โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

มะกันค้าน 'ทรัมป์' ไม่เชื่อคนที่ตนเสนอให้เป็นผู้พิพากษาสูงสุดว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศ

Posted: 25 Sep 2018 12:33 PM PDT

ผู้คนในสหรัฐฯ พากันประท้วงแสดงความไม่พอใจที่โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตไม่เชื่อกรณีที่มีนักจิตวิทยาหญิงฟ้องร้องว่า เบรตต์ คาวานอห์ ผู้ที่ทรัมป์เสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่เคยล่วงละเมิดทางเพศเธอ โดยผู้ประท้วงชุมนุมกันที่หน้าอาคารสำนักงานวุฒิสภาและหน้าศาลสูงสุด พร้อมกับข้อความเรียกร้องให้เชื่อในตัวผู้ที่แจ้งความกรณีข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เลิกโทษเหยื่อ และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาทำให้ผู้คนรั้งรอที่จะแจ้งความกรณีล่วงละเมิดทางเพศอย่างไร

เบร็ท คาวานอห์ (ที่มา: wikipedia)

25 พ.ย. 2561 กลุ่มผู้ประท้วงในสหรัฐฯ ประท้วงด้วยการเดินออกจากสำนักงาน ร้านค้า และบ้านของตัวเองเพื่อร่วมเดินขบวนสนับสนุนคริสตีน บลาซีย์ ฟอร์ด และเดบอราห์ รามิเรซ ผู้กล่าวหาว่าเบรตต์ คาวานอห์ ผู้ที่โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อพวกเธอ

การแสดงออกต่อต้านของประชาชนในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ทวีตโจมตีฟอร์ดว่าทำไมเธอไม่แจ้งความเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นมาแล้วนานกว่า 30 ปี ทวีตของทรัมป์ทำให้ทั้งหญิงและชายแสดงความไม่พอใจ และพากันออกมาพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่ากรณีการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศเป็นอาชญากรรมที่มีการแจ้งความน้อยมากที่สุดในโลก

กระแสต่อต้านนี้ส่งผลให้ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งจัดตั้งการประท้วงที่ชื่อว่า "พวกเราเชื่อในผู้เผชิญการล่วงละเมิดทางเพศ" ในเฟซบุ๊คเพจของผู้ประท้วงกลุ่มนี้ระบุว่าพวกเขาเชื่อในฟอร์ดและรามิเรซ และจะไม่ยอมให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พรรครีพับลิกันใช้อำนาจกดข่ม

นอกจากนี้ ในทวิตเตอร์ยังมีผู้ที่เคยเผชิญกับการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศที่ใช้แฮชแท็ก #WhyIDidntReport เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองว่าเวลามีการร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้น พวกเขาก็มักจะถูกปฏิเสธหรือเพิกเฉย รวมถึงต้องเผชิญกับระบบที่พวกเขาต้องพิสูจน์ความผิดของคนผู้ล่วงละเมิดพวกเขาที่มีอำนาจมากกว่าผู้เป็นเหยื่อ

ทั้งนี้ ยังมีการประท้วงที่หน้าสำนักงานวุฒิสภารวมถึงหน้าศาลสูงสุดของสหรัฐฯ มีประชาชนจำนวนมากเปล่งคำขวัญว่า "พวกเราเชื่อในคริสติน ฟอร์ด" และเรียกร้องให้วุฒิสมาชิกมองข้อกล่าวหาของฟอร์ดและรามิเรซอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีประชาชนมากกว่า 125 คน ถูกจับกุมข้อหาชุมนุมกันอย่างผิดกฎหมายหน้าอาคารสำนักงานวุฒิสภา

ฟอร์ดเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเปาโล อัลโต เธอส่งจดหมายให้ประธานกรรมาธิการตุลาการวุฒิสภา ชัค กราสลี และหลังจากที่จดหมายที่เธอส่งถูกนำเผยแพร่สู่สาธารณะเธอก็เผชิญกับการถูกขู่ฆ่า เธอบอกว่าเธอกลัวแต่ก็ไม่ยอมให้ความกลัวมาทำให้เธอเลิกล้มการให้การในคดีนี้ได้ โดยที่เธอต้องการให้ทนายความและกราสลีอนุญาตให้เธอได้ให้การในสภาพที่เป็นธรรม

สื่ออัลจาซีรารายงานว่ากรณีข้อกล่าวหาคาวานอห์เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ที่จะถึงนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทรัพยากรความรุนแรงทางเพศแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า มีผู้หญิง 1 ใน 3 ในสหรัฐฯ ที่เคยเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมาก่อนในชีวิต และมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศร้อยละ 63 ไม่ได้รายงานต่อตำรวจ

คอลัมนิสต์วอชิงตันโพสต์ อลิซาเบธ บรูนิก เป็นผู้สะท้อนปัญหาของกระบวนการร้องเรียนหรือรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศโดยยกตัวอย่างกรณีของหญิงวัยรุ่นรายหนึ่งที่รายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเธอโดยทันทีแต่ลูกขุนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้มีการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา 2 ราย ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานจากการพิสูจน์ดีเอ็นเอ ขณะที่คนในชุมชนกล่าวโทษเธอถึงแม้ว่าเธอจะเป็นคนเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศ

หลังจากที่ทรัมป์ออกมากล่าวปัดข้อกล่าวหาของฟอร์ด ก็มีหลายคนออกมาตอบโต้ โดยคนแรกๆ ที่ออกมาตอบโต้คือ ผบ.ตำรวจฮูสตัน อาร์ต อะเซเวโด กล่าวโต้ตอบทรัมป์ว่าวัฒนธรรมการกล่าวโทษผู้เผชิญการข่มขืนและกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหามีส่วนทำให้ผู้เผชิญการข่มขืนรั้งรอไม่กล้าแจ้งความการกรณีการข่มขืน และเขาเองเชื่อว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายก็ยังทำงานไม่ดีพอในการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้กับผู้เผชิญการข่มขืน

เรียบเรียงจาก

Sexual Assault Survivors Share #WhyIDidntReport in Response to Trump's Ignorant Attack on Ford, Common Dreams, Sep. 21, 2018

Believe Survivors protesters walk out as Kavanaugh stands firm, Aljazeera, Sep. 25, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เวทีต้านข่าวปลอม หนุนสื่อสร้างสรรค์ระบุ ควรหาเครื่องมือจัด-วิธีการข้อมูลที่สังคมมีส่วนร่วม

Posted: 25 Sep 2018 12:03 PM PDT

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยจัดเสวนาภาคีเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ อนุกรรมการร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมสื่อระบุ ร่างฯ พ.ร.บ. ใหม่ มุ่งจำกัดแต่สื่อ ไม่จำกัดตัวบุคคล ต้องมีการแยกแยะ จัดการข้อมูลจริง-เท็จ เหตุคนไทยกังวลเรื่องข่าวปลอมมาก ที่ปรึกษาโครงการห้องกันข่าวลวงเล่าความคืบหน้าการทำงานร่วมกับเครือข่าย อดีต ผอ. มีเดีย มอนิเตอร์ระบุ อยากให้มีเครื่องมือที่เช็คทั้งข่าวลวงและระดับการรู้เท่าทันสื่อของชาวเน็ต

ซ้ายไปขวา: พีรพล อนุตรโสตถิ์ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ปรเมศวร์ มินศิริ

25 ก.ย. 2561 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดงานเสวนาส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ "ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี ร่วมเป็นภาคีเฝ้าระวังสื่อออนไลน์"  ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมด้านเฝ้าระวังและรู้เท่าทัน ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหาร kapook.com และที่ปรึกษาโครงการ Media Fun Facts เครือข่ายประชาชนป้องกันการแพร่กระจายข่าวลวง ส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มข่าวภูมิภาคออนไลน์ www.77kaoded.com ดำเนินการเสวนาโดยพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการชัวร์ก่อนแชร์ ช่อง MCOT

อดิศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวปลอม (Fake news) เปลี่ยนรูปแบบไปจากใบปลิว ข่าวปลอมเกิดขึ้นบนวิกฤตความน่าเชื่อถือของสื่อและถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านกลไกโซเชียลมีเดีย ความสะเพร่าในการทำงานของสื่อหลักนั้นเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับข่าวปลอม สถิติจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าประเทศที่กังวลสื่อปลอมมากๆ คือประเทศที่มีความน่าเชื่อถือของสื่อต่ำ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด มีการเก็บสถิติและพบว่าการเข้าถึงสื่อปลอมของผู้บริโภคมีผลมากโดยเฉพาะในช่วงก่อนวันเลือกตั้งที่ข่าวปลอมยิ่งมีความน่าเร้าใจจนมียอดการเข้าถึงเยอะกว่าเนื้อหาจากสื่อกระแสหลักเสียอีก ความจริงเฟซบุ๊คคือต้นตอสำคัญที่หลังๆ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งโซเชียลเน็ตเวิร์คดังกล่าวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีความพยายามสร้างกลไกตรวจสอบข่าวปลอมและพิสูจน์ตัวตนของคนที่ลงทะเบียน

สถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่าคนไทยท่องอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจ ผลสำรวจจากแหล่งเดียวกันระบุว่าปัญหาที่กวนใจคนเล่นเน็ตเป็นเรื่องข่าวปลอมและข้อมูลปลอมเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนว่าแม้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเยอะแต่ก็อยู่บนความไม่มั่นใจในข้อมูลที่พบบนอินเทอร์เน็ต อีกเรื่องที่น่าห่วงก็คือคนไทยพร้อมให้ข้อมูลส่วนตัวแบบไม่ค่อยระมัดระวัง หรือไม่ก็ไม่ได้อ่านเงื่อนไขการใช้งาน กลายเป็นให้ข้อมูลทุกอย่างแบบไม่รู้ตัว

อดิศักดิ์เสนอว่าต้องมีการสร้างระบบชลประทานข้อมูลข่าวสาร เพื่ออย่างน้อยมีตัวคัดกรองหรือเส้นทางให้เดินไป โดยได้มีการแบ่งข้อมูลเป็นข้อมูลร้อนและเย็น ซึ่งทั้งสองชนิดไม่ได้ถูกหรือผิดเสียทีเดียว แต่ก็มีข่าวที่เป็นพิษ ซึ่งขณะนี้ทาง Media Fun Facts ก็ได้จัดทำระบบร้องเรียนข่าวปลอมอยู่ นอกจากนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งในรูปแบบสมาคม องค์กรสื่อและตัวบุคคลต้องเอาจริงเอาจังกว่านี้ในเรื่องการจัดการกับข่าวปลอม ตนไปอยู่ในอนุกรรมการร่างกฎหมายหลายชุดแล้วก็คิดว่ากฎหมายไม่ช่วย สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มีสื่อออนไลน์คู่ขนานไปหมดเลยและทุกสำนักไม่ได้เอาจริงเอาจังในการยับยั้งข่าวปลอม ข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และยังแพร่กระจายแข่งกันเพื่อเอาเรตติ้ง สื่อกระแสหลักต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่

ต่อประเด็นของร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมสื่อที่มีการเผยร่างฯ ออกมาเมื่อ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา อดิศักดิ์ ผู้เป็นหนึ่งในอนุกรรมการร่างฯ ให้ความเห็นว่าหลักการใหญ่ของ พ.ร.บ. คือการกำกับดูแลองค์กรสื่อ เป็นการจำกัดจริยธรรมผ่านองค์กรสื่อ ไม่ได้ไปยุ่งกับตัวบุคคลเพราะไม่สามารถเข้าไปล่วงละเมิดได้ เพจของบุคคลไม่นับ ที่ผ่านมาองค์กรสื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่าเป็นเสือกระดาษ เช่น ถ้าลงโทษสำนักข่าวแล้วสำนักข่าวไม่พอใจก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ องค์กรที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ (ตามร่างฯ) คือสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาจากหลายแพลตฟอร์มซึ่งแต่เดิมไม่มีหน่วยงานรองรับ จะมีก็แต่สภาการหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่เดิมคอยรับเรื่อง ซึ่งห้าปีที่ผ่านมาร้อยละ 90 เป็นเรื่องออนไลน์ ร่างฯ นี้จริงๆ แล้วมีขึ้นหลังจากปฏิเสธร่างฯ ของสภาขับเคลื่อนที่จะตีทะเบียนนักข่าว ซึ่งคาดว่ากลางเดือนคงจะผ่านไปยัง สนช.  และวันที่ 29 ก.ย. นี้จะมีการประชาพิจารณ์ที่เจ้าพระยาปาร์ค

ผุดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ บทเฉพาะกาลเปิดช่องปลัดนายกฯ-กสทช. เป็น กก.สภาวิชาชีพสื่อฯ

ปรเมศวร์กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานบนอินเทอร์เน็ตมานานพบว่าคนต้องการความสะดวก จึงหาช่องทางที่สะดวกที่สุดในการแจ้งเรื่องข่าวปลอม และได้ข้อสรุปว่าช่องทางสะดวกที่สุดคือช่องทางที่คนใช้งาน จึงเปิดช่องทางแจ้งเรื่องในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งยังจับมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น กสทช. สภาการหนังสือพิมพ์ โดยมีการทำงานต่อเนื่องทั้งตระเวนจัดงานเสวนา เวิร์คชอปในหลายจังหวัด

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com ยังเสนอให้มีเครื่องมือกำกับข่าวปลอมในลักษณะแบบที่เครดิตบูโรทำกับบัตรเครดิต แต่ถ้าทำก็จะมีคำถามว่าคุณเป็นใครถึงจะมากำกับกันแบบนี้ จึงต้องมีเครื่องมือที่คนสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันกรองอย่างเป็นระบบและแบบแผน ถ้ามีชุดข้อมูลหรือเครื่องมือเช่นว่าก็อาจเป็นโอกาสในการร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊คในการช่วยเช็คข้อมูลในประเทศ ในส่วนของตนนั้น ในอนาคตคงจะร่วมงานกับสถาบันการศึกษาเพื่อทำให้เกิดความตระหนักเรื่องข่าวจริงข่าวเท็จ เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่การสอนแบบเดิมจะเข้าถึงได้น้อยมาก จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จริงๆ และเมื่อได้เรียนรู้แล้วก็กลายเป็นภาคีเครือข่ายของเราด้วยในตัว

เอื้อจิตกล่าวว่า มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดียมอนิเตอร์) หน่วยงานที่ศึกษา ตรวจสอบข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อการปฏิรูปสื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งตนเคยเป็นผู้อำนวยการได้ปิดไปแล้วสองปี เพราะการเข้ามาของสื่อโซเชียลที่ทำให้วาระของสังคมเปลี่ยนเร็วมากจนการตรวจสอบและทำผลการศึกษาวิ่งตามไม่ทัน โครงการ Media Fun Facts ที่มีขึ้นมานั้นมีลักษณะเป็นทีมงานคัดกรองข้อมูลออนไลน์ รับเรื่องแจ้งข้อมูลที่ดีและไม่ดี จึงจำเป็นต้องมีตัวระบบ ทีมงาน และมีการสื่อสาร ถ้าโครงการนี้จะพัฒนาไปได้ก็ควรมีเครื่องมือให้คนช่วยกันตรวจสอบข่าวอย่างให้สังคมมีส่วนร่วม ที่ผ่านมามีเดียมอนิเตอร์พยายามขยายเครือข่ายแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เจอเครือข่าย เจอแต่ผู้ใช้งาน ซึ่งการทำงานผูกขาดการตรวจสอบเนื้อหาอยู่กับคนไม่กี่คนนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อยากให้มีการออกแบบเครื่องมือบางอย่างในการตรวจสอบข้อมูลแล้วปล่อยไปในโลกออนไลน์ให้คนใช้ตรวจเช็คสื่อ และหวังว่าจะไปถึงขั้นที่สามารถวัดระดับการรู้เท่าทันสื่อของผู้ใช้ได้

เอื้อจิตเชื่อว่าพลังผู้ใช้สื่อออนไลน์นั้นบางทีอาจจะเข้มแข็งกว่าการดูแลของภาครัฐ ทาง Media Fun Facts เองก็ได้มีการยกกรณีศึกษาของทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี ที่โลกออนไลน์ต่างตั้งคำถามต่อการทำงาน รวมถึงทวงถามจริยธรรมจากสื่อทั้งหลายไม่เพียงแต่จากสื่อกระแส ซึ่งสื่อเองก็ได้สติและตอบโจทย์โลกออนไลน์แล้ว แต่คนที่ไม่ได้สติกลับกลายเป็นรัฐบาลที่เอาเด็กไปสร้างภาพลักษณ์ โดยสื่อและองค์กรต่างๆ ควรสร้างเครื่องมือและพื้นที่รูปธรรมที่ไม่ได้เป็นการเซ็นเซอร์ และต้องสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารใหม่ ทำสิ่งที่สื่อสารออกมาให้มีความหมาย ปลูกฝังวัฒนธรรมที่เอาข้อมูลมาแชร์และเติมเต็มกัน มีคนเอามาแชร์กันแบบไม่มีใครฟันว่าถูกหรือผิด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แรงงานพม่าหนีตำรวจเกาหลีใต้จนตกตึก พ่อตัดสินใจบริจาคอวัยวะต่อชีวิตผู้อื่น

Posted: 25 Sep 2018 10:09 AM PDT

แรงงานข้ามชาติชาวพม่าหนีตำรวจเกาหลีใต้จนพลัดตกจากที่สูงและประสบภาวะสมองตาย โดยในที่สุดก่อนที่เขาจะเสียชีวิต พ่อของเขาได้ตัดสินใจบริจาคตับและไตเพื่อต่อชีวิตให้ชาวเกาหลีใต้ 2 ราย

เพื่อนๆ และญาติเดินถืออัฐิของถั่นซอเทภายหลังฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว (ที่มา: MBC)

แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ชื่อ ถั่นซอเท เสียชีวิตเพราะตกจากที่สูงของไซต์ก่อสร้างขณะพยายามหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและต้องรับการรักษาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนที่ทางโรงพยาบาลจะประกาศว่าเขาสมองตายเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. ทางครอบครัวตัดสินใจบริจาคอวัยวะตับและไตให้กับผู้ป่วยชาวเกาหลีใต้ 2 ราย 

องค์กรแรงงานชาวพม่าในเกาหลีใต้ "เลเบอร์อาตาเช" เปิดเผยว่าพ่อของผู้เสียชีวิตตัดสินใจบริจาคอวัยวะของลูกตัวเองให้กับชาวเกาหลีใต้ นอกจากนี้พ่อของผู้เสียชีวิตยังเล่าถึงกรณีที่มีครอบครัวแรงงานชาวพม่าอีกครอบครัวหนึ่งที่บริจาคอวัยวะจนสามารถช่วยเหลือชาวเกาหลีได้ถึง 4 ชีวิต

ถั่นซอเทเสียชีวิตขณะอายุได้ 26 ปี เขาตกจากไซต์ก่อสร้างชั้น 2 ขณะกำลังพยายามหลบหนีตำรวจเกาหลีใต้ที่ไล่ล่าแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา

ถั่นซอเททำงานที่ไซต์ต่อสร้างโดยไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายมาเป็นเวลา 5 ปี แล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะหมดสัญญาจ้างไปไม่นานนี้แต่ก็ยังคงทำงานอยู่ที่นั่น

ในการบุกจับกุมครั้งนั้นมีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าคนอื่นๆ ที่ถูกจับและจะถูกส่งตัวออกนอกประเทศเนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายคนเข้าเมืองเกาหลีใต้

อีกกรณีหนึ่งที่พ่อของถั่นซอเทพูดถึง ก็คือกรณีของวินทุดซอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน เขาเป็นแรงงานข้ามชาติอายุ 44 ปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะทำงานในโรงงาน หลังจากเสียชีวิตแล้วครอบครัวได้บริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยชาวเกาหลีใต้ 4 ราย ช่วยต่อชีวิตพวกเขาได้

หลังเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น สมาคมชาวเกาหลีในประเทศพม่าก็ก่อตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาวินทุดซอในพม่าเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของแรงงานช้ามชาติผู้นี้ ซึ่งมูลนิธินี้ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาไปแล้ว 21 ราย

ในเกาหลีใต้มีแรงงานข้ามชาติชาวพม่ามากกว่า 30,000 ราย ที่อยู่ภายใต้ระบบอนุญาตจ้างงานที่เป็นข้อตกลงกันระหว่างทางการพม่ากับเกาหลีใต้ โดยมีชาวพม่าเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ราว 1,000 คนต่อเดือน และมีชาวพม่าอีก 30,000 คนที่เข้าทดสอบการใช้ภาษาเกาหลีทุกปีเพราะต้องการไปทำงานที่เกาหลีใต้

เรียบเรียงจาก
Illegal Myanmar migrant's organs save two Korean lives,
Myanmar Times, 11-09-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อย่าหยุดพูด...พูดต่อเถอะ!: เปิดนิทรรศการ Human ร้าย Human Wrong ปี 2

Posted: 25 Sep 2018 09:38 AM PDT

บรรยากาศครึ้มลมครึ้มฝนเหนือน่านฟ้าเชียงใหม่ สร้างความร้อนอบอ้าวบนพื้นดินได้ไม่น้อย

ผมควบมอเตอร์ไซป้ายทะเบียนต่างถิ่นมาถึงหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอดิบพอดีกับเวลาเปิดนิทรรศการศิลปะของ "เหล่าวายร้ายเลือดใหม่ที่จะมาชวนคุณขบคิดและตั้งคำถามกับเรื่อง Right Right ยันอะไรที่ดู Wrong Wrong" แค่คำเชิญชวนบนหน้าเพจของกิจกรรมก็ช่างยั่วยวนชวนมาดูยิ่งนัก

 

"พ่อแม่พี่น้องครับ เด็กคืออนาคตของชาติ…"

เกือบห้าปีหลังรัฐประหารเมื่อ พฤษภาคม 2557 คนที่พูดผ่านสื่อเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมาก็เพิ่งพูดประโยคนี้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติไป ประโยคคลาสสิกที่มีข้อโต้แย้งมากมายว่า เด็กคืออนาคตของชาติจริงๆเหรอ? เด็กจะเป็นปัจจุบันของชาติไม่ได้เหรอ?

โถ…แต่ใครจะโต้แย้งท่านนายกรัฐมนตรีผู้มีคาถาเวทย์มนต์เป็นกฎหมายพิเศษตั้งหลายมาตราได้อย่างไรเล่า ปัดโธ่!!!

ขณะที่ท่านผู้นำรัฐประหารพูดได้พูดดีทุกวี่วัน สังคมไทยก็ถูกปิดปากด้วยกระบอกปืนของรัฐบาลทหารไปพร้อมๆกัน เห็นได้ชัดจากข้อมูลที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวบรวมไว้หลังการรัฐประหารปี 2557 จนถึงวันนี้ พบว่ามีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคนจากการพยายามแสดงออกถึงทัศนะทางการเมืองของตัวเอง และยังมีการแทรกแซงการใช้เสรีภาพทางวิชาการอีกหลายต่อหลายครั้งในยุครัฐบาล คสช.

"ในห้วงเวลาที่เสียงของเราถูก Stop หลายต่อหลายเรื่องถูกห้ามไม่ให้เรา Speak ด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น เมื่อความจริง ความลวง และความเป็นไปในสังคมถูกพลิกกลับให้บิดเบี้ยวจนเราไม่อาจแน่ใจว่าอะไรที่ Right อะไรที่ Wrong ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิในการเรียกร้องสิทธิ์ที่เราพึงมีในชีวิตประจำวัน พื้นที่ศิลปะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนได้ "คิด" "พูด" และ "ส่งต่อ" เรื่องราวที่ถูกลืมเลือนออกไปสู่สังคมได้อีกครั้ง"

บรรยากาศอึดอัดอึมครึมในสังคมห้วงยามนี้ทำให้ประโยคเชิญชมนิทรรศการเพียงไม่กี่บรรทัดนี้ยิ่งตอกย้ำความจริงอันแสนปวดร้าวในบ้านเราเข้าไปอีกมากโข

Human ร้าย Human wrong คือโครงการฝึกอบรมทักษะศิลปะที่สอดแทรกเรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ และการเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือประเด็นทางสังคมเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสร้าง Concept เนื้อหาในชิ้นงานศิลปะ

ซึ่งปีที่แล้วจัดภายใต้หัวข้อ Don't get Human rights To Be wrong ล้อตามชื่อของตัวงานหลักที่เกิดจากการตั้งคำถามว่าเรายังมองเรื่องสิทธิมนุษยชนในมุมมองที่ผิดแปลกหรือว่าเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปในสังคมไทยอยู่หรือเปล่า เป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะพูด หรือเป็นสิ่งที่ยากเกินไปที่เราจะเข้าถึงหรือเปล่า?

ชาวแก๊ง Human ร้าย Human wrong อยากเริ่มคำว่า "สิทธิมนุษยชน" ในความหมายคือ เป็นเรื่องของสิ่งที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ในครอบครัว เรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ความไม่เข้าใจกัน หรือเรื่องของการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน รวมไปถึงเรื่องเพศสภาพหรือสิ่งต่างๆ ที่มันถูกกดทับปิดบังไม่ให้พูด หรือพอพูดแล้วมันกลายเป็นสิ่งผิด เลยนำมาสู่นิทรรศการปีที่ 2 คือ Don't Stop let's speak อารมณ์ประมาณ "อย่าหยุดพูดออกมา" อะไรทำนองนั้น

"คำว่าสิทธิมนุษยชนมันควรจะถูกพูดหรือว่าตระหนักอยู่ในชีวิตประจำวันและมันไม่ควรจะมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดแปลก"

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการฯพูดประโยคแรกออกมา แล้วเล่าให้ผมฟังต่อว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Human ร้าย Human wrong ปีหนึ่งกับปีสองไม่ใช่เซตเดียวกัน เปิดรับสมัครใหม่อีกครั้งในปีที่สองแต่ยังคง Concept ว่าจะให้สมาชิกเป็นบุคคลจากหลายๆ กลุ่ม ทั้งที่เรียนหรือไม่ได้เรียนศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือว่าเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป นักศึกษา สาขาวิชาต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการฯ

"กระบวนการในการ workshop เราตั้งเป้าอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ต้องการคนที่ทำงานศิลปะ Perfect ที่ทำแล้วดูดีดูสวย แต่เรากำลังจะสอนให้เขารู้ว่าเราควรคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมปัจจุบันนี้ ว่าอะไรมันผิดเพี้ยนไปหรือสิ่งไหนที่เราถูกกดทับไม่ให้พูดถึงและนำมาสู่การที่เอาสิ่งเหล่านั้นที่พวกเขาอัดอั้น หรือที่ประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน เอามาพูดผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าการทำงานศิลปะ

ซึ่งเราก็บอกกันโดยตลอดว่างานศิลปะนั้นไม่ใช่แค่การเพ้นท์ การปั้น การแกะสลัก แต่มันหมายถึงการเอาวัสดุอุปกรณ์หรือสิ่งรอบๆ ตัวเรามาสร้างเรื่องราว มาถ่ายทอดให้เป็นการเล่าหรือว่าพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในมุมมองของสมาชิกแต่ละคน ที่มันจะมีความแตกต่างกัน มีสีสันในการเล่าที่มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

โดยเราเห็นว่าสมาชิกตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสองเนี่ยสิ่งที่เราเห็นแน่ๆ คือ เราได้พยายามผลักดันให้เขาได้พูด ได้ลองหันกลับไปมองตัวเองว่า เรื่องบางเรื่องที่พวกเขาถูกละเลยหรือมองข้ามไปนั้น มันเป็นสิ่งที่เราถูกละเมิดอยู่หรือเปล่า หรือเราถูกกดทับในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แบบเรื่องง่ายๆ ทั่วไปเลยมันคือจุดประสงค์ของเราคือการผลักดันให้พวกเขาได้พูดได้แสดงออก ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าศิลปะ"

เธอพูดอย่างคล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง พร้อมกับเล่าถึงกระบวนการคิดการทำงานต่ออีกว่า

"เราจะแยกการทำงานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ก็คือ กลุ่มแรกเป็นเรื่องของ Concept เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ เรื่องของการลงไปสำรวจมุมมองที่แต่ละคนมองปัญหาในสังคมตอนนี้ว่ามันเป็นยังไง หรือเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แล้วก็อีกกลุ่มหนึ่งก็คือเรื่องของการ Practice หรือว่า การให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติในเรื่องของการทำงานศิลปะในรูปแบบใหม่ที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำว่า วาดรูปไม่เป็นจะทำได้ไหม หรือว่าจะทำงานประติมากรรมอะไรอย่างนี้ เรามองว่างานศิลปะที่ดีมันคือการสื่อสาร ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญของเราเลย ถ้าคุณต้องการจะสื่อสารประเด็นที่มันมีอยู่ในใจ คุณจะเลือกเอาวัสดุเอาสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ข้างตัวคุณมาทำงานศิลปะในกำลังทรัพยากรเท่าที่คุณทำได้ คุณจะทำอย่างไรได้บ้าง"

ผู้สร้างงานศิลปะกว่า 16 ชีวิต กับ 18 ชิ้นงาน ที่ผ่านการรังสรรค์ล่วงเวลามาเกือบ 5 เดือนเต็ม เพื่อฝึกฝนทักษะศิลปะและการคิดเชิงวิพากษ์ ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีการสื่อสารสาธารณะผ่านแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย การใช้เสียงและพื้นที่ในงานศิลปะ การตีความและการถ่ายทอดข้อความที่จะสื่อสารรวมไปถึงการทำความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ถกเถียงอย่างมีเหตุผล ด้วยวิธีคิดเชิงวิพากษ์

Human ร้าย Human wrong นิยามสมาชิกและตัวผู้ทำกิจกรรมครั้งนี้ว่า "ไม่ใช่ศิลปิน" แต่คือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างอยากจะพูดกับสังคมที่ลิดรอนสิทธิ์ในการพูดของผู้คนมากเกินไป

"ทำไมเรื่องบางเรื่องถึงพูดไม่ได้ ถ้าพูดตรงๆ ก็ไม่ได้อยู่ดีในยุคสมัยเผด็จการตอนนี้ แต่ศิลปะมันเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกว่า มันสามารถเปิดโอกาสให้คนคิดสร้างสรรค์ผลงาน และในตัวผู้ชมที่มาปะทะกับงานศิลปะเองสามารถตีความได้อย่างอิสระ ภายใต้แนวคิดที่ตัวผู้จัดทำผลงานชิ้นนั้นต้องการเสนอ ดังนั้นเรารู้สึกว่างานศิลปะมันมีเรื่องของความปลอดภัยที่จะพูดเรื่องการเมืองในช่วงเวลานี้ในระดับหนึ่งด้วย รวมถึงว่างานศิลปะเองเราควรจะเปิดให้คำว่างานศิลปะเป็นใครก็ได้ ที่สามารถดู สามารถทำ สามารถเสพได้ ไม่ใช่ยึดติดหรือว่าผูกขาดอยู่กับคำว่าศิลปินหรือว่ากลุ่มคนที่ทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว" นันท์ณิชา พูดทิ้งท้ายไว้น่าสนใจ

 

พอผมจะเริ่มเดินสำรวจในงาน กวาดสายตารอบๆ เห็นคนเริ่มมากันบ้างแล้ว หน้าประตูทางเข้ามีงานชิ้นหนึ่งที่ดึงดูดสายตาจนต้องหยุดดู แล้วกลอนบทหนึ่งก็ลอยเข้ามาให้หัวผมทันที

ไม่ฆ่าน้อง…แต่ให้น้องนั่นรู้สึก

ไม่ฟ้องนาย…แต่ให้ฝึกความใจกว้าง

ไม่ขายเพื่อน…แต่ให้เพื่อนเดินร่วมทาง

คุณธรรมสามอย่าง…อยู่กลางใจ

ผมได้แต่ฉงนสงสัยว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ได้กลายร่างเป็นคุณธรรมไปได้อย่างไร หลังเห็นเพื่อนๆในกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 หรือค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช แห่ขึ้นสเตตัสนี้ในเฟซบุกหลังเข้ารับการประดับยศเมื่อสองสามวันที่แล้ว

เลือดลมพุ่งปรี๊ดดดด กับงานชิ้นแรกที่ชื่อ "แฟนตาซีของทหารใหม่" ซึ่งผลงานของ PlayerGuest540310283 (นามปากกา) งานชิ้นนี้คือการถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้สึก และความสงสัยต่อคุณค่าและความหมายของการเป็นทหาร เมื่อภาพของ "ทหารหาญ" ที่เด็กหนุ่มชาวไทยได้รับการปลูกฝังและปรุงแต่งเอาไว้อย่างสวยงาม รวมไปถึงความมีเกียรติ และหน้าที่มอบหมายอันหน้าภาคภูมิใจนั้นเป็นเพียงมายาคติที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความเป็นจริงและเหตุการณ์ ที่ไม่ได้นำมาสู่ "คุณค่า" หรือ "เกียรติยศ" ใดๆ อย่างที่ทหารใหม่ถูกสอนให้วาดฝัน

ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน

"เป็นคำแรกที่ได้ยินหลังจากที่เข้าไปในค่าย แล้วก็ ทหารเกณฑ์มีปากเหมือนมีรูตูด อันนี้ก็ได้ยินบ่อยมาก"

อดีตทหารเกณฑ์เจ้าของผลงานชิ้นนี้ตอบกลับมา หลังผมเดินเข้าไปถามตรงๆ เลยว่าคิดอย่างไรกับประโยคนี้

"ผมรู้สึกว่าในช่วงแรกที่เข้ารับการฝึกเลือดทหารเราเข้มข้นมาก ผมจำความรู้สึกช่วงนั้นได้แต่ผมไม่ได้อินอะไรมากนะ แค่รู้ว่ามันเข้ามาแล้ว Spirit พลังงานพวกนั้นเริ่มเข้ามาแล้ว เราก็รู้ว่ามันคืออะไรแล้วเราก็สังเกตการณ์เพื่อนๆ ของเราในช่วงแรกว่าเขารู้สึกยินดีปรีดามากกับการเป็นทหาร เราเป็นทหารของชาติเรารู้สึกดีมาก นี่คือเสื้อพระราชทานนะ นี่คือกระเป๋าพระราชทานนะเอาวางพื้นไม่ได้ เรารู้สึกพราวมาก

แต่คำถามคือทำไมความรู้สึกพวกนั้นถึงยังมีความรู้สึกอยากกลับบ้านอยู่ มีกระดาษเขียนติดตู้ทุกตู้เลย ทั้งๆ ที่คุณพราว ทำไมคุณถึงอยากกลับบ้านอันนี้เป็นคำถามเริ่มต้น แล้ว Final reward ของคุณคืออะไรการที่เป็นทหาร

ผมไม่มีปัญหากับการเป็นทหารเกณฑ์ เพราะผมรู้ว่ามันไม่มีทางที่ผู้ชายคนไหนจะสามารถหนีงานทหารได้โดยการไม่จ่าย ถ้าคุณบอกคุณเป็น ร.ด. แล้วคุณไม่จ่าย ผมเถียง คุณจ่ายค่าเทอมจ่ายค่าอุปกรณ์ ร.ด. ป่ะ แล้วถ้าคุณเอามารวมเป็นก้อนเดียวกับการที่คุณเอาไปยัดกับการเกณฑ์ทหารผมว่ามันจะจ่ายหนักกว่ากันไหมคือมันไม่มีทางที่คุณจะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นทหารได้โดยที่คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลยยกเว้นคุณจะมีเส้นสาย" เขาเล่าไปยิ้มไป

ผมใช้เวลาอยู่พอสมควรกับเจ้าของงานชิ้นนี้ บทสนทนาเขาลากผมดำดิ่งไปสู้ห้วงของการครุ่นคิด เห็นทัศนะเชิงวิพากษ์เขาได้ชัดเจน ผสมปนเปกับประสบการณ์ที่เขาเจอมา บนฐานข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนอีกหลายเรื่อง และชิ้นงานแทบทุกชิ้นในงานก็ให้พื้นที่ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนประมาณนี้

 

ก่อนเข้ามาในงาน ผมเกิดความรู้สึกประหลาดใจอยู่อย่างนึงคือ เออว่ะ ทำไมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกลัวงานแบบนี้กันจังเลยว่ะ งานนี้ก็มีนอกเครื่องแบบเต็มไปหมด ปีก่อนก็มา ปีนี้มาอีกแล้ว ถ้าแค่ตามดูพฤติกรรมใครสักคนคงไม่ขนกันมาเยอะขนาดนี้ เขากลัวอะไรกับงานศิลปะของคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร

แต่พอผมเดินทั่วงานจึงได้คำตอบลางๆ ว่า รัฐบาลเผด็จการในยุคนี้ "กลัวความรู้และกลัวเสียงหัวเราะ" และผมรู้สึกว่าสองอย่างนี้มันอยู่ในงาน Human ร้าย Human wrong แบบ "หลากสไตล์ หลายคนเล่า"  

หากดูจากกระบวนการในการสร้างงานจนได้ชิ้นงานออกมาปรากฏอยู่ตรงหน้าผมในวันนี้ แทบปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ความรู้และเสียงหัวเราะ คือผู้บงการอยู่เบื้องหลังกิจกรรมนี้

การสร้างองค์ความรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ให้กับกลุ่มสมาชิก Human ร้าย Human wrong คือการที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิดอย่างอิสระ อยู่นอกเหนือกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่พยายามจะเซ็นเซอร์เขาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเสียงหัวเราะที่รัฐบาลเผด็จการกลัว กลัวอำนาจก็ถูกลดทอนด้วยเสียงหัวเราะจากทิศทางที่ควบคุมอะไรไม่ได้ ทำให้เขากลายเป็นตัวตลก ทำให้เขาที่อยู่สูงสุดกลายเป็นมาเผชิญหน้ากับคนทั่วไป แล้วถูกหัวเราะเยาะใส่

แต่เสียงหัวเราะนั้นมาจากการตีความยังไงก็ได้ของคนที่มาดูงานศิลปะ แล้วเขาจะกลัวทำไมในเมื่องานศิลปะใครก็เข้ามาตีความได้?

อภิบาล สมหวัง ผู้ร่วมจัดแสดงผลงาน แสดงทัศนะประเด็นที่ว่าทำไมผู้มีอำนาจถึงกลัวงานศิลปะว่า

"เพราะว่างานศิลปะมันลึกซึ้ง แล้วมันเป็นการตีความจากคนที่เข้ามาดูเอง หมายถึงว่าเราไม่ได้บอกเขาไปตรงๆ แต่มันทําให้เกิดสำนึกร่วมคือ "ความอิน" ดูแล้วอินว่าเราเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ จากงานที่เราสื่อ เป็นการสร้างพลังด้วยตัวของผู้ชมเอง แล้วมันมีแนวโน้มที่จะเกิดสำนึกของสังคมส่วนรวม สํานึกสาธารณะในแบบที่เขาคอนโทรลไม่ได้ โดยที่ผู้ชมสร้างคุณค่าด้วยตัวของเขาเอง มันยิ่งทำให้ตัวผู้ชมมีพลังมากขึ้น เขาเลยกลัวว่าถ้าเกิดทุกคนที่มาดูแล้วสร้างสำนึกสาธารณะด้วยตัวของผู้ชมเอง มันจะมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง"

เปรม อภิบาล สมหวัง

"คำๆ หนึ่ง มันซ่อนความหมายที่มันไม่ได้เป็นความหมายตรงตัว บางทีมานั่งสังเกตพอมีคนพูดคำว่าคนไทย ก็รู้สึกว่าในคำว่าไทยเป็นคำที่ ถูกหยิบมาใช้บ่อย โดยที่ความหมายจริงๆ ของมันคืออะไรก็ไม่รู้ อาจจะเป็นความเป็นไทย คนไทยหรืออะไรอย่างนี้ มันถูกหยิบมาใช้บ่อยจนรู้สึกว่าสำหรับหนูมันแทบจะไม่มีความหมายแล้วตอนนี้ ก็เลยรู้สึกว่าสรุปแล้วคำว่าไทยคืออะไร มันคือฉันหรือเธอคนเดียวหรือเปล่า เหมือนเหมารวมว่าไทยคือกู แล้วก็เหมารวมว่าคนอื่นจะต้องเป็นด้วย" จิรภิญญา รักษาสัตย์ เจ้าของผลงาน Tripplr I แสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมาถึงแนวคิดการสร้างชิ้นงานของเธอ

ขิม จิรภิญญา รักษาสัตย์

"อันดับแรกเราอยากเชิญชวนให้ทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ เป็นนักศึกษา หรือเป็นใครก็แล้วแต่ มาดูว่างานศิลปะมันเป็นเครื่องมือของทุกๆคน ใครก็ใช้ได้ แล้วเอาไปใช้เพื่อที่จะเปล่งเสียงมันอย่างในยุคนี้ เราพูดอะไรก็จะลำบากนิดหน่อย และเหตุผลที่ 2 ที่ควรจะมาดูก็คือ เรามาดูกันเถอะว่าในยุคปัจจุบันนี้ กลุ่ม Young Generation ของเราคิดและมี reaction ยังไงกับสังคมปัจจุบันที่เขารู้สึกอัดอั้น แล้วเขาพยายามอธิบายผ่านงานศิลปะอะไรได้บ้าง"

ผู้ประสานงานโครงการเธอพูดทิ้งท้ายกับผมไว้เช่นนี้

 

 

....................................

เชิญชมนิทรรศการศิลปะ

Human ร้าย, Human Wrong Exhibition Vol.2

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2561 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เข้าชมฟรี

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย นักศึกษาการละคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกเริ่มต้นการเดินทางจากเทือกเขาบรรทัด พัทลุง – นครศรีธรรมราช ดั้นด้นมาค้นหาความหมายของชีวิตเพื่อฝึกฝนการเขียนและทำละครอยู่ที่เชียงใหม่ หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้ไม่กี่วัน ปัจจุบันยังคงเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ เฮือนครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา)

เกี่ยวกับช่างภาพ: ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ หรือชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยกันว่า โฟล์ค นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการสื่อมวลชน ม.ช. ไอ้หนุ่มภูธรนครสวรรค์ ที่ออกเดินทางไปค้นหาชีวิตตนเองถึงเวียงเชียงใหม่ สนใจในเสียงดนตรี การถ่ายภาพ และประเด็นทางสังคม เป็นนักเดินทางสุดระห่ำ ที่ไม่เคยคิดจะหยุดหาประสบการณ์ใหม่ๆให้กับชีวิต

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กรณีพิพาทแรงงานที่เซินเจิ้น จุดเริ่มต้นของแนวร่วมแรงงาน-นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่

Posted: 25 Sep 2018 09:33 AM PDT

หลังตำรวจจีนบุกจับนักศึกษาจีนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานโรงงานจาสิคเทคโนโลยีที่เซินเจิ้น ก็เกิดผลสะเทือนต่อเนื่องเมื่อนักศึกษาจีนหลายมหาวิทยาลัยต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของแรงงาน พร้อมพิจารณาสถิติพิพาทแรงงานจีนจาก 4.8 หมื่นกรณีในปี 2539 พุ่งสู่ 6.93 แสนกรณีในปี 2551 และยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ภาพนักศึกษาที่หนานจิงชูป้ายสนับสนุนแรงงานที่โรงงานจาสิคที่เซินเจิ้น (ที่มา: HKFP/RFA)

ฮ่องกงฟรีเพรส (HKFP) รายงานเรื่องการประท้วงนักศึกษาและบัณฑิตชาวจีนจากมหาวิทยาลัยมากกว่าสิบแห่ง ที่แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและแสดงการสนับสนุนกลุ่มแรงงานบริษัทจาสิคเทคโนโลยีที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงฮวา มหาวิทยาลัยหนานจิง และมหาวิทยาลัยซุนยัตเซน ร่วมกันประท้วงโดยผู้ประท้วงสวมเสื้อยืดพิมพ์ด้วยประโยคสีแดงตัวหนาที่ระบุว่า "สามัคคีคือพลัง" 

พวกเขายังถ่ายทำวิดีโอการปราศรัยและการประท้วงอย่างสงบที่หน้าโรงงานจาสิคในย่านผิงชานของเซินเจิ้น ซึ่งเป็นย่านในทางตอนใต้ของจีนที่เป็นแหล่งเน้นผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบให้บรรษัทข้ามชาติอื่นๆ กลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ยังเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เว็บล็อกและรูปถ่ายเหล่านี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ด้วย

เรื่องที่จุดชนวนให้มีกระแสการประท้วงนี้คือการที่ฝ่ายบริหารของจาสิคโต้ตอบการพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานตามแบบประชาธิปไตยด้วยการปฏิเสธไม่ยอมให้คนงานที่ถูกไล่ออกกลับเข้าทำงานได้

ในตอนที่ฮ่องกงฟรีเพรสนำเสนอบทความนี้ยังมีคนงาน 14 รายที่อยู่ในการคุมขังของทางการท้องถิ่น อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกที่พักเพื่อกวาดจับนักศึกษา 50 คนที่แสดงการสนับสนุนกลุ่มแรงงาน

ข้อพิพาทระหว่างแรงงานกับบริษัทจาสิคในครั้งนี้เป็นเรื่องของการกดขี่ค่าแรง การมีค่าปรับคนทำงานที่โหดร้ายเกินไป และระบบสวัสดิการที่ไม่มีการออกเงินให้ลูกจ้าง การละเมิดสิทธิแรงงานและการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อพวกเขาทำให้แรงงานเหล่านี้ต่อต้านทั้งในระดับปัจเจกและในระดับการรวมตัวกัน

ประเทศจีนมีการยกเลิกสิทธิในการหยุดงานประท้วงออกจากรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2525 แล้ว และสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการก็มีอยู่กลุ่มเดียวคือ 'สหพันธ์แรงงานจีน' (ACFTU) ซึ่งเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของรัฐบาลจีน เมื่อไม่มีการนำจากสหภาพแรงงาน คนงานในสถานที่แบบจาสิคก็ได้แต่ปฏิบัติการด้วยตนเองเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง

สำนักงานสถิติของทางการจีนระบุว่าในปี 2539 มีการรับพิจารณาข้อพิพาทแรงงานจำนวน 48,121 กรณี ทั้งกรณีแบบระหว่่างบุคคลกับกรณีแบบกลุ่มคน รวมล้วมีผู้ร่วมในข้อพิพาทเหล่านี้รวม 189,120 คน โดยที่ตัวเลขเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทหรือการประท้วง โดยหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 มีคนงานหลายล้านคนถูกลอยแพ ทำให้มีกรณีข้อพิพาทเพิ่มขึ้นเป็น 693,465 กรณี และมีคนงานที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเหล่านี้ 1.2 ล้านกรณีทั่วประเทศจีน

นอกจากการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อหากลไกยุติข้อพิพาทแล้วคนงานก็พยายามเพิ่มอำนาจการรวมกลุ่มปกป้องคุ้มครองตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย โดยที่คนงานจาสิคยื่นเรื่องขอจัดตั้งสหภาพตามกฎหมายสหภาพแรงงานของจีนรวมถึงพร้อมที่จะเปิดเจรจาหารือกับฝ่ายบริหารของบริษัท ทว่าในช่วงเดือน ส.ค. ฝ่ายผู้บริหารจาสิคก็เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการสหภาพขึ้นมาเองโดยแรงงานไม่มีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการยึดครองพื้นที่สหภาพของแรงงานและจำกัดสิทธิในการจัดตั้งสหภาพโดยตัวแรงงานเอง

ฝ่ายนักศึกษาแสดงการสนับสนุนแรงงานจีนมาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมแสดงออกในครั้งนี้หลายหมื่นคนจากทั่วประเทศ คนหนุ่มสาวเหล่านี้เกิดในช่วงยุคสมัยปี 2533-2543 ในสมัยที่จีนเริ่มเปิดประเทศและมีการแปรรูปอุตสาหกรรมเป็นของเอกชนเพื่อให้เกิด "ความยืดหยุ่น" ในการการทำงานและการจ้างงานในตลาดแรงงาน คนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้าใจดีว่าควรจะมีการปรับกฎหมายให้มีความก้าวหน้ามากกว่าเพื่อให้มีการกระจายผลได้ทางเศรษฐกิจไปสู่แรงงานผู้ลงมือผลิต

50 นักศึกษาจีนหายตัวไป-หลังจนท.จีนบุกจับกรณีสนับสนุนแรงงานตั้งสหภาพ

นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษายังสามารถใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือนำเสนอเรื่องการต่อสู้ของแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถึงแม้ว่าทางการจีนจะทำการบล็อกหรือนำเนื้อหาออกก็ตาม แต่มันก็ช่วยทำให้เกิดกระแสความสนใจในเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการและประชาชนทั่วไปทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มแรงงานคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต่างก็พากันนัดหยุดงานและประท้วงไม่ว่าจะ โรงงานของฟ๊อกซ์คอนน์ในเซินเจิ้น โรงงานของฮอนดาในฝอชาน และโรงงานของยื่อหยวนในตงกวง เพื่อเรียกร้องให้มีกระบวนการแบบประชาธิปไตยกับสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังมีการเน้นเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการที่ดีหลังจากที่กลุ่มนายทุนเริ่มย้ายฐานจากกวางตุ้งไปสู่เมืองที่มีค่าแรงถูกกว่า

นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยยังมีความกังวลเรื่องเกี่ยวกับการจ้างงานที่เป็นธรรมในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการจ้างแบบเหมาช่วงและการจ้างงานแบบชั่วคราว การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากรากฐานในแบบกรณีคนงานจาสิคและที่ทำงานอื่นๆ จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหน้าใหม่ที่จารึกลงในสังคมจีน

เรียบเรียงจาก
Shenzhen Jasic Technology: the birth of a worker-student coalition in China?,
Hong Kong Free Press, 01-09-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตุลาการผู้แถลงชี้เดินมิตรภาพใช้สิทธิตาม รธน. แต่เห็นว่า ตร. ก็ทำตามหน้าที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิ

Posted: 25 Sep 2018 08:47 AM PDT

ตุลาการผู้แถลง เห็นว่ากลุ่มเดินมิตรภาพใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 แต่ก็เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกจากธรรมศาสตร์ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเพราะมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

25 ก.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 14.00 น. ศาลปกครองการ ได้นัดฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ ตัวแทนกลุ่มเดินมิตรภาพคือ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ณัฐวุฒิ อุปปะ และนิมิมิตร์ เทียนอุดม ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1,3 และ4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7 ต่อศาลปกครอง จากกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้าแล้ว ในช่วงพิธีเปิดกิจกรรมเดินมิตรภาพวันที่ 19-21 ม.ค. 2561

เวลา 14.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงและประเด็นคดีให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองและคู่กรณีฟัง โดยองค์คณะเห็นว่ามีประเด็นพิจารณาในคดีนี้ทั้งหมด 3 ประเด็น คือ

1.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4คน จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 จึงต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องศาลปกครองหรือไม่

2.การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนขอให้มีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการชุมนุม ศาลต้องออกคำบังคับหรือไม่

3.ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้ปิดกั้นการชุมนุมอันสงบปราศจากอาวุธถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และถ้าหากเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่

สรุปข้อเท็จจริงในคดี People Go

องค์คณะตุลาการได้สรุปข้อเท็จจริงความว่า เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมและที่เหลือเป็นผู้ร่วมการชุมนุมในนามเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้ร่วมจัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็น ได้แก่เรื่องหลักประกันสุขภาพ นโยบายไมทำลายความมั่นคงทางอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชนสิทธิชุมนุม และรัฐธรรมนูญต้องมาจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน

นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการชุมนุมต่อพ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 โดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ต.อ.ฤทธินันท์จึงได้ทำหนังสือตอบกลับผู้แจ้งจัดการชุมนุมตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ภายหลังพ.ต.อ.ฤทธินันท์ได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝ่ายทหารว่าผู้จัดกิจกรรมมีการขายเสื้อที่มีข้อความ "ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช." และมีการร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558

พ.ต.อ.ฤทธินันท์จึงมีหนังสือถึงเลิศศักดิ์ ว่าตามที่ตนได้รับรายงานมาเห็นว่าพฤติการดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เป็นการมั่วสุมหรือเป็นชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หากเลิศศักดิ์ต้องการชุมนุมต่อให้ดำเนินการขออนุญาตผู้มีอำนาจต่อไป ทั้งนี้เลิศศักดิ์ได้ทำหนังสือถึงพ.ต.อ.ฤทธินันท์ยืนยันการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 20ม.ค.2561 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนและเครือข่ายรวมประมาณ 100 คน ได้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีตำรวจประมาณ 200 นาย ตั้งแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกไป ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าไม่สามารถเปิดทางให้เดินออกไปได้จนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ จน 16.00น. ผู้ชุมนุมเดินออกจาก มธ.ทางประตูอื่นและเดินไปขอพักที่วัดลาดทรายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวันต่อมาผู้ชุมนุมเดินออกจากวันลาดทรายในเวลา 6.00น.เพื่อเริ่มทำกิจกรรมวันที่สอง ตำรวจและทหารได้ตั้งด่านบริเวณทางเข้าวัดตรวจบัตรประชาชนและซักประวัติทุกคนที่ผ่าน และตรวจรถยนต์และตรวจสำเนาทะเบียนรถทุกคันและมีการกักรถกระบะที่ใช้คนสัมภาระและน้ำดื่มเพื่อตรวจค้น

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและยังมีการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีที่ 3 และยังปฏิเสธไม่ให้มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอญา อีกทั้งยังมีการกดดันเจ้าของสถานที่ไม่ให้พวกเขาใช้สถานที่พักในตอนกลางคืนด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมและเจ้าพนักงานในสังกัดมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางปกครอง และเป็นการละเมิดการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต่อผู้ฟ้อง

ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดเห็นว่าการกระทำของพวกตนเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องและผู้ร่วมชุมนุม จึงไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา 240 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้โต้แย้งว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและมาตรา 6 วรรคสอง ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 การกระทำตามคำสั่งนี้จึงไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

ตัวแทน People Go แถลง เชื่อมั่นรัฐธรรมนูญมากกว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ฟ้องคดีที่ เป็นตัวแทน แถลงต่อศาลด้วยวาจาเพิ่มเติมว่าที่ข้อเท็จจริงระบุว่าในเหตุการณ์วันที่ 20 ม.ค. ตนออกจากมหาวิทยาลัยได้นั้น ที่จริงแล้วตนติดอยู่ในมหาวิทยาลัยกับผู้ชุมนุมรวมประมาณ 50 คน จนถึง 18.00 น. ที่เจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังออกไปแล้ว

นอกจากนั้น พวกเขาเห็นว่าเสรีภาพการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเครื่องมือของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน พวกเขาได้พยายามทุกวิถีทางในการยืนหนังสือ ประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และพวกเขาเชื่อว่าพวกตนมีเสรีภาพในการชุมนุมและเคารพกฎหมายจึงมีการแจ้งจัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่มีหน้าที่รับแจ้งรวมถึงอำนวยความสะดวก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ในการแจ้งการชุมนุม พวกตนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบชัดเจนว่าจะเดินทางไปที่ไหน พักที่ไหน ได้แจ้งรายละเอียดทั้งหมด

พวกเขาแถลงอีกว่า พวกเขามีคำถามว่าระหว่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กับรัฐธรรมนูญจะต้องยึดถืออะไรเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในรัฐธรมนูญ ในการเดินของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขอนแก่นได้ชุมนุมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่พวกเขาพบว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าที่พักได้ตามแผนเพราะการกดดันของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความหวาดกลัวแก่วัด แก่กรรมการวัด และผู้เข้าร่วมชุมนุม และพวกเขายังได้เห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองทำให้พวกเขาสามารถเดินไปจนถึงขอนแก่นได้ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่มีคำสั่งศาลพวกเขาก็ต้องยึดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558

ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าองค์คณะควรยกฟ้อง

ตุลาการศาลปกครองผู้แถลงคดีได้มีความเห็นว่าผู้ฟ้องได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้ถูกฟ้องที่ 2 แล้วและได้ทำหนังสือตอบกลับโดยไม่ได้แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม มาตรา 7-8 หรือขัดมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมไม่ได้อาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 การที่ผู้ถูกฟ้องปิดกั้นเส้นทาง ติดตามควบคุมและไม่ให้เข้าพักในสถานที่ที่ผู้ชุมนุมไป เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาล ดังนั้นข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ที่ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองจึงฟังไม่ขึ้น

ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงต่อว่าผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งจัดการชุมนุมแล้วและผู้ถูกฟ้องได้สรุปสาระการชุมนุม เห็นว่าผู้ฟ้องกับพวกได้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธและได้แจ้งจัดการชุมนุมตามมาตรา 10 ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้วโดยผู้รับแจ้งไม่ได้สั่งให้ผู้ฟ้องแก้ไขการชุมนุมการชุมนุมนี้จึงเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องได้ละเมิดและก่อความเสียหายหรือไม่

ประเด็นการละเมิดนี้ ตุลาการฯ เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ได้สั่งการให้ตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดไม่ให้ประชาชนออกจาก มธ. มีการจัดน้ำดื่มและรถสุขาให้กับผู้ชุมนุม และเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์.และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และเป็นทางเข้าออกของมหาวิทยาลัย หากเดินทางออกไปอาจมีผลต่อการจราจรผู้ถูกฟ้องจึงมีอำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และแม้ว่าจะมีการให้เจ้าหน้าที่ติดตามการชุมนุมก็เป็นไปเพื่อรายงานสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าได้ขัดขวางการหรือให้ทำยุติการชุมนุม

ตุลาการฯ แถลงอีกว่า นอกจากนั้นในวันที่ 20 จากการตั้งด่านตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายและไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย และยังเห็นว่าตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย การปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่วนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 2 และภาค 3 ผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ได้ดำเนินการและออกมาตรการบรรเทาทุกข์ ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ปิดกั้นการชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 2-7 ได้กระทำตามอำนาจตามกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นการชุมนุม จึงไม่เป็นการละเมิด ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ เห็นควรให้พิพากษายกฟ้อง และได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.ย. 2561

ด้านนิมิตร์ ได้ให้สำภาษณ์กับประชาไทด้วยว่า ไม่ได้คาดหวังกับคำพิพากษามาก เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังเชื่อว่าการชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาของประชาชนเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายพิเศษในการเข้ามาละเมิดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมยืนยันว่าการชุมนุมเป็นเครืองมือของประชาชน

กิจกรรมเดินมิตรภาพ หรือ We Walk เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยเครือข่าย People Go ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่พัฒนามาจาก 97 องค์กร ที่มีทั้งคณาจารย์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิต นักศึกษา และองค์กรเครือข่ายชาวบ้านจากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกัน ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น ระยะทางกว่า 450 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ เริ่มต้นเปิดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 ม.ค. สิ้นสุดกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ยกฟ้อง ‘ธาริต’ ชี้ไม่ได้กลั่นแกล้ง หลังฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ปมสลายเสื้อแดง

Posted: 25 Sep 2018 06:50 AM PDT

ศาลอาญา ยกฟ้อง 'ธาริต เพ็งดิษฐ์ และทีม' หลัง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ยื่นฟ้อง อดีตอธิบดี DSI มีเจตนากลั่นแกล้ง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ศาลชี้โจทก์ไม่มีสิทธิ์สั่งการ นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับเช่น 'การสั่งให้ใช้กระสุนจริง' ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) (แฟ้มภาพ ประชาไท)

25 ก.ย.2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และอดีตรองนายกฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200

กรณีเมื่อเดือน ก.ค. 2554 – 13 ธ.ค. 2555 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดี อภิสิทธิ์และ สุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยวันนี้จำเลยทั้ง 4 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักน้อย เป็นเพียงพยานแวดล้อมและความเห็นทางกฎหมาย ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ในการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งในการแจ้งข้อกล่าวหาทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีจำเลยที่ 2-4 และอัยการเข้าร่วมเป็นเพียงคณะทำงาน โดยแต่งตั้งขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของ พัน คำกอง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ พยานหลักฐานไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสี่จงใจกลั่นเเกล้งเเต่งข้อกล่าวหาโจทก์ พฤติการณ์ไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีการวางกรอบไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจเกินเลย พิพากษายกฟ้อง

วอยส์ออนไลน์ รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า คดีนี้ศาลอาญา พิเคราะห์จาก พยานหลักฐาน และการนำสืบแล้ว พิพากษายกฟ้อง เนื่องจาก อภิสิทธิ์ และ สุเทพในฐานะโจทก์ ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้ง พยานหลักฐานมีน้ำหนักน้อย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ขณะเดียวกันพยานหลักฐานบางส่วน ที่โจทก์นำมากล่าวอ้าง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการ สั่งฟ้องของจำเลย เช่นการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อกล่าวหา และโจทก์เอง ไม่มีสิทธิ์สั่งการ นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับเช่นการสั่งให้ใช้กระสุนจริง ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม ขณะที่การแจ้งข้อกล่าวหา จำเลยมิได้ใช้ดุลพินิจเพียงลำพังแต่ทำในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งมีมติตั้งคณะกรรมการคดีพิเศษ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการร่วมประชุม จึงมีมติสั่งคดี เพื่อส่งอัยการให้พิจารณา ตามกระบวนการ 

ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการนั้น เป็นเพียงมุมมองทางกฎหมาย เพราะฝ่ายจำเลยก็อ้างเช่นกันว่า คดีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นความผิดทางอาญาของบุคคล เข้าข่ายคดีฆาตกรรม

ส่วนกรณีที่อ้างว่าจำเลย ดำเนินการสั่งฟ้อง โดยสนองตอบต่อนโยบายของฝ่ายการเมือง จนนำมา สู่การได้ นั่งในตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษต่ออีก 1 ปี เป็นเพียงความเห็นของโจทก์เท่านั้น เพราะการต่ออายุ นั่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเป็นมติคณะรัฐมนตรี และมีบุคคลในหน่วยงานราชการจำนวนมาก ที่ได้ดำรงตำแหน่งเพิ่มเติม ไม่ใช่เฉพาะเพียงจำเลยเท่านั้น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ก.แรงงาน ตั้งวอร์รูมช่วยเหลือแรงงานไทย ลี้ภัยสงครามในอิสราเอล เผยทำงานอยู่จุดเสี่ยง 1 พันคน

Posted: 25 Sep 2018 05:56 AM PDT

รมว.แรงงาน ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์กรณีเกิดสงครามระหว่างอิสราเอล เลบานอน และซีเรีย กำชับ ฝ่ายแรงงานฯ อำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่มีความประสงค์จะอพยพกลับประเทศไทย เผยทำงานพื้นที่เสียงภัยประมาณ 1,000 คน

25 ก.ย. 2561 กระทรวงแรงงาน รายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมระบบทางไกล (Video Conference) กับ ศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อหารือแนวทางการอพยพแรงงานไทยกรณีเกิดสงครามในอิสราเอลโดยอพยพจากอิสราเอลมายังสาธารณรัฐไซปรัสเพื่อส่งกลับมายังประเทศไทย ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ฝ่ายแรงงานฯ ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่แรงงานไทยเพื่อเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการอพยพเมื่อเกิดภัยสงคราม อาทิ แนะนำแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อจำเป็นต้องมีการอพยพ โดยการเตรียมความพร้อมเรื่องเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เอกสารการเดินทาง แผนที่การเดินทาง การจัดแบ่งแรงงานเป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกในการอพยพ มีระบบการแจ้งเตือนไปยังแรงงานไทยที่อยู่ในสถานประกอบการแต่ละแห่ง กำหนดจุดรวมพลที่มีความปลอดภัย และชี้แจงแผนอพยพกลับประเทศไทยกรณีสถานการณ์มีความรุนแรงถึงระดับต้องอพยพแรงงานไทยออกมา รวมทั้งกำชับให้แรงงานไทยติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากทางการอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ทั้งนี้ จากการหารือระหว่างผู้แทนกรมการจัดหางานกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 ที่ประเทศไซปรัส พบว่า หากเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน และซีเรีย และยกระดับความรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องอพยพแรงงานไทยออกมานั้น ปัจจุบันแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเหนือของอิสราเอลที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัยประมาณ 1,000 คน และที่ทำงานกระจายในภาคเหนืออีก 4,500 คน ซึ่งฝ่ายแรงงานฯ ประเมินว่ามีแรงงานไทยที่สมัครใจเดินทางกลับประมาณ 2,000 คน ส่วนที่เหลือไม่ประสงค์เดินทางกลับ ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปทางภาคกลางและภาคใต้ของอิสราเอลชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะสงบลง โดยแรงงานไทย 2,000 คน จะใช้เส้นทางเดินเรือจากท่าเรือ Haifa ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิสราเอล มายังสาธารณรัฐไซปรัสที่ท่าเรือ Larnaca ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 10-12 ชั่วโมง และท่าเรือ Limassol ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14-18 ชั่วโมง โดยใช้เรือที่จุผู้โดยสารได้เที่ยวละ 500 คน ซึ่งต้องใช้การเดินทาง 3-4 เที่ยว ส่วนกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถอพยพแรงงานไทยทางเรือไปยังไซปรัสได้ ฝ่ายไทยได้เตรียมแผนที่จะอพยพแรงงานไทยมาทางตอนใต้ของอิสราเอลเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจอร์แดน โดยกำหนดจุดพักรอการอพยพ ณ เมืองเยรูซาเลม หรือทะเลเดดซี โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ระยะทาง 300 กิโลเมตร ขณะเดียวกันทางการอิสราเอลได้มีบังเกอร์หลบภัยสงครามตามจุดที่กำหนดในทุกหมู่บ้าน ณ เมือง Haifa และทางการอิสราเอลจะกำหนดจุดให้ฝ่ายไทยรอรับแรงงานเพื่ออพยพต่อไป

นอกจากนี้ ทางการไทยจะเตรียมแผนรองรับการเคลื่อนย้ายคนจากสาธารณรัฐไซปรัสกลับไปยังประเทศไทย โดยอาจใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำหรือเรือโดยสารพาณิชย์ การขอใช้อากาศยานราชการของกองทัพ หรือการขอใช้เรือรบของกองทัพเรือ เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาการจัดทำบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการอพยพแรงงานไทยต่อไป

ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลจำนวน 24,028 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมายจำนวน 22,736 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเกษตร 22,361 คน ช่างเชื่อมและพ่อครัว 290 คน ผู้อนุบาล 45 คน และตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ช่างแอร์ ช่างซ่อมรถยนต์ เป็นต้น จำนวน 40 คน ที่เหลือเป็นแรงงานผิดกฎหมายจำนวน 1,292 คน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ประยุทธ์' งัด ม.44 ตั้ง ‘สนธยา คุณปลื้ม’ นั่งนายกพัทยา

Posted: 25 Sep 2018 04:52 AM PDT

คําสั่งหัวหน้า คสช. ปลด พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตําแหน่งนายกเมืองพัทยา ตั้ง 'สนธยา คุณปลื้ม' นั่งแทน ระบุเพื่อดําเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น

 

25 ก.ย.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 15/2561 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการเมืองพัทยา สั่ง ณ วันที่ 25 ก.ย. 2561
 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

โดยระบุว่า โดยที่ขณะนี้รัฐบาลอยู่ในระหว่างดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาเพื่อให้ไม่ ขัดหรือแย้งและมีความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันจะนําไปสู่การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาที่จะมีขึ้นในอนาคต ในขณะที่เมืองพัทยาซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าการลงทุนพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ

จัดให้มีกิจกรรมภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจรจัดทําโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างรอการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาตามกฎหมายดังกล่าว

จึงมีความจําเป็นต้องได้มาซึ่งนายกเมืองพัทยาและผู้บริหารเมืองพัทยาที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วย
ประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนกิจกรรม
และการดําเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งเป็นการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นอันจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ พลตํารวจตรี อนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตําแหน่งนายกเมืองพัทยา

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 ของคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ข้อ 2 ให้ นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยา และให้ มีรองนายกเมืองพัทยาไม่เกินสี่คน ตามที่นายกเมืองพัทยาแต่งตั้งตามมาตรา 46 และมาตรา 48 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาหรือ คสช. มี คําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น"

ข้อ 3 ในกรณี ที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ 4 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นนายก ตั้งแต่ 4 พ.ค. 51 - 16 มิ.ย.59 ต่อมาเมื่อหมดวาระ ชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยาแทน 17 มิ.ย.59 จนกระทั่ง 16 ก.พ.60 มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2560 ตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ เป็นนายกเมืองพัทยา และล่าสุดให้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ สนธยา มานั่งเป็นนายกเมืองพัทยา

โดยที่ 17 พ.ค.61 เพิ่งมีคำสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ให้ สนธยา ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง ตําแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขณะที่ อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ม.อ.ปัตตานี แจงขอให้ นศ.ยกเลิกและระมัดระวังแล้ว ปมจัดกิจกรรมค้านประกาศ 'พื้นที่ควบคุมพิเศษ' 

Posted: 25 Sep 2018 02:40 AM PDT

ผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี แจงหลัง 'กลุ่มไทยพื้นที่รักสันติ' จี้ตรวจสอบนักศึกษาจัดกิจกรรมค้าน ประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ 2 ตำบลในหนองจิก เป็น 'พื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราว' ยันขอให้นักศึกษายกเลิกการเดินทางลงพื้นที่ หวั่นเกิดเหตุไม่พึงประสงค์แล้ว แต่นักศึกษายันการเดินทางลงพื้นที่ เพราะมีการนัดหมายร่วมกันกับเพื่อนต่างสถาบันที่มีเจตนาเดียวกัน ผู้บริหารมหา'ลัยจึงขอให้ระมัดระวังในการเดินทางลงพื้นที่และให้ดูแลผู้เข้าร่วมให้ทั่วถึง

25 ก.ย.2561 จากกรณีวานนี้ "กลุ่มไทยพื้นที่รักสันติ" เรียกร้องให้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินการกับกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชน นักเรียนปาตานี (PerMAS) ที่จัดกิจกรรมคัดค้าน ประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กรณีให้ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำซำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราว โดยกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติยังมอบพวงหรีดให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อไว้อาลัย และยื่นข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยดำเนินการและชี้แจงเนื้อหา เกี่ยวกับแถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษา PerMAS ดังกล่าวนั้น

ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ย.61) รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ออกชี้แจงประชาคม ม.อ.ปัตตานี เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารวิทยาเขตปัตตานี ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยและเฟสบุ๊กแฟนเพจ  ถึง นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ม.อ.ปัตตานีทุกท่าน

คำชี้แจงระบุว่า ตามที่ปรากฏในข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยมีสาระที่ทำให้เกิดการเข้าใจในวงกว้างว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อนุมัติให้นักศึกษาจัดกิจกรรมอันจะก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการประกาศให้ ต.บางเขาและท่ากำซำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราวเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเกิดเหตุการณ์คนร้ายซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพรานขณะลาดตระเวนเส้นทาง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา นั้น

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 มีนักศึกษาส่วนหนึ่งของ ม.อ.ปัตตานี ร่วมสมทบกับ
กลุ่มนักศึกษาที่เดินทางจากต่างสถาบันประมาณ 100 คน ลงพื้นที่ชุมชนตำบลบางเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ข้างต้น เพื่อพบปะพูดคุยสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่และร่วมทำการละหมาดฮายัต โดยในส่วนของนักศึกษาของ ม.อ.ปัตตานี มีการรวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารกิจกรรม กองกิจการนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ซึ่ง ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ได้รับแจ้งว่าจะมีนักศึกษาลงพื้นที่ ในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลนักศึกษาพร้อมด้วยบุคลากรกองกิจการนักศึกษา จึงได้เข้าไปสอบถามพูดคุยและขอให้นักศึกษายกเลิกการเดินทางลงพื้นที่ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ แต่นักศึกษา
คงยืนยันการเดินทางลงพื้นที่ เพราะมีการนัดหมายร่วมกันกับเพื่อนต่างสถาบันที่มีเจตนาเดียวกัน ทางรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ฯ จึงขอให้ระมัดระวังในการเดินทางลงพื้นที่และให้ดูแลผู้เข้าร่วมให้ทั่วถึง
หลังจากนั้นก็ได้จัดประชุมกองกิจการนักศึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูลว่า มีนักศึกษาของ ม.อ.ปัตตานี จำนวนกี่คนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ดังกล่าว และได้ประสานกับนักศึกษาทุกคนว่าต้องการการดูแลในประเด็นใดบ้าง พบว่ามีนักศึกษา 1 คน ที่มาพักอาศัยกับเพื่อน จึงได้จัดที่พักของมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาพักเป็นการชั่วคราว

หลังจากนักศึกษาลงพื้นที่แล้ว มีความเห็นผ่านข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้บริหารของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมีการระบุว่า ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ว่าเป็นผู้เห็นชอบและสนับสนุนให้นักศึกษาของ ม.อ.ปัตตานี ทำกิจกรรมในพื้นที่ครั้งนี้ ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงขอชี้แจงกับประชาคม ม.อ.ปัตตานี ว่า รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่พัฒนานักศึกษาให้ "ซื่อสัตย์มีวินัย ใฝ่ปัญญา มีจิตสาธารณะ" ด้วยความรับผิดชอบตลอดมา ด้วยยึดมั่นในความถูกต้องและความจริง เคารพกฎหมาย คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักศึกษาในทุกมิติ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในสร้างความเข้าใจในความแตกต่างทางความคิดและทางวัฒนธรรมทั้งในระดับบุคคลและองค์กร มีจุดยืนที่มั่งคงเช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ "การทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"

ผู้สื่อข่าวรายนงานเพิ่มเติมด้วยว่าวันเดียวกัน เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชน นักเรียนปาตานี (PerMAS) ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ด้วยว่า มหาวิทยาลัยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเนื้อหาในแถลงการณ์วันสันติภาพสากลและการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งย้ำด้วยว่ามหาวิทยาลัยต้องรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษา

สำหรับกิจกรรมของ PerMAS ในการคัดค้านประกาศ กอ.รมน.ที่ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราวนั้นเกิดขึ้นภายหลัง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 จัดแถลงข่าว ณ มณฑลทหารบกที่ 46 โดยกำหนดให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวนำอาวุธปืน และเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภทมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 17-23  ก.ย. 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี ภายหลังเกิดเหตุการณ์ซุ่มยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นายขณะที่ทั้งหมดกำลังเดินกลับฐานใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น