โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ใครทำ ‘ไพรมารีโหวต’ ไม่พัง หลัง ‘มีชัย’ ให้ใช้เลือกตั้งรอบหน้า ห่วงพรรคการเมืองเตรียมเลือกตั้งไม่ทัน

Posted: 28 Aug 2018 10:48 AM PDT

แฟ้มภาพ

28 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และประชุม คสช. ว่าที่ประชุมหารือในรายละเอียดที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามกำหนดเวลาเดิมที่วางไว้ เพราะรัฐบาลและ คสช. ไม่ได้มุ่งหวังให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป โดยเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โปรดเกล้าฯ แล้ว จะให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้บางเรื่อง เช่น การประชุมพรรค แก้ไขข้อบังคับพรรค ตั้งกรรมการบริหารพรรค รับสมัครสมาชิกเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามที่พรรคการเมืองเสนอมา เช่น เรื่องช่วงเวลาการจัดหารทุนประเดิมพรรค เรื่องจำนวนสมาชิกพรรค และการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะเน้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับการทำไพรมารีโหวต

"การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยรัฐบาลพิจารณาตามที่กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เสนอมาให้จัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเตรียมการและลงคะแนน วันเลือกตั้งจึงเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าจากวันนี้ถึงวันดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง วันนี้เรากำลังรอกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่คาดว่าจะลงมาในเดือนกันยายน เมื่อกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศเราจะมีเวลาอีก 90 วันปลดล็อคต่าง ให้ดำเนินการได้ คือช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง โดยจะออกคำสั่งมาตรา 44 เร็ว ๆ นี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า การแก้ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ ให้กลับไปใช้ตามแนวทางคล้ายกับที่กรธ.เสนอ ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกมาประกอบการพิจารณาในการสรรหา แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร จะต้องรอดูคำสั่งอีกที ทั้งนี้จะเป็นการใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามโรดแมปการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งก็ยังคงสะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยอีก 4 ปีค่อยทำไพรมารีโหวต ถ้าไม่ทำก็ต้องไปแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ 2560

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้หลังจากที่ กกต.ชุดก่อน จัดประชุมร่วมระหว่าง กกต. คสช. และพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ได้มีการถามความเห็นเรื่องการทำไพรมารีโหวต ท้ายสุดจากที่ประชุมได้กล่าวได้สรุปแนวทางออกมาทั้งหมด 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ยืนยันการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมเป็นรายจังหวัด 2.เปลี่ยนเป็นการทำไพรมารีโหวตรายภาค 4 ภาค 3.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ และ 4.หาแนวทางอื่นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

รู้จัก 'ไพรมารีโหวต' ที่ร่างมาแต่อาจไม่ได้ใช้ หลังผุด 4 แนวทาง

มีเวลา! กม.บังคับใช้ตั้งแต่ปลาย 60 แต่ คสช. สร้างเงื่อนไขห้ามพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่กำหนดให้มีการทำไพรมารีโหวต คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2560 แต่หลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 (ซึ่งถูกแปลงรูปมาอยู่ในมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งบัญญัติให้ คสช.ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเข้ารับหน้าที่ และในระหว่างนี้ หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช.และคณะยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 เพื่อเป็นการวางกรอบการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองว่าสามารถทำอะไรด้ในช่วงในช่วงใดบ้าง ซึ่งทำให้พรรคการเมืองสามารถทำได้เพื่อการแจ้งจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ และเปิดให้พรรคการเมืองมีที่อยู่ก่อนหน้าดำเนินการยืนยันสมาชิกที่มีอยู่เดิม โดยไม่ถือตามจำนวนสมาชิกพรรคเดิมที่แต่ละพรรคมีอยู่ ทั้งยังมีคำสั่งให้ยุบสาขาพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีมาก่อนหน้า แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองใหม่ และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในกระบวนการทำไพรมารีโหวต ทั้งนี้การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองในมาตรา 140 และมาตรา 141 โดยไม่ผ่านกระบวนของสภานิติบัญญัติ

สำหรับสาเหตุที่พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการเมืองใดๆ ได้เลยนั้นเป็นเพราะ คสช. ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยในข้อ 2 ของคำสั่งระบุให้ ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ  ในทางการเมือง และการดําเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้หลังจากมีการออกคำสั่งหน้าหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยได้เข้ายื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วิฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.25, 26, 27 และ 45 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมติวินิฉัยว่าคำสั่งดังกล่าว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามที่ระบุไว้ข้างต้น เนื่องจากทั้งสองประเด็นดังกล่าว ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่บุคคล

จากคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้กระบวนการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ถูกรับรองและตามปฏิบัติตามนั้นมาโดยตลอด ก็จะมีกระข่าวว่าจะมีการใช้ อำนาจตามมาตรา 44 อีกครั้งเพื่อคลายล็อคบางส่วน แต่ยังคงสั่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่ ต่างยืนยันว่าสามารถดำเนินการจัดทำไพรมารีโหวต ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติไว้ได้ หาก คสช. รีบปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้เต็มที่

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

จนท.บางใหญ่จับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกัมพูชา-เวียดนาม 168 ราย แม้ส่วนมากถือบัตร UNHCR

Posted: 28 Aug 2018 07:31 AM PDT

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี สนธิกำลังร่วมกับทหาร ตำรวจ ตม. ปิดล้อมจับกุมชาวกัมพูชา เวียดนาม 168 ราย โดยนึกว่าเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์-แรงงานข้ามชาติลักลอบทำงาน อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มนี้ที่แท้เป็นผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยหนีการเลือกปฏิบัติในเวียดนาม-กัมพูชา กว่า 154 รายถือบัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3

กรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี นำโดยนายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล นายอำเภอบางใหญ่นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) สนธิกำลัง กับ ทหาร ปตอ.พัน 7 ตำรวจ สภ.บางใหญ่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) บุกเข้าจับกุมชาวต่างชาติสัญชาติเวียดนามและกัมพูชา รวม 168 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 60 ราย

โดยสื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอว่า เป็นการจับกุมแรงงานหลบหนีเข้าเมือง ไม่มีใบอนุญาตในทำงาน โดยมีผู้ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.บางใหญ่ หลังพบว่ามีชาวต่างชาติมาเช่าบ้านไม่มีเลขที่อยู่รวมกัน ในพื้นที่หมู่ 3 ซอยวัดเสาธงหิน ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เกรงว่าจะเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ปิดล้อมจับกุมในช่วงเช้ามืดวันนี้ (28 ส.ค.) ก่อนนำตัวมาที่ศาลาประชาคมเพื่อตรวจสอบในช่วงสายนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยหน่วยงานหนึ่งพบว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัว 168  รายนั้น ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยจากกัมพูชา และเวียดนาม โดยมีประเด็นขัดแย้งกับรัฐบาลในเรื่องที่ดิน ศาสนา และถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อย โดยในจำนวนผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัว 168 รายนั้นมี 154 รายที่ถือบัตรประจำตัวที่ออกให้โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เรียบร้อยแล้ว

โดยเมื่อจำแนกตามสัญชาติมีชาวกัมพูชา 38 ราย มีผู้ถือบัตร UNHCR 34 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 12 ราย ไม่มีบัตร UNHCR 4 ราย เป็นเด็ก 2 ราย

ส่วนชาวเวียดนาม 130 ราย ในจำนวนนี้มีบัตร UNHCR 120 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 43 ราย และมีชาวเวียดนามยังไม่มีบัตร UNHCR 10 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3 ราย

สำหรับผู้ที่ไม่มีบัตร UNHCR 14 รายนั้น มีส่วนหนึ่งที่เพิ่งมาถึงเมืองไทยและกำลังดำเนินการร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR หรือขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วแต่ยังรอกระบวนการ และมีบางรายที่ดำเนินการขอสถานะผู้ลี้ภัยแล้วแต่ยังไม่ผ่านและกำลังรอดำเนินการขอสถานะผู้ลี้ภัยรอบใหม่

โดยผู้ที่มาจากกัมพูชาจะถูกส่งไป ตม.สวนพลู ส่วนผู้ที่มาจากเวียดนามจะถูกส่งฟ้องศาลข้อหาหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวจะรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มาตรการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ จ.นนทบุรีนั้นสวนทางกับ มติคณะรัฐมนตรี 10 มกราคม 2560 ที่ได้เห็นชอบหลักการให้มีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยในประเทศ

นอกจากนี้ในรายงานของ The Momentum ที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของ Jesuit Refugee Service เมื่อเดือนมกราคม 2561 ระบุว่าในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในเขตเมือง หรือผู้ที่ขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับสำนักงาน UNHCR ที่อยู่ในประเทศไทยราว 4,000-5,000 คน และมีคนที่กำลังดำเนินเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยอีก 3,000 กว่าคน และมีผู้ที่ขอสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ไม่ได้สถานภาพผู้ลี้ภัย หรือคนที่เลือกไม่ไปลงทะเบียนและอาศัยอยู่แบบวีซ่าเกินกำหนดอีกประมาณ 2,000 คน รวมแล้วมีผู้ลี้ภัยในเขตเมือง 10,000 คน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

น้าเผย ‘พลทหารคชา’ ไม่ต้านเกณฑ์ทหาร แต่เลือกได้อยากอยู่กับลูกและเมียที่ท้องมากกว่า

Posted: 28 Aug 2018 07:09 AM PDT

น้าสาวพลทหารคชาเผย ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องคดีความ หลังแจ้งความ 3 ทหารเกณฑ์รุ่นพี่รุมซ้อมทรมาน เพิ่มข้อหาพยายามฆ่า ระบุก่อนหน้านี้ครอบครัวจะบนให้คชาไม่โดนใบแดง แต่เจ้าตัวบอกถ้าดวงจะเป็นก็ต้องเป็น ย้ำหลานชายไม่ต่อต้านระบบทหารเกณฑ์แต่ถ้าเลือกได้อยากอยู่ทำงานให้ครอบครัว ดูแลลูกสาว และเมียที่ท้องมากกว่า

พลทหารคชา พะยะ กับภรรยา และลูกสาวคนโต แล้วลูกอีกหนึ่งคนยังอยู่ในครรภ์ อายุครรภ์ 5 เดือน

28 ส.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถามความคืบหน้าเรื่องอาการของพลทหารคชา พะยะ กับ กาญจนภรณ์  สีหะวงศ์ ซึ่งน้าสาว ทราบว่าอาการของพลทหารคชาในวันนี้ยังมีการสมองบวม ปอดติดเชื้อ ยังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ และมีการไตวาย ทำให้ต้องรับการฟอกไตเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตามแพทย์แจ้งว่ามีอาการดีขึ้นเนื่องจากร่างกายเริ่มตอบสนองกับตัวยา แต่ถือว่ายังไม่พ้นขั้นวิกฤต ส่วนเรื่องในทางคดีความหลังจากไปแจ้งความ 3 ทหารเกณฑ์รุ่นพี่ที่รุมซ้อมทรมาน เพิ่มเติมในข้อหาพยายามฆ่า แต่ก็ยังไม่ได้ความคืบหน้าแต่อย่างใด

ทหารเกณฑ์ถูกซ่อมหัวใจหยุดเต้น แพทย์เผยโอกาสรอดน้อย ทหารบอกญาติอย่าให้เป็นข่าว

พ่อแม่พลทหารคชา คลายความติดใจหลังผู้ใหญ่ในกองทัพดูแลเป็นอย่างดี

น้าสาวพลทหารคชา แจ้งความ 3 ทหารเกณฑ์พยายามฆ่า ตำรวจบอกหลักฐานไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2561 PPTV สัมภาษณ์ พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย เกษโกมล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรี ทราบว่าในส่วนของสำนวนคดีนั้น พนักงานสอบสวนสอบปากคำไปมากกว่า 10 ปากแล้ว เพียงพอที่จะสรุปสำนวน แต่กรณีความผิดฐานพยายามฆ่านั้น จนขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐาน

น้าสาวพลทหารคชา ให้ข้อมูลกับประชาไท ด้วยว่า ก่อนหน้าที่คชาจะมาเป็นทหารเกณฑ์นั้น ครอบครัวบอกว่าจะไปบนบานศาลกล่าว ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้คชา จับสลากได้ใบดำเพื่อจะไม่ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากคชาเป็นกำลังหลักของครอบบครัว ซึ่งปัจจุบันครอบทำกิจการรับเหมาในการขนส่งจัดเรียงสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งคชามีหน้าที่ในการดูแลคนงานกว่า 40 คน แต่คชาบอกกับครอบครัวว่า ไม่ต้องไปบน เพราะคิดว่าถ้าดวงจะเป็นทหารเกณฑ์ก็ต้องเป็น

น้าสาวพลทหารคชา ระบุด้วยว่า คชาไม่ได้มีท่าทีต่อต้านการเป็นทหารเกณฑ์ แต่ถ้าเลือกได้เขาอยากอยู่กับลูกสาววัย 1 ขวบกว่า ภรรยาที่ตั้งท้อง และลูกอีกคนที่อยู่ยังอยู่ในครรภ์ และอยากจะช่วยครอบครัวทำงานมากว่า

เมื่อถามว่าเพราะอะไรทางพ่อแม่ของพลทหารคชา จึงคิดว่าต้องการเอาผิดกับทหารเกณฑ์รุ่นพี่เพียง 3 คนเท่านั้น ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงระบบที่เอื้อให้มีการใช้อำนาจในทางที่ผิด และส่วนหนึ่งของความผิดพลาดในการดูแลความปลอดภัย กาญจนภรณ์ ระบุว่า พ่อ และแม่ของคชาเป็นคนที่จิตใจดี ไม่คิดโกรธแค้นใคร เมื่อผู้บังคับบัญชากองพัน (กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) ยอมพูดความจริงกับครอบครัวว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ถือว่าได้แสดงความรับผิดชอบโดยการไม่ปกปิดแล้ว ในส่วนของครอบครัวจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อย่างใด แต่หากมีการลงโทษ ทำโทษในส่วนทหารเองก็ถือเป็นสิ่งที่ทางผู้บัญชาการต้องรับผิดชอบไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เปิดชีวิต 'กิงโกะ โอกิโนะ' แพทย์หญิงฝ่าเพดานแก้วรับใบอนุญาตฯ คนแรกของญี่ปุ่น

Posted: 28 Aug 2018 06:46 AM PDT

สื่อเจแปนไทม์เสนอเรื่องราวแพทย์หญิงผู้สู้ชีวิต ฝ่าฟันการเลือกปฏิบัติทางเพศจนได้รับใบอนุญาตคนแรกของญี่ปุ่นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ระบุ เหมาะสมจะพูดถึงตอนนี้ เหตุก่อนหน้านี้มีกรณีอื้อฉาวที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวจงใจปรับลดคะแนนผู้สอบหญิงซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจงใจเลือกปฏิบัติทางเพศในแบบที่ถ้าโอกิโนะเห็นคงถอดใจว่าไม่ต่างจากร้อยปีที่แล้ว

กิงโกะ โอกิโนะ (ที่มา: wikipedia)

กิงโกะ โอกิโนะมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 2394-2456 ได้รับใบประกอบโรคศิลป์สำหรับแพทย์เมื่อปี 2428 เรื่องราวการต่อสู้ตะเกียกตะกายไปสู่ฝันของเธอได้รับการถ่ายทอดในธีมนิยายที่ชื่อ "ฮานะอุซุมิ" (ไกลกว่าทุ่งดอกไม้) เมื่อปี 2536 จากผลงานของนักเขียนอีกคนหนึ่งที่เป็นหมอ สื่อเจแปนไทม์ระบุว่าถ้าหากเธอมีชีวิตอยู่ปัจจุบันและได้รับรู้เรื่องอื้อฉาวมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวแล้วเธอคงบอกว่า "แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย"

สหพันธ์แพทย์หญิงญี่ปุ่นวิจารณ์กรณีมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวสั่งตัดคะแนนผู้สมัครสอบหญิง

พื้นเพของแพทย์หญิงคนนี้มาจากจังหวัดมุซาชิโนะ ซึ่งในปัจจุบันคือจังหวัดไซตามะ เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่ร่ำรวย สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอคือการที่เธอติดโรคหนองในแท้ (gonorrhea) จากสามีเมื่ออายุ 16 ปี หลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยุ่งกับผู้ชายอีกและให้แม่เธอช่วยฝ่าฝืนประเพณีด้วยการให้เธอหย่าจนเป็นอิสระ

โอกิโนะเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้และชอบอ่านหนังสือมาก ครูของเธอคนแรกเป็นคนสอนศาสนาขงจื่อที่รู้จักกับคนของโรงพยาบาลการแพทย์ตะวันตกในโตเกียวซึ่งเป็นที่ๆ เขาส่งเธอไปรักษาโรคหนองใน แต่การแพทย์ในยุคนั้นปฏิบัติกับผู้หญิงไม่ดีนักในแง่ที่ไม่สนใจสภาพจิตใจของเธอ ซึ่งทำให้โอกิโนะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีหมอที่เป็นผู้หญิงเลย และนั่นทำให้เธอเองตัดสินใจว่าจะเป็นหมอผู้หญิง

ทีแรกแม่ของโอกิโนะเองต่อว่าเธอว่า "การผ่าตัดแขนขา การเห็นเลือด ไม่เหมาะกับผู้หญิง" ถึงขั้นคิดว่าเพื่อนบ้านจะหัวเราะเยาะและเสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเพราะมีแพทย์เป็นผู้หญิง แต่โอกิโนะกลับไม่ยอมละความมุ่งมั่นเธอพร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป แต่อุปสรรคสำคัญที่สุดคือสังคมวิชาการแพทย์เอง จะมีวิทยาลัยแพทย์แห่งไหนที่รับเธอ?

แต่ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ของเธอทำให้เธอได้เข้าไปเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เรียนกอยู่ในวิทยาลัยแพทย์ท่ามกลางผู้ชายทั้งหลายที่พูดเหยียดหยามเธอ เธอต่อสู้มาได้จนกระทั่งจบจากมหาวิทยาลัยจุนเทนโดในโตเกียว

กระนั้นอุปสรรคจากอคติทางเพศก็ยังกลายมาเป็นอุปสรรคเมื่อโอกิโนะต้องรับงานแรกในฐานะนักศึกษาฝึกงาน คนไข้คนแรกของเธอเป็นชายวัยกลางคนที่มีอาชีพเป็นพนักงานร้านค้า แต่มีรากฐานครอบครัวจากชนชั้นซามูไร เขาเป็นแผลที่แขนต้องเอาหนองออกและพันแผล แต่คนไข้ก็ไม่ยอมให้เธอที่เป็นผู้หญิงแตะตัวเขา โอกิโนะพยายามเอาใจและโน้มน้าวคนไข้จนกระทั่งชนะใจเขาได้และยอมให้เธอรักษา

สิ่งที่โอกิโนะต้องการต่อมาก็คือการได้ใบอนุญาตเปิดคลินิคนรีเวชวิทยาซึ่งไม่เคยมีผู้หญิงได้ใบอนุญาตนี้เลย เธอพยายามยื่นจดหมายขอไปยังทางการก็ไม่มีการตอบกลับ เมื่อเธอไปถามตัวต่อตัวก็โดนดูถูกและเผชิญอคติแบบเดิมๆ ที่ไล่ให้ผู้หญิงไปแต่งงาน นอกจากนี้ยังกล่าวอ้างเรื่องที่ผู้หญิงต้องลางานเวลาตั้งครรภ์และพูดว่าประจำเดือนของผู้หญิง "ไม่สะอาด" จุุดนี้เองที่เจแปนไทม์ชี้ว่าคล้ายกับกรณีที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวกล่าวอ้างในเรื่องอื้อฉาวครั้งล่าสุด

ในด้านอาชีพการงาน หลังจากที่โอกิโนะได้รับใบอนุญาตให้เป็นแพทย์เธอก็ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลโอกิโนะที่ยูชิมะในปีเดียวกัน เธอเปิดรับคนไข้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะทางสูติศาสตร์และทางนรีเวชศาสตร์ รวมถึงคนไข้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นงานแบบที่เธอได้คาดหวังไว้ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์แพทย์ให้วิทยาลัยสตรีของมหาวิทยาลัยเมย์จิกะคุอินด้วย การที่เธอได้เป็นแพทย์ถือเป็นการฝ่า 'เพดานแก้ว' ที่ปิดกั้นผู้หญิงจากวิชาชีพนี้ได้สำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ในญี่ปุ่นให้เข้ามาทำงานในสาขาวิชานี้

เรียบเรียงจาก

The efforts of Japan's first female doctor are worth remembering, Japan Times, Aug. 25, 2018

Gingo Ogino: Japan's First Female Physician, Wiki Gender

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภาคปรัชญา ม.ศิลปากรมีแววไม่ถูกยุบ มหา'ลัยเห็นชอบแก้ระเบียบ คาดรู้ผลปลาย ก.ย. นี้

Posted: 28 Aug 2018 06:07 AM PDT

คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง อาจารย์ภาคปรัชญา ม.ศิลปากร เล่าความคืบหน้ากรณีที่เคยมีกระแสยุบภาคปรัชญา ล่าสุดหลังกรรมการมหาวิทยาลัยรับข้อเสนอแก้ไขให้สิทธิภาควิชาที่ตั้งก่อนระเบียบออกกำหนดได้ว่าจะคงสถานภาพหรือเปลี่ยนเป็นสาขาวิชา ภาคปรัชญายื่นเรื่องขอคงสภาพภาควิชาแล้ว คาดรู้ผลปลาย ก.ย. นี้

ที่มาภาพ: Facebook/ Komkrit Tul Uitekkeng

28 ส.ค. 2561 สืบเนื่องจากข่าวที่จะมีการลดขนาดภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสาขาวิชาเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากรถึงความคืบหน้าล่าสุด โดยคมกฤชให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทางภาควิชาปรัชญาได้ส่งหนังสือถึงอธิการบดีให้มีการแก้ไขระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแบ่ง การรวม การยุบเลิกและการบริหารภาควิชา พ.ศ. 2561 โดยขอให้มีการทบทวนและแก้ไขให้ภาควิชาที่จัดตั้งก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะออกมาสามารถคงไว้ซึ่งสถานภาพของภาควิชาดังเดิม แต่ถ้าจะเปลี่ยนสถานะหน่วยงานตามที่ประกาศก็ย่อมทำได้ กล่าวคือ เปิดช่องให้ภาควิชาคงสถานภาพไว้ตามเดิมได้ หรือจะเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งกรรมการบริหารมหาลัยก็ได้รับทบทวนมติใหม่

ต่อมาทางคณะได้ได้ให้แต่ละภาควิชาดำเนินการส่งเรื่องว่าจะยุบรวมเป็นสาขาหรือจะยังคงเป็นภาควิชาต่อแล้ว และทางภาคปรัชญาก็มีมติให้คงสถานภาพภาควิชาเอาไว้ ตอนนี้มติการคงสถานภาพภาควิชาเพิ่งเข้ากรรมการคณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะถูกส่งไปให้กับกรรมการมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้อนุมัติคำขอ คาดว่าปลายเดือน ก.ย. น่าจะทราบผล

คมกฤชกล่าวว่า ภาควิชามีความสำคัญในแง่ของการกระจายอำนาจจากมหาวิทยาลัย และเป็นการรับประกันเสรีภาพทางวิชาการ เพราะภาควิชาเป็นหน่วยงานที่เล็กที่สุดที่ถูกระบุสถานะเอาไว้ใน ระเบียบ ม. ศิลปากรเรื่องการจัดการส่วนงานภายในและการยุบเลิก พ.ศ. 2561

"ถ้าเป็นสาขาวิชาปุ๊บ อำนาจก็จะเข้าไปสู่ศูนย์กลางก็คือคณะ ลักษณะของการบริหารมหาวิทยาลัยแบบกระจายอำนาจคือลักษณะของการรับประกันเสรีภาพทางวิชาการด้วย คือผู้บริหารที่สูงกว่าไม่สามารถเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆ ภายในภาควิชาได้"

อาจารย์ภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรยังระบุเพิ่มเติมว่า จำนวนนักศึกษาที่เลือกเข้าภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรในระดับปริญญาตรีปีนี้มีจำนวนมากกว่าที่ตั้งเอาไว้

'ยุบภาคปรัชญา' วิชาไม่ทำเงิน สังคมไม่ตั้งคำถาม หรือปรัชญาทำตัวเหินห่าง?

กระแสยุบภาควิชาปรัชญา ม.ศิลปากรกลายเป็นที่พูดถึงในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเมื่อคมกฤชโพสท์เฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีที่มีระเบียบ ม. ศิลปากรเรื่องการจัดการส่วนงานภายในและการยุบเลิก พ.ศ. 2561 ที่กำหนดคุณสมบัติของภาควิชาว่าจะต้องมีคณาจารย์มากกว่า 10 คน มีหลักสูตรอย่างน้อยสองหลักสูตรในภาควิชา เป็นหลักสูตรปริญญาตรีอย่างน้อยหนึ่ง และหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรปริญญาตรีอีกหนึ่งหลักสูตร พึ่งพาตนเองได้ มีอาคาร ทรัพยากรด้านการสอนเป็นของภาควิชาเอง ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็จะให้ลดลงเป็นสาขาวิชา อันเป็นเกณฑ์ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งคมกฤชมองว่าเป็นความพยายามที่ทำให้ภาควิชาสายมนุษยศาสตร์หรือศิลปะลดจำนวนลงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญกับสายวิชาที่ทำเงินได้มากกว่า

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขข้อความในส่วนการส่งเรื่องคงไว้ซึ่งสถานภาพภาควิชากับ 'กรรมการมหาวิทยาลัย' แก้ไขเป็น 'กรรมการคณะ' ก่อนที่จะถูกส่งให้กรรมการมหาวิทยาลัยตามลำดับที่เป็นผู้อนุมัติคำขอ (แก้ไขเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 เวลา 21.09 น.)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รอง ผอ.องค์การอนามัยโลกย้ำไทยเป็น 1 ในประเทศที่หลักประกันสุขภาพดีสุดในโลก

Posted: 28 Aug 2018 05:49 AM PDT

รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ย้ำไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก ด้านผู้ป่วยโรคไตเชื่อมั่นวิธีการล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้อง โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาททำให้มีชีวิตรอด เผยหากไม่มีบัตรทอง 30 บาทคงตายไปแล้ว

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา แพทย์หญิงซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงพื้นที่ ณ โรงพยาบาลน้ำพอง และเทศบาลตำบลสะอาด อ.น้ำพอง เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนการสร้างหลักประกันสุขภาพ และการจัดการระบบสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบท โดยมี นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพองและคณะ พร้อมด้วย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น และคณะให้การต้อนรับ

พญ.ซอมญ่า และคณะได้เดินทางไป ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ เพ็ญศิลป์ พิมพิสาร อายุ 69 ปี ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์

เพ็ญศิลป์ กล่าวว่า เมื่อแรกทราบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังและได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลน้ำพองไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่นนั้น มีความกังวลใจอย่างมาก เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินค่าฟอกไต แต่เมื่อได้ทราบว่าตนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสิทธิได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ตนก็มีความหวังในการรักษา แพทย์ พยาบาล ทั้งที่โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะอาด อสม.ซึ่งอยู่ใกล้บ้านก็ดูแลอย่างดี ทำให้ตนอยู่มาได้จนทุกวันนี้

เพ็ญศิลป์ กล่าวว่า หากไม่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตนคงต้องตายไปนานแล้ว เพราะไม่มีเงินจะไปฟอกเลือดที่ต้องจ่ายครั้งละประมาณ 1,500 – 2,000 บาท และต้องฟอกเลือดเดือนละหลายครั้ง แต่พอใช้สิทธิบัตรทองเพื่อล้างไตทางช่องท้องก็ไม่ต้องเสียเงินมาก เพราะได้จ่ายเพิ่มเฉพาะค่าอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องการเพิ่มเป็นพิเศษเท่านั้น ส่วนน้ำยาล้างไตก็ส่งตรงมาถึงบ้าน ตั้งแต่ตนล้างไตด้วยวิธีนี้มา 6 ปี เคยติดเชื้อเพียงครั้งเดียว เพราะวันนั้นรีบไปธุระไม่ได้รอให้จบกระบวนการล้างไตตามที่เคยทำมาเป็นปกติจึงทำให้ติดเชื้อ แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที หลังจากนั้นมาก็ดำเนินตามวิธีการล้างไตทางช่องท้องที่ได้รับการอบรมจากโรงพยาบาลขอนแก่นอย่างเคร่งครัด ก็ไม่มีปัญหาด้านการติดเชื้ออีกเลย 

เพ็ญศิลป์ กล่าวต่อว่า ภายหลังการรักษาโรคด้วยด้วยการล้างไตทางช่องท้องทำให้ตนมีชีวิตมาจนทุกวันนี้ จากที่อ่อนแรง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงกว่า 2 เดือน ภายหลังได้รับรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติกว่า 6 ปี ร่วมกับลูกหลานและคนในชุมชน เช่น ไปวัดทำบุญ เดินออกกำลังกายรอบชุมชน

พญ.ซอมญ่า กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ประชากรทั่วโลก เข้าถึงหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าภายใน 5 ปี โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่ดีมากในการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะมีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ได้มีแค่การรักษาพยาบาล แต่ครอบคลุมไปถึงการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมถภาพทางการแพทย์ จนสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ได้

พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ตนได้เห็นการทำงานของหน่วยบริการสาธารณสุขหลายระดับ และยังได้เห็นถึงความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงภาคประชาชน ชุมชน ที่เป็นอาสาสมัคร และผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน (Care giver) ที่มีกระบวนการทำงานที่หลากหลายเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ ทำให้คนไทยได้รับบริการสาธาณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ในเมือง หรือชนบท ซึ่งตนจะได้นำสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานครั้งนี้ ไปนำเสนอให้ประเทศอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า แม้ว่าระบบบริการสาธารณสุขจะพัฒนาไปจนทำให้โรคติดต่อที่เป็นปัญหาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เช่น การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่ออื่นๆ ลดลง แต่ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางด้านสาธารณสุขใหม่ ๆ คือ 1.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2.ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การบริโภคเกลือและน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากปัจเจกบุคคล ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้บุคลากรทางสาธารณสุขซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 3.การลดอุบัติเหตุทางถนน 4.การป้องกันการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งไทยมีระบบการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน แต่ยังพบว่าผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

พญ.ซอมญ่า กล่าวต่อว่า การได้มาลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานจริงของหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นข้อมูลในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนในด้านนโยบายโรคไม่ติดต่อกับผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อต่อไป ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกพร้อมจะร่วมมือและสนับสนุนประเทศไทยเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานในประเทศไทย และสามารถจัดทำรายงานการดำเนินงาน และรวบรวมองค์ความรู้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาศึกษางานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยด้วยตนเองจะได้ศึกษาจากเอกสารรายงานที่ทำขึ้นนี้ และนำไปการพัฒนาสุขภาพโลกต่อไป

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ความเป็นเจ้าของในหนัง Someone from Nowhere กับ ปราบดา หยุ่น

Posted: 28 Aug 2018 05:33 AM PDT

ผู้ชนะคือผู้บันทึกความเป็นเจ้าของ ส่วนผู้แพ้คือผู้ที่ตัวตนจะถูกลบเลือน รวมคำถามเรื่องสัญญะของฉาก ความเป็นการเมืองของหนัง กับคำตอบของปราบดาที่ว่า "อาจมองว่าสังคมแบ่งเป็นอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม ทางประวัติศาสตร์ก็ยังแก่งแย่งกันอยู่ เราไม่ได้บอกว่าเป็นกลาง เราเป็นเสรีนิยม และเราอยากให้ฝั่งเราได้อำนาจในบางครั้ง" (มีสปอยล์)

 

 

'Someone from Nowhere มา ณ ที่นี้' คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของ ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่ลองเขยิบมาจับงานด้านภาพยนตร์ เรื่องแรกของเขาคือ 'Motel Mist (โรงแรมต่างดาว)' ฉายในปี 2559 หลังจากนั้นปีถัดมา Someone from Nowhere ก็ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว

ภาพยนตร์ความยาวหนึ่งชั่วโมงนิดๆ อาจดูไม่ยาวนัก แต่ด้วยบทภาพยนตร์ที่มีตัวละครเพียงสองตัว กับฉากที่จำกัดอยู่เพียงห้องในคอนโดแห่งหนึ่ง และดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาเป็นหลัก อาจทำให้คนส่วนใหญ่จัดหนังเรื่องนี้เป็นประเภทหนัง 'อาร์ต' ดูยาก แต่อันที่จริงแล้วเนื้อเรื่องไม่ได้ยากอย่างที่คิด บทสนทนาที่จะฟังแบบความหมายตรงตัวหรือความหมายโดยนัยก็ได้ นำเรื่องราวไปสู่จุดจบที่ทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิด ว่านอกจากพล็อตเรื่องแล้ว หนังอยากบอกหรือตั้งคำถามอะไรกับเรา

เปิดเรื่องด้วยหญิงสาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ในคอนโด เธอมีชีวิตประจำตามปกติที่พนักงานออฟฟิศในเมืองควรจะเป็น ตื่นเช้า ออกกำลังกาย อาบน้ำ สระผม กินข้าว โทรคุยกับแม่ โทรนัดกับเพื่อน และก้าวเท้าออกจากห้อง แต่วินาทีที่เธอก้าวเท้าไปสู่หน้าห้อง โลกของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อเธอพบชายบาดเจ็บนอนซมอยู่หน้าห้อง

 

ภาพจากภาพยนตร์ Someone from Nowhere

 

เธอโทรแจ้งพนักงาน หันกลับมาก็พบว่าชายคนเดิมมานอนอยู่บนโซฟาของเธอเรียบร้อย คุยสักแป๊บเขาก็เริ่มทำตัวราวกับเป็นเจ้าข้าวเจ้าของห้อง แถมดูเหมือนจะรู้จักห้องเธอดีกว่าที่เธอรู้จักเสียอีก สงครามประสาท "ผู้เป็นเจ้าของห้องตัวจริง" ระหว่างเธอกับเขาเริ่มต้น แล้วเรื่องราวเซอร์เรียลเหนือจริงต่างๆ ก็ทยอยปรากฏ ผ่านคอนเซปต์ความเป็นเจ้าของ ที่เหมือนกำลังจะบอกว่าผู้ชนะคือผู้ที่จะได้บันทึกความเป็นเจ้าของ ส่วนผู้แพ้คือผู้ที่ตัวตนจะถูกลบเลือน บาดเจ็บ บอบช้ำ และไม่อาจมีใครจดจำ

นำไปสู่คำถามของผู้ชมในหลากหลายประเด็น เช่น ตกลงแล้วใครกันแน่ที่โกหก? ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจพูดถึงเรื่องการเมืองหรือไม่? ฉากเซอร์เรียลในภาพยนตร์หมายความว่าอะไร? ฯลฯ ปราบดา หยุ่น ได้ตอบคำถามเหล่านี้ไว้ในงานฉายภาพยนตร์รอบสื่อที่สมาคมฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทชวนคุณไปไขข้อข้องใจของคำถามด้วยกัน

 

ภาพจากเพจ Motel Mist + Someone From Nowhere

จากซ้ายไปขวา ปราบดา หยุ่น, พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข (นักแสดง), ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช (นักแสดง), วรกร ฤทัยวาณิชกุล (ผู้ดำเนินรายการ)

 

*มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

 

Q: จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ความต่างระหว่างการทำหนังและการเขียนหนังสือ?

A: วิธีคิดมันไม่ต่างกันเท่าไหร่ ต่างตรงที่เวลาเราอยากทำหนัง เราไม่ได้อยากเขียนแต่อยากคิดเป็นภาพมากกว่า เรื่องนี้เริ่มมาจากไอเดีย คือคนเปิดประตูมาเจอคนแปลกหน้าบาดเจ็บ แล้วช่วยรักษา แล้วก็เริ่มมีความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดกัน

แต่หนังมีข้อจำกัดเรื่องงบและเวลา มีโจทย์ว่าเป็นหนังที่จะใหญ่มากไม่ได้ ดังนั้นเราคิดแต่แรกว่าต้องเล่นแค่คนเดียวหรือสองคน ก็เลยดึงเรื่องที่คิดเอาไว้มาแตกหน่อเป็นเรื่องนี้ ประเด็นเรื่องความเป็นเจ้าของ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่ ไอเดียเดิมมันจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความรักมากกว่า จริงๆ ถ้านักแสดงทั้งสองคนมีเคมีที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าจะรักกันรึเปล่า ก็อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ แต่นักแสดงทั้งสองคนไม่ได้มีเคมีนั้นเท่าไหร่ เลยเป็นเหมือนกระบวนการที่พัฒนาไปพร้อมกับตัวบท

โดยเชิงเทคนิคการเขียนบทแบบนี้ยากพอสมควร โดยเฉพาะถ้าเราคำนึงถึงการดึงสมาธิของคนดู ซึ่งถ้าเป็นวิธีการเขียนแบบฮอลลิวูดก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือถึงจะมีแค่คนสองคนแต่ก็ต้องมีแอคชั่นมากกว่านี้ หรือถ้าไปดูเรื่อง Mother (2017) ก็จะมีเทคนิค เอฟเฟค หรือเหตุการณ์อะไรเยอะแยะ แต่พอเป็นแบบนี้เราค่อนข้างจะเรียบง่าย เราจึงต้องใช้วิธีใส่เข้าไปในบทสนทนา อยากให้มันใกล้เคียงกับโลกจริงด้วย จังหวะการสนทนา การหยุด แต่ขณะเดียวกันมันก็ต้องมีความเซอร์เรียลด้วย เพราะเหตุการณ์แบบนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกจริง

 

ตกลงใครกันแน่ที่โกหก?

เราอยากสื่อสารกับคนดูว่าผู้ชายคือเจ้าของตัวจริง แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาจนถึงจุดสุดท้าย พอเป็นลูป แม้แต่เราเองก็เริ่มสงสัยว่าใครกันแน่เป็นเจ้าของห้อง แต่ความจริงในตอนแรกเราตั้งใจจะทำหนังจากมุมมองของผู้ชาย

คำว่า "เรียนรู้จากประสบการณ์" มันคือการเกิดการเรียนรู้ในแต่ละครั้งที่มันวนเป็นลูป ในแต่ละครั้งจึงมีสิ่งของจากโลกเก่าปะปนเข้ามาอยู่ในรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป แก้วน้ำที่แตกกลายเป็นแจกัน นกในกรงกลายเป็นภาพวาด รองเท้าส้นสูงก็กลายเป็นภาพสเก็ตซ์

 

หนังออกมาตามตัวบทเลยไหม?

บทสนทนาส่วนใหญ่จะตามบท ยกเว้นฉากที่ผู้ชายตื่นขึ้นมาในห้องทำงาน หรือเดินไปในทุ่งร้าง พวกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพราะเราไปเจอโลเคชั่นใหม่ หรือเพราะเราคิดเพิ่ม

ซีนเซอร์เรียลตรงออฟฟิศเป็นจุดสำคัญที่สองคนนี้มาเจอกันแล้วทำให้โลกมันหมุนกลับ ซึ่งตอนแรกไม่มีแต่พอคุยกับทีมงานแล้วก็รู้สึกว่ามันควรจะมีอะไรมากกว่านั้นเพราะว่ามันอาจยากที่จะสื่อสาร แต่การเพิ่มมาก็อาจจะไม่ได้ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นอยู่ดี (หัวเราะ) แต่เพื่อให้มันมีอีกมิติหนึ่งขึ้นมา เป็นมิติที่สองคนนี้เข้าไปอยู่

ซีนในออฟฟิศ ตอนที่เป็นภาพกระตุกจริงๆ ก็เพื่อจะสื่อว่าสิ่งๆ นี้มันเกิดบ่อยแล้ว มันเกิดซ้ำๆ มันบ่อยซะจนมันบอบช้ำที่ต้องเผชิญสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และตัวคาแรกเตอร์เขาก็ได้รับบาดเจ็บในอีกโลกอยู่แล้ว แต่กรณีตัวผู้หญิงที่มาอยู่ในโลกนี้คือเขากำลังมีพัฒนาการ คือกำลังเรียนรู้ที่จะเอาชนะมากขึ้นกว่าเดิม มันจึงดูเหมือนผู้หญิงจะเดินเข้ามาแบบคุกคามกว่า ขณะที่ผู้ชายเริ่มอ่อนแอลง

 

ภาพของตึกร้าง มีอยู่จริงในหนังรึเปล่า?

มันเป็นสัญลักษณ์ของมิติ เป็นที่ที่ตัวละครสองตัวหลังจากมันฆ่ากันก็จะมาเจอกันที่นี่

 

ช่วยอธิบายความเป็นการเมืองในหนังของคุณหน่อย ทั้งเรื่องความเป็นเจ้าของ เพลงชาติ หรือกระทั่งรองเท้าสีเหลือง?

แต่เรื่องนี้ก็มีความเป็นการเมืองชัดเจนบางจุด แต่มันก็อยู่ในการตั้งคำถามอยู่ดีกับความเป็นเจ้าของ การครอบครอง เราอาจจะมองว่าสังคมเราแบ่งเป็นอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม ในทางประวัติศาสตร์มันก็ยังแก่งแย่งกันอยู่ มันก็ยังมีช่วงที่กลุ่มนี้มีโอกาสที่จะได้อำนาจ บางช่วงก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้อำนาจ เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นกลาง เราเป็นเสรีนิยม และเราก็อยากให้เราได้อำนาจในบางครั้ง

หรืออย่างประเด็นเรื่องเพลงชาติ เป็นสิ่งที่คาใจโดยส่วนตัวตั้งแต่เด็กเราเห็นทุกคนต้องยืนตรง เรารู้สึกมันแปลก มันเป็นบทเรียนแรกที่ทำให้เรารู้จักคำว่าเซอร์เรียล มันเป็นแบบนี้ทุกวันๆ เราต้องทำทุกวันๆ มันคาใจเรา สำหรับเรามันจึงเป็นจุดที่สร้างความเซอร์เรียลในหนังเพื่อให้ตัวละครเข้าไปอยู่ในอีกมิติได้ ดังนั้นมันจึงไม่เกี่ยวเท่าไหร่กับการเมืองโดยเฉพาะ แต่มันก็สะท้อนบางอย่างว่า ประเทศเรามีความเข้าใจเรื่องเซอร์เรียลได้ดี หรือการถอดรองเท้าก็ไม่ได้อยู่ในบทตั้งแต่แรก แต่มันก็เหมาะสม มันเป็นรองเท้าที่สี(เหลือง) สวยดี

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เปิดรายงานเชิงลึก: เมื่อความเหงาเป็นเหมือนเงาของสังคม

Posted: 28 Aug 2018 01:57 AM PDT

ในการประกาศ และมอบรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2561 (ภาคเหนือ) มีรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ได้รับรางวัลหลายชิ้นงาน หนึ่งในนั้นเป็นรายงานของ อานนท์ ตันติวิวัฒน์ ผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวประชาธรรม ชิ้นงานชื่อเรื่องว่า เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สังคมไทยเอาไงดี? และตอนที่สองชื่อว่า เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สร้าง Social Safety Net จากบทเรียนรัฐ-เอ็นจีโอ

งานทั้งสองตอนนี้พยายามเป็นอีกหนึ่งเสียงที่แสดงสะท้อนว่า เรื่องของความเหงา ที่ถูกหยิกยกมาพูดถึงมาขึ้นในช่วงหลังๆ หาได้เป็นเรื่องส่วนปัจเจกแต่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของความผิดหวัง อกหักเพียงอย่างเดียว หากแต่มีความเกี่ยวพันธ์กับ สวัสดิการ นโยบายของรัฐ รวมทั้งหลักประกันขั้นพื้นฐานของพลเมือง ดังนั้นแล้วความเหงา โรคซึมเศร้า คนไร้บ้าน และการฆ่าตัวตาย จึงเป็นภาพสะท้อนสภาวะของสังคมได้เป็นอย่างดี

เขานำเสนอเรื่องเริ่มต้นจากการขยายตัวของจำนวนประชากรในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนที่สุดแล้วอัตราการเกิดของประชากร เริ่มไม่สอดคล้องกับกำลังผลิตที่โตตามไม่ทัน ทำให้เกิดอัตราการงานสูงจนทำให้มีความพยายามปรับลดอัตราการเกิดขึ้นของประชากร แต่อย่างไรก็ตามการก้าวกระโดดของจำนวนประชากรในช่วง 30 ปี (2485-2514) ก็ส่งผลให้สังคมไทยในเวลานี้กำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และนี่คือสภาวะที่ท้าทายภายใต้บริบทสังคมที่คำว่า "รัฐสวัสดิการ" ยังไม่ลงหลักปักฐาน

อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่

เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สังคมไทยเอาไงดี?

เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สร้าง Social Safety Net จากบทเรียนรัฐ-เอ็นจีโอ

การมอบรางวัลดังกล่าวนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2561 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่อานนท์ ตันติวิวัฒน์ ผู้ได้รับรางวัลไม่สามารถเดินทางมาร่วมงาน และรับรางวัลด้วยตัวเองได้ เนื่องจากเมื่อคืนวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา อานนท์ ป่วยกระทันหันด้วยอาการเส้นเลือดสมองแตก จนถึงปัจจุบันยังคงอยู่ห้องไอซียูที่โรงพยาบาลศรีพัฒน์ เชียงใหม่ ทั้งนี้ อานนท์ ถือเป็นกำลังหลักที่ต้องดูแลครอบครัวด้วย จึงมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลและครอบครัวต๊ะ ในชื่อบัญชีนายชัยวัฒน์ ตันติวิวัฒน์ และนายทศพล ศรีนุชและ น.ส.วรวรรณ จิรธนาพิวัฒน์ บัญชีเลขที่ 251-4-95864-0 ธนาคารกรุงเทพ สาขาท่าแพ 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สกว. เปิดวิจัย 'ผังเมือง' แนวจัดการปัญหาน้ำท่วม 'เมืองริมน้ำ' กรณีเทศบาลนครสมุทรปราการ

Posted: 28 Aug 2018 01:23 AM PDT

สกว. เปิดงานวิจัย 'ผังเมือง' แนวทางการจัดการปัญหาน้ำท่วม ทางเลือก ทางรอด "เมืองริมน้ำ" : กรณีศึกษาเทศบาลนครสมุทรปราการ เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต

ภาพซ้าย : ภาพจำลองระดับน้ำที่เกิดจากพายุซัดชายฝั่ง, ภาพขวา : วนารัตน์ กรอิสรานุกูล

28 ส.ค.2561 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวนนับวันจะยิ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมากขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต และเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน สิ่งที่มักตามมาของเมืองใหญ่ คือ ปัญหาน้ำท่วมขังที่รอการระบาย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำและติดริมแม่น้ำ อย่างเทศบาลนครสมุทรปราการ  จังหวัดสมุทรปราการ  ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ หากมีฝนตกในพื้นที่ก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้น และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นอีกเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นที่มาของการจัดทำการศึกษาวิจัยในโครงการแนวทางการวางผังเมืองเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในอนาคตจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : กรณีศึกษาเทศบาลนครสมุทรปราการ เพื่อหาแนวทางการรับมือต่อความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมในอนาคต โดยใช้นโยบายทางผังเมืองและแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมอื่นๆ โดยการสนับสนุนจาก สกว.

วนารัตน์ กรอิสรานุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยและหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า สมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น มีการพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตของจีพีพีในภาคอุตสาหกรรมเป็นอันดับต้นๆของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ ชลบุรีและระยอง แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำมีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจนถึงบริเวณถนนสุขุมวิทถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมมากที่สุด  สาเหตุนอกจากเกิดจากปริมาณน้ำทะเลหนุนที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 60-70 แล้วยังพบว่ามีแผ่นดินทรุดตัวร่วมด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในด้านอื่นๆ ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นในเรื่องการปรับตัวต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดการสูญเสียจากภาวะน้ำท่วมในอีก 20-50 ปีข้างหน้าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

พื้นที่ตั้งเขตเทศนครนครสมุทรปราการเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมสูง

จากผลการศึกษาวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ในทางกายภาพพื้นที่ของเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำ ติดชายฝั่งทะเลมีระยะทางยาวถึง 47 กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และมีแนวคลองสาขา เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ และเป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น ประกอบกับมีการทรุดตัวของแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความเสี่ยงรุนแรงมากถึงมากที่สุด อีกทั้งพบว่าปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่าปริมาณฝน และบริเวณที่มีความหนาแน่นของชุมชนมีแนวโน้มที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบของน้ำท่วมมากขึ้น ขณะที่เมืองมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสูงมีการขยายตัวทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์

"ในช่วงฤดูฝนมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคิดเป็นร้อยละ 10.91 ของพื้นที่ทั้งหมด ระยะเวลาเฉลี่ยที่น้ำท่วมขังประมาณ 1 วัน โดยช่วงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดคือในช่วงเดือนกันยายน– พฤศจิกายน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง และระดับความรุนแรงจะสูงขึ้นในช่วงน้ำหลาก โดยจะมีระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5–45 ซม. และสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือบริเวณที่ลุ่มต่ำและมีความหนาแน่นของชุมชนสูง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นเนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตอนกลางของเขตเทศบาลฯ และบริเวณคลองบางปิ้ง จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในระดับสูงมากที่สุด" นักวิจัยและหัวหน้าโครงการฯ กล่าว

ทั้งนี้จากการประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในเขตเทศบาลฯโดยพิจารณาจากปัจจัยทางกายภาพ เรื่องของการใช้ที่ดิน ระดับความสูงของพื้นที่ ความถี่ของน้ำท่วม ความสูงอาคาร ความหนาแน่นของประชากร ระยะทางในการเข้าถึงถนนสายหลัก และรายได้เฉลี่ยชุมชน ผลวิเคราะห์พบว่า อาคารที่อยู่อาศัยร้อยละ 36 ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และมีอาคารราชการถึงร้อยละ 60 ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปานกลาง  ขณะที่ถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินนท์ และถนนสายลวดอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมต่ำถึงปานกลาง  ส่วนการประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม จากการจำลองภาพฉายอนาคตในอีก 50 ปี ( พ.ศ.2607) พบว่า การขยายตัวของประชากรและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน หากเกิดภาวะน้ำท่วมจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ถึงร้อยละ 30.5 หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 97,355 ล้านบาทต่อปี โดยมีอาคารที่จะได้รับผลกระทบทั้งสิ้นจำนวน 17,418 หลัง และทุกพื้นที่ในเขตเทศบาลฯจะถูกน้ำท่วมตั้งแต่ระดับ 20-100 ซม. ขณะที่การประเมินความสามารถในการปรับตัวต่อปัญหาน้ำท่วม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงตัวแทนภาคส่วนยังมีข้อจำกัด

วนารัตน์ กล่าวว่า  เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จะเห็นชัดว่าเทศบาลนครสมุทรปราการมีความเสี่ยงมากที่สุด แต่การลงทุนเพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่ยังไม่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจเพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงควรถูกผลักดันไปสู่นโยบายระดับประเทศ แต่เมืองจำเป็นต้องมีแนวทางในการป้องกันที่จะทำให้เมืองอยู่รอดได้จากศักยภาพที่มีและลดการสูญเสียในอนาคต งานวิจัยนี้จึงเข้ามาช่วยในการศึกษาสำรวจลงพื้นที่เก็บข้อมูลระดมความคิดเห็นร่วมกับนักผังเมือง ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้อง และศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกทางรอดและแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสม  ทำให้ได้ concept หรือ แนวคิด ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ออกมาเป็น "การวางผังเมือง และแผนการพัฒนาเมือง" โดยมีข้อแนะนำถึงแนวทางและข้อกำหนด้านผังเมืองในการใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารในอนาคตที่ควรปรับปรุง รวมถึงการกำหนดมาตรการควบคุมอาคารเพื่อให้แผนการพัฒนาเมืองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน   

สำหรับแนวคิดการปรับตัวเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การรับมือภาวะน้ำท่วมระยะยาว โดยวิธีการทางผังเมืองที่เน้นการจัดการปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนในระยะยาว อาทิ การกำหนดรูปแบบอาคาร ยกระดับความสูงของอาคารที่อยู่ติดน้ำ ปรับรูปแบบอาคารให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  การสร้างเส้นทางเดินเท้ายกระดับ (sky walk)เชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเท้าในสถานการณ์ปกติและเป็นเส้นทางอพยพในกรณีที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม การสร้างกำแพงกันน้ำ  เพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณริมแม่น้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่กันชนหรือ (Green Infrastructure) ออกแบบพื้นที่สาธารณะริมน้ำให้เป็นพื้นที่รับน้ำชั่วคราว เป็นต้น และ 2.การรับมือต่อภัยพิบัติน้ำท่วม อาทิ การจัดหาเส้นทางอพยพ การจัดให้มีระบบเตือนภัย แผนที่หนีภัยและสถานที่รอบงรับ รวมทั้งจัดทำแผนฟื้นฟูหลังประสบภัยน้ำท่วม

ตัวอย่างการออกแบบบ้านยกพื้นสูง

ด้านแนวทางการพัฒนาเมืองที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเมืองที่ใช้ 'ระบบขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลาง' พร้อมไปกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค้าและหลากหลาย เน้นการใช้ที่ดินผสมผสาน มีระบบส่งเสริมการเดินทางที่ลดการใช้รถ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อยู่ในระยะที่สามารถเข้าถึงด้วยการเดินเท้าเพียง 5-10 นาทีจากสถานีฯ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเขตเทศบาลนครสมุทรปราการให้เป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจการค้าการท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยคุณภาพดี เน้นการพัฒนาชุมชนเมืองแบบความหนาแน่นสูง โดยบูรณาการระบบป้องกันน้ำท่วมเข้ากับแผนการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พัฒนาพื้นที่เฉพาะที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเมือง  กำหนดระยะร่นถอยและปรับรูปแบบที่อยู่อาศัยจากบ้านชั้นเดียวเป็นอาคารสูง  การออกแบบอาคารจะต้องไม่ไปปิดกั้นเส้นทางไหลของน้ำ  กำหนดระดับความสูงของพื้นชั้นล่างอาคารต้องไม่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดที่ 0.95 เมตร และส่งเสริมการออกแบบอาคารที่ใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์การรับมือต่อปัญหาน้ำท่วมของชุมชนและภาคส่วนในเขตเทศบาลนครฯ สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันของเทศบาลฯ ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นได้ 

การประชุมแลกเปลี่ยนความคิด

วนารัตน์ นักวิจัยโครงการ กล่าวว่า "ผลการวิจัยที่ได้นี้ จะเป็นข้อมูลและองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการศึกษา และกำหนดทางเลือกในการจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสม และสามารถรับมือต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมการเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรณีศึกษาของพื้นที่เทศบาลนครสมุทรปราการ ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้แนวคิดด้านการวางผังเมือง และการวางแผนพัฒนาเมืองที่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความมั่นคงทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้เมืองสมุทรปราการมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากปัจจุบัน แต่ยังบูรณาการกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน"

"ผังเมือง คือพื้นฐานสำคัญของการบริหารจัดการน้ำชุมชนเมือง เมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดี จะลดความเสี่ยงปัญหาเรื่องน้ำท่วม เพราะการวางผังเมืองไม่ใช่มองเฉพาะพื้นที่ในเมืองเท่านั้น แต่รวมไปถึงพื้นที่อื่นรอบๆด้วย เพราะผังเมืองจะเป็นตัวชี้นำการพัฒนาเมือง ควบคุมการใช้ที่ดิน และอาคารสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รวมถึงระบบระบายน้ำและการถ่ายโอนน้ำ ดังนั้น ถ้าเรามองถึงการบริหารจัดการน้ำชุมชนเมืองโดยไม่พูดถึงผังเมืองจึงเป็นไปไม่ได้" นักวิจัยและหัวหน้าโครงการฯ กล่าว

ภาพการจำลองผังเมืองเทศบาลนครสมุทรปราการ : 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

50 นักศึกษาจีนหายตัวไป-หลังจนท.จีนบุกจับกรณีสนับสนุนแรงงานตั้งสหภาพ

Posted: 28 Aug 2018 01:12 AM PDT

นักศึกษาจีนหายตัวไป 50 คน หลังจากที่ตำรวจทางการจีนบุกกวาดจับพวกเขาที่หอพักใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น นักกิจกรรมแรงงานเปิดเผยว่านักศึกษากลุ่มนี้รวมตัวช่วยเหลือคนงานอุตสาหกรรมจัดตั้งสหภาพแรงงานก่อนที่จะถูกจับไม่ทราบชะตากรรมดังกล่าว

ภาพจากวิดีโอล่าสุดของกลุ่มนักศึกษา (ที่มา: CLB)

27 ส.ค. 2561 เดอะการ์เดียนของอังกฤษ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากนักกิจกรรมด้านแรงงานที่รู้จักกับนักศึกษาจีนกลุ่มนี้เล่าถึงเหตุการณ์บุกกวาดจับเกิดขึ้นในช่วงตี 5 ของวันศุกร์ที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมาในเมืองหุ้ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น นักกิจกรรมแรงงานบอกว่าเขาไม่สามารถติดต่อกับนักศึกษาที่ถูกจับกุมได้

มีวิดีโอที่เผยแพร่การบุกกวาดจับนักศึกษา 50 คน และคนงาน 5 คน ในที่พัก (รับชมวิดีโอ) วิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นตำรวจในชุดปราบจลาจลบุกอพาร์ตเมนต์โดยมีการต่อสู้ผลักกันกับกลุ่มผู้อาศัยในที่พัก นักศึกษาและกลุ่มคนงานที่ถูกจับในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสิทธิแรงงานที่กำลังเติบโตขึ้นในพื้นที่การผลิตของจีน ขณะเดียวกันทางการจีนก็ปิดกั้นพวกเขาไม่ให้มีการรวมกลุ่มเป็นสหภาพได้อย่างอิสระและกิจกรรมแรงงานของพวกเขาก็ถูกมองว่า "เป็นภัย"

เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาคนงานและกลุ่มคนที่สนับสนุนคนงานทำการประท้วงที่โรงงานจาซิค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องมืองานเชื่อมอุตสาหกรรมในเมืองเซินเจิ้น ทางโรงงานโต้ตอบด้วยการไล่พนักงานออก โดยพนักงานที่ถูกไล่ออกเป็นกลุ่มที่พยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเป็นตัวแทนคนงานโดยดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายของจีน

การจัดตั้งสหภาพในจีนต้องมีการจดทะเบียนกับ 'สหพันธ์แรงงานจีน' (ACFTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนและเป็นกลุ่มที่มักจะเข้าข้างฝ่ายบริหารของโรงงาน

การประท้วงในเดือน ก.ค. ได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษามหาวิทยาลัยจีน พวกเขาโพสต์จดหมายเปิดผนึกแสดงการสนับสนุนและบางส่วนก็เดินทางไปที่เซินเจิ้น มีการสนับสนุนแผ่ขยายรวมไปถึงกลุ่มสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เกษียณอายุแล้ว และกลุ่มแนวทางเหมาอิสต์ องค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลระบุว่าจนถึงช่วงปลายเดือน ก.ค. มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมดรวม 30 คน

กลุ่มองค์กรสิทธิแรงงานในฮ่องกง 'ไชนาเลเบอร์บุลเลทติน' ระบุว่าในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีการประท้วงโดยนักศึกษา 50 คนนอกสถานีตำรวจที่เซินเจิ้นซึ่งเป็นแหล่งคุมขังแรงงานที่เคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงาน องค์กรแรงงานเปิดเผยอีกว่าตัวแทนคนงาน 2 คนและนักศึกษา 1 คน ที่สนับสนุนการประท้วงโรงงานจาซิคก็หายตัวไปด้วย

ในวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมากลุ่มในหุ้ยโจวโพสต์วิดีโอแสดงการสนับสนุนกลุ่มคนงานเช่นกัน ในกลุ่มผู้ประท้วงมีลายเสื้อยืดที่ระบุว่า "สาเหตุที่กรณีจาซิคใหญ่โตไปเรื่อยๆ เพราะ (รัฐบาล) ไม่ยอมแก้ไขปัญหาเอง และกลับยืนยันจะจัดการกับคนที่พูดถึงปัญหาเหล่านี้"

เรียบเรียงจาก
50 student activists missing in China after police raid, The Guardian, 24-08-2018

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น