การต่อต้านจะนำไปสู่การโอนอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจจากรัฐสู่ชุมชน กล่าวคือ เมื่อรัฐซึ่งเอาอำนาจอธิปไตยไป กลับไม่ปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อยตามสัญญาประชาคม คนตัวเล็กๆ ก็เลยบอกว่าขออำนาจอธิปไตยบางส่วนคืนมาใช้ร่วมกันเองน่าจะดีกว่า
 
ข้างต้นคือแนวคิด ส่วนในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่เป็นธรรมเริ่มขึ้นอย่างจริงจังและจงใจในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงปี 2500 สมัยนั้นท่านนายกฯ เชื่อว่าการพัฒนาแบบเหลื่อมล้ำนั้นดี เพราะการขูดรีดทรัพยากรและแรงงานจะช่วยให้ประเทศไทยบางส่วนพัฒนาอย่างรวดเร็วทันเข้าร่วมแข่งเอาส่วนแบ่งจากตลาดโลก แล้วพอความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ผู้ที่เสียเปรียบก็จะหันมารวมตัวกันต่อรองให้รัฐกระจายผลประโยชน์ให้เป็นธรรม แล้วเมื่อเริ่มเท่าเทียมกัน ก็เริ่มพัฒนาแบบเหลื่อมล้ำต่อ เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายประเทศไทยก็จะทั้งพัฒนาและมีความเป็นธรรม
 
แต่ในความเป็นจริง ยังไม่ทันจะต้องมาเถียงกันว่าแนวคิดนี้ดีและเป็นไปได้หรือไม่ พอขาขวาที่ชื่อว่าการพัฒนาก้าวออกไป ขาซ้ายที่ชื่อว่าความเป็นธรรมเริ่มขยับเท่านั้น ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็กวาดล้างพลังเหล่านี้เสียราบคาบภายใต้ข้อหาคอมมิวนิสต์
 
นับแต่นั้น ประเทศไทยก็รับมรดกวัฒนธรรมการพัฒนาแบบไม่เป็นธรรม และการใช้ความรุนแรงกดปราบผู้ต่อต้านมาจวบจนปัจจุบัน
 
อย่างไรก็ตาม กระแสเรื่องชุมชนไม่ได้เป็นกระแสหลักในฝ่ายผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น เพราะในช่วงยี่สิบปีแรกของการพัฒนา แนวคิดสังคมนิยมให้คำตอบได้ชัดเจน เด็ดขาด เร้าใจมากกว่า ต้องรอจนสังคมนิยมล่มสลาย กระแสชุมชนจึงเข้ามาแทนที่ กล่าวคือ เมื่อแผนการยึดอำนาจแล้วเปลี่ยนรัฐทั้งรัฐไม่สำเร็จ ผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมก็หันมาสร้างสังคมอุดมคติในพื้นที่เล็กๆ โดยยังคงไว้ซึ่งหลักการต่อต้านรัฐและทุน
 
รูปแบบทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทยนะครับ หลังสังคมนิยมล่มสลายปี 1989 ขบวนการที่รวมตัวในเชิงชนชั้น กรรมกร-ชาวนา-ปัญญาชนทั่วโลกก็อ่อนแรงเพราะขาดการสนับสนุนและขาดธงนำใน ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวจึงพากันหันมาสนับสนุนอุดมการณ์ชุมชน
 
ขณะเดียวกัน การที่รัฐทั่วโลกหันมาสมาทานทุนนิยม โดยทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าตลาด คอยรับคำสั่งและปกป้องทุนใหญ่แล้วใช้กระบองไล่ตีคนตัวเล็กตัวน้อย ทำให้ตัวชุมชนท้องถิ่นเองถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ จนพากันลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐและทุนอย่างเข้มข้น
 
อาจารย์เสน่ห์ จามริก เรียกแนวโน้มนี้ว่า 'การปะทะกันระหว่างระบอบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จระดับโลกกับการปลดปล่อยและประชาธิปไตยระดับรากหญ้า'
 
ในประเทศไทย กรณีสำคัญที่มีชื่อเสียงก็เช่น การต่อสู้ของชุมชนปากมูล หรือปี 2540 ที่มีกรณีเครือข่ายปฏิรูปที่ดินในภาคเหนือกว่า 3,000 ครอบครัว เข้ายึดที่ดิน 23 จุด ใน 3 จังหวัด กว่า 14,309 ไร่ และประกาศว่าจะยึดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลจะขานรับนโยบายปฏิรูปที่ดิน
 
ส่วนในระดับโลก เหตุการณ์ประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประท้วงสำคัญหลายครั้ง ในเชิงอุดมการณ์ก็คือการต่อต้านการพัฒนาทุนนิยมในระดับโลกที่มี WTO หรือ IMF เป็นธงนำ แล้วเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
ที่มาภาพ: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_21092009_01
 
ในแง่ข้อเสนอรูปธรรม ขบวนการชุมชนนำเสนอ 'ประชาธิปไตยกินได้' ซึ่งหมายถึงการกระจายอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายให้แก่หน่วยย่อย เช่น ชุมชน แนวคิดที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือเรื่อง 'สิทธิชุมชน' ซึ่งหมายถึงสิทธิรวมหมู่ที่ให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งสิทธิในที่ดินทำมาหากิน สิทธิในการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร สิทธิในการธำรงภูมิปัญญาในการใช้ทรัพยากรตามวิถีทางของตน สิทธิในการได้รับการรับรองด้านการปกครองจากรัฐ และสิทธิในการปกป้องวัฒนธรรม
 
ในกรณีประเทศไทย งานวิจัยของอาจารย์เสน่ห์ จามริก เรื่อง 'ป่าชุมชนในประเทศไทย' ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ในประเทศไทยที่นำแนวคิดนี้มาใช้อย่างจริงจังและเป็นระบบ
 
ภายหลังกระแสชุมชนนิยมบ่มเพาะประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวร่วมมาอย่างยาวนาน ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองหลังพฤษภาทมิฬ โดยแนวคิดประชาธิปไตยกินได้ได้รับการบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในสามแนวคิดหลักของรัฐธรรมนูญ 40 โดยกำหนดไว้ในมาตรา 46 และ 56 (เคียงคู่กับแนวคิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และแนวคิดเรื่องภาวะผู้นำและรัฐบาลเข้มแข็ง)
 
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างช่องทางประชาธิปไตยทางตรง โดยเฉพาะกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากประเด็นต่างๆ โดยไม่มุ่งเข้าไปยึดอำนาจรัฐ เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีความทะเยอทะยานมากไปกว่าเรื่องปากท้องและวิถีชีวิต ส่วนปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวก็ได้บทเรียนจากครั้งสังคมนิยมว่า การยึดอำนาจรัฐก็เป็นแค่การสร้างทรราชใหม่ตราบที่ไม่มีการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถดุลกับรัฐและทุนได้
 
ต่อมา เมื่อทักษิณก้าวสู่อำนาจ ช่วงแรกตัวนายกฯ ก็มีท่าทีญาติดีกับภาคประชาชน เช่น ลงมากินข้าวกับชาวบ้านเขื่อนปากมูลที่มาชุมนุมประท้วง แต่ต่อมาก็เบือนหน้าหนีไปหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจรวมศูนย์เช่นเดิม หนำซ้ำยังเข้มข้นขึ้น
 
สงครามการพัฒนาจึงดุเดือดขึ้นอีกครั้ง อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง เคยสรุปไว้ว่า ในช่วง พ.ศ.2548-2551 เพียง 3 ปี ทั่วประเทศไทยมีคดีความที่เป็นผลมาจากการเข้าปะทะกันถึง 1,500 คดี เทียบอัตราส่วนแล้วมากกว่า 1 คดีต่อวันเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับกรณีผู้นำชุมชนถูกลอบสังหารนับไม่ถ้วน
 
 
ในแง่กลยุทธ์ทางการเมือง วิธีลดความชอบธรรมพลังชุมชนของทักษิณ ก็อาศัยการกล่าวหาว่าผู้ที่ออกมาต่อต้านนโยบายของเขาคือคนส่วนน้อยที่ขัดขวางผลประโยชน์แห่งชาติของคนส่วนใหญ่ ส่วนฝ่ายปัญญาชนที่สนับสนุนชุมชนก็ออกมาตอบโต้ว่า ผลประโยชน์แห่งชาติที่รัฐบาลอ้างนั้นไม่เคยมีพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่แท้จริงแล้วชาติคือองค์รวมที่บูรณาการกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ดังนั้น ถ้านายกฯ รักชาติจริง ก็ต้องเปิดพื้นที่และเคารพในหน่วยย่อยเหล่านี้
 
ข้อถกเถียงหนึ่งที่ผมเคยได้ยินแล้วเห็นภาพการปะทะกันทางแนวคิด คือ ครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ด่าชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการพัฒนาว่าไม่รู้จักเสียสละเหมือนชาวบ้านบางระจันที่ยอมตายเพื่อส่วนรวม ชาวบ้านก็เถียงกลับทันทีว่าชาวบ้านบางระจันเขาสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐาน พ่อ แม่ พี่ น้องของตัวเอง ไม่ใช่อยุธยาที่ทอดทิ้งพวกเขา!!!
 
ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องเสียงข้างน้อย ฝ่ายนิยมชุมชนก็ตอบโต้ว่าเลื่อนลอยเกินไปจนกลายเป็นแค่ข้ออ้างของเผด็จการ เพราะแม้จะจริงอยู่ว่ารัฐบาลได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกนโยบายของรัฐบาลหลังจากนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากเสมอ และในความเป็นจริง ไม่มีนโยบายไหนในโลกที่จะสร้างความเดือดร้อนให้คนเกินครึ่งประเทศออกมาประท้วงพร้อมกัน ดังนั้น เสียงข้างมากที่อ้างจึงเป็นแค่ 'เสียงข้างมากจำลอง' นอกจากนี้ยังท้าต่อว่า ต่อให้รัฐบาลก็รัฐบาลเถอะ แน่จริงไประดมเสียงข้างมากที่บอกว่าสนับสนุนโครงการออกมาให้เห็นกันจะๆ หน่อยสิ
 
ไปๆ มาๆ ชุมชนจึงกลายเป็นฐานผลิตข้อถกเถียงกับรัฐบาลทักษิณ เมื่อขบวนการ 'รู้ทันทักษิณ' ก่อรูป บางส่วนโดยเฉพาะปีกปัญญาชนและนักเคลื่อนไหว ก็กระโจนเข้าร่วมแล้วเรียกร้องระดมมวลชนที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานให้ออกมาสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า ในช่วงเวลานี้ภาคประชาชนแบบชุมชนนิยมไม่ได้เข้มแข็งเท่าเดิม เพราะจำนวนมากก้าวออกจาก 'ชุมชน' ไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยม
 
ภายหลังสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศเคลื่อนขบวนกู้ชาติครั้งแรกแล้วรูปขบวนล่มทำคนหายไปกว่าครึ่ง ผู้นำภาคประชาชนที่มีทักษะในเรื่องการจัดการชุมนุมและยุทธวิธีเคลื่อนไหวก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นแกนนำเพื่อบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้
 
นับแต่นั้นมา 'ชุมชน' ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองรอบปัจจุบัน ในระดับปัญญาชนและนักเคลื่อนไหว พวกเขายังคงยึดมั่นธงต่อต้านทุนสามานย์ครอบงำรัฐ โดยหวังให้พลังชุมชนเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ส่วนฝั่งชุมชนเอง ความเดือดร้อนต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป แต่เสียพื้นที่ข่าวที่มีน้อยอยู่แล้วให้กับวิกฤติการเมืองเหลือง-แดง
 
ช่วงเวลานี้เอง ที่ชุมชนเริ่มกลายเป็นผู้ร้าย เพราะในสายตาของผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเสียงข้างมากหรือประชาธิปไตยตัวแทนซึ่งเจ็บปวดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 พวกเขาเห็นว่าแนวคิด 'ชุมชน' กลายเป็นอีกหนึ่งฐานที่มั่นของพวกปัญญาชนอนุรักษนิยม ที่ไม่เห็นข้อดีของประชาธิปไตยตัวแทน เกลียดกลัวทุนและนักการเมืองเกินเหตุ และโค่นล้มประชาธิปไตย
 
เพื่อความเป็นธรรมกับฝ่ายวิพากษ์ เน้นอีกครั้งนะครับว่า เขาวิพากษ์ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวอิงชุมชนที่ฉวยใช้ 'ชุมชน' โค่นล้มประชาธิปไตย ไม่ได้ใจร้ายใจดำโจมตีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริง
 
ส่วนรายละเอียดข้อวิพากษ์ ขอเวลาไปทบทวนแล้วโอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
 
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaipublica.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอลตัน จอห์น และอ้าย เหว่ย เหว่ย ร่วมจัดโครงการสร้างความเข้าใจเอดส์ในวันวาเลนไทน์

Posted: 15 Feb 2013 08:29 AM PST

ในเทศกาลแห่งความรักที่เพิ่งผ่านพ้นไป ศิลปินเพลงอังกฤษเอลตัน จอห์น และศิลปินผู้ต่อต้านรัฐบาลจีน อ้าน เหว่ย เหว่ย ร่วมมือกันจัดโครงการสร้างความตระหนักเรื่องโรคเอดส์และสร้างความเข้าใจผู้ติดเชื้อ ด้วยวีดิโอขนาดสั้นและรูปภาพ 'เจาะเลือด' ของดาราพร้อมคำขวัญว่า "ในเลือดของฉันมีความรัก"


วีดิโอผลงานของ Ai Wei Wei

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา เอลตัน จอห์น ศิลปินเพลงชาวอังกฤษร่วมมือกับศิลปินชาวจีน อ้าย เหว่ย เหว่ย ร่วมกันรณรงค์ในโครงการสร้างความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ในวันวาเลนไทน์

โดยที่เอลตัน จอห์น ได้เชิญดาราอย่าง เจสซี เจ., เจมี โอลิเวอร์ และอลิซาเบธ  เฮอร์ลี่ย์ เข้ามามีส่วนร่วมโดยการเจาะเลือดที่นิ้วตัวเองแล้วถ่ายภาพเลือดที่ขึ้นเป็นจุด จากนั้นจึงนำมาเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์พร้อมคำว่า "ในเลือดของฉันมีความรัก" (Love Is In My Blood)

ขณะที่อ้าย เหว่ย เหว่ย ศิลปินนักต่อต้านรัฐบาลจีนที่เคยมีผลงานศิลปะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำในต่างประเทศ ได้ร่วมโครงการโดยการสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นสองแบบมีความยาว 30 วินาที กับ 1 นาที โดยมีการเผยแพร่ในยูทูบและมีการฉายบนจอยักษ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก,แยกพิคาดิลลี่ เซอร์คัส ในลอนดอน และ อินดิเพนเดนซ์ สแควร์ ในเคียฟ

เอลตัน จอห์น กล่าวว่า ต้องขอบคุณผลงานที่ยอดเยี่ยมของกลุ่มคนทำงานเรื่องเอดส์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้ในตอนนี้พวกเรามีการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้มากขึ้น เป็นการช่วยชีวิตและลดการกระจายเชื้อเอชไอวี

"แต่เวชภัณฑ์เหล่านี้ก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขเรื่องอคติและการเหมารวมได้" เอลตัน จอห์นกล่าว "มันถึงเวลาแล้วที่จะเลิกผลักให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกลายเป็นคนชายขอบ ทุกคนมีสิทธิในการป้องกันตนเอง แน่นอนว่าพวกเรามีความรักมากพอในเรื่องนั้น"

เดวิด เฟอนิช คู่ชีวิตเพศเดียวกันตามกฏหมายอังกฤษ (Civil partner) ของเอลตัน และประธานมูลนิธิเอดส์กล่าวว่าการป้องกันตนเองที่หมายถึงนั้น คือการสนับสนุนการร่วมเพศอย่างปลอดภัย การใช้ถุงยาง และการใช้เข็มที่สะอาด เอวิดบอกอีกว่าโครงการนี้เป็นการเรียกร้องความสนใจจากชาวโลกให้ท้าทายมายาคติความกลัวและการทอดทิ้งผู้ติดเชื้อ

"สิ่งที่สูบฉีดในเลือดของพวกเรามีทั้งความรักและความปรารถนาดีในการต้องการให้คนอื่นปลอดภัย รวมถึงการช่วยเหลือคนอื่นเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ คำถามเดียวคือพวกเราพร้อมจะแสดงออกมาหรือยัง" เดวิดกล่าว

ทางด้านอ้าย เหว่ย เหว่ย เปิดเผยว่า เอลตันได้ขอให้เขาสร้างงานสักชิ้นหนึ่งให้กับมูลนิธิ เขาจึงสร้างผลงานที่แสดงออกไปในเชิงสร้างความตระหนักต่อปัญหาให้สื่อออกไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก่อนหน้านี้เอลตันเคยสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนมาก่อนด้วยการประกาศขณะจัดแสดงคนเสิร์ทในจีนว่าเขาขออุทิศการแสดงของเขาให้แก่จิตวิญญาณและความสามารถของอ้าย เหว่ย เหว่ย


เรียบเรียงจาก

Elton John and Ai Weiwei join forces to launch Valentine's Day Aids campaign, The Independent, 14-02-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิทยาศาสตร์เผย เหตุอุกกาบาตในรัสเซียไม่เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนใกล้โลก

Posted: 15 Feb 2013 07:31 AM PST

อุกกาบาตพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกเหนือท้องฟ้ารัสเซีย ก่อนเกิดการปะทุส่งแรงสะเทือนทำให้สิ่งก่อสร้างเสียหายและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก สาหัสสามราย นักวิทยาศาสตร์เผยชิ้นส่วนระเบิดตั้งแต่ชั้นบรรยากาศ และไม่เกี่ยวข้องกับเหตุดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 เคลื่อนใกล้โลก

ภาพอุกกาบาต จากกล้องติดรถยนต์ที่ภูมิภาคอูราล ในรัสเซีย ที่มา: Russia Today

15 ก.พ. 2013 - เกิดเหตุอุกกาบาตเคลื่อนผ่านท้องฟ้าเหนือเมืองเยกาเตรินเบิร์กและเทือกเขาอูราลในแคว้นเชลยาบินสก์ของรัสเซีย ก่อนเกิดการปะทุขึ้นและมีชิ้นส่วนตกลงในทะเลสาบเมืองเชบากูล สร้างเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนทำให้กระจกอาคารแตก มีรายงานจากหน่วยงานฉุกเฉินของรัสเซียเปิดเผยว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 500 คนจากเหตุการณ์นี้ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการโดนเศษกระจกแตก โดยมีสามรายบาดเจ็บสาหัส มีสิ่งก่อสร้างราว 297 แห่งได้รับความเสียหายโดยเป็นโรงพยาบาล 6 แห่ง โรงเรียนอีก 12 แห่ง

มิคาอิล ยูเรวิช ผู้ว่าการแคว้นเชลยาบินสก์กล่าวว่าชิ้นส่วนอุกกาบาตตกลงในทะเลสาบที่ห่างจากเมืองเชบากูลออกไป 1 กม. โดยมีร่องรอยอุกกาบาตกว้างราว 6 เมตรใกล้กับชายฝั่งทะเลสาบ สถาบันวิทยาศาสตร์ของรัสเซียประเมินว่าอุกกาบาตมีน้ำหนักราว 10 ตัน และเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็ว 54,000 กม./ชม. และสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดการปะทุขณะลอยอยู่เหนือพื้นดิน 30-50 กม. โดยที่อุกกาบาตยังลุกเป็นไฟอยู่

วาเลอรี่ ชูวาคอฟ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ภาคพื้นธรณีของรัสเซียกล่าวว่า อุกกาบาตได้ถูกทำลายในชั้นบรรยากาศและชิ้นส่วนของมันก็ปลิวออกมาทำให้เกิดคลื่นกระแทก มีชิ้นส่วนของมันจำนวนมากที่ระเหิดไป ส่วนที่เหลือจึงตกลงมาบนโลก

ดอน ยิวแมน ประธานโครงการวัตถุใกล้โลกขององค์การนาซากล่าวสันนิษฐานว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในรัสเซียเป็นปรากฏการณ์ระเบิดของลูกไฟหรือโบไลด์ (bolide) ที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างชั้นบรรยากาศกับวัตถุอวกาศขนาดเล็ก และถ้าหากมีการตรวจพบความเสียหายภาคพื้นดินด้วยก็เป็นไปได้ว่าตัววัตถุที่มีขนาดเดิมหลายเมตรก่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เกิดการแตกตัวและระเบิดขึ้นเนื่องจากแรงดันที่ไม่เท่ากันระหว่างส่วนหัวกับส่วนท้าย

แม้เหตุจะเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 เคลื่อนเฉียดโลกในเวลาไม่นานแต่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอวกาศของยุโรปบอกว่าเหตุการณ์นี้กับเหตุอุกกาบาตในรัสเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ยิวแมนบอกว่าเหตุการณ์บอไลด์ในรัสเซียไม่ได้เดินทางไปในทิศทางเดียวกับดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 ซึ่งเดินทางจากใต้ไปเหนือและเวลาเกิดก็ห่างกันเกินกว่าจะมีนัยสำคัญอะไร

เหตุอุกกาบาตผ่านน่านฟ้าของเมืองเกิดขึ้นในช่วงเวลา 9.22 น. ตามเวลาท้องถิ่นของรัสเซีย มีประชาชนในพื้นที่หลายคนแสดงความตื่นกลัวต่อเหตุการณ์เพราะคิดว่าเกิดภาวะสงคราม คนเดินถนนล้มลงไปที่พื้นจากแรงสะเทือนจากการเดินทางของอุกกาบาต นักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งเล่าว่า "ทุกอย่างสว่างไปหมด มีเสียงดังมากเหมือนเสียงเครื่องบิน จากนั้นก็มีการระเบิดแล้วกระจกก็แตกกระจาย"

The Independent รายงานว่า แม้จะมีการยอมรับว่าการปะทุมาจากอุกกาบาต แต่กองทัพของรัสเซียก็ออกมาระวังและนักการเมืองชาตินิยมของรัสเซียก็กล่าวหาว่าเหตุการณ์นี้มมาจากการวางแผนอย่างลับๆ ของต่างชาติ โดยวลาดิเมียร์ ชิรินคอฟสกี ผู้นำพรรคชาตินิยมจัดของรัสเซียกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกาได้ทดลองอาวุธใหม่กับรัสเซีย

แคว้นเชลยาบินสก์ ซึ่งอุกกาบาตลอยผ่านเป็นแหล่งอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่สำคัญของประเทศรัสเซีย โดยหลังจากเหตุการณ์รอสอะตอมบริษัทผูกขาดพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซียเปิดเผยว่าโรงงานในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ และทำงานได้ปกติ

เรียบเรียงจาก

Meteor strike injures hundreds in central Russia, BBC, 15-02-2013
Meteor Explosion in Russia Hurts More than 500 People: Reports, Livescience, 15-02-2013


Over 500 injured as meteor blasts across Russian sky, causing explosions and smashing windows, The Independent, 15-02-2013


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสธ.หนั่น ถึงแก่อสัญกรรมแล้วด้วยวัย 78

Posted: 15 Feb 2013 03:12 AM PST

เมื่อเวลา 17.55 น. วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ศิริราช ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.2555 อาการทรุดหนักและถึงแก่อสัญกรรมแล้ว

ขณะที่บรรยากาศ หน้าห้องผู้ป่วยชั้น 2 ตึกอัษฏางค์  ยังประกาศงดเยี่ยม  โดยทีมแพทย์พยายามต่างวุ่นวายในการเดินเข้าในห้อง และยังไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น  ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ช่วงเย็นที่ผ่านมาความดันพล.ต.สนั่นลดลง ทำให้ทรุดหนักและถึงแก่อสัญกรรม

ล่าสุดเมื่อเวลา 18.10น.ศ.คลินิก นพ.อุดมได้ติดประกาศแถลงที่รพ.ว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรง โดยระบุว่า ตามที่พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ หออภิบาลการหายใจ ตึกอัษฎางค์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ด้วยปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ (ถุงลมโป่งพอง) นั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาแพทย์ได้ให้การรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยังใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งในวันนี้พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์มีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรง ส่งผลให้ภาวะการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 17.09 น.

 

 

อนึ่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เกิดเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2478 โดยการศึกษาจบจาก นักเรียนนายร้อยทหารบกอบรม (หากเทียบรุ่นเเล้วจะอยู่ในจปร.7 )หรือกลุ่มยังเติร์ก จบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์การปกครอง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์ สาขาบริหาร) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาเอก ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันราชภัฎจันทรเกษม

สำหรับประวัติการทำงาน พล.ต.สนั่น เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ, เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยเเละประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา, หัวหน้าพรรคมหาชน, เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิจิตร เเละบัญชีรายชื่อ

พล.ต.สนั่น เป็นชาวจังหวัดพิจิตรเคยรับราชการเป็นทหารบก เหล่าทหารม้า มียศทางทหารสุดท้ายคือพ.ท. ก่อนจะถูกให้ออกจากราชการ เมื่อพ.ศ. 2520 เมื่อร่วมก่อการกบฏ 26 มี.ค.2520 ซึ่งมีพล.อ.ฉลาด หิรัญศิริเป็นหัวหน้า จากนั้นได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นพล.ต. พล.ต.สนั่นสมรสกับนางฉวีวรรณ ขจรประศาสน์ มีบุตร-ธิดารวม 4 คน คือนางสาวบงกชรัตน์ ขจรประศาสน์, นางสาวปัทมารัตน์ ขจรประศาสน์,นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรเเละสหกรณ์ในปัจจุบัน และนางสาววัฒนีพร ขจรประศาสน์ ธุรกิจส่วนตัวคือฟาร์มนกกระจอกเทศชื่อ "ขจรฟาร์ม" นอกจากนี้ยังทำไร่องุ่นดงเจริญ และผลิตไวน์ชื่อ "ชาโต เดอ ชาละวัน" ซึ่งสอดคล้องกับรสนิยมส่วนตัวที่ทราบกันทั่วไปคือชอบดื่มไวน์

ปลายปี2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค.2540 และตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2540 ต่อมาวันที่ 9 พ.ย. 2540 นายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้จัดแถลงข่าวยืนยันการจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในเวลาเดียวกัน พล.ต.สนั่นก็เปิดแถลงข่าวเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลด้วย โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคกิจสังคมของ นายมนตรี พงษ์พานิช ที่ย้ายฟากมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างกะทันหัน และมีตัวแปรสำคัญคือส.ส. พรรคประชากรไทย จำนวน 12 คน นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม และนายฉลอง เรี่ยวแรง ที่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่หัวหน้าพรรคประชากรไทย คือนายสมัคร สุนทรเวช ไม่ทราบมาก่อนและยังสนับสนุนฝ่ายพล.อ.ชาติชาย ทำให้สถานการณ์พลิกกลับอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเสียงฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า และทำให้นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในที่สุด หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง "ชาวนากับงูเห่า"

ต่อมานายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น พรรคความหวังใหม่ ได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรีสนั่นว่า พล.ต.สนั่น แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวน 45 ล้านบาท จากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส จำกัด ทั้งๆที่ไม่มีการกู้ยืมจริง ต่อมานายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนคดีเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2543 ว่าพล.ต.สนั่น มีความผิด ฐานจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 295 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีเป็นคนเเรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเเละได้เปิดโรงเรียนการเมืองขึ้นในช่วงเวลานั้น

หลังพ้นโทษ พล.ต.สนั่นกลับมาทำงานให้พรรคประชาธิปัตย์ระยะหนึ่งเเละได้ลาออกไปก่อตั้งพรรคมหาชนขึ้นโดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ส่งผู้สมัครส.ส.รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 และต่อมา พล.ต.สนั่น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา

ในช่วงปี 2550-2551 พล.ต.สนั่นมาทำงานกับพรรคชาติไทยเเละร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนในตำเเหน่งรองนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นเกิดการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปำตยรอบที่สอง โดยมีการยึดทำเนียบรัฐบาลเเละสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อมาปลายปี2551เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหลังจากพรรคชาติไทย,พรรคมัชฌิมาธิปไตยเเละพรรคพลังประชาชนโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค พล.ต.สนั่นเป็นเเกนนำตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาขึ้นร่วมกับนายชุมพล ศิลปอาชา เเละย้ายขั้วมาร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นเกิดวิกฤตการเมืองในปี 2552-2553 จากการต่อต้านรัฐบาลชุดนี้จาก นปช. สุดท้าย พล.ต.สนั่นเสนอเเนวทางการปรองดองเเห่งชาติเพื่อเเก้ปัญหาการเมือง เเละเป็นนายประกันให้กับเเกนนำ นปช.ให้ออกมาต่อสู้คดีก่อการร้าย

ในวันที่12 มี.ค. 2555 พล.ต.สนั่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยขอยุติการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ยังคงพร้อมที่จะช่วยงานในส่วนของพรรค และงานการเมืองของประเทศต่อไป

 

 

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และ เดลินิวส์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์

Posted: 15 Feb 2013 02:46 AM PST

"กฎหมายนิรโทษกรรม ที่มันออกไม่ได้ หรือออกได้ยากมาก เพราะมันกระทบต่อโครงสร้างที่มีมาแต่ก่อน พูดง่ายๆ คืออำนาจอนุรักษ์นิยม จะถูกกระทบจากการชี้ว่าอะไรควรจะนิรโทษกรรมบ้าง จะนิรโทษกรรมใครบ้าง จะนับคนที่โดน 112 ด้วยไหม มันกระทบอำนาจอาญาสิทธิ์มากกว่าเรื่องนิรโทษกรรมทักษิณเสียอีก"

14 ก.พ.56, เสวนาในหัวข้อ "การนิรโทษกรรมทางการเมือง"

มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK

Posted: 15 Feb 2013 01:30 AM PST

รายงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์รอบด้านจากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม RKK ที่นำโดยนายมะรอโซ จันทราวดี (ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และ พรก.ฉุกเฉินหลายคดี)  กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน  ประจำฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสเมื่อเวลา ตี 1 ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

 
 
หากผู้อ่านรายงานชิ้นนี้ ที่ไม่รู้จักนายมะรอโซ จันทราวดี ผู้เขียนแนะนำให้ไปค้นหาใน Google แล้วพิมพ์ชื่อนี้ลงไป จะพบข่าวการรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเกือบทั้งหมด พร้อมด้วยข่าวการก่อเหตุ ณ ที่ต่างๆ ตามด้วยหมายจับจำนวนมาก ล่าสุดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคุณครูชลธี เจริญชล อีกด้วยที่ได้เป็นข่าวในช่วงก่อนหน้านี้
 
ปฐมเหตุของความคับแค้น
 
นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ อายุ 53 ปี ผู้เป็นแม่ได้เล่าว่า หลังจากเหตุการณ์ประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ มะรอโซก็เปลี่ยนไปมาก มะรอโซกลับมาเล่าเหตุการณ์ตากใบให้คนที่บ้านฟังว่า วันนั้นตนเองโดนซ้อนทับ โดนถีบ มัดมือ ในรถบรรทุกของทหารที่จับตัวผู้ชุมนุมในคราวนั้น โดยได้ขนผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในขณะที่อยู่บนรถตัวเค้าเองพยายามดิ้นจนเชือกหลุดและได้ช่วยแก้หมัดที่ข้อมือให้เพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่บนรถคันเดียวกัน โดยตลอดทางเค้าก็โดนถีบโดนเจ้าหน้าที่เอาปืนทุบที่ร่างกายของผู้ชุมนุมที่อยู่บนรถตลอดทาง  มะรอโซได้บอกที่บ้านเสมอว่า เค้ารู้สึกเจ็บปวดและแค้นใจมาก เพราะว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด
 
 
"ตอนกลับมาจากที่ชุมนุมใหม่ๆมะรอโซชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้เลย"  นางเจ๊ะมะ เจ๊นิ ผู้เป็นแม่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลูกชายของตนเอง
 
ขณะที่พูดคุยกับแม่ของนายมะรอโซ สังเกตได้ว่า แม่ของนายมะรอโซ ย้ำว่ารู้สึกผิดหวังกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฎิบัติต่อผู้ชุมนุมเหตุการณ์ตากใบในครั้งนั้นเป็นอย่างมากและได้ย้ำตลอดว่า นายมะรอโซเปลี่ยนไป กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยได้คุยอะไรกับเค้า ทั้งที่จริงก่อนหน้านั้นนายมะรอโซ เป็นคนขยันขันแข็ง มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ปลอกมะพร้าวขาย นำเสื้อผ้ามาขาย  ทำเรื่องการค้าขายเก่ง ฯลฯ แต่เหตุการณ์ตากใบได้ทำให้นายมะรอโซกลายเป็นคนละคน
 
หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดเรื่องใหญ่ในหมู่บ้านมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถเจ้าหน้าที่ทหารที่ลาดตระเวนในหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตทันที 10-11 คน ด้วยเหตุการณ์ในครั้งนั้น นายมะรอโซถูกศาลออกหมายจับในคดีข้างต้น จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมาชื่อของนายมะรอโซ ก็เป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ ทำให้นายมะรอโซต้องหนีออกจากหมู่บ้านโดยทันที  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของอำเภอบาเจาะ ชื่อของนายมะรอโซได้ถูกระบุชื่อเกือบทุกครั้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกกรณี ไม่ว่าในฐานะผู้ปฎิบัติการเองหรือเป็นผู้สั่งการ !!!
 
เพื่อไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจการกระทำของผู้ใช้ความรุนแรง ‪เพื่อจะเข้าใจวงจรการแก้แค้นและแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือ รวมทั้งตั้งคำถามว่า ยุทธการจิตวิทยาของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีช่องว่างอย่างไร ‪ หากจะตอบด้วยกรณีของนายมะรอโซ ช่องว่างที่ว่านี้ น่าจะเป็นเรื่องการไม่ทำความเข้าใจ ความรู้สึกถึงการไม่ได้รับความยุติธรรม และเป็นเงื่อนไขที่มีนักรบรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ หากแค่เพียงในรอบทศวรรษกลุ่มขบวนการสามารถผลิตผู้ใช้ความรุนแรงได้เป็นจำนวนมาก และมีประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งในเชิงการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐ
 
ทั้งนี้ น่าสนใจว่าหากเป็นประสบการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมทางการเมืองและเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการประท้วง ชุมนุม กดดันผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับผลของการสลายชุมนุมเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตากใบ ความรู้สึกคับข้องใจ โกรธแค้น และความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมจะมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร มีข้อถกเถียงอย่างไร และจะสามารถนำไปสู่การสร้างแนวทางในการจัดการกับความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร
 
 
 
ครอบครัวมะรอโซ
 
การตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ก็ได้ทำให้ครอบครัวของมะรอโซ ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามและบุกค้นบ้านอยู่บ่อยครั้ง นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า ตนเองยังเคยโดนจับข้อหามีกระสุนปืนวางอยู่บนกล่องน้ำตาลทรายในบ้าน หลังจากเจ้าหน้ามาค้นบ้านทำให้แม่โดนจับไปที่ค่าย แต่ขังได้ไม่นานก็ปล่อยตัวกลับมา  และน้องชายของนายมะรอโซก็โดนขังมาแล้ว 21 วัน ในข้อหาขว้างระเบิด แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ ก็ต้องปล่อยตัวออกมา แม่ของนายมะรอโซ วิเคราะห์ให้ฟังว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อครอบครัวก็เพื่อต้องการบีบบังคับให้นายมะรอโซออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ
 
 
สำหรับน้องชายของนายมะรอโซ ที่มีใบหน้าเหมือนกับพี่ ก็เคยโดนเจ้าหน้าที่ทหารจับในหมู่บ้านมาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นนายมะรอโซ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้น้องชายหมอบลงกับพื้นและจะลั่นไกยิง แต่ผู้เป็นแม่ตะโกนออกมาว่านั้นคือน้องชายของนายมะรอโซ

ขณะที่ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังพร้อมกับชี้นิ้วไปทางน้องชายของนายมะรอโซที่กำลังยืนละหมาดใกล้ๆ แล้วกล่าวเบาๆว่า "น้องชายของนายมะรอโซแกสติไม่ค่อยดี" ทำไมต้องมาทำอย่างนี้อีก ส่วนรุสนีผู้เป็นภรรยากล่าวเสริมและย้ำว่า น้องชายหน้าเหมือนพี่ชายจริงๆ สองคนพี่น้องหน้าเหมือนกันมาก
 
นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังอย่างออกรสว่า ทหารมาค้นที่บ้านบ่อยมาก หลังๆ นี้หากว่าฉันอยู่ ทหารจะไม่ค่อยเข้ามาในบ้าน จะยืนอยู่หน้าบ้าน เพราะฉันจะด่าไม่หยุด จะด่าตลอด ทำไมต้องมาค้นบ้านทุกวันด้วย แต่หากว่าฉันไม่อยู่ทหารก็จะเข้ามาในบ้าน หากพิจารณาประสบการณ์ของครอบครัวนายมะรอโซ ดูเหมือนว่าหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐมาเยี่ยมบ่อยกว่าญาติมิตรซะอีก
 
สำหรับการเสียชีวิตครั้งนี้ของนายมะรอโซ ผู้เป็นแม่รับได้ ไม่ได้กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นการต่อสู้กันทั้งสองฝ่ายที่มีอาวุธ แต่ก็เชื่อและมั่นใจว่าลูกของตนเองเป็นคนดี แต่เหตุการณ์ตากใบต่างหากที่ทำให้ลูกเค้าต้องเปลี่ยนไปจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งๆ ที่การชุมนุมวันนั้นมะรอโซแค่เดินทางผ่านไปยังเส้นทาง ที่มีการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
 
 
ชีวิตรัก นักรบ
 
ปี 2548 หลังจากเหตุการณ์ตากใบหนึ่งปีให้หลัง นายมะรอโซ ก็ได้ตัดสินใจแต่งงานกับ รุสนี แมเราะ อายุ 25 ปี  ภรรยาของนายมะรอโซ ได้เล่าว่า ก่อนตัดสินใจแต่งงานกับนายมะรอโซ มะรอโซได้บอกกับตนแล้วว่าชีวิตของเค้าเป็นอย่างไร มะรอโซบอกว่า ตนเองนั้นมีหมายจับอยู่หลายคดีและชีวิตต้องหลบๆ ซ่อนๆ จะยอมแต่งงานกับเค้าไหม ? คำตอบของนางรุสนี ก็คือ ได้ตอบตกลงแต่งงานและครองรัก ไม่ได้ครองเรือน ตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา...
 
การดำเนินชีวิตคู่ของนายมะรอโซ ช่วงแรกๆก็ต้องไปใช้ชีวิตที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ไปได้ไม่นาน ก็กลับมาบ้าน เพราะมาเลเซียก็ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ดีนัก ประกอบกับไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่มาเลเซีย ทำให้ทั้งสองต้องเดินทางกลับมาที่บาเจาะ บ้านเกิดอีกครั้ง แต่สำหรับนายมะรอโซ แน่นอนไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ เพราะมีหน่วยทหารและเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่บ้านเกือบทุกวันตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่ง เที่ยงคืนของวันที่ 13 กุมพาพันธ์ หลังจากที่มะรอโซเสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังมาบุกค้นบ้านนายมะรอโซ
 
"เจ้าหน้าที่จะมาค้นบ้านเสมอและฝากบอกที่บ้านว่าให้บอกนายมะรอโซ ให้มามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ฉันก็เคยพูดกับเค้าว่าจะมอบตัวไหม เค้าก็ตอบว่า เค้ามีหมายจับจำนวนมาก ถึงมอบตัวก็ไม่คุ้มและคงไม่มีโอกาสได้ออกมา"  รุสนี แมเราะกล่าวทิ้งท้าย
 
ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 วัน มีเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คันรถ มาบุกค้นที่บ้านถือว่าเป็นครั้งล่าสุดก่อนที่มะรอโซจะเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากนายมะรอโซโดนเจ้าหน้าที่ตามล่าอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนถึงขั้นกล่าวว่า
 
"หากบาเจาะไม่มีมะรอโซ พื้นที่นี้จะสงบสุขทันที"
 
และตลอดระยะเวลาตามล่าตัว บุกค้นบ้านนายมะรอโซอย่างหนัก รุสนีก็ได้มีพยานรักกับนายมะรอโซ สองคน เด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบ และเด็กผู้ชายอายุ 17 เดือน มะรอโซกลับมาเยี่ยมลูกเดือนละสามครั้ง ครั้งล่าสุดนายมะรอโซได้มาเยี่ยมตอนกลางคืนของวันจันทร์ที่ 11 กุมพาพันธ์ สองคืนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งครั้งนั้นอยู่ได้ไม่นานเท่าไร แต่การติดต่อครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งสุดท้าย การสื่อสารทางเสียงเกิดขึ้นเมื่อคืนวันเกิดเหตุเวลาประมาณสามทุ่ม
 
"อาแบได้โทรมาคุย ฉันก็ถามว่าวันนี้จะกลับมาไหม อาแบบอกว่าคืนนี้มีงานนิดหน่อย และไม่แน่อาจจะกลับมาบ้าน" 
 
ทว่าเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นรุสนีได้ยินเสียงโทรศัพท์ปลายสายจากทหารที่คุ้นเคยกันดี ได้โทรมาบอกว่า นายมะรอโซอาจจะตายแล้ว และจะโทรมาบอกอีกครั้ง หกโมงเช้ารุสนีก็ได้รับโทรศัพท์อีกครั้ง ยืนยันว่านายมะรอโซได้เสียชีวิตแล้ว รุสนีได้เดินทางไปรับศพที่โรงพยาบาล หากแต่ทว่าศพของนายมะรอโซ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับกลับไป เพราะว่ามีผู้ใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องการดูศพจำนวนมาก ทำให้กว่าได้รับศพกลับบ้านก็ตอน 11 โมงแล้ว
 
สำหรับบรรยากาศพิธีการฝังศพของนายมะรอโซ มีคนจำนวนมากมาร่วมงานศพและกล่าวสรรเสริญ พร้อมทั้งอวยพรให้ศพของนายมะรอโซ แต่ในเย็นวันนั้นหลังจากงานศพของนายมะรอโซ เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านก็โดนเจ้าหน้าที่รัฐจับไป 3 คน หลังจากเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมหมู่บ้านอีกครั้ง
 
พิธีฝังศพก็เป็นไปในตามแบบฉบับของนักต่อสู้ ก็คือการไม่อาบน้ำศพและไม่ละหมาดศพ ฝังโดยทันที และเป็นไปตามความต้องการของผู้ตายที่ได้กำชับภรรยาใว้ ก่อนหน้านี้
 
 
รุสนีได้เล่าให้ฟังว่า มะรอโซเป็นคนที่เกรงใจคน ไม่ยอมไปหลบซ่อนหรือขอนอนบ้านชาวบ้าน เพราะเกรงว่าจะทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน มะรอโซก็จะผูกแปลนอนในป่าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวเราก็สงสารเพราะแฟนเหนื่อยมาก ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แฟนทำงานหนักมากและมีความตั้งใจอย่างมาก
 
มะรอโซเค้ามักย้ำกับภรรยาเสมอว่า อยากให้ลูกสาวเรียนศาสนาเยอะๆ หากเป็นไปได้ อยากให้เรียนถึงต่างประเทศ โดยจะให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนามากๆ เพราะอยากให้ลูกทั้สองมีการศึกษาและเรียนสูงๆ เท่าที่ลูกจะเรียนได้
 
มะรอโซเป็นที่รักครอบครัวมาก อยากให้ครอบครัวสบายและเป็นคนที่ตามใจลูกมากๆ ลูกอยากได้อะไรก็พยายามหามาให้ มะรอโซเป็นคนที่รับผิดชอบสูงมากต่อครอบครัว แม้ว่าชีวิตของเค้าเองจะลำบากก็ตาม เค้าได้วางแผนเรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาของลูกๆ เพราะว่าต้องการให้ลูกเรียนสูงๆ โดยเฉพาะทางด้านศาสนา
 
หลังจากทราบข่าวจากทหารในพื้นที่ ที่ได้โทรมาบอกตอนเช้าว่า นายมะรอโซ ได้เสียชีวิตแล้ว ก็เหมือนว่าภารกิจของนายมะรอโซ เสร็จสิ้นแล้ว...
 
รุสนีได้กล่าวว่า เธอภูมิใจกับสามีอย่างมากที่ได้ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวได้ดีเสมอมา และการเสียชีวิตครั้งนี้เธอไม่เสียใจเลย เพราะภรรยาของนายสุไฮดี ตะเห ผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายมะรอโซ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย ก็ไม่เสียใจ
 

คำถามสุดท้ายจากผู้เขียน นายมะรอโซทำเพื่ออะไร ?
 
รุสนี ภรรยานายมะรอโซ  "ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าทำเพื่ออะไร ?"  พร้อมรอยยิ้มและเอื้อมมือไปจับตัวเด็กหญิงที่กำลังนั่งเล่นของเล่นชิ้นใหม่อยู่ข้างๆ 
 
 
 

หมายเหตุ: 
ปาตานี ฟอรั่ม(Patani Forum) คือองค์กรภาคประชาสังคม ก่อตั้งโดยคนที่ทำงานด้านพัฒนาสังคม นักวิชาการ และนักเขียน ซึ่งทำงานด้านการบริการทางวิชาการ เป็นการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยน ถกเถียง อย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้ของไทย และสรรค์สร้าง เสนอวิธีการที่เหมาะสมที่สุดต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยโดยมีเป้าหมายทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ของท้องถิ่นและนักกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะยกประเด็นที่มีความสำคัญต่อผู้คนในภูมิภาคนี้ ด้วยการรณรงค์ การจัดอบรม การมีส่วนร่วมภาคพลเมือง และการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับพลวัตในพื้นที่และความขัดแย้งที่เรื้อรัง แนวคิดหลักคือการที่จะโน้มน้าวให้สังคมไทยและรัฐ ใช้เป็นแนวทางเพื่อสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สตม. ชี้แจงไม่มียังไม่พบกรณีโรฮิงญาเกี่ยวข้องกับความไม่สงบชายแดนใต้

Posted: 14 Feb 2013 11:08 PM PST

พ.ต.อ.อนุชา กิติวิภาต ผู้กำกับการฝ่ายอำนาจการ 2 กองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ 2547 ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนที่พบชาวโรฮิงญามีส่วนเกี่ยวข้อง ระบุปัญหาห้องกักแออัดยังไม่มีความชัดเจนว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะแก้ปัญหาอย่างไร

พ.ต.อ.อนุชา กิติวิภาต ผู้กำกับการฝ่ายอำนาจการ 2 กองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เปิดเผยข้อมูลในเวทีเสวนา "โรฮิงญา: บททดสอบและก้าวย่างประชาคมอาเซียน" ระบุ ว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนที่พบกรณีที่เกี่ยวข้องกับโรฮิงญา ดังที่มีข่าวออกไปก่อนหน้านี้

"ตำรวจออกหมายจับไปทั้งสิ้น 9,007 หมาย เราจับกุมแล้ว 5,420 หมาย ตั้งแต่ปี 2547 ทุกครั้งที่ตำรวจจับได้ก็เราก็จะดำเนินการสืบสวนสอบสวน ขอยืนยันว่าตลอด 5,420 หมาย ไม่เคยมีกรณีที่เกี่ยวข้องกับโรฮิงญาแม้แต่รายเดียว"

พ.ต.อ.อนุชา กล่าว พร้อมเรียกร้องให้สื่อใช้วิจารณญาณในการนำเสนอด้วย และกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่าปัญหาของโรฮิงญานั้นเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งเขายืนยันว่ามีจริง และมีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผล แต่จุดเริ่มต้นของปัญหานั้นเป็นเรื่องของการหลบหนีเข้าเมือง ส่วนกระบวนการค้ามนุษย์หรือนายหน้าค้าแรงงานนั้นเป็นปัญหาที่ตามมาทีหลัง

พ.ต.อ.อนุชายังกล่าวถึงการคัดแยกและดูแลชาวโรฮิงญาระลอกล่าสุด ว่าในส่วนการเก็บข้อมูล ได้ล่ามจากทางผู้นำทางศาสนาอิสลามมาช่วยเหลือ แต่ปัญหาเบื้องต้นคือชาวโรฮิงญามักจะเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ เวลาตรวจนับทำให้จำนวนที่ตรวจนับคลาดเคลื่อน ซึ่งตอนนี้แก้ปัญหาโดยการใส่สายข้อมือให้เพื่อจะเช็คจำนวนได้ และดูแลเรื่องกินอยู่ สุขอนามัย การเข้าห้องน้ำ ที่ละหมาด แต่ยังไม่มีการดำเนินการตรวจดีเอ็นเอแต่อย่างใด

สำหรับกรอบการทำงานขณะนี้จากที่ประชุมใหญ่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 ม.ค.มีมติออกมาว่าให้ตำรวจดูแลไปก่อน และให้กระทรวงการต่างประเทศไปเจรจรากับประเทศต้นทางคือพม่า ว่าจะรับคนเหล่านี้กลับหรือไม่ รวมถึงประสานกับองค์กรต่างๆ ว่าจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

โดยการประชุมล่าสุดวันที่ 25 ม.ค. โดยมีรมต. ต่างประเทศเป็นประธานการประชุมยืนยันว่าจะดูแลชาวโรฮิงญาต่อเนื่องหกเดือนและต้องการให้สตม. หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปทำสถานที่เพื่อให้อยู่รวมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการจัดการกลุ่มคนขนาดใหญ่ก็จะมีปัญหาใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา

สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ยังมีจำนวนชาวโรฮิงญาถูกจับกุมอย่างต่อเรื่อง จากเดือนม.ค. 800 กว่าคน ปัจจุบันนี้มี 1,772 (ชาย 1429, หญิง 129 เด็กชาย 132 เด็กหญิง 82) โดยต้องกระจายไปยังห้องกักทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความแออัด ทั้งนี้ พ.ต.อ.อนุชากล่าวว่าขณะนี้มีห้องกักอยู่ทั่วประเทศ 40 ห้องกัก และรองรับผู้ต้องกักได้เพียงราว 3,000 คนเท่านั้น ซึ่งนอกเหนือจากชาวโรฮิงญาแล้ว ก็มีผู้ต้องกักชาติอื่นอยู่อีกเป็นจำนวนหลักพันคนเช่นกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น