โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ประกาศแต่งตั้งประธานและกรรมการ กกต. ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 60

Posted: 15 Aug 2018 10:39 AM PDT

หลัง สนช. ไม่เห็นชอบ กกต. รอบแรกเมื่อกุมภาพันธ์ 61 ทำให้ต้องสรรหารอบ 2 ในที่สุดราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งชุดแรก 5 คนตามรัฐธรรมนูญ 2560 อิทธิพร บุญประคอง นั่งประธาน กกต. คนแรก ส่วนตำแหน่ง 2 กกต. ที่ยังว่าง สนช. เตรียมสรรหารอบใหม่ คาดเสร็จเรียบร้อยพฤศจิกายนนี้

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 12 ส.ค. 2561 โดยมีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประกาศ
แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า

โดยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามจำนวนห้าคนเป็นกรรมการการเลือกตั้ง และบุคคลผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าคนได้ประชุมเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 222 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 8 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ดังนี้

1. นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง
2. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
3. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
4. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
5. นายปกรณ์ มหรรณพ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2561 เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พรเพชร วิชิตชลชัย
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

รับรอง กกต. ถอดถอนย้อนหลัง อุ้มเพื่อนโดดประชุม: 5 เรื่องลับๆ ที่ สนช. ไม่อยากให้ประชาชนฟัง, ประชาไท, 24 ก.ค. 2561

ประธาน สนช.ไม่รู้สาเหตุ สนช. ไม่เห็นชอบว่าที่ กกต.ชุดใหม่ สมชัย ย้ำไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง, ประชาไท, 23 ก.พ. 2561

วิษณุเตรียมประสาน-ทำงานร่วมกับ กกต. ชุดใหม่

อนึ่งในรายงานของสำนักข่าวไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและกรรมการ กกต. ชุดใหม่ว่า จะเร่งประสาน กกต.ชุดใหม่ เนื่องจากมีหลายเรื่องต้องพูดคุย หากพบเร็วจะได้ผลเร็วทุกเรื่อง อาทิ เรื่องไพรมารีโหวต ผู้ตรวจการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาเคยหารือกับ กกต.ชุดเก่า เมื่อได้กกตใหม่แล้วจึงต้องนัดหารือใหม่  ยอมรับว่าตื่นเต้นกับ กกต.ใหม่ เพราะมีเรื่องต้องทำงานด้วยกันหลายเรื่อง

ขั้นตอนยืดเยื้อมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับขั้นตอนสรรหา กกต. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ล่าช้ามาตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 22 ก.พ. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยมีมติไม่เห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ทั้ง 7 คนเริ่มดำเนินการสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และเมื่อ 12 ก.ค. ที่ประชุม สนช. ซึ่งเป็นการประชุมลับ ได้ลงมติรับรอง กกต. 5 คน ตามที่มีรายชื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ส่วนอีก 2 รายไม่ผ่านได้แก่ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ตามรายงานของข่าวสด พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวเมื่อ 26 ก.ค. กล่าวว่าได้หารือกับประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองในฐานะกรรมการสรรหา กกต. ถึงแนวทางสรรหา กกต.ที่เหลืออีก 2 คนว่ามีแนวโน้มใช้วิธีสรรหาเช่นเดิม ไม่ใช้วิธีทาบทามตามที่มีข้อเสนอเพราะไม่เหมาะสม จะใช้เวลาสรรหา 60 วัน จากกรอบ 90 วัน และเข้าสู่กระบวนการพิจาณาโดย สนช. อีก 45 วัน รวมใช้เวลาเวลา 105 วัน คาดว่าจะเสร็จช่วงเดือน พ.ย.นี้ ส่วน กกต.อีก 2 คนจะมาทำหน้าที่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ยังตอบไม่ได้เพราะยังมีขั้นตอนทางธุรการที่ต้องดำเนินการ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รมว.สธ.ชี้รับฟังความเห็นพัฒนาสิทธิบัตรทอง กลไกสู่ความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพ

Posted: 15 Aug 2018 10:18 AM PDT

รมว.สาธารณสุข มอบนโยบายเวทีรับฟังความเห็นพัฒนา 'สิทธิบัตรทอง' ปี 61 ย้ำ 'รับฟังความเห็นทั่วไป' กลไกสร้างมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของร่วมกัน หนุน 16 ปี 'หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' สู่ความสำเร็จ นานาชาติยอมรับ ต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมชม สปสช.สร้างความแข็งแกร่งระบบหลักประกันฯ เตรียมจัดทำข้อสรุป นำเสนอต่อบอร์ด สปสช.

 

15 ส.ค.2561 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์  โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ วันนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบนโยบาย "ทิศทางความร่วมมือกับกลไกนโยบายหลักประกันสุขภาพระดับโลก เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพในประเทศ" "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ในเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2561 "เสียงเพื่อกลุ่มเปราะบาง: ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" จัดโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บอร์ด สปสช. อนุกรรมการฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้เสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นทั่วไปเป็นหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มในปี 2545 ตลอดระยะเวลา 16 ปีได้ผ่านร้อนผ่านหนาว มีอุปสรรคปัญหามากมาย แต่ประเทศไทยได้ฟันฝ่ามาได้ มีการพัฒนาและปฏิรูปหลายครั้ง จนกระทั่งวันนี้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เห็นได้จากการเข้าร่วมประชุมองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ยกย่องให้ไทยเป็นประเทศตัวอย่าง แม้ไม่ร่ำรวยแต่สามารถบริหารจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ต้องล้มละลายจากปัญหาสุขภาพ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ แม้แต่ ทีโดรส อัดฮานิม กีบรีเยซุส (Mr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเข้าร่วมประชุมนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2561 ยังกล่าวชัดเจนว่าประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศรายได้ปานกลางอย่างไทย สามารถขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินนโยบายประชารัฐ ส่งผลให้เกิดเป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งจากการประชุมองค์การอนามัยโลกที่ผ่านมา มีหลายประเทศเข้าพบขอนำแนวทางระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยไปใช้ ทั้งประเทศเคนย่า หรือแม้แต่อิหร่านประเทศที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาร่วม 10 ปี แต่ด้วยใช้ระบบ Fee For Service คือ รพ.จ่ายเท่าไหร่ เบิกจากรัฐบาลเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่าย จึงขอนำระบบของไทยที่มีรูปแบบการจ่ายชดเชยหลากหลาย อาทิ ระบบ DRG และ UCEP เป็นต้น ไปเป็นแนวทางพัฒนาต่อไป 

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนกระบวนการรับความเห็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช.ได้ดำเนินอยู่นี้ ต้องบอกว่ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากมีการรับข้อเสนอและความเห็นแล้ว ยังได้มีการติดตามเพื่อให้บรรลุผล ซึ่งทุกฝ่ายต่างให้ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ขอชื่นชม สปสช. เพราะยิ่งเวลาผ่านไป ความแข็งแกร่งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยิ่งเพิ่มมากขึ้น สะท้อนความสำเร็จจากการได้รับ 2 รางวัลกองทุนหมุนเวียน ประจำปี 2561 ประเภทผลการดำเนินงานดีเด่นและประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่นที่ผ่านมา ในการบริหารกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่จำกัด ถือเป็นความสำเร็จของ สปสช.และทุกภาคส่วนที่ต่างร่วมมือกัน โดยยึดหลักการสำคัญ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป กล่าวว่า การรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ในปี 2561 นี้ มีผู้ร่วมเสนอความเห็นจำนวน 13,101 คน ทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ อปท. กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มเปราะบางมีสัดส่วนเสนอความเห็นมากสุด ร้อยละ 34 รองลงมาเป็น ผู้รับบริการ ร้อยละ 29 ผู้ให้บริการ ร้อยละ20  อปท.ร้อยละ 9 และกลุ่มอื่น ร้อยละ 8 นอกจากนี้ยังรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์และแบบสอบถามจำนวน 1,796คน  ซึ่งภาพรวมได้มีการนำเสนอความเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้ง 7 ด้าน ตามข้อบังคับ คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ

ทั้งนี้ข้อเสนอที่ได้สรุปรวบรวม อาทิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ยา ทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี โดลูเทกูรินในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย และยา Growth hormones ในเด็กที่มีการเจริญเติบโตไม่สมวัย, การทบทวน ปรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ การรับ-ส่งต่อให้เหมาะสมกับบริบท, การกระจายเครื่องช่วยฟัง, การจัดช่องทางด่วนสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ, การเพิ่มประสิทธิภาพการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนบริการปฐมภูมิ, การเพิ่มบทบาทการเข้าร่วมบริการจัดการของภาคประชาชน, สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาระเบียบหรือแนวทางการใช้เงินอย่างถูกต้อง, ให้มีกลไกรองรับยาใหม่และยาแพงที่จะนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และการเพิ่มงบรายหัวจาก 45 บาท เป็น 50-60 บาท เป็นต้น ขณะที่ข้อเสนอต่อประเด็นกลุ่มเปราะบาง อาทิ เสนอเพิ่มโค้วต้าพิเศษกรณีพระสงฆ์ในการลงทะเบียนย้ายสิทธิใน กทม.และเขตเมือง และการจัดตั้งกองทุนดูแลคนไทยไร้สิทธิในระหว่างรอการพิสูจน์สถานะ เป็นต้น

"หลังจากนี้จะมีเรียบเรียงประเด็นที่ได้รับฟังความเห็นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะทำงาน อนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ เพื่อสรุปความเห็นและนำเสนอต่อ บอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ บอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาในการดำเนินการและติดตามประเมินผลต่อไป" นพ.จรัล กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

คำสั่ง คสช. ที่ 3/2561 พล.อ.ประยุทธ์นั่งประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

Posted: 15 Aug 2018 09:21 AM PDT

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2561 ลงนามโดยหัวหน้า คสช. ตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ นอกจากนี้ยังการยกเครื่อง-ตั้งกรรมการคนอื่นๆ รวม 17 ราย ในจำนวนนี้มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, ประมนต์ สุธีวงศ์, ถวิล เปลี่ยนศรี, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ต่อตระกูล ยมนาค, จุรี วิจิตรวาทการ ฯลฯ

(ซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างประชุมกับ ก.พ.ร. เมื่อ 30 พ.ย. 2559 (ขวา) พล.อ.ประยุทธ์ ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อ 15 ส.ค. 2561 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย [1], [2])

15 ส.ค. 2561 ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยระบุให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ยังแต่งตั้งบุคคลอื่นๆ เป็นกรรมการด้วยรวม 17 ราย

อนึ่งข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่าภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการ/คณะกรรมการแล้ว 31 ตำแหน่ง และเป็นประธานกรรมการ/คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว 11 ตำแหน่ง รวมแล้วอย่างน้อย 42 ตำแหน่ง

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 3/2561
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
ตามที่ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2561 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 8 มิถุนายน พุทธศักราช 2561 เพื่อให้การขับเคลื่อนกำรดำเนินการในเรื่องการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังนี้
ข้อ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย
1) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
2) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองประธานกรรมการ
3) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ
4) พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท กรรมการ
5) พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ กรรมการ
6) พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง กรรมการ
7) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการ
8) นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการ
9) นายถวิล เปลี่ยนศรี กรรมการ
10) รองศาสตราจาย์ จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการ
11) รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ
12) นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ กรรมการ
13) นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการ
14) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ
15) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ กรรมการ
16) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรรมการ/เลขานุการ
17) เสนาธิการทหารบก/ผู้เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมการ/ผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ 2 ให้คณะกรรมการตามข้อ 1 มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1) จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
2) ประสาน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล
3) ติดตาม ประสานงานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในส่วนของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมการตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบ
4) จัดทำผลการดำเนินการและเสนอแนะความเห็นหรือกลไกในการดำเนินการที่จำเป็นในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน
5) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความจำเป็น
7) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะความเห็นหรือคำแนะนำทางวิชาการ ตลอดจนขอให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
8) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2561
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

ยกเครื่องล่าสุดของ "คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 127/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เมื่อ 15 ธันวาคม 2557 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งภายในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกว่า "คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ"

โครงสร้างเริ่มต้นให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นรองประธานกรรมการ ผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมายอีกไม่เกินสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งอีกไม่เกินเก้าคน เป็นกรรมการ

ทั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตามองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นระยะ จนกระทั่งมีคำสั่ง คสช. ที่ 2/2561 ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ตามมาด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 3/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ฉบับล่าสุดดังกล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ตัวแทนองค์กรรับทุน สสส. ร้อง 'สรรพกร' หยุดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม พบถูกรีดย้อนหลังกว่า 5 ล้าน

Posted: 15 Aug 2018 09:07 AM PDT

ตัวแทนองค์กรที่รับทุน สสส. บุกสรรพกร ร้องหยุดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม หลังบางองค์กรถูกรีดภาษีย้อนหลังกว่า 5 ล้านบาท ถึงขั้นล้มละลาย แถมถูกกล่าวหาเป็นองค์กรแสวงหากำไร-หนีภาษี ถูกตีความเป็น "สัญญาจ้างทำของ" ลั่นหากไม่ได้ข้อสรุปเตรียมตบเท้าร้องรองนายกฯ ขณะที่สรรพกร ยืนยันได้ข้อยุติภายในสิ้นเดือนนี้

15 ส.ค.2561 จากกรณีกรมสรรพากร เริ่มเร่งรัดประเมินและจัดเก็บภาษีที่มาจากการตีความจ่ายเงินสนับสนุนโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่ง ลมกรด คอลั่มนิสต์ในไทยรัฐระบุว่า มาตรการนี้เป็นผลมาจากการตรวจสอบงบการเงินในปีงบประมาณ 2557 โดย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า "ข้อตกลงดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ" เป็น "สัญญาจ้างทำของ" และวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่ สสส.สนับสนุนให้แก่ภาคีเครือข่ายถือเป็นรายได้ของภาคี พร้อมส่งเรื่องให้ กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากภาคีเครือข่าย สสส.ทั่วประเทศนั้น

วันนี้ (15 ส.ค.61) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กรมสรรพากร วิวัฒน์ ตามี่ แกนนำเครือข่ายกลุ่มชาติพันธ์  พร้อมด้วย คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)  และตัวแทนองค์กรที่รับทุนทำโครงการให้กับ สสส. ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว สตรี คนพิการ แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค คนจนเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเกษตร กว่า 50 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ  เอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร ผ่านทาง เกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เครือข่ายได้ชูป้ายรูปปูขนาดใหญ่สื่อถึงสรรพกร "หยุดรีดเลือดปู หยุดภาษีไม่เป็นธรรม" พร้อมข้อความเสียดสีต่างๆ  

วิวัฒน์ กล่าวว่า ตนทำงานกับคนด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธ์มายาวนาน  มีโอกาสรับทุนจาก สสส.เพื่อสร้างสุขภาวะกับกลุ่มชาติพันธ์ หากถูกเก็บภาษีแบบนี้คงต้องล้มละลาย ที่ผ่านมาถูกติดตามไล่บี้ภาษีอย่างต่อเนื่อง กว่า5ล้านบาท ก่อนหน้านี้เคยมายื่นขอความเป็นธรรมเมื่อ ก.พ.61 วันนี้จึงมาติดตามความคืบหน้า คือ สรรพกรตีความเหมารวมทั้งโครงการว่าเป็น"สัญญาจ้างทำของ" รวมถึงหากโครงการไหนงบเกินกว่า1.8 ล้านบาท เข้าข่ายธุรกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือ โครงการที่ได้รับทุน สสส.อยู่ภายใต้ข้อตกลงการเป็น ตัวแทนเข้าร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพ หรือเรียกว่าเป็นภาคีทำโครงการลักษณะพัฒนาชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็ก เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

"พวกเราทำงานไม่ได้แสดงหากำไร ไม่ได้หนีภาษี เพราะชำระภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามกฎหมายไทย แต่การเรียกเก็บภาษีในลักษณะสัญญาจ้างทำของ จึงบิดเบือนและผิดหลักข้อเท็จจริง ตลอด 2 ปี ข้อโต้แย้งไม่ยุติ สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก" วิวัฒน์ กล่าว    

สำหรับ ข้อเสนอและจุดยืนของเครือข่ายต่อกรมสรรพากร มีดังนี้ 1.ขอให้ยุติการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และเร่งหาข้อสรุปทบทวนการตีความโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จาก"สัญญาจ้างทำของ"ให้กลับมาเป็น "สัญญาตัวแทน" โดยเร็ว โดยผู้ดำเนินโครงการต่างเสียภาษี "ค่าตอบแทน" ตามเงื่อนไขกำหนดของ สสส. อยู่แล้ว 2.ขอยืนยันว่าองค์กรภาคประชาชนที่รับทุนสสส.ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร ไม่มีกำไรจากการดำเนินโครงการต่างๆ การตีความดังกล่าวของสรรพากร สร้างความเสื่อมเสียให้กับภาคีเครือข่าย ทำให้สังคมสับสนและเข้าใจผิด และ3.ขอให้พิจารณาและตอบกลับหนังสือชี้แจงข้อมูลการดำเนินการและการรับจ่ายเงินของสสส. ตั้งแต่วันที่10ก.พ.60 อ้างอิงเลขที่หนังสือ สสส.ฝ.5/323/2560 ที่ลงนามโดย พลเรือเอกณรงค์  พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุน สสส.ซึ่งได้ชี้แจงไว้ชัดเจนถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเหตุใดกรมสรรพากรจึงไม่นำมาพิจารณา

คำรณ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติโดยส่วนรวม  สร้างความหวาดกลัวให้กับคนทำงานด้านสังคมที่ดำเนินงานในลักษณะไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร แต่กลับถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับองค์กรแสวงหากำไร กลุ่มธุรกิจ  และยังคำนวณการจัดเก็บภาษีย้อนหลังซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง แม้ที่ผ่านมาพบว่ามีความพยายามของรองนายกรัฐมนตรี พลเอกฉัตรชัย  สาลิกัลยะ ในฐานะประธานบอร์ดสสส.ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงยังพบว่าแทบทุกพื้นที่ ภาคีถูกติดตามไล่บี้ภาษีกันอย่างหนัก แทบไม่ทันตั้งตัว คนทำงานบางรายที่ป่วยนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อาการทรุดเมื่อรู้ว่าต้องโดนภาษีอย่างไม่เป็นธรรม

"อยากตั้งคำถามในการทำงานของกรมสรรพากร โดยเฉพาะการออกมาตรการหลายอย่างที่เอื้อให้กับนายทุน กลุ่มธุรกิจที่มีกำไร แต่กลับมาขูดรีดภาษีกับองค์กรภาคสังคมที่ไม่มีกำไร อย่างเอาเป็นเอาตาย หากไม่ได้รับข้อยุติ ภาครัฐจะสูญเสียคนทำงานภาคสังคมที่จะมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการแบ่งเบาภาระ ช่วยทำงาน และลดความเหลือมล้ำในระบบราชการที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งนี้หากยังไม่มีความชัดเจน เครือข่ายจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป" คำรณ  กล่าว 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังยื่นหนังสือ ทางกรมสรรพกรได้เชิญตัวแทนเครือข่ายฯเข้าหารือ โดย คำรณ กล่าวภายหลังการหารือว่า ทาง เกรียงศักดิ์ ได้แสดงความห่วงใย และยืนยันว่าสรรพกรไม่ได้นิ่งนอนใจ ยืนยันกับภาคประชาชนว่า ขอให้ความมั่นใจว่าเรื่องนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีและไม่ทำให้คนทำงานต้องเสียหาย ข้อสรุปที่ได้จะเป็นเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเราทำงานร่วมกัน3ฝ่ายคือสรรพากร สสส.และสตง.ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเร่งให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้และจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จีนคุมเข้มเนื้อหาออนไลน์ ทำบริษัททำเกมยักษ์ใหญ่กำไรตกต่ำสุดรอบทศวรรษ

Posted: 15 Aug 2018 07:13 AM PDT

เทนเซนต์ บริษัทร่วมทุน ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเกมมือถือยักษ์ใหญ่จากจีนกำลังประสบภาวะกำไรตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษจากนโยบายคุมเข้มเนื้อหาออนไลน์ของรัฐบาลจีนที่ไม่อนุมัติให้เปิดตัวและเก็บรายได้จากเกมของพวกเขาที่คนจีนเล่นเยอะที่สุดเป็นอันดับสอง

ภาพจากเกม Arena of Valor (ROV) จัดจำหน่ายโดยบริษัทเทนเซนต์ (ที่มา:maahalai)

15 ส.ค. 2561 สื่อบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัทเทนเซนต์ จำกัด (Tencent Ltd.) บริษัทร่วมทุน (Venture Capital) ที่ผันตัวจากบริษัทผลิตเกมยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน กำลังประสบกับภาวะกำไรตกต่ำมากที่สุดในรอบทศวรรษ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนไม่อนุมัติให้วางจำหน่ายเกมดัง Monster Hunter (MonHun) และไม่ให้เก็บรายได้จากเกม  PlayerUnknown's Battlegrounds (PUBG) อันเป็นผลมาจากความเข้มงวดในการจดทะเบียนเกมจากองค์การบริหารวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวตามนโยบายคุมเข้มเนื้อหาออนไลน์

เบนจามิน หวู นักเวิคราะห์จากบริษัทแปซิฟิค เอพอค ให้ความเห็นว่า ทางการจีนอาจจะอนุมัติให้วางจำหน่ายเกม MonHun อีกทีในช่วงเดือน ก.ย. นี้ แต่การที่เกม MonHun ถูกห้ามวางจำหน่ายแสดงให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ไม่ได้อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลเลย

บลูมเบิร์กรายงานต่อวา เทนเซนต์ยังคงถือสินทรัพย์อยู่มากในแอพพลิเคชั่นวีแชท บริการส่งข้อความจีนซึ่งเป็นที่ๆ เทนเซนต์ใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์เกม ทั้งนี้ เทนเซนต์อธิบายภาวะกำไรตกต่ำว่ามาจากการที่เม็ดเงินลงทุนไหลไปอยู่ที่บริษัทสตาร์ตอัพอื่นๆ

ในกรณีเกม PUBG เป็นเกมคอมพิวเตอร์สัญชาติเกาหลีที่เทนเซนต์ทำเกมในทางการจีนยังไม่อนุญาตให้เทนเซนต์ซึ่งทำเกมดังกล่าวบนมือถือ ซึ่งมีรายละเอียดน้อยกว่าเวอร์ชั่นคอมพิวเตอร์ พร้อมออปชั่นที่สามารถทำให้เล่นบนคอมพิวเตอร์ได้ ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้เทนเซนต์เก็บรายได้จากเกม PUBG แม้ว่าจะเป็นเกมที่คนจีนเล่นมากที่สุดเป็นอันดับสอง (สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา) ซึ่งหวูวิเคราะห์ว่าเกม PUBG จะยังไม่ได้รับอนุมัติภายในปีนี้เนื่องจากความตึงเครียดด้านการทูตที่จีนมีต่อเกาหลีใต้

ในอดีต เทนเซนต์เคยมีปัญหาเรื่องการสร้างรายได้จากเกมที่ผลิตเองที่ชื่อว่า Honour of the King เมื่อสื่อของทางการจีนรายงานว่าเกมดังกล่าวเร้าให้คนผู้เล่นเกิดอาการเสพติดเกม

เทนเซนต์เป็นผู้จัดจำหน่ายเกมบนมือถือที่เป็นที่รู้จักของคนไทยสองเกม คือ PUBG เวอร์ชั่นมือถือ และเกม Arena of Valor (ROV) เกมทั้งสองมีการขายสินค้า (ไอเท็ม) ให้ผู้เล่น เช่น เสื้อผ้าหรือตัวละครในเกม

แปลและเรียบเรียงจาก

Tencent Stuns With First Profit Drop in at Least a Decade, Bloomberg, Aug. 15, 2018

China Freezes Game Approvals Amid Agency Shakeup, Bloomberg, Aug. 15, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ม.วลัยลักษณ์จัดกิจกรรมสร้างวินัยนักศึกษา บังคับปี 1 เข้าร่วม ให้ทหารมาฝึกระเบียบแถว

Posted: 15 Aug 2018 06:49 AM PDT

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมพัฒนาระเบียบวินัยนักศึกษา บังคับปี 1 สองพันกว่าคนเข้าร่วม เปิดงานวันแรกมีทหารมาฝึกระเบียบแถว และสอนเรื่องความเป็นผู้นำ นักศึกษาระบุ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี พูดว่าใครไม่ร่วมจะตัดคะแนนกิจกรรม และถ้าไม่ร่วม มหา'ลัย นี้ อาจไม่เหมาะกับพวกคุณ

15 ส.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งข้อมูลจากเพจ มวล.ฝ่ายซ้าย ว่า ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาระเบียบวินัยและคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ ใช้ชื่อโครงการว่า WU Next Generation Leadership 2018 เพื่อพัฒนานักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้มีวินัยในตนเอง มีความกตัญญู จิตอาสาและภาวะผู้นำ โดยมอบหมายให้ส่วนกิจการนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่จัดกิจกรรม ซึ่งบังคับให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน 2,263 คนต้องเข้าร่วม ซึ่งจะมีการนัดรวมตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 16 ครั้ง เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. นี้

กิจกรรมในลักษณะดังกล่าว เรียกได้ว่ามีลักษณะคล้ายกับการรับน้องรวมของมหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกิจกรรมที่บังคับให้ทุกคนต้องเข้าร่วม จะมีแต่เพียงกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นแล้วให้นักศึกษาเข้าร่วมตามความสมัครใจเพื่อเก็บสะสมคะแนนกิจกรรม ซึ่งมีผลต่อการยื่นขอกู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา การเกิดขึ้นของกิจกรรมนี้มาพร้อมกับการลงบทบาทขององค์กรกลุ่มสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมรับร้องโดยรุ่นพี่ในคณะต่างๆ ที่จะแยกนักศึกษาปี 1 ออกไปทำกิจกรรม และเมื่อทางมหาวิทยาลัยเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวควรจะลดลง จึงได้จัดกิจกรรม WU Next Generation Leadership 2018 ขึ้นมาแทนที่เป็นปีแรก โดยนักศึกษาที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครบทั้ง 16 ครั้งจะได้คะแนนกิจกรรมทั้งหมด 16 คะแนน และได้รับเกียรติบัตร

อย่างไรก็ตามในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่าภายในกิจกรรมได้มีเชิญให้ทหาร หรือครูฝึกทหารเข้ามาร่วมทำกิจกรรมทั้งหมด 12 นาย โดยได้มีการฝึกให้นักศึกษาจัดระเบียบแถว มีการพูดเรื่องความเป็นผู้นำ และสอนเรื่องวินัย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกิจกรรมที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของนักศึกษา

อีกทั้งในแอปพลิเคชั่น Yello Take ซึ่งเป็นกระดานสนทนาในโลกออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ในกระดานสนทนาของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการระบุว่า ศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิบการบดี พูดในช่วงเปิดงานในลักษณะว่า หากนักศึกษาคนไหนไม่ร่วมกิจกรรมจะมีการตัดคะแนนกิจกรรม และหากใครไม่เข้าร่วมให้ออกไปจากมหาวิทยาลัยเพราะที่นี่ไม่เหมาะกับพวกคุณ นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ากิจกรรมที่จะมีการจัดขึ้นอีกทั้งหมด 15 ครั้ง จะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาหรือไม่ และจะมีการทำกิจกรรมอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ติดต่อไปยังส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงทั้งเรื่องการเข้ามาร่วมกิจกรรมของทหาร และตรวจสอบข้อเท็จจริงคำพูดของอธิการบดี โดยผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยว่า รองอธิบดีจะติดต่อมาเพื่อชี้แจ้งข้อมูลทันที แต่เวลาผ่านไป 4 ชั่วโมงแล้วยังไม่มีการติดต่อกลับมาเพื่อชี้แจ้ง

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กก.นักนิติสากล ส่ง 5 ความเห็น ปมแก้ กม. การสอบสวนคดีอาญา-ตำรวจ

Posted: 15 Aug 2018 06:01 AM PDT

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ส่ง 5 ข้อคิดเห็นถึงกฤษฎีกา กรณีร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... หวังปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น

15 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ส่งหนังสือข้อคิดเห็นถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 2 และ 16 ส.ค. 2561  

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุว่า พวกเราชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงปรารถนาที่จะเห็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำข้อคิดเห็น 5 ประเด็น ประกอบด้วย

ก.  มาตรา 7 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง การรับคำร้องทุกข์และ/หรือคำกล่าวโทษโดยพนักงานสอบสวน

ข.  มาตรา 16 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ค.  มาตรา 16  ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง หน้าที่ในการดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม

ง.  มาตรา 17 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง ข้อห้ามมิให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้นเข้าไปในสถานที่ที่ค้นและห้ามมิให้บันทึกภาพและเสียงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

จ.  มาตรา 105 ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การใช้อาวุธปืนและ/หรือกำลังบังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละทิ้งหน้าที่เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

รายละเอียดหนังสือข้อคิดเห็น 5 ประเด็น ที่ ICJ ส่งถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200

webmaster@krisdika.go.th

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2561

เรียน คณะกรรมการกฤษฎีกา

ข้อคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

พวกเราส่งหนังสือฉบับนี้ถึงท่านในประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... ("ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา") และร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ("ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ") ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 2 และ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พวกเราชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงปรารถนาที่จะเห็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้

ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา

  • มาตรา 7 การรับคำร้องทุกข์และ/หรือคำกล่าวโทษโดยพนักงานสอบสวน

พวกเราขอแสดงความชื่นชมกับมาตรานี้ เพราะเมื่อมาตรานี้ถูกนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้ปัจเจกชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ดียิ่งขึ้น โดยมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ของพนักงานสอบสวนให้สามารถรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษที่มีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อตน ณ สถานที่ทำการที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ และประกันว่าพนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษทราบถึงความคืบหน้าภายในกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนด โดยการแจ้งดังกล่าวจะแจ้งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ การอนุญาตให้สามารถแจ้งความคืบหน้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะสามารถช่วยให้การแจ้งความคืบหน้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

ในการนี้พวกเราจึงขอเน้นย้ำว่าการแจ้งพัฒนาการและความคืบหน้าของคดีต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และพนักงานสอบสวนหรือผู้ประสานงานที่ได้รับมอบหมายในการนี้ต้องดำเนินการแจ้งความคืบหน้าดังกล่าวในเชิงรุก โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจะได้ร้องขอให้แจ้งความคืบหน้าดังกล่าวหรือไม่[1] ทั้งนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้กรรมการตำรวจแห่งชาติคำนึงถึงหลักการดังกล่าวในการกำหนดกรอบระยะเวลาอันสมควรเพื่อประกันว่าการแจ้งความคืบหน้าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ข้อเสนอแนะ (ก): ควรขยายความในมาตรานี้ให้ครอบคลุมถึงหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการแจ้งความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอภายในกรอบระยะเวลาอันสมควรให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษทราบ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจะร้องขอให้แจ้งความคืบหน้าดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม

  • มาตรา 16 ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

การห้ามมิให้เผยแพร่ภาพหรือเสียง ห้ามมิให้นำผู้ถูกจับและ/หรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะที่เป็นการเสียหาย

พวกเราขอแสดงความชื่นชมกับมาตรานี้ในประเด็นที่มาตรานี้คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับซึ่งต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดในชั้นศาล โดยการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้เสียหาย ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ต่อสาธารณชนในประการที่จะเกิดความเสื่อมเสีย และห้ามมิให้มีการนำเสนอข่าวในประการที่จะทำให้เสื่อมเสียหรือบังคับให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับออกแถลงข่าวหรือจัดให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

ข้อ 14(2) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ได้ให้การคุ้มครองสิทธิได้รับสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันในความเห็นทั่วไป (General Comment) เรื่องพันธกรณีของรัฐตามข้อ 14 และสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมว่า เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนมีหน้าที่ละเว้นการกระทำที่เป็นการด่วนสรุปผลการพิจารณาคดี อย่างเช่นโดยการงดเว้นการแถลงการณ์ต่อสาธารณะเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา[2]

นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่บทบัญญัติดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาตีความหรือปรับใช้ในประการที่จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายใช้เพื่อปฏิเสธที่จะให้พยานหลักฐานของการปฏิบัติที่ไม่สมควร (ill-treatment) หรือเพื่อละเมิดสิทธิอื่นๆของผู้ถูกควบคุมระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมตัวในการได้พบทนายความหรือเพื่อประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ หรือเพื่อการจำกัดมิให้บุคคลดังกล่าวสื่อสารโดยสมัครใจกับบุคคลที่อยู่นอกสถานคุมขังเมื่อบุคคลดังกล่าวมีสิทธิที่จะติดต่อสื่อสารเช่นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.นี้ มาตรา 16 วรรคแรก กำหนดให้หน้าที่การสอบสวนผู้ต้องหาด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมนั้นใช้บังคับเฉพาะกับ "พนักงานสอบสวน ในการสอบสวน" เท่านั้น มาตรา 16 วรรคสอง กำหนดห้ามมิให้นำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ใช้บังคับเฉพาะกับ "พนักงานผู้จับหรือรับผู้ถูกจับหรือพนักงานสอบสวน ในชั้นจับกุมหรือระหว่างสอบสวน" และมาตรา 16 วรรคสาม กำหนดห้ามมิให้เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้เสียหาย ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา โดยใช้บังคับเฉพาะกับ "เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวน" ความขัดแย้งภายในมาตราเดียวกันอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจน ทั้งนี้ หลักประกันในการคุ้มครองข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรต้องกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานรัฐทุกคน มิใช่จำกัดเพียงแค่เจ้าหน้าที่ของบางหน่วยงานเท่านั้น

การนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมตามข้อกล่าวหาในสถานที่เกิดเหตุ

มาตรา 16 วรรคสาม ระบุว่าการนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพในสถานที่เกิดเหตุเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบสวนคดีอาญานั้นมิใช่พฤติการณ์ที่ห้ามมิให้กระทำตามมาตรานี้

สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง สิทธิที่จะนิ่งเฉย (Right to Silence) ผลกระทบต่อการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และหลักการปกป้องชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว ล้วนแต่เป็นรากฐานที่สำคัญในการจะพิจารณานำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบสวนคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติในประเทศไทยนั้นพบว่าการนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมได้ถูกดำเนินการในลักษณะที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงสถานการณ์เมื่อมีการให้ผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ผู้เสียหาย ครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียหาย และสาธารณชน[3] นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงโดยสาธารณชนหรือฝูงชนต่อผู้ต้องหา หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว ระหว่างการทำแผนประทุษกรรมอีกด้วย[4]

ในประเด็นดังกล่าว พวกเราเห็นว่าในกรณีใดก็ตามที่ผู้ต้องหาไม่ได้ยินยอมหรือสมัครใจและถูกบังคับให้เข้าร่วมหรือปรากฏตัวในการทำแผนประทุษกรรมนั้นจะเป็นการส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และควรถูกห้ามมิให้กระทำอย่างไม่มีข้อยกเว้น

โดยเฉพาะเมื่อยังคงมีการกล่าวหาว่ามีการทรมานหรือการใช้แนวทางการสอบปากคำหรือการสืบสวนสอบสวนเชิงบังคับขู่เข็ญหรือในทางมิชอบในประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการยากที่จะให้ความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในหลักความสมัครใจในการให้การสารภาพหรือการเข้าร่วมในการทำแผนประทุษกรรม

ด้วยเหตุผลทั้งข้างต้นนี้ พวกเราคิดเห็นว่าประเทศไทยควรยุติแนวปฏิบัติในการทำแผนประทุษกรรมที่ผู้ต้องหาเข้าร่วมด้วยหรือต่อหน้าผู้ต้องหาในการสอบสวนคดีอาญาในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 855/2548 ให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะข้างต้น เนื่องจากคำสั่งปัจจุบันยังคงอนุญาตให้สามารถนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมในสถานที่เกิดเหตุได้ ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการอนุญาตให้สามารถกระทำได้เฉพาะในบางสถานการณ์ และกำหนดมีมาตรการเชิงป้องกันไว้ในกรณีที่ "ไม่สมควร" และห้ามไม่ให้กระทำการ "ข่มขู่" หรือ "ทำร้ายร่ายกาย" ผู้ต้องหา[5]

อย่างไรก็ตาม ถ้ามิได้กระทำตามข้อเสนอแนะข้างต้นและถ้าประเทศไทยเลือกที่จะคงแนวปฏิบัติในการทำแผนประทุษกรรมในสถานที่เกิดเหตุโดยมีผู้ต้องหาเข้าร่วมด้วยหรือต่อหน้าผู้ต้องหา การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถกระทำได้แค่ในกรณีที่ผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตกลงที่จะเข้าร่วมในการทำแผนประทุษกรรมแล้ว โดยบุคคลดังกล่าวต้องได้รับการแจ้งสิทธิโดยครบถ้วนและมีโอกาสได้เข้าถึงทนายความที่เป็นอิสระเป็นการส่วนตัว เพื่อให้มีการประกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการรับสารภาพและการตกลงเข้าร่วมในการทำแผนประทุษกรรมเป็นไปโดยสมัครใจ อีกทั้งทนายความได้รับการบอกกล่าวและมีสิทธิในการเข้าร่วมการทำแผนประทุษกรรม และเมื่อมีมาตรการเชิงป้องกันอย่างเหมาะสมเท่านั้น เพื่อป้องกันสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและชื่อเสียง และป้องกันผู้ต้องหาจากการใช้ความรุนแรงโดยสาธารณชนหรือฝูงชน ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

มาตรการในทางปฏิบัติในกรณีนี้รวมถึง การทำให้แน่ใจว่าความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาในการเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุจะไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ และอัตลักษณ์ของบุคคลดังกล่าวควรถูกเก็บเป็นความลับ การทำให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานรัฐจะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆเกี่ยวกับการทำแผนประทุษกรรมต่อสาธารณะ การประกันว่าการทำแผนประทุษกรรมต้องไม่กระทำในลักษณะเป็นการสาธารณะ เช่น ดำเนินการปิดล้อมหรือให้สาธารณชน ผู้เสียหาย ครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียหาย หรือสื่อมวลชน ออกจากพื้นที่

ข้อเสนอแนะ (ข)(1): เพื่อคุ้มครองข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเพื่อทำให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR มาตรา 16 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสาม ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ใช้บังคับกับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐทุกคน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนและจับกุม และให้สามารถให้ใช้บังคับได้ตลอดเวลาจนกว่าผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับจะถูกพิพากษาว่ามีความผิดในชั้นศาล

นอกจากนี้ยังควรขยายความในมาตรา 16 วรรคสองให้ชัดเจนว่าเจ้าพนักงานไม่สามารถบังคับผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหรือปรากฏตัวในการแถลงข่าวอันขัดต่อความประสงค์ของผู้นั้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น "ขณะการจับกุมหรือการสอบสวน" หรือในเวลาอื่นใด และในขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานก็ไม่มีอำนาจในการยับยั้งมิให้ผู้ต้องหาที่ประสงค์จะสื่อสารกับสื่อมวลชนจากการสื่อสารดังกล่าว นอกเสียจากการยับยั้งดังกล่าวมีความจำเป็นและได้สัดส่วน เช่นในกรณีเพื่อความเป็นระเบียบร้อยและการปฏิบัติงานในสถานที่คุมขังบุคคลผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพ

ข้อเสนอแนะ (ข)(2): พวกเราขอเน้นย้ำว่าการบัญญัติมาตรา 16 วรรคสามเพื่อป้องกัน "การกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้เสียหาย ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา" ต้องกำหนดให้รวมถึงการมิให้แถลงการณ์ต่อสาธารณะอันเป็นการด่วนสรุปว่าผู้ต้องหามีความผิด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อเสนอแนะ (ข)(3): ข้อยกเว้นตามมาตรา 16 วรรคสาม ที่อนุญาตให้สามารถนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบการรับสารภาพควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม (และคำสั่ง ฯ ที่ 855/2548 สมควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะข้างต้น

  • มาตรา 16 วรรคแรก หน้าที่ในการดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม

พวกเราขอแสดงความชื่นชมชื่นชมต่อบทบัญญัติในมาตรานี้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนทุกคนมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และต้องละเว้นจากการกระทำใดก็ตามอันเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชน

พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค.ศ.2016) ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ได้รวบรวมมาตรฐานสำหรับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ได้ระบุว่าการสอบสวนต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ละเอียดถี่ถ้วน อิสระ เป็นกลาง และโปร่งใส[6] นอกจากนี้มาตรฐาน หลักการและแนวทางระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย และเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ เช่น คู่มือสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่สำหรับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ค.ศ.1979 และหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ค.ศ.1990 ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยหลักความยุติธรรมพื้นฐานสำหรับผู้เสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ.1985 แนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแสวงหาข้อเท็จจริงสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อกำหนดขั้นต่ำสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ฉบับปรับปรุง ค.ศ.2015 หลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ค.ศ.1985 หลักการสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ ค.ศ. 1990 และแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของอัยการ ค.ศ.1990[7]

ข้อเสนอแนะ (ค)(1): เพื่อประกันให้การสอบสวนเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนซึ่งให้การรับรองสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับที่จะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ บทบัญญัติในมาตรานี้ควรได้รับการขยายความให้ใช้บังคับรวมไปถึงเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสอบสวนทุกคน ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน และอัยการ

นอกจากนี้ ควรขยายความในมาตรานี้ให้มีบทบัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนให้ดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม อีกทั้งยังต้องเป็นไปอย่างอิสระ เป็นกลาง โปรงใสและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ (ค)(2): พวกเราขอเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนควร "ต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงมาตรฐาน หลักการและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐและเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย"

นอกจากจะเป็นหลักประกันว่าการดำเนินการสอบสวนจะดำเนินไปโดยสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว แนวปฏิบัติและหลักการระหว่างประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นซึ่งได้รับการยกร่างโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังสามารถชี้แนะแนวทางอันสำคัญเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐในประเทศไทยได้อีกด้วย

  • มาตรา 17 ข้อห้ามมิให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้นเข้าไปในสถานที่ที่ค้นและห้ามมิให้บันทึกภาพและเสียงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

มาตรานี้เมื่อนำมาใช้ในการค้นเคหสถานจะช่วยเป็นหลักประกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นการปกป้องความเป็นส่วนตัวและชื่อเสียงของบุคคลดังกล่าว โดยกำหนดห้ามมิให้เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนแจ้งหรือเผยแพร่ให้บุคคลอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้นทราบหรือยินยอมให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่ค้น ทั้งนี้ กรณีที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งในประเด็นนี้คือกรณีเช่นการที่เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนแจ้งและเชิญสื่อโทรทัศน์ให้เข้ามาในพื้นที่เคหสถานและบันทึกภาพผู้คนและสิ่งของที่ถูกตรวจค้น และต่อมาทำการเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกไปสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นการกระทำในลักษณะชี้แนะกับสาธารชนว่าบุคคลและสิ่งของดังกล่าวมีความผิด

อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ยังได้ระบุอีกว่าการบันทึกเสียงและ/หรือภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายระหว่างการค้นไม่ควรกระทำโดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต

ในการนี้พวกเราขอเน้นย้ำว่าตามหลักแล้ว การบันทึกภาพและเสียงควรต้องกระทำระหว่างการค้นทุกครั้ง (รวมถึงระหว่างการสอบปากคำและการสัมภาษณ์)[8] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน โดยต้องเปิดเผยบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาและที่ปรึกษากฎหมายของบุคคลดังกล่าวเพื่อเป็นการประกันว่าการสอบสวนนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ในขณะเดียวกันข้อห้ามอย่างกว้างที่กำหนดมิให้ "บุคคลอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้น" ทำการบันทึกภาพหรือเสียงของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจตีความให้ใช้บังคับกับบุคคลใดก็ตาม (เช่นผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของหรือผู้ที่ถูกตรวจค้น) ที่อยู่ในสถานที่ที่ค้น ตลอดจนสาธารณชนผู้พบเห็นการค้นที่เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล เป็นข้อห้ามที่มีลักษณะที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะเมื่อการบันทึกภาพและเสียงโดยผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือโดยสาธารณชนมีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้งยังทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างเหมาะสม ประเด็นข้างต้นในมาตรานี้จึงควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดออกเพื่อปกป้องสิทธิต่าง ๆ ของสาธารณชนในกรณีที่การปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล และสิทธิของผู้ที่ถูกตรวจค้นหรือบุคคลใดๆที่อยู่ในเคหสถาน อันรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ข้อเสนอแนะ (ง)(1): มาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยบัญญัติให้ชัดเจนว่าต้องทำการบันทึกภาพและ/หรือเสียงระหว่างการค้นที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนทุกครั้ง โดยการบันทึกภาพและ/หรือเสียงสามารถกระทำโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายหรือเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการค้น หรือเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการสอบสวนดังกล่าว

ข้อเสนอแนะ (ง)(2): มาตรานี้สมควรบัญญัติอนุมาตราที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า "บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่มีผลเป็นการลบล้างความจำเป็นในการใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่น ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอสำหรับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ในเรื่องการใช้กำลังที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการป้องกันมิให้มีการทรมานและการประทุษร้ายระหว่างการกระทำการค้น"

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

พวกเรามีความประสงค์แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในมาตราหนึ่งที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนและกำลังบังคับของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

  • มาตรา 105 การใช้อาวุธปืนและ/หรือกำลังบังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละทิ้งหน้าที่เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

พวกเราชื่นชมที่บทบัญญัติในมาตรานี้กำหนดเงื่อนไขที่จำกัดการใช้กำลังและ/หรืออาวุธปืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจละทิ้งหน้าที่ โดยกรณีดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายได้นั้นต้องครบองค์ประกอบทั้งสาม คือ "มีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" "กระทำโดยสุจริต" และ "ตามสมควรแก่เหตุ"

ในการนี้หลักการขั้นพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ค.ศ.1990 (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials หรือ UN Basic Principles) บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายควรใช้วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นลำดับแรกในการปฏิบัติหน้าที่ตราบเท่าที่จะสามารถกระทำได้ แล้วค่อยหันไปสู่การใช้กำลังหรืออาวุธปืน แม้ว่าเงื่อนไขด้าน "ความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" จะสามารถตีความโดยนัยให้หมายความรวมถึงหลักการข้างต้นนี้ก็ตาม มาตรานี้จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าบัญญัติหลักการนี้ไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย

อีกทั้ง หลักการขั้นพื้นฐานสหประชาชาติดังกล่าวยังได้กำหนดแนวทางห้ามมิให้ใช้อาวุธปืนเว้นแต่เป็นการใช้เพื่อปกป้องสิทธิในชีวิต อย่างเช่นในกรณีการป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงต่อชีวิตหรือหรือการถูกทำให้บาดเจ็บสาหัส เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงและเป็นภยันตรายต่อชีวิต เพื่อจับกุมบุคคลผู้ก่อภยันตรายดังกล่าวแล้วขัดขืนเจ้าพนักงาน หรือเพื่อป้องกันการหลบหนีของบุคคลดังกล่าว และต้องปรากฏว่าหนทางอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้

หลักการดังกล่าวยังกำหนดให้สามารถใช้อาวุธปืนโดยเจตนาทำให้ถึงตายได้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อปกป้องชีวิตเท่านั้น และแม้ว่าเงื่อนไข "ตามสมควรแก่เหตุ" อาจจะสามารถตีความโดยนัยให้หมายความรวมถึงข้อจำกัดดังกล่าวมาด้านต้นนี้ก็ตาม แต่มาตรานี้จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าบัญญัติหลักการนี้ไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย

ข้อเสนอแนะ (จ)(1): มาตรานี้สมควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ชัดเจนว่าจะสามารถใช้อาวุธปืนได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อ "การป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงต่อชีวิตหรือหรือการถูกทำให้บาดเจ็บสาหัส เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงและเป็นภยันตรายต่อชีวิต เพื่อจับกุมบุคคลผู้ก่อภยันตรายดังกล่าวแล้วขัดขืนเจ้าพนักงาน หรือเพื่อป้องกันการหลบหนีของบุคคลดังกล่าว และต้องปรากฏว่าหนทางอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้" และ "การใช้อาวุธปืนโดยเจตนาทำให้ถึงตาย" จะชอบด้วยกฎหมาย "เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อปกป้องชีวิต"

นอกจากนี้มาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดหลักประกันที่จำเป็นเพื่อกำหนดให้การใช้กำลังและ/หรืออาวุธปืนได้เฉพาะ "เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องได้ใช้ความพยายาม "เท่าที่สามารถกระทำได้ ในการใช้วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงก่อนหันไปใช้กำลังและ/หรืออาวุธ"

ข้อเสนอแนะ (จ)(2): มาตรานี้จึงควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือกำหนดบทบัญญัติใหม่ที่ขยายขอบเขตให้หลักการข้างต้นใช้บังคับกับแก่กรณีที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายใดใช้กำลังและอาวุธปืนกับบุคคลใดก็ตาม[9]

พวกเราอยากจะให้ท่านพิจารณาข้อคิดเห็นข้างต้นในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เราขอเน้นย้ำว่า ในภาพรวม การพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายทั้งสองนี้ควรจะมุ่งเน้นให้บทบัญญัติต่างๆให้มีความสอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งได้วางมาตรฐานการสืบสวนสอบสวนและการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมายไว้ ทั้งนี้การปรับหลักกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศดังกล่าวนั้นมิได้จำกัดเพียงบทมาตราที่ระบุในจดหมายนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบทมาตราอื่นๆในร่างกฎหมายด้วย

ICJ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศไทย และเพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำแนะนำประการใด โปรดติดต่อมายังข้อมูลติดต่อข้างต้น

 

ขอแสดงความนับถือ

               

(ลงลายมือชื่อ)

                               

คิงส์ลี่ย์ แอ๊บบ็อต

ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

 


[1] โปรดดูตัวอย่าง กรณีการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย, พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค..2016), ย่อหน้า 35.

[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, 'ความเห็นทั่วไปที 32, ข้อ 14, สิทธิได้รับความเสมอภาคต่อหน้าศาลและคณะตุลาการ และได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม', 23 สิงหาคม ค..2007, CCPR/C/GC/32, ย่อหน้า 30. ('HRC GC No. 32') http://www.refworld.org/docid/478b2b2f2.html

[3] ดูเพื่อการอ้างอิง Saengpassa, 'Crime re-enactments: a violation of suspects' rights?', The Nation, 28 ตุลาคม 2014, http://www.nationmultimedia.com/politics/Crime-re-enactments-a-violation-of-suspects-rights-30246398.html ; US Department of State, 'Thailand 2014 Human Rights Report', http://www.nationmultimedia.com/politics/Crime-re-enactments-a-violation-of-suspects-rights-30246398.html

[4] ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ระหว่างการทำแผนประกอบคำรับสารภาพชาวบ้านในพื้นที่เกาะกูดได้เข้ามาทำร้ายร่างกายลูกเรือประมงชาวกัมพูชาทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำการล่วงละเมิดและทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสสี่คน ดู Waewkraihong, 'Crowd mobs Trat rape suspects at reenactment', Bangkok Post, 29 กุมภาพันธ์ 2016, https://www.bangkokpost.com/news/general/880488/crowd-mobs-trat-rape-suspects-at-reenactment; ในเดือนมกราคม 2558 ระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ชาวบ้านหลายร้อยคนได้พยายามเข้ามาประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาซึ่งต้องสงสัยว่าได้ทำการข่มขืนและฆาตกรรมเด็กหญิงอายุ 9 ปี ในจังหวัดนครปฐม ดู 'Angry mob try to attack rape suspect', Bangkok Post, 11 January 2015, https://www.bangkokpost.com/archive/angry-villagers-try-to-attack-suspect-in-girl-rape-and-murder/456015

[5] มาตรา 2.4 ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ชี้ว่ามิควรให้มีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาในสถานที่เกิดเหตุเพียงเพื่อพิสูจน์การรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหา โดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2537 เพราะการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา เพื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในรายงานผลการพิจารณาที่ 244/2556 เรื่อง 'สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิของบุคคลในเกียรติยศและชื่อเสียง กรณีการนำตัวผู้ต้องหาคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน', ลงวันที่ 27 มีนาคม 2556 ยืนยันในหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยอ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยที่ให้การรับรองหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์.

 

[6] โปรดดูพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค..2016), ย่อหน้า 22 ถึง 33. โปรดดูเอกสารทั่วไป, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ความเห็นทั่วไปที่ 31, ลักษณะโดยทั่วไปของพันธกรณีที่มีต่อรัฐภาคีของอนุสัญญา (ค.ศ.2001), ย่อหน้า 15 และ 18; และหลักการและแนวทางพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิได้รับการเยียวยาและชดเชยสำหรับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง เห็นชอบและประกาศในมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 60/147 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค..2005, ย่อหน้า 3(b).

[7] โปรดดูพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค..2016), ย่อหน้า 34.

[8]การบันทึกภาพและ/หรือเสียงนั้นมิควรจำกัดอยู่เพียงแค่การค้นเท่านั้น แต่ควรขยายความรวมไปถึงกรณีการสอบปากคำและการสัมภาษณ์ในขั้นตอนการสอบสวน เนื่องจากการบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญจากการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการการทรมาน การประติบัติที่ทารุณโหดร้าย การใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นการบังคับขู่เข็ญหรือเป็นการไม่เหมาะสม ดู  คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน, 'ความเห็นทั่วไปที่ 2, อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี', 24 มกราคม ค.. 2008, CAT/C/GC/2, ย่อหน้า 14, http://docstore.ohchr.org/SelfServices/FilesHandler.ashx?enc=6QkG1d%2FPPRiCAqhKb7yhskvE%2BTuw1mw%2FKU18dCyrYrZhDDP8yaSRi%2Fv43pYTgmQ5n7dAGFdDalfzYTJnWNYOXxeLRAIVgbwcSm2ZXH%2BcD%2B%2F6IT0pc7BkgqlATQUZPVhi; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี, 'รายงานระหว่างรอบปีของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี', 10 สิงหาคม ค.ศ. 2010, UN Doc. A/65/273, ย่อหน้า 75, http://www2.ohchr.org/english/issues/torture/rapporteur/docs/A.65.273.pdf; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี, 'รายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตามมติของคณะกรรมาธิการที่2002/38', 17 ธันวาคม ค.. 2002, E/CN.4/2003/68, ย่อหน้า 26(g), https://undocs.org/E/CN.4/2003/68

[9] เราทราบถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้กำลังและอาวุธปืนในเอกสารประกอบการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น 'คู่มือการฝึกยุทธวิธีประจำสถานีตำรวจ ฉบับปี 2556' อย่างไรก็ตามหลักการดังกล่าวนี้ควรได้รับการบัญญัติไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย และแม้มาตรา 83 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา 68 ของประมวลกฎหมายอาญา จะได้วางแนวทางการใช้กำลังและอาวุธปืนในกรณีการจับกุมตัวและการป้องกันตนเองไว้แล้ว แต่มาตราดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายองค์ประกอบด้าน "ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" และ "ความได้สัดส่วน"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฟังมุม นศ. หลัง ครม.แก้กฎกระทรวง ห้าม นร.- นศ. รวมกลุ่มขัดความสงบ ศีลธรรม-ชู้สาว-เที่ยวเตร่

Posted: 15 Aug 2018 04:57 AM PDT

หลายความเห็นจากนักศึกษา 'เพนกวิน' ชี้อาจถูกนำมาลิดรอนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักกิจกรรม นศ. มองเป็นการห้ามนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง นศ.มช. ไม่เห็นด้วย "กฎแบบนี้เท่ากับเป็นการแทรกแซงชีวิตส่วนตัว" ขณะที่ นศ. มธ. กล่าว "เมื่อจารีตประเพณีเปลี่ยน กฎที่ออกมาขัดแย้งสุดท้ายจะถูกยกเลิก"

 

 

หลังจากวานนี้ (14 ส.ค.61) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา ดังนี้

1. กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม จากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า "ในที่สาธารณะ" ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย

3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า "เวลากลางคืน" ออก

ประชาไทได้รวบรวมความเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ดังนี้

 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เขากำหนดคือ ห้ามมั่วสุม ห้ามแสดงพฤติกรรมชู้สาวทุกสถานที่ ห้ามออกนอกที่พักสร้างความเดือดร้อนทุกเวลา ประเด็นที่จะพูดถึงในการแก้ไขครั้งนี้มีสองประเด็น ประเด็นแรกมองว่ามันเป็นการพยายามสร้างผลงานของรัฐบาล เพื่อจะเอาใจคนบางกลุ่มที่เขาต้องการจะให้มีการควบคุมชีวิตเด็กมากขึ้น โดยไม่สนใจเรื่องเสรีภาพ ไม่สนใจว่าจะทำได้จริงไหม อีกประเด็นคือกฎที่ร่างมาอย่างหลวมๆ กว้างๆ เช่น คำว่า "มั่วสุม" "สร้างความเดือดร้อน" มันคืออะไร ครอบคลุมแค่ไหน ไม่รู้

"การจับกลุ่มคุยกันเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นการมั่วสุมหรือเปล่า การไปใช้เสรีภาพของการแสดงออกในการไปต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการสร้างความเดือดร้อนรึเปล่า ช่องโหว่อันนี้ในอนาคตอันใกล้อาจจะถูกตีความเพื่อมาใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา" พริษฐ์ กล่าว

 

พิชญ์สินี เพ็งพุ่ม นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎนี้ ทั้งเรื่องการรวมกลุ่ม เรื่องชู้สาว ห้ามออกนอกสถานที่พัก เป็นเรื่องที่เป็นส่วนตัว ทุกเรื่องไม่สามารถตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด

"การมีกฎแบบนี้เท่ากับเป็นการแทรกแซงชีวิตส่วนตัว และเขาไม่มีสิทธิมาบังคับเราแค่เพราะว่าเรายังไม่บรรลุนิติภาวะ" พิชญ์สินี กล่าว

 

ยามารุดดิน ทรงศิริ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า มองสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่าใกล้เลือกตั้งแล้ว พวกเขาจึงทำอะไรต่างๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง  เพราะถ้าเรามองในมุมผู้ใหญ่ ข้อห้ามเหล่านี้ก็คงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจ แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่ คสช. จะใช้กฎนี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมนักศึกษา

"แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อจารีตประเพณีมันเปลี่ยน กฎหมายที่ออกมาขัดกับสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และต้องยกเลิกอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น ห้ามคนนั่งหลังกระบะ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องถูกยกเลิกไป" ยามารุดดิน กล่าว

 

ไชยวัฒน์ วรรณโคตร กลุ่มนักศึกษาอิสระ กล่าวว่า การห้ามออกนอกสถานที่ก็ไปโยงกับอีกประเด็นคือการห้ามมั่วสุม ส่วนประเด็นเรื่องชู้สาวเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่เอามาใส่เพื่อให้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม แต่จุดประสงค์นั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องทางการเมือง เพื่อห้ามนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง

"แต่ทั้งนี้ก็มั่นใจว่ากฎเหล่านี้ที่ออกมาโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะไม่ถูกยอมรับจากนักศึกษาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่สนใจหรือไม่สนใจการเมือง" ไชยวัฒน์ กล่าว

 

ณัฐนันท์ ธนาภัทรโสภณ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การควบคุมความประพฤติคนในสังคม ไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎเกณฑ์บังคับ เพราะการออกกฎเกณฑ์ ถ้าสังคมยังมีการฝ่าฝืน ไม่ได้มาจากความเห็นตรงกันของนักเรียน นักศึกษา จะถูกมองในเเง่ร้ายมากกว่าดีเเน่นอน เช่น เเค่นั่งจับกลุ่มคุยกันทางการเมืองหรือเรื่องทั่วไป ในเคหะสถาน หน้าบ้านเราเอง ถือเป็นการมั่วสุมไหม นั่งทำงานกีฬาสีข้ามคืนด้วยกันชาย หญิง เเละ LGBT ถือเป็นการมั่วสุมไหมในสายตาผู้ใหญ่ เเสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมตรงนี้ไม่ได้มีความชัดเจนเลย ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพตามที่มีในรัฐธรรมนูญเเละสิทธิของคนปกติที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเสียด้วยซ้ำ

"สำหรับกฎกระทรวงชุดนี้ ทั้งที่จริงเเล้วจุดมุ่งหมายของการออกกฎคือ "เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา" แต่ส่วนตัวมองว่า เป็นการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพในการเดินทาง การทำสิ่งต่างๆ ของพวกเขามากกว่า" ณัฐนันท์ กล่าว

 

สำหรับมติ ครม. ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เกิดขึ้นจากที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดย กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอว่า จากมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา จึงได้มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับ ต่อมา กระทรวงศึกษาฯ ได้ดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2548 เห็นสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียด้วยแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 9 เม.ย.2561 มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากิจกรรมทางการเคลื่อนไหวทางเมืองหรือสังคมมักถูกยกประเด็น "ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย" และ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ที่ตีความอย่างกว้างหรือตีความตามอุดมการณ์หลักของรัฐมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ ดังนั้นจากมติ ครม. ข้างต้นการห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุมในลักษณะดังกล่าว อาจกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในเสรีภาพในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทั้งทางการเมืองและสังคม ของนักเรียนนักศึกษาเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

 

กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กสทช. ผ่านร่างหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์-ใช้ไม่คุ้มค่า

Posted: 15 Aug 2018 12:49 AM PDT

กสทช. ผ่านคุณสมบัติ DTN และ AWN เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 61 พร้อมทั้งผ่านร่างหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

15 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ส.ค.61) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามข้อกำหนดในข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ซึ่งจะจัดให้มีการประมูลในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 มีผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูล 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด(DTN) และ 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งหลังจากนี้ในวันที่ 17 ส.ค. 2561 สำนักงาน กสทช.จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงกระบวนการประมูลและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ที่ใช้ในการประมูล และสาธิตการใช้งานซอฟท์แวร์การประมูล เพื่อทำความคุ้นเคยกับระบบที่ใช้ในการประมูล รวมถึงตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับการประมูล

ฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาต่างๆ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อหารือ ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการจัดสรรใหม่ได้ โดยคลื่นที่จะเรียกคืนมี 3 กรณี ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2.คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 3.คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเรียกคืนดังกล่าวไม่รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่ใช้ให้บริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้

สำหรับการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ก่อนที่จะเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยประกอบด้วยรายละเอียด 6 ประการ ได้แก่ 1. วัตถุประสงค์ แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่านความถี่ จำนวนคลื่นความถี่ที่จะเรียกคืน 2. ผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3. สถานะการถือครอง การใช้งานคลื่นความถี่ 4. ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี 5.กรอบระยะเวลาในการเรียกคืนและนำไปจัดสรรใหม่ 6. ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ จากนั้นนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่าที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่อย่างไร เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือแจ้งหน่วยราชการเจ้าของคลื่นความถี่ภายใน 7 วันว่า สำนักงาน กสทช. จะเรียกคืนคลื่นความถี่ นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ โดยหน่วยงานเจ้าของคลื่นต้องมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่นทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมแจ้งแนวทางการคืนคลื่นและนำส่งเอกสารประกอบ หรือหนังสือปฏิเสธการคืนคลื่นความถี่ ต่อ กสทช. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติจาก กสทช. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ว่าเห็นด้วยทั้งหมด หรือจะเรียกคืนได้เท่าไหร่ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

เลขาธิการ กสทช. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจ้างสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยของรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง เป็นผู้ประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ซึ่งการพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช. จะคำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 1 ข้อมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และข้อมูลการติดตามตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ 2. ความเหมาะสมในการจัดหาคลื่นความถี่อื่นมาทดแทน และ 3.ระยะเวลาในการทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตเดิม

ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่จะมีผู้แทนจาก 7 หน่วยงานได้แก่ 1. เลขาธิการ กสทช. หรือรองเลขาธิการ กสทช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 2. ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 3. ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 4. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 5. ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6. ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และ 7. ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมพิจารณา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จ่อฎีกาต่อ หลังอุทธรณ์พิพากษากลับ สั่งจำคุก 3 จำเลยฉีกบัตรประชามติ 6 เดือน

Posted: 15 Aug 2018 12:46 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ลงโทษ ปิยรัฐ จงเทพ และเพื่อนรวม 3 คน ฐานก่อกวนการออกเสียงประชามติ จากการฉีกบัตรลงคะแนนเสียง จำคุก 6 เดือน ปรับ 6 พันบาท แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ด้านจำเลยเตรียมยืนฎีกาต่อ

ปิยรัฐ จงเทพ(ขวา), จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์(ซ้าย) และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์(กลาง) ที่มาภาพจาก: เพจ banrasdr photo

15 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ 'โตโต้' ปิยรัฐ จงเทพ(ฉักบัตรออกเสียงประชามติ พร้อมตะโกนถ่อยคำของครูครอง จันดาวงศ์ ว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ในหน่วยออกเสียงประชามติ) ,จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ (บันทึกภาพ และภาพเคลื่อนไหว) 3 นักกิจกรรมร่วมกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมโดยการ ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ

โดยพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตัดสินลงโทษ จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 60 ฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงประมาชามติ และทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง สั่งจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 พันบาท มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ปิยรัฐ ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นฎีกาต่อไป แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้คาดหวังกับผลทางคดีมากนัก ไม่ว่าผลจะเป็นบวก หรือลบ อย่างไรก็ตามตนและพวกก็พร้อมที่จะต่อสู้ เพราะเมื่อตัดสินใจที่จะต่อสู้กับ คสช. คุกก็กลายเป็นบ้านอีกหลังไปโดยปริยาย การทำประชามติในครั้งที่ผ่านรัฐบาลบอกว่าต้องการจะนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย กลับสู่การเลือกตั้ง แต่หลังจากทำประชามติมาแล้วสองปีสิ่งที่รัฐบาลเคยพูดไว้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ต่อจากนี้นเดือน ก.ย. หากรัฐบาล และ คสช. ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง หรือการทำกิจกรรมทางการเมือง หากยังไม่มีก็จะมีการทวงถามในเรื่องนี้ต่อไป

'โตโต้' ฉีกบัตรประชามติ หลังตะโกน "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ตร.คุมตัวทันที

'โตโต้' และเพื่อนนอนคุกคดีฉีกบัตรประชามติ วืดประกันหลัง 2 อาจารย์ใช้ตำแหน่งยื่น

โตโต้และเพื่อนได้ประกัน คดีฉีกบัตรประชามติ วางหลักทรัพย์ 6 แสน

คุก 4 เดือน 'โตโต้' ฉีกบัตรประชามติ รับสารภาพเหลือรอลงอาญา 1 ปี         

สำหรับคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงประมาชามติ  และทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 60 (9) และมาตรา 59 วรรค 1 แต่สั่งลงโทษปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ในข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ โดยศาลเห็นว่า ปิยรัฐกระความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดคือ ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย พิพากษาจำคุก จำเลย ที่ 1 เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท เหตุลดโทษจำเลยรับสารภาพ และไม่มีเหตุต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงลดโทษจำคุก เป็นจำคุก 2 เดือน ปรับ 2000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการจังหวัดพระโขนงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การฉีกบัตรประชามติของจำเลยที่ 1 คือ ปิยรัฐ เป็นการทำความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และการกระทำของจำเลยทั้งสาม คือ ปิยรัฐ, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3 ที่ปิยรัฐตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" โดยมีจิรวัฒน์และทรงธรรมบันทึกภาพและภาพเคลื่อนไหว ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ ไม่ใช่การต่อต้านโดยสันติวิธี จึงเป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  มาตรา 60 ด้วย

ขณะที่ทางฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะกรณีของปิยรัฐ โดยเห็นว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติมีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ไม่ใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งกฎหมายทั่วไป คือ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จึงขัดต่อหลักกฎหมายในกรณีที่มีความผิดระบุไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะ ให้ลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น รวมถึงขออุทธรณ์โทษจำคุกเป็นรอการกำหนดโทษไว้ก่อน

นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยยังแก้อุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เนื่องจากมีแนวคำพิพากษาฎีการะบุไว้ว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายลงไปยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้รบกวนการใช้สิทธิออกเสียงของบุคคลอื่น การลงประชามติยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงเช่นกัน

สำหรับคดีที่มูลเหตุจากการลงรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการประชามติที่ไม่ชอบธรรม ในคดีอื่นๆ นั้น ศูนย์ข้อมูลคดีเว็บไซต์ไอลอว์ รายงานว่า มีคดีความเกิดขึ้นอย่างน้อย 10 คดี มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 41 คน มี 2 คดีที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหว อัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คน ศาลพิพากษาจำคุกรอลงอาญา 1 คน ศาลสั่งยกฟ้อง 11 คน และยังอยู่ระหว่างสู้คดีทั้งหมด 26 คน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น