โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

'ข่าวสด' เผย 'กองทัพบก' เตรียมย้ายที่ตั้งหน่วยทหาร ออกนอกกรุงเทพฯ

Posted: 02 Sep 2018 09:41 AM PDT

ข่าวสดออนไลน์ รายงานกองทัพบก ประชุมเตรียมความพร้อมจัดทำแผนรายการปรับโอนหน่วย และย้ายที่ตั้งหน่วยทหารหน่วยที่จะถูกย้าย ส่วนใหญ่เป็นหน่วยยานเกราะระดับกองพัน กองร้อย จากกรุงเทพฯ จะย้ายออกจากพื้นที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่ สระบุรี หรือลพบุรี

2 ก.ย.2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานข่าวว่า กองทัพบก โดยกรมยุทธการทหารบก (ยก.ทบ.) ได้ประชุมเตรียมความพร้อมจัดทำแผนรายการปรับโอนหน่วย และย้ายที่ตั้งหน่วยทหาร ซึ่งประชุมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประชุมเมื่อวันที่ 28 ส.ค. และก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับหน่วยที่จะถูกย้าย ส่วนใหญ่เป็นหน่วยยานเกราะระดับกองพัน กองร้อย จากกรุงเทพฯ จะย้ายออกจากพื้นที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี หรือจังหวัดลพบุรี นอกจากนั้นหากมีความจำเป็นจะย้าย หน่วยปืนไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ตามแผนระยะที่ 2 ต่อไป ส่วนการการปรับโอนหน่วยนั้น จะยุบเลิกหน่วยงานของทหารราบบางหน่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้โอนกำลังพลเฉพาะกำลังรบ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ตามประเภทและความต้องการไปยังหน่วยรับโอน

ข่าวสดออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า  ทบ.จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการ โดยมีเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ) เป็นประธาน ส่วนคณะทำงานดำเนินการปรับโอนหน่วย จะมีเจ้ากรมยุทธการทหาร (จก.ยก.ทบ.) เป็นประธาน โดยให้กำหนดแผนงานให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2561 และให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2562 สำหรับในช่วงนี้ให้หน่วยที่ต้องโอนย้ายเตรียมชี้แจง ขอบเขตที่ดิน อาคาร พร้อมเสนอที่ตั้งใหม่, ความต้องการงบประมาณในการดำเนินการ โดยให้เสนอเป็นระยะตามแผนงบประมาณแต่ละปี ทั้งนี้หน่วยจะต้องดูแลและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกำลังพลและครอบครัวให้ได้มากที่สุด

จากการสำรวจสื่ออื่นๆ มีเพียง 'ข่าวสดออนไลน์' เท่านั้น ที่เสนอข่าวนี้

สำหรับข้อเสนอเรื่องการย้ายค่ายทหารออกจากเมืองหลวงนั้น มีการนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง ต้นปีที่ผ่านมา (9 มี.ค.61) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวผ่านเฟสบุ๊ค 'พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส' เรื่องการปฏิรูปกองทัพว่า "ถ้าผมมีอำนาจผมย้ายทหารออกนอกกรุงเทพทั้งหมด"

"คุณจะไปอยู่ติดต่อกับใคร ทหารจะติดต่อกับประชาชนตรงไหน ผมอยากจะรู้ ใช่ไหม อยู่ไปก็เกะกะกีดขวางทำให้การจราจรติดขัดไปหมด ถูกไหม พื้นที่เยอะนี่ ทหารบกไปอยู่ลพบุรี ทหารเรือไปสัตหีบ ทหารอากาศไปนครสวรรค์ เอาพื้นที่คืนมาให้คนกรุงเทพ ทำโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นสิ่งจำเป็น สวนสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องใช้ของรัฐก็ได้ ส่วนหนึ่งให้เอกชนเช่าพื้นที่ไป เหมือนเซ็นทรัลเช่าที่การรถไฟ หรือเบียร์ช้างเช่าศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ตนก็เอาพื้นที่ทหารที่มีจำนวนมากในกรุงเทพให้เช่า แล้วนำเงินเหล่านี้มาลงทุนเพื่อสร้างสวนสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลต่างๆ ใครบอกทหารมีความจำเป็นอยู่กรุงเทพ ตำรวจนี่ยังมีความจำเป็นอยู่กรุงเทพ กระทรวงอื่นยังมีความจำเป็นด้วยซ้ำ 

"ทหารอยู่ในกรุงเทพ เกิดรบกันมันกดปุ่มมาจากไหน ตูมลงมาลงกบาลใคร ลงชาวบ้าน จริงเปล่า เดี๋ยวเผลอๆ ลงบ้านคุณ แทนที่จะลงค่ายทหาร (สมมุติมีสงคราม) ดังนั้นเอาออกไปก่อนไม่ดีกว่าหรอ" 

"ราบ 11 มีตั้ง 3 พันไร่ ตรงบางเขน อยู่กันอย่างเป็นเทวดา เกษียณแล้วยังไม่ยอมไป ผบ.ทบ.ทุกคนก็ไปอยู่แถวนั้น อยู่บ้านหลวง น้ำหลวง ไฟหลวง ทหารรับใช้ มีครบมีเพียบ ไม่เหมือนผม ผมเกษียณ ผมรับราชการก็อยู่บ้านตัวเองหมด นี่อยู่บ้านหลวงตลอด" อดีต ผบ.ตร. กล่าว พร้อมระบุว่า กระทรวงกลาโหมอยู่ในศูนย์ราชการ แต่กองทัพคนละส่วนกัน กองทัพก็ต้องย้ายไป 

หรือเมื่อ 28 ก.ย.51 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มประกายไฟ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงข้อเสนอการเมืองใหม่ ขณะนั้น โดยมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพตอนหนึ่งว่า ให้ย้ายค่ายทหารออกจากเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับสร้างสวนสาธารณะ และศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่คนจน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากข้อเสนอของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เรื่องย้ายค่ายทหารนั้น ต่อมา 24 เม.ย.61 มติชนอออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาจาก พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ข้อเสนอย้ายหน่วยงานกองทัพออกไปชานเมืองเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ส่วนใหญ่หน่วยที่ตั้งใน กทม. จะเป็นหน่วยบัญชาการ ส่วนกลาง หรือมีภารกิจเฉพาะโดยตรง การย้ายที่ตั้งต้องใช้งบประมาณ มิใช่แค่ตัวทหาร หรืออาคารสถานที่ แต่หมายความรวมถึงครอบครัว และองค์ประกอบอื่นๆด้วย

ทั้งนี้ กองทัพถือเป็น 1 ใน สถาบันการเมืองสำคัญของประเทศ แต่ภายใต้วาระการปฏิรูปที่ คสช. ชูตลอด 4 ปีที่ผ่านา ไม่มีการแตะที่กองทัพเลย ขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปกองทัพก็มีการนำเสนอมาโดยตลอด ไม่เพียงการย้ายค่ายทหารออกจากเมืองหลวงเท่านั้น ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น ให้กองทัพอยู่ใต้อำนาจของพลเรือน ที่เป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ลดจำนวนนายพลว่างงาน ลดกำลังพลให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นใช้วิธีสมัครใจ  ลดงบประมาณของกองทัพ เอาไปสร้าง 'ความมั่นคงของประชาชน' อย่างสวัสดิการแทน ยกสนามกอล์ฟ สนามม้าของกองทัพบก ให้ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ ปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์โดยมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงรองรับ และ ลดภาระงานที่กองทัพทำซ้ำซ้อน เช่น งานบรรเทาสาธารณภัย ควรให้ ปภ. ทำ เป็นต้น

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #225 พุทธไทยและจักรวาลพุทธโลก

Posted: 02 Sep 2018 08:35 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชวนคุยเรื่องที่ทางของพุทธศาสนาไทยในจักรวาลโลกพุทธ และอิทธิพลของพุทธเถรวาทจากลังกา พร้อมทบทวนว่าการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยยังคงเป็นไปตามพุทธพจน์ที่เน้นให้ภิกษุทั้งหลาย "...จงจาริกไปเพื่อประโยชน์ และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก..." มากน้อยแค่ไหน

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เสนอทำ 'เขตพื้นที่พิเศษชมตัวเหี้ย' ที่มาสวนลุมพินี

Posted: 02 Sep 2018 04:33 AM PDT

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุมีข้อมูลว่านักท่องเที่ยวที่มาสวนลุมพินีบางกลุ่มตั้งใจมาชม 'ตัวเหี้ย' ควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำโครงการเขตพื้นที่พิเศษชมตัวเหี้ยในป่าในเมือง เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ที่มาภาพประกอบ: Kolbusz (Creative Commons Attribution-Share Alike 4.0 International)

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่า น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า กทม.บอกมาว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่เข้ามาออกกำลังกายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ กทม. เพราะความเป็นจริงนั้น ตัวเหี้ย ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร อีกทั้งประชาชนที่เข้ามาสวนลุมพินี ต่างก็คุ้นเคยกับสัตว์ดังกล่าวอยู่แล้ว และที่ กทม.อ้างว่า ได้ใช้วิธีเดินนับขณะนี้มีตัวเหี้ยอาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวกว่า 400 ตัว ต่างกับสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เข้าไปนับได้แค่ 160 ตัวเท่านั้น

จากการได้พูดคุยกับผู้ที่ใช้บริการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายในสวนลุมพินี ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้สึกรังเกียจตัวเหี้ย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนรู้สึกมหัศจรรย์ใจ ที่เห็นสัตว์ชนิดนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสวนสาธารณะร่วมกับประชาชนอย่างปกติสุข

จึงขอเสนอแนวคิดให้กทม.จัดกิจกรรมนับตัวเหี้ยกันใหม่ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ยอมรับกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวที่มาสวนลุมพินีบางกลุ่มตั้งใจมาชมตัวเหี้ยโดยเฉพาะ จึงควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสทำโครงการเขตพื้นที่พิเศษชมตัวเหี้ยในป่าในเมือง เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ระบุรัฐบาล-สนช. ต้องชี้แจงเหตุงบความมั่นคงเพิ่ม 20-21% มีความจำเป็นอย่างไร

Posted: 02 Sep 2018 01:08 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุรัฐบาลและ สนช. ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนว่างบประมาณกลาโหม-งบความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น 20-21% นั้นมีความจำเป็นอย่างไร ทั้งที่ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงลดลงและไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเกิดสงครามในภูมิภาคนี้ กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล คสช. ถึง 9.38 แสนล้านบาท


ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)

2 ก.ย. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นหลังจากงบประมาณปี พ.ศ. 2562 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ผ่านการอนุมัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงว่า เป็นกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ขาดการมีส่วนร่วมและไม่ได้เกิดจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านผู้แทนอันชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการกำหนดงบประมาณและการเก็บภาษี (Budget and Taxation without Representation) สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายงบประมาณจึงมีฐานะเป็นเพียง "สภาตรายาง" ให้รัฐบาล คสช. เท่านั้น จึงเสนอให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งทำการทบทวนและแก้ไขงบประมาณปี 2562 เสียใหม่ เนื่องจากพบว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2562 มีสิ่งที่ต้องแก้ไขหลายประการด้วยกัน มีงบประมาณรายจ่ายสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท และมีการทำขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท ควรลดการขาดดุลลงเนื่องจากมีความจำเป็นน้อยลงในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงของวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต นอกจากนี้อาจจะเกิดสภาวะที่การใช้จ่ายภาครัฐอาจไปแย่งเม็ดเงินจากภาคเอกชนและดันอัตราดอกเบี้ยในระบบให้สูงขึ้นได้ ทำให้ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายของภาครัฐถูกหักล้างด้วยการลดลงของการลงทุนภาคเอกชนอันเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น หรือ ที่เรียกกันว่า เกิด Crowding out Effect นั่นเอง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งควรทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเงินกู้จำนวนมากและมีความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังและควรทบทวน "สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากเกินพอดี" ทั้งหลายเพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติที่ทำให้รัฐสูญเสียเงินรายได้ภาษีจำนวนมาก กำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังเพื่อให้ประเทศสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ภายใน 5 ปีข้างหน้าหลังจากที่ได้มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่าต้องมีการบริหารการชำระหนี้สาธารณะให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของการชำระหนี้ในอนาคตจนกระทบสภาพคล่องในอนาคต รายจ่ายประจำยังคงเพิ่มขึ้น 4-5% ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มเพียง 1% สะท้อนยังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณแต่อย่างใดเพราะรายจ่ายเพื่อการลงทุนยังคงมีสัดส่วนเพียงแค่ 22% ซึ่งควรปรับโครงสร้างให้เพิ่มเป็น 30% ของงบประมาณรายจ่ายและต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบราชการและรัฐวิสาหกิจ รัฐบาล และ สนช. ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนด้วยว่างบประมาณกลาโหมงบความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น 20-21% นั้นมีความจำเป็นอย่างไร ทั้งที่ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงลดลงและไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเกิดสงครามในภูมิภาคนี้ กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล คสช. ถึง 9.38 แสนล้านบาท ขอเสนอให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งยกเลิกการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นและไม่มีคุณภาพ โดยนำเงินมาจัดสรรเพื่อการเพิ่มสวัสดิการให้นายทหารชั้นผู้น้อย ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศและลงทุนทางด้านการฝึกอบรมให้กับนายทหาร หรือ โยกงบประมาณไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนหรืออุปกรณ์ทางการศึกษาสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนจะดีกว่า ขณะเดียวกันสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก แรงงานระดับล่างและเกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก จึงควรจัดทำงบประมาณมุ่งเป้าหมายไปกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ ในระบบเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดสวัสดิการใดๆต่อประชาชน 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีขนาดของงบกลางที่มากขึ้นอย่างชัดเจนสูงเกือบห้าแสนล้านบาท และงบกลางมักไม่มีรายละเอียดรายการการใช้จ่ายทำให้เงินสาธารณะ (Public Money) อาจใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รั่วไหลได้ง่ายหรือใช้ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายได้ หากมีการใช้จ่ายงบก้อนนี้ควรชี้แจงรายละเอียดต่อประชาชนและควรผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภาหลังการเลือกตั้งด้วย ในส่วนของงบกลางที่เป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิของบุคลากรภาครัฐ เช่น เงินเลื่อนขั้นเลื่อนอันดับ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ไม่ควรถูกกำหนดไว้ในงบกลางเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ ต้องจัดทำเป็นงบประจำสามารถประมาณการและสามารถทำแผนการใช้จ่ายได้ หลังจากงบประมาณผ่านการอนุมัติจาก สนช. แล้ว ได้มีรายการเพิ่มเติมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ 1.มาตรา 4 งบฯ กลางตั้งเพิ่มขึ้น 9 พันล้านบาท สำหรับแผนงานเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2.มาตรา 30 รัฐวิสาหกิจ ตั้งเพิ่มขึ้น 7.2 พันล้านบาท สำหรับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ใช้ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ธกส. และสถาบันเกษตรกร และ 3.มาตรา 34 กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 2.5 พันล้านบาท สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ส่วนรายการเพิ่มเติมจำนวนมากที่น่าสนใจ เช่น มาตรา 51 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งเพิ่มขึ้น 1.8 พันล้านบาท สำหรับโครงการปรับปรุงชลประทาน โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ, มาตรา 7 กระทรวงกลาโหม ตั้งเพิ่มขึ้นอีก 307 ล้านบาท สำหรับสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เงินอุดหนุนการบริหารองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 138 ล้านบาท กับ กองทัพบก ด้านการเสริมสร้างกำลังกองทัพ 169 ล้านบาท การจัดทำงบประมาณขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆที่ต้องทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้งและต้องใช้งบประมาณปี 2562 ทำให้โดยภาพรวมแล้วการจัดทำงบประมาณปี 2562 ก่อนประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยยังไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม (Participation) ความโปร่งใส (Transparency) ที่เน้นการตรวจสอบถ่วงดุล ความรับผิดชอบ (Accountability) ความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) ทั้งหมดนี้ เรียกว่า หลักธรรมาภิบาลในการจัดทำงบประมาณให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ประเทศและการปฏิรูป
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าส่วนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในงบประมาณก็เป็นยุทธศาสตร์ที่คิดแบบราชการ ไม่ได้ผนวกเอาวิสัยทัศน์ระยะยาวเข้าไปด้วยเพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ระดับปานกลาง แต่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานเหมือนเช่นยุทธศาสตร์งบประมาณทุกปี ไม่มีอะไรใหม่ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ที่พลิกผันระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต ระบบการเงินและระบบการเมืองได้ดีนัก รวมทั้ง ยังติดกรอบคิดแบบราชการ ตนจึงมีความเห็นว่าควรจัดทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์โดยกำหนดไว้ 10 ยุทธศาสตร์ดังนี้ 

ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง 
ยุทธศาสตร์ที่สอง ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอา "คุณภาพชีวิตของพลเมือง" เป็นศูนย์กลาง 
ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐบาล
ยุทธศาสตร์ที่สี่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือ ยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ 
ยุทธศาสตร์ที่ห้า ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
ยุทธศาสตร์ที่หก ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม
ยุทธศาสตร์ที่เจ็ด ยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมือง
ยุทธศาสตร์ที่แปด ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคการเมือง 
ยุทธศาสตร์ที่เก้า ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ของโลก และ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 
ยุทธศาสตร์ที่สิบ ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าการจัดทำงบประมาณก็ต้องเน้นการกระจายอำนาจทางการคลังอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน การกระจายอำนาจทางการคลังและการจัดทำงบประมาณแบบนี้ จะนำไปสู่การเพิ่มอำนาจประชาชนและลดอำนาจรัฐนั่นเอง ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณเสียใหม่ให้ลงสู่พื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิตเพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิต นอกจากนี้งบประมาณปี 2562 เป็นงบประมาณแผ่นดินในช่วงรอยต่อของระบอบรัฐบาล คสช. กับ ระบอบรัฐบาลเลือกตั้ง จึงต้องมีการกำหนดให้ระบบตรวจสอบงบประมาณ และ การกำหนดตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดการทำงานต่อเนื่องด้วย ลดปัญหางบประมาณค้างท่อแล้วมาเร่งรัดใช้จ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณทำให้มีการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปัญหาการของบประมาณมากเกินจริงของหน่วยราชการและการบริหารจัดการกองทุนนอกงบประมาณต้องบริหารจัดการให้ดี

งบประมาณยังไม่ได้เน้นย้ำ บทบาทการถ่ายโอนรายได้ (Redistribution Policy) ผ่านเครื่องมือภาษีและการจัดสรรสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกันเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ข้อเท็จจริงของประเทศ ก็คือเด็กกว่า 40% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน มีพัฒนาการต่ำกว่าวัย 2/3 ของครอบครัวไทยไม่สามารถมีเงินส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทสูงมาก ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถแบกรับภาระที่มากขึ้นของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ดีนัก การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี 

ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณต้องเป็นไปตามความสำคัญและความเร่งด่วนของกิจกรรม เช่น รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมในส่วนในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมีความสำคัญหรือความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรเมื่อเทียบกับ งบประมาณในการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำ หรือ งบประมาณเพื่อสวัสดิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการการศึกษาของประชาชนที่ถูกปรับลดลง และรายจ่ายทางการศึกษาสามารถปรับรูปแบบให้เป็นเงินทุนสำหรับผู้เรียนไปเลือกซื้อบริการจากรัฐหรือเอกชนก็ได้ เป็นการเปลี่ยนจาก Supply-side financing เป็น Demand-side financing สำหรับการใช้จ่ายทางการศึกษา เช่นเดียวกับรายจ่ายงบประมาณทางด้านสวัสดิการสุขภาพ ภาครัฐใช้ซื้อบริการ (โดยผู้ผลิตอาจเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็ได้) สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและทำให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูประบบงบประมาณว่าเมื่อประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว ขอเสนอให้ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน สามารถมีส่วนร่วมในการนำเสนองบประมาณของประชาชน (People Budget) ได้ โดยใช้แนวทางการจัดสรรงบประมาณแบบเพิ่มอำนาจประชาชน (People Empowerment) เสนอให้มีจัดตั้งคณะกรรมการบริหารงบประมาณที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งโครงสร้างปัจจุบันจะมีแต่ภาคราชการและภาคการเมือง และควรเพิ่มตัวแทนของภาคประชาชนในคณะกรรมการพิจารณางบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณ ขอให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณแบบ Supply-side โดยงบประมาณฐานะกรม ส่วนราชการเป็นผู้รับงบประมาณ เป็น การจัดสรรแบบ Demand-side เน้นส่งงบประมาณไปที่ประชาชนโดยตรงผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน หรือ โครงการ SML ที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการบริหารจัดการงบประมาณ นอกจากนี้ควรจะมีการพิจารณาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานติดตามและประเมินผลงบประมาณภายใต้รัฐสภาไทยเพื่อเกิดการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกลไกในการสะท้อนความต้องการของประชาชน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ขสมก.สั่งปรับ-พักงานคนขับรถร่วมจอดเบียดซ้อนกัน พบปี 2552-2558 คนใช้รถเมล์น้อยลง

Posted: 02 Sep 2018 12:33 AM PDT

ขสมก.ลงดาบรถร่วมจอดรถประชิดติดกันจนผู้โดยสารลงรถไม่ได้ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ลงโทษปรับ 5,000 บาท พักการปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถทั้ง 2 คัน เป็นเวลา 15 วัน ข้อมูลตั้งแต่ปี 2552-2558 พบแนวโน้มคนใช้รถเมล์ลดลง จากปี 2552 มีผู้ใช้ 315,183,985 ครั้ง เหลือ 224,363,943 ครั้ง ในปี 2558 (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)

2 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่าหลังจากมีการเผยแพร่ภาพรถโดยสารเอกชนร่วมบริการธรรมดา สาย 8 หมายเลข 39 - 115 ของบริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด และรถโดยสารเอกชนร่วมบริการธรรมดา สาย 44 หมายเลข 24 ของบริษัท รวีโชค จำกัด จอดรถเบียดซ้อนกัน บริเวณป้ายหยุดรถโดยสารข้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ทำให้ปิดช่องการจราจรและผู้ใช้บริการรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ สาย 8 ไม่สามารถลงจากรถได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 เวลา 17.00 น. นั้น

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าว ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของ ขสมก.จึงลงโทษปรับบริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด และบริษัท รวีโชค จำกัด ขั้นสูงสุดเป็นเงิน 5,000 บาท เนื่องจากไม่กำกับดูแลพนักงานให้ปฎิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของ ขสมก. พร้อมสั่งพักการเดินรถและพักการปฎิบัติหน้าที่พนักงานขับรถทั้ง 2 คัน เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2561 เป็นต้นไป และให้เจ้าของบริษัททั้ง 2 รายมารายงานตัว พร้อมกับพนักงานขับรถโดยสาร เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ในวันที่ 3 ก.ย. 2561 เวลา 09.00 น. ณ สำนักงานใหญ่ ขสมก.

พบปี 2552-2558 คนใช้รถเมล์น้อยลง 

จาก รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบองค์รวม ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), 2560  ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ไว้ โดยในปี 2552 มีผู้ใช้ 315,183,985 ครั้ง ปี 2553 มีผู้ใช้ 308,175,956 ครั้ง ปี 2554 มีผู้ใช้  303,380,034 ครั้ง ปี 2555 มีผู้ใช้  282,754,160 ครั้ง ปี 2556 มีผู้ใช้  248,989,130 ครั้ง ปี 2557 มีผู้ใช้  229,023,066 ครั้ง และปี 2558 มีผู้ใช้ 224,363,943 ครั้ง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลปกครองนัดพิจารณาคดีประธานสหภาพพยาบาลฟ้อง คกก.สภาพยาบาล 5 ก.ย. นี้

Posted: 01 Sep 2018 10:51 PM PDT

ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาครั้งแรก คดีที่ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ฟ้องคณะกรรมการสภาพยาบาล คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรฐัละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าล่าช้าเกินสมควร

นางสาวมัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 (แฟ้มภาพ)

2 ก.ย. 2561 กลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครองกลางแจ้งข่าวว่าในวันที่ 5 ก.ย. 2561 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ 1198/2559 ระหว่างนางสาวมัลลิกา ลุนจักร (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย) กับพวกรวม 3 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการสภาพยาบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (ขอให้พิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องคดี) 

โดยในคดีนี้มัลลิกา กับพวกรวม 3 คน ฟ้องว่าคณะกรรมการสภาการพยาบาล ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีผู้ร้องคดีได้มีหนังสือได้มีหนังสือ ลว.3 ก.พ. 2559 ขอใหผู้ถูกฟ้องคดพีจิารณาดำเนินการเปิดประชุมใหญ่สมาชิกวิสามัญทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอของสมาชิกและขอให้กำหนดวิธีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนของสมาชิกเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการสภาการพยาบาล แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับเพิกเฉยเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

การฟ้องร้องครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2559 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้ขอให้มีเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อรับข้อร้องทุกข์และจัดทำประชาวิจารณ์ ขอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ 2528 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2540 แต่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลมีมติไม่สามารถเปิดการประชุมดังกล่าวได้ ทำให้มัลลิกา กับพวกรวม 3 คน ได้ทำการยื่นฟ้องกรรมการสภาการพยาบาล ณ ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักการเมืองชี้อย่าฝืนโลก 'ห้ามหาเสียงออนไลน์' โพลเผยประชาชน 46.33% จี้ปลดล็อกลุยเลือกตั้ง

Posted: 01 Sep 2018 10:16 PM PDT

'เพื่อไทย' โวยซื้อเสียงล่วงหน้าเกลื่อนโคราช จี้ กกต.เร่งเข้าไปสอบสวน โฆษก 'สามมิตร' เผย ก.ย.นี้ รู้กันไปร่วมกับพรรคไหน 'ประชาธิปัตย์' ไม่เกี่ยงไพรมารีแบบไหนย้อน คสช.คิดแต่เอาเปรียบระวังเข้าตัว ชี้อย่าฝืนโลกห้ามหาเสียงออนไลน์ สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจ 46.33% จี้ปลดล็อกลุยเลือกตั้ง ขณะ 35.26% หนุนแค่คลายล็อกห่วงประเทศวุ่นวาย


ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

'เพื่อไทย' โวยซื้อเสียงล่วงหน้า เกลื่อนโคราช จี้ กกต.เร่งเข้าไปสอบสวน

เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.)กล่าวว่าได้รับข้อมูลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่รักประเทศชาติบ้านเมือง รักประชาธิปไตยไม่อยากให้มีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า จึงแจ้งเบาะแสเข้ามาที่พรรคเพื่อไทยจำนวนมากว่าขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีการรวบรวมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดอ้างว่าจะนำไปใช้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองบางพรรค

"บางพื้นที่บอกว่า จะเอาไปเป็นหลักฐานการจ่ายเงินค่าตอบแทน รวมถึงนำไปเป็นหลักฐานการรับเงินในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐจึงอยากเรียกร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เข้าไปตรวจสอบกรณีนี้ซึ่งเกิดเหมือนๆกันในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา อาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำการผิดกฎหมาย โดยเลือกลงมือในช่วงก่อนพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ โดยมีเครือข่าย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ว่ ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการเรื่องนี้อย่างหนักและทำกันอย่างเป็นกระบวนการ หรือไม่" รักษาการ รองโฆษกพรรคเพื่อไทยย้ำ

โฆษก 'สามมิตร' เผย ก.ย.นี้ รู้กัน ไปร่วมกับพรรคการเมืองไหน

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 ว่านายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มสามมิตรลงพื้นที่พบปะประชาชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และรัฐบาลได้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนนั้น ทำให้วันนี้ประชาชนในหลายจังหวัดได้ประสานมาว่า อยากให้กลุ่มสามมิตรลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับชาวบ้าน ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้ประชุมหารือกับแกนนำว่า หากจังหวัดไหน ที่มีปัญหาเร่งด่วนอาจจะไปลงพื้นที่ก่อน ล่าสุด มีชาวบ้าน จ.กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ และสุโขทัย ได้ประสานขอให้กลุ่มสามมิตรลงพื้นที่รับฟังปัญหาเนื่องจากทราบว่า นายสมศักดิ์ จะต้องเดินทางไปดูการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญของสโมสรสุโขทัย เอฟซี ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า

โดยหลังจากเดือน ก.ย. กระบวนการตั้งพรรคการเมืองคงจะดำเนินการกันเรียบร้อยหมดแล้ว ดังนั้น กลุ่มสามมิตร น่าจะไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองด้วย การตัดสินใจว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใดคงจะใช้เวลาไม่นาน เพราะผู้ใหญ่ของกลุ่มสามมิตรเองได้พูดคุยกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงน่าจะมีความชัดเจนว่า กลุ่มสามมิตร จะเปลี่ยนจากกลุ่มไปสังกัดพรรคการเมืองใด

ประชาธิปัตย์ไม่เกี่ยงไพรมารีแบบไหน ย้อน คสช.คิดแต่เอาเปรียบระวังเข้าตัว

MGR Online รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำไพรมารีโหวตรูปแบบใหม่ว่า จะทำไพรมารีโหวตรูปแบบไหนก็ได้ ไม่มีอะไรขัดข้อง ไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นแบบใหม่หรือแบบเก่า เพราะการทำไพรมารีโหวตคือการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมทางการเมือง ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมานานหลายสิบปีแล้วโดยที่ไม่มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ซึ่งสมาชิกพรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลที่สมาชิกพรรคเห็นว่าเหมาะสมจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในที่ประชุมสาขาพรรค จากนั้นสาขาพรรคก็จะส่งรายชื่อมาให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะมีชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไป

นายองอาจกล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสมาชิกพรรคมาโดยตลอด ถึงแม้กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง แต่ในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น หลังจากมีการคลายล็อคแล้ว ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดให้มีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรงจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ด้วยวิธีการที่นำเอาเทคโนโลยีใหม่มาอำนวยความสะดวกในการทำงาน ซึ่งจะช่วยทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เต็มที่

ส่วนหลังจากคลายล็อคแล้ว ยังมีความไม่ชัดเจนว่าอะไร ทำได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น นายองอาจกล่าวว่า ถ้า คสช. และรัฐบาลคำนึงถึงการปฏิรูปการเมืองและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายได้ก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้หลังคลายล็อค แต่เมื่อคนบางคนใน คสช. และรัฐบาลจะสืบสานปณิธานการสืบทอดอำนาจต่อไปเลยทำให้ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่มาออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายจนทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามปกติ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ การปรับ - เปลี่ยน - เพิ่ม - ลด กฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายทั้งปวงก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง 

"ขอฝากผู้มีอำนาจคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจมีคำสั่งอะไรออกมา เพราะถ้าเป็นคำสั่งที่ก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นบูมเมอแรงมาทิ่มแทงผู้มีอำนาจให้เกิดความเสียหายได้ ทางที่ดีที่สุดคือทำตรงไปตรงมา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีอะไรสะดุด น่าจะเป็นสุดยอดปรารถนาของคนในชาติมากกว่า"

ระบุอย่าฝืนโลกห้ามหาเสียงออนไลน์ แนะตั้ง คกก. เป็นกลางจับตาพวกบิดเบือน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกเตือนพรรคการเมืองห้ามหาเสียงและโฆษณาชวนเชื่อ ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคลายล็อกในเดือน ก.ย.นี้ว่า ที่ผ่านมาโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆในโลก มีปัญหา เรื่องการจงใจบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสีสร้างความตื่นตระหนก หากอยู่ในช่วงมีกฤษฎีกาการเลือกตั้งก็จะมีผลต่อบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ถูกใส่ร้ายอย่างรุนแรง แก้ได้ยาก แต่โซเชียลมีเดียก็มีข้อดีมากมาย ราคาค่าใช้จ่ายไม่มาก ทำให้พรรคการเมืองประหยัดงบประมาณ

นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น คสช. หรือรัฐบาล จะห้ามใช้โซเชียลมีเดีย ในการหาเสียงนั้น จะไปฝืนกระแสโลกไม่ได้ อยู่ที่การบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์ในการใช้ ต้องหาทาง ป้องกัน ข่าวปลอม ข่าวปล่อย อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ตำรวจ กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ต้องออกแบบหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ หาบุคลากรที่เข้มแข็งมาจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นแล้วการเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนที่ตกหนักที่สุดก็คือทหาร ซึ่งจะถูกกระหน่ำจากโซเชียลมีเดีย เพราะความจริงถึงไม่ตัดต่อก็มีมุมมีประเด็นที่อาจถูกถล่มได้อยู่แล้ว

"การจัดตั้งหน่วยงานที่สามารถสกัดโซเชียลมีเดียปลอม และติดตามโซเชียลมีเดียที่ไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งมีอำนาจระงับหรือประสานกับต่างประเทศเพื่อระงับยับยั้งได้ หน่วยงานดังกล่าว จะต้องมีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ใช่สกัดบางพรรคแล้วไม่สกัดพรรคที่สนับสนุนตนเอง ก็จะไม่สง่างาม และจะต้องใช้กับทุกพรรคการเมือง ไม่เมือง ไม่เลือกปฏิบัติ ขอย้ำว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ข่าวปล่อยข่าวลือจะเกิดขึ้นเป็นระยะ" นายวิรัตน์ กล่าว

สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจ 46.33% จี้ปลดล็อกลุยเลือกตั้ง ขณะ 35.26 % หนุนแค่คลายล็อกห่วงประเทศวุ่นวาย

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,033 คน ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2561 ในหัวข้อ "ประชาชนคิดอย่างไร กับ ปลดล็อก คลายล็อก ทางการเมือง จากการที่ คสช. จะคลายล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้บางส่วน ส่งผลให้พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว และวิพากษ์วิจารณ์กับคำสั่งดังกล่าว พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.33 สนับสนุนให้ปลดล็อกทางการเมืองให้ดำเนินการโดยอิสระ รองลงมา ร้อยละ 35.26 สนับสนุนให้แค่ "คลายล็อก" ทางการเมือง แต่ยังไม่ควรปลดล็อกทั้งหมด โดยประชาชนยังคงวิตกกัล หากมีการปลดล็อก พบว่า ประชาชนร้อยละ 48.96 มองว่า หากปลดล็อก อาจทำให้เกิดความขั้ดแย้ง บ้านเมืองวุ่นวาย รองลงมา ร้อยละ 35.76 กลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว และร้อยละ 25.35 มีการหาเสียงรุนแรง โจมตีกันไปมา

ขณะประชาชนถึง ร้อยละ 50.67 มองว่า อาจเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ใส่ร้าย สาดโคลนกัน รองลงมา ร้อยละ 31.39 มีการคัดค้าน จัดกิจกรรมไม่เหมาะสม และร้อยละ 30.49 คสช. ไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ เรื่องใดที่ประชาชนคิดว่า "ควรคลายล็อก" และ "ยังไม่ควรคลายล็อกทางการเมือง พบว่า เรื่องที่ควรคลายล็อก ประชาชนร้อยละ 41.57 กำหนดนโยบายหาเสียงที่ชัดเจน รองลงมา ร้อยละ 40.18 คัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้ง และร้อยละ 27.02 เลือกหัวหน้าพรรคได้ ขณะที่เรื่องที่ยังไม่ควรคลายล็อก พบว่า ประชาชนร้อยละ 39.66 การหาเสียงในที่สาธารณะ รองลงมา ร้อยละ 36.21 ประชุมพรรค ชุมนุมทางการเมือง และร้อยละ 24.13 การลงพื้นที่ พบปะประชาชน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 ส.ค.-2 ก.ย. 2561

Posted: 01 Sep 2018 09:30 PM PDT

สมาคม ขรก.ท้องถิ่นเสนอปลัดรับเงินเดือนเพิ่มขณะทำหน้าที่รักษาการนายก อบต./ฉวยโอกาสค้าบริการพุ่ง ไต้หวันจะพิจารณาจำกัดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์เป็นคนละ 1 ครั้งต่อปี/ทำงานเป็นกะ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน/ปี 2560 ผู้หญิงไทยทำงานเป็นพนักงานเอกชนมากที่สุด 37.4%/อดีตแรงงานไทยในเกาหลีใต้ระบุถูกบางสื่อหยิบแต่ด้านลบมานำเสนอ/ก.แรงงาน ระดมสมองหาข้อสรุปจ้างงานพาร์ทไทม์วัยเก๋า/เกาหลีใต้ชงยกเลิก 'ฟรีวีซ่าไทย' คนไทย แก้ปัญหาหนีไปทำงาน

สมาคม ขรก.ท้องถิ่นเสนอปลัดรับเงินเดือนเพิ่มขณะทำหน้าที่รักษาการนายก อบต.

นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอความเห็นถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ภายหลังจัดให้มีการรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยเสนอให้แก้ไขกรณีที่ไม่มีนายก อบต. ให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่ของนายกได้เป็นการชั่วคราวยกเว้นการกำหนดนโยบายใหม่จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้รับเงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่แทนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาในทางปฏิบัติมีการตีความหรือมีข้อวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน ทำให้การให้บริการประชาชนขาดประสิทธิภาพในช่วงที่ปลัด อบต.ปฏิบัติหน้าที่นายก จากคำจำกัดความให้ทำงาน 'เท่าที่จำเป็น' และการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายก อบต.เมื่อมีข้อผิดพลาด ปลัดจะต้องรับผิดชอบ จึงควรกำหนดเงินค่าประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับการเสนอความเห็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น สมาคมฯยืนยันว่ามีข้อบกพร่องจากบทบัญญัติให้มีการรวมศูนย์อำนาจการบริหารงานบุคคลไว้ที่หน่วยงานส่วนกลาง สวนทางกับหลักการกระจายอำนาจ และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 และ 251 นอกจากนั้นยังไม่มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ให้ความเป็นธรรมแบบเป็นกลางกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่อาจถูกลงโทษทางวินัย หรือมีปัญหาขัดแย้งกับผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งด้อยกว่า พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน

ที่มา: มติชน, 2/9/2561

ฉวยโอกาสค้าบริการพุ่ง ไต้หวันจะพิจารณาจำกัดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์เป็นคนละ 1 ครั้งต่อปี

ไต้หวันเปิดให้นักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์และบรูไน เดินทางมาท่องเที่ยวที่ไต้หวันได้ โดยยกเว้นการตรวจลงตรามาเป็นปีที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 31 ส.ค. มีการทบทวนมาตรการฟรีวีซ่าดังกล่าว ในที่ประชุมมีการหารือผลจากมาตรการฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์และบรูไน แม้จะทำให้ยอดจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่คดีผิดกฎหมาย เช่นค้าบริการ และทำงานอย่างผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวบางส่วนใช้มาตรการฟรีวีซ่า ฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย จะเสนอให้จำกัดฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่จากแต่ละคนปีละ 6 ครั้ง ลดลงเหลือปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 14 วัน หากที่ประชุมสภาบริหารอนุมัติ จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ปี 2562

จากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบและจับกุมหญิงไทยที่อาศัยมาตรการฟรีวีซ่า ค้าบริการในไต้หวันรวม 309 ราย มากว่าปี 2559 ที่มีจำนวน 18 ราย และปี 2558 ที่ตรวจพบ 3 ราย 17 เท่า และ 103 เท่าตามลำดับ ทั้งนี้ไต้หวันจะพิจารณาจำกัดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวไทย ฟิลิปปินส์เป็นคนละ 1 ครั้งต่อปี ป้องกันนักท่องเที่ยวบางส่วนฉวยโอกาสทำผิดกฎหมาย โดยปี 2560 จับกุมหญิงไทยค้าบริการในไต้หวันรวม 309 ราย มากว่าปี 2559 ที่มีจำนวน 18 ราย ถึง 17 เท่า

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/9/2561

ทำงานเป็นกะ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

แพทย์เผยผู้ทำงานเป็นกะ มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูงฯ ลฯ แนะ 3 ข้อปฏิบัติ 'นอนช่วงเย็นให้ได้ 2-3 ชั่วโมง-ไม่ทานมื้อหนักช่วงหลังเที่ยงคืน-ออกกำลังกายหลังตื่นนอน'

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตด้านการทำงานของบุคคลทั่วไปมีช่วง เวลาทำงานระหว่าง 07.00-18.00 น.แต่ยังมีกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะนอกเหนือเวลาปกติ เช่น ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์และคนงานในโรงงานที่มีการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ จากการศึกษาพบว่าการทำงานของร่างกายมนุษย์ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การผลิตฮอร์โมน การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของกระเพาะอาหารเป็นแบบ 24 ชั่วโมง โดยวงรอบการทำงานต่างๆ จะประสานสอดคล้องกัน โดยมีสมอง ปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวควบคุม ดังนั้นเมื่อต้องทำงานเป็นกะ ร่างกายจะมีการปรับวงจรการนอนให้สอดคล้องกับกะที่ทำงาน แต่วงจรอื่นๆ จะต้องใช้เวลาในการปรับ  ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น  ผลกระทบที่ตามมาคือนอนไม่เพียงพอ ทำให้อ่อนล้า สูญเสียสมาธิ และการตัดสินใจช้าลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของความผิดพลาดและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

นพ.สมบูรณ์  ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบด้านสุขภาพมี 2 ระยะ คือ ผลระยะสั้น ผู้ที่ต้องทำงานกะดึกจะได้รับผลกระทบทันทีในคืนแรก ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ(ปริมาณชั่วโมงการนอน) และคุณภาพของการนอน(หลับไม่สนิท) ผลที่ตามมาคือความอ่อนล้า เครียด ประสิทธิภาพการตัดสินใจลดลง ส่วนผลระยะยาวจะมีอาการเครียดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ มักเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่างๆ ในระยะยาว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูงและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถึงร้อยละ 40 โรคกระเพาะอาหารมากกว่า 2.5 เท่าของคนปกติ โรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงถึงร้อยละ 30 โรคระบบทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคจิตประสาท กังวล ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัวและสังคม สำหรับในผู้หญิงอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ง่าย

สำหรับข้อแนะนำของผู้ทำงานเป็นกะ ได้แก่ 1.การนอน พยายามนอนช่วงเย็นให้ได้ 2-3 ชั่วโมงใช้เครื่องป้องกันเสียงเพื่อตัดเสียงรบกวน งดชา กาแฟ หรือสารกระตุ้นประสาทก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง 2.การรับประทานอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักในช่วงหลังเที่ยงคืน ให้ทานอาหารเบาๆ แต่อุดมไปด้วยคุณค่าอาหารซึ่งนมจัดได้ว่าเป็นอาหารที่เหมาะที่สุด เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ย่อยง่ายและเป็นสารเคลือบกระเพาะ 3.การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายหลังตื่นนอนจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายทำให้สดชื่นและกระฉับกระเฉง หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานเป็นกะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/9/2561

ปี 2560 ผู้หญิงไทยทำงานเป็นพนักงานเอกชนมากที่สุด 37.4%

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสรุปผลที่สำคัญการทำงานของผู้หญิงในประเทศไทยปี 2560 พบว่าผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 28.95 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 17.35 ล้านคน หรือ 59.9% ของผู้หญิงที่อายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด (เป็นผู้มีงานทำ 17.11 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.05 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 2.78 หมื่นคน) นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงที่อยู่นอกกำลังแรงงานอีก 11.60 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.1% ได้แก่ ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ ชรา เกษียณการทำงาน เป็นต้น

นายภุชพงค์ กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบอาชีพระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่าอาชีพที่เพศหญิงมีจำนวนผู้ทำงานมากกว่าเพศชาย คือ เสมียน (หญิง 71.9% และชาย 28.1%) ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ (หญิง 61.2% และชาย 38.8%) และพนักงานบริการในร้านค้าและตลาด (หญิง 58.7% และชาย 41.3%) ในขณะที่บางอาชีพมีลักษณะงานเหมาะสำหรับเพศชาย เช่น ช่างเทคนิคหรือผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ (เช่น วิศวกรรม สถาปนิก เป็นต้น) เพศหญิงกลับมีสัดส่วนผู้ทำงานด้านนี้มากกว่าเพศชาย

ทั้งนี้สำหรับสถานภาพการทำงานของแรงงานผู้หญิงปี 2560 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเอกชน 37.4% ประกอบธุรกิจส่วนตัว 26.3% ช่วยธุรกิจครัวเรือน 24.5% ลูกจ้างรัฐบาล 10.3% นายจ้าง 1.3% และการรวมกลุ่ม 0.2% ตามลำดับ

"จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานเท่าเทียมกับชาย ซึ่งเห็นได้จากความสามารถการทำงานของผู้หญิงเพิ่มขึ้นและหลากหลายในปัจจุบัน" นายภุชพงค์ กล่าว

ที่มา: มติชน, 30/8/2561

ทลายเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานข้ามชาติ

29 ส.ค. 2561 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว/รองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารประเทศของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และได้เร่งรัดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นรูปธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จริงจังในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในจาก "เทียร์ 2 เฝ้าจับตามอง" เป็น "เทียร์ 2" สามารถลดการกระทำความความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีความมุ่งมั่นและต้องการที่จะทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบให้หมดไปจากประเทศไทย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามคำสั่งที่ 385/2561 โดยได้รวบรวมเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเพื่อเร่งรัดในการปฏิบัติการติดตามจับกุมขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานข้ามชาติให้หมดไป

จากการสืบสวนทราบว่าขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาตินี้มีจุดเริ่มต้นในการหลอกลวงแรงงานเกิดขึ้นจากเอเย่นชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียมีความต้องการแรงงานจากประเทศเมียนมาร์ซึ่งมีราคาถูกไปทำงานในประเทศมาเลเซียและจะติดต่อไปยังเอเย่นชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อรวบรวมคนจากรัฐต่างๆ โดยหลอกลวงว่าจะให้ไปประกอบอาชีพทำการเกษตร โรงงาน ประมงหรือก่อสร้าง มีรายได้ดี มีคุณภาพชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี การเดินทางไปทำงานทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การปฏิบัติกลับเป็นการลักลอบเดินทางผ่านเข้ามาประเทศไทยตามช่องธรรมชาติตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ การเดินทางโดยรถยนต์แบบแออัด ต้องซ่อนตัวในช่องลับของรถซึ่งมีความลำบากและทนทุกข์ทรมานมาก ต้องพักอาศัยในป่าซึ่งไม่มีการดูแลต้องนอนกลางป่า ข้าวและน้ำดื่มไม่เพียงพอ ระหว่างรอรับการนำพาเพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งขั้นตอนการขนส่งที่มีความทุกข์ทรมานนี้อยู่ในประเทศไทยโดยขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงแรงงานใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน

อย่างไรก็ตามในขบวนการมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายส่วน มีการแบ่งหน้าที่ในการขนส่ง และแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการหลอกลวงนำพา โดยมีการเรียกรับเงินค่าจ้างนำพาในราคาที่สูงกว่าปกติ รวมถึงการให้แรงงานเป็นหนี้ และเรียกเก็บจากการทำงานที่ปลายทางในรูปแบบเอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือรูปแบบสัญญาทาส ชุดปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลจนสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามพืนที่ต่าง ประกอบด้วย สภ.ไชยา จว.สุราษฎร์ธานี (ไชยา 1) เมื่อ 25 เม.ย. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 15 คน ตรวจยึดรถทัวร์ / จับคนขับรถ ข้อหาค้ามนุษย์ฯ 3 คนออกหมายจับ 9 คน จับได้ 6 คน แจ้งข้อ 2 คน , สภ.ไชยา จว.สุราษฎร์ธานี (ไชยา 2) เมื่อ 4 พ.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 9 คน ตรวจยึดรถทัวร์ จับคนขับข้อหาค้ามนุษย์ฯ จำนวน 3 คน ออกหมายจับ - คน,สภ.ควนมีด จว.สงขลา เมื่อ 19 พ.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 29 คน ตรวจยึดรถยนต์ จำนวน 3 คัน จับคนขับข้อหาค้ามนุษย์ฯ จำนวน 3 คน ออกหมายจับ 9 คน จับได้ 5 คน,สภ.เขาชัยสน จว.พัทลุง เมื่อ 29 พ.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 37 คน ออกหมายจับ 7 คนจับกุมได้ 4 คน,สภ.การะเกด จว.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 8 คน ออกหมายจับ 6 คน จับได้ 4 คน แจ้งข้อหา 1 คน, สภ.บางกล่ำ จว.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 8 คน / ออกหมายจับ 9 คน จับได้ 1 คน, สภ.โคกโพธิ์ จว.ปัตตานี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 29 คน ตรวจยึดรถยนต์ 4 คัน /จับคนขับ 4 คน ออกหมายจับ 2 คน จับได้ 1 คน รวมผลการจับคดีค้ามนุษย์ 7 คดี 5 จังหวัดภาคใต้ามารถ ช่วยเหลือเหยื่อแรงงานพม่า จำนวน 135 คนจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 13 คน ขยายผลออกหมายจับ จำนวน 42 หมาย จับกุมตามหมายจับ จำนวน 21 หมายแจ้งข้อหา จำนวน 3 คน

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ที่ปรึกษา (มค 1) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว รองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และ พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 /รองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมกันเปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น จับกุม จากการขยายผลการจับกุมเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ที่ผ่านมาทั้ง 7 คดี ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้สืบสวนขยายผลนำไปสู่การออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 42 ราย และยังมีผู้ร่วมสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์เกี่ยวกับเส้นทางการเงิน จึงได้มีการเปิดปฏิบัติการ ระดมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ และตรวจค้นจุดต้องสงสัยในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จว.นราธิวาส จำนวน 7 เป้าหมาย เพื่อค้นหา และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเงิน

"จากการเปิดปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับแล้วทั้งสิ้น 21 หมายจับ อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมอีกจำนวน 21 ราย และจากการตรวจค้นพบพยานหลักฐานเกี่ยวข้องด้านการเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะได้มีการซักถามขยายผลในส่วนหลักฐานที่ได้และดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป" พล.ต.ต.สุรเชษฐ์

ที่มา: สยามรัฐ, 29/8/2561

ก.แรงงานจับมือ ร.พ.จุฬาภรณ์รักษาผู้ประกันตนโรคหัวใจ 24 ชม.ไม่ต้องสำรองจ่าย

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และสำนักงานประกันสังคม ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมสถาบันจุฬาภรณ์ โดยกล่าวว่ากระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการยกระดับคุณภาพการบริการสาธารณสุขและสุขภาพของผู้ประกันตน โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จัดบริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม มีโรงพยาบาลเครือข่ายระบบประกันสังคมอยู่ทั่วประเทศจำนวน 237 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 78 แห่ง ซึ่งดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จำนวนทั้งสิ้น 12,965,913 คน แบ่งเป็น ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,475,042 คน มาตรา 39 จำนวน 1,490,871 คน (ข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2561)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติเพื่อให้ผู้ประกันตนหรือผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทำงานสามารถเข้ารับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยทำหัตถการ 7 หัตถการ ประกอบด้วย 1) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ 2) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน 3) การศึกษาสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และการจี้ไฟฟ้าหัวใจ 4) การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างภาพ 3 มิติ 5) การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรชนิดสองห้อง 6) การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจถาวร และ 7) การใส่เครื่องสมานฉันท์หัวใจ ในภาวะหัวใจล้มเหลว ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา และไม่เสียค่าส่วนเกิน รักษาด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยดูแลผู้ประกันตนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล และสามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ สามารถสร้างรายได้ และความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันพบว่าสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 ล้านบาทต่อปี เฉพาะในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 54,530 ราย ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วทันเวลา จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงสามารถกลับคืนสู่การทำงานได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ที่มา: โลกวันนี้, 29/8/2561

อดีตแรงงานไทยในเกาหลีใต้ระบุถูกบางสื่อหยิบแต่ด้านลบมานำเสนอ

อุดรธานี - อดีตคนขายแรงที่เกาหลีใต้เปิดใจหลังสื่อบางช่องเสนอข่าวแรงงานไทยแต่ด้านลบ ทั้งที่ข้อดีแรงงานไทยมีไม่น้อย เผยปมกลุ่มคนหนีทัวร์แอบทำงานต่อเพราะช่องทางปกติปิดโอกาส ขณะที่นายจ้างชาวโสมพร้อมอ้าแขนรับจ่ายค่าแรงสูงมาก

จากกรณีสื่อมวลชนมีการนำเสนอภาพแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ณ ประเทศเกาหลีใต้ ต้องหลบหนีเจ้าหน้าที่ทางการเข้าไปอยู่ในป่า จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลากหลายแง่มุม แต่บทสรุปทำให้ภาพชีวิตคนขายแรงถูกมองไปในแง่ไม่ดี

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับการประสานจากอดีตแรงงานไทย ซึ่งเคยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนานกว่า 7 ปีว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้นั้นทำให้ภาพลักษณ์แรงงานไทยเสื่อมเสีย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังมีข่าวออกไปตนรู้สึกว่าสื่อมวลชนนำเสนอเพียงด้านเดียวและมุ่งเน้นขายข้อมูลแต่ด้านลบ ในแง่บวกแรงงานไทยที่เกาหลีก็มีมากไม่ใช่น้อย

ทั้งนี้ แรงงานไทยในเกาหลีมีทั้งที่ไปแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แต่เมื่อเข้าไปแล้วทุกคนล้วนสามัคคี เอื้อเฟื้อกัน มีบ้างบางคนที่ต้องทะเลาะจนถึงขั้นชกต่อยจนขึ้นสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในทุกสังคม ที่ผ่านมาแรงงานไทยที่นั่นจะให้ความร่วมมือเผยแพร่วัฒนธรรมไทยทุกครั้งที่มีกิจกรรม มีเวทีให้แสดงออก ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม การโชว์ความสามารถด้านอาหาร ดนตรี และศาสนา แรงงานชาติอื่นได้เห็น ต่างก็ชื่นชมวัฒนธรรณประเพณีของไทย

อดีตแรงงานไทยคนเดิมเล่าต่อว่า การนำเสนอข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ขณะตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีตามจับแรงงานไทยหลังแอบทำงานอาชีพโน้นอาชีพนี้ หรือมีการหนีขึ้นบนเขา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่นั่น ส่วนข่าวที่นำมาเสนอว่าแรงงานไทยที่นั่นอยู่แบบลำบากต้องออกไปหาเก็บเห็ด หาปลาเพื่อประทังชีวิตหากมาทำงานเกาหลี แท้จริงแล้วมันไม่ใช่เป็นเพราะความอดอยาก

ซึ่งการออกไปหาเก็บเห็ดหาของป่า หรือแม้แต่หาปลา มันเป็นวิถีชีวิตการหากินหาอยู่พึ่งพิงธรรมชาติที่ติดตัวคนไทยมานาน ที่ประเทศเกาหลีไต้เองก็มีเห็ด มีหอย มีปลาให้หา เมื่อหามาได้แรงงานเหล่านั้นก็จะนำมาทำอาหารแบ่งปันกันกิน ที่สำคัญประหยัดเงินในการใช้จ่ายได้มาก ไม่ต้องไปหาซื้อจากตลาดให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

ส่วนประเด็นที่สื่อมวลชนนำเสนอว่าชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยที่เกาหลีนั้นลำบากมาก ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเช่นกัน และขอยืนยันมีบางโรงงาน แรงงานไทยเราที่อยู่ที่นั่นมีชีวิตที่สุขสบาย ได้นอนห้องแอร์ในวันที่อากาศร้อน ส่วนในวันที่อากาศหนาวก็มีฮีตเตอร์ไว้คอยให้ความอบอุ่น พร้อมอาหาร 2 มื้อ การที่มีแรงงานไทยที่ไปแบบถูกกฎหมาย และลักลอบไปทำงาน สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะกลุ่มแรงงานพวกนี้ต้องการได้ค่าตอบแทนที่สูง

ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้จะสูงพอๆ กับข้าราชการระดับผู้อำนวยการโรงเรียน โดยจะตกอยู่ที่ราว 40,000-50,000 บาท และทำงานเพียง 7-8 ชั่วโมง และมีวันหยุดให้เสาร์-อาทิตย์

การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าแรงงานคนไทยแอบเข้าประเทศเกาหลีนั้น ก็ขอบอกเลยว่าแรงงานทุกคนไม่ได้แอบเข้าประเทศ ทุกคนเข้าแบบถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการตรวจของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพียงแต่ว่าคนที่ถูกจับนั้นเป็นพวกที่พำนักเกินเวลาที่กำหนด และมีการแอบทำงานต่อ กรณีที่ไปในฐานะนักท่องเที่ยว

"จากกระแสสังคมตำหนิและแสดงความกังวลว่ากลุ่มแรงงานพวกนี้จะก่อปัญหาจนอาจจะทำให้การขอวีซ่าก่อนเข้าประเทศยากนั้น ต้องบอกผ่านสื่อเลยว่าประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่เข้ายากอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่าเขาจะเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ดารา หรือข้าราชการ ก็ยังเคยติดที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเหมือนกัน" อดีตคนขายแรงแดนโสมบอก และอธิบายอีกว่า

ที่ผ่านมาประเทศไทยและเกาหลีไต้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยการจัดส่งแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐก็ถือว่าทั้งสองประเทศทำได้ดีอยู่แล้ว แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างมีสิทธิสวัสดิการครอบคลุม และได้รับการช่วยเหลืออย่างดี ทำให้เรามีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานชาวเกาหลีเลยก็ว่าได้ ถือว่าเป็นเรื่องดี

สำหรับแรงงานไทยที่เข้าไปแอบทำงานในประเทศเกาหลีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องขอบอกเลยว่าแรงงานพวกนี้ความหวังเขาคือต้องการเงิน โดยคนที่ซื้อทัวร์ท่องเที่ยวแล้วแอบทำงานแบบผิดกฎหมาย เพราะกลุ่มคนพวกนี้ไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาสอบตามกฎระเบียบ เนื่องจากความไม่พร้อม

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนพวกนี้อาจจะอายุเกิน หรืออาจจะมีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขต้องห้าม แต่ก็สามารถทำงานได้ที่นั่น มีหลายงานหลายอย่าง เช่น งานก่อสร้าง งานเกษตร งานฟาร์ม ซึ่งงานแบบนี้เขาไม่จำเป็นต้องเอาคนที่ตาไม่บอดสี หรือมีความสามารถเฉพาะทางมาทำงาน เป็นการสอนและแนะนำได้ นั่นคือ "แรงงาน"

ที่สำคัญคือ นายจ้างที่ประเทศเกาหลีเขาสนใจแรงงานกลุ่มพวกนี้มาก และเขาก็อยากจ้าง เพราะแรงงานพวกนี้นายจ้างจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการหรือการรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากแรงงานกลุ่มที่มาถูกต้องกลุ่มคนพวกนี้จะมีค่าตอบแทนค่าสวัสดิการต่างๆ มากมาย บอกได้เต็มปากว่า "คอร์รัปชันมีทุกวงการ ทุกประเทศ ทุกที่ ทุกเวลา" แรงงานที่อยู่เกาหลีใต้ อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ตลอด

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าตำรวจเขาจะจับแรงงานไทยหรือเปล่า ทุกอย่างมีเรื่องแอบแฝง มีผลประโยชน์ทั้งนั้น

ที่มา: MGR Online, 28/8/2561

กำชับ สนร.จัดคอร์สอบรมคุ้มครองแรงงานไทยในต่างแดน

ในต่างประเทศทุกแห่งจัดอบรมหลักสูตรให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบและกฎหมายการจ้างแรงงานต่างชาติแก่ล่ามและอาสาสมัครแรงงาน รวมทั้งบริษัทจัดหางาน เพื่อสามารถให้คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร มีช่องทางการติดต่อร้องทุกข์ร้องเรียน ได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองจากทางการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

โดยสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป ได้จัดโครงการอบรมล่ามและอาสาสมัครแรงงานประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 มีล่ามที่เข้ารับการอบรมจำนวน 34 คน และจัดโครงการประชุมบริษัทจัดหางานเพื่อขยายตลาดและคุ้มครองแรงงานไทยประจำปี 2561 (เขตภาคกลาง ณ ไทจง) มีผู้แทนบริษัทจัดหางานเข้าร่วม 39 คน เป็นบริษัทจัดหางานไต้หวัน 30 คน และบริษัทจัดหางานไทย 9 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ไทเป พบว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยในไต้หวันจำนวน 61,301 คน จำแนกตามประเภทกิจการ อุตสาหกรรมการผลิต 58,411 คน ก่อสร้าง 2,363 คน ผู้อนุบาล/ผู้ช่วยงานบ้าน 501 คน การเกษตร/การประมง ซึ่งมิใช่ลูกเรือประมง 26 คนโดยเป็นแรงงานไทยที่ สนร.ไทเปได้รับรองเอกสารการจ้างงาน จำนวน 18,142 คน ประกอบด้วย ผ่านบริษัทจัดหางาน 17,911 คน จัดส่งโดยรัฐ จำนวน 161 คน แรงงานเดินเรื่องเอง/นายจ้างยื่นโดยตรง จำนวน 37 คน เปลี่ยนนายจ้างใหม่ในไต้หวัน 43 คน ซึ่งสาขาอุตสาหกรรมที่ขอนำเข้ามากที่สุด คือภาคอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 17,468 คน รองลงมาคือ ภาคก่อสร้าง จำนวน 603 คน ภาคครัวเรือน (ผู้ช่วยงานบ้าน/ผู้อนุบาล) จำนวน 59 คน และภาคเกษตร/ประมงที่มิใช่ลูกเรือประมง ล่าม จำนวน 3 คน และอื่น ๆ 9 คน ตามลำดับทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 มีแรงงานไทยในไต้หวันส่งเงินเป็นรายได้กลับประเทศเป็นเงินกว่า 5,600 ล้านบาท   

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังได้เน้นย้ำถึงแรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ขอให้ศึกษาขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้อง เพื่อป้องการถูกหลอกลวง และให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามกฎหมาย โดยผู้ที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด หรือโทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/8/2561

ก.แรงงาน ระดมสมองหาข้อสรุปจ้างงานพาร์ทไทม์วัยเก๋า

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 ได้เพิ่มบทบัญญัติให้คณะกรรมการค่าจ้างสามารถกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป ทำให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุที่ไม่อาจปฏิบัติงานได้เต็มเวลา

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุนั้น คณะกรรมการค่าจ้างได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง/ลูกจ้าง เพื่อร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการค่าจ้าง

สำหรับสาระสำคัญของ (ร่าง) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุฉบับนี้ จะประกอบด้วย การกำหนดอายุของลูกจ้างผู้สูงอายุ ประเภทงานที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ การกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ และ ข้อเสนอแนะอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างผู้สูงอายุได้ทำงานที่มีความเหมาะสม ยืดหยุ่นได้ในเรื่องเวลาการทำงาน โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทำให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง รู้สึกมีคุณค่า ส่งผลทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่นายจ้างสามารถจ้างลูกจ้างสูงอายุแบบไม่เต็มเวลาได้ตามความเหมาะสมกับลักษณะงาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/8/2561

เกาหลีใต้ชงยกเลิก 'ฟรีวีซ่าไทย' คนไทย แก้ปัญหาหนีไปทำงาน

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2561 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีข่าวที่ระบุว่าทางการเกาหลีใต้กำลังพิจารณายกเลิกการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากมีคนไทยหลบหนีเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากว่า ได้รับทราบว่ามีการรายงานข่าวในสื่อเกาหลีใต้ว่ากระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ได้เสนอเรื่องดังกล่าวขึ้น เนื่องจากมีคนไทยที่หลบหนีเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ถึงราว 100,000 คน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ฝ่ายไทยยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

นางสาวบุษฎี ย้ำว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ฝากเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้เข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่เพียงแต่จะต้องอยู่อย่างหลบซ่อนในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่มีประกันสุขภาพ หรือประกันสังคม และยังอาจถูกหลอกลวงให้ไปทำงานผิดประเภทหรือผิดกฎหมาย ทั้งนี้แรงงานไทยซึ่งเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามระบบมีอยู่ 25,000 คน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/8/2561

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โพลระบุคน กทม. เจอข่าวปลอม 65.1% จากเฟสบุ๊คและเรื่องการเมืองมากที่สุด

Posted: 01 Sep 2018 09:15 PM PDT

บ้านสมเด็จโพลสำรวจความเห็นคน กทม. พบ 65.1% ระบุ เคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) 56.2% เคยตรวจสอบข่าวปลอม โดยเจอข่าวปลอมจากเฟสบุ๊คและเรื่องการเมืองมากสุด 76.6% อยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบข่าวปลอม

2 ก.ย. 2561 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม (Fake News) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,269 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 24 - 29 ส.ค. 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลกล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ในอดีตปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ไม่ได้ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้างได้ อย่างในสังคมไทยนั้นข่าวลือไม่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่ไม่จริง ในอดีตที่พูดกันปากต่อปากนั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างได้ แต่ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆได้อย่างรวดเร็ว และการส่งต่อๆกันนั้นทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศต่างๆทั่วโลกก็ประสบปัญหาในเรื่องของปัญหาข่าวปลอม (Fake News) การตรวจสอบข่าวปลอมของคนสังคมไทยนั้นมีการตรวจสอบหรือไม่ มีการตรวจสอบด้วยวิธีใด ภาครัฐจะต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรในการกำกับดูแลและควบคุมข่าวปลอม (Fake News) ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบกับสังคม ทำให้เกิดความแตกตื่นของคนในสังคม ในสภาวการณ์ที่คนทุกคนในสังคมสามารถติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีการส่งต่อไปยังกว้างขวางและรวดเร็ว ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาข่าวปลอม (Fake News) ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 65.1 และเคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News)  ร้อยละ 56.2 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้วิธีการในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) โดยค้นหาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 53.0 อันดับที่สองคือสอบถามผู้เชี่ยวชาญร้อยละ 28.1 และอันดับสามคือไม่คิดจะตรวจสอบ ร้อยละ 18.9

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พบเห็นข่าวปลอม (Fake News) ผ่านสื่อเฟสบุ๊ค (Facebook) เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 54.2 อันดับสองคือมีคนเล่าให้ฟัง ร้อยละ 13.9 และอันดับสามคือผ่านสื่อไลน์ (Line) ร้อยละ 12.7 และพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 27.6 อันดับสองคือประเด็นเรื่องหลอกขายสินค้า ร้อยละ 23.2 อันดับสามคือประเด็นเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 19.1 อันดับที่สี่คือประเด็นเรื่องดารา ร้อยละ 17.8 อันดับที่ห้าคือประเด็นเรื่องภัยพิบัติ ร้อยละ 8.7 และอันดับสุดท้ายคือประเด็นเรื่องศาสนา ร้อยละ 3.6 โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 76.6 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

บอร์ดกองทุนสุขภาพ รุกบูรณาการป้องกันโรค ปี 2562 เพิ่มจ่ายตามราคากลาง ดึง 78 รพ.เอกชนเข้าร่วม

Posted: 01 Sep 2018 09:01 PM PDT

บอร์ดกองทุนสุขภาพภาครัฐ รุกบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปี 2562 เพิ่มรายการจ่ายตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) 8 รายการ พร้อมดึง 78 รพ.เอกชนระบบประกันสังคมร่วมคัดกรอง-ป้องกันโรค ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาประเทศ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน

2 ก.ย. 2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ กล่าวว่าการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องดำเนินการควบคู่กับการรักษาพยาบาล นอกจากเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการ รวมทั้งระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้งหมด

ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานปี 2561 ของคณะอนุกรรมการพัฒนาการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบประกันสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ สําหรับประชาชนไทยทุกสิทธิ การบูรณาการที่จะดำเนินการในปี 2562 คือ การปรับรูปแบบการชดเชยค่าบริการฯ โดยปรับการจ่ายชดเชยตามราคากลางที่กำหนด (Fee Schedule) เพื่อกระตุ้นการให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น  ใน 8 รายการ ดังนี้

1.บริการฝากครรภ์

2.บริการตรวจยืนยันโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และสามี

3.บริการตรวจคัดกรองดาว์นซินโดรม (Down syndrome) ในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้มีการฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพ ป้องกันและควบคุมโรคทางพันธุกรรมและภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด

4. บริการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิด เพื่อป้องกันและควบคุมภาวะปัญญาอ่อนในเด็กแรกเกิด  

5.บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ยาฝัง) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในเด็กวัยรุ่น อายุ 16-20 ปี

6.บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร (ใส่ห่วง/ยาฝัง) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-59 ปี กรณีหลังยุติการตั้งครรภ์

7. บริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

8. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในหญิงอายุ 30-59 ปี เพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น เป็นการลดภาระโรคและค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชน ในปี 2562 สถานพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคมจำนวน 78 แห่ง จะเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และขอรับการชดเชยค่าบริการตามราคากลาง 8 รายการดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่ประชาชนไทยทุกสิทธิ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาการบูรณาการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคฯ ได้จัดทำแผนขับเคลื่อน (Road Map) ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบประกันสุขภาพสําหรับประชาชนทุกภาคส่วน ระยะเวลา 5 ปี, การทบทวนสิทธิประโยชน์หลักด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อใช้กับประชาชนไทยทุกสิทธิ, การเชื่อมโยงฐานข้อมูลของ 3 กองทุนสุขภาพหลัก และการจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาและประเมินคุณภาพบริการฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น