โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

รังสิมันต์ โรม ชี้ประเด็นวันนี้ไม่เรื่องผู้ตรวจฯ แต่ต้องถามว่าเราพอหรือยังกับ คสช.

Posted: 14 Aug 2018 11:11 AM PDT

รังสิมันต์ โรม ปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มาภาพจากเพจ Banrasdr Photo

ข่าวการเมืองที่ระอุขึ้นมาในช่วงสอง สัปดาห์ที่ผ่านมา(นับจากต้นเดือน ส.ค. 2561) นอกจากข่าวประกาศสู้ในสงครามของทักษิณ ชินวัตร ข่าวเดินสายดูดนักการเมืองสนับสนุน ประยุทธ์ จันโอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ของกลุ่มสามมิตร กลุ่มนักการเมืองเก๋าประสบการณ์ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่สร้างรัฐบาลไทยรักไทยกับทักษิณ ข่าวการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ไร้ชื่อ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ได้ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถูกปลดจากตำแหน่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มาพร้อมกับการตั้งคำถามถือตำแหน่งแห่งที่ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าที่สุดแล้วสองคนนี้ใครคือหัวหน้าพรรคตัวจริงกันแน่ แต่ข่าวที่ดูจะมีผลต่ออนาคตอันใกล้ของการเมืองไทยมากที่สุดคือ การร่วมกันของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 ราย เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในประเด็นเรื่องการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการแก้ไขเกิดขึ้นจริงก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งที่เลือนมาแล้วหลายครั้ง จะต้องเลือนออกไปอีก

ชนวนเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากมีการลงมติเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กกต. ชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงระหว่างรอการแต่งตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งปฎิบัติหน้าที่ของ กกต. ชุดใหม่ กกต. ชุดปัจจุบันซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจนแล้วเสร็จครบทั้ง 77 จังหวัด ทำให้เกิดข้อครหาเกิดขึ้นว่า นี่คือการจนใจวางคนของตัวเองทิ้งทายก่อนที่จะลาจากตำแหน่งหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของ กกต. ชุดปัจจุบันก็ไม่ได้มีกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับใดที่ห้ามไว้ เพียงแต่การกระทำดังกล่าวถูกมองจากสมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่เสียมารยาท

การแก้ไขสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาดังกล่าวนี้ ในทางหนึ่งสามารถทำได้ เมื่อ กกต. ชุดใหม่เข้าปฎิบัติหน้าที่ ก็จะสามารถดำเนินการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดได้อีกครั้ง หากเห็นว่ารายชื่อใดที่มีปัญหาก็สามารถดำเนินการสรรหาใหม่ได้ทันที แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูกยกระดับโดยสมาชิก สนช. โดยเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมาย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 กฎหมายหลักที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง และสมาชิก สนช. บางรายก็ออกมาให้ความเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จริงก็จะทำให้การเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นไม่ทันเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ตามที่รัฐบาล คสช. เคยให้คำสัญญาไว้ในครั้งล่าสุด

เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัดแล้ว ไม่รอ กกต. ชุดใหม่ ชี้ก่อนไปต้องทำงานให้คุ้มเงินหลวง

พรเพชรเผยห้าม สนช. แก้พ.ร.ป.กกต. ปมเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้ วิษณุยันไร้ใบสั่งจาก รบ.

ไม่ใช่ใครควรจะเป็นคนคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่เป็นควรจะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ต่อเรื่องดังกล่าว รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งโดย กกต. ชุดปัจุบัน หรือ กกต. ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้าปฎิบัติหน้าที่ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าสิ่งไหนจะดีไปกว่ากัน ประเด็นสำคัญที่สุดตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใครจะเป็นคนแต่งตั้ง คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนเรื่องของแก้ไขกฎหมายที่เห็นว่ายังมีปัญหา ควรให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่มีความชอบธรรมมากกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นประเทศไทยในเวลานี้จะยังไม่สามารถกลับไปสู่ประบอบประชาธิปไตยได้เหมือนเดิม เพราะยังมีรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ความชอบธรรม แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก ผู้แทนที่มาจากประชาชนก็จะรับฟังเสียงของประชาชน

"ที่สุดแล้วหากการเลือกตั้งถูกเลือนออกไป ซึ่งอาจจะนานกว่าหนึ่งปี ความหมายของมันก็คือ การแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว และเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกเลือนออกไปด้วย อย่าลืมนะครับเราอยู่กับระบอบนี้มานานถึง 4 ปีแล้ว การที่จะต้องอยู่ต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียวมันก็ถือว่านานเกินไป ลองนึกดูว่าเราต้องอยู่กับคุณประยุทธ์ต่อไปอีกเป็นปี สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้" รังสิมันต์

เขากล่าวด้วยว่า ประเทศไทยไม่สามารถสร้างอนาคตจากกองขยะได้ เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร และทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และความเสียเปรียบต่อประเทศมหาอำนาจอย่างจีน การที่ต้องยืนยันจะต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเพราะอย่างน้อยที่สุดการค่อยๆ เดินออกจากระบอบ คสช. จะทำให้ประชาชนได้พักหายใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อประชาชนต้องการแสดงความคิดเห็นก็ถูกจับกุมดำเนินคดี

เมื่อถามว่า การที่เกิดกระแสเลือนการเลือกตั้งออกไปอีก เป็นเพราะการเรียกร้องการเลือกตั้งลดน้อยถอยลงไปหรือไม่ หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 รังสิมันต์ เห็นว่าเรื่องนี้สามารถมองได้หลายมุม มุมหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ คสช. พยายามผูกโยงเรื่องการเลือกตั้งเข้ากับพิธีบรมราชาภิเษก โดยก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องมีพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นก่อน ซึ่งเมื่อ คสช. ระบุเช่นนั้นก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของประชาชนว่าที่สุดแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกมุมหนึ่งรังสิมันต์ เห็นว่ากระแสเรียกร้องของประชาชน และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถือว่าได้เรียกร้องอย่างถึงที่สุดแล้ว ซึ่งสามารถทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจ มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเลือกตั้งมากขึ้น เพียงแต่ปัญหาคือ กระแสเรียกร้องการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมานี้ยังไม่เพียงพอ และต้องอาศัยพลังจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่นพรรคการเมือง

วิป สนช. ขอสมาชิกทบทวนเสนอแก้กฎหมาย กกต. หวั่นอนาคต ส.ส. จะเลียนแบบ เพื่อแก้กฎหมายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แนวหน้าออนไลน์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว สนช. ว่า เวลานี้กลุ่ม สนช . ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้รับการประสานจาก วิป สนช. เพื่อขอให้ทบทวนการเสนอร่างกฎหมายก่อนยื่นเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว

แหล่งข่าวจาก สนช. ระบุว่า สาเหตุที่ขอให้มีการทบทวนการเสนอกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับความสำคัญรองลงมาจากการรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายเหมือนกฎหายทั่วไป นอกจากนี้ หาก สนช. ในฐานะฝ่ายนิติบัญัติไปริเริ่มแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐรรมนูญเอง โดยที่องค์กรอิสระในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม จาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในอนาคตได้

"โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรจะอาศัยแนวทางที่ สนช.ทำไว้ ด้วยการให้ ส.ส.เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1 ใน 10 ของสภาฯ แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่น กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อยกเลิกการทำไพรมารี่โหวต หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึงจะส่งผลเสียในระยะยาว" แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุ

แหล่งข่าว สนช.กล่าวว่า ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ คือ หาก กกต.ชุดปัจจุบันตัดสินใจว่าจะไม่ลงนามรับรองผู้ที่ผ่านการสรรหาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.ชุดใหม่ที่กำลังรอการโปรดเกล้าฯ มาทำการตรวจสอบรายชื่ออีกครั้ง วิป สนช.จะแจ้งข้อมูลไปยังคณะ สนช.ที่ริเริ่มเสนอกฎหมายให้ทบทวนต่อไป

สนช. ชี้หากแก้กฎหมาย กกต. อาจเลือกตั้งไม่ทัน ก.พ. 62 ปชป. กังวลลากยาวถึงปลายปี

จี้ปลดผู้ตรวจฯ พบเคยเป็นแกนนำ กปปส.บุกศาลากลาง กกต.ปัดวางคนนั่งตำแหน่ง

เพื่อไทยยื่น กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัยการเข้าชื่อของ 36 สนช. อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กกต. ผ่าน พลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักกิจการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี 36 สมาชิก สนช. ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. เนื่องจากเห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า กฎหมายต้องมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป รวมทั้งอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (1) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ สนช. ใช้สถานะไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฎิบิตราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ อย่างไรก็ตาม หากหลังทาง สนช. ได้ถอนร่างดังกล่าวออก กกต. ก็ยังสามารถพิจารณาเพื่อเอาผิดกับ สนช. ที่ร่วมลงชื่อได้ เพราะความผิดสำเร็จแล้ว และหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาถอดถอนสมาชิก สนช. ออกจากตำแหน่ง และหากมี สนช. รายใดลงมติสนุยสนุนร่างดังกล่าวในขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ก็จะมีการยื่นร้องเพื่อเอาผิดกับ สนช. ที่ลงมติอีกครั้ง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘สมยศ’ ถก ‘ไสว ทองอ้ม’ เสื้อแดงเหยื่อกระสุน52 หลังถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ ผ่อนผันได้ถึง ก.ย.นี้

Posted: 14 Aug 2018 06:28 AM PDT

'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' ไลฟ์สดคุยกับ 'ไสว ทองอ้ม' เหยื่อกระสุนปี 52 โจทก์ผู้ฟ้องกองทัพ แต่ศาลฎีกายกฟ้อง พร้อมสั่งยึดทรัพย์จ่ายค่าธรรมเนียมศาล-ค่าอัยการ เจ้าตัวเล่าประสบการณ์โดนยิงและความรู้สึกหลังโดนยึดทรัพย์ ด้าน สมยศ เผยไปกรมบังคับคดีวันนี้ขอผ่อนผันการยึดที่นาได้ถึง ก.ย. ระหว่างนี้จะเจรจากับกองทัพขอให้ยุติการบังคับคดี

ซ้าย ไสว, ขวา สมยศ

14 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ส.ค.) สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง ได้ถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กบัญชี 'Somyot Pruksakasemsuk' สัมภาษณ์ ไสว ทองอ้ม ผู้ถูกยิงจนพิการที่แขนในการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2552 และเมื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับกองทัพ ศาลฎีกาได้ตัดสินให้ยกฟ้อง และสั่งให้ ไสว และสนอง พานทอง โจทก์ร่วมอีกคน จ่ายค่าธรรมเนียมศาลและจ่ายค่าทนายจำเลย (อัยการ) ของฝ่ายกองทัพด้วย รวมเป็นเงิน เป็นเงิน 212,114 บาท ขณะเดียวกันเงินในบัญชีธนาคารของไสวที่มีอยู่เกือบ 5,000 ถูกอาญัติ และและเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สุรินทร์ยังได้ยึดที่นาของไสวจำนวน 8 กว่าไร่ ราคาประเมิน 460,980 บาท เพื่อทำการขายทอดตลาด

ประชาไทได้ถอดความการสัมภาษณ์ ดังนี้

สมยศ : ตอนมาร่วมชุมนุมกับ นปช. และ นปก. เรารู้จักมักคุ้นกับแกนนำเสื้อแดงคนไหนบ้าง?

ไสว : ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวเลย เพียงแต่อยู่ล่างเวที แล้วก็ฟัง เพราะใจมันชอบ มันรัก

แกนนำที่เราชอบฟังมีใครบ้าง?

ชอบทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร

เราได้ข้อคิดอะไรบ้างจากการไปร่วมชุมนุม?

ได้ข้อคิดเกี่ยวกับด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เรารู้ว่าความเป็นอยู่ของเรามันเกี่ยวพันกับอะไร มันมีผลกระทบจากการเมืองด้วยไหม ใช่ มันมีผลกระทบกัน ถ้าการเมืองไม่ดีเศรษฐกิจก็ไม่ดี

ชุมนุมเริ่มวันที่ 8 เม.ย. 52 ไปร่วมชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะอะไรถึงไปร่วมชุมนุม?

เพราะเกิดจากพรรคเสียงข้างน้อยได้จัดตั้งเป็นรัฐบาลในค่ายทหาร พอผมรู้ข่าวผมก็เลยไป มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนที่มาจากเสียงข้างน้อยถึงมาเป็นนายกฯ เสียงข้างมากน่าจะมีสิทธิ เสียงข้างน้อยไม่ได้มาจากเสียงประชาชนแต่ได้รับตำแหน่งในค่ายทหาร มันไม่ยุติธรรม ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้อง

จากการชุมนุมหน้าทำเนียบต่อเนื่องมา ทำไมถึงไปที่สามเหลี่ยมดินแดงตอนตีสี่ของ 13 เม.ย.52?

ผมออกจากทำเนียบรัฐบาลเพราะมีประกาศว่าจะมีทหารมาที่สามเหลี่ยมดินแดง พี่น้องท่านใดที่จะไปดูที่นั่นก็ไปได้ เราก็เลย ตอนแรกไม่มีใคร เงียบ ผมก็ไปนั่งเล่นกันที่นั่น แล้วก็หลับ พอตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว เหมือนตอนรบกันแบบนั้นเลย ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมา มองบนฟ้า มีลูกปืนลอยมาเป็นลูกไฟ ผ่านหน้าผ่านหัวผมไป พอผมลุกขึ้นมา เห็นทหารเต็มท้องถนน ยิงปืนขึ้นข้างบนบ้าง ยิงไปข้างๆ บ้าง ผมลุกขึ้นจะก้าวออกจากที่นั่น ไม่ไกลจากทหารเท่าไหร่ ประมาณ 20-30 เมตร จังหวะก้าวได้สองก้าว ผมหันกลับไปมอง ลูกปืนมาเลยตรงนี้ (ไหล่ด้านใน) แล้วไปทะลุออกตรงนี้ (ไหล่ด้านนอก)

ไสว ชี้บาดแผลที่ตนเองได้รับจากกระสุนปืน

เราเห็นว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร?

มาจากฝั่งทหารแน่นอน เพราะผมเดินออกไป พอหันหน้ากลับมา ลูกกระสุนก็ทะลุเข้ามา มันเจ็บ มันปวด ความเจ็บปวดมันวิ่งเข้าสู่หัวใจ แล้วรู้สึกจุก หายใจไม่ออก ก็หมดสติไปตอนนั้น มารู้สึกตัวอีกทีแขนก็หัก อยู่โรงพยาบาลราชวิถี

อยู่โรงพยาบาลกี่วัน?

ร่วมๆ เดือน

รู้สึกยังไงที่ร่วมชุมนุมกับ นปช. แล้วถูกยิงบาดเจ็บจนกระทั่งพิการ?

มันเป็นความรักความชอบส่วนตัว เกิดอะไรขึ้นผมก็ยอมรับในชะตา ในอนาคตของตัวเอง ว่าการตัดสินใจของผมมันใช่แล้ว มันถูกแล้ว มันดีแล้ว ผมไม่โทษใคร ไม่ว่าใคร ผมอยากไป ผมต้องการ ผมตัดสินใจแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเกิด อะไรจะดับก็ต้องดับ มันห้ามไม่ได้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา

แล้วตัดสินใจยังไงถึงได้ไปฟ้องกองทัพเรื่องที่เขายิงเรา?

พอรักษาบาดแผลจนหายแล้ว พอดีพี่สมยศโทรไปหาผม โทรมาให้กำลังใจ ผมคิดขึ้นมาในใจว่า เราไปชุมนุม ไปเรียกร้อง ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วก็ถูกยิง ทำไมถึงถูกยิง เลยตัดสินใจ ผมอยากฟ้อง ผมตัดสินใจของผมเอง ไม่มีใครบอก ผมไปด้วยความบริสุทธิ์ใจของผมเอง ผมถูกทำแบบนี้ ผมก็คิดว่าคนเราทำไมถึงทำกันได้ขนาดนี้ มันเป็นสิทธิของผม ผมต้องฟ้อง มันจะแพ้หรือชนะผมก็ไม่รู้ ทนายคารม พลพรกลาง และทนายสุวิทย์ ทองนวล คือทนายสองท่านที่ช่วยว่าความให้ตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้ในศาลเกือบ 10 ปี แล้วผมก็ฟ้องในฐานะคนอนาถาด้วย ผมไม่มีเงิน แต่ได้ทนายทั้งสองท่านมาช่วยว่าความ

เราฟ้องร่วมกับสนอง พานทอง ที่โดนยิงที่หัวเข่า ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลชั้นต้นตัดสินว่าไง?

ศาลชั้นต้นตัดสินให้เราชนะคดี ให้ทางกองทัพไทยกับกองทัพบกร่วมกันจ่ายเงินค่าเสียหาย เป็นเงิน 1,200,000 บาท อัยการอุทธรณ์ ผลการตัดสินชั้นศาลอุทธรณ์ก็ให้ฝ่ายกองทัพชนะ ให้เหตุผลว่า ลูกปืนที่ผมถูกยิงเป็นลูกปืนพก ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกปืนนี้มาจากไหน ใครเป็นคนยิง

หมอที่บอกว่าเป็นกระสุนปืนพก เป็นหมอจากไหน?

เข้าใจว่าเป็นหมอจากโรงพยาบาลราชวิถี เพราะผมรักษาตัวที่นั่น แต่ผมไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วหมอมาจากไหน

สุดท้ายก็ไปยื่นฎีกา แล้วผลเป็นยังไง?

ผลการตัดสินก็ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ผมซึ่งเป็นโจทก็ร่วมกับสนองร่วมกันจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายทดแทนให้กับฝ่ายจำเลย เป็นเงิน 212,114 เป็นค่าทนายความ 60,000 ซึ่งเป็นเรื่องที่เราโต้แย้งไป

รู้สึกยังไงบ้างที่เราบาดเจ็บแล้วต้องชำระค่าทนายให้กับฝ่ายจำเลยซึ่งคือกองทัพบกด้วย?

ผมเคารพในการตัดสินคดีของศาล แต่ซึ่งที่ผมได้รับ คือการถูกยึดที่นา ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย มาจนถึงรุ่นแม่ แล้วก็รุ่นผม แล้วที่ดิน 8 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา มูลค่ามันก็ค่อนข้างสูง แล้วยึดเงินในบัญชีธนาคารผมเกือบ 5,000 บาท ซึ่งเงินที่ผมจะไปจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายให้ฝ่ายจำเลย ถ้าสองคนร่วมกันจ่ายก็ตกคนละ 106,000 กว่าบาท แต่เขายึดทั้งที่นา ทั้งเงินในบัญชี มันก็ค่อนข้างหนัก

คือผมจะจ่าย หรือผมไม่มีจ่ายผมก็ปล่อยให้ยึดเลย มันมาถึงขนาดนี้แล้ว แต่พอดีทางพวกพี่สมยศรวบรวมเงินมาให้ประมาณ 50,000 บาท ผมก็เลยต้องไปยื่นที่สำนักนายกฯ ขอยับยั้งการอายัดทรัพย์สินของผม แล้วผมก็จะไปไกล่เกลี่ยกับกรมบังคับคดี ว่าจะจ่ายแบบไหน จ่ายเท่าไหร่ ผมพอมีกำลังมีความสามารถจะจ่ายได้ไหม ถ้าผมไม่มีกำลัง ไม่มีแรง ยังไงส่วนตัวผมไม่มีจ่ายอยู่แล้ว ผมยินดีให้ยึดที่นา ในเมื่อมีพี่สมยศและพี่น้องที่มีใจรักความเป็นธรรม รักความถูกต้อง รักในความเท่าเทียม รักในความเสมอภาค รักเสรีภาพ รักความดี รักความจริง พี่น้องมีใจเมตตาให้ผม ช่วยเหลือผม ผมขอขอบคุณเป็นอย่างมาก สิ่งที่ท่านให้มาคือเงินช่วยเหลือผม ผมจะเอาไปชำระเสียค่าทำเนียมศาล ค่าทนายฝ่ายจำเลย

ท้ายสุดในการสัมภาษณ์ สมยศ ได้กล่าวสรุปว่า นี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ประเทศที่นับถือพุทธศาสนา เกิดปัญหาทางการเมือง ประชาชนก็ไปรวมตัวใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถูกความรุนแรงจากการปราบปรามของรัฐบาล จนกระทั่งบาดเจ็บ พิการ จำนวนมากมายที่เสียชีวิตลงไป เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะดำเนินการในคดีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปี 54 ที่อนุมัติจ่ายเงินให้ครอบครัวของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันนี้เป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่คนถูกกระทำ ถูกกดขี่ แทนที่จะได้รับความยุติธรรมก็กลับตาลปัตร ถูกกล่าวหา หลายคนติดคุก หลายคนบาดเจ็บ พิการ ที่เสียชีวิตก็ยังไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมกลับมาได้ ไม่มีการดำเนินการทั้งในชั้นของ ปปช. และศาลก็ได้ยกฟ้องคดีเหล่านี้

"แต่กรณีของไสว ทองอุ้ม เป็นกรณีที่มากไปกว่าที่เราเห็น นอกจากความยากจนในฐานะที่คุณไสวเป็นผู้ใช้แรงงานในอู่รถแห่งหนึ่ง ที่รักความยุติธรรมและออกไปเคลื่อนไหวกับ นปช. และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อถูกยิง พิการ ต่อสู้คดีเพื่อหาความเป็นธรรม นอกจากหาไม่พบแล้วยังต้องชำระหนี้จากการดำเนินการตามสิทธิเสรีภาพของตัวเอง" สมยศ กล่าว

ขอผ่อนผันการยึดที่นาได้ถึง ก.ย. จ่อเจรจากับกองทัพขอให้ยุติการบังคับคดี

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืบหน้ากรณีที่ไสว ทนาย และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ได้เดินทางไปที่กรมบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์ในวันนี้ โดย สมยศ กล่าวว่า กรมบังคับคดีก็ได้ทำตามคำสั่งของศาลเรื่องการบังคับคดีเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ของฝ่ายกองทัพบก

ทั้งนี้พวกตนได้แจ้งกรมบังคับคดีว่ากำลังดำเนินการร้องทุกข์กับสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องค่าเสียหายไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยการมีค่าธรรมเนียมศาลก็เป็นกระบวนการปกติซึ่งไม่น่าจะมาเรียกเก็บกับโจทก์ ซึ่งใช้สิทธิในการฟ้อง ซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี และค่าทนายความนั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากอัยการเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งอัยการก็คือทนายความแผ่นดิน ราชการไม่ได้เสียเงินก้อนนี้เลย ความเสียหายมันไม่มี  

"เราขอผ่อนผันไปอย่าเพิ่งเอาที่นาไปขายทอดตลาด และตอนนี้ที่นาก็กำลังปลูกข้าวอยู่ด้วย จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน ตอนนี้เราก็สามารถผ่อนผันได้ไปถึงเดือนกันยายน เพื่อให้เรามีเวลาไปเจรจากับกองทัพบก โดยอาจจะขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยเป็นตัวกลาง ถ้ากองทัพยุติการบังคับคดี กองทัพบกก็ทำเรื่องไปที่ศาล ศาลก็มีคำสั่งมาที่กรมบังคับคดี เรื่องนี้ก็จะยุติ แต่ถ้ากองทัพบกยืนยันว่าจะเอาเงินก้อนนี้ให้ได้ กระบวนการบังคับคดีก็ยังจะเกิดขึ้น" สมยศ กล่าว

 

สามารถบริจาคเงินให้แก่ไสว ทองอ้ม และสนอง พานทองได้ ในนามของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 105-233265-3 ส่งสลิปการโอนเงินมาที่ editor@prakaifai.com สอบถามเพิ่มเติมที่ 065-5575005

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สปสช.จัดรับฟังความเห็นบัตรทอง ปี 61 แก้ปัญหากลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

Posted: 14 Aug 2018 03:32 AM PDT

เริ่ม 'เวทีรับฟังความเห็นบัตรทองระดับประเทศ ปี 61' ร่วมแก้ปัญหา 'ประชากรกลุ่มเปราะบาง' เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม พร้อมรับฟังความเห็น 7 ด้าน สู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบ พร้อมเผยผลจากการรับฟังความเห็น มีผลดีทางตรงและทางอ้อม สร้างการมีส่วนร่วม หนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสู่ความสำเร็จ

14 ส.ค.2561 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดเวทีรับความความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 "เสียงเพื่อกลุ่มเปราะบาง: ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 500 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุกรรมการฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปสช. เพื่อรับฟังความเห็นและจัดทำข้อเชิงนโยบายสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.จรัล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา นอกจากทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยในมาตรา 18 (13) ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมเพื่อเปิดรับความเห็นฯ เป็นประจำทุกปีและดำเนินต่อเนื่องมา16 ปีแล้ว ทั้งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ในยุทธศาตร์ที่ 4 คือการสร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์สื่อสารสังคมและการรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ (พ.ศ. 2560-2564)

นพ.จรัล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นปีนี้ นอกจากประเด็น 7 ด้านตามข้อบังคับแล้ว ได้เพิ่มประเด็น "การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบางตามบริบทของพื้นที่" ที่เป็นประเด็นเฉพาะตามที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในสังคม อาทิ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ ผู้พิการ และประชากรพื้นที่ชายขอบ เป็นต้น ให้เกิดการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ดูแลคนเหล่านี้ให้เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็น "การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เพื่อกระตุ้นการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น และ "การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ"ทั้งที่ดำเนินผ่านกลไกกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC: Long Term care) และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

สำหรับความเห็นต่างๆ ที่ได้รับ ทั้งจากเวทีรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่ 13 เขต เวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศในวันนี้ และความเห็นที่นำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดทั้งปี ทั้งจากระบบออนไลน์ และการประชุมต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ จะนำมาสังเคราะห์และสรุปเพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.ในการพิจารณาดำเนินการต่อไป

"การรับฟังความเห็นจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้ส่งผล 2 ประการ คือ 1.ผลทางตรง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐาน ตามมาตรา 44 และ 45 และเป็นข้อมูลสู่การบริหารกองทุนฯ ตามมาตรา 46 และ 2.ผลทางอ้อม คือ 1.สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบ 2.ติดตามเร่งรัดแผนงานโครงการที่ล่าช้าและมีปัญหา นำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง3.ประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เร่งรัดและติดตามยุทธศาสตร์และแผ่นหลักต่างๆ อาทิ กลุ่มเปราะบาง การสื่อสารออนไลน์ เป็นต้น และ 4.เชื่อมเครือข่าย ระหว่างทุกภาคส่วน ทุกเครือข่าย ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และประชาชน" ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปี ของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการรับฟังความเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เพียงแต่เกิดการพัฒนารุดหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศในการทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ยังตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ รวมถึงในส่วนผู้ให้บริการที่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้มีสิทธิในระบบ โดยได้นำความเห็นและข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุง เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขในจุดบกพร่อง เช่น ปัญหาการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ที่เป็นประเด็นรับฟังความเห็นเพิ่มเติมในปีนี้ ส่งผลให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน

ทั้งนี้ การรับฟังความเห็น 7 ด้าน ตามข้อบังคับ คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เผย 'คนไทยไร้สิทธิ' 24 จังหวัดพบกว่า 500 ราย จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาคืนสิทธิความเป็นคนไทย

Posted: 14 Aug 2018 12:43 AM PDT

รุกสำรวจ 'คนไทยไร้สิทธิทั่วประเทศ' จัดทำฐานข้อมูล จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา คืนสิทธิความเป็นคนไทย เบื้องต้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว 24 จังหวัด พบคนไทยไร้สิทธิร่วม 500 คน เตรียมสำรวจต่อ คาดทั้งประเทศมีจำนวนหลักแสน เผยเหตุทำคนไทยไร้สิทธิ์ ทั้งพ่อแม่ไม่แจ้งเกิด ถูกทอดทิ้ง ถูกจำหน่ายรายชื่อออกจากทะเบียนบ้านและหนีทหาร พร้อมผลักดัน 'กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ' ต่อเนื่อง      

วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

14 ส.ค.2561 วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวถึงที่มาของการสำรวจคนไทยไร้สิทธิว่า การสำรวจนี้เริ่มต้นจากที่ มพศ.และเครือข่ายได้ทำเรื่องคนไทยไร้สิทธิและพบว่ายังมีกลุ่มคนไทยที่ตกสำรวจและเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ อยู่ ทั้งที่เป็นคนไทยด้วยกัน และจากที่ได้ร่วมเป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยเหล่านี้ มองว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีการจัดทำข้อมูลเพื่อสะท้อนปัญหาและผลักดันให้เกิดการแก้ไข ดังนั้นจึงได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สิทธิ ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์ องค์กรแพลนประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดทำชุดเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ที่ร่วมสนับสนุน   

ทั้งนี้ เบื้องต้นเป็นการเก็บข้อมูลใน กทม.ที่เป็นพื้นที่เราทำงานอยู่ โดยได้เริ่มต้นสำรวจช่วงเดือนมิถุนายน 2560 พบคนไทยไร้สิทธิจำนวน 30 คน ทั้งที่เป็นกลุ่มคนไร้บ้านและคนที่ไม่มีบัตรประชาชนที่อาศัยในชุมชนต่างๆ ทั้งบางคนไม่เคยมีบัตรประชาชนมาเลย โดยได้นำคนเหล่านี้ไปทำบัตรประชาชนยังสำนักงานเขต และเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิและสถานะบุคคล ทั้งการหาหลักฐานอ้างอิงและการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งจากความร่วมมือโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และแกนนำชุมชนในพื้นที่ ทำให้คนเหล่านี้ได้รับบัตรประชาชนและได้รับสิทธิคนไทยกลับคืน   

วรรณา กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจนี้เราสามารถแยกคนไทยไร้สิทธิได้ 4 ประเภท คือ 1. กลุ่มคนที่ไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อน พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด 2. กลุ่มที่ติด ทร.97 ถูกจำหน่ายรายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ทำให้ชื่อไปอยู่ที่ทะเบียนกลาง 3. กลุ่มหนีทหาร กลัวถูกดำเนินคดีทำให้ไม่กล้าต่ออายุบัตรประชาชน และ 4. กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตามวัดและสถานสงเคราะห์ เหลือตัวคนเดียวไม่สามารถพิสูจน์สถานะบุคคลได้ โดยคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนไทยด้วยกันเพียงแต่ด้วยเหตุต่างๆ ทำให้ต้องมีสถานะเป็นคนไทยไร้สิทธิ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายผลการสำรวจ จากที่ได้ทำงานร่วมกับ สปสช. จึงมองว่ากลไกเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคประชาชน 50(5) น่าจะเป็นช่องทางในการสำรวจข้อมูลนี้ได้ ซึ่งคาดว่าทั้งประเทศน่าจะมีคนไทยไร้สิทธิอยู่ที่จำนวนหลักแสนคน โดยขณะนี้ได้เริ่มเก็บข้อมูลแล้วใน 24 จังหวัด เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นพบคนไทยไร้สิทธิแล้วประมาณ 500 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลเบื้องต้น อาจมีจำนวนเพิ่มเป็น 700 คน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคการรับรองสิทธิความเป็นคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยันสถานะ โดยในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-70 ปี หลักฐานมักจะไม่หลงเหลือแล้ว ขณะที่กลุ่มเด็กในกรณีที่ถูกทิ้งที่สถานสงเคราะห์ คาดว่ามีจำนวนหลักพันคน ต่างก็ไม่มีหลักฐานะยืนยันตัวตนเช่นกัน ตรงนี้จะทำอย่างไร

"การสำรวจข้อมูลคนไทยไร้สิทธิครั้งนี้ เป็นการสำรวจที่จัดทำเป็นระบบครั้งแรก เพื่อเป็นฐานข้อมูลไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ปัจจุบันยังมีกลุ่มคนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนราษฎร์อยู่ทั้งที่เป็นคนไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สิทธิคนไทยกลับคืน โดยระหว่างนี้เพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาที่เป็นสิ่งจำเป็น ที่ผ่านมาได้เสนอจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิขึ้นและอยู่ระหว่างผลักดัน ซึ่งหากมองว่ามีกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิอยู่แล้ว ขอให้เปิดช่องเพื่อให้คนไทยไร้สิทธิอยู่ภายใต้กองทุนนี้ในช่วงที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล" เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มพศ. กล่าวและว่า ทั้งนี้อยากให้กองทุนนี้ครอบคลุมถึงสิทธิการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์สิทธิด้วย เพราะแม้ปัจจุบันจะมีการลงนามระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการให้สิทธิการตรวจพิสูจน์สิทธิแล้ว แต่หากงบประมาณนี้หมดลงก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพิสูจน์สถานะ เนื่องจากการตรวจดีเอ็นเอมีค่าใช้จ่ายสูงมาก คนเหล่านี้ไม่มีเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้

วรรณา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการพิสูจน์สถานะบุคคล ควรมีการกำหนดหลักฐานและขั้นตอนในการดำเนินการ เพื่อให้จัดเตรียมหลักฐานและเอกสารได้ถูกต้องและยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่รัฐว่า การทำบัตรประชาชนให้คนไทยไร้สิทธิที่มีหลักฐานยืนยัน ได้ทำตามกระบวนการและขั้นตอนถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ บางครั้งแม้มีหลักฐาน เอกสารและบุคคลอ้างอิงครบถ้วน แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นการสวมสิทธิในภายหลัง

"การพิสูจน์สถานะบุคคล ไม่ได้มาซึ่งแค่บัตรประชาชน แต่หมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในฐานะคนไทยที่ควรได้รับ อาทิ สิทธิการศึกษา สิทธิสวัสดิการต่างๆ และสิทธิสุขภาพ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลดูแลคนเหล่านี้ โดยออกเป็นนโยบายและมี มติ ครม. เปิดให้คนไทยไร้สิทธิที่ตกสำรวจ สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิความเป็นคนไทยได้ โดยให้เป็นการเก็บตกรอบสุดท้าย เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุ ส่วนเด็กรุ่นหลังการตกสำรวจจะน้อยมาก ยกเว้นกรณีเด็กถูกทอดทิ้ง" วรรณา กล่าว

วรรณา กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้มีการทบทวน มาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยให้ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมถึงกลุ่มคนไทยที่ไม่มีเลข 13 หลัก ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยไร้สิทธิด้วย ไม่ใช่จำกัดเฉพาะคนไทยที่มีเลข 13 หลัก หรือมีบัตรประชาชนเท่านั้น เพราะเขาเหล่านี้ต่างเป็นคนไทยเช่นกัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมพุทธศาสนาไม่สามารถให้กำเนิดเสรีภาพ

Posted: 13 Aug 2018 11:39 PM PDT

จำได้ว่าในวงเสวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งคำถามว่า "ทำไมพุทธศาสนาไม่สามารถให้กำเนิดไอเดียเสรีภาพ" ผมตอบคำถามนี้ไม่ค่อยดีนัก และคำถามนี้ยังคงทำให้ผมพยายามคิดหาคำตอบอยู่จนทุกวันนี้

หากเทียบกับศาสนาคริสต์ เราจะเห็นความคิดเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพได้ชัดเจนกว่า เช่นความเชื่อที่ว่า "พระเจ้าสร้างมนุษย์มาในฐานะเป็นฉายาหรือจินตภาพของพระองค์" หรือ "พระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเจตจำนงเสรี" และ "จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง"  เป็นต้น แปลว่าในเชิงอภิปรัชญามนุษย์คือฉายาหรือจินตภาพของพระเจ้าและมีเจตจำนงเสรี (free will) และในเชิงศีลธรรมมนุษย์ก็ควรปฏิบัติต่อกันด้วยความรักตนเองและคนอื่นเสมอกัน

ส่วนพุทธศาสนา พระสงฆ์และปัญญาชนพุทธมักจะอ้างอัคคัญญสูตรว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบวรรณะ 4 คือ ปฏิเสธการนำชาติกำเนิดมาเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคน และเสนอให้ยึดธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคน

ประเด็นคือ ระบบวรรณะถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า (พระพรหม) ขณะที่ธรรมที่พุทธศาสนาเสนอไม่เกี่ยวกับพระเจ้ากำหนดมา แต่เป็นสิ่งที่พระศาสดาสอนและเป็นเรื่องที่แต่ละคนเลือกที่จะปฏิบัติเอง หากเลือกปฏิบัติหรือดำเนินชีวิติย่างมีธรรม ก็ย่อมมีชีวิตที่ประเสริฐ 

จะเห็นว่า ธรรมที่พุทธศาสนาเสนอนั้นเสนอเพื่อเปรียบเทียบกับธรรมในกรอบคิดระบบวรรณะที่ถือว่า "ธรรม" คือ "หน้าที่" ของคนในวรรณะ 4 ที่ถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า เช่น ธรรมหรือหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์คือการรบและการปกครอง ธรรมของพราหมณ์คือการการสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรม ธรรมของแพศย์คือทำเกษตรกรรมและค้าขาย และธรรมของศูทรคือเป็นทาสรับใช้คนสามวรรณะแรก เมื่อธรรมในความหมายดังกล่าวเป็น "หน้าที่" ที่พระเจ้ากำหนดมา จึงเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ ใครเกิดมาในวรรณะไหนก็ต้องทำหน้าที่ตามวรรณะของตนเองไปจนตาย 

แต่ธรรมที่พุทธศาสนาเสนอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขัดเกลากาย วาจา ใจตนเองด้วยการฝึกฝนตนเองในเรื่องศีล จิต และปัญญา เพื่อรู้แจ้งความเป็นจริงของชีวิตและโลก และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยการไม่ทำร้ายกัน แต่ด้วยเมตตากรุณาและเกื้อกูลกัน ธรรมในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลจะเลือกปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเกิดมาในวรรณะไหนก็เลือกปฏิบัติธรรมได้เท่าเทียมกัน 

อย่างไรก็ตาม ในบทสรุปของอัคคัญญสูตร พุทธะกล่าวว่า "ในหมู่คนที่ถือโคตร (ชาติกำเนิด) กษัตริย์ประเสริฐที่สุด" และว่า "ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชา (ปัญญา) และจรณะ (ความประพฤติ) คือผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์" ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คนที่มีปัญญาและความประพฤติดีงามหรือผู้หลุดพ้นแล้ว คือคนที่ประเสริฐสูงส่งกว่าคนทั่วไปเช่นนั้นหรือ

เพราะถ้าถือว่า "ความประเสริฐ" บ่งถึง "ความไม่เท่ากัน" ของคน เช่นคนวรรณะกษัตริย์สูงกว่าคนในวรรณะอื่นๆ เพราะเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด ความประเสริฐในความหมายนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันความไม่เท่าเทียม แล้วความประเสริฐที่สุดของผู้มีธรรม (วิชชาและจรณะ) ก็ย่อมบ่งถึงความไม่เท่าเทียมด้วยใช่หรือไม่ ต่อให้ถือว่าทุกคนมีเสรีภาพเลือกที่จะปฏิบัติเพื่อก้าวสู่ความสมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชาและจรณะเท่าเทียมกัน นั่นก็เป็นเพียงเสรีภาพที่จะก้าวไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐเหนือคนอื่นๆ ใช่หรือไม่ 

จากความคิดที่ว่าธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคน ทำให้เกิดความเชื่อทางศีลธรรมที่ดูเหมือนยืนยันความไม่เท่าเทียม (?) เช่น เชื่อว่าการให้ทานแก่พระอริยะมีอานิสงส์มากกว่าให้แก่พระปุถุชน การให้ทานแก่คนดีมีศีลธรรมได้บุญมากกว่าให้ทานแก่คนไม่มีศีลธรรม เป็นต้น (ขณะเดียวกันการทำผิดต่อพระอริยะก็บาปมากกว่าทำผิดต่อปุถุชน) 

ยิ่งกว่านั้นในบางพระสูตร (เช่นพาล-บัณฑิตสูตร) ยังระบุว่า คนพาลที่ทำชั่วต่างๆ ตายไปย่อมตกนรก และเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในวรรณะต่ำ ยากจนข้นแค้น ส่วนบัณฑิตที่ทำความดีต่างๆ เมื่อตายไปก็เกิดในสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในตระกูลสูง เป็นกษัตริย์รวย พราหมณ์รวย เป็นต้น กลายเป็นว่า การทำดีทำชั่วอยู่เบื้องหลังความไม่เท่าเทียมของชนชั้นทางสังคม (?) 

พูดในทางวิชาการคือ อภิปรัชญาทางศีลธรรมแบบพุทธ อย่างเช่น "กฎแห่งกรรม" คืออภิปรัชญาทางศีลธรรมที่รองรับความชอบธรรมของความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นในสังคม ซึ่งอภิปรัชญาดังกล่าวนี้ย่อมสอดคล้องกับความคิดเรื่องธรรมเป็นสิ่งวัดความประเสริฐของคน อันเป็นความคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาในอัคคัญญสูตร

ดังนั้น ถึงแม้คำสอนเรื่องธรรมเป็นสิ่งตัดสินความประเสริฐของคน จะบ่งนัยสำคัญว่ามนุษย์มีเสรีภาพเลือกประพฤติธรรม และเมื่อประพฤติธรรมได้สมบูรณ์ ทุกคนก็สามารถจะมีความสมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชาและจรณะหรือหลุดพ้นได้เท่าเทียมกัน เสรีภาพและความเท่าเทียมในความหมายนี้ ก็ไม่ใช่การปฏิเสธระบบสังคมและการเมืองที่ไม่มีเสรีภาพและไม่เท่าเทียมแต่อย่างใด

นี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นพลังในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคในโลกสมัยใหม่ 

ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนพระสงฆ์และปัญญาชนพุทธในบ้านเรา ยินดีที่จะยกย่องว่าพุทธะเป็นพระศาสดาที่มีชาติกำเนิดสูงส่ง เพราะมาจากวรรณะกษัตริย์ ยกย่องว่าสถานะของพระศาสดาเทียบเท่ากับพระเจ้าจักรพรรดิ และพวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะยืนยันว่า ยุคพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์อย่างดียิ่งจากกษัตริย์ นอกจากจะทำให้วัดกับวังรุ่งเรืองคู่ขนานกันแล้ว อำนาจของกษัตริย์ยังรักษาคำสอนสอนที่ถูกต้องในพระไตรปิฎกและวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระสงฆ์อีกด้วย

แต่กรณี ดร.อัมเบดการ์นั้นต่างออกไป เขานำชาวจัณฑาลในอินเดียนับถือพุทธ โดยยืนยันว่าพุทธศาสนามีความเป็นประชาธิปไตย เป็นศาสนาที่เน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่น่าจะเป็นเพราะเขาตีความพุทธจากจุดยืนของผู้ถูกกดขี่ ขณะที่ทะไลลามะองค์ปัจจุบันที่ตีความพุทธสนับสนุนสันติภาพและสิทธิมนุษยชนชัดเจนก็เพราะเป็นพุทธจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่เช่นกัน

จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากศาสนาคริสต์ของคนขาวที่เป็นนายทาสย่อมเป็นศาสนาของผู้กดขี่ ขณะที่บรรดาทาสชาวแอฟริกันซึ่งรับคำสอนศาสนาคริสต์จากนายทาส กลับเข้าใจความหมายของศาสนาคริสต์ในฐานะเป็นศาสนาแห่งการปลดปล่อย ดังแสดงออกชัดเจนในการต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำโดยการนำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ส่วนพุทธไทยนั้น แม้จะยื่นมือช่วยเหลือลูกหลานของผู้ถูกกดขี่ให้มีโอกาสทางการศึกษา แต่ดูเหมือนระบบพุทธศาสนาของรัฐเป็นเพียงหนทางไต่เต้าทางชนชั้น ถ้าลูกคนชั้นล่างบวชไม่สึกก็มีโอกาสไต่เต้าสู่ฐานันดรศักดิ์ทางพระจนถึงจุดสูงสุดคือเป็นสมเด็จพระสังฆราช หากสึกหาลาเพศก็อาจมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เปลี่ยนสถานะจากชนชั้นล่างเป็นชนชั้นกลาง แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่พุทธศาสนาจะเป็นแรงบันดาลใจสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม เพราะตัวระบบโครงสร้างพุทธศาสนาของรัฐทำหน้าที่ค้ำยันอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ตรงกันข้ามกับเสรีภาพและความเท่าเทียม

ดังนั้น เมื่อความคิดและระบบโครงสร้างของพุทธศาสนาไทยทำหน้าที่ค้ำยันอำนาจที่ตรงกันข้ามกับเสรีภาพและความเท่าเทียม จึงเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากที่พุทธศาสนาจะถูกตีความให้กำเนิดความคิดเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กรอบข้อเสนอเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง รธน. กฎหมาย สถาบันการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตย

Posted: 13 Aug 2018 11:19 PM PDT

1. การจัดการ "มรดก" คณะรัฐประหาร

หลักการ
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างร้าวลึกตลอดทศวรรษ จนดูเหมือนว่าไม่อาจหาฉันทามติร่วมกันได้ ทำให้กองทัพฉวยโอกาสก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสองครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในช่วงของการครองอำนาจ คณะรัฐประหารได้สร้าง "มรดก" ในรูปของ "รัฐธรรมนูญ" และ "กฎหมาย" ไว้จำนวนมาก เพื่อเป็นกลไกรับประกันว่าระบอบการเมืองในฝันของคณะรัฐประหารจะสามารถดำรงอยู่ได้ "มรดก" เหล่านี้ มีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขาดความชอบธรรมและการมีส่วนร่วมจากประชาชน หากไม่จัดการ "มรดก" ของคณะรัฐประหาร จะทำให้ระบอบรัฐประหารดำรงอยู่กับเราต่อไปจนยากที่จะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้

ข้อเสนอที่ 1.1.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เหตุผล
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ตามมาตรฐานตามแบบประชาธิปไตย คสช.จำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รณรงค์อย่างเต็มที่ มีบุคคลจำนวนมากที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่กลับถูกจับกุมและดำเนินคดี ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีความชอบธรรม

รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศที่สถาปนาโดยประชาชน เพื่อกำหนดระบอบการเมืองการปกครอง ก่อตั้งสถาบันการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง และประกันสิทธิเสรีภาพ ด้วยความสำคัญและเป็นกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานเช่นนี้เอง ทำให้รัฐธรรมนูญต้องเกิดจากฉันทามติของคนในสังคม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขาดแคลนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มานานแล้ว อาจพอกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่เป็นฉันทามติ (consensus) ของสังคมไทย ที่เกิดจากความเห็นพ้องต้องกันและพอจะยอมรับกันได้ทุกฝักฝ่าย คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ 2549 2550 2557 และ 2560 ต่างก็เป็นรัฐธรรมนูญแบบ "ตอบโต้" กับระบบและสภาพการณ์ที่มีมาก่อนหน้า มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ร่างเพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของรัฐประหาร และไม่ได้ถูกร่างภายใต้บรรยากาศของการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง รัฐธรรมนูญลักษณะเช่นนี้ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีและทุกฝ่ายยอมรับกันได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการสถาปานารัฐธรรมนูญได้ตัดสินใจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

วิธีการ

(1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีเนื้อหาตามกรอบของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

(2.) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตาม (1.) ให้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และมาตรา 256 ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับหมวด 15 นี้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

(3.) เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้ว จะต้องมีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งแรก การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ คร้้งที่สอง การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น

ข้อเสนอที่ 1.2. ยกเลิกมาตรา 279

เหตุผล

มาตรา 279 ได้รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2560) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย ในขณะที่ศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้องกรณีเหล่านี้ โดยอ้างมาตรา 279 ว่ารับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้หมดแล้ว ดังนั้น แม้การกระทำเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ยุติธรรม การกระทำเหล่านี้ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสมอ กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด

เพื่อทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 279

วิธีการ

เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพื่อยกเลิกมาตรา 279

ข้อเสนอที่ 1.3. ทบทวน แก้ไข ยกเลิก ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.

เหตุผล

นับตั้งแต่ คสช. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ออกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนมาก โดย "เสก" ให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้มีสถานะเป็น "กฎหมาย" และกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2557 และ 2560 เพื่อรับรองให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายตลอดกาล

ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม และสร้างให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายสองระบบในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ระบบปกติที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบบพิเศษของ คสช. ที่ได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

วิธีการ

(1.) แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่จำแนกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด

(2.) กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมาย และมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์ไปโดยสุจริต ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง และคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี

(3.) กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้ว

ข้อเสนอที่ 1.4. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป

วิธีการ

เสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560

ข้อเสนอที่ 1.5. การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน

วิธีการ

จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ดังนี้

(1.) ประกาศให้รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 48 (บทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

(2.) บัญญัติให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

(3.) บัญญัติให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

2. สิทธิและเสรีภาพของบุคคล

ข้อเสนอที่ 2.1. แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เหตุผล

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นเสรีภาพพื้นฐานอันเป็นหัวใจของสังคมประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและข้อตกลงระหว่างประเทศได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ แต่อนุญาตให้มีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพนี้ได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือรักษาความสงบเรียบร้อย

ในทางปฏิบัติ แม้รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพแสดงความคิดเห็นไว้ แต่กฎหมายกลับกำหนดข้อจำกัดเสรีภาพนี้ไว้จนเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็น เช่น การกำหนดความผิดอาญา การกำหนดโทษอาญาในอัตราที่สูงจนเกินไป ตลอดจนแนวทางการใช้และการตีความกฎหมายเหล่านี้ไม่แน่นอนชัดเจน จนทำให้บุคคลไม่แน่ใจว่าการใช้เสรีภาพของตนนั้นจะมีความผิดหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกรณีองค์กรของรัฐและเอกชนเลือกใช้วิธีการดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นไม่ให้บุคคลอื่นแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในทางสาธารณะ

กรณีทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลให้บุคคลเลือกที่จะไม่ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

เพื่อให้บุคคลสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และเพื่อสร้าง "สนาม" แห่งการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ตามแบบสังคมประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

วิธีการ

(1.) แก้ไขกฎหมายกำหนดความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาททั้งระบบ ในประเด็นดังต่อไปนี้

(1.1.) ยกเลิกโทษจำคุก ให้เหลือเพียงโทษปรับ หรือยกเลิกความผิดอาญา ให้เหลือเพียงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายทางแพ่ง

(1.2.) กำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อขัดขวางการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

(2.) กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

วัตถุประสงค์พื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ การแก้ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ ได้แก่ การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และการกระทำความผิดต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้ไม่อาจใช้ประมวลกฎหมายอาญาจัดการได้ เพราะ องค์ประกอบความผิดอาญาเท่าที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา (เช่น การลักทรัพย์ การทำให้เสียทรัพย์ การบุกรุก เป็นต้น) ไม่ครอบคลุมถึงอาชญากรรมดังกล่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อกำหนดฐานความผิดใหม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นมา

จะเห็นได้ว่า จุดกำเนิดของกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มิได้มุ่งหมายจัดการเนื้อหาที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางคอมพิวเตอร์ หากแต่มุ่งจัดการการกระทำต่อตัวระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น การจารกรรมหรือดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ การก่อวินาศกรรมระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง "Cybercrime" หรือ "อาชญากรรมคอมพิวเตอร์" คือ อาชญากรรมที่เกิดจากหรือกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยแท้ ไม่ใช่การกระทำความผิดอาญาอื่นๆแต่นำมาเผยแพร่ผ่านคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 14 กลับนำความผิดอาญาอื่นๆที่ปรากฏอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญามากำหนดไว้ เพื่อจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาผ่านคอมพิวเตอร์ จนทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ไม่ใช่การจัดการ Cybercrime แต่กลายเป็น การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ แทน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในประเด็นดังต่อไปนี้

(2.1.) ยกเลิกความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา 14 ทั้งหมด เพราะ ความผิดอาญาต่างๆที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาครอบคลุมเพียงพอและสามารถปรับใช้ได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ความผิดฐานเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารเพื่อการพาณิชย์ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นอันก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การนำความผิดอาญาเหล่านี้มาบัญญัติซ้ำอีกครั้งในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทำให้ความผิดอาญาทั้งหมดกลายเป็น "ความผิดอาญาแผ่นดิน" เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐนำกฎหมายนี้มาใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือ "ปิดปาก" ไม่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางอินเตอร์เน็ต

(2.2.) แก้ไขมาตรา 15 ยกเลิกความผิดของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เทียบเท่ากับผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต

(2.3.) แก้ไขมาตรา 20 กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งระงับการเผยแพร่ได้ในกรณีที่จำกัดยกเว้นอย่างยิ่ง (ต้องเขียนกรณีเหล่านี้ให้ชัดเจนและจำกัดอย่างยิ่ง) และให้บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครอง

(2.4.) ลดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด

(3.) แก้ไขกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ

ข้อเสนอที่ 2.2. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

เหตุผล

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่มากจนเกินไป ปราศจากระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจและระบบความรับผิด นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายบางฉบับที่เป็นช่องทางให้กองทัพฉวยโอกาสยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนได้อีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจัดการปัญหาความมั่นคงและเรื่องฉุกเฉินทั้งหมด โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริหารราชการในสถานการณ์จำเป็นและวิกฤติ พร้อมๆกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

วิธีการ

(1.) ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และตราพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกขึ้นใหม่ทั้งฉบับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ได้แก่

(1.1.) เหตุแห่งการประกาศกฎอัยการศึก คือ สถานการณ์ในสภาวะสงครามเท่านั้น เหตุการณ์จลาจล การชุมนุมสาธารณะ การนัดหยุดงาน การประท้วงรัฐบาล ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่เป็นเหตุให้ต้องประกาศกฎอัยการศึก แต่ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(1.2.) อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกทั้งในกรณีบางพื้นที่และทั้งในกรณีทั่วราชอาณาจักรเป็นของรัฐบาลพลเรือน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการประกาศกฎอัยการศึก

(1.3.) ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก รัฐบาลพลเรือนยังคงมีอำนาจเหนือกองทัพ นายกรัฐมนตรี คือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในช่วงประกาศกฎอัยการศึก

(1.4.) การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง บุคคลผู้เสียหายจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายศาลปกครอง และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

(1.5.) ผู้บัญชาการกองทัพที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกตามลำพัง โดยพลการ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลพลเรือน มีความผิดอาญาและวินัย

(1.6.) นายทหารที่ทราบว่าผู้บังคับบัญชากำลังตระเตรียมกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลหรือประกาศกฎอัยการศึกโดยพลการ แล้วไม่แจ้งให้รัฐบาลทราบ ให้ถือว่านายทหารผู้นั้นมีความผิดฐานผู้สนับสนุน

(2.) แก้ไขพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้แก่

(2.1.) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล โดยมีระยะเวลา 15 วัน ในกรณีที่ต้องการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และขยายระยะเวลาได้ครั้งละ 15 วัน

(2.2.) ในกรณีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพ้นระยะเวลาเกิน 60 วันไปแล้ว ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาว่าเหตุผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีอยู่หรือไม่

(2.3.) กำหนดให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง

(3.) ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

ข้อเสนอที่ 2.3.ผูกมัดและปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

เหตุผล

ในอดีต ประเทศไทยได้การยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นประเทศที่เคารพและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช.และรัฐบาลทหารใช้อำนาจและดำเนินมาตรการต่างๆที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจำนวนมาก องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้จัดทำรายงานและมีข้อห่วงใย สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตกต่ำลง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีสากล และสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนในมิติระหว่างประเทศ

วิธีการ 

(1.) ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ 2002

(2.) ตรากฎหมายและแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหมด

(3.) ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

(4.) นำประเทศไทยให้กลับมามีบทบาทในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับอาเซียนและระดับนานาชาติ

3. การปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับประชาธิปไตย

ข้อเสนอที่ 3.1. หลักรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ

วิธีการ

(1.) บัญญัติรับรองหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2.) แก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม การแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็นอำนาจของรัฐบาล มิใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ

(3.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ รับเรื่องร้องเรียนจากนายทหารชั้นผู้น้อย

ข้อเสนอที่ 3.2. ปรับปรุงระบบการเกณฑ์ทหาร การศึกษาวิชาทหาร

วิธีการ

(1.) ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

(2.) สร้างสวัสดิการให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย

(3.) ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาทหารให้มีความสัมพันธ์กับพลเรือนมากขึ้น

ข้อเสนอที่ 3.3. สร้างระบบการคุ้มครองสิทธินายทหารชั้นผู้น้อย

วิธีการ

(1.) ยกเลิกศาลทหารหรืออย่างน้อยปรับปรุงระบบศาลทหารให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามรายงานของสหประชาชาติ (หลักการ Decaux)
(2.) รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง
(3.) สร้างระบบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของทหารชั้นผู้น้อย
 

4. การปฏิรูประบบศาลให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

วิธีการ

(1.) การได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลสูง - ให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอรายชื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ

(2.) กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง

(3.) กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้นต่อสาธารณะ

(4.) คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน

(5.) ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษา ตุลาการ และว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล

(6.) แก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและผู้แทนของประชาชน

(7.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการศาลแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของศาล การปฏิบัติหน้าที่ของศาล และทำรายงานเสนอสภาผู้แทนราษฎร

(8.) กำหนดให้การศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย

5. ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

วิธีการ

(1.) ตั้งคณะกรรมการ transitional justice ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ริเริ่มดำเนินคดี ตลอดจนจัดทำรายงานและข้อเสนอเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา

(2.) ยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในคดีทางการเมือง และตรากฎหมายนิรโทษกรรมในคดีการเมืองให้แก่ "ผู้ต้องหาและนักโทษ" ของระบอบ คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เดชรัต สุขกำเนิด: การส่งผ่านความเหลื่อมล้ำ

Posted: 13 Aug 2018 10:04 PM PDT

ผมได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ในการเข้าใจถึงความเหลื่มล้ำของผู้คนในสังคมต่างๆ ต่อจากมุมมอง ศ.โจเซฟสติกลิตซ์ที่โพสต์ไปเมื่อวานนี้ นั่นคือ แนวคิดเรื่อง Inter-generational Elasticity of Income หรือความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่น

ศ.Francois Bourguignon จาก Paris School of Economics เล่าให้เราให้ฟังว่า ความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่นก็คือ ตัวชี้วัดที่บอกว่ารายได้ของคนร่นลูกนั้นถูกกำหนดมาจากรายได้ของคนรุ่นพ่อแม่มากน้อยเพียงใด คำว่าความยืดหยุ่นก็หมายความว่า ถ้าพ่อ (และแม่) คนหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% (เมื่อเทียบกับพ่อคนอื่นๆ) ลูกของเขาจะมีรายได้มากกว่าลูกของคนอื่นๆ กี่เปอร์เซนต์ ในอีก 20-30 ปีต่อมา

ในสังคมอุดมคติ ความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่นควรมีค่าเท่ากับ 0 หมายความว่า รายได้ของคนรุ่นพ่อจะไม่มีผลใดๆ ถึงรายได้คนรุ่นลูก แปลว่า รายได้ของคนรุ่นลูกจะถูกกำหนดจากความสามารถของคนรุ่นลูกแต่ละคน ไม่ใช่กำหนดจากความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อ

ในทางตรงกันข้าม สังคมที่มีความได้เปรียบ/เสียเปรียบของคนรุ่นพ่อมีผลต่อรายได้ของคนรุ่นลูก สังคมนั้นจะมีค่าความยืดหยุ่นใกล้กับ 1 แปลว่า รายได้ของคนรุ่นพ่อเป็นตัวกำหนดรายได้ของคนรุ่นลูกอย่างมาก สังคมนั้นก็จะเข้าข่าย "สังคมที่เหลื่อมล่ำถาวร" เพราะความฝัน/ความสามารถของคนรุ่นลูกกลับถูกกำหนดจากฐานะทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อ มิใช่ถูกกำหนดจากความสามารถของเขาเอง

ศ. Bourguignon เล่าถึงค่าความยืดหยุ่นของรายได่ระหว่างคนสองรุ่นในประเทศต่างๆ ปรากฏว่า เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีค่าความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่นต่ำสุดเพียง 0.13 นั่นแปลว่า รายได้ของคนรุ่นพ่อมีผลต่อรายได้ของคนรุ่นลูกน้อยมาก รายได้ของคนรุ่นลูกจึงกำหนดจากความฝันและความสามารถของเขาเอง นอกจากเดนมาร์กแล้ว ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง ล้วนมีค่าความยืดหยุ่นนี้ในะดับต่ำทั้งสิ้น

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เน้นระบบตลาดมากๆ เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกัน กลับมีความยืดหยุ่นนี้ที่ค่อนข้างสูง ในกรณีของสหรัฐอเมริกาค่านี้มีค่าถึง 0.47 หมายความว่า รายได้ของพ่อที่เพิ่มขึ้น 1% จะมีผลต่อรายได้ของลูกถึง 0.47% เลยทีเดียว

ตัวเลขนี้คงกระแทกความรู้สึกสังคมอเมริกันมากทีเดียวเพราะ การที่รายได้ของคนรุ่นลูก ถูกกำหนดมาจากคนรุ่นพ่อ แปลว่า สังคมอเมริกันกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำถาวร แปลว่า ความภาคภูมิใจที่สังคมอเมริกันเป็น "ดินแดนแห่งโอกาสที่เท่าเทียม" กำลังจะเสื่อมถอยลง

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์กันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะ "พ่อจน ลูกจนต่อ" คือ คุณภาพของการศึกษาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าถึงได้ หากระดับคุณภาพของการศึกษาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ (หมายถึง การศึกษาที่ไม่แพง) ด้อยกว่าคุณภาพของการศึกษาที่ชนชั้นนำส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึง (หมายความว่า แพง) มากๆ หมายความว่า สังคมนั้นกำลังมีความเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่สังคมที่เหลื่อมล้ำถาวร

นอกเหนือจากการศึกษาแล้ว ความแตกต่างกันของรายได้ของอาชีพต่างๆ ในสังคม ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รายได้ของคนรุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพด้อยกว่า ยิ่งแตกต่างไปจากรายได้ของคนรุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดีกว่า (เพราะพ่อมีฐานะเพียงพอที่จะจ่ายได้)

น่าเสียดายที่ยังไม่มีข้อมูลนี้สำหรับประเทศไทย แต่ถัาประเมินจากสองสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น สังคมไทยของก็เข้าข่ายน่าเป็นห่วงไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนต่างๆ พื้นที่ต่างๆ และในกลุ่มครัวเรือนต่างๆ ตอนนี้ผมกำลังศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวทางการเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงปรึกษากับสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงความเป็นได้ในการรบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความยืดหยุ่นนี้ครับ

 

หมายเหตุ: สรุปจาก The 5th OECD World Forum on Staistics, Knowledge and Policy; Transforming policy, changing lives 13-15 ตุลาคม 2015 ที่เมืองกัวดาลาฮาร่า เม็กซิโก

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://wefair.org

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เอกชัย โดนสาดน้ำปลาร้าใส่ระหว่างเดินไปมอบของขวัญวันเกิดให้ประวิตร

Posted: 13 Aug 2018 09:26 PM PDT

เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ถูกตามสาดน้ำปลาร้าใส่ ขณะลงรถเมล์เดินไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบของขวัญวันเกิดครบรอบ 73 ปี ให้ประวิตร วงษ์สุวรรณ เชื่อมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพราะปกปิดหน้าตา และขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน

14 ส.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกชายนิรนาม 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ สวมหมวกกันน็อค ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ตามสาดน้ำปลาร้าใส่ บริเวณป้ายรถเมล์ใกล้กับโรงพยาบาลมิชชั่น ถนนสวรรคโลก เมื่อเวลาประมาณ 09.25 น. ระหว่างที่เอกชัยกำลังเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบของขวัญวันเกิดให้กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เอกชัยเล่าว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2561 เขาได้โพสต์สเตตัสในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ เพื่อมอบของขวัญวันเกิดย้อนหลังให้กับพลเอกประวิตร ในวาระครบ 73 ปี โดยของขวัญที่จะนำไปมอบนั้นคือ นาฬิกา ที่ตั้งใจจะมอบให้กับพลเอกประวิตรมาตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังจากเกิดการขุดคุ้ย ตรวจนาฬิกาหรูที่พลเอกประวิตรใส่ทั้งหมด 25 เรือน

"ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมาแกอายุ 73 ปีแล้ว ซึ่งถ้าดูตามประวัติศาสตร์คนที่อยู่ในระดับรองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีที่เคยมีอยู่มากที่สุดคือ ชาติชาย ชุณหะวัณ ตอนที่ถูกรัฐประหารมีอายุ 71 ปี แล้วตอนนี้คุณประวิตรแกอายุ 73 ขึ้น 74 แล้วแกเดือนที่แล้วแกก็ท้องเสีย ต่อมาก็บอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือด ผมก็เป็นหวงเห็นว่าอายุมาก สุขภาพก็ไมดี ก็เลยอยากจะมามอบของขวัญให้ แล้วบอกว่าให้ลาออกเถอะ เพราะคนที่ทำงานดีกว่าแกมีเยอะแยะ เพราะตอนนี้นอกจากอายุเยอะ ทำงานไม่ดี แล้วยังจะหวงเก้าอี้อีก ไม่รู้จะหวงทำไม อายุมากแล้วกลับไปอยู่บ้านดีกว่า" เอกชัยกล่าว ถึงเหตุผลที่ต้องการมอบของขวัฐให้กับพลเอกประวิตร

เขาเล่าต่อว่าเดินทางมาจากบ้านโดยรถเมล์ เมื่อเดินทางมาถึงป้ายรถเมล์บริเวณถนนสวรรคโลก ใกล้กับโรงพยาบาลมิชชั่น เขาได้ลงจากรถเมล์ จากนั้นก็พบชายนรินาม 2 คน ขับขี่รถจักยานยนต์ ไม่ทราบรุ่น ชายทั้งสองสวมหมวกกันน็อค และรถที่ขับขี่มานั้นไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน โดยชายที่เป็นผู้ซ้อนได้เมื่อเห็นเขาลงจากรถก็ได้วิ่งมาประชิด และสาดน้ำปลาร้าที่ใส่มาในถังพลาสติกสีเขียวใส่เขา แล้วรีบวิ่งกลับไปที่รถซึ่งจอดรออยู่ก่อนจะขับออกไป โดยทิ้งถังพลาสติกไว้ รูปพรรณสันฐานของผู้ก่อเหตุมีรูปร่างผอม อายุประมาณ 20-30 ปี เขาระบุด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีพยานที่เห็นเหตุการณ์จำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงเช้า และเป็นชั่วโมงเร่งด่วน

จากนั้นเอกชัย ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอเข้าพบพลเอกประวิตร แต่ก็ไม่สามารถเข้าพบได้ จึงได้เดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.นางเลิ้ง ข้อหาทำร้ายร่างกาย พร้อมกับเก็บถังพลาสติกสีเขียวไปเป็นหลักฐานส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะประสานเพื่อตรวจสอบภาพผู้ก่อเหตุจากกล้องวงจรปิดบริเวณนั้นต่อไป

"ผมคิดว่าเขาเตรียมการกันมาหมดแล้วว่าจะไม่ให้เราเห็นหน้า ไม่ทิ้งหลักฐาน แต่ดันทิ้งถังปลาร้า เราก็เลยเก็บถังมาเลย พวกนี้ทำอะไรไม่รอบคอบ เผื่อตำรวจเขาจะเอาไปตรวจลายนิ้วมือได้" เอกชัยกล่าว

สำหรับ เอกชัย เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของ คสช. และอดีตนักโทษการเมือง เขาเคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์มาโดยตลอดทั้งการจุดธุปที่ด้านกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อปัดเปาความชั่วร้าย เตรียมมอบนาฬิกาให้กับพลเอกประวิตร หลายครั้ง แต่ไม่เคยได้เข้าพบสักครั้งเดียว ร่วมทั้งยังเคยถือซอไปนั่งสีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งใน และนอกเครื่องแบบไปหาที่บ้านพักเป็นประจำช่วงที่เขาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว เขาเคยถูกทหารควบคุมตัว และกักบริเวณอยู่ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงวันที่ 24-28 ต.ค. 2560 หลักที่เขาโพสต์เฟสบุ๊กว่าจะใส่เสื้อสีแดงในวันที่ 26 ต.ค. นอกเขายังเคยถูกบุคคลผู้เห็นต่างทางการเมืองกับเขา คือ ฤทธิไกร ชัยวรรณศาสน์  ดักทำร้ายร่างกายที่บริเวณป้ายรถเมล์ปากซอยเข้าบ้าน จนมีการแจ้งความดำเนินคดีและ ฤทธิไกร ถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท และเนื่องจากให้การรับสารภาพมีเหตุให้บรรเทาโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี อีกด้วย

'ทนายอานนท์' เผย 'เอกชัย' อยู่รีสอร์ตกาญจนบุรี ทหารจะส่งกลับ 28 ต.ค.นี้

เอกชัย ยันเป็นห่วงทีมหมูป่าฯ ไม่ต่างกัน แต่ประสิทธิภาพของทหารก็ต้องตั้งคำถาม

ขณะที่ช่วงที่เกิดกรณี 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงเขาได้ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของกองทัพในการกู้ภัยว่า ไร้ประสิทธิภาพ โดยเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์กู้ภัยแห่งชาติขึ้น แต่กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคมราว 15 คน มารวมตัวที่หน้าบ้าน ชูแผ่นป้ายเขียนข้อความประณามเอกชัย พร้อมสลับกันพูดประณามเอกชัย โดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยระบุว่าการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทหาร เป็นการขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิต

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กวีประชาไท: บังคับให้ลืม!

Posted: 13 Aug 2018 07:59 PM PDT

"มึงจงลืม ลืมความเจ็บซ้ำ
ที่โดนรัฐ กระทำ ให้หมดสิ้น
ประกาศ รักชาติ ให้ได้ยิน
แล้วกลับบ้าน ทำกิน สงบใจ"

"ผมจะลืม ยังไง ลืมไม่ลง
รอยตีนท่าน ประทับลง ตรงหัวใจ
แขนผม มีร่องรอย มองเห็นไหม
กระสุนปืน จากใคร ท่านรู้ดี"

"ถ้าไม่ลืม มึงก็เจ็บ ไม่รับรู้
ใครจะดู กูไม่สน ไอ้พวกผี
บังอาจกล้า มาเรียกร้อง ฟ้องคดี
แผ่นดินนี้ ดูให้ดี ใครครอบครอง"

"ท่านครับ ผมขอร้อง อย่ายึดที่นา
ตกทอดมา จากปู่ย่า ตามครรลอง
ถ้าท่านยึด ผมจะลุก ไปป่าวร้อง
เรื่องจะก้อง ไปทั้งโลก อยุติธรรม"

"ฮ่า ฮ่า ฮ่า มึงว่าไงอะไรนะ
มึงจะสู้ กับกู โอ้ เวรกรรม
หรือว่ามึงอยากโดนกระทืบซ้ำ
เจ็บไม่จำ ไอ้พวกเดน ประชาชน"

ที่มาภาพ: prachatai.com/journal/2018/08/78217

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น