โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

‘ศูนย์ทนายสิทธิฯ’ เปิด(อย่างน้อย)อีก 9 ผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ยังสู้คดีและไม่ได้ประกันตัว

Posted: 14 Sep 2018 08:28 AM PDT

'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' รวบรวมผู้ต้องขัง 112 'รุ่งศิลา' กวีการเมือง สู้คดี 112 ในศาลทหารและยังถูกคุมขังมาแล้วกว่า 4 ปี 'อัญชัญ' กับการต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาถึง 29 กรรม ถูกคุมขังมาแล้ว 3 ปีครึ่ง สุริยศักดิ์ อดีต นปช.สุรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาส่งข้อความผ่านไลน์ ถูกคุมขังมาแล้วปีกว่า ขณะที่ 6 จำเลย ในคดีอ้างว่าเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for dad ถูกคุมขังมามากกว่า 2 ปี

วานนี้ (13 ก.ย. 61) เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังจากวันที่ 4 ก.ย. 61 ที่ผ่านมา ศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัว ณัฎฐธิดา "แหวน"  มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสา และพยานปากสำคัญคดีสังหาร 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในคดีปาระเบิดศาลอาญา และคดีมาตรา 112 หลังถูกคุมขังมากว่า 3 ปี 5 เดือน และต้องต่อสู้คดีที่ดำเนินไปอย่างล่าช้าในศาลทหาร โดยแยกเป็นการให้ประกันตัวในคดีปาระเบิดศาลอาญาด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 4 แสนบาท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามคดีและพบว่า ยังมีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ต่อสู้คดี และยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อีกอย่างน้อย 9 ราย (ไม่รวมกรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งกลุ่มจำเลยไม่ได้ต่อสู้คดี)

บางรายได้เคยขอยื่นประกันตัวมาแล้วหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยเหตุผลหลักเป็นเรื่องคดีมีความร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี แต่บางรายก็ไม่สามารถยื่นขอประกันตัวได้ เนื่องจากปัญหาวงเงินประกันตัวค่อนข้างสูง อย่างน้อย 3-4 แสนบาทต่อรายขึ้นไป ทำให้ผู้ต้องหาในหลายคดี ซึ่งไม่มีฐานะทางการเงิน ไม่ได้มีหลักทรัพย์เพื่อนำมาใช้ในการยื่นขอประกันตัวได้ แม้ศาลอาจจะให้ประกันตัวก็ตาม

จำเลยที่ไม่ได้ประกันตัวหลายคดียังต้องต่อสู้คดีในศาลทหาร ซึ่งการสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากระบบนัดคดีของศาลทหารที่แตกต่างจากศาลพลเรือน โดยนัด 2-3 เดือนต่อหนึ่งนัด ทำให้คดีใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ ระบบลักษณะนี้ยังทำให้จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวหลายรายก่อนหน้านี้ ตัดสินใจกลับคำให้การ โดยยินยอมรับสารภาพมาแล้ว

ต่อไปนี้ เป็นผู้ต้องขังที่ยังต่อสู้คดีอยู่ แต่ถูก "ขังลืม" อยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน

'รุ่งศิลา' กวีการเมือง สู้คดี 112 ในศาลทหารและยังถูกคุมขังมาแล้วกว่า 4 ปี

สิรภพ (สงวนนามสกุล) หรือ รุ่งศิลา (นามปากกา) อายุ 55 ปี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง แต่อีกหมวกหนึ่งอยู่ในฐานะนักเขียนและกวีการเมือง เขาเขียนบทความและบทกวีโดยเฉพาะแนววิพากษ์วิจารณ์การเมืองเผยแพร่ในโลกออนไลน์หลายแห่งหลายที่ และเขาก็ถูกคุมขังจากเหตุเรื่องการเขียนบทกลอนและเผยแพร่บทความในเว็บไซต์ รวมจำนวน 3 ข้อความ เขาถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยข้อความหนึ่งเผยแพร่ลงในเว็บบอร์ดประชาไทตั้งแต่ปี 2552 และอีกสองข้อความเผยแพร่ในเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2556 และ 2557

ก่อนหน้านี้ ครอบครัวของนายสิรภพได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารมาแล้ว 6 ครั้ง แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวทุกครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. 61 ที่ผ่านมา ญาติยื่นหลักทรัพย์ 500,000 บาท ในการขอประกันตัว แต่ศาลยังคงไม่อนุญาต

ตั้งแต่อัยการทหารได้มีการสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 57 และสิรภพยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา คดีสามารถสืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก จาก 13 ปาก โดยศาลทหารยังสั่งให้พิจารณาเป็นการลับในคดีนี้

จากความล่าช้าในกระบวนการสืบพยาน ทำให้คดียังต้องใช้ระยะเวลาอีกเป็นปีๆ กว่าศาลทหารจะมีคำพิพากษา 

'อัญชัญ' กับการต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาถึง 29 กรรม ถูกคุมขังมาแล้ว 3 ปีครึ่ง

เธอเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ด้วยจำนวนกรรมมากที่สุดเท่าที่มีการรายงานข่าวกันมา

อัญชัญ (สงวนนามสกุล) ปัจจุบันอายุ 60 ปี เป็นอดีตข้าราชการของกรมสรรพากร ก่อนถูกจับกุมเธอกำลังจะเกษียณอายุราชการหลังจากทำงานมานานกว่า 30 ปี นอกจากนั้นยังทำอาชีพขายตรงสินค้าสมุนไพรต่างๆ  อัญชัญมีโรคประจำตัวเป็นความดัน และเบาหวาน ทำให้ต้องรับประทานยาเป็นประจำ

เธอถูกทหารบุกจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 58 ถูกนำตัวไปในค่ายทหาร 5 วัน ก่อนถูกกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการอัพโหลดคลิปเสียงของ "บรรพต" ลงบนเว็บไซต์ยูทูบ และในเฟซบุ๊ก โดยเธอถูกฟ้องร้องจากคลิปเสียงที่มีข้อความมากถึง 29 กรรม ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 57 ถึง 24 ม.ค. 58

อัญชัญถูกฝากขังและจองจำในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 59 ญาติเคยยื่นขอประกัน แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ปี 60 ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 1,000,000 บาท แต่ศาลทหารไม่อนุญาต โดยอ้างเหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้เธอยังคงถูกคุมขังอยู่จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่คดีในศาลทหารกรุงเทพของอัญชัญก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากเธอตัดสินใจต่อสู้คดี โดยตั้งแต่อัยการทหารสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 58 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 3 ปีครึ่ง คดีสืบพยานโจทก์ไปได้ 7 ปาก จากพยานโจทก์ทั้งหมด 11 ปาก และยังมีพยานจำเลยที่ยังไม่ได้สืบอีก 2 ปาก

คดีของอัญชัญ เช่นเดียวกับสิรภพ คือศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในคดีได้ ทำให้คดียิ่งดำเนินไปอย่างเงียบๆ เช่นกัน

สุริยศักดิ์ อดีต นปช.สุรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาส่งข้อความผ่านไลน์ ถูกคุมขังมาแล้วปีกว่า

สุริยศักดิ์ อายุ 50 ปี เป็นอดีตแกนนำกลุ่ม นปช. ในจังหวัดสุรินทร์ และประกอบอาชีพเปิดร้านขายของอยู่ในจังหวัดสุรินทร์

สุริยศักดิ์เป็นหนึ่งใน 9 บุคคล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวในช่วงเดือน มี.ค. 2560 การแถลงข่าวหลังจับกุมอ้างว่าบุคคลกลุ่มนี้เป็นเครือข่ายของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ "โกตี๋" พร้อมกับตรวจค้นพบอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ต่างๆ จากหลายจุด ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมดในคดีก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553

ตัว สุริยศักดิ์ เอง ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 15 นาย จากบ้านพักในจังหวัดสุรินทร์ และมีการนำตัวไปควบคุมในค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 ต่อมา นอกจากถูกกล่าวหาในคดีก่อการร้าย  สุริยศักดิ์ยังได้ถูกทาง ปอท. กล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นอีกคดีหนึ่งด้วย โดยกล่าวหาว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เขาได้มีพฤติการณ์ส่งข้อความถึงสมาชิกในกลุ่มไลน์คนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจพบ

ในกรณี "เครือข่ายโกตี๋" นี้ ผู้ต้องหาคนอื่นที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปหลังถูกขังครบ 84 วัน แต่อัยการยังสรุปสำนวนส่งฟ้องไม่ทัน มีเพียงสุริยศักดิ์ที่ถูกอายัดตัวฝากขังต่อในคดีมาตรา 112 (คล้ายคลึงกับกรณีของแหวน) และถูกส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ  โดยจำเลยเคยขอประกันตัวรวม 3 ครั้ง ทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณา แต่ศาลทหารไม่อนุญาต แม้จะวางหลักทรัพย์มูลค่าถึง 8 แสนบาท ก็ตาม

ถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่า 1 ปี 5 เดือนแล้ว ที่เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สุริยศักดิ์ยังยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มต้นการสืบพยานในศาลทหารแต่อย่างใด

6 จำเลย ในคดีอ้างว่าเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for dad ถูกคุมขังกว่า 2 ปี

จ.ส.ต.ประธิน และณัฐพล ถูกจับกุมจากบ้านพักในขอนแก่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ทางฝ่าย คสช. และเจ้าหน้าที่ทหาร กล่าวอ้างในช่วงแรกว่าเป็นการจับกุมกลุ่มบุคคลที่เตรียมจะก่อความวุ่นวายในกิจกรรม Bike for Dad ซึ่งมีกำหนดจัดในช่วงนั้น

ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติออกหมายจับบุคคลรวม 9 ราย ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้ถูกออกหมายจับอีก 7 คน ถูกจับกุมในเวลาต่อมา 2 คน เข้ามอบตัว 2 คน ถูกจำคุกในคดีอื่นอยู่แล้ว 1 คน ส่วนอีก 2 คน ยังหลบหนี  ทั้ง 6 คน ที่เจ้าหน้าที่ได้ตัวมา ถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี ซึ่งอยู่ใน มทบ.11 ระหว่างนี้ 1 ใน 6 คน ได้ถูกปล่อยตัวไป

จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อัยการทหารได้ยื่นฟ้องกรณีนี้แยกเป็น 2 คดี ได้แก่

  • คดีของ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 5 คน (วีระชัย, วัลลภ, พาหิรัณ และธนกฤต) ในความผิดตามมาตรา 112 มีการยื่นฟ้องที่ศาล มทบ.23 จ.ขอนแก่น โดยกล่าวหาว่าระหว่างเดือน ส.ค. 57 ถึงวันที่ 24 ก.พ. 58 จำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันสนทนาข้อความที่หมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท จำนวน 3 ข้อความ ต่อหน้าบุคคลผู้มีชื่อ จำนวน 2 คน
  • คดีของ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 2 คน (ณัฐพล) ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการยื่นฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ แต่ต่อมามีการโอนคดีมาที่ศาล มทบ.23 โดยกล่าวหาจำเลยในสองกรรม จากการส่งข้อความทางไลน์หากัน เป็นข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 และจากการที่ จ.ส.ต.ประธินจดบันทึกลงในสมุดมีข้อความเข้าข่ายมาตรา 112

ทั้งหมดถูกย้ายมาคุมขังที่เรือนจำขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน ในจำนวนนี้มี 3 ราย รวมทั้ง จ.ส.ต.ประธินเอง ที่เป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดลอยู่ก่อนแล้ว และต่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ แต่ในคดีมาตรา 112 ของทั้ง 6 คน กลับไม่ได้รับการประกันตัว แม้ได้เคยยื่นขอประกันตัวมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ศาลทหารก็ยังไม่อนุญาต

คดีนี้ยังมีข้อกังขาในแง่ที่ว่า ในการแถลงข่าวการจับกุมและออกหมายจับมีการระบุถึงการเตรียมก่อเหตุรุนแรงในกิจกรรม Bike for Dad  แต่จำเลยทั้งหมดกลับถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งล้วนไม่เกี่ยวข้องกับ Bike for Dad ตามที่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด โดยพฤติการณ์ตามคำฟ้องของอัยการทหารเป็นเรื่องการพูดคุยกันในเรือนจำ การส่งไลน์ส่วนตัว และการเขียนในสมุดบันทึกส่วนตัว

9 รายคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ  

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ แม้ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ต่อสู้คดี แต่ก็เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่คดียังดำเนินอยู่ โดยจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา ได้แก่ กรณีที่จำเลยรวมทั้งสิ้น 11 ราย ถูกกล่าวหาเรื่องการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นหลายจุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560

เริ่มแรกมีการจับกุมวัยรุ่น เด็กอายุ 14 ปี และผู้ใหญ่ ควบคุมตัวในค่ายทหาร (มทบ.11) 6 วัน แล้วส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีรวม 9 ราย โดยอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพล 8 ราย แยกเป็น 3 คดี จากการก่อเหตุในแต่ละจุด ในข้อหาทั้งอั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, และความผิดตามมาตรา 112 และแยกฟ้องในศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ขอนแก่น 1 ราย ในข้อหาเดียวกัน

ในช่วงต้นของการพิจารณาคดี จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ และให้การปฏิเสธในข้อหาอื่นๆ โดยในข้อหามาตรา 112 จำเลยยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีเจตนา ในเวลาต่อมาจำเลยทั้งหมดให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทำให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกด้วยอัตราโทษต่างๆ กัน

ต่อมา จำเลยวัยรุ่น 6 คน ตัดสินใจอุทธรณ์ใน 2 คดี โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 61 ทนายความได้ยื่นขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร หรือให้จำเลยเสียค่าปรับ หรือทำงานบริการสังคม

ปัจจุบันคดีจึงอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาอุทธรณ์ โดยกลุ่มจำเลยไม่ได้มีหลักทรัพย์ในการยื่นขอประกันตัว ทำให้ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี

ผู้ต้องขังคดี 112 ที่คดีสิ้นสุดแล้ว อีกหลายคนก็ยังคงถูกจองจำ สูงสุด 70 ปี ลดเหลือ 30 ปีครึ่ง

ขณะเดียวกัน นอกจากกลุ่มผู้ต้องขังที่คดียังดำเนินอยู่เหล่านี้ ผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 อีกหลายราย ที่คดีสิ้นสุดลงแล้ว ก็ยังคงถูกคุมขังอยู่เช่นกัน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีกลุ่มผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังหลังคดีสิ้นสุดแล้ว จำนวนอีกอย่างน้อย 18 คน (นับเฉพาะผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้รวมถึงกรณีมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง หรือหาประโยชน์ส่วนบุคคล)

ผู้ต้องขังหลายคนถูกลงโทษในอัตราที่รุนแรง เนื่องจากถูกฟ้องด้วยจำนวนกรรมจำนวนมาก ทำให้ยังคงถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กรณีของวิชัย ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจากข้อความ 10 กรรม กรรมละ 7 ปี รวมลงโทษจำคุก 70 ปี และลดโทษให้ครึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพเหลือโทษจำคุก 30 ปี 6 เดือน คดีนี้เป็นคดีที่ถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเท่าที่เคยติดตามได้

กรณีของพงษ์ศักดิ์ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก จากข้อความ 6 ข้อความ ข้อความละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 60 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี

กรณีของศศิพิมล ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาลงโทษจำคุก จากข้อความ 7 ข้อความ ข้อความละ 8 ปี รวมโทษจำคุก 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี

กรณีของเธียรสุธรรม ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก จากข้อความ 5 ข้อความ ข้อความละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 50 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี

รวมทั้งกรณีของนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่พอเป็นที่รู้จัก อย่างกรณีของ "ไผ่ ดาวดิน" นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากกรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 แม้จะตัดสินใจต่อสู้คดี แต่หลังสืบพยานไปได้สองวัน จตุภัทร์กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน ถึงปัจจุบันเขาเหลือโทษจำคุกอีกราว 9 เดือน

หรือกรณีของธานัท หรือ "ทอม ดันดี" นักกิจกรรมเสื้อแดง ซึ่งถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ถึง 4 คดี แม้สองคดีใหม่ในปีนี้ ศาลจะยกฟ้อง แต่ทอมก็ยังต้องถูกคุมขังจากโทษในสองคดีแรก ซึ่งเขารับสารภาพไปก่อนหน้านี้ และถูกศาลพิพากษาจำคุกสองคดีรวมกัน เป็นเวลา 10 ปี 10 เดือน

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รู้จัก ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ผ่านปมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ป่าบุญเรืองและผลกระทบบนลุ่มน้ำอิง

Posted: 14 Sep 2018 07:20 AM PDT

ทำความรู้จักนิยาม 'พื้นที่ชุ่มน้ำ' ตามอนุสัญญาแรมซาร์ ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในอนุสัญญารักษ์โลก มองบทเรียน วิกฤต และโอกาสที่ไหลมากับแม่น้ำผ่านกรณีศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองและลุ่มน้ำอิงเผชิญปัญหาจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษการจัดการการพัฒนา การใช้ทรัพยากรที่ขาดการประสานงานที่ดี

'พื้นที่ชุ่มน้ำ' เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของมนุษย์ในหลายมิติ ในประเทศไทยก็มีพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นนี้อยู่ทั่วประเทศ แต่มีระดับการให้ความสำคัญไม่เท่ากัน และปัจจุบันมันกำลังเผชิญภัยคุกคามจากแนวนโยบายของรัฐไทย

รู้จักพื้นที่ชุ่มน้ำ

ตามนิยามในอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ให้ความหมายพื้นที่ชุ่มน้ำว่าเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้้าขัง (marsh) พื้นที่ลุ่ม (fen) พื้นที่พรุ (peatland)พื้นที่ฉ่ำน้ำ(water) ไม่ว่าจะเกิดตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น เกิดขึ้นเป็นการถาวรหรือชั่วคราว มีน้ำนิ่งหรือน้ำไหล เป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม และพื้นที่ทางทะเลในบริเวณเมื่อน้ำลงต่ำสุดมีระดับน้ำลึกไม่เกินหกเมตร

 

พื้นที่หนองอ้อ บริเวณป่าชุ่มน้ำบุญเรือง

คู่มือของอนุสัญญาฯ แบ่งประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นห้าประเภท ดังนี้

พื้นที่ทางทะเล: พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ทะเลสาบน้ำเค็ม หาดหินและแนวปะการัง

พื้นที่ปากแม่น้ำ: ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง และพื้นที่ป่าชายเลน

พื้นที่ทะเลสาบ: พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณทะเลสาบ

พื้นที่แหล่งน้ำไหล: พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำ และลำธาร

พื้นที่หนองน้ำ ที่ลุ่มชื้นแฉะ: ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ลุ่มน้ำขังและหนองน้ำซับ

นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำออกเป็นสามประเภทหลักได้ตามนี้

พื้นที่ชุ่มน้้าทางทะเล และชายฝั่งทะเล: แนวปะการัง ชายฝั่ง หน้าผาชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้้ากร่อย หาดโคลน หาดเลน ทะเลสาบน้้าจืดบนเกาะ ป่าชายเลน ภูมิประเทศแบบคาสก์ ฯลฯ

พื้นที่ชุ่มน้้าในแผ่นดินใหญ่: ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย พื้นที่ชุ่มน้้าอัลไพน์ พื้นที่ชุ่มน้้าในเขตทุนดรา ป่าพรุ น้ำพุ โอเอซิส ฯลฯ

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น: อ่างเก็บน้้า สระน้้า บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ

พื้นที่ชุ่มน้ำทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝนและน้ำท่า ป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ป้องกันภัยธรรมชาติ เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตทางธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ เช่น เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตห่วงโซ่อาหาร ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ

ประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสารเพื่อเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ เมื่อ 13 พ.ค. 2541 เป็นลำดับที่ 110 ของภาคีอนุสัญญา จากการสำรวจของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 1 ส.ค. 2543 ระบุว่า พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทะเลสาบและแม่น้ำกระจายอยู่ทั่ว ประเทศ รวมเนื้อที่ได้ ประมาณ 22,885,100 ไร่ เท่ากับร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ ประเทศโดยแบ่งกลุ่มตามลำดับความสำคัญตามอนุสัญญาแรมซาร์ได้ดังนี้

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับระหว่างประเทศที่ขึ้นทะเบียน แรมซาร์ 14 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 61 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 48 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น 19,295 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีสมควรได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟู 28 แห่ง

ข้อมูลเมื่อเดือน ส.ค. 2559 รายงานว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) จำนวน 14 แห่ง พื้นที่รวมประมาณ 2,498,211.5 ไร่ หรือ 399,713.84 เฮกแตร์

มองบทเรียน วิกฤต และโอกาสที่ไหลมากับแม่น้ำผ่านกรณีพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรือง

พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรือง เป็นหนึ่งในจุดหมายในการมาลงพื้นที่ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงรายของทีมผู้สื่อข่าว ภาคประชาชน ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ทั้งไทยและต่างชาติเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองเป็นป่าและหนองน้ำเนื้อที่ประมาณ 3,706 ไร่ เป็นผืนป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง กินเนื้อที่ห้าชุมชน โดยส่วนใหญ่เนื้อที่อยู่ในเขตบ้านบุญเรืองใต้ หมู่ 2 ป่าบุญเรืองเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนใช้ประโยชน์ในการหาอยู่หากิน เก็บผัก หาปลา นำไม้ไปใช้สอยมานานกว่า 200 ปี มีสภาพเป็นป่าชุ่มน้ำตามฤดูกาล (Seasonal Wetland)

พื้นที่ชุ่มน้ำบุญเรืองในหน้าน้ำหลาก

พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองถูกเสนอเป็นพื้นที่หนึ่งใน จ. เชียงราย ที่จะถูกใช้รองรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี 2558 แต่เมื่อชาวบ้านทราบก็ไม่เห็นด้วยเพราะพื้นที่ป่าบุญเรืองเป็นพื้นที่รับหรือกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ถ้ามีการพัฒนาก็จะมีผลกระทบกับชุมชนทั้งเรื่องการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาวะต่างๆ  ที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้พึ่งพามานานกว่า 200 ปี มติของหมู่บ้านอันชัดเจนนำไปสู่การเกิดเวทีสือสารระหว่างชาวบ้านและภาครัฐ

กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำงานเก็บข้อมูลร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานในและนอกประเทศจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองมีคุณูปการกับระบบนิเวศ ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และคุณภาพชีวิตของคนที่พึ่งพาอาศัยป่า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อจัดทำนิคมอุตสาหกรรม พบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าเกณฑ์ป่าเสื่อมโทรมถึงแปดเท่า เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ พบระบบนิเวศย่อย 8 ประเภท มีความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ป่า และปลารวมอย่างน้อย 271 (ไม่รวมแมลง) และยังมีเสือปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ด้วย

การลงพื้นที่ในช่วงหน้าฝนทำให้พื้นที่ป่าบุญเรืองชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำที่หนุนขึ้นมาจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง หรือพูดง่ายๆ ว่าน้ำท่วม เส้นทางการลงพื้นที่จึงจำกัดอยู่ที่บริเวณหนองอ้อ หนองน้ำข้างแม่น้ำอิงที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหาร และธรรมชาติใช้มันเป็นหลุมเพาะพันธุ์สัตว์และพืช

สุวิทย์ การาหัน

สุวิทย์ การาหัน รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรืองให้ข้อมูลว่าหนองอ้อมีขนาดราว 18 ไร่ เวิ้งบริเวณที่ยืนอยู่นี้จำนวนหนึ่งไร่มีผักกูดและชะพลู ในหน้าน้ำหลากเช่นนี้ (ราวเดือน พ.ค. - ส.ค.) เป็นเวลาที่ปลาที่มากับน้ำโขงและน้ำอิงใช้หนองอ้อเป็นที่วางไข่ และเมื่อเข้าหน้าแล้ง น้ำที่ไหลออกก็พาปลาออกไปสู่แม่น้ำด้วย ผักที่งอกอยู่ในบริเวณนี้ก็ให้ชาวบ้านและคนที่ผ่านไปมาเก็บไปทำกินได้ แต่ห้ามตัดต้นไม้ หรือกอบโกยเอาพืชผักไปขาย ซึ่งถือเป็นกฎชุมชนที่สุวิทย์บอกว่าบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเสริฐ แก้วตา ผู้ใหญ่บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ที่ 2 เล่าให้ฟังว่า พื้นที่บริเวณป่าบุญเรืองเคยถูกขอใช้จากบริษัทเอกชน แต่ด้วยความกลัวมลพิษทำให้ชาวบ้านบุญเรืองค้านกัน ในขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ต่างอนุญาต นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้ขอใช้พื้นที่โดยส่งโครงการผ่านทางอำเภอ แต่ขณะนี้ก็ชะลอโครงการไปก่อนเนื่องจากมีเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามา

ต้นชะพลูที่บริเวณหนองอ้อ พบได้ตามใต้ต้นไม้ใหญ่

"ปี 58 ก็มีบริษัทเอกชนมาเรียกผู้นำไปประชุมกัน มี 10 หมู่บ้าน ก็ 10 ท่าน จะขอใช้พื้นที่ (บริษัท) ให้ไปประชาคมตามหมู่บ้าน ทางหมู่บ้าน (บุญเรืองใต้ หมู่ 2) ก็ไม่ให้ แต่หมู่บ้านอื่นก็อนุญาตเพราะว่าไม่ได้ดูแลผืนป่าแห่งนี้ เขาไม่ได้ทำมาหากินทางนี้ ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ยอมเพราะกลัวอากาศเป็นพิษ กลัวสารเคมี"

"ล่าสุดเขาก็ถอย ปกติตอนแรก (มหาวิทยาลัย) แม่โจ้เข้ามาก่อน ชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าจะให้พื้นที่ 400 กว่าไร่ แต่พอหลังๆ (ม.แม่โจ้) จะเอาพัน สองพัน สามพันไร่ ชาวบ้านก็ยังจะให้อยู่นะ (แต่) เนี่ยเอาโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามา คงจะชักชวนกันเข้ามา ชาวบ้านเลยไม่ยอม"

"แม่โจ้ตอนแรกก็จะให้นะ แต่ว่ามันมาเดือดร้อนตรงอุตสาหกรรม เขาก็ไปเฉยๆ ทางอำเภอก็ว่าแม่โจ้จะเกิดอยู่ แต่ชะลออยู่ เพราะว่าเข้าโครงการอยู่แล้ว คงจะชะลออยู่ แต่โรงงานนี่คงไม่เกิด"

ผู้ใหญ่บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ 2 เล่าว่าชาวบ้านยังคงกังวล เพราะแม้ภาครัฐจะบอกว่าไม่ใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองแล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารยืนยันใดๆ พ้นที่ป่าบุญเรืองอาจตกเป็นเป้าหมายของกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยอำนาจตามมาตรา 44

พิธีบวชป่าคือหนึ่งวิธีที่ชาวบ้านใช้ในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ ผ้าจีวรสามารถพบได้ตามต้นไม้ใหญ่บริเวณนี้

เมื่อมองภาพที่กว้างออกไปจะพบว่าป่าบุญเรืองตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำอิง ซึ่งข้อมูลจากเอกสารของสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงให้ข้อมูลไว้ว่า มีความยาวกว่า 260 กม. ไหลจาก จ.พะเยาสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของทั้งสองจังหวัด แม่น้ำยังหล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำรอบๆ ขนาดถึง 7,238 ตร.กม. หรือ 4.5 ล้านไร่ ประชากรบริเวณนั้นไม่น้อยกล่า 1 แสนคน และพื้นที่ชุ่มน้ำแบบป่าบุญเรืองอีกถึง 8,590 ไร่

ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงประสบปัญหาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.เชียงของบนพื้นที่สาธารณะ ต.บุญเรืองและ ต.สถาน นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลไกการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เช่น พืชเชิงเดี่ยว ความขัดแย้งในการใช้น้ำในลุ่มน้ำอิงในหน้าแล้งที่มาจากการขาดการเตรียมการที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติที่มีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

พิชเญศพงศ์ คุรุปรัชญามรรค ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง / ผู้ประสานงานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงอธิบายเรื่องราวของโครงการทั้งหลายบนป่าบุญเรืองและแม่น้ำอิงที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีสองปีนี้ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็มีนโยบายลดการแย่งชิงทรัพยากร เปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นโฉนดชุมชน ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำแบบบ้านบุญเรืองใต้ ม.9 กลายเป็นที่นา ไร่ แต่ก็ใช้ได้ไม่ดีเพราะหน้าน้ำหลากก็โดนน้ำท่วมหมด สารเคมีที่ไหลมากับน้ำก็ไหลลงไปผสมโรงด้วย

นโยบายส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ออกดอกผลมาในรูปของสวนกล้วยขนาด 2,750 ของทุนจีนที่แปรสภาพให้กลุ่มสหกรณ์ไทยจดทะเบียนบริเวณ อ.พญาเม็งราย ด้วยสวนกล้วยตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิง ผนวกกับกล้วยจีนมีการตัดต่อพันธุกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเยอะถึงวันละ 20 ลิตรต่อต้น และมีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อกำจัดวัชพืช ทำให้เกษตรกรที่พึ่งพาแม่น้ำอิงไม่มีน้ำพอใช้ในหน้าแล้ง มิพักจะข้อกังวลเรื่องสารเคมีที่ลงมาตามแม่น้ำ

นอกจากนั้น ในแม่น้ำอิงตอนกลางลงมายังมีโครงการจัดการน้ำด้วยประตูน้ำจำนวนมากที่ขาดการประสานงาน ที่ก่อสร้างไปแล้วอยู่ตอนท้ายของแม่น้ำอิงก็มีปัญหากับชุมชนเนื่องจากไปขุดพื้นที่ชุ่มน้ำออกไป 100-200 กว่าไร่ ในตอนกลางของแม่น้ำก็มีประตูน้ำย่อยๆ แบบห่างกันไม่กี่ กม. ที่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชุมชนผู้ใช้แม่น้ำอิง เพราะในฤดูน้ำหลาก ชุมชนทำเกษตรที่น้ำท่วมก็ต้องการระบายน้ำออก ในขณะที่อีกชุมชนถัดมากำลังเก็บเกี่ยวก็ไม่อยากให้น้ำไหลลงมา พอหน้าแล้งก็เป็นเรื่องการแย่งชิงน้ำกัน บางประตูน้ำเมื่อทำไปแล้วก็ให้ชุมชนดูแลต่อ ตามมาด้วยบิลค่าไฟฟ้าและค่าซ่อมบำรุง ดูแลอีกเดือนละนับแสน

ปัจจุบันมีภาคประชาชนที่ผลักดันกลไกการบริหารจัดการระบบนิเวศ ทรัพยากร และการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำอิงอยู่ ได้แก่สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ที่ตั้งขึ้นจากเครือข่ายชุมชนในลุ่มน้ำอิงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 มีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดแนวทาง นโยบายคนในชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำอิง สร้างรูปธรรมการจัดการระบบนิเวศแม่น้ำอิง พัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำป่าริมน้ำ จัดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและสัตว์ป่าแบบธรรมชาติ และส่งเสริมอาชีพของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งพิชเญศพงศ์กล่าวว่า สภาประชาชนกำลังพยายามผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำอิง ถ้าชุมชนต่างๆ เห็นด้วยก็จะส่งให้ทางอำเภอและจังหวัดพิจารณากันอีกทีหนึ่ง

แม้ปัจจุบันจะมีการระบุว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษใน จ.เชียงรายจะต้องนับหนึ่งใหม่ เนื่องจากการวางพื้นที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการหาที่ดินที่เหมาะสมในการจัดตั้ง และผลกระทบของประชาชนในพื้นที่จนรัฐยอมถอยและต่อไปนี้จะให้เอกชนดำเนินการหาพื้นที่เอง แต่สิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอาทิการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ลดหย่อนภาษีกำไร อนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือยังคงมีอยู่ (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์) แต่ปมปัญหาบนลุ่มแม่น้ำอิงนั้นไปไกลกว่าการมีหรือไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว อนาคตของลุ่มน้ำอิงและป่าบุญเรืองจะเป็นอย่างไรนั้นยังไกลเกินเห็น แต่ส่วนร่วมของประชาชนผู้ใช้พื้นที่นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเดินไปข้างหน้า

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : WWF Thailand

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คสช. ออกคำสั่งคลายล็อคพรรคการเมืองบางเรื่อง แต่ยังบล็อกหาเสียง

Posted: 14 Sep 2018 06:42 AM PDT

14 ก.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) โดยมีสาระคำคัญประกอบด้วย

1.ให้พรรคการเมือง จัดให้มีทุนประเดิมพรรคการเมืองจำนวน 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561

2.ให้พรรคการเมือง จัดให้มีสมาชิกพรรคการเมือง ไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปี 2561 ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมหลักฐานการชำระเงินค่าบำรุงพรรคภายใน 50 วันหลังพ้นจากระยะเวลาชำระค่าบำรุงพรรค

3.ให้พรรคการเมือง จัดให้มีสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 5,00 คน พร้อมชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 1 ปี และให้จัดให้มีสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 20,000 คนพร้อมชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 4 ปี ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561

4.ให้พรรคการเมืองประชุมเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมือง ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และสอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

5.ให้พรรคการเมืองจัดประชุมเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นๆ ของพรรคการเมือง

7.ให้พรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองให้แล้วภายภายใน 1ปี นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในราชกิจจานุเบกษา

8.ให้ยกเลิกกระบวนการทำไพรมารีโหวตตามที่มีการกำหนดไว้ใน พ.ร.ป. พรรคการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งแรก โดยให้ดำเนินการดังต่อไป 1.ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้รับสมัครเลือกตั้ง ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวน 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวน 7 คน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเสนอรายชื่อผู้รับสมัครเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบ 2.ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรค เพื่อประกอบการพิจารณา

9.พรรคการเมืองสามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองตน ผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่เป็นการหาเสียง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจจะกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่อาจจะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวได้

10.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้

เนื้อหาในคำสั่งทั้งหมดมีรายละเอียดดังนี้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลปกครองแจ้งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ใช้มือถือดีแทค 850 HHz ใช้ไปจนถึง 15 ธ.ค. นี้

Posted: 14 Sep 2018 02:37 AM PDT

เลขาธิการ กสทช. เผยได้รับคำสั่งศาลปกครองกลางแจ้งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ใช้มือถือดีแทคบนคลื่น 850 HHz ใช้งานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 61

14 ก.ย.2561 จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา มีมติด้วยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าที่ใช้บริการบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ หลังสัมปทานสิ้นสุด

ล่าสุดวันนี้ (14 ก.ย.61) สำนักงาน กสทช. แจ้งว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ด้วยสำนักงาน กสทช. ได้รับคำสั่งศาลจากศาลปกครองกลางในวันนี้ (14 ก.ย. 2561) เวลา 13.18 น. มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 โดยให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ดังนั้น ที่สำนักงาน กสทช. ได้มีประกาศแจ้งให้ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือดีแทคบนคลื่นความถี่ 850 MHz รีบย้ายไปใช้บริการบนคลื่นความถี่อื่น ในค่ายเดิม หรือโอนย้ายค่าย ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นั้น เมื่อศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวลงมา ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือดีแทคบนคลื่นความถี่ 850 MHz ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ตามคำสั่งศาล

"กสทช. และสำนักงาน กสทช. พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งศาล ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือดีแทคบนคลื่น 850 MHz สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง" ฐากร กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ต่างชาติแนะไทยรักษา 'บัตรทอง' ให้โลกเห็นตัวอย่าง

Posted: 14 Sep 2018 01:16 AM PDT

นโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" เป็นที่ยกย่องของต่างชาติอีกครั้ง ในการประชุมระดับเอเชีย-แปซิฟิค ว่าด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : ประสบการณ์จากนานาชาติ ความท้าทาย และทางออก เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ เป็นแม่งานในการดึงนานาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าด้วยการจัดการโรคเอดส์ และวัณโรค ซึ่งเป็นวาระสำคัญ ก่อนการออกปฏิญญาสากลว่าด้วยการต่อสู้เพื่อยุติวัณโรค ในการประชุมของสหประชาติ ซึ่งจะมีขึ้นภายในเดือน ก.ย. นี้ ที่ นิวยอร์คสหรัฐอเมริกา

แม้ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีลดลงจากตอนเริ่มต้นโครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" อย่างเห็นได้ชัดและมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมผู้ป่วยเอชไอวี แต่ในส่วนของ "วัณโรค" กลับพบว่า ในช่วงหลัง มีอัตราผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการติดเชื้อร่วมกันของคนไข้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และการเกิดอาการ "ดื้อยา" ของผู้ป่วยวัณโรค

แม้การต่อสู้กับวัณโรค ยังคงดำเนินต่อไป แต่ไทยก็ประสบความสำเร็จ ในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จกับโครงการ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 และครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า 49 ล้านคน

นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีกองทุนเฉพาะ สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าว ยังให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านไวรัส จนทำให้มีผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ นโยบายของไทย ยังยึดหลักการสำคัญคือ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" โดยนอกจากจะให้ยาต้านไวรัส ใน "คนไทย" แล้ว สำหรับแรงงานข้ามชาติ ก็ให้การรักษา และให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีด้วย โดยขณะนี้แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยแนวทางที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ น่าจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ "โรคเอดส์" ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป ภายในปี 2573

เอียมอน เมอร์ฟีร์ ผู้อำนวยการระดับเอเชียแปซิฟิค โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) บอกว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ประสบความสำเร็จจากหลายปัจจัย เริ่มจาก "สภาวะผู้นำ"กล่าวคือ ความต่อเนื่องที่ผ่านมา ทำให้ "บัตรทอง" ไม่ได้เป็นของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากการส่งไม้ต่อ และความร่วมมือ เป็นระยะเวลานานกว่า 17 ปี จนทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ และทั่วโลกก็ให้การชื่นชม

นอกจากนี้ เคล็ดลับที่ทำให้นโยบายประสบความสำเร็จอีกข้อ ก็คือการเริ่มกำหนดนโยบายจาก "รากหญ้า" ขึ้นสู่ด้านบน ไม่ใช่นโยบายแบบบนลงล่าง หรือจากส่วนกลางสั่งลงมา เหมือนกับนโยบายอื่น ทำให้ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" เป็นของประชาชนจริงๆ

"มีหลายข้อที่นานาชาติสามารถเรียนรู้จากประเทศไทย เพราะไทยถือว่าเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถขยายสิทธิประโยชน์ และพัฒนาให้ดีขึ้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไทยเคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อทุกฝ่ายนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาปรับใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ทำให้ผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย UNAIDS เห็นได้ชัดว่า นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าซึ่งนานาชาติควรเรียนรู้จากประเทศไทย" ผู้อำนวยการ UNAIDS ระดับเอเชีย-แปซิฟิคระบุ

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจเกิดขึ้นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นโครงการที่สิ้นเปลืองงบประมาณนั้นเอียมอน อยากให้มองว่า เป็นการ "ลงทุน" ในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขมากกว่า กล่าวคือ หากรัฐบาลลงทุนให้คนเข้าถึงระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ยังหนุ่มสาว หรือ ตั้งเป้าให้คนเหล่านี้ ห่างไกลจากโรคเรื้อรัง ประเทศก็มีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตมากขึ้น เพราะประชาชนไม่ต้องเสี่ยงต่อการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

"หากรัฐบาลมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่พวกเขายังอยู่ในวัยแรงงาน และยังไม่ป่วย ประเทศก็จะสามารถพัฒนาได้อีกมาก และในระยะยาว เราก็จะสามารถป้องกันการป่วยโรคไม่ติดต่อในผู้สูงอายุ ซึ่งต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าในอนาคต เพราะฉะนั้นผมจึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยลงทุนในโครงการนี้ต่อไป" เอียมอน ระบุ

ขณะที่ แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ว่าจะดึงผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข มากกว่า 1,000 ล้านคน ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

ซึ่งประเทศไทย จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้องค์การอนามัยโลกสามารถตั้งต้นระบบเหล่านี้ได้ในประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก โดยเฉพาะในเรื่องเฉพาะ อย่างการจัดการเชื้อเอชไอวี วัณโรค หรือโรคไม่ติดต่อต่างๆ

แดเนียล บอกว่า หลักการสำคัญที่ทำให้โครงการ "บัตรทอง" ประสบความสำเร็จ ก็คือ 1. ต้องไม่มีการ 'ร่วมจ่าย' ณ จุดให้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งหากผู้มีสิทธิ์ต้องควักกระเป๋าจ่ายทุกครั้งที่รับการรักษา นโยบายนี้ก็คงไม่เกิด และ 2. มีงานวิชาการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การกำหนดสิทธิประโยชน์ การใช้ยาและเทคโนโลยี ไปจนถึงการคำนวณต้นทุนการรักษาพยาบาล และ 3. การขยายความร่วมมือ จากภาครัฐ ลงไปสู่ท้องถิ่น และขยายไปถึง "ภาคเอกชน"ให้เข้ามามีส่วนร่วม

นอกจากนี้ เขายังทึ่งในหลักการ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ที่อาศัย "ข้อผูกพันทางการเมือง" "ความรู้" และ"การมีส่วนร่วมของสังคม" เพื่อขับเคลื่อนเรื่องที่ยากและซับซ้อน อย่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นได้ แม้จะต้องผ่านความยุ่งเหยิงทางการเมืองมาหลายรัฐบาล แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็ยังตั้งมั่นที่จะรักษานโยบายนี้ไว้

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยทิ้งท้ายว่า ข้อท้าทายของนโยบายนี้ก็คือ ไม่มีจุดจบ และไม่มีจุดที่บอกว่า พอแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว แต่จะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ และสิทธิประโยชน์ก็ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ไทยได้ทำให้โลกเห็นแล้วว่า ไทยสามารถเริ่มนโยบายนี้ได้และรักษานโยบายนี้ได้ โดยที่คุณภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าเดิม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แนะยกเลิก ‘ม.44’ แสดงสปิริต ไพ่เด็ดในมือ คสช. ทั้งเลื่อนและทำเลือกตั้งไม่แฟร์

Posted: 14 Sep 2018 12:36 AM PDT

พ.ร.ป. ส.ว.-ส.ส. ประกาศใช้ ตามกฎหมายเลือกตั้งช้าสุดไม่เกิน 2 พ.ค. 62  'ไอลอว์' ชี้ 'ม. 44' ไม้ตายที่รัฐบาล คสช. ยังใช้ได้เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง ด้าน 'ชวลิต วิชยสุทธิ์' อดีต ส.ส. เพื่อไทย ระบุ ยกเลิก ม.44 เพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม แสดงสปิริตให้ประชาชนและชาวโลกเห็น

หลังกฎหมายสองฉบับสุดท้ายตามเงื่อนไขการเลือกตั้งคือ พ.ร.ป.ว่าด้ายการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วันหลังประกาศ หรือวันที่ 11 ธ.ค. 61 แต่หลายฝ่ายก็จับตาถึงการเลือกตั้งที่ควรเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้

นั้นหมายความว่าระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง 150 วันจะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 61 และการเลือกตั้งจะขึ้นได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 62 ตามกรอบ 150 วัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้ระบุให้ใช้ระยะเวลาเต็มตามกรอบนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 61 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คาดว่า จะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 ม.ค. 62 และเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 2 พ.ค. 62

แต่ทั้งนี้ยังไม่อาจชะล่าใจได้ ตราบใดที่ ม. 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงอยู่

ไอลอว์ ชี้ 'ม. 44' ไม้ตายที่ คสช. ยังใช้ได้เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุผ่าน เว็บไซต์ไอลอว์ ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 กำหนดให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ซึ่งหมายความว่า หัวหน้า คสช. ยังคงสามารถออกคำสั่งใดๆ โดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ต่อไปได้

เมื่อพิจารณาว่าสี่ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคยใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาแล้วหนึ่งครั้ง คือ

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 มีเพื่อคลายล็อคทางการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถทำกิจกรรมการทางเมือง เช่น ให้มีการประชุมใหญ่พรรค ให้เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์พรรค และเปิดรับสมาชิกพรรค รวมทั้งดำเนินการสรรหาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ยังคงห้ามให้มีการลงพื้นที่หากเสียงทางการเมือง

เว็บไซต์ไอลอว์ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ คสช. ยังเคยใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายระดับรัฐธรรมนูญมาแล้วอีกสองครั้ง ครั้งแรกคือ ก่อนการออกเสียงประชามติ ที่ใช้มาตรา 44 แก้เรื่องเด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย 15 ปี หลังร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียนฟรีแค่ 12 ปี

จะเห็นได้ว่า หัวหน้า คสช. สามารถใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะเป็นในระดับชั้นพระราชบัญญัติหรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ ดังนั้น หาก คสช. อยากจะแก้กฎหมายการเลือกตั้งหรือแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อจะยืดการเลือกตั้งออกไปอีกจึงอยู่ในวิสัยที่พอจะเป็นไปได้อยู่

อดีต สส. เพื่อไทย แนะ ยกเลิก ม.44 เพื่อเลือกตั้งเป็นธรรม

วอยซ์ทีวี รายงานว่า ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน เริ่มเข้าโหมดการเลือกตั้งแล้ว ทำอย่างไรที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศ

ดังนั้น เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นประเทศดังกล่าว รัฐบาลควรแสดงสปิริตให้ประชาชนและชาวโลกเห็น หลังจากประเทศไทยเพิ่งถูกสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ขึ้นบัญชีดำเป็น "ประเทศที่น่าละอาย" ด้วยเหตุมีการข่มขู่ คุกคาม ประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับ UN ในการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็ต้องแบกรับความน่าละอายดังกล่าวไว้ด้วย

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงสปิริตเลิกอำนาจพิเศษตาม ม.44 และการรักษาการระหว่างเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่าให้ประเทศไทยถูกดาบสองจาก UN และนานาชาติ ที่จะไม่ยอมรับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะส่งผลเสียหายตามมาอีกมากมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจะกระทบต่อเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของประเทศซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของชาติ

สำหรับ ไอลอว์ มีกิจกรรมล่ารายชื่อเพื่อ 'ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.' ด้วย ดังนี้

ไอลอว์ระดมคนละชื่อเสนอกฎหมาย 'ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.'

เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ ilaw.io หรือ www.ilaw.io

ย่างเข้าปีที่ 4 ของรัฐบาล คสช. มีการออกประกาศ/คำสั่งต่างๆ และการบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีประกาศ/คำสั่งอย่างน้อย 35 ฉบับ ในประเด็นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชน ที่สมควรถูกยกเลิก เช่น 

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจทหารเรียกตัวประชาชนมารายงานตัวและควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน พร้อมยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีบางประเภทของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร 

นอกจากนี้ยังมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่จำกัดแนวทางการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน หรือการดำเนินนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า"ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนไปแล้วหลายพันคน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนกว่า 23 เครือข่าย จึงรวมตัวกันรณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 หรือสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิก 'ประกาศ-คำสั่ง-คำสั่งหัวหน้าคสช.' ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตย เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ยังรับรองให้ บรรดาประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด รวมทั้งการใช้อำนาจใดๆ ภายใต้ประกาศ/คำสั่งเหล่านี้ มีสถานะชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติมายกเลิก

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง คดีฟ้องคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ เหมืองแม่เมาะ

Posted: 13 Sep 2018 11:43 PM PDT

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง คดีฟ้องคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ บริเวณเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมามา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW รายงานผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจตัวเองว่า ในวันดังกล่าว เวลา เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีฟ้องคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ บริเวณเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง จากกรณีชาวบ้านบริเวณรอบเหมืองแม่เมาะ 18 ราย ได้มอบอำนาจให้ทางสภาทนายความและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดย นายสุรชัย ตรงงาม ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 จากเหตุที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2547 กำหนดลดพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ จาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการไถทำลายซากหอยขมดึกดำบรรพ์ในบริเวณเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ที่มีความสำคัญระดับโลกไปบางส่วน ซึ่งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ตามสรุปคำพิพากษาโดยสำนักงานศาลปกครองระบุว่า เนื่องจากเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2547 ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เนื้อที่ 52 ไร่ โดยเป็นพื้นที่แหล่งหอยขมดึกดำบรรพ์ 18 ไร่ รวมพื้นที่อื่นอีก 34 ไร่ ซึ่งมีผลเป็นการเพิกถอนมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2547 ที่กำหนดพื้นที่ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะเป็นพื้นที่ 43 ไร่ เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ก็ได้ตรวจสอบและทำการรังวัดกันเขตพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ./ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกจากพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การทำเหมืองของ กฟผ. จึงเป็นการกระทำนอกพื้นที่อนุรักษ์แหล่งซากหอยขมดึกดำบรรพ์ตามมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ส่วนที่เหลือเนื้อที่ 18 ไร่ในพื้นที่อนุรักษ์ยังคงตั้งอยู่ได้ จึงยังไม่มีเหตุที่ศาลจะกำหนดคำบังคับให้ กฟผ.ดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากหอยขมดึกดำบรรพ์อันเกิดจากการทำเหมือง ซึ่งหากมีเหตุการณ์พังทลายเช่นว่านั้นเกิดขึ้นจริง ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ต่อไป 

EnLAW ได้หมายเหตุเกี่ยวกับคดีนี้ ด้วยว่า ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้

  • เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เพิกถอนประทานบัตรในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขมเนื้อที่ 43 ไร่ 
  • ให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ควบคุมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเพิ่มเติมเพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ 
  • ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดทำสิ่งป้องกันมิให้เกิดการพังทลายของซากฟอสซิลอันเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินและภัยธรรมชาติ 
  • ให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมเป็นเขตโบราณสถาน 

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (ฉบับเต็ม) :http://bit.ly/2OhQqX8 คำพิพากษาศาลชั้นต้น (ฉบับเต็ม):https://goo.gl/DTwKr9 และอ่านข้อมูลคดีและสรุปผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่มเติมได้ที่: https://goo.gl/W5gdao

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พลทหารคชา เสียชีวิตแล้ว กองทัพขอเป็นเจ้าภาพจัดงานศพ 7 วัน

Posted: 13 Sep 2018 11:29 PM PDT

พลทหารคชา พะยะ ซึ่งถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คนเรียกไปซ้อมทรมานกลางดึกเสียชีวิตแล้ว หลังญาติและโรงพยาบาลพยายามยื้อชีวิต 24 วัน ด้านกองทัพของเป็นเจ้าภาพจัดงานศพ 7 วัน

14 ก.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สอบถาม กาญจนภรณ์ สีหะวงศ์  น้าสาวของพลทหารคชา พะยะ ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จ.ลพบุรี ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คน เรียกตัวไปซ้อมทรมานกลางดึกของวันที่ 21 ส.ค. 2561 จนหัวใจหยุด และต้องนำตัวเข้ารักษาพยาบาลที่ โรงพยาบาลมอานันทมหิดล สังกัดกรมการแพทย์ทหารบก ได้รับการยืนยันว่า พลทหารคชาได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 05.45 น. วันนี้

กาญจนภรณ์ ให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ พลทหารคชาถูกทำร่างร้ายกายจนหัวใจหยุดเต้น และถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลพบว่ามีอาการ สมองบวม ปอดติดเชื้อ และต้องใส่เครื่องใช้หายใจตลอดเวลา ล่าสุดแพทย์ได้แจ้งว่าพลทหารคชามีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมระยะเวลาที่รักษาพยาบาลทั้งสิ้น 24 วัน

กาญจนภรณ์ ให้ข้อมูลต่อว่า เวลานี้ทางโรงพยาบาลอานันทมหิดล ได้ส่งศพพลทหารคชาไปผ่าชันสูตร เพื่อตรวจสอบสาเหตุการตาย เพื่อที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งทางญาติได้แจ้งความดำเนินคดีพลทหารรุ่นพี่ทั้ง 3 นายไปแล้วก่อนหน้า ในข้อหาทำร้ายร่างกาย และข้อหาพยายามฆ่า ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ยังมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอสำหรับข้อหาพยายามฆ่า ทั้งนี้ทางญาติได้รับแจ้งจากกองทัพบกว่า จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีศพเป็นระยะเวลา 7 วัน

ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ กาญจนภรณ์ ทราบว่า ก่อนหน้าที่คชาจะมาเป็นทหารเกณฑ์นั้น ครอบครัวบอกว่าจะไปบนบานศาลกล่าว ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้คชา จับสลากได้ใบดำเพื่อจะไม่ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากคชาเป็นกำลังหลักของครอบบครัว ซึ่งปัจจุบันครอบทำกิจการรับเหมาในการขนส่งจัดเรียงสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งคชามีหน้าที่ในการดูแลคนงานกว่า 40 คน แต่คชาบอกกับครอบครัวว่า ไม่ต้องไปบน เพราะคิดว่าถ้าดวงจะเป็นทหารเกณฑ์ก็ต้องเป็น คชาไม่ได้มีท่าทีต่อต้านการเป็นทหารเกณฑ์ แต่ถ้าเลือกได้เขาอยากอยู่กับลูกสาววัย 1 ขวบกว่า ภรรยาที่ตั้งท้อง และลูกอีกคนที่อยู่ยังอยู่ในครรภ์ และอยากจะช่วยครอบครัวทำงานมากว่า

ตารางการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ และนายทหารในระดับอื่นๆ เรียงตามปี พ.ศ.

วันเดือนปีที่เสียชีวิต

ผู้เสียชีวิต

สาเหตุการเสียชีวิต

ช่วงเดือน พ.ค. 2550

นักเรียนเตรียมทหาร กรัณฑ์ อรชร

ถูกรุ่นพี่สั่งทำโทษโดยการ ให้ดื่มน้ำ 40 ลิตร จนเกิดอาการน้ำเป็นพิษ มีอาการน้ำท่วมปอด และธาตุแตก จนเสียชีวิต

14-15 เม.ย. 2552

พลทหารอภินพ เครือสุข

เสียชีวิตที่บ้านพักแม่ทัพภาค 1 ผลชันสูตรระบุเสียชีวิตเพราะ "กะโหลกแตก" ผลการสอบสวนระบุตายเพราะอุบัติเหตุ

5 มิ.ย. 2554

พลทหารวิเชียร เผือกสม

ถูกซ้อมทรมาน โดยนายทหารยศร้อยโท พร้อมพวกรวม 10 คน

29 ม.ค. 2557

พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย

ผลการชันสูตรระบุ เสียชีวิตเพราะติดเชื้อไข้หวัดนก ญาติคาใจเพราะก่อนตาย ผู้ตายระบุว่าถูกทหาร 3 นาย ลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก จำนวน 20 ครั้ง

6 มิ.ย. 2558

ร.ต.สนาน ทองดีนอก

เสียชีวิตระหว่างฝึก โดยถูกบังคับให้ว่ายน้ำเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะทนได้ โดยให้ฝึกว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบและเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้จมลงไปในก้นสระเป็นเวลานานจนขาดอากาศหายใจ

21 ก.พ. 2559

สิบโทกิตติกร สุธีพันธุ์

ผลการการชันสูตร และการไต่สวนการตายระบุ เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือมีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกคุมขัง โดยพลทหาร 4 นาย

4 เม.ย. 2559

พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด

เสียชีวิตเพราะถูกซ้อมทรมานโดยนายทหารยศร้อยตรี พร้อมกับพวกรวม 5 คน

22 มิ.ย. 2559

สิบโทปัญญา เงินเหรียญ

ถูกร้อยเอกสั่งทำโทษให้วิ่งรอบสนามกลางแดด เสียชีวิตเพราะเป็นลมแดด

1 เม.ย. 2560

พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม

ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ภายหลังจากถูกสั่งขังคุกทหาร

19 ส.ค. 2560

พลทหารนภดล วรกิจพันธ์

เสียชีวิตหลังจากมีเพื่อนพลทหารสองคน พามาสั่งที่บ้าน หลังจากนั้น 20 นาที ญาติเข้าไปในห้องแล้วพบว่าพลทหารได้เสียชีวิตแล้ว ในสภาพมีเลือดออกตามปากและจมูก ทั้งเท่าที่ปรากฎในข่าวยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด

17 ต.ค. 2560

นักเรียนเตรียม ภคพงศ์ ตัญกาญจน์

ญาติเชื่อว่าเสียชีวิตเพราะถูกสั่งธำรงวินัย จนเสียชีวิตจากสภาวะหัวใจล้มเหลว ความแปลกประหลาดของกรณีนี้คือ มันมีการชันสูตรพลิกศพ แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ทำการเก็บอวัยวะภายในส่วนสำคัญไว้โดยไม่บอกให้ญาติทราบ จากนั้นทางญาติไม่ได้ดำเนินการเผาศพแต่นำศพมาชันสูตรอีกครั้งจึงพบว่าอวัยวะภายในหายไป และดำเนินการขอคืนเพื่อนำมาตรวจสาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้ง แต่สุดท้ายเนื้อเยื่อจากอวัยวะต่างๆ มีสารพันธุกรรมในปริมาณและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากถูกเก็บไว้นานเกินไป

12 พ.ย. 2560

พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์

มารดาได้รับการติดต่อจากค่ายทหารว่า ลูกชายไม่สบายนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในค่าย มีอาการปวดท้องและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ระบุในใบมรณบัตรว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจาก "สภาวะหัวใจล้มเหลว" ทั้งที่เพิ่งเข้าเป็นทหารเกณฑ์ได้เพียง 10 วัน หลังจากนั้นมารดาได้นำศพมาชันสูตรอีกครั้ง แพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเพราะ "ติดเชื้อในลำไส้"

14 ก.พ. 2561

พลทหารมูฮัมหมัดอีรฟาน เจ๊ะมะ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2561 ครอบครัวได้รับแจ้งจากครูฝึกว่า มูฮัมหมัดอีรฟาน เกิดอาการฮีทสโตรก ทางศูนย์ฝึกได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเข้าห้อง ICU จนอาการดีขึ้น

ต่อมาได้รับแจ้งจากครูฝึกอีกครั้งวันที่ 13 ก.พ. 2561 ว่าลูกชายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง เรื่องจากอาการป่วยกำเริบ และต่อมาได้เสียชีวิตในคืนนั้น

3 มิ.ย. 2561

พลทหารกิตติศักดิ์ บุญมณี

ญาติได้รับแจ้งจากค่ายทหารว่า เสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากมีอาการเท้าแพลง และละเลยไม่ดูแลรักษาอาการให้ดี ญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต

14 ก.ย. 2561

พลทหารคชา พะชะ

ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 นาย เรียกไปซ้อมทรมานกลางดึกคือวันที่ 21 ส.ค. จนสลบและหัวใจหยุดเต้น ถูกนำตัวเข้ารักษาพยาบาลมีอาการสมองบวม ปอดติดเชื้อ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ก่อนเสียชีวิตพบพบว่ามีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด

?

?

?

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อุตสาหกรรมเกมจีนสะเทือน หลังรัฐบาลคุมเข้มเนื้อหาออนไลน์-จ่อแก้เด็กติดเกม

Posted: 13 Sep 2018 10:57 PM PDT

รัฐบาลจีนจำกัดใบอนุญาตเพื่อควบคุมเนื้อหาเกมและป้องกันเด็กติดเกมสร้างแรงสะเทือนครั้งใหญ่ ค่ายเกมรายได้ลดจนต้องมองหาตลาดนอกประเทศเป็นทางออก ตลาดในประเทศหดสวนทางจุดยืนจะเป็นศูนย์กลางอีสปอร์ตระดับโลก การควบคุมทำให้ตลาดมืดคึกคักตั้งแต่สวมใบอนุญาตขายเกมไปจนถึงซื้อไอดีเกมผู้ใหญ่-จ้างแฮ็กเพื่อหนีการจำกัดเวลาเล่น

ภาพจากเกม Arena of Valor (ROV) จัดจำหน่ายโดยบริษัทเทนเซนต์ (ที่มา:maahalai)

14 ก.ย. 2561 หลังจากที่ทางการจีนใช้ข้ออ้างเรื่องการป้องกันไม่ให้เด็กติดเกมเข้ามาคุมเข้มอุตสาหกรรมเกมมากขึ้น และมีการสั่งจำกัดปริมาณเกมใหม่ที่จะออกสู่ท้องตลาด ทำให้นักวิเคราะห์ต่างก็พยายามประเมินว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับอุตสาหกรรมเกมภายในจีน ทีมีตลาดคนเล่นเกมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งโดยมีผู้ใช้งาน 500 ล้านคน และทำรายได้ราว 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

มีนักวิเคราะห์มองว่าการควบคุมอุตสาหกรรมเกมในจีนจะบีบให้บริษัทเกมต่างๆ พยายามหาตลาดนอกประเทศมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด พวกเขาระบุถึงกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับเกาหลีใต้หลังนโยบายจำกัดคนเล่นเกมทำให้อุตสาหกรรมเกมหดตัวลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2553-2557 จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลี

สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์นำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งจากผู้ผลิตเกม ผู้จัดจำหน่ายเกมและนักวิเคราะห์ถึงผลกระทบในเรื่องเหล่านี้ โดยระบุว่าการที่จีนจำกัดเนื้อหาต่างๆ จากเกมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกวาดล้างเนื้อหาออนไลน์ที่พวกเขาอ้างว่า "ไม่เหมาะสม" ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกมในประเทศตัวเองจนเกิดการเติบโตช้าที่สุดในรอบทศวรรษ แม้แต่กับค่ายเกมยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างเทนเซนต์โฮลดิง ผู้จัดจำหน่ายเกมบนมือถือที่เป็นที่รู้จักของคนไทยสองเกม คือ PUBG เวอร์ชั่นมือถือ และเกม Arena of Valor (ROV) เกมทั้งสองมีการขายสินค้า (ไอเท็ม) ให้ผู้เล่น เช่น เสื้อผ้าหรือตัวละครในเกม

จีนคุมเข้มเนื้อหาออนไลน์ ทำบริษัททำเกมยักษ์ใหญ่กำไรตกต่ำสุดรอบทศวรรษ

ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าการคุมเข้มของรัฐบาลจีนจะผ่านไปในเร็ววัน บ้างก็มองว่ามันส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนมุมมองที่รัฐบาลจีนมีต่อเกม การจะจัดจำหน่ายเกมในจีนต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลก่อน แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลสื่อของจีนประกาศว่าจะไม่ออกใบอนุญาตเกมใหม่นับตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. เป็นต้นไป ซึ่งถ้าหากประกาศนี้ยังคงบังคับใช้อยู่ต่อไปก็จะทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมเกมลดลงติดต่อกันในช่วงไตรมาสสี่

ถึงแม้จะมีนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่าการจำกัดการจดทะเบียนเช่นนี้จะส่งผลต่อเฉพาะผู้พัฒนาเกมรายเล็กๆ เท่านั้น ขณะที่บริษัทใหญ่อย่างเทนเซนต์อาจจะรอดได้และอาจจะได้รับผลประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเดือน ส.ค. ที่่ผ่านมา มาร์ติน เหลา จื่อปิง ประธานเทนเซนต์ กล่าวโทษว่าสามารถบริษัททำได้แย่ในระยะนี้เป็นเพราะถูกห้ามไม่ให้เก็บรายได้จากเกมดังสองเกมคือ PlayerUnknown's Battlegrounds (PUGB) กับ Fortnite ซึ่งเป็นเกมที่พัฒนาจากค่ายเกมเกาหลีใต้และสหรัฐฯ แต่เทนเซนต์เป็นผู้จัดจำหน่ายภายในจีน

เหลาเปิดเผยอีกว่าเทนเซนต์กำลังรอให้มีการอนุมัติจดทะเบียนเกมจำนวน 15 เกม โดยถึงแม้ทางการจีนจะระงับการจดทะเบียนจนไม่สามารถทำรายได้จากเกมอย่างเป็นทางการได้ แต่ทางการจีนก็จัดช่องทางที่เรียกว่า "ช่องไฟเขียว" ให้ผู้จัดจำหน่ายเกมเก็บรายได้เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยไม่มีรายละเอียดว่าสามารถต่ออายุเดือนต่อเดือนได้หรือว่าเป็นการอนุโลมแค่ครั้งเดียว แต่นักวิเคราะห์จากสื่อบลูมเบิร์กก็ประเมินว่ามันไม่มากพอที่จะทดแทนการขายเกมได้

มีคนในอุตสาหกรรมเกมจีนกล่าวต่อสื่อ SCMP ว่า อีกวิธีการหนึ่งที่ผู้พัฒนาและจำหน่ายเกมจะหลบเลี่ยงการคุมเข้มได้คือการซื้อต่อการจดทะเบียน "เกมที่มีแต่ชื่อเปล่าๆ" มาทำต่อ ซึ่งในจีนมีการจดทะเบียนชื่อเกมแบบนี้เอาไว้จำนวนมากเพื่อขายต่อโดยใช้คำที่น่าจะนิยมในการตั้งชื่อเกม พวกเขาจะขายต่อชื่อเกมเหล่านี้ในวงเงินตั้งแต่ 400,000 หยวน ถึง 800,000 หยวน (ราว 1.9 ล้านบาท ถึง 3.8 ล้านบาท) นับว่ามีการขึ้นราคามากกว่าเดิม 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะมีการจำกัดการจดทะเบียน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในประเทศ บริษัทเกมจีนต่างเบนเข็มไปทำการตลาดที่ต่างประเทศ ในช่วงต้นปีนี้ ยอดขายของเกมจีนในต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว และแซงหน้าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมที่โตขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี

นอกจากการคุมเข้มจำนวนเกมแล้ว รัฐบาลจีนยังจะมีระบบการแจ้งเตือนความเหมาะสมของอายุผู้เล่น ให้สอดคล้องไปกับเงื่อนไขแห่งชาติ และเอกสารที่ออกมาจากแปดหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการระบุว่าจะมีมาตรการจำกัดเวลาเล่นเกมของเด็กด้วย

ช่วงต้นปี 2550 จีนสร้างระบบป้องกันการติดเกมหรือ Anti-Addiction System สำหรับผู้เล่นวัยรุ่น ตัวอย่างการทำงานของมันคือการปิดไม่ให้ผู้เล่นได้รับของรางวัลในเกมถ้าเล่นเกมออนไลน์ชนิดใดชนิดหนึ่งเกินห้าชั่วโมงต่อวัน แต่บริษัทเกมใหญ่ๆ ในประเทศนั้นเพิ่งเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวในเกมของพวกเขา เมื่อกลางปีที่แล้ว เทนเซนต์ทำระบบจำกัดเวลาเล่นเกมสุดฮิตในจีนอย่าง Honor of Kings แบบแบ่งตามช่วงอายุหลังสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างพีเพิลส์เดลีเรียกเกมดังกล่าวว่า "เป็นพิษ" โดยรายงานว่ามีเด็กอายุ 13 ขวบกระโดดลงมาจากอาคารหลังพ่อของเขาห้ามไม่ให้เล่นเกม

เมื่อปี 2560 สื่อ Quartz รายงานวิธีจำกัดเวลาผู้เล่นของเทนเซนต์ไว้ว่า ระบบจะให้ผู้เล่นทุกคนใช้ชื่อจริงในการลงทะเบียนสมัครเล่นเกม คนที่อายุน้อยกว่า 12 ขวบจะเล่นได้แค่วันละหนึ่งชั่วโมง หากเข้าเกมหลัง 21.00 น. จะถูกแบนไม่ให้เล่นเกม และผู้เล่นที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปีจะเล่นเกมได้วันละสองชั่วโมง มาตรการนี้เป็นแนวทางที่เทนเซนต์ทำออกมาขณะที่ยังไม่มีระเบียบการกำกับการเล่นเกมอยา่งเป็นทางการที่ชัดเจน

ระบบจำกัดการเล่นนี้ทำให้เกิดการซื้อขายบัญชีผู้เล่นที่เป็นผู้ใหญ่ในตลาดมืดอย่างคึกคัก รายงานข่าวจากปักกิ่งนิวส์รายงานว่า มีการขายบัญชีผู้เล่นของเกม Honor of Kings ในราคาไม่กี่สิบหยวนไปจนถึงพันหยวน ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ (ไอเท็ม) ที่ตัวละครในเกมมี ทั้งยังมีบริการแฮ็กให้เด็กสามารถหลบเลี่ยงการจำกัดเวลาเล่นได้ด้วยในราคา 20 หยวนซึ่งผู้สื่อข่าวปักกิ่งนิวส์ได้ลองแล้วและพบว่าทำได้จริง

แม้ประสบกับความล้มเหลวในการควบคุม แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเทนเซนต์ยังคงประกาศว่าจะเป็นบริษัทเกมแรกในจีนที่จะทำการตรวจสอบด้วยการเทียบบัญชีผู้เล่นใหม่กับฐานข้อมูลด้านความมั่นคงของรัฐ ถ้าผู้เล่นใหม่เป็นเด็ก ข้อมูลนั้นก็จะถูกนำไปบรรจุไว้ในระบบป้องกันการติดเกมของเทนเซนต์

การคุมเข้มอุตสาหกรรมเกมโดยรัฐบาลจีนกำลังกลบจุดยืนการสนับสนุนอีสปอร์ตที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งตั้งแต่ปี 2546 เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วก็มีแผนว่าจะทำให้เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลาง (Hubs) ของอีสปอร์ตระดับโลก นอกจากนั้น ในเดือนที่แล้วนักแข่งอีสปอร์ตจากจีนยังได้เหรียญทองสองเหรียญ และเหรียญเงินหนึ่งเหรียญจากการแข่งขันอีสปอร์ตในกีฬาระดับเอเชียหรือเอเชียนเกม ที่จัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียด้วย

เรียบเรียงจาก

China's games industry at a turning point amid regulatory crackdown, with Korea offering a vision of its future, South China Morning Post,  Sep. 13, 2018

Tencent's child locks for its crazily popular mobile game are fueling a black market in "adult" accounts, QUARTZ, Jul. 5 2017

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หากแรงงานไทยในอิสราเอล 'ติดเชื้อวัณโรค' ตรวจรักษาฟรี-นายจ้างไม่สามารถไล่ออกได้

Posted: 13 Sep 2018 09:01 PM PDT

องค์กรช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล 'คาฟลาโอเวด' แจ้งเตือนหลังจากที่มีกระแสข่าวว่ามีผู้ป่วยแรงงานไทยติดเชื้อวัณโรคทางภาคใต้ของอิสราเอล หากสงสัยว่าติดเชื้อให้รีบไปหาหมอตรวจรักษาฟรี นายจ้างไม่สามารถไล่ออกได้


ที่มาภาพประกอบ: Nati Shohat/Flash 90

14 ก.ย. 2561 องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) องค์กรคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศอิสราเอล ระบุว่ามีข่าวลือว่ามีผู้ป่วยแรงงานไทยที่ติดเชื้อวัณโรค หรือภาษาฮิบบรูเรียกว่า 'ชาเคเฟต' (שחפת ) ที่ทางภาคใต้ของอิสราเอล เชื้อนี้รุนแรงและติดกันง่ายเพราะเป็นโรคติดต่อทางการหายใจ โดยปกติเชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอด ไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะเกิดจากการไอ จาม หรือพูด ซึ่งละอองเสมหะเหล่านี้ สามารถมีชีวิตลอยอยู่ในอากาศหลายชั่วโมง และเมื่อมีผู้สูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด และเกิดการอักเสบได้

อาการแสดงของวัณโรคปอด ระยะแรกจะมีการไอแห้งๆ อย่างเดียว อาการจะมากขึ้นเมื่อเนื้อปอดเป็นโรคมากขึ้น ระยะต่อมาไอจะมีเสมหะติดออกมาด้วยและมักจะมีอาการไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะในเวลาเย็น และกลางคืน ในระยะที่เป็นโรคมากแล้วอาจมีอาการหายใจหอบ และไอมีเสมหะติดเลือดปนด้วย จนถึงขั้นไอเป็นลิ่มเลือดได้ ถ้าเชื้อลามไปติดที่เยื่อหุ้มปอดอาจมีน้ำเกิดขึ้นในช่องปอด และมีอาการเจ็บอก น้ำที่เกิดในช่องปอดนี้จะทำให้อาการหอบเกิดมากขึ้น

อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคปอดคือ ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไอ ที่นานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้ง ๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะจนอาจไอเป็นเลือดได้ อาการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อยคือ อ่อนเพลีย รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และมีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน

อาการอื่นที่พบได้บ่อยของวัณโรคปอด 2 อย่างคือ เจ็บหน้าอกและหายใจลำบาก ซึ่งอาการดังกล่าวมักเป็นผลมาจากการที่มีของเหลวอยู่ภายในเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion) กล่าวคือ มีน้ำสะสมอยู่ระหว่างเยื่อหุ้มที่คลุมติดกับปอดและที่คลุมติดกับผนังหน้าอก หรืออาจเป็นอาการของภาวะปอดแตก (Pneumothorax) คือภาวะที่มีลมอยู่ระหว่างเยื่อหุ้มทั้งสอง

อาการแสดงของวัณโรคที่อวัยวะอื่นถ้าเป็นที่ต่อมน้ำเหลือง มักมีไข้ และมีก้อน (ต่อมน้ำเหลือง) ที่พบบ่อยมักจะเป็นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ต่อมจะโตมากขึ้นจนกลายเป็นฝี และแตกมีน้ำหนองซึมออกมาได้ ถ้าเป็นที่เยื่อหุ้มสมองจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้คอแข็ง และมีอาการทางสมองเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้หากแรงงานไทยในอิสราเอลสัยว่าอาจจะติดเชื้อให้รีบไปหาหมอ การตรวจรักษาฟรีไม่เสียเงิน และถ้าหากเป็นแล้วก็ต้องรีบรักษา นายจ้างไม่สามารถไล่แรงงานออกได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ค องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture)

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น