โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

'สามมิตร' ประกาศสงคราม 'เพื่อไทย' ท้าแข่งนโยบาย

Posted: 12 Aug 2018 03:54 AM PDT

เลขากลุ่มสามมิตรลั่นมาถึงวันนี้ขอประกาศสงครามกับพรรคเพื่อไทย ให้มาแข่งความดีกันด้วยนโยบาย สวนดุสิตโพลชี้ปัจจัยสำคัญที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. อันดับ 1 ความซื่อสัตย์ 27.95% อันดับ 2 ความรู้ความสามารถ 25.16% 

12 ส.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มสามมิตรประจำ จ.นครราชสีมา ต.โคกสูง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขากลุ่มสามมิตร กล่าวถึงกรณีอดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่าสามมิตรเคลื่อนไหวบนผลประโยชน์และใช้เงินเป็นตัวล่อดูดอดีต ส.ส.เข้าร่วมนั้นว่า ตนขอฝากถึงอดีตนายกว่าอย่าตื่นเต้นกับคำว่าสามมิตรถ้าท่านมั่นใจว่าพรรคของท่านยังถูกใจพี่น้องประชาชนจะมี อดีต ส.ส.ย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย 200-300 คน ก็อย่าซีเรียส ถ้าคิดว่าพรรคเพื่อไทยดีจะเอาใครลงก็ได้ เป็น ส.ส.อยู่แล้ว 

"กลุ่มสามมิตรไม่เคยใช้เงินไปดูดใครเราจะดูดเอาเฉพาะแนวคิดที่ดีมาช่วยกันสร้างสรรค์ทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น มาถึงวันนี้กลุ่มสามมิตรขอประกาศสงครามกับพรรคเพื่อไทยว่าให้มาแข่งความดีกันด้วยนโยบายว่าใครจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากกว่ากัน" นายภิรมย์ กล่าว

ต่อข้อถามมาถึงวันนี้กลุ่มสามมิตรมีสมาชิกกี่คนแล้ว นายภิรมย์ตอบว่าวันนี้กลุ่มสามมิตรไม่ใช่มีแค่ 200 คน แต่มีหลายล้านคนแล้วนั่นก็คือพี่น้องประชาชนที่ชอบแนวทางของกลุ่มสามมิตร อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ อีกมากมายที่ได้ฟังหรือเห็นการทำงานของกลุ่มสามมิตรซึ่งต้องการทำประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

สวนดุสิตโพลชี้ปัจจัยสำคัญที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. อันดับ 1 ความซื่อสัตย์ 27.95%

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,034 คนระหว่างวันที่ 8 - 11 ส.ค. 2561 สรุปผลได้ ดังนี้

1) "5 ปัจจัยสำคัญ" ที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
อันดับ 1 ความซื่อสัตย์ 27.95% ประเด็นที่อยากรู้เช่น เรื่องการคดโกง, การได้รับโทษ, การรับสินบน, การซื้อเสียง เป็นต้น
อันดับ 2 ความรู้ความสามารถ 25.16% ประเด็นที่อยากรู้เช่น วิสัยทัศน์, ผลงาน การทำงานที่เป็นที่ยอมรับ, การแก้ปัญหา, การกำหนดนโยบาย เป็นต้น
อันดับ 3 ประวัติส่วนตัว 16.17% ประเด็นที่อยากรู้เช่น ชีวิตครอบครัว พ่อแม่/ต้นตระกูล, ชีวิตสมรส ภรรยา บุตร, อายุ เป็นต้น
อันดับ 4 พื้นฐานการศึกษา 15.86% ประเด็นที่อยากรู้เช่น ประวัติการศึกษา/ผลการเรียน, จบที่ไหน/ระดับใด, รางวัลที่เคยได้รับ เป็นต้น
อันดับ 5 ประสบการณ์ทางการเมือง 14.86% ประเด็นที่อยากรู้เช่น ท างานการเมืองมากี่ปี, เป็น ส.ส. มาแล้วกี่สมัย, เคยโดนกลั่นแกล้งหรือไม่ เป็นต้น

2) ประชาชนอยากได้ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากอาชีพอะไรมากที่สุด
อันดับ 1 ข้าราชการ 29.06%
อันดับ 2 นักธุรกิจ 25.42%
อันดับ 3 นักกฎหมาย 22.03%
อันดับ 4 นักวิชาการ 15.98%
อันดับ 5 ทหาร 7.51%

3) ประชาชนอยากได้ผู้สมัคร ส.ส. ที่จบการศึกษาทางด้านใดมากที่สุด
อันดับ 1 เศรษฐศาสตร์ 41.22%
อันดับ 2 รัฐศาสตร์ 22.01%
อันดับ 3 บริหารธุรกิจ 14.75%
อันดับ 4 กฎหมาย 14.53%
อันดับ 5 รัฐประศาสนศาสตร์ 7.49%

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กรรมการสิทธิฯ ประณามการลอบยิงที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

Posted: 12 Aug 2018 02:30 AM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการลอบยิงเยาวชนและสตรีผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยระบุว่าจากเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนลอบยิงประชาชนบริเวณบ้านปะลุกาสาเมาะ หมู่ที่ 2 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

12 ส.ค. 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการลอบยิงเยาวชนและสตรีผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยระบุว่าจากเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนลอบยิงประชาชนบริเวณบ้านปะลุกาสาเมาะ หมู่ที่ 2 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ นางนิตยา แก่นเรือง อายุ 40 ปี และ นางสาวอัจฉริยา แก่นเรือง อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นบุตรสาว เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 11 ส.ค. 2561 นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีญและญาติมิตรของผู้สูญเสียเป็นอย่างยิ่ง และขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุความรุนแรงในครั้งนี้ที่ได้กระทำความรุนแรงต่อเยาวชนและสตรีผู้บริสุทธิ์ อันถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

กสม. จึงขอแสดงความห่วงใยและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้ผู้ก่อเหตุหรือผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุยุติการกระทำความรุนแรงต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและสตรีซึ่งมิควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงไม่ว่ากรณีใด 2. ขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพื่อนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษโดยเร็ว และพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้สูญเสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และ 3. ขอให้หน่วยงานความมั่นคงเพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่อ่อนแอ เช่น เด็ก เยาวชนและสตรี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตให้เกิดขึ้น

อนึ่ง กสม. จะติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนที่จะนำไปสู่การคืนความสงบสุขแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สอดส่องอนุบาลญี่ปุ่นผ่านเบนโตะคุณแม่ | หมายเหตุประเพทไทย #222

Posted: 12 Aug 2018 01:45 AM PDT

แนะนำงานของนักมานุษยวิทยา Anne Allison ที่ศึกษาการปลูกฝังคุณค่าของพลเมืองที่ดีแบบญี่ปุ่น การสอดส่องกันเองของสังคมรวมหมู่ ผ่านการเตรียมข้าวกล่องหรือเบนโตะของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นเพื่อลูกๆ ในชั้นอนุบาล โดยที่การปลูกฝังขัดเกลานั้นไม่ได้ทำผ่านการใช้กฎหมาย แต่กระทำผ่านโรงเรียน โดยที่กระบวนการนั้นเข้ามาอยู่ในตัวเราอย่างเต็มอกเต็มใจและไม่รู้เนื้อรู้ตัว 

ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทย "สอดส่องอนุบาลญี่ปุ่นผ่านเบนโตะคุณแม่" พบกับคำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจี้รื้อ 'บ้านป่าแหว่ง' แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะไปเชียงราย

Posted: 12 Aug 2018 12:29 AM PDT


(แฟ้มภาพ)

12 ส.ค. 2561 MGR Online รายงานว่าจากกรณีที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีการประชุมสัญจรที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.61 และวานนี้ (11 ส.ค. 2561) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมทำความตกลงขอใช้ที่ดินจากกรมวิชาการเกษตร บริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัย และดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลต่อไป 

โดยหากได้รับการจัดสรรงบประมาณและก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จนแล้วเสร็จ จะย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จากที่ริมดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังพื้นที่ใหม่นี้ ซึ่งเป็นการย้ายหมดทั้งที่ทำการและที่พักอาศัย

วานนี้ (11 ส.ค. 2561) นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องการจะย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดเชียงรายนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทางเครือข่ายเรียกร้องแต่อย่างใด โดยจุดยืนของเครือข่ายชัดเจนมาตลอดว่าต้องการเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าในส่วนที่รุกล้ำแนวเขตป่าดั้งเดิม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง เพื่อทำการฟื้นฟู ไม่ใช่เรียกร้องให้ย้ายที่ทำการศาล ทั้งนี้แม้จะมีการย้ายที่ทำการศาล อย่างไรก็ตามในส่วนของเครือข่ายและคนเชียงใหม่ ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่าจะต้องรื้อบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง เหมือนเดิม เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม 

ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเช่นกันว่าอาจจะมีการใช้เรื่องการย้ายดังกล่าวเป็นข้ออ้างให้การขอให้ผู้ที่พักอาศัยในอาคาชุด 9 หลัง จำนวน 30 ครอบครัว พักอาศัยอยู่ต่อไปจนกว่าจะก่อสร้างที่ใหม่ที่จังหวัดเชียงรายแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะตามข้อมูลที่ทราบผู้ที่พักอาศัยอยู่ทั้ง 30 ครอบครัวนั้น ทำงานอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังนั้นแม้จะย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปจังหวัดเชียงราย ผู้ที่พักอาศัยอยู่ทั้ง 30 ครอบครัว ก็ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ยาก เพียงแค่ทำตามข้อตกลงที่สัญญากันไว้ ด้วยการให้ทั้งหมดย้ายไปอยู่ในอาคารชุด 4 หลัง ที่ไม่รุกล้ำแนวเขตป่าดั้งเดิมเท่านั้น แล้วคืนพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ให้ทำการฟื้นฟู

ขณะเดียวกันนายธีระศักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ส.ค. 2561 จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพที่ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย จะยืนยันข้อสรุปยื่นคำขาดเป็นครั้งสุดท้ายเรียกร้องให้คืนพื้นที่และรื้อบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ที่รุกล้ำแนวป่าดั้งเดิม จากนั้นจะให้เวลา 10 วัน เพื่อให้รัฐบาลมีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะรื้อเมื่อใด อย่างไรและภายในเวลาเท่าใด โดยวันที่ 26 ส.ค. 2561 จะยังคงมีการนัดชุมนุมใหญ่ ที่ประตูท่าแพ เช่นเดิม เพื่อทวงสัญญาป่าแหว่ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าในการชุมนุมครั้งนี้จะมีผู้คนเข้าร่วมอย่างเนืองแน่นแน่นอน ทั้งคนเชียงใหม่และจากทั่วประเทศ เพื่อแสดงพลังปกป้องผืนป่าดอยสุเทพ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ 'สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ' จะกระทบส่งออกไทยไตรมาส 4

Posted: 12 Aug 2018 12:14 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ 'สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ' จะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางเนื่องจากสหรัฐฯ จีนและประเทศต่างๆ อาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น 


ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

12 ส.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เตือนว่าสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ อาจขยายวงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก ระบบการผลิตโลกและเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าเริ่มชะลอตัวลงทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะมากขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ อาจจะขยายวงมากกว่าการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการค้าโลกและสันติภาพ สหรัฐอเมริกาอาจบีบจีนด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดขึ้นพร้อมมาตรการกำหนดโค้วต้า จีนอาจลดค่าเงินหยวนและเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลต่อความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินโลก และอาจมีการใช้กฎเกณฑ์เพื่อสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจต่อบริษัทต่างชาติ การบูรณาการของเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกจะถูกท้าทาย สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 ปี 2561 นี้ โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง เนื่องจากสหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ อาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น ให้จับตาผลกระทบการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเกษตรหรืออาหารบางตัว ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างกลุ่มบูรณาการ 3 ภูมิภาคมากขึ้น คือ เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา อียูและเอเชียตะวันออก

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่านักอนาคตศาสตร์มองว่าการเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากเทคโนโลยีในอีกระลอกหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอีกจากผลกระทบทางเทคโนโลยี 5G, Blockchain และ AI ที่สามารถทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมได้อย่าง Realtime และ Peer-to-Peer บนโทรศัพท์เครื่องที่ เพราะมีความชัดเจนแล้วว่าภายใน ปี ค.ศ. 2020 โทรศัพท์ 5G Smartphone จะติดตั้งซอฟต์แวร์ Blockchain, AI และมีปริมาณความจุข้อมูล (Data Storage) ที่สถาบันการเงินเคยสามารถทำได้ทั้งหมดบรรจุอยู่บน Smartphone ทุกเครื่อง จนทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศและธนาคารในประเทศต่างๆ ได้ สิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมในเชิงโครงสร้าง พลังของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกบูรณาการกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบูรณาการมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกแต่เป็นเรื่องชั่วคราวและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนได้ ขณะที่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์หรือระบบเศรษฐกิจภายใต้อำนาจผูกขาดจะไม่สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต  

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วง ค.ศ. 1980-2017 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลกจากการเกินดุลการค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ประเทศจีนจึงกลายเป็นประเทศที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาซึ่งดำรงสถานะมหาอำนาจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและมีสถานะเป็น 'เอกอัครมหาอำนาจ' หลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต อนาคตโลกในระยะต่อไปจึงขึ้นอยู่กับ การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างซับซ้อนระหว่าง มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และ มหาอำนาจอย่างจีน หากทั้งสองประเทศยังสามารถรักษารูปแบบความสัมพันธ์แบบ 'การแข่งขันแบบร่วมมือ' (Cooperative Competition) โลกก็ไม่น่าจะมีความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การที่จีนแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีวาระ ทำให้ระบอบอำนาจนิยมแข็งตัวยิ่งขึ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลานานของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเดิมจะกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด พลังของผู้ประกอบการที่เติบโตจากระบบทุนนิยมแบบจีนหลังยุค 'เติ้งเสี่ยวผิง' จะท้าทายต่อการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค 'สีจิ้นผิง' ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ได้ผู้นำจากการเลือกตั้งที่มีสไตล์การบริหารแบบอำนาจนิยม มีการดำเนินนโยบายแบบไม่คงเส้นคงวาและบางครั้งสวนทางกับการเปิดเสรีในระบบการค้าโลกในช่วงหนึ่งและสองทศวรรษข้างหน้านี้ ไทยรวมทั้งอาเซียนจะเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงเข้ามามีบทบาท แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของสองมหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐอเมริกา 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่ากุศโลบายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับไทย ประเทศซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศอาเซียนได้ จึงต้องเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ หากดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไม่ดีพอ อาจนำประเทศสูญเสียโอกาสได้ หากมีการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย หากไม่ฉกฉวยและมุ่งมั่นในบรรลุเป้าหมายแล้ว โอกาสก็จะผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง การยึดมั่นนิติรัฐ การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับอนาคตของประเทศ ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างที่มีกลุ่มบูรณาการทางเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาอันมีสหรัฐอเมริกาและกลุ่มเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นผู้นำ กลุ่มอียูโดยมีเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ กลุ่มเอเชียตะวันออกโดยมีจีนเป็นผู้นำ มีลักษณะเป็น ไตรภาพ (Tri-Polars) และคงต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไปของภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา ว่าจะขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

10 ปีปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็กกว่า 300 คน สปสช.เตรียมพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เพิ่ม

Posted: 11 Aug 2018 11:44 PM PDT

หมอมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก เผยปัจจุบันมีผู้ป่วยปีละประมาณ 600 ราย ชี้ควรขยายชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองครอบคลุมการรักษา แม้ 10 ปีที่ผ่านมาพัฒนาไปมาก  

12 ส.ค. 2561 ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก สาขาโลหิตวิยาและโรคมะเร็ง ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และในฐานะคณะทำงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้ออกแบบสิทธิประโยชน์มะเร็งโลหิตวิทยาในเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเด็กเฉลี่ยแล้วพบถึงปีละ 600 คน และมีถึง 200 คน ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายเม็ดเลือด หรือการทำสเต็มเซลล์ไขกระดูก ซึ่งสาเหตุยังคงไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่สำหรับผู้ป่วยในสิทธิประโยชน์ของ สปสช.หรือบัตรทองนั้น ยังไม่สามารถครอบคลุมการรักษาได้ทั้งหมด เนื่องจากมีกฎระเบียบระบุเอาไว้ว่า จะสามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้จากผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องตามสายเลือดเท่านั้น

ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า แต่เดิมนั้นการปลูกถ่ายเม็ดเลือดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยเคมีบำบัด แต่ต้องรักษาต่อยอดด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่ง สปสช.มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคดังกล่าว โดยสามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้เฉพาะกับพี่น้องที่มีเซลล์ตรงกันเท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่เซลล์จะสอดคล้องกับทั้งผู้บริจาคและผู้รับซึ่งเป็นพี่น้องกันนั้น จะมีโอกาสแค่ 25% ซึ่งเซลล์ของพ่อและแม่ไม่มีทางตรงกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาปัจจุบันพบว่าแพทย์สามารถค้นหาเซลล์ในพ่อแม่เพื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้กับลูกที่ป่วยได้ แต่ต้องยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ตรงจุดนี้ยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปเนื่องจากยังมีข้อติดขัดด้านงบประมาณ นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะขอการปลูกถ่ายจากผู้บริจาคของสภากาชาดไทยก็ยังไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะยังติดขัดในแง่ของงบประมาณ

"แต่ถือว่ามีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ขึ้นมาอย่างมากในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพราะแต่เดิมสิทธิ สปสช.ไม่สามารถทำการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เลย ล่าสุดก็ให้รักษาได้แต่ต้องได้รับไขกระดูกจากพี่น้องร่วมสายเลือด ซึ่งขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประสานงานไปยังสภากาชาดไทยในการขอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการพิจารณาเป็นอย่างไร" ศ.นพ.สุรเดช กล่าว

ศ.นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานั้นผู้ป่วยรายแรกที่ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่สำหรับสิทธิประโยชน์ในการรักษาของ สปสช. หรือบัตรทองนั้นเพิ่งให้สิทธิมาประมาณ 10 ปี และมีเด็กที่ได้รับการปลูกถ่ายเสต็มเซลล์ไปแล้วราว 300 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในเด็ก เพราะปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยในเด็กจำนวนมากที่รอการปลูกถ่าย ซึ่งบางส่วนก็เป็นการปลูกถ่ายผ่านการบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาล ซึ่งต้องยอมรับว่าเงินบริจาคมีมากกว่างบประมาณที่ สปสช.ให้มา

"ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็กมีความจำเป็นต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งแผนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากกว่าเดิมเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องมาดูว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมประชุมกันเพื่อหาประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย" ศ.นพ.สุรเดช กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ความรุนแรงในครอบครัวและกรณีหมอนิ่ม เมื่อทุกคนกลายเป็นเหยื่อ

Posted: 11 Aug 2018 09:39 PM PDT

กรณี 'หมอนิ่ม' ภาพสะท้อนความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติทั่วไปยังคงมุ่งคุ้มครองครอบครัวมากกว่าผู้ถูกกระทำ ผลลัพธ์คือทุกคน ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และคนรอบข้างต้องตกเป็นเหยื่อ

  • มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 466 ข่าว เกือบครึ่งเป็นความรุนแรงถึงระดับการสังหาร
  • การพิจารณาคดีของไทยยังไม่นำประเด็น Battered Woman Syndrome หรือภาวะที่เหยื่อเลือกตอบโต้กลับเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพราะไม่อาจทานทนได้อีกต่อไปมาประกอบการพิจารณา
  • พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มุ่งคุ้มครองสถาบันครอบครัวมากกว่าผู้ถูกกระทำ

จากกรณีสังหาร จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 นำมาสู่คดีความที่มีหลายคนตกเป็นจำเลย ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม อายุ 40 ปี อดีตภรรยาของจักรกฤษณ์

เมื่อคดีนี้เข้าสู่ศาลอุทธรณ์ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้แก้จากศาลชั้นต้นที่ให้ประหารชีวิต เป็นพิพากษายกฟ้อง พญ.นิธิวดี โดยให้เหตุผลว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้น ยังมีความรักต่อกัน เพราะ พญ.นิธิวดี  และผู้ตายยังไปมาหาสู่ผู้ตาย มีเพศสัมพันธ์กัน และยังรักกันอยู่ ตอนติดคุกยังพาลูกไปหา ไม่มีได้ท่าทีโกรธแค้น แต่พิพากษาลงโทษสุรางค์ ดวงจินดา แม่ของ พญ.นิธิวดี ในฐานะผู้ว่าจ้างยิงจักรกฤษณ์ โดยให้ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยรับสารภารจึงลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกตลอดชีวิต ศาลให้เหตุผลว่าสุรางค์มีความโกรธแค้นที่ผู้ตายทำร้ายลูกและหลานจนทำให้แท้งลูก และเชื่อว่าผู้ตายไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยได้ จึงว่าจ้างมือปืนสังหาร

กรณีนี้มองต่างได้หลากหลายมุมมองตามแต่จุดยืนของแต่ละคน แต่ต้นสายปลายเหตุที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้คือความรุนแรงในครอบครัว จะด้วยผลของทัศนคติในสังคม การขาดกลไกติดตาม ดูแล และหยุดความรุนแรง หรือใดๆ ก็ตาม ผลของมันได้ทำร้ายคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สุดท้ายแล้วทุกคนก็กลายเป็นเหยื่อ

ปริมาณความรุนแรงในครอบครัว

ต้นปีที่ผ่านมามูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 ในหัวข้อความรุนแรงฆ่าครอบครัว เก็บสถิติความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับตลอดปี 2559 พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 466 ข่าว และเป็นการฆ่ากันถึงร้อยละ 48.5 ฆ่าตัวตายร้อยละ 17.6 และทำร้ายกันร้อยละ 17.4 เกือบครึ่งหนึ่งของข่าวการฆ่ากัน เป็นการสังหารโดยใช้อาวุธปืน และมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นร้อยละ 18.5 สถิติพบด้วยว่า กรณีส่วนใหญ่เกิดจากสามีฆ่าภรรยาด้วยความหึงหวง ขณะที่ฝ่ายหญิงฆาตกรรมสามีเพราะทนถูกทำร้ายต่อไปไม่ไหว

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ประจำปี 2559 โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการเก็บข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล 558 แห่ง จำนวน 20,018 ราย ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิงจำนวน 18,919 ราย หรือร้อยละ94.50 รองลงมาเป็นเพศชายจำนวน 1,079รายหรือร้อยละ 5.40 และมีเพศทางเลือกถูกกระทำความรุนแรงจำนวน 20 ราย หรือร้อยละ 0.10 เฉลี่ยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรง 55 รายต่อวัน

กฎหมายมุ่งคุ้มครอง 'ครอบครัว' มากกว่าเหยื่อ

ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ศาลสามารถบรรเทาโทษได้ หากจำเลยกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะ แต่ความผิดที่จำเลยกระทำจากเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง ฝ่ายผู้ถูกกระทำเลือกตอบโต้กลับเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพราะไม่อาจทานทนได้อีกต่อไปหรือที่เรียกว่า Battered Woman Syndrome กลับยังไม่เป็นเหตุให้ลดหย่อนโทษ ซ้ำยังถูกตีความว่าเป็นเจตนาและจงใจทำ ขณะที่ในต่างประเทศมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาประกอบการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม สำหรับในไทย แม้ประเด็น Battered Woman Syndrome ยังไร้ที่ทางในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ถูกผลักดันโดยองค์กรผู้หญิงที่ต้องการกฎหมายเฉพาะในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้นจะใช้กฎหมายอาญาปกติซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดและไม่มีทางเลือก

"กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มุ่งลงโทษมากกว่าการคุ้มครอง เวลาผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกายแล้วไปแจ้งความ จะพบท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในครอบครัว การเป็นสามีเสมือนเป็นใบอนุญาตให้ทุบตีได้ กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจึงออกมาเพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นว่ามีอคติ มายาคตินี้อยู่ และต้องให้การช่วยเหลือ คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว" นัยนา สุภาพึ่ง จากมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร มูลนิธิที่มุ่งสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าว

กฎหมายดังกล่าวมีแนวคิดให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เป็นมิตรกับผู้เสียหาย คำนึงถึงความละเอียดอ่อน และการจะใช้กฎหมายเต็มรูปแบบหรือจะใช้ในลักษณะการคุ้มครอง เยียวยา หรือจะใช้มาตรการอื่นๆ ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เสียหาย

"แต่ด้วยวิธีคิดที่ไม่ละเอียดอ่อน ไม่เคารพผู้เสียหาย ผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่มีทักษะการใช้ในลักษณะการคุ้มครองมากกว่าการลงโทษ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบผู้มีอำนาจเขียนกฎหมายก็ยังมีอคติเดิม ช่วงท้ายๆ ของการเขียนกฎหมาย เจตนารมณ์ที่ต้องการขับเคลื่อนออกมาจึงถูกทำให้ไม่เป็นประเด็นสำคัญ แล้วกลับไปอยู่ที่การรักษาครอบครัวเอาไว้ ให้ผู้เสียหายต้องกลับไปอยู่ในครอบครัวเหมือนเดิม"

การณ์กลับกลายเป็นว่ากฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง กลับไปมุ่งรักษาสถาบันครอบครัวไว้แทน ซึ่งเรามักจะเห็นว่าหากเป้นกรณีความขัดแย้งในครอบครัวของคนมีชื่อ จะมีคนออกมาไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน

เอกสารวิชาการของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฉบับกุมภาพันธ์ 2558 ก็ตั้งข้อสังเกตต่อกฎหมายนี้ในทำนองเดียวกันว่า

'กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นในการรักษาสถาบันครอบครัวเป็นหลัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง อย่างเช่นในเรื่องของการยอมความเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันครอบครัว แทนที่จะให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะต้องพบกับความเสี่ยงในการที่จะมีโอกาสที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงได้อีก'

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความรุนแรงก็ทำร้ายทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หากยังรวมถึงวงความสัมพันธ์รอบๆ ดังเช่นที่เกิดกับกรณีหมอนิ่ม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

งานวิจัยพบ 'คนทำงาน' ใช้ 'สารเสพติด' เพื่อให้ 'ตื่นตัว-เร่งการทำงาน'

Posted: 11 Aug 2018 05:36 PM PDT

งานวิจัยพบคนทำงานใช้สารเสพติดเพราะเหตุผล 'ส่งเสริมการทำงาน' ให้ตื่นตัวทำงานได้ต่อเนื่องยาวนาน 'ภาคบันเทิง' ใช้ต้านฤทธิ์แอลกอฮอลล์ 'ภาคขนส่ง' มีการใช้ทั้งคนงานจัดสินค้า เด็กรถ และขับรถ เพื่อเร่งการทำงานเพิ่มปริมาณงาน 'ภาคก่อสร้าง' ใช้ในพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะงานกลางคืน 'ภาคประมง' ใช้ช่วงซ่อมแซมเรือ ออกจับปลา และนำส่งตลาด 'ภาคเกษตร' ใช้ทั้งในทุกขั้นตอน ที่มาภาพประกอบ: Max Pixel (CC0)

ข้อมูลจาก รายงานการศึกษาโครงการจัดทำข้อมูลสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของกลุ่มแรงงาน โดยเครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับศูนย์วิทยาการเสพติด มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม

โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อคาดประมาณจำนวนประชากรกลุ่มแรงงานที่ใช้ยาเสพติด และสืบค้นขั้นตอนในการทำงานแต่ละประเภทที่มีการใช้ยาเสพติดเพื่อเสริมการทำงาน โดยเน้นแรงงานที่ทำงานในกิจการ 5 ประเภทได้แก่ 1) เกษตร ครอบคลุมถึง ปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย/สารเคมีการเกษตร/ต้นกล้า) ปักชำ อภิบาล เก็บเกี่ยว และนำส่งผลผลิตสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูป/นำส่งตลาด 2) ประมง ทั้งการประมงทะเลและน้ำจืด นับตั้งแต่การเตรียม (อู่ต่อเรือ/ซ่อมเรือ แหอวน อาหารปลาฯลฯ) การออกจับปลา/การเพาะเลี้ยงปลากระชัง/บ่อกุ้ง และนำส่งผู้ขาย/ห้องเย็น 3) ขนส่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร นับตั้งแต่ ที่ตั้ง (อู่จอดรถ/ซ่อมรถ ฯลฯ) โกดังสินค้า/สถานีรับผู้โดยสาร การจัดสินค้า/ออกตั๋ว การขับขี่/บริการ การนำส่งสินค้า/ผู้โดยสาร 4) ก่อสร้าง เน้นอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคาร/การคมนาคม นับตั้งแต่การเตรียมวัสดุก่อสร้าง/คนงานและการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ก่อสร้าง และ 5) สถานบันเทิง โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เลือกพื้นที่ 10 จังหวัด/เขต ดำเนินการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ 13,260 คน และเชิงคุณภาพ 214 คน ทำการคาดประมาณแบบอ้อมด้วยวิธีขยายเครือข่าย

ผลการศึกษาบ่งชี้ว่ายาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานมีอัตราสูงกว่าในประชากรทั่วไป โดยเฉพาะการใช้สารกระตุ้น (Methamphatamine) เพื่อเสริมการทำงานโดยกลุ่มบันเทิงสูงเป็น 22 เท่าของประชากรทั่วไป กลุ่มขนส่ง 7 เท่า กลุ่มก่อสร้าง 3 เท่า กลุ่มเกษตรและกลุ่มประมง 2 เท่า สำหรับการใช้ Methamphetamine ในแรงงานกลุ่มบันเทิงใช้ก็เพื่อต้านฤทธิ์แอลกอฮอล์ ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ ใช้เพื่อให้ตื่นตัวและทำงานได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้น โดยกลุ่มขนส่งมีการใช้ทั้งคนงานจัดสินค้า เด็กรถ และขับรถ เพื่อเร่งการทำงานเพิ่มปริมาณงาน กลุ่มก่อสร้างใช้ในพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะงานกลางคืน กลุ่มเกษตรใช้ทั้งในทุกขั้นตอนและในพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดโดยเฉพาะงานที่มีการจ้างเหมา (จ้างเหมาไถ/ฉีดยา/เก็บเกี่ยว/นำส่งตลาดและโรงงาน) ส่วนกลุ่มประมงใช้ช่วงซ่อมแซมเรือ ออกจับปลา และนำส่งตลาด นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้สารอื่นๆ เพื่อผ่อนคลายและวัตถุประสงค์อื่น ทั้งกัญชา กระท่อม เคตามีน ยาคลายเครียด ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก

ภาพรวมแรงงานไทยใช้สารเสพติด 'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์' มากที่สุด

ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้คาดประมาณกลุ่มแรงงานไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 10,553,795 คน โดยมีแรงงานไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 1,806,872 คน อันดับที่ 2 คือ สูบบุหรี่ จำนวน 1,781,326 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 403,680 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 241,868 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 233,607 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 187,156 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 153,468 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 128,409 คน

เมื่อแยกเป็นรายกลุ่ม พบว่าแรงงานกลุ่มเกษตรคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 5,911,567 คน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 665,186 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 576,438 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 141,445 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 67,433 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 62,170 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 52,960 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 42,433 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 24,342 คน

แรงงานประมง-ก่อสร้าง 'สูบบุหรี่' มากที่สุด

กลุ่มประมงคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 645,628 คน สูบบุหรี่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 127,140 คน อันดับที่ 2 คือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 94,678 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 15,633 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 11,070 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 7,928 คน อันดับที่ 6 คือ เสพยาบ้า จำนวน 5,610 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 4,563 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 2,468 คน

กลุ่มก่อสร้างคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 2,491,200 คน สูบบุหรี่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 694,905 คน อันดับที่ 2 คือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 616,586 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 112,031 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 58,194 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 56,638 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 46,991 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 39,833 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 37,655 คน

ภาคขนส่งใช้ 'ยาบ้า' น้อยกว่า 'แอลกอฮอล์-บุหรี่-ยาคลายเครียด-กัญชา'

กลุ่มขนส่งคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,280,800 คน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 270,765 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 263,041 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 74,880 คน อันดับ ที่ 4 คือ เสพกัญชา จำนวน 63,229 คน อันดับที่ 5 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 60,088 คน อันดับที่ 6 คือ เสพยาบ้า จำนวน 51,840 คน อันดับที่ 7 คือ ใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 46,080 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 40,320 คน

และแรงงานในกลุ่มบันเทิงคาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 224,600 คน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 159,656 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 119,802 คน อันดับที่ 3 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 59,691 คน อันดับที่ 4 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 45,084 คน อันดับที่ 5 คือเสพกัญชา จำนวน 43,641 คน อันดับที่ 6 คือเสพยาบ้า จำนวน 29,755 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 23,624 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 20,558 คน

แรงงานข้ามชาติใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด

ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คาดประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 2,531,668 คน โดยมีแรงงานข้ามชาติใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 386,591 คน อันดับที่ 2 คือสูบบุหรี่ จำนวน 288,008 คน อันดับที่ 3 คือเคยบำบัดยาเสพติด จำนวน 94,848 คน อันดับที่ 4 คือเสพกัญชา จำนวน 17,531 คน อันดับที่ 5 คือเสพยาบ้า จำนวน 16,377 คน อันดับที่ 6 คือใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ จำนวน 16,184 คน อันดับที่ 7 คือใช้ยาคลายเครียด จำนวน 14,146 คน และอันดับสุดท้ายคือใช้ยาเสพติดชนิดฉีด จำนวน 6,456 คน

การใช้ยาแก้ปวดและยากล่อมประสาท

จากการสอบถามพฤติกรรมการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติดของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าเมื่อกลุ่มตัวอย่างเกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานจะพึ่งพาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 15.62 และใช้สารกระตุ้น ร้อยละ 0.65 และสารเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 7.92 โดยกลุ่มบันเทิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ร้อยละ 20.58 รองลงมาคือกลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 16.18 กลุ่มเกษตร ร้อยละ 16.03 กลุ่มขนส่ง ร้อยละ 14.42 และกลุ่มประมง ร้อยละ 12.57 ตามลำดับ เช่นเดียวกับการใช้สารกระตุ้นที่พบว่ากลุ่มบันเทิงใช้สารกระตุ้นมากที่สุด ร้อยละ 0.93 รองลงมาคือกลุ่มเกษตร ร้อยละ 0.92 กลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 0.62 กลุ่มขนส่งร้อยละ 0.49 และกลุ่มประมง ร้อยละ 0.39 ตามลำดับ

สำหรับการใช้ยาแก้ปวดนั้น กลุ่มประมงใช้ยาแก้ปวดมากที่สุด ร้อยละ 8.54 รองลงมาคือกลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 8.45 กลุ่มเกษตร ร้อยละ 7.81 กลุ่มบันเทิง ร้อยละ 7.64 และกลุ่มขนส่ง ร้อยละ 5.97 ตามลำดับ และที่น่าสนใจคือกลุ่มบันเทิงใช้ยากล่อมประสาท/ผ่อนคลายมากที่สุด ร้อยละ 1.18 รองลงมาคือกลุ่มเกษตร ร้อยละ 1.06 กลุ่มก่อสร้าง ร้อยละ 0.69 กลุ่มขนส่ง ร้อยละ 0.65 และกลุ่มประมง ร้อยละ 0.44 ตามลำดับ

พบผู้ใช้ยาบ้า อดยาบ้าได้เฉลี่ยไม่ถึง 2 วัน

สำหรับผู้เสพยาบ้า พบกลุ่มตัวอย่างเริ่มใช้ยาบ้าครั้งแรกเมื่ออายุเฉลี่ย 19.64 ปี แต่เริ่มใช้ยาบ้าครั้งแรกเพียงอายุ 10 ปี เท่านั้น แต่อายุที่เริ่มใช้ยาบ้าครั้งแรกมากที่สุดถึง 65 ปี โดยกลุ่มประมงเริ่มใช้ยาบ้าอายุเฉลี่ยมากที่สุดคือ 21.25 ปี รองลงมาคือกลุ่มเกษตร (19.67 ปี) กลุ่มขนส่ง (19.22 ปี) กลุ่มก่อสร้าง (18.97 ปี) และกลุ่มบันเทิง (18.67 ปี) แต่กลุ่มก่อสร้างใช้ยาบ้าครั้งแรกมากที่สุดถึง 65 ปี ส่วนอายุที่เข้าบำบัดยาบ้าเป็นครั้งแรก พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เข้าบำบัดยาบ้าเป็นครั้งแรกมีอายุเฉลี่ย 22.46 ปี แต่เข้าบำบัดอายุน้อยที่สุดเพียง 12 ปี เท่านั้น แต่อายุที่เข้าบำบัดมากที่สุดคือ 44 ปี โดยกลุ่มขนส่งเข้าบำบัดอายุเฉลี่ยมากที่สุดคือ 27.29 ปี รองลงมาคือกลุ่มบันเทิง (24.25 ปี) กลุ่มเกษตร (21.44 ปี) กลุ่มก่อสร้าง (20.25) และกลุ่มประประมง 18.50 ปี นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือกลุ่มเกษตรเข้าบำบัดอายุน้อยที่เพียง 12 ปี แต่กลุ่มบันเทิงอายุน้อยที่สุดคือ 19 ปี และกลุ่มขนส่งเข้าบำบัดอายุมากที่สุดคือ 44 ปี แต่กลุ่มประมงอายุมากที่สุดเพียง 20 ปี เท่านั้น

นอกจากนี้ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุว่ากลุ่มตัวอย่างอดยาบ้าได้เฉลี่ยไม่ถึง 2 วัน และไม่สามารถอดยาบ้าได้แม้แต่วันเดียว แต่สามารถอดยาบ้าได้มากที่สุดถึง 1,765 วัน หรือ 4 ปี 8 เดือน โดยกลุ่มเกษตรสามารถอดยาบ้าได้เฉลี่ยมากที่สุดเป็นเวลา 4.58 วัน รองลงมาคือกลุ่มบันเทิงอดยาบ้าได้เฉลี่ยเพียง 1.51 วัน และกลุ่มขนส่ง กลุ่มประมง และกลุ่มก่อสร้างที่อดยาบ้าได้เฉลี่ยไม่ถึง 1 วัน (0.87 วัน, 0.62 วัน และ 0.27 วัน) นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือระยะเวลาที่อดยาบ้าได้มากที่สุด พบว่ากลุ่มเกษตรสามารถอดยาบ้าได้นานที่สุดเป็นเวลา 1,765 วัน หรือ 4 ปี 8 เดือน รองลงมาคือกลุ่มบันเทิงเป็นเวลา 1,095 วัน หรือ 3 ปี และกลุ่มก่อสร้างเป็นเวลา 850 วัน หรือ 2 ปี 3 เดือน กลุ่มประมงเป็นเวลา 730 วัน หรือ 2 ปี และกลุ่มขนส่งเพียง 395 วัน หรือ 1 ปี 1 เดือนเท่านั้น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น