โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

รื้อคดีเก่าขู่จับนิสิตเกษตร เหตุติดป้าย 'ไม่ต้อนรับเผด็จการ คสช.'

Posted: 30 Aug 2018 08:20 AM PDT

ที่มาภาพ: Facebook Banrasdr Photo

วันนี้ (30 ส.ค. 2561) มีรายงานข่าวว่า สน.บางเขน ได้ออกหมายเรียก นิสิต-นักศึกษา 7 คน จากการจัดกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์หลักสี่ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559 หรือกว่าสองปีที่ผ่านมา หมายเรียกจาก สน.บางเขน ระบุข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม

หมายเรียกระบุให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คน ได้แก่ น.ส.อรัญญิกา จังหวะ, นายเกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย, น.ส.สุทธิดา วัฒนสิงห์, นายกานต์ สถิตศิวกุล, นายอุทัย ช่วยตั้ว, นายคุณภัทร คะชะนา, และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ไปพบพนักงานสอบสวน ที่ สน.บางเขน ในวันที่ 5 ก.ย. 2561 เวลา 9.00 น.


หมายเรียกจาก สน.บางเขน ที่นิสิตเกษตรได้รับลงวันที่ออก 29 กันยายน 2561
แต่ให้นิสิตมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 5 กันยายน 2561

อรัญญิกา จังหวะ นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 ในผู้ถูกแจ้งข้อหาเล่าว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เวลาประมาณเก้านาฬิกา ซึ่งเป็นเวลานัดหมายในการทำกิจกรรม "24 มิถุนา ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยแค่เดินเข้าไปที่วัดพระศรีฯ แล้วเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาคุย สกัดกั้นไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรมและจับตัวนิสิต-นักศึกษา 7 คน ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ สน.บางเขน โดยไม่ให้ทนายความเข้าพบผู้ต้องหาและได้ยึดโทรศัพท์มือถือไป

อรัญญิกา ตั้งข้อสังเกตุว่า คดีนี้เงียบหายไปสองปีเศษ แต่เข้าใจว่าที่ตำรวจเอามาเป็นเรื่องออกหมายเรียกเนื่องมาจากได้มีการทำกิจกรรมติดป้ายแจกใบปลิว ไม่ต้อนรับเผด็จการ คสช. จากที่มีข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาที่ ม.เกษตรศาสตร์ ในวันที่ 22 สค.ที่ผ่านมา และการรณรงค์ค้านการออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


ภาพจาก FacebooK กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์

เวลาประมาณ 20.30 น. กลุ่มกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่าการทำกิจกรรมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและตั้งข้อสังเกตว่าการรื้อฟิ้นดำเนินคดีในเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วกว่าสองปี มีเหตุจากการทำกิจกรรมติดป้ายผ้าและแจกใบปลิวไม่ต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

แถลงการณ์กรณีออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดี 'ปัดฝุ่นประชาธิปไตย'

เนื่องจากในวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากกรณีที่กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ได้จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ วงเวียงหลักสี่ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนในวันที่ 5 กันยายน 2561 

ในนามของกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ขอยืนยันว่าการจัดกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยหลักการ วิถีทางประชาธิปไตยและไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง กิจกรรมของกลุ่มเป็นกิจกรรมรำลึกเนื่องในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะกระทำได้ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 ที่บัญญัติไว้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ถือว่าเป็นกฎหมายเพราะขัดกับหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวมา 

ดังนั้นแม้จะมีความพยายามในการใช้ประกาศหรือคำสั่งต่างๆที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมในการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน เรายังคงยืนยันในความบริสุทธิ์และพร้อมที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป อีกทั้งทางกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการออกหมายเรียกในครั้งนี้ด้วยว่าเกี่ยวข้องกับกรณีที่ทางกลุ่มฯ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดป้ายผ้าและแจกใบปลิวไม่ต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปี กว่าที่ผ่านมาคดีความไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดแต่กลับมีการดำเนินการอย่างเร่งรีบภายหลังจากมีกิจกรรมของทางกลุ่มฯ

ดังนั้นถ้ามีความคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ทางกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จะแจ้งให้ทราบผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊ค กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ต่อไป พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ยังศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงต่อสู้อยู่ในกระบวนการประกาศคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมมา ณ ที่นี้ด้วย

กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์
30 สิงหาคม 2561

 
ภาพจาก FacebooK กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ดูเลือกตั้งกับอินเทอร์เน็ตรอบไทย เมื่อ ‘กกต. - คสช.’ ส่งสัญญาณคุมโซเชียลมีเดีย

Posted: 30 Aug 2018 07:08 AM PDT

ดูอินเทอร์เน็ตกับการเมืองช่วงเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้านหลังเลขาฯ สำนักงาน กกต. และวิษณุ เครืองาม ส่งสัญญาณคุมพรรคการเมืองกับการใช้โซเชียลมีเดีย และระเบียบเลือกตั้งอิเลกทรอนิกส์ หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาชี้ นิยาม 'สื่อ' กำกวม หวั่นล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคล

สัปดาห์นี้มีคำบอกใบ้บางอย่างจากแวดวงการเมืองในกรณีการเลือกตั้งกับโซเชียลมีเดีย เริ่มต้นจากเมื่อวันจันทร์ที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. พูดถึงความคืบหน้าการยกร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า หลักการของร่างฯ จะพิจารณาขอบเขต แนวทางการหาเสียงของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้ใดว่าจะดำเนินการในลักษณะใดในทางอิเล็กทรอนิกส์บ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่ใช่อาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือกระทำความผิด ใส่ร้ายป้ายสี หรือโฆษณาหาเสียงเกินความจำเป็น

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาคลายล็อกพรรคการเมืองว่าตอนนี้ที่ประชุมเห็นชอบคลายล็อกการเมืองและเรื่องอื่นรวม 6 ข้อใหญ่ ส่วนในเรื่องการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียนั้นที่ประชุม คสช. ยังไม่ได้หารือ แต่จะแก้ไขคำสั่งให้พรรคการเมืองติดต่อกับสมาชิกพรรคได้ทางโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกนั้นถือเป็นการหาเสียง เฟซบุ๊กเองก็ไม่สามารถเปิดเป็นสาธารณะได้เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าสู่วิธีการหาเสียง

ความสำคัญของโซเชียลมีเดียในยุคนี้มีความสำคัญต่อการเมืองอย่างชัดเจน อย่างที่เห็นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 ที่บริษัทที่เป็นที่ปรึกษาในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำและจัดส่งข้อมูลลวงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกับการเลือกตั้งประธานาธิบสหรัฐฯ

ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ

ตัวอย่างใกล้ตัวคือการเลือกตั้งมาเลเซียเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน และแนวร่วมพรรครัฐบาลต่างหาเสียงทางโซเชียลมีเดียอย่างแข็งขัน แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านใช้การไลฟ์สดการปราศรัยคืนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ในขณะที่พรรครัฐบาลใช้การถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ของรัฐ แม้บอกไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลมากน้อยเพียงใดต่อชัยชนะของแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย มหาเธร์ โมฮัมหมัด แต่มันมีความสำคัญแน่นอนในประเทศมาเลเซียที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 77

วงถกเลือกตั้งมาเลเซียชี้ สื่อโซเชียลและความเบื่อมีผล 'มหาธีร์'พลิกชนะรัฐบาล

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2559 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานเฟสบุ๊กที่มีอายุ 18-65 ปีถึง 41 ล้านบัญชี ผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มพูดถึงปัญหาหรือแนวนโยบายที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนแคมเปญหาเสียงจะเริ่มแล้ว และเป็นพื้นที่ที่นักการเมืองคนไหนพลาดก็พร้อมจะถูกทำให้ 'ไวรัล' และถูกกระทืบซ้ำ ทำให้เป็นตัวตลกทันที เช่น แมนนี ปาเกียว ตำนานนักมวยเจ้าของแชมป์มวยสากล 8 รุ่น ผู้สมัครวุฒิสมาชิกไปพูดไม่ชัดเจนกับกลุ่มชายรักชาย ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไร้ประสบการณ์ทางการเมือง และถูกสปอนเซอร์ทางการเงินถึงกับถอนตัว อีกกรณีคือผู้สมัครวิดีโอของผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดี เลนี โรเบรโดเดินทางไปเข้าประชุมรัฐสภาด้วยรถประจำทางที่ได้รับความสนใจเยอะมาก

คณะกรรมการการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์เล็งเห็นบทบาทของโซเชียลมีเดีย จึงจัดให้เผยแพร่โต้วาทีของผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีผ่านทั้งทางสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และออนไลน์ โดยเวทีโต้วาทีทั้งสองตำแหน่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการทวีตที่เกี่ยวข้องกับโต้วาทีตำแหน่งรองประธานาธิบดีถึง 310,000 ทวีตในทวิตเตอร์ในเวลาสี่ชั่วโมง ชาวเน็ตต่างล้อเลียนผู้สมัครที่ชื่อฟรานซิส เอสกูเดโรที่มีท่าทางแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์แถมยังพูดเป็นโทนเดียว การโต้วาทีของผู้ลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้เปิดโอกาสให้ชาวเน็ตส่งคำถามเข้ามาร่วมได้ และมียอดทวีตที่มีแฮชแท็ก #PilipinasDebates2016 สูงถึง 1.9 ล้านทวีตเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยที่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2554 (ไม่นับ 2 ก.พ. ที่เป็นโมฆะ) ซึ่งถือเป็นช่วงรุ่งอรุณของโซเชียลมีเดียจะจัดการกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างไร เพราะการเคลื่อนไหวในหน้าจอนั้นจะมีผลกับทิศทางของการเมืองในโลกความเป็นจริงแน่นอน

โซเชียลมีเดียในฐานะ 'สื่อ' แยกยากจากตัวปัจเจกบุคคล

ถ้าเราพูดถึงโซเชียลมีเดียในฐานะที่มันเป็นสื่อในทางกว้างๆ ก็คือตัวกลางที่มนุษย์ใช้ส่งสารให้มนุษย์อีกคน การกำกับการหาเสียงทางอิเลกทรอนิกส์ในยุคที่ใครๆ ก็ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการทำให้ตัวเองเป็นสื่อกันทั้งนั้นย่อมมีความกำกวมและอาจล้ำเส้นมาถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก

พูดถึงการมองไปข้างหน้า วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวถึงหลักการกว้างๆ ในการออกระเบียบควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในฐานะที่เป็น 'สื่อ' ว่าในต่างประเทศเองก็มีการกำกับดูแลสื่อในช่วงเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ต้องพิจารณาถึงความเป็นเหตุเป็นผลในการออกกฎหมาย นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงนิยามสื่อออนไลน์ที่อาจเป็นทั้งสื่อและเป็นผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คในคนเดียวกัน

วรพจน์มองถึงทางเลือกว่า อาจจะสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วกับบริบทปัจจุบัน เช่น ขอบเขตเวลาการหาเสียงนั้นอาจนำมาใช้ได้ หรือไม่ก็ต้องร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา เพราะว่าธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตนั้นมีความแตกต่างเกินกว่ากฎหมายที่มีอยู่จะรองรับได้ พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการกำกับการใช้สื่อกับการเลือกตั้งในอดีต ซึ่ง กกต. เคยบอกว่าให้มีการประยุกต์ใช้กฎหมายสื่อทั่วไปกับสื่อออนไลน์ในบางประการ ทว่า นิยามของสื่อก็ยังคลุมเครือ เพราะสื่อออนไลน์นั้นบางครั้งก็เป็นตัวบุคคลคนเดียว แล้วถ้าบุคคลจะสื่อสารทางการเมืองจะผิดหรือไม่ ถ้าการใช้เฟสบุ๊กก็คือการคุยกันระหว่างบุคคล แล้วจะไปห้ามคนคุยกันได้อย่างไร และในทางหลักการก็ไม่ควรห้ามอยู่แล้ว

ooo

ตอนนี้สัญญาณที่ออกมาจากทาง กกต. และ คสช. ดูเป็นสัญญาณของการควบคุมอย่างเดียว  จึงต้องรอดูระเบียบ กกต. กันว่าจะออกมาอย่างไร บทบาทสื่อโซเชียลจะทำอะไรได้บ้างในวันที่นักการเมืองทั้งมีเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวกันหลายคน เราจะเห็นอะไรกันแน่ระหว่างมหกรรมการเลือกตั้งที่ผู้คนเข้าถึงจำนวนมาก หรือการไล่จับคน ไล่ปิดเพจครั้งใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Social Media: A Game Changer in Philippine Elections, Asia Foundation, Apr. 27, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคประชาชนโต้ บัตรคนจนเฟส 2 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

Posted: 30 Aug 2018 06:17 AM PDT

หลัง ครม. มีมติ ให้บัตรคนจนเบิกเงินสดได้แต่มีเงื่อนไขต้องผ่านการอบรมวิชาชีพ ข้อมูลชี้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน 450,000 ล้านบาท ภาคประชาชนโต้ บัตรคนจนเฟส2 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ตีตราคนจนขี้เกียจ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

บัตรคนจนเฟส2 ให้เบิกเงินสดได้ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน 450,000 ล้านบาท

 

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนสามารถเบิกเป็นเงินสดได้ เฉพาะส่วนที่รัฐช่วยเหลือเพิ่มเติมระยะที่ 2 รายละ 100-200 บาทต่อเดือนจำนวน 3.9 ล้านคน โดยสามารถเบิกเงินสดจำนวนนี้ไปใช้ได้แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านการอบรมวิชาชีพตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเงินช่วยเหลือระยะแรก 200-300 บาทนั้น ให้ใช้เฉพาะร้านค้าประชารัฐตามเดิม ทั้งนี้การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 200 บาทต่อเดือน จากระยะแรกได้เงินช่วยเหลือ 300 บาท รวมเป็น 500 บาท และผู้ที่รายได้สูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้เงินเพิ่มจำนวน 100 บาทต่อเดือน จากระยะแรกได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาท รวมเป็น 300 บาท

ด้านสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 11.4 ล้านคน มีผู้ที่ผ่านการอบรมวิชาชีพตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือโครงการในเฟส 2 ประมาณ 3.9 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับเงินเพิ่มอีกรายละ 100-200 บาท

ขณะที่ข้อมูลจากภาครัฐบอกว่าโครงการนี้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจรากหญ้า ได้กว่า 450,000 ล้านบาท

 

จากซ้ายไปขวา ยุพิน อยู่สกุล, หนูเกณ อินทจันทร์ และ นิมิตร์ เทียนอุดม

ภาคประชาชนโต้ บัตรคนจนเฟส2ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ตีตราคนจนขี้เกียจ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

วันนี้ (30 ส.ค.) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงข่าว "บัตรคนจนกดเงินสดได้ แจกเงินหวังผล ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ" ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ "บำนาญแห่งชาติ"

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า กรณีที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนที่ไปขึ้นทะเบียนฝึกอาชีพ สามารถกดเงินสดออกจากบัตรได้นั้น เป็นมาตรการที่ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้ให้กับทุกคน แต่ให้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพเท่านั้น และก็ยังมีการแบ่งชั้นกันในคนที่ได้อีก ระหว่างคนที่ได้ 100 กับ 200 บาท

"การแจกเงินเพียงเพื่อหวังผล เอาเงินมาล่อให้คนไปฝึกอาชีพ ถ้าไม่ไปฝึกก็ถูกตราหน้าว่าไม่ขวนขวาย ขี้เกียจ แล้วจะเอาเงินในบัตรไปซื้อของที่ได้มาจากการฝึกอาชีพก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องรูด ดังนั้น ถ้าให้ไปฝึกอาชีพแล้วต้องให้เครื่องรูดบัตรมาด้วย" นายนิมิตร์กล่าวและว่า หากรัฐมีความจริงใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ต้องหยุดการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การให้เงินเป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว หยุดตีตราคนจนว่าขี้เกียจ หรือทำให้ประเทศล่มจม ซึ่งรัฐต้องใช้วิจารณญาณที่ดีกว่านี้

นิมิตร์กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐจะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาให้เกิดรัฐสวัสดิการ ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดความยากจน เช่น การมีหลักประกันด้านรายได้ การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้าในผู้สูงอายุ โดยยึดฐานจากเส้นความยากจน รวมทั้งการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทุกคน และการศึกษาฟรีถึงปริญญาตรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือไม่ต้องไปกู้

ด้านหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า บางครั้งคนจนไม่ใช่ไม่มีอาชีพ หรือขี้เกียจ แต่เขามีอาชีพของเขาอยู่ เช่น ทำงานก่อสร้าง หรือรับจ้างรายวัน การบังคับให้คนต้องไปฝึกอบรม เพื่อจะได้เงินเพิ่ม ทำให้รายได้รายวันของเขาหายไป หากรัฐต้องการจะช่วยทำไมไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะเขามีอาชีพอยู่แล้ว อาจจะเพิ่มทักษะให้คนเหล่านั้นในอาชีพเดิม พัฒนาศักยภาพของเขา หรือหาแหล่งทุนให้กู้ เป็นต้น หรือควรมีกระบวนการติดตามว่าอบรมแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ได้เอาไปทำต่อ อย่างไร

หนูเกณได้ชี้อีกประเด็นว่า การใช้บัตรคนจน จะเก็บเงินไว้ใช้ก็ไม่ได้ ต้องใช้ให้หมดเดือนต่อเดือน ซื้อได้แต่ของแห้ง ของสดใช้ซื้อไม่ได้ หรือควรต้องกระจายรายได้ไปยังร้านขายของชำอื่นเพื่อให้เงินหมุนเวียนในชุมชน ไม่กระจุกเฉพาะในธงฟ้า และบางครั้งสินค้าจากร้านธงฟ้าก็ราคาแพงกว่าร้านอื่น

ยุพิน อยู่สกุล เครือข่ายสลัมสี่ภาค และคณะทำงานบำนาญแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการฝึกอาชีพฟรีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ คนยังไม่ไปฝึกเลย เพราะฝึกแล้ว ก็ไปค้าขายอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ แม่ค้าขายของข้างถนนก็โดนจับเรียบ แล้วจะให้ไปขายของที่ไหน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นศ.เชียงใหม่-แม่โจ้-ม.อ.ปัตตานี จี้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ ชี้รุกล้ำความเป็นส่วนตัว

Posted: 30 Aug 2018 05:55 AM PDT

สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาฯ ม.เชียงใหม่-แม่โจ้-ม.อ.ปัตตานี ยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติฯ ชี้รุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง ชวนถก รมว.ศึกษาฯ พรุ่งนี้ ที่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย สาขา ม.อ.ปัตตานี ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (ห้ามมั่วสุม ห้ามชู้สาว ห้ามเที่ยวเตร่) ต่อเจ้าหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด

30 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่ สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 ตัวแทน สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) สาขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ ยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศึกษาธิการภาค15 

สนท. เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการดังนี้ 1. ขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับแก้ไขดังกล่าว และ 2. ขอให้ความสำคัญและส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นเจ้าของชีวิต ของตน ในตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้โปรดตระหนักว่า นักเรียน และนิสิตนักศึกษาคือผู้ที่จำต้องแบกรับผลจากการดำเนินกิจการทั้งปวง ของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

รายละเอียดข้อเรียกร้องของ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาฯ ระบุว่า ดังที่เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาฉบับแก้ไขตามเสนอของกระทรวงศึกษาธิการโดยมีสาระสำคัญต่างจากกฎ กระทรวงดังกล่าวฉบับก่อนหน้า 3 ประการ ดังนี้ 1.ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัด ต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน 2.ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เท่านั้น และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจาร และ 3.ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พักเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น เดิมห้ามเฉพาะเวลากลาง คืน

สนท. สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ ในฐานะองค์กรกิจกรรมของ นักเรียนและนิสิตนักศึกษา เล็งเห็นว่าประกาศกฎกระทรวงกำหนดความ ประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ได้รับการแก้ไข ที่ ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ ที่อยู่ ระหว่างการส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาซึ่งแก้ไขจาก"มั่วสุม"เพิ่มเติมเป็น"รวมกลุ่ม"และจากเดิมที่ห้ามเฉพาะเวลา กลางคืนโดยตัดคำว่า "เวลากลางคืน" ออกเป็นการห้ามไม่จำกัดเวลาซึ่งเนื้อหาความหมายกำกวม สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเครื่องมือสำหรับปิดกั้นสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพทางการแสดงออกของนักเรียนนิสิต นักศึกษา อีก ทั้งในพื้นที่สามจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีได้ง่ายที่จะถูก ดำเนินผ่านกฎฯฉบับแก้ไขดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาเนื่องจากมีข้อบัญญัติซึ่งรุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง

ขณะที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย' รายงานด้วยว่า วานนี้ เพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (ห้ามมั่วสุม ห้ามชู้สาว ห้ามเที่ยวเตร่) ต่อเจ้าหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด ในนามของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย สาขา ม.อ.ปัตตานี

นอกจากนี้ สนท. ยัง เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกฎกระทรวงนี้ ในวันศุกร์ที่ 31 ส.ค. 2561 เวลา 14.00-17.00 น. ณ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 ตึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สหภาพได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ มาร่วมรับฟังความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พฤ โอโดเชา: ทำไมเราจึงเปราะบางเมื่ออังกอร์เรียกเราว่า “โจรกะเหรี่ยง”

Posted: 30 Aug 2018 05:29 AM PDT

จากคำเรียก "โจรกะเหรี่ยง" ในละครอังกอร์ ทำให้เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีร่วมกันออกแถลงการณ์ของให้แก้ไขบทพร้อมแสดงความรับผิดชอบจากการแปะป้ายเหมารวม โดย 'พฤ โอโดเชา' ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือเน้นย้ำว่า "พวกเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากสื่อ การศึกษา และนโยบายอนุรักษ์ป่าที่ไล่เราออกจากบ้านของเราเอง"

 

 

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีองค์กร และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้แก้ไขบทละครเรื่อง "อังกอร์" และแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากละครในตอนหนึ่งได้กล่าวถึงชนเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นคนฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐว่า "โจรกะเหรี่ยง" ซึ่งทางเครือข่ายฯ กังวลว่าเนื้อหาในลักษณะเหยียดเชื้อชาติและมีอคติทางชาติพันธุ์ อาจทำให้ผู้รับสารคล้อยตามข้อความที่ได้รับ และทำให้ลูกหลานชนเผ่าพื้นเมืองเกิดความรู้สึกเป็นปมด้อยและไม่กล้าแสดงตัวตนความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง จนกระทั่งคนรุ่นใหม่จำนวนมากจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องปกปิดสถานภาพเพียงเพื่อตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้ง่ายขึ้น และทั้งที่ท้องเรื่องอังกอร์ที่เคยนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์มาแล้วสองภาคนั้นไม่ได้ปรากฏว่าเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน

ทางเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์และผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขข้อความให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลกระทบกับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และออกมาชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนผ่านรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีสี ช่อง 3 อย่างเป็นทางการโดยเร็ว

ขณะที่วันนี้ (30 ส.ค.) ด้านของผู้ผลิตละคร แก้ว ภักดีวิจิตร ได้เปิดเผยกับมติชนออนไลน์สั้นๆ ว่า ขออนุญาตยังไม่ให้สัมภาษณ์ตอนนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในการดำเนินการของผู้ใหญ่ทางสถานี แต่ว่าหลังจากนี้จะไม่มีฉากที่พูดถึงเผ่าดังกล่าวแล้ว

ประชาไทได้สัมภาษณ์ พฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของสื่อไทยที่อาจผลิตซ้ำเหมารวมกลุ่มชาติพันธุ์ในวาระต่างๆ รวมทั้งคำถามของสังคมที่ว่าทำไมกลุ่มชาติพันธุ์ถึงต้องเปราะบางกับเรื่องราวเหล่านี้นัก

 

พฤ โอโดเชา (รูปจากเว็บไซต์มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

 

"ชาวเขา ไม่ใช่ชาวเรา" ค้ายา ตัดไม้ สู่การถูกไล่ที่จากกฎหมายอนุรักษ์ป่า

 

"เดิมทีคนจะเรียกพวกผมว่า ชาวเขา ชาวเขามันไม่ใช่ชาวเรา คนไทยคิดว่าเราไม่ใช่คนไทย หรือคนอาจจะเข้าใจว่าเราเป็นคนภูเขา แต่แม้ผมจะลงมาอยู่ในเมืองแล้วเขาก็ยังเรียกผมว่าชาวเขา" พฤเล่าให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ

พฤเล่าต่อว่า สมัยก่อนช่วงหนึ่งการปลูกฝิ่นเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ชาวชาติพันธุ์ก็มีการปลูกกัน แต่พอผิดกฎหมาย ภาพลักษณ์ยาเสพติดกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดี และสุดท้าย "ชาวเขา" ก็ถูกป้ายสีว่าเป็นพวกค้ายาเสพติด ทั้งที่จริงๆ แล้วลำพังแค่ชาวเขาไม่อาจทำให้เกิดการค้ายาได้ถ้าไม่มีนายทุนสนับสนุน ชาวเขาเป็นเพียงแรงงานปลูกฝิ่นที่ได้ค่าแรงเล็กน้อยและถูกขูดรีด

ต่อมาก็มีคำว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้นเหตุให้น้ำท่วมน้ำแล้ง ถึงขนาดที่ในหลักสูตรการเรียนก็เคยมีการสอนเรื่องสาเหตุที่ป่าไม้ถูกทำลาย โดยมีสาเหตุหนึ่งคือชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทุกคนจึงเข้าใจว่าชาวเขานั้นทั้งค้ายา ตัดต้นไม้ ทำลายต้นน้ำ และ "ชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา" ก็ฝังอยู่ในความรู้สึกของผู้คน

พฤกล่าวเสริมว่า เมืองไทยทำข้อตกลงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ว่าต้องดูแลคนพื้นเมือง แต่รัฐบาลไทยบอกว่าไทยไม่มีชนพื้นเมืองมีแต่คนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ดังนั้นรัฐจึงไม่ต้องดูแลชนพื้นเมืองดั้งเดิมเหล่านี้ในยามที่เกิดการกระทบกระทั่ง ขัดแย้ง จากนโยบายต่างๆ

พฤกล่าวต่อถึงประเด็นการออกกฎหมายป่าอนุรักษ์ต่างๆ เช่น กฎหมายอุทยาน กฎหมายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์ก็ไปทับกับบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง หรือกระทั่งในยุคของ คสช. กับนโยบายทวงคืนผืนป่า กลุ่มชาติพันธุ์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

"เราเจ็บปวดกับการออกกฎหมายที่ทำให้ที่ดินที่เราอยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดไม่ใช่ที่ของเราอีกต่อไป กรณีปู่คออี้ที่อยู่ที่ใจแผ่นดินในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คนเพชรบุรีก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงแบบปู่คออี้ แล้วก็คิดว่าคนเหล่านี้ทำลายป่า เจ้าหน้าที่ก็ไปเผาบ้าน เหตุการณ์นี้เกิดจากการไม่มีข้อมูล ส่วนศาลก็ตัดสินไปตามตัวอักษร แต่ไม่เข้าใจว่าพวกเขาอยู่มานานก่อนที่จะเกิดประเทศไทย แล้วพอเขาอยู่ไกล เขาก็อาจเข้าไม่ถึงการทำบัตรประชาชน พอไม่มีบัตรก็กลายเป็นไม่มีสิทธิ" พฤกล่าว

เขากล่าวต่อว่า "ตอนนี้พวกเราก็ลำบากมากและกำลังจะล่มสลาย เพราะสิทธิชุมชนของพวกเราไม่ถูกยอมรับ อาชีพการงาน การพัฒนาชุมชน โครงการต่างๆ กว่าจะขอได้ก็ลำบากมาก เพราะโครงการต่างๆ ที่ลงมาในหมู่บ้านได้จะต้องไม่ติดเขตป่า เขตป่าต้นน้ำ เขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าอุทยาน คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีปมด้อย ไม่มีความภูมิใจในวิถีชีวิต ก็ออกไปอยู่ในเมือง บวกกับการศึกษาก็ไม่เคยสร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทยเลย แทนที่จะสร้างความเข้าใจว่าเมืองไทยประกอบด้วยวิถีชีวิตหลากหลายแบบ มีความเชื่อหลากหลาย มีชาวชาติพันธุ์ที่มีความรู้เรื่องจะอยู่กับป่าอย่างไร หรือจะอยู่กับทะเลอย่างไร"

"อาจจะมองว่าเราเปราะบาง เราก็ยอมรับว่าเราเปราะบาง เราเปราะบางเหมือนกับพันธุ์พืชที่เหลือไม่มาก เราก็เลยต้องออกมาป้องกันตัวเอง ตอนนี้เราเพิ่งจะมีปากมีเสียง พอจะรู้จักโซเชียลบ้าง เราก็ตอบโต้ทางโซเชียล เริ่มรู้จักสิทธิบ้าง เราเลยเริ่มโต้แย้งเรื่องสิทธิ ถ้าเราปล่อยให้เขาพูดไป ถ้าเขาพูดนานเข้าๆ ก็จะกลายเป็นความคุ้นชินไปอีก เราก็อยากจะบอกกับพวกเขาว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากหลายอย่างมาก จากวาทกรรม จากการผลิตสื่อ จากการศึกษาที่ผ่านมา จากนโนบายอนุรักษ์ป่าที่ไล่เราออกจากบ้านของเราเอง และกลับกันถ้าคนไทยถูกเรียกว่า "ไอ้โจรคนไทย" จะเกิดความรู้สึกอะไรไหม" พฤถามย้อนกลับ

พฤกล่าวเสริมว่า ภายใต้การสร้างวาทกรรมแบบนี้ไม่ได้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ในไทย แต่จริงๆ แล้วคนไทยแท้จริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามีอยู่กี่คนด้วยซ้ำไป การไม่เห็นก็ทำให้การประกาศกฎหมายไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ และประกาศทับที่ที่เป็นบ้านของพวกตน

 

เรียกกะเหรี่ยงได้ แต่อย่าเหมารวมว่าเป็นโจร ชาติไหนก็เป็นโจรได้เหมือนกัน

 

พฤอธิบายว่า กะเหรี่ยงหรือภาษาอังกฤษคือ 'Karen' แต่ศัพท์ของพวกตนคือคำว่า 'ปกากะญอ' แต่คำว่ากะเหรี่ยงก็กลายเป็นภาษาทางราชการของไทย อยู่ในหลักสูตรการศึกษา พวกตนจึงต้องเออออไปตามนั้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นจะเรียกกะเหรี่ยงก็ได้ แต่อยากให้ทำความเข้าใจกับคำว่า "ชนพื้นเมือง" ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนจะเกิดคำว่าเมืองไทย ซึ่งชาวปกากะญอก็เป็นชนพื้นเมือง ดังนั้นคำว่าชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงหรือชนพื้นเมืองปกากะญอ จะเป็นคำที่ดูดีมากสำหรับชาวกะเหรี่ยง

พฤกล่าวถึงละครเรื่องอังกอร์เวอร์ชั่นล่าสุดว่า การใช้คำว่า "โจรกะเหรี่ยง" ก็บ่งบอกว่าผู้สร้างละครยังมองว่าจะเรียกคนเหล่านี้อย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นการเหมารวมชาวกะเหรี่ยงว่าทั้งหมดเป็นโจร และที่ผ่านมาตนไม่เคยได้ยินคำเรียกว่าโจรกะเหรี่ยงมาก่อน จึงอาจไม่ใช่การผลิตซ้ำแต่เป็นการสร้างใหม่ด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้แม้สังคมจะมองว่าละครคือเรื่องแต่ง เป็นเรื่องที่ไม่จริง แต่พฤก็ย้ำว่าคนเองก็มักจะอินกับละคร และเรียนรู้ จดจำบางสิ่งบางอย่างจากละครเช่นกัน

เมื่อถามพฤว่าอยากให้สื่อหรือละครนำเสนอในด้านดีของคนกะเหรี่ยงบ้างหรือไม่ พฤตอบว่า "ก็นำเสนอตามความเป็นจริงได้ กะเหรี่ยงก็เป็นโจรได้ คนชาติไหนก็เป็นโจรได้ แต่ละครไม่ควรพูดอย่างเหมารวมว่าโจรกะเหรี่ยง แต่ควรพูดให้มันเน้นไปที่ตัวบุคคล ไม่ใช่พูดแล้วรวมเอาคนกะเหรี่ยงทุกคนเป็นโจร กลายเป็นมีภาพลักษณ์แบบนั้นไป จะให้กะเหรี่ยงเป็นตัวร้ายในละครก็ได้ แต่อย่าตีขลุมเราทั้งหมด"

พฤโยงถึงเรื่องการทำความเข้าใจคนอื่นในสังคม โดยเขากล่าวว่า จริงๆ แล้วการไม่เข้าใจมนุษย์ด้วยกันเองก็นำมาซึ่งสังคมที่แตกแยกเหมือนกัน กลุ่มตนอาจจะมีความเปราะบางแต่ขณะเดียวกันสังคมใหญ่ก็มีความเปราะบางเช่นกันถ้าเขาไม่เข้าใจมนุษย์ด้วยกันเองเลย ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์ ภูมิทัศน์ องค์ความรู้ ของคนไทยเอง ก็ขาดการเรียนรู้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

"จริงๆ ละครเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่ดีๆ ก็มี อันนี้ก็ต้องขอบคุณที่เขาพยายามบอกถึงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ที่ ละครบางเรื่องก็ละเอียดกระทั่งเรื่องการใส่เสื้อผ้าให้ถูกต้อง เขาศึกษามาจริง ต้องขอบคุณสื่อหรือละครแบบนี้ ที่ตำหนิก็ไม่ได้รวมคนที่เขาทำดีอยู่แล้วและเข้าใจอยู่แล้ว" พฤกล่าวทิ้งท้าย

 

แถลงการณ์ 

เรื่อง ขอให้แก้ไขบทละครเรื่อง "อังกอร์"และแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
ตามที่ละครโทรทัศน์เรื่อง"อังกอร์" ที่กำลังออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีสีช่อง 3 (ช่องหมายเลข 33) ในขณะนี้โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นคนฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นฝีมือ "โจรกะเหรี่ยง" เมื่อสืบค้นเนื้อหาโดยย่อของละครในสื่อออนไลน์พบว่าได้มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงชาวกะเหรี่ยงอย่างชัดเจนว่า "....ความสวยของอังกอร์เหมือนมีอำนาจมืดดึงดูดผู้คนให้ต้องการเธอ ในที่สุดเธอก็ถูกพวกกะเหรี่ยงคะหยิ่นจับไป..." 

จากภาพที่ปรากฏผ่านจอโทรทัศน์และภาพที่เผยแพร่บนสื่อโซเชี่ยลมีเดี่ยอาจทำให้ผู้รับข่าวสารคล้อยตามและเชื่ออย่างฝังใจตามภาพและข้อความที่รับสารมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เองนำมาซึ่งความไม่สบายใจของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชนเผ่าพื้นเมืองโดยทั่วไปเป็นอย่างมากเสมือนเป็นผู้ร้ายที่ถูกหยิบยื่นให้จากผู้เขียนบทที่ขาดข้อมูลรอบด้านและไม่มีวิจารณญาณที่ดีพอ ทั้งที่ท้องเรื่องอังกอร์ที่เคยนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์มาแล้วสองภาคนั้นไม่ได้ปรากฏว่าเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แม้จะเป็นเพียงละครเพื่อความบันเทิงก็ตามหากผู้กำกับภาพยนตร์หรือละครนำมาสมมุติอย่างขาดสำนึกและไร้ซึ่งความตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมพหุวัฒนธรรมแบบประเทศไทยเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดหรือเป็นมายาคติที่ไม่เป็นผลดีต่อพี่น้องกะเหรี่ยงเป็นแน่แท้

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและตัวแทนภาคีองค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังสื่อที่มีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริง มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และจากเหตุการณ์ที่สื่อนำเสนอข่าวในลักษณะตีตรา เหมารวม มีเนื้อหาบิดเบือนและไม่เป็นข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวและบทละครในรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาในลักษณะเหยียดเชื้อชาติและมีอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบด้านลบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั่นคือทำให้ภาพลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอแบบตอกย้ำซ้ำเติมด้วยมายาคติ ทำให้ลูกหลานชนเผ่าพื้นเมืองเกิดความรู้สึกเป็นปมด้อยและไม่กล้าแสดงตัวตนความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง จนกระทั่งคนรุ่นใหม่จำนวนมากจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องปกปิดสถานภาพเพียงเพื่อตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้ง่ายขึ้น และขาดความภาคภูมิใจตัวตนที่แท้จริงจึงเป็นที่น่าเสียดายหากเด็กและเยาวชนเหล่านั้นต้องเป็นเหยื่อที่สังคมยัดเยียดให้อย่างไม่เป็นธรรม

จึงขอเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของละครที่ไม่เหมาะสมและอยู่ในข่ายลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่นตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้

1. เนื่องจากเนื้อเรื่องของละคร "อังกอร์" นั้นไม่ได้อ้างอิงจากประวัติศาสตร์บอกเล่าหรือผ่านนิทาน ตำนานของชาวกะเหรี่ยงแต่อย่างใด การสมมุติตัวอย่างตัวละครว่า "โจรกะเหรี่ยง" นั้นขอให้สถานีโทรทัศน์และผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขข้อความให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลกระทบกับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

2. ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับละครเรื่อง "อังกอร์" ได้ออกมาชี้แจงและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนผ่านรายการของสถานีโทรทัศน์ทีวีสี ช่อง 3 อย่างเป็นทางการโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และยังนำไปสู่ความสบายใจของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชนเผ่าพื้นเมืองในภาพรวมด้วย

 

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีองค์กร และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง

29 สิงหาคม 2561

*มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อเวลา 21.26 น.

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ศรีสุวรรณ' รับไม่ได้ หลัง ปธ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันให้คะแนนปราบโกง 'ประยุทธ์' เต็มร้อย

Posted: 30 Aug 2018 04:59 AM PDT

'ศรีสุวรรณ จรรยา' ออกแถลงการณ์ 'รับไม่ได้' หลัง ปธ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันให้คะแนนปราบโกง 'ประยุทธ์' เต็มร้อย พร้อมยกรายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและการจัดอันดับความโปร่งใสนานาชาติโต้

30 ส.ค.2561 จากวานี้ (29 ส.ค.61) ในการแถลงข่าวเนื่องในวาระครบรอบ 7 ปี การทำงาน ขององค์กรต่อต้านคอรัปชัน ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการให้คะแนนความจริงใจของรัฐบาลนี้ในการร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมากี่คะแนน ซึ่ง ปธ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวว่า "ในเรื่องของการให้คะแนน การปราบปรามคอร์รัปชันของ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้ ผมให้คะแนน 100% ในส่วนของความตั้งใจที่จะปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง" นั้น

วันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ "รับไม่ได้" ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า การตอบคำถามสื่อดังกล่าว เป็นการให้ความเห็นที่ขัดต่อข้อเท็จจริงที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย "รับไม่ได้" และผิดหวังต่อองค์กรดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับอีกถ้อยแถลงที่ว่า "สถานการณ์การเรียกรับเงินใต้โต๊ะจากอดีตที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มลดลงมาก" ซึ่งตรงกันข้ามกับรายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ได้ออกมาแถลงเมื่อต้นปี 2561 ถึงคะแนนดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) ภาพรวมของสถานการณ์อยู่ในช่วงขาลง และดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยปี 2559 ที่จัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International อันดับของไทยหล่นจากอันดับ 76 มาอยู่ในอันดับ 101 จาก 168 ประเทศ แม้ในปี 2560 จะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศเท่านั้น แต่คะแนนโดยภาพรวมของไทยยังลดลงเหลือ 37 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งข้อมูลตัวเลขดังกล่าว ปธ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ตะขิดตะขวงใจบ้างเลยหรือ

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยังระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่แล้ว การขับเคลื่อนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นกลับเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าองค์กรดังกล่าวยังมีการขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์หรือพันธกิจที่เคยประกาศไว้เพียงใด แม้แต่กรณีแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ของผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้ ทำได้แค่มีหนังสือสอบถาม ป.ป.ช.เท่านั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้วหรือ หรือว่าเกรงอกเกรงใจใครในรัฐบาลนี้เป็นการเฉพาะ จึงยอมที่จะออกมาเชียร์รัฐบาลนี้โดยไม่เกรงใจคนไทยทั้งประเทศเลย ถ้าเช่นนั้นพันธกิจขององค์กรที่ประกาศไว้ว่าจะ "สร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรเป็นที่ยอมรับในฐานศูนย์กลางการขับเคลื่อนพลังสังคมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่มีศักยภาพที่สุด" นั้นทำได้เพียงแค่นี้ หรือเพียงแค่รอจัดงานอีเว้นท์ครบรอบวันต่อต้านคอร์รัปชั่นประจำปี เพียงหวังเชิญนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมาร่วมงาน นั่นคือความหมายของการต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น ต้องบอกตรง ๆ ว่า "รับไม่ได้" 

ทั้งนี้ นอกจากการให้คะแนนเต็มร้อย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ของ ปธ..องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน แล้ว ปธ..องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยังกล่าวด้วยว่า แต่ยอมรับว่ายังมีบุคคลใกล้ตัว หลายคนที่สังคมตั้งข้อสงสัย ซึ่งเป็นปัญหาส่วนหนึ่งและปัญหาอีกส่วนคือระบบราชการ ที่เมื่อมีและนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาแล้วการขับเคลื่อนยังไม่ราบรื่น เพราะระบบราชการไทยมีข้อจำกัดและเงื่อนไขพอสมควร ทำให้หลายเรื่องที่องค์กรพยายามจะเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาพอสมควร

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฉลุยอีกแล้ว! สนช.ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 62 ภายใน 3 ชม. วงเงิน 3 ล้านล้าน ไม่ค้านสักคน

Posted: 30 Aug 2018 03:15 AM PDT

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 ด้วยเสียง 206 ต่อ 0 ภายใน 3 ชั่วโมง งบกลาโหม ได้กว่า 2.2 แสนล้าน โดยตลอด 5 ปี ยุค คสช. ได้รับการจัดสรรไปแล้ว กว่า 9.3 แสนล้าน

ที่มาเพจ วิทยุและโทรทัศน์ รัฐสภา

30 ส.ค.2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช. เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 จำนวน 61 มาตรา ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่มี อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว

อภิศักดิ์ เสนอรายงานว่า กรรมาธิการฯพิจารณาเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถประเมินผลการดำเนินการได้จริงและมีประสิทธิภาพ สอดคล้อง เชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายระดับชาติ กระทรวง ตลอดจนระดับหน่วยงาน และจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การทำงานของกระทรวงและหน่วยงานสามารถเชื่อมโยง และส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม กรรมาธิการฯ ได้ปรับลดงบประมาณ จำนวน 242,222,829,100 บาท โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับแผนงาน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณจริงในงบประมาณที่ผ่านมา และความพร้อมในการดำเนินงาน ทั้งนี้ กรรมาธิการปรับเพิ่มงบฯจำนวน 242,222,829,100 ล้านบาท เท่ากับจำนวนที่ปรับลดลง เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ มีงบประมาณรองรับการดำเนินงานตามนโยบาสำคัญของรัฐบาลในระยะต่อไป รวมทั้งเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ

หลังจากที่ประชุมพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้น ได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2562 วาระ 3 ด้วยคะแนน 206 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 โดยที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาและลงมติทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมง

ก่อนลงมติดังกล่าว ช่วงเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 เป็นรายมาตรา บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น สมาชิกสนช.ต่างเห็นด้วยกับการพิจารณาปรับลดงบประมาณในมาตราต่างๆ ตามที่ กมธ.เสนอ โดยเฉพาะในส่วนกระทรวงเกรดเอที่มีงบประมาณจำนวนมาก อาทิ กระทรวงกลาโหม วงเงินงบประมาณ 117,583,067,200 บาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 25,476,695,800 บาท กระทรวงมหาดไทย 43,927,994,000 บาท กระทรวงศึกษาธิการ 297,355,867,200 บาทนั้น ไม่มีสมาชิกสนช.อภิปรายท้วงติงหรือสอบถามแม้แต่คนเดียว รวมถึงงบประมาณในส่วนกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 45,340,757,500 ที่มีการตั้งงบประมาณในส่วนกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 40,000 ล้านบาท ก็ไม่มีสนช.ติดใจสอบถามเช่นกัน

ทั้งนี้ มี สนช.สลับกันลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็นไม่ถึง 5 คน อาทิ กิตติ วะสีนนท์ ที่อภิปรายในส่วนกระทรวงต่างประเทศ ธานี อ่อนละเอียด ที่สอบถามมาตรา 37 งบประมาณรายจ่ายแผนบูรณาการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด มาตรา 39 งบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม มาตรา 44 งบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โดยสอบถามเหตุผลการตัดลดงบประมาณลงบางส่วน และ ตวง อันทะไชย ที่อภิปรายสอบถามงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียมและทั่วถึง ในมาตรา 48

วอยซ์ออนไลน์ รายงานถึงงบประมาณที่ได้รับเพิ่มเติมที่น่าสนใจ คือ งบกลาง งบรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. และสถาบันเกษตรกร และมาตรา 34 กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 

วอยซ์ออนไลน์ ยังระบุด้วยว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบรายจ่ายเพิ่มเติม ตลอด 5 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. รวมใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 14 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณทุกปีรวม 2.1 ล้านล้านบาท 

ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2562 สูงสุด 3 อันดับแรก คือกระทรวงศึกษาธิการ กว่า 4.8 แสนล้านบาท กระทรวงมหาดไทย กว่า 3.7 แสนล้านบาท และ กระทรวงการคลัง กว่า 2.4 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ถูกจับตา ตลอด 5 ปี ได้รับการจัดสรรไปแล้ว กว่า 9.3 แสนล้านบาท

iLaw รายงานเพิ่มเติมประเด็นงบประมาณกองทัพว่า นับตั้งแต่ คสช. ขึ้นมาปกครองประเทศงบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นทุกปี และติดอยู่ในห้าลำดับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดตลอด สำหรับงบประมาณกองทัพตลอดสี่ปี สนช. มีจำนวนดังนี้

1. งบประมาณกองทัพปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท

2. งบประมาณกองทัพปี 2559 จำนวน 2 แสนล้านบาท

3. งบประมาณกองทัพปี 2560 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท

4. งบประมาณกองทัพปี 2561 จำนวน 2.22 แสนล้านบาท

5. งบประมาณกองทัพปี 2562 จำนวน 2.27 แสนล้านบาท

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ส.ว. อาร์เจนตินาโหวตคว่ำทำแท้งถูก กม. แต่การรณรงค์กลับเขย่าอเมริกาใต้กว่าเดิม

Posted: 30 Aug 2018 02:08 AM PDT

วุฒิสภาอาร์เจนตินาปัดร่างทำแท้งถูกกฎหมาย กลายเป็นโหมกระแสให้ขบวนการของผู้สนับสนุนร่างฯ และสัญลักษณ์ผ้าเช็ดหน้าสีเขียวกลายเป็นแรงบันดาลใจกลุ่มเคลื่อนไหวในภูมิภาคละตินอเมริกาที่คริสต์คาทอลิกมีอิทธิพลสูง ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งในการห้ามทำแท้งและสังคมที่กดขี่ทางเพศ มิหนำซ้ำ การคว่ำร่างฯ ยังขับเน้นกระแสไม่พอใจศาสนาที่แหย่ขามาเอี่ยวการเมืองเกินไปด้วย

ภาพการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ป้ายผ้าใหญ่เขียนว่า จะไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียวต้องตายจากการทำแท้งแบบลับๆ อีกแล้ว (ที่มา: iwhc.org)

เมื่อ 9 ส.ค. 2561 วุฒิสภาอาร์เจนตินาลงมติคัดค้านร่างกฎหมายที่อนุญาตการทำแท้ง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในละตินอเมริกาหยุดเคลื่อนไหวในประเด็นนี้แต่อย่างใด พวกเขายังคงเคลื่อนไหวบนท้องถนนและขยายผลการเคลื่อนไหวในเชิงประสานงานร่วมกันระหว่างองค์กรผู้หญิงในภูมิภาค

ละตินอเมริกาถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีกฎหมายและนโยบายกีดกันหนักที่สุดในเรื่องทางเลือกของผู้หญิงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง แม้ร่างกฎหมายอนุญาตให้เลือกทำแท้งได้จะผ่านร่างจากสภาล่างของอาร์เจนตินาได้ แต่ต่อมาก็ถูกโหวตคัดค้านจากสภาบนด้วยคะแนนเสียง 38 ต่อ 31 เสียง ในช่วงก่อนการโหวตครั้งดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่บนท้องถนนเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุญาตทำแท้งคนที่ท้อง 14 สัปดาห์ได้อย่างถูกกฎหมาย และการเคลื่อนไหวใหญ่ระดับในอาร์เจนตินาได้กลายเป็นความหวังให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

สถาบันกุตต์มาเคอร์ สถาบันส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงให้เป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกประเมินว่าในช่วงระหว่างปี 2553-2557 มีการทำแท้งประมาณ 6.5 ล้านกรณี ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน เพิ่มสูงขึ้นจากราว 4.4 ล้านกรณีในช่วงระหว่างปี 2533-2557 และจากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันก็พบว่าในละตินอเมริกามีการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์ราว 14 ล้านกรณีและร้อยละ 46 ของกรณีเหล่านี้จบลงด้วยการทำแท้ง

มาเบล เบียงโก นักสตรีนิยม ประธานมูลนิธิเพื่อการวิจัยประเด็นสตรีของอาร์เจนตินา (FEIM) กล่าวว่า ผู้ที่หลงประเด็นในอาร์เจนตินาคือวงการการเมือง เพราะในขณะที่สังคมกำลังอภิปรายกันในเรื่องนี้และมีการใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ในการสนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็กลับไม่รู้สึกรู้สาอะไร เธอมองว่าถ้าหากร่างกฎหมายผ่านจะส่งผลสะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ต่อให้ร่างกฎหมายไม่ผ่านขบวนการสีเขียวเหล่านี้ก็ผลักให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง นักข่าวและกลุ่มเคลื่อนไหวที่อาจจะส่งผลไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้

ปัจจุบันในอาร์เจนตินายังอนุญาตให้ทำแท้งเฉพาะกรณีที่ถูกข่มขืนหรือกรณีการตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อชีวิตหรือสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์เท่านั้น คนที่ไม่เข้าคุณสมบัตินี้มีโทษจำคุกสี่ปีถ้าหากไปทำแท้ง

ประเทศละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนที่อนุญาตให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหายมีอยู่แค่ในคิวบา เฟรนช์เกียนา กายอานา อุรุกวัย และกรุงเม็กซิโกซิตี บางประเทศอย่างอาร์เจนตินาอนุญาตแค่บางกรณีเท่านั้น ในบางประเทศอย่างโดมินิกัน เฮติ ฮอนดูรัส นิคารากัวและซูรินามห้ามทำแท้งในทุกกรณี

จากคว่ำร่างทำแท้งถูกกฎหมาย ถึงกระแสต้านนิกายคาทอลิก

ขบวนการเรียกร้องที่อกหักกับมติของวุฒิสภาได้เล็งเห็นว่าอิทธิพลของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในภูมิภาคมีส่วนกับการปิดกั้นการตัดสินใจทางการเมือง เบียงโกเปิดเผยว่ากลุ่มศาสนาเหล่านี้ "เข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ และเมื่อพวกเขาเข้าไปอยู่ในสภาได้ก็ทำการปิดกั้นและควบคุมกระบวนการตัดสินใจ เช่นที่เกิดขึ้นในบราซิล"

เดอะการ์เดียนเคยรายงานว่าคณะนักบวชคาทอลิกในอาร์เจนตินายังคงมีอิทธิพลในเรื่องนี้โดยเฉพาะพระสันตะปาปาฟรานซิสเองที่เป็นชาวอาร์เจนตินา แม้ว่าพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันจะมีมุมมองก้าวหน้าในประเด็นสังคมหลายๆ เรื่อง แต่ในเรื่องการทำแท้งเขาก็ยังยืนกรานไม่ยอมถอย หนังสือพิมพ์คลารินจากอาร์เจนตินารายงานว่าพระสันตะปาปาถึงขั้นเคยขอให้มีการล็อบบี้วุฒิสภาให้ปฏิเสธร่างกฎหมายทำแท้งนี้ กลุ่มนักบวชคาทอลิกในอาร์เจนตินาเองก็พูดในเชิงใช้อำนาจต่อต้านการทำแท้ง

เบียงโกบอกว่าเรื่องนี้ทำให้อาร์เจนตินาและประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกาเริ่มหันมาต่อสู้ด้วยการเรียกร้องรัฐที่ไม่มีการครอบงำด้วยอิทธิพลทางศาสนาหรือรัฐโลกวิสัย (secular state) เธอยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าพวกเขาจะแพ้ในการผลักดันร่างกฎหมายแต่พวกเขาจะชนะการต่อสู้ด้วยการกลับมาพร้อมความเข้มแข็ง

หลังการลงมติของวุฒิสภาอาร์เจนตินา มีผู้คนจำนวนมากชุมนุมกันในบัวโนสไอเรสเพื่อต่อต้านการส่งอิทธิพลทางศาสนาต่อการเมืองและเรียกร้องให้ผู้คนเลิกเป็นสมาชิกโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิก ผู้นำการชุมนุมคือมาเรีย โฮเซ อัลบายา จากกลุ่มแนวร่วมชาวอาร์เจนตินาเพื่อรัฐโลกวิสัย แถลงการของกลุ่มเธอระบุว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้รับเสียงในประเด็นต่างๆ ทั้งด้านผู้หญิง การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน กฎหมายสนับสนุนอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ โดยต้องต่อสู้กับอำนาจสงฆ์ที่พยายามครอบงำทั้งร่างกายและจิตใจพวกเขา

ในอาร์เจนตินามีชาวคาทอลิกอยู่ 2 ใน 3 ของประชากรแต่กระแสความไม่พอใจต่อสำนักสงฆ์เริ่มเพิ่มมากขึ้นจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและการต่อต้านการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

นอกจากการต่อต้านคาทอลิกแล้ว กลุ่มในอาร์เจนตินายังเน้นขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาที่ล้าสมัยให้การทำแท้งไม่เป็นความผิดทางกฎหมายอีกต่อไป และเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายสนับสนุนอนามัยเจริญพันธุ์กับเพศศึกษาที่มีอยู่แล้ว

สีเขียวของพวกเธอคือ 'ความเข้มแข็งและความหวัง'

แม้บางประเทศในละตินอเมริกาจะมีผู้นำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย แต่กลับมีกฎหมายที่ล้าหลังในทางสังคมเช่นประเทศเอลซัลวาดอร์ที่มีกฎหมายบีบเค้นคนตั้งครรภ์หนักที่สุดคือจะสั่งลงโทษจำคุกคนทำแท้งนานถึง 50 ปี โดยอ้างว่าเป็น "การฆาตกรรมร้ายแรง" เรื่องนี้ทำให้ซารา การ์เซีย นักกิจกรรมผู้สนับสนุนทางเลือกของผู้ตั้งครรภ์กล่าวว่าแม้แต่เด็กอายุ 10 ปีที่ถูกข่มขืนแล้วตั้งครรภ์ก็ไม่มีทางเลือก ทางเลือกเดียวที่พวกเธอมีคือการยอมเข้าคุก ยอมตายหรือยอมคลอดทั้งๆ ที่จะเสี่ยงต่อสุขภาพของพวกเธอเท่านั้น การ์เซียบอกอีกว่าผู้หญิงที่เป็นชายขอบอย่างคนจน คนที่มีการศึกษาน้อย เข้าถึงระบบสวัสดิการสุขภาพลำบากเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับผลกระทบมากที่สุดจากกฎหมายเคร่งครัดนี้

องค์กรผู้หญิงเพื่อสันติภาพแห่งซัลวาดอร์ (ORMUSA) ระบุว่าในช่วงระหว่างปี 2543-2557 มีผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำแท้ง 147 ราย มีกรณีที่ศาลตัดสินวามีความผิด 49 ราย 23 รายในข้อหาทำแท้ง 26 รายในข้อหาฆาตกรรม และในปี 2561 นี้เองก็มีผู้หญิงถูกคุมขัง 24 รายด้วยข้อกล่าวหาว่าทำแท้งถึงแม้ว่าบางคนเป็นการแท้งเองโดยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การ์เซียบอกว่าขบวนการสตรีนิยมและองค์กรด้านวิชาการสามารถทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้และพยายามผลักดันเพื่อนำไปสู่การลงมติแก้กฎหมายเลิกทำให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมได้ สำหรับการ์เซียแล้วขบวนการ "กระแสสีเขียว" ที่มาจากสีผ้าเช็ดหน้าของผู้สนับสนุนนี้เป็นสัญลักษณ์ของ "ความเข้มแข็งและความหวัง" ในการต่อสู้เรื่องนี้ทั้งในเอลซัลวาดอร์เองและในระดับภูมิภาค

แม้มีการเปิดอภิปรายในเรื่องนี้ได้แต่นักกิจกรรมก็ยอมรับว่าในการอภิปรายในที่ประชุมสภายังเต็มไปด้วยอคติโดยไม่ใช้หลักการวิทยาศาสตร์หรือสิทธิมนุษยชนเลย ขณะที่ผู้คนบนท้องถนน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ มีความรู้ความเข้าใจในอีกระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งการ์เซียบอกว่าขณะที่มีกลุ่มเคร่งศาสนาคอยปิดกั้นก็มีกลุ่มอื่นๆ ที่พยายามสร้างความเข้าใจกับสังคม

อีกประเทศหนึ่งคือเวเนซุเอลาที่ฝ่ายซ้ายปกครองมาตั้งแต่ปี 2542 ก็มีกฎหมายห้ามทำแท้งเว้นแต่กรณีที่คนตั้งครรภ์เสี่ยงชีวิตเท่านั้น รวมถึงมีการลงโทษคนทำแท้งด้วยการจำคุก 2 ปี กับอีก 6 เดือน

แต่ในเดือน มิ.ย. ปีนี้เอง องค์กรสตรีนิยมหลายองค์กรสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญปี 2542 ที่ห้ามทำแท้ง นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการเปิดกว้างในการปรึกษาหารือเรื่องสิทธิทางเพศและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ในรัฐธรรมนูญ

ทารัว ซุนิกา เป็นนักกิจกรรมจากองค์กรเครือข่ายข้อมูลเพื่อการทำแท้งอย่างปลอดภัย (RIAS) องค์กรของเธอต้องรับเรื่องจากผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง 43 รายต่อวัน ซุนิกากล่าวว่า แม้อาร์เจนตินาจะผ่านร่างกฎหมายไม่สำเร็จแต่ขบวนการสีเขียวก็เติบโตแข็งแกร่งขึ้น ความเข้าใจเรื่องสิทธิในการทำแท้งของผู้คนทำให้ขบวนการมวลชนมีพลังมากและมีชีวิตชีวา จนซุนิกามองว่ามันเป็น "ขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่มีอะไรมาหยุดได้ในละตินอเมริกา" ไปแล้ว

เรียบเรียงจาก

The Fight for the Right to Abortion Spreads in Latin America Despite Political Setbacks, Toward Freedom, Aug. 26, 2018 26-08-2018

Argentines urged to quit Catholic church after it helps defeat abortion law, Boston Globe, Aug. 19, 2018

Argentina abortion defeat shows enduring power of Catholic church, The Guardian, Aug. 9, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฮิวเมนไรท์วอทช์จี้ไทยเร่งปล่อยตัวผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและกัมพูชา

Posted: 30 Aug 2018 01:55 AM PDT

ฮิวเมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยจากเวียดนามและกัมพูชาในทันที ชี้มีเด็กถูกจับกุมกว่า 50 ชีวิต ละเมิดสนธิสัญญาด้านสิทธิเด็กที่ไทยลงนาม เผยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัย ถามว่าเป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างไรในเมื่อประเทศต้นทางไม่มีสงคราม

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและความมั่นคงในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรีเข้าจับกุมผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ภัยจำนวน 181 คน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวเขาเผ่าจาไรจากชายแดนเวียดนามและกัมพูชาที่หลบหนีความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิดตัวเอง และส่วนใหญ่ได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

วันนี้ (30 สิงหาคม 2561) ฮิวเมนไรท์ว๊อทช์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยทั้งหมดโดยเร็วที่สุดพร้อมเรียกร้องให้ไทยทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศว่าจะคุ้มครองผู้ลี้ภัย และหลีกเลี่ยงการกักขังเด็กในทุกกรณี

"ประเทศไทยชอบอ้างว่าจะคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องสูญเปล่าหลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมหลายครอบครัวผู้ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยตรงจากหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวเมนไรท์ว๊อทช์กล่าว "ชาวเขาเหล่านี้จะต้องประสบกับประหัตประหารอย่างรุนแรงหากพวกเขาถูกส่งกลับกับพูชาและเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยไม่ควรทำเช่นนั้นในทุกกรณี"
 
ฮิวเมนไรท์วอทช์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจับกุมไม่มีความเข้าใจเรื่องข้อผูกมัดของรัฐบาลไทยในการปกป้องผู้ลี้ภัย โดยผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่หลายคนเข้ามาถามผมว่ามาที่นี้ทำไม มาได้อย่างไร และจ่ายไปเท่าไหร่ เข้าถามว่าใครช่วยให้ผมได้บัตรผู้ลี้ภัย [ของสหประชาชาติ] และผมจ่ายเงินไปเท่าไหร่ หลายคนก็ถามถึงการเดินทางมาประเทศ...เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคนหนึ่งบอกว่าเราเข้ามาแบบผิดกฎหมายและเราต้องทำตามกฎหมาย" 

เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวผู้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยทั้งหมดไปที่สำนักงานเขตบางใหญ่เพื่อตั้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา 11 62 และ 81 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง 2522 ตัวแทนจาก UNHCR ประจำประเทศไทยได้เดินทางไปที่สำนักงานเขตเพื่อดำเนินการขอปล่อยตัวทั้งผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคุ้มของโดยสหประชาชาติ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยได้ถามเจ้าหน้าที่ UNHCR ว่าบัตรผู้ลี้ภัยที่ผู้ถูกจับกุมถือเป็นของจริงหรือไม่ พร้อมยังถามอีกว่าผู้ที่ถูกจับกุมจะเป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างไรในเมื่อประเทศของพวกเขาไม่มีสงคราม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย และข้อผูกมัดของรัฐไทยในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยอย่างชัดเจน ฮิวเมนไรท์วอช์ระบุ

ในช่วงเย็นเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวผู้ลี้ภัย 34 คนที่มีสัญชาติกัมพูชาไปควบคุมตัวที่ศูนย์กักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศต้นทาง และนำตัวผู้ลี้ภัยสัญชาติเวียดนามอีก 38 คนไปที่ศาลจังหวัดนนทบุรีเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาในวันต่อมาแต่สุดท้ายไม่สามารถดำเนินการฟ้องได้เนื่องจากไม่สามารถหาล่ามแปลภาษาจาไรได้ทันเวลา
 
"การดำเนินคดีกับผู้ลี้ภัยละผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเหล่านี้ในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นการแสดงถึงความไม่เข้าใจในจุดประสงค์ของการเดินทางมาประเทศไทยของของพวกเขา" แบรด อดัมส์กล่าว "และเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือพวกเขาอาจจะถูกส่งตัวกลับไปเจอกับการประหัตประหาร"

ฮิวเมนไรท์วอทช์ยังจี้ให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามหลัก หลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐใดๆ ส่งตัวบุคคลกลับประเทศต้นทางหากพวกเขามีโอกาสประสบความทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษญชนอย่างรุนแรง ตามที่ระบุอยู่ในมาตราที่ 3 ของสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการยุติการซ้อมทรมาน และถือเป็นทำเนียมปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ ยังและเรียกร้องให้ไทยทำตามสิ่งที่ได้ประกาศในปี 2559 ว่าจะยุติการคุมขังเด็กในทุกกรณี และทำตามมติคณะรัฐมนตรีเดือนมกราคม 2560 ที่ระบุว่าจะสร้างระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาการลี้ภัย

สนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยลงนามในปี 2535 ระบุว่า "การจับกุม คุมขัง หรือจำคุกเด็กจะต้องกระทำตามกรอบของฎหมายและจะต้องถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายโดยใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด" อีกทั้งยังระบุว่า "เด็กที่กำลังแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยหรือมีสถานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือในประเทศ ไม่ว่าอยู่กับผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม จะต้องได้รับการปกป้องคุมครองและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเหมาะสม และได้รับสิทธิทุกประการที่ระบุอยู่ในสนธิสัญญา และกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นๆ "

"ประเทศไทยกำลังละเมิดข้อผูกมัดที่ตนให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศด้วยการกักตัวเด็กมากกว่า 50 ซึ่งเป็นลูกหลายของผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย" แบรด อดัมส์เสริม "สถานะผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติควรจะรับรองได้ว่าครอบครัวเหล่านี้จะไม่ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่รัฐไทยจึงควรปล่อยตัวพวกเขาโดยเร็วที่สุด"

จนท.บางใหญ่จับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกัมพูชา-เวียดนาม 168 ราย แม้ส่วนมากถือบัตร UNHCR, 28 ส.ค. 2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แผนพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ หรือจะเปลี่ยนเมืองเป็นพิพิธภัณฑ์ไร้ชีวิต?

Posted: 30 Aug 2018 01:05 AM PDT

ชาตรี ประกิตนนทการ นักวิชาการสถาปัตย์เรียกร้องเปิดเผยเนื้อหา 'แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่' ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ก่อนวิจารณ์ว่ากำลังทำให้เมืองเป็น Theme Park สำหรับนักท่องเที่ยวและละทิ้งผู้คน สะท้อนวิธีคิดแบบบนลงล่างและไม่ไว้ใจประชาชน

 

  • หน่วยงานที่รับผิดชอบการทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ต้องเปิดเนื้อหาแก่สาธารณะ
  • จากข้อมูลเท่าที่เปิดเผยบนหน้าสื่อ แผนแม่บทฯ จะพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้กลายเป็น Theme Park สำหรับนักท่องเที่ยวและชนชั้นกลางระดับบน มากกว่าการสร้างเมืองที่มีชีวิตและตอบสนองคนทุกกลุ่ม แต่กลับมุ่งผลักดันคนเล็กคนน้อยออก
  • แผนแม่บทฯ มีทิศทางจะควบคุมความหมายของถนนราชดำเนินและปิดกั้นการใช้เป็นพื้นที่ทางการเมือง
  • แผนแม่บทฯ สะท้อนความคิดเก่าจากยุคเผด็จการทหารที่ไม่ไว้วางใจประชาชน

 

หลังการผลักดันผู้คนในชุมชนป้อมมหากาฬออกจากพื้นที่แปลงเป็นสวนสาธารณะได้สำเร็จ ดูเหมือนว่าเป้าหมายต่อมาของแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่คือหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ ไล่ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดความแออัดของพื้นที่

โดยแผนใหม่ที่นำมาใช้แทนแผนเก่าตั้งแต่ปี 2540 ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ ดังนี้

1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน

2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก

3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์

4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม

5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

จากข่าวที่ปรากฏออกมา แผนแม่บทฯ จะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ระบบการจราจร การใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว ไปจนถึงการท่องเที่ยวและวิถีชุมชน ขณะเดียวกันจะพัฒนาถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่องเป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานของประเทศไทย เปรียบได้กับถนนฌ็องเซลิเซ่ของประเทศฝรั่งเศส

ทว่า หากเราเก็บรับบทเรียนกรณีชุมชนป้อมมหากาฬมาใคร่ครวญ ย่อมชวนให้ครุ่นคิดว่าแผนดังกล่าวจะเปลี่ยนเกาะรัตนโกสินทร์ให้กลายเป็นสวนและพิพิธภัณฑ์ที่มองไม่เห็นผู้คนหรือไม่ ในมุมของชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มันมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น

เปลี่ยนเมืองที่มีชีวิตเป็นสนามหญ้าและ Theme Park เพื่อการท่องเที่ยว

ประเด็นแรกที่ชาตรีให้ความสำคัญและเรียกร้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการทำแผนคือการเผยแพร่เนื้อหาออกสู่สาธารณะก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการอนุมัติ แม้การจัดทำแผนของจุฬาฯ ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็น แต่ก็เป็นไปในวงจำกัด ทำให้ทุกๆ ฝ่ายไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ได้อย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ชาตรีเห็นว่าประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้จากข่าวที่ถูกนำเสนอออกมา ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตต่อแผนการพัฒนาตามที่รับรู้จากข่าวว่า

"ผมคิดอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือมันไม่พัฒนาขึ้นเลยจากแผนแม่บทเดิม และสอง-สิ่งที่แตกต่างจากแผนแม่บทเดิมคือแผนแม่บทใหม่กำลังออกแบบเมืองกรุงเทพเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เป็นเมืองที่ไม่มีชีวิตจริงๆ แต่จะเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยว"

"ฐานคิดนี้มันจึงกลายเป็นโมเดลเมืองของคนบางกลุ่มคือนักท่องเที่ยว ของชนชั้นกลางระดับบน และของรัฐ แต่ได้ละทิ้งคนเป็นจำนวนมาก คนชั้นล่าง คนจนเมือง คนที่สร้างเมืองแห่งนี้ แต่ต้องการผลักให้เขาออกจากเมือง"

ชาตรีขยายความข้อสังเกตแรกว่า สิ่งที่เห็นจากข่าวคือแผนนี้ยังคงเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นสนามหญ้าโล่งๆ ด้วยฐานคิดเดิมๆ ว่าพื้นที่แบบนี้จะเพิ่มปอดของเมืองหรือพื้นที่พักผ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่แผนแม่บทเดิมปี 2540 ได้วางไว้แต่แรกและรหัสความคิดนี้ยังคงอยู่ เขาเห็นว่าบริบททางวัฒนธรรมสังคมของไทยไม่เคยเอื้อให้ใช้ประโยชน์สวนสาธารณะสนามหญ้าโล่งๆ เหล่านี้เลย เขาเห็นว่าควรมีบ้างและเป็นเรื่องดี แต่ที่มีอยู่ขณะนี้ถือว่าเพียงพอแล้ว

"การใช้สนามหญ้าโล่งๆ เป็นวัฒนธรรมของคนชั้นกลางระดับบนเท่านั้น ไม่ได้เป็นของคนเมืองกรุงเทพฯ ทุกกลุ่ม ทุกวิถีชีวิต การทำสวนสาธารณะแบบนี้มีประโยชน์ แต่อย่าให้เป็นวิธีการเดียวในการสร้างพื้นที่สาธารณะของเมือง"

ข้อสังเกตประการที่ 2 การย้ายหน่วยราชการออกเพื่อลดปริมาณการใช้สอยพื้นที่ ลดปริมาณคนและการสัญจร ชาตรีเห็นว่าเป็นฐานคิดที่ผิด เพราะการดำรงอยู่ของหน่วยราชการเป็นมากกว่าการเป็นหน่วยราชการ แต่นำมาซึ่งการประกอบอาชีพโดยรอบ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และทำให้เมืองมีชีวิต

ชาตรียังคงย้ำว่าการย้ายหน่วยราชการออกไปจะทำให้เกาะรัตนโกสินทร์กลายเป็นเมืองของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองที่มีชีวิตของเมืองจริงๆ ดังนั้น การย้ายหน่วยราชการเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนอย่างยิ่งยวด เขาเห็นว่าอาจย้ายได้บ้าง แต่ต้องธำรงความเป็นเมืองที่มีการใช้งานอย่างอื่นไว้ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว

"หรือการทาสีตึกให้เป็นสีเดียว ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายแสดงชัดว่าตึกในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ที่เป็นตึกเก่าแบบฝรั่ง มันไม่ได้มีสีเดียว หากทำแบบนี้จริง ผลที่เกิดขึ้นคือผิดทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์และไร้เสน่ห์ หัวใจสำคัญของแผนนี้ในทัศนะผมคือการทำให้เป็นเมืองเก่าเพื่อการท่องเที่ยว เป็น Theme Park เสียมากกว่า"

Theme Park คือสวนสนุกที่มีแนวคิดเฉพาะคอยกำหนดเครื่องเล่น บรรยากาศ สัญลักษณ์ รูปแบบสถาปัตยกรรม เพื่อให้ผู้เข้าชมรู้สึกแตกต่างจากสวนสนุกทั่วไป เช่น ธีมปาร์คที่เน้นเรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่ การเดินทางในอวกาศ เป็นต้น

ควบคุมความหมายถนนราชดำเนิน

ส่วนการปรับปรุงถนนราชดำเนินให้เทียบเท่าถนนฌ็องเซลิเซ่ ชาตรีไม่ปฏิเสธหลักการที่ว่าถนนราชดำเนินเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เขายังคงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยแผนงานการพัฒนาปรับปรุงถนนราชดำเนินว่ามีเนื้อหาอย่างไร

มิติที่ชาตรีกังวลกว่าในประเด็นนี้คือการควบคุม เปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่

"เขาต้องการควบคุมความหมายของพื้นที่บริเวณที่เป็นกระดูกสันหลัง พื้นที่บริเวณนี้มีหลายความหมาย เป็นถนนประชาธิปไตยที่ใช้ต่อสู้ทางการเมือง แผนนี้จะตัดความหมายส่วนนี้ออกไปจากถนนราชดำเนิน จะเป็นถนนที่ว่าด้วยชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และนักท่องเที่ยว ประชาชนหรือกิจกรรมทางการเมืองจะไม่มีวันได้รับการอนุญาตอีกแล้ว"

การพัฒนาเมืองที่ละทิ้งผู้คน

แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่สะท้อนวิธีคิดอะไรของรัฐ ชาตรีกล่าวว่ามันสะท้อนฐานคิดเดิมในยุคเผด็จการ เนื่องจากแผนแม่บทนี้คือการควบคุมพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ที่เกิดขึ้นในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

"เป็นการคิดแบบบนลงล่าง แบบทหาร วิธีคิดแบบเผด็จการแบบเดิม มองไม่เห็นว่าความเห็นของคนข้างล่างจะมีประโยชน์อะไร สองคือเชื่อมั่นเทคโนแครตมากเกินไป ในเรื่องนี้คือเชื่อในเทคโนแครตด้านสถาปนิกและการวางผังเมืองว่าเป็นผู้รู้และผูกขาดความรู้ฝ่ายเดียว วิธีคิดนี้จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กลัว กังวล หรือคิดว่าประชาชนไม่รู้จริง

"ฐานคิดนี้มันจึงกลายเป็นโมเดลเมืองของคนบางกลุ่มคือนักท่องเที่ยว ของชนชั้นกลางระดับบน และของรัฐ แต่ได้ละทิ้งคนเป็นจำนวนมาก คนชั้นล่าง คนจนเมือง คนที่สร้างเมืองแห่งนี้ แต่ต้องการผลักให้เขาออกจากเมือง"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น