โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

พ่อแม่พลทหารคชา คลายความติดใจหลังผู้ใหญ่ในกองทัพดูแลเป็นอย่างดี

Posted: 24 Aug 2018 03:00 PM PDT

แพทย์ทหารแถลงอาการพลทหารคชา สมองบวม ยังหายใจเองไม่ได้ เบื้องต้นไม่พบร่องรอยฟกช้ำภายนอก พ่อเชื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดผู้บัญชาการกองพัน แต่เป็นความผิดของรุ่นพี่ 3 นาย แม่ภูมิใจที่ผู้ใหญ่ในกองทัพไม่ทอดทิ้ง ขณะที่ ผบ.กรมฯ เดินทางมากินข้าวกับครอบครัว

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 256 มติชนออนไลน์ รายงานว่า โรงพยาบาลอนันทมหิดล จังหวัดลพบุรี สังกัดกรมการแพทย์ทหารบก  ได้แถลงถึงกรณีข่าวพลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จ.ลพบุรี ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. จนเข้ารักษาพยาบาล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมหัวใจหยุดเต้น แพทย์เผยโอกาสรอดน้อย ทหารบอกญาติอย่าให้เป็นข่าว

หมวดเจี๊ยบเสนอให้มีองค์กรตรวจสอบกองทัพ หลัง ผบ.ทบ. ระบุไม่มีการซ่อมในค่ายทหาร

โดยพล.ต.ชัชวาล บูรณรัช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอานันทมหิดล เปิดเผยว่า พลทหารคชา มาถึงโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 ส.ค. เวลา 23.00 น. ด้วยอาการหมดสติ ไม่รู้ สึกตัว ตรวจร่างกายพบว่าผู้ป่วยไม่มีชีพจร ไม่หายใจและได้ทําการเริ่ม CPR 2 ครั้งใช้เวลาทั้งหมดรวม ประมาณ 45 นาที คนไข้เริ่มกลับมามีชีพจร แต่ยังไม่รู้สึกตัวจึงใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งเข้ารับการรักษา ที่หอผู้ป่วยวิกฤตของโรงพยาบาล

พล.ต.ชัชวาล ระบุด้วยว่า ผลตรวจภาพรังสีทางสมองไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง แพทย์วินิจฉัย ภาวะหัวใจหยุดเต้นไม่ทราบสาเหตุ จึงให้การรักษาด้วยการประคับประคองอวัยวะโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ รักษาระดับความดันเลือด ให้สารน้ํา ให้การฟอกเลือด

อาการล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 24 ส.ค. สัญญาณชีพจรระดับความดันโลหิตหลังจากให้ยาแล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ การหายใจใช้เครื่องช่วย หายใจ อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว จากสาเหตุภาวะสมองบวม ซึ่งเกิดจากการขาดออกซิเจน เป็นเวลานาน การรักษาที่ให้ ณ ขณะนี้สภาวะการทํางานของปอดอยู่ในเกณฑ์ดี ภาวะไตวายหลังจากฟอกไต อยู่ในเกณฑ์คงที่และเริ่มมีปัสสาวะออก ปัญหาในตอนนี้ คือภาวะสมองบวม ทําให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและหายใจ เองไม่ได้

พล.ต.ชัชวาล บูรณรัซ์ เผยด้วยว่า ในช่วงที่มีผู้นําส่งโรงพยาบาลนั้นพบว่า พลทหารคชา สิ้นลมหายใจแล้ว ทางแพทย์ได้ดําเนินการช่วยหายใจหลายครั้ง จนกลับมาหายใจได้และได้ต่อเครื่องช่วยหายใจให้ด้วย สําหรับอาการในช่วงนี้พบว่าอาการยังคงทรงตัวและพบว่าสมองบวมทําให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ พอ ทางคณะแพทย์ได้เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดมีการติดตามดูอาการวันละหลายครั้ง ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่นําตัวมา ส่งนั้นได้มีการตรวจตามร่างกายก็ไม่พบว่ามีรอย ร่องรอยการถูกทําร้าย

สําหรับสาเหตุที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นทางโรงพยาบาลไม่สามารถบอกได้ต้องไปหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะนําส่ง ขณะที่ทางบิดา มารดา ของพลทหารคชา ก็ได้เข้าไปดูตามร่างกายก็พบว่าไม่มีรอยฟกช้ําตามที่ได้มีการ แถลงข่าว พร้อมกับได้ชื่นชมทางหน่วยเรื่องในการดูแลครอบครัวของตนที่มาเฝ้า พลทหารคขา นั้นได้ดูแล เป็นอย่างดี ส่วนในเรื่องการที่ไปแจ้งความกับรุ่นพี่ที่ก่อเหตุ 3 คนนั้นทางเจ้าหน้าที่ตํารวจยังไม่ได้แจ้งข้อ กล่าวหา โดยจะได้ทําหนังสือขอผลการตรวจสอบร่างกายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากทางโรงพยาบาลก่อน ซึ่งรุ่นพี่ ทั้ง 3 คนนั้นก็อยู่ในการควบคุมของทางหน่วยอย่างใกล้ชิด

พ่อพลหทารคชา เชื่อไม่ใช่ความเป็นของกองทัพ แต่เป็นความผิดของคนแค่ 3 คน

ด้านสปริงนิวส์ รายงานว่า คมฉัน พะชะ บิดาของพลทหารคชา มั่นใจว่ากรณีที่บุตรชายถูกทำร้ายไม่ได้กี่ยวข้องกับเรื่องของการธำรงวินัย แต่เป็นเรื่องของการทำร้ายในลักษณะของการเรียกไปรุมทำร้ายร่างกาย ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ความผิดทั้งหมดเป็นของพลทหารรุ่นพี่ทหาร 3 คน หากจะเปรียบเทียบกับผู้บังคับบัญชาไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะผู้บังคับบัญชาไม่ได้ติดตามดูแลทุกฝีก้าว อาจมีลูกน้องที่แตกแถวบ้าง แต่พลทหารทั้ง 3 คนนั้นตั้งใจจะทำร้ายลูกชายของตนเองจึงอาศัยช่วงเวลาที่สิบเวรไม่อยู่ พร้อมทั้งของขอบคุณพันโทมลชัย ยิ้มอยู่ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ และผู้บังคับบัญชาคนอื่นๆ ที่กล้าบอกความจริงกับตนว่าลูกชายโดนรุมทำร้าย

ทหารพร้อมส่งตัวพลทหารรุ่นพี่ 3 นาย ให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา แม่พลทหารคชา ภูมิใจที่ผู้ใหญ่ไม่ทอดทิ้ง

ในเรื่องทางคดีความ ไทยรัฐทีวี รายงานว่า ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้แจ้งดำเนินคดีกับพลทหารรุ่นพี่ทั้งสามนาย เนื่องจากครอบครัวต้องรอใบรับรองแพทย์จาก โรงพยาบาทอานันทมหิดล เพื่อสรุปความรุนแรงของอาการว่าจะดำเนินคดีได้ถึงขึ้นไหน ส่วนพลทหารรุ่นพี่ทั้ง 3 นายที่เป็นผู้ก่อเหตุได้สารภาพกับต้นสังกัดว่า มีปัญหาส่วนตัวกับพลทหารคชา เพราะไม่ชอบหน้า จึงอาศัยจังหวะที่พลทหารคนอื่นนอนหลับหมดแล้วไปเรียกพลทหารคชามาซ่อม แต่ระหว่างที่ซ้อมยอมรับว่าทำเกินกว่าเหตุ และไม่คิดว่าพลทหารคชาจะบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้ทางต้นสังกัดได้คุมขังทั้งสามคนอยู่ในที่คุมขังภายในกรมทหารเพื่อรอลงโทษทางวินัย แต่หากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการนำตัวทั้ง 3 นาย ไปดำเนินคดีอาญาก็พร้อมส่งตัวให้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีในศาลทหาร ขณะที่พันเอกธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บังคับบัญชากรมทหารราบที่ 31 ได้เดินทางไปเยียมครอบครัวเพื่อให้กำลังใจ และรวมรับทานอาหารกลางวันรับกับครอบครัว

ขณะที่ รุงฤดี สิหะวงศ์ มารดาของพลทหาร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อว่า ตอนแรกติดใจกับเรื่องดังกล่าวเพราะเห็นว่า บุตรชายเป็นคนแข็งแรงดี ไม่เคยเจ็บไม่เคยป่วย ไม่มีโรคประจำตัว และที่ผ่านมาหลังจากเกิดเรื่องบุตรชายและครอบครัวได้รับการดูแลจากทางผู้ใหญ่ ก็ทำให้ภูมิใจที่เขาไม่ทิ้งเรา

ผสานวัฒนธรรมขอให้มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างเร่งด่วนและโปร่งใส

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์พัฒนาเอกชน ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวนี้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่กรณีแรกและพบว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ซ้อมทรมานพลทหารจนเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสเช่นนี้หลายครั้ง รวมทั้ง เมื่อปี 2554 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย ปี 2559 กรณีสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ผู้ต้องขังเรื่อนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ถูกผู้คุมเรือนจำทหารกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย

ในขณะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ที่มีข้อห้ามการทรมานโดยเด็ดขาด นับแต่ปีพ.ศ. 2540  และได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการปฎิบัติอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2550  แต่พบว่าประเทศไทยยังขาดหลักประกันทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่จะยุติการซ่อมทหารจนเป็นเหตุให้ถึงแก่บาดเจ็บและเสียชีวิต  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม พันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาต่อต้านฯ ดังกล่าว

แม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พค. 2560 หรือการจัดทำร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหายปีพ.ศ….แต่ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด จึงยังถือว่าประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาการต่อต้านการทรมานแต่อย่างใด  

การขาดซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในข้อหาความผิดฐานกระทำทรมาน   ไม่มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันการทรมานอย่างจริงจัง และไม่มีการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานอย่างมีประสิทธิภาพ  เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้อื่นจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและหลายกรณี ทำให้ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในค่ายทหาร

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอสนับสนุนท่าทีของผู้บังคับกองพันฯ และผู้บัญชาการทหารบกต่อกรณีของ พลทหารคชา พะชะ ที่ออกมาเปิดเผยและยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาต่อทหารที่กระทำผิด และผู้บังคับบัญชาที่อาจเกี่ยวข้องหรือละเลยจนทำให้เกิดการกระทำผิด แต่เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพลทหารคชาฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ระหว่างการควบคุมกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาต้องการเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระ จึงขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีอำนาจให้สอบข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างเร่งด่วนและโปร่งใส และหากพบว่ามีผู้กระทำความผิดต้องนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา  ทั้งจะต้องชดใช้เยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในกรณีนี้ต่อผู้เสียหายอย่างเพียงพอด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จะให้ ‘เอกชัย’ ลาไปหรืออย่างไร? บุกทำเนียบถาม คสช. มีเอี่ยวดักตีหรือไม่

Posted: 24 Aug 2018 10:32 AM PDT

"เขามาเยียมเยือนถึงเรือนถึงบ้านคุณๆ อย่าเพิ่งรำคาญพี่เอกชัย" เอกชัย หงส์กังวาน แถลงข่าวหน้าทำเนียบ 8 เดือนคดีนาฬิกาประวิตรไม่คืบ ขณะที่ตัวเองมาทวงถามความรับผิดชอบกลับถูกสกัด และคุกคามไปแล้ว 7 ครั้ง พร้อมถาม คสช. มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีถูกตีหน้าบ้านหรือไม่ ย้ำถ้าเกี่ยวให้พูดมาตรงๆ ว่าต้องการให้หยุดพูด ถ้าไม่เกี่ยวช่วยหาผู้ก่อเหตุ อย่าปล่อยให้สังคมเชื่อว่า คสช. เป็นคนทำ

24 ส.ค. 2561 เป็นอีกหนึ่งวันที่ เอกชัย หงส์กันวาน นักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางมาทำเนียบอีกครั้ง แต่รอบนี้เขามีจุดประสงค์อื่น เพราะนอกจากมาทวงถามความคืบหน้าเรื่องนาฬิกาหรู 25 เรือนมูลค่ากว่า 39.5 ล้านบาท และมองหาท่าทีการแสดงความรับผิดชอบของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทหาร และหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เขายังมาสอบถามดังๆ ผ่านสื่อมวลชนไปด้วยว่ากรณีการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นกับเขาทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะสองครั้งล่าสุด ที่มีชาย 2 คนดักสาดน้ำปลาร้าใส่ และต่อมาอีกสัปดาห์ที่มีชาย 3 คนรุมทำร้ายร่างกายเขาจนกระดูกนิ้วมือข้างซ้ายแตกนั้น คสช. มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพราะทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้า และหลังจากที่เขาเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำตามจุดประสงค์ในข้อแรก

เอกชัย พร้อมด้วยอานนท์ นำภา ทนายความอาสา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โชคชัย ไพรบูลย์รัชตะ เพื่อนคู่หู่ที่ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทั้งเรื่อง แหวนมารดา และนาฬิกายืมเพื่อน รวมกับลุงๆ ป้าๆ ที่เห็นหน้าคราตากันมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ตามเวทีชุมนุม หรือเวทีเสวนาที่ถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มคนที่คับข้องใจกับสถานการณ์ และอนาคตของบ้านเมือง บางคนอาจจะเคยพบเจอกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 รวมๆ แล้วประมาณ 10 คน

พวกเขาเดินทางมาถึงบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่สิบโมงครึ่ง แต่ก็ไม่สามารถรวมกันอยู่ที่บริเวณป้ายรถเมลล์ข้างประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลได้ ไม่ใช่เพราะแดดออกอากาศร้อน หรือฝนฟ้ากระหน่ำ แต่เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งวันนี้มีขบวนเสด็จผ่าน พวกจึงเดินเข้าไปนั่งรอในโรงอาหารของสำนักงาน ก.พ.ร. เวลาผ่านเลยไปถึงสิบเอ็ดโมงกว่าพวกเขาจึงจะสามารถเดินออกมาที่ประตู 4 ได้

ร่วมชั่วโมงที่นั่งรออยู่ตรงนั้น บรรยากาศโดยรอบให้ความรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปในช่วงที่การแอบถ่ายดารา นักร้อง คนดังในวงการบันเทิงกำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากผ่านจอแก้ว และหน้าหนังสือพิมพ์ของไทย คนที่ทำหน้าที่แอบถ่ายเรื่องส่วนตัวของบรรดาเซเลปเหล่านั้น ถูกเรียกทับศัพท์ด้วยคำว่า 'ปาปารัสซี' Paparazzi คำดังกล่าวถูกอธิบายอย่างเป็นระบบไว้ในคอลัมน์ คนสร้างคำ เขียนโดยคอลัมนิสต์นามปากกาว่า คำข้าว ตีพิมพ์ลงในนิตยสารคดีฉบับที่ 248 เดือนตุลาคม 2548

คำข้าว อธิบายว่า ปาปาราซซี เป็นพหูพจน์ของ ปาปาราซโซ (paparazzo) หมายถึงช่างภาพ-ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว-ที่คอยติดตามดาราคนดังไปตามที่ต่างๆ เพื่อถ่ายภาพในยามที่เขาไม่ได้อยากให้ถ่าย โดยเฉพาะในเวลาที่เป็นส่วนตัว คำนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกจากหนังเรื่อง La Dolce Vita หนังพูดถึงชีวิตของนักเขียนคอลัมน์ซุบซิบชื่อ Marcello ที่ต้องใช้ชีวิตกลางคืนในวงสังคมชนชั้นกลางในโรมเพื่อหาข่าวฉาว กับเพื่อนช่างภาพชื่อ Paparazzo เฟเดอรีโค เฟลลีนี ผู้กำกับร่างภาพตัวละครตัวนี้ไว้เป็นภาพลายเส้นให้มีลักษณะ "เหมือนมนุษย์ที่ไม่มีโครงกระดูก" กำลังยกกล้องขึ้นสูงเพื่อกดชัตเตอร์ "ดูเหมือนแมลงดูดเลือด เป็นนัยว่าพวกปาปาราซซีก็เหมือนยุง และเหมือนปรสิต"

ในช่วงเวลาที่เอกชัย กับพวกนั่งอยู่ที่โรงอาหารในสำนักกงาน ก.พ.ร. รวมทั้งช่าง และนักข่าวบางกลุ่มที่ติดตามทำข่าวการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร พวกเขาถูกสิ่งมีชีวิตจำแนกประเภทไม่ได้ว่าเป็น ยุง หรือปรสิต คอยรบกวนความเป็นส่วนตัวตลอดเวลา และเมื่อพวกเขาเดินออกจากที่นั่นมา ยุง และปรสิต เหล่านั้นก็บินตามมาที่หน้าทำเนียบด้วย

เอกชัยใช้เวลาแถลงข่าวคนเดียวประมาณ 20 นาที และเมื่อเขาพูดจบนักข่าวจากสื่อหัวต่างๆ ก็ไม่คำถามที่จะถามเพิ่มเติม นั่นอาจเป็นเพราะเขาคือ เอกชัย ไม่ก็อาจเป็นเพราะเขาอธิบายทุกอย่างครบถ้วนหมดแล้ว

หากย่อเรื่องราวคับข้องใจจากการแถลงข่าวของเอกชัย ให้เหลือเพียงคำไม่กี่คำ ก็คงพูดได้ว่า เขามาที่นี่เพราะต้องการยืนยันถึงสิทธิของในฐานะประชาชนหนึ่งคน ที่มีความเป็นเจ้าของประเทศนี้เท่ากับคนอื่นๆ อะไรไม่ถูกต้อง ประชาชนต้องมีสิทธิพูด และไม่ควรถูกปิดปากด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว แม้จะไม่มีความไม่กลัวออกมาจากปากเอกชัยแม้แต่คำเดียว แต่คำว่า 'ไม่หยุด' ก็ใช้แทนได้ในความหมายเดียวกัน

ขณะที่เอกชัยแถลงข่าว เขาใช้มือซ้ายที่ใส่เฝือกอ่อนประคองกระดาษ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาใช้มือขวาจดเรื่องที่ต้องการพูดในวันนี้ไว้ และนี่คือเรื่องราวทั้งหมด

Realfame: รักเธอน้อยกว่าประชาธิปไตย 'เอกชัย หงส์กังวาน'

000000

เอกชัย เริ่มต้นว่า ทหารไม่มีความเหมาะสมในการบริหารประเทศ เนื่องจากความเป็นผู้บัญชาการ กับความเป็นผู้บริหารมีลักษณะแตกต่างกัน เมื่อทหารเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจะมีความเป็นผู้บัญชาการสูง ซึ่งจะลักษณะของการใช้อำนาจสั่งการโดยมองดูว่ามีผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่กี่คน ไม่ประเมินศักยภาพ และความเหมาะสมของลักษณะงานที่มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ในขณะที่ผู้บริหารจะเริ่มต้นด้วยการมองว่าในจำนวนคนที่มีอยู่ใครสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะเห็นว่ามนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน มีความถนัดในแต่ละด้านแตกต่างกัน

"เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า เวลา 4 ปี ที่ผ่านมาการบริหารงานของทหารถึงออกมาไม่ได้เรื่อง" เขากล่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย แต่เน้นเสียงที่คำว่าไม่ได้เรื่อง เอกชัยพูดต่อไปว่า ผู้นำประเทศในเวลานี้เค ยชินกับการเป็นผู้บัญชาการ ที่ไม่ว่าจะสั่งอะไรทุกคนก็ต้องทำตาม สั่งทหาร 100 คนให้ซ้ายหันก็ต้องหันตามกันหมด ถ้ามีใครสักคนไม่หันตาม จะถือว่าเป็นความผิด และจะถูกลงวินัย เมื่อผู้บัญชาการทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เห็นประชาชนไม่ต่างไปจากทหาร  

เขากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทหารทำหลังจากการรัฐประหารปี 2557 คือ การประกาศเรียกแกนนำกลุ่มการเมือง รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่พ้นโทษมาแล้ว เข้ามาปรับทัศนคติ เพราะทหารมองว่าคนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล และ คสช. แม้บางคนจะไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ เอกชัยเห็นว่า คสช. ยังมีการประยุกต์ใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยการตีความกฎหมายที่เกินเลย ยกตัวอย่างกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็มีการแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ทั้งที่การเคลื่อนไหวที่ผ่านเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อุ้มคนเข้าค่ายทหาร ทั้งที่ยังไม่ได้มีการทำอะไรผิดกฎหมาย โดยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักนิติรัฐ

เอกชัย กล่าวต่ออีกประเด็นว่า คสช. อ้างสาเหตุที่ทำรัฐประหารว่า รัฐบาลในชุดก่อนหน้านี้มีการทุจริตคอร์รัปชัน คสช. ต้องการเข้ามากวาดล้างทำความสะอาด ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีหลายคดีกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมถึงสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ในคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสถานนีตำรวจ หากดูผิวเผินอาจจะเห็นมีความพยายามในการจัดการปัญหาอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือ เพราะเหตุใดการทุจริต  หรือกระทำความผิดของทหารในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์จากการซ่อม  หรือกรณีทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในช่องที่ผ่าน ทหารมักจะพยายามปกปิดความผิด

สำหรับประเด็นเรื่องนาฬิกาหรู 25 เรือน ไม่ได้มีการชี้แจงไว้ในบัญชีทรัพย์สินแม้แต่รายการเดียว ของพล.อ.ประวิตร ซึ่งมีการประเมินราคาได้กว่า 39.5 ล้านบาท เป็นเรื่องที่เด่นชัดที่เอกชัยเห็นว่า เป็นกรณีสร้างความสงสัยให้กับสังคมว่า เพราะอะไรจึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย และทำไมยังปล่อยให้พล.อ.ประวิตร ดำรงตำแหน่งต่อไป ในขณะที่กรณีอื่นๆ จะมีการปลดผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตออกจากตำแหน่งโดยทันที ในขณะที่การทำงานเผื่อตรวจสอบทุจริตกรณีนี้ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย

ราคาที่ถูกบังคับจ่าย จากทวงถามเรื่องคอร์รัปชันของทหารในรัฐบาลเผด็จการ

"ผมเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม ปีที่ผ่าน ครั้งแรกไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ของคุณเปรม ติณสูลานนท์ (ประธานองคมนตรี) ในงานเข้าอวยพรปีใหม่ ปรากฎว่าผมไปถึงยังไม่ทันได้เข้าบ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าบ้านอุ้มเข้าไปในป้อมตำรวจ และไม่ยอมให้ผมทำอะไรทั้งนั้น นั่นคือครั้งแรกที่ผมเจอ

หลังจากนั่นผมก็ยังเคลื่อนไหวตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 9 มกราคม (2561) ผมก็มาที่ทำเนียบรัฐบาลก็ถูกพาตัวไปที่ห้องประชุมชั้นบนของ ก.พ.ร. และก็มีนายพล 3 คน เป็นตำรวจ 1 คน เป็นทหาร 2 คน เข้ามาบอกว่าจะขอรับมอบนาฬิกานี้เพื่อหวังให้ผมหยุดเคลื่อนไหว แต่ผมไม่ยอมเพราะผมรู้ว่านาฬิกานี้จะไม่ถึงมือประวิตร แน่นอน ผมจึงปฏิเสธ หลังจากนั้นเพียงแค่ 3 วัน คุณศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล (รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ก็ไปขอให้ศาลอาญาออกหมายจับผม โดยอ้างความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟสบุ๊กในปีที่ผ่านมา ทั้งที่ผ่านไปเกือบปีแล้วเพิ่งจะมาฟ้องร้อง มันชัดเจนว่านี่คือ การใช้กฎหมายเพื่อปิดปาก แต่โชคดีที่ศาลปฏิเสธการออกหมายจับ และให้เป็นหน้าที่ ปอท. ดำเนินการออกหมายเรียก ซึ่งคดีนี้จนถึงตอนนี้ก็ยังคาอยู่ที่ ปอท. ยังไม่มีการส่งสำนวนให้อัยการแต่อย่างใด นี่คือการคุกคามช่วงแรก เขาพยายามใช้ไม้น่วมมากล่อม พอไม้น่วมใช้ไม่ได้ผลก็เอาเรื่องคดีมากล่อมแทน

หลังจากกรณีของคุณศรีวราห์ ไม่ได้ผล สัปดาห์ต่อมาเท่านั้น คุณฤทธิไกร ชัยวรรณศานส์ ก็เข้ามาทำร้ายร่างกายผมที่ป้ายรถเมลล์ พอผมลงรถเมลล์ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเลย แค่จะเดินไปที่ประตูเท่านั้น คุณฤทธิไกร ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้เอาแก้วน้ำ ขว้างมาที่ผม แต่โชคดีที่ถูกตำรวจรวบตัวได้ก่อนแล้วก็ถูกจับส่งไปที่สถานีตำรวจ และถูกสั่งปรับ แต่หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์เขาก็ไปดักรอผมที่ป้ายรถเมลล์ลาดพร้าว 107 ซึ่งครั้งนี้ไม่มีตำรวจกันไว้เหมือนคราวที่แล้ว เขาก็อาศัยจังหวะที่ผมไม่ทันระวังตัว ต่อยผมที่ปาก แต่โชคดีที่ผมจำหน้าเขาได้ ผมเลยไปแจ้งความ เขาก็ถูกดำเนินคดีในที่สุด ซึ่งนี่ถือเป็นการคุกคามครั้งแรกที่ถือว่ารุนแรง เพราะเป็นการปองร้ายต่อผม

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มเบาลง แต่ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมลงรถเมลล์ที่ถนนสวรรคตโลกจะเดินมาทำเนียบรัฐบาล ก็มีชายวัยรุ่น 2 คนขีมอเตอร์ไซด์มา ชายที่ซ้อนท้ายเขาก็เอาถังที่ใส่น้ำปลาร้าสาดใส่ผม อันนี้คือการคุกคามครั้งที่สองที่เป็นการทำร้ายร่างกาย เรื่องนี้ผมได้แจ้งความไปแล้ว สน.นางเลิ้งก็กำลังดำเนินการอยู่

แต่สุดท้ายที่ผมโดนคือ วันพุธที่ผ่านมา (22 ส.ค.) หลังจากผมมาเรียกร้องให้คุณประวิตร รับผิดชอบด้วยการลาออก แม้จะอ้างว่านาฬิกายืมเพื่อนมาแต่คืนแล้วมันไม่มีความผิด แต่ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ปรากฎว่าพอผมกลับก็มีวัยรุ่น 2 คนดักรอผมอยู่ที่หน้าปากซอยลาดพร้าว 107 ซึ่งตอนเดินผ่านผมก็สังเกตว่าชายคนนั้นเขามาผมแปลกๆ ผมก็รู้สึกว่าจะมีอะไรหรือเปล่า แต่เขาก็ไม่ได้อะไร จนกระทั่งผมเดินผ่านไปเข้าในซอย 2 คนนั้นก็ตามเข้ามา แล้วก็เขามาทำร้ายร่างกาย ซึ่งตรงข้ามบ้านผมเขาก่อสร้างกันอยู่ก็เลยมีเศษไม้ ก็มีชายอีกคนไปเอาไม้มาฟาด ผมหลบไม่ทันเลยเอาแขนกัน จริงๆ เขาตั้งใจจะฟาดที่หัว แต่ผมเอาแขนกันจนได้รับบาดเจ็บ เอ็กซเรย์แล้วแพทย์บอกว่า กระดูกนิ้วนาง กับกระดูกนิ้วก้อยข้างซ้ายแตก จึงต้องใส่เฝือกอย่างน้อย 1 เดือน" เอกชัยเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดออกมาอย่างไม่ติดขัด

ถ้า คสช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดหาตัวผู้ก่อเหตุด้วย หลักฐานมีพร้อม อย่าปล่อยให้สังคมเถอะว่า คสช. อยู่เบื้องหลัง

เขา พูดต่อไปว่า การคุกคามที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้นส่วนมากจะโดนแจ้งความดำเนินคดีทั้งข้อหายุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่กรณีของเขาเองนั้น เจ้าหน้าที่ซึ่งติดตามการใช้โซเชียลมีเดียของเขาอยู่ตลอดไม่สามารถที่จะเอาผิดเขาในทางกฎหมายได้ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าได้มีการเปลี่ยนวิธีการมาใช้ความรุนแรงแทนหรือไม่

"ผมอยากจะถามกรณีที่เกิดขึ้นกับผมนี้ คสช. มีส่วนรู้เห็นหรือเปล่า หากมีส่วนรู้เห็นก็ยอมรับมาเถอะว่า สิ่งที่พวกคุณทำเป็นไปเพราะต้องการให้ผมหยุด แต่ถ้า คสช. เห็นว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ช่วยสอบสวนหน่อย เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงคนบางคนที่อยากทำงานเพื่อเอาใจนาย หรืออาจจะเป็นมือที่ 3 ที่ตั้งใจมาสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง และที่แน่ๆ ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นหลังสุดมีภาพจากกล้องวงจรปิด และมีหลักฐานคือลายนิ้วมือ.... ทั้งที่มีหลักฐานมากมายขนาดนี้ผมก็ยังเห็น คสช. เพิกเฉย และตอนนี้ก็มีการพูดกันไปว่า คสช. อยู่เบื้องหลังบ้างแหละ เป็นลูกน้องของคนใน คสช. ทำเพราะต้องการเอาใจนาย หรือเป็นการกระทำของมือที่ 3 หาก คสช. จริงใจ... ไม่เพียงกรณีของผมเพียงคนเดียว ในกรณีของคนที่ถูกคุกคาม คสช. จะต้องดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาโดยเร็ว อย่าปล่อยให้มันเงียบหายไป เพราะไม่งั้นสังคมจะตั้งข้อสังเกตุว่า คุณอาจจะมีส่วนรู้เห็นกับการทำร้ายร่างกายผมครั้งนี้" เอกชัยทิ้งทาย

ตารางรวมกรณีปฏิกริยาต่างๆ หลังเอกชัยเคลื่อนไหวเรื่องนาฬิกาหรู

วันเดือนปี

สิ่งที่เอกชัยทำ

สิ่งที่เกิดขึ้น

4 ธ.ค. 2560 – 17 ม.ค. 2561

เริ่มโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ. ประวิตร

4 ธ.ค. 2560 พล.อ.ประวิตร ยกมือขึ้นมาบังแดดระหว่าง ถ่ายรูปกับคระรัฐมนตรีชุดที่ 5 ภาพปรากฎออกมามีผู้สังเกตเห็นนาฬิกา Richard Mille จากนั้นมีการไล่เช็คภาพถ่ายพล.อ.ประวิตรในวาระต่างๆ ว่าในช่วงนั้นใส่นาฬิกาแบรนด์อะไรบ้าง โดยเพจ CSI LA

 

17 ม.ค. 2561 พบว่ามีทั้งหมด 25 เรือนประเมินมูลค่าได้ 39.5 ล้านบาท

16 ม.ค. 2561

-

พล.อ.ประวิตร ยอมรับกับสื่อครั้งแรกว่า นาฬิกา ที่เป็นประเด็น ยืมเพื่อนมา

28 ธ.ค. 2560

เอกชัย เดินทางไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ขณะที่มีการเปิดบ้านต้อนรับคณะรัฐบาล เพื่อที่จะมอบนาฬิกาที่ตนเองใช้มาสิบปีให้ พล.ประวิตร เนื่องจากสงสารและอายแทน ที่ต้องยืมนาฬิกาจากเพื่อน เลยอยากจะมอบนาฬิกาให้ฟรีๆ

เจ้าหน้าที่กักตัวเอกชัยไว้ในป้อมตำรวจหน้าบ้านสี่เสาฯ เกือบสองชั่วโมง ก่อนนำตัวไปส่งขึ้นรถเมลล์ที่อนุสารีย์ชัย

3 ม.ค. 2661

เอกชัย เดินทางไปทำเนียบเพื่อจะมอบของขวัญปีใหม่คือ นาฬิกา ให้ พล.อ.ประวิตร

เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 10 นายเข้าควบคุมตัวเอกชัยมาไว้ที่อาคารสำนักงาน และขอให้เอกชัยร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม

9 ม.ค. 2561

เอกชัย เดินทางไปทำเนียบเพื่อจะมอบของขวัญปีใหม่คือ นาฬิกา ให้ พล.อ.ประวิตร อีกเช่นเคย

เพียงแค่เอกชัยก้าวลงรถเมลล์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปคุยที่ห้องประชุมสำนักงาน ก.พ.ร. ในห้องประชุมนั้นเขาได้พบกับพล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งพูดกับเขาว่า การที่มีนายทหาร ตำรวจ ระดับนายพลมารับของขวัญจากเอกชัย ซึ่งเป็นการมอบหมายโดยตรงจาก พล.อ.ประวิตร นั้นถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ให้เกียรติกับเอกชัยมาก แล้ว

12 ม.ค. 2561

-

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยื่นคำร้องขอศาลอาญาออกหมายจับ เอกชัย ข้อหาโพสต์เฟสบุ๊คเข้าข่ายลามกอาณาจาร แต่ศาลไม่ออกหมายจับให้ เนื่องจากเห็นควรมีการออกหมายเรียก เอกชัย มารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนก่อน

16 ม.ค. 2561

-

เวลา 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นายเดินทางไปที่บ้านของเอกชัยเพื่อส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าของคดี

19 ม.ค. 2561

เอกชัย และโชคชัย เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำนาฬิกาจำนวน 3 เรือน และโปสเตอร์คอลเล็คชั่นนาฬิกา 25 เรือน มาให้ พล.อ.ประวิตร

เอกชัยถูกฤทธิไกร ชัยวรรณศาสน์ ปาแก้วน้ำใส่ หลังจากเขาเพิ่งลงจากรถเมลล์แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบตัวได้ทัน ภายหลังพบตรวจพบว่าฤทธิไกร พบมีดพับความยาว 3 นิ้วไว้ที่ตัว

23 ม.ค. 2561

เวลา 10.00 น. เอกชัย และโชคชัยเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อจัดกิจกรรมมอบนาฬิกา 3 เรือน ให้ พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีป้ายไวนิลที่ใส่เนื้อหาข่าวเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งถูกสื่อต่างประเทศนำเสนอมาประกอบด้วย

14.00 น. ฤทธิไกร ชัยวรรณศานส์ ดักชกปากเอกชัย หลังจากเดินทางกลับมาที่บ้านในซอยลาดพร้าว 107

5 มี.ค. 2561

เอกชัย และโชคชัยเดินทางไปสำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นหนังสือของให้เรียกตัว พล.อ.ประวิตร เข้าชี้แจงกรณีนาฬิกาหรู

ในขณะที่เอกชัย กำลังจะจุดธูป 36 ดอก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการขับไล่เสนียดจัญไรออกไป เขาถูกทางเจ้าหน้าที่หิ้วปีกออกมาเนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตก่อน ในครั้งนี้เขามีแผลถลอกนิดหน่อยที่นิ้วมือ อันเกิดจากเล็บของเจ้าหน้าที่

16 เม.ย. 2561

เอกชัย และโชคชัยนัดเจอกันที่ป้ายรถเมลล์ พร้อมอุปกรณ์คือปืนฉีดน้ำ ป้ายคอลเลคชั่นนาฬิกาหรู ขันแดง และธูป 36 ดอกเพื่อจะไปร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัว พล.อ.ประวิตร ที่บ้านพักในซอยลาดพร้าว 71

พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย เข้าจับกุมตัวพาขึ้นรถตู้ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าผู้ใหญ่ไม่สบายใจ

 

ก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมได้มีการเจรจาต่รองเจ้าหน้าที่ได้แสดงโทรศัพท์ที่มีชื่อและเบอร์โทรของพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ให้คนทั้งสองดูพร้อมกับบอกว่า "พี่โจ๊กไม่ยอม"

 

ในขณะที่ทั้งสองถูกนำตัวขึ้นรถเจ้าหน้าที่ได้เอาผ้าคลุมหัว จับให้นั่งขดตัวในรถตู้ เอาเข่ากดตัวและศีรษะแนบกับเบาะ และยึดโทรศัพท์มือถือ นำไปควบคุมตัวที่ สน.โชคชัย สุดท้ายไปปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

14 ส.ค. 2561

เอกชัย เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความรับผิดชอบของพล.อ.ประวิตร เรื่องนาฬิกาหรู

เมื่อเอกชัย ลงรถเมลล์ด้านข้างโรงพยาบาลมิชชัน เขาถูกชายนิรนาม 2 ราย คาดว่าขับรถตามมาจากบ้าน เข้ามาสาดน้ำปลาร้าใส่ ก่อนที่เร่งรีบหลบหนีไป

22 ส.ค. 2561

เอกชัย ยังคงทำในสิ่งที่เคยว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเช่นเดิม

หลังเดินทางกลับจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อกลับเข้าบ้าน เขาถูกรุมทำร้ายร่างกายโดยชายนิรนาม 3 ราย ถูกไม้ตีจนกระดูกนิ้วมือแตกสองจุด

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลทหารยกฟ้องคดี 'แม่ครัวลำพูน' ครอบครองอาวุธ หลังสู้คดี 4 ปีกว่า

Posted: 24 Aug 2018 09:17 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ศาลทหารยกฟ้องคดี 'เสาวณี แม่ครัวลำพูน' ครอบครองอาวุธ รวมทั้ง สัญลักษณ์เสื้อหรือป้ายเกี่ยวกับ 'คนเสื้อแดง' หลังสู้คดีตั้งแต่ถูกจับกุมหลังรัฐประหารไม่กี่วัน จนถูกสั่งฟ้องศาลทหาร และวันพิพากษา 4 ปี 3 เดือน แถมถูกขังฟรีหลายเดือนก่อนได้ประกันตัว

ภาพใหญ่ เสาวณี อินต๊ะหล่อ อายุ 53 ปี อดีตแม่ครัวร้านอาหารในจังหวัดลำพูน (ที่มาภาพ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ) ภาพเล็ก ภาพขณะเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้นสวนลำไยเมื่อวันที่ 26 พ.ค.57 (ที่มาภาพ ผู้จัดการออนไลน์)

24 ส.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เวลา 8.30 น. ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ เสาวณี อินต๊ะหล่อ อายุ 53 ปี อดีตแม่ครัวร้านอาหารในจังหวัดลำพูน ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 โดยร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง, ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ และร่วมกันมีใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 10.45 น. ศาลทหารได้ขึ้นบัลลังก์ และอ่านคำพิพากษาในคดีโดยสรุป โดยพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย โดยศาลพิเคราะห์ว่าพยานฝ่ายโจทก์ คือ ร.อ.ณัฐ วาณิชบำรุง หัวหน้าชุดรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดลำพูน และส.อ.อาทิตย์ บัวศรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารชุดจับกุม เบิกความเรื่องการตรวจพบอาวุธของกลาง แต่กลับตอบทนายจำเลยขัดกัน โดยร.อ.ณัฐเบิกความว่ามีการพบเสื้อเกราะภายในรถยนต์ที่จอดในบริเวณสวนลำไย ส่วน ส.อ.อาทิตย์เบิก ความว่าพบที่เพิงจอดรถใกล้บ้านพักในสวน ขณะที่เอกสารบันทึกการตรวจยึดที่พนักงานสอบสวนจัดทำ ระบุว่าพบในเพิงจอดรถ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีความขัดกัน และมีพิรุธชวนสงสัย ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ารถคันดังกล่าวเป็นของใคร เกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างไร

ขณะที่อาวุธปืนยาว 3 กระบอก และกระสุนปืนที่พบบริเวณโต๊ะหน้าบ้านพัก แม้พยานหลักฐานโจทก์จะตรงกันถึงการตรวจพบของกลาง และพบตัวจำเลยอยู่ในบ้านพัก แต่ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นเจ้าของของกลางดังกล่าวหรือไม่ โดยจำเลยเองเบิกความว่าตนมีความสัมพันธ์กับนายสมพงษ์ ผู้ดูแลสวนและเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีไป แต่ไม่ได้เป็นสามีภรรยากัน และไม่ได้อยู่อาศัยที่สวนดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่เข้ามาช่วยงานบางวันหลังเลิกงานที่ร้านอาหาร ประกอบกับนายไพรัชที่เป็นพยานโจทก์ซึ่งเบิกความว่ารู้จักกับนายสมพงษ์มา 2-3 เดือนก่อนเกิดเหตุ ก็เบิกความว่าไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน และเจ้าของที่ดินที่เกิดเหตุที่เป็นพยานโจทก์ก็เบิกความว่าไม่เคยพบจำเลยที่สวน และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน

ทั้งพยานจำเลยสองราย ได้แก่ กำนันในหมู่บ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ และเพื่อนบ้านของจำเลยที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เบิกความตรงกันว่าจำเลยเคยมีบุตร 3 คน กับสามีเดิมมาก่อน โดยไม่เคยเห็นจำเลยมีสามีใหม่ และจำเลยเคยไปมาหาสู่กับนายสมพงษ์เป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้เป็นสามีภรรยากัน คดีจึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์จริงหรือไม่ ศาลจึงพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย ส่วนของกลางทั้งอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นความผิด จึงให้ริบของกลาง

ทั้งนี้ คำพิพากษาคดีนี้ถือเป็นที่สุดในศาลเดียว เนื่องจากเหตุเกิดขึ้นในช่วงของการประกาศใช้กฎอัยการศึก คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ เมื่อรวมระยะเวลาตั้งแต่ที่ เสาวณีถูกจับกุม ถูกสั่งฟ้องศาลทหาร จนถึงวันพิพากษา รวมระยะเวลาต่อสู้คดีทั้งสิ้น 4 ปี 3 เดือน โดยที่หลังถูกจับกุม เสาวณี ถูกฝากขังจนถึง 9 ธ.ค.57 กว่าจะได้สิทธิประกันตัวเนื่องจากก่อนหน้านั้น ทนายความ เสาวณี ยื่นขอประกันตัวหลาย 4 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต

สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนหน้านี้ศาลทหารนัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากศาลยังจัดทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนมาอ่านคำพิพากษาในวันนี้แทน โดยจำเลยและทนายความของจำเลยเดินทางมาศาล

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ค.57 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นภายในสวนลำไยแห่งหนึ่ง บริเวณตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยเจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่ามีการสืบทราบว่าบริเวณสวนลำไยดังกล่าว มีการฝึกการใช้อาวุธของกลุ่มการ์ดผู้ชุมนุมทางการเมือง และได้พบชายฉกรรจ์ 5 คน ซึ่งเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไป ทั้งหมดต่างพากันวิ่งหลบหนี ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะสามารถควบคุมตัวนางเสาวณีเอาไว้ได้ รวมทั้งมีการตรวจค้นบริเวณสวน พบอาวุธปืนยาวแบบไทยประดิษฐ์ เครื่องกระสุนจำนวนหนึ่ง เสื้อเกราะกันกระสุน วิทยุสื่อสาร และสัญลักษณ์เสื้อหรือป้ายเกี่ยวกับคนเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่ง จึงมีการดำเนินคดีกับเสาวณี ที่เจ้าหน้าที่พบตัวในสวนลำไยดังกล่าว

คดีนี้ อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร เมื่อวันที่ 15 ก.ย.57 โดยจำเลยไม่ได้รับการประกันตัวภายหลังสั่งฟ้อง จนกระทั่งการยื่นประกันตัวครั้งที่ 5 ศาลทหารจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท ทำให้เธอถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้น เสาวณีมีนัดต้องไปศาลทหารทุกๆ 2-3 เดือนต่อครั้ง มาเป็นเวลา 3 ปีเศษ โดยคดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ไปทั้งสิ้น 7 ปาก และพยานจำเลย 3 ปาก ก่อนศาลจะนัดฟังคำพิพากษา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เส้นทางชีวิตที่เริ่มต้นด้วยเสียงร้องไห้ความเงียบและเสียงเพลงของ สว่างวงศ์ ยองห้วย

Posted: 24 Aug 2018 06:06 AM PDT

จากหลานของประธานาธิบดีคนแรกของพม่า กลายมาเป็นผู้ลี้ภัย ลงเอยด้วยการเป็นศิลปินผู้อุทิศตนให้ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า สว่างวงศ์ ยองห้วยเปิดเผยแง่มุมชีวิตและแรงบันดาลใจซึ่งเป็นที่มาของงานแสดงศิลปะแบบมีส่วนร่วมในไทยของเขา ภายใต้ชื่อ YAWNGHWE OFFICE IN EXILE 

สว่างวงศ์ ยองห้วย

ความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นวัตถุดิบสร้างแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับศิลปินทั่วโลก ณ แกลลอรี่แห่งหนึ่งในซอยนาราธิวาส 22 สว่างวงศ์ ยองห้วย ศิลปินชาวไทยใหญ่ สัญชาติแคนาดากำลังรังสรรค์ผลงานของเขาลงบนผนังสี่ขาวทั้งสี่ด้านของห้องแสดงงานที่มีขนาดพอๆ กับห้องน้ำตามปั้มน้ำมัน เมื่อเดินเข้าไปในห้องจัดแสดงสิ่งแรกที่จะได้เห็นคือภาพถ่ายเล็กๆ จำนวน 5-6 รูปที่บอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานของพม่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะเจอกับโต๊ะทำงานขนาดหนึ่งคนนั่ง ที่กองเต็มไปด้วยหนังสือ และเอกสารงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในพม่า โทรทัศน์รุ่นเก่าที่เปิดสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงในรัฐคะฉิ่นที่ถูกอุ้มหายโดยกองทัพวนไปวนมา ตั้งอยู่คู่กับโต๊ะน้ำชาและเก้าอี้ซักผ้าที่จัดวางให้เหมือนกับร้านน้ำชาในพม่า ที่มุมห้องจะมีเสือและหมอนอิง ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงแล้วยังมีไว้ให้ศิลปินงีบหลับในช่วงที่เขาคิดงานไม่ออก

YAWNGHWE OFFICE IN EXILE ซึ่งแปลไทยตรงตัวได้ว่า "สำนักงานผู้พลัดถิ่นของยองห้วย" คืองานแสดงศิลปะแบบที่เปิดให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามานั่งทำงาน หรือผักผ่อนหย่อนใจในขณะที่สว่างวงศ์ก็จะรังสรรค์ศิลปะของเขาลงบนฝาผนังไปเรื่อยๆ เขากล่าวว่าแนวคิดของการจัดแสดงในครั้งนี้คือต้องการจะสื่อให้เห็นว่านักกิจกรรมในพม่าจะต้องคอยหลบเลี่ยงการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถมีสำนักงานอย่างเป็นหลักเป็นแหล่งได้ จึงต้องอาศัยร้านน้ำชาเป็นที่ประชุมและระดมความคิด เขายังเชิญชวนให้นักกิจกรรม นักข่าว หรือนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนที่สนใจให้เข้ามานั่งทำงานในพื้นที่จัดแสดงด้วยโดยกล่าวว่ามันจะทำให้งานแสดงศิลปะของเขาดูมีชีวิตและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สว่างวงศ์เป็นหลานปู่ของเจ้าส่วยแต้ก ประธานาธีบดีคนแรกของพม่า และเป็นเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายของเมืองยองห้วยแห่งรัฐฉาน หลังการรัฐประหารโดยนายพลเน วินในปี 2517 ปู่ของเขาถูกจับและเสียชีวิตในคุกในนครย่างกุ้ง ย่าของสว่างวงศ์จึงร่วมก่อตั้งกองกำลังรัฐฉานขึ้นเพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพพม่า สว่างวงศ์เกิดในกองทัพรัฐฉานบริเวณติดชายแดนไทย และใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่จนถึงอายุ 12 ปี ทำให้เขามีชื่อในใบสูจิบัตรไทยว่า สมชาย ทรายทอง แต่ถึงแม้จะเกิดในเมืองไทย เขากลับไม่มีสัญชาติไทยเพราะก่อนจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เขาได้มอบเอกสารสถานะความเป็นคนไทยของเขาให้กับผู้ลี้ภัยคนอื่นที่ต้องการจะมีสัญชาติไทย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ในเมืองไทยทำกันเป็นปกติ 

สว่างวงศ์ย้ายไปอยู่ประเทศแคนนาดาและเข้าเรียนในโรงเรียนสถาบันศิลปะในมอนทรีออล และแวนคูเวอร์ ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่สตูดิโอแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี่เป็นเวลาสิบปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเขาแทบจะไม่สนใจงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองเลย จนกระทั่งในปี 2004 ที่พ่อของเขาเสียชีวิต เขาจึงเริ่มหันมาสนใจการเมืองพม่าเพื่อสานต่อสิ่งที่ครอบครัวของเขาต่อสู้มาโดยตลอดและเยียวยาความเสียใจจากการสูญเสียพ่อ จนกลายมาเป็นงานแสดง YAWNGHWE OFFICE IN EXILE ครั้งแรกในปี 2014 ที่กรุงอัมเสตอร์ดัมซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม หลังจากนั้น เขาก็ตระเวนไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อจัดแสดงงาน ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีความแตกต่างกันไป รวมถึงงานแสดงในเมืองไทยครั้งนี้ด้วย สว่างวงศ์สละเวลาในช่วยบ่ายเพื่อพูดคุยกับนักข่าวประชาไทถึงแรงบันดาลใจ และเล่าถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของเขาให้เราฟัง

ร้านน้ำชาพม่าภายในนิทรรศการ

คิดอย่างไรกับสถานการณ์ชนกลุ่มน้อยในพม่าในปัจจุบัน?

ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าสถานการณ์คงไม่มีทางจะดีขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะรัฐบาลพม่าเองก็พยายามจะแพร่ขยายลัทธิชาตินิยมแบบพม่า ซึ่งมันก็ถูกตอบโต้ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในระยะแรกของการรวมประเทศ ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่างมีความหวังว่าเราจะรวมกับเป็นรัฐชาติหนึ่งเดียวกันได้ แต่ทุกอย่างก็กลับกลายเป็นหายนะหลังการรัฐประหารโดยกองทัพพม่าที่นำโดยนายพลเน วิน ทุกวันนี้ช่องว่างการพัฒนายังคงสูงมาก และความคิดทางการเมืองของคนพม่าก็ยังคงเป็นแบบเก่า ราวกับพวกเขาไม่เคยผ่านยุครู้แจ้ง (Enligthen Period) พวกเขายังคงเชื่อว่าชนชาติพม่ามีความสูงส่งกว่าชนกลุ่มน้อยราวกับตัวเองเป็นคนขาวในโลกตะวันตก

แม้ในภายใต้รัฐบาลพลเรือน การเปลี่ยนแปลงก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น กองทัพพม่ายังคงแข็งแกร่ง และยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม เพราะได้รับการช่วยเหลือจากนางออง ซาน ซูจี เธอดูจะให้ความร่วมมือกับกองทัพ มากกว่าจะเป็นปฏิปักษ์ และเธอก็ยังคงเผยแพร่ลัทธิชาตินิยมพม่าต่อไปไม่ต่างจากรัฐบาลทหาร

คนชอบพูดว่าตอนนี้การเมืองไทยกับการเมืองพม่ากำลังสลับกัน คือพม่ากำลังกลายเป็นประชาธิปไตย และไทยกำลังจะกลายเป็นเผด็จการ คิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้?

ผมคิดว่ามันไม่มีการสลับกันในเรื่องนี้ ข้อแรก คือคนมักเข้าใจผิดว่าพอมีรัฐบาลพลเรือนแล้วพม่าก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในความเป็นจริง มันเป็นแค่รัฐบาลกึ่งพลเรือน เพราะรัฐบาลทหารก็ยังคงมีอำนาจอยู่ แต่ที่แย่กว่านั้นคือพรรค NLD ของอองซานซูจี กลับกลายเป็นแขนขาให้กับกองทัพพม่า เลยกลายเป็นว่ากองทัพในตอนนี้กลับมีทั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และพรรค NLD ให้การสนับสนุน ซึ่งแย่กว่าในช่วงที่ซูจีถูกคุมขังเสียอีก ในมุมของชนกลุ่มน้อย สถานการณ์จึงไม่ต่างกัน เพราะซูจีไม่ใช่ตัวแทนของชนกลุ่มน้อย แถมยังเดินหน้าเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมพม่าต่อไปอีกเรื่อยๆ

ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสถานการณ์การเมืองไทยมากนัก แต่ก็พอจะรู้ว่ามันค่อนข้างจะรุนแรง ผมคิดว่าเราคงจะเอาพม่ากับไทยมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ มันต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ แต่สิ่งที่ผมพอจะพูดได้คือประชาธิปไตยจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ หากประวัติศาสตร์ และโศกนาฏกรรมในอดีตยังไม่ถูกชำระ เราต้องรู้และยอมรับก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอดีต เราถึงจะปรองดองกันได้ เราให้อภัยกันได้ แต่เราไม่ควรจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้น เราก็จะลงเอยด้วยการทำผิดแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คิดว่างานศิลปะของคุณจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ไหม?

อย่างที่บอก ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ผมไม่คิดว่าศิลปะจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ในขณะเดียว เราก็ต้องไม่หยุดที่จะทำมัน เราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องพยายามต่อไปที่จะเปลี่ยนแปลงมัน เพราะมันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราทำได้ หากมองไปในการเมืองทั่วโลก เราจะพบปัญหาคล้ายกัน คือการเมืองถูกควบคุมโดยกลุ่มคนผู้ที่มีอำนาจ และเราในฐานะประชาชนทั่วไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นเลย แต่สิ่งที่ผมทำ ถ้าจะใช้ภาษาของนักการทหาร มันคือการ "รุกคืบอาณาเขต" ผมพยายามจะรุกคืบพื้นที่ของศิลปะในการเมือง และรุกคืบพื้นที่ทางการเมืองในวงการศิลปะ และนั่นก็คือสิ่งที่ครอบครัวของผมทำมาโดยตลอด คือการรุกคืออาณาเขต เพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะตัวแสดงทางการเมืองตัวหนึ่ง

ในงานเปิดตัวนิทรรศการ คุณพูดว่าชีวิตของคุณเริ่มต้นด้วยการร้องไห้ (weeping) ความเงียบ (silence) และจบด้วยเสียงเพลง (song) ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย

มันเป็นคำพูดของนักปรัชญาชาวอเมริกันชื่อคอร์เนล เวสต์ เขากล่าวว่าวิธีการเดียวที่เราจะเขาถึงความจริงได้ คือเราต้องร้องไห้ คือเราต้องปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามทางของมัน เผชิญหน้ากับความสูญเสียและโศกเศร้า และมันก็จะตามมาด้วยความเงียบงัน เพราะเราจะต้องดึงตัวเองออกมาจากโลกหลังจากที่เราร้องไห้เสียใจ หลังจากนั้นเสียงเพลงจึงจะบังเกิดขึ้น เพราะคุณได้เห็นแล้วว่าโลกของคุณจริงๆ แล้วมันหน้าตาเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือเราต้องทำใจและมองโลกแบบที่มันเป็น ยอมรับในความล้มเหลว ผิดพลาด และเสียใจ หากปราศจากกระบวนการเหล่านี้ เราจะไม่สามารถเข้าใกล้ความจริงได้เลย

สำหรับผม การร้องไห้ของผมมันเกิดขึ้นในวันที่พ่อผมจากโลกนี้ไปในปี 2004 ผมร้องไห้จริงๆ และร้องมันอยู่อย่างนั้น จากนั้นผมจึงหาวิธีการเพื่อเยียวยาตัวเองจากความสูญเสีย ผมจึงเริ่มวาดภาพเกี่ยวกับพม่าในความทรงจำของผม ภาพแรกที่ผมวาดเป็นภาพถ่ายของครอบครัวผมตอนที่ผมยังเด็ก พอผมวาดเสร็จ ผมก็วางมันทิ้งไว้ แล้วก็เริ่มวาดภาพใหม่อยู่อย่างนั้นเป็นเวลา 10 ปี นั่นคือช่วงเวลาของความเงียบของผม ผมวาดภาพมากกว่า 50 ภาพโดยไม่คิดจะหาเงินจาก หรือเอามันออกไปจัดแสดงที่ไหน ผมแค่วาดมันเพื่อระบายความเสียใจ มันเหมือนการร้องเพลงอยู่ในห้องคนเดียว ต่อให้คุณร้องดังแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีใครฟังคุณ มันก็ไม่ต่างจากความเงียบ เพราะฉะนั้นเวลาผมพูดว่า "เสียงเพลง" ผมหมายถึงช่วงเวลาที่ผมตัดสินใจเอางานของผมออกแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นสิ่งที่ผมทำ ได้เห็นสิ่งที่ครอบครัวผมต่อสู้เพื่อมัน

ผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าเสียงเพลงของผมมันเป็นเพลงแบบไหน เพราะนั่นขึ้นอยู่กับคนฟังจะตัดสินใจ เพราะเอาจริงๆ เสียงเพลงมันคือเสียงของอะไรก็ได้ แค่เสียงนกร้องมันก็เป็นเสียงเพลงได้แล้ว การร้องเพลงมันคือกระบวนการทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มันคือการปลดปล่อยตัวตนของเราและแสดงมันออกมาให้ผู้อื่นดู เขาอาจจะไม่ชอบมัน ก็ไม่เป็นไร แต่ผมพูดได้แค่ว่า หลังจากที่ผมอยู่ในความเงียบมาเป็นสิบปี ตอนนี้ผมกำลังร้องเพลงอยู่

คำถามสุดท้าย ผู้ที่เข้ามาชมงานแสดงของคุณจะได้เห็นอะไร?

คำถามนี้ยากมาก ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเขาจะเห็นอะไรเพราะมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของผม แต่ผมหวังว่าพวกเขาจะได้เห็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และเห็นความเป็นไปได้ต่อวิกฤติทางการเมืองในประเทศของเขา ภาพที่ผมวาดมันมาจากความทรงจำในวัยเด็กของผม เป็นภาพของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนกลุ่มน้อยในพม่ากับกองทัพ ซึ่งทุกวันนี้มันก็ยังคงดำรงอยู่ และมันก็คงจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตด้วย ผมหวังว่าผู้ที่เข้ามาชมจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง และเอากลับไปคิดเพื่อหาคำตอบให้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่

YAWNGHWE OFFICE IN EXILE จะจัดแสดงที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคมนี้
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สืบพยานคดีแฮกเกอร์ช่วงต้านซิงเกิลเกทเวย์ นัดหน้า มี.ค. 62 ผู้พิพากษามีคดีซ้อน

Posted: 24 Aug 2018 05:56 AM PDT

สืบพยานโจทก์คดีแฮกเกอร์ช่วงต่อต้านซิงเกิลเกทเวย์วันที่สอง โดนอ่วมทั้ง พ.ร.บ.คอมฯ ยาเสพติด อาวุธปืน อั้งยี่ ผู้พิพากษาเลื่อนสืบพยานไป มี.ค. ปีหน้า เหตุมีอีกคดีชนกัน ย้อนดูความเดิมตอนที่แล้ว การรักษาพื้นที่เสรีภาพสู่กระบวนการศาลที่ยาวนาน

24 ส.ค. 2561 ที่ศาลอาญารัชดามีการพิจารณาคดีณัฐดนัย คงดี ในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 5,6,7,9,10,14(1) พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 4,7(5) 26 วรรคแรก, 57,76 วรรคแรก,92,102, พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4(1),(2),7,8,72 วรรคแรก, 72 ทวิวรรคแรก, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,209,264, 265, 268 หลังถูกจับกุมและกล่าวหาว่าเป็นแฮกเกอร์ในการโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายแห่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2559 อันเป็นหนึ่งในกระแสต่อต้านการจัดทำ Single Gateway ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของณัฐดนัย ให้ข้อมูลว่า กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเพิ่งมาเริ่มสืบพยานเมื่อวานนี้ (24 ส.ค. 2561) โดยเริ่มสืบพยานโจทก์ก่อน ซึ่งคดีนี้จำเลยทั้งสี่คนถูกฟ้องแยกกัน แต่พิจารณาคดีร่วมกัน และจำเลยทั้งสี่ขอพิจารณาคดีลับหลังซึ่งศาลอนุญาต จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องมาศาล แต่ให้ทนายของจำเลยทั้งสี่ไปแทน

นรเศรษฐ์ระบุเพิ่มเติมว่า การสืบพยานมีปัญหาเพราะว่ามีการจ่ายสำนวนคดีนี้ชนกับคดีอีกคดีหนึ่ง ทำให้ผู้พิพากษาต้องยกเลิกนัดแล้วนัดใหม่เพื่อพิจารณาอีกคดีก่อน เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาคดีของณัฐดนัยและจำเลยที่พิจารณาคดีรวมกันทั้งสิ้นสี่คนนั้นเป็นการพิจารณาคดีลับหลัง และไม่ได้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี โดยกำหนดให้มีการสืบพยานโจทก์นัดต่อไปในวันที่ 6-8 12-15 และ 19 มี.ค. ปี 2562 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 20 และ 21 มี.ค. 2562

ดูความเดิมตอนที่แล้ว การรักษาพื้นที่เสรีภาพสู่กระบวนการศาลที่ยาวนาน

การจับกุมณัฐดนัยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ชาวเน็ตใช้เทคนิคทางด้านไอทีโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายๆ แห่งเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านแนวคิดของรัฐบาลที่จะทำ Single Gateway ในปี 2558 การจับกุมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ผ่านกระบวนการยืดยาวจนตอนนี้ยังไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะการพิจารณาคดีถูกเลื่อนไปถึงเดือน มี.ค. 2562

ตร.แถลงคุมตัว 9 แฮกเกอร์ ด้านเพจต้านยังโพสต์เตรียมเปิดซีรีย์ 'บ้านลุงตู่' วันที่ 2 คืนนี้

เพจ 'ต้าน Single Gateway' ชี้ประวิตรจับแพะ หลังระบุจับมือโพสต์เบอร์ลงเพจนี้ได้แล้ว

Single Gateway คือการสร้างช่องทางให้การรับ-ส่งข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยผ่านช่องทางเพียงช่องทางเดียวที่รัฐจัดทำไว้ เป็นวิธีการควบคุมการไหลเข้าไหลออกของข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด หมายความว่ารัฐเห็นข้อมูลที่ไหลเข้า-ออกทุกอย่าง สะดวกต่อการตรวจสอบ บล็อคและควบคุมข้อมูล

สืบเนื่องจากมีข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีเป็นระยะๆ ระบุให้กระทรวงไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย.2558 ขณะที่โฆษกรัฐบาล รมว.กระทรวงไอซีที และรองนายกฯ ต่างออกมาให้ข่าวว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ด้านผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ผ่านการร่วมลงชื่อ แสดงความเห็นผ่านบล็อก และ มีการระดมกันเข้าเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ โดยระบุเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์

ซิงเกิล เกตเวย์: คุยกับ 'อาทิตย์' เมื่อรัฐคุมอินเทอร์เน็ตเบ็ดเสร็จ พลเมืองจะอยู่อย่างไร

เว็บรัฐบาล-ไอซีที-ความมั่นคงล่มรัวๆ ไม่ต่ำกว่า 6 เว็บ คาดต้าน 'ซิงเกิลเกตเวย์'

แคมเปญ 'ต้านซิงเกิลเกตเวย์' ทะลุแสนชื่อแล้ว

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ให้ข้อมูลว่า เมื่อ 20 ธ.ค. 2559 ทหารในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เข้าจับกุมและตรวจค้นบ้านพักของณัฐดนัย พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หนังสือเรื่อง "Network security ฉบับก้าวสู่นักทดสอบและป้องกันการเจาะระบบ" อาวุธปืน กระสุนและกัญชาอัดแห้ง ก่อนที่ทหารจะนำตัวไปควบคุมที่ มทบ.11 เป็นเวลา 7 วัน และนำมาส่งตัวให้ตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เมื่อ 26 ธ.ค. 2559 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.ต.ศุภเชษฐ์ โชคชัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ,พล.ต.ต.ศิริพงศ์ ติมุลา ผบก.สนับสนุนทางเทคโนโลยี ,พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ,พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมกันแถลงจับกุมผู้ต้องสงสัยกลุ่มแฮกเกอร์พร้อมของกลาง โดยระบุว่ากองทัพสามารถควบคุมตัวได้จำนวน 9 คน และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนดำเนินคดี ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ นำตัว ณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี หนึ่งใน 9 คนที่ถูกจับกุมมาสอบสวนด้วยตัวเอง พร้อมยึดของของกลางได้ที่บ้านพักประกอบด้วยซีพียูคอมพิวเตอร์ อาวุธปืนสั้น 2 กระบอก อาวุธปืนยาว 1 กระบอกและกัญชาอัดแท่ง

จักรทิพย์กล่าวว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหานั้น จะใช้ความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ ทำการเข้าถึงระบบข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ก่อนจะทำการบันทึกภาพไว้ แล้วส่งต่อให้กับผู้ดูแลเพจเฟสบุ๊ค ชื่อ พลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกทเวย์ เพื่อนำไปเผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจดังกล่าว และจากการสืบสวนสอบสวนยังพบ ว่า ณัฐดนัย เป็นสมาชิกของกลุ่มแฮ็กเกอร์ 3 กลุ่มหลักด้วยกัน และยังเป็นสมาชิกคนเพจพลเมืองต่อต้านซิงค์เกิ้ลเกทเวย์อีกด้วย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รบ.กำชับ 'สตช.-กสทช.' ลดขั้นตอนปราบละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เหลือดำเนินการแค่ 1-2 วัน

Posted: 24 Aug 2018 05:07 AM PDT

รัฐบาลไทยกำชับ สตช. และ กสทช. ลดขั้นตอนการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ให้เหลือเวลาดำเนินการแค่ 1-2 วัน ตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

24 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) รายงานว่า สืบเนื่องจากนโยบาลของรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงาน กสทช. ร่วมกันในการปราบปรามสินค้าที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ว่ามีสินค้าที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าปลอมแปลง อย่างเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างๆ เป็นต้น

วันนี้ (24 ส.ค.61) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมกับ ฐากร ตัณฑสิทธิ์  เลขาธิการ กสทช. ร่วมแถลงข่าวถึงความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อลดขั้นตอนในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ให้ใช้เวลาดำเนินการลดลงเหลือเพียง 1-2 วัน จากเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ตามนโยบายของรัฐบาล

เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า สตช. ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมหารือร่วมกันจนได้กำหนดแนวทางในการปราบปรามสินค้าที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสินค้าปลอมแปลง เลียนแบบ ที่มีการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ ซึ่งขั้นตอนในอดีตที่ผ่านมา เมื่อผู้ที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ละเมิดลิขสิทธิ์ ต่างๆ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับทาง สตช. หรือสำนักงาน กสทช. แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากตามขั้นตอนแล้วผู้ที่ถูกละเมิดจะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล หลังจากศาลมีหมายศาลจึงจะดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่พบการละเมิดลิขสิทธิ์และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวใช้ระยะเวลานานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหายมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น กรณีสินค้าปลอมหรือเลียนแบบแบรนด์เนมหรือเครื่องสำอางค์ดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือประเทศอื่น ที่จำหน่ายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์ เช่น Facebook Instagram Line เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีภาพยนตร์ และซีรีส์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมจากประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น และอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้สั่งการให้ สตช. และสำนักงาน กสทช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการให้ดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

ฐากร กล่าวว่า สตช. และ สำนักงาน กสทช. ได้ประชุมหารือร่วมกันหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปในการลดขั้นตอนในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ให้มีความรวดเร็ว และกระชับ พร้อมทั้งลดเวลาในการดำเนินการให้มากที่สุด โดยผลจากการหารือขณะนี้ ขั้นตอนในการดำเนินการปราบปรามจะลดลงเหลือเพียง 1-2 วัน ดังนี้

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ(TACTICS)

2. เมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดลิขสิทธิ์ ถูกปลอมแปลงสินค้า ให้ไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ(TACTICS) โดยสามารถดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน

3. เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหาย หรือผู้รับมอบอำนาจแล้วจะรีบส่งเรื่องให้สำนักงาน กสทช. โดยเร็วต่อไป

4. สำนักงาน กสทช. จะส่งเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP เพื่อดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึง URL หรือเว็บไซต์ดังกล่าวต่อไป

5. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะร่วมกับสำนักงาน กสทช. ออกจับกุมและตรวจสอบดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายทางการค้าจดทะเบียน การละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ซึ่งมีรูปแบบในการกระทำผิด เช่น การทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ในช่องทางออนไลน์ การผลิตและเสนอขายทางออนไลน์ซึ่งสินค้าปลอมแปลงเครื่องหมายทางการค้าของบุคคลอื่นต่อไป 

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กสทช. เชื่อว่าการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จะเป็นการลดขั้นตอนการทำงานจากเดิมจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนในการปิดกั้นการเข้าถึง URL หรือเว็บไซต์ที่กระทำความผิดการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นระยะเวลา 1-2 วัน เท่านั้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ว่าประเทศไทยได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามสินค้าที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสินค้าปลอมแปลง เลียนแบบ ที่มีการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ในขณะนี้ได้ อันจะส่งผลให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ในประเทศไทยลดลง" ฐากร กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

วิวาทะวงวรรณกรรม ‘วาด รวี’ ชี้นักวิชาการไม่วิจารณ์วรรณกรรมไทยร่วมสมัยซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญ

Posted: 24 Aug 2018 01:46 AM PDT

'วาด รวี' ชี้นักวิชาการสนใจแค่วรรณกรรมยุคเก่าหรือจากตะวันตก 'สุธิดา' โต้นักเขียนเองก็ไม่ชอบฟังนักวิจารณ์ วงการวรรณกรรมจึงอ่อนแอ แต่ยอมรับงานวิจารณ์ไทยร่วมสมัยยังน้อย 'ไอดา' ระบุงานวิจารณ์ไทยร่วมสมัยมีแต่อยู่ในวงวิชาการไปไม่ถึงสาธารณะ 'ชูศักดิ์' ชี้อย่าคาดหวังกับแค่นักวิชาการ เพราะอาจารย์มหา'ลัยงานล้นต้องทำประกันคุณภาพการศึกษา

ในงานบรรยายหัวข้อ "ทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบทถึงบริบท" ที่จัดขึ้น ณ ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และ สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดโดย โครงการปริญญาโทสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มธ. ร่วมกับ สำนักพิมพ์ อ่าน เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

อ่าน 'ชูศักดิ์-สุธิดา' คุยทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบท บริบทถึงการกระทำทางการเมือง

 

รับชมช่วงถาม-ตอบ นาทีที่ 2.49.45 เป็นต้นไป

 

'วาด รวี' ชี้แทบไม่มีใครหยิบวรรณกรรมช่วงวิกฤตการเมือง ศึกษาวิจารณ์อย่างเป็นระบบ

หลังการบรรยายเสร็จในช่วงถาม-ตอบ 'วาด รวี' นักเขียนนักกวีทางการเมืองได้จุดประเด็นวิจารณ์นักวิชาการด้านวรรณกรรม โดยกล่าวว่า นักวรรณกรรมที่เป็นนักวิชาการค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นที่นักวิชาการตะวันตกศึกษา เช่น เรื่องแนวคิดเฟมินิสต์ แนวคิดหลังอาณานิคม (ที่สุธิดาบรรยาย) ก็เป็นเรื่องตะวันตก

"ผมสงสัยว่าสิ่งที่นักวรรณกรรมศึกษาของไทยควรจะทำคือการศึกษาตัวบทและบริบทที่มีชีวิตอยู่ต่อหน้าตัวเองรึเปล่า หรือเป็นการไปศึกษาวิชาการตะวันตกซึ่งอยู่ในบริบทสังคมหนึ่งและอาจจะไม่สามารถนำมาใช้กับบริบทสังคมไทยได้ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดเฟมินิสต์ต่อเรื่องฮิสทีเรียก็ไม่ใช่ประเด็นที่นำมาใช้ได้กับสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา หรือที่อาจารย์ชูศักดิ์ยกตัวอย่างการเรียกพี่-น้องในสังคมไทย ความอาวุโสมาก่อนเรื่องเพศ ขณะที่ของภาษาอังกฤษคือเรื่องเพศมาก่อน ระบบความสัมพันธ์ของตะวันตกมันแตกต่างจากสังคมไทยค่อนข้างมาก ไม่สามารถเอามูฟเม้นท์ที่เกิดขึ้นในตะวันตกมาใช้ได้ตรงไปตรงมา โดยไม่ศึกษาตัวบทและบริบทที่มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยเลย" วาด รวี กล่าว

เขากล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ติดใจคือ เวลาฟังนักวิชาการพูด เหมือนกับฟังนักอ่านที่เป็นนักวิชาการวรรณกรรมศึกษาคุยอยู่ในห้องที่มีแต่นักอ่าน แล้วนักเขียนก็อยู่ช้างนอกห้อง มันอาจเป็นอิทธิพลหลังโครงสร้างนิยม แนวคิดเรื่อง ผู้ประพันธ์ตายแล้ว มีอิทธิพลกับนักวิจารณ์ไทยค่อนข้างมากโดยเฉพาะทศวรรษ 2540 ทำให้การวิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ยิ่งในทศวรรษ 2550 คือการกลับไปอ่านงานของนักเขียนที่ตายไปแล้ว คือการกลับไปอ่านย้อนหลัง เช่น ปีศาจ (เสนีย์ เสาวพงศ์) แต่ความสนใจต่อตัวบทหรือบริบทที่มีชีวิตอยู่ ณ ขณะนั้นน้อยมาก

"ข้อสังเกตที่ผมจับได้คือแทบไม่มีนักวิชาการวรรณกรรมจับหรือหยิบตัวบทวรรณกรรมหลายๆ ชิ้นที่ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการเมือง หลังทศวรรษ 2550 แต่กลับไม่มีการหยิบงานเหล่านี้ขึ้นมาศึกษา วิจารณ์อย่างเป็นระบบเลย อาจารย์ชูศักดิ์ก็กลับไปสนใจวรรณกรรมยุค 2490 ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไปสนใจแนวคิดเฟมินิสต์หรือแนวคิดหลังอาณานิคม

"จากที่ผมสัมผัสตัวบทของนักเขียนร่วมสมัยที่เกิดขึ้นหลัง 2550 มีนัยสำคัญอย่างหนึ่งคือแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่เผยแพร่แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นในช่วงทศวรรษ 2540 มาอย่างต่อเนื่อง พอเกิดวิกฤตการเมือง เกิดตัวบท เราไม่สามารถพูดได้ว่านักเขียนเหล่านี้เขียนโดยการตระหนักแบบเดียวกับก่อนหน้าที่จะมีการเผยแพร่ความคิดเหล่านี้ หมายความว่าระหว่างที่นักศึกษาวรรณกรรมนั่งคุยกันอยู่ในห้องเรื่องการอ่านในศตวรรษที่ 19-20 จริงๆ นักเขียนยังไม่ได้ตาย แต่ก็นั่งฟังอยู่ในห้องนี้ด้วย และก็ตระหนักว่ามีวิธีคิดหลังโครงสร้างนิยมแล้ว การตระหนักรู้ว่ามีวิธีการอ่านแบบหลังโครงสร้างนิยมแล้วมีความแตกต่างอย่างสำคัญกับก่อนที่จะตระหนักรู้ มีงานที่ชี้ให้เห็นว่านักเขียนออกแบบโครงสร้างที่มองไม่เห็นอย่างสลับซับซ้อนจนพูดได้ว่าถ้าคุณไม่ตระหนักรู้เรื่องโครงสร้างนิยมคุณไม่มีทางเขียนได้แบบนี้ แต่ไม่มีนักวิชาการสนใจศึกษาเลย

"นักศึกษาวรรณกรรมบ้านเรานอกจากไม่สนใจตัวบทวรรณกรรมร่วมสมัยที่มีชีวิตร่วมเวลากับตัวเอง ยังค่อนข้างอ่อนเรื่องการศึกษาบริบทของสังคมการเมืองด้วย ส่วนงานวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยที่ออกมานั้นต้องบอกว่าเชยและทื่อมากๆ ในขณะที่นักเขียนนั้นผลิตงานด้วยแนวคิดที่ไปไกลกว่านั้นแล้ว" วาด รวี กล่าว

 

'สุธิดา' โต้นักเขียนเองก็ไม่ชอบอ่านงานวิจารณ์

สุธิดา วิมุตติโกศล ได้โต้แย้งว่า ข้อสังเกตของตนคือ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการศึกษาของภาควิชาวรรณคดีอังกฤษส่วนหนึ่งเป็นสมบัติตกทอดของอาณานิคมเหมือนกัน ด้านหนึ่งคือเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ถ้าเราไม่ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรมตะวันตกเขาก็ไม่ต่อสัญญา

"โดยส่วนตัวอาจจะเขียนงานภาษาไทยค่อนข้างน้อย แต่อยากให้ลองมอง อ.ชูศักดิ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ภาควิชาวรรณกรรมไทยแต่ก็ทำงานภาษาไทยจนจะไม่ได้เป็นศาสตราจารย์อยู่แล้วเพราะมีแต่งานภาษาไทย อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับแกนิดนึง แต่เราก็เห็นด้วยว่างานศึกษางานวิจารณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมไทยค่อยข้างน้อย แม้จะเทียบจำนวนบุคคลากรแล้วอาจจะมี 10 กว่าคน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นข้ออ้าง จริงๆ เราก็ควรทำเรื่องไทยให้เยอะกว่านี้

"อีกประเด็นอาจจะเป็นการวิจารณ์นักเขียนกลับ คือนักเขียนไม่ชอบอ่านงานวิจารณ์ เท่าที่เราสังเกต นักเขียนไม่ค่อยชอบเราวิจารณ์ และไม่ค่อยอยากฟังด้วยว่าเราพูดอะไร ซึ่งอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แวดวงมันอ่อนแอ มีประสบการณ์ส่วนตัว สมมตินักวิจารณ์พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งหรือรวมงานชุดหนึ่ง นักเขียนไม่ฟังว่าเขาพูดอะไร" สุธิดากล่าว

วาด รวี ได้โต้กลับว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่านักเขียนไม่ฟังนักวิจารณ์ นักเขียนจะไม่ฟังนักวิจารณ์ก็ได้ เราไม่ได้ต้องการให้นักเขียนต้องฟังเพื่อไปปรับปรุง แต่ตนกำลังจะบอกว่าการศึกษาวรรณกรรมที่นักวิจารณ์ได้เรียนรู้และพัฒนาแนวคิดต่างๆ ขึ้นนั้นไม่ใช่มีเพียงนักศึกษาวรรณกรรมเท่านั้นที่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ ในเวลาเดียวกันผู้สร้างงานก็ตระหนักถึงวิธีคิดวิธีอ่านเพื่อเข้าถึงความหมายในรูปแบบเหล่านี้ แต่ในตอนนี้ไม่มีนักศึกษาวรรณกรรมที่ตระหนักว่ามันมีความต่างระหว่างการอ่านแบบโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม นั่นเพราะไม่มีคนศึกษาวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย นักวิชาการวรรณกรรมจึงตามไม่ทัน

 

บ.ก.อ่าน ระบุเพียงข้อเขียนไม่ปรากฎในพื้นที่ที่รับรู้ทั่วกัน

ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการนิตยสารอ่าน ได้แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวคิดว่านักวิชาการไทยอ่านงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยเยอะ เพียงแต่ข้อเขียนของเขาไม่ได้ปรากฎในพื้นที่ที่รับรู้ทั่วกัน เช่น นิตยสารอ่าน แต่อาจอยู่ในวารสารวิชาการ และโดยส่วนใหญ่นักเขียนที่มาเขียนในนิตยสารอ่านก็มาจากสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ซึ่งโดยพื้นฐานพูดเรื่องวรรณคดีอังกฤษ อเมริกัน แต่ก็พยายามเอาทฤษฎีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับวรรณกรรมไทยบ้าง ตนเข้าใจความต้องการที่จะให้นักวิจารณ์ไปถึงหมุดหมายที่นักเขียนไทยไปถึง แต่ตนคิดว่างานอย่างของอุทิศ เหมะมูล ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่งานที่น่าตื่นตาตื่นใจ

วาด รวี แย้งว่า งานของอุทิศนั้นคนอ่านเพราะได้ซีไรต์ แต่ถ้าศึกษาตนคิดว่ามันต้องไปลึกกว่านั้น งานบางชิ้นที่ไม่ได้เข้ารอบลึกๆ ไม่ใช่งานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง มันไม่ถูกอ่าน ไม่ถูกทำความเข้าใจ และตนคอมเมนต์โดยดูจากงานของนักวิชาการที่ออกสู่สาธารณะ เพราะพูดจริงๆ แล้วคนที่มีทักษะการพูดถึงตัวบทและบริบทที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยคือนักวิชาการวรรณกรรม แต่นักวิชาการกลับศึกษาวิจารณ์งานพวกนี้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่งานเขียนร่วมสมัยเหล่านี้มันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน แต่ไม่เคยมีใครจุดประเด็นเหล่านี้

ไอดา กล่าวต่อว่า ในทศวรรษที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงแบบนี้ ตนเห็นงานของนักเขียนจำนวนไม่น้อยเลยที่พยายามเอาความขัดแย้งทางการเมืองเข้าไปใส่ในงานของเขา ตนคิดว่าในสังคมการอ่านน่าจะรู้อยู่ว่ามันมีความเคลื่อนไหวนี้ แต่การจะถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ตนคิดว่ามันต้องไปพร้อมกับข้อจำกัดของการถกเถียงในสังคมไทย สมมติมีนิยายของนักเขียนคนหนึ่งไปแตะประเด็น 112 ตัวนักเขียนเองก็อาจจะยังไม่อยากพูดชัดๆ ต้องเขียนอ้อมไปอ้อมมา แล้วสังคมก็อาจจะไม่กล้าจะถกเถียงกันอย่างสาธารณะ แต่อันหนึ่งที่รู้สึกคือมันมีการจัดระยะระหว่างนักวิจารณ์กับนักเขียน มันมีความคาดหวังเดิมๆ ของวงการวรรณกรรมไทยที่ผ่านว่า เมื่อนักเขียนคนหนึ่งเขียนงานน่าสนใจแล้วนักวิจารณ์ก็ต้องเอามาวิจารณ์หรือพูดถึง ซึ่งแค่ลำพังการพูดถึงก็ทำให้นักเขียนอยู่ในสายตาแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมันมาจากระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม กระทั่งนิตยสารอ่านเองก็ลำบากใจกับการจัดวางความสัมพันธ์แบบนี้ จึงคิดว่ามันมีปัญหาทางวัฒนธรรมที่ทับซ้อนกันอยู่ ที่ดูอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่โตมากนัก แต่ก็เป็นปัญหา

 

'ชูศักดิ์' มองระบบทำนักวิชาการมุ่งเวทีวิชาการ ค่อนข้างตัดขาดโลกสาธารณะ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอของ วาด รวี ก็คงต้องฝากอาจารย์ที่สอนทั้งวรรณกรรมไทยและต่างชาติในสังคมนี้ให้พัฒนา พร้อมชี้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากพูดจากสาขาตน หลังจากมี มคอ. (กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ) ซึ่งต้องทำงานเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งหลาย โดยมีเงื่อนไขที่ต้องผลิตผลงานวิชาการ จึงกดดันให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากเปลี่ยนเวทีจากเวทีสาธารณะไปสู่เวทีวิชาการ ซึ่งค่อนข้างตัดขาดจากโลกสาธารณะ และตนคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานที่ผลิตออกมาไม่เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ ไม่มีการพูดถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

"มาถึงตอนนี้อาจจะคาดหวังกับนักวิชาการได้น้อย นักวิชาการไม่ได้มีบารมีขนาดนั้นแล้ว นักเขียนนักอ่านก็ขึ้นมาทำกันเองได้ ผมก็ไม่รู้ว่าพูดแบบนี้เหมือนการยอมแพ้โดยตัวมันเองรึเปล่า แต่ถ้าเราไปฝากความหวังไว้กับนักวิชาการมันยิ่งทำให้เราไม่มีแรงทำอะไรด้วยตัวเอง ผมคิดว่ามันควรจะเรียกร้อง แต่อย่าคาดหวังว่าจะต้องมีนักวิชาการมารับไม้ ผมคิดว่ามีคนอื่นมากมายที่พร้อมจะรับข้อเสนอนี้ไปทำ ประเด็นที่เสนอมาก็น่าสนใจและคิดว่าควรจะมีคนทำ" ชูศักดิ์ กล่าว

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลปัตตานี ยกคำร้องขอไต่สวน ตม.จับกุมแรงงานพม่าอาสาสอนเด็กไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Posted: 24 Aug 2018 01:38 AM PDT

เอ็นจีโอสิทธิฯ แรงงานข้ามชาติ ชี้ปัญหาความจริงที่ยังไม่ได้ถูกค้นหาโดยกระบวนการยุติธรรม หลังศาลจังหวัดปัตตานี ยกคำร้องกรณีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาขอให้มีการไต่สวนการจับกุมและควบคุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุถูกส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามระเบียบต่อไปแล้ว

24 ส.ค.2561 จากเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานเข้าจับกุมคนงานหญิงชาวเมียนมา 2 คน ซึ่งใช้เวลายามว่างจากการทำงานประจำมาเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้กับลูกหลานคนงานข้ามชาติกว่า 80 คน ที่สำนักสงฆ์แหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องและชอบธรรมของการกระทำดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ระบุว่า วันดังกล่าว (23 ส.ค. 61) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดไต่สวนคำร้องกรณีที่มีการจับกุมและควบคุมตัวแรงงานข้ามชาติหญิงชาวเมียนมา 2 คน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลได้ออกหมายเรียกสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี ผู้เกี่ยวข้องกับการคุมขังแรงงานมาให้การในชั้นไต่สวน ซึ่งผู้คุมได้แถลงต่อศาลได้นำตัวผู้ถูกคุมขังทั้งสองไปยังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2561 เวลาประมาณ 18.00 น. เพื่อดำเนินการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามระเบียบต่อไปแล้ว ดังนั้น ขณะนี้ผู้ถูกคุมขังทั้งสองไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไต่สวนคำร้องต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

เกี่ยวกับคดีนี้ แถลงการณ์ทั้ง 2 องค์กร ระบุว่า เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า แรงงานข้ามชาติทั้งสอง ทำงานนอกเหนือจากที่กฎหมายอนุญาต และดำเนินการเปรียบเทียบปรับขณะที่แรงงานทั้งสองถูกสั่งให้ลงนามในเอกสารภาษาไทยที่ตนไม่สามารถอ่านได้ และจะมีการดำเนินการผลักดันทั้ง 2 คน กลับไปยังประเทศต้นทางตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และยังได้ออกคำสั่งห้ามเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกเป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีชาวเมียนมาที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยวและขอเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนที่วัดถูกจับปรับในข้อหาเดียวกัน

แถลงการณ์ทั้ง 2 องค์กร ระบุอีกว่า จุดเริ่มต้นของการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อการคุ้มครองสิทธิ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการทำงานของหญิงชาวเมียนมาทั้ง 2 คน  รวมถึงการละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า การสอนหนังสือให้เด็กๆ ในชุมชน มิได้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นทางการ การเข้ามาให้ความรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมแก่เด็กๆ ในชุมชน เป็นการทำโดยจิตอาสา มิได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น การยื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นกระบวนการขอให้ศาลไต่สวนเพื่อแสวงหาความจริงว่าการควบคุมตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่การแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นนี้กลับยุติลงด้วย "การส่งตัวหญิงชาวเมียนมาทั้ง 2 คนออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว" ซึ่งการ "ปล่อยตัว" ในลักษณะนี้ ย่อมไม่ใช่การคืนเสรีภาพให้แก่ผู้ร้องตามเจตนารมณ์ของมาตรา 90

สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ ผู้คุมขังเอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้นหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง และเมื่อได้รับคำร้องแล้วให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูลศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลันและถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ระบอบเผด็จการกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

Posted: 24 Aug 2018 12:19 AM PDT

ระบอบเผด็จการใช้ "กฎหมาย" เป็นเครื่องมือ อยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้

ลักษณะแรก การแปลงความต้องการของเผด็จการให้เป็น "กฎหมาย"

ในระบอบเผด็จการที่รวบอำนาจสูงสุดไว้ที่คนคนเดียวหรือคณะบุคคลไม่กี่คน เป้าหมายของรัฐเป็นหลัก สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นข้อยกเว้น คณะผู้เผด็จการย่อมใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ ขอเพียงเป็นไปเพื่อ "เหตุผลของรัฐ" แล้ว พวกเขาก็ใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพได้เสมอ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้อำนาจของเผด็จการไม่แลดู "ดิบเถื่อน" จนเกินไปนัก จึงจำเป็นต้องแปลงรูปการใช้อำนาจเหล่านั้นให้เป็น "กฎหมาย" เพื่อสร้างความชอบธรรมการใช้อำนาจเผด็จการ

วิธีการแปลงความต้องการของเผด็จการให้กลายเป็น "กฎหมาย" ทำได้สองรูปแบบ

ในรูปแบบแรก คณะเผด็จการออกประกาศ คำสั่ง และ "เสก" ให้มันมีสถานะเป็น "กฎหมาย" เมื่อคณะผู้เผด็จการต้องการอะไร ก็เอาความต้องการนั้นมาเขียนเป็นประกาศ คำสั่ง

ในรูปแบบที่สอง คณะผู้เผด็จการอาจทำให้ "แนบเนียน" กว่านั้น ด้วยการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมา และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ วิธีการนี้ดูแนบเนียนกว่าวิธีแรก เพราะ "กฎหมาย" ที่ออกมานั้นเป็นผลผลิตขององค์กรนิติบัญญัติ ไม่ใช่คณะผู้เผด็จการตราขึ้นเอาเองตามอำเภอใจ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คณะผู้เผด็จการก็ยังคงเป็นผู้บงการชักใยสภานิติบัญญัติอยู่

การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในระบอบเผด็จการในกรณีแรกนี้ ก็คือ การเปลี่ยน "ปืน" ให้กลายเป็น "กฎหมาย" โดยเอา "กฎหมาย" ไปห่อหุ้ม "ปืน" นับแต่นี้ การใช้อำนาจเผด็จการจากปืนก็แปลงกายมาเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เอาเข้าจริง มันคือการใช้ปืนดีๆนี่เอง

ลักษณะที่สอง การนำ "กฎหมาย" ของเผด็จการไปใช้บังคับ

เมื่อระบอบเผด็จการผลิต "กฎหมาย" ขึ้นใช้แทนที่ "ปืน" แล้ว "กฎหมาย" เหล่านั้นจะมีผลใช้บังคับได้จริง ก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการเป็นผู้นำไปใช้ การนำ "กฎหมาย" ของเผด็จการไปใช้บังคับ แบ่งได้สองกรณี

ในกรณีแรก เจ้าหน้าที่ใช้บังคับกฎหมายเพื่อจับกุมคุมขัง ลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่ต่อต้านเผด็จการ
เช่น บุคคลชุมนุมต่อต้านเผด็จการ แทนที่คณะผู้เผด็จการจะสั่งการให้กองกำลังทหาร-ตำรวจบุกเข้าสลายการชุมนุม ปราบปราม ฆ่า อุ้มหาย จับกุมคุมขังโดยอำนาจเถื่อน ก็ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการนำ "กฎหมาย" มาใช้เพื่อจัดการกลุ่มผู้ต่อต้านเผด็จการ บรรดาเจ้าหน้าที่อ้างได้ว่าการใช้อำนาจของพวกเขาเป็นไปตาม "กฎหมาย" นี่คือการรักษากฎหมาย ไม่ใช่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสั่งฟ้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าบุคคลเหล่านั้นมีความผิดอาญาหรือไม่ ในท้ายที่สุด ศาลก็พิพากษาให้ผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการมีความผิด ต้องรับโทษจำคุก

การปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการด้วยวิธีการเช่นนี้ คณะผู้เผด็จการไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทางกายภาพ ไม่ต้องอุ้มฆ่า ไม่ต้องขังลืม เพียงแต่ตรากฎหมายขึ้น แล้วเจ้าหน้าที่และศาลก็ยินยอมพร้อมใจกันนำกฎหมายไปใช้ปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการให้แทน คณะผู้เผด็จการสามารถอ้างได้ว่าบุคคลที่ถูกศาลตัดสินลงโทษเหล่านี้ กระทำการผิดกฎหมาย และศาลก็เป็นผู้ตัดสิน คณะผู้เผด็จการไม่ได้ใช้อำนาจปราบปรามตามอำเภอใจ การปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการซึ่งเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กลับถูกฉาบด้วย "กฎหมาย" และ "คำพิพากษา"

ในกรณีที่สอง คือ เจ้าหน้าที่และศาลใช้บังคับกฎหมายเพื่อรับรองการใช้อำนาจหรือยกเว้นไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการ เช่น บุคคลที่เห็นว่าการใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิของตน ได้ฟ้องโต้แย้งไปยังศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งของคณะผู้เผด็จการ หรือสั่งให้คณะผู้เผด็จการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ศาลกลับยกฟ้อง โดยอ้างว่า "กฎหมาย" (ซึ่งตราขึ้นในสมัยเผด็จการ) ได้รับรองการใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการไว้ทั้งหมดแล้ว

กรณีเช่นนี้ทำให้การใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการไม่อาจถูกตรวจสอบได้เลย แน่นอนว่าการที่คณะผู้เผด็จการไม่ถูกตรวจสอบและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเรื่องธรรมชาติตามอัปลักษณะของระบอบเผด็จการอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อศาลเข้ายืนยันอัปลักษณะนี้ด้วย ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับคณะผู้เผด็จการว่า พวกตนได้การรับรองจาก "กฎหมาย" และ "ศาล"

ลักษณะที่สาม การนำ "กฎหมาย" ที่มีอยู่แล้ว ไปใช้ในทางไม่เป็นคุณกับเสรีภาพ

ระบอบเผด็จการอาจนำ "กฎหมาย" ที่มีอยู่แล้วไปใช้อย่างไม่มีมาตรฐาน ไม่แน่นอนชัดเจน เพื่อลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จนทำให้บุคคลผู้อยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายนั้นไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจใช้เสรีภาพของตนนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต้องได้รับโทษหรือไม่ เมื่อเกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วตนจะถูกดำเนินคดีและลงโทษหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง พวกเขาก็เลือกที่จะ "เซนเซอร์ตนเอง" ด้วยการไม่ใช้เสรีภาพนั้นเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีประเทศไทย คือ การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาใช้

ลักษณะที่สี่ การนำ "กฎหมาย" ที่มีอยู่แล้วไปใช้แบบบิดเบือน บิดผันอำนาจ (abuse of power) เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของเผด็จการ

ระบอบเผด็จการอาจไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใหม่ แต่นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างบิดเบือนอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายวิธีพิจารณาความ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

เช่น ระบอบเผด็จการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องของการจับกุมมาใช้กลั่นแกล้งฝ่ายต่อต้านเผด็จการด้วยการออกหมายจับฝ่ายต่อต้านเผด็จการ แต่ก็ไม่เคร่งครัดกับการไปตามจับอย่างจริงจัง ด้วยเกรงว่าการจับกุมคุมขังอาจบานปลายและกลายเป็นชนวนจนนำไปสู่การลุกฮือต่อต้านได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฝ่ายต่อต้านเผด็จการเอง ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวรณรงค์ได้เต็มที่ เพราะ มีหมายจับและคดี "ปักเป็นชนักติดหลัง" อยู่ หากเคลื่อนไหวมาก หากฝ่ายต่อต้านเผด็จการตัดสินใจลดระดับการต่อสู้กับเผด็จการลง การจับกุมก็ไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายต่อต้านเผด็จการยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการต่อไป เมื่อคณะผู้เผด็จการทนไม่ไหว สุดท้ายฝ่ายเผด็จการก็อ้างหมายจับนั้นเข้าจับกุมฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

เช่นเดียวกัน ฝ่ายเผด็จการตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับแกนนำฝ่ายต่อต้านเผด็จการในศาล หากศาลตัดสินเอาเข้าคุก ก็อาจเกิดปฏิกริยาสะท้อนกลับลุกฺฮือได้ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ แล้วก็ปล่อยให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า อาศัยเทคนิควิธีทางกฎหมายยื้อคดีไปเรื่อยๆ แกนนำฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็ไม่อาจเคลื่อนไหวได้เต็มที่ เพราะ มีคดี "ปัก" ไว้ที่กลางหลังอยู่ ถ้าแกนนำฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่เกรงกลัว ยังคงเดินหน้าต่อสู้กับเผด็จการอย่างเปิดเผย ศาลก็อาจตัดสินให้แกนนำมีความผิดและต้องรับโทษจำคุกได้

การนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างบิดเบือนของฝ่ายเผด็จการนี้ ช่วยให้ฝ่ายเผด็จการสามารถ "ผ่อนหนักผ่อนเบา" และประเมินสถานการณ์ได้ตลอดเวลาได้ว่าช่วงใดควรปล่อย ช่วงใดควรจับ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็ถูกกดด้วยกระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้ ไม่ให้เคลื่อนไหวได้เต็มที่

การนำ "กฎหมาย" มาใช้เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการทั้งสี่ลักษณะนี้ ทำให้การใช้อำนาจของเผด็จการแลดู "อ่อนนุ่ม" ขึ้น เพราะทั้งหมดล้วนแล้วแต่อาศัยอำนาจตาม "กฎหมาย" เป็นไปตาม "กฎหมาย" ไม่ใช่มาจากการใช้กำลังทางกายภาพหรืออาวุธเข้าปราบปราม นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบอบเผด็จการมีเครื่องมือให้เลือกใช้หลายประเภท ตามแต่ละสถานการณ์

ปรากฏการณ์การนำ "กฎหมาย" มาใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ทำให้ระบอบเผด็จการกลายเป็น soft coup, soft dictator ไม่มีภาพของความรุนแรง การปราบปรามจนทำให้มีผู้บาดเจ็บสูญหายล้มตายจำนวนมาก ในขณะที่ภาพของการต่อต้านเผด็จการก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวาง เพราะ ประชาชนหวาดกลัวการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ส่วนระบอบเผด็จการสามารถอาศัยความชอบธรรมจาก "กฎหมาย" อ้างต่อชาวโลกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และสถานการณ์ภายในประเทศสงบเรียบร้อย ปราศจากการต่อต้าน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Piyabutr Saengkanokkul

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: ข้าวขุนสัตว์

Posted: 24 Aug 2018 12:19 AM PDT

 

..ขุนสัตว์ให้เป็นสัตว์
ไว้ขบกัดประชาชน
ขุนคนบ่เป็นคน
แต่เม็ดข้าวจะเปล่าเปลือง

ขุนสัตว์ก็ได้สัตว์
และเห็บหมัดก็เต็มเมือง
ศอกคืบก็ขัดเคือง
สิ คับแค้นและฝืดคอ

เลี้ยงสัตว์ก็พล่านสัตว์
สิ บ้านอัดและเมืองออ
พูนเพียบแต่สอพลอ
สุนัขพรรคกระฎุมพี

..ขุนสัตว์ไว้กรำศึก
ปลาสศึกประดามี
สยองชาติประชาชี
ผวาซากดิรัจฉาน ฯ!

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น