โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ย้อนดูความคิด 7รายชื่อว่าที่ กสม. 4 NGOs 2 ข้าราชการ 1 อาจารย์มหา’ลัย

Posted: 21 Aug 2018 01:52 PM PDT

คณะกรรมการสรรหามีมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 คน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ผู้เคยยืนยันสิทธิให้ 'ไผ่ ดาวดิน' สอบวิชาสุดท้ายในคุก และระบุว่าการจับกุมคนอยากเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล ติดโผด้วย

21 ส.ค. 2561 คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ 9 คน ประกอบด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด สมชาย หอมลออ สุนี ไชยรส และอมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร ผู้แทนสภาทนายความ สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และสุริชัย หวันแก้ว อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมเพื่อพิจารณาคัดสรรและลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 จากรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 29 คน

ผลปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคัดสรรและลงมติเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. จำนวน 7 คน ประกอบด้วย

1.บุคคลผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน จำนวน 2 คน คือ

สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ

หนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่สมศรีได้เคยเรียกร้องในฐานนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ คือ การกระจายอำนาจตำรวจ โดยเสนอปรับเปลี่ยนตำรวจไปสังกัดในระดับจังหวัด เพื่อให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพ แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ขึ้นอยู่กับอัยการ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการทำงานของตำรวจที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น และเชื่อว่าจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้

ก่อนหน้านี้สมศรี เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร ที่ Asian Network for Free Elections ( Anfrel Foundation) ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองปี 2553 เธอเคยออกแถลงการณ์เสนอ ทางออกและแผนการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ให้กับให้กับรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดง เมื่อวันที่ 17 เม.ย.  นอกจากนี้เธอยังเคยเป็น รองประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยซึ่งแสดงจุดยืนต่อโทษประหารว่า ไม่ใช่การลงโทษ แต่คือการก่ออาชญากรรม อย่างถูกกฎหมาย

อันเฟรลเสนอทางออกและแผนการเลือกตั้ง ชี้วิน-วินทุกฝ่าย

ไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

นอกจากจะเป็นประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อันได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ไพโรจน์ยังเคยเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในช่วงหลังจาก กกปส. ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. ปี 2557 เขากล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะ "ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป" ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้ชุมนุม กปปส. จำนวนทำเสื้อลายป็อบคอร์น เพราะเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าผู้นำประเทศในเวลานั้นไม่มีภาวะผู้นำ เพราะไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้

เขายังเคยเป็น  1 ใน 8 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง (เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553) เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดที่มี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานแต่ได้ประกาศขอถอนตัวไป ทั้งที่ยังไม่ทันเริ่มทำงาน

หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ในช่วงใกล้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เขาประกาศจุดไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาเรื่องสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ถูกลดทอนลง องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระอย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ ในส่วนของบทเฉพาะกาลให้อำนาจ คสช. มากเกินไป

ข่าวสด:สัมภาษณ์ ไพโรจน์ พลเพชร ค้น"ความจริง-ตีแผ่"เหตุสลายม็อบ

2.บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา จำนวน 1 คน คือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

"กปปส. อ้างว่าเป็นขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย แต่การที่พวกเขาละเมิดสิทธิของผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง และการขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง จะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร" นี่คือคำพูดของจาตุรงค์ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 ช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งต่อมาถูกประกาศให้เป็นโมฆะโดยศาลรัฐธรรมนูญ จนที่สุดแล้วนำไปสู่การรัฐประหาร เวลานั้นเขาเป็น ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และได้ออกแถลงการณ์ ประณามการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

นอกจากนี้ในฐานะนักวิชาการเขาได้ทำวิจัยเรื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่พิมพ์เมื่อปี 2559 เพื่อเสนอกับคณะกรรมการสิทธิฯ

โครงการวิจัยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

3.บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จำนวน 1 คน คือ

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายต้านการอุ้มหาย ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเอาผิด เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บังคับบัญชาหากรู้เห็นการบังคับสูญหาย และห้ามฟ้องหมิ่นประมาทผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่จนถึงวันนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฎในการพิจารณาของ สนช.

ขณะที่ย้อนหลังกับไปไม่นานเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ในเวทีเสวนา "ประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบน กับการกระจายอำนาจและการบริหารราชการแผ่นดินไทย" มองรัฐบาล 4 ปีผ่านไป อยากได้รัฐบาลแบบไหนเพื่อทำงานใน 4 ปีข้างหน้า? บุญแทน ได้แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 26 ปี สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐโดยชนชั้นนำ มีแนวโน้มที่จะหวงอำนาจ ไม่ยอมกระจายอำนาจเพราะมองว่าจะเป็นความสูญเสีย ดังนั้น ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทุกคนเท่าเทียมกันเพื่อมีส่วนร่วมตัดสินใจ

รายงาน: ชะตากรรม ร่าง กม.ต้านการอุ้มหาย ในมือ 'ทหาร'

4. บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คน คือ

ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

เมื่อ 23 ก.ค. 2560 โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ นำเสนอ บทสัมภาษณ์ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ซึ่หลักใหญ่ใจความของเรื่องทั้งหมดคือการแสดงให้เห็นว่าของรักของหวงของเธอคือ เหรียญ หรือล็อกเกตต่างๆ ที่มีรูปรัชกาลที่ 9 เธอเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้แขวนพระเกจิชื่อดังต่างๆ มามาก "แต่ตั้งแต่แขวนล็อกเกตในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกันยังสร้างกำลังใจทำให้งานทุกอย่างราบรื่นไร้อุปสรรคไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นเลย ยามที่คิดงานหรือเหนื่อยล้าพระองค์ท่านคือแรงบันดาลใจช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จในการทำงานทุกครั้ง เชื่อว่าเป็นพลานุภาพคอยปกปักรักษาคุ้มครอง" เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น

ขณะที่เหตุการณ์ที่ทำให้เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงทั้งในแง่บวก และแง่ลบคือ หลังจากมีการจับกุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จัดการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธในวาระครบ 4 ปีรัฐประหารของ คสช. เพื่อท้วงถามถึงสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงือนไข เธอได้แสดงความคิดเห็นว่า "สิทธิในการแสดงออกหรือให้แสดงความเห็นรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นในเรื่องดังกล่าว แต่การแสดงออกทางความคิดเห็น หรือตามสิทธิ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่านั้นทุกคนมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน"

นอกจากนี้ในช่วงที่ ไผ่ ดาวดิน ถูกจับกุมจากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai ในช่วงที่ศาลยังไม่ตัดสินลงโทษจำคุก ไผ่ ได้พยายามยื่นขอประกันหลายครั้ง โดยหนึ่งในเหตุผลของประกันตัวคือ เขาต้องการออกไปสอบวิชาสุดท้ายในระดับมหาวิทยาลัยให้แล้วเสร็จ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เธอได้ทำหน้าที่ของอธิบดีกรรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยได้ประสานงานกับทางเรือนจำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดการสอบให้กับ ไผ่ ดาวดิน ในเรือนจำ

พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ก่อนหน้าที่ พรประไพ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอเป็นอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เคยทำงานในประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย

5. บุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 1 คน คือ

สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

สุรพงษ์ กองจันทึก เป็นหนึ่งในนักพัฒนาเอกชนที่มีความเชียวชาญพิเศษในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสัญชาติ และยังเป็นผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา" เคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ผู้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหลายประการเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เช่น กะเหรี่ยง ลาหู่ อุรักลาโว้ย มอแกน ทั้งเรื่องการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการเลือกให้เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม.ดังกล่าวข้างต้น เป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอชื่อดังกล่าวต่อประธาน สนช.ต่อไป

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

งานศึกษาสิงคโปร์ห่วงบ้านจัดสรร-ภาวะเมืองขยายตัวที่เชียงใหม่กระทบการใช้ทรัพยากร

Posted: 21 Aug 2018 11:11 AM PDT

งานศึกษาของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู สะท้อนภาวะเมืองขยายตัวของเชียงใหม่ ปัญหาเรื่องผังเมือง-การขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างลงไปในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อกำแพงสูงแยกตัวจากชุมชนดั้งเดิม การใช้ทรัพยากรผิดที่ผิดทาง ซ้ำยังทำให้คนธรรมดาเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ

งานศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู ประเทศสิงคโปร์ ลงพื้นที่สำรวจการพัฒนาผังเมืองในเชียงใหม่เทียบกับสิงคโปร์ โดยระบุว่าขณะที่เชียงใหม่มีภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่การจัดผังเมืองและผลจากการขยายตัวของชุมชนที่พักอาศัยแบบล้อมรั้ว (gated community) หรือหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างลงไปในพื้นที่เกษตรกรรม กระทบทางน้ำ-ระบบชลประทาน โครงการที่ก่อกำแพงสูงนำไปสู่การแยกตัวจากชุมชนดั้งเดิม เกิดการใช้ทรัพยากรผิดที่ผิดทาง ซ้ำยังทำให้คนธรรมดาเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ

ในงานศึกษายังเสนอโมเดลสิงคโปร์ที่มีกฎหมายจัดสรรที่ดินปี 1966 รัฐบาลควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่ มีการออกแบบพื้นที่สาธารณะ และทำให้คนสิงคโปร์เข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่ไม่เกินเอื้อมอีกด้วย

20 ส.ค. 2561 วิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นำเสนอบทความแบบกลุ่มของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านบริหารรัฐกิจ หัวข้อ "Spatial Inequality and Urbanisation: A Comparative Study of Chiang Mai and Singapore" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเมืองโดยเปรียบเทียบกรณีการปรับเปลี่ยนของสิงคโปร์เองกับสิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นโอกาสสำหรับจังหวัดเชียงใหม่

บทความระบุว่าถ้าหากคุณหาข้อมูลเชียงใหม่จากเว็บไซต์แนะนำแหล่งกินเที่ยวอย่าง TripAdvisor หรือ นิตยสารอย่าง Lonely Planet คุณจะพบว่ามันเต็มไปด้วยการพูดถึงความดีงามของเชียงใหม่ในสายตาแบบนักท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็มีการพูดถึงเชียงใหม่ด้วยถ้อยคำที่ดูสวยหรูอย่าง "เมืองสร้างสรรค์" "สมาร์ทซิตี" หรือ เมืองที่จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงเป็นแหล่งจัดประชุม-พบปะทางธุรกิจ (MICE) และจะเน้นการขยายเมืองในฐานะจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทย

อย่างไรก็ตามท่ามกลางการกล่าวอ้างสวยหรูเหล่านี้ บทความระบุว่าพวกเขาละเลยปัญหาสำคัญในเชียงใหม่คือเรื่องที่การขยายเมืองทำให้เกิดแหล่งชุมชนที่พักอาศัยแบบล้อมรั้ว (gated community) หรือ "หมู่บ้านจัดสรร" ที่สร้างกำแพงสูงแยกตัวเองจากทุ่งนาการเกษตรและตัดขาดจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน

กำแพงสูงแยกทุ่งนาและบ่อปลาออกจากโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งถูกจัดผังเมืองในโซนเกษตรกรรมทางฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง จ.เชียงใหม่ ในภาพยังเห็นโรงงานผลิตอาหารอยู่ด้านหลังอีกด้วย 

ที่มาของภาพ: Santipab Sonboom (ตุลาคม 2016) ใน McGrath, B, Sangawongse, S, Thaikatoo, D & Corte, M. B (2017): 'The architecture of the metacity: land use change, patch dynamics and urban form in Chiang Mai, Thailand', Urban Planning, vol. 2, no. 1, pp. 53-71. Available from: ProQuest. [03 April 2018]. (CC 4.0)

ในบทความยังระบุว่า ในเอเชีย ผู้คนจำนวนมากจะเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่ทุกวันเป็นจำนวน 120,000 คนทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าหากว่าการขยายตัวกระทำอย่างผิดๆ ก็จะส่งผลร้าย แทนที่จะทำให้คนผุดขึ้นจากความยากจนกลับจะยิ่งทำให้ผู้คนร่วงลงสู่ความยากจนระดับก้นเหว

ในแง่นี้ปัญหาเรื่องหมู่บ้านจัดสรรสร้างกำแพงสูงปิดกั้นจากชาวบ้านในเชียงใหม่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมเชิงพื้นที่ สะท้อนการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างถ้วนหน้า สาธารณสุขขาดแคลนในหมู่คนยากจน ขาดการเชื่อมต่อระหว่างกันของคนในสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาคนที่ยากจนก็ได้แต่จนลงเรื่อยๆ

การพัฒนาที่ดินอย่างเร่งด่วนส่งผลให้การใช้ที่ดินถูกปิดกั้นหลายชั่วรุ่น นอกจากนี้การปฏิรูปที่ดินในเชียงใหม่ก็ไม่ได้ผลมากเท่าที่หวังเอาไว้ ผังเมืองและแผนการใช้ที่ดินในเขตเมืองของภาครัฐก็ไม่เป็นไปด้วยดี เพราะเหตุผลหลายประการดังนี้ ประการแรกคือผังเมืองของรัฐบาลขาดความเข้าใจเรื่องศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของระบบเกษตรกรรม ซึ่งระบบชลประทานของแม่น้ำกวงควรจะเก็บไว้ใช้สำหรับการเกษตร ถนนที่ตัดผ่านพื้นที่การเกษตรขัดขวางระบบชลประทานที่ต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ประการที่สองคือโครงการบ้านจัดสรรตามที่ระบุข้างต้น ผุดขึ้นตามถนนวงแหวนและรุกล้ำการใช้ที่ดินดั้งเดิมที่เป็นไปเพื่อการเกษตร

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นอกจากเชียงใหม่แล้วยังมีนครรัฐอีกแห่งคือสิงคโปร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเมือง และบทความนี้ก็ชวนให้เชียงใหม่มองการพัฒนาของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง โดยระบุว่าสิงคโปร์มีการพัฒนาเมืองโดยตั้งอยู่บนหลักการให้ความสำคัญต่อลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤศฎีของอับราฮัม มาสโลว์ ที่ระบุว่ามนุษย์ต้องการปัจจัยพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย น้ำ อาหาร มาเป็นอันดับแรก ทางการสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญต่อเรื่องพักอาศัยในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยผลของกฎหมายจัดสรรที่ดินปี (The Land Acquisition Act - LAA) ในปี ค.ศ. 1966 ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างเต็มที่ กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ที่ไม่เพียงแต่ยกระดับชีวิตของคนสิงคโปร์จากชุมชนแออัดเท่านั้น หากแต่ยังรักษาระดับการเข้าถึงที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในอนาคตด้วย

บทความระบุว่าสิงคโปร์ไม่ได้ปฏิเสธว่ายังคงมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่อยู่ในแง่ของรายได้โดยเฉลี่ย แต่สิงคโปร์ก็กระจายสิ่งอำนวยความสะดวกไปทั่วถึงและมีงานกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่มีความสำคัญในการเชื่อมร้อยคนพื้นที่ต่างๆ ในสังคม ในแง่การออกแบบผังเมืองก็เน้นเสริมสร้างพื้นที่พักอาศัยให้สามารถดำรงชีวิตอยู๋ได้และมีความยั่งยืน โดยยกตัวอย่างแผนพัฒนาสวนสาธารณะเชื่อมต่อที่มีทางน้ำ 100 กม. ไว้สำหรับกิจกรรมสันทนาการ และมีโครงการอื่นๆ 22 โครงการในชื่อว่า กระฉับกระเฉง, สวยงาม และสะอาด (ABC) เตรียมดำเนินการในสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ควรปรับปรุงแต่เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ของโลกแล้วสิงคโปร์มีบ้านพักจากรัฐบาลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบสะอาดและสภาพแวดล้อมปลอดภัย

โปสเตอร์ของการสัมมนา Governance Study Project (GSP) ซึ่งปีนี้เป็นการวิจัยและนำเสนอในหัวข้อ "URBAN POSSIBILITIES: REIMAGINING CHIANG MAI"

นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยูนำเสนอบทความนี้จากการศึกษาแบบลงพื้นที่ และมีการวิเคราะห์วิจัยรวมถึงนำเสนอแผนนโยบาย ให้ข้อเสนอแนะกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการศึกษาการบริหารรัฐกิจ" (Governance Study Project - GSP) ซึ่งปีนี้เป็นการวิจัยและนำเสนอในหัวข้อ "URBAN POSSIBILITIES: REIMAGINING CHIANG MAI" โดยเพิ่งมีการนำเสนอบทความไปเมื่อ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับกำหนดการของการนำเสนอบทความทั้งหมดสามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู

นักศึกษากลุ่มนี้ระบุว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นลำดับสองและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ บางคนอาจจะบอกว่าการเอาไปเทียบกับสิงคโปร์ฟังดูไม่แฟร์นัก แต่พวกเขาก็นำเสนอทางออกในระยะสั้นและระยะยาวโดยอาศัยสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของพวกเขาคือการจัดสรรปันส่วนการใช้ที่ดินให้ดีกว่านี้และมีเจตจำนงทางการเมืองในการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง พวกเขาเสนอให้ใช้วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเป็นแนวทาง โดยการจัดสรรให้ผู้คนเข้าถึงที่พักอาศัยแบบมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมได้ ต่อมาคือการจัดสรรระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืน ราคาย่อมเยา ผู้คนเข้าถึงได้ โดยที่ต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาดแบบเดิมอย่างการสร้างเส้นทางคมนาคมแทรกเข้าไปในพื้นที่การเกษตร อีกทั้งยังควรจะเน้นการสร้างระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงด้วย

ในบทความยังระบุถึงการแก้ปัญหาในระยะยาวอีกว่าควรเสริมสร้างการคำนึงถึงผู้คนที่หลากหลายและเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วม การบูรณาการ และการวางแผนตั้งรกรากของผู้คนที่เป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้อาศัยวิธีการวางแผนและดำเนินการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงทั้งการวางฟังเมืองและความต้องการทางด้านขนส่งมวลชนเพื่อลดการเกิดแหล่งที่พักอาศัยแบบล้อมรั้วและลดแหล่งเสื่อมโทรม

ในแง่การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ในบทความเสนอว่าควรมีการสร้างพื้นที่ชุมชนขึ้น โดยที่สิงคโปร์มุ่งเน้นจะทำให้ผู้คนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย  คำนึงถึงความหลากหลายและดีต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาเสนอว่าพื้นที่ทางน้ำต่างๆ เป็นโครงสร้างพื้นฐานตามธรรมชาติที่สามารถดัดแปลงเป็นพื้นที่สันทนาการได้ และถ้าหากมีคนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกวิธีและมีความเชี่ยวชาญในท้องถิ่นด้านการรักษาทางน้ำก็จะทำให้เกิดการสร้างพื้นที่สาธารณะในการแก้ปัญหาการแบ่งแยกทางสังคมได้

บทความเสนอว่าถ้าหากจะดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากภาคส่วนทั้งภาคส่วนต่างๆ ของรัฐ และภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ควรเน้นการลงทุนสร้างผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นให้มีคนหลากหลายทักษะในการทำให้โครงการยั่งยืน ที่สำคัญคือการให้ความรู้กับผู้คนว่าการเปลี่ยนแปลงผังเมืองมีเหตุผลเพื่ออะไร ในบทความยังระบุว่าถ้าหากจัดโครงสร้างที่ผู้คนมีส่วนร่วมและยั่งยืนได้สำเร็จก็จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาชวนให้เจ็บปวดตามมาในอนาคตและจะพัฒนาให้ประชาชนหลายล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงของเชียงใหม่ในฐานะ "กุหลาบเมืองเหนือ" ไว้ต่อไปได้

เรียบเรียงจาก

AN ODYSSEY OF TWO CITIES: COPING WITH THE GROWING PAINS OF URBANISATION, Global-is-Asian, 07-08-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ประยุทธ์' ย้ำไม่มีปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง จ่อถกพรรคการเมือง 1 ก.ย.นี้

Posted: 21 Aug 2018 09:24 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ยันวันเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดิมที่เคยหารือ ยังไม่มีปัจจัยเลื่อน เตรียมแนวทางผ่อนปรนให้ กกต.ทำงานได้ ก.ย.นี้ 'ปธ.สนช.' ไม่เสนอแก้ไพรมารีโหวต ขณะที่ 'วิษณุ' ชี้ คสช.จะเคาะวิธีทำไพรมารีตามที่กกต.แนะนำ

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

21 ส.ค.2561 ความคืบหน้าการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ที่เพิ่งออกมาคาดว่า จะประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. 4 ม.ค. 2562 เลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 นั้น

สำนักข่าวไทยรายงานปฏิกิริยากรณีนี้และกรณีไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดชุมพร ถึงกรณีที่ กกต. กำหนดกรอบวันเลือกตั้งเร็วที่สุด 24 ก.พ. 2562 โดยยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดิมที่พูดคุยกันไว้ และยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่นอออกไป รวมถึงยังไม่มีเงื่อนไขใดที่ทำให้การเลือกตั้งจะเลื่อนมาเร็วขึ้น โดยในเดือนกันยายนนี้ คสช.จะมีแนวทางผ่อนปรน ให้ กกต. สามารถทำงานได้ ซึ่งอาจรวมถึงการทำไพรมารีโหวตและรัฐบาลจะนัดตัวแทนพรรคการเมืองมาหารือรอบ2 เกี่ยวกับเรื่องวันเลือกตั้ง ในช่วงเดือนกันยายนเช่นกัน คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 กันยายน 

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสั้นๆ ถึงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวิตเตอร์ตอบกลับ กรณีที่พลเอกประยุทธ์ กล่าวพาดพิงถึงวานนี้(20ส.ค.) ว่า ตนไม่ได้สนใจทวิตเตอร์ เพราะหากสนใจทุกเรื่องคงจะวุ่นวาย

ปธ.สนช. ยันไม่เสนอแก้ไพรมารีโหวต

สำหรับกรณีไพรมารีโหวต ประธาน สนช. กล่าวว่า จะไม่เสนอความเห็นไปยังรัฐบาลหรือ กกต. เรื่องแก้ปัญหาการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง แม้จะเป็นโมเดลที่มาจากการพิจารณาของสนช. เนื่องจากสนช.พิจารณากฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่อยากก้าวล่วง เพื่อให้กกต.ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่จนได้ข้อยุติ ส่วนทางออกของปัญหาการพิจารณากฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. สนช.ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วันแล้ว หากผู้ปฏิบัติสามารถทำได้ถือเป็นเรื่องดี หรือหากจำเป็นจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่องดใช้ไพรมารีโหวตจะต้องให้กกต.เป็นผู้เสนอ 

"ยืนยันว่าสนช.จะไม่ริเริ่มเสนอแก้ไขเอง เพราะไม่อยากถูกตำหนิเหมือนประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่าหากจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะกระทบต่อโรดแมปด้วย เพราะต้องรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญก่อน แต่สามารถบริหารจัดการให้กฎหมายแล้วเสร็จภายใน 30-60 วันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการใช้ ม.44 แก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงต้องขึ้นอยู่กับกกต.พิจารณาว่าจะทำไพรมารีโหวตแบบใดแล้วปรึกษากับคสช." ประธานสนช. กล่าว

พรเพชร กล่าวถึงวิธิการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองให้มีความง่ายขึ้นว่า สามารถให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม อาจจะไม่ต้องมีจำนวนมาก โดยเริ่มจากฐานรากในพื้นที่ ไม่ใช่จากพรรคการเมืองหรือส่วนกลางของพรรค ซึ่งหากทำได้ในระดับหนึ่ง น่าจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของไพรมารีโหวต ส่วนเรื่องการคลายล็อคให้พรรคการเมือง ทำกิจกรรมการเมืองได้ เป็นอำนาจการพิจารณาของ คสช.

วิษณุชี้ คสช.จะเคาะวิธีทำไพรมารีตามที่กกต.แนะนำ

ขณะที่ วิษณุ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลการหารือกับ กกต. ชุดใหม่ เมื่อวานนี้ (วันที่ 20 ส.ค.) ว่า ตนยังไม่ได้รายงานผลการหารือกับ กกต.ชุดใหม่ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์  จึงสั่งการให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ในวันพรุ่งนี้ ( วันที่ 22 ส.ค.) แทน โดยจะรายงานให้ทราบว่าได้ทำอะไรบ้าง และบางอย่างจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ เป็นคนพิจารณาแนวทาง และนายกรัฐมนตรีอาจนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช.ด้วย ส่วนหัวข้อที่ว่าอาจใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ไพรมารีโหวต แต่ไม่ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทนนั้น คสช.จะเป็นผู้พิจารณา โดยมีหลายวิธี และเป็นวิธีที่ทาง กกต.แนะนำมา

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เสวนาอุษาคเนย์ "จับกระแสการเมืองอาเซียน 2018: กัมพูชา เมียนมา ลาว" [คลิป]

Posted: 21 Aug 2018 09:03 AM PDT

คลิปจากเวทีเสวนาอุษาคเนย์ (SEAS TALK)  "จับกระแสการเมืองอาเซียน 2018: กัมพูชา เมียนมา ลาว" เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยากรประกอบด้วย บุนคง เพชรดาวฮุ่ง ภาควิชาพัวพันสากล คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ดุลยภาค ปรีชารัชช  โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวอาเซียน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

โดยวงเสวนาดังกล่าวชวนถกเรื่องการเมืองเปรียบเทียบในเขตอาเซียนพื้นทวีป ครอบคลุมสามประเทศหลัก ได้แก่ พม่าที่มุ่งเน้นไปที่การดุลอำนาจระหว่างทหารกับพลเรือน การเจรจาสันติภาพและการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ลาวที่เน้นไปที่การผลัดใบผู้นำและยุทธศาสตร์บริหารจัดการเขื่อนแตกที่อัตตะปือของรัฐบาลลาว และกัมพูชาที่เน้นไปที่ภูมิทัศน์การเมืองหลังเลือกตั้งปลายเดือนกรกฏาคมที่พึ่งผ่านมาหมาดๆ รวมถึงการครองอำนาจของระบอบฮุนเซ็นในปัจจุบันและอนาคต พร้อมเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงการเมืองระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านพื้นทวีปทั้งสามแห่ง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พ.ร.บ.ข้าว ฉบับใหม่: อำนาจล้นฟ้าที่อาจไม่ฟังเสียงชาวนา

Posted: 21 Aug 2018 06:22 AM PDT

นักวิชาการชี้ พ.ร.บ. ข้าวฉบับใหม่ ให้อำนาจรัฐคุมราคากลาง จัดโซนนิ่งปลูกข้าว เอื้อกลุ่มทุนผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เน้นผลผลิตจนละเลยมิติด้านสังคมและสวัสดิการชาวนา เผย คสช. พยายามซื้อใจชาวนา แต่ได้ยังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะมีชะนักติดหลังที่ทำกับรัฐบาลที่แล้ว

ประเทศไทยมีชาวนาอยู่ประมาณ 17.6 ล้านคน หรือ 4.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งหมายความว่า ในคนไทย 5 คน จะมีชาวนาอยู่อย่างน้อย 1 คน ข้าวกับชาวนาจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยมาโดยตลอด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร เช่นโครงการแจกเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โครงการจำนำยุ้งฉาง โดยความพยายามล่าสุดคือการเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ข้าว โดยมี กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 25 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นรับฟังความคิดเห็น

เนื้อหาหลักของร่างกฎหมายดังกล่าวคือจะมีการตั้งคณะกรรมการข้าว โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจในการกำหนดพื้นที่ในการปลูกข้าว กำหนดราคากลาง กำหนดยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ รวมไปถึงควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก และยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐยึดและทำลายข้าวที่ผลิตอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายฉบับใหม่พร้อมกำหนดโทษอาญาสำหรับชาวนาหรือผู้ประกอบกอบที่ฝ่าฝืนทั้งโทษปรับและจำคุก 

กิตติศักดิ์ ในฐานะผู้เสนอร่างกล่าวว่ากฏหมายฉบับนี้จะทำให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นการลดการเอารัดเอาเปรียบโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่โฆษณาเกินจริง พ่อค้าคนกลาง และโรงสี อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ชาวนาไทยผ่านการให้ความรู้และให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังจะป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวนอกราชอาณาจักรเข้ามาขายภายในประเทศไทยอีกด้วย

"คนหัวหมอจะเอาข้าวมาสวมสิทธิ์จะต้องกระอักแน่ และหากเจ้าหน้าที่จับได้ นอกจากจะทำลายทิ้งแล้วจะต้องถึงคุกถึงตารางด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดต้นทุนเพื่อช่วยชาวนา อาทิ ผู้รับจ้างใส่ปุ๋ยต้องมีใบอนุญาต มีหลักการทางวิชาการมากำกับ เพื่อแก้ปัญหาการขาดความรู้จนถูกพ่อค้าปุ๋ยยุยงให้ใส่ปุ๋ยหลายๆ แบบ"  กิตติศักดิ์กล่าว

คำพูดที่ฟังดูสวยหรูของผู้ร่างกฎหมาย อาจสร้างความหวังให้ชาวนาไทยได้ไม่น้อย แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าตั้งคำถามอยู่พอสมควร วีระ หวังสัจโชค อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ตั้งข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ. ข้าวดังนี้

มาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ.ข้าว ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากภาครัฐจำนวน 20 คน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมชลประทาน เป็นต้น มีคณะกรรมการผู้แทนเครือข่ายชาวนา 5 คน คณะกรรมการผู้แทนภาคเอกชน 5 คน และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒติอีกไม่เกิน 3 คน โดยต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน บริหารธุรกิจข้าว เทคโนโลยีการผลิตข้าว หรือด้านเศรษฐศาสตร์

วีระตั้งคำถามว่าหาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยชาวนาจริงๆ สัดส่วนของตัวแทนชาวนาในคณะกรรมการดังกล่าวถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่? เพราะในทางปฏิบัติ เราเคยมีประสบการณ์จากคณะกรรมการค่าแรงแห่งชาติที่ฝ่ายภาครัฐกับภาคเอกชนจับมือกัน ทำให้วาระที่ตัวแทนภาคแรงงานเสนอในคณะกรรมการถูกตีตกได้ง่าย การที่กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา หรือรัฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านคุณภาพชีวิต และการปรับตัวของชาวนาเลย นั่นสะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับเรื่อง "ผลิตให้เยอะ และขายให้ออก" เป็นหลัก และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือไม่มีการพูดถึงบทบาทของภาคประชาสังคมในคณะกรรมการดังกล่าวเลย 

ปัญหาประการต่อมาคือ ถึงแม้จะมีอัตราส่วนชาวนาน้อยในคณะกรรมการข้าวกลับมีอำนาจในการกำกับชาวนาเยอะมาก อำนาจแรกคือ อำนาจในการกำหนดราคาแนะนำ เช่นราคารับซื้อข้าวเปลือก ราคาต้นทุนการผลิต ซึ่งอาจจะรวมไปถึงราคาขายข้าวด้วย หากมองในแง่ดี คณะกรรมการดังกล่าวย่อมมีอำนาจในการกำหนดราคากลางให้สูงกว่าราคาตลาด แต่ในเมื่อชาวนาเป็นเสียงข้างน้อย จึงมีโอกาสที่ราคาดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน

อำนาจประการที่สองคืออำนาจในการจัดสรรพื้นที่ปลูกข้าว หรือ "โซนนิ่ง" โดยในกฎหมายระบุว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะจัดสรรพื้นที่ปลูกข้าวให้สอดคล้องกับกายภาพของพื้นที่นั้นๆ พร้อมยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกษตรกรที่พื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวหันไปปลูกพืชชนิดอื่น หมายความว่า ต่อไปนี้ ชาวนาจะสามารถปลูกข้าวได้แต่ในพื้นที่ที่สร้างผลผลิตได้เยอะพอที่จะทำกำไรได้เท่านั้น

"คณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดราคาต้นทุนการผลิตและราคาแนะนำได้ และสามารถกำหนดมาตรการที่จะคำนึงถึง 'ค่าครองชีพที่เหมาะสม กลไกตลาด อุปสงค์ และอุปทาน' เห็นประโยคแค่นี้เราก็จะพบเลยว่านี่มันคือเสรีนิยมใหม่ในภาษาของนักเศรษฐศาสตร์การเมือง คือคุณจะสามารถสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไรโดยการใช้กลไกตลาด สมมติเกิดราคาข้าวตกต่ำ จะทำอย่างไร จะปล่อยไปตามกลไกตลาดหรือ? หรือหนักไปกว่านั้น ถ้าปล่อยไปตามกลไกลตลาดชาวนาก็แค่รายได้ลดลง แต่กรรมการชุดนี้สามารถกำหนดโซนนิ่งได้ สมมติถ้าราคาข้าวตกต่ำ เขาบอกพื้นที่นี้ไม่ควรปลูกข้าว ไปปลูกมันสัมปะหลัง ไปปลูกข้าวโพด ไปปลูกหมามุ่ยแทน ถ้าคณะกรรมการบอกว่าปลูกข้าวไม่ได้แล้วชาวนาต้องทำยังไง" วีระตั้งคำถาม

อำนาจประการสุดท้ายที่วีระกล่าวว่าต้อง "ขอใส่ดอกจันท์" คืออำนาจในการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ คณะกรรมการข้าว มีข้อกำหนดว่าพันธุ์ข้าวที่จะสามารถปลูกได้จะต้องเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากรัฐ เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดได้ว่าข้าวสายพันธุ์ใดเหมาะสมกับพื้นที่ใด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุด อาจฟังเหมือนเป็นข้อดีเพราะจะเป็นการเอาข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือปลอมปนออกจากตลาด แต่ในทางปฏิบัติ ชาวนาทุกคนไม่ได้มีเทคโนโลยีในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์มากพอสำหรับการขึ้นทะเบียน ชาวนาจำนวนมากยังคงใช้วิธีการเก็บข้าวเปลือกไว้เพาะปลูก และพัฒนาสายพันธุ์เองตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายหาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศใช้

"ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือมันจะทำให้เหลือพันธุ์ข้าวเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ และพันธุ์ข้าวไม่กี่พันเหล่านั้นมันก็เกิดจากกลุ่มทุนที่มีศักยภาพเพียงพอในการทดลองพันธุ์ข้าวจนเกิดพันข้าวบริสุทธิ์ไม่มีสารเจือปน และได้รับการรับรองจากภาครัฐ ถ้าภาครัฐรับรองพันธุ์ข้าวเพียงไม่กี่สายพันแบบนี้ มันจะไม่กลายเป็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์หรือ?" วีระกล่าว

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดโทษสำหรับชาวนาที่ฝ่าฝืน โดยผู้ที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าตรวจค้นและอายัดข้าวที่ต้องสงสัยว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อีกด้วย  

วีระเสนอว่าหากผู้ร่างกฎหมายมองผลประโยชน์ของชาวนาเป็นสำคัญ ก็ควรที่จะคิดให้ไกลกว่าเรื่อง "ผลิตให้เยอะ และขายให้ออก" แต่ควรจะระบุถึงสวัสดิการชาวนา ซึ่งถูกพูดถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนเรื่องของการใช้สารเคมีอันตราย หรือการใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในต่างประเทศและส่งผลกระทบกับเกษตรโดยตรงกลับไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใด 

วีระกล่าวว่า คสช. พยายามจะช่วยเหลือชาวนาผ่านมาตรการต่างๆ ที่ไม่ใช่การแทรกแซงกลไกตลาด ทั้งนี้เนื่องจาก คสช. มักจะโจมตีนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่าทำให้ประเทศเสียหายเพราะไปแทรกแซงกลไกลตลาด จึงไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบเดียวกันได้ 

"รัฐบาลนี้เหมือนสองจิตสองใจ ใจหนึ่งก็ต้องการคะแนนนิยมจากชาวนา แต่อีกใจหนึ่งคือสิ่งที่เป็นชนักหลังของคุณ คือคุณทำให้รัฐบาลเก่าออกไปจากนโยบายที่แทรกแซงราคาตลาด ฉะนั้นคุณไม่สามารถที่จะทำแบบเดิมได้ คุณก็ต้องหาวิธีการช่วยเหลืออื่นๆ แทนในการเรียกหาคะแนนนิยม"

เมื่อเป็นเช่นนี้ นโยบายช่วยเหลือชาวนาของ คสช. จึงมักจะมาในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง เช่นนโยบายแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท กองทุนหมู่บ้าน หรือบัตรคนจน ซึ่งก็ซื้อใจชาวนาได้บางส่วน เช่นในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ชาวนาส่วนใหญ่มีฐานะและมีที่ดินเป็นของตัวเองจึงได้รับเงินจากโครงการไร่ละพันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่สำหรับชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้องเช่าที่ทำนา เจ้าของที่จะมีการหักส่วนแบ่ง ทำให้จาก 1,000 บาท อาจจะตกถึงชาวนาจริงๆ เพียง 600 บาท ทั้งนี้วีระย้ำว่าไม่อยากให้รัฐบาลมองว่าชาวนาจะต้องเลือกยิ่งลักษณ์ หรือเพื่อไทยตลอดไป เพราะในความเป็นจริง ชาวนาก็เคยขึ้นเวที กปปส. เรื่องไม่ได้เงินจากโครงการจำนำข้าว ชาวนามีความยืดหยุ่นในการเลือกที่จะสนับสนุนใครก็ได้ที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างตรงจุด

"ชาวนาก็ค่อนข้างที่จะชมรัฐบาลนี้ในการช่วยเหลือต่างๆ อย่างเช่นกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีมาหลายรอบมาก รอบละสองแสน สามแสนบาท ชาวนาเขาก็แฮปปี้นะ แต่เขาเทียบกับสิ่งที่เขาหายไปคือจำนำข้าว แต่ก่อนมันจำนำตันละหมื่นห้า แต่จำนำได้จริงๆ อาจจะแค่ประมานหมื่นสอง แต่ตอนนี้รายได้จากการขายข้าวหนึ่งตันได้แค่เจ็ดพัน รายได้เขาหายไปเกือบครึ่ง เพราะฉะนั้นชาวนาก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมมันไม่เหมือนเดิม"

"การที่คุณจะได้คะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้คุณต้องหาว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร ซึ่งส่วนใหญ่เป้าหมายของพวกเขาก็คือราคา ถ้ารัฐบาลชุดไหนสามารถดูแลเรื่องราคาได้ รัฐบาลนั้นจะได้เสียงข้างมาก แต่โดยส่วนตัวผมก็ไม่ชอบเหมือนกันเพราะมันก็กลายเป็นรัฐบาลประชานิยม รัฐบาลในฝันสำหรับผมจริงๆ คือรัฐบาลที่ส่งเสริมในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม และระบบสวัสดิการในภาคเกษตร นั่นแหละคือรัฐบาลที่เราต้องการ" วีระ กล่าวทิ้งท้าย
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘ไอลอว์’ เปิด 8 กฎหมาย-คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้ดำเนินคดี-ห้ามชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

Posted: 21 Aug 2018 06:16 AM PDT

คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 - พ.ร.บ.การชุมนุมฯ- ม.116 ยุยงปลุกปั่น - ม.215 มั่วสุมก่อความวุ่นวาย - พ.ร.บ.จราจรทางบก - พ.ร.บ.ทางหลวง – อั้งยี่ - พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องขยายเสียง ถูกใช้ห้ามชุมนุมหรือดำเนินคดีกับคนจัดชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ 'ไอลอว์' ชี้อาจผิดมากกว่าหนึ่งข้อหา ขึ้นกับการตีความตามอำเภอใจของ จนท.รัฐ เหตุเงื่อนไขกว้างขวาง ไม่มีขอบเขต

 

ภาพชุมนุมต้านรัฐประหารที่สนามเป้า 24 พฤษภาคม 2557 (แฟ้มภาพ ประชาไท)

 

21 ส.ค.2561  เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'iLaw' ของ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ ไอลอว์ เผยแพร่ข้อมูล การรวบรวม กฎหมายและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เจ้าหน้าที่เลือกหยิบมาใช้เพื่อห้ามการชุมนุม หรือเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่จัดการชุมนุมอยู่หลากหลายมาก

ไอลอว์ แสดงความเห็นว่า การชุมนุมหนึ่งครั้ง ที่แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธก็อาจทำให้ผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมถูกตั้งข้อหาได้มากกว่าหนึ่งข้อหา ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความและอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จนประชาชนที่จะใช้เสรีภาพการชุมนุมไม่สามารถคาดหมายได้ว่า จะชุมนุมแบบใดจึงไม่ผิดต่อกฎหมาย และผู้ต้องหาไม่มีสิทธิที่จะเลือกด้วย มีสิทธิเพียงให้การปฏิเสธและไปต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ดี การชุมนุมแต่ละครั้งหากถูกตั้งข้อกล่าวหามากกว่าหนึ่งข้อหา ก็อาจจะถูกศาลตีความว่า เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และถ้าเป็นความผิดก็จะลงโทษตามฐานความผิดที่มีโทษสูงสุดเพียงบทเดียวก็ได้ แต่การที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการชุมนุมมากมาย ทำให้เสรีภาพในการชุมนุมที่แม้จะถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับถูกจำกัดได้ด้วยเงื่อนไขที่กว้างขวาง ไม่มีขอบเขต

1. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 

ข้อ 12 กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529

โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถูกใช้บ่อยครั้งเพื่อตั้งข้อหาแก่การชุมนุมของประชาชนหลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจ โดยตั้งแต่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 บังคับใช้เป็นต้นมา การชุมนุมหลายครั้งที่ปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลับถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. และสั่งไม่อนุญาต รวมถึงใช้กำลังเข้าขัดขวาง และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ก็ถูกตำรวจสน.ดุสิต ตอบกลับว่า เห็นควรงดจัดกิจกรรมที่อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 หรือการชุมนุมของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรง บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือนกันยายน 2560 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ก็ถูกตำรวจสน.ดุสิต ตอบกลับว่า อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12

ทั้งนี้ไอลอว์ได้มีการรณรงค์ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. รวมทั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ด้วย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ilaw.or.th/10000sign

 

2. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

เป็นกฎหมายที่ควรจะเป็นบทหลักในการจัดการชุมนุม ออกมาในยุค คสช. และบังคับใช้โดย คสช. กฎหมายนี้มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง สั่งให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจในท้องที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ ห้ามก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ห้ามพกอาวุธ ห้ามปิดบังใบหน้า ห้ามข่มขู่ให้เกิดความกลัว ห้ามเคลื่อนขบวนตอนกลางคืน ฯลฯ โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ มีปัญหามาก หลักใหญ่ใจความคือการบอกว่าต้องแจ้งให้ทราบก่อนการชุมนุม แต่ว่าเมื่อแจ้งให้ทราบแล้วเจ้าหน้าที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นคำว่า "แจ้งให้ทราบ" จึงเป็นคำที่ไม่จริง จริงๆ แล้วคือระบบการขออนุญาต การขออนุญาตก็มีปัญหาเพราะหลักการในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตยังไม่ชัดเจนมากนัก ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าการไม่อนุญาตจะมีเหตุผลว่าขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 กลายเป็นว่าไปเอากฎหมายอื่นมาอ้าง แม้จะทำถูกต้องตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะแล้วก็ตาม ดังนั้นระบบการแจ้งให้ทราบจึงเพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นคนอนุญาตหรือไม่อนุญาต เพียงแค่รับรู้และมาดำเนินการอำนวยความสะดวกการชุมนุมก็เพียงพอแล้ว

ส่วนเรื่องการห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐ ส่วนตัวคิดว่าโอเค มองในแง่การอารยะขัดขืน การอารยะขัดขืนก็สามารถทำผิดกฎหมายได้ หรือรัศมี 150 ก็คิดว่าเป็นระยะที่ไกลเกินไปหน่อย

ยิ่งชีพ ชี้ว่า กรณีที่มีปัญหามากอีกกรณีคือห้ามปกปิดใบหน้า ซึ่งเข้าใจคนร่างกฎหมายว่าพอปกปิดใบหน้าแล้วคนจะกล้าทำอะไรที่เสี่ยงมากขึ้น และการมาชุมนุมสาธารณะก็ควรจะพร้อมแสดงออกมาตัวเองเป็นใคร สนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้อย่างไร แต่ก็มีสาเหตุบางอย่าง เช่น อากาศร้อน หรือมีความอ่อนไหวบางอย่างในการชุมนุมบางประเภทที่ไม่อยากเปิดเผยตัว หรือบางทีใช้สัญลักษณ์ เช่น หน้ากาก หรือเร็วๆ นี้ก็มีการชุมนุมที่เกาหลีใต้รณรงค์ห้ามแอบถ่าย คนที่มาชุมนุมหลายพันคนก็ปิดหน้าหมด ก็สามารถทำได้ ดังนั้นการห้ามปิดหน้าในประเทศไทยจึงเป็นปัญหา

3. มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

กำหนดว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ไอลอว์ ชี้ว่าสถิติของผู้ถูกตั้งข้อหานี้ในปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 27 คดี ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เช่น แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือ วัฒนา เมืองสุข โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับประเด็นการดำเนินคดีต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และอาจเป็นเหตุให้ประชาชนเข้าใจว่า คสช. อาศัยอำนาจของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีกับวัฒนาฯ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

4. มาตรา 215 ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย

กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยิ่งชีพ อธิบายว่า มาตรา 215 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะมี พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ก่อนที่จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ซึ่งหากใช้ให้ถูกจริงๆ อาจใช้กับพวกแก๊งค์ก่อกวนเมือง รวมตัวเอะอะโวยวาย ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ แต่มาตรานี้ก็ถูกนำมาใช้กับการชุมนุมแสดงความคิดเห็นอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อปี 52 ถูกใช้ในการรวมกลุ่มของแรงงานไทรอัมพ์เรียกร้องการขึ้นค่าจ้าง หรือคดีปีนสภาเมื่อปี 2551 แต่ศาลก็ตัดสินว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ก่อความไม่สงบจึงไม่ถือเป็นความผิด

ในยุค คสช. ตอนที่เพิ่งยึดอำนาจ มีการใช้มาตรา 215 ควบคู่ไปกับการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/57 ก่อนที่จะกลายมาเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่หลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 215 ก็ไม่ได้ถูกใช้ จนกระทั่งกลับมาใช้กับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

ยิ่งชีพ เห็นว่า ปัจจุบันมาตรา 214 นั้นถูกเขียนไว้กว้างเกินไป เลยกลายเป็นข้อหาที่ใช้กับการชุมนุมสาธารณะได้ทุกครั้ง เพราะเขียนว่า "ก่อให้เกิดความไม่สงบ" จึงต้องมาสู้กันว่าสงบหรือไม่ เพราะเวลาชุมนุมก็ต้องเสียงดังอยู่แล้ว มีการใช้เครื่องเสียง มีการเดิน ซึ่งจะให้สงบร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้

5. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่

  1. เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน

(2) แถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใดๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด

มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางเท้าหรือทางใด ๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

6. พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535

มาตรา 39 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล มีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยทั้ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ยิ่งชีพให้ความเห็นว่า ทั้งสองอย่างนั้นมีโทษไม่หนัก หากดูจากเจตนารมณ์ทางกฎหมายคือการป้องกันไม่ให้มีใครมากีดขวางทางจราจร ซึ่งยังเห็นด้วยว่ามีเหตุผลที่กฎหมายทั้งสองตัวนี้จะยังอยู่ ยังไม่ควรต้องถูกยกเลิก แต่ในกรณีการชุมนุมถ้าว่ากันตามหลักแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกไม่ให้กระทบการจราจร ถ้าการจราจรติดขัดครึ่งหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ พ.ร.บ. จราจรทางบกและทางหลวงก็กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เจ้าหน้าที่หยิบเอามาใช้กับการชุมนุมที่เดินบนถนน แต่ก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี กรณีที่เขาไม่อยากจะเอาผิดเพราะอาจมีการประสานงานจัดการกันเรียบร้อยดี เช่น ตอนที่ P-move เดิน ก็ไม่โดน

7. ความผิดฐานเป็นอั้งยี่

มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้นผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

- ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ

- มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

 "คณะบุคคล" คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

 "สมาชิก" ต้องมีสิทธิในที่ประชุม (ร่วมปรึกษาหารือลงคะแนนเสียง)

ยิ่งชีพ เสนอเพิ่มเติมว่า ข้อหาอั้งยี่เป็นความผิดที่หากพูดง่ายๆ คือเขียนเพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ สมัยที่คอมมิวนิสต์มีความพยายามรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหว พอในยุคนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว การคงข้อหานี้ไว้ก็ค่อนข้างถูกเอามาใช้หว่านแหจัดการกับการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไม่แน่ใจว่าควรยกเลิกหรือไม่ แต่ควรจะต้องปรับปรุงให้ถูกตีความได้แคบกว่านี้ ไม่ให้ถูกเอามาใช้กับการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิที่ควรจะทำได้

8. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

มาตรา 4 กล่าวว่า ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า จะต้องขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงทำการโฆษณาได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับอนุญาต และให้มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขลงในใบอนุญาตว่าด้วยเวลา สถานที่ และเครื่องอุปกรณ์ขยายเสียงและผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดนั้น

ยิ่งชีพ เห็นว่า การบอกว่าหากจะใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะต้องไปขออนุญาตก่อนนั้น กระทบต่อการชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งใช้เครื่องขยายเสียงด้วย และหากเป็นการชุมนุมที่คัดค้านรัฐบาลไปขออนุญาตก็คงไม่ได้รับอนุญาต จึงสามารถโดนข้อหาเครื่องขยายเสียงนี้ได้เช่นกัน

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วิจัย ธปท. เผยคนทำงานนอกระบบพุ่ง 44% - เวลาทำงานลดเหลือ 43 ชม./สัปดาห์

Posted: 21 Aug 2018 04:04 AM PDT

ธนาคารแห่งประเทศไทยพบแรงงานเริ่มออกจากตลาดตั้งแต่อายุ 45 ปี ส่วนใหญ่เป็นหญิง สาเหตุหลักจากมีภาระดูแลสมาชิกในครอบครัว จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อคนทยอยลดลงจาก 47 ชม./สัปดาห์ในปี 2001 เหลือ 43 ชม./สัปดาห์ในปี 2017 และ 44% ของผู้มีงานทำทั้งหมดของไทยทำงานอยู่นอกระบบ

กราฟแสดง จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์(ซ้าย) และสัดส่วนผู้มีงานทำที่อยู่นอกระบบ (ขวา)

ที่มา: แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey: LFS) คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

การเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมทั้งสังคมไทยด้วย  โดยที่รัฐบาลไทยเริ่มออกมาตรการรับมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การลดภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ (Reverse mortgage) และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความชื่อ "สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย (Thematic Studies) เพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์จากต่างประเทศในการรองรับความท้าทายจากสังคมสูงวัยเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายในบริบทของประเทศไทย (อ่านบทความฉบับเต็ทที่ เว็บไซต์ www.bot.or.th)

แผนภฺมิแสดง สาเหตุการออกจากกำลังแรงงานของผู้ชาย (ซ้าย) และผู้หญิง (ขวา) แยกตามกลุ่มอายุ

ที่มา: แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey: LFS) คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า จากการศึกษาบริบทตลาดแรงงานและลักษณะครอบครัวของไทย พบว่ามีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนหน้านี้ การออกแบบนโยบายของไทยจึงควรคำนึงถึงการตัดสินใจทำงานของแรงงานไทย โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค โดยผลการศึกษาในระดับมหภาค พบว่าแรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งจาก (1) จำนวนแรงงานที่ลดลง (Extensive margin) จำานวนแรงงานไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการเกษียณอายุและออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยเกษียณ โดยแรงงานไทยประมาณปีละ 3 แสนคนจะเริ่มออกจากตลาดแรงงาน ซึ่งผลการศึกษาพบว่าแรงงานจะเริ่มออกจากตลาดตั้งแต่อายุ 45 ปี และส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบประเทศญี่ปุ่นซึ่งเริ่มออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 55-59 ปี ในญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเริ่มออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 50-54 ปี และ (2) การลดลงของจำนวนชั่วโมงการทำงาน (Intensive margin) และการเพิ่มขึ้นของแรงงานนอกระบบ

โดยสาเหตุหลักที่ตัดสินใจออกจากตลาดแรงงานเนื่องจากมีภาระดูแลสมาชิกในครอบครัว อาจเป็นทั้งเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง Extensive margin และ Intensive margin ต่างมีผลต่อความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงทางการเงินของประชากรไทย ขณะที่แรงงานผู้ชายของไทยจะอยู่ในตลาดแรงงานนานกว่า โดยยังคงทำงานจนถึงช่วงอายุ 55-59 ปีในทุกระดับการศึกษา

สำหรับผู้มีงานทำจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อคนทยอยลดลงจาก 47 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2001 เหลือ 43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2017 โดยสังเกตได้ว่าแรงงานบางส่วนทำงานเพียง 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสูงอายุ ที่มีอายุระหว่าง 45 – 59 ปี จำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน 

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 44 ของผู้มีงานทำทั้งหมดของไทยทำงานอยู่นอกระบบ เช่น ช่วยกิจการ ในบ้าน ทำงานในภาคเกษตรกรรม หรือค้าขายขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน เป็นต้น แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญ ความเสี่ยงจากรายได้ที่ไม่แน่นอนและภาระรายจ่ายที่ส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมอยู่ในระบบสวัสดิการของรัฐ

ผลการศึกษาปัจจัยด้านบุคคลที่กำหนดอุปทานแรงงานของไทย พบว่า (1) ผู้มีงานทำที่มีระดับการศึกษาสูงมีโอกาสจะทำงานนานกว่าและทำงานอยู่ในระบบมากกว่า (2) ปัญหาสุขภาพมีผลต่อการตัดสินใจลดการทำงานโดยเฉพาะแรงงานชายที่มีปัญหาสุขภาพมีแนวโน้มจะลดชั่วโมงการทำงานมากกว่าแรงงานหญิง ขณะที่ผลการศึกษาปัจจัยด้านครอบครัว พบว่า (1) ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุแรงงานมักออกจากงานเร็วกว่าและทำงานน้อยลงโดยเฉพาะแรงงานหญิง ที่อาศัยอยู่นอกเมือง (2) ในครอบครัวที่มีเด็กเล็กโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่นอกเมือง แรงงานมีแนวโน้มทำงานน้อยลง หรือบางส่วนเลือกที่จะลดชั่วโมงการทำงานหรือทำงานนอกระบบแทน อย่างไรก็ดี แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะกลับมา ทำงานเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น แต่มักจะเลือกทำงานนอกระบบหรือทำงานในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นด้านเวลามากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบว่าปัญหาด้านสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ส่งผลให้สมาชิกวัยทำงานทำงานลดลง อย่างมีนัยสำคัญ

จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่การออกแบบนโยบายด้านแรงงานจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านครอบครัวของผู้มีงานทำประกอบด้วยเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัยนั้นนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อตลาดแรงงานจากจำนวนแรงงานที่มีอายุมากขึ้น ยังส่งผลทางอ้อมต่อการทำงานของแรงงานวัยทำงานในปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้น การออกแบบนโยบายด้านแรงงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในระยะยาวควรมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์โดย (1) ให้แรงงานได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและมีทางเลือกที่จะทำงานในระบบได้มากขึ้น ทั้งการเพิ่มทักษะ (Up-skill) และการเสริมทักษะใหม่ (Re-skill) ตลอดช่วงอายุ(life-long learning) (2) สร้างแรงจูงใจให้แรงงานทำงานมากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและแรงงานหญิง โดยการออกแบบการทำงานให้มีลักษณะยืดหยุ่นจะเอื้อให้แรงงานสูงอายุและแรงงานหญิงสามารถหางานให้เหมาะสมตามความต้องการได้ และ (3) การขยายสิทธิประโยชน์ในการจ้างงานผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีทักษะและยังสามารถทำงานได้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จับผิดรายงาน คกก.วัตถุอันตราย ไม่แบนพาราควอต ประชาสังคมจ่อฟ้อง ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน

Posted: 21 Aug 2018 02:14 AM PDT

ภาคประชาชน จับผิดรายงานของ คกก.วัตถุอันตราย พบ 11 ปมไม่ชอบมาพากล จงใจเลือกข้อมูลจากบรรษัทที่ผลประโยชน์ทับซ้อนมาหนุนใช้สารพิษต่อ-ปกปิดข้อมูลสำคัญ-โยนผิดให้เกษตรกร 'วิฑูรย์ ไบโอไทย' ชี้แบนพาราควอตทำยาก เหตุโครงสร้างกฎหมาย-รัฐและบริษัทใหญ่เกื้อหนุนกัน เสนอทางเลือกใหม่ไม่ใช้พาราควอต หนุนพืชคลุมดิน-จอบหมุน-รถไถจิ๋ว-ปลูกผสมผสาน

 

 

 

เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.61) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยรายงานของของคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งไม่เคยเผยแพร่มาก่อนซึ่งนำไปสู่การลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

 

พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต พิษร้ายผลกระทบแรง

 

แถลงข่าวระบุว่า ในต่างประเทศ 51 ประเทศได้แบนสารพาราควอตแล้ว และเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศคือจีน และบราซิล เนื่องจากมีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และก่อพาร์กินสัน ในขณะที่คลอร์ไพริฟอสนั้นเป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก สารฆ่าแมลงชนิดนี้ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ดำเนินการแบนภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเซต ซึ่งสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็งนั้น ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีมูลค่าสูงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท

 

ลำดับเหตุการณ์

5 เม.ย. 60 กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานจาก 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโพเซต

12 ม.ค. 61 คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ

15 ก.พ. 61 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันให้มีการแบนสารพิษตามมติเดิม หลังนายกฯ สั่งการให้หาข้อยุติ

23 พ.ค. 61 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงตามความเห็นของอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ แต่ใช้การควบคุมเป็นวัตถุอันตรายแทน

 

จับผิดรายงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

 

วิฑูรย์ กล่าวว่า หากอ่านเอกสารดังกล่าวโดยละเอียดจะพบว่ามีประเด็นความไม่ชอบมาพากล 11 ประการได้แก่ 1. จงใจเลือกข้อมูลมาสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ 2. ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ 3. โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ 4. บิดเบือนเหตุผลการเสนอแบน 5. แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง 6. ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ 7. อ้างข้อสรุปปัญหาเล็กบิดบังปัญหาใหญ่ 8. เลือกใช้ข้อมูลจากบรรษัท 9.โยนบาปว่าเป็นความผิดของเกษตรกร 10. ละเลยไม่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า และ 11. มีการลงมติชี้นำกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งๆ ที่อนุกรรมการเหล่านี้มาจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษอันตรายมาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ BioThai และ Thai-PAN ยังได้ชี้แจงข้อโต้แย้งต่อข้ออ้างในการไม่แบนสารพิษ 3 ตัวดังกล่าว ดังนี้

 

พาราควอต

ข้ออ้าง: ยึดจับในดินได้ดี โอกาสแพร่ในสิ่งแวดล้อมน้อย, ไม่มีความเชื่อมโยงต่อระบบประสาทและโรคเนื้อเน่า, ผู้ได้รับพิษเพราะจงใจฆ่าตัวตาย ฉีดพ่นผิดวิธี

ข้อโต้แย้ง:

- ไม่ได้เอ่ยถึงความเป็นพิษเฉียบพลันสูง สูงกว่าคาร์โบฟูรานถึง 43 เท่า

- ไม่แปรผลข้อมูลกรณีผู้ป่วยที่ได้รับสารนี้จากอุบัติเหตุมีอัตราเสียชีวิต 14.53% และอัตราผู้ป่วยที่ตายจากการได้รับสารนี้จากการประกอบอาชีพสูงถึง 8.19%

- จงใจไม่นำรายงานล่าสุดของ EPA 2017 ที่ระบุว่า "มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ และไม่มียาถอนพิษ" ใส่ในบทสรุป

- อ้างว่าเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง ทั้งที่งานศึกษาใน EU พบว่าแม้จะมีเครื่องป้องกันแต่มีโอกาสได้รับสารสูงกว่ามาตรฐานถึง 60 เท่า

- ลดทอนความน่าเชื่อถือผลการตรวจของ ม.นเรศวร ที่พบการตกค้างใน จ.หนองบัวลำพู ในระดับสูง โดยไปเก็บตัวอย่างตรวจใหม่ แต่คนละช่วงเวลา

- ไม่นำผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบตกค้างในหอย ปู ปลา และกบ เกินมาตรฐานใน จ.น่าน มาใช้

- ไม่นำผลการตรวจพบขึ้เทาทารกสูงถึง 50% ของเด็กแรกเกิดใน 3 จังหวัด ของ ม.มหิดลมาใช้และลดทอนผลการตรวจพบในเซรั่มและสะดือแม่และเด็กโดยอ้างว่าตัวอย่างน้อย

- มีความพยายามขัดขวาง และลดทอนการค้นพบเรื่องสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า ของผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพมาใช้ในรายงาน โดยอ้างว่ายังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำเอาข้อมูลซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ของหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้สารพิษต่อ เช่น ของบริษัทมอนซานโต้ สมาคมวิทยาการวัชพืช และบทความในวารสารการเกษตรที่มีรายได้สำคัญมาจากค่าโฆษณาขายสารเคมีมาใช้ในรายงานเป็นจำนวนมาก

- จงใจไม่กล่าวในบทสรุปถึงพิษเรื้อรังของพาราควอตที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ทั้งที่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข และหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้

คลอร์ไพริฟอส

ข้ออ้าง: ปัญหาการตกค้างเกิดจากเกษตรกร, มีพิษปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท แต่พบมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองเด็ก

ข้อโต้แย้ง:

- แม้กล่าวว่ามีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองเด็ก แต่ก็ถูกซ่อนไว้ในประโยคที่กล่าวว่า "...ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ หรือการพัฒนาของระบบประสาทอย่างเฉพาะเจาะจง...ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์"

- อ้างว่าเป็นความผิดของเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามหลัก Good Agricultural Practice ทั้งที่ในประเทศมีการใช้ตามมาตรฐาน

- ในสหรัฐอเมริกา ศาลตัดสินสั่งแบนสารคลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วัน

ไกลโฟเซต

ข้ออ้าง: ข้อมูลการก่อมะเร็งยังไม่สามารถสรุปได้, ผลการตกค้างในมนุษย์ ตัวอย่างที่ศึกษามีไม่มากพอ

ข้อโต้แย้ง: อ้างรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ที่จริงคือ JMPR เป็นคณะทำงานร่วมระหว่าง FAO และ WHO ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลประโยชน์ทับซ้อน โดยประธาน JMPR ถูกวิจารณ์ว่า มาจากองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากมอนซานโต้ เจ้าของตลาดไกลโฟเสตรายใหญ่และพืชจีเอ็มโอต้านทานสารกำจัดวัชพืชดังกล่าว

 

เตรียมฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจขัด ม.12 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

วิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ "มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้เพิกถอนมติให้มีการใช้สารพิษ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและศึกษาเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจขัดต่อมาตรา 12 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพ.ร.บ. วัตถุอันตราย

"การแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เราไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการใช้อำนาจพิเศษ เพราะปัญหารากฐานของเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการตื่นขึ้นของเกษตรกรและผู้บริโภคจะเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น "นายวิฑูรย์ กล่าว

 

แบนพาราควอตทำได้ยากเพราะโครงสร้างทางกฎหมาย-รัฐและบริษัทใหญ่เกื้อหนุนกัน

 

วิฑูรย์ กล่าวสรุปว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อนในกลไกตามกฎหมาย และปัญหาเชิงโครงสร้างของกฎหมายที่ให้อำนาจในการแบนหรือไม่แบนสารใดให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ควรจะอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพมากกว่า ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.วัตถุอันตรายดังกล่าว และออกแบบกฎหมายให้โปร่งใสที่ประชาชน มีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบได้

วิฑูรย์ ได้กล่าวไว้ในรายการ 101 One-on-One เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า หากดูในโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เพราะคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบายและการตัดสินใจทางนโยบาย เราจะเห็นผู้เล่นที่เป็นตัวแทนของบริษัทมอนซานโต้ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการจากไบโอเทค ยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ด้านหน้าคือคนจากซินเจนทาซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่นำเข้าพาราควอต และอีกท่านหนึ่งคือตัวแทนจากยักษ์ใหญ่ของบริษัทสารเคมี โครงสร้างเหล่านี้เองที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายการเกษตรหลายยุคหลายสมัย

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องจะแบนหรือไม่แบน ในประเทศไทยหลายยุคที่ผ่านมาก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นสำคัญมากกว่ามาจากผู้บริโภคหรือเกษตรกรซึ่งต้องรับความเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก

ไม่ใช่แค่โครงสร้างทางการเมือง หรือระบบรัฐสภาเท่านั้น ภาคราชการของเราก็สัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ก็เอาข้าราชการมาทำงาน ตอนรับราชการอยู่ก็เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน  กรรมการในสมาคมวัตถุอันตรายที่ปัจจุบันผลักดันพาราควอต ตอนรับราชการก็ผลักดันกฎหมายพันธุ์พืช GMO ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ อีกคนหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมี เมื่อออกจากข้าราชการก็มาทำงานให้กับบรรษัทเอกชนข้ามชาติ แล้วบรรษัทก็มีกลไกที่คุมกลไกรัฐอีกที เพราะคนเหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย

 

ทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่พาราควอต หนุนพืชคลุมดิน-จอบหมุน-รถไถจิ๋ว-ปลูกแบบผสมผสาน

 

วิฑูรย์ เสนอไว้ในรายการ 101 One-on-One ดังกล่าวด้วยว่า ที่จริงเราเสนอทางเลือก 3 ทางใหญ่ๆ ทางที่ 4 ถึงจะเป็นสารเคมีซึ่งเป็นทางที่กรมวิชาการเกษตรเสนอมา โดยทางเลือกที่หนึ่ง เราเสนอให้มีการใช้พืชคลุมดิน พืชคลุมดินไม่ไม่ใช่แค่เพียงควบคุมวัชพืชแต่ว่าจะสร้างปุ๋ยด้วย จากงานศึกษาของกรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยพืชสวน พบว่าตอนนี้เกษตรกรต้องใช้พาราควอตมากในปาล์มกับยางพารา แต่ถ้าใช้พืชคลุมดินซึ่งต้นทุนอาจสูงขึ้นบ้างในระยะแรกจากการเพิ่มแรงงาน เราจะได้ประโยชน์ปุ๋ยธรรมชาติที่เกิดจากพืชคลุมดิน ซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวนคำนวณแล้วครับว่าใน 5 ปีข้างหน้า เราจะได้มูลค่าปุ๋ยธรรมชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 175,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี

ทางเลือกที่สอง พืชเช่นอ้อยที่ใครๆ มักอ้างว่าต้องใช้สารพาราควอต ไม่ใช้ไม่ได้ จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองที่ทำในจังหวัดใหญ่ๆ ที่ปลูกอ้อย พบว่าทางออกที่ดีกว่าพาราควอตคือการใช้ 'แทรคเตอร์ติดโรตารี' หรือจอบหมุน ปรากฏว่าผลผลิตดีกว่า ต้นทุนน้อยกว่า หรือถ้าเป็นเกษตรกรรมขนาดเล็กก็ใช้ 'รถไถเดินตาม' จริงๆ มี 'รถไถจิ๋ว' ของชาวบ้านที่เขาพัฒนาขึ้นมาด้วย ไว้ใช้ในแปลงมันสำปะหลังกับข้าวโพด จากการทำสำรวจหากใช้วิธีเหล่านี้การใช้พาราควอตจะลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 ถ้าเราแบนพาราควอต จะสร้างงานมหาศาล สร้างรายได้ ลดผลกระทบต่อสุขภาพไปด้วย

ทางเลือกที่สามคือการจัดการระบบการปลูกพืช บางทีไม่ต้องใช้สารเคมีเลย อย่างในสวนยาง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า ถ้าไม่ปลูกยางเชิงเดี่ยว ปลูกแบบผสมผสาน ไม่ต้องจำกัดวัชพืช แล้วจะได้กำไรมากด้วย ปัจจุบัน รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เอาราคายางตอนสูงๆ ไปคิด ปรากฏว่าก็ยังสู้ระบบเกษตรผสมผสานไม่ได้

ทางที่สี่จึงค่อยไปหาสารเคมี ด้วยเหตุที่พวกเราทำเกษตรอินทรีย์ พวกเราไม่ได้แนะนำ แต่กรมวิชาการเกษตรแนะนำเอง กรมวิชาการการเกษตรส่งตัวแทนท่ามกลางคณะอนุกรรมการหลักของสารที่มีความเสี่ยงสูง เสนอให้มีการใช้สารที่เป็นสารทางเลือก เป็นสารเคมีอีกตัวของบริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ ที่รวมตัวกันแล้ว ตัวนี้แพงกว่าพาราควอตประมาณ 4-5 เท่า แต่จากงานวิจัยที่มาเลเซียกับอินโดนีเซียทำพบว่า ได้ผลเหมือนพาราควอตในปริมาณที่ใช้น้อยกว่า 5 เท่า ถ้าคิดดูแล้วมันจะถูกกว่า เพราะควบคุมได้ดีกว่า

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สนง.สาธารณสุข อุดรฯ แจงความคืบหน้าปมกลุ่มพยาบาลในจังหวัดร้องแก้ปัญหา

Posted: 20 Aug 2018 11:51 PM PDT

สำนักงานสาธารณสุข จ.อุดรธานี  รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนของกลุ่มพยาบาลโรงพยาบาลอุดรธานี ค่าตอบแทนของหน่วยงานหอผู้ป่วยหนัก ยึดตาม กก.พิจารณาค่าตอบแทน จ.อุดรธานี แล้ว ค่าตอบแทนหน่วยงานหอผู้ป่วยเด็ก และ On Call อยู่ระหว่างการดำเนินการ  

21 ส.ค.2561 จากกรณีที่กลุ่มพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ได้ลงนามร้องทุกข์ขอให้โรงพยาบาลพิจารณาการทำงานของหัวหน้าพยาบาลรายหนึ่ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ต่อมาพยาบาลระดับหัวหน้าตึก รองหัวหน้า พยาบาลอาวุโส ลงนามร้องทุกข์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 กลุ่มพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ประมาณ 50 คน ได้ออกมาประท้วงหน้าโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จนต่อมาจะมีการสอบกลุ่มพยาบาลที่ออกมาร้องเรียนด้วย จนกลุ่มดังกล่าว ร้องขอความคุ้มครอง ถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เผยแพร่ รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนของกลุ่มพยาบาลโรงพยาบาลอุดรธานีดังกล่าว โดยระบุว่า  1. ประเด็นการบริหารงาน  1.1 ประเด็นการคัดเลือกหัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลอุดรธานี         ผลการตรวจสอบปรากฏว่าการคัดเลือกหัวหน้าพยาบาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และ วิธีการ สรรหาคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาล ทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เสนอให้ยุติเรื่อง 1.2 ประเด็นการบริหารงานในเรื่องการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่กรณีการออกหน่วย ปฐมพยาบาลวัดป่าบ้านตาด อยู่ระหว่างสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชา 1.3 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขข้อร้องทุกข์ ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานี ที่ 16/2560 ลง วันที่ 29 พ.ย. 2561 และได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลอุดรธานี ฝ่ายกลุ่มการพยาบาล และฝ่ายผู้ร้องทุกข์แล้ว

2. การคัดเลือกพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน  อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองอุดรธานี 3. ประเด็นการคัดเลือกหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (ER) โรงพยาบาล อุดรธานี คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาเสนอให้ยกเลิกผลการคัดเลือก เนื่องจากเกณฑ์ การพิจารณาไม่เหมาะสม และให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบคัดเลือกชุดใหม่และต่อมาโรงพยาบาลอุดรธานี ได้ ดำเนินการตามความเห็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีคำสั่งโรงพยาบาลอุดรธานี ที่ 1007/2561 ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2561 เรื่องให้ข้าราชการรักษาการแทนในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาล ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินแล้ว

4. ประเด็นการจ่ายค่าตอบแทน จังหวัดอุดรธานีได้ดำเนินการดังนี้ 4.1 กรณีค่าตอบแทนของหน่วยงานหอผู้ป่วยหนัก (ICU) คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน จังหวัดอุดรธานี ได้พิจารณาเห็นชอบให้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนจังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 1/2561 แล้ว และ 4.2 กรณีค่าตอบแทนของหน่วยงานหอผู้ป่วยเด็ก และการจ่ายค่าตอบแทน On Call อยู่ระหว่างการดำเนินการ  
 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตำรวจอิสราเอลใช้ม้า ปืนน้ำแรงดันสูง สาร 'สกังค์' สลายชุมนุมต้านเกณฑ์ทหาร

Posted: 20 Aug 2018 09:59 PM PDT

กลุ่มชาวยิวออโธดอกซ์ในอิสราเอลประท้วงต่อต้านแนวทางไซออนิสต์ คัดค้านการเกณฑ์ทหารศาสนิกชาวยิวและการก่อสงคราม ตำรวจสลายชุมนุมด้วยเครื่องมือสารพัดไปจนใช้สารเคมีกลิ่นเหม็นที่ทำให้มีอาการคลื่นเหียน 'สกังค์' บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลนับสิบ ชวนดูข้อถกเถียงใช้สารเคมี แม้ไม่ถึงตายแต่กลิ่นทำให้คนไม่เท่ากัน

ตำรวจอิสราเอลควบคุมฝูงชนด้วยสารน้ำเน่า 'สกังค์' (ที่มา: Youtube/Israel Versus Judaism
)

เมื่อ 20 ส.ค. 2561 สื่อของกลุ่มชาวยิวออโธด็อกซ์ที่ต่อต้านไซออนนิสต์เผยแพร่วิดีโอตำรวจอิสราเอลฉีดพ่น "สกังค์" หรือน้ำเน่าเหม็นใส่ผู้ชุมนุมประท้วงการเกณฑ์ทหาร เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมืองบเนยบรัคใกล้กับเมืองเทลอาวีฟ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ประท้วงต่อต้านการเกณฑ์ทหารรวมตัวชุมนุมแสดงความไม่พอใจการจับกุมนิสซัน ราดา นักศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาชาวยิวที่เรียกว่า 'เยชีวา' ที่ไม่ยอมเข้ารับเกณฑ์ทหาร

วิดีโอการควบคุมฝูงชนของตำรวจอิสราเอลในเหตุการณ์ชาวยิวออโธดอกซ์ประท้วง (ที่มา: Youtube: Israel versus Judaism 1,2)

สาเหตุที่กลุ่มชาวยิวผู้ถือเรื่องศาสนาต่อต้านการเกณฑ์ทหารจากรัฐบาลอิสราเอลเนื่องจากพวกเขามีความเชื่อว่าแนวคิดแบบไซออนนิสต์และขบวนการไซออนนิสต์เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับรากฐานดั้งเดิมของศาสนายูดาย หนึ่งในคำสอนที่ว่าคือการห้ามไม่ให้ชาวยิวก่อสงครามไม่ว่าจะกับประเทศใดๆ ก็ตาม

สื่อของชาวยิวออโธด็อกซ์ระบุว่าในการประท้วงวันที่ 6 ส.ค. เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยม้า ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่ฝูงชนโดยตรง มีคนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและถูกส่งโรงพยาบาล ทางการอิสราเอลยังได้จับกุมคนหลายสิบคน นอกจากนี้ยังมีการปราบปรามการประท้วงรูปแบบเดียวกันในวันที่ 2 ส.ค. และในครั้งนั้นทางการได้จับกุมผู้คนถึง 46 คน

ทางด้านสื่อฮาเร็ตซ์ ซึ่งเป็นสื่อฝ่ายซ้ายกลางจากอิสราเอลรายงานว่า ในการประท้วงวันที่ 6 ส.ค. ผู้ประท้วงทำการปิดถนนกีดขวางการจราจรในช่วงที่มีการจราจรคับคั่ง ได้มีการจับกุมผู้ชุมนุม 19 ราย ฮาเร็ตซ์ยังรายงานข่าวโดยระบุถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็น "พวกออโธด็อกซ์สุดโต่ง" และรายงานถ้อยแถลงของตำรวจว่า ตำรวจอิสราเอลจะไม่สกัดกั้นการประท้วง แต่จะไม่อนุญาตให้ "มีการก่อกวนความสงบเรียบร้อย"

ทั้งนี้ กลุ่มชาวยิวออโธด็อกซ์เองก็มีการแบ่งฝ่ายกันระหว่างพวกออโธด็อกซ์สุดโต่งหรือที่เรียกว่า "ฮาเรดี" ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมและสันโดษมากกว่ากลุ่มศาสนายูดายออโธด็อกซ์สมัยใหม่ที่เปิดรับสังคมยุคใหม่มากกว่า กลุ่ม Israel versus Judaism ระบุอัตลักษณ์ตนเองว่าเป็นกลุ่มที่ต่อต้านขบวนการไซออนนิสต์เพราะไซออนนิสต์ทำตัวระรานเพื่อนบ้านและคนเชื้อสายอื่นๆ ขณะที่ชาวยิวดั้งเดิมอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้อย่างสันติเพื่อศึกษาพระคัมภีร์โทราห์และไม่มีแรงจูงใจใดๆ ทางการเมือง และมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันกับชาวมุสลิมอย่างสันติ

แนวคิดไซออนิสม์เป็นความเชื่อของชาวยิวที่ถือความเชื่อทางศาสนาของชาวยิว (ศาสนายูดาย) ในฐานะสัญชาติ และเชื่อว่ายิวสมควรที่จะมีรัฐอิสราเอลเป็นของตัวเอง แนวคิดนี้ถูกนำมาตีแผ่จนเป็นลัทธิชาตินิยมแบบยิวในราวปี ค.ศ. 1896 โดยนักข่าวเชื้อสายยิว-ออสเตรีย ชื่อว่าธีโอดอร์ เฮอร์ส

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ 101: เปิดปูมดราม่า เหตุผลที่โลกขยับเพราะประเทศเล็กๆ

ข้อถกเถียงเรื่องสารสกังค์ แม้ไม่ถึงตาย แต่กลิ่นทำให้คนไม่เท่ากัน

สารสกังค์ผลิตโดยบริษัทโอดอร์เทค จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยวิจัยและพัฒนาของตำรวจ ทางบริษัทระบุว่าสารสกังค์ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ควบคุมการจลาจล ตัวสารเคมีไม่มีอันตรายถึงชีวิต ไม่มีคุณสมบัติไวไฟแถมยังกินได้ เสื้อผ้าที่ถูกสาดด้วยน้ำสกังค์ยังคงใช้ต่อได้อีกครั้งหลังซักผ้า การสร้างสกังค์ขึ้นมาอยู่บนฐานของการหาวิธีควบคุมการจลาจลด้วยต้นทุนที่ต่ำและมีมาตรฐานทางจริยธรรม

แต่ในบทความของมาริจิน นิวเวนฮาวส์ อาจารย์สอนวิชาภูมิศาสตร์กับการเมืองที่มหาวิทยาลัยวอร์วิค ประเทศอังกฤษ ที่เขียนในปี 2558 อ้างอิงรายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลที่ชื่อบีเซเลมที่ให้ข้อมูลว่าสารสกังค์มักไม่ค่อยถูกใช้กับผู้ชุมนุมชาวอิสราเอล ส่วนมากจะไปใช้กับผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์มากกว่า

บทความของมาริจินยังเขียนต่อไปว่า สารสกังค์ที่ติดกล้องนักข่าวไปทำให้กล้องเหม็นไปครึ่งปี ผู้ที่สูดกลิ่นสกังค์บางคนบอกว่ากลิ่นของสกังค์เหมือนกลิ่นมูลสัตว์หลายชนิดผสมกัน นอกจากนั้นทางการอิสราเอลยังเคยใช้สารสกังค์พ่นรดบ้านเรือน โรงเรียน สวนและชุมชนชาวปาเลสไตน์เป็นเรื่องปรกติ แถมในปี 2555 ยังมีคลิปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำฉีดน้ำสกังค์พ่นใส่งานศพของชาวมุสลิมในเมืองเฮบรอนด้วย

คลิปสารสกังค์ถูกฉีดพ่นในงานศพชาวมุสลิม (ที่มา: Youtube/btselem)

มาริจินให้ความเห็นว่า การเลือกใช้สารสกังค์ที่กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอลระบุว่าเป็นอาวุธที่ปลอดภัย ทันสมัยและมีจริยธรรมกับผู้ชุมนุม เหมือนภาพมนุษย์ใช้สารเคมีกับหนู แมลงที่ต่ำต้อยกว่า กลิ่นเหม็นที่ติดตัวไปหลายวันเป็นการแบ่งลำดับชั้นของมนุษย์ด้วยกลิ่น

เรียบเรียงจาก

Israeli Police Spraying "Skunk Water" in Face of Anti-Draft Protesters, Israel versus Judaism, Aug. 20, 2018

Hundreds of ultra-Orthodox Block Roads in Israel to Protest Army Draft, Haaretz, Aug. 6, 2018

Skunk water: stench as a weapon of war, open Democracy, Dec. 17, 2015

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Orthodox_Judaism

https://www.israelversusjudaism.org/about

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น