โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ศาลสั่งยึดทรัพย์เหยื่อกระสุนปี 52 ขายทอดตลาดชดใช้แทนกองทัพ

Posted: 09 Aug 2018 09:48 AM PDT


ภาพ ไสว ทองอ้ม ถ่ายโดย วีรนันท์ กัณหา

คารม พลพรกลาง ทนายความของ ไสว ทองอ้ม ชาวสุรินทร์ ผู้ถูกยิงในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552 ได้เปิดเผยว่า เวลา 10.30 น.ของวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ตนและลูกความจะเดินทางไปที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำเรื่องขอให้ทางรัฐบาลให้ความช่วยเหลือในการงดเว้นการจ่ายค่าฤชาธรรมเรียมและค่าทนายความเป็นเงิน 212,114 บาท ที่ศาลฎีกา (แพ่ง) มีคำสั่งให้โจทก์คือนายไสว ทองอ้ม ซึ่งเป็นลูกความของตนต้องชดใช้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย และ กองทัพบก

เหตุเกิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 13 เมษายน 2552 นายไสว ทองอ้ม และนายสนอง พานทอง ได้ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากนั้นนายไสวและนายสนองจึงได้ฟ้องแพ่งเอาผิดเรียกค่าชดเชยจาก สำนักนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. กองบัญชาการกองทัพไทย และ กองทัพบก

ไขประเด็น 'เยียวยา' เสียงจากผู้สูญเสีย หลักกฎหมาย และคดีแพ่งตัวอย่าง เมษา 52

ไสว ถูกยิงที่ต้นแขนซ้าย ไม่สามารถใช้แขนซ้ายประกอบภารกิจตามปกติได้อีก จึงถูกเลิกจ้างและขาดรายได้ ขอเรียกค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการประกอบการงานได้โดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 20 ปี รวมแล้วเป็นเงิน 2,857,538 บาท ส่วนสนอง ถูกยิงบริเวณขาขวาไม่สามารถใช้ขาขวาประกอบภารกิจตามปกติได้เป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างและขาดรายได้ ขอเรียกค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการประกอบการงานได้โดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 25 ปี รวมแล้วเป็นเงิน 2,245,205  รวมทั้งสองรายเป็นเงิน 5,102,743 บาท ศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2554 ให้โจทก์ชนะคดี และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 5 ต้องชำระเงินให้กับโจทก์ โดยชำระให้รายละ 1,200,000 บาท และ 1,000,000 บาทตามลำดับ รวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

แต่ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องของฝ่ายโจทก์ โดยให้ความเห็นว่าอาวุธประจำกายของทหารในพื้นที่เกิดเหตุไม่ได้มีปืนพกสั้นที่ใช้กระสุนความเร็วต่ำขนาด 9 มม.ที่ยิงใส่โจทก์ และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจำเลย (ซึ่งก็คืออัยการ) เป็นเงิน 212,114 บาท และมีคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดอายัดทรัพย์โจทก์และทำการขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560


ภาพบาดแผลด้านหน้า


ภาพบาดแผลจากด้านหลัง

ไสว ทองอ้ม เหยื่อกระสุนปี 52 กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนี้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้ทำการอายัดบัญชีของตนซึ่งมีเงินอยู่ในบัญชีเพียงแค่ 4,479 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สุรินทร์ยังได้ยึดที่นาของตนจำนวน 8 ไร่ ราคาประเมิน 460,980 บาท เพื่อทำการขายทอดตลาด 

ไสวกล่าวว่าทุกวันนี้นี้ตัวเองก็เหมือนคนพิการ แขนข้างที่โดนยิงมีอาการขัดและชา และยังมีเศษกระสุนฝังอยู่ข้างใน เคลื่อนไหวไม่สะดวกและไม่สามารถทำงานหนักได้ ที่ดินก็มีเพียงนาที่ทำอยู่พอให้มีข้าวกินและมีรายได้บ้าง หากถูกยึดไปก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปได้อย่างไร 


ที่นาของไสว


หนังสือบังคับคดี

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐ-เอกชน รับผิดชอบ-ชดใช้ เลิกใช้เขื่อนลาวที่แตก

Posted: 09 Aug 2018 06:58 AM PDT

เครือข่ายตรวจสอบการลงทุนในเขื่อนลาว และประชาสังคมเกาหลีออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ลาวเลิกใช้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ให้บริษัทร่วมทุนไทย-ลาว-เกาหลี ยืดอกขอโทษและรับผิดชอบอย่างเปิดเผย โปร่งใส เยียวยาเหยื่อทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว

9 ส.ค. 2561 มีการแถลงคำประกาศจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (Laos Dam Investment Monitor [LDIM]) และเครือข่ายที่สองคือคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยลาวแตก โดยประสงค์จะประกาศ เผยแพร่มุมมอง และข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศ สปป. ลาว ดังนี้

ประการแรก - เขื่อนพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยไม่เหลือความชอบธรรมในการดำเนินการอีกต่อไป

เราตระหนักว่าอุบัติภัยของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลลาวได้มีถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการตรวจสอบเขื่อนที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศและระงับการพิจารณาการลงทุนใหม่ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำของลาวต่อไป แม้เรายังไม่ทราบถึงขั้นตอนต่อไปที่รัฐบาลลาวจะปฏิบัติ แต่เราขอยืนยันว่าในขณะนี้ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยได้สูญเสียความชอบธรรมที่จะดำเนินการต่อไปในฐานะเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไปแล้ว เขื่อนดังกล่าวซึ่งมีแผนการจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ประเทศไทยเพียงเพื่อไปสมทบกับจำนวนพลังงานที่มีอยู่มากกว่าความต้องการที่แท้จริงของประเทศไทยอยู่แล้ว ได้คร่าชีวิตของคนอย่างน้อย 35 คน และเป็นสาเหตุของความทุกข์ทรมานในระยะยาวแก่ประชาชนอีกนับหมื่นคนทั้งในประเทศลาวและกัมพูชา ยังไม่นับความเสียหายที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากภัยพิบัติดังกล่าวที่มากเกินกว่าคำอธิบาย

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดต่อรัฐบาลลาวและกลุ่มบริษัทผู้สร้างเขื่อนคือการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือและรักษาความปลอดภัยของชีวิตและอนาคตของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกู้คืนสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายลง กลุ่มนักลงทุนที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับและเรียนรู้ถึงผลกระทบที่รุนแรงจากการพังทลายของเขื่อนที่โลกได้เห็น รัฐบาลลาว รัฐบาลเกาหลีและหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศไทยต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ณ ขณะนี้ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยได้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สำคัญของโศกนาฏกรรมที่มีต่อประชาชน ประเทศและของโลก

ประการที่สอง - การแถลงอย่างโปร่งใสและเร่งด่วนของกลุ่มบริษัทผู้ลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเกิดขึ้นทันที

ผลกระทบจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยไปไกลเกินขอบเขตของประเทศ ความคาดหวังของประชาชนชาวไทย เกาหลีและทั่วโลกผู้ติดตามสถานการณ์คือการได้เห็นการขอโทษอย่างเป็นทางการและเป็นกิจจะลักษณะของบริษัทเอสเคเอ็นจิเนียร์แอนด์คอนสตรัคชั่น บริษัทเกาหลีเวสเทิร์นพาวเวอร์ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว โดยความร่วมมือกับรัฐบาลลาว การขอโทษคือขั้นตอนแรกเพื่อการประกาศให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการยอมรับในความรับผิดชอบของบริษัทผู้ได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนในโครงการที่มีต่อชีวิตและวิถีชีวิตของประชาชน และทรัพยากรของลุ่มน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย สายน้ำอื่นๆ และสภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งมวล

กระบวนการของการตรวจสอบโดยรัฐบาลลาวและรัฐบาลเกาหลีเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ บริษัท กลุ่มรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนดังเช่นบริษัทเกาหลีทั้งสองและราชบุรีโฮลดิ้งของไทยเป็นสิ่งจำเป็น รวมไปถึงกระบวนการการใช้เงินสาธารณะของเกาหลีในฐานะเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (โอดีเอ) ต้องมีการแถลงให้ทราบและติดตามโดยสาธารณะ ด้านความรับผิดชอบตามกฎหมายและการประเมินความเป็นไปได้ในทางกฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการติดตามและมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบโดยประชาชน ชุมชนและกลุ่มใดๆ ที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในภารกิจช่วยเหลือในสถานการณ์ปัจจุบันและฟื้นฟูในอนาคตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในลาวและกัมพูชา

ประการสุดท้าย การชดเชย - การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือและชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคือเรื่องที่เร่งด่วนที่สุด

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนในขณะนี้คือการปฏิเสธและผลักความรับผิดชอบของบริษัทและหน่วยงานที่รับผิดชอบ แทนที่จะพยายามผลักภาระให้พ้นตัว ชุมชนโลกกำลังอยากเห็นการมีส่วนร่วมโดยตรงของบุคลากรสูงสุดของทุกบริษัทผู้ร่วมลงทุนในการเดินทางเพื่อพบและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังคมจมอยู่ในโคลนตาในประเทศลาว ทุกบริษัทจำเป็นต้องยอมรับอย่างเป็นทางการในข้อเท็จจริงที่ว่า ในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ ยังมีผู้คนที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออย่างแท้จริงด้วยความหิวโหยและทุกข์ทรมาน บริษัทต้องเข้าทำงานในประเทศลาวโดยตรงในระยะเร่งด่วน รวมทั้งในระยะกลางและยาวต่อปัญหาอื่นๆ ที่ได้รับการประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปีหรือนับทศวรรษ การทำให้ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูสภาพการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชน

ในท้ายที่สุดและที่สำคัญมาก เราขอยืนยันว่ากลุ่มบริษัทผู้ลงทุนและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้ค่าชดเชยที่เกิดขึ้นย้อนกลับมาเป็นค่าไฟฟ้าหรือนำมาจากเงินทุนสาธารณะที่ประชาชนพลเมืองไทย เกาหลีและลาวจะต้องเป็นผู้ชดใช้ บริษัทและกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการต้องรับค่าใช้จ่ายในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง

ด้วยสามประเด็นที่ระบุในคำประกาศฉบับนี้ เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาวและคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยลาวแตก ขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สำคัญที่สุดที่การเข้าร่วมของประชาชนลาว ประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศจะต้องได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลลาว ทั้งนี้ เราขอยืนยันความมุ่งมั่นของเราในการติดตามและทำงานเพื่อได้เห็นการยุติโครงการ การประกาศความรับผิดชอบ และการชดเชยพร้อมการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดของรัฐบาลลาว เกาหลี ไทยและหน่วยงานพลังงานของไทยเพื่อสนองต่อศักดิ์ศรีและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนลาวและกัมพูชา ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือทุกสิ่งของพวกเราทั้งหลาย

เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาวและคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยลาวแตก

สันเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า "เซเปียน-เซน้ำน้อย" แตกคืนวันที่ 23 ก.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่เมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว  โดยเขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างดังกล่าวผู้ลงทุนคือ บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC)

บริษัท PNPC เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% หากก่อสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ โดยตามสัญญาจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 27 ปีขณะที่ราชบุรีโฮลดิ้งชี้แจงว่า 1 ใน 5 สันเขื่อนกั้นช่องเขา คือสันเขื่อนส่วน D แตกร้าว โดยอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งกระทบต่อการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีหน้านั้น

ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย

ขณะเดียวกัน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ในวันนี้ (24 ก.ค.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเขื่อนแตกที่แขวงอัตตะปือ โดยตอนหนึ่งระบุว่า "เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดห้าเขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้ โครงการนี้ตั้งอยู่บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จุดที่แม่น้ำเซเปียนบรรจบกับแม่น้ำโขง ที่ปากเซ"

"จากข้อมูลที่มีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณสองทุ่มเมื่อคืนที่ผ่านมา"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สนช. ชี้หากแก้กฎหมาย กกต. อาจเลือกตั้งไม่ทัน ก.พ. 62 ปชป. กังวลลากยาวถึงปลายปี

Posted: 09 Aug 2018 06:51 AM PDT

ประชาธิปัตย์เสนอให้ สนช. ถอนร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ปมผู้ตรวจการเลือกตั้งออกจากการพิจารณา ชี้อาจทำให้การเลือกตั้งเลือนไปไกลถึงปลาย 62 ด้าน สนช. เผย หากจะแก้จริงๆ คงเสร็จไม่ทัน ก.พ. 62 ประยุทธ์เชื่อ สนช. กับ กกต. จะหารือกันได้

9 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสนอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถอนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในประเด็นแก้ไขการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปถึงปลายปี 2562 เนื่องจากทันทีที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) มีผลใช้บังคับประมาณกลางเดือนก.ย. กกต.จะสามารถดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดแรก 250 คนตามบทเฉพาะกาลได้ทันที โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีหน้าที่ตามกระบวนการเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว. ทั่วประเทศจนเหลือ 200 คนก่อนส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คัดเลือกให้เหลือ 50 คน เพื่อรวมกับ ส.ว. อีก 200 คนที่ คสช. คัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา

อรรถวิชช์ กล่าวว่า กระบวนการเหล่านี้ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่หาก สนช. วนย้อนกลับไปแก้ พ.ร.ป.กกต. ที่ตนเองเพิ่งออกมาได้ไม่นานนี้อีก การเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. จะไม่มีทางเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. แต่จะถูกยืดออกไปถึงปลายปี 62 แน่นอน เพราะขั้นตอนการแก้ไขกฎหมาย การเสนอขึ้นกราบบังคมทูลฯ จนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและกฎหมายมีผลใช้บังคับนั้นรวม ๆ แล้วประมาณ 180 วัน ขณะที่ กกต. ใช้เวลาอีก100 วัน ตามสถิติเดิมกว่าจะได้บัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน รวมแล้วมีขั้นตอนยืดไปอีกราว 9 เดือน

"ผมในฐานะผู้เล่นที่ต้องลงสนามเลือกตั้ง ไม่ได้กังวลกับบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะกลไกการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดจริง เป็นการจับฉลากที่ล็อคสเปกได้ยากคือบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน จาก 77 จังหวัด จังหวัดละ 8 คนนั้น จะต้องถูกจับฉลากมาแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจริงอีกครั้ง โดยจำนวนผู้ตรวจแต่ละจังหวัดจะมีกี่คน อยู่ที่จำนวนเขตเลือกตั้งว่ามีมากน้อย เช่นจังหวัดระยอง มีแค่ 4 เขตเลือกตั้ง จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ 5 คน ก็จะจับสลากจาก 8 ชื่อในบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดระยองมา 2 คน ส่วนที่เหลือ 6 ชื่อจะถูกเทรวมกับชื่อที่เหลือของบัญชีจังหวัดอื่น ๆ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ถึงจะจับสลากจากกลุ่มจังหวัดเพิ่มอีก 3 คน ให้ครบโควต้า 5 คน ซึ่งผมเห็นว่าขั้นตอนการจับฉลากเพื่อแต่งตั้งจริง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้กกต.ชุดใหม่มาดำเนินการเท่านั้นก็แฟร์แล้ว สนช. ไม่ต้องวนย้อนไปแก้ พ.ร.ป.กกต. อีก" อรรถวิชช์ กล่าว

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อช่วงเช้าได้พูดคุยกับนายศุภชัย  สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป ว่าจะแก้กฎหมาย  แต่คาดว่าหลังจากนี้ ทาง กกต.และ สนช. คงจะหารือร่วมกัน ดังนั้นยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ  และจะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม พร้อมถามกลับ ว่าบุคคลที่ออกมาพูดว่าจะแก้กฎหมายนั้นเป็นใคร เพราะข้อมูลที่ตนเองทราบ มาจากการนำเสนอของสื่อมวลชนเท่านั้น

ขณะที่มติชนออนไลน์ รายงานว่า กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ตนเป็น 1ใน36 สนช.ที่เข้าชื่อขอแก้ไข พ.ร.ป.กกต. ซึ่งสิ่งที่ สนช. เข้าชื่อกันแก้ไขก็มีเหตุผล แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ประธาน กกต. จะไม่พอใจที่ สนช. เข้าชื่อให้แก้ไขกฎหมายลูกกกต. แต่ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ เรายินดีรับฟังคำวิจารณ์ของ กกต. แม้กกต.ปัจจุบันจะมีอำนาจเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย แต่ไม่มีความเหมาะสมที่จะเลือก เพราะผู้ทำหน้าที่คุมการเลือกตั้งคือ กกต.ชุดใหม่ ควรให้ กกต.ใหม่เป็นผู้เลือกคนที่จะมาเป็นมือเป็นไม้ในการทำงานจะเหมาะกว่า ทำไมชุดเก่ามาทิ้งทวนวางคนของตัวเองไว้ ทั้งที่กำลังจะหมดอำนาจ ส่วนที่ประธาน กกต.ระบุว่า สนช. ไปฟังเหตุผลของคนที่สอบตกในการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น ก็เป็นเรื่องที่อ้างได้ แต่สนช. ก็มีเหตุผลของตัวเอง สนช.ที่เข้าชื่อแก้ไขล้วนเป็นผู้ใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือในแถวหน้าของสังคม ไม่ทำอะไรโดยไม่มีเหตุผล กกต.จะมาอ้างเหตุผลตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ควรฟังเหตุผลของคนอื่นด้วย การระบุว่า สนช.ไม่มีความรอบคอบในการพิจารณาพ.ร.บ.กกต.จนต้องมาแก้ไขภายหลังนั้น ไม่มีกฎหมายฉบับใดสมบูรณ์ 100% ทุกฉบับมีช่องโหว่ เมื่อเห็นว่าไม่รอบคอบก็ต้องแก้ไข

เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัดแล้ว ไม่รอ กกต. ชุดใหม่ ชี้ก่อนไปต้องทำงานให้คุ้มเงินหลวง

พรเพชรเผยห้าม สนช. แก้พ.ร.ป.กกต. ปมเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้ วิษณุยันไร้ใบสั่งจาก รบ.

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวถึงกรณีศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เรียกร้องให้ สนช. โทษตัวเองที่ออกพ.ร.ป.กกต. ไม่รอบคอบ จนต้องเสนอแก้ไข ในส่วนที่มาของผู้ตรวจการเลือตั้งว่า ตนไม่ได้คัดค้านเนื้อหา พ.ร.ป.กกต. แต่เห็นว่า การที่กกต.ชุดปัจจุบันเร่งลงมติเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คน โดยไม่รอให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เลือกนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะ กกต.ชุดใหม่ใกล้จะเข้ามาทำงานแล้ว มั่นใจว่าถึงอย่างไรก็มีเวลาเตรียมตัวเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งทันต่อการเลือกตั้งส.ว. แน่นอน แต่เหตุใด กกต.ปัจจุบันจึงฉวยโอกาสรีบเลือก อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การแก้ไขกฎหมายลูกกกต.ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ทั้งการรับฟังความเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 การให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาให้ความเห็น ซึ่งรัฐบาลคงส่งให้ กกต. ไปพิจารณา และส่งร่างของ กกต. เข้ามาประกบกับร่างของ 36 สนช. เข้าชื่อเสนอแก้ไข สุดท้ายก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.อีก ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ดูแนวโน้มคงแก้ไขเสร็จไม่ทันการเลือกตั้ง เดือน ก.พ. 2562

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ทักษิณ' ย้ำสงครามยังไม่จบ "วอร์ที่สำคัญคือวอร์เรื่องประชาธิปไตย"

Posted: 09 Aug 2018 06:30 AM PDT

ทักษิณ ชินวัตร พบผู้สนับสนุนที่ฮ่องกง ย้ำสงครามยังไม่จบ "วอร์ที่สำคัญคือวอร์เรื่องประชาธิปไตย" วันเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็คือวันตัดสิน ขณะที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ จี้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง -ประกาศ คสช. หยุดละเมิดสิทธิประชาชน

ภาพทักษิณและยิ่งลักษณ์ โพสต์ใน อินสตาแกรม thaksinlive เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

9 ส.ค.2561 โลกวันนี้ รายงานว่า กลุ่มแฟนคลับภาคอีสานได้เดินทางไปพบ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมรับประทานอาหารจีนที่โรงแรมมาโคโปโล ฮ่องกง โดยแฟนคลังได้นำเค้กมาอวยพรวันเกิดนายทักษิณด้วย พร้อมเปิดเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ ซึ่ง ทักษิณ ได้แจกหมวกแก๊ปสีขาว-แดงพร้อมลายเซ็น

"ผมบอกทุกคนว่า ถ้าเราไม่ยอมแพ้ คำว่าแพ้มันมีได้ 2 กรณี คือกรณีที่เราตาย หรือกรณีที่เรายอมไปเอง ถ้าเรายังสู้อยู่นี่ ถือว่าไม่มีปัญหา นั่นก็คือมีแต่แบตเทิล (Battle-การต่อสู้) ไม่มีวอร์ (War-สงคราม) วอร์มันจะเอนด์ (End-จบ) ต่อเมื่อทุกอย่างมันจบ แต่ว่าสู้กันกี่ยกๆ นั้นคือแบตเทิล เพราะฉะนั้น แม้ว่าเราจะมีซับแบตเทิล (Sub Battle) แต่ว่าวอร์ยังไม่เอนด์ เพราะฉะนั้นเราต้องทำต่อไป วอร์ที่สำคัญคือวอร์เรื่องประชาธิปไตย" ทักษิณ กล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่ฮ่องกงตอนหนึ่ง (ข่าวสดออนไลน์ รายงาน)

"ผมอายุ 69 ยังไม่มีประชาธิปไตยเลย แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการคือ อยากเห็นประเทศของเรารุ่งเรือง และที่สำคัญคืออยากเห็นศักดิ์ศรีกลับมาสู่คนไทย เพราะวันนี้เราถูกลดด้อยศักดิ์ศรีขึ้นเยอะ เพราะว่าเราเคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิเสรีภาพ เดี๋ยวนี้เรากำลังถูกปกครองโดยใครก็ไม่รู้ ที่อยู่ๆ ก็ถือปืนมา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ วันเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็คือวันตัดสิน" ทักษิณ กล่าว

เพื่อไทย จี้ยกเลิกคำสั่ง คสช. หยุดละเมิดสิทธิประชาชน

วันเดียวกัน (9 ส.ค.61) พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนโดยเร็ว ระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อปี 2557 พรรคกังวลใจยิ่งที่เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประกาศ คสช.และคำสั่งของหัวหน้า คสช. รวมถึงการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้แล้วและมีบทบัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ก็ตาม

ดังนั้น เพื่อให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และเพื่อให้การเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่จะเกิดขึ้น เป็นการเลือกตั้งโดยเสรี เป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สมควรที่ประชาชนจะได้สิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและแสดงความคิดเห็น โดยไม่ถูกลิดรอนหรือจำกัดโดยประกาศ คสช. คำสั่งของหัวหน้า คสช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกต่อไป

พรรคจึงขอเรียกร้องดังนี้ 1.พรรคเห็นว่าหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม เป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชน เป็นข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งรัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

แต่ปัจจุบัน ประกาศและคำสั่ง คสช.หลายฉบับยังคงมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ เช่น การห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีการบังคับใช้ไปถึงการแสดงความคิดเห็นของบุคคลด้วย การห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ทั้งที่กฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้ และใกล้จะถึงกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว การใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ดำเนินการกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นใดที่จะคงข้อจำกัดและข้อห้ามดังกล่าวไว้

2.เพื่อให้สิทธิเสรีภาพของบุคคลได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง พรรคจึงขอให้ คสช.และรัฐบาล ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รวมถึงประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด

นอกจากนี้ควรยอมรับความเห็นต่างที่มีต่อ คสช.และรัฐบาล เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารของรัฐบาลอย่างมีสติและมีเหตุผล และไม่ควรจะใช้ประกาศ คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงกฎหมายคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินการต่อผู้ที่เห็นต่างเพราะการกระทำดังกล่าวไม่ใช่อาชญากรรม

อีกทั้งเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว การดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลและคสช. ควรระมัดระวัง ทั้งการใช้งบประมาณที่ต้องคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ต้องไม่ใช้งบเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองใดๆ และต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลและคสช.ได้โดยไม่ถูกปิดกั้น

พรรคเพื่อไทยขอยืนยันจุดยืนที่มั่นคงว่า พรรคมีอุดมการณ์ที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน และขอเรียกร้องให้รัฐบาล และคสช.ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและจริงใจ ที่จะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและไม่เลือกปฏิบัติ เพราะความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์และความเป็นปกติสุขของบ้านเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อไป

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สำนักงานเลขานุการกองทัพบก

Posted: 09 Aug 2018 06:13 AM PDT

"..ภาพในเครื่องบันทึกข้อมูลเป็นภาพของวันที่ 20 – 25 มีนาคม 2560 ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง .."
 

ทำหนังสือถึงทนายของ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ที่ขอภาพจากกล้องวงจรปิดเหตุการณ์ทหารยิงชัยภูมิ
https://prachatai.com/journal/2018/08/78206

ดราม่าเดือด เพจซาอุฯ โพสต์ภาพขู่คล้าย 'ไนน์วันวัน' เหตุแคนาดาจวกละเมิดสิทธิมนุษยชน

Posted: 09 Aug 2018 05:54 AM PDT

จากกรณีแคนาดาวิจารณ์ซาอุดิอาระเบียเหตุจับกุมนักกิจกรรม ทำให้ทางการซาอุฯ โต้ตอบทางการทูตสารพัดวิธี แต่ก็มีเรื่องกระพือดราม่าบนอินเทอร์เน็ตเมื่อผู้ใช้งานทวิตเตอร์โพสต์ภาพพร้อมข้อความขู่ในลักษณะที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 แม้ต่อมามีการขอโทษและนำภาพออก แต่คำขู่ว่าอย่าก้าวก่ายซาอุฯ ก็ยังคงอยู่

ภาพเจ้ากรรมจากทวิตเตอร์ Infographic_ksa (ที่มา: Twitter/ Infographic_ksa)

คอมมอนดรีมส์รายงานว่าเกิดความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับแคนาดา  หลังวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 ส.ค. 2561) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาประณามการจับกุมคุมขังผู้ต่อต้านรัฐบาลและนักสิทธิมนุษยชนโดยทางการซาอุฯ ทำให้มีการโต้ตอบในเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์โดยบัญชีผู้ใช้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลซาอุฯ ผู้ใช้งานที่ชื่อ Infographic_ksa เผยแพร่ภาพที่ดูเหมือนการข่มขู่ว่าจะก่อเหตุใช้เครื่องบินพุ่งชนอาคารในเมืองโตรอนโตของแคนาดาแบบเดียวกับเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อ 11 ก.ย. 2544 หรือที่รู้จักกันในชื่อไนน์วันวัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและในนั้นมีชาวแคนาดาอยู่ด้วย 26 คน

แม้ว่าต่อมาผู้ใช้รายดังกล่าวจะลบภาพออกและขอโทษแล้ว แต่ความไม่พอใจก็ได้กระจายออกไปเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ Infographic_ksa ยังคงกลับมาเผยแพร่ภาพอีกครั้งในรูปแบบที่ตัดเครื่องบินออกไป โดยยังคงรูปฉากหลังเป็นหอคอยซีเอ็นและยังคงข้อความในเชิงขู่แคนาดาไว้ ข้อความส่วนล่างของภาพระบุว่า "ใครก็ตามที่เข้ามายุ่งกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเขา จะต้องเจอกับสิ่งที่เขาไม่พึงปรารถนา" ซึ่งอ้างว่านำมาจากสุภาษิตของอาหรับ

Infographic_ksa ระบุโต้ตอบกลับว่าผู้เห็นข้อความนี้ส่วนใหญ่ตีความผิดไป พวกเขายืนยันว่าเครื่องบินสายการบินแคนาดาที่บินตรงไปที่ซีเอ็นทาวเวอร์เป็นการสื่อถึงการขับไล่เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำกรุงริยาดออกจากซาอุฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ส.ค. เช่นกัน อย่างไรก็ตามกระทรวงสื่อของซาอุดิอาระเบียได้สั่งปิดบัญชีผู้ใช้รายนี้และบอกว่าจะสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ต่อไป

ซาอุดิอาระเบียสั่งขับไล่เอคอัครราชทูตแคนาดา เดนนิส โฮรัก โดยบอกให้ออกจากประเทศภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการโต้ตอบที่รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดาวิจารณ์เรื่องความฉาวโฉ่ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของซาอุฯ และยังสั่งระงับไม่ให้มีเครื่องบินเดินทางเข้าออกระหว่างเมืองโตรอนโตกับซาอุฯ ด้วย

รูปภาพเชิงขู่ของ Infographic_ksa มีการเผยแพร่ต่อและวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วจากสื่อและนักวิจารณ์ท้้งในแคนาดาและที่อื่นๆ ของโลก พวกเขาไม่ประทับใจจากคำชี้แจงและขอโทษของซาอุฯ นอกจากนี้ยังมีการเน้นเรื่องที่ว่าผู้ก่อการร้าย 15 รายจาก 19 รายที่ก่อเหตุ 9/11 เป็นชาวซาอุฯ

ซาอุฯ เป็นประเทศที่ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากประเทศตะวันตกหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ รวมถึงแคนาดาด้วย เบน นอร์ตัน นักข่าวและโปรดิวเซอร์จากสื่อเดอะเรียลนิวส์ระบุว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ซาอุฯ เป็นเช่นนี้ก็เพราะประเทศตะวันตกเองด้วย ทั้งจากการที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรค้าอาวุธให้ซาอุฯ เอาไปใช้สร้างความโหดร้ายในเยเมน ทั้งยังยังวิจารณ์เรื่องที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สานสัมพันธ์กับราชวงศ์ซาอุฯ และสื่อของกลุ่มบรรษัทต่างๆ ก็มักยกยอปอปั้นมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่นอร์ตันระบุว่าเป็นเผด็จการ

ในขณะที่แคนาดาและซาอุฯ มีความขัดแย้งกันรอบล่าสุด ทางการสหรัฐฯ ก็ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีว่าพวกเขาไม่ได้หนุนหลังแคนาดาในกรณีนี้  ทั้งๆ ที่ ซาอุฯ ไม่ได้เป็นพันธมิตรในเชิงสนธิสัญญาใดๆ ร่วมกับสหรัฐฯ เลย ขณะที่แคนาดาเป็นสมาชิกร่วมขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต สื่อคอมอมนดรีมส์ตั้งข้อสังเกตอีกว่าทรัมป์มีความกระตือรือร้นในการที่จะโอบรับซาอุฯ มากกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต

ขณะที่เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ที่มีภาพลักษณ์เป็นสายก้าวหน้าบอกว่าพฤติกรรมของซาอุฯ เป็นสิ่งที่ "อุกอาจ" และเน้นว่าควรจะมีการวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

ถึงแม้ว่าซาอุฯ จะโต้ตอบทางการทูตด้วยการระงับการค้ากับแคนาดาและเรียกตัวนักเรียนทุนชาวซาอุฯ ราว 16,000 รายในแคนาดากลับประเทศ อย่างไรก็ตามทางการแคนาดาก็ไม่ยอมถอย คริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดาแถลงว่า "แคนาดาจะยืนหยัดคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิสตรีและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั่วโลก"

เรียบเรียงจาก

Did Saudis Just Threaten Canada With 9/11-Style Attack for Crime of Criticizing Their Atrocious Human Rights Record?, Common Dreams, Aug. 7, 2018

State Department On Saudi Arabia-Canada Spat: We're Staying Out, Huffington Post, Aug. 6, 2018

Saudi Arabia expels Canadian ambassador over criticism of arrests, Aljazeera, Aug. 7, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สภานิสิตเผยเตรียมสอบทีมจัดงานรับน้องจุฬาฯ ปมพบหนอนต้มสุกในข้าวกล่อง

Posted: 09 Aug 2018 05:30 AM PDT

ประธานสภานิสิตเผยทีมจัดงานรับน้องจุฬาฯ ยังเป็นมือใหม่ ทำงานไม่เรียบร้อย หลังพบหนอนในข้าวกล่อง แถมขายบัตรเข้างานให้คนนอกใบละ 500 บาท ชี้ ต้องคืนเงินทั้งหมดให้นิสิต เตรียมเปิดอภิปรายพร้อมไลฟ์สด 14 สิงหาคมนี้ 

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปยื่นหนังสือกับ ผอ.สำนักงานเขตปทุมวัน เรียกร้องให้มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารภายในหอพักนิสิตจุฬาฯ หลังพบหนอนในข้าวกล่องของกิจกรรมรับน้องก้าวใหม่ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ธนวัฒน์เดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงานเขตปทุมวัน (ภาพจากเฟสบุ๊ค Tanawat Wongchai)

5 เต็ม 10 คือคะแนนที่ธนวัฒน์ให้กับองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานรับน้องก้าวใหม่เมื่อวันที่ 4-6 สิงหาคมที่ผ่านมา เขากล่าวว่าทางสภาได้ทำการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของกิจกรรมและได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ไม่มีคุณภาพ มีการพบหนอนในอาหารกลางวันที่ทาง อบจ. จัดหามาให้ในสองวันแรกของการทำกิจกรรม ทางผู้ร่วมกิจกรรมได้แจ้งปัญหากับทาง อบจ. ไปตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่ก็ยังพบหนอนในอาหารของกิจกรรมวันที่สองอีกอยู่ดี ทางสภานิสิตจึงรายงานเรื่องดังกล่าวลงในแฟนเพจเฟสบุ๊คเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

หลังเรื่องดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้าง ในวันที่ 6 สิงหาคม อบจ  . เปิดเผยว่าการจัดงานรับน้องก้าวใหม่ ฯ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 7,000 คน โดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานเป็น 36 บ้าน คณะกรรมการดำเนินงานจึงสั่งอาหารจาก 4 แห่ง เพื่อเป็นการกระจายปริมาณอาหารจากแต่ละร้านให้มาส่งทันตามเวลาที่กำหนด และป้องกันอาหารเน่าเสีย โดยแบ่งขอบเขตการรับผิดชอบเป็น 4 ส่วน ได้แก่ อาหารสำหรับผู้ปฏิบัติงานส่วนกลาง อาหารสำหรับเมืองเอ อาหารสำหรับเมืองบี และอาหารสำหรับเมืองซีและดี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าอาหารดังกล่าวมาจากร้านอาหารที่รับผิดชอบส่วนเมืองซีและดี ทางคณะกรรมการดำเนินงานได้ตักเตือนเรื่องความสะอาดของอาหาร และได้งดสั่งอาหารจากร้านดังกล่าวแล้ว

ในวันเดียวกัน สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบร้านอาหาร และหามาตรการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม รวมถึงหามาตรการป้องกันเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในอนาคต โดยชี้ว่าการตักเตือนและสั่งระงับอาหารจากร้านที่มีปัญหายังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง 

ธนวัฒน์ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบัน อบจ. จัดสรรงบอาหารกลางวันสำหรับกิจกรรมรับน้องเพียง 27 บาทต่อหัว และคงอัตรานี้มาเป็นเวลาอย่างน้อยสี่ปีแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกปี ธนวัฒน์จึงเสนอว่างบในส่วนนี้ควรจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ถึง 40 บาท เพื่อรับประกันว่านิสิตผู้ร่วมกิจกรรมจะได้รับอาหารที่เพียงพอ สะอาด และได้มาตรฐาน

หนอนที่พบในอาหารกลางวัน (ภาพจาก สภานิสิตจุฬ  าล งกรณ์มหาวิทยาลัย)

ปัญหาเรื่องความสะอาด เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงทุกปีในกิจกรรมรับน้องจุฬาฯ โดยในปีที่แล้ว มีการรณรงค์งดใช้หลอดดูดน้ำร่วมกัน ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยจึงแก้ปัญหาด้วยกันแจกกระติกน้ำ zero-waste ให้กับผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนแทน นอกจากนี้ยังมีข้อร้องเรียนเรื่องอาหารสองมาตรฐานอีกด้วย 

"ข้าวที่ อบจ. สั่งให้สตาฟของตัวเองกับพี่บ้านมีขนาดต่างกันอย่างชัดเจน ข้าวที่พี่บ้านได้เป็นข้าวคลุกไข่ แต่สตาฟ อบจ. ได้ไก่ทอดกับไข่พะโล้สองฟอง อันนี้ก็เป็นเรื่องสองมาตรฐานที่ต้องถูกตรวจสอบ"

แต่นอกจากอาหารการกินแล้ว ในปีนี้ สภานิสิตฯ ยังพบว่ามีการห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยในช่วงที่จัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นนิสิต หรืออาจารย์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมกิจกรรม แต่กลับมีการเปิดขายบัตร visitor ในราคา 500 บาทโดยไม่มีการออกใบเสร็จมีเพียงการจดรายชื่อผู้ซื้อบัตรไว้ ธนวัฒน์มองว่านี่เป็นการผลักภาระให้กับนิสิตคนอื่นที่ต้องการติดต่อธุระ หรือ ใช้บริการของมหาวิทยาลัยในวันนั้น ทางสภาจึงเรียกร้องให้ อบจ. คืนเงินให้กับนิสิตทุกคนที่ซื้อบัตรดังกล่าวไป 

"อบจ. และทีมคนจัดงานปิดมหาวิทยาลัยไม่ให้คนเข้าออกรวมทั้งนิสิต และอาจารย์ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรม หากนิสิตอยากเข้างานก็ต้องซื้อบัตร visitor ซึ่งมันก็น่าตั้งคำถามต่อมาตรการรักษาความปลอดภัย ว่าหากมีคนร้ายต้องการจะเข้ามาขโมยของ แค่จ่ายเงินห้าร้อยบาทก็เข้ามาได้แล้ว เราเป็นนิสิตจุฬาฯ ทำไมเราต้องเสียเงินเข้ามหาวิทยาลัยของตัวเองด้วย ที่สำคัญคือ อบจ. ไม่มีอำนาจปิดมหาวิทยาลัย อำนาจในการสั่งปิดเป็นของอธิการบดีเท่านั้น" ธนวัฒน์กล่าว

ธนวัฒน์กล่าวต่อว่า ทางสภาฯ ได้ขอให้ อบจ. ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว แต่ อบจ. ยังไม่สะดวก โดยให้เหตุผลว่ายังอยู่ในช่วงเก็บงาน แต่จะสะดวกให้ข้อมูลในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งทางสภาจะจัดอภิปรายแบบเปิดในวันดังกล่าว โดยอนุญาตให้นิสิตทุกคนสามารถร่วมฟังได้ และจะมีการไลฟ์สดผ่านแฟนเพจสภานิสิตฯ ด้วย เขายังกล่าวอีกด้วยว่า อบจ. ในฐานะคนจัดงานควรจะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างองค์กรนักศึกษาในต่างประเทศ ว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้ ผู้นำองค์กรนักศึกษามักจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

"ก่อนอื่นทางสภาต้องขอโทษผู้ร่วมกิจกรรม และนิสิตจุฬาฯ ทุกคน แทน อบจ. สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ทั้งเรื่องข้าว และเรื่องการห้ามเข้ามหาวิทยาลัย ต้องขอโทษที่ทุกคนทำให้เกิดความเดือดร้อน แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ในเรื่องของข้าว จะต้องมีคนรับผิดชอบ และถูกลงโทษแน่นอน" ประธานสภานิสิตฯ ยืนยัน

ล่าสุดเพจสภานิสิตฯ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ 3 ฉบับ โดยมีข้อเรียกร้องต่อ อบจ. 3 ประเด็น 1. ให้แสดงหลักฐานรายชื่อผู้ซื้อบัตร visitor ในงานรับน้องก้าวใหม่ "อย่างละเอียด" 2. ให้ชี้แจงหลักเกณฑ์การคัดเลือกร้านอาหาร และแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว และ 3. อาศัยอำนาจตาม ระเบียบจุฬาลงกรณ์ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ อบจ. แสดงหลักฐานการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมดในงานรับน้องก้าวใหม่ 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จับเงิบประยุทธ์ เมื่อบังคับเกณฑ์ทหารเหลือน้อยในโลก – กองทัพไม่ใช่แกนบรรเทาสาธารณภัย

Posted: 09 Aug 2018 05:27 AM PDT

ชวนมองการบังคับเกณฑ์ทหารทั่วโลก หลังพลเอกประยุทธ์ยันยืน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีทหารเกณฑ์ ถ้าไม่มีแล้วใครจะช่วยเหลือประชาชน และหลายประเทศในโลกยังมีทหารเกณฑ์ แต่จากข้อมูลที่พบแสดงให้เห็นว่าประเทศที่การบังคับเกณฑ์ทหารเหมือนไทย เป็นเพียงเศษส่วนน้อยของโลกใบนี้ ขณะที่กองทัพเองก็ไม่ใช่องค์กรหลักในการบรรเทาสาธารณภัย

ที่มาภาพจาก: statista

ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย จากกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงเรื่องการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 นอกจากจะย้ำเตือนถึงสิ่งที่เคยพูดไว้แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม และผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของสื่อมวลชน ทั้งยืนยันว่าการแต่ตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 นายพลผู้ได้รับฉายาว่า 'สฤษดิ์น้อย' จากนิตยสาร Time ยังได้แสดงความคิดเห็นในกรณีที่หลายคนไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหารแล้วด้วย

และไม่เกินไปตามที่เคยคิดไว้ว่า อย่างไรเสียคำตอบที่ได้คงไม่พ้นเรื่องความจำเป็นที่ประเทศนี้ต้องมีทหารเกณฑ์ พลเอกประยุทธ์เห็นว่า ถ้าไม่พลทหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ในยามวิกฤตขึ้นก็จะไม่มีทหารเข้ามาช่วยเหลือประชาชน เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่มีกำลังพลเพียงพอที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้รวดเร็วเท่ากับกำลังพลของทหารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีหากเกิดเหตุขึ้นและมีการสั่งการก่อนส่งต่อภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการเมื่อสาถานการณ์คลี่คลายในเบื้องต้นแล้ว ขณะที่การใช้กำลังคนในหน่วยงานต่างๆ  เข้าไปปฏิบัติภารกิจจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจ้างคนเพิ่ม ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมาจากการทำรัฐประหารก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวนโยบายในอนาคตต่อเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจน สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากความคิดนายทหารระดับนายพลคือ ไม่ว่าอย่างไรประเทศนี้ก็ต้องมีทหารเกณฑ์ แต่คำถามคือมันต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ

ประเทศนี้จัดการสาธารณภัยได้โดยไม่ต้องมีการบังคับเกณฑ์ทหาร

เหตุผลที่ถูกยกมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการบังคับเกณฑ์ทหารของพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้ ไม่ใช่คำพูดที่สะท้อนให้เห็นชัดถึงอุดมการณ์ชาตินิยม เช่นว่า เป็นลูกผู้ชายต้องรับใช้ชาติ อย่างที่เคยได้ยินกันมาอย่างยาวนาน หากแต่เป็นหน้าที่ซึ่งจำเป็นต่อการมีอยู่ของทหารเกณฑ์คือ การช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต ในความหมายนี้หากดูเทียบกันคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติ คือการรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงที่มีความหมายที่ซับซ้อนขึ้นคือ หมายรวมถึงภัยพิบัติสาธารณะ และภัยธรรมขาติด้วย โดยในคำสั่งดังกล่าวมีใจความสำคัญคือ การขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของทหารออกไปให้รวมภัยคุกคามความมั่นคงใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย ทั้งยังมีให้การวางแผนและแนวทางปฏิบัติงาน และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามแผนและแนวทางที่วางไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าหน้าที่ดังกล่าวจำเป็นหรือไม่ ที่กองทัพจะเป็นหน่วยงานหลักในการรับมือและจัดการ แม้ปัจจุบันกองทัพดูจะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งกำลังคน เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ และทรัพยากรต่างๆ หากพิจารณาดูจาก พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กองทัพเป็นเพียงหน่วยงานรองที่มีหน้าที่ในการให้ความสนับสนุนกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่หลักในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นกลไกภายใต้กระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากดูจากกรณีการช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ถ้ำหลวงกองทัพเป็นเพียงหนึ่งในกลไกที่ค่อยสนับสนุนการทำงานของ ผู้ว่าราชการจังหวัด เท่านั้น แน่นอนว่ากองทัพยังมีความจำเป็นในการจัดการกับสาธารณภัยในฐานะกลไกหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ มีหน้าที่เพียงการให้ความสนับสนุนทางด้านกำลังคน และเครื่องมือ

เมื่อเป็นเช่นนั้น หากจะอ้างว่ายังคงจำเป็นต้องมีการเกณฑ์ทหารอยู่เพื่อที่จะมีกองกำลังที่เตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับสาธารณภัย สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือ จำนวนความต้องการทหารกองประจำการปีละกว่า 1 แสนนายนั้นเป็นความต้องการที่มากเกินกว่าเหตุหรือไม่

สถิติความต้องการทหารกองประจำการตั้งแต่ปี 2557 -2561

ปี

ความต้องการทหารกองประจำการทั้งหมด (นาย)

จำนวนผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหาร (นาย)

จำนวนผู้ที่ไม่ได้สมัครใจรับราชการทหาร (นาย)

2557

100,865

33,644

67,221

2558

99,373

43,446

55,927

2559

101,307

47,172

54,135

2560

103,097 

50,580 

52,517

2561

104,734 

44,797 

59,937

ข้อมูลความต้องการทหารเกณฑ์นับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันมีความต้องการทหารเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนราย โดยในจำนวนนี้เองมียอดผู้สมัครใจเป็นทหารราวๆ ร้อยละ 40 – 50 ในทุกปี ซึ่งหากมีการเปิดรับผู้สมัครใจเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอต่อการจัดการสาธารณภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการบรูณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้ยังทำงบประมาณของเรื่องที่จัดสรรไว้สำหรับเงินเดือนของทหารเกณฑ์ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่ใช้ราว 1.2 หมื่นล้านต่อปี จะลดลงเหลือเพียง 6 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้รัฐมีงบประมาณอีก 6 พันล้านบาทสำหรับกิจการอื่นๆ ที่จำเป็น

ประเทศที่ยังการบังคับเกณฑ์ทหารเป็นเศษส่วนน้อยของโลกใบนี้

คำพูดของพลเอกประยุทธ์ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การระบุว่าหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่ เมื่อดูข้อมูลการสำรวจเรื่องการบังคับเกณฑ์ทหารทั่วโลก จากเว็บไซต์ staista พบว่าจากผลสำรวจ 170 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 61 ประเทศเท่านั้นที่ยังใช้มาตรการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่

มี 5 ประเทศกำลังวางแผนยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เช่น ไต้หวัน ตุรกี และยูเครน มี 5 ประเทศที่ไม่มีกำลังทางการทหาร เช่น คอสตาริกา กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และมีทั้งหมด 99 ประเทศที่ไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารแล้ว แม้ทหารเกณฑ์จะยังคงมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ที่สุดแล้วก็เป็นเพียงเศษส่วนน้อยของโลกใบนี้เท่านั้น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ผาสุก พงษ์ไพจิตร หัวใจเสรีนิยมใหม่ เสรีเฉพาะทุน (ที่เหลือคือความเหลื่อมล้ำ) [คลิป]

Posted: 09 Aug 2018 05:17 AM PDT

นักคิดเสรีนิยมใหม่ต้องการให้อิสรภาพแก่ทุนนิยมโดยเฉพาะตลาดและทุน ลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด ลดนโยบายที่กำกับทุนนิยมเอาไว้รวมทั้งระบบสวัสดิการ ผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในกลุ่มประเทศ OECD

ในการอภิปราย "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์" ตอนหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนักคิดเสรีนิยมใหม่ว่าต้องการให้อิสรภาพแก่ทุนนิยมโดยเฉพาะตลาดและทุน และลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด ลดนโยบายที่กำกับทุนนิยมเอาไว้รวมทั้งระบบสวัสดิการ ผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในกลุ่มประเทศ OECD (อ่านรายละเอียด) 

โดยผาสุกอภิปรายว่า "หัวใจของนักคิดตลาดเสรีทั้งหลายคือเสนอว่าทุนนิยมจะเติบโตต่อไปได้ ต้องให้อิสรภาพแก่ทุนนิยม ด้วยการยกเลิกเพิกถอนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มันพันธนาการทุนอยู่ แล้วก็รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่กำกับทุนนิยมไว้ รวมทั้งระบบรัฐสวัสดิการต้นทุนสูง รวมทั้งลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด"

"อย่าง Friedrich Hayek ก็เป็นนักคิดแนวตลาดเสรีที่เรียกว่าสุดๆ เลยนะ แต่ Hayek ก็ยังดีกว่าบางคน ที่ยังยอมรับว่าบทบาทรัฐในเรื่องการทหาร กฎหมาย แล้วการควบคุมความสงบภายในก็พอรับได้ แล้วก็ยังพอรับได้บ้างว่าสาธารณูปโภคบางอย่างที่ตลาดไม่สามารถจัดหาได้ รัฐบาลจัดการก็พอรับได้ แต่จริงๆ แล้วอยากให้ไม่มีรัฐบาล มีรัฐบาลน้อยที่สุด อยากให้ทุกอย่างทำงานโดยตลาด"

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด: ไทย ตัวละครที่ถูกชักใยบนเวทีทุนนิยมโลกถึงเสรีนิยมใหม่

ผาสุก พงษ์ไพจิตร: ชัยชนะของเสรีนิยมใหม่ในสงครามความคิดและความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: กลุ่มจารีตไทยในกระแสต้านเสรีนิยม

เวลาพูดถึงการเปิดเสรีตลาดทุน จะไม่พูดถึงการเปิดเสรีตลาดแรงงานข้ามชาตินะ คือถ้าเปิดเสรีตลาดแรงงานแต่เฉพาะภายในประเทศ แล้วก็ประเด็นที่บอกว่าต้องการให้เปิดเสรีการเงินทั่วประเทศก็เป็นส่วนสำคัญของ Neoliberalism

แล้วก็ข้อเสนอของพวกนี้ที่ว่านโยบายชุดใหม่ที่จะมากับ Neoliberalism จะทำให้ทุนนิยมเบ่งบานด้วยการทำลายที่สร้างสรรค์ ที่เรียกว่า Creative Destruction ข้อเสนอเหล่านี้ดึงดูดใจนักธุรกิจ เพราะจะทำให้สัดส่วนของค่าจ้างลดลง แต่ผลกำไรเพิ่ม

การเปิดเสรีตลาดแรงงานหมายความว่าจะลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำกับตลาดแรงงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ การให้เสรีภาพให้สิทธิกับสหภาพที่จะเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ซึ่งสำหรับพวกเสรีนิยมใหม่ไม่ชอบสหภาพแรงงาน ไม่ชอบการเจรจาต่อรองใดๆ 

"เรื่องต่อมาคือผลสะเทือนสู่โลก เป็นผลพวงของเสรีนิยมใหม่ ที่กลุ่มประเทศโออีซีดีนำไปปรับใช้เกือบทั้งหมด คือความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความเครียด ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งในบางประเทศรุนแรงถึงกับตกลงกันไม่ได้ว่าจะร่วมมือพัฒนาประเทศไปในแนวทางไหนดี คุณคงนึกออกว่าเป็นประเทศไหน"

เรื่องช่องว่างรายได้ที่ถ่างขึ้นระหว่างคนกลุ่มต่างๆ มันเป็นเรื่องจริง เพราะว่าโออีซีดีเพิ่งทำการศึกษาไปเมื่อปี 2014 ศึกษาประสบการณ์การใช้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ใน 35 ประเทศสมาชิกจากช่วงปี 1980-2000 พบว่า ค่าจีนี (ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำมีค่าระหว่าง 0-1 ยิ่งเข้าใกล้ 1 แสดงว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง) เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยจาก 0.29 ในปี 1980 เป็น 0.32 ในปี 2000 และยังพบว่าจีดีพีเติบโตในอัตราช้าลง และได้ประมาณการต่อไปว่าในอนาคตจีดีพีของโออีซีดีทั้งกลุ่มจะลดลงต่อไปปีละ 0.35 เปอร์เซ็นต์ และในปีสุดท้ายจีดีพีจะหดตัว 10 เปอร์เซ็นต์ มันจะเป็นอย่างนี้ไปอีก 25 ปี เพราะเขาพบว่าความเหลื่อมล้ำมีการตกทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก ขณะที่ของประเทศไทยค่าจีนีอยู่ที่ 0.41 กว่าๆ และสมัยที่ความเหลื่อมล้ำของเราสูงมากๆ คือ 0.456 เมื่อปี 1992 แต่เราก็ยังสูงอยู่

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

“สังคมไทยยังโกรธไม่พอ” มองไทยจากมุม ‘ชองยุนซอก’ นักทำหนังสายวิพากษ์

Posted: 09 Aug 2018 04:57 AM PDT

คุยกับ 'ชองยุนซอก' นักทำหนังชาวเกาหลีใต้ฝีมือเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เมื่อให้เขาวิพากษ์สังคมไทย สิ่งที่เขาเลือกที่จะพูดถึง คือ "การออกแบบของ BACC นั้นลอกแบบมาจาก กุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์ก แบบหน้าด้านๆ จนผมรู้สึกเขินแทนคนไทย" และ "ผมได้ยินว่า ประมาณ 8 ปีที่แล้วก็มีคนตายเพราะการประท้วงกว่า 90 คน ผมสงสัยว่า แล้วทำไมถึงไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้นเลย"

 

 

'ชองยุนซอก' คือนักทำหนังชาวเกาหลีวัย 38 ปี เมื่อเขาทำหนังสารคดียาวเรื่องแรก 'Non-Fiction Diary' ออกฉายในปี 2013 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดีในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ก่อนจะได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลหนังทั่วโลก พอปี 2017 เขาทำหนังสารคดียาวอีกเรื่องคือ 'Bamseom Pirates Seoul Inferno' ก็คว้ารางวัลสเปเชียลเมนชั่น จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยามากาตะ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Documentary Club ในโครงการ "Doc World เชื่อมต่อโลกกว้าง เสริมพลังนักสร้างสารคดี ครั้งที่ 1" ได้นำสารคดีทั้งสองเรื่องของชองยุนซอกมาฉาย พร้อมเปิดเวที Q&A หรือถาม-ตอบกับผู้กำกับ โดยวันที่ 4 ส.ค. ฉายเรื่อง 'Bamseom Pirates Seoul Inferno' ซึ่งเป็นสารคดีตามติดชีวิตวงดนตรี พังค์-แบล็คเมทัลหัวขบถ ที่ภายหลังโปรดิวเซอร์ของวง 'ปาร์ค จอง กึน' (Park Jeong-Geun) ถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงของเกาหลีใต้ตามมาตรา 7 จากการรีทวีตข้อความแซวผู้นำเกาหลีเหนือจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอยู่พักหนึ่ง

 

ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Bamseom Pirates Seoul Inferno

 

หลังหนังจบลง การได้คุยกับผู้กำกับตัวจริง จึงทำให้เรารู้ว่า ชองยุนซอกนั้นเป็นสายแหวกแหกแนวและกวน (ตีน) อย่างล้นเหลือ สังเกตจากการตอบคำถาม เมื่อมีคนถามถึงสังคมเกาหลีในตอนนี้ เขาตอบว่า "สังคมเกาหลีพังไปแล้ว และไทยก็กำลังจะพัง" หรือเมื่อถามถึงทุนในการทำหนัง เขาตอบหน้าตาเฉยว่า "หนังของผมทุกเรื่องขาดทุน แล้วก็ขาดทุนขึ้นเรื่อยๆ ก็นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง คติของผม ถ้าจะพังก็ต้องพังให้ที่สุด"

พอถามว่า ทำเรื่องนี้แล้วคุณกังวลไหมว่าจะเสี่ยงกับข้อหาฝ่าฝืนความมั่นคงเหมือนกัน เขาตอบสบายๆ ว่า "จริงๆ ตอนที่ทำหนังเสร็จออกมา มันไม่ค่อยดีมากเท่าไหร่ ผมได้แต่ภาวนาทุกวันให้ตัวเองโดนจับ เผื่อหนังจะได้มีจุดขายบ้าง" และเล่าอย่างภูมิใจว่า "ก่อนหนังฉายมีข่าวว่า มีการขึ้นแบล็คลิสต์ศิลปินเต็มไปหมด ผมก็เข้าไปตรวจรายชื่อว่ามีใครบ้าง แล้วก็เสียใจมากที่ไม่มีชื่อผมอยู่ในนั้น แต่หลังจากหนังฉาย มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลติดต่อมาว่า คุณอาจจะติดแบล็คลิสต์รอบต่อไปนะ ผมดีใจสุดๆ ไปเลย ผมร้องดังมากด้วยความดีใจจนเจ้าหน้าที่ตกใจ ต้องปลอบผมว่า ใจเย็นๆ นะ อันนี้ยังไม่คอนเฟิร์ม"

 

จากซ้ายไปขวา ยีเจวอน (ล่ามชาวเกาหลี), ชองยุนซอก, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (ผู้ดำเนินรายการ) ภาพจาก Documentary Club

 

ถัดมาในวันที่ 5 ส.ค. เป็นคิวของ 'Non-Fiction Diary' หนังสารคดีที่ใช้ภาพและฟุตเทจเก่าประกอบบทสัมภาษณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ หนังพูดถึงแก๊งค์ 'จีจอน' แก๊งค์ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องที่เลือกเหยื่อที่พวกเขาคิดว่าเป็นคนรวย (แต่พวกเขาเข้าใจผิด จึงได้เหยื่อที่เป็นเพียงนักธุรกิจปกติแทน) มาทรมาน ฆ่า และกินเนื้อ ซึ่งเป็นคดีสะเทือนขวัญในช่วงยุค 90 ที่คนเกาหลีจำไม่เคยลืม

แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษคือ การเชื่อมโยงคดีสะเทือนขวัญนี้เข้ากับเหตุการณ์ในช่วงเดียวกัน คือกรณีห้างสรรพสินค้าและสะพานข้ามแม่น้ำในกรุงโซลถล่มจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย ที่สุดท้ายแล้ว หนังตั้งคำถามว่า มันต่างกันตรงไหนระหว่างฆาตกรที่ฆ่าคนกับผู้บริหารที่กอบโกยผลประโยชน์ไม่สนใจความปลอดภัยในการก่อสร้าง และบางทีสิ่งที่ต่างคงเป็นโทษประหารที่แก๊งค์จีจอนได้รับ กับโทษสถานเบาของเหล่าผู้บริหาร

 

'แก๊งค์จีจอน' ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Non-Fiction Diary

 

ซากตึกถล่ม ภาพประกอบจากหนังเรื่อง Non-Fiction Diary

 

ชองยุนซอกเล่าให้ฟังใน Q&A หลังหนังฉายจบว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่แก๊งค์จีจอนตั้งใจจะฆ่าคนรวย แต่กลับเลือกผิดและฆ่าคนธรรมดาแทน ส่วนคนรวยก็กลับตายในเหตุการณ์ห้างถล่มซึ่งมีสาเหตุจากการกอบโกยเงินของผู้บริหารซึ่งเป็นคนรวยเหมือนกัน

"ระหว่างการรีเสิร์ชข้อมูลของแก๊งค์จีจอน ผมพบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ คือ พบว่า สมาชิกคนที่อายุน้อยที่สุด อายุมากกว่าผม 3 ปี เขามีอะไรหลายอย่างเหมือนผม เช่น เพลงที่เราชอบคือเพลงเดียวกัน คนมักจะถามว่า ทำไมวัยรุ่นกลุ่มนี้จึงทำแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่คำถามสำคัญสำหรับผมเลย ระหว่างทำหนัง คำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยๆ ก็คือ เราเหมือนกันขนาดนี้ แต่ทำไมเขาเป็นฆาตกร ส่วนผมเป็นผู้กำกับหนัง"

 

0 0 0

 

'ประชาไท' ชวนซองยุนซอกคุยต่อ เพื่อถามเรื่องที่ค้างคาจากรอบตอบคำถาม Q&A รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านมุมมองที่เขามีต่อคนเกาหลีและคนไทย บางคำวิจารณ์ก็ทำให้เราเขินแทนคนไทย บางคำตอบก็ชวนเซอร์ไพร์สเพราะเขาดูจะรู้เรื่องเมืองไทยอยู่ไม่น้อย และบางแง่มุม เขาก็ดูจะคิดอะไรลึกซึ้งกว่าสิ่งที่เขาแสดงออกอยู่พอสมควร

 

 

อยากให้ช่วยแนะนำตัวเองหน่อย

ผมไม่รู้จะแนะนำตัวเองว่าเป็นอะไรดี ถ้าพูดเป็นทางการ ผมอาจจะบอกว่าตัวเองเป็นศิลปิน แต่ถ้าให้พูดจริงๆ ผมคงเรียกตัวเองว่าเป็นคนขี้เกียจคนหนึ่ง (ยิ้ม) ตอนแรกผมไม่ได้สนใจทำหนังเลย เพราะเรียนด้าน Contemporary Art มา แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ จึงมีโอกาสได้มาทำหนัง เริ่มจากหนังสั้น ทำไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสทำเรื่อง Non-fiction Diary ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นหนังสั้นแต่ก็กลายเป็นหนังยาว แล้วก็ดันได้รับรางวัลที่เทศกาลหนังปูซาน ได้ไปฉายในหลายประเทศ ทางรัฐบาลก็มีทุนให้กับหนังในแนวนี้ ผมเลยได้ไปแสดงตามที่ต่างๆ เลยกลายเป็นผู้กำกับไปเลย

 

ที่บอกว่าทำหนังแล้วขาดทุนไปเรื่อยๆ แล้วตอนนี้คุณอยู่ยังไง

ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน (นึก) ไม่รู้จริงๆ ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วก็ไม่ได้ใช้เงินพ่อแม่ ตั้งแต่อายุประมาณ 29 ก็ไม่ได้ทำงานอื่นเลยแม้แต่งานพาร์ทไทม์ ก็ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แล้วก็อยู่มาได้เรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้ว คิดว่าน่าจะเป็นแฟนที่มีเรื่อยๆ เป็นคนเลี้ยงผมมาตลอด (ยิ้ม)

 

ที่คุณบอกว่าสังคมเกาหลีพังไปแล้ว และสังคมไทยกำลังจะพัง ช่วยอธิบายหน่อย

แบบนี้ยังต้องอธิบายอีกเหรอถึงจะเข้าใจ

 

ก็เรายังไม่รู้เกี่ยวกับสังคมเกาหลีเท่าไหร่

สังคมเกาหลีพังไปแล้ว คนจนก็จนขึ้นเรื่อยๆ คนที่รวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยก็จะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เมื่อวานผมไป BACC มา ไปดูที่นั่นก็รู้แล้วว่า ประเทศไทยจะพัง เพราะการออกแบบของ BACC นั้นลอกแบบมาจากกุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์ก (โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักที่สุดในนครนิวยอร์ก) แบบหน้าด้านๆ จนผมรู้สึกเขินแทนคนไทย สังคมเอเชียตอนนี้มันสะท้อนว่า กำลังทำตามประเทศตะวันตกโดยที่ไม่คิดอะไรเลย

 

คุณกำลังบอกว่า เอเชียควรรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้

แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้เราทุกคนได้ทำตามเขาไปแล้ว ดังนั้นตอนนี้ทุกคนจึงพัง ถึงจะพยายามเท่าไหร่ก็ทำอะไรไม่ได้ เท่าที่ผมคิดได้เร็วๆ คนเอเชียไม่ค่อยสนใจว่า เอเชียจะเป็นยังไง สิ่งที่มันแปลกคือ อย่างเกาหลีจะทำตามอเมริกาและคิดว่าตัวเองอยู่ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ส่วนจีนจะคิดว่าตัวเองดีที่สุดในเอเชีย และญี่ปุ่นจะไม่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย คือคิดว่าตัวเองพัฒนาไปกว่านั้น

ประเทศเอเชียตะวันออก เกาหลี จีน ญี่ปุ่น เจอสิ่งที่ไทยกำลังเจอมาก่อน เลยคิดว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้สำคัญซึ่งคนไทยควรจะได้ดู ทั้งสองเรื่องนี้ผมใช้เวลาทำรวม 10 ปี ซึ่งก็คืออดีตและปัจจุบันของเกาหลี และสิ่งนี้ก็คืออนาคตของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจึงอยากแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในเกาหลี แล้วให้ลองมาถกกัน

 

 

อยากให้คุณลองวิพากษ์วิจารณ์เมืองไทยในแบบที่คุณเห็น

ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ทุกคนเลี้ยงผมดีมากจนไม่รู้จะวิจารณ์อะไร (หัวเราะ) แต่เมื่อปีที่แล้วพอบอมซอมไพเรท (Bamseom Pirates Seoul Inferno) ไปแสดงที่ร็อตเตอร์ดัม หลังจากนั้นผมมาแบ็คแพ็คที่ไทย ผมรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เหมือนโซลประมาณ 20 ปีที่แล้ว ปกติเวลาผมไปเที่ยวที่ไหนผมจะเดินไปเรื่อยๆ แบบไม่มีจุดหมายหนึ่งวัน เพื่อดูว่าระบบทางเดินของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างไร

ผมรู้สึกว่าระบบทางเดินของไทยนั้นไม่ดีเอาเสียเลย มันอาจเป็นประเด็นเล็กๆ แต่มันสะท้อนว่า ประเทศไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับคน กรุงเทพฯ รถเยอะ ทางเดินแคบ และไม่ค่อยมีการจำกัดความเร็วรถ การจำกัดความเร็วแสดงให้เห็นว่า รัฐให้คุณค่ากับชีวิตคน  เมื่อไม่ค่อยมีในเรื่องแบบนี้ ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับอย่างอื่นมากกว่าคน ซึ่งแต่ก่อนเกาหลีก็เป็นแบบนี้ และปัญหานี้ก็ไม่ได้มีแค่ในไทย ถ้ามองทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยก็ถือเป็นประเทศที่พัฒนากว่า

พอมารอบนี้ ผมได้ฟังเกี่ยวกับการเมืองไทยเยอะมาก ผมได้ยินว่าประมาณ 8 ปีที่แล้วมีคนตายเพราะการประท้วงกว่า 90 คน ผมสงสัยว่า แล้วทำไมถึงไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้นเลย เพราะเหตุการณ์ประท้วงและมีคนตายที่เกาหลีนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ทุกครั้งที่มีคนตายเพียงแค่หนึ่งคนก็จะมีการประท้วงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมา จากร้อยเป็นพันเป็นหมื่นคนเพื่อประท้วงเรื่องนั้นต่อไป และหาวิธีเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล อาจจะเป็นการไล่ประธานาธิบดีในขณะนั้นออกก็ได้ เช่น ปีที่แล้วก็เพิ่งมีการรวมตัวประท้วงเพื่อไล่ประธานาธิบดีออก แต่ขณะที่ของไทยตายไปตั้ง 90 คนกลับไม่เห็นมีการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อเรื่องแบบนี้ ผมเลยแปลกใจ แต่จะให้เข้าใจก็คงต้องเข้าใจ

 

หนังเกาหลีที่เราได้ดูก็มีที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลีอยู่พอสมควร ทำให้รู้สึกว่าวงการภาพยนตร์เกาหลีก็เปิดกว้างพอประมาณหนึ่ง

10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแบบนั้น ทุกคนที่ทำหนังในเชิงวิพากษ์จะอยู่ในแบล็คลิสต์ของรัฐบาล และไม่เคยได้ฉายหนัง โรงหนังอาร์ตที่ฉายหนังอินดี้หรือหนังเชิงศิลปะก็ไม่มีทุนจากรัฐบาลจนต้องปิดตัวไปหมด แต่คนเหล่านี้ก็ยังยืนยันที่จะทำหนังมาตลอดโดยไม่ได้สนใจเรื่องไม่มีทุนหรือไม่มีโรงฉาย

มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ The Attorney (2013) ซึ่งผู้กำกับที่ทำหนังเรื่องโดนวิจารณ์อย่างมากจากรัฐบาล และรัฐบาลยังสั่งไม่ให้มีการเทรดหุ้นของบริษัทที่ทำหนังเรื่องนี้ในตลาดหลักทรัพย์ คิดดูว่าขนาดหนังไซส์ใหญ่ขนาดนี้ที่มีบริษัทใหญ่มาซับพอร์ทก็ยังโดน ไม่ต้องพูดถึงศิลปินอิสระว่าจะยิ่งโดนหนักขนาดไหน

ประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ ที่เพิ่งโดนไล่ออกจากตำแหน่ง เหตุผลหลักอย่างหนึ่งก็มาจากคดีเรือเซวอล ซึ่งหนังทุกเรื่องหรือสารคดีที่เกี่ยวกับเรือเซวอลถูกห้ามฉายโดยรัฐบาล นึกภาพว่า มีคนที่อยากทำหนังเกี่ยวกับคดีเรือเซวอลและไม่สนใจว่ารัฐบาลจะว่ายังไง ใช้เวลาทำอยู่ 5 ปี พอเสร็จรัฐบาลบอกว่าห้ามฉาย สำหรับชีวิตผู้กำกับแล้ว นั่นคือจุดจบ เป็นเหมือนความตายในรูปแบบหนึ่ง

 

การโดนแบล็กลิสต์ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นไหม

จริงๆ สิ่งที่เรียกว่า 'แบล็คลิสต์' ทุกคนรู้ว่ามี แต่ไม่มีการประกาศออกมาเป็นทางการ แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงเพิ่งรู้ว่ามันมีอยู่จริง ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ต่อต้าน ไม่ยอมทำแบล็คลิสต์ก็จะโดนไล่ออกหมด คนที่อยู่ในแบล็กลิสต์ตอนนี้มีประมาณ 2,000 คน คือเป็นรายชื่อทั้งหมด ทั้งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ศิลปิน ผู้กำกับ นักเขียน คนทั่วไป  คือประกาศให้คนรู้เลย ทุกอาชีพโดนได้หมด แต่คนทำหนังอาจจะโดนกดดันมากที่สุด เพราะหนังสร้างผลกระทบได้มากที่สุด ทุกคนที่โดนแบล็คลิสต์ก็โกรธ โมโห แต่ส่วนตัวผมดีใจมากและอาจจะดีใจอยู่คนเดียว

สิ่งที่ผมอยากขอร้องทุกคนคือ ถ้าการหาเงินมันสนุกก็ทำไป ถ้าการเรียนมันสนุกก็ทำไป ถ้าการทำงานมันสนุกก็ทำไป ถ้าการมีแฟนมันสนุกก็ทำไป ทำอะไรที่ตัวเองชอบและมีความสุข อย่างทุกวันนี้การทำหนังทำให้ผมมีความสุข การที่ชื่อผมไปอยู่ในแบล็กลิสต์มันก็เหมือนเหตุการณ์หนึ่งที่ผ่านไป เหมือนกับป้ายรถเมล์ที่ผมผ่านตอนนั่งรถเมล์ ผมไม่ได้เก็บมาคิดมาก และไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตของผมมากขนาดนั้น

 

มีการเรียกไปปรับทัศนคติไหม

แบบนั้นเป็นสไตล์สมัยก่อนที่เรียกไปปรับทัศนคติหรือทรมาน ปัจจุบันรัฐบาลทำอะไรที่แฟนซีกว่า นั่นก็คือการตัดเงิน

 

แล้วมันจะไม่มีปัญหากับหนังเรื่องต่อไปที่คุณจะทำใช่ไหม

ทุนจากรัฐก็ลดไปเยอะหลังจากขึ้นแบล็คลิสต์ แต่โดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนคิดมาก ดังนั้นถ้าหนังจะออกมาไม่ดี ไม่ได้รับรางวัล ก็เพราะผมดูแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดีมาก ไม่เกี่ยวกับว่าผมจะโดนหรือไม่โดนแบล็คลิสต์

 

ภาพจาก Documentary Club

 

อยากแลกเปลี่ยนว่า ปรับทัศนคติในไทยอาจจะน่ากลัวกว่าเกาหลี เช่น มีทหารตามมาหาคุณที่บ้าน คุยกับพ่อแม่พี่น้องของคุณด้วย บางทีก็พาตัวไปเข้าค่ายทหาร ถ้าเป็นในเกาหลี ทำยังไงพวกเขาถึงจะเลิกทำเรื่องแบบนี้

ที่เกาหลีเคยเป็นมาก่อน ประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว ผมเข้าใจว่ามันน่ากลัว แต่ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์พวกนี้เหมือนกัน

สำหรับผม เรื่องที่หนังเกี่ยวกับเหตุการณ์เรือเซวอลถูกห้ามฉาย ไม่ได้ทุน พวกผู้กำกับก็จะวิจารณ์ แต่ผมรู้สึกว่าคนพวกนั้นแค่ทำตามหน้าที่ เขาก็มีครอบครัว มีคนที่ต้องเลี้ยงดู เพราะฉะนั้นผมจะไม่โทษคนพวกเขา ดังนั้นคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรพวกนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักศึกษาหรือศิลปิน หรือคนที่ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบ ในบอมซอมไพเรท เด็กๆ พวกนั้นเขาทำไปโดยที่ไม่ได้คิดอะไรเยอะ ทำด้วยความโกรธ โมโห ดังนั้นไม่ต้องถามผมว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เขาเลิกปรับทัศนคติ ถ้าคนโกรธ พวกเขาก็จะออกมาทำมันเอง ถ้ายังไม่ทำอะไรก็แสดงว่า พวกเขายังรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตปกติได้อยู่

มีประธานาธิบดีเกาหลีคนหนึ่งคือ 'คิมแดจุง' เขาเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างหนัก มีคำพูดหนึ่งที่ดังมากของเขาคือ เขาบอกว่า 'ถ้าโมโหก็ออกมาประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนหินใส่ แต่ถ้าไม่มีความกล้าหาญพอจะทำสิ่งนั้น ขากลับบ้าน ตะโกนใส่กำแพงก็ยังดี'

แต่ผมเป็นคนทำหนัง ผมไม่ได้เขวี้ยงก้อนหินใส่ใครเพื่อเรียกร้องอะไร แต่ผมแค่อยากทำให้หนังมันกระทุ้งคนดู และอยากให้หนังของผมได้ฉายในเชิงพาณิชย์ได้ เพราะมันสำคัญที่จะให้คนได้ดู ผมเห็นหลายกรณีที่ผู้กำกับหนังทำหนังวิจารณ์สังคมอย่างรุนแรง แต่หลังจากทำหนังเสร็จก็ไม่ทำอะไรต่อเลยก็มีเยอะแยะ ดังนั้น สิ่งที่ยากกว่าทำหนัง คือการเอาหนังเข้าไปฉายในโรงหนังเชิงพาณิชย์ ตอนที่ผมทำหนังตั้งแต่เรื่อง Non-fiction Diary คนมาบอกว่าหนังอย่างนี้จะไปฉายในโรงได้อย่างไร ผมรู้สึกว่า คนเหล่านี้ช่างไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะสำหรับผม การเป็นศิลปินคือการท้าทายให้ทำในสิ่งที่คนบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้

มีคนถามผมมาตลอดว่า เมื่อไหร่จะทำหนังฟิคชั่น ผมคิดจะทำหนังฟิคชั่นแบบโรแมนติกคอมเมดี้ อย่างพวก บริดเจต โจนส์ ไดอารี่ อะไรแบบนั้น

ทั้ง Non-fiction Diary และ Bamseom Pirates ก็เป็นหนังที่สำคัญ บ่งบอกถึงสังคมในปัจจุบัน แต่เรื่องความรักเองก็มีความสำคัญเหมือนกัน ผมถ่ายสารคดีเพื่อให้เข้าใจมนุษย์ แต่คนส่วนใหญ่รู้จักแต่ตัวเอง และบางครั้งบางคนยังไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมเลยไม่ค่อยชอบบอกว่าตัวเองต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะถ้าตัวเรามีคำตอบของเราให้คนอื่นเยอะมากไป มันจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นยากขึ้น

 

ทุกวันนี้หนังทั้งสองเรื่องของคุณได้ฉายในโรงหนังเชิงพาณิชย์ที่เกาหลีหรือยัง

หนังทั้งสองเรื่องได้ฉายในโรงใหญ่แล้ว ฟีดแบคคือ คนที่ทำหนังหรือนักวิจารณ์จะชอบ ส่วนคนทั่วไปก็ด่าเยอะมาก แต่ผมคิดว่า ที่ด่าเยอะเป็นเพราะไม่เคยเห็นหนังแบบนี้มาก่อน จริงๆ แล้วผมชอบให้คนด่า เพราะการดูหนังแล้วคนด่าแปลว่าคนดูตกใจ การตกใจแปลว่า มันคือสิ่งที่แปลกใหม่

 

ในหนังเรื่องบอมซอมไพเรท คุณเล่าว่ามีฟุตเทจจากเกาหลีเหนือที่คุณยังไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ แปลว่าหนังของคุณเรื่องนี้ผิดกฎหมายอยู่ใช่ไหม

สำหรับเกาหลีเหนือก็คงถือว่าผิดกฎหมาย ที่ตลกคือฟุตเทจนั้นเป็นของเกาหลีเหนือ มีชื่อผู้กำกับเป็นคนเกาหลีเหนือ แต่จริงๆ คนที่ทำหนังเรื่องนั้นคือผู้กำกับเกาหลีใต้ที่ทางเกาหลีเหนือลักพาตัวไป ชื่อ 'ชินซังโอก'  ถ้าวันไหนทางเกาหลีเหนือส่งเมล์มาทวงค่าลิขสิทธิ์ผมก็จะจ่ายเงินให้ เมื่อไหร่ก็ได้ แต่คิดว่าเขาคงไม่ได้ดูหนังผมหรอก

 

หนังเรื่องต่อไปจะเอามาฉายที่ไทยไหม

ตอนที่ไปฉายตามที่ต่างๆ มักจะมีคนถามว่า ทำไมคุณถึงทำหนัง ผมก็ตอบไปว่า เพราะทำหนังมีคนรักเยอะ จึงแน่นอนอยู่แล้วว่า ผมอยากให้คนไทยได้ดู

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น