โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

'โป๊ปฟรานซิส' ค้านโทษประหาร 'กษิต' ชี้ไทยก็ควรค้าน เหตุขัดศีล 5 ย้ำเราไม่มีสิทธิตัดชีวิตใคร

Posted: 03 Aug 2018 05:25 AM PDT

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ประกาศให้โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้  'วาติกัน' จะทำให้ทุกประเทศเลิกการใช้โทษนี้ 'กษิต ภิรมย์' ระบุน่าดีใจที่ 2 ศาสนาหลักของโลก ไปในทิศทางเดียวกันละเว้นในการที่จะเอาชีวิตมนุษย์  หวังว่าประเทศไทยจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายในอนาคตด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (ที่มาภาพ wikimedia.org)

3 ส.ค.2561 กษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่วิดีโอถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Kasit Piromya' กรณี สันตะปาปา ประกาศว่า ไม่ควรที่จะให้มีการประหารชีวิต โดย กษิต กล่าวว่าเมื่อ 2-3 วันที่แล้วในโลกของคริสตจักร วาติกัน ของสันตะปาปา ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ควรที่จะให้มีการประหารชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ อันนี้เป็นการเปลี่ยนปลงแนวคิดของคริสตจักรอย่างใหญ่หลวง เพราะที่ผ่านมายังมีอะลุ้มอล่วยให้ยังคงการประหารชีวิตนักโทษไว้ได้ในกรณีที่มันรุนแรงเป็นอย่างมาก แต่มาบัดนี้ก็เป็นการตัดสินใจโดยสันตะปาปาว่าจะไม่รับให้มีการประหารชีวิตนักโทษรุนแรงใดๆ เลยทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะไปเอาชีวิตมนุษย์อีกคนหนึ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งที่สมควร หรือว่าเพราะว่ามีคนคนหนึ่งไปฆ่าอีกคนหนึ่ง คนที่ไปฆ่านั้นจะต้องถูกรัฐหรือสังคมฆ่าไปด้วยนั้น ก็ไม่เป็นการถูกต้อง เพราะว่ามนุษย์เราทั้งต่อบุคคลหรือรวมกันในนามรัฐจะได้เอาชีวิตของนักโทษคนหนึ่งไม่ได้ เพราะว่ามนุษย์ทุกคนไม่มีสิทธิที่จะไปเอาชีวิตของคนอื่น เพราะฉะนั้นตอนนี้แล้วในโลกของฝ่ายคริสต์โดยเฉพาะโรมันคาทอลิก ไม่เอาด้วยกับการประหารชีวิตนักโทษใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับแนวคิดดังกล่าวของสันตะปาปานั้น กษิต มองว่า สอดคล้องกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า หรือศีล 5 ที่ หนึ่งในศีลนั้นคือห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนั้นทั้งพุทธและคริสต์ต่างเห็นพ้องกันว่า การไปเอาชีวิตผู้หนึ่งผู้ใด แม้เขาจะเป็นนักโทษหรือฆ่าผู้อื่นมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร เราไม่สามารถเป็นเจ้าชีวิตผู้อื่นได้  ในสังคมไทยและกฎหมายอาญาของไทยนั้นควรจะคงไว้ซึ่งโทษประหารหรือไม่นั้น กษิต กล่าวว่า สำหรับตนนับถือศาสนาพุทธ พยายามยึดมั่นในศีล 5 โดยเฉพาะเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนั้นจุดยืนของตนมา 2 ทางด้วยกัน 1. ในฐานะเป็นชาวพุทธที่จะต้องไม่เห็นด้วยและละเว้นการฆ่าตัดชีวิตใดๆ ของคน ของสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งปวง 2. ในแง่กฎหมายที่ควรสะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณี ความนึกคิดความเชื่อถืออยู่ด้วย และเมือเราบอกว่าสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธก็น่าจะออกมาหรือมีการเปลี่ยนที่ให้ยุติารประารชีวิตนักโทษ

การไม่ประหารยังเป็นการแผ่เมตตา ให้โอกาสแก่คนคนนั้นท่กระทำความผิดได้สำนึกผิด ปรับปรุงจิตใจ ให้เวลาที่จะปรับปรุงตนเองรับสภาพบาปที่เขาได้ทำขึ้น พยายามที่จะปรับตัวมากเท่าที่ทำได้ โดยที่ไม่มีอิสระเสรีต่อไป ต้องอยู่ในคุกในตาราง โดยทำ 3 อย่าง 1. รักษาและเคารพกฎเกณฑ์ของคุกและบ้านเมือง 2. ทบทวนตนเอง สำนึกผิดและพยายามที่จะทำสิ่งที่ดีงาม 3. เขาสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อคุกและสังคมในระหว่างถูกคุมขัง 

"สังคมไทยเป็นสังคมพุทธเราต้องเอาเรื่องการละเว้นในการที่จะเอาชีวิตของผู้อื่นมาเป็นตัวตั้ง เพราะถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง แต่ตราบใดที่เราเป็นชาวพุทธแต่ว่ากฎหมายบ้านเมืองของเราบอกว่ายังมีการทการประหารชีวิตนักโทษได้ รู้สึกว่ามันจะอยู่แบบสวนทางกัน อยู่ตรงกันข้ามกัน มันคงจะไม่ถูกไม่ต้อง และที่สำคัญคือว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใครทั้งสิ้น เราจะไปเอาชีวิตของเขาไม่ได้ ถึงแม้เขาจะทำผิดพลาดไปแล้วอย่างไรนั้น เขาก็ควรมีโอกาสที่จะปรับตัว ปรับสภาวะจิตใจเขา และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในคุกเพียรพยายามที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม"  กษิต กล่าว

กษิต ยังกล่าวด้วยว่าเป็นที่น่าดีใจที่ 2 ศาสนาหลักของโลก ไปในทิศทางเดียวกันของการให้อภัย มีเมตตา การละเว้นในการที่จะเอาชีวิตมนุษย์ รวมทั้งรักษาสิทธิในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมหวังว่าประเทศไทยจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายในอนาคตด้วย

'โป๊ปฟรานซิส' ค้านโทษประหารชีวิต

PPTV รายงานว่า สำนักวาติกันเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ประกาศให้โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้และจากนี้ไปพระศาสนจักรคาทอลิกจะถือว่าการประหารชีวิตคือการทำลายศักดิ์ศรีของบุคคล ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแนวคำสอนโดยกำหนดให้ศานจักรมีหน้าที่ต้องหาทางยุติโทษประหารให้ได้

นอกจากนี้สำนักวาติกันยังระบุว่า พระศาสนจักรคาทอลิก จะพยายามทำให้ทุกประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต  

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ข้อเสนอเบื้องต้นต่อพรรคอนาคตใหม่เรื่องจุดยืนตั้งต้นต่อสถาบันกษัตริย์และประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง

Posted: 03 Aug 2018 05:18 AM PDT

เรื่องพรรคอนาคตใหม่ กับท่าทีเรื่อง 112 และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ผมเสนอให้บรรดากรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนและเหล่าที่ปรึกษาโดยเฉพาะปัญญาชนที่มีความหวังกับพรรคนี้ลองใคร่ครวญกันดูให้ดีๆ ในขณะที่ยังพอมีเวลาอยู่

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เกี่ยวพันกับรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยไทยที่ทั่วโลกจับตามอง และสื่อต่างประเทศรวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด

มันจะเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้เลยสำหรับนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่จะบอกว่าพรรคการเมืองใหม่ของคนรุ่นใหม่ของไทยที่เสนอตัวเป็นความหวังกลับไม่มีนโยบายหรือท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ต่อเรื่องนี้ ที่ผ่านมาคนในไทยเองก็พยายามเรียกร้องความสนใจและใส่ใจจากนานาประเทศ แต่เมื่อเกิดพรรคการเมืองใหม่ที่รวมเอาบุคคลากรผู้เคยเรียกร้องต่างชาติให้ช่วยเข้ามาดูกลับไม่มีนโยบายใดๆ เลยเสียเอง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผลัดไปก่อนเอาไว้ค่อยคิดทีหลัง หรือเป็นเรื่องที่ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของที่ประชุมพรรคอย่างเป็นไปตามยถากรรมโดยไม่มีการอภิปราย คิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน หรือชี้ให้สมาชิกพรรคได้ตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง

มันไม่ใช่แค่ประเด็นสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเรื่องที่จะสะท้อนวิสัยทัศน์ ความเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองและปัญหารากฐานของประชาธิปไตยไทยของพรรคในฐานะองค์กรทางการเมืองที่ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล จริงๆ แล้วต้องพูดว่ามันคือประเด็นที่เป็นแกนหลักที่จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงและจะกำหนดทิศทางและตำแหน่งแห่งที่ของพรรค

พรรคอนาคตใหม่จะเอายังไงกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เป็นองค์กร head of state ซึ่งขอบเขตอำนาจและบทบาทเต็มไปด้วยความคลุมเคลือและเป็นปมใหญ่ทางการเมืองมาตลอดวิกฤตการเมือง และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เห็นกันแค่ภายในประเทศ แต่ทั่วโลกที่จับตามองต่างก็ทราบถึงปัญหาเป็นอย่างดี?

การปล่อยปละละเลย ไม่นำประเด็นนี้ขึ้นมาหารืออย่างซีเรียส ในที่สุดแล้วโอกาสที่เรื่องนี้จะกลายเป็นความเงียบและส่งผลร้ายในภายหลังมีมากกว่าอื่นใด ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์กับความไม่สามารถจะแปรรูปอุดมการณ์ให้เป็นนโยบายที่เหมาะสมในความเป็นจริงเมื่อมีอำนาจทางการเมืองสามารถส่งผลกระทบแบบกลับตาลปัตรทำให้สถานภาพตกต่ำได้เพียงใดเราคงได้เห็นกันแล้วจากกรณีของอองซาน ซูจี

เป็นไปไม่ได้ที่จะนำพาประเทศออกจากวงจรของการรัฐประหาร วังวนของความขัดแย้ง ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีแผนการณ์ใดๆ ในเรื่องที่เป็นปมใหญ่ของประเทศ มันไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะไปคิดเอาระหว่างทาง หรือรอเวลาที่เหมาะสมในการปลดปล่อยความคิด แต่เป็นเรื่องที่ต้องแสดงให้รู้ บอกให้ทราบถึงจุดยืนที่ชัดเจน ผ่านนโยบายที่ใตร่ตรองมาอย่างดี และสื่อสารให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบอย่างโปร่งใส

ถ้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมจะเป็นผู้นำทางการเมืองและพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในประเด็นนี้ ธนาธรจะมีอะไรที่แตกต่างจากผู้นำทางการเมืองที่ผ่านมา ถ้าธนาธรไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าตนเองมีจุดยืนและนโยบายในเรื่องนี้แตกต่างจากประยุทธ์ จันทรโอชาอย่างไร นั่นย่อมหมายถึงว่าต่อให้ธนาธรได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่ทำอะไรที่แตกต่างจากประยุทธ์ในเรื่องนี้?

คงจะต้องเป็น record ที่ตลกและเป็นข้อกังขาไปทั่วโลก ทั้งในวันนี้และในฐานะประวัติศาสตร์ในวันหน้า ที่จะบันทึกว่า พรรคปีกซ้ายของไทยที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่หลังวิกฤตการเมืองนับสิบปี ไม่มีความชัดเจนใดๆ เลยในเรื่องสถาบันกษัตริย์

การนับ 1 ในลักษณะนี้ ไม่ต่างกับการนับ 0 แต่อย่างใด

จำเป็นต้องเน้นย้ำให้ชัดเจนว่าผมไม่มีความต้องการแม้แต่น้อยที่จะให้พรรคอนาคตใหม่แสดงออกอย่างสุดขั้วหรือใช้ท่าทีแข็งกร้าว ไม่คาดหวังให้ต้องสามารถบรรลุผลในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะกฎหมาย 112 หรือประเด็นอื่นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และไม่แม้แต่เรียกร้องว่าขั้นต่ำของท่าทีหรือนโยบายที่จะแสดงออกมาจะต้องเป็นอย่างไร

หนทางในการนำเสนออย่างนุ่มนวลมีอยู่เต็มไปหมด บุคคลที่สามารถแสวงหาความร่วมมือมีเต็มไปหมด แม้แต่จากสถาบันกษัตริย์เอง ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ออกมาเปิดเผยในทางบวกหลังจากเข้าเฝ้า แต่ความเหมาะสมคืออะไร? เป็นสิ่งที่ไม่เกินสติปัญญาของบุคลากรจำนวนมากในพรรคอนาคตใหม่ หากเพียงแต่กล้าที่จะคิดเท่านั้น และดุลยพินิจแห่งความเหมาะสมนี้เองที่จะแสดงให้เห็นว่าพรรคยืนอยู่ตรงจุดไหนของการเมืองไทย

ประเด็นอยู่ที่ความตระหนักรู้ว่านี่คือภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้า ไม่ใช่หลบเลี่ยง มีความจำเป็นที่จะต้องกล้าคิด กล้าแลกเปลี่ยน กล้าปรึกษาหารือ จะต้องข้ามแนวเส้นของการปล่อยให้เรื่องนี้เป็นความเงียบ ไม่ใช่เฉพาะกับผู้นำพรรค แต่หมายถึงสมาชิกพรรคทุกคน พรรคที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่ไม่สำเหนียกถึงความสำคัญและจำเป็นของเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มก่อรูปในวันนี้ ก็จะกลายเป็นเพียงพรรคที่อ่อนหัด ไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับแรงเสียดทานที่อาจจะหนักหนากว่านี้ในวันหน้า

คนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นในวิกฤตสิบกว่าปีที่ผ่านมา คงไม่มีคนไหนที่จะเห็นว่า ประเด็นที่อ่อนไหวอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่จะดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ปราศจากซึ่งปัญหาอันแหลมคมใดๆ รอคอยอยู่ และไม่มีความจำเป็นต้องตระเตรียม ทั้งความคิดและจิตใจ สำหรับคนที่อาสาจะทำงานการเมือง

ยิ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวยิ่งต้องการความแข็งแกร่งทางความคิดและจิตใจ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงสปิริตและวัฒนธรรมทางปัญญาของพรรคที่สามารถผลิตความกล้าหาญทางจริยธรรม

ที่มาภาพ: ประชุมพรรคอนาคตใหม่ เชื่อโลกใหม่ สังคมใหม่ การเมืองแบบใหม่ "เป็นไปได้"

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ประยุทธ์ กำชับตำรวจสันติบาล ถอนข้อกำหนดช่างภาพแสดงความเคารพก่อน-หลังถ่ายภาพ

Posted: 03 Aug 2018 03:51 AM PDT

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ณ ฮอลล์ 5 - 7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ภาพจาก: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

3 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินไปเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ฮอลล์ 5 - 7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ทั้งนี้ ก่อนที่พลเอกประยุทธ์ จะเดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิมแพค เมืองทองธานี ได้ตรวจบุคคลที่จะเข้าร่วมงานอย่างละเอียด เข้มงวด และเป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่เข้มงวดกับสื่อมวลชนและช่างภาพที่จะเข้าปฎิบัติหน้าที่ภายในบริเวณงาน และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพ สื่อมวลชน ให้ลงชื่อ สังกัด และเบอร์โทรศัพท์  จดเลขบัตรประชาชน 

ซึ่งข้อกำหนดมีเนื้อหาดังนี้ มารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน

1.ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ

2. การแต่งกาย สุภาพบุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น

3.กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็ก ที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล 

4. จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนและติดต่อแผนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

5.ไม่แสดงกริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร

6.ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย

7. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศรีษะผู้อื่นหรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน

สำหรับข้อควรปฎิบัติในการบันทึกภาพมีดังนี้

1.ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง

2.ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูงเช่นบันได ฯลฯ

3.ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร

4.ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน

5.ให้บันทึกได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม

6.การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง

7.หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ 

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้มีการวิพากษณ์วิจารณ์ และคัดค้านการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนของ พลเอกประยุทธ์ โดย JAKARTA Post นำเสนอบทความชี้ให้เห็นว่า ท่ามการกระแสของการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของภูมิภาค ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่ประชาคมอาเชียนจะยินยอมให้ผู้นำรัฐบาลทหารเป็น ประธานอาเซียนไปปีถัดไป ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์ประกาศที่จะไม่พูดถึงประเด็นทางการเมือง และส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกับการทำงานของสื่อมวลชน

ด้านเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายว่า พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของช่างภาพสื่อมวลชนทางโซเชียลมีเดีย ออกโดยกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงมารยาทในการถ่ายภาพ และข้อควรปฎิบัติในการบันทึกภาพ ว่า

"เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารตั้งแต่ปี 2558 จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อมวลชนและคนที่ได้พบเห็น ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดปัญหาการทำงานระหว่างทีมนายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชน" พลเอกประยุทธ์ กล่าว

พลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าวัตถุประสงค์ของการออกข้อปฏิบัติในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจคงมีความปรารถนาดีต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งใจจะยกระดับการทำงานของทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนให้มีความเป็นสากล และมีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับใช้ข้อปฏิบัตินี้โดยเคร่งครัดแต่อย่างใด ส่วนเรื่องใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น โค้งคำนับก่อนและหลังการถ่ายภาพ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของช่างภาพ พลเอกประยุทธ์ ได้กำชับให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลไปพิจารณาทบทวนและถอนออกจากข้อปฏิบัติ เพราะคนจะเคารพหรือให้เกียรติกันนั้นขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติของแต่ละบุคคล

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ทันตแพทยสภา-สปสช. ดูงาน 'ทันตกรรม รพ.น่าน' พัฒนาศักยภาพ ดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่

Posted: 03 Aug 2018 03:20 AM PDT

ทันตแพทยสภา-สปสช.รุกดูงาน 'ทันตกรรม รพ.น่าน' พัฒนาศักยภาพผ่าตัดและดูแล 'ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่' ต่อเนื่อง เผย 10 ปี ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แก้ไขความพิการ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิต พร้อมพัฒนางานทันตกรรมเชิงรุก จัดทีมบริการที่ รพ.สต. ใส่ฟันเทียมผู้สูงอายุ ลดปัญหาหมอฟันเถื่อนในพื้นที่

3 ส.ค.2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า ที่โรงพยาบาลน่าน ทันตแพทยสภาโดย ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ร่วมกับ สปสช. โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำคณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช.เยี่ยมชมการให้บริการ "ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่" โรงพยาบาลน่านเพื่อดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ โดยมี นพ.ภราดร มงคลจาตุรงค์ ผอ.รพ.น่าน และ ทพญ.ดวงนภา คูอาริยะกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.น่าน ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล พร้อมเยี่ยมชมบริการทันตกรรม รพ.นาน้อย

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ภาวะ "ปากแหว่งเพดานโหว่" เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของการเจริญของใบหน้าระหว่างการตั้งครรภ์ โดยอุบัติการณ์ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ปัจจุบันและในอดีตไม่แตกต่างกันมาก 

ภาพรวมทั้งประเทศของแต่ละปีจะอยู่ที่ 1.8-2 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็วตั้งแต่อายุ 3 เดือนและไม่ควรเกินอายุ 3 ปี ทั้งต้องได้รับการผ่าตัดต่อเนื่องที่เป็นไปตามเกณฑ์อายุเพื่อแก้ไขและลดความพิการให้กลับเป็นปกติได้ ในอดีตผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาการเข้าถึงการรักษา นอกจากค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคแล้ว ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ เพราะด้วยความห่างไกลจากหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ

ทั้งนี้พื้นที่ จ.น่าน เมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จะต้องเดินทางไปรับการผ่าตัดและรักษาต่อเนื่องที่ รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ด้วยระยะทางห่างไกล มีภูมิประเทศลักษณะเป็นภูเขา ประกอบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวเขา มีฐานะยากจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาเพื่อแก้ไขจนทำเกิดความพิการไปตลอดชีวิต

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แม้ว่าจะเป็นความพิการตั้งแต่แรกเกิด แต่สามารถแก้ไขเพื่อผู้ป่วยให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ ยิ่งได้รับการผ่าตัดโดยเร็วตั้งแต่แรกเกิดจะยิ่งมีประสิทธิผลในการรักษา ดังนั้น บอร์ด สปสช.จึงได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ "การแก้ไขปัญหาความพิการจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่" ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่การผ่าตัดรักษา การฟื้นฟูและแก้ไขการพูด บริการทันตกรรมจัดฟันสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการที่มีศักยภาพบริการ และองค์กรวิชาชีพด้านทันตกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วประเทศได้รับการผ่าตัดรักษา   

จากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558- 30เมษายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,311 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการจัดฟัน (ในรายที่จำเป็น) จำนวน 1,667 ราย รับการฝึกพูดจำนวน 2,965 ราย และยืดถ่างขยายกระดูกใบหน้าและกระโหลกศรีษะ (Maxillary Distractor) จำนวน 21 ราย   

ด้าน ทพญ.ดวง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ รพ.น่าน มาจากการเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไปถึงบริการ เนื่องจากติดข้อจำกัดไม่สามารถไปรับการรักษาที่ รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ ต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัด หากได้รับการรักษาทันท่วงที   ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลน่าน  ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ได้พัฒนาศักยภาพทีมงาน ถึงแม้โรงพยาบาลน่านจะไม่มีแพทย์เฉพาะทางสาขา Plastic surgery แต่ด้วยความสามารถของ ทพญ.วิภาวรรณ พึ่งวารี ทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียลได้ร่วมกับ ทีมสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์สาขา ENT พยาบาล  นักกายภาพบำบัด เป็นต้น ได้ร่วมกันเพื่อดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เหล่านี้อย่างต่อเนื่องครบวงจร ทั้งการผ่าตัดปิดรอยโหว่ การจัดฟัน การฟื้นฟู และการฝึกพูด ให้สามารถเติบโตในสังคมได้  และได้จัดตั้งกองทุน เติมยิ้ม อิ่มใจ  โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนเป็นค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาลสำหรับครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี  ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันนี้มียอดผู้ป่วยประมาณ 130 กว่าราย

"ในการรักษากรณีที่เด็กแรกคลอดมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หากเด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงพอ ทางแพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดทันทีเพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถดูดนมแม่ได้และไม่สำลัก พร้อมให้การดูแลและรักษาต่อเนื่อง ซึ่งการที่ รพ.น่านสามารถผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางได้มาก จนปัจจุบันในพื้นที่ไม่มีเด็กที่อยู่ในสภาพปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว เนื่องจากได้รับการรักษาแล้วทั้งหมด"     

ทั้งนี้ คณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช. ยังได้เยี่ยมชมงานบริการทันตกรรม รพ.นาน้อย และ รพ.สต.ขุนสถาน จ.น่าน ที่จัดบริการเชิงรุกใส่ฟันเทียมให้กับชาวบ้านที่เส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เข้าถึงบริการ มีฟันบดเคี้ยวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ความย้อนแย้งในกลไกร้องทุกข์ของทหาร

Posted: 03 Aug 2018 02:22 AM PDT

ย้อนดูกลไกการร้องทุกข์ของทหารเกณฑ์ พบมีความย้อนแย้งในตัวเอง มีข้อจำกัดสูง ขณะที่กลไกตรวจสอบกองทัพโดยพลเรือนยังเป็นเพียงฝันที่เลือนลาง สื่อมวลชนจึงกลายเป็นพื้นที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และประชาไทยินดีรับทุกเรื่องราวการละเมิดสิทธิในค่ายทหาร

1.พลทหารเกาลูนและเรื่องราวของเขา

หัวใจที่ไม่ทนต่อความอยุติธรรม กับสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตได้ คือปัจจัยสองอย่างที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อแอคเคาท์ว่า "เกาลูน ลายน้อย" ใช้มันเพื่อร้องเรียกความเป็นธรรมให้กับตัวเอง นานนับเดือนที่เขาตกอยู่ในสถานะของคนงานเลี้ยงไก่ชน แน่นอนอาชีพนี้ไม่ได้แย่ และเป็นอาชีพสุจริต หากแต่ว่าเขาไม่ได้สมัครใจมาเป็นคนเลี้ยงไก่ ความตั้งใจแต่เดิมคือ การสวมเครื่องแบบทหาร เพื่อรับใช้ในสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งเขาเรียกมันว่า "ชาติ"

เขาใช้ความกล้า หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายทอดสดผ่านแอปพลิเคชั่นเฟสบุ๊ก บอกเล่าเรื่องราวที่คับอกคับใจ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม "นี่คือความเป็นอยู่ที่ผมต้องมาทุกข์ทนอยู่ที่นี่" คือประโยคแรกที่เขาพูด เขาเล่าว่าเต็มใจสมัครมาเป็นทหารเกณฑ์ ตั้งใจที่จะมาเป็นทหาร แต่หลังจากเสร็จหลักสูตรการฝึก 10 สัปดาห์เขาถูกเรียกตัวให้ไปอยู่กับนายทหารยศร้อยเอก และหน้าที่หลักสำหรับเขาหลังจากฝึกทหารเสร็จคือการเป็น "คนงานเลี้ยงไก่ชน"

หลายคนคงสงสัยกองทัพไทยทำไมจึงมีงานเกี่ยวข้องกับไก่ชน ไม่ต้องไปควานหาคำตอบจากที่ไหน พลทหารเกาลูน เล่าผ่านการถ่ายทอดสดไว้แล้วว่า ฟาร์มไก่ชนที่เขาได้รับหน้าที่มาดูแลนั้นไม่ได้เป็นสมบัติของกองทัพ หรือสมบัติของชาติแต่อย่างใด หากแต่เป็นฟาร์มไก่ชน ซึ่งเป็นธุรกิจของนายทหารยศร้อยเอกที่เรียกตัวเขามา

เงินเดือนที่เกาลูนได้รับเป็นเงินที่ได้มาจากภาษีของเราทุกคน แต่งานที่เกาลูนต้องทำกลับกลายเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับบุคคลเพียงคนเดียว และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ "ชาติ" อย่างที่เขาตั้งใจจะรับใช้มัน ยิ่งไปกว่านั้นคุณภาพชีวิตในฟาร์มไก่ชนของเขา ก็ไม่ได้แตกต่างจากไก่ที่เขาดูแลมากนัก เขากับเพื่อนทหารอีกคนต้องนอนอยู่บนแคร่ไม้ หมอนคนละใบ ผ้าห้มคนละผืน มีเตาแก๊สอยู่หนึ่งเตา หม้อต้ม กะทะ อย่างละหนึ่งที่เตรียมไว้สำหรับหุ้งหาอาหาร แต่ก็ไม่วายที่เหล่านักสู้ตีปีกจะมาเดินเหยียบย่ำไปทั่ว ดีขึ้นมาหน่อยคือมีตู้เย็น แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกนายทหารยศร้อยเอกเจ้าของฟาร์มนำตู้เย็นมาไว้สำหรับแช่อาหารไก่ ไม่ใช่อาหารของคน อย่าพึ่งคิดว่าแค่นี้ก็แย่แล้ว การถูกด่าราวกับขี้ข้า สภาพอากาศแย่ ไก่ไม่สบาย แต่คนโดนด่า ถูกสั่งให้เอาไก่มาตีกัน แต่พอไก่บาดเจ็บ คนต้องเจ็บด้วย คือสิ่งที่เขาเผชิญเป็นปกติ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ลูกผู้ชายที่หวังจะทำเพื่อ "ชาติ" ได้มาเจอ จนกระทั่งเขาทนมันต่อไปไม่ไหวและเลือกที่จะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้ทุกคนได้รับรู้ เพื่อหวังว่าคงจะมีใครสักคนที่จะช่วยเขาและเพื่อนได้

ไม่นานนัก คลิปที่เขาระบายความอัดอั้นใจออกมาก็ถูกเห็นโดยคนจำนวนมาก สื่อหลายสำนักต่างพากันนำเสนอเรื่องของเขา คำถามสำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้า เช้าวันถัดมาจะต้องได้คำตอบ คำอธิบาย และมาตรการแก้ไขปัญหา

2.กองทัพขอแก้ไขปัญหาในความเงียบ

เรื่องของเกาลูนเหมือนจะจบลงด้วยการที่เขาถูกดึงตัวกลับมาที่กองร้อย และทหารกองทัพบกได้ตั้งคณะกรรมตรวจสอบนายทหารที่สั่งให้เขาและเพื่อนไปเลี้ยงไก่ที่ฟาร์มของตัวเอง ไม่นานนักเรื่องราวก็เงียบไป พร้อมกับการออกมาทิ้งทายของพลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ออกมาพูดถึงการร้องทุกข์ของนายทหารทุกระดับว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 ได้ เพราะการปกครองบังคับบัญชาทหารและการดำรงรักษาวินัย ผู้บังคับบัญชาบางคน อาจใช้อำนาจในทางที่ผิดยุติธรรม ผิดกฎหมาย หรือผิดแบบธรรมเนียมทหาร มีผลให้ผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับประโยชน์ หรือสิทธิที่ควรจะได้รับ หากไม่ทราบว่าตนได้รับความเดือดร้อนจากผู้ใด ให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือ หากได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาตนเอง ให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชาสูงถัดขึ้นไป

ถ้าภายใน 15 วัน หากยังไม่ได้รับการชี้แจง ให้สามารถร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาสูงถัดไปเป็นลำดับอีก เพื่อการสั่งการไต่สวนและแก้ความเดือดร้อน ทั้งนี้ได้กำหนดไว้ชัดเจน ให้ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ จะเพิกเฉยไม่ได้เด็ดขาด ต้องรีบไต่สวนแก้ไขความเดือดร้อน และชี้แจงโดยเร็ว หากเพิกเฉยนับว่ากระทำผิดต่อวินัยทหาร หรือ หากการร้องทุกข์อันเป็นเท็จ ผู้ร้องทุกข์ ต้องมีความผิดต่อวินัยทหารเช่นกัน

เรื่องราวเหมือนจะมีการวางแนวทางแก้ไขต่อไปในอนาคต แต่ที่สุดแล้วหน้าที่หลักของการเป็นโฆษกประจำสถาบันหนึ่งๆ นอกจากจะออกมาชี้แจ้งข้อมูลแล้วยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือ การรักษาหน้าตาของสถาบันนั้น คำพูดสำคัญที่ตัดออกไปเสียไม่ได้ของ โฆษกกระทรวงกลาโหมคือ

"กระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ได้รับ จนได้ข้อยุติในทุกเรื่อง และขอให้เชื่อมั่นในสถาบันกองทัพ ด้วยการนำข้อมูลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกิจการทหาร ส่งตรงถึงแต่ละเหล่าทัพ ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจากกองทัพ และส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมโดยตรง โดยไม่เกิดช่องว่างให้มีกลุ่มบุคคลตัวกลาง นำไปสร้างภาพแอบแฝง และแสวงประโยชน์ บิดเบือน เชื่อมโยงข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้างความสับสนให้กับสังคมต่อภาพลักษณ์และเกียรติภูไม่ของกองทัพ" พลโทคงชีพ กล่าว

นัยสำคัญของคำพูดดังกล่าวคือ ต่อไปนี้หากเป็นทหารเกณฑ์ หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกกลั่นแกลง หรือรังแก ให้ร้องทุกข์ต่อกองทัพโดยตรง ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เพราะเกรงว่าจะมีการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลอื่นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และทำให้เกียรติภูมิของกองทัพไทยเสียหาย

3.แล้วเราเชื่อมั่นในกองทัพได้อย่างนั้นหรือ

กลไกในการร้องทุกข์ดังกล่าวเองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีอยู่แล้วตามปกติ แต่คำถามสำคัญคือ เราจะเชื่อมั่นนกลไกนั้นได้อย่างไร นับจากปี 2552 เป็นต้นมาพบว่ามีทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหาร เสียชีวิตในขณะที่อยู่ในช่วงเวลาของการฝึกในค่ายทหารไม่น้อยกว่า 10 ศพ (นับได้เฉพาะกรณีที่เป็นข่าว) ซึ่งจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากการสั่งลงโทษโดยผู้บังคับบัญชา บางกรณีใช้เวลานานกว่าผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ เช่น พลทหารวิเชียร เผือกสม บางกรณีพบว่าในช่วงแรกมีการบิดเบือนสาเหตุการเสียชีวิต เช่น สิบโทกิตติกร สุธีพันธ์ นอนหนาวตายในคุกทหาร แต่ร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผลฟกช้ำจำนวนมาก

ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

หรือตัวอย่างการร้องทุกข์ที่นำไปสู่ความตายของผู้ร้องก็เคยมีให้เห็น เช่นกรณีพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ซึ่งจับได้ว่านายสิบขโมยเงิน จึงได้ท้วงคืน แต่สุดท้ายกลับถูก นายทหารยศร้อยตรีซึ่งเป็นทหารเวรอยู่ในขณะนั้น ออกคำสั่งให้ทหารเวร 5 นาย ลงโทษปรับปรุงวินัยพลทหารทรงธรรม จนกระทั่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และพันเอกวินธัย สุวารี โฆษกทัพบก ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่พลทหารทรงธรรมถูกลงโทษนั้น เกิดจากการกระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กรณีดังกล่าวไม่ปรากฏบนหน้าสื่อสักพัก จนกระทั่ง 6 เดือนต่อมา 19 ต.ค. 59 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหาร  โดยระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร.ต.ภัฏณัท เลิศชัยกุล สังกัดกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้สั่งการลงโทษพลทหารทรงธรรมนั้น  ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.59 ซึ่งเป็นวันที่มีคําสั่งปลดออกจากราชการ เนื่องจากกระทําความผิดวินัยทหารฐานขัดคําสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและการขัดคําสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

4.ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ความย้อนแย้งในกลไกร้องทุกข์ของทหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดทำให้ความมั่นเชื่อที่ควรจะมีให้กับกองทัพลดลงน้อยลงไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ว่ากันว่าดินแดนในค่ายทหารถือเป็นดินแดนสนธยา กระบวนการในการตรวจสอบเรื่องราวการร้องทุกข์ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความมืดและความเงียบเช่นกัน เพราะบุคคลที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นคนของกองทัพ ไม่มีช่องว่างให้สายตาของพลเรือนเขาไปสอดส่องหาความจริง กระบวนการที่ปิดลับนี้ดำรงอยู่กับค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมาอย่างเนินนานของลูกผู้ชายในกรมกองคือ "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน"  พูดให้ง่ายนี่คือกระบวนการสอบสวนที่ปิดลับจากสายตาของพลเรือน ที่ถูกห่อหุ้มด้วยวัฒนธรรมของระบบพวกพ้อง และการปกป้องกันเอง

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 ก็ดูเหมือนจะมีความย้อนแย้งในตัวเอง ในขณะที่ระบุช่องทางในการร้องทุกข์ไว้ แต่ก็ได้จัดวางสถานะภาพ ลำดับขั้น และธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างทหารชั้นผู้น้อยและทหารชั้นผู้ใหญ่ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่ปฎิบัติตามคำสั่งไม่ได้ และห้ามมีพฤติกรรมที่ไม่สมควร

สำหรับการร้องทุกข์นั้นทหารสามารถร้องทุกข์ให้ได้เพียงเฉพาะเรื่องของตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่นเป็นอันขาด และห้ามไม่ให้ลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามไม่ให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะที่ร้องทุกข์

ห้ามไม่ให้ร้องทุกข์ในเวลาที่ตนกําลังเข้าแถว หรือในขณะที่กําลังทําหน้าที่ราชการ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเวลาเป็นยาม เป็นเวร และห้ามไม่ให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว 24 ชั่งโมง นับตั้งแต่ที่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์เกิดขึ้น

ห้ามไม่ให้ร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นไม่ได้ลงทัณฑ์เกินอํานาจที่จะทําได้

การร้องทุกข์ผ่านกลไกของกองทัพจึงถึงเป็นเรื่องที่ถึงได้ยาก และผู้ที่ร้องทุกข์ก็ต้องเปิดตัวเองว่ากำลังมีเรื่องร้องทุกข์อยู่กับนายทหารที่มียศสูงกว่า ในขณะที่ตนเองยังอยู่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา และหากผลการตรวจสอบออกมาพบว่า ข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จ หรือการร้องทุกข์นั้นกระทําไป โดยผิดระเบียบ ผู้ร้องทุกข์จะต้องมีความผิดฐานกระทําผิดต่อวินัยทหาร ซึ่งนี้เป็นไปได้น้อยมากสำหรับการร้องทุกข์โดยทหารเกณฑ์หรือทหารชั้นผู้น้อย ที่ถูกฝึกและคาดหวังให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น

5.หน่วยงานพลเรือนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ กลไกปกป้องสิทธิ ที่ไทยยังไปไม่ถึง

แนวคิดการตรวจสอบกองทัพโดยหน่วยงานพลเรือนไม่ใช่สิ่งใหม่ หลายประเทศในโลกมีการจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ โดยเฉพาะในด้านการประพฤติปฏิบัติระหว่างกำลังพลด้วยกันแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่คุณภาพชีวิตระหว่างประจำการ การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการพูดจาเหยียดหยามเชื้อชาติและเพศสภาพ ภายใต้ชื่อกว้างๆ ว่า 'ผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman)'

ผู้ตรวจการกองทัพ: ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร โมเดลต่างชาติและเงื่อนไขของไทย

ศูนย์สำหรับการควบคุมกองทัพอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งเจนีวา หรือ Geneva Centre for Democratic Control of Armed Forces (DCAF) หน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ในการสนับสนุน เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการปฏิรูปในภาคความมั่นคง (Security Sector Governance - SSG and Security Sector Reform - SSR) ให้คำนิยามเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ตรวจการกองทัพเอาไว้ดังนี้

ผู้ตรวจการกองทัพเป็นกลไกอิสระจากโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพ มีหน้าที่ตรวจสอบภาคความมั่นคงว่าดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิด ไม่เหมาะสม และข้อบกพร่องในทางการดำเนินงานในกองทัพ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพไม่มีหน้าที่ในการบังคับใช้หรือตัดสินใจนโยบายกลาโหม แต่มีหน้าที่ในการแก้ไขและสนับสนุนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมในภาคความมั่นคง

ตัวอย่างจากประเทศเยอรมันนี ผู้ตรวจการกองทัพแห่งรัฐสภา (The Parliamentary Commissioner for the Armed Forces) มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพลตั้งแต่ระดับพลทหารจนถึงระดับนายพลในประเด็นที่กำลังพลเห็นว่าตนได้รับการดูแลที่ไม่เป็นธรรมในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหน้าที่ในแต่ละวันไปจนถึงปัญหาในเรื่องสังคม ราชการ และเรื่องส่วนตัว กำลังพล 'ทุกคน' สามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากผู้ตรวจการกองทัพโดยตรง และมีรายงานประจำปีของผู้ตรวจการกองทัพที่สามารถเขาถึงได้ง่าย ในขณะที่ไทยเองยังไม่มีการพูดถึงองค์กรในลักษณะนี้เลย

ภายใต้สถานการณ์ที่การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน ยังถูกระบุอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ยังคงบังคับให้ชายไทยทุกคนต้องผ่านการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการอยู่ ยังคงมีพลเรือนปีละกว่า 1 แสนคน เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ที่อยู่ในสถานะที่ต่ำที่สุดของกองทัพอยู่ ในขณะที่กลไกการร้องทุกข์ผ่านกองทัพก็ยากที่จะเชื่อมั่น และยังไม่มีการวางแนวทางในการให้มีองค์ตรวจสอบกองทัพที่ทำหน้าที่โดยพลเรือน สื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ อาจจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการเรียกร้องความเป็นธรรมของทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อย ในฐานะของมนุษย์

ประชาไท มุ่งหวังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อยที่ได้รับความไม่เป็นธรรม เรายินดีรับเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร เผยแพร่สู่สาธารณชน ตราบเท่าที่ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารเราหวังว่าคุณภาพชีวิตของทหารเกณฑ์ และทหารชั้นผู้น้อยจะดีขึ้น และได้รับการปฏิบัติในฐานะของ "มนุษย์" ผ่านช่องทาง เฟสบุ๊กแฟนเพจ ประชาไท (https://www.facebook.com/Prachatai/) หรืออีเมล editor@prachatai.com

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 [คลิป]

Posted: 03 Aug 2018 12:13 AM PDT

คลิปอภิปรายของศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์"

โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการ โครงการค่ายสัมมนายุวชนนักเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 "โลกาภิวัฒน์: ความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการโต้กลับทางการเมือง"ห้อง 210  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 2 สิงหาคม 2561

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สื่ออเมริกันจับตามอง หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ กำลังจะมา

Posted: 02 Aug 2018 10:56 PM PDT

สื่อสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดสังคมนิยมได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในยุคที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และฝ่ายขวาถูกต่อต้าน และส่วนหนึ่งน่าจะมาจากชัยชนะแบบหักปากกาเซียนของผู้แทนหัวสังคมนิยมในไพรมารีโหวตพรรคเดโมแครตที่นิวยอร์กบวกกับกระแสนิยมเบอร์นี แซนเดอร์สที่ยังคงอยู่

ธงชาติสหรัฐฯ (ที่มา:flickr/jnn1776)

เจค จอห์นสัน นักเขียนของสื่อคอมมอนดรีมส์ระบุว่า กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ หลายพันคนจัดตั้งและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอยู่ในเงาสลัวของการเมืองอเมริกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ในปีนี้แนวคิดของพวกเขาถูกนำมาเป็นประเด็นอภิปรายกันในรายงานทอล์กโชว์อย่าง "เดอะวิว" ผ่านช่องโทรทัศน์อย่างพีบีเอสรวมถึงวิทยุกระจายเสียง กับวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐฯ (NPR)

จอห์นสันมองว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความนิยมในการเมืองยี่ห้อของเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่ยังคงอยู่ และปรากฏการณ์ชัยชนะในการเลือกตั้งผู้แทนพรรคเดโมแครต (ไพรมารีโหวต) ในเขตเมืองนิวยอร์กที่อเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ-คอร์เทซ ผู้แทนพรรคเดโมแครตที่มาจากกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยล้มยักษ์อย่างโจ ครอว์ลีย์ที่ลงแข่งขันในเขตเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นที่กล่าวขานตามสื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้แนวทางแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยขยายเข้าไปสู่วาทกรรมทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันได้ จากที่ก่อนหน้าที่สื่อ นักวิจารณ์ และนักการเมืองจะมองว่าเป็นแนวคิดที่ "ตกขอบ"

สื่อใหญ่อย่างสำนักข่าวเอพีเคยพาดหัวข่าวถึงเรื่องชัยชนะของโอแคซิโอ-คอร์เทซว่า "สังคมนิยมประชาธิปไตยกำลังมาแรงในยุคสมัยทรัมป์" ในช่วงรายการ "นิวส์อาวร์" ของช่องพีบีเอสสหรัฐฯ ก็มาพร้อมคำถามว่า "สังคมนิยมกำลังอยู่ในช่วงได้รับความนิยมในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ใช่หรือไม่" แม้แต่สื่อแทบลอยด์ฝ่ายขวาอย่างนิวยอร์กโพสต์ก็กัดฟันยอมรับว่า "จะชอบใจหรือไม่ก็ตาม อเมริกาตอนนี้กำลังมีการอภิปรายเรื่องสังคมนิยมอย่างจริงจัง"

อาห์วา มาห์ดาวี คอลัมนิสต์ของเดอะการ์เดียนก็มีบทความที่ชื่อว่า "สังคมนิยมไม่ใช่คำสกปรกสำหรับสหรัฐฯ อีกต่อไป และเรื่องนี้ทำให้บางคนกลัว" บทความของมาห์ดาวีระบุถึงการที่มีคนสมัครสมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมนิยมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามฝ่ายขวาสหรัฐฯ ก็มักจะกล่าวอ้างกรณีความผิดพลาดในเวเนซูเอลายุคหลังฮูโก ชาเวช เพื่อใช้เป็นข้ออ้างวิจารณ์แนวคิดแบบสังคมนิยม ไม่ว่าพวกเขาจะชี้ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศเวเนซูเอลาบนแผนที่ถูกหรือไม่ก็ตาม

สมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไม่ถึงหมื่นคนเป็นมากกว่า 20,000 ราย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับชัยชนะในปี 2559 และมีจำนวนมากกว่า 47,000 รายในเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่โอแคซิโอ-คอร์เทซ ได้รับชัยชนะ

สื่อฮัฟฟิงตันโพสต์เคยนำเสนอว่ากลุ่มคนจำนวนมากที่หันมาหาแนวทางสังคมนิยมคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุคปี ค.ศ. 2000s หรือ "มิลเลนเนียล" ที่แสวงหาแนวทางอื่นๆ ที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่าทุนนิยม เนื่องจากพวกเขามองว่าทุนนิยมส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่แพร่ขยายไปทั่ว วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้กลุ่มคนระดับสูงไม่กี่คนร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ

สมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยประจำนิวยอร์กซิตี้ นีล เมเยอร์ ให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาต้องการสร้างอนาคตทางเลือกใหม่ที่นอกเหนือไปจากแนวทางแบบที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเงิน "ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอาหาร สวัสดิการสุขภาพ บ้านที่ดี การศึกษาที่ส่งเสริมปัญญา และงานที่มีสัญญาจ้างแบบสหภาพที่มีค่าตอบแทนดี" เมเยอร์กล่าว

เมเยอร์กล่าวอีกว่าเขาอยากจะสร้างโลกที่ไม่มีสงคราม โลกที่ประเทศอื่นๆ ไม่ต้องกลัวการแทรกแซงทางทหารและการขูดรีดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ นอกจากนี้พวกเขายังต้องการหยุดการกวาดต้อนจับขังผู้คน หยุดความรุนแรงจากตำรวจ หยุดความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศสภาพ หยุดการเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศ หยุดการกีดกันทางอัตลักษณ์ในการจ้างงานและการให้เช่าที่อยู่อาศัย หยุดการส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศ และหยุดการกดขี่ข่มเหงรูปแบบอื่นทั้งหมด

นอกจากแซนเดอร์ และโอแคซิโอ-คอร์เทซ แล้ว ในบทความยังพูดถึงกรณีที่มีตัวแทนจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งรอบไพรมารีในเพนซิลเวเนียและฟิลาเดลเฟีย จอห์นสันมองว่าน่าจะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันไม่กลัวที่จะพูดถึงสังคมนิยมอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายขวาอย่างสื่อฟ็อกซ์นิวส์ถึงขั้นแตกตื่นในระดับที่พยายามอธิบายว่าทำไมสวัสดิการสุขภาพและการศึกษาฟรีถึงเป็นเรื่องไม่ดี แต่จอห์นสันก็ระบุว่าการยุยงให้เกิดความกลัวเช่นนี้ก็ส่งผลได้น้อยต่อกระแสสังคมนิยมที่กำลังผุดขึ้น

ทั้งนี้นักวิจารณ์การเมืองในสหรัฐฯ ยังพากันตั้งข้อสังเกตว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ อาจจะกลายเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคเดโมแครตได้ จัสติน ชาร์ริตี คอลัมนิสต์ของเดอะริงเกอร์ระบุว่าความกระตือรือร้นของการเมืองฝ่ายซ้ายในสหรัฐฯ ที่ส่วนหนึ่งมาจากกระแสต่อต้าน "ลัทธิการเมืองแบบของทรัมป์" ในสภา ทำให้ในระยะยาวแล้วมีโอกาสที่การเมืองแบบสังคมนิยมจะทำให้พรรคเดโมแครตปรับตัวรวมถึงปรับสมดุลของการเมืองสหรัฐฯ ด้วย

เรียบเรียงจาก

Socialism on the Rise as Americans Seek Out Bold, Humane Alternatives to the Brutality of Trump and Capitalism, Common Dreams, Jul 31, 2018

Socialism is no longer a dirty word in the US – and that's scary for some, The Guardian, Jul 29, 2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รวมข้อเสนอและวิพากษ์หลากมุมมองของปัญหาหนี้ กยศ.

Posted: 02 Aug 2018 08:21 PM PDT

กยศ. เสนอให้สถานศึกษามีส่วนค้ำประกัน 'ภูมิใจไทย' ชี้พักหนี้ 5 ปี ประหยัดงบกว่า 20,000 ล้าน เสนอเรียนฟรีจบ ป. ตรี 'เพื่อไทย' เสนอชำระหนี้เมื่อรายได้ 15,000 บ. ขึ้นไป ด้านนักวิชาการวิพากษ์ 'แนวคิด กยศ. การศึกษาคือการลงทุน' แต่ที่จริงการศึกษาคือสวัสดิการที่ทุกคนควรได้ฟรี 'ภาคปชช.' ชี้ปัญหาคือกำหนดเวลาจ่ายทั้งที่คนยังไม่มีงานทำ-อัตราดอกเบี้ยหลังผิดนัดสูงไป

จากกรณี วิภา บานเย็น หรือครูวิภา ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ผู้ค้ำประกันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ให้นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน ทำให้ครูวิภาถูกยึดทรัพย์ โดยจาก 60 ราย มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย และล่าสุด (31 ก.ค.)  พบว่ายังมีลูกศิษย์อีก 17 ราย อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย โดย กยศ. เผยว่าจาก 17 ราย ผู้กู้ได้มาปิดบัญชีแล้ว 5 ราย และมาติดต่อชำระบางส่วนแล้ว 3 ราย ที่เหลือกำลังทยอยติดต่อเข้ามา เชื่อว่าจะสามารถติดตามหนี้ได้ทั้งหมด โดยจะไม่มีการบังคับคดี

ตามมาด้วยกรณี สรพงศ์ เค้ากล้า ครูโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้ค้ำประกันเงินกู้กยศ.ให้ศิษย์ได้เรียนมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ ปี 2539-2548 ประมาณ 40 ราย รายละ 3-4 แสนบาท ขณะนี้กยศ. มีหมายศาลให้ครูติดตามมาไกล่เกลี่ย ผ่อนใช้เงินกู้คืนได้ 13 ราย ที่เหลือยังติดตามไม่เจอ ตอนนี้มียอดหนี้รวม 3-4 ล้าน

อีกรายคือกรณีครูไกรวิทย์ สุขสำอางค์ อายุ 58 ปี อดีตครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านหนองแขม ค้ำประกันให้ลูกศิษย์ 40-50 ราย และถูกเบี้ยวหนี้ จนศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องออกจากอาชีพครู มียอดหนี้กว่า 6 ล้านบาท ต้องแยกทางกับภรรยา อีกทั้งตอนนี้ยังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ อาศัยทำมาหากินโดยเลี้ยงปลาหมอสี ได้อาศัยญาติพี่น้องช่วยเหลือ

จากข้อมูล กยศ. มีจำนวนลูกหนี้สะสมทั้งสิ้น 5.4 ล้านคน มูลหนี้รวมทั้งหมดกว่า 5.7 แสนล้านบาทเอาเฉพาะปีนี้ กยศ. มีลูกหนี้ที่ต้องชำระคืน ประมาณ 3.5 ล้านคน มูลค่าหนี้รวมประมาณ 4 แสนล้านบาท และ 2.5 ล้านคนกำลังจะโดนฟ้อง ทาง กยศ. มีศักยภาพในการฟ้องร้องต่อปีที่ 100,000 คน ซึ่งกำลังกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะ กยศ.ต้องเสียค่าจ้างทนายความในการดำเนินคดี ที่ 10,000 บาทต่อคดี คืองบระมาณที่เสียไปกับการจ้างทนาย หรือรวมทั้งปีคือ 1,000 ล้านบาท และหากรวมทั้งหมด 2.5 ล้านคน จะคิดเป็นงบกว่า 20,000 ล้านบาท

ประชาไทรวบรวมข้อเสนอและข้อวิพากษ์จากหลายฝ่าย ทั้งจาก กยศ. พรรคการเมือง ภาคประชาชน และนักวิชาการ

กยศ. เสนอให้สถานศึกษามีส่วนค้ำประกัน เปิดโครงการช่วยผู้ค้ำ

สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา และกรรมการ กยศ.กล่าวว่า เตรียมเสนอให้คณะกรรมการ หรือ บอร์ด กยศ. พิจารณาปลดล็อกเงื่อนไขการค้ำประกัน ด้วยการให้สถานศึกษา ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้มีส่วนค้ำประกันให้นักเรียนนักศึกษา เพราะโรงเรียน และมหาวิทยาลัยได้ประโยชน์โดยตรง จากเงินค่าเทอม ที่ กยศ.ได้โอนเงินเข้าโรงเรียน และมหาวิทยาลัย คือ จ่ายค่าเทอมแทนเด็ก ๆ ที่กู้ยืมเรียน ดังนั้นสถานศึกษา ควรเข้ามาช่วย ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ด้วย

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. เปิดเผยการจัดทำโครงการไกล่เกลี่ยเพื่อครูที่ไปค้ำประกันให้กับนักเรียน เพื่อช่วยเหลือครูที่ไปค้ำประกันให้กับนักเรียนจำนวนมาก แต่ไม่แน่ใจว่านักเรียนที่ค้ำประกันให้จะชำระหนี้หรือไม่ หรือครูที่ถูกแจ้งบังคับคดี รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ประสบปัญหาไปค้ำประกันให้กับนักเรียนเป็นจำนวนมาก จนถูกตามยึดทรัพย์เช่นเดียวกัน บุคคลเหล่านี้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือกับ กยศ.โดยตรง

เบื้องต้น การไกล่เกลี่ยหนี้สิน กยศ.จะร่วมมือกับกรมบังคับคดี เมื่อ กยศ.ยึดทรัพย์ผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกันแล้ว กรมบังคับคดีจะกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ หากผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ ไม่อยากให้ทรัพย์ของตนถูกขายทอดตลาด ก็เข้ามาไกล่เกลี่ยกับ กยศ.เพื่อขอผ่อนชำระหนี้ เมื่อผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันมาทำข้อตกลงกับ กยศ. ทาง กยศ.จะชะลอการขายทรัพย์ไว้ชั่วคราว เมื่อผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหาเงินมาจ่ายในเวลาที่กำหนด กยศ.จะถอนการยึดทรัพย์ต่อไป

'ภูมิใจไทย' ชี้พักหนี้ 5 ปี ประหยัดงบกว่า 2 หมื่นล้าน เสนอเรียนฟรีจบ ป.ตรี

พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิดในการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การพักชำระหนี้ไม่ได้ยกหนี้ให้ เพียงแต่พักการใช้หนี้ไว้ก่อน ระหว่างนั้นค่อยมาตกลงในรูปแบบของเงื่อนไขการจ่ายหนี้ ที่สำคัญการดำเนินนโยบายดังกล่าว สามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการฟ้องร้องลูกหนี้จำนวน 2.5 ล้านราย คิดเป็นงบกว่า 20,000 ล้านบาท และจะเป็นการต่อลมหายใจให้กับประชาชนด้วย

พรรคภูมิใจไทยยังชี้ว่าที่คนเหล่านี้ต้องมากู้ เพราะระบบการศึกษาไทยดูแลไม่ครอบคลุมทั่วถึง สังคมคาดหวังให้เด็กเรียนต่อถึงระดับปริญญาตรี แต่รัฐสนับสนุนให้เรียนฟรีเพียง 15 ปี หรือแค่จบมัธยม หลังจากนั้นเด็กต้องหาเงินเรียนเอง เมื่อไม่มีเงินก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาเรียน ส่งผลให้เกิดปัญหาเช่นในปัจจุบัน ดังนั้นรัฐควรที่จะทำนโยบายให้โอกาสทางการศึกษา ขยายการเรียนฟรี ไปต่อจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ซึ่งทางพรรคกำลังทำนโยบายในการสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะทำงานและจ่ายภาษีคืนแก่ประเทศชาติอยู่แล้ว

'เพื่อไทย' เสนอ ชำระหนี้เมื่อรายได้ 15,000 บ. up

นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ผู้กู้เงินเพื่อการศึกษาต้องชำระเงินคืนกองทุนต่อเมื่อมีงานทำและมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท ไม่ใช่ต้องชำระหลังเรียนจบหรือเลิกเรียน เพราะผู้กู้หลายคนอาจยังตกงาน โดยเฉพาะปัจจุบันจำนวนคนที่จบปริญญาตรีแล้วยังตกงานจำนวนนับแสนคน ซึ่งไม่มีความสามารถในการใช้เงินคืน นอกจากนั้นควรพิจารณาว่าครอบครัวคนยากคนจนคนหาเช้ากินค่ำหาผู้ค้ำประกันไม่ง่าย จึงควรพิจารณาว่าควรยังให้มีผู้ค้ำอยู่หรือไม่เพราะเมื่อเด็กหาใครไม่ได้ก็ไม่พ้นต้องขอให้ครูเซ็นค้ำให้และครูก็เมตตาศิษย์จำยอมเซ็นให้ แต่ต่อมาก็อาจเสี่ยงถูกฟ้อง ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับครูที่มีหน้าที่สอน จึงควรยึดหลักการว่าการกู้ยืมเป็นภาระส่วนตัวของผู้กู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบชำระคืนเงินกู้เมื่อตนมีความสามารถทางการเงิน ดังนั้นควรนำหลักการของกองทุน กรอ. กลับมาใช้

'ภาคปชช.' ชี้ปัญหาคือกำหนดเวลาจ่ายทั้งที่คนยังไม่มีงานทำ-อัตราดอกเบี้ยหลังผิดนัดสูงไป

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือ แม้จะมีการแก้กฎหมายระบุให้มีการเปลี่ยนระยะเวลาการใช้คืน แต่ก็ให้อำนาจคณะกรรมการในการออกประกาศเกณฑ์ระยะเวลาในแต่ละปี ซึ่งที่ผ่านมากำหนดให้เริ่มจ่ายคืนหลังจากจบ 2 ปี ปัญหาคือ ภายในสองปีอัตราการได้งานทำก็ไม่ใช่ 100% และแม้ได้งานก็อาจได้รายได้ที่ต่ำ หลายคนจึงไม่พร้อมจะใช้คืน ดังนั้นคณะกรรมการควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะกำหนดให้ทุกคนชำระในระยะเวลาเดียวกันอาจเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่หละหลวมตั้งแต่การติดตามคนกู้ยืม ไม่รู้ที่อยู่ ที่ทำงาน ปัญหาประการต่อมาคือการกำหนดให้ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีหลังจากผิดนัด แม้ถือว่าไม่มากแต่ก็อาจจะมากเกินจำเป็น ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เสนอให้อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี

นักวิชาการวิพากษ์ 'กยศ. = การศึกษาคือการลงทุน' แต่แท้จริงคือสวัสดิการที่ทุกคนควรได้ฟรี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของหนี้ กยศ. เกี่ยวข้องกับสิทธิสวัสดิการด้านการศึกษา เริ่มจากที่รัฐบาลรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ และพยายามจะจำกัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการการศึกษา มองว่าการศึกษาเป็นสินค้า เป็นการลงทุน ช่วงที่ผ่านมา 10 กว่าปีจะเห็นได้ว่าค่าเทอมแต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มไม่เท่ากัน ในมหาวิทยาลัยรัฐก็มีโครงการพิเศษต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และเราจะเห็นความแตกต่างของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยต่างๆ พอค่าเทอมสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐบาลแก้ไขโดยการตั้งกองทุน กยศ. ซึ่งเป็นการให้งบประมาณที่ตั้งไว้กองหนึ่งแล้วให้เงินส่วนนี้หมุนเวียนไป ซึ่งแนวคิดของ กยศ. มองการศึกษาที่ดีคือการลงทุน มีราคาสูง รัฐบาลจะช่วยโดยการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พอจบออกมาก็มีปัญหาอีก เพราะการศึกษาไทยไม่สามารถทำให้มีการเลื่อนสถานะได้จริง ขณะที่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้น

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า แนวทางเชิงนโยบายระยะสั้น คือการปรับโครงสร้างหนี้ ทำอย่างไรให้หนี้ กยศ. น้อยที่สุด และใช้คืนได้มากที่สุด ต้องมีสองอย่างประกอบกัน คือ หนึ่ง เงินของ กยศ. จะมีส่วนค่าครองชีพและส่วนค่าเทอม เราอาจจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ให้เปล่า สมมติกู้ทั้งหมด 300,000 ถึงเวลาคืนคืนแค่ 200,000 หรือ 150,000 เพื่อให้การศึกษาเกิดความเสมอภาคมากขึ้น อีกด้าน กยศ. เป็นการผูกติดกับสถานะของพ่อแม่ ต้องมีการประจานความจน ต้องทำความดีถึงสามารถกู้ได้ ถ้าสามารถเปลี่ยน กยศ. ให้เป็นสิทธิถ้วนหน้า อัตราการเป็นหนี้เป็นมิตรมากขึ้น

ส่วนในระยะยาว การศึกษาควรเป็นสิทธิ เป็นสวัสดิการ การศึกษาไม่ควรถูกทำให้กลายเป็นสินค้า ควรมีการกำหนดค่าเทอมของทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยรัฐบาลรวมทั้งเอกชนสามารถสูงได้แค่ไหน อย่างในมาเลเซียค่าเทอมในมหาวิทยาลัยรัฐของเขาพอๆ กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับค่าครองชีพ ดังนั้นค่าเทอมจึงต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพหรือค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเราอยู่ที่ 7,500 บาท แต่ค่าเทอมอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท เท่ากับการทำงานขั้นต่ำสองเดือน แต่ค่าเทอมควรจะเท่ากับค่าครองชีพหนึ่งเดือนไม่เกินนี้

ษัษฐรัมย์ชี้ว่า นอกจากนี้ต้องทำให้มีเงินเดือนของนักศึกษา มองว่าการมาเรียนก็เหมือนการทำงาน ต้องมีระบบจัดการเรื่องค่าครองชีพให้เขา เพราะไม่งั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนจะเป็นหนี้มากขึ้น พอเป็นหนี้มากขึ้น อำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจจะน้อยลง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะไม่เกิด

"การศึกษาควรถูกลงทุนโดยรัฐบาลเป็นพื้นฐาน เหมือนกับเป็นน้ำ เป็นอากาศ ที่คนควรได้รับสิ่งที่ดี การศึกษาก็เหมือนการสร้างคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ เช่น มีสวนสาธารณะ มีศูนย์ศิลปะ ไม่จำเป็นว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนสาขาที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานอย่างเดียว แต่ควรเป็นสิทธิในการเลือกของประชาชนโดยทั่วไป ถ้าอยากเรียนต้องได้เรียน ไม่อยากเรียนก็ไม่เป็นไร แต่คนจะสามารถกลับเข้าสู่การศึกษาได้ทุกเมื่อ" ษัษฐรัมย์ กล่าว

อ้างอิง Thaipost, Matichon, Thairath, Ch7 , Matichon2

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น