โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ซาราวักรีพอร์ตเตรียมเปิดตัวหนังสือเส้นทางสืบสวน-เปิดโปงทุจริต 1MDB รบ.เก่ามาเลเซีย

Posted: 13 Aug 2018 10:28 AM PDT

มาเลเซียกินีรายงานว่าสื่อมวลชนผู้สืบสวนและเปิดโปงกรณีการทุจริต 1MDB ในมาเลเซีย กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ รวมถึงอุปสรรคต่างๆ ที่เธอต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นการถูกปิดเว็บหรือการถูกฟ้องร้องจากรัฐบาลชุดก่อน เธอบอกอีกว่าอยากให้หนังสือของเธอเป็น 'สัญญาณนำทาง' ให้กับประเทศอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน


กองทุน 1MDB ของรัฐบาลเก่าของมาเลเซีย สมัยนาจิป ราซัค ที่ถูกเปิดโปงว่ามีการทุจริตยักยอกเงินกว่า 681 ล้านเหรียญสหรัฐ


แคลร์ ริวคาสเซิล-บราวน์ ที่มา: GIJC/แฟ้มภาพ

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าที่มาเลเซียจะมีการวางจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับเส้นทางของผู้เปิดโปงการทุจริตกองทุน 1MDB ซึ่งเป็นโครงการที่อื้อฉาวที่นาจิบ ราซัค ผู้นำรัฐบาลก่อนของมาเลเซียถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยักยอกเงินโครงการ ผู้ที่เปิดโปงในเรื่องนี้คือแคลร์ ริวคาสเซิล-บราวน์ นักข่าวอิสระถือสัญชาติอังกฤษ ผู้ที่เกิดในรัฐซาราวักในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ 

ริวคาสเซิล บรรณาธิการบล็อก "ซาราวักรีพอร์ต" เป็นคนเขียนหนังสือเล่มนี้เอง โดยที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงเรื่องที่ว่าเธอเข้าไปมีส่วนพัวพันในการเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชันของมาเลเซียได้อย่างไร รวมถึงจะระบุถึงประสบการณ์ของเธอในฐานะนักข่าวสืบสวนสอบสวนด้วย

ในการร่วมงานเสวนาระหว่างเยือนมาเลเซียครั้งล่าสุด ริวคาสเซิลให้สัมภาษณ์ต่อปราเมศ จันดรัน ผู้ร่วมก่อตั้งสื่อมาเลเซียกินีว่า ที่เธอเขียนหนังสือเล่มนี้เพราะเธอตัดสินใจจะพูดถึงเรื่องราวที่พวกเธอและคนอื่นๆ เผชิญมา และเธอรับทราบเรื่องราวเบื้องหลังเหตุการณ์เพราะเธอเข้าไปอยู่ตรงจุดนั้นด้วย เธอรู้ว่าหลายๆ คนอยากรับทราบเรื่องราวว่ามีความเป็นมาอย่างไร หนังสือที่เธอเขียนจึงจะเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวเบื้องหลังของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หนังสือของริวคาสเซิลมีชื่อเดียวกับบล็อกของเธอคือ "ซาราวักรีพอร์ต" โดยเธอบอกว่ามันจะเป็นหนังสือเล่มหนาที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ปี 2553 ในสมัยที่เธอก่อตั้งสถานีวิทยุ "เรดิโอฟรีซาราวัก" และบล็อก "ซาราวักรีพอร์ต" ซึ่งกลายเป็นสื่อที่เน้นประเด็นปัญหาต่างๆ ของมาเลเซียโดยเฉพาะผลกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้เธอยังมองว่าชาวมาเลเซียจากวงนอกน่าจะมีความสนใจประเด็นวงในกรณีกองทุน 1MDB เธอจึงเขียนหนังสือเพื่อเล่าเรื่องในมุมของเธอด้วย

กรณีทุจริตกองทุน 1MDB

มหากาพย์ดรามามาเลเซีย กรณีแฉ 'นาจิบ ราซัค' ยักยอกเงินกองทุนพัฒนาเข้าบัญชีตัวเอง

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอาจถูกฟ้อง-หลังมีข้อกล่าวหาโอนเงินเข้าบัญชี 2.37 หมื่นล้านบาท

ริวคาสเซิลกล่าวอีกว่าการได้เห็นมาเลเซียดำเนินคดีกรณีกองทุน 1MDB เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้เธอยังมองว่ามันเป็น "สัญญาณนำทาง" ให้กับประเทศอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน ต้องเผชิญกับพลังอำนาจจากหลายด้านรวมถึงอำนาจทุนขนาดใหญ่ นอกจากนี้แล้วหนังสือ "ซาราวักรีพอร์ต" ยังจะเป็นการเดินทางค้นหาตัวเองสำหรับเธอด้วย

เดิมทีแล้วบล็อกของเธอเริ่มมาจากการเปิดโปงปัญหาการตัดไม้ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในซาราวัก ต่อมาถึงได้เน้นเรื่องกรณีการทุจริตกองทุน 1MDB และเรื่องการยักยอกเงินเข้าบัญชีตัวเองหลายล้านบาทของนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้บล็อกของเธอถูกสั่งปิดการเข้าถึงและริวคาสเซิลก็ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกับมหาเธร์ มูฮัมหมัด เพื่อโค่นล้มราซัค รวมถึงถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ในปี 2558 ยังเคยมีกรณีที่ตำรวจออกหมายจับริวคาสเซิลด้วยข้อกล่าวหาว่ากระทำการ "ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา" เพราะ "รายงานข้อมูลเท็จ" และ "นำเสนอข้อความที่ทำให้เกิดความแตกตื่นในหมู่ประชาชน"

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่รัฐบาลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง เว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ตก็ถูกยกเลิกสั่งบล็อกและริวคาสเซิลก็สามารถกลับสู่มาเลเซียได้

เรียบเรียงจาก
S'wak Report editor to launch book on 1MDB saga,
Malaysiakini, 12-08-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ยื่นฟ้อง 'ราวด์อั้พ' ก่อมะเร็ง ศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินให้จ่ายค่าเสียหาย-ชดเชย

Posted: 13 Aug 2018 09:31 AM PDT

ศาลแคลิฟอเนียสั่งมอนซานโตชดใช้ค่าเสียหาย 289 ล้านดอลลาร์ ให้อดีตคนดูแลสนามหญ้า-ผู้ป่วยมะเร็งที่สัมผัสสาร 'ไกลโฟเสต' จากผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชยี่ห้อ 'ราวด์อั้พ' ซึ่งมอนซานโตเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้มาตั้งแต่ปี 2517 ปัจจุบันมีจำหน่าย 160 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ข้อมูลจากสื่อประชาสัมพันธ์ของมอนซานโตระบุว่าเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราวด์อั้พมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 (ที่มา: YouTube/Monsanto Company)

มอนซานโตแสดงแผนที่ในสื่อประชาสัมพันธ์ซึ่งระบุว่ามี 160 ประเทศที่รับรองการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารไกลโฟเสต (ที่มา: YouTube/Monsanto Company)

ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของผู้ฟ้องร้อง 'มอนซานโต' บรรษัทเกษตรเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินให้มอนซานโตต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งจากการที่พวกเขาเคยสัมผัสสารไกลโฟเสตในผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชของมอนซานโตอย่าง 'ราวด์อั้พ'

โดยก่อนหน้านี้ เดอเวย์น จอห์นสัน ชาวมลรัฐแคลิฟอร์เนียผู้มีอาชีพดูแลสนามเคยฟ้องร้องต่อมอนซานโต กล่าวหาว่าสารไกลโฟเซตในราวน์อัพทำให้เขาเป็นมะเร็งเมื่ออายุได้ 46 ปี จากการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในการทำงานเป็นเวลาสองปี เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาศาลแคลิฟอร์เนียก็ตัดสินให้มอนซานโตมีความผิด โดยต้องจ่ายทั้งค่าชดเชย 39 ล้านดอลลาร์ และค่าเสียหาย 250 ล้านดอลลาร์

โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ ทนายความที่เป็นตัวแทนว่าความให้จอห์นสันประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าศาลได้ตัดสินให้มอนซานโตต้องจ่ายค่าเสียหายจาก "การกระทำที่มุ่งร้ายและกดขี่ข่มเหงของพวกเขา"

สมาคมผู้บริโภคออร์แกนนิค (OCA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์มอนซานโตมายาวนานแถลงแสดงความยินดีต่อผลการตัดสินในครั้งนี้ รอนนี คัมมินส์ ผู้อำนวยการนานาชาติของ OCA กล่าวว่า "คำตัดสินในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อพลเมืองธรรมดาทั่วไป ซึ่งในที่นี้คือลูกขุน 12 คน ได้รับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตรวมถึงได้รับรู้เรื่องที่บริษัทนี้เลยเถิดไปถึงขั้นซื้อตัวนักวิทยาศาสตร์หลอกลวงประชาชนและส่งอิทธิพลต่อองค์กรตรวจสอบของรัฐบาลแล้ว พวกเขาก็ไม่สับสนอีกต่อไป"

คัมมินส์วิจารณ์มอนซานโตอีกว่า "บริษัทนี้เห็นผลกำไรมาก่อนความปลอดภัยของสาธารณะเสมอมา และในวันนี้ มอนซานโตก็ถูกทำให้ต้องรับผิดชอบในที่สุด" คัมมินส์กล่าวอีกว่า "พวกเขาหวังว่านี่จะเป็นหนึ่งในความพ่ายแพ้อีกหลายๆ ครั้งของมอนซานโต และหวังว่าสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ จะถอดผลิตภัณฑ์นี้ออกจากตลาดโดยทันที"

คัมมินส์และกลุ่มของเขากล่าวหามอนซานโตในเรื่องการทำให้ผู้บริโภคไขว้เขว และคาดหวังว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับมอนซานโตในเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้คัมมินส์ยังกล่าวชื่นชมจอห์นสันที่ "กล้าเผชิญหน้า" กับมอนซานโต

าวแคลิฟอร์เนียนำ 'มอนซานโต' ขึ้นศาลได้ครั้งแรกกรณียาฆ่าหญ้าก่อมะเร็ง, 17 ก.ค. 2561

แครีย์ กิลแลม นักข่าวและนักวิจัยด้านผลประโยชน์ของประชาชนให้กับองค์กรที่แสวงหาผลกำไร "ไรท์ทูโนว" (Right to Know) แถลงในเรื่องนี้ว่ามอนซานโตและพันธมิตรอุตสาหกรรมเคมีของพวกเขาใช้เวลาหลายสิบปีในการหลอกผู้บริโภค ชาวนา ผู้กำกับดูแล และนักการเมือง ให้พวกเขาสับสนเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องยากำจัดวัชพืชที่มีส่วนผสมของสารไกลโฟเสต

กิลแลมกล่าวอีกว่าหลักฐานในการเอาผิดมอนซานโตมาจากเอกสารภายในของพวกเขาเอง รวมกับข้อมูลและเอกสารจากองค์กรกำกับดูแล เขายังเรียกร้องอีกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั่วโลกควรจะแสดงการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนแทนที่จะปกป้องผลกำไรของบรรษัทกันได้แล้ว

ด้านผู้สื่อข่าวทอม ฟิลพอตต์ ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะพยายามยกเลิกการสั่งห้ามยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษ แต่ศาลสหรัฐฯ ก็แสดงความเข้าใจถึงอันตรายของยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช รวมถึงสารเคมีรุนแรงอื่นๆ ซึ่งนอกจากกรณีของไกลโฟเสตแล้วคอมอมนดรีมส์รายงานอีกว่าในวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์เขต 9 ของสหรัฐฯ ตัดสินให้การยกเลิกคำสั่งแบนสารคลอไพริฟอสของรัฐบาลทรัมป์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และสั่งให้มีการห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้ภายใน 60 วัน โดยที่สารคลอไพริฟอสเป็นสารเคมีในยาฆ่าแมลงที่ถูกระบุว่ามีผลต่อพัฒนาการทางสมองล่าช้าในเด็กและทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาท

ทั้งนี้มอนซานโตจำหน่าย 'ราวด์อั้พ' มาตั้งแต่ปี 2517 โฆษณาว่ามีประสิทธิภาพกำจัดวัชพืชโดยไม่ส่งผลเสียต่อพืชผลการเกษตร มีจำหน่าย 160 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

สำหรับมอนซานโตก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2444 ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรีของอเมริกา โด่งดังจากการผลิตแซกคารินหรือสารเพิ่มความหวาน ในทศวรรษ 2480 บริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสารเคมีทางการเกษตรมีรายได้ปีละ 15,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่งขายกิจการให้ไบเออร์ของเยอรมนีในราคากว่า 62,000 ล้านดอลลาร์

 

เรียบเรียงจาก
'Guilty on All Counts!': In Historic Victory, Monsanto Ordered to Pay $289 Million in Roundup Cancer Lawsuit,
Common Dreams, 10-08-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทหารเฝ้าตาม 'ฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย' ก่อนร่วมประชุม 'พรรคสามัญชน'

Posted: 13 Aug 2018 08:59 AM PDT

ทหาร ตำรวจ เฝ้าติดตามถึงบ้าน อ้างดูแลความปลอดภัย ด้านชาวบ้าน จ.อุดร จี้เจ้าหน้าที่ฝักใฝ่การเมืองผิดกฎหมายหรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในหมู่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำและเป็นหมู่บ้านที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอาศัยอยู่ จากการสอบถามชาวบ้านถึงกรณีที่ทหารเข้าไปในหมู่บ้านทราบว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา มีทหาร 1 นาย นอกเครื่องแบบได้เข้าไปในหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านจึงถามว่ามาทำไม เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวตอบว่า มาดูแลความปลอดภัย เนื่องจากทราบว่าพรรคสามัญชนจะมีการจัดประชุมสมัชชาพรรค ซึ่งทางการก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่เรื่องต้องปิดบัง ด้านชาวบ้านจึงบอกถามเจ้าหน้าที่ว่า แล้วทางการไม่รู้หรือว่าประชุมสมัชชาเลื่อน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า จากการสอบถาม พายุ บุญโสภณ หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน ทราบว่า ทางพรรคเคยยื่นหนังสือถึง กกต. เกี่ยวกับเรื่องขอจัดการประชุมก่อตั้งพรรคไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ค.61 และหาก กกต. อนุญาตก็จะมีการจัดประชุมใหญ่พรรคที่บ้านนาหนองบง แต่เนื่องจากยังไม่มีหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการว่าให้มีการจัดประชุม ทางพรรคจึงได้เลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด พายุกล่าวต่อว่าเป็นที่น่าแปลกใจว่าทางพรรคได้ทำหนังสือขออนุญาตทางรัฐไปแล้ว แต่ทำไมยังมีทหารลงไปหาชาวบ้านในพื้นที่และยังอ้างว่ามาดูแลความปลอดภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแม้จะมีการประชุมพรรค ทางพรรคก็ไม่ได้ทำหนังสือเชิญเจ้าหน้าที่ให้มาดูแลความปลอดภัยและคนที่จะเข้าร่วมประชุมได้ก็จะมีแต่สมาชิกเท่านั้น

อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมกับพรรคการเมือง ไม่ได้มีพื้นที่เดียวเท่านั้นที่ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ ก่อนหน้านี้ยังมีชาวบ้านที่ จ.อุดรธานี ที่ถูกติดตามไปถึงบ้าน หลังจากที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยสอบถามปัญหากรณีหนี้สินกับธนาคารออมสิน กับชาวบ้านเมื่อช่วงเดือน เม.ย. และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาหาอีกครั้งหลังจากเข้าร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 61

สมพร โคพะทา ชาวบ้าน อ.น้ำโสม หนึ่งในชาวบ้านที่ประสบปัญหาหนี้สินกับธนาคารออมสิน ให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2561 ธนาธร ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยสอบถามปัญหาในกรณีดังกล่าว หลังจากธนาธรกลับไปได้มีทหารในเครื่องแบบ 4 นาย มาหาตนที่บ้าน สอบถามว่า รู้จักกับธนาธรได้ยังไง เขามาพูดอะไร โดยสมพรชี้แจงว่า รู้จักผ่านเว็บไซต์ และติดตามธนาธรมาโดยตลอด

สมพร ให้ข้อมูลอีกว่า ต่อมา วันที่ 3 มิ.ย. 61 หลังจากที่ตนและชาวบ้านประมาณ 9 คน เดินทางกลับจากการไปร่วมประชุมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 61 ได้มีสันติบาลจาก อ.น้ำโสม โทรมาถามว่า มีใครไปร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่บ้าง ไปกี่คน และในวันที่ 4 มิ.ย. 61 สันติบาลก็โทรมาขอรายชื่อ ที่อยู่ คนที่เดินทางไปร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ อ้างว่า ส่วนกลางอยากได้รายชื่อ และอยากรู้ว่า ชาวบ้านฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดหรือไม่ สมพรจึงถามเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าฝักใฝ่แล้วผิดกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ผิด แต่ก็ถามว่าจะไปร่วมอีกไหม มีค่าจ้างไหม

สมบัติ ช่วยแสง คนขับรถตู้พาสมพรและชาวบ้าน อ.น้ำโสม คนอื่น ๆ ไปร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ ให้ข้อมูลเช่นกันว่า ประมาณวันที่ 3 มิ.ย. 61 มีตำรวจนอกเครื่องแบบจาก อ.น้ำโสม 3 นาย มาหาที่บ้าน อ้างว่าสันติบาลส่วนกลางให้มาสอบถามว่า ชาวบ้านไปทำไม มีคนจ้างไปไหม สมบัติตอบว่าไม่มีใครจ้าง พากันไปเอง เพราะอยากฟังว่าพรรคอนาคตใหม่จะมีนโยบายหรือแนวทางช่วยเหลือเรื่องหนี้สินกับธนาคารออมสินที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมยังไงบ้าง เจ้าหน้าที่ยังได้ขอรายชื่อชาวบ้านที่ไปเข้าร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ แต่สมบัติบอกว่าจำชื่อใครไม่ได้ วันต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดเดิมมาหาสมบัติที่บ้าน พร้อมกับขอรายชื่ออีก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปบัตรประชาชนของสมบัติไปด้วย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า ทางส่วนกลางเห็นว่า ทะเบียนรถมาจาก อ.น้ำโสม จอดอยู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ในวันประชุมพรรคอนาคตใหม่ จึงประสานมาทางโรงพักในพื้นที่ สอบถามว่าเป็นรถของใคร  จะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่

แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ไปกว่า 1 ปีแล้ว และรัฐบาล ตลอดจน คสช. ย้ำเสมอว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมพ แต่ถึงปัจจุบัน ประชาชนยังไม่รู้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการควบคุมการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง หรือติดตาม และเข้าร่วมกับพรรคการเมือง อย่างเข้มข้น แม้แต่กับกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และมุ่งหวังว่าการรับฟังนโยบาย หรือมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาของตนให้พรรคการเมือง จะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ก็ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกคุกคามมาตลอดระยะเวลา 4 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า กรณีการติดตาม คุกคาม และแทรกแซงความเป็นส่วนตัว สิทธิในความเชื่อ และเสรีภาพในการแสดงออกของชาวบ้านในครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนสภาวะบกพร่องของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว ยังทำให้เห็นปรากฏการณ์การใช้อำนาจทางทหาร ที่เข้าจัดการชาวบ้าน ในฐานะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเฝ้าจับตามองอย่างเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้สถานการณ์การใช้อำนาจรัฐดังกล่าว นอกจากจะไม่เอื้อให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านยังคงตกอยู่ภายใต้การคุกคามของการใช้ทั้งการใช้กฎหมายและไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จี้ปลดผู้ตรวจฯ พบเคยเป็นแกนนำ กปปส.บุกศาลากลาง กกต.ปัดวางคนนั่งตำแหน่ง

Posted: 13 Aug 2018 06:12 AM PDT

กกต. พบมีร้องเรียนผู้ตรวจการเลือกตั้ง ปัดวางคนนั่งตำแหน่ง ขณะที่โคราช จี้ กกต.ปลดผู้ตรวจฯ พบเคยเป็นแกนนำกปปส.บุกยึดศาลากลาง

13 ส.ค.2561 ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้นเป็นไปตามกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมา เพราะหากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกร้องตามมาตรา 157 ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข กกต.ก็ดำเนินการตามตารางเวลาของ กกต.

ประธาน กกต. ยืนยันว่าไม่มีการวางคนของเรา ไม่จำเป็นที่จะไปตั้งคนของเรา ส่วนจะมีผลกระทบต่อการตรวจสอบการทำงานหรือไม่ ตรงนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะ สนช.ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอแก้กฎหมาย ยืนยัน กกต.ชุดผมได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ และไม่ได้ไปละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด

ศุภชัย กล่าวว่า ในช่วง 90 วัน ระหว่างรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ประกาศใช้ จะขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อให้อำนาจ กกต.ทำการแบ่งเขตการเลือกตั้งก่อน เพื่อพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตได้ เพราะถ้าไม่มีเขตเลือกตั้งที่แน่ชัดก็ยังไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ล่าสุดปรากฏข่าวว่า สนช.จะยกเลิกแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะนอกจากจะยุติความขัดแย้งระหว่าง สนช.กับ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ยังช่วยยุติความกังวลของสังคมในเรื่องการก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญสูงสุดที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น เพราะหากส่งผลต่อความสุจริตเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง สส.และการสรรหา สว. อาจเป็นเหตุนำไปสู่การไม่ยอมรับการเลือกตั้งในอนาคตโดยไม่จำเป็นได้

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ สนช.ที่ร่วมกันลงชื่อแก้ไขกฎหมายฟังเสียงประชาชนบ้าง จะรับรู้ได้เองว่าประชาชนต้องการอะไร อยากให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.หรือไม่ วันนี้โพลสำนักต่างๆ สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

พบมีร้องเรียนผู้ตรวจการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการส่งประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดให้ สำนักงาน กกต.จังหวัด ปิดประกาศ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ และแจ้งข้อมูลหรือเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม หรือพฤติการณ์ของผู้ได้รับการคัดเลือกนั้น ว่า ขณะนี้ทราบมาว่าเริ่มมาการส่งข้อมูล และเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมายัง สำนักงาน กกต.แต่ละจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนเรื่องร้องเรียนได้แน่ชัด เพราะอยู่ในระยะเวลา 15 วัน ในการปิดประกาศ จึงจะต้องรอให้ครบกำหนดเวลา และให้สำนักงาน กกต.จังหวัดสรุปเรื่องร้องเรียนก่อนจะรายงานมายัง กกต.ส่วนกลางอีกครั้งหนึ่ง

เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า เรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ ที่ไม่มีการลงชื่อผู้ร้องเรียน และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องขอให้ กกต.เปิดเผยผลการลงคะแนนคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด แต่เรื่องดังกล่าวเป็นการลงคะแนนโดยลับ ทางสำนักงาน กกต.จังไม่สามารถเปิดเผยผลการลงคะแนนดังกล่าวได้

จี้ กกต.ปลดผู้ตรวจฯโคราช พบเคยเป็นแกนนำกปปส.บุกยึดศาลากลาง

ขณะที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนครราชสีมา สุรพล อินทรชูเดช ชาวจังหวัดนครราชสีมา พร้อมพวกได้เดินทางมายื่นเอกสารร้องเรียน ทวิสันต์ โลณานุรักษ์  1 ใน 8 ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง กลุ่มที่ 7 จังหวัดนครราชสีมา พร้อมพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายนายทวิสันต์ สวมเสื้อเชิ้ตสีเหลืองที่คอคล้องนกหวีดยืนถ่ายรูปกับแกนนำ กปปส.โคราช ในขณะนำมวลชนเข้าบุกยึดสถานที่ราชการ ทั้งศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาและสำนักงานเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา โดยมีข้อมูลอ้างอิงเป็นเอกสารที่พิมพ์มาจากเวปไซด์สำนักข่าว 2 แห่งที่มีชื่อนายทวิสันต์ เป็นแกนนำ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสืบสวนสอบสวน จึงดำเนินการสอบปากคำตามกระบวนการ

สุรพล กล่าวว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของทวิสันต์ ซึ่งมีโปรไพล์สมบูรณ์แบบมาก ดีกรีอดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เลขาธิการหอการค้า 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจารย์สอนหนังสือให้กับนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ส่วนตำแหน่งทางสังคมอื่นๆมีค่อนข้างหลากหลาย คุณสมบัติโดยรวมถือว่า เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่พฤติการณ์ที่วางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง เมื่อปี 2556 เป็นแกนนำกลุ่ม กปปส.โคราช นำมวลชนเป่านกหวีดบุก ยึดศาลากลางจังหวัดและสถานที่ราชการ จึงเกรงหากนายทวิสันต์ มาปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม จึงมาร้องให้ กตต.พิจารณา และตอบโจทย์ชาวโคราชที่รู้กันทั่วว่า นายทวิสันต์ นำประชาชนเป่านกหวีดชัดดาวน์แต่ทำไมกกต.ไม่รู้ไม่เห็น ทำเป็นหูทวนลม

ด้าน ศิริชัย วิริยพงศ์ ผอ.กกต.จ.นครราชสีมา ชี้แจงว่า ขั้นตอนหลังประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา หากประชาชนมีข้อร้องเรียน หรือข้อมูลหลักฐานต่างๆที่บ่งชี้ว่าบุคคลทั้ง 8 รายชื่อมีความไม่เป็นกลางหรือขาดคุณสมบัติประการใด สามารถใช้สิทธิยื่นร้องให้ กกต.จ.นครราชสีมา ภายใน 15 วัน ซึ่งกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะสอบสวนบันทึกถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องชี้แจงด้วย จากนั้นเป็นกระบวนการสอบสวนภายใน 10 วัน บันทึกรายงานผลการสอบสวนพร้อมความเห็น รายงานกกต.ส่วนกลางพิจารณาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ถูกร้องเรียนมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร อาจพิจารณาสรรหาบุคคลใหม่ที่เหมาะสมเข้ามาทดแทน หรืออาจยกคำร้อง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ปรากฎประกอบกับดุลพินิจของ กกต.กลาง

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ เดลินิวส์และมติชนออนไลน์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประชาสังคมไทย ประชาสังคมพม่า

Posted: 13 Aug 2018 04:36 AM PDT

ในช่วงวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง 10 กว่าปีที่นำไปสู่รัฐประหารสองครั้ง คำว่า "ประชาสังคม" เป็นคำที่น่ารังเกียจยิ่งนัก เพราะเหตุว่าองคาพยพของประชาสังคมไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนรัฐประหาร ก่อนหน้านั้นคำ ๆ นี้เป็นคำที่มีความหมายดี มีลักษณะ Uprising หรือสร้างพลังอำนาจต่อรองและคุณค่าให้กับภาคประชาชนในทุกมิติของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางสังคม  เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ฯลฯ เป็นคำที่ในแวดวงวิิชาการความรู้ในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนมีความคึกคักมาก มีวิชาสอนกันในห้องเรียนมหาวิทยาลัย มีการนำเสนองานวิจัยมากมายจากหลากหลายสาขาวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของประชาสังคมทั้งในฝั่งของประชาชนและฝั่งขององค์กรอิสระและรัฐ ทั้งนิยามความหมาย คุณค่า หลักการ อุปสรรคปัญหา ข้อด้อยข้อเด่น การเคลื่อนไหว ฯลฯ

คำ ๆ นี้มักมีคำที่มาคู่กันอีกคำหนึ่ง นั่นคือคำว่า "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม" หรือ Social Movement ในลักษณะที่ว่าประชาสังคมเป็นฝ่ายทำให้เกิดขึ้น สอดคล้องบริบทของสังคมไทยนั้นเมื่อนึกถึง "ประชาสังคม" มักมองเห็นแต่ปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองและชนบทจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ แต่มองไม่เห็นใบหน้าของชาวบ้านตาดำ ๆ ที่เป็นคนสร้างให้เกิดการเคลื่อนไหวด้วยการออกมาย่ำเดินบนท้องถนนด้วยสองมือสองเท้าของเขาเอง

ดังนั้น เมื่อเอาคำว่าประชาสังคมไปผูกติดกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงทำให้ไม่เห็นพลังของประชาชนที่เป็นคนยากคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ คนไร้อำนาจการต่อรองในสังคมที่เป็นผู้ก้าวเท้าลงบนท้องถนน แต่กลับมองเห็นแต่ใบหน้าของปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองและชนบทที่มีสติปัญญาทั้งส่วนที่ก้าวเท้าลงบนท้องถนน บางส่วนก็ไม่ (แต่มีความเห็นอกเห็นใจและร่วมต่อสู้กับคนยากคนจนและคนไร้พลังอำนาจต่อรองในสังคม) มีความเป็นเจ้าของประชาสังคมมากเสียจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้สร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นมาได้เองโดยลำพัง ส่วนประชาชนที่เป็นคนยากคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ คนไร้อำนาจการต่อรองในสังคมที่เป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนคือส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่ำเพราะเป็นกลุ่มคนไร้สติปัญญาที่ต้องคอยฟังการชี้นำ

ท่ามกลางนิยามความหมายที่แตกต่างหลากหลายของคำว่า "ประชาสังคม" ในประชาคมอาเซียน เพื่อนชาวพม่าบอกกับเราว่านับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาที่่พรรคเอ็นแอลดี[[1]]ของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จนทำให้ตัวเองได้ตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ[[2]] ประชาสังคมในพม่ารู้สึกผิดหวังกับซูจีและพรรคเอ็นแอลดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ซูจีและพรรคมองว่าภาคประชาสังคมในพม่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ เกือบสามปีที่ผ่านมาซูจีและพรรคของเธอบริหารประเทศโดยกีดกันภาคประชาสังคมออกไปจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมือง เพื่อนชาวพม่าบอกเราว่าเธอก้าวขึ้นมาจากการที่ประชาชนพม่ามองว่าเธอคือความหวังของประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เธอให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนน้อยมาก จากความคล้ายคลึงกันในบุคลิกส่วนตัวของเธอและบุคลิกของพรรคที่มีลักษณะแบบอำนาจนิยมทำให้รัฐบาลของเธอมีพฤติกรรมไม่ต่างจากรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศยาวนานก่อนหน้านี้ เธอและพรรคน่ิงดูดายต่อการปะทะกันจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมายระหว่างกองกำลังทหารกับประชาชนชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่จนอาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ รวมถึงมีพฤติกรรมเหยียดชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วย ในยุคสมัยรัฐบาลของเธอมีการใช้กฎหมายควบคุมสื่อและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและทหารไม่ต่างจากสมัยที่รัฐบาลทหารกระทำ มีการทำลายขบวนการนักศึกษาหลากหลายรูปแบบ เช่น ปฎิรูปการศึกษา จับกุมคุมขัง เป็นต้น เพื่อทำให้ขบวนการนักศึกษาที่เป็นแนวหน้าอันทรงพลังในการเคลื่อนไหวต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาตลอดทุกยุคสมัยอ่อนแอลง และยังมีการขึ้นบัญชีดำประชาชนอีกหลายคนที่เป็นผู้ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของพม่าในเหตุการณ์ '8888'  เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ซึ่งเพิ่งจะครอบรอบสามสิบปีไปเมื่อสองวันที่ผ่านมานี่เอง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาร่วมลงมือลงแรงสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้แก่ประเทศพม่าจนต้องเสียชีวิตไปมากมายไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ยังไม่นับรวมการถูกจับกุมคุมขังถูกทรมานและหลบหนีออกนอกประเทศอีกจำนวนมาก จนทำให้ซูจีและพรรคเอ็นแอลดีได้มีวันนี้-วันที่ได้เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง 

เพื่อนชาวพม่าบอกกับเราว่าค่อนข้างสับสนมากว่าประชาสังคมพม่าจะเลือกทางไหนหรือจะเอาอย่างไรดีกับซูจีและพรรคเอ็นแอลดีต่อการเลือกตั้งปี 2563 ที่กำลังจะมาถึงในอีกสองปีข้างหน้า ว่ายังจะสนับสนุนซูจีและพรรคเอ็นแอลดีต่อไปหรือไม่ พวกเขากำลังร่วมคิดร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมภายใต้บริบทที่ว่าจะต้องไม่หันหลังให้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งด้วยการกลับไปสนับสนุนทหารขึ้นมาปกครองประเทศโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนที่เคยเป็นมายาวนานก่อนหน้านั้น ไม่ว่าซูจีและพรรคเอ็นแอลดีจะแสดงพฤติกรรมน่ารังเกียจยิ่งขึ้นเพียงใดต่อภาคประชาสังคมก็ตาม ก็จะต้องคิดถึงทางเลือกในลักษณะที่ 'เพ่ิมประชาธิปไตย' ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ 'ลดประชาธิปไตย' ลงด้วยการกลับไปสนับสนุนทหาร เช่น ทางเลือกแบบรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งขันกับพรรคเอ็นแอลดีของซูจี หรือเชื่อมประสานกับพรรคการเมืองชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วและที่กำลังสร้างใหม่ให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ เป็นต้น เพื่อทำให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้ได้

พวกเขาบอกกับเราด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า "ประชาสังคมไทยค่อนข้างมีพลังมากในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพราะมีแนวทางชัดเจนตรงที่ยึดถือหลักการมากกว่าตัวบุคคล แต่ประชาสังคมพม่ากลับยึดถือตัวบุคคลมากกว่าหลักการ จึงทำให้ไม่สามารถถอยห่างจากซูจีและพรรคเอ็นแอลดีได้ แม้จะรู้ว่าเป็นผู้นำที่แย่เสียจนสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนชาวพม่ามากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ"

เราบอกกับพวกเขาว่า "คุณคิดผิด แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ประชาสังคมไทยไม่ได้ยึดถืออะไรทั้งสองอย่างที่กล่าวมาเลย ประชาสังคมไทยค่อนข้างเห็นแก่ตัว ยึดถือผลประโยชน์เฉพาะหน้า อ่อนหัดทางการเมือง ถ้าจะมีอะไรให้ประชาสังคมไทยยึดถือก็คงเป็นแนวคิดแบบอำนาจนิยม หรือนิยมในอำนาจของทหารเสียมากกว่า เพราะตลอดช่วงสิบกว่าปีที่เกิดรัฐประหารสองครั้งนั้น ประชาสังคมไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะสนับสนุนรัฐประหาร เกลียดประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง"

เราบอกย้ำกับพวกเขาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า "ในขณะที่ประชาสังคมพม่าเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง ถึงแม้จะผิดหวังกับซูจีและพรรคเอ็นแอลดี แต่ยังคงมีความหวังและเป็นข้อท้าทายสำคัญที่จะทำให้พลังของประชาชนเข้มแข็งด้วยการคิดสร้างพรรคการเมือง หรือเชื่อมประสานกับพรรคการเมืองชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วและที่กำลังสร้างใหม่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ เพื่อหวังให้ประชาชนชาวพม่าได้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ประชาสังคมไทยฉุดรั้งประชาชนให้เดินถอยหลังลงคลองมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประชาสังคมไทยที่ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและชนชั้นกลางสายอนุรักษ์นิยมในเมืองและชนบทซึ่งมีแนวคิดเหยียดความเท่ากันของคนและมีพลังทางเศรษฐกิจดีกว่าประชาชนทั่วไปได้สนับสนุนรัฐประหารและไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นมา เพราะไม่ยอมรับหรือไม่เคารพและศรัทธาต่อหลักการหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง จนถึงบัดนี้ประชาสังคมไทยกลุ่มนั้นก็ยังคงคิดแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง".

เชิงอรรถ    

[[1]] พรรคเอ็นแอลดี หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ National League for Democracy

[[2]]       ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า เป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยพฤตินัยของประเทศพม่า ตำแหน่งนี้ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559 เพื่อให้ออง ซาน ซูจีมีอำนาจเหนือประมุขแห่งรัฐในรัฐบาลของประเทศพม่า พรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งสามัญแห่งพม่า ใน พ.ศ. 2558 ทว่าเธอซึ่งเป็นประธานพรรคเอ็นแอลดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามให้ผู้ที่มีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติ โดยที่สามีของเธอ ไมเคิล อริส และบุตรของเธออีกสองคนถือสัญชาติอังกฤษ

คำเสนอตำแหน่งมีมติเห็นชอบโดยสภาสูง ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 และมีมติเห็นชอบโดยสภาล่างในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559 ลงนามโดยประธานาธิบดีทีนจอ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559 เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2 คัดลอกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ก้าวข้ามทักษิณไปสู่อะไร

Posted: 13 Aug 2018 04:27 AM PDT


ที่มาภาพ https://pantip.com/topic/32805292

เวลานักวิชาการที่ยืนยันเสรีภาพและประชาธิปไตย จะพูดหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร ที่อาจถูกตีความได้ว่าจะเป็นบวกกับเขาก็มักจะ "ออกตัว" ก่อนว่า ผมไม่ได้เห็นด้วย ไม่สนับสนุนหรือเชียร์ทักษิณนะอะไรทำนองนี้ แต่ผมจะไม่ออกตัวอะไร ปล่อยให้เนื้อหาที่เขียนบอกกับผู้อ่านเอง

ทำไมเมื่อทักษิณออกมาพูดอะไรผ่านสื่อ จึงมักจะมีฝ่ายตรงกันข้ามออกมาพูดทำนองว่า คำพูดหรือการเคลื่อนไหวของทักษิณจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป และถ้าเลื่อนเลือกตั้งอีกมันเป็นความผิดของทักษิณอย่างไรหรือ (ยกเว้นเราจะเชื่อจริงๆ ว่าทักษิณคือ "ศูนย์กลางจักรวาลการเมืองไทย") 

ปัญหาที่ต้องถามคือทำไมชนชั้นนำไทยจึงกลัวการเลือกตั้ง ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า "โรคกลัวการเลือกตั้ง" ที่ว่าเป็นโรคกลัวการเลือกตั้ง เพราะกลัวกันแบบหาเหตุผลอันควรมาสนับสนุนไม่ได้ กลัวจนไม่คำนึงว่าผลที่ตามมาจากการไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งนั้นจะเป็นการทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างไร หรือประเทศจะเสียโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างไร

เอาเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ต่อสู้กับทักษิณในทศวรรษนี้ ก็บอยคอตการเลือกตั้งแล้วถึง 2 ครั้ง การบอยคอตแต่ละครั้งย่อมคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะเกิดรัฐประหารตามมา โดยเฉพาะก่อนรัฐประหาร 2557 แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำมวลชนเป่านกหวีดจนทำให้การเลือกล้มและเกิดรัฐประหาร หลังเกิดรัฐประหารบรรดาแกนนำก็จัดเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีอย่างเอกเกริก นี่หมายความว่าประชาธิปัตย์กลัวการเลือกตั้งยิ่งกว่ากลัวรัฐประหารใช่หรือไม่ 

นอกจากนั้น เรายังถามได้อีกว่า ประชาธิปัตย์กลัวการเลือกตั้งยิ่งกว่าจะกลัวประชาชนชนบาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุมงั้นหรือ ดังในปี 2553 แทนที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์จะยอมให้มีการเลือกตั้งตามข้อเรียกร้องของมวลชนเสื้อแดง กลับสลายการชุมนุมด้วย "กระสุนจริง" จนมีประชาชนตายเกือบร้อยคน และบาดเจ็บร่วมสองพันคน 

ผลของความกลัวการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ จึงตามมาด้วยรัฐประหาร 2549, การสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่มี่ประชาชนตายจำนวนมาก และรัฐประหาร 2557 

ความกลัวการเลือกตั้งของ คสช.ก็พิลึกไม่แพ้กัน เพราะทั้งๆ ที่ คสช.เป็นฝ่ายกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ 2560, กติกาการเลือกตั้ง และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจอย่างแน่นหนา เรียกได้ว่าเป็นฝ่าย "คุมเกม" เองทั้งหมด แต่ก็เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง และส่อแววว่าจะเลื่อนเลือกตั้งอีกจากที่พูดไว้ว่าจะจัดเลือกตั้งได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 

มันพิลึกตรงที่คนเหล่านี้แสดงความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่ฝ่ายทักษิณคุมเกม ซึ่งก็อาจดูจะมีเหตุผลอยู่บ้าง แต่การกลัวเลือกตั้งในสถานการณ์ที่พวกตนเองเป็นฝ่ายคุมเกมนี่ไม่อาจหาเหตุผลอะไรมาอธิบายได้เลย

ความกลัวการเลือกตั้งดังกล่าวมันไร้เหตุผล เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่คำนึงถึงผลเสียหายต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ชีวิตประชาชน และความสูญเสียอื่นๆ มันจึงดูเหมือนเป็นอาการของโรคที่ทำให้สังคมป่วย หรือตกอยู่ภายใต้ความสับสน ไม่แน่นอน ไร้ทางออก เสี่ยงต่อความขัดแย้งและความรุนแรงที่คาดไม่ถึง

ยิ่งกว่านั้นยังสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่า ฝ่ายที่เรียกร้องให้ "ก้าวข้ามทักษิณ" นั่นแหละที่ก้าวไม่ข้ามทักษิณเสียเอง

พูดโดยภาพรวมคือ ขณะที่ คสช., ปชป., กปปส. โจมตีนโยบายประชานิยมของทักษิณ แต่ตัวเองกลับเลียนแบบนโยบายประชานิยมเสียเอง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าเขา และไม่เป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่เท่าเขา ขณะที่โจมตีเรื่องทักษิณดูดอดีต ส.ส. แต่ ปชป.ก็ดูดกลุ่มเนวินจากพรรคของทักษิณมาดื้อๆ จนตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้สำเร็จ ขณะที่ปัจจุบันก็มีการดูดอดีต ส.ส.เข้าพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ คนต่อไป

ส่วนที่ ปชป., กปปส.เคยโจมตีว่าทักษิณออกกฎหมายและใช้กฎหมายเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองนั้น แต่เมื่อกลุ่มอำนาจนอกระบบฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เขียน ม.44 ออกคำสั่ง คสช., เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่เห็นว่า ปชป.,กปปส.จะออกมาโจมตีว่าเป็นการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกตัวเอง คือไม่ตั้งคำถาม วิจารณ์หรือตรวจสอบแบบจริงจังอย่างที่ทำกับทักษิณ

คำถามคือ ก้าวข้ามทักษิณไปสู่อะไร ไปสู่การอยู่ภายใต้ระบบที่ คสช.สร้างขึ้นเช่นนั้นหรือ โดย คสช.ก็แยกไม่ออกจาก ปชป.และ กปปส. เช่นวาทกรรม "คืนความสุข" ที่ คสช.นำมาใช้ในการทำรัฐประหาร 2557 ก็คือวาทกรรมที่ ปชป.เคยใช้ในการสลายการชุมนุม 2553 และ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ที่ คสช.นำมาใช้ ก็คือวาทกรรมที่ใช้ในการเคลื่อนไหวชุมนุมของ กปปส.ที่เป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร

แน่นอน สิ่งที่ทักษิณทำมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไขตามระบบ แต่ถึงอย่างไรยุคทักษิณยังมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมี ยุคยิ่งลักษณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถามว่าเราจะก้าวข้ามทักษิณเพื่อมาสู่ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเช่นนั้นหรือ

ที่จริงแล้วสังคมเรามีศักยภาพที่จะก้าวข้ามทักษิณไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าได้ แต่ไม่ใช่การเดินตามแนวทางของ คสช.,ปชป.,กปปส.อย่างแน่นอน เพราะนี่เป็นแนวทางที่ไม่ได้ดีไปกว่าทักษิณ มันเป็นวิถีของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นโรคกลัวการเลือกตั้ง เพราะกลัวทักษิณ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำให้ความนิยมทักษิณในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ลดลงหรือหมดไปได้ 

แต่พวกเขากลับไม่เคยเรียนรู้ว่า การเอาชนะทักษิณด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และการสร้างระบบกลไกทางกฎหมายและอื่นๆ ให้พวกตนได้เปรียบ หรือ "ไม่ฟรีและแฟร์" นั่นเองที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้คนส่วนใหญ่ยังนิยมทักษิณ หรือยังชูทักษิณเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ แม้ว่าตัวทักษิณเองจะไม่ใช่สัญลักษณ์ของนักการเมืองที่สู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่เขาก็ยืนยันที่จะต่อสู้กับคู่แข่งทางการเมืองภายใต้กติกาประชาธิปไตย  

จะว่าไปแล้ว แม้แต่คนที่ไม่นิยมทักษิณก็รู้ๆ กันทั้งนั้นว่า วิถีที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยและการสร้างระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์ มันคือการนำสังคมดิ่งลงเหวมากกว่ายุคทักษิณ 

ปัญหาของสังคมการเมืองไทยวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องก้าวข้ามทักษิณ แต่เป็นเรื่องที่ต้องก้าวข้ามวิถีการเมืองที่ไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์ที่สร้างขึ้นจากวิถีที่ไม่ชอบธรรมนั้น

 
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

อุดมศึกษา: การลงทุนที่สูญเปล่าในโลก 4.0

Posted: 13 Aug 2018 04:21 AM PDT

ถ้าเราดูแนวทางการบริหารจัดการการศึกษาของประเทศฟินแลนด์แล้วก็จะเห็นว่า ช่างแตกต่างเหมือนฟ้ากะเหวกับแนวทางการบริหารจัดการการศึกษาของประเทศไทย

แนวทางหรือวิธีการคิด วิธีการปฏิบัติ ในการจัดการการศึกษา ดังกล่าวก็คือ การที่ทางการฟินแลนด์เน้นให้ความสำคัญกับการเรียน การสอนในระดับปฐมวัย คือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มากกว่าในระดับกลาง (มัธยม) หรือระดับปลาย (อุดมศึกษา)

ด้วยแนวคิดที่ก้าวไกล ในยุค 4.0 จะเห็นว่าทางการฟินแลนด์เอง มองทิศทางการศึกษาในอนาคตของมนุษยชาติทั่วโลกว่า ส่อไปทิศทางที่จะมีการศึกษาแบบ  "สามัญลักษณ์" มากขึ้น กล่าวคือ มันแทบจะไม่มีระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเหลือให้เห็นในอนาคต

ก็หมายความว่า การศึกษาขั้นอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่เราเห็นๆ กันทุกวันนี้ ในอนาคตจะล้มหายตายจากหรือปลาสนาการไปเสียแทบทั้งสิ้น จนคุณอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่า เด็กที่เติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ กำลังอยู่ในวัยรุ่น ที่กำลังศึกษาแบบเดียวกับผู้คนในปัจจุบันจะหลงเหลือการศึกษาแบบเดิมคือแบบปัจจุบันเหลืออยู่

เรื่องนี้ เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์คือตัวการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยจะไม่ต่างจากฟิล์มถ่ายรูปหรือเทปคาสเซ็ท ซีดี หรือสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษ แค่อาจไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ รูปแบบการศึกษาแบบปัจจุบันที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัย จะสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย นี่เป็นเรื่องที่ทางการฟินแลนด์ แม้แต่กระทรวงการศึกษาธิการของรัฐบาลอเมริกันคิดไว้ ถึงเวลานั้นก็จะคนออกมาพูดว่า Universities are dead หรือมหาวิทยาลัยตายแล้ว

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกกำลังดิ้นหนีตาย แต่เอาล่ะในเมื่อมันเป็นไปตาม  อยู่แล้ว ก็ในเมื่อมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับตัวได้ หนทางแห่งวิบัติหายนะย่อมมาถึงในไม่ช้าก็เร็ว

เทคโนโลยีเอไอได้ช่วยอย่างมากในการทุบทำลายกำแพงสูงลิ่วระหว่างห้องเรียนกับประชาชนทั่วไป แม้แต่ ม.ฮาเวิร์ดเองก็ออกมายอมรับแล้วว่า มหาวิทยาลัยของเขาที่ตั้งมายาวนาน ไม่รู้จะอยู่ไปได้สักกี่ปี นับประสาอะไรกับมหาวิทยาลัยกระป๋องของไทยที่เปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาหอคอย ประชาชนชาวบ้านธรรมดาเอื้อมไม่ถึงอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ด้วยหลักสูตรประหนึ่งการต้มตุ๋น เลียแข้งเลียขาเข้าไปเป็นอาจารย์ ขาดการนำองค์ความรู้มาใช้ในชีวิตจริงประจำวัน และอาจารย์ที่แทบไม่ได้ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาสังคมหรือชุมชนอะไรเลย อาจารย์ไม่ต่างจากพวก Monkey suit ยังไงยังงั้น ส่วนใหญ่โตมากับระบบท่องจำ

การที่รัฐบาลฟินแลนด์หันมาเน้นการพัฒนาการศึกษาในระดับปฐมวัยนั้นก็เนื่องจากเห็นความล้มละลาย ของมหาวิทยาลัยอยู่ในกาลข้างหน้า มหาวิทยาลัยที่ตอนนี้คือส่วนเกินของสังคม ผลาญทรัพยากรของชาติจำนวนมาก ส่วนที่เสียไปไม่คุ้มกับผลที่ได้รับกลับคืนมา ดังนั้น จะเห็นว่าเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลฟินแลนด์ตลอดหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมาคือ การเน้นการพัฒนาการศึกษาในระดับปฐมวัยมากที่สุด ส่งผลให้ค่าตอบแทนวิชาชีพครูในระดับอนุบาลหรือระดับประถมศึกษาสูงกว่าอัตราค่าจ้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หมายความว่า เขาให้ค่าครูอนุบาลมากกว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ผมคุยกับเพื่อนชาวฟินแลนด์เขาเล่าว่า การศึกษาในระดับปฐมวัยสำคัญที่สุด มากกว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นการตั้งตนหรือเริ่มต้นเป็นตัวเป็นตนของคนคนหนึ่งหรือชีวิตหนึ่ง แค่เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ เขาก็สามารถช่วยเหลือตัวเองทางการศึกษา ไม่แปลกที่หลักสูตรของบางรัฐบาลในยุโรป ( เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น) ถึงขนาดสอดวิชาปรัชญาไว้ในการศึกษาระดับประถมด้วยซ้ำ เพราะเขาเชื่อว่าการให้เด็กคิดเป็นและเป็นตัวของตัวเองคือสิ่งสำคัญสุด เด็กควรได้รับการหล่อหลอมปลูกฝังลักษณะความคิดเชิงการเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองคิด กล้าท้าทายอาจารย์ผู้สอน กล้าท้าทายโลก ท้าทายสังคมที่เป็นอยู่ การต่อยอดอารยธรรมของมนุษย์หรือนวัตกรรมในประเทศที่สนับสนุนแนวทางการศึกษาแบบนี้ จึงเกิดนวัตกรรมขึ้นแทบไม่ว่างเว้น

ต่างจากประเทศไทยที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับการศึกษาแบบ 4.0  แถมยังบ้าเห่อดีกรี วุฒิการศึกษากันอย่างบ้าคลั่ง ดอกเตอร์ล้นประเทศ เพื่อมีชื่อในฎีกางานบุญประจำปี

แนวทางปฏิบัติในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลกเวลานี้ เพราะเน้น "สามัญลักษณ์" ความเป็นมนุษย์หรือมนุษยนิยม คือเชื่อว่า การให้การศึกษาไม่ควรยัดเยียดให้กับผู้เรียน จนผู้เรียนเกิดความเครียด ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทุกวันนี้รัฐบาลอเมริกันเองก็กำลังศึกษา "ฟินแลนด์โมเดล"เพื่อนำมาปรับในส่วนที่ยังเป็นข้อด้อยของตนเองด้วยซ้ำ

ความจริงระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น ในเชิงการปฏิบัติ เช่น การแยกสายสามัญ สายอาชีพหรืออาชีวะ แต่ความสำคัญอยู่ที่เมื่อถึงเวลาหรือขั้นตอนที่จะแยก  เด็กหรือผู้เรียนมีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเองแล้วว่าตนเองถนัดจะเรียนด้านไหน โดยไม่ต้องคล้อยตามความเห็นครูหรือผู้ปกครอง และบทบาทของครูแนะแนวไม่ใช่แบบเดียวกับการแนะแนวในประเทศไทย แต่ครูแนะแนวที่นั่นจะแนะนำเด็กจากความถนัดหรือความสามารถของตัวเด็กเอง คนแนะแนวได้จึงต้องมีข้อมูลเชิงลึกของตัวเด็กแต่ละคน ต้องหารือร่วมกับผู้ปกครอง แนะนำ แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องพิจารณาเลือกแนวที่ตนถนัดไม่ใช่เห่อไปตามกระแสอาชีพนิยมหรือกระแสสังคมต้องการ

เพราะพื้นฐานตอนปฐมวัยของเด็กได้รับการปูพื้นไว้แน่นนั่นเอง การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไป ตราบใดที่เด็กหรือเยาวชนสามารช่วยเหลือตนเองได้ ตราบนั้นพวกเขาก็จะไม่เป็นภาระของสังคมหรือภาระของรัฐบาลอีกต่อไป และปัญหาสังคมก็จะพลอยลดน้อยตามลงไปด้วย พวกเขาเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อพร้อมและช่วยเหลือตัวเองได้

สามัญลักษณ์ของมนุษย์เชิงการศึกษา ไม่ใช่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และไม่ใช่ห้องเรียนแคบๆ  หากมันคือชีวิตจริง เรียนรู้ได้ในชีวิตประจำวันตะหาก เรียนรู้จากเอไอ เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่จากสภาพแวดล้อมหรือสังคมรอบตัวของพวกเขา

การใส่ใจเด็กในปฐมวัยหรือไม้อ่อน จึงสำคัญมากกว่าเด็กโตแล้วหรือไม้แก่ในระดับมหาวิทยาลัย พวกหลังนี้ดัดยากแล้ว ต้องลงทุนลงแรงมาก ไม่แปลกที่อาชีพฮิตส่วนหนึ่งของชาวฟินแลนด์ก็คือ อาชีพครูอนุบาลหรือครูสอนประถม พวกเขาจำนวนหนึ่งเงินเดือนแพงกว่าอาชีพพ็อพปูล่าของโลกอย่างอาชีพหมอเสียอีก ผู้มีคุณสมบัติต้องจบการศึกษา ป.โท ขึ้นไปเท่านั้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยที่นั่นน่ะหรือ ชิดซ้ายไปเลย !!!

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

Regulatory Sandbox: เมื่อกฎหมายสร้างกระบะทราย !

Posted: 13 Aug 2018 03:53 AM PDT

ในโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวนที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ในขณะที่กฎหมายถูกตราขึ้นจากประสบการณ์ในอดีต

และโดยทั่วไปแล้วถูกใช้เพื่อควบคุมกำกับดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีตทำให้ความสามารถในการคาดการณ์หรือพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตมีอยู่อย่างจำกัด อำนาจของกฎหมายในการควบคุมความเป็นไปของสังคมจึงถูกลดทอนลงเป็นอันมาก ประกอบกับการปรับตัวของกฎหมายที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าและเต็มไปด้วยข้อจำกัด เราจึงพบปัญหาว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบจำนวนมากล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

จากปัญหาการมีกฎหมายหรือระเบียบจำนวนมากที่มีความสลับซับซ้อนและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ซับซ้อนล้าสมัยก็เป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับแนวคิดทางธุรกิจหรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่อาจฝ่าฝืนต่อกฎระเบียบที่มีอยู่ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ที่ไม่มีการควบคุมกำกับดูแลที่ดีเพียงพอก็อาจก่อความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้างได้ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในการสร้างกลไกทางกฎหมายแบบใหม่ ๆ ให้มีความยืดหยุ่นและทันต่อความเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการสร้างกลไกที่เรียกว่า "Regulatory Sandbox" เพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคในทางกฎระเบียบที่มีต่อการสร้างนวัตกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ประเทศแรกที่ได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้คือประเทศอังกฤษ โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลทางด้านการเงิน (The UK Financial Conduct Authority – FCA) ได้ประกาศนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมโดยการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจการให้บริการทางการเงิน หรือที่เรียกอย่างย่อ ๆ ว่า FinTech โดย FCA ยอมรับว่ามีความเสี่ยงหรืออุปสรรคในทางกฎระเบียบที่บรรดาผู้ประการทั้งหลายต้องเผชิญอยู่ และได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจปัญหาภายใต้กรอบของกฎระเบียบที่มีอยู่ร่วมกัน จนนำไปสู่การสร้างกลไก Regulatory Sandbox ขึ้นและได้ทดลองใช้ในปี 2016 นอกเหนือจากประเทศอังกฤษแล้ว ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย ก็ได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้เช่นกัน

Regulatory Sandbox คือ สนามทดสอบสำหรับแนวคิดทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่เป็นการทดสอบในตลาดจริง ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจหรือการประกอบการที่ถูกควบคุม โดยผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย หากว่าแนวคิดทางธุรกิจหรือนวัตกรรมที่คิดสร้างขึ้นนั้นขัดกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ ทำให้ลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนแน่นอนของกฎระเบียบให้แก่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุน โดยเฉพาะในธุรกิจที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบควบคุม ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลก็จะได้เรียนรู้ว่ารูปแบบทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำงานภายใต้ตลาดจริงอย่างไร เพื่อที่จะได้ทราบว่ากฎระเบียบในปัจจุบันนั้นมีช่องว่างหรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อันจะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยต่อไป

การเลือกใช้คำ Regulatory Sandbox เป็นการเปรียบเทียบกับ "กระบะทราย" สำหรับเด็กใช้เล่น ภายในกระบะทรายเด็ก ๆ สามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ปั้นแต่งทรายให้เป็นรูปร่างต่างๆ อย่างไรก็ได้โดยไม่จำต้องกังวลต่อข้อจำกัดในความเป็นจริง แต่ยังคงอยู่ภายในขอบเขตที่ได้รับการดูแล
แม้ว่ากลไก Regulatory Sandbox จะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1) เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะในแต่ละกรณี (case by case rules) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอหรือแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการ มิใช่การกำหนดกฎเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้กับผู้ประกอบการทุกราย (one size fits all)

2) การทดสอบในตลาดจริงนั้นจะมีข้อจำกัด เช่น จำกัดจำนวนกลุ่มผู้บริโภค จำกัดระยะเวลาของการทดสอบ หรือต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และ

3) มีการผ่อนปรนหรือยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายหรือกฎระเบียบในบางกรณี เช่น ออกใบอนุญาตให้แบบมีเงื่อนไข มีข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการที่ร่วมทดสอบ ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องกับโครงการที่ผู้ประกอบการเสนอ รวมถึงการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่จำเป็น

ในปี 2017 FCA ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับบทเรียนที่ได้จากการนำกลไก Regulatory Sandbox มาใช้บังคับ ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่ากลไกดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ที่ได้นำเข้าสู่ตลาดบริการทางด้านการเงิน เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการเดิมต้องพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงินแข่งขันกับผู้ที่เข้ามาสู่ตลาดใหม่ ๆ
นอกจากธุรกิจบริการด้านการเงินแล้ว กลไก Regulatory Sandbox ยังสามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมนวัตกรรมในธุรกิจประเภทอื่นได้อีก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากแต่มีการควบคุมกำกับดูแลในเชิงกฎระเบียบที่เข้มข้น เช่น ธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการเกษตร เป็นต้น

หาก Regulatory Sandbox สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีประสิทธิภาพจริงก็อาจจะทำให้รัฐต้องปรับเปลี่ยนกรอบวิธีคิดในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยนัยนี้ เครื่องมือดังกล่าวจะเป็นกลไกที่เชื่อมระหว่างผู้ลงทุนหรือนักสร้างนวัตกรรมกับหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการและลดความกังวลใจของนักลงทุน อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้แก่หน่วยงานของรัฐและผู้กำหนดนโยบายอันจะนำไปสู่การพัฒนากฎระเบียบให้ทันสมัยต่อไป

แม้ว่า Regulatory Sandbox จะยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และยังคงมีข้อถกเถียงบางอย่างในเชิงหลักการของกฎหมายอยู่ แต่อย่างน้อยโมเดลทางกฎหมายชนิดนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็นได้ว่า ในขณะที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของนวัตกรรม รัฐเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างนวัตกรรมในการควบคุมกำกับดูแลหรือนวัตกรรมในทางกฎหมายเช่นกัน.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645267

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นร.ฆ่าตัวตาย: หยุดตายดั่งขนนกเถอะ

Posted: 13 Aug 2018 03:22 AM PDT

ที่ผ่านมา มีข่าวนักเรียนฆ่าตัวตายบ่อยๆ ทั้งโดดตึก การฆ่าตัวตายเกิดจากความเศร้า  แต่แท้จริงแล้วควรปลูกฝังให้เด็กคิดใหม่ ชีวิตไม่ใช่ของเราคนเดียว ยังเป็นของประชาชน มีพันธกิจต่อชาติ

เฉพาะในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2561มีข่าวเด็กฆ่าตัวตาย 7 รายที่มีข่าวในสื่อ ได้แก่: 

18 มกราคม: หนุ่มม.5 ใช้ปืนพ่อยิงตัวตายคาศาลาโรงเรียน เหตุถูกแฟนสาวรุ่นพี่บอกเลิก [อ่าน]

21 มีนาคม: เพื่อนนร.แห่อาลัย! ม.1 น้อยใจผูกคอฆ่าตัวตาย ยังช็อกเล่านาทีครูตีไม่เรียวหัก [อ่าน

29 มีนาคม: ศิริราช แจง ไม่ได้ปิดข่าว นศ.แพทย์ฆ่าตัวตาย [อ่าน]

3 เมษายน: เด็ก ม.6 สอบติดมหาวิทยาลัยแม่ไม่มีเงินให้เรียนต่อ…เกิดอาการน้อยใจยิงหัวฆ่าตัวตาย [อ่าน]

27 เมษายน: สาว 16 เฟซบุ๊กไลฟ์ฆ่าตัวตายปมผิดหวังเรื่องความรัก [อ่าน]

2 พฤษภาคม: สลด ด.ช. 11 ขวบ ผูกคอคาห้องน้ำปั๊ม ซึมเศร้าหลังพ่อฆ่าตัวตาย [อ่าน]

10 สิงหาคม: แห่ไว้อาลัย "น้องโอม" เด็ก ม.6 โดดตึก เผยสาเหตุโดนล้อว่าอ้วน-เป็นโรคซึมเศร้า  [อ่าน]

นอกจากนี้ยังมีความพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ เช่น 18 มกราคม: "นาทีเป็นนาทีตาย! เด็กชายวัย 13 ปี เครียดสาวไม่รับของขวัญ จะฆ่าตัวตาย" [อ่าน] และ 27 เมษายน: "เกลี้ยกล่อม ด.ญ.วัย 13 ขึ้นไปบนดาดฟ้ารพ. หวังฆ่าตัวตาย อ้างเครียดเรื่องทางบ้าน" [อ่าน]  ที่ผ่านมามีข่าวว่า "สลด! วัยรุ่นไทยฆ่าตัวตาย 170 คน/ปี สาเหตุหลักปัญหาหัวใจ" [อ่าน] หรือราวๆ วันเว้นวัน ส่วนในต่างประเทศก็มีข่าวเช่น "ผลวิจัยชี้วัยรุ่นมะกัน 1 ใน 25 พยายามฆ่าตัวตาย" [อ่าน]

สำหรับสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น "ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น ครอบครัว หรือเพื่อน เหตุกระตุ้นอื่นได้แก่ ปัญหาที่โรงเรียน การถูกอบรมสั่งสอนหรือลงโทษ การขาดเพื่อนหรือการถูกปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือถูกทำให้เสียหน้า ปัญหาการติดยาเสพติดหรือเหล้า การถูกกระทำทารุณทั้งการถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงเกินทางเพศ การสูญเสียบุคคลที่รัก. . .อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ของวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายไม่มีเหตุผลกระตุ้น ซึ่งมักจะพบในวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า. . .[อ่าน]  ดังนั้นสาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตายคงไม่ใช่เพราะโรคซึมเศร้า  อย่างไรก็ตามการตายแบบนี้ถือเป็นการตายที่ไม่มีคุณค่า "เบาอย่างขนนก" หรือ "เบากว่าปุยนุ่น" ไม่ใช่ความตายที่ "หนักแผ่นดั่งขุนเขา หรือเป็นความตายที่มีฆ่าที่สละชีพเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อชาติหรือมนุษยชาติ
 
การลดทอนจำนวนการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นจึงควรให้การศึกษาตั้งแต่แรกให้เห็นว่า การที่เราได้เรียนหนังสือมาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษานั้น เราเป็นหนี้ประชาชนคนเล็กคนน้อยอย่างมหาศาล  เรายังไม่ได้ทดแทนบุญคุณประชาชนเลย จะตายได้อย่างไร  ผมเคยทำการวิเคราะห์งบประมาณการศึกษาพบว่า จำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ณ ปี 2556 มีถึง 13,606,743 คน ในแต่ละปีรัฐบาลใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ งบประมาณด้านการศึกษาในปี 2556 คิดเป็นเงินถึง 493,892 ล้านบาท โดยนัยนี้ นักเรียนนักศึกษาคนหนึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อการศึกษาเป็นเงินถึง 36,298 บาท  ถ้าเรียนมา 10 ปีก่อนฆ่าตัวตายก็เป็นเงินประมาณ 362,980 บาท [13]

หนี้บุญคุณประชาชนนี้มาจากประชาชนคนเล็กคนน้อยเป็นสำคัญ ภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น  นั่นเป็นความเข้าใจผิด จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2,571,421 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 23% ของภาษีทั้งหมด ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 27%. . . อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีทางอ้อมต่าง ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย

โดยนัยนี้ ผู้ที่มีบุญคุณต่อนักเรียนนักศึกษามากที่สุดก็คือประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีผ่าน VAT และอื่น ๆ มากกว่าคหบดีที่อ้างตนว่าเสียภาษีทางตรงเฉพาะรายสูงกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของเราจึงควรมุ่งไปที่การรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แนวคิดการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชนนั้น แทบไม่เคยมีใครสอนในสถาบันการศึกษา  เราต้องมีหลักยึดที่การทำดีต่อชาติและประชาชน มุ่งสร้างสรรค์ให้ดี 

ถ้าเรามีจิตสำนึกที่ยิ่งใหญ่เพื่อชาติและประชาชน เราก็จะไม่เป็นพวกที่ดูแต่ตัวเอง (Self-centredness) หรือหลงไหลได้ปลื้มกับความสุขสนุกสนานชั่วแล่น (Hedonism) และกลายเป็นคนที่ "พอถูกตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ (เจ็บปวดนึกถึงแต่ตนเอง) จนลืมโลกไปได้ทั้งโลก" โอกาสที่จะฆ่าตัวตายก็จะน้อยลง  เพราะเรายังไม่ได้ทดแทนบุญคุณของประเทศชาติและประชาชนเลย

ในท้ายนี้ขอมอบเพลง 'ความตาย' ซึ่งเป็นคำร้องของ "จิ้น กรรมาชน" และขับร้องโดย "ตี้ กรรมาชน" ที่มีใจความว่า:

ชีวิตคนนั้นมีมาก แต่เป็นคนยากหนักหนา
ตายเพื่อประชา หนักกว่าภูผา ชีวาสูงค่า
มวลประชา เทิดไว้ความดี

แต่บางคน ใจอำมหิต กดขี่คน ขูดรีดประชา
ตายอย่างขนนก เบากว่าแรงใด ชีวาไร้ค่า
ปวงประชา จะเอาขึ้นศาลลงทันฑ์

ความตาย...อย่างมีค่า 
ความตาย...หนักกว่าภูผา 
ชีวา...ยอมสละ..เพื่อมวลชน

คลิปเพลง: https://www.youtube.com/watch?v=ytqHFDSh_dw&app=desktop

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หวั่นกระทบใจเด็ก เพจจิตแพทย์ฯ แนะวันแม่หากิจกรรมอื่น ดีกว่า 'กราบเท้า สวมกอด'

Posted: 12 Aug 2018 10:06 PM PDT

เพจ 'สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย' โพสต์ถาม 'งานวันแม่ จำเป็นแค่ไหน' ชี้กิจกรรม กราบเท้า สวมกอด' ที่โรงเรียนจัด อาจกระทบใจในเชิงลบกับเด็กหลายๆ คน มากกว่าผลทางบวกกับเด็กจำนวนหนึ่ง แนะหากิจกรรมอื่นดีกว่า

ภาพจาก Issariya Sukkeepun

เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย' โพสต์ข้อความหัวข้อ 'งานวันแม่ จำเป็นแค่ไหน' โดย หมอมีฟ้า ระบุว่า ช่วงวันที่ 12 ส.ค. โรงเรียนต่าง ๆ มักจะมีการจัด "งานวันแม่" เชิญให้คุณแม่มารับการ์ดอวยพร หรือ พวงมาลัยจากลูก ๆ สมัยหมอเป็นเด็ก บรรดาคุณแม่จะนั่งเก้าอี้ ส่วนเด็ก ๆ จะนั่งที่พื้น มีการกราบเท้า สวมกอด

"หมอจำได้ค่อนข้างแม่นว่า จริง ๆ แล้วแม่ไม่สะดวกจะมาร่วมงานเท่าไหร่ เพราะต้องแว้บมาจากที่ทำงาน แต่จำไม่ได้ว่า มีเพื่อนคนไหนไหม ที่คุณแม่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ แล้วเขาเป็นยังไงบ้าง มาถึงวันนี้ที่ต้องทำงานกับคนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของบาดแผลจากความสัมพันธ์ในวัยเด็ก (attachment trauma) หมอก็เริ่มเกิดคำถามในใจว่า งานวันแม่ที่โรงเรียนในลักษณะที่กล่าวมา มีผลกระทบทางใจในเชิงลบกับเด็กหลาย ๆ คน มากกว่าผลทางบวกกับเด็กอีกจำนวนหนึ่งหรือเปล่า เพราะสำหรับคนที่สนิทกันดีกับแม่ เขาก็คงจะหาโอกาสแสดงความรักความขอบคุณได้ไม่ยากอยู่แล้ว" แฟนเพจ 'สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย' โพสต์

แล้วสำหรับเด็กคนอื่นๆ เด็กที่อยู่กับญาติ หลังจากพ่อแม่แยกทางกันแล้วต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่ เด็กที่แม่ทอดทิ้งทางอารมณ์ จนรู้สึกว่าสนิทกับพี่เลี้ยงมากที่สุด หรือรู้สึกว่าไม่มีใครรับฟังเท่าสุนัขที่เลี้ยง เด็กที่แม่ลำเอียง ปฏิบัติตัวกับพี่หรือน้องคนอื่นของเขาดีกว่าอย่างชัดเจน  เด็กที่ถูกแม่ลงโทษด้วยวิธีรุนแรงบ่อย ๆ หากทำอะไรไม่ถูกใจ ไม่ใช่ทำอะไรผิด เด็กที่แม่กำลังป่วยหนัก ระยะสุดท้าย หรือ เสียชีวิตแล้ว ฯลฯ

"เด็ก ๆ เหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรที่บาดแผลในใจต้องถูกย้ำด้วยบรรยากาศของงาน ยกเลิกธรรมเนียมเดิม ๆ แล้วมีกิจกรรมแบบอื่นแทน ถ้าคิดว่าจำเป็น แทนได้ไหม อาจจะเป็นการเขียนเรียงความ ในหัวข้อเกี่ยวกับแม่ ที่เหมาะกับวัยของเด็ก และไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องเขียนแต่เรื่องดี ๆ เช่น สิ่งที่ฉันอยากบอกแม่ , สิ่งแรกที่ฉันนึกถึงเมื่อคิดถึงแม่ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคุณครูในการทำความเข้าใจนักเรียนได้มากกว่า" หมอมีฟ้า โพสต์ พร้อมเสนอว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรืองานอะไรอยากให้ทางโรงเรียนทบทวน "จุดประสงค์ที่แท้จริง" ของงานนั้น เพื่อจะได้เลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับบริบทของผู้ร่วมงานทุกคน

ขณะที่เวิร์คพอยด์นิวส์ รายงานโดยอ้างถึงข้อมูลจากข้อมูลจากยูนิเซฟ ประเทศไทย ว่า  เด็กไทย 3 ล้านคนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งมีชั่วโมงทำงานไม่แน่นอนและเปราะบางต่อการถูกเลิกจ้าง 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น