โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

กวีประชาไท: 'สม'

Posted: 08 Aug 2018 07:19 AM PDT

มีแกลบ ไว้กรอก ซอกสมอง 
มีปืน ไว้ป้อง จ้องกดขี่
มีปาก ไว้ปูด แต่อัปรีย์
หน้าด้าน ได้ดี เพราะมีนาย

สงสาร ก็แสน สุดสงสาร
ประเทศ นี้ปาน เป็นป้อมค่าย 
โง่จน กระจ่าง ฮากระจาย 
ฉิบหาย ห้ำหั่น กันให้พอ

เป็นโจร โหนเจ้า เข้าปกครอง
เป็นขี้ข้าของเขาอีกต่อ 
เป็นเหี้ย เป็นห่า คนด่าทอ
เป็นตอ น้ำตื้น อยู่ใต้แพ

สงสาร คนสูง ถูกจูงจมูก
สมเพช คนผูก ไม่เรียนแก้ 
กอดคอ งอเข่า เขาไม่แคร์ 
เล่นลิ้น ตอแหล แถกันไป

ได้คนโง่ทำงานจึงพาลโง่
ได้ขุนโจรขาโจ๋โชว์กันใหญ่ 
ได้คนดีสมดั่งที่ตั้งใจ
ได้เป็นไทยเท่ๆ เร่ลงคู ฯ
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'สวนสัตว์ดุสิต' ปิดสิ้น ส.ค.นี้ กระจายสัตว์ไป 6 สวนสัตว์ทั่วประเทศ รอสร้างที่ใหม่คลอง 6

Posted: 08 Aug 2018 06:55 AM PDT

'สวนสัตว์ดุสิต' ประกาศปิดสิ้น ส.ค.นี้ กระจายสัตว์ไป สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น ระหว่างสร้างที่ใหม่บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่

ภาพค่างห้าสี ที่เพจ "สวนสัตว์ดุสิต Dusit Zoo" โพสต์เมื่อ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา

8 ส.ค.2561 วานนี้ เฟสบุ๊ก "สวนสัตว์ดุสิต Dusit Zoo" รายงานว่าจากกรณีมีผู้แชร์ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า "สวนสัตว์ดุสิต" จะปิดตัวในสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 ล่าสุด วันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์ดุสิต ขอเรียนให้ทราบว่า ในส่วนของแผนการปิดและย้าย สวนสัตว์ดุสิตนั้น ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานมาโดยลำดับ ดังที่เคยเป็นข่าวปรากฎมาโดยตลอด

สำหรับพื้นที่แห่งใหม่ บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่ให้กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จัดว่ามีขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์ดุสิตเดิมถึง 3 เท่า ทำให้สัตว์มีพื้นที่ที่อยู่อย่างสบาย มีอากาศที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาสำรวจข้อมูลในด้านต่างๆ แล้วเพื่อให้สภาพแวดล้อมสวนสัตว์ใหม่ออกมาอย่างดีที่สุดถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล

เฟสบุ๊ก "สวนสัตว์ดุสิต Dusit Zoo" ระบุด้วยว่า ตามแผนปฏิบัติงาน ทางสวนสัตว์ดุสิตจะเปิดให้บริการจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อทยอยดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปจัดแสดง ณ สวนสัตว์ต่าง ๆ ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ในส่วนของประชาชนที่จะเดินทางมาเที่ยวชมสวนสัตว์ดุสิตในช่วงนี้ ทางสวนสัตว์ดุสิตได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการต่างๆไว้แล้ว โดยขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่านด้วยว่า ให้เข้าชมด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย

เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สารคดี เปิดโลกกว้าง' โพสต์ข้อความระบุว่า วันนี้พาลูกๆไปเที่ยวครั้งสุดท้าย ถามเจ้าหน้าที่ ว่าปิดเมื่อไหร่ ย้ายไปไหน เจ้าหน้าที่ตอบไป ร้องไห้ไป ว่าสิ้นเดือนนี้ โครงการธัญบุรีคลอง 6 ยังไม่เริ่มสร้างเลย คาดว่าอย่างเร็วอีก 5 ปี ส่วนสัตว์ต่างๆ ในเขาดิน ก็กระจายไปสวนสัตว์ที่เหลืออยู่ทั่วไทย 7 แห่ง

 

ขณะที่เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา เวิร์คพอยด์นิวส์ เพิ่งรายงานว่า สวนสัตว์ดุสิตตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานด้วย ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยจึงมีแผนจะย้ายสวนสัตว์เขาดินไปตั้งบริเวณคลอง 6 ธัญบุรี (ที่ดินพระราชทาน) คาดว่าจะย้ายได้อย่างเร็วที่สุดประมาณปี 2562 

ประวัติความเป็นมา

ของ สวนสัตว์ดุสิต จากเว็บไซต์ dusit.zoothailand.org

สวนสัตว์ดุสิต แต่เดิมเรียก สวนดุสิตหรือ เขาดินวนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2435 หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศและพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5) ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำ และถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขา เรียกว่า เขาดิน และรอบๆเขาดินนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกลงพรรณไม้นานาชนิด สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติ สำหรับส่วนพระองค์ เรียกว่า วนา รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริภารฝ่ายในก่อน ดังนั้น สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนแห่งนี้ให้กว้างขวาง และดีกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจด้วย

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2575 แล้ว คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิต ให้ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และเป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชน ในเวลานั้นพระองค์เจ้าทิพอาภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พระราชทานอนุมัติในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพรับบริเวณสวนดุสิต หรือ เขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้

จากนั้นทางเทศบาลนครกรุงเทพ ได้จัดการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร และ ย้ายสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ ลิง จากสวนสราญรมย์ มาไว้ที่เขาดินวนา และได้ขอให้ทางสำนักพระราชวัง ส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมในวันอาทิตย์ และเมื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียบร้อยแล้วทางเทศบาล นครกรุงเทพจึงเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจได้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 และให้เรียกสวนดุสิตนี้ว่า สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด เสรีนิยมใหม่: เมื่อความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ [คลิป]

Posted: 08 Aug 2018 06:44 AM PDT

"...คนจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่แทบจะประคองตัวได้ยากในขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ ... และสิ่งนี้มันกำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย" กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

ในการอภิปราย "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์" รองศาสตราจารย์ ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดเสรีนิยมใหม่ หรือ Neoliberalism ที่เป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของโลกาภิวัตน์ (ชมคลิปเต็ม)

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด: ไทย ตัวละครที่ถูกชักใยบนเวทีทุนนิยมโลกถึงเสรีนิยมใหม่

"อยากจะบอกนิดหนึ่งว่า ตอนที่ดิฉันศึกษามีเพื่อนอเมริกันที่ทำงานกระทรวงการต่างประเทศด้วย ก็คุยกัน ก็พูดถึงคำว่า Neo-Liberalism เขาก็ถามว่า "อะไรนะ? กุลลดา" มันเป็นความคิดที่ไม่ได้แพร่หลายทั่วไป แทนที่เราจะแพร่หลายความคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่ สิ่งที่คนรับรู้กันทั่วไปคือคำว่าโลกาภิวัตน์"

"แต่คำว่า 'โลกาภิวัตน์' กับ 'เสรีนิยมใหม่' มันเป็น 2 ด้านของเหรียญ มันเป็นแนวคิดที่ไม่ได้แพร่หลาย จนกระทั่งมันออกฤทธิ์กับเศรษฐกิจอเมริกันในปี 2008"

"ก่อนจะถึงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันมีกระบวนการที่ทำให้รายได้ของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานอเมริกันลดน้อยลงไปหรือคงที่ ไม่เพิ่ม นั่นคือมันเป็นส่วนหนึ่งของ Maximization of profit (การแสวงหากำไรสูงสุด) ของลัทธิเสรีนิยมใหม่"

"ทุนจะได้กำไรสูงสุดต้องทำอย่างไร ก็ต้องกดแรงงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือแรงงานไม่ได้เป็นไปตามระบบของเคนเซียน อีกต่อไปแล้ว"

"แรงงาน คนอเมริกัน ถ้าเผื่อจะเลี้ยงตัวให้ได้ดี ก็จะต้องมีอย่างน้อย 2 งานถึงจะพออยู่ได้ การจะซื้อบ้านลืมไปเลย"

"แต่ทุนการเงินก็ยังส่งเสริมให้คนซื้อบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เรียกว่าจะเลี้ยงชีพไปวันๆ ก็ไม่ได้แล้ว ก็มันก็เลยเกิดบูมของเงินทุน การผลิตไม่ได้ผลิตตามความต้องการ แต่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้คนต้องบริโภค ทีนี้รายได้ต่ำลงจะทำอย่างไร เลยต้องสร้างระบบเครดิต"

"ก่อนเกิดวิกฤตปี 2008 เลยมีการขยายตัวของบัตรเครดิต แต่ก่อนนี้ทำงานเป็นอาจารย์ บริษัทเครดิตไม่สนใจ มาถึงยุคนี้ ดิฉันจำได้ว่า บริษัทบัตรเครดิตทั้งหลายส่งจดหมายมาเชิญเป็นสมาชิกบัตรเครดิต บัตรเครดิตนั้นเครดิตนี้ ธรรมดาไม่พอก็ต้องอัพเพิ่มคลาสขึ้นมา มี privilege card มีสีเงินสีทองขึ้นมา ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ แล้วส่งเสริมให้คนซื้อบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ค่อยมีเงิน"

"มันก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุนการเงินที่จะหากำไร ในที่สุดก็ไปให้กู้กับคนที่ไม่มีรายได้จะจ่ายพอก็เลยเกิด clash ในปี 2008 เป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจ คนถึงเริ่มตระหนักถึงคำว่า Neoliberalism (เสรีนิยมใหม่) และปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Neoliberalism"

"เพราะฉะนั้นอยากจะสรุปว่าเราอยู่กับ Neoliberalism และ Neoliberalism เป็นสิ่งที่อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศึกษาคือที่มาของความไม่เท่าเทียมทางสังคม คนจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่แทบจะประคองตัวได้ยากในขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ และสิ่งนี้มันกำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

1663 เผยพบหญิงท้องไม่พร้อมถูกปฏิเสธการยุติตั้งครรภ์ แม้กฎหมายให้ทำได้

Posted: 08 Aug 2018 05:29 AM PDT

สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 เผยพบหญิงท้องไม่พร้อมไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ภายใต้กฎหมายได้ แนะสถานบริการสุขภาพทุกแห่งต้องมีบริการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อลดอันตรายให้กับผู้หญิง

8 ส.ค.2561 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 แถลงข่าว "หญิงท้องไม่พร้อมถูกปฏิเสธยุติการตั้งครรภ์ แม้อยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายที่ทำได้" ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์แฟนเพจ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ในรอบปีที่ผ่านมา (1 ส.ค.60 - 31 ก.ค.61) พบว่ามีผู้รับบริการ 28 รายที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ข้อกฎหมายและเกณฑ์ทางการแพทย์แต่กลับถูกปฏิเสธให้บริการ เช่น กรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของหญิงตั้งครรภ์ ผู้รับบริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมถึงการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกละเมิด ซึ่งการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ไปหาแหล่งบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย บางรายสั่งยาจากเว็บไซต์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท

นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา สายด่วน 1663 พบว่ามีผู้รับบริการถึง 652 รายที่พยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง เช่น การสั่งซื้อยาจากเว็บไซต์เถื่อน หรือทำร้ายตัวเอง เพื่อให้เกิดการแท้ง ซึ่งแสดงว่าการตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิง ซึ่งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้กฎหมาย แต่กลับถูกปฏิเสธการยุติฯ เพราะทัศนะด้านลบของบุคลากรสาธารณสุขต่อการตั้งครรภ์และการทำแท้ง ส่งผลให้ทุกๆ ปีมีผู้หญิงต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จึงเรียกร้องหน่วยบริการด้านสุขภาพทุกแห่งให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการยุติการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยสูงมากและไม่ซับซ้อน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนยาและค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ในการจัดบริการ

อัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการการให้บริการปรึกษาสายด่วน 1663 ให้รายละเอียดกรณีผู้รับบริการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์แม้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายว่า ผู้รับบริการรายหนึ่งตั้งครรภ์และแพทย์ที่รับฝากครรภ์ประเมินเบื้องต้นว่าทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการด้านสมองไม่ปกติ ซึ่งสามารถตรวจทราบแน่ชัดได้ในเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ประกอบกับพบเนื้องอกที่ปากมดลูก แต่ผู้รับบริการไม่อยากรอถึงตอนนั้นเพราะหากต้องยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากจะทำใจได้ยาก จึงแจ้งกับ รพ.ว่าจะขอยุติการตั้งครรภ์เลย แต่ รพ.ตามสิทธิไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ เมื่อผู้รับบริการโทรมาปรึกษาทาง 1663 จึงสามารถยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกในเครือข่ายแพทย์ RSA (Referral system for Safe Abortion) ได้ ส่วนอีกรายผู้รับบริการตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ อัลตราซาวด์ที่คลินิกภายในจังหวัดแล้วพบตัวอ่อนผิดปกติ แพทย์คลินิกซึ่งเป็นแพทย์ของ รพ.ประจำจังหวัดด้วย ได้ส่งตัวผู้รับบริการไปที่ รพ.แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่ออัลตราซาวด์ยืนยันผลอีกครั้ง ทาง รพ.ที่กรุงเทพฯ ได้ยืนยันตัวอ่อนผิดปกติจริง จึงทำใบส่งตัวผู้รับบริการให้มายุติการตั้งครรภ์ที่ รพ.ประจำจังหวัดตามสิทธิบัตรทองของผู้รับบริการ แต่ทาง รพ.ปฏิเสธโดยแจ้งกับผู้รับบริการว่า รพ.ไม่มีนโยบายยุติการตั้งครรภ์

"เรารู้สึกว่าผู้รับบริการบอบช้ำมาก เพราะการที่ลูกของตัวเองมีความผิดปกติจนต้องยุติการตั้งครรภ์ก็ทุกข์ใจมากพออยู่แล้ว แต่ยังต้องมาถูกปฏิเสธการรักษาจาก รพ.ทั้งที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยุติการตั้งครรภ์ให้ ไม่นับรวมกับการที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดที่อยู่กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรแล้วยังถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า" อัชรา กล่าว

ด้าน สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบโครงการ 1663 กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อมระหว่างปี 1 ต.ค.58 - 30 มิ.ย.61 พบว่ามีผู้ปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้นรวม 52,370 ราย และพบว่ามีผู้รับบริการวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นร้อยละ 30.1 ของผู้รับบริการทั้งหมด ทั้งนี้ผู้รับบริการร้อยละ 89.7 ได้ทางเลือกที่ชัดเจนหลังปรึกษา โดยร้อยละ 6.2 เลือกตั้งครรภ์ต่อ ในขณะที่ร้อยละ 83.5 เลือกยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง 1663 ได้ส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ไปยังหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา  

"ที่ผ่านมา 1663 ทำงานร่วมกับกรมอนามัยและแพทย์ RSA ในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากสามารถขยายบริการเรื่องนี้ได้ในระบบปกติของหน่วยบริการสาธารณสุขก็จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมปลอดภัยมากขึ้นและเข้าถึงบริการได้สะดวกไม่ต้องเดินทางไกล เนื่องจากแพทย์ RSA ไม่ได้มีอยู่ทุกจังหวัด ผู้รับบริการและแพทย์ที่ยินดีทำน่าเห็นใจมาก บางรายต้องเดินทางข้ามภาคจากเหนือไปอีสานเพื่อไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งบางรายก็เลือกที่จะหาทางยุติด้วยตัวเองแทนเพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆ ได้เนื่องจากมีคนในครอบครัวที่ต้องดูแล"  สมวงศ์ กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เปิดคลิปดูได้ 'TNN24' ยันไม่รายงานเกินจริง ผู้สื่อข่าวยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อวัดระดับน้ำ

Posted: 08 Aug 2018 04:21 AM PDT

หลังโซเชียลฯ และเพจ คสช. แคปหน้าจอเอาภาพผู้สื่อข่าว TNN24 ยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี ไปวิจารณ์ว่า 'รายงานเกินจริง-สร้างความตื่นตระหนก' ด้าน TNN24 งัดคลิปแจงผู้สื่อข่าวยืนเพื่อวัดระดับน้ำ ยันไม่มีข้อความหรือประโยคใดที่บ่งบอกว่าเป็นการรายงานเกินจริง

8 ส.ค.2561 กรณีผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 24 (TNN24) รายงานข่าวสถานการณ์น้ำที่ จ.เพชรบุรี โดยยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อวัดระดับน้ำนั้น จนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'บางตะบูนมหานคร' บันทึกภาพการรายงานข่าวดังกล่าว พร้อมเรียกร้องว่า อย่านำเสนอภาพข่าวน้ำท่วมเกินจริง เพราะสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนหวาดกลัวน้ำท่วมเกินจริง จนมีผู้วิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของ TNN24 รวมทั้ง เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย' ของ คสช. นำภาพดังกล่าวมาเพื่อวิจารณ์การทำงานของสื่อด้วย แต่ล่าสุด 18.00 น. วันนี้ (8 ส.ค.61) เพจของ คสช. ได้ลบโพสต์แล้ว

โพสต์ของเพจ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย' ก่อนโพสต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

หลังกระแสวิจารณ์ดังกล่าว เพจ 'TNN24' ได้โพสต์ชี้แจงด้วยว่า การที่ผู้สื่อข่าวลงไปยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อวัดระดับน้ำ ให้เห็นว่าน้ำเริ่มไหลมาและเพิ่มระดับ ในบทผู้สื่อข่าวอธิบายว่า จาก 1 ชั่วโมงที่ผ่านมาที่ น้ำยังแห้งอยู่ แต่ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เซนติเมตร และเริ่มไหลเชี่ยว เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น และได้สัมภาษณ์ประชาชน ที่เฝ้าสังเกตุระดับน้ำเพื่อบอกว่าต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างไร โดยประชาชนระบุว่า ตอนเช้ายังไม่มีน้ำยังเดินได้ แต่ตอนบ่ายโมงน้ำเพิ่มขึ้น ก็มีความกังวลว่าน้ำจะเข้าท่วมหมู่บ้านและรีสอร์ท

"จากเนื้อหาการนำเสนอไม่มีข้อความหรือประโยคใดที่บ่งบอกว่าเป็นการรายงานเกินจริง และไม่ข้อความใดที่เป็นการสร้างความตื่นตระหนก แต่ต้องการนำเสนอให้เห็นระดับน้ำที่เริ่มเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวหากได้ชมคลิปทั้งหมดจะเห็นว่าไม่มีข้อมูลใดที่รายงานเกินความเป็นจริง" เพจ 'TNN24' ชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากไม่ดูเพียงภาพที่ถูกบันทึกมาวิจารณ์ แต่ดูที่วิดีโอรายงานข่าวจะเห็นคำอธิบายของผู้สื่อข่าวที่ลงไปยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเทียบความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำจริงอย่างที่ เพจ 'TNN24' ชี้แจง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลสั่งจำคุกรวม 12 เดือนและสั่งให้ออกจากที่ดิน คดีทวงคืนผืนป่าชาวบ้านชัยภูมิ

Posted: 08 Aug 2018 02:55 AM PDT

ศาลชัยภูมิอ่านคำพิพากษานิตยา ม่วงกลาง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ข้อหาบุกรุกป่า พิพากษาจำคุกรวม 12 เดือนปรับ 1.4 แสนบาท และสั่งให้ออกจากที่ดินซึ่งปลูกมันสำปะหลัง โดยที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติไทรทองฟ้องชาวบ้านรวม 19 คดี ศาลพิพากษาแล้ว 4 คดี 

นิตยา ม่วงกลาง สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (แฟ้มภาพ)

8 ส.ค. 2561 เวลา 9.00 น. วันนี้ ศาลจังหวัดชัยภูมิอ่านคำพิพากษานิตยา ม่วงกลาง สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ในข้อหาบุกรุกป่ารวม 2 คดี โดยคดีที่ 1 ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และคดีที่ 2 ที่ห้องพิจาณาคดีที่ 2 ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท นอกจากนี้ศาลมีคำสั่งให้ออกจากที่ดินทำกินทั้ง 2 คดี

ตามรายงานของสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ภายหลังกระบวนการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลคุมตัวจำเลยไปยังห้องคุมขัง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์กองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ ตามที่ทนายความจำเลยได้ทำการยื่นคำร้องขอหลักทรัพย์การประกันตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับนิตยา ซึ่งเป็นชาวบ้านซับหวาย ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ และในฐานะที่เป็นแกนนำหญิงผู้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ทำให้เธอถูกฟ้องคดีเป็นคนแรก ต่อมาทั้งแม่และน้องสาวเธออีก 2 คน ก็ถูกฟ้องคดี รวมทั้งเพื่อนบ้านเธอรวมทั้งหมด 14 ราย 19 คดี โดยเพื่อนบ้านของนิตยา ถูกศาลพิพากษาแล้วจำนวน 3 ราย ดังนี้ 

วันที่ 17 ก.ค. 61 ศาลพิพากษาจำคุกสีนวล พาสังข์ 5 เดือน 10 วัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท

วันที่ 25 ก.ค. 61 ศาลพิพากษาจำคุกปัทมา โกเม็ด 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 250,000 บาท

วันที่ 26 ก.ค. 61 ศาลพิพากษาจำคุกสมพิตร แท่นนอก 10 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท

ทั้ง 3 ราย ศาลพิพากษาให้ออกจากที่ดินทำกิน โดยทั้ง 3 ราย ได้รับการประกันตัวตามที่ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิไปแล้ว

อีกมุมนโยบายทวงคืนผืนป่า เมื่อ 'นิตยาและเพื่อนบ้าน' รวม 14 ราย ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่า

สำหรับข้อกล่าวหาต่อนิตยานั้น หลังจากที่นิตยากลับมาช่วยแม่และน้องสาวทำไร่มันสำปะหลังในที่ดินที่ผู้เป็นแม่มอบให้ทำกินคนละ 10 ไร่นั้น ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 2558 ช่วงที่เธอกับน้องสาวอีก 2 คนไม่อยู่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติไทรทองจำนวน 25 คน เข้ามาหาแม่ของเธอ พร้อมบอกว่าครอบครัวทำผิดกฎหมายบุกรุกพื้นที่ป่า โดยให้ลงนามยินยอมคืนพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.

เจ้าหน้าที่บอกให้แม่ของนิตยาลงนามแทนให้เธอและน้องสาวด้วย แม้ว่าแม่ของนิตยาขอให้รอเจ้าตัวมาลงนามเอง แต่ได้รับการปฎิเสธ พร้อมกับข่มขู่ว่าหากไม่ลงนามจะถูกจับกุม ดำเนินคดี และจะไม่ให้เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง แม่ของนิตยาจึงยอมลงนาม

ต่อมาเมื่อนิตยาได้ทราบเรื่องราว จึงได้หันมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน ด้วยเกรงว่าในอนาคตของครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้านจะไม่มีที่ดินทำกิน เหตุเพราะเพื่อนบ้านของเธอก็ถูกข่มขู่ให้ยินยอมลงนามเอกสารหลายราย ในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้นิตยาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) โดยเริ่มเคลื่อนไหวเมื่อ 8 มี.ค. 2559 ร่วมกับ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีและร่วมเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทั่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2559 นิตยาและแม่ รวมทั้งน้องสาว รวม 4 คน ได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งความดำเนินคดีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ดังกล่าว โดยนอกจากนิตยาแล้วยังมีเพื่อนบ้านถูกแจ้งหาอีกรวมทั้งหมด 14 รายดังกล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

24 มิถุนาเรียกร้องเลิกเปย์กองทัพ-หันมาเลี้ยงดูแม่ เพิ่มเบี้ยคนชราเดือนละ 3 พัน

Posted: 08 Aug 2018 02:13 AM PDT

ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยยื่น 5 ข้อเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล ให้นายกฯ แก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม ลดนายพล-ลดงบซื้ออาวุธ ให้เห็นแก่พระคุณแม่ ด้วยการเพิ่มเบี้ยคนชราเป็นเดือนละ 3,000 บาท

ที่มาของภาพ: เฟสบุ๊คสมยศ พฤกษาเกษมสุข

8 ส.ค. 2561 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยนำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข สรัญญา แก้วประเสริฐ จรรยาแพทย์ ชลิตาภรณ์ และคณะเดินทางไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันและตรึงราคาแก๊สหุงต้ม คัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองในกองทัพในด้านการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ลดตำแหน่งนายพลที่ล้นเกิน

ในรายงานของเพจ Prakaifai สรัญญา  แก้วประเสริฐ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แถลงว่า ปัจจุบันค่าครองชีพมีราคาแพงอยู่มาก ในขณะที่รายได้ที่แท้จริงตกต่ำลงตามลำดับทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้กับข้าราชการปริญญาตรีที่เดือนละ 15,000 บาท แต่จนถึงปัจจุบันไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นอีกเลย ทำให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐมีหนี้สินล้นพ้นตัว คุณภาพชีวิตตกต่ำ  ในขณะเดียวกันการจ้างงานภาครัฐทั้งๆที่เป็นงานต่อเนื่องแต่กลับทำสัญญาจ้างชั่วคราวปีต่อปี ทำให้ในที่ทำงานประเภทเดียวกันแต่มีคนทำงานสองประเภทเกิดการเลือกปฏิบัติจึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุพนักงานของรัฐเมื่อทำงานครบหนี่งปีแล้วเป็นข้าราชการประจำให้ได้ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีสรรพน้ำมันเพื่อน้ำมันราคาถูกลง  และ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนส่งบ้าน ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10-12 เปอร์เซ็นต์ เห็นควรลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี จะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซาให้ดีขึ้นและช่วยการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้นด้วย

ส่วนจรรยาแพทย์ ชลิตาภรณ์ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แถลงว่าปัจจุบันเบี้ยยังชีพคนชรา ในอัตราเดือนละ 600 บาทต่ำเกินไปไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ คนชราเหล่านี้ทำงานทั้งชีวิตให้ประเทศชาติแต่เมื่อแก่เฒ่ากลับได้เบี้ยชราที่ต่ำกว่ามาตรฐานความเป็นคน จึงเห็นสมควรรัฐบาลเพิ่มเบี้ยคนชราเดือนละ 3000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ตำอยู่แล้ว

สรัญญา แก้วประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ให้เป็นธรรม และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นการเร่งด่วนดังต่อไปนี้

1. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม  โดยการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ต้องไม่เกิน 26 บาทต่อลิตร , แก๊สโซฮอล์ ต้องไม่เกิน 28-30 บาท โดยการลดอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หรือลดการเก็บเงินเข้ากองทุนต่างๆ ให้เหมาะสม

2. เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมเดือนละ 600-1000บาทตามช่วงอายุเป็นเดือนละ 3,000 บาทเท่ากันทุกคน

3. เพิ่มเงินเดือนพนักงานของรัฐ-ข้าราชการขั้นต่ำระดับปริญญาตรีจากเดิมเดือนละ 15,000 บาทเป็น 20,000 บาทและให้บรรจุพนักงานของรัฐที่ทำงานครบหนึ่งปีให้เป็นข้าราชการประจำ

4. ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านจากปัจจุบันโดยเฉลี่ย 10-12 เปอร์เซ็นต์ต่อปีให้เหลือ  3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

5. รัฐบาลจะต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายสิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือยของรัฐ อาทิเช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ การซื้อดาวเทียมแพงเกินความจำเป็น การรับเงินเดือนสองตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง อัตรากำลังนายพลล้นเกิน ฯลฯ เป็นต้น และให้นำเงินงบประมาณที่ปรับลดเหล่านี้ นำไปจัดสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ ให้กับประชาชนเช่นการรักษาพยาบาล, การศึกษา, ศูนย์เลี้ยงเด็กและสวัสดิการพื้นฐานทางสังคม

โดยหลังเสนอข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมได้ร้องเพลงพระคุณแม่ 4.0 ด้วย โดยตอนหนึ่งของเนื้อระบุว่า "ควรคิดพินิจอีกที เบี้ยเลี้ยงของเราเท่านี้ จะใช้ยังไงให้ไหว โอ้รัฐบาลจ๋า ลดเถิดงบกองทัพไทย ไปรบกับใครที่ไหน แบ่งปันมาให้เบี้ยคนชรา ข้าวของมันแพงค่าแรงไม่ไหว ประเทศไทยจะอยู่ต่อไปเล่าหนา หากใครไม่เห็นคุณค่า เบี้ยเลี้ยงคนชรา จะถูกตราหน้าว่าเนรคุณ"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เข้าไม่ถึงบริการ ‘ทำแท้งปลอดภัย’ ราคาที่ ‘พวกเธอ’ ต้องจ่ายด้วยชีวิต

Posted: 08 Aug 2018 01:46 AM PDT

ข้อมูลจาก 1663 พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ต้องมีต้นทุนสูงขนาดนี้กับการตัดสินใจเลือกต่อร่างกายของตนเอง

  • การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยของผู้หญิงยังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะอุปสรรคจากทัศนคติของบุคลากรสาธารณสุข ทำให้ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท

  • การเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยทำให้ผู้หญิงและคนรอบข้างต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายหรือความรู้สึก และทำให้ผู้หญิงกลายเป็นหนูทดลองให้แก่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนและสร้างระบบสนับสนุนบุลคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการการทำแท้งที่ปลอดภัย

กฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ระบุถึงโทษของการทำแท้งและการยกเว้นโทษแก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาสุขภาพจิตหรือตั้งครรภ์จากการตกเป็นผู้ถูกกระทำความผิดอาญาตามมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือ 284 เช่น การถูกข่มขืน การค้าบริการทางเพศทั้งที่ยินยอมและไม่ยินยอม หรือการล่อลวงอนาจาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การทำแท้งให้แก่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมยังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะอุปสรรคจากทัศนคติของสังคม

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 20 ล้านคนที่เป็นการทำแท้งไม่ปลอดภัย ทำให้มีผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากกรณีนี้ปีละประมาณ 70,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งสาเหตุก็เพราะหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการบริการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้

ทว่า สิ่งที่ผู้หญิงต้องจ่ายให้กับการเข้าไม่ถึงบริการ ไม่ใช่แค่ชีวิตในแง่ความเป็นตาย หากยังรวมถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ชีวิตของพวกเธอและคนรอบข้างต้องแบกรับ ซึ่งทำร้ายพวกเธอไปอีกนานหลายปี

ปี 59 ผู้หญิงเสียชีวิต 11 คนเพราะเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งปลอดภัย

1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม จัดแถลงข่าว 'หญิงท้องไม่พร้อมถูกปฏิเสธยุติการตั้งครรภ์ แม้อยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายที่ทำได้' เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 โดยนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ถึง 31 กรกฎาคม 2561 พบว่ามีผู้รับบริการ 28 รายที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ข้อกฎหมายและเกณฑ์ทางการแพทย์ แต่กลับถูกปฏิเสธให้บริการ เช่น กรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของหญิงตั้งครรภ์ ผู้รับบริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมถึงการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกละเมิด ซึ่งการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ไปหาแหล่งบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย บางรายสั่งยาจากเว็บไซต์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท

โดยในรอบปีที่ผ่านมา สายด่วน 1663 พบว่า มีผู้รับบริการถึง 652 รายที่พยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง เช่น การสั่งซื้อยาจากเว็บไซต์เถื่อนหรือทำร้ายตัวเองเพื่อให้เกิดการแท้ง ซึ่งแสดงว่าการตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิง ซึ่งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้กฎหมาย แต่กลับถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ เพราะทัศนะด้านลบของบุคลากรสาธารณสุขต่อการตั้งครรภ์และการทำแท้ง ส่งผลให้ทุกปีมีผู้หญิงต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จึงเรียกร้องหน่วยบริการด้านสุขภาพทุกแห่งให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการยุติการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยสูงมากและไม่ซับซ้อน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนยาและค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดบริการ

แพทย์-พยาบาลไม่ยอมให้บริการ

ด้านอัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการการให้บริการปรึกษาสายด่วน 1663 ให้รายละเอียดกรณีผู้รับบริการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์แม้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายว่า ผู้รับบริการรายหนึ่งตั้งครรภ์และแพทย์ที่รับฝากครรภ์ประเมินเบื้องต้นว่าทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการด้านสมองไม่ปกติ ซึ่งสามารถตรวจทราบแน่ชัดได้ในเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ประกอบกับพบเนื้องอกที่ปากมดลูก แต่ผู้รับบริการไม่อยากรอถึงตอนนั้นเพราะหากต้องยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากจะทำใจได้ยาก จึงแจ้งกับโรงพยาบาลว่าจะขอยุติการตั้งครรภ์เลย แต่โรงพยาบาลตามสิทธิไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ เมื่อผู้รับบริการโทรมาปรึกษาทาง 1663 จึงสามารถยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกในเครือข่ายแพทย์ RSA (Referral system for Safe Abortion) ได้

 

"ที่ร้ายที่สุดคือร่างกายของผู้หญิงต้องกลายเป็นหนูทดลองกับบริการทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลนี้ และอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากนั้นเพราะสิ่งที่ได้รับมันไม่มีคุณภาพ ขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตนเองหรือต้องเสียชีวิต"

ส่วนอีกรายผู้รับบริการมีอายุครรภ์ 19 สัปดาห์และทำการอัลตราซาวด์ที่คลินิกภายในจังหวัดแล้วพบตัวอ่อนผิดปกติ แพทย์คลินิกซึ่งเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ส่งตัวผู้รับบริการไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่ออัลตราซาวด์ยืนยันผลอีกครั้ง ทางโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ได้ยืนยันว่าตัวอ่อนผิดปกติจริง จึงทำใบส่งตัวผู้รับบริการให้มายุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดตามสิทธิบัตรทองของผู้รับบริการ แต่ทางโรงพยาบาลประจำจังหวัดกลับปฏิเสธ โดยแจ้งกับผู้รับบริการว่าทางโรงพยาบาลไม่มีนโยบายยุติการตั้งครรภ์

"เรารู้สึกว่าผู้รับบริการบอบช้ำมาก เพราะการที่ลูกของตัวเองมีความผิดปกติจนต้องยุติการตั้งครรภ์ก็ทุกข์ใจมากพออยู่แล้ว แต่ยังต้องมาถูกปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาล ทั้งที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยุติการตั้งครรภ์ได้ ไม่นับรวมกับการที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดที่อยู่กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรแล้วยังถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า" อัชรากล่าว

ด้านสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบโครงการ 1663 กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อมระหว่างปี 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 มิถุนายน 2561 พบว่า มีผู้ปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้นรวม 52,370 ราย และพบว่ามีผู้รับบริการวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นร้อยละ 30.1 ของผู้รับบริการทั้งหมด ทั้งนี้ผู้รับบริการร้อยละ 89.7 ได้ทางเลือกที่ชัดเจนหลังปรึกษา โดยร้อยละ 6.2 เลือกตั้งครรภ์ต่อ ในขณะที่ร้อยละ 83.5 เลือกยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง 1663 ได้ส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ไปยังหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา

"ที่ผ่านมา 1663 ทำงานร่วมกับกรมอนามัยและแพทย์ RSA ในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากสามารถขยายบริการเรื่องนี้ได้ในระบบปกติของหน่วยบริการสาธารณสุขก็จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมปลอดภัยมากขึ้นและเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล เนื่องจากแพทย์ RSA ไม่ได้มีอยู่ทุกจังหวัด ผู้รับบริการและแพทย์ที่ยินดีทำน่าเห็นใจมาก บางรายต้องเดินทางข้ามภาคจากเหนือไปอีสานเพื่อไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งบางรายก็เลือกที่จะหาทางยุติด้วยตัวเองแทนเพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆ ได้เนื่องจากมีคนในครอบครัวที่ต้องดูแล" สมวงศ์กล่าว

ต้นทุนชีวิตที่ผู้หญิงต้องแบกรับ

ศรัทธารา หัตถีรัตน์ จากกลุ่มทำทาง เป็นกลุ่มให้คำปรึกษาและรณรงค์ผลักดันนโยบายการทำแท้งที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี อธิบายถึงผลกระทบต่อผู้หญิงจากการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยว่า

"ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ส่งผลต่อผู้หญิงอย่างไร ประการแรกคือผู้หญิงต้องพยายามอย่างมาก ใช้ทรัพยากรส่วนตัว ทั้งเวลา กำลังใจ ความรู้ เงินทอง ที่จะสุ่มเสี่ยงไปตามสิ่งต่างๆ ที่เขาพอจะหาได้ในนาทีนั้น นี่คือการทำให้ประชากรของเราใช้ชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพเมื่อเขาประสบปัญหา และทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องลองแล้วลองอีก เสียเงินทองจนไม่มีเงินสำรองเมื่อเขามาถึงบริการที่ปลอดภัยก็ไม่เหลือเงินที่จะรับบริการได้

"ที่ร้ายที่สุดคือร่างกายของผู้หญิงต้องกลายเป็นหนูทดลองกับบริการทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลนี้ และอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากนั้นเพราะสิ่งที่ได้รับมันไม่มีคุณภาพ ขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตนเองหรือต้องเสียชีวิต การที่เขาไม่ทราบว่าบริการที่ถูกต้อง ปลอดภัย เปิดเผย มันอยู่ตรงไหน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจเวลาที่ต้องผ่านประสบการณ์นี้

"อีกเรื่องที่สำคัญมากคือการที่บริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ยึดโยงกับสิทธิทางเพศ สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง แล้วมันมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยว พอไม่สามารถเป็นเรื่องที่เปิดเผย โปร่งใส ทั้งตัวเราและครอบครัวของเราสามารถสนับสนุนเราได้อย่างเต็มที่ มันส่งผลต่อความรู้สึกของผู้หญิง ทั้งผู้เป็นเจ้าของครรภ์และคนแวดล้อมที่รักเขา ทำให้ทุกคนต้องผ่านประสบการณ์น่ากลัวอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันทำสิ่งที่มันถูกต้องหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือเปล่า นี่เป็นคำถามที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์แบบนี้ แต่สามารถเข้าถึงบริการอย่างมีศักดิ์ศรีได้และปลอดภัย มันก็จะไม่กลายเป็นฝันร้ายที่ไม่จำเป็นไปอีกหลายปี"

ศรัทธารายังกล่าวถึงระบบการแพทย์ปัจจุบันที่สร้างให้บุคคลยึดถือสิ่งที่ไม่เป็นจริง บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิเสธให้บริการการทำแท้งเพราะเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง

"แต่เราต้องคิดย้อนว่าใครสอนให้เขาคิดว่านี่ถูกต้องแล้ว ระบบแพทย์กลายเป็นระบบที่พยายามแก้ไขสภาวะเจ็บป่วยเป็นชิ้นๆ แล้วลืมไปว่าทั้งหมดมันรวมอยู่ในชีวิตของคนคนหนึ่งที่มีชีวิต มีแง่มุมที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากกว่าการเจ็บป่วยในแต่ละส่วน เขามองไม่เห็นความเจ็บปวดของผู้หญิงที่จะต้องถูกดีดไปดีดมา และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เขาหันหน้าไปพึ่ง ซ้ำร้ายคือการแพทย์หลงลืมที่จะสนับสนุนคนคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ แต่ต้องการแก้ไขความเจ็บป่วยแค่บางที่ ทำให้เรื่องเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสร้างความเจ็บปวดต่อจิตใจของคนได้เยอะมาก เพราะมันไม่ใช่แค่อวัยวะ แต่เป็นตัวตน คุณค่าที่คนยึดถือ กลับไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้ของระบบการแพทย์"

ศรัทธาราคิดว่า สังคมต้องไม่คาดหวังจากบุคลากรสาธารณสุขเป็นรายบุคคล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความชัดเจนและสร้างระบบสนับสนุนว่า การให้บริการการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ควรทำ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จากน้ำท่วมเพชรบุรีถึงวาทกรรมคนกระเหรี่ยงทำลายป่า

Posted: 08 Aug 2018 01:13 AM PDT


ที่มาภาพถ่าย ป่าต้นน้ำเพรชบุรีบริเวณใจแผ่นดิน โดยสำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=6536 

ช่วงนี้มีข่าวเฝ้าระวังน้ำท่วมหลายอำเภอในจังหวัดเพรชบุรี อันเนื่องมาจากการที่มีฝนตกจำนวนมากในบริเวณผืนป่าต้นน้ำเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ซึงเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

แต่เมื่อมีการเผยแพร่คลิปภาพถ่ายทางอากาศ ที่สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นบินสำรวจพบมีร่องรอยป่าถูกแผ้วถาง บริเวณป่าต้นน้ำแก่งกระจาน ทำให้ผืนป่าไม่ซับน้ำ พร้อมกับบทสัมภาษณ์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ ที่กล่าวว่า "ตอนนี้จะพบการแผ้วถางป่าลดลง แต่จากการบุกรุกก่อนหน้านี้ทำให้ป่าไม่เก็บน้ำและปีนี้ฝนมาก จึงทำให้น้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณมาก การแผ้วถางเปิดป่าทำไร่เลื่อนลอยนั้น คาดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยจากเพื่อนบ้านหรือกลุ่มอิสระ"

ซึ่งภาพดังกล่าวได้มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดียร์เป็นจำนวนมากจนทำให้วาทกรรม"คนกระเหรี่ยงเป็นผู้ทำลายป่า" กลับมากลายเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังมีการเชื่อมโยงให้ดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นสาเหตุของสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในจังหวัดเพรชบุรี

ทั้งที่นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึง ภาพป่าแหว่งต้นน้ำแก่งกระจานว่าจากการตรวจสอบ คาดว่าเป็นพื้นที่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยเก่า ยอมรับว่ามีส่วนทำให้การดูดซับน้ำของป่าลดลง จึงทำให้น้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานได้เร็วขึ้น แต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะปีนี้มีฝนมากกว่าปีก่อน ๆ

ถ้าตามข่าวดีๆจะพบว่าทั้งหัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือและ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวตรงกันในเรื่อง"ปีนี้มีฝนมากกว่าปีก่อน ๆ" ซึ่งก็ตรงกับการรายงานข่าวของหลายสำนักข่าวว่าสาเหตุของปริมาณน้ำจำนวนมากที่กำลังปริ่มสปริงเวย์ เขื่อนแก่งกระจานจนจวนเจียนใกล้จะไหลเข้าท่วมหลายอำเภอในจังหวัดเพรชบรีอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุหลักมาจากน้ำฝนซึ่งตกในเขตพื้นที่ต้นน้ำนั้นมีปริมาณมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา

อันที่จริง กลุ่มชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า"ใจแผ่นดิน"นั้น ถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่โดยการเผาทำลายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ซึ่งเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่พวกเขาถูกพาลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่รัฐจัดสรรให้ 

การออกมาให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่พยายามเชื่อมโยงว่าคนกะเหรี่ยงทำลายป่า และเป็นสาเหตุของน้ำท่วมจึงเหมือนเป็นการดิสเครดิตของชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีความขัดแย้งในประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดินกับรัฐในช่วงที่ผ่านมา 

"ป่าแห่งความหลัง"ของปู่คออี้ อดีตพรานใหญ่แห่งต้นน้ำเพชร" บทความของภาสกร จำลองราช ได้บรรยาสภาพป่าแก่งกระจางในอดีตไว้ว่า "เมื่อ 70-80 ปีก่อนยังไม่มีเขื่อนแก่งกระจาน พื้นที่ป่าต้นน้ำเพชรยังกว้างขวางเกือบจรดตัวอำเภอท่ายาง การเดินทางเข้าป่าต้องอาศัยเกวียน(ไปถึงแค่บางช่วง)และการเดินเท้าเป็นหลัก"

"ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ต้นน้ำเพชรอยู่เยื้องมาทางเหนือในเขตสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มานานนม บ้านบางกลอยบนที่ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงถูกบังคับให้ย้ายลงมาก็เป็นส่วนหนึ่งของใจแผ่นดิน"

"สมัยก่อนที่ใจแผ่นดินเคยมีคนอาศัยอยู่เยอะ ตอนหลังมีคนจากข้างนอกเข้ามา พวกเราบางส่วนเลยย้ายหนีไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เราก็ข้ามกันไปๆมาๆเพราะเป็นญาติพี่น้องกัน" คนที่อยู่ในป่าและสัตว์ป่าต่างไม่เคยรู้จักเส้นแบ่งแดน เพราะทั้งป่า เขา แม่น้ำและธรรมชาติต่างเชื่อมร้อยเป็นผืนเดียวกัน และชาวกะเหรี่ยงก็ยังคงดำเนินชีวิตไปตามวิถี"

นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่คนเมืองอาจต้องทำความใจใหม่นั่นคือระบบไร่หมุนเวียน เป็นระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งต่างจากไร่เลื่อนลอยที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบพูดถึง 

แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งบอกว่าการทำไร่หมุนเวียนนับเป็นภูมิปัญญาทางการเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับวิถี ธรรมชาติ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และข้อจำกัดด้านต่างๆ ของชุมชน และไม่น่าแปลกใจที่คนภายนอกจะมองไร่หมุนเวียนเป็นจำเลยของสังคมว่าทำลาย ป่าไม้ เพราะลักษณะที่เห็นโดยทั่วไปคือสภาพป่าที่ถูกถากถางมาเป็นไร่ สำหรับคนที่ขาดความเข้าใจก็พร้อมที่จะเชื่อว่านี้คือการตัดไม้ทำลายป่า แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สภาพที่เราเห็นว่าเป็นป่าโล่งเตียนเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งอันน้อยนิดเมื่อ เทียบกับสภาพป่าที่ถูกดำรงรักษาไว้ ไม่พักต้องพูดถึงว่าการโล่งเตียนของป่าที่เห็นจะทำให้เกิดต้นไม้เติบโตใน อนาคตอย่างมากมาย 

มันเป็นระบบการเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นจะย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ใหม่ เพื่อให้พื้นที่เดิมเริ่มฟื้นความอุดมสมบูรณ์ แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง อาจจะทุก ๆ 5-9 ปี แล้วแต่สภาพพื้นที่ และวัฒนธรรมของชนเผ่า การปลูกพืชในระบบไร่หมุนเวียนเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีข้าว ผัก และพืชใช้สอยต่าง ๆ ปลูกรวมกันอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก และอาจถือได้ว่าเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง ในขณะที่เกษตรกรที่รักษาระบบเกษตรกรรมเช่นนี้มีกฎเกณฑ์ ที่จะต้องเคารพคุณค่า และนอบน้อมต่อธรรมชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า "ใช้ประโยชน์จากน้ำ ต้องรักษาน้ำ ใช้ประโยชน์จากป่า จักต้องรักษาป่า" เป็นต้น 

มีหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า "ปู่คออี้" นั้นเกิดในแผ่นดินไทย และมีอายุแก่กว่าพรบ.กรมอุทยานฯ มีภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงว่า หมูบ้านใจแผ่นดินหรือบางกลอยบนนั้น มีมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาง มีบุคคลอีก 2 คน คือนายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องการเผาบ้านกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกยิงเสียชีวิตในรถเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554

อีกหนึ่งคน คือ "บิลลี่" หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งเป็นหลานของ "ปู่คออี้" บิลลี่ เป็นชาวกะเหรี่ยง ที่เขียนและอ่านภาษาไทยได้ และเป็นผู้เขียนคำร้องต่างๆ ไปยังหลายหน่วยงาน ซึ่งต่อมา เขาหายตัวไป เมื่อ 17 เมษายน 2557 และยังไม่มีใครพบมาถึงปัจจุบัน

แต่ทุกวันนี้คนกะเหรี่ยงยังกลายเป็นผู้ที่ถูกมองว่าทำลายป่า ทั้งที่พวกเขาเป็น"คนอยู่กับป่าอย่างเคารพนอบน้อม"

บางทีคนเมืองอย่างเราอาจต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้

อ้างอิง

เผยพื้นที่ป่าแหว่ง ต้นน้ำแก่งกระจาน แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักน้ำล้นสปิลเวย์ 

ป่าแห่งความหลัง"ของปู่คออี้ อดีตพรานใหญ่แห่งต้นน้ำเพชร สำนักข่าวชายขอบ 

เอกสาร "ใจแผ่นดิน แผ่นดินใจ" (The Heart of The Earth)
สำนักข่าวชายขอบ

เปิดแผนที่ "ใจแผ่นดิน" พื้นที่เผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
ระบบไร่หมุนเวียน 

ไร่หมุนเวียน...เกษตรกรรมยั่งยืนที่รอคนเข้าใจ

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คำสังไม่รับพนักงานสอบสวนหญิง: สะท้อนความล้าหลังการปฏิรูปตำรวจ

Posted: 08 Aug 2018 12:55 AM PDT

การปฏิรูปตำรวจดูเหมือนจะมีประเด็นใหม่ๆ (ที่คิดไม่ถึง) ให้ต้องถกเถียงกันอีกเมื่อมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้รับพนักงานสอบสวนเพิ่มอีก 250 อัตราและรับเฉพาะเนติบัณฑิตชายเท่านั้น ทำให้กลุ่มสตรีหลายองค์กรและนักการเมืองหญิงของหลายพรรคนั่งไม่ติด ออกมาคัดค้านที่โรงแรมรามาการ์เด้นว่าการที่ สตช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐปิดกั้นไม่รับพนักงานสอบสวนหญิงเข้าทำงานถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และ 27  และ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาตรา 17 ซึ่งจะนำไปสู่คำสั่งที่เป็นโมฆะได้

เหตุผลที่ สตช. ชี้แจง ผ่านพันตำรวจโท ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษก สตช.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 ว่าที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนหญิงได้ลาออกจากราชการเป็นจำนวนมาก เพราะมีภาระทางครอบครัวที่หนักอยู่แล้ว และต้องมาทำงานสอบสวนที่หนัก พนักงานสอบสวนบางคนรับคดีมากกว่า 1,000 คดีต่อปี ทำให้มีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดความเครียดฆ่าตัวตายไปก็มี

จากข้อเท็จจริงที่ต้องทำความเข้าใจผ่านไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาชนในเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นว่า

1. การลาออกหรือไม่อยากรับภาระหน้าที่งานสอบสวน มีพนักงานสอบสวนทั้งชายและหญิงลาออก หรือขอย้ายงานไปยังสังกัดอื่น (มิใช่เฉพาะพนักงานหญิง) ด้วยเหตุผลหลายประการรวมถึงความอึดอัดในการทำงานที่ไม่เป็นอิสระ ไม่สามารถสอบสวนได้อย่างตรงไปตรงมา ทุกฝ่ายยอมรับว่าจำนวนพนักงานสอบสวนมีไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ พนักงานสอบสวนทั้งหญิงและชายแต่ละคนต้องรับมือกับงานหนัก มีแรงกดดันสูง คนที่เครียดกระทั่งต้องทำอัตวิบากกรรมไปนั้นมักเป็นผู้ชายดังที่เป็นข่าวเรื่อยมา

 
2. พนักงานสอบสวนหญิงที่จบเนติบัณฑิตมาส่วนใหญ่ทำงานได้ดี ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ มีความรู้จริง และได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการให้บริการประชาชนที่มาสถานีตำรวจ แล้วยังเป็นพี่เลี้ยงให้พนักงานสอบสวนชายที่จบโรงเรียนนายร้อยรุ่นต่างๆที่ไม่ได้จบนิติศาสตร์มาอีกด้วย ส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่รับผิดชอบ หรือไม่ต้องการทำงานหนัก ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดกับพนักงานชายเช่นกัน

 
3. พนักงานสอบสวนที่ต้องการการปฏิรูปงานสอบสวนยืนยันว่าหากมีจำนวนพนักงานที่มากพอเพียงกับจำนวนคดีที่รับมาแต่ละเดือน และสามารถทำงานได้อย่างอิสระ รับใช้ประชาชนได้จริง อีกทั้งสามารถเติบโตในตำแหน่งหน้าที่จากสายงานตัวเองได้ คงไม่มีใครอยากลาออก และจะทำให้การทำงานรอบคอบ รวดเร็ว แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่ง.เคยมีการเสนอทางออกไปแล้วว่า ให้มีอัยการเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ตรวจสอบการทำสำนวนคดี หาพยานหลักฐานให้สิ้นสงสัยมากที่สุดเป็นการช่วยให้งานสอบสวนยกระดับ น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และเสนอให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในฝ่ายสอบสวนควรที่จะจบนิติศาสตร์ ได้รับการอบรมที่มากพอที่จะ ทำงานได้

 

4. กรณีความห่วงใยความปลอดภัยของพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ในยามวิกาลหรือไปในที่เสี่ยงภัย ป่าเขา หรือขึ้นไปคอนโดมีเนียมในยามค่ำคืนเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ ซึ่งในอดีตก็มีสิบเวร สายสืบที่ลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอยู่แล้ว  การรับมือปัญหาในท้องที่หลายกรณีเป็นคดีอาญาที่เกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งต้องการผู้หญิงด้วยกันในการเข้าถึง หาข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิง เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้  และบนความจำเป็นในบางสถานการณ์อาจจะยอมให้พนักงานสอบสวนหญิงสามารถมีผู้ช่วยในการทำหน้าที่ด้วยก็ได้

 

5. ประเทศไทยมีสถานีตำรวจอยู่ 1500 สถานี มีพนักงานสอบสวนหญิง 400 คนซึ่งหมายถึงมีสถานีตำรวจอยู่กว่า 1000 สถานีที่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงเลย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1000 อัตรา หรือต้องส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาทำงานพิทักษ์สันติราษฏร์มากขึ้น 

 
6. การทำงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนหญิงต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นอย่างแท้จริง ไม่ควรใช้พนักงานหญิงไปทำงานในหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง และในสถานที่ทำงานต้องมีความปลอดภัย ไร้การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ หรือถูกคุกคามจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้ร่วมงานด้วยกัน การทำงานที่เคารพเนื้อตัวร่างกาย เกียรติและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้หญิงสมัครเป็นตำรวจ หรือทำงานกันอย่างมืออาชีพด้วยความสบายใจ

ประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 ต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบพหุวัฒนธรรมกับเพศสภาวะที่แตกต่างที่ต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชายได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหลายๆประเทศได้พัฒนา และเห็นความจำเป็นของการมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ดังนั้นการกีดกันไม่ยอมรับ ไม่เปิดโอกาส ให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานนอกจากจะเป็นความคิดที่คับแคบแล้ว ยังจะสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย   

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น