ประชาไท Prachatai.com |
- ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมหัวใจหยุดเต้น แพทย์เผยโอกาสรอดน้อย ทหารบอกญาติอย่าให้เป็นข่าว
- แลรี่ ไดมอนด์: ประชาธิปไตยโลกที่ถดถอย กับบันไดเผด็จการ 12 ขั้น
- กสม. ห่วงคนตาพิการงานไม่ก้าวหน้า เหตุขาดข้อสอบอักษรเบรลล์สอบเลื่อนตำแหน่ง
- เลขาธิการ กกต. เผยเตรียมตั้งวอร์รูม คุมเนื้อหาการหาเสียงออนไลน์
- 'ฝ่ายความมั่นคง' ยันจับตากลุ่มการเมืองเสมอ หลังป้าย 'ไม่ต้อนรับเผด็จการ คสช.' โผล่หน้า ม.เกษตรฯ
- สหภาพนิสิต-นศ. หวังมอบซุปไก่สกัดให้ รมต.ศึกษาธิการ ประท้วงกฎตีกรอบพฤติกรรม นศ.
- เกาหลีเหนือ-ใต้ จัดงานรวมญาติในรอบ 3 ปี ส่งสัญญาณความสัมพันธ์อันดีของสองประเทศ
- เอกชัยเผยกระดูกฝ่ามือซ้ายแตก บอกยังดีที่มันเหลืออีกข้างไว้ ด้านศูนย์ทนายฯ ประณามการใช้ความรุนแรง
- ความแตกหักในโลกพลิกผัน I 70 ปี รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
- ไมโครซอฟท์เผย แฮ็กเกอร์รัสเซียทำเว็บล่อลวงข้อมูลก่อนเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ
ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมหัวใจหยุดเต้น แพทย์เผยโอกาสรอดน้อย ทหารบอกญาติอย่าให้เป็นข่าว Posted: 22 Aug 2018 10:39 AM PDT Submitted on Thu, 2018-08-23 00:39 ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมอาการสาหัส แพทย์ระบุหัวใจหยุดเต้นยังใส่เครื่องช่วยหายใจ ค่ายทหารรับสารภาพภายหลังว่าถูกรุ่นพี่ซ่อม ขอญาติอย่าให้เป็นข่าว พร้อมจะดูแลช่วยเหลืออย่างดี ประชาไทเผยข้อมูลย้อนหลัง 11 ปี มีทหารเสียชีวิตแล้ว 14 นาย ถูกซ่อม สั่งทำโทษอย่างเด่นชัด 8 นาย 22 ส.ค. 2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากน้าสาวของพลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดหน่วยทหารแห่งหนึ่งใน จ.ลพบุรี ว่า เมื่อกลางดึกวันที่ 21 ส.ค. แฟนสาวของเพื่อนหลานโทรมาบอกกับภรรยาของหลานว่า หลานเข้าโรงพยาบาล โดยมีการหัวใจหยุดเต้น แต่ไม่แจ้งว่าเกิดจากสาเหตุอะไร พ่อของหลานจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ค่าย มีนายทหารคนหนึ่งรับสาย แต่ไม่ทราบรายละเอียด บอกแค่ว่าไปส่งโรงพยาบาลแล้ว ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมงก็มีนายทหารอีกคนหนึ่งโทรมาหาพ่อหลานว่า หลานกำลังจัดสัมภาระเตรียมจะเข้าป่าไปฝึก แล้วอยู่ดีๆ หลานก็น็อก จึงนำส่งโรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งห่างจากค่ายประมาณ 15 นาที น้าพลทหารคชา กล่าวต่อว่า ต่อมาประมาณตี 2 วันที่ 22 ส.ค. คุณหมอได้โทรมาบอกกับพ่อและแม่ของหลานว่า หลานหัวใจหยุดเต้น ได้ทำการปั๊มหัวใจมา 15 นาทีแล้ว ถ้าปั๊มแล้วยังไม่ขึ้นจะให้ปั๊มต่อหรือไม่ เพราะเขากลัวว่าซี่โครงจะหัก พ่อกับแม่ก็ยืนยันว่าให้ปั๊มจนกว่าหัวใจจะเต้น จากนั้นแม่และภรรยาของหลานได้เดินทางไปถึงโรงพยาบาลประมาณ 6 โมงเช้า พบว่าหลานอยู่ในห้องไอซียู และใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งคุณหมอบอกว่าโอกาสรอดมีแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ และให้แม่ทำใจ ถ้าฟื้นขึ้นมาอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะสมองขาดออกซิเจนนาน เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นไป 2-3 ครั้ง ตอนมาถึงโรงพยาบาลก็มีอาการไตวายด้วย น้าพลทหารคชา กล่าวอีกว่า แม่ได้เข้าไปหาหลานที่ห้องไอซียู หลานก็ลืมตามอง และน้ำตาไหล ก่อนหลับไป แต่ยังขยับร่างกายไม่ได้ จากนั้นช่วงสาย พ่อหลานก็โทรไปหานายทหารคนหนึ่งซึ่งมียศพันโทว่า น้องไม่น่าน็อคไปเอง เพราะไม่มีโรคประจำตัว และเป็นคนแข็งแรง อยู่ดีๆ จะน็อคไปได้อย่างไร นายทหารคนดังกล่าวก็ยอมรับกับพ่อว่ามีพลทหารรุ่นพี่ 3 คน ทำการซ่อมหลานจริง เขาจับทั้ง 3 คน ขังคุกทหารไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินคดีอะไร เบื้องต้นทั้ง 3 คน รับสารภาพว่าซ่อมรุ่นน้องจริง นายทหารคนดังกล่าวก็บอกว่าจะรักษาและดูแเลเต็มที่ แต่ไม่อยากให้เป็นข่าว น้าพลทหารคชา กล่าวว่า พี่สาวของตนซึ่งเป็นแม่หลานบอกว่า ได้จับตัวน้องพลิกดูเบื้องต้นพบว่าตามหน้าอกและเอวมีรอยบวมขึ้นมา แต่แม่ไม่กล้าดูเยอะ เพราะทำใจไม่ได้ หลังจากที่เข้าไปเยี่ยมรอบแรกยังสามารถถ่ายรูปหลานได้ แต่ต่อมากลับมีทหารเข้ามายืนคุมไม่ให้ถ่ายรูป ตอนนี้อาการหลานยังทรงตัว และต้องรอดูอาการไปเรื่อยๆ ทางครอบครัวก็ร้อนใจ เพราะเห็นว่าหลานไม่ดีขึ้นเลย และอยากย้ายไปโรงพยาบาลอื่น แต่นายทหารคนดังกล่าวก็เกลี้ยกล่อม แล้วถามว่า แม่จะมีเงินรักษาเหรอ และพูดจาเหมือนกับว่าน้องจะไม่ฟื้น น้าพลทหารคชา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่หลานเข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2560 ก็ยังไม่เคยมีเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว หลานลากลับมาพักที่บ้าน แล้วมีรุ่นพี่วิดีโอคอลมาหาและตามให้กลับก่อนกำหนด แต่หลานไม่ได้ไป รุ่นพี่ก็สั่งให้วิดพื้นทั้งที่อยู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นหลานกำลังนั่งกินข้าวอยู่กับครอบครัวด้วย ตนรู้สึกว่าอาจจะมีการไม่ชอบกันหรือข่มกันหรือเปล่า "เห็นข่าวลักษณะนี้มาเยอะ ไม่คิดว่าจะมาเจอกับครอบครัวตัวเอง ตอนนี้มีทนายคนหนึ่งติดต่อมาว่าจะช่วยทำเอกสารให้และจะพาไปร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี สำหรับเรื่องคดีความก็อยากให้เป็นไปตามกฎหมาย และเอาผิดกับคนกระทำให้ได้ เพราะทำกันเกินไป" น้าพลทหารคชากล่าว ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ ปี 2550 เป็นต้นมา มีทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหาร เสียชีวิตในขณะที่อยู่ในค่ายทหารแล้วทั้งหมด 14 นาย (เฉพาะที่ปรากฎเป็นข่าว) เป็นกรณีที่ถูกซ้อมทรมานโดยครูฝึกทหาร ทหารเกณฑ์รุ่นพี่ และเสียชีวิตระหว่างฝึกหรือถูกทำโทษ ซึ่งมีข้อมูลปรากฎอย่างเด่นชัดทั้งหมด 8 นาย ตารางการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ และนายทหารในระดับอื่นๆ เรียงตามปี พ.ศ.
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แลรี่ ไดมอนด์: ประชาธิปไตยโลกที่ถดถอย กับบันไดเผด็จการ 12 ขั้น Posted: 22 Aug 2018 09:20 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 23:20 แลรี่ ไดมอนด์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชื่อดัง วิเคราะห์ สถานการณ์ประชาธิปไตยย่ำแย่ทั่วโลก จำนวน-มาตรฐานประเทศประชาธิปไตยลดลงในวันที่สหรัฐฯ - ยุโรปรามือ แต่จีน-รัสเซียโดดเด่น เปิดหลัก 12 ประการของเผด็จการ ผลร้ายของโซเชียลมีเดีย ระบุ เผด็จการพลเรือนหรือทหารก็เผด็จการเหมือนกัน แลรี่ ไดมอนด์ 22 ส.ค. 2561 สถาบันพระปกเกล้าจัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "เราจะรับมือกับวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยโลกได้อย่างไร" บรรยายโดย ศ.แลรี่่ ไดมอนด์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันฮูเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เจ้าของหนังสือ In Search of Democracy ที่เขียนวิเคราะห์สถานการณ์ของระบอบประชาธิปไตยในระดับโลกในเชิงคุณภาพและความมีประสิทธิภาพของระบบธรรมาภิบาล ว่าด้วยคุณภาพประชาธิปไตย แนวโน้มโลกที่ถดถอยมาแล้ว 12 ปีแลรี่เน้นย้ำว่า เมื่อนึกถึงประชาธิปไตยนั้นจะไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งถือเป็นขั้นต่ำ ประชาธิปไตยคือการมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ประชากรสามารถเลือกและถอดถอนคนที่เลือกได้ กล่าวคือ อธิปไตยของประชากรคือองค์ประกอบขั้นต่ำสุด แต่ประชาธิปไตยในระดับที่มีคุณภาพสูงขึ้นหรือที่ตนเรียกว่าประชาธิปไตยเสรี (Liberal Democracy) จะต้องมีรัฐบาลที่เคารพสิทธิของเสียงส่วนน้อย เสรีภาพของปัจเจก กลุ่ม องค์กร เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงมีธรรมาภิบาล มีองค์กรอิสระตรวจสอบหลายด้าน มีการตรวจสอบและคานอำนาจเพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ นักวิชาการอาวุโสชื่อดังยังให้ข้อมูลเรื่องระดับเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ลดลงในภาพรวมของโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีประชาธิปไตยของฟรีดอมเฮาส์ เอ็นจีโอที่ทำดัชนีจัดอันดับประชาธิปไตย สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองของประเทศต่างๆ ในโลกมาตั้งแต่ปี 2515 พบว่าการขยายตัวของประชาธิปไตยในช่วงปี 1974 - 2017 ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามบริบทโลก ช่วงกลางปี 2513-2523 จำนวนประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนค่อยๆ กลายสภาพเป็นประชาธิปไตยทั้งในแบบ ในช่วงปี 2531 จำนวนประเทศเกือบ 1 ใน 3 ในโลกเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนำมาซึ่งการกลายสภาพช่วงปี 2532 ไปจนถึงทศวรรษ 2540 เกิดกระแสการขยายตัวของประชาธิปไตยอย่างมากในเวลาต่อมา ทั้งนี้ แม้หลายประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ประเทศเหล่านั้นก็ไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ หลักนิติรัฐ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยแบบเสรี มีหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของประชาธิปไตยกับเสถียรภาพประชาธิปไตย การรัฐประหารทั้งที่เกิดด้วยน้ำมือทหารและฝ่ายบริหารมักเกิดในประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ว่าจะเกิดจากทหารหรือฝ่ายบริหาร ช่องว่างนี้น่ากังวลเพราะมันแสดงให้เห็นว่า โอกาสความล้มเหลวของประชาธิปไตยนั้นสูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวของประชาธิปไตย ดัชนีของฟรีดอมเฮาส์ในปี 2549 ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของประชาธิปไตยหยุดลงและค่อยๆ ลดลง หลังจากนั้นก็อยู่ในช่วง 12 ปีซึ่งตนเรียกช่วงดังกล่าวว่าเป็นช่วงประชาธิปไตยตกต่ำ จำนวนประชาธิปไตยที่ล้มเหลวมีมากกว่าการเปลี่ยนผ่านที่สำเร็จ การเคารพสิทธิทางการเมือง หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชนน้อยลง คำถามก็คือ ตอนนี้การตกต่ำของประชาธิปไตยได้ไต่ไปถึงระดับที่เรียกว่าวิกฤติประชาธิปไตยแล้วหรือยัง แลรี่พูดถึงองค์ประกอบที่เป็นทิศทางด้านลบของสภาพประชาธิปไตยในโลกว่ามีหลายประการ ได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความเป็นเสรีประชาธิปไตยน้อยลง ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเมื่อการเลือกตั้งนำมาซึ่งการเถลิงอำนาจของผู้นำสายเผด็จการนิยมเช่นในฟิลิปปินส์ บราซิล เปรู ส่วนบางประเทศนั้นประชาธิปไตยก็ล้มเหลวลง เช่น ฮังการี ตุรกี ไทย บังกลาเทศ แซมเบีย และมีประเทศที่มีระบอบเผด็จการแบบแข่งขัน หมายความว่า เหมือนจะมีการแข่งขัน เหมือนจะมีประชาสังคมตรวจสอบแต่ก็มีพรรครัฐบาลนำอย่างเดียวแถมยังตัดประสิทธิภาพการแข่งขันของฝ่ายค้าน เช่น กัมพูชา อูกันดา ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ สหรัฐฯ และเกรงว่ารวมถึงยุโรปด้วย ไม่ได้ลุกขึ้นมีท่าทีกับระบอบที่กดขี่อย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน เผด็จการทั่วโลกอย่างเช่นในอูกันดาและกัมพูชาเห็นเช่นนั้นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ไม่มีใครมากดดัน และมีอิสระในการปกครอง จัดการฝ่ายค้านได้ แลรี่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ความศรัทธาของประชาชนต่อประชาธิปไตยและโครงสร้างภายใต้ระบอบประชาธิปไตยน้อยลงจากความล้มเหลวของระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ภาวะขาดการตรวจสอบและคานอำนาจ การเกิดขั้วของคนที่มีแนวคิดหรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ได้มีน้ำอดน้ำทันซึ่งกันและกัน ไปจนถึงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยล้มเหลวทั้งสิ้น เผด็จการก้าวขึ้น ประชาธิปไตยก้าวลงในประเด็นการผงาดขึ้นมาของรัฐเผด็จการอย่างรัสเซียและจีน แลรี่กล่าวว่า จีนและรัสเซียมีความพยายามในการขยายอำนาจทั้งในด้านภาพลักษณ์เชิงบวกผ่านวัฒนธรรม (Soft Power) และอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ตอนนี้จีนขยายตัวทางวัฒนธรรมหลายด้าน เช่น ให้ทุนมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้มีการจัดสอนภาษาจีน แต่การรับทุนก็มีข้อบังคับคือนักเรียนภาษาจีนห้ามพูดเรื่องธิเบตหรือซินเจียง จัดตั้งสถาบันขงจื่อเพื่อโปรโมตด้านบวกของจีน มีการสร้างสื่อของรัฐ ซื้อสตูดิโอหนัง สื่อ หรือบริษัทไอทีของสหรัฐฯ ส่วนทางรัสเซียก็มีความพยายามแฮ็กฐานข้อมูลงานการเมือง ใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นอาวุธ ปั่นป่วนโลกโซเชียลมีเดียเพื่อทำสร้างสงครามข้อมูลข่าวสารกับสหรัฐฯ หลัก 12 ข้อของระบอบเผด็จการตามคำบรรยายและสไลด์ของแลรี่
ในทางกลับกัน ภาวะคุณค่าประชาธิปไตยและความมั่นใจในตัวเองของสหรัฐฯ และยุโรป ถดถอยลง ซึ่งแลรี่วิเคราะห์ว่ามีสาเหตุจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นทั้งระหว่างชนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม ไม่มีความมั่นคงในทางวัฒนธรรม สูญเสียอธิปไตยเมื่อโลกาภิวัฒน์ทำให้สินค้า ข้อมูลและมนุษย์เลื่อนไหลอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ไปจนถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะกดดันประเทศที่มีระบอบเผด็จการนิยมลดน้อยลง ทั้งหมดนี้ทำให้กระแสไม่พอใจประชาธิปไตยในสหรัฐฯ มีมากขึ้น ซึ่งเขาเห็นว่าสหรัฐฯ ชาติพันธมิตรทั้งในซีกโลกตะวันตกและที่อื่น เช่น ญี่ปุ่น ไม่สามารถลดบทบาทอิทธิพลทางแนวคิดระบอบประชาธิปไตยลงได้ เพราะการลดบทบาทที่สวนทางกับการขึ้นมาของจีนจะทำให้การถดถอยของประชาธิปไตยยิ่งย่ำแย่ลง คนไม่พอใจเสรีนิยมเยอะขึ้น + โซเชียลมีเดีย = อยู่ใครอยู่มันมากขึ้น น้ำอดน้ำทนน้อยลงแลรี่กล่าวถึงอีกหนึ่งกระแสที่สะท้อนความถดถอยของประชาธิปไตยคือ การเพิ่มขึ้นของประชาชนที่ไม่เอาแนวคิดเสรีนิยม ต่อต้านชนชั้นนำ ไม่ยอมรับความแตกต่างอันเป็นฐานรากของประชาธิปไตยแบบเสรีและไม่เอาโลกาภิวัฒ นอกจากนั้น การกำเนิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้พื้นที่สื่อที่มีร่วมกันหายไป สื่อกระแสหลักไม่ใช่คนกำหนดการรับรู้เพียงผู้เดียวแล้ว ไม่มีฉันทามติใดๆ บนข้อมูลหนึ่งชุด ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วจะมีการสานเสวนาด้านการเมืองหรือนโยบายอย่างไรถ้าแต่ละคนยังเชื่อข้อเท็จจริงคนละชุด การทำงานของประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่ลำบาก อีกทั้งระบบจัดการข้อมูลในโซเชียลมีเดียทำให้คนเห็นแต่ข้อมูลที่ตัวเองเห็นด้วยหรือที่เรียกว่าห้องเสียงสะท้อน (Echo Chambers) กลายเป็นการตอกย้ำความเชื่อ ความคิดเห็นของตัวเอง แถมแรงจูงใจในการปล่อยข้อมูลที่สุดโต่งมีมาก เพราะการทำเช่นนั้นทำให้ไวรัลแล้วมีคนติดตามมากขึ้นมากกว่าการพูดข้อเท็จจริง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอยู่ใกล้กับสำนักงานของเฟซบุ๊กและกูเกิลและทางมหาวิทยาลัยได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอยู่เป็นระยะ ซึ่งก็พบว่าพวกเขากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่งบนคำถามว่า จะหารายได้จากโฆษณาอย่างไร และเมื่อรายได้โฆษณาขึ้นอยู่กับว่ามีผู้ชมโฆษณากี่คนในแบบที่คล้ายกับสื่อวิทยุโทรทัศน์ โมเดลทางธุรกิจของสื่อโซเชียลจึงกลายเป็นการสร้างความสนใจผ่านแพลตฟอร์ม ด้วยฐานที่อยากให้ผู้ชมติดอยู่กับเนื้อหาที่นำเสนอบนแพลตฟอร์มมากที่สุด แต่การทำเช่นนั้นก็กลายเป็นการทำให้มีเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจผ่านความรุนแรง ข้อมูลเท็จ ความเห็นที่เข้มข้นสุดโต่ง และนั่นเป็นการทำให้ขั้วของความเห็นที่ต่างกันเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเขาเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อบนในยุคโซเชียลมีเดียด้วย ต่อคำถามของผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเผด็จการพลเรือนแย่กว่าเผด็จการทหาร แลรี่ตอบว่าเผด็จการก็คือเผด็จการไม่ว่าจะรูปแบบไหน โดยยกตัวอย่างตุรกี ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกาน ที่ปัจจุบันไล่ข้าราชการทหารและพลเรือนออกถึง 130,000 คนเพราะกลัวว่าอำนาจตัวเองจะถูกโค่นล้ม มีนักโทษการเมืองติดคุกอีกหลักพัน ส่วนตัวไม่ได้เห็นชอบกับการที่ไทยมีรัฐบาลทหารและหวังว่าระบอบรัฐบาลทหารในไทยจะจบลงแล้วไม่เกิดขึ้นอีก คิดว่าคนไทยและกองทัพก็รู้ว่ารัฐบาลทหารไม่สามารถปกครองประเทศได้ตลอดไป ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กสม. ห่วงคนตาพิการงานไม่ก้าวหน้า เหตุขาดข้อสอบอักษรเบรลล์สอบเลื่อนตำแหน่ง Posted: 22 Aug 2018 09:03 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 23:03 กสม. ห่วงคนพิการทางสายตาเข้าไม่ถึงสิทธิความก้าวหน้าในการทำงานเหตุขาดข้อสอบอักษรเบรลล์ในการสอบเลื่อนตำแหน่ง ชมสถาบันการเงินบางแห่งวางระเบียบเอื้อคนพิการทางสายตาทำธุรกรรมการเงินได้สะดวก ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข 22 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเครือข่ายคนพิการทำให้ได้ทราบถึงความก้าวหน้าที่น่าชื่นชมในการอำนวยการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทางสายตาของสถาบันการเงินบางแห่งมีการวางระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของคนพิการหลายประการ อาทิ การให้เจ้าหน้าที่ประจำสาขาเป็นพยานรับรองการเปิดบัญชีของคนพิการทางสายตาแทนญาติได้ การให้สิทธิคนพิการกู้ยืมเงินและซื้อขายหุ้นโดยไม่นำเหตุแห่งความพิการมาเป็นข้อพิจารณาในการกู้ยืมเงินและเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น หรือ การอนุญาตให้คนพิการทางสายตาสามารถใช้ลายนิ้วมือหรือภาพถ่ายแทนการลงลายมือชื่อในการทำบัตรเอทีเอ็ม ซึ่งช่วยอำนวยการเข้าถึงสิทธิของคนพิการได้มาก ประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุฯ หวังว่า สถาบันการเงินทุกแห่งจะสามารถให้บริการแก่คนพิการทางสายตาได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีเทคโนโลยีที่คนพิการทางสายตาสามารถเข้าถึงได้ เช่น อักษรเบรลล์ หนังสือเสียง และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงการให้บริการธุรกรรมการเงินแก่คนพิการที่สะดวกมากขึ้น ฉัตรสุดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นห่วงกังวลต่อการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทางสายตา คือ การจัดสอบภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้าในการรับราชการของหน่วยงานราชการภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) บางแห่ง ซึ่งยังไม่มีข้อสอบอักษรเบรลล์เพื่อให้คนพิการทางสายตาสามารถเข้ารับการทดสอบและนำผลการสอบไปใช้ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ทำให้คนพิการทางสายตาเข้าไม่ถึงสิทธิความก้าวหน้าในการรับราชการ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งนี้ เพื่อให้การอำนวยการเข้าถึงสิทธิของคนพิการเป็นไปอย่างทัดเทียมเสมอภาคกับคนทั่วไป และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งมีหลักการเช่นว่า คนพิการมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเฉพาะต่อประเด็นการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทางสายตาเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เลขาธิการ กกต. เผยเตรียมตั้งวอร์รูม คุมเนื้อหาการหาเสียงออนไลน์ Posted: 22 Aug 2018 08:24 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 22:24 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยเตรียมกรอบความผิดในการหาเสียงออนไลน์ พร้อมตั้งทีมพิเศษจัดการเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิด ปฏิเสธไม่เคยเสนอแก้ไพรมารีโหวต เพียงแค่พิจารณาแนวทางที่รัฐบาลเสนอมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แฟ้มภาพเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง 22 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด การคิดค่าใช้จ่าย โดยในช่วงต้นอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย ภายหลังการประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า จากหลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ สามารถออกระเบียบรองรับได้ทันที ซึ่งเนื้อหาโดยรวมจะกำหนดขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัครว่าจะดำเนินการในลักษณะใดได้บ้าง และต้องแจ้งต่อ กกต. ล่วงหน้า ต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมกรณีการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียโดยนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบ "เว้นแต่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต.ได้ จากนั้น กกต.จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบภายใน 1 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.จะลบข้อความเอง อย่างไรก็ตาม แม้จะลบข้อความไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าความผิดจะหายไปด้วย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ต้องรับผิดทางอาญา และหากมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตจนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งต้องเสียไปก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย" เลขาธิการกกต. กล่าว พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ในช่วงที่จะเลือกตั้ง จะตั้งวอร์รูมพิเศษซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนมามอนิเตอร์เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่แม้ยังไม่ตั้งวอร์รูม ข้อมูลที่ส่งผ่านทางอิเล็คทรอนิกส์จะถูกบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วยและสามารถค้นหาต้นตอผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลได้ ส่วนค่าใช้จ่ายการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคิดคำนวณ กกต. จึงมอบให้ แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ที่รับผิดชอบงานด้านพรรคการเมืองพิจารณารูปแบบต่อไป ด้าน อิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ได้มอบนโยบายระหว่างการประชุม โดยแสดงความเป็นห่วงว่าในอนาคตการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้น จึงหวังให้คณะกรรมการชุดนี้ดูแลอย่างเต็มที่ เผย กกต. ไม่เคยเสนอให้แก้ไพรมารีโหวต เพียงแค่รับแนวทางที่เสนอมานอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า กกต.ไม่เคยเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำไพรมารีโหวต เพราะขณะนี้เตรียมการสำหรับการดำเนินการไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้วและเป็นแนวทางเดียวที่กกต.ดำเนินการมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นคงไม่ขอให้คลายล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้ 100 คน เพื่อทำกระบวนไพรมารีโหวตและแบ่งเขตเลือกตั้ง หลังจากที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ครบ 90 วัน "หากเปลี่ยนวิธีทำไพรมารีโหวต ไม่ใช่ข้อเสนอของกกต.แน่นอน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำแนวทางที่แก้ไขจากการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมส่งให้ กกต.พิจารณา ซึ่ง กกต.ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางที่ส่งมาเท่านั้น ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่จะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องเป็นผู้ตอบ เพราะหลายพรรคบอกว่าสามารถทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองได้" เลขาธิการกกต. กล่าว ไทม์ไลน์เฟซบุ๊กปล่อยข้อมูลรั่ว 50 ล้านคน จากแอพฯ ทายบุคลิกสู่ผลเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ เรื่องน่ารู้จากดราม่า 'เฟซบุ๊ก' ข้อมูลรั่วให้บริษัทรณรงค์หาเสียงให้ 'ทรัมป์' ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากประเด็นเรื่องเนื้อหาที่เป็นการใส่ร้ายและค่าใช้จ่ายการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียที่ กกต.ไทยดูเหมือนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเด็นโซเชียลมีเดียกับการรณรงค์ทางการเมืองที่เป็นประเด็นระดับสากลคือกรณีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลชาวอเมริกัน 50 ล้านคน รั่วไหลจากเฟซบุ๊ก ไปยังบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2559 และไปใช้เป็นฐานข้อมูลวิเคราะห์จริตฐานเสียงส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จนต่อมา มาร์ค ซักเกอเบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ต้องออกมาขอโทษและแจงมาตรการป้องกันเหตุในอนาคต และยังส่งผลให้หุ้นของเฟซบุ๊กตกลงร้อยละ 7 ทำให้มูลค่าของบริษัทไอทีแห่งนี้สูญไป 37,000 ล้านดอลลาร์ด้วย
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
'ฝ่ายความมั่นคง' ยันจับตากลุ่มการเมืองเสมอ หลังป้าย 'ไม่ต้อนรับเผด็จการ คสช.' โผล่หน้า ม.เกษตรฯ Posted: 22 Aug 2018 06:58 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 20:58 โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ หลังวานนี้มีคนติดป้าย ข้อความว่า "ไม่ต้อนรับเผด็จการ คสช." ติดสะพานลอย หน้า ม.เกษตรศาสตร์ 22 ส.ค.2561 จากกรณีวานนี้ (21 ส.ค.61) ช่วงเย็น เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' โพสต์ภาพประท้วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ข้อความว่า "ไม่ต้อนรับเผด็จการ คสช." ถูกติดไว้ที่สะพานลอยประตูงามวงศ์วาน 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาไม่นานมีผู้แจ้งว่าป้ายดังกล่าวถูกปลดแล้วนั้น ล่าสุดวันนี้ (22 ส.ค.61) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกลุ่มคนคิดเห็นต่างที่ติดป้ายผ้าประท้วง คสช.ดังกล่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ และบังคับใช้กฎหมายปกติเพื่อป้องกันปัญหาและเกิดเงื่อนไขความขัดแย้ง "ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและคิดเห็นต่างได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายต้องไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น กลุ่มที่แขวนป้ายผ้าดังกล่าวนั้นคงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเรากำลังเข้าสู่โหมดการเมือง เป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี วันนี้งานด้านความมั่นคงเริ่มนิ่ง และมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจะเดินหน้าต่อไปได้" โฆษกกระทรวงกลาโหม สำหรับโพสต์ดังกล่าวของเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' ระบุพร้อมโพสต์ภาพป้ายประท้วง คสช. ด้วยว่า กลุ่มขอยืนยันว่าเผด็จการไม่ควรมีที่ยืนในสังคม เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาเป็นประธานเปิดการประชุมการป่าไม้ ประจำปี 2561 ในหัวข้อ การปฏิรูปการป่าไม้แห่งชาติ "พวกเราในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมเกษตรศาสตร์ เห็นว่าการแสดงออกซึ่งการไม่ต้อนรับเผด็จการ ถือเป็นหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่พึงกระทำ" เพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' ระบุ จากนั้นวันเดียวกัน (21 ส.ค.61) เวลาต่อมา เพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' โพสต์แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มากิจกรรมดังกล่าวแล้ว
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
สหภาพนิสิต-นศ. หวังมอบซุปไก่สกัดให้ รมต.ศึกษาธิการ ประท้วงกฎตีกรอบพฤติกรรม นศ. Posted: 22 Aug 2018 06:09 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 20:09 สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงศึกธิการ พร้อมเตรียมซุปไก่สกัดมามอบ หวังให้รัฐมนตรีคิดไตร่ตรองให้ดีก่อน และชวนลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก่อนจะแก้ไข 22 ส.ค. 2561 ตัวแทนสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดย เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดต่อความคืบหน้าที่ทางกลุ่มได้มายื่นหนังสือคัดค้าน และของให้ยกเลิกการแก้ไขกฎกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเตรียมกระเช้าซุปไก่สกัดเพื่อมอบให้กับ นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย โดยหวังว่าจะช่วยเสริมความคิด และกระบวนการไตร่ตรองให้กับรัฐมนตรี แต่ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการขอไม่รับกระเช้าดังกล่าวไว้ เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจาก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 ซึ่งมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา โดยกำหนดให้มีการแก้ไขดังนี้ 1. กำหนดเพิ่มเติม "ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม" อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน 2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมจากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า "ในที่สาธารณะ" ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย 3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า "เวลากลางคืน" ออก ร่างกฎกระทรวงมีกำลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้นำมาซึ่ง ความกังวลใจนักศึกษาหลายกลุ่ม เพราะเป็นการเขียนที่เปิดโอกาสให้ตีความได้กว้าง โดยเฉพาะในข้อ 1 ซึ่งอาจจะหยิบมาใช้เพื่อควบคุม หรือลิดรอนเสรีภาพในการรวมตัวทางการเมือง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นักกิจกรรม ที่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และใน ข้อ 2-3 ถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงการใช้ชีวิตส่วนตัว ฟังมุม นศ. หลัง ครม.แก้กฎกระทรวง ห้าม นร.- นศ. รวมกลุ่มขัดความสงบ ศีลธรรม-ชู้สาว-เที่ยวเตร่ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา ค้านกฎกระทรวง ศธ. ระบุเสี่ยงต่อการเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2561 สนท. ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก กรณีร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา เรื่อง ข้อเรียกของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถึงนายกรัฐมนตรี (ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการยกเลิกร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นเจ้าของชีวิตของตน ในตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษา แล้ว ขณะที่วันนี้ทางกลุ่ม ได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการมีกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งเชิญรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ในวันที่ 31 ส.ค. นี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เบื้องต้นทางกระทรวงรับปากว่าจะมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็น ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เกาหลีเหนือ-ใต้ จัดงานรวมญาติในรอบ 3 ปี ส่งสัญญาณความสัมพันธ์อันดีของสองประเทศ Posted: 22 Aug 2018 03:04 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 17:04 แม่ที่พลัดพรากจากลูกตั้งแต่อายุสี่ขวบ น้องสาวกับพี่สาวที่หนีออกนอกประเทศหลังพ่อถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร และคุณแม่วัย 99 ปีกับลูกสาวสองคน ได้พบกันเป็นครั้งแรกในงานรวมญาติที่รัฐบาลสองเกาหลีร่วมกันจัด มุนแจอินเผยมีชาวเกาหลีใต้กว่าสามพันคนตายลงทุกปีโดยไม่ได้ข่าวญาติตัวเองในเกาหลีเหนือ วันที่ 20 สิงหาคม 2561 สำนักข่าว Asia Times รายงานว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ร่วมกันจัดงานรวมญาติให้กับครอบชาวเกาหลีที่ต้องพลัดพรากจากกันหลังการแยกประเทศในปี 1953 ณ รีสอร์ตแห่งหนึ่งที่สร้างโดยบริษัทเกาหลีใต้ที่ภูเขากังนัม ประเทศเกาหลีเหนือ กิจกรรมดังกล่าวเป็นผลพวงของการฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังการประชุมระหว่างผู้นำเกาหลีใต้ คิมแจมุน และเกาหลีเหนือ คิมจองอิล เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่าน ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกึมซอน ชาวเกาหลีใต้วัย 92 ปี สวมกอดลูกชายของเธอ รีซุงซอล วัย 71 ปี (ภาพจาก AFP) สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีชาวเกาหลีใต้ลงทะเบียนเพื่อจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 57,000 คน โดยรัฐบาลได้สุ่มเลือกผู้โชคดีจำนวน 89 คน แต่มีสี่คนไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 80 ถึง 90 ปี โดยผู้ที่อายุมากที่สุดเป็นชายเกาหลีใต้อายุ 101 ปี และมีผู้ร่วมกิจกรรมชาวเกาหลีเหนือทั้งหมมด 189 คน กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นระยะเวลาสามวัน โดยจะแบ่งออกเป็นสองรอบ ในรอบแรกนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมจะเดินทางกลับบ้านในวันพุธ (22 สิงหาคม) ก่อนผู้ร่วมกิจกรรมชุดที่สองจะเดินทางไปที่รีสอร์ตดังกล่าวในวันเดียวกันและเดินทางกลับในวันเสาร์ (25 สิงหาคม) โทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจของเกาหลีใต้ได้รับอนุญาติให้เข้าไปบันทึกกิจกรรมดังกล่าว โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ขอให้เกาหลีเหนืออนุญาติให้สื่อต่างชาติเข้าร่วมด้วย แต่ถูกปฏิเสธ อย่างไรก็ตามภาพกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความตื้นตันใจให้กับชาวเกาหลีและผู้ชมทั่วโลกได้เป็นอย่างยิ่ง อีกึมซอน อายุ 92 ปี จากเกาหลีใต้ เข้าสวมกอด ลูกชายวัย 71 ปีของเธอ หลังต้องพลัดพรากจากกันตั้งแต่เขาอายุ 4 ควบ แบซอนฮุย ชาวเกาหลีได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สาวสองคนของเธอแบซอนบก และแบซอนยอง เป็นครั้งแรกหลังหลบหนีออกจากเกาหลีเหนือเพราะพ่อของพวกเธอถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ฮานชินจา ชาวเกาหลีใต้วัย 99 ปี ได้พบกับลูกสาวทั้งสองคนของเธอที่อยู่ในเกาหลีเหนือหลังพวกเธอต้องแยกจากกันในช่วงสงครามเกาหลี ผู้ร่วมงานท่านอื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ภาพถ่าย และเอกสารต่างๆ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนหลังต้องพลัดพรากกันไปนานกว่า 70 ปี โดยหลังจากกิจกรรมในครั้งนี้ พวกเขาก็แทบจะไม่มีโอกาสได้ติดต่อกันอีกเลย
สงครามที่นำไปสู่การพลัดพรากคาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศในปี 1948 หลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยคิมอิลซุงเขายึดครองพื้นที่ทางภาคเหนือ และตั้งประเทศเกาหลีเหนือขึ้นในวันที่ 9 กันยายน ในช่วงแรก ชายแดนระหว่างทั้งสองเกาหลียังคงเปิดกว้างทำให้เมื่อเกิดสงครามเกาหลีขึ้นในช่วงปี 1950 ถึง 1953 มีชาวเกาหลีเหนือลี้ภัยไปยังเกาหลีใต้มากกว่า 700,000 คน แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ได้มีการวางรั้วลวดหนาม กับระเบิด และลาดตระเวนอย่างเข้มงวดตลอดแนวชายแดนของสองประเทศที่เรียกกันว่า "เขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone)" ทำให้การลักลอบข้ามแดนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหลังจากนั้น รีสอร์ตที่ถูกใช้เป็นที่จัดงานในครั้งนี้เป็นของบริษัทฮุนได ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ นอกจากรีสอร์ตดังกล่าว บริษัทฮุนไดยังได้ก่อตั้งเขตอุตสาหกรรมสองเกาหลีขึ้นที่จังหวัดเกซองซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือของเขตปลอดทหารไปเพียงเล็กน้อย แต่โครงการดังกล่าวถูกระงับในปี 2008 หลังนักท่องเที่ยวหญิงชาวเกาหลีใต้ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารเกาหลีเหนือเนื่องจากเดินออกไปนอกเขตปลอดภัย และถูกปิดลงอย่างถาวรด้วยคำสั่งของรัฐบาลเกาหลีใต้ในปี 2016 ในช่วงที่มีสถานการณ์ตึงเครียดของทั้งสองประเทศ Asia Times รายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี 2000 มีชาวเกาหลีปีประมาน 23,500 คนเข้าร่วมกิจกรรมรวมญาติที่จัดโดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวเกาหลีใต้หลายคนได้จ้างวานบริษัทนายหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีมาหรือชาวเกาหลีเชื้อสายจีนให้ติดต่อกับญาติที่อยู่ในเกาหลีเหนือและนัดพบกันในประเทศที่สามซึ่งมักจะเป็นประเทศจีน สัญญาณบวกของความสัมพันธ์สองเกาหลีหลังกิจกรรมรวมญาติดังกล่าวประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุนแจอิน ซึ่งมีครอบครัวเป็นชาวเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยในช่วงสงครามเช่นกัน กล่าวกับสื่อต่างประเทศว่า "เวลากำลังจะหมดลง" เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีชาวเกาหลีใต้เฉลี่ย 3,600 คนต่อปีที่เสียชีวิตลงโดยไม่มีโอกาสได้พบกับครอบครัวที่พลัดพรากของพวกเขา "เป็นเรื่องน่าสลดใจของทั้งรัฐบาลเกาหลีเหนือและใต้ที่ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรรมรวมญาติเหล่านี้ต้องตายไปพร้อมกับความโศกเศร้าโดยไม่มีโอกาสได้รู้ว่าญาติที่พลัดพรากของพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่" มุนแจอินกล่าว "ช่วงเวลาแห่งการรอยคอยไม่ควรจะถูกยืดออกไปนานกว่านี้อีกแล้ว ภารกิจด้านมนุษยธรรมที่สำคัญที่สุดของทั้งสองเกาหลีในตอนนี้คือการจัดงานรวมญาติให้มากขึ้น และบ่อยขึ้น และไม่ใช่แค่งานรวมญาติเท่านั้น แต่จะต้องมีการขยายช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างคนของทั้งสองประเทศด้วย" มุนแจอินมีกำหนดพบกับผู้นำเกาหลีเหนืออีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นการพบกับอย่างเป็นทางการรอบที่สามของผู้นำสองเกาหลี โดยสื่อท้องถิ่นของสิงคโปร์รายงานว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของประเทศจีนก็วางแผนเข้าพบคิมจองอิลเช่นเดียวกันในวันที่ 9 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นวันชาติของเกาหลีเหนือ สื่อเกาหลีใต้หลายสำนักจึงคาดการณ์ว่าทั้งสามจะได้พบกันในวันดังกล่าว กิจกรรมรวมญาติในครั้งนี้เป็นผลของมาตรการสร้างความไว้วางใจ (confidence-building measures) ระหว่างผู้นำสองเกาหลี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ทั้งสองประเทศยังมีการส่งนักกีฬาร่วมทีมเดียวกันในการแข่งขันเอเชียนเกมที่ประเทศอินโดนิเซียที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังมีโครงการที่จะสร้างศูนย์ประสานงานระหว่างสองเกาหลีในจังหวัดเกซองของเกาหลีเหนืออีกด้วย ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เอกชัยเผยกระดูกฝ่ามือซ้ายแตก บอกยังดีที่มันเหลืออีกข้างไว้ ด้านศูนย์ทนายฯ ประณามการใช้ความรุนแรง Posted: 22 Aug 2018 02:40 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 16:40 เอกชัย หงส์กังวาน เผยผลเอกซเรย์พบถูกตีจนกระดูกฝ่ามือซ้ายแตก ต้องเข้าเฝือกอ่อน ระบุยังดีที่คนตีเหลืออีกข้างไว้ให้ใช้งาน ด้านศูนย์ทนายฯ ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง พร้อมขอรัฐไทยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 22 ส.ค. 2561 สืบเนื่องจากกรณีที่ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกลอบทำร้ายร่างกายบริเวณหน้าบ้านของตนเอง หลังกลับทวงถามความรับผิดชอบเรื่องนาฬิกาหรู ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยถูกชายนิรนาม 3 คนดักทำร้าย โดยใช้ไม้ตี 4-5 ครั้ง ล่าสุดหลังจากเอกชัย เข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลนพรัตน์ แพทย์ได้พบว่ากระดูกมือด้านซ้ายแตกสองจุด บริเวณโคนนิ้วก้อย และบริเวณฝ่ามือ ทำให้จำเป็นต้องเข้าเฝือกอ่อนเพื่อรักษาอาการ คาดว่าใช้เวลา 45 วันเป็นอย่างน้อยถึงจะหายเป็นปกติ ทั้งนี้เอกชัยกล่าวกับพูดสื่อข่าวโดยไม่แสดงอาการว่า ยังดีที่มันเหลืออีกข้างไว้ให้ใช้งาน ทั้งบอกด้วยว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องเข้าเฝือก ต่อกรณีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และรวบรวมข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิทางเมืองภายหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีการใช้ความรุนแรงต่อเอกชัย หงส์กังวาน เพราะมิเพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองผู้ใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกของรัฐไทยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการไม่อดทนและเคารพซึ่งสิทธิในชีวิต ร่างกาย ของบุคคลผู้เห็นต่างของประชาชนด้วยกัน ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ หากย้อนดูเหตุความรุนแรงที่เอกชัยประสบ ไม่เพียงแต่ถูกทำร้ายโดยบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเผชิญกับการข่มขู่คุกคาม การจับกุมและการควบคุมตัวโดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรงเพราะผลจากความพยายามในการตรวจสอบเหตุทุจริตและการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับความคุ้มครองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกด้วย ภายใต้การดำเนินนโยบายที่รัฐรณรงค์ให้การปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอประณามและขอเรียกร้องต่อกรณีการใช้ความรุนแรงต่อนายเอกชัย หงส์กังวาน ให้รัฐไทยและประชาชนดำเนินการโดยวางอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และเคารพซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนี้ 1.ขอเรียกร้องต่อรัฐไทยให้ปกป้องและคุ้มครองการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกของเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งกระทำไม่ว่าด้วยวิธีการใด อันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยการปกป้องและคุ้มครองนั้น รวมถึงยุติการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ค้นหาความจริงเกี่ยวกับการปิดกั้นการใช้สิทธิ การข่มขู่คุกคาม การจับกุมและควบคุมตัวโดยมิชอบ ตลอดจนสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อเอกชัย หงส์กังวานในครั้งนี้ อย่างรวดเร็ว เป็นกลาง และโปร่งใส 2.ขอเรียกร้องต่อประชาชนชาวไทยให้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงความเห็นหรือการกระทำที่แตกต่างของเอกชัย หงส์กังวาน ที่มีต่อกรณีเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง หรือการตรวจสอบเหตุทุจริตในการบริหารงานรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกองทัพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการใช้สิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญในฐานะประชาชนชาวไทยที่ได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตั้งแต่ 29 ม.ค 2540 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ความแตกหักในโลกพลิกผัน I 70 ปี รัฐศาสตร์ จุฬาฯ Posted: 22 Aug 2018 02:33 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 16:33
จากซ้ายไปขวา ผู้ดำเนินรายการ, กัลยา เจริญยิ่ง, วงอร พัวพันสวัสดิ์, จักกริช สังขมณี, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาหัวข้อ "Disruptive World: Innovative Political Science?" รัฐศาสตร์นวัตกรรมในโลกแห่งความพลิกผัน เนื่องในโอกาสครอบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณ ห้องประชุมเกษม สุวรรณกุล อาคารเกษม อุทยานิน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยช่วงแรกของภาคบ่ายนั้นเป็นการนำเสนอมุมมองทางวิชาการของวิทยากรแต่ละท่านที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสาขาที่เชี่ยวชาญ กล่าวคือ สาขาสังคมการเมืองการปกครอง สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาสังคมวิทยามานุษยวิทยา โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ทั้ง 4 ได้แก่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, กัลยา เจริญยิ่ง, วงอร พัวพันสวัสดิ์ และ จักกริช สังขมณี
เสรีนิยมประชาธิปไตยตกต่ำทั่วโลก เพราะการปกป้องประโยชน์คนหมู่มากสวนทางการเคารพเสรีภาพปัจเจก
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่อง ความตายของเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกโดยแบ่งประเด็นการอภิปรายออกเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่ เงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เสรีนิยมประชาธิปไตยตกต่ำ ปัญหาของลัทธิดังกล่าวคืออะไร และทางออกจากวิกฤตการณ์นี้คืออะไร กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยได้รับการเฉลิมฉลองและเกิดการเบ่งบานขยายตัวไปทั่วโลกในหลายประเทศ แต่ทว่าในทศวรรษที่ 20 เป็นต้นมาลัทธิทางการเมืองดังกล่าวกลับตกต่ำ เสื่อมถอยลง โดยจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น การขึ้นครองอำนาจของรัฐบาลเผด็จการและการเกิดรัฐประหารในประเทศต่าง เช่น อาหรับสปริง ไทย อียิปต์ รวมทั้งผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในยุโรปที่เห็นว่าระบอบของทหารอาจจะดีกว่าประชาธิปไตย นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมในหลายประเทศยังขึ้นมาเป็นรัฐบาล เช่น สหรัฐอเมริกา โดยจะเห็นได้ว่าชนชั้นกลางจากที่เคยเป็นฝ่ายปกป้องประชาธิปไตยมาตลอดได้หันไปสนับสนุนเผด็จการและพรรคอนุรักษ์นิยมเหล่านี้โดยตั้งคำถามกับประชาธิปไตยว่าอาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด ภายหลังปรากฏการณ์การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ มีหนังสือวิเคราะห์และอภิปรายปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกตีพิมพ์กว่า 1700 เล่มซึ่งวิทยากรได้หยิบยกหนังสือประมาณสิบเล่มขึ้นมาหาจุดร่วมและอภิปราย ปัญหาของเสรีนิยมประชาธิปไตยและทางออกจากวิกฤตการณ์นี้ กล่าวคือ ลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยถูกนำมาใช้เป็นระบอบการปกครองที่พยายามจะรักษาสมดุลระหว่าง การปกป้องผลประโยชน์ของคนหมู่มาก (majoritarianism) และเคารพในเสรีภาพของปัจเจก (individual liberty) แต่ทว่าแนวคิดทั้งสองอย่างนี้ยากที่จะรักษาให้สมดุลได้ในขณะเดียวกันและยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง กล่าวคือ มันเป็นเรื่องยากที่ระบอบดังกล่าวซึ่งขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงของคนหมู่มากในการสร้างนโยบายหรือข้อตกลงทางสังคม โดยไม่ละทิ้ง ละเลยการปกป้องการรุกล้ำสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือปัจเจก เพราะทั้งสองแนวทางนี้มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายอื่น ๆต่อสถานการณ์ความเสื่อมถอยของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาสังคมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเกิดโลกาภิวัฒน์ของเสรีนิยมใหม่ ปัญหาผู้อพยพ ปัญหาเรื่องการเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ที่ละเมิดและคุกคามสิทธิของผู้อื่น ความโง่เขลาของคนส่วนใหญ่ (ignorance of majority) ที่มักจะเลือกผู้นำจากความนิยมมากกว่าความสามารถหรือนโยบาย ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม สงครามอาวุธชีวภาพ ตลอดจนปัญหาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ได้ตอบโจทย์และเข้ามาคลี่คลายปัญหาสังคมได้อีกต่อไป นอกจากนี้ความถดถอยของระบอบดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในสังคมที่เกิดช่องว่างระหว่างกัน กล่าวคือ ความขัดแย้งระหว่างคนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในเรื่อง ช่องว่างทางการศึกษาหรือวัย ความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้ง ตลอดจนการให้ความสนใจในประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าซึ่งจะเห็นได้จากการไม่ลงรอยทางความคิดเรื่อง การเลือก Brexit หรือการเลือกตั้งที่คนหนุ่มสาวมักจะพ่ายแพ้ให้กับคนรุ่นเก่า นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการขาดบรรทัดฐานทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่อง การสูญเสียความอดทนอดกลั้นร่วมกัน (loss of tolerance) ที่เห็นได้จากพรรคการเมืองแต่ละพรรคเน้นเอาชนะคู่แข่งหรือเอาตัวแทนที่มีความคิดทางการเมืองที่สุดโต่งมาแข่งขันกันเป็นหลักทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากขึ้น ทางออกของวิกฤตการณ์ของลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นถูกเสนอว่าเราควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองให้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เช่น ไปชุมนุมประท้วง เข้าร่วมพรรคการเมือง เปลี่ยนแปลงนโยบาย และ ให้การศึกษาแก่ผู้คนรอบข้าง เป็นต้น
Big Data อาจเป็นเครื่องมือควบคุมของรัฐ และสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม
กัลยา เจริญยิ่ง ได้พูดถึงการเกิดขึ้นของ disruption ผ่านปรากฏการณ์เรื่อง big data โดยชี้ให้เห็นถึงจุดดี จุดด้อยของเทคโนโลยีดังกล่าวในมิติต่างๆ ในสังคมตลอดจนการสร้างความเหลื่อมล้ำด้วยข้อมูลเชิงตัวเลขเหล่านี้ กล่าวคือ disruption ในโลกมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะไม่เห็นได้ชัดเจนซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (external change) แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (endogenous change) สังคมในปัจจุบันคลี่คลายตัวมาอยู่ในจุดที่มีการเก็บข้อมูลของ big data อย่างแยบคายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เนื่องจากชีวิตของคนในยุคสมัยปัจจุบันรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยที่นำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมหาศาลในชีวิตแต่ละวัน การเก็บข้อมูลของ Big data เป็นไปในลักษณะของเวลาที่เกิดขึ้นจริง (real time) ซึ่งหมายความว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้นำไปสู่การผลิต (generate) ข้อมูลแก่ big data อยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวพันกับข้อมูลและการเก็บข้อมูลของ Big data นั้นไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่าเกิดคุณหรือโทษได้อย่างตายตัว หรือมีลักษณะของการเป็นเครื่องมือของมนุษย์หรือกำลังควบคุมชีวิตมนุษย์ ตลอดจนสร้างคุณูปการให้แก่การจัดการของรัฐหรือเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม กล่าวคือ ข้อมูลและตัวเลขจากการประมวลผลออกมาแม้จะให้ความน่าเชื่อถือ อ้างอิงข้อเท็จจริงบางอย่างได้ตลอดจนสร้างทฤษฎีผ่านการประมวลข้อมูลเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกันการเขียน หรือประดิษฐ์ขึ้นของนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากคุณค่าและอคติบางอย่าง โดยข้อมูลที่ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างบรรทัดฐาน ประเมิน ตรวจสอบ ควบคุม จับจ้องผู้คนในยุคสมัยนี้ทั้งเพื่อวัดประเมินตัวตน (qualify self) และเป็นข้อมูลการตลาดแก่กลุ่มทุน นอกจากนี้การเก็บข้อมูลของ Big data ได้ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตยและการขยายตัวของทุนนิยมในหลายมิติ กล่าวคือ รัฐสมัยใหม่ได้เลือกใช้เทคโนโลยีบางประเภทเข้ามาจัดเก็บข้อมูลที่ไม่อาจสรุปได้ง่ายว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ เพราะบางครั้งรัฐบาลกลับสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีข้อจำกัดให้ดำรงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของตัวชี้วัด (bench mark) บางอย่างในรัฐได้สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดให้กับผู้คนมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น รหัสไปรษณีย์ (zip code) ที่สามารถบ่งบอกสถานภาพทางสังคมและอัตลักษณ์ของคนที่อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ได้ รวมถึงจำนวนเงินในบัญชีธนาคารและประวัติการกู้ยืมเงินเพื่อการเล่าเรียนที่สามารถจำกัดโอกาสทางการศึกษาได้ นอกจากนี้ในทางการเมืองได้อาศัยเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยทำนายทิศทางทางการเมืองตลอดจนค้นหากระแสการเมืองและอุดมการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้โดยนำข้อมูลสุนทรพจน์มาประมวลและตรวจหาอารมณ์ร่วมของสาธารณชนผ่านทางทวิตเตอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก big data นั้นก็ยังเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ฉะนั้นเราควรตระหนักและรู้เท่านั้นตลอดจนมี resistance ต่อข้อมูลเหล่านี้เพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตยในสังคมต่อไป
เมื่อรัฐใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาภาครัฐ สิ่งที่หายไปคือจิตวิญญาณมนุษย์
วงอร พัวพันสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงกระแสความนิยมของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหาร จัดการองค์กรและหน่วยงานของภาครัฐ ว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เสมอไป โดยได้ยกประเด็นขึ้นมาอภิปราย 2 ประการหลัก ได้แก่ การทำธุรกิจ SMEs และ ปัญหาของการทาบทับอุดมคติของภาครัฐบนตัวแบบเอกชน จากประสบการณ์การทำงานด้านการจัดการของธุรกิจ SMEs วงอรพบว่า ปัญหาสำคัญของธุรกิจเหล่านี้มีปัจจัยปลีกย่อยที่ส่งผลให้ไม่สามารถนำนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจได้ ได้แก่ การขาดแคลนเงินทุนซึ่งทำให้ไม่สามารถลองผิดลองถูกเมื่อนำนวัตกรรมมาใช้ จึงทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีสายพานการผลิตจำนวนมากเป็นหลัก นอกจากนี้การขาดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการิเริ่มนวัตกรรมแก่ธุรกิจ รวมถึงการถูกควบคุมธุรกิจจากคนรุ่นก่อน เช่น ธุรกิจครอบครัวที่ยังมีพ่อแม่ควบคุมการบริหารงานเอาไว้ในลักษณะกงสี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดระบบข้อมูลได้ยาก อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการหมกมุ่นในการนำนวัตกรรมของธุรกิจเข้ามาใช้ในการจัดการบริหารของรัฐบาลยังเกิดปัญหาต่อการทำงานของคนในองค์กร กล่าวคือ ลักษณะและเป้าหมายของรัฐบาลและเอกชนแตกต่างกัน โดยเอกชนมีเจ้าของเป็นเพียงคนหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง และมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลกำไร ในขณะที่รัฐบาลเกิดขึ้นโดยมีประชาชนและกลุ่มก้อนทางสังคมมากมายเป็นเจ้าของ โดยเป้าหมายไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีความหลากหลายและสามารถเกิดความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายได้ การสร้างตัวชี้วัดในลักษณะทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจึงเป็นไปได้ยาก ตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของโครงการการสร้างจุดมุ่งหมายใหม่ของรัฐบาล จากระบบประกันคุณภาพการศึกษา การเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ (public entrepreneurship) ในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ โดยปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการหายไปของจิตวิญญาณสาธารณะ (public spirit) ในหมู่ข้าราชการ เมื่อการวัดประเมินคุณภาพการทำงานเกิดขึ้นจากสมมุติฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทำงานเพื่อผลประโยชน์เรื่องเงินเท่านั้น ทำให้ละเลยมุมมองของการอุทิศตัวในการทำงานด้วยจิตสาธารณะ เพื่อส่วนรวม นอกจากนี้การนำนวัตกรรมทางธุรกิจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกกรณ เมื่อระบบการทำงานในองค์กรของรัฐยังมีปัญหาเรื่องอำนาจโครงสร้างอยู่ วงอรได้หยิบยกประโยคจากนักคิดขึ้นมาปิดท้ายว่า "นวัตกรรมไม่ได้เป็นหนทางเดียวในการก้าวไปข้างหน้า มันสามารถทำให้เรามองไม่เห็นหนทางอื่น ๆที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าได้" (Innovation is not the only way to move forward, it can blind us from something simpler and more effective.)
ปัจเจกแตกหัก พลิกผัน จากการจัดระเบียบของรัฐมุ่งควบคุมวิถีชีวิต
จักกริช สังขมณี กล่าวชวนให้เห็นถึงความสามัญธรรมดาของการเกิดการแตกหัก พลิกผันในโลก ในฐานะที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะในยุคสมัยใด หรือพื้นที่ใด โดยมันเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ระดับของชีวิตโดยแต่ละคนล้วนมีการตอบสนองและจัดการต่อความพลิกผัน แตกหักที่แตกต่างกันออกไปโดยสามารถทำความเข้าใจได้ผ่านความเชื่อของบุคคลเหล่านั้น รวมไปถึงบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะที่สัมพัทธ์ (relative) เมื่อการพลิกผันแตกหักของคนๆ หนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นของคนอีกคนเสมอไป นอกจากนี้การเกิดความแตกหักยังสามารถเกิดขึ้นได้ในลักษณะของการขัดจังหวะด้วยระเบียบ แบบแผน (order) เช่น การสร้างข้อบังคับ กฎการปฏิบัติบางอย่างเพื่อคุมขังการเป็นไปของวิถีชีวิตหนึ่งๆ จากรัฐ หรือการไหลเวียนของบางอย่าง (flow) เช่น การเกิดขึ้นของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไหลเวียนเข้ามาหันเหความสนใจของนิสิตในห้องประชุม โดยการแตกหักระหว่างสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นโดยสามารศึกษาโดยไม่สามารถนำมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการใช้ทำความเข้าใจและศึกษาแต่ฝ่ายเดียวได้ จักกริชทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอชวนคิดที่ว่า เมื่อการแตกหัก พลิกผันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นธรรมดาของโลกแล้ว เราจึงไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับความพยายามที่จะจัดระเบียบ จัดการความพลิกผันเหล่านี้จนเกินไป
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ไมโครซอฟท์เผย แฮ็กเกอร์รัสเซียทำเว็บล่อลวงข้อมูลก่อนเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ Posted: 22 Aug 2018 01:45 AM PDT Submitted on Wed, 2018-08-22 15:45 กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่เคยก่อเหตุช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 ก่อเหตุอีกครั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม สร้างเว็บปลอมอ้างโลโก้ไมโครซอฟต์ เว็บกลุ่มปัญญาชนอนุรักษ์นิยมต้านทรัมป์ เว็บสวมรอย ส.ว. ประธานไมโครซอฟต์หวั่น ผลประโยชน์กลุ่มการเมืองอาจไม่ใช่ปัญหาเท่าประชาธิปไตยถูกกัดกร่อน ที่มาภาพ: Pixabay เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 บริษัทไมโครซอฟท์ บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกเปิดเผยว่าพวกเขาค้นพบกลุ่มแฮ็กเกอร์จากรัสเซียพยายามโจมตีรอบใหม่ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งกลางปีของสหรัฐฯ โดยกลุ่มที่ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยปฏิบัติการแฮ็กอีเมลของฮิลลารี คลินตัน อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2559 ไมโครซอฟท์ระบุว่ากลุ่มแฮ็กเกอร์ชื่อ 'สตรอนเทียม' (Strontium) หรือที่บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์รู้จักพวกเขาในนาม 'แฟนซีแบร์' (Fancy bear) และ APT28 เป็นผู้ก่อเหตุโจมตีทางข้อมูลข่าวสารไซเบอร์ด้วยการสร้างเว็บไซต์ปลอมของกลุ่มปัญญาชนฝ่ายขวา 2 กลุ่ม ได้แก่ สถาบันฮัดสัน และสถาบันอินเตอร์เนชันแนลรีพับลิกัน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ยังก่อเหตุสร้างชื่อเว็บไซต์ปลอมที่ออกแบบให้ดูเหมือนเป็นเว็บไซต์ของ ส.ว. สหรัฐฯ ด้วย กลุ่มที่ปฏิบัติการในครั้งนี้ก่อนหน้านี้เคยทำการแฮ็กอีเมลของคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครตและคณะรณรงค์หาเสียงของคลินตัน ที่ปรึกษาพิเศษที่ทำหน้าที่สืบสวนข้อกล่าวหาเรื่องรัสเซียมีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 โรเบิร์ต มุลเลอร์ กล่าวว่ากลุ่มแฟนซีแบร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานข่าวกรองของรัสเซีย แบรด สมิทธ์ ประธานของไมโครซอฟท์กังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นภัยคุกคามเป็นวงกว้างต่อกลุ่มหลายกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องพรรคการเมืองทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมในปีนี้ แบรดกล่าวอีกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ทำการปิดเว็บไซต์หลอกลวงจำนวน 84 แห่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มแฟนซีแบร์โดยอาศัยวิธีการขอหมายศาลให้ถ่ายโอนการควบคุมชื่อโดเมนเว็บไซต์ จากข้อมูลของไมโครซอฟท์ เว็บไซต์หลอกลวงดังกล่าวจงใจเลียนแบบหน้าล็อกอินเข้าใช้งานของบริษัทไม่ว่าจะเป็นล็อกอินของเครื่องมืออย่างอีเมล, ปฏิทิน และโปรแกรมแบ่งปันเอกสาร โดยมีชื่อโดเมนอย่างเช่น "hudsonorg-my-sharepoint.com" และ "adfs-senate.email" ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ได้ใส่ใจอาจจะถูกหลอกลวงจากเว็บไซต์จำพวกนี้ได้และอาจจะเผลอใส่ชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่านที่เอื้อให้แฮ็กเกอร์เข้าถึงข้อมูลของพวกเขาได้จากระยะไกล ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ก็เคยมีเหตุการณ์ที่ ส.ว. พรรคเดโมแครตรัฐมิสซูรี แคลร์ แมคคาสกิลล์ ผู้ลงแข่งในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้เปิดเผยว่ามีแฮ็กเกอร์รัสเซียพยายามแทรกซึมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเธอแต่ก็ไม่สำเร็จ สื่อเดอะเดลีบีสต์ค้นพบหลักฐานว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มแฟนซีแบร์ โดยมีลักษณะการโจมตีคล้ายกับที่เคยทำในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2559 เช่น วิธีการส่งลิงค์ผ่านทางอีเมลระบุว่ารหัสผ่านของพวกเขาหมดอายุแล้วและเมื่อคลิกลิงค์ก็จะนำผู้ใช้งานไปสู่หน้าเว็บไซต์ปลอมที่มีตราไมโครซอฟต์ หลอกล่อให้ผู้ใช้งานคลิกลิงค์ที่สองหรือเปลี่ยนรหัสผ่านซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือทำให้แฮ็กเกอร์ได้รหัสผ่านและแทรกซึมผู้ใช้งานได้ ประธานไมโครซอฟต์ยังตั้งข้อสังเกตว่าปฏิบัติการของรัสเซียครั้งล่าสุดไม่ได้เน้นเรื่องทำให้พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้เปรียบเหนืออีกพรรคหนึ่งแต่เป็นการเน้น "ก่อกวนขัดขวางประชาธิปไตย" หนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีในครั้งนี้คือสถาบันอินเตอร์เนชันแนลรีพับลิกัน ที่มี ส.ว. 6 คน นั่งอยู่ในบอร์ดบริหาร รวมถึงมิตต์ รอมนีย์ ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว. รัฐยูทาห์ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์รัสเซียตัวยง เรียบเรียงจาก Russian hackers targeting conservative US thinktanks, Microsoft says, The Guardian, Aug. 21, 2018 We have the first documented case of Russian hacking in the 2018 election, Vox, Jul 26, 2018 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น