โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ซ่อมทหารเกณฑ์จนตายถึงปกปิดนาฬิกาหรู เอกชัยทวงถามทำไม พล.อ.ประยุทธ์ เพิกเฉย

Posted: 27 Aug 2018 10:56 AM PDT

เอกชัย หงส์กังวาน มาที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากทวงถามความคืบ 8 เดือนนาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีซ่อมทหารเกณฑ์จนตายว่า ทั้งหมดนี้ที่ คสช. อ้างว่าจะกวาดล้างสิ่งที่ทุจริต แต่ทาง คสช. กลับสร้างสิ่งทุจริตขึ้นมาเองนั้น ตกลงจะเอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่ พร้อมถามกรณีที่เขาถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ ว่า คสช. เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

24 ส.ค. 2561 คลิปเอกชัย หงส์กังวาน เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากทวงถามความคืบ 8 เดือนนาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีซ่อมทหารเกณฑ์จนตายว่า ทั้งหมดนี้ที่ คสช. อ้างว่าจะกวาดล้างสิ่งที่ทุจริต แต่ทาง คสช. กลับสร้างสิ่งทุจริตขึ้นมาเองนั้น ตกลงจะเอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่ พร้อมถามกรณีที่เขาถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ ว่า คสช. เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

"แต่ที่น่าสงสัยคือแล้วทำไมกรณีของทหารหลายๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตจากการซ่อมทั้งหลาย ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ทั้งพลทหารวิเชียร เผือกสม พลทหาร สมชาย ศรีเอื้องดอย พลทหาร ทรงธรรม หมุดหมัด พลทหาร ยุทธกินันท์ บุญเนียม พลทหาร นพดล วรกิจพันธ์ ทุกกรณีนี้ทหารจะมาอ้างว่าตายเองมั่ง แกล้งเอง หัวใจวายตายเอง เป็นฮีทสโตรกเอย อะไรเอย"

"ทั้งๆ ที่กรณีเหล่านี้เกิดจากการซ่อม หรือภาษาทหารใช้คำว่าธำรงวินัย แต่ตอนนี้ทาง พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. อ้างว่าไม่มีธำรงวินัยอีกต่อไปแล้ว กรณีล่าสุดคือคุณคชา พะชะ ที่โดน ได้ข่าวว่าสมองตายแล้ว ก็คงเรียกว่าคงหมดหวังที่จะมีชีวิตรอดแล้ว ก็เกิดจากการซ่อม แต่ทางทหารก็พยายามจะปกปิด คือทุกอย่าง การที่รัฐบาลหรือ คสช. อ้างว่าจะกวาดล้างสิ่งที่ทุจริต แต่ทาง คสช. กลับสร้างสิ่งทุจริตขึ้นมาเอง ตรงนี้คือสิ่งที่ผมสงสัยว่าตกลงคุณจะเอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่ และนี่คือที่มาของผม"

"และกรณีคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สวมนาฬิกาหรู 25 เรือนไม่มีที่มาที่ไป ไม่ได้แจ้งกรณีนี้ให้กับทาง ปปช. ไม่มีการแสดงบัญชีให้ ปปช. รับรู้แต่ต้น ปรากฏว่าพอมีการเปิดเผย มีทางเพจ CSILA เปิดเผยนาฬิกาหรู แล้วมีการตีราคาทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลที่เผยแพร่ 25 เรือน ซึ่งอาจจะมีมากกว่านั้นอีก ราคามูลค่าโดยรวมประเมินว่ามีมากกว่า 30 ล้านบาท ไม่มีการแสดงในบัญชีทรัพย์สินใดๆ ทั้งสิ้น"

"ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้ในเมื่อทาง คสช. อ้างว่าจะเข้ามากวาดล้างทุจริต แต่กรณีนี้มันเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคมว่ามันเป็นการทุจริตของทหารหรือเปล่า ปรากฏว่าทางคุณประยุทธ์กลับไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้คุณประวิตรยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งๆ ที่กรณีอื่นคุณจะรีบดำเนินการ รีบปลดทันที แต่พอคุณประวิตรกลับเพิกเฉยบอกว่าให้เป็นหน้าที่ ปปช. ซึ่งจนตอนนี้เป็นเวลาผ่านมาแล้ว 8 เดือนยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย" เอกชัยกล่าวตอนหนึ่ง

จะให้ 'เอกชัย' ลาไปหรืออย่างไร? บุกทำเนียบถาม คสช. มีเอี่ยวดักตีหรือไม่, ประชาไท, 25 ส.ค. 2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ทนายวิญญัติ' จี้ป.ป.ช.เร่งชี้มูลคดีโรงพัก ส่งหลักฐานคำพิพากษา 60 หน้า - 'สุเทพ' ไลฟ์เฟซบุ๊กแจง

Posted: 27 Aug 2018 07:42 AM PDT

เลขาฯ สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ จี้ ป.ป.ช.เร่งชี้มูลคดีโรงพัก พร้อมส่งหลักฐานคำพิพากษาคดี 60 หน้า ด้าน 'สุเทพ' ย้ำ สตช.เสนอเปลี่ยนรูปแบบลงทุนไม่ใช่วิธีจัดจ้างให้ ครม.อนุมัติ

ภาพสุเทพขณะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กชี้แจง

27 ส.ค. 2561 วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ได้เข้ายื่นหลักฐานเด็ดเป็นคำพิพากษาคดีโรงพัก จำนวน 60 หน้า ชี้ชัดการอนุมัติก่อสร้างโรงพักผิดมติคณะรัฐมนตรีพร้อมส่งภาพประติมากรรมคดีทุจริตโรงพัก พ.ศ. 2555 มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) เพื่อให้เร่งยุติชี้มูลคดีเพราะเหตุเกิดกว่า 6 ปีแล้ว

วิญญัติ กล่าวว่า 1) คดีนี้ตนได้มาติดตามทางถามเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561 เพราะเห็นว่ารัฐเสียหายกว่า 5 พันล้าน ประชาชนไม่ได้ใช้บริการ ตำรวจไม่มีสถานที่ทำงานกว่า 6 ปีที่เกิดเรื่อง และประธานกรรมการ ป.ป.ช. รับว่าจะให้คดีนี้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 แต่มาถึงวันนี้คดีส่อว่าจะล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา จนกระทั่งมีผู้ถูกกล่าวหาบางรายท้าทายการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. และยังท้าทายให้เร่งฟ้องคดีอีกด้วย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อตั้งแต่ตั้ง ป.ป.ช. มาเมื่อปี พ.ศ. 2542

2) เพื่อให้คดีนี้ยุติโดยเร็ว ตนมีหลักฐานใหม่เป็นคำพิพากษาคดีโรงพักจำนวน 60 หน้า ระบุชี้ชัดผู้เกี่ยวข้องคดีนี้อนุมัติให้ก่อนสร้างโรงพักจำนวน 396 แห่ง โดยวิธีการรวมก่อสร้างในสัญญาเดียวทั่วประเทศ เป็นการกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 ก.พ. 2552 เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย คดีเหลือเพียงว่าใครกระทำผิดบ้างในฐานะตัวการและผู้สนับสนุน คดีนี้จึงไม่ควรเนิ่นช้าเกินกว่าเดือนกันยายน 2561 ตามที่ประธาน ป.ป.ช. รับปาก และ 3) คดีนี้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ที่มี สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีข้อวินิจฉัยไว้ว่า เป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2552 และถือว่าคำวินิจฉัยเป็นที่สุด

วิญญัติ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.จะเกรงใจใครนัก รับเรื่องไว้ไต่สวนตั้งแต่ ปี 2556 ไต่สวนกันมากว่า 5 ปีแล้ว มีการขอเปลี่ยน วิชา มหาคุณ ออกจากการเป็นประธานไต่สวน ป.ป.ช. ก็ให้โอกาสและตามใจผู้ถูกกล่าวหามามากเพียงพอแล้ว ทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ถูกกล่าวหามาท้าทายให้เอาผิดอ้างโน่นนี่ถึงหน้าบันได ป.ป.ช. บ้านเมืองนี้จะเอาแบบนี้ใช่ไหม กฎหมายยังเหลือความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้องค์กรอิสระจะมีอยู่ทำไม อย่าให้ชาวบ้านเขามองว่า 2 มาตรฐานอีกต่อไป ผมขอให้กำลังใจกรรมการ ป.ป.ช.ในการทำงานคดีนี้

ด้าน 'สุเทพ' ย้ำ สตช.เสนอเปลี่ยนรูปแบบลงทุนไม่ใช่วิธีจัดจ้างให้ ครม.อนุมัติ

สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)' ชี้แจงกรณีสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ของ สตช. ว่า ข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ข้อที่ 6 กล่าวหา หาก สตช.ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้างก็ต้องนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน ดังเช่นที่ สตช.ได้เคยปฏิบัติมาแล้วเมื่อคราวที่ สตช.มีบันทึกลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ขอเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้าง ตรงนี้ที่ผมได้เรียนต่อกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่าคณะอนุกรรมการไต่ส่วน ป.ป.ช.สับสน อ่านหนังสือทางราชการแล้วไม่เข้าใจ อ้างว่า สตช.เคยเสนอขอเปลี่ยนวิธีการจัดจ้างมาแล้ว ตามหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ซึ่งไม่จริง ความจริงคือหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 ทาง สตช.เขาเสนอ ครม.ขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ มาเป็นวิธีการงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ เพราะว่า วิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ตามที่บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เสนอมานั้นมันแพงกว่าวิธีปกติ 4,700 กว่าล้านบาท ต้องไปดูว่าทำไมเขาถึงได้เสนออย่างนี้เพราะมันมีที่มาที่ไป ที่มาคือ ครม.สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ มีมติ 6 พ.ย. 2550 ครม.มีมติออนุมัติ ในหลักการ ตามที่ สตช.เสนอให้ สตช.และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สถานีตำรวจทดแทน โดยให้ สตช.และไปจัดทำและนำรายละเอียดโครงการที่ได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง สำนักงบฯ กรมธนารักษ์ และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ รวมทั้งรูปแบบแผนการระดมทุน แผนการใช้จ่ายเงิน และภาระผูกพันของภาครัฐ บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่งเพราะ ครม.เห็นว่า โครงการนี้มีวงเงินสูง มีผลผูกพันรัฐบาลหน้า จึงควรพิจารณาแนวทางดำเนินโครงการให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด จึงให้ สตช.ไปทำรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วนทุกด้าน และพิจารณาทางเลือกในการดำเนินการและบริหารจัดการด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงความเหมาะสม คุ้มค่าในการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถระบุข้อดี-ข้อเสียที่ชัดเจนในทุกๆ ด้าน ให้ทำรายงานมาประกอบ เพื่อ ครม.จะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการต่อไป โดยให้ชะลอการดำเนินโครงการนี้เอาไว้ก่อน

สุเทพกล่าวต่อว่า เมื่อ ครม.มีมติให้ สตช.ไปจัดทำรายละเอียดไปคุยกับกระทรวงการคลัง สำนักงบฯ และไปดูว่ามีวิธีการดำเนินการในทางเลือกอื่นหรือไม่ จึงเป็นที่มาของหนังสือลงวันที่ 14 พ.ย. 2551 สตช.ก็ตอบ ครม.ว่าไปตั้งคณะกรรมการเสร็จแล้วเห็นสมควรเปลี่ยนวิธีการลงทุน จากวิธีเดิมมาเป็นการตั้งงบประมาณตามปกติ ในหนังสือทั้งฉบับ ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า สตช.ขอเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้าง เพราะ ครม.ไม่ได้สั่งให้ไปพิจารณาวิธีจัดจ้างมาเสนอ จึงกราบเรียนว่าอนุกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งข้อหาต่อตนด้วยความสับสนของตัวเอง ด้วยความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงของตัวเอง และตนไม่ได้อ้างเหตุผลอื่นมาหักล้าง ตนอ้างหนังสือวันที่ 14 พ.ย. 2551 ของ สตช.ที่อนุกรรมการ ป.ป.ช.ยกมาเป็นข้อกล่าวหา

ที่มา : สยามรัฐวอยซ์ ออนไลน์ เฟสบุ๊ก วิญญัติ ชาติมนตรี และเฟสบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

องค์การอนามัยโลกดูงานหลักประกันสุขภาพขอนแก่น ชมความร่วมมือสร้างสุขภาพ รัฐ ท้องถิ่น ชุมชน

Posted: 27 Aug 2018 06:20 AM PDT

รอง ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกดูงานหลักประกันสุขภาพ จ.ขอนแก่น ชื่นชมความร่วมมือ สธ. สปสช. ท้องถิ่น วัด และชุมชนสร้างสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แนะต่อยอดจากการทำงานด้วยการทำวิจัย จัดทำระบบบันทึกข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล ทำเป็นรายงานเป็นต้นแบบที่ดีให้แต่ละประเทศได้ศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 26-27 ส.ค.ที่ผ่านมา พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ.ขอนแก่น โดยดูงานที่ รพ.ขอนแก่น และศูนย์แพทย์วัดหนองแวงพระอารามหลวงที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ รพ.ขอนแก่น วัดหนองแวงพระอารามหลวง และเทศบาลนครขอนแก่น โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น จุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นและคณะให้การต้อนรับ

พญ.นาตยา มิลล์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ในพื้นที่ ร้อยแก่นสารสินธุ์ 4 จังหวัด (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 77 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีโรงพยาบาล 26 แห่ง เป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 21 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 1 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง เชื่อมต่อกันด้วยการจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ไร้รอยต่อ ทั้งนี้โรคที่เป็นปัญหาสุขภาพหลักของคนขอนแก่นคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และโรคทางเดินอาหาร ส่วนโรคที่เป็นสาเหตุการตายหลัก คือ มะเร็ง ปอดบวม และไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจ และ ภาวะติดเชื้อ

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า ในพื้นที่มีรถอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งของโรงพยาบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนกว่า 190 คัน โดยมีศูนย์สั่งการที่โรงพยาบาลขอนแก่น จึงทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินรถจะเข้าถึงตัวผู้ป่วยภายใน 8 นาที และมีการฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินตามมาตรฐาน จึงทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่รวดเร็วและได้มาตรฐาน

พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ของประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพ เพราะนอกจากการรักษาแล้ว ยังมีการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค โดยส่วนตัวเชื่อว่าแนวคิดที่ประเทศไทยทำอยู่นั้น ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเน้นการอยู่ดีมีสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

พญ.ซอมญ่า กล่าวต่อว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ในเขตจังหวัดขอนแก่น ได้เห็นรูปแบบการทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งมีความน่าสนใจ การสร้างสุขภาพได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมไปถึงชุมชน วัด อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ดูแลในชุมชน (Care giver) ได้ร่วมกันสร้างสุขภาพ และดูแลรักษาสุขภาพให้ประชาชนอย่างไร้รอยต่อจากโรงพยาบาลใหญ่ไปสู่โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย จนถึงชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การสร้างหลักประกัน สุขภาพของไทยประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้ 

พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้มีการต่อยอดจากการทำงาน คือ การวิจัย การบันทึก การเก็บข้อมูล เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นช่องทางในการเก็บรวบรวมแนวทางการทำงาน และสถิติที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และลดอัตราการเจ็บป่วย ได้อย่างไร เพราะปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องการเห็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำไปเดินรอยตามในอนาคต ในฐานะตัวแทนองค์การอนามัยโลกยินดีให้การสนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำรายงานการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาศึกษางานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยด้วยตนเองจะได้ศึกษาจากเอกสารรายงานที่ทำขึ้นนี้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตม.ปัตตานีส่งหนังสือแจง ปมบุกจับแรงงานพม่าอาสาสอนเด็ก ยันทุกอย่างยึดหลักสิทธิมนุษยชน

Posted: 27 Aug 2018 04:45 AM PDT

ตม.ปัตตานี ส่งหนังสือแจงประชาไท กรณีบุกจับแรงงานพม่าอาสาสอนเด็ก ระบุดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ผู้ต้องหาทั้งสามคนยินยอมออกนอกประเทศโดยสมัครใจ

จากกรณีที่ประชาไทนำเสนอข่าว ตม.ปัตตานีบุกจับแรงงานพม่าอาสาสอนหนังสือเด็ก อ้างทำงานนอก กม. ชี้กินข้าววัดเท่ากับรับค่าจ้าง

หนังสือชี้แจงจาก สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี

ล่าสุด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีได้ทำหนังสือหมายเลข ตช 0029.73(9)/1438 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2561 มายังประชาไทเพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

เรื่อง ขอชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม

เรียน บรรณาธิการข่าวสื่อออนไลน์ประชาไท

ตามที่ท่านได้นำเสนอข่าว กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี ได้ทำการจับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ขณะทำงานสอนหนังสือเด็กนักเรียนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ภายในสำนักสงฆ์แหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีหนังสือเดินทาง วีซ่า และใบอนุญาตทำงานถูกต้ออง และทำงานในลักษณะเป็นจิตอาสา โดยได้ลงในสื่อออนไลน์เว็บไซต์ PRACHATAI.COM เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 เวลา 14.51 นาฬิกานั้น

ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี จึงเรียนมายังท่านเพื่อชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีและเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันจับกุมหลายหน่วยงาน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหารกองอำนวยการรักษาคามมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จังหวัดปัตตานี, ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี, จัดหางานจังหวัดปัตตานี, ตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี และกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 444 ซึ่งชุดจับกุมมีพยานหลักฐานครบถ้วน โดยได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมาย โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา สิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมาย ผ่านล่ามแปล ซึ่งผู้ถูกจับกุมได้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมโดยสมัครใจ จากนั้นได้นำตัวคนต่างด้าวนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งหลักจากพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีได้รับตัวคนต่างด้าวและนำส่งไปยังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง เพื่อดำเนินการส่งตัวกลับออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และคนต่างด้าวยินยอมเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยสมัครใจ อนึ่งหากท่านประสงค์จะขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานียินดีให้ความร่วมมือ เพื่อการนำเสนอข่าวที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านด้วยดีและขอขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

ลงชื่อ พันตำรวจโทธีร์รชสิษ เจี่ยงเพ็ชร สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี

เอ็นจีโอสิทธิฯ แรงงานข้ามชาติ ชี้ปัญหาความจริงที่ยังไม่ได้ถูกค้นหาโดยกระบวนการยุติธรรม

โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า แรงงานข้ามชาติทั้งสอง ทำงานนอกเหนือจากที่กฎหมายอนุญาต และดำเนินการเปรียบเทียบปรับขณะที่แรงงานทั้งสองถูกสั่งให้ลงนามในเอกสารภาษาไทยที่ตนไม่สามารถอ่านได้ และจะมีการดำเนินการผลักดันทั้ง 2 คน กลับไปยังประเทศต้นทางตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และยังได้ออกคำสั่งห้ามเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกเป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีชาวเมียนมาที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยวและขอเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนที่วัดถูกจับปรับในข้อหาเดียวกัน

แถลงการณ์ทั้ง 2 องค์กร ระบุอีกว่า จุดเริ่มต้นของการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อการคุ้มครองสิทธิ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการทำงานของหญิงชาวเมียนมาทั้ง 2 คน  รวมถึงการละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า การสอนหนังสือให้เด็กๆ ในชุมชน มิได้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นทางการ การเข้ามาให้ความรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมแก่เด็กๆ ในชุมชน เป็นการทำโดยจิตอาสา มิได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น การยื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นกระบวนการขอให้ศาลไต่สวนเพื่อแสวงหาความจริงว่าการควบคุมตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่การแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นนี้กลับยุติลงด้วย "การส่งตัวหญิงชาวเมียนมาทั้ง 2 คนออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว" ซึ่งการ "ปล่อยตัว" ในลักษณะนี้ ย่อมไม่ใช่การคืนเสรีภาพให้แก่ผู้ร้องตามเจตนารมณ์ของมาตรา 90

สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ ผู้คุมขังเอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้นหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง และเมื่อได้รับคำร้องแล้วให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูลศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลันและถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมาศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดไต่สวนคำร้องกรณีที่มีการจับกุมและควบคุมตัวแรงงานข้ามชาติหญิงชาวเมียนมา 2 คน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลได้ออกหมายเรียกสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี ผู้เกี่ยวข้องกับการคุมขังแรงงานมาให้การในชั้นไต่สวน ซึ่งผู้คุมได้แถลงต่อศาลได้นำตัวผู้ถูกคุมขังทั้งสองไปยังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2561 เวลาประมาณ 18.00 น. เพื่อดำเนินการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามระเบียบต่อไปแล้ว ดังนั้น ขณะนี้ผู้ถูกคุมขังทั้งสองไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไต่สวนคำร้องต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประยุทธ์ ชี้ปมบ้านพักศาล หากออกมาค้านก่อนเริ่มโครงการ ก็ไม่ทำให้ต้องสูญงบฯ เช่นนี้

Posted: 27 Aug 2018 03:16 AM PDT

รัฐบาลหนุนย้ายบ้านพักตุลาการไปอยู่ที่ใหม่ ย้ำทุกอย่างชัดเจน แต่ต้องใช้เวลา แนะผู้ชุมนุมทวงสัญญารื้อบ้านพัก ทำความเข้าใจ 'ประยุทธ์' ชี้หากออกมาค้านตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโครงการ ก็ไม่ทำให้ต้องสูญงบฯเช่นนี้

27 ส.ค.2561  เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมทวงสัญญาให้รื้อบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ของตัวแทนเครือข่ายด้านอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม ว่า
 
"เรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนก่อนหน้านี้แล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรม ทำความตกลงขอใช้ที่ดินจากกรมวิชาการเกษตร บริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมที่พักอาศัย และทำเรื่องของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป"
 
ในส่วนของรัฐบาลไม่ขัดข้องในการให้พื้นที่สร้างอาคารและที่พักอาศัยใหม่ และพร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่ขอมาอย่างสมเหตุสมผล โดยให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว
 
"นายกฯ เน้นย้ำว่า บุคลากรของศาลยุติธรรมที่เข้าพักอาศัยในพื้นที่เดิมแล้ว อาจให้อยู่ไปก่อน เพราะจำเป็นต้องทำงานและมีที่พักในบริเวณใกล้เคียง และเมื่ออาคารและที่พักอาศัย ณ สถานที่แห่งใหม่เสร็จเรียบร้อย ทุกคนก็จะต้องย้ายออกตามที่ทุกฝ่ายได้หารือตกลงกันไว้"
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ผู้ชุมนุมคิดทบทวน โดยควรมองทุกสิ่งอย่างรอบด้านและมีเหตุมีผล ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าที่ผ่านมาได้รับฟังเสียงของทุกคนและพยายามแก้ไขปัญหาอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องบางอย่างจะต้องใช้เวลาจึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ พร้อมกับเตือนสติว่าทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ทั้งนี้หากการออกมาคัดค้านได้ดำเนินการตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโครงการก่อสร้าง ก็จะไม่ทำให้เรื่องยืดยาวหรือต้องสูญเสียงบประมาณของรัฐเช่นนี้

รวมพลังทวงสัญญาแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการ

โดยวานนี้ (26 ส.ค.61) สำนักข่าวไทย รายงานว่ากลุ่มมวลชนชาวเชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมรวมพลังหัวใจสีเขียว ทวงสัญญาป่าแหว่ง ที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เพื่อทวงสัญญาการแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ มีกลุ่มนักปั่นจักรยาน ขบวนรถตุ๊กตุ๊ก ร่วมรณรงค์แจกริบบิ้นสีเขียวรอบเมืองก่อนที่กลุ่มมวลชนจากอำเภอรอบนอกจะมารวมตัวหน้าเวทีปราศรัยที่ประตูท่าแพ

ผู้ประสานงานเครือข่าย ระบุอยากขอความชัดเจนจากรัฐบาล เรื่องกรอบเวลา การรื้อถอนบ้านพัก และ อาคารชุดพักอาศัยของข้าราชการศาล ซึ่งรุกล้ำแนวป่าดั้งเดิม ตามมติคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แม้กรรมการบริหารศาลยุติธรรม มีมติย้ายบ้านพักรวมทั้งสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปจังหวัดเชียงรายแล้ว  อย่างไรก็ตามการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีการขออนุญาตจัดกิจกรรมกับหน่วยงานความมั่นคงแล้ว

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ ไม่ใช่การครอบงำมหาวิทยาลัย

Posted: 27 Aug 2018 02:09 AM PDT

การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพเป็นการครอบงำมหาวิทยาลัยทำให้ไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและขัดรัฐธรรมนูญจริงหรือ? เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และนายกิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ซึ่งมีหลายประเด็นที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้

 ในฐานะของนายกทันตแพทยสภาซึ่งเป็นสภาวิชาชีพที่ถูกพาดพิงถึงด้วย จึงขอให้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ให้สัมภาษณ์ดังนี้

1.การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพเป็นการขัดขวางทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและเทคโนโลยีของโลกเป็นการครอบงำทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมได้จริงหรือ?

โลกเป็นพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความรู้ทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ ของทุกวิชาชีพก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของโลกเช่นกัน การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ทุกวิชาชีพให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นวิชาชีพจะล้าหลังจนทำไม่สามารถดำรงอยู่ได้

คำว่า "วิชาชีพ" นั้น หมายถึงการที่ต้องเข้าศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนก่อน จึงจะทำงานในวิชาชีพด้านนั้นๆ ได้ และต้องเป็นการประกอบวิชาชีพที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ทุกวิชาชีพจึงต้องมีกฎหมายรองรับและมีสภาวิชาชีพเป็นผู้ควบคุมดูแล ดังนั้นทุกสภาวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นจะมีกฎหมายรองรับโดยกฎหมายของทุกสภาวิชาชีพมีลักษณะคล้ายกัน คือสภาวิชาชีพประกอบด้วยคณะกรรมการหรือผู้บริหารและสมาชิกของสภาวิชาชีพ

คณะกรรมการบริหารของทันตแพทยสภา ครึ่งหนึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิโดยเป็นคณบดีจากคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกแห่งในประเทศและจากหน่วยราชการอื่น ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กลาโหมและภาคเอกชน อีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิก    

สมาชิกของทันตแพทยสภา เป็นทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ ถ้าจะว่าไปแล้วทันตแพทยสภามีสมาชิกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่เป็นจำนวนมาก มากกว่าอาจารย์ทันตแพทย์ในมหาวิทยาลัยเสียอีก ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข ในภาคเอกชน หลายท่านเป็นนักการศึกษา เป็นอดีตผู้บริหารการศึกษาที่เกษียณอายุราชการแล้ว และได้มาช่วยกำกับดูแลในด้านการศึกษาให้กับทันตแพทยสภาเพื่อให้วิชาชีพมีพัฒนาการ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้คำกล่าวที่ว่าสภาวิชาชีพเข้ามาครอบงำการศึกษาทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีมาตรฐานให้กับสังคมได้จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง ซึ่งหากสภาวิชาชีพมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกแห่งและผู้ทรงคุณวุฒิที่นั่งเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วยจำนวนครึ่งหนึ่งนั้นคงไม่ยอมแน่

หากจะบอกว่าทันตแพทยสภาไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนการบริหารการศึกษาก็คงไม่ใช่เพราะผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์มาแล้วทั้งสิ้น บางท่านเป็นอดีตรองอธิการบดี อดีตคณบดี เป็นคณบดี รองคณบดี ยิ่งไปกว่านั้นยังมีทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขและในภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการให้ความเห็นเพื่อกำกับให้การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ทันตแพทยสภายังมีราชวิทยาลัย มีสมาชิกเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของวิชาชีพ มีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการศึกษาฝึกอบรมจากต่างประเทศเพื่อนำความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทันสมัยมาถ่ายทอดต่อ มีการศึกษาฝึกอบรมวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้คำกล่าวที่ว่า วิชาชีพเป็นตัวการที่ดึงให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน

ในทางตรงกันข้ามสภาวิชาชีพ เป็นองค์กรที่คอยกำกับให้มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอดเป็นองค์กรที่คอยคุ้มครอง ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ยกตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในทันตแพทยสภา

มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเปิดรับนักศึกษาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากทันตแพทยสภา จึงมีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนจำนวนที่ต่ำมาก มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่หลายปีกว่าทันตแพทยสภาจะให้การรับรอง เมื่อทันตแพทยสภารับรองและให้รับนักศึกษาตามจำนวนที่กำหนด ในปีถัดมามหาวิทยาลัยแห่งนี้รับนักศึกษาเพิ่มเป็นจำนวน 2 เท่าทำให้ทันตแพทยสภาต้องถอนการรับรองและให้หยุดรับนักศึกษา เนื่องจากสัดส่วนของนักศึกษาและอาจารย์ไม่ได้ตามเกณฑ์

นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าถ้าไม่มีองค์กรดูแลกำกับเช่นนี้ จะสามารถทำให้มหาวิทยาลัยปฎิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ได้อย่างไร เสรีภาพทางวิชาการต้องมีความรับผิดชอบเป็นตัวกำกับ อิสระภาพทางด้านการจัดการศึกษา ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นตัวกำกับ หากไม่มีการกำกับที่ดีพอ มหาวิทยาลัยนั่นเองจะเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับสังคมและประชาชน ถ้าไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามารับรองหลักสูตร ทำได้เพียงเฉพาะสอบประเมินครั้งสุดท้ายเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น ในอนาคตจะมีนักศึกษาทันตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐานวิชาชีพจำนวนมาก และจะไม่สามารถสอบผ่านได้รับใบอนุญาตจากทันตแพทยสภา ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานเป็นทันตแพทย์ได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อนักศึกษาและผู้ปกครองที่เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถสอบได้รับใบอนุญาตให้ปฏิบัติงานได้ และเชื่อว่าส่วนหนึ่งของนักศึกษาเหล่านี้อาจจะไปเป็นหมอเถื่อน ซึ่งจะเป็นหมอเถื่อนที่สร้างโดยมหาวิทยาลัย จะสร้างปัญหาให้กับวิชาชีพและสังคม เป็นการทำลายมาตรฐานและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพ

2.การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศจริงหรือ

การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพ มิได้ทำเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือเข้าไปก้าวก่ายการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยยังคงจัดการเรียนการสอนได้ต่อไป จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 วรรค 2 แต่การรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับให้มีการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฏหมายของแต่ละสภาวิชาชีพ และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 54 วรรค 3 ที่บัญญัติไว้ว่า

"รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล"

ทุกสภาวิชาชีพมีกฎหมายที่ให้อำนาจดำเนินการในการรับรองหลักสูตรได้อยู่แล้ว การรับรองหลักสูตรนั้นกระทำไปเพื่อกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

สภาวิชาชีพแต่ละสภาเป็นองค์กรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องมาตรฐานการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ มีความรู้ในมาตรฐานสากลและข้อจำกัดต่างๆ ของการประกอบวิชาชีพในประเทศเป็นอย่างดี

ดังนั้นการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับการจัดการศึกษาที่ทำโดยสภาวิชาชีพจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ.

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จี้ รบ.แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว-คู่รัก พบสถิติข่าวฆ่ากันตาย-สาหัส พุ่งสูงสุดรอบ 3 ปี

Posted: 26 Aug 2018 11:35 PM PDT

ภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว ร้องรัฐบาล สางปัญหาความรุนแรงในครอบครัว-คู่รัก หลังพบสถิติข่าวฆ่ากันตาย ทำร้ายสาหัส พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี เฉลี่ยเดือนละ 20 ราย ซ้ำคนไทยร้อยละ 95 เมินที่จะเข้าช่วยเหลือ       

27 ส.ค.2561 วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย เตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคม เรียกร้องให้มีมาตรการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานเชิงรุก  

อังคณา กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คู่รัก มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลที่มูลนิธิฯเก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ในปี 61 พบว่าเพียง 7 เดือน ม.ค.-ก.ค.มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 11.2 ทั้งนี้หากเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าปี 2561 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี โดยปี2555มีร้อยละ 59.1 ปี 2557 มีร้อยละ 62.5 และปี 2559 มีร้อยละ 48.5 หากวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะพบว่ามีข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยเดือนละ 20 ข่าวหรือร้อยละ 78.2 ส่วนปัจจัยกระตุ้นสำคัญมาจากการดื่มสุราและยาเสพติด ซึ่งผู้ก่อเหตุ ร้อยละ 39.2 มีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยา ที่น่าห่วง คือ อาวุธที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด ได้แก่ ปืน ร้อยละ 40.5 รองลงมาเป็นมีด ของใช้ใกล้มือ เช่น ไม้ ค้อน และมูลเหตุในการกระทำ เพราะบันดาลโทสะ หึงหวง และมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ร้อยละ 94.9 ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรง เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือในปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

อังคณา กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคม รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลหยิบยกปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไข โดยบูรณาการการทำงานเชิงรุก ร่วมกับกระทรวง พม.กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้พบเห็นเหตุการณ์ต้องเข้าให้การช่วยเหลือหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาการสูญเสียชีวิต 2.ดำเนินการให้ระบบการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น เคารพให้เกียรติกัน ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ใส่ใจช่วยเหลือไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว เพื่อเป็นทักษะชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก 3.กระทรวง พม.ซึ่งมีกลไกอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน(อพม.)ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังปัญหาสังคมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีการพัฒนาทักษะประสานการทำงานกับสหวิชาชีพในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวให้มากขึ้น และ4.ขอให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เน้นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในสังคมให้มากขึ้น นอกจากการให้คำปรึกษาแนะนำและประสานส่งต่อปัญหาสังคมทั่วไป และควรมีการประชาสัมพันธ์การทำงานให้ประชาชนรับรู้ให้มากขึ้น

เตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังกระบวนการยุติธรรม ให้ทำงานเชิงรุก แม้เราจะออกกฎหมายมาหลายฉบับ ทั้งพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่สถิติความรุนแรงกลับไม่ได้ลดลง เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่พร้อมเข้าช่วยเหลือ ยังมองเป็นเรื่องปัญหาครอบครัวไม่ควรเข้าไปยุ่ง เป็นเรื่องส่วนตัว เดี๋ยวก็ดีกัน หรือพยายามที่จะไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด ทั้งที่สถานการณ์ไปไกล อีกทั้งสังคมละเลยการเข้าช่วยเหลือ พร้อมเป็นผู้ชมผู้วิจารณ์มากกว่าผู้ที่เข้าไปช่วย ทั้งที่จริงเป็นการละเมิดกฎหมายเสียด้วยซ้ำ เช่น กรณีภรรยาถูกสามีทำร้าย ทุบตี ลามโซ่นับครั้งไม่ถ้วนเมื่อเข้าแจ้งความกว่า 10 ครั้ง ก็ไม่เป็นผล ตำรวจก็ไม่ทำอะไร แบบนี้มันไม่ใช่แล้ว มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ 

"กระทรวง พม.เองก็ต้องทบทวนการทำงานของตนเองด้วย เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องนี้  มีทีมสหวิชาชีพ หน่วยงานทุกจังหวัด มีกลไกเครื่องไม้เครื่องมือครบ แต่ยังทำงานแบบตั้งรับ กลายเป็นปัญหาซุกไว้ใต้พรมจนเลยเถิด เกิดเหตุร้ายถึงขั้นบาดเจ็บเสียชีวิต ทั้งที่สามารถใช้กลไกที่มี เข้าระงับเหตุ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาได้ กฎหมายก็ให้อำนาจไว้ แต่ยังทำงานแบบเดิมๆ ที่สำคัญรัฐเองยังสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจเหล่านี้น้อยไป ทั้งๆที่ตัวเองรับมือไม่ไหว ทั่วโลกเขาหันมาสนับสนุนให้ประชาชนของเขาลุกขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ช่วยเหลือทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐ แต่บ้านเรายังให้ความสำคัญน้อยมาก เรามีตัวอย่างการทำงานระดับชุมชนที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลทำงานอยู่หลายพื้นที่ ที่สามารถต่อยอดขยายผลได้" เตชาติ์ กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น