โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ลาวเขื่อนแตกก่อปัญหาภัยพิบัติ ชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อโครงการพัฒนา

Posted: 06 Aug 2018 12:06 PM PDT

รายงานใน "เดอะคอนเวอร์เซชัน" ชี้ให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาว หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกจนเกิดอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อหลายหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกเห็นว่าเป็น "โครงการพัฒนา" ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภัยพิบัติ

ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว

ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาเกิดเหตุเขื่อนที่กำลังก่อสร้างในลาวเกิดพังเสียหาย จนทำให้น้ำท่วมหนักในแขวงอัตตะปือ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือชาวบ้าน 8 หมู่บ้าน มีคนตายจากเหตุภัยพิบัตินี้ไปแล้วอย่างน้อย 29 ราย และมีอีก 131 รายที่ถูกระบุจากทางการว่าหายสาบสูญ มีคนที่ยังไม่ทราบชะตากรรมอีกนับพันคน โดยรายงานใน "เดอะคอนเวอร์เซชัน" นำเสนอในเรื่องนี้โดยระบุว่ามันย้ำเตือนในเรื่องที่ชาวบ้านมักจะเป็นเหยื่อของการพัฒนาเขื่อนเสมอ

เขื่อนที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้คือเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซ น้ำน้อย โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการลาวประกาศว่าพวกเขากำลังสืบหาสาเหตุว่าการที่เขื่อนแตกเป็นเพราะฝนตกหนักหรือการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหรือทั้งสองอย่างรวมกัน โครงการเขื่อนเซเปียน เซ น้ำน้อย เป็นโครงการร่วมกันระหว่างบริษัทของลาว ไทย และเกาหลีใต้ ที่มีรายงานว่าบริษัทเหล่านี้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือและฟื้นฟูภัยพิบัติที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการส่งตัวผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในพื้นที่เพื่อประเมินความเสียหายและสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุของภัยพิบัติ

เดอะคอนเวอร์เซชันระบุว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นโครงการเขื่อนถูกจับตามองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเขื่อนมีประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่จริงหรือ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าเขื่อนสร้างความเสี่ยงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องภัยพิบัติเท่านั้น ในกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ได้สร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสร้างความเสียหายต่อผืนดินตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดภัยพิบัติแล้ว

ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ, 24 ก.ค. 2561

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย, 24 ก.ค. 2561

รมว.พลังงานลาวชี้ก่อสร้างเขื่อนไม่ได้มาตรฐาน คู่สัญญาต้องชดใช้, 28 ก.ค. 2561

กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แสดงความรับผิดชอบ, 29 ก.ค. 2561

ในแง่ของภัยพิบัตินั้นผู้คนมักจะเน้นพูดถึงสาเหตุที่ "มาจากธรรมชาติ" เช่นฝนตกหนัก แต่เดอะคอนเวอร์เซชันระบุว่าความเป็นจริงเหตุภัยพิบัติเหล่านี้มักจะเป็นผลมาจากการพัฒนาที่บกพร่องและนับเป็นภัยพิบัติทางสังคมและทางการเมืองด้วย ในแง่ที่ว่าวาระของการพัฒนามันไม่สอดคล้องไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีและสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น

ถึงแม้ว่าผู้พัฒนาเขื่อนจะให้สัญญาว่าโครงการของพวกเขาจะทำให้เกิดพลังงานหมุนเวียน อ่างเก็บน้ำเพื่อการประมง การฟื้นฟูป่า การจัดสรรปันส่วนน้ำที่สอดรับกัน การควบคุมน้ำท่วมที่ดีขึ้น แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น สร้างความเสี่ยงให้กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับลุ่มน้ำโขงทั้งการประมง การสัญจร และการชลประทาน ขณะที่เจ้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำกอบโกยผลประโยชน์ไป

ปัญหาจากเขื่อนไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใดในภูมิภาคนี้ ในประเทศเช่นลาว กัมพูชา และไทยต่างก็มีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอยู่หลายโครงการ แม้ว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำจะจัดเป็นพลังงานหมุนเวียนแต่โครงการเขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงกว่าเดิมและสร้างการกีดกันทำให้คนเป็นชายขอบมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ทำให้เดอะคอนเวอร์เซชันมองว่าภัยพิบัติครั้งล่าสุดควรจะชวนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยต่างๆ มากขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งระบุว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีบริษัทเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในจีน ไทย และลาว มักจะทำกำไรให้กับเจ้าของโครงการแต่มักจะละเลยผลกระทบทางลบต่อผู้คน นอกจากนี้ยังมักจะมีการปราบปรามการประท้วงของคนในท้องถิ่นเนื่องจากภาครัฐมีส่วนได้ส่วนเสียทางผลประโยชน์กับเอกชนในกรณีนี้ ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวมีส่วนที่สำเร็จอยู่บ้างแต่ก็ยังมีปัญหาการพลัดถิ่นและการถูกทำให้ไร้พลังอยู่มาก นอกจากนี้กรณีลาวที่มุ่งจะเป็น "แบตเตอร์รีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ก็ทำในสิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกว่าแปลกๆ อย่างการส่งออกพลังงานไปให้ไทย เวียดนาม และกัมพูขา แต่ก็นำเข้ากลับมาจากประเทศเหล่านี้ด้วยราคาที่สูงขึ้น

เดอะคอนเวอร์เซชันยังระบุถึงเรื่องที่โครงการเขื่อนในลาวได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียที่ประเมินลาวในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อย่างดี แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ไม่ได้คำนวนเผื่อราคาที่ต้องจ่ายให้กับสิ่งแวดล้อม และความเจ็บปวดของมนุษย์ด้วยกันเองที่เป็นชาวบ้านผู้ถูกไล่ที่เป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบในสังคมและมักจะถูกกีดกันทำให้เงียบเสียงปราศจากคามรับผิดชอบทางการเมืองต่อชีวิตพวกเขา

เรียบเรียงจาก

The Laos disaster reminds us that local people are too often victims of dam development, The Conversation, 30-07-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กด-ปราม นาน 4 ปี จากอุบลฯ ถิ่นเสื้อแดง สู่ความสงบเรียบร้อยของ ครม.สัญจร

Posted: 06 Aug 2018 09:59 AM PDT

หากติดตามสถานการณ์ข่าวระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. 61 ซึ่งรายงานบรรยากาศการเดินทางไปพบปะประชาชนในจังหวัดอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 5/2561 ที่โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/หัวหน้า คสช. และคณะรัฐมนตรี จะพบแต่บรรยากาศความยินดีของคนในพื้นที่อย่าง นายกฯลงพื้นที่ ครม.สัญจรอุบลฯ ปลื้มเด็กร้องเพลงเชียร์ 'พัฒนาไม่หยุด คือพลเอกประยุทธ์',  ปิดฉาก ครม.สัญจรอีสานใต้ เห็นชอบ 19 โครงการคมนาคม นายกฯตะโกนตอบชาวบ้าน "ถ้ารักลุงตู่ ลุงตู่สู้ตาย"

แต่หากสำรวจไปมากกว่าข่าวกระแสหลัก ก็จะเห็นการรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสังเกตการณ์และปรามบุคคลเป้าหมาย รวมถึงนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอย่าง ทหารบุกมหา'ลัย เคลียร์ทางประยุทธ์ลงพื้นที่  ตั้งแต่ก่อนช่วงประชุม ครม. นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมก็จะเห็นการแชร์โพสต์ของคนในพื้นที่ว่ามีทหารไปเฝ้าที่บ้านทั้งวัน ซึ่งข่าวในลักษณะนี้ ไม่ได้แสดงถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการจัด ครม.สัญจร หากแต่พบอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำรัฐประหารและยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยเฉพาะในจังหวัดที่ถือได้ว่าเป็นฐานเสียงของรัฐบาลชุดก่อนหน้า อย่างอำนาจเจริญและอุบลราชธานี

แม้ข้อถกเถียงและเสียงเรียกร้องหาความชอบธรรมในการลงพื้นที่พูดคุย เพื่อห้ามปรามไม่ให้แสดงความเห็น ห้ามจัดกิจกรรมไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ หรือแม้แต่การดำเนินคดีด้วยเหตุผลอันไม่สอดคล้องใด ๆ กับความชอบด้วยกฎหมายในสังคมประชาธิปไตย จะถูกผันแปรให้ตกอยู่ภายใต้ความต้องการ "รักษาความสงบเรียบร้อย" ของรัฐบาล ซึ่งนำมาสู่ปฏิบัติการคุกคาม ข่มขู่ ติดตาม เยี่ยมบ้าน เรียกรายงานตัว และดำเนินคดี ทำให้นิยามของการรักษาความสงบเรียบร้อยนี้ถูกขยายออกอย่างกว้างขวางและมีนัยยะสำคัญ เพราะบุคคลที่ถูกควบคุมด้วยคำว่า "รักษาความสงบเรียบร้อย" นี้ นอกจากจะเป็นบุคคลเดิมที่ถูกรัฐจับตามองตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังต่อเนื่องวางขอบเขตเข้าไปในพื้นที่วิชาการอย่างมหาวิทยาลัยด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงรวบรวมสถานการณ์เป็นรายงานและบทสนทนาของคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ-อุบลราชธานี อาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ว่าต้องได้รับผลกระทบอย่างไร ตลอดช่วง 4 ปีกว่าของการรัฐประหาร เมื่อการแสดงความเห็นหรือทำกิจกรรมของตน ที่แม้จะได้รับการรับรองทั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และความสงบเรียบร้อยที่รัฐหมายถึงหรือมุ่งจะรักษา มีราคาของเสรีภาพที่ใครต้องจ่าย อย่างไรบ้าง

 

สถานการณ์คุกคามก่อนและระหว่างการลงพื้นที่ของ ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. 61

กดดัน-คุกคาม 4 นักวิชาการ เกรงเคลื่อนไหวใน ม.อุบลฯ

คนกลุ่มแรกที่ตกเป็นเป้าหมายการ "ปรามไม่ให้เคลื่อนไหว" เพื่อให้ขณะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่มีแต่ "ความสงบเรียบร้อย" และ "ชื่นชมยินดี" คือ นักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากการรายงานข่าวของประชาไท และเดอะอีสานเรคคอร์ด ช่วงอาทิตย์ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาอุบลฯ พ.อ.มงกุฎ แก้วพรหม รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ค่ายทหารที่ตั้งอยู่ใน จ.อุบลฯ นัดพบ ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ เพื่อขอให้คอยตรวจดูและห้ามปรามนักศึกษาในคณะไม่ให้ทำกิจกรรมต่อต้านนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุม ครม.สัญจร เพราะอาจจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่คณบดีรัฐศาสตร์ตอบนายทหารไปว่า "ผมไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามได้ เพราะนั่นถือเป็นสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาที่จะแสดงออกต่อการบริหารงานของรัฐบาลทุกรัฐบาล" เขาแสดงความเห็นกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า "มหาวิทยาลัยคือสถาบันการศึกษาที่ตามหลักแล้วต้องไม่ถูกผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเข้ามาควบคุมหรือปิดกั้นการแสดงออกของคณาจารย์และนักศึกษาตามหลักสิทธิ เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย" (ดูรายละเอียดที่ ทหารกดดันอาจารย์ม.อุบลฯห้ามต่อต้านรัฐบาล คสช.)


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊คTitipol Phakdeewanich

นอกจากนี้ รองเสธ. มทบ.22 ยังนัดพบ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และอยู่ในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่ร้านกาแฟใน ม.อุบลฯ เพื่อตั้งคำถามว่า จะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ในช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร โดยก่อนหน้านั้น  มีสันติบาลไปตามหาตัวเธอในมหาวิทยาลัย รวมทั้งฝ่ายข่าวทหารสอบถามถึงเธอกับเพื่อน

"โดยหลักการคือการคุกคามแน่นอน เราไม่มีข้ออะไรที่จะข้องเกี่ยวกัน เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย" อ.เสาวนีย์สรุปหลังการพูดคุยกับ พ.อ.มงกุฎ "ในสภาพสังคมปกติที่มีรัฐบาลพลเรือน เราไม่เคยต้องเข้าไปในค่ายทหาร ไม่เคยมีทหารมาขอ 'ทำความรู้จัก' " (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่  อุบล: ทหารบุกมหา'ลัย เคลียร์ทางประยุทธ์ลงพื้นที่)

ขณะที่อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์อีก 2 คน คือ ราม ประสานศักดิ์ และธีระพล อันมัย มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบถึงบ้านพักในช่วงวันหยุด ซึ่งทำให้ทั้งสองรู้สึกตกใจอย่างมาก โดยเฉพาะ อ.ราม เนื่องจากตำรวจที่ไปพบเขาที่บ้านพกอาวุธปืนไปด้วย แม้ตำรวจจะมาแค่สอบถามด้วยคำถามคล้ายๆ กันว่า จะเคลื่อนไหวในช่วง ครม.สัญจร ที่ ม.อุบลฯ หรือไม่ พร้อมบอกว่าผู้ใหญ่กังวลว่าจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยระหว่างที่นายกฯ มา แล้วก็กลับไปเมื่อทั้งสองคนปฏิเสธ แต่พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทำให้พวกเขารู้สึกถูกคุกคาม "ผมไม่ใช่อาชญากรร้ายแรงที่เจ้าหน้าที่ต้องติดตามและคุกคามผมแบบนี้" อ.ธีระพลกล่าว (ดู ตร.อุบลฯ สกัดอาจารย์ ม.อุบลฯ หวั่นต้าน รบ.ช่วง ครม.สัญจร ถึงบ้านพัก)


ที่มาภาพ: เดอะอีสานเรคคอร์ด

ติดตามเสื้อแดงอำนาจฯ – อุบลฯ เตือนอดีตนักโทษการเมือง 'อย่าเคลื่อนไหว'

คนกลุ่มต่อมา คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้าการรัฐประหารปี 57 โดยแกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดอำนาจเจริญ แจ่มจิตร ศรีโรจน์ เล่าว่าวันที่ 21 ก.ค. 61 ก่อนการลงพื้นที่ตรวจราชการของคณะ พล.อ.ประยุทธ์ 2 วัน มีตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย มาหาที่บ้านสอบถามว่า จะเคลื่อนไหวอะไรไหมช่วงที่นายกฯ มา กลุ่มเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวหรือไม่ แจ่มจิตรตอบปฏิเสธไปว่า ไม่ได้เคลื่อนไหว วันรุ่งขึ้น ทหารและตำรวจยังโทรศัพท์มาสอบถามด้วยคำถามคล้าย ๆ เดิมอีก จะเคลื่อนไหวหรือเปล่า จะไปต้อนรับนายกฯ หรือไม่ แจ่มจิตรยืนยันไปว่า ไม่เคลื่อนไหว ไม่ไปต้อนรับ เพราะเขาไม่ใช่นายกฯ  หลังจากนั้น ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาจังหวัดอำนาจเจริญ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่มาหาเธออีก การถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่เช่นนี้ ทำให้แกนนำเสื้อแดงอำนาจเจริญรู้สึกถูกคุกคาม ทั้งที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำอะไรผิด

เช่นเดียวกันที่ จ.อุบลฯ อดีตนักจัดรายการวิทยุเสื้อแดงและอดีตผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธ์ ให้ข้อมูลว่า   สันติบาลชุดที่เคยมาเป็นประจำทุกเดือนมาหาเขา 1-2 วัน ก่อน พล.อ.ประยุทธ์มาอุบลฯ แต่เขาไม่อยู่ไปปั่นจักรยาน สันติบาลก็โทรศัพท์ตามเขา สอบถามว่า จะทำอะไรต่อต้าน คสช. ช่วง ครม.สัญจรหรือไม่ จะไปต้อนรับนายกฯ มั้ย มีใครจะไปหรือเปล่า แต่จ่าสมจิตรตอบปฏิเสธไปทั้งหมด

ขณะที่ที่บ้านของอดีตผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางอุบลฯ อีกรายที่เพิ่งได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษออกจากเรือนจำเมื่อเดือนกันยายน 2560 มีทหารในเครื่องแบบจาก กอ.รมน.จ.อุบลฯ 2 นาย มาพบเขาบอกว่า มาดูเฉยๆ ว่าอยู่หรือไม่ เขาบอกทหารไปว่า ไปไหนไม่ได้หรอก ติดคุมประพฤติอยู่ (เงื่อนไขการพักโทษต้องไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน และห้ามเดินทางออกนอกเขตจังหวัด) ทหารที่มาแจ้งเขาอีกว่า อีก 2-3 วัน จะมี กอ.รมน.ชุดใหญ่จากกรุงเทพฯ มาหา ให้รออยู่ที่บ้าน ไม่ให้ไปไหน แต่เขาไม่รับปากว่า จะอยู่บ้านหรือไม่ เพราะอาจจะต้องออกไปหากิน ซึ่งในความหมายของเขาหมายถึงการไปตกปลาหาอาหารมาให้ครอบครัว ก่อน กอ.รมน.สองนายจะกลับไป ได้กล่าวเตือนเขาเหมือนครั้งก่อน ๆ ว่า อย่าเคลื่อนไหวอะไร

สุดท้าย อดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองก็ไม่พบว่า มี กอ.รมน.ชุดใหญ่ตามที่เจ้าหน้าที่อ้างมาหาเขา มีแต่ตำรวจที่รู้จักกันมาถามในวันประชุม ครม. ที่ ม.อุบลฯ ว่า เขาได้ออกไปไหนไหม พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ติดตามเฝ้าดูเขาอยู่

คุมเข้มแกนนำกลุ่มเสรีชนตลอด 2 วัน สกัดใส่เสื้อ 'อยากเลือกตั้ง' โชว์ประยุทธ์

น้ำหนักการติดตามไม่ให้เคลื่อนไหว ยังเน้นหนักไปที่แกนนำกลุ่มเสรีชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีกิจกรรมอยู่บ้าง สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุม ครม.สัญจร มีสันติบาลแวะเวียนมาหารัตนา ผุยพรม แกนนำกลุ่มเสรีชน ที่ร้านอุดมแอร์ 2 ครั้ง  แต่ไม่ได้ห้ามเธอออกไปเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

วันที่ 23 ก.ค. 61 วันแรกของกำหนดการลงพื้นที่ของ ครม. ทหารจาก มทบ.22 จำนวน 3 นาย และตำรวจ สภ.วารินชำราบ 4 นาย มานั่งเฝ้าหน้าร้านอุดมแอร์ตั้งแต่ก่อนเที่ยง ตกค่ำซึ่งมีกำหนดการว่า ขบวนรถของ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับจากเปิดงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่ทุ่งศรีเมืองเข้าไปพักใน มทบ.22 และต้องวิ่งผ่านฝั่งตรงข้ามร้านอุดมแอร์ ก็มีตำรวจมาเพิ่มอีก 2 นาย รัตนาเริ่มรู้ว่า ตนเองตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการ "เฝ้าระวัง" เพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวในช่วง ครม.สัญจร 2 วันนี้ แต่แล้วขณะที่ขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ วิ่งผ่านมา สามีของเธอกลับเป็นคนวิ่งออกไปเกาะกลางถนน ชู 2 มือ พร้อมคว่ำนิ้วโป้งชี้ลง เป็นที่ตื่นตกใจของเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าอยู่ และตำรวจจราจรที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับขบวนนายกฯ หลังจากขบวนรถผ่านไปหมดแล้ว ประมาณ 3 ทุ่ม เจ้าหน้าที่จึงได้กลับไป


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค รัตนา เสรีชน

รัตนาเปิดเผยว่า เช้าวันรุ่งขึ้น ทหารก็มาอีกตั้งแต่ 06.00 น. โดยยกกำลังมาประมาณ 50 นาย เดินทางมาด้วยรถกระบะสี่ประตู 3 คัน ฮัมวี่ 2 คัน รถกระบะคันหนึ่งจอดขวางทางเข้าร้าน ทหารจำนวนหนึ่งยืนอยู่ข้างรถ หันหน้าเข้ามาในร้าน ลักษณะเหมือนจะคอยกันไม่ให้คนในร้านออกไปข้างนอก เพราะช่วงเช้าขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องวิ่งผ่านหน้าร้านเพื่อไปประชุมที่ ม.อุบลฯ

แกนนำกลุ่มเสรีชนได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ว่า ทหารในเครื่องแบบที่มาในตอนเช้านี้มาจากจังหวัดนครราชสีมา จากเหตุการณ์คืนที่ผ่านมาที่สามีเธอวิ่งไปคว่ำนิ้วโป้งใส่ขบวนรถของ พล.อ.ประยุทธ์  ทำให้มีการนำทหารจากนครราชสีมารักษาการณ์ในเช้าวันนี้แทนทหารของ มทบ.22 ทหารชุดนี้แม้ไม่มีอาวุธ แต่รัตนาก็รู้สึกว่าเขาข่มขู่คุกคามในที หัวหน้าชุดยศพันเอก พูดจาไม่ค่อยดี ซึ่งพอเธอเดินออกไปถ่ายรูปพวกเขา นายพันเอกก็พูดว่า "อย่ามาถ่ายรูปผม คุณละเมิดผม ลบเดี๋ยวนี้" แต่รัตนาเดินหลบเข้าบ้านไปโดยไม่ได้ลบภาพตามที่ทหารสั่ง นอกจากนี้ พอรัตนาบอกว่า วันนี้จะเข้าไปที่ ม.อุบลฯ หัวหน้าชุดก็รีบบอกว่า "ถ้าพี่จะไปเปลี่ยนเสื้อก่อนได้มั้ย เสื้อแบบนี้ใส่ไปไม่ได้" วันนั้น ครอบครัวของรัตนาทุกคนใส่เสื้อสีดำ สกรีนรูปสามนิ้ว "#คนอยากเลือกตั้ง" ทำให้รัตนาเถียงไปว่า "เสื้อยืดธรรมดา ทำไมถึงใส่ไม่ได้ ขนาดใส่เสื้อคุณก็ยังละเมิดเรา"


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค รัตนา เสรีชน

หลังจากขบวนรถ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านออกไปแล้ว เวลาประมาณ 09.00 น. ทหารจาก มทบ.22 จำนวน 8 นาย สันติบาล 2 นาย ตำรวจ สภ.วารินฯ 7 นาย นำโดย รอง ผกก.สภ.วารินฯ จึงมาเปลี่ยนให้กำลังทหารจากนครราชสีมากลับไป หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดใหม่นี้ก็นั่งเฝ้าอยู่ทั้งวัน นั่งตามโต๊ะของร้านข้าวมันไก่ที่อยู่หน้าร้านแอร์ รัตนาบอกรอง ผกก.สภ.วารินฯ ว่า มานั่งแบบนี้ลูกค้าก็ไม่กล้าเข้าร้าน รอง ผกก. จึงเหมาข้าวมันไก่ไปแจกตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ม.อุบลฯ

รัตนาเล่าถึงตำรวจทหารชุดที่มานั่งเฝ้าทั้งวันว่า "เขาก็ไม่ได้พูดอะไรรุนแรง ไม่ได้ห้ามไม่ให้เข้าไป ม.อุบลฯ แต่บอกว่าพี่นั่งคุยกับผมอยู่นี่แหละ อย่าไปไหนเลย พี่จะไปทำไม ตั้งใจว่าจะออกไปซื้อส้มตำ ตำรวจก็บอก เดี๋ยวผมพาไป พี่จะกินอะไรบอก เขาก็ไปซื้อมาให้กิน คือไม่ให้เราคลาดสายตาเขาเลย" "ที่เราตั้งใจไว้ก็แค่ใส่เสื้อดำสกรีน 3 นิ้ว '#อยากเลือกตั้ง' ไปเดินๆ ให้เขาเห็น ก็แค่นั้น เราจะไปทำอะไรได้ ผู้หญิงตัวคนเดียว จะต้องกลัวอะไรมากมายขนาดนั้น ถ้าเข้าไปเจอนายกฯ ได้จะถามแค่ว่า จะมีเลือกตั้งจริง ๆ มั้ย เสียดายที่ไม่ได้ไป" รัตนาสรุปว่า เรื่องข่มขู่ไม่มี มีแต่รำคาญ ถึงเขาไม่ข่มขู่ แต่มาเยอะ และมาจอดรถขวางหน้าบ้านแบบตอนเช้า ก็เป็นการข่มขู่คุกคามเรา แล้วการมานั่งเฝ้าทั้งวันไม่ให้คลาดสายตา เขาก็ขัดขวางไม่ให้เราไปแสดงออกได้สำเร็จ


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค รัตนา เสรีชน

ตำรวจ ทหาร เกือบ 20 นาย เฝ้าอยู่ที่ร้านอุดมแอร์จนกระทั่ง 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่คณะ ครม.สัญจร ขึ้นเครื่องกลับ กทม.แล้ว "เท่าที่รู้นอกจากบ้านเรา เขาก็ไม่ได้ไปเฝ้าใครอีก" เป้าหมายหนึ่งเดียวของปฏิบัติการณ์เฝ้าระวังครั้งนี้ยังแสดงความเห็นใจเจ้าหน้าที่เหล่านั้นว่า "ใช้ทหารน้อย ๆ มานั่งเฝ้าทั้งวัน ก็คงเครียดและเหนื่อย อากาศก็ร้อน ๆ เขาฝึกให้ทำความอดทนกับเรื่องไร้สาระมากเลย"

 

ยอมประชุมรับข้อเรียกร้องชาวบ้านปากมูล แต่ไม่ให้ยื่นหนังสือกับนายกฯ

ขณะที่สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล แม้ไม่ได้จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช. แต่ต้องการเข้ายื่นหนังสือกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่อง ได้แก่ เขื่อนปากมูล, เขื่อนหัวนา และลำโดมใหญ่เน่า ก็ถูกขัดขวางและผลักดันให้ไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมเช่นเดียวกับการลงพื้นที่อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้าน 12 คน ซึ่งเดินเท้าไปถึงทางเข้าด้านข้างโรมแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถานที่ประชุม ครม.สัญจร ก่อนการประชุมในช่วงเช้าวันที่ 24 ก.ค. 61 ปักหลักอยู่ตรงนั้น ยืนยันว่าจะขอยื่นหนังสือกับนายกฯ หรือตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่สุด เพื่อผลักดันชาวบ้านออกจากบริเวณนั้น จึงได้ข้อยุติว่า ตัวแทนสำนักนายกฯ กระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาเจรจากับชาวบ้าน เพื่อหาข้อตกลงเบื้องต้นในเรื่องที่ชาวบ้านเตรียมมาร้องเรียนทั้ง 3 เรื่อง ที่สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองศรีไค ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงแรมยูเพลส และจัดไว้เป็นที่ตั้งศูนย์ดำรงธรรมเฉพาะกิจ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านที่ต้องการมายื่นเรื่องกับนายกฯ


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล สคจ. 

ผลการประชุมเจรจากับตัวแทนหน่วยงาน ที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอของชาวบ้าน พร้อมกำหนดกรอบเวลา โดยกรณีเขื่อนปากมูนจะมีการประชุมเจรจากับกระทรวงพลังงานภายในเดือน ส.ค. 61 และผ่อนปรนการหาปลาในแม่น้ำมูนในช่วงการประกาศกฎหมายประมง 3 เดือน ให้ชาวบ้านบริเวณปากมูนหาปลาได้ตามปกติ ยกเว้นวันพระ (ชาวบ้านปากมูนมีข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้วว่า จะไม่ใช้เครื่องมือจับปลาที่ทำลายล้าง), กรณีเขื่อนหัวนาจะมีการประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาในวันที่ 26 ก.ค. 61 และกรณีน้ำเน่าเสียที่ลำโดมใหญ่จะต้องตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาภายในเดือน ส.ค. 61

จันนภา คืนดี หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน กล่าวสรุปสิ่งที่ได้จากการมาร้องเรียนในวันที่ ครม.สัญจรมาถึงอุบลฯ "ถึงแม้หน่วยงานจะรับเรื่องในวันนี้ เราก็ต้องติดตามให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง ไม่งั้นเรื่องก็เงียบไปเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น"

ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนกับนายกฯ เจ้าหน้าที่ก็จัดให้ไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมเฉพาะกิจในเทศบาลตำบลเมืองศรีไคทั้งหมด ไม่มีใครได้เข้าถึงนายกฯ เช่นกัน

+++++++++++++++++

สถานการณ์คุกคามหลังรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนนี้จะรายงานสถานการณ์คุกคามย้อนหลังไปตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา เพื่อชี้ให้เห็นความรุนแรงอย่างต่อเนื่องของปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผลกระทบที่เกิดต่อทั้งผู้ที่ถูกคุกคามเองและครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด จนปรากฏผลเป็นความสงบเรียบร้อยในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาเยือนอำนาจ-อุบลฯ ในวันนี้ หากรายงานจะมีขนาดยาว และกล่าวซ้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเดิม ๆ ก็คงต้องกล่าวโทษทหาร, คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งผู้ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้

 

แกนนำเสื้อแดงอำนาจเจริญ ถูกควบคุมตัวจากสนามบินไปรายงานตัว

22 พ.ค. 57 ทหารในเครื่องแบบ อาวุธครบมือ ประมาณ 30 นาย บุกไปที่บ้าน แจ่มจิตร ศรีโรจน์ แกนนำ นปช.จ.อำนาจเจริญ ถามหาแจ่มจิตรและสามี จากลูกสาว อายุ 18 ปี ที่อยู่บ้านคนเดียว พร้อมขู่แจ่มจิตรทางโทรศัพท์ว่า จะจับลูกสาวเป็นตัวประกัน หากสามีไม่เข้ามามอบตัวภายใน 10 นาที หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22 เข้าควบคุมตัวแจ่มจิตรที่สนามบิน จ.อุบลฯ นำไปปรับทัศนคติที่ มทบ.22 ก่อนปล่อยตัวกลับในวันเดียวกัน หลังจากนั้น ทหารก็มาพบแจ่มจิตรที่บ้านทุกเดือน ๆ ละ 1-2 ครั้ง ในช่วงที่การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ เธอก็ถูกฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวไปที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ ขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเคลื่อนไหว แม้แต่เมื่อมีการเดินมิตรภาพของกลุ่ม We walk รวมถึงก่อนการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เมื่อครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร แกนนำเสื้อแดงอำนาจเจริญก็ถูกทหารติดตามสอบถามว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ จนตัวเธอรู้สึกกังวลและตั้งคำถามว่า จะถูกติดตามแบบนี้อีกนานไหม เมื่อไหร่ทหารจะหยุดติดตามเธอเสียที

 

ควบคุม 5 แกนนำเสื้อแดงอุบลฯ 7 วัน ในค่ายทหาร

22 พ.ค. 57 หลังการยึดอำนาจ กำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าควบคุมตัวประธานกลุ่ม นปช.อุบลฯ 51 นำตัวไปไว้ที่กรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จากนั้น กำลังทหารทยอยเข้าควบคุมตัวนายศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ, นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา แกนนำกลุ่มชักธงรบ, จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธ์ ผู้จัดรายการข่าวสถานีวิทยุเพื่อประชาชน และนายประยุทธ ชุ่มนาเสียว ประธานสภาองค์กรชุมชน จ.อุบลฯ นำไปควบคุมไว้ด้วยกัน 7 วัน เนื่องจากก่อนหน้านี้หลายคนมีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้าน กปปส. และต่อต้านการรัฐประหาร มี 2 คน ในจำนวนนี้หลบออกจากบ้านก่อน ทหารก็ติดตามไปที่บ้านทุกวันจนต้องกลับมาเข้ารายงานตัว  ก่อนได้รับการปล่อยตัวทหารให้พวกเขาเซ็นเอกสารซึ่งระบุเงื่อนไข ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ


นายพิเชษฐ์ นำกลุ่มชักธงรบวางหรีดก่อนรัฐประหาร ที่มาภาพ: โพสต์ทูเดย์

ช่วง 2 เดือนแรก หลังออกจากค่ายทหาร ทั้ง 5 คน ยังต้องไปรายงานตัวที่ มทบ.22 ทุกวัน โดยไปเซ็นชื่อว่าได้มารายงานตัวแล้วก็กลับ ไม่มีการพูดคุยอะไร หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไปรายงานตัวทุกวันจันทร์ จนถึงปลายปี 59 ซึ่งเหลือคนที่ต้องเข้าไปเซ็นชื่อรายงานตัวเป็นประจำเพียง 3 คน เนื่องจากพิเชษฐ์ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เมื่อเดือน ธ.ค. 58 (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท) และศักดิ์สิทธิ์เสียชีวิตเมื่อเดือน ก.พ. 59 (อ่านรายละเอียดที่นี่) ทหารได้ลดให้ไปรายงานตัวเดือนละครั้งในทุกวันจันทร์ต้นเดือน นอกจากการต้องไปรายงานตัวเป็นประจำ ซึ่งสร้างภาระให้อดีตแกนนำเหล่านี้เป็นอย่างมากแล้ว ทหารและสันติบาลก็ยังไปติดตามที่บ้านเป็นประจำด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ทั้งหมดนี้คุกคามต่อเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพวกเขา แม้ว่าล่าสุด จ.ส.อ.สมจิตร ให้ข้อมูลว่า เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ผบ.มทบ.22 ได้สั่งให้ยุติการเข้ารายงานตัวของพวกเขา 3 คน ที่เหลืออยู่แล้ว

นอกจากนี้ หลังการถูกควบคุมตัวในครั้งแรกไม่ถึงเดือน วันที่ 19 มิ.ย. 57 ตำรวจ ทหาร ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เข้าตรวจค้นบ้านของประยุทธ และควบคุมตัวเดินทางโดยเครื่องบินไปกรุงเทพฯ (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท) เพื่อสอบปากคำ โดยอ้างว่าเขาเกี่ยวข้องกับอาวุธ และเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ ประยุทธถูกควบคุมตัวและสอบที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล อยู่ 6 วัน โดยขาดการติดต่อกับญาติ ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด


กำลังฝ่ายความมั่นคงเข้าควบคุมตัวนายประยุทธที่บ้าน ที่มาภาพ: ประชาไท

"หลังรัฐประหารลดบทบาทลง ไม่แสดงออก ไม่ไปไหนเลย ผมไปปั่นจักรยานออกกำลังกายอย่างเดียว ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีก ไม่ให้ผมพูด ผมก็ไม่พูด แต่มันอยู่ในใจผมแล้ว เปลี่ยนความคิดผมไม่ได้หรอก" เป็นบทสรุปของจ่าสมจิตรต่อสิ่งที่เขาได้รับตลอด 4 ปีมานี้ ซึ่งนอกจากเขาจะไม่ได้แสดงออกทางการเมืองผ่านการเล่าข่าวเหมือนที่เคยแล้ว สถานีวิทยุ 2 คลื่น ที่ถูกระงับออกอากาศ ยังหมายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกด้วย ทุกวันนี้จ่าสมจิตรยังต้องหาเงินมาใช้หนี้เงินกู้ที่กู้มาลงทุนเปิดสถานีวิทยุดังกล่าว "ผมอยากให้ทหารคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้ง เข้าสู่ระบบการเมืองปกติที่เป็นประชาธิปไตย"

 

คำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัว อดีต ส.ส.-ดีเจเสื้อแดง-นักธุรกิจ-นักดนตรี

24 พ.ค. 57 คสช. ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลรายงานตัวเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปรากฏชื่อ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.จ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย เป็น 1 ใน 35 คน ที่ต้องเข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ กทม. ในบ่ายวันเดียวกันนั้น นายเกรียงเดินทางเข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 แทน และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน ทั้งนี้ ประกาศ คสช.ที่ 39/2557 ระบุให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. และได้รับการปล่อยตัว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดอย่างเคร่งครัด เงื่อนไขดังกล่าว คือ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ, ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามให้การสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 2ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รวมทั้งระงับธุรกรรมทางการเงิน

หลังจากนั้น น.ส.อุบลกาญจน์ อมรสิน ดีเจ 'สาวฝั่งโขง', นายสราวุฒิ ภูธรโยธิน นักธุรกิจโรงสีข้าว และนายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข นักดนตรีหนุ่ม ก็ถูกคำสั่ง คสช. เรียกเข้ารายงานตัวเช่นกัน โดยดีเจสาวฝั่งโขงเข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ ในวันที่ 30 พ.ค. 57 และได้รับการปล่อยตัววันเดียวกัน ส่วนนายสราวุฒิ ใช้อาวุธปืนพกยิงตัวเองในบ้าน หลังทราบข่าวถูกเรียกเข้ารายงานตัว ภรรยาให้ข้อมูลสื่อมวลชนว่า สามีป่วยด้วยโรคประจำตัวรุมเร้าหลายปีแล้ว แต่อาการไม่ได้กำเริบอะไร คาดว่าจากคำสั่งดังกล่าวทำให้สามีเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น เพราะเกรงจะถูกกักตัวไว้ในค่ายทหาร ขณะที่พฤทธ์นรินทร์เข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก ในวันที่ 12 มิ.ย. 57 แล้วถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลฯ ในคดี 112 จากนั้นถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ จ.อุบลฯ

นอกจากนี้ ยังมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อีก 3 คน และแกนนำ กปปส. 3 คน ที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 โดยไม่มีคำสั่ง คสช.อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ถูกกักตัวในค่าย 7 วัน (อ่านข่าวที่นี่) ซึ่งประกาศ คสช.ที่ 40/2557 ก็กําหนดเงื่อนไขให้บุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวในลักษณะนี้ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกับคนที่ถูกเรียกตามคำสั่ง คสช. และการฝ่าฝืนมีโทษเช่นเดียวกัน

 

จัดเต็ม ติดตามแกนนำเสรีชนเข้ารายงานตัว จนแม่ช็อคล้มป่วย

22-24 พ.ค. 57 ทหารกว่า 10 นาย อาวุธครบมือ บุกไปที่บ้านรัตนา ผุยพรม แกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มเสรีชน และขู่ว่าจะจับตัวลูกชายที่อยู่บ้าน ทำให้รัตนาซึ่งตัดสินใจไม่กลับบ้านหลังทหารเข้ายึดอำนาจ ต้องเข้ารายงานตัวกับทหารที่ จ.ศรีสะเกษ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เหตุที่รัตนาเลือกเข้ารายงานตัวที่ศรีสะเกษ เนื่องจากไม่อยากถูกกักตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วัน เหมือนแกนนำกลุ่มอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ทหารพูดคุยปรับทัศนคตินานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนปล่อยตัวกลับ ต่อมาอีก 2 วัน ทหาร มทบ.22 ก็โทรศัพท์เรียกให้รัตนาไปรายงานตัวที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลฯ อีกครั้ง โดยทหารพูดคุยเนื้อหาเดิม ๆ เช่น ทำไมต้องไปชุมนุม คำตอบของเธอก็คือ "ไม่สามารถทนเห็นความไม่ชอบธรรม การเอารัดเอาเปรียบ และสองมาตรฐานได้" ก่อนให้รัตนาเซ็นเอกสารระบุเงื่อนไขว่า ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และปล่อยตัวกลับ

หลังจากนั้นมา ทหารก็มาพบรัตนาที่บ้านสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อยู่ประมาณ 4 เดือน เพื่อสอบถามและติดตามการเคลื่อนไหว ในบางครั้งทหารไม่พบรัตนา เนื่องจากเธอไปเฝ้าแม่ที่ป่วยอยู่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็จะโทรตาม พร้อมทั้งตามไปพบที่โรงพยาบาล จนสามีของรัตนาทนไม่ไหว "มันจะละเมิดสิทธิเกินไปแล้ว แม่ป่วยก็เพราะพวกคุณ" แม่ของรัตนาช็อกในวันที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือบุกมาที่บ้าน หลังจากนั้นก็ล้มป่วย และเสียชีวิตลงในเวลาไม่นานนัก ในงานศพของแม่ ซึ่งรัตนาและคนเสื้อแดงสวมเสื้อสกรีนข้อความ "เสื้อแดงเสรีชนอุบล" เจ้าหน้าที่ก็ยังมาวางกำลังสังเกตการณ์ในวัด

ถ้าหากมีความเคลื่อนไหวสำคัญๆ  ทหารก็จะมาติดตามดูรัตนาว่า จะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ อย่างที่มีการนัดใส่เสื้อแดงในวันที่ 1 พ.ย. 58 ทหารในเครื่องแบบ 6 นาย มาสอบถาม พร้อมกับบอกว่า ใส่เสื้อแดงได้แต่ห้ามเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย โดยยก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาขู่ การที่เจ้าหน้าที่ติดตามเธอเป็นประจำเช่นนี้ แกนนำกลุ่มเสรีชนเห็นว่า เป็นการรบกวนชีวิตประจำวันของเธอ ทำให้ครอบครัวรู้สึกอึดอัด กิจการร้านซ่อมแอร์ของเธอได้รับผลกระทบ ลูกค้าลดลง สติ๊กเกอร์ชื่อร้านที่ลูกค้าติดรถ เมื่อผ่านค่ายทหารก็ถูกสั่งให้แกะออก สำหรับเธอแล้วรู้สึกเหมือน "โดนกระทืบซ้ำ" หลังจากที่คนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมในปี 53 และ 57 ซึ่งเธออยู่ด้วยในทั้งสองเหตุการณ์

ขณะที่ เกริกยุทธ์ คำเพ็ชรดี แกนนำอีกคนของกลุ่มเสรีชน ถูกเรียกรายงานตัวที่ มทบ.22 ในวันที่ 25 พ.ค. 57 หลังจัดกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต่อต้านรัฐประหารที่ร้านแมคโดนัลด์ อุบลฯ แต่ ผบ.มทบ.22 ตักเตือนเขาเรื่อง การแชร์รูปต่อต้าน คสช. บนเฟสบุ๊คส่วนตัว  หลังจากนั้น ก็มีทหารยศน้อยใหญ่แวะเวียนไปพบเกริกยุทธ์ที่บ้านเป็นประจำอยู่หลายเดือนเช่นเดียวกับที่ไปติดตามแกนนำคนอื่น ๆ

 

เรียกรายงานตัวอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

3 มิ.ย. 57 อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ได้แก่ เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์, ธีระพล อันมัย, เสนาะ เจริญพร และราม ประสานศักดิ์ พร้อมทั้งคณบดีรวม 5 คน ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ มทบ. 22 โดยทหารโทรศัพท์ถึงคณบดี ไม่มีหนังสือเรียกอย่างเป็นทางการ ในการพูดคุย ทหารแจ้งว่า คสช. ไม่สบายใจที่มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด แม้แต่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก (อ่านข่าวที่ประชาไท) จึงขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงนี้ รวมถึงการโพสต์เฟสบุ๊คด้วย ทหารยังบอกให้อาจารย์ทั้งห้าจับตามองนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าจะจัดสัมมนาหรืองานวิชาการ ก็ต้องแจ้งและขออนุญาตจากทหารก่อน และยังห้ามเดินทางออกนอกประเทศ แต่ไม่มีการเซ็นเอกสารตกลงแต่อย่างใด


นักวิชาการ นักกิจกรรมในอุบลฯ จุดเทียนต้านกฎอัยการศึก ก่อนรัฐประหาร ที่มาภาพ: ประชาไท

ผลของการถูกเรียกรายงานตัว ทำให้พวกเขาเกิดความกังวล และต้องระมัดระวังที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น ทั้งในการโพสต์เฟสบุ๊คและการบรรยายในห้องเรียน บทบาททางวิชาการของคณะก็ได้รับผลกระทบ ในช่วงแรก ๆ จะประชุมมากกว่า 5 คน ก็ต้องรายงานทหาร ต้องส่งเรื่องไป อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อาจารย์อย่างพวกเขาไม่ทำตามที่ทหารสั่ง คือ การจับตามองนักศึกษา "เขาไม่มีสิทธิมาสั่งเราให้เรากลายเป็นคนที่คอยจับตาดูนักศึกษาของเรา ซึ่งมันขัดกับความเชื่อของเราที่ต้องการให้พวกเขามีเสรีภาพที่จะคิดจะทำอะไร"

พวกเขายังรู้สึกไม่พอใจกับบรรยากาศหลังรัฐประหารที่มีทหารมาตั้งด่านหน้ามหาวิทยาลัย มีรถทหารมาลาดตระเวน บางวันมีทหารถือปืนเดินผ่านคณะ ดูบอร์ดรายชื่ออาจารย์ ดูนักศึกษาซ้อมเชียร์ "นี่คือการละเมิดอีกอันหนึ่ง มหาวิทยาลัยควรจะเป็นแหล่งพักพิง เป็นแหล่งที่ปลอดภัยของนักคิด แหล่งความรู้ เสรีภาพ"

 

ทหารเรียกอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ปรามนักศึกษา เกรงร่วมเคลื่อนไหวกับ 'ดาวดิน'

1 ธ.ค.57 ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.อุบลฯ เรียกตัวผู้บริหารและนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ไปพบโดยด่วน โดยมีการประสานผ่านทางมหาวิทยาลัย บุคคลที่ถูกเรียกตัว ได้แก่ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดี, ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช รองคณบดีฝ่ายบริหาร, น.ส.รจนา คำดีเกิด รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา, นายวัชรพงษ์ พันสูงเนิน นายกสโมสรนักศึกษา พร้อมทั้งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา และหัวหน้าสำนักงานกิจการนักศึกษา

ทหารแจ้งสาเหตุในการเรียกโดยระบุว่า ฝ่ายข่าวทหารรายงานข่าวว่า กลุ่มนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และกลุ่มแว่นขยาย มีการวางแผนจะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลร่วมกับกลุ่มดาวดินที่ ม.ขอนแก่น จึงขอให้คณาจารย์และนายกสโมสรคณะฯ ตักเตือนนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งถ้าจะจัดกิจกรรมอะไรในมหาวิทยาลัยต้องติดต่อแจ้งรายละเอียดให้ทหารทราบ

อ.ไชยันต์ เปิดเผยในภายหลังว่า "ผมไม่รับปากว่าจะคอยติดตาม สอดส่องให้ เพราะผมคิดว่าคณะรัฐศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ก็เป็นแง่วิชาการ ความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ เหล่านี้ก็ขึ้นอยู่นักศึกษาว่าจะนำความรู้ไปใช้ทำอะไร"

"หลังถูกทหารเรียกพบ กิจกรรมทางวิชาการที่จะจัด เราต้องขับรถไปขออนุญาตทหารอยู่ที่ มทบ. 22 อยู่เรื่อย ๆ" อ.ฐิติพล ให้ข้อมูล "ในความเห็นของผม ทหารพยายามควบคุมเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้พวกเราไม่มีความอิสระ เราไม่รู้ว่าเราถูกตรวจสอบ ดักฟัง ติดตามแค่ไหน แม้แต่การเรียนการสอนในห้องเรียน" ด้านวัชรพงษ์ก็เห็นว่า "ความเป็นอิสระของการทำกิจกรรมนักศึกษาลดลง การจะจัดกิจกรรมของนักศึกษาต้องแจ้งมหาวิทยาลัยและทหารก่อน แม้แต่งานเลี้ยงส่งรุ่นพี่ ทหารยังมาที่งานและสอบถามว่างานนี้ทำเพื่ออะไร จัดทำไม"

 

เรียกรายงานตัวสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล หลังโพสต์แถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

25 พ.ย. 57 กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 ตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยป้องกันจังหวัดอุบลฯ ว่า มีหนังสือจาก มทบ.22 ให้เขาเข้ารายงานตัว เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการนำเสนอข่าว ทหารขอความร่วมมือให้เขาปิดเฟสบุ๊ก เพราะมีเนื้อหาที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ใหญ่ ในการเข้ารายงานตัว เสนาธิการ มทบ.22 ชี้แจงว่า ทหารขอความร่วมมือให้ลบข้อความที่แสดงความเห็นต่อต้านรัฐประหาร และ คสช. ไม่ได้ให้ปิดเฟสบุ๊ค กฤษกรยังแสดงความเห็นเรื่องเขื่อนปากมูลได้ตามปกติ การที่มีข่าวดังกล่าวจึงเป็นการบิดเบือน ทำให้ทหารเสียหาย และเกิดความแตกแยก ขอให้กฤษกรชี้แจงนักข่าวด้วย  จากนั้น ทหารได้ให้กฤษกรลงชื่อในหนังสือแสดงเจตนารมณ์ว่า จะไม่ทำการใด ๆ ที่มีลักษณะต่อต้าน คสช. หรือก่อให้เกิดความแตกแยกอีก

ทั้งนี้ กฤษกรให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านั้น ทหารได้โทรศัพท์มาขอให้เขาปิดเฟสบุ๊ค "ร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวร" ซึ่งเขาคาดว่า เนื่องมาจากมีการโพสต์แถลงการณ์ "หยุดคุกคามเสรีภาพประชาชน ยกเลิกกฎอัยการศึก" ต่อมา ทหารยังให้เขาปิดเฟสบุ๊คส่วนตัวอีกด้วย ในระหว่างที่เขายังไม่ได้เข้ารายงานตัว กำลังทหาร ตำรวจก็ไปติดตามเขาที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรปากมูล และที่บ้านแม่ใน อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ ทำให้แม่และคนทั้งหมู่บ้านแตกตื่น

 

แทรกแซงเวทีเสวนาของ ม.อุบลฯ "การปฏิรูปทางการเมือง เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม"

27 ก.พ. 58 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มคณะวิชาทางสังคมศาสตร์ มีกำหนดจัดงาน มหกรรมวิชาการทางสังคมศาสตร์แห่งชาติ ประจำปีการศึกษา 2557 ในงานมีเสวนาทางวิชาการหัวข้อ "การปฏิรูปทางการเมือง เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม" ผู้เข้าร่วมเสวานาประกอบด้วย เกษียร เตชะพีระ, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อธึกกิจ แสวงสุข (ใบตองแห้ง) และฐิติพล ภักดีวานิช ดำเนินรายการโดย ณรุจน์ วศินปิยมงคล

แต่ก่อนถึงวันจัดงาน ทหารได้โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดของงาน และยังให้ตัวแทนคณะรัฐศาสตร์เข้าไปชี้แจงรายละเอียดที่ มทบ.22 รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดี, ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช  รองคณบดี จึงเข้าไปที่ มทบ.22 ทหารแสดงความกังวลที่ปรากฏชื่อ อ.วรเจตน์ เข้าร่วมเสวนา เนื่องจาก อ.วรเจตน์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่เข้ารายงานตัว คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร แต่จากการพูดคุยทหารให้จัดเสวนาต่อไปได้ โดยให้ทำหนังสือขออนุญาตจัดงานไปที่ มทบ. 22 และทหารขอส่งคนเข้าร่วมเวที

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานทางเฟสบุ๊คก่อนถูกทหารขอให้ปรับเปลี่ยน

หลังจากนั้น ทหารยังเรียกผู้จัดงานไปพบอีกครั้ง โดยให้ปรับเปลี่ยนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานที่โพสต์ในเฟสบุ๊คซึ่งมีรูปทหารถือปืน และแสดงความกังวล ไม่อยากให้ในงานมีการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. คณะกรรมการจัดงานจึงมีมติว่า เพื่อให้งานลุล่วงไปได้และมีความเห็นหลากหลาย จึงให้เชิญสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าร่วมในเวทีเสวนาด้วย โดยผู้ร่วมเสวนาที่ปรับเปลี่ยนใหม่ประกอบด้วย สมบัติ จันทรวงศ์, พฤทธิสาณ ชุมพล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอธึกกิต แสวงสุข มีฐิติพล ภักดีวานิช เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ในวันงานไม่มีทหารในเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ แต่ผู้จัดงานต้องบันทึกวีดิโอส่งให้ มทบ.22

 

ทหารเรียกผู้บริหาร 4 สถาบันอุดมศึกษา ให้สอดส่อง/ปราม นศ.ไม่ให้เคลื่อนไหวเชื่อมโยง 14 นศ.

17 ก.ค. 58 มทบ.22 ส่งหนังสือด่วนเรียกผู้บริหาร/คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยใหญ่ 4 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชธานี และมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น เข้าร่วมพบปะ ทำความเข้าใจการดำเนินการของ คสช. โดยอ้างถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

ในที่ประชุม พลตรี นิรุทธ เกตุสิริ ผบ.มทบ.22 ขอให้ผู้บริหารและคณาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยช่วยดูแล ตรวจสอบนักศึกษาว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. หรือไม่ เช่น กลุ่มดาวดิน และกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ อ้างรายงานของสายข่าวทหารว่า นักศึกษาของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ใช้สื่อออนไลน์ในการรับรู้ข่าวสาร และการสร้างสถานการณ์หรือทำให้เป็นข่าว ให้เหมือนว่าจังหวัดอุบลฯ มีความไม่สงบ เช่น การชูป้ายของนักศึกษา ม.อุบล ฯ ทั้งนี้ ให้ทางมหาวิทยาลัยติดต่อหรือแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษาโดยตรงกับกองข่าวของ มทบ.22 ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผบ.มทบ.22 ยังขอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดระบบในการตรวจสอบและอนุมัติเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาที่มาจากภายนอกมหาวิทยาลัย โดยให้ผ่านความเห็นชอบจากอธิการบดีและมีการกำกับดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมอย่างใกล้ชิด

รศ.ดร. นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดี ม.อุบลฯ กล่าวในที่ประชุมว่า "ในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยอมรับว่า มีการเคลื่อนไหวทางความคิดอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ทางมหาวิทยาลัยเฝ้าระวังและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้" ขณะที่ผู้บริหาร ม.ราชธานี สอบถามว่า มีนักศึกษา ม.ราชธานี เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจริงหรือ? เพราะส่วนมาก ม.ราชธานี มีแต่นักศึกษาผู้หญิง

หลังการประชุม ฐิติพล ภักดีวานิช รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ แสดงความเห็นว่า "นักศึกษามีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้เราควรที่จะยอมรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่มองความเห็นหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล มันอาจจะเป็นข้อดีต่อกระแสการปฏิรูปการเมืองก็ได้" (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)


 

ปิดกั้นกิจกรรม สกัดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูล พร้อมเรียกรายงานตัว

***24 ก.พ. 58 ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดอุบลฯ ติดตามให้ กฤษกร ศิลารักษ์ ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้าชี้แจงที่ศาลากลางจังหวัดเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดงาน '2 ทศวรรษ เขื่อนปากมูน' ซึ่งจะจัดในวันที่ 13 – 16 มี.ค. 58 โดยรองผู้ว่าฯ อ้างว่าไม่สบายใจต่อการจัดงาน เนื่องจากในงานจะมีการรณรงค์หยุดเขื่อนโลก ซึ่งไม่สอดคล้องกับบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง และมีลักษณะเป็นการชุมนุม ซึ่งขัดต่อกฎอัยการศึก หัวหน้าฝ่ายข่าว มทบ.22 แสดงความเห็นด้วยว่า การจัดงานยังไม่มีการขออนุญาตทาง มทบ.22 อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับไปดูงานสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่ สปป.ลาว หลังการชี้แจง ฝ่ายความมั่นคงยังไม่สบายใจ จึงให้กฤษกรเข้าไปชี้แจงอีกครั้งที่ มทบ.22 พร้อมส่งหนังสือขออนุญาตจัดงาน  หลังจากนั้น ทหารพยายามกดดันให้เลื่อนงานออกไป โดยอ้างถึงสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด แต่สมัชชาคนจนยืนยันจัดงานตามกำหนดการเดิม โดยวันจัดงานวันแรกมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3-4 คน เข้าสังเกตการณ์ ต่อมา ในช่วงค่ำทหารโทรศัพท์หากฤษกร สั่งไม่ให้จัดงานในวันที่สอง คณะผู้จัดงานจึงตัดสินใจงดการประชุมวางแผนรณรงค์คัดค้านเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำให้กิจกรรมในวันที่สองเหลือเพียงพิธีสืบชะตาแม่น้ำ และรณรงค์ "หยุดเขื่อนโลก"

***30 มี.ค. 58 ก่อนชาวบ้านปากมูลเดินทางด้วยรถไฟ เพื่อไปติดตามความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ทำเนียบรัฐบาล ตำรวจได้ไปพบแกนนำชาวบ้าน สอบถามเรื่องการเดินทางและกิจกรรมที่จะทำในกรุงเทพฯ โดยมีท่าทีข่มขู่คุกคาม ทำให้แกนนำชาวบ้านและครอบครัวเกิดความหวาดกลัว

***5 มิ.ย. 58 หลังชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อเสนอปัญหาความเดือดร้อน ในวันที่ 4 มิ.ย. มีตำรวจไปที่บ้านของที่ปรึกษาและแกนนำชาวบ้านรวม 5 คน แต่ไม่พบ ตำรวจแจ้งที่บ้านว่า มทบ.22 ให้เอารถมารับตัวไปพบเพื่อปรึกษาเรื่องการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ต่อมา จึงมีหนังสือลงนามโดย ผบ.มทบ.22 /ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.อุบลฯ (กกล.รส.จ.อุบลฯ) ให้แกนนำ 11 คน เข้าพบ แต่แกนนำยังติดภารกิจไม่สามารถเข้าพบได้

***30 มิ.ย. 58 ที่ปรึกษาและแกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล รวม 4 คน เข้าพบ ผบ.มทบ.22 ตามที่มีหนังสือไปถึง ทหารขอให้ทางแกนนำหยุดการเคลื่อนไหว และนำขบวนเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับที่ชุมนุมให้กำลังใจคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปากมูล หน้าศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. โดยกล่าวว่า ลักษณะการจัดขบวนมีการชูธง และมีจำนวนผู้ชุมนุมจำนวนมาก คล้ายกับการชุมนุมทางการเมือง ท้าทายกฎหมาย อาจทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องในลักษณะเดียวกันอีกหลายพื้นที่ตามมา หากมีปัญหาอะไรให้มาพูดคุยกัน ด้านแกนนำชาวบ้านกล่าวโต้ว่า การที่สมัชชาคนจนชุมนุมที่หน้าศาลากลางเป็นจำนวนมากนั้นก็เพื่อให้กำลังใจคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลตั้งขึ้น ทุกคนอยากฟังคำตอบจากที่ประชุม เพราะเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลได้เป็นรูปธรรม หลังการพูดคุย แกนนำชาวบ้านทั้งสี่ต้องเซ็นเงื่อนไข ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง งดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน/ความแตกแยก และห้ามวิจารณ์ คสช. หากฝ่าฝืนเงื่อนไขยินยอมให้ดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงิน (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

***25 ต.ค. 58 ทหารและตำรวจไปพบแกนนำปากมูนในพื้นที่เพื่อยับยั้งไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ชาวบ้านออกเดินไปก่อนแล้ว เพื่อไปกดดันรัฐบาลให้เปิดการเจรจากรณีที่ผู้ว่าอุบลฯ จะเสนอคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ก่อนกำหนด วันต่อมา ชาวบ้านไม่ได้เข้าพบหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เพื่อเจรจาในเรื่องดังกล่าว จึงประกาศจัดชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบล ฯ ในวันที่ 28 ต.ค. 58 ค่ำวันเดียวกัน ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าไปในพื้นที่ปากมูนหลายหมู่บ้าน ไปพบแกนนำถึงบ้าน โดยเฉพาะที่บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม เจ้าหน้าที่เรียกชาวบ้านให้มาประชุม สั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปชุมนุมในวันที่ 28 ต.ค. ตามที่กฤษกรให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยอ้างว่า เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ทำให้ชาวบ้านปากมูนไม่พอใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงชาวบ้านโดยไม่มีเหตุผล (อ่านที่เพจปลดปล่อยอิสรภาพให้แม่น้ำ)

***4 พ.ย. 58 ทหารจาก มทบ.22 เข้าไปในพื้นที่ปากมูล และที่สำนักงานสมัชชาคนจน พยายามข่มขู่พร้อมยก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาอ้าง ว่าการจัดกิจกรรมเปิด "เขตรักษาพันธุ์ปลา" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย. 58 ผู้จัดต้องขออนุญาตก่อน แต่ชาวบ้านยืนยันที่จะจัดกิจกรรมเช่นเดิม

***12 มี.ค. 59 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลจัดกิจกรรมเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก ตลอดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.22 ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง มากำกับดูแลการจัดงานกว่า 30 นาย และสั่งให้ระงับการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์หัวข้อ "แม่น้ำเพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย" โดยให้เหตุผลว่าอาจสร้างความขัดแย้ง กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนจึงจำเป็นต้องยกเลิกเวทีเสวนาดังกล่าว (อ่านรายละเอียดที่ข่าวสด)

 

ศาลฎีกากลับคำพิพากษาคดีเผาศาลากลาง จำคุกตลอดชีวิต 'ดีเจต้อย' แกนนำกลุ่มชักธงรบ

15 ธ.ค.58 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 21 ราย แต่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกฟ้อง โดยอัยการโจทก์ไม่ติดใจยื่นฎีกาจำนวน 8 ราย คงเหลือจำเลยที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา รวม 13 ราย ทั้งนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับ ให้จำเลย 4 ราย มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิง ให้จำคุกตลอดชีวิต (ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำนวน 2 ราย) หลังจากศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหา ส่วนจำเลย 4 ราย ที่ถูกคุมขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 โดยศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้เหลือจำคุก 33 ปี 12 เดือนนั้น ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน

นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยกล่าวว่า จำเลยบางรายที่เคยถูกยกฟ้องหรือได้รับโทษไม่มากกลับมารับโทษเพิ่มขึ้น เนื่องจากศาลฎีกาเชื่อตามพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานโจทก์ว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โดยเฉพาะ 'ดีเจต้อย' พิเชษฐ์ ทาบุดดา ดีเจและแกนนำกลุ่มชักธงรบ ซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินจำคุก 1 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดหย่อนโทษ เพราะศาลเชื่อว่าเป็นผู้บงการให้มีการเผาศาลากลางจังหวัดตามที่อัยการฟ้อง

นอกจากพิเชษฐ์ (59 ปี) แล้ว จำเลยที่ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตอีก 1 คน คือ ชัชวาล ศรีจันดา (33 ปี) ซึ่งยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ศาลากลาง (ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง) ส่วนจำเลยที่ศาลฎีกาลดโทษให้เหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน คือ อรอนงค์ บรรพชาติ (47 ปี) เจ้าของสวนพันธุ์ไม้ เธอยืนยันต่อศาลว่า วันเกิดเหตุได้ขึ้นปราศรัยให้คนอยู่ในความสงบ ไม่ได้ปลุกระดมให้เข้าไปเผาศาลากลาง (ชั้นต้นลงโทษจำคุก 8 เดือน, อุทธรณ์แก้เป็นจำคุก 2 ปี) และลิขิต สุทธิพันธ์ (55 ปี) ให้การต่อศาลว่า เข้าไปขว้างก้อนหินขณะยังไม่เกิดเหตุไฟไหม้ (ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 2 ปี)

ต่อมา ผู้ต้องขัง 4 ราย ได้แก่ สนอง เกตุสุวรรณ์, สมศักดิ์ ประสานทรัพย์, ธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ และปัทมา มูลมิล ซึ่งศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 33 ปี 12 เดือน และถูกขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวาระพิเศษ 2 ครั้ง คงเหลือโทษจำคุก 18 ปี 9 เดือน ก็ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 60 โดยเงื่อนไขในการพักโทษที่สำคัญ คือ ต้องไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน จนกว่าจะครบโทษในเดือน พ.ค. 72 และห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่เขตจังหวัด

ส่วนจำเลยอีก 4 คน ที่ต้องรับโทษเพิ่มตามคำพิพากษาของศาลฎีกา หลังพ้นโทษในปี 59 มีข้อมูลว่า บางคนถูกเจ้าหน้าที่ติดตามมาพบทุกเดือนจนถึงทุกวันนี้ โดยเจ้าหน้าที่มาพูดคุยสอบถามว่า เคลื่อนไหวอะไรมั้ย จากนั้นก็ถ่ายรูป แล้วกลับไป

 

รื้อหมายจับคดีชุมนุมปี 53

8 เม.ย. 59 ตำรวจจับกุมนายสิทธิชัย คำนาโฮม ตามหมายจับในคดีชุมนุมและเผายางประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงสายวันที่ 19 พ.ค. 53 นายสิทธิชัย ให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่บุคคลตามหมายจับ อย่างไรก็ตาม สิทธิชัยได้รับประกันตัวในชั้นสอบสวน และศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอจะระบุได้ว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง

15 พ.ย. 60 นายพงษ์ศักดิ์ ตุ้มทอง หรือดีเจอึ่งอ่าง ถูกตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับ ในคดีชุมนุมและเผาโลงศพจำลองที่ราชธานีอโศก เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 53 ซึ่งคนเสื้อแดงกว่า 2,000 คน ชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งสนับสนุนการใช้กำลังปราบปรามคนเสื้อแดง อดีตดีเจเสื้อแดงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวด้วยเงินสด 60,000 บาท ซึ่งญาติกู้ยืมมา พงษ์ศักดิ์ให้ข้อมูลว่า หลังเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน เขาได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเขาก็ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่ตำรวจก็ไม่เคยติดต่อเขามาอีกเลย ทั้ง ๆ ที่เขาพักอยู่ในอุบลฯ มาตลอด ไม่ได้หลบหนี (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท) ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ มีคำสั่งไม่ฟ้องนายพงษ์ศักดิ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

6 มิ.ย. 61 นายปิติพัฒน์ ธนัสถ์ทวีสิริ หรือดีเจตุ้ย ซาไก ถูกจับกุมตัวตามหมายจับในคดีเดียวกับดีเจอึ่งอ่าง หลังเข้ารับการผ่าตัดสมองจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แล้วชื่อของเขาไปปรากฏในสารบบของประกันสังคม เขาถูกควบคุมตัวขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปดำเนินคดีที่ สภ.วารินชำราบ ในวันต่อมา และได้รับการประกันตัวที่ศาลจังหวัดอุบลฯ ด้วยเงินสดที่ญาติรวบรวมมา จำนวน 70,000 บาท ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน (อ่านเพิ่มเติมที่Redfam Fund) นายปิติพัฒน์ได้รับหมายเรียกและเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในปี 53 พร้อมนายพงษ์ศักดิ์และพิเชษฐ์ ทาบุดดา แต่หลังจากนั้น นายปิติพัฒน์ไม่เคยได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนอีก จนกระทั่งถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตถึงการนำหมายจับในปี 2553 มาเร่งจับกุมคนเสื้อแดงในหลายคดีหลายจังหวัด

 

อดีต ส.ส.เพื่อไทย ยังถูกเรียกรายงานตัวเป็นระยะ

14 ธ.ค.58  นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ถูกทหารเรียกมารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติที่ มทบ.22 จากกรณีที่นายสมคิดโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า "ปีนี้ ชาวนาเดือดร้อน เพราะราคาข้าวตกต่ำ อยากให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา" หลังการเข้ารายงานตัว นายสมคิดยินยอมที่จะลบข้อความดังกล่าวในเฟสบุ๊คออก และได้ทำหนังสือสัญญาว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง หากมีการกระทำอีก ยินดีให้ดำเนินการตามกฎหมาย (อ่านข่าวที่นี่)

30 พ.ค. 59 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และนายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย พร้อมนางสาวพิศทยา ไชยสงคราม ภรรยา เข้ารายงานตัว ตามคำสั่งเรียกของ ผบ.มทบ.22 โดยในการเข้ารายงานตัว ผบ.มทบ.22 ระบุว่า มีรายชื่อของทั้งสองคนมาจากส่วนกลางว่า เป็นผู้มีอิทธิพล แต่เมื่อตรวจสอบ 16 ฐานความผิด ไม่พบว่าเป็นผู้มีอิทธิพลตามที่ได้รับแจ้ง จึงจะได้รายงานทางหน่วยเหนือต่อไป และอนุญาตให้ทั้งสองกลับบ้านได้ การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 30 นาที (อ่านข่าวมติชน)

 

เรียกรายงานตัวพร้อมขู่ดำเนินคดีที่ปรึกษาปากมูล-เสื้อแดง เหตุโพสต์พาดพิง คสช.

***3 พ.ค.59 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรียกนายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เนื่องจากเฟสบุ๊คส่วนตัวของกฤษกร มีการโพสต์ข้อความพร้อมภาพที่มีเนื้อหาส่อไปในเชิงต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและ  คสช. กฤษกรให้ข้อมูลว่า เป็นการโพสต์เฟสบุ๊คกรณีดอนคำพวง ซึ่งเป็นที่พิพาทระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมานานกว่า 10 ปี แต่มีการตัดไม้สงวนหวงห้าม เพื่อเตรียมออกเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านได้เข้าแจ้งความ มีการตรวจยึดไม้ แต่ไม้หายไป และคดีไม่มีความคืบหน้า โดยโพสต์ด้วยว่า "คสช.หายไปไหน" "คสช.รับใช้นายทุน" อย่างไรก็ตาม ผบ.มทบ.22 ให้ฝ่ายกฎหมายของ มทบ.22 แจ้งว่า ข้อความดังกล่าวสุ่มเสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ, (3) นำเข้าข้อมูลที่เป็นความผิดต่อความมั่นคง และกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน "ผบ.มทบ.22 ก็ยอมรับว่า ข้อมูลที่เราโพสต์เป็นประโยชน์ รอง ผบก.ภ.จว.อุบลฯ กับหัวหน้ากองข่าว มทบ.22 ก็บอกว่า เพิ่งทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ก็ย้ำเรื่อย ๆ ในที่ประชุมว่า เรามีความผิด สรุปก็คือ หากมีข้อมูลในลักษณะเช่นนี้อีกให้เราแจ้งข้อมูลโดยตรง อย่าโพสต์เฟสบุ๊กพาดพิง คสช. อีก ทางเราเองได้แสดงความเห็นด้วยว่า ท่านใช้วิธีการเรียกมาพบในค่ายทหาร มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย 10 คน อย่างนี้ สร้างความหวาดกลัว เป็นการคุกคามประชาชน อยากให้ท่านปรับรูปแบบเชิญคุยในร้านกาแฟสบายๆ แล้วการดูเฟสบุ๊คของประชาชนก็ดูที่เนื้อหาว่า ประชาชนต้องการสื่ออะไร มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่คอยแต่ดูว่า ประชาชนจะผิดกฎหมายมาตราไหน ท่านก็บอกว่า การปรับทัศนคติต้องเป็นแบบนี้" กฤษกรกล่าว (อ่านรายละเอียดที่นี่)

***1 ก.ค. 59 นายเกริกยุทธ  คำเพชร์ดี แกนนำเสื้อแดงกลุ่มเสรีชน ถูกเรียกเข้ารายงานตัวที่ มทบ.22 หลังจากเขาโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัวพาดพิง คสช.ว่า "พูดแล้วทำไม่ได้ นี่หมานะครับ 'บิ๊กตู่ ลั่น ไม่มีใครสั่งให้ปล่อยจากอำนาจได้ อัดผู้นำไทย 10 ปี ก่อนทำขัดแย้ง ฝากถ้าไม่เข้ากระบวนการยุติธรรมไม่ต้องคุยกัน'" โดยทหารกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวส่อไปในเชิงต่อต้านรัฐบาล/คสช. และอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา16 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์, ประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ข้อ1(3) เรื่องให้บุคคลงดเว้นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หมิ่นประมาทคนอื่นด้วยการโฆษณา พร้อมทั้งให้เกริกยุทธเซ็นบันทึกข้อตกลงว่า จะไม่ทำอะไรที่เข้าข่ายเป็นความผิดดังกล่าวอีกต่อไป

ประชามติไม่ต้อง Free & Fair: ห้ามเปิดศูนย์ปราบโกง-ยึดเสื้อ Vote No-จับคน No Vote-ระงับเสวนา

**19 มิ.ย.59 รัตนา ผุยพรม และเกริกยุทธ์ คำเพ็ชร์ดี กลุ่มเสรีชน จัดทำบุญที่ร้านอุดมแอร์ หลังจากกำหนดจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ตามที่ นปช. นัดหมายกันทั่วประเทศ แต่ถูกทหารห้ามจัด โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กลุ่มฯ จึงได้ปรับกิจกรรมมาเป็นทำบุญ โดยมีตำรวจ ทหารในเครื่องแบบประมาณ 60 นาย มาเฝ้าสังเกตการณ์ และเข้ายึดเสื้อยืดสกรีนคำว่า "ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า" ที่มีการนำมาแจกผู้มาร่วมทำบุญ

**25 ก.ค. 59 ทหารควบคุมตัวนายอติเทพ อิ่มวุฒิ ซึ่งสวมใส่เสื้อยืดสีดำสกรีนตัวอักษรสีแดงด้านหลังคำว่า "VOTE NO รธน." ขี่จักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด และยึดเสื้อตัวดังกล่าวไว้ ต่อมา ตำรวจได้เชิญตัวมาสอบปากคำและสนธิกำลังกับทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าค้นบ้านพัก แต่ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการต่อต้านการออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายอติเทพมาแถลงข่าวและสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สภ.เมืองอุบลฯ นาน 5 ชม. ก่อนปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นายอติเทพให้การว่า ได้เสื้อดังกล่าวมาจากเพื่อน จึงแลกมาใส่ เพราะเห็นเท่ห์ดี โดยไม่มีเจตนาอะไร


ที่มาภาพ: ข่าวสด

**26 ก.ค. 59 ตำรวจจราจรเข้าจับกุมนายวิชาญ ภูวิหาร ควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.พิบูลมังสาหาร ในข้อหา ก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61  โดยกล่าวหาว่า วิชาญได้พูดจากับประชาชนที่มาซื้อของในตลาด พร้อมชูเอกสาร ปลุกระดมให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ หลังจากถูกจับกุมนายวิชาญให้การปฏิเสธ และอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 12 วัน เพื่อให้ยกเลิกการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งไม่ยื่นประกันตัว อย่างไรก็ตาม ทนายได้ยื่นประกันตัวในภายหลัง และศาลให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน  โดยใช้หลักประกันในวงเงิน 60,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ต่อมา ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามคำฟ้อง ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 2 ปี

วิชาญยืนยันว่า วันเกิดเหตุเขาไม่ได้ตะโกนหรือปลุกระดมไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิลงประชามติ เพียงแต่ยืนพูดคุยกับเพื่อนในตลาดว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและการไปออกเสียงลงประชามติ  แต่ศาลเห็นว่า ขณะที่จำเลยพูดมีคนเดินผ่านไปมาได้ยิน การกระทำของวิชาญจึงเข้าข่ายการยุยง หรือมุ่งหวังไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

**1 ส.ค. 59 ฐิติพล ภักดีวานิช คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ยกเลิกการจัดงานเสวนา 'การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมและนัยต่อประชาธิปไตยไทย' ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 2 ส.ค. 59 วิทยากรประกอบด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, รศ.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ

ฐิติพล กล่าวว่า การจัดงานเสวนาครั้งนี้เป็นมติของคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ตั้งใจจะเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งกลุ่มที่เห็นและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ 7 ส.ค.59 จึงไม่ใช่การจัดเพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการจัดให้คนที่คิดต่างได้เจอกัน เป็นงานวิชาการ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคิดว่าจำเป็นมากในเวลานี้  ที่จัดงานเสวนาครั้งนี้เพราะเคยจัดงานลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นการร่วมมือของเครือข่ายนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะจัดงานเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "ทหารอนุมัติให้มีการจัดเสวนา แต่ทั้งผู้ว่าฯ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอให้ระงับ เพราะเห็นว่าในวันนี้ทางจังหวัดก็ได้จัดงานเกี่ยวกับเรื่องประชามติแล้ว และเกรงว่าอาจจะหมิ่นต่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ" (อ่านเพิ่มเติมที่ ประชาไท)

สื้อแดงถูกติดตามหลังโพสต์คิดฮอดทักษิณ

24 พ.ย.59 ธีรศักดิ์ เจริญสิน ได้โพสต์รูปภาพกองข้าวเปลือกและใช้ข้าวเปลือกเขียนข้อความว่า "คิดฮอดทักษิณ" ลงในเฟสบุ๊คส่วนบุคคล หลังจากมีการแชร์ภาพออกไปอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นข่าว ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ไปถามหาเขาที่บ้านป้าในอำเภอเขื่องใน แต่ไม่พบ เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายให้มาติดตามจากกรณีโพสต์รูปกองข้าวเป็นข้อความดังกล่าว ทั้งนี้ ธีรศักดิ์เล่าว่า เขาเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับ นปช. ที่กรุงเทพฯ ในปี 53 จึงอาจเป็นสาเหตุให้ถูกจับตาจากทหารด้วย


ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

ยังคงติดตามหวังสกัดแกนนำปากมูลไม่ให้เคลื่อนไหว

***6 ก.พ. 60 ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เดินทางจาก จ.อุบลราชธานี เข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ติดตามการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยผู้ประสานงานได้โพสต์รูปและข้อความเกี่ยวกับการเดินทางไปยื่นหนังสือลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเดินทางไปที่บ้านของแกนนำชาวบ้านในพื้นที่อำเภอ โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร เพื่อข่มขู่ หวังสกัดไม่ให้ชาวบ้านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ชาวบ้านได้ออกเดินทางไปก่อนหน้านั้นแล้ว

***25 เม.ย. 60 ทหารโทรศัพท์ถึงปริวัฒน์ ปิ่นทอง ประธานสมัชชาคนจน เขื่อนปากมูล แจ้งว่าจะพาผู้บังคับบัญชาไปพบที่ทุ่งนา แต่ปริวัฒน์รออยู่จนถึงบ่ายก็ไม่เห็นมา วันเดียวกัน นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาก็โทรหากฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ให้เข้าไปพบที่ มทบ.22 แต่กฤษกรแจ้งว่า อยู่กรุงเทพฯ แล้ว ทหารจึงกล่าวกับกฤษกรว่า "จะทำอะไร ทำไมไม่บอกพี่บ้าง" ทั้งนี้ เหตุที่ทหารติดตามแกนนำชาวบ้าน เนื่องจากวันที่ 27 เม.ย. 60 ตัวแทนชาวบ้านปากมูลจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเจรจาเรื่องความคืบหน้าในการแต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาและการเปิดประตูเขื่อนปากมูล

 

ผู้ว่าฯ แจ้งความที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุโพสต์วิจารณ์

20 ธ.ค. 60 นายกฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าฯ อุบลฯ มอบอำนาจให้ตัวแทนเข้าแจ้งความกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์เฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล สคจ. และ กฤษกร ศิลารักษ์ (บูรพา ไม่แพ้) โดยมีข้อความเกี่ยวกับการที่ผู้ว่าฯ เรียกประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อปิดประตูเขื่อนปากมูล และเชิญชวนให้คนทั่วไป ร่วม "ลอยอังคาร" ผู้ว่าฯ อันเป็นข้อความเท็จ ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ และทำให้ผู้ว่าฯ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2),(5) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328, 384, 393 หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กฤษกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้ข้อมูลว่า การโพสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยที่ผู้ว่าฯ เรียกประชุม ซึ่งตนเองมั่นใจว่าเกี่ยวข้องกับการปิดประตูเขื่อนปากมูล เนื่องจากอนุกรรมการชุดที่ถูกเรียกประชุมนั้น มีหน้าที่ปิด-เปิดประตูเขื่อนปากมูล อีกทั้งขณะที่เรียกประชุมนั้น เขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำสุดบาน ทั้ง 8 บาน จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ การดำเนินคดีโดยผู้ว่าฯ  ในครั้งนี้ อาจเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่พยายามยุติการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบภาครัฐ ปัจจุบันอัยการยังไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล

 

ดำเนินคดีแกนนำเสรีชน หลังเข้าร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง พร้อมสกัดไม่ให้เข้าร่วมอีก

16 ก.พ. 61 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 ในความผิดฐาน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 โดยปรากฏรายชื่อ รัตนา ผุยพรม แกนนำกลุ่มเสรีชนของอุบลฯ ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วย ทำให้รัตนาต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กรุงเทพฯ และไปตามนัดหมายตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของต่อศาลแขวงดุสิต

ผลจากการถูกดำเนินคดีนอกจากสร้างภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับรัตนาแล้ว ยังทำให้มีเจ้าหน้าที่ไปติดตามเธอมากขึ้น ทุกครั้งที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดหมายชุมนุมในกรุงเทพฯ ทั้งตำรวจ ทหาร สันติบาล กอ.รมน. จะเวียนกันเข้าไปพบรัตนา เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ พร้อมทั้งพยายามห้ามไม่ให้ไป ล่าสุด การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ในโอกาสครบรอบ 4 ปี รัฐประหารเจ้าหน้าที่ประมาณ 25 นาย ไปพบที่บ้าน ห้ามไม่ให้ไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยอ้างว่าจะผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขัดคำสั่ง คสช. แต่รัตนายืนยันว่า ต้องนำหมูยอที่สั่งไว้แล้วไปจำหน่ายที่งาน  "เขาก็หาเรื่องให้เราอยู่จนได้ เหมาหมูยอไป 5 หมื่นกว่า วันที่ 21 ก็มาเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืน วันที่ 22 อยู่จนถึง 3 ทุ่ม ใครจะไปก็ช่าง จะขนมวลชนไปเท่าไหร่ก็ได้ แต่พี่รัตต้องอยู่ ตลกจริง ๆ นะ กลัวอยู่แต่ผู้หญิงคนเดียว"


ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค รัตนา เสรีชน

 

ส่งท้าย

หลังจากทบทวนความหมายของ "ความสงบเรียบร้อย" ของสถานการณ์หลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า แท้จริงแล้วคือการใช้อำนาจในการ "ปรามไม่ให้เคลื่อนไหว" "ความสงบเรียบร้อย" ซึ่งหมายถึง ไม่มีใครไปชูป้าย ชูสามนิ้ว หรือจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อื่น ๆ ต่อต้าน คสช. ไม่มีคนใส่เสื้อที่สกรีนข้อความที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากเห็น หรือถามคำถามที่ไม่อยากได้ยิน ไม่มีคนยื่นหนังสือร้องเรียน ขณะหัวหน้า คสช. ลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี พื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยการประท้วงนายกฯ และรัฐบาลที่มีข้อครหาว่าจัดตั้งในค่ายทหาร รวมถึงใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงในปี 2553 เหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลจากปฏิบัติการที่ต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลากว่า 4 ปี หลังรัฐประหาร และยังคงถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติงานแบบใหม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อ้าง ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก็อาจใช้อำนาจโดยอำเภอใจได้

การกระทำเพื่อความสงบเรียบร้อยในความหมายข้างต้น แท้จริงแล้วมีความหมายในสังคมประชาธิปไตยว่า  การจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความเห็น การรวมกลุ่ม การชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนแทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนที่คิดต่างจากรัฐบาลและ คสช. ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบคุกคามด้วยอำนาจพิเศษของคณะรัฐประหาร และกระบวนการตามกฎหมายปกติที่ผู้ใช้กฎหมายอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือแทรกแซงโดย คสช. ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

นอกจากการกระทำดังกล่าวจะขัดต่อทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองหลักการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความเห็น การรวมกลุ่ม และการชุมนุมโดยสงบแล้ว ยังคงมีสิ่งที่มิอาจประเมินเพื่อเยียวยาได้จากการใช้อำนาจดังกล่าวโดยอำเภอใจ คือผลกระทบที่มีต่อตัวผู้ละเมิด ตลอดทั้งครอบครัวและคนใกล้ชิด อีกทั้งระบบนิติรัฐซึ่งถือเป็นหลักที่ใช้ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐมิให้ก้าวล่วงหรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็มีอันต้องเสียหายไปด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ไม่ว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่จะอ้างใช้เหตุผลใดในการควบคุมประชาชนไม่ให้เคลื่อนไหว แต่ด้วยแนวคิดที่มีและวิธีที่ใช้ "ความสงบเรียบร้อย" ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการยอมรับซึ่งหลักสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ "กด-ปราม ยาวนาน 4 ปี จากอุบลฯ ถิ่นประท้วงของคนเสื้อแดง สู่ความสงบเรียบร้อยของ ครม.สัญจร"
 

ที่มา: http://www.tlhr2014.com/th/?p=8327

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คดี We Walk และ คดี We Want to Vote Movement : คำถามที่รัฐไทยต้องตอบผู้รายงานพิเศษของ UN

Posted: 06 Aug 2018 09:09 AM PDT

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และด้านส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders/ Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression หรือผู้รายงานพิเศษของ UN) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) (หนังสือลำดับที่ UA THA 2/2018 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) ให้รัฐบาลไทยชี้แจง กรณีการจับกุมและคุมขังนักกิจกรรมที่เข้าร่วมรณรงค์ "We Walk เดินมิตรภาพ" เมื่อเดือนมกราคม 2561 และกรณีการละเมิดด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกิจกรรมที่มีส่วนร่วมต่อต้านการเลื่อนการเลือกตั้ง กรณีเมื่อวันที่ "27 มกราคม 2561″ หรือ คดี MBK39  ซึ่งทั้งสองกรณีมีผู้ถูกกล่าวหาจากทางการไทยรวมแล้ว 19 คน

กระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยยังมิได้มีหนังสือตอบถึงผู้รายงานพิเศษของ UN แต่อย่างใดถึงเรื่องดังกล่าว อีกทั้งการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหายังคงอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ซึ่งหมายความว่า ข้อกล่าวหาว่ารัฐไทยใช้กระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิของนักกิจกรรมทั้งสองคดี ยังคงมีอยู่

"สถานการณ์ล่าสุดด้านคดีความของกลุ่ม "We Walk เดินมิตรภาพ" และ "We Want to Vote Movement"

ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเดือนกรกฎาคม 2561 คดีความของ 8 ผู้ต้องหาจากการรณรงค์ "We Walk เดินมิตรภาพ" อัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ออกไปเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากอัยการสูงสุดยังไม่มีความเห็นกลับมาถึงการสั่งฟ้องคดีนี้ โดยมีนัดหมายฟังคำสั่งพนักงานอัยการอีกครั้งในวันที่ 7 สิงหาคม 2561 (http://www.tlhr2014.com/th/?p=8049)  ในส่วนของประชาชนซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั้วไป หรือกลุ่ม We Want to Vote Movement ในช่วงระยะเวลาเพียงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2561 ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฟ้องคดีแล้วกว่า 130 ราย โดยแต่ละคดียังคงดำเนินไปภายใต้กระบวนการยุติธรรม บางคดีอยู่ในชั้นสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ บางคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของอัยการ และบางคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น (ดูรายละเอียดคดีและการนัดหมายได้ที่   (http://www.tlhr2014.com/th/?p=7016 และ http://www.tlhr2014.com/th/?p=8138)"    

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบหลังรัฐประหาร ปี 2557 โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หรือแสดงความเห็น ตลอดทั้งรวบรวมและบันทึกข้อมูลบุคคลดังกล่าวเข้าสู่ระบบ และนำเสนอต่อสาธารณะ จึงขอทบทวนว่าหลังรัฐประหารที่ผ่านมา กลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงผู้รายงานพิเศษของ UN เข้ามาดำเนินการ ตั้งคำถาม มีข้อเรียกร้อง หรือเสนอความเห็น ต่อรัฐบาลไทยในสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร และเฉพาะในคดี We Walk และ คดี MBK39 ผู้รายงานพิเศษมีคำถามและความเห็นต่อมาตรการชั่วคราวที่รัฐบาลไทยอย่างไร ดังนี้

 

รู้จักการใช้กลไกพิเศษ (UN Special Procedures) หลังรัฐประหาร 2557

ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ใช้ในการติดตาม-ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ หรือในรายประเด็น โดยบุคคลหรือคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

กลไกพิเศษเหล่านี้ ทั้งในรูปของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) หรือคณะทำงาน (Working Group) จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่าง ๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงาน และคำชี้แจงของรัฐต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติด้วย (ดูเพิ่มเติม ในรายงาน http://www.tlhr2014.com/th/?p=3587)

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงต้นปี 2561 ผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานในประเด็นต่าง ๆ ของ UN ได้เคยมีการส่งหนังสือสื่อสารกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับทางการไทยมาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 21 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดที่ผู้รายงานพิเศษของ UN ส่งมาถึงรัฐบาลไทย คือ หนังสือลำดับที่ UA THA 2/2018 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งสรุปข้อเท็จจริงคดี We Walk และ คดี MBK39 นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษของ UN ยังมีคำถามและข้อเสนอให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการชั่วคราวต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ดังนี้

 

ข้อเท็จจริงโดยย่อจากหนังสือของผู้รายงานพิเศษของ UN

การจับกุมและคุมขังนักกิจกรรมที่เข้าร่วมรณรงค์ " We Walk เดินมิตรภาพ" ซึ่งออกมาแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในช่วงที่อยู่ระหว่างการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเมื่อเดือนมกราคม 2561 ผู้เข้าร่วมจำนวน 8 คน ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และประชาชนอีก 4 รายถูกจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อประชาชน 4 รายหลังนี้

กรณีการละเมิดด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกิจกรรมซึ่งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กรณีเมื่อวันที่ "27 มกราคม 2551" ที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพมหานคร (หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเห็นชอบให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งมีผลให้แผนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไป) ซึ่งมีประชาชนกว่าร้อยคนร่วมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ผู้เข้าร่วมชุมนุม 7 คนถูกนายทหารจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแจ้งความในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12

 

คำถามที่สำคัญถึงทางการไทย มีดังต่อไปนี้ 

ให้รัฐบาลไทยยืนยันถึงฐานทางกฎหมายที่ใช้ในการจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาข้างต้น และระบุว่ากฎหมายและมาตรการเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อให้มีการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

ให้ระบุว่าได้ดำเนินการหรือจะดำเนินการทางกฎหมาย และมีหรือจะมีมาตรการใด ๆ เพื่อเป็นการประกันว่า รัฐบาลไทยได้เคารพ เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

ให้ระบุว่ารัฐบาลไทยมีกฎหมายหรือมาตรการอะไรเพื่อเป็นการประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานด้วยความปลอดภัยและมีบริบทในการทำงานที่ปราศจากความกลัวหรือการกระทำอันเป็นการข่มขู่ทั้งหลาย รวมไปถึงในบริบทที่ปราศจากการละเมิดในรูปแบบใด ๆ

ให้รัฐบาลไทยระบุว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 4 ข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

รัฐบาลไทยควรมีมาตรการชั่วคราวเพื่อยุติการละเมิดตามข้อกล่าวหา

ผู้รายงานพิเศษของ UN ย้ำว่าในระหว่างที่รัฐบาลไทยเตรียมตอบคำถามเหล่านี้ สหประชาชาติสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินการหามาตรการชั่วคราวในการยุติข้อกล่าวหาว่าด้วยการละเมิดต่าง ๆ เหล่านี้ โดยต้องป้องกันการเกิดซ้ำ และต้องมีการสืบสวนอย่างถูกต้องถึงการละเมิดตามข้อกล่าวหาเพื่อเป็นการประกันถึงความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อการละเมิดนั้น

ผู้รายงานพิเศษของ UN สรุปข้อเท็จจริงประเด็นตามที่รัฐไทยถูกกล่าวหาว่าใช้การล่วงละเมิดด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อการชุมนุมด้วยความสงบและต่อนักกิจกรรม เนื่องจากพวกเขาได้เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเพิ่มความเข้มงวดในการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพภายใต้ระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไประดับชาติโดยเร็วที่สุด

 

ข้อสังเกตถึงความต่อเนื่องในการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบของรัฐบาลไทย  

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า กระบวนการสื่อสาร (UN Special Procedures) ถึงผู้รายงานพิเศษของ UN โดยภาคประชาชนในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากบริบทในการตั้งข้อจำกัดที่เพิ่มมากขึ้นต่อหลักประกันของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมไปถึงการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและสันติ และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายและระเบียบที่รัฐบาลใช้ในการจำกัดการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนที่ปรากฎในกรณีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมและประชาชนทั้งสองกรณี คือ   คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมไปถึงความผิดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  เป็นคำสั่งและพระราชบัญญัติที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการใด ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิดังกล่าว มาตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่เป็นการประกันถึงการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และหากจะมีข้อจำกัดต่อการใช้สิทธินี้ก็ควรให้เป็นไปตามข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศและหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน อีกทั้ง รัฐบาลไทยควรยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในโอกาสต่าง ๆ และละเว้นการจับกุมบุคคลที่ออกมาชุมนุมซึ่งไม่ได้แสดงความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม วรรคตอนที่ 35 -36 และ 39-40 http://www.refworld.org/docid/591e9d914.html)

ความต่อเนื่องนับจากปี 2557 หลังมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ มาจนถึงปัจจุบันปี 2561 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติใช้คำสั่งและกฎหมายที่เป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก บ่งชี้ถึงการไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เกิดผลของสิทธิที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศดังกล่าวตามที่ไทยได้สัญญาไว้ต่อนานาชาติ และยังแสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อาศัยในประเทศอาจไม่ได้รับการคุ้มครองในความปลอดภัยเมื่อแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบต่อกิจการใด ๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน

 

อ่านเพิ่มเติม

– หนังสืออย่างเป็นทางการจากผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติฯ ที่เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) รอบดำเนินการลำดับที่ 38 มิถุนายน 2561 https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=23634 (ภาษาอังกฤษ)

– สรุปข้อสังเกตต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Comittee) รอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 http://www.refworld.org/docid/591e9d914.html (ภาษาอังกฤษ)

 

ที่มา: http://www.tlhr2014.com/th/?p=8304

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชีวิตที่ง่ายกับมุมสบาย สไตล์ธนาธร

Posted: 06 Aug 2018 08:57 AM PDT

หลังจากรอคิวนัดสัมภาษณ์มาหลายสัปดาห์ ในที่สุดก็มีโอกาสนั่งคุยกันในบรรยากาศแบบง่ายๆ สบายๆ กับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นักการเมืองผู้ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในโลกออนไลน์ขณะนี้ แต่เนื่องจากภารกิจที่ค่อนข้างรัดตัว จึงมีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน และก็ทำให้ได้รู้จักตัวตน มุมมอง และความคิดในอีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยมาก่อน รวมถึงบางคำถามที่ไม่ค่อยได้ถูกสัมภาษณ์มากนัก ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่มาที่ไปของแนวคิด รวมทั้งวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกสะสมและตกผลึกจนกลายมาเป็น ธนาธร ในทุกวันนี้

1. หลังจากประกาศตัวตั้งพรรคการเมืองแล้ว ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน

หนักมาก หนักสุดๆ เลย ผมคิดว่า 40 ปีไม่เคยทำงานหนักเท่า 3 เดือนที่ผ่านมา คนคาดหวังกับพรรคอนาคตใหม่มาก ดังนั้นการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องคิดเยอะ มีคนต้องการอยากเจอแทบจะทุกจังหวัด ตามตารางปฏิทินผมจะลงพื้นที่ทุกวันเสาร์ , อาทิตย์ , จันทร์ เริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ขณะนี้ไปมาแล้ว 35 จังหวัด ต้องบอกว่าทุกจังหวัดมีเวลาให้ไม่พอ โดยเฉลี่ย 1 จังหวัดต้องไปเจอ 4-5 กลุ่ม มีแต่คนเรียกร้องเวลา มันเกินความคาดหมายจริงๆ ว่าเรามาไกลขนาดนี้ได้ภายใน 4 เดือน ทำให้เตรียมทรัพยากรต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตไม่ทัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ทำให้เจอหน้าครอบครัวน้อยมาก

2. มีวิธีหรือเทคนิคการเลี้ยงลูกอย่างไร

ผมจะปล่อยให้ลูกเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเอง ไม่เคร่งครัดหรือกดดันเรื่องการเรียนมากนัก ผมนิยมชมชอบให้ลูกๆ ซุกซน จะไม่บอกว่า ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ เพราะเชื่อว่าเด็กจะเติบโตได้ต้องมี 2 ทาง ก็คือ อย่างแรกต้องสนุก ใช้ชีวิตให้สนุก เติบโตตามวัย ปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตอิสระ อย่าไปกดทับหรือบีบบังคับ อย่างที่สอง อย่าไปห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเรากำลังปิดโอกาสการเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น จะปล่อยให้ลูกเล่นกลางฝน เล่นดินโคลน หรือปีนต้นไม้ ซึ่งผมปฏิเสธการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ถ้าผมมีเวลาและบางวันที่ฝนตก ก็เคยพาลูกออกไปเล่นน้ำฝนด้วยกัน

3. มีการแบ่งหน้าที่กับภรรยาในการเลี้ยงลูกอย่างไร

ถ้ามีเวลา ผมจะให้เวลาทั้งหมดกับครอบครัว เรื่องโรงเรียน การเรียน การจ่ายค่าเทอม ไปประชุมผู้ปกครอง ภรรยาจะเป็นคนดูแลทั้งหมด แต่เวลาที่ลูกมีการแสดงที่โรงเรียน ผมจะไปตลอด ถ้าลูกมีกิจกรรมที่โรงเรียน ผมพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลูก พยายามให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ ผมจะเป็นคนสอนค่านิยมให้ลูก อย่างเช่น ระหว่าง หมาป่า , แกะ , หมาเฝ้าแกะ จะบอกลูกตลอดว่า 1) อย่าเป็นหมาป่า เพราะไม่อยากให้ไปรังแกคนอื่น 2) อย่าเป็นแกะ เพราะไม่อยากให้ถูกหมาป่ากิน 3) แต่อยากให้ลูกเป็นหมาเฝ้าแกะ ที่คอยป้องกันแกะจากฝูงหมาป่า

4. เมื่อลูกโตขึ้นได้ตั้งความหวังหรือวางอนาคตไว้อย่างไรบ้าง

สิ่งเดียวที่อยากเห็นจากลูกก็คือ อยากให้รักความเป็นธรรม รักความยุติธรรม ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะเป็นอย่างไร ต้องปล่อยให้ลูกเติบโตและเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเอง นั่นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้คาดหวังว่า ลูกจะต้องมาสืบทอดธุรกิจ แต่คาดหวังว่า ให้เติบโตมาเป็นคนมีจิตใจดี เป็นคนดี ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น และรักความยุติธรรม

5. ปกติยามว่าง ชอบอ่านหนังสือประเภทไหน และหนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านคืออะไร

ก่อนหน้านี้เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะประมาณ 20 เล่มต่อปี แต่ช่วงนี้อ่านน้อยลงประมาณ 5-6 เล่มต่อปี หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบไป คือ All The Light We Cannot See เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) เกี่ยวกับเด็กผู้หญิงตาบอดและเด็กผู้ชายกำพร้าในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่เยอรมันไปยึดครองเมืองใหญ่ในยุโรป เด็กผู้หญิงคนนี้อาศัยอยู่ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส และย้ายออกไปเมืองอื่น ต้องระเหเร่ร่อนตามคุณพ่อ

ผมจะไม่อ่านหนังสือประเภท Romantic Comedy แต่ชอบอ่านหนังสือที่สำรวจความเป็นคนอย่างลุ่มลึก ถ้าเป็นแนว Fiction จะอ่านหนังสืออย่างเช่น จอมโจรหนังสือ , The Pianist เป็นต้น ผมชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน , การต่อสู้ของมนุษย์ , ความสวยงามของชีวิต แต่ถ้าเป็นแนว Non-Fiction จะอ่านหนังสือเกือบทุกประเภท ตั้งแต่แนวเศรษฐศาสตร์ , ธุรกิจ , การเมือง , ปรัชญา เป็นต้น

สมัยเป็นเด็ก หนึ่งในคนที่มีอิทธิพลทางความคิดก็คือ สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก (ศุ บุญเลี้ยง) และ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ที่อ่านครบทุกเล่มตั้งแต่ ม.3-ม.4 ขณะเรียนมหาวิทยาลัยจะเริ่มอ่าน วิหารที่ว่างเปล่า (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) , ใบไม้ที่หายไป (จิระนันท์ พิตรปรีชา) , ติช นัท ฮันห์ หรือหนังสือเกี่ยวกับการแสวงหาตัวตน อย่างเช่น เจ้าชายน้อย , ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ , บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ เป็นต้น เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงแสวงหาของชีวิต

หลังจากนั้นเริ่มมาสนใจงานของฝ่ายซ้าย อย่างเช่น บันทึกกบฎ , บันทึกลับเสรีไทยภูพาน พอโตขึ้นมาก็เริ่มอ่านงานของ คาร์ล มาร์กซ์ , วลาดีมีร์ เลนิน หลังจากเรียนจบก็อ่านงานแนวโพสต์โมเดิร์นจำนวนหนึ่ง พอเริ่มทำงานก็จะอ่านหนังสือธุรกิจและการเงินมากขึ้น เช่น Barbarians at the Gate , Too Big to Fail เป็นต้น หนังสือเหล่านี้จะสะท้อนตัวตนหลายอย่างว่า การเดินทางแต่ละช่วงเวลาของชีวิตก็จะมีหนังสือที่ชอบหรือสนใจอ่านแตกต่างกันไป

ข้อมูลเพิ่มเติม :

- All The Light We Cannot See แต่งโดย Anthony Doerr

- The Book Thief (จอมโจรหนังสือ) แต่งโดย Markus Zusak

- The Pianist: The Extraordinary True Story of One Man's Survival in Warsaw: 1939-1945 แต่งโดย Wladyslaw Szpilman

- The Little Prince (เจ้าชายน้อย) แต่งโดย Antoine de Saint-Exupery

- The Diving Bell and the Butterfly (ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ) แต่งโดย Jean-Dominique Bauby

- The Diary of A Young Girl (บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์) แต่งโดย Anne Frank

- Barbarians at the Gate: The Fall of RJR Nabisco แต่งโดย Bryan Burrough and John Helyar

- Too Big to Fail แต่งโดย Andrew Ross Sorkin

- บันทึกกบฎ แต่งโดย ยุค ศรีอาริยะ

- บันทึกลับเสรีไทยภูพาน แต่งโดย นายสีดอกกาว

6. เวลารู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ มีวิธีผ่อนคลายหรือการสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไรบ้าง

ช่วงที่ทำงานหนักและรู้สึกเหนื่อย ผมจะไปปีนเขาหรือเดินป่า

7. ถ้ามีเวลาว่าง ยังมีกีฬา Extreme อะไรบ้างที่อยากทำ

ถ้าผมไม่ได้มาทำงานการเมือง เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ผมต้องไปงานแข่งวิ่งที่เป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดในโลก ต้องข้ามเทือกเขาพิเรนีส (The Pyrenees Mountain) ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน ระยะทางประมาณ 960 กว่ากิโลเมตร ความชันประมาณ 98,000 เมตร ส่วนปลายปี (2561) ผมก็ต้องไปขั้วโลกใต้ ผมมีแผนปีนเขา มีแผนวิ่ง มีแผนผจญภัยเยอะ แต่ทุกอย่างต้องมายกเลิกเมื่อมาทำงานการเมือง ถ้าถามว่า ผมอยากทำอะไร นอกจากการอ่านหนังสือ , ดูแลครอบครัว และทำงานแล้ว นั่นคือ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ซึ่งบางครั้งก็พาครอบครัวไปปีนเขา เดินป่า หรือไปกางเต็นท์ด้วยกันหลายครั้ง

8. ทำไมสนใจเรียนเพิ่มเติมด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง

เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นวิชาที่มีเสน่ห์ เป็นส่วนผสมที่มีกลิ่นอายความก้าวหน้าของฝ่ายซ้ายเก่าที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทุน , รัฐ และประชาชน

9. ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่รัฐต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ , การจ้างงาน , การรักษาเสถียรภาพของระดับราคา , การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เป้าหมายประเภทใดที่คุณธนาธรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักจะบอกว่า GDP แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ GDP ไม่ได้บอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปอยู่ในกระเป๋าใคร ไม่ได้บอกว่า ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พูดกันน้อยคือ เราจะกระจายความมั่งคั่งอย่างไรให้กับสังคม นั่นเป็นสิ่งที่ฝ่ายก้าวหน้าควรจะทำ เพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย แต่ไม่มีใครให้ความสนเรื่องนี้เท่าที่ควร

คนไทยมักจะยกย่องบูชาคนร่ำรวยมหาศาลโดยมีที่มาจากการผูกขาด ทั้งๆ ที่ไม่เคยนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ดีขึ้นให้กับสังคมเลย ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา คนบางกลุ่มร่ำรวยเป็นแสนล้านจากสัมปทานรัฐที่ถือว่าเป็นค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ต้องพูดถึงการกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายความมั่งคั่งด้วย

10. มีมุมมองด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง

คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ปัญหาการศึกษาไทยไม่ใช่เรื่องงบประมาณ เพราะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการมีอัตราส่วนสูงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน หรือเทียบกับประเทศอื่นในโลก ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่รัฐไทยไม่เคยมีที่ว่างให้กับการบริหารการศึกษาโดยท้องถิ่นเลย มีคำถามง่ายๆ ว่า คนในจังหวัดไหนของประเทศไทย อยากให้โรงเรียนในจังหวัดหนองคายมีโรงเรียนที่ดีที่สุดในประเทศ คำตอบก็คือ ต้องเป็นคนในจังหวัดหนองคาย จะไม่มีคนในจังหวัดอื่นที่ต้องการให้หนองคายมีโรงเรียนที่ดีที่สุดนอกจากคนหนองคายด้วยกันเอง แต่ปัจจุบันใครเป็นคนบริหารโรงเรียนในจังหวัดหนองคาย นั่นก็คือ คนที่นั่งอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่กรุงเทพฯ และต้องไม่ลืมว่า ส่วนราชการทั้งหมด ประชาชนไม่สามารถให้คุณให้โทษได้ คนในพื้นที่ก็ไม่สามารถให้คุณให้โทษได้เช่นกัน คนที่กรุงเทพฯ จะมีนโยบายให้โรงเรียนในหนองคายมีรถรับส่งนักเรียนที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยที่สุดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ต้องคืนการศึกษาให้กับคนในท้องถิ่น เพื่อให้ไปบริหารจัดการกันเอง ลดหลักสูตรที่เป็นภาคบังคับหรือครอบงำจากส่วนกลางลง และเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบการศึกษาเองได้ เพราะคนในท้องถิ่นจะทราบดีว่า ต้องพัฒนาการศึกษาอย่างไรจึงจะเหมาะสมและตอบสนองต่อคนในท้องถิ่น นี่คือโจทย์หลักของประเทศ ไม่ใช่โจทย์เรื่องงบประมาณ ผมเชื่อว่า การศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ด้วยการนำโรงเรียนคืนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเรื่องนี้มีอยู่แล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่เคยคืนโรงเรียนให้กับท้องถิ่นเลย เราจึงเห็นหลายท้องถิ่นไปตั้งโรงเรียนกันเอง มีหลายโรงเรียนที่ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น และผมเชื่อว่า ในอนาคตโรงเรียนเหล่านี้จะพัฒนาแซงหน้าได้

อีกเรื่องหนึ่ง วิชาที่ควรถูกสอนในโรงเรียนอย่างจริงจังแต่ก็ไม่เคยเลย ก็คือ การสอนวิชาประวัติศาสตร์ มีความพยายามทำให้คนลืมประวัติศาสตร์ เป็นความพยายามของรัฐไทยที่จะทำให้เด็กไทยลืมประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนของการพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างคนรุ่นผม เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ถูกสอนในโรงเรียนเพียง 2 ย่อหน้า หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย ผมไม่เคยถูกสอนเรื่องสิทธิพลเมือง เรื่องเหล่านี้เป็นความจงใจของรัฐไทยที่จะทำให้คนไม่รู้หรือลืมเลือน เด็กอีสานไม่เคยเรียนเรื่องกบฏผีบุญ คนล้านนาไม่เคยเรียนเรื่องครูบาศรีวิชัย คนภาคใต้ไม่เคยเรียนเรื่องหะยีสุหลง ไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องเหล่านี้ เพราะรัฐไทยกดทับท้องถิ่นเอาไว้

เราจึงควรจัดระเบียบการบริหารกระทรวงศึกษาธิการเสียใหม่ ทั้งเรื่องหลักสูตรการศึกษา , วิธีการศึกษา ยกตัวอย่าง ครูเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสารมากที่สุด ทุกวันนี้เวลามากกว่าครึ่งของครูถูกใช้ไปกับการประเมินการศึกษา เช่น ประเมินโรงเรียนสีขาว , โรงเรียนศีลธรรม เป็นต้น เป็นการประเมินในเรื่องที่ไม่ใช่ความเป็นเลิศทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ถ้าอยากจะประเมินเรื่องอะไร ควรปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินเอง มีความพยายามบอกว่า ทุกโรงเรียนในประเทศไทยต้องทำแบบเดียวกันถึงจะได้เด็กที่ดีที่สุด ตั้งแต่ใช้หลักสูตรเดียวกัน แบบเรียนเดียวกัน การแต่งกายแบบเดียวกัน ต้องมีพิธีกรรมแบบเดียวกัน เป็นแบบแผนที่มาจากส่วนกลางทั้งหมด และมีการบอกกับสังคมว่า รูปแบบนี้จะเป็นการผลิตนักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ถ้าประวัติศาสตร์บอกอะไรเราได้ 1 อย่าง กระบวนการที่ทำอยู่ทุกวันนี้ถือว่าล้มเหลว

รัฐไทยมีงบประมาณหรือมีทุนการศึกษาที่เพียงพอต่อการทำให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนฟรีภายใต้งบประมาณเท่าเดิม โดยการบริหารจัดการการศึกษาเสียใหม่ หากมองไปในกระทรวงศึกษาธิการ อัตราส่วนคนที่ไม่ใช่ครูหรือคนที่ทำงานในส่วนกลางเทียบกับครูแล้วมีสัดส่วนที่สูงมาก หากมีการตั้งคณะกรรมการโรงเรียนที่มาจากคนในท้องถิ่น เช่น ศิษย์เก่า , ครู , นักเรียน , คนในพื้นที่ เป็นต้น และให้คณะกรรมการเหล่านั้นเป็นผู้บริหารงบประมาณของโรงเรียนเอง โดยที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องชี้นำหรือกำหนดกรอบ รับรองว่าโรงเรียนจะดีขึ้นกว่านี้มาก เพราะลูกหลานของคณะกรรมการก็เรียนอยู่ในโรงเรียนด้วย นี่จะเป็นรูปแบบที่ง่ายมาก

11. Positioning ของประเทศไทยควรอยู่ที่ใดในเวทีการค้าโลก

ต้องเป็น Leader of Asean ให้ได้ เราสามารถเป็นผู้นำในอาเซียนได้ ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเป็นแบบอย่างของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน เราสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นได้ ยังมีคนอีกหลายร้อยล้านคนในอาเซียนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ มีการกดขี่ และมีคนอีกหลายร้อยล้านคนที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในการพัฒนาด้วย ประเทศไทยสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนเหล่านั้นได้

ในทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรมกำลังจะหมดยุคแล้ว อายุเฉลี่ยของเกษตรกรปัจจุบันประมาณ 50 ปีปลายๆ ดังนั้นเกษตรกรตัวจริงจะเหลือน้อยลงมาก เหลือแต่แรงงานนอกระบบที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร อยู่ในสวนหรือไร่นา สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ

เกษตรกรรมไม่เท่ากับความล้าหลังเสมอไป เกษตรกรยุคนี้จะเป็นยุคสุดท้าย และกำลังเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรุ่นเก่ามาสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ เราจะทำอย่างไรเมื่อเกษตรกรรุ่นใหม่มีน้อยลง แต่ทำอย่างไรให้มีผลผลิตเท่าเดิม คำตอบก็คือ ต้องสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้าและทันสมัย ยกตัวอย่างเช่น โรงสีข้าวที่ใช้คนงานเพียงแค่ 2 คน หรือโรงงานแปรรูปผลไม้ที่ใช้คนงานเพียงแค่ 10-20 คนเท่านั้น นี่คืออนาคตของการเกษตรสมัยใหม่ ผมกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรขนาดเล็กในท้องถิ่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรที่ทันสมัย และควรจะเป็นเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศไทยด้วย

วิสัยทัศน์ด้านการเกษตร คือ ทำให้ประเทศไทยเป็นซิลิคอนวัลเลย์การเกษตรของโลก ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดเรื่องครัวของโลกที่พูดถึงแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้าที่สุด โดยอาจเกิดจากการรวมตัวของสหกรณ์การเกษตรต่างๆ รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมของการสร้างเทคโนโลยีการเกษตรด้วย ซึ่งตรงนี้มีความเป็นไปได้ อย่าเชื่อว่า เกษตรกรรมเท่ากับความล้าหลังเสมอไป การเกษตรที่ก้าวหน้าสามารถเกิดขึ้นได้หรือเป็นไปได้ในฟาร์มขนาดเล็ก ผมเชื่อว่าประเทศไทยสามารถสร้างอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเกษตรที่ก้าวหน้าในประเทศได้

12. จะฝากข้อความถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง

สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าอย่างแรกก็คือ อย่ายอมจำนนต่อสภาวะปัจจุบันที่ล้าสมัย จงเชื่อเสมอว่า ทุกคนมีศักยภาพ และจงเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ขอให้ทุกคนกล้าที่จะเปิดประตูบานใหม่ อย่าเกรงกลัวต่อโลกาภิวัตน์ นี่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับเยาวชนไทย ทุกคนต้องกล้าฝันให้ไกล ฝันให้ใหญ่แล้วไปให้ถึง ต้องมีความพยายาม มีความทะเยอทะยาน อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะถ้ามีความกลัวสิ่งเหล่านี้แล้ว คุณจะก้าวออกไปไม่ได้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้กับคนรุ่นต่อไป

 

                                                                                  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พรเพชรเผยห้าม สนช. แก้พ.ร.ป.กกต. ปมเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้ วิษณุยันไร้ใบสั่งจาก รบ.

Posted: 06 Aug 2018 07:45 AM PDT

ประธาน สนช. เผยหากสมาชิก สนช. จะแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ก็ห้ามไม่ได้ วิษณุ ยืนยันไร้ใบสั่งจากรัฐบาล ด้าน กรธ. ซัด สนช. จะแก้ปัญหาปัญการคัดเลือกผู้ตรวจด้วยการแก้กฎหมาย ถือว่าเข้ารกเข้าพง

6 ส.ค. 2561 หลังจากที่เกิดกรณีเอกสารหลุดจาก สนช. ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พ.ศ. 2560 โดยในร่างแก้ไขนั้นเผยให้เห็ว่าจะให้ยกเลิกกระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งมีการพิจารณาคัดเลือกโดย กกต. ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่ทั้งหมดโดยให้เป็นอำนาจของ กกต. ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ารับหน้าที่

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แฟ้มภาพ/เว็บข่าวรัฐสภา 

ประธาน สนช. เผยหากสมาชิก สนช. จะแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ก็ห้ามไม่ได้

ล่าสุด เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สมาชิก สนช. เตรียมเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. ในประเด็นการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ว่า ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สอบถามเหตุผลจากสมาชิก สนช.กลุ่มดังกล่าวแล้ว ทราบว่าการดำเนินการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งของ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำโดยการออกระเบียบของสำนักงาน กกต. ทำให้กระบวนการคัดเลือกไม่มีความแน่นอน จึงมีความกังวลว่า เมื่อ กกต. ชุดปัจจุบันตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้ว หาก กกต. ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาต้องการเปลี่ยนแปลงอีกอาจทำให้เกิดความสับสน จึงเห็นว่าควรให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งตนก็ได้ให้ความเห็นกับสมาชิก สนช.ดังกล่าวไปว่า การแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา และต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก่อน และอาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่สามารถห้ามได้ เพราะขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช.จะเสนอหรือไม่

ต่อคำถามถึงการขอแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ครั้งนี้ เป็นเพราะรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่คัดเลือกมาไม่ตรงสเปค หรือตรงใจ คสช. หรือไม่ ประธาน สนช. กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะตนเองก็ยังไม่เคยเห็นรายชื่อที่ กกต. คัดเลือกไว้ ส่วนตัวมองว่าอาจเป็นเรื่องการเมืองที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาตามมา ถ้ากฎหมายไม่ชัดเจนพอที่จะให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำงานได้ นอกจากนี้ ตนไม่มั่นใจว่าจะมีการยกเลิกผู้ที่เลือกมาแล้วได้หรือไม่ เพราะตามหลักการ กกต. ชุดปัจจุบันก็มีอำนาจดำเนินการได้ เพียงแต่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงในการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเท่านั้น

เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัดแล้ว ไม่รอ กกต. ชุดใหม่ ชี้ก่อนไปต้องทำงานให้คุ้มเงินหลวง

วิษณุ ยืนยันกรณี สนช. อยากแก้กฎหมาย กกต. ไร้ใบสั่งจากรัฐบาล

ด้านสำนักข่าวไทย รายงาว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ไม่มีใบสั่งจากรัฐบาลแน่นอน ส่วนเรื่องของคุณสมบัติที่จะมีการเสนอแก้ไขนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด แต่หากจะมีการแก้ไขกฏหมายจริง น่าจะเป็นเรื่องของ วิธีการสรรหามากกว่า เพราะหากเป็นการแก้กฏหมาย ไม่มั่นใจว่าจะทันหรือไม่ เนื่องจาก มีหลายขั้นตอน ทั้งการรับฟังความคิดเห็น การนำเข้าชั้นขั้นตอนของรัฐสภา รวมถึงการนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตามไม่มีการพูดถึงการออกคำสั่ง ม44 ในการแก้ไขเรื่องนี้ 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ หากกระบวนการหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง ยังไม่แล้วเสร็จ และ กกต.ชุดใหม่ ได้รับโปรดเกล้าฯ มาทำหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ อาจทบทวน โดยสามารถที่จะเดินหน้า ตามกระบวนเดิม หรือล้มกระบวนการก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น

กรธ. ชี้ กกต.ปัจจุบันเลือกผู้ตรวจได้ไม่ผิด แต่อาจจะไม่เหมาะสม ซัด สนช. จะแก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมาย ถือว่าเข้ารกเข้าพง

ขณะที่ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า  ชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง สนช. เสนอแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ในส่วนของผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ไม่ได้กำหนดว่า ต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเมื่อไร แต่ต้องให้มีก่อนประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กกต.ชุดปัจจุบันไม่ผิด แต่จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

ชาติชาย กล่าวว่า ส่วนที่พิลึกพิลั่นอยู่ที่ท้ายประกาศของกกต.ที่ระบุหากใครพบว่ารายชื่อผู้ตรวจฯใดมีปัญหา ให้ยื่นเรื่องคัดค้านที่สำนักงานกกต. หากทำแบบนี้ เท่ากับถ้าผู้ตรวจฯคนใดมีปัญหา กกต.ไม่ต้องรับผิดชอบ ทางออกจึงควรแก้ไข ให้กกต.ต้องรับผิดชอบ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่เป็นผู้ตรวจฯ ให้เรียบร้อย ไม่ต้องเขียนเปิดช่องให้ร้องเรียน มิเช่นนั้นกกต.อาจถูกร้องเรียนจากการตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนเอง

ชาติชาย กล่าวว่า ส่วนการเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ตรวจฯทั้ง 77 จังหวัดนั้น ไม่เป็นปัญหาเป็นเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน หากมองว่าเปิดช่องให้มีการโกงเลือกตั้งนั้น คนที่คิดจะโกงจะมีพยายามคิดตลอดเวลาอยู่แล้ว 5-10 วันก่อนการเลือกตั้งก็ทำได้

กรธ. กล่าวว่า การจะอ้างว่าต้องแก้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. เพื่อให้กำหนดการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่เพราะหลายรายมีความสัมพันธ์กับพนักงานในสำนักงานกกต.และกกต.ชุดปัจจุบันนั้น ต้องถามว่า หากแก้แล้วสรรหาผู้ตรวจฯใหม่ อะไรเป็นหลักประกันว่า ผู้ตรวจฯนั้นจะไม่มีความเกี่ยวพันกับกกต.ชุดใหม่ หรือสนช.ชุดนี้ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร

"ข้อเสนอแก้เพื่อโละผู้ตรวจฯ ถือว่าเข้ารกเข้าพงกันหมดแล้ว ถ้าผู้ตรวจฯที่ได้รับเลือกมา ไม่ขาดคุณสมบัติแล้วจะไปหาเหตุอะไรมายกเลิกเขา ปัญหาดังกล่าวมีทางออก ไม่น่าถึงขั้นเสนอแก้ไขกฎหมาย" ชาติชายกล่าว

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กสม. ชี้ไม่รับ พนง.สอบสวนหญิง ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ด้าน สตช. แจงคำนึงสวัสดิภาพหญิงเป็นสำคัญ

Posted: 06 Aug 2018 06:32 AM PDT

กสม. เผยกรณี สตช.ไม่รับพนักงานสอบสวนหญิงถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
แนะรัฐบาลดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ เพิ่มสัดส่วนสตรีในระบบราชการ ด้าน สตช. แจ้ง เหตุคำนึงสวัสดิภาพของเพศหญิงเป็นสำคัญ หาใช่การริดรอนสิทธิสตรี

6 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดรับสมัครเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยเปิดรับสมัครเฉพาะเพศชายจนปรากฏกระแสเรียกร้องในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ว่า ตนมีความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในการเข้ารับราชการตำรวจ และขัดต่อบทบัญญัติข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งระบุว่า รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกประการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านที่เกี่ยวกับการเมืองและทั่ว ๆ ไปของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้ประกันแก่สตรีภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาคกับบุรุษซึ่งสิทธิที่จะเข้าร่วมในการวางนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามนโยบายนั้น และในการรับตำแหน่งราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุก ๆ ระดับของรัฐบาล

อังคณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาในคราวการประชุมพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบในรอบของประเทศไทย ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงตำแหน่งต่าง ๆ ในระบบราชการไทยที่สัดส่วนของสตรียังคงมีไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานทางการเมือง และคณะกรรมการฯ ได้ตั้งคำถามว่าไทยจะมีวิธีเพิ่มเติมสัดส่วนของตัวแทนสตรีในหน่วยบริหารราชการเช่นเดียวกันกับภาคเอกชนได้อย่างไร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะต่อ สตช. ให้มีพนักงานสอบสวนหญิงในการสอบสวนคดีความผิดทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่ารัฐบาลและ สตช. ควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยไม่ควรปิดกั้นการเข้ารับราชการในทุกตำแหน่งด้วยเหตุแห่งเพศ และควรรับประกันการเพิ่มสัดส่วนของสตรีในกระบวนการทำงาน การมีส่วนร่วม และการตัดสินใจในทุกระดับของรัฐ ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของประเทศชาติและเพื่อสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเคารพสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานความเป็นธรรมทางเพศต่อไป

สตช. แจงเหตุคำนึงสวัสดิภาพหญิงเป็นสำคัญ หาใช่ริดรอนสิทธิสตรี

ขณะที่ วอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.ท. ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษก สตช.ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศดังกล่าว ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีความขาดแคลนพนักงานสอบสวนมากถึง 2,000 ตำแหน่ง แต่ในโอกาสนี้สามารถเปิดรับได้เพียง 250 ตำแหน่งเท่านั้น ยังคงขาดแคลนพนักงานสอบสวนอีกมากถึง 1,700 ตำแหน่ง ไม่สามารถให้บริการพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ 

ทั้งในปัจจุบันพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องแบกรับภาระปริมาณงานที่สูงเกินศักยภาพที่บุคคลจะสามารถรับได้ เป็นเหตุให้มีปัญหาการลาออกจากราชการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนหญิง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวที่หนักกว่าพนักงานสอบสวนชายอีกด้วย 

ในขณะที่บางส่วนก็มีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมและกระทำอัตวิบาตกรรมดังที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การที่ สตช. ได้มีคำสั่งเปิดรับสมัครบุคคลธรรมดาเข้าเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยเปิดรับสมัครแต่เพศชายในกรณีนี้ ด้วยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดยคำนึงสวัสดิภาพของเพศหญิงเป็นสำคัญ หาใช่การริดรอนสิทธิสตรีไม่

ด้านความเปราะบางของผู้เสียหายหรือเหยื่อที่เป็นสตรีและเด็กนั้น รองโฆษก สตช. กล่าวว่า ยังมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่จะจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกปีมาบรรจุเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นในการสอบปากคำผู้เสียหายที่มีความเปราะบางทางอารมณ์นั้น ตามกฎหมายแล้วต้องกระทำร่วมกันกับสหวิชาชีพและกระทำอย่างมืออาชีพ ซึ่งพนักงานสอบสวนทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงล้วนคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากนั้นจากสถิติพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ถึง 2559 นั้น คดีความรุนแรงทางเพศมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จากกว่า 3,300 คดี ลดลงเหลือเพียง 2,200 คดี

ด้านเฟสบุ๊คแฟนเพจ "พนักงานสอบสวนหญิง" ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ด้วยเช่นกันว่า เหตุสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับพนักงานสอบสวนเฉพาะชายเพราะพนักงานสอบสวนหญิงลาออกเยอะ? จริงหรือ? อัตราพนักงานสอบสวนหญิง มีประมาณ 400 คนทั่วประเทศ ยังแต่งตั้งให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไม่ได้ พนักงานสอบสวนทั้งประเทศ 8,000 ตำแหน่งรับคดีปีละ 200,000-300,000 คดีที่เป็นเลขคดี ไม่รวมที่ไกล่เกลี่ยและไม่เป็นคดีแต่มาพบพนักงานสอบสวนรับคดีอาญากฎหมายทุกฉบับ พร้อมระบุด้วยว่า สตช.ไม่เคยดูแล ไม่มีการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ มีแต่การสั่งการ การลงโทษ และการสร้างความเชื่อมั่นในการทำงาน ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

MILF มีเฮ! ปธน. ฟิลิปปินส์ผ่านร่างกฎหมายตั้งเขตปกครองตนเองในมินดาเนาแล้ว

Posted: 06 Aug 2018 03:59 AM PDT

หลังความขัดแย้งที่กินเวลานานกว่า 40 ปี และกระบวนการสันติภาพที่ใช้เวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ในที่สุดประธานาธิบดีฟิลิปปิส์ได้ลงนามในร่างกฎหมายจัดตั้งเขตปกครองตัวเองทางตอนใต้ของมินดาเนาซึ่งจะอนุญาตให้มีรัฐบาลและสภาของตัวเอง ใช้กฎหมายอิสลามและชนเผ่าร่วมกับกระบวนการยุติธรรมปกติ 

6 มิ.ย. เว็บข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ลงนามในกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Organic Law) ซึ่งจะแปรแปรสภาพพื้นที่เขตปกครองตนเองมุสลิมที่ตั้งอยู่บนเกาะทางใต้ของเกาะมินดาเนาเป็นเขตปกครองตนเองใหม่ในชื่อบังซาโมโร หลังกบฏชาวโมโรสู้รบกับกองกำลังของฟิลิปปินส์มาเป็นเวลา 40 กว่าปีเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลาม ตามมาด้วยกระบวนการสันติภาพที่นับจากวันนี้ก็ยาวนานกว่า 22 ปีแล้ว โดยร่างกฎหมายดังกล่าวยังได้รับการยอมรับโดยอัลฮัจ มูราด อิบราฮิม แกนนำของกลุ่มแนวกลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยอิสลามโมโรในมินดาเนา (MILF) อีกด้วย

แฮรี่ โร๊ค โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่าการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในมินดาเนา อีกทั้งยังขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ "เราขอแสดงความขอบคุณทุกๆ ท่านที่ทำงานอย่างหนักจนทำให้เกิดการผ่านกฎหมายฉบับนี้" โร๊คกล่าว "เราจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในมินดาเนาเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาภายในพื้นที่ต่อไปในอนาคต"

โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ (ภาพจาก wikimedia)

กระบวนการหลังผ่านกฎหมาย

หลังร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการลงนามจากประธานาธิบดีแล้ว กระบวนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองมุสลิมที่ตอนนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์มีอำนาจปกครองเสียเป็นส่วนใหญ่คือ

  • กฎหมายจะถูกนำไปลงประชามติในพื้นที่ที่จะถูกรวมอยู่กับบังซาโมโร ซึ่งคาดว่าจะมีการประชามติในเดือน พ.ย. ปีนี้ ตามมาด้วยการแต่งตั้งสมาชิกหน่วยงานด้านการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรในเดือน ธ.ค. ปีนี้หรือเดือน ม.ค. ปีหน้าโดยประธานาธิบดี
  • เขตปกครองเดิมจะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'บังซาโมโร' ซึ่งแปลว่าชาติของโมโร
  • จะมีรัฐบาลบังซาโมโรที่มีหัวหน้ารัฐมนตรี (chief minister) และประธานในทางพิธีการเรียกว่า วาลี (Wali)
  • จะมีรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 80 คน แบ่งสัดส่วนเป็นผู้แทนพรรคร้อยละ 50 ผู้แทนอำเภอร้อยละ 40 และผู้แทนเขตร้อยละ 10 ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้แทนสองคนสำหรับชนพื้นเมืองและชุมชนที่ไม่ใช่ชาวโมโร
  • เขตการปกครองบังซาโมโรจะไม่มีทหารและตำรวจเป็นของตัวเอง แต่จะเป็นกองกำลังจากทางการฟิลิปปินส์ กฎหมายนี้ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นจัดซื้ออาวุธเองเพื่อป้องกันการกระทำการกบฏ
  • รายได้ของบังซาโมโรร้อยละ 25 จะถูกส่งให้กับรัฐบาลกลาง ที่เหลือจะเป็นของบังซาโมโร ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับเขตปกครองเกิดใหม่จะได้รายได้มากกว่าเดิมร้อยละ 5 โดยรายได้ที่ได้มาจากภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ รวมถึงภาษีจากทรัพยากรธรรมชาติ
  • ด้านกระบวนการยุติธรรม จะมีศาลปกติ แต่จะใช้กฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์กับคดีที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม และจะใช้กฎหมายชนเผ่าในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองในบังซาโมโร
  • จะมีการโอนถ่ายลูกจ้างในหลายภาคส่วนไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลบังซาโมโร โดยมีเพียงลูกจ้างในภาคการศึกษา สาธารณสุขและสวัสดิการสังคมเท่านั้น คาดว่าจะมีพนักงานประจำมากกว่า 6,000 คนที่ทำงานกับเขตปกครองตนเองปัจจุบันที่จะต้องตกงาน

ประวัติการต่อสู่ของกลุ่ม MILF

การผ่านกฎหมายนี้ถือเป็นการสิ้นสุดการเจรจาสันติภาพอันยาวนานถึง 22 ปีระหว่างกลุ่มแนวหน้าปลดปล่อยอิสลามโมโรในมินดาเนา (MILF) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ กลุ่ม MILF แยกตัวมาจากแนวหน้าปลดปล่อยชาติโมโรหรือ MNLF ที่ก่อตั้งขึ้นมาและกระทำการต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2513 โดยมีเป้าหมายเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามที่เป็นเอกราชจากฟิลิปปินส์

หลังจากนั้น 6 ปี เมื่อกลุ่ม MNLF ตกลงปลงใจกับภาวะการเป็นเขตปกครองตนเอง สมาชิกบางคนได้แยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม MILF เพื่อดำเนินการต่อสู้ต่อไป จากนั้นมีการเจรจากับ MILF และรัฐบาลในปี 2539 ในยุครัฐบาลฟิเดล รามอส แต่ในปี 2542 รัฐบาลโจเซฟ เอสตราดาประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับกลุ่ม MILF ทำให้กระบวนการเจรจาชะงักไป และมาเริ่มใหม่ในปี 2544 ในรัฐบาลกลอเรีย อาโรโย กระทั่งมีสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างกลุ่ม MILF และประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนในเดือน ต.ค. 2555 ตามมาด้วยข้อตกลงอย่างครอบคลุมในปี 2557

กฎหมายบังซาโมโรถูกร่างโดยสภาคองเกรสมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 ในชื่อ "กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร" ในขณะนั้นมีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มนักสู้ของ MILF เมื่อตำรวจปฏิบัติการจับกุมกลุ่มก่อความไม่สงบเจอาห์ อิสลามียา ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดา หลังจากนั้นมีการกล่าวโทษกลุ่ม MILF ในสภานิติบัญญัติซึ่งทำให้กระบวนการทำกฎหมายบังซาโมโรถูกลดความสำคัญลง

ประธานาธิบดีดูเตอร์เตผู้มาจากมินดาเนาและระบุว่าตนมีเชื้อสายโมโรให้สัญญาว่าจะก่อตั้งบังซาโมโรทันทีหลังจากขึ้นเถลิงอำนาจในปี 2559

โมโรเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำเรียกภาษาสเปนที่เรียกชาวมัวร์ ชาวโมโรคือกลุ่มคนจำนวนมากกว่าสิบล้านคนจากหลายชาติพันธุ์ในมินดาเนา พวกเขาหลบหนีการถูกครอบงำจากสเปนและศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์ในช่วงศตวรรษที่ 16-19 พวกเขายังต่อต้านการที่สหรัฐฯ เข้ามายึดฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 20 ด้วย

เส้นทางการต่อต้านที่ยาวนานทำให้พวกเขามีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากชาวฟิลิปปินส์อื่นๆ ทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติรวมถึงการถูกลงโทษโดยรัฐบาลกลาง หลายจังหวัดของโมโรติดรายชื่อจังหวัดที่ยากจนที่สุดในฟิลิปปินส์

แปลและเรียบเรียงจาก
Duterte gives autonomy to Muslim-majority Mindanao region after decades of violence, Reuters, August 6, 2018
Philippines: Duterte to approve autonomous 'Bangsamoro' proposal, Aljazeera, Jul 22, 2018
Congress approves final Bangsamoro Basic Law, Davaotoday, Jul 19, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รมว.ต่างประเทศ โต้จาการ์ตาโพสต์นั่งเทียน ชี้ปธ.อาเซียนเป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่ตัวบุคคล

Posted: 06 Aug 2018 12:41 AM PDT

หลัง บ.ก.จาการ์ตาโพสต์ ร้องให้อินโดนีเซียต้าน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งประธานอาเซียนคนใหม่ ชี้เผด็จการทหารไม่สมควรได้รับตำแหน่งท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยในภูมิภาค ด้าน 'ดอน' อัดนั่งเทียน ชี้เป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่ตัวบุคคล

แฟ้มภาพ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ

6 ส.ค.2561 จากกรณีคอร์เนเลียส เพอร์บา บรรณาธิการบริหารของจาการ์ตาโพสต์ นำเสนอบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ 'อาเซียน' คนใหม่ที่จะต้องมาแทนที่ ลี เซียงลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และประธานคนปัจจุบัน โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียต่อต้านไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของไทยขึ้นเป็นประธานอาเซียนคนถัดไป โดยระบุว่า จะทำให้เขาได้รับแต้มต่อทางการเมืองเพิ่มขึ้นมากและมองว่า "เผด็จการทหารของไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค" 

ล่าสุดวันนี้ (8 ส.ค.61) เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เขาเขียนแบบนั่งเทียนเขียนข่าวโจมตีอย่างเดียวโดยที่ไม่มีข้อมูล รวมทั้งไม่ได้ดูเงือนไขที่เป็นจริง ว่าการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของประเทศ

ดอน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้มีการผลักดันโครงการของอาเซียนให้มีความคืบหน้าและดีขึ้น รวมถึงหลายๆประเทศก็มีการชื่นชมประเทศไทย ต่อการแสดงบทบาทบนเวทีความร่วมมืออาเซียนและเวทีความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการค้ามนุษย์ และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) อย่างไรก็ตามหากอนาคตมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ก็จะมีข้าราชการในกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมสนับสนุนและทำงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยต่อไป

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีนี้อย่างอารมณ์หงุดหงิดว่า จะชี้แจงทำไม ชี้แจงอะไร ชี้แจงกับใคร ใครว่าอะไร คนที่ออกมาวิจารณ์นั้นคือใคร จาการ์ตาโพสต์คือใคร จาการ์ตาโพสต์เป็นประเทศอินโดฯหรืออย่างไร ประเทศอินโดฯเป็นผู้พูดหรือรัฐบาลอินโดฯพูด เพราะถ้าเป็นแค่สื่อ สื่อก็ต้องไปชี้แจงกันเอง ไม่เกี่ยวกับตน สื่อคือสื่อ จบ ขอคำถามเรื่องอื่น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘Hollow’ ละครเวทีเล่าเรื่องหญิงบำเรอกามทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

Posted: 05 Aug 2018 11:58 PM PDT

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนตั้งสถานบำเรอ ผู้หญิง 1-3 แสนคนถูกฉุดคร่าและกักขัง ทั้งชาวเกาหลี ฟิลลิปปินส์ ไทย ดัชต์ ฯลฯ ละครมุ่งสำรวจความทุกข์ทรมานที่พวกเธอได้รับ ความแข็งแกร่งยืนหยัดของเธอในช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์จะประสบ และเสียงตะโกนก้องอันปวดร้าวที่เงียบงันไร้คนฟังและคนได้ยิน

'Peel the Limelight' คือคณะละครที่รวมทั้งนักแสดงทั้งไทยและต่างประเทศผู้มีประสบการณ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 และมีผลงานการแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง ที่ได้รับเสียงตอบรับจากคนดูและนักวิจารณ์เป็นอย่างดี แต่ครั้งนี้คือครั้งแรกของบทละครดั้งเดิม ที่คณะละครได้เขียนขึ้นใหม่จากการรวบรวมค้นหาข้อมูลอย่างหนักของทีมงาน กลั่นออกมาเป็นเรื่อง 'Hollow' ละครเวทีกึ่งมิวสิเคิล ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง 'Comfort Woman' (หญิงบำเรอ) คือผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนำบันทึกคำให้การของผู้รอดชีวิตและจากหลักฐานทางเอกสารที่ระบุถึงการฉุดคร่า การข่มขืน การทรมานและการทำร้ายมาใช้ในการเขียนบทละคร

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินทุนและการสนับสนุนการจัดตั้งโรงโสเภณีสำหรับทหารที่รัฐบาลรับรองในเขต สงครามเอเชียแฟซิฟิกในช่วงก่อนและระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่า สถานบำเรอ หรือ 'Comfort Stations' คาดกันว่าผู้หญิงประมาณ 100,000 – 300,000 คน ถูกฉุดคร่าและกักขังในสถานบำเรอเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขที่แน่ชัดยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี ชาวจีน และชาวฟิลลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีชาวมาเลเซีย ชาวไทย ชาวไต้หวัน ชาวดัตช์และชาวออสเตรเลียรวมอยู่ด้วย หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สอง นักเขียน นักข่าวและผู้ทำสารคดี Griselda Molemans ประมาณการว่า "ระบบบังคับค้าประเวณีของญี่ปุ่น ทำร้ายเหยื่อ 26 เชื้อชาติเป็นอย่างน้อย"

ละครถ่ายทอดเรื่องราวการถูกกดขี่ของหญิงบำเรอเหล่านี้ที่ถูกลักพามาหรือซื้อมาจากหลากเชื้อชาติ ทั้ไทย เกาหลี ฟิลิปปินส์ ดัตช์ และอเมริกา โดยมีตัวละครหลัก 5 ตัว (และคนดำเนินเรื่องอีก 1 คน) ที่ถูกบังคับให้ทำหน้าที่ 'รับแขก' ทหารถึงประมาณ 50 คนต่อวัน พวกเธอบางคนท้องและถูกบังคับให้ทำแท้ง บางคนสภาพจิตใจบอบช้ำและตายระหว่างที่สงครามยังไม่สิ้นสุด บางคนเล่าถึงเพื่อนที่พยายามหนีและโดนลงโทษ บางคนหนีรอดแต่ก็ถูกสังคมกีดกัน ราวกับว่าแม้พวกเธอจะรอดจากการถูกข่มขืนทางกายและใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกเธอก็ยังต้องพบกับการเป็นคนชายขอบของสังคมซ้ำอีกครั้ง สังคมไม่เคยมีที่ยืนให้กับพวกเธอแม้ว่าพวกเธอไม่เคยทำอะไรผิด

ละครเรื่องนี้มุ่งสำรวจความทุกข์ทรมานที่พวกเธอได้รับ ความแข็งแกร่งยืนหยัดของเธอในช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์จะประสบ เสียงตะโกนก้องอันปวดร้าวที่เงียบงันไร้คนฟังและคนได้ยิน พวกเธอยังคงรอคอยคำขอโทษที่ไม่เคยได้รับ และความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง

แม้จะมีการเรียกร้องจากหลายชาติคือ เกาหลี จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ให้รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้รอดชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ปฏิเสธตลอดมา โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นก็ได้ปฏิเสธคำขอจากรัฐบาลเกาหลีที่จะให้มีการ "ขอโทษจากใจ" แก่เหล่า Comfort Woman ของเกาหลี โดยชินโซได้กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีเมื่อปี 2015 ในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นข้อตกลงสุดท้ายและถาวร โดยญี่ปุ่นได้ให้เงิน 1 พันล้านเยนแก่มูลนิธิช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ของเกาหลีใต้

ขณะที่ในไทย ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกเขียนในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง เพราะส่วนหนึ่งได้รับการอธิบายว่าเนื่องจากรัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้การใช้ความรุนแรงและการเอาเปรียบทางเพศต่อผู้หญิงไทยจึงเป็นประเด็นที่ขาดหายไปจากการบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษร

 

ทั้งนี้ ละคร 'Hollow' ยังเปิดรอบการจัดแสดงอยู่ ทุกวันศุกร์และเสาร์ เดือนสิงหาคม เวลา 20.00 น. : Peel the Limelight Studio ชั้น 2 อาคารจัสมินซิตี้ (ห่างจาก BTS อโศก / MRT สุขุมวิท 5 นาที) สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Event

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

หุ่นยนต์ vs แรงงาน (1) ความก้าวหน้าอันน่าหวาดหวั่น?

Posted: 05 Aug 2018 09:52 PM PDT

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กำลังสร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนทั่วโลก เพราะความสามารถของมันมีแนวโน้มพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและน่าจะสามารถแทนที่วิชาชีพหลายอย่างได้ในอนาคตอันใกล้ แล้วสถานการณ์ในประเทศไทยล่ะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องกังวลไหม มีการเตรียมรับมือหรือไม่ อย่างไร

รายงานนี้แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนแรกจะพาไปดูภาพรวมเทรนด์การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับโลกและผลกระทบต่อแรงงานทั่วโลก การคาดการณ์สถานการณ์ของไทย กฎหมายแรงงานไทยอยู่ตรงไหน ปกป้องแรงงานได้หรือไม่ ตอนที่สอง สัมผัสกับตัวอย่างรูปธรรมของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกลำดับต้นของประเทศ เพื่อดูว่าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์กระทบกับแรงงานอย่างไร ตอนที่สาม เป็นการวิเคราะห์การเมืองเบื้องหลังเทรนด์ความเฟื่องฟูของหุ่นยนต์ เพื่อตั้งคำถามฉุกคิดว่าเส้นทางสายนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเราถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นเส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Cobot หรือ collaborative robot หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานควบคู่กันกับมนุษย์ ผู้ผลิตหุ่นยนต์พยายามรณรงค์ โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมที่มีการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะใช้ลักษณะนี้

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)[1] เปิดเผยว่า AI จะช่วยให้ GDP ของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าในปี 2578 และจะช่วยเพิ่ม Labor productivity ของโลกได้ประมาณ 30-40% จะช่วยให้ผลกำไรเพิ่มขึ้นในทุกสาขาการผลิต โดยในหมวดการศึกษา ที่พักอาศัยและการก่อสร้างนั้นจะทำให้แรงงานทักษะต่ำใน ASEAN ประมาณ 100 ล้านคนมีความเสี่ยงจะตกงานในอีก 20 ปีข้างหน้า

ในขณะที่แรงงานของไทย ร้อยละ 44 ของกำลังแรงงานรวม มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงานโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (จะกล่าวถึงในตอนที่ 2)

จากการประเมิน 10 อาชีพที่จะถูกเทคโนโลยี AI เข้ามาแย่งอาชีพ ประกอบด้วย นักพัฒนาเว็บไซต์ นักการตลาดออนไลน์ ผู้ดูแลออฟฟิศ นักบัญชี ฝ่ายทรัพยากรบุคคล นักข่าว บรรณาธิการ นักกฎหมาย แพทย์ และจิตแพทย์

เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตในอเมริกาและยุโรป ระบุว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมาบางอาชีพเริ่มหายไป หรือได้ค่าตอบแทนที่น้อยลง บางอาชีพเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่จากการเข้ามาของเทคโนโลยี

สิ่งที่พบคือ หากนำคนงานมาเรียงกันตั้งแต่เงินเดือนต่ำที่สุดจนถึงขั้นสูงสุด จะเห็นว่าทางปลายของตลาดแรงงานยังมีแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางปลายท้ายคือกลุ่มคนงานกวาดถนน คนล้างจาน คนขับรถ และกลุ่มทางปลายขั้นสูงคือ โปรแกรมเมอร์ หมอ นักวิเคราะห์ แต่กลุ่มที่จะหายไปคือ กลุ่มคนงานคอปกขาว  (White collar) พวกพนักงานบริษัทต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่มั่นคงในอดีต เช่น นักการบัญชี คนทำพริ้นติ้ง คนทำโฆษณา

ทั้งนี้เพราะกลุ่มปลายทั้ง 2 ฝั่งนั้นเป็นการทำงานที่ไม่ซ้ำซากจำเจ หรือไม่ใช่รูทีน ถึงจะมีเทคโนโลยีอย่างไรก็ไม่สามารถมาทำให้อัตโนมัติได้ หรือไม่เช่นนั้นก็เพราะแรงงานมนุษย์ยังคงราคาถูกกว่า

ประเภทของหุ่นยนต์อัตโนมัติ

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ระบบอัตโนมัติ (automation) แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน[2]

1. Robotic Process Automation (RPA) เป็นหุ่นยนต์ที่มีซอฟแวร์อัตโนมัติแบบง่ายที่จะทำงานประจำหรือรูทีนของมนุษย์ได้ เช่น บัญชีเบื้องต้น การรายงานเบื้องต้น หรือการคัดเลือกผู้สมครเบื้องต้น ซึ่งจะกระทบกับพนักงานออฟฟิศที่เป็นหน่วยสนับสนุน เช่น ฝ่ายทรัพยากบุคคลหรือบัญชี ปัจจุบันมีการใช้ RPA แล้วในหลากหลายอุตสาหกรรม

2. Intelligent Process Automation (IPA) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยงานมนุษย์ในงานที่ทำซ้ำๆ หรืองานใช้แรง แต่มีความสามารถที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมของมนุษย์และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วย หุ่นยนต์พวกนี้สามารถทำงานวิเคราะห์ง่ายๆ และหาความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปที่เกี่ยวเนื่องได้ แต่มนุษย์ก็ยังต้องตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

3. ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นขั้นสุดของ automation หุ่นยนต์สามารถที่จะเรียนรู้ พัฒนา และตัดสินใจทางเลือกที่ดีที่สุดจากตัวแปรเซ็ทที่กำหนดให้ หุ่นยนต์จะประมวลผลและตัดสินใจ ขณะที่มนุษย์คอยเพิ่มลักษณะการตัดสินใจและเซ็ทของตัวแปรทั้งหมด ตัวอย่างหนึ่งคือ chatbot หรือ ผู้ช่วยดิจิตอลซึ่งสามารถสื่อสารกับลูกค้าและจัดการกับข้อเรียกร้องในการบริการได้ ผู้ช่วยดิจิตอลนี้จะมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และแทนที่งานหน้าโต๊ะทั้งหลาย ทั้งร้านหนังสือ ตัวแทนประกัน ประชาสัมพันธ์โรงแรม โรงพยาบาล โดยเฉพาะธนาคารและบริการทางการเงิน

คาดใช้กว่า 3 ล้านตัวภายในปี 2563

จากการประมาณการณ์ของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics - IFR)[3] ระบุว่าจะมีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากกว่า 3 ล้านตัวในโรงงานทั่วโลกภายในปี พ.ศ.2563 (หรือปี 2020) ซึ่งหมายความว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายใน 7 ปี

ไทยนำเข้าหุ่นยนต์ 2.6 แสนล้าน ส่งออก 1.3 แสนล้าน

สำหรับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยนั้น เมื่อปลายปี 2560 รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา[4] กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอยู่ที่ 266,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 134,000 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ถือว่าไทยขาดดุลการค้าอย่างมาก ล่าสุดพบว่า SMEs เริ่มเข้าสู่มาตรการส่งเสริมด้านหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติของบีโอไอแล้ว 30-40 ราย ขณะที่รายใหญ่ 8-9 รายที่ครองมูลค่าตลาดนับ 10,000 ล้านบาทคือฝั่งผู้ใช้ มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นและเกาหลีฝั่งผู้ผลิตยังอยู่ระหว่างการหารืออีก 7 รายที่สนใจที่จะลงทุนในไทย

ชิต ยังกล่าวในงานเปิดตัวโครงการ Robotics Cluster Pavilion เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา[5] ว่า จากการสำรวจความต้องการใช้หุ่นยนต์ของผู้ประกอบการ SMEs ภาคการผลิตมีประมาณ 100,000 รายที่ต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้หุ่นยนต์ จากจำนวนทั้งหมดกว่า 300,000 ราย โดย 85% ให้ความเห็นว่าหากไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจจะอยู่ไม่ได้

ปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติปีละ 1.4 แสนล้านบาท และคาดปีนี้จะมีการลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์จากต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

นโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ 

BOI กับการหนุนหุ่นยนต์อัตโนมัติ

หากดูการส่งเสริมการผลิตและนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยแพร่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ[6] เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งสนับสนุนทั้งอุปทานกลุ่มผู้ผลิต (Supply Side) และกระตุ้นอุปสงค์กลุ่มผู้ใช้ (Demand Side)

กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงิน กลุ่มประกอบหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อัตโนมัติหรือชิ้นส่วนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี นอกเหนือจากการยกเว้นภาษีเงินได้จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี เช่น การถือครองที่ดิน วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น        

กลุ่มผู้ที่นำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง) โดยโครงการจะต้องนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิตเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น แขนกลสำหรับหยิบชิ้นส่วนเหล็กหล่อหรือเหล็กทุบ ซึ่งเป็นงานที่มีความเสี่ยงและอันตราย

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศยังมีไม่มาก[7] ดังนั้นบีโอไอจึงต้องใช้เครื่องมือที่มีกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศขึ้น เพราะเมื่อปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของผู้ผลิต จึงได้ขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไปอีก 3 ปี มี 3 ส่วนหลัก คือ 1. เพื่อการประหยัดพลังงานหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2. เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. เพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยจะสิ้นสุดการขอรับการลงทุนปี 2563 จากเดิมที่สิ้นสุดในปี 2560

ขณะเดียวกันได้ปรับเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ เช่น กิจการเดิมหรือโครงการลงทุนใหม่ หากมีการลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ออกแบบวางระบบพัฒนาอย่าง Internet of Thing (IoT) สำหรับภาคการผลิต จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุน ในกรณีที่ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมด ได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกิน 50% มาเป็นไม่เกิน 100% เป็นต้น

ขณะที่ โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในประเทศเทียบจากอดีตนับว่าเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่สามารถสร้าง demand ได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แต่กลับพบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งหมดแล้ว รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัพพลายเชน (supply chain) ให้กับทั้ง 2 อุตสาหกรรม ได้เริ่มปรับเปลี่ยนเช่นกัน

ยุทธศาสตร์พัฒนาคน กับ ไทยแลนด์ 4.0

สำหรับนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเพื่อรองรับสถานการณ์การนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในการผลิตนั้น ต้นปี 2560 อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้วางแนวทางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)[8] เพื่อสร้างความ "มั่นคง" ให้กับแรงงานมีหลักประกันที่ดี มีผลิตภาพแรงงานสูง (High Productivity) นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่าง "ยั่งยืน"

กลางปี 2560 หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA)[9] ระหว่าง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้มีทักษะได้มาตรฐานทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และรองรับการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น

ขณะที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) จัดการศึกษาในหลักสูตร Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในประเทศไทย ตามความในข้อ 4 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ โดยที่ประเด็นหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยอมตะจะนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษาในไทย หลักสูตรที่จะเปิดสอนเน้นด้านการใช้หุ่นยนต์ช่วยในสายการผลิตระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle) ฯลฯ

กฎหมายแรงงานใคร? คน vs หุ่นยนต์

สำหรับความคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการนำหุ่นยนต์หรือการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีนั้น ถูกบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 121, 122 รวมทั้งมาตรา 118 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเพิ่มเติม

แม้มีการปรับแก้เพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน แต่มาตรา 121 และ 122 ไม่มีการปรับแก้ มีเพียงบางส่วนของ มาตรา 118 ที่เพิ่มเรื่องการเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกําหนดไว้เท่านั้น

มาตรา 121 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นำมาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว[10] ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย

ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

ส่วนมาตรา 122 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยแต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวันหรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

ผลกระทบในอนาคต

อีก 10 ปี คนเกือบพันล้านต้องเปลี่ยนอาชีพ

นอกจากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ระบุไว้ว่า อาชีพ 10 อาชีพที่อาจหายไป แรงงานทักษะต่ำใน ASEAN ประมาณ 1.4 ร้อยล้านคนมีความเสี่ยงที่จะตกงานในอีก 20 ปีข้างหน้า ส่วนแรงงานของไทยร้อยละ 44 ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงาน

เมื่อกลางปี 2560 จิม ยอง คิม[11] ประธานธนาคารโลกก็ออกมาพูดในลักษณะเดียวกัน บอกว่าประมาณ 2 ใน 3 ของงานในประเทศกำลังพัฒนาอาจถูกแทนที่โดยเครื่องจักรอัตโนมัติ ประเทศที่เสี่ยงเป็นพิเศษที่จะสูญเสียงาน คือ เอธิโอเปีย 85% ของงานอยู่ในความเสี่ยง จีน 77% ส่วน ไทย 72%

เช่นเดียวกับ สถาบันวิจัยแมคคินซีย์ โกลบอล[12] เปิดเผยว่า คนทำงาน 400-800 ล้านคนจะต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี 2573 เพราะจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมองกล

รายงานของ McKinsey Global Institution (MGI)[13] เมื่อปลายปี 2560 ระบุว่า ภายในปี 2030 แรงงาน 75-375 ล้านคนหรือ 3-14% ของกำลังแรงงานทั้งโลก จะต้องเปลี่ยนประเภทอาชีพ และอาจจะต้องปรับตัวให้มีความสามารถในการทำงานร่วมกับเครื่องจักร ในการปรับตัวนั้นอาจต้องการการศึกษาขั้นสูงขึ้น หรือการใช้เวลามากขึ้นในกิจกรรมซึ่งต้องการสกิลด้านสังคมและอารมณ์, หรือสกิลที่ต้องใช้ความคิดมากซึ่งยากสำหรับการทำอัตโนมัติ

กระทรวงแรงงานระบุไทยยังไม่มีการปลดคนงานเพราะหุ่นยนต์

ขณะที่กระทรวงแรงงานระบุว่า ยังไม่มีการเลิกจ้างจากการนำหุ่นยนต์มาใช้ เพชรรัตน์ สินอวย[14] รองปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการปลดคนงานออกจากการนำหุ่นยนต์มาใช้ แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าจะมีการปลดคนงานครั้งใหญ่ในอนาคตหรือไม่ แต่ไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจกับกระแสนี้ได้ กระทรวงแรงงานเตรียมการด้านนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคแรงงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะของแรงงานที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป              

เปิดงานวิจัย ธปท.

คำถามคือจริงหรือที่ไม่มีการเลิกจ้างหรือผลกระทบจากการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต ทั้งที่การคาดการณ์ต่างๆ ต่างบ่งชี้มันต้องมีผลกระทบไม่มากก็น้อย

รายงานวิจัย "หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?"[15] ของ พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ และ นันทนิตย์ ทองศรี จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเสนอเมื่อเดือนเมษายน 2561 ระบุว่า จากข้อเท็จจริงและการหารือผู้ประกอบการพบว่า แม้เทคโนโลยีจะไม่ส่งผลกระทบกับแรงงานภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างรุนแรงฉับพลัน แต่จะส่งผลต่อคนที่ทำงานลักษณะซ้ำๆ ให้ตกงาน หางานยากขึ้น และรายได้ลดลง

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า เหตุที่เทคโนโลยีจะไม่ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานในภาพรวมอย่างรุนแรงฉับพลันนั้นมีเหตุผลอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ภาคการผลิตจริงไม่สามารถรับเทคโนโลยีได้ในทันที (2) หุ่นยนต์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงอายุ (3) ผู้ประกอบการและแรงงานมีการปรับตัว และ (4) เทคโนโลยีก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ

รายงานวิจัยของ ธปท. ยกตัวอย่างจากการลงพื้นที่หารือกับผู้ประกอบการโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์เพื่อดูผลกระทบต่อแรงงาน เมื่อมีการใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบในโรงงานใหม่


ลักษณะของโรงงานที่ ธปท.ยกเป็นกรณีศึกษา

งานวิจัยของ ธปท. ระบุว่า 1. ขั้นป้อนวัตถุดิบ (Input) แม้โรงงานจะทำระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ แต่การป้อนวัตถุดิบ ยังต้องใช้แรงงานในการป้อนวัตถุดิบ ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน เนื่องจากวัตถุดิบที่มาจากต้นน้ำไม่สามารถทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ 2. ขั้นใช้เครื่องจักรประกอบวัตถุดิบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ (Core production) แทบไม่ใช้แรงงานคนในสายการผลิตเลย ยกเว้นคนทำหน้าที่ควบคุมเครื่องซึ่งใช้คนเพียง 5 คนในแต่ละสายการผลิต แต่สามารถผลิตได้ถึง 600 ขวด/นาที โดยคนกลุ่มนี้ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไปและสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ เพราะระบบและคู่มือในการควบคุมเครื่องจักรเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

3. ขั้นตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์(Q.C.) ยังต้องใช้แรงงานในการสุ่มตรวจ เพราะเครื่องจักรยังไม่สามารถตรวจสอบลักษณะบางอย่างได้ เช่น กลิ่นหรือรสชาติ 4. ขั้นบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ (Packaging) มีคนทำหน้าที่ควบคุมเครื่องเหมือนกับขั้น Core production โดยเครื่องจักรช่วยให้การบรรจุสินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน ลดการบาดเจ็บของ แรงงาน และมีสายพานอัตโนมัติเชื่อมต่อไปยังคลังสินค้าได้เลย โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนช่วยในการขนย้าย

5. ขั้นเก็บเข้าคลังสินค้า (Warehouse) หุ่นยนต์ช่วยให้วางสินค้าได้สูง ช่วยประหยัดพื้นที่ โดยหากไม่ใช้หุ่นยนต์จะสามารถวางสินค้าซ้อนกันได้เพียง 2 ชั้นจากข้อจำกัดของรถยกสินค้า การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน ในส่วนของคลังสินค้านี้ใช้แรงงานเพียงแค่ 10 คน ซึ่งหากไม่ใช้ระบบดังกล่าวจะต้องใช้พนักงานขับรถยกสินค้าถึง 44 คน

จากกรณีตัวอย่าง พบว่า (1) แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากหุ่นยนต์จะเป็นแรงงานที่ทำงานแบบมีข้อกำหนดชัดเจน (rule-based) เช่นคนงานสายการผลิต (2) โรงงานใหม่ที่ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบจะส่งผลต่อการรับแรงงานเด็กจบใหม่ เช่น เด็กจบ ปวช. ในสาขาพาณิชย์จะหางานทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต (3) แรงงานเดิมที่ทำงานอยู่แล้วโดยเป็น outsource ถูกเลิกจ้าง แรงงานบางส่วนต้องปรับทักษะให้เข้ากับเครื่องจักรใหม่ๆ ซึ่งหากเป็นแรงงานที่อายุน้อยจะปรับตัวได้เร็ว แต่แรงงานที่อายุมากจะปรับได้ลำบาก

งานวิจัยยังระบุว่า เทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อแรงงาน 3 กลุ่ม ชัดเจนขึ้นกว่าในอดีต

(1) แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้บางส่วนจะถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะประเภท outsource

(2) แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวพัฒนาทักษะได้ แม้ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่จะต้องไปทำงานอื่นหรืองานที่มีทักษะต่ำกว่าเดิม แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานและสังคมสูงวัย แต่ในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหา โดยแรงงานไทยมากกว่าร้อยละ 15 ทำงานต่ำว่าความสามารถของตนเอง

(3) แรงงานจบใหม่อาจหางานได้ยากขึ้น เพราะระบบการศึกษายังเป็นแบบเดิม แต่ความต้องการแรงงาน เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยผลการศึกษาพบว่า สาขาที่ไม่ได้เน้นความจำเพาะต่อวิชาชีพเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสูง เช่น ผู้ที่จบจากสายสังคมศาสตร์มีโอกาสที่จะถูกแทนที่สูงกว่าผู้จบสายแพทย์และพยาบาลถึงร้อยละ 40 สอดคล้องกับข้อมูลทางสถิติที่พบว่า ผู้ว่างงานของไทยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานจบใหม่ที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อนและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยราวร้อยละ 40 ของผู้ไม่มีงานทำในกลุ่มดังกล่าวจบจากสาขาสังคมศาสตร์โดยเฉพาะสายสามัญ อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นที่แรงงานสายสังคมศาสตร์จะเสี่ยงตกงานหากแรงงานมีการปรับตัวให้มีทักษะที่หลากหลาย เช่นความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา รวมทั้งความฉลาดทางอารมณ์

สถิติการเลิกจ้าง

รายงานสถิติสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2559 จัดทำโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เก็บข้อมูลจากรณีที่ลูกจ้างมายื่นคำร้องทุกข์และการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ พยว่า ในปี 2559 สถานประกอบกิจการมีการเลิกจ้าง 41 แห่งเท่ากับปีก่อนหน้า และลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 2,778 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่สาเหตุการเลิกจ้างมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและปรับลดขนาดองค์กรมากที่สุด กิจการที่มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างมากที่สุดเป็นกิจการการผลิต

ปัจจัยที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุมาจาก "การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและปรับลดขนาดองค์กร" อาจมีหลายอย่าง แต่การนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หากย้อนไปในปี 2558 จะพบว่ามีสถานประกอบการ 4 แห่งที่อยู่ในข่ายนี้ถูกเลิกจ้าง 175 คน ปี 2557 ไม่ปรากฏสถิติในปัจจัยเรื่องนี้ ส่วนปี 2556 มีสถานประกอบการ 3 แห่ง เลิกจ้าง 132 คน[16]

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของกระแสการใช้หุ่นยนต์ทั้งในระดับโลกและสถานการณ์ภายในประเทศไทยที่มีนโยบายในการสนับสนุนหลายต่อหลายด้าน ขณะเดียวกันก็พยายามสำรวจการรองรับในภาคของแรงงานที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ในตอนหน้าเราจะพาไปเจาะลึกมากขึ้นในส่วนของแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนตร์ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากและใช้หุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

 

---------------------------

  • [7] จากสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบการยื่นขอรับการลงทุนในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมภายใต้มาตรการดังกล่าว 140 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 38,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการยื่นขอด้วยเหตุผลการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจำนวนเพียง 48 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท ส่วนยอดคำขอ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.60) มี 978 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 376,570 ล้านบาท เป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 19 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 4,328 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 25 ธ.ค.2561, ดันตั้ง"ส.หุ่นยนต์"-BOIขยายเวลาเพิ่ม)
  • [8] ยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) Productive Manpower (พ.ศ. 2560-2564) ขจัดอุปสรรคด้านแรงงานในการพัฒนาประเทศ เร่งพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานด้านแรงงานให้เป็นสากล มุ่งเน้นให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม มีความปลอดภัย ส่งเสริมให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีทักษะที่หลากหลาย (Multi-Skilled) พัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้าน STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) 2) Innovative Workforce (พ.ศ. 2565-2569) พัฒนาแรงงานให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพ พร้อมปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นรองรับรูปแบบการจ้างงานใหม่ในยุคดิจิตัล 3) Creative Workforce (พ.ศ. 2570-2574) เพิ่มจำนวนคนที่มีทักษะด้าน STEM เพื่อให้เป็นกำลังคนที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถและสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง (High Productivity) เพื่อให้มีรายได้สูง (High Income) และประเทศสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap : MIT) 4) Brain Power  (พ.ศ. 2575-2579) เพิ่มจำนวนกำลังคนที่มีทักษะด้าน STEM และสร้างกำลังคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน
  • [9] อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบายเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งสถาบัน MARA ว่า จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกรองรับการเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น Brain Power ใน 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงานได้มีการตอบสนองโครงการดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ล่าสุดได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) ในหน่วยงานสังกัด กพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 3 แห่ง (อ่านเพิ่มเติม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 29 พ.ค.2560, ก.แรงงาน ร่วมสภาอุตฯ ตั้งสถาบันพัฒนาแรงงานเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รับ EEC)
  • [10] มาตรา 118 บัญญัติไว้ว่า  ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้  (1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ เป็นหน่วย  (2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

    การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

    การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

  • [13] รายงาน MGI จัดทำในเดือนมกราคม 2017 ศึกษาผลกระทบจาก automation โดยสร้างสถานการณ์จำลองแบบต่างๆ ในปี 2030 และศึกษาข้อมูลของ 46 ประเทศซึ่งคิดเป็น 90% ของจีดีพีทั้งโลก เน้นใน 6 ประเทศคือ จีน เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา โดยสร้างโมเดลศักยภาพในการเปลี่ยนการจ้างงานสำหรับ 800 อาชีพบนฐานของสถานการณ์การรับ automation เข้ามาในงานในแบบต่างๆ รายงานพบว่าในปี 2030 งานของมนุษย์จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติประมาณ 15% (15% ของงานทั้งโลกคืองานประมาณ 800 ล้านตำแหน่ง) ในปี 2030 แรงงานจะมีประมาณ 2.66 พันล้านคน และ 8-9% จะเป็นอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในทางทฤษฎีแล้วงานครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ถูกจ้างให้ทำนั้นสามารถแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยีในระดับปัจจุบัน และมีเพียงไม่กี่อาชีพหรือน้อยกว่า 5% ที่สามารถถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติทั้งหมดทุกกิจกรรม (อ่านเพิ่มเติม McKinsey Global Institution, 2017)
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น