โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ยกฟ้อง 'ทักษิณ' คดีฟื้นฟูทีพีไอ - ศาล รธน. ชี้ 'ดอน' ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

Posted: 29 Aug 2018 09:36 AM PDT

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง 'ทักษิณ' คดีฟื้นฟูทีพีไอ ระบุไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่น - ศาล รธน. ชี้ 'ดอน รมว.ต่างประเทศ' ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

29 ส.ค.2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี นำเรื่องให้กระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นผู้บริหารแผนบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน โดยจำเลยไม่ได้มาศาล จึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง

ศาลฯ มีคำพิพากษาด้วยมติเสียงข้างมาก เห็นว่าการที่ ทักษิณ ไม่ทักท้วงกรณีกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัททีพีไอ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่นในการเสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 คนใหม่

และข้อเท็จจริงปรากฎว่าการเข้าบริหารแผนพื้นฟูของกระทรวงการคลังในกิจการทีพีไอก็เกิดจากความยินยอมของธนาคาร เจ้าหน้า ลูกหนี้ สภภาพแรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งกระทรวงการคลังก็ถือเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ปัญหาหารเข้าฟื้นฟูกิจการทีพีไอก็สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จนกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ที่ได้กู้เงินกับต่างชาติ มูลค่าหนี้จะสูงเพิ่มขึ้นเท่าตัว

โดยกรณีของทีพีไอมีมูลค่าหนี้สูงขึ้น 1.3 แสนล้านบาทภายในข้ามคืน จากเดิมอยู่ที่ 65,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งกระทบต่อบริษัทที่มีพนักงานกว่า 7 พันคน อีกทั้ง ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหารทีพีไอ รวมทั้งสหภาพแรงงานของบริษัทก็เคยเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาแก้ไข  นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ตามทางไต่สวนก็ยังฟังไม่ได้ว่า เมื่อกระทรวงการคลังเข้าบริหารแผนและจ่ายค่าตอบแทนให้กับคณะผู้บริหารที่โจทก์อ้างว่าเป็นพรรคพวกของจำเลย รวมทั้งการซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนของกิจการทีพีไอก็กำหนดให้ซื้อเพียงหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น ปตท. ธ.ออมสิน และ กองทุน กบข. เป็นต้น ก็ไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นแต่อย่างใด ซึ่งเงินค่าตอบแทนเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการก็ปรากฎว่าเป็นคดีที่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้คืนเงินค่าตอบแทนจากการเข้าบริหารแผนฟื้นฟู จำนวน 224 ล้านบาท เศษแล้ว

ข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องยังไกลเกินกว่าเหตุ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตฯ จึงพิพากษายกฟ้อง

สำหรับคดีของ ทักษิณ ปัจจุบันยังเหลืออยู่ในการพิจารณาไต่สวนลับหลังจำเลยอีก 4 สำนวน ที่อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2550-2551 ประกอบด้วย 1.คดีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจเครือชินคอร์ปฯ 2.คดีกล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร 3.คดีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ให้รัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มชินคอร์ป และ 4.คดีกล่าวหาดำเนินโครงการออกสลากพิเศษหวยบนดินโดยมิชอบ

ศาล รธน. ชี้ 'ดอน รมว.ต่างประเทศ' ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

วันเดียวกัน (29 ส.ค.61) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชนถึงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง หรือไม่

ทั้งนี้ ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ประกอบมาตรา 170 วรรคสาม บัญญัติว่า หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง และเอกสารประกอบแล้ว ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด กรณียังไม่มีเหตุอันควรสงสัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว และโดยที่คดียังมีปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่กรณีตั้งประเด็นโต้แย้งกันอยู่ จึงกำหนดให้มีการนัดไต่สวนพยาน 3 ปาก ในวันอังคารที่ 25 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์  แนวหน้า ไทยพีบีเอส โพสต์ทูเดย์ และมติชนออนไลน์

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ความในใจของนักเรียนสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ (มือใหม่) ในสังคมผู้สูงอายุ

Posted: 29 Aug 2018 07:49 AM PDT

ความในใจในครั้งนี้ของผู้เขียน ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านเรื่อง "เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สังคมไทยเอาไงดี?" ของอานนท์ ตันติวิวัฒน์ นักข่าวประชาธรรม ผู้ผลักดันประเด็นเมือง-สวัสดิการสังคม ผู้ที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอในการตอบปัญหาสังคมได้อย่างมีพลัง โดยเฉพาะปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่พวกเรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ จึงขอไว้อาลัยให้กับการจากไปของอานนท์ ตันติวิวัฒน์ นักข่าวประชาธรรมผู้นี้ด้วย

ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านความเห็นของบุคคลากรในระดับอุดมศึกษาท่านหนึ่งที่ได้กล่าวถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยของปัจจุบัน ที่จะเริ่มลดการสอนในบางวิชาที่ "ไม่เป็นประโยชน์" ต่อความต้องการของ "ตลาด" อันเนื่องมาจากว่าอัตราการเกิด หรือการแต่งงาน ในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนส่งผลอย่างยิ่งต่อจำนวนเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาและเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไปในอนาคต ซึ่งจะต้องลดน้อยลงตามลงไปด้วย 

และดูเหมือนว่า "ผู้มีบทบาท" หลายๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในปัจจุบัน อยากที่จะเล่นงานพวกเราเสียเหลือเกิน ด้วยการพยายามลดงบประมาณบ้าง ปลดอาจารย์ที่ไม่มีภาระงานสอนบ้าง (ซึ่งอาจารย์ในสายวิชาดังกล่าวเริ่มถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ) หาทางจะยุบภาควิชาเหล่านี้บาง หรือดูถูกว่าวิชาของพวกเราเป็นวิชาของคนที่ไม่รู้จะเรียนอะไรดีบ้าง

ผู้เขียนในฐานะที่กำลังเรียนวิชาหนึ่งในสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ รู้สึกตื่นตระหนกตกใจในหลายๆ ความหมาย ต่อเรื่องดังกล่าว การที่จะบอกว่าวิชาดังกล่าวดูเหมือนจะเรียนไปและใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จึงเป็นการบ่อนทำลายต่อจิตใจผู้เขียนอยู่ไม่น้อย และผู้เขียนเองก็อยากที่จะสร้างกำลังใจ ซึ่งไม่เพียงแต่ต่อตัวผู้เขียนเองเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงคนจำนวนมากที่กำลังเรียนอยู่ในวิชาสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์เช่นเดียวกับผู้เขียนด้วย 

การ "บ่น" ครั้งนี้ของผู้เขียนจึงอยากที่จะลองชวนหาคำตอบว่าทำไมเราจึงยังควรที่จะเรียนวิชาทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ต่อไป (ไม่ย้ายคณะหรือสาขากันไปเสียก่อน) ในสังคมที่กำลังบอกเราว่าวิชาดังกล่าวนั้น "ไร้ประโยชน์"

ในปัจจุบันนี้สังคมเข้าใจพวกเราว่า วิชาทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ถูกลดทอนลงเหลือแค่วิชาท่องจำ (การท่องจำมีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอ เพราะต้องประมวลหรือเลือกข้อมูลจากความจำมาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ หรือตอบคำถามที่เราได้ตั้งไว้) ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ใดๆ ที่เข้ามาถึงตัวเราได้ การถูกลดทอนนี้เองก็อาจจะเป็นความผิดของนักเรียนอย่างพวกเราเองด้วยที่มิได้มีความขยันขันแข็งอย่างเพียงพอที่จะทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ในศาสตร์ดังกล่าวมิได้เป็นเช่นนั้น 

ความเข้าใจของสังคมต่อพวกเราจึงเป็นวิชาที่ตายแล้วหรือไม่มีประโยชน์ในเชิงใช้สอยอะไรได้ เพราะไม่สามารถผลิตสิ่งของที่เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้ดีเท่ากับพวกวิชาทางด้านประโยชน์ใช้สอยที่เป็นรูปธรรม เช่น พวกศาสตร์ที่มุ่งสร้าง "นัก" เฉพาะทางต่างๆ

ผู้เขียนเองก็แอบรู้สึกลึกๆ ว่าจริงๆ แล้ววิชาอย่างเรามันดูไม่ค่อยจะมีประโยชน์ แต่ถ้าเราพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว มนุษย์เรามีเพียงแค่ด้านเดียวจริงหรือไม่ ด้านที่มีแต่ประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ในเชิงใช้สอย ถ้าจะเอากันอย่างนั้นจริงๆ เราก็คงไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์กันอีก เป็นเพียงแค่สิ่งของอะไรสักอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีความคิด ความรู้สึกใดๆ ต่อกันอีก และการไม่เห็น "คน" เป็น "คน" นี้นำมาซึ่งความปั่นป่วนของสังคมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ถ้าจะเอากันอย่างนั้นจริงเราก็คงต้องทิ้งพันธะที่มีต่อมนุษย์คนอื่นๆ ไปให้หมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ และไม่มีวันเป็นไปได้ เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ เราต้องการที่จะสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อนิยามการดำรงอยู่ของเรา และการที่จะศึกษาระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์กับสรรพสิ่ง เราจำเป็นที่จะต้องใช้วิชาสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ เพื่อตอบปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่าเราเองก็พยายามที่จะปรับตัวเพื่อตอบรับต่อปัญหาดังกล่าวด้วย

วิชาสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์จึงเป็นวิชาที่สอนให้เราคิด และเข้าใจว่า เราควรจะสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างอย่างไร การที่เราจะเป็น "นัก" นั่น "นัก" นี่ได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ว่าคนในสังคมที่เรากำลังจะออกไปทำงานด้วยนั่น "คิดหรือรู้สึกอะไรกัน" เพื่อที่เราจะสามารถใช้ศาสตร์เหล่านี้มาตอบสนองหรือจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนได้ มีความสามารถในการ "เลือก" ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม 

เพราะในความเป็นจริงระบบความสัมพันธ์มนุษย์กับสรรพสิ่งนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และวิชาอย่างพวกเราเองก็มีพลวัตและมีพลังมากเพียงพอที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีไม่แพ้ศาสตร์อื่นๆ แต่ในปัจจุบัน "ผู้มีบทบาท" หลายๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา รู้สึกว่าวิชาดังกล่าวมิได้มีประโยชน์อะไร ยิ่งโดยเฉพาะ ในสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้มีเด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยน้อยลง และมหาวิทยาลัยอยากที่จะเน้นวิชาที่ตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุมากกว่าจะมาเรียนวิชาที่สูงอายุเก่าแก่คร่ำครึอยู่แล้ว (เช่นสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์นี้ ฮา)

การที่เราจะสร้างสังคมเพื่อพร้อมสำหรับผู้สูงอายุที่เราได้ยินในปัจจุบันนี้ จึงเน้นเพียงแค่การพูดถึงการเพิ่มทางด้านสายทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางกายภาพในการดูแลผู้สูงอายุ จะเช็ดก้นอย่างไรให้สะอาดไม่ระคายเคือง จะป้อนข้าวอย่างไรให้ไม่ติดคอ จะเข็นรถอย่างไรให้นุ่มนวล โดยที่ละเลยไปว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้ ท่านก็เป็นมนุษย์ ย่อมมีความคิด ความฝัน ความรู้สึก และอยากที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว เหมือนเช่นที่พวกท่านเหล่านั้นเคยเป็นอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับเราในตอนนี้ 

การที่วิชาอย่างสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์กำลังถูกลดความสำคัญลงจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะการดูแลผู้สูงอายุจะถูกทำให้กลายเป็นเพียงการดูแลร่างกายให้แข็งแรง โดยมิได้มองลงลึกไปถึงมิติทางความคิดและจิตใจที่ส่งผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย

เราจะไม่สามารถจัดวางตนเองในการสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นได้อย่างราบรื่นถ้าหากขาดการเรียนรู้อย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของผู้สูงอายุ ความไม่ราบรื่นเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหา และอาจจะเป็นปัญหาร้ายแรงจากความตรึงเครียดระหว่างคนสองวัยที่มิได้มีความเข้าใจต่อกันและกันเลย ความตรึงเครียดเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การขยายตัวของการเกิดโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย อันเกิดจากความไม่เข้าใจและไม่สามารถจัดวางความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างราบรื่น ของทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ

การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัยจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นที่จะต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ในความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าว อันรวมหมายถึงการทำความเข้าใจว่า พวกเราและพวกท่านจะดำรงชีวิตไปด้วยกันได้อย่างไร หรือไปให้ไกลกว่านั้นคือจะออกแบบการดำรงชีวิตช่วงบั้นปลายของท่านเหล่านั้นอย่างไรให้มีคุณภาพและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ท่านเหล่านั้นจากไปได้อย่างสงบสุข แต่ยังเป็นการปลอบประโลมต่อจิตใจของญาติหรือคนที่อยู่เบื้องหลังให้มีกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อไป

ผู้เขียนหวังว่าการ "บ่น" ในครั้งนี้ของผู้เขียนจะช่วยทำให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะนักเรียนในสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์เริ่มรู้สึกมีกำลังใจ และเห็นความสำคัญในสิ่งที่พวกเรากำลังทำและกำลังเป็นอยู่ ผู้เขียนเพียงตัวคนเดียวคงไม่มีพลังมากพอที่จะตะโกนให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ได้อย่างมีพลัง

เพราะของอย่างนี้ พวกเราต้องช่วยกัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

การจัดการความหลากหลาย: บทเรียนจากประเทศออสเตรเลีย

Posted: 29 Aug 2018 07:40 AM PDT

ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่ถูกสร้างและหล่อหลอมโดยผู้อพยพจากชาติพันธุ์วรรณนาอันหลากหลายตั้งแต่การอพยพโดยกลุ่มผู้อพยพจากอังกฤษครั้งแรกในปี 1787 จนถึงรุ่นต่างๆจากยุโรปใต้ในช่วงหลังสงครามโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเวียตนามและช่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จีนในยุคตื่นทอง และแอฟริกาในช่วงสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ติดตามครอบครัว นักศึกษาต่างชาติ ผู้ย้ายเข้ามาทำงานและกลุ่มต่างๆอีกมากมาย หากเรามองภาพโครงสร้างประชากรของประเทศออสเตรเลีย เราจะเห็นถึงการเติบโตของกลุ่มประชากรออสเตรเลียนที่เกิดนอกประเทศออสเตรเลีย หลังปี คศ.1953 อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความหลากหลายจึงเป็นธรรมชาติของสังคมออสเตรเลียที่รัฐบาลในแต่ละยุคต้องเรียนรู้และวางนโยบายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในความหลากหลายในแต่ละช่วงเวลา

 

 

รัฐบาลออสเตรเลียมองเห็นความสำคัญของการจัดการความหลากหลายของประชากรออสเตรเลีย โดยเฉพาะในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับกลุ่มผู้อพยพที่มีความหลากหลายในด้านภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์วรรณนา การศึกษา ทักษะ ศาสนา เพศสภาพ มุมมองทางการเมือง และความเชื่อ มีความเป็นรูปธรรมและมีนโยบายมากกว่าในอดีต ถึงแม้ว่า การจัดการความหลากหลายในสังคมออสเตรเลียจะมิใช่เรื่องใหม่ ทว่า แนวทางในการจัดการความหลากหลายของกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในด้านต่างๆนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับผู้อพยพของรัฐบาลออสเตรเลียที่มีให้กับคนสามกลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้อพยพด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Ground) กลุ่มผู้อพยพติดตามครอบครัว (Family Ground) และ กลุ่มผู้อพยพด้านทักษะและเศรษฐกิจ (Skills and Economic ground) โดยในอดีตกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองอาจมีจำนวนมากที่สุด และ อาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือในการบูรณาการสู่สังคมออสเตรเลียมากกว่ากลุ่มผู้ผู้อพยพด้านทักษะและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามทักษะที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิต และ การผสานกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายและกระบวนการที่ มีความเหมาะสม นโยบายทางสังคมที่จะประสพผลสำเร็จในการหลอมรวมประชากรที่มีความหลากหลายจะต้องมาจากความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศออสเตรเลีย (Multicultural Affairs, 2016)

ประเด็นสำคัญที่นำเสนอในบทความนี้คือ แนวคิด วิธีการ ในการหลอมรวมประชากรที่มีความหลากหลายภายในประเทศออสเตรเลีย โดยศึกษาจากมุมมองในเชิงนโยบาย และ การปฏิบัติ ที่ส่งเสริมการจัดการความหลากหลายในประเทศออสเตรเลียโดยประเด็นหลักคือ นโยบายในเชิงสังคมในรูปแบบไหนที่ช่วยให้ประเทศออสเตรเลียบูรณาการผู้คนที่มีความหลากหลายเข้ามาไว้ในประเทศเดียวกันโดยที่ผู้คนกลุ่มต่างๆยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมของตน และยังคงปฏิบัติตามกฏหมายและวิถีชีวิตในแบบออสเตรเลียนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ  (Where there are conflicts in cultural behaviours, Australian law and values must prevail, but otherwise we welcome the diversity that people can bring from being born elsewhere)

ดังนั้น คำถามที่ท้าทายผู้กำหนดนโยบายด้านการจัดการสังคมก็คือ วิธีการที่รัฐบาลออสเตรเลียใช้ให้เกิดความประสานกันระหว่างกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศออสเตรเลียคืออะไร? การจัดการแบบไหนที่เป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศไทยในช่วงการบูรณาประชากรในช่วงที่เมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนทางโครงสร้างทางสังคม?

การจัดการนโยบายเพื่อความหลากหลายในอสเตรเลีย

กระบวนการที่ต่อเนื่องและมีความสำคัญที่สุดคือการเตรียมนโยบาย ทรัพยากร และ บุคคลในระดับรัฐที่พร้อมที่จะสนับสนุนและเตรียมให้ผู้อพยพมีความพร้อมที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย นโยบายทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมของออสเตรเลียคือ การจัดการความหลากหลาย (Diversity Management) ซึ่งเป็นนโยบายทางสัมคมที่รัฐบาลทั้งในระดับประเทศและในระดับรัฐให้ความสำคัญในการปฏิบัติโดยบูรณาการเข้ากับนโยบายสังคมในแทบจะทุกด้าน

ในทางทฤษฎีนั้น การจัดการความหลากหลายเป็นมากกว่าการมองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลในองค์กร หรือ สังคมที่ตนอยู่ แต่เราจำเป็นต้องมองไปถึงกระบวนการในการสร้างและยอมรับอัตตลักษณ์ของปัจเจกในสังคม (Kirton and Greene, 2010)การใช้ทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายในสังคม และ รวมไปถึงการสร้างผลิตผลและความเจริญงอกงามจากความหลากหลาย (Bell and Hartmann, 2007)

ในทางปฏิบัตินัน ประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการจัดการคนให้พร้อมที่จะเข้ามอยู่ในสังคมออสเตรเลีย เช่นเดียวกันกับการเตรียมคนที่อยู่ในออสเตรแล้วให้พร้อมกับการเข้ามอยู่ของคนกลุ่มใหม่ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลในระดับประเทศและระดับรัฐของออสเตรเลียต้องมีการวางแผน กำหนดทรัพยากร และ บุคลากรเพื่อ การเตรียมโครงการพัฒนากลุ่มผู้อพยพเข้ามาใหม่ตั้งแต่ก่อนการย้ายถิ่นฐานมายังประทศออสเตรเลีย โดยเน้นเรื่องของการฝึกอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการให้ข้อมูลทั่วไป เช่น การเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา เป็นต้นความรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมให้ผู้อพยพในด้านมนุษยธรรม (ส่วนกลุ่มที่มีทักษะจะต้องผ่านการทดสอบจนมีทักษะในการใช้ชีวิตได้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาต่างชาติที่คุ้นเคยกับออสเตรเลียดีแล้ว)

การสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลเป็นนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมความหลากหลายในออสเตรเลีย เมือผู้อพยพเข้ามาอยู่ในออสเตรเลียแล้ว สิทธิในการเข้าถึงการเรียนภาษาอังกฤษจำนวนห้าร้อยชั่วโมง การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การลงทะเบียนเรียนต่อในสถาบันการศึกษา หรือการเทียบคุณวุฒิทางวิชาชีพที่ผู้อพยพอาจจะเคยทำมาในประเทศของตน จะเป็นขบวนการที่เป็นรูปธรรมที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับกลุ่มผู้ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในออสเตรเลีย และในเวลาเดียวกันชาวออสเตรเลียนก็สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครในโครงการอันหลากหลายในฐานะผู้มาอยู่ก่อนให้กับเพื่อนใหม่ของเขา แน่นอนว่าในทางปฏิบัติย่อมมีการคัดค้านและไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการโจมตีผู้ย้ายเข้ามาตั้งถื่นฐานใหม่ แต่กฏเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลในประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจมากกว่าการลงโทษคนที่ไม่เข้าใจและมองต่าง ที่สำคัญ การบูรณาการผ่านกระบวนการทางการศึกษาทั้งที่เป็นทางการในระบบโรงเรียน และ ไม่เป็นทางการเช่นสื่อ องค์กรทางสังคม มีการพัฒนาและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากกว่าการต่อต้านแนวคิดเรื่องความหลากหลายในสังคม

ประเด็นสุดท้ายในการสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบออสเตรเลียนั้น คือการส่งเสริมความตระหนักถึงและความเข้าใจในรูปแบบของวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคมออสเตรเลีย โดยใช้กระบวนการสร้างความรู้และเข้าใจในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อในรูปแบบต่างๆ บทเรียนและเนื้อหาในระบบการศึกษาสำหรับเยาวชนออสเตรเลียน รวมไปถึง กิจกรรมทางวัฒนธรรมและการเฉลิมฉลองกิจกกรมทางวัฒนธรรมผ่านทางเทศกาลทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนต่าง โดยเปิดให้ชาวออสเตรเลียทุกกลุ่ม ทุกวัฒนธรรม สามารถเข้าร่วมเฉลิมฉลองกับกลุ่มผู้ย้ายเข้ามาใหม่ที่มาจากหลากวัฒนธรรมด้วย (Increased level of participation by members of multicultural community groups in general community activities) กิจกรรมเหล่านี้สามารถสนับสนุนโดยตรงโดยเงินจากรัฐบาลของรัฐ การใช้เทศกาลและการเฉลิมฉลองนั้นเป็นกุศโลบายที่ทางรัฐเองจะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อพยพที่มีความหลากหลายในหลายระดับ และ สามารถสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และ การยอมรับในวัฒนธรรมที่ต่างจากตนไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ความท้าทายและประเด็นเพื่อการศึกษาสำหรับประเทศไทย

จากการวิเคราะห์นโยบายด้านการจัดการความหลากหลายทางสังคมในประเทศออสเตรเลีย เราจะพบว่าประเทศออสเตรเลียได้ผ่านการพัฒนานโยบายทางสังคมและแนวทางการปฏิบัติที่ต่างกันไปในตามยุคสมัย บทเรียนสองประการที่สามารถน่าจะเป็นประโดยชน์ต่อประเทศไทยในช่วงการเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรที่มีแรงงานข้ามชาติที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ไร้สัญชาติชาวไทย กลุ่มผู้อพยพลี้ภัยสงคราม หรือ แม้แต่กลุ่มชาวไทยที่มีความหลากหลายในชาติพรรณวรรณที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านานแต่โดนมองว่าเป็น 'คนนอก' ในสายตาของคนไทยบางกลุ่ม การจัดการความหลากหลาย ผ่านการมีส่วนร่วมในนโยบายสังคม และ การบูรณาการผ่านการศึกษาเป็นบทเรียนที่น่าสนใจจากประเทศออสเตรเลีย

ประเด็นแรก คือ วิธีการในการเสริมสร้างความเท่าเทียมในด้านโอกาสในเชิงสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มผู้อพยพที่มีพื้นฐานอันหลากหลายนั้นสร้างขึ้นมาจากพื้นฐานด้านความเท่าเทียม การเน้นให้ประชากรทุกกลุ่มมีส่วนรวมในนโยบายทางสังคม โดยไม่แบ่งแยกเรื่อภาษา ศาสนา และภูมิหลังต่างๆ จะช่วยสร้างบูรณาการระหว่างประชากรที่มีความหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ที่สำคัญนโยบายที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้อพยพจากเชื้อชาติต่างๆที่อาจมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆนั้นจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีหน่วยงานในระดับรัฐที่เสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนกลุ่มสตรี หรือ วัยรุ่นที่ต้องการเข้าถึงทักษะการทำงาน เงินทุน หรือความรู้ มีการเสริมสร้างสิทธิทางสาธารณสุขให้กับแรงงานต่างประเทศในออสเตรเลีย และ ไม่เลือกปฏิบัติกับพวกเขา เมื่อเราหันกลับมาที่ประเทศไทย เราควรมีการมองถึงความหลากหลายของประชากรภายในประเทศและสร้างนโยบายทางสังคม รวมไปถึงส่งเสริมโอกาสให้กับประชากรที่มีความหลากหลาย อันรวมไปถึง กลุ่มผู้อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยด้วยสาเหตุต่างกันให้มีโอกาสได้มีส่วนรวมในเรื่องของนโยบายทางสังคม เช่น โอกาสทางเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น

ประเด็นที่สอง นโยบายหลักข้อหนึ่งในการหล่อหลอมสังคมออสเตรเลียที่มาจากประชากรที่มีความหลากหลายนั้นก็คือการศึกษา การส่งเสริมความเข้าใจผ่านหลักสูตรที่มความเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจะช่วยให้คนออสเตรเลียมองเห็นความสำคัญของแนวคิดความหลากหลาย งานวิจัยด้านพัฒนศึกษาในออสเตรเลีย (McIntyre and Simpson, 2007) ย้ำว่าในระบอบการศึกษาเพื่อสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นนั้น คำถามหลักที่เราต้องตระหนักก็คือ การศึกษาในรูปแบบไหนที่จะหล่อหลอมให้ประชากรเข้าใจธรรมชาติของความหลากหลายและเหมาะสมในการสร้างพลเมืองออสเตรเลียยุคใหม่ในบริบทของโลกที่มีความหลากหลาย  ยกตัวอน่างเช่น หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาในระบบโรงเรียนั้นควรจะมีเรียนการสอนในด้านจริยธรรมและหน้าที่พลเมือง (Civics and Citizenship) หรือไม่ ถ้ามี ควรมีโครงสร้างหลักสูตรในแบบไหน และ ควรมีการเตรียมผู้สอนในระดับไหนเพื่อสอนวิชาเหล่านี้ให้กับประชากรออสเตรเลียที่มีความหลากหลาย และ อาจมีการตีความทางประวัติศาสตร์และสังคมที่แตกต่างกันอย่างไร ในรัฐวิคตอเรีย อาจจะมีเนื้อหาที่ต่างกันออกไปจากรัฐออสเตรเลียใต้เนื่องจากโครงสร้างทางประชากรและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ต่างกัน ที่สำคัญการบูณณาการความเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายเข้าสู่การเรียนในทุกวิชาเป็นความพยายามและความท้าทายในการจัดการศึกษาของรัฐบาลในระดับรัฐของประเทศออสเตรเลีย

บทเรียนประการนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำมาศึกษาแนวคิดทางการศึกษาในทุกระดับว่า เรามีการสอนแนวคิดและบูรณาการด้านความหลากหลายเข้าสู่ระบบการศึกษาของเราตั้งแต่ระดับประถมจนถึงอุดมศึกษาหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น เรามีหลักสูตรทางธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์เบื่องต้นที่สอนให้นักศึกษาไทยเข้าใจความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของแรงงานและวัฒนธรรมองค์กรที่แปรไปตามแรงงานหรือกลุ่มธุรกิจที่มีความหลากหลายหรือไม่ ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาตั้งแต่ผู้วางนโยบาย รวมไปถึงผู้สอนจำเป็นต้องคิดและวางแผนเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดการความหลากหลายภายในประเทศไทยให้เกิดมรรคผลต่อไป

 

อ้างอิง

Bell, J.M. and Hartmann, D. (2007), "Diversity in everyday discourse: the cultural ambiguities and consequences of 'happy talk'", American Sociological Review, Vol. 72 No. 6, pp. 895-914.

Kirton, G. and Greene, A. (2010), The Dynamics of Managing Diversity. A Critical Approach, Elsevier/Butterworth-Heinemann, Oxford.

Multicultural Affairs (Department of), (2016). Multiculturalism: a review of Australian policy statements and recent debates in Australia and overseas, accessed at: https://www.aph.gov.au/About_Parliament/Parliamentary_Departments/Parliamentary_Library/pubs/rp/rp1011/11rp06#_Toc275248122

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา เป็นนักวิชาการด้านการจัดการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และadjunct professor ด้านการจัดการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที ประเทศออสเตรเลีย

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา

Posted: 29 Aug 2018 07:14 AM PDT

5 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ระบบศาลอาญาระหว่างประเทศ ท่าทีพม่าต่อโลกที่รายล้อม เมื่อองค์การสหประชาชาติออกรายงานกรณีกองทัพพม่าใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ถือว่าเป็นฉบับที่ดุดันที่สุด ถึงกับออกชื่อนายทหาร กล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาในรัฐยะไข่ (ที่มา: wikipedia)

เป็นเวลาราว 1 ปีได้แล้วที่รัฐบาลพม่าใช้ความรุนแรงเข้าขับไล่ชาวโรฮิงญาในพื้นที่รัฐยะไข่ คละคลุ้งไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รายงานความทารุณเป็นปึกๆ จากนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศมากมาย รัฐบาลและกองทัพพม่าก็ตอบโต้ด้วยการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ในขณะที่ตัวเลขชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยออกจากพม่าพุ่งสูงถึง 7 แสนคน ยังไม่รวมคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งการปล้น ฆ่า ข่มขืนอีกจำนวนมากในนามปฏิบัติการกวาดล้าง (Clearance operation) จากกองทัพพม่า

เมื่อ 27 ส.ค. 2561 องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากรายงานของคณะทำงานอิสระค้นหาความจริงกรณีพม่าขององค์การสหประชาชาติ (IIFFMM) เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำของกองทัพพม่าขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในความผิด 3 ข้อหา ได้แก่อาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายงานระบุว่าปฏิบัติการของกองทัพพม่า รวมถึงกองกำลังรักษาความมั่นคงอื่นๆ ที่กระทำในพื้นที่รัฐยะไข่ ฉาน และคะฉิ่น หนักหนาสาหัสเทียบเท่ากับอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดที่บัญญัติไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยปฏิบัติการที่ใช้การฆ่า กักขัง อุ้มหาย ซ้อมทรมาน ข่มขืน การบังคับให้ร่วมเพศแบบทาส (Sexual slavery) ความรุนแรงทางเพศแบบอื่นๆ รวมถึงบังคับให้เป็นแรงงานทาสอย่างเป็นระบบ

"ความจำเป็นทางทหารไม่มีวันที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่า การรุมข่มขืนผู้หญิง การฆ่าเด็กและการเผาหมู่บ้านแบบไม่เลือกหน้าได้ ยุทธวิธีของกองทัพพม่ามีความเกินสัดส่วนกับภัยคุกคามที่มีอยู่จริง โดยเฉพาะในกรณีรัฐยะไข่และตอนเหนือของพม่า" รายงานระบุ

"ระดับของการทำตัวเพิกเฉย ลอยนวลและปฏิเสธของกองทัพพม่าอยู่ในระดับที่น่าใจหาย ภาวะดูถูกดูแคลนชีวิต เสรีภาพและบูรณภาพของมนุษย์ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศควรเป็นเรื่องที่ประชากรทั้งหมดกังวล"

รายงานยังระบุว่าอาชญากรรมในรัฐยะไข่มีลักษณะของการสังหารหมู่และการเนรเทศ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจงใจให้เกิดการสร้างและแผ่ขยายเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เกิดบริบทที่มีความกดขี่ข่มเหงจากคำพูดของผู้ก่อการและนโยบายแบบกีดกันคนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงความพยายามในการแก้ไของค์ประกอบเชิงประชากรในรัฐยะไข่ที่วางแผนและกระทำขึ้นอย่างเป็นระบบ

รายงานของ IIFFMM ได้กล่าวหาบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นผู้ก่อการพลเอกอาวุโส มิ่น อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า และผู้บัญชาการหน่วยที่ลดหลั่นลงมาในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรง แต่รายนามผู้ถูกกล่าวหาฉบับเต็มจะถูกส่งไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

รายงานยังได้กล่าวถึงรัฐบาลพลเรือนพม่าว่าแม้จะมีอำนาจควบคุมกิจการกองทัพอยู่น้อย แต่ก็ไม่เห็นว่าอองซานซูจี ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลในทางปฏิบัติ จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และอำนาจที่เธอมีในทางศีลธรรมในการควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่พลเรือนยังทำหน้าที่แพร่กระจายข้อมูลเท็จ ช่วยกองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และยังช่วยดูแลการทำลายหลักฐานอีกด้วย รัฐบาลพลเรือนจึงถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นด้วย

รายงานได้มีข้อเสนอแนะหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้นานาประเทศกดดัน ช่วยกันรวบรวมหลักฐานการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลพม่า และสนับสนุนให้ทางการพม่ารับผิดชอบกับความรุนแรงที่กระทำด้วยการชดเชย เยียวยาเหยื่อและนำผู้กระทำออกมารับผิดชอบ ทั้งยังเสนอแนะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เสนอกรณีพม่าให้เป็นคดีบนศาลอาญาระหว่างประเทศหรือจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจขึ้นมารองรับกรณีพม่าโดยเฉพาะดังเช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาและยูโกสลาเวีย และให้แบนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการกวาดล้างในพม่าผ่านการห้ามเดินทาง แช่แข็งทรัพย์สิน และคว่ำบาตรการซื้อขายอาวุธกับพม่าอีกด้วย

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการส่วนทวีปเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า รายงานดังกล่าวทรงพลัง และมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนถึงขั้นตอนที่จำเป็นในการทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ซึ่งดีกว่าการออกแถลงการณ์แสดงความกังวลและประณามที่เคยทำมาซึ่งไม่ได้ผลและยิ่งทำให้วัฒนธรรมความรุนแรงและการกดขี่ในพม่าเข้มข้นขึ้น

ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการด้านการตอบสนองต่อวิกฤตขององค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าทางการพม่าไม่สามารถนำตัวผู้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมครั้งใหญ่มารับผิดได้ จึงเป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งหากประชาคมโลกทำไม่ได้ก็จะเป็นการส่งสัญญาณถึงกองทัพพม่าว่า นอกจากพวกเขาสามารถจะลอยนวลพ้นผิดจากปฏิบัติการอันโหดร้ายแล้ว ยังหมายถึงว่าพวกเขาสามารถก่อความรุนแรงเช่นนี้ได้อีก

ด้านสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia – Asian Forum for Human Rights and Development) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียออกแถลงการณ์เห็นชอบกับรายงานของ IIFFMM และระบุว่า ถ้ายูเอ็นไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาในพม่าได้อย่างดีพอ ซึ่งที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำได้ไม่ดีพอ ก็จะถือเป็นความล้มเหลวอย่างถาวรในฐานะที่เป็นองค์กรโลกบาล

รายงานของคณะค้นหาความจริงครั้งนี้ถือเป็นท่าทีของยูเอ็นที่ดุดันกว่าที่เคยเป็นมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า รายงานจากหน่วยงานของยูเอ็นเล่มนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงการกระทำของกองทัพพม่าต่อชาวโรฮิงญาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้น ส่วนบีบีซีก็ระบุว่าเป็นครั้งแรกของกรณีโรฮิงญาที่ยูเอ็นมีการกล่าวหาตัวบุคคลอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การจะนำตัวทหารเหล่านั้นไปรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นอาจใช้เวลายาวนาน สิ่งที่ควรรู้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีอยู่ 5 เรื่อง

1. รู้จัก 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'

สื่อต่างชาติใหญ่ๆ ต่างพุ่งความสนใจไปที่เนื้อหารายงานที่ระบุว่าผู้กระทำความผิดควรถูกนำขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นพิเศษ

คำว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ถูกพูดถึงครั้งแรกในหนังสือของราฟาเอล เลมคิน นักกฎหมายเชื้อสายยิว-โปแลนด์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากนาซีเยอรมันที่เข้ายึดครองโปแลนด์มาอยู่สหรัฐฯ ในปี 2484 เขาให้ความหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็น "การกระทำต่างๆ ที่มีการตระเตรียม วางแผนเพื่อเป้าหมายในการทำลายรากฐานอันสำคัญของกลุ่มกลุ่มต่างๆ ของชาติ ด้วยประสงค์ที่จะทำลายล้างกลุ่มๆ นั้น"

ปี 2491 หลายประเทศในโลกที่ช็อคกับความรุนแรงและทารุณกรรมที่เกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาร่วมกันลงนามในอนุสัญญาการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากนั้นประชาคมโลกจึงได้สถาปนาความหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็นการกระทำต่อไปนี้ที่จงใจทำเพื่อทำลายกลุ่มๆ หนึ่งทั้งบางส่วนหรือทุกส่วน

  • การสังหารสมาชิกของกลุ่มหนึ่งๆ
  • ทำอันตรายอย่างร้ายแรงทั้งทางกายภาพและทางจิตแก่สมาชิกกลุ่มหนึ่งๆ
  • ทำความเสียหายต่อคุณภาพของชีวิตที่นำไปสู่การทำลายล้างกลุ่มหนึ่งๆ ทั้งบางส่วนและทุกส่วน
  • บังคับใช้มาตรการคุมกำเนิดในกลุ่มหนึ่งๆ
  • บังคับให้ส่งตัวเด็กจากกลุ่มหนึ่งไปอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง

ตามอนุสัญญาข้างต้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ มีประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวถึง 140 ประเทศ ต่อมาในปี 2541 มีการทำธรรมนูญกรุงโรม นำมาซึ่งการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศและขยายนิยามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ข้อมูลจากหน่วยเฉพาะกิจด้านความไร้สเถียรภาพทางการเมือง หน่วยงานวิจัยและเก็บข้อมูลที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2499 - 2559 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นแล้ว 43 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน แทบจะเท่าจำนวนประชากรไทย

2. ศาลอาญาระหว่างประเทศคืออะไร

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นศาลนานาชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนและดำเนินคดีกับ 'ปัจเจกบุคคล' ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำอาชญากรรมที่ประชาคมโลกถือว่าเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงซึ่งมีอยู่สี่ประเภท ได้แก่

อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การกระทำใด ๆ ที่เมื่อกระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเป็นระบบที่มีเป้าหมายโดยตรงต่อประชาชนพลเรือน และโดยรู้ถึงการกระทำนั้น เช่น การฆาตกรรม การทำลายล้าง การเนรเทศ หรือการบังคับพลเรือนให้โยกย้าย การทรมานหรือข่มขืนกระชำเรา เป็นต้น

อาชญากรสงคราม การกระทำความผิดทั้งที่ผิดอนุสัญญาเจนีวาเรื่องการปฏิบัติต่อเหยื่อสงคราม เชลยศึก ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธไปจนถึงความขัดแย้งในประเทศ เช่น สงครามกลางเมืองหรือการก่อจลาจล เช่น ปล้นสะดม ซ้อมทรมาน ใช้คนเป็นหนูทดลองทางชีววิทยา นำเด็กมาเป็นทหาร เป็นต้น

การรุกรานประเทศอื่น หมายถึงการวางแผน การตระเตรียมและปฏิบัติการโดยบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อการควบคุมทางทหารหรือการเมืองโดยตรง ซึ่งถือว่าละเมิดกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ (ที่มา:crimeofaggression.info)

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างทั้งหมดหรือบางส่วนของกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มทางศาสนา

3. ระดับความง่ายของการเอาผู้กระทำผิดในพม่ามาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศมีสองระดับ: ยากกับยากมาก

ศาลอาญาระหว่างประเทศมีขอบเขตการดำเนินงานอยู่กับประเทศที่ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ อีกนัยหนึ่งคือประเทศที่ให้สัตยาบรรณในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้เกิดศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้น แต่พม่าไม่ได้ให้สัตยาบรรณไว้กับธรรมนูญกรุงโรม การนำผู้กระทำความผิดขึ้นไต่สวนได้จึงต้องได้รับการ

พม่าไม่ได้ให้สัตยาบรรณเอาไว้กับธรรมนูญกรุงโรม ในทางกฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่ได้มีพันธะอะไรกับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ในตัวของศาลเองก็ต้องพึ่งพาตำรวจประเทศอื่นและตำรวจนานาชาติอยู่แล้ว

สำหรับวิธีที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดกรณีความรุนแรงในพม่าเป็นคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศได้นั้น อิโมลเกน ฟัลคีส ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของสำนักข่าวบีบีซีระบุว่าจะต้องอาศัยมติเอกฉันท์จากสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า 'พีไฟว์' ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะใช้สิทธิวีโต้ หรือการคัดค้านข้อเสนอเพื่อให้ข้อเสนอตกไปตามกลไกการตัดสินใจของสมาชิกถาวรที่มีประเทศใดค้านเพียงหนึ่งประเทศก็เพียงพอที่จะทำให้ข้อเสนอถูกปัดตก ซึ่งอิโมลเกนมองว่าจีนคงจะใช้สิทธิวีโต้ อีกทางหนึ่งที่จะหลบการวีโต้ได้ ก็คือการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแบบชั่วคราวเป็นกรณีเฉพาะ อย่างที่ทำการตั้งศาลระหว่างประเทศกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาและที่ยูโกสลาเวียเดิม ซึ่งสมัชชาใหญ่ของยูเอ็นทำได้ แต่เงื่อนไขคือพม่าจะต้องร่วมมือในการส่งผู้กระทำความผิดไปขึ้นไต่สวนซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี

4. พม่าปฏิเสธรายงานของคณะค้นหาความจริง

อย่างที่ทำกับแถลงการณ์ รายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์การระหว่างประเทศและรายงานข่าวจำนวนมากในช่วงหนึ่งปีของความรุนแรง รัฐบาลพม่าได้ออกมาปฏิเสธรายงานของคณะค้นหาความจริงในวันนี้ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาที่เป็นสื่อของรัฐ รายงานถ้อยแถลงของอูซอเธ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีที่ไม่ยอมรับข้อค้นพบของรายงาน เนื่องจากคณะค้นหาความจริงถูกตั้งขึ้นโดยข้อตกลงของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งพม่าได้ประกาศแล้วว่าไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ จากคณะมนตรีฯ ซึ่งพม่าไม่ได้เป็นภาคี นอกจากนั้น ทางการพม่าไม่ได้อนุญาตให้ทีมคณะค้นหาความจริงเข้าประเทศอยู่แล้ว

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดียังระบุว่าถ้าจะให้มีการสืบสวนการกระทำความผิดก็ต้องมีคนส่งหลักฐานที่ชัดเจนมา จากนั้นจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อหาตัวคนผิด

การเรียกหาหลักฐานที่ชัดเจนเช่นนี้ดูเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบทันที เพราะเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 วะลง (Wa Lone) และ จ่อซออู (Kyaw Soe Oo) นักข่าวพม่าที่ทำงานให้สำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกจับกุมและต่อมาถูกตั้งข้อหาละเมิดมาตรา 3 [1] ความผิดฐานล่วงละเมิดข้อมูลความลับทางราชการหลังทำข่าวกรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา พวกเขาสองคนถูกขังระหว่างดำเนินคดี โดยศาลแขวงในพม่าเพิ่งตั้งข้อหาละเมิดความลับทางราชการให้ทั้งสองเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักข่าวทั้งสองถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดีมาตลอดตั้งแต่ถูกจับกุม

ฟ้อง 2 นักข่าวรอยเตอร์ 'เผยความลับราชการ' หลังรายงานข่าวสังหารหมู่โรฮิงญา

5. เฟซบุ๊กเร็ว จัดการปิดเพจ แบนผู้ใช้ ปิดช่องสื่อสารทหารและการกระจายความเกลียดชัง

ก่อนที่ประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศจะมีมาตรการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่เดินหน้าก่อนใคร หลังรายงานของคณะค้นหาความจริงออกมา เฟซบุ๊กได้ทำการลบบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 18 บัญชี ลบบัญชีผู้ใช้งานอินสตาแกรมหนึ่งบัญชี ปิดเพจเฟซบุ๊กทั้งสิ้น 52 เพจ และแบนตัวบุคคลและองค์กรเป็นรายจำเพาะอีก 20 คนไม่ให้ใช้เพจและบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตนเองมีได้ ในจำนวนนั้นรวมถึงมินห์อ่องลาย และสถานีโทรทัศน์เมียวดีที่เป็นของกองทัพอีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายความเกลียดชังและข้อมูลเท็จ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า การกระทำของเฟซบุ๊กเป็นการปิดช่องทางหลักของทหารในการสื่อสารต่อสาธารณะ โดยเพจ 52 เพจที่ถูกปิดไปนั้นมีผู้ติดตามทั้งสิ้นเกือบ 12 ล้านคน ทั้งนี้ เฟซบุ๊กไม่ได้ลบข้อมูลบัญชีและเพจที่ถูกปิดไป

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีของพม่าได้กล่าวว่า จะดำเนินการสอบถามเฟซบุ๊กถึงสาเหตุการแบนบัญชีทั้งหลายเหล่านี้

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar Rohingya: UN says military leaders must face genocide charges, BBC, Aug. 27, 2018

Removing Myanmar Military Officials From Facebook, Facebook, Aug. 27, 2018

Genocide, Trial International

Genocide, Wikipedia

Myanmar Rohingya: What will happen next after damning UN report?, BBC, Aug. 27, 2018

Understanding the Criminal Court, International Criminal Court

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ส่องไทม์ไลน์ 'พ.ร.บ.ยา' พร้อมข้อถกเถียงจากฝั่งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่าง กม.ใหม่

Posted: 29 Aug 2018 06:44 AM PDT

ชวนดูไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ยา ฉบับแรก สู่ร่าง พ.ร.บ.ปัจจุบัน พร้อมข้อถกเถียงของฝั่งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย สพศท. ชี้ ประชาชนเข้าถึงยาง่าย ต้นทุนไม่เพิ่ม ส่วนยาอันตรายมีเภสัชกรควบคุมอยู่แล้ว 'เครือข่ายพยาบาล' เห็นด้วยหากระบุหน้าที่ชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน ชี้บุคลากรขาดแคลน ด้านชมรมเภสัชชนบท กังวลยาแก้อักเสบหาซื้อง่าย ใช้ไม่ถูกอาจดื้อยาจนถึงเสียชีวิต

ที่มาภาพ pixabay.com

ไทม์ไลน์ พ.ร.บ.ยา

ปี 2510

- พ.ร.บ.ยา ฉบับแรก  เทคโนโลยีขยายตัว จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย

ปี 2549

- มีร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

- ครม. สมัยพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับหลักการ

- ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา (สคก.) จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับ สคก. (โดยใช้เวลาถึง 8 ปี)

ปี 2555

- ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน โดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะได้ปรับปรุงจากฉบับ สคก.

- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในสมัยนั้นต้องลงนามภายใน 30 วัน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน แต่ไม่มีการลงนาม

ปี 2557

- หลังรัฐประหาร การดำเนินการทุกอย่างหยุดชะงัก

- 21 วัน หลังรัฐประหาร กระทรวงสาธารณสุขนำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ สคก. เผยแพร่ เกิดการทักท้วงเนื้อหาบกพร่อง ให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ 'เภสัชกร' สามารถจ่ายยาได้

- นำสู่การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อย. และสภาเภสัชกรรม จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.และสภาเภสัชกรรมขึ้น และแก้ไขเป็นร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ในที่สุด แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ

ปี 2561

- มีร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. ซึ่งร่างโดยสำนักยา โดยนำ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาแก้ไขปรับปรุงบางส่วน แล้วยังเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ แก้ปัญหา อย. ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพล่าช้า โดยให้ อย. สามารถเก็บค่าการขึ้นทะเบียนได้ และอนุญาตให้ใช้และเพิ่มค่าตอบแทนแก่ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้

- ถูกทักท้วงจากองค์กรต่างๆ ว่า ควรใช้ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข

- อย. จึงได้นำ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข มาเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 แล้วนำออกรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 31 ก.ค.

- แม้มีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ คำนิยาม และการให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ ทาง นพ.วันชัย สันติยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ได้กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกับเนื้อหา 90% ของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ส่วนที่เห็นต่าง เลขาธิการ อย. กล่าวว่า จะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับแก้ได้ภายหลัง ซึ่งอาจจะออกมาเป็น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ หรือกฎหมายฉบับรองก็ได้

ประชาไทชวนดูข้อถกเถียงและเหตุผลระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับนี้

ฝ่ายเห็นด้วย

สพศท. ชี้ ประชาชนเข้าถึงยาง่าย ต้นทุนไม่เพิ่ม ส่วนยาอันตรายมีเภสัชกรควบคุมอยู่แล้ว

 

สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ กล่าวโดยสรุปแล้วคือการชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยา โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การมาพบแพทย์แล้วนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา และไม่ได้ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนยาอันตรายซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ง่าย จะมีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะแต่ในโรงพยาบาลซึ่งมีเภสัชกรควบคุมดูแลอยู่แล้ว ในส่วนคลินิกเอกชน มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมยาในกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน

เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุดังนี้

แพทย์มีหน้าที่ ในการ ตรวจวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรค ดังนั้น การที่แพทย์จ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยรายนั้น คือ ขั้นตอนหนึ่งในประกอบวิชาชีพเวชกรรม มิใช่การ "ขายยา" ให้แก่ประชาชนทั่วไป มิได้ก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพสาขาอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ของ อย.จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม และดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ซึ่งได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง ร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ยังคงอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้มาทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคกับแพทย์ สามารถเข้าถึงยา โดยมิต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การมาพบแพทย์แล้วนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา และพ.ร.บ.ยาฉบับนี้ มิได้ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ยาที่แพทย์จ่ายให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคให้แก่ผู้ป่วยรายนั้น เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว ผ่านนำเข้าและการผลิตจากโรงงานซึ่งมีเภสัชกรควบคุมการผลิต จึงเชื่อได้ว่าเป็นยาที่ปลอดภัย แพทย์มิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการผลิตแต่อย่างใด และแพทย์ก็มั่นใจที่จะสั่งจ่ายยาที่ผ่านการผลิตจากเภสัชกรให้กับผู้ป่วยของตนเอง

ในส่วนยาอันตราย วัตถุเสพติดและยาควบคุมต่างๆ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ง่ายนั้น ยาเหล่านี้จะมีการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเฉพาะแต่ในโรงพยาบาลซึ่งมีเภสัชกรควบคุมดูแลอยู่แล้ว ในส่วนคลินิกเอกชน มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมยาในกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน จึงเชื่อมั่นได้ว่าพรบ.ยาฉบับใหม่นี้จะสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชนได้แม้จะเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แพทย์ยินดีร่วมกันทำงานกับทุกสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยการทำงานร่วมกันในสายวิชาชีพสุขภาพมีส่วนงานที่ทับซ้อนกัน การให้ความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ด้วยน้ำใจไมตรีที่เอื้ออาทรต่อกัน จะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ยา ที่คุ้มครองประชาชน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง วิชาชีพด้านสุขภาพ

'เครือข่ายพยาบาล' เห็นด้วยหากระบุหน้าที่ชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน ชี้บุคคลากรขาดแคลน

 

พีพีทีวีรายงานว่า สราวุฒิ ที่ดี อดีตประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเห็นว่าสำหรับพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ตนเห็นด้วยถ้ามีการกำหนดหน้าที่งานไม่ให้ก้าวก่ายกันชัดเจน เพราะพยาบาลก็ไม่ได้อยากจ่ายยา ไม่ได้อยากเปิดร้านขายยา แต่ที่ต้องทำหน้าที่จ่ายยาเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ

สราวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพยาบาลต้องจ่ายยาให้ผู้ป่วยเรื้อรัง และต้องจ่ายยาสามัญประจำบ้าน จึงอยากให้ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ คุ้มครองบุคลากรพยาบาลด้วย ซึ่งหากอยากให้เกิดความยุติธรรม ในโรงพยาบาลต้องมีบุคลากรเภสัชกรให้ครอบคลุมซึ่งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ยาหลายอย่างพยาบาลต้องทำหน้าที่จ่ายให้กับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล

สราวุฒิ กล่าวว่า ถ้าจะให้ดี พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ต้องชัดเจนในการทำหน้าที่ และแต่ละวิชาชีพต้องห้ามก้าวก่ายการทำหน้าที่กัน แต่เพราะประเทศไทยบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนทำให้เกิดการทำงานดังที่กล่าวมาข้างต้น

"เพราะบุคลากรขาดแคลน และในเมื่อในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พยาบาลจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ แล้วทำไมจ่ายในคลินิกพยาบาลไม่ได้" สราวุฒิ กล่าว

ฝ่ายไม่เห็นด้วย

'ชมรมเภสัชชนบท' กังวลยาแก้อักเสบหาซื้อง่าย ใช้ไม่ถูกอาจดื้อยาจนถึงเสียชีวิต

 

กนกพร ธัญมณีสิน ผู้แทนชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า กลุ่มเภสัชที่ทำงานต่างจังหวัดจะเจอปัญหาที่เกี่ยวกับคนไข้ใช้ยาไม่เหมาะสมเยอะ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ นอกจากไม่ได้แก้ไขในส่วนนี้ ยังเปิดช่องทำให้เกิดการกระจายยาที่ไม่เหมาะสมได้มากขึ้น

กนกพรเล่าเคสที่เจอบ่อยคือยาแก้อักเสบ ที่หาซื้อได้ง่าย ที่กล่องยาก็จะมีรูปที่สื่อให้ชาวบ้านเข้าใจผิดได้ เช่น เป็นรูปมดลูก เวลาชาวบ้านปวดท้องก็จะไปซื้อยากลุ่มนี้มากิน ทั้งที่ยากลุ่มนี้เป็นยาปฏิชีวนะที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ต้องควบคุมเรื่องการใช้ มีหลายเคสที่แพ้ยาแล้วต้องมารักษาที่โรงพยาบาล หรือมีเคสที่เป็นวัณโรค แล้วดื้อยาเนื่องจากการกินยาไม่ถูกประเภท ทำให้ไม่สามารถใช้ยาตัวไหนรักษาได้เลย หรือกรณีที่เกิดการแพ้ยาจนกระทั่งเสียชีวิตก็เคยเกิดขึ้น

กฎหมายเดิมเปิดให้เวชกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ สั่งจ่ายยา แต่ ร่าง พ.ร.บ. นี้ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์สาขาต่างๆ ด้วย

ขณะที่ยามีอยู่หลายประเภท มียาที่ต้องควบคุมดูแลโดยเภสัชกรในการส่งมอบ ต้องมีการซักประวัติว่ามีการแพ้ยาไหม หรือดูว่ากินยาอะไรอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้ยาตีกัน หรือจะต้องใช้วิชาชีพในการที่จะจ่ายยาแต่ละเคสของคนไข้

นอกจากนี้การส่งเสริมการขายยายังอาจทำให้ยามีราคาแพงสูงขึ้นด้วย เช่น การสนับสนุนการไปดูงานต่างประเทศ การมอบรางวัล เมื่อมียอดการสั่งจ่ายยาเพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องการส่งเสริมการขายซึ่งจะเป็นมูลค่าที่นำไปเพิ่มในตัวยา โรคอย่างความดัน เบาหวาน ซึ่งกลายเป็นโรคปกติของคนไทย หากยาเหล่านี้แพงขึ้นคนก็จะไม่สามารถซื้อได้

กนกพรเน้นในเรื่องของการต่ออายุทะเบียนตำรับยา ซึ่งสามารถทำได้ทุก 7 ปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้มีการทบทวนทะเบียนตำรับยาหรือต่ออายุใบอนุญาต เธอชี้ว่าอาจมีกรณีที่คนไข้กินยาตัวนี้หลายคนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งแสดงว่ายาตัวนี้อันตราย แต่การต่ออายุก็สามารถทำได้โดยไม่ได้เอาอาการที่เกิดขึ้นกับคนไข้มาเป็นข้อพิจารณาในการต่ออายุ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องโฆษณายา พ.ร.บ.ยา ปัจจุบัน มีเงื่อนไขการอนุญาต ต้องมีข้อความอย่างไร เผยแพร่ในช่องทางไหน ให้ทางเจ้าหน้าที่ อย. ตรวจสอบก่อน แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ สามารถโฆษณาได้โดยการจดแจ้งทางเว็บไซต์ นั่นหมายความว่าทาง อย. ไม่ต้องตรวจสอบก่อน แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาโดยได้รับอนุญาตแล้ว

ส่วนอีกกรณีที่เป็นกังวลคือ กรณีที่ผู้ปฏิบัติการสามารถปฏิบัติการได้หลายแห่งในเวลาที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน กนกพรอธิบายว่า ข้อกังวลของเราก็คือ เภสัชกรหนึ่งคนอาจสามารถปฏิบัติงานได้หลายแห่ง และร้านขายยาก็จะไม่มีเภสัชกรประจำอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เภสัชกรคนหนึ่งทำงานที่ร้านขายยา A เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ทำงานที่ร้านขายยา B อีก 3 ชั่วโมง ทำงานที่ร้านขายยา C อีก 3 ชั่วโมง โดยที่แต่ละร้านจะมีช่วงเวลาที่ไม่มีเภสัชกรดูแลอยู่ แต่ก็ยังสามารถขายยาได้ตามปกติเพราะทำตามข้อกำหนดที่ต้องมีเภสัชกรอยู่ในร้านขายยาแล้ว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

โทมิเอะ พื้นที่ทางอำนาจของผู้หญิงที่ไม่มีวันตาย

Posted: 29 Aug 2018 06:09 AM PDT

 

หากคุณเป็นแฟนการ์ตูนสยองขวัญยุคใหม่ คุณจะต้องคุ้นเคยชื่อของจุนจิ อิโต้ ในฐานะนักวาดการ์ตูนแนวสยองขวัญชื่อดังที่สุดด้วยเรื่องราวที่แปลกพิลั่น เจ้าของลายเส้นเลื่อนไหลไปตามเสียงกรีดร้องของเบื้องลึกของจิตใจ บอกเล่าความบิดเบี้ยวด้วยงานศิลปะส่งถึงผู้อ่าน หนึ่งในการ์ตูนที่โดดเด่นของอิโต้ คือ การ์ตูนรวมเล่มชุด "คลังสยองขวัญลงหลุม" ซึ่งมีตอนย่อยที่เล่าถึงเรื่องราวของ "โทมิเอะ" และตัวโทมิเอะ นี่เอง ที่เป็นเจ้าของลักษณะพิเศษราวกับเธอถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านผู้ชายที่ช่างสรรหาวิธีมาครอบครองเธอโดยเฉพาะ 

เราคงเคยผ่านตามาบ้างกับนวนิยาย หรือวรรณกรรมที่พยายามสร้างตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะที่แหวกขนบทางเพศ แม้แต่ในวรรณคดีไทยในสภาพสังคมที่มีความเข้มข้นทางปิตาธิปไตยเอง ลักษณะการแหวกขนบดังกล่าวก็ยังมีปรากฏให้เห็น เช่นตัวละครนางยักษ์อย่างผีเสื้อสมุทร ที่แสดงออกผ่านความพยายามในการเข้าครอบครองพระอภัยมณีและทำให้เป็นสมบัติของตน นับว่าผิดวิสัยอย่างยิ่งในฐานะผู้หญิงในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ จุดจบของผู้แหวกขนบดังกล่าว จึงเป็นความตายด้วยน้ำมือของผู้ชายหรือกล่าวคือผู้ถือครองอำนาจในระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

นอกจากนี้ สังคมยังมุ่งเน้นไปที่การกำหนดกรอบให้มีบทบาทในฐานะ "ผู้นำ" หรือ "ผู้ดูแล" โดยธรรมชาติ ดังนั้นในความเป็น Binary opposition อันว่าด้วยคู่ตรงข้ามชาย-หญิง แล้ว เมื่อผู้ชายถูกกำหนดให้เป็นผู้นำ ผู้หญิงจึงถูกวางตำแหน่งให้เป็นผู้ตามอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งตำแหน่งผู้ตามนั้นถูกกำหนดด้วยกรอบประเพณีในนามของความเป็นเมียและแม่ มีหน้าที่เพียงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเท่านั้น
แน่นอน จุดจบของตัวละครหญิงที่มีพฤติกรรมขัดหรือแย้งจากกรอบปิตาธิปไตย จะได้รับ "โทษทัณฑ์" ของผู้แหวกขนบอย่างสาสม ทั้งความตาย ความวิกลจริต การสูญเสียต่าง ๆ หรือหากจะปราณีต่อตัวละครสักหน่อย ตัวละครหญิงผู้แหวกขนบเหล่านั้นก็จะถูกดึงกลับมาอยู่ในขนบปิตาธิปไตย เช่น ในเรื่อง "อุ้มบุญ" นางเอกที่มีลักษณะขัดแย้งกับอุดมการณ์ปิตาธิปไตย ไม่เชื่อและไม่ศรัทธากับระบบครอบครัว ท้ายที่สุดตัวละครนี้ก็ถูกดึงเข้าสู่ระบบของปิตาธิปไตยด้วยการมอบบทบาทของ "แม่" ให้เธอ เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับโทมิเอะ ด้วยเหตุนี้ ตัวละครโทมิเอะจึงน่าสนใจในมิติของตัวละครผู้ต่อต้านระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

การเกิดใหม่และแผ่ขยายอำนาจเพื่อท้าทายอำนาจปิตาธิปไตย

ความตายเป็นสิ่งเดียวกันที่เกิดขึ้นกับตัวละคร "โทมิเอะ" ภาพลักษณ์ของหญิงสาวเปี่ยมเสน่ห์ บ้าวัตถุ อารมณ์ร้าย และเจ้ามารยา รวมทั้งนิสัยเอาแต่ใจ เย่อหยิ่ง ชอบเอาชนะ ทั้งหมดคือคุณสมบัติอันขัดแย้งอย่างยิ่งต่ออุดมการณ์ของสังคมปิตาธิปไตยที่มักถือครองผู้หญิงในฐานะสมบัติส่วนตัว การกำหนดให้ผู้หญิงมีหน้าที่เพียงรับการครอบครองจากผู้ชายนั้น เป็นเพียงความเป็นภาวะความเป็นหญิงซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติที่ติดตัวมาทางชีววิทยา แต่เป็นอัตลักษณ์ที่สังคมสร้างสรรค์ขึ้นและคาดหวังให้มนุษย์เชื่อฟังและปฏิบัติตาม อัตลักษณ์ทางเพศสภาวะจึงมีบริบทเฉพาะทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดและกำกับเสมอ (สุชาดา ทวีสิทธิ์,๒๕๕๐) 

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติอันขัดแย้งกับอุดมคติของตัวละครโทมิเอะนั้นก็เป็นคุณสมบัติเดียวกันที่ผู้ชายในเรื่องหลงรักและพยายามเข้าช่วงชิงความเป็นเจ้าของในตัวเธอทุกวิถีทาง ตั้งแต่การเอาอกเอาใจ ทำตามคำขอของเธอราวกับต้องมนต์ ไม่ว่าเธอจะต้องการวัตถุหรืออาหารที่มีราคาแพงเพียงใดก็ตาม และความเอาแต่ใจของเธอก็ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ คุณลักษณะอันขัดแย้งกับกับอุดมคติที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายโอนอ่อนผ่อนปรนและตอบสนองความต้องการของผู้ชายของโทมิเอะถูกนำเสนอในฐานะ "เสน่ห์" และการได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอต้องการโดยผู้ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นราวกับทาสก็คือผู้ชายที่เคยถือครองอำนาจในการเรียกร้องและได้รับ ก็นับเป็นการ "เย้ยหยัน" ระบบปิตาธิปไตยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความทะนุถนอมของผู้ชายที่ศิโรราบต่อเธอจะเริ่มกลายเป็นความคลุ้มคลั่งอยากครอบครองด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมัดหรือล่ามโซ่เธอ กระทั่งกรีดหน้าเธอให้เสียโฉมเพื่อเธอจะได้เป็นสมบัติของเขาคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว กระทั่งชำแหละเธอจนเละไม่ต่างจากเนื้อสับ ซึ่งสะท้อนความคิดที่ว่า ในทัศนะคติของผู้ชายเป็นใหญ่และมองผู้หญิงในฐานะเป็นสมบัติส่วนตัว (Private property) ความตายยังจะกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่เธอได้รับเมื่อการเข้าครอบครองไม่เป็นผล ศพของเธอยังถูกบรรจุไว้ในกล่องแล้วโบกปูนทับเพื่อกักขังการไปผุดไปเกิดเพื่อเป็นการยืนหยัดถึงการจำกัดเสรีของเธอในระดับวิญญาณ อำนาจของผู้ชายจึงยังคงความมั่นคงไว้ ถ้าเพียงแต่เรื่องจบลงเท่านี้

ทว่าเธอฟืนคืนชีพ

กี่ชิ้นที่เธอถูก "หั่น" เพื่อระบายความอัดอั้นต่อความล้มเหลวในฐานะของผู้ชาย จะก่อกำเนิดเป็นเธอขึ้นมาอีกคน ยิ่งหากเธอถูกสับโดยละเอียดในโทษฐานที่เธอไม่ยอมศิโรราบ ชิ้นส่วนของอวัยวะที่ถูกหั่น จะงอกออกมาเป็นโทมิเอะตามจำนวนชิ้นส่วนนั้น ๆ ดังเช่นที่เธองอกขึ้นมาใหม่จากหัวใจที่ถูกชำแหละไปโยนทิ้งน้ำ สภาพอากาศหรือภูมิประเทศก็ไม่มีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตหรือการ "งอก" ของเธออีกด้วย หากการฆ่าหมายถึงการทำลายสิ่งใด ๆ ก็ตามที่จะสั่นคลอนฐานอำนาจของความเป็นชาย (ยิ่งในสังคมญี่ปุ่นที่ชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงทำหน้าที่แค่เป็นแม่บ้านซึ่งงานของเธอหนักไม่ต่างจากทาส) การกำเนิดใหม่ในจำนวนที่มากกว่าเดิม โดยไม่แยแสเงื่อนไขของภูมิอากาศหรือภูมิประเทศ ก็ถือได้ว่าเป็นการปลดปล่อย (Liberation) ผู้หญิงจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากชุดและค่านิยมและวิถีจารีตปฏิบัติ  ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ซึ่งทั้งสะท้อนและผลิตซ้ำปิตาธิปไตยการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิงหรือผู้ที่มีเพศหญิงนั่นเอง

การไร้ซึ่งเงื่อนไขในการจำกัดการเกิดใหม่ของเธอ หากมองในแง่ของ Eco – feminist ที่อธิบายลักษณะร่วมของผู้หญิงและธรรมชาติในฐานะของผู้ถูกกระทำโดยธรรมชาติ ที่จะถูกรุกรานและครอบครองโดยมนุษย์ และผู้หญิงจะถูกช่วงชิงอำนาจและเข้าครอบครองโดยผู้ชายเช่นกัน ดังนั้นเราจะเห็นว่า การที่โทมิเอะสามารถ "งอก" แม้จะอยู่ในน้ำลึก หรือท่ามกลางหิมะหนาวเหน็บ โดยไร้ซึ่งเสื้อผ้าปกป้องร่างกาย แต่สภาพอากาศก็ไม่ได้ทำร้ายเธอ นับได้ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างผู้หญิงกับธรรมชาติ ในการตอบโต้ต่อผู้ที่เคยเข้าครอบครองและวางตนเหนือกว่า ให้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของพวกเธอแทน ถึงแม้ว่าตัวละครดังกล่าวจะถูกมองความสามารถเธอในฐานะปีศาจ ในฐานะเครื่องมือที่ล่อลวงใจมนุษย์ออกจากแนวทางของความดีงามที่สถาปนาโดยผู้ชายก็ยังเป็นการกล่าวโดยนัยว่า อำนาจของผู้หญิงนั้นสามารถแผ่ขยายไปครอบครองได้ทุกที่เช่นกันกับผู้ชาย ทว่าทรงพลังกว่านักด้วยมีพลังจากธรรมชาติคอยสนับสนุนนั่นเอง

ผู้หญิงในฐานะผู้ต่อต้านการประกอบสร้างวาทกรรมและความจริงของผู้ชาย

เรื่องราวของโทมิเอะเริ่มต้นขึ้นหลังเหตุการณ์ฆ่าหั่นศพของเธอผ่านไป อาจารย์ชายผู้เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการพยายามสร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ว่าแท้จริงแล้ว โทมิเอะถูกสังหารโดยฆาตรกรโรคจิต หาใช่การร่วมมือกันฆ่าหั่นศพโดยสมาชิกทั้ง 42 ของห้อง โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ในส่วนของนักเรียนและอาจารย์ชายนั้น ประเด็นที่น่าสนใจ คือการสร้างชุดความจริงประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์และเหตุผลอันชอบธรรมในการสังหาร 

การปรากฏตัวของโทมิเอะจึงไม่ใช่เพียงการยืนยันการมีชีวิตอยู่ของเธอเท่านั้น หากแต่เป็นการยืนยันซึ่งสิทธิและพื้นที่ของผู้หญิง และการไม่สยบยอมต่ออำนาจวาทกรรมและการประกอบสร้างความ (ไม่) จริงอย่างเข้มแข็งภายใต้ใบหน้าและรอยยิ้มอันอ่อนโยนอีกด้วย รอยยิ้มอันอ่อนโยนอันเป็นอัตลักษณ์ของผู้หญิงตามการประกอบสร้างของสังคมนั้น ยังเป็นการนำเสนอมิติใหม่ด้วยว่า แม้เพศสภาวะจะเกิดจากการประกอบสร้างทางสังคมที่เอื้อสิทธิ์ให้กับผู้ชายมากกว่า ผู้หญิงก็ยังสามารถยืนหยัดในพื้นที่อำนาจนั้นได้โดยไม่ต้องอาศัยการอ้างอิงการแสดงออกอย่างเพศชายอย่างการออกรบหรือแสดงซึ่งความห้าวหาญใด ๆ เลย

"ความเอาแต่ใจ" ในฐานะการต่อต้านกรอบปิตาธิปไตย

ต่อมาในส่วนของนักเรียนหญิง คำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจว่า "ผู้หญิงเขารู้ทันกัน และเขาเกลียดหน้ากัน" การแสดงออกอย่างอิสระของโทมิเอะ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบมีความสัมพันธ์กับอาจารย์ไปพร้อม ๆ กับนักเรียนชายในห้องและการได้รับการปฎิบัติราวกับเจ้าหญิงที่นักเรียนหญิงคนอื่น ๆ ไม่มีทางได้รับด้วยเหตุว่าไม่มีความกล้าพอที่จะก้าวออกจากพื้นที่ความคาดหวังของสังคมปิตาธิปไตยได้ การร่วมมือกันฆ่าหั่นศพโทมิเอะด้วยนั้น จึงเป็นการระบายออกทางอารมณ์อันอัดอั้นต่อทั้งกรอบของสังคมรวมทั้งลงโทษโทมิเอะด้วยความริษยาที่เธอได้รับอภิสิทธิ์ในการเมินกรอบของสังคมได้อย่างอิสระและสิทธานุมัติทางสังคมไม่มีผลใด ๆ ต่อเธอ

นอกจากนี้ เราจะเห็นภาพผู้ชายจำนวนมากที่เข้ามารุมล้อมเอาใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารรสชาติดีมาให้ หรือการเอาอัญมณีต่าง ๆ มากำนัล หากผู้ชายคนไหนไม่สนใจ โทมิเอะก็จะใช้เสน่ห์ของเธอทำให้ผู้ชายที่เมินเธอกลับมาสนใจและคลุ้มคลั่งในตัวเธอได้ในที่สุด ลักษณะเหล่านี้เป็นการตอบโต้ระบอบปิตาธิปไตยที่จำกัดกรอบผู้หญิงให้วางตัวอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ผ่านตัวละครโทมิเอะที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยความเอาแต่ใจอย่างไม่มีขอบเขต แต่ไม่เพียงจะไม่ถูกลงโทษตามระบอบปิตาธิปไตยแล้ว (เห็นได้ชัดว่าระบอบนี้ฆ่าเธอไม่ได้ เนื่องจากเธอสามารถฟื้นคืนชีพได้เรื่อย ๆ) บทลงโทษยังสะท้อนกลับไปยังผู้ชายที่เป็นเจ้าของอำนาจปิตาธิปไตยแต่เดิมอีกด้วย

หากพิจารณาร่วมกับลักษณะของวรรณกรรมรูปแบบเดิมที่กำหนดทิศทางให้ตัวละครหญิงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของสังคมชายเป็นใหญ่ได้รับบทลงโทษ และหนึ่งในบทลงโทษนั้นคือการทำให้ตัวละครหญิงวิกลจริต การเกิดใหม่ของโทมิเอะ รวมทั้งความงามของเธอที่สามารถปั่นประสาทผู้ชายได้อย่างรุนแรงเสียจนตัวละครชายหลายตัวตกอยู่ในสภาพวิกลจริตหรือถึงแก่ชีวิตแทน เราจึงอาจกล่าวได้ว่า เธอคือตัวแทนของการ "เอาคืน" แนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมอย่างสาสมนั่นเอง

"ความงาม" ในมิติของอำนาจ

ความงาม เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ถูกนำมาใช้ในการรับรองหรือสนับสนุนสถานะความเป็นชายในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ การได้ครอบครองผู้หญิงที่มีรูปลักษณ์งดงามถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จหนึ่งของผู้ชาย แน่นอนว่าตัวละครโทมิเอะมีพร้อมด้วยคุณสมบัติดังกล่าว แต่ความงามไม่ได้มีเพียงเพื่อเป็นฐานรองรับอำนาจของผู้ชายเท่านั้น แต่กลับนำมาซึ่ง "อำนาจ" ของเธอแทน และเป็นอำนาจที่ทำให้ผู้ชายทุกคนสยบยอมต่อคำสั่งของเธอทุกประการ อำนาจดังกล่าวยังเข้าไปตอกย้ำโดยตรงต่อลักษณะของตัวละครชายที่มีพร้อมทั้งรูปโฉมและฐานะว่า "ต่อหน้าความงามของฉัน อย่างคุณมันต่ำยิ่งกว่าต่ำอีกหรอกย่ะ" 

คำพูดดังกล่าวของโทมิเอะที่กล่าวต่อนายแบบระดับต้น ๆ ของวงการ ทั้งยังมีทัศนะคติว่าผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องประดับฐานะของตนอันเป็นความคิดทั่วไปในสังคมชายเป็นใหญ่นั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการ "ตบหน้า" ระบบปิตาธิปไตยเสียเต็มฝ่ามือ

แน่นอน เมื่อความงามคืออำนาจ และมันสั่นคลอนอำนาจปิตาธิปไตยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายแบบคนดังกล่าวถูกชายลึกลับกรีดหน้าจนเสียโฉม ความหล่อเหลาอันนำมาซึ่งสถานะทางสังคม,เศรษฐกิจ และอำนาจของเขาหมดลง การทำลายความงามของโทมิเอะลงจึงเป็นการคงไว้ซึ่งอำนาจของปิตาธิปไตยด้วยทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้ความงามของเธอมามีอำนาจเหนือเขา เธอถูกกรีดหน้าเพื่อให้เสียโฉม แต่ไม่ถึงข้ามคืน บาดแผลจากการถูกกรีดใบหน้าก็ประสานกันอย่างรวดเร็ว การกลับคืนมาของความงามโดยอาศัยเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเป็นการยืนหยัดถึงความงามและอำนาจอันเป็นอมตะ ในขณะที่ฝ่ายชายที่ถูกคนลึกลับกรีดหน้ายับนั้น บาดแผลกลับไม่สามารถสมานกันได้ และทำให้อำนาจต่าง ๆ ที่เขาเคยครอบครองต้องสูญเสียไปตลอดกาล

นอกจากนั้น การนิยามความงามยังเป็นไปตามความนิยมของสังคมนั้น ๆ ที่มุ่งผลิตซ้ำความงามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมาให้ยอมรับโดยทั่วกัน  รวมทั้งมีความหมายเลื่อนไหลไม่ตายตัว สิ่งที่เคงามในช่วงเวลาหรือในสังคมหนึ่ง อาจไม่ใช่ความงามในห้วงเวลาหรือสังคมอื่น ๆ ก็ได้ เมื่อความงามมีเงื่อนไขเลื่อนไหลไม่ตายตัว ทำให้ความงามมีนิยามที่หลากหลาย ความงามจึงไม่ได้มีแค่ตามรูปแบบของโทมิเอะเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โทมิเอะจึงสร้างนิยามของความงามโดยมีเธอเท่านั้นที่เป็นศูนย์กลางของความงามทั้งปวง ผ่านการ "ทำลาย" ความงามรูปแบบอื่น ๆ แล้วเปลี่ยนทุกคนให้มีความงามอ้างอิงแบบเธอ เช่น หากมีใครนำเส้นผมของเธอไปไว้บนศีรษะ เส้นผมนั้นจะฝังลงในหนังศีรษะและเปลี่ยนเจ้าของร่างนั้นให้กลายเป็นโทมิเอะ หรือหากมีใครเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของเธอ ร่างกายของผู้ที่ได้รับอวัยวะนั้นก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นโทมิเอะเช่นกัน 

หากย้อนไปยังอดีต ความงามแต่เดิมจะถูกนิยามและอ้างอิงโดย "ผู้ชาย" ผู้หญิงชนเผ่าเซอร์มาในเอธิโอเปีย ใช้แผ่นประดับปากทำด้วยดินเผา ยิ่งแผ่นใหญ่มากเท่าไหร่พ่อแม่ผู้หญิงก็สามารถเรียกค่าสินสอดได้มากขึ้นเท่านั้น หรือการสร้างเท้าดอกบัว ซึ่งไม่เพียงจำกัดการเคลื่อนไหวแต่ยังส่งผลให้ช่องคลอดบีบรัดแน่นขึ้น ทำให้การมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่รัดเท้าให้ความรู้สึกเหมือนมีเซ็กซ์กับผู้หญิงบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนั้น การนิยามความงามแต่เดิม จึงเพื่อสนับสนุนและรองรับความต้องการของผู้ชายเท่านั้น

การที่ความงามของโทมิเอะถูกนำเสนอในมิติของอำนาจ การให้เธอกลายเป็น "นิยามหลัก" ของความงามอันไม่ศิโรราบหรือวางตัวเองลงในฐานะเครื่องมือแสดงสถานะของผู้ชาย รวมทั้งการ "กำจัด" ผู้หญิงที่ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบปิตาธิปไตยทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาของวรรณกรรม – วรรณคดีในอดีตที่เนื้อหาจะมุ่งลงโทษตัวละครที่ "เบี่ยงเบน" ออกจากบรรทัดฐานของปิตาธิปไตยแล้ว การโต้กลับโดยการลงโทษผู้หญิงที่ "ติดกรอบ" ความคิดแบบปิตาธิปไตยผ่านการส่งต่อ "ความงาม" และ "ทัศนคติ" จึงนับเป็นการโต้กลับการใช้ความงามตามนิยามเดิมของระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง

ผู้หญิง กับการแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่

หากมองย้อนกลับไปยังนิยายหรือวรรณกรรมแนวผจญภัยแล้ว เราจะเห็นการแสดงความเป็นชายผ่านการเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งเป็นการแสดงออกของทั้งสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าของผู้ชาย รวมทั้งการจำกัดพื้นที่ของผู้หญิงให้อยู่แต่ในบ้าน ส่วนผู้ชายนั้นออกไปเสาะแสวงหาความท้าทาย โดยนำเสนอภาพลักษณ์ของป่าที่พวกเขาเข้าไปแสวงหาและครอบครองพื้นที่นั้นในฐานะของ "ความเป็นอื่น"  (Otherness) ทั้งยังพิสูจน์ตัวเองด้วยการเอาชนะด้วยความรุนแรงเพื่อแสดงอำนาจความเหนือกว่า

ในเวทีการแข่งขันเพื่อช่วงชิงพื้นที่และอำนาจนั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้น แต่กลับถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่เพียงในบ้านและก้นครัว และปล่อยให้การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น ส่วนนี้เองที่น่าสนใจเมื่อในเรื่องราวของโทมิเอะ ผู้ชายกลับถูกกีดกันจากเวทีการต่อสู้ หรือหากจะมีบทบาท เขาก็เป็นได้แค่เครื่องมือเพื่อชัยชนะของผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งแสดงออกผ่านลักษณะนิสัยอันน่าสนใจของเธอนั่นคือ แม้เธอจะแยกร่างและเกิดใหม่ได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่โทมิเอะแต่ละร่างนั้น จ้องจะทำลายกันเพื่อให้ตนเองกลายเป็นโทมิเอะเพียงหนึ่งเดียว ความเป็นชายขอบที่ผู้ชายเคยใช้ในการจำกัดพื้นที่ของผู้หญิง จึงตกไปอยู่ที่ผู้ชายแทน

ผู้หญิงกับความท้าทายต่อวิทยาศาสตร์

ฉากหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องราวของโทมิเอะ ที่บอกเล่าให้ผู้อ่านทราบถึงการ "ทดลอง" ของเธอที่พยายามเปลี่ยนผู้หญิงคนอื่น ๆ ให้หน้าเหมือนผ่านการฉีดเซลล์ของเธอเข้าไป พร้อมกันกับการทดลองลักษณะอื่น ๆ อันเป็นการแสดงความวิปลาสของเธอ กระทั่งสร้างมนุษย์ให้กลายเป็นครึ่งคนครึ่งหนอน ในแง่หนึ่ง เราสามารถมองได้ว่า ลักษณะเหล่านี้คือการสร้างภาพของผู้หญิงที่มีพฤติกรรมแหวกขนบปิตาธิปไตยว่าวิกลจริต ซึ่งมันไม่ต่างอะไรกับภาพการผลิตซ้ำผู้หญิงที่ต่อต้านกรอบปิตาธิปไตยในวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องถูกมองในแง่ร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าว กระทำขึ้นเพียงเพื่อสนองความต้องการของเธอต่อบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ได้มีนัยยะเพื่อนำไปสู่ผลหรือความคาดหวังใด ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจึงอาจมองได้ว่า เป็นการท้าทาย "วิทยาศาสตร์" อันเป็นเรื่องราวของเหตุและผล ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับกรอบของปิตาธิปไตยแล้วเราจะพบว่า ผู้หญิงถูกจัดวางให้เป็นผู้ที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก และให้การใช้ความคิดและเหตุผลเป็นเรื่องของผู้ชาย ดังนั้น การนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อสนองความวิปลาสส่วนตัวของโทมิเอะ ก็เป็นการยืนยันว่า "ผู้ชาย" นั้น เป็นได้แค่เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือกระบวนการในการสร้างความหฤหรรษ์แก่เธอเท่านั้น รวมทั้งวิทยาศาสตร์นั่นเองที่เป็นตัวการทำให้หญิงเคราะห์ร้ายที่เป็นเหยื่อทดลองของโทมิเอะต้องมีรูปร่างบิดเบี้ยว จึงเป็นการตอบโต้ระบบปิตาธิปไตยว่า ผู้ชายต่างหาก ที่เป็นสาเหตุของความเดือดร้อน หาใช่ผู้หญิงแต่อย่างใด

อีกคุณสมบัติหนึ่งที่น่าสนใจของเธอ นั่นคือ โทมิเอะสามารถเอามือลงไปกวนน้ำซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสารเคมีที่ใช้ในการทดลองที่มีฤทธิ์เป็นกรดกัดกร่อนรุนแรงได้อย่างสบายใจ ผิวหนังของเธอไม่ถูกทำลายด้วยกรดนั้น ซ้ำเธอยังเอาปลาทองของเธอไปเลี้ยงในนั้นด้วย เมื่อพิจารณาร่วมกับฉากหนึ่งที่เธอถูกโรงพยาบาลจังฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์โทมิเอะ แต่กลับทำให้เซลล์นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นร่างกายของโทมิเอะเต็มตัวแล้วเราจะพบว่า การผูกผู้ชายไว้กับเหตุและผล(วิทยาศาสตร์) ได้แสดงนัยยะของความ "พ่ายแพ้" ต่อคุณสมบัติเฉพาะตัวของโทมิเอะที่เธอสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งปวงของระบบปิตาธิปไตยได้ อำนาจของเหตุและผล กระทั่งวิทยาศาสตร์เอง ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเธอโดยที่ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้เลยเท่านั้น

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการ์ตูนเรื่อง "คลังสยอง ขวัญลงหลุม" ในช่วงตอน "โทมิเอะ" นั้น ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวสยดสยองผ่านลายเส้น แต่ยังเป็นการสร้างมิติของผู้หญิงที่ไม่สยบยอมต่อปิตาธิปไตย โดยวางเธอให้เหนือกว่าเงื่อนไขของปิตาธิปไตยทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความตาย ข้อจำกัดทางธรรมชาติ อำนาจในการประกอบสร้างวาทกรรมประดิษฐ์ หรือแม้กระทั่งในเชิงสัญญะว่าด้วยความเป็น Binary Opposition อันผูกเหตุและผลให้อยู่ในตัวผู้ชายผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ และผูกอารมณ์ให้อยู่ในตัวผู้หญิง  ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความน่าสนใจในตัว"โทมิเอะ" ในฐานะตัวละครที่มีมิติในการตอบโต้และต่อต้านอำนาจของปิตาธิปไตยได้โดยสมบูรณ์ตัวหนึ่ง

บรรณานุกรม
Jackson, Beverly .1997.Splendid slipper: A thousand years of an Erotic Tradition, Berkeley: Ten Speed Press.
จุนจิ อิโต้.(2533).คลังสยองขวัญลงหลุม.กรุงเทพฯ : ลักพิมพ์.
ธันวา เบญจวรรณ.(2553). เรือนร่างและความงาม การพิจารณาร่างกายและความงามผ่านอุดมการณ์.https://prachatai.com/journal/2010/08/30873.(สืบค้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560).
นฤพล ด้วงวิเศษ.(2558) "รื้อสร้างมายาคติ" ความเป็นชายในสังคมไทย. http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/articles/3. (สืบค้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560).
สุชาดา ทวีสิทธิ์.(2550).ผู้หญิง ผู้ชาย และเพศวิถี : เพศสภาวะในงานมานุษยวิทยา.วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 1/2550.

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

WHO หารือเตรียม MOU ถ่ายทอดผลสำเร็จ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย' ให้โลกเรียนรู้

Posted: 29 Aug 2018 06:05 AM PDT

รอง ผอ.องค์การอนามัยโลก ดูงาน สปสช. ดำเนิน 'ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' หารือเตรียม MOU ความร่วมมือถ่ายทอดผลสำเร็จ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย' ให้โลกเรียนรู้ โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกา พร้อมเยี่ยมชม รพ.มงกุฎวัฒนะ หน่วยบริการเอกชนภายใต้ระบบบัตรทอง

29 ส.ค. 2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า วันนี้ เวลา 13:00 น. ที่ สปสช. พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) และ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A.Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้บริหาร สปสช.ต้อนรับและให้ข้อมูลการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ในฐานะหน่วยบริการเอกชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   

พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยมีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เพียงพอภายใต้งบประมาณที่จำกัด รวมถึงมีความร่วมมือในการดำเนินนโยบายจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้ประชากรในประเทศเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นับเป็นประเทศต้นแบบของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่นำไปสู่การดูแลสุขภาพประชากรในประเทศ จึงได้มีการหารือที่นำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้สามารถดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดยเฉพาะประเทศแถบทวีปแอฟริกา    

ทั้งนี้ความสำเร็จในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่จะนำมาถ่ายทอดเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ คือ1.ความร่วมมือของบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการดูแลประชากรได้อย่างทั่วถึง 2.ระบบจัดการข้อมูลของหน่วยบริการและการบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงระบบการชดเชยค่าบริการ และ 3.ความร่วมมือของหน่วยงานระบบสุขภาพในการผลักดันและสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สำหรับในส่วนการเยี่ยมชมบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลความร่วมมือจากภาคเอกชน นอกจากหน่วยบริการภาครัฐ ในการร่วมดูแลสุขภาพประชาชน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเป็นองค์กรระดับสากลดูแลทั้งโลกในด้านสุขภาพอนามัย มีนโยบายจากนี้ที่เน้นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน และมองว่าไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้แม้ว่าไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย ทั้งใช้งบประมาณในระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุนเพียงร้อยละ 15 ของงบประมาณประเทศ หรือร้อยละ 4.3 ของจีดีพีประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นใช้งบประมาณมากกว่านี้

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จคือการสนับสนุนของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในช่วง 16 ปี ที่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ลดภาระค่ารักษาที่รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง อาทิ โรคมะเร็ง หัวใจ เป็นต้น การบริหารที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน องค์การอนามัยโลกจึงมีสนใจขยายผลเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้  โดยครั้งนี้ยังมีการหารือเพื่อจัดทำความร่วมมือที่นำไปสู่การถ่ายทอดการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้ทั่วโลกได้เรียนรู้ อาทิ การจัดทำเว็บไซด์ เป็นต้น เพื่อผลักดันให้ทุกประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แม่พลทหารร้องกองปราบ ลูกถูกแทงดับปริศนา แฉถูกขอให้ปิดเรื่องไว้ก่อน จ่ายทำขวัญ

Posted: 29 Aug 2018 05:25 AM PDT

ศพ 2 ศพ 3 ค่อยๆ ผ่านไป.. แม่พลทหารบุญฤทธิ์ร้องกองปราบลูกถูกแทงดับปริศนา หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เผยถูกขอให้ปิดเรื่อไว้ก่อน ยันดูแลคดีให้และจะจ่ายค่าทำขวัญเป็นเงิน 2 แสน แต่ไม่รับ ด้าน ผกก.บางยี่ขันยัน แจงจับแล้ว 2 หลังทหารต้นสังกัดนำตัวผู้ก่อเหตุมาส่งเพิ่ม

ที่มาภาพ โปลิศนิวส์

29 ส.ค.2561 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กองปราบปราม รัชนก แซ่ลิ่ม อายุ 61 ปี แม่ของพลทหารบุญฤทธิ์ เอี่ยมสิริลักษณ์ หรือเก่ง อายุ 21 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพภาคที่ 1 พร้อมด้วย วรินทร์ อัฐนาค ประธานชมรมโดมเพื่อคุณธรรม เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ศุภชัย ชาติมนตรี รองสว.(สอบสวน) กก.1 บก.ป. เพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม กรณีที่พลทหารบุญฤทธิ์ซึ่งเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ หลังจากไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนทหารเกณฑ์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง สาขาปิ่นเกล้า เหตุเกิด เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา

รัชนก กล่าวว่า วันเกิดเหตุลูกชายเพิ่งลากลับมาอยู่กับตนที่บ้านพักย่านปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย กทม. ช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ก็มีเพื่อนทหารโทรศัพท์มาหาและชักชวนให้ออกไปหาที่ร้านอาหาร จากนั้นไม่นานด้วยความเป็นห่วงตนจึงโทรศัพท์ไปหาลูก ปรากฏมีผู้อื่นรับสายแทน บอกกับว่าลูกหมดสติ ขณะนี้กำลังช่วยกันปั๊มหัวใจ ก่อนจะเงียบหายไป ทำให้รู้สึกตกใจและเป็นห่วง ก็พยายามโทรศัพท์กลับไปหาอีกหลายครั้ง กระทั่งมีคนรับสายบอกกับตนว่าลูกชายถูกส่งตัวไปรักษาตัวที่รพ.เจ้าพระยา จึงรีบเดินทางไปหาทันที

รัชนก กล่าวต่อว่า เมื่อไปถึงก็พบลูกชายอยู่ในสภาพนอนแน่นิ่งอยู่บนเตียงผู้ป่วย มีบาดแผลถูกแทงที่ลำคอข้างซ้าย เหมือนถูกของมีคมแบบปากฉลามบาดอาการสาหัส 

เบื้องต้นลองสอบถามถามจากเพื่อนทหารที่ไปด้วยกันก็ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุพากันออกมาเที่ยวด้วยกันประมาณ 10 คน บางคนหนีออกจากค่ายฯมา หลังนั่งดื่มกันได้ไม่นานก็มีเหตุทะเลาะวิวาทกันขึ้นเองภายในกลุ่ม ซึ่งนอกจากลูกชายของตนแล้ว ก็ยังมีเพื่อนทหารได้รับบาดเจ็บเช่นเดียวกันด้วย แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนลงมือทำ

"หลังเกิดเหตุเข้าแจ้งความที่สน.บางยี่ขันแล้ว แต่ทางตำรวจแจ้งมาว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของทหาร พร้อมขอร้องทางญาติว่าอย่าไปร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ตำรวจจะจัดการคดีนี้เอง โดยลงบันทึกประจำวันไว้เพียงเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้สอบถามไปยังนายทหารยศ พ.ต. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของลูกชาย ก็บอกกับตนเพียงว่า จะนำตัวทหารเกณฑ์ทั้งหมดไปสอบสวน และขอร้องให้ปิดเรื่องนี้ไว้ก่อน ยืนยันว่าจะดูแลคดีให้ รวมทั้งจะช่วยเหลือจ่ายค่าทำขวัญเป็นเงิน 2 แสนบาท แต่ดิฉันไม่ขอรับไว้ โดยจนถึงขณะนี้เรื่องก็เงียบหาย ไม่มีความคืบหน้าใด จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม" แม่พลทหารบุญฤทธิ์ กล่าว

วรินทร์ เปิดเผยว่า คดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่ก้ำกึ่ง ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหารหรือศาลพลเรือน จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ทางกองทัพมีความพยายามจะปกปิดตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ขยายผลหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จึงอยากให้ทางตำรวจ บก.ป.ช่วยสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีนี้ สำหรับศพของผู้เสียชีวิตขณะนี้ทราบว่าได้เก็บไว้ที่วัดบางยี่ขัน โดยญาติจนเก็บศพไว้จนกว่าจะหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

ผกก.บางยี่ขันยัน แจงจับแล้ว 2 หลังทหารต้นสังกัดนำตัวผู้ก่อเหตุมาส่งเพิ่ม

ต่อมา ข่าวสดออนไลน์ รายงาน ความคืบหน้าเมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน (29 ส.ค.61)ที่สน.บางยี่ขัน พ.ต.อ.อรรถวุฒิ นิวาตโสภณ ผกก.สน.บางยี่ขัน ชี้แจงถึงคดีดังกล่าวว่า ทางสน.บางยี่ขัน ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างไร ได้มีการจับตัว ผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุได้แล้ว 1 คน และพนักงานสอบสวนได้ประสานงานกับทางทหาร ให้นำตัวผู้ร่วมก่อเหตุมาส่งให้ และในวันนี้ทางทหารต้นสังกัดได้นำตัวผู้ก่อเหตุ มาส่งพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมอีก 1 ราย ขณะนี้ผู้ร่วมก่อเหตุ ผู้ร่วมก่อเหตุ ทั้ง 2 ราย พนักงานสอบสวนส่งตัวไปฝากขังไว้ที่ศาลทหารแล้ว

"หากมีแค่การลงบันทึกประจำวัน ก็จะไม่สามารถจับใครดำเนินคดีได้ แต่นี่มีการลงเลขคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ก็มีการจับผู้ต้องหาแล้วได้ถึง 2 คน มิได้เป็นการแค่ ให้ลงบันทึกประจำวันแต่อย่างใด" ผกก.สน.บางยี่ขัน กล่าว

ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากกองปราบปราม นายหนึ่ง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้มาติดตามคดีที่สน.บางยี่ขัน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ทางพนักงานสอบสวนสน.บางยี่ขัน สอบสวนพยานไปหลายปากแล้ว

วันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากองปราบ ได้ร่วมสอบปากคำ พยาน ซึ่งเป็นผู้ช่วยครูฝึกรายหนึ่ง ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ขณะนี้คดียังอยู่ในการดำเนินการ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางยี่ขัน

สำหรับกรณีพลทหารบุญฤทธิ์ ถือเป็นรายที่ 2 ในช่วงนี้ที่ปรากฏเป็นข่าว หลังมีการนำเสนอกรณีพลทหารคชา พะยะ ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส มีการสมองบวม ปอดติดเชื้อ ยังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ และมีการไตวาย พร้อมกับดำเนินคดีกับ 3 ทหารเกณฑ์รุ่นพี่รุมซ้อมทรมาน ท่ามกลางการนำเสนอนโยบายอย่างการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคการเมือง การตั้งองค์กรตรวจสอบกองทัพ เป็นต้น

ที่มา โปลิศนิวส์ ข่าวสดออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคประชาสังคมเผย พนักงานบริการไม่มีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายค้าประเวณี

Posted: 29 Aug 2018 03:12 AM PDT

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จวก พม. จัดเวทีรับฟังความเห็นแก้กฎหมายค้าประเวณี แต่แทบไม่มีตัวแทนพนักงานบริการเข้าร่วม ชี้อาจขัดรัฐธรรมนูญ เผยไม่ได้รับเชิญในเวทีรอบสองหลังเสนอให้เพิ่มสัดส่วนพนักงานบริการในการรับฟังความเห็นรอบถัดไป

วันที่ 28 สิงหาคม 2561 มูลนิธิเอ็มพาวร์ร่วมกับองค์กรเครือข่ายและนักกิจกรรม ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่จัดโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) โดยระบุว่า ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม.ได้จัด "ประชุม เพื่อฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อการทบทวนกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ครั้งที่ 1 เมือวันที่ 24 เมษายน 2561 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และผู้สังเกตการณ์ กว่า 200 คน 

กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีบังคับใช้มาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี แล้ว ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย   พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่บังคับใช้เกิน 5 ปี ที่กฎหมายบังคับใช้ หรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการนำเสนอผลการศึกษากฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีของต่างประเทศและมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ แนวทาง และเนื้อหาสาระในการปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย

ทั้งนี้ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนพนักงานบริการได้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว  เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 พบว่าสัดส่วนผู้มาร่วมจาก 200 คน ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ ในส่วนของประชาสังคมมีอยู่เพียง 5 คนจาก 5 องค์กร ทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้เสนอความคิดเห็นในการจัดเวทีในครั้งต่อไปว่า ควรมีชุมชนพนักงานบริการมาร่วมแสดงความคิดเห็น และเปิดช่องทางการแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีพนักงานบริการมากกว่า 300,000 คนในประเทศไทย ต่อมาพบว่าทาง สค.ได้จัดประชุมรับฟังครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 แต่ทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนพนักงานบริการไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม และไม่มีข้อมูลสาธารณะทางเว็ปไซด์จึงไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนพนักงานบริการได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ 

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 77 วรรคสอง บัญญัติว่า "ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผย ผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย แต่ปรากฏว่า ชุมชนพนักงานบริการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกลับไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมวิเคราะห์ ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายปรามการค้าประเวณีที่ผ่านมา 

พวกเราจึงมีความกังวลว่ารายงานความคิดเห็นดังกล่าวที่มีการจัดทำขึ้นนั้น ชุมชนพนักงานบริการยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การดำเนินการของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวในการจัดทำรายงานครั้งนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติตามรัฐธรรมนูญ  อีกทั้งในเดือนกรกฎาคม 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี(CEDAW Committee of Experts)มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (ข้อ 27(a)) เรื่อง ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ยกเลิกความผิดทางอาญาต่อหญิงใน การค้าประเวณี เรามีความเห็นว่าการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของพนักงานบริการเท่านั้นจึงจะทำให้รัฐบาลไทยสามารถที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ยกเลิกความผิดทางอาญาในการค้าประเวณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และผู้ร่วมลงนามท้ายจดหมายนี้จึงขอให้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนชุมชนพนักงานบริการและพนักงานบริการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการทบทวนกฎหมายที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ต่อไป

องค์กรภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวประกอบด้วย 1. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์  และ แคนดูบาร์ 2. มูลนิธิผู้หญิง 3. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ 4. มูลนิธิ ธีรนาถ กาญจนาอักษร 5. เครือข่ายสุขภาพและโอกาส 6. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ 7. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธ์บนพื้นที่สูง 8. นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชนอิสระ 9. ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชนอิสระ 

ชัชลาวัลย์ เมืองใจ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 1 กล่าวกับประชาไทว่าเธอรู้สึกว่าพนักงานบริการเป็นชนกลุ่มน้อยในเวทีดังกล่าว เพราะในบรรดาผู้ร่วมอภิปรายกว่า 200 คน มีตัวแทนของชุมชนพนักงานบริการอยู่เพียง 5 คนเท่านั้น นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจากหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้รูปแบบการแสดงความคิดเห็นก็เป็นคำถามปลายปิด แทนที่จะเป็นการถามถึงปัญหาและความต้องการของพนักงานบริการจริงๆ

"มันไม่ใช่เวทีให้แสดงความคิดเห็นแบบเปิด แต่เน้นความเห็นแค่ใช่หรือไม่ เช่นเขาถามเราว่า 'เห็นด้วยหรือไม่ถ้าจะมีการเก็บภาษีพนักงานบริการ' 'เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการลงทะเบียนพนักงานบริการ' หรือถามว่า 'ถ้าจะมีการจัดระเบียบพนักงานบริการให้จัดระเบียบอย่างไร' คือเขาไม่ได้ถามลงไปถึงแกนของปัญหา ข้อจำกัด หรือความคิดเห็นเราเลยว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง" ชัชลาวัลย์กล่าว

ด้วยความกังวลว่าเวทีดังล่าวจะไม่สะท้อนความเห็นของพนักงานบริการได้มากเพียงพอ ชัชลาวัลย์จึงบอกกับคนจัดงานว่าเวทีครั้งต่อไปควรจะจัดในพื้นที่ที่มีพนักงานบริการอยู่เยอะ เช่นกรุงเทพฯ หรือพัทยา เพื่อให้พนักงานบริการจริงๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความเห็น เธอขอให้ผู้จัดงานแจ้งกับเธอเรื่องการจัดเวทีในรอบที่สอง เพื่อทางมูลนิธิเชิญพนักงานบริการมาเข้าร่วมด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่มีการติดต่อกลับมา
"เราขอเขาว่าให้มีพนักงานบริการจริงๆ เข้ามาฟังด้วย เขาก็รับปากไป แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้รับแจ้ง เราบอกเขาด้วยว่าให้บอกเราถ้าจะจัดเวทีรอบหน้า จะได้พาพนักงานจริงๆ มาร่วม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบกลับ โผล่มาอีกทีคือเราเห็นในเฟสบุ๊คว่าเขาจัดเวทีรอบสองไปแล้ว เราก็เลยคิดว่านี่เป็นประเด็นที่เราต้องตาม เพราะเราเป็นห่วงว่าทิศทางของเวทีเสวนาอาจจะไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานบริการจริงๆ" ชัชลาวัลย์กล่าว

หนึ่งในข้อเรียกร้องของคณะกรรมการ CEDAW ต่อรัฐบาลไทยคือให้ยุติการล่อซื้อพนักงานบริการทุกรูปแบบ
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

งานวิจัยเผย ก๊าซ CO2 สูงทำสารอาหารพืชลด คาด คน 175 ล้านเสี่ยงทุพโภชนาการ

Posted: 29 Aug 2018 03:09 AM PDT

งานวิจัยจากฮาร์วาร์ดในวารสารประเด็นโลกร้อนระบุ สารอาหารในพืชผลลดลงในที่ๆ มีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมาก หากยังคงสภาพเดิมต่อไปอาจกระทบ 175 ล้านคนอาจขาดธาตุเหล็ก-สังกะสี  ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ทวีปเอเชีย-แอฟริกา โดนหนัก

ที่มาภาพ (pixabay)

28 ส.ค. 2561 งานวิจัยล่าสุดนำโดยวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที.เอช. ชาน เปิดเผยว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นจากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์กำลังทำให้พืชผลที่เป็นอาหารหลักต่างๆ เช่น ข้าว และข้าวสาลี มีปริมาณสารอาหารลดลง  โดยงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสารเกี่ยวกับโลกร้อน 'เนเจอร์ไคลเมทเชนจ์' (Nature Climate Change) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา

มีการประเมินว่าการที่พืชผลมีสารอาหารลดลงเช่นนี้อาจส่งผลในระยะยาว ทำให้ภายในปี 2593 ประชากรโลก 175 ล้านคนจะเกิดภาวะขาดแร่ธาตุสังกะสี และประชากร 122 ล้านคนเกิดภาวะขาดโปรตีนได้ งานวิจัยดังกล่าวระบุอีกว่าผู้หญิงและเด็กมากกว่า 1,000 ล้านคน มีโอกาสได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอในแต่ละวันจนทำให้เกิดความเสี่ยงโรคโลหิตจางและโรคอื่นๆ ได้

งานวิจัยคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2593 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงถึง 550 ในล้านส่วน ทำให้ผู้คนขาดสารอาหารดังกล่าวและผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารอยู่แล้วอาการอาจจะแย่ลง โดยประเทศที่น่าจะได้รับผลมากที่สุดคืออินเดีย ในภูมิภาคอื่นๆ คือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

แซม ไมเออร์ส ผู้นำการวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า การวิจัยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มนุษย์กระทำในชีวิตประจำวันนั้นส่งผลต่อเรื่องสารอาหารในพืชผลและสุขภาวะของผู้คนในอนาคตได้

ในปัจจุบันมีประชากรโลก 2,000 ล้านคนที่มีภาวะขาดสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะได้สารอาหารหลักๆ มาจากพืชไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ธาตุเหล็ก และสังกะสี แต่การสำรวจก็พบว่าก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำให้พืชมีสารอาหารน้อยลง โดยการสำรวจในพื้นที่ๆ มีคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมสูง 550 ในล้านส่วน (ppm - หน่วยวัดค่ามลพิษในอากาศต่ออากาศจำนวนหนึ่งล้านส่วน) พบว่าสารอาหารในพืชทั้งโปรตีน เหล็ก และสังกะสี ลดลงร้อยละ 3-17 เมื่อเทียบกับพื้นที่ๆ มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 400 ในล้านส่วนเล็กน้อย

นักวิจัยได้ทำการสำรวจในเรื่องดังกล่าวใน 151 ประเทศ ร่วมกับการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับการได้รับสารอาหารไม่ว่าจะเป็นอายุหรือเพศโดยทำการสำรวจในอาหาร 225 ชนิด เป็นการขยายผลจากงานวิจัยเดิมที่เคยวิจัยเรื่องเดียวกันแต่สำรวจจำนวนชนิดอาหารและจำนวนประเทศที่น้อยกว่า

เรียบเรียงจาก

As CO2 levels climb, millions at risk of nutritional deficiencies, Phys, Aug. 27, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น