ประชาไท Prachatai.com |
- คุยกับผู้รายงานพิเศษ UN: นิยาม ความท้าทาย การจัดการ ‘เสรีภาพทางศาสนา-ความเชื่อ’
- น้าสาวพลทหารคชา แจ้งความ 3 ทหารเกณฑ์พยายามฆ่า ตำรวจบอกหลักฐานไม่เพียงพอ
- เวเนซุเอลาในสื่อไทย : ดราม่า vs ความจริง
- Digital Native และวัฒนธรรมเยาวชนโลกออนไลน์ | หมายเหตุประเพทไทย #224
- ใบตองแห้ง: รัฐที่ประชาชนผิด
- ผู้พัฒนาเกมเยอรมนีฝ่าข้อห้าม เปิดตัวเกมให้ผู้เล่นเป็นฝ่ายต้านนาซี-นำเสนอภาพสวัสดิกะโจ่งแจ้ง
- ศาลปราจีนบุรีนัดสืบพยานคดีตำรวจซ้อมทรมาน 28-31 ส.ค. 2561 นี้
- ชาวบ้านตั้งกลุ่ม 'โยธะการักษ์ถิ่น' ยันที่บรรพบุรุษ-ไม่ย้ายออก หลังกองทัพเรือขอคืนพื้นที่ 4 พันไร่
- นักเศรษฐศาสตร์ชี้กฎหมายต้องปรับตัวดูแลแรงงาน รับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
- ปล่อยทนายประเวศแล้วหลังขังเต็ม 16 เดือน ประกาศสู้จุดยืนเดิม
คุยกับผู้รายงานพิเศษ UN: นิยาม ความท้าทาย การจัดการ ‘เสรีภาพทางศาสนา-ความเชื่อ’ Posted: 26 Aug 2018 01:46 PM PDT Submitted on Mon, 2018-08-27 03:46 สัมภาษณ์อาห์เหม็ด ชาฮีด ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ ถึงความหมาย ความสำคัญ สถานการณ์ในเอเชีย/อาเซียน ความเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยแบบแยกไม่ขาด แนวทางที่รัฐสามารถจำกัด ดูแลการใช้สิทธิ เสรีภาพได้แบบควรแก่เหตุในยุคดิจิทัล การพูดถึงศาสนาในโรงเรียนไทยนั้นอยู่บนเส้นเรื่องที่ว่า ไทยประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีประชากรส่วนมากเป็นคนพุทธ และลงท้ายด้วยคำสวยๆ ว่าไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม แต่ทุกศาสนาล้วนสอนให้คนเป็นคนดี ทว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือการอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่มีความเชื่อต่างกันทั้งในด้านปฏิสัมพันธ์ และความเคารพกันในทางความคิด ความเชื่อในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และเท่าเทียมกัน โจทย์ปัญหาเดียวกันถูกถามสะท้อนไปมาทั่วโลก ในเมื่อทุกประเทศต่างมีความแตกต่างในด้านความเชื่อ มโนธรรมกันทั้งนั้น หน้าประวัติศาสตร์โลกต่างเห็นการเลือกปฏิบัติต่อคนที่นับถือศาสนาหรือความเชื่อชุดหนึ่งเหนือกว่าอีกชุดหนึ่งอยู่เสมอๆ และหลายครั้งจบลงด้วยบทโศกและความตายของคนจำนวนมาก ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดตอนนี้คือกรณีรัฐบาลพม่ากระทำต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ในทางสิทธิมนุษยชน มนุษย์นั้นมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ความเชื่อและสามารถแสดงออกอย่างสันติ เสรีภาพนี้ถูกบรรจุอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งประชาไทได้รับเกียรติจากอาห์เหม็ด ชาฮีด ผู้รายงานพิเศษ องค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) ด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ มาให้สัมภาษณ์ถึงความหมาย ความสำคัญของเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ สถานการณ์ภาพรวมในเอเชีย ข้อกังวลและคำแนะนำกับการทำให้เกิดการเคารพซึ่งการมีความเชื่อที่ต่างกัน (หรือแม้แต่การเลือกที่จะไม่มี) ท่ามกลาง 'อิสลาโมโฟเบีย' และโซเชียลมีเดียที่ใช้กันแพร่หลาย อาห์เหม็ด ชาฮีด อาห์เหม็ดไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ประเทศไทยเนื่องจากไม่ได้อยู่ในระหว่างการมาเยือนประเทศ แต่การพูดคุยกันในประเทศที่งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และการบัญญัติหน้าที่ให้รัฐพึงป้องกันไม่ให้มีการบ่อนทำลายพุทธศาสนาในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ให้ภาพดูขัดแย้งกันดี เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อคืออะไรหลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อคือสิทธิมนุษยชนที่ใช้กับทุกผู้ทุกคน เสรีภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อ แต่มันคือการทำให้ปัจเจกชนหรือกลุ่มได้มีเสรีภาพในการมีความคิด มโนธรรม ศาสนาหรือความเชื่อ เป็นสิทธิมนุษยชนสากล และเนื่องจากมันเป็นเสรีภาพ มันจึงเป็นการให้พื้นที่ให้คนได้ใช้สิทธิดังกล่าว รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้และยังต้องคุ้มครองการแสดงออกซึ่งการใช้สิทธิดังกล่าวอย่างสันติ ทั้งนี้ การใช้สิทธินั้นสามารถถูกจำกัดได้แต่ก็เพียงแต่ในกรณีจำเพาะเจาะจงมาก ผมควรจะต้องเพิ่มเติมด้วยว่ามัน (เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ) คือความเท่าเทียมเพราะมันเป็นสิทธิที่ทุกคน ทุกเพศมีอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความศรัทธาต่อความเชื่อใดๆ ก็ตาม คุณไม่สามารถแยกเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อออกจากสิทธิมนุษยชนที่เหลือด้วยเหตุผลว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อเป็นพื้นฐานที่สร้างบริบทให้คนสามารถใช้สิทธิอื่นๆ คุณไม่สามารถหารัฐใดๆ บนโลกที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในขณะที่เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐปกป้องเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิใดถูกสถาปนา แม้ว่าคุณจะเอาข้อที่ 18 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR: ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อถือ...) ออกไป คุณก็ยังสามารถใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อได้ เพราะว่าสิทธิอื่นๆ ยังคงให้ความคุ้มครองในการใช้สิทธิดังกล่าว แต่ความแตกต่างคือ เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นมากกว่าเสรีภาพในการแสดงออก เพราะตามข้อที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นสามารถถูกจำกัดได้ด้วยบางสาเหตุ เช่น ความมั่นคงของชาติ แต่เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อไม่สามารถถูกจำกัดด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยของสาธารณะ เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อกับประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงกันไหมคุณไม่สามารถหารัฐที่ปฏิเสธเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อและเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยคือเจตจำนงของประชาชน และจุดเริ่มต้นของความเป็นอิสระของคนก็คือมโนธรรมของคน ถ้าคุณไม่มีพื้นที่ให้เชื่อหรือประสงค์ที่จะเชื่อ คุณก็อยู่ในรัฐแบบออร์เวลเลียน (จอร์จ ออร์เวล ผู้เขียนนิยายเรื่อง 1984 ที่รัฐควบคุมประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ) ที่รัฐบาลต้องการจะล้างสมอง ใส่ความคิดเข้าไปในหัวและควบคุมวิธีคิดของคุณ ยิ่งประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการเชื่อ ก็หมายความว่ามีพื้นที่เสรีภาพที่มากขึ้น และนั่นคือสิ่งที่ประชาธิปไตยผูกแนบอยู่กับสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์อีกด้านหนึ่งมาจากการทดลองในหนังสือที่ชือว่า The Price of Freedom Denied มีการทดลองและพบว่ายิ่งมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อมากเท่าไหร่ สังคมก็ยิ่งมีแนวโน้มจะสงบสุขและขัดแย้งกันน้อยลง มีการทำวิจัยอื่นๆ ในเรื่องของความเท่าเทียมกันในแนวราบ พบว่า ยิ่งมีความเท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มทางเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีสันติสุขมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ในด้านที่สามคือความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจ ในประวัติศาสตร์เมื่อมีการก่อกวนหรือกวาดล้างขึ้นก็จะเกิดภาวะทุนหนีหาย เกิดภาวะสมองไหลและผู้คนย้ายถิ่น ภาพรวมเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในเอเชียเป็นอย่างไรบ้างเอเชียเป็นกลุ่มก้อนของรัฐที่ใหญ่มาก และในหลายพื้นที่ก็มีปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เอเชียสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มๆ เอเชียตะวันตกส่วนมากเป็นประเทศมุสลิม เอเชียใต้ก็มีอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศหรือเนปาล และก็มีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงนี้ เอเชียกลางที่ประกอบด้วยคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และเอเชียตะวันออกไกลที่มีญี่ปุ่น จีนและเกาหลี ในภาพรวม ทุกกลุ่มมีปัญหาที่น่ากังวลมากๆ ถ้าดูข้อมูลงานวิจัยจาก PEW Research Center ว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในระดับโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ตำแหน่งแห่งหนของประเทศในเอเชียมีความน่าเป็นห่วงกว่าประเทศอื่นในโลกในด้านความเข้มงวดของรัฐบาล และความโหดร้ายทารุณจากสังคม (ที่มีต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ) ดัชนีความเข้มงวดกับศาสนาโดยรัฐและสังคมที่จัดทำโดย PEW Research Center ที่ในปี 2559 มีการจัดทำอันดับความเข้มงวดของรัฐบาลและสังคมต่อศาสนา และพบว่ารัฐบาลของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิคมีอัตราความเข้มงวดสูงกว่าพื้นที่อื่นในโลก (ที่มา: PEW Research Center) และถ้าดูจากรายงานของคณะกรรมาธิการสำหรับเสรีภาพทางศาสนานานาชาติของสหรัฐฯ (United States Commission on International Religious Freedom - USCIRF) หน่วยงานที่สังเกตการณ์สถานการณ์เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อรอบโลก ในรายงานปี 2561 มี 28 ประเทศที่ USCIRF ใส่ไว้ในลิสต์ที่น่ากังวลซึ่งแบ่งเป็นสองเทียร์ เทียร์ที่หนึ่งมี 16 ประเทศ เป็นเอเชียไป 11 ในเทียร์สองมี 12 ประเทศ เป็นเอเชียไป 8 มีข้อกังวลอะไรกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ผมมีข้อกังวลเกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียนหลายข้อ เหตุผลหลักก็คือเทรนด์และความซับซ้อนในภูมิภาคนี้มีความเติบโตขึ้น ภูมิภาคนี้ค่อนข้างจะตามหลังภูมิภาคอื่นในการทำตามอาณัติที่ผมรับผิดชอบอยู่ ซึ่งอาณัตินี้มีความเป็นมาย้อนหลังไปถึงปี 2529 (ข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยผู้รายงานพิเศษเรื่องความไม่อดทนอดกลั้นกับศาสนา คือข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ของผู้รายงานพิเศษในการทำงานเกี่ยวกับกรณีเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อ) และเพิ่งมีสองประเทศที่ยอมรับการไปเยือนประเทศ คือลาวกับเวียดนาม การไปเยือนเวียดนามอีกครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาดีเท่าไหร่ เวียดนามเป็นประเทศที่รายงานของ PEW Research Center ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถานการณ์ที่น่ากังวล เนื่องจากรัฐบาลมีท่าทีรุนแรงต่อศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นหลังถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่มองศาสนาเป็นปัญหา ซึ่งในบริบทดังกล่าวก็มีบรรยากาศของความกดขี่ ความท้าทายสำหรับผู้คนที่นับถือศาสนาหรือความเชื่อ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความลำบากในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน มีข้อเสนอแนะอะไรหรือไม่แน่นอนว่ารัฐมีหน้าที่สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนไม่ว่าเป็นพลเรือนหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เสรีภาพในการนับถือศาสนาไม่ได้คุ้มครองคือการใช้ความรุนแรงในนามของศาสนา คุณไม่สามารถจับอาวุธขึ้นมาในนามของศาสนา และมันเป็นเรื่องต้องห้ามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อตกลงระหว่างประเทศมีระบุไว้ชัดเจนกรณีที่รัฐประกาศสงครามต่อรัฐอื่น แต่ไม่มีสิทธิใดที่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มใดๆ จะประกาศสงครามกับรัฐ คนเหล่าถือว่าล่วงละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศ และรัฐก็มีหน้าที่ตอบโต้กลุ่มคนเหล่านั้น แต่รัฐเองก็มีกฎหมายทั้งเรื่องมนุษยธรรม เรื่องการสู้รบ ไปจนถึงกฎหมายอื่นๆ ที่กำกับกรอบการทำหน้าที่ของรัฐในกรณีดังกล่าว และสิ่งสำคัญคือความได้สัดส่วน รัฐนั้นมีหน้าที่ต้องจบความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถละเมิดสิทธิของเหล่านักรบ สิ่งที่พบเห็นตอนนี้คือประเทศต่างๆ จำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในนามของการรักษาความสงบสุข ผมกำลังพูดถึงภาวะเกลียดกลัวอิสลาม (อิสลาโมโฟเบีย)เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษยชนนั้นยอมให้มีการจำกัดจากรัฐได้อยู่บ้าง ผมอ้างอิงจากหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนสองข้อ หนึ่งคือข้อ 18 ของ ICCPR วงเล็บสาม ความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นฐานอย่างหนึ่งในการจำกัดเสรีภาพ อีกอย่างหนึ่งคือเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม คุณไม่สามารถใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการสร้างความวุ่นวายต่อสาธารณะและสถานการณ์ที่ไม่สงบสุข เสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจ าเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยสุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น อีกเงื่อนไขที่สามารถจำกัดเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อได้คือเรื่องสาธารณสุข คุณไม่สามารถใช้ศาสนารับรองการกระทำของคุณได้ถ้ามันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เมื่อมีโรคระบาดครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับเด็กจำนวนมากแต่มีคนบอกว่าศาสนาของเราไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน แบบนี้รัฐก็ต้องเข้ามาแทรกแซง และยังมีเหตุผลเรื่องศีลธรรมของสังคมอีก ไม่ใช่ศีลธรรมที่อิงอยู่กับศาสนา แต่อิงอยู่กับคุณค่าที่คนในสังคมยึดถือร่วมกันรวมไปถึงสิทธิของผู้อื่น ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้เป็นปัจจัยที่รัฐสามารถใช้นำมาจำกัดเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อได้แต่ก็ต้องมีเงื่อนไขอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น จะต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และการกระทำจะต้องได้สัดส่วนกับภัยคุกคามที่เกิด คุณไม่สามารถใช้ค้อนขนาดใหญ่มาทุบลูกนัทได้ มันต้องเป็นมาตรการที่ได้สัดส่วนที่อย่างน้อยก็ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ก็มีแนวโน้มที่รัฐจะใช้ความรุนแรงเพื่อทำให้เกิดเสรีภาพหรือสันติภาพ แล้วบังคับใช้มาตรการที่โหดร้ายจนไปทำลายสิทธิเหมือนกัน และนั่นเป็นเรื่องที่ผิด ยกตัวอย่างกรณีอิสลาโมโฟเบีย คำนี้ควรต้องถูกชี้แจงให้กระจ่าง การนับถือศาสนาหรือความเชื่อไม่มีอะไรผิด เพราะเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อไม่ได้คุ้มครองแนวคิด ข้อ 20 ของ ICCPR พูดถึงหน้าที่ของรัฐในการห้ามไม่ให้เกิดการรณรงค์ให้เกลียดชังศาสนาที่นำไปสู่การเกิดความรุนแรงต่อบุคคลอื่น ไม่ใช่ว่าทุกการกระทำที่มีแรงจูงใจจากศาสนาจะสามารถกระทำได้หมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐมีพื้นที่ในการทำลายสิทธิทุกอย่าง และก็มีบางกรณีที่รัฐมีสิทธิในการปกป้องประชาชนจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในนามศาสนา ซึ่งรัฐเองก็ต้องทำด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ปัญหาก็คืออิสลาโมโฟเบียที่ถูกมองเป็นว่าเป็นความเกลียดชังมุสลิมก็คือคุณไม่สามารถทำให้การเกลียดทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง เพราะมันขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ความหมายของอิสลาโมโฟเบียคือการมองมุสลิมทุกคนเป็นภัยคุกคามและสมควรได้รับการเลือกปฏิบัติ แต่นั่นเป็นเรื่องที่ผิดอย่างชัดเจนและก็เป็นอาชญากรรมด้วย โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างไรกับการสร้างเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อต้องเข้าใจว่าการใช้เสรีภาพต้องเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบ ตาม UDHR นั้น ปัจเจกบุคคลมีหน้าที่ของตัวเองต่อชุมชน แต่ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการทำลายสิทธิ สิทธิของผมในการจะเหวี่ยงแขนจบลงเมื่อมันไปโดนหน้าคนๆ หนึ่ง สิทธิที่ผมจะพูดอย่างเสรีจบเมื่อมันไปปลุกระดมคนอื่นให้ไปทำอันตรายกับคนอื่นๆ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาธิปไตยและสำหรับเราที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระในโลกแบบที่เราต้องการ แต่การไม่มีข้อจำกัดเลยนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แล้วเราจะทำอย่างไรกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียล่ะ แทนที่จะปิดมันลงหรือว่าจะเซนเซอร์ คุณควรจะมีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด มีข้อแนะนำอยู่ในข้อที่ 20 ของ ICCPR เรื่องแนวทางของรัฐในการจัดการการกระทำในลักษณะแบบนั้น โดยมีเกณฑ์พิจารณาอยู่ห้าอย่าง
มีหลายปัจจัยที่รัฐควรจะเข้ามาจัดการกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต แต่ประเด็นคือการทำให้การแบนมีน้อยและรับประกันว่าการแบนนั้นโปร่งใส อยู่บนหลักความรับผิดรับชอบ แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้กับการแสดงออกอย่างเสรี เพราะความเกลียดชังทางศาสนาสามารถถูกโต้ตอบได้ถ้ามีเสรีภาพการแสดงออก เมื่อไม่มีเสรีภาพการแสดงออกมันก็ทำให้ความเกลียดชังถูกฟูมฟักขึ้น และอาจมีอิหม่าม นักเทศน์ที่ออกมาพูดด้วยความเกลียดชัง ถ้ามีเสรีภาพในการแสดงออกก็จะมีคนอื่นสามารถมาท้าทายพวกเขาได้ แนวคิดของเสรีภาพการแสดงออกสามารถนำมาใช้ในทางบวกเพื่อโต้ตอบวาทกรรมที่ไม่ดีด้วยการสร้างวาทกรรมที่ดี และแสดงออกซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของวาทกรรมที่ไม่ดีและความเกลียดชัง มีความเห็นอย่างไรถ้ารัฐบังคับใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติกับศาสนาหนึ่งจากอีกศาสนาหนึ่งรัฐทำให้เกิดภาวะอันตรายในระยะยาวถ้าทำเช่นนั้น ถ้าคนมีเสรีภาพในการใช้สิทธิ มีประชาธิปไตย มีผู้นำที่ดีที่ประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิและได้มันมาโดยสันติ สังคมก็จะมีเสถียรภาพขึ้น สงบสุขและเข้มแข็ง เมื่อรัฐบาลปฏิเสธเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้ศาสนาหนึ่งอยู่เหนือกว่าศาสนาหนึ่ง ก็จะจบลงด้วยการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มหนึ่ง และการเลือกปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่ถูกห้ามในแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนทุกอย่าง ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
น้าสาวพลทหารคชา แจ้งความ 3 ทหารเกณฑ์พยายามฆ่า ตำรวจบอกหลักฐานไม่เพียงพอ Posted: 26 Aug 2018 10:48 AM PDT Submitted on Mon, 2018-08-27 00:48 สืบเนื่องจากกรณีพลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จ.ลพบุรี ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คน เรียกตัวไปซ้อมทรมานกลางดึกของวันที่ 21 ส.ค. 2561 จนหัวใจหยุด และต้องนำตัวเข้ารักษาพยาบาลที่ โรงพยาบาลมอานันทมหิดล สังกัดกรมการแพทย์ทหารบก โดยอาการล่าสุดในตอนนี้ แพทย์ทหารระบุว่า มีภาวะสมองบวม ไม่สามารถหายใจเองได้ และมีอาการปอดติดเชื้อ ล่าสุด 26 ส.ค. กาญจนภรณ์ สีหะวงศ์ น้าสาวของพลทหารคชา ได้นำเอกสารระบุอาการของพลทหารคชา ไปพบพนักงานสอบสวนสถานนีตำรวจภูธรลพบุรี และแจ้งความเพิ่มเติมข้อหาพยายามฆ่ากับทหารเกณฑ์รุ่นพี่ทั้ง 3 คน แต่ทางพนักงานสอบสวนดูเอกสารแล้วบอกว่าเป็นเพียงแค่ทําร้ายร่างกาย จนอาการสาหัส หลักฐานมีไม่เพียงพอที่จะแจ้งว่าพยายามฆ่าได้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2561 ครอบครัวของพลทหารคชา พร้อมด้วย พ.ท.มลชัย ยิ้มอยู่ ผู้บังคับบัญชากองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ และทหารเกณฑ์รุ่นพี่ทั้ง 3 คน ที่เป็นผู้ทำร้ายร่างกาย ได้เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน โดยทหารเกณฑ์รุ่นพี่ทั้ง 3 คน ระบุว่า ได้เตะพลทหารคชาไป 3 ครั้ง ขณะอยู่ในท่ายึดพื้น และเตะไปที่สีข้างทั้งสองข้าง จนทำให้พลทหารคชาสลบลง เมื่อเห็นว่าสลบลงมีความคิดว่าลากตัวไปทิ้งที่เชิงเขา ซึ่งอยู่ด้านหลังหน่วย แต่มีพลหทารคนอื่นๆ มาเห็นก่อนพบดี และได้ไปบอกสิบเวรให้นำตัวมารักษา ส่วนสาเหตุคือหมั่นไส้ เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ , เดลินิวส์ออนไลน์ ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
เวเนซุเอลาในสื่อไทย : ดราม่า vs ความจริง Posted: 26 Aug 2018 08:42 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 22:42 ฉันอ่านบทความจากสื่อออนไลน์เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา พบว่าบทความเล่าเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างและใส่สีสันดราม่า หลายบทความนำเวเนซุเอลามาเทียบกับไทยแบบจับแพะชนแกะ ดังนั้นฉันจึงรวบรวมดราม่ามาเปรียบเทียบความจริงในบทความนี้ ดราม่า 1 : เวเนซุเอลาเป็นประเทศสังคมนิยม ความจริง 1 : เวเนซุเอลาเป็นประเทศผสมสังคมนิยมและทุนนิยม รัฐบาลชาเวซ (พศ. 2542-2558) และรัฐบาลมาดุโร (พศ. 2558-ปัจจุบัน)ไม่ได้ยึดธุรกิจเอกชนทุกอย่างมาแปรรูปให้เป็นรัฐวิสาหกิจหมด ยึดเพียงบางธุรกิจ ขยายธุรกิจของรัฐวิสาหกิจเดิมและก่อตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่ๆเพื่อลดความสำคัญของเอกชน เน้นรัฐวิสาหกิจผลิตน้ำมันและวัตถุดิบอุตสาหกรรม (อาทิ ซีเมนต์ เหล็ก) และรัฐวิสาหกิจในภาคบริการรวมทั้งสาธารณูปโภค การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน บริษัทเอกชนขนาดใหญ่มีทั้งบริษัทของเศรษฐีเวเนซุเอลาและบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ ส่วนสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและอะไหล่ ความจำเป็นที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นสังคมนิยม 100% ไม่ได้ ในทางทฤษฎีรัฐบาลตั้งรัฐวิสาหกิจนำเข้าเอง 100% เองก็ได้ แต่ในทางปฎิบัติประเทศทุนนิยมที่ส่งออกสินค้ามาเวเนซุเอลาก็จะคว่ำบาตรไม่ส่งสินค้าให้ ดังนั้นตราบใดที่เวเนซุเอลาไม่มีเทคโนโลยีผลิตสินค้าทุกอย่างที่ต้องการหรือนำเข้าจากประเทศสังคมนิยมเหมือนกันหมดทุกอย่างก็เป็นสังคมนิยม 100% ไม่ได้ แม้แต่รัฐวิสาหกิจน้ำมันซึ่งทำรายได้เกิน 90% ของรายได้ประเทศก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขุดเจาะและกลั่นน้ำมัน ภาคบริการที่สำคัญอย่างกิจการธนาคารก็มีทั้งธนาคารรัฐและธนาคารเอกชน เวเนซุเอลายังมีตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร กิจการขนส่งก็มีทั้งของรัฐวิสาหกิจและเอกชน มีรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าและสายการบิน แต่ก็มีแท็กซี่เอกชน มีบริษัทขนส่งและชิปปิ้งเอกชน สายการบินต่างชาติรวมทั้งสายการบินอเมริกันก็มีสำนักงานในเวเนซุเอลา ภาคบริการขายปลีกก็มีทั้งของรัฐวิสาหกิจและเอกชน รัฐบาลชาเวซยึดซูเปอร์มาร์เก็ตเอกชนบางแห่งมาแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจขายปลีก แม้ว่ารัฐบาลมาดุโรประกาศว่าขั้นต่อไปของการ"ปฏิวัติโบลิวาร์"ในอนาคตคือการให้รัฐวิสาหกิจขายปลีกผูกขาดการขายปลีกอาหารทั้งประเทศ ในทางปฎิบัติก็คงขาดทุนย่อยยับเหมือนรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในปัจจุบัน (ฉันจะอธิบายประเด็นการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจเวเนซุเอลาในภายหลังเมื่อกล่าวถึงดราม่าอื่นๆ) เวลานิตยสารฟอร์บจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีพันล้าน(เหรียญสหรัฐฯ)ก็มีคนเวเนซุเอลาติดอันดับด้วย เช่น อภิมหาเศรษฐีธนาคาร (อันดับ 480) อภิมหาเศรษฐีสื่อสาร (อันดับ 1999) [1] ในแง่นี้ก็คล้ายไทยเพราะไทยก็มีอภิมหาเศรษฐีธนาคารและอภิมหาเศรษฐีสิ่อสารติดอันดับนิตยสารฟอร์บช่นกัน แต่ไทยมีความเป็นทุนนิยมมากกว่าเวเนซุเอลา ยกตัวอย่างกิจการขายปลีก ไทยไม่มีรัฐวิสาหกิจขายปลีกแบบเวเนซุเอลา แม้ว่าไทยมีโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐแต่กระทรวงพาณิชย์ไทยไม่ใช่เจ้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ และเจ้าของร้านธงฟ้าประชารัฐไม่ใช่พนักงานรัฐวิสาหกิจ ดราม่า 2 : เวเนซุเอลาตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯและหันไปพึ่งรัสเซียกะจีน ความจริง 2 : เวเนซุเอลาตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯชั่วคราวเพียง 9 เดือน ปัจจุบันมาตรการคว่ำบาตรโดยรัฐบาลทรัมป์ก็ไม่ได้ห้ามค้าขายหรือห้ามธุรกรรมทุกอย่าง ห้ามเพียงบางธุรกรรมเท่านั้น สถานทูตเวเนซุเอลาในกรุงวอชิงตันดีซีดำเนินการปกติและมีสถานกงศุลเวเนซุเอลา 7 แห่งตามเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ นอกจากค้าขายก็มีการลงทุนข้ามชาติ บริษัทอเมริกันเข้าไปลงทุนในเวเนซูเอลา เช่น ฟอร์ด พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล คิมเบอร์ลีคล้าค ฯลฯ รัฐวิสาหกิจน้ำมันเวเนซุเอลามีหุ้นใหญ่ในบริษัทน้ำมันซิทโก้ (Citgo) ที่สหรัฐฯมานานเกือบ 40 ปีแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของซิทโก้ก็เป็นคนเวเนซุเอลา [2] รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรตรึงค่าเงินสกุลโบลิวาร์กับดอลลาร์สหรัฐฯและออกพันธบัตรกู้เงินสกุลเงินดอลลาร์ เจ้าหนี้ของเวเนซุเอลาก็มีสัญชาติอเมริกันด้วย แต่รัฐบาลเวเนซุเอลาประกาศชักดาบไม่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเจ้าหนี้อเมริกัน (และชาติอื่นๆด้วย) ปัจจุบันกำลังต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ [3] ดราม่า 3 : รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรใช้จ่ายโครงการสังคมสงเคราะห์มากเกินไป ความจริง 3 : รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรสงเคราะห์คนรวยและคนชั้นกลางมากเกินไป รัฐบาลชาเวซส่งเคราะห์คนรวยและคนชั้นกลางอย่างมหาศาลด้วยเงินดอลลาร์ในตลาดเงินตราแบบ"เนียนๆ"โดยไม่ผ่านงบประมาณประจำปี การสงเคราะห์ดังกล่าวเลยดูไม่ชัดเจนแบบโครงการทางสังคม ยุครัฐบาลชาเวซเงินโบลิวาร์มี 2 อัตรา [4] ก) อัตราแข็ง กำหนดให้ใช้นำเข้าสินค้าและใช้กับบุคคลทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ ธนาคารและบุคคลที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินดอลลาร์ก็ได้อัตรานี้ ข) อัตราอ่อน เป็นอัตราเงินสดตามตลาดมืดซึ่งคือตลาดที่ไม่ผ่านธนาคารในประเทศ มีทั้งในรูปแบแลกเงินสดและผ่านธนาคารนอกประเทศ ในทางเศรษฐศาสตร์อัตราตลาดมืดคือ"อัตราจริง"เพราะปรับตามความพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ รัฐบาลชาเวซออกมาตรการต่างๆเพื่อกำจัดอัตรานี้แต่กำจัดไม่สำเร็จ ก่อนชาเวซเสียชีวิตมีการลดค่าเงินโบลิวาร์หลายครั้ง ยิ่งลดค่าเงินอัตราอ่อนในตลาดมืดยิ่งกลายเป็นอัตรามหาอ่อน พอรัฐบาลมาดุโรมารับช่วงต่อก็แก้ปัญหาโดยการลดค่าเงินต่อและแบ่งแยกเป็นอัตราดังต่อไปนี้ ก) อัตราอภิมหาแข็ง กำหนดให้ใช้อัตรานี้กับบริษัทนำเข้าสินค้าจำเป็น ข) อัตรามหาแข็ง กำหนดให้ใช้อัตรานี้กับบริษัทนำเข้าสินค้า ค) อัตราแข็ง กำหนดให้ใช้อัตรานี้กับบริษัทและบุคคลทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์ และบัตรเครดิตของคนต่างชาติที่ใช้ในเวเนซุเอลาหรือบัตรเครดิตของคนเวเนซุเอลาที่ใช้ในต่างประเทศ แต่มีโควต้าจำกัดว่าจะใช้เงินดอลลาร์ผ่านบัตรเครดิตได้เท่าไร การลดค่าเงินและการแบ่งแยกอัตราก็ไม่ได้กำจัดตลาดมืด อัตราจริงในตลาดมืดก็ปรับจากอัตรามหาอ่อนเป็นอภิมหาอ่อน เพื่อให้เข้าใจว่ารัฐบาลชาเวซสงเคราะห์คนรวยและคนชั้นกลางอย่างไรลองสมมุติว่าแบงค์ชาติไทยใช้นโยบายเดียวกันจะเกิดอะไรขึ้น? สมมุติว่าแบงค์ชาติไทยขายเงินดอลลาร์ด้วยอัตรา 6 บาทต่อดอลลาร์โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ขอซื้อต้องพิสูจน์ความจำเป็นหรือต้องซื้อพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ (คือให้รัฐบาลกู้) และในตลาดมืด (เช่น ร้านขายปลีก คนอยากซื้อคอนโดที่ไมอามี คนอยากฝากเงินดอลลาร์ที่ธนาคารที่ปานามา คนมีหนี้สินที่ต้องจ่ายเจ้าหนี้ที่นิวยอร์ค ฯลฯ) มีอัตรา 30 บาทต่อดอลลาร์ และคุณมีเงินออมอยู่ 6 ล้านบาท คุณจะทำอย่างไร? สมมุติว่าคุณอยากแปลงเงินออมเป็นเงินดอลลาร์ทั้ง 6 ล้านบาท ก) ถ้าคุณจดทะเบียนตั้งบริษัทนำเข้าเพื่อขอซื้อเงินดอลลาร์ 1 ล้านดอลลาร์และได้อนุมัติ แล้วเอา 1 ล้านดอลลาร์ไปขายที่ตลาดมืดก็จะได้ 30 ล้านบาท หลังจากนั้นเอาเงิน 30 ล้านบาทนี้ไปซื้อเงินดอลลาร์จากแบงค์ชาติอีกรอบก็จะได้มา 5 ล้านดอลลาร์ แบ่งเงิน 5 ล้านดอลลาร์เป็น 2 ส่วนคือส่วนหนึ่งใช้ซื้อสินค้านำเข้าจริงๆเผื่อแบงค์ชาติส่งพนักงานมาตรวจสอบภายหลังว่าคุณนำเข้าสินค้าจริงหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งก็เป็น "ส่วนต่าง"ที่คุณเก็บเอาเข้ากระเป๋าตัวเองได้ ข) ถ้าคุณซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 1 ปี คุณต้องรอ 1 ปีกว่าจะได้เงิน 1 ล้านดอลลาร์ แต่คุณก็จะได้ดอกเบี้ยในสกุลดอลลาร์เป็นค่าเสียเวลาด้วย ถ้ารอไม่ไหวคุณก็เอาพันธบัตรที่ซื้อมาไปขายเป็นเงินสดในตลาดมืดก็ได้ [5] วิธีการ ก) ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติ ก็เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกสินบนหรืออำนวยให้พวกพ้องซื้อเงินดอลลาร์มาค้ากำไรได้ รัฐบาลชาเวซจับกุมพนักงานที่รับสินบนเพื่อเขียนเสือให้วัวกลัวเป็นครั้งคราว ที่จริงแล้วการใช้อัตราเงินแข็งเป็นอัตราทางการเป็นวิธีการซื้อเสียงจากสถาบันการเงิน นักธุรกิจ คนรวย และคนชั้นกลางที่มีเงินออม ถ้าไม่อยากให้มีการซื้อขายเงินในตลาดมืดจริงๆก็ทำได้ คือกำหนดอัตราแบงค์ชาติให้เท่ากับอัตราจริง รัฐบาลชาเวซอำพรางปัญหาด้วยการลดค่าเงินโบลิวาร์เป็นครั้งคราวแต่ก็ไม่ได้เข้าใกล้อัตราจริง การปรับอัตราแลกเปลี่ยนในยุครัฐบาลมาดุโรก็ไม่ได้เท่าอัตราจริง [6] รัฐบาลเวเนซุเอลาจะโดนบังคับให้เผชิญอัตราจริงก็ต่อเมื่อเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่แบงค์ชาติเหลือน้อยมากจนแบงค์ชาติขายเงินดอลลาร์ด้วยอัตราที่แข็งกว่าตลาดมืดไม่ได้แล้ว (โปรดรำลึกถึงยุควิกฤตต้มยำกุ้ง) และเมื่อนั้นก็มาถึงในยุครัฐบาลมาดุโร ที่จริงแล้วราคาน้ำมันปัจจุบันไม่ได้ต่ำเท่าตอนต้นยุครัฐบาลมาดุโร แต่รัฐวิสาหกิจน้ำมันที่เป็นตัวทำรายได้เงินทุนสำรองสกุลดอลลาร์ลดกำลังผลิตเพราะขาดทุนเรื้อรังจนไม่มีทุนมาบำรุงและซ่อมแซมเครื่องจักร ยิ่งขาดทุนวิศวกรก็ยิ่งลาออก(คาดว่าเพื่ออพยพไปอยู่ประเทศอื่น) เมื่อเงินทุนสำรองลดน้อยลงมาก บริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบและบริษัทรถยนต์ที่เคยซื้อเงินดอลลาร์จากรัฐง่ายๆก็ต้องรอเป็นเดือน ทำให้เกิดภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน รถยนต์ก็ขาดแคลนจนรถมือสองราคาแพงขึ้นเรื่อยๆจนแพงกว่าราคารถใหม่ในอดีต เมื่อเป็นเช่นนี้คนก็ยิ่งไม่อยากถือเงินโบลิวาร์อยากซื้อรถซื้อบ้านซื้อสินค้าที่เก็บได้นาน เป็นแบบนี้นานเข้าธุรกรรมในตลาดมืดก็ยิ่งเฟื่องฟู รัฐบาลพยายามปิดเว็บไซต์ https://dolartoday.com ที่รายงานอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดแต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/DolarToday ของเว็บนี้มีคนติดตามมากกว่า 10% ของประชากรเวเนซุเอลา (มีทวิตเตอร์หรือเพจเฟซบุ๊คไทยที่มีคนติดตามเกิน 6.8 ล้านคนไหม?) อีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลชาเวซและมาดุโรใช้เพื่อซื้อเสียงคนรวยคือให้นายพลระดับสูงเข้าไปบริหารรัฐวิสาหกิจรวมทั้งรัฐวิสาหกิจน้ำมัน [7][8] วิธีนี้ไม่ซับซ้อนและชัดเจน นอกจากนี้ทหารในยุครัฐบาลมาดุโรมีหน้าที่พิเศษคือควบคุมสินค้าจากโรงงาน(ทั้งโรงงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ)ให้ไปถึงปลายทาง รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าที่ต่ำมาก ประกอบกับภาวะขาดแคลนสินค้า จึงเกิดการลักลอบขายสินค้าให้พ่อค้าในตลาดมืดที่นำไปขายต่อเพื่อหากำไรหลายเท่าตัว รัฐบาลจึงส่งทหารไปคุ้มกันสินค้า แต่ก็ยากที่จะตรวจสอบว่าทหารรับสินบนแล้วปล่อยให้คนขับรถขนส่งลักลอบขายสินค้าหรือไม่ ดราม่า 4 : รัฐบาลชาเวซเปลี่ยนเวเนซุเอลาจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศส่งออกน้ำมัน ความจริง 4 : เวเนซุเอลาเป็นประเทศส่งออกน้ำมันมานานก่อนชาเวซเป็นประธานาธิบดี เวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 5 ของประเทศส่งออกน้ำมันที่ก่อตั้งองค์กรประเทศส่งออกน้ำมันหรือ"โอเปค"ก่อนชาเวซเป็นประธานาธิบดี 39 ปี นักคิดของเวเนซุเอลาในยุคนั้นเชื่อมั่นว่าถ้าประเทศส่งออกน้ำมันร่วมกันลดปริมาณการผลิตก็จะดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น แนวคิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จนักด้วยหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญคือการคาดการณ์ปริมาณความต้องการน้ำมันในตลาดโลกไม่ใช่เรื่องง่าย และประเทศสมาชิกมีแรงจูงใจที่จะผลิตเกินโควต้าที่ตกลงกันในที่ประชุมโอเปค ดราม่า 5 : ถ้ารัฐบาลชาเวซไม่ใช้นโยบายประชานิยมจะไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ความจริง 5 : ถึงไม่ใช้นโยบายประชานิยมก็มีวิกฤตเศรษฐกิจได้ วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับเวเนซุเอลา เมื่อ 30 ปีที่แล้วชาเวซยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีและยังไม่มีนโยบายประชานิยม แต่ก็มีวิกฤตด้วยสาเหตุเดียวกันคือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศน้อยและหนี้สาธารณะต่างชาติมากจนจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ได้ ในยุคนั้นรัฐวิสาหกิจน้ำมันก็รายได้ลดเพราะราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงเช่นกัน และรัฐบาลก็ใช้จ่ายมาก งบกระทรวงกลาโหมก็มาก รัฐบาลชาเวซก็เพิ่มงบกลาโหมเช่นกัน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลชาเวซเพิ่มงบให้โครงการทางสังคมเท่านั้น เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรมีอำนาจควบคุมการใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแบงค์ชาติเวเนซุเอลา ให้แบงค์ชาติอัดฉีดเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเรื้อรังและกู้จากต่างชาติเพิ่มเติมด้วย ผลการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจบางปีสูงกว่างบประมาณโครงการเพื่อสังคมด้วยซ้ำ เมื่อขาดทุนแล้วกู้ไปเรื่อยๆก็จบลงด้วยวิกฤต วิกฤตครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้วตรงนี้ยุคนี้มีโซเชียลมีเดีย ทำให้"อัตราจริงในตลาดมืด"อยู่ในที่แจ้งยิ่งเร่งให้คนเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดมืดมากยิ่งขึ้น และทำให้ทั่วโลกรับรู้วิกฤตครั้งนี้ได้รวดเร็วมากกว่าครั้งก่อน ประเทศที่เป็นตัวอย่างให้เวเนซุเอลาได้คือเอกวาดอร์ เอกวาดอร์เป็นประเทศส่งออกน้ำมันและเป็นสามาชิกโอเปคตั้งแต่พศ. 2516 เคยประสบปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ เอกวาดอร์เรียนรู้จากประสบการณ์และแก้ปัญหาตรงจุด ในเมื่อประชาชนอยากได้เงินดอลลาร์มากจนไม่อยากถือเงินแบงค์ชาติ รัฐบาลก็อนุญาตให้ประชาชนใช้เงินดอลลาร์ค้าขายและทำธุรกรรมควบคู่ไปกับเงินแบงค์ชาติ ปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่สะท้อนค่าจริงในตลาดมืด และไม่พิมพ์เงินใหม่ก่อนมีรายได้ส่งออกที่เพิ่มเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เอกวาดอร์มีระบบสวัสดิการสุขภาพครอบคลุมยิ่งกว่าของไทย เหมือนประเทศทุนนิยมยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงตอนปี 2557 ก็ไม่ได้เกิดวิกฤตแบบเวเนซุเอลา ดราม่า 6 : ถ้าไทยไม่ยกเลิกโครงการประชานิยมไทยจะเกิดวิกฤตแบบเวเนซุเอลา ความจริง 6 : ถึงไม่มีโครงการประชานิยมไทยก็เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะมาแล้ว ไทยเคยมีวิกฤตหนี้สาธารณะในยุครัฐบาลเปรม ทำให้กู้เงินจากไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก วิกฤตหนี้สาธารณะ(ไม่ว่าประเทศไหน)เกิดจากการกู้โดยรัฐบาลจนเกินกำลังการใช้หนี้จนต้องประกาศว่าจะไม่จ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วเข้าสู่กระบวนการต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ การยกเลิกโครงการประชานิยมไม่ได้รับประกันว่ารัฐบาลจะไม่เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายโครงการอื่นๆ บทสรุป วิกฤตเวเนซุเอลาให้บทเรียนหลายอย่าง อาทิ ก) ไม่ควรให้ผู้นำฝ่ายบริหารมีอำนาจควบคุมการใช้จ่ายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ข) ไม่ควรให้ผู้นำฝ่ายบริหารกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ค) ไม่ควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบแบ่งแยกและอภิมหาแข็งกว่าอัตราจริง ง) ไม่ควรอัดฉีดเงินรัฐบาลหรือแบงค์ชาติเพื่ออุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเรื้อรัง จ) ไม่ควรให้นายพลบริหารรัฐวิสาหกิจที่สำคัญต่อรายได้ประเทศและรายได้ส่งออก ฉ) ไม่ควรพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกอย่าง
ผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้เขียนได้ที่ https://twitter.com/kandainthai
หมายเหตุ [1] Forbes Billionaire List 2018 (from Venezuela): https://www.forbes.com/billionaires/list/#version:static_search:venezuela
[2] Venezuelan creditor eyeing Citgo assets face uphill battle:
[3] Venezuela's creditors aim to avoid infighting call to unity:
[4] Venezuela's bizarre system of exchange rates https://mises.org/library/venezuelas-bizarre-system-exchange-rates
[5] The silent creditor group in Venezuela's debt crisis:
[6] Venezuela's Currency Circus: https://www.nytimes.com/2015/03/07/opinion/francisco-toro-dorothy-kronick-venezuelas-currency-circus.html
[7] Appointment of Army general to Venezuela oil company could mean more politics, less oil: http://www.latinamericanstudies.org/venezuela/lameda.htm [8] Under military rule, Venezuela oil workers quit in a stampede
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
Digital Native และวัฒนธรรมเยาวชนโลกออนไลน์ | หมายเหตุประเพทไทย #224 Posted: 26 Aug 2018 08:33 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 22:33
คนรุ่น Digital Native ที่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ มีความคิดอ่านและวัฒนธรรมต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าที่เป็น Digital Immigrant ที่หัดใช้อุปกรณ์ไอทีเมื่อโตแล้วอย่างไร รวมทั้งพินิจการสถาปนาพื้นที่ทางความคิดของคนรุ่น Digital Native ที่พวกเขาไม่ใช่ 'เด็กเปรต' อีกต่อไปแล้ว หากแต่สามารถตั้งคำถามท้าทายขนบที่มีอยู่เดิมได้อย่างยืนระยะ อย่างไรก็ตามก็มีความท้าทายอยู่ข้างหน้าว่าเมื่อเข้าสู่วัฒนธรรมป็อบพวกเขาจะถูกกลืนกลายหรือไม่ ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทย ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมเยาวชนไทยบนสื่อและเครือข่ายสังคมช่วงปี 2556-2558 ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
Posted: 26 Aug 2018 08:18 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 22:18 โลกออนไลน์แห่ต้านกฎหมายจราจร เพิ่มโทษไม่มีและไม่พกใบขับขี่ ปรับสูงถึง 50,000 และ 10,000 บาท โดยคนส่วนมากถามกลับว่า ลดอุบัติเหตุได้จริงหรือ จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจมิชอบไหม แต่ก็มีบางส่วน เช่นอีเจี๊ยบ เลียบด่วน เห็นควรปรับให้หวาดกลัว ไม่งั้นก็ยังมีเด็ก 15 ขโมยรถพ่อมาขับชนคนตาย ถามว่าลดอุบัติเหตุได้ไหม คิดแบบอีเจี๊ยบ ก็ลดได้มั้ง แต่อุบัติเหตุที่เกิดจากเด็กไม่มีใบขับขี่ มีซักเท่าไหร่ 99.99% ที่ขับวายป่วง เทกระจาด ชนคนตาย มีใบขับขี่ทั้งนั้น ใบขับขี่ไม่ใช่หลักประกันว่าขับรถดีมีวินัย อีกอย่าง คนไม่มีใบขับขี่ประสบอุบัติเหตุ ก็โดนเพิ่มโทษและประกันไม่จ่ายค่าเสียหายอยู่แล้ว เรื่องที่คนไม่เห็นด้วยมาก คือใช่เลย มันผิดครับ แต่ทำไมโทษปรับสูงลิบ แค่ลืมใบขับขี่ ปรับ 10,000 เมาแล้วขับปรับ 10,000-20,000 เทียบความผิดร้ายแรงกว่ากันกี่เท่า ส่วนไม่มีใบขับขี่ปรับ 50,000 นี่ก็ชวนให้นึกถึง "ตายได้ห้าหมื่น" ค่าชีวิตเบื้องต้นที่ประกันบุคคลที่สามจ่ายให้สมัยก่อน (ปัจจุบัน 65,000) ในหลักกฎหมายเรียกว่า กำหนดโทษเกินสมควรแก่เหตุ ไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับความผิดอื่น ในกฎหมายฉบับเดียวกันหรือฉบับอื่น เช่น ยิงปืนในที่ชุมนุมชน ยังมีโทษปรับแค่ไม่เกิน 5,000 (น้อยกว่าขายน้ำข้าวหมากอีกนะนั่น) แต่กฎหมายไทยว่ากันตามกระแส เรื่องไหนทีสังคมฮือฮา หรือรัฐขึงขังจริงจัง ก็มุ่งแต่จะเพิ่มโทษ เพิ่มความผิด โดยคิดว่ายาแรงแก้ปัญหาได้ จนทำให้กฎหมายลักลั่น กรณีนี้ก็ทายได้เลย ถ้าเพิ่มโทษไม่มีไม่พกใบขับขี่สำเร็จ ค่าปรับก็จะสูงโด่ง ล้ำความผิดอื่น ต่อไปโทษฝ่าฝืนกฎจราจรต่างๆ ก็ต้องปรับตามเป็น 5,000 10,000 หรือ 20,000 จึงสมเหตุสมผลกัน คำถามสำคัญคือ อุบัติเหตุประเทศไทยครองแชมป์โลก เป็นเพราะคนไทยนิสัยไม่ดี ต้องเพิ่มโทษ เพิ่มมาตรการบังคับ หรือเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่ มันหย่อนยาน มันไม่มีมาตรฐาน ไม่เสมอหน้า หรือเกินกำลังที่จะบังคับใช้ได้จริง จนกวดขันได้เป็นพักๆ เท่านั้น พูดอีกอย่าง ชาวบ้านผิด หรือรัฐผิด บังคับใช้กฎหมายไม่สำเร็จ แล้วก็มาเพิ่มโทษให้ร้ายแรงหวังให้คนหวาดกลัว มันจะแก้ได้จริงไหม ไม่ได้จ้องด่าตำรวจไทย ว่าเป็นช่องให้รีดไถ แต่เอาง่ายๆ ช่วงรถติดเช้าเย็นจราจรมีเวลาจับใครไหม เห็นแต่สายๆ บ่ายๆ ค่อยตั้งด่าน คนไม่มีใบขับขี่ไม่ขับช่วงนั้นก็รอดไป กรณีนี้ท้ายที่สุด กรมขนส่งคงถอย ลดโทษปรับให้น้อยลง ปัดโธ่ ม.44 ห้ามนั่งหลังรถกระบะยังต้องถอย ขนส่งเป็นใครมาจากไหน แต่ถ้ามองภาพกว้าง วิธีคิดเดียวกัน คำถามเดียวกัน ไม่เคยหายไป ความคิดแบบรัฐราชการที่มุ่งจัดระเบียบ มุ่งเข้มงวดประชาชน เป็นหนทางแก้ไขปัญหา โดยไม่มองย้อนว่าปัญหาสั่งสมมาจากการปฏิบัติของรัฐเองหรือไม่ การใช้อำนาจแก้ปัญหามันง่ายดีไงครับ เพิ่มอำนาจ เพิ่มกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษ แล้วเชื่อว่าราชการจะมีคุณภาพประสิทธิภาพบังคับใช้ได้ นี่ไม่ต่างอะไรกับกฎเหล็กคุมเด็กของกระทรวงศึกษา ซึ่งเพิ่มอำนาจครอบจักรวาลโดยไม่สามารถบังคับใช้เป็นมาตรฐาน นอกจากจะไปเลือกวินิจฉัย หรือไม่ ถ้าปัญหามันซับซ้อนจัดการยาก ก็ใช้อำนาจกวาดไปเลย โคตรง่าย แบบทวงคืนผืนป่า ชูป้ายกวาดล้างนายทุน แล้วก็กวาดชาวบ้านเกลี้ยงเกลา ทั้งที่มีหลายปัญหาสั่งสมมานาน หรืออย่าง กทม.ก็กวาดล้างแผงลอยซะเกลี้ยงเกลา ขณะที่สิงคโปร์จัดการอีกอย่าง กระทั่งจะจดทะเบียนสตรีทฟู้ดเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว ความคิดอย่างนี้ไม่ได้มีเฉพาะยุคนี้สมัยนี้หรอก ราชการเป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย แต่สี่ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในยุครัฐราชการเป็นใหญ่ ซึ่งคิดว่าประเทศชาติจะมั่นคงได้ ต้องทำให้รัฐเข้มแข็ง ใช้อำนาจเข้มงวดประชาชน ดูแลให้เป็นคนมีคุณภาพ มีวินัย อย่าทำตามใจตัวเอง อย่าเรียกร้องมาก รู้จักหน้าที่ และอย่าเลือกคนไม่ดี ความคิดที่ว่าประชาชนผิด ต้องเข้มงวด ต้องจัดระเบียบ นี่ยังถูกอกถูกใจคนชั้นกลางในเมือง "ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร" เพราะไม่เคยเข้าใจว่าชาวบ้านต้องนั่งท้ายรถกระบะ เด็ก 14-15 ในชนบทต้องขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่เคยรู้ว่าน้ำข้าวหมากกับสาโทต่างกันอย่างไร หรือยังไงมันก็เหล้าเอาโทษหนักไว้แหละดี คนในเมือง โดยเฉพาะคนมีฐานะ จะนิยมชมชอบ "ยาแรง" และรู้สึกว่ารัฐเข้มแข็ง รัฐที่มีอำนาจมาก มีไว้ปกป้องตัวเอง ซึ่งต่างกันสิ้นเชิงกับคนจนเมืองหรือคนชนบท ที่จะไม่ไว้วางใจอำนาจรัฐเป็นพื้นฐาน
ที่มา: www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1487074
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ผู้พัฒนาเกมเยอรมนีฝ่าข้อห้าม เปิดตัวเกมให้ผู้เล่นเป็นฝ่ายต้านนาซี-นำเสนอภาพสวัสดิกะโจ่งแจ้ง Posted: 26 Aug 2018 06:14 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 20:14 เรื่องของสัญลักษณ์ 'สวัสดิกะ' หรือการสื่อถึง 'นาซี' กลายเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมเยอรมนีมานานแล้ว แต่ในงาน Gamescom ครั้งล่าสุดซึ่งเป็นงานแสดงโชว์เกมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีการเปิดตัวเกมจากผู้สร้างชาวเยอรมันที่จะมีการแสดงให้เห็นสัญลักษณ์และผู้นำเผด็จการ 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์' ออกมาอย่างโจ่งแจ้งเป็นครั้งแรกต่อสังคมเยอรมนีสำหรับเกมที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างเรื่องของเสรีภาพทางงานศิลป์และความกังวลว่าจะเกิดการกระตุ้นให้มีพวกนาซีสุดโต่งเพิ่มขึ้นหรือไม่ (ที่มาภาพ: throughthedarkestoftimes.com) 26 ส.ค. 2561 สื่อเดอะโลคัล รายงานถึงเรื่องการเปิดตัวเกม 'Through the Darkest of Times' ในงานจัดแสดงวิดีโอเกมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป Gamescom วิดีโอเกมชุดนี้เป็นเกมแรกของเยอรมนีที่นำเสนอเรื่องราวช่วงยุคสมัยนาซีแบบไม่มีการเซนเซอร์ โดยมีทั้งการนำเสนอตราสวัสดิกะและตัวละคร 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์' อย่างตรงไปตรงมา โดยผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นสมาชิกกลุ่ม 'เรดออเครสตรา' (Red Orchestra หรือ Die Rote Kapelle) ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งนี้ 2 จะมีข้อห้ามอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการแสดงตราสัญลักษณ์นาซี หรือแม้กระทั่งการนำเสนอถึงจอมเผด็จการฮิตเลอร์ในงานศิลปะบันเทิง โดยวิดีโอเกมจากต่างประเทศที่มีตราสัญลักษณ์นาซีมักจะถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์อื่นอย่างเช่นสัญลักษณ์สามเหลี่ยมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของเยอรมนีซึ่งระบุห้ามสัญลักษณ์นาซีในฐานะที่ 'ขัดต่อรัฐธรรมนูญ' แม้กระทั่งการนำเสนอฮิตเลอร์ในวิดิโอเกมฟอร์มยักษ์ 'Wolfenstein 2' จากค่ายเบเธสดาค่ายเกมสัญชาติสหรัฐฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของตัวละครให้สื่อถึงฮิตเลอร์น้อยลง เช่น การตัดหนวดทรงที่มีลักษณะเฉพาะตัวของฮิตเลอร์ออกและมีการเปลี่ยนชื่อตัวละครใหม่ อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันการกำกับควบคุมในเรื่องนี้เริ่มมีการผ่อนปรนบ้างแล้ว ทำให้ Through the Darkest of Times มีการนำเสนอสัญลักษณ์นาซีติดบนแขนเสื้อตัวละครและมีตัวละครผู้นำนาซีที่มีชื่อเดิมและไม่ถูกตัดหนวดออก ยอร์ก ฟริดริช หนึ่งในผู้พัฒนาเกมนี้กล่าวว่าคนทำเกมเมื่อก่อนเคยกลัวที่จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ตรงๆ จึงสร้างจินตนาการขึ้นมาทดแทน ไม่นำเสนอภาพฮิตเลอร์ ไม่พูดถึงยิว ซึ่งฟริดริชมองว่ามันเป็นปัญหาถ้าจะไม่สามารถพูดถึงมุมมองประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง สื่อเดอะโลคัลระบุว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีการฝ่าฝืนนำเสนอเกี่ยวกับนาซีในแบบที่ถูกห้ามมากขึ้นในเยอรมนี มีการกดดันจากกลุ่มผู้จัดจำหน่ายเกมและคนเล่นเกมเองทำให้หน่วยงาน USK ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับควบคุมสื่อบันเทิงของเยอรมนีเริ่มให้เสรีภาพในการสื่อถึงเรื่องเหล่านี้ในงานศิลปะ-บันเทิงต่างๆ ได้บ้าง อลิซาเบธ เซคเคอร์ ผู้อำนวยการ USK กล่าวว่า กรณีของเกม 'Through the Darkest of Times' นั้นถือเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้นำเสนอเรื่องราวในอดีตผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์ได้ในนามของ 'เสรีภาพทางศิลปะ' ในปี 2541 ศาลเยอรมนีตัดสินให้มีการปิดกั้นวิดีโอเกมที่แสดงสัญลักษณ์นาซี โดยที่ผู้พิพากษาในสมัยนั้นกลัวว่ามันจะทำให้เด็กที่เติบโตมากับสัญลักษณ์พวกนี้มีความคุ้นชินกับมัน แต่คนเล่นเกมก็รู้สึกว่าการห้ามเรื่องนี้เป็นสิ่งที่กวนใจพวกเขามานานแล้ว เนื่องจากมันทำให้ชาวเยอรมันได้สัมผัสเนื้อหาของเกมแตกต่างจากคนประเทศอื่นๆ ไมเคิล ซีเซิลส์ หนึ่งในผู้เยี่ยมชมงาน Gamescom กล่าวว่าเนื้อหาเกี่ยวกับนาซีเยอรมันเป็นอดีตที่ไม่จำเป็นที่จะต้องแอบซ่อนไว้ ทั้งนี้มันยังอาจจะใช้เป็นเครื่องเตือนใจได้ด้วย แต่ก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอเรื่องของสัญลักษณ์นาซีในสังคมเยอรมนี ฟรานซิสกา กิฟเฟย์ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการครอบครัวของเยอรมนีกล่าวว่า พวกเขาไม่ควร "เล่นกับตราสวัสดิกะ" และอยากให้ชาวเยอรมันมีสำนึกความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของตนเองเสมอแม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน ขณะที่ สเตฟาน มานเนส เจ้าของเว็บไซต์ข้อมูลประวัติศาสตร์นาซีตั้งคำถามว่าพวกเขาจะอธิบายกับเด็กๆ ที่รับรู้เกี่ยวตราสวัสดิกะในวิดีโอเกมได้อย่างไร ทว่า คลอส-ปีเตอร์ ซิก นักประวัติศาสตร์จากศูนย์วัจัยสังคมศาสตร์มาร์คโบลชในกรุงเบอร์ลินโต้แย้งว่าคนที่เล่นเกมน่าจะฉลาดพอและแยกแยะออก วิกค์บอกอีกว่า "ไม่มีใครที่จะกลายเป็นนาซีเพียงแค่เห็นสัญลักษณ์สวัสดิกะ" ในกรณีที่ USK เริ่มผ่อนปรนการใช้ตราสัญลักษณ์เหล่านี้บ้างแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอนุญาตให้ใช้มันไปทั่วจนเป็นเรื่องสามัญ แต่จะมีการตัดสินเป็นรายกรณีไปว่ากรณีไหนบ้างที่ 'เหมาะสมทางสังคม' ไม่เพียงแค่เกมเท่านั้นศิลปะอื่นๆ เช่นภาพยนตร์ก็เริ่มกลับมานำเสนอเรื่องที่เคยถูกห้ามพูดถึงอย่างอดีตผู้นำนาซีบ้างแล้วซึ่งภาพยนตร์เยอรมนีหลายเรื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานำเสนอจอมเผด็จการฮิตเลอร์ในเชิงเสียดสี แม้กระทั่งหนังสือเรื่อง 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' (Mein Kampf) ก็กลับมาเผยแพร่ในเยอรมนีได้ในปี 2559 โดยที่มีหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ประกอบไว้ด้วย ในอีกแง่มุมหนึ่งก็มีความกังวลเกี่ยวกับการผุดขึ้นอีกครั้งของกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงและขบวนการต่อต้านผู้อพยพ ขณะที่หัวหอกของกลุ่มขวาจัดในเยอรมนีคือพรรคเอเอฟดี ก็วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการรำลึกอาชญากรรมของนาซี อย่างไรก็ตามซิกกล่าวว่าวิดีโอเกมที่นำเสนอเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเยอรมนีเริ่มยอมรับอดีตอันมืดมนของตัวเองได้อย่างเป็นปกติแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้นจะไปได้ไกลในระดับที่ไม่อยากกลับไปสู่จุดเดิมอีกแล้วมากขนาดไหน "ถ้าหากสังคมสามารถอ่าน 'การต่อสู้ของข้าพเจ้า' ได้โดยไม่ได้รู้สึกโหยหาอดีต นั่นก็แสดงให้เห็นว่า นาซีได้ตายไปแล้ว" ซิกกล่าว เรียบเรียงจาก Wolfenstein 2 Has A Strange Workaround For Germany's Censorship Laws, Kotaku, 30-10-2017 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ศาลปราจีนบุรีนัดสืบพยานคดีตำรวจซ้อมทรมาน 28-31 ส.ค. 2561 นี้ Posted: 26 Aug 2018 05:59 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 19:59 ศาล จ.ปราจีนบุรี นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย คดี 'ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร' เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนซ้อมทรมานตน 26 ส.ค. 2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวว่าสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3-4 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ว่าเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 ได้ร่วมกันซ้อมทรมานเพื่อให้ตนรับสารภาพในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด นั้น ได้นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งตอนนี้สืบพยานโจทก์ไปแล้วจำนวน 4 ปาก ได้แก่ 1.นายฤทธิรงค์ฯ ตัวโจทก์ 2.บิดานายฤทธิรงค์ 3.เพื่อนของนายฤทธิรงค์ฯ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุ และ 4.เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นหนึ่งในชุดสืบสวนเช่นเดียวกับจำเลยในคดีนี้ ประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุเช่นกัน แต่ทางนายฤทธิรงค์ โจทก์ในคดีดังกล่าวยังคงมีประเด็นข้อเท็จจริงที่จะสืบพยานอีกหลายปากเพื่อพิสูจน์ถึงเรื่องที่โจทก์ได้ถูกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายโดยวิธีทรมาน ทั้งนี้นายฤทธิรงค์ โจทก์ในคดีดังกล่าวจะนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลอีก 5 ปาก ในวันที่ 28 สิงหาคม 2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายนายฤทธิรงค์ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในวันเกิดเหตุ ส่วนด้านจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพันตำรวจโท ที่นายฤทธิรงค์ได้กล่าวหาว่าร่วมกันซ้อมทรมาน เพื่อให้ตนรับสารภาพในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด นั้น จะนำสืบพยานเข้าเบิกความต่อศาลจำนวน 12 ปาก โดยในวันที่ 29 ส.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะขึ้นเบิกความต่อศาลในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ วันที่ 28 ส.ค. 2561 และนัดนัดสืบจำเลยในวันที่ 29-31 ส.ค. 2561 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลจังหวัดปราจีนบุรี ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ชาวบ้านตั้งกลุ่ม 'โยธะการักษ์ถิ่น' ยันที่บรรพบุรุษ-ไม่ย้ายออก หลังกองทัพเรือขอคืนพื้นที่ 4 พันไร่ Posted: 26 Aug 2018 05:47 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 19:47 26 ส.ค. 2561 เพจ Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน รายงานว่า ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ตัวแทนชาวบ้าน-หัวหน้าครอบครัวของชาวบ้าน หมู่ 2 หมู่ 10 หมู่ 11 และหมู่ 12 ใน ต.โยธะกา จำนวนประมาณ 100 คน ได้เข้าร่วมประชุมหารือกัน เนื่องจากเมื่อกลางปี 2557 ชาวบ้าน ต.โยธะกาได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา แจ้งยกเลิกสัญญาเช่าและการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ และส่งมอบที่ดินคืนทหารเรือ ด้วยเหตุผลว่า กองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกา เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร หลังจากปี 2557 เป็นต้นมา สำนักงานธนารักษ์เลิกเก็บค่าเช่าที่ดินจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินทำนาต่อไป ไม่มีใครส่งมอบที่ดินหรือย้ายออกไปปลายปี 2560 ชาวบ้านได้รับหนังสืออีกครั้งจากกองทัพเรือ ขอให้ส่งมอบคืนที่ดินให้แก่กองทัพเรือ ภายใน 7 วัน โดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัยพ์สิน และบริวารออกไปจากที่ดิน พร้อมกับทำหนังสือส่งมอบที่ดิน พร้อมทั้งระบุว่าหากยังเพิกเฉยทางราชการมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากนั้นชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เพื่อร้องเรียนและขอสิทธิในการใช้ที่ดินต่อไป ต่อมาได้มีการลงข่าวคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมธนารักษ์ ในข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2561 ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้จัดหาที่ราชพัสดุสนับสนุนโครงการอีอีซีใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กว่า 11,000 ไร่ ในส่วนของฉะเชิงเทรานั้น เป็นที่ของกองทัพเรือที่ส่งคืนให้กรมธนารักษ์ อยู่ใน อ.บางน้ำเปรี้ยว พื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่เศษ อยู่บริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือ ที่ ต.โยธะกา ซึ่งได้ส่งมอบให้อีอีซีไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะนำไปพัฒนาเป็นอะไรขึ้นกับอีอีซีจะกำหนด อนึ่ง จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเบิกสัญญาเช่าดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้เดือดร้อนเฉพาะที่อยู่อาศัย ผู้เดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และผู้เดือดร้อนเฉพาะที่ดินทำกิน ในพื้นที่ หมู่ 2 หมู่ 10 หมู่ 11 และหมู่ 12 รวม 166 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 635 คน ดังนั้นวันนี้จึงได้มีการนัดหมายตัวแทนชาวบ้านจากทั้ง 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขอคืนที่ดินของกองทัพเรือ เพื่อใช้สนับสนุนในในโครงการอีอีซี ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ ก่อตั้งกลุ่ม"โยธะการักษ์ถิ่น" ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรที่ดินทั้งที่ี่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับชาวบ้านในรูปของการเช่าซื้อที่ดินระยะยาว 30 ปี จากกองทัพเรือ และเพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และเตรียมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป ทั้งนี้ ในเชิงประวัติศาสตร์ ต.โยธะกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2480 โดยการแยกมาจาก ต.ดอนเกาะกา และ ต.หมอนทอง ทั้งสองตำบลเป็นชุมชนเก่าแก่ ตั้งขึ้นประมาณในสมัยรัชกาลที่ 5 (2416 – 2453) การตั้งถิ่นฐานและบุกเบิกที่ดินของชาวโยธะกา เกิดขึ้นจากการจับจองบุกเบิกที่ดินจากผู้คนในท้องถิ่น และผู้คนที่อพยพมาสร้างครอบครัว และชาวบ้านถิ่นอื่นที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานบุกเบิกจับจองที่ดิน ในสมัยนั้นบริเวณตำบลโยธะกายังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยมาจาก 3 ทาง คือ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม อ.องค์รักษ์ จ.นครนายก และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี แต่การขุดคลองผ่าน ต.โยธะกา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ให้บริษัททำการขุดคลองได้เป็นเวลา 25 ปี และให้สิทธิบริษัทจับจองที่ดิน 2 ฝั่งคลองเว้นจากที่หลวง 1 เส้นขึ้นไปฟากละ 40 เส้น ตลอดลำคลอง รวม 80 เส้น ตั้งแต่วันที่ได้ขุดคลอง เป็นผลให้ที่ดิน ใน ต.โยธะกา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทคูนาสยาม และมีการเปลี่ยนมือหลายครั้ง จนกระทั่งกองทัพเรือกองทัพเรือได้ใช้เงินงบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน จำนวน 3 แปลง จำนวนรวม 4000 ไร่ เมื่อพ.ศ. 2491 ในขณะนั้น มีชาวบ้านได้ใช้ที่ดินทำนาอยู่ก่อนแล้ว อ่านบทความประวัติศาสตร์ที่ดินชาวนา ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ได้ที่ http://landwatchthai.org/1108 ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์ชี้กฎหมายต้องปรับตัวดูแลแรงงาน รับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ Posted: 26 Aug 2018 05:34 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 19:34 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ระบุผลของการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม ต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่และมีนโยบายที่ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น 26 ส.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลของการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะต่อการผลิต ระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและราคาหุ่นยนต์ ราคา ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะที่ลดลงถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุปสงค์ต่อการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิต การบริการเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะเติบโตในระดับสูง โอกาสของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์แต่อยู่ที่การเป็นผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator) และ ติดตั้งระบบอัตโนมัติให้กับผู้ใช้งานมากกว่า เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ จะเข้ามาพลิกโฉมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการผลิตและการบริการ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคบริการจะมีผลิตภาพสูงขึ้น คุณภาพผลิตภัณฑ์ดีขึ้นและเป็นมาตรฐาน โดยในช่วงแรกต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงเพื่อเปลี่ยนจากระบบที่ใช้แรงงานมนุษย์เข้มข้นเป็นระบบที่ใช้ทุนเทคโนโลยีเข้มข้นแทน เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะทำให้อัตราความเสียหายในการกระบวนการผลิตลดลง ต้นทุนลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาดและผลกำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่ภาครัฐภาคเอกชน และแรงงานไม่ควรละเลย ในบางกิจการนั้นระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนได้มากกว่า 70% ประเทศที่มีค่าแรงสูงมากเกินไปและมีระบบคุ้มครองผู้ใช้แรงงานอ่อนแอจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้แทนที่แรงงานคนมากที่สุด ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เทคโนโลยีเหล่านี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตลาดการจ้างงานโดยรวม ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 15% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2018-2020) และคาดการณ์ว่าจะมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ สัดส่วนประชากรในวัยแรงงานลดลง ราคาหุ่นยนต์ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น กรณีของไทย เมื่อเปรียบเทียบราคาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระยะเวลาการใช้งาน กับ ค่าจ้างแรงงานในปัจจุบันพบว่า การใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์เริ่มอยู่ในระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว ทำให้การใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กิจการในไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น "ผู้ซื้อ" และ "ผู้รับ" เทคโนโลยีมากกว่าเป็น "ผู้ขาย" และ "ผู้สร้าง" เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ส่วนผู้ประกอบการหุ่นยนต์ไทยมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ความเชื่อมั่นในตราสินค้า ขนาดการผลิตไม่ใหญ่พอจึงไม่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด แรงงานไทยทั้งหมด 39 ล้านคน ร้อยละ 45 เป็นเพศหญิงและร้อยละ 55 เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ร้อยละ 67 จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่ประเทศขาดแคลนอยู่ คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน ระบบเสมือนจริง และ ระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป การส่งเสริมให้มีการ Reskill พัฒนาทักษะ ประสิทธิภาพและผลิตภาพให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจึงมีความสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้นอยู่แล้ว ต้องทำให้ "มนุษย์" ทำงานร่วมกับ "หุ่นยนต์" และ "สมองกลอัจฉริยะ" ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้ และต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่และมีนโยบายที่ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กิจการในไทยโดยภาพรวมโดยเฉพาะ SMEs ยังลงทุนทางด้านเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากเห็นว่ายังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยไม่ลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตเพราะไม่มั่นใจว่ากิจการหรือธุรกิจของตนจะประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ได้อย่างไร ขั้นตอนและกระบวนการผลิตส่วนใดที่สามารถใช้ได้และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าการลงทุนและการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในหลากหลายอุตสาหกรรมในต่างประเทศได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวอยู่ที่ 30-80% โดยเฉลี่ย ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
ปล่อยทนายประเวศแล้วหลังขังเต็ม 16 เดือน ประกาศสู้จุดยืนเดิม Posted: 26 Aug 2018 03:25 AM PDT Submitted on Sun, 2018-08-26 17:25
26 สค.2561 เวลาประมาณ 08.00 น. ทนายประเวศ ประชานุกูลได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมี สมยศ พฤกษาเกษมสุข เอกชัย หงส์กังวาน (เพื่อนผู้ต้องขังคดี 112) สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล(ลูกความ) และเพื่อนๆ อีกประมาณยี่สิบคนไปรอรับ 29 เมษ.2560 ทหารหลายสิบนายได้บุกเข้าตรวจค้นบ้าน ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสาร และได้ควบคุมตัวประเวศตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ประเวศ ถูกตั้งข้อหาจากการโพสต์เฟสบุ๊ค ในชั้นศาล ประเวศ ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดียืนยันว่าศาลไม่มีความชอบธรรม และไม่ให้สิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ประเวศประท้วงศาลโดยการแจ้งขอถอนทนาย และปฏิเสธการลงรายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือ ในระหว่างกระบวนการพิจารณา
27 มิ.ย.2561 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ยกฟ้องข้อหา ม.112 แต่ให้ลงโทษจำคุกข้อหา ม.116 กรรมละ 5 เดือน นอกจากนี้ศาลยังพิพากษาให้จำคุก ในข้อหาขัดขืนการพิมพ์ลายนิ้วมือ เพิ่มอีก 1 เดือน รวมระยะเวลาทนายประเวศถูกคุมขังในเรือนจำ 16 เดือน หลังได้รับการปล่อยตัว ประเวศให้สัมภาษณ์ว่าแม้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะอัยการของขยายอุทธรณ์ต่อศาล เมื่อถามถึงความรู้สึก ประเวศกล่าวว่ายังไม่ทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร การต่อสู้ในข้อหานี้ หากเป็นการสู้โดยยอมให้ศาลเป็นผู้ตัดสินคดี เท่ากับเป็นการรับรองกับอำนาจที่ศาลใช้ขังตัวเราเอง เป็นการสู้ที่หลงทาง ข้อหา 112 ศาลไม่ใช่คนกลางที่ตัดสินคดี แต่ศาลคือองค์กรของผู้เสียหาย ในเมื่อผู้เสียหายเป็นผู้ตัดสินคดี มันจึงไม่มีความยุติธรรม ประเวศยืนยันจุดยืนเดิมและประกาศว่าจะต่อสู้แต่ขอเวลาพักตั้งหลัก 1-2 สัปดาห์
ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น