โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

กกต. เผยไทมไลน์สรรหา ส.ว. (ในส่วนของกกต.) ยันส่งรายชื่อให้ คสช. เลือก 22 ม.ค.

Posted: 05 Sep 2018 11:00 AM PDT

เลขาธิการ กกต. คาดหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้ จะดำเนินการสรรหา ส.ว. ทันที คาดวันที่ 22 ม.ค. 2562 จะสามารถส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 รายชื่อได้ ที่เหลือมาจากการคัดเลือกโดยตรงของ คสช. 194+6 รายชื่อ

5 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต. วานนี้ (4 ก.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีประมาณ 160 ข้อเสร็จสิ้นในรอบแรกแล้ว และมีความเห็นให้มีการปรับแก้เกี่ยวกับการปฏิบัติในบางเรื่อง ซึ่งทางสำนักงานจะนำเข้าที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในการประชุม กกต. ครั้งต่อไป ขณะนี้ได้เร่งพิจารณาร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อให้ทันกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที กระบวนการสรรหา ส.ว. ก็ต้องเริ่มดำเนินการในทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. ที่สำนักงาน กกต.ได้ประชุมสัมมนาผู้บริหารไปเมื่อ 18-19 ส.ค.นั้น มีการประมาณการไว้ว่าหาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ก.ย. กกต.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้น 12 ต.ค. จะประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กร เพื่อเป็นองค์กรที่จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. และแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ วันที่ 22-31 ต.ค. สำนักงานกกต.จังหวัด รับลงทะเบียนองค์กร วันที่ 16 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและนายกรัฐมนตรี นำ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว. ทูลเกล้าฯ วันที่ 20 พ.ย. ประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. แยกเป็นรายกลุ่ม

นอกจากนี้ วันที่ 30 พ.ย.คาดว่า พ.ร.ฎ ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ 5 ธ.ค. กกต.ประกาศเกี่ยวกับวันเลือก วันรับสมัคร และสถานที่เลือก ซึ่งระดับอำเภอภายใน 20 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ระดับจังหวัดภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และระดับประเทศภายใน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด เปิดรับสมัคร ส.ว. วันที่ 10-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ. และวันที่ 30 ธ.ค. จะเป็นวันเลือก ส.ว. ในระดับอำเภอ วันที่ 6 ม.ค. 62 เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด วันที่ 16 ม.ค. เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ วันที่ 17-21 ม.ค. กกต. รอไว้ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด และวันที่ 22 ม.ค. กกต.แจ้งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่ม แต่ละวิธีสมัคร รวม 200 คนให้คสช.คัดเลือกเป็นส.ว. 50 คน และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีสำรอง

การคัดเลือก ส.ว. ในครั้งแรก ตามบทเฉพาะกาล

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งรอการประกาศใช้อยู่นี้ ตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมีจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยมีช่องทางในการสรรหาทั้งหมด 3 ทางคือ

1.ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 9-12 คน คัดเลือกบุคคลมาทั้งหมด 400 รายชื่อยื่นเสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

2.ให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไป แต่ให้มีการรับสมัครเพียงแค่ 10 กลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 91 และให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ สุดท้ายให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ เพื่อยืนให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

3.ให้มี สมาชิกวุฒสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งดังต่อไปนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

โดย ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และในวาระเริ่มแรกจะมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งจากเดิมเป็นอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

การสรรหา ส.ว. ที่จะใช้อีก 5 ให้หลังเป็นอย่างไร 

ในบททั่วไป หมวดที่ 1 มาตรา 11 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนทั้งหมด 200 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ โดยในมาตรา 13 กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านที่สมัคร ไม่น้อยกว่า 10 ปี  โดยผู้สมัครจะต้องสมัครในเขตอำเภอ

สำหรับการคัดเลือก ส.ว. ตามกฎหมายใหม่ได้แบ่งให้มีการเลือกทั้งหมด 3 ระดับ  ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ในระดับเริ่มต้นคือระดับอำเภอ จะมีการเลือก 2 ครั้ง ครั้งแรกอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคัดเลือกผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ให้เลือกเพียงกลุ่มละไม่เกิน 5 คนเท่านั้น โดยให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพมีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน 2 คน โดยจะเลือกตนเองก็ได้ จากนั้นเมื่อนับคะแนนแล้วผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกจะผ่านการรับเลือกในขั้นต้น

หลังจากที่ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นกลุ่มอาชีพละ 5 คน ทั้งหมด 20 กลุ่มแล้ว จะมีการดำเนินการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ออกไปไม่เกิน 4 สาย และให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนน ให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอาชีพอื่นที่อยู่ในสายเดียวกับตนได้กลุ่มละ 1 เสียง โดยในขั้นนี้จะเลือกผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเดียวกัน หรือเลือกตนเองไม่ได้ โดยการเลือกในขั้นนี้ให้ถือว่า ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกในแต่กลุ่มอาชีพผ่านเข้ารับการคัดเลือกในระดับจังหวัดต่อไป นั่นเท่ากับว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอไม่เกิน 60 คน

ส่วนการคัดเลือกในระดับจังหวัดนั้น จะดำเนินการในลักษณะที่คล้ายกันคือ จัดให้มีการคัดเลือกเบื้องต้นก่อน โดยให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอในแต่ละกลุ่มอาชีพ ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม จากนั้นให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกถือเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้น

จากนั้นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นในระดับจังหวัด จะต้องแบ่งสายออกไปไม่เกิน 4 สาย และเลือกผู้ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอื่นแต่อยู่สายเดียวกับตนเองได้กลุ่มละ 1 เสียง สุดท้ายให้ผู้ที่ได้คะแนน 2 อับดับแรกในแต่ละกลุ่ม ผ่านการคัดเลือก และเข้าสู่การคัดเลือกในระดับประเทศต่อไป นั่นเท่ากับว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด กลุ่มอาชีพละ 2 คน รวมทั้งหมด 40 คน

เมื่อเข้าสู่การคัดเลือกในระดับประเทศจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดจาก 77 จังหวัด กลุ่มอาชีพละไม่เกิน 154 คน รวม 20 กลุ่มอาชีพ จะมีจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือกไม่เกิน 3,080 คน โดยการคัดเลือกในขั้นตอนนี้จะให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหัวด ลงคะแนนในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มเดียวกันกับตนเองได้ 10 คน โดยขั้นตอนนี้จะคัดให้เหลือ 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ

จากนั้นให้มีการแบ่งสายออกไปไม่เกิน 4 สาย โดยให้มีการลงคะแนนเลือกผู้ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอาชีพอื่นที่อยู่สายเดียวกับตนเองได้ 5 คน โดยสุดท้ายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับคะแนนในอันดับ 1-10 ของแต่ละกลุ่มอาชีพเป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา รวมแล้วจำนวน 200 คน

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทำความเข้าใจการเมือง-กฎหมายจีน โอกาสเศรษฐกิจไทย ย้อนดู AI ในรัฐเผด็จการ

Posted: 05 Sep 2018 08:50 AM PDT

เวทีเสวนาคุยการเมือง เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีของจีน คุยการเมือง-กฎหมายให้ไกลกว่าสีจิ้นผิง=จักรพรรดิ โอกาสไทยในตลาดจีนคือตอบโจทย์เศรษฐกิจ แก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ AI ที่ก้าวหน้าสะท้อนความหวาดกลัว-อำนาจการเมืองนำเศรษฐกิจ One Belt One Road จีนสะท้อนความฝันเรื่องจักรวรรดิ-พร้อมเฉิดฉายในเวทีโลก เข้าใจจีนผ่านความเชื่อมโยง ความซับซ้อน และความเจียมตัว

ซ้ายไปขวา: อาร์ม ตั้งนิรันดร อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ มาณพ เสงี่ยมบุตร วรศักดิ์ มหัทธโนบล ปกป้อง จันวิทย์

5 ส.ค. 2561 มีงานเสวนาวิชาการ "China 5.0: เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และกฎหมายในจีนยุคใหม่" จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และสำนักพิมพ์ Bookscape จัดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

เวทีเสวนามีวิทยากรรับเชิญได้แก่ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายพัฒนาธุรกิจจีน ธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไอที Blognone อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เขียนหนังสือ China 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ Bookscape

คุยการเมือง-กฎหมายจีนให้ไกลกว่าวาทกรรม 'สีจิ้นผิง=จักรพรรดิ'

วรศักดิ์กล่าวว่า สมัยเติ้งเสี่ยวผิงได้วางรากฐานทางการเมืองไว้ค่อนข้างดี โดยสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้จีนแทบพังในสมัยเหมาเจ๋อตุงผู้ครองอำนาจแบบไม่มีวาระดำรงตำแหน่ง เติ้งชี้ว่าการไม่จำกัดวาระตำแหน่งเกิดปัญหาทางการเมืองมากมายซึ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้ผู้นำรุ่นต่อมาเตรียมการไม่ทัน เติ้งจึงวางรากฐานใหม่และได้รับการยอมรับทั้งประเทศ ให้ต่อจากนั้นไปไม่มีใครครองอำนาจนาน แม้เป็นระบอบเผด็จการแต่ถ้าผู้นำเปลี่ยนกันไปอย่างน้อยก็ทำให้คนจีนรู้สึกว่าไม่มีใครใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

แต่เมื่อมาถึงสมัยสีแล้วทำไมถึงเปลี่ยนให้ครองอำนาจได้แบบไม่มีวาระ ตอนที่ทราบข่าวเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้ไม่กำหนดวาระของประธานาธิบดีก็คิดถึงสาเหตุ ไม่ได้คิดว่าจีนตีบตันที่จะหาผู้นำต่อจากสี แต่ดูจากความเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วก็คิดว่าไม่ใช่ หรือว่าเป็นกิเลสทางการเมืองของสีเอง คือหวงอำนาจ ก็เร็วเกินไปที่จะพูดแบบนั้นเพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นสีใช้อำนาจในทางลบ ไม่ได้ไปก่อปัญหาที่เหลวไหล

เมื่อศึกษาดูแล้วหลายสิบปีที่ผ่านหมาหลังยุคเติ้งปฏิรูปการเมือง ลักษณะของการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยังกล่าวได้ว่าเป็นการเมืองแบบการนำแบบรวมหมู่โดยคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ การที่สีจะได้ผูกขาดอำนาจแบบนี้ต้องผ่านมติกรรมการกลางด้วย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่คน 200 กว่าคนจะอยู่ใต้เท้าของสีที่อยากจะเถลิงอำนาจแต่ผู้เดียว เลยเหลือทางเลือกที่สี่ที่คิดว่ามีมูล คือมีแรงเสียดทานระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับทหารที่เขาว่ากันว่าทหารไม่ฟัง พคจ. ยุคหูจิ่นเทา ซึ่งตามหลัก พคจ. คือพรรคต้องใหญ่กว่ากองทัพ ถ้ากองทัพเริ่มไม่ฟังมันจะเกิดแรงเสียดทานและทำให้ พคจ. ด้อยความศักดิ์สิทธิ์ลง ที่ผ่านมาสมัยเหมาและเติ้งเป็นผู้นำที่มีอำนาจบารมี ผ่านสงครามปฏิวัติอย่างนองเลือด ขุนศึกยุคนั้นก็เห็นว่าทั้งสองแม้มีบุคลิกภาพพลเรือน แต่มีวิสัยทัศน์ทางการทหารสูงมาก จึงมีฐานะไม่ต่างจากจักรพรรดิที่ปรีชาสามารถในอดีตของจีน แต่ผู้นำตั้งแต่สมัยเจียงและหูนั้นไม่ใช่แบบนั้น แต่ถ้าหากสีจัดการกองทัพด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เรื่องแรงเสียดทานเช่นว่า เหตุผลในการต่ออายุแบบไม่มีวาระก็เหลือเหตุผลสุดท้าย คือทั้งกองทัพ พรรคและรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกภาพว่านับจากนี้ไปตามโรดแมปที่ว่าจะต้องกินดีอยู่ดี เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศสังคมนิยมทันสมัยมหาอำนาจนั้น จีนจะต้องมีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์เสียก่อน ทุกวันนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะมีทั้งกรณีไต้หวัน ปัญหาทะเลจีนใต้ ตนคิดว่าการมีอำนาจแบบไม่มีวาระมีนัยสำคัญกับการจัดการเรื่องอำนาจอธิปไตย ถ้าเปลี่ยนผู้นำเป็นรุ่นๆ แบบมีวาระทำให้การบังคับบัญชาไม่ต่อเนื่อง เช่น ถ้าเกิดสงครามกับไต้หวันแล้วจีนอยู่ในช่วงเปลี่ยนผู้นำก็จะมีความสะดุด ทั้งนี้ การแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะเรือรบบรรทุกเครื่องบินที่จีนพยายามนำเสนอคิดว่าก็เป็นสัญญาณเรื่องการสถาปนาเอกราชดังว่า แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

วรศักดิ์กล่าวว่า เรื่องที่คนอาจไม่รู้ก็คือ จีนมีการเลือกตั้งทางตรงแบบประชาธิปไตยในระดับล่างๆ ผู้ได้รับเลือกตั้งสมัยก่อนก็มักเป็นคนของพรรค แต่เดี๋ยวนี้มีแนวโน้มทีดีขึ้น คนที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคก็มีสิทธิได้รับเลือกจากความมีจิตอาสา เป็นคนเสียสละ หรือเป็นที่ยอมรับของชุมชน สมัยนี้มีคนแบบนี้ในสภาประชาชนมากขึ้น

อาร์มได้เสริมมุมมองทางกฎหมายอีกว่า คำถามที่นักกฎหมายถามคือทำไมสีถึงเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญกำจัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ทั้งที่ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในจีนคือเลขาธิการ พคจ. ซึ่งไม่ได้จำกัดวาระอยู่แล้ว แต่คิดว่าเป็นเพราะสีให้ความสำคัญกับกฎหมาย ทั้งนี้ นัยของกฎหมายในบริบทจีนก็เป็นคนละแบบกับตะวันตก ตะวันตกมี Rule of Law หรือหลักนิติรัฐที่เป็นการปกครองตามกรอบของกฎหมาย แต่ในบริบทจีนมีนักวิชาการบอกว่าเป็น Rule by Law คือกฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้นโยบายหรือยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไป

การที่สีแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีนัยสำคัญมากไปกว่าการเป็นผู้นำได้ตลอดกาล แต่หมายถึงใครก็ตามที่ขึ้นมาหลังสีก็สามารถใช้รัฐธรรมนูญนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ มีอีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการใส่คำว่าพรรคคอมมิวนิสต์ลงไปในมาตราทางการ ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่แต่ในอารัมภบท สีต้องการให้ชัดเจนไปเลยว่า พคจ. จะกลับมานำทุกอย่าง การปฏิรูปของสีจึงสวนทางกับที่คนคาดการไว้ที่คิดว่า พคจ. จะอยู่ฉากหลังแล้วให้รัฐบาลนำ แต่สีนำกลไก พคจ. กลับมาด้วยเชื่อว่าจะเป็นตัวเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ  การปราบคอร์รัปชันเมื่อห้าปีก่อนก็ใช้กลไกวินัยพรรคปราบซึ่งทำได้เร็วมาก ไม่ต้องผ่านขั้นตอนกฎหมายทางการ สีเอาอันนี้เข้ามาเป็นอีกองค์กรหนึ่งของรัฐธรรมนูญ คือองค์กรปราบปรามคอร์รัปชัน มีสถานะเท่า ครม. ศาล อัยการ และมีความพยายามทำให้เป็นระบบทางการ

ในด้านกฎหมายกับเศรษฐกิจ จีนได้ปฏิรูปและให้ความสำคัญตลอดไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและศาลให้ทำงานได้เร็วขึ้น ผู้พิพากษามีคุณภาพมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในศาล ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ แต่เรื่องที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ เช่นเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสัญญาก็ก้าวหน้าไปตลอด นอกจากนั้น จีนยังมีบทบาทในองค์กรการค้าและการเงินระหว่างประเทศอย่างองค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถมยังมีการตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และมีแผนในการสร้างศาลเฉพาะในกรณีความขัดแย้งจากโครงการ Belt and Road ด้วย ซึ่งมีนัยสำคัญกับการสร้างระเบียบข้อกฎหมายระหว่างประเทศออกมาจากระบบที่สหรัฐฯ สร้างไว้ผ่าน WTO และ IMF

โอกาสไทยในตลาดจีนคือตอบโจทย์เศรษฐกิจ-แก้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้

มาณพกล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่มีผู้นำทางธุรกิจคนไหนในโลกไม่สนใจสิ่งที่เกิดในจีน เพราะต่อไปจีนก็คงจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก มักมีคำพูดว่าตลาดหุ้นจีนเป็นตลาดที่นโยบายนำ ต่างจากตลาดหุ้นที่อื่นๆ พบว่าระบบเศรษฐกิจจีนที่นโยบายนำ ระบบพรรคอยู่เหนือกว่าระบบบริหาร แต่ละมณฑลก็จะมีผู้ว่าการจากฝ่ายบริหาร และมีเลขาธิการพรรคที่เป็นตัวแทนจากพรรค ถ้าเทียบกับบริษัทคงเทียบได้กับซีอีโอกับประธานบริษัทตามลำดับ สายบังคับบัญชาเช่นนั้นไล่มาตั้งแต่มณฑล เมือง หมู่บ้าน ระบบแบบนี้ทำให้นโยบายพรรคคอมมิวนิสต์แทรกซึมไปทุกหัวระแหงของจีนอย่างไม่น่าเชื่อ เอกชนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจก็ต้องคิดแบบอิงกับแผนปฏิรูปและแผนห้าปีของพรรคอย่างไม่น่าเชื่อ ของไทยเองมีแผนที่ทำโดยสภาพัฒน์ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นเอกชนไหนวางแผนธุรกิจตามแผน

ถ้าถอยไปก่อนที่สีจิ้นผิงจะขึ้นมานั้น การพัฒนาจีนเน้นการลงทุน สร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแผ่วลง อัตราเติบโตน้อยกว่าสมัยก่อน สิ่งที่มาแทนคือการบริโภคและภาคการบริการซึ่งไทยอาจมีส่วนเข้าไปสอดรับได้มากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในภาพกว้างนั้นถือว่าไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่การลงทุนโดยตรงจากจีนมายังไทยยังถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สวนทางกับการค้าของไทยที่ไปจีนที่คิดเป็นสัดส่วนแล้วเทียบเป็นร้อยละ 20 ของทั้งอาเซียนจึงคิดว่ามีโอกาสทางการค้ากับจีนอยู่อีกมาก

20 ปีที่ผ่านมาจีนมีการเติบโตที่เร็วมาก อัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตไม่เคยต่ำกว่าร้อยละ 6 แม้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าการเติบโตจะค่อยๆ แผ่วลง ในปี 2573 อาจจะโตอยู่ประมาณร้อยละ 5.5-6 โอกาสที่เศรษฐกิจจะทรุดรุนแรงแบบ Hard landing คิดว่ามีน้อย

มาณพกล่าวว่า จีนมักเน้นการพัฒนา มุ่งคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดีหมด ยังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น มลภาวะ การบริการ การสาธารณสุข จำนวนโรงพยาบาลไม่เพียงพอกับความต้องการ ความปลอดภัยด้านอาหารและยา ล่าสุดมีข่าววัคซีนปลอม เรื่องแบบนี้ก็จะมีข่าวเป็นระยะๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยและธุรกิจไทยมีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดจีนผ่านการจับหรือแก้ปัญหาเหล่านี้ โอกาสทางธุรกิจของไทยอีกอย่างคือการสอดรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนแบบใหม่ที่เน้นเรื่องการบริโภคมากขึ้น ตอนนี้จีดีพีต่อหัวของจีนแซงไทยไปแล้ว คือ 9,000 เหรียญต่อคน ทำให้คนจีนมีกำลังการใช้สอยมากขึ้น ต้องการสินค้ามีคุณภาพมากขึ้น และนิยมสินค้านำเข้า ถ้าไทยไปอยู่ในกระแสตรงนี้ได้ก็เป็นโอกาสมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยทางอาหาร ลดมลภาวะ การเสริมความงาม เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสกับธุรกิจไทยทั้งสิ้น บวกกับขณะนี้จีนมีแรงจูงใจในการมาลงทุนในไทยเพราะต้องการหนีการกีดกันทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และอียู รวมถึงเห็นศักยภาพทางตลาดของไทยและอาเซียน โดยอาจใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นในการกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วอาเซียน ตั้งแต่ช่วงปี 2557-2560 การลงทุนของจีนกระจายไปในหลายภาคส่วนมากขึ้นจากเดิมที่เน้นลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก

AI ที่ก้าวหน้าสะท้อนความหวาดกลัว-อำนาจการเมืองนำเศรษฐกิจ

อิสริยะกล่าวในประเด็นความเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในจีนและความสัมพันธ์กับรัฐบาล โดยระบุว่า ตอนนี้ตลาดออนไลน์ของจีนขยายตัวมาถึงไทย และผู้เล่นตัวใหญ่ๆ ทั้งอะลีบาบา เทนเซนต์ ต่างก็มาหมด และแข่งขันกันผ่านตัวแทนการค้าในประเทศไทยในแบบสงครามตัวแทน

เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการเซนเซอร์ข้อมูลทำให้บริษัทผู้ให้บริการไอทีจากประเทศตะวันตกเข้ามาในจีนไม่ได้ บริษัทในจีนจึงมีโอกาสเติบโต และด้วยประชากรหลักพันล้าน ทำให้อะลีบาบา เทนเซนต์ โตขึ้นด้วยตลาดในประเทศล้วนๆ ตลาดออนไลน์ของจีนกำลังโตในลักษณะที่นักศึกษาจีนที่ไปศึกษาที่สหรัฐฯ เลือกกลับไปทำงานที่จีนในสายงานไอทีหรือเปิดธุรกิจสตาร์ตอัพเพราะว่าอยู่จีนแล้วรวยกว่า

เมื่อพูดถึง AI ที่จีนให้ความสำคัญ อิสสริยะกล่าวว่า กว่า AI จะมาแทนคนก็ไกลมาก ใช้เวลาอย่างน้อย 30-50 ปี ที่เราพูดกันเยอะๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าคือลักษณะของ Automation คือทำให้ทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ จุดต่างของ AI จีนคือฐานคิดเรื่องความกลัวอะไรบางอย่างทำให้ผลผลิตของ AI ออกมาเป็นการคุมเข้มกับประชาชน เป็นเทคโนโลยีสอดส่องทั้งลายมือ ใบหน้า ถ้าเดินเข้า ตม. จีนจะเห็นกล้องประมาณ 5-10 ตัวเรียงเป็นแถบ รัฐบาลเองก็สนับสนุนให้คนทำงานไอทีทำโครงการเพื่อเก็บข้อมูลประชาชน ในขณะที่เมื่อกูเกิลจับมือกับเพนทากอนทำโครงการลักษณะเช่นนั้นทำให้พนักงานพากันลาออกเพื่อประท้วง

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone และ Brand inside กล่าวว่า AI ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลจึงจะสามารถทำงานได้ บริษัทจีนที่มีข้อมูลมากขนาดนั้นก็มีเพียงสามบริษัท BAT ก็คือ Baidu (ไป่ตู้) Alibaba (อะลีบาบา) และ Tencent (เทนเซ็นต์) สามบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่เพิ่งเติบโตขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาและครอบครองทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนนี้ทั้งสามให้ความร่วมมือกับรัฐบาลตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นเซอร์หรืออะไรต่อมิอะไร แจ็ค หม่า เจ้าของอะลีบาบานั้นเป็นประหนึ่งทูตการค้าของจีนที่พูดเรื่องของรัฐในนามเอกชน แต่รัฐบาลก็ไม่อยากให้บริษัทเอกชนมีอำนาจมาก และรัฐบาลก็ยังมีอำนาจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจอยู่ สะท้อนจากเมื่อไม่นานมานี้ที่เทนเซนต์ถูกรัฐบาลจีนแบนเกมบางตัวที่มีแผนจะวางขาย ทำให้กำไรตก

One Belt One Road จีนสะท้อนความฝันเรื่องจักรวรรดิ-พร้อมเฉิดฉายในเวทีโลก

ต่อประเด็นแนวคิด One Belt One Road (OBOR) หรือ Belt Road Initiative (BRI) ที่เป็นโครงการที่จีนจะลงทุนสร้างเส้นทางเชื่อมต่อจากจีนทั้งทางบกและทางทะเลไปยังพื้นที่ต่างๆ ในโลกนั้น วรศักดิ์มองว่าเป็นท่าทีของการสร้าง 'จักรวรรดิ' จีนขึ้นมาผ่านอิทธิพลทางกิจการพลเรือน ทั้งยังกล่าวว่า OBOR เป็นโครงการที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้ชาวโลกรู้มากที่สุดของจีนเมื่อเทียบกับนโยบายที่ผ่านมา ในยุคสีมีการเสนอให้งบ ให้ทุนสนับสนุนในการจัดสัมมนาเกี่ยวกับ OBOR ตนเคยประสานงานกับคนที่เมืองจีนจะจัดเสวนาเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน พอไปถึงกลายเป็นการเสวนา OBOR กับความสัมพันธ์ไทย-จีน ตนไม่ได้เตรียมมาแต่ทางนั้นก็บอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะไม่ได้งบจากพรรค

ด้านมาณพกล่าวว่า BRI นั้นเป็นกรอบแนวคิดที่จะทำให้ธุรกิจจีน และราชการ มีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศมากขึ้น ธุรกิจจีนใดๆ ที่ทำงานต่างประเทศที่มีคำว่า Belt and Road ก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น เป็นกรอบแนวคิดเรื่องการค้า การเมือง วัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน ตอนนี้ทุกมณฑล รัฐบาลท้องถิ่นมีการจัดทำตัวชี้วัดเกี่ยวกับ BRI ด้วย มีการสนับสนุนให้คนในมณฑลออกไปทำธุรกิจมากขึ้น แนวคิด BRI เป็นแนวคิดที่ที่ร้อยเรียงนโยบายต่างๆ ที่จีนเคยมีมาบ้างแล้ว ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรืออื่นๆ ซึ่งสะท้อนความมั่นใจของจีนในการออกสู่โลกภายนอก ทั้งนี้ ในไทยและหลายๆ ที่ก็มีแรงต้านในการปกป้องตลาดของตัวเอง จีนเองพยายามออกมาตอบโต้ว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องชนะกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การเอาเปรียบ สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือกรอบของ BRI ว่าคืออะไรเพื่อหาโอกาสเอาตัวเองไปสอดคล้องกับสิ่งที่จีนสนับสนุน

เข้าใจจีนผ่านความเชื่อมโยง ความซับซ้อน และความเจียมตัว

อาร์มกล่าวว่า มีความสนใจเรื่องจีนเมื่อช่วงปี 2547-2553 สมัยที่จีนยังไม่ใช่ยุคดิจิตัล กลับไปจีนทีไรก็ตกใจทุกครั้งเพราะว่าจีนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ที่ตั้งชื่อหนังสือว่า China 5.0 มีสามความหมายหลักดังนี้

  • เชิงการเมือง เป็นการเมืองภายใต้ผู้นำรุ่นที่ห้า นับจากเหมาเจ๋อตุง-เติ้งเสี่ยวผิง-เจียงเจ๋อหมิน-หูจิ่นเทา-สีจิ้นผิง
  • เชิงเศรษฐกิจ สีจิ้งผิงเรียกว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งต่างไปจากสมัยปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิง
  • นัยว่าจีนกำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5.0 ในจีนตอนนี้เรื่องฮิตที่สุดคือ AI ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าจีนไปอย่างมาก

อาร์มกล่าวต่อไปว่า สมัยเรียนอยู่ที่ที่สหรัฐฯ อาจารย์ที่สนใจเรื่องจีนบอกว่าการมองและเข้าใจจีนต้องมองผ่านแว่นที่เรียกว่า CCH ย่อมาจาก;

Connection: เข้าใจความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ถ้าไม่เข้าใจการเปลี่ยนผ่านทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ก็ไม่สามารถเรียนกฎหมายจีนได้ จะต้องเข้าใจบริบทของจีนหลายๆ ด้าน

Complexity: ความซับซ้อนของจีน เช่น จะบอกว่าเศรษฐกิจจีนนำโดยรัฐก็ถูก นำโดยเอกชนก็ถูก การเมืองเผด็จการก็ถูก แต่ก็มีหลายมิติที่ซับซ้อนมากและไม่สามารถฟันธงไปด้านใดด้านหนึ่งได้ง่ายๆ

Humility: ความถ่อมตัว เจียมตัว ฝรั่งที่ศึกษาเมืองจีนบางทีมองจีนด้วยสายตาหยิ่งผยอง พยายามสอนจีน แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนใคร สอนใคร เราต้องทำความเข้าใจเขาก่อน จะไม่ดีกับใครเลยถ้าเข้าหาจีนด้วยมุมมองที่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหนือกว่า

สีจิ้นผิงตัดสินใจที่จะรวบอำนาจการเมืองเข้าสู่ส่วนกลาง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจยุคใหม่ สีบอกว่าจีนเผชิญความจัดแย้งใหม่ อันเดิมคือความต้องการของประชาชนต่อการบริโภคสินค้าแต่สินค้าไม่พอ ในตอนนี้ความขัดแย้งใหม่คือความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพ และการพัฒนาของจีนที่ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนนี้จึงปรับเป็นการสร้างสินค้าคุณภาพและผลิตนวัตกรรม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ซัด ‘คลัง’ ถอยหลังเข้าคลอง 16 ปี ยัน ปชช.ร่วมจ่าย 'บัตรทอง' ผ่าน ‘ระบบภาษี’ ทางตรง-อ้อมแล้ว

Posted: 05 Sep 2018 07:09 AM PDT

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อัดแนวคิดกระทรวงการคลังรีดค่ารักษาพยาบาลจากคนรายได้เกิน 1 แสน ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เข้าข่ายถอยหลังเข้าคลองกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ยืนยันไม่ควรมีใครต้องร่วมจ่าย เพราะหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของคนทุกคน

สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

5 ก.ย.2561 สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงแนวคิดของกระทรวงการคลังที่ต้องการลดภาระงบประมาณของประเทศด้วยการให้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เฉพาะผู้มีรายได้ไม่ถึงปีละ 1 แสนบาทเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีรายได้เกิน 1 แสนบาท ให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 10-20 % โดยระบุว่า เป็นแนวคิดที่ถอยหลังเข้าคลองกลับไปมากถึง 16 ปี

ที่มาข่าว ไทยรัฐออนไลน์, 3 ก.ย.2561, ตีกันร่ำรวยมั่วนิ่มใช้สิทธิ รวบ 26 สวัสดิการแจกเงินเข้าบัตรคนจน

สุภัทรา กล่าวว่า เจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพคือการให้หลักประกันอย่างถ้วนหน้ากับคนทุกคนโดยไม่เลือกว่าใครจะเป็นผู้ยากดีมีจนอย่างไร เพราะหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมี และที่ผ่านมาทุกคนก็ร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการร่วมจ่ายก่อนป่วยไปแล้ว

สุภัทรา กล่าวว่า เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน วันนี้รวยอยู่ดีๆ แต่หากเกิดป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง พรุ่งนี้ก็อาจจะกลายเป็นคนจนทันที ดังนั้นการแยกแยะความมีความจนจึงไม่ใช่สาระสำคัญ และการมีแนวคิดเช่นนั้นถือเป็นแนวคิดที่ถอยหลังกลับไปสู่ระบบการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ซึ่งเราก้าวข้ามมาแล้วตั้งแต่ปี 2545 จนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขึ้น ฉะนั้นการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น

"ในเมื่อวันนี้ทุกคนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นหมายความว่าคนที่มีสตางค์ก็ยิ่งควรได้สิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เพราะคนที่รวยจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหากดูจากต่างประเทศ คนที่จ่ายภาษีมีสิทธิที่จะระบุหรือเลือกด้วยซ้ำว่าจะให้เอาภาษีเขาไปทำอะไร ดังนั้นวิธีคิดที่ว่าเป็นคนรวยแล้วรัฐไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบนั้น เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง" สุภัทรา กล่าว

 

สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า หากกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล ก็ต้องเก็บจากผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการด้วย เพราะข้าราชการก็ได้รับการรักษาจากภาษีทั้ง 100% เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง คำถามคือแล้วเหตุใดข้าราชการจึงไม่ต้องร่วมจ่าย 10-20%

"ขอยืนยันว่าจริงๆ แล้ว ไม่สนับสนุนให้มีการร่วมจ่าย ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม แต่พอกระทรวงการคลังมีวิธีคิดเช่นนี้ มันยิ่งทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ" สุภัทรา กล่าวและว่า ที่จริงแล้วเม็ดเงินที่เก็บได้จากการร่วมจ่าย 10-20% ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรกับระบบสุขภาพ

"เรื่องการร่วมจ่ายมีความพยายามผลักดันมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นั่นเพราะเป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวคิด 2 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดที่มองว่ารัฐจะดูแลเฉพาะผู้ยากไร้ซึ่งก็คือแนวคิดสังคมสงเคราะห์ กับแนวคิดที่มองว่าหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องของสิทธิที่คนทุกคนควรได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมมาเป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างดีขึ้น" สุภัทรา ย้ำประเด็น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

องค์กรสิทธิฯ ร้องยุติคดี 'แอดฯเพจ CSI LA - 12 มือแชร์' ปมโพสต์ข่าวข่มขืนบนเกาะเต่า

Posted: 05 Sep 2018 06:29 AM PDT

4 องค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดีแอดมินเพจ CSI LA และบุคคล 12 ราย กรณีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศต่อนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า

5 ก.ย.2561 จากกรณีศาลอนุมัติหมายจับแอดมินเพจ CSI LA และผู้แชร์ข้อมูล รวม 13 คน ฐานกระทำผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือประชาชน และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฯลฯ จากกรณีเพจ CSI LA ซึ่งมียอดผู้กดถูกใจเพจกว่า 8 แสน ได้โพสต์ข้อมูล เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษ อ้างว่าถูกข่มขืนบนเกาะเต่า นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์ให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดีดังกล่าว รวมถึงยุติการดำเนินคดีกับบุคคลอื่นๆ ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา เพราะการที่รัฐใช้การฟ้องคดีปิดประชาชนที่แสดงความคิดเห็น ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐเป็นไปในทางลบ แสดงให้เห็นความเป็นรัฐที่ความโปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้  การฟ้องคดีปิดปากประชาชนยังไม่สอดคล้องกับวิถีของสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็น และยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย

ทั้ง 3 องค์กรสิทธิฯ ยังเรียกร้องให้ เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุม/ผู้ต้องหาตามหลักประกันสิทธิที่พวกเขาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การไม่นำผู้ถูกจับกุมมาแถลงข่าวต่อสาธารณะ การมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน และสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันหรือหลักประกัน รวมทั้ง ในระยะยาวควรมีการทบทวนการบังคับใช้และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

โดยมรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้

แถลงการณ์ ให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดีแอดมินเพจและบุคคล 12 ราย กรณีเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศต่อนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า

ด้วยปรากฏรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า ได้มีการออกหมายจับแอดมินเพจ CSI LA และคนแชร์ข้อมูลจากเพจดังกล่าวอีก 12 ราย ตามหมายจับศาลจังหวัดเกาะสมุย ที่ 65-77 /2561 ลงวันที่ 3 กันยายน 2561 ในฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายประชาชน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ทำการไล่จับกุมบุคคลตามหมายจับดังกล่าวไปแล้ว 9ราย และคาดว่าจะมีการนำส่งพนักงานสอบสวน สภ. เกาะสมุยภายในวันนี้

มูลเหตุที่นำมาสู่การถูกออกหมายจับ เนื่องจากเพจ CSI LA ได้เผยแพร่ข้อความที่ในวันที่ 25 สิงหาคม 2561 เกี่ยวกับกรณีหญิงสาวอายุ 19 ปี นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ ถูกข่มขืน ที่หาดทรายรี ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2561

ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ระบุว่ากระแสข่าวดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ พร้อมทั้งระบุว่าจะมีการดำเนินคดีกับเพจคือ เพจสมุยไทม์ และเพจ CSI LA ที่นำเสนอข่าว  หลังจากนั้น วันที่ 31 สิงหาคม 2561 ก็ปรากฎรายงานข่าวว่าตำรวจยุติคดีนี้ เพราะไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และคำให้การสอบปากคำว่ามีเหตุมอมยาข่มขืนขึ้นจริง ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบปากคำผู้เสียหาย และต่อมาตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับแอดมินเพจและคนแชร์ข่าวทั้ง 12 คนตามที่ระบุข้างต้น

การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และต้องถูกตรวจสอบการทำงานได้ การแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชน ที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ โดยหวังผลเพื่อยุติการตรวจสอบ หรือยุติเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชญกรรมที่เกิดขึ้นว่ามีข้อเท็จจริงประการใด  ทั้งๆที่รู้ว่าการกระทำของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ดังกล่าวมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และในที่สุดอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ถือว่าเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Litigation Against People Participation-SLAPP)  และอาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือมาศาลโดยมือที่ไม่สะอาดได้

การดำเนินการขอออกหมายจับโดยศาลเพื่อนำประชาชนที่ให้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญานั้นมีความสำคัญและต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเคร่งครัด  การอ้างความมั่นคงปลอดภัยของประเทศโดยลอยๆตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นย่อมทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรเสียหาย  โดยองค์กรตุลาการเองก็มีหน้าที่พิจารณาคำร้องขอออกหมายอย่างรอบคอบเพื่อให้ปรากฏชัดเจน  มีข้อเท็จจริงเพียงพอเชื่อได้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศหรือไม่เพียงใด  เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น  การอนุญาตออกหมายจับโดยศาลโดยง่ายกับประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นหรือเพียงแค่การแชร์ข้อความย่อมส่งผลวงกล้าวต่อประชาชนทำให้ประชาชนและสาธารณะสูญเสียความไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระอย่างตุลาการ อีกทั้งการริเริ่มโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยใช้กฎหมายพรบ.คอมพิวเตอร์ในข้อหาหมิ่นประมาทต่อประชาชนอาจถูกมองว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและไม่เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

สำหรับกรณีนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามด้านล่างนี้ มีความเห็นว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในการช่วยเหลือราชการเพื่อแสวงหาความจริงและรายงานข้อมูลที่พบเห็นที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการนำผู้กระทำผิดในคดีอาชญกรรมมาลงโทษ ซึ่งเป็นการร่วมกันสร้างความเป็นธรรมให้สังคมและเป็นการสร้างมั่นคงปลอดภัยต่อสาธารณะที่ยั่งยืน 

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามด้านล่างนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.  ให้มีการทบทวนและยุติการดำเนินคดีกับแอดมินเพจ CSI LA และผู้แชร์ข้อมูลทั้ง 12 ราย รวมถึงยุติการดำเนินคดีกับบุคคลอื่นๆที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา เพราะการที่รัฐใช้การฟ้องคดีปิดประชาชนที่แสดงความคิดเห็น ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐเป็นไปในทางลบ แสดงให้เห็นความเป็นรัฐที่ความโปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้  การฟ้องคดีปิดปากประชาชนยังไม่สอดคล้องกับวิถีของสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็น และยังขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทยด้วย

2. เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุม/ผู้ต้องหาตามหลักประกันสิทธิที่พวกเขาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การไม่นำผู้ถูกจับกุมมาแถลงข่าวต่อสาธารณะ การมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน และสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันหรือหลักประกัน

3. ในระยะยาวควรมีการทบทวนการบังคับใช้และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แลละสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคประชาสังคมคัดค้านไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP

Posted: 05 Sep 2018 06:14 AM PDT

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดเวทีที่เชียงใหม่รับฟังความเห็นหลังไทยสนใจร่วมความตกลง CPTPP ด้านภาคประชาสังคมแสดงความห่วงใยว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติ และมีแต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์ นำไปสู่การผูกขาดทางการเกษตร

ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี | แฟ้มภาพดัดแปลงจากแหล่งภาพประกอบ: Wikipedia (Public Domain) CEphoto/Uwe Aranas และ Crisco 1492 (CC BY-SA 3.0)

เมื่อวันที่ 4 กันยายน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีให้ความสนใจต่อการเข้าร่วมความตกลง CPTPP

ทั้งนี้ในเวทีของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 170 คน  โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย รวมถึงภาคธุรกิจ และกลุ่มสิทธิผู้หญิง ทั้งจากเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดในภาคเหนือ 

สำหรับความตกลง CPTPP หรือ  Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

แต่เดิมความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2549 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม โดย 11 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลง CPTPP ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018 และอยู่ระหว่างออกกฎหมายเพื่อรับรองข้อตกลง (ratification) ขณะที่เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน สหราชอาณาจักร รวมทั้งรัฐบาลไทยสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงนี้

โดยประเด็นที่กลุ่มเกษตรกรและองค์กรภาคประชาสังคมตั้งคำถามมากที่สุดในเวทีประชาพิจารณ์ที่ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ การเข้าถึงและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช ราคาผลิตผลการเกษตร รวมไปถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบเมื่อเปิดการค้าเสรี

สกนธ์ วรัญญวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเวทีครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในภาคเหนือ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยอยู่ในระหว่างการศึกษาโอกาสและข้อท้าทายต่อการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CPTPP จึงได้จัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และระบุว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากเวทีนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อประกอบขั้นตอนการการตัดสินใจต่อไป

ดร.รัชดา เจียสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาเอกชนทางเศรษฐกิจ นำเสนอข้อมูลด้านโอกาสและข้อท้าทายที่ได้รับจากข้อตกลงทางการค้า CPTPP และอ้างถึงผลการศึกษาว่า บริษัทที่ปรึกษาได้ติดตามข้อตกลงเจรจาการค้า TPP มากกว่าสิบปี และมั่นใจว่าประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการยกมาตรฐานสูงขึ้นภายในประเทศตามข้อตกลงการค้านี้ และจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น 

ดร.รัชดายังระบุด้วยว่าเครือข่ายเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ได้ทำการวิจัยผลกระทบจากข้อตกลง CPTPP ในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ยังไม่ปรากฎชัดว่ามีงานวิจัยจากภาครัฐที่วิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศต่อประเด็นการเข้าร่วม CPTPP

ทั้งนี้ ผู้นำเสนอในเวทีดังกล่าวประกอบด้วยภาครัฐและภาคเอกชน โดยไม่มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างไปจากภาครัฐ

"เป็นที่น่าสังเกตว่า 'การประเมินผลกระทบข้อตกลง CPTPP' นั้นมีแต่บรรษัทขนาดใหญ่หรือภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำการวิจัย ซึ่งชัดเจนว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP แน่นอนว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้  ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดกลไกตลาดทางการเกษตร และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง ชาวนา เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ" มัจฉา พรอินทร์ ประธานสมาคมไทย APWLD กล่าว                                               

"เมื่อมองจากสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้หญิง แรงงาน และสิทธิการเข้าถึงภาคบริการสาธารณะ เราขอยืนยันว่า เราภาคประชาสังคม ขอยืนยันไม่รับ UPOV 1991 และ CPTPP" มัจฉา กล่าว

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยนำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะนำประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงการค้า CPTPP  หลังจากได้รับการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่าจะนำไปสู่การเติบโตภาคธุรกิจของผู้ประกอบการ  โดยต่อมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มจัดเวทีประชาพิจารณ์ในห้าจังหวัด ซึ่งได้จัดเวทีรับฟังไปแล้วล่าสุดสองแห่ง คือ จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่ และจะจัดขึ้นอีกในสามจังหวัดคือ สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น ในวันที่ 13, 16, และ 26 กันยายน ตามลำดับ

กลุ่มเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ที่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ CPTPP ต่างแสดงท่าทีเป็นห่วงและกังวลเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และสิทธิของเกษตรในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และการใช้ในชุมชน ทั้งนี้ธิดากุล แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าเกษตรกรไทยยังคงสิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ตราบที่เมล็ดพันธุ์นั้นยังไม่ได้ถูกจดสิทธิบัตรจากบริษัท 

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน แสดงความคิดเห็นต่อการจัดเวทีครั้งนี้ว่า  "รู้สึกว่าเวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ดูเหมือนเป็นเวทีเพื่อการโฆษณาว่า CPTPP ดีอย่างไรมากกว่า และคิดว่าท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงทางการค้านี้จะทำลายกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามากดขี่เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานอีกที" 

นักกิจกรรมจาก APWLD เดินรณรงค์คัดค้านความตกลง TPP ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงการประชุมสุดยอด APEC เมื่อปี 2558 โดยต่อมาสหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากความตกลง TPP นำมาสู่การเจรจาความตกลง CPTPP ดังกล่าว (ที่มา: APWLD/แฟ้มภาพ)

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก  (APWLD) ได้แถลงการณ์ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรนักกิจกรรมสิทธิสตรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกว่า 50  องค์กร จาก 10 ประเทศใน 11 ประเทศคู่ค้า CPTPP เพื่อคัดค้านข้อตกลง CPTPP เนื่องจากมองว่าข้อตกลงขนาดใหญ่นี้มุ่งเน้นการให้อำนาจและสิทธิพิเศษแก่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น  โดย CPTPP จะให้รัฐต้องปฏิบัติกับบริษัทข้ามชาติเช่นเดียวกับนักลงทุนในชาติ (national treatment) และผลักให้เกษตรกรรายย่อยต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มงวดในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยห้ามการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ระหว่างกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน ส่งผลกระทบต่อชาวนาผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ 

สุลักษณ์ หลำอุบล จาก APWLD กล่าวว่า CPTPP โดยแท้จริงแล้ว เป็นเพียงการเพิ่มอำนาจของบริษัทข้ามชาติในการวางกรอบระเบียบทางการค้ารวมถึงการกำหนดกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ

"ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงยา ท่าทีจากผู้แทนรัฐบาลยังกล่าวแต่ว่า ประชาชนยังคงเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ตราบเท่าที่ทรัพยากรนั้นยังไม่ได้รับการจดสิทธิบัตร  ซึ่งนับว่าเป็นคำตอบที่เป็นการตบหน้าประชาชน เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า CPTPP เป็นการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์บนชีวิตประชาชนเท่านั้น" สุลักษณ์ กล่าว 

APWLD จะยังคงติดตามเวทีประชาพิจารณ์นี้ต่อไปพร้อมกับสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม และเพื่อคัดค้านการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า CPTPP ของรัฐบาลไทย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลมาเลเซียตัดสินประหารชีวิตชายผู้แจกจ่ายกัญชาทางการแพทย์ฟรี

Posted: 05 Sep 2018 05:23 AM PDT

ผู้ผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์เตรียมยื่นอุธรณ์ หลังถูกศาลสูงมาเลเซียตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอหลัง อัยการชี้แม้คนไข้ยืนยันว่ารักษาหาย หรือมีผลวิจัยรองรับสรรพคุณกัญชาทางการแพทย์ แต่หากหน่วยงานรัฐมาเลเซียยังไม่รับรองก็ถือว่าผิดกฎหมาย

สำนักข่าว Talking Drugs และ Highland รายงานตรงกันว่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลสูงของมาเลเซียตัดสินประหารชีวิตนายมูฮัมหมัด ลุคแมน โดยการแขวนคอ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานครอบครอง ผลิต และแจกจ่ายน้ำมันกัญชาจำนวน 3 ลิตร และกัญชาอัดก้อนปริมาน 279 กรัม ซึ่งเป็นของกลางที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากบ้านพักของเขาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2015 โดยภรรยาของเขาที่กำลังตั้งครรภ์หกเดือนก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลุคแมนวัย 29 ปี ใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาลูกของเขา และแจกจ่ายไปให้กับคนไข้คนอื่นๆ โดยไม่คิดค่าตอบแทน อย่างไรก็ตาม การกระทำของเขาถือว่าผิดกฎหมาย ยาเสพติดอันตราย ปี 1952 ของมาเลเซีย ที่ระบุว่า "ผู้ใดที่แจกจ่ายยาเสพติดผิดกฎหมาย ถือว่ามีความผิด และมีโทษถึงประหารชีวิต"

ในกระบวนการพิจารณาคดี ฟาฮัน มารุฟ ทนายของลุคแมนได้เบิกตัวคนไข้ที่ใช้น้ำมันกัญชาของลุคแมนจนหายขาดจากโรคมาให้การต่อศาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแม่ของลุคแมน เพื่อยืนยันถึงสรรพคุณของน้ำมันกัญชา และพิสูจน์ว่าการกระทำของเขาไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ยังได้เชิญศาสตร์จารย์โมฮัมหมัด อารีส ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยปูตรามาเลเซียมาอธิบายถึงข้อดีของสารสกัดในกัญชาต่อศาลด้วย  

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายอัยการอ้างว่า ต่อให้ลุคแมนจะมีเจตนาดี หรือกัญชาจะมีสรรพคุณทางยาหรือไม่ก็ตาม การกระทำของเขาถือเป็นการผลิตและแจกจ่ายยาเสพติดผิดกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการรับรองสรรพคุณทางการแพทย์โดยกระทรวงสาธารณะสุข หรือหน่วยงานทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ของมาเลเซีย คำแก้ต่างของฝ่ายลุคแมนจึงตกไป

ทนายของเขาพยายามยื่นเรื่องขอผ่อนผันโทษโดยอ้างว่าลุคแมนต้องดูแลครอบครัวและลูกที่ยังเด็ก แต่ศาลปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ลุคแมนระบุว่าเขาจะยืนอุธรณ์คดีดังกล่าวต่อไป

"มันไม่ใช่ความผิดของผู้พิพากษา เขาก็แค่ทำตามหน้าที่ของเขาตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย" ลุคแมนกล่าว "มันชัดเจนว่าเขายังไม่รู้ถึงสรรพคุณที่แท้จริงของกัญชาทางการแพทย์ ผมเชื่อว่าคำตัดสินนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่ถ้ามันสิ้นสุด กฎหมายมาเลเซียก็คงจะโหดร้ายมาก"

มาเลเซียถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่การจากจ่ายกัญชามีโทษถึงประหารชีวิตเช่นเดียวกับประเทศจีน ซาอุดิอาราเบีย สิงคโปร์ เป็นต้น นอกจากกรณีของลุคแมนแล้ว ยังมีอดีตนายทหารชื่อ อามีรุดดิน นาดาราจัน อับดุลลาห์ กำลังถูกไต่สวนในข้อหาแจกจ่ายกัญชาทางการแพทย์ให้กับคนไข้มากถึง 800 คน หากถูกตัดสินว่ามีความผิด อัลดุลลาห์ก็อาจจะต้องโดนโทษประหารชีวิตด้วยเช่นกัน 

มูฮัมหมัด ลุคแมน (ภาพจาก SEA GANJA MOVEMENT)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นัดพิพากษาศาลฎีกาพรุ่งนี้ คดีฆ่าตัดตอนเยาวชน ช่วงสงครามยาเสพติด เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

Posted: 05 Sep 2018 05:13 AM PDT

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 6 ก.ย.นี้ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ กรณีการเสียชีวิตของ 'เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง' นักเรียนวัย 17 ปี (ขณะนั้น) ในคดีสงครามยาเสพติดอันเนื่องมาจากการควบคุมตัวของตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ หลังใช้เวลากว่า 14 ปี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลจนกระทั่งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) แจ้งว่า วันที่ 6 ก.ย. 2561 เวลา 09.30 น. ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555 ระหว่าง พนักงานอัยการ  สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โจทก์  กับ ด.ต.อังคาร คำมูลนา ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน จำเลย

คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย  และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ สืบเนื่องจากกรณี เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี เด็กนักเรียน จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตด้วยการถูกฆ่าแขวนคอที่กระท่อมกลางทุ่งนาใน จ.ร้อยเอ็ด หลังจากได้รับการปล่อยตัวจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามกับยาเสพติด โดยญาติของนายเกียรติศักดิ์ ในฐานะผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย

คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้ สนส. รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  

1. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 289 (4) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษอื่นมารวมอีกได้ ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว  

2. จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 วรรคแรก ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี

3. จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

4. ยกฟ้องจำเลยที่ 4

ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า

1. จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย จำคุก 1 ปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษอื่นมารวมอีกได้ ให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

2. จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายจำคุก 1 ปี แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี

3. จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตายจำคุก 1 ปี และฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบจำคุก 5 ปี แต่คำให้การในชั้นสอบสวนและการนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ให้จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต

4. จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ จำคุกคนละ 5 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ในระหว่างฎีกาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วยหลักประกัน 1 ล้านบาท และมีเงื่อนไขว่าห้ามออกนอกประเทศ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

สนส. รายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2544-2549 รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามยาเสพติด เกิดคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก โดย 1 ในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว คือ เกียรติศักดิ์ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2549 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอให้รัฐบาลเยียวยาความเสียหายจากการเสียชีวิตของ เกียรติศักดิ์ อันเนื่องมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์  ให้แก่ครอบครัวของ เกียรติศักดิ์ ทั้งนี้  สภาทนายความได้แต่งตั้งคณะทำงานในการให้ความช่วยเหลือกรณีกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่เสียชีวิตและถูกอุ้มหายช่วงระหว่างปี 2546-2548 เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นทนายความให้แก่โจทก์ร่วมในคดีนี้ และทนายความจาก สนส.ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย

ในปี 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติให้กรณีการเสียชีวิตของ เกียรติศักดิ์ เป็นคดีพิเศษ และเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2552 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้ยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร  คำมูลนา ที่ 1 ด.ต.สุดธินัน โนนทิง ที่ 2 ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ ที่ 3  พ.ต.ท.สำเภา อินดี ที่ 4   พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ ที่ 5 พ.ต.ท.สุมิตร  นันท์สถิต ที่ 6 เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว นับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 14 ปี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลจนกระทั่งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สกน.จี้รัฐเร่งจับแก๊งอิทธิพลก่อเหตุเผารถ-ลอบยิงกุฎิพระนักพัฒนาเมืองแพร่

Posted: 05 Sep 2018 04:51 AM PDT

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐเร่งหาตัวผู้ก่อเหตุวางเพลิงรถยนต์ และลอบยิงกุฏิพระนักพัฒนาวัดปางมะโอ จ.แพร่ และกรณีบุกใช้อาวุธสงครามยิงอดีตกำนันนักสู้เรื่องที่ดินที่ทำกินจ.น่านจนเสียชีวิต ด้านสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เปิดเผยว่านับจากปี 2557 มีนักต่อสู้เรื่องที่ดินถูกอุ้มหายแล้ว 2 คน ถูกยิง 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย รอดชีวิต 2 ราย

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูที่เกิดเหตุที่วัดปางมะโอ อ.วังชิ้น จ.แพร่ หลังเกิดเหตุเผาลอบยิงกุฏิพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดปางมะโอ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 (ที่มา: Facebook/ประยงค์ ดอกลำใย)

5 ก.ย. 2561 สืบเนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา เวลา 23.30 น. มีผู้ก่อเหตุบุกเข้าไปวางเพลิงเผาล้อรถยนต์ และลอบยิงกุฏิของพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดปางมะโอ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ในขณะที่จำวัดอยู่ รวม 4 นัด จากนั้นได้พากันหลบหนีออกจากวัดไป ทั้งนี้พระฐาปนพงษ์พระนักพัฒนาชื่อดังของภาคเหนือ ที่ร่วมเคลื่อนไหวอนุรักษ์ผืนป่า-การจัดการที่ดินทั้งในพื้นที่จังหวัดแพร่ และหลายจังหวัด

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. เกษตร ยศบุญเรือง อดีตกำนันตำบลศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน  นักพัฒนาแกนนำป่าชุมชน โฉนดชุมชนจังหวัดน่าน ได้ถูกผู้ก่อเหตุ ซุ่มยิงขณะกำลังตัดหญ้าอยู่ในสวนบ้านห้วยขาม หมู่ 2 ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน กระสุนถูกทั้งศีรษะ แขน ขา และลำตัว เสียชีวิต โดยที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนอาก้า 11 ปลอก และปลอกกระสุนปืนลูกซองยาว 1 ปลอก

ล่าสุดสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ออกแถลงการณ์ "หยุดอิทธิพล หยุดขมขู่คุกคาม เร่งรัดจับกุมดำเนินคดี ละเมิดสิทธิมนุษยชน" เพื่อประณามการกระทำที่อุกอาจ ใช้อิทธิพลไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งกรณีพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร อดีตกำนัน ตำบลศรีษะเกษ และกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ผู้นำและเครือข่ายที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน ขอให้เจ้าหน้าตำรวจ เร่งรัดการติดตามจับคุมผู้กระทำผิดในกรณีพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร , อดีตกำนัน ตำบลศรีษะเกษและกรณีกลุ่มเครือข่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ขอให้ยุติการคุกคาม ข่มขู่ ชาวบ้านผู้นำชุมชนในพื้นที่ สกน.จากกลุ่มอิทธิพลนายทุน กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง และขอให้รัฐบาลมีมาตรการการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่ รายงานการคุมคามนักต่อสู้ด้านที่ดินด้วยความรุนแรง นับจากปี 2557 พบว่า มีนักสู้เรื่องที่ดินถูกอุ้มหายแล้ว 2 คน ถูกยิงเสียชีวิต 2 คน และถูกยิงแต่ไม่เสียชีวิต 2 คน ซึ่งในทุกกรณีเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถหาตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้

แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ "หยุดอิทธิพล หยุดข่มขู่คุกคาม และเร่งรัดจับกุมดำเนินคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

สืบเนื่องด้วยเหตุการณ์ ลอบทำร้ายพระนักพัฒนา วัดปางมะโอ ต.แม่พุง จ.แพร่ โดยการลักลอบเข้าวัด วางเพลิงเผารถยนต์ และกระหน่ำยิงกุฎิพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดปางมะโอ ในขณะที่จำวัดอยู่ เมื่อกลางดึกวันที่ 3 กันยายน 2561 เป็นการแสดงถึงการกระทำที่อุกอาจ แสดงให้เห็นถึงความป่าเถื่อน ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเมื่อไม่นานมานี้ ก็เกิดกรณีลักษณะเดียวกัน โดยอดีตกำนันเกษตร ยศบุญเรือง ตำบลศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน ผู้นำการเคลื่อนไหว เรื่องป่าชุมชนและโฉนดชุมชน ถูกลอบลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธสงครามจนถึงแก่ชีวิต ซึ่งกรณีพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร เป็นพระนักพัฒนาที่ได้ร่วมกับชาวบ้านบ้านปางมะโอแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรในชุมชน ติดตามตรวจสอบการทุจริตอื่นๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านปางมะโอได้ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรฯและเรื่องสิทธิชุมชนกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 

ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่บ้านปางมะโอ มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ถึงระดับกระทรวงต่างๆ ลงพื้นที่และสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและทรัพยากรฯ ซึ่งมีความคืบหน้าไปด้วยดี อีกทั้งหน่วยงานความมั่นคงยังมีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาโดยตลอด เห็นได้ว่า การเหตุการณ์การลอบยิง การเผารถยนต์ ที่เกิดขึ้นที่วัดปางมะโอนั้น เป็นการกระทำที่คุกคาม ใช้อิทธิพล ไม่มีความเกรงกลัวกฎหมายใด

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)ในฐานะเครือข่ายประชาชนที่รวมตัวกันโดยชาวบ้านชุมชนต่างๆที่ดำเนินการปกป้องสิทธิชุมชนและเรียกร้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม ขอประนามการกระทำดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับ พระนักพัฒนาวัดปางมะโอ อีกทั้งกรณี อดีตกำนันตำบลศรีษะเกษ และกรณีอื่นๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้นำและเครือข่ายที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของชุมชน ดังนั้น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ขอประนามการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่อุกอาจ ใช้อิทธิพลไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งกรณีพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร, อดีตกำนัน ตำบลศรีษะเกษ และกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ผู้นำและเครือข่ายที่เคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน

2. ให้เจ้าหน้าตำรวจ เร่งรัดการติดตามจับคุมผู้กระทำผิดในกรณีพระฐาปนพงษ์ ฐานิษโร, อดีตกำนัน ตำบลศรีษะเกษและกรณีกลุ่มเครือข่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

3. ยุติการคุกคาม ข่มขู่ ชาวบ้านผู้นำชุมชนในพื้นที่ สกน.จากกลุ่มอิทธิพลนายทุน กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง

4. ให้รัฐบาลมีมาตรการการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรม

เชื่อมั่นในพลังประชาชน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
5 กันยายน 2561

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ฐปนีย์-จอห์น วิญญู-สฤณี-ผอ.Chang.org'ถกปมผู้บริโภค-ห้าง ยุติวงจรละเมิดสิทธิฯ

Posted: 05 Sep 2018 02:57 AM PDT

ทีมงานซูเปอร์มาเก็ตที่รักจัดเวทีคุยกับ 4 นักช็อป 'ฐปนีย์' แชร์ประสบการณ์การรายงานข่าวแรงงานทาสบนเรือประมง 'สฤณี' ชี้ห้างฯ มีศักยกายภาพในสืบค้นต้นต่อของอาหาร ส่วน 'จอห์น วิญญู' ระบุการแสดงออกให้เห็นถึงความรับผิดชอบในห่วงโซอุปทานคือการประชาสัมพันธ์ที่ยั่งยืน ขณะที่ ผอ.Chang.org ประเทศไทย ย้ำพลังของผู้บริโภค สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 ทีมงานซูเปอร์มาเก็ตที่รัก ร่วมกับเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก , องค์กร อ็อกแฟม ประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดงานเสวนา Confessions of Shoppers (คำสารภาพของผู้ชื้อ-แปลโดยประชาไท) ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงประสบการณ์ในการจับจ่ายใช้ส่อยในซูเปอร์มาร์เก็ต และการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อยุติวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย สฤณี อาวานันทกุล นักเขียน นักแปล และผู้ก่อตั้งบริษัทป่าสาละ , ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ , จอนห์ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรรายการเจาะข่าวตื้น และ วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ Chang.org ประเทศไทย

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย : เปิดประสบการณ์การรายงานข่าวแรงงานทาสบนเรือประมง

ฐปนีย์เล่าว่า ด้วยวิถีชีวิตของนักข่าวที่ต้องเดินทางตลอดเวลา เวลาที่จะซื้ออาหารสดส่วนมากจะซื้อจากตลาดสด หรือซื้อกับชุมชนโดยตรง เนื่องจากไม่มีเวลามากพอที่จะเดินไปหาซื้อในซูเปอร์มาเก็ต แต่หากจำเป็นจะต้องเข้าไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ตส่วนมากจะเป็นการซื้ออาหารสำเร็จรูป แต่จะซื้อในกรณีที่จำเป็น เช่น ต้องไปทำข่าวในต่างจังหวัดแล้วอยู๋ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติคือไม่สามารถเลือกหาอาหารทานเองได้

ฐปนีย์เล่าต่อไปว่า เวลาทำข่าวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของเหล่าเกษตรกรโดยตรง ซึ่งทำให้รู้ว่าผู้ผลิตมีความคาดหวังที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความสุข แต่โดยสภาพความเป็นอยู่แล้วยังคงมีความลำบากอยู่ เมื่อเลือกได้ส่วนใหญ่ก็จะเลือกซื้อจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง อย่างน้อยได้เป็นการช่วยต่อเติมรายได้ และรอยยิ้มให้กับเกษตรกร

เธอเล่าต่อไปถึงกรณีการรายงานข่าวแรงงานทาสบนเรือประมง ซึ่งมีทั้งคนไทย พม่า กัมพูชา และลาว ที่ถูกกักขังและบังคับให้ใช้แรงงานที่เกาะเบนจิน่า ประเทศอินโอนิเซีย เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นตัวอย่างของการค้ามนุษย์ที่ชัดเจน และเวลานั้นกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย

"เราเดินทางไปได้เห็น ได้เจอลูกเรือที่ถูกหลอกลงเรือประมงมีอายุน้อยสุดคือ 13 ปี ไปทำงานที่อินโดนีเชีย ไปโดยถูกหลอกเข้าไปสู่เส้นทางการค้ามนุษย์ หลายคนไปแล้วไม่มีเอกสารใด ซึ่งไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้ เราเจอแรงงานที่กลายเป็นคนผีอยู่ในอินโดฯ เพราะไม่มีบัตรอะไร ไม่มีตัวตน บางคนกลายเป็นคนบ้า บางคนถูกขังคุกซึ่งเป็นป้อมยามของบริษัทที่ทำประมง อยู่บนเกาะเบนจิน่า สภาพชีวิตของแต่ละคนย่ำแย่มาก บางคนหายไปจากบ้านตั้งแต่อายุ 13 แล้วต้องไปอยู่ที่นั่นถึง 20 ปี จนครอบครัวคิดว่าตายไปแล้ว" ฐปนีย์ กล่าว

ฐปนีย์ เล่าต่อว่า หลังจากได้นำเสนอข่าวไป พบว่าแรงงานที่ถูกหลอกไปนอกจากถูกกดขี่ในการทำงานแล้ว บางคนยังเสียชีวิตอยู่ที่นั่นโดยที่ไม่มีใครรู้ ตอนนั้นได้พบหลุ่มฝั่งศพอยู่บนเกาะมากกว่า 100 ศพ บางคนที่รัฐบาลได้ประสานงานช่วยเหลือให้กลับประเทศได้ แต่ก็พบว่ามีสภาพจิตใจไม่ปกติ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เธอตัดสินใจเลิกซื้ออาหารที่มาจากการกดขี่แรงงานเหล่านี้

ฐปนีย์ทิ้งทายว่า แรงงานที่ทำงานอยู่ที่นั่นเองก็ไม่รู้ว่าผลผลิตที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมาจากการถูกกดขี่ถูกส่งไปที่ไหนต่อบ้าง พวกเขาตกต้องอยู่ในสภาพที่แย่ยิ่งกว่าการทำงานเพื่อแลกเงินไปวันๆ แต่ตกอยู่ในสภาพของการทำงานไปวันๆ โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปเพื่อแลกกับอะไร  และหากต่อไปในอนาคตเราสามารถสร้างหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานการได้มาซึ่งสินค้า หรืออาหารที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความสบายมากขึ้นว่าการจับจ่ายใช้สอยจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สฤณี อาวานันทกุล : ห้างฯ มีศักยกายภาพในสืบค้นต้นต่อของอาหาร

สฤณีเล่าว่า โดยปกติแล้วจะไม่ได้เข้าไปซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาเก็ตเอง แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านก็เริ่มสนใจการอ่านฉลากอาหาร เนื่องจากพ่อเป็นโรคไต และตัวเองมีปัญหาสุขภาพ จึงต้องดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เพราะต้องการกินอาหารที่ไม่กระทบต่อสุขภาพ

สฤณีเล่าต่อว่า มีช่วงหนึ่งที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลาป่น ซึ่งทำให้เห็นว่ากว่าจะได้สินค้าออกเป็นเป็นไก่หนึ่งตัว ในกระบวนการการผลิตทั้งหมดได้มีการละเมิด หรือเอาเปรียบผู้อื่นอย่างไรบ้าง ในทางกลับกับหากเราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ตเพื่อที่จะซื้อไก่ จะพบแค่ฉลากที่อธิบายคุณภาพของสินค้าเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงข้อมูลว่าอาหารมีที่มาอย่างไร

"ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เชื่อว่ามีความตื่นตัวมากขึ้น และห้าง(ซูเปอร์มาเก็ต) ก็มองเห็นความสำคัญ ซึ่งตอนนี้มีประเด็นใหญ่ๆ ที่พูดถึงกันอยู่คือ การสืบค้นต้นตอว่า อาหาร หรือผลผลิตทุกอย่าง ทำมาจากส่วนประกอบใดบ้าง และมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้มีห้างทางเลือกบางแห่งเท่านั้นที่นำเสนอว่า เขาได้ศึกษา และทำงานเพื่อที่จะรู้ที่มาที่ไปของอาหารเพื่อที่จะการันตีว่า อาหารที่ถูกนำมาวางขายนั้นมันดีต่อผู้บริโภค" สฤณี กล่าว

สฤณีกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้ธุรกิจในไทยเท่าที่สังเกตดูมีความพยายามในการบูรณาการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในการทำธุรกิจมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ควรหยุดอยู่เพียงแค่การให้ทุนการศึกษา หรือไปสร้างฝายกันน้ำแค่นั้นหรือไม่ โดยในยุคของข้อมมูลข่าวสารผู้บริโภค สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และบริษัทต่างๆ เองก็ติดตามความเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าของตนเอง ฉะนั้นในยุคสมัยนี้บริษัทเองมีความจำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องปรับตัว แล้วสิ่งที่ทุกบริษัททำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับบริษัทเองด้วยคือการให้ข้อมูลกับผู้บริโกค โดยใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

สฤณีระบุว่า วันนี้ซูเปอร์มาเก็ตมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับต้นตอของสินค้า แต่วันนี้มีเครื่องมือใหม่ๆ เช่น Blockchain ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นการยืนยันการสืบค้นต้นต่อสินค้าอาหารได้ทั้งหม่ ถามต่อไปว่าการทำแบบนี้ซูเปอร์มาเก็ตจะสนใจหรือไม่ ในเมืองไทยเมื่อมีการรณรงค์เรื่องการค้าที่เป็นธรรม หรือส่วนแบ่งที่เป็นธรรม อาจจะยังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสนใจน้อย แต่ความน่าสนใจของการทำข้อมูลเพื่อสืบสาวไปยังต้นต่อห่วงโซ่อุปทาน ไม่ได้ช่วยเพียงการหาผลกระทบในทางลบต่อแรงงาน แต่ช่วยเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องอาหารปลอมแปลง เรื่องปัญหาการสิ้นเปลืองทางอาหาร และเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร

"ห้างมีเหตุผลทางธุรกิจเยอะมาก มีเรื่องปัญหาการปลอมแปลงอาหาร มีปัญหาการสิ้นเปลืองทางอาหาร และเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร เพียงแค่สามเรื่องนี้ก็เป็นประโยชน์ทางธุรกิจแล้วที่จะทำเรื่องข้อมูล และเมื่อมีการทำข้อมูลสืบค้นต้นต่อของอาหารแล้ว ในกระบวนการทำก็จะเกิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเกษตรกร เกี่ยวข้องกับส่วนแบ่งของเกษตรกรออกมาด้วย ฉะนั้นก็ยิ่งเป็นเหตุผลเพิ่มเข้าไปอีกว่า หากเราทำเรื่องนี้เราก็จะสร้างความแตกต่างจากซูเปอร์มาเก็ตอื่นๆ ได้ด้วยว่าเราเป็นห้างที่พยายามส่งเสริมความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน" สฤณี กล่าว

จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ : การแสดงออกให้เห็นถึงความรับผิดชอบในห่วงโซอุปทาน คือการประชาสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

วิญญูเล่าว่า ปกติจะเข้าซูเปอร์มาเก็ตเพื่อซื้อของใช้สำหรับเด็ก เช่น ผ้าอ้อมเด็ก แต่ในส่วนของการซื้ออาหารสดจะมีแม่บ้านเป็นคนคอยจัดการดูแล โดยส่วนมากจะเป็นการซื้อสินค้าจากตลาดสดใกล้บ้าน แต่ถ้าต้องไปซื้อเองก็มักจะไปซื้อที่ซูเปอร์มาเก็ตเพราะสะดวกที่สุด

วิญญูเล่าต่อไปว่า เมื่อปีก่อนได้มีโอกาสทำรายการทีวี และได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องยาฆ่าแมลง และสารตกค้างในผัก ซึ่งเคยมีข้อมูลการตรวจสอบพบว่าผักออร์แกนิคที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำ มีสารปนเปื้อนตกค้าง ทั้งที่ติดป้ายว่าเป็นสินค้าออร์แกนิค ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า ที่สุดแล้วอาหารที่วางขายตามซูปเปอร์มาเก็ตมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

"แน่นอนว่าคนที่ไปช็อปปิ้งที่ซูเปอร์มาเก็ตส่วนมากคือ ต้องการความสะดวกสบาย และต้องการราคาที่รู้สึกว่าคุ้มค่า แต่ผมคิดว่าจะเป็นการทำให้ผู้บริโภคสบายใจขึ้น และกลายเป็นลูกค้าที่อยู่กับคุณไปอีกนาน หากคุณแสดงให้เห็นว่า มีการตรวจสอบที่มาของอาหาร หรือให้หน่วยงานของภาคประชาชนเข้ามาตรวจคุณภาพสินค้า และถ้าพบว่าสินค้าใดมีสารปนเปื้อน ก็ประกาศไปว่าหยุดรับสินค้าจากเจ้านี้แล้ว และมีการเปลี่ยนเจ้า มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจ" วิญญู กล่าว

วิญญูกล่าวต่อไปว่า หากซูเปอร์มาเก็ตสามารถที่จะตรวจสอบการปนเปื้อนความโหดร้ายที่แฝงอยู่ในสินค้าได้ ก็จะสามารถแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง และแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ในกระบวนการผลิต อาจจะเป็นแรงงานในโรงงาน หรือตัวเกษตรกรเอง ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก และการกระทำในลักษณะนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ของซูเปอร์มาเก็ตให้คนรู้จักเพิ่มมากขึ้น และมีความยั่งยืนกว่าการโฆษณาแบบที่เป็นอยู่ในปัจุจบัน

วริศรา ศรเพชร : พลังของผู้บริโภค สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

วริศรา เล่าว่าเวลาที่เข้าซูเปอร์มาเก็ตจะเป็นคนที่เครียดมากกับเรื่องต้นต่อของอาหาร เช่น จะซื้อไก่ 1 ตัว ก็ต้องคิดว่าไก่ตัวนี้มาจากไหน ใครเป็นคนเลี้ยง มีการใช้ฮอร์โมนหรือไม่ แต่เมื่อดูที่สินค้าแล้วไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการเหล่านี้ได้ แม้ปัจจุบันสินค้าต่างๆ จะมีแพคเกจจิ้งที่ดี มีข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่าสินค้ามีความสะอาด ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด

วริศรา ระบุว่า ปัจจุบันนี้ บนเว็บไซต์ Change.org ได้มีผู้บริโภคหลายคนเข้าไปตั้งเรื่องรณรงค์ในหลายรูปแบบ สำหรับในประเทศไทย เรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคือ การเรียกร้องให้ซูเปอร์มาเก็ตต่างๆ ยุติการนำปลานกแก้วมาขาย เนื่องจากมีผลกระทบต่อปะการัง ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น สาเหตุที่เรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วเพราะมีการเรียกร้องโดยตรงกับเอกชน และเอกชนเหล่านี้มีภาพลักษณ์ที่จะต้องรักษา เพราะมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจ

วริศรากล่าวต่อว่า ยุคนี้ผู้บริโภคมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเยอะ และง่ายขึ้นมาก แต่ผู้บริโภคส่วนมากยังคิดว่า ตัวเองเป็นแค่คนเล็กๆ คนเดียว แต่กลับลืมไปว่าธุรกิจสินค้าต่างๆ อยู่ได้เพราะมีผู้บริโภค ฉะนั้นเมื่อมีการรณรงค์ มีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้น องค์กรธุรกิจก็จะหันมาฟังเสียง ฟังความต้องการของผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ทีม "ซูเปอร์มาเก็ตที่รัก" เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ได้มีการจัดงานแถลงข่าวผลประเมินนโยบายทางสังคมของซูปเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ 7 แห่งในประเทศไทย

เนื่องจากมองเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แลนอกจากจะมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานประมาณร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ

โดยหนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยอย่างมากคือซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งมีจำนวนสาขารวมกันในประเทศไทยมากกว่า 3,000 สาขา และมียอดขายเพิมขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทค้าปลีกอาหารชั้นนำมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหลักล้านล้านบาท แต่เกษตรกรรายย่อยและแรงงานในภาคเกษตร และการผลิตอหารยังคงประสบความยากจนอย่างต่อเนื่อง มีความเปราะบางต่อภาวะทางเศรษฐกิจ มีอำนาจต่อรองที่จำกัด และในหลายกรณียังพบว่ามีการละเมิดและเอาเปรียบในการทำงาน

เช็คนโยบายสังคมห้างดังในไทย 'เทสโก้ โลตัส' คะแนนนำ แต่ 3 ห้างไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล

สำหรับข้อเรียกร้องของทีมซูเปอร์มาเก็ตที่รักคือ ต้องการให้ซูเปอร์มาเก็ตเปิดเผยนโยบายทางสังคมต่อสาธารณะ เพื่อที่เป็นการรับประกันว่าสินค้าที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตจะไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเอาเปรียบผู้ผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และแรงงาน

ทั้งนี้นอกจากเวทีสนทนาที่รายงานแล้วข้างต้น ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ "แล้วชั้นเลือกอะไรได้ไหม?" ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจสอดแทรกอยู่ โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าต่างๆ ที่วางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตในหลายประเทศทั่วโลก

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผู้ต้องขังล้นคุก อันดับ 6 ของโลก สภาพัฒน์แนะปรับกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษ

Posted: 05 Sep 2018 02:01 AM PDT

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด ทำนักโทษล้นคุกอันดับ 6 ของโลก แนะปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษมากกว่าแค่ปรับและจำคุก ขณะที่สถานการณ์จ้างงานเพิ่ม ภาคเกษตรที่ขยายตัว อัตราการว่างงานลด รายได้และผลิตภาพแรงงานยังคงขยายตัวได้ดี หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2561 ประกอบด้วยประเด็น ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายและจำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังสามารถจัดการได้ การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้นเป็น "Tier 2"สถานการณ์ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ สถานการณ์ของแอร์บีเอ็นบีในไทย 

ผู้ต้องขังล้นคุก แนะปรับกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษ

ทศพร กล่าวด้วยว่า นอกจากไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย โดยเป็นรองแค่ประเทศจีนและประเทศอินเดียและมีอัตราผู้ต้องขัง 514 คนต่อประชากรแสน สูงเป็นลำดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยในช่วง 10 ปีมานี้จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 201,829 คน ในปี 2552 เป็น 355,543 คน ในปี 2561 ขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขัง ได้ประมาณ 200,000 คน ก่อให้เกิดความแออัดในเรือนเกิดปัญหาความไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่โดยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง 1 ต่อ 27 คน (เจ้าหน้าที่ 13,000 คน) ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติที่กำหนด 1 ต่อ 5 คน ส่งผลต่อการควบคุมและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนภาระงบประมาณจำนวนมากและต้นทุนค่าเสียโอกาสจากกำลังแรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ เมื่อจำแนกตามประเภทส่วนใหญ่เป็นนักโทษเด็ดขาด 287,601 คน คิดเป็น 80.9% ของผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 65,605 คน หรือ 18.5% โดยส่วนใหญ่หรือประมาณ 70% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด

ทั้งนี้ ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายไทยใช้กระบวนทางอาญาในการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก แม้ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นเพียงการกระทำที่เป็นความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมโดยแท้ เช่น การผิดกฎจราจร การจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชี และหมิ่นประมาท ฯลฯตลอดจนการกำหนดโทษที่ยังขาดทางเลือกซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำคุกและปรับ โดยโทษปรับมักกำหนดต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมมากเนื่องจากไม่ได้ปรับตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการเลือกลงโทษเป็นจำคุก จนก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

นอกจากนี้ คดียาเสพติดซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการกระทำผิดกฎหมายมีความแข็งตัว ไม่ตรงกับพื้นฐานความเป็นจริง เช่น การกำหนดนิยาม ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ที่กำหนดผู้ครอบครองยาเสพติดมากกว่า 15 เม็ด เป็นผู้ครอบครองเพื่อจำหน่ายรวมทั้งถ้านำมาแบ่งแม้จะเพื่อเสพจะเข้าข่ายเป็นผู้ผลิตตามที่กำหนดให้แบ่งบรรจุเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้รับโทษที่ต่างกันมาก หรือกรณีนำเข้าไม่มีการแบ่งเพื่อใช้เองหรือเพื่อขาย ทำให้ผู้เสพได้รับโทษสูงเท่ากับผู้ค้า และเป็นผู้ต้องขังกว่า 30%

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เช่น การให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณา (กรณีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือทำให้คดียุ่งเหยิง) อยู่นอกเรือนจำมากขึ้น การมีกฎหมายให้ผู้ถูกตัดสินคดีอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีประวัติอาชญากรรมอีกเลยหลังรับโทษเป็นระยะ 5 ปี ได้รับการรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม ฯลฯ การบูรณาการงานทุกภาคส่วนเพื่อให้การแทรกแซงก่อนและหลังปล่อยตัวผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพ การสร้างความรู้และปรับทัศนคติประชาชน ตลอดจนการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการอบรมฟื้นฟู ดูแล และให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ

จ้างงานเพิ่ม ภาคเกษตรที่ขยายตัว อัตราการว่างงานลด รายได้และผลิตภาพแรงงานยังคงขยายตัวได้ดี

นอกจากประเด็นสถานการณ์ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำแล้ว แถลงข่าวของสภาพัฒน์ ยังมีประเด็นเศรษฐกิจด้วย โดยระบุว่า ไตรมาสสองปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เป็นการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่วนนอกภาคเกษตรมีการจ้างงานทรงตัวเท่ากับไตรมาสสองปี 2560 แต่มีสัญญาณการจ้างงานที่ดีขึ้นในหลายสาขา ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสหนึ่งปี 2561 และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวดี สาขาโรงแรมและภัตตาคาร มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ตามการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสาขาการก่อสร้าง แม้การจ้างงานยังลดลงแต่เป็นการลดลงในอัตราที่ต่ำกว่า 5 ไตรมาสที่ผ่านมา

อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.1 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปี 2560 เป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ชั่วโมงการทำงานของแรงงานโดยรวมในไตรมาสสองปี 2561 เฉลี่ยเท่ากับ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 0.1 โดยสาขาที่มีชั่วโมงการทำงานลดลงได้แก่ สาขาก่อสร้าง และค้าส่งค้าปลีก แต่สาขาหลักได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และโรงแรมและภัตตาคาร มีชั่วโมงการทำงานของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 0.2 และ 0.3 ตามลำดับ สะท้อนกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสาขาดังกล่าว ค่าจ้างแรงงานแท้จริงภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ผลิตภาพแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เทียบกับร้อยละ 3.4 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 

ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร จากภาวะฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2561 และภาวะน้ำหลากและอุทกภัยที่มักเกิดในช่วงเดือนกันยายน–ตุลาคมของทุกปี ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรและการมีงานทำของเกษตรกร ซึ่งต้องเฝ้าระวังเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 

2. ปัญหาการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อรวมกับผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในไตรมาสสามปี 2561 ประมาณ 3.2 แสนคน อาจส่งผลให้มีผู้ที่ยังไม่ได้งานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานได้จัดให้มีบริการ "ศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center)" เพื่อจัดหางานให้ผู้จบปริญญาตรี โดยให้บริการจับคู่ตำแหน่งงานระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับผู้ประกอบการ ให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพ การฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และติดตามการมีงานทำรายบุคคล นอกจากนั้น ยังมีศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) เป็นระบบที่เปิดให้ผู้สมัครงานเข้ามาค้นหาตำแหน่งงานที่สถานประกอบการประกาศ และสถานประกอบการเข้ามาค้นหาผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มีผู้มาใช้บริการ 166,160 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ 150,000 คน

หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ 

ไตรมาสสองปี 2561 หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 2.78 ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2561 เป็นร้อยละ 2.72 ในไตรมาสนี้ โดยลดลงในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ โดยมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ ได้แก่การออกมาตรการควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ การจัดอบรมความรู้ทางการเงินและบริหารจัดการให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ การกวดขันจับกุมผู้ปล่อยกู้ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ นอกจากนั้น ยังดำเนินการให้ความรู้ทางการเงิน และแนะแนวการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่บุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการสร้างวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก และการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยแก้ไขปัญหาการก่อหนี้ที่เกิดจากความไม่ระมัดระวังและไม่จำเป็น

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และต้องเฝ้าระวัง

ไตรมาสสองปี 2561 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 20.4 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี แต่ผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นกลุ่มวัย 15 ปีขึ้นไป ภาครัฐร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 และโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งโรคปอดอักเสบพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 พบได้ทุกช่วงอายุ เด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีและผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดความรุนแรงของโรคได้มากกว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ที่สามารถติดเชื้อได้โดยตรงและเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงในกลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และทารก 

ค่าใช้จ่าย-จำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงต่อเนื่อง 

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.4 และ 1.3 ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน สำหรับจำนวนผู้สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่และดื่มสุราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 19.9 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ขณะที่อัตราการดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 34.0 เป็นร้อยละ 28.4 

ทั้งนี้ ในระยะที่ผ่านมา รัฐและภาคส่วนต่างๆ ได้มีมาตรการและความร่วมมือในการลดการสูบบุหรี่ของคนไทย อาทิ มาตรการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ ได้แก่ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน มีผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1.2 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 11 ของผู้สูบบุหรี่ มีผู้เลิกบุหรี่ได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำนวน 129,698 คน โครงการสถานศึกษาปลอดบุหรี่เพื่อป้องกันผู้เสพรายใหม่ การประกาศห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่บริเวณชายหาด 24 แห่งใน 15 จังหวัด เพื่อความสะอาดและสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่เกิดผลดีต่อสุขภาพนักท่องเที่ยว และจากการประเมินผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2560 พบว่า การรณรงค์ทำให้กลุ่มผู้ดื่มร้อยละ 85.2 เกิดความตระหนักในพิษภัย และพยายามลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการปรับเปลี่ยนจากการดื่มปกติเป็นงดดื่มตลอดช่วงเข้าพรรษาร้อยละ 37.9 งดเป็นบางช่วงร้อยละ 15.1 และไม่งดแต่ลดร้อยละ 14.5 การเลิกเหล้าเป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้เฉลี่ย 1,844 บาท

แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้นเป็น "Tier 2" จากลำดับ Tier 2 Watch List 

เนื่องจากมีความก้าวหน้าการบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างมีนัยสำคัญทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย  การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด การคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้นำข้อเสนอแนะของประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานการค้ามนุษย์ฯ ประจำปี 2561 ไปดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีมาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีค้ามนุษย์ และคดีค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องให้มีความรวดเร็ว มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด การคุ้มครองผู้เสียหาย และป้องกันการตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ

Airbnb เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนรูปแบบบริโภคและผลกระทบต่อสังคม 

Airbnb เป็นแพลตฟอร์มจองที่พักระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของที่พักในท้องถิ่นโดยตรง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับผู้ให้เช่าท้องถิ่น มีผลกระทบด้านลบคือ การตัดราคา การจัดเก็บภาษีไม่ได้ ปัญหาความปลอดภัยและการรบกวนผู้พักอาศัย ในต่างประเทศมีการออกกฎระเบียบเพื่อลดผลกระทบ เช่น กำหนดให้ลงทะเบียนที่พักและการกำหนดวันและจำนวนที่พักให้เช่า ฯลฯ ประเทศไทยมีที่พักในระบบ Airbnb 43,223 แห่ง ในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากปี 2558 มีนักท่องเที่ยวใช้บริการ 774,000 คน ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังไม่ชัดเจน แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Airbnb ทำให้ต้องมีการเตรียมการรองรับเพื่อให้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ

ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโพสต์ทูเดย์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น